พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 473
อรรถกถาธรรมุทธัจจวารนิเทศ
พึงทราบวินิจฉัยในธรรมุทธัจจวาระดังต่อไปนี้. บทว่า อนิจฺจโต
มนสิกโรโต โอภาโส อุปฺปชฺชติ เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นสภาพ
ไม่เที่ยง โอภาสย่อมเกิดขึ้น คือภิกษุตั้งอยู่ในอุทยัพพยานุปัสสนาเห็นแจ้งสังขาร
ทั้งหลายด้วยอนุปัสสนา ๓ บ่อย ๆ มีจิตบริสุทธิ์ด้วยการละกิเลสด้วยตทังคปหานะ
ในวิปัสสนาญาณอันถึงความแก่กล้า โอภาสย่อมเกิดความปกติด้วยอานุภาพ
แห่งวิปัสสนาญาณในขณะมนสิการ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความ
เป็นทุกข์ หรือโดยความไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงโอภาส
ของภิกษุผู้มนสิการ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงก่อน.
ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาไม่ฉลาด เมื่อโอภาสนั้นเกิดคิดว่า โอภาสเห็น
ปานนี้ ยังไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้เลยหนอ เราเป็นผู้บรรลุมรรค
บรรลุผลแน่แท้แล้ว จึงถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคนั่นแหละว่า เป็นมรรค สิ่งที่
ไม่ใช่ผลนั่นแหละว่าเป็นผล.
เมื่อภิกษุนั้นถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งที่ไม่ใช่ผลว่าเป็น
ผล ก้าวออกจากวิปัสสนาวิถี. ภิกษุนั้นสละวิปัสสนาวิถีของตนถึงความฟุ้งซ่าน
หรือสำคัญโอภาสด้วยความสำคัญแห่งตัณหาและทิฏฐินั่งอยู่. ก็โอภาสนี้นั้นเกิด
ให้สว่างเพียงที่นั่งของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น ภายในห้องของภิกษุบางรูป
แม้นอกห้องของภิกษุบางรูป ทั่วทั้งวิหารของภิกษุบางรูป คาวุตหนึ่งกึ่งโยชน์
๒ โยชน์ ฯลฯ ทำแสงสว่างเป็นอันเดียวกันตั้งแต่พื้นดินจนถึงอกนิษฐพรหมโลก
ของภิกษุบางรูป แต่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดโอภาสตลอดหมื่นโลกธาตุ
เพราะโอภาสนี้ ยังที่นั้น ๆ ให้สว่างย่อมเกิดในเวลามืดอันประกอบด้วยองค์ ๔.
บทว่า โอภาโส ธมฺโมติ โอภาสํ อาวชฺชติ ภิกษุนึกถึงโอภาส
ว่า โอภาสเป็นธรรม คือ ภิกษุทำไว้ในใจถึงโอภาสนั้น ๆ ว่า โอภาสนี้เป็น
มรรคธรรมหรือเป็นผลธรรมดังนี้. บทว่า ตโต วิกฺเขโป อุทฺธจฺจํ เพราะ
นึกถึงโอภาสนั้น ความฟุ้งซ่านจึงเป็นอุทธัจจะ คือ เพราะโอภาสนั้นหรือ
เพราะนึกถึงว่า โอภาสเป็นธรรม ความฟุ้งซ่านจึงเกิดขึ้น นั่นคือ อุทธัจจะ.
บทว่า เตน อุทฺธจฺเจน วิคฺคหิตมานโส ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้
คือภิกษุมีใจอันอุทธัจจะซึ่งเกิดขึ้นอย่างนั้นกั้นไว้ หรือผู้เจริญวิปัสสนามีใจอัน
อุทธัจจะนั้นเป็นเหตุกั้นไว้โดยเกิดกิเลสอันมีอุทธัจจะนั้นเป็นมูลเหตุ เพราะ
ก้าวลงสู่วิปัสสนาวิถี หรือความฟุ้งซ่านแล้วตั้งอยู่ในกิเลสอันมีความฟุ้งซ่าน
นั้นเป็นมูลเหตุ ย่อมไม่รู้ความปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความ
เป็นทุกข์ โดยความไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริง. พึงประกอบ อิติ ศัพท์
อย่างนี้ว่า เตน วุจฺจติ ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานโส ด้วยเหตุนั้น ท่านจึง
กล่าวว่า มีใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้.
บทว่า โหติ โส สมโย สมัยนั้นคือ หากว่า การสอบสวนเกิดขึ้น
แก่พระโยคาวจรแม้ผู้มีจิตเศร้าหมองด้วยความพอใจ พระโยคาวจรนั้นย่อมรู้
อย่างนี้ว่า ธรรมดาวิปัสสนามีสังขารเป็นอารมณ์ มรรคและผลมีนิพพานเป็น
อารมณ์ แม้จิตเหล่านี้มีสังขารเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น โอภาสนี้มิใช่มรรค
อุทยัพพยานุปัสสนาเท่านั้นเป็นมรรคของนิพพาน. พระโยคาวจรกำหนดมรรค
และมิใช่มรรคแล้วเว้นความฟุ้งซ่านนั้นตั้งอยู่ในอุทยัพพยานุปัสสนา พิจารณา
สังขารทั้งหลายด้วยดี โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดย
ความไม่ใช่ตัวตน. เมื่อพระโยคาวจรสอบสวนอยู่อย่างนี้นั้นเป็นสมัย แต่เมื่อ
ไม่สอบสวนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีมานะจัดว่า เราเป็นผู้บรรลุมรรคและผลดังนี้.
บทว่า ยํ ตํ จิตฺตํ ได้แก่ วิปัสสนาจิตนั้น. บทว่า อชฺฌตฺตเมว ใน
ภายใน คือในภายในโคจรอันเป็นอารมณ์แห่งอนิจจานุปัสสนา.
บทว่า ญาณํ อุปฺปชฺชติ ญาณย่อมเกิดขึ้น คือ เมื่อพระโยคาวจรนั้น
พิจารณาอย่างรอบคอบถึงรูปธรรมและอรูปธรรม วิปัสสนาญาณอันเฉียบแหลม
แข้งแกร่งกล้ายิ่งนัก มีกำลังไม่ถูกกำจัดย่อมเกิดขึ้นดุจวชิระของพระอินทร์ที่ปล่อย
ออกไปฉะนั้น. บทว่า ปีติ อุปฺปชฺชติ ปีติย่อมเกิดขึ้น คือ ในสมัยนั้น
ปีติสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ๕ อย่างนี้ คือ ขุททกาปีติ (ปีติอย่างน้อย) ๑ ขณิกา-
ปีติ (ปีติชั่วขณะ) ๑ โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นพัก ๆ) ๑ อุพเพงคาปีติ (ปีติอย่าง
โลดโผน) ๑ ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน) ๑ ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้นยัง
สรีระทั้งสิ้นให้อิ่มเอม. บทว่า ปสฺสทฺธิ อุปฺปชฺชติ ความสงบย่อมเกิดขึ้น
คือ ในสมัยนั้น พระโยคาวจรนั้นไม่มีความกระวนกระวายของกายและจิต
ไม่มีความหนัก ไม่มีความหยาบ ไม่มีความไม่ควรแก่การงาน ไม่มีความไข้
ไม่มีความคด แต่ที่แท้พระโยคาวจรนั้นมีกายและจิตสงบเบาอ่อน ควรแก่การ
งานคล่องแคล่วเฉียบแหลม ตรง. พระโยคาวจรนั้นมีกายและจิตอันเป็นปัส-
สัทธิเป็นต้นเหล่านี้ อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเสวยความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์ใน
สมัยนั้น. ท่านกล่าวหมายถึงความยินดีว่า
ความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุ
ผู้เข้าไปสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบ ผู้เห็นแจ้งธรรมโดย
ชอบ แต่กาลใดๆ ภิกษุย่อมพิจารณาความเกิดและ
ความเสื่อมแห่งขันธ์ทั้งหลาย แต่กาลนั้น ๆ ภิกษุย่อม
ได้ปีติและปราโมทย์ ปีติและปราโมทย์นั้นเป็นอมตะ
ของภิกษุผู้รู้แจ้งทั้งหลาย.
ความสงบแห่งกายและจิตสัมปยุตด้วยวิปัสสนา พร้อมด้วยความเป็น
ของเบาเป็นต้น ยังความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์นี้ให้สำเร็จย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น.
บทว่า สุขํ อุปฺปชฺชติ สุขย่อมเกิดขึ้น คือ สุขสัมปยุตด้วยวิปัสสนาอันยัง
สรีระทั้งสิ้นให้ชุ่มชื่น ย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้น แก่ภิกษุนั้น. บทว่า อธิโมกฺโข
อุปฺปชฺชติ อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ) ย่อมเกิดขึ้น คือ ศรัทธาสัมปยุต
ด้วยวิปัสสนาอันเป็นความเลื่อมใสอย่างแรงของจิตและเจตสิกย่อมเกิดขึ้นใน
สมัยนั้นแก่ภิกษุนั้น. บทว่า ปคฺคาโห อุปฺปชฺชติ ปัคคาหะ (ความเพียร)
ย่อมเกิดขึ้นคือ ความเพียรสัมปยุตด้วยวิปัสสนาอันประคองไว้ดีแล้วไม่ย่อหย่อน
และไม่ตึงจนเกินไป ย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้น แก่ภิกษุนั้น. บทว่า อุปฏฺฐานํ
อุปฺปชฺชติ อุปัฏฐานะ (ความตั้งมั่น) ย่อมเกิดขึ้น คือ สติสัมปยุตด้วยวิปัสสนา
ตั้งไว้ด้วยดีแล้ว ฝังแน่น ไม่หวั่นไหว เช่นกับภูเขาหลวงย่อมเกิดขึ้นในสมัย
นั้นแก่ภิกษุนั้น. ภิกษุนั้นย่อมนึกถึง รวบรวบ ทำไว้ในใจ พิจารณาถึงฐานะ
ใด ๆ ฐานะนั้น ๆ แล่นออกไป ย่อมปรากฏแก่ภิกษุนั้นด้วยสติดุจปรโลก
ปรากฏแก่ผู้ได้ทิพยจักษุฉะนั้น. บทว่า อุเปกฺขา คือ ความวางเฉยด้วยวิปัสสนา
และความวางเฉยด้วยการพิจารณา. จริงอยู่ แม้ความวางเฉยด้วยวิปัสสนาอัน
เป็นกลางในสังขารทั้งปวง มีกำลังย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้น แม้ความวางเฉย
ด้วยการพิจารณา ย่อมเกิดในมโนทวาร. จริงอยู่ ความวางเฉยด้วยการพิจารณา
นั้นเมื่อภิกษุน้นั พิจารณาถึงฐานะนั้น ๆ เป็นความกล้าแข็ง ย่อมนำไปดุจวชิระ
ของพระอินทร์ที่ปล่อยออกไป และดุจลูกศรเหล็กอันร้อนที่แล่นออกไปที่ภาชนะ
ใบไม้. ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคอย่างนี้.
อนึ่ง ในบทนี้ว่า วิปสฺสนูเปกฺขา อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ได้แก่
อุเบกขา คือ วางตนเป็นกลางในอารมณ์นั้น ๆ สัมปยุตด้วยวิปัสสนา. จริงอยู่
เมื่อยึดถือวิปัสสนาญาณ ก็จะมีโทษด้วยคำพูดอีกว่า ญาณ ย่อมเกิด เพราะ
วิปัสสนาญาณมาถึงแล้ว. อนึ่ง ในการพรรณนาถึงตติยฌานท่านกล่าวว่า แม้
สังขารุเบกขาและวิปัสสนุเบกขา โดยอรรถก็เป็นอันเดียวกัน เพราะเป็นปัญญา
เหมือนกัน ต่างกันเป็น ๒ ส่วนด้วยอำนาจแห่งหน้าที่ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าว
ถึงอุเบกขา คือ ความเป็นกลางในอารมณ์นั้น สัมปยุตด้วยวิปัสสนาจึงไม่มีโทษ
ในการพูดอีก และสมด้วยการพรรณนาตติยฌาน. ก็เพราะในอินทรีย์ ๕ ท่าน
ชี้แจงถึงปัญญินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์และสตินทรีย์ว่า ฌาน อธิโมกข์
ปัคคหะ อุปัฏฐานะ ส่วนสมาธินทรีย์ท่านไม่ชี้แจงไว้. อนึ่ง พึงชี้แจง
สมาธินทรีย์เท่านั้น ด้วยสามารถแห่งธรรมคู่กัน ฉะนั้น พึงทราบว่า สมาธิ
เป็นไปแล้วเสมอท่านกล่าวว่า อุเบกขา เพราะทำการละความขวนขวายในการ
ตั้งมั่น.
บทว่า นิกนฺติ อุปฺปชฺชติ นิกันติ (ความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้น
คือ ความพอใจ มีอาการสงบ สุขุมทำความอาลัยในวิปัสสนาอันประดับด้วย
โอภาสเป็นต้นอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น ความพอใจใด ไม่อาจแม้กำหนดลงไปว่า
เป็นกิเลส ดุจในโอภาส เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น พระโยคาวจรคิดว่า
ญาณเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้ ปีติ ปัสสัทธิ อธิโมกข์ ปัคคหะ
อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ เห็นปานนี้เคยเกิดแล้ว เราเป็นผู้บรรลุมรรค
เราเป็นผู้บรรลุผลแน่นอน แล้วถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งมิใช่ผล
ว่าเป็นผล เมื่อพระโยคาวจรนั้น ถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค และสิ่งมิใช่
ผลว่าเป็นผล วิปัสสนาวิถี ย่อมหลีกออกไป.
พระโยคาวจรนั้นสละมูลกรรมฐานของตนแล้วนั่ง ยินดีความพอใจนั้น
เท่านั้น.
อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวโอภาสเป็นต้นว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็น
ที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง เพราะไม่ใช่อกุศล ส่วนนิกันติเป็นอุปกิเลสด้วย
เป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองด้วย. อุปกิเลสเหล่านั้นมี ๑๐ อย่างด้วยสามารถ
แห่งวัตถุ มี ๓๐ ด้วยสามารถแห่งการถือเอา อย่างไร. เมื่อพระโยคาวจร
ถือว่า โอภาสเกิดแล้วแก่เรา ย่อมเป็นการถือเอาด้วยทิฏฐิ เมื่อถือว่าโอภาส
น่าพอใจหนอเกิดแล้ว ย่อมเป็นการถือเอาด้วยมานะ เมื่อยินดีโอภาส ย่อมเป็น
การถือเอาด้วยตัณหา การถือเอา ๓ อย่างด้วยสามารถแห่งทิฏฐิมานะและตัณหา
ในโอภาสด้วยประการดังนี้. แม้ในอุปกิเลสที่เหลือก็อย่างนั้น. อุปกิเลส ๓๐
ด้วยอำนาจแห่งการถือเอาย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ทุกฺขโต มนสิกโรโต อนตฺตโต มนสิกโรโต เมื่อ
ภิกษุมนสิการโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา พึงทราบความโดยนัยนี้
แม้ในวาระทั้งหลาย. ในบทนี้พึงทราบความเกิดแห่งวิปัสสนูปกิเลสแห่งวิปัสสนา
หนึ่ง ๆ ด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนาหนึ่ง ๆ มิใช่อย่างเดียวเท่านั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในอนุปัสสนา ๓ ดังต่อไปนี้. พระอานนทเถระ ครั้น
แสดงอุปกิเลสทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา โดยไม่ต่างกันอย่างนี้ แล้วเมื่อ
จะแสดงด้วยอำนาจแห่งความต่างกันอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูปํ อนิจฺจโต
มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ดังนี้. ในบท
เหล่านั้น บทว่า ชรามรณํ อนิจฺจโต อุปฏฺฐานํ ชรามรณะอันปรากฏ
โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง คือ ความปรากฏของชราและมรณะโดยความเป็น
สภาพไม่เที่ยง.
เพราะพระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ไม่เปรื่องปราชญ์ด้วยอำนาจแห่ง
อุปกิเลส ๓๐ ดังกล่าวแล้วในบทก่อน ย่อมหวั่นไหวในโอภาสเป็นต้น ย่อม
พิจารณา โอภาสเป็นต้นอย่างหนึ่ง ๆ ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็น
ตัวตนของเรา ฉะนั้น พระอานนทเถระเมื่อจะแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถา
๒ คาถามีอาทิว่า โอภาเสว เจว ญาเณ จ ในโอภาสและญาณดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วิกมฺปติ ย่อมกวัดแกว่ง คือ ย่อมกวัดแกว่ง
หวั่นไหว ๓ อย่างด้วยอำนาจกิเลสต่าง ๆ ในอารมณ์มีโอภาสเป็นต้น. บทว่า
เยหิ จิตฺตํ ปเวเธติ จิตย่อมหวั่นไหว คือ จิตย่อมกวัดแกว่งหวั่นไหวด้วย
ปัสสัทธิและสุขโดยประการต่าง ๆ ด้วยอำนาจกิเลสต่าง ๆ เพราะฉะนั้น พึง
ทราบความสัมพันธ์ ความว่า พระโยคาวจรย่อมกวัดแกว่งในปัสสัทธิ และใน
สุข. บทว่า อุเปกฺขา วชฺชนาย เจว จากความนึกถึงอุเบกขา คือ จิต
ย่อมกวัดแกว่ง จากความนึก คือ อุเบกขา อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งจากความ
วางเฉยในการนึกถึง. แต่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า อุเปกฺขาวชฺชนายญฺจ
ในการนึกถึงอุเบกขา. บทว่า อุเปกฺขาย จ ความวางเฉย คือ จิตย่อม
กวัดแกว่งด้วยความวางเฉยมีประการดังกล่าวแล้ว อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่ง
ด้วยความพอใจ.
อนึ่ง ในบทนี้ เพราะท่านชี้แจงถึงอุเบกขา ๒ อย่าง จึงกล่าวอรรถ
โดยประการทั้งสองในฐานะที่ท่านกล่าวแล้วว่า อุเปกฺขา อุปฺปชฺชติ อุเบกขา
ย่อมเกิด. อนุปัสสนาอย่างหนึ่ง ๆ เพราะความปรากฏแห่งความวางเฉยด้วยการ
นึกถึงแห่งอนุปัสสนาหนึ่ง ๆ ในอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า เจริญ
บ่อย ๆ ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ ทุกฺขํ อนตฺตา อนตฺตา.
อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เปรื่องปราชญ์
สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนด ย่อมสอบสวน
โอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพ
ไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดา
ด้วยประการดังนี้.
อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นมีความดำริอย่างนี้. หากโอภาสพึงเป็น
ตัวตน พึงควรที่จะถือเอาว่าเป็นตัวตน แต่โอภาสนี้มิใช่ตัวตน ยังถือกันว่า
เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเมื่อเห็นว่า โอภาสนี้มิใช่ตัวตน เพราะ
ไม่เป็นไปในอำนาจ จึงถอนทิฏฐิเสียได้. หากว่า โอภาสพึงเป็นสภาพเที่ยง
พึงควรเพื่อถือเอาว่าเป็นสภาพเที่ยง แต่โอภาสนี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ยังถือกัน
ว่าเป็นสภาพเที่ยง เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง
เพราะมีแล้วไม่มีย่อมถอนมานะเสีย. หากว่า โอภาสพึงเป็นความสุข พึงควร
ถือเอาว่า เป็นความสุข แต่โอภาสนี้เป็นความทุกข์ ยังถือเอาว่าเป็นความสุข
เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นความทุกข์ เพราะเกิดขึ้นสิ้นไป
และบีบคั้น ย่อมถอนความพอใจ ดุจในโอภาส แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
พระโยคาวจรครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นโอภาสว่า
นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้
ย่อมไม่กวัดแกว่ง ไม่หวั่นไหว ในโอภาสเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระอานนท-
เถระเมื่อแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถาว่า อิมานิ ทส ฐานานิ ฐานะ ๑๐
ประการเหล่านี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ทส ฐานานิ คือมีโอภาสเป็นต้น.
บทว่า ปญฺญายสฺส ปริจฺจิตา ภิกษุนั้นกำหนดด้วยปัญญา คือ กำหนด
ถูกต้อง อบรมบ่อย ๆ ด้วยปัญญา พ้นจากอุปกิเลส. บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจกุสโล
โหติ เป็นผู้ฉลาด ในความนึกถึงโอภาสเป็นต้น อันเป็นธรรมฟุ้งซ่าน คือ
พระโยคาวจรเป็นผู้กำหนดฐานะ ๑๐ อย่างด้วยปัญญา เป็นผู้ฉลาดด้วยการ
แทงตลอดตามความเป็นจริงแห่งธรรมุทธัจจะ มีประการดังกล่าวแล้วใน
ตอนก่อน. บทว่า น จ สมฺโมหคจฺฉติ ย่อมไม่ถึงความหลงใหล คือ
ไม่ถึงความหลงใหลด้วยการถอนตัณหา มานะและทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ฉลาดใน
ธรรมุทธัจจะ.
บัดนี้ พระอานนทเถระครั้นยังวิธีที่กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน ให้แจ่ม
แจ้งโดยปริยายอื่นอีก เมื่อจะแสดงจึงกล่าวคาถามีอาทิว่า วิกมฺปติเจว กิลิสฺสติ
จิตกวัดแกว่งและเศร้าหมอง. ในบทนั้น พระโยคาวจรมีปัญญาอ่อนย่อมถึงความ
ฟุ้งซ่านในโอภาสเป็นต้น และความเกิดแห่งกิเลสที่เหลือ. พระโยคาวจรมีปัญญา
ปานกลาง ย่อมถึงความฟุ้งซ่าน ไม่ถึงความเกิดแห่งกิเลสที่เหลือ พระโยคาวจร
นั้นย่อมเป็นผู้มีมานะจัด. พระโยคาวจรมีปัญญาคมกล้า แม้ถึงความฟุ้งซ่าน
ก็ยังละมานะจัดนั้นแล้วปรารภวิปัสสนา. ส่วนพระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้า
ยิ่งนัก จะไม่ถึงความฟุ้งซ่าน และไม่ถึงความเกิดขึ้นแห่งกิเลสที่เหลือ. บทว่า
วิกมฺปติ เจว ย่อมกวัดแกว่ง ได้แก่ บรรดาพระโยคาวจรเหล่านั้น พระโยคาวจร
ผู้มีปัญญาอ่อนย่อมถึงความฟุ้งซ่าน คือ ธรรมุทธัจจะ. บทว่า กิลิสฺสติ จ
ย่อมเศร้าหมอง คือ ย่อมเศร้าหมอง ด้วยกิเลส คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ.
ความว่า ย่อมเดือดร้อน ถูกเบียดเบียน. บทว่า จวติ จิตฺตภาวนา จิต
เคลื่อนจากจิตภาวนา คือ เคลื่อนจากจิตภาวนา คือ วิปัสสนาของพระโยคาวจร
นั้นผู้มีปัญญาอ่อน เพราะไม่กำจัดความเป็นปฏิปักษ์จากฐานะในกิเลสทั้งหลาย
นั่นเอง อธิบายว่า ตกไป. บทว่า วิกมฺปติ กิลิสฺสติ จิตย่อมกวัดแกว่ง
เศร้าหมอง คือ พระโยคาวจรผู้มีปัญญาปานกลาง ย่อมกวัดแกว่ง ด้วยความ
ฟุ้งซ่าน ย่อมไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส. บทว่า ภาวนา ปริหายติ ภาวนา
ย่อมเสื่อมไป คือ วิปัสสนาย่อมเสื่อม อธิบายว่า เป็นไปไม่ได้ โดยไม่มีการ
เริ่มวิปัสสนา เพราะพระโยคาวจรผู้มีปัญญาปานกลางนั้นมีมานะจัด. บทว่า
วิกมฺปติ กิลิสฺสติ แม้พระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้า ก็ย่อมกวัดแกว่ง
ด้วยความฟุ้งซ่าน ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส. บทว่า ภาวนา น ปริหายติ
ภาวนาย่อมไม่เสื่อม คือ พระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้านั้น เมื่อยังมีความ
ฟุ้งซ่าน วิปัสสนาภาวนาย่อมไม่เสื่อม คือ ยังเป็นไปได้ เพราะยังมีการละความ
ฟุ้งซ่านแห่งมานะจัดนั้น แล้วเริ่มวิปัสสนา.
บทว่า น จ วิกฺขิปฺปติ จิตฺตํ น กิลิสฺสติ จิตไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่เศร้าหมอง คือ จิตของพระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้ายิ่งนัก ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน
ด้วยความฟุ้งซ่าน และไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลาย. บทว่า น จวติ
จิตฺตภาวนา จิตย่อมไม่เคลื่อนจากจิตภาวนา คือ ไม่เคลื่อนจากจิตภาวนาคือ
วิปัสสนาของพระโยคาวจรนั้น อธิบายว่า ตั้งอยู่ในที่เดิม เพราะไม่มีกิเลส
อันทำให้ฟุ้งซ่าน.
ด้วยฐานะอันเป็นเหตุหรือเป็นการกระทำ ๔ เหล่านี้ ซึ่งท่านกล่าวไว้
ในบัดนี้ ในบทมีอาทิว่า อิเมหิ จตูหิ ฐาเนหิ ด้วยฐานะ ๔ เหล่านี้
พระโยคาวจรที่ ๔ เป็นผู้ฉลาด มีปัญญามาก มีใจอันความหดหู่และความ
ฟุ้งซ่านแห่งจิตกั้นไว้ในฐานะ ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น เป็นผู้ปราศจากความเกิดขึ้น
แห่งกิเลสอันทำให้ฟุ้งซ่าน ย่อมรู้โดยประการต่าง ๆ ว่า พระโยคาวจร ๓ มี
พระโยคาวจรปัญญาอ่อนเป็นต้น ย่อมมีใจเป็นอย่างนี้และอย่างนี้ เพราะเหตุ
นั้น พึงทราบการพรรณนาอรรถโดยการสัมพันธ์ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า สงฺเขโป ความหดหู่ พึงทราบความที่จิตหดหู่ด้วยสามารถ
ความเกิดฟุ้งซ่านและกิเลสทั้งหลาย. บทว่า วิกฺเขโป ความฟุ้งซ่านคือพึง
ทราบความที่จิตฟุ้งซ่านด้วยสามารถแห่งความฟุ้งซ่านดังกล่าวแล้วในฐานะทั้ง
หลาย ๒ ว่า วิกมฺปติ กิลิสฺสติ จิตย่อมกวัดแกว่งเศร้าหมอง ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาธรรมุทธัจจวารนิเทศ