พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 204
๘ . ปฐมเจตนาสูตร
ว่าด้วยความเกิดและดับกองทุกข์
[๑๔๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิด
ถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมี
อารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว
เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพ
ใหม่ต่อไป ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้น
เป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความ
ตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความ
บังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติ
ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิด
แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๑๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และ
ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อไม่มีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อ
วิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป
จึงไม่มี เมื่อความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปไม่มี ชาติ ชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์
ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
จบปฐมเจตนาสูตรที่ ๘
อรรถกถาปฐมเจตนาสูตรที่ ๘
พึงทราบวินิจฉัยในเจตนาสูตรที่ ๘ ต่อไป.
ข้อว่า ยญฺจ ภิกฺขเว เจเตติ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ
สิ่งใด" อธิบายว่า ย่อมจงใจ คือยังความจงใจใดให้เป็นไป. ข้อว่า ยญฺจ
ปกปฺเปติ "ย่อมดำริสิ่งใด อธิบายว่า ย่อมดำริ คือยังความดำริใดให้เป็น
ไป. ข้อว่า "ยญฺจ อนุเสติ ย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด" อธิบายว่า ย่อมครุ่นคิด
คือยังความครุ่นคิดใดให้เป็นไป. ก็ในข้อความนี้ ความจงใจอันเป็นกุศล
และอกุศล ที่เป็นไปในภูมิ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาว่า ย่อม
จงใจ ความดำริด้วยตัณหาและทิฏฐิในจิตอันเกิดพร้อมด้วยโลภะ ๘ ดวง
ทรงถือเอาว่า ย่อมดำริ. ความครุ่นคิด ทรงถือเอาด้วยที่สุดแห่งเจตนา
๑๒ ที่เกิดพร้อมกัน และด้วยที่สุดแห่งอุปนิสัยว่า ย่อมครุ่นคิด. ข้อว่า
" อารมฺมณเมตํ โหติ สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย" ได้แก่ ธรรมชาติ
มีเจตนาเป็นต้นนี้ เป็นปัจจัย. และปัจจัยทรงประสงค์เอาว่า อารมณ์ใน
ที่นี้. ข้อว่า "วิญฺญาณสฺส ิติยา เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ" คือ
เพื่อความตั้งอยู่แห่งกรรมวิญญาณ. ข้อว่า "อารมฺมเณ สติ เมื่อมี
อารัมมณปัจจัย ได้แก่ เมื่อปัจจัยนั้นมีอยู่. บทว่า ปติฏฺฐา วิญฺญาณสฺส
โหติ ความว่า ย่อมเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งกรรมวิญญาณนั้น. บทว่า ตสฺมึ
ปติฏฺฐิเต วิญฺญาเณ ได้แก่ เมื่อกัมมวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว. บทว่า
"วิรุฬฺเห เจริญขึ้นแล้ว" ได้แก่ เมื่อเกิดมูลเหตุแห่งการบังเกิด เพราะ
สามารถให้กรรมทรุดโทรมไปแล้วชักปฏิสนธิมา. บทว่า "ปุนพฺภวา-
ภินิพฺพตฺติ " แปลว่า ความบังเกิด กล่าวคือภพใหม่. ขณะที่ความ
จงใจอันเป็นไปในภูมิ ๓ ไม่เป็นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยคำนี้
ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่จงใจ" ขณะที่ความดำริเรื่องตัณหา
และทิฏฐิไม่เป็นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยคำว่า "โน จ ภิกฺขเว
เจเตติ ก็ภิกษุไม่ดำริ," ด้วยบทว่า โน จ ปกปฺเปติ ท่านกล่าวถึงขณะ
แห่งความดำริด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิไม่เป็นไป. กิริยาที่เป็นกามาพจร
คือความครุ่นคิด ในวิบากอันเป็นไปในภูมิ ๓ ทรงถือเอาด้วยคำว่า
"อนุเสติ ย่อมครุ่นคิด." ในคำว่า "อนุเสติ" นี้ ทรงถือเอาผู้ที่ยัง
ละความครุ่นคิดไม่ได้. ข้อว่า "อารมฺมณเมตํ โหติ อารัมมณปัจจัยนั้น
ย่อมมี" หมายความว่าเมื่อความครุ่นคิดมีอยู่ ความครุ่นคิดนั้นจึงเป็น
ปัจจัย (แห่งกัมมวิญญาณ) โดยแท้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งกัมมวิญญาณ
เป็นสิ่งที่ใครห้ามไม่ได้.
ในบทว่า "โน จ เจเตติ ก็ภิกษุไม่จงใจ" เป็นต้น กุศล-
เจตนาและอกุศลเจตนาอันเป็นไปในภูมิ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน
บทที่ ๑. ตัณหาและทิฏฐิในจิต ๘ ดวง ตรัสไว้ในบทที่ ๒. ความครุ่นคิด
ที่บุคคลครุ่นคิด โดยที่สุดที่ยังละไม่ได้ในธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ตรัส
ไว้ในบทที่ ๓.
อีกอย่างหนึ่ง เพื่อมิให้ฉงนในพระสูตรนี้ ควรทราบหมวด ๔
ดังนี้คือ ย่อมจงใจ ย่อมดำริ ย่อมครุ่นคิด หมวด ๑. ย่อมไม่จงใจ
แต่ดำริ และครุ่นคิด หมวด ๑. ย่อมไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ครุ่นติด
หมวด ๑. ย่อมไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิด หมวด ๑. ในหมวด ๔
นั้น การกำหนดธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในนัยที่ ๑.
กุศลเจตนาอันเป็นไปในภูมิ ๓ และอกุศลเจตนา ๔ ทรงถือเอาว่า
"จงใจ" ในนัยที่ ๒. ตัณหาและทิฏฐิในจิต ๘ ดวง ทรงกล่าวว่า
"ไม่ดำริ" ความครุ่นคิด โดยที่สุดแห่งอุปนิสับในกุศลอันเป็นไปใน
ภูมิ ๓ ก็ดี โดยที่สุดแห่งปัจจัยที่เกิดพร้อมกันในอกุศลเจตนา ๔ ก็ดี
โดยที่สุดแห่งอุปนิสัยก็ดี ทรงถือเอาว่า "อนุสโย ครุ่นคิด." กุศลและ
อกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทรงกล่าวว่า "ไม่จงใจ" ในนัยที่ ๓. ตัณหาและ
ทิฏฐิในจิต ๘ ดวง ทรงกล่าวว่า "ไม่ดำริ" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
ห้ามจิตที่มาในพระสูตร แล้วทรงถือเอาอุปนิสัยโดยที่สุดที่ยังละไม่ได้ ใน
กุศลจิต อกุศลจิต วิปากจิต กิริยาจิต ที่เป็นไปในภูมิ ๓ และรูป
ด้วยคำว่า "ย่อมครุ่นคิด." นัยที่ ๔ เช่นกับนัยก่อนแล.
บทว่า ตทปฺปติฏฺฐิเต แปลว่า เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมนแล้ว.
บทว่า "อวิรุฬฺเห ไม่เจริญขึ้นแล้ว" ได้แก่ เมื่อเกิดมูลแห่งการไม่
บังเกิด เพราะสามารถให้กรรมทรุดโทรมแล้วชักปฏิสนธิมา. ถามว่า
ก็ในวาระที่ ๓ นี้ท่านกล่าวถึงอะไร. แก้ว่า กล่าวถึงกิจของอรหัตมรรค.
จะกล่าวว่า การกระทำกิจของพระขีณาสพบ้าง นวโลกุตรธรรมบ้าง
ก็ควร. แต่ในวาระนี้ มีอธิบายว่า ระหว่างวิญญาณกับภพใหม่ในอนาคต
เป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างเวทนากับตัณหาเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่าง
ภพกับชาติเป็นสนธิอันหนึ่ง.
จบอรรถกถาปฐมเจตนาสูตรที่ ๑
๙ . ทุติยเจตนาสูตร
ว่าด้วยความเกิดดับแห่งกองทุกข์
[๑๔๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส
ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณ-
ปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญ
ขึ้นแล้ว ความหยั่งลงแห่งนามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมี
สฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย
จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข-
โทนนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย
ประการอย่างนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณ-
ปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญ
ขึ้นแล้ว ความหยั่งลงแห่งนามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมี
สฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย
จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข -
โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประ-
การอย่างนี้.
[๑๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และ
ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อไม่มีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อ
วิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญขึ้นแล้ว ความหยั่งลงแห่งนามรูปจึง
ไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ
ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและ
อุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
อย่างนี้.
จบทุติยเจตนาสูตรที่ ๙
อรรถกถาทุติยเจตนาสูตรที่ ๙
ในทุติยเจตนาสูตรที่ ๙ มีอธิบายว่า ระหว่างวิญญาณกับนามรูป
เป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างเวทนากับตัณหาเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างภพ
กับชาติเป็นสนธิอันหนึ่ง ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาทุติยเจตนาสูตรที่ ๙
๑๐ . ตติยเจตนาสูตร
ว่าด้วยความเกิดและดับกองทุกข์
[๑๔๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส
ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และย่อมครุ่นคิดถึง
สิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมี
อารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว
เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงมี เมื่อมีตัณหา คติในการเวียนมาจึงมี เมื่อมีคติ
ในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงมี เมื่อมีจุติและอุปบัติ ชาติชราและมรณะ
โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
นี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ
แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณ
นั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงมี เมื่อมีตัณหา คติในการเวียน
มาจึงมี เมื่อมีคติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึงมี เมื่อมีจุติและอุปบัติ
ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้น
แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๑๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และ
ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่ง
วิญญาณ เมื่อไม่มีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อ
วิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาจึงไม่มี เมื่อไม่มีตัณหา
คติในการเวียนมาจึงไม่มี เมื่อไม่มีคติในการเวียนมา จุติและอุปบัติจึง
ไม่มี เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข-
โทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี
ด้วยประการอย่างนี้.
จบตติยเจตนาสูตรที่ ๑๐__