พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 229
โพชฌงคบรรพ
[๒๙๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณา
เห็นธรรมในธรรม คือ โพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง).
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
คือ โพชฌงค์ ๗.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อสติสัมโพชฌงค์ (องค์
แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือสติ) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัม-
โพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายใน
จิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความที่สติ-
สัมโพชฌงค์อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
ด้วย อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของสติสัมโพซฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นด้วย
ประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย.
อนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้
คือ ความเลือกเฟ้นธรรม) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
มี ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต ย่อม
รู้ชัดว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความที่ธัมม-
วิจยสัมโพชฌงค์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัด
ประการนั้นด้วย อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่เกิด
ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย.
อนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์. (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ
ความเพียร) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิต
ของเรา หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิริย
สัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความที่วิริยสัมโพชฌงค์ อันยัง
ไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อนึ่ง ความ
เจริญบริบูรณ์ของวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นด้วยประการใด ย่อม
รู้ชัดประการนั้นด้วย.
อนึ่ง เมื่อปิติสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ปิติ
ความปลื้มใจ) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ปิติสัมโพชฌงค์ มี ณ ภายใน
จิตของเรา หรือเมื่อปิติสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า
ปิติสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความที่ปิติสัมโพชฌงค์
อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อนึ่ง
ความเจริญบริบูรณ์ของปิติสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นด้วยประการใด
ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย.
อนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือ
ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบจิต ) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ
ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
ความที่ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อม
รู้ชัดประการนั้นด้วย อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่เกิด
ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย.
อนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ
สมาธิ มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สมาธิสัมโพชฌงค์มี ณ ภายในจิตของเรา
หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สมาธิสัมโพชฌงค์
ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความที่สมาธิสัมโพชฌงค์ อันยังไม่เกิดขึ้น
ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อนึ่ง ความเจริญ
บริบูรณ์ของสมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นด้วยประการใด ย่อม
รู้ชัดประการนั้นด้วย.
อนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ
อุเบกขา ความที่จิตมัธยัสถ์เป็นกลาง) มี ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขา
สัมโพชฌงค์ มี ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่มี ณ
ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มี ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
ความที่อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อม
รู้ชัดประการนั้นด้วย อนึ่ง ความเจริญบริบูรณ์ของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่เกิด
ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ดังนี้.
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณา
เห็นธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้ง
ภายใน ทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในธรรมบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น
ธรรมดา คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมไปในธรรมบ้าง. ก็หรือสติของเธอ
ที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก.
เธอย่อมเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลก
ด้วย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ โพช-
ฌงค์ ๗ อย่างนี้แล.
จบข้อกำหนดว่าด้วยโพชฌงค์ .
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 331
โพชฌงคบรรพ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกธัมมานุปัสสนา โดยอายตนะ
ภายใน ภายนอก อย่างละ ๖ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนก โดย
โพชฌงค์ จึงตรัสว่า ปุน จปรํ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ในโพชฌงค์ทั้งหลาย คือในองค์ ของ
สัตว์ผู้ตรัสรู้. บทว่า มีอยู่ คือมีพร้อมอยู่ โดยการได้มา. บทว่า สติสัม-
โพชฌงค์ ได้แก่ สัมโพชฌงค์ กล่าวคือ สติ. พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า
สัมโพชฌงค์นี้ดังนี้ พระโยคาวจร ตรัสรู้ จำเดิมแต่เริ่มวิปัสสนา หรือพระ-
โยคาวจรนั้น ตื่นลุกขึ้นจากกิเลสนิทรา หรือแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย ด้วยธรรม
สามัคคี ๗ มีสติ เป็นต้น อันใด ธรรมสามัคคี อันนั้น ชื่อว่าสัมโพธิ องค์
ของผู้ตื่นนั้น หรือธรรมสามัคคีเครื่องปลุกให้ตื่นนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า
สัมโพชฌงค์. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สัมโพชฌงค์กล่าวคือ สติ. แม้
ในสัมโพชฌงค์ที่เหลือ ก็พึงทราบความแห่งคำตามนัยนี้แล. บทว่า ไม่มีอยู่
คือ ไม่มีเพราะไม่ได้มา.
วินิจฉัย ในคำว่า ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส ที่ยังไม่เกิด เพราะ
เหตุใดเป็นต้น ดังต่อไปนี้ ก่อนอื่น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดตามนัยอันมาใน
บาลี (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม
เป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสติสัม-
โพชฌงค์นั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งสติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด หรือ
เป็นทางไพบูลย์ จำเริญบริบูรณ์ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปแห่งสติสัมโพชฌงค์ ที่เกิดแล้ว ใน
ธรรมเหล่านั้น สตินั้นแหละชื่อว่าธรรม เป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์. โยนิ-
โสมนสิการมีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล. เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการนั้น
ให้เป็นไปมาก ๆ ในอารมณ์นี้แล้ว สติสัมโพชฌงค์ก็เกิด.
ธรรมเป็นเหตุเกิดสติสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๔ ประการ เป็นทางเกิดสติสัมโพชฌงค์ คือ
๑. สติสัมปชัญญะ ๒. การเว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืม ๓. การคบหาบุคคลผู้มี
สติมั่นคง ๔. ความน้อมจิตไปในสติสัมโพชฌงค์นั้น.
ก็สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิด ด้วยสติสัมปชัญญะในฐานทั้ง ๗ มีก้าวไป
ข้างหน้าเป็นต้น ด้วยการงดเว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืม เช่นเดียวกับกาตัวเก็บ
อาหาร ด้วยการคบหาบุคคลผู้มีสติมั่นคง เช่นเดียวกับพระติสสทัตตเถระ และ
พระอภัยเถระเป็นต้น และด้วยความเป็นผู้มีจิตโน้มน้อมไปเพื่อตั้งสติในอิริยาบถ
ทั้งหลายมี ยืน นั่ง เป็นต้น. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่าก็สติสัมโพชฌงค์นั้นอันเกิดแล้ว
ด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างนี้ ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.
เหตุเกิดธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดตามนัยอันมาในบาลีอย่างนี้ว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ฯลฯ ธรรมที่เปรียบด้วยธรรมฝ่าย
ดำ และฝ่ายขาวมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็น
อาหารเพื่อความเกิดแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด หรือเป็นทางไพบูลย์
เจริญบริบูรณ์เต็มที่แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้ว ดังนี้.
ธรรมเป็นเหตุเกิดธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ๑. การสอบถาม ๒. การทำวัตถุให้สละสลวย ๓. การ
ปรับปรุงอินทรีย์ให้สม่ำเสมอกัน ๔. เว้นบุคคลมีปัญญาทราม ๕. คบหาบุคคล
ผู้มีปัญญา ๖. พิจารณาสอดส่องด้วยปัญญา อันลึกซึง ๗. ความน้อมจิตไปใน
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น.
บรรดาธรรม ๗ ประการนั้น ความเป็นผู้มากไปด้วยการสอบถาม อัน
อาศัยอรรถแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ องค์มรรค
องค์ฌาน สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าการสอบถาม.
การทำวัตถุภายใน และภายนอกให้สละสลวย ชื่อว่าการทำวัตถุให้
สละสลวย. ก็เวลาใด ภิกษุมีผม เล็บ และขนยาวเกินไป หรือร่างกาย สกปรก
เปรอะเปื้อนด้วยเหงื่อและไคล เวลานั้น วัตถุภายใน (คือร่างกาย) ไม่สละสลวย
ไม่สะอาด. แต่ในเวลาใด จีวรเก่าคร่ำคร่า สกปรก เหม็นสาบ หรือเสนาสนะ
รกรุงรัง ในเวลานั้น วัตถุภายนอกไม่สละสลวย ไม่สะอาด. เพราะฉะนั้น จึง
ควรทำวัตถุภายในให้สละสลวย ด้วยกิจมีการปลงผมเป็นต้น ด้วยการทำร่างกาย
ให้เบาสบาย ด้วยกิจมีการถ่ายชำระมลทิน ให้ทั่วทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเป็นต้น
และด้วยการขัดสี อาบน้ำบรรเทากลิ่นเหม็น. พึงทำวัตถุ ภายนอกให้สละสลวย
ด้วยกิจมีการเย็บ ย้อม ซักจีวร และทำการรมบาตรเป็นต้น. เพราะเมื่อวัตถุ
ภายใน และภายนอกนั้นไม่สละสลวย เมื่อจิตและเจตสิกเกิดขึ้น แม้ปัญญาก็ไม่
ผ่องแผ้ว เหมือนแสงสว่างของดวงประทีปที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตัวตะเกียงไส้
และน้ำมันที่ไม่สะอาดหมดจดฉะนั้น แต่เมื่อวัตถุภายใน และภายนอกสละสลวย
เมื่อจิต และ เจตสิกเกิดขึ้น แม้ปัญญาก็ผ่องแผ้ว เหมือนแสงสว่างของดวง
ประทีปที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยตัวตะเกียง ไส้ และน้ำมัน ที่สะอาดหมดจด
ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การทำวัตถุให้สละสลวย ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้.
การทำปรับปรุงอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้น ให้สม่ำเสมอกัน ชื่อว่า การ
ทำปรับปรุงอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ. ด้วยว่า ถ้าอินทรีย์ คือศรัทธาของเธอมีกำลัง
กล้า อินทรีย์นอกนี้อ่อน แต่นั้นอินทรีย์คือวิริยะ ก็ไม่อาจทำกิจ คือการ
ประคองจิตได้ อินทรีย์ คือสติก็ไม่อาจทำกิจ คือการปรากฏ อินทรีย์คือสมาธิ
ก็ไม่อาจทำกิจ คือความไม่ฟุ้งซ่าน อินทรีย์คือปัญญาก็ไม่อาจทำกิจ คือการเห็น
ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมนสิการถึงอินทรีย์ คือศรัทธานั้น ด้วยการพิจารณา
สภาวธรรม หรือโดยประการใด อินทรีย์คือศรัทธามีกำลังกล้า พึงลดลงด้วย
การไม่มนสิการโดยประการนั้น. ในข้อนี้ มีเรื่องท่านพระวักกลิเถระ เป็น
อุทาหรณ์. ถ้าอินทรีย์คือวิริยะมีกำลังกล้า เมื่อเป็นเช่นนั้น อินทรีย์คือศรัทธา
ก็ไม่อาจทำกิจ คือการน้อมใจเชื่อได้ อินทรีย์นอกนี้ ก็ไม่อาจทำกิจคือหน้าที่
ต่าง ๆ ของตนได้ เพราะฉะนั้น จึงควรลดอินทรีย์คือวิริยะนั้นลง ด้วยการ
เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นต้น. แม้ในข้อนั้น พึงแสดงเรื่องท่านพระโสณ-
เถระเป็นอุทาหรณ์. แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็เหมือนกัน เมื่ออินทรีย์อย่างหนึ่ง
มีกำลังกล้า ก็พึงทราบว่า อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่สามารถในกิจ คือหน้าที่ของตน
ได้. แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องอินทรีย์นี้ ท่านสรรเสริญ ศรัทธา กับ
ปัญญา และสมาธิ กับ วิริยะ ต้องเสมอกัน. เพราะผู้มีศรัทธากล้า แต่มีปัญญา
อ่อน มีความเลื่อมใสแรง ย่อมเลื่อมใสไปนอกเรื่อง. มีปัญญากล้า แต่มีศรัทธา
อ่อน ย่อมฝักใฝ่ไปข้างเกเร เหมือนโรคเกิดเพราะผิดยา แก้ไขไม่ได้ฉะนั้น.
ผู้มีปัญญากล้า ก็โลดแล่นเขวไปว่า กุศลมิได้ด้วยเพียงจิตตุปบาทใจคิดขณะ
หนึ่งเท่านั้น ดังนี้แล้ว ก็ไม่ทำบุญ มีทานเป็นต้น ย่อมเกิดในนรก. เพราะ
อินทรีย์คือศรัทธา กับปัญญาทั้งสองเสมอกัน จึงเลื่อมใสในวัตถุ คือพระ-
รัตนตรัยอย่างเดียว. แต่สมาธิกล้า วิริยะอ่อน โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ย่อม
ครอบงำได้ เพราะสมาธิเป็นฝ่ายโกสัชชะ. วิริยะกล้า สมาธิอ่อน อุทธัจจะ
ย่อมครอบงำได้ เพราะวิริยะเป็นฝ่ายอุทธัจจะ แต่สมาธิอันวิริยะเข้าประกบไว้
ย่อมไม่ตกไปในโกสัชชะ วิริยะอันสมาธิเข้าประกบไว้ก็ไม่ตกไป ในอุทธัจจะ.
เพราะฉะนั้น จึงควรทำอินทรีย์สองคู่นั้นให้เสมอเท่า ๆ กัน. ด้วยว่า อัปปนา
จะมีได้ ก็เพราะอินทรีย์สองคู่เสมอกัน. อีกอย่างหนึ่ง ศรัทธาแม้มีกำลังกล้าก็
ควรแก่ผู้เจริญสมาธิ. เพราะผู้เจริญสมาธิ เชื่อมมั่นหยั่งลงมั่นอย่างนี้ จักบรรลุ
อัปปนาได้ ส่วนในสมาธิกับปัญญา เอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
มีกำลังกล้า ย่อมควรแก่ผู้เจริญสมาธิ. ด้วยว่าผู้เจริญสมาธินั้น ย่อมบรรลุอัปปนา
ได้ ด้วยเอกัคคตาอย่างนี้. ปัญญามีกำลังกล้า ย่อมควรแก่ผู้เจริญวิปัสสนา.
ด้วยว่าผู้เจริญวิปัสสนานั้นย่อมถึงความแทงตลอดไตรลักษณ์ด้วยปัญญาอย่างนี้.
แต่อัปปนาจะมีได้ ก็เพราะศรัทธา กับ ปัญญา ทั้งสองเสมอกันโดยแท้. ส่วน
สติมีกำลังแล้ว ย่อมควรในที่ทั้งปวง. เพราะว่า สติย่อมรักษาจิตมิให้ตกไปใน
อุทธัจจะ ด้วยอำนาจศรัทธา วิริยะ ปัญญา ซึ่งเป็นฝ่ายอุทธัจจะ มิให้ตก
ไปในโกสัชชะ เพราะสมาธิเป็นฝ่ายโกสัชชะ. เพราะฉะนั้น สตินั้น จึงจำต้อง
ปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนการปรุงรสด้วยเกลือจำปรารถนาในการปรุงอาหาร
ทุกอย่าง และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในราชกิจทุกอย่าง จำปรารถนาในราชกิจ
ทุกอย่างฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สติจำปรารถนาใน
ที่ทั้งปวง เพราะเหตุไร เพราะจิตมีสติ เป็นที่อาศัยและสติมีการอารักขา เป็น
ที่ปรากฏ เว้นสติเสียแล้วจะประคอง และข่มจิตไม่ได้เลย.
การเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม ไม่มีปัญญาหยั่งลงในประเภทแห่งธรรม
มีขันธ์เป็นต้น ให้ห่างไกล ชื่อว่า การงดเว้นบุคคลทรามปัญญา. การคบหา
บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญารอบรู้ความเกิดและความเสื่อมแห่งสภาวธรรม อัน
กำหนดด้วยลักษณะ ๕๐ ถ้วน ชื่อว่า คบหาบุคคลผู้มีปัญญา. การพิจารณา
ประเภทแห่งปัญญาอันลึกซึ้ง ที่เป็นไปในสภาวธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นอัน
ลุ่มลึก ชื่อว่าการพิจารณาสอดส่องด้วยปัญญอันลึกซึ้ง. ความเป็นผู้มีจิตอัน
โน้มน้อมไปเพื่อตั้งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ในอิริยาบถทั้งหลาย มี ยืน นั่ง
เป็นต้น ชื่อว่าความน้อมจิตไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า
ก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วย
อรหัตตมรรค.
วิริยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิด ตามนัยอันมาแล้วในบาลี (สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารภธาตุ (ธาตุคือความเริ่ม
ความเพียร) นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ (ธาตุ คือความเพียรก้าวไปข้างหน้า)
มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธาตุทั้ง ๓ นั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความ
เกิดแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด หรือเป็นไปเพื่อความไพบูลย์เจริญบริบูรณ์
เต็มที่ แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้วดังนี้.
ธรรมเป็นเหตุเกิดวิริยสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดแห่ง
วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ๑. การพิจารณาเห็นภัยในอบาย ๒. การเห็นอานิสงส์
๓. การพิจารณาวิถีทางดำเนิน ๔. ความเคารพยำเกรงในบิณฑบาต ๕. การ
พิจารณาความเป็นใหญ่แห่งการรับทรัพย์มรดก ๖. การพิจารณาความมีพระ-
ศาสดาเป็นใหญ่ ๗. การพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่ ๘. การพิจารณาความ
มีสพหมจารีเป็นใหญ่ ๙. การงดเว้นบุคคลเกียจคร้าน ๑๐. การคบหาบุคคล
ผู้ปรารภความเพียร ๑๑. ความน้อมจิตไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น.
๑ . การพิจารณาเห็นภัยในอบาย
บรรดาธรรม ๑๑ ประการนั้น เมื่อภิกษุผู้เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ แม้
พิจารณาเห็นภัยในอบายอย่างนี้ว่า ใครๆ ไม่อาจยังวิริยสัมโพชฌงค์ให้เกิดได้
ในเวลาที่เสวยทุกข์ใหญ่จำเดิมแต่ถูกลงโทษด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการในนรก
ก็ดี ในเวลาที่ถูกเขาจับด้วยเครื่องจับมี ข่าย แห และอวนเป็นต้นบ้าง ในเวลาขับ
ต้อนทิ่มแทงด้วยเครื่องประหารมีปะฏักเป็นต้น ให้ลากเกวียนบ้าง ในกำเนิด
สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ในเวลาที่ทุรนทุรายด้วยความหิวกระหายตั้งหลายพันปีบ้าง
พุทธันดรหนึ่งบ้าง ในเปรตวิสัยก็ดี ในเวลาที่ต้องเสวยทุกข์อันเกิดแต่ลมและ
แดดเป็นต้น ด้วยเรือนร่างที่สูงประมาณ ๖๐ ศอก ๘๐ ศอก เหลือแต่หนังหุ้ม
กระดูก ในจำพวกกาลกัญชิกอสูรก็ดี ดูก่อนภิกษุ เวลานี้เท่านั้น เป็นเวลา
ทำความเพียรของเธอดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นได้.
๒ . การเห็นอานิสงส์
เมื่อเห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า คนเกียจคร้านไม่อาจได้โลกุตตรธรรม ๙
คนที่ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ นี้เป็นอานิสงส์ของความเพียร ดังนี้
วิริยสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดได้.
๓ . การพิจารณาวิถีทางดำเนิน
เมื่อพิจารณาวิถีทางดำเนินอย่างนี้ว่า ควรดำเนินทางที่พระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวกทุกพระองค์ดำเนินไปแล้ว ทางนั้น คน
เกียจคร้านไม่อาจเดินไปได้ดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ ก็ย่อมเกิดได้.
๔ . การเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาต
เมื่อพิจารณาความเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาตอย่างนี้ว่า มนุษย์เหล่าใด
บำรุงเธอด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้น มนุษย์เหล่านั้นนี้ ก็ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่
ทาส และคนงานของเธอเลย ทั้งมนุษย์เหล่านั้นก็มิใช่ถวายปัจจัยมีจีวรเป็นต้น
อันประณีตแก่เธอ ด้วยคิดว่าจักอาศัยเธอเลี้ยงชีวิต โดยที่แท้ เขาหวังให้อุปการะ
ที่ตนทำแล้วมีผลมาก จึงถวาย แม้พระศาสดาก็มิได้ทรงพิจารณาเห็นอย่างนี้
ว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้แล้ว จักมีร่างกายแข็งแรงมากอยู่เป็นสุข ดังนี้
แล้วทรงอนุญาตปัจจัยแก่เธอ โดยที่แท้ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ภิกษุ
บริโภคปัจจัยเหล่านี้ บำเพ็ญสมณธรรม จักพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้ดังนี้ จึง
ทรงอนุญาตปัจจัยไว้ เดี๋ยวนี้ เธอเกียจคร้านอยู่ ไม่เคารพยำเกรงบิณฑบาต
นั้น ขึ้นชื่อว่าการเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาต ย่อมมีแก่ผู้ปรารภความเพียรเท่า
นั้น ดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เกิดได้ เหมือนวิริยสัมโพชฌงค์ เกิดแก่ท่าน
พระมหามิตตเถระฉะนั้น.
เรื่องพระมหามิตตเถระ
เล่ากันว่า พระเถระอาศัยอยู่ในถ้ำชื่อ กสกะ. และมหาอุบาสิกาผู้หนึ่ง
ในบ้านเป็นที่โคจรของท่าน บำรุงพระเถระเหมือนบุตร. วันหนึ่ง นางจะไปป่า
จึงสั่งลูกสาวว่า ลูก ข้าวสารเก่าอยู่โน้น น้ำนม เนยใส น้ำอ้อย อยู่โน้น เวลา
ที่พระเป็นเจ้ามิตตะ พี่ชายของเจ้ามาแล้ว จงปรุงอาหารถวายพร้อมด้วยน้ำนม
เนยใส และน้ำอ้อย ด้วยนะลูก. ลูกสาวถามว่า ก็แม่จะรับประทานไหมจ๊ะ.
มหาอุบาสิกาตอบว่า ก็เมื่อวานนี้ แม่รับประทานอาหารสำหรับค้างคืน
(ปาริวาสกภัต) ที่ปรุงกับน้ำส้มแล้วนี้จ๊ะ. ลูกสาวถามว่า แม่จักรับประทาน
กลางวันไหมจ๊ะ. มหาอุบาสิกาสั่งว่า เจ้าจงใส่ผักดองแล้วเอาปลายข้าวสาร
ต้มข้าวต้มมีรสเปรี้ยวเก็บไว้ให้เถอะลูก. พระเถระครองจีวรแล้ว กำลังนำบาตร
ออก (จากถลก) ได้ยินเสียงนั้นแล้ว ก็สอนตนเองว่า ได้ยินว่า มหาอุบาสิกา
รับประทานแต่อาหารสำหรับค้างคืนกับน้ำส้ม แม้กลางวันก็จักรับประทาน
ข้าวต้มเปรี้ยวใส่ผักดอง นางบอกอาหารมีข้าวสารเก่าเป็นต้น เพื่อประโยชน์
แก่เธอ ก็มหาอุบาสิกานั้นมิได้หวังที่นาที่สวน อาหาร และผ้า เพราะอาศัย
เธอเลย แต่ปรารถนาสมบัติ ๓ ประการ (มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพาน
สมบัติ) จึงถวาย เธอจักสามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่มหาอุบาสิกานั้นได้หรือ
ไม่เล่า ดังนี้ ท่านคิดว่า บิณฑบาตนี้แล เธอยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่
ไม่อาจรับได้ดังนี้แล้ว ก็เก็บบาตรเข้าถลก ปลดดุมจีวร กลับไปถ้ำกสกะเลย
เก็บบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้ที่ราวจีวร นั่งลงอธิษฐานความเพียรว่า เราไม่
บรรลุพระอรหัต จักไม่ออกไปจากถ้ำดังนี้. ภิกษุผู้ไม่ประมาทอยู่มาช้านาน
เจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัตก่อนเวลาอาหารเช้า เป็นพระมหาขีณาสพ
(สิ้นอาสวะแล้ว) นั่งยิ้มอยู่ เหมือนดอกปทุมที่กำลังแย้มฉะนั้น. เทวดาผู้สิงอยู่
ที่ต้นไม้ใกล้ประตูถ้ำเปล่งอุทานว่า
นโม เต ปุริสาชญฺญ นโม เต ปุริสุตฺตม
ยสฺส เต อาสวา ขีณา ทกฺขิเณยฺโยสิ มาริส
ท่านบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบ
น้อมท่าน ท่านยอดบุรุษข้าพเจ้าขอนอบน้อม
ท่าน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านผู้มีอาสวะสิ้น
แล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ควรทักษิณา -
ทาน ดังนี้
แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า พวกหญิงแก่ถวายอาหารแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย เช่น
ท่านผู้เข้าไปบิณฑบาต จักพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้.
พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูดูเวลา ทราบว่า ยังเช้าอยู่ จึงถือบาตร
และจีวรเข้าสู่หมู่บ้าน ฝ่ายเด็กหญิง. จัดเตรียมอาหารเสร็จแล้ว นั่งคอยดูอยู่ตรง
ประตู ด้วยนึกว่า ประเดี๋ยวพี่ชายเราคงจักมา ประเดี๋ยวพี่ชายเราคงจักมา.
เมื่อพระเถระมาถึงประตูเรือนแล้ว เด็กหญิงนั้น ก็รับบาตรบรรจุเต็มด้วยอาหาร
เจือน้ำนม ที่ปรุงด้วยเนยใส และน้ำอ้อยแล้ว วางไว้บนมือ (ของพระเถระ).
พระเถระทำอนุโมทนาว่า จงมีสุขเถิด แล้วก็หลีกไป. เด็กหญิงนั้นยืนจ้องดูท่าน
อยู่แล้ว. ความจริง ในคราวนั้น ผิวพรรณของพระเถระบริสุทธิ์ยิ่งนัก อินทรีย์
ผ่องใส หน้าของท่านเปล่งปลั่งยิ่งนัก ประดุจผลตาลสุกหลุดออกจากขั้วฉะนั้น.
มหาอุบาสิกากลับมาจากป่าถามว่า พี่ชายของเจ้ามาแล้วหรือลูก เด็กหญิงนั้นก็
เล่าเรื่องทั้งหมดให้มารดาฟัง. มหาอุบาสิกาก็รู้ได้ว่า วันนี้ บรรพชิตกิจแห่ง
บุตรของเราถึงที่สุดแล้ว จึงกล่าวว่า ลูก พี่ชายของเจ้ายินดียิ่งนักในพระพุทธ-
ศาสนา ไม่กระสัน (อยากสึก) แล้วละดังนี้.
๕ . การพิจารณาความมีทรัพย์มรดกเป็นใหญ่
เมื่อพิจารณาความมีทรัพย์มรดกเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า ก็ทรัพย์มรดกของ
พระศาสดามีมากแล คือ อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์มรดกนั้นผู้เกียจคร้าน
ไม่อาจรับได้ เหมือนอย่างว่ามารดา บิดา ย่อมตัดบุตรผู้ประพฤติผิด ทำให้
เป็นคนภายนอกว่า คนนี้ไม่ใช่ลูกของเรา เมื่อมารดา บิดา ล่วงลับไป เขา
ก็ไม่ได้รับทรัพย์มรดกฉันใด แม้บุคคลผู้เกียจคร้านก็ฉันนั้น ย่อมไม่ได้มรดก
คือ อริยทรัพย์นี้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้น ย่อมได้รับดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์
ย่อมเกิดได้.
๖ . การพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่
เมื่อพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า พระศาสดาของเธอ
เป็นใหญ่ เพราะในเวลาที่พระศาสดาของเธอทรงถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของ
พระมารดาก็ดี เวลาเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี เวลาตรัสรู้พระอนุตตรสัมมา-
สัมโพธิญาณก็ดี เวลาประกาศพระธรรมจักร แสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจาก
เทวโลก และทรงปลงอายุสังขารก็ดี เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพานก็ดี หมื่น-
โลกธาตุก็หวั่นไหวแล้ว เธอบวชในพระศาสนาของศาสดาเห็นปานฉะนั้นแล้ว
เป็นคนเกียจคร้าน ควรแล้วหรือดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.
๗ . การพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่
เมื่อพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า แม้โดยชาติ บัดนี้ เธอ
ไม่ใช่คนมีชาติต่ำแล้วละ เธอชื่อว่าเกิดแล้วในวงศ์ของพระเจ้าอุกกากราช ที่
สืบทอดกันมาโดยมหาสมมตประเพณี ไม่เจือปนกับชนชาติอื่น เป็นพระนัดดา
ของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช และพระนางเจ้ามหามายาเทวี เป็นพระอนุชา
ของท่านพระราหุลพุทธชิโนรส ขึ้นชื่อว่าเธอ เป็นพุทธชินบุตรเห็นปานฉะนี้
แล้ว อยู่อย่างคนเกียจคร้าน ไม่สมควรดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดได้.
๘ . การพิจารณาความมีสพรหมจารีเป็นใหญ่
เมื่อพิจารณาความมีสพรหมจารีเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตร
ท่านพระโมคคัลลานะ และ พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป แทงตลอด (ตรัสรู้)
โลกุตตรธรรม ด้วยความเพียรกันทั้งนั้น เธอจะดำเนินตามทางของสพรหมจารี
เหล่านั้น หรือไม่ดำเนินตามเล่าดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.
๙. การงดเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน
๑๐. การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร
๑๑. ความน้อมจิตไป ในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น
เมื่อเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน ผู้สละความเพียรทางกาย และทางใจ
ซึ่งเป็นเหมือนงูเหลือมกินเต็มท้อง แล้วก็หยุดอยู่กับที่ก็ดี คบหาบุคคล
ผู้ปรารภความเพียร ผู้อุทิศตนมุ่งปฏิบัติธรรมก็ดี มีจิตโน้มน้อมโอนไป เพื่อ
ให้ความเพียรเกิดขึ้น ในอิริยาบถทั้งหลายมี ยืน นั่ง เป็นต้น ก็ดี วิริยสัม-
โพชฌงค์ย่อมเกิดได้. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดแล้ว ด้วย
อาการอย่างนี้ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.
ปีติสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดโดยนัยอันมาแล้วในบาลี (สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัม-
โพชฌงค์ มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ปีติสัมโพชฌงค์ นี้เป็นอาหาร เพื่อความเกิดแห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด
หรือเป็นทางเพื่อความไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์ เต็มที่แห่งปีติสัมโพชฌงค์ ที่เกิด
แล้วดังนี้. ปีตินั้นเองชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ ในบาลีนั้น.
มนสิการอันยังปีตินั้นให้เกิด ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ.
ธรรมเป็นเหตุเกิดปีติสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นทางเกิด ปีติสัมโพชฌงค์
คือ ๑. พุทธานุสสติ ๒. ธัมมานุสสติ ๓. สังฆานุสสติ ๔. สีลานุสสติ
๕. จาคานุสสติ ๖. เทวานุสสติ ๗. อุปสมานุสสติ ๘. เว้นบุคคลผู้เศร้าหมอง
๙. คบหาบุคคลผู้หมดจด ๑๐. การพิจารณาความในพระสูตร เป็นที่ตั้งแห่ง
ความเลื่อมใส ๑๑. ความน้อมจิตไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น.
จริงอยู่ ผู้เจริญปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ ปีติสัม-
โพชฌงค์แผ่ซ่านทั่วสรีระจนกระทั่งอุปจารสมาธิ ย่อมเกิดขึ้น. เมื่อระลึกถึง
คุณพระธรรม และพระสงฆ์ก็ดี พิจารณาปาริสุทธิศีล ๔ ที่ตนรักษาไม่ขาดวิ่น
เป็นเวลานานก็ดี แม้คฤหัสถ์พิจารณาศีล ๑๐ ศีล ๕ ก็ดี พิจารณาจาคะ การ
บริจาคว่า ในเวลาประสบทุพภิกขภัยเป็นต้น เราถวายโภชนะอันประณีตแก่
สพรหมจารีทั้งหลาย แล้วถวายโภชนะชื่ออย่างนี้ ดังนี้ก็ดี แม้คฤหัสถ์พิจารณา
ถึงทานที่ถวายแก่ท่านผู้มีศีลในเวลาเห็นปานนั้นก็ดี พิจารณาถึงคุณเช่นกับที่
เทวดาประกอบแล้วถึงความเป็นเทวดาว่า มีอยู่ในตนก็ดี พิจารณาเห็นว่า
กิเลสที่ข่มได้แล้วแม้ด้วยสมาบัติตลอด ๖๐ ปีบ้าง ๗๐ ปีบ้าง ไม่ฟุ้งกำเริบ
ดังนี้ก็ดี เว้นบุคคลเศร้าหมองผู้มีความหม่นหมองอันสร้างสมไว้ เพราะไม่ทำ
โดยเคารพ ในเวลาเห็นพระเจดีย์ เห็นโพธิพฤกษ์และเห็นพระเถระ ผู้เป็น
เช่นกับละอองธุลี บนหลังลา เพราะไม่มีความเลื่อมใสรักใคร่ในพระรัตนตรัย
มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ส้องเสพบุคคลผู้หมดจด ผู้มากด้วยควานเลื่อมใสมี
จิตอ่อนโยนในพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี พิจารณาความใน
พระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ซึ่งแสดงคุณของพระรัตนตรัยก็ดี มีจิต
โน้มน้อมโอนไป เพื่อให้เกิดปีติ ในอิริยาบถทั้งหลายมี ยืน นั่ง เป็นต้นก็ดี
ปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดได้. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ปีติสัมโพชฌงค์นั้น ซึ่งเกิดแล้ว
ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค.
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดโดยนัยที่มาแล้วในบาลี (สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ ความสงบกาย
จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ ในความ
สงบกาย และความสงบจิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ย่อมเป็นไป) เพื่อความเกิด
แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด หรือเป็นทางเพื่อความไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์
เต็มที่ แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ที่เกิดแล้วดังนี้.
ธรรมเป็นเหตุเกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นทางเกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์.
คือ ๑. เสพโภชนะอันประณีต ๒. เสพฤดูเป็นที่สบาย ๓. เสพอิริยาบถเป็นที่
สบาย ๔. ประกอบความเป็นกลาง ๕. เว้นบุคคลผู้ไม่สงบกาย ๖. เสพบุคคล
ผู้สงบกาย ๗. น้อมจิตไปในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น.
จริงอยู่ ผู้เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อบริโภคโภชนะเป็นที่สบาย
อันประณีตหมดจดก็ดี. เสพฤดูเป็นที่สบาย ไม่ว่าจะเป็นฤดูหนาว ฤดูร้อน
เสพอิริยาบถ เป็นที่สบายไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถ ยืน เป็นต้นก็ดี ย่อมเกิดความ
สงบได้. แต่คำนั้น ท่านมิได้กล่าวหมายถึงบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ ซึ่งทนฤดู
และอิริยาบถ เป็นที่สบาย. เมื่อผู้ที่มีฤดู และอิริยาบถที่ถูกกันและไม่ถูกกัน
เว้นฤดูและอิริยาบถที่ไม่ถูกกันเสียแล้ว เสพฤดูและอิริยาบถที่ถูกกัน ปัสสัทธิสัม-
โพชฌงค์ย่อมเกิดได้. การพิจารณาถึงความที่ตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของ ๆ
ตน เรียกว่า ประกอบความเป็นกลาง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้ด้วย
ประกอบความเป็นกลางอันนี้. เมื่อเว้นบุคคลผู้มีกายไม่สงบ เช่นเที่ยวเบียดเบียน
สัตว์อื่นด้วยเครื่องประหาร มีก้อนดิน และท่อนไม้เป็นต้น ก็ดี เสพบุคคลผู้
มีกายสงบ สำรวม มือ เท้า ก็ดี มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้เกิดปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ในอิริยาบถมี ยืน นั่ง เป็นต้น ก็ดี ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.
ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น อันเกิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้
ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค.
สมาธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดได้ โดยนัยมาแล้วในบาลี (สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิต (บาลีว่า สมาธินิมิต)
อัพยัคคนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ ในนิมิตทั้งสองนั้น นี้เป็น
อาหาร (ย่อมเป็นไป) เพื่อความเกิดแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด หรือ
เป็นทางเพื่อความไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์เต็มที่แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้ว
ดังนี้.
ในนิมิตเหล่านั้น สมถะนั่นแล ชื่อว่า สมถนิมิตและอัพยัคคนิมิต
เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน.
ธรรมเป็นเหตุเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นทางเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์
คือ ๑. ทำวัตถุให้สละสลวย ๒. การปรับปรุงอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ ๓. ฉลาด
ในนิมิต ๔. ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง ๕. ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
๖. ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ๗. เพ่งเฉยในสมัยที่ควรเพ่งเฉย
๘. เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ ๙. คบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ๑๐. พิจาร-
ณาและวิโมกข์ ๑๑. น้อมจิตไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น.
อธิบายธรรม ๑๑ ประการ
ในธรรม ๑๑ ประการนั้น เฉพาะการทำวัตถุให้สละสลวย และการ
ปรับปรุงอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.
ความฉลาดในการกำหนดกสิณนิมิต เป็นอารมณ์ ชื่อว่าฉลาดใน
นิมิต. การประคองจิตไว้ ด้วยการตั้งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์.
และปีติสัมโพชฌงค์ในสมัยที่จิตหดหู่ เพราะมีความเพียรย่อหย่อนเกินไป
เป็นต้น ชื่อว่า ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง.
การข่มจิตไว้ ด้วยการตั้งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์
และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในสมัยที่จิตฟุ้งซ่าน เพราะปรารภความเพียรมากเกิน
ไปเป็นต้น ชื่อว่า ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม.
คำว่า ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง อธิบายว่า สมัยใด จิตไม่แช่ม
ขึ้น เพราะมีปัญญาและความเพียรอ่อนไป หรือเพราะไม่บรรลุสุขที่เกิดแต่ความ
สงบ สมัยนั้น ก็จิตให้สลด ด้วยพิจารณาสังเวควัตถุเรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความสลด ๘ ประการ. เรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ คือ ๑. ชาติ
๒. ชรา ๓. พยาธิ ๔. มรณะ ๕. ทุกข์ในอบาย ๖. ทุกข์ในอดีตมีวัฏฏะ
เป็นมูล ๗. ทุกข์ในอนาคตมีวัฏฏะเป็นมูล ๘. ทุกข์ในปัจจุบันมีการแสวงหา
อาหารเป็นมูล. อนึ่ง การทำความเลื่อมใสให้เกิด ด้วยมาระลึกถึงคุณพระรัตน-
ตรัย อันนี้ก็เรียกว่าการทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง.
ชื่อว่า เพ่งเฉยในสมัยที่ควรเพ่งเฉย อธิบายว่า สมัยใดจิตอาศัยการ.
ปฏิบัติชอบ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน แช่มขึ้น เป็นไปสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนิน
ในสมถวิถี สมัยนั้นไม่ต้องขวยขวายในการประคอง ข่มและทำจิตให้ร่าเริง
เหมือนสารถี ไม่ต้องขวนขวาย ในเมื่อม้าวิ่งเรียบฉะนั้น อันนี้เรียกว่า เพ่งเฉย
ในสมัยที่ควรเพ่งเฉย.
การเว้นบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่บรรลุอุปจาระ หรืออัปปนา ให้
ห่างไกล ชื่อว่า เว้นบุคคลผู้มีจิต ไม่เป็นสมาธิ.
การเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิด้วยอุปจาร
ภาวนา หรืออัปปนาภาวนา ชื่อว่า คบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ.
ความเป็นผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้เกิดสมาธิ ในอิริยาบถทั้งหลาย
มี ยืน นั่งเป็นต้น ชื่อว่า น้อมจิตไปในสมาธิสัมโพชฌงค์.
ด้วยว่า เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์นั้น ย่อมเกิดได้.
เมื่อภิกษุรู้ชัดว่า ก็สมาธิสัมโพชฌงค์นั้น อันเกิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ย่อม
เจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.
อุเบกขาสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดได้ตามนัยอันมาแล้วในบาลี (สังยุตต-
นิกาย มหาวารวรรค) อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น นี้เป็นอาหาร (ย่อมเป็นไป) เพื่อความเกิดแห่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด หรือเป็นทางเพื่อความเจริญไพบูลย์ บริบูรณ์
เต็มที่ แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้วดังนี้. ก็ในธรรมเหล่านั้น อุเบกขา
นั่นแล ชื่อว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ธรรมเป็นเหตุเกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดแห่งอุเบก-
ขาสัมโพชฌงค์ คือ ๑. วางตนเป็นกลางในสัตว์ ๒. วางตนเป็นกลางในสังขาร
๓. เว้นบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขาร ๔. คบหาบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์
และสังขาร ๕. น้อมจิตไปในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น.
อธิบายธรรม ๕ ประการ
ในธรรม ๕ ประการนั้น ผู้เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมตั้งการวาง
ตนเป็นกลางในสัตว์ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยการพิจารณาถึงความที่ตนและ
ผู้อื่นมีกรรมเป็นของ ๆ ตนอย่างนี้ว่า ท่านมาด้วยกรรมของตน ก็จักไปด้วย
กรรมของตน แม้เขาก็มาด้วยกรรมของตน (เขา) จักไปด้วยกรรมของตน
(เขา) เหมือนกัน ท่านจะยึดถืออะไรกันดังนี้ และด้วยการพิจารณาถึงความ
ไม่มีสัตว์อย่างนี้ว่า เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ที่ว่าสัตว์ ๆ มันไม่มี ท่านจะยึดอะไร
กันเล่าดังนี้.
ตั้งการวางตนเป็นกลางในสังขาร ด้วยอาการ ๒ อย่างคือ ด้วยการ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่มีเจ้าของ อย่างนี้ว่า จีวรนี้จักเข้าถึงความเปลี่ยนสี
และความเก่าคร่ำคร่า เป็นผ้าเช็ดเท้า ต้องเขี่ยทิ้งด้วยปลายไม้เท้า ก็ถ้าว่าจีวร
นั้น พึงมีเจ้าของไซร้ เขาก็ไม่พึงให้มันเสียหายอย่างนี้ ดังนี้ และด้วยการ
พิจารณาโดยความเป็นของชั่วคราวอย่างนี้ว่า จีวรนี้อยู่ไม่ได้นาน เป็นของ
ชั่วคราวดังนี้. แม้ในบริขารมีบาตรเป็นต้น ก็พึงประกอบความเหมือนอย่างใน
จีวร.
ในข้อว่า เว้นบุคคลผู้ยึดถือในสัตว์และสังขาร มีวินิจฉัยดังนี้
บุคคลใดเป็นคฤหัสถ์ ก็ยึดถือปิยชน มีบุตร ธิดา เป็นต้น ของตน
หรือเป็นบรรพชิตก็ยึดถือบรรพชิตมีอันเตวาสิก และผู้ร่วมอุปัชฌาย์กันเป็นต้น
ของตน มัวทำกิจกรรมมีปลงผม เย็บจีวร ซักย้อมจีวร ระบมบาตร เป็นต้น
ของชนเหล่านั้น ด้วยมือของตนทีเดียว เมื่อไม่เห็นเพียงครู่เดียว ก็บ่นถึงว่า
สามเณรรูปโน้นไปไหน ภิกษุหนุ่มรูปโน้นไปไหน เหลียวซ้ายแลขวา เหมือน
มฤคตื่นตกใจฉะนั้น แม้ผู้อื่นอ้อนวอนขอว่า โปรดส่งสามเณรชื่อโน้นไปช่วย
ปลงผมเป็นต้น สักครู่เถิดดังนี้ ก็ไม่ยอมให้ ด้วยพูดว่า พวกเราจะไม่ให้ทำ
กิจกรรมของตนบ้างหรือ พวกท่านพาเธอไปจะลำบากดังนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า
ยึดถือสัตว์.
ฝ่ายบุคคลใด ยึดถือบริขารมีจีวร บาตร ถลกบาตร ไม้เท้าเป็นต้น
แม้ผู้อื่นจะเอามือจับก็ไม่ให้จับ ถึงขอยืมก็ตอบขัดข้องว่า เราต้องการใช้ทรัพย์
ก็ยังไม่ใช้ จักให้พวกท่านได้อย่างไรดังนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า ยึดถือสังขาร.
ฝ่ายบุคคลใด วางตนเป็นกลาง เที่ยงตรงในวัตถุทั้งสองนั้น บุคคล
นี้ชื่อว่าวางตนเป็นกลาง ในสัตว์และสังขาร.
เมื่อเว้นไกลบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขารเห็นปานฉะนี้ก็ดี คบหาบุคคล
ผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารก็ดี มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้เกิดอุเบกขา
สัมโพชฌงค์ ในอิริยาบถทั้งหลาย มี ยืน นั่ง เป็นต้นก็ดี อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้
ย่อมเกิดได้ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็อุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นอัน
เกิดแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.
คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํวา หรือภายในเป็นต้น ความว่าพิจารณาเห็นธรรม
ในธรรมทั้งหลาย เพราะกำหนดสัมโพชฌงค์ ๗ ของตน หรือของคนอื่น
หรือกำหนดสัมโพชฌงค์ ๗ ของตนตามกาล หรือของคนอื่นตามกาลอยู่. ก็
ความเกิด และความเสื่อม (แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์) พึงทราบด้วยอำนาจ
ความเกิด และความดับแห่งสัมโพชฌงค์ทั้งหลาย ในโพชฌงคบรรพนี้. ข้อความ
ต่อจากนี้ ก็มีนัยดังกล่าวมาแล้ว.
สติกำหนดโพชฌงค์เป็นอริยสัจ ๔
แต่ในโพชฌงค์บรรพนี้ มีข้อแตกต่างกันอย่างเดียว คือพึงประกอบ
ความอย่างนี้ว่า สติกำหนดโพชฌงค์เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจ เป็นต้น แล้ว
พึงทราบว่า เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ ของภิกษุผู้กำหนดโพชฌงค์เป็น
อารมณ์. คำที่เหลือก็เช่นนั้นเหมือนกัน.
จบโพชฌงคบรรพ