ไปหน้าแรก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 66

. อุณณาภพราหมณสูตร

อินทรีย์ ๕ มีอารมณ์ต่างกัน

[๙๖๖] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้-

มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการ

ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้

ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[๙๖๗] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์

ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕

ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑

กายินทรีย์ ๑ อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์

ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และอะไร

ย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้.

[๙๖๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ อินทรีย์ ๕

ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจร

ของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑

ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕

ประการนี้ ซึ่งมีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจร

ของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้.

[๙๖๙] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจเล่า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ.

[๙๗๐] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติเล่า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ วิมุตติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ.

[๙๗๑] อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุตติเล่า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุตติ.

อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งนิพพานเล่า.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่

สุดแห่งปัญญาได้ ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว มีนิพพานเป็นที่หยั่ง

ลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.

[๙๗๒] ครั้งนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำ

ประทักษิณแล้วหลีกไป.

[๙๗๓] ครั้นอุณณาภพราหมณ์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

[๙๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรือนยอดหรือศาลาคล้ายเรือนยอด มี

หน้าต่างในทิศเหนือหรือทิศตะวันออก เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงส่องเข้าไป

ทางหน้าต่างตั้งอยู่ที่ฝาด้านไหน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ตั้งอยู่ที่ฝาด้าน

ตะวันตก พระเจ้าข้า.

พ. อย่างนั้น เหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาในพระตถาคตของ

อุณณาภพราหมณ์มั่นคงแล้ว มีรากเกิดแล้ว ตั้งอยู่มั่นแล้ว อันสมณพราหมณ์

เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกจะพึงชักนำไปไม่ได้ ถ้าอุณณาภ-

พราหมณ์ พึงทำกาละในสมัยนี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ซึ่งเป็นเครื่องประกอบ

ให้อุณณาภพราหมณ์ต้องมายังโลกนี้อีก.

จบอุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒

อรรถกถาอุณณาภพราหมสูตร

อุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒ .

คำว่า โคจรวิสยํ ได้แก่อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไป (ของจิต). คำว่า ของกันและกัน คือ อินทรีย์อย่างหนึ่งย่อมไม่เสวยอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง เช่นตาจะเสวยอารมณ์แทนหูไม่ได้ หรือหูจะเสวยอารมณ์แทนตา (ก็ไม่ได้) จริงอยู่ หากจะเอาอารมณ์คือรูปที่แตกต่างกันด้วยสีเขียวเป็นต้น มารวมกันแล้วก็ป้อนเข้าไปให้โสตินทรีย์ว่า เอาสิ

แกลองชี้แจงมันมาให้แจ่มแจ้งทีว่า นี่มันชื่ออารมณ์อะไรกัน ? จักษุวิญญาณ

แม้จะยกเอาปากออกแล้ว ก็จะต้องพูดโดยธรรมดาของตนอย่างนี้ว่า เฮ้ย !

ไอ้บอดโง่ ต่อให้แกวิ่งวุ่นตั้งร้อยปี พันปีก็ตาม นอกจากข้าแล้ว แกจะได้

ผู้รู้อารมณ์นี้ที่ไหน แกลองนำเอามันมาป้อนเข้าไปที่จักษุประสาทสิ ข้าจะ

รู้จักอารมณ์ ไม่ว่ามันเป็นสีเขียวหรือสีแดง เพราะนี่มันมิใช่วิสัยของผู้อื่น

แต่มันเป็นวิสัยของข้าเองเท่านั้น . แม้ในทวารที่เหลือก็ทำนองนี้แหละ อินทรีย์

เหล่านี้ ชื่อว่าไม่เสวยอารมณ์ของกันและกันดังที่ว่ามานี้.

คำว่า กึ ปฏิสรณํ คือ ท่านถามว่า อะไรเป็นที่พึ่งอาศัยของอินทรีย์เหล่านี้ คืออินทรีย์เหล่านี้พึ่งอะไร. คำว่า มโน ปฏิสรณํ คือใจที่เป็นชวนะ (แล่นไปเสพอารมณ์) เป็นที่พึ่งอาศัย. คำว่า มโน จ เนสํ ความว่า ใจนั่นแล ที่แล่นไปตามมโนทวารนั่นแหละ ย่อมเสวยอารมณ์ของอินทรีย์เหล่านั้น ด้วยอำนาจความรักเป็นต้น. จริงอยู่ จักษุวิญญาณ เห็นแต่รูปเท่านั้นเอง ความรักความโกรธหรือความหลงในความรู้แจ้งทางตานี้หามีอยู่ไม่ แต่ชวนะในทวารหนึ่ง ย่อมรัก โกรธ หรือหลง. แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. ในเรื่องนั้นมีข้อเปรียบเทียบดังนี้.

เล่ากันว่า มีกำนันทุรพล ๕ คน ด้วยความยากลำบาก คบพระราชา

ได้ส่วยเล็กน้อยในหมู่บ้าน ๕ ตระกูลแห่งหนึ่ง ในหมู่บ้านนั้น พวกเขาได้

รับของเพียงเท่านี้เองคือ ส่วนปลา ส่วนเนื้อ กหาปณะพอซื้อเชือกได้

กหาปณะกึ่งเดียว กหาปณะมีค่าหนึ่งมาสก กหาปณะแปดเหรียญ กหาปณะ

๑๖ เหรียญ กหาปณะ ๖๘ เหรียญ และการปรับ (หรือลงโทษสถานเบา ๆ).

พระราชาเท่านั้น ทรงรับเอาส่วยใหญ่โต มีวัตถุตั้งร้อยอย่าง ห้าร้อยอย่าง พัน

อย่าง. ในเรื่องเปรียบเทียบนั้น พึงเห็นประสาททั้ง ๕ เหมือนหมู่บ้านของ ๕

ตระกูล วิญญาณทั้ง ๕ เหมือนกำนันทุรพล ๕ คน ชวนะเหมือนพระราชา

หน้าที่สักว่า เห็นรูปเป็นต้นของจักขุวิญญาณเป็นต้น เหมือนการรับส่วย

เล็กน้อยของพวกกำนันทุรพล แต่ความกำหนัดเป็นต้นไม่มีในจักษุวิญญาณ

เป็นต้น นี้ พึงทราบว่าความกำหนัดเป็นต้นเป็นเรื่องของชวนะในทวารเหล่านั้น

เหมือนการทรงรับเอาส่วยใหญ่โตของพระราชา. ชวนะทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

ท่านเรียกว่าใจ ในที่นี้ ดังที่ว่ามานี้. คำว่า สติ ปฏิสรณํ ได้แก่ ความ

ระลึกในมรรค เป็นที่พึ่งอาศัย. จริงอยู่ ใจที่เป็นชวนะ ย่อมพึ่งอาศัยความ

ระลึกในมรรค. คำว่า วิมุตฺติ คือ ความหลุดพ้นด้วยอำนาจผล. คำว่า

นิพพาน คือนิพพานเป็นที่พึ่งอาศัยของความหลุดพ้นด้วยอำนาจผล เพราะ

ความหลุดพ้นนั้นย่อมอาศัยนิพพานนั้น. คำว่า ไม่อาจถือเอาที่สุดของ

ปัญหาได้ คือ ไม่สามารถถือเอาประมาณอันเป็นขั้นตอนของปัญหาได้

ท่านถามสิ่งซึ่งหาที่พึ่งพาอาศัยมิได้ว่า มีที่พึ่งพาอาศัย ธรรมดาว่านิพพานนี้

ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัย คือ ไม่พึ่งพาอาศัยอะไร ๆ ด้วยประการฉะนี้. คำว่า

นิพฺพาโนคธํ คือ หยั่งลงไปภายในนิพพาน เข้าไปตามนิพพาน. คำว่า

พรหมจรรย์ หมายถึงมรรคพรหมจรรย์. คำว่า มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า

คือนิพพานเป็นที่ไปข้างหน้า คือเป็นคติเบื้องหน้าของพรหมจรรย์นั้น

หมายความว่า นอกจากนิพพานนั้น พรหมจรรย์นั้นไม่ไปที่อื่น (อีกแล้ว).

ที่ชื่อว่า มีนิพพานเป็นที่สุด ก็เพราะนิพพานเป็นที่ลงท้ายคือเป็นที่สุดของ

พรหมจรรย์นั้น.

ท่านเรียกความเชื่อที่มาด้วยกันกับมรรคว่า รากตั้งมั่นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาอะไร จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย หากในสมัยนี้ ทรงหมายเอาความเป็นอนาคามีที่ประกอบด้วยฌาน. จริงอย่างนั้น ในสมัยนั้นจิตที่เป็นอกุศลทั้ง ๕ ดวงเป็นสภาพที่พราหมณ์ละได้แล้ว ด้วยมรรคแรกนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ละได้แล้วด้วยฌานที่ ๑ เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งอนาคามีที่ประกอบด้วยฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน ตายไปก็ต้องปรินิพพานในที่นั้นนั่นแหละ แต่ถ้าเมื่อพราหมณ์ปกครองลูกเมีย จัดการจัดงานอยู่ ฌานหายไป เมื่อฌานหายไปแล้ว คติก็ไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เมื่อฌานไม่หาย คติจึงจะเกี่ยวเนื่องกัน เพราะฉะนั้น จึงตรัสหมายเอาความเป็นอนาคามีที่ประกอบด้วยฌานนี้ อย่างนี้.

จบอรรถกถาอุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒