ไปหน้าแรก

อุทิศทักษิณาให้แก่เทวดา

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 258

พราหมณ์สุนีธะและวัสสการะถวายภัตตาหาร

[๘๓] ครั้งนั้นแล พราหมณ์สุนีธะและวัสสการะ มหาอำมาตย์ของ

แคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นชื่นชมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า

กล่าวถ้อยคำน่าชื่นชมควรรำลึกถึงกันแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ด้านหนึ่ง พราหมณ์

สุนีธะและวัสสการะ มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ ผู้นั่งอยู่ ณ ด้านหนึ่งแล ได้

กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุ-

สงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร สำหรับวันนี้เถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงรับด้วยดุษณีภาพ พราหมณ์สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ

ครั้นทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว จึงเข้าไปยังเรือนรับรองของตน

แล้วสั่งให้ตกแต่งของควรเคี้ยวของควรบริโภคอย่างประณีตไว้ในเรือนรับรอง

ของตน แล้วให้กราบทูลกาลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดม

ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว.

ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งสบง ทรงถือ

บาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จดำเนินเข้าไปเรือนรับรองของ

พราหมณ์สุนีธะแสะวัสสการะ มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธแล้วประทับนั่งบน

อาสนะที่เขาปูไว้ ครั้งนั้นแล พราหมณ์สุนีธะและวัสสการะ มหาอำมาตย์ของ

แคว้นมคธอังคาส เลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยของควรเคี้ยว

ควรบริโภคอย่างประณีตด้วยมือของตน ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ

ทรงวางพระหัตถ์ลงจากบาตร พราหมณ์สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์ของ

แคว้นมคธ ถือเอาอาสนะต่ำที่ใดที่หนึ่งแล้วนั่งอยู่ ณ ด้านหนึ่ง พระผู้มี

พระภาคเจ้าทรงอนุโมทนากะพราหมณ์สุนีธะและวัสสการะ มหาอำมาตย์ของ

แคว้นมคธผู้นั่งอยู่ ณ ด้านหนึ่ง ด้วยพระคาถาเหล่านี้ ว่า

[๘๔] บุรุษผู้มีเชื้อชาติบัณฑิต เข้าไปอยู่ใน

ประเทศใด พึงเชิญท่านพรหมจารี

ทั้งหลายผู้มีศีล ผู้สำรวมให้บริโภคใน

ประเทศนั้น แล้วอุทิศทักษิณาให้แก่

เทวดาทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ในประเทศนั้น

เทวดาทั้งหลายเหล่านั้น อันบุรุษนั้นบูชา

แล้ว ย่อมบูชาตอบ นับถือแล้ว ย่อม

นับถือตอบ ซึ่งบุรุษนั้น เพราะเหตุนั้น

เทวดาทั้งหลายจะอนุเคราะห์บุรุษเชื้อชาติ

บัณฑิตนั้น เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตร

ของตน บุรุษผู้ซึ่งเทวดาอนุเคราะห์แล้ว

จะประสบแต่สิ่งเจริญทั้งหลายในกาล

ทุกเมื่อ . __


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 372

บทว่า สีลวนฺเตตฺถ ตัดเป็น สีลวนฺเต เอตฺถ. บทว่า สญฺญเต

ได้แก่ ผู้สำรวมด้วยกายวาจาใจ. บทว่า ตาสํ ทกฺขิณมาทิเส ความว่า พึง

อุทิศปัจจัยสี่ที่ถวายสงฆ์คือพึงให้ส่วนบุญแก่เทวดาประจำเรือนเหล่านั้น. บทว่า

ปูชิตา ปูชยนฺติ ความว่า เทวดาย่อมอารักขาด้วยดี ด้วยสั่งว่าผู้คนเหล่านี้

แม้ไม่ใช่ญาติของเรา ก็ยังให้ส่วนบุญแก่พวกเราถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พวก

ท่านจงจัดการอารักขาด้วยดี. บทว่า มานิตา มานยนฺติ ความว่า เทวดา

ทั้งหลายที่เหล่าผู้คนนับถือด้วยการทำพลีกรรมตามกาลสมควร จึงนับถือ คือ

กำจัดอันตรายที่เกิดขึ้น ด้วยเห็นว่าผู้คนเหล่านี้ แม้ไม่ใช่ญาติของพวกเราก็ยัง

ทำพลีกรรมแก่พวกเราในช่วงสี่เดือนหกเดือน. บทว่า ตโต นํ ได้แก่ แต่นั้น

เทวดาก็ย่อมอนุเคราะห์คนผู้บัณฑิตนั้น. บทว่า โอรสํ ได้แก่ วางไว้ที่อกให้

เจริญเติบโต. อธิบายว่า ย่อมอนุเคราะห์เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิด

แต่อก พยายามกำจัดอันตรายที่เกิดขึ้นฉะนั้น. บทว่า ภนฺรานิ ปสฺสติ

แปลว่า เห็นสิ่งที่ดี.