ไปหน้าแรก

คำนำ

(เมื่อพิมพ์ครั้งแรก)

วิสุทธิมรรค เป็นปกรณ์พิเศษที่พระเถระชาวชมพูทวีปผู้มี

ชื่อเสียงรูปหนึ่งได้รจนาขึ้น เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้ประมาณ

๑,๐๐๐ ปี ที่ลังกาทวีป พระเถระรูปนี้คือ พระพุทธโฆสะ เป็นที่รู้จักกัน

มากในเมืองไทย และในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง เพราะ

ท่านได้ทำหนังสือทางพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษามคธไว้มาก งานใหญ่

ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงเราทั้งหลาย ก็คือ งานแปลคัมภีร์อรรถกถา

พระไตรปิฎกจากภาษาสีหฬเป็นภาษามคธ หรือ ภาษาบาลี ในเมือง

ไทยได้เรียนคัมภีร์ที่ท่านทำไว้เป็นภาษามคธตั้งแต่ประโยค ๓ คือ

อรรถกถาธรรมบท จนถึงประโยค ๙ คือวิสุทธิมรรค โดยเฉพาะ

หนังสือวิสุทธิมรรคเป็นเรื่องที่นิยมศึกษากันมาก นับถือว่าเป็นปกรณ์

สำคัญปกรณ์หนึ่ง เพราะท่านพระพุทธโฆสะได้ประมวลธรรมในพระ

ไตรปิฎก มาแสดงไว้เป็นหมวด ๆ ตั้งแต่ศีล และสมาธิ ปัญญา โดย

ลำดับ วิธีแต่งเหมือนอย่างแต่งกระทู้ หรือเรียงความแก้กระทู้ธรรม

ในปัจจุบัน คือขยายความย่อให้พิสดาร บทกระทู้ของวิสุทธิมรรค ว่า

ด้วยไตรสิกขา ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น นับว่าเป็น

บทกระทู้ของหัวใจการปฏิบัติธรรมทีเดียว ท่านพระพุทธโฆสะแต่ง

อธิบายโดยวิจิตรพิสดารอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้อ้างพระพุทธ-

วจนะเป็นอาคตสถานไว้ในที่นั้น ๆ ทั่วไป แสดงว่าท่านมีความรู้

แตกฉานในพระไตรปิฎก สามมารถยกเอาธรรมที่ว่าด้วยศีล มารวมไว้

ในหมวดศีล ยกเอาธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิมารวมไว้ในหมวดสมาธิ

ยกเอาธรรมที่กล่าวถึงปัญญามารวมไว้ในหมวดปัญญา โดยปันออก

เป็นนิเทศ ๆ รวมทั้งหมด ๒๓ นิเทศ และประวัติแห่งการแต่ง

วิสุทธิมรรคปกรณ์ของท่านก็คล้ายกับการแต่งสอบไล่ เพราะพระเถระ

ชาวสีหฬได้ออกกระทู้ให้ท่านแต่งดูก่อน เมื่อท่านทำได้เป็นที่พอใจ

จึงจะยอมยกคัมภีร์อรรถกถาภาษาสีหฬ ให้ท่านแปลเป็นภาษามคธต่อ

ไป ท่านพระพุทธโฆสะได้ทำสำเร็จอย่างรวดเร็วและดียิ่ง เป็นที่พอใจ

ของพระเถระชาวสีหฬทั้งปวง ฉะนั้น คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้จึงเป็นวิทยา-

นิพนธ์สอบความรู้ของท่านพระพุทธโฆสะ ที่รับรองกันว่า เป็นชั้นเยี่ยม

มาตั้งแต่เบื้องต้น และเป็นที่รับรองกันในหมู่นักศึกษาตลอดมา

วิสุทธิมรรคปกรณ์นี้ แม้จะได้ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติ-

ธรรมแผนกภาษาบาลีแห่งคณะสงฆ์ประเทศไทยมานาน แต่สำนวน

แปลเป็นภาษาไทยยังมีน้อย และที่เป็นหลักฐานก็มีเพียงบางตอนที่เป็น

การแปลเฉลยข้อสอบสนามหลวง นักเรียนต้องคัดลอกจากผู้ได้รวบรวม

ไว้มาศึกษากัน จะอาศัยสำนวนที่แปลกันภายนอกของแต่ละบุคคลก็ไม่

ค่อยให้ความแน่ใจนัก มหามกุฎราชวิทยาลัยได้ปรารภจะให้มีฉบับแปล

ของมหากุฎ ฯ เพื่อเป็นอุปกรณ์การศึกษาและเพื่อให้เป็นหนังสืออ่าน

ได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่มุ่งหาความรู้ และเป็นคู่มือในการปฏิบัติพระพุทธ-

ศาสนา จึงได้ขอให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิมากท่านช่วยกันแปลและตรวจแก้

เพื่อให้เป็นฉบับแปลของมหามกุฎราชวิทยาลัย บัดนี้ได้ทำเสร็จ ๒ นิเทศ

คือสีลนิเทศ และ ธุดงคนิเทศ รวมเข้าเป็นตอนที่หนึ่ง กำลังแปล

และตรวจพิมพ์นิเทศต่อไปโดยลำดับ

มหามกุฎราชวิทยาลัย ขอขอบคุณท่านผู้ได้ช่วยแปลช่วยตรวจ

และผู้ที่ได้ช่วยในการนี้ทุก ๆ ท่าน ตั้งแต่เบื้องต้นจนสำเร็จเป็นฉบับ

พิมพ์ และขออุทิศน้ำพักน้ำแรงในการทำกิจนี้บูชาคุณท่านพระพุทธ-

โฆสะผู้รจนาวิสุทธิมรรคปกรณ์นี้ และท่านบูรพาจารย์ผู้สืบศาสนา

สั่งสอนมาโดยลำดับ จนถึงบุคคลในรุ่นนี้สามารถเรียนแปลออกมาเป็น

ภาษาไทยได้

มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สิงหาคม ๒๕๐๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 1

ปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

ภาค ๑ ตอน ๑

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง

โดยชอบ พระองค์นั้น

[ พรรณนาความแห่งปัญหาพยากรณ์

"ภิกษุผู้เป็นคนฉลาด มีความเพียร มีปัญญาบริหาร

ตน ตั้งอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิตและปัญญาตั้งอยู่ นั้น

พึงถางชัฏนี้ได้แล*"

คำดังนี้นี่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้. ก็เหตุไฉนตรัสคำนี้ ?

ได้ยินว่า เทพบุตรองค์หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ

ประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ในเวลาตอนกลางคืน ทูลถามปัญหานี้ เพื่อ

ถอนความสงสัยของตนว่า

"ธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นชัฏทั้งภายใน ชัฏทั้งภาย

นอก ประชาชนถูกชัฏ (นั้น) เกี่ยวสอดไว้แล้ว

ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอทูลถาม

พระองค์ ใครจะพึงถางชัฏนี้ได้."

อรรถกถาธิบายย่อแห่งปัญหานั้นต่อไปนี้ :- คำว่าชัฏนี้ เป็นชื่อ

* สํ. ส. ๑๕/๒๐. โบราณท่านนิยมเติมคำเพื่อเข้ากับอิติว่า พระคาถานี้ว่า "ภิกษุผู้. . ชัฏนี้

ได้" ดังนี้ ซึ่งนับเนื่องในชฏาสูตร อันพระพุทธโฆษาจารย์ชักมาตั้งไว้แล้วในกาลเป็นที่เริ่มปกรณ์นี้

เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นบทกระทู้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 2

ของตัณหา ซึ่งเป็นธรรมชาติมีข่าย แท้จริง ตัณหานั้นได้ชื่อว่าชัฏ

เพราะเป็นดุจชัฏ กล่าวคือข่ายแห่งกิ่งของต้นไม้ (ที่มีกิ่งเป็นข่าย)

ทั้งหลาย มีกอไผ่เป็นต้น ด้วยอรรถว่าเกี่ยวประสานไว้ เพราะเกิดขึ้น

แล้ว ๆ เล่า ๆ ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น โดยเป็นไปในทั้งอารมณ์

ชั้นต่ำและอารมณืชั้นสูง.*

ก็ตัณหานี้นั้น เทพบุตรเรียกว่า "ชัฏทั้งภายใน ชัฏทั้งภายนอก"

เพราะมันเกิดขึ้นทั้งในบริขารของตน และบริขารของผู้อื่น ทั้งใน

*เหฏฺฐูปริยวเสน. มหาฎีกา ให้ถือเอาความว่า ลางคราวเป็นไปในรูปอารมณ์ ลางคราวเป็นไป

ในอารมณ์ที่เหลือจนถึงธรรมารมณ์ ลางคราวเป็นไปในธรรมารมณ์ ลางคราวเป็นไปในอารมณ์

โดยลำดับจนถึงรูปารมณ์ หรือลางครั้งเป็นไปในกามภพ ลางครั้งในรูปภพ ลางครั้งในรูปภพ

หรือ ลางครั้งเป็นไปในอรูปภพ - ในรูปภพ - ในกามภพ ตามมติท่านฎีกาจารย์นี้ ดูเหมือนจะให้

ถือว่า รูปารมณ์เป็นต่ำ เลื่อนขึ้นไปโดยลำดับจนถึงธรรมารมณ์เป็นสูง และกามภพเป็นต่ำ

อรูปภพเป็นสูง เข้าใจว่า ท่านจะหมายถึงหยาบละเอียดกว่ากันกระมัง.

น่าเห็นว่า สำหรับอารมณ์ ๖นั้น หมายเอาความต่ำสูงซึ่งมีอยู่ในตัวของมันแต่ละ

อย่างนั่นเอง เช่นรูปที่หยาบ เลว นับเป็นชั้นต่ำ รูปที่ละเอียด ประณีต นับเป็นชั้นสูง

ทั้งนี้อาศัยนัยพระบาลีเช่นบาลีอนัตตลักขณสูตร ตอนนิเทศปัญจขันธ์ว่า ยงฺกิญจิ รูปํ. . . . โอฬาริกํ

วา สุขุมํ วา หีนํ วา ปณตํ วา (รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง. . . หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือ

ประณีตก็ตาม) ดังนี้ อันตัณหานั้นมันไม่เลือกสุดแต่ความยินดีพอใจมีในที่ใด มันก็เกิดขึ้นในที่นั้น

ไม่ว่าที่ต่ำที่สูง มันจึงยุ่งไปหมด ส่วนภพทั้ง ๓ นั้น จะถือเอาความหยาบละเอียดเป็นที่สูงต่ำกว่า

กันก็ชอบอยู่ สมด้วยพระบาลีในติกังคุตตระ สูตรที่ ๗๗ ว่า กามธาตุ เป็น หีนธาตุ, รูปธาตุ

เป็นมัชฌิมธาตุ, อรูปธาตุ เป็น ปณีตธาตุ. บุคคลจะอยู่ในฐานะอย่างไรก็ตาม แต่ตัณหาใน

สันดานของบุคคลนั้น มันหาเป็นไปตามควรแก่ฐานะไม่ มันย่อมเป็นไปสูงบ้าง ต่ำบ้าง ตามความ

ยินดีพอใจ (นนฺทิราคสหคตา) จึงปรากฏว่า มนุษย์ไปเกิดเป็นพรหมและเทวดาก็มี พรหมและ

เทวดากลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ก็มี สับสนกันไปมา มันจึงยุ่ง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 3

อัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น ทั้งในอายตนะภายใน และ

อายตนะภายนอก ประชาชนอันชัฏ (คือตัณหา) ที่เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้

นั้นเกี่ยวสอดไว้แล้ว (รวม) ความว่า ประชา กล่าวคือหมู่สัตว์นี้

แม้ทั้งหมด อันชัฏคือตัณหานั้นเกี่ยวสอด คือรัดรึงตรึงไว้ เหมือน

ต้นไม้ที่มีชัฏทั้งหลายมีไม้ไผ่เป็นอาทิ อันชัฏมีชัฏไผ่เป็นต้นเกี่ยวสอดไว้

ฉะนั้น ก็เพราะเหตุว่าหมู่สัตว์อันชัฏคือตัณหาเกี่ยวสอดไว้อย่างนี้

ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงขอทูลถามพระองค์ ข้อว่า

ตํ ตํ โคตม ปุจฺฉามิ ความว่า เพราะเหตุนั้น* ข้าพเจ้าจึงขอทูลถาม

พระองค์. เทพบุตรออกพระนามพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพระโคตร

ว่า โคตมะ ข้อว่า ใครพึงถางชัฏนี้ได้ คือเทพบุตรทูลถามว่า "ใคร

จะพึงถาง คือใครสามารถจะถางซึ่งชัฏนี้อันเกี่ยวสอดไว้ทั้งไตร (โลก)

ธาตุตั้งอยู่อย่างนี้ได้."

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ท่องเที่ยวไปด้วยพระญาณ อันไม่มีอะไร

ขัดขวางในธรรมทั้งปวง ผู้เป็นของเทพ เป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ เป็น

สักกะยิ่งเหล่าสักกะ เป็นพรหมยิ่งเหล่าเหล่าพรหม เป็นผู้แกล้วกล้าด้วย

เวสารัชญาณ ๔ ผู้ทรงไว้ซึ่งทสพลญาณ ผู้ทรงมีพระญาณหาเครื่อง

กั้นกางมิได้ ผู้ทรงมีสมันตจักษุ อันเทพบุตรทูลถามอย่างนี้แล้ว

เมื่อจะทรงวิสัชนาความนี้แก่เทพบุตรนั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า

*วิธีแปลเช่นนี้ คือเป็นทั้งความเป็นทั้งบทตั้งแล้วแก้ความด้วย นิยมกันไว้ในวิธีแก้อรรถ ยก

ตัวอย่างในอรรถกถาธรรมบท แก้อรรถเรื่องกุมารกสฺสปเถรมาตุวตฺถุ (ภาค ๖/๑๑).. อตฺตานญเจ

ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ ฯ เอวํ สนฺเต สุทนฺโต วต ทเมถาติ เยน: คุเณน ปรํ อนุสาสติ

เตน อตฺตนา สทนฺโต หตฺวา ทเมยฺย ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 4

"ภิกษุผู้เป็นคนฉลาด มีความเพียร มีปัญญา

บริหารตน ตั้งอยู่ในศีลแล้วอบรมจิตและปัญญาอยู่

นั้น พึงถางชัฏนี้ได้" ดังนี้.

บัดนี้ ข้าพเจ้าเมื่อจะพรรณนาเนื้อความอันต่าง

โดยคุณมีศีลเป็นต้น แห่งพระคาถาที่พระผู้แสวง

คุณอันใหญ่ตรัสแล้วนี้ตามที่ถูกต้อง จักกล่าว

วิสุทธิมรรค อันอาศัยนัยแห่งเทศนาของพระเถระ

ฝ่ายมหาวิหาร ซึ่งมีวินิจฉัยอันหมดจดดี เป็นเครื่อง

ปลูกปราโมทย์แก่เหล่าพระโยคีในพระศาสนานี้ ผู้

ได้บรรพชาในศาสนาแห่งพระชินศรีเจ้า อันได้

แสนยากแล้ว เมื่อไม่รู้วิสุทธมรรคอันตรงอันเกษม

อันรวบรวมคุณมีศีลเป็นต้นตามที่ถูกต้อง แม้มุ่ง

ความบริสุทธิ์ แม้พยายามอยู่ ย่อมไม่ลุถึงวิสุทธิ

ได้ ดูกรสาธุชนทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้ากล่าว

วิสุทธิมรรคโดยเคารพ ขอท่านทั้งหลายทั้งปวง

ผู้มุ่งวิสุทธิ จงตั้งใจฟังวิสุทธิมรรคนั้นโดยเคารพ

เทอญ.

บทว่า วิสุทฺธิ ในคำว่า ข้าพเจ้ากล่าววิสุทธิมรรค นั้น พึง

ทราบว่าหมายเอาพระนิพพานอันปราศจากมลทินทั้งปวง อันบริสุทธิ์

แท้จริง ทางแห่งวิสุทธินั้นแลชื่อว่าวิสุทธิมรรค อุบายเป็นเครื่อง

บรรลุ ท่านเรียกว่าทาง ความก็คือข้าพเจ้าจักกล่าวทางแห่งวิสุทธินั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 5

ก็ทางแห่งวิสุทธินั้น ในพระบาลีลางแห่งทรงแสดงเนื่องด้วย

ธรรมเพียงวิปัสสนาอย่างเดียว ดังที่ตรัสว่า

"เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวง

ไม่เที่ยง เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นทาง

แห่งวิสุทธิ๑."

ลางแห่งทรงแสดงเนื่องด้วยฌานและปัญญา เหมือนที่ตรัสว่า

"ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้หาปัญญามิได้ ปัญญาย่อม

ไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด

ผู้นั้นแลอยู่ใกล้พระนิพพาน๒."

ลางแห่งทรงแสดงเนื่องด้วยธรรมมีกรรมเป็นต้น เช่นที่ตรัสว่า

มัจจะทั้งหลายหมดจดได้ด้วยธรรม ๕ ประการนี้

คือ กรรม วิชา ธรรม ศีล และอุดมชีวิต ไม่ใช่

ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์๓."

ลางแห่งทรงแสดงเนื่องด้วยธรรมมีศีลเป็นต้น อย่างที่ตรัสว่า

"ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีปัญญา

มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีตนอันส่งไปแล้ว ใน

กาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะอันยากที่จะข้ามได้๔."

ลางแห่งทรงแสดงเนื่องด้วยโพธิปักขิยธรรม มีสติปัฏฐานเป็นต้น อย่าง

ที่ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ไปอันเอกนี้ ย่อมเป็นไป

๑. ขุ. ธ. ๒๕/๕๑. ๒. ขุ. ธ. ๒๕/๖๕. ๓. สํ. ส. ๑๕/๗๘. ๔. สํ. ส. ๑๕/๗๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 6

พร้อมเพื่อวิสุทธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯ ล ฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระ

นิพพาน นี้คืออะไร คือสติปัฏฐาน๔๑."

แม้ในโพธิปักขิยธรรมอื่น มีสัมมัปปธานเป็นต้น ก็นัยเดียวกัน

แต่ในปัญหาพยากรณ์นี้ ทางแห่งวิสุทธินั้น ทรงแสดงเนื่องด้วยไตร

สิกขามีศีลเป็นต้น นี้เป็นพรรณนาโดยย่อในพระคาถานั้น.

คำว่า สีเล ปติฏฺฐาย นั้น แปลว่าตั้งอยู่ในศีล ก็ภิกษุ

ทำศีลให้บริบูรณ์นั่นเอง เรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในศีล ในที่นี้ เพราะฉะนั้น

ความหมายในคำว่า สีเล ปติฏฺฐาย นี้ จึงมีดังนี้ว่า ตั้งอยู่ในศีล

โดยทำให้ศีลบริบูรณ์ บทว่า นโร ได้แก่สัตว์๒ บทว่า สปญฺโญ

ความว่า "ผู้มีปัญญา โดยปัญญาอันมาพร้อมกับปฏิสนธิอันเป็นไตร-

๑. ที. ม. ๑๐/๓๒๕. ๒. นโรติ สตฺโต. รู้สึกว่าท่านแก้ออกจะมากไป สำหรับนักศึกษา

ชาวไทยฝังใจกันมานานแล้วว่า นโร นี้แปลว่า คน ไม่เคยแปล นโร ว่าสัตว์ จริงอยู่คำว่าสัตว์

นั้นเป็นคำรวม จะหมายความถึงมนุษย์หรือดิรัจฉานตลอดไปถึงเทวดามารพรหมอะไรก็ได้ แต่

บรรดาที่มีวิญญาณครอง และแม้ว่าอาจารย์ทางศัพทศาสตร์ท่านจะวิเคราะห์ศัพท์นโรนี้ว่า สัตว์อัน

ชรามรณะนำไป แต่ว่าโดยเฉพาะในพระคาถานี้ ต้องเป็นคน จึงจะเหมาะสมแก่การตั้งอยู่ในศีล

และบำเพ็ญสมาธิปัญญาได้.

ในทางไวยากรณ์ บทที่จะเป็นประธานได้ในพระคาถานี้มีอยู่ ๒ บท คือ นโร กับภิกฺขุ แต่

จะเป็นสยกัตตาทั้ง ๒ บทไม่ได้ จำต้องเป็นสยกัตตาบทหนึ่ง อีกบทหนึ่งเป็นวิกติกัตตา ถ้าดูตาม

ที่ท่านแก้ไว้ คือแปล นโร ว่าสัตว์ ส่วน ภิกฺขุ ท่านวิเคราะห์ว่า สํสาเร ภยํ อิกฺขขตีติ ภิกฺขุ

ก็คือว่า ให้แปล ภิกฺขุ ว่าผู้เห็นภัยในสงสาร เช่นนี้ก็ประหนึ่งว่าจะยกให้ นโร เป็นสยกัตตา คือ

แปลคาถานั้นว่า "สัตว์ผู้ฉลาด ตั้งอยู่ในศีล ฯ ล ฯ มีปัญญาเห็นภัยในสงสาร ฯ ล ฯ" แต่ว่าโดย

ทางความ สู้เอา ภิกฺขุ เป็นสยกัตตาไม่ได้ ดังที่นักศึกษาเข้าใจและแปลกันอยู่ทั่วไปเช่นนั้น ถ้า

ดังนี้แล้วไซร้ คงจะแปล นโร ว่าสัตว์ เอาความว่า ภิกษุผู้เป็นสัตว์ฉลาด ฯ ล ฯ ดังนี้ จะขัดหู

คนไทยอย่างยิ่ง อันที่จริงบทว่า นโร ก็ดูจะเป็นเพียงบทบูรณ คือใส่เข้ามาให้เต็มคณะฉันท์เท่านั้น

โดยว่าจะไม่มี นโร ก็คงแปลได้ความบริบูรณ์ ดีกว่ามีนโรเสียอีก.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 7

เหตุ เกิดแต่กรรม" คำว่า จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ ความว่า

"ยังสมาธิและวิปัสสนาให้เจริญอยู่" จริงอยู่ ในคำนี้สมาธิทรงแสดง

ด้วยหัวข้อคือจิต ส่วนวิปัสสนาทรงแสดงโดยชื่อว่าปัญญา ดังนี้

บทว่า อาตาปี แปลว่ามีความเพียร ก็ความเพียร ท่านเรียกว่า

อาตาปะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเผากิเลสให้เร่าร้อน ความเพียรเป็น

เหตุเผากิเลสของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้นภิกษุนั้นจึงชื่อว่าอาตาปี (ผู้มี

ความเพียรเป็นเหตุเผากิเลสให้เร่าร้อน) ปัญญาท่านเรียกว่า เนปกะ

ในคำว่า นิปโก หมายความว่า ผู้ประกอบด้วยปัญญานั้น พระผู้มี

พระภาคเจ้าทรงแสดงปาริหาริกปัญญาด้วยบทนี้ ก็ในปัญหาพยากรณ์นี้

ปัญญามาถึง ๓ วาระ ในปัญญาทั้ง ๓ นั้น ที่ ๑ ชื่อว่าสชาติปัญญา

(ปัญญามีมาพร้อมกับกำเนิด) ที่ ๒ ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา ที่ ๓

ชื่อว่าปาริหาริกปัญญา (ปัญญาบริหาร) อันเป็นผู้นำในกิจทุกอย่าง*

บทว่า ภิกฺขุ มีวิเคราะห์ว่า "ผู้ใดย่อมเห็นภัยในสงสาร เหตุนั้น

ผู้นั้นจึงชื่อว่าภิกขุ."

บทท้ายว่า โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ ความว่า "ภิกษุนั้น คือ

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ คือด้วยศีลนี้ ด้วยสมาธิที่แสดง

* มหาฎีกา ๑/๒๓ ว่า ปัญญาประกอบในการบริหารกัมมัฏฐาน ชื่อว่าปาริหาริกา ปัญญา

ที่กำหนดนำไปซึ่งกิจทุกอย่างมีการก้าวเดินไปเป็นต้น โดยสัมปชัญญะมีสาตถกสัมปชัญญะเป็นอาทิ

ชื่อสัพพกิจจปริณายกา อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาที่นำสรรพกิจ เป็นต้นว่าการเรียน การไต่ถาม

การทำภาวนา มนสิการวิธีและความเป็นผู้ทำโดยเคารพทำติดต่อไป ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ ฉลาด

ในนิมิต ความเด็ดเดี่ยว ไม่หน้าเบ้กลางคัน ทำอินทรีย์ให้เสมอกัน ประกอบความเพียรให้

สม่ำเสมอในกิจเหล่านั้น ชื่อว่า สัพพกิจจปริณายกา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 8

ออกด้วยหัวข้อคือจิตนี้ ด้วยปัญญา ๓ ประการนี้ และด้วยความเพียร

เผากิเลสนี้ ยืนอยู่บนแผ่นศิลาคือศีลแล้ว ยกศัสตราคือวิปัสสนาปัญญา

ที่ลับดีแล้วด้วยศิลาคือสมาธิ ด้วยมือคือปาริหาริกปัญญา อันกำลังคือ

วิริยะสนับสนุนแล้ว พึงถาง คือพึงตัด ทำลาย ซึ่งชัฏคือตัณหาอัน

ตกอยู่แล้วในสันดานของตนนั้นทั้งหมดได้ เปรียบเหมือนบุรุษยืนบน

แผ่นดิน ยกศัสตราที่ลับดีแล้ว ถางกอไผ่ใหญ่ฉะนั้น" ก็ในขณะแห่ง

มรรค ภิกษุนี้ชื่อว่ากำลังถางชัฏนั้นอยู่ ในขณะแห่งผลชื่อว่าถางชัฏ

เสร็จแล้ว ย่อมเป็นอัครทักขิไณยของ (มนุษย) โลก กับทั้งเทวโลก

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

"ภิกษุผู้เป็นคนฉลาด มีความเพียร มีปัญญา

บริหารตน ตั้งอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิตและปัญญา

อยู่ นั้น พึงถางชัฏนี้ได้."

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในพระคาถานั้นว่า เป็นผู้ฉลาด ด้วย

ปัญญาใด กิจที่ผู้นั้นจะพึงทำในปัญญานั้นหามีไม่ เพราะปัญญานั้น

สำเร็จแก่เขาด้วยอานุภาพแห่งบุริมกรรมแล้วทีเดียว แต่ผู้นั้นพึงเป็นผู้

กระทำโดยติดต่อด้วยอำนาจแห่งวิริยะ เป็นผู้ทำโดยความรู้ดีด้วยอำนาจ

แห่งปัญญา ที่ตรัสไว้ในสองบทว่า อาตาปี นิปโก นั้น ตั้งอยู่ใน

ศีลแล้ว อบรมสมถะและวิปัสสนา ที่ตรัสด้วยอำนาจจิตและปัญญานั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทางแห่งวิสุทธินี้ด้วยมุข คือ ศีล สมาธิ

ปัญญา ในพระคาถานั้น ดังนี้แล.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 9

ก็แลด้วยพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันพระพุทธองค์

ได้ทรงประกาศ (๑) สิกขา ๓ (๒) ศาสนามีความงาม ๓ อย่าง

(๓) อุปนิสัยแห่งคุณวิเศษมีความเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นต้น (๔) การ

เว้นที่สุดโต่ง ๒ อย่างและการเสพข้อปฏิบัติสายกลาง (๕) อุบายเป็น

เครื่องล่วงพ้นจากคติมีอบายเป็นต้น (๖) การละกิเลสด้วยอาการ ๓

(๗) ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโทษมีวีติกกมะเป็นต้น (๘) การชำระ

สังกิเลส ๓ และ (๙) เหตุแห่งความเป็นพระอริยะบุคคลมีพระโสดาบัน

เป็นต้น.

ถามว่า ทรงประกาศอย่างไร ?

ตอบว่า ก็ในปัญหากรรมนี้ อธิสีลสิกขา ย่อมเป็นอันทรงประกาศ

ด้วยศีล อธิจิตตสิกขา ทรงประกาศด้วยสมาธิ อธิปัญญาสิกขา ทรง

ประกาศด้วยปัญญา อนึ่ง ความงามในเบื้องต้นแห่งพระศาสนา ก็

เป็นอันทรงประกาศด้วยศีล จริงอยู่ ศีลชื่อว่าเป็นเบื้องต้นแห่ง

พระศาสนา เพราะพระบาลีว่า (ถามว่า) "อะไรเล่าชื่อว่าเป็นเบื้องต้น

แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย" (ตอบว่า) "ศีลที่หมดจดดีแล้วด้วย

(ชื่อว่า เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย*)" และเพราะพระบาลี

(โอวาทปาฏิโมกข์ข้อต้น) ว่า "ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น" ดังนี้

เป็นต้น ก็ศีลนั้นชื่อว่างาม เพราะความเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณมีความ

ไม่เดือดร้อนเป็นต้น ความงามในท่ามกลางเป็นอันทรงประกาศ

* สํ. มหา. ๑๙/๒๒๑. ในที่นี้ยกมาเพียงศีล ในพระบาลีมี ทิฏฺฐิ จ อุชุกา ด้วย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 10

ด้วยสมาธิ จริงอยู่ สมาธิชื่อว่าเป็นคุณในท่ามกลางแห่งพระศาสนา

เพราะพระบาลี (โอวาทปาฏิโมกข์ข้อกลาง) ว่า "การยังกุศลให้ถึง

พร้อม" ดังนี้เป็นต้น ก็สมาธินั้นชื่อว่างาม เพราะเป็นเหตุนำมา

ซึ่งคุณมีอิทธิวิธีเป็นต้น ความงามในที่สุดเป็นอันทรงประกาศด้วย

ปัญญา จริงอยู่ ปัญญาชื่อว่าเป็นที่สุดแห่งพระศาสนา เพราะพระบาลี

(โอวาทปาฏิโมกข์ข้อสุดท้าย) ว่า "การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้๑ และเพราะศาสนามี

ปัญญาเป็นคุณอันยิ่ง ก็ปัญญาชื่อว่างาม เพราะความเป็นเหตุ

นำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ สมดังพระพุทธ-

พจน์ว่า

"ภูเขาศิลาแท่งทึบเป็นอันเดียว ย่อมไม่เขยื้อน

เพราะลม ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่

หวั่นไหวในเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น๒"

อนึ่ง อุปนิสัยแห่งความเป็นผู้ได้วิชชา ๓ ก็เป็นอันทรงประกาศ

ด้วยศีล เพราะบุคคลอาศัยสีลสมบัติจึงบรรลุวิชชา ๓ ได้ มิใช่อาศัย

เหตุอื่นจากศีลนั้น อุปนิสัยแห่งความเป็นผู้ได้อภิญญา ๖ ทรง

ประกาศด้วยสมาธิ เพราะบุคคลอาศัยสมาธิสมบัติจึงบรรลุอภิญญา ๖

ได้ จะอาศัยเหตุอื่นจากสมาธินั้นหามิได้ อุปนิสัยแห่งการแตกฉาน

ในปฏิสัมภิทา ทรงประกาศด้วยปัญญา เพราะบุคคลอาศัยปัญญา

๑. ที. ม. ๑๐/๕๗. ๒. ขุ. ธ. ๒๕/๒๕.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 11

สมบัติจึงบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ได้ หาใช่ด้วยเหตุอย่างอื่นไม่.

อนึ่ง การเว้นที่สุดโต่งคือกามสุขัลลิกานุโยค ก็เป็นอันทรง

ประกาศด้วยศีล การเว้นที่สุดโต่งคืออัตตกิลมถานุโยคทรงประกาศ

ด้วยสมาธิ การเสพข้อปฏิบัติสายกลางทรงประกาศด้วยปัญญา.

เช่นเดียวกัน อุบายเครื่องลวงอบาย ก็ทรงประกาศด้วยศีล

อุบายเครื่องก้าวล่วงกามธาตุทรงประกาศด้วยสมาธิ อุบายเครื่องก้าวล่วง

ภพทั้งปวงทรงประกาศด้วยปัญญา.

และการละกิเลสด้วยอำนาจตทังคปหานทรงประกาศด้วยศีล การ

ละกิเลสด้วยอำนาจวิกขัภนปหานทรงประกาศด้วยสมาธิ การละกิเลส

ด้วยอำนาจสมุจเฉทปหานทรงประกาศด้วยปัยญา.

ฉันเดียวกัน ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวีติกกมะ (การล่วงละเมิด

ออกถึงกายวาจา) แห่งกิเลส ทรงประกาศด้วยศีล ธรรมอันเป็น

ปฏิปักษ์ต่อปริยุฏฐาน (การกลุ้มรุมจิต) แห่งกิเลส ทรงประกาศ

ด้วยสมาธิ ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออนุสัย (การแอบแนบอยู่ใน

จิต) แห่งกิเลส ทรงประกาศด้วยปัญญา อนึ่ง การชำระสังกิเลส

คือทุจริต เป็นอันทรงประกาศด้วยศีล การชำระสังกิเลสคือตัณหา

ทรงประกาศด้วยสมาธิ การชำระสังกิเลสคือทิฏฐิ ทรงประกาศด้วย

ปัญญา.

โดยนัยนั้น เหตุแห่งความเป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามี

เป็นอันทรงประกาศด้วยศีล เหตุแห่งความเป็นพระอนาคามีทรงประกาศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 12

ด้วยสมาธิ เหตุแห่งความเป็นพระอรหันต์ ทรงประกาศด้วยปัญญา

เพราะว่าโสดาบัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์

ในศีลทั้งหลาย" พระสกทาคามีก็อย่างนั้น ส่วนพระอนาคามี ตรัสว่า

"เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ" แต่พระอรหันต์ ตรัสว่า "เป็นผู้

ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา.๑"

ดังนี้แล ด้วยพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันทรง

ประกาศคุณ ๙ อย่างนี้คือ (๑) สิกขา ๓ (๒) ศาสนามีความงาม

๓ อย่าง (๓) อุปนิสัยแห่งคุณวิเศษมีความเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นต้น

(๔) การเว้นที่สุดโต่ง ๒ อย่าง และการเสพข้อปฏิบัติสายกลาง

(๕) อุบายเครื่องล่วงพ้นจากคติมีอบายเป็นต้น (๖) การละกิเลส

ด้วยอาการ ๓ (๗) ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโทษมีวีติกกมะเป็นต้น

(๘) การชำระสังกิเลส ๓ และ (๙) เหตุแห่งความเป็นอริยบุคคล

มีพระโสดาบันเป็นต้น อนึ่ง คุณที่เป็นหมวด ๓ อื่น ๆ รูปเดียวกันนี้

ก็เป็นอันทรงประกาศด้วย.๒

๑. ความตอนนี้กล่าวตามนัยพระสูตรที่ ๘๗.๘๘ ติกังคุตตร หน้า ๒๙๗ ๓๐๑.

๒. มหาฎีกาว่า คุณที่เป็นหมวดที่ ๓ อื่น ๆ เช่น วิเวก ๓ กุศลมูล ๓ เป็นต้น อธิบายความ

เป็นนิทัสสนะต่อไปว่า กายวิเวกเป็นอันประกาศด้วยศีล เพราะศีลในที่นี้หมายเอาศีลที่อิงวิวัฏฏะ

จิตตวิเวกประกาศด้วยสมาธิ อุปธิวิเวกประกาศด้วยปัญญา นัยเดียวกัน อโทสกุศลมูลประกาศ

ด้วยศีล เพราะศีลมีความอดกลั้นเป็นประธาน และเพราะศีลมีสภาวะไม่ทำร้ายผู้อื่น อโลภะ

ประกาศด้วยสมาธิ เพราะสมาธิเป็นข้าศึกต่อโลภะ และมีอโลภะเป็นประธาน ส่วนอโมหะ

ประกาศด้วยปัญญาแท้ ฯ ล ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 13

สีลนิเทส

ก็วิสุทธิมรรคนี้ แม้ทรงแสดงโดยมุขคือศีลสมาธิและปัญญา อัน

ประมวลไว้ซึ่งคุณเป็นอเนกอย่างนี้แล้ว ก็ยังนับว่าเป็นอันทรงแสดงโดย

สังเขปอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือแก่ชน

ทุกจำพวกได้ เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงความพิสดารแห่งวิสุทธิมรรค

นั้น จึงมีปัญหากรรม (การตั้งปัญหา) นี้ ปรารภศีลก่อน คือ

อะไรเป็นศีล ?

ที่เรียกว่าศีล เพราะอรรถว่ากระไร ?

อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นปทัฏฐาน

ของศีลนั้น ?

ศีลมีอานิสงค์อย่างไร ?

ศีลนั้นมีกี่อย่าง ?

อะไรเป็นความเศร้าหมอง และอะไรเป็นความผ่องแผ้วของศีล

นั้น ? (ต่อไป) นี้เป็นคำแก้ในปัญหากรรมนั้น.

[ อะไรเป็นศีล ]

ปัญหาข้อว่า "อะไรเป็นศีล"

แก้ว่า "ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้นของบุคคลผู้เว้นจากโทษ

มีปาณาติบาตเป็นต้นก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติก็ดี เป็นศีล"

ข้อนี้ สมคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ ในปฏิสัมภิทาว่า

"ถามว่า อะไรเป็นศีล ตอบว่า เจตนาเป็นศีล เจตสิกก็เป็นศีล

สังวรก็เป็นศีล ความไม่ก้าวล่วงก็เป็นศีล" ดังนี้* ในศีลเหล่านั้น

ขุ. ป. ๓๑/๖๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 14

เจตนาของบุคคลผู้เว้นจากโทษมีปาณาติบาตเป็นต้นก็ดี ของบุคคล

ผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติก็ดี ชื่อว่าเจตนาศีล ความงดเว้นของบุคคลผู้เว้น

จากโทษมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าเจตสิกศีล อีกอย่างหนึ่ง เจตนา

ในกรรมบถ ๗ ของบุคคลผู้ละโทษมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าเจตนา

ศีล ธรรมคือ อนภิชฌา อพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ ที่ตรัสไว้

โดยนัยว่า "ภิกษุละอภิชฌา มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่" ดังนี้เป็นต้น๑

ชื่อว่าเจตสิกศีล.

[ สังวร ๕ ]

ในข้อว่า "สังวรก็เป็นศีล" นี้ พึงทราบสังวรโดยอาการ

คือ ปาฏิโมกขสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร วิริยสังวร.

ในสังวร ๕ อย่างนั้น สังวรที่ตรัสไว้ว่า "ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว

เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้๒" นี้ชื่อว่าปาฏิโมกข-

สังวร. สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุย่อมรักษาอินทรีย์คือจักษุ ย่อมถึงความ

สังวรใรอินทรีย์คือจักษุ๓ (เป็นต้น) นี้ชื่อว่าสติสังวร. สังวรที่กล่าว

ไว้ว่า

"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนอชิตะ

กระแส [แห่งตัณหา] ทั้งหลายเหล่าใดมีอยู่ในโลก

สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่า

เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย แต่กระแส

เหล่านั้นอันผู้ปฏิบัติจะละได้ด้วยปัญญา๔"

๑. ที. สี. ๙/๙๔. ๒. อภิ. วิ. ๓๕/๓๓๑. ๓. องฺ. ติก. ๒๐/๑๔๓. ๔. ขุ. จู. ๓๐/๑๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 15

นี้ชื่อว่าญาณสังวร. แม้การเสพปัจจัยก็รวมลงในญาณสังวรนี้ด้วยเหมือน

กัน. ส่วนสังวรที่มาโดยนัยว่า "ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ต่อ

ความร้อน" ดังนี้เป็นต้น๑ นี้ชื่อว่าขันติสังวร. และสังวรที่มาโดยนัย

ว่า "ภิกษุย่อมไม่รับไว้ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้เป็นอาทิ๒

นี้ชื่อว่าวิริยสังวร. แม้อาชีวปาริสุทธิก็รวมลงในวิริยสังวรนี้ด้วย.

สังวรทั้ง ๕ ประการนี้ที่กล่าวมาฉะนี้ก็ดี ความงดเว้นจากวัตถุ

ที่ประจวบเข้า แห่งกุลบุตรทั้งหลายผู้กลัวบาปก็ดี แม้ทั้งหมดนี้พึง

ทราบชื่อว่าศีลสังวร.

ข้อว่า ความไม่ก้าวล่วงเป็นศีลนั้น ได้แก่ความไม่ล่วงละเมิด

ทางกายและวาจาแห่งผู้สมาทานศีลแล้ว.

นี้เป็นคำแก้ปัญหาข้อว่า อะไรเป็นศีล เป็นอันดับแรก.

[ อรรถแห่งศีล ]

จะแก้ในปัญหาที่เหลือ (ต่อไป) ปัญหาข้อว่า "ที่เรียกว่าศีล

เพราะอรรถว่ากระไร ?" แก้ว่า "ที่เรียกว่าศีลเพราะอรรถว่าเป็น

สีลนะ (คือเป็นมูลราก) ชื่อว่าสีลนะนี้เป็นอย่างไร ? ชื่อว่าสีลนะ

นี้ คือกิริยาที่รวมเอาไว้อย่างดี หมายความที่กรรมในทวาร

มีกายกรรมเป็นต้น ไม่กระจัดกระจาย โดยความมีระเบียบอันดีอย่าง ๑

คือความเข้าไปรับไว้ หมายความเป็นที่รองรับ โดยความเป็น

ที่ตั้งอาศัยแห่งกุศลธรรมทั้งหลายอย่าง ๑ ก็อาจารย์ผู้รู้ลักษณะแห่ง

๑. ม. มู. ๑๒/๑๘. ๒. อง. ทสก. ๒๔/๑๑๘.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 16

ศัพท์ทั้งหลาย เห็นชอบด้วยอรรถ ๒ อย่างนี้เท่านั้น ในสีลศัพท์นี้

ส่วนอาจารย์อื่น ๆ พรรณนาอรรถในสีลศัพท์นี้ไว้ โดยนัย (ต่าง ๆ)

เช่นว่า สีลศัพท์มีอรรถว่าสิระ มีอรรถว่าสีสะ มีอรรถว่าสีตละ (เย็น)

มีอรรถว่าสิวะ (เกษม) ดังนี้เป็นอาทิ.*

[ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ของศีล ]

บัดนี้จะแก้ในปัญหาข้อว่า "อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส เป็น

ปัจจุปัฏฐาน และเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น"

สีลนะ [ ความเป็นมูลราก ] เป็นลักษณะของศีล

นั้น แม้ [ มีประเภท ] ต่างกันโดยอเนก

เปรียบเหมือนความเป็นสิ่งมีวิสัยที่จะพึงเห็นได้

[ ด้วยจักษุ ] เป็นลักษณะของรูป อัน [ มีชนิด ]

ต่างกันโดยอเนก ฉะนั้น.

จริงอยู่ ความเป็นสิ่งมีวิสัยที่จะพึงเห็นได้ (ด้วยจักษุ) ชื่อว่า

เป็นลักษณะของรูปายตนะ แม้ (มีชนิด) ต่างกันโดยอเนกประการ

โดยต่างแห่งสีมีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น เพราะรูปายตนะแม้ต่างกัน

โดยต่างแห่งสีมีสีเขียวเป็นต้น ก็ไม่ล่วงพ้นความเป็นสิ่งมีวิสัยที่จะพึง

* มหาฎีกาช่วยขยายอรรถแห่งสีลศัพท์นี้ไว้ ๓ ศัพท์ คือ สิระ สีสะ สีตละ ส่วนสิวะ

ไม่เห็นขยาย สิระกับสีสะนั้นเป็นอันเดียวกัน คือแปลว่า หัว เหมือนกัน ท่านขยายไว้ว่า

เมื่อหัวขาดแล้ว ร่างกายทั้งหมดก็เสีย ใช้การไม่ได้ ฉันใด เมื่อศีลแตกทำลายเสียแล้ว

ร่างกายคือคุณธรรมทั้งปวง ก็เสียไปหมด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ศีล จึงมีอรรถว่า สิระ หรือ

สีสะ แต่เรียกว่า สีละ ไม่เรียก สิระ หรือ สีสะ นั้น เป็นโดย นิรุกตินัย อรรถว่า

สีตละ (เย็น) เห็นได้ง่าย คือมีศีลแล้วก็ระงับเรื่องร้อนได้ (คนมีศีลเป็นคนเย็น ไม่ทำความ

เดือดร้อนให้ใคร) แต่เรียกสีละ โดยลบ ต. เสีย ตามนิรุกตินัยเหมือนกัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 17

เห็น (ด้วยจักษุ) ไปได้ ฉันใด สีลนะที่กล่าวไว้โดยเป็นการรวม

เอาไว้อย่างดีซึ่งกายกรรมเป็นต้น และโดยเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งกุศลธรรม

ทั้งหลายนั่นแหละชื่อว่าเป็นลักษณะแห่งศีล แม้ (มีประเภท) ต่าง

กันโดยอเนก โดยต่างแห่งธรรมมีเจตนาเป็นต้น เพราะศ๊ลแม้ (มี

ประเภท) ต่างกันโดยอเนก โดยต่างแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่ล่วง

พ้นความเป็นที่รวมเอาไว้อย่างดี และความเป็นที่ตั้งอาศัยไปได้ ฉันนั้น.

[ รส ]

ส่วนว่า กิริยาที่กำจัดความทุศีล อีกอย่างหนึ่ง

คุณคือความหาโทษมิได้ ท่านกล่าวชื่อว่าเป็นรส

เพราะอรรถว่าเป็นกิจและเป็นสมบัติ ของศีลนั้น

ซึ่งเป็นลักษณะดังกล่าวมานี้.

เพราะฉะนั้น ชื่อว่าศีลนี้ พึงทราบว่ามีการกำจัดซึ่งความทุศีล

เป็นรส โดยรสอันมีกิจเป็นอรรถ (อย่าง ๑) มีความไม่มีโทษเป็น

รส โดยรสอันมีสมบัติเป็นอรรถ (อีกอย่าง ๑) แท้จริงกิจนั่นเอง

หรือ (มิฉะนั้นก็) สมบัติ ท่านเรียกว่ารส ในบท (ปัญหาทั้ง ๔)

มีลักษณะเป็นต้น.*

* หมายความว่า รสในที่นี้ไม่ใช่รสายตนะอันเป็นคู่กับชิวหายตนะ คำว่า กิจ คงหมายความ

เป็นไทย ๆ ว่า "หน้าที่" ดูก็ได้ความดีว่า ศีลมีหน้าที่กำจัดความทุศีล ส่วนคำว่า สมบัติ

ในที่นี้ น่าจะหมายความว่า "ดีพร้อม" คือไม่บกพร่องต้องตำหนิ อธิบายว่า คนรักษาศีล

แล้ว ย่อมปราศจากโทษทางกายวาจา แม้บัณฑิตพิจาณาแล้วก็หาที่ตำหนิมิได้ อีกนัยหนึ่ง อธิบาย

ว่า ศีลนั้นบุคคลอาจรักษาไม่ให้โทษมีทางกาย วาจา คือไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย

(อขณฺฑ อจฺฉิทฺท อสพล อกมฺมาส) แต่โทษทางใจยังมี คืออาจรักษาศีลด้วยอำนาจตัณหา

มานะทิฏฐิ ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ผู้รู้ไม่สรรเสริญ (ไม่เป็นภุชิสฺส วิญฺญปสฏฺฐ อปรามฏฺฐ

สมาธิสํวตฺตนิก) ต่อเมื่อรักษาประกอบพร้อมด้วยองค์ ๘ นี้แล้ว จึงเป็นอริยกันตศีล ซึ่งจะเรียก

อนวัชชศีลก็ได้ เพราะดีพร้อมหาที่ติมิได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 18

[ ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน ]

ศีลนี้นั้นผู้รู้พรรณนาไว้ว่า มีความสะอาดเป็นปัจจุ-

ปัฏฐาน โอตตัปปะและหิรินั่นแล เป็นปทัฏฐาน

แห่งศีลนั้น.

แท้จริง ศีลนี้นั้นมีความสะอาดที่ตรัสไว้ว่า "(ความสะอาด ๓ คือ)

ความสะอาดทางกาย ความสะอาดทางวาจา ความสะอาดทางใจ"๑

ดังนี้ ป็นปัจจุปัฏฐาน หมายความว่าศีลนั้นย่อมปรากฏ คือถึงความ

เป็นคุณที่ควรถือเอาโดยความเป็นธรรมชาติสะอาด ส่วนหิริและ

โอตตัปปะ นักปราชญ์ทั้งหลายพรรณนาว่าเป็นปทัฏฐาน อธิบายว่า

เป็นอาสันนเหตุ (เหตุใกล้) แห่งศีลนั้น เพราะเมื่อหิริและโอตตัปปะ

มีอยู่ ศีลจึงจะเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลก็

เกิดไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้.

ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานแห่งศีล สาธุชน

พึงทราบ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

[ อานิสงส์ของศีล ]

ข้อว่า ศีลมีอานิสงค์อย่างไร ? แก้ว่า มีอันได้รับคุณเป็นอเนก

มีความไม่ต้องเดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ สมคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ตรัสไว้ว่า "ดูกรอานนท์ ก็แลศีลเป็นกุศล มีความไม่ต้องเดือดร้อน

ใจเป็นผล มีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นอานิสงส์" ดังนี้๒ ตรัสไว้

อื่นอีกก็มีว่า "ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของผู้มีศีล

๑. องฺ. ติก. ๒๐/๓๕๐. ๒. องฺ. ทสก. ๒๔/๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 19

๕ ประการนี้ อานิสงส์ ๕ เป็นไฉน ? ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย บุคคลใน

โลกนี้เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมได้ประสบกองแห่งโภคะใหญ่

มีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๑ แห่งศีลสมบัติของผู้

มีศีล ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก กิตติศัพท์อันงามของผู้

มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมฟุ้งไป นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๒ แห่งศีลสมบัติ

ของผู้มีศีล ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ผู้มีศีล ถึง

พร้อมด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม

พราหมณบริษัทก็ตาม คฤหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม

ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เคอะเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๓ แห่งศีลสมบัติ

ของผู้มีศีล ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ผู้มีศีล

ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๔ แห่ง

ศีลสมบัติของผู้มีศีล ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่ ผู้มีศีล

ถึงพร้อมด้วยศีล เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติ

โลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของผู้มีศีล."๑

อานิสงส์ของศีลเป็นอเนกอื่นอีกเล่า มีความเป็นที่รักที่ชอบใจ

เป็นเบื้องต้น มีความสิ้นอาสวะเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

โดยนัยว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นที่รัก

เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่อง ของสพรหมจารีทั้งหลาย

ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายเถิด๒" ดังนี้เป็นต้น.

ศีลมีคุณเป็นอเนกมีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นต้นเป็นอานิสงส์

๑. ที. มหา. ๑๐/๑๐๒. ๒. อากังเขยยสูตร ม. มู. ๑๒/๔๘.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 20

มีประการดังกล่าวมาฉะนี้. อีกนัยหนึ่ง

เว้นศีลใดเสียแล้ว ที่พึ่ง (อื่น) ของกุลบุตร

ในพระศาสนาหามีไม่ ใครเล่าจะพึงกล่าวกำหนด

อานิสงส์ของศีลนั้นได้ น้ำคือศีลย่อมชำระ

มลทินอันใดของสัตว์มีชีวิตในโลกนี้ได้ แม่น้ำ

ใหญ่ทั้งหลาย คือแม่น้ำคงคาก็ดี ยมุนาก็ดี

สรภูก็ดี สรัสวดีก็ดี แม่น้ำอจิรวดี

ก็ดี มหีก็ดี หาอาจชำระมลทินอันนั้นได้ไม่

ศีลที่บุคคลรักษาดีแล้วเป็นอริยศีลนี้ มีความ

เย็นยิ่งนัก ย่อมระงับความเร่าร้อนอันใด ของ

สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ ลมเจือฝนก็ระงับ

ความเร่าร้อนอันนั้นไม่ได้ และแม้ไม้แก่นจันทน์แดง๑

ก็ระงับไม่ได้ สร้อยคอมุกดาก็ไม่ได้ แก้วมณีก็

ไม่ได้ รัศมีอ่อน ๆ แห่งจันทร์ก็ไม่ได้ กลิ่นที่

เสมอด้วยกลิ่นศีล ซึ่งฟุ้งไปได้ทั้งในที่ตามลมและ

ทวนลมเท่า ๆ กัน จักมีแต่ที่ไหน๒ สิ่งอื่นที่จะเป็น

บันไดขึ้นสู่สวรรค์ หรือจะเป็นประตูในอันที่จะ

ยังสัตว์ให้เข้าสู่พระนครนิพพาน อันเสมอด้วย

๑. ในอภิธานัปปทีปิกากล่าวว่า หริจนฺทนํ เป็นจันทร์สีเหลือง.

๒. หรือจะแปล ย - ต ว่ากลิ่นศีลใด ย่อมฟุ้งไปได้ทั้งในที่ตามลมและทวนลมเท่า ๆ

กัน กลิ่นที่เสมอด้วยกลิ่นศีลนั้น จักมีแต่ที่ไหน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 21

ศีล จักมีแต่ที่ไหน พระราชาทรงประดับแล้ว

ด้วยมุกดาและมณี ก็ยังงามไม่เหมือนนักพรต

ผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีลแล้วงาม ศีล

ย่อมกำจัดภัยมีอัตตานุวาทภัยเป็นต้นได้ โดยประ-

การทั้งปวง ศีลย่อมขจัดชื่อเสียงและความร่าเริงให้

เกิดแก่ผู้มีศีลทุกเมื่อ กถามุขแสดงอานิสงส์ของ

ศีล อันเป็นมูลแห่งคุณทั้งหลาย อันมีปกติทำลาย

กำลังแห่งโทษทั้งหลาย สาธุชนพึงทราบ ด้วย

ประการฉะนี้แล.

[ ศีลมีกี่อย่าง ]

ต่อไปนี้เป็นคำวิสัชนาในปัญหาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ก็ศีลนั้นมี

กี่อย่าง ?

ศีลนี้ทั้งหมด โดยลักษณะคือความเป็นมูลรากของตน ก็เป็น

เพียงอย่างเดียว (แต่) เป็น ๒ อย่าง โดยเป็นจาริตศีลและวาริตศีล

อนึ่ง เป็น ๒ โดยเป็นอภิสาจาริกศีลและอาทิพรหมจริยกศีล โดย

เป็นวิรัติศีลและอวิรัติศีล โดยเป็นนิสิตศีลและอนิสิตศีล โดยเป็นกาล-

ปริยันตศีลและอาปาณโกฏิกศีล โดยเป็นสปริยันตศีลและอปริยันตศีล

และโดยเป็นโลกิยศีลและโลกุตตรศีล.

เป็น ๓ อย่างโดยเป็นหีนศีล มัชฌิมศีล ปณีตศีล อนึ่งเป็น ๓

โดยเป็นอัตตาธิปเตยยศีล โลกาธิปเตยยศีล และธัมมาธิปเตยยศีล

โดยเป็นปรามัฏฐศีล อปรามัฏฐศีล และปฏิปัสสัทธศีล โดยเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 22

วิสุทธศีล อวิสุทธศีล และเวมติกศีล และโดยเป็นเสขศีล อเสขศีล

และเนวเสขานาเสขศีล.

เป็น ๔ อย่าง โดยเป็นหานภาคิยศีล ฐิติภาคิยศีล วิเสสภาคิยศีล

และนิพเพธภาคิยศีล อนึ่งเป็น ๔ โดยเป็นภิกขุศีล ภิกขุนีศีล อนุป-

สัมปันนศีล และคหัฏฐศีล โดยเป็นปกติศีล อาจารศีล ธัมมตาศีล

และปุพพเหตุกศีล และโดยเป็นปาฏิโมกขสังวรศีล อินทริยสังวรศีล

อาชีวปาริสุทธศีล และปัจจยสันนิสิตศีล.

เป็น ๕ อย่าง โดยเป็นปาริสุทธิศีลมีปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น

ก็แลข้อนี้แม้พระสารีบุตรก็ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทาว่า "ศีล

๕ ประการ คือปริยันตปาริสุทธิศีล อปริยันตปาริสุทธิศีล ปริปุณณ-

ปาริสุทธิศีล อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ปฏิปัสสิทธิปาริสุทธิศีล"-* ดังนี้

อนึ่ง เป็น ๕ โดยเป็นปหานศีล เวรมณีศีล เจตนาศีล สังวรศีล และ

อวีติกมศีล.

บรรดาศีลเหล่านั้น ในส่วนที่เป็นศีลอย่างเดียว พึงทราบ

เนื้อความตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นเถิด.

[ ทุกะ (ศีลหมวด ๒) ที่ ๑ ]

วินิจฉัยในส่วนศีลที่เป็นที่ ๒ อย่างดังต่อไปนี้ การบำเพ็ญสิกขาบท

อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า นี่ควรทำ อันใด การบำเพ็ญ

นั้นชื่อว่า จาริตศีล การไม่กระทำข้อที่ทรงห้ามไว้ว่า นี่ไม่ควรทำ

อันใด การไม่กระทำนั้นชื่อ วาริตศีล (ต่อไป) นี้เป็นอธิบาย

* ขุ. ป. ๓๖๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 23

คำในบททั้ง ๒ นั้น บุคคลทั้งหลายย่อมประพฤติในศีลนั้น คือดำเนิน

(กายวาจา) ไป โดยความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เพราะ

เหตุนั้น ศีลนั้นจึงชื่อว่า จาริตตะ (เป็นข้อประพฤติ) บุคคลทั้งหลาย

ย่อมป้องกัน คือย่อมรักษาข้อที่ทรงห้าม ด้วยศีลนั้น เพราะเหตุนั้น

ศีลนั้นจึงชื่อว่า วาริตตะ (เป็นเครื่องรักษาข้อห้าม) ในศีล ๒ อย่าง

นั้น จาริตศีลสำเร็จด้วยศรัทธาและวิริยะ วาริตศีล สำเร็จด้วยศรัทธา

(อย่างเดียว) ดังนี้ ศีลเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นจาริตศีลและวาริตศีล.

[ ทุกะที่ ๒ ]

วินิจฉัยในทุกะที่ ๒ มรรยาทอย่างสูง ชื่ออภิสมาจาร อภิ-

สมาจารนั่นแล เรียกว่าอภิสมาจาร ชื่ออภิสมาจาริกะ อีกอย่างหนึ่ง สิกขาบทที่ทรง

บัญญัติปรารภอภิสมาจาร ชื่ออภิสมาจาริก คำว่าอภิสมาจาริกนี้

เป็นคำเรียกศีลที่นอกไปจากอาชีวัฏฐมกศีล.

ศีลชื่อว่าอาทิพรหมจริยกะ เพราะเป็นภาวะเบื้องต้นแห่งมรค-

พรหมจรรย์ คำว่าอาทิพรหมจริยกะนี้ เป็นชื่อแห่งอาชีวัฏฐมกศีล

ก็อาชีวัฏฐมกศีลนั้นชื่อว่าเป็นภาวะเบื้องต้นแห่งมรรค เพราะเป็นคุณ

อันบุคคลพึงทำให้หมดจดในส่วนเบื้องต้นนั่นเอง เพราะเหตุนั้นพระผู้-

มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ก็แลกายกรรม วจีกรรม อาชีวะ ของภิกษุนั้น

ย่อเป็นอันหมดจดดีแล้วในเบื้องต้นแล*" ดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง

สิกขาบทเหล่าใดที่ตรัสว่า "เป็นสิกขาบทเล็กน้อย" นี้ก็เป็นอภิสมา-

จาริกศีล ที่เหลือเป็นอาทิพรหมจริยกศีล อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่นับเนื่อง

* ม. อุปริ. ๑๔/๕๒๓.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 24

ในอุภโตวิภังค์ เป็นอาทิพรหมจริยกศีล ที่นับเนื่องในขันธกวัตร เป็น

อภิสมาจารศีล อาทิพรหมจริยกศีลย่อมถึงความพร้อมเพราะความถึงพร้อม

แห่งอภิสมาจารศีลนั้น เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุนั้นหนอไม่ทำธรรมที่เป็น

อภิสมาจาริกะให้บริบูรณ์ก่อนแล้ว จักยังธรรมที่เป็นอาทิพรหมจริยกะ

ให้บริบูรณ์ ดังนี้ นี่มิใช่ฐานะจะมีได้"๑ ดังนี้ ศีลเป็น ๒ อย่างโดย

เป็นอภิสมาจาริกศีลและอาทิพรหมจริยกศีล.

[ ทุกะที่ ๓ ]

วินิจฉัยในทุกที่ ๓ คุณคือความเว้นจากโทษมีปาณาติบาต

เป็นต้นอย่างเดียว เป็นวิรัติศีล คุณที่เหลือมีเจตนาเป็นต้น เป็น

อวิรัติศีล๒ พึงทราบศีลเป็น ๒ อย่างนั้น โดยเป็นวิรัติศีลและอวิรัติศีล

ด้วยประการฉะนี้.

[ ทุกะที่ ๔ ]

วินิจฉัยในทุกะที่ ๔ คำว่านิสสัย ได้แก่นิสสัย ๒ คือตัณหา-

นิสสัย ๑ ทิฏฐินิสสัย๓ ๑ ใน ๒ อย่างนั้น ศีลใดอันบุคคลหวังภพสมบัติว่า

"เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพตนใดตนหนึ่งด้วยศีลนี้" ดังนี้ ประพฤติ

๑. อง. ปญฺจก. ๒๒/๑๕. ๒. ดูคำตอบปัญหาว่า อะไรเป็นศีล ข้างต้น. ๓. บท นิสฺสโย

ไม่มีในบทตั้ง ท่านยกเอามาแก้อรรถเฉย ๆ เช่นนี้ ขัดเชิงความ แล้วก็พูดทิ้งไว้แค่นี้เอง ต่อไป

ก็ใช้ นิสฺสิต.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 25

ไป ศีลนี้เป็นตัญหานิสิตศีล ศีลใดบุคคลประพฤติไปด้วยสุทธิทิฏฐิ* ว่า

"ความหมดจด (จักมีได้) ด้วยศีล" ดังนี้ ศีลนี้เป็นทิฏฐินิสิตศีล

ส่วนศีลใดเป็นโลกุตระก็ดี เป็นโลกิยะแต่เป็นเครื่องสนับสนุนโลกุตตร-

ศีลนั้นก็ดี นี้เป็นอนิสิตศีล ดังนี้แล ศีลเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นนิสิตศีล

และอนิสิตศีล.

[ ทุกะที่ ๕ ]

ในทุกะที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ ศีลที่บุคคลทำกำหนดกาล

สมาทาน ชื่อกาลปริยันตศีล ศีลที่บุคคลสมาทานตลอดชีวิตแล้ว

ประพฤติไปตลอดชีวิตเช่นกัน ชื่อว่าอาปาณโกฏิกศีล พึงทราบ

ศีลเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นกาลปริยันตศีลและอาปาณโกฏิกศีล ด้วย

ประการฉะนี้.

[ ทุกะที่ ๖ ]

พึงทราบวินิจฉัยในทุกะที่ ๖ ต่อไป ศีลที่มีความเห็นด้วยอำนาจ

* สุทฺธิทิฏฐิยา มหาฎีกาไขความว่า อิติ สํสารสุทฺธิ ภวิสฺสตีติ เอวํ ปวตฺตทฏฐิยา ด้วยความ

เห็นอันเป็นไปดังนี้ว่า สังสารสุทธิจักมีอย่างนี้

เคยเข้าใจว่า มีมัจฉาทิฏฐิประเภทหนึ่ง เห็นว่าความบริสุทธิ์นั้น มีได้ด้วยสังสาร คือเวียน

ว่ายตายเกิดไปนานเข้าก็บริสุทธิ์เอง ไม่ต้องทำอะไร เรียกว่าสังสารบริสุทธิ แย้งกับทางพระพุทธ-

ศาสนาที่สอนว่าความบริสุทธิ์นั้นมีได้ด้วยความเพียร คือต้องประกอบเหตุให้ควรกัน จึงจะมีความ

บริสุทธิ์เป็นผลขึ้นได้ ดังนี้

การบำเพ็ญศีลในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งว่าเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการทำความเพียรเพื่อความ

บริสุทธิ์ ไม่เข้าหลักสังสารสุทธิ ไฉนมหาฎีกาจารย์จึงแก้ไปอย่างนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ทิฏฐิ-

นิสิตศีล ก็ต้องไม่ใช่ศีลในพระพุทธศาสนา แต่ในวิสุทธิมรรคนั้น ท่านมุ่งหมายเอาศีลในพระ

พุทธศาสนาทั้งนั้น ที่จริงท่านก็แก้ของท่านไว้แล้วว่า. . . สีเลน สุทฺธีติ เอวํ สุทฺธิทิฏฺฐิยา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 26

ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และชีวิตเป็นที่สุด ชื่อว่าสปริยันตศีล ที่

ตรงกันข้าม ชื่อว่าอปริยันตศีล จริงอยู่ แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร

ก็กล่าวคำนี้ไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทาว่า "(ถามว่า) ศีลมีที่สุดนั้น

เป็นไฉน ? ตอบว่า ศีลมีลาภเป็นที่สุดก็มี ศีลมียศเป็นที่สุดก็มี

ศีลมีญาติเป็นที่สุดก็มี ศีลมีอวัยวะเป็นที่สุดก็มี ศีลมีชีวิตเป็นที่สุดก็มี

(ถามว่า) ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้นเป็นไฉน ? (ตอบว่า) บุคคลลางคน

ในโลกนี้ย่อมละเมิดสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะลาภเป็นเหตุ

เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นตัวการณ์ นี้ศีลนั้นชื่อว่ามีลาภ

เป็นที่สุด"๑ ถึงศีลนอกนี้ก็พึงให้พิสดารโดยอุบายนี้นั่นแล แม้ในการ

วิสัชนาอปริยันตศีล ท่านก็กล่าวไว้ว่า "(ถามว่า) ศีลมิใช่มีลาภ

เป็นที่สุดนั้นเป็นไฉน ? (ตอบว่า) บุคคลลางคนในโลกนี้ไม่ยังแม้แต่

ความคิดที่จะละเมิดสิกขาบทตามที่สมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ

เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นตัวการณ์ ให้เกิดขึ้น ไฉนเขาจัก

ละเมิด (ด้วยกายวาจา) เล่า นี้ศีลนั้นชื่อว่ามิใช่มีลาภเป็นที่สุด"๒

แม้ศีลนอกนี้ก็พึงให้พิสดารโดยอุบายนี้เหมือนกัน พึงทราบศีลเป็น

๒ อย่าง โดยเป็นสปริยันตศีลและอปริยันตศีล ด้วยประการฉะนี้.

[ ทุกะที่ ๗ ]

ในทุกะที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยว่า ศีลมีอาสวะแม้ทั้งหมด เป็น

โลกิยศีล ที่ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตตรศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น โลกิยศีล

๑. ขุ. ป. ๓๑/๖๒. ๒. ขุ. ป. ๓๑/๖๓.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 27

ย่อมเป็นคุณนำภพวิเศษมาให้ และเป็นเครื่องสนับสนุนการออกจากภพ

ด้วย ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "วินัย (ย่อมมี) เพื่อประโยชน์

แก่สังวร สังวรเพื่อประโยชน์แก่อวิปฏิสาร อวิปฏิสารเพื่อประโยชน์แก่

ปราโมทย์ ปราโมทย์เพื่อประโยชน์แก่ปีติ ปีติเพื่อประโยชน์แก่

ปัสสิทธิ ปัสสิทธิเพื่อประโยชน์แก่สุข สุขเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ

สมาธิเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูตญาณทัสสนะเพื่อ

ประโยชน์แก่นิพพิทา นิพพิทาเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ วิราคะเพื่อ

ประโยชน์แก่วิมุตติ วิมุตติเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติ-

ญาณทัสสนะเพื่อประโยชนแก่อนุปาทาปรินิพพาน การพูดกัน การ

ปรึกษากัน การเข้านั่งใกล้กัน การเงี่ยโสต (ลงสดับ) (ทุกอย่าง)

มีนั่นเป็นประโยชน์ นั่นคืออะไร นั่นคือความพ้นแห่งจิต เพราะ

ไม่ถือมั่น๑" ดังนี้ ส่วนโลกุตตรศีล ย่อมเป็นคุณนำมาซึ่งการสลัด

ออกจากภพ และเป็นภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณแล บัณฑิตพึงทราบ

ศีลเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นโลกิยศีลและเป็นโลกุตตรศีล ด้วย

ประการฉะนี้.

[ ติกะ ( ศีลหมวด ๓ ) ที่ ๑ ]

ในติกะทั้งหลาย พึงทราบวินิจฉัยในติกะที่ ๑ ดังนี้ ศีลที่บุคคล

ประพฤติด้วยฉันทะ จิตตะ วิริยะ วิมังสา๒ อย่างทราม ชื่อว่า

หีนศีล ที่ประพฤติด้วยฉันทะเป็นต้นปานกลาง ชื่อว่ามัชฌิมศีล ที่

๑. วิ. ป. ๘/๔๐๖.

๒. อย่างไรท่านจึงเรียงจิตตะไว้หน้าวิริยะ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 28

ประพฤติด้วยฉันทะเป็นต้นอย่างประณีต ชื่อว่าปณีตศีล อีกอย่างหนึ่ง

ศีลที่สมาทานด้วยความปรารถนายศ ชื่อว่าหีนศีล ที่สมาทานด้วย

ต้องการผลบุญ ชื่อว่ามัชฌิมศีล ที่สมาทานอาศัยอริยภาวะ ด้วยคิดว่า

สิ่งนี้ควรทำแท้ ชื่อว่าปณีตศีล อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่เศร้าหมอง

ด้วยโทษมีการยกตนข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า "เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก" ดังนี้เป็นต้น

เป็นหีนศีล โลกิยศีลที่ไม่เศร้าหมองอย่างนั้น เป็นมัชฌิมศีล

โลกุตตรศีล เป็นปณีตศีล อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่ประพฤติเพื่อ

ต้องการภพและโภคะด้วยอำนาจตัณหา เป็นหีนศีล ที่ประพฤติเพื่อ

ต้องการความหลุดพ้นแห่งตน เป็นมัชฌิมศีล ศีลบารมีที่ประพฤติ

เพื่อต้องการความหลุดพ้นแห่งสรรพสัตว์ เป็นปณีตศีล บัณฑิตพึง

ทราบศีลเป็น ๓ อย่าง โดยเป็นหีนศีล มัชฌิมศีล และปณีตศีล

ด้วยประการฉะนี้.

[ ติกะที่ ๒ ]

พึงทราบวินิจฉัยในติกะที่ ๒ ต่อไป ศีลที่บุคคลผู้หนักในตน

มุ่งจะละกรรมที่ไม่ควรแก่ตน ประพฤติด้วยความเคารพในตน ชื่อว่า

อัตตาธิปเตยยศีล (ศีลมีตนเป็นใหญ่) ศีลที่บุคคลผู้หนักในโลก

มุ่งจะหลีกคำติเตียนของชาวโลก ประพฤติด้วยความเคารพโลก ชื่อว่า

โลกาธิปเตยยศีล (ศีลมีโลกเป็นใหญ่) ศีลที่บุคคลผู้หนักในธรรม

มุ่งจะบูชาความใหญ่แห่งธรรม ประพฤติด้วยความเคารพธรรม ชื่อว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 29

ธัมมาธิปเตยยศีล (ศีลมีธรรมเป็นใหญ่) พึงทราบศีลเป็น ๓ อย่าง

โดยเป็นอัตตาธิปเตยยศีลเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.

[ ติกะที่ ๓ ]

พึงทราบวินิจฉัยในติกะที่ ๓ ต่อไป ศีลใดที่เรียกว่านิสสิตศีล

ในศีลหมวด ๒ ศีลนั้นชื่อว่าปรามัฏฐศีล เพราะเป็นที่ถูกตัณหา

และทิฏฐิจับ ศีลอันเป็นสัมภาระแห่งมรรคของกัลยาณปุถุชน* และที่

สัมปยุตด้วยมรรคของพระเสขะทั้งหลาย ชื่อว่าอปรามัฏฐศีล (ศีลที่

ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิจับ) ส่วนที่สัมปยุตด้วยผลทั้งของพระเสขะและ

ของพระอเสขะ ชื่อว่าปฏิปัสสัทธศีล (ศีลอันระงับแล้ว) พึงทราบ

ศีลเป็น ๓ อย่าง โดยเป็นปรามัฏฐศีลเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.

[ ติกะที่ ๔ ]

พึงทราบวินิจฉัยในติกะที่ ๔ ต่อไป ศีลที่ภิกษุผู้ไม่ต้องอาบัติ

ทำให้บริบูรณ์ก็ดี ที่ต้องแล้วทำคืนเสียก็ดี ชื่อว่าวิสุทธศีล ศีลที่

ภิกษุต้องอาบัติแล้ว ไม่ทำคืน ชื่อว่าอวิสุทธศีล ศีลของภิกษุ

ผู้สงสัยในวัตถุก็ดี ในอาบัติก็ดี ในอัชฌาจารก็ดี ชื่อว่าเวมติกศีล

ในศีลเหล่านั้น อวิสุทธศีล พระโยคีครรทำให้บริสุทธิ์เสีย ในเวมติก-

ศีล อย่างเพิ่งทำการล่วงละเมิดวัตถุ พึงถ่ายถอนความสงสัยเสียให้ได้

อย่างนี้ ความผาสุขจะมีแก่เธอแล พึงทราบศีลเป็น ๓ อย่าง โดย

* ปุถุชฺชนกลฺยาณกสฺส มหาฎีกาแก้ว่า ปุถุชฺชเนสุ กลฺยาณกสฺส เห็นว่าลงกันได้กับคำกัลยาณ-

ปุถุชน ที่เราใช้ ซึ่งฟังสนิทดีกว่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 30

เป็นวิสุทธศีลเป็นต้น๑ ด้วยประการฉะนี้.

[ ติกะที่ ๕ ]

พึงทราบวินิจฉัยในติกะที่ ๕ ต่อไป ศีลที่สัมปยุตด้วยอริยมรรค

๔ และสามัญญผล ๓ เป็นเสกขศีล ที่สัมปยุตด้วยอรหัตผล เป็น

อเสขศีล ที่เหลือ๒เป็นเนวเสขานาเสขศีล พึงทราบศีลเป็น ๓ อย่าง

โดยเป็นเสขศีลเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทา

ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวว่า "เพราะเหตุว่าแม้ปกติของ

สัตว์นั้น ๆ ในโลก ก็เรียกว่าศีล ซึ่งเขาหมายกล่าวกันอยู่ว่า อยํ

สุขสีโล คนนี้มีปกติเป็นสุข อยํ ทุกขสีโล คนนี้มีปกติเป็นทุกข์

อยํ กลหสีโล คนนี้มีปกติทะเลาะ อยํ มณฺฑนสีโล คนนี้มีปกติ

แต่งตัว" ดังนี้ โดยปริยายนั้น ศีลจึงมี ๓ อย่าง คือกุศลศีล อกุศล-

ศีล อัพพยากตศีล ศีลเป็น ๓ โดยเป็นกุศลศีลเป็นต้นก็มีอย่างนี้แล ใน

ศีล ๓ อย่างนั้น อกุศลศีล ย่อมไม่สมกับอาการแม้อย่างเดียว ใน

อาการทั้งหลายมีลักษณะเป็นต้นแห่งศีลที่ประสงค์ในอรรถนี้ เพราะ

เหตุนั้น จึงไม่นับเข้าในสีลนิเทศนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบความ

ที่ศีลนั้นเป็น ๓ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วเท่านั้น.

[ จตุกกะ ( ศีลหมวด ๔ ) ที่ ๑ ]

ในจตุกกะทั้งหลาย พึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะที่ ๑ (ดัง

๑. วิสุทฺธาทิวเสน ผิดหลักการใช้อาทิ เข้าใจว่าจะคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น วิสุทฺ-

ธาทิวเสน.

๒. มหาฎีกาว่า คำว่าศีลที่เหลือนี้ ได้แก่โลกิยศีลทั้งหมด.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 31

ต่อไปนี้)

ภิกษุใดในพระศาสนานี้คบแต่คนทุศีล ไม่คบ

คนมีศีล เป็นคนเขลา ไม่เห็นโทษในการล่วง

วัตถุ เป็นผู้มากไปด้วยความดำริผิด ไม่รักษา

อินทรีย์ทั้งหลาย ศีลของภิกษุรูปนั้นแล จัดเป็น

หานภาคิยศีล ( ศีลตั้งอยู่ในฝ่ายแห่งความเสื่อม)

ส่วนภิกษุใดในพระศาสนานี้เป็นผู้มีใจยินดีแต่

ด้วยศีลสมบัติ ไม่ยังความพอใจในการประกอบ

กัมมัฏฐานเนือง ๆ ให้เกิดขึ้น ศีลนั้นของภิกษุ

ผู้พอใจอยู่ด้วยคุณเพียงศีล ไม่พยายามสืบต่อให้ยิ่ง

ขึ้นไปนั้นเป็นฐิติภาคศีล ( ศีลตั้งอยู่ในฝ่ายทรงตัว )

ส่วนภิกษุใดเป็นผู้มีศีลถึงพร้อมแล้ว พยายาม

สืบต่อให้ได้สมาธิ ศีลของภิกษุนั้นเป็นวิเสส-

ภาคิยศีล ( ศีลตั้งอยู่ในฝ่ายวิเศษขึ้น )

ภิกษุใดไม่พอใจด้วยคุณเพียงศีล ประกอบ

นิพพิทาเนือง ๆ อยู่ ศีลของภิกษุนั้นเป็น

นิพเพธภาคิยศีล ( ศีลตั้งอยู่ในฝ่ายชำแรกกิเลส )

ฉะนี้แล

พึงทราบศีลเป็น ๕ อย่าง โดยเป็นหานภาคิยศีลเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.

[ จตุกกะที่ ๒ ]

พึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะที่ ๒ ต่อไป สิกขาบทที่ทรงบัญญัติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 32

ปรารภภิกษุทั้งหลาย และสิกขาบททั้งหลาย ที่ภิกษุเหล่านั้นจำต้อง

รักษา โดยเป็นพระบัญญัติสำหรับภิกษุ๑ นี้ชื่อว่าภิกขุศีล สิกขาบทที่

ทรงบัญญัติปรารภภิกษุณีทั้งหลาย และสิกขาบทที่ภิกษุณีเหล่านั้น

จำต้องรักษา โดยเป็นพระบัญญัติสำหรับภิกษุณี นี้ชื่อว่าภิกขุณีศีล

ศีล ๑๐ ของสามเณรและสามเณรีทั้งหลาย ชื่อว่าอนุปสัมปันนศีล

สิกขาบท ๕ ของอุบาสกอุบาสิกา โดยเป็นนิจศีล หรือเมื่อมีอุตสาหะ

สิกขาบท ๑๐๒ (หรือ) สิกขาบท ๘ โดยเป็นองค์อุโบสถ นี้ชื่อว่า

คหัฏฐศีล พึงทราบศีลเป็น ๔ อย่างโดยเป็นภิกขุศีลเป็นต้น ด้วย

ประการฉะนี้.

[ จตุกกะที่ ๓ ]

พึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะที่ ๓ ต่อไป ความไม่ล่วง (ศีล ๕)

ของมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป ชื่อปกติศีล มรรยาทและจารีตของตน ๆ

แห่งตระกูลแห่งเทสะและแห่งปาสัณฑะ (ลัทธิ) ชื่อว่าอาจารศีล ศีล

ของพระมารดาพระโพธิสัตว์ ที่มีพระพุทธดำรัสไว้อย่างนี้ว่า "ดูกร

อานนท์ ข้อนี้เป็นธรรมดา คือในกาลเมื่อพระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่พระ

ครรภ์ของพระมารดาแล้ว ความพอใจอันเกี่ยวด้วยกามคุณในบุรุษ

ทั้งหลาย ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์" ดังนี้๓ ชื่อว่า

ธัมมตาศีล ส่วนศีลในชาตินั้น ๆ ของสัตว์ผู้มีสันดานหมดจดทั้งหลาย

๑. หมายถึงสิกขาบทอื่น ๆ ลางประเภท ซึ่งมิใช่สาธารณบัญญัติ.

๒. มหาฎีกาว่า สิกขาบท ๑ๆ ก็คือศีลของสามเณรนั่นเอง คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาอุตสาหะ ลางคน

เช่น ฆฏิการพราหมณ์ รับปฏิบัติ.

๓. ที. มหา. ๑๐/๑๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 33

มีพระมหากัสสปะเป็นอาทิ และของพระโพธิสัตว์ ชื่อว่าปุพพเหตุกศีล

(ศีลมีเหตุอันสำเร็จมาแต่ในชาติปางก่อน ๆ) พึงทราบศีลเป็น ๔ อย่าง

โดยปกติศีลเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.

[ จตุกกะที่ ๔ ]

พึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะที่ ๔ ต่อไป

[ ปาฏิโมกขสังวรศีล ]

ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ภิกษุใดในศาสานนี้เป็นผู้

สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวรอยู่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติ

เห็นเป็นภัยในโทษมาตรว่าเล็กน้อย สมาทานศึกาาอยู่ในสิกขาบท

ทั้งหลาย" ดังนี้๑ ศีลนี้ชื่อปาฏิโมกขสังวรศีล.

[ อินทริยสังวรศีล ]

ส่วนศีลใดที่ตรัสไว้ว่า "ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้ไม่

ถือเอานิมิต ไม่ถือเอาอนุพยัญชนะ๒ อภิชฌาโทมนัสทั้งหลาย ธรรม

ทั้งหลายอันเป็นบาปเป็นกุศล จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวม

จักขุนทรีย์อยู่ เพราะเหตุไม่สำรวมจักขุนทรีย์อันใด ย่อมปฏิบัติเพื่อปิด

กั้นเสียซึ่งจักขุนทรีย์นั้น รักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

เธอฟังเสียงด้วยโสตะแล้ว ฯ ล ฯ ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ฯ ล ฯ ลิ้ม

รสด้วยชิวหาแล้ว ฯ ล ฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯ ล ฯ รู้

ธรรมารมณ์ด้วยมนะแล้ว ไม่ถือเอานิมิต ไม่ถือเอาอนุพยัญชนะ

๑. อภิ. วิ. ๓๕/๓๒๘.

๒. เราเคยแปลกันว่า ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ แต่ในคัมภีร์นี้ท่านให้แปลว่าไม่ถือ

ซึ่งนิมิต ไม่ถือซึ่งอนุพยัญชนะ ดังจะปรากฏในตอนแก้อรรถอินทรียสังวรศีล.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 34

ฯ ล ฯ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์"๑ ดังนี้ ศีลนี้ชื่อว่า อินทริย-

สังวรศีล.

[ อาชีวปาริสุทธิศีล ]

ส่วนการงดเว้นจากมิจฉาชีวะ อันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการ

ละเมิดสิกขาบท ๖ ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเพราะอาชีพเป็นเหตุ

เพราะอาชีพเป็นจัวการณ์ และ (ด้วยอำนาจ) แห่งบาปธรรมทั้งหลาย

มีอย่างนี้ คือ "การล่อลวง (กุหนา) การป้อยอ (ลปนา) การ

ทำใบ้ (เนมิตฺติกา) การบีบบังคับ (นิปฺเปสิกตา) การแสวงหา

ลาภด้วยลาภ (ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตา)" ดังนี้เป็นต้น ศีลนี้ชื่อว่า

อาชีวปาริสุทธิศีล.

[ ปัจจยสันนิสิตศีล ]

การบริโภคปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ที่พระศาสดา

ตรัสไว้โโยนัยว่า "ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วเสพจีวร ว่าเพียง

เพื่อบำบัดความหนาว"๒ ดังนี้เป็นต้น นี้ชื่อว่าปัจจยสันนิสิตศีล.

[ แก้อรรถแห่งบทต่าง ๆ ]

(ต่อไป) นี้ เป็นคำวินิจฉัยพร้อมด้วยพรรณนาความแห่งบท

โดยลำดับจำเดิมแต่ต้นในศีลเหล่านั้น :-

บทว่า อิธ คือในพระศาสนานี้ บทว่า ภิกฺขุ ได้แก่กุลบุตรผู้บวช

ด้วยศรัทธาอันได้แก่โวหาร (คำเรียก) อย่างนั้น เพราะภาวะคือเห็นภัย

๑. องฺ. ติก. ๒๐/๑๔๓.

๒. ม. มู. ๑๒/๑๗.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 35

ในสงสาร หรือนัยหนึ่งว่า เพราะความเป็นผู้ใช้ผ้าที่ฉีกเป็นชิ้นแล้ว

เป็นต้น๑.

ในบทว่า สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้ มีความว่า คำว่า ปาฏิ-

โมกข์ หมายเอาศีลที่เป็นสิกขาบท เพราะว่าผู้ใดเฝ้าระวัง คือรักษาศีล

นั้น ศีลนั้นย่อมยังผู้นั้นให้รอด คือให้พ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีทุกข์ใน

อบายเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ศีลนั้นท่านจึงเรียกว่า ปาฏิโมกข์๒

ความปิดกั้น ชื่อว่าสังวร คำว่า สังวรนี้ เป็นชื่อแห่งความไม่ละเมิด

ทางกายและทางวาจา สังวรคือปาฏิโมกข์ ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวร๓

ภิกษุสำรวมแล้ว คือเข้าถึง ประกอบพร้อมแล้วด้วยสังวรคือปาฏิโมกข์

นั้น ชื่อว่าผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวร บทว่า วิหรติ คือผลัดเปลี่ยน

อิริยาบถอยู่.

[ อาจาระ อนาจาระ ]

เนื้อความแห่งคำว่า "ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร" เป็นต้น

พึงทราบตามนัยที่มาแล้วในพระบาลีนั่นแล จริงอยู่ พระธรรมสังคาห-

๑. ครั้งแรก (วิสุทธิมรรคหน้า ๔) แก้ไว้อรรถเดียว คือเห็นภัยในสงสาร ( .... ภยํ

อิกฺขติ) คราวนี้แก้เพิ่มอีกอรรถหนึ่ง คือใช้ผ้าฉีก (ภินฺนปฏธโร) มีอาทิไว้ด้วย.

๒. ตามนี้ ปาฏิโมกฺข แปลว่า ศีลที่ยังรักษาให้พ้น ท่านแก้เอาตามรูปของศัพท์ง่าย ๆ ดี แต่

ทางนักปราชญ์ไทยเรา ดูเหมือนจะไม่ชอบแปลอย่างนั้น ท่านแปลโดยความหมายทางหนึ่งว่า เป็น

หลักเป็นประธาน ใช้ประกอบกับธรรมก็ได้ เช่นโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ไม่เคยได้ยินใครแปลว่า โอวาท

ที่ยังผู้ปฏิบัติให้พ้น ได้ยินแต่ว่าคำสอนอันเป็นหลัก หรือหลักคำสอน.

๓. ปาฏิโมกฺขเมว สํวโร ก็ต้องแปลว่า สังวรคือปาฏิโมกข์ จะเป็นนิยามเฉพาะอรรถแห่ง

สังวร ๕ นี้กระมัง ท่านแก้อรรถให้แปลแบบเดียวกัน คือ สติสังวร สังวรคือสติ ขันติสังวร

สังวรคือขันติ วิริยสังวร สังวรคือวิริยะ แต่ในที่อื่นเป็น ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร - สังวรใน...

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 36

กาจารย์กล่าวคำนี้ไว้ว่า "คำว่า ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร" มี

นิเทศว่า อาจาระก็มี อนาจาระก็มี ใน ๒ อย่างนั้น อนาจาระเป็น

ไฉน ? ความละเมิดทางกาย ความละเมิดทางวาจา ความละเมิดทั้ง

ทางกายทั้งทางวาจา นี้ท่านเรียกว่าอนาจาระ ความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้ง

หมด ก็ชื่ออนาจาระ ภิกษุลางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วย

การให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้ ผลไม้

เครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง๑ ด้วยการทำตัวต่ำ (เพื่อจะให้เขารัก) บ้าง

ด้วยพูด (เล่นปนจริง) เป็นแกงถั่วบ้าง๒ ด้วยทำตัวเป็นพี่เลี้ยงทารกบ้าง

ด้วยการรับสื่อข่าวให้เขาบ้าง หรือด้วยมิจฉาชีวะอย่างอื่น ๆ ที่พระ-

พุทธเจ้าทรงรังเกียจ นี้ชื่อว่าอนาจาระ.

ใน ๒ อย่างนั้น อาจาระเป็นไฉน ? ความไม่ละเมิดทางกาย

ความไม่ละเมิดทางวาจา ความไม่ละเมิดทั้งทางกายทั้งทางวาจา นี้ท่าน

เรียกว่าอาจาระ สีลสังวรแม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าอาจาระ ภิกษุลางรูปใน

ศาสนานี้ ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ใบไม้ก็ดี

ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ดอกไม้ ผลไม้เครื่องสนาน และไม้สีฟันก็ดี ไม่

เลี้ยงชีพด้วยการทำตัวให้ต่ำ (เพื่อจะให้เขารัก) ก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยพูด

(เล่นปนจริง) เป็นแกงถั่วก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตัวเป็นพี่เลี้ยง

ทารกก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการรับสื่อข่าวให้เขาก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วย

๑. เหตุไร ท่านจึงแยก ปฺปฺผผล มารวมเข้าสมาสกับ สินานทนฺตกฏฺฐ ซึ่งเป็นคนละประเภท

ถ้าจะรวมก็น่าจะรวมกับ ปตฺต เป็น ปตฺตปฺปฺผผลทาเนน ซึ่งเป็นประเภทเดียวกัน.

๒. ท่านว่าแกงถั่วนั้นจะมีถั่วที่ไม่สุกปนอยู่บ้างนิดหน่อยเสมอฉันใด คนพูดเล่นปนจริงก็ฉันนั้น

ถ้อยคำของเขาไม่เป็นจริงส่วนมาก มีจริงปนอยู่นิดหน่อย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 37

มิจฉาชีวะอย่างอื่น ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจก็ดี นี้ก็เรียกว่าอาจาระ.

[ โคจร อโคจร ]

คำว่า โคจร มีนิเทศว่า โคจร ก็มี อโคจร ก็มี ใน ๒ อย่าง

นั้น อโคจรเป็นไฉน ? ภิกษุลางรูปในศาสนานี้ก็เป็นผู้หญิงมีแพศยา

เป็นโคจร หรือมีหญิงหม้าย สาวเทื้อ บัณเฑาะก์ ภิกษุณี และ

โรงสุราเป็นโคจร เป็นผู้คลุกคลีอยู่กับพระราชา กับมหาอำมาตย์

กับเดียรถีย์ โดยการสังสรรค์กับคฤหัสถ์อย่างไม่สมควร๑ ก็หรือว่าย่อม

เสพ ย่อมคบ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ซึ่งตระกูลทั้งหลายที่ไม่มีศรัทธา ไม่

เลื่อมใส ที่ด่าว่าเอา ที่มุ่งสิ่งอันไม่มีประโยชน์ (ให้) มุ่งสิ่งที่ไม่

เกื้อกูล (ให้) มุ่ความไม่ผาสุก (ให้) มุ่งความไม่เกษมจากโยคะ

(ให้) แก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี้เรียกว่าอโคจร.

ใน ๒ อย่างนั้น โคจรเป็นไฉน ? ภิกษุลางรูปในศาสนานี้ไม่

เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ฯ ล ฯ ไม่เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจร ไม่

คลุกคลีอยู่กับพระราชา ฯ ล ฯ กับสาวกของเดียรถีย์ โดยการสังสรรค์

กับคฤหัสถ์ที่ไม่สมควร ก็หรือว่าย่อมเสพ ย่อมคบ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้

ซึ่งตระกูลทั้งหลายที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็น (ดุจ) บ่อน้ำ๒ รุ่งเรืองด้วย

๑. อนนุโลมิเกน คิหิสํสคฺเคน มหาฎีกาเขียนไว้ไม่มีคำ คิหิ ว่า อนนุโลมิเกน สํสคฺเคน

มีปัญหาอยู่ว่า เดียรถีย์นับเป็นคฤหัสถ์หรือไม่.

๒. โอปานภูตานิ มหาฎีกาแก้ว่า ตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น เป็นดุจบ่อน้ำควรเป็นที่ลงไป

ดื่มหรือใช้ตามสบายแห่งหมู่ภิกษุภิกษุณี เหมือนสระโบกขรณีที่เขาขุดไว้เป็นสาธารณะที่ทางสี่แยก

ฉะนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 38

ผ้ากาสาวพัสตร์ มีกลิ่นอายฤษีเข้าออก๑ มุ่งประโยชน์ (ให้) ฯ ล ฯ มุ่ง

ธรรมที่เกษมจากโยคะ (ให้) แก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

นี้เรียกว่าโคจร ภิกษุผู้ไปเข้าจนถึง เป็นผู้เข้ามาจนถึง เป็นผู้

ปฏิบัติจนถึง เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยอาจาระนี้ด้วย๒ ด้วยโคจรนี้ด้วย

โดยนัยที่กล่าวมานี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า "อาจารโคจร-

สมฺปนฺโน" (ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร).

[ อนาจาระ ๒ อย่าง ]

ในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบอาจาระและโคจร แม้โดยนัย (ต่อไป)

นี้อีกนัยหนึ่ง ก็อนาจาระมี ๒ อย่าง คือ อนาจาระทางกาย ๑ อนาจาระ

ทางวาจา ๑ ใน ๒ อย่างนั้น อนาจาระทางกายเป็นไฉน ? ภิกษุลางรูป

๑. อิสิวาตปฏิวาตานิ มหาฎีกาแก้ว่า ตระกูลเช่นนั้น ย่อมมีพวกฤษีคือภิกษุภิกษุณีเข้าออกกัน

อยู่เสมอ จึงมีลมจีวรและลมสรีระที่เกิดแต่การคู้แขนเหยียดแขนเป็นต้น ของท่านพวกฤษีเหล่านั้น

กระพืออยู่เรื่อย ๆ

น่าจะเห็นว่า วาตศัพท์ในที่นี้ โดยความก็หมายถึงกลิ่นนั่นเอง เพียงลมจีวรและลมสรีระของท่าน

เหล่านั้น คงไม่มีอะไรมากจนควรเป็นที่สังเกต แต่กลิ่นที่ฟุ้งออกมาแต่จีวรและสรีระของท่านเหล่า

นั้นสิควรจะได้โวหารว่า "อิสิวาต" ละ กลิ่นเมื่อท่านเข้าสู่บ้านเป็น วาต กลิ่นเมื่อท่านออกจาก

บ้านเป็น ปฏิวาต หรือเมื่อเดินสวนกันเป็นปฏิวาต แต่มหาฎีกาแก้อรรถปฏิวาต เป็น ปวายิต

ถ้า

เช่นนั้นก็แปลว่า "ฟุ้งไปด้วยกลิ่นพระฤษี" ฟังได้ดี.

๒. อภิ. วิ. ๓๕ ๓๓๑. อุเปโต โหติ สมุเปโต อุปาคโต สมุปาคโต อุปปนฺโน สมุปปนฺโน

สมนฺนาคโต ศัพท์เหล่านี้ความเดียวกันทั้งนั้น บาลีท่านชอบเก็บศัพท์ที่มีความเดียวกันมาเรียง

ไว้ด้วยกันมาก ๆ น่าจะมิได้ประสงค์จะแปลหมดทุกศัพท์ เพราะยิ่งแปลละเอียดจนหมด ก็ยิ่ง

ไม่เป็นภาษา น่าจะมีประสงค์ว่า ใครแปลศัพท์หน้าไม่ได้ ก็อาจแปลศัพท์หลังได้ หรือแปล

ได้

ศัพท์ใดศัพท์หนึ่งก็ใช้ได้ แต่เราจะทิ้งศัพท์ของท่านเฉย ๆ ก็อย่างไรอยู่ จึงหาทางแปล โดยรวม

เป็นคู่ ๆ เช่นนั้น คู่ อุเปโต แปลว่า เข้าไปจนถึง คู่ อุปาคโต แปลว่า เข้ามาจนถึง คู่

อุปปนฺโน แปลว่า ปฏิบัติจนถึง ส่วน สมนฺนาคโต เป็นศัพท์เดียวรวบท้าย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 39

ในพระศาสนานี้ แม้อยู่ในชุมนุมสงฆ์ ก็ไม่กระทำความยำเกรง ยืน

เบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ยืนหน้า (ท่าน) บ้าง

นั่งหน้า (ท่าน) บ้าง นั่งอาสนะสูง (กว่าท่าน) บ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง

ยืนพูดบ้าง๑ ยกมือขวักไขว่พูดบ้าง เมื่อภิกษุผู้เถระไม่สวมรองเท้า

จงกรมอยู่ ตนสวมรองเท้าจงกรมบ้าง เมื่อท่านจงกรมอยู่ในที่จงกรม

ต่ำ ตนจงกรมอยู่ในที่จงกรมสูงบ้าง เมื่อท่านจงกรมอยู่ที่พื้นดิน ตน

จงกรมบนที่จงกรมบ้าง ยืนแทรกบ้าง นั่งแทรกบ้าง ซึ่งภิกษุผู้เถระ

กันภิกษุใหม่ด้วยอาสนะบ้าง๒ ยังไม่ทันขอโอกาสภิกษุผู้เถระ แม้ใน

เรือนไฟ ขนฟืนไป ปิดประตูไป แม้ที่ท่าน้ำ เดินเสียดสีภิกษุผู้เถระ

ลงไปบ้าง ลงก่อนบ้าง เบียดอาบบ้าง อาบก่อนบ้าง เบียดขึ้นบ้าง

ขึ้นก่อนบ้าง แม้เข้าไปสู่ละแวกบ้านก็เดินเบียดเสียดภิกษุผู้เถระไปบ้าง

ไปก่อนท่านบ้าง หลีกขึ้นหน้าพระเถระไปบ้าง อนึ่ง ห้องเรือนของ

ตระกูลทั้งหลายที่เป็นห้องลับและเขาปิดไว้ ซึ่งเป็นที่กุลสตรีกุลกุมารีนั่ง

กัน ก็ผลุนผลันเข้าไปในห้องนั้นบ้าง ลูบคลำศีรษะเด็กชายบ้าง นี้

เรียกว่าอนาจาระทางกาย.

ใน ๒ อย่างนั้น อนาจาระทางวาจาเป็นไฉน ? ภิกษุลางรูปใน

ศาสนานี้ แม้อยู่ในชุมนุมสงฆ์ก็ไม่ทำความยำเกรง ยังมิได้ขอโอกาส

ภิกษุผู้เถระ กล่าวธรรมไป แก้ปัญหาไป สวดปาฏิโมกข์ไป ยืนพูด

๑. มหาฎีกาขยายความว่า อุปริ ติฏฺฐนฺโต วิย อาสนฺนตรฏฺฐาเน  ิตโกปิ ภณติ "ยืนพูดอยู่

ใกล้ท่านมาก ราวกะยืนอยู่บน (ศีรษะท่าน)" ยืนแบบนี้ ภาษาไทยว่า ยืนค้ำ (หัว).

๒. คือไม่นั่งตามที่อันสมควรแก่ตน นั่งหลังไปหรือนั่งต่ำไป เป็นเหตุให้ภิกษุใหม่หาที่นั่งไม่ได้

เพราะที่อันสมควรแก่ตน ท่านนั่งเสียแล้ว จะไปนั่งหน้าเหนือท่านก็ไม่ได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 40

บ้าง ยกมือขวักไขว่พูดบ้าง แม้เข้าไปสู่ระแวกบ้าน กล่าวกะหญิง

หรือเด็กหญิงอย่างนี้ว่า "แน่ะแม่ผู้มีชื่ออย่างนี้ ผู้มีโคตรอย่างนี้ ข้าว

ต้มยังมีอยู่หรือ ข้าวสวยมีอยู่หรือ ของเคี้ยวมีอยู่หรือ" พูดพล่ามไป

ว่า "อาตมาจักดื่มอะไร จักเคี้ยวอะไร จักฉันอะไร" หรือว่า "ท่าน

ทั้งหลายจักให้อะไรแก่อาตมา" ดังนี้ นี้เรียกว่าอนาจาระทางวาจา

ส่วนอาจาระ พึงทราบโดยปฏิปักขนัยแห่งอนาจาระนั้นเถิด.

อีกนัยหนึ่ง ภิกษุผู้มีความเคารพ มีความยำเกรง ถึงพร้อม

ด้วยหิริโอตตัปปะ นุ่งเรียบร้อย ห่มเรียบร้อย มีกิริยาก้าวไป ถอย

กลับ แล เหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส จักษุทอดลง ถึง

พร้อมด้วยอิริยาบถ รักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณใน

โภชนะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งชาคริยธรรม กอบด้วยสติสัมปชัญญะ

มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร กระทำโดย

เคารพในอภิสมาจารสิกขาบททั้งหลาย มากไปด้วยความเคารพและ

ยำเกรงอยู่ ความเป็นผู้มีความเคารพเป็นอาทินี้ เรียกว่า อาจาระ

พึงทราบอาจาระดังนี้ก่อน.

โคจร ๓

[ อุปนิสัยโคจร ]

ส่วนโคจรมี ๓ อย่าง คือ อุปนิสัยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธ-

โคจร ในโคจร ๓ อย่างนั้น อุปนิสัยโคจรเป็นไฉน ? กัลยาณมิตร

ผู้กอบด้วยคุณอันเป็นกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นที่บุคคลได้อาศัยแล้วย่อมฟัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 41

สิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ทำสิ่งเคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ข้ามความสงสัยเสีย

ได้ ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตใจให้ผ่องใสได้ หรือบุคคลศึกษา

ตามกัลยาณมิตรใดอยู่ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศีล

สุตะ จาคะ ปัญญา กัลยาณมิตรนี้เรียกว่า อุปนิสัยโคจร.๑

[ อารักขโคจร ]

อารักขโคจรเป็นไฉน ? ภิกษุในพระศาสนานี้ เข้าไปสู่ละแวก

บ้าน เดินไปตามถนน มีจักษุทอดลง มองดูชั่วแอก สำรวมไป ไม่

แลดูพลช้าง ไม่แลดูพลม้า ไม่แลดูพลรถ ไม่แลดูพลราบ ไม่แลดู

หญิง ไม่แลดูชาย ไม่แหงนดู ไม่ก้มดู ไม่เหลียวลอกแลกเดินไป

นี้เรียกว่า อารักขโคจร.๒

[ อุปนิพันธโคจร ]

อุปนิพันธโคจรเป็นไฉน ? อุปนิพันธโคจรได้แก่สติปัฏฐาน ๔ ซึ่ง

เป็นที่นำจิตเข้าไปผูกไว้ สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "(ถาม

ว่า) ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าเป็นโคจรของภิกษุ ? (ตอบว่า)

ธรรมที่เป็นวิสัยของบิดาของตน ธรรมนี้คืออะไร ? คือสติปัฏฐาน ๔๓

๑. มหาฎีกาแก้อรรถศัพท์นี้ว่า สีลาทีนํ คุณานํ อุปนิสฺสยภูโต โคจโร อุปนิสฺสยโคจโร

"โคจรอันเป็นที่เข้าอาศัยแห่งคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ชื่อว่าอุปนิสัยโคจร" แก้อย่างนั้นไม่

สมกับบาลี ในนั้นท่านแสดงว่า โคจร (คือกัลยาณมิตร) เป็นที่อาศัยของบุคคล บุคคลได้อาศัย

โคจรนั้นแล้วจึงได้อานิสงส์ เจริญด้วยสัทธาทิคุณ.

๒. มหาฎีกาแก้อรรถศัพท์นี้ว่า สติสงฺขาโต อารกฺขภูโตเอว โคจโร อารกฺขโคจโร "โคจร

อันเป็นอารักข์ กล่าวคือสตินั่นแล ชื่อว่าอารักขโคจร"

๓. สํ. มหาวาร. ๑๙/๑๙๘. มหาฎีกาแก้อรรถตรงนี้ว่า สโก เปตฺติโก วิสโยติ อตฺตโน ปิตุ

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส สนฺตโก เตน ทิฏฺโฐ ทสฺสิโต จ วิสโย - "สามบทว่า สโก เปตฺติโก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 42

นี้เรียกว่าอุปนิพนธโคจร* ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วย

อาจาระนี้ด้วย ด้วยโคจรนี้ด้วย โดยนัยที่กล่าวมานี้ แม้เพราะเหตุนั้น

จึงเรียกว่า "อาจารโคจรสมฺปนฺโน" (ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระ

และโคจร)

ข้อว่า 'มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษมาตรว่าเล็กน้อย' ความว่า

เป็นผู้มีกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย อันต่างโดย

โทษเป็นต้นว่าเสขิยวัตรที่ไม่จงใจล่วงและจิตตุบาทที่เป็นอกุศล ข้อ

ว่า 'ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย' ความว่า ศีลอย่างใด

อย่างหนึ่งที่ต้องศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ก็ถือศีลทั้งปวงนั้นด้วยดี

ศึกษาอยู่ ก็ในอธิการแห่งปาฏิโมกขสังวรศีลนี้ พึงทราบว่า

ปาฏิโมกขสังวรศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยปุคคลาธิษฐาน-

เทศนาด้วยบทว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต เพียงบทเดียวนี้ ส่วนคำว่า

อาจารโคจรสมฺปนฺโน เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อทรงแสดง

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางถึงพร้อมแห่งศีลนั้นทั้งหมดนั้นแก่ผู้ปฏิบัติ.

[ อินทริยสังวร ]

ส่วนอินทริยสังวรศีลนั้นใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดย

วิสโย ความว่า ธรรมอันเป็นสมบัติของบิดา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของตน เป็นวิสัยที่พระบิดา

นั้นทรงเห็นและทรงแสดงแล้ว"

พระบาลีนี้สำนวนฟังยาก คิดไม่เห็นว่าเหตุไรท่านจึงใช้สำนวนแบบนี้.

* ศัพท์นี้มหาฎีกาแก้ว่า กมฺมฏฺฐานสงฺขาโต จิตฺตสฺส อุปนิพนฺธนฏฺฐานภูโต โคจโร

อุปนิพนธฺโคจโร "โคจรอันเป็นที่เข้าไปผูกจิตไว้ กล่าวคือกัมมัฏฐาน ชื่อว่าอุปนิพันธโคจร"

โคจร ๓ ตามนัยนี้ เป็นคน ๑ คืออุปนิสสยโคจร ได้แก่กัยาณมิตร เป็นธรรม ๒ คือ

อารักขโคจร ได้แก่สติ อุปนิพันธโคจร ได้แก่กัมมัฏฐาน (สติปัฏฐาน).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 43

นัยว่า "ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุ" ดังนี้เป็นอาทิ ในลำดับแห่งปาฏิ-

โมกขสังวรศีลนั้น พึงทราบวินิจฉัยในอินทริยสังวรศีลนั้นดังต่อไปนี้ : -

บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น

คำว่าเห็นรูปด้วยจักษุ ความว่าเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณอันสามารถใน

การเห็นรูป ซึ่งได้โวหารจักษุ ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเหตุ๑ จริง

อยู่ โบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า "จักษุย่อมไม่เห็นรูป เพราะ

จักษุไม่มีจิต แม้จิตก็ไม่เห็นรูป เพราะจิตไม่มีจักษุ แต่เมื่อทวาร

กับอารมณ์กระทบกันเข้า บุคคลย่อมเห็นรูปด้วยจิตมีจักษุประสาท

เป็นที่ตั้ง" ก็คำพูดเช่นนี้ชื่อว่า สสัมภารกถา เหมือนกถาในคำว่า ยิง

ด้วยธนู เป็นต้น๒ เพราะเหตุนั้น ความที่ว่า "เห็นรูปด้วยจักษุ-

วิญญาณ" นี้นั่นแหละ เป็นความหมายในคำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนั้น

บทว่า น นิมิตฺตคฺคาหี ความว่า ย่อมไม่ถือเอานิมิตว่าหญิงหรือ

ชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีสุภนิมิตเป็นต้น ยั้งหยุดอยู่

๑. ตรงนี้เข้าใจยาก แม้ดูมหาฎีกาแล้วก็ยังไม่ง่ายขึ้น ดูเหมือนจะหมายความดังนี้ จักษุเป็น

เหตุให้เกิดผลคือการเห็นรูปขึ้น ถึงแม้ว่าต้องมีวิญญาณประกอบ การเห็นนั้นจึงจะสำเร็จก็ตาม

แต่วิญญาณเป็นเหตุสาธารณะอันไม่ปรากฏ ส่วนจักษุเป็นอสาธารณะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น พูด

เพียงว่า "เห็นด้วยจักษุ" ก็ซึมซาบกันดี เหมือนคำว่า "เสียงกลอง" กลองเป็นเหตุจำเพาะ

ให้เกิดผล คือเสียงกลอง ถึงแม้ว่าจะต้องมีคนตีหรือมีสิ่งอะไรมากระทบมันจึงจะเกิดเสียง แต่ว่า

พูดแต่ผลกับเหตุจำเพาะว่าเสียงกลอง เราก็เข้าใจซึมซาบดี ไม่จำต้องพูดให้หมดว่า "เสียงแห่ง

กลองอันเขาติแล้ว."

๒. สสัมภารกถา แปลว่าคำพูดมีสัมภาระ คือมีองค์ประกอบ จึงจะได้ความสมบูรณ์ เช่นคำว่า

ยิงด้วยธนู สัมภาระของคำนี้คือลูกธนู เพราะว่าถ้าไม่มีลูกธนู การยิงก็ไม่สำเร็จ แต่เมื่อยิงลูกธนู

ออกไปจากแล่งธนูเสร็จแล้ว ก็พูดว่า "ยิงด้วยธนู" เป็นอันรู้กันฉันใด คำว่าเห็นรูปด้วยจักษุ ก็

มีสัมภาระคือจักษุวิญญาณฉันนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 44

ในอาการสักว่าเห็นเท่านั้น บทว่า นานุพฺยญฺชนคฺคาหี ความว่า

ย่อมไม่ถือเอาอาการอันต่างโดยมือ เท้า ศีรษะ และการหัวเราะ การ

พูด การฉอเลาะ การแลเหลียวเป็นต้น ซึ่งได้โวหารว่าอนุพยัญชนะ

เพราะเป็นอนุพยัญชนะ คือเป็นเครื่องทำความปรากฏแห่งกิเลสทั้งหลาย

สิ่งใดเด่นอยู่ในสรีระนั้น ก็ถือเอาสิ่งนั้น (เป็นอารมณ์) เหมือนพระ

มหาติสสเถระผู้อยู่ในเจติยบรรพตฉะนั้น.

[ เรื่องพระมหาติสสเถระ ]

มีเรื่องเล่าว่า หญิงสะใภ้แห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง ทะเลาะกับสามี

ตกแต่งและประดับกายเสียสวย* ราวกะเทพกัญญา ออกจากอนุราธปุระ

แต่เช้าตรู่ เดินไปสู่เรือนญาติ ในระหว่างทางได้พบพระมหาติสสเถระ

นั้นผู้เดินจากเจติยบรรพตมาสู่อนุราธปุระ เพื่อเที่ยวบิณฑบาต เกิดมี

จิตวิปลาสหัวเราะดังขึ้น ฝ่ายพระเถระแลดูว่า นี่อะไร กลับได้

อสุภสัญญาในฟันของหญิงนั้น แล้วได้บรรลุพระอรหัต เพราะ

เหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ (เป็นคาถา) ว่า

พระเถระเห็นฟันของหญิงนั้นแล้ว หวนระลึกถึง

* สุมณฺฑิตปสาธิตา มหาฎีกาแยกเป็น ๒ ศัพท์ และให้อรรถเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งประดับ

กายด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ อันเป็นอาหริมะ คือเป็นของนอกกาย นำเอาเข้ามาประดับ

(เช่นตุ้มหู แหวน) เรียกมัณฑนะ แต่งตัวเช่นอบกลิ่นเป็นต้น เรียกปสาธนะ อีกนัยหนึ่ง แต่ง

ด้วยเครื่องประดับเป็นปสาธนะ แต่งตัวเช่นแต้มปาก แต้มตา เป็นมัณฑนะ นัยหลังนี้ชอบด้วย

อาคตสถาน เพราะเครื่องประดับใหญ่ของท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา ก็เรียกว่า มหาลดาปสาธนะ

ส่วนมัณฑนะ เป็นการแต่งร่างกายให้สวยขึ้น เช่นผัดหน้า แต่งคิ้ว ปาก เล็บ เป็นต้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 45

สัญญาเก่า* ท่านยืนอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ได้บรรลุ

พระอรหัต.

ข้างฝ่ายสามีของนางเดินติดตามมา พบพระเถระเข้าจึงถามว่า

"ท่านผู้เจริญ ท่านเห็นหญิงบ้างหรือ ?" พระเถระกล่าว (เป็นคาถา)

กะเขาว่า

ฉันไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปจากที่นี้

แต่ว่าร่างกระดูกนั่นกำลังเดินไปในทางใหญ่.

ในคำว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า ธรรม

ทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านั้น พึงไหลไปตาม คือพึงติดตาม

บุคคลนั้นผู้สำรวมจักขุนทรีย์ คือเป็นผู้มีจักษุทวารอันไม่ปิด ด้วย

บานประตูคือสติอยู่ เพราะเหตุใด คือเพราะเหตุแห่งการไม่สำรวม

จักขุนทรีย์อันใด ข้อว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อกั้นจักขุนทรีย์นั้น ความว่า

ย่อมปฏิบัติเพื่อปิดจักขุนทรีย์นั้นด้วยบานประตูคือสติ ก็ภิกษุปฏิบัติ

อยู่อย่างนั้นนั่นแล ท่านกล่าวว่า ย่อมรักษาจักขุนทรีย์บ้าง ย่อมถึง

ความสำรวมในจักขุนทรีย์บ้าง.

ในคำว่า ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์นั้น พึงทราบว่า อันที่

จริง ความสำรวมหรือไม่สำรวมก็ตาม ในจักขุนทรีย์หามีไม่ เพราะ

สติก็ดี ความหลงลืมสติก็ดี มิได้อาศัยจักษุประสาทเกิดขึ้น อนึ่ง ใน

* มหาฎีกาว่า พระเถระท่านได้เจริญอัฏฐิกัมมัฏฐานอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น พอเห็น

ฟันของหญิงนั้น อัฏฐิกสัญญาก็เกิดขึ้นทันที และเพราะความที่ท่านชำนาญสัญญานั้น ร่างของหญิง

นั้นเลยปรากฏแก่ท่านเป็นร่างกระดูกไปทั้งร่าง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 46

เวลาที่รูปารมณ์มาสู่คลองจักษุ เมื่อภวังคจิตเกิดดับไปสองขณะ แล้ว

มโนธาตุอันเป็นกิริยาให้สำเร็จอาวัชชนกิจ (กิจคือการนึกหน่วงอารมณ์)

เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่นั้นจักขุวิญญาณให้สำเร็จทัสสนกิจ (คือกิจการ

เห็น) เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อนั้นมโนธาตุอันเป็นวิบากให้สำเร็จ

สัมปฏิจฉันนกิจ (กิจคือการรับเอา) เกิดขึ้นแล้วดับไป ทีนั้นมโน-

วิญญาณธาตุซึ่งเป็นอเหตุกวิบากให้สำเร็จสันตีรณกิจ (กิจคือการตรึก

ตรอง) เกิดขึ้นแล้วดับไป ครั้นแล้วมโนวิญญาณธาตุซึ่งเป็นอเหตุก-

กิริยาให้สำเร็จโวฏฐัพพนกิจ (กิจคือการกำหนดเอา) เกิดขึ้นแล้วดับไป

ในลำดับนั้นชวนจิตจึงแล่นไป ความสำรวมหรือความไม่สำรวมก็ตาม

ในสมัยทั้งหลายแม้นั้น คือในภวังคสมัยก็ไม่มี ในบรรดาสมัยแห่ง

วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่งก็ไม่มีเลย แต่ทว่า ในขณะ

แห่งชวนจิต ถ้าความทุศีลก็ดี ความหลงลืมสติก็ดี ความไม่รู้ก็ดี

ความไม่อดทนก็ดี ความเกียจคร้านก็ดี เกิดขึ้นไซร้ ความไม่สำรวม

ก็มีขึ้น ก็ความไม่สำรวมที่มีขึ้นอย่างนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์ เพราะเหตุใร ? เพราะเหตุว่าเมื่อความ

ไม่สำรวมนั้นมีอยู่ แม้ทวารก็เป็นอันไม่ได้คุ้มครอง แม้ภวังคจิต

แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันไม่ได้คุ้มครอง (ไปตามกัน)

เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนเมื่อประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน อัน

บุคคลไม่ระวังแล้ว แม้ถึงภายในเรือน ซุ้มประตูและห้องเป็นต้น อัน

บุคคลระวังดีแล้ว ถึงอย่างนั้นสิ่งของภายในพระนคร ก็ชื่อ

ว่าเป็นอันไม่ได้รักษา ไม่ได้คุ้มครองอยู่นั่นเอง เพราะพวกโจรพึงเข้า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 47

ไปทางประตูพระนครแล้ว ทำสิ่งที่ตนต้องการได้ ฉันใด เมื่อความ

ทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นในชวนจิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ครั้นความไม่สำรวม

นั้นมีอยู่ แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันไม่ได้คุ้มครอง ถึงภวังคจิต ถึงวิถีจิต

มีอาวัชชนะเป็นต้น ก็ชื่อว่าไม่ได้คุ้มครอง แต่เมื่อสังวรมีสีลสังวร

เป็นต้นเกิดขึ้นในชวนจิตนั้นแล้ว แม้ทวารก็เป็นอันได้คุ้มครอง ถึง

ภวังคจิต ถึงวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันได้คุ้มครองแล้ว เปรียบ

เหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนเมื่อประตูพระนครอันบุคคลระวังดีแล้ว

ถึงแม้ภายในเรือนเป็นต้นเขาไม่ระวัง ถึงอย่างนั้นสิ่งของทั้งหมดใน

ภายในพระนคร ก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาคุ้มครองดีแล้วทั้งนั้น เพราะเมื่อ

ประตูพระนครปิดแล้ว พวกโจรก็ไม่มีช่องทางที่จะเข้าไปได้ ฉันใด

เมื่อสังวรมีสีลสังวรเป็นต้นเกิดขึ้นในชวนจิต ก็ฉันนั้นเหมืนกัน แม้

ทวารก็เป็นอันคุ้มครองแล้ว ถึงภวังคจิต ถึงวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น

ก็เป็นอันคุ้มครองแล้ว เพราะฉะนั้น ความสำรวมแม้เกิดขึ้นอยู่ใน

ขณะแห่งชวนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความสำรวมในจักขุนทรีย์

นัยแม้ในข้อว่า ฟังเสียงด้วยหูเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้เหมือนกัน ศีลที่

บรรยายมาอย่างนี้นี่ บัณฑิตพึงทราบโดยสังเขปว่า ชื่อว่าอินทรียสังวร-

ศีล อันมีความเว้นจากการถือเอานิมิตที่กิเลสติดตามเป็นอาทิในรูป

เป็นต้นเป็นลักษณะ.

[ อาชีวปาริสุทธิศีล ]

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในอาชีวปาริสุทธิศีล ซึ่งกล่าวไว้ใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 48

ลำดับแห่งอิทรียสังวรศีลต่อไป คำว่า "สิกขาบท ๖ ที่พระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพราะอาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะเป็นตัวการณ์"

ความว่า สิกขาบท ๖ ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่างนี้คือ "เพราะ

อาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะเป็นตัวการณ์ ภิกษุมีความปรารถนาลามก

อันความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีไม่เป็น

(ในตน) ต้องอาบัติปาราชิก เพราะอาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะ

เป็นตัวการณ์ ภิกษุถึงความเป็นผู้ชักสื่อ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพราะ

อาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะเป็นตัวการณ์ ภิกษุพูดว่า "ภิกษุใด

อยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์" ดังนี้ เมื่อเธอ

ปฏิญญาอยู่ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เพราะอาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะ

เป็นตัวการณ์ ภิกษุไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตน

ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะอาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะเป็น

ตัวการณ์ ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตน

ฉัน ต้องปาฏิเทสนียะ เพราะอาชีวะเป็นเหตุ เพราะอาชีวะเป็นตัว

การณ์ ภิกษุไม่เป็นไข้ ขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนฉัน

ต้องทุกกฎ" ดังนี้ เหล่านั้นใด (หมายเอา) สิกขาบท ๖ เหล่านี้.

ในคำทั้งหลายมีคำว่า ล่อลวง (กุหนา) เป็นต้น มีพระบาลี

ดังต่อไปนี้ :-

บรรดากิริยาเหล่านั้น ล่อลวงเป็นไฉน ? การเสแสร้งทำหน้าสยิ้ว

แสร้งทำหน้าเบ้ ล่อลวงเขาให้งงงวย ด้วยวิธีลวง กล่าวคือการแสร้ง

ปฏิเสธปัจจัยก็ดี ด้วยการพูดเลียบเคียงก็ดี การแสร้งวางท่าตั้งท่าแต่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 49

ท่า_______อิริยาบถให้งดงามก็ดี ของภิกษุผู้เห็นแก่ลาภสักการะและความสรร-

เสริญ มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า

"ล่อลวง."*

บรรดากิริยาเหล่านั้น ป้อยอเป็นไฉน ? การพูดทักเขาก่อน

พูดโอ่ พูดเอาใจเขา พูดยกยอเขา พูดผูกพันเขา พูดคาดคั้นเขา พูด

ประจบเขา (พูด) ลดตัว พูด (เล่นปนจริง) เป็นแกงถั่ว (พูด

ประจ๋อประแจ๋) เป็นพี่เลี้ยงเด็ก อันใด ของภิกษุผู้เห็นแก่ลาภสักการะ

และความสรรเสริญ มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ

แล้ว นี้เรียกว่า "ป้อยอ."

บรรดากิริยาเหล่านั้น ความเป็นผู้ทำใบ้เป็นไฉน ? การทำ

บุ้ยใบ้ บอกใบ้ พูดเคาะ พูดแคะไค้ พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม

* ตามมหานิเทศว่า กุหนวัตถุ (วิธีล่อลวง) มี ๓ คือ ๑. แสร้งปฏิเสธปัจจัย ๒. พูด

เลียบเคียง ๓. แสดงอิริยาบถให้น่าเลื่อมใส ในนิเทศแห่งกุหนานี้ ท่านก็กล่าวกุหนวัตถุไว้

ครบทั้ง ๓ นั้น มี "วา" นิบาตกำกับอยู่ด้วย แต่ในทางไวยากรณ์ ท่านทำรูปศัพท์ไว้ไม่เสมอกัน

คือกุหนวัตถุที่ ๑ ที่ ๒ ทำเป็นตติยาวิภัติ ส่วนกุหนวัตถุที่ ๓ เป็นปฐมาวิภัติ ถ้าจับไม่มั่นก็ชวนให้

แปลเขวไป ได้ยึดกุหนวัตถุ ๓ เป็นหลัก แปลไว้ตามนั้น โปรดพิจารณาให้ดีเถิด

อนึ่ง กุหนวัตถุที่ ๑ ตามคัมภีร์ของเรา (ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๒) เป็น ปจฺจยปฏิเสวน

ทั้งนั้น แต่คัมภีร์ของสีหลเป็น ปจฺจยปฏิเสธน พิจารณาดูความในมหานิเทศตลอดแล้ว เห็นว่า.....

ปฏิเสธน ถูก ท่านกล่าวไว้ชัดว่า ทายกนิมนต์รับปัจจัย ภิกษุก็อยากได้ แต่แสร้งปฏิเสธ คือไม่รับ

เพื่อให้เขาเห็นว่าเป็นผู้มักน้อย จะได้เกิดศรัทธาถวายของดี ๆ มาก ๆ ขึ้น และอ้อนวอนขอให้รับ

ให้จงได้ ในที่สุดก็รับ โดยแสร้งแสดงว่า เพื่ออนุเคราะห์ให้เขาได้บุญ แล้วต่อไปถวาย

เป็น

เล่มเกวียน ๆ ก็รับ ฯ ล ฯ ดังนี้ ในที่นี้จึงแปลเป็น "ปฏิเสธปัจจัย" ทุกแห่ง แต่เพราะมิใช่

ปฏิเสธจริง จึงเติมคำว่า แสร้ง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 50

แก่ชนเหล่าอื่นอันใด แห่งภิกษุผู้เห็นแก่ลาภสักการะและความสรรเสริญ

มีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า "ความ

เป็นผู้ทำใบ้."

บรรดากิริยาเหล่านั้น บีบบีงคับ (นิปฺเปสิกตา) เป็นไฉน ?

การด่าเขา การพูดข่มเขา การพูดติเขา พูดขับเขา พูดไล่เขา พูด

เย้ยเขา พูดหยันเขา พูดเหยียดเขา พูดหยามเขา พูดโพทะนา

เขา พูดขู่เข็ญเขา แห่งภิกษุผู้เห็นแก่ลาภสักการะและความสรรเสริญ

มีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำ นี้เรียกว่า "บีบ

บังคับ."

บรรดากิริยาเหล่านั้น การหาลาภด้วยลาภเป็นไฉน ? ภิกษุ

เห็นแก่ลาภสักการะและความสรรเสริญ มีความปรารถนาลามก อัน

ความอยากครอบงำ ย่อมนำอามิสที่ตนได้แต่เรือนนี้ไปที่เรือนโน้น

หรือนำอามิสที่ตนได้ในที่โน้นมาในที่นี้ การใฝ่หา เสาะหา แสวงหา

อามิสด้วยอามิสเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า "การหาลาภด้วยลาภ*."

* อภิ. วิ. ๓๕/๔๗๕. บาปธรรม ๕ ประการ คือ กุหนา ลปนา เนมิตฺติกตา นิปฺเปสิกตา

ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตา มีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน คือให้ได้ซึ่งปัจจัย แต่โดยวิธีต่างกัน

คือกุหนา ลวงให้เขาหลงศรัทธาให้ปัจจัย ลปนา ใช้เล่ห์ลิ้นให้เขารักเขาสงสารให้ปัจจัย เนมิตฺติกตา

ใช้กิริยาวาจาบุ้ยใบ้เคาะแคะเขาจนเขาให้ นิปฺเปสิตา ทำหรือพูดให้เขากลัว ต้องยอมให้ ลาเภน

ลาภํ นิชิคึสนตา ได้อะไรเอามาฝากเขา ทำให้เขาเกรงใจต้องให้ตอบแทน

ปรปิฏฐิมํสิกตา เป็นอาการอย่างหนึ่งในหัวข้อ นิปฺเปสิกตา ข้าพเจ้าแปลเอาความว่าขู่เข็ญเขา

ในวิสุทธิมรรคนี้ท่านแก้อรรถบทนี้ไว้ว่า ความที่พูดดีต่อหน้าเขาแล้วลับหลังตั้งติเตียนเขา กิริยา

อย่างนี้เป็นเหมือนกับคนไม่สู้เขาซึ่งหน้า ลอบกัดเนื้อหลังข้างหลังเขา (ปรมฺมุขานํ ปิฏฺฐิขาทนํ)

คือท่านแก้ ปร เป็น ปรมฺมุข ตามนี้ดูทีจะต้องแปลว่าลอบกัด แต่ในมหาฏีกาแก้ไว้ว่า ปเรสํ

ปิฏฺฐิมํสํ ขาทนสีโล ปรปิฏฺฐิมํสิโก ตสฺส ภาโว ปรปิฏฺฐิมํสิกตา - ผู้มีปกติกัดเนื้อหลังของคนอื่น

นัยนี้ ปร คงเป็น ปร (คือคนอื่น) ตามนี้น่าจะได้กับคำพังเพยไทยว่า 'หากินบนหลังคน' เห็นเข้าที

จึงแปลเอาความว่าขู่เข็ญเขา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 51

ก็อรรถาธิบายแห่งพระบาลีนี้พึงทราบดังต่อไปนี้ :-

[ กุหนานิเทศ ]

พึงทราบอรรถาธิบายในกุหนานิเทศก่อน ข้อว่าเห็นแก่ลาภ

สักการะและความสรรเสริญ ความว่า มุ่ง คือปรารถนาลาภด้วย

สักการะด้วย ชื่อเสียงด้วย บทว่า มีความปรารถนาลามก คือมีความ

ต้องการจะแสดงคุณอันไม่มี (ในตน) เพราะเหตุที่กุหนวัตถุ ๓ อย่าง

มาในมหานิเทศ ด้วยอำนาจการแสร้งปฏิเสธปัจจัย การพูดเลียบเคียง

และอาศัยอิริยาบถ เพราะเหตุนั้น เพื่อจะแสดงกุหนวัตถุทั้ง ๓ อย่าง

นั้น ต่อไปนี้ท่านจึงเริ่มคำว่า ปจฺจยปฏิเสธเนน วา ดังนี้เป็นอาทิ

ในกุหนวัตถุทั้ง ๓ อย่างนั้น การทำให้เขางงงวยด้วยการที่เมื่อเขา

นิมนต์ด้วยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น (ตนเอง) ก็เป็นผู้มีความต้องการด้วย

ปัจจัยนั้นแท้ ๆ แต่อาศัยความที่ปรารถนาลามก แสร้งห้ามเสียก็ดี

ด้วยการที่รู้ (ว่า) คฤหบดี (ทายก) เหล่านั้นมีศรัทธามั่นในตัว (ของ

เธอ) แล้ว พอเขาวอนว่า "พระคุณเจ้าช่างเป็นผู้มักน้อยเสียจริง

ไม่ต้องการรับอะไร ๆ เลย จะเป็นอันพวกข้าพเจ้าได้ดีเชียวละ หาก

พระคุณเจ้าจะพึงรับอะไร ๆ สักหน่อยหนึ่ง" ดังนี้แล้ว น้อมปัจจัยมีจีวร

เป็นต้นที่ประณีต ๆ เข้าไป (ถวาย) ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ อีก (เธอ)

แสร้งทำให้ปรากฏเป็นว่าใคร่จะอนุเคราะห์เขาเท่านั้น แล้วรับก็ดี เป็น

เหตุให้ต่อนั้นไป (เขา) น้อมเข้ามา (ถวาย) กระทั่งเป็นเล่มเกวียน ๆ

(ดังนี้) พึงทราบว่า (นี่เป็น) กุหนวัตถุ ที่นับว่าการแสร้งปฏิเสธ

ปัจจัย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 52

[ กุหนวัตถุเกี่ยวด้วยปัจจัย ]

จริงอยู่ แม้ในมหานิเทศท่านก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า "กุหนวัตถุที่

นับว่าการแสร้งปฏิเสธปัจจัยเป็นไฉน ? คฤหบดีทั้งหลายนิมนต์ภิกษุ

ในพระศาสนานี้ ด้วยจีวรบิณฑบาตเสนาสนะคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

ทั้งหลาย เธอมีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำแล้ว

เป็นผู้มีความต้องการอยู่ แสร้งบอกคืนจีวร แสร้งบอกคืนบิณฑบาต

เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เพราะอาศัยความใคร่จะให้ได้จีวร

ฯ ล ฯ เภสัชชบริขารมากขึ้น เธอกล่าวอย่างนี้ว่า "ประโยชน์อะไร

ของสมณะด้วยจีวรที่มีค่ามาก ข้อที่สมณะพึงเลือกหาผ้าที่เขาทิ้งแล้ว

จากป่าช้าบ้าง จากกองหยากเยื่อบ้าง จากตลาดบ้าง มาทำเป็นผ้า

สังฆาฏิครอง นั่นจึงควร ประโยชน์อะไรของสมณะด้วยบิณฑบาตที่

มีค่ามาก ข้อที่สมณะพึงเลี้ยงชีวิตด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง

โดยเที่ยวแสวงหาบิณฑบาตตามมีตามได้ นั่นจึงควร ประโยชน์อะไร

ของสมณะด้วยเสนาสนะที่มีค่ามาก ข้อที่สมณะพึงเป็นผู้อยู่ตามโคน

ไม้ หรืออยู่ในอัพโภกาส นั่นจึงควร ประโยชน์อะไรของสมณะด้วย

คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่มีค่ามาก ข้อที่สมณะพึงทำน้ำยาด้วยน้ำมูตร

เน่าหรือด้วยชิ้นสมอ นั่นจึงควร" เพราะอาศัยเหตุนั้น เธอจึงแสร้ง

ครองจีวรที่ปอน แสร้งฉันบิณฑบาตที่ทราม แสร้งเสพเสนาสนะที่คร่ำ

แสร้งเสพคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่เลว คฤหบดีทั้งหลายเข้าใจเธอ

อย่างนี้ว่า "สมณะรูปนี้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่ระคนด้วยหมู่

ปรารภความเพียร มีปกติกล่าวะรรมขจัดกิเลส" ดังนี้ ย่อมนิมนต์เธอ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 53

ด้วยจีวร ฯ ล ฯ เภสัชชบริขารยิ่ง ๆ ขึ้น เธอแสร้งกล่าวอย่างนี้ว่า

"เพราะความพร้อมหน้าแห่งวัตถุ ๓ กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมได้บุญ

คือ เพราะความหน้างแห่งศรัทธา กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมได้บุญ

มาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งไทยธรรม ฯ ล ฯ แห่งทักขิไณยบุคคล

ทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมได้บุญมาก* ศรัทธานี้ของท่านทั้งหลาย

มีอยู่แท้ด้วย ไทยธรรมก็มีพร้อมอยู่ด้วย ปฏิคาหกคืออาตมาก็มีอยู่ด้วย

ถ้าอาตมาจักไม่รับไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้คลาด

จากบุญไป อาตมาไม่มีความต้องการด้วยของนี้เลย แต่อาตมารับ

เพื่ออนุเคราะห์ท่านทั้งหลายเท่านั้น" ดังนี้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เธอ

ก็รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารแม้มาก ๆ

ความแสร้งทำหน้าสยิ้ว แสร้งทำหน้าเบ้ ล่อลวงเขาให้งงงวย เห็น

ปานนี้อันใด นี้ท่านเรียกว่า กุหนวัตถุที่นับว่าแสร้งปฏิเสธปัจจัย แล.

[ กุหนวัตถุเกี่ยวด้วยการพูดเลียบเคียง ]

ก็การทำให้เขางงงวยด้วยประการนั้น ๆ ด้วยวาจาแสดงการบรรลุ

อุตริมนุสสธรรม แห่งภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั่นแล พึงทราบ

ว่า เป็นกุหนวัตถุที่นับว่าการพูดเลียบเคียง เหมือนอย่างที่ท่านกล่าว

ไว้ว่า "ในวัตถุเหล่านั้น กุหนวัตถุที่นับว่าการพูดเลียบเคียงเป็นไฉน ?

ภิกษุลางรูปในพระศาสนานี้ มีความปรารถนาลามก อันความอยาก

ครอบงำ มีประสงค์จะให้ยกย่อง คิดว่า 'ชนจักยกย่องเราด้วยอาการ

* นี้กล่าวตามนัยพระบาลีติกังคุตตร หน้า ๑๙๐ สูตรที่ (๔๘๐) ๔๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 54

อย่างนี้' แล้วกล่าวาจาอิงอารยธรรม (คือ) พูดว่า "ภิกษุใดครองจีวร

เช่นนี้ ภิกษุนั้นเป็นสมณะมเหศักดิ์" กล่าวว่า "ภิกษุใดใช้บาตร

โอโลหะ กระบอกกรองน้ำ ผ้ากรองน้ำ กุญแจ ประคด รองเท้า

เช่นนี้ ๆ ภิกษุนั้นเป็นสมณะมเหสักข์" พูดว่า "พระอุปัชฌายะ พระ

อาจารย์ ภิกษุร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้เป็นมิตร

ภิกษุผู้เป็นเกลอ ภิกษุผู้ชอบพอกัน ภิกษุผู้สหาย ของภิกษุใด เป็น

อย่างนี้ ๅ ภิกษุใดอยู่ในวิหาร โรงยาว ปราสาท เรือนโล้น คูหา

ที่เร้น กระท่อม เรือนยอด ป้อม โรงกลม ศาลายาว โรงประชุม

มณฑป โคนไม้ อย่างนี้ ๆ ภิกษุนั้นเป็นสมณะมเหสักข์" มิฉะนั้น

เธอแสดงอาการที่น่าเกลียดหนักเข้า หน้าด้านเข้า ลวงเขามากเข้า

พูดป้อยอช่ำเข้า ก็เสนอหน้าตัวเอง กล่าวถ้อยคำที่ลึกลับซับซ้อนซ่อน

เงื่อน เกี่ยวด้วยโลกุตตรธรรมและสุญญตา (พาดพิงตน) เช่นว่า

"สมณะผู้นี้ได้วิหารสมาบัติอันละเอียดเหล่านี้อย่างนี้ ๆ" การแสร้งทำ

หน้าสยิ้ว ทำหน้าเบ้ ล่อลวงให้เขางงงวยเช่นนี้อันใด นี้ท่านเรียกว่า

กุหนวัตถุที่นับว่าการพูดเลียบเคียง."

[ กุหนวัตถุเกี่ยวด้วยอิริยาบถ ]

ส่วนว่า การลวงเขาด้วยอิริยาบถ ซึ่งทำด้วยประสงค์จะให้เขา

ยกย่อง แห่งภิกษุผู้เป็นคนมีความปรารถนาลามกนั่นแล พึงทราบ

ว่า เป็นกุหนวัตถุอาศัยอิริยาบถ ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

"กุหนวัตถุที่นับว่าการวางท่าอิริยาบถ เป็นไฉน ? ภิกษุลางรูปใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 55

พระศาสนานี้ มีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำแล้ว

มีความประสงค์จะให้เขายกย่อง คิดว่า "ชนจักยกย่องเราด้วย

อาการอย่างนี้" แล้วแสร้งบรรจงเดิน บรรจงยืน บรรจงนั่ง บรรจง

นอน ตั้งท่าเดิน ตั้งท่ายืน ตั้งท่านั่ง ตั้งท่านอน ทำดังว่าเข้าสมาธิ

เดิน ดังว่าเข้าสมาธิยืน ดังว่าเข้าสมาธินั่ง ดังว่าเข้าสมาธินอน และ

เป็นผู้มักแสร้งเข้าฌานให้คนเห็น การวางท่า ตั้งท่า แต่งท่า

อิริยาบถ การแสร้งทำหน้าสยิ้ว ทำหน้าเบ้ ล่อลวงเขาให้งงงวย

เช่นนี้อันใด นี้เรียกว่า กุหนวัตถุที่นับว่าการวางอิริยาบถ."

ในบาลีแห่งกุหนานั้น บทว่า ปจฺจยปฏิเสธนสงฺขาเตน ความว่า

(ด้วยกุหนวัตถุ) อันบัณฑิตนับพร้อมอย่างนี้ ว่าการแสร้งปฏิเสธ

ปัจจัย หรือว่าด้วยการแสร้งปฏิเสธปัจจัยอันบัณฑิตกล่าวเรียก บทว่า

พูดเลียบเคียง ได้แก่พูดเฉียด (วัตถุที่ประสงค์) บทว่า อิริยาบถ

ประสงค์เอาอิริยาบถทั้ง ๔ บทว่า อฏฺฐปนา แปลว่า การตั้ง (ท่า)

ไว้ก่อน หรือการตั้ง (ท่า) โดยเอื้อเฟื้อ บทว่า ฐปนา คือการ

ที่ตั้ง (ท่า) บทว่า สณฺฐปนา คือการจัดแต่ง อธิบายว่า การทำ

ภาวะอันว่าเลื่อมใส บทว่า ภากุฏิกา คือการทำหน้าสยิ้ว อธิบายว่า

ทำหน้าย่น โดยแสดงภาวะของผู้ตั้งอยู่ในความเพียรอย่างเคร่งครัด

การทำหน้าสยิ้ว เป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่า

ภากุฏิก (ผู้มีการทำหน้าสยิ้วเป็นปกติ) ความเป็นแห่งภากุฏิก ชื่อว่า

ภากุฏิยํ (ความเป็นผู้มีการทำหน้าสยิ้วเป็นปกติ) บทว่า กุหนา

แปลว่าการลวง การประพฤติลวงออกไป ชื่อว่า กุหายนา ตวาม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 56

เป็นแห่งบุคคลผู้ลวง ชื่อว่า กุหิตตฺตํ.

[ ลปนานิเทศ ]

พึงทราบอรรถาธิบายในลปนานิเทศต่อไป การที่ภิกษุเห็นคน

มาสู่วิหาร แล้วพูดขึ้นก่อนว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายมาเพื่อ

ต้องการอะไร จะนิมนต์ภิกษุหรือ ถ้าอย่างนั้น เชิญกลับเถิด อาตมา

จะพาภิกษุไปภายหลัง" ดังนี้ชื่อว่า อลปนา (ทัก) อีกนัยหนึ่ง

การที่ภิกษุเสนอตนเข้าไป พูดแบบชักเข้าหาตนว่า "อาตมาชื่อดิส

พระราชาทรงเลื่อมใสในอาตมา ราชมหาอำมาตย์โน้น ๆ ก็เลื่อมใส

ในอาตมา" อย่างนี้ก็ชื่อว่า อาลนปา (เสนอตัว) การที่ภิกษุ

ถูกถามแล้วพูดอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น ชื่อว่า ลปนา (โอ่) การที่

ภิกษุกลัวพ่อเจ้าเรือนและแม่เจ้าเรือนทั้งหลายจะหน่ายแหนง พูด

อ่อนน้อมยอมให้โอกาสเขา ชื่อว่า สลฺลปนา (พูดเอาใจ) การพูด

ทำให้เขาสูงขึ้น (กว่าพื้นเพที่เขาเป็นอยู่) ว่า "ท่านกุฎุมพีใหญ่

ท่านนายเรือใหญ่ ท่านทานบดีใหญ่" ดังนี้ ชื่อว่า อุลฺลปนา

(พูดยก) การพูดทำให้เขาสูงไปเสียทุกอย่าง ชื่อว่า สมุลฺลปนา

(พูดยอ) การผูก คือมัดเขาด้วยวาจาว่า "ดูกรอุบาสกอุบาสิกา

ทั้งหลาย เมื่อก่อน ในกาลเช่นนี้ พวกท่านย่อมให้นวทาน* บัดนี้

ไม่ให้ดอกหรือ" ดังนี้ หนักเข้าจนพวกเขารับปากว่า "ท่านเจ้าข้า

พวกข้าพเจ้าจักให้ (เหมือนกัน) แต่บัดนี้ยังไม่ได้โอกาส" ดังนี้

* นวทาน การให้ของที่ผลิตใหม่ เช่นข้าวใหม่ ผลไม้สุกใหม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 57

เป็นต้น ชื่อว่า อุนฺนหนา (พูดผูก) อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นเขา

ถืออ้อยแล้ว ถามว่า "อุบาสกได้อ้อยมาแต่ไหน" เขาตอบว่า "แต่

ไร่อ้อย เจ้าข้า" ภิกษุถามว่า "อ้อยไร่นั้นหวานไหม" เขาตอบว่า

"เคี้ยวดูจึงจะรู้เจ้าข้า" ภิกษุจึงพูดว่า "อุบาสก อันจะพูดว่า ท่านจงให้

อ้อย (แก่อาตมา) ดังนี้ หาควรแก่ภิกษุไม่" ถ้อยคำผูกมัดของภิกษุผู้

แม้ (พูด) แก้ไปเช่นนี้อันใด ถ้อยคำนั้นก็ชื่อว่า อุนฺนหนา การพูด

ผูกแล้ว ๆ เล่า ๆ ทุกท่าทางไป ชื่อว่า สมุนฺนหนา (พูดพัน)

บทว่า อุกฺกาปนา อธิบายว่า การพูดปั้นขึ้นว่า "ตระกูลนี้รู้จักฉัน

ผู้เดียว ถ้าหากไทยธรรมเกิดขึ้นในตระกูลนี้ เขาย่อมจะให้แก่ฉัน

ผู้เดียว" อย่างนี้เรียกว่า อุกฺกปนา (พูดคาด) อธิบายว่า พูดจี้ ก็

ในอธิบายนี้ บัณฑิตควรเล่าเรื่องนางเตลกันทริกา (มาสาธก)*

การพูดคาดเขาไปเสียทุกอย่าง ชื่อว่า สมุกฺกาปนา (พูดคั้น)

การพูดพร่ำทำให้เขารักไปท่าเดียว ไม่ต้องแลเหลียวว่าควรแก่สัจจะ

หรือควรแก่ธรรมะ (หรือไม่) ชื่อว่า อนุปฺปิยภาณิตา (ความเป็น

ผู้พูดประจบ) ความประพฤติตนต่ำ คือความประพฤติวางตนไว้ต่ำ ๆ

ชื่อว่า จาฏุกมฺยตา (ลดตัว) ความเป็นผู้เป็นเช่นกับแกงถั่ว ชื่อว่า

มุคฺคสูปตา เหมือนอย่างถั่ว เมื่อต้มมันไป มันย่อม (มีที่) ไม่สุก

บ้างเล็กน้อย นอกนั้นสุก ฉันใด ในคำพูดของบุคคลใด คำจริงมีเพียง

เลํกน้อย นอกนั้นเป็นคำพล่อย ๆ (ทั้งสิ้น) ก็ฉันนั้น บุคคลนี้ท่าน

เรียกว่า มุคฺคสูป (คนเหมือนแกงถั่ว) ภาวะแห่งคน มุคฺคสูป

* พึงดูเรื่องนี้ในมหาฎีกา ๑/๘๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 58

นั้น ชื่อว่า มุคฺคสูปตา ความเป็นพี่เลี้ยง ชื่อว่า ปาริภฏฺยตา

อธิบายว่า ก็ภิกษุใดเลี้ยงดู คืออุ้มชูเด็กในสกุล ด้วยสะเอวบ้าง ด้วย

คอบ้าง ราวกะหญิงพี่เลี้ยงเด็ก การกระทำของภิกษุผู้เลี้ยงเด็กนั้น

ชื่อว่า ปาริภฏฺย ความเป็นแห่งปาริภฏฺย ชื่อว่า ปาริภฏฺยตา ฉะนี้.

[ เนมิตติกตานิเทศ ]

พึงทราบอรรถาธิบายในเนมิตติกตานิเทศต่อไป กายกรรมและ

วจีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันยังความหมายรู้ในอันให้ปัจจัย (แก่ตน)

ให้เกิดแก่คนอื่น ๆ ชื่อว่า นิมิตฺตํ (บุ้ยใบ้) การที่ภิกษุเห็นเขาถือ

ขาทนียะเดินไป จึงทำนิมิตโดยนัยว่า "ท่านทั้งหลายได้ของเคี้ยว

อะไรมา" ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า นิมิตฺตกมฺมํ (บอกใบ้) การพูด

เกี่ยวด้วยปัจจัย ชื่อว่า โอภาโส (พูดเคาะ) การที่ภิกษุเห็นเด็ก

เลี้ยงโคแล้วแสร้งถามว่า "ลูกโคเหล่านี้เป็นลูกโคนมหรือลูกโคเปรียง"

เมื่อเขาตอบว่า "ลูกโคนมเจ้าข้า" แล้วทำโอภาสมีอันพูดแคะได้โดย

นัยว่า "ไม่ใช่ลูกโคนมกระมัง ถ้าเป็นลูกโคนม พวกภิกษุคงได้นมสด

บ้าง" ดังนี้เป็นต้น จนเด็กเหล่านั้นต้องไปบอกบิดามารดาให้ถวายนมสด

(แก่เธอ) เป็นอาทิ ชื่อว่า โอภาสกมฺมํ (พูดแคะได้) การพูด

เฉียด (วัตถุที่ประสงค์) ชื่อว่า สามนฺตชปฺปา (การพูดเลียบเคียง)

ก็ในบทนี้ควรจะเล่าเรื่องภิกษุชีต้น (มาสาธก)

ได้ยินว่า ภิกษุชีต้นใคร่จะฉันอาหาร จึงเข้าไปสู่เรือน (ของ

อุปฐายิกา) แล้วนั่งลง หญิงแม่เรือนเห็นภิกษุนั้นแล้ว ไม่ยาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 59

จะให้ จึงเสพูดว่า "ข้าวสารไม่มี" ทำทีจะไปหาข้าวสาร ไปสู่เรือน

ของคนที่คุ้นเคยกันเสีย ภิกษุเข้าไปในห้องมองดูไป พบท่อนอ้อย

ที่ซอกประตู เห็นน้ำอ้อยงบในภาชนะ เห็นปลาแห้งในตระกร้า เห็น

ข้าสารในหม้อ เห็นเรียงในกระออมแล้วออกมานั่งอยู่ หญิง

แม่เรือน (กลับ) มาถึง แสร้งบอกว่าไม่ได้ข้าวสาร ภิกษุก็พูดขึ้นว่า

"อุบาสิกา ฉันเห็นลางก่อนแล้ว รู้ว่าวันนี้ภิกษาจักไม่สำเร็จ" หญิง

แม่เรือนถามว่า "ลางอะไร เจ้าข้า" ภิกษุว่า "ฉันเห็นงูคล้าย

ท่อนอ้อยที่เก็บไว้ซอกประตู คิดจะตีมัน มองดูไปก็เห็นพังพานซึ่ง

คล้ายกับปลาแห้งที่เก็บไว้ในตะกร้า อันงูนั้นมันถูกประหารด้วยก้อนหิน

และก้อนดิน ซึ่งคล้ายก้อนน้ำอ้อยงบที่วางไว้ในภาชนะ ทำ (แผ่) ขึ้น

เมื่อมันจะกัดก้อนดินนั้น ก็เห็นเขี้ยวของมันคล้ายเมล็ดข้าสารในหม้อ

พอเคืองจัด (ก็เห็น) น้ำลายเจือด้วยพิษที่ออกจากปากของมัน

คล้ายกับเปรียงที่ใส่ไว้ในกระออม" หญิงแม่เรือนนั้นเห็นว่าไม่อาจ

จะลวงคนหัวโล้นได้ จึงถวายอ้อยแล้วหุงข้าวถวายพร้อมกับเปรียง

น้ำอ้อยงบและปลา ฉะนี้แล การพูดเฉียดอย่างนี้ พึงทราบว่า สามนฺต-

ชปฺปา (พูดเลียบเคียง) พูดล้อมไปล้อมมาเอาจนได้ปัจจัยนั้น ชื่อว่า

"ปริกถา" (พูดหว่านล้อม).

[ นิปเปสิกตานิเทศ ]

พึงทราบอรรถาธิบายในนิปเปสิกตานิเทศต่อไป บทว่า อกฺ-

โกสนา ได้แก่การด่าด้วยวัตถุสำหรับด่า ๑๐ อย่าง บทว่า วมฺภนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 60

ได้แก่พูดข่ม บทว่า ครหนา ได้แก่การพูดใส่ร้ายเขา โดยนัยว่า เขา

เป็นคนไม่มีศรัทธา เป็นคนไม่เลื่อมใส เป็นต้น บทว่า อุกฺเขปนา

คือขับเขาด้วยวาจา "ท่านอย่าพูดอย่างนี้ในที่นี้" การขับเขาอ้างเรื่อง

อ้างเหตุทุก ๆ อย่าง ชื่อว่า สมุกฺเขปฺนา (การพูดไล่เขา) อีกอย่างหนึ่ง

การที่เห็นเขาไม่ให้แล้วแสร้งพูดยกเขาว่า "โอ ท่านทานบดี" ดังนี้

ชื่อว่า อุกฺเขปนา (ประชด) ยกหนักขึ้นไปว่า "โอ ท่านมหาทานบดี"

ดังนี้ ชื่อว่า สมุกฺเขปนา บทว่า ขีปนา คือพูดเย้ย อย่างนี้ว่า "นี่

อย่างไร ชีวิตของผู้บริโภคผักละ" บทว่า สงฺขิปนา คือพูดเย้ยให้

วิเศษยิ่งขึ้นอย่างนี้ว่า "ท่านทั้งหลายจะเรียกท่านผู้นี้ซึ่งให้คำว่าไม่มี แก่

ชนทั้งปวงตลอดกาลเป็นนิตย์ ว่าไม่ใช่ทายกได้อย่างไร" บทว่า ปาปนา

ได้แก่เหยียดเขาว่าไม่ใช่ทายก หรือกดเขาให้เสียหาย การพูดเหยียด

เขาไปหมดทุกอย่าง ชื่อว่า สมฺปาปนา (หยาม) บทว่า อวณฺณ-

หาริกา ความว่า การนำความเสียหายจากเรือน (นี้) ไปสู่เรือน

(โน้น) จากบ้าน (นี้) ไปสู่บ้าน (โน้น) จากชนบท (นี้) ไปสู่

ชนบท (โน้น) ด้วยคิดว่า "เขาจะต้องให้ (ปัจจัย) แก่เรา เพราะกลัว

ความเสียหายอย่างนี้" บทว่า ปรปิฏฺฐมํสิกตา ได้แก่ความเป็นผู้พูด

คำหวานต่อหน้า พูดนินทาลับหลัง ก็ความเป็นเช่นนั้น เป็นดุจการที่

เมื่อบุคคลไม่อาจสู้หน้าเขา กัดเนื้อหลังเขาข้างหลัง เพราะเหตุนั้น จึง

เรียกว่า ปรปิฏฺฐิมํสิกตา คำว่า อยํ วุจฺจติ นิปฺเปสิกตา ความว่า

กิริยามีการด่าเป็นอาทินี้นั้น ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า นิปฺเปสิกตา เพราะ

กวาดล้างความดีของคนอื่นให้เสียไป ราวกะกวาดด้วยไม้กราดซี่ไม้ไผ่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 61

อีกนัยหนึ่ง เพราะเป็นการบดป่นความดีของคนอื่นแสวงหาลาภ เหมือน

บดคันธชาตหาของหอมฉะนั้น.

[ ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตานิเทศ ]

พึงทราบอรรถาธิบายในนิเทศแห่ง ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตา

ต่อไป การแสวงหา ชื่อว่า นิชิคึสนตา คำว่า อิโต ลทฺธํ คือได้

แต่เรือนนี้ บทว่า อมุตฺร คือที่เรือนโน้น บทว่า เอฏฺฐิ ได้แก่

ความใฝ่หา บทว่า คเวฏฺฐิ ได้แก่การเสาะหา บทว่า ปริเยฏฺฐิ

ได้แก่การแสวงหา ก็ในนิเทศนี้ บัณฑิตพึงกล่าวเรื่องของภิกษุผู้ให้

ภิกษาที่ได้ ๆ ตั้งแต่แรกแก่กุลทารกในสกุลนั้น ๆ (แล้วได้ปัจจัย

ตอบแทนเรื่อยมา) ในที่สุดได้ขีรยาคูไป (เป็นนิทัสนะ) บทว่า

เอสนา เป็นต้น เป็นไวพจน์ของบทว่า เอฏฺฐิ เป็นต้นนั่นเอง เพราะ

เหตุนั้น พึงทราบโยชนาในบทเหล่านี้ว่า บทว่า เอฏฺฐิ คือ เอสนา

บทว่า คเวฏฺฐิ ก็คือ คเวสนา บทว่า ปริเยฏฺฐิ ก็คือ ปริเยสนา

ดังนี้

ความที่กล่าวมานี้เป็นอรรถาธิบายแห่งบาปธรรมทั้งหลายมีกุหนา

เป็นต้น.

บัดนี้พึงทราบว่า ในคำว่า เอวมาทีนญฺจ ปาปธมฺมานํ นั้น

ถือเอาบาปธรรมเป็นอเนก ที่ตรัสไว้ในพรหมชาลสูตร โดยนัยว่า

"อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าสมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกหนึ่ง

บริโภคโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเลี้ยงชีวิตโดย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 62

มิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชาเช่นนี้ ติรัจฉานวิชานี้คืออะไรบ้าง

ติรัจฉานวิชาคือ องฺคํ วิชาทำนายอังคาพยพ นิมิตฺตํ วิชาทำนายลาง

อุปฺปาตํ ทำนายอุบาต สุปินํ ทำนายฝัน ลกฺขณํ ทำนายลักษณะ

มูสิกจฺฉินฺนํ ทำนายรอยหนูกัดผ้า อคฺคิโหมํ วิธีบูชาเพลิง ทพฺพิ-

โหมํ วิธีบังหวนควัน" ดังนี้เป็นต้นด้วย.

มิจฉาชีวะที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งการละเมิดสิกขาบท ๖ ที่ทรง

บัญญัติเพราะอาชีพเป็นเหตุเหล่านี้ก็ดี ด้วยอำนาจแห่งบาปธรรมทั้ง

หลายมีอาทิอย่างนี้ คือการลวง การป้อยอ การขู่เข็ญ และการแสวง

หาลาภด้วยลาภเหล่านี้ก็ดีอันใด การงดเว้นจากมิจฉาชีวะทุกประการ

นั้นใด อันนี้ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล ฉะนี้แล.

ความแห่งคำในคำว่า อาชีวปาริสุทธิศีลนั้น ดังนี้ ชนทั้งหลาย

ย่อมอาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่าอาชีวะ สิ่งนั้นได้แก่

อะไร ? สิ่งนั้นได้แก่ความพยายามในการแสวงหาปัจจัย ความหมดจด

ชื่อว่าปาริสุทธิ ความหมดจดแห่งอาชีวะ ชื่อว่าอาชีวปาริสุทธิ.

[ ปัจจยสันนิสิตศีล ]

ส่วนปัจจยสันนิสิตศีล ที่กล่าวไว้ในลำดับแห่งอาชีวปาริสุทธิศีล

นั้นใด พึงทราบอรรถาธิบายในปัจจยนิสิตศีลนั้น ดังต่อไปนี้ : -

[ แก้บทจีวร ]

คำว่า พิจารณาโดยแยบคาย ความว่า พิจารณา คือรู้

เล็งเห็น โดยอุบาย คือโดย (ถูก) ทาง แท้จริง การเล็งเห็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 63

ซึ่งกล่าวไว้โดยนัยว่า เพื่อบำบัดความหนาว เป็นต้นนั่นเอง บัณฑิต

พึงทราบว่า ชื่อว่า พิจารณาโดยแยบคาย ในที่นี้ ในบท

เหล่านั้น บทว่า จีวร ได้แก่บรรดาผ้ามีอันตรวาสกเป็นต้น ผืนใด

ผืนหนึ่ง บทว่า เสพเฉพาะ คือใช้สอย ได้แก่นุ่งหรือห่ม คำว่า

ยาวเทว เป็นคำนิยมกำหนดเขตแดนแห่งประโยชน์ จริงอยู่ ประโยชน์

ในการใช้จีวรของพระโยคีก็มีเท่านี้เอง นี้คืออะไร คือประโยชน์ว่า

เพื่อจะบำบัดหนาวเป็นต้น หายิ่งไปกว่านี้ไม่ คำว่าความหนาว ได้แก่

ความหนาวอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความกำเริบแห่งธาตุภายในก็ดี ด้วย

อำนาจความแปรเปลี่ยนแห่งฤดูภายนอกก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง บทว่า

ปฏิฆาตาย แปลว่า เพื่อบำบัด คือเพื่อบรรเทาเสียซึ่งความหนาว

นั้น อย่างที่มันจะไม่ยังอาพาธให้เกิดขึ้นในสรีระได้ เพราะว่าเมื่อสรีระ

ถูกความหนาวเบียนเอาแล้ว ภิกษุมีจิตกระสับกระส่าย ย่อมไม่อาจ

จะตั้งความเพียรโดยแยบคายได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง

ได้ทรงอนุญาตว่า พึงใช้จีวรเพื่อบำบัดความหนาวได้ นัยนี้พึงทราบ

ในประโยชน์ที่เหลือทั้งปวง เพราะในอธิการนี้ได้กล่าวไว้สิ้นเชิงแล้ว

บทว่า ความร้อน คือความร้อนแห่งไฟ บัณฑิตพึงทราบแดนเกิด

แห่งความร้อนนั้น ในเพราะไฟป่าเป็นต้น.

ส่วนในประชุมบทว่า ฑํสมกสวาตาตปสิรึสปสมฺผสฺสานํ นั้น

พึงทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ บทว่า ฑํสา แปลว่าเลือบ บาง

อาจารย์ว่า แมลงวันหัวเขียวก็มี บทว่า มกสา แปลว่ายุงนั่นเอง

บทว่า วาตา ได้แก่ลมทั้งหลาย อันต่างโดยเป็นลมเจือฝุ่นและลม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 64

ไม่เจือฝุ่นเป็นต้น บทว่า อาตโป คือแดด สัตว์ที่เสือกคลานไป

ทุกชนิด ชื่อว่า สิรึสป ได้แก่สัตว์จำพวกตัวยาวมีงูเป็นต้น สัมผัส

ของสัตว์เหล่านั้นมี ๒ อย่าง คือ สัมผัสด้วยอาการกัดเอา ๑ สัมผัสด้วย

การถูกต้องเอา ๑ สัมผัส ๒ อย่างนั้น หาเบียดเบียนภิกษุผู้ห่มจีวร

นั่งอยู่ได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ในที่เช่นนั้น ภิกษุจึงเสพจีวรเพื่อประ-

โยชน์แก่การบำบัดสัมผัสเหล่านั้น การกล่าวคำว่า ยาวเทว นี้อีก

ก็เพื่อแสดงการกำหนดเขตแดนแห่งประโยชน์ที่แน่ แท้จริงการปกปิด

อวัยวะที่ยังความละอายให้กำเริบ เป็นประโยชน์ประจำ ประโยชน์

นอกนี้ย่อมมีในกาลลางครั้งลางคราว คำว่า หิริโกปินํ ในบท

หิริโกปินปฏิจฺฉาทนตฺถํ นั้น หมายเอาที่แคบ ๆ นั้น จริงอยู่ เมื่อ

อวัยวะใด ๆ อันบุคคลเปิดเข้า ความละอายย่อมกำเริบ คือย่อม

เสียไป อวัยวะนั้น ๆ ท่านเรียกว่า หิริโกปินะ เพราะเป็นที่ยังความ

ละอายให้กำเริบ ความแห่งบทนั้นว่า เพื่อปกปิดเสียซึ่งอวัยวะหิริ-

โกปินะนั้นแล เพราะเหตุนั้น (ปาฐะจึงควรเป็น) หิริโกปินปฏิจฺ-

ฉาทนตฺถํ (แต่) ปาฐะว่า หิริโกปินํ ปฏิฉาทนตฺถํ ก็มี.

[ แก้บทบิณฑบาต ]

บทว่า บิณฑบาต ได้แก่อาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาหาร

อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า บิณฑบาต เพราะอาหารนั้นตกลงใน

บาตรของภิกษุโดยการภิกขาจาร อีกนัยหนึ่ง ความตกลงแห่งก้อนข้าว

ทั้งหลาย อธิบายว่าความประชุมกัน ความรวมกันแห่งภิกษาทั้งหลาย

ที่ภิกษุได้แล้วในที่นั้น ๆ ชื่อว่า บิณฑบาต บทว่า เนว ทวาย คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 65

เพื่อทวะ อธิบายว่า มุ่งจะเล่นเช่นดังทารกทั้งหลายมีคามทารกเป็นต้น

หามิได้ บทว่า น มทาย คือเพื่อทมะ อธิบายว่า มุ่งมัวเมาใน

กำลังกาย และมุ่งมัวเมาในความเป็นผู้ชาย๑ เช่นดังพวกนักมวยเป็นต้น

หามิได้ บทว่า น มณฺฑนาย คือเพื่อมัณฑนะ อธิบายว่า

มุ่งทำภาวะคือการทำอวัยวะใหญ่น้อยให้อิ่มเอิบ เช่นดังหญิงชาววัง และ

หญิงแพศยาเป็นต้นหามิได้ บทว่า น วิภูสนาย คือเพื่อวิภูสนะ

อธิบายว่า มุ่งความมีฉวีวรรณสดใส เช่นดังตัวละครและตัวระบำเป็นต้น

หามิได้.๒

อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่าใน ๔ บทนั้น บทว่า เนว ทวาย นั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อละความเป็นอุปนิสัยแห่งโมหะ บทว่า น

มทาย นั้น ตรัสเพื่อละความเป็นอุปนิสัยแห่งโทสะ สองบทว่า น

มณฺฑนาย น วิภูสนาย นั้น ตรัสเพื่อละความเป็นอุปนิสัยแห่งราคะ

อนึ่ง สองบทว่า เนว ทวาย น มทาย นี้ ตรัสเพื่อกันความ

๑. โปริสมท มหาฎีกาแก้ว่า ได้แก่ปุริสมานะ คือถือตัวว่าเป็นลูกผู้ชาย ลางอาจารย์ว่าได้แก่

ราคะอันอาศัยความสามารถในการเสพอสัทธรรมนั่นเอง เรียกว่า โปริสมทะ.

๒. ตอนแก้ เนว ทวาย ฯ เป ฯ นี้ ท่านแก้รูปเดียวกันทุกบท คือ ทวาย เป็น ทวตฺถํ, มทาย

เป็น มทตฺถํ, มณฺฑนาย เป็นมณฺฑนตฺถํ, วิภูสนาย เป็น วิภูสนตฺถํ. แล้วก็มีไขด้วยประโยค

วุตฺตํ โหติ ทุกบท ไขนั้นเห็นได้ว่าไขบททั้ง ๔ โดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อแปลบททั้ง ๔ แล้ว ก็จะต้อง

แปลคำไขต่อทันที คือท่านต้องการขยายความเฉพาะบทที่ประสงค์ แปลบทนั้นแล้วก็แปล วุตฺตํ

โหติ เลย เสร็จแล้วจึงมาเรื่องที่เกี่ยวกับบทนั้นทีหลัง.

มหาฎีกาท่านแก้เห็นได้ว่า บทตั้งกับคำไขอยู่ในประโยคเดียวกัน ดังนี้ สหสา กิริยาปิ

ทวาติ วุจฺจติ ตโต วิเสสนตฺถํ ทวตฺถํ กีฬานิมิตฺตนฺติ วุตฺตํ โหตีติ อาห แปลว่า แม้กิริยาลุกลน

ก็เรียกว่า ทวะ เพื่อจะให้ต่างกัน ท่านจึงกล่าวว่า เพื่อทวะ อธิบายว่า มุ่งจะเล่น ดังนี้.

ในที่นี้แปลตามมหาฎีกา ด้วยเห็นว่าชอบด้วยหลักไวยากรณ์และสัมพันธ์.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 66

เกิดขึ้นแห่งสังโยชน์สำหรับตน สองบทว่า น มณฺฑนาย น วิภูสนาย

นี้ ตรัสเพื่อกันความเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย อนึ่ง การ

ละอโยนิโสปฏิบัติ และกามสุขัลลิกานุโยค ก็เป็นอันตรัสด้วยบททั้ง ๔

นั้นด้วย.

บทว่า ยาวเทว มีอธิบายดังกล่าวแล้วนั้นแล บทว่า อิมสฺส

กายสฺส คือแห่งรูปกายอันประกอบด้วยมหาภูต ๔ นี้ บทว่า  ิติยา

คือเพื่อตั้งอยู่โดยต่อเนื่องกันไป บทว่า ยาปนาย คือเพื่อความไม่

ขาดสายแห่งความเป็นไป หรือเพื่อตั้งอยู่ตลอดกาลนาน จริงอยู่ ภิกษุ

นี้ย่อมเสพบิณฑบาตเพื่อความตั้งอยู่แห่งกาย และเพื่อความเป็นไปได้

เหมือนเจ้าของเรือนชำรุดค้ำเรือน และเหมือนพ่อค้าเกวียนหยอดเพลา

เกวียนฉะนั้น หาใช่เพื่อเล่น เพื่อเมา เพื่อตกแต่งและประเทืองผิวไม่

อีกนัยหนึ่ง พึงทราบว่า คำว่า  ิติ นี้ เป็นชื่อของชีวิตินทรีย์

เพราะเหตุนั้น ด้วยคำว่า อิมสฺส กายสฺส  ิติยา ยาปนาย เพียง

เท่านี้ จึงมีคำอธิบายว่า "เพื่อยังชีวิตินทรีย์แห่งกายนี้ให้เป็นไป"

ดังนี้ก็ได้.

บทว่า วิหึสุปรติยา มีวินิจฉัยว่า ความหิว ชื่อวิหึสา เพราะ

อรรถว่าทำให้ป่วย แท้จริง ภิกษุนี้เสพบิณฑบาตเพื่อระงับความหิวนั้น

เหมืนคนเป็นแผลทายารักษาแผล และคนไข้ ในเมื่อเกิดอาการร้อน

และหนาวเป็นต้น ก็กินยาแก้อาการฉะนั้น บทว่า พฺรหฺมจริยา-

นุคฺคหาย คือเพื่ออนุเคราะห์สาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้น และมรรค

พรหมจรรย์ด้วย จริงอยู่ ภิกษุนี้ เมื่ออาศัยกำลังกาย (อันเกิดมี)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 67

เพราะการเสพบิณฑบาตเป็นปัจจัย ปฏิบัติไปเพื่อข้ามภพกันดาร โดย

ประกอบเนือง ๆ ในสิกขา ๓ ชื่อว่าย่อมเสพ (บิณฑบาต) เพื่อ

อนุเคราะห์พรหมจรรย์ เสมือน (คู่ภริยาสามี) ผู้มีความต้องการข้าม

ทางกันดาร (จำใจ) บริโภคเนื้อบุตร เสมือนคนผู้ต้องการข้ามแม่น้ำ

อาศัยแพ และเสมือนคนผู้ต้องการข้ามทะเลอาศัยเรือ ฉะนั้น.

ข้อว่า อิติ ปุราณญฺจ เวทนํ ปฏิหงฺขามิ นวญฺจ เวทนํ น

อุปฺปาเทสฺสามิ มีอรรถธิบายว่า "ภิกษุคิดว่า 'ด้วยประการนี้ คือ

ด้วยการเสพบิณฑบาตนี้ เราจักกำจัดเวทนาคือความหิวแต่เก่าก่อนเสีย

ได้ด้วย จักยังไม่เวทนาใหม่ อันมีการบริโภคเกินประมาณเป็นปัจจัย

ให้เกิดขึ้น เหมือนดังพราหมณ์อาหรหัตถกะ พราหมณ์อลังสาฏกะ

พราหมณ์ตัตถวัฏฏกะ พราหมณ์กากมาสกะ พราหมณ์ภุตตวมิตกะ

คนใดคนหนึ่งด้วย๑ ดังนี้ เสพ (บิณฑบาต) ดังคนไข้เสพเภสัช

๑. มหาฎีกาว่า ชื่อพราหมณ์ ๕ คนนี้ ไม่ใช่ชื่อตัว เป็นฉายา พราหมณ์ ๕ ล้วนแต่

เป็นคนกินจุเกินประมาณทั้งนั้น

คนหนึ่ง กินมากจนลุกไม่ไหว ต้องให้คนอื่นช่วยฉุดมือจึงลุกขึ้นได้ คำขอร้องให้ช่วยฉุดมือนี้ว่า

"อาหร หตฺถํ" เพราะฉะนั้น พราหมณ์ผู้นี้จึงได้ฉายาว่า "อาหรหัตถกะ" (ตาพราหมณ์

"ฉุดมือที")

คนหนึ่ง กินแล้วลุกขึ้นเองได้ แต่ว่าท้องกางเกินขนาด ไม่อาจนุ่งผ้าได้ (เพราะมือโอบท้อง

ตัวไม่หุ้ม) จึงได้ฉายาว่า "อลังสาฏกะ" (ตาพราหมณ์ "อย่าผ้า")

คนหนึ่ง กินแล้วลุกไม่ไหว เลยนอนกลิ้งเกลือกอยู่กับที่กินนั่นเอง จึงได้ฉายาว่า "ตัตถวัฏฏกะ"

(ตาพราหมณ์ "กลิ้งอยู่กับที่")

คนหนึ่ง กินจนคุงปาก อ้าปากให้กาจิกอาหารกินจากช่องปากได้ จึงได้ฉายา "กากมาสกะ"

(ตาพราหมณ์ "กินเผื่อกา")

คนหนึ่ง กินจนอุบไม่ไหว ต้องคาย คืออ้วกออกมา ในที่นั่งกินนั่นเอง จึงได้ฉายาว่า

"ภุตตวมิตกะ" (ตาพราหมณ์ "คายข้าว")

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 68

ฉะนั้น" ดังนี้นัยหนึ่ง อีกนัยหนึ่ง พึงทราบอรรถาธิบายในข้อนี้ว่า

"เวทนาใดที่ท่านเรียกว่าเวทนาเก่า เพราะอาศัยการบริโภคของอันไม่

เป็นสัปปายะและบริโภคเกินประมาณในปัจจุบันเกิดขึ้น ด้วยอำนาจกรรม

เก่าเป็นปัจจัย เราเมื่อยังปัจจัยแห่งเวทนาเก่านั้นให้เสื่อมไปด้วยบริโภค

อาหารที่เป็นสัปปายะและบริโภคพอประมาณ ชื่อว่าย่อมกำจัดเวทนาเก่า

นั้นเสียได้ด้วย และเวทนาใดที่เรียกว่า เวทนาใหม่ เพราะอาศัยก่อ

กรรม คือการบริโภคที่ไม่ชอบ ซึ่งตนกระทำในบัดนี้ เกิดขึ้นต่อ

ไป เราเมื่อไม่ให้มูลแห่งเวทนาใหม่นั้นเกิดขึ้น ด้วยอำนาจ

แห่งการบริโภคชอบ ชื่อว่าจักไม่ยังเวทนาใหม่นั้นให้เกิดขึ้นด้วย"

ดังนี้ก็ได้.

ก็แล การถือความบริโภคชอบ การละอัตตกิลมถานุโยค และ

การไม่ละเลยสุขอันชอบธรรม (๓ ประการนี้) พึงทราบว่า เป็นอัน

ทรงแสดงครบแล้ว ด้วยปาฐะเพียง ๒ ข้อนี้.*

ข้อว่า ยาตฺรา จ เม ภวิสฺสติ ความว่า ภิกษุคิดว่า 'ด้วย

การบริโภคพอประมาณ ความเป็นไป กล่าวคือความดำเนินไปตลอด

กาลนาน เพราะความไม่มีอันตรายที่จะเข้ามาตัดรอนชีวิตินทรีย์ หรือ

จะบั่นทอนอิริยาบถ จักมีแก่เรา อนึ่งว่า จักมีแก่ร่างกายของเราที่มี

ความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัยนี้ด้วย' ดังนี้แล้วเสพ (บิณฑบาต)

เหมือนคนมีโรคเรื้อรังเสพยาแก้โรคฉะนั้น สองบทว่า อนวชฺ-

* คือ ปุราณญฺจ เวทนํ ปฏิหงฺขามิ ข้อ ๑ นวญฺจ เวทนํ น อุปฺปาเทสฺสามิ ข้อ ๑ บ้าง

ก็รวมเอา วิหึสุปรติยา และ พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย เข้าด้วยกันเป็น ๔ ข้อ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 69

ชตา จ ผาสุวิหาโร จ ความว่า ภิกษุคิดว่า 'ความหาโทษมิได้

จักมีแก่เรา ด้วยเว้นการแสวงหา การรับ และการบริโภคที่มิชอบเสีย

และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เราด้วยบริโภคพอประมาณ' ดังนี้ นัยหนึ่ง

ว่า "ความหาโทษมิได้ โดยไม่มีโทษต่าง ๆ เช่นความกระสัน

ความคร้าน ความอืดอาด ความถูกผู้รู้ติเตียนเป็นต้น เพราะบริโภคของ

ที่ไม่เป็นสัปปายะและบริโภคเกินประมาณเป็นปัจจัย จักมีแก่เรา และ

ความผาสุกโดยมีร่างกายแข็งแรง เพราะบริโภคอาหารที่เป็นสัปปายะ

และบริโภคพอประมาณเป็นปัจจัย จักมีแก่เรา" ดังนี้บ้าง นัยหนึ่งว่า

"ความหาโทษมิได้โดยละสุขในการนอน สุขในการเอกเขนก สุขใน

การหลับเสียได้ จักมีแก่เรา ด้วยเว้นบริโภคอาหารตามที่ต้องการจน

เต็มท้อง และความผาสุก โดยอิริยาบถ ๔ ดำเนินไปสมประกอบ

จักมีแก่เรา ด้วยบริโภคอาหารให้หย่อนไว้สัก ๔ - ๕ คำ" ดังนี้บ้าง

แล้วการเสพ (บิณฑบาต) สมดังคำประพันธ์ที่กล่าวไว้ว่า

โยคาวจรภิกษุพึงเลิกบริโภค (ก่อนจะอิ่ม)

๔ - ๕ คำ แล้วดื่มน้ำ การบริโภคเพียงเท่านี้

ก็พอแล้วเพื่อความอยู่ผาสุก แห่งภิกษุผู้มีตน

ส่งไปแล้ว (คือไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต) ดังนี้.

การกำหนดถือเอาประโยชน์ และข้อปฏิบัติสายกลาง พึงทราบ

ว่าเป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยปาฐะเพียง ๓ บทนี้ (มีบทว่า ยาตรา

เป็นอาทิ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 70

[ แก้บทเสนาสนะ ]

บทว่า เสนาสนะ หมายเอาทั้งที่นอนและที่นั่ง ก็ภิกษุนอน

ในที่ใด ๆ จะเป็นวิหารหรือโรงเรือนต่าง ๆ มีเพิงเป็นต้นก็ตาม

ที่นั้น ๆ ชื่อว่าเสนาสนะ ภิกษุย่อมนั่ง คือย่อมนั่งพักอยู่ในที่ใด ๆ (ดัง

กล่าวแล้ว) ที่นั้น ๆ ชื่อว่าอาสนะ รวมสองคำนั้นเข้าด้วยกันเรียกว่า

"เสนาสนะ" สองบทว่า อุตุปริสฺสยวิโนทนํ ปฏิสลฺลานารามตฺถํ

อธิบายว่า "ฤดูนั่นเอง ชื่อ อุตุปริสฺสย (อันตรายคือฤดู) เพราะ

อรรถว่าเบียดเบียน" ความแห่งสองบทนั้นว่า "เพื่อบรรเทาอุตุปริสสยะ

ด้วย เพื่อสำราญในการเร้นอยู่ด้วย" มีคำขยายความว่า "ฤดูใดไม่

เป็นสัปปายะ ทำความอาพาธแห่งสรีระ และความกระสับกระส่ายแห่ง

จิต เป็นสิ่งพึงบรรเทาเสียได้ด้วยการเสพเสนาสนะ เพื่อบรรเทาฤดูนั้น

และเพื่อเอกีภาวสุขด้วย"* แท้จริง การบรรเทาอุตุปริสสยะก็ได้ตรัสไว้

แล้วด้วยบาลีข้างต้นมีคำว่า "สีตสฺส ปฏิฆาตาย" เป็นอาทินั้นโดยแท้

ถึงอย่างนั้น พึงทราบว่า ตรัสคำนี้ไว้ในตอนท้ายนี้อีก (ด้วย) ทรงมุ่ง

หมาย (ให้ทราบว่า) การบรรเทาอุตุปริสสยะเป็นประโยชน์ประจำ

เช่นเดียวกับคำที่กล่าวไว้ในตอนเสพจีวรว่า "การปกปิดอวัยวะที่ยัง

* อุตุปริสฺสย นั้น เราเคยแปลกันว่า "อันตรายเกิดแต่ฤดู" แต่ตามนัยที่ท่านแก้นี้ ดูที

จะต้องแปลว่า "อันตรายคือฤดู"

บท ปฏิสลฺลานารามตฺถํ นั้น แปลกันมัว ๆ มานานแล้ว ท่านแก้เป็น เอกีภาวสุขตฺถํ วิเศษแท้

คือแก้ ปฏิสลฺลาน (เร้นอยู่) เป็น เอกีภาวะ (ผู้อยู่เดียว) ส่วนอารามะ (ยินดี) แก้เป็น

สุข สมควรแก่พยัญชนะและอัตถะทุกอย่าง ในที่นี้มีถือเอานัยนั้นแปล ปฏิสลฺลนาราม ว่า

"สำราญในการเร้นอยู่" เป็นอันพ้นแก่งไปที.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 71

ความละอายให้กำเริบ เป็นประโยชน์ประจำ ประโยชน์นอกนี้ย่อมมีใน

กาลลางครั้งลางคราว" ฉะนั้น.

อีกนัยหนึ่ง ฤดูมีประการดังกล่าวแล้วนี้ คงเป็นอุตุ (ส่วนหนึ่ง)

ส่วนปริสฺสย (เป็นอีกส่วนหนึ่ง) มี ๒ อย่างคือ ปากฏปริสฺสย

อันตรายเปิดเผย ๑ ปฏิจฺฉนฺนปริสฺสย อันตรายปกปิด ๑

ในอันตราย ๒ อย่างนั้น อันตรายเปิดเผย ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย

มีสีหะและเสือเป็นต้น อันตรายปกปิด ได้แก่กิเลสทั้งหลายมีราคะ

และโทสะเป็นต้น อันตรายเหล่านั้นย่อมทำความอาพาธให้ เหตุไม่มี

ที่คุ้มตัวก็ดี เหตุ (มองไป) เห็นรูปที่เป็นอสัปปายะเข้าเป็นต้นก็ดี

ไม่ได้ในเสนาสนะใด๑ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนั้นแล้วพิจารณาเสพเสนาสนะ

นั้น พึงทราบว่า ชื่อว่า "พิจารณาโดยแยบคายแล้วเสพเสนาสนะ ฯ ล ฯ

เพื่อบรรเทาฤดูและอันตราย" ดังนี้.

[ แก้บทคิลานปัจจยเภสัชชบริขาร ]

ในบทว่า คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ นี้ มีวินิจฉัยว่า เภสัช

ชื่อว่าปัจจัย เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องต่อต้านโรค หมายความว่า

เป็นเครื่องปราบโรค คำว่าปัจจัยนี้ เป็นชื่อของเภสัชซึ่งเป็นสัปปายะ

๑. ประโยคนี้ปฏิเสธซ้อน ต้องอ่านให้ดี จึงจะจับความได้ ความก็คือว่า ปริสยะทั้งสอง

อย่างนั้นจะทำอันตรายแก่ภิกษุได้ ก็เมื่อภิกษุไม่มีที่คุ้มตัว คือไม่มีเสนาสนะอยู่ เช่นอยู่กลางแจ้ง

หรืออยู่โคนไม้ สัตว์ร้ายอาจทำอันตรายได้ และอยู่โล่ง ๆ เช่นนั้นอาจมองเห็นรูปที่ไม่เป็นสัปปายะ

เข้า อันตรายปกปิดคือกิเลสก็จะเกิดขึ้น ถ้าได้อยู่เสนาสนะเป็นที่คุ้มตัวแล้ว ก็บรรเทาอันตราย

ทั้ง ๒ อย่างนั้นได้ ท่านจึงว่า "อันตรายเหล่านั้นย่อมทำความอาพาธให้.... ไม่ได้.....

นัยหลังนี้ อุตุปริสฺสย ให้แปลว่า ฤดูและอันตราย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 72

อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าเภสัช เหตุว่าเป็นสิ่งที่หมอพึงทำ (ปรุง)

เพราะเป็นสิ่งที่หมออำนวยให้ เภสัช คือปัจจัยแห่งคนไข้ ชื่อว่า

คิลานปัจจยเภสัช หมายถึงสิ่งที่หมอทำ เป็นสัปปายะแก่คนไข้

อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น.

ก็บริวาร (เครื่องแวดล้อม) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าบริขาร

ในบาลีว่า "พระนครเป็นสถานอันเขาล้อมดีแล้ว ด้วยนครบริขาร ๗๑"

เป็นต้น อลังการ (เครื่องประดับ) ก็ตรัสว่าบริขาร ในบาลีว่า

"รถมีศีลเป็นบริขาร มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ๒" เป็นต้น

สัมภาระ (เครื่องค้ำจุน) ก็ตรัสว่าบริขาร ในบาลีมีว่า "ชีวิตบริขาร

เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรพชิตหามาโดยชอบ" เป็นต้น๓ ก็ใน

บทว่า คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร นี้ ย่อมควรทั้งสัมภาระ ทั้งบริวาร

จริงอยู่ คิลานปัจจยเภสัชนั้น ชื่อว่า เป็นเครื่องล้อมกั้นแห่งชีวิตก็ได้

เพราะเป็นเครื่องรักษา (ชีวิต) ไว้ ไม่ให้ช่องแก่อาพาธอันจะทำให้

๑. องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๐๗. สตฺตหิ นครปริกฺขาเรหิ - ด้วยนครบริขาร ๗ - นี้ ลางท่านก็หมาย

เอากำแพง ๗ ชั้น แต่ในมหาฎีกาว่า ลางอาจารย์หมายเอาเครื่องล้อมรักษาเมือง ๗ อย่าง และ

จำแนกไว้ดังนี้ ตฏอุปริกฺเขโป มูลดิน ปริขา คูเมือง อุทฺปาโป เชิงเทิน ปากาโร กำแพง

เอสิกา เสาระเนียด ปลิฆา ลิ่มสลัก ปาการปตฺถณฺฑิลํ หอรบ ?

"สตฺตหิ นครปริกฺขาเรหิ" มีแสดงไว้ในพระบาลีทั้ง ๗ อย่างคือ เอสิกา ปริขา อนุปริยายปโถ

พหํ อาวุธํ พหุ พลกาโย โทวาริโก ปากาโร นี้แล นครปริกฺขาร "เครื่องแวดล้อมนคร" จะ

แปลตามมหาฎีกาว่า 'เครื่องล้อมรักษานคร" - นครํ ปริวาเรตฺวา รกฺขนเกหิ ก็จะได้ อนึ่ง จะถือ

ตามมติอรรถกถาก็ไม่ได้ เพราะท่านแก้ไว้ว่า นคราลงฺกาเรหิ อลงฺกตํ คือ "เครื่องประดับสำหรับ

นคร" ในที่นี้ ปริกฺขาร หมายเอา ปริวาร เพราะที่หมายเอา อลงฺการ ก็มีอยู่ต่อไป จึงต้อง

แปลเป็น "ปริวาร" ตามที่ประสงค์.

๒. สํ. มหาวาร. ๑๙/๗.

๓. ม. มู. ๑๒/๑๐๙.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 73

เสียชีวิตเกิดขึ้นได้ ชื่อว่า เป็นเครื่องค้ำจุนแห่งชีวิตก็ได้ เพราะเป็น

เครื่องบันดาลชีวิตให้ยั่งยืน เพราะฉะนั้น คิลานปัจจยเภสัชนั้น จึง

ตรัสเรียกว่า "บริขาร".

ดังนี้ (บทนี้จึงทำวิเคราะห์ได้ว่า) คิลานปจฺจยเภสชฺชญฺจ ตํ

ปริกฺขาโร จาติ คิลนปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาโร (บริขารคือเภสัช

อันเป็นเครื่องปราบโรคแห่งคนไข้) ความแห่งปาฐะนั้นว่า . . . ซึ่ง

คิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น อธิบายว่า "ซึ่งเครื่องค้ำจุนแห่งชีวิต

มีน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้นที่หมออำนวยให้ เป็นที่สบายแห่งคนไข้

อย่างใดอย่างหนึ่ง" บทว่า อุปฺปนานํ แปลว่าเกิดแล้ว เป็นแล้ว

ก่อขึ้นแล้ว ในบทว่า เวยฺยาพาธิกานํ นี้ ความกำเริบแห่งธาตุ ชื่อ

พยาพาธ ส่วนโรคต่าง ๆ มีโรคเรื้อน ฝี และพุพองเป็นต้น ซึ่งมีความ

กำเริบแห่งธาตุนั้นเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า เวยฺยาพาธิก เพราะเกิดแต่

พยาพาธ บทว่า เวทนา ได้แก่ทุกขเวทนา คือเวทนาซึ่งเป็นวิบาก

แห่งอกุศล ความก็คือ (เพื่อบำบัดเสีย) ซึ่งเวทนาเนื่องด้วยโรคอันเกิด

แต่พยาพาธเหล่านั้น บทว่า อพฺยาปชฺฌปรมตาย หมายความว่า

เพื่อความไม่มีทุกข์เป็นอย่างยิ่ง อธิบายว่า เพียงที่ทุกข์นั้นเสื่อมหมดไป.

ศีล อันมีการพิจารณาโดยแยบคายก่อนแล้วจึงบริโภคปัจจัยเป็น

ลักษณะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อปัจจยสันนิสิตศีล โดยสังเขป ด้วย

ประการฉะนี้ ส่วนอรรถแห่งคำในคำว่า ปัจจยสันนิสิตะ นี้ พึง

ทราบดังนี้ ก็เครื่องอาศัยมีจีวรเป็นต้น ท่านเรียกว่าปัจจัย เพราะเป็น

ที่สัตว์ทั้งหลายอาศัย คือใช้บริโภค จึงไปได้ คือจึงดำเนินไปได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 74

หมายความว่าจึงเป็นไปได้ ศีลนี้อิงอาศัยปัจจัยเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น

จึงชื่อว่าปัจจยสันนิสิตะ.

[ สาธนะ เหตุให้สำเร็จศีล ]

พึงทราบสาธนะ (เหตุให้สำเร็จ) ในศีล ๕ อย่างนี้ ดังนี้

ปาฏิโมกขสังวร ภิกษุพึงให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เพราะปาฏิโมกข-

สังวรศีลนั้น เป็นสัทธาสาธนะ (มีศรัทธาเป็นเหตุให้สำเร็จ) เหตุที่

การบัญญัติสิกขาบทเป็นการล่วงวิสัยของพระสาวก จริงอยู่ การตรัส

ห้ามเสียซึ่งการทูลขอให้ทรงบัญญัติสิกขาบท เป็นนิทัศนะในข้อนี้ได้

อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น ภิกษุสมาทานสิกขาบท

ตามที่ทรงบัญญัติไว้ให้สิ้นเชิงด้วยศรัทธาแล้ว ไม่ทำความอาลัยแม้

ในชีวิต จะพึงทำให้ถึงพร้อมได้อย่างดี สมคำที่ตรัสไว้ว่า

"ภิกษุทั้งหลายผู้จะตามรักษาศีล จงเป็นผู้มี

ศีลที่เป็นที่รักด้วยดี มีความเคารพ (ในศีล)

ทุกเมื่อไป ดุจนกต้อยติวิดรักษาฟอง จามรี

รักษาขนหาง มารดารักษาบุตรที่รักคนเดียว

คนตาเดียงรักษานัยน์ตา (ที่เหลืออยู่) ข้างเดียว

ฉะนั้น"

และตรัสไว้ (ในที่อื่น) อีกว่า "มหาสมุทรมีความยั้งอยู่เป็น

ธรรมดาไม่ล้นฝั่งฉันใด ดูกรปหาราทะ สาวกทั้งหลายองเราก็ฉันนั้น

เหมือนกัน ย่อมไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติแสาวกทั้งหลาย แม้

เพราะเหตุแห่งชีวิต"๑ ก็แลในความข้อนี้พึงทราบเรื่องพระเถระทั้ง

๑. องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๐๓.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 75

หลาย ที่ถูกโจรมัดไว้ในดง (เป็นนิทัศนะ)

ได้ยินว่า โจรทั้งหลายมัดพระเถระ (รูปหนึ่ง) ด้วยเถาหญ้านาง

(ทิ้ง) ให้นอนในดงมหาวัตตนี พระเถระนอนอยู่อย่างไรนั่นแหละ

เจริญวิปัสสนาตลอด ๗ วัน ได้บรรลุอนาคามิผลแล้วถึงมรณภาพใน

ที่นั้นเอง ไปเกิดในพรหมโลก (อีกเรื่องหนึ่ง) พวกโจรมัดพระเถระ

อีกรูปหนึ่งด้วยเถาหัวด้วน (ทิ้ง) ให้นอนอยู่ในตัมพปัณณิทวีป พระ

เถระนั้นเมื่อไฟป่าไหม้ลามมาก็หาเด็ดเถาวัลย์ไม่ เริ่มตั้งวิปัสสนาจน

สำเร็จเป็นพระอรหันต์สมสีสี ปรินิพพานไป พระอภัยเถระผู้เป็น

ทีฆภาณกะ (กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกาย) เดินทางไปพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐

ได้พบเข้า จึงให้ทำฌาปนกิจสรีระของพระเถระแล้ว ให้ก่อพระเจดีย์

(บรรจุอัฐ) ไว้. เพราะเหตุนั้น กุลบุตรผู้มีศรัทธาแม้อื่น

เมื่อจะยังพระปาฏิโมกข์ให้หมดจด แม้จะพึงสละ

ชีวิต ก็ไม่พึงทำลายสีลสังวรที่พระโลกนาถเจ้า

ทรงบัญญัติไว้.

เหมือนอย่างว่า ปาฏิโมกขสังวร ภิกษุพึงให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

ฉันใด อินทรียืสังวรก็พึงให้ถึงพร้อมด้วยสติฉันนั้น เพราะว่าอินทรีย-

สังวรศีลนั้น เป็นสติสาธนะ (มีสติเป็นเหตุให้สำเร็จ) เหตุที่อินทรีย์

ทั้งหลายที่ตั้งมั่นแล้วด้วยสติ ไม่เป็นช่องที่โทษทั้งหลายมีอภิชฌา

เป็นต้น จะพึงไหลเข้ามาได้ เพราะเหตุนั้น อินทรียสังวรนั้นอันพระ

โยคีผู้เมื่ออนุสรณ์ถึง (พระธรรมเทศนา) อาทิตตปริยาย โดยนัยว่า

"ภิกษุทั้งหลาย จักขุนทรีย์ถูกทิ่มเอาด้วยซี่เหล็กอันเผาไฟจนร้อนโชน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 76

เป็นแสงช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือเอาโดยอนุพยัญชนะ

ถือเอาโดยนิมิต ในรูปทั้งหลายอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ ไม่ประเสริฐเลย"

ดังนี้ เป็นต้นแล้ว เมื่อวิญญาณเป็นไปแล้วทางทวารมีจักขุทวารเป็น

อาทิ ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น หักห้ามความถือมีถือเอาโดย

นิมิตเป็นต้น อันเป็นทางที่โทษทั้งหลาย มีอภิชฌาเป็นต้น จะพึงไหล

เข้ามาเสียได้ ด้วยสติอันไม่หลงลืม (นั้นแหละ) จะพึงทำให้ถึงพร้อม

ได้อย่างดี.

ก็แล เมื่ออินทรียสังวรนั้น ภิกษุไม่ทำให้ถึงพร้อมอย่างนี้แล้ว

แม้ศีลปาฏิโมกข์ก็ย่อมไม่ยั่งไม่ยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือนข้าวกล้าที่มิได้

ทำรั้วล้อม ก็ไม่ยืนอยู่ได้ ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ไม่ทำอินทรียสังวรให้

ถึงพร้อมนี้ ย่อมจะถูกโจรคือกิเลสทั้งหลายทำร้ายเอาได้ ดุจบ้านที่เปิด

ประตูไว้ ก็ถูกโจรทำลายเอาได้ฉะนั้น อีกประการหนึ่ง ราคะย่อมรั่ว

เข้าจิตของเธอได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงไว้ไม่ดีฉะนั้น สมด้วย

พระพุทธภาษิตว่า

"ภิกษุพึงรักษาอินทรีย์๒ ในเพราะรูป เสียง

รส กลิ่น และผัสสะทั้งหลาย เพราะว่า

ทวารทั้งหลาย ที่เปิดไว้ไม่รักษานั้น ย่อมทำ

ร้ายเอา (ผู้ไม่รักษา) เหมือนโจรทำลาย

๑. สํ. สฬายตน. ๑๘/๑๒๐. ๒. ในวิสุทธิมรรคที่เป็นต้นฉบับแปลนี้ว่า รกฺขนตินฺทฺริยํ ฉบับยุโรป

เป็น รกฺข อินทฺริยํ แต่ว่ามหาฎีกาท่านแก้ไว้ดังนี้ รูเปสูติ รูปเหตุ รูปนิมิตฺตํ อุปฺปชฺชนกอนตฺถโต

รกฺเข อินฺทฺริยนฺติ สมฺพนฺโธ ในที่นี้แปลตามมหาฎีกา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 77

บ้าน (ที่ปิดประตูไว้) ฉะนั้น.

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด

ราคะก็ย่อมรั่วเข้าจิตที่มิได้อบรมได้ ฉันนั้น."๑

แต่เมื่ออินทรียสังวรนั้น อันภิกษุทำให้ถึงพร้อมแล้ว แม้ศีล

ปาฏิโมกข์ก็ย่อมยั่งยืน เหมือนข้าวกล้าที่มีรั้วล้อมไว้ดี ย่อมยืนอยู่ได้

ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ทำอินทรียสังวรให้พร้อมนี้ โจรคือกิเลสทั้งหลาย

ย่อมทำร้ายไม่ได้ เหมือนบ้านที่ประตูปิดดีแล้ว พวกโจรทำลายไม่ได้

ฉะนั้น อีกประการหนึ่ง ราคะย่อมรั่วเข้าจิตของเธอไม่ได้ เหมือน

ฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธพจน์ว่า

ภิกษุพึงรักษาอินทรีย์ ในเพราะรูป เสียง รส

กลิ่น และผัสสะทั้งหลาย เพราะว่าทวาร

ทั้งหลายที่ปิดแล้วระวังดีแล้วนั้น หาทำร้าย

(ผู้ระวัง) ไม่ เหมือนพวกโจรทำลายบ้าน

ที่ประตูปิดแล้วไม่ได้ ฉะนั้น.

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด

ราคะย่อมรั่วเข้าจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น.

ก็เทศนานี้เป็นเทศนาอันอุกฤษฏ์ยิ่ง๒.

อันจิตนี้เป็นธรรมชาติเปลี่ยนเร็ว เพราะฉะนั้น อินทรียสังวร

๑. ขุ. ธ. ๒๕/๑๖.

๒. เพราะว่าแสดงถึงที่สุด คือถึงกิเลสไม่เกิดหมดทีเดียว จึงเรียกว่า เทศนาอย่าง

อุกฤษฏ์ยิ่ง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 78

(นั้น) ภิกษุจำต้องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้น ด้วยมนสิการอสุภกรรมฐาน

แล้วจึงทำให้ถึงพร้อมได้ เหมืนพระวังคีสเถระผู้บวชใหม่ฉะนั้น.

[ เรื่องพระวังคีสเถระ ]

ได้ยินว่า เมื่อพระเถระบวชแล้วไม่นาน (ตามพระอานนทเถระ)

ไปเที่ยวบิณฑบาต ราคะเกิดขึ้นเพราะเห็นหญิงคนหนึ่งเข้า ท่านจึง

เรียนพระอานนทเถระว่า

ข้าแต่ท่านผู้โคตมโคตร ข้าพเจ้าถูกกามราคะเผาเอา

จิตของข้าพเจ้ารุ่มร้อน สาธุ ขอพระคุณเจ้า

ได้กรุณาบอกอุบายดับร้อนด้วยเถิด.

พระเถระจึงบอกว่า

จิตของท่านรุ่มร้อน เพราะแส่สำคัญผิดไป ท่าน

จงเว้นสุภนิมิตอันเป็นทางเกิดราคะเสีย จงอบรมจิต

ให้ตั้งมั่นแน่วแน่ด้วยอสุภสัญญา จง (พิจารณา)

เห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นอื่น (ไม่คงที่)

โดยความเป็นทุกข์ และโดยความเป็น

สภาพมิใช่ตน ยังราคะใหญ่ให้ดับเสียจงได้

อย่าร้อนอีกต่อไปเลย*

พระ (วังคีส) เถระ ต่อบรรเทาราคะได้แล้ว จึงเที่ยวบิณฑ-

บาต (ต่อไป)

* สํ. ม. ๑๕/๒๗๗.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 79

อนึ่ง อันภิกษุผู้บำเพ็ญอินทรียสังวร พึงเป็นเช่นพระจิตตคุตต-

เถระ ผู้อยู่ในถ้ำใหญ่ ชื่อกุรัณฑกะ และพระมหามิตตเถระผู้อยู่ใน

มหาวิหารชื่อโจรกะ.

[ เรื่องพระจิตตคุตตเถระ ]

ได้ยินว่า ในถ้ำใหญ่กุรัณฑกะ มีจิตรกรรมเรื่องอภิเนษกรมณ์

แห่งพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ เป็นที่น่าพึงใจ ภิกษุหลายรูปเดินเที่ยว

ดูเสนาสนะ เห็นจิตรกรรม (น้นั ) เข้า ก็กล่าว (ชมกะพระเถระ)

ว่า "จิตรกรรม (นั้น) น่ารื่นรมย์ใจ" พระเถระกล่าวว่า "อาวุโส

ทั้งหลาย เมื่อเราอยู่ในถ้ำมากว่า ๖๐ ปี เรายังหารู้ไม่ว่าจิตรกรรม

มีหรือไม่มีเลย วันนี้ อาศัยท่านทั้งหลายผู้ใช้ตา จึงรู้เดี๋ยวนี้เอง"

นัยว่า พระเถระอยู่มานานถึงเท่านี้ ยังไม่เคยเหลือบแหงนดูถ้ำเลย.

อนึ่ง ที่ใกล้ประตูถ้ำของท่าน มีไม้กากะทิงอยู่ต้นหนึ่งด้วย แม้ไม้ต้นนั้น

พระเถระก็ไม่เคยแหงนดูเบื้องบนเลย ต่อได้เห็นเกสรร่วงลงมาที่พื้นดิน

ตามฤดูปี จึงรู้ว่ามันมีดอก พระราชาได้ทรงสดับคุณสมบัติของพระเถระ

มีพระประสงค์จะนมัสการ ทรงส่ง (ราชบุรุษไปนิมนต์) ถึง ๓ ครั้ง

เมื่อพระเถระไม่มา จึงตรัสสั่งให้รัดถันของพวกหญิงลูกอ่อนในหมู่บ้าน

นั้นแล้วให้ประทับตราพระราชลัญจกร (ที่รัดผ้าถัน) มีพระราชโองการ

ไว้ว่า "พวกทารกอย่าได้ (ดื่ม) น้ำนม ตลอดเวลาที่พระเถระยัง

ไม่มา" พระเถระจึงยอมไปสู่มหาคาม เพราะความเอ็นดูพวกทารก

พระราชาทรงสดับ (ข่าวนั้น) แล้ว ตรัสสั่ง (ราชบุรุษ) ว่า

แน่ะพนาย ท่านทั้งหลายจงไปนิมนต์พระเถระเข้ามา เราจักรับศีล"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 80

แล้วโปรดให้นำเข้าไปถึงพระราชวังชั้นใน ทรงนมัสการพระเถระ ทรง

อังคาสแล้วตรัสว่า "ท่านผู้เจริญ วันนี้ยังไม่มีโอกาส พรุ่งนี้ข้าพเจ้า

จึงจักรับศีล" ดังนี้ ทรงถือบาตรของพระเถระเสด็จตามส่งหน่อยหนึ่ง

พร้อมด้วยพระเทวี ทรงนมัสการแล้วก็เสด็จกลับ พระราชาหรือพระ

เทวีจะนมัสการก็ตาม พระเถระก็กล่าวถวายพระพร (อยู่คำเดียว)

ว่า "สุขี โหตุ มหาราชา ขอพระมหาราชเจ้าจงทรงมีความสุข"

๗ วันล่วงไปด้วยอาการอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายเรียนถามท่านว่า

"ท่านผู้เจริญ ไฉนเมื่อพระราชาทรงนมัสการก็ดี พระเทวีทรงนมัส-

การก็ดี ท่านจึงกล่าวถวายพระพร (เหมือนกัน) อย่างนี้ว่า "สุขี

โหตุ มหาราชา" พระเถระตอบว่า "อาวุโสทั้งหลาย เราไม่ได้ทำ

ความกำหนดว่าพระราชาหรือพระเทวีดอก" ครั้นล่วง ๗ วัน พระราชา

ทรงโปรดปล่อย ด้วยทรงเห็นว่า การอยู่ในที่นี้ของพระเถระเป็นการ

ลำบาก ดังนี้ จึงได้ (กลับ) ไปถ้ำใหญ่กุรัณฑกะ แล้วขึ้นสู่ที่จงกรม

ในตอนกลางคืน เทวดาผู้สิงอยู่ในต้นกากะทิง ช่วยยืนถือประทีปมีด้าม

(ส่องให้) ครั้งนั้น กรรมฐานของท่าน ได้ปรากฏบริสุทธิ์อย่างยิ่ง

พระเถระชุ่มชื่นใจอยู่ว่า "อย่างไรหนอ วันนี้กรรมฐานของเราจึงกระจ่าง

ยิ่งนัก" บันดาลให้ภูเขา (ลูกนั้นเกิดเสียง) เลื่อนลั่นไปทั้งลูก

ได้บรรลุพระอรหัตในระหว่างมัชฌิมยาม เพราะเหตุนั้น แม้กุลบุตร

อื่นผู้ใคร่ประโยชน์

ไม่พึงเป็นผู้มีนัยน์ตาล่อกแล่ก เหมือนลิงในป่า

เหมือนเนื้อตื่นในดง และเหมือนเด็กอ่อน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 81

สะดุ้งกลัว พึงทอดจักษุ แลดูชั่วแอก อย่า

พึงไปสู่อำนาจขิงจิตที่หลุกหลิกเหมือนลิงป่า.

[ พระมหามิตตเถระ ]

ฝ่ายหนึ่ง โรคฝีมีพิษเกิดขึ้นแก่โยมหญิงของพระมหามิตตเถระ

แม้ธิดาของนางก็บวชในสำนักภิกษุณี นางจึงกล่าวกะภิกษุณีธิดานั้นว่า

"ไปเถิด แม่คุณ เธอจงไปสู่สำนักพี่ชาย บอกความที่โยมไม่สบาย

แล้วนำยามาเถิด" ภิกษุณีนั้นไปบอกแล้ว พระเถระกล่าวว่า "ฉัน

ไม่รู้จะเก็บยาต่าง ๆ มียารากไม้เป็นต้นมาต้มเป็นยาให้ดอก แต่จัก

บอกยาแก่เธอ (ดังนี้ อหํ ยโต ปพฺพชิ ฯ เป ฯ มาตุยา เม ผาสุ

โหตุ) 'เรา จำเดิมแก่กาลที่บวชแล้ว ไม่เคยมีจิตสหรคตด้วยโลภ

แล้วทำลายอินทรีย์ทั้งหลาย แลดูรูปที่เป็นวิสภาคเลย ด้วยคำสัตย์นี้ ขอ

ความผาสุกจงมีแก่โยมหญิงของเราเถิด' เธอ (กลับ) ไปเถิด จง

ว่าคำ (อหํ ยโต ฯ เป ฯ) ที่เรากล่าวแล้วนี้ลูบสรีระของอุบาสิกาเถิด"

ภิกษุณีนั้น (กลับ) ไปแจ้งเนื้อความนั้นแล้ว ได้กระทำตามสั่ง

ทันใดนั้นเอง ฝีของอุบาสิกาก็ฝ่อหายไป เหมือนฟองน้ำแตกหายไป

ฉะนั้น นางลุกขึ้นแล้วเปล่งวาจาแสดงความชื่นบานออกมาว่า "ถ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ไซร้ ไฉนพระองค์จะไม่พึง

ทรงลูบศีรษะของภิกษุผู้เช่นดังบุตรของเรา ด้วยพระหัตถ์อันมีลาย

วิจิตรเล่า" ดังนี้. เหตุนั้น

แม้บุคคลอื่น ผู้มีความสำคัญว่า (ตน)

เป็นลูกสกุล ได้บวชในพระศาสนาแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 82

พึงตั้งอยู่ในอินทรียสังวรอันประเสริฐ ดัง

พระมิตตเถระ เทอญ. ฺ

เหมือนอย่างว่า อินทรียสังวรอันภิกษุพึงให้ถึงพร้อมด้วยสติฉันใด

อาชีวปาริสุทธิก็พึงให้ถึงพร้อมด้วยความเพียรฉันนั้น เพราะอาชีวปาริ-

สุทธินั้น เป็นวิริยสาธนะ (มีวิริยะเป็นเหตุให้สำเร็จ) เหตุว่าความ

เพียรที่ปรารภแล้วโดยชอบ เป็นเหตุให้มีการละมิจฉาอาชีวะ เหตุนั้น

อาชีวปาริสุทธินี้ ภิกษุผู้ละอเนสนาการแสวงหาไม่สมควรเสียแล้ว

เสพแต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์ เว้นปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยไม่บริสุทธิ์

อันเป็นเหมือนอสรพิษเสีย พึงทำให้ถึงพร้อมได้ ด้วยการแสวงหา

โดยชอบ มีการเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น ด้วยความเพียร.

ในปัจจัย ๒ อย่าง (คือปาริสุทธุปปาทปัจจัย และอปริสุทธุป-

ปาทปัจจัย) นั้น สำหรับภิกษุผู้ไม่ได้ถือธุดงค์ ปัจจัยที่เกิดแต่

สงฆ์หรือแต่คณะก็ดี แต่สำนักของคฤหัสถ์ผู้เลื่อมใสด้วยคุณทั้งหลาย

ของเธอมีการแสดงธรรมเป็นต้นก็ดี ชื่อว่าปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์

ส่วนปัจจัยที่เกิดขึ้นด้วยวัตรมีการเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น ชื่อว่าเกิดขึ้น

โดยบริสุทธิ์อย่างยิ่งทีเดียว สำหรับภิกษุผู้ถือธุดงค์ ปัจจัยที่เกิดขึ้น

ด้วยวัตรมีการเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น และเกิดแต่สำนักของคฤหัสถ์ผู้

เลื่อมใสในธุดงคคุณของเธอ โดยอนุโลมแก่ธุดงคนิยม ชื่อว่า ปัจจัย

ที่เกิดขึ้นโดยบริสุทธิ์ อนึ่ง การสมาทานธุดงค์ของเธอผู้เมื่อยาสมอ

(ดองน้ำมูตร) เน่า และมธุรเภสัช ๔ เกิดขึ้น (ได้มา) เพื่อใช้ระงับ

พยาธิอย่างหนึ่ง คิดว่า "เพื่อนพรหมจารีอื่น ๆ จะต้องฉันจตุมธุร-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 83

เภสัช (เป็นแน่)" ดังนี้แล้ว (ตัวเอง) ฉันแต่ชิ้นสมอเท่านั้น

(เช่นนี้) เป็นการชอบแท้ อันภิกษุเช่นนี้ท่านเรียกว่า อริยวํสิกภิกฺขุ

(ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์)* ชั้นอุดม.

ก็แลปัจจัยทั้งหลาย มีจีวรเป็นต้นนั้นใด บรรดาปัจจัยเหล่านั้น

ในจีวรและบิณฑบาต นิมิต (พูดใบ้) โอภาส (พูดเคาะ) ปริกถา

(พูดหว่านล้อม) วิญญัติ (ขอตรง ๆ) ย่อมไม่สมควรแก่ภิกษุทุกรูป

ผู้จะทำอาชีวะให้หมดจด แต่ในเสนาสนะ นิมิต โอภาส และปริกถา

ก็ควร สำหรับภิกษุผู้ไม่ได้ถือธุดงค์.

ในอาการเหล่านั้น การที่เมื่อภิกษุกระทำกิจมีบริกรรมพื้นที่

เป็นต้น เพื่อ (ปลูก) เสนาสนะอยู่ ครั้นคฤหัสถ์ทั้งหลายถามว่า "ท่าน

ผู้เจริญ ท่านทำอะไร ใครให้ทำ" แล้วกล่าวตอบว่า "ไม่มีใคร ๆ

ให้ทำดอก" ดังนี้ ก็หรือว่านิมิตตกรรม (การทำใบ้) รูปนั้น อย่าง

อื่นอีก ชื่อว่านิมิต (ใบ้) การที่เมื่อภิกษุถามว่า "อุบาสกอุบาสิกา

ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่เรือนอะไร" ครั้นเขาตอบว่า "(อยู่)

ปราสาท เจ้าข้า" แล้วพูดว่า "อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็แต่

ปราสาทย่อมไม่สมควรแก่ภิกษุทั้งหลาย" ดังนี้ ก็หรือโอภาสกรรม

(การพูดแคะ) รูปนั้น อย่างอื่นอีก ชื่อว่า โอภาส (เคาะ) การที่

ภิกษุพูดว่า "เสนาสนะของภิกษุคับแคบ" ดังนี้ ก็หรือว่าการ

* ที่แปลว่าอริยวํสิกเช่นนี้ แปลโดยนัยแห่งพระบาลีในอริยวํสิกสูตร จตุกังคุตตตรว่า....อคฺคญเญ

อริยวํเส  ิโต แต่ในมหาฎีกาแก้ของท่านไว้ว่า อริยวํโส เอตสฺส อตฺถิ อริยวํเส วา

นิยุตฺโตติ อริยวํสิโก (ผู้มีอริยวงศ์ หรือผู้ประกอบในอริยวงศ์).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 84

พูดอ้อมไปรูปนั้นอย่างอื่นอีก ชื่อว่า ปริกถา (พูดหว่านล้อม).

ในเภสัช อาการทั้งหมดย่อมควร แต่เภสัชที่เกิดขึ้น (ด้วย

อาการมีนิมิตเป็นต้น) อย่างนั้น ภิกษุจะฉันเมื่อโรคหายแล้ว ไม่ควร

ในเรื่องเภสัช (ที่เกิดขึ้นอย่างนั้น) นั้น พระวินัยธรทั้งหลายกล่าวว่า

"ช่อง (ที่จะฉันยาได้) พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดประทานไว้ให้แล้ว

เพราะเหตุนั้น จึงควร" ส่วนอาจารย์ฝ่ายพระสูตรกล่าวอย่างนี้ว่า

"ไม่เป็นอาบัติก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นมันก็ทำอาชีวะให้กำเริบ เหตุนั้นจึง

ไม่ควร" ภิกษุใดไม่ทำนิมิต โอภาส ปริกถา และวิญญัติ แม้ที่

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต อาศัยคุณมีความมักน้อยเป็นต้นนั่นแล

แม้เมื่อความจะสิ้นชีวิตปรากฏเฉพาะหน้า ก็ยังเสพเฉพาะปัจจัยที่

เกิดขึ้นเว้นจากกรรมที่เป็นเหตุทำอาชีวะให้กำเริบ มีโอภาสเป็นต้น

ภิกษุนี้ท่านเรียกว่า "ผู้มีความประพฤติเป็นบรมสัลเลขะ" เหมือน

พระเถระสารีบุตรฉะนั้น.

[ พระสารีบุตรอาพาธ ]

ได้ยินว่า ในสมัยหนึ่งท่านองค์นั้นจะเพิ่มพูนปวิเวก จึง (ไป)

อยู่ในป่าแห่งใดแห่งหนึ่งกับพระมหาโมคคัลลานเถระ อยู่มาวันหนึ่ง

อาพาธเพราะลมในท้องเกิดขึ้น ยังทุกข์หนักให้เกิดแก่ท่าน พระมหา-

โมคคัลลานเถระไปสู่ที่อุปัฏฐากท่านในตอนเย็น เห็นพระเถระนอนอยู่

ถาม (ทราบ) ความเป็นไปนั้นแล้ว ถามว่า "อาวุโส ในกาลก่อน

ความผาสุกได้มีแก่ท่านด้วยสิ่งอะไร ?" พระเถระกล่าวว่า "อาวุโส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 85

ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ โยมหญิงของข้าพเจ้า ได้ให้ข้าวปายาสหุงด้วย

น้ำนมสดล้วน ๆ ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด ความผาสุก

ได้มีแก่ข้าพเจ้าด้วยปายาสนั้น" ฝ่ายท่าน (พระมหาโมคคัลลานะ"

นั้นจึงกล่าวว่า "อาวุโส เอาเถิด หากบุญของข้าพเจ้าหรือของท่านมีอยู่

ถ้ากระไร พรุ่งนี้เราคงจักได้" กล่าวถึงเทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้ทางท้าย

ที่จงกรม ได้ยินคำพูดนี้ของท่านทั้งสอง จึงคิดว่า "เราจะต้องช่วย

ให้ข้าวปายาสเกิดแก่พระคุณเจ้าในวันพรุ่งนี้ (ให้จงได้)" จึงไปสู่

ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระในทันใดนั้น เข้าสิงกายบุตรคนใหญ่

แสร้งบันดาลอาการเจ็บให้เกิดขึ้น ครั้นแล้ว เทวดานั้นจึงออกปาก

กะพวกญาติที่มาประชุมกันหมายจะเยียวยาคนเจ็บนั้นว่า "ถ้าสูเจ้าจัด

ทำข้าวปายาสชื่ออย่างนี้ถวายพระเถระในวันพรุ่งนี้ได้ ข้าจึงจะปล่อย"

ญาติเหล่านั้นกล่าวว่า "ถึงท่านไม่บอก พวกข้าพเจ้าก็ถวายภิกษาแก่

พระเถระทั้งหลายเป็นประจำอยู่แล้ว" ดังนี้ ในวันรุ่งขึ้นได้ช่วยกันจัด

ทำข้าวปายาสอย่างนั้นเตรียมไว้ พระมหาโมคคัลานเถระมา (ที่พระ

สารีบุตร) แต่เช้า กล่าวว่า "อาวุโส ท่านจงอยู่ที่นี่จนกว่าข้าพเจ้า

ไปบิณฑบาตกลับมา" แล้วเข้าไปสู่บ้าน คนเหล่านั้นออกไปต้อนรับ

ท่าน รับบาตรของพระเถระมาบรรจุข้าวปายาสชนิดดังกล่าวจนเต็ม

ถวาย พระเถระแสดงอาการจะ (กลับ) ไป คนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า

"ท่านผู้เจริญ นิมนต์ฉันเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายจักถวายท่านอีก

(บาตรหนึ่ง)" ยังพระเถระให้ฉันเสร็จแล้ว ได้ถวาย (ข้าวปายาส)

เต็มบาตรอีก (บาตรหนึ่ง) พระเถระมาถึงแล้วน้อมเข้าไปถวาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 86

กล่าวว่า "อาวุโสสารีบุตร นิมนต์ท่านฉันเถิด" ฝ่ายพระเถระเห็น

ข้าวปายาสนั้นแล้ว คิด (แคลงใจ) ไปว่า "ข้าวปายาสน่าพึงใจยิ่ง

(นี้) เกิดขึ้นอย่างไรหนอ" ก็ได้เห็นมูลที่เกิดขึ้นแห่งข้าวปายาส

นั้น* จึงกล่าวว่า "นำไปเสีย อาวุโสโมคคัลลานะ บิณฑบาต (นี้)

ไม่ควรบริโภค" ฝ่ายท่าน (พระมหาโมคคัลลานะ) นั้น ไม่ให้แม้

แต่จิต (คิดโทมนัส) เกิดขึ้นว่า "เขาไม่ฉันบิณฑบาตซึ่งคนเช่น

เรานำมาให้เชียวนะ" โดยคำ (สั่งของพระสารีบุตร) คำเดียวเท่านั้น

ก็จับขอบปากบาตร (นำออกไป) คว่ำเสียในส่วนที่สุดข้างหนึ่ง

พร้อมกับที่ข้าวปายาส (ลงไป) กองที่พื้นดิน อาพาธของพระเถระ

ก็หาย จำเดิมแต่นั้นมาตลอด ๔๕ ปี อาพาธเช่นนั้นไม่เกิดขึ้นอีกเลย

ลำดับนั้นพระสารีบุตร จึงกล่าวกะพระมหาโมคคัลลานะว่า "อาวุโส

ข้าวปายาสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยวจีวิญญัติ เป็นของไม่ควรจะบริโภค

แม้เมื่อ (หิวจน) ไส้ออกมาเที่ยว (หาของกิน) อยู่ตามพื้นดิน

(ก็ตามที) และได้เปล่งอุทานนี้ว่า

* มูลที่เกิดข้าวปายาสนั้น หมายถึงการเปล่งวาจาของท่านเอง บอกพระมหาโมคคัลลานะว่า

เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เวลาท่านอาพาธอย่างนี้ โยมหญิงเคยหุงข้าวปายาส ด้วยน้ำนมไม่ปนน้ำ

ปรุงด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ให้รับประทานจึงหาย ดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าว

กะพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อหายเจ็บแล้วว่า ข้าวปายาสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยวจีวิญญัติ เป็นของ

ไม่ควรจะบริโภค

มหาฎีกาไขความต่อไปว่า ความจริง เมื่อท่านเล่าความที่เคยเป็นมาให้พระมหาโมคคัลลานะ

ทราบนั้นจะได้เกิดจิตคิดมุ่งให้เป็นนิมิตโอภาสอันใดก็หามิได้ แต่ว่าที่ท่านปฏิเสธข้าวปายาสเสียนั้น

ด้วยเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือเห็นว่า คนปุถุชนลางพวกที่ไม่รู้อัชฌาสัยของท่าน

อาจสำคัญผิดไปเช่นนั้นได้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพื่อนพรหมจารีในกาลภายหน้า อาจ

ถือ

เป็นเยี่ยงอย่างว่าท่านเคยประพฤติอย่างนั้น ก็จะประพฤติตามบ้าง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 87

"ถ้าเราพึงเป็นผู้บริโภคข้าวมธุปายาส ที่

เกิดขึ้นเพราะเผยวาจาเป็นวจีวิญญัติไซร้

อาชีวะของเราก็จะพึงถูกติเตียน แม้ ว่า

ขนดไส้ของเรา จะพึงออกไปเที่ยวอยู่ข้าง

นอก เราก็ไม่พึงทำลายอาชีวะเป็นเด็ดขาด

แม้ต้องสละชีวิต (ก็ตาม) เราคุมจิตของ

ตนได้ เราเว้นการแสวงหาไม่ควร ไม่ทำ

อเนสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเกลียดเลย"* ดังนี้.

* ในคาถานี้มีเรื่องที่น่าจะพูดกันอยู่หลายข้อดังนี้

ก. ในบท สาชีโว มหาฎีกาท่านตัดเป็น ส - อาชีโว และแก้ว่า ส ได้แก่ อสฺส

(พึงเป็น) ลบ อ เสีย เช่นในคำว่า เอวํส เต เป็นต้น

ข. คำว่า ไส้ ในประโยคเราใช้ อนฺต ในคาถาใช้ อนฺตคุณ ถ้าจะแปลไปตามที่ซึมซาบ

ว่า "ไส้ใหญ่" ที แล้วก็ "ไส้น้อย" ที ก็ดูเป็นพูดไม่คิดเสียเลย คนเดียวพูดความอย่างเดียว

จะพูดอย่างนั้นกระไรได้ มหาฎีกาท่านคงเห็นอย่างนี้ จึงแก้ อนฺตคุณํ เป็น อนฺตโภโค (ขนดไส้)

ซึ่งก็บ่งความว่าทั้ง ๒ ศัพท์มีความหมายว่า "ไส้" ก็แล้วกัน อย่าไปแยกเป็นไส้ใหญ่ไส้น้อยแลย

ค. คำว่า "ไส้ อก" นั่นเป็นสำนวนอย่างหนึ่ง มหาฏีกาแก้รัว ๆ อย่างไรอยู่ดูจะเป็น

ว่า คนที่กินของไม่ควรเข้าไปนั่นแหละ เขาเรียกว่าคนไส้ออก (มาเที่ยวหากินของอันไม่ควร)

ข้างนอก (?) ทางความเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง "หิวเหลือเกิน" ครั้งใดครั้งหนึ่งคนจะเข้าใจว่า

ความอิ่ม ความหิว เป็นเรื่องขอองไส้ ถ้าหิวจัด ๆ คนไม่กินอะไรเข้าไป ไส้มันจะออกมาหากิน

ของมันเอง เพราะมันทนความหิวไม่ไหว เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเป็นสำนวนสั้น ๆ ก็ว่า "หิวจนไส้

ออก" ชอบกล ที่มาคล้ายคลึงกับสำนวนไทยที่ว่า "หิวไส้แทบขาด" อดจนไส้กิ่ว - ไส้แห้ง"

ต่างกันตรงที่ว่าไส้ไทยยอมหิวอยู่แต่ในท้อง แม้กระทั่งแห้งกิ่วแทบขาดก็ตาม ส่วนไส้ชาวฃมพูทวีป

ไม่ยอมอดอยู่ในท้อง ถ้าหิวเต็มที่ เป็นออกมาหากินข้างนอก !

ฆ. อาราเธมิ มหาฎีกาท่านแก้เป็น วเส วตฺเตมิ จึงถือเอานัยแปลว่า คุม.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 88

คุมพวิหาร ก็ควรเล่าไว้ในที่นี้*

นักพรตผู้บวชด้วยศรัทธา มีปัญญาพิจารณา

เห็นผลโดยประจักษ์ ไม่ให้แม้แต่ความคิด

ในการแสวงหาไม่ควรด้วยประการทั้งปวง

เกิดขึ้น พึงทำอาชีวะให้หมดจดได้

ด้วยประการฉะนี้แล.

เหมือนอย่างว่า อาชีวปาริสุทธิ อันภิกษุพึงให้ถึงพร้อมด้วย

ความเพียร ฉันใด ปัจจัยสันนิสิตศีลก็พึงให้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ฉันนั้น

เพราะปัจจัยสันนิสิตศีลนั้น เป็นปัญญาสาธนะ (มีปัญญาเป็นเหตุให้

สำเร็จ) เหตุว่าบุคคลผู้มีปัญญาเป็นผู้สามารถเห็นโทษและอานิสงส์

ในการบริโภคปัจจัยทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ปัจจยสันนิสิตศีลนั้น

ภิกษุผู้ละความกำหนัดในปัจจัยแล้ว พิจารณาด้วยปัญญาโดยวิธีตามที่

กล่าวแล้ว จึงบริโภคปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยธรรมโดยสมควร (นั่นแหละ)

พึงทำให้ถึงพร้อมได้.

ในปัจจยสันนิสิตศีลนั้น การพิจารณามี ๒ คือ พิจารณาในเวลา

ได้ปัจจัยทั้งหลาย ๑ พิจารณาในเวลาบริโภคปัจจัยทั้งหลาย ๑ ที่จริง

* มหาฎีกาได้เรื่องมาเล่าไว้ว่า คราวหนึ่งเกิดทุพภิกขภัย พระเถระองค์นี้เดินทางไปอดอาหาร

ประกอบกับเมื่อยล้าในการเดินทาง เลยหมดแรง ลงนอนใต้ต้นมะม่วง ซึ่งกำลังมีผล ผลมะม่ว

สุกหล่นอยู่เกลื่อน (ก็ไม่หยิบฉัน) มีอุบาสกผู้เฒ่าคนหนึ่งมาพบเข้าทำอัมพบาน (น้ำมะม่วงคั้น)

ถวายให้ดื่ม แล้วยกขึ้นหลังไปส่งถึงที่อยู่ ระหว่างทางเถระสอนต้นตัวว่า 'ท่านผู้เฒ่านี้ ไม่ใช ่

พ่อไม่ใช่แม่ของเจ้า ไม่ใช่ญาติไม่ใช่เผ่าพันธุ์ ของเจ้าทั้งนั้น ท่านทำกิจถึงเช่นนี้ให้เจ้าก็เพราะเหตุ

ที่เจ้าเป็นผู้มีศีลเท่านั้นดอก' แล้วเจริญวิปัสสนาจนได้พระอรหัตผลตามทาง ทั้งที่อยู่บนหลังอุบาสกก

ผู้เฒ่านั่นเอง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 89

การบริโภคของภิกษุผู้บริโภคปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ที่พิจารณา

โดยเป็นธาตุ หรือโดยเป็นปฏิกูล แม้ในเวลาได้มาแล้วเก็บไว้ ต่อ

จากเวลาได้นั้นไป ก็หาโทษมิได้เลย แม้ในเวลาบริโภค๑

(ต่อไป) นี้เป็นวินิจฉัยที่ทำความตกลง (ไม่มีสงสัย) ในการ

พิจารณาเวลาบริโภคปัจจัยนั้น

ก็การบริโภค มี ๔ คือ

ไถยบริโภค (บริโภคอย่างขโมย)

อิณบริโภค (บริโภคอย่างเป็นหนี้)

ทายัชชบนิโภค (บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก)

สามีบริโภค (บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ)

ในบริโภค ๔ อย่างนั้น การบริโภคของภิกษุทุศีล ผู้นั่งบริโภค

อยู่แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ชื่อว่าไถยบริโภค การบริโภคปัจจัยอันตน

มิได้พิจาณา ของภิกษุผู้มีศีล ชื่อว่าอิณบริโภค๒ เพราะเหตุนั้น

๑. ในมหาฎีกาแสดงอุปมาว่า อธิฏฺฐหิตฺวา ฐปิตปตฺตจีวรานํ วิย (เหมือนการบริโภคบาตรและ

จีวรที่อธิษฐานแล้วเก็บไว้ฉะนั้น).

๒. มหาฎีกาขยายความ ไถยบริโภค และ อิณบริโภค ไว้ว่า อันปัจจัยทั้งหลายนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ เพื่อภิกษุผู้ศีลในศาสนาของพระองค์หาใช่ทรงอนุญาตเพื่อ

คนทุศีลไม่ ฝ่ายทายกเล่า เขาบริจาคปัจจัย ก็เพื่อท่านผู้มีศีลเหมือนกัน หาใช่บริจาคเพื่อคน

ทุศีลด้วยไม่ ทั้งนี้ เพราะเขาหวังให้การกุศลของเขามีผลมาก ก็เพราะพีะศาสดามิได้ทรงอนุญาต

ทายกก็มิได้บริจาคให้ ดังนี้ การบริโภคของภิกษุทุศีล จึงเป็นบริโภคโดยกิริยาแห่งขโมย คือ

บริโภคของที่เขาไม่ให้ เรียกว่า ไถยบรโภค

ส่วนภิกษุมีศีล แต่บริโภคปัจจัยมิได้พิจารณานั้น ทำให้ทักขิณาขาดความถึงพร้อมไป

ไม่เป็นอุภโตวิสุทธิ เพราะไม่วิสุทธิฝ่ายปฏิคาหก กรบริโภคของเธอจึงเป็นเหมือนหนี้เขา

บริโภค หมายความว่า เป็นหนี้ทักขิณาวิสุทธินั่นเอง เรียกว่า อิณบริโภค.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 90

จีวร ภิกษุพึงพิจารณาทุกคราวที่บริโภค บิณฑบาต พึงพิจารณา

ทุกคำกลืน เมื่อไม่อาจอย่างนั้น พึงพิจารณาในกาลก่อนฉัน ภาย

หลังฉัน ในยามต้น ยามกลาง ยามสุดท้าย (เวลาใดเวลาหนึ่ง)

ถ้าเมื่อภิกษุนั้นไม่พิจารณาเสียเลยจนอรุณขึ้น เธอย่อมตั้งอยู่ในฐาน

อิณบริโภค แม้เสนาสนะเล่าก็พึงพิจารณาทุกคราวที่ใช้สอย ความ

มีสติกำกับ ทั้งในขณะรับ ทั้งในขณะบริโภคเภสัช ย่อมควร แม้

เช่นนั้น เมื่อภิกษุทำสติในเวลารับแล้ว ไม่ได้ทำในเวลาบริโภคเท่านั้น

เป็นอาบัติ แต่ไม่ได้ทำสติในเวลารับ ไปทำในเวลาบริโภค หาเป็น

อาบัติไม่

ก็สุทธิมี ๔ อย่าง คือ

เทสนาสุทธิ (หมดจดด้วยการแสดง)

สังวรสุทธิ (หมดจดด้วยสังวร)

ปริเยฏฐิสุทธิ (หมดจดด้วยการแสวงหา)

ปัจจเวกขณสุทธิ (หมดจดด้วยการพิจารณา)

ในสุทธิ ๔ อย่างนั้น ปาฏิโมกขสังวรศีล ชื่อเทสนาสุทธิ เหตุ

่ว่าปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น ท่านเรียกว่าเทสนาสุทธิ เพราะหมดจด

ด้วยการแสดง อินทรียสังวรศีล ชื่อว่าสังวรสุทธิ เหตุว่าอินทรีย-

สังวรศีลนั้น ท่านเรียกว่าสังวรสุทธิ เพราะหมดจดด้วยสังวร โดย

ตั้งใจว่า "เราจักไม่ทำอย่างนี้อีก" อาชีวปาริสุทธิศีล ชื่อว่าปริเยฏฐิ-

สุทธิ เหตุว่าอาชีวปาริสุทธิศีลนั้น ท่านเรียกว่าปริเยฏฐิสุทธิ เพราะ

หมดจดด้วยการแสวงหา แห่งภิกษุผู้ละอเนสนา ยังปัจจัยให้เกิดขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 91

โดยธรรมโดยชอบอยู่ ปัจจยบริโภคสันนิสิตศีล ชื่อปัจจเวกขณสุทธิ

เหตุว่าปัจจยบริโภคสันนิสิตศีลนั้น ท่านเรียกว่าปัจจเวกขณสุทธิ

เพราะหมดจดด้วยการพิจารณามีประการดังกล่าวแล้ว เหตุนั้นข้าพเจ้า

จึงกล่าวว่า "แต่ไม่ได้ทำสติในเวลารับ ไปทำในเวลาบริโภค หาเป็น

อาบัติไม่ " ดังนี้.

การบริโภคปัจจัยของพระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าทายัชชบริโภค

เพราะว่าพระเสขะ ๗ จำพวกนั้น นับว่าเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เหตุนั้นท่านจึงเป็นทายาทแห่งปัจจัยทั้งหลาย อันเป็นสมบัติของพระบิดา

บริโภคปัจจัยเหล่านั้น ถามว่า "ก็ท่านเหล่านั้นบริโภคปัจจัยของพระผู้

มีพระภาคเจ้าหรือ หรือว่าบริโภคปัจจัยของพวกคฤหัสถ์ ? " แก้ว่า

"ปัจจัยทั้งหลายแม้เป็นของคฤหัสถ์ถวาย แต่ก็นับเป็นของพระผู้มีพระ

ภาคเจ้าได้ เพราะเป็นของที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต เหตุนั้น

พระเสขะทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านบริโภคปัจจัยของพระผู้มีพระ

ภาคเจ้า" จริงอยู่ ธรรมทายาทสูตรเป็นเครื่องสาธกในความข้อนี้ การ

บริโภคของพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าสามีบริโภค เหตุว่าพระ-

ขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเจ้าของบริโภค เพราะล่วงความเป็นทาส

แห่งตัณหาเสียแล้ว.

ในบริโภคเหล่านี้ สามีบริโภค ๑ ทายัชชบริโภค ๑ ย่อมควร

แก่บรรพชิตทุกจำพวก ส่วนอิณบริโภค ย่อมไม่ควร (แก่บรรพชิต

ทั้งปวง) ในไถยบริโภค ไม่มีคำจะพูดถึงเสียเลย ก็การบริโภคปัจจัย

ที่ตนพิจารณาแล้วของภิกษุผู้มีศีลนั้นอันใด การบริโภคอันนั้น ชื่อว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 92

เป็นการบริโภคโดยความไม่มีหนี้ เพราะความเป็นข้าศึกต่ออิณบริโภค

ก็ได้ หรือจะสงเคราะห์เข้าในทายัชชบริโภคก็ได้เหมือนกัน เพราะ

แม้คนผู้มีศีลก็เรียกว่าเสขะได้ เหตุประกอบพร้อมด้วยสิกขา (คือศีล)

นี้ ก็แลในบริโภคเหล่านี้ เพราะเหตุที่สามีบริโภคเป็นเลิศ เหตุนั้น

ปัจจยสันนิสิตศีล ภิกษุเมื่อปรารถนาสามีบริโภคนั้น พิจารณาด้วย

ปัจจเวกขณะมีประการดังกล่าวแล้วบริโภคอยู่ (นั้นแล) พึงทำให้ถึง

พร้อมได้.

อันภิกษุผู้ทำอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นกิจจการี จริงอยู่ แม้คำนี้

ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า

"สาวกผู้มีปัญญาดี๑ ได้ฟังธรรมอันพระสุคตเจ้า

ทรงแสดงแล้ว พึงพิจารณาก่อนแล้วจึงเสพ

ก้อนข้าว ที่อยู่ และที่นอน ที่นั่ง น้ำสำหรับซัก

ฟอกธุลีในผ้าสังฆาฏิ๒ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุ

จึงเป็นผู้ไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ คือในก้อนข้าว

ในที่นอน ที่นั่ง และในน้ำสำหรับซักฟองธุลีในผ้า

๑. วรปญฺญสาวโก มหาฎีกาแนะให้แปลว่า สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงมีปัญญาอัน

ประเสริฐ เห็นไม่จำเป็นจะแปลเช่นนั้น.

๒. อาปญฺจ สงฺฆาฏิรชูปวาหนํ ในมหาฎีกาแก้ไว้ว่า อาปนฺติ อุทกํ สงฺฆาฏิรชูปวาหนนฺติ

ปํสุมลาทิโน สงฺฆาฏิคตรชสฺส โธวนํ น่าคิดว่า น้ำสำหรับสุผ้า นับเข้าในปัจจัยข้อไหน จึงจะต้อง

พิจารณาก่อนเสพ และไฉนจึงไม่ให้พิจารณาตัวผ้า กลับให้พิจารณาเครื่องสุเครื่องซักเล่า

มหาฎีกาจารย์ก็คงรู้สึกอย่างนี้ ท่านจึงกล่าวในตอนแก้บท สงฺขาย ว่า ก็คือพิจารณาปัจจัย ๔

นั่นเอง บท ปิณฺฑํ ได้แก่บิณฑบาต วิหารํ กับ สยนาสนํ ได้แก่เสนาสนะ อาปํ ได้แก่คิลานปัจจัย

สงฺฆาฏิ ก็หมายถึงจีวรนั่นเอง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 93

สังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัวฉะนั้น๑

เธอได้อาหาร โดยการอนุเคราะห์แด่ชนอื่นตามกาล

แล้ว พึงตั้ง (สติ) มั่นเนืองนิตย์ รู้ประมาณ

ในของเคี้ยว ในของฉัน และในของลิ้มทั้งหลาย

เหมือน (คนเป็นแผล) รู้ประมาณในการพอกยา

รักษาแผล ฉะนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สยบ ฉัน

อาหารแต่พอยังร่างกายให้เป็นไปได้ เหมือน

(ภริยาสามี) กินเนื้อบุตรในทางกันดาร (เพื่อ

ให้รอดตายผ่านทางกันดารไปได้เท่านั้น) เหมือน

(พ่อค้าเกวียน) หยอดน้ำมันเพลา (เกวียน เพื่อ

ให้เกวียนไปถึงที่หมายได้เท่านั้น) ฉะนั้น" ดังนี้.

ก็ในความเป็นผู้ทำปัจจยสันนิสิตศีลนี้ให้บริบูรณ์ ควรเล่าเรื่อง

สังฆรักขิตสามเณรผู้หลาน๒ (เป็นอุทาหรณ์) เพราะสามเณรนั้น

พิจารณาโดยชอบแล้วจึงบริโภค ดังเธอกล่าว (ประวัติของตน) ไว้ว่า

"พระอุปัชฌายะกล่าวกะข้าพเจ้าผู้กำลังบริโภค

ข้าวสาลีอันเย็นสนิทว่า 'แน่ะสามเณร เจ้าอย่า

เป็นผู้ไม่สำรวม เผาลิ้น (ตัวเอง) เลย' ข้าพเจ้า

ฟังคำของพระอุปัชฌายะแล้ว ได้ความสังเวชใน

๑. ขุ. สุ. ๒๕/๔๐๒.

๒. เพราะสามเณรองค์นี้ มีชื่อย่างเดียวกับพระสังฆรักขิตเถระผู้เป็นลุง เมื่อพูดถึงเธอจึงต้องเติม

คำ ภาคิเนยฺย (ผู้หลาน) ประกอบไว้ด้วย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 94

กาลนั้น ข้าพเจ้านั่ง ณ อาสนะอันเดียว ได้บรรลุ

พระอรหัต ข้าพเจ้านั้นมีความดำริเต็มเปี่ยมแล้ว

เหมือนดวงจันทร์ในวัน (ขึ้น) ๑๕ (ค่ำ) ฉะนั้น

เป็นผู้มีอาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี"

ดังนี้ เหตุนั้น แม้กุลบุตรอื่น เมื่อปรารถนาความ

สิ้นทุกข์ พึงพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงเสพ

ปัจจัยทั้งหลาย เทอญ.

ศีลเป็น ๔ อย่าง โดยจัดเป็นปาริสุทธิศีล มีปาฏิโมกขสังวรศีล

เป็นต้น พึงทราบด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.

[ ปัญจกศีล ( ศีลหมวด ๕ ) ที่ ๑ ]

อรรถาธิบายในปัญจกะที่ ๑ แห่งศีลส่วนที่เป็น ๕ อย่าง บัณฑิต

พึงทราบโดยเป็นศีลของอนุปสัมบันเป็นต้น จริงอยู่ คำต่อไปนี้พระ

ธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทาว่า ปริยันตปาริ-

สุทธิศีลเป็นไฉน ? ศีลของอนุปสัมบันทั้งหลายผู้มีสิกขาบทมีที่สุด นี้

ชื่อว่า ปริยันตปาริสุทธิศีล อปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ? ศีลของ

อุปสัมบันทั้งหลายผู้มีสิกขาบทหามิได้ นี้ชื่อว่า อปริยันตปาริสุทธิ-

ศีล ปริปุณณปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ? ศีลของกัลยาณปุถุชนผู้ประกอบ

ในกุศลธรรม กระทำให้บริบูรณ์จนจดชายแดนพระเสขะ ไม่ไยดีใน

ร่างกายและชีวิต ยอมสละชีวิตได้ นี้ชื่อว่า ปริปุณณปาริสุทธิศีล

อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ? ศีลของพระเสขะ ๗ จำพวก นี้ชื่อว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 95

อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีลเป็นไฉน ? ศีลของ

พระขีณาสพทั้งหลาย ผู้สาวกของพระตถาคต ศีลของพระปัจเจกพุทธ

ทั้งหลาย ศีลของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่า

ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล (ศีลอันมีความบริสุทธิ์ด้วยความระงับไปแห่ง

กิเลส)

ในศีลเหล่านั้น ศีลของอนุปสัมบัน พึงทราบว่าเป็นปริยันต-

ปาริสุทธิศีล เพราะมีที่สุด (แห่งจำนวน) ด้วยอำนาจแห่งการนับศีล

ของอุปสัมบันทั้งหลาย แม้เป็นศีลมีที่สุด ด้วยอำนาจแห่งการนับ (ดัง

ท่านผูกเป็นคาถาไว้) ว่า

"สิกขาบททั้งหลายที่เป็นเครื่องสังวร และเป็น

วินัยเหล่านี้มี (จำนวนนับได้ถึง) เก้าพันโกฏิข้อ

กับแปดสิบร้อยโกฏิข้อ กับอีกห้าสิบแสนข้อ และ

อื่น ๆ อีกสามสิบหกข้อ (รวมเป็นหนึ่งหมื่นเจ็ด

พันโกฏิห้าล้านสามสิบหกข้อ) อันพระสัมพุทธ-

เจ้าทรงประกาศแล้ว (แต่) ในคัมภีร์วินัยท่าน

นิเทศไว้โดยมุข คือ เปยยาล"

ดังนี้ก็ดี (แต่) บัณฑิตก็พึงทราบว่าเป็นอปริยันตปาริสุทธิศีล เพราะ

มุ่งเอาภาวะคือการสมาทานโดยเป็นอนวเสสสีล (ศีลไม่มีส่วนเหลือ)

และความเป็นศีลมิใช่ศีลมีความเห็นแก่ลาภ ยศ ญาติ อวัยวะ และ

* ขุ ป. ๓ /๖๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 96

ชีวิตเป็นที่สุด เหมือนศีลของพระมหาติสสเถระผู้ฉันมะม่วง ซึ่งพำนัก

อยู่ที่จีวรคุมพพวิหารฉะนั้น จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุนั้นไม่ละอยู่ซึ่ง

สัปปุริสานุสสติ (ความตามระลึกถึงสัตบุรุษ) นี้ว่า

"นรชนพึงสละทรัพย์ เพราะเหตุแห่งอวัยวะอัน

ประเสริฐกว่า เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะเสีย

เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้

ทั้งชีวิตเสียทั้งหมด"

ดังนี้ แม้เมื่อความสงสัยในชีวิตมีอยู่ ก็ไม่ล่วงสิกขาบท อาศัยอปริยันต-

ปาริสุทธิศีลนั้นแล อยู่บนหลังของอุบาสกนั่นเอง ได้บรรลุพระอรหัต

ดังท่านกล่าว (ประวัติ) ไว้ว่า

(พระมหาเถระให้โอวาทตนว่า) "อุบาสกนี้มิใช่บิดา

ทั้งไม่ใชม่ ารดา ไม่ใช่ญาติ ทั้งไม่ใช่เผ่าพันธ์ขุ อง

เจ้า เขาทำกิจเช่นนี้ให้ ก็เพราะเหตุแห่งเจ้าเป็นผู้

มีศีล" (ดังนี้แล้ว) ยังความสังเวชให้เกิดแล้ว

พิจารณา (สังขาร) โดยแยบคาย ทั้งที่อยู่บน

หลังขอลอุบาสกนั้น ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว" ดังนี้.

ศีลของกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย อันเว้นจากมลทิน แม้มาตรว่า

ความเกิดขึ้นแห่งจิต (คิดจะล่วง) เพราะเป็นศีลที่บริสุทธิ์ยิ่ง เหมือน

แก้วมณีแท้อันนายช่างเจียระไนดีแล้ว และเหมือนทองคำที่นายช่างทำ

บริกรรมดีแล้ว ตั้งแต่กาลที่อุปสมบทมา ย่อมเป็นปทัฏฐานแห่งพระ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 97

อรหัตโดยแท้ เหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่าปริปุณณปาริสุทธิศีล เหมือน

ศีลของพระมหาสังฆรักขิตเถระและพระภาคิเนยยสังฆรักขิตเถระฉะนั้น.

[ เรื่องพระมหาสังฆรักขิต ]

ได้ยินว่า พระภิกษุสงฆ์เรียนถามถึงการบรรลุโลกุตรธรรมกะ

พระมหาสังฆรักขิตเถระผู้มีพรรษา ๖๐ ล่วงแล้ว นอนอยู่บนเตียงเป็นที่

มรณะ พระเถระบอกว่า "โลกุตรธรรมของเราไม่มี" ครั้งนั้นภิกษุ

หนุ่มผู้อุปัฏฐากท่านเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ คนทั้งหลายอยู่ในที่ประมาณ

๑๒ โยชน์โดยรอบ ประชุมกันด้วยคิดว่า 'พระคุณเจ้าปรินิพพาน'

ดังนี้ ความร้อนใจในภายหลังจะต้องมีแก่มหาชน เพราะการมรณภาพ

อย่างปุถุชนแห่งพระคุณเจ้า" พระเถระกล่าวว่า "อาวุโส เราไม่

เริ่มตั้งวิปัสสนา เพราะปรารถนาว่า 'จัก (รอ) พบพระผู้มีพระภาค

เมตเตยยะดอก' ถ้ากระนั้น เธอจงช่วยเราให้นั่งแล้วทำโอกาส (แก่

เรา)" ภิกษุหนุ่มนั้นช่วยพระเถระให้นั่งแล้วออกไปข้างนอก พระเถระ

ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับการออกไปแห่งภิกษุนั้นนั่นเอง จึงให้สัญญา

ด้วยการดีดนิ้วมือ พระสงฆ์มาประชุมกันแล้ว กราบเรียนว่า "ท่าน

ผู้เจริญ พระคุณเจ้ายังโลกุตรธรรมให้เกิด ในเวลาจวนมรณภาพ

เห็นปานนี้ ชื่อว่าได้กระทำกิจที่บุคคลทำได้ยาก" พระเถระกล่าวว่า

"อาวุโสทั้งหลาย นี่มิใช่กิจทำได้ยาก เออก็เราจักบอกกิจที่ทำยากแก่ท่าน

ทั้หลาย (คือ) อาวุโสทั้งหลาย เราระลึกถึงกรรมที่ได้กระทำด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 98

ความไม่รู้ ด้วยไม่มีสติ ตั้งแต่กาลที่เราบวชแล้ว ไม่ได้เลย"*

แม้หลานของท่าน ก็ได้บรรลุพระอรหัตโดยทำนองนี้เหมือนกัน

ในกาลมีพรรษาได้ ๕๐ แล.

บุคคลใด ถ้าแม้เป็นคนสดับน้อย ทั้งไม่มั่นคง

ในศีลทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายย่อมติบุคคลนั้น

ทั้ง ๒ ทาง คือทั้งทางศีลและทางสุตะ

บุคคลใด ถ้าแม้เป็นคนสดับน้อย แต่เป็นผู้

มั่นคงในศีลทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลาย ย่อม

สรรเสริญบุคคลนั้นทางศีล (แต่) สุตะของเขา

ใช้ไม่ได้

บุคคลใด ถ้าแม้เป็นคนสดับมาก แต่ไม่มั่นคง

ในศีลทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมติบุคคลนั้น

ทั้งทางศีล (แต่) สุตะของเขาใช้ได้

บุคคลใด ถ้าแม้เป็นคนสดับมาก ทั้งมั่นคงใน

ศีลทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคล

นั้นทั้ง ๒ ทาง คือทั้งทางศีลและทางสุตะ

ใครจะควรติบุคคลผู้เป็นพุทธสาวก ได้สดับ

มาก ทรงธรรม มีปัญญา ราวกะแท่งทองชมพูนุท

* น่าคิดว่า การที่ท่านได้อาศัยพระพุทธเจ้าองค์นี้ปฏิบัติธรรมมาจวนจะถึงอาสวักขัยอยู่รอมร่อ

แล้ว ยังปรารถนาจะรอไปพบพระเมตไตรยอยู่อีกนั้น ท่านได้กระทำไปด้วยความไม่รู้ และด้วย

ความไม่มีสติหรือเปล่า ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 99

นั้นเล่า แม้เหล่าเทวดาก็ย่อมชม ถึงพรหมก็

สรรเสริญแล๑.

ส่วนศีลของพระเสขะทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นอปรามัฏฐ-

ปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลไม่ถูกแตะต้องด้วยอำนาจทิฏฐิ อีกอย่างหนึ่ง

ศีลที่ไม่ถูกแตะต้องด้วยอำนาจราคะ๒ ของปุถุชนทั้งหลายก็พึงทราบว่า

เป็นอปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เหมือนศีลของพระติสสเถระผู้บุตรของ

กุฎุมพีฉะนั้น ท่านองค์นั้นประสงค์จะอาศัยศีลเห็นปานนั้น แล้วตั้งอยู่

ในพระอรหัต จึงกล่าวกะพวกไพรีทั้งหลายว่า

"เราทำลายขาทั้งสองข้าง ทำสัญญาแก่ท่าน

ทั้งหลาย เราเกลียดอายความตายอย่างคนมีราคะ

เราคิดอย่างนี้แล้ว จึงพิจารณา (สังขาร) โดย

แยบคาย ก็ได้บรรลุพระอรหัตเมื่ออรุณขึ้นพอดี๓"

๑. องฺ. จตุกฺก. ๒/๑๙.

๒. ภววเสน แต่ฉบับพม่าเป็น ราควเสน ในมหาฎีกาหน้า ๑๑๔ ข้อ ๕๙ ก็อย่างนั้น คำของ

พระติสสเถระในคาถาก็มี สราคมรณํ พิจารณาความก็น่าจะเป็นอย่างนั้นด้วย จึงตกลงแก้เป็น

ราควเสน.

๓. เรื่องพระติสสเถระนี้ พบเล่าไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า ท่านละสมบัติออกบวชแล้ว

ไปอยู่ในป่า น้องสะใภ้จ้างพวกโจรให้ไปปลงชีวิตท่าน พวกโจรไปล้อมท่านไว้ ท่านถามทราบว่า

เขาจะมาปลงชีวิตท่าน ท่านจึงพูดขอชีวิตไว้สักคืนหนึ่ง โดยมีประกันว่าไม่หนี พวกโจรท้วงว่า

อยู่ในป่าเช่นนี้ จะไปหาประกันได้ที่ไหน พระเถระจึงคว้าเอาก้อนหินขนาดเขื่องก้อนหนึ่งใกล้ ๆ นั้น

ทุบขาตัวเองจนกระดูกขาแตกทั้ง ๒ ข้าง แล้วถามพวกโจรว่า "พอใจหรือยังล่ะ ประกันอย่างนี้"

พวกโจรเห็นเช่นนั้นก็ยอมทุเลาให้ท่าน พากันไปก่อไฟพักนอนอยู่ทางต้นที่จงกรม พระเถระ

ข่ม

ทุกขเวทนา พิจารณาดูศีลของตน เห็นศีลบริสุทธิ์ดีก็เกิดปปีติปราโมทย์ เจริญวิปัสสนาต่อไป ทำ

สมณธรรมอยู่ตลอดคืน พออรุณขึ้นก็ได้บรรลุพระอรหัต จึงเปล่งอุทานคาถานั้นขึ้น

ปาฐะในคาถาต่างกันบ้าง คือ สญฺญมิสฺสามิ ในอรรถกถาสติปัฏฐานเป็น สญฺญาสฺสามิ

ส่วน สมฺมสิตฺวาน โยนิโส ในอรรถกถาสติปัฏฐานเป็น ยถาภูตํ วิปสฺสยึ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 100

[ เรื่องพระเถระองค์หนึ่ง ]

พระมหาเถระอีกองค์หนึ่ง อาพาธหนักจนไม่อาจจะบริโภคอาหาร

ด้วยมือของตนได้ นอนกลิ้งเกลือกอยู่ในมูตรและคูถของตน ภิกษุหนุ่ม

รูปใดรูปหนึ่งเห็นท่านแล้วกล่าวขึ้นว่า "โอ ชีวิตสังขารทั้งหลายเป็น

ทุกข์" พระมหาเถระกล่าวกะเธอนั้นว่า "อาวุโส เราตายลงในบัดนี้

จะได้สวรรคสมบัติ ความสงสัยเรื่องนี้ไม่มีแก่เรา แต่ชื่อว่าสมบัติ

ที่ต้องทำลายศีลนี้แล้วจึงได้ ก็เป็นเช่นกับความเป็นคฤหัสถ์ที่ภิกษุบอก

คืนสิกขาแล้วได้มาฉะนั้น" ดังนี้แล้วคิดว่า "เราต้องตายไปกับศีล

ให้ได้"* นอนอยู่นั้นนั่นเอง พิจารณาโรคนั้นแหละ (เป็น

อารมณ์) บรรลุพระอรหัตแล้วพยากรณ์ (พระอรหัต) แก่ภิกษุสงฆ์

ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

"เมื่อเราถูกพยาธิอย่างใดอย่างหนึ่งต้องเอาแล้ว

โรครันทำให้ลำบาก อาการทรุดหนัก กเลวระนี้

เหี่ยวแห้งลงโดยเร็ว เหมือนดอกไม้ที่เขาทิ้งไว้ที่

ฝุ่นกลางแดด พลันเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น กเลวระนี้

ไม่น่าพึงพอใจ คนพาลกลับนับเอาว่าเป็นของน่า

พึงพอใจ กเลวระนี้ไม่สะอาด คนพาลกลับว่า

* ตรงนี้มหาฎีกาท่านให้ความกระจ่างไว้ดีอย่างยิ่งว่า เมื่อจะตายกับศีลให้เด็ดขาดก็ต้องตายแล้ว

ไม่เกิดอีก ถ้ายังมีภพชาติไปเกิดใหม่ ศีลก็ขาดตอน คล้ายกับลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ไปฉะนั้น

เพราะฉะนั้น ต้องทำให้สิ้นภพสิ้นชาติเสียก่อนจะดับขันธ์ จึงจะได้ตายไปกับศีลนั้นเป็นเด็ดขาด

ไม่มีขาดตอน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 101

เอาว่าเป็นของสะอาด กเลวระนี้เต็มด้วยซากต่าง ๆ

แต่กลับ (ปรากฏ) เป็นรูปน่าพึงใจสำหรับคนผู้

ไม่เห็น (ตามเป็นจริง) ขอติกายอันอาดูรเน่าเหม็น

สกปรก มีอันจะต้องเจ็บอยู่เสมอนี้ ที่หมู่สัตว์ผู้

ประมาทหลงงมอยู่ ทำหนทางแห่งการเข้าถึงสุคติ

ให้เสื่อมเสียไป" ดังนี้.

ส่วนศีลของท่านผู้สิ้นกิเลสมีพระอรหันต์เป็นต้น พึงทราบว่าเป็น

ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลที่บริสุทธิ์ด้วยความระงับแห่ง

กิเลสเครื่องกระวนกระวายทั้งปวง ศีลเป็น ๕ อย่าง โดยจัดเป็นปาริสุทธิ-

ศีลมีปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น สาธุชนพึงทราบด้วยประการดังกล่าว

มาฉะนี้.

[ ปัญจกะที่ ๒ ]

ในปัญจกศีลที่ ๒ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความด้วยอำนาจคุณมีการ

ละเป็นต้น ซึ่งโทษทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นอาทิ จริงอยู่ พระธรรม-

เสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทาว่า "ศีล ๕ คือ การละ

ปาณาติบาตเป็นศีล ความงดเว้น (จากปาณาติบาต) ก็เป็นศีล เจตนา

(ละเว้นปาณาติบาต) ก็เป็นศีล ความสำรวม (จากปาณาติบาต)

ก็เป็นศีล ความไม่ละเมิด (ปาณาติบาต) ก็เป็นศีล

การละ ความงดเว้น เจตนา ความสำรวม ความไม่ละเมิด

อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 102

สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ (แต่ละอย่าง ๆ) เป็นศีล.

การละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ ละพยาบาทด้วยอพยาบาท (คือ

เมตตา) ละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ละอุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้ง-

ซ่าน (คือเอกัคคตา ?) ละวิกิจฉาด้วยธัมมววัฏฐาน (ความปลงใจ

ในธรรม) ละอวิชชาด้วยญาณ ละอรติด้วยปราโมทย์ ละนิวรณด้วย

ปฐมฌาน ละวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน ละปีติด้วยตติยฌาน ละสุข

และทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ละรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา

ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ละอากาสานัญจายตนสัญญา ด้วยวิญญา-

ณัญจายตนสมาบัติ ละวิญญาณัญจายตนสัญญา ด้วยอากิญจัญญายตน-

สมาบัติ ละอากิญจัญญายตนสัญญา ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ

ละนิจจสัญญา ด้วยอนิจจานุปัสสนา ละสุขสัญญา ด้วยทุกขานุปัสสนา

ละอัตตสัญญา ด้วยอนัตตานุปัสสนา ละนันทิ ด้วยนิพพิทานุปัสสนา

(อนุปัสสนาที่เป็นไปด้วยอาการหน่ายในสังขาร) ละราคะ ด้วยวิราคา-

นุปัสสนา (อนุปัสสนาที่เป็นไปด้วยอาการคลายกำหนัด) ละสมุทัย

ด้วยนิโรธานุปัสสนา (ดูสังขารด้านดับ) ละความไม่อยากพ้น ด้วย

มุญจิตุกามยตานุปัสสนา ละความถือเอาไว้ ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา

(อนุปัสสนาที่เป็นไปด้วยอาการสละสังขาร) ละฆนสัญญา (ความ

หมายว่าเป็นก้อน) ด้วยขยานุปัสสนา (ดูสังขารด้านสิ้นไป) ละความ

ประมวลเอาไว้ ด้วยวยานุปัสสนา (ดูสังขารด้านเสื่อม) ละธุวสัญญา

(ความหมายว่ายั่งยืน) ด้วยวิปริณามานุปัสสนา (ดูสังขารด้านแปร-

ปรวน) ละกิเลสอันเป็นนิมิต ด้วยอนิมิตตานุปัสสนา ละกิเลสอัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 103

เป็นที่ตั้ง ด้วยอัปปณิหิตานุปัสสนา ละอภินิเวส (ความปักใจมั่น๑)

ด้วยสุญญตานุปัสสนา๒ ละความปักใจมั่นในอันถือเอาว่าเป้นสาระ (ใน

สิ่งมิใช่สาระ๓) ด้วยอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา๔ (การเห็นแจ้งธรรมด้วย

อธิปัญญา) ละความปักใจมั่นด้วยอำนาจความงมงาย๕ ด้วยยถาภูตญาณ-

ทัสสนะ ละความปักใจมั่นด้วยอำนาจอาลัย ด้วยอาทีนวานุปัสสนา

ละความไม่พิจารณา (หาทางพ้น) ด้วยปฏิสังขานุปัสสนา ละความ

ปักใจมั่นด้วยอำนาจสังโยค ด้วยวิวัฏฏานุปัสสนา๖ ละกิเลสทั้งหลาย

อันมีที่ตั้งร่วมกันกับทิฏฐิ ด้วยโสดาปัตติมรรค๗ ละกิเลสอย่างหยาบ

ด้วยสกทาคามิมรรค ละกิเลสอย่างละเอียด ด้วยอนาคามิมรรค ละ

๑. อภินิเวส บทนี้ มหาฎีกาว่า ได้แก่อัตตานุทิฏฐิ.

๒. อนิมิตตานุปัสสนา อัปปณิหิตานุปัสสนา สุญญตานุปัสสนา ๓ นี้ ชื่อพ้องกับวิโมกข์ ๓ คือ

สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ เข้าใจว่าจะมีความหมายนัยเดียวกัน อนุปัสสนา

เป็นมรรค วิโมกข์ เป็นผล.

๓. อภินิเวส บทนี้ มหาฎีกาแก้เป็น วิปลาส.

๔. อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา คำนี้มีมาในสูตรที่ ๙๒ จตุกังคุตตร หน้า ๑๒๐ ปัณณาสกะ ๒

วรรค ๕ ว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ ผู้ได้อัชฌัตตังเจโตสมถะ แต่ไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา ก็มี

ผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้อัชฌัตตังเจโตสมถะก็มี ผู้ไม่ได้ทั้งสองอย่างก็มี ผู้ได้ทั้ง

สอง

อย่างก็มี.

๕. สัมโมหาภินิเวส มหาฎีกาว่า หมายเอาความปักใจเชื่อโดยความงมงาย เช่นว่า โลกนี้มีผู้สร้าง

และว่าบางท่านหมายเอาอุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ.

๖. มหาฎีกาว่า วิวัฏฏานุปัสสนานี้ ได้แก่สังขารุเบกขา และอนุโลมญาณ.

๗. การละทิฏฐิผิดเป็นกิจสำคัญแห่งโสดาปัตติมรรค แม้สังโยชน์ที่พระโสดาบันละได้ก็ขึ้นต้นด้วย

สักกายทิฏฐิ ตรงกันข้าม การประกอบด้วยทิฏฐิชอบ ที่ลงร่องกระแสแห่งพระนิพพาน เป็นเหตุให้

ได้นามว่าโสดาบัน ก็เป็นคุณสำคัญในความเป็นอริยบุคคลชั้นต้น จึงมีพระบาลีเรียกพระโสดาบันว่า

ทิฏฺฐิสมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 104

สรรพกิเลส ด้วยอรหัตมรรค๑ (แต่ละอย่าง ๆ) เป็นศีล, ความ

งดเว้น เจตนา ความสำรวม ความไม่ละเมิด (โทษและคุณ

เหล่านั้นแต่ละอย่าง) เป็นศีล, ศีลเห็นปานนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่

เดือดร้อนแห่งจิต เป็นไปเพื่อปราโมทย์ เป็นไปเพื่อปีติ เป็นไปเพื่อ

ปัสสัทธิ เป็นไปเพื่อโสมนัส เป็นไปเพื่อเสพให้ยิ่งขึ้น (ซึ่งสมาธิ) เป็น

ไปเพื่อธรรมอันเป็นเครื่องประดับ (แห่งสมาธิ) เป็นไปเพื่อธรรม

อันอุดหนุน (สมาธิ) เป็นไปเพื่อธรรมอันเป็นบริวาร (แห่งสมาธิ)

เป็นไปเพื่อความเต็มรอบ (แห่งสมาธิ) เป็นไปเพื่อความหน่ายโดย

ส่วนเดียว เพื่อสำรอกราคะ เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อ

ความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน"๒ ดังนี้.

ก็แลธรรมใน ๕ ประการมีปหานะเป็นต้นนี้ ชื่อว่าธรรมอะไร ๆ

ที่จะเรียกว่าปหานะย่อมไม่มี เว้นแต่ธรรมคือความไม่เกิดขึ้นแห่งโทษ

มีปาณาติบาตเป็นต้น มีประการดังกล่าวแล้วอย่างเดียว๓ แต่เพราะว่า

การละนั้น ๆ นับได้ว่าเป็นการเข้าไปรับไว้ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า ที่ว่ากิเลสอย่างหยาบ อย่างละเอียด ในที่นี้ เพราะเทียบกันในระหว่างกิเลส

ที่มรรคด้วยกันจะพึงละ ไม่ได้หมายความทั่วไป ส่วนสรรพกิเลสที่อรหัตมรรคพึงละนั้น ก็หมายถึง

กิเลสที่ยังเหลืออยู่เท่านั้น เพราะไม่จำต้องละกิเลสที่มรรคต้น ๆ ละไปแล้วซ้ำอีก.

๒. ขุ. ป. ๓๑/๖๗.

๓. มหาฎีกาแก้ไว้ว่า "ปชหนํ อนุปฺปาทนิโรโธ ปหานํ ความละไป คือ ความดับไปไม่เกิดขึ้นอีก

ชื่อว่า ปหานะ" อธิบายว่า ธรรมคือความไม่เกิดขึ้นอีกแห่งโทษนั้น ๆ อย่างเดียวเท่านั้น เป็น

ความหมายแห่งปหานะ แต่ที่ในปฏิสัมภิทาท่านนับปหานะเป็นศีลด้วยนั้น เพราะอรรถาธิบาย ดัง

ต่อไปนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 105

อาศัยแห่งกุศลธรรมนั้น ๆ นับว่าเป็นการรวมเอาไว้ เพราะทำ

ความไม่กระจัดกระจาย (แห่งกุศลธรรมนั้น ๆ) เพราะเหตุนั้น ท่าน

จึงเรียกว่าศีล เพราะอรรถว่าเป็นรากฐาน กล่าวคือเป็นการเข้าไปรับ

ไว้และรวมเอาไว้ ดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นนั่นแล ธรรม ๔ อย่างนอกนี้

ท่านกล่าวหมายเอาความเป็นไปเองแห่งใจ โดยเว้นจากโทษนั้น ๆ ด้วย

โดยสำรวมต่อโทษนั้น ๆ ด้วย โดยเจตนาสัมปยุตด้วยความเว้นและ

ความสำรวมทั้งสองนั้นด้วย โดยไม่ละเมิดแห่งบุคคลผู้ไม่ล่วงโทษนั้น ๆ

ด้วย* ส่วนอรรถว่าธรรม ๔ อย่างนั้นเป็นศีล ข้าพเจ้าแถลงไว้ข้างต้น

แล้วแล ศีลเป็น ๕ อย่าง โดยเป็นเป็นปัญจศีล มีปหานศีล เป็นต้น พึง

ทราบด้วยประการฉะนี้.

ก็แลการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ อะไรเป็นศีล ที่เรียกว่าศีล เพราะ

อรรถว่าอะไร อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส เป็นเครื่องปรากฏและเป็น

ปทัฏฐานของศีลนั้น ศีลมีอานิสงส์อย่างไร และศีลนั้นมีกี่อย่าง จบลง

เพียงนี้แล.

[ ความเศร้าหมองและผ่องแผ้วแห่งศีล ]

ส่วนปัญหากรรมข้อที่ว่า อะไรเป็นความเศร้าหมอง และอะไร

เป็นความผ่องแผ้วแห่งศีลนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวแก้ในปัญหากรรมนั้น

ต่อไป ความที่ศีลขาดเป็นต้น ความเศร้าหมองแห่งศีล ความที่

* หมายความว่า เมื่อปหานะเป็นไปแล้ว ธรรมอีก ๔ อย่าง คือ ความเว้น ความสำรวม เจตนา

และความไม่ล่วงโทษนั้น ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปเอง มหาฎีกาอธิบายว่า เอกฺกขเณปิ ลพฺภนฺติ

ธรรมเหล่านี้ย่อมมีในขณะ (จิต) เดียวกันก็ได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 106

ศีลไม่ขาดเป็นต้น เป็นความผ่องแผ้วแห่งศีล.

[ ความเศร้าหมองแห่งศีล ]

ก็แลความที่ศีลขาดเป็นต้นนั้น ท่านสงเคราะห์ด้วยความแตก

(แห่งศีล) ซึ่งมีลาภและยศเป็นต้นเป็นเหตุอย่าง ๑ ด้วยเมถุนสังโยค ๗

ประการอย่าง ๑

จริงอย่างนั้น สิกขาบทในส่วนเบื้องต้นหรือในส่วนเบื้องปลาย

ในกองอาบัติทั้ง ๗ ของภิกษุใด ทำลายแล้ว ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่า

เป็นศีลขาด เหมือนผ้าขาดที่ชายฉะนั้น ส่วนสิกขาบทของภิกษุใด

ทำลายในส่วนท่ามกลาง ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นศีลทะลุ เหมือนผ้า

เป็นช่องโหว่ตรงกลางผืนฉะนั้น สิกขาบทของภิกษุใดทำลายไปทีละ

๒ - ๓ สิกขาบทโดยลำดับ ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นศีลด่าง เหมือน

แม่โคตัวสีดำหรือแดงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสีตัดกับสีตัวผุดขึ้น

ที่หลังบ้าง ที่ท้องบ้างฉะนั้น สิกขาบทของภิกษุใดทำลายยิบยับไป

ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่าพร้อย เหมือนแม่โคตัวลายไปด้วยจุดสีที่ตัดกับ

สีตัวยิบยับไปฉะนั้น* ความที่ศีลขาดเป็นต้น ด้วยความแตก (แห่งศีล)

*เรื่อง ขาด ทะลุ ด่าง พร้อย ที่ท่านอธิบายนี้ ได้ความว่าขาดทั้งนั้น ต่างกันด้วยอาการที่

ขาดเท่านั้น พิจารณาดูศัพท์แล้วเห็นว่าน่าจะเป็นโทษลดหลั่นกัน คือมีเจตนาล่วงศีลจนถึงที่สุด

เป็นขาด มีเจตนาล่วงศีล แต่พยายามไม่สำเร็จ เช่น ฆ่าเขา แต่เขาไม่ตาย เป็นทะลุ มีเจตนา

ล่วงศีล ตั้งท่าจะพยายามแล้วงดเสีย เช่น เงื้อมมือจะประหารแล้วงดได้ เป็นด่าง ไม่มีเจตนาล่วงศีล

เป็นแต่เจตนาตลกคะนอง หรือไม่เอื้อเฟื้อสำรวม ทำ พูดอะไรเฉียดความล่วงศีล จะว่าไม่เป็น

ความเสียทีเดียวก็ว่าไม่ได้ นับเป็นความเสียนิดหน่อย นี้เป็นพร้อย หรือมิฉะนั้น ล่วงถึงปาราชิก

เป็นขาด ล่วงสังฆาทิเสส เป็นทะลุ ล่วงปาจิตตีย์ เป็นด่าง ล่วงทุกกฏ ทุพภาสิต เป็นพร้อย

ดังนี้จะเข้าใจง่ายขึ้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 107

ซึ่งมีลาภเป็นต้นเหตุ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ก่อน.

[ เมถุนสังโยค ๗ ]

(ส่วนความที่ศีลขาดเป็นต้น) ด้วยอำนาจแห่งเมถุนสังโยค ๗

พึงทราบดังต่อไปนี้ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ (ในเมถุน

สังโยคสูตรนั้น)ว่า

(๑) "ดูกรพราหมณ์ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ลางคนใน

โลกนี้ ปฏิญญา (ตนว่า) เป็นพรหมจารีจริง ๆ หาได้ร่วมประกอบ

กิริยาที่คนสองต่อสองจะพึงประกอบกันด้วยมาตุคามไม่เลย แต่ว่า

ยังยินดีการลูบไล้ การขัดสี การให้อาบน้ำ การนวดฟั้น แห่งมาตุคาม

เขายินดี ใคร่ใจ และถึงความปลื้มใจ ด้วยการบำเรอมีการลูบไล้

เป็นต้นนั้น ดูกรพราหมณ์ แม้ความยินดีการบำเรอแห่งมาตุคามนี้

นับเป็นความขาดก็ได้ ทะลุก็ได้ ด่างก็ได้ พร้อยก็ได้ แห่งพรหมจรรย์

ของสมณพราหมณ์นั้น ดูกรพราหมณ์ สมณพราหมณ์นี้เรากล่าวว่า

เขาประพฤติพรหมจรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ย่อม

ไม่พ้นจากชาติชรามรณะ ฯ ล ฯ เราบอกได้ว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจาก

ทุกข์ได้เลย.

(๒) ดูกรพราหมณ์ อีกข้อหนึ่ง สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี

ลางคนในโลกนี้ ปฏิญญา (ตนว่า) เป็นพรหมจารีจริง ๆ หาได้ร่วม

ประกอบกิริยาที่คนสองต่อสองจะพึงประกอบกันกับด้วยมาตุคามไม่เลย

ทั้งไม่ (ถึงกับ) ยินดีการลูบไล้ ฯ ล ฯ แห่งมาตุคาม แต่ว่ายังซิกซี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 108

เล่นหัวสัพยอกกับมาตุคามอยู่ เขายินดีด้วยการซิกซี้เป็นต้นนั้น ฯ ล ฯ

เราบอกได้ว่า เขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย.

(๓) ดูกรพราหมณ์ อีกข้อหนึ่ง สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี

ลางคนในโลกนี้ ฯ ล ฯ หาได้ร่วมประกอบกิริยาที่คนสองต่อสองจะพึง

ประกอบกันกับด้วยมาตุคามไม่เลย ทั้งไม่ (ถึงกับ) ยินดีการลูบไล้

ฯ ล ฯ แห่งมาตุคาม ทั้งไม่ (ถึงกับ) ซิกซี้ เล่นหัว สัพยอกกับ

มาตุคาม แต่ว่ายังเพ่ง ยังจ้องดูตามาตุคามด้วยตา (ของตน) เขา

ยินดีด้วยการเพ่งดูนั้น ฯ ล ฯ เราบอกได้ว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

ได้เลย.

(๔) ดูกรพราหมณ์ อีกข้อหนึ่ง สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี

ลางคนในโลกนี้ ฯ ล ฯ หาได้ร่วมประกอบกิริยาที่คนสองต่อสองจะพึง

ประกอบกันด้วยมาตุคามไม่เลย ทั้งไม่ (ถึงกับ) ยินดีการลูบไล้

ฯ ล ฯ แห่งมาตุคาม ทั้งไม่ (ถึงกับ) ดูตาแห่งมาตุคาม ฯ ล ฯ แต่ว่าฟังเสียงมาตุคาม

หัวเราะ

อยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝา หรือ

ข้างนอกกำแพงก็ตาม เขายินดีด้วยเสียงนั้น ฯ ล ฯ เราบอกได้ว่า เขา

ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย.

(๕) ดูกรพราหมณ์ อีกข้อหนึ่ง สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี

ลางคนในโลกนี้ ฯ ล ฯ หาได้ร่วมประกอบกิริยาที่คนสองต่อสองจะพึง

ประกอบกันด้วยมาตุคามไม่เลย ทั้งไม่ (ถึงกับ) ยินดีการลูบไล้

ฯ ล ฯ แห่งมาตุคาม ทั้งไม่ (ถึงกับ) ซิกซี้ ฯ ล ฯ กับมาตุคาม ทั้ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 109

ไม่ (ถึงกับ) จ้องดูตาแห่งมาตุคาม ฯ ล ฯ ทั้งไม่ (ถึงกับ) ฟังเสียง

แห่งมาตุคาม ฯ ล ฯ ร้องไห้อยู่ก็ดี ฯ ล ฯ แต่ว่ายังตามนึกถึงการที่

เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคาม ในกาลก่อน เขายินดีด้วยเรื่องเก่า

นั้น ฯ ล ฯ เราบอกได้ว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย.

(๖) ดูกรพราหมณ์ อีกข้อหนึ่ง สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี

ลางคนในโลกนี้ ฯ ล ฯ หาได้ร่วมประกอบกิริยาที่คนสองต่อสองจะพึง

ประกอบกันด้วยมาตุคามไม่เลย ฯ ล ฯ ทั้งไม่ (ถึงกับ) ตามนึกถึง

การที่เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน แต่ว่าเขาเห็น

คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี ผู้อิ่มเอิบพร้อมพรั่งด้วยกามคุณ ๕ บำเรอ

ตนอยู่ เขายินดีด้วยการบำเรอตนแห่งคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีนั้น

ฯ ล ฯ เราบอกได้ว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย.

(๗) ดูกรพราหมณ์ อีกข้อหนึ่ง สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี

ลางคนในโลกนี้ ฯ ล ฯ หาได้ร่วมประกอบกิริยาที่คนสองต่อสองจะพึง

ประกอบกันด้วยมาตุคามไม่เลย ฯ ล ฯ ทั้งไม่ (ถึงกับ) เห็นคฤหบดี

หรือบุตรคฤหบดี ฯ ล ฯ บำเรอตนอยู่ ฯ ล ฯ แต่ว่าประพฤติพรหมจรรย์

ปรารถนาเทวนิกายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ด้วยหวังว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้า

หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีลนี้ ด้วยตบะนี้ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้

ก็ดี เขายินดี ใคร่ใจ ถึงความปลื้มใจด้วยความเป็นเทวดานั้น ดูกร

พราหมณ์ แม้ความยินดีด้วยการเป็นเทวดานี้ นับเป็นขาดก็ได้ ทะลุ

ก็ได้ ด่างก็ได้ พร้อยก็ได้ แห่งพรหมจรรย์"* ฉะนี้.

* องฺ. สตฺตก. ๒๓/๕๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 110

ความที่ศีลเป็นศีลขาดเป็นต้น พึงทราบว่าท่านสงเคราะห์ด้วย

ความแตก (แห่งสิกขาบท) ซึ่งมีลาภเป็นต้นเหตุประการ ๑ ด้วย

เมถุนสังโยค ๗ ประการ ๑ ดังกล่าวมาฉะนี้.

[ ความผ่องแผ้วแห่งศีล ]

ส่วนความที่ศีลเป็นศีลไม่ขาดเป็นต้น ท่านสงเคราะห์ด้วยความไม่

แตกแห่งสิกขาบททั้งหลายโดยประการทั้งปวงประการ ๑ ด้วยการทำ

คืนซึ่งสิกขาบททั้งหลายที่พึงทำคืนได้อันแตกแล้วประการ ๑ ด้วยความ

ไม่มีเมถุนสังโยค ๗ ประการ ๑ ด้วยความดีอื่นอีก คือด้วยความไม่

เกิดขึ้นแห่งบาปธรรมทั้งหลายเช่น โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ

อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ

มทะ ปมาทะ เป็นต้นประการ ๑ ด้วยความบังเกิดแห่งคุณทั้งหลาย

มีอัปปิจฉตา สันตุฏฐิตา และสัลเลขตาเป็นต้นประการ ๑

จริงอยู่ ศีลเหล่าใดแม้ไม่แตกเพื่อต้องการลาภเป็นต้นก็ดี แม้

แตกด้วยโทษคือความประมาทแต่ทำคืนแล้วก็ดี อันเมถุนสังโยคหรือ

บาปธรรมมีโกธะและอุปนาหะเป็นต้น ไม่เข้ามาทำลายเสียก็ดี ศีล

เหล่านั้นท่านเรียกว่าอขัณฑกะ (ไม่ขาด) อัจฉิททะ (ไม่ทะลุ) อสพละ

(ไม่ด่าง) อกัมมาสะ (ไม่พร้อย) โดยประการทั้งปวง และศีล

เหล่านั้นแหละ ชื่อว่าภุชิสสะ เพราะกระทำความเป็นไท ชื่อ

วิญญุปสัตถะ เพราะความเป็นศีลอันวิญญูสรรเสริญ ชื่ออปรามัฏฐะ

เพราะความเป็นศีลอันตัณหาไม่แตะต้อง และเป็นสมาธิสังวัตตนิกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 111

เพราะยังอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิให้เป็นไปโดยง่าย ๆ เพราะ

เหตุนั้น ความเป็นศีลไม่ขาดเป็นต้นนี้ พึงทราบว่าเป็นความผ่องแผ้ว

แห่งศีลเหล่านั้น ก็แลความผ่องแผ้วนี้นั้น ย่อมสำเร็จด้วยอาการ ๒

คือ ด้วยการเห็นโทษแห่งสีลวิบัติ ๑ ด้วยการเห็นอานิสงส์แห่งสีล-

สมบัติ ๑

[ โทษแห่งสีลวิบัติ ]

ในอาการ ๒ อย่างนั้น โทษแห่งสีลวิบัติพึงเห็นตามนัยแห่งพระสูตร

อันมีคำขึ้นต้นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งสีลวิบัติของภิกษุผู้ทุศีล

๕ อย่างนี้"๑ ดังนี้นัยหนึ่ง อีกนัยหนึ่งบุคคลผู้ทุศีล เพราะความ

ทุศีลเป็นต้นเหตุ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เป็นผู้ที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายไม่พึงพร่ำสอน ต้องทุกข์ใจในเพราะ

คำติเตียนความทุศีล (ของตน) ต้องร้อนใจในเพราะคำสรรเสริญ

(คนอื่น) ผู้มีศีลทั้งหลาย ก็แลเพราะความเป็นผู้ทุศีลนั้น เขาย่อม

เป็นผู้มีผิวพรรณหมอง อนึ่ง นับว่าเป็นผู้มีสัมผัสหยาบ เพราะนำ

อบายทุกข์มาให้แก่คนทั้งหลายที่เอาเยี่ยงอย่างเขาตลอดกาลนาน นับว่า

เป็นผู้มีราคาถูก เพราะทำความไม่มีผลมากแก่ทายกทั้งหลายผู้ที่ตน

รับไทยธรรม (ของเขา) มา ดุจผ้าป่านดิบซึ่งเป็นผ้ามีสีทราม สัมผัส

หยาบและราคาถูกฉะนั้น๒ เป็นคนชำระ (ให้บริสุทธิ์) ได้ยาก เหมือน

๑. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๘๑.

๒. ความที่เปรียบคนทุศีลด้วยผ้าป่านดิบมีโทษ ๓ ประการนี้ กล่าวตามนัยสูตรที่ (๕๓๙) ๑๐๐

ในติกังคุตตร หน้า ๓๑๗ คำ "สาณสาฏโก วิย" จึงเป็นอุปมาแห่งบททั้ง ๓ (คือ ทุพฺพณฺโณ

ทุกฺขสมฺผสฺโส อปฺปคฺโฆ).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 112

หลุมคูถที่หมักหมมมานาน (ยากที่จะชำระให้สะอาด) ฉะนั้น เป็นผู้

คลาดจากประโยชน์ทั้งสอง เหมือนดุ้นฟืนเผาศพ (ที่ไฟไหม้ทั้งสอง

ข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ทั้งในป่าและในบ้าน)

ฉะนั้น๑ แม้ปฏิญญาความเป็นภิกษุ ก็ไม่เป็นภิกษุอยู่นั่นเอง เหมือน

ลาที่เดินตามฝูงโค (แม้ร้องอย่างโค ก็ไม่เป็นโคอยู่นั่นเอง) ฉะนั้น

เป็นผู้หวาดอยู่เนืองนิตย์ เหมือนคนมีเวรต่อคนทั่วไป เป็นคนไม่ควร

อยู่ร่วมด้วย เหมือนซากศพ แม้ประกอบด้วยคุณมีสุตะเป็นต้น ก็

ไม่ควรแก่การบูชาของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เหมือนไฟในป่าช้า

ไม่ควรแก่การบูชาของพวกพราหมณ์ เป็นคนอาภัพในการบรรลุคุณวิเศษ

เหมือนคนตาบอดอาภัพในการเห็นรูป เป็นผู้ไร้ความหวังในพระสัท-

ธรรม เหมือนเด็กจัณฑาลไม่มีหวังในราชสมบัติ แม้สำคัญตนว่ามีสุข

ก็ชื่อว่าเป็นคนมีทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะความเป็นผู้มีส่วนแห่งทุกข์ที่ตรัส

ไว้ในอัคคิขันธปริยาย.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นกรรมและวิบากชัด โดย

อาการทั้งปวง เมื่อจะทรงแสดงทุกข์อันเผ็ดร้อน มีความยินดีในสุข

ดังจะกล่าวเป็นปัจจัย ซึ่งด้วยเหตุเพียงแต่นึกถึง สามารถยังความร้อน

ไหม้แห่งหทัยให้เกิดขึ้น แล้วยังการกระอักโลหิตอุ่น ๆ๒ ให้เป็นไป แก่

คนทุศีลทั้งหลาย ผู้มีจิตกำหนัดด้วยยินดีความสุขในการบริโภคเบญจ-

กามคุณ และในสามีจิกรรม (ที่คนอื่นทำ) มีการไหว้ การแสดง

๑. ความข้อนี้ กล่าวตามนัยพระสูตรที่ (๙๕) จตุกังคุตตร หน้า ๑๒๔.

๒. ไทยพูดว่า เลือดสด ๆ ความก็ได้กัน เพราะว่าเลือดสด ๆ มันก็ย่อมอุ่น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 113

ความนับถือเป็นต้น จึงตรัส (อัคคิขันธปริยาย) ว่า

(๑) "ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ซึ่งกองไฟใหญ่

อันไหม้ลุกเป็นเปลวโชติช่วงอยู่โน่น" ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "(เห็น)

อย่างนั้นพระเจ้าข้า" ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญ

ความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่บุคคลพึงเข้าไปนั่งกอด หรือเข้าไปนอนกอด

ซึ่งกองไฟใหญ่อันลุกเป็นเปลวโชติช่วงอยู่โน่นก็ดี ข้อที่บุคคลพึงเข้า

ไปนั่งเคล้า หรือเข้าไปนอนเคล้าซึ่งนางกษัตริย์ นางพราหมณ์ หรือนาง

คฤหบดี ผู้มีฝ่ามือและฝ่าเท้านุ่มเหมือนปุยนุ่นก็ดี สองข้อนี้ข้อไหน

เล่าหนอประเสริฐกว่ากัน ?" ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์

ผู้เจริญ ข้อที่บุคคลพึงเข้าไปนั่งเคล้าหรือเข้าไปนอนเคล้านางกษัตริย์

นางพราหมณ์ หรือนางคฤหบดี นั่นแหละประเสริฐกว่า ข้อที่บุคคล

พึงเข้าไปนั่งกอดหรือเข้าไปนอนกอดกองไฟใหญ่ ฯล ฯ โน่น เป็น

ทุกข์ พระเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราจะบอกท่านทั้งหลายให้ทราบ โดยข้อที่บุคคลพึงเข้าไปนั่งกอดหรือ

เข้าไปนอนกอดกองไฟใหญ่ ฯ ล ฯ โน่นนั่นแหละประเสริฐกว่า สำหรับ

ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีสมาจารไม่สะอาดที่พึงระลึกถึงด้วยความ

รังเกียจ มีการงานซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่

ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เป็นคนในเน่า เปียกชื้น

รกเรื้อ (ด้วยกิเลส) ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ

ภิกษุนั้นพึงถึงตายหรือทุกข์ปางตาย เพราะเหตุเข้าไปนั่งกอดหรือเข้าไป

นอนกอดกองไฟใหญ่นั้น (ก็จริง) แต่เพราะกายแตกตายไปจะพึงเข้า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 114

ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยหามิได้เลย ภิกษุ

ทั้งหลาย ส่วนข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีสมาจารไม่สะอาด

ที่พึงระลึกถึงด้วยความรังเกียจ มีการงานซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะ แต่

ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี

เป็นคนเน่าใน เปียกชื้น รกเรื้อ (ด้วยกิเลส) นั้น พึงเข้าไปนั่งเคล้า

หรือเข้าไปนอนเคล้านางกษัตริย์ ฯ ล ฯ ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนั้นย่อม

เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เขาตลอดกาลนาน เพราะ

กายแตกตายไป เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก" ดังนี้*

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงทุกข์มีการบริโภคกามคุณ ๕

อันเนื่องด้วยสตรีเป็นปัจจัย ด้วยอุปมากองเพลิงอย่างนี้แล้ว จึง

ทรงแสดงทุกข์ อันมีการอภิวาท การทำอัญชลี การบริโภคจีวร

บิณฑบาตเตียงตั่งและวิหารเป็นปัจจัย ด้วยอุปมาด้วยเชือกฟั่นด้วยขน

หางสัตว์ หอกอันคม แผ่นเหล็ก ก้อนเหล็ก เตียงเหล็กหรือตั่งเหล็ก

และหม้อเหล็กเหล่านี้ โดยทำนองเดียวกันนั้นว่า

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนั้นอย่างไร

ข้อที่บุรุษมีกำลัง เอาเชือกที่ฟั่นด้วยขนหางสัตว์อย่างเขม็ง พันแข้ง

ทั้งสองแล้วชักสีไปมา เชือกนั้นพึงตัดผิวหนัง ครั้นตัดผิวหนังแล้ว

พึงตัดหนัง ครั้นตัดหนังแล้วพึงตัดเนื้อ ครั้นตัดเนื้อแล้วพึงตัดเส้นเอ็น

ครั้นตัดเส้นเอ็นแล้วพึงตัดกระดูก ครั้นตัดกระดูกแล้วพึงจดเยื่อใน

กระดูก (กับ) ข้อที่ภิกษุทุศีลพึงยินดีการอภิวาท ของกษัตริยมหาศาล

* องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๒๙.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 115

พราหมณมหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล อย่างไหนจะประเสริฐกว่า

เล่าหนอ ฯ ล ฯ

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนั้นอย่างไร

ข้อที่บุรุษมีกำลังประหารเอาที่กลางอก ด้วยหอกอันคมที่ชะโลมด้วย

น้ำมัน (กับ) ข้อที่ภิกษุทุศีลพึงยินดีการทำอัญชลี ของกษัตริยมหาศาล

พราหมณมหาศาล คฤหบดีมหาศาล อย่างไหนจะประเสริฐกว่า

เล่าหนอ ฯ ล ฯ

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนั้นอย่างไร ข้อ

ที่บุรุษมีกำลัง เอาแผ่นเหล็กที่ร้อนแดงเป็นแสงช่วงเข้าหุ้มกาย (กับ)

ข้อที่ภิกษุทุศีลพึงบริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริยมหาศาล

ฯ ล ฯ อย่างไหนจะประเสริฐกว่าเล่าหนอ ฯ ล ฯ

(๕) ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนั้นอย่างไร

ข้อที่บุรุษมีกำลัง เอาคีมเหล็กที่ร้อนแรงเป็นแสงช่วง งัดปากแล้ว

ยัดก้อนโลหะที่ร้อนแดงเป็นแสงช่วงเข้าไปในปาก ก้อนโลหะร้อนนั้น

ไหม้ทั้งริมฝีปาก ทั้งปาก ทั้งลิ้น ทั้งลำคอ ทั้งท้อง พาเอาทั้งไส้ใหญ่

ทั้งไส้น้อยของเขาออกไปทางทวารส่วนภายใต้ (กับ) ข้อที่ภิกษุทุศีล

พึงบริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล ฯ ล ฯ

อย่างไหนจะประเสริฐกว่าเล่าหนอ ฯ ล ฯ

(๖) ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนั้นอย่างไร

ข้อที่บุรุษมีกำลัง จับที่ศีรษะก็ดี จับที่คอก็ดี (กด) ให้นั่งลงไปก็ดี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 116

ให้นอนลงไปก็ดี ตรงเตียงเหล็กหรือตั่งเหล็กที่ร้อนแดงเป็นแสงช่วง

(กับ) ข้อที่ภิกษุทุศีลพึงบริโภคเตียงหรือตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของ

กษัตริยมหาศาล ฯ ล ฯ อย่างไหนจะประเสริฐกว่าเล่าหนอ ฯ ล ฯ

(๗) ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความนั้นอย่างไร

ข้อที่บุรุษมีกำลัง พึงจับเท้าขึ้นศีรษะลง แล้วซัดลงไปในหม้อโลหะ

ที่ร้อนแดงเป็นแสงช่วง เขาถูกต้มเดือดพล่านเป็นฟอง ลางทีลอยขึ้น

ลางทีจมลงไป ลางทีลอยขวางไป อยู่ในหม้อโลหะนั้น (กับ) ข้อที่ภิกษุ

ทุศีลบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริยมหาศาล ฯ ล ฯ

อย่างไหนประเสริฐกว่าเล่าหนอ ฯ ล ฯ เขาย่อมถึง ฯ ล ฯ" ดังนี้

เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบการเห็นโทษในเพราะสีลวิบัติ

ด้วยการพิจารณาโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า

"ความสุข ของคนผู้มีศีลอันทำลายแล้ว ไม่ละ

กามสุขอันมีผลเป็นทุกข์เผ็ดร้อนยิ่งกว่าทุกข์เพราะ

กอดกองไฟ จักมีแต่ไหน

สุขในอันยินดีการกราบไหว้ จักมีแก่คนมีสีล-

วิบัติ ผู้มีอันจะต้องรับทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์อันเกิดแต่

การสีด้วยเชือกขนหางสัตว์อันเหนียวไฉนเล่า

สุขในการยินดีอัญชลีกรรมแห่งคนผู้มีศรัทธา

ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์อันประมาณยิ่งกว่า

ทุกข์อันเกิดแต่การประหารด้วยหอก จักมีแก่คนผู้

ไม่มีศีลกระไรได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 117

ความสุขในการบริโภคจีวรของคน (ทุศีล) ผู้

ไม่สำรวมแล้ว ผู้จะต้องเสวยสัมผัสแห่งแผ่นเหล็ก

อันร้อนในนรก สิ้นกาลนาน จักมีอะไร

บิณฑบาตแม้มีรสอร่อย ก็เปรียบด้วยยาพิษอัน

แรงกล้า สำหรับคนไม่มีศีลผู้จะต้องกลืนก้อนเหล็ก

อันร้อน สิ้นราตรีนาน

การบริโภคเตียงและตั่ง แม้เขาสมมติกันว่า

เป็นสุข แต่ก็เป็นทุกข์สำหรับคนไม่มีศีลผู้จะต้อง

ถูกทุกข์ (อันเกิดแต่การบริโภค) เตียงและตั่ง

เหล็กอันร้อนเบียดเบียนเอาตลอดกาลนาน

ความยินดีในการอยู่อาศัยในวิหารที่เขาให้ด้วย

ศรัทธาอะไร จักมีแก่คนทุศีลผู้จะต้องตกอยู่กลาง

หม้อเหล็กอันร้อน

พระผู้เป็นครูของโลก เมื่อจะทรงติคนทุศีล ตรัส

ว่า 'เป็นคนมีสมาจารที่พึงระลึกถึงด้วยความ

รังเกียจ ว่าเป็นคนรกเรื้อ (ด้วยหยากเยื่อคือกิเลส)

ว่าเป็นคนเปียกชื้น (ด้วยน้ำคือกิเลส) ว่าเป็นคน

ลามก และว่าเป็นคนเน่าใน' ดังนี้ น่าติชีวิตของ

คนทุศีลนั้น ผู้เป็นคนไม่มีปัญญา ทรงเพศสมณชน

แต่ไม่ใช่สมณะ นำตนซึ่งถูกก่นถูกขุดอยู่ไป

สัตบุรุษทั้งหลายผู้มีศีลในโลกนี้ ย่อมหลีกคน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 118

ทุศีลใดเสีย ดุจคนผู้รักสวยทั้งหลายหลีกคูถ หลีก

ซากศพ ชีวิตของคนทุศีลนั้น (จะมีประโยชน์)

อะไร

คนทุศีลนั้นเป็นผู้ไม่พ้นจากภัยทั้งปวง แต่เป็น

ผู้พ้นจากอธิคมสุข (สุขอันเกิดแต่มรรคผล) ทั้ง

หมด เขาปิดประตูสวรรค์เสียสนิท ขึ้นสู่ทางอบาย

ไปฉิบ

คนอื่น ใครเล่าจะเป็นวัตถุแห่งความสงสารของ

ชนผู้มักสงสาร เสมอด้วยคนทุศีล

โทษแห่งความเป็นผู้ทุศีลมีมากอย่างดังกล่าวมา

ฉะนี้"

การเห็นอานิสงส์ในสีลสมบัติ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจาก

ประการที่กล่าวแล้ว

อีกนัยหนึ่ง

ศีลของภิกษุใดหมดมลทินดี การทรงบาตร

และจีวรของภิกษุนั้น ย่อมเป็นที่น่าเลื่อมใส

บรรพชาของเธอก็มีผล

หทัยของภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมไม่หยั่ง

ลงสู่ภัยมีความติเตียนตนเองเป็นต้น ดุจพระ

อาทิตย์ไม่ลงสู่ความมืดฉะนั้น

ภิกษุเมื่องามในตโปวัน ย่อมงามด้วยความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 119

ถึงพร้อมแห่งศีล ดุจพระจันทร์เมื่องามในท้องฟ้า

ย่อมงามด้วยความถึงพร้อมแห่งรัศมีฉะนั้น

แม้กลิ่นกายของภิกษุผู้มีศีล ยังทำความ

ชื่นบานแม้แก่เทวดาทั้งหลาย จะกล่าวไยในกลิ่น

ศีลเล่า กลิ่นแห่งศีลย่อมครอบงำสมบัติแห่งคันธ-

ชาติทั้งปวง ฟุ้งไปทั่วทศทิศมิได้ติดขัด

สักการะแม้น้อยอันทายกทำแล้วในท่านผู้มีศีล

ย่อมเป็นการมีผลมาก เพราะฉะนั้นผู้มีศีลจึงเป็น

ดุจภาชนะ (รองรับ) เครื่องบูชาและสักการะ

อาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในทิฏฐิธรรม* ย่อม

ไม่เบียดเบียนท่านผู้มีศีล ผู้มีศีลย่อมขุดรากแห่ง

ทุกข์อันเป็นไปในสัมปรายภพเสียได้

สมบัติใดในมนุษย์ และสมบัติใดในเทวดา

สมบัติทั้งสองนั้น เมื่อผู้มีศีลถึงพร้อมปรารถนาอยู่

มิใช่เป็นสิ่งที่จะพึงได้ยากเลย อนึ่ง ใจของผู้มีศีล

ถึงพร้อม ย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานสมบัติ อัน

เป็นสมบัติที่สงบระงับสุดยอดเป็นแท้

บัณฑิตพึงแสดงอานิสงส์อันมีอาการต่าง ๆ เป็น

อันมาก ในศีลซึ่งเป็นมูลแห่งสมบัติทั้งปวง ด้วย

ประการฉะนี้แล.

* ท่านหมายเอาความมัวหมองต่าง ๆ เช่นถูกจองจำทำโทษในปัจจุบันชาติ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 120

เพราะเมื่อแสดงอยู่อย่างนี้ จิตใจย่อมจะหวาดแต่สีลวิบัติแล้ว

น้อมไปสู่สีลสมบัติ เพราะฉะนั้น ภิกษุเห็นโทษแห่งสีลวิบัตินี้ และ

อานิสงส์แห่งสีลสมบัตินี้ ดังกล่าวแล้ว พึงยังศีลให้ผ่องแผ้วด้วยความ

เอื้อเฟื้อทุกประการ เทอญ.

ก็แลศีลในวิสุทธิมรรคที่ทรงแสดงด้วยมุขคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

เป็นอันได้แสดงบริบูรณ์แล้ว ด้วยพระคาถา (บาทต้น) นี้ว่า สีเล

ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญฺ เพียงเท่านี้เป็นอันดับแรก

ปริเฉทที่ ๑ ชื่อสีลนิเทศ

ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดั่งนี้

ธุดงคนิเทศ

เพราะเหตุที่พระโยคีผู้มีศีลอันสมาทานแล้ว ควรทำการสมา-

ทานธุดงค์ (ต่อไป) ด้วยเมื่อทำอย่างนั้น ศีลของเธอมีมลทินอันล้าง

แล้วด้วยน้ำคือคุณมีความมักน้อย และความสันโดษ ความขัดเกลา

ความสงัด ความไม่สั่งสม (กองกิเลส) ความปรารภความเพียร

และความเป็นผู้เลี้ยงง่ายเป็นต้น ก็จักเป็นศีลบริสุทธิ์ดี และข้อวัตร

ทั้งหลายของเธอก็จักถึงพร้อมด้วย ผู้มีสมาจารทั้งปวงบริสุทธิ์ด้วยคุณ

คือศีลและพรตอันหาโทษมิได้ดังนี้แล้ว จักเป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอริยวงศ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 121

(ประเพณีของพระอริยเจ้า) ๓ ข้อ อันเป็นวงศ์เก่า ควรบรรลุอริยวงศ์

ข้อคำรบ ๔ กล่าวคือความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดีได้ เพราะ

เหตุนั้น เราจักเริ่มธุดงคกถา ณ บัดนี้ เพื่อยังคุณทั้งหลายมีความ

มักน้อยสันโดษเป็นอาทิ อันเป็นเหตุผ่องแผ้วแห่งศีลมีประการดังกล่าว

แล้วให้ถึงพร้อมต่อไป แท้จริง ธุดงค์ (ถึง) ๑๓ ข้อ พระผู้มี

พระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลาย ผู้สละโลกามิสได้

ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ใคร่จะยังอนุโลมปฏิปทาให้สำเร็จถ่ายเดียว

ธุดงค์ ๑๓ นี้ คืออะไรบ้าง คือ

๑. ปังสุกูลลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่ลผ้าบังสุกุล

เป็นปกติ

๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งไตรจีวร

เป็นปกติ

๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาต

เป็นปกติ

๔. สปาทานจาริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปตามลำดับ

เรือนเป็นปกติ

๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียว

เป็นปกติ

๖. ปัตตปิณฑิกัง องค์แห่งภิกษุผู้มีอันถือเอาก้อนข้าวใน

บาตรเป็นปกติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 122

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อันไม่ฉันปัจฉาภัตรเป็น

ปกติ

๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ

๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นปกติ

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ

๑๑. โสสานิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตาม

ที่ท่านจัดให้เป็นปกติ

๑๓. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยความนั่งเป็น

ปกติ.

วินิจฉัยธุดงค์ในนั้น พึงทราบโดยอรรถ

(แห่งคำ) ๑ โดยปกิณณกะมีลักษณะเป็นต้น ๑

โดยการสมาทาน ๑ โดยวิธี (ปฏิบัติ) ๑ โดย

ประเภท ๑ โดยความแตกแยก ๑ โดยอานิสงส์

แห่งธุดงค์นั้น ๆ ๑ โดยกุสลติกะ ๑ โดย

จำแนกศัพท์ มีธุตศัพท์เป็นต้น ๑ โดยย่อและ

โดยพิสดารอีก ๑

[ วินิจฉัยโดยอรรถ ]

ในบททั้งหลายเหล่านั้น จะวินิจฉัยโดยอรรถก่อน ผ้าใดเป็นดุจ

กองฝุ่นในที่นั้น ๆ ด้วยอรรถว่าสูงขึ้น เพราะวางอยู่บนกองฝุ่น ในที่

ทั้งหลายมีตรอกและป่าช้าและกองหยากเยื่อเป็นต้นที่ใดที่หนึ่ง เพราะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 123

ฉะนั้น ผ้านั้นจึงชื่อว่า ปังสุกูล (ผ้าดุจกองฝุ่น) อีกนัยหนึ่ง ผ้าชื่อว่า

ปังสุกูล เพราะไปสู่ภาวะแห่งผ้าอันบุคคลเกลียด อธิบายว่า ถึงความ

เป็นผ้าที่เขาเกลียด ดุจฝุ่น การทรงไว้ซึ่งผ้าปังสุกูลที่มีคำไขอันได้แล้ว

อย่างนั้น ชื่อ ปังสุกูล* ความทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติของภิกษุนั้น

เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ปังสุกูลิกะ องค์แห่งภิกษุปังสุกูลิกะ ชื่อว่า

ปังสุกูลิกังคะ. เหตุ ท่านเรียกว่า องค์. เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า

คำว่า องค์ นั้น เป็นชื่อของการสมาทาน ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเป็น

ปังสุกูลิกะแห่งภิกษุนั้น.

โดยนัยเดียวกันนี้ (การทรง) ไตรจีวร กล่าวคือ สังฆาฏิ

อุตตราสงค์ อันตราวาสก เป็นปกติแห่งภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึง

ชื่อว่าเตจีวริกะ องค์แห่งภิกษุเตจีวริกะ ชื่อว่า เตจีวริกังคะ.

ก็การตกแห่งก้อนอามิสกล่าวคือภิกษานั่นแล ชื่อว่าบิณฑบาต

อีกนัยหนึ่ง การตกลงแห่งก้อนข้าวอันชนเหล่าอื่นให้แล้วนั่นแล ชื่อว่า

บิณฑบาต มีคำอธิบายว่า การตกลงในบาตรแห่งก้อนข้าวที่คนอื่นให้.

ภิกษุใดแสวงหา คือ การเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ๆ แสวงหาซึ่งบิณฑบาต

นั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ปิณฑปาติกะ (ผู้แสวงหาบิณฑบาต)

อีกอย่างหนึ่ง การตกไปเพื่อก้อนข้าวเป็นวัตรของภิกษุนั้น เหตุนั้น

ภิกษุนั้น ชื่อว่าปิณฑปาตี. คำว่าตกไป (ในที่นี้) หมายความว่า

เที่ยวไป. ปิณฑปาตีนั่นเอง ชื่อว่าปิณฑปาติกะ องค์แห่งภิกษุ

* มหาฎีกาว่า ปํสุกูลธารณํ เป็น ปํสุกูลํ ไปนั้น เพราะลบบทหลัง (คือ ธารณํ) และ

คำว่า ปํสุกูล แปลกันว่า "ผ้าดุจฝังฝุ่น" ก็มี.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 124

ปิณฑปาติกะ ชื่อว่า ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไป

เพื่อก้อนข้าวเป็นวัตร)

การขาดตอน เรียกว่า ทานะ ความปราศจากทานะ ชื่อว่า

อปทานะ อธิบายว่า ความไม่ขาดตอน การเที่ยวใดเป็นไปกับด้วย

อปทานะ การเที่ยวนั้น ชื่อว่า สปทานะ อธิบายว่า เที่ยวไปเว้น

จากการขาดตอน คือ เที่ยวไปตามลำดับเรือน ความเที่ยวเป็นไป

กับด้วยความปราศจากการขาดตอนนี้๑ เป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น

ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า สปทานจารี สปทานจารีนั่นแลเป็นสปทานจาริกะ

องค์แห่งภิกษุสปทานจาริกะนั้น ชื่อว่า สปทานจาริกังคะ.

การฉัน ณ อาสนะเดียว ชื่อ เอกาสนะ การฉัน ณ อาสนะ

เดียวนั้น เป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า เอกาสนิกะ

องค์แห่งภิกษุเอกาสนิกะนั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ.

ก้อนข้าวจำเพาะในบาตรใบเดียวแท้ ๆ เพราะห้ามในภาชนะที่ ๒

ชื่อว่า ปัตตปิณฑะ (การถือเอาปัตตปิณฑะนั้น ก็ชื่อว่าปัตตปิณฑะ)๒

เพราะบัดนี้๓ ทำความหมายแห่งปัตตปิณฑะ ใน (อรรถคือ) การถือ

เอาก้อนข้าวจำเพาะในบาตร การถือเอาก้อนข้าวจำเพาะในบาตร

เป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ปัตตปิณฑิกะ (ผู้มีการ

๑. อิทํ เป็นวิเสสนะของศัพท์ประกอบ ตํุ ปัจจัย (ที่ใช้เป็นนาม) ก็ได  ?

๒. ความในวงเล็บนี้เติมลงไว้เพราะเข้าใจว่าปาฐะตก โดยเทียบกับตอนแก้ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

ซึ่งท่านดำเนินความแบบเดียวกันคือ ตสฺส ปจฺฉาภตฺตสฺส โภชนํ ปจฺฉาภตฺตํ ตอนนี้ก็ควรจะมี

ปาฐะว่า ตสฺส ปตฺตปิณฺฑสฺส คหณํ ปตฺตปิณฺโฑ ความจึงต่อกันดี ดังแปลไว้นั้น.

๓. อิทานิ นี้ ขัดเชิงอยู่ ถ้าแก้เป็น ตสฺมึ เหมือนอย่างตอนล่างก็จะดี.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 125

ถือเอาก้อนข้าวในบาตรเป็นปกติ) องค์แห่งภิกษุปัตตปิณฑิกะนั้น ชื่อว่า

ปัตตปิณฑิกังคะ.

คำว่า ขลุ เป็นนิบาตในอรรถปฏิเสธ ภัตรที่ภิกษุเป็นผู้ห้าม (ภัตร)

แล้วได้มาในภายหลัง ชื่อว่า ปัจฉาภัตร การฉันปัจฉาภัตรนั้น ก็ชื่อว่า

ปัจฉาภัตร เพราะทำความหมายแห่งปัจฉาภัตร ใน (อรรถคือ) การฉัน

ปัจฉาภัตรนั้น การฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้น

จึงชื่อว่าปัจฉาภัตรติกะ (ผู้มีการฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ) ภิกษุไม่เป็นผู้มี

การฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตรติกะ คำว่า ปัจฉาภัตรนี้

เป็นชื่อแห่งการฉันอติริตตะโภชนะ ที่ห้ามด้วยอำนาจการสมาทาน๑ แต่

ในอรรถกถา๒กล่าวว่า "นกตัวหนึ่ง ชื่อ ขลุ๓ นกนั้นคาบเอาผลไม้

(ผลหนึ่ง) ได้แล้ว ครั้นผลไม้นั้น (บังเอิญ) ตกไปเสีย ย่อมไม่

กินผลไม้อื่นอีก (ในวันนั้น) ภิกษุนี้ก็เป็นเช่นนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า

ขลุปัจฉาภัตติกะ (ผู้มีอันไม่ฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติเหมือนนกขลุ)"

องค์แห่งภิกษุขลุปัจฉาภัตติกะนั้น ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ.

การเข้าไปอยู่ในป่า ชื่อว่า อรัญญะ การเข้าไปอยู่ป่านั้น เป็น

ปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าอารัญญิกะ (ผู้มีการเข้า

อยู่ในป่าเป็นปกติ) องค์แห่งภิกษุอารัญญิกะนั้น ชื่อว่า อารัญญิกังคะ.

การเข้าไปอยู่ที่โคนไม้ ชื่อ รุกขมูล การเข้าไปอยู่ที่โคนไม้นั้นเป็น

๑. หมายความว่า ไม่ใช่ห้ามด้วยสิกขาบท แต่ห้ามตามที่ภิกษุสมาทานธุดงค์ข้อนี้.

๒. อรรถกถาชื่ออะไร ?

๓. ขลูติ เอโก สกุโณ เอโก ตรงนี้ชวนให้น่าแปลว่า "ชนิดหนึ่ง" แต่ถ้าประสงค์จะให้แปล

อย่างนั้น เหตุไรท่านจึงไม่ใช้ โยโกจิ เล่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 126

ปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่ารุกขมูลิกะ องค์แห่ง

ภิกษุรุกขมูลิกะนั้น ชื่อว่า รุกขมูลิกังคะ. นัยแม้ในอัพโภกาสิกังคะ

และโสสานิกังคะก็ดุจนัยนี้.

เสนาสนะที่ลาดไว้แล้วอย่างไรนั่นแล ชื่อว่า ยถาสันถตะ คำว่า

ยถาสันถตะนี้ เป็นชื่อแห่งเสนาสนะที่เสนาสนปัญญาปกะชี้ให้ทีแรก

อย่างนี้ว่า "อิทํ ตุยฺหํ ปาปุณาติ" (เสนาสนะนี้ย่อมถึงแก่ท่าน)

ความอยู่ในเสนาสนะที่ลาดแล้วอย่างไรนั้น เป็นปกติของภิกษุนั้น

เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ยถาสันถติกะ องค์แห่งภิกษุยถาสันถติกะ

นั้น ชื่อว่า ยถาสันถติกังคะ.

การที่งดนอนเสีย (สำเร็จอิริยาบถ) อยู่ด้วยการนั่ง เป็น

ปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่า เนสัชชิกะ องค์แห่ง

ภิกษุเนสัชชิกะนั้น ชื่อว่าเนสัชชิกังคะ.

ก็องค์เหล่านี้ทั้งหมดชื่อว่า ธุดงค์ เหตุเป็นองค์แห่งภิกษุ

ชื่อว่าธุตะ เพราะความเป็นผู้กำจัดกิเลสได้ด้วยการสมาทานนั้น ๆ. อีก

อย่างหนึ่ง ชื่อว่า ธุดงค์ เพราะมีญาณที่ได้โวหารว่าธุตะ เหตุเป็น

เครื่องกำจัดกิเลสเป็นองค์. อีกนัยหนึ่ง องค์เหล่านั้นชื่อว่าธุตะ เพราะ

กำจัดธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลายได้ด้วย เป็นองค์แห่งความปฏิบัติด้วย

เหตุนั้น จึงชื่อว่า ธุดงค์.

ในบททั้งหลายเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถดังกล่าวมา

ฉะนี้ เป็นอันดับแรก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 127

[ วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น ]

ก็ธุดงค์ทั้งหมดนี้ มีสมาทานเจตนาเป็นลักษณะ จริงอยู่แม้คำนี้

ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า "ผู้สมาทานได้แก่บุคคล ธรรมเครื่องสมาทาน

ได้แก่จิตและเจตสิก สมาทานเจตนาเป็นตัวธุดงค์ สิ่งที่ห้ามคือวัตถุ."

อนึ่ง ธุดงค์ทั้งหมดนั่นมีอันกำจัดความละโมบเป็นรส มีอันราศจาก

ความโลเลเป็นเครื่องปรากฏ มีอริยธรรมมีความมักน้อยเป็นต้นเป็น

ปทัฏฐาน. ในบทเล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยโดยปกิณณกะมีลักษณะ

เป็นต้น ดังนี้.

[ วินิจฉัยโดยการสมาทาน และวิธี (ปฏิบัติ) เป็นต้น ]

ส่วนวินิจฉัยใน ๕ บท มีบทว่า โดยการสมาทานและวิธี

(ปฏิบัติ) เป็นต้น พึงทราบต่อไป :- ธุดงค์ทั้งหมดนั่น เมื่อพระผู้มี

พระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู๋ พึงสมาทานในสำนักของพระผู้มีพระภาค

เจ้า เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พึงสมาทานในสำนักของพระ

มหาสาวก เมื่อพระมหาสาวกไม่มี พึงสมาทานในสำนักพระขีณาสพ...

พระอนาคามี...พระสกทาคามี...พระโสดาบัน...ภิกษุผู้ทรงไตรปิฎก

ภิกษุผู้ทรงทวิปิฎก...ภิกษุผู้ทรงเอกปิฎก...พระเอกสังคีติกะ*...พระอรรถ-

กถาจารย์ เมื่อพระอรรถกถาจารย์นั้นไม่มี พึงสมาทานในสำนักภิกษุ

ผู้ทรงธุดงค์ แม้เมื่อท่านผู้ทรงธุดงค์ไม่มี พึงกวาดลานพระเจดีย์แล้ว

นั่งกระโหย่ง กล่าวสมาทานเหมือนอย่างกล่าวในสำนักของพระสัมมา-

สัมพุทธเจ้าเถิด แม้ว่าสมาทานด้วยตนเองก็ใช้ได้เหมือนกัน. ก็แล

* เอกสังคีติกะ มหาฎีกาว่า หมายเอาภิกษุผู้ทรงพระสูตรนิกาย ๑ ใน ๕ นิกาย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 128

ในการสมาทานด้วยตนเองก็ใช้ได้นี้ พึงเล่าเรื่องความมักน้อยในธุดงค์

ของพระเถระผู้พี่แห่งพระเถระสองพี่น้องในเจติยบรรพต๑ (เป็นนิทัศนะ)

นี้เป็นคำกล่าวโดยทั่วไปก่อน.

บัดนี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท

ความแตก และอานิสงส์แห่งธุดงค์แต่ละข้อต่อไป :-

๑_______. ปังสุกูลิกังคะ

[ การสมาทานปังสุกูลิกังคะ ]

ก่อนอื่น ปังสุกูลิกังคะ ย่อมเป็นอันสมาทานด้วยคำ ๒ คำนี้คำใด

คำหนึ่ง ว่า คหปติทานจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดผ้าอันเป็นของ

คฤหบดีถวาย ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์ของภิกษุ

ผู้มีการทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ๒ นี่เป็นการสมาทานในปังสุกูลิกังคะ

นี้ก่อน.

๑. มหาฎีกาได้เรื่องมาเล่าไว้ว่า พระเถระองค์นั้นถือเนสัชชิก ไม่มีใครรู้ว่าท่านถือ (เพราะ

ท่านมักน้อย ไม่ให้ใครรู้ ?) วันหนึ่งตอนกลางคืน (ดึกแล้ว) พระเถระผู้น้อง (นอนอยู่ ?)

มองไปเห็นท่านนั่งอยู่บนที่นอนด้วยแสงฟ้าแลบ จึงทักขึ้นว่าท่านถือเนสัชชิกหรือ (เมื่อมีคนเห็น

เสียแล้ว) ก็เพราะความมักน้อยนั่นแหละ ท่านเลยเอนกายลงนอนในทันทีทันใดนั้น แล้วภายหลัง

ได้โอกาส ท่านก็สมาทานด้วยตนเองถือใหม่ต่อไป (มักน้อยเช่นนี้จะเป็นอุชุปฏิปนฺโน หรือ ?)

๒. ในคำสมาทาน ๒ คำนี้ มีปัญหาอยู่ ๒ ข้อ

ก. คำ คหปติทานจีวรํ แปลกอยู่ พบโดยมากมีแต่ คหปติจีวรํ ในที่นี้ท่านเติม -

ทาน - เข้ามาเพื่ออะไร มหาฎีกาท่านแย้มไว้ ดูเหมือนว่าดังนี้ ผ้าที่เจ้าของทอดไว้ด้วยประสงค์จะ

ให้บรรพชิตมาชักเอาไป (อย่างผ้าป่าของเราทุกวันนี้ ?) พึงเรียกคหปติจีวรได้ แต่ไม่เรียกคหปติ -

ทานจีวร (เพราะคหปติทานจีวรหมายเอาจีวรที่เจ้าของนำมาประเคนด้วยมือ ? เพราะฉะนั้นท่านจึง

ประกอบ - ทาน - ไว้ด้วย เพื่อให้ต่างกับคหปติจีวร) เพื่ออนุโลมตามนัยฎีกานี้ จึงแปลว่า "จีวร

อันเป็นของคฤหบดีถวาย"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 129

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในปังสุกูลิกังคะ ]

ก็ในบรรดาผ้า (ที่นับว่าเป็นผ้าปังสุกูล) คือ

๑. โสสานิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า)

๒. ปาปณิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ตามทางเข้าตลาด)

๓. รถิยโจฬะ (ผ้าที่ทิ้งอยู่ตามตรอก)

๔. สังการโจฬะ (ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ในกองหยากเยื่อ)

๕. โสตถิยะ (ผ้าที่เขาใช้เช็ดครรภมลทินแล้วทิ้ง)

๖. นหานโจฬะ (ผ้าที่เขาผลัดอาบน้ำมนต์แล้วทิ้ง)

๗. ติตถโจฬะ (ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ตามท่าน้ำ)

๘. คตปัจจาคตะ (ผ้าที่เขานุ่งไปป่าช้ากลับมาแล้วทิ้ง)

๙. อัคคิทัฑฒะ (ผ้าถูกไฟไหม้แล้วทิ้ง)

๑๐. โคขายิตะ (ผ้าที่โคเคี้ยวแล้วเขาทิ้ง)

๑๑. อุปจิกาขายิตะ (ผ้าปลวกกัดแล้วเขาทิ้ง)

๑๒. อุนทูรขายิตะ (ผ้าหนูกัดแล้วเขาทิ้ง)

๑๓. อันตัจฉินนะ (ผ้าขาดริมแล้วเขาทิ้ง)

๑๔. ทสัจฉินนะ (ผ้าขาดชายแล้วเขาทิ้ง)

ข. มหาฎีกาท่านแต่งปัญหาสอดเข้ามาว่า การสมาทานด้วยการใช้คำสมาทานตรง ๆ

(สมาทิยามิ) ย่อมสำเร็จเป็นการสมทานโดยไม่มีปัญหา แต่การใช้คำปฏิเสธ (ปฏิกฺขิปาทิ)

จะเป็นอันสมาทานอย่างไรกัน ? แล้วท่านก็ตอบของท่านเองว่า เป็นได้เพราะความถึงกัน เช่นเมื่อ

พูดว่าเทวทัตไม่บริโภคอาหารกลางวัน ความก็บ่งไปว่าเขาบริโภคกลางคืนนะซิ เพราะเว้นอาหาร

เสียหมดแล้ว ร่างกายของเขาจะอยู่ไปได้หรือ ดังนี้ฉันใด แม้ในการสมาทานนี้ก็ฉันนั้น เมื่อกล่าว

ปฏิเสธคหปติทานจีวร ความก็แล่นไปถึงว่า ถ้าเช่นนั้นเธอก็ถือเอาจีวรอย่างอื่นนะซิ เพราะว่า

จะบวชอยู่โดยไม่มีจีวรนั้นไม่ได้อยู่เอง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 130

๑๕. ธชาหฎะ (ผ้าที่เขายกเป็นธงแล้วทิ้งไว้)

๑๖. ถูปจีวระ (ผ้าที่เขาห่มจอมปลวกทำพลีกรรม

แล้วทิ้งไว้)

๑๗. สมณจีวระ (ผ้าของภิกษุด้วยกัน)

๑๘. อาภิเสกิกะ (ผ้าที่เขาทิ้ง ๆ ไว้ในที่ราชาภิเษก)

๑๙. อิทธิมยะ (ผ้าสำเร็จด้วยฤทธิ์)

๒๐. ปันถกะ (ผ้าที่ตกอยู่ตามหนทางไม่ปรากฏเจ้า

ของ)

๒๑. วาตาหฏะ (ผ้าที่ลมหอบไปไม่มีเจ้าของติดตาม)

๒๒. เทวทัตติยะ (ผ้าที่เทวดาถวาย)

๒๓. สามุททิยะ (ผ้าที่คลื่นทะเลซัดขึ้นฝั่ง)

เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง พระโยคีผู้มีธุดงค์อันได้สมาทานอย่างนั้นแล้ว

พึงถือเอามาฉีกเนื้อผ้าเปื่อยทิ้งเสีย ซักเนื้อผ้าที่ยังเหนียวทำเป็นจีวร

เปลื้องคฤหบดีจีวรผืนเก่าแล้วใช้เถิด.

บรรดาผ้าเหล่านั้น ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า ชื่อว่า โสสานิกะ ผ้า

ที่ตกอยู่ที่ทางเข้าตลาด ชื่อว่า ปาปณิกะ ผ้าที่เหล่าชนผู้ต้องการบุญ

ทิ้งลงตามตรอก ทางช่องหน้าต่าง ชื่อว่า รถิยโจฬะ ท่อนผ้าที่เขา

ทิ้งที่กองหยากเยื่อ ชื่อว่าสังการโจฬะ ผ้าที่เขาเช็ดครรภมลทินแล้วทิ้ง

ชื่อว่า โสตถิยะ เล่ากันว่า มารดาของติสสอำมาตย์ให้ใช้ผ้ามีราคา

นับแสนเช็ดครรภมลทินแล้วให้ทิ้งไว้ที่ทางเดินชื่อตาลเวฬี ด้วยประสงค์

ว่าภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรทั้งหลายจักถือเอา ภิกษุทั้งหลายถือเอา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 131

(ผ้านั้น) เพื่อ (ปะจีวร) ที่ชำรุดเท่านั้น* คนทั้งหลายที่พวกหมอผี

ให้อาบน้ำดำเกล้าแล้ว (ผลัด) ทิ้งผ้าอันใดไป ด้วยสำคัญว่า ผ้า

(ที่ผลัด) นั้น เป็นกาลกัณณี ผ้า (ที่เขาผลัดทิ้งไป) นั้น ชื่อ

นหานโจฬะ ผ้าเก่า ๆ ที่เขาทิ้งไว้ตามท่าอาบน้ำ ชื่อว่า ติตถโจฬะ

คนทั้งหลายที่ไปป่าช้ากลับมาอาบน้ำแล้วทิ้งผ้าใดเสีย ผ้านั้นชื่อว่า

คตปัจจาคตะ ผ้าที่ถูกไฟไหม้บางส่วน ชื่อว่า อัคคิทัฑฒะ คน

ทั้งหลายย่อมทิ้งผ้าที่ไฟไหม้นั้นเสียเหมือนกัน ผ้า (๕ อย่าง) มี

ผ้าที่ชื่อว่าโคขายิตะเป็นต้น ชัดอยู่แล้ว แม้ผ้าเช่นนั้น ๆ คนทั้งหลาย

ย่อมทิ้งเสียเหมือนกัน ผ้าที่คนทั้งหลายเมื่อจะขึ้นเรือผูกเป็นธงไว้

แล้วจึงขึ้นไป ชื่อว่า ธชาหฏะ ภิกษุจะถือเอาผ้านั้นเมื่อสุดสายตาคน

เหล่านั้นไปก็ควร แม้ผ้าที่เขาผูกเป็นธงปักไว้ในยุทธภูมิ เมื่อทหาร

ทั้งสองฝ่ายไปแล้ว ภิกษุจะถือเอาผ้านั้นก็ควร ผ้าที่เขาห่มจอมปลวก

ทำพลีกรรม ชื่อว่า ถูปจีวระ ผ้าเป็นของภิกษุด้วยกัน ชื่อว่า

สมณจีวระ ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในสถานที่ราชาภิเษก ชื่อว่า อาภิเสกิกะ

จีวรของเอหิภิกษุ ชื่อว่า อิทธิมยะ ผ้าที่ตกอยู่ในระหว่างทาง ชื่อ

* ชิณฺณกฏฺฐานตฺถเมว ก็ไม่มีคำไหนที่จะแปลว่า "ปะ" ได้ แต่เห็นว่าความบ่งไปทางนั้น

ก็ต้องแปลเอาความไปอย่างนั้น หากว่าแปลอย่างนี้เป็นถูก ก็ยังมีปัญหาน่าคิดต่อไปว่า เพราะเหตุไร

ภิกษุผู้ถือเอาผ้านั้นไป จึงไม่ใช้ผ้านั้นทำจีวร ใช้เพียงเป็นผ้าสำหรับปะจีวรเท่านั้น เหตุน่าจะเป็น

ดังนี้

ก. ผ้าผืนนั้นนับเป็นผ้าบังสุกุลก็จริง แต่ราาแพงนัก ทำเป็นจีวรแล้วจะใช้ไม่สนิทใจ

และอาจถูกขโมยโดยง่ายด้วย

ข. ผ้าผืนนั้นขนาดไม่พอทำจีวร จะไปแสวงหาผ้าราคาเป็นแสนอย่างนั้นมาเพิ่มเติม

ได้ที่ไหนง่าย ๆ เล่า จึงป่วยการที่จะเก็บรอไว้ ใช้ประโยชน์อย่างอื่นเสียดีกว่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 132

ปันถิกะ ก็ผ้าใดตกลงเพราะความหลงลืมสติแห่งเจ้าของ ผ้านั้นภิกษุ

ควรรักษาไว้ชั่วหน่อยหนึ่งแล้วจึงถือเอา ผ้าที่ลมพัดไปตกในที่ไกล

ชื่อว่า วาตาหฏะ ก็ภิกษุ เมื่อไม่เห็นเจ้าของ จะถือเอาผ้านั้นก็ควร

ผ้าที่เทวดาถวาย ดุจผ้าที่เทวดาถวายแก่พระอนุรุทธเถระฉะนั้น

ชื่อว่า เทวทัตติยะ ผ้าที่คลื่นทะเลซัดขึ้นบก ชื่อ สามุททิยะ

ส่วนผ้าใดที่ทายกกล่าวคำว่า สงฺฆสฺส เทม (ข้าพเจ้าทั้งหลาย

ถวายแก่สงฆ์) ถวายก็ดี ที่ภิกษุผู้เที่ยวไปภิกขาผ้าได้มาก็ดี ผ้านั้น

ไม่เป็นผ้าบังสุกุล. แม้ในผ้าที่ภิกษุด้วยกันให้ ผ้าใดที่จีวรภาชกะแจก

ให้ตามลำดับพรรษาก็ดี จีวรประจำเสนาสนะก็ดี* ผ้านั้นก็ไม่เป็นผ้า

บังสุกุล. ผ้าที่จีวรภาชกะไม่ได้แจกให้เท่านั้น จึงเป็นผ้าบังสุกุล. แม้

ในผ้าบังสุกุลชนิดนั้น ผ้าใดที่ทายกทอดไว้แทบเท้าของภิกษุ (รูปหนึ่ง)

แต่ภิกษุนั้น (ถือเอาไป) วางถวายในมือของปังสุกูลิกภิกษุ (อีก

ทอดหนึ่ง) ผ้านั้น ชื่อว่า เอกโตสุทธิกะ (บริสุทธิ์ฝ่ายเดียว)

ผ้าใดที่ทายกวางถวายในมือของภิกษุ (รูปหนึ่ง) แล้วภิกษุนั้น

(นำไป) ทอดไว้แทบเท้า (ของปังสุกูลกภิกษุ) แม้ผ้านั้นก็เป็น

เอกโตสุทธิกะ ผ้าใดที่ทั้งทายกก็ทอดไว้แทบเท้าของภิกษุ (รูปหนึ่ง)

ทั้งภิกษุนั้นก็ถวาย (แก่ปังสุกูลกภิกษุ) โดยวิธีอย่างเดียวกัน ผ้านั้น

จึงเป็นอุภโตสุทธิกะ (บริสุทธิ์สองฝ่าย) ผ้าใดที่ภิกษุได้มาเพราะ

(ทายก) วาง (ถวาย) ในมือ แล้วภิกษุนั้นก็ (นำไป) วาง

* เสนาสนจีวรํ มหาฎีกาขยายความว่า ทายกสร้างเสนาสนะขึ้นแล้ว ถวายจีวรไว้สำหรับ

เสนาสนะด้วย โดยเจาะจงไว้ให้เฉพาะภิกษุที่มาอยู่ในเสนาสนะนั้นใช้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 133

(ถวาย) ในมือ (ของปังสุกูลิกภิกษุ) เหมือนกัน ผ้านั้นชื่อว่า

จีวร (บังสุกุล) อย่างไม่อุกฤษฏ์. ปังสุกูลิกภิกษุรู้ความต่างแห่งผ้า

บังสุกุลนี้อย่างนี้แล้วจึงควรใช้จีวรแล นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ) ใน

ปังสุกูลิกังคะนี้.

[ ประเภทแห่งปังสุกูลิกภิกษุ ]

ส่วนประเภทพึงทราบดังต่อไปนี้ คือ ปังสุกูลิกภิกษุมี ๓ จำพวก

คือ ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ ๑ ผู้ถืออย่างกลาง ๑ ผู้ถืออย่างเพลา ๑ ใน

๓ จำพวกนั้น ผู้ถือเอาแต่ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้าเท่านั้น ชื่อว่า เป็นผู้ถือ

อย่างอุกฤษฏ์ ผู้ถือเอาจีวรที่ผู้ปรารถนาบุญทอดไว้ด้วยคิดว่าบรรพชิต

จักถือเอา ดังนี้ ชื่อว่าผู้ถืออย่างกลาง ผู้ถือเอาผ้าที่เขาวางถวาย

แทบเท้า ชื่อว่าผู้ถืออย่างเพลา.

[ ความแตกแห่งปังสุกูลิกังคะ ]

ธุดงค์ของปังสุกูลิกภิกษุ ๓ จำพวกนั้น จำพวกใดจำพวกหนึ่ง

ก็ตาม ย่อมแตกในขณะที่เธอยินดีผ้าที่พวกคฤหัสถ์ถวายตามความชอบ

ใจพอใจของตน นี้เป็นความแตกในปังสุกูลิกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งปังสุกูลิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์พึงทราบดังต่อไปนี้ (คือ) (๑) เกิดมีความปฏิบัติ

ที่สมควรแก่นิสัย ตามพระบาลี (บอกอนุศาสน์) ข้อว่า บรรพชา

อาศัยบังสุกุลจีวร (๒) ได้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ข้อที่ ๑ (๓) ไม่ต้อง

ลำบากเพราะการรักษา (๔) ไม่เป็นผู้มีความเป็นไปเกี่ยวเกาะกับ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 134

ผู้อื่น (๕) ไม่มีความกลัวเพราะโจรภัย (๖) ไม่มีตัณหาในการ

บริโภค (๗) มีบริขารเป็นสมณสารูป (๘) มีปัจจัยตามที่พระ-

ผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ว่า เป็นของเล็กน้อยด้วย เป็นของหา

ได้ง่ายด้วย เป็นของหาโทษมิได้ด้วย๑ (๙) เป็นผู้น่าเลื่อมใส (๑๐)

ธุตธรรมมีความมักน้อยเป็นต้นอำนวยผล๒ (๑๑) สัมมาปฏิบัติเพิ่มพูน

ขึ้น (๑๒) ทำให้ประชุมชนผู้เกิดในภายหลังได้ทิฏฐานุคติ.

[ คาถาสรูป ]

ภิกษุผู้สำรวม ทรงผ้าบังสุกุล เพื่อกำจัดมาร

และเสนามาร ย่อมงาม ดังกษัตริย์ผู้ทรงสวมเกราะ

แล้วงามสง่าอยู่ในที่รบฉะนั้น ผ้าบังสุกุลใด แต่

องค์พระผู้เป็นครูของโลกยังทรงละผ้าอย่างดี ๆ มี

ผ้ากาสีเป็นต้นเสียแล้วมาทรงใช้ ใครจะไม่พึงใช้

ผ้าบังสุกุลนั้น (โดยเสด็จ) เล่า เพราะเหตุนั้นแล

ภิกษุเมื่อระลึกถึงคำปฏิญญาของตน๓ พึงเป็นผู้ยินดี

ในผ้าบังสุกุล อันอนุกูลแก่การบำเพ็ญเพียร เทอญ.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความ

แตก และอานิสงส์ในปังสุกูลิกังคะ เป็นอันดับแรก.

๑. องฺ. จตุกฺก. ๒๐/๓๔.

๒. ธุตธรรม มี ๕ คือ อปฺปิจฺฉตา สนฺตุฏฺฐิตา สลฺเลขตา ปวิเวกตา อิทมตฺถิตา (ดูตอนแก ้

ธุตธรรม วิสุทธิมรรค หน้า ๑๐๑).

๓. ท่านหมายถึงคำรับ "อาม ภนฺเต" ของภิกษุใหม่ เมื่อพระอนุสาสนาจารย์บอกอนุศาสน์จบ

ในโรงอุปสมบท

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 135

๒. เตจีวริกังคะ

[ การสมาทานเตจีวริกังคะ ]

ก็เตจีวริกังคะอันเป็นลำดับแห่งปังสุกูลิกังคะนั้น ย่อมเป็นอัน

สมาทานด้วยคำ ๒ นี้ คำใดคำหนึ่งว่า จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ

ข้าพเจ้างดผ้าจีวรผืนที่ ๔ เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์

แห่งภิกษุผู้มีอันทรงผ้า ๓ ผืนเป็นปกติ ดังนี้.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในเตจีวริกังคะ ]

ก็เตจีวริกภิกษุนั้น ได้ผ้าสำหรับทำจีวรมาแล้ว ยังไม่อาจจะทำ

เพราะไม่สบายเสียก็ดี ยังไม่ได้กะก็ดี เครื่องอุปกรณ์มีเข็มเป็นต้น

อย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่พร้อมก็ดี ตราบใด พึงเก็บไว้ได้ ตราบนั้น.

โทษเพราะการเก็บไว้เป็นปัจจัยหามีไม่ แต่ว่าจำเดิมแต่กาลที่ย้อมแล้ว

จะเก็บไว้ไม่ควร (ถ้าเก็บไว้) เธอจะได้ชื่อว่าเป็นธุดงคโจรไป นี้เป็น

วิธี (ปฏิบัติ) ในเตจีวริกังคะนั้น.

[ ประเภทแห่งเตจีวริกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้ภิกษุเตจีวริกะนี้ก็มี ๓ จำพวก ใน ๓ จำพวก

นั้น ท่านผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ ในเวลาย้อมผ้า พึงย้อมอันตรวาสกหรือ

อุตตราสงค์ (ผืนใดผืนหนึ่ง) ก่อน (เมื่ออุตตราสงค์แห้งแล้ว) พึงห่ม

อุตตราสงค์นั้นแล้วจึงย้อมสังฆาฏิ แต่จะนุ่งสังฆาฏิไม่ควร นี้เป็นวัตร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 136

ในเสนาสนะชายบ้าน สำหรับภิกษุเตจีวริกะนั้น. ส่วนผู้เป็นอารัญญิกะ

จะซักย้อม ๒ ผืนในคราวเดียวกันก็ได้ แต่พึงนั่งอยู่ใกล้ ๆ (ผ้า) พอ

ที่เห็นว่าใคร ๆ มา สามารถจะซักผ้ากาสาวะ (ที่ตากอยู่) มาคลุมตัว

ได้ทัน. ส่วนสำหรับท่านผู้ถือกลางอย่าง ตามปกติ ผ้ากาสาวะสำหรับ

(ยืมใช้ในเวลา) ย้อมผ้าในโรงย้อมมีอยู่ นุ่งหรือห่มผ้า (สำหรับยืม

ใช้) นั้นแล้ว ทำรชนกรรม (การย้อมผ้าของตน) ก็ควร. สำหรับ

ผู้ถืออย่างเพลา จะนุ่งหรือห่มจีวรของภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วทำรชน-

กรรมก็ควร แม้ผ้าปูนอนอันเป็นของมีอยู่ในเสนาสนะนั้น ก็ควรแก่

เธอ แต่จะรักษาไว้ (ใช้เป็นนิจไป) ไม่ควร จะ (ยืม) ใช้แม้จีวร

ของภิกษุผู้ชอบพอกันในระหว่าง ๆ ย่อมไม่ควร*. ก็แลภิกษุเตจีวริกะ

จะมีผ้าผืนที่ ๔เพิ่มขึ้นก็ได้แต่ผ้างสะอย่างเดียว แต่ผ้าอังสะนั้น กว้าง

ประมาณคืบหนึ่ง ยาวประมาณสามศอกเท่านั้นจึงควร.

* ฉบับสีหลและฉบับยุโรป ไม่มีคำปฏิเสธ การมีคำปฏิเสธ กับไม่มีคำปฏิเสธเป็นเรื่องสำคัญ

อยู่ ควรจะวิจารณ์ดูบ้าง

โดยทางไวยากรณ์ น ศัพท์ ที่ปฏิเสธ วฏฺฏติ มักเรียงไว้ติดกับ วฏฺฏติ เป็น น วฏฺฏติ

ดูในธุดงคนิเทศนี้เองก็เห็นอยู่เช่นนั้นเป็นแถวไป มาแปลกเพื่อนอยู่ตรงนี้แห่งเดียวเรียง น ไว้ต้น

ประโยคทีเดียว - น สภาคภิกฺขูนํ ฯ เป ฯ วฏฺฏติ ดังนี้

โดยทางความที่ควรจะเป็น การยืมใช้จีวรของภิกษุที่ชอบพอกันในเมื่อย้อมผ้าของตนนั้นเป็นการ

ควรอยู่แล้ว ก็การซักย้อมผ้านั้น ย่อมจะต้องทำเนือง ๆ ไปหลายครั้งหลายหน การยืมผ้าเขา

ผลัดก็จะต้องมีทุกครั้งนั่นเอง แม้จะยืมเขาใช้ครั้งไหนกี่ครั้งก็ควรทุกครั้งไป ท่านจึงว่า อนฺตรนฺ

ตรา

ปริภุญฺชิตํุ วฏฺฏติ (ยืมเขา) ใช้ในระหว่าง ๆ (คือหลายครั้ง) ก็ควร ความน่าจะเปน็ ดังนี้

ไม่น่าจะว่า "ไม่ควร" เลย

โดยทางพยัญชนะ ศัพท์ อนฺตรนฺตรา นั่นแหละ สนับสนุนความที่ว่านั้น คือ ไม่ได้ถือ

สิทธิเป็นของตัว ยืมเขาใช้เป็นระหว่าง ๆ เท่านั้น จึงว่าควร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 137

[ ความแตกแห่งจีวริกังคะ ]

ก็ธุดงค์ของภิกษุเตจีวริกะทั้ง ๓ ประเภทนี้ ย่อมแตกในขณะ

ที่เธอยินดีจีวรผืนที่ ๔ นั่นแล นี้เป็นความแตกในจีวริกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งเตจีวริกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์มีดังนี้ คือ คุณทั้งหลายเช่นที่จะกล่าวต่อไปนี้ ย่อม

สำเร็จ (แก่ภิกษุเตจีวริกะ) คือ (๑) ภิกษุเตจีวริกะย่อมเป็นผู้

สันโดษด้วยจีวรแต่พอรักษากาย ด้วยความสันโดษนั้น (ไปข้างไหน)

เธอถือเอา (จีวรนั้น) ไปได้ ดุจนก (พาเอาแต่ปีกบินไป) ฉะนั้น

(๒) มีกิจที่จะพึงปรารมภ์น้อย (๓) เลิกการสะสมผ้า (๔) มีความ

ประพฤติเป็นคนเบาดี (๕) ละความละโมบในอติเรกจีวรได้ (๖) ทำ

ความพอใจในผ้าที่เป็นกัปปิยะ* (๗) มีความประพฤติขูดเกลากิเลส

(๘) ธุตธรรมมีความมักน้อยเป็นต้นอำนวยผล (แก่เธอ) ดังนี้.

[ คาถาสรูป ]

พระโยคีผู้มีปัญญา รู้รสความสุขอันเกิดแต่

สันโดษ จึงละตัณหาในผ้าที่เหลือเฟือได้ เลิกการ

สะสม (ผ้า) เป็นผู้ทรงไว้แต่ไตรจีวร เพราะ

เหตุนั้น พระโยคีผู้ประเสริฐ ปรารถนาจะเที่ยว

ไปให้สะดวก พึงกระทำความยินดีในธุดงค์ที่ท่าน

* มหาฎีกาท่านขยายความว่า แม้ทรงอนุญาตผ้าไว้ตั้งหลายอย่าง เช่นผ้านิสีทนะ ฯ ล ฯ

โดยที่สุดผ้าบริขารโจล แต่ภิกษุเตจีวริกะนี้ไม่ใช้ผ้าอื่น ๆ เลย ใช้อยู่แต่ผ้า ๓ ผืนเท่านั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 138

กำหนดด้วยจีวร (ไปข้างไหน) มีแต่ (ไตร)

จีวรไป ดุจนกมีแต่ปีกฉะนั้นเถิด.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในเตจีวริกังคะ.

๓. ปิณฑปาติกังคะ

[ การสมาทานปิณฑปาติกังคะ ]

แม้ปิณฑปาติกังคะก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใด

คำหนึ่งว่า อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดอติเรกลาภ ปิณฺฑ-

ปาติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์ของภิกษุผู้มีการเที่ยว

บิณฑบาตเป็นปกติ.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในปิณฑปาติกังคะ ]

ก็ปิณฑปาติกภิกษุนั้น ไม่พึงยินดีภัต ๑๔ อย่างเหล่านี้ คือ

๑. สงฺฆภตฺตํ (ภัตรที่เขาถวายสงฆ์ทั่วไป)

๒. อุทฺเทสภตฺตํ (ภั_______ตรที่เขาเจาะจงถวายเฉพาะตัว)

๓. นิมนฺตนํ (ภัตรในที่นิมนต์)

๔. สลากภตฺตํ (ภัตรที่ถวายโดยสลาก)

๕. ปกฺขิกํ (ภัตรถวายประจำปักข์)

๖. อุโปสถิกํ (ภัตรถวายประจำวันอุโบสถ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 139

๗. ปาฏิปทิกํ (ภัตรถวายประจำวันปาฏิบท)

๘. อาคนฺตุกภตฺตํ (ภัตรเพื่อภิกษุอาคันตุกะ)

๙. คมิกภตฺตํ (ภัตรเพื่อภิกษุผู้เตรียมเดินทาง)

๑๐. คิลานภตฺตํ (ภัตรเพื่อภิกษุผู้อาพาธ)

๑๑. คิลานุปฏฺฐากภตฺตํ (ภัตรเพื่อผู้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ)

๑๒. วิหารภตฺตํ (ภัตรประจำวิหาร)

๑๓. ธุรภตฺตํ (ภัตรประจำวิหาร)

๑๔. วารภตฺตํ (ภัตรที่เขาถวายโดยวาระ คือแบ่งเวรกันถวาย)

แต่ภัตรเหล่าใด ถ้าทายกไม่ได้กล่าว (ออกชื่อ) โดยนัยเป็นต้นว่า

"ขอท่านทั้งหลายจงรับสังฆภัตร" ดังนี้ (เป็นแต่) กล่าว่า "ขอสงฆ์

จงรับภิกษาในเรือนของข้าพเจ้า" (หรือว่า) "แม้ท่านทั้งหลายจงรับ

ภิกษา" ดังนี้แล้วถวายไซร้ ปิณฑปาติกภิกษุจะยินดีภัตรเหล่านั้นก็ควร

นิรามิสสลาก (สลากที่ไม่มีอามิส) แต่สงฆ์ก็ดี๒ ภัตรที่เขาหุง (ถวาย)

๑. มหาฎีกาแก้ไว้ว่า "ธุรเคเหเอว ฐเปตฺวา ทาตพฺพภตฺตํ ธุรภตฺตํ - ภัตรที่เขาพึง

ตั้งถวายที่เรือนใกล้เคียงนั่นแล ชื่อธุรภัตร" ถ้าแก้และแปลอย่างนี้ถูก ก็ยังจะต้องหาทาง

เข้าใจต่อไปอีกว่า ลักษณาการภัตรชนิดนี้เป็นอย่างไร อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้มีศรัทธามา

ปลูกบ้านอยู่ใกล้วัด เพื่อมีโอกาสทำบุญได้สะดวก ๆ บ้านอย่างนี้เรียกว่าธุรเคหะ ท่านผู้มี

ศรัทธาเจ้าของบ้านนั้น จัดอาหารเตรียมไว้สำหรับภิกษุในวัดเป็นประจำ ท่านองค์ไหนเข้าไป

เป็นไม่ผิดหวัง เรียกว่า ธุรภัตร ? เพราะเข้าใจยากอย่างนี้ จึงมีผู้คิดว่าน่าจะเป็น ธุวภตฺตํ

ซึ่งแปลได้ง่าย ๆ ว่าภัตรประจำ.

๒. นิรามิสสลากา มหาฎีกาท่านไม่วินิจฉัยว่าได้แก่อะไร เป็นแต่นำเอามติของเกจิอาจารย์

มากล่าวไว้ว่า ลางท่านว่าได้แก่สลากของอย่างอื่นมีเภสัชเป็นต้น ลางท่านว่าได้แก่สลาก

(ของกิน) ที่ไม่ใช่ยาวกาลิก ทั้งสองมติก็คงลงกันว่า ไม่ใช่สลากภัตนั่นเอง จึงมีปัญหาว่า

เมื่อไม่ใช่ภัตร จะกล่าวในนิเทศนี้เพื่ออะไรเล่า คำข้างหลังที่กล่าวเป็นคู่กันก็ยันอยู่ว่าเป็นภัตร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 140

ในวิหารก็ดี ย่อมควรโดยแท้แล นี่เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งปิณฑปาติก-

ภิกษุนั้น.

[ ประเภทแห่งปิณฑปาติกภิกษุ ]

ส่วนว่าโดยประเภท แม้ปิณฑปาติกภิกษุนี้ก็มี ๓ จำพวก ใน

๓ จำพวกนั้น ผู้ที่ถืออย่างอุกฤษฏ์ ย่อมรับภิกษาที่ทายกนำมา (ถวาย

จากเรือน) ข้างหน้าก็ได้ (จากเรือน) ข้างหลังก็ได้ ยืนที่ประตู

บ้านหนึ่ง แม้เมื่อคน (บ้านอื่น ๆ มาขอ) รับบาตรก็ให้ รับภิกษา

ที่เขานำมาถวายในเวลากลับก็ได้* แต่ (เลิกบิณฑบาต) นั่งลงแล้ว

ย่อมไม่รับภิกษา (อีก) ในวันนั้น ผู้ถืออย่างกลาง แม้นั่งลงแล้ว

ยังรับ (อีก) ในวันนั้น แต่ไม่รับ (นิมนต์) เพื่อฉันในวันพรุ่ง

ผู้ถืออย่างเพลา ย่อมรับ (นิมนต์) เพื่อฉันในวันพรุ่งก็ได้ ในวัน

ต่อไปก็ได้ ปิณฑปาติภิกษุทั้ง ๒ ประเภทนั้น ย่อมไม่ได้ความสุข

ในการอยู่โดยเสรี ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์เท่านั้นจึงได้ (ดัง) มีเรื่องเล่าว่า

ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มี (การแสดงธรรมกถาว่าด้วย) อริยวงศ์ ปิณฑ-

ปาติกภิกษุผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ กล่าวกะปิณฑปาติกภิกษุทั้ง ๒ ประเภทว่า

'อาวุโส เรามาไปฟังธรรมกันเถิด' ในภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกล่าวว่า

'ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า (ติดขัดด้วย) คน ๆ หนึ่งนิมนต์ให้นั่ง (คอย)'

อีกรูปหนึ่งกล่าวว่า 'ท่านผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้าก็ได้รับนิมนต์เพื่อฉันภิกษา

(คือ วิหาเร ปกฺกภตตมฺปิ) จึงน่าจะสันนิษฐานว่า ภัตรที่ทางการสงฆ์ จัดแจกให้โดยสลาก

ไม่นับเป็นสังฆภัตรและสลากภัตร เพราะไม่ใช่ภัตรที่ชาวบ้านถวาย จึงควรแก่ภิกษุปิณฑปาติกะ ?

* ปฏิกฺมเน ลางมติว่า ที่โรงฉัน หอฉัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 141

ในวันพรุ่งนี้ ของทายกคนหนึ่งไว้' ภิกษุทั้งสองรูปนั้นได้เสื่อมเสีย

(ประโยชน์) ไป ด้วยประการอย่างนี้ ฝ่ายท่านผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์

เที่ยวบิณฑบาตแต่เช้า (ฉัน) แล้วก็ไป ได้เสวยธรรมรส.

[ ความแตกแห่งปิณฑปาติกังคะ ]

ก็ธุดงค์แม้ของปิณฑปาติกภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ ย่อมแตกในขณะ

ที่ยินดีอติเรกลาภมีสังฆภัตรเป็นต้นนั่นแล นี้เป็นความแตกในปิณฑ-

ปาติกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งปิณฑปาติกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์มีดังต่อไปนี้ คือ (๑) เกิดมีความปฏิบัติที่สมควร

แก่นิสัย ตามพระบาลี (บอกอนุศาสน์) ข้อว่า บรรพชาอาศัยการ

บริโภคคำข้าวที่แสวงหาด้วยกำลังแข้ง (๒) ได้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ข้อที่ ๒

(๓) ไม่เป็นผู้มีความเป็นไปเกี่ยวเกาะกับผู้อื่น (๔) มีปัจจัยตาม

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ว่า เป็นของเล็กน้อยด้วย เป็นของ

หาได้ง่ายด้วย เป็นของหาโทษมิได้ด้วย (๕) ย่ำยีความเกียจคร้าน

เสียได้ (๖) มีอาชีวะบริสุทธิ์ (๗) ได้บำเพ็ญเสขิยปฏิบัติ

(๘) ไม่ต้องเลี้ยงผู้อื่น (๙) ได้ทำความอนุเคราะห์ผู้อื่น (๑๐) ละ

มานะได้ (๑๑) ป้องกันตัณหาในรสได้ (๑๒) ไม่ต้องอาบัติ

เพราะคณโภชนสิกขาบท ปรัมปรโภชนสิกขาบท และจาริตตสิกขาบท

(๑๓) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรมทั้งหลาย มีความมักน้อย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 142

เป็นต้น (๑๔) สัมมาปฏิบัติเพิ่มพูน (๑๕) ได้อนุเคราะห์ประชุมชน

ผู้เกิดในภายหลัง๑.

[ คาถาสรูป ]

นักพรตผู้สันโดษในโภชนะ คือ คำข้าว

อันตนแสวงหามาได้ด้วยกำลังแข้ง มีความเป็นอยู่

ไม่เกี่ยวเกาะกับคนอื่น ละความละโมบในอาหาร

เป็นพระ ๔ ทิศ๒ บรรเทาความเกียจคร้านได้ อาชีวะ

ของเธอย่อมหมดจด เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้มี

ปัญญาดีไม่ควรดูหมิ่นภิกขาจาร.

ด้วยว่าเทวดาทั้งหลาย ย่อมใฝ่ใจต่อภิกษุผู้มี

การเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ ผู้เลี้ยงตนเอง มิใช่

ผู้เลี้ยงคนอื่น มั่นคงอยู่เช่นนั้น ถ้าเธอเป็นผู้ไม่

มุ่งลาภและความสรรเสริญ ดังนี้แล.

๑. มหาฎีกาขยายความไว้บางข้อ ดังนี้

ย่ำยีความเกียจคร้านเสียได้ เพราะต้องอาศัยกำลังแข้งแสวงหาบิณฑบาตอยู่เป็นปกติ.

มีอาชีวะบริสุทธิ์ เพราะแสวงหาอาหารแบบแมลงภู่ ไม่ทำให้เกิดความชอกช้ำเสียหาย.

ได้บำเพ็ญเสขิยปฏิบัติ เพราะต้องเข้าสู่ละแวกบ้านอยู่เป็นนิจ.

ไม่ต้องเลี้ยงผู้อื่น เพราะรู้ประมาณในการรับ (คือรับมาแต่พอเลี้ยงตัวคนเดียว) และ

เพราะไม่อยู่ระคนกับใคร จึงไม่มีใครที่จะต้องเลี้ยง.

ทำความอนุเคราะห์ผู้อื่น เพราะรับบิณฑบาตบ้านละนิดละหน่อย.

ละมานะได้ เพราะยอมเลี้ยงชีวิตด้วยวิธีอันต่ำต้อยที่สุด (คือเที่ยวบิณฑบาต).

ป้องกันตัณหาในรสได้ เพราะฉันอาหาร (สำ) รวม.

๒. มหาฎีกาอธิบายว่า จะอยู่ไหนก็อยู่ได้ จะไปไหนก็ไปได้ทั้ง ๔ ทิศ ไม่มีขัดข้อง (ด้วย

เรื่องอาหารการกิน).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 143

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในปิณฑปาติกังคะ.

๔. สปทานจาริกังคะ

[ การสมาทานสปทานจาริกังคะ ]

แม้สปทานจาริกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใด

คำหนึ่งว่า โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดการเที่ยวโดยละโมบเสีย

สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มี

อันเที่ยวไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ ดังนี้.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในสปทานจาริกังคะ ]

ก็สปทานจาริกภิกษุนั้น พึง (หยุด) ยืนที่ประตูบ้าน กำหนด

ดูความปลอดภัยอันตราย (เสียก่อน) ในตรอกหรือบ้านใดมีอันตราย

จะละตรอกหรือบ้านนั้นเสียแล้วไปตามตรอกหรือบ้านอื่นก็ควร เธอไม่ได้

โภชนะสักน้อยหนึ่ง ที่ประตูเรือนใด หรือที่ตรอกใด หรือที่บ้านใด

พึงทำอคามสัญญา (ความหมายว่า ที่นั้นไม่ใช่บ้าน) แล้วไปเสียใน

ที่อื่นเถิด (แต่ถ้า) เธอได้โภชนะน้อยหนึ่งในที่ใด จะละที่นั้นไปย่อม

ไม่ควร ก็ภิกษุนี้พึงเข้าไปก่อนเวลา (อาหาร) เพราะเมื่อทำเช่นนั้น

เธอจึงจักอาจละที่ไม่ผาสุก แล้วไปในที่อื่นได้ (ทันเวลาอาหาร)

ก็ถ้ามนุษย์ทั้งหลายกำลังถวายทานในวิหาร หรือมาในระหว่างทาง

รับบาตรของเธอแล้วถวายบิณฑบาตแก่เธอ (เธอจะรับ) ก็ควร อนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 144

ภิกษุนี้แม้เมื่อเดินทาง พึงเที่ยว (บิณฑบาต) อย่าล่วงเลยหมู่บ้าน

ที่ไปถึงเข้าในเวลาภิกขาจารไปเสีย เธอจะไม่ได้อาหารเลย หรือได้

นิดหนึ่งก็ตามในหมู่บ้านนั้น ก็พึงเที่ยวไปตามลำดับหมู่บ้านเถิด นี้

เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งสปทานจาริกังคะนั้น.

[ ประเภทแห่งสปทานจาริกภิกษุ ]

ส่วนว่าโดยประเภท แม้สปทานจาริกภิกษุนี้ก็มี ๓ พวก ใน

๓ พวกนั้น พวกถืออย่างอุกฤษฏ์ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำมา (ถวาย

จากเรือน) ข้างหน้าก็ดี ภิกษาที่เขานำมา (ถวายจากเรือน) ข้างหลัง

ก็ดี๑ ภิกษาที่เขานำมาถวายในเวลากลับก็ดี แต่ (ยืน) ที่ประตูบ้าน

หนึ่ง (เมื่อคนบ้านอื่นมาขอรับบาตร) ย่อมปล่อยบาตร (ให้เขารับ

ไป) ได้๒ จริงอยู่ ในธุดงค์ข้อนี้ ภิกษุ (ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์) เสมอ

กับพระมหากัสสปเถระหามีไม่ แม้กระนั้น ที่ปล่อยบาตรของพระเถระ

ก็ยังปรากฏอยู่เหมือนกัน๓ ภิกษุผู้ถือปานกลาง ย่อมรับภิกษาที่เขา

นำมา (ถวายจากเรือน) ข้างหน้าหรือข้างหลังนั้นก็ได้ ที่เขานำมา

(ถวาย) ในเวลากลับก็ได้ (ยืน) ที่ประตูบ้านหนึ่ง (เมื่อคนบ้านอื่น

๑. นี้หมายเอาเมื่อเดินไปตามถนน เรือนที่ยังไปไม่ถึง เรียกว่าข้างหน้า ส่วนเรือนที่เลยมา

แล้ว เรียกว่าข้างหลัง ถ้ารับก็เป็นผิดลำดับ ?

๒. ตรงนี้ ท่านว่าไว้ย่อเหลือเกิน เข้ใจว่าท่านจะสังเขปความมาจากนิเทศแห่งปิณฑปาติกังคะ

ปรทฺวาเร ฐตฺวา ปตฺตํ คณฺหนฺตานมฺปิ เทติ นั่นเอง.

๓. มหาฎีกาว่า หมายเอาที่ ๆ ท่านปล่อยบาตรให้สักกเทวราช ผู้นิรมิตองค์เป็นช่างทอหูกคอยขอ

รับบาตรท่านอยู่ที่ประตูเรือน (นิรมิต) ในถนนช่างหูก (เมืองราชคฤห์).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 145

มาขอรับบาตร) ก็ปล่อยบาตร (ให้เขารับไป) ได้ แต่ย่อมไม่นั่งคอย

ภิกษา โดยข้อที่ไม่นั่งคอยภิกษาอย่างนี้ ชื่อว่าอนุโลมตามภิกษุ

ปิณฑปาติกะอย่างอุกฤษฏ์ ผู้ถืออย่างเพลา ย่อมนั่งคอย (ภิกษา)

ในวันนั้นได้.

[ ความแตกแห่งสปทานจาริกังคะ ]

ก็ธุดงค์ของสปทานจาริกภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ แต่พอการเที่ยวไป

ด้วยความละโมบเกิดขึ้นก็ย่อมแตก นี้เป็นความแตกในสปทาน-

จาริกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งสปทานจารกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) เป็นผู้ใหม่ในตระกูลเป็นนิตย์

(๒) มีใจไม่ติดข้องดั่งดวงจันทร์ (๓) ละความตระหนี่ในตระกูล

เสียได้ (๔) ได้อนุเคราะห์ (ทายก) สม่ำเสมอกัน (๕) ไม่มีโทษ

อันจะพึงมีแก่กุลุปกภิกษุ (๖) ไม่ต้องจ้อง (ฟัง) คำขานชื่อ (ในการ

นิมนต์) (๗) ไม่ต้องการด้วยการนำภิกษามาเฉพาะตัว (๘) มีความ

ประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความมักน้อยเป็นต้น.

[ คาถาสรูป ]

สปทานจารีภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้มีใจ

ไม่ติดข้องดั่งดวงจันทร์ เป็นผู้ใหม่ในตระกูล

เป็นนิจ ไม่ตระหนี่ (ตระกูล) เป็นผู้อนุเคราะห์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 146

ทายกทั้งปวงโดยสม่ำเสมอกัน ปลอดจากโทษ

อันจะพึงมีแก่กุลุปกภิกษุ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มี

ปัญญา เมื่อหวังเที่ยวไปโดยเสรี พึงละความเที่ยว

ไปโดยความละโมบเสีย เที่ยว (บิณฑบาต)

ให้เป็นไปตามลำดับเรือน เทอญ.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ความแตก

และอานิสงส์สปทานจาริกังคะ.

๕. เอกสนิกังคะ

[ การสมาทานเอกาสิกังคะ ]

แม้เอกาสนิกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใดคำ

หนึ่งว่า นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดการฉัน ณ อาสนะต่าง

เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน

ณ อาสนะเดียวเป็นปกติ.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในเอกาสนิกังคะ ]

ก็เอกาสนิกภิกษุนั้น เมื่อจะนั่งในโรงฉัน อย่านั่งที่เถรอาสน์

พึงกำหนดอาสนะอันสมควร ว่าอาสนะนี้จักถึงแก่ตน แล้วจึงนั่ง ถ้า

การฉันของเธอค้างอยู่ อาจารย์หรืออุปัชฌาย์มา ลุกขึ้นทำวัตร ย่อม

ควร ส่วนพระติปิฎกจูฬาภยเถระกล่าวว่า อาสนะพึงรักษา หรือว่า

การฉันพึงรักษา (มิใช่ธุดงค์แตก) ก็ตาม แต่เพราะภิกษุนี้เป็นผู้ฉัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 147

ค้างอยู่แล้ว เพราะเหตุนั้น จงทำวัตรเถิด แต่อย่าฉันโภชนะเลย๑

ดังนี้ นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งเอกาสนิกภิกษุนั้น.

[ ประเภทแห่งเอกาสนิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้เอกาสนิกภิกษุนี้ก็มี ๓ พวก ใน ๓

พวกนั้น ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ โภชนะจะน้อยหรือมากก็ตามเถิด

เธอหย่อนมือลงในโภชนะใด ย่อมไม่ได้เพื่อจะรับโภชนะอื่นจาก

โภชนะนั้น แม้ถ้าคนทั้งหลายรู้ว่า พระเถระไม่ได้ฉันอะไร ๆ เลย๒

๑. ตรงนี้เข้าใจยากอยู่ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาสำหรับเอกาสนิกภิกษุผู้ไปนั่งฉันในโรงฉัน ที่ท่าน

ให้เลือกนั่ง ณ อาสนะที่สมควรแก่ตน ก็เพื่อว่านั่งลงฉันแล้วจะได้ไม่ต้องลุก แต่ก็เกิดมีปัญหา

ขึ้นว่า กำลังฉันอยู่ พระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์เข้ามาในโรงฉันจะทำอย่างไร ? ท่าน

แนะว่า ลุกขึ้นทำวัตรนั่นแหละควร ท่านแนะถูก เพราะว่า ถ้าไม่ทำวัตรก็ต้องอาบัติทุกกฏ

ด้วยอุปัชฌายวัตร อาจริยวัตรนี้ มิได้มีที่ยกเว้นว่า ถ้าถือธุดงค์แล้วไม่ต้องทำ คราวนี้ก็มี

ปัญหาต่อไปอีกว่า ลุกขึ้นทำวัตรแล้ว จะนั่งลงฉันต่อ ณ อาสนะเดิมได้หรือไม่ ท่านไม่

กล่าวไว้ให้ชัด แต่ดูเป็นทีว่า นั่งลงฉันต่อไปได้ ท่านจึงนำเอาวาทะของพระจุฬาภัยเถระ ซึ่ง

เป็นคำแย้งมากล่าวไว้ในลำดับ

วาทะของพระจุฬาภัยเถระนั้น เมื่อได้ดูฎีกาประกอบแล้ว เข้าใจว่าท่านว่าดังนี้

ตามที่มีมติเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่าการนั่งเป็นหลักในการรักษาธุดงค์ข้อนี้ เพราะฉะนั้น นั่งลง

แล้วต้องไม่ลุกจนกว่าจะฉันเสร็จ ฝ่ายหนึ่งว่า การฉันเป็นหลักในการรักษาธุดงค์ ข้อนี้ เมื่อ

ไม่เป็นโอกาสที่จะฉันก็ลุกได้ แล้วมาฉันต่อให้อิ่มในมื้อเดียวนั้น ส่วนพระจุฬาภัยท่านว่า การ

ที่ฉันค้างอยู่แล้วลุกขึ้นทำวัตรเช่นนั้น จะถือการนั่งเป็นหลักลุกขึ้นเสียแล้ว จะถือการฉันเป็น

หลักก็ฉันแล้ว จะถือเอาการทำวัตรมาเป็นข้อยกเว้นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะรักษาธุดงค์

ก็อย่าฉันอีกเลย จงทำวัตรให้บริบูรณ์เถิด.

๒. ท่านผู้ชำระปกรณ์วิสุทธิมรรคท่านว่า ความประโยคนี้ในคัมภีร์ฉบับอื่น ๆ ไม่มี น ปฏิเสธ

ถ้าเช่นนั้น ความก็จะเป็นว่า คนทั้งหลายรู้ว่าพระเถระได้ฉันอาหารน้อยเดียว จึงนำเภสัชมา

ถวายให้ฉันเพิ่มเติม ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 148

แล้วนำเภสัชมีเนยใสเป็นต้นมา (ถวาย) เนยใสเป็นต้นนั้นย่อมควร

เพื่อ (บริโภคเป็น) เภสัชเท่านั้น ไม่ควรเพื่อ (บริโภคเป็น) อาหาร

ผู้ถืออย่างกลาง ย่อมได้เพื่อจะรับโภชนะอื่น ตราบเท่าที่ภัตรในบาตร

ยังไม่หมดไป ด้วยว่าภิกษุนี้ชื่อว่า โภชนปริยนฺติโก (ผู้มีโภชนะ

เป็นที่สุด) ภิกษุผู้ถืออย่างเพลา ย่อมได้เพื่อจะฉันตราบเท่าที่ยัง

ไม่ลุกจากอาสนะ ด้วยว่าภิกษุนั้นชื่อว่า อุทกปริยนฺติโก (ผู้มีน้ำ

เป็นที่สุด) เพราะฉันได้ตราบเท่าที่ยังไม่รับน้ำล้างบาตรบ้าง ชื่อว่า

อาสนปริยนฺติโก (ผู้มีอาสนะเป็นที่สุด) เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยัง

ไม่ลุกขึ้นบ้าง.

[ ความแตกแห่งเอกาสนิกังคะ ]

ก็ธุดงค์ของเอกาสนิกภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ ย่อมแตกในขณะที่เธอ

ฉันโภชนะ ณ อาสนะต่าง นี้เป็นความแตกในเอกาสนิกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งเอกาสนิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) มีอาพาธน้อย (๒) มีโรคน้อย

(๓) (ร่างกาย) คล่องแคล่ว (๔) แข็งแรง (๕) อยู่สำราญ

(๖) ไม่ต้องอาบัติเพราะอนติริตตสิกขาบทเป็นปัจจัย (๗) บรรเทา

ตัณหาในรสได้ (๘) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความ

มักน้อยเป็นต้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 149

[ คาถาสรูป ]

โรคทั้งหลายที่มีการกินเป็นปัจจัย ย่อม

ไม่รบกวนนักพรตผู้ยินดีในการฉัน ณ อาสนะอัน

เดียว เป็นผู้ไม่ละโมบในรส จึงไม่ทำงาน

(โยคะ) ของตนให้เสื่อมเสียไป เพราะฉะนั้น

นักพรตผู้มีใจหมดจด พึงปลูกความยินดีในการฉัน

ณ อาสนะอันเดียว อันเป็นเหตุแห่งความอยู่

สำราญ ซึ่งเป็นวัตรที่ท่านผู้ยินดีในสัลเลขะที่สะอาด

ประพฤติกันเถิด.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในเอกาสนิกังคะ.

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ

[ การสมาทานปัตตปิณฑิกังคะ ]

แม้ปัตตปิณฑกังคะก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใดคำหนึ่ง

ว่า ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดภาชนะที่ ๒ ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ

สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มีการฉันก้อนข้าวในบาตร

เป็นปกติ ดังนี้.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในปัตตปิณฑิกังคะ ]

ก็ปัตตปิณฑิกภิกษุนั้น ในเวลาดื่มยาคู เมื่อได้กับข้าววางใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 150

ภาชนะแล้ว ควรฉันก่อน หรือดื่มยาคูก่อนก็ได้ เพราะว่าเธอ

ปนกับลงในข้าวต้ม เมื่อกับมีปลาร้า๑เป็นต้นปนลงไป ยาคูจะปฏิกูล

ไปเสีย อันภิกษุผู้จะฉัน ทำให้เป็นของไม่ปฏิกูลนั่นแหละฉัน จึงควร๒

เหตุนั้น ข้อนี้ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอากับข้าวรูปนั้น แต่สิ่งใดเป็นของ

ไม่น่าเกลียดเช่นน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด สิ่งนั้นพึงปนลงไปได้ แต่เมื่อ

จะรับ (สิ่งนั้น) พึงรับแต่พอประมาณ ใช้มือ (ข้างหนึ่ง) ถือผักสด

และมันดิบฉัน ก็ควร แต่ไม่ทำอย่างนั้น ก็ต้องใส่ลงในบาตรเท่านั้น

ก็เพราะห้ามภาชนะที่ ๒ ของอื่นแม้แต่ใบไม้ (จะเอามารอง) ก็ไม่

ควรแล นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งปัตตปิณฑิกภิกษุนั้น.

[ ประเภทแห่งปัตตปิณฑิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้ปัตตปิณฑิกภิกษุนี้ก็มี ๓ จำพวก ใน ๓

พวกนั้น สำหรับผู้ที่ถืออย่างอุกฤษฏ์จะทิ้งกากก็ไม่ควร เว้นแต่เวลา

เคี้ยวอ้อย๓ จะบิก้อนข้าว ปลา เนื้อ และขนมฉัน (เป็นอย่าง ๆ)

ไม่ควร๔ สำหรับผู้ถืออย่างกลาง จะใช้มือข้างเดียวบิฉันก็ควร ภิกษุ

ผู้ถืออย่างกลางนี้ จึงชื่อว่า หัตถโยคี (โยคีมือ) ส่วนผู้ถืออย่างเพลา

มีชื่อว่า ปัตตโยคี (โยคีบาตร) สำหรับผู้ถืออย่างเพลานั้น สิ่งใด

อาจจุลงในบาตรได้ จะบิสิ่งนั้นด้วยมือหรือด้วยฟันเคี้ยวกินก็ได้หมด.

๑. เห็นจะเป็นพวก "น้ำบูดู" ของแขก. ๒. มหาฎีกาขยายความข้อนี้ไว้ว่า ปฏิกูลสฺส

ภุตฺสฺส อสฺณฺฐานมฺปิ สิยา ของปฏิกูล ขืนกินเข้าไป มันก็จะกลับออกมาหมด. ๓. คงจะ

หมายถึงกากที่พอจะฉันได้ ส่วนกากที่หยาบเต็มที เช่นชานอ้อย ก็ทิ้งคือคายได้เช่นนั้นกระมัง ?

๔. คือให้ฉันแบบ (สำ) รวม ถ้าไปบิฉันเป็นอย่าง ๆ ก็จะเป็นอย่าง ๆ ก็จะเป็นทางให้เกิดรสตัณหา

ขึ้น ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 151

[ ความแตกแห่งปัตตปิณฑิกังคะ ]

ก็ธุดงค์ของปัตตปิณฑิกภิกษุทั้ง ๓ จำพวกนี้ ย่อมแตกในขณะ

ที่เธอยินดีภาชนะที่ ๒ นี้เป็นความแตกในปัตตปิณฑิกังคะนี้.

[ อานิสงส์ปัตตปิณฑิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) บรรเทาตัณหาในรสต่าง ๆ ๆด้

(๒) ละความจะกละเสียได้ (๓) เป็นผู้มุ่งแต่ประโยชน์ในอาหาร

(๔) ไม่ต้องลำบากใจในการรักษาภาชนะมีถาดเป็นต้น (๕) ไม่เป็นผู้

สอดส่ายบริโภค (๖) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความ

เป็นผู้มักน้อยเป็นต้น แล.

[ คาถาสรูป ]

บุคคลอื่นที่ไหนเล่าจะพึงเป็นผู้มีตาทอดลง

ละความสอดส่ายในภาชนะต่าง ๆ เป็นผู้มีพรต

อันดี ขุดมูลแห่งรสตัณหาเสีย ราวกะขุดรากไม้

(ทิ้ง) เป็นผู้มีใจงาม ทรงไว้ซึ่งความสันโดษ

ราวกะทรงไว้ซึ่งรูปกายของตน (สามารถ) บริโภค

อาหาร (รวม) ได้ (บุคคลผู้นี้) ก็คือ

ปัตตปิณฑิกภิกษุ (นั่นแล)

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในปัตตปิณฑิกังคะ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 152

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

[ การสมาทานขลุปัจฉาภัตติกังคะ ]

แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคะก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใด

คำหนึ่งว่า อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดโภชนะอันเป็น

อติริตตะเสีย ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมทานองค์

ของภิกษุผู้มีการไม่ฉันภัตรภายหลังเป็นปกติ.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในขลุปัจฉาภัตติกังคะ]

ก็ภิกษุขลุปัจฉาภัตติกะนั้นห้ามภัตรแล้ว จะให้ทำโภชนะให้เป็น

กัปปิยะแล้วฉันอีกไม่ได้ นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งขลุปัจฉาภัตติก-

ภิกษุนั้น.

[ ประเภทแห่งขลุปัจฉาภัตติกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุนี้ ก็มี ๓ พวก

ใน ๓ พวกนั้น ท่านผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ เพราะเหตุที่ชื่อว่าการห้าม

ในบิณฑบาตแรกย่อมไม่มี แต่เมื่อเธอกลืนบิณฑบาตรายแรกนั้น

เข้าไป ก็ (ถือว่า) เป็นอันห้ามรายอื่น เพราะเหตุนั้น เธอได้ชื่อว่า

ห้าม (ภัต) อย่างนั้นแล้ว ครั้นกลืนบิณฑบาตรายแรกเข้าไปแล้ว

ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตรายที่ ๒ (ต่อไป) ผู้ถืออย่างกลาง ห้าม

(โภชนะอื่น) ใน (ขณะฉัน) โภชนะใด ย่อมฉันแต่โภชนะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 153

เท่านั้น ผู้ถืออย่างเพลาย่อมฉันได้ตอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากอาสนะ*.

[ ความแตกแห่งขลุปัจฉาภัตติกังคะ ]

ก็ธุดงค์ของขลุปัจฉาภัตติภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ ย่อมแตกในขณะ

ที่เมื่อเธอห้าม (โภชนะ) แล้ว ให้ทำเป็นกัปปิยะฉัน นี้เป็นความ

แตกในขลุปัจฉาภัตติกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งขลุปัจฉาภัตติกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์มีดังต่อไปนี้ คือ (๑) เป็นผู้ไกลจากอาบัติที่ต้อง

เพราะฉันอนติริตตโภชนะ (๒) ไม่มีแน่นท้อง (๓) ไม่มีการสั่งสม

อามิส (๔) (ฉันแล้ว) ไม่ต้องแสวงหาอีก (๕) มีความประพฤติ

สมควรแก่ธุตธรรม มีความมักน้อยเป็นต้น แล.

[ คาถาสรูป ]

ขลุปัจฉาภัตติกโยคีผู้มีปัญญา ย่อมไม่ลำบาก

ในการแสวงหา ไม่ทำสันนิธิ หายความแน่นท้อง

เหตุนั้น พระโยคีผู้ปรารถนาจะกำจัดโทษทั้งหลาย

พึงเสพธุดงค์ข้อนี้ อันพระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญ

อันเป็นเหตุให้เกิดความเจริญด้วยคุณ มีคุณคือ

สันโดษเป็นต้น เทอญ.

* นี่ก็เข้าใจยาก จะเป็นเช่นนี้กระมัง ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ เมื่อลงมือฉันอาหารรายแรกแล้ว

เป็นอันห้ามรายอื่น โดยอัตโนมัติ ผู้ถืออย่างกลาง ขณะฉันอาหารอยู่มีผู้น้อมอาหารเข้ามาถวาย

ถ้าเธอห้าม ก็คงฉันอาหารที่กำลังฉันอยู่นั้นได้ต่อไป ส่วนผู้ถืออย่างเพลา ท่านกำหนดเอา

อาสนะเป็นเกณฑ์ จะฉันอาหารที่นำมาเติมได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ลุกจากอาสนะ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 154

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคะ.

๘. อารัญญิกังคะ

[ การสมาทานอารัญญิกังคะ ]

แม้อรัญญิกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใด

คำหนึ่งว่า คามนิตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดเสนาสนะชายบ้าน

อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มีการอยู่

ในป่าเป็นปกติ.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในอรัญญิกังคะ]

ก็อารัญญิกภิกษุนั้น พึงละเสนาสนะชายบ้านเสียแล้ว ยังอรุณ

ให้ตั้งขึ้นในป่าเถิด.

[ วินิจฉัยเสนาสนะป่า ]

บ้านกับทั้งอุปจารนั่นแล ชื่อว่า เสนาสนะชายบ้าน ในคำนั้น

บ้านมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม มีรั้วล้อม หรือไม่มี

รั้วล้อมก็ตาม มีคนอยู่ หรือไม่มีคนอยู่ก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง

ชื่อว่าบ้าน โดยที่สุดแม้หมู่เกวียนใด ๆ ที่จอดพักอยู่เกินกว่า ๔ เดือน

ก็ชื่อว่าบ้าน สำหรับบ้านที่มีรั้วล้อม ถ้ามีอินทขีล ๒ ชั้น* เหมือน

อนุราธปุระ ที่ ๆ ก้อนดินตกแห่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ยืนที่อินทขีล

ชั้นใน (ขว้างไปเต็มแรง) ชื่อว่า อุปจารบ้าน พระวินัยธรทั้งหลาย

* อินทขีล ตรงนี้ มหาฎีกาท่านแก้เป็น อุมฺมาร ซึ่งแปลกันว่า ธรณีประตู.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 155

กล่าวว่า อนึ่ง ลักษณะแห่งเลฑฑุบาตนั้น ก็คือร่วมในแห่งที่ที่ตกลง

แห่งก้อนดินที่ขว้างไป (เต็มแรง) อย่างพวกคนรุ่นหนุ่ม เมื่อจะ

แสดงกำลังของตน เหยียดแขนขว้างก้อนดินไป (โดยแรง) ฉะนั้น

ส่วนอาจารย์ฝ่ายพระสูตรกล่าวว่า ภายในที่ที่ตกแห่งก้อนดิน ที่ขว้างไป

(พอดีพอร้าย) ทำนองไล่กา ชื่อว่า เลฑฑุบาต.

พึงทราบวินิจฉัยในบ้านที่ไม่ได้ล้อมว่า มาตุคามยืนอยู่ที่ประตูเรือน

หลังสุดเขาทั้งหมด สาดน้ำไปถึงที่ใด ที่น้ำนั้นตก ชื่อว่า อุปจารเรือน,

เลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวแล้ว จากอุปจารเรือนนั้น ชื่อว่า บ้าน,

เลฑฑุบาตที่ ๒ เป็นอุปจารแห่งบ้าน. ส่วนป่า ว่าทางพระวินัยก่อน

ท่านกล่าวไว้ว่า ที่ทั้งปวงยกบ้านและอุปจารแห่งบ้านเสีย นั่นชื่อว่าป่า.

ทางพระอภิธรรม กล่าวว่า ที่ทั้งปวงภายนอกอินทขีลออกไป นั่นชื่อ

ว่า ป่า๒. แต่ลักษณะที่กล่าวทางพระสูตรว่า ที่มีระยะไกล ๕๐๐ ชั่วธนู

เป็นอย่างน้อย ชื่อว่า เสนาสนะป่า๓, นี้เป็นลักษณะในคำว่า ป่า นี้.

เสนาสนะป่านั้นสำหรับบ้านที่มีรั้วล้อม พึงกำหนดวัดแต่อินทขีล ด้วย

(คัน) ธนูของอาจารย์ที่โก่งแล้ว, สำหรับบ้านที่ไม่มีรั้วล้อม พึงกำหนด

วัดจำเดิมแต่เลฑฑุบาตทีแรก จนถึงเครื่องล้อมแห่งวิหาร. ในอรรถกถา

พระวินัยทั้งหลายกล่าวว่า แต่ถ้าวิหารไม่ได้ล้อม เสนาสนะที่อยู่ต้นเพื่อน

หรือโรงครัว หรือที่ประชุมประจำ ต้นโพธิ์หรือเจดีย์อันใด แม้ผิว่าอยู่

ห่างจากเสนาสนะออกไป พึงทำที่นั้นให้เป็นแดนกำหนดวัดเถิด.

ส่วนในอรรถกถามัชฌิมกาย กล่าวว่า พึงวัดอุปจารแม้แห่ง

๑. วิ. มหา. ๑/๘๕. ๒. อภิ. วิ. ๓๕/๓๓๘. ๓. วิ. มหา. ๒/๑๔๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 156

วิหาร ตรงไปในระหว่าง ๒ เลฑฑุบาต เหมือนวัดอุปจารบ้าน. นี้เป็น

ประมาณในวิธีวัดนี้. แม้ถ้าบ้านอยู่ใกล้ ภิกษุอยู่ในวิหารได้ยินเสียง

คนชาวบ้าน แต่ไม่อาจจะเดินตรงไป (สู่บ้านนั้น) ได้ เพราะมีภูเขา

หรือแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดเป็นทางปกติของบ้านนั้น

แม้ถ้าจะต้องไปด้วยเรือ ก็พึงถือเอา ๕๐๐ ชั่วธนูโดยทางนั้น, แต่ภิกษุใด

แกล้งปิดทางแต่ที่นั้น ๆ (อันเป็นทางเดินตรงไปสู่บ้านได้ ไม่ถึง ๕๐๐

ชั่วคันธนู) เสีย เพื่อยังองค์แห่งบ้านใกล้ให้ถึงพร้อม (คือเพื่อให้ต้อง

เดินอ้อมไปให้ได้กำหนด ๕๐๐ ชั่วคันธนู ดังลักษณะบ้านใกล้ มีแม่น้ำ

คั่นที่กล่าวข้างต้น) ภิกษุนี้ชื่อว่า ธุดงคโจร. ก็ถ้าอุปัชฌาจารย์หรือ

อาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเป็นไข้ไป เธอหาสิ่งสัปปายะ (ที่จะเป็น

เครื่องรักษาอาจารย์) ไม่ได้ ก็พึงนำท่านไปสู่เสนาสนะชายบ้าน

อุปัฏฐากท่านเถิด. แต่เธอพึงออกไปแต่เช้ามืด ยังอรุณให้ตั้งขึ้นในที่

อันประกอบด้วยองค์, ถ้าในเวลาอรุณจะขึ้น อาพาธของท่านกำเริบ

ก็ควรทำกิจเพื่อท่านนั่นเถิด ไม่พึงเป็นธุตังคสุทธิก (ผู้มุ่งจะรักษาธุดงค์

ให้บริสุทธิ์ไปท่าเดียว) เลย.

[ ประเภทแห่งอารัญญิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้อารัญญิกภิกษุนี้ก็มี ๓ พวก ใน ๓ พวกนั้น

ท่านผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ ต้องยังอรุณให้ตั้งขึ้นในป่าตลอดกาลทั้งปวง ผู้

ถืออย่างกลาง ย่อมได้เพื่อจะอยู่ในเสนาสนะชายบ้านตลอด ๔ เดือน

ฤดูฝน ผู้ถืออย่างเพลา ย่อมได้เพื่อจะอยู่ตลอด ๔ เดือนฤดูเหมันต์ด้วย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 157

[ ความแตกแห่งอารัญญิกังคะ ]

ก็เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ มาแต่ป่าในเวลาที่ได้กำหนด

ไว้แล้วอย่างไร ฟังธรรมอยู่ในเสนาสนะชายบ้าน แม้จนอรุณขึ้น

ธุดงค์ย่อมไม่แตก, ฟังธรรมแล้วไป แม้อรุณขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์

ก็ไม่แตก, แต่เมื่อพระธรรมกถึกลุกขึ้นแล้ว เธอคิดว่า นอนสักครู่

แล้วจักไป ดังนี้ นอนเสีย จนอรุณขึ้น หรือว่ายังอรุณให้ตั้งขึ้นใน

เสนสนะชายบ้านตามชอบใจตน ธุดงค์ย่อมแตกแล นี้เป็นความแตก

ในอารัญญิกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งอาริญญิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์มีดังนี้ (๑) อารัญญิกภิกษุทำความสำคัญว่าป่า

ไว้ในใจอยู่ ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อจะได้สมาธิที่ยังไม่ได้บ้าง เพื่อจะรักษา

สมาธิที่ได้ไว้แล้วบ้าง (๒) แม้พระศาสดาทรงชื่นชมต่อเธอ ดังที่

ตรัสว่า ดูกรนาคิตะ เพราะเหตุนั้น เราจึงมีใจยินดีด้วยการอยู่ป่า

ของภิกษุนั้น* (๓) อันตรายทั้งหลายมีรูปที่ไม่เป็นสัปปายะเป็นต้น

ย่อมไม่รบกวนจิตของเธอผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด (๔) เธอย่อมหาย

ความสะดุ้งกลัว (๕) ย่อมละความเยื่อใยในชีวิตได้ (๖) ย่อมยินดีรส

แห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก และ (๗) แม้ความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุล

เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่เธอด้วย.

* องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๓๕๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 158

[ คาถาสรูป ]

นักพรตผู้สงัด ไม่คลุกคลี (กับใคร) ยินดี

ในเสนาสนะอันสงัดยังพระมานัสของพระนาถะเจ้า

ให้ทรงยินดี เพราะการอยู่ป่า อาศัยอยู่ในป่าผู้เดียว

ย่อมได้ความสุขอันใด แม้เทวดากับทั้งพระ

อินทร์ ก็ไม่ได้รสแห่งควาสุขอันนั้น และเธอ

ผู้นี้แล ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลอันเป็นดุจเกราะเข้าสู่

สงครามคือป่า มีธุดงค์ที่เหลือเป็นอาวุธ ก็สามารถ

จะชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้ ไม่นานเลย

เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตพึงทำความยินดี

ในการอยู่ป่าเถิด.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในอารัญญิกังคะ.

๙. รุกขมูลิกังคะ

[ การสมาทานรุกขมูลิกังคะ ]

แม้รุกขมูลิกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใดคำหนึ่ง

ว่า ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดที่มุงบัง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานองค์ของภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ โคนต้นไม้เป็นปกติ ดังนี้.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในรุกขมูลิกังคะ ]

ก็รุกขมูลิกภิกษุนั้น พึงเว้นต้นไม้เหล่านี้เสีย คือ ต้นไม้ที่ตั้งอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 159

ระหว่างพรมแดน ต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ ต้นไม้มียาง ต้นไม้ (กำลัง)

มีผล ต้นไม้ (กำลัง) มีดอก ต้นไม้มีค้างคาว (เกาะ) ต้นไม้มีโพรง

ต้นไม้ที่อยู่กลางวัด๑ แล้วจองเอาต้นไม้ที่อยู่ชาย ๆ วัดเถิด นี้เป็นวิธี

(ปฏิบัติ) แห่งรุกขมูลิกังคะ.

[ ประเภทแห่งรุกขมูลิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ก็มี ๓ พวก ใน ๓ พวกนั้น

ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ จองต้นไม้แล้ว จะใช้ใครแผ้วกวาด (พื้นที่)

ให้ตามชอบใจ หาได้ไม่ ต้องใช้เท้ากวาดใบไม้และหยากเยื่ออยู่เอง๒

ผู้ถืออย่างกลาง จะวานใครที่บังเอิญมาที่นั่น (ช่วย) แผ้วกวาดให้ก็ได้

ผู้ถืออย่างเพลา จะเรียกคนงานวัดและสมณุทเทสมาช่วยชำระ (พื้นที่)

๑. ต้นไม้ที่พรมแดนคาบเกี่ยวนั้น ศัพท์ว่า สีมนฺตริกรุกฺข มหาฎีกาท่านว่า ตามแถบ

พรมแดนนั้น ไพร่พลสองฝ่ายมักจะปะทะกันอยู่เนือง ๆ แม้พวกโจรก็มักจะใช้เป็นที่มั่วสุมกัน

ดังนั้น ภิกษุจะไปนั่งอยู่เป็นสุขกระไรได้

ต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ ศัพท์ว่า เจติยรุกฺข ได้แก่ ต้นไม้ที่คนนับถือกันว่ามีเทวดา (หรือผี)

สิง เกิดเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีคนไปบูชากันไม่ขาด ไม่สงบสงัดได้

ต้นไม้ทั้ง ๘ ประเภทนี้ ล้วนแต่มีอันตราย และยากที่จะหาความสงบสงัด ภิกษุจึงไม่ควร

ไปจองนั่ง.

๒. ใบไม้และหยากเยื่อ แปลตามฉบับพม่าว่า ปณฺณกสฏํ ส่วนฉบับของเราเป็น ปณฺณสฏํ

มหาฎีกาแก้ว่า "รุกฺขโต ปติตปณฺณํ - ใบไม้ที่หล่นจากต้นแล้ว" แต่ความที่เป็นจริง น่าจะไม่

มีแต่ใบไม้ น่าจะมีอะไรอื่น ไ ด้วย เช่น กะเทาะ เปลือก กิ่ง หนาม ฯ ล ฯ อันรวมเรียกว่า

หยากเยื่อ

ที่เคร่งจนไม่ยอมใช้ไม้กวาด ต้องใช้เท้ากวาดนั้น ดูอย่างไรอยู่ ถ้าหนามยอกจะเอาว่า

กระไร พระธุดงค์จำต้องทำมักง่ายเช่นนั้นด้วยหรือ ถ้ากำหนดแต่เพียงว่า ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์

ต้องชำระโคนไม้อยู่ด้วยตนเอง ผู้ถืออย่างกลาง วานใครช่วยชำระก้ได้ ทำแต่พออยู่ได้ ส่วนผุ้

ถืออย่างเพลา ใช้คนงานตกแต่งตลอดถึงล้อมรั้วติดประตูอยู่อย่างมิดชิดก็ได้ อย่างนี้จะเข้าใจง่าย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 160

ทำให้เรียบแล้ว เกลี่ยทราย ทำรั้วล้อม ติด (บาน) ประตู เสียด้วย

แล้วจึงอยู่ก็ได้ แต่ในวันที่มีงานมหกรรม รุกขมูลิภิกษุอย่านั่งอยู่ที่นั่น

พึง (ไป) นั่งที่อื่นที่มีอะไรบัง๑.

[ ความแตกแห่งรุกขมูลิกังคะ ]

ก็แล ธุดงค์แห่งรุกขมูลิกภิกษุทั้ง ๓ จำพวกนี้ ย่อมแตกในขณะที่

เธอสำเร็จความอยู่ในที่มุงบัง. (ส่วน) พระอังคุตตรภาณกาจารย์

ทั้งหลาย กล่าวว่า "(ธุดงค์นี้แตก) ในขณะที่เธอรู้อยู่แล้ว๒ ยังอรุณ

ให้ตั้งขึ้นในที่มุงบัง" นี้เป็นความแตกในรุกขมูลิกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งรุกขมูลิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) เกิดเป็นความปฏิบัติสมควรแก่

นิสัยขึ้นเอง ตามพระบาลี (บอกอนุศาสน์) ข้อว่า "รุกฺขมูลเสนาสนํ

นิสฺสาย ปพฺพชชฺชา การบรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นที่นอนที่นั่ง"

(๒) ปัจจัยตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่า เป็นของเล็กน้อย

ด้วย หาง่ายด้วย ไม่มีโทษด้วย (๓) ปลูกอนิจจสัญญาขึ้นได้ด้วย

ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งใบไม้อยู่เนอง ๆ (๔) เลิกความตระหนี่

ในเสนาสนะและความเพลินในงาน (ก่อสร้าง) (๕) ได้อยู่กับ (รุกข)

เทวดาทั้งหลาย (๖) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความ

มักน้อยเป็นอาทิ.

๑. ไม่แสดงตัว เพราะความมักน้อย. ๒. คือรู้อยู่แล้วว่าอรุณจะขึ้นในบัดนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 161

[ คาถาสรูป ]

ที่อยู่ของภิกษุผู้สงัด อันเป็นที่ ๆ พระพุทธ-

เจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญ และตรัสว่าเป็นนิสัย

(ของผู้บรรพชา) ซึ่งเสมอด้วยโคนไม้ จักมี

ที่ไหน เพราะว่า ภิกษุผู้มีพรตอันดี เมื่ออยู่ ณ

โคนไม้อันสงัด อันเป็นที่นำเสียซึ่งอาวาสมัจฉริยะ

เป็นที่อันเทวดาบริบาล เห็นใบไม้ทั้งหลาย

(ที่ยังอ่อน) สีแดง (แล้วก็เปลี่ยนเป็น) สีเขียว

และสีเหลืองแล้วก็หล่นไป ย่อมถ่ายถอนความ

สำคัญว่าเที่ยงเสียได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้มี

ปัญญาเห็นแจ้ง จึงไม่ควรดูหมิ่นโคนไม้อันเป็น

ที่สงัด อันเป็นที่อยู่ของท่านผู้ยินดีในภาวนา อัน

นับว่าเป็นมรดกของพระพุทธเจ้านั้นเลย*.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในรุกขมูลิกังคะ.

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ

[ การสมาทานอัพโภกาสิกังคะ ]

แม้อัพโภกาสิกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใด

คำหนึ่งว่า ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดที่มุงบังด้วย

* มหาฎีกาขยายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมจักร และเสด็จ

ดับขันธปรินิพพาน ที่โคนไม้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงไว้ว่า โคมไม้เป็นมรดกของพระองค์.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 162

โคนไม้ด้วย อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์ของ

ภิกษุผู้มีอันอยู่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้.

[ วิธี ( ปฏิบัติ) ในอัพโภกาสิกังคะ ]

ก็แล การเข้าไปสู่โรงอุโบสถเพื่อการฟังธรรมก็ดี๑ เพื่อทำ

อุโบสก็ดี ย่อมควรแก่อัพโภกาสิกภิกษุนั้น ถ้าเมื่อเธอเข้าไปแล้ว

ฝนตกลงมาไซร้ เมื่อฝนยังตกอยู่ อย่าเพิ่งออก ต่อฝนหยุดจึงออกไป

อันอัพโภกาสิกภกษุนั้นเข้าไปสู่โรงฉัน หรือโรงไฟ ทำวัตรก็ดี

(เข้าไป) อาปุจฉา (เชื้อเชิญ) ภิกษุเถระด้วยภัตตาหารในโรงฉันก็ดี

เมื่อให้อุทเทส (สอน) หรือถือเอาอุทเทส (เรียน) เข้าไปแม้ที่

มุงบังก็ดี ขนเครื่องเสนาสนะ มีเตียงตั่งเป็นต้นที่วางเกะกะอยู่ข้างนอก

เข้าไปไว้ภายใน (ที่มุงบัง) ก็ดี ย่อมควร (ทุกอย่าง) ถ้าเดินทาง

ถือบริขารของภิกษุที่เป็นผู้เฒ่ากว่าไป เมื่อฝนตก เข้าสู่ศาลาอันตั้งอยู่

ในท่ามกลาง๒ ก็ควร ถ้ามิได้ถืออะไร จะแล่นไปด้วยหวังใจว่า

จะอยู่ในศาลา ย่อมไม่ควร๓ แต่พึงเดินโดยปกติเข้าไป ยืนอยู่จนฝนหยุด

จึงไปเทอญ นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งอัพโภกาสิกภิกษุ นัยแม้แห่ง

รุกขมูลิกภิกษุก็ดุจนัยนี้.

๑. มหาฎีกาขยายความว่า ไม่ใช่แต่ตัวเข้าไปฟังเอง คนทั้งหลายอาจอาราธนาเธอให้เข้าไป

แสดงธรรม เธอเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา รักษาศรัทธาของผู้ฟัง ก็ควร.

๒. มคฺคมชฺเฌ  ิตสาลํ มหาฎีกาว่า เป็นศาลาที่เขาปลูกไว้ตรงกลางทางเดิน เช่นที่มีอยู่ในสีหล

ทวีป ผู้จะเข้าไปพัก ไม่ต้องแวะลงจากทาง ตรงเข้าไปเลย.

๓. มหาฎีกาท่านว่า ไม่ควร เพราะเสียสารูป.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 163

[ ประเภทแห่งอัพโภกาสิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ ก็มี ๓ พวก ใน

๓ พวกนั้น สำหรับผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ จะเข้าไปอาศัย (เงา) ต้นไม้

หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ ย่อมไม่ควร ต้องทำจีวรกุฏิ (กระโจมจีวร)

อยู่กลางแจ้งนั่นแหละ สำหรับผู้ถืออย่างกลาง จะเข้าไปอาศัย (เงา)

ต้นไม้ ภูเขา และเรือนอยู่ (แต่) ไม่เข้าไปข้างใน ก็ควร* สำหรับ

ผู้ถืออย่างเพลา แม้เงื้อมเขาที่คนมิได้มุงบัง (เสริม) แม้ซุ้มกิ่งไม้

แม้ผ้า แม้กระท่อม (ร้าง) อันตั้งอยู่ในนานั้น ๆ ที่คนเฝ้านาเป็นต้น

ทิ้งไว้ ย่อมควร (ทั้งนั้น) แล.

[ ความแตกในอัพโภกาสิกังคะ ]

ก็ธุดงค์แห่งอัพโภกาสิกภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ ย่อมแตกในขณะที่

เธอไปสู่ที่มุงบังก็ดี โคนไม้ก็ดี เพื่ออยู่. (ส่วน) พระอังคุตตร-

ภาณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า "(ธุดงค์นี้ย่อมแตก) ในขณะที่เธอ

รู้อยู่แล้วยังอรุณให้ตั้งขึ้นในที่มุงบังก็ดี โคนไม้ก็ดี นั้น" นี้เป็นความ

แตกในอัพโภกาสิกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งอัพโภกาสิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) ตัดอาวาสปริโพธได้

(๒) บรรเทาถีนมิทธะได้ (๓) ไม่มีสถานที่ ๆ ติดข้อง สมแก่คำ

* ข้างใน สำหรับต้นไม้ก็คือ โคน (หรือร่ม) สำหรับภูเขาก็คือ เอกเทศแห่งภูเขา เช่น เงื้อม

สำหรับเรือนก็คือชายคา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 164

สรรเสริญว่า 'ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ไม่ติดที่ เที่ยวไปไม่มีที่ข้องขัด ดุจ

มฤคทั้งหลาย' ดังนี้ (๔) เป็นพระ ๔ ทิศ (๕) มีความประพฤติสมควร

แก่ธุตธรรม มีมักน้อยเป็นอาทิ.

[ คาถาสรูป ]

เพราะเหตุที่ภิกษุเมื่ออยู่ในอัพโภกาส อัน

มิใช่ที่หายาก มีมณีคือดวงดาวดาดเป็นเพดาน มี

ประทีปคือดวงจันทร์ส่องสว่าง สมควรแก่ภาวะ

แห่งอนาคาริยชน (เธอ) มีใจ (ไม่ข้องขัด)

เป็นดุจใจมฤค บรรเทาถีนมิทธะได้ อาศัยความ

ที่มีภาวนาเป็นที่ยินดี ย่อมจะได้ประสบความอร่อย

แห่งปวิเวกรสในไม่ช้าเลย เพราะเหตุนั้นแล

ภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผุ้ยินดีในอัพโภกาส เทอญ.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคะ.

๑๑. โสสานิกังคะ

[ การสมาทานโสสานิกังคะ ]

แม้โสสานิกังคะก็เป็นอันสมทานด้วยคำสองคำนี้ คำใดคำหนึ่งว่า

น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดที่อันมิใช่ป่าช้า โสสานิกงฺคํ

สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ

ดังนี้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 165

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในโสสานิกังคะ ]

ก็แลคนทั้งหลายเมื่อตั้งหมู่บ้าน กำหนดที่ใดไว้ว่า ที่นี่เป็น

ป่าช้า โสสานิกภิกษุนั้นอย่าเพิ่งอยู่ ณ ที่นั้น เพราะว่าที่นั้น เมื่อศพ

ยังมิได้ถูกเผา ก็ยังไม่นับว่าเป็นป่าช้า แต่ว่า จำเดิมแต่การที่เผาศพ

แล้วไป แม้หากจะร้างไปตั้ง ๑๒ ปี ก็นับว่าเป็นป่าช้าอยู่นั่นเอง ก็แล

โสสานิกภิกษุผู้อยู่ป่าช้านั้น (๑) ไม่ควรให้ทำที่ต่าง ๆ มีปะรำ

จงกรมเป็นต้น ตั้งเตียงตั่ง จัดน้ำฉันน้ำใช้แล้วบอกธรรมอยู่ (ใน

ป่าช้านั้น) เพราะว่าธุดงค์ข้อนี้หนัก๑ เพราะเหตุนั้น โสสานิกภิกษุ

ควรเป็นผู้ไม่ประมาท แจ้งพระสังฆเถระหรือเจ้าหน้าที่ทางราชการ

ให้ทราบไว้ เพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นแล้วจึงอยู่๒ (๒) เมื่อ

จงกรม พึงชำเลืองดูที่เผาศพไปด้วย๓ (๓) เมื่อไปป่าช้าเล่า

ก็พึงหลีกทางใหญ่เสีย เดินไปทางนอกเถิด๔ (๔) พึงกำหนดอารมณ์

๑. มหาฎีกาท่านว่า ที่ว่าหนัก หมายความว่า ยากที่จะรักษา.

๒. ท่านว่า ป่าช้าเป็นที่ลับคน พวกโจรไม่ว่าไปทำโจรกรรมมาแล้วก็ดี ยังมิได้ทำก็ดี มักนัด

พบกัน หรือชวนกันเข้าไปซุ่มชุมนุมกันในนั้น หากว่าพวกโจรไปโจรกรรมได้ของมาแล้วไปแบ่งปัน

กันในนั้น พวกเจ้าของทรัพย์รู้เค้าติดตามเข้าไป พวกโจรทิ้งของไว้ใกล้ ๆ ที่ภิกษุนั่งแล้วหนีไป

พวกเจ้าของทรัพย์เห็นของตกอยู่ใกล้ภิกษุเช่นนั้น ก็จะหาว่าเธอเป็นโจรปลอมเป็นภิกษุ แล้วทุบตีเอา

หรือจับตัวส่งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแนะให้รายงานตัวต่อพระสังฆเถระในวัด หรือ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเป็นหลักฐานไว้เสียก่อน.

๓. ท่านขยายความว่า ถ้าที่เผาศพอยู่ตรงหน้าที่จงกรม ก็แลดูตรง ๆ นี่ที่เผาศพอยู่เยื้องไป

ข้าง ๆ จึงให้ชำเลืองดู (แต่พอเห็น ไม่ต้องถึงกับเหลียวไปดู) ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้

เกิดสังเวชไว้เสมอ มิให้เผลอคิดไปอื่น.

๔. ทางใหญ่นั้น คนเดินไปมามาก ถ้าเธอเดินไปทางนั้นก็เท่ากับประกาศตัวว่าฉันเป็นโสสานิกะ

ท่านจึงแนะให้เดินไปทางนอก ซึ่งไม่มีใครเดิน จะได้ไม่มีใครรู้ ข้อนี้เนื่องด้วยความมักน้อยอัน

เป็น

สัลเลขปฏิบัติ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 166

ให้แม่นยำเสียแต่ในกลางวัน ด้วยเมื่อกำหนดเสียอย่างนั้น มันจะได้

ไม่เป็นสิ่งชวนกลัวสำหรับเธอในเวลากลางคืน๑ (๕) อมนุษย์ทั้งหลาย

แม้นมันจะเที่ยวส่งเสียงร้องไปก็อย่าประหารมันด้วยวัตถุอะไร ๆ (๖) อัน

โสสานิกภิกษุจะขาดไปป่าช้าเสียแม้วันเดียวย่อมไม่ควร. พระอังคุตตร-

ภาณกาจารย์กล่าวว่า ยังมัชฌิมยามให้สิ้นไปในป่าช้า แล้วกลับเสีย

ในปัจฉิมยามก็ควร (๗) ของเคี้ยวของกินที่อมนุษย์ชอบ เช่น

ขนมโรยงา ข้าวเจือถั่ว ปลา เนื้อ นมสด น้ำมัน น้ำอ้อยงบ

โสสานิกภิกษุไม่ควรเสพ๒ (๘) ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล๓ แล

นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ) แห่งโสสานิกภิกษุ.

๑. อารมณ์ในที่นี้ หมายเอาวัตถุต่าง ๆ ในบริเวณนั้น เช่น จอมปลวก ต้นไม้ ตอไม้ มีอะไร

บ้างก็กำหนดไว้ให้แม่นยำว่า อะไรอยู่ที่ไหน ทางไหน ถึงตอนกลางคืนจะได้ไม่เห็นเป็นผีสาง

อะไรไป.

๒. เพิ่งทราบนี่เองว่า ผีชาวชมพูทวีปหรือชาวสีหลทวีปชอบกินอะไร แต่อันที่จริงดูเหมือนว่า คน

ชอบ

กินอะไร ก็เกณฑ์ผีให้ชอบด้วย ทำเซ่นผีแล้วตัวจะได้ยกมากิน

ประหลาดที่ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ยินคณะกรรมการโภชนาการมาสนทนาออกอากาศว่า

เพื่อให้ได้วิตามินหรือเพิ่มวิตามินในข้าว เวลาหุงข้าวควรปนถั่วเหลือง หรือถั่วเขียวลงไปด้วย

ฟังดูเป็นวิทยาการใหม่ แต่ที่ไหนได้ คนรู้จักทำกินกันมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว ผีก็ชอบกินด้วย

ท่านไม่ให้อรรถาธิบายว่า เพราะเหตุไร โสสานิกภิกษุจึงไม่ควรเสพของที่ผีชอบ สันนิษ-

ฐานว่า เมื่อภิกษุฉันของที่ผีมันชอบ แต่เธอมิได้เซ่นมัน มันอยากจะกินแล้วมารบกวนเธอ อาจทำ

ให้เจ็บป่วยไปก็ได้ ดังเคยได้ยินเล่ากันอยู่ในเมืองไทยนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผุ้บำเพ็ญธุดงค์ข้อนี้

จำต้องศึกษาเสียให้รอบคอบก่อนว่า ผีในถิ่นนั้นชอบอะไรบ้าง จะได้ไม่เกิดเรื่องเพราะกิน น่าคิดว่า

ก็ถ้าผีมันชอบเสียหมด เจ้ากูมิต้องอดดักดานหรือ.

๓. ท่านว่า เพราะเนื้อตัวและสบงจีวรของเธอ อาจมีกลิ่นผีติด จะทำให้คนอื่นสะอิดสะเอียน

(เกิดความรังเกียจ) และอีกอย่างหนึ่ง ปิศาจอาจตามเธอเข้าไป (รังควาน) ด้วย การเข้านั้น

หมายถึงเข้าไปในเหย้าเรือนเขา มิใช่เข้าไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 167

[ ประเภทแห่งโสสานิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี ๓ พวก ใน ๓ พวก

นั้น ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ พึงอยู่แต่ในป่าช้าที่ (ได้ลักษณะ ๓ คือ)

มีการเผาศพเป็นประจำ มีซากศพ (ทอดอยู่) มิได้ขาด และมีเสียง

ร้องไห้อยู่เนืองนิตย์ สำหรับผู้ถืออย่างกลาง ในป่าช้าที่ได้ลักษณะ

หนึ่งใน ๓ ลักษณะ (นั้น) ก็ใช้ได้ สำหรับผู้ถืออย่างเพลา ใน

ที่ ๆ สักว่าได้ลักษณะป่าช้าโดยนัยที่กล่าวแล้ว ก็ใช้ได้.

[ ความแตกแห่งโสสานิกังคะ ]

ก็ธุดงค์แห่งโสสานิกภิกษุทั้ง ๓ พวกนี้ ย่อมแตกเพราะสำเร็จ

ความอยู่ในที่อันมิใช่ป่าช้า (ส่วน) พระอังคุตตรภาณกาจารย์ กล่าว

ว่า (ธุดงค์นี้แตก) ในวันที่เธอไม่ไปป่าช้า นี้เป็นความแตกใน

โสสานิกังคะนี้.

[ อานิสงส์แห่งโสสานิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) ได้มรณสติ (๒) อยู่ด้วย

ความไม่ประมาทเป็นปกติ (๓) บรรลุอสุภนิมิต (๔) บรรเทา

กามราคะได้ (๕) เห็นสภาพของร่างกายเนือง ๆ (๖) มีความ

สังเวชหนัก (๗) ละความเมา มีเมาในความไม่มีโรคเป็นอาทิได้

(๘) ข่มความกลัวภัยได้ (๙) เป็นที่เคารพที่สรรเสริญแห่งอมนุษย์

ทั้งหลาย (๑๐) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความมักน้อย

เป็นต้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 168

[ คาถาสรูป ]

ก็เพราะอำนาจแห่งมรณานุสติ (ระลึกถึงความแตก

ตายอยู่เนือง ๆ) โทษอันจะพึงเกิดขึ้นเพราะความ

ประมาททั้งหลาย ย่อมไม่ตกต้องโสสานิกภิกษุ

ผู้แม้แต่หลับไปแล้ว อนึ่งเล่า จิตของเธอผู้เห็น

ซากศพมากเข้า ย่อมจะไม่ตกไปสู่อำนาจของ

กามราคะ เธอจะเกิดสังเวชใหญ่ ไม่เข้าใกล้ความ

เมาเลย ทั้งพยายามจะหาแต่ความดับ (ทุกข์)

โดยทางที่ชอบ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้มีใจน้อมไป

สู่พระนิพพานจึงควรเสพโสสานิกังคะ (นี้) เพราะ

เป็นธุดงค์อันนำมาซึ่งคุณเป็นอเนก แล.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานสงส์ในโสสานิกังคะ.

๑๒. ยถาสันถติกังคะ

[ การสมาทานยถาสันถติกังคะ ]

แม้ยถาสันตถิกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใด

คำหนึ่งว่า เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดความโลเลใน

เสนาสนะ ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานองค์ของ

ภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้เป็นกติ ดังนี้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 169

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในยถาสันถติกังคะ ]

ก็แล ยถาสันตถติกภิกษุนั้น เสนาสนะใดที่เสนาสนคาหาปกะชี้

แจกให้ว่า "เสนาสนะนี้ได้แก่เธอ" ก็พึงยินดีด้วยเสนาสนะนั้น ไม่

พึง (เลือก) ทำภิกษุอื่นให้ต้องย้าย (เสนาสนะ) นี้เป็นวิธี (ปฏิบัติ)

แห่งยถาสันตถติกภิกษุ.

[ ประเภทแห่งยถาสันถติกะ ]

ว่าโดยประเภท แม้ยถาสันตถติกภิกษุนี้ก็มี ๓ พวก ใน ๓ พวก

นั้น ผู้ถืออย่างอุกฤษฏ์ย่อมไม่ได้เพื่อจะถามถึงเสนาสนะที่ได้แก่ตนว่า

อยู่ไกลหรือว่าอยู่ใกล้ไป หรือว่าอันตรายต่าง ๆ มีอมนุษย์และทีฆชาติ

เป็นต้นรบกวนไหม ว่าร้อนหรือหนาวไหม ผู้ถืออย่างกลางถามได้

แต่ไปตรวจดูไม่ได้ ผู้ถืออย่างเพลา ไปตรวจดู ถ้าเสนาสนะที่แจก

ให้นั้นไม่ชอบใจเธอ ถือเอาเสนาสนะอื่นก็ได้.*

[ ความแตกแห่งยถาสันถติกังคะ ]

ก็แล ธุดงค์ของยถาสันถติกภิกษุ ๓ พวกนี้ ย่อมแตกในเมื่อพอ

สักว่าความโลเลในเสนาสนะเกิดขึ้น นี้เป็นความแตกในยถาสันถติก-

กังคะนี้.

* ถ้าถือเสนาสนะอื่นได้ จะชื่อยถาสันถติกะอย่างไร ? ดังนี้แหละ มหาฎีกาท่านจึงช่วยแก้ว่า

ที่ว่าไม่ชอบใจเธอนั้น มิใช่ไม่ชอบเพราะเป็นที่เลว แต่ไม่ชอบเพราะเห็นว่าเสนาสนะนั้นไม่เป็น

สัปปายะต่อโรคของเธอ ถ้าเธออยู่ที่นั่นโรคของเธอจะกำเริบ จึงขอให้จัดเสนาสนะอื่นที่เป็นสัปปายะ

ให้ใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่อโรคไม่มี เลือกอย่างนั้นก็เป็นโลลุปปะ ธุดงค์แตก.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 170

[ อานิสงส์แห่งยถาสันถติกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ (๑) ได้ทำตามโอวาทที่กล่าวไว้ว่า ยํ

ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ ได้สิ่งใดพึงยินดีด้วยสิ่งนั้น (๒) ใฝ่ประโยชน์

เกื้อกูล แก่เพื่อนพรหมจารี (โดยไม่กวนให้ย้ายเสนาสนะ) (๓) เลิก

ความกำหนดว่าเลวประณีต (๔) ละความยินดียินร้ายได้ (๕) ปิด

ประตูความตะกราม (๖) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความ

มักน้อยเป็นอาทิ.

[ คาถาสรูป ]

นักพรตผู้เป็นยถาสันถติกะเป็นผู้ยินดีด้วยเสนา-

สนะที่ตนได้ ไม่เลือก (ว่าดีเลว) ย่อมนอนเป็นสุข

แม้ในที่อันลาดด้วยหญ้า ในเสนาสนะอย่างดี

เธอก็ไม่ติดใจ ได้เสนาสนะที่เลวก็ไม่ขุ่นเคือง

ช่วยเกื้อกูลเพื่อนพรหมจารีที่เป็นนวกะ (ให้ได้

เสนาสนะอยู่) เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้มีเมธาพึง

หมั่นประกอบความที่เป็นผู้ยินดีในเสนาสนะตามที่

ท่านจัดให้ อันเป็นอาจิณณวัตรแห่งหมู่พระอริยะ

เป็นวัตรที่พระมุนีเจ้าทรงสรรเสริญ แล.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแก

และอานิสงส์ในยถาสันถติกังคะ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 171

๑๓. เนสัชชิกังคะ

[ การสมาทานเนสัชชิกังคะ ]

แม้เนัชชิกังคะ ก็เป็นอันสมาทานด้วยคำสองคำนี้ คำใดคำหนึ่ง

ว่า เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้างดการนอน เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานองค์ของภิกษุผู้มีอัน (สำเร็จอิริยาบถ) อยู่ด้วยการนั่ง

เป็นปกติ ดังนี้.

[ วิธี (ปฏิบัติ) ในเนสัชชิกังคะ ]

ก็แล เนสัชชิกภิกษุนั้น ใน ๓ ยามแห่งราตรี พึงลุกขึ้นจงกรม

เสียยาม ๑ เพราะในอิริยาบถทั้งหลาย การนอนเท่านั้นไม่ควร* นี้เป็น

วิธี (ปฏิบัติ) แห่งเนสัชชิกภิกษุ.

[ ประเภทแห่งเนสัชชิกภิกษุ ]

ว่าโดยประเภท แม้เนสัชชิกภิกษุนี้ก็มี ๓ จำพวก ใน ๓ พวกนั้น

สำหรับผู้ถืออย่างอุกฤษ์ พนักอิง ผ้ารัดเข่า ผ้ารัดตัว ไม่ควรทั้งนั้น

สำหรับผู้ถืออย่างกลาง ของ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้

สำหรับผู้ถืออย่างเพลา แม้พนักอิง แม้ผ้ารัดเข่า ผ้ารัดตัว หมอน

(อิง) แม้เก้าอี้ปัญจังคะ เก้าอี้สัตตังคะ ก็ใช้ได้.

เก้าอี้ที่เขาทำมีพนักหลังด้วย ชื่อปัญจังคะ เก้าอี้ที่เขาทำมี

พนักหลังและพนักทั้งสองข้างด้วย ชื่อสัตตังคะ ได้ยินว่า คน

* ที่ต้องบอกวิธีปฏิบัติไว้เช่นนั้น อาจเกรงไปว่าจะมีภิกษุเนสัชชิกที่ถือชื่อเกินไป ไม่ยอมลุกยืน

และเปลี่ยนอิริยาบถเอาเสียเลย ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้น ไม่สำเร็จประโยชน์.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 172

ทั้งหลายได้ทำเก้าอี้สัตตังคะนั้น (ถวาย) พระติปิฎกจุฬาภัยเถระ พระ

เถระได้เป็นพระอนาคามี (ภายหลังสำเร็จพระอรหัต) แล้วปริ-

นิพพาน*.

[ ความแตกแห่งเนสัชชิกังคะ ]

ก็แล ธุดงค์แห่งภิกษุเนสัชชิกทั้ง ๓ พวกนี้ ย่อมแตกในขณะ

พอว่าสำเร็จการนอนลงไป นี้เป็นความแตกในเนสัชชิกังคะนี้.

* เถโร อนาคามี หุตฺวา ปรินิพฺพายิ ท่านว่าไว้สั้นเท่านี้ ประโยคนี้มีปัญหาหลายประการ เช่น

ก. การแปล จะแปลตรงทื่อไปว่า พระเถระเป็นพระอนาคามีแล้วปรินิพพาน ก็ขัดความรู้สึก

เต็มที ข้าพเจ้าจึงเติมความในวงเล็บว่า "(ภายหลังสำเร็จพระอรหัต)".

ข. การที่ท่านอ้างอิงมาเป็นนิทัสนะเช่นนั้น จะให้เข้าใจว่ากระไร จะให้เข้าใจว่าท่านเป็นพระ

อนาคามีอยู่ก่อนแล้ว หรือว่านั่งเก้าอี้สัตตังคะแล้วจึงได้เป็น ถ้าท่านเป็นพระอนาคามีอยู่แล้ว ก็จะ

เป็นว่า อ้างท่านเป็นนิทัสนะเพื่อแสดงว่า การนั่งเก้าอี้สัตตังคะบำเพ็ญเนสัชชิกนั้น ไม่เป็นการ

ผิด

แม้แต่ท่านพระอนาคามีท่านยังใช้ ถ้าท่านได้เป็นพระอนาคามีภายหลัง อ้างท่านมาเป็นนิทัสนะ ก็

จะ

เป็นว่า เพื่อแสดงว่า การนั่งเก้าอี้สัตตังคะบำเพ็ญเนสัชชิก มิได้ทำให้เสื่อมเสียผลประการใด ดูแต่

พระจุฬาภัยเถระ ท่านยังนั่งเก้าอี้สัตตังคะบำเพ็ญเนสัชชิก จนได้สำเร็จพระอนาคามิผล มหาฎีกาดู

เหมือนจะให้เข้าใจโดยประการหลังนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เพื่อจะแก้ความคิดเห็นที่ว่า ผู้ถือเนสัชชิก

นั่งมีที่อิงข้างหลังตามสบายอย่างนั้น จะแปลกอะไรจากผู้ไม่ถือเล่า ดังนี้ ในวิสุทธิมรรค ท่าน

จึงชักพระอภัยเถระมาเป็นนิทัสนะว่า เถโร อนาคามี หุตฺวา ปรินิพฺพายิ.

ค. ปรารภเหตุอะไร คนทั้งหลายจึงทำเก้าอี้สัตตังคะถวายท่าน (แล้วท่านก็ยอมใช้)

ไม่พบที่เล่าไว้ ก็ต้องสันนิษฐานเอาว่า เพราะท่านทุพพพลภาพ นั่งตัวเปล่าไม่ไหว แต่ก็ไม่ยอมเลิก

เนสัชชิก เขาจึงคิดทำเก้าอี้ถวายให้นั่งเป็นเนสัชชิกอย่างเพลา เรื่อนี้ก็มาเข้ากันได้พอดีกับเรื่องที่

พระภิกษุฝรั่งสมัยนี้ (ลางรูป) นั่งขัดสมาธิไม่ไหว ขอนั่งเก้าอี้ทำกรรมฐาน ท่านก็ว่าของท่านได้

ผลดีเหมือนกัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 173

[ อานิสงส์แห่งเนสัชชิกังคะ ]

ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) ตัดเครื่องผูกพันใจที่กล่าว

ในบาลีว่า ภิกษุประกอบเนือง ๆ ซึ่งความสุขในการนอน สุขในการ

เอกเขนก สุขในความหลับ* ดังนี้เสียได้ (๒) มีความสะดวกในการ

ประกอบกรรมฐานทั้งปวง (๓) มีอิริยาบถน่าเลื่อมใส (๔) เป็นผู้

เหมาะสมที่จะทำความเพียร (๕) สัมมาปฏิบัติเพิ่มพูนด้วยดี.

[ คาถาสรูป ]

เพราะเหตุที่นักพรตนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงนั่งอยู่

ย่อมยังหัวใจของมารให้หวั่นไหว ภิกษุผู้ละความ

สุขในการนอน สุขในความหลับ ปรารภความ

เพียร ยินดีการนั่ง ยังโปตวันให้งามอยู่ ย่อม

ได้ปีติสุขอันปราศจากอามิส เพราะเหุนั้น ภิกษุ

ผู้มีปัญญา จึงควรบำเพ็ญให้ดี ซึ่งเนสัชชิกพรต

เทอญ.

นี้เป็นคำพรรณนาการสมาทาน วิธี (ปฏิบัติ) ประเภท ความแตก

และอานิสงส์ในเนสัชชิกังคะ.

ต่อไปนี้เป็นคำพรรณนาตามบทบังคับแห่งคาถานี้ คือ

กุสลตฺติโก เจว ฯ เป ฯ วิญฺญาตพฺโพ วินิจฺฉโย.

วินิจฉัย... พึงทราบ... โดยกุสลติกะ ๑ โดยจำแนกศัพท์

* ม. มู. ๑๒/๒๐๗.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 174

มีธุตศัพท์เป็นต้น ๑ โดยย่อและโดยพิสดารอีก ๑.

[ วินิจฉัยโดยกุสลติกะ ]

ในบทเหล่านั้น บทว่า โดยกุสลติกะ ความว่า ก็ธุดงค์ทั้งหมด

เป็นกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี เนื่องด้วยผู้รักษาที่เป็นพระเสขะ

ปุถุชน และพระขีณาสพ (แต่) ธุดงค์ที่เป็นอกุศลไม่มี. ส่วนผู้ใด

จะพึงกล่าวว่า ธุดงค์แม้เป็นอกุศลก็มี โดยพระบาลีมีอาทิว่า "ภิกษุมี

ความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำแล้ว เป็นอารัญญิกกะ๑"

ดังนี้, ผู้นั้นควรถูกกล่าวว่า เรามิได้พูดว่าภิกษุมีจิตเป็นอกุศล ย่อม

ไม่อยู่ป่า, ด้วยว่า ความอยู่ป่าของภิกษุใดมีอยู่ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า

อารัญญิกะ, และอารัญญิกภิกษุนั้น พึงเป็นผู้มีความปรารถนาลามกก็มี

เป็นผู้มักน้อยก็มี, ก็ (คำนี้) ได้กล่าวไว้แล้ว (ในตอนแก้อรรถแห่ง

คำธุดงค์)๒ ว่า "องค์เหล่านี้ ชื่อว่า ธุดงค์ เพราะเป็นองค์แห่ง

ภิกษุผู้ชื่อว่า ธุตะ เหตุเป็นผู้กำจัดกิเลสได้ด้วยการสมาทานนั้น ๆ, อีก

อย่างหนึ่ง ชื่อว่าธุดงค์ เพราะมีญาณอันได้โวหารว่า ธุตะ เหตุเป็น

เครื่องกำจัดกิเลสเป็นองค์, อีกนัยหนึ่ง องค์เหล่านี้ชื่อว่าธุตะ เพราะ

กำจัดโทษอันเป็นข้าศึกด้วย เป็นองค์แห่งความปฏิบัติด้วย, แม้เพราะ

เหตุนั้น จึงชื่อว่า ธุดงค์" ดังนี้, ใคร ๆ ซึ่งจะพึงมีธุดงค์เหล่านั้น

เป็นองค์ ได้ชื่อว่าเป็น ธุตะ (ผู้กำจัดกิเลสได้) ด้วยอกุศล หามีไม่

ด้วย, อกุศลซึ่งจะพึงเป็นเหตุให้ธุดงค์ได้ชื่อว่าธุดงค์ เพราะทำกุศล

นั้นให้เป็นองค์ จะกำจัดกิเลสอะไร ๆ ได้ ก็หาไม่ด้วย, ทั้งอกุศลจะ

๑. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๔๕. ๒. วิสุทธิมรรค หน้า ๗๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 175

กำจัดปฏิปักขโทษมีความละโมบในจีวรเป็นต้นก็ไม่ได้เลยด้วย, เป็น

องค์แห่งความปฏิบัติก็ไม่ได้ด้วย, เพราะเหตุนั้น คำว่า "ธุดงค์เป็น

อกุศลไม่มี" นี้ จึงเป็นคำที่กล่าวดีแล้ว, ข้างฝ่ายธุดงค์ของภิกษุเหล่า

ใดพ้นไปจากกุสลติกะ ว่าโดยความ (ที่แท้แล้ว) ธุดงค์ของภิกษุ

เหล่านั้นก็ไม่มีนั่นเอง. สิ่งที่ไม่มี จักได้ชื่อว่าเป็นธุดงค์ เพราะกำจัด

อะไรกัน, แม้ความผิดต่อพระบาลี (ให้) สมาทานธุตทั้งหลาย

ประพฤติ ก็จะต้องมาเอาแก่เธอทั้งหลายด้วย, เพราะฉะนั้น คำของเธอ

ทั้งหลายนั้น จึงไม่ควรถือเอาแล*. นี้เป็นคำพรรณนาโดยกุสลติกะ

เป็นอันดับแรก.

[ วินิจฉัยโดยจำแนกธุตาทิศัพท์ ]

ในข้อว่า โดยจำแนกศัพท์มีธุตศัพท์เป็นต้นนั้น พึงทราบธุตะ

พึงทราบว่าธุตวาทะ พึงทราบธุตธรรมทั้งหลาย พึงทราบการเสพธุดงค์

ว่าเป็นสัปปายะสำหรับใคร.

[ ธุตะ ]

ในบทเหล่านั้น บทว่า ธุตะ หมายเอาบุคคลผู้มีกิเลสอันกำจัด

แล้วอย่าง ๑ หมายเอาธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่าง ๑.

[ ธุตวาทะ ]

ส่วนในบทว่า ธุตวาทะ พึงทราบว่า บุคคลเป็นธุตะ แต่ไม่เป็น

* มหาฎีกาท่านว่า หมายถึงคณะภิกษุวัดอภัยคีรี ซึ่งมีวาทะว่า ธุตงฺคํ นาม ปญญตฺติ อัน

ธุดงค์เป็นแต่บัญญัติ โดยปรมัตถ์แล้วไม่มีอะไร (คือไม่เป็นกุศล ไม่มีกำจัดกิเลส ไม่จำต้อง

สมาาน )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 176

เป็นธุตวาทะก็มี, บุคคลไม่เป็นธุตะ แต่เป็นธุตวาทะก็มี, บุคคลไม่

เป็นทั้งธุตะทั้งธุตวาทะก็มี, บุคคลเป็นทั้งธุตะทั้งธุตวาทะก็มี. ในบุคคล

๔ จำพวกนั้น บุคคลใดกำจัดกิเลสทั้งหลายของตนด้วยธุดงค์ แต่ไม่

แนะนำพร่ำสอนผู้อื่นด้วยธุดงค์ ดุจพระพากุลเถระ บุคคลนี้เป็นธุตะ

แต่ไม่เป็นธุตวาทะ ดังท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่เป็นธุตะ แต่ไม่เป็นธุตวาทะ

นี้นั้น คือท่านพากุละ. ส่วนบุคคลใดไม่กำจัดกิเลสทั้งหลายของตนด้วย

ธุดงค์ ได้แต่แนะนำพร่ำสอนคนอื่น ๆ ด้วยธุดงค์ ดุจพระอุปนนทเถระ

บุคคลนี้ไม่เป็นธุตะ แต่เป็นธุตวาทะ ดังท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ไม่เป็น

ธุตะ แต่เป็นธุตวาทะนี้นั้น คือท่านอุปนนทสักยบุตร. บุคคลใดขาด

ไปทั้ง ๒ ทาง ดุจพระโลฬุทายี บุคคลนี้ไม่เป็นทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ ดัง

ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ไม่เป็นทั้งธุตะและธุตวาทะนี้นั้น คือ ท่านโลฬุทายี.

ส่วนบุคคลใดถึงพร้อมทั้ง ๒ ทาง ดุจพระธรรมเสนาบดี บุคคลนี้เป็น

ทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ ดังท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่เป็นทั้งธุตะทั้งธุตวาทะนี้นั้น

คือ ท่านสารีบุตร ดังนี้.

[ ธุตธรรม ]

ข้อว่า พึงทราบธุตธรรมทั้งหลาย นั้น มีวินิจฉัยว่า ธรรม ๕

ประการ อันเป็นบริวารของธุดงคเจตนาเหล่านี้ คือ อปฺปิจฺฉตา

(ความมักน้อย) สนฺตุฏฐิตา (ความสันโดษ) สลฺเลขตา (ความ

ปฏิบัติขูดเกลากิเลส) ปวิเวกตา (ความอยู่เงียบสงัด) อิทมฺตถิตา

(ความรู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์)ชื่อว่า ธุตธรรม โดยพระบาลีว่า (ภิกษุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 177

เป็นผู้อันอยู่ป่าเป็นปกติ) เพราะอาศัยความมักน้อยแล ดังนี้เป็นต้น*

ในธรรมเหล่านั้น อปฺปิจฉตา และ สนฺตุฐิตา นับเข้าในอโลภะ

สลฺเลขตา และ ปริวิเวกตา นับเข้าในธรรมทั้ง ๒ คือ อโลภะ และ

อโมหะ อิทมตฺถิตา ได้แก่ฌาณนั่นเอง. ธรรมทั้ง ๒ (คืออโลภะ

และอโมหะ) นั้น ภิกษุผู้ประพฤติธุดงค์ย่อมกำจัดความโลภในวัตถุที่

ต้องห้ามทั้งหลายได้ด้วยอโลภะ กำจัดความหลงอันกำบังโทษในวัตถุ

ที่ต้องห้ามเหล่านั้นนั่นแลได้ด้วยอโมหะ. อนึ่ง ย่อมกำจัดกามสุขา-

นุโยคอันเป็นเป็นไปทางเสพปัจจัยทั้งหลายที่ทรงอนุญาตเสียได้ด้วยอโลภะ

กำจัดอัตตกิลถานุโยคอันเป็นไปทางเคร่งเครียดเกินไปในธุดงค์ทั้งหลาย

ได้ด้วยอโมหะ เพราะเหตุนั้น ธรรม ๕ ประการนี้ พึงทราบว่าเป็น

ธุตธรรม.

[ ธุตังคะ ]

ข้อว่า พึงทราบธุตังคะทั้งหลาย ความว่า พึงทราบธุดงค์ ๑๓

คือ ปังสุกูลิกังคะ ฯ ล ฯ เนสัชชิกังคะ ธุดงค์เหล่านั้นได้กล่าวแล้ว

ทั้งโดยอรรถและโดยปกิณณกะมีลักษณะเป็นต้น.

[ ธุตังคเสวนา ]

ข้อว่า การเสพธุดงค์เป็นสัปปายะสำหรับใคนั้น แก้ว่า การ

เสพธุดงค์เป็นสัปปายะสำหรับคนราคจริต และคนโมหจริต เพราะ

เหตุไร เพราะการเสพธุดงค์เป็นทุกขาปฏิปทา (ปฏิบัติลำบาก) และ

เป็นสัลเลขวิหาร (อยู่อย่างเคร่ง) อันราคะย่อมสงบเพราะอาศัยทุกขา-

ปฏิปทา โมหะ ผู้ที่ไม่ประมาทย่อมละได้เพราะอาศัยสัลเลขปฏิบัติ

* ขุ. มหา. ๒๙/๒๘๕. อปฺปิจฺฉญฺญว นิสฺสาย ฯ เป ฯ อิทมตฺถิตญฺเญว นิสฺสาย อารญฺญิโก

โหติ ฯ เป ฯ ยถาสนฺถติโก โหติ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 178

อนึ่ง ในธุดงค์เหล่านี้ การเสพอารัญญิกังคะ และ รุกขมูลิกังคะ

เป็นสัปปายะ แม้แห่งคนโทสจริต ด้วยเมื่อคนโทสจริตนั้นแม้นไม่มี

ใครกระทบกระทั่งอยู่ในป่าและโคนไม้นั้น แม้โทสะก็ย่อมสงบแล นี้

เป็นคำพรรณนาโดยจำแนกศัพท์ มีธุตศัพท์เป็นต้น.

[ วินิจฉัยโดยย่อและโดยพิสดาร ]

[ โดยย่อ ]

ข้อว่า โดยย่อและโดยพิสดารนั้น มีวินิจฉัยว่า ก็ธุดงค์เหล่านี้

โดยย่อมี ๘ เท่านั้น คือ องค์เป็นประธาน ๓ องค์ที่ไม่ระคนกัน ๕

ในองค์เหล่านั้น องค์ ๓ นี้ คือ สปาทานจาริกังคะ เอกาสนิกังคะ

อัพโภกาสิกังคะ เป็นองค์ประธาน ด้วยเมื่อรักษาสปทานจาริกังคะ

ก็ต้องรักษาปิณฑปาติกังคะด้วย และเมื่อรักษาเอกาสนิกังคะ แม้

ปัตตปิณฑิกังคะและขลุปัจฉาภัตติกังคะ ก็จักเป็นอันต้องรักษาอย่างดี

ด้วย เมื่อรักษาอัพโภกาสิกังคะ จะมีอะไรชื่อว่าต้องรักษาในรุกขมูลิกังคะ

และยถาสันถติกังคะเล่า ดังนี้ ธุดงค์จึงเป็น ๘ เท่านั้น คือองค์ประ-

ธาน ๓ นี้ และองค์ไม่ระคนกัน ๕ นี้ คือ อารัญญิกังคะ ปังสุกูลิกังคะ

เตจีวริกังคะ เนสัชชิกังคะ โสสานิกังคะ.

โดยย่ออีกอย่างหนึ่งเป็น ๔ ดังนี้ คือ เนื่องด้วยจีวร ๒ เนื่อง

ด้วยบิณฑบาต ๕ เนื่องด้วยเสนาสนะ ๕ เนื่องด้วยวิริยะ ๑ ใน ๔

อย่างนั้น เนสัชชิกังคะเป็นองค์เนื่องด้วยวิริยะ นอกนั้นชัดแล้วทั้งนั้น.

โดยย่ออีกนัยหนึ่ง ธุดงค์ทั้งหมดนั่นเป็น ๒ โดยที่อาศัย คือ

อาศัยปัจจัย ๑๒ อาศัยวิริยะ ๑ แม้โดยจัดเป็นองค์ที่ควรเสพและ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 179

ไม่ควรเสพ ก็เป็น ๒ เหมือนกัน ก็เมื่อภิกษุใดเสพธุดงค์อยู่ กรรม-

ฐานเจริญขึ้น ภิกษุนั้นก็ควรเสพ เมื่อภิกษุใดเสพเข้า กรรมฐานเสื่อม

ภิกษุนั้นก็ไม่ควรเสพ อนึ่ง แม้ผู้ที่ถึงจะเสพไม่เสพ กรรมฐานก็คง

เจริญไม่เสื่อม เมื่อ (คิด) อนุเคราะห์ประชุมชนภายหลัง ก็ควร

เสพ แม้ผู้ที่ถึงจะเสพไม่เสพ กรรมฐานก็ไม่เจริญเล่า ก็ควรเสพ

เหมือนกัน เพื่อเป็นวาสนาต่อไป ธุดงค์เป็น ๒ ก็ได้ โดยจัดเป็น

องค์ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ ดังนี้แล.

แม้ในอรรถกถาทั้งหลาย ก็กล่าว (ย่อ) ไว้ว่า "ธุดงค์ทั้งปวง

นั่น เป็นอย่างเดียวด้วยอำนาจแห่งเจตนา เพราะเจตนาในการสมาทาน

ธุดงค์เป็นอันเดียวเท่านั้น" ดังนี้ ลางอาจารย์ก็ว่าไว้ (ง่าย ๆ) ว่า

"เจตนาอันใด ธุดงค์อันนั้น" (ธุดงค์ก็คือเจตนา).

[ โดยพิสดาร ]

ส่วนโดยพิสดาร ธุดงค์เป็น ๔๒ คือ สำหรับภิกษุ ๑๓ สำหรับ

ภิกษุณี ๘ สำหรับสามเณร ๑๒ สำหรับสิกขมานาและสามเณรี ๗

สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ๒ ก็ถ้าป่าช้าได้ลักษณะอารัญญิกังคะ อยู่ใน

ที่แจ้งไซร้ แม้ภิกษุรูปเดียวก็อาจบริโภคธุดงค์ได้หมดทุกข้อคราว

เดียวกัน* ส่วนภิกษุณี อารัญญิกังคะและขลุปัจฉาภัตติกังคะทั้ง ๒

ข้อ ทรงห้ามไว้ด้วยสิกขาบทเดียว องค์ ๓ คือ อัพโภกาสิกังคะ

* เพราะเหตุที่ธุดงค์ลางข้อขัดกัน เช่น รุกขมูลิกังคะ กับ อัพโภกาสิกังคะ ต่างว่ารักษา

อัพโภกาสิกังคะอยู่ จะรักษารุกขมูลิกังคะไปพร้อมกันได้อย่างไร มหาฎีกาท่านชี้ช่องให้ว่า

คำสมาทานรุกขมูลิกังคะว่า ฉนฺนธํ ปฏิกฺขิปามิ รุกขฺมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ เพราะฉะนั้น ธุดงค์ข้อ

นี้

จะแตกก็เมื่อปล่อยให้อรุณขึ้นในที่มุงบังเท่านั้น หากอรุณขึ้นเมื่อเธอไปนั่งอยู่กลางแจ้ง ธุดงค์หา

แตกไม่ รุกขมูลิกังคะ กับ อัพโภกาสิกังคะ จึงเป็นอันรักษาไปด้วยกันได้ ดังนี้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 180

รุกขมูลิกังคะ โสสานิกังคะ นี้ ภิกษุณีรักษายาก เพราะการอยู่เว้น

สหายย่อมไม่ควรแก่ภิกษุณี ก็แลในที่เช่นนั้น หญิงสหายที่มีฉันทะเสมอ

กันหาได้ยาก หากหาได้เล่า ก็ไม่พ้นจากความอยู่คลุกคลีกัน เมื่อเป็น

เช่นนั้น ภิกษุณีพึงเสพธุดงค์เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นก็

ไม่พึงสำเร็จแก่เธอเลย พึงทราบว่า เพราะความที่ไม่พึงอาจบริโภคอย่างนี้

ธุดงค์สำหรับภิกษุณีทั้งหลายจึงลดไปเสีย ๕ คงเหลือ ๘ เท่านั้น.

อนึ่ง บรรดาธุดงค์ตามที่กล่าวแล้ว เว้นเตจีวริกังคะเสีย เหลือ ๑๒

พึงทราบว่าเป็นองค์สำหรับสามเณร ๗ เป็นองค์สำหรับสิกขามานาและ

สามเณรี ส่วนสำหรับอุบาสกอุบาสิกา มีธุดงค์ ๒ เพราะธุดงค์คือ

เอกาสนิกังคะ ปัตตปิณฑิกังคะ นี้เท่านั้น เหมาะสมด้วย อาจบริโภค

ได้ด้วย ดังนี้ โดยพิสดารธุดงค์เป็น ๔๒ ด้วยประการฉะนี้แล นี้เป็น

คำพรรณนาโดยย่อและพิสดาร.

ก็แลกถาว่าด้วยธุดงค์ อันเป็นวัตรที่ภิกษุควรสมาทาน เพื่อยัง

คุณทั้งหลายมีความมักน้อยสันโดษเป็นต้นอันเป็นเครื่องผ่องแผ้วแห่งศีล

มีประการดังกล่าวแล้วให้ถึงพร้อม ในวิสุทธิมรรคที่ทรงแสดงโดยทาง

ศีล สมาธิ ปัญญาด้วยพระคาถาที่ขึ้นต้นว่า สีเล ปติฏฺฐาย นโร

สปญฺโญ นี้ เป็นอันกล่าวแล้วด้วยกถามรรคเพียงเท่านี้.

ปริเฉทที่ ๒ ชื่อ ธุดงคนิเทศ

ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดั่งนี้

คำนำ

(เมื่อพิมพ์ครั้งแรก)

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ สีลนิเทสกับธุดงคนิเทส

มหามกุฎราชวิทยาลัยได้พิมพ์แล้วเมื่อ พ. ศ. ก่อน บัดนี้ได้พิมพ์ภาค ๑

ตอน ๒ ขึ้นอีกเล่ม ๑ ตอน ๒ นี้มี ๕ นิเทส คือ กัมมฐานคหณ-

นิเทส ปฐวีกสิณนิเทส เสสกสิณนิเทส อสุภกัมมฐานนิเทส

ฉอนุสสตินิเทส จบภาค ๑

วิสุทธิมรรคมีความวิเศษสมกับที่เป็นปกรณ์พิเศษอย่างไรนั้น ได้

กล่าวไว้ในคำนำ เมื่อพิมพ์ตอน ๑ นั้นแล้ว ในตอนนี้ขอกล่าวเพิ่มเติม

ในเรื่องการแปลให้ทราบไว้ด้วยว่า การแปลนี้มุ่งให้เป็นคู่มือนักศึกษา

ภาษาบาลีเป็นสำคัญ พร้อมกันนั้นก็พยายามเกลาสำนวนพอให้ผู้อ่าน

เพื่อศึกษาวิชาธรรมอ่านได้บ้าง แต่ผู้ยังไม่คุ้นกับสำนวนบาลีของท่าน

ก็จะอ่านยากอยู่บ้าง ในตอนแรก ๆ ควรอ่านช้า ๆ เมื่อคุ้นกับสำนวน

ของท่านแล้ว ก็อาเข้าใจและได้รสอรรถธรรมอันมีอยู่บริบูรณ์

ขอความสำเร็จจงมีแก่นักศึกษาภาษาบาลี ขอความรู้ธรรมและ

สัมมาปฏิบัติจงมีแด่ผู้ศึกษาวิชาธรรมทุกเมื่อเทอญ

มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 1

วิสุทธิมรรคแปล

ภาค ๑ ตอน ๒

กัมมฐานคหณนิเทส

เพราะเหตุที่สมาธิ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยหัวข้อ

คือ จิต ตามพระบาลี ( นิกเขปบท ) ว่า

สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญฺจ ภาวยํ *

นั้น อันพระโยคาวจรผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลนี้ ที่ผ่องแผ้วด้วยคุณทั้งหลาย

มีความมักน้อยเป็นต้น อันตนทำให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาธุดงค์อย่างนี้

แล้วควรบำเพ็ญต่อไป ก็แต่ว่าสมาธินั้น ไม่ง่ายแม้เพียงจะเข้าใจ

จะกล่าวไยถึงจะบำเพ็ญเล่า เพราะทรงแสดงไว้ ( ในพระคาถานั้น )

ย่อนัก เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงความพิสดาร และนัยแห่งการ

บำเพ็ญสมาธินี้ จึง (ขอ) ตงั้ ปัญหาขึ้นดังนี้ คือ ( ๑) อะไร เป็น

* คาถานี้ บาทต้นเป็นอินทรเชียรฉนท์ บาทนอกนั้นเป็นปัฐยาวัตรฉันท์ คาถานี้จะ

เป็นปัฐยาวัตรทั้ง ๔ บาท ถ้าตัด นโร หรือ สปญฺโญ ในบาทต้นนั้นออกไปเสียบทใดบทหนึ่ง

ถ้าตัด นโร ออก ก็ยก ภิกฺขุ เป็นประธาน ยิ่งได้ความดีขึ้น เพราะไม่มี นโร อยู่ขัดเชิง

แล้วนิปผันนรูป สปญฺโญ ที่ยังผิดอักขรวิธีอยู่เพราะฉันทานุรักษ์นั้น ก็ทำเสียให้ถูกเป็น

สปฺปญฺโญฺ ได้ ส่วนปัญหาว่าอักขระเกินไป ๑ คือเป็น ๙ ไปนั้น ข้อนี้ท่านอนุญาต เมื่อ

ไม่ขัดอุจจารณวิธี คือเชิงสวด มีตัวอย่างมาก เช่นบทคาถาว่า อริยมิตฺตกโร สิยา แม้

ในคาถานี้ บาทท้าย คือ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ ก็เป็น ๙ ( เคยเห็นเป็น วิชเฏ ก็มี เช่นนี้

ก็ได้ ๘ พอดี หรือจะสนธิ โส อิมํ เป็น โสมํ เสียไม่ต้องแก้ วิชฏเย ก็ได้เหมือนกัน )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 2

สมาธิ (๒) ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร (๓) อะไร

เป็นลักษณะ เป็นรส เป็นปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานแห่งสมาธินั้น

(๔) สมาธิ มีกี่อย่าง (๕) อะไรเป็นความเศร้าหมอง และอะไร

เป็นความผ่องแผ้ว แห่งสมาธินั้น (๖) สมาธิ จะพึงบำเพ็ญขึ้น

อย่างไร (๗) อะไรเป็นอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญ ( สมาธิ )

ต่อไปนี้เป็นคำเฉลย ในปัญหาเหล่านั้น

[ สมาธิโดยสรูป]

ข้อว่า อะไรเป็นสมาธิ แก้ว่า สมาธิมีหลายอย่างต่างประการ

การจะเฉลยมุ่งให้สมาธินั้นแจ่มแจ้งไปทุกอย่าง จะไม่พึงเป็นประโยชน์

ที่ประสงค์ให้สำเร็จได้ มิหนำ ซ้ำจะพึงเป็นไปเพื่อความฟั่นเฝือยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น เรามาพูดกันหมายเอาความที่ประสงค์ในที่นี้ทีเดียวเถิดว่า

" ความมีอารมณ์อันเดียวแห่งจิตที่เป็นกุศล เป็นสมาธิ "

[อรรถแห่งสมาธิศัพท์]

ข้อว่า ชื่อว่าสมาธิเพราะอรรถว่ากระไร แก้ว่า ชื่อว่าสมาธิ

เพราะอรรถว่าตั้งมั่น ถามว่า ชื่อว่าตั้งมั่นนี้เป็นอย่างไร ตอบว่า

ชื่อว่าตั้งมั่นนี้ คือการดำรงอยู่ อธิบายว่าตั้งอยู่สม่ำเสมอด้วย ถูกทาง

ด้วย แห่งจิตและเจตสิกทั้งหลาย ในอารมณ์อันเดียว เพราะเหตุนั้น

พึงทราบว่าจิตและเจตสิกเป็นธรรมชาติไม่ซัดส่ายและไม่ซ่านไป ตั้งอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 3

สม่ำเสมอและถูกทาง ด้วยอานุภาพแห่งธรรมใด๑ การตั้งอยู่แห่งจิต

เจตสิก สม่ำเสมอและถูกทาง ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้น นี้ชื่อว่า

ความตั้งมั่น

[ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐานแห่งสมาธิ]

ส่วนในข้อว่า อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส เป็นปัจจุปัฏฐาน

เป็นปทัฏฐานแห่งสมาธินั้น มีคำแก้ว่า สมาธิมีความไม่ซัดส่ายเป็น

ลักษณะ มีการกำจัดความซัดส่ายเป็นรส มีความไม่หวั่นไหวเป็น

ปัจจุปัฏฐาน ส่วนปทัฏฐานแห่งสมาธินั้น คือความสุข ตามพระบาลีว่า

จิตของผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น๒ ดังนี้

[ประเภทแห่งสมาธิ]

ข้อว่า สมาธิมีกี่อย่างนั้น มีเฉลยว่า โดยลักษณะคือความ

ไม่ซัดส่าย สมาธิก็มีเพียงอย่างเดียว ( แต่ ) เป็น ๒ โดยบังคับ

แห่งอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เช่นเดียวกัน โดยบังคับแห่ง

โลกิยสมาธิและโลกุตตรสมาธิ โดยบังคับแห่งสัมปีติกสมาธิ ( สมาธิ

๑. ตรงนี้ปาฐะว่า ยสฺส ธมฺมสฺสานุภาเวน คำ ยสฺส นี้มีปัญหา เพราะเหตุที่ท่านมิได้

เรียง ต ศัพท์ไว้ จึงอาจมีทางคิดได้อีกทางว่า ยสฺส โยคบุคคล ก็จะได้ความดีเหมือนกัน

ดังนี้-จิตเจตสิกของบุคคลใด...ตั้งมั่นด้วยอนุภาพแห่งธรรม การตั้งมั่นแห่งจิตเจตสิก

ของบุคคลนั้น ชื่อว่า สมาธานํ แต่ว่าหากจะเป็นอย่างนี้ก็น่าจะเรียงศัพท์ไม่ให้มีปัญหาได้

คือเรียงว่า ยสฺส อมฺมานุกเวน...

มหาฎีกาท่านไม่พูดถึงเสียเลย กลับไปแก้ อานุภาเวน ออกเป็น พเลน แล้วเท่านี้

ท่านเห็นว่ายังไม่แจ่ม จึงไขต่อไปอีกว่า ปจฺจยภาเวนาติ อตฺโถ.

๒. ที.ปาฏิ๑๑/๒๕๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 4

สัมปยุตด้วยปีติ ) และนิปปีติกสมาธิ ( สมาธิไม่สัมปยุตด้วยปีติ )

และโดยบังคับแห่งสมาธิที่เป็นสุขสหคตะ ( สหรคตด้วยสุข ) และ เป็น

อุเบกขาสหคตะ ( สหรคตด้วยอุเบกขา ) เป็น ๓ โดยจัดเป็นอย่างทราม

อย่างกลาง อย่างประณีต เช่นเดียวกัน โดยจัดตามองค์คือวิตกวิจาร

มีสวิตักกสวิจารสมาธิ ( สมาธิยังมีวิตกวิจาร ) เป็นต้น โดยจัด

ตามธรรมที่สรหคตมีปีติสหรคตสมาธิ ( สมาธิสหรคตด้วยปีติ ) เป็นต้น

และโดยจัด ( ตามคุณานุภาพ ) เป็นปริตตะ มหัคคตะ และอัปปมาณะ

เป็น ๔ โดยจำแนกตามความปฏิบัติและความรู้ มีทุกขปฏิปทาทันธา-

ภิญญสมาธิเป็นต้น เช่นเดียวกัน โดยจำแนกตามอานุภาพและ

อารมณ์ มีปริตตปริตตารมณสมาธิเป็นต้น โดยเป็นองค์แห่งจตุกฌาน

โดยจำแนกตามฝ่ายมีหานภาคิยสมาธิเป็นต้น โดยจำแนกตามภูมิมี

กามาวจรสมาธิเป็นต้น และโดยจำแนกตามอิทธิบาทที่เป็นอธิบดี

เป็น ๕ โดยเป็นองค์แห่งปัญจกฌานในปัญจกนัย

ในสมาธิเหล่านั้น สมาธิส่วนที่เป็นอย่างเดียว มีความตื้นอยู่

แล้ว

[ทุกะ ( สมาธิหมวด ๒ ) ที่ ๑]

อรรถาธิบายในสมาธิส่วนที่เป็น ๒ พึงทราบดังต่อไปนี้ เอกัค-

คตาแห่งจิต ที่พระโยคาวจรได้ด้วยอำนาจธรรมเหล่านี้ คือ อนุสสติ-

ฐาน ๖ มรณสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน

ก็ดี เอกัคคตาในส่วนเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิทั้งหลายก็ดี อันใด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 5

เอกัคคตาอันนี้เป็นอุปจารสมาธิ ส่วนเอกัคคตาในลำดับแห่งบริกรรม

ตามบาลีว่า บริกรรมแห่งปฐมฌาน เป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัย

แห่งปฐมฌาน ดังนี้เป็นอาทิอันใด เอกัคคตาอันนี้เป็นอัปปนาสมาธิ

อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๒ โดยบังคับแห่งอุปจารและอัปปนา

[ทุกะที่ ๒]

เอกัคคตาแห่งจิตที่เป็นกุศลใน ๓ ภูมิ เป็นโลกิยสมาธิ

เอกัคคตาที่สัมปยุตด้วยอริยมรรค เป็นโลกุตรสมาธิ อย่างนี้แล

สมาธิเป็น ๒ โดยบังคับแห่งโลกิยะและโลกุตระ

[ทุกะที่ ๓ ]

เอกัคคตาใน ๒ ฌานในจตุกนัย ใน ๓ ฌานในปัญจกนัย

เป็นสัมปีติกสมาธิ เอกัคคตาในฌาน ๒ ที่เหลือ เป็นนีปปีติกสมาธิ

แต่อุปจารสมาธิ ลางที่เป็นสัปปีติกะ ลางทีเป็นนีปปีติกะ อย่างนี้แล

สมาธิเป็น ๒ โดยบังคับแห่งสัปปีติกะและนีปปีติกะ

[ทุกะที่ ๔]

เอกัคคตาใน ๓ ฌานในจตุกนัย ใน ๔ ฌานในปัญจกนัย

เป็นสุขสหคตสมาธิ เอกัคคตาในฌานที่เหลือเป็นอุเปกขาสหคตสมาธิ

แต่อุปจารสมาธิ ลางทีก็เป็นสุขสหคตะ ลางทีก็เป็นอุเปกขาสหคตะ

อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๒ โดยบังคับแห่งสุขสหคตะและอุเปกขาสหคตะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 6

[ติกะ ( สมาธิหมวด ๓ ) ที่ ๑]

สมาธิที่สักว่าได้ จัดเป็นสมาธิอย่างทราม สมาธิที่อบรมแล้ว

ยังไม่ดีนัก จัดเป็นสมาธิอย่างกลาง สมาธิที่อบรมดีแล้วถึงความเป็นวสี

จัดเป็นสมาธิอย่างประณีต อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๓ โดยจัดเป็นอย่าง

ทราม อย่างกลาง อย่างประณีต

[ติกะที่ ๒]

สมาธิในปฐมฌานกับอุปจารสมาธิ จัดเป็นสวิตักกสวิจารสมาธิ

( สมาธิมีทั้งวิตกทั้งวิจาร ) สมาธิในทุติยฌานในปัญจกนัย จัดเป็น

อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ ( สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ) ก็บุคคลใด

เห็นโทษแต่ในวิตกเท่านั้น ไม่เห็นโทษในวิจาร มุ่งอยู่แต่จะละวิตก

อย่างเดียวล่วงปฐมฌานไป บุคคลนั้นย่อมได้สมาธิที่ไม่มีวิตกมีแต่

วิจาร คำว่าสมาธิในทุติยฌานในปัญจกนัย จัดเป็นอวิตักกวิจาร-

มัตตสมาธิ นั้น ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาสมาธิของบุคคลนี้ ส่วน

เอกัคคตาใน ๓ ฌานในจตุกนัย มีทุติยฌานเป็นต้น และในปัญจกนัย

มีตติยฌานเป็นต้น จัดเป็นอวิตักกอวิจารสมาธิ ( สมาธิไม่มีทั้งวิตก

ทั้งวิจาร ) อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๓ โดยจัดตามองค์คือวิตกวิจาร

มีสวิตักกสวิจารสมาธิเป็นต้น

[ติกะที่ ๓]

เอกัคคตาในฌาน ๒ ข้างต้นในจตุกนัย และในฌาน ๓ ข้างต้น

ในปัญจกนัย จัดเป็นปีติสหคตสมาธิ ( สมาธิประกอบพร้อมกับปีติ )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 7

เอกัคคตาในตติยฌาน และจตุตถฌานในจตุกนัยและปัญจกนัยนั้นแล

จัดเป็นสุขสหคตสมาธิ ( สมาธิประกอบพร้อมกับสุข ) เอกัคคตาในฌาน

สุดท้าย ( ทั้ง ๒ นัย ) จัดเป็นอุเปกขาสหคตสมาธิ ( สมาธิประกอบพร้อม

กับอุเบกขา ) แต่อุปจารสมาธิ ย่อมสหรคตด้วยปีติสุขบ้าง สหรคต

ด้วยอุเบกขาบ้าง อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๓ โดยจัดตามธรรมที่สหรคต

มีปีติสหคตสมาธิเป็นต้น

[ติกะที่ ๔]

เอกัคคตาในภูมิอุปจาร จัดเป็นปริตตสมาธิ ( สมาธิมีคุณา-

นุภาพน้อย ) เอกัคคตาใน ( ภูมิ ) รูปาวจรและอรูปาวจรที่เป็นกุศล

จัดเป็นมหัคคตสมาธิ ( สมาธิมีคุณนุภาพใหญ่ ) เอกัคคตาที่สัมปยุต

ด้วยอริยมรรค จัดเป็นอัปปมาณสมาธิ ( สมาธิมีคุณานุภาพหาประมาณ

มิได้ ) อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๓ โดยจัด ( ตามคุณานุภาพ ) เป็น

ปริตตะ มหัคคตะ และอัปปมาณะ

[จตุกกะ ( สมาธิหมวด ๔ ) ที่ ๑]

พึงทราบว่า สมาธิที่มีปฏิปทาลำบาก ทั้งมีอภิญญาช้าก็มี

สมาธิมีปฏิปทาลำบาก แต่มีอภิญญาเร็วก็มี สมาธิมีปฏิปทาสะดวก

แต่มีอภิญญาช้าก็มี สมาธิมีปฏิปทาสะดวกทั้งมีอภิญญาเร็วก็มี

ในคำว่าปฏิปทาและอภิญญานั้น สมาธิภาวนา ( การบำเพ็ญสมาธิ )

อันเป็นไปเริ่มแต่ปฐมสมันนาหาร ( การประมวลจิตตั้งลงในกรรมฐาน

ทีแรก ) ไปจนถึงอุปจารแห่งฌานนั้นๆ เกิดขึ้น ท่านเรียกว่า ปฏิปทา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 8

ส่วนปัญญาอันเป็นไปตั้งแต่อุปาจารจนถึงอัปปนา ท่านเรียกว่า อภิญญา*

ก็แลปฏิปทานี้นั้น ย่อมเป็นการลำบาก คือเป็นการยาก หมายความว่า

เจริญไม่สะดวกสำหรับคนบางคน เพราะธรรมอันเป็นข้าศึก มีนิวรณ์

เป็นต้นยึด ( จิต ) โดย ( เกิด ) ขึ้นท่องเที่ยว ( ในจิต ) ( แต่ ) เป็นการ

สะดวกสำหรับบางคน เพราะไม่มีธรรมอันเป็นข้าศึกนั้น อภิญญาเล่า

ก็ย่อมเป็นช้า คือเป็นเนือยๆ ไม่เป็นไปฉับพลัน สำหรับคนบางคน

( แต่ ) เป็นเร็ว คือไม่เป็นเนือยๆ เป็นไปฉับพลันสำหรับบางคน

( พึงทราบวินิจฉัย ) ในปฏิปทาและอภิญญานั้น ( ดังนี้ ) ใน

บรรดาสิ่งสัปปายะและอสัปปายะทั้งหลายก็ดี บุพกิจทั้งหลายมีการตัด

ปลิโพธเป็นต้นก็ดี อัปปนาโกศลทั้งหลายก็ดี ซึ่งข้าพเจ้าจักพรรณนา

ข้างหน้า พระโยคาวจรผู้ใดได้เสพสิ่งอสัปปายะ ปฏิปทาของพระ-

โยคาวจรผู้นั้นย่อมเป็นการลำบาก และอภิญญาของเธอก็เป็นช้า

ปฏิปทาของพระโยคาวจรผู้ได้เสพสิ่งสัปปายะ ย่อมเป็นการสะดวก

และอภิญญาก็เป็นเร็ว ส่วนว่าพระโยคาวจรผู้ใด เสพสิ่งอสัปปายะ

ในเบื้องต้นแล้วได้เสพสิ่งสัปปายะในเบื้องปลาย พึงทราบว่าปฏิปทา

และอภิญญาของพระโยคาวจรนั้นก็คละกัน นัยเดียวกันนั้น ปฏิปทา

ของพระโยคาวจรผู้ไม่ทำบุพกิจมีการตัดปลิโพธเป็นต้นให้พร้อมแล้ว

มาประกอบภาวนา ย่อมเป็นการลำบาก โดยบรรยายตรงกันข้าม

ก็เป็นการสะดวก อนึ่ง อภิญญาของผู้ไม่ทำอัปปนาโกศลให้ถึงพร้อม

* มหาฎีกาว่า ที่เรียกอภิญญา เพราะเป็นปัญญาที่วิเศษกว่าปกติปัญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 9

ย่อมเป็นช้า ของผู้ทำอัปปนาโกศลให้ถึงพร้อม ย่อมเป็นเร็ว อนึ่ง

ประเภทแห่งปฏิปทาและอภิญญาเหล่านั้น พึงทราบด้วยอำนาจแห่ง

ตัณหาและอวิชชา และแม้ด้วยสามารถแห่งความสั่งสมที่เคยทำมา

ในสมถะและวิปัสสนา แท้จริง ปฏิปทาของผู้ถูกตัณหาครอบงำ

ย่อมเป็นการลำบาก ของผู้ไม่ถูกตัณหาครอบงำ ย่อมเป็นการสะดวก

และอภิญญาของผู้ถูกอวิชชาครอบงำ ย่อมเป็นช้า ของผู้ไม่ถูกอวิชชา

ครอบงำย่อมเป็นเร็ว อนึ่ง ผู้ใดมิได้ทำความสั่งสมมาในสมถะ*

ปฏิปทาของผู้นั้นย่อมเป็นการลำบาก ของผู้มีความสั่งสมได้ทำไว้ย่อม

เป็นการสะดวก ส่วนผู้ใดมิได้ทำความสั่งสมมาในวิปัสสนา อภิญญา

ของผู้นั้นย่อมเป็นช้า ของผู้มีความสั่งสมได้ทำไว้ย่อมเป็นเร็ว อนึ่ง

เล่า ประเภทแห่งปฏิปทาและอภิญญาเหล่านั้นพึงทราบด้วยอำนาจแห่ง

กิเลสและอินทรีย์ด้วย แท้จริง ปฏิปทาของผู้มีกิเลสกล้า แต่อินทรีย์

อ่อน ย่อมเป็นการลำบาก ทั้งอภิญญาก็เป็นช้า แต่อภิญญาของผู้มี

อินทรีย์แก่กล้าย่อมเป็นเร็ว ส่วนปฏิปทาของผู้มีกิเลสอ่อน และ

อินทรีย์อ่อน ย่อมเป็นการสะดวก แต่อภิญญาเป็นช้า แต่ว่าอภิญญา

ของผู้มีอินทรีย์กล้าย่อมเป็นเร็ว ดังนี้ ในปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้

บุคคลใดได้สมาธิด้วยปฏิปทาลำบาก และด้วยอภิญญาช้า สมาธินั้น

ของบุคคลนั้นเรียกว่า ทุกฺขาปฏิปโท ทนฺธาภิญฺโญ ด้วยประการฉะนี้

นัยนี้พึงกล่าวแม้ในสมาธิ ๓ ที่เหลือ อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๔

โดยจำแนกตามความปฏิบัติและความรู้ มีทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา-

* แปลตามมหาฎีกาซึ่งแก้ไว้ว่า อกตาธิกาโรติ ภวนฺตเร อกตปริจโย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 10

สมาธิเป็นต้น

[จตุกกะที่ ๒]

พึงทราบว่าสมาธิเป็นปริตตปริตตารมณ์ ( มีอานุภาพน้อยทั้งมี

อารมณ์แคบสั้น ) ก็มี สมาธิเป็นปริตตอัปปมาณารมณ์ ( มีอานุภาพ

น้อยแต่มีอารมณ์กว้างขวาง ) ก็มี สมาธิเป็นอัปปมาณปริตตารมณ์

( อานุภาพหาประมาณมิได้ แต่มีอารมณ์แคบสั้น ) ก็มี สมาธิเป็น

อัปปมาณอัปปมาณารมณ์ ( มีอานุภาพประมาณมิได้ทั้งมีอารมณ์

กว้างขวาง ) ก็มี ในสมาธิ ๔ นั้น สมาธิใดยังไม่เชี่ยว ไม่อาจ

เป็นปัจจัยแห่งฌานเบื้องสูงได้ สมาธินี้จัดเป็นปริตตะ ( มีอานุภาพน้อย )

ส่วนสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ที่ไม่ขยายตัว สมาธินี้ จัดเป็น

ปริตตารมณ์ ( มีอารมณ์แคบสั้น ) สมาธิใดเชี่ยว อันพระโยคาวจร

อบรมดีแล้ว อาจเป็นปัจจัยแห่งฌานเบื้องสูงได้ สมาธินี้จัดเป็น

อัปปมาณ ( มีอานุภาพหาประมาณมิได้ ) อนึ่ง สมาธิใดเป็นไปใน

อารมณ์ที่ขยายตัว สมาธินี้จัดเป็นอัปปมาณารมณ์ ( มาอารมณ์กว้าง

ขวาง ) ส่วนนัยแห่งสมาธิที่คละกัน ( ข้อ ๒ ข้อ ๓ ) พึงทราบโดย

คละลักษณะแห่งสมาธิ ( ข้อ ๑ ข้อ ๔ ) ที่กล่าวแล้วเข้ากัน อย่างนี้แล

สมาธิเป็น ๔ โดยจำแนกตามอานุภาพและอารมณ์ มีปริตต-

ปริตตารมณ์สมาธิเป็นต้น

[จตุกกะที่ ๓]

ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ ด้วยอำนาจ วิตก วิจาร ปีติ สุข

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 11

และสมาธิอันข่มนิวรณ์ได้แล้ว ต่อนั้น ทุติยฌาน วิตก วิจาร สงบไป

เหลือองค์ ๓ ต่อนั้น ตติยฌาน ปีติคลายไป เหลือองค์ ๒ ต่อนั้น

จตุตถฌาน ละสุขเสีย เหลือองค์ ๒ ด้วยอำนาจแห่งสมาธิอันประกอบ

ด้วยอุเบกขาเวทนา สมาธิ ๔ เป็นองค์แห่งฌาน ๔ นี้ ดังนี้ อย่างนี้แล

สมาธิเป็น ๔ โดยเป็นองค์แห่งจตุกฌาน

[จตุกกะ ที่ ๔ ]

สมาธิที่เป็นหานภาคิยะ ( เป็นทางฝ่ายเสื่อม ) ก็มี เป็นฐิต

ิภาคิยะ ( เป็นไปทางฝ่ายทรงตัวอยู่ ) ก็มี เป็นวิเสสภาคิยะ ( เป็นไป

ทางฝ่ายวิเศษขึ้น ) ก็มี เป็นนิพเพธภาคิยะ ( เป็นไปทางฝ่ายจะให้รู้

แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ) ก็มี

ในสมาธิ ๔ นั้น ความที่สมาธิเป็นหานภาคิยะ พึงทราบ

( ว่าย่อมเป็น ) ด้วยอำนาจความฟุ้งขึ้นมาแห่งปัจจนีกธรรม ความที่

สมาธิเป็นฐิติภาคิยะ พึงทราบ ( ว่าย่อมเป็น ) ด้วยอำนาจความหยุด

อยู่แห่งสติเป็นสภาพควรแก่สมาธินั้น๑ ความที่สมาธิเป็นวิเสสภาคิยะ

พึงทราบ ( ว่าย่อมเป็น ) ด้วยอำนาจความได้บรรลุธรรมวิเศษเลื่อนชั้น

ขึ้นไป และความที่สมาธิเป็นนิพเพธภาคิยะ พึงทราบ ( ว่าย่อมเป็น )

ด้วยอำนาจความผุดขึ้นแห่งสัญญาและมนสิการ อันสหรคตด้วยนิพพิทา๒

ดังท่านกล่าวว่า สัญญาและมนสิการอันสหรคตด้วยกามเกิดขึ้น

๑. แปลโดยนัยมหาฎีกาซึ่งแก้ไว้ว่า ตทนุธมฺมตายาติ ตหนุรูปตาภูตาย สติยา

๒. คือว่าเป็นวิปัสสนาขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 12

ครอบงำบุคคลผู้ได้ปฐมฌาน ปัญญา ( ในปฐมฌานนั้น ) ก็เป็น

หานภาคินี ( ไปข้างเสื่อม ) สติอันเป็นสภาพควรแก่ปฐมฌานนั้นหยุดอยู่

ปัญญาก็เป็นฐิติภาคินี ( ไปข้างทรงตัว ) สัญญาและมนสิการที่สหรคต

ด้วยความไม่มีวิตกเกิดขึ้น ( ดำเนินไป ) ปัญญาก็เป็นวิเสสภาคินี

( ไปข้างวิเศษขึ้น๑ ) สัญญาและมนสิการอันสหรคตด้วยนิพพิทาใกล้ต่อ

วิราคะ ผุดขึ้น ( เป็นไป ) ปัญญาก็เป็นนิพเพธภาคินี ( ไปข้างรู้แจ้ง

แทงตลอด๒ ) ดังนี้ แม้สมาธิอันสัมปยุตด้วยปัญญานั้นก็เป็นสมาธิ ๔

( อีกนัยหนึ่ง ) อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๔ โดยจำแนกตามฝ่าย มีหาน-

ภาคิยสมาธิเป็นต้น

[จตุกกะที่ ๕ ]

สมาธิ ๔ อย่างนี้ คือ สมาธิเป็นกามาวจร สมาธิเป็นรูปาวจร

สมาธิเป็นอรูปาวจร สมาธิเป็นอปริยาปันนะ ( ไม่เนื่องด้วยภูมิทั้ง ๓ นั้น

คือเป็นโลกุตตระ ) ในสมาธิ ๔ นั้น เอกัคคตาชั้นอุปจารทั้งปวง

จัดเป็นกามาวจรสมาธิ เอกัคคตาแห่งกุศลจิตมีรูปาวจรจิตเป็นอาทิ

จัดเป็นสมาธิ ๓ นอกนี้ อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๔ โดยจำแนกตามภูมิ

มีกามาวจรสมาธิเป็นต้น

[จตุกกะที่ ๖]

ถ้าภิกษุทำฉันทะให้เป็นใหญ่ ได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์

๑. คือว่าเข้าถึงทุติยฌาน ปัญจกนัย

๒. อภิ. วิ. ๔๑๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 13

เดียวไซร้ สมาธินี้เรียกว่าฉันทสมาธิ ถ้าภิกษุทำวิริยะให้เป็นใหญ่

ได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไซร้ สมาธินี้เรียกว่า วิริยสมาธิ

ถ้าภิกษุทำจิตตะให้เป็นใหญ่ได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไซร้

สมาธินี้เรียกว่าจิตตสมาธิ ถ้าภิกษุทำวิมังสาให้เป็นใหญ่ได้สมาธิ

ได้ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไซร้ สมาธินี้เรียกว่า วิมังสาสมาธิ๑

อย่างนี้แล สมาธิเป็น ๔ โดยจำแนกตามอิทธิบาทที่เป็นอธิบดี

[ปัญจกะ ( สมาธิหมวด ๕ )]

พึงทราบฌาน ๕ เพราะแบ่ง ( ทุติยฌานในจตุกนัย ) เป็น ๒

โดยวิธีอย่างนี้ คือ ทุติยฌานที่กล่าวในจตุกนัย ( นั่นแลแบ่ง ) เป็น

ทุติยฌาน เพราะวิตกอย่างเดียวล่วงไป เป็นตติยฌาน เพราะทั้งวิตก

และวิจารล่วงไป สมาธิเป็นองค์แห่งฌาน ๕ นั้น จึงเป็นสมาธิ ๕

พึงทราบความที่สมาธิเป็น ๕ โดยเป็นองค์ปัญจกฌานอย่างนี้แล

[ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วแห่งสมาธิ]

ก็แลคำเฉลยในปัญหาข้อว่า " อะไรเป็นความเศร้าหมอง และ

อะไรเป็นความผ่องแผ้วแห่งสมาธินั้น " นี้ท่านกล่าวไว้แล้วในวิภังค์

จริงอยู่ ในวิภังค์นั้นกล่าวไว้ว่า หานภาคิยธรรม ( ธรรมอันเป็นไป

ทางฝ่ายเสื่อม ) ชื่อว่า ความเศร้าหมอง วิเสสภาคิยธรรม ( ธรรมอันเป็นไป

ทางฝ่ายวิเศษขึ้น ) ชื่อว่าความผ่องแผ้ว ดังนี้ ในธรรม ๒

๑. อภิ.วิ ๓๕/๒๙๖

๒. อภิ.วิ ๓๕/๔๖๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 14

อย่างนั้น หานภาคิยธรรมพึงทราบตามนัยนี้ว่า " สัญญาและมนสิการ

อันสหรคตด้วยกามเกิดขึ้นครอบงำบุคคลผู้ได้ปฐมฌาน ปัญญา

( ในปฐมฌานนั้น ) ก็เป็นหานภาคินี "๑ ( ส่วน ) วิเสสภาคิยธรรม

พึงทราบตามนัยนี้ว่า " สัญญาและมนสิการที่สหรคตด้วยความไม่มี

วิตกเกิดขึ้น ( ดำเนินไป ) ปัญญาก็เป็นวิเสสภาคินี "๒ ดังนี้

[การเจริญสมาธิ]

ส่วนคำเฉลยในปัญหาข้อว่า " สมาธินั้นจะพึงเจริญอย่างไร "

นี้พึงทราบต่อไปนี้ สมาธิใดอันสัมปยุตด้วยอริยมรรค ที่ข้าพเจ้า

กล่าวไว้ก่อนแล้วในทุกสมาธิ มีข้อว่า " นี้สมาธิเป็น ๒ โดยเป็น

โลกิยะและโลกุตระ " ดังนี้เป็นอาทิ นัยแห่งการเจริญอริยมรรค-

สมาธินั้นสงเคราะห์เข้ากับนัยแห่งการเจริญปัญญาได้ทีเดียว เพราะว่า

เมื่อเจริญปัญญาแล้ว มรรคสมาธินั้นก็ย่อมเป็นอันเจริญด้วยแท้

เพราะเหตุนั้น เราจะไม่ม่งเอามรรคสมาธินั้นมากล่าวแยกไว้

ต่างหาก ว่ามรรคสมาธินั้นจะพึงเจริญอย่างนี้ๆ ส่วนว่าสมาธิอันเป็น

โลกิยะนี้ใด โลกิยะสมาธินั้น อันพระโยคาวจรผู้ยังศีลทั้งหลายให้หมดจด

โดยนัยที่กล่าวแล้ว ตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้ว บรรดาปลิโพธ ๑๐

ประการ ปลิโพธใดของเธอมีอยู่ ตัดปลิโพธนั้นเสียแล้วเข้าไปหาท่าน

ผู้ให้กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร ถือเอากรรมฐาน ๔๐ ข้อใดข้อหนึ่ง

ซึ่งอนุกูลแก่จริยาของตน ละวิหารอันไม่เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิเสีย

๑. อภิ.วิ๓๕/๔๔๗

๒. อภิ.วิ๓๕/๔๔๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 15

อยู่ในวิหารอันเหมาะ ตัดความกังวลเล็กๆ น้อยๆ ( เสียให้หมดด้วย )

แล้วพึงเป็นผู้ไม่ทำภาวนาวิธีทั้งปวงให้บกพร่องไป เจริญขึ้นเถิด

นี้เป็นความสังเขปในการเจริญสมาธินั้น ส่วนความพิสดารดังต่อไปนี้

[ปลิโพธ ๑๐]

วินิจฉัยในข้อที่ว่า " บรรดาปลิโพธ ๑๐ ประการ ปลิโพธใด

ของเธอมีอยู่ ตัดปลิโพธนั้นเสีย " นี้ก่อน

เครื่องกังวลนั้น คือ อาวาส ตระกูล ลาภ คณะ

และการงานเป็นที่ ๕ การเดินทาง ญาติ อาพาธ

การเล่าเรียน และฤทธิ รวมเป็น ๑๐

เครื่องกังวล ๑๐ นี้แล ชื่อว่า ปลิโพธ ในปลิโพธ ๑๐ นั้น อาวาสนั่นเอง

เรียกว่าอาวาสปลิโพธ นัยในปลิโพธ นอกนี้มีตระกูลเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้

อรรถาธิบายในปลิโพธ ๑๐ เหล่านั้น พึงทราบดังนี้

[อาวาสปลิโพธ]

แม้ห้อง ( นอนได้ ) เล็กๆ ห้องหนึ่ง ก็เรียกว่า อาวาส

แม้บริเวณๆ หนึ่งก็เรียกว่าอาวาส แม้สังฆารามทั้งหมดก็เรียกว่า

อาวาส๑ อาวาสนี้นั้นหาเป็นปลิโพธต่อภิกษุทั้งปวงไปไม่ ก็แต่ภิกษุใด

๑. คำว่าอาวาส ต้องแปลว่า " ที่อยู่ " ไม่แปลว่า " วัด " คำว่า

โอวรกะที่แปลว่า ห้องเล็กๆ นั้น น่าจะหมายเอากุฏิเล็กๆ อยู่ได้รูปเดียว ซึ่งมักเห็น

ตามวัดหรือสำนักฝ่ายวิปัสสนาธุระในบ้านเมืองเรานี้ บริเวณได้แก่ที่อยู่ มีกุฏิหลังเดียว

หรือหลายหลังก็ตาม มีกำหนดที่เป็นเขตแดน น่าจะตรงกับที่เราเรียกว่าคณะในวัดต่างๆ

บัดนี้ สังฆาราม ก็คือวัดทั้งหมด อาจมีหลายบริเวณ หลายโอวรกะก็ได้

ความกังวลของภิกษุลางรูป อาจมีเฉพาะแต่โอวรกะที่ตนอยู่ ลางรูปกังวลกว้าง

ออกไปถึงบริเวณที่ตนอาศัยอยู่ ลางรูปกังวลหมดทั้งวัดที่เป็นสำนักของตน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 16

ต้องขวนขวายในการงานต่างๆ มีการก่อสร้างเป็นต้นในอาวาสนั้นก็ดี

มีการสั่งสมสิ่งของไว้มากในอาวาสนั้นก็ดี มีความอาลัยใจผูกพันอยู่

ในอาวาสนั้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง*ก็ดี อาวาสนั้นจึงเป็นปลิโพธสำหรับ

ภิกษุนั้นเท่านั้น หาเป็นแก่ภิกษุนอกนั้นไม่ เรื่อง ( ต่อไป ) นี้เป็น

นิทัศนะในความที่อาวาสไม่เป็นปลิโพธนั้น

มีเรื่องเล่าว่า กุลบุตร ๒ คนออกจากเมืองอนุราธปุระ ( เดิน

ทางไป ) จนได้ไปบวชอยู่ในวัดถูปาราม บรรพชิต ๒ รูปนั้น รูปหนึ่ง

เรียนมาติกาได้คล่อง ๓ มาติกา เป็นผู้มีพรรษาครบ ๕ ปวารณาแล้ว

ไปสู่ชนบทชื่อปาจีนขัณฑราชี รูปหนึ่งคงอยู่ในถูปารามนั้น รูปที่ไป

ปาจีนขัณฑราชี อยู่ที่นั่นนาน ( จน ) เป็นพระเถระแล้วคิดว่า " ที่นี่

ี่เป็นที่เหมาะสมแก่การจะเร้นอยู่ มาเราจะบอกความนั้นแก่ภิกษุผู้

สหายด้วยเถิด " แล้วออกจากชนบทนั้น ( เดินทางไป ) จนย่างเข้าสู่

ถูปาราม พระเถระผู้ร่วมพรรษาเห็นท่านกำลังเดินเข้าวัดมาก็ไปต้อนรับ

ช่วยรับบาตรจีวร ทำ ( อาคันตุก ) วัตร พระเถระอาคันตุกะเข้าสู่เสนา-

สนะ ( ที่พัก ) แล้วคิดว่า " ประเดี๋ยวสหายของเราจะต้องส่งเนยใสหรือ

น้ำอ้อย หรือน้ำปานะมาให้หรอก เพราะเธอเป็นผู้อยู่มานานในนคร

นี้ " ( คอย ) จนกลางคืน ท่านก็ไม่ได้รับ ( สิ่งที่คิดไว้ ) ตอนเช้าจึง

คิด ( ใหม่ ) ว่า " ทีนี้ เธอจะต้องส่งข้าวต้มและกับที่พวกอุปฐากส่งมา

ให้ ( เรา ) ละ " แม้ข้าวต้มและกับที่คิดนั้นก็ไม่ได้เจอ จึงคิด ( ต่อไป )

* มหาฎีกาช่วยขยายความไว้ว่า ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเช่นว่ามีรมเงาเย็นสบายดี น้ำท่า

สมบูรณ์ ภิกษาหารหาง่าย ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 17

ว่า " เออนะ ของส่งมาไม่มี พวกอุปัฏฐากคงจะ ( คอย ) ถวาย เมื่อ

เธอเข้าไป ( บิณฑบาต ) กระมัง " ( ตกลง ) เข้ากรุง ( เพื่อบิณฑบาต )

กับพระเถระเจ้าถิ่นนั้นแต่เช้าท่านทั้งสองเดินไปในถนนสายหนึ่งได้

ข้าวต้มกระบวยเดียว ก็ ( ไป ) นั่งดื่มกันในโรงฉัน ถึงบัดนั้น ท่าน

อาคันตุกะก็ยังคิดอยู่ว่า " ข้าวต้มประจำทีจะไม่มี ในเวลาฉันข้าวสวย

นี้แหละ คนทั้งหลายคงจะถวายข้าวอย่างประณีตละ "แต่แล้ว แม้

ถึงเวลาฉันข้าวสวย ท่านก็ได้ฉันอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มานั่นเอง

( นิ่งต่อไปไม่ไหว ) จึงเอ่ยถามขึ้นว่า " ท่านผู้เจริญ ท่านเลี้ยงอัตภาพ

มาอย่างนี้ตลอดกาลหรือ " เมื่อพระเถระรับว่าเป็นอย่างนั้น จึงออก

ปากชวนว่า" ท่านผู้เจริญ ชนบทปาจีนขัณฑราชีเป็นที่ผาสุก เราไป

( อยู่ ) ที่นั่นกันเถิด " พระเถระ ( รับปาก ตกลงไป ) ก็ออกจากพระ-

นครทางประตูด้านใต้ เดินไปตามทางที่จะไปหมู่บ้านช่างหม้อ* ( เลย

ทีเดียว ไม่ต้องกลับวัดไปเสียก่อน )พระอาคันตุกะจึงท้วงว่า " อย่างไร

ท่านจึงเดินไปทางนี้เล่า " พระเถระตอบว่า " อาวุโส ! ท่านกล่าว

สรรเสริญชนบทปาจีนขัณฑราชีมิใช่หรือ ( จะไปชนบทนั้นก็ต้องเดิน

ไปทางนี้นะซิ ) " ท่านอาคันตุกะ ( ประหลาดใจที่ท่านไม่กลับไปเก็บ

ของที่วัด ) จึงว่า " ก็ในที่ๆ ท่านอยู่มานานถึงเพียงนี้ อดิเรกบริขาร

สักอย่างไม่มีดอกหรือ " ท่านรับว่า จ้ะ อาวุโส เตียงตั่ง ( ที่เรา

* ที่ว่าผู้แต่งคัมภีร์นี้ เป็นชาวชมพูทวีป และไปถึงสีหลทวีปไม่นานเท่าไรก็แต่งคัมภีร์นี้

ไฉนท่านจึงรู้เรื่องราวภูมิประวัติของสีหลดีอย่างกับเป็นชาวสีหล เรื่องที่จะนำมาเล่าเป็น

นิทัสสนะ น่าจะมีพระชาวสีหลช่วยด้วย ในความอำนวยการของท่าน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 18

ใช้ ) ก็เป็นของสงฆ์ เราก็เก็บมันเรียบร้อยแล้วของอะไรๆ อื่นก็

ไม่มี ( จึงไม่จำต้องกลับไปวัดก่อน ) " ท่านอาคันตุกะบอกว่า " แต่

ไม้เท้าและกระบอกน้ำมันรองเท้า ถลกบาตรของกระผม ยังอยู่นั่น "

พระเถระว่า " อาวุโส ท่าน ( มาพัก ) อยู่วันเดียว ยังมีของมาไว้ถึง

เท่านั้น ( เทียวนะ ) " ท่าน ( อาคันตุกะ ) รับว่าอย่างนั้น มีจิตเลื่อมใส

ไหว้พระเถระแล้วกล่าวว่า " ท่านผู้เจริญ สำหรับภิกษุอย่างท่าน

อรัญญวาส ( การอยู่อย่างอยู่ป่า ) ย่อมเป็นได้ในทุกแห่งไป ถูปาราม

เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์* ได้ฟังธรรมที่เป็น

สัปปายะในโลหปราสาท ได้ชมพระมหาเจดีย์ และได้พบพระผู้ใหญ่

เป็นไปราวกะพุทธกาล ขอท่านจงอยู่ ( ต่อไป ) ในถูปารามนี้เถิด ( อย่า

ต้องไปปาจีนขัณฑราชีกับกระผมเลย ) "ดังนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นก็ถือบาตร

จีวร ( กลับ ) ไปแต่ผู้เดียว อาวาสย่อมไม่เป็นปลิโพธสำหรับ

ภิกษุเช่น ( พระเถระผู้อยู่ในถูปาราม ) นี้แล

[กุลปลิโพธ]

ตระกูลญาติก็ดี ตระกูลอุปฐากก็ดี ชื่อว่ากุละ จริงอยู่ สำหรับ

ภิกษุบางรูปผู้อยู่คลุกคลี ( กับคนในตระกูล สนิทจนใจผูกพันกัน ) โดย

นัยว่า เมื่อเขาเป็นสุขก็สุขด้วย ดังนี้เป็นต้น แม้แต่ตระกูลอุปฐากก็

เป็นปลิโพธได้ ( จะกล่าวอะไรถึงตระกูลญาติเล่า ) ภิกษุ ( เช่น ) นั้น

* มหาฎีกาท่านบอกไว้ว่า เป็นบริโภคธาตุ ๓ คือ ประคต กระบอกกรอง ผ้าชุบสรง

(ของ ๓ พระพุทธองค์ข้างต้นโดยลำดับ) เป็นสรีระธาตุ ๑ คือ อัฐิรากขวัญ ( ของพระ

องค์ปัจจุบัน )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 19

จะพรากจากคนในตระกูลไปแม้แต่วิหารใกล้เคียง เพื่อฟังธรรมก็ไม่ได้

( ส่วน ) สำหรับภิกษุลางรูป แม้ ( แต่ ) โยมผู้หญิงโยมผู้ชายก็หาเป็น

ปลิโพธไม่ ดังเช่นภิกษุหนุ่มผู้หลานของพระติสสเถระผู้อยู่ ณ โกรันทก

วิหาร

มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุผู้หนุ่มรูปนั้นได้ไปโรหณชนบทเพื่อเรียนบาลี

ฝ่ายอุบาสิกา ( โยมผู้หญิง ) ผู้เป็นน้องสาวของพระเถระ ก็ถามข่าวเธอกะ

พระเถระอยู่ร่ำไป ( จน ) วันหนึ่งพระเถระ ( ท่านรำคาญ ) คิดว่าจะ

ต้อง ( ไป ) นำภิกษุหนุ่มกลับมา ( เสียที ) จึงออกเดินมุ่งหน้าไปโรหณ-

ชนบท ข้างภิกษุหนุ่มก็คิดว่า เราอยู่ที่นี่มาก็นานแล้ว บัดนี้เราจะต้อง

( ไป ) เยี่ยมพระอุปัชฌายะและทราบข่าวอุบาสิกาแล้ว ( ค่อยกลับ ) มา

ดังนี้ แล้วก็ออกจากโรหณชนบทมา ท่านทั้งสองมาเจอกันที่ฝั่งแม่น้ำ

( แห่งหนึ่ง ) ภิกษุหนุ่มนั้นก็ทำ ( อุปัชฌาย ) วัตรแด่พระเถระที่โคนไม้

ต้นหนึ่ง ท่านถามว่าจะไปไหน ก็เรียนความ ( ที่คิด ) นั้น ( ให้ทราบ )

พระเถระจึงว่า เธอทำดีแล้ว แม้อุบาสิกาก็ถาม ( ถึงเธอ ) อยู่มิได้ขาด

ถึงตัวฉันมานี่ก็เพื่อ ( ความกลับไปของเธอ ) นั่นแหละ เธอไปเถิด

ส่วนฉันจะพักจำพรรษานี้ ( ในวิหารแห่งใดแห่งหนึ่ง ) ในถิ่นนี้ละ ดังนี้

แล้วส่งภิกษุหนุ่มนั้นไป เธอ ( ไป ) ถึง ( โกรันทก )วิหารนั้นในวันเข้า

พรรษาพอดี แม้เสนาสนะที่ได้แก่เธอ ก็คือเสนาสนะที่โยมผู้ชาย

ของเธอให้สร้างไว้นั่นเอง ครั้นวันรุ่งขึ้น ( จากวันเข้าพรรษา ) โยม

ผู้ชายของเธอมาถาม ( พระเสนาสนคาหาปกะ ) ว่า " ท่านเจ้าข้า

เสนาสนะของข้าพเจ้าได้แก่ใคร " ได้ยินว่าได้แก่ภิกษุหนุ่มอาคันตุกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 20

จึงไปหาเธอ ไหว้แล้วกล่าวว่า " ท่านเจ้าข้า สำหรับภิกษุผู้เข้าพรรษา

ในเสนาสนะของข้าพเจ้า มีวัตร ( ที่จะพึงปฏิบัติ ) อยู่ " เธอซักถามว่า

" วัตรว่ากระไร ท่านอุบาสก " โยมผู้ชายจึงบอกว่า " ( วัตรนั้นคือ ) พึง

รับภิกษาที่เรือนของข้าพเจ้าแห่งเดียว ตลอดไตรมาส ( ประการ ๑ )

ปวารณาแล้วเวลาจะไปต้องบอกลา ( ประการ ๑ ) " เธอรับโดยดุษณี

ภาพ ฝ่ายอุบาสก ( กลับ ) ไปเรือน บอก ( อุบาสิกา )ว่า " พระคุณ

ท่านอาคันตุกะรูปหนึ่งเข้าพรรษาในอาวาสของเรา พึงบำรุงโดยเคารพ

เถิด " อุบาสิกาก็รับคำว่าสาธุแล้วให้จัดขาทนียะโภชนียะอันประณีต

ไว้ ข้างภิกษุหนุ่มถึงเวลาฉันก็ไปเรือนของญาติ ไม่มีใครจำเธอได้

สักคนเธอฉันบิณฑบาตที่เรือนนั้น จำพรรษาจนตลอดไตรมาสแล้ว

ก็บอกลาว่า อาตมาจะไปละ ครั้งนั้นพวกญาติของเธอขอร้องว่า

" พรุ่งนี้ค่อยไปเถิด เจ้าข้า " วันรุ่งขึ้นเลี้ยงเธอที่เรือนนั้นแล้ว เติม

น้ำมันให้เต็มกระบอก ถวายน้ำอ้อยก้อน ๑ และผ้าสาฎกยาว ๙ ศอก

( ผืน ๑ ) แล้วจึงอนุญาตให้เธอไป เธอทำอนุโมทนาแล้วก็มุ่งหน้าไป

โรหณชนบท

ฝ่ายพระอุปัชฌายะของเธอ ปวารณาแล้วเดินย้อนทางมาก็ได้พบ

เธอในที่ๆ เคยพบกันนั่นเอง เธอไหว้พระเถระแล้วได้ทำ ( อุปัชฌาย )

วัตรแด่พระเถระที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ( เช่นเคย ) ครั้นแล้วพระเถระถาม

เธอว่า " อย่างไรพ่อภัทรมุข ( ผู้มีหน้าแจ่ม ) เธอได้พบอุบาสกและ

อุบาสิกาของเธอแล้วหรือ " เธอรับว่าได้พบแล้ว แล้วก็เล่าประพฤติ-

การณ์ทั้งปวงถวาย ทาเท้าของพระเถระด้วยน้ำมันนั้น ทำปานะด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 21

น้ำอ้อย ( ถวาย ) ถวายผ้าสาฎกผืนนั้นแหละแด่พระเถระ ไหว้แล้ว

เรียนว่า โรหณชนบทเท่านั้นเป็นที่สัปปายะสำหรับผม ขอรับ แล้วก็

( ลา )ไป ข้างพระเถระก็มาสู่ ( โกรันทก ) วิหาร รุ่งขึ้นจึงเข้าไปหมู่

บ้านโกรันทกคาม

ฝ่ายอุบาสิกาหวังใจว่า หลวงพี่ของฉันจะพาพระลูกชายของฉัน

มาประเดี๋ยวนี้ละ ก็เฝ้ายืนมองหนทางอยู่ทุกวี่วัน( วันนั้น ) นางเห็น

ท่านมาองค์เดียว สำคัญเอาว่า ชะรอยบุตรของตัวตายเสียแล้ว พระ

เถระนี้จึงมาแต่ผู้เดียว ก็ฟุบลงร้องไห้คร่ำครวญอยู่แทบเท้าพระเถระ

พระเถระนึกรู้ว่า " ภิกษุหนุ่ม ( มาแล้ว ) ไม่ให้ใครรู้จักตัว เพราะความ

มักน้อย ( กลับ ) ไปเสียแล้วละซิหนอ " จึงปลอบนาง ( ให้คลายปริ-

เทวะ ) แล้วเล่าประพฤติเหตุทั้งปวง ( ให้ฟัง )แล้วนำผ้าสาฎก ( ผืนนั้น )

ออกจากถลกบาตรแสดง ( ให้เห็นเป็นพยาน ) อุบาสิกา ( ทราบความ

จริงเช่นนั้น )เกิดความเลื่อมใส หันหน้าไปทางทิศที่พระลูกชายไป

ก้มลงนมัสการ๑พลางกล่าวว่า " พระผู้มีพระภาคเจ้า คงทรงทำ

ภิกษุผู้เช่นดังบุตรเรา ( นี่แหละ ) หนอ ให้เป็นกายสักขี ( ผู้ถูกชี้เป็น

ตัวพยาน ) ตรัส รถวินีตปฏิปทานาลกปฏิปทา ตุวัฏฏกปฏิปทา๒ และ

๑. อุเรน นิปชฺชิตฺวา นมสฺสมานา ฟังดูท่วงทีจะเป็นไหว้ด้วยอัษฎางคประดิษฐ์กระมัง ?

๒. มหาฎีกาว่า วินีตปฏิปทา หมายเอาการปฏิบัติวิสุทธิ ๗ อันมาในรถวินีตสูตร ( มัข-

ฌิมนิกาย ) ซึ่งกล่าวถึงกถาวัตถุ ๑๐ มีความมักน้อยเป็นต้นไว้ตอนต้นสูตร

นาลกปฏิปทา หมายเอา ( โมไนย ) ปฏิปทา ที่ตรัสแก่พระนาลกเถระ ด้วย

พระคาถาว่า โมเนยฺยนฺเต อุปญญิสฺสํ เป็นอาทิ ( ในขุททกนิกาย )

ตุวฏฺฏกปฏิปทา หมายเอาปฏิปทาที่ตรัสด้วยพระคาถาว่า มูลํ ปปญจสงฺขาย เป็น

อาทิ ( ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต )

ทั้งหมดนี้ มุ่งหมายถึง อัปปิจฉกถา ซึ่งมีกล่าวไว้ในสูตรนั้น ๆ อันเป็นปฏิปทา

แห่งพระลูกชายของนาง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 22

มหาอริยวงสปฏิปทา อันแสดงความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และความ

ยินดีในภาวนา น่าสรรเสริญ แม้ฉันอาหารอยู่ในเรือนของมารดา

บังเกิดเกล้าแท้ๆ ถึง ๓ เดือน เธอก็มิได้ปริปากว่า ฉันเป็นบุตรของ

ท่าน ท่านเป็นมารดา โอ อัจฉริยมนุษย์ !" สำหรับภิกษุ ( ผู้มีจิต

ไม่ติดข้อง ) อย่างนี้แล แม้ ( แต่ ) มารดาบิดา ยังหาเป็นปลิโพธไม่

จะกล่าวไยถึงตระกูลอุปฐากอื่น ด้วยประการฉะนี้

[ลาภปลิโพธ]

ปัจจัย ๔ ชื่อว่า ลาภ ถามว่า ปัจจัย ๔ นั้นเป็นปลิโพธได้

อย่างไร? แก้ว่า ก็ในที่ ๆ ภิกษุผู้มีบุญไป ๆ คนทั้งหลายย่อมถวาย

ปัจจัยมีของบริวารมาก เธอมัวอนุโมทนา มัวแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น

ย่อมไม่ได้โอกาสจะทำสมณธรรมตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงปฐมยาม ( ต้อง )

เกี่ยวข้องกับคนมิได้ขาดสาย ซ้ำตอนเช้ามืดเล่า พวกภิกษุผู้ถือบิณฑ

บาตเป็นวัตรประเภทพาหุลลิกะ ( มักมากด้วยปัจจัย ) ก็พากันมาบอกว่า

" ท่านผู้เจริญ อุบาสกโน้น อุบาสิกาโน้น อำมาตย์โน้น บุตรอำมาตย์

โน้น ธิดาอำมาตย์โน้น ใคร่จะเห็นท่าน " เธอ ( ขัดเขาไม่ได้ ) ก็บอก

ภิกษุเหล่านั้นให้ช่วยถือบาตรจีวรแล้ว เป็นผู้เตรียมที่จะไปทีเดียว

เป็นผู้ ( ต้อง ) ขวนขวาย ( ในการสงเคราะห์ผู้อื่น ) อยู่เป็นนิจ ปัจจัย

เหล่านั้นย่อมเป็นปลิโพธต่อภิกษุนั้นดังนี้* อันภิกษุ ( เช่น ) นั้น ต้อง

ละทิ้งคณะเสีย จาริกไปแต่ผู้เดียวในถิ่นที่คนไม่รู้จักเธอ อย่างนี้เธอจึง

จะตัดปลิโพธนั้นเสียได้

* นิเทศแห่งลาภปลิโพธนี้ ที่แก้ว่า ลาภ หมายเอาปัจจัยทั้ง ๔ นั้น น่าจะมากไป เพราะ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 23

[คณปลิโพธ]

คณะภิกษุผู้เรียนพระสูตรก็ดี คณะภิกษุผู้เรียนพระอภิธรรมก็ดี

ชื่อว่า คณะ ภิกษุใดมัวให้อุเทศบ้าง ปริปุจฉาบ้างแก่คณะนั้น ย่อม

ไม่ได้โอกาสสำหรับสมณธรรม คณะจึงเป็นปลิโพธต่อภิกษุนั้น คณ-

ปลิโพธนั้น เธอพึงตัดเสียด้วยอุบายดังต่อไปนี้ ถ้างาน ( เรียน ) ของ

ภิกษุเหล่านั้นเสร็จไปแล้วมาก งานที่เหลือน้อยไซร้ เธอพึงทำงานนั้น

เสียให้เสร็จแล้วเข้าป่าไปเสียเถิด ถ้างานที่เสร็จแล้วน้อย ที่เหลือมากไซร้

เธอ ( พึงไปหาคณวาจก ( ผู้สอนหมู่ ) อื่นให้สอนแทน ) อย่างพึงไป

( ไกล ) เลย ๑ โยชน์ เข้าไปหาคณวาจกอื่น ( ซึ่งตั้งสำนักอยู่ ) ภายใน

ที่กำหนด ๑ โยชน์ขอร้องให้ท่านช่วยสงเคราะห์ภิกษุในคณะของตน

ด้วยสังคหวิธีมีให้อุเทศเป็นต้น ( แทนตน ) เถิด แม้นไม่ได้อย่างว่า

มานี้ ก็พึงบอก ( ภิกษุเหล่านั้น ) ว่า "อาวุโสทั้งหลาย กิจอย่างหนึ่ง

ของข้าพเจ้ามีอยู่ ( ไม่อาจสอนท่านทั้งหลายต่อไปได้ ) เชิญท่าน

เสนาสนะซ้ำกับอาวาส น่าจะหมายเอาปัจจัย ๓ เท่านั้น

ที่ท่านแก้ไว้นั้น ดูจะจำกัดว่า ลาภนั้นเป็นปลิโพธแก่ภิกษุผู้มีบุญเท่านั้น หาเป็น

ปลิโพธแก่ภิกษุผู้มีบุญไม่ ซึ่งความจริงไม่น่าจะจำกัดเช่นนั้น เพราะแม้ภิกษุผู้ไม่มีบุญ

ใครถวายอะไรนิดหน่อย แปลว่ามีลาภน้อย ก็อาจติดใจข้องอยู่ในลาภนิด ๆ หน่อย ๆ

นั้น เกิดเป็นกังวลขึ้น จนไม่อาจตัดไปได้ เช่นนี้จะไม่จัดเป็นลาภปลิโพธหรือ แต่ก็อาจ

เป็นได้ว่าท่านมุ่งแสดงเป็นตัวอย่างว่า ลาภเกิดเป็นปลิโพธได้อย่างไรเท่านั้น หาได้มุ่ง

จำกัดความเช่นว่าไม่

ที่ว่า ถวายปัจจัยของบริวารมากนั้น มหาฎีกาให้ความหมายว่า เจตนามุ่งถวาย

ปัจจัยอย่างหนึ่ง แต่ถวายของอื่น ๆ ให้เป็นบริวารปัจจัยนั้นไปด้วย เช่นถวายบิณฑบาต

ก็ถวายสบงจีวรและของใช้อื่น ๆ เป็นบริวารบิณฑบาตไปด้วย นี้ก็เป็นอย่างที่เราทำอยู่

ทุกวันนี้ คำถวายทานทานต่าง ๆ ก็มีคำเช่นนี้แสดงไว้ด้วย เช่น อิมานิ มยํ ภนฺเต สปริวารานิ

ภตฺตานิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 24

ทั้งหลาย ( แยกย้าย ) ไปหาที่ ( เรียน ) ตามสะดวกเถิด " ดังนี้แล้ว ละทิ้ง

คณะ ( ไป ) ทำงานของตนเถิด

[กัมมปลิโพธ]

นวกรรม ( การก่อสร้าง ) ชื่อว่า กัมมะ ( การงาน ) อันภิกษุผู้

ทำนวกรรมนั้น จำต้องรู้ทัพสัมภาระที่คนงานมีช่างไม้เป็นต้นได้ไว้แล้ว

และยัง ( หา ) ไม่ได้ ต้องขวนขวาย ( ดูแล ) ในงานที่เขาทำเสร็จแล้ว

และยังไม่ได้ทำผู้ทำนวกรรมต้องมีปลิโพธไปเสียทุกอย่างดังนี้แหละ

แม้กัมมปลิโพธนั้น ก็พึงตัดเสียด้วยอุบายดังต่อไปนี้ ถ้างานเหลือน้อย

พึงทำเสียให้เสร็จ ถ้าเหลือมาก หากเป็นนวกรรมของสงฆ์ไซร้ พึง

มอบหมายแก่สงฆ์ หรือภิกษุผู้นำภาระ ( ในสังฆกิจ ) ทั้งหลาย๑ หาก

เป็นนวกรรมส่วนตัว พึงมอบแก่ผู้นำภาระของตน ไม่มีภิกษุผู้นำภาระ

เช่นนั้น ก็พึงสละ( งาน ) ให้แก่สงฆ์แล้วไปเถิด

[อัทธานปลิโพธ]

การเดินทาง ชื่อว่า อัทธานะ ก็บรรพชาเปกขะของภิกษุใดมีอยู่

ที่ไหนก็ดี ปัจจัยชนิดไรๆ อันภิกษุใดจะพึงได้อยู่ที่ไหนก็ดี ถ้าภิกษุ

นั้นยังไม่ได้ ( พบ ) บรรพชาเปกขะและปัจจัยนั้น เธอไม่อาจหยุดยั้ง

อยู่ได้ อันคมิกจิต ( ความคิดจะไป ) แม้แห่งภิกษุผู้เข้าป่าทำสมณธรรม

อยู่ ก็เป็นของยากที่จะบรรเทาได้๒ เพราะฉะนั้น เธอพึงไปจัดทำกิจนั้น

๑. ภารหารกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่ (?)

๒. เข้าใจว่า การเดินทางในที่นี้ หมายเอาการเดินทางไปเป็นกิจ เช่นเป็นอุปัชฌายะไป

ทำการบรรพชาอุปสมบท ไปในกิจนิมนต์ ไม่ใช่เดินทางเพื่อจาริก มหาฎีกาว่า ในสีหล-

ทวีปนั้น การบรรพชากลทารก ( บาชเณร ? ) เขาจัดเป็นงานเอิกเกริก คล้ายงาอาวาหะ

วิวาหะ มีวันกำหนดนัดหมายกัน เพราะฉะนั้น พระอุปัชฌายาจารย์ ถ้าอยู่ในวัดไกล

จะต้องเดินทางไปให้ทันวันกำหนดเขา เมื่อยังไม่ได้เดินทางไปจัดกิจอันนั้น จึงเป็น

ปลิโพธอยู่ ในกิจนิมนต์ก็ในเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 25

ให้เสร็จแล้ว จึงทำความขวนขวายในสมณธรรมเถิด

[ญาติปลิโพธ]

บุคคลทั้งหลายที่จำต้องรู้จัก มีดังนี้คือ ใน ( ฝ่าย ) วัด พระ

อาจารย์ พระอุปัชฌายะ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุร่วม

อุปัชฌายะ ภิกษุร่วมอาจารย์ ใน ( ฝ่าย ) บ้านเรือน มารดา บิดา

พี่น้องหญิง พี่น้องชาย เป็นต้น ชื่อว่า ญาติ บุคคลเหล่านั้น ( เกิด )

เป็นไข้ขึ้น จึงเป็นปลิโพธแก่ภิกษุนี้ เพราะเหตุนี้ ปลิโพธนั้น เธอ

พึงตัดด้วยการอุปัฏฐาก ทำบุคคลเหล่านั้น ( ผู้เป็นไข้ ) ให้ ( หาย ) เป็น

ปกติเสีย

ในบุคคลเหล่านั้น ( ว่าถึง ) พระอุปัชฌายะเป็นไข้ก่อน ถ้าท่าน

ไม่หายเร็ว พึงปรนนิบัติท่านตลอดชีวิตเถิด พระบรรพชาจารย์

พระอุปสัมปทาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิกที่ตน ( สวดกรรมวาจา )

ให้อุปสมบทและให้บรรพชา และภิกษุร่วมอุปัชฌายะ ( เป็นไข้ ) ก็พึง

ปรนนิบัติอย่าง ( อุปัชฌายะ ) นั้นเถิด ส่วนพระนิสยาจารย์พระ

อุเทสาจารย์ นิสยันเตวาสิก อุเทสันเตวาสิก และภิกษุร่วมอาจารย์

พึงปรนนิบัติเพียงที่นิสัยและอุเทศยังไม่ขาด ( แต่ ) เมื่อสามารถ ก็ควร

ปรนนิบัติต่อไปอีกแท้

ในมารดาบิดา พึงปรนนิบัติเหมือนในอุปัชฌายะเถิด จริงอยู่

มารดาบิดานั้น แม้หากท่านเป็นผู้สถิตอยู่ในราชสมบัติ ถ้าท่าน

( ประชวร ) หวังได้รับการอุปัฏฐากแต่บุตรไซร้ ภิกษุก็ควรทำ ( ให้

ท่าน ) แท้ อนึ่ง ยาของท่านไม่มี ก็พึงให้ยาอันเป็นของๆ ตน เมื่อ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 26

ยาของตนไม่มี ก็ควรแม้แสวงหาด้วยภิกขาจารมาให้ ( ท่าน ) จงได้เถิด

แต่สำหรับพี่น้องชายหญิง ( เป็นไข้ ) พึงประกอบยาอันเป็น

ของ ๆ เขานั้นแหละให้ ( เขา ) ถ้า ( ของ ๆ เขา ) ไม่มี จึงให้ของ ๆ ตน

เป็นของยืม เมื่อ ( หา ) ได้ภายหลัง จึงถือเอา ( คืน ) เมื่อ ( หา ) ไม่ได้

ก็อย่าทวงเลย จะทำยา จะให้ยาแก่สามีของพี่น้องหญิงผู้มิใช้ญาติ

ย่อมไม่ควร แต่พึงให้แก่พี่น้องหญิง บอก ( เขา ) ให้ให้แก่สามีของเขา

นัยแม้ในภริยาของพี่น้องชาย ก็ดุจนัยนี้ ส่วนบุตรทั้งหลายของเขา

เป็นญาติของเธอแท้ เพราะฉะนั้น ทำ ( ยา ) ให้บุตรทั้งหลายของเขา

เหล่านั้นย่อมควร

[อาพาธปลิโพธ]

โรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า อาพาธ โรคนั้นมันเบียดเบียนเอา

จึงชื่อว่า ปลิโพธ เพราะเหตุนั้น พึงตัดมันเสียด้วยการทำเภสัช แต่ถ้า

แม้เมื่อภิกษุทำเภสัช ( รักษาอยู่ ) สองสามวัน อาพาธไม่สงบไซร้ ก็พึง

ติเตียนอัตภาพว่า ข้าไม่ใช้บ่าว ไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้า ก็ข้าเลี้ยงเจ้า

นี้แหละ จึงได้รับทุกข์ในสังสารวัฏอัน ( ยาวนาน ) ไม่ปรากฏเงื่อนต้น

เงื่อนปลาย ( นี้ ) ดังนี้แล้ว ทำสมณธรรมเถิด

[ คันถปลิโพธ]

การบริหารปริยัติ ชื่อว่า คันถะ การบริหารปริยัตินั้น ย่อม

เป็นปลิโพธแก่ภิกษุผู้ขวนขวายอยู่เป็นนิจ ด้วยกิจมีการสาธยายเป็นต้น

เป็นปลิโพธแก่ภิกษุผู้ขวนขวายอยู่เป็นนิจ ( ผู้ไม่ได้ขวนขวาย ) ไม่ เรื่อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 27

เหล่านี้ (เป็นนิทัศนะ) ในความที่คันถะไม่เป็นปลิโพธสำหรับภิกษุผู้ไม่

ขวนขวาย

ได้ยินมาว่า พระเทวเถระผู้เป็นมิชฌิมภาณกะ ( สวดมัชฌิม

นิกาย ) ไปสู่สำนักของพระเทวะเถระชาวมลัยขอ ( เรียน ) กรรมฐาน

พระเถระถามว่า อาวุโส ท่านเป็นผู้ ( ได้ ) ขนาดไหนในปริยัติ พระ

มิชฌิมภาณกะตอบว่าท่านผู้เจริญ มัชฌิมนิกาย ข้าพเจ้าชำนาญ

พระเถระกล่าวว่า อาวุโส อันมัชฌิมนิกายนั้นบริหารยาก เมื่อสาธยาย

มูลปัณณาสกะ มัชฌิมปัณณาสกะก็มา ( คละ ) สาธยายมัชฌิม-

ปัณณาสกะเล่า อุปริปัณณาสกะก็มา ( ปน* ) ( เมื่อยุ่งอยู่ไม่รู้จบเช่นนั้น )

ที่ไหนกรรมฐานจักมีแก่ท่านได้เล่า พระมิชฌิมภาณกะปฏิญญาว่า

ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้กรรมฐานในสำนักของพระคุณท่านแล้ว จัก

ไม่เหลียวแล ( คันถะนั้น ) ต่อไปละ ดังนี้แล้ว รับเอากรรมฐาน( ไป

ทำความเพียร ) มิได้ทำการสาธยายถึง ๑๙ ปี ต่อปีที่ ๒๐ ได้บรรลุ

พระอรหัตแล้ว ( วันหนึ่ง ) กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พากันมาเพื่อจะ

สาธยาย ( สอบ ) ว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อเรามิได้เหลียวแลปริยัติมา

ถึง ๒๐ ปี แต่ว่าเรามีการสั่งสมได้ทำไว้ในปริยัตินั้น เชิญท่าน

ทั้งหลายเริ่ม ( สาธยายไป ) เถิด ( เมื่อภิกษุเหล่านั้น สาธยายไป

ปรากฏว่า ท่านยังจำปริยัตินั้นได้ดี ) ท่านมิได้มีความเคลือบแคลงแม้

* มหาฎีกาว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะหลงสุตตปเทส ( ตำแหน่งพระสูตร ? ) และวาน

( ตอน ) ซึ่งคล้าย ๆ กันก็มี ( ทำให้สาธยายเวียนวนไป จบไม่ลง ? )

เรื่องอย่างนี้ พวกเราไม่ใคร่จะเข้าใจ เพราะเราเกิดมาในสมัยที่พระไตรปิฎกพิมพ์

เป็นเล่มสมุดแล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องท่องจำมากมายเช่นนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 28

ในพยัญชนะสักตัวเดียว ตงแต่ต้นจนจบ

แม้พระนาคเถระ ผู้อยู่ ณ ภูเขากุรุนธิยคิรี ทอดทิ้งปริยัติถึง ๑๘ ปี

แล้วมาแสดงธาตุกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้น ( จำเอาไป )

สอบเทียบกับพระเถระคามวาสิกทั้งหลาย๑ ปรากฏว่า ปัญหาแม้ข้อหนึ่ง

ซึ่งมาผิดลำดับ ก็ไม่มี

แม้ในมหาวิหาร พระเถระชื่อจูฬาภัยผู้เป็นติปิฏกะ ( ทรงปิฎก

ทั้ง ๓ ? ) มิได้เรียนอรรถกถาเลย (คิดอย่างไรขึ้นมา) ให้คนตีสุวรรณ-

เภรีร้องป่าวไปว่า จักปริวัตร๒ปิฎก ๓ ในวง ( ผู้ศึกษา ) ปัญจนิกาย๓ หมู่

ภิกษุด้วยกัน ( ทราบว่า พระจูฬาภัยไม่มีครูอาจารย์ ) จึงแสร้งกล่าว

( ค้าน ) ว่า " ได้เรียนต่ออาจารย์ไหนมา พระจูฬาภัยก็จงว่าแต่ที่ได้เรียน

ต่ออาจารย์ของตนเถิด เราทั้งหลายไม่ย่อมให้ว่าไปนอกนี้ " แม้พระ

อุปัชฌาย์ ก็ได้ถามเธอมาอุปฐากตนว่า อาวุโส เธอหรือให้ตีเภรี

เธอรับว่า ใช่ พระอุปัชฌาย์จึงถามอีกว่า เพราะเหตุอะไร เธอ

กราบเรียนว่า เธอจักปริวัตรธรรม ( ให้คนฟัง ) พระอุปัชฌาย์ ( ลอง )

ถามว่า แน่ะอาวุโสอภัย อาจารย์ทั้งหลายกล่าวบทนี้อย่างไร เธอ

ตอบ ( ทันที ) ว่า กล่าวอย่างนี้ พระอุปัชฌาย์แสร้งปฏิเสธด้วยเสียงว่า

หึหึ เธอก็ตอบใหม่โดยปริยายอื่นๆ ว่า กล่าวอย่างนี้ๆ ถึง ๓ ครั้ง

พระเถระก็ปฏิเสธด้วยเสียง หึหึ ทั้งหมด แล้วกล่าวว่า แน่ะอาวุโส ทาง

ที่เธอกล่าวตอบครั้งแรกนั่นแหละเป็นอาจริยมรรค๔ละ แต่เพราะเธอ

๑. มหาฎีกาว่า หมายถึงพระเถระทั้งหลายที่อยู่วัดในกรุงอนุราธปุระ

๒. ปริวตฺเตสามิ มหาฎีกาแก้ว่า วณฺณยิสฺสามิ จักพรรณนา เราเคยแปลว่า " แปล"

คือเปลี่ยนภาษา

๓. ปญจนิกายมณฺฑเล มหาฎีกาแก้ว่า ทีฆาคมาทิเก ปญจนิกาเย สิกฺขิตปริสาย แก่

บริษัทผู้ศึกษาในนิกาย ๕ มีทีฆนิกายเป็นอาทิ

๔. อาจริยมคฺโค มหาฎีกาไขความว่า อาจริยานํ กถามคฺโค กถามรรคของอาจารย์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 29

ไม่ได้เรียนต่ออาจริยมุข ( ปากของอาจารย์ ) จึงไม่อาจยืนยันว่า

อาจาย์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ ( เพราะฉะนั้น ) เธอจงไปฟังในสำนักแห่ง

อาจารย์ทั้งหลาย( ที่ควรจะเป็นอาจารย์ ) ของตนเถิด๑ เธอกราบเรียน

ถาม ( หารือ ) ว่า จะไปที่ไหน ( ดี ) พระอุปัชฌาย์จึงบอกว่า พระเถระ

ชื่อ มหาธรรมรักขิต ผู้เชี่ยวชาญปริยัติทั้งปวง๒ อยู่ประจำ ณ วัดเขา-

ตุลาธารบรรพตในโรหณชนบทฟากแม่น้ำข้างโน้น เธอจงไปสู่สำนัก

ของท่านเถิด

พระจูฬาภัยรับคำ กราบพระเถระแล้ว ( ต่อมา ) ไปสู่สำนักพระ

( ธรรมรักขิต ) เถระ พร้อมด้วยภิกษุ ( บริวาร ) ๕00 ( ครั้นไปถึงแล้ว

เข้าไป ) กราบแล้ว นั่งลง พระเถระถามว่า มาทำไม ก็ทราบเรียนว่า

มาเพื่อฟังธรรม พระเถระจึงว่า อาวุโสอภัย ภิกษุทั้งหลายมาถามฉัน

ในทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย ( บ้าง ) เป็นครั้งเป็นคราวส่วนสูตรที่เหลือ

ฉันไม่เคยเหลียวแลมาประมาณ ๓๐ ปีแล้ว เอาอย่างนี้เถิด กลางคืน

เธอ ( มา ) ปริวัตรในสำนักของฉัน กลางวันฉันจักกล่าวแก่เธอ ( ให้ฟัง

ว่าผิดถูกอย่างไร ) พระจูฬาภัยตกลงทำอย่างนั้น พวกชาวบ้านให้ทำ

๑. อตฺตโน อาจริยานํ จะแปลตรง ๆ ว่า "แห่งอาจารย์ของตน"ไม่ได้กับความจริง

เพราะพระจุฬาภัย ไม่มีอาจารย์ และท่านที่พระเถระจะแนะนำให้ไปหา ก็ยังไม้ได้เป็น

อาจารย์ของพระจุฬาภัย มหาฎีกาท่านก็เห็นเช่นนี้ จึงแนะให้เติมข้อความ อตฺตโน กเถตุํ

ยฺตฺตานํ อาจริยานํ ( แห่งอาจารทั้งหลาย ผู้ควรจะกล่าวแก้แก่ตน ) ในที่นี้เห็นว่า บท

อตฺตโน เดิมรูปจะเป็น ฉัฏฐีวิภัติ แต่ที่ มหาฎีกาแก้ไปนั้น กลายเป็นจตุตถีวิภัติไป

เพื่อจะให้บท อตฺตโน คงเป็น ฉัฏฐี จึงคิดเติมข้อความไปอีกท่อนหนึ่งดังนั้น โดยอาศัย

นัยแห่ง มหาฎีกาเป็นเค้า

๒. สพฺพปริยตฺติโก มหาฎีกาท่านไขว่า ก็ เตปิฏโก นั้นเอง ( เพราะถ้าไม่ทรงพระไตร-

ปิฎกแล้ว จะยกให้เป็นผู้เชียวชาญสรรพปริยัติหาได้ไม่)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 30

ปะรำใหญ่ที่ข้างประตูบริเวณแล้ว มาฟังธรรมกันทุกวัน พระเถระเอา

สูตรที่พระจูฬาภัยปริวัตรในกลางคืน มากล่าว ( สอบ ) ในกลางวัน

( ไม่มีผิด ) เรื่อยๆ ไปจนจบ ( พระสูตร ) แล้ว ( คงจะสังเกตเห็นว่า

พระจูฬาภัยมีปฏิภาณสูงกวา่ ตน จึงวันหนงึ่ เข้าไป ) นั่งบนเสื่อ๑ใกล้ๆ

พระอภัยเถระกล่าวว่า " อาวุโส ท่านจงบอกกรรมฐานแก่ฉันด้วยเถิด "

พระจูฬาภัยจึงว่า " พระคุณท่านพูดอะไร เจ้าข้า กรรมฐานนั้น ข้าพเจ้า

ก็ฟังมาในสำนักของพระคุณท่านนั่นเอง มิใช่หรือ ข้าพเจ้าจักบอก

กรรมฐานอะไร ( อีก )เล่า ที่พระคุณท่านยังไม่รู้" ทีนั้น พระเถระจึง

กล่าว (ให้ชัดขึ้น) ว่า "อาวุโส อันทางของบุคคลผู้ไปถึงแล้วนั่นเป็น

อย่างหนึ่ง๒ (ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ก็เพราะ) ทราบกันว่า เวลานั้นพระอภัย

เถระ เป็นพระโสดาบัน

ครั้งนั้น พระจูฬาภัยให้กรรมฐานแก่พระเถระแล้ว ก็ ( กลับ )

มาปริวัตรธรรมที่โลหประสาท ( กรุงอนุราธปุระ) ( ต่อมา ) ได้ยิน

ข่าวว่า พระเถระ ( สำเร็จพระอรหัต ) ปรินิพพานแล้ว ครั้นได้ยิน

( เช่นนั้น ) จึงบอก ( ศิษย์ )ให้หยิบจีวรมาให้ ห่มจีวร ( เป็นปริมณฑล)

แล้ว กล่าวสรรเสริญพระเถระ ( ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย ) ว่า

๑. มหาฎีกาช่วยเสริมคำว่า ทีแรกนั่งบนตั่ง ( ในฐานเป็นอาจารย์แล้วทีนี้จะขอเป็น

ศิษย์บ้างก็ต้องลด) ลงนั่งบนเสื่อที่พื้น (ให้เสมอกับอาจารย์ )

๒. หมายความว่า ผู้ปฏิบัติบรรลุมรรคผลแล้ว ย่อมจะบอกทางปฏิบัติได้ถูกตรงดีกว่า

บอกตามทางปริยัติ

๓. มหาฎีกาว่า ก่อนจะพูดถึงอาจารย์ ห่มจีวรให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อแสดงความ.

เคารพยำเกรง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 31

" อาวุโสทั้งหลาย พระอรหัตมรรคควรแก่ท่านอาจารย์ของเราแล้วละ

ท่านอาจารย์ของเราเป็นผู้ซื่อตรง เป็นอาชาไนยบุคคล๑ ท่านจึงยอม

นั่งบนเสื่อใกล้ธัมมันเตวาสิกของตน กล่าวว่า " เธอจงบอกกรรมฐาน

แก่ฉันด้วยเถิด " อาวุโสทั้งหลายพระอรหัตมรรค สมควรแก่พระเถระ

ท่านแล้ว "

คันถะ ย่อมไม่เป็นปลิโพธแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณธรรมเช่นนี้๒

[อิทธิปลิโพธ]

คำว่า อิทธิ หมายเอาฤทธิ์อันมีในปุถุชน อันฤทธิ์ที่มีในปุถุชน

นั้น เป็นสิ่งที่รักษายาก ดุจเด็กอ่อนที่ยังนอนแบและดุจข้าวกล้าอ่อน

ย่อมจะแตกได้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย ก็แลฤทธิ์นั้น ย่อมเป็นปลิโพธ

ต่อวิปัสสนา หาเป็นปลิโพธต่อสมาธิไม่ เพราะฤทธิ์นั้น บุคคลบรรลุ

สมาธิแล้วจึงได้ เพราะเหตุนั้นแล อิทธิปลิโพธ พระโยคาวจรผู้

ประสงค์วิปัสสนาจำต้องตัด ( ส่วน ) ปลิโพธ ( ๙ ) ที่เหลือ พระโยคา-

วจรผู้ประสงค์สมถะพึงตัด

นี้แล ความพิสดารในเรื่องปลิโพธ พึงทราบเป็นอันดับแรก

ส่วนในข้อว่า " เข้าไปหาท่านผู้ให้กรรมฐาน ผู้เป็นกัลยาณ-

มิตร " นั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

๑. มหาฎีกาว่า ท่านซื่อ เพราะไม่มีสาไถย คือไม่อวดดี นับเป็นอาชาไนย เพราะรู้เหตุ

ที่ควรรู้ ไม่มัวงมอยู่ )

๒. หมายถึงท่านพระธรรมรักขิตเถระผู้ปรินิพานไปแล้ว เรื่องพระจุฬาภัยนี้ ท่าน

ผู้แต่งเล่าด้วยสำนวนโวหารที่ฟังเข้าใจยาก ตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องใช้เวลาอ่านทำความ

เข้าใจมากอยู่ ซึ้งในที่สุดก็ต้องใช้วิธีเติมข้อความเอาตามที่เข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 32

[กัมมฐาน ๒ และกัมมฐานทายกะ]

กรรมฐานมี ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกัมมฐาน ๑ ปาริหาริย-

กัมมฐาน ๑ ในกรรมฐาน ๒ อย่างนั้น ( กรรมฐานคือ ) เมตตา ( อัน

แผ่ไป ) ในประชาชนต่างๆ มีหมู่ภิกษุเป็นต้น ก็ดี มรณสติก็ดี ชื่อว่า

สัพพัตถกกัมมฐานอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อสุภสัญญา ( เป็น

สัพพัตถกกัมมฐาน ) ก็มี จริงอยู่ เมตตา ( นั้น ) ขั้นแรก ภิกษุผู้

บำเพ็ญกรรมฐาน พึงกำหนดเอาหมู่ภิกษุนั้นแล้ว เจริญไปในหมู่ภิกษุ

ผู้อยู่ในสีมา ( เดียวกันกับตน )โดยนัยว่า ขอภิกษุผู้อยู่ในสีมาทั้งหลาย

จงเป็นผู้มีความสุข ไม่เบียดเบียนกันเถิด ต่อนั้นจึงเจริญไปในหมู่

เทวดาผู้อยู่ในสีมา ( นั้น ) แต่นั้นจึงเจริญไปในหมู่อิสรชนในโคจรคาม

แล้วจึงเจริญไปในคน ( ชาวบ้าน )๑ ในโคจรคามนั้น ตลอดไปถึงสัตว์

( ดิรัจฉาน ) ทั้งปวง ก็แล ด้วยเมตตา ( ที่เธอเจริญไป ) ในหมู่ภิกษุ

เธอย่อมทำให้ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ร่วมกันเกิดมีจิตอ่อนโยน ( ในตัวเธอ

ได้ )๒ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็เป็นสุขสังวาส ( มีการอยู่

ร่วมกันเป็นสุข)สำหรับเธอ ด้วยเมตตา ( ที่เจริญไป ) ในหมู่เทวดา

ผู้อยู่ในสีมานั้น เธอจะเป็นผู้ที่เทวดาทั้งหลายผู้มีจิตอันเมตตานั้น

ทำให้อ่อนโยนแล้ว จัดการรักษาอย่างดี โดยการรักษาที่เป็นธรรม

ด้วยเมตตา ( ที่เจริญไป ) ในอิสรชนในโคจรคาม เธอจะเป็นผู้ที่

๑. ตรงนี้ ปาฐะที่พิมพ์ไว้เป็น มนุสฺเส น่าจะเป็น มนุสฺเสสุ ปาฐะต่อไปก่อนที่จะแสดงผล

ก็ยันอยู่ว่า มนุสฺเสสุ เมตฺตาย

๒. ปาฐะว่า สหวาสีนํ มุทุจิตฺตตํ ชเนติ แปลโดยพยัญชนะว่ายังความที่ภิกษุทั้งหลาย

ผู้อยู่ด้วยกัน เป็นผู้มีจิตอ่อนโยน ( ในตัวเธอ ) ให้______________เกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 33

อิสรชนทั้งหลาย ผู้มีจิตสันดานอันเมตตานั้นทำให้อ่อนโยนแล้ว

รักษาล้อมกันอย่างดี โดยการรักษาอันเป็นธรรม ด้วยเมตตา

( ที่เจริญไป ) ในคนทั้งหลายในโคจรคามนั้น เธอย่อมจะเป็นผู้ที่

คนเหล่านั้นผู้มีจิตอันเมตตานั้น ทำให้เลื่อมใสแล้ว ไม่รังแก เที่ยวไป

( ไหนได้ตามสบาย ) ดว้ ยเมตตา ( ที่เจริญไป ) ในสัตว์ ( ดิรัจฉาน )

ทั้งปวง เธอจะเป็นผู้มีการเที่ยวไปไม่ถูกขัดขวางในที่ทั้งปวง อนึ่ง

ด้วยมรณสติ เธอคิดอยู่ว่า อวสฺสํ มยา มริตพฺพํ ( เราต้องตายแน่ )

ดังนี้ จะละอเนสนาเสียได้ มีความสังเวชเพิ่มขึ้นๆ เป็นผู้มีความ

ประพฤติไม่ย่อหย่อน ( ในสัมมาปฏิบัติ ) อนึ่ง เมื่อเธอมีจิตอันได้

สั่งสม ( อบรม ) แล้วในอสุภสัญญา อารมณ์ทั้งหลายแม้เป็นทิพย์

ย่อมไม่ยึดจิต ( ของเธอ ) โดยทำให้อยากได้ ด้วยประการดังกล่าวมา

ฉะนี้ กรรมฐาน ๓มีเมตตาเป็นต้น ท่านจึงเรียกว่า สัพพัตถกกัมมฐาน

เหตุเป็นกรรมฐานที่พึงต้องการ คือพึงปรารถนาในภาวนานุโยคทั้งปวง

เพราะความเป็นกรรมฐานมีอุปการะมากประการ ๑ เหตุเป็นที่ตั้ง๑

แห่งการงาน คือการประกอบเนืองๆ ซึ่งโยคภาวนาที่ประสงค์

ประการ ๑ ส่วนว่ากรรมฐานข้อใดในกรรมฐาน ๔๐ อนุกูลแก่จริยา ของ

ภิกษุใด กรรมฐานข้อนั้น ท่านเรียกว่า ปาริหาริยกัมมฐานของภิกษุนั้น

เพราะเป็นกรรมฐานที่เธอต้องบริหารเป็นนิจ๒ และเพราะเป็นปทัฏฐาน

แห่งงานภาวนาเบื้องสูงของเธอด้วย ท่านผู้ใดให้กรรมฐานทั้ง ๒ อย่าง

๑. ฐานํ มหาฎีกาแก้ว่า นิพฺพตฺติ เหตุเกิด

๒. มหาฎีกาขยายความว่า ปาริหาริยกัมมฐานนี้ต้องบริหาร คือประกอบบำเพ็ญอยู่

ตลอดกาล ไม่งดเสียบ้างลางคราวก็ได้ ดุจสัพพัตถกกัมมฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 34

ดังกล่าวมานี้ ท่านผู้นี้ชื่อว่า ( กัมมฐานทายกะ ) ผู้ให้กรรมฐาน

พระโยคาวจร พึงเข้าไปหาท่านผู้ให้กรรมฐานนั้น

[กัลยาณมิตร]

คำว่า ผู้เป็นกัลยาณมิตร คือผู้เป็นมิตรที่ดี ผู้ตั้ง ( ตน ) อยู่ใน

ฝ่ายเจริญ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ( ผู้อื่น ) ไปฝ่ายเดียว กอบด้วยคุณ

มีคุณอย่างนี้ คือ

น่ารัก ๑ น่าเคารพ ๑ น่ายกย่อง ๑ เป็น

ผู้ว่ากล่าว ( คนอื่น ไม่เฉยเมย ) ๑ เป็นผู้ยอม

ให้ ( คนอื่น ) ว่ากล่าว ( ไม่หัวดื้อ ) ๑ แต่ง

( ธรรม ) ถกาอันลึกซึ้งได้ ๑ ไม่ชักชวน

( ผู้อื่น ) ในที่อันไม่ควร ๑

เป็นอาทิ ก็เพราะพระพุทธพจน์ว่า ดูกรอานนท์ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลาย

ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ย่อม

พ้นจากความเกิดได้ ดังนี้เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว

จึงเป็นกัลยาณมิตรที่ถึงพร้อมด้วยอาการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น เมื่อ

พระองค์ยังเสด็จอยู่ กรรมฐานที่ถือเอาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

นั้นเท่านั้น จึงเป็นอันถือเอาอย่างดี แต่เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว

บรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ พระมหาสาวกองค์ใดยังทรงชีพอยู่

ถือเอา ( กรรมฐาน ) ในสำนักพระมหาสาวกองค์นั้น จึงควรแม้นพระ

มหาสาวกนั้นไม่มี ตนใคร่จะถือกรรมฐานบทใด ก็พึงถือเอาในสำนัก

พระขีณาสพผู้ที่ทำจตุกฌานหรือปัญจกฌานให้เกิดด้วยอำนาจ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 35

กรรมฐานบท ( เดียวกับที่ตนใคร่จะถือ ) นั้นแล้ว เจริญวิปัสสนา

อันมีฌานนั้นเป็นปทัฏฐาน ( จน ) ได้บรรลุอาสวักขัย ( นั้น ) เถิด

ถามว่า ก็พระขีณาสพ ( ท่าน ) ประกาศตนว่า อาตมาเป็น

พระขีณาสพหรือ ?

ตอบว่า จะต้องพูดอะไรกันเล่า ด้วยว่า พระขีณาสพ ( องค์หนึ่ง )

รู้ความที่ ( ภิกษุรูปหนึ่ง ) เป็น (การกบุคคล) ผู้ทำจริงแล้ว ก็ประกาศ

( ตนออกมา ) พระอัสสคุตตเถระ ( นั่นอย่างไร ) รู้ว่ากรรมฐานอัน

ภิกษุนี้เริ่มแล้ว ภิกษุนี้เป็นผู้ทำจริงดังนี้แล้ว ( เหาะขึ้นไป ) ลาดจัมม-

ขัณฑ์ในอากาศ นั่งโดยบัลลังก์ ( ขัดสมาธิ ) ณ จัมมขัณฑ์นั้นบอกกรรมฐาน

ให้มิใช่หรือ ?

เพราะฉะนั้น ถ้าพระโยคาวจรได้พระขีณาสพ ( เป็นผู้ให้กรรมฐาน )

ไซร้ การได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ไซร้ พึงถือเอา ( กรรมฐาน )

ในสำนัก พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ปุถุชนผู้ได้ฌาน

ผู้ทรงไตรปิฎก ผู้ทรงทวิปิฎก ผู้ทรงเอกปิฎกหลั่นกันลงมา แม้นว่า

ผู้ทรงเอกปิฎกไม่มี ภิกษุใดชำนาญ ( พระสูตร ) แม้นิกาย ๑ พร้อม

ทั้งอรรถกถา และตัวเธอเองเป็นลัชชีด้วย ก็พึงถือเอาในสำนักภิกษุนั้น

เถิด เพราะว่า ภิกษุ ( ผู้เป็นพหูสูตและเป็นลัชชี ) เช่นนี้ ย่อมเป็น

ผู้ทรงไว้ซึ่งแบบแผน ตามรักษาวงศ์ รักษาประเพณี เป็นอาจารย์

ผู้ถือตามพระไตรปิฎก ( เป็นสำคัญ ) ไม่ถือแต่อัตตโนมัติ เพราะเหตุ

นั้นแหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลายจึงได้กล่าว ( คติพยากรณ์ )

ไว้เป็น ๓ คาบว่า ลชฺชี รกฺขิสฺสติ ลชฺชี รกฺขิสฺสติ ลชฺชี รกฺขิสฺสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 36

ภิกษุลัชชีจักรักษา ภิกษุลัชชีจักรักษา ภิกษุลัชชีจักรักษา ดังนี้

ก็ในการให้กรรมฐานนี้ ภิกษุ ( ผู้บรรลุมรรคผล ) มีพระ-

ขีณาสพ เป็นต้นที่กล่าวมาก่อน ( นั้น ) ย่อมบอกได้แต่ทางที่ตนได้บรรลุ

มาเท่านั้น แต่ภิกษุพหูสูต เพราะความที่เธอได้เข้าไปหาอาจารย์นั้นๆ

สอบอุคคหะและปริปุจฉา ( อรรถกถา ) มาอย่างวิเศษแล้ว ( ก่อนจะ

ให้กรรมฐาน เธอ ) จะต้องกำหนดพระสูตร ( คือข้อความที่กล่าวไว้ใน

พระสูตร อันสมควรแก่กรรมฐานนั้น ) และเรื่องราวเนื่อง

ด้วยการบำเพ็ญกรรมฐานที่มีมาในพระสูตร แต่ที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง

( ใน ๕ นิกาย รวบรวมมา ) ประกอบเข้าให้เป็นข้อที่เป็นสัปปายะ

มากน้อย๑ ( แก่ผู้เรียน )แล้วแสดง ( กัมมฐานวิธี ) เป็นทางกว้าง

บอกกรรมฐานให้ อุปมาเหมือนช้างใหญ่เดินไปในที่ป่ารก ย่อม

แสดงทางที่มันไปเป็นช่องกว้าง ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น พระโยคาวจร พึงเข้าไปหาท่านผู้ให้กรรมฐาน

ผู้เป็นกัลยาณมิตรอย่างนั้น ทำวัตรปฏิบัติต่อท่านแล้ว ถือเอากรรมฐาน

( ในสำนักของท่านนั้น ) เถิด ก็แล ถ้าพระโยคาวจรได้ท่านผู้ให้

้กรรมฐานนั้น ( อยู่ )ในวัดเดียวกัน การได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี๒

ถ้าไม่ได้ไซร้ ท่านอยู่ที่ใด ก็พึงไปที่นั่น ก็แลเมื่อจะไป ไม่พึงสวม

รองเท้าด้วยทั้งเท้าที่ล้างและทา ( น้ำมัน ) แล้ว กั้นร่ม ใช้คนถือ

๑. จากศัพท์ว่า สปฺปายาสปฺปายํ โยเชตฺวา บท สปฺปายาสปฺปายํ นั้น มหาฎีกาท่านแก้

เป็น อุปการานุปการํ เป็นอุปการะมากน้อย

๒. อิจฺเจตํ กุสลํ แปลว่า "การได้อย่างนี้ นั่นเป็นกุศล" ตรง ๆ ก็ดูจะได้ความดี

ในภาษาไทยเหมือนกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 37

เครื่องใช้และเภสัช มีกระโหลกน้ำมันและน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น มีอันเต-

วาสิกห้อมล้อมไป แต่พึงบำเพ็ญคมิกวัตรแล้วถือบาตรจีวรของตน

( ไป ) เองทีเดียว เข้าไปสู่วัดใดๆ ในระหว่างทาง ก็ทำวัตรปฏิบัติ

ทุกแห่ง* เป็นผู้มีบริขารเบา มีความประพฤติทางขัดเกลาอย่างยิ่งไป

เมื่อจะเข้าสู่วัด ( ที่อาจารย์อยู่ ) นั้น พึงวานใครทำไม้ชำระฟันให้เป็น

กัปปิยะในระหว่างทางนั่นแหละถือเข้าไป ( ด้วย ) และไม่ควรเข้าไป

บริเวณอื่น ด้วยคิดว่า จักพักทำสรีรกิจมีล้างและทาเท้าเป็นต้นจึงไปหา

อาจารย์ ดังนี้เลย ถามว่า เพราะเหตุอะไร ? ตอบว่า เพราะถ้า

ภิกษุทั้งหลายที่ไม่ถูกกับอาจารย์นั้น จะพึงมีอยู่ในบริเวณนั้นไซร้

พวกเขาถาม ( ทราบ ) เหตุแห่งการมา ( ของเธอ ) แล้ว ก็จะพึงเปิด

เผยเรื่องเสียหายของอาจารย์ ( ให้เธอฟัง ) แล้วพูด ( เป็นที่ทักท้วง )

ว่า " จบกันละท่าน ถ้าท่านมาหาอาจารย์รูปนั้นละก็ " ทำความผิดหวัง

ให้เกิด ( แก่เธอจน ) เป็นเหตุให้เธอกลับไปเสียจากที่นั้นก็ได้ เพราะ

เหตุนั้น ถาม ( ทราบ ) ที่อยู่ของอาจารย์แล้ว พึงตรงไป ณ ที่นั้น

ทีเดียวเถิด

ถ้าอาจารย์อ่อน ( พรรษา ) กว่า อย่าพึงยินดีสามีจิกรรมมีการ

รับบาตรจีวรเป็นต้น ( ที่อาจารย์นั้นจะทำให้ )ถ้าอาจารย์แก่ ( พรรษา )

กว่า ไปถึงแล้วพึงไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ ท่านบอกให้วางบาตรจีวร

จึงวาง ท่านบอกให้ดื่มน้ำ ถ้าต้องการ ก็พึงดื่ม ( แต่เมื่อ ) ท่าน

บอกให้ล้างเท้า อย่าเพิ่งล้าง เพราะถ้าน้ำ ( ล้างเท้านั้น ) จะพึงเป็น

* มหาฎีกา ท่านช่วยขยายความว่า บำเพ็ญวัตรต่าง ๆ ตามสมควร เช่น เมื่อเข้าไป

ก็บำเพ็ญอาคันตุกวัตร เมื่อจะออกจากวัดไป ก็บำเพ็ญคมิกวัตร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 38

น้ำที่อาจารย์ตักมาไซร้ ก็เป็นการไม่สมควร ต่อท่านบอกว่า " ล้างเถิด

อาวุโส น้ำนั่นมิใช่ฉันตักมา คนอื่นตักดอก " ดังนี้แล้ว พึงไปนั่งในที่ๆ

อาจารย์มองไม่เห็น จะเป็นที่ว่างอันมีสิ่งปิดบัง หรือว่ากลางแจ้ง

ทางท้ายๆ วัดก็ได้ ล้างเท้าเถิด ถ้าอาจารย์นำกระโหลกน้ำมัน

( มาให้ ) พึงลุกขึ้นรับโดยเคารพด้วยมือทั้ง ๒ เพราะถ้าเธอไม่รับ

กะโหลกน้ำมันนั้น อาจารย์จะเกิดความกินแหนงว่า " ภิกษุนี้ทำสมโภค

( การใช้ร่วมกัน )ให้เสียไปตั้งแต่บัดนี้เทียวนะ " แต่ครั้นรับมาแล้ว

ก็ไม่ควรทาเท้าเข้าก่อนทีเดียว เพราะถ้าน้ำมันนั้น จะพึงเป็นน้ำมัน

สำหรับชะโลมตัวอาจารย์ไซร้ ก็จะเป็นการไม่สมควรไป เพราะฉะนั้น

พึงทาศีรษะก่อน แล้วจึงทาอวัยวะอื่นมีคอเป็นต้น ( ต่อไป ) ต่อท่าน

บอกว่า " อาวุโส น้ำมันนี่เป็นน้ำมันสำหรับใช้ได้ทุกอย่าง ทาเท้าก็ได้ "

ดังนี้ จึงแตะที่ศีรษะหน่อยหนึ่ง ต่อนั้นจึงทาเท้า ( เสร็จ ) แล้ว พึงเรียน

( ท่าน ) ว่า จะเก็บกะโหลกน้ำมัน ( ที่ไหน เพื่อท่านจะได้ชี้ที่เก็บให้

แต่ ) เมื่ออาจารย์รับเอาไป ( จะเก็บเอง ) ก็ให้ ( ท่าน ) ไปเถิด

ไม่ควรเร่งเร้าให้ท่านบอกกรรมฐานให้ตั้งแต่วันที่มาถึง แต่ว่า

ตั้งแต่วันที่สองไป ถ้า ( ภิกษุ ) อุปัฏฐากประจำของอาจารย์มีอยู่

พึงขอกะเธอ ทำวัตร ( อาจารย์บ้าง ) ถ้าแม้ขอแล้ว เธอไม่ยอมให้

ก็พึงคอยทำเมื่อได้โอกาสก็แล้วกัน ก็แลเมื่อจะทำ พึงน้อมถวายไม้

ชำระฟันทั้ง ๓ ขนาด คือขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดใหญ่ น้ำล้าง

หน้าและน้ำอาบเล่า ก็พึงจัดถวายทั้ง ๒ อย่าง คือ อย่างเย็น อย่างอุ่น

อาจารย์ใช้ไม้ชำระฟันและน้ำ ( อย่าง ) ใดตลอดสามวัน ต่อนั้นไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 39

พึงเข้าไปตั้งไม้ชำระฟันและน้ำอย่างนั้นถวายเป็นนิจไป เมื่อท่านไม่

พิถีพิถันใช้อะไรก็ได้ ก็พึงน้อมถวายของตามแต่จะได้เถิด จะว่ากันมาก

ไปไย สัมมาวัตร ( วัตรอันชอบ ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ

ไว้แล้วในมหาขันธกะว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก พึงทำวัตร

อันชอบในอาจารย์ นี้เป็นการทำวัตรชอบในข้อนั้น คือ อันเตวาสิก

พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ทำอุตตราสงค์เฉวียงบ่าแล้ว ( เข้าไป )

ถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถ้ายาคูมีอยู่ พึงล้าง

ภาชนะ น้อมยาคูเข้าไปถวาย ดังนี้เป็นต้นนั้นอันใด พึงทำสัมมาวัตร

นั้นทุกข้อเถิด

อันศิษย์ผู้ยังครูให้พอใจอยู่ด้วยวัตรสมบัติอย่างนี้ ในเวลาเย็น

ท่านปล่อยให้ ( กลับ ) ไป จึงกราบ ( ลา )ไป เมื่อใดท่านถามว่า

เธอมาเพื่ออะไร จึงเรียนเหตุแห่งการมาเมื่อนั้น ถ้าท่านไม่ถามเสียเลย

แต่ว่าท่านยินดี( การทำ ) วัตรไซร้ เมื่อล่วง ๑๐ วัน หรือปักข์หนึ่ง

ไปแล้ว ( ได้โอกาส ) ณ วันหนึ่ง แม้ท่านปล่อย ( ในตอนเย็น )แล้ว

ก็อย่าไป ให้ท่านทำโอกาสแล้ว เรียนบอกเหตุแห่งการมา หรือว่า

เธอแสร้งไป ( หาท่าน ) ผิดเวลา ( เพื่อจะให้ ) ท่านถามว่า มาทำไม

จึงกราบเรียน ( เหตุแห่งการมาให้ท่านทราบ ) ถ้าท่านสั่งให้มาตอนเช้า

ก็พึงไปแต่เช้า แต่ถ้าในเวลานั้น ท้องของเธอร้อน เพราะน้ำดีเบียนเอา๑

ก็ดี อาหารไม่ย่อยเพราะไฟ ( ธาตุ )อ่อนก็ด๒ โรคอะไรอื่นๆ เบียนเอา

๑. ปิตฺตาพาเธน เห็นจะอย่างที่เราเข้าใจว่า เวลาท้องว่างต้องการอาหาร น้ำย่อยออกมา

ทำให้ท้องร้อน กระมัง?

๒. ข้อนี้จะมีอาการเป็นอย่างไร คงจะท้องเพื้อเปรี้ยวคลื่นเหียน กระมัง?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 40

ก็ดี พึงเปิดเผยอาพาธนั้น ( ให้อาจารย์ทราบ ) ตามที่มันเป็น เรียนบอก

เวลาที่ ( กายใจ ) สบายสำหรับตน แล้วไปหา ( ท่าน ) ในเวลานั้น

เพราะว่าในเวลาที่ไม่สบาย แม้ท่านบอกกรรมฐานให้ เธอก็ไม่อาจ

มนสิการ ( ใส่ใจ ) ได้ นี้เป็นความพิสดารในข้อว่า " เข้าไปหาท่านผู้ให้

กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร " นั้น

[จริยา และ จริต ๖]

บัดนี้ พึงทราบความพิสดารในข้อว่า " กรรมฐานอันอนุกูลแก่

จริยาของตน " นั้นต่อไป

คำว่า จริยา ได้แก่จริยา ๖ คือ ราคจริยา โทสจริยา โมหจริยา

สัทธาจริยา พุทธิจริยา วิตกจริยา แต่อาจารย์ลางพวกประสงค์เอา

จริยา ๑๔ ทั้งจริยา ๘ นี้ โดยสังสัคคะ ( ความระคนกัน ) และ

สันนิบาต ( ความรวมกัน )แห่งวัตถุ ๓ ข้างหน้ามีราคะเป็นต้น

ได้จริยา ๔ หมวด ๑ แห่งวัตถุ ๓ ข้างหลัง มีสัทธาเป็นต้น ก็ได้จริยา ๔

อีกหมวด ๑ เหมือนกัน๑ แต่เมื่อจะกล่าวประเภทออกไปอย่างนี้ จริยา

๑. มหาฎีกาว่า จริยา ๖ นั้น อาจารย์พวกหนึ่ง แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม

๓ ข้างหน้า คือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นกลุ่ม ๑ ๓ ข้างหลัง คือ สัทธา พุทธิ วิตก

เป็นกลุ่มหนึ่ง แต่ละกลุ่มจัดแบ่งตามที่มันระคนกัน และตามที่มันเกิดร่วมกันได้ ได้อีก

กลุ่มละ ๔ ๒ กลุ่มเป็น ๘ รวมกับมูลจริยา๖ จึงเป็นจริยา ๑๔

กลุ่มหน้า ๔ นั้น โดยระคนกัน ๒ โดยเกิดร่วมกัน ๒ โดยระคนกัน ๒ คือ ราคโมห-

จริยา และโทสโมหจริยา หมายความว่า รักเจือหลงก็มี โกรธเจือหลงก็มี โดยเกิดร่วมกัน ๒

คือ ราคโทสะจริยา และราคโทสโมหจริยาหมายความว่า รักกับโกรธ หรือรักโกรธหลง

มันเกิดต่อเนื่องเป็นอันเดียวกัน และรุนแรงหนักหนาปานๆ กันมีในคนๆ เดียวก็ได้

กลุ่มหลัง ๔ ก็นัยเดียวกัน คือ สัทธาพุทธิจริยา สัทธาวิตกจริยา พุทธิวิตกจริยา-

สัทธาพุทธิวิตกจริยา หมายความว่า ความเชื่อเจือความฉลาดก็มี ความเชื่อเจือความคิด

มากก็มี และความฉลาดกับความคิดมาก หรือ ความเชื่อความฉลาดความคิดมาก มันเกิดต่อเนื่อง

เป็นอันเดียวกันได้ และเกิดมีในสันดานคนๆ เดียวปานๆ กันก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 41

ก็ย่อมจะมีได้มากหลาย เพราะระคนด้วยวัตถุ ๓ ข้างหน้ามีราคะเป็นต้น

เข้ากับวัตถุ ๓ ข้างหลัง มีสัทธาเป็นต้นอีกก็ได๑ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า

โดยสังเขป จริยาก็มี ๖ เท่านั้น

คำว่า จริยา ปกติ อุสฺสนฺนตา ( ความหนา ) ( ๓ นี้ ) โดย

ความก็อันเดียวกัน

เนื่องด้วยจริยา ๖ นั้น บุคคลก็มี ๖ เหมือนกัน คือ คนราคจริต

คนโทสจริต คนโมหจริต คนสัทธาจริต คนพุทธิจริต คนวิตกจริต เพราะ

เหตุที่ในบุคคล ๖ จำพวกนั้น คนราคจริต ในเวลาประพฤติกุศล ย่อม

ศรัทธากล้า เพราะศรัทธาเป็นคุณที่บางใกล้ต่อราคะ จริงอยู่ในฝ่ายอกุศล

ราคะเป็นโทษที่สดใส ไม่มอซอ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ศรัทธาก็เป็น

คุณที่แจ่มใส ไม่มัวซัว ฉันนั้น ราคะย่อมแส่หาวัตถุกาม ฉันใด

ศรัทธาก็แสวงหาสีลาทิคุณฉันนั้น ราคะไม่ทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์

เกื้อกูล ฉันใด ศรัทธาก็ไม่สละสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ฉันนั้น เพราะ

เหตุนั้น คนสัทธาจริตจึงมีส่วนเสมอกันแห่งคนราคจริต๒ ส่วนว่าคนโทสจริต

ในเวลาประพฤติกุศล ย่อมมีปัญญากล้า เพราะปัญญาเป็นคุณใกล้

ต่อโทสะ จริงอยู่ในฝ่ายอกุศลโทสะเป็นโทษที่ไม่มีเยื่อใย ไม่ติดพัน

๑. มหาฎีกาว่า เช่น ราคสัทธาจริต ( รักก็ง่าย เชื่อก็ง่าย ) โทสสัทธา-

จริยา ( โกรธก็ง่าย เชื่อก็ง่าย ) ฯลฯ ท่านว่าระคนกันไประคนกันมาได้ถึง ๓๖ หรือ

มากกว่านั้น

๒. ที่ว่าสัทธาใกล้ราคะ นั้น มีได้หมายความว่า ใกล้จะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เพราะความจริงนั้นฝ่ายหนึ่งเป็นกุศล ฝ่ายหนึ่งเป็นอกุศล ไม่มีวันจะเป็นอันเดียวกันได้

มหาฎีกาท่านว่า คำว่าใกล้นั้น หมายความว่าเป็นสภาค คือมีส่วนเสมอกัน เสมอกัน

โดยอะไรบ้าง ? ก็โดยความนุ่มนวล ความแสวงหา ความไม่ทอดทิ้ง ที่ท่านไขความไว้

นั่นเอง ท่านว่า สิ่งที่มีอะไรเสมอกัน ถึงไกลกันก็เหมือนใกล้กัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 42

อารมณ์ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ปัญญาก็เป็นคุณที่ไม่มีเยื่อยาง ไม่

พัวพันอารมณ์ฉันนั้น อนึ่ง โทสะส่ายหาแต่โทษ แม้ที่ไม่เป็นจริง

ฉันใด ปัญญาก็สอดหาโทษแต่ที่เป็นจริง ฉันนั้น๑ โทสะเป็นไปโดย

อาการไม่เอื้อสัตว์ ( คน ) ฉันใด ปัญญาก็เป็นไปโดยอาการไม่เอื้อ

สังขาร ฉันนั้น๒ เพราะเหตุนั้น คนพุทธิจริต จึงมีส่วนเสมอกันแห่งคน

โทสจริต ฝ่ายว่าคนโมหจริต เมื่อพยายามทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด

ให้เกิดขึ้นอยู่ วิตกทั้งหลายที่เป็นอันตราย ( ต่อการทำกุศล ) มักจะ

เกิดขึ้น ( ทั้งนี้ ) เพราะวิตกมีลักษณะใกล้ต่อโมหะ จริงอยู่ โมหะ

ไม่ปักลงไปได้ เพราะมัววุ่นวายอยู่ ( ไม่แน่ลงไปได้ ) ฉันใด วิตก

ก็ไม่หยุดลงได้ เพราะมัวตรึกไปมีประการต่างๆ ( ไม่รู้จบ ) ฉันนั้น

อนึ่ง โมหะเป็นโทษที่โอนเอน เพราะความไม่ปักใจมั่น ฉันใด

วิตกก็เป็นธรรมที่ไหวไปมา เพราะความคิด ( เปลี่ยนเรื่อง ) เร็ว

ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น วิตกจริต จึงมีส่วนเสมอกันแห่งโมหจริต แล

อาจารย์อีกพวก ๑ กล่าวว่า จริยา ๓ อย่างอื่นอีกก็มี โดยเนื่อง

ด้วยตัณหามานะทิฏฐิ ( แต่ว่า ) ใน ๓ อย่างนั้นตัณหาก็คือราคะนั่นเอง

มานะเล่าก็สัมปยุตตราคะนั้น เพราะฉะนั้น ตัณหา มานะ ทั้ง ๒ นั้น

๑. น่าจะหมายความว่า เกิดโทสะขึ้นแล้วก็เพ่งโทษคนอื่น หาความผิดให้คนอื่นแม้จะ

เป็นเรื่องไม่จริงก็ตาม ส่วนปัญญานั้นพิจารณาหาดูโทษ ( ในตนหรือในสังขาร ) ตามที่

เป็นอยู่อย่างไร เพื่อจะปล่อยวาง ดังนี้กระมัง ?

๒. หมายความว่า โทสะเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เอื้อ คือคิดร้ายต่อสัตว์ต่อคน ปัญญาเกิดขึ้น

ก็ไม่เอื้อ คือเบื่อหน่ายในสังขาร คิดเพิกสังเกตว่า ปัญญาที่ท่านว่า ๆ นี้เป็น

ปัญญาเบื้องสูงทั้งนั้น น่าสงสัยว่าพุทธินั้น ท่านหมายเอาปัญญาสูง ๆ เช่นนี้ หรือหมาย

เพียงว่า คนที่มีความฉลาดในสันดาน?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 43

ก็ไม่นอกเหนือราคจริยาไป ส่วนทิฏฐิจริยาก็ไปตามโมหจริยานั่นเอง

เพราะทิฏฐิมีโมหะเป็นต้นเหตุ

ถามว่า ก็จริยาเหล่านี้นั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ และจะพึงทราบ

ได้อย่างไรว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นจริตอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในจริตที่เหลือมีโทสจริตเป็นต้น และอะไรเป็นสัปปายะของบุคคลจริต

อะไร ?

[ต้นเหตุแห่งจริยา ]

ในจริยา ๖ นั้น จะแก้จริยา ๓ ข้างต้นก่อน อาจารย์ลางพวก

กล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้นนั้น มีอาจิณกรรมในภพก่อนเป็นต้นเกตุ

ประการ ๑ มีธาตุและโทษ (ในร่างกาย) เป็นต้นเหตุประการ ๑

ว่ากันว่า คนที่มากไปด้วยประโยค (คือการกิริยาวาจา ?)

น่าพอใจ และกรรมที่ดีงามมาแต่ในปางก่อนก็ดี คนที่จุติจากสวรรค์

มาเกิด (เป็นคน) ในมนุษยโลกนี้ก็ดี ย่อมเป็นคนราคจริต คนมาก

ไปด้วยกรรมอันเป็นเวร คือ ฟันเขา ตีเขา ฆ่าเขา จองจำเขาในปาง

ก่อนก็ดี คนที่จุติจากนรก หรือกำเนิดงูมาเกิด (เป็นคน) ในมนุษย-

โลกนี้ก็ดี ย่อมเป็นคนโทสจริต คนที่มากไปด้วยการดื่มน้ำเมา และ

ละเลยในการฟังและการไต่ถาม ในปางก่อนก็ดี คนที่จุติจากกำเนิด

ดิรัจฉานมาเกิด (เป็นคน) ในมนุษยโลกนี้ก็ดี ย่อมเป็นคนโมหจริต

โดยนัยดังนี้แล ท่านจึงกล่าวว่า จริยา ๓ มีอาจิณกรรมคนโมหจริต

เป็นต้นเกตุ อนึ่ง บุคคลย่อมเป็นโมหจริต เพราะธาตุ ๒ อย่าง คือ

ปฐวีธาตุ และอาโปรธาตุหนา เป็นโทสจริตเพราะธาตุ ๒ อย่างนอกนี้หนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 44

เป็นราคจริต เพราะธาตุทั้งปวงเสมอกัน โดยนัยดังนี้ ๑ ในโทษ

ทั้งหลายเล่า คนที่ยิ่งด้วยเสมหะย่อมเป็นราคจริต คนที่มีด้วยลมเป็น

โมหจริต หรือว่าคนที่ยิ่งด้วยเสมหะเป็นโมหจริต คนที่ยิ่งด้วยลมเป็น

ราคจริต โดยนัยดังนี้ ๑ ท่านจึงกล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้น มีธาตุและ

โทษ (ในร่างกาย) เป็นต้นเหตุ

(แต่) เพราะว่าในบุคคลเหล่านั้น แม้คนทั้งหลายที่มากไปด้วย

ประโยคอันน่าพอใจและกรรมที่ดีงามในปางก่อน และแม้คนทั้งหลาย

ที่จุติจากสวรรค์มาเกิด (เป็นคน) ในมนุษยโลกนี้ก็ดี หาได้เป็นราค-

จริตไปทั้งหมดไม่ หรือว่าคนทั้งหลายนอกนี้ (คือคนที่มากไปด้วยกรรม

อันเป็นเวร มีฟันเขาเป็นต้น และคนที่จุติจากนรกเป็นต้นมาเกิด

(เป็นคน) ในมนุษยโลกนี้) ก็มิได้เป็นโทสจริต และโมหจริตไป

ทุกคน อนึ่ง การกำหนดจริยาด้วยความหนาแห่งธาตุทั้งหลาย โดย

นัยตามที่กล่าวนั้นก็มีไม่ได๑ และในการกำหนด (จริยา) ด้วยโทษ

(ในร่างกาย) ท่านก็กล่าวไว้แต่ ๒ คือ ราคจริต และโมหจริตเท่านั้น

แม้คำที่กล่าวในตอนนี้เล่า คำหน้ากับคำหลังก็ผิดกันทีเดียว๒ ส่วน

ในจริยา ๒ ข้างปลาย ท่านไม่กล่าวต้นเหตุไว้เลยสักข้อเดียว เพราะ

ฉะนั้น คำทั้งหมดนั่นจึงเป็นคำ (ที่กล่าวโดย) มิได้กำหนด (ให้

เด็ดขาด)

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความ ดูเหมือนจะว่าดังนี้มีไม่ได้

เพราะจะวัดจำนวนหรือวัดขนาด

กันได้อย่างไร ว่าอะไรหนาเท่าใด อีกอย่าง ธาตุทั้ง ๔ นั้นย่อมอาศัยกันเป็นไป

จะแยกให้เด็ดขาดออกจากกันเอามาประมาณขนาดได้อย่างไร

๒. คือคำหน้าว่า คนที่ยิ่งด้วยเสมหะเป็นราคจริต และคำหลังกลับว่า คนที่ยิ่งด้วยลมเป็น

ราคจริตอีกเล่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 45

ส่วนความต่อไปนี้ เป็นวินิจฉัยตามแนวมติของอรรถกถาจารย์

ทั้งหลาย ในปัญหาว่าจริยาทั้งหลายมีอะไรเป็นต้นเหตุนั้น แท้จริง

ใน อุสฺสทกิตตนะ ( ตอนว่าด้วยความหนาในวิปากกถา ) ท่านกล่าว

คำนี้ไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ โดยนิยามแห่งเหตุในปางก่อน ย่อม

เป็นผู้หนาด้วยโลภะก็มี หนาด้วยโทสะก็มี หนาด้วยโมหะก็มี มาก

ด้วยอโลภะก็มี มากด้วยอโทสะก็มี มากด้วยอโมหะก็มี จริงอยู่

ในขณะพยายามทำกรรม ผู้ใดมีโลภะกล้า อโลภะอ่อน ( แต่ว่า )

อโทสะอโมหะกล้า โทสะโมหะเบาอโลภะอันอ่อนของบุคคลนั้นย่อม

ไม่อาจข่มโลภะได้ แต่อโทสะอโมหะกล้าย่อมอาจข่มโทสะโมหะได้

เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น ( เมื่อ ) เกิดมาด้วยอำนาจปฏิสนธิที่กรรมนั้น

อำนวย ย่อมเป็นคนโลภ ( แต่ ) เป็นคนใจเย็น* ไม่มักโกรธ

ฉลาดหลักแหลมราวกะเพชร ส่วนบุคคลใด ในขณะพยายามทำ

กรรม มีโลภะและโทสะกล้า อโลภะอโทสะอ่อน แต่อโมหะกล้า

โมหะเบา บุคคลนั้น โดยนัยก่อนนั่นแล ( คือเกิดมาด้วยอำนาจ

ปฏิสนธิที่กรรมนั้นอำนวย ) ย่อมจะเป็นคนโลภด้วย เป็นคนฉุนเฉียว

ด้วย แต่ว่าเป็นคนฉลาดหลักแหลมราวกะเพชร ดุจพระทัตตาภยเถระ

ฉะนั้น บุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม มีโลภะและโมหะกล้า

นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกัน ย่อมเป็นคนโลภด้วย

เป็นคนทึบด้วย แต่เป็นคนใจเย็นไม่มักโกรธ โดยนัยนั้น บุคคลใด

ในขณะพยายามทำกรรม มีโลภะโทสะโมหะกล้าทั้ง ๓ ฝ่ายอกุศล

* สุขสีโล มหาฎีกาแก้เป็น สขิโล (อ่อนหวาน ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 46

มีอโลภะเป็นต้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกัน ย่อมจะเป็น

คนโลภด้วย ฉุนเฉียวด้วย ลุ่มหลงด้วยส่วนผู้ใด ในขณะพยายาม

ทำกรรม มีอโลภะ และโทสะโมหะกล้า นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น

โดยนัยก่อนเหมือนกัน ย่อมจะเป็นคนไม่โลภและมีกิเลสน้อย เห็น

อารมณ์แม้เป็นทิพย์ก็นิ่งเฉยอยู่ได้ แต่เป็นคนฉุนเฉียวและปัญญาทึบ

บุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม มีอโลภะอโทสะและโมหะกล้า

นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น โดยนัยก่อนเหมือนกันย่อมจะเป็นคนไม่โลภ

ด้วย ใจเย็นด้วย แต่เป็นคนทึบ โดยนัยเดียวกัน บุคคลใดในขณะ

พยายามทำกรรม มีอโลภะ โทสะ อโมหะกล้า นอกนั้นอ่อน บุคคลนั้น

โดยนัยก่อนเหมือนกันย่อมจะเป็นคนไม่โลภด้วย ฉลาดด้วย แต่

เป็นคนฉุนเฉียวมักโกรธ ส่วนบุคคลใด ในขณะพยายามทำกรรม มี

ฝ่ายกุศลทั้ง ๓ มีอโลภะอโทสะอโมหะกล้า ฝ่ายอกุศลมีโลภะเป็นต้นอ่อน

บุคคลนั้นย่อมจะเป็นคนไม่โลภ ไม่ฉุนเฉียว และฉลาดด้วย ดุจพระ-

มหาสังฆรักขิตเถระ ฉะนั้น ดังนี้

ก็แล บุคคลที่เรียกใน อุสฺสทกิตฺตน ว่า คนโลภ นั้น ( พึงทราบ

ว่า ) ได้แก่คนราคจริต (ในจริยาวิจารนี้) ส่วนที่เรียกว่า คนฉุนเฉียว

และคนทึบ ได้แก่คนโทสจริต และคนโมหจริต ที่เรียกว่าคนฉลาด

ได้แก่คนพุทธิจริต ที่เรียกว่า คนไม่โลภและไม่ฉุนเฉียว ได้แก่คน

สัทธาจริต เพราะคนไม่โลภและไม่ฉุนเฉียวนั้นมีปกติแจ่มใส* อนึ่ง

พึงทราบ ปฏิสนธิชนกกรรม อันมีบุพเหตุมีโลภะเป็นต้นอย่างใด

* มหาฎีกาช่วยขยายความอีกว่า เพราะมีศรัทธาเป็นพื้นใจอยู่ อโลภะ อโทสะ จึงเกิด

และมีกำลังขึ้นได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 47

อย่างหนึ่งเป็นเครื่องแวดล้อมกันและกัน เป็นต้นเหตุแห่งจริยาทั้งหลาย

โดยนัยดังนี้ คือ คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีอโมหะเป็นเครื่องแวดล้อม

ย่อมเป็นคนพุทธิจริตฉันใด คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีพลวสัทธาเป็น

ต้นเครื่องแวดล้อม ย่อมเป็นสัทธสาจริต คนที่เกิดมาด้วยกรรมอันมีวิตก

มีกามวิตกเป็นต้นเป็นเครื่องแวดล้อม ย่อมเป็นคนวิตกจริต คนที่เกิด

มาด้วยกรรมอันมีเครื่องแวดล้อมมีโลภะเป็นต้นเจือกัน ย่อมเป็นคน

โวมิสสจริต ( จริตเจือ ) ฉันนั้นแล

[ลักษณะแห่งจริต]

ส่วนข้อใดที่ว่า " และจะพึงทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้เป็น

ราคจริต " ดังนี้เป็นต้น พึงทราบนัยในข้อนั้น ดังต่อไปนี้

[มาติกาแห่งลักษณะ ]

บัณฑิตพึงบอกแจ้งจริยาทั้งหลายได้ โดย

อิริยาบถ โดยกิจ โดยการบริโภค โดยอาการ

มีการดูเป็นต้น และโดยธรรมประวัติ ( ความ

เป็นไปแห่งธรรม ) นั่นแล

[ลักษณะโดยอิริยาบถ]

ในข้อว่า " โดยอิริยาบถ " พึงทราบนัยดังนี้ ก็คนราคจริต เมื่อ

เดินไปโดยปกติ ย่อมเดินโดยอาการน่ารัก ค่อยวางเท้า วางเท้ายกเท้า

สม่ำเสมอ และรอยเท้าของเขาเป็นรอยกระโหย่งกลาง

คนโทสจริต เดินราวกะขุด ( ดิน ) ด้วยปลายเท้า วางเท้ายกเท้า

ด้วยอาการผลุบผลับ และรอยเท้าของเขาเป็นรอยขยุ้ม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 48

คนโมหจริต เดินท่าทางเงอะงะ วางเท้ายกเท้าราวกะคนหวาด

สะดุ้ง และรอยเท้าของเขาเป็นรอยเลอะเลือน

จริงอยู่ ในเรื่องต้น มาคันทิยาสูตร พราหมณีก็ได้กล่าวคำประพันธ์

นี้ไว้ว่า

ก็รอยเท้าของคนเจ้าราคะ เป็นรอยกระโหย่งกลาง

รอยเท้าของคนเจ้าโทสะ เป็นรอยขยุ้ม รอยเท้า

ของคนเจ้าโมหะ เป็นรอยเลอะเลือน ( แต่ ) รอยเท้า

เช่นนี้นี่เป็นรอยเท้าของท่านผู้มีหลังคา ( คือกิเลส )

อันเปิดแล้ว ดังนี้

แม้การยืนแห่งคนราคจริต ก็มีอาการนุ่มนวลน่าเลื่อมใส แห่ง

คนโทสจริต มีอาการกระด้าง แห่งคนโมหจริต มีอาการส่ายไปมา

แม้ในการนั่ง ก็มีนัยดุจนัยนี้

ส่วน ( การนอน ) คนราคจริตไม่รีบร้อน ปูที่นอนเรียบร้อยแล้ว

ค่อย ( เหยียดกาย ) นอน รวบองคาพยพ( วาง ) ไว้ดี นอน ( หลับ )

ด้วยอาการน่าเลื่อมใส และเมื่อถูกปลุกให้ลุก ก็ไม่ลุกทันที ( คือค่อย

ลุก ) ให้คำตอบเบาๆ ราวกะคนมีความรังเกียจ

คนโทสจริต ( จะนอน ) ก็รีบปูที่นอนแต่พอดีพอร้ายแล้วทิ้งตัวลง

ทำหน้านิ่วหลับไป และเมื่อถูกปลุกให้ลุกก็ลุกเร็ว ให้คำตอบราวกะ

คนโกรธ

คนโมหจริต ปูที่นอนไม่เป็นรูป นอนเก้งก้าง คว่ำหน้าเป็น

ส่วนมาก และเมื่อถูกปลุกให้ลุก ทำเสียงหือๆ ( อยู่นั่น )ลุกขึ้นอืดอาด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

ก็เพราะบุคคล ๓ ข้างปลาย มีคนสัทธาจริตเป็นต้น เป็นสภาคแห่ง

คน ๓ ข้างคนมีคนราคจริตเป็นต้น เพราะเหตุนั้น อิริยาบถแม้แห่ง

บุคคล ๓ ข้างปลายมีคนสัทธาจริตเป็นต้นนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกันนั่นแล

บัณฑิตพึงบอกจริยาด้วยอิริยาบถ ดังกล่าวมานี้ เป็นอันอับแรก

[ลักษณะโดยกิจ]

พึงทราบนัยในข้อว่า " โดยกิจ " ต่อไป ก็แลในกิจทั้งหลาย

เช่นว่า การกวาด คนราคจริตจับไม้กวาดพอดี( ไม่แน่นไม่หลวม )

ไม่รีบเร่ง ไม่ฟาดทราย ( ให้กระจาย ) กวาดสะอาดเรียบราวกะลาด

เสือดอกย่างทราย

คนโทสจริต จับไม้กวาดแน่น เร่งร้อน ( กวาดกด ) ทำให้ทราย

นูนออก ๒ ข้าง มีเสียงเกรี้ยวกราด กวาดสะอาด แต่ไม่เรียบ

คนโมหจริต จับไม้กวาดหลวม ปัดไปปัดมา กวาด ( ทั้ง ) ไม่

สะอาด ( ทั้ง ) ไม่เรียบ

ก็แล ในการกวาดเป็นฉันใด ในกิจทั้งปวงมีการย้อมและซัก

จีวรเป็นต้น ก็เป็นฉันนั้น คนราคจริต มักทำละเอียดละออเรียบร้อย

และทำโดยความเคารพ คนโทสจริต มักทำแน่นหนาแข็งแรง แต่ไม่เรียบ

ร้อย คนโมหจริต มักทำไม่ละเอียด ยุ่ง ไม่เรียบร้อย และไม่รู้จัก

แล้ว และการทรงจีวรแห่งคนราคจริตเล่า ก็ไม่รัดนัก ไม่หย่อนนัก

เป็นปริมณฑลน่าเลื่อมใส แห่งคนโทสจริต รัดมากและไม่เป็น

ปริมณฑล แห่งคนโมหจริต หย่อนยานรุ่มร่าม แม้บุคคล ๓ ที่เหลือ

มีคนสัทธาจริตเป็นต้น ก็พึงทราบตามแนวแห่งบุคคล ๓ ที่กล่าวแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 50

นั่นเถิด เพราะมีส่วนเสมอกันแล บัณฑิตพึงบอกจริยาโดยกิจ ด้วย

ประการฉะนี้

[ลักษณะโดยการบริโภค]

ข้อว่า " โดยการบริโภค " มีนัยดังนี้ คนราคจริต ชอบของกิน

ที่บรรจงจัด และของหวาน เมื่อบริโภคเล่า ก็ทำคำข้าวกลมกล่อม

ไม่ใหญ่นัก เป็นคนรู้จักรส ( อา__________หาร* ) บริโภคไม่รีบร้อน ได้ของกิน

ดีนิดหน่อยก็ดีใจ

คนโทสจริตชอบของกินของที่หยาบๆ ( ง่ายๆ ) และของเปรี้ยว เมื่อ

บริโภคเล่าก็ทำคำข้าว ( ใหญ่จน ) เต็มปาก เป็นคนไม่รู้จักรส ( อาหาร )

รีบบริโภค ได้ของกินไม่ดีนิดหน่อยก็เสียใจ

คนโมหจริต เป็นคนชอบของกินไม่แน่นอน เมื่อบริโภคเล่าก็

ทำคำข้าวเล็กๆ ไม่กลมกล่อม ปล่อยเม็ดข้าว ( ให้ร่วง ) ลงใน

ภาชนะ ( ที่ใส่ข้าว ) ทำปากเลอะ ความคิดฟุ้งซ่าน ตรึกตรองเรื่อง

นั้นๆ ไปกินไป แม้บุคคล ๓ ที่เหลือมีคนสัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบ

ตามแนวแห่งบุคคล ๓ ที่กล่าวแล้วนั้นเถิด เพราะมีส่วนเสมอกันแล

บัณฑิตพึงบอกจริยาโดยการบริโภค ด้วยประการฉะนี้

[ลักษณะโดยอาการมีการดูเป็นต้น]

ข้อว่า " โดยอาการมีการดูเป็นต้น " นั้นมีนัยดังนี้ คนราคจริต

เห็นรูปที่น่ารื่นรมย์ใจแม้สักหน่อย ก็จ้องดูเสียนานราวกะว่าเกิดความ

* รสปฏิสํเวที หมายความว่า เป็นคนรู้ว่ารสอร่อยของอาหารชนิดไหน เป็นอย่างไร

สามารถชิมและติชมปรุงแต่งอาหารได้ ส่วน อรสปฏิสํเวที อันเป็นลักษณะของคนโทส-

จริตนั้น ก็ได้แก่คนที่เรียกกันว่า "ลิ้นจระเข้" นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 51

พิศวงติดใจในส่วนดี ( ของรูปนั้น ) แม้เล็กน้อย ไม่ถือส่วนเสียของมัน

แม้ ( มองเห็น ) โต้งๆเมื่อจะจากไปเล่าก็ไม่ใคร่จะพ้นไปได้ จาก

ทั้งที่มีความอาลัย

คนโทสจริต เห็นรูปไม่รื่นรมย์ใจแม้สักหน่อย ก็ดูอยู่นาน

ไม่ได้ ทำท่าราวกะเหน็ดเหนื่อย เดือดใจในส่วนเสีย ( ของรูปนั้น )

แม้นิดเดียว ไม่ถือส่วนดี ( ของมัน ) แม้ ( มองเห็น ) เด่นๆ เมื่อ

จะจากไปเล่า ก็ใคร่จะพ้นไปเสียทีเดียว จากไปไม่มีอาลัย

คนโมหจริต เห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า ก็สุดแต่คนอื่น ได้ยิน

เขาติ ก็ติ ( บ้าง ) ได้ยินเขาชม ก็ชม ( บ้าง )แต่ส่วนตนเป็นคน

เฉยๆ โดยอญาณุเบกขา ( อุเบกขาโง่ ) นัยนี้พึงทราบแม้ในอาการ

ทั้งหลายมีฟังเสียงเป็นต้น ส่วนบุคคล ๓ ที่เหลือมีคนสัทธาจริตเป็นต้น

พึงทราบตามแนวแห่งบุคคล ๓ ที่กล่าวมาแล้วนั่นเถิด เพราะมีส่วนเสมอกัน

บัณฑิตพึงบอกจริยาโดยอาการมีการดูเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้

[ลักษณะโดยธรรมประวัติ]

ข้อว่า " และโดยธรรมประวัตินั่นแล " นั้น มีนัยดังนี้ ก็ธรรม

ทั้งหลายคือ มายา สาเถยฺยะ มานะ ปาปิจฺฉตา (ความปรารถนา

ลามก ) มหิจฺฉตา ( ความมักมาก ) อสนฺตุฏฐิตา ( ความไม่สันโดษ )

สิงคะ ( ความแง่งอน ) จาปลฺยะ ( ความโอ่อ่า*) อย่างนี้เป็นต้น ย่อม

เป็นไปมากแก่คนราคจริต

* แปลโดยนัยแห่งมหาฎีกาว่า อตฺตโน สรีรสฺส จีวราทิปริกฺขารสฺส จ มณฺฑนวเสน

ปวตฺตํ โลลุปฺปํ จาปลฺยํ ความโลภอันแสดงออกทางการตกแต่งร่างกายและบริขารของตน

ชื่อ จาปัลยะ ดังนี้ จึงถือเอาความว่า โอ่อ่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 52

ธรรมทั้งหลายคือ โกธะ อุปนาหะ มกฺขะ ปลาสะ อิสฺสา

มจฺฉริยะ ดังนี้เป็นต้น ย่อมเป็นไปมากแก่คนโทสจริต

ธรรมทั้งหลายคือ ถีนมิทธะ อุทฺธจฺจกุกกุจฺจะ วิจิกิจฺฉา

อาทานคาหิตา ( ความถือผิด ) ทุปฺปฏินิสฺสคฺคิตา ( ความรั้น ) ดังนี้

เป็นต้นย่อมเป็นไปมากแก่คนโมหจริต

ธรรมทั้งหลายคือ มุตฺตจาคตา ( ความสละปล่อยเลย ) อริยานํ

ทสฺสนกามตา ( ความใคร่ที่จะได้พบพระอริยะทั้งหลาย ) สทฺธมฺมํ

โสตุกามตา ( ความใคร่จะฟังพระธรรม ) ปาโมชฺชพหุลตา ( มี

ความชื่นบานในธรรมมาก ) อสถตา ( ความไม่โอ้อวด ) อมายาวิตา

( ความไม่มีมายา ) ปสาทนีเยสุ ฐาเนสุ ปสาโท ( ความเลื่อมใส

ในฐานะทั้งหลายที่ควรจะเลื่อมใส ) ดังนี้เป็นต้น ย่อมเป็นไปมากแก่

คนสัทธาจริต

ธรรมทั้งหลายคือ โสวจสฺสตา กลฺยาณมิตฺตตา โภชเนมตฺ-

ตญฺญุตา สติสมฺปชญฺญะ ชาคริยานุโยค สํเวชนีเยสุ ฐาเนสุ สํเวโค

( สังเวชในฐานะทั้งหลายอันควรจะสังเวช ) สํวิคฺคสฺส โยนิโส ปธานํ

( เมื่อสังเวชแล้วควรทำความเพียรอย่างแยบคาย ) ดังนี้เป็นต้น เป็นไปมาก

แก่คนพุทธิจริต

ธรรมทั้งหลาย ภสฺสพหุลตา ( พูดมากกว่าทำ ) คณารามตา

( ชอบคลุกคลีในหมู่คณะ ) กุสลานุโยเค อรติ ( หน่ายทำกุศล ) อนวฏฺฐิตกิจฺจตา

( จับจด ) รตฺติธุมายนา ( กลางคืนบังหวนควัน ) ทิวาปชฺชลนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 53

( กลางวันไม่ลุกเป็นเปลว ๑) หุราหุรํ ธาวนา ( พลุ่งพล่าน ๒) ดังนี้

เป็นต้น เป็นไปมากแก่คนวิตกจริต บัณฑิตพึงบอกจริยาโดยธรรม

ประวัติ ด้วยประการฉะนี้เทอญ

แต่เพราะว่า วิธีบอกจริยานี้ มิได้มาในพระบาลี มิได้มาใน

อรรถกถาทุกอาการ๓ ข้าพเจ้าว่าไปตามแนวอาจริยมัติเท่านั้น เพราะ

เหตุนั้น บัณฑิตจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อเอาเป็นสาระ ด้วยว่า แม้คนจริต

ต่างๆ มีโทสจริตเป็นต้น ที่ไม่เผลอตัว ก็อาจ ( ฝืน ) ทำอะไรต่างๆ มี

อิริยาบถเป็นอาทิ ที่กล่าวไว้สำหรับคนราคจริตได้ และอาการทั้งหลาย

๑. ตอนกลางคืนครุ่นคิดไปว่า พรุ่งนี้จะทำกิจอย่างนั้นๆ เปรียบได้กับสุมไฟแต่พอเป็น

ควันกรุ่นอยู่ ครั้นถึงกลางวันลุกขึ้นประกอบกิจนั้นๆ ตามที่คิดไว้

เปรียบได้กับไฟที่สุมมาแต่ตอนกลางคืนนั้นลุกเป็นเปลวขึ้น เรียกว่า ทิวาปชฺชลนา

ศัพท์ ทิวาปชฺชลนา ในที่อื่น ๆ มีความดังกล่าวนี้ทั้งนั้น แต่ในที่นี้จะคงถือเอา

ความอย่างนั้น ไม่ได้กับความจริงในคนวิตก มหาฎีกาท่านก็เห็นเช่นนี้ จึงแก้ไว้ว่า

ตถาวิตกฺกิตานํ เตสํ ทิวสภาเค อนุฏฐานํ ทิวาปชฺชลนา ไม่ลุกขึ้นทำกิจที่คิดอย่างนั้น

ในตอนกลางวัน ชื่อว่า ทิวาปชฺชลนา ดังนี้ก็เท่ากับแนะให้ตัดบทว่า ทิวา อปชฺชลนา

นั่นเอง จึงแปลว่า กลางวันไม่ลุกเป็นเปลว เป็นลักษณะคนวิตกจริต ซึ่งได้แต่งคิด ๆ

แล้วก็ไม่ค่อยทำตามคิด

ในฐานะอย่างนี้ ถ้าเป็น ทิวา อปชฺชลนา ก็จะเป็นการดี ไม่ต้องมีปัญหา

๒. คำ หุราหุรํ ธาวนา นี้ มหาฎีกาท่านหมายเอาเป็นกิริยาของจิต แก้ไว้ว่า อิโต จิโต

จ ตตฺถ ตตฺถ อารมฺมเณ จิตฺตโวสฺสคโค ปล่อยจิตไปทางนั้นทางนี้ คือในอารมณ์นั้น ๆ

ถ้าอย่างนี้ ก็ต้องแปลว่า ความคิดพลุ่งพล่าน (หรือใจลอย) แต่ที่แปลไว้ว่า พลุกพล่าน

นั้น หมายถึงกิริยาทางกาย เนื่องมาจากความจับจด ได้แต่คิด ๆ แล้วก็แล่นไปแล่นมา

ให้พล่านไป ไม่เป็นอันทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งนี้ด้วยเห็นว่า เรื่องคิดนั้นรวมอยู่ใน

รตฺติธุมายนา แล้ว คำนี้จึงไม่น่าเป็นเรื่องคิดซ้ำอีก นักศึกษาพิจารณาดูเถิด

/๓. สพฺพากาเรน มหาฎีกาท่านว่า คำนี้ส่อว่า จริยาวิภาวนวิธาน นั้น ใคร ๆ ไม่อาจปฏิเสธ

ได้ว่า มิได้มาในบาลีและอรรถกถาเสียเลย ความจริงก็มีมาบ้างเป็นความเล็ก ๆ น้อย ๆ

ไม่เป็นสรรพากรอย่างอาจริยมัติที่นำมาพรรณนาไว้ในวิสุทธิมรรคนี้ แต่ความเข้าใจ

อย่างนี้ ขัดกับคำท่อนหลังที่ท่านปฏิเสธด้วยศัพท์ เกวลํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 54

มีอิริยาบถเป็นอาทิ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มี

จริตระคนคนเดียวไม่ได้เลยทีเดียวแหละ ส่วนวิธีบอกจริตอันใดที่กล่าว

ไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย วิธีบอกจริยานั้นเท่านั้นควรเชื่อถือเป็นสาระ

ได้จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ ( ในอรรถกถา ) ว่า อาจารย์ผู้ได้เจโต

ปริยญาณ รู้จริยา ( ของอันเตวาสิก ) แล้วจึงบอกกรรมฐานให้ อาจารย์

นอกนั้น ( ผู้ไม่ได้เจโตปริยญาณ ) จำต้องซักถามอันเตวาสิกเอา ( ให้

รู้จริยาแล้วจึงบอกกรรมฐานให้เขา ) ดังนี้ เพราะฉะนั้น จะรู้ว่าบุคคล

นี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นคนจริตอย่างใดอย่างหนึ่งในจริตที่เหลือ มี

โทสจริตเป็นต้นได้ ก็ด้วยเจโตปริยญาณ หรือมิฉะนั้นก็ซักถาม

( เจ้าตัว ) บุคคลนั้นเอา จึงจะรู้ ด้วยประการฉะนี้

[สัปปายะของบุคคลจริตต่าง ๆ ]

ส่วนวินิจฉัยในปัญหาข้อว่า " และอะไรเป็นสัปปายะของบุคคล

จริตอะไร " นั้น พึงทราบต่อไปนี้

[สัปปายะของคนราคจริต]

สำหรับคนราคจริต อันดับแรก เสนาสนะ เป็นเสนาสนะที่มี

ยกพื้นอันมิได้เช็ดล้าง เสนาสนะที่ตั้งอยู่กะพื้นดิน เงื้อมเขาที่มิได้

ตกแต่ง บรรดาเสนาสนะเลวๆ ทั้งหลาย มีกุฏิหญ้าละโรงใบไม้

เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง เสนาสนะอันเกลื่อนไปด้วยฝุ่นละออง

เต็มไปด้วย ( มูล ) ค้างคาว หักๆ พังๆ สูงเกิน หรือไม่ก็เตี้ยเกิน

แห้งแล้ง น่าระแวงภัยทางเดินก็ไม่สะอาดและขรุขระ ในเสนาสนะใด

แม้เตียงตั่งก็โย้เย้คร่ำคร่า เต็มไปด้วยเรือด คนมองเห็นเสนาสนะใด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 55

เข้าเท่านั้น ความเกลียดก็เกิดขึ้น เสนาสนะเช่นนั้น ( แล ) เป็นสัปปายะ

ผ้านุ่งห่มที่ริมขาดแล้ว ( ทอหยาบๆ ) เกลื่อนไปด้วยเส้นด้าย

ห้อยอยู่รุ่งริ่งไปอย่างกับขนมร่างแห สัมผัสหยาบราวกะป่านดิบ คร่ำ

หนัก ใช้ลำบาก ( นั่นแล ) เป็นสัปปายะ

แม้บาตร ก็เป็นบาตรดินสีเลอะๆ หรือมิฉะนั้นก็บาตรเหล็กที่

พรุนไปด้วยลิ่มและหมุด หนัก ทรวดทรงเลว น่าเกลียด ดูประหนึ่ง

กะโหลกศีรษะ ( นั่นแหละ ) เหมาะ

แม้ทาง ( เดินไป ) ภิกขาจาร ก็เป็นทางไม่น่าชอบใจ ไม่ใกล้

หมู่บ้าน ขรุขระ ( นั่นแล ) เหมาะ

หมู่บ้านที่ภิกขาจารเล่า ก็เป็นหมู่บ้านชนิดที่ภิกษุทั้งหลายเที่ยว

( ภิกขาจาร ) ไป ( ไม่มีวี่แววว่าใครจะถวายภิกษา ) ราวกะว่า คน

ทั้งหลายไม่เห็น เป็นหมู่บ้านชนิดที่คนทั้งหลายนิมนต์ภิกษุผู้ไม่ได้รับ

ภิกษาในตระกูลเดียวแล้ว ( กลับ ) ออกไป ให้เข้าโรงฉัน

ด้วยคำ ( ห้วนๆ ) ว่า " มานี่ ท่าน " ถวายข้าวยาคูและภัตรแล้ว

เมื่อจะไปก็ไป ( อย่าง )ไม่แยแส คล้ายต้อนนางโคเข้าคอกแล้วก็ไปเสีย

ไม่แลเหลียว ฉะนั้น ( นั่นแล ) เหมาะ

แม้พวกคนอังคาส ก็เป็นพวกทาส หรือกรรมกรที่ผิวดำไม่น่าดู

ผ้านุ่งห่มสกปรกเหม็นสาบ น่าเกลียดจริงๆ อังคาสด้วยอาการไม่

ยำเกรง ดุจ ( เท ) ทิ้งยาคูและภัตรเสียฉะนั้น พวกคนอังคาสเช่นนั้น

( แล ) เป็นสัปปายะ

ยาคู ภัตรและของขบเคี้ยวเล่า ก็เป็นของปอนๆ สีเลอะๆ ล้วน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 56

ไปด้วยอปรัณณชาติ มีข้าวฝ้าง และลูกเดือย และปลายข้าวเป็นต้น

เครื่องแกงประกอบด้วยเปรียงเก่า น้ำผักดอง และผักแก่ๆ อย่างใด

อย่างหนึ่งก็ได้ พอทำท้องให้เต็มก็แล้วกัน ( นั่นแล ) เหมาะ

แม้อิริยาบถสำหรับคนราคจริตนั้น ก็เป็นการยืน หรือจงกรม

( นั่นแล ) ควร

อารมณ์ ( กรรมฐาน ) เล่า ก็เป็นบรรดาวรรณกสิณ

เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สีไม่สด ( นั่นแล ) ควร

นี้แล เป็นสัปปายะของคนราคจริต*

[สัปปายะของคนโทสจริต]

สำหรับคนโทสจริต เสนาสนะ เป็นเสนาสนะที่ไม่สูงนัก ไม่

เตี้ยนัก มีร่มเงาและน้ำพร้อม ฝาเสาและบันไดได้สัดส่วน มีการแต่ง

ด้วยไม้ดอกและไม้เถาไว้งดงาม เรียบร้อย พราวไปด้วยจิตรกรรม

ต่างๆ อย่าง พื้นที่เรียบสนิทและนุ่ม ประดับเพดานด้วยพวงดอกไม้

และผ้าสีวิจิตร มีเครื่องลาดและเตียงตั่งอันสะอาดน่ารื่นรมย์ใจ ที่เขา

ปูลาดไว้ดี มีดอกไม้เครื่องอบและเครื่องหอม วางไว้เพื่ออบกลิ่นในที่

นั้นๆ ราวะพรหมวิมาน เสนาสนะไรเล่า เพียงแต่เห็นเท่านั้น ก็ยัง

ปีติปราโมชให้เกิดได้ เสนาสนะเช่นนี้ ( แล ) เป็นสัปปายะ

ส่วนทาง ( เข้าไป ) แห่งเสนาสนะนั้น ควรเป็นทางปลอด

* มหาฎีกาว่า คนอ่านจะเผลอเข้าใจคำสัปปายะเป็นสุขสบายไป ท่านจึงไข

ความไว้เตือนสติว่า เอวมสฺส กิเลสสมุทาจาโร น โหตีติ อธิปฺปาโย ที่ว่า นี่เป็นสัปปายะ

ของคนราคจริตนั้น มีอธิบายว่า อย่างนี้กิเลสของเขาจึงจะไม่ฟุ้งขึ้น ดังนี้ คำว่า เป็น

สัปปายะ ก็หมายความว่า เหมาะแก่การที่จะกำหราบกิเลสที่เป็นเจ้าเรือนของเขานั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 57

อันตรายทั้งปวง พื้นสะอาดเรียบ ( มีคนคอย ) ตกแต่งไว้

ส่วนเครื่องบริขารสำหรับเสนาสนะ ในเสนาสนะนั้น ควรมีไม่

มากนัก มีเตียงหรือตั่งสักตัวหนึ่งเท่านั้นก็พอ เพื่อตัดความเป็นที่อาศัย

แห่งตัวแมลง เรือด งู และหนูทั้งหลาย

แม้ผ้านุ่งห่ม สำหรับคนโทสจริตนั้นเล่า ก็ควรเป็นบรรดาผ้า

เช่น ผ้าจีน ผ้าโสมาระ ผ้าไหม ผ้าด้ายเนื้อละเอียด และผ้าใยไม้

( ลินิน ) เนื้อละเอียดใดๆ ที่เนื้อดี ( ทำเป็น ) จีวรชั้นเดียวหรือสองชั้น

ก็ตาม ( แต่ก็ ) เบาดี ย้อมอย่างดี สีหมดจด ตามสมณสารูป

แม้บาตร ก็ควรเป็นบาตรเหล็กที่ทรงงามดุจต่อมน้ำ เกลี้ยงเกลา

ไม่มีสนิมดุจแก้ว ระบมอย่างดี มีผิวหมดจดตามสมณสารูป

ทางภิกขาจาร ควรเป็นทางปลอดอันตราย เรียบน่าชื่นใจ ไม่

ไกลไม่ใกล้หมู่บ้านนัก

หมู่บ้านที่ภิกขาจารเล่า ก็ควรเป็นชนิดที่คนทั้งหลายดีใจว่า

พระคุณเจ้าจักมาเดี๋ยวนี้ แล้วให้ลาดอาสนะ ( เตรียม ) ไว้ ณ ที่ๆ ราด

น้ำ ( กันฝุ่น ) และปัดกวาดแล้ว ( เมื่อภิกษุไปถึง ) ก็ไปรับ รับบาตร

นิมนต์ให้เข้าสู่เรือนให้นั่ง ณ อาสนะที่ลาดไว้ แล้วอังคาสโดยเคารพ

ด้วยมือตน

ส่วนพวกคนอังคาส เป็นจำพวกคนสวยงาม น่าเลื่อมใส ให้

อาบน้ำลูบไล้ ( ร่างกาย ) ดีแล้ว ( ตัว ) หอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นธูปอบและ

ดอกไม้ แต่งกายด้วยพัสตราภรณ์หลาก ๆ สี และสะอาดน่าพึงใจ ทำ

( การอังคาส ) โดยเคารพเช่นนั้น ( แล ) เป็นสัปปายะของคนโทสจริต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 58

แม้ยาคู ภัตร และของขบฉัน ก็ควรเป็นของมีกลิ่นรสพร้อม

มีโอชะประณีตไปทุกท่า น่าชอบใจ มี ( มากพอ )ตามที่ต้องการ

แม้อิริยาบถสำหรับคนโทสจริตนั้น ก็ควรเป็นนอน หรือนั่ง

อารมณ์ ควรเป็นบรรดาวรรณกสิณมีนีลกสิณเป็นต้น อย่างใด

อย่างหนึ่งที่มีสีสดใส

นี้แล เป็นสัปปายะของคนโทสจริต

[สัปปายะของคนโมหจริต]

สำหรับคนโมหจริต เสนาสนะ ก็ควรเป็นเสนาสนะที่หันหน้าสู่

ทิศ ( คือที่โล่งแจ้ง ) ไม่คับแคบ เป็นที่ซึ่งทิศทั้งหลายย่อมปรากฏโล่ง

สำหรับคนที่นั่งอยู่ ในอิริยาบถทั้งหลาย การจงกรมเป็นเหมาะ ส่วน

อารมณ์สำหรับคนโมหจริต ไม่ควรเป็นปริตกสิณ ( วงเล็ก ) ขนาดครก

หรือขนาดขัน เพราะในโอกาสที่คับแคบ จิต ( ของเขา ) จะถึงความ

หลงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นกสิณที่วงกว้างเป็นมหากสิณ

สัปปายะที่เหลือก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วสำหรับคนโทสจริต

นี้แล เป็นสัปปายะสำหรับคนโมหจริต

[สัปปายะของคนสัทธาจริต และพุทธิจริต]

วิธีที่กล่าวแล้วใน ( ตอนว่าด้วย ) คนโทสจิรตทั้งหมด ก็เป็น

สัปปายะของคนสัทธาจริต และในอารมณ์ทั้งหลาย แม้อนุสสติกัมม-

ฐาน ก็เหมาะแก่เธอด้วย

คำที่จะพึงกล่าวว่า บรรดาวัตถุทั้งหลายมีเสนาสนะเป็นต้น วัตถุ

ชื่อนี้เป็นสัปปายะของคนพุทธิจริตดังนี้ หามีไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 59

[สัปปายะของคนวิตกจริต]

สำหรับคนวิตกจริต เสนาสนะ ไม่ควรเป็นเสนาสนะที่เปิดเผย

หันหน้าสู่ทิศ ซึ่งเป็นที่ๆ สวน วนะ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์

ตามนิคมและชนบทเป็นลำดับกันไป และภูเขาสีเขียวคราม ย่อม

ปรากฏแก่คนผู้นั่งอยู่ ( ที่เสนาสนะนั้น ) เพราะเสนาสนะ ( เช่น ) นั้น

ย่อมเป็นปัจจัยแห่งความท่องเที่ยวแห่งวิตกโดยแท้ เพราะเหตุนั้น อัน

คนวิตกจริตควรอยู่ในซอกเขาอันลึก ในเสนาสนะที่มีป่าบัง เช่น

เงื้อมท้องช้าง และถ้ำพระมหินท์ แม้อารมณ์สำหรับเธอ ก็ไม่ควร

เป็นวิบูลกสิณ ( กสิณวงกว้าง ) เพราะกสิณเช่นนั้น เป็นปัจจัยแห่ง

ความพล่านด้วยอำนาจแห่งวิตก แต่ควรเป็นปริตกสิณ สัปปายะที่เหลือ

ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วสำหรับคนราคจริต

นี้แล เป็นสัปปายะของคนวิตกจริต

ความที่กล่าวมานี้ เป็นความพิสดารแห่งจริยาอันมาในคำว่า

" ( กรรมฐาน ) อันอนุกูลแก่จริยาของตน " นั้นโดยกำหนดประเภท

เหตุ วิธีบอก และวัตถุที่เป็นสัปปายะ

แต่ว่ากรรมฐานอันอนุกูลแก่จริยา ยังมิได้ทำให้แจ้งด้วยอาการ

ทั้งปวงก่อน เพราะว่ากรรมฐานนั้นจักมีแจ้งโดยแท้ในความพิสดาร

แห่งบทมาติกอันจะกล่าวเป็นลำดับ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบ

วินิจฉัยในกรรมฐาน ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วว่า " ถือเอากรรมฐาน

ในกรรมฐาน ๔0 ข้อใดข้อหนึ่ง " นั้น โดยอาการ ๑0 เหล่านี้ก่อน คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 60

๑. สงฺขาตนิทฺเทสโต โดยการแสดงจำนวน ( กรรมฐาน )

๒. อุปจารปฺปนาวหโต โดยเป็นกัมมฐานนำมาได้เพียงอุปจาร-

ฌานหรือถึงอัปปนาฌาน

๓. ฌานปฺปเภทโต โดยแตกต่างกันแห่งฌาน

๔. สมติกฺกมโต โดยการก้าวล่วง ( เลื่อนขั้นฌาน )

๕. วฑฺฒนาวฑฺฒนโต โดยเป็นกรรมฐานควรขยายและไม่ควร-

ขยาย ( นิมิต )

๖. อารมฺมณโต โดยอารมณ์

๗. ภูมิโต โดยภูมิ

๘. คหณโต โดยการถือเอา ( นิมิต )

๙. ปจฺจยโต โดยเป็นปัจจัย

๑๐. จริยานุกูลโต โดยอนุกูลแก่จริยา

[สงฺขาตนิทฺเทสโต]

ในบทมาติกาเหล่านั้น บทว่า " โดยแสดงจำนวน " มีวินิจฉัย

ว่า ก็แล คำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า " ในกรรมฐาน ๔๐ " ดังนี้นี่ นี้

กรรมฐาน ๔๐ ในคำนั่น คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหม-

วิหาร ๔ อารูป ๔ สัญญา ๑ ววัฏฐาน ๑

ในกรรมฐานเหล่านั้น นี้กสิณ ๑๐ คือ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ

เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ

อาโลกกสิณ ปริจฉินนากาสกสิณ

นี้อสุภะ ๑๐ อุทธุมาตกะ วินีลกะ วิปุพพกะ วิจฉิททกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 61

วิกขายิตกะ วิกขิตตกะ หตวิขิตตกะ โลหิตกะ ปุฬูวกะ อัฏฐิกะ

นี้อนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ

สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ

อานาปานสติ อุปสมนานุสสติ

นี้พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

นี้อรูป ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญ-

จัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ชื่อว่า สัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ชื่อ

ว่า ววัฏฐาน ๑ แล

บัณฑิต พึงทราบวินิจฉัยโดยแสดงจำนวน ดังนี้

[อุปจารปฺปนาวหโต

บทว่า " โดยเป็นกรรมฐานนำมาได้เพียงอุปจารฌานหรือถึง

อัปปนาฌาน " มีวินิจฉัยว่า ก็ในกรรมฐานเหล่านั้น กรรมฐาน

๑๐ ข้อ คือ อนุสสติ เว้นกายคตาสติ และอานาปานสติ เหลือ ๘

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑นี้เท่านั้นเป็นอุปจารา-

วหะ ( เป็นกรรมฐานนำมาได้เพียงอุปจารฌาน ) กรรมฐานนอกนั้น

เป็นอัปปนาวหะ ( นำมาได้ถึงอัปปนา ) แล

พึงทราบวินิจฉัย โดยเป็นกรรมฐานนำมาได้เพียงอุปจารฌาน

หรือถึงอัปปนาฌาน ดังนี้แล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 62

[ฌานปฺปเภทโต]

บทว่า " โดยแตกต่างกันแห่งฌาน " มีวินิจฉัยว่า ก็ใน

กรรมฐาน ๒ อย่างดังที่กล่าวแล้วนั้น บรรดาอัปปนาวหกรรมฐาน

ทั้งหลาย กสิณ ๑๐ กับอานาปานสติ เป็นจตุกฌานิกะ ( เจริญให้

เกิดฌานได้ครบ ๔ ) อสุภ ๑๐ กับกายคตาสติ เป็นปฐมฌานิกะ ( เจริญ

ให้เกิดฌานได้เพียงปฐมฌาน ) พรหมวิหาร ๓ ข้างต้นเป็นติกฌานิกะ

( เจริญให้เกิดฌานได้เพียง ๓ ) พรหมวิหารที่ ๔ และอรูป ๔ เป็น

จตุตถฌานนิกะ ( เป็นไปในจตุตถฌาน ) แล

พึงทราบวินิจัยโดยความแตกต่างแห่งฌาน ดังนี้

[สมติกฺกมโต]

บทว่า " โดยการก้าวล่วง " มีวินิจฉัยว่า การก้าวล่วงมี ๒ คือ

ก้าวล่วงองค์ ๑ ก้าวล่วงอารมณ์ ๑ ในการก้าวล่วง ๒ อย่างนั้น การ

ก้าวล่วงองค์ ย่อมมีในกรรมฐานทั้งหลายที่เป็นติกฌานิกะ และจตุกก-

ฌานิกะทั้งปวง เพราะฌานเบื้องสูงมีตติยฌานเป็นต้น พระโยคาวจร

จำต้องก้าวล่วงองค์ฌาน ( เบื้องต่ำ ) มีวิตกวิจารเป็นอาทิแล้วจึงจะ

บรรลุได้ในอารมณ์เหล่านั้นนั่นเอง ในพรหมวิหารที่ ๔ ก็เช่นนั้น

เพราะแม้พรหมวิหารที่ ๔ นั้นพระโยคาวจรก็จำต้องก้าวล่วงโสมนัส

แล้ว จึงจะบรรลุได้ ในอารมณ์แห่งพรหมวิหาร ๓ ข้างต้น มีเมตตา

เป็นต้นนั้นเอง ส่วนการก้าวล่วงอารมณ์ ย่อมมีในอรูป ๔ เพราะ

อากาสานัญจายตนะ พระโยคาวจรจำต้องก้าวล่วงอารมณ์ในกสิณ ๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 63

ข้างต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจึงบรรลุได้ และอรูปเบื้องสูง มี

วิญญาณัญจายตนะเป็นอาทิ พระโยคาวจรก็จำต้องก้าวล่วงอารมณ์

(เบื้องต่ำ) มีอากาศเป็นต้นเสีย จึงจะบรรลุได้ ในกรรมฐานที่เหลือ

(๒๑) การก้าวล่วง (อะไร)หามีไม่ แล

บัณฑิต พึงทราบวินิจฉัยโดยการก้าวล่วง ดังนี้

[วฑฺฒนาวฑฺฒนโต]

บทว่า " โดยเป็นกรรมฐานที่ควรขยายและไม่ควรขยาย ( นิมิต )

" มีวินิจฉัยว่า ในกรรมฐาน ๔๐ นี้ กสิณ ๑๐ เท่านั้นควรขยาย ( นิมิต )

เพราะว่า พระโยคาวจรแผ่ไปด้วยกสิณตลอดโอกาสเท่าใด ภายใน

โอกาสนั้น เธอย่อมเป็นผู้สามารถจะได้ยินเสียง ( ทุกอย่าง ) ด้วย

โสตธาตุทิพย์ ที่จะเห็นรูปทั้งหลายด้วยจักษุทิพย์ และที่จะรู้จิตของ

สัตว์อื่นๆ ด้วยใจ ( ของตน ) ได้ ส่วนกายคตาสติ และอสุภทั้งหลาย

ไม่ควรขยาย ( นิมิต ) เพราะเหตุอะไร เพราะกายคตาสติและอสุภนั้น

ถูกจำกัดโดยโอกาส๑ และเพราะไม่มีอานิสงส์ด้วยก็แล ความที่

กรรมฐานเหล่านั้นถูกจำกัดโดยโอกาสนั้น จักมีแจ้ง ( ในตอนว่า ) ด้วย

ภาวนามัย อันกรรมฐานเหล่านั้นครั้นพระโยคาวจรขยาย ( นิมิต ) ไป

ก็กองซากศพเท่านั้นเจริญ อานิสงส์น้อยหนึ่งหามีไม่๒ จริงอยู่ แม้

๑. มหาฎีกาว่า (จำกัด) โดยโอกาส ที่จะยืน (เช่นต้องยืนเหนือลม)

๒. มหาฎีกาว่า ขยายนิมิตไปก็เจริญแต่ซากศพ ถึงไม่ขยาย การข่ม

กามราคก็มีได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงว่าไม่มีอานิสงส์ ( หมายความว่า การทำกรรมฐาน

ประเภทนี้ ก็เพียงข่มกามราคะได้เท่านั้น จะขยายไปถึงอภิญญาหาได้ไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 64

พระเถระโสปากะก็ได้กล่าวคำนี้ ( กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ) ใน

โสปากปัญหาพยากรณ์ว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า รูปสัญญา

ปรากฏชัด อัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัด " ดังนี้ ก็ในสัญญา ๒ อย่างนั้น

รูปสัญญาท่านกล่าวว่าปรากฏชัด ก็เนื่องด้วยความขยายตัวแห่งนิมิต

อัฏฐิกสัญญาท่านกล่าวว่าไม่ปรากฏชัดก็เนื่องด้วยความไม่ขยายตัว

( แห่งนิมิต ) ส่วนคำที่พระเถระกราบทูล ( ตอนหนึ่ง )ว่า " ข้าพระ

พุทธเจ้าได้แผ่ไปด้วยอัฏฐิกสัญญา ทั่วปฐพีนี้ " ดังนี้นั้น ท่านกล่าว

ด้วยอาการที่มันเข้ามาปรากฏแก่ตัวท่าน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ( ใน

อัฏฐิกสัญญานั้น ) เหมือนอย่างใน ( รัช ) กาลของพระเจ้าธรรมาโศก

นกการะเวก( ตัวหนึ่ง เขาขังไว้ในห้องแว่น ) เห็นเงาของตัวเองในฝาแว่น

โดยรอบ๑ ก็สำคัญว่า เงาของตัวเป็นนกการะเวก( จริงๆ ) อยู่ทุกทิศ

จึงส่งเสียงอันไพเราะขึ้น ฉันใดก็ดี แม้พระเถระก็ฉันนั้น เพราะความ

ที่ท่านชำนาญอัฏฐิกสัญญาเห็นนิมิตอันปรากฏอยู่ทุกทิศ ก็คิดไปว่า

ปฐพีเต็มไปด้วยอัฏฐิสิ้นเชิง๒ ฉะนี้แล

ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ความที่อสุภฌานทั้งหลายเป็น อัปปมาณา-

รมณ์ ที่กล่าวไว้ ( ในธัมมสังคหะ ) มิผิดไปหรือ ? ตอบว่า ความที่

๑. แว่น คือแผ่นโลหะขัดให้เป็นเงาใช้ส่องหน้า ในสมัยที่ยังไม่มีกระจกเงา นกการะเวก

นั้นว่าร้องเพราะนัก แต่จับมันขังไว้ตัวเดียว มันจะหงอยเหงา ไม่มีแก่ใจจะร้อง คน

จึงลวงมัน โดยใช้แว่นมากรุฝาห้องไว้รอบ มันมองทางไหนก็เห็นเงาของตัว เข้าใจว่ามี

พวกมาอยู่ด้วยจึงดีใจหายเหงา ส่งเสียงร้องขึ้นได้

๒. มหาฎีกาว่า พระเถระท่านเชี่ยวชาญนัก นั่งที่ไหน หรือแม้ยืนที่ไหน

ก็เข้าฌานนั้นได้ นิมิตปรากฏแก่ท่านรอบตัว คล้ายนิมิตขยาย ( แต่ความจริงหาขยายไม่ )

อสฺสมณฺฑเล อสฺสํ สาเวนฺโต วิย เหมือนขับม้าตัวเดียวให้วิ่งวอนอยู่ในสนามวงกลมฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 65

ว่านั้น ไม่ผิดดอก เพราะพระโยคาวจรลางท่าน ถือเอานิมิตในอุทธุ

มาตกอสุภ หรือ...ในอัฏฐิกอสุภก็ตามที่ใหญ่ ลางท่านก็ถือเอา

นิมิตในอสุภนั้นๆ ที่เล็กๆ๑ โดยบรรยายนี้ ฌานของลางท่านจึงเป็น

อัปปมาณารมณ์ ของบางท่านจึงเป็นปริตตารมณ์ อีกอย่างหนึ่ง

บุคคลใดไม่เห็นโทษในการขยายอสุภนิมิตนั้น ขยาย ( มาก ) ไป ท่าน

หมายเอาฌานของบุคคลนั้น กล่าวว่า อสุภฌานเป็นอัปปมาณารมณ์( ก็

เป็นได้ ) แต่ ( อย่างไร ) ก็ไม่ควรขยายไป เพราะไม่มีอานิสงส์ นั่นแล

และแม้กรรมฐานที่เหลือ ก็ไม่ควรขยาย ดังกายคตาสติ และ

อสุภนั่นแหละ ถามว่า เพราะเหตุอะไร ตอบว่าเพราะบรรดากรรม

ฐานที่เหลือนั่น ก่อนอื่น เมื่อบุคคลขยายอานาปานนิมิต ก็กอง

ลมเท่านั้นเจริญ และอานาปานนิมิตนั้นก็ถูกจำกัดโดยโอกาส๒ ด้วย

เพราะมีโทษ และเพราะถูกจำกัดโดยโอกาสดังนี้ อานาปานสติ จึงไม่

ควรขยาย

พรหมวิหาร ก็มีสัตว์เป็นอารมณ์ เมื่อพระโยคาวจรขยายนิมิต

แห่งพรหมวิหารนั้น ก็กองสัตว์เท่านั้นพึงเจริญแต่ว่าประโยชน์ด้วย

การเจริญกองสัตว์นั้นก็หามีไม่ เพราะเหตุนั้น แม้พรหมวิหารนิมิตนั้น

๑. มหาฎีกาท่านช่วยแก้เรื่องนิมิตใหญ่นิมิตเล็กว่า เมือถือเอานิมิตซากศพหมดทั้งตัว

ก็เป็นนิมิตใหญ่ ถ้าถือเอานิมิตเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งซากนั้นก็เป็นนิมิตเล็ก อีกนัยหนึ่ง

ถือเอานิมิตในซากที่ใหญ่หรือในซากของคนผู้ใหญ่ ก็เป็นนิมิตใหญ่ ถ้าถือเอานิมิตใน

ทรากที่เล็ก หรือในซากทารก ก็เป็นนิมิตเล็ก

๒. มหาฎีกาว่า เช่นจำกัดอยู่ที่ช่องปลายจมูกเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 66

ก็ไม่ควรขยาย ส่วนคำบาลีที่กล่าวว่า " ภิกษุมีใจสหรคต ด้วยเมตตา

แผ่ไปตลอดทิศ ๑ " ดังนี้เป็นอาทินั้นท่านกล่าวด้วยอำนาจการจำกัด

( เขตสัตว์เป็นอารมณ์ ) แท้จริง พระโยคาวจรผู้จำกัดเอาสัตว์ทั้งหลาย

ในทิศ ๑ ภาวนา ( เมตตา ) ไปโดยลำดับ ( หมู่ ) เช่น วัดหนึ่ง สองวัด

( นั่นแหละ ) พระบาลีเรียกว่า " ผู้. . แผ่ไปตลอดทิศ ๑ " หาใช่ขยาย

นิมิตไม่ ด้วยปฏิภาคนิมิตซึ่งพระโยคาวจรควรทำให้เจริญนั่น หามี

ในพรหมวิหารภาวนานั้นไม่ ส่วนความเป็นปริตตามรมณ์ และอัปป-

มาณารมณ์ในพรหมวิหารนี้ ก็พึงทราบว่า เนื่องด้วยจำกัด ( เขตสัตว์

เป็นอารมณ์ ) นั่นเอง*

แม้ในอารมณ์แห่ง อรูปทั้งหลาย อากาศก็ไม่ควรขยาย เพราะ

ทำให้กสิณเพิก แท้จริง อากาศนั้น จะต้อง มนสิการก็เนื่องด้วยการ

เลิกกสิณเท่านั้น เมื่อทำให้เจริญมากไปกว่านั้น ก็หามีผลอะไรๆ ไม่

วิญญาณ ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรม แท้จริง ใครๆ ก็

ไม่อาจทำสภาวธรรมให้เจริญได้ การหายไปแห่งวิญญาณก็ไม่ควรขยาย

เพราะก็เป็นแต่เพียงความไม่มี ( ปรากฏ ) แห่งวิญญาณ อารมณ์แห่ง

เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรม

เหมือนกัน

* มหาฎีกาว่า พรหมวิหารที่จำกัดสัตว์เป็นอารมณ์ จำนวนเล็กน้อย ก็เป็น

ปริตตามรมณ์ ถ้าขยายเขตสัตว์เป็นอารมณ์มากออกไป ( จนไม่มีสิ้นสุด ) ก็เป็น

อัปปมาณารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 67

กรรมฐานที่เหลือ ( อนุสสติ ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะไม่มี ( ปฏิ-

ภาค ) นิมิต แท้จริง ปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิตที่จำต้องทำให้เจริญโดยแท้

แต่ว่า อารมณ์แห่งอนุสสติทั้งหลายมีพุทธานุสสติเป็นต้น หาเป็น

ปฏิภาคนิมิตไม่ เพราะฉะนั้น อนุสสติกรรมฐานนั้นจึงไม่ควรขยาย

( นิมิต ) แล

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยเป็นกรรมฐานที่ควรขยายและไม่ควร

ขยาย ( นิมิต ) ดังนี้

[อารมฺมณโต ]

บทว่า " โดยอารมณ์ " มีวินิจฉัยว่า ก็ในกรรมฐาน ๔๐ นี้

กรรมฐาน ๒๒ คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กาย-

คตาสติ ๑ นี้ มีอารมณ์เป็นปฏิภาคนิมิตได้ กรรมฐานที่เหลือ

(๑๘) หามีอารมณ์เป็นปฏิภาคนิมิตได้ไม่ โดยนัยนั้นกรรมฐาน ๑๒

คือในอนุสสติ ๑๐ อนุสสติเว้นอานาปานสติและกายคตาสติเหลือ ๘

และ อาหารเรปฏิกูลสัญญา (๑) จตุธาตุววัฏฐาน (๑) วิญญาณัญจาย-

ตนะ (๑) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (๑) นี้มีสภาวธรรม ( ปรมัตถธรรม )

เป็นอารมณ์ กรรมฐาน ๒๒ คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑

กายคตาสติ (๑) นี้มีนิมิต เป็นอารมณ์ กรรมฐานที่เหลือ ๖ ( คือ

พรหมวิหาร ๔ อากาสานัญจายตนะ (๑) อากิญจัญญายตนะ (๑)

(เป็นนวัตตัพพารมณ์) มีอารมณ์ไม่พึงกล่าว อนึ่ง กรรมฐาน ๘ คือ

วิปุพพกะ โลหิตกะ ปุฬูวกะ อานาปานสติ อาโปกสิณ เตโชกสิณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 68

วาโยกสิณ และลำแสงแห่งตะวันเป็นต้น ( ที่ส่องเข้ามาตามช่อง )

อันเป็นอารมณ์ในอาโลกกสิณ เหล่านี้ ( เป็นจลิตารมณ์ )มีอารมณ์

ไหว แต่ว่าอารมณ์ไหวเหล่านั้นก็เป็นในตอนต้น ( เท่านั้น ) พอ

เป็นปฏิภาคก็แนบนิ่ง กรรมฐานที่เหลือ ๓๒ ( เป็น นจลิตารมณ์ )

มีอารมณ์ไม่ไหว แล

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยอารมณ์ ดังนี้

[ภูมิโต]

บทว่า " โดยภูมิ " มีวินิจฉัยว่า ก็ในกรรมฐาน ๔๐ นี้

กรรมฐาน ๑๒ คือ อสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา

๑ นี้ ย่อมไม่เป็นไปในหมู่เทวดา๑ กรรมฐาน ๑๓ คือ กรรมฐาน

๑๒ นั้น และอานาปานสติ นี้ไม่เป็นไปในพรหมโลก๒ แต่ในอรูปภพ

กรรมฐานอื่นเว้น อรูป ๔ ย่อมเป็นไปมิได้ ในหมู่มนุษย์ กรรมฐาน

ย่อมเป็นไปได้ทุกข้อ แล

พึงทราบวินิจฉัยโดยภูมิ ดังนี้

[คหณโต]

บทว่า " โดยการถือเอา ( นิมิต ) " มีวินิจฉัยว่า ก็การ

วินิจฉัยในบทนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยการถือเอา ( นิมิต ๓ ทางคือ )

๑. มหาฎีกาว่า เพราะในเทวภูมิ ไม่มีอสุภและอาหารที่เป็นปฏิกูล

๒. มหาฎีกาว่า ที่อานาปานสติไม่เป็นไปในพรหมโลกนั้น เพราะในพรหมโลก (รูป

ภพ ?) ไม่มีลมหายใจเข้า-ออก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 69

ทางดู ทางกระทบถูก และทางฟัง ใน ๓ ทางนั้น กรรมฐาน ๑๙ คือ

กสิณเว้นวาโยกสิณ เหลือ ๙ อสุภ ๑๐ นี้ต้องถือเอา ( นิมิต ) ทางดู

หมายความว่า นิมิตของกรรมฐานเหล่านั้น เบื้องแรกต้องดูด้วยตา

( เป็นบริกรรมนิมิต ) แล้วจึงถือเอา ( เป็นอุคคหนิมิต ) ได้

ในกายคตาสติ อารมณ์ของกายคตาสตินั้น ถือเอาได้ทั้งทางดูและ

ทางฟัง ดังนี้ คือ ส่วนที่เป็นตจปัญจกะ ๑ ถือเอาทางดู ส่วนที่เหลือ

ถือเอาทางฟัง อานาปานสติ ถือเอาทางกระทบถูก วาโยกสิณ

ถือเอาได้ทั้งทางเห็นและทางกระทบถูก ที่เหลือ ๑๘ ถือเอาทางฟัง

แต่ในกรรมฐาน ๔0 นั้น กรรมฐานคือ อุเบกขาพรหมวิหาร

( และ ) อารูป ๔ นี้ พระโยคาวจรผู้เป็นอาทิกัมมิกะไม่ควรถือเอา*

ที่เหลือ ๓๕ จึงควรถือเอา แล

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยการถือเอา ( นิมิต ) ดังนี้

[ปจฺจยโต]

บทว่า " โดยเป็นปัจจัย " มีวินิจฉัยว่า ก็ในกรรมฐาน

เหล่านี้ กสิณเว้นอากาสกสิณ เหลือ ๙ ย่อมเป็นปัจจัยแห่ง อารูป

ทั้งหลาย กสิณทั้ง ๑๐ เป็นปัจจัยแห่งอภิญญา พรหมวิหาร ๓ เป็น

ปัจจัยแห่งพรหมวิหารที่ ๔ อรูปชั้นต่ำๆ เป็นปัจจัยแห่งอรูปชั้น

* มหาฎีกาว่า ผู้เริ่มทำกรรมฐานจะไปคว้าเอา อุเบกขากับอรูป ๔ มาเริ่มทำหาได้ไม่

เพราะอุเบกขานั้นต้องบรรลุพรหมวิหาร ๓ ข้างต้นก่อนจึงจะทำให้เกิดขึ้นได้ และอารูป

เล่าก็ต้องบรรลุรูปาวจรจตุตถฌาน ในกสิณก่อน จึงจะทำให้เกิดขึ้นได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 70

สูง ๆเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นปัจจัยแห่งนิโรธสมาบัติ

กรรมฐานทั้งหมด เป็นปัจจัยแห่ง สุขวิหาร แห่งวิปัสสนา

และภพสมบัติแล

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยปัจจัย ดังนี้

[จริยานุกูลโต]

บทว่า " โดยอนุกูลแก่จริยา " มีวินิจฉัยว่า ก็การวินิจฉัย

ในบทนี้ บัณฑิตพึงทราบตามกรรมฐานอันอนุกูลแก่จริยาทั้งหลาย

กรรมฐานอันอนุกูลแก่จริยานี้เป็นอย่างไร ก่อนอื่น ในกรรมฐาน ๔0

นั้น กรรมฐาน ๑๑ คือ อสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อนุกูลแก่คน

ราคจริต กรรมฐาน ๘ คือ พรหมวิหาร ๔ วัณณกสิณ ๔ อนุกูลแก่

คนโทสจริต อานาปานสติกรรมฐานอย่างเดียวเท่านั้น อนุกูลแก่คน

โมหจริตและคนวิตกจริต อนุสติ ๖ ข้างต้น อนุกูลแก่คนสัทธาจริต

กรรมฐาน ๔ คือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเร-

ปฏิกูลสัญญา อนุกูลแก่คนพุทธิจริต กสิณที่เหลือและ อรูป ๔ อนุกูล

แก่คนทุกจริต อนึ่ง ในกสิณทั้งหลาย กสิณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็น

ปริตตารมณ์ อนุกูลแก่คนวิตกจริต ที่เป็นอัปปมาณารมณ์ อนุกูล

แก่คนโมหจริต แล

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในกรรมฐานเหล่านี้ โดยอนุกูลแก่

จริยา ดังนี้แล

ก็แลคำที่กล่าวมาทั้งหมด ( ในบทจริยานุกูลโต ) นี้ กล่าวตาม

ที่ ( กรรมฐานนั้นๆ และจริยานั้นๆ ) เป็นข้าศึกกันโดยตรงประการ ๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 71

ตามที่เหมาะกันอย่างยิ่งประการ ๑ แต่ขึ้นชื่อว่ากุศลภาวนาที่ไม่ข่มโทษ

ทั้งหลายมีราคะเป็นต้นก็ดี ที่ไม่เป็นอุปการะแก่คุณทั้งหลาย มีศรัทธา

เป็นอาทิก็ดี หามีไม่ จริงอยู่แม้ในเมฆิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า

ก็ได้ตรัสคำนี้ ( แก่พระเมฆิยะ ) ว่า ธรรม ๔ ประการ เธอพึงเจริญ

ให้ยิ่งขึ้นไป คือ อสุภทั้งหลาย เธอพึงบำเพ็ญเพื่อละราคะ เมตตา

เธอพึงบำเพ็ญเพื่อละพยาบาท อานาปานสติเธอพึงบำเพ็ญเพื่อตัดวิตก

อนิจจสัญญาเธอพึงบำเพ็ญเพื่อถอนอัสมิมานะ ดังนี้ แม้ในราหุลสูตร

ก็ตรัสกรรมฐาน ๗ ข้อแก่พระราหุลผู้เดียว โดยนัยว่า " ดูกรราหุล

เธอจงบำเพ็ญเมตตาภาวนา " ดังนี้เป็นอาทิ* เพราะเหตุนั้น บัณฑิต

อย่าปักใจเชื่อในคำ ( ที่กล่าวไว้ ) เท่านั้น ควรค้นหาอธิบายในอนาคต-

สถานทั้งปวงเทอญ

[การถือกรรมฐาน]

( ต่อไป ) นี้เป็นวินิจฉัยในกัมมัฏฐานกถาในข้อว่า " ถือเอา

กรรมฐาน " นั้น

ก็คำแสดงความแห่งบทว่า " ถือเอา " นี้ มีดังต่อไปนี้ อัน

พระโยคีนั้นพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้มีประการอันกล่าวแล้วตามนัยที่ว่า

* มหาฎีกาว่า การที่ตรัสธรรม ๔ ประการอันควรบำเพ็ญแก่

พระเมฆิยะผู้เดียว หาใช่ว่าเพราะพระเมฆิยะผู้เดียวท่านมีจริต ๔ อย่างไม่ และที่ตรัส

กรรมฐาน ๗ ข้อแก่พระราหุลผู้เดียว ก็ใช่ว่าพระราหุลท่านมีจริตไปทุกอย่างหามิได้เพราะ

ฉะนั้นจึงเข้าใจได้ว่า กรรมฐานทุกข้อเป็นเครื่องข่มอกุศลทั้งปวง และเป็นเครื่องก่อเกิด

กุศลทั้งสิ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 72

ไว้ในข้อว่า " เข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กรรมฐาน " นั้นแล้ว มอบ

ตนแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่พระอาจารย์ ( บำเพ็ญตนให้ )

เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันถึงพร้อมและมีอธิมุติอันถึงพร้อมขอกรรมฐานเถิด

[การมอบตัว]

ในการมอบตัวนั้น พึงมอบตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ด้วย

คำว่า " อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ " " ข้าแต่

พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่พระองค์ "

ดังนี้ ด้วยภิกษุ เมื่อไม่มอบ( ตัว ) อย่างนี้ อยู่ในเสนาสนะ

ทั้งหลายอันสงัด ครั้นอารมณ์น่าหวาดกลัวมาประจันเข้า ไม่อาจทาน

อยู่ได้ ก็จะพึงแล่นกลับไปสู่แดนบ้าน เป็นผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์เข้าก็จะ

ถึงความแสวงหาไม่สมควรจนเกิดความเสื่อมเสียหายไป แต่เมื่อเธอ

ได้มอบตัวแล้ว ครั้นอารมณ์น่าหวาดกลัวแม้มาประจันเข้า ความ

กลัวก็ไม่เกิดขึ้น ซ้ำเมื่อเธอพิจารณาเห็น ( ด้วยการเตือนตน ) ว่า

แน่ะพ่อบัณฑิต พ่อได้มอบตัวแด่พระพุทธเจ้าเมื่อวันก่อนนี้เองมิใช่

หรือ ดังนี้ ความดีใจจะเกิดขึ้นเสียอีก เหมือนอย่างว่า ผ้ากาสีราคา

แพงของบุรุษ ( ผู้หนึ่ง ) พึงมีอยู่ เมื่อผ้านั้นถูกหนูก็ดี แมลงก็ดีกัด

ความเสียใจจะเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น แต่ถ้าเขาพึงถวายผ้านั้นแก่ภิกษุผู้

ไม่มีจีวรไซร้ ต่อมาความดีใจจะพึงเกิดขึ้นแก่เขาแม้เพราะเห็นผ้า

ผืนนั้นถูกภิกษุนั้น ( ตัด ) ทำให้เป็นขัณฑ์น้อยขัณฑ์ใหญ่อยู่ด้วยซ้ำ

อุปมาฉันใด อุปมัยนี้บัณฑิตก็พึงทราบฉันนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 73

แม้เมื่อจะมอบ ( ตัว ) แด่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวว่า " อิมาหํ

ภนฺเต อตฺตภาวํ ตุมหากํ ปริจฺจชามิ " " ข้าแต่อาจารย์ผู้เจริญ

ข้าพเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่ท่าน " ดังนี้ ด้วยภิกษุผู้ไม่มอบอัตภาพ

อย่างนี้ จะเป็นผู้ที่อาจารย์ปรามไม่ได้บ้าง จะเป็นคนว่ายากไม่ทำ

ตามโอวาทบ้าง จะเป็นคนไปตามชอบใจ ยังมิได้ลาอาจารย์ก็ไปเสีย

ณ ที่ๆ ตนปรารถนาบ้าง พระอาจารย์จะไม่สงเคราะห์เธอผู้นั้นด้วย

อามิสบ้าง ด้วยธรรมบ้าง ( ทั้ง ) จะไม่ให้เธอศึกษาข้อขอดที่ลึกลับ

ภิกษุนั้นเมื่อไม่ได้รับความสงเคราะห์ ๒ ประการนี้ ชื่อว่าไม่ได้ที่พึ่ง

ในพระศาสนา ไม่ช้าก็จะถึงซึ่งความทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไป แต่

ภิกษุผู้ที่มอบตัว ( แด่อาจารย์ ) แล้ว จะไม่เป็นผู้ที่อาจารย์

ปรามไม่ได้ ไม่เป็นผู้ไปตามชอบใจ เป็นผู้ว่าง่าย มีความเป็นไป

ต่อเนื่องกับอาจารย์อยู่เสมอ เธอเมื่อได้รับสงเคราะห์ทั้ง ๒ ประ

การจากพระอาจารย์ ย่อมจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา

ดังพวกอันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระฉะนั้น

ได้ยินว่าภิกษุ ๓ รูปมาสู่สำนักพระเถระ ในภิกษุ ๓ รูปนั้น รูป

หนึ่งกราบเรียน (พระเถระ) ว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อว่า

เพื่อประโยชน์แก่ท่านแล้ว ข้าพเจ้าพึงอาจโจนลงเหว ( ลึก )

๑๐๐ ชั่วคนได้ " รูปที่สองกราบเรียนว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อ

ว่าเพื่อประโยชน์แก่ท่านแล้ว ข้าพเจ้าพึงอาจที่จะถูร่างกายนี้ เริ่มแต่

ส้นเท้าเข้าที่ลานหินให้ ( ตัวสึก ) สิ้นไปไม่ให้เหลือเลยได้ " รูป

ที่สามกราบเรียนว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อว่าเพื่อประโยชน์แก่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 74

ท่านแล้ว ข้าพเจ้าอาจกลั้นลมอัสสาส-ปัสสาสะจนทำกาลกิริยาได้ "

พระเถระเห็นว่าภิกษุพวกนี้เป็นภัพพบุคคลแน่ ก็บอกกรรมฐาน

( ให้ ) พวกเธอตั้งอยู่ในโอวาทของท่านได้บรรลุพระอรหัตทั้ง ๓ รูป

แลนี่อานิสงส์ในการมอบตัว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า

" ....พึงมอบตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า หรือแก่พระอาจารย์ ... "

ดังนี้

[อัชฌาสัย ๖]

ส่วนในข้อว่า " ... เป็นผู้อัชฌาสัยอันถึงพร้อมและมีอธิมุติ

อันถึงพร้อม " นั้น มีวินิจฉัยว่า อันพระโยคีนั้นพึงเป็นผู้มีอัชฌาสัย

อันถึงพร้อมโดยอาการ ๖ เนื่องด้วยคุณธรรมมีอโลภะเป็นต้น ด้วย

พระโยคีผู้มีอัชฌาสัยอันถึงพร้อมอย่างนี้ ย่อมจะบรรลุโพธิ ๓*

อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังท่านกล่าวไว้ว่า ก็อัชฌาสัย ๖ ประการของพระ

โพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความสุกรอบแห่งโพธิ คือ

พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัชฌาสัยกอปรด้วย อโลภะ เห็นโทษใน

โลภะอยู่โดยปกติ ๑ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัชฌาสัย กอปรด้วย

อโทสะ เห็นโทษในโทสะอยู่โดยปกติ ๑ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

เป็นผู้มีอัชฌาสัย กอปรด้วย อโมหะ เห็นโทษในโมหะอยู่โดยปกติ ๑

พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัชฌาสัยในเนกขัมมะ ( การออกบวช )

เห็นโทษในการครองเรือนอยู่โดยปกติ ๑ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็น

* โพธิ ๓ คือสัมมาสัมโพธิ ปัจเจกโพธิ สาวกโพธิ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 75

ผู้มีอัชฌาสัยในปวิเวก เห็นโทษในสังคณิกา ( ความระคนด้วยหมู่

คณะ ) อยู่โดยปกติ ๑ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัชฌาสัยใน

นิสสรณะ ( ความออกจากทุกข์ ) เห็นโทษในภพและคติทั้งปวงอยู่

โดยปกติ ๑ ดังนี้ แท้จริงบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นพระโสดาบัน

พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธะ และ

พระสัมมาสัมพุทธะ ทั้งที่เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน

ท่านทั้งปวงนั้นได้บรรลุคุณวิเศษที่ตนจะพึงบรรลุได้ ก็ด้วยอาการ ๖

เท่านั้น เพราะเหตุนั้น พระโยคีเป็นผู้มีอัชฌาสัยถึงพร้อมโดย

อาการ ๖ นี้เถิด

อนึ่ง พระโยคีพึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอธิมุติ โดยความเป็นผู้

( มีจิต ) น้อมไปในธรรม ( ที่จะกล่าวต่อไป ) นั้น อธิบายว่า พึง

เป็นผู้ ( มีจิต ) น้อมไปในสมาธิ หนักไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ

และเป็นผู้ ( มีจิต ) น้อมไปในพระนิพพาน หนักไปในพระนิพพาน

โน้มไปในพระนิพพาน เทอญ

ก็แลจริยาของพระโยคีนั้นผู้มีอัชฌาสัยและอธิมุติถึงพร้อมแล้ว

อย่างนี้ ( มา ) ขอกรรมฐานอยู่ พระอาจารย์ผู้ได้เจโตปริยญาณ

ตรวจดูวาระจิต ( ของเธอ ) แล้วก็พึงทราบได้ อาจารยน์ อกนี้ ( ที่

ไม่ได้เจโตปริยญาณ ) ต้องถามเอา โดยนัยว่า (๑) เธอเป็นคนจริต

อะไร หรือว่า (๒) ธรรมเหล่าไรเป็นไปมากแก่เธอ หรือว่า

(๓) เมื่อเธอมนสิการกรรมฐานข้อไหนจึงมีความผาสุก หรือ (๔)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 76

จิตของเธอน้อมไปในกรรมฐานบทไหน ดังนี้เป็นต้น จึงจะทราบได้๑

พระอาจารย์ได้ทราบอย่างนี้แล้วจึงบอกกรรมฐานอันอนุกูลแก่จริยาเถิด

ก็แลเมื่อจะบอก พึงบอกโดย ๓ วิธี คือ (๑) สำหรับผู้เรียนกรรม-

ฐานอยู่โดยปกติ๒ พึงให้ทำการสาธยาย ( ฟังดู ) นั่ง ๑ (หรือ)

๒ หน๓ แล้วจึงให้ (๒) สำหรับผู้อยู่ในสำนักพึงบอกให้ทุกขณะที่

เธอมา ( หา ) (๓) สำหรับผู้เรียนแล้วใคร่จะไปที่อื่น พึงบอก

อย่าให้ย่อนัก อย่าให้พิสดารนัก

ในกรรมฐานเหล่านั้น ก่อนอื่น เมื่อจะบอกปฐวีกสิณกรรมฐาน

พึงบอกอาการ ๙ นี้ คือ (๑) กสิณโทษ ๔ (๒) การทำกสิณ (๓)

ภาวนานัยแห่งกสิณที่ทำแล้ว (๔) นิมิต ๒ (๕) สมาธิ ๒ (๖)

สัปปายะและอสัปปายะ ๗ (๗) อัปปนาโกศล ๑๐ (๘) วิริยสมตา

( ความสม่ำเสมอแห่งความเพียร ) (๙) อัปปนาวิธาน ( วิธีเจริญ

อัปปนา ) แม้ในกรรมฐานที่เหลือ ก็พึงบอกสิ่งที่ควรแก่กรรมฐาน

นั้นๆ วิธีทั้งปวงนั้นจักมีแจ้งใน ( ตอนว่าด้วย ) ภาวนาวิธีแห่ง

๑. มหาฎีกาท่านแนะว่า ควรถามตามนัยที่ ๑ ว่า เธอเป็นคนจริตอะไร ดังนี้ก่อน เมื่อ

เธอตอบว่าไม่ทราบ จึงถามตามนัยอื่นต่อไป (ไม่ใช่นึกจะถามอะไรก็ถามส่งไป)

๒. มหาฎีกาว่า หมายถึงผู้ได้ทำความสั่งสมในกรรมฐานที่ตนมีประสงค์จะถือ โดย

สาธยายบ้าง มนสิการบ้างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงควรให้ลองว่าให้ฟังดู แล้ว

จึงให้กรรมฐาน

๓. เอกํ เทฺว นิสชฺชา มหาฎีกาแก้ไว้ว่า เอํก วา เทฺว วา อุณฺหาสนานิ หมายความ

ว่า นั่งจนอาสนะร้อนหน ๑ หรือ ๒ หน ไม่ใช่นั่นครู่เดียว อาสนะยังไม่ร้อน

ชอบกล สำหรับนี่ก็มาได้กับสำนวนภาษาไทยที่ว่า นั่งจนก้นร้อน ต่างกันแต่วัตถุ

ที่ร้อน ของท่านเป็นอาสนะ ของเราเป็นอวัยวะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 77

กรรมฐานเหล่านั้น

ก็แล ครั้นกรรมฐานอันอาจารย์บอกอยู่อย่างนี้ พระโยคีนั้น

พึงฟังถือเอานิมิตให้ได้ คำว่า " ถือเอานิมิต" หมายความว่า ผูก

พันอาการนั้น ๆ เข้าไว้ ( ในใจ ) อย่างนี้ว่า นี่เป็นบทเบื้องต่ำ นี่

เป็นบทเบื้องสูง นี่เป็นเนื้อความแห่งบทนั้น นี่เป็นอธิบาย นี่เป็น

คำอุปมา ดังนี้ ด้วยเมื่อพระโยคีฟังโดยเคารพถือเอานิมิตได้อย่างนี้

ย่อมเป็นอันได้ถือเอากรรมฐานด้วยดีแล้ว ภายหลังการบรรลุคุณวิเศษ

จะสำเร็จแก่เธอเพราะอาศัยกรรมฐานที่ตนถือเอาด้วยดีนั้น หาสำเร็จ

แก่บุคคลนอกนี้ ( ผู้มิได้ถือเอากรรมฐานด้วยดีเช่นนั้น ) ไม่แล นี้

เป็นคำแสดงความแห่งบทว่า " ถือเอา "นี้

บททั้งหลายเหล่านี้คือ " เข้าไปหากัลยาณมิตรถือเอากรรมฐาน

อย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ ที่อนุกูลแก่จริยาของตน " ดังนี้ เป็น

อันข้าพเจ้าได้ ( กล่าวแก้ ) ให้พิสดารแล้วโดยอาการทั้งปวง ด้วย

กถามรรคเท่านี้แล

ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อกัมมฐานคหณนิเทศ

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมชแห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 78

บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ ( ใน

กัมมฐานคหณนิเทศตอนแก้สมาธิภาวนา ) ว่า " . . . . อันพระโยคีผู้

ละวิหารอันไม่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญสมาธิเสียแล้ว พำนักอยู่ใน

วิหารที่เหมาะสม . . . . " ดังนี้ต่อไป

ก่อนอื่น เมื่อพระโยคีผู้ใดอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระอาจารย์

มีความผาสุก พระโยคีนั้น เมื่อจะชำระกรรมฐานก็พึงอยู่ในวิหาร

นั้นแหละ ถ้า ( เมื่ออยู่ ) ในวิหารนั้นไม่มีความผาสุกไซร้ วิหาร

อื่นใดเป็นสัปปายะมีอยู่ในที่ ( ไกลแต่วิหารของอาจารย์ ) ประมาณ

คาวุตหนึ่งหรือกึ่งโยชน์ หรือแม้ประมาณถึงโยชน์หนึ่งก็ดี ก็พึง ( ไป )

อยู่ในวิหารนั้นเถิด ด้วยเมื่อได้อยู่อย่างนั้น ครั้นมีความสนเท่ห์หรือ

เกิดความหลงลืมในข้อกรรมฐานที่ตรงไหนก็ดี จะได้ ( ลุกขึ้น )

ทำวัตรในวิหาร ( ที่ตนอยู่ ) แต่เช้าแล้ว ( ออกเดิน ) เที่ยวบิณฑบาต

( ฉัน ) ในระหว่างทาง ไปถึงที่อยู่ของพระอาจารย์ในเวลา ( ท่าน )

เสร็จภัตกิจพอดี แล้ววันนั้นชำระกรรมฐานในสำนักของพระอาจารย์

เสีย ( ให้เสร็จ ) วันรุ่งขึ้นก็กราบ ( ลา ) พระอาจารย์ ( เดินทางกลับ )

ไป เที่ยวบิณฑบาต ( ฉัน ) ในระหว่างทาง ยังไม่ทันเหนื่อยก็อาจ

มาถึงที่อยู่ของตนได้ ส่วนพระโยคีผู้ใดไม่ได้ที่ผาสุกในที่แม้ ( ไกล )

ตั้งโยชน์ พระโยคีนั้นพึงตัดข้ออันเป็นขอดทั้งปวงของกรรมฐาน ( เสีย

ให้ได้ )* ทำกรรมฐานที่เนื่องด้วยความนึกหน่วงให้หมดจดดีแล้ว ไป

* มหาฎีกาว่า คำว่า ตัด ในที่นี้หมายความว่าตัดข้อที่เป็นขอดเป็นปม เพราะเข้าใจ

ยากออกไป โดยหาความเข้าใจให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ทั้งโดยอรรถ และโดยอธิบาย

อย่าให้มีที่เคลือบแคลงเหลืออยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 79

ให้ไกล ( กว่านั้น ) ก็ได้ละวิหารอันไม่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญ

สมาธิเสีย แล้วพำนักอยู่ในวิหารที่เหมาะสมเถิด

[วิหารไม่เหมาะสม]

ในวิหารไม่เหมาะสมและวิหารเหมาะสม ๒ อย่างนั้น วิหาร

ที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิหารไม่

เหมาะสม นี้โทษ ๑๘ ประการในคำนั้น คือ

(๑) มหนฺตตฺตํ ความเป็นวิหารใหญ่

(๒) นวตฺตํ ความเป็นวิหารใหม่ ( ยังไม่แล้วดี )

(๓) ชิณฺณกตฺตํ ความเป็นวิหารเก่า ( ทรุดโทรมแล้ว )

(๔) ปนฺถสนฺนิสฺสิตฺตํ ความเป็นวิหารติดทางเดิน

(๕) โสณฺฑึ วิหารมีตระพังน้ำ

(๖) ปณฺณํ วิหารมีไม้ใบ ( ที่เป็นผัก )

(๗) ปุปฺผํ วิหารมีไม้ดอก

(๘) ผลํ วิหารมีไม้ผล

(๙) ปฏฺฐนียตา ความเป็นวิหารที่คนทั้งหลายมุ่งมั่น

(๑๐) นครสนฺนิสฺสิตตา ความเป็นวิหารติดเมือง

(๑๑) ทารุสนฺนิสฺสิตตา ความเป็นวิหารติดป่าไม้

(๑๒) เขตฺตสนฺนิสฺสิตตา ความเป็นวิหารติดที่นา ( ของชาวบ้าน )

(๑๓) วิสภาคานํ ปุคฺคาลนํ ความเป็นวิหารมีบุคคลผู้เป็น

อตฺถิตา วิสภาคกันอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 80

(๑๔) ปฏฺฏสนฺนิสฺสิตตา ความเป็นวิหารติดท่า

(๑๕) ปจฺจนฺตสนฺนิสฺสิตตา ความเป็นวิหารติดปลายแดน

(๑๖) รชฺชสีมนฺตรสนฺนิสฺสิตตา ความเป็นที่วิหารติดที่ระหว่าง

พรมแดน

(๑๗) อสปฺปายตา ความเป็นวิหารไม่เป็นสัปปายะ

(๑๘) กลฺยาณมิตฺตานํ อลาโภ วิหารที่หากัลยามิตรไม่ได้

วิหารที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า

วิหารไม่เหมาะสม พระโยคีไม่ควรอยู่ในวิหารนั้น เพราะเหตุไร

[มหนฺตตฺตํ]

ก่อนอื่น ในวิหารใหญ่ ภิกษุมากด้วยกันมีฉันทะต่างๆ กัน

รวมกันอยู่ เธอทั้งหลาย เพราะความที่ผิด ( ใจ ) กันและกันเลยไม่

( มีใคร ) ทำวัตร บริเวณทั้งหลายมีลานต้นโพธิ์เป็นต้น เป็นอัน

ว่าไม่ ( มีใคร ) กวาดเลย น้ำฉันน้ำใช้ก็ไม่ ( มีใครตักมา ) ตั้ง

ในวิหารใหญ่นั้น เมื่อเธอ ( พระโยคี ) คิดว่า จะต้องไปบิณฑบาต

ในโคจรคาม( เสียที ) ถือบาตรจีวรออกไป ถ้าเห็นวัตรยังมิได้ทำก็ดี

หม้อน้ำดื่มว่างก็ดี ที่นี้วัตร ( นั้น ) ก็เป็นการที่เธอต้องทำ น้ำดื่ม

ก็จำต้อง ( ตักมา ) ตั้ง เธอไม่ทำก็จะต้องอาบัติทุกกฎเพราะวัดเภท

เมื่อเธอมัวทำวัตรนั้น ( ภัต ) กาลก็จะล่วงเลยไป เข้าไป ( ถึง

หมู่บ้าน ) สายมาก เมื่อภิกษา ( เขาถวายแก่ภิกษุที่เข้าไปๆ หมด )

เสร็จไปแล้วก็จะไม่ได้อะไร ( ฉัน ) สักอย่าง แม้ว่าเธอไป ( พัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 81

อยู่ ) ในที่สำหรับเร้น ( จิตใจ ) ก็ยังจะซัดส่ายได้ด้วยเสียงเอ็ดอึง

และการทำ ( อะไร ) รบกวนกัน ) แห่งสามเณรและภิกษุหนุ่ม

ทั้งหลาย แต่ในวิหารใหญ่ใด วัตรทั้งปวงเขาทำๆ กันเรียบ แม้

การบกวนนอกนั้นเล่าก็ไม่มี ในวิหารเช่นนี้ ถึงเป็นวิหารใหญ่

ก็ควรอยู่ได้

[นวตฺตํ]

ในวิหารใหม่ ( ยังไม่แล้วดี ) การก่อสร้างมีมาก ไม่ทำเขาก็

โพทนาเอา แต่ในวิหารใหม่ใด ภิกษุทั้งหลายบอก ( เธอ ) ว่า

" ขอท่านจงทำสมณธรรมตามสบายเถิด พวกข้าพเจ้าจักทำการก่อสร้าง

เอง " ดังนี้ ในวิหารใหม่เช่นนี้ควรอยู่ได้

[ชิณฺณกตฺตํ]

ส่วนในวิหารเก่า ( ทรุดโทรมแล้ว ) สิ่งที่จะต้องดูแลมีมาก

ไม่ดูแลที่สุดแต่เสนาสนะสำหรับตน เขาก็จะโพทนาเอา มัวดูแล

กรรมฐานก็จะเสื่อม*

[ปนฺถสนฺนิสฺสิตฺตํ]

ในวิหารติดทางเดิน คือวิหารติดทางหลวง อาคันตุกะชุมทั้ง

กลางคืนและกลางวัน เมื่อพวกเขามากันในเวลาวิกาล ก็จำต้องยก

* มหาฎีกาว่า โดยนัยอันกล่าวในวิหารใหม่ แม้ในวิหารเก่านี้ก็ชอบที่เสริมความว่า

"แต่ในวิหารเก่าใด ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า (รับรอง) ว่า ขอท่านจงทำสมณธรรมตามสบาย

เถิด พวกข้าพเจ้าจะดูแลเอง" ดังนี้ ในวิหารเก่าเช่นนี้ควรอยู่ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 82

เสนาสนะสำหรับตน ( ให้เขาพัก ) แล้ว ( ตนเอง ) ไปอยู่ที่โคนไม้

หรือไม่ก็ที่ลานหิน แม้วันรุ่งขึ้น ( ต่อไป ) ก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ

เพราะเช่นนี้ โอกาสสำหรับกรรมฐานก็จะไม่มี แต่ในวิหารติด

ทางเดินใด ความคับคั่งด้วยอาคันตุกะเช่นนั้นไม่มี ก็ควรอยู่ในวิหาร

( แม้ติดทางเดิน ) นั้นได้

[โสณฺฑึ]

สระโบกขรณีกรุด้วยหิน ชื่อว่า ตระพัง ในวิหารมีตระพังนั้น

ชนมากันมากเพื่อ ( ตัก ) น้ำดื่ม พวกอันเตวาสิกของพระเถระราช-

กุลุปกะทั้งหลาย ผู้อยู่วัดในพระนคร* ก็จะพากันมาเพื่อประโยชน์

ด้วยรชนกรรม ( การซักย้อม ) เมื่อพวกเธอถามถึงเครื่องใช้มีภาชนะ

ฟืนและรางเป็นต้น ก็จำจะต้องชี้ให้ว่า ( สิ่งนั้นๆ อยู่ ) ที่โน่นๆ การ

ช่วยขวนขวายเป็นประจำย่อมจะมีไปตลอดกาลอย่างนี้

[ปณฺณํ]

ในวิหารใด ใบไม้ที่เป็นผักต่างๆ มีอยู่ เมื่อเธอ ( พระ

โยคี ) แม้เรียนกรรมฐานแล้วนั่งพักกลางวันอยู่ในวิหารนั้น พวกหญิง

หาผักจะมาร้องเพลงพลางเลือกเก็บใบไม้อยู่ใกล้ๆ ย่อมจะทำอันตราย

แก่กรรมฐานด้วยการรบกวนด้วยเสียงอันเป็นข้าศึกต่อกรรมฐานได้

[ปุปฺผํ]

ส่วนวิหารใด กอไม้ดอกนานาพรรณมีดอกบานสะพรั่งอยู่

แม้ในวิหารนั้น ก็ย่อมจะมีอันตราย เช่นนั้นเหมือนกัน

* คำวา ราชกุลุปกะ ในที่นี้ น่าจะหมายความตรงกับพระราชคณะของเรา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 83

[ผลํ]

ในวิหารใด ไม้ผลนานาชนิดเช่นมะม่วง ชมพู่ ขนุนมีอยู่ ใน

วิหารนั้น พวกคนที่ต้องการผลไม้ก็จะพากันมาขอเมื่อไม่ให้เขาก็โกรธ

เอา มิฉะนั้นเขาก็ถือเอาโดยพลการ ตอนเย็นเธอเดินจงกรมอยู่

กลางวิหารพบเขา ( ทำเช่นนั้น )ทักขึ้นว่า " พวกอุบาสก ทำไม

พวกท่านทำอย่างนั้นเล่า " เขาก็จะด่าเอาตามชอบใจ ( มิหนำ ) ซ้ำ

จะพยายาม( หาเรื่อง ) เพื่อมิให้เธออยู่ ( ในวิหารนั้น ) เสียอีก

[ปฏฺฐนียตา]

ส่วนภิกษุผู้อยู่ในวิหารที่คนทั้งหลายมุ่งมั่น คือที่ชาวโลกแต่งตั้ง

ให้ ( ว่าเป็นวิหารวิเศษ ) เช่นทักขิณาคิรีวิหารหัตถิกุจฉิวิหาร

จิตตลบรรพตวิหาร คนทั้งหลายยกให้ว่าเป็นพระอรหันต์ ( เขา )

ใคร่จะได้ไหว้ ( เธอ ) ก็มาออกันอยู่ให้รอบไป เพราะเหตุนั้น

ความผาสุกก็ย่อมจะไม่มีแก่เธอ แต่ ( หาก ) วิหารนั้นเป็นสัปปายะ

สำหรับโยคีรูปใดพระโยคีรูปนั้นก็พึงไป ( พัก ) เสียที่อื่นในตอน

กลางวัน ต่อกลางคืนจึงมาอยู่เถิด

[นครสนฺนิสฺสิตตา]

ในวิหารติดเมือง วิสภาคารมณ์ทั้งหลาย* ย่อมมาสู่คลอง

( แห่งทวารมีจักษุทวารเป็นต้น ) พวกกุมภทาสี ( นางทาสตักน้ำ )เล่าก็เดิน

* มหาฎีกาว่า อารมณ์อันเป็นข้าศึก แก่กรรมฐาน ในที่นี้หมาย

เอาทั้งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ที่กกล่าวถึงพวกุมภทาสีรบกวนนั้นแสดงอนิฏฐารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 84

หม้อน้ำกระทบกันไป ( เดินสวนกัน ) มันก็ไม่หลีกทางให้ ข้างพวก

เจ้านายก็มาขึงม่านเป็นวงนั่งอยู่กลางวิหาร*

[ทารุสนฺนิสฺสิตตา]

ส่วนวิหารติดป่าไม้ คือเป็นที่มีไม้แห้ง และมีต้นไม้ที่ใช้เป็น

เครื่องเรือนได้ พวกหาไม้แห้ง ( ไปทำฟืน )จะทำความไม่ผาสุก

ให้ ดุจพวกหาผักและดอกไม้ที่กล่าวมาในข้อก่อน คนทั้งหลายคิด

กันว่าจะต้องตัดไม้ที่มีอยู่ในวิหารมาทำเรือนกันเถิด ก็พากันมาตัดเอา

ตอนเย็น พระโยคีออกจากเรือนที่ทำความเพียร ( ไป ) จงกรมอยู่กลาง

วิหาร เห็นคนเหล่านั้น ( ตัดต้นไม้อยู่ ) ถ้า ( เธอ ) ทักขึ้นว่า " พวก

อุบาสก ทำไมพวกท่านจึงทำอย่างนั้นเล่า " เขาก็จะด่าเอาจนจุใจ

( มิหนำ ) ซ้ำจะพยายาม ( หาเรื่อง ) เพื่อมิให้เธออยู่ ( ในวิหารนั้น )

เสียอีก

[เขตฺตสนฺนิสฺสิตตา]

ส่วนวิหารใดติดที่นา ( ของชาวบ้าน ) นาล้อมอยู่รอบ ใน

วิหารนั้น คนทั้งหลายจะทำลานนวดข้าวเข้าที่กลางวิหารนั่นเอง ( แล้ว

* ไม่เข้าใจเลยว่า ท่านพวกคนใหญ่คนโตชาวสีหลจะมาใช้ที่ในวิหารโดยวิธีนั้นเพื่อ

อะไร หรือจะเป็นอย่างที่เราเล่าสืบกันมาว่า คนโบราณสร้างวัดกันง่าย ๆ ไม่มีเรื่องอะไร

ก็สร้างวัดไว้ให้ลูกไปวิ่งเล่น พวกเจ้านายชาวสีหลนี่ก็จะเป็นอย่างนั้น ท่านพาลูก ๆ ไป

วิ่งเล่นในวัด แต่ท่านเป็นคนใหญ่คนโตจะไปนั่งโทนโท่อยู่อย่างไรได้ ก็ต้องม่านเป็น

ลับแลเสียหน่อยเช่นนั้นกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 85

ก็ ) ตากข้าวที่หน้าวิหาร* ยังทำไม่ผาสุกอย่างอื่นอีกมาก แม้

ในวิหารใด มีโภคสมบัติของสงฆ์มาก พวกคนวัดกันฝูงโคของตระกูล

ทั้งหลาย ( มิให้เข้ามาหากินที่วัด ) กั้นทางน้ำ ( กักน้ำไว้ใช้ในที่ของ

วัด น้ำก็ไม่ไหลไปสู่นาของชาวบ้าน ต้นข้าวของชาวบ้านก็เหี่ยวแห้ง )

คนทั้งหลายพากันถือเอารวงข้าวที่เหี่ยวแห้งไปแสดงแก่สงฆ์ ร้องทุกข์

ว่า " พระคุณทา่ นทั้งหลาย ดูเอาเถิด การกระทำของพวกคนวัดของ

พระคุณท่าน " เพราะเหตุ ( ที่เกิดขึ้น ) นั้น ( เมื่อสงฆ์ไม่สามารถจะ

จัดการให้เป็นที่พอใจของพวกเขาได้ เขาก็จะร้องทุกข์ถึงเจ้าถึงนาย

ทีนี้ ) พระโยคีนั้นก็จำต้องไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์ หรือประตูบ้าน

ท่านราชมหาอำมาตย์ ( ซึ่งเป็นที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ถ้อยคำ

แก่เจ้าหน้าที่ ) แม้วิหารที่มีโภคสมบัติของสงฆ์มากนี้ ก็สงเคราะห์เข้า

ด้วยวิหารติดที่นาได้เหมือนกัน

[วิสภาคานํ ปุคฺคาลนํ อตฺถิตา]

ข้อว่า " ความเป็นวิหารมีบุคคลผู้เป็นวิสภาคกันอยู่ " มีวินิจฉัย

ว่า ในวิหารใด ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นวิสภาค คือ เป็นข้าศึกกันและกัน

อยู่ ( ร่วมกัน ) ภิกษุพวกใดทะเลาะกันอยู่ เมื่อพระโยคีห้ามว่า

" ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายอย่าทำอย่างนั้นเลย " ภิกษุ

* ปมุเข สุสฺสยนฺติ ศัพท์ ปมุเข ถ้าแปลว่า "หน้ามุข" เป็นปัญหามาก หน้ามุขอะไร

จะกว้างพอตากข้าวได้ และถ้าละลาบละล้วงถึงใช้หน้ามุขเป็นที่ตากข้าว มิเป็นบังอาจเกิน

ไปหรือ ในที่นี้จึงแปลว่า "หน้าวิหาร" ด้วยคิดเห็นว่าหน้าวัดอาจมีลานพอตากข้าวได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 86

พวกนั้น ( กลับ ) จะเป็นผู้ว่าเอาว่า " ตั้งแต่ภิกษุถือบังสุกุลรูปนี้มา

พวกเรา ( กลาย ) เป็นคนเสียไปเสียแล้ว๑"

[ปฏฺฏสนฺนิสฺสิตตา]

ฝ่ายวิหารใดติดท่าน้ำหรือท่าบก๒ ในวิหารนั้นพวกคนที่มาทาง

เรือก็ดี ทางหมู่เกวียนก็ดี เนืองๆ ย่อมจะรบกวนทำความไม่ผาสุกให้

ด้วยการออกปากขอโอกาส ขอน้ำดื่ม ขอเกลือ

[ปจฺจนฺตสนฺนิสฺสิตตา]

ส่วนในวิหารติดปลายแดน ( พึงทราบว่า ) คนทั้งหลาย ( ในบ้าน

ปลายแดน ) เป็นคนไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยมีพุทธรัตนะเป็นต้น

( แม้หากไม่ทำอันตรายเอา ก็ไม่อุปถัมภ์บำรุง จะอยู่ผาสุกที่ไหน )

[รชฺชสีมนฺตรสนฺนิสฺสิตตา]

ในวิหารติดที่ระหว่างพรมแดน ราชภัย ( มัก ) จะมี เพราะพระ

ราชาองค์หนึ่งก็ว่าที่ตรงนี้ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา ก็ ( มา ) ตีเอา

ที่นั้น ข้างพระราชาอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าที่ตรงนี้ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจของ

๑. อรรถาธิบายของมหาฎีกาว่า วิหารนั้นภิกษุทั้งหลายเป็นวิสภาคกัน คือไม่ถูก

กัน ระหองระแหงกัน ทะเลาะกัน ทำความไม่ผาสุกแก่เธอผู้เป็นพระโยคาวจร ครั้น

ขอร้องห้ามปรามเขา เขากลับว่ากระทบกระแทกให้เสียอีก

๒. มหาฎีกาว่า ได้แก่ด่านขนอน เป็นที่เก็บภาษีสินค้าที่มาทางบก (ท่านอากาศ-

ยานที่ดอนเมืองเวลานี้ก็นับเป็นท่านบก)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 87

ตน ก็ ( มา ) ตีเอาที่นั้น ภิกษุนี้ ( อยู่ ) ในวิหารนั้น ลางครั้งก็เที่ยว

ไปในแว่นแคว้นของพระราชาองค์นั้น ลางคราวก็เที่ยวไปในแว่นแคว้น

ของพระราชาอีกองค์หนึ่ง* เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางการ ( อาจ ) สำคัญ

ว่าเธอเป็นจารบุรุษ ก็จะทำเอาเธอป่นปี้ไป

[อสปฺปายตา]

ข้อว่า " ความเป็นวิหารไม่สัปปายะ " มีวินิจฉัยว่า " ความ

ที่วิหารได้ชื่อว่า ไม่เป็นสัปปายะ ก็เพราะเป็นที่ชุกชุมไปด้วย

อารมณ์ มีรูปเป็นต้นบ้าง เพราะเป็นที่ๆ อมนุษย์หวงแหนบ้าง

เรื่อง( ต่อไป ) นี้ ( เป็นตัวอย่าง ) ในความเป็นวิหารที่อมนุษย์

หวงแหนนั้น

มีเรื่องเล่าว่า พระเถระรูปหนึ่งอยู่ในป่า อยู่มายักษิณีตนหนึ่ง

( หวังจะล่อให้พระเถระนั้นไปตกเหวตาย ตัวจะได้กินเนื้อพระเถระเป็น

ภักษาหาร หนแรกมา ) ยืนขับร้องขึ้นที่ใกล้ประตูบรรณศาลาของท่าน

ท่านออกไปยืน ( ดู ) ที่ประตู ( ไม่เห็นอะไร ) มัน ( เลื่อนที่ ) ไป

ขับร้องขึ้นที่หัวที่จงกรม พระเถระก็ ( ตาม ) ไป ( ดู ) ที่หัวที่จงกรม( อีก

ก็ไม่เห็นอะไร ) มัน ( เห็นว่าล่อพระเถระออกมาได้สองทอดแล้ว ที

จะได้การ คราวนี้ ) จึงไปยืนขับร้องขึ้นที่ ( ปาก ) เหวอันลึกตั้งร้อย

* ตรงนี้ประโยคหน้าท่านใช้ อิตรสฺส ประโยคหลังใช้ เอตสฺส น่าจะเรียงหรือลอกคัด

ไขว้กันไป ที่ถูก อิตร จะต้องอยู่ประโยคหลังเสมอ ข้างต้นก็เห็นเป็นตัวอย่างอยู่คือ

ประโยคหน้า เอโก ราชา ประโยคหลังจึงใช้ อิตโรปิ ในที่นี้แปลตามเห็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 88

ชั่วคน พระเถระ ( ทีจะได้สติ ) กลับมาเสีย ( ไม่ตามไปอีก ) ทีนี้

มัน ( เห็นว่าล่อพระเถระไม่สำเร็จดังใจนึก ) ก็โลดแล่นมาจับ ( ตัว )

ท่าน ร้องตะคอกว่า " เฮ้ยพระ คนเช่นแก ( นี่ ) ข้ากินเสียไม่ใช่

คนหนึ่งสองคนแล้ว๑"

[กลฺยาณมิตฺตานํ อลาโภ]

ข้อว่า " วิหารที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ " ความว่าในวิหารใด

พระโยคาวจรไม่อาจหาอาจารย์หรือภิกษุปูนอาจารย์ก็ดี อุปัชฌาย์

หรือภิกษุปูนอุปัชฌาย์ก็ดีเป็นกัลยาณมิตรได้ ความไม่ได้กัลยาณมิตร

นั้นในวิหารนั้นมีโทษมากทีเดียว

วิหารที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง พึง

ทราบว่าเป็นวิหารไม่เหมาะสม จริงอยู่ แม้ในอรรถกถาทั้งหลาย

ท่านก็ได้กล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

* เรื่องนี้ท่านเล่าลัดไป ราวกะเรื่องนึกพูดในใจ รู้เรื่องแต่ตัวผู้เดียวก็แล้วกัน ถ้าจะ

แปลกันเท่าตัวก็รู้สึกกว่า คนอ่านจะกลืนยากเต็มที จึงต้องเติมความกันเป็นบรรทัด ๆ ถ้า

เติมผิดความจริงไป ก็ขอรับประทานโทษ และยังมีปัญหาอีก ๒ ข้อคือ

๑. มันจับท่านได้แล้วหักคอกินเสีย หรือว่ามีปาฏิหาริย์อะไรเกิดขึ้นทำให้มันต้อง

ปล่อยท่าน ข้อนี้ไม่สามารถจะเตาเติมความอะไรลงไปได้ เพราะไม่มีแนวความจะให้คิด

จึงเป็นเรื่องที่ไม่จบเรื่อง

๒. ยักษิณีมันโกรธโลดแล่นาจับตัวท่านจะหักคอกิน มันยังจะใช้คำสุภาพ

อ่อนน้อมพูดกับท่านว่า ภนฺเต อยู่ละหรือ อย่างดีก็น่าจะใช้คำตรง ๆ ว่า ภิกฺขุ แม้ว่า

อาจใช้คำ ภนฺเต แต่ยักษิณีมันคงไม่ใช้เสียงปกติ มันคงใช้เสียงตะคอกแล้วเราจะยังคง

อาจใช้คำ ภนฺเต แต่ยักษิณีมันคงไม่ใช่เสียงปกติ มันคงใช้เสียงตะคอกแล้วเราจะยังคง

แปลตามเคยว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ หรือ ท่านเจ้าขา" จะได้กับความจริงละหรือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 89

[คาถาสรูปโทษ ๑๘]

บัณฑิตรู้จักที่ ( อันประกอบด้วยโทษ ) ๑๘ อย่าง

คือ อาวาสใหญ่ ๑ อาวาสใหม่ ๑ อาวาสเก่า ๑

อาวาสติดทาง ๑ อาวาสมีตระพังน้ำ ๑ อาวาสมี

ใบ้ไม้ ๑ ( ที่ใช้เป็นผักได้ ) ๑ อาวาสมีไม้ดอก ๑

อาวาสมีไม้ผล ๑ อาวาสที่คนทั้งหลายมุ่งมั่น ๑

อาวาสติดเมือง ๑ อาวาสติดป่าไม้ ๑ อาวาส

ติดนา ๑ กับอาวาสมีภิกษุที่เป็นวิสภาคกันและกัน

อยู่ ๑ อาวาสติดท่า ๑ อาวาสติดชายแดน ๑ อาวาส

ติดที่ระหว่างพรมแดน ๑ อาวาสไม่เป็นที่

สัปปายะ ๑ อาวาสที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ ๑ เหล่านี้ ( ว่า

เป็นที่ไม่เหมาะสม ) ดังนี้แล้วพึงหลีกเสียให้ห่าง

ดุจหลีกทางอันมีภัยปรากฏอยู่ ฉะนั้นเถิด

[ลักษณะวิหารอันเหมาะสม]

ส่วนว่าวิหารใดประกอบด้วยองค์ ๕ มีความเป็นวิหารที่ไม่ไกลนัก

ไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม เป็นอาทิ วิหารนี้ ชื่อว่าวิหารเหมาะสม

จริงอยู่ คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะ

ในศาสนานี้เป็นที่ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก ไปมาสะดวก กลางวันไม่

พลุกพล่าน กลางคืนไม่มีเสียงอึกทึก ปราศจากสัมผัสแห่งเหลือบยุง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 90

ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ก็แลเมื่อภิกษุพำนักอยู่ในเสนาสนะนั้น

จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายย่อม

เกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นพหูสูต

ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมอยู่ในเสนาสนะ

นั้น ภิกษุเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันควร ได้สอบถาม

( ข้อธรรม ข้ออรรถ ) ว่า " ท่านเจ้าข้า บทนี้เป็นอย่างไร " ท่าน

เหล่านั้นย่อมจะเปิดข้อที่ยังไม่ได้เปิด ทำให้ตื้นข้อที่ยังมิได้ทำให้ตื้น

และบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันน่าจะสงสัยได้หลายๆ อย่าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล*"

นี้เป็นความพิสดารในข้อว่า " ละวิหารอันไม่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญ

สมาธิเสียแล้วพำนักอยู่ในวิหารที่เหมาะสม "

[ตัดปลิโพธเล็กน้อย]

พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า " ทำการตัดปลิโพธเล็กน้อยเสีย "

( ต่อไป ) พระโยคาวจรผู้ได้อยู่ในวิหารอันเหมาะสมอย่างนี้ ปลิโพธ

ทั้งหลายแม้ที่เล็กน้อยซึ่งเธอมีอยู่ ก็พึงตัดเสียด้วย ปลิโพธเล็กน้อย

* องค์ ๕ นับอย่างไร มหาฎีกาท่านให้นับอย่างนี้ ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก ไปมาสะดวกเป็น

องค์ ๑ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบ เป็นองค์ ๑ ปราศจากสัมผัสแห่งเหลือยุง

เป็นองค์ ๑ ปัจจัยสี่ไม่ฝืดเคือง เป็นองค์ ๑ มีภิกษุพหุสูตอยู่ด้วย เป็นองค์ ๑

อนึ่ง ศัพท์ โข ปน โหติ ท้ายบท... สิริปสมฺผสฺสํ เกินแน่ เพราะอยู่ในตำแหน่ง

ที่ไม่ตรงควรอยู่ ไม่ช่วยทำความให้ดีชึ้น กลับทำให้เสีย และสอบดูในฉบับบาลีทสกังคุตตร

(หน้า ๑๗) แล้ว ไม่มีศัพท์ทั้ง ๓ ต่อท้ายบท สิริปสมฺผสฺสํ จึงควรขีดศัพท์ทั้ง ๓

ออกได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 91

คืออะไรบ้าง คือ ผมยาว เล็บยาวแลขน ( คือขนจมูกหนวดเครา )

ยาว พึงโกนเสีย พึงทำทัฬหีกรรม ( ปะ ดาม ) หรือตุนนกรรม

( ชุน ) ในจีวรเก่าๆหรือว่าจีวร ( สี ) หมองไปก็ย้อมเสีย ถ้า

สนิมในบาตรมี ก็พึงระบมบาตรเสีย เครื่องเสนาสนะมีเตียงตั่งเป็น

ต้นก็พึงทำเสียให้สะอาด

นี้เป็นพิสดารในข้อว่า " ทำการตัดปลิโพธเล็กน้อยเสีย "

[วิตถารกถาแห่งภาวนาวิธี]

คำพรรณนา ( ต่อไป ) นี้เป็นคำกล่าวอย่างพิสดารในข้อว่า " อย่า

ทำภาวนาวิธีทั้งปวงให้เสื่อมไป บำเพ็ญขึ้นเถิด " นี้ โดยกล่าวภาวนา-

วิธีแห่งกรรมฐานทั้งหมด จับปฐวีกสิณเป็นต้นไป ณ กาลบัดนี้

[ปฐวีกสิณ]

ความพิสดารว่า ภิกษุผู้ตัดปลิโพธเล็กน้อยเสียได้อย่างนี้แล้ว

กลับจากบิณฑบาต หลังอาหาร บรรเทาความเมาอาหารแล้ว นั่งอย่าง

สบาย๑ ในโอกาสที่สงัด พึงถือเอานิมิตในดินที่แต่งขึ้นหรือไม่แต่ง

ก็ได้ จริงอยู่ ข้อนี้พระโบราณาจารย์๒ ก็ได้กล่าวไว้ว่า " พระ

โยคาวจรผู้จะขึ้นเอาปฐวีกสิณ ถือเอานิมิตในดิน๓ ที่แต่งขึ้น หรือ

๑. นั่งอย่างสบาย (สุขนิสินฺน) ในที่นี้ มหาฎีกาท่านเกรงว่าคนจะเข้าใจผิดไปว่านั่ง

อย่างไรก็ได้ ท่านจึงกำชับว่านั่งสบายอย่างนั่งกรรมฐาน คือขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง

๒. ตายนัยมหาฎีกาท่านว่า วุตฺตญฺเหตํ โปราณฏฺฐกถายํ

๓. บท ปฐวิยํ นี้ มหาฎีกาท่านว่า แม้รูปเป็นอิตถีลิงค์ แต่เพ่งมณฑลศัพท์ (คือเป็นดิน

สันฐานกลมมีกำหนด มิใช่ดินกว้างใหญ่หากำหนดมิได้) จึงนับเอาเป็น นํปุสกลิงค์

เท่ากับ ปฐวีมณฺฑเล เพราะฉะนั้น ศัพท์วิเสสนะข้างหลัง จึงมีรูปเป็นนุปํ. เป็นแถวไป

คือ กเต วา อกเต วา สานฺตโก โน อนนฺตเก ฯ เป ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 92

มิได้แต่งขึ้นก็ตาม ( แต่ต้อง ) เป็นดินมีที่สุด คือมีกำหนด สัณฐานกลม

ชักวงรอบได้ มิใช่ ( กว้างใหญ่จน ) ไม่มีที่สุด คือไม่มีกำหนดสุด

สัณฐานไม่กลม ชักวงรอบไปไม่ได้ ขนาดเท่ากะโล่หรือเท่าชามอ่าง๑

เธอทำนิมิตนั้นให้ขึ้นดี๒ กำหนดจดจำไว้อย่างดี ครั้นเธอทำนิมิตนั้น

ให้ขึ้นดี กำหนดจดจำไว้อย่างดีแล้ว จะเป็นผู้เห็นอานิสงส์ มีความ

สำคัญ ( ในปฐวีนิมิต ) ว่าเป็นดวงแก้วแล้วตั้งความยำเกรง ( ใน

นิมิตนั้นด้วยเห็นเป็นสำคัญไม่ปล่อยให้เสื่อมไปเสีย ) รัก ( นิมิตนั้น )

อยู่ ผูกจิตไว้มั่นในอารมณ์ ( คือนิมิตที่ขึ้นดี ) นั้น เธอสงัด

จากกามทั้งหลายทีเดียว ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่ " ดังนี้

พระโยคาวจรผู้ใดเคยบวชในพระศาสนาหรือว่าบวชเป็นฤษี ทำ

จตุกฌาน หรือ ปัญจกฌานในปฐวีกสิณให้เกิดมาแล้วแม้ในอดีตภพ

นิมิตในดินที่มิได้แต่ง ( ดังกล่าว ) ในคำอรรถกถาโบราณนั้น คือใน

๑. มหาฎีกาว่า ในคำของพระโบราณาจารย์นี้ท่านประสงค์ว่า สุปปะ กับสราวะนั้น ขนาด

เท่ากัน ทั้งสองอย่างนั้นไม่ใหญ่นัก พอเป็นฝาปิดตุ่มได้ (จาฏิปิธานปฺปโหนก) อาศัย

นัยนี้จึงแปล สุปปะ ว่า กะโล่ แปล สราวะ ว่า ชามอ่าง เพราะของสองอย่างนี้ขนาดไล่เลี่ยง

กันและเคยเห็นคนใช้ของสองอย่างนี้เป็นฝาปิดตุ่มจริง ๆ ด้วย

สุปปะ แปลว่ากระดังก็ได้ แต่ต้องเป็นกระด้งขนาดย่อม ซึ่งพอ ๆ กับกะโล่

เพราะถ้าเป็นกระด้งขนาดใหญ่ที่ใช้ฝัดข้าว อาจเหลือตาไป ส่วย สราวะ แปลว่า ขัน

ก็ได้ เห็นจะต้องหมายถึงขันโอ หรือขันสาครขนาดกลาง ๆ จะไม่เล็กถึงขันจอก เพราะ

มหาฎีกาท่านว่าอาจารย์ลางเหล่ากำหนดขนาด สราวะ ว่า ประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว ส่วน

สุปปะ โตกว่านั้น แถมลางอาจารย์ว่า ทำวงกสิณขนาดเท่าร่มก็ได้

๒. ตํ นิมิตฺตํ สุคฺคหิตํ กาโรติ มหาฎีกาท่านว่า ลืมตาดูจนถือเอานิมิตในดินนั้นได้แล้ว

หลับตานึกดูนิมิตนั้นปรากฏเหมือนในขณะลืมตาดูเมื่อใด เมื่อนั้น ชื่อว่า สุคฺคหิตํ กโรติ

ตามอธิบายนี้ ก็คือว่าทำให้เป็นอุคคหนิมิตนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 93

ที่ ( ดิน ) ที่เขาไถแล้วหรือในที่วงกลมแห่งลานนวดข้าว ย่อมเกิดขึ้น

ได้แก่พระโยคาวจรผู้มี ( ภาวนามัย ) บุญ ผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย

( แห่งภาวนา ) เห็นปานนั้น ดุจพระมัลลกเถระ

ได้ยินว่า เมื่อท่านองค์นั้น ( เพ่ง ) ดูที่ ( ดิน ) ที่เขาไถแล้ว

นิมิตขนาดเท่าที่ ( ที่ดูเห็น ) นั้นได้เกิดขึ้น ท่านขยายนิมิตนั้น

ยังปัญจกฌานให้เกิดแล้วเจริญวิปัสสนามีฌานเป็นปทัฏฐาน ได้บรรลุ

พระอรหัต

ส่วนพระโยคาวจรผู้ใดมิได้ทำบุญญาธิการไว้อย่างนั้น พระ-

โยควจรผู้นั้นอย่าพึงทำกรรมฐานวิธีที่เรียนมาในสำนักของอาจารย์ให้

ผิดไป เว้นกสิณโทษ ๔ ประการเสีย แต่ง ( วง ) กสิณขึ้นเถิด

ก็โทษแห่งปฐวีกสิณมี ๔ เนื่องด้วยความปนกันแห่งดินสีเขียว ดิน

สีเหลือง ดินสีแดง และดินสีขาว๑ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจร

อย่าถือเอาดิน ( เหนียว ) อันมีสี ( เป็นโทษ ) มีสีเขียวเป็นอาทิ

พึงแต่ง ( วง ) กสิณด้วยดิน ( เหนียว ) มีสี ( ผ่อง ) ดังสีอรุณ เช่นกับ

ดินในท้องคงคา๒ ก็แล ( วง ) กสิณนั้นไม่ควรแต่งในที่เป็นที่สัญจร

ไปมาแห่งอนุปสัมบันทั้งหลายมีสามเณรเป็นต้นในกลางวิหาร แต่ควร

แต่งในที่มิดชิดทางท้ายวิหาร เป็นเงื้อมเขา หรือบรรณศาลาก็ดี

๑. ตามนัยฎีกาดูเหมือนจะว่า ปนกันโดยนำดินต่างสีมาปะติดกันเข้ากลายเป็นดินหลายสี

ก็ดี ปนกันโดยนำดินต่างสีมาคลุกขยำเข้ากันกลายเป็นดินสีอะไรไปอีกก็ดี

๒. มหาฎีกาท่านว่า ท่านได้ทราบมาว่า ในสีหลทวีปมีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อ โรวนคงคา

ดินทางตลิ่งพังของแม่น้ำนั้นเป็นดินสี (ผ่อง) ดังสีอรุณ คำที่ว่านี้ หมายเอาดินใน

แม่น้ำนั้น (หาใช่แม่คงคาในชมพูทวีปไม่)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 94

ทำเป็นชนิดเคลื่อนที่ได้ก็ได้ เป็นชนิดตั้งอยู่กับที่ก็ได้

[วิธีแต่งวงกสิณชนิดเคลื่อนที่ได้]

ใน ( วง ) กสิณ ๒ ชนิดนั้น ชนิดเคลื่อนที่ได้ พึงผูกท่อนผ้า

เก่า หรือแผ่นหนัง หรือเสื่อลำแพนก็ได้ เข้าที่ไม้ ( สะดึง ) ๔ อัน

แล้ว เอาดินที่เก็บรากหญ้า ก้อนกรวด และทราย ( หยาบ ) ออก

แล้ว ขยำดีแล้วมาฉาบแต่งให้เป็นแผ่นกลมได้ขนาดดังกล่าวมาแล้ว

ลงในท่อนผ้าเก่าหรือแผ่นหนัง หรือเสื่อลำแพนที่ตรึงไว้นั้น ( วง )

กสิณชนิดเคลื่อนที่ได้นั้น เวลาจะบริกรรม พึงวางราบลงที่พื้นแล้ว

จึง ( เพ่ง ) ดู

[วิธีแต่งวงกสิณชนิดตั้งอยู่กับที่]

( วง ) กสิณชนิดตั้งอยู่กับที่ พึงตอกหลักเข้าหลายๆ อันลงที่

พื้นดินโดยอาการแห่งฝักบัว ( คือตอกให้ข้างล่างสอบข้างบนผาย

โดยรอบ สัญฐานดังฝักบัว ) แล้วตรึง ( หลักเหล่านั้นให้ติดกัน )

ด้วยเถาวัลย์ แต่ง ( เป็นโครง ) ขึ้น๑ ผิว่าดิน ( ในที่ ) นั้นไม่พอ พึง

ใช้ของอื่นรองข้างล่างแล้ว จึงแต่งกสิณให้มีสัณฐานกลม กว้าง

ประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว ด้วยดินสีอรุณที่ชำระดีแล้วลงข้างบน อันที่จริง

คำว่า " ขนาดเท่ากะโล่ หรือขนาดเท่าชามอ่าง " ( นั้น ) พระ-

โบราณจารย์กล่าวหมายเอาประมาณ ( ๑ คืบ ๔ นิ้ว ) นี้นั่นเอง

ส่วนคำว่า " เป็นดินมีที่สุด มิใช่ ( กว้างใหญ่จน ) ไม่มีที่สุด "

๑. การแต่งกสิณชนิดนี้เห็นจะต้องมีกัปปิยการกช่วยทำ เพราะมีการขุดดินและตัด

เถาวัลย์ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 95

เป็นต้น ท่านกล่าวไว้เพื่อตัดตอน ( ขนาด ) ปฐวีนิมิตนั้น เพราะ

เหตุนั้น พระโยคาวจรแต่งวงกสิณให้ได้กำหนดขนาด ดังกล่าวนั้นแล้ว

อย่าใช้เกรียงไม้เพราะมันทำให้เกิดสีที่แตกต่างกัน ( คือสีที่เป็นโทษ๑ )

พึงใช้เกรียงหินปาด ( ดิน ) ทำให้เรียบเช่นหน้ากลองแล้วกวาดสถานที่

นั้นเสีย ( ให้เตียน ) ไปอายน้ำแล้วจึงมานั่งที่ตั่งอันตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว

มีเท้าสูงประมาณคืบ ๔ นิ้ว ซึ่งจัดไว้ตรงจุดที่มีระยะ ๒ ศอกคืบแต่วง

กสิณ เพราะเมื่อนั่งไกลกว่านั้น กสิณจะไม่ชัด ใกล้กว่านั้น

กสิณโทษจะปรากฏ๒ อนึ่ง ผู้นั่งสูงไป จะต้องโน้มคอลงดู ( นานเข้า

คอจะปวด ) นั่งต่ำไป ( จะต้องคุกเข่าขึ้นดู นานเข้า ) เข่าจะปวด๓

เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงนั่งตามนัยที่กล่าวนั้นแล้ว พิจารณา

๑. ปาฐะในวิสุทธิมรรค พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่ใช้เป็นต้นฉบับแล ตรงนี้

เป็น รุกฺขปณฺณิกาย (วิสภาควณฺณํ สมุฏฺฐเปติ..) แต่ในมหาฎีกา (พิมพ์ครั้งแรก

๒๔๖๘ หน้า ๒๐๙) เบน รุกขปณฺณิกา (ปฐมาวิภัติ) เห็นว่าปาฐะในมหาฎีกาถูก

เพราะสมุฏฺฐาเปติ ต้องเป็นกิริยาของ รุกฺขปณฺณิกา ๆ เป็นเหตุกัตตา จึงแปลเอาความได้

อนึ่ง มหาฎีกาท่านว่า เกรียงไม้ที่ทำให้เกิดสีเป็นสีวิภาคแก่ดินสีอรุณนั้น เป็นแต่

ไม้ลางชนิด (ที่มียางมาก) เช่นไม้ที่ท่านเรียกว่า กุจันทนะ (แปลว่าไม้จันทน์อย่างเลว

กระมัง) ส่วนเกรียงทำด้วยไม้ปกติก็ใช้ได้เหมือนดังเกรียงหิน (คือไม่ทำให้ดินเกิดสี)

๒. กสิณโทษในที่นี้ ไม่ใช่อย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว มหาฎีกาท่านว่ารอยอะไรเล็ก ๆ

น้อย ๆ ซึ่งนั่งห่างพอสมควรย่อมมองไม่เห็น แต่ถ้านั่งใกล้เพ่งดูเขาจะเห็น เช่นรอย

ฝ่ามือ (ซึ่งอาจหลงตาเวลาแต่งเติมอยู่)

๓. ชนฺนกานิ รุชฺฌนฺติ (รุชฺชนฺติ ?) เมื่อนั่งสูงกว่าวงกสิณ ท่านบอกว่าจะต้องโน้มคอ

ลงดู ครั้นนั่งต่ำกว่า แทนที่ท่านจะบอกว่าต้องแหวนคอดู กลับบอกว่าเข่าจะปวด ถ้า

เช่นนั้นคงจะไม่ใช่แหวน เพราะถ้าแหวนก็ต้องปวดคอ เมื่อปวดเข่าจะต้องเป็นคุกเข่า

ขึ้นดู คุกเข่าอยู่นานเข้ามันก็ต้องปวดเข่าอยู่เอง ก็การนั่งเพ่งกสิณนั้น ท่านก็ให้นั่งตาม

แบบ คือนั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง เมื่อต้องมานั่งหย่งโย่หยกเช่นนั้น ก็เป็นนั่งผิดแบบ

ไม่น่าจะให้มีขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 96

เห็นโทษในกามทั้งหลาย โดยนัย ( พระบาลี ) ว่า กามทั้งหลายมี

คุณน่ายินดีน้อย ดังนี้เป็นอาทิ ( จน ) เกิดความพอใจในเอนขัมมะ๑

อันเป็นเครื่องสลัดกามออกไป เป็นอุบายก้าวล่วงสรรพทุกข์ ยัง

ปีติและปราโมชให้เกิด ด้วยระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

มีความเคารพเกิดขึ้นในข้อปฏิบัติ ด้วยคิดเห็นว่า " เอนขัมมปฏิทานี้

นั้นเป็นทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวก

ทั้งปวงปฏิบัติกันมาแล้ว ( จน ) บัดนี้ " ปลูกความอุตสาหะขึ้นด้วย

ความหวังว่า " เราจะต้องเป็นผู้มีส่วนแห่งรสของปวิเวกสุข ด้วยข้อ

ปฏิบัตินี้เป็นแน่แท้ " ดังนี้แล้วลืมตาดูโดยอาการพอดี ( เพ่งดู ) ถือ

เอานิมิตภาวนาไป เพราะผู้เหลือกตา ( ดู ) ตาจะเมื่อย และดวงจะ

ปรากฏเกิน ( จริง ) ไปด้วย โดยวิธีนั้น นิมิต ( แท้ )ก็จะไม่เกิด

ขึ้นแก่เธอ ผู้หรี่ตา ( ดู ) ดวงจะไม่ชัด ซ้ำจิตก็จะหดหู่ไปเสียด้วย

แม้โดยวิธีอย่างนี้ นิมิต ( แท้ ) ก็ไม่เกิด( เหมือนกัน ) เพราะ

เหตุนั้น ต้องลืมตาโดยอาการพอดี ( เพ่งดู ) ถือเอานิมิตภาวนา

ไป ดุจดูนิมิตแห่งหน้า ( ของตน )ที่หน้าแว่น ฉะนั้น ไม่ต้อง

พิจารณาสี ไม่ต้องใส่ใจถึงลักษณะ ( แห่งปฐวีนิมิตนั้น๒ ) แต่ว่า

จะทิ้งสีเสียก็ไม่ได้ พึงทำให้มันเป็นสิ่งเสมอกันกับที่อาศัย ( ของมัน

๑. เนกขัมมะ ในที่นี้ มหาฎีกาว่าได้แก่ฌาน

๒. มหาฎีกาว่า คนที่ดูเงาหน้าของตนในแว่นนั้นย่อมไม่เหลือกตา ไม่

หรี่ตา ไม่พิจารณาสีของแว่น ทั้งไม่ได้ใส่ใจถึงลักษณะของแว่นด้วย แต่ใช้ตามองดูพอดี

เห็นแต่เงาหน้าของตนเองเท่านั้น ฉันใด พระโยคาวจรนี้ก็ฉันนั้น เพ่งดูปฐวีกสิณด้วย

อาการพอดี ขวนขวายแต่ถือจะเอานิมิตเท่านั้น ไม่พะวงถึงสีและลักษณะ

คำว่าลักษณะท่านหมายเอาลักษณะของปฐวีธาตุ คือความแค่นแข็ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 97

คือนึกเสียว่า สีนั้นเป็นอันเดียวกับดินซึ่งเป็นที่อาศัยของมัน แยก

กันไม่ออก ) ตั้งจิตไว้ในบัญญัติธรรม ( คือโลกโวหาร ) มนสิการ

ไปโดยอุสทโวหาร ( คือ คำที่ขึ้นปาก พูดกันมาก ) บรรดาชื่อ

ของดินทั้งหลาย เช่น ปฐวี มหี เมทนี ภูมิ วสุธา วสุนฺธรา

พระโยคาวจรชอบชื่อใด ชื่อใดเป็นคำอนุกูลแก่สัญญา( คือช่วยให้

กำหนดจดจำง่าย ) สำหรับเธอ ก็พึงว่าชื่อนั้น ก็แต่ว่าชื่อคือ ปฐวี

นั่นแหละเด่น เพราะฉะนั้น พึงภาวนาว่า ปฐวี ปฐวี โดยเป็นชื่อ

เด่นอย่างเดียวเถิด พึงลืมตาดูพักหนึ่งแล้วหลับตานึกหน่วงดูพักหนึ่ง

( สลับกันไป ) อุคคหนิมิตยังไม่เกิดขึ้นเพียงใด พึงภาวนาโดยนัย

นั้นแลเพียงนั้น แม้ ๑๐๐ พัก ๑,๐๐๐ พัก แม้ยิ่งกว่านั้นก็ดี เมื่อเธอ

ภาวนาไปอย่างนั้น ในขณะใดหลับตานึกหน่วงดู นิมิตมาสู่คลอง

( แห่งมโนทวาริกชวนะ ) ดุจในเวลาลืมตา ในขณะนั้นชื่อว่าอุคคห-

นิมิตเกิดแล้ว ตั้งแต่เวลาที่อุคคหนิมิตนั้นเกิดแล้วไปไม่พึงนั่ง

ในที่นั้น พึงเขา้ ไปสู่ที่อยู่ของตนแล้วนั่งในที่อยู่ของตนนนั้ ภาวนา

( ต่อไป )๑

อนึ่ง เพื่อแก้ความชักช้าด้วยการที่ต้องล้างเท้า ต้องการรองเท้า

ชั้นเดียวคู่ ๑ และไม้เท้าอัน ๑ สำหรับเธอ เผื่อถ้าสมาธิที่ยังอ่อน

(นั้น) เสื่อมไปด้วยเหตุอันเป็นอสัปปายะอะไร ๆ ก็ดี เธอจะได้

๑. มหาฎีกาว่า ถ้าเมื่ออุคคหนิมิตเกิดแล้ว ยังดูวงกสิณ ภาวนาอยู่อีก ปฏิภาค-

นิมิตก็ไม่เกิด แล้วนั่งอยู่ใกล้เช่นนั้นก็อดดูไม่ได้ ท่านจึงแนะให้ย้ายที่เสีย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 98

สวมรองเท้าถือไม้เท้า๑ไปที่ ( ที่วงกสิณตั้งอยู่ ) นั้น ถือเอานิมิต๒

( ได้แล้วกลับ ) มานั่งตามสบาย ภาวนา ( สืบไป ) พึงนึกเหนี่ยว

( นิมิต ) แล้วๆ เล่าๆ ทำให้เป็นตักกาหตะ ( นึกมาได้ ) วิตตักกาหตะ

( นึกมาให้เป็นต่างๆ ได้ )๓ เมื่อเธอทำอยู่อย่างนั้นนิวรณ์ทั้งหลาย

จะราบลง กิเลสทั้งหลายจะระงับลงได้โดยลำดับ จิตจะตั้งมั่นด้วย

อุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิตจะเกิดขึ้น

[ความต่างกันแห่งอุคคหนิมิตกับปฏิภาคนิมิต]

( ต่อไป ) นี้ เป็นความต่างแห่งอุคคหนิมิตที่กล่าวมาก่อน

และปฏิภาคนิมิตนี้ ในคำที่กล่าวมานั้น

ในอุคคหนิมิต กสิณโทษยังปรากฏอยู่ ๔ ( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิต

เป็นราวกะว่าทำลายอุคคหนิมิตออกมาปรากฏเป็นนิมิตที่บริสุทธิ์ดีกว่า

อุคคหนิมิตนั้น ๑๐๐ เท่า ๑,๐๐๐ เท่า ดุจแผ่นแว่นที่นำออกจากถุง ๕ ดุจ

๑. มหาฎีกาว่า ให้ใช้รองเท้าชั้นเดียว เพื่อไม่ให้มีเสียงเมื่อเดิน ให้ใช้ไม้เท้าด้วยเพื่อ

ป้องกันอันตราย (อันตรายอะไรป้องกันด้วยไม้เท้า สุนัขกระมัง ?)

๒. น่าจะเข้าใจว่า ย้ายที่มาแล้ว อุคคหนิมิตอาจเสื่อมไปเสีย จึงกลับไปเพ่งใหม่ จน

อุคคหนิมิตเกิดอีกแล้วจึงกลับ เมื่อกลับมาถึงที่ ควรจะได้เข้าที่นั่งเจริญนิมิตต่อไปโดย

เร็ว ท่านจึงแนะนำให้สวมรองเท้าเดินไปมา จะได้ไม่ต้องเสียเวลาล้างเท้า

๓. มหาฎีกาท่านอธิบายลึกไป ไม่เข้าใจของท่าน จึงขอคิดเอาใหม่ว่า ตักกาหตะ นั้น

คือ นิมิตที่ติดตาอย่างสนิท หลับตานึกดูเป็นมาทันที ก็หมายถึงอุคคหนิมิตนั่นเอง ส่วน

วิตักกาหตะ วิเศษขึ้นไปอีก คือนึกให้นิมิตแปลกไปจากเดิม เช่นขยายใหญ่ขึ้น

หรือย่อให้เล็กลงโดยไม่ผิดส่วนได้ก็คือว่าเกิดปฏิภาคนิมิตนั่นเอง

๔. กสิณโทษ ก็หมายความอย่างที่เคยว่ามาแล้ว คือ รอยอะไรต่างๆ เช่น รอยนิ้ว รอย

ฝ่ามือ

๕. เห็นจะหมายความว่า แว่นเขาขัดดีแล้วเก็บไว้ในถุง เมื่อจะใช้ นำออกจากถุงใหม่ๆ

ใสสะอาดยิ่งนัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 99

เปลือกสังข์ที่ขัดอย่างดีแล้ว ดุจดวงจันทร์ออกจากกลุ่มพลาหก ดุจ

ฝูงนกยาง ( ขาว บินอยู่ ) หน้าเมฆ ( ดำ ) แต่ว่านิมิตนั้นหาได้เป็นสิ่ง

ที่มีสีสัณฐานไม่ เพราะถ้ามันเป็น ( สิ่งมีสีสัณฐาน ) เช่นนั้นไซร้

มันก็จะพึงเป็นสิ่งที่รู้ได้ทางจักษุ เป็นของหยาบ ลูบคลำได้ เข้า

ลักษณะ ๓ ได้๑ แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น แท้จริงมันเป็นสิ่งที่เกิดแต่

สัญญา ( ในภาวนา ) เพียงเป็นอาการที่ปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิเท่านั้น

เองแหละ ก็แลตั้งแต่เวลาที่ปฏิภาคนิมิตนั้นเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์

ทั้งหลายก็เป็นอันถูกข่มราบไป กิเลสทั้งหลายก็ระงับเรียบไป จิต

เป็นอันตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิแท้แล

[สมาธิ ๒ ต่างกัน]

ก็สมาธิมี ๒ คือ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ จิตเป็น

สมาธิด้วยอาการ ๒ ในอุปจารภูมิอย่าง ๑ ในปฏิลาภภูมิอย่าง ๑ ใน

๒ ภูมินั้น ในอุปจารภูมิ จิตเป็นสมาธิด้วยการละนิวรณ์ เป็นปฏิลาภ-

ภูมิ จิตเป็นสมาธิด้วยความปรากฏแห่งองค์ ( ฌาน ) ส่วนข้อที่ทำ

ให้ต่างกันแห่งสมาธิ ๒ อย่าง ( นั้น ) ดังนี้ ในอุปจาร องค์ทั้งหลาย

ยังไม่เกิดกำลัง เพราะความที่องค์ทั้งหลายยังไม่เกิดกำลัง ( แม้ )

เมื่ออุปจารสมาธิเกิดขึ้นแล้ว จิตจึงถือเอานิมิตเป็นอารมณ์ได้พักหนึ่ง

ก็ตกสู่ภวังค์เสียพักหนึ่งๆ ( ยังขึ้นๆ ตกๆ ) เปรียบเหมือนเด็กอ่อน

เขาพยุงขึ้นยืน ( ตั้งไข่ ) ก็ล้มร่ำไป ฉะนั้น ส่วนในอัปปนา องค์

๑. ติลกฺขณพฺภาหตํ มหาฎีกาไม่แน่ใจ แก้ไว้ ๒ นัย คือหมายถึงสังเขตลักษณะ ๓

หรือสามัญลักษณะ ๓ ก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 100

ทั้งหลายเกิดมีกำลังแล้ว เพราะความที่องค์ทั้งหลายเกิดมีกำลังแล้ว

เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว จิตตัดภวังค์วาระเดียวแล้วย่อมตั้งอยู่

คือเป็นไปตามทางกุศลชวนะโดยลำดับตลอดทั้งคืนทั้งวันทีเดียว เปรียบ

เหมือนบุรุษผู้มีกำลังลุกขึ้นจากที่นั่งแล้ว พึงยืนอยู่ทั้งวันก็ได้ฉะนั้นแล

ในสมาธิ ๒ อย่างนั้น อันการทำปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับ

อุปจารสมาธินั้นให้เกิดขึ้นได้เป็นการยากยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าพระ

โยคาวจรอาจทำนิมิตนั้นให้เจริญ ( จน ) บรรลุอัปปนา โดยบัลลังก์

เดียวนั้นได้ไซร้ นั่นเป็นการดีถ้าไม่อาจไซร้ ดังนั้นเธอพึงเป็นผู้

ไม่ประมาทรักษานิมิตนั้นไว้ ดังนางแก้วรักษาครรภ์อันเกิดแต่พระเจ้า

จักรพรรดิฉะนั้นเถิด ด้วยเมื่อรักษานิมิตไว้ได้อย่างนี้ ความเสื่อม

แห่งฌานที่ได้แล้วย่อมไม่มี ( แต่ ) เมื่อการรักษาไม่มี ฌานที่ได้ๆ

แล้วก็ย่อมเสื่อมไป

[วิธีรักษานิมิต]

นี้เป็นวิธีรักษา ในการรักษานิมิตนั้น ( คือ )

พระโยคาวจรพึงเว้น ๗ สิ่ง คืออาวาส ( ที่อยู่ )

โคจรคาม การพูดคุย บุคคล โภชนะ ฤดู

อิริยาบถ เหล่านี้ที่เป็นอสัปปายะเสีย พึงเสพ

๗ สิ่ง ( นั้น ) ที่เป็นสัปปายะเถิด ด้วยเมื่อ

พระโยคาวจรใดๆ ก็ดี ปฏิบัติได้อย่างนั้น

อัปปนาย่อมจะ ( เกิด ) มีโดยกาลไม่นานเลย

แล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 101

[อาวาส]

พึงทราบวินิจฉัยในบทมาติกาเหล่านั้น ดังนี้ เมื่อพระโยคาวจร

นั้นอยู่ในอาวาสใด นิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้นก็ดีที่เกิดแล้วเสื่อม

หายไปเสียก็ดี สติที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่นด้วย จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิ

ก็ไม่เป็นสมาธิด้วย อาวาสนี้นับเป็นอสัปปายะ เมื่อเธออยู่ในอาวาส

ใด นิมิตเกิดและถาวรด้วย สติก็ตั้งมั่น จิตก็เป็นสมาธิ ดุจพระ

ปธานิยติสสเถระผู้อยู่ ณ นาคบรรพต อาวาสนี้นับเป็นสัปปายะ เพราะ

เหตุนั้น ในวิหารใด อาวาส ( ที่อยู่ ) มีหลายแห่งพระโยคาวจร

พึง ( ลอง ) อยู่ในอาวาสเหล่านั้นแห่งละ ๓ วัน จิตของเธอเป็น

เอกัคคะ ( ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว )ในอาวาสแห่งใด ก็อยู่ในอาวาสแห่งนั้น

เพราะความที่มีอาวาสเป็นสัปปายะแท้ๆ ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้อยู่ในถ้ำ

จูฬนาคในตัมพปัณณิทวีป ถือเอากรรมฐาน ( บำเพ็ญอยู่ ) ใน

ถ้ำจูฬนาคนั้นแหละได้บรรลุพระอรหัต ( ทั้งหมด ) ส่วนพระอริย-

บุคคลเบื้องต่ำมีพระโสดาบันเป็นอาทิ และท่านผู้ได้อริยภูมิในที่อื่น

แล้ว ( มา ) บรรลุพระอรหัตในถ้ำจูฬนาคนั้นคณนามิได้ แม้ใน

อาวาสสัปปายะแห่งอื่นๆ เช่นจิตตลบรรพตวิหาร ก็เช่นกัน

[โคจรคาม]

ส่วนโคจรคาม พึงทราบดังนี้ โคจรคามใดมีอยู่ในที่ไม่ไกลนัก

ไม่ใกล้นักในระยะประมาณโกสะกึ่ง* แต่เสนาสนะทางทิศเหนือ หรือ

* มหาฎีกาว่า ประมาณ ๑,000 ชั่วธนู

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 102

ทางทิศใต้๑ เป็นที่มีภิกขาสมบูรณ์หาง่าย โคจรคามนั้นนับเป็นสัปปายะ

ตรงกันข้ามนับเป็นอสัปปายะ

[การพูดคุย]

บทว่า การพูดคุย มีความว่า ถ้อยคำที่นับเนื่องในติรัจฉานกถา

๓๒ จัดเป็นอัสปปายะ เพราะมันเป็นไปเพื่อความอันตรธานแห่งนิมิต

ของเธอ ถ้อยคำที่อิงกถาวัตถุ ๑๐ จัดเป็นสัปปายะ แม้ถ้อยคำอิงกถา-

วัตถุนั้นเล่า ก็พึงพูดแต่พอประมาณ

[บุคคล]

แม้บุคคลที่เป็นผู้ไม่พูดติรัจฉานกถา ถึงพร้อมด้วยสีลาทิคุณ

ซึ่งพระโยคาวจรได้อาศัยแล้ว เป็นเหตุให้จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิย่อม

จะเป็นสมาธิบ้าง จิตที่เป็นสมาธิแล้วจะตั้งมั่นยิ่งขึ้นบ้าง เช่นนี้เป็น

สัปปายะ ส่วนบุคคลผู้มากไปด้วยการทำกายให้มั่นคง๒ มักพูดติรัจฉาน-

กถา เป็นอสัปปายะ เพราะว่าเขามีแต่จะทำให้เธอเศร้าหมอง ดุจน้ำ

โคลนทำน้ำใสให้ขุ่นไปฉะนั้นและเพราะอาศัยบุคคลเช่นนั้น สมาบัติ

ย่อมเสื่อม ดุจสมาบัติของภิกษุหนุ่มผู้อยู่ ณ โกฏิบรรพต ( วิหาร ) เสื่อม

เพราะอาศัยบุคคลเช่นนั้น ฉะนั้น จะกล่าวอะไรถึงนิมิตเล่า

๑. มหาฎีกาให้อรรถาธิบายว่า ที่ท่านแนะนำให้เลือกโคจรคามที่อยู่ทางทิศเหนือหรือทิศเหนือหรือทิศ

ใต้ แห่งที่อยู่ของตนนั้น ก็เพื่อไม่ต้องหันหน้าสู้ตะวันในเวลาเดินไปมา

๒. มหาฎีกาว่า คือแทนที่จะมุ่งทำความตั้งมั่นทางจิต กลับไปสนใจทำความมั่นคง

ทางกาย ซึ่งมหาฎีกาให้อรรถาธิบายว่า ขวนขวายแต่ปรนปรือร่างกาย ดังบาลีที่หมายเอา

ข้อนี้กล่าวไว้ว่า บริโภคจนเต็มท้องตามที่ต้องการแล้วประกอบความสุขในการนอนอยู่

เป็นประจำ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 103

[โภชนะ และ ฤดู]

ส่วนโภชนะ สำหรับลางคนรสหวาน ลางคนก็รสเปรี้ยว เป็น

สัปปายะ แม้ฤดู ลางคนก็หนาว ลางคนก็ร้อน เป็นสัปปายะ

เพราะฉะนั้น เมื่อพระโยคาวจรเสพโภชนะใดก็ดี ฤดูใดก็ดี ความผาสุก

ย่อมเกิดมี ( จิตของเธอ ) ที่ยังไม่เป็นสมาธิย่อมเป็นสมาธิ หรือว่า

จิตที่เป็นสมาธิแล้วย่อมตั้งมั่นยิ่งขึ้นก็ดี โภชนะนั้นและฤดูนั้นนับเป็น

สัปปายะ โภชนะนอกนี้และฤดูนอกนี้นับเป็นอสัปปายะ

[อิริยาบถ]

ในอิริยาบถทั้งหลายเล่า ลางคน จงกรม เป็นสัปปายะ ลาง

คนก็นอน ยืน นั่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสัปปายะ* เพราะฉะนั้น

พึงลองดู ( สัก ) ๓ วัน ดุจลองดูอาวาส ( ที่กล่าวแล้ว ) นั้น ใน

อิริยาบถใด จิต ( ของพระโยคาวจร ) ที่ยังไม่เป็นสมาธิเป็นสมาธิ

ขึ้นก็ดี จิตที่เป็นสมาธิแล้วยิ่งตั้งมั่นขึ้นก็ดี อิริยาบถนั้นนับเป็นสัปปายะ

อิริยาบถนอกนี้( ที่จิตไม่เป็นสมาธิ ) นับเป็นอสัปปายะ

พระโยคาวจรพึงเว้น ๗ สิ่งนี้ที่เป็นอสัปปายะ แล้วเสพ ( ๗ สิ่ง

นั้น ) ที่เป็นสัปปายะ ดังนี้เถิด ด้วยเมื่อปฏิบัติไปอย่างนี้มีการส้อง

เสพในนิมิตมากเข้า อัปปนาจะเกิดมีได้สำหรับลางคนโดยกาลไม่นาน

เลย แต่เมื่อผู้ใดแม้ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น อัปปนาก็หาเป็นไม่ ผู้นั้น

* สยนฏฺฐานนิสชฺชานํ อญฺญตโร อย่างไรท่านจึงอิริยาบถนอนด้วย หรือว่า นอน

เพ่งกสิณก็ได้ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 104

พึงทำอัปปนาโกศล ๑๐ ประการให้ถึงพร้อม ( ต่อไป ) เถิด*

[มาติกาแห่งอัปปนาโกศล]

นี้เป็นนัยในอัปปนาโกศลนั้น พระโยคาวจรพึงปรารถนาอัปปนา-

โกศล โดยอาการ ๑๐ คือ

(๑) โดยทำวัตถุให้สละสลวย

(๒) โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน

(๓) โดยฉลาดในนิมิต

(๔) โดย ยกจิตในสมัยที่ควรยก

(๕) โดย ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

(๖)โดย ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง

(๗) โดย เพ่งดูจิตอยู่เฉยๆ ในสมัยที่ควรจะเพ่งดูจิตอยู่

เฉยๆ

(๘) โดยหลีกบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิเสีย

(๙) โดยเสพแต่บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ

(๑๐) โดยน้อมจิตไปในสมาธินั้น

ดังนี้แล

[ขยายความมาติกาแห่งอัปปนาโกศล]

(๑) การทำวัตถุให้สละสลวย

ในอาการ ๑๐ นั้น การทำภาวะคือความสดใสแห่งวัตถุทั้งหลาย

ทั้งภายในและภายนอก ชื่อว่า ทำวัตถุให้สละสลวยก็เมื่อใดผม

* อปฺปนาโกสลฺลํ มหาฎีกาให้แปลว่า วิธีทำให้ฉลาดในอัปปนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 105

เล็บ ขน (จมูก?) ของพระโยคาวจรนั้นยาวหรือว่าร่างกายมี

เหงื่อไคลจับก็ดี เมื่อนั้น ชื่อว่า วัตถุภายในไม่สดใส คือไม่หมด

จด ส่วนว่าเมื่อใดจีวรของเธอคร่ำคร่า เปื้อนเปรอะ เหม็นสาบ

หรือว่าเสนาสนะรกเรื้อก็ดี เมื่อนั้นชื่อว่าวัตถุภายนอกไม่สดใส คือ

ไม่สะอาด ก็แลเมื่อวัตถุภายในและภายนอกไม่สดใส แม้ญาณใน

จิตเจตสิกทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็พลอยไม่หมดจดไปด้วย ดุจแสงของ

เปลวประทีปที่อาศัยโคม ไส้ และน้ำมันอันไม่สะอาดเกิดขึ้น ก็ไม่

สดใสด้วยฉะนั้น และเมื่อพระโยคาวจรพิจารณาสังขารด้วยญาณ

อันไม่หมดจดเล่า สังขารทั้งหลายก็จะไม่ปรากฏชัด แม้นประกอบ

กรรมฐานไป กรรมฐานก็ไม่ถึงความงอกงามไพบูลย์ด้วย แต่

เมื่อวัตถุภายในและภายนอกสดใส แม้ญาณในเจตสิกทั้งหลายที่

เกิดขึ้นก็พลอยหมดจดไปด้วย ดุจแสงของเปลวประทีปที่อาศัยโคม ไส้

และน้ำมันสะอาดเกิดขึ้น ก็สดใสไปด้วยฉะนั้น และเมื่อพระ

โยคาวจรพิจารณาสังขารด้วยญาณอันหมดจดเล่า สังขารทั้งหลายก็

จะปรากฏชัด แม้ประกอบกรรมฐานไป กรรมฐานก็จะถึงความ

เจริญงอกงามไพบูลย์ด้วย

(๒) การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน

การทำความเสมอภาคกันแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น ชื่อ

ว่า การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน เพราะว่าถ้าสัทธินทรีย์ของเธอกล้า

อินทรีย์นอกนั้นอ่อนไซร้ ทีนั้น วิริยินทรีย์ ก็ไม่อาจจะทำปัคคหกิจ

( กิจคือการยกจิตไว้ ) สตินทรีย์ ไม่อาจทำอุปัฏฐานกิจ ( กิจคือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 106

การดูแลจิต ) สมาธินทรีย์ ไม่อาจทำอวิกเขปกิจ ( กิจคือทำจิตไม่

ให้ซัดส่าย ) ปัญญินทรีย์ ไม่อาจทำทัสสนกิจ ( กิจคือการเห็นตาม

ความเป็นจริง )๑ เพราะเหตุนั้น สัทธินทรีย์อันกล้านั้น พระโยคาวจรต้อง

ทำให้ลดลงเสียด้วยพิจารณาสภาวะแห่งธรรม๒ หรือด้วยไม่ทำในใจ

อย่างที่เมื่อทำเข้า สัทธินทรีย์เกิดมีกำลังขึ้นเสียได้ จริงอยู่ เรื่อง

พระวักกลิเถระย่อมเป็นตัวอย่างในข้อนี้ได้ แต่ถ้าวิริยินทรีย์กล้าไซร้

ทีนี้สัทธินทรีย์ก็ไม่อาจทำกิจอธิโมกขกิจ ( กิจคือการน้อมใจเชื่อ )

อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่อาจทำกิจนอกนั้นแต่ละข้อ เพราะฉะนั้น วิริยินทรีย์

อันกล้านั้น พระโยคาวจรจำต้องทำให้ลดลงด้วยเจริญสัมโพชฌงค์มี

ปัสสัทธิเป็นต้น๓ ความที่เมื่อความกล้าแห่งอินทรีย์อันหนึ่งมีอยู่ อินทรีย์

นอกนั้นไม่สามารถในกิจของตนๆ ได้ ( นั้น ) บัณฑิตพึงทราบ

แม้ในอินทรีย์ที่เหลือ ( คือ สติ สมาธิ ปัญญา ) โดยนัยที่กล่าว

แล้วนั้นเทอญ

[ทำอินทรีย์ ๒ คู่ให้เสมอกัน]

แต่ ( เมื่อจะว่า ) โดยพิเศษ (ไม่ทั่วไป) ในอินทรีย์ ๕ นั้น

๑. มหาฎีกาเติมความตรงนี้ว่า ทั้งนี้เพราะสัทธินทรีย์อันกล้าครอบงำเสียหมด

๒. ธมฺมสภาวปจฺจเวกฺขเณน เข้าใจความได้ยาก อ่านมหาฎีกาแล้วก็ไม่ประจักษ์นัก

ดูเหมือนจะว่าดังนี้ การที่ให้พิจารณาสภาวะคือความเป็นจริงแห่งธรรม (สัทไธยวัตถุ ?)

นั้นก็คือให้ใช้ปัญญานั่นเอง อันสัทธากับปัญญาเป็นธุริยธรรม คือเป็นธรรมคู่ดุจพาหนะ

คู่แอก เพราะฉะนั้น เมื่อใช้ปัญญาขึ้น สัทธาอันกล้าย่อมจะลดลง คือไม่เชื่อไปท่าเดียว

รู้จักความจริงอันมีอยู่อย่างไรในสัทไธยวัตถุนั้นแล้วเชื่อตามเหตุผล

๓. มหาฎีกาว่า ด้วยคำว่า "เป็นต้น" นี้ พึงเห็นว่าท่านสงเคราะห์เอาสมาธิและอุเบกขา-

สัมโพชฌงค์ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 107

บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความเสมอกันแห่งสัทธากับปัญญาและ

สมาธิกับวิริยะ เพราะว่าบุคคลผู้มีสัทธาแก่กล้าแต่ปัญญาอ่อน

ย่อมเป็นผู้เลื่อมใสในที่อันไม่เป็นวัตถุ ( แห่งความเลื่อมใส ) บุคคล

ผู้มีปัญญากล้าแต่สัทธาอ่อน ย่อมตกไปข้างอวดดี เป็นคนแก้ไขไม่ได้

เหมือนโรคที่เกิดแต่ยา รักษาไม่ได้ ฉะนั้น ต่อธรรมทั้ง ๒ เสมอกัน

บุคคลจึงจะเลื่อมใสในวัตถุ ( แห่งความเลื่อมใส ) แท้ โกสัชชะย่อม

ครอบงำบุคคลผู้มีสมาธิกล้าแต่วิริยะอ่อน เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่าย

โกสัชชะ อุทธัจจะย่อมครอบงำบุคคลผู้มีวิริยะกล้าแต่สมาธิอ่อน

เพราะวิริยะเป็นฝักฝ่ายอุทธัจจะ แต่สมาธิที่มีวิริยะประกอบเข้าด้วยกัน

แล้ว เป็นไม่ตกไปในโกสัชชะ วิริยะที่มีสมาธิประกอบพร้อมกัน

แล้วเป็นไม่ตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้นอินทรีย์ทั้ง ๒ คู่นั้น พระ

โยคาวจรต้องทำให้เสมอกัน ด้วยว่าอัปปนาจะมีได้ก็เพราะความเสมอ

กันแห่งอินทรีย์ทั้ง ๒ คู่

[อินทรีย์มีกำลังแต่ละข้อควรแก่กัมมิกะต่างกัน]

อีกนัยหนึ่ง สัทธาแม้มีกำลังก็ควรสำหรับสมาธิกัมมิกะ ( ผู้

บำเพ็ญสมถกรรมฐาน ) ( ด้วย ) เมื่อสัทธามีกำลังอย่างนั้น เธอ

เชื่อดิ่งลงไป จักบรรลุอัปปนาได้ ในสมาธิและปัญญาเล่า เอกัคคตา

( สมาธิ ) มีกำลัง ก็ควรสำหรับสมาธิกัมมิกะ ด้วยเมื่อเอกัคคตามี

กำลังอย่างนั้น เธอย่อมจะบรรลุอัปปนาได้ ปัญญามีกำลังย่อมควร

สำหรับวิปัสสนากัมมิกะ ( ผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ) ด้วยเมื่อ

ปัญญามีกำลังอย่างนั้น เธอย่อมจะบรรลุลักขณปฏิเวธ ( เห็นแจ้ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 108

ไตรลักษณ์ได้ ) แต่แม้เพราะสมาธิและปัญญาทั้ง ๒ เสมอกัน

อัปปนาก็คงมีได้

[สติเป็นสพฺพตฺถิกา]

ส่วนสติ มีกำลังในที่ทั้งปวงย่อมควร เพราะสติรักษาจิตไว้แต่

ความตกไปในอุทธัจจะ เพราะอำนาจแห่งสัทธาวิริยะ และปัญญา

อันเป็นฝักฝ่ายอุทธัจจะ และรักษาจิตไว้แต่ความตกไปในโกสัชชะ

เพราะสมาธิอันเป็นฝักฝ่ายโกสัชชะเพราะเหตุนั้น สตินั้นจึงจำ

ปรารถนาในที่ทั้งปวง ดุจเกลือสะตุเป็นสิ่งพึงปรารถนาในกับข้าว

ทั้งปวง และดุจสรรพากรรมิกอำมาตย์ ( ผู้รอบรู้ในการงานทั้งปวง )

เป็นผู้พึงปรารถนาในสรรพราชกิจ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระอรรถ-

กถาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า " ก็แลสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็น

คุณชาติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะเหตุไร เพราะจิตมีสติเป็นที่

อาศัยไป และสติมีการรักษาเอาไว้ได้เป็นเครื่องปรากฏ การยกและ

ข่มจิต เว้นสติเสีย หามีได้ไม่ "

(๓) ความฉลาดในนิมิต

ความฉลาดในการทำนิมิตแห่งจิตเตกัคคตามีปฐวีกสิณเป็นต้น

ที่ยังมิได้ทำ ความฉลาดในอันยังนิมิตที่ทำแล้วให้เจริญ และความ

ฉลาดในการักษานิมิตที่ได้แล้ว ด้วยภาวนา ชื่อว่าความฉลาดใน

นิมิต ในที่นี้ท่านประสงค์เอาความฉลาดในการักษานั้น ( แล* )

(๔) ยกจิตในสมัยที่ควรยก

ถามว่า ก็พระโยคาวจรยกจิตในสมัยที่ควรยก อย่างไร ?

* มหาฎีกาเสริมความว่า เพราะความฉลาดในการเจริญสำเร็จไปก่อนแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 109

วิสัชนา ในกาลใด จิตของเธอหดหู่เพราะเหตุมีความเพียรย่อ

หย่อนนักเป็นต้น ในกาลนั้นอย่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ มีปัสสัทธิ

สัมโพชฌงค์เป็นอาทิแล้วเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

เป็นต้น จริงอยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า " ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย ต่างว่าบุรุษใคร่จะก่อไฟ ( ซึ่งติดอยู่ ) น้อยหนึ่งให้โพลง

ขึ้น ( หาก )เขาใส่หญ้าสดๆ ลงไป ใส่มูลโคสดๆ ลงไป ใส่

ฟืนสดๆ ลงไป ให้ลมเจือน้ำเข้าไป และเอาฝุ่นโปรยลงไปที่ไฟนั้น

ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นจะอาจก่อไฟน้อยหนึ่ง ( นั้น ) ให้โพลงขึ้นได้

หรือหนอ "ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า " ข้อนั้นหามิได้ พระพุทธ-

เจ้าข้า " ตรัสต่อไปว่า " ฉันนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลายในสมัย

ใดจิตหดหู่อยู่ ในสมัยนั้น ( กาลนั้น )มิใช่กาลที่จะเจริญปัสสัทธิ-

สัมโพชฌงค์ มิใช่กาลที่จะเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลที่จะ

เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ นั่นเพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย ( เพราะ )

จิตหดหู่อยู่ จิตหดหู่นั้นยากที่จะทำให้ฟื้นขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย ก็แลในสมัยใดจิตหดหู่อยู่ในสมัยนั้น ( กาลนั้น )

เป็นกาลที่จะเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลที่จะเจริญวิริย-

สัมโพชฌงค์เป็นกาลที่จะเจริญปีติสัมโพชฌงค์ นั่นเพราะเหตุอะไร

ภิกษุทั้งหลาย ( เพราะ ) จิตหดหู่อยู่ จิตหดหู่นั้นพระโยคาวจร

พึงทำให้ฟื้นขึ้นได้โดยง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือน บุรุษ

ใคร่จะก่อไฟน้อยหนึ่งให้โพลงขึ้น เขาพึ่งใส่หญ้าแห้งๆ ลงไป ใส่

มูลโคแห้ง ๆ ลงไป ใส่ฟืนแห้ง ๆ ลงไป เป่าเข้าไป และไม่เอา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 110

ฝุ่นโปรยลงไปที่ไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นจะอาจก่อไฟน้อย

หนึ่ง ( นั้น ) ให้โพลงขึ้นได้หรือไม่ "ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

" ได้ พระพุทธเจ้าข้า " ดังนี้๑

[อาหารแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์]

ก็ในอธิการนี้ พึงทราบการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ มีธัมมวิจย-

สัมโพชฌงค์เป็นต้นโดยเนื่องด้วยธรรมอันเป็นอาหารของโพชฌงค์นั้นๆ จริง

อยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า " มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย

ธรรมทั้งหลายที่หยาบและประณีต ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบ

ด้วยดำและขาว การทำโยนิโสมนสิการให้มากในธรรมเหล่านี้

เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดบ้าง

เพื่อภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้ว

บ้าง " ดังนี้๒

[อาหารแห่งวิริยสัมโพชฌงค์]

นัยเดียวกัน ตรัสว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ อารัมภธาตุ

( ธาตุคือความคิดริเริ่ม ) นิกกมธาตุ ( ธาตุคือความลงมือทำ )

ปรักกมธาตุ ( ธาตุคือความบากบั่นไม่ท้อถอย ) การทำโยนิโสนมนสิการ

ให้มากในธาตุเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัม

โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งวิริย-

สัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้วบ้าง " ดังนี้

๑. สํ มหาวาร ๑๙/๑๓๐ )

๒. สํ มหาวาร ๑๙/๘๓ )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 111

[อาหารแห่งปีติสัมโพชฌงค์]

นัยเดียวกัน ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ ธรรม

ทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำโยนิโสมนสิการให้

มากในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพช-

ฌงค์ที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งปีติสัม-

โพชฌงค์ที่เกิดแล้วบ้าง ดังนี้

[แก้อรรถปาฐะบางบท]

มนสิการอันเป็นไปโดยแทงตลอดซึ่งสภาวลักษณะและสามัญ-

ลักษณะ ชื่อว่าโยนิโสนมนสิการในธรรมทั้งหลายมีธรรมเป็นกุศลเป็น

ต้น ในพระบาลีนั้น มนสิการอันเป็นไปโดยยังธาตุทั้งหลาย มี

อารัมภธาตุ เป็นอาทิให้เกิดขึ้น ชื่อว่า โยนิโสมนสิการในอารัมภธาตุ

เป็นต้น ในธาตุทั้ง ๓ นั้น ความเพียรเริ่มแรกเรียกว่า อารัมภธาตุ

ความเพียรอันมีกำลังยิ่งกว่านั้น ( ขึ้นไป ) เพราะออกจากโกสัชชะได้

เรียกว่า นิกกมธาตุ ความเพียรมีกำลังยิ่งกว่านิกกมธาตุนั้น ( ขึ้นไป )

อีก เพราะก้าวย่างสู่ฐานะยิ่งๆ ต่อไป เรียกว่า ปรักกมธาตุ ก็

คำว่า " ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ " นั้น เป็น

ชื่อแห่งปีตินั่นเอง มนสิการที่ยังปีติแม้นั้นให้เกิดขึ้นนั่นแล ชื่อว่า

โยนิโสมนสิการ

[ทางเกิดแห่งธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ อักนัยหนึ่ง]

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการเป็นทางเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจย-

สัมโพชฌงค์ คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 112

ปริปุจฺฉกตา ความเป็นผู้ไต่ถาม

วตฺถุวิสทกิริยตา ความทำวัตถุให้สละสลวย

อินฺทริยสมตฺตปฏิปาทนา การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน

ทุปฺปญฺญปุคฺคลปริวชฺชนา การหลีกเว้นบุคคลปัญญาทราม

ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนา การคบหาบุคคลมีปัญญา

คมฺภีรญาณจริยปจฺจเวกฺขณา การพิจารณาสอดส่องด้วยปัญญา

อันลึก*

ตทธิมุตฺตตา ความน้อมจิตไปในธัมมวิจยะนั้น

ธรรม ๑๑ ประการเป็นทางเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ

อปายาทิภยปจฺจเวกฺขณตา ความพิจารณาเห็นภัยมีอบาย

เป็นต้น

วิริยายตฺต ... วิเสสาธิคมานิสํส ความเป็นผู้มีปกติเห็นอานิสงส์ คือ

ทสฺสิตา การได้บรรลุคุณวิเศษที่เป็นโลกิยะ

และโลกุตตระอันเนื่องด้วยวิริยะ

... คมนวีถิปจฺจเวกฺขณตา ความพิจารณาเห็นวิถีทางดำเนิน

โดยนัยดังนี้ว่า " มรรคาที่พระ-

พุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ

พระมหาสาวกทั้งหลายดำเนินไป

แล้ว เราต้องดำเนิน ( ตาม ) ก็

* แปลโดยนัยมหาฎีกา ซึ่งแก้ไว้ว่า คมฺภีรญาเณหิ จริตพฺพานํ ฯ เป ฯ สุตฺตนุตารนํ

ปจฺจเวกขณา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 113

แต่ว่ามรรคานั้นคนเกียจคร้านหา

อาจไปได้ไม่ "

... ปิณฺฑาปจายนตา ความยำเกรงในการเที่ยวบิณฑบาต

โดยทำให้มีการมีผลมากแก่ทายก

ทั้งหลาย

... สตฺถุมหตฺตปจฺจเวกฺขณตา ความพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่

แห่งพระศาสดา โดยนัยดังนี้ว่า

" พระศาสดาของเราทรงมีปกติตรัส

สรรเสริญวิริยารัมภะ พระองค์มี

คำสอนอันใครๆ ไม่พึงละเมิดด้วย

พระองค์มีพระอุปการะมากแก่เรา

ทั้งหลายด้วย พระองค์ เมื่อเรา

บูชาด้วยการปฏิบัติ จึงเป็นอัน

บูชา มิใช่ด้วยประการอื่นด้วย "

... ทายชฺชมหตฺตปจฺจเวกฺขณตา ความพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่

แห่งมรดก โดยนัยดังนี้ว่า " มฤ-

ตกกองใหญ่กล่าวคือพระสัทธรรม

เราจะพึงได้รับ ก็แต่ว่ามรดกใหญ่

นั้น คนเกียจคร้านหาอาจรับได้ไม่ "

... ถีนมิทฺธวิโนทนตา ความบรรเทาถีนมิทธะเสียด้วยข้อ

ปฏิบัติทั้งหลาย มีการทำอาโลก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 114

สัญญาไว้ในใจ การเปลี่ยนอิริยา

บถ และการเสพอัพโภกาสเป็นต้น

กุสีตปุคฺคลปริวชฺชนตา ความหลีกเว้นบุคคลเกียจคร้าน

อารทฺธวิริยปุคฺคลเสวนตา ความคบหาบุคคลปรารภความเพียร

สมฺมปฺปธานปจฺจเวกฺขณตา ความพิจารณาเห็น ( อานุภาพ )

สัมมัปปธาน

ตทธิมุตฺตตา ความน้อมใจไปในวิริยะนั้น

ธรรม ๑๑ ประการเป็นทางเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพชฌงค์ คือ

พุทฺธานุสฺสติ ระลึกพระพุทธคุณ

ธมฺมานุสฺสติ ระลึกพระธรรมคุณ

สงฺฆานุสฺสติ ระลึกพระสังฆคุณ

สีลานุสฺสติ ระลึกถึงศีลที่รักษา

จาคานุสฺสติ ระลึกถึงการบริจาค

เทวตานุสฺสติ ระลึกถึงเทวดาและเทวธรรม

อุปสมานุสฺสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน

ลูขปุคฺคลปริวชฺชนตา ความหลีกเว้นคนมัวซัว*

สินิทฺธปุคฺคลเสวนตา ความคบหาผู้แจ่มใส

ปสาทนียสุตฺตนฺตปจฺจกเวกฺขณตา ความพิจารณาความในพระสูตร

อันชวนเลื่อมใส

* มหาฎีกาว่า ลูขบุคคลนั้นหัวใจหยาบมัว เพราะไม่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

ส่วนสินิทธบุคคลตรงกันข้าม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 115

ตทธิมุตฺตตา ความน้อมใจไปในปีตินั้น

พระโยคาวจร เมื่อยังธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้นด้วยอาการเหล่านี้

ดังกล่าวมา ชื่อว่าทำสัมโพชฌงค์ ๓ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น

ให้เจริญ พระโยคาวจรยกจิตในสมัยที่ควรยก อย่างนี้แล

(๕) ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

ถามว่า " พระโยคาวจรข่มจิตในสมัยที่ควรข่มอย่างไร " วิสัชนา

ว่า ในกาลใดจิตของเธอฟุ้งซ่านเพราะเหตุมีความเป็นผู้ปรารภความ

เพียรเกินไปเป็นต้น ในกาลนั้นอย่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ มีธรรมวิจย-

สัมโพชฌงค์เป็นอาทิ แล้วเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เป็นต้น จริงอยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า " ดูกรภิกษุทั้ง

หลาย ต่างว่าบุรุษใคร่จะดับกองไฟใหญ่ ( หาก ) เขาใส่หญ้าแห้งๆ

ลงไป ใส่มูลโคแห้งๆ ลงไป ใส่ฟืนแห้งๆ ลงไป เป่าเข้าไป และ

ไม่เอาฝุ่นโปรยลงไปที่กองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นจะอาจดับไฟ

กองใหญ่ ( นั้น ) ได้หรือหนอ " ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า " ข้อนั้นหา

มิได้ พระพุทธเจ้าข้า " ตรัสต่อไปว่า " ฉันนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย

ในสมัยใดจิตฟุ้งซ่านอยู่ ในสมัยนั้น ( กาลนั้น ) มิใช่กาลที่จะเจริญ

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลที่จะเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่

กาลที่จะเจริญปีติสัมโพชฌงค์ นั่นเพราะเหตุอะไร ภิกษุทั้งหลาย

( เพราะ ) จิตฟุ้งซ่านอยู่ อันจิตฟุ้งซ่านนั้นยากที่จะทำให้สงบลงได้

ด้วยธรรมเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ก็แลในสมัยใดจิตฟุ้งซ่านอยู่ ใน

สมัยนั้น ( กาลนั้น ) เป็นกาลที่จะเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลที่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 116

จะเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลที่จะเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

นั่นเพราะเหตุอะไร ภิกษุทั้งหลาย ( เพราะ ) จิตฟุ้งซ่านอยู่ อันจิต

ฟุ้งซ่านนั้น พระโยคาวจรพึงทำให้สงบได้โดยง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะดับไฟกองใหญ่ ต่างว่าเขาใส่หญ้าสดๆ ลง

ไป ใส่มูลโคสดๆ ลงไป ใส่ฟืนสดๆ ลงไป ให้ลมเจือด้วยน้ำเข้าไป

และเอาฝุ่นโปรยลงไปที่กองไฟนั้นภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นจะอาจดับ

ไฟกองใหญ่ ( นั้น ) ได้หรือไม่ " ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า " ได้

พระพุทธเจ้าข้า " ดังนี้*

[อาหารแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์]

แม้ในอธิการนี้ ก็พึงทราบการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ มี

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นอาทิ โดยเนื่องด้วยธรรมอันเป็นอาหารของ

โพชฌงค์นั้นๆ จริงอยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า " มีอยู่ ภิกษุ

ทั้งหลาย กายปัสสัทธิ ( ความสงบระงับแห่งกาย ) จิตตปัสสัทธิ ( ความ

สงบระงับแห่งจิต ) ความทำโยนิโสมนสิการให้มากในปัสสัทธินั้น นี้เป็น

อาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อ

ภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้วบ้าง "

ดังนี้

[อาหารแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์]

นัยเดียวกัน ตรัสว่า " มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิต ( นิมิต

สงบ ) อัพยัคคนิมิต ( นิมิตไม่ซัดส่าย ) ความทำโยนิโสมนสิการให้

* สํ มหาวาร ๑๙/๑๓๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 117

มากในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์

ที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์

ที่เกิดแล้วบ้าง " ดังนี้

[อาหารแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์]

นัยเดียวกัน ตรัสว่า " มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอัน

เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความทำโยนิโสมนสิการให้มากใน

ธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่แห่งอุเบกขา-

สัมโพชฌงค์ที่เกิดแล้วบ้าง " ดังนี้

[แก้อรรถปาฐะบางบท]

มนสิการอันเป็นไปโดยกิริยาที่พระโยคีกำหนดอาการอันเคยเป็น

เหตุเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้ง ๓ มีปัสสัทธิเป็นต้นได้แล้วยังธรรมทั้ง ๓ นั้น

ให้เกิดขึ้นนั่นแล ชื่อว่าโยนิโสมนสิการในบททั้ง ๓ ในพระบาลีนั้น คำว่า

" อัพยัคคนิมิต " ก็เป็นคำเรียกสมถะนั้นเหมือนกัน โดยอรรถว่าไม่ฟุ้ง

ซ่าน

[ทางเกิดแห่งปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา อีกนัยหนึ่ง]

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการเป็นทางเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัม

โพชฌงค์ คือ

ปณีตโภชนเสวนตา เสพโภชนะอันประณีต

อุตุสุขเสวนตา เสพฤดูเป็นที่สบาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 118

อิริยาปถสุขเสวนตา เสพอิริยาบถเป็นที่สบาย๑

มชฺฌตฺตปฺปโยคตา ประกอบความเพียรปานกลาง

สารทฺธกายปุคฺคลปริวชฺชนตา หลีกเว้นบุคคลผู้มีกายกระสับ

กระส่าย

ปสฺสทฺธกายปุคฺคลเสวนตา คบหาบุคคลผู้มีกายสงบ

ตทธิมุตฺตตา น้อมจิตไปในปัสสัทธินั้น

ธรรม ๑๑ ประการเป็นทางเกิดขึ้นแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือ

วตฺถุวิสทตา ความสละสลวยแห่งวัตถุ

นิมิตฺตกุสลตา ความฉลาดในนิมิต

อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนตา ความปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน

สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคหณตา ความข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคหณตา ความยกจิตในสมัยที่ควรยก

นิรสฺสาทสฺส จิตฺตสฺส ... ความทำจิตที่ไม่มีอัสสาทะให้

สมฺปหํสนตา ร่าเริงขึ้นด้วยอำนาจ

สังเวช๒

สมฺมาปวตฺตสฺส อชฺฌุเปกฺขณตา เพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่เป็นไป

๑. มหาฎีกาว่า อาหารประณีต ที่พระโยคีบริโภคแต่พอประมาณแล้ว ย่อม

เป็นปัจจัยแห่งปัสสัทธิ เพราะทำให้เกิดกายลหุตาเป็นต้น ฤดูและอิริยาบถที่เป็น

สัปปายะก็เช่นกัน

๒. มหาฎีกาว่า อัสสาทะในที่นี้ หมายเอาความสุขที่เกิดแต่ความสงบ ภาวนาจิตที่ไม่ได้

ความสุขอย่างนั้นต้องแก้ด้วยทำให้เกิดสังเวชแล้วปลูกศรัทธาเลื่อมใสขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 119

โดยชอบแล้ว ๑

อสมาหิตปุคฺคลปริวชฺชนตา หลีกเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ

สมาหิตปุคฺคลเสวนตา คบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ

ฌานวิโมกฺขปจฺจเวกฺขณตา พิจารณาวิโมกข์ในฌาน๒

ตทธิมุตฺตา น้อมจิตไปในสมาธินั้น

ธรรม ๕ ประการ เป็นทางเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ

สตฺตมชฺฌตฺตตา ความวางเฉยในสัตว์

สงฺขารมชฺฌตฺตตา ความวางเฉยในสังขาร๓

สตฺตสงฺขารเกลายนปุคฺคล- ความหลีกเว้นบุคคลผู้พัวพันอยู่ใน

ปริวชฺชนตา สัตว์และสังขาร

สตฺตสงฺขารมชฺฌตฺตปุคฺคล- ความคบหาบุคคลผู้วางเฉยในสัตว์

เสวนตา และสังขาร

ตทธิมุตฺตตา ความน้อมจิตในอุเบกขานั้น

พระโยคาวจร เมื่อยังธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้นด้วยอาการเหล่านี้

๑. มหาฎีกาว่า ภาวนาจิตที่ดำเนินอยู่ในสมถวิถีเรียบร้อยสม่ำเสมอ ไม่มีอาการหดหู่ และ

อาการฟุ้งซ่าน เรียกว่าจิตเป็นไปโดยชอบ ไม่ต้องยก ไม่ต้องข่ม ไม่ต้องปลุก

๒. มหาฎีกาว่า ฌานนั้นเองชื่อว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจาก ธรรมอันเป็นข้าศึก พิจารณา

ก็คือดูว่าวิโมกข์นั้น ทำให้เกิดได้อย่างนั้น เข้า ตั้งอยู่ ออก เศร้าหมอง ผ่องแผ้วอย่าง

นั้น ๆ

๓. มหาฎีกาว่า สัตว์ หมายถึงสัตว์และคนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต สังขาร หมายถึง

อังคาพยพภายใน เช่นในตา และวัตถุภายนอก เช่นบาตร จีวร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 120

ดังกล่าวมาแล้ว ชื่อว่าทำสัมโพชฌงค์ ๓ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น

ให้เจริญ พระโยคาวจรย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม อย่างนี้แล

(๖) ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง

ถามว่า พระโยคาวจรทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง

อย่างไร? วิสัชนาว่า ในกาลใด จิตของเธอเป็นจิตไม่มีอัสสาทะ

เพราะความพยายามทางปัญญา อ่อนไปก็ดี เพราะไม่ได้ความสุขอัน

เกิดแต่ความสงบก็ดี ในกาลนั้นพระโยคาวจรย่อมยังจิตนั้นให้สังเวช

ด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ วัตถุทั้งหลาย คือ ชาติ ชรา พยาธิ

มรณะ เป็น ๔ อบายทุกข์เป็นที่ ๕ วัฏฏมูลกทุกข์ ( ทุกข์มีวัฏฏะเป็น

มูล ) ในอดีต (๑) วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคต (๑) อาหารปริเยฏฐิมูลก-

ทุกข์ ( ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูล ) ในปัจจุบัน (๑) ชื่อว่า

สังเวควัตถุ ๘* อนึ่ง เธอย่อมยังความเลื่อมใสให้เกิดแก่จิตนั้น ด้วย

ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วย พระโยคาวจรย่อม

ยังจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ด้วยประการฉะนี้

(๗) เพ่งดูจิตอยู่เฉย ๆ

ถามว่า พระโยคาวจรย่อมเพ่งดูจิตอยู่เฉยๆ ในสมัยที่จิต

ควรเพ่งดูอยู่เฉยๆ อย่างไร? วิสัชนาว่า ในกาลใดจิตของเธอผู้

* มหาฎีกาท่านว่า อาหารปริเยฏฐิมูลกทุกข์ขึ้น หมายเอาทุกข์ในการเลี้ยงชีพของบุคคล

จำพวก อุฏฐานผลุปชีวี คืออาศัยผลแห่งความขยันเป็นอยู่ ถ้าเกียจคร้านไม่ทำงานก็อด

(มิได้หมายถึงจำพวกปุญญผลุปชีวี เป็นอยู่ด้วยผลแห่งบุญ ถึงไม่ทำงานก็ไม่อด)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 121

ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น เป็นจิตไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ปราศจากอัสสาทะ

เป็นไปสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนินอยู่ในวิถีแห่งสมถะ ในกาลนั้น

เธอไม่ต้องขวนขวายในการยก การข่ม และการทำให้ร่าเริง ดุจ

สารถี เมื่อม้าทั้งหลายวิ่งไปเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องขวนขวาย ( อะไร )

ฉะนั้น พระโยคาวจรย่อมเพ่งดูจิตอยู่เฉยๆในสมัยที่จิตควรจะเพ่งดู

อยู่เฉยๆ อย่างนี้ ( แล )

(๘) หลีกบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ

การสละเสียให้ไกลซึ่งบุคคลทั้งหลายผู้ไม่เคยขึ้นสู่เนกขัมมปฏิปทา*

วุ่นอยู่แต่ในกิจมากหลาย มีใจซัดส่ายไป ชื่อว่าหลีกบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ

(๙) คบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ

การเข้าไปหาบุคคลทั้งหลายผู้ดำเนินเนกขัมมปฏิปทา ได้สมาธิ

อยู่โดยปกติ ตามกาลอันควร ชื่อว่าคบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ

(๑๐) ความน้อมใจไปในสมาธิ

ความน้อมจิตไปในสมาธิ ชื่อว่า ตทธิมุตฺตตา หมายความว่า

หนักไปในสมาธิ หน่วงไปในสมาธิ โน้มไปในสมาธิ เงื้อมไปใน

สมาธิ

อัปปนาโกศล ๑๐ อย่างนี้ พระโยคีพึงทำให้ถึงพร้อม ด้วย

ประการฉะนี้เทอญ

* เนกขัมมะ ในที่นี้ท่านหมายเอาฌาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 122

ด้วยเมื่อพระโยคาวจร ครั้นนิมิตเกิดแล้ว ทำ

อัปปนาโกศลนี้ให้ถึงพร้อมอยู่อย่างนี้ อัปปนา

จึงจะเป็นไป ถ้าเมื่อเธอแม้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว

อัปปนานั้นก็ยังหาเป็นไปไม่ แม้เช่นนั้น เธอ

ผู้เป็นบัณฑิตก็ไม่ควรละความเพียรเสีย พึง

พยายามอยู่นั่น เพราะขึ้นชื่อว่า คนละสัมมา-

วายามะเสียแล้ว จะพึงได้บรรลุคุณวิเสสแม้

สักหน่อยหนึ่ง นั่นไม่ใช่ฐานะจะมีได้ เพราะ

เหตุนั้น ผู้รู้กำหนดอาการเป็นไปแห่งจิตได้

พึงประกอบความเสมอกันแห่งวิริยะ ( กับสมาธิ )

ไว้ร่ำไป ( คือ ) พึงยกจิตซึ่ง( มีความเพียร )

ย่อหย่อนไปแม้หน่อยหนึ่งไว้ พึงข่มจิตอัน ( มี

ความเพียร ) ปรารภเกินไปลง ให้เป็นไปพอดี

พึงเปลื้องจิตเสียจากความย่อหย่อน และความ

ฟุ้งโดยประการทั้งปวงแล้ว ยังจิตอันมี ( ปฏิ

ภาค )นิมิตอยู่จำเพาะหน้าดำเนินไป เยี่ยง

ความเป็นไปแห่งแมลงและคน มีตัวผึ้งเป็นต้น

ในเกสรดอกไม้ ในใบบัว ในใยแมลงมุม

ในเรือ ในกะโหลก ( น้ำมัน ) อันท่าน

พรรณนาไว้ ( ในอรรถกถา ) ฉะนั้นเถิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 123

[อุปมาแห่งสัมมาวายามะ]

( ต่อไป ) นี้ เป็นคำแสดงความในสองคาถาข้างท้าย อุปมา

เหมือนผึ้ง ( ตัวหนึ่ง ) โง่ รู้ว่าดอกไม้ต้นโน้นบานแล้ว แล่นไปโดย

ความเร็วจัด ( จนยั้งไม่อยู่ ) เลยล่วงดอกไม้นั้นไปเสีย ย้อนกลับมาถึง

ต่อเมื่อเกสรมันสิ้น ( รส ) เสียแล้ว อีกตัวหนึ่งก็โง่ แล่นไปโดยความ

เร็วอ่อน ไปถึงเมื่อ ( เกสร ) มันสิ้น ( รส ) แล้วเหมือนกัน ส่วนผึ้งตัว

ที่ฉลาดแล่นไปโดยความเร็วพอดี ถึงกลุ่มดอกไม้แล้ว เคล้าเอาเกสร

เท่าที่ต้องการมาปรุงเป็นน้ำผึ้ง ก็ได้เสวยรสหวานสบายไป ฉันใด อนึ่ง

อุปมาเหมือนเมื่อพวกลูกศิษย์ช่างสลักใช้ ( ปลาย ) มีดสลัก ( ลวดลาย )

ลงที่ใบอุบล*ที่ลอยไว้ในอ่างน้ำกันอยู่ ศิษย์คนหนึ่งฉลาดเกินไปจด

มีดลงเร็ว ( ทำให้ ) ใบอุบลฉีกบ้าง จมน้ำไปบ้างอีกคนหนึ่งไม่

ฉลาดเลย ไม่กล้าแม้แต่จะเอามีดถู ( ใบอุบล ) เพราะกลัวมันฉีกและ

จม ส่วนคนฉลาดแสดงรอยมีด ( เป็นลวดลาย ) ในใบอุบลนั้นด้วย

ประโยค ( พยายาม ) ที่พอดี ก็เป็นผู้ได้ชื่อว่ามีศิลปะสำเร็จทำงานใน

ตำแหน่งทั้งหลาย ( ที่ต้องใช้ศิลปะ ) เช่นนั้นย่อมได้ลาภ ฉันใด อนึ่ง

อุปมาเหมือนพระราชาทรงประกาศว่า" ผู้ใดนำใยแมลงมุมยาว

ประมาณ ๔ วามา ( ถวาย ) ได้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ๔,๐๐๐ ( เหรียญ )

* ที่แปลทับศัพท์ว่า ใบอุบล ไม่แปลเป็นไทยว่าใบบัว เพราะคำว่า บัว ในภาษาไทยเป็น

คำรวม หมายถึงอุบลก็ได้ ปทุมก็ได้ แต่ในภาษาบาลี อุบล กับ ปทุม ไม่ใช่บัวพันธุ์

เดียวกัน อุบลนั้นได้แก่บัวสาย ปทุมได้แก่บัวก้าน ที่เราเรียกว่าบัวหลวง ถ้าสีขาวเรียก

บุณฑริก เพราะฉะนั้น จึงแปลทับศัพท์ไว้เพื่อให้ทราบชนิดของมัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 124

ดังนี้แล้ว บุรุษผู้หนึ่งฉลาดเกินไป ดึงใยแมลงมุมเร็ว ใยก็ขาดทุกที

( ที่ดึง ) บุรุษอีกคนหนึ่งไม่ฉลาดเลย ไม่กล้าแม้จะเอามือถูก ( ใย

แมลงมุม ) เพราะกลัวมันจะขาด ส่วนบุรุษผู้ฉลาดพัน ( ใย ) เข้าใน

ท่อนไม้ตั้งแต่ปลายเข้าไปด้วยประโยค ( ความพยายาม ) ที่พอดี นำ ( ใย )

ไปถวายได้ ก็ได้ ( รับพระราชทาน ) ลาภ ฉันใด อนึ่ง อุปมาเหมือน

ต้นหน ( คนหนึ่ง ) ฉลาดเกินไป กางใบเต็มในเมื่อลมแรง ทำให้เรือ

แล่นไปผิดที่ ต้นหนอีกคนหนึ่งไม่ฉลาดเลย ในเมื่อลมอ่อน( กลับ )

ลดใบเสีย จอดเรืออยู่ที่นั้นเอง " ส่วนต้นหนผู้ฉลาด กางใบเต็มที่ใน

เมื่อลมอ่อน ลดใบเสียครึ่งหนึ่งเมื่อลมแรงย่อมไปถึงที่ที่ปรารถนา

โดยสวัสดี ฉันใด อนึ่ง อุปมาเหมือนอาจารย์ประกาศแก่อันเต-

วาสิกทั้งหลายว่า " ผู้ใดไม่ทำน้ำมันหก ( รินน้ำมันลง ) ให้กระโหลก

( ปากเล็ก ) เต็มได้ ผู้นั้นจะได้ลาภ " ดังนี้ อันเตวาสิกผู้หนึ่งฉลาด

เกินไป อยากได้ลาภ ( รินจะ ) ให้เต็มเร็วไปก็ทำน้ำมันหก อีกคนหนึ่ง

ไม่ฉลาดเลย ไม่กล้าแม้แต่จะริน เพราะกลัวน้ำมันหกฝ่ายอันเต-

วาสิกผู้ฉลาด ( ริน ) ให้เต็มด้วยประโยค ( พยายาม ) อันสมควร ก็

ได้ลาภไป ฉันใด อุปมัยก็ฉันนั้นภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นเมื่อ ( ปฏิภาค )

นิมิตเกิดแล้วมุ่งว่าจะถึงอัปปนาโดยเร็วทีเดียว ทำความเพียรอย่างหนัก

จิตของเธอก็ตกไปในอุทธัจจะเสีย เพราะปรารภความเพียรมากเกินไป

เธอก็ไม่อาจถึงอัปปนาได้ ภิกษุรูปหนึ่งเห็นโทษในเพราะปรารภความ

เพียรเกินไป เลยคิดเสียว่า " เราจะมีความต้องการด้วยอัปปนาใน

เวลานี้ทำไม " ดังนี้แล้วลดความเพียรเสีย จิตของเธอก็ตกไปใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 125

โกสัชชะ เพราะมีความเพียรหย่อนไป แม้เธอ ( รูปนี้ ) ก็ไม่อาจถึง

อัปปนาได้ ( เหมือนกัน )ส่วนว่าภิกษุใด ( ค่อย ) เปลื้องจิตที่หดหู่ไป

แม้หน่อยหนึ่งเสียจากความหดหู่ ที่ฟุ้งซ่านไปแม้นิดหนึ่งเสียจากความ

ฟุ้งซ่านแล้ว ยังจิตอันมี ( ปฏิภาค ) นิมิตอยู่จำเพาะหน้าให้เป็นไป

ด้วยประโยค ( ความพยายาม ) อันสม่ำเสมอเธอย่อมถึงอัปปนาได้ อัน

พระโยคาวจรพึงเป็นเช่นภิกษุ ( รูปที่ ๓ ) นั้นเถิด ข้าพเจ้าหมายเอา

ความ ( ดังกล่าวมา ) นี้ จึงกล่าวคำประพันธ์ ( ๒ คาถาข้างท้าย ) นี้ไว้ว่า

" พึงเปลื้องจิตเสียจากความย่อหย่อน และ

ความฟุ้งโดยประการทั้งปวงแล้ว ยังจิตอันมี

( ปฏิภาค ) นิมิตอยู่จำเพาะหน้าให้ดำเนินไป

เยี่ยงความเป็นไปแห่งแมลงและคน มีตัวผึ้ง

เป็นต้น ในเกสรดอกไม้ ในใบบัว ในใย

แมลงมุม ในเรือ ในกระโหลก ( น้ำมัน )

อันท่านพรรณนาไว้ ( ในอรรถกถา ) ฉะนั้น

เถิด " ดังนี้

[จิตในขณะที่อัปปนาจะสำเร็จ]

ก็แล เมื่อพระโยคาวจรนั้น ทำจิตอันมี ( ปฏิภาค ) นิมิตอยู่

จำเพาะหน้าให้ดำเนินไปอยู่ โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้ ในขณะที่

ว่าอัปปนาจักสำเร็จ มโนทวาราวัชชจิตย่อมตัดภวังค์ ทำปฐวีกสิณ

ซึ่งปรากฏด้วยอำนาจแห่งการอนุโยค ( ภาวนา ) ว่า ปฐวี ปฐวี นั่นแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 126

ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นแต่นั้นชวนจิต ๔ หรือ ๕ ดวงย่อมแล่นไปใน

อารมณ์นั้นนั่นแหละ ในที่สุด ในชวนจิตเหล่านั้น ดวงหนึ่งเป็นรูปาวจร

ที่เหลือ ( ๓ หรือ ๔ ดวง ) เป็นกามาวจรจิต มีจิตมีวิตก วิจาร ปีติ สุข

และจิตเตกัคคตา มีกำลังกว่าปกติ ( กามาวจร ) จิต ซึ่งท่านเรียกว่า

บริกรรมจิต เพราะเป็นจิตแต่งอัปปนาบ้าง เรียกว่าอุปจารจิต เพราะ

เป็นจิตใกล้ต่ออัปปนา หรือท่องเที่ยวอยู่ในที่ใกล้แห่งอัปปนา ดุจ

( ภูมิ ) ประเทศใกล้ต่อสถานที่มีหมู่บ้านเป็นต้นก็เรียกว่าอุปจาร

บ้าน อุปจารเมืองฉะนั้นบ้าง เรียกว่าอนุโลมจิต เพราะเป็นจิตอนุโลม

( ไปกันได้ ) แก่บริกรรมจิต ( ในนานาวัชชนวิถี ) ทั้งหลายก่อนนี้ และ

แก่อัปปนาข้างหน้าด้วยบ้าง อนึ่ง ในบรรดาจิต ( ที่ได้ชื่อว่า บริกรรม

อุปจาร และ อนุโลม ) เหล่านี้ ดวงใดเป็นที่สุดเขาหมด ดวงนั้นท่าน

เรียกว่า โคตรภู บ้าง เพราะครอบงำปริตตโคตรได้ และทำมหัคคต-

โคตรให้เป็นขึ้น*

ว่าโดยลำดับแห่งชวนจิต ที่ท่านยังมิได้จัดไว้ในชวนจิตเหล่านั้น

ดวงที่หนึ่งเป็นบริกรรม ดวงที่สองเป็นอุปจารดวงที่สามเป็นอนุโลม

ดวงที่สี่เป็นโคตรภู อีกนัยหนึ่ง ดวงที่หนึ่งเป็นอุปจาร ดวงที่สองเป็น

อนุโลม ดวงที่สามเป็นโคตรภู ดวงที่สี่หรือที่ห้าเป็นอัปปนาจิต แท้จริง

ชวนจิตที่สี่เท่านั้น หรือไม่ก็ที่ห้า ย่อมเป็นอัปปนา ข้อนั้นก็เป็นด้วย

อำนาจแห่งขิปปาภิญญาและทันธาภิญญา ชวนะต่อแต่นั้นไปย่อมตก

* ปริตตโคตร (โคตรน้อย) หมายถึงกามภูมิ มหัคคตโคตร (โคตรใหญ่) หมายถึง

ฌานภูมิ หรือพรหมภูมิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 127

เป็นวาระแห่งภวังคไป*

ฝ่ายพระโคทัตตเถระนักอภิธรรม อ้างสูตรนี้ว่า "ธรรมทั้งหลาย"

อันเป็นกุศลที่เกิดก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอาเสวนปัจจัยแห่ง

"ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลที่เกิดหลัง ๆ" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "ธรรมที่"

เกิดหลัง ๆ ย่อมมีกำลังขึ้นด้วยอาเสวนปัจจัย เพราะเหตุนั้น อัปปนา

"ย่อมมีได้แม้ในชวนะที่หกที่เจ็ด"" คำของพระโคทัตตเถระนั้น ท่าน"

"กล่าวคัดค้านไว้ในอรรถกถาทั้งหลายว่า "นั่นเป็นเพียงอัตโนมัติของ"

"พระเถระ"" แล้วกล่าว (ต่อไป) ว่า "อันอัปปนา (นั้น) ย่อมมีใน"

ชวนะที่สี่หรือที่ห้าเท่านั้น ชวนะต่อนั้นไปนับได้ว่าตกแล้ว เพราะใกล้

"( จะตก ) ภวังค์ "" ดังนี้ ใคร ๆ ไม่อาจคัดค้านคำในอรรถกถานั้นได้"

เพราะเป็นคำที่ท่านได้วิจารณ์แล้วอย่างนี้จึงกล่าวไว้ แท้จริง จิตย่อม

ไม่อาจเป็นอัปปนา ได้ในชวนะที่หกหรือที่เจ็ดก็ตาม เพราะใกล้ ( จะ

ตก ) ภวังค์ เปรียบเหมือนบุรุษวิ่งตรงไปลงเหวชัน แม้ใคร่จะหยุด

ก็ไม่อาจยั้งเท้าหยุดที่ริม ( เหว ) ได้ย่อมจะตกลงไปในเหวจนได้

ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น อัปปนา ( นั้น ) บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมมีได้

ในชวนะที่สี่หรือที่ห้าเท่านั้น

ก็แลอัปปนานั้น เป็นไปในขณะจิตเดียวเท่านั้น จริงอยู่ ชื่อว่า

* มหาฎีกาขยายความไว้ว่า

(ก) การที่นัยที่สอบนับอุปจารเป็นที่หนึ่ง ไม่นับบริกรรมนั้น เพราะอธิบายว่า

บริกรรมก็คือบริกรรมในนานาวัชชนะนั่นเอง (หาใช่ในชวนะไม่ ?)

(ข) สำหรับขิปปาภิญญา ชวนะที่สี่เป็นอัปปนา สำหรับทันธาภิญญา ก็ชวนะ

ที่ห้าเป็นอัปปนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 128

กำหนดกาลในสถาน ๗ หามีไม่ คือในปฐมอัปปนา ( ๑ ) ในโลกิย-

อภิญญาทั้งหลาย ( ๑ ) ในมรรคสี่ ( ๑ ) ในผลอันเป็นลำดับแห่ง

มรรค ( ๑ ) ในภวังคฌานในรูปารูปภพ ( ๑ ) ในเนวสัญญานาสัญญา-

ยตนะอันเป็นปัจจัยแห่งนิโรธ ( ๑ ) ในผลสมาบัติแห่งท่านผู้ออกจาก

นิโรธ ( ๑ ) ในสถานเหล่านั้น ผลอันเป็นลำดับแห่งมรรคาหามีเหนือ

๓ ชวนะไปไม่ เนวสัญญานาสัญญายตนะอันเป็นปัจจัยแห่งนิโรธก็หา

มีเหนือ ๒ ชวนะไม่ ภวังคฌานในรูปารูปภพนับประมาณ ( ขณะ

จิต ) ไม่ได้ ในสถานที่เหลือ ( ๔ ) มี ( ขณะ ) จิตเดียวเท่านั้นแล*

อัปปนาเป็นไปในขณะจิตเดียวดังกล่าวมาฉะนี้ ต่อนั้นก็เป็นภวังคบาต

ครั้นแล้วอาวัชชนะจึงตัดภวังค์เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ฌานปัจจเวกขณ

ต่อนั้นไปก็ฌานปัจจเวกขณ์แล

[ปฐมฌาน]

ก็ด้วยลำดับแห่งภาวนาเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้น ชื่อว่า

สงัดจากกามทั้งหลายเทียว สงัดจากธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลเทียว

เข้าถึงฌานที่ ๑ อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่

ปฐมฌานปฐวีกสิณอันละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ มีความงาม ๓

ประการถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ เป็นอันพระโยคาวจรนั้นได้บรรลุ

แล้ว ด้วยประการฉะนี้

* มหาฎีกาอธิบายว่า ที่ว่ากำหนดกาลในสถาน ๗ ไม่มีนั้น ก็เพราะว่า ในสถาน ๗ นั้น

ลางสถานนับประมาณขณะจิตไม่ได้เอาทีเดียว ลางสถานก็นับได้เป็นขณะสั้นเต็มที

เป็นว่าจะหาสถานไหนได้ชวนะเต็มวิถีไม่มีเลย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 129

[แก้อรรถ วิวิจฺเจว กาเมหิ...]

ในฌานปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ความว่า

สงัด คือพรากไป หลีกไปจากกามทั้งหลาย ส่วนเอวศัพท์ที่ประกอบ

ในปาฐะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นศัพท์จำกัดความ ก็เพราะเหตุ

ที่เอวศัพท์นั้นเป็นศัพท์จำกัดความ มันส่องถึงความที่กามทั้งหลาย

แม้ไม่มีอยู่ในสมัยที่เข้าถึงปฐมฌานอยู่นั้น ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อปฐม

ฌานนั้น และความจะลุถึงปฐมฌานนั้นได้ก็ด้วยสละกามทั้งหลายนั้น

เสียเท่านั้น คืออย่างไร ? คือเมื่อทำความจำกัดลงไปด้วยปาฐะว่า

" วิวจฺเจว กาเมหิ สงัดจากกามทั้งหลายเทียว " ดังนี้ คำอธิบาย

( ต่อไป ) นี้ก็รู้ได้ชัดว่า " กามทั้งหลายเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้แน่แท้

ซึ่งเมื่อมันมีอยู่ ฌานนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดุจเมื่อความมืดมีอยู่ แสง

ประทีปก็ไม่มี ฉะนั้น และความบรรลุฌานนั้นจะมีได้ก็ด้วยสละกาม

ทั้งหลายนั้นเสียเท่านั้น ดุจความลุถึงฝั่งนอกจะมีได้ด้วยสละฝั่งในไป

เท่านั้น เพราะเหตุนั้นเอวศัพท์นั้น จึงชื่อว่าทำความจำกัด ( ความ ) "

ดังนี้

ในปาฐะนั้น ปัญหาพึงมีว่า " ก็เพราะเหตุไฉน เอวศัพท์นั้น

ท่านจึงกล่าวไว้แต่ในบทหน้า หากล่าวในบทหลังไม่ แม้นบุคคล

ไม่สงัดจากธรรมทั้งหลายอันเป็นอกุศลแล้ว จะพึงเข้าถึงฌานอยู่ได้

ละหรือ? คำเฉลยพึงมีว่า " ก็ข้อที่เอวศัพท์ท่านกล่าวไว้แต่

ในบทหน้าไม่กล่าวในบทหลังนั้น บัณฑิตไม่พึงเห็นเช่นนั้น อัน

เอวศัพท์นั้น ท่านกล่าวไว้ในบทหน้า ก็เพราะฌานเป็นนิสสรณะแห่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 130

กามนั้น๑ แท้จริง ฌานนี้ชื่อว่าเป็นเหตุออกไปแห่งกามทั้งหลาย

เท่านั้น๒ เพราะเป็นทางก้าวล่วงกามธาตุ และเพราะเป็นปฏิปักษ์

ต่อกามราคะ ดังพระสารีบุตรกล่าวไว้ ( ในปฏิสัมภิทา ) ว่า " ธรรม-

ชาตินั่นเป็นนิสสรณะแห่งกามทั้งหลาย ธรรมชาตินี้คืออะไร ? ธรรม-

ชาตินี้คือเนกขัมมะ ๓ " ดังนี้ แต่ทว่า เอวศัพท์ในปาฐะนี้ ควร

( นำมา ) กล่าวแม้ในบทหลังด้วย ดุจเดียวกันกับเอวศัพท์ในปาฐะนี้ว่า

"อิเธว ภิกฺขเว ปฐโม สมโณ อิธ ทุติโย สมโณ" ซึ่ง

ท่านนำมากล่าวในบทหลังด้วย เพราะว่าใคร ๆ หาอาจที่จะไม่สงัด

จากธรรมทั้งหลายอันเป็นอกุศล กล่าวคือนิวรณ์ข้ออื่นๆ แต่กามฉันท์

นี้แล้วเข้าถึงฌานอยู่ได้ไม่ เพราะเหตุนั้น เอวศัพท์นั้น บัณฑิต

พึงเห็น ( ว่าท่านกล่าว ) ในบททั้ง ๒ ว่า " วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺเจว

อกุสเลหิ ธมฺเมหิ " ดังนี้เถิด

อนึ่ง วิเวกทั้งหลาย ( ประเภท ๕ ) มีตทังควิเวกเป็นต้นก็ดี

( ประเภท ๓ ) มีจิตตวิเวกเป็นอาทิก็ดี ย่อมสงเคราะห์เข้าได้ทั้งหมด

ด้วยสาธารพจน์ ว่า 'วิวิจฺจ' นี้ทั้ง ๒ บทก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นบัณฑิต

ก็พึงเห็น ( ว่า ) ในฌานกถานี้ ( ได้แก่ ) วิเวก ๓ คือ กายวิเวก จิตต-

วิเวก วิขัมภนวิเวก เท่านั้น

๑. ปาฐะที่ถูกต้อง ตํ ติดกับบทหลัง เป็นศัพท์สมาส ฎีกาก็แก้ในรูปนั้น คือเขียนเป็น

ตนฺนิสฺสรณํ

๒. หมายความว่า มิได้เป็นนิสสรณะแห่งนิวรณ์ข้ออื่น ๆ คือว่า ฌานนี้เป็นข้าศึก

โดยตรงต่อกามราคะ เช่นเดียวกับเมตตา เป็นข้าศึกโดยตรงต่อพยาบาทเป็นต้น ฉะนั้น

๓. เคยบอกมาแล้วว่า เนกขัมมะนี้ หมายเอาฌานนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 131

ก็แลด้วยบทว่า 'กาเมหิ' นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านสงเคราะห์

เอาทั้งวัตถุกามที่กล่าวไว้ใน ( มหา ) นิเทศโดยนัยว่า " วัตถุกาม

ทั้งหลายคืออะไร คือรูปอันน่ารักน่าชอบใจ. . . ดังนี้เป็นต้น

ทั้งกิเลสกามที่กล่าวไว้ใน ( ฌาน ) วิภังค์ใน ( มหา ) นิเทศนั้นเหมือนกัน

ว่า "ความพอใจเป็นกาม ความกำหนัดเป็นกาม ความกำหนัดตาม

ความพอใจเป็นกาม ความใฝ่ใจเป็นกาม ความกำหนัดเป็นกาม

ความกำหนัดตามความใฝ่ใจเป็นกาม กิเลสเหล่านี้เรียกว่า กาม*" ดังนี้

เข้าด้วยกันทั้งหมดทีเดียว ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ปาฐะว่า " วิวิจฺเจว

กาเมหิ" นั้น แม้จะหมายความว่า " สงัดจากวัตถุกามทั้งหลายเทียว "

ดังนี้ก็ชอบ กายวิเวกเป็นอันกล่าวด้วยความสงัดจากวัตถุกามนั้น

( ส่วน ) ปาฐะว่า " วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ" จะหมายความว่า

" สงัดจากกิเลสกามทั้งหลาย หรือว่าจากอกุศลทั้งปวง " ดังนี้ก็ชอบ

จิตตวิเวกเป็นอันกล่าวด้วยความสงัดจากกิเลสกามนั้น อนึ่ง บัณฑิต

พึงทราบว่า ใน ๒ ปาฐะนั้น การสละกามสุขย่อมเป็นอันประกาศด้วย

ปาฐะแรก เพราะกล่าวความสงัดจากวัตถุกามทั้งหลายแท้ การยึดเอา

เนกขัมมสุขเป็นอันประกอบด้วยปาฐะที่ ๒ เพราะกล่าวความสงัดจาก

กิเลสกามทั้งหลาย และเพราะกล่าวความสงัดจากวัตถุกามและกิเลสกาม

* มหาฎีกาท่านแก้อรรถไว้ว่า โลภะอย่างอ่อนเป็นฉันทะ ด้วยอรรถว่าพอใจ โลภะ

ที่แรงกว่านั้นเป็นราคะ ด้วยอรรถว่ากำหนัด ที่แรงกว่านั้นขึ้นไปอีก เป็นราคะอย่างหนา

เรียกว่าฉันทราคะ โลภะอันเป็นเหตุให้ใฝ่ใจถึงนิมิตและอนุพยัญชนะ เป็นสังกัปปะ

โลภะที่แรงขึ้นไปเป็นราคะ ที่แรงขึ้นไปอีกเป็นสังกัปปราคะ เป็นอันได้ความว่า

กิเลสกามก็คือโลภะอันเดียวนั่งเอง ตั้งแต่อ่อน ๆ ไปจนแรงที่สุด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 132

ฉันเดียวกันนั่นแล ใน ๒ ปาฐะนั้น การละวัตถุแห่งสังกิเลสเป็นอัน

ประกาศด้วยปาฐะที่ ๑ การละตัวสังกิเลสประกาศด้วยปาฐะที่ ๒ การ

สละเหตุแห่งโลลภาพ ( ความละโมบ ) ประกาศด้วยปาฐะที่ ๑ การสละ

เหตุแห่งพาลภาพ ( ความโง่เขลา ) ประกาศด้วยปาฐะที่ ๒ และ

ปโยคสุทธิ ( ความหมดจดแห่งความเพียรพยายาม ) ประกาศด้วยปาฐะ

ที่ ๑ อาสยโปสนะ ( ความกล่อมเกลาอัชฌาสัย ) ประกาศด้วยปาฐะที่ ๒ *

ในกามที่กล่าวในบทว่า " กาเมหิ " นั้น นี้เป็นนัยะในฝ่ายวัตถุกามก่อน

ส่วนในฝ่ายกิเลสกาม ท่านมุ่งเอากามฉันท์ ซึงมีหลายประเภท

โดยชื่อว่า 'ฉันทะ' ก็มี ว่า 'ราคะ' ก็มีดังนี้เป็นอาทินั่นเองว่า 'กาม'

ก็แลกามฉันท์นั้น แม้เป็นโทษที่นับเนื่องในอกุศล ( แต่ ) ท่านกล่าวไว้

ต่างหากโดยเป็นข้าศึกแห่งฌาน ในวิภังค์ โดยนัยว่า " ตตฺถ กตเม

กามา ฉนฺโท กาโม " ดังนี้เป็นต้น อีกนัยหนึ่ง กามฉันท์นั้น

นับว่ากล่าวในบทแรก เพราะมันเป็นกิเลสกาม นับว่ากล่าวในบทที่ ๒

เพราะมันนับเนื่องในอกุศล และเพราะมันมีหลายประเภทจึงไม่ตรัส

( เป็นเอกพจน์ ) ว่า กามโต ( แต่ ) ตรัส ( เป็นพหุพจน์ ) ว่า กาเมหิ

* มหาฎีกาว่า (๑) โลลภาพ คือความเกิดแห่งตัณหาในอารมณ์นั้นๆ

เหตุแห่งโลลภาพ ก็คือวัตถุกามนั่นเอง (๒) พาลภาพ คือ อวิชชาหรือความคิดชั่ว

เหตุแห่งพาลภาพ คือ อโยนิโสมนสิการหรือ อกุศลธรรมทั้งปวง (๓) กิริยาที่บุคคล

ประกอบอกุศลมีปาณาติบาตเป็นต้น เนื่องด้วยกามคุณเป็นเหตุ เรียกว่า อสุทธประโยค

ความสงัดจาก อุสทธประโยคนั้น เรียกว่า ปโยคสุทธิ (๔) การชำระอัชฌาสัย โดยทำ

ให้สะอาดจากสังกิเลสคือตัณหา และโดยทำให้เจริญด้วยอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะเรียกว่า

อาสยโปสนะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 133

อนึ่ง แม้เมื่อธรรมทั้งหลายอื่นเป็นอกุศลมีอยู่ ( แต่ ) นิวรณ์ทั้งหลาย

เท่านั้น ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์โดยนัยว่า " ตตฺถ กตเม อกุสลา ธมฺมา

กามจฺฉนฺโท " ดังนี้เป็นต้น โดยแสดงความที่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อองค์

ฌาน อันจะกล่าวข้างหน้า* ซึ่งเป็นข้าศึก ( ของมัน ) มีคำอธิบายว่า

" เพราะนิวรณ์ทั้งหลายเป็นข้าศึกต่อองค์ฌาน องค์ฌานเล่าก็เป็น

ข้าศึก คือเป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์เหล่านั้น " จริงอย่างนั้น ข้อนี้พระ

มหากัจจานเถระกล่าวไว้ในคัมภีร์เปฏกะว่า " สมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อ

กามฉันท์ ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท วิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ

สุขเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกุจจะ วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา"

ดังนี้ โดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้ ในปาฐะ ๒ บทนั้น ( วิกขัมภนวิเวก )

ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งกามฉันท์ เป็นอันกล่าวด้วยบทแรกนี้ คือ

" วิวิจฺเจว กาเมหิ " ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งนิวรณ์ทั้ง ๕ เป็น

อันกล่าวด้วยบทที่ ๒ นี้ คือ " วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ "

แต่ ( เมื่อว่า ) โดยการถือเอาข้อที่ยังมิได้ถือเอา๑ บัณฑิต

พึงทราบว่า " ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งกามฉันท์เป็นอันกล่าวด้วยบท

แรก ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งนิวรณ์ที่เหลือเป็นอันกล่าวด้วยบทที่ ๒

* อุปริ ฌานงฺครนํ ในมหาฎีกาเรียงติดกันเป็นบทสมาส และตั้งวิเคราะห์ไว้ด้วยว่า

อุปริ วุจฺจมานานิ ฌานงฺคามิ อุปริฌานงฺคานิ

๑. อคฺคหิตคฺคหเณ หมายความว่า เท่าที่จำแนกธรรมอันควรเป็นความหมายแห่งปาฐะ

ทั้ง ๒ ได้มาแล้วนั้น ยังไม่สิ้นกระแสความที่ควรจะจำแนก ยังมีข้อที่ควรถือเอานัยะ

มากล่าวได้อีก ดังต่อไปนั้น (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 134

นัยเดียวกันนั้น ในอกุศลมูล ๓ ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งโลภะอันมี

ประเภทแห่งกามคุณ ๕ เป็นอารมณ์ เป็นอันกล่าวด้วยบทแรก ความ

สงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งโทสะและโมหะ อันมีประเภทแห่งอาฆาตวัตถุ

เป็นต้นเป็นอารมณ์ เป็นอันกล่าวในบทที่ ๒* หรือว่าในธรรมทั้งหลาย

มีโอฆะเป็นต้น ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งกาโมฆะ กามโยคะ กามาสวะ

กามุปาทาน อภิชฌากายคันถะ และกามราคสังโยชน์ เป็นอันกล่าว

ด้วยบทแรก ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งโอฆะ โยคะอาสวะ อุปาทาน

กายคันถะ และสังโยชน์ที่เหลือ เป็นอันกล่าวด้วยบทที่ ๒ และความ

สงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งตัณหาและธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยตัณหานั้น

เป็นอันกล่าวด้วยบทแรก ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งอวิชชาและธรรม

ทั้งหลายที่สัมปยุตตด้วยอวิชชานั้น เป็นอันกล่าวด้วยบทที่ ๒ อนึ่ง

ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งจิตตุบาทที่สัมปยุตตด้วยโลภะ ๘ ดวง เป็น

อันกล่าวด้วยบทแรก ความสงัดด้วยข่มไว้ได้ซึ่งอกุศลจิตตุบาทที่เหลือ

๔ ดวงเป็นอันกล่าวด้วยบทที่ ๒" ดังนี้

คำที่กล่าวมานี้ เป็นคำชี้แจงเนื้อความในฌานปาฐะว่า " วิวิจฺเจว

กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ " นี้ เป็นอันดับแรก

[แก้อรรถองค์ฌาน บท สวิตกฺกํ สวิจารํ]

ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงองค์ที่พึงละแห่งปฐมฌานด้วย

* เพราะเหตุที่โทสะ กับ โมหะ มีอารมณ์ต่างกัน แต่ในที่นี้แสดงไว้แต่อารมณ์ของ

โทสะอย่างเดียว คืออฆาตวัตถุ มหาฎีกาจึงแสดงอารมณ์ของโมหะเพิ่มเติมไว้ดังนี้

ทุกฺขาทิปพฺพนฺตาทิเภทวิสยสฺส โมหสฺส-ซึ่งโมหะอันมีประเภทแห่งความไม่รู้เช่นไม่รู้

ส่วนเบื้องต้นแห่งทุกข์เป็นต้นอารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 135

ปาฐะเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงองค์ที่พึงประกอบเข้า ( แห่ง

ปฐมฌานนั้น ) จึงตรัสคำว่า " สวิตกฺกํ สวิจารํ " เป็นต้น

ในคำเหล่านั้น ความตรึกชื่อว่า วิตก มีคำอธิบายไว้ว่า ความ

จรด ( จิต ) ลงไป วิตกนี้นั้น มีอันปักจิตลงไปในอารมณ์เป็นลักษณะ

มีอันจรดไปทั่วๆ จรดไปรอบๆ เป็นกิจ จริงอย่างนั้น ด้วยองค์

คือ วิตกนั้น พระโยคาวจรได้ชื่อว่าทำอารมณ์ให้เป็นสิ่งที่วิตกจรดไปทั่ว

แล้ว ให้เป็นสิ่งที่วิตกจรดไปรอบแล้ว ดังนี้ วิตกนั้นมีการนำจิตเข้ามา

ในอารมณ์ได้เป็นเครื่องปรากฏ

ความตรองชื่อว่า วิจาร มีคำอธิบายไว้ว่า ความ ( พิจารณา )

ตาม ( วิตก ) ไป วิจารนี้นั้นมีอันตามฟั้นอารมณ์เป็นลักษณะ มีอัน

ประกอบสหชาตธรรมในอารมณ์นั้นไว้เป็นกิจ มีอันตามผูกพันจิต

ไว้เป็นเครื่องปรากฏ

เมื่อวิตกและวิจารนั้น แม้ว่าแยกกันไม่ได้ในที่ไหนๆ*ก็ดี

( แต่บัณฑิตพึงทราบว่า ) วิตกก็คือความจรดจิตลงไปทีแรก ดุจเสียง

เคาะระฆัง เพราะอรรถว่าเป็นสภาพยังหยาบ ( กว่าวิจาร ) และเพราะ

อรรถว่าเป็นสภาพไปหน้า ( วิจาร ) วิจารก็คือความตามผูกพันไป

ดุจเสียงครวญแห่งระฆัง เพราะอรรถว่าเป็นสภาพสุขุม ( กว่าวิตก )

และเพราะเป็นสภาพตามฟั้น ( อารมณ์ ) อนึ่ง ในสองอย่างนั้น วิตก

ยังมีแกว่ง เป็นการไหวแห่งจิตในเวลาแรกเกิดขึ้น ดุจการกระพือปีก

* กตฺถจิ ในที่ไหน ๆ มหาฎีกาว่าหมายเฉพาะในปฐมฌาน และในปริตตจิตตุบาน

ทั้งหลาย ไม่ใช่ทั่วไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 136

แห่งนกที่ใคร่จะทะยานขึ้นไปในอากาศ และดุจกิริยาโผลงตรงดอกปทุม

แห่งแมลงภู่ที่มีใจผูกพันอยู่ในกลิ่น ( ปทุม ) ฉะนั้น ( ส่วน ) วิจาร

มีความเป็นไปละเมียด ( กว่าวิตก ) เป็นภาวะที่จิตไม่แกว่งนัก ดุจ

การกางปีก ( ราร่อน ) ไปแห่งนกที่ขึ้นอยู่ในอากาศแล้ว และดุจการ

บินวน ( ดู๑ ) อยู่เหนือดอกปทุมแห่งแมลงภู่ที่ลงมาถึงตรงดอกปทุมแล้ว

ฉะนั้น

ส่วนในอรรถกถาแห่งทุกนิบาตกล่าวไว้ว่า " วิตกเป็นไปโดยภาวะ

คือปักจิตลงไปในอารมณ์ ดุจกิริยาที่นกใหญ่ที่ไปในอากาศกวักปีก

ทั้ง ๒ ข้างแล้วราปีกไป๒ ฉะนั้น วิจารเป็นไปโดยสภาวะตามฟั้น

( อารมณ์ ) ดุจกิริยาที่นกกระดิกปีกรับลม ( ร่อน ) ไป๓ ฉะนั้น

คำในอรรถกถาทุกนิบาตนั้นชอบแต่ในความเป็นไปโดยต่อ

เนื่องกัน ด้านความต่างกันแห่งวิตกและวิจารนั้นย่อมปรากฏอยู่แล้ว

ในปฐมฌานและทุติยฌาน๔

อีกนัยหนึ่ง วิตกเป็นดังมือที่จับไว้มั่น วิจารเป็นดังมือที่ขัดสี

๑. ปริพฺภมนํ บินวน มหาฎีกาว่า ที่แมลงภู่ทำเช่นนั้นเพื่อตรวจตราดูมีอันตรายหรือไม่

ก่อนที่จะลงไปเคล้า

๒. แปลตามพยัญชนะว่า ดุจการยังปีกทั้งสองให้รับลมแล้วยังปีกให้นิ่งแล้วแลไปแห่งนก

ใหญ่ที่ไปในอากาศฉะนั้น

๓. แปลตามพยัญชนะว่า ดุจความไปแห่งนกนั้นที่ยังปีกให้กระดิกเพื่อรับลม ฉะนั้น

๔. น่าหมายความว่า ไม่ใช่ว่าวิตกเกิดขึ้นแล้วไปหยุดนิ่งเสีย เหมือนนกกวักปีกแล้วหยุด

กวัก ราปีกไปเฉย ๆ เพราะถ้าวิตกหยุดเสีย จิตก็เข้าไม่ถึงอารมณ์ วิตกกับวิจารถึงแม้

มีลักษณะต่างกัน แต่ควรทำงานต่อเนื่องกัน ทำจิตให้ดำเนินประณีตไปโดยลำดับ ดัง

ปรากฏในปฐมฌานและทุติยฌาน (ปัญจกนัย) คือปฐมฌานมีทั้งวิตกและวิจาร ถึง

ทุติยฌาน วิตกสงบไป วิจารยังทำงานต่อไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 137

แห่งบุคคลผู้จับภาชนะสำริดที่สนิมจับไว้มั่นด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วใช้

เครื่องมือคือแปรงขนสัตว์จุ้มน้ำมันผสมฝุ่นขัด ( ภาชนะนั้น ) ด้วยมือ

ข้างหนึ่ง ฉะนั้น

นัยเดียวกัน วิตกเป็นดังมือที่ตบ ( ขึ้นรูป ) วิจารเป็นดังมือที่

คอยแต่งตรงนั้นตรงนี้ แห่งช่างหม้อผู้หมุน ( แป้น ) ล้อทำภาชนะ

โดยใช้ไม้ตบ

นัยนั้นเหมือนกัน วิตกเป็นสภาพปักลงไป ดุจเหล็กแหลมที่

เสียบตรงกลาง ( ภาชนะ ) ตรึงไว้ วิจารเป็นสภาพตามตบแต่ง ดุจ

เหล็กแหลมอันหมุน ( ทำรอย ) อยู่ด้านอก ( ภาชนะ ) แห่งช่างผู้ทำ

รอยวงกลม ( ในภาชนะ )ฉะนั้น

ฌานนี้ได้ชื่อว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ เพราะเป็นไปกับวิตกนี้

และวิจารนี้ ดังกล่าวมา ดุจต้นไม้เป็นไปกับดอกและผลฉะนั้น แต่

ในวิภังค์ท่านทำเป็นปุคคาธิฐานเทศนาโดยนัยว่า " บุคคลเป็นผู้เข้าถึง

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิตกนี้ และด้วยวิจารนี้ " ดังนี้เป็นอาทิ ถึงกระนั้น

อรรถาธิบายแม้ในวิภังคปาฐะนั้น บัณฑิตพึงเห็น ( ว่า ) เป็น

อย่างเดียวกันนี้เอง

[แก้อรรถบท วิเวกชํ]

บัณฑิตพึงทราบอรรถในบทว่า วิเวกชํ ( ดัง ) นี้ ความสงัดชื่อ

วิเวก หมายความว่า ปราศไปจากนิวรณ์ อีกนัยหนึ่งธรรมใดสงัดแล้ว

เหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่า วิเวก คือธรรมอันสงัดจากนิวรณ์ หมาย

ถึงกองธรรมอันสัมปยุตด้วยฌาน ปีติสุขชื่อว่า วิเวกชะ เพราะเกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 138

แต่วิเวกนั้น หรือเกิดในวิเวกนั้น

[แก้อรรถบท ปีติสุขํ]

พึงทราบอรรถในบทว่า ปีติสุขํ ( ดังต่อไป ) นี้ ธรรมชาติใดทำ

ให้อิ่ม เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า ปีติ ปีตินั้นมีความปรีย์เปรม

เป็นลักษณะ มีอันยังกายและจิตใจให้อิ่มเอิบเป็นรส หรือว่ามีอัน

ซาบซ่านเป็นรส มีความฟูขึ้นเป็นเครื่องปรากฏ ก็ปีตินี้นั้นมี ๕ อย่าง

คือ

ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย

ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ( แปลบๆ )

โอกกนฺติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ ( ซู่ๆ )

อุพฺเพงฺคาปีติ ปีติโลดโผน

ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน

ในปีติ ๕ อย่างนั้น ขุททกาปีติอาจทำเพียงอาการขบขันใน

ร่างกายเท่านั้น ขณิกาปีติย่อมเป็นชั่วขณะๆ เช่นกับฟ้าแลบ

โอกกันติกาปีติลงสู่กายแล้วหายไปๆ ดุจคลื่นซัดฝั่งสมุทรแล้วก็แตกไป

ฉะนั้น อุพเพงคาปีติ เป็นปีติอย่างแรงถึงขนาดทำกายให้ลอยขึ้น

แล้วให้โลดไปในอากาศได้

จริงอย่างนั้น พระมหาติสสเถระผู้อยู่ ณ ปุณณวัลลิกวิหาร ใน

เวลาเย็นวันเพ็ญไปสู่ลานพระเจดีย์ ( ยังไม่ทันถึง ) เห็นแสงพระจันทร์

แล้วหันหน้าต่อพระมหาเจดีย์ รำพึงว่า " ในเวลานี้ละหนอ บริษัท ๔

ไหว้พระมหาเจดีย์กัน " ยังอุพเพงคาปีติอันมีพระพุทธ ( คุณ ) เป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 139

อารมณ์ให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ที่ตนเห็นมาแล้วโดยปกติ ก็

ลอยขึ้นในอากาศ ไปหยุดยืน ณ ลานพระมหาเจดีย์ทีเดียว ราวกับ

ลูกคลีหนังอันงาม ที่บุคคลปาลงที่พื้นปูนแล้วกระดอนขึ้นในอากาศ

ฉะนั้น

แม้กุลธิดาผู้หนึ่งในบ้านวัตตกาลคามอันเป็นที่อาศัย ( โคจร

บิณฑบาต ) แห่ง ( ภิกษุ ) วัดคิริกัณฑวิหาร ก็โลดไปในอากาศได้ด้วย

อุพเพงคาปีติอันมีพระพุทธ ( คุณ ) เป็นอารมณ์อย่างแรง เช่นเดียวกัน

ได้ยินว่า มารดาบิดาของกุลธิดาผู้นั้น เมื่อจะไปวัดเพื่อ

ฟังธรรมในเวลาเย็น สั่งว่า " แน่ะแม่ เจ้าเป็นภาระหนักไม่อาจไปใน

เวลาค่ำมืด๑ เราจักฟังธรรมให้ส่วนบุญแก่เจ้า " ดังนี้แล้วจึงได้ไป

กุลธิดานั้นแม้ใคร่จะไป แต่ไม่อาจขืนคำของท่านได้ ก็ยั้งอยู่เรือน

( ออกไป ) ยืนที่ชานเรือน มองไปดูลานพระเจดีย์ลอยฟ้า๒ บนเขา

คิริกัณฑกะด้วยแสงจันทร์ ได้เห็นการบูชาพระเจดีย์ด้วยประทีป

ได้เห็นบริษัท ๔ ทำเจดีย์บูชาด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้และของหอม

เป็นต้นแล้วทำประทักษิณกันอยู่ และได้ยินเสียงคณสาธยายของหมู่

ภิกษุด้วย ครั้งนั้น เมื่อนางรำพึงไปว่า " พวกเขาช่างมีบุญจริงหนอ

ที่ได้ไปวัดแล้วได้เดินไปมาที่ลานพระเจดีย์เช่นนั้น และได้ฟังธรรมกถา

อันไพเราะเช่นนั้น "พลางมองดูพระเจดีย์อัน ( ขาวโพลน ) เช่นกับ

๑. อกาเล จะแปลโดยพยัญชนะว่า ในคราวมิใช่กาล หรือว่า ในกาลอันไม่สมควร

ก็คงได้ความหมายพิเศษในประโยคนี้ว่า "เวลาค่ำมืด" นั่นเอง

๒. อากาสเจติยงฺคณํ มหาฎีกาท่านว่า เจดีย์ที่สร้างไว้บนยอดเขา เรียกว่า อากาสเจดีย์

จะหมายความว่ามองเห็นเดน่ อยู่ในที่สง ดังว่าลอยอยู่ในอากาศ กระมัง?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 140

กองไข่มุกอยู่นั่นเอง อุพเพงคาปีติก็เกิดขึ้น นางโลดลิ่วไปในอากาศ

ลงที่ลานพระเจดีย์ลอยฟ้าก่อนกว่ามารดาบิดาเสียอีก ไหว้พระเจดีย์

แล้วยืนฟังธรรมอยู่ พอมารดาบิดามาถึงจึงทักนางว่า " แม่เอ๊ย เจ้ามา

ทางไหนกัน "นางบอกว่า " ดิฉันมาทางอากาศ มิได้มาตามทาง

( เดิน ) " แล้วถูกซักว่า " แม่คุณ อันมาทางอากาศ พวกท่านพระ

ขีณาสพจึงจะไปมาได้ เจ้ามาได้อย่างไรกัน " จึงบอกว่า " เมื่อดิฉัน

ยืนแลดูพระเจดีย์ด้วยแสงจันทร์อยู่ พลวปีติมีพระพุทธ ( คุณ ) เป็น

อารมณ์เกิดขึ้น ครั้นแล้วดิฉันก็มิได้รู้ความที่ตนยืน มิได้รู้ความที่ตน

นั่งเลย ( รู้ ) แต่ว่าโลดไปในอากาศตามนิมิตที่ ( จิต ) ถือเอานั้นเอง

แล้วมายืนอยู่ที่ลานพระเจดีย์นี่ "

อุพเพงคาปีติ เป็นปีติ ( อย่างแรง ) ถึงขนาดทำกายให้โลดไป

ในอากาศได้ ดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้

ส่วนว่าเมื่อผรณาปีติเกิดขึ้น สรีระย่อมเอิบอาบไปทั่วร่าง ดุจ

กระเพาะเบาที่พองเต็ม ( ด้วยน้ำเบา ) และดุจเหวที่ห้วงน้ำใหญ่หลาก

เข้าไป ( เต็ม )

ก็แลปีติ ๕ อย่างนี้นั้น เมื่อตั้งครรภ์ไปจนแก่ได้ที่* ย่อม

* คพฺภํ คณฺหนฺตี เคยแปลว่า "เมื่อถือเอาห้อง" เข้าใจว่าผิด ต้องแปลว่า "เมื่อถือเอา

ครรภ์" คือ "ตั้งครรภ์ หรือตั้งท้อง" จึงจะได้ความ เป็นสำนวนหมายความว่า ธรรม

นั้น ๆ ดำเนินไปถึงขั้น "ได้ที่" แล้ว จะเผล็ดผลเป็นแน่ ดุจเมื่อมารดา "ตั้งครรภ์"

แล้ว ก็เป็นหวังว่าจะได้ผลคือได้บุตรแน่ สำนวนนี้ท่านใช้สำนวนข้าวกล้า ก็มี เช่น

ในอัจจายิกกรณียสูตรในติกังคุตตระ หน้า ๓๐๙ ว่า... อชฺเชว เม ธญฺญานิ ชายนฺตุ

เสฺวว คพฺภินิโย โหนฺตุ อุตฺตรเสฺว ปจนฺตูติ... คฤหบดีชาวนาไม่มีอำนาจจะบันดาลว่า

ข้าวของเราจงงอกวันนี้ ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้... คพฺภินี กับ คพฺภํ คณฺหนฺตี

ก็ความเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 141

ยังปัสสัทธิ ๒ อย่าง คือ กายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิให้เกิดบริบูรณ์

ปัสสัทธิเมื่อตั้งครรภ์ไปจนแก่ได้ที่ ย่อมยังสุขทั้ง ๒ อย่าง คือ กายิกสุข

และเจตสิกสุขให้เกิดบริบูรณ์ สุขเมื่อตั้งครรภ์ไปจนแก่ได้ที่ ย่อม

ยังสมาธิ ๓ อย่าง คือขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิให้เกิด

บริบูรณ์แล

ในปีติ ๕ อย่างนั้น ผรณาปีติใด ที่เจริญขึ้นเป็นมูลแห่งอัปปนา-

สมาธิ จนถึงประกอบเข้ากับสมาธิได้ ผรณาปีตินี้เป็นปีติที่ท่าน

ประสงค์เอาในอรรถนี้

ส่วนบทนอกนี้ ( คือสุขํ ) มีอรรถดังนี้ ความสำราญชื่อว่า สุข

อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใดกัดเสีย ( หรือ ) ขุดเสีย ( คือ ) กำจัดเสียด้วยดี

ซึ่งอาพาธในกายและใจ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสุข ( ธรรมชาติ

อันกำจัดอาพาธเสียด้วยดี )สุขนั้นมีความอร่อยเป็นลักษณะ มีอันพอกพูน

ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับสุขเป็นรส ( เป็นกิจ ) มีอันช่วยข่ายสนับสนุน

( สัมปยุตธรรม ) เป็นเครื่องปรากฏ*

แม้ว่า เมื่อความแยกกันไม่ได้ในที่ไหนๆ แห่งปีติและสุขนั้น

มีอยู่ก็จริง ( แต่ ) บัณฑิตพึงทราบ ( ความต่างกัน )ว่า ความยินดี

เพราะได้อิฏฐารมณ์เป็นปีติ ความเสวยรสแห่งอิฏฐารมณ์ที่ได้แล้ว

เป็นสุข ปีติมีอยู่ในที่ใด สุขย่อมมีในที่นั้น ( แต่ว่า ) สุขมีอยู่ในที่ใด

ไม่แน่ว่าปีติจะมีในที่นั้น ปีติท่านสงเคราะห์ในสังขารขันธ์ สุข

* มหาฎีกาขยายความว่า สุข นั้น ไม่สละผละออกเหมือนทุกข์ ไม่เฉยอยู่เหมือน

อทุกขมสุข แต่เข้าช่วยเหลือสนับสนุน (สัมปยุตธรรม)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 142

สงเคราะห์ในเวทนาขันธ์ ปีติเปรียบเหมือนความดีใจในเพราะได้เห็น

หรือได้ยินข่าวหมู่ไม้หรือน้ำ สุขเปรียบเหมือนความสำราญในเพราะ

ได้เข้าร่มเงาหมู่ไม้ หรือได้บริโภคน้ำ แห่งบุคคลผู้อ่อนเปลี้ยอยู่ใน

ทะเลทราย นี่กล่าวตามปีติและสุขมีปรากฏอยู่ในสมัยนั้นๆ จริงๆ

ปีตินี้ด้วย สุขนี้ด้วย มีประการดังกล่าวมา มีอยู่แก่ฌานนั้น

หรือว่ามีอยู่ในฌานนั้น เหตุนั้น ฌานนี้ท่านจึงกล่าวว่า ( ปีติสุขํ )

มีปีติและสุข อีกนัยหนึ่ง ปีติด้วย สุขด้วย ชื่อว่า ( ปีติสุขํ ) ปีติและสุข

ดุจบททวันทวะทั้งหลาย มีบท ธัมมวินยะ ( ธรรมและวินัย ) เป็นต้น

ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกมีอยู่แก่ฌานนั้น หรือมีอยู่ในฌานนั้น

เหตุนั้น ฌานนี้ท่านจึงกล่าวว่า ( วิเวกชมฺปีติสุขํ ) มีปีติและสุขอันเกิด

แต่วิเวก ดังนี้ก็ได้ แท้จริง ฌานเป็นสิ่งที่เกิดแต่วิเวก ฉันใดก็ดี

แม้ปีติและสุขในฌานนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดแต่วิเวกเหมือนกันฉันนั้น และ

ปีติสุขที่เกิดแต่วิเวกนั้นมีอยู่แก่ฌานนั้นด้วย เพราะเหตุนั้น กล่าวว่า

'วิเวกชมฺปีติสุขํ' โดยเป็นบทเดียวกันนั่นแหละจึงจะชอบ* ส่วน

ในวิภังค์กล่าวไว้โดยนัยว่า " สุขนี้ไปพร้อมกับปีตินี้ " ดังนี้เป็นต้น

* อรรถวิเคราะห์แห่งปาฐะ วิเวกชมฺปีติสุขํ นี้ มหาฎีกาท่านอธิบายให้เข้าใจดีขึ้น

ว่าดังนี้ ในอรรถวิเคราะห์แรกเรียงแยกกันเป็น วิเวกชํ ปีติสุขํ บทวิเวกขํ เป็นวิเสสนะ

ของฌาน เช่นเดียวกับบททั้ง ๓ (คือ สวิตกฺกํ สวิจารํ ปีติสุขํ) ส่วนอรรถวิเคราะห์

หลังเป็นบทสมาสมีนิปผันนรูปเป็น วิเวกชมฺปีติสุขํ วิเวกชํ เป็นวิเสสนะของปีติสุขํ

เข้าสมาสโดยไม่ลบวิภัติ ในอรรถนี้ ถ้าลบวิภัติก็จะสำเร็จรูปเป็น วิเวกชปฺปีติสุขํ แปล

อย่างเดียวกัน วิวเวกชมฺปีติสุขํ

วิสุทธิมรรคว่านัยหลัง (วิเวกชมฺปีติสุขํ) นี้แหละถูก ไทยเราก็ใช้ตามนัยนี้

ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 143

แต่เนื้อความแม้ในวิภังคปาฐะนั้น ก็พึงเห็นว่าอย่างเดียวกันนี้

คำว่า 'ปฐมํ ฌานํ' นี้จักมีแจ้งข้างหน้า บทว่า อุปสมฺปชฺช

แปลว่าเข้าถึงแล้ว มีอธิบายว่าบรรลุแล้ว หรือแปลว่า ให้เข้าถึง

พร้อมแล้ว มีอธิบายว่าให้สำเร็จแล้ว แต่ในวิภังค์แก้ไว้

ว่า "บทว่า อุปสมฺปชฺช คือความได้เข้า ความถึงเข้า ความถูกเข้า

ความทำให้แจ้ง ความลุถึง ซึ่งฌานที่ ๑" ดังนี้ บัณฑิตพึงเห็น

ว่าเนื้อความแม้แห่งวิภังคปาฐะนั้นก็อย่างเดียวกันนี้ บทว่า วิหรติ

คือ พระโยคาวจรเป็นผู้ได้ฌานมีประการดังกล่าวฉะนี้แล้ว ยังความ

เคลื่อนไหวความเป็นไป ความรักษาไว้ ความสืบไป ความดำเนินไป

ความไปมาได้ ความอยู่ไปได้ แห่งร่างกายให้สำเร็จด้วยอิริยาบถ

วิหาร ( ความผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ ) อันสมควรแก่ฌานนั้น สมคำ

ที่กล่าวไว้ในวิภังค์ว่า "บทว่า วิหรติ ความว่าย่อมเคลื่อนไหว เป็นไป

รักษา สืบไป ดำเนินไป ไปมาได้ อยู่ไปได้ เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า

วิหรติ" ดังนี้

ส่วนคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ปฐมฌานละองค์ ๕ ดังนี้ ความ

ที่ปฐมฌานละองค์ ๕ ในคำนั้น บัณฑิตพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการละ

นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ

วิจิกิจฉา เพราะเมื่อนิวรณ์เหล่านั้นยังมิได้ละแล้ว ฌานจะเกิดขึ้นหา

ได้ไม่ เหตุนั้น นิวรณ์เหล่านั้น จึงเรียกว่า 'องค์ที่ต้องละ' แห่งปฐม-

ฌานนั้น แม้ว่าธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลอื่นๆ ก็ละได้ในขณะแห่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 144

ฌาน๑ด้วย ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นก็นิวรณ์ ๕ นี้เท่านั้น เป็นตัวทำอันตราย

แก่ฌานอย่างวิเสส (คือยิ่งกว่าเขา๒) แท้จริง จิตที่ถูกกามฉันทะประโลม

ไปในอารมณ์ต่างๆ แล้วย่อมไม่ตั้งมั่นในเอกัตตารมณ์๓ นัยหนึ่ง จิตนั้น

ถูกกามฉันทะครอบงำแล้วย่อมไม่ดำเนินไปสู่ทางที่จะละกามธาตุ อนึ่ง

จิตนั้นถูกพยาบาทกระทบกระทั่งอยู่ในอารมณ์ ย่อมเป็นไปอย่างสะดุด

ถูกถีนมิทธะครอบงำแล้วย่อมเป็นจิตไม่ควรแก่การงาน มีอุทธัจจ-

กุกกุจจะเป็นเบื้องหน้าแล้วย่อมเป็นจิตสงบไม่ลง คิดพล่านไป ถูก

วิจิกิจฉาขัดขวางแล้วย่อมไม่ขึ้นสู่ทางอันจะยังการบรรลุฌานให้สำเร็จ

นิวรณ์ ๕ นี้เท่านั้นท่านเรียกว่า " องค์ที่จะต้องละ " เพราะเป็นตัวทำ

อันตรายแก่ฌานอย่างมาก ดังกล่าวมาฉะนี้

ก็เพราะว่า วิตกย่อมปักจิตลงไปในอารมณ์ วิจารตามผูกพันไว้

ปีติอันเกิดแต่ประโยคะสมบัติทำความอิ่มเอิบ และสุขทำความเฟื่องฟู

แก่ใจอันมี ( ภาวนา ) ประโยคะที่วิตกวิจารนั้นทำให้สำเร็จแล้ว โดย

ไม่ฟุ้งซ่านออกไป ครั้นแล้ว เอกัคคตาอันความปักจิต ความตามผูกพัน

ความอิ่มเอิบ และความเฟื่องฟูเหล่านั้นอุดหนุนแล้วย่อมตั้งไว้

๑. มหาฎีกาว่า หมายเอาในขณะเข้าฌาน เพราะแม้ผู้ได้ฌาน แต่ในเวลา

มิได้เข้าฌาน อกุศลจิตมีโลภจิตเป็นต้นก็เกิดขึ้นได้

๒. ที่แปลความหมายแห่ง วิเสส ว่ายิ่งกว่าเขานี้ อาศัยนัยที่ท่านจัดคุณศัพท์เป็น ๓ ชั้น

คือ ปกติ วิเสส อติวิเสส

๓. เอกัตตารมณ์ คือ อารมณ์อันมีสภาพเป็นหนึ่งด้วยอำนาจแห่งกสิณ มีปฐวี-

กสิณเป็นต้น หรือว่าอารมณ์อันนำมาซึ่งความเป็นหนึ่ง กล่าวคือเอกัคคตา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 145

ซึ่งจิตนั้นพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมที่เหลือ โดยเสมอโดยชอบ* ใน

เอกัตตารมณ์ เพราะเหตุนั้น ความที่ปฐมฌานประกอบองค์ ๕

บัณฑิตพึงทราบโดยเป็นความเกิดขึ้นแห่งองค์ ๕ นี้ คือ วิตก วิจาร

ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ด้วยเมื่อองค์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้ว ฌานจึงได้ชื่อว่า

เกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น องค์ ๕ นั้นท่านจึงเรียกว่า " องค์ประกอบ "

แห่งปฐมฌานนั้น เพราะฉะนั้นไม่ควรถือว่ายังมีฌานอื่นที่ประกอบ

ด้วยองค์ ๕ นั้นอยู่อีก เหมือนเสนา ท่านกล่าวว่าประกอบด้วยองค์ ๔

ดนตรี กล่าวว่าประกอบด้วยองค์ ๕ มรรค กล่าวว่าประกอบด้วยองค์ ๘

ก็ด้วยบังคับแห่งองค์เท่านั้นโดยแท้ ฉันใด แม้ปฐมฌานนี้ก็พึงทราบว่า

ท่านกล่าวว่ามีองค์ ๕ หรือว่าประกอบด้วยองค์ ๕ ก็ตาม ก็ด้วยบังคับ

แห่งองค์เท่านั้นเหมือนกัน ฉะนั้น องค์ ๕ นี่ย่อมมีแม้ในขณะแห่ง

อุปจารโดยแท้ แต่ว่าในอุปจาร องค์ ๕ นั้นมีกำลังยิ่งกว่าปกติ ( กามา-

วจร ) จิต ส่วนในฌานนี้ องค์เหล่านั้นได้ลักษณะรูปาวจร ย่อม

มีกำลังยิ่งกว่าอุปจาร ( จิต ) เสียอีก แท้จริง ในองค์เหล่านั้น วิตก

ปักจิตลงไปในอารมณ์ด้วยอาการอันชัดเจนยิ่งเกิดขึ้น วิจารก็ตามฟั้น

อารมณ์อย่างเต็มที่เกิดขึ้น ปีติและสุขก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์กายเกิดขึ้น

เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า " องค์ ( อวัยวะ )สักน้อย

หนึ่งแห่งสรรพางค์กายของเธอผู้ได้ปฐมฌานนั้น อันปีติและสุขที่เกิดแต่

วิเวกไม่สัมผัสแล้วหามีไม่" ดังนี้ แม้จิตเตกัคคตาก็สัมผัสในอารมณ์

* มหาฎีกาว่า โดยเสมอ คือ โดยความเสมอกันแห่งอินทรีย์ ชอบโดยไม่มีความหย่อน และ

ความฟุ้ง เพราะไกลจากปฏิปักขธรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 146

ทั้งหลายเกิดขึ้น ดุจฝาหีบชิ้นบน สัมผัส ที่ฝาหีบชิ้นล่าง

ฉะนั้น นี้เป็นความพิเศษ กว่ากามาวรจิตนอกนี้แห่ง

องค์ ๕ นั้น

ในองค์ ๕ นั้น เอกัคคตาพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงชี้ไว้

ในปาฐะว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ . . . นี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นเอกกัคคตา

ก็นับเป็นองค์ได้แท้ เพราะตรัสไว้ในวิภังค์ว่า " คำว่าฌาน คือ วิตก

วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา " ดังนี้แท้จริง อุเทศ พระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงทำด้วยอธิบายใด อธิบายนั้นเป็นอันพระองค์ได้ทรงประกาศแล้ว

ในวิภังค์นั่นแล

ส่วนวินิจฉัยใน ๒ บทว่า " ปฐมฌานมีความงาม ๓ ประการ

ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ นั้น ดังนี้ ความที่ปฐมฌานมีความงาม ๓

ประการ บัณฑิตพึงทราบโดยจัดเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด และ

ความที่ฌานนั้นถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ ก็พึงทราบโดยเป็นลักษณะ

แห่งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เหล่านั้นแล พระบาลีในเรื่องนี้มีดังนี้

ปฏิปทาวิสุทธิ ( ความหมดจดแห่งปฏิปทา ) เป็นเบื้องต้นแห่ง

ปฐมฌาน อุเปกฺขานุพฺรูหนา ( ความเพิ่มพูนแห่งอุเบกขา ) เป็นท่าม

กลางแห่งปฐมฌาน สมฺปหํสนา ( ความร่าเริง ) เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน*

( ในข้อว่า ) ปฏิปทาวิสุทธิ เป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน ( นั้นถาม

ว่า ) ลักษณะแห่งเบื้องต้นมีเท่าไร ( ตอบว่า )ลักษณะแห่งเบื้องต้น

มี ๓ คือ จิตหมดจดจากอันตรายแห่งปฐมฌานนั้น (๑) เพราะความ

* มหาฎีกาอธิบายว่า ภาวนานัยอันเป็นบุพภาค ไปจนสุดโคตรภู เรียกว่าปฏิปทา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 147

ที่หมดจดแล้ว จิตย่อมดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นสายกลาง (๑)

เพราะความที่ดำเนินไปแล้ว จิตย่อมดิ่งไปในสมถะนั้น (๑) ข้อที่จิต

หมดจดจากอันตรายก็ดี ข้อที่เพราะหมดจดแล้วจิตย่อมดำเนินไปสู่

สมถนิมิตอันเป็นสายกลางก็ดี ข้อที่เพราะดำเนินไปแล้ว จิตย่อมดิ่งไป

ในสมถะนั้นก็ดี นั้นเป็นปฏิปทาวิสุทธิเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน

นี้เป็นลักษณะ ๓ แห่งเบื้องต้น เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ปฐมฌาน

เป็นคุณมีความงามในเบื้องต้นด้วย ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ( ๓ ) ด้วย

( ในข้อว่า ) ความเพิ่มพูนแห่งอุเบกขาเป็นท่ามกลางแห่งปฐม-

ฌาน ( นั้นถามว่า ) ลักษณะแห่งท่ามกลางมีเท่าไร ( ตอบว่า ) ลักษณะ

แห่งท่ามกลางมี ๓ คือ พระโยคาวจรย่อมเพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่

หมดจดแล้ว (๑) ย่อมเพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่ดำเนินสู่สมถะแล้ว (๑)

ย่อมเพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งความตั้งมั่นโดยความเป็นหนึ่ง ( แห่งจิต ) (๑)

ข้อที่พระโยคาวจรเพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่หมดจดแล้วก็ดี ข้อที่เพ่งดู

อยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่ดำเนินสู่สมถะแล้วก็ดี ข้อที่เพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งความ

ตั้งมั่นโดยความเป็นหนึ่ง ( แห่งจิต ) ก็ดี นั้นเป็นความพอกพูนแห่ง

อุเบกขา เป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน นี้เป็นลักษณะ ๓ แห่ง

เพราะเป็นทางดำเนินแห่งฌาน ปฏิปทานั้นหมดจดจากอันตรายแห่งฌาน เรียกปฏิปทา-

วิสุทธิ ๆ นี้มีในอุปปาทขณะแห่งฌาน ท่านจึงกล่าวว่าเป็นเบื้องต้น ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา

ที่เนื่องในฌาน เพิ่มพูนขึ้นโดยความสำเร็จกิจ เพราะไม่มีกิจอันใดอีก เรียกว่าอุเปกฺขานุ-

พฺรูหนา ๆ นี้มีในฐิติขณะแห่งฌาน ท่านจึงกล่าวว่าเป็นท่ามกลาง ความผ่องแผ้วเนื่อง

ด้วยความสำเร็จกิจแห่งฌานอันทำกิจให้สำเร็จ เรียกว่า สมฺปหํสนา ๆ นี้มีในโอสานขณะ

แห่งฌาน ท่านจึงกล่าวว่าเป็นที่สุด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 148

ท่ามกลาง เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่าปฐมฌานเป็นคุณมีความงามใน

ท่ามกลางด้วย ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ด้วย

( ในข้อว่า ) ความร่าเริง เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน ( นั้นถามว่า )

ลักษณะแห่งที่สุดมีเท่าไร ( ตอบว่า ) ลักษณะแห่งที่สุดมี ๔ คือ

ความร่าเริง ( ย่อมมี ) ด้วยหมายถึงว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในฌานจิตนั้น

มีความเป็นไปไม่ล่วงกันเลย (๑) ความร่าเริง ( ย่อมมี ) ด้วยหมาย

ถึงว่า อินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอันเดียวกัน (๑) ความร่าเริง ( ย่อมมี )

ด้วยหมายถึงการยังความเพียรอันควรแก่ภาวะนั้นให้เป็นไป (๑) ความ

ร่าเริง ( ย่อมมี ) ด้วยหมายถึงว่าฌานจิตนั้นเป็นอาเสวนะ ( คล่อง ) (๑)

( ๔ ข้อนี้จัดว่า ) เป็นความร่าเริง เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน นี้เป็น

ลักษณะ ๔ แห่งที่สุดเพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่าปฐมฌานเป็นคุณมี

ความงามในที่สุดด้วย ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๔ ด้วย " ดังนี้

[อรรถาธิบายแห่งบาลีติวิธกัลยาณตา]

อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้ว่า "ในธรรม ๓ ประการนั้น

อุปจารพร้อมทั้งสัมภาระ (องค์ประกอบ) ชื่อว่าปฏิปทาวิสุทธิ อัปปนา

ชื่อว่า อุเปกฺขานุพฺรูหนา ปจฺจเวกฺขณา (ปัญญาอันพิจารณาความ

สำเร็จกิจ ?) ชื่อว่า สมฺปหํสนา" ดังนี้ แต่เพราะว่าในพระบาลี

กล่าวไว้ว่า "จิตอันถึงความเป็นหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นจิตแล่นไปสู่

ปฏิปทาวิสุทธิด้วย เป็นจิตอันอุเบกขาพอกพูนด้วย เป็นจิตอันญาณให้

ร่าเริงด้วย" ดังนี้ เพราะฉะนั้นปฏิปทาวิสุทธิ บัณฑิตพึงทราบโดย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 149

ว่าเป็น ( บริกรรม ) มาภายในอัปปนา นั่นเอง อุเปกฺขานุพฺรูหนา

ก็พึงทราบโดยว่าเป็นกิจแห่ง ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกขา และ สมฺปหํสนา

ก็พึงทราบโดยว่าเป็นความสำเร็จกิจแห่งญาณอันทำให้ผ่องแผ้ว โดยยัง

ภาวะ คือ ความไม่เป็นไปล่วงเลยกันแห่งธรรมทั้งหลายเป็นอาทิให้

สำเร็จ๑ ถามว่าคำที่กล่าวนี้มีอรรถาธิบายอย่างไร ? แก้ว่า ก็อัปปนา

เกิดขึ้นในวาระใด ในวาระนั้นจิตย่อมหมดจดจากหมู่กิเลสกล่าวคือ

นิวรณ์อันเป็นอันตรายแห่งฌานนั้น เพราะหมดจดแล้ว จิตก็เป็น

ธรรมชาติปราศจากเครื่องกั้น ดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นสายกลาง

อัปปนาสมาธิอันเป็นไปสม่ำเสมอนั่นเอง ชื่อว่าสมถนิมิตอันเป็นสาย

กลาง๒ ก็แลอันเป็นอนันตรปัจจัยแห่งอัปปนาจิตนั้น๓ เมื่อ

เข้าถึงความเป็นจิตมั่นโดยปริณามนัย ( นัยแห่งความแปร ) ชั่วสันตติ

เดียว ชื่อว่าดำเนินสู่สมถนิมิตอันเป็นสายกลาง เพราะดำเนินไป

อย่างนั้น จิตชื่อว่าดิ่งไปในสมถะนั้น โดยเข้าถึงความเป็นจิตตั้งมั่น

ปฏิปทาวิสุทธิอันยังอาการ ( มีความหมดจดจากอันตรายเป็นต้น ) ที่มี

๑. อาจารย์พวกหนึ่งที่กล่าวว่าปฏิปทาวิสุทธิ ได้แก่อุปจารนั้น มหาฎีกาว่าหมายเอาภิกษุ

วัดอภัยคิรี มหาฎีกาสนับสนุนวิสุทธิมรรคว่า คำของภิกษุวัดอภัยคิรีนั้นไม่ชอบ เพราะ

เท่ากับแสดงคุณของฌานด้วยอฌานธรรม ผิดจากพระบาลี ซึ่งกล่าวไว้ว่าเป็นเรื่องภายใน

อัปปนาทั้งนั้น

๒. มหาฎีกาว่า ที่ชื่อว่ามัชฌิมะ (สายกลาง) ก็เพราะไม่ข้องแวะส่วนสุดทั้งสอง

กล่าวคือ ความย่อหย่อนและความฟุ้งซ่าน

๓. มหาฎีกาว่า ปุริมจิตแห่งอัปปนาจิต ก็คือ โคตรภูจิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 150

อยู่ในโคตรภูจิตนั้นให้สำเร็จ บัณฑิตพึงทราบว่า ( เป็นบริกรรม )

มาในอุปปาทะขณะแห่งปฐมฌานนั่นเอง โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็น

ข้อแรก

อนึ่ง เมื่อจิตนั้นหมดจดแล้วอย่างนั้น พระโยคาวจรไม่ ( ต้อง )

ทำความขวนขวายในการชำระ เพราะไม่มีอะไรจะต้องชำระอีก ชื่อว่า

เพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่หมดจดแล้ว เมื่อจิตดำเนินสู่สมถะโดยเข้าถึง

ความเป็นสมถะแล้วพระโยคาวจรไม่ ( ต้อง ) ทำความขวนขวายใน

การสมาทานอีก ชื่อว่าเพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งจิตที่ดำเนินสู่สมถะแล้ว และ

เมื่อจิตนั้นละความระคนด้วยสังกิเลสแล้ว ตั้งมั่นอยู่โดยความเป็นหนึ่ง

เพราะความที่เป็นจิตดำเนินสู่สมถะแล้วนั่นเอง พระโยคาวจรไม่ ( ต้อง )

ทำความขวนขวายในอันตั้ง ( จิต ) ไว้มั่นโดยความเป็นหนึ่งอีก ชื่อว่า

เพ่งดูอยู่เฉยๆ ซึ่งความตั้งมั่นโดยความเป็นหนึ่ง ( แห่งจิต ) อุเปกฺขา-

นุพฺรูหนา บัณฑิตพึงทราบโดยว่าเป็นกิจแห่ง ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกขา โดย

นัยดังกล่าวมาฉะนี้

อนึ่ง ยุคนัทธธรรม ( ธรรมคู่ ดุจคู่โคที่เขาจับเทียมแอกเข้าด้วย

กัน ) กล่าวคือ สมาธิกับปัญญา ที่เกิดในฌานจิตนั้น อันอุเบกขาพอกพูน

แล้วอย่างนี้เหล่านั้นใด เป็นธรรมไม่ล่วงเลยกันและกัน ( คือ เสมอกัน )

เป็นไปแล้วก็ดี อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นอาทิ เหล่าใดเป็นคุณมีรส

อันเดียว โดยรสคือวิมุติ เพราะหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆเป็นไปแล้ว

ก็ดี พระโยคาวจรนั้นยังความเพียรใดอันควรแก่ภาวะนั้น คือควรแก่ภาวะ

คือ ความไม่เป็นไปล่วงเลยแห่งธรรมเหล่านั้น และความเป็นคุณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 151

มีรสอันเดียว ( แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ) ให้เป็นไปก็ดีอาเสวนา ( ความ

คล่อง ) แห่งฌานจิตนั้นใดเป็นไปแล้วในขณะนั้นก็ดี* อาการทั้งปวง

นั้นชื่อว่าสำเร็จ เพราะเป็นอาการที่พระโยคาวจรเห็นโทษและอานิสงส์

นั้นๆ ในเพราะความเศร้าหมอง และความผ่องแผ้ว ด้วยญาณแล้ว

ยังจิตให้ร่าเริงคือให้หมดจด ให้ผ่องแผ้วได้โดยอาการนั้นๆ เพราะ

เหตุใด เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า สมฺปหํสนา บัณฑิตพึงทราบ

โดยว่าเป็นความสำเร็จกิจแห่งญาณอันทำให้ผ่องแผ้ว โดยยังภาวะคือ

" ความไม่เป็นไปล่วงเลยกันแห่งธรรมทั้งหลายเป็นอาทิให้สำเร็จ " ดังนี้

เพราะเหตุที่ในภาวนาจิตนั้น ญาณย่อมปรากฏด้วยอำนาจแห่ง

อุเบกขา ดังพระบาลีว่า พระโยคาวจรย่อมเพ่งดูอยู่เฉยๆ ด้วยดีซึ่งจิต

ที่ยกขึ้น ( ด้วยวิริยสัมโพชฌงค์ ) อย่างนั้นแล้ว ปัญญินทรีย์

ย่อมเป็นคุณมีประมาณยิ่งด้วยอำนาจแห่งอุเบกขาและด้วยอำนาจแห่ง

ปัญญา จิตย่อมพ้นจากกิเลสอันมีสภาพต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งอุเบกขา

ปัญญินทรีย์ย่อมเป็นคุณมีประมาณยิ่งด้วยอำนาจแห่งความพ้น และ

ด้วยอำนาจแห่งปัญญา เพราะพ้น ( จากกิเลสต่างๆ) แล้ว ธรรม

ทั้งหลายเหล่านั้น ( มีศรัทธาเป็นต้น ) ย่อมเป็นธรรมมีรสเป็นอันเดียว

* มหาฎีกาอธิบายว่า คำว่า "ในขณะนั้น" หมายความในภังคขณะ เพราะเมื่ออุปปาทขณะ

ล่วงไปแล้ว ตั้งแต่ฐิติขณะไป อาเสวนจึงเป็นไป อาเสวนก็คืออาการที่เป็นไปแห่ง

ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นส่วนอาเสวนปัจจัย

ในมหาฎีกาภาค ๑ หน้า ๑๒๐ แก้ศัพท์ อาเสวนา ไว้ว่า...สมาธิสฺส อาเสวนาย

ปคุณพลวภาวาย สํวตฺตนฺติ... (ศีลอย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่ออาเสวน คือเพื่อความมี

กำลังด้วยความคล่องแห่งสมาธิ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 152

เพราะอรรถคือความมีรสเป็นอันเดียว ( แห่งธรรมเหล่านั้น ) ภาวนา

จึงมี " ดังนี้ เพราะเหตุนั้น สมฺปหํสนา อันเป็นกิจแห่งญาณ ท่าน

จึงกล่าวว่า เป็นที่สุด ( แห่งปฐมฌาน )

บัดนี้พึงทราบวินิจฉัยในปาฐะว่า " ปฐมํ ฌานํ อธิคตํ โหติ

ปฐวีกสิณํ " ( ปฐมฌานปฐวีกสิณเป็นอันพระโยคาวจรได้บรรลุแล้ว )

นี้ ( ต่อไป )

[ปฐมฌาน]

ฌานนี้ชื่อว่าปฐม เพราะมีลำดับแห่งจำนวน บ้างว่า ชื่อว่าปฐม

เพราะเกิดขึ้นเป็นทีแรก คุณอันนี้ได้ชื่อว่าฌาน เพราะเข้าไปเพ่ง

อารมณ์ หรือว่าเพราะเผาเสียซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึก ส่วนวงดิน

ท่านเรียกว่า ปฐวีกสิณ เพราะหมายถึงดินทั่วไป แม้นิมิตที่พระโยคาวจร

อาศัยวงดินนั้นได้ขึ้นก็เรียกปฐวีกสิณ ถึงฌานที่ได้ในเพราะนิมิตก

็เรียกว่าปฐวีกสิณ ในอรรถว่าแห่งปฐวีกสิณ ๓ อย่างนั้น ในอรรถ

นี้บัณฑิตพึงทราบว่า ฌานชื่อว่าปฐวีกสิณ ปาฐะว่า " ปฐมํ ฌานํ

อธิคตํ โหติ ปฐวีกสิณํ " นั้นท่านกล่าวหมายเอาอรรถนี้

ก็แลครั้นได้บรรลุฌานอย่างนี้แล้ว พระโยคีนั้นพึงกำหนดจับ

อาการทั้งหลายในฌานนั้นให้ได้ เยี่ยงนักยิงขนทรายและพ่อครัว

ฉะนั้น อันนายขมังธนูผู้ชาญฉลาด ทำงานในการยิงขนทรายอยู่ ยิง

ถูกขนทรายในวาระใด พึงกำหนดจับอาการแห่งเท้าที่เหยียบยัน แห่ง

* สกลฏฺเฐน คือมิได้เจาะจงเอาเอกเทสแห่งดินเป็นอารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 153

คันธนู แห่งสายธนู และแห่งลูกธนู ในวาระนั้นว่า เรายืนด้วยอาการ

อย่างนี้ จับคันธนูอย่างนี้ จับสายธนูอย่างนี้ จับลูกธนูอย่างนี้ จึงยิง

ถูกขนทราย ดังนี้แต่นั้นไปเขาทำอาการเหล่านั้นให้ถูกท่าอย่างนั้นอยู่

จะพึงยิงขนทรายไม่พลาดได้ ฉันใด แม้พระโยคีก็ฉันนั้นแล ต้อง

กำหนดจับอาการทั้งหลายมีโภชนสัปปายะเป็นอาทิเหล่านี้ว่า " เรา

บริโภคโภชนะชื่อนี้แล้วคบบุคคลรูปนี้ อยู่ในเสนาสนะเช่นนี้ ได้

บรรลุฌานนี้โดยอิริยาบถท่านี้ในกาลนี้ " ดังนี้ ด้วยเมื่อกำหนดจับได้

อย่างนั้น ครั้นฌาน ( อ่อนๆ ) นั้นเสื่อมไปเสียก็ดี เธอก็จักอาจเพื่อ

จะทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมแล้วยังฌานนั้นให้เกิดขึ้นได้อีก เมื่อ

จะทำฌานนั้นอันยังไม่คล่องแคล่วให้คล่องแคล่วก็ดี เธอก็อาจจักทำให้

ถึงอัปปนาได้บ่อยๆ อนึ่ง เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้ฉลาด ปรนเปรอ

นายจ้างอยู่ นายจ้างบริโภคอาหารใดๆ ด้วยความพอใจ สังเกต

อาหารนั้นๆ ไว้แล้ว แต่นั้นไปก็น้อมนำอาหารอย่างนั้นแลเข้าไปให้

นายจ้างนั้น ย่อมได้รางวัล ฉันใด แม้พระโยคีนี้ก็ฉันนั้น จับอาการ

ทั้งหลายมีการบริโภคโภชนะเป็นต้นในขณะที่ได้บรรลุ ( ฌาน ) แล้ว

ทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมก็ย่อมเป็นผู้ได้อัปปนาบ่อยๆ

เพราะเหตุนั้น อาการทั้งหลาย ( ดังกล่าวมา ) พระโยคีนั้น ต้อง

กำหนดจับให้ได้ดุจนักยิงขนทราย และดุจพ่อครัวฉะนั้น จริงอยู่

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสความข้อนี้ไว้ว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลาย

พ่อครัวผู้ฉลาดเชี่ยวชาญพึงเป็นผู้ปรนนิบัติพระราชาบ้าง ราชมหา-

อำมาตย์บ้าง ด้วยแกงอันปรุงรสต่างๆ คือรสค่อนข้างเปรี้ยวบ้าง รส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 154

ค่อนข้างขมบ้าง รสค่อนข้างเผ็ดบ้าง รสค่อนข้างหวานบ้าง รสกร่อย

บ้าง รสชืดบ้าง รสเค็มบ้าง รสจืดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัว

ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญนั้นแล ย่อมเรียนอาการ แห่งนายจ้างของตน

ว่า " วันนี้แกงนี้ชอบใจนายจ้างของเรา หรือว่า นายจ้างของเรายื่น

( มือ ) จำเพาะเพื่อแกงนี้ หรือว่านายจ้างของเราตักแกงนี้มาก หรือว่า

นายจ้างของเราชมแกงนี้ หรือว่าวันนี้แกงรสเปรี้ยวชอบใจนายจ้าง

ของเรา หรือว่านายจ้างของเรายื่น ( มือ ) จำเพาะเพื่อแกงรสเปรี้ยว

หรือว่านายจ้างของเราตักแกงรสค่อนข้างเปรี้ยวมาก หรือว่านายจ้าง

ของเราชมแกงรสค่อนข้างเปรี้ยว ฯลฯ หรือว่านายจ้างของเราชมแกง

รสจืด "* ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้ฉลาดเชี่ยวชาญนั้นแล ย่อมเป็น

ผู้ได้เครื่องนุ่งห่ม ได้บำเหน็จและได้รับคำยกย่อง นั่นเพราะเหตุไร

เพราะพ่อครัวผู้ฉลาดเชี่ยวชาญนั้น เรียนนิมิต (อาการ) แห่งนายจ้าง

ของตนไว้ได้ดังกล่าวนั้น ฉันใดก็ดี ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้บัณฑิต

เฉลียวฉลาดลางรูปในธรรมวินัยนี้ตามดูกายในกายอยู่ ตามดูเวทนา

ในเวทนาท้งั หลายอยู่ ตามดูจิตในจิตอยู่ ตามดูธรรมในธรรมทั้งหลาย

อยู่ พึงเป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ

โทมนัสในโลกเสียได้ เมื่อเธอตามดูกายในกาย ตามดูเวทนาในเวทนา

ทั้งหลาย ตามดูจิตในจิต ตามดูธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมเป็น

สมาธิ อุปกิเลสทั้งหลายเธอละได้ เธอก็เรียนอาการนั้นไว้ ภิกษุ

* ต่อนี้น่าจะกล่าวความว่า ตั้งแต่นั้นพ่อครัวก็น้อมนำแต่แกงที่นายจ้างชอบเข้าไปตั้ง

ให้ ดังนี้แล้วจึงถึงตอนได้รางวัลต่อไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 155

ทั้งหลาย ภิกษุผู้บัณฑิตเฉลียวฉลาดนั้นแล ย่อมเป็นผู้ได้ทิฏฐธรรม-

สุขวิหาร (ฌาน) ทั้งหลาย ได้สติสัมปชัญญะ นั่นเพราะเหตุไร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุผู้บัณฑิตเฉลียวฉลาดนั้นเรียนนิมิตแห่งจิต

ของตนไว้ได้ดังกล่าวนั้น๑" ดังนี้

ก็แล เมื่อพระโยคีนั้นใช้วิธีจับอาการ ( แห่งจิตของตนเป็นร่อง

รอย ) ทำอาการเหล่านั้นให้ถึงพร้อมได้อีก ก็ชั่วแต่อัปปนา สำเร็จ

ความตั้งอยู่นานหามีไม่ อันความตั้งอยู่นานจะมีได้ก็เพราะธรรม

ทั้งหลายที่เป็นข้าศึกแห่งสมาธิถูกชำระไปอย่างดีแล้ว แท้จริงภิกษุใด

มิได้ข่มกามฉันท์เสียอย่างดีด้วยปัจจเวกขณวิธีมีพิจารณาโทษของกาม

เป็นต้น มิได้บรรเทาถีนมิทธะเสียอย่างดีด้วยอำนาจแห่งมนสิการ-

ปัสสัทธิ๒ มิได้บรรเทาถีนมิทธะเสียอย่างดีด้วยอำนาจแห่งกาย-

วิธีมีมนสิการถึงอารัมภธาตุ (ธาตุริเริ่ม) เป็นต้น มิได้ทำอุทธัจจ-

กุกกุจจะให้ถอนขึ้นเสียอย่างดีด้วยอำนาจแห่งมนสิการวิธีมีมนสิการถึง

สมถะนิมิตเป็นต้น มิได้ชำระธรรมที่เป็นข้าศึกแห่งสมาธิอื่นๆ อีก

เสียด้วยดีแล้วเข้าฌาน ภิกษุนั้นจะออก ( จากฌาน ) เร็วโดยแท้

ดังแมลงภู่ที่เข้าสู่ ( ปล่อง ) ที่อาศัยอันมิได้ทำให้หมดจด ย่อมออกมา

๑ นี่ก็เหมือนกัน น่าจะมีเปยยาลอะไรตกหล่นอยู่บ้าง ถ้าเราไม่ได้อ่านคำพรรณนา

เรื่องนี้มาก่อน มาอ่านพระบาลีนี้ทีเดียว ก็แทบจะเข้าใจไม่ถึง ว่าท่านหมายความอย่างนี้

๒ ในที่นี้ท่านกล่าว กายทุฏฐุลละ ในที่แห่งพยาบาท (หรือปฏิฆะ) ชอบกลอยู่ มหา-

ฎีกาว่า กายทุฏฐุลละ (ซึ่งแปลในที่นี้ว่า กายส่วนที่หยาบนั้น) คือความกระวนกระวายแห่ง

กาย หรือความที่กายกระสับกระส่าย พยาบาทนิวรณ์เป็นเหตุแห่งความกระสับกระส่าย

ทั้งทางกายละทางจิต เพราะฉะนั้น กล่าวกายทุฏฐุลละแล้วก็ไม่ต้องกล่าวพยาบาท

(เพราะถ้าข่มพยาบาทไม่ได้ กายปัสสัทธิก็ไม่ได้ ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 156

เร็ว และดังพระราชาผู้เสด็จเข้าสู่อุทยานอันไม่สะอาด ย่อมเสด็จออก

โดยเร็ว ฉะนั้นส่วนภิกษุใดยังธรรมทั้งหลายที่เป็นข้าศึกแห่งสมาธิ

ให้หมดจดด้วยดีแล้วเข้าฌาน ภิกษุนั้นจะอยู่ภายในสมาบัติได้ตลอด

ทั้งวัน ดังแมลงภู่เข้าสู่ ( ปล่อง ) ที่อาศัยอันทำให้หมดจด ( อยู่ภายใน

ปล่องที่อาศัยได้นาน ) และดังพระราชาผู้เสด็จเข้าสู่อุทยานที่สะอาดดี

( เสด็จอยู่ในอุทยานนั้นนาน ) ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระโบราณจารย์

ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

"พระโยคาวจรพึงถ่ายถอนเสียซึ่งฉันทะในกาม

ทั้งหลาย ซึ่งปฏิฆะ ซึ่งอุทธัจจะ ( กุกกุจจะ )

และ ( ถีนะ ) มิทธะ ครบ ๕ ทั้งวิจิกิจฉา

( เข้าฌาน ) มีใจอันทำความบันเทิงในวิเวก

ยินดีอยู่ในฌานนั้น ดุจพระราชาผู้เสด็จไปสู่

อุทยานอันสะอาดทั่วถึงแล้ว ทรงยินดีอยู่ใน

อุทยานนั้น ฉะนั้น"

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้ปรารถนาความตั้งอยู่นาน ( แห่งฌาน )

พึงยังธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลายให้หมดจดแล้วจึงเข้าฌานเถิด

อนึ่ง เพื่อความไพบูลย์แห่งจิตตภาวนา พระโยคาวจรพึงขยาย

( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตตามที่ได้ไว้แล้ว ภูมิแห่งการขยายปฏิภาคนิมิต

นั้นมี ๒ คือ ( ชั้น ) อุปจารก็ได้ ( ชั้น ) อัปปนาก็ได้ แท้จริง แม้นถึง

( ชั้น ) อุปจารแล้วจะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นก็ควร แต่แม้นถึง ( ชั้น )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 157

อัปปนาแล้ว ก็จำต้องขยายในฐานะ ( จุด ) หนึ่งเป็นแน่แท้ เพราะ

เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า " พึงขยาย ( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตตามที่ได้

ไว้แล้ว "

( ต่อไป ) นี้เป็นนัยในการขยายปฏิภาคนิมิตนั้น พระโยคีนั้น

ไม่พึงขยายนิมิตนั้นโดยทำนองขยายบาตร ( ดิน ) ทำนองขยายขนม

ทำนองขยายข้าว ทำนองขยายตัวแห่งเถาวัลย์และทำนองขยายผ้า พึง

นึกกำหนด ( ขยาย )ขนาดแห่งนิมิตที่ได้ไว้อย่างไรนั้นว่า ( จงขยาย )

ประมาณ ๑ องคุลี ๒ องคุลี ๓ องคุลี ๔ องคุลี ... โดยลำดับ แล้วจึงขยาย

เท่าที่กำหนดไว้ หากมิได้กำหนด ( ดังกล่าว ) ไม่ควรขยาย เปรียบ

เหมือนชาวนา กำหนดที่ๆ จะพึงไถด้วย ( รอย ) ไถแล้วจึงไถไปภายใน

ที่กำหนดไว้ ฉะนั้น อนึ่งเหมือนภิกษุทั้งหลายจะผูกสีมา กำหนด

นิมิตทั้งหลายก่อนแล้วจึงผูกภายหลัง ฉะนั้น แต่นั้นเมื่อจะขยาย

( ต่อไป ) ก็พึงกำหนดโดยขนาดคืบ ๑ ศอก ๑ เท่าบริเวณด้านหน้า

( แห่งวิหาร ) เท่าแดนวิหาร และแล้ว เท่าแดนหมู่บ้าน แดนนิคม

แดนชนบท แดนราชอาณาเขต และแดนสมุทร หรือโดยขนาดเท่า

จักรวาล หรือแม้ยิ่งกว่านั้น ก็ขยายไปได้ เปรียบเหมือนลูกหงส์๑

ตั้งแต่กาลที่ ( ขน ) ปีกงอกไป ( มันหัด ) โผไปทีละน้อยๆ กล้าแข็ง

เข้า ก็ ( บิน ) ไปสู่ที่ใกล้พระจันทร์พระอาทิตย์ได้โดยลำดับ ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกำหนด ( ขนาด ) แล้วขยายนิมิตไปโดย

นัยที่กล่าวแล้ว ก็ย่อมขยายไปจนเท่าขนาดจักรวาล หรือยิ่งกว่านั้นได้

๑. มหาฎีกาแก้ว่า ชวนหํสโปตกา ลูกหงส์พันธ์ที่บินเร็ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 158

ทีนี้นิมิตนั้นย่อมเป็น ( ปรากฏ ) แก่เธอ ดุจหนังโคตัวผู้ที่ถูกสับด้วยขอ

ตั้ง ๑๐๐ ( แผล ) ในเพราะที่สูงๆ ต่ำๆ เป็นแม่น้ำเป็นหล่มเลน เป็น

ภูเขาขรุขระแห่งแผ่นดินในที่ๆ ขยายไปๆ

ก็แลพระอาทิกัมมิกะ ( โยคาวจร ) ผู้ได้ปฐมฌานในเพราะนิมิต

นั้นแล้ว พึงเป็นผู้เข้า ( ฌาน ) ให้มาก ไม่พึงปัจจเวกขณ์มาก เพราะ

เมื่อเธอปัจจเวกขณ์มากไป องค์ฌานทั้งหลายจะปรากฏเป็นหยาบ

และมีกำลังเพลา* ทีนี้ เพราะปรากฏเสียอย่างนั้นแล้ว องค์ฌาน

เหล่านั้นก็จะไม่สำเร็จเป็นปัจจัยแห่งความขวนขวายในเบื้องสูงของเธอ

( ต่อไป ) เธอขวนขวายไปในฌานอันไม่คล่องแคล่ว ( ในการเข้า ก็

กลับ ) จะเสื่อมจากปฐมฌาน และไม่อาจบรรลุทุติยฌานได้เสียด้วย

เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เปรียบเหมือนแม่โคที่หากินบนภูเขา ( แต่มัน ) เป็นสัตว์โง่เซอะ ไม่รู้

จักเขต ( ที่จะไปได้ไม่ได้ ) ไม่ฉลาดที่จะเที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระ

มันมีความรำพึงไปว่า ไฉนมันจะได้ไปทางทิศที่ไม่เคยไปบ้าง จะ

ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกินบ้าง จะได้ดื่มน้ำดื่มที่ไม่เคยดื่มบ้าง ดังนี้แล้ว

มัน ( จะออกเดินไป ) ยังมิได้ตั้งเท้าหน้าให้มั่นยกเท้าหลังขึ้น มัน

( ก็จะพลาด ) ไม่ได้ไปทางทิศที่ไม่เคยไปด้วย ไม่ได้กินหญ้าที่ไม่เคย

กินด้วย ไม่ได้ดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่มด้วย ทั้งไม่ได้กลับไปสู่ที่ๆ มันยืน

รำพึงว่าไฉนมันจะได้ไปทางทิศที่ไม่เคยไป ฯลฯ โดยสวัสดีด้วย นั่น

* มหาฎีกาว่า หยาบเพราะปัจจเวกขณ์เสียจนชัด กำลังเพลาเพราะไม่เชี่ยวชาญ

(ในการเข้า )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 159

เพราะเหตุอะไร ภิกษุทั้งหลาย เพราะแม่โคนั้นเป็นสัตว์หากินบน

ภูเขา แต่โง่เซอะไม่รู้จักเขต ไม่ฉลาดที่จะเที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระ

ฉันใดก็ดี ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุลางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน เป็นคนโง่งุ่มง่ามไม่รู้จักเขต ( แห่งภาวนา ) ไม่ฉลาดที่จะ

สงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่ เธอไม่ส้องเสพ

ไม่เจริญ ไม่ทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น และไม่ตั้งนิมิตนั้นไว้ให้มั่นดี

แล้ว จะมีความคิดรำพึงว่า ไฉนหนอเราจะพึงเข้าถึงทุติยฌาน ฯลฯ

เพราะวิตกวิจารสงบไปอยู่ ดังนี้ เธอก็ไม่อาจเข้าถึงทุติยฌาน ฯลฯ

เพราะวิตกวิจารสงบไปอยู่ได้ ( ครั้นเข้าทุติยฌานไม่ได้ ) เธอจะ ( หวน )

รำพึงว่า ไฉนหนอเราจะพึงสงัดจากกามทั้งหลายแล้ว ฯลฯ เข้า

ถึงปฐมฌาน อยู่ ดังนี้ เธอก็หาอาจที่จะสงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ

เข้าถึงปฐมฌาน ... อยู่ได้ไม่ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่าพลาด

ทั้งสองข้าง เสื่อมทั้งสองทาง เปรียบเหมือนแม่โคตัวนั้นที่หากินบน

ภูเขา แต่โง่เซอะซะไม่รู้จักเขต ไม่ฉลาดที่จะเที่ยวไปบนภูเขาอันขรุขระ

ฉะนั้น*ดังนี้ เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรนั้นพึงเป็นผู้บำเพ็ญวสี ( ความ

ชำนาญ ) โดยอาการ ๕ ในปฐมฌานนั้นแลก่อน

[วสี ๕]

ในอาการเหล่านั้น นี้ วสี ๕ คือ

อาวัชชนวสี ชำนาญในการนึกหน่วง

* นวกังคุตตระ ๒๓/๔๓๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 160

สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้า

อธิฏฐานวสี ชำนาญในการดำรงอยู่

วุฏฐานวสี ชำนาญในการออก

ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณา ( ทบทวน )

พระโยคาวจรนึกหน่วงเอาปฐมฌานได้ในสถานที่ๆ ต้องการ ใน

กาลที่ต้องการ ในระยะ ( ชวนวาร ) ที่ต้องการ ความชักช้าแห่งการ

นึกหน่วงหามีไม่ เพราะฉะนั้น อาการเช่นนั้นจึงชื่อ อาวัชชนวสี

( ชำนาญในการนึกหน่วง ) พระโยคาวจรเข้าปฐมฌานได้ในสถานที่ ๆ

ต้องการ ฯลฯ ความชักช้าแห่งการเข้าหามีไม่ เพราะฉะนั้น อาการ

เช่นนั้นจึงชื่อว่าสมาปัชชนวสี ( ชำนาญในการเข้า ) แม้วสีที่เหลือ ก็

พึงขยายความโดยนัยเดียวกันนี้

( ต่อไป ) นี้เป็นคำชี้แจงในวสี ๕ นั้น เมื่อใดพระโยคาวจรอาจ

ส่งจิตไปในองค์ฌาน ๕ มิให้มีระหว่าง ( วิสภาคารมณ์เกิดขึ้น ) ได้

อย่างนี้คือ เมื่อเธอออกจากปฐมฌานแล้วนึกหน่วงเอาวิตกเป็นวาระ

แรก ชวนะอันมีวิตกเป็นอารมณ์นั้นแลแล่นไป ๔ หรือ ๕ วาระใน

ลำดับแห่งอาวัชชนะที่ตัดภวังค์เกิดขึ้น แต่นั้นภวังค์ ( เกิด ) ๒ วาระ

ต่อนั้นอาวัชชนะอันมีวิจารณ์เป็นอารมณ์ ( ตัดภวังค์เกิดขึ้น ) อีก ( แล้ว )

ชวนะ ( ก็แล่นไป ) โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล เมื่อนั้นอาวัชชน-

วสีก็เป็นอันสำเร็จแก่เธอ ก็แล วสีนี้ที่ถึงความเป็นยอด ได้มีในยมก

ปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือของท่านผู้อื่น ( มีพระธรรม

เสนาบดีเป็นอาทิ ) ในกาล ( แสดงปาฏิหาริย์ทันทีทันใด )เช่นนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 161

ขึ้นชื่อว่าอาวัชชนวสีรวดเร็วยิ่งกว่านี้หามีไม่* ส่วนความเป็นผู้สามารถ

ในการเข้า ( ฌาน ) ได้เร็วดุจการเข้าเมื่อครั้งทรมานนันโทปนันท-

นาคราช แห่งท่านพระมหาโมคคัลลานะ ชื่อว่าสมาปัชชนวสี ความ

เป็นผู้สามารถที่จะยั้ง ( ฌาน ) ไว้ได้ขณะหนึ่ง ชั่วลัดนิ้วมือทีเดียวก็ดี

ชั่วลัดนิ้วมือ ( อย่างมาก )ถึง ๑๐ ทีก็ดี ชื่อว่า อธิฏฐานวสี ความ

เป็นผู้สามารถที่จะออก ( จากฌาน ) ได้เร็วเช่นเดียวกันนั้นชื่อว่า วุฏ-

ฐานวสี

เพื่อที่จะแสดง ( ตัวอย่าง ) อธิฏฐานวสีและวุฏฐานวสีทั้ง ๒ อย่าง

นั้น เล่าเรื่องพระพุทธรักขิตเถระ ( มาสาธก )ก็ควร

มีเรื่องเล่าว่า ท่านองค์นั้น แต่อุปสมบทได้ ๘ พรรษา

( วันนั้น ) นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุผู้มีฤทธิ์ประมาณ ๓๐,๐๐๐ รูป ผู้มา

อุปฐากไข้พระมหาโรหณคุตตเถระที่เถรัมพัตถละ ( วิหาร ) เห็นพญา

ครุฑถาโถมลงมาแต่อากาศหมายจักจับพญานาค ( จำแลง ) ผู้เป็น

อุปฐาก ซึ่งกำลังประเคนข้าวยาคูแด่พระเถระอยู่ ก็นิรมิตภูเขาขึ้นแล้ว

ใช้แขนโอบเอาพญานาคเข้าไปใน ( ช่อง ) เขานั้นเสียทันใด พญา

ครุฑปะทะภูเขาเข้าก็หนีไป พระมหาเถระจึงกล่าวขึ้นว่า " อาวุโส

ทั้งหลาย ถ้าพุทธรักขิตจักไม่มีอยู่แล้วไซร้ พวกเราทุกคนก็จักเป็นผู้

ถูกตำหนิ " ดังนี้

ส่วนปัจจเวกขณวสี เป็นอันกล่าวแล้วด้วยอาวัชชนวสีนั่นเอง

* มหาฎีกาว่า อาวัชชนวสี ของท่านผู้อื่นนั้นถึงแม้จะรวดเร็ว แต่ก็ชั่วกาลอันสั้น ไม่

เหมือนของพระศาสดาดังในคราวยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งทรงทำได้ต่อกันไปนาน เป็น

อสาธารณปาฏิหาริย์ ไม่มีผู้ใดทำได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 162

เพราะว่าชวนะทั้งหลาย อันเป็นลำดับแต่อาวัชชนะในอาวัชชนวสีนั้น

ก็คือชวนะในปัจจเวกขณนั่นแล

[ทุติยฌาน]

ก็แลพระโยคาวจรผู้บำเพ็ญวสีในวสี ๕ นี้ ออกจากปฐมฌาน

อันคล่องแคล่วแล้ว เห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า สมาบัตินี้มีข้าศึก

คือนิวรณ์อยู่ใกล้ และว่าสมาบัตินี้ยังมีองค์ทรามกำลัง เพราะความ

ที่วิตกวิจารยังเป็นธรรมหยาบ ดังนี้แล้ว พึงทำในใจถึงทุติยฌานโดย

ว่าเป็นธรรมละเอียด ปล่อยวางความพอใจในปฐมฌาน ทำโยคะ

( ความเพียร ) เพื่อบรรลุทุติยฌาน ( ต่อไป )

ครั้นเมื่อพระโยคาวจรนั้นออกจากปฐมฌานแล้ว มีสติสัม-

ปชัญญะปัจจเวกขณ์องค์ฌานทั้งหลายอยู่ วิตกวิจารปรากฏโดยความ

เป็นองค์หยาบ ปีติ สุข และเอกัคคตาปรากฏโดยความเป็นองค์

ละเอียดในกาลใด ในกาลนั้นเมื่อเธอทำในใจแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งนิมิต

นั้นนั่นแล โดยบริกรรมว่า ปฐวี ปฐวี ดังนี้ เพื่อละองค์หยาบ และ

เพื่อได้องค์ละเอียดอยู่ ขณะที่ปรากฏว่าทุติยฌานจักเกิดขึ้น มโน-

ทวารวัชชนะย่อมตัดภวังค์ทำปฐวีกสิณนั่นเองเป็นอารมณ์เกิดขึ้น ต่อ

นั้นชวนะ ๔ หรือ ๕ ดวงย่อมแล่นไปในอารมณ์นั้นแล ซึ่งดวงหนึ่ง

ในที่สุด เป็นรูปาวจรจิตมีทุติยฌานดวงที่เหลือเป็นกามาวจรจิต

มีประการดังกล่าวแล้ว ( ในตอนปฐมฌาน มีบริกรรมจิตเป็นต้น ) แล

ก็ด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้นชื่อว่าเข้าถึง

ฌานที่ ๒ อันผ่องใสภายใน มีความที่ใจเป็นหนึ่ง ไม่มีวิตกไม่มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 163

วิจารไม่มีวิตก เพราะวิตกวิจารระงับไป มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่

สมาธิอยู่ ด้วยประการฉะนี้ ทุติยฌานปฐวีกสิณอันละองค์ ๒ ประกอบ

ด้วยองค์ ๓ งาม ๓ ประการ พร้อมไปด้วยลักษณะ ๑๐ ก็เป็นอัน

พระโยคาวจรนั้นได้บรรลุแล้ว

[ แก้อรรถแห่งทุติยฌานปาฐะ ]

( แก้ วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา )

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา นั้น

ความว่า เพราะระงับไป คือเพราะล่วงเลยไป แห่งองค์ ๒ นี้ คือ วิตก ๑

วิจาร ๑ มีอธิบายว่า เพราะความที่องค์ ๒ นั้น ไม่ปรากฏในขณะ

แห่งทุติยฌาน แม้ว่าธรรมในปฐมฌานทั้งสิ้นย่อมไม่มีในทุติยฌาน

แท้จริงธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นอาทิ ในปฐมฌานเป็นอย่างหนึ่ง ใน

ทุติยฌานนี้ก็อย่างหนึ่งโดยแท้ ถึงกระนั้นก็พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาค

เจ้าตรัสคำว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ดังนี้ไว้ในทุติยฌานปาฐะนั้น

ก็เพื่อแสดงว่า เพราะองค์หยาบๆ ล่วงไป ความบรรลุฌานที่ยิ่งกว่า

ปฐมฌานขึ้นไป มีทุติยฌานเป็นต้นจึงจะมีได้

[ แก้ อชฺฌตฺตํ ]

บท อชฺฌตฺตํ ในที่นี้หมายเอาภายในตน ส่วนวิภังค์กล่าว

ไว้ว่า "อชฺฌตฺตํ คือจำเพาะตน" เท่านี้เอง ก็เพราะหมายเอา

ภายในตน เพราะฉะนั้น ความในบท อชฺฌตฺตํ นี้จึงมีดังนี้ว่า เกิด

แก่ตน หรือว่าเกิดในตน เกิดในสันดานแห่งตน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 164

( แก้ สมฺปสาทนํ )

บท สมฺปสาทนํ มีวินิจฉัยว่า ศรัทธาท่านเรียกว่า สัมปสาทนะ

แม้ฌานก็เรียกสัมปสาทนะ เพราะประกอบด้วยความใสผ่อง ดุจผ้า

ที่เรียกว่าผ้าเขียว ก็เพราะประกอบด้วยสีเขียว ฉะนั้น อีกนัยหนึ่ง

เพราะเหตุที่ฌานนั้นย่อมยังใจให้ใสผ่อง เพราะตัวเองก็ประกอบไป

ด้วยความผ่องใสด้วย เพราะความกำเริบ ( แห่งจิต ) ด้วย วิตกวิจาร

ระงับไปด้วย เพราะเหตุนั้นประการหนึ่ง ฌานนั้นท่านเรียกว่า

" สัมปสาทนะ " ( เครื่องยังใจให้ผ่องใส ) ก็แลในอรรถวิกัปนี้

ปราชญ์พึงทราบบทสัมพันธ์ดังนี้ว่า สมฺปสาทนํ เจตโส (ทุติยฌาน

เครื่องยังใจให้ใสผ่อง) ส่วนในอรรถวิกัปก่อน บทว่า เจตโส นั้น

พึงประกอบเข้ากับอโกทิภาวศัพท์

( แก้ เจตโส เอโกทิภาวํ )

( ต่อไป ) นี้เป็นอรรถโยชนา ( คำประกอบความ ) ในเอโกทิภาว-

ศัพท์นั้น ธรรมใดเป็นหนึ่งผุดขึ้น เหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อ เอโกทิ

หมายความว่า เป็นเลิศ เป็นใหญ่ผุดขึ้น เพราะไม่ถูกวิตกวิจารขึ้น

ครอบงำ แท้จริง คนผู้เป็นใหญ่ก็เรียกได้ว่าผู้เป็นหนึ่งในโลก หรือ

จะกล่าวว่า "คนผู้ไร้จากวิตกวิจารแล้ว ก็เป็นหนึ่ง คือไม่มีสหาย"

ดังนี้บ้างก็ได้ อีกนัยหนึ่ง ธรรมใดยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้อุทัย

เหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่า อุทิ หมายความว่า ยังสัมปยุตธรรมให้ตั้ง

ขึ้น ธรรมนั้นเป็นเอก ด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ด้วย เป็นอุทิด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 165

เหตุนั้นธรรมนั้นจึงชื่อว่า เอโกทิ คำว่า เอโกทิ นี้ เป็นชื่อแห่งสมาธิ

ทุติฌานนี้ยังเอโกทินี้ให้มี คือให้เจริญ เหตุนั้น ทุติยฌานนั้นจึงชื่อว่า

เอโกทิภาวะ ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เอโกทินี้นั้น เพราะเหตุที่เป็น

ธรรมสำหรับใจ มิใช่สำหรับสัตว์ มิใช่สำหรับชีวะ เพราะเหตุนั้นจึง

ตรัสคำนี้ (ประกอบเจตโสไว้ด้วย) ว่า เจตโส เอโกทิภาวํ ดังนี้

ถามว่า " ก็ศรัทธานี้ และสมาธิอันได้ชื่อว่า เอโกทิ นี้ ถึง

ในปฐมฌานก็มีอยู่มิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนจึงตรัสแต่

ทุติยฌานนี้ว่าเป็นสัมปสาทนะ และเป็นเจตโสเอโกทิภาวะเล่า ? "

เฉลยว่า " บัณฑิตพึงทราบว่า เพราะปฐมฌานโน่นยังไม่

ผ่องใสดี เพราะยังกำเริบอยู่ด้วยวิตกวิจาร ดุจดัง ( ท้อง )น้ำอัน

ป่วนอยู่ด้วยละลอกคลื่น ฉะนั้น๑ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ศรัทธามี

อยู่ ท่านก็ไม่เรียกสัมปสาทนะ และเพราะยังไม่ผ่องใสดีนั่นแหละ

แม้สมาธิในปฐมฌานนี้ก็ยังไม่ชัดเจนดี๒ เหตุนั้น ท่านจึงไม่เรียกว่า

เอโกทิภาวะด้วย แต่ในทุติยฌานนี้ ศรัทธาได้ช่อง เพราะไม่มีวิตกวิจาร

เป็นกังวล จึงมีกำลัง และเพราะได้พลวศรัทธาเป็นสหายนั่นเอง แม้

สมาธิเล่าก็ชัดเจน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวแต่ทุติยฌานนี้เท่านั้น

ว่าเป็นอย่างนั้น " ส่วนในวิภังค์กล่าวไว้แต่ว่า " ศรัทธาอันใด ความ

เชื่อ ความปลงใจ ความเลื่อมใสยิ่งอันใด อันนั้นชื่อว่า สัมปสาทนะ

๑. มหาฎีกาให้ความรู้รอบตัวไว้ว่า ขุทฺทกา อุมฺมิโย วีจิโย มหติโย ตรงฺคา คลื่น

เล็กเรียกว่า วีจิ (ละลอก) คลื่นใหญ่ เรียกว่า ตรังคะ

๒. มหาฎีกาช่วยคิดอุปมาให้ว่า พหเล วิย ชเล มจฺโฉ เหมือนปลกในน้ำลึก (มอง

เห็นไม่ชัด)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 166

ความตั้งอยู่แห่งจิตอันใด ฯลฯ สัมมาสมาธิอันใด อันนั้นชื่อ เจตโส

เอโกทิภาวะ" ดังนี้เท่านั้น ก็แลคำพรรณนาความ (แห่งปาฐะทั้ง

สองนี้) อย่างใดไม่ผิด เทียบเคียงกันได้ และลงกันได้แน่ ๆ กับวิภังค-

ปาฐะที่กล่าวมาดังนี้นั้น ก็พึงทราบอย่างนั้นเถิด

[ แก้ อวิตกฺกํ อวิจารํ ]

ปาฐะว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ มีอรรถาธิบายว่า ความตรึกไม่มี

ในทุติยฌานนั้น หรือว่า แก่ทุติยฌานนั้น เพราะความตรึกนั้นละไป

แล้วด้วยภาวนา เหตุนั้นทุติยฌานนั้นจึงชื่อ อวิตักกะ ( ไม่มีความตรึก )

ที่ชื่อว่าอวิจาระ ( ไม่มีความตรอง ) ก็พึงทราบ โดยนัย

เดียวกันนี้ แม้ในวิภังค์ก็กล่าวไว้ว่า " ทั้งวิตกและวิจารนี้เป็นธรรม

สงบระงับดับไปแล้ว ตกลับไปแล้ว เสื่อมหายไปแล้ว เหือดแห้ง

ไปแล้ว ถูกทำให้สุดสิ้นไปแล้ว เหตุนั้น ฌานนี้จึงเรียกว่า อวิตักกะ

อวิจาระ " ดังนี้

ในข้อนี้มีปัญหาว่า " ก็ความข้อ ( ที่ว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร

เพราะวิตกวิจารนั้นละไปแล้วด้วยภาวนา ) นี้ ก็เป็นอัน ( ได้ความ )

สำเร็จแม้ด้วยปาฐะว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ( เพราะวิตกวิจารระงับ

ไป ) นี้แล้วมิใช่หรือเมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนจึงตรัสคำว่า อวิตกฺกํ

อวิจารํ ( ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ) อีกเล่า ? "

ขอเฉลยว่า " ความข้อนี้เป็นอันสำเร็จแล้วด้วยปาฐะที่ว่าอย่าง

นั้นแท้ แต่ทว่า คำ ( ว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา )นั้นได้ส่องถึงแต่

ความ ( ที่ว่าไม่มีวิตกวิจารเท่า ) นั้นไม่ เราได้กล่าวแล้วมิใช่หรือว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 167

" ถึงกระนั้น ( ก็พึงทราบว่า )พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า วิตกฺก-

วิจารานํ วูปสมา ดังนี้ไว้ ก็เพื่อแสดงว่า เพราะองค์หยาบๆ ล่วง

ไป ความบรรลุฌานที่ยิ่งกว่าปฐมฌานขึ้นไปมีทุติยฌานเป็นต้น จึง

จะมีได้ " ดังนี้ เออ ก็คำ ( วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ) นี้เป็นคำแสดง

เหตุแห่งความที่ทุติยฌานเป็นสัมปสาทนะ และเป็นเอโกทิภาวะ อย่าง

นี้ คือ ทุติยฌานนี้เป็นสัมปสาทนะ เพราะความระงับไปแห่งวิตกวิจาร

ทั้งหลาย มิใช่ ( เพราะความระงับไป ) แห่งกิเลสอันฟุ้งขึ้นตามกาล

และเป็นเอโกทิภาวะก็เพราะความระงับไปแห่งวิตกวิจารทั้งหลายมิใช่

เพราะละนิวรณ์ได้ดังอุปจารฌาน และ ( มิใช่ ) เพราะความปรากฏ

แห่งองค์ฌานดังปฐมฌานดังนี้ด้วย อย่างเดียวกัน เป็นคำแสดงเหตุแห่ง

ความเป็นอวิตักกอวิจาระ อย่างนี้คือ ทุติยฌานนี้ชื่ออวิตักกะอวิจาระ

เพราะความระงับไปแห่งวิตกวิจารทั้งหลาย มิใช่เพราะความไม่มี

( วิตกวิจาร ) ดุจตติยฌานและจตุตถฌานและดุจวิญญาณมีจักษุ-

วิญญาณเป็นต้น*ดังนี้ด้วย หาเป็นคำแสดงแต่เพียงความไม่มีแห่ง

วิตกวิจารเท่านั้นไม่ส่วนคำ อวิตกฺกํ อวิจารํ นี้เป็นคำแสดงแต่

ความไม่มีแห่งวิตกวิจารเท่านั้น เพราะเหตุนั้น คำ อวิตกฺกํ อวิจารํ

นั้นแม้ตรัสคำหน้า ( คือ วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ) แล้ว ก็ต้องตรัส

อยู่นั่นแล

(แก้ สมาธิชํ ปีติสุขํ)

บทว่า สมาธิชํ ความว่า เกิดแต่สมาธิในปฐมฌาน หรือว่า แต่

สัมปยุตสมาธิ ( สมาธิประกอบกัน ) ในสมาธิ ๒ อย่างนั้น แม้ปฐม-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 168

ฌานก็เกิดแต่สัมปยุตสมาธิโดยแท้ แต่ถึงกระนั้นก็สมาธิ ( ในทุติย-

ฌาน ) นี้เท่านั้นควรเรียกว่าสมาธิ เพราะไม่หวั่นไหว และเพราะ

ผ่องใสดีอย่างยิ่ง โดยปราศจากความกำเริบแห่งวิตกวิจาร เพราะ

เหตุนั้น เพื่อสรรเสริญสมาธินี้จึงตรัสว่า สมาธิชํ แต่ทุติยฌานนี้

เท่านั้น

บทว่า ปีติสุขํ นี่ มีนัยดังกล่าวมาแล้ว บทว่า ทุติยํ คือ

ฌานนี้เป็นที่ ๒ เพราะมีลำดับแห่งจำนวน บ้างว่า ชื่อ ทุติยะ เพราะ

พระโยคาวจรเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๒

ส่วนคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า " ทุติยฌานละองค์ ๒ ประกอบ

ด้วยองค์ ๓ " ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำนั้น ( ต่อไป ) ความ

ที่ฌานนี้ละองค์ ๒ พึงทราบโดยที่ละวิตกวิจารได้ ก็แลนิวรณ์ทั้งหลาย

พระโยคาวจรละได้ในอุปจารขณะแห่งปฐมฌานเช่นใด วิตกวิจารหา

ละได้ในอุปจารขณะแห่งทุติยฌานนี้เช่นนั้นไม่ แต่ในอัปปนาขณะ

ฌานนี้เกิดขึ้นมาเว้นจากวิตกวิจารเหล่านั้นทีเดียว เหตุนั้น วิตกวิจาร

เหล่านั้นจึงเรียกว่าเป็นองค์ที่พึงละแห่งทุติยฌานนั้น ส่วนความที่ฌาน

นี้ประกอบด้วยองค์ ๓ พึงทราบโดยความเกิดขึ้นแห่งองค์ ๓ นี้คือ ปีติ

สุข เอกัคคตา เพราะเหตุนั้น คำใดที่กล่าวไว้ในวิภังค์ว่า "สัม-

ปสาทนะ ( ความผ่องใสแห่งจิต ) ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต ชื่อว่า

ฌาน " ดังนี้คำนั้นท่านกล่าวโดยปริยาย เพื่อแสดงฌานนั้นพร้อมทั้ง

บริขาร ( เครื่องประดับ ) แต่ยกสัมปสาทนะเสีย ฌานนั้นก็มีองค์ ๓

เท่านั้น โดยเป็นองค์ที่เข้าลักษณะอุปนิชฌานโดยตรง ดังท่านกล่าว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 169

( ในวิภังค์ตอนหนึ่ง ) ว่า " ถามว่า ในสมัยนั้นฌานมีองค์ ๓ เป็นไฉน ?

ตอบว่าฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา " ดังนี้

คำที่เหลือมีนัยอันกล่าวใน (ตอบแก้) ปฐมฌานนั้นแล้ว

[ ตติยฌาน ]

ก็แลครั้นได้บรรลุทุติยฌานแม้นั้นอย่างนี้แล้ว พระโยคาวจรพึง

ประพฤติให้เป็นวสีโดยอาการ ๕ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั้น ออกจากทุติย-

ฌานอันช่ำชองแล้ว ( พิจารณา ) เห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า " สมาบัติ

นี้มีข้าศึกคือวิตกวิจารอยู่ใกล้ " และว่า " สมาบัตินี้ชื่อว่ายังมีองค์ทราม

เพราะ ( องค์คือ ) ปีติ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า " ความปลื้มเปรม

แห่งใจอันไปด้วยปีติในทุติยฌานนั้นอันใดเล่า เพราะความปลื้มเปรม

อันนั้น ทุติยฌานนั่น ท่านจึงกล่าวว่ายังหยาบ "ดังนี้ เป็นองค์ที่ยัง

หยาบ พึงทำในใจถึงตติยฌานโดยว่าเป็นธรรมละเอียด ปล่อยวาง

ความพอใจในทุติยฌาน ทำโยคะ ( ความเพียร ) เพื่อบรรลุตติยฌาน

( ต่อไป )

ครั้นเมื่อพระโยคาวจรนั้นออกจากทุติยฌานแล้วมีสติสัมปชัญญะ

ปัจจเวกขณ์องค์ฌานทั้งหลายอยู่ ปีติปรากฏโดยความเป็นองค์หยาบ

สุขและเอกัคคตาปรากฏโดยความเป็นองค์ละเอียดในกาลใด ในกาล

นั้น เมื่อเธอทำในใจแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งนิมิตนั้นนั่นแลโดยบริกรรมว่า

ปฐวี ปฐวี ดังนี้ เพื่อละองค์หยาบและเพื่อได้องค์ละเอียดอยู่ ขณะ

ที่ปรากฏว่าตติยฌานจักเกิดขึ้น มโนทวารวัชนะย่อมตัดภวังค์ ทำ

ปฐวีกสิณนั่นเองให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ต่อนั้นชวนะ๔ หรือ ๕ ดวง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 170

ย่อมแล่นไปในอารมณ์นั้นแล ซึ่งดวงหนึ่งในที่สุดเป็นรูปาวจรจิตมี

ตติยฌาน ดวงที่เหลือเป็นกามาวจรจิตโดยนัยที่กล่าวแล้ว (ในตอน

แก้ปฐมฌาน ) นั้นแล

ก็ด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้น เพราะปีติคลาย

ไปด้วย เธอเป็นผู้วางเฉยอยู่ด้วย มีสติสัมปชัญญะด้วย เสวยสุข

ด้วยกายด้วย ซึ่งพระอริยะทั้งหลายกล่าว ( สรรเสริญ ) ว่า เป็นผู้วาง

เฉยมีสติเป็นสุขวิหารี ( ผู้มีปกติอยู่เป็นสุข ) ดังนี้ ชื่อว่า เข้าถึงฌาน

ที่ ๓ อยู่ ด้วยประการดังนี้ ตติยฌานปฐวีกสิณอันละองค์ ๑ กอบ

ด้วยองค์ ๒ งาม ๓ ประการ พร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ ก็เป็นอันพระ

โยคาวจรนั้นได้บรรลุแล้ว

[ แก้อรรถแห่งตติยฌานปาฐะ ]

( แก้ ปีติยา จ วิราคา )

ในปาฐะทั้งหลายเหล่านั้น ปาฐะว่า ปีติยา จ วิราคา ( เพราะ

ปีติคลายไปด้วย ) นั้น มีวินิจฉัยว่า ความหน่ายปีติก็ดี ความก้าว

ล่วงปีติก็ดี ชื่อว่าวิราคะ ( ความคลายไป ) ก็ จ ศัพท์ในระหว่าง

บททั้ง ๒ เป็นสัมปิณฑนัตถนิบาต (คือ) จ ศัพท์นั้นผนวกเอาวูปสนะ

หรือ วิตกฺกวิจารนํ วูปสมะ เข้ามาด้วย ในอรรถสองอย่างนั้น เมื่อ

จ ศัพท์ผนวกเอา วูปสมศัพท์เดียวเข้ามา พึงทราบโยชนา (การ

ประกอบความ) ดังนี้ว่า "เพราะปีติคลายไปด้วย เพราะสงบระงับ

ยิ่งขึ้นอีกหน่อยด้วย" ก็แลวิราคศัพท์ในโยชนานี้มีอรรถว่า หน่าย

เพราะเหตุนั้น พึงเห็นความ (ดัง) นี้ว่า "เพราะหน่ายปีติด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 171

เพราะสงบระงับด้วย" แต่เมื่อ จ ศัพท์นั้นผนวกเอาวิตกฺกวิจารวูปสม-

ศัพท์เข้ามา พึงทราบโยชนาดังนี้ว่า "เพราะปีติคลายไปด้วย เพราะ

วิตกวิจารระงับไปยิ่งขึ้นอีกหน่อยด้วย" ก็วิราคศัพท์ในโยชนนี้มีอรรถ-

ว่า ก้าวล่วง เพราะเหตุนั้นพึงเห็นความ (ดัง) นี้ว่า "เพราะ

ก้าวล่วงปีติด้วย เพราะวิตกวิจารระงับไปด้วย"

อันที่แท้ วิตกวิจารเหล่านั้นระงับไปแต่ในทุติยฌานแล้ว แต่

คำนั้น ( นำมา ) กล่าว ( ในวาระแห่งตติยฌานอีก ) เพื่อแสดงทางของ

ฌานนี้ และเพื่อกล่าวสรรเสริญนี้ด้วย แท้จริง เมื่อกล่าวว่า

" เพราะวิตกวิจารระงับไปด้วย "ดังนี้ ข้อที่ว่า " ความระงับแห่งวิตก

วิจารเป็นทางแห่งฌานนี้แน่แท้ " นี้ย่อมปรากฏ อนึ่ง เมื่อกล่าว

การละ (สังโยชน์) โดยนัยว่า เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ มี

สักกายทิฏฐิเป็นต้น ที่แม้มิใช่เพิ่งมาละในอริยมรรคที่ ๓ ดังนี้ ก็ย่อม

เป็นอันกล่าวสรรเสริญ (ตติมรรคนั้น) ยังอุตสาหะให้เกิดแก่พระ

โยคาวจรทั้งหลายผู้ขวนขวายเพื่อบรรลุตติยมรรคนั้น ฉันใด เมื่อกล่าว

ความระงับไปแห่งวิตกวิจารทั้งหลาย ที่แม้มิใช่เพิ่งมาระงับในตติย-

ฌานนี้ ก็เป็นอันกล่าวสรรเสริญ (ตติยฌานนั้น) ฉันนั้นเหมือนกัน

เหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวความ (ดัง) นี้ว่า "เพราะก้าวล่วงปีติด้วย

เพราะวิตกวิจารระงับไปด้วย"

(แก้ อุเปกฺขโก จ วิหรติ)

พึงทราบวินิจฉัยในปาฐะว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ นี้ (ต่อไป)

ธรรมชาติอันหนึ่งชื่อว่าอุเบกขา เพราะอรรถว่าเพ่งโดยอุปบัติ หมาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 172

ความว่าดูอย่างสงบ คือดูไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ผู้ลุถึงตติยฌานท่านเรียก

ว่า อุเปกฺขโก เพราะประกอบด้วยอุเบกขานั้นสดใสไพบูลเรี่ยวแรง

ก็แลอุเบกขามี ๑๐ อย่าง คือ ฉฬังคุเบกขา พรหมวิหารุเบกขา

โพชฌงคุเบกขา วิริยุเบกขา สังขารุเบกขา เวทนูเบกขา วิปัสสนู-

เบกขา ตัตรมัชฌัตตุเบกขา ฌานุเบกขา ปริสุทธุเบกขา

ในอุเบกขา ๑๐ นั้น อุเบกขาใดเป็นอาการที่ไม่ละปกติภาพอัน

บริสุทธิในคลองแห่งอารมณ์ ๖ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

ในทวาร ๖ แห่งพระขีณาสพ อันมา ( ในบาลี ) อย่างนี้ว่า " ภิกษุ

ขีณาสพในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้ไม่ดีใจไม่เสีย

ใจเลย และเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะวางเฉยอยู่ " ดังนี้เป็นต้น อุเบกขา

นี้ชื่อว่าฉฬังคุเบกขา ( อุเบกขามีองค์ ๖ )

ส่วนอุเบกขาใด เป็นอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย อันมา

( ในบาลี ) อย่างนี้ว่า " ภิกษุมีใจไปกับอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง

อยู่ " ดังนี้เป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า พรหมวิหารุเบกขา

อุเบกขาใดเป็นอาการเป็นกลางในสหชาตธรรมทั้งหลาย อันมา

( ในบาลี ) อย่างนี้ว่า" ภิกษุเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอิงวิเวก

อิงวิราคะ " ดังนี้เป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อโพชฌงคุเบกขา

ส่วนอุเบกขาใดได้แก่ความเพียรไม่ตึงนักและไม่หย่อนนัก อัน

มา ( ในบาลี ) อย่างนี้ว่า " ภิกษุทำในใจถึงอุเบกขานิมิตอยู่ตลอด

เวลาตามกาลอันสมควร " ดังนี้เป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า วิริยุเบกขา

อุเบกขาใด คือวิปัสสนาปัญญาพิจารณาบาปธรรมและองค์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 173

ที่พึงละมีนิวรณ์เป็นต้น ( ที่ข่มไว้และละได้ด้วยฌานตามลำดับแล้วให้

เห็นตามสภาพ ) แล้วตกลงใจวางเฉยในอันจะถือเอา ( สิ่งที่ละแล้วเหล่า

นั้นอีกเพราะเห็นโทษ ) อันมา ( ในบาลี ) อย่างนี้ว่า " ถามว่าสังขารุ-

เบกขาเท่าไรเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ สังขารุเบกขาเท่าไรเกิดขึ้นด้วย

อำนาจวิปัสสนา ? ตอบว่า สังขารุเบกขา ๘ เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ

สังขารุเบกขา ๑๐ เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา "ดังนี้เป็นต้น อุเบกขา

นี้ชื่อว่า สังขารุเบกขา

ส่วนอุเบกขาใดที่หมายรู้ด้วยไม่ทุกข์ไม่สุข อันมา ( ในบาลี )

อย่างนี้ว่า " ในสมัยใดจิตเป็นกามาวจรกุศลเกิดขึ้นสหรคตด้วย

อุเบกขา " ดังนี้เป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า เวทนูเบกขา

ส่วนอุเบกขาใดเป็นอาการที่วางเฉยในการเฟ้น ( สังขาร ) อันมา

( ในบาลี ) อย่างนี้ว่า " สิ่งใดมี สิ่งใดเป็นพระโยคาวจรละสิ่งนั้น

เสีย ย่อมได้อุเบกขา " ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่า วิปัสสนูเบกขา

ส่วนอุเบกขาใดเป็นธรรมที่คุมสหชาตธรรม ทั้งหลายให้เสมอกัน

อันมาใน เยวาปนกธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น*อุเบกขานี้ชื่อว่า

ตัตรมัชฌัตตุเบกขา

อุเบกขาใดไม่ยังความตกเป็นฝักฝ่ายให้เกิดในตติยฌานนั้นที่แม้

มีสุขอย่างเลิศ อันมา ( ในตติยฌานปาฐะ ) อย่างนี้ว่า " อุเปกฺขโก จ

* เยวาปนกธรรม ได้แก่ เจตสิก ๑๖ คือ ฉันทะ อธิโมกข์ อุเบกขา มนสิการ

อุทธัจจะ กรุณา มุทิตา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มานะ อิสสา

มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถีนะ มิทธะ ที่เรียกว่า เยวาปนกะ คือกำหนดไม่ได้ว่า ธรรม

ข้อไหนจะเกิดขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 174

วิหรติ เธอเป็นผู้วางเฉยอยู่ด้วย " ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่า ฌานุเบกขา

ส่วนอุเบกขาใดหมดจดจากปัจจนีกธรรมทั้งปวง เป็นอาการที่

ไม่ต้องขวนขวายแม้ในการระงับปัจจนีกธรรม อันมา ( ในจตตุถฌาน

ปาฐะ ) อย่างนี้ว่า " อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ จตุตฺถํ ...เข้าถึง

จตุตถฌานอันมีความบริสุทธิ์แห่งสติที่เกิดแต่อุเบกขา " ดังนี้ อุเบกขา

นี้ชื่อว่า ปริสุทธุเบกขา

ในอุเบกขา ๑๐ นั้น ฉฬังคุเบกขา ๑ พรหมวิหารุเบกขา ๑

โพชฌงคุเบกขา ๑ ตัตรมัชฌัตตุเบกขา ๑ ฌานุเบกขา ๑ ปริสุทธุ

เบกขา ๑ ( รวม ๖ ) โดยความก็เป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขาอันเดียวเท่านั้น

แต่ที่อุเบกขานั้นแตกกัน ( เป็นหลายประเภท ) นี้ก็เพราะความต่างกัน

แห่งฐานะ ( ความเป็นอยู่ในสมัย ) นั้นๆ ดุจคนแม้เป็นคนๆเดียว

ก็ต่างกันได้โดยฐานะ เช่นเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่ เป็น

เสนาบดี เป็นพระราชา เพราะเหตุนั้น ในอุเบกขา ๖ นั้น พึงทราบ

ว่า ฉฬังคุเบกขามีอยู่ในที่ใด อุเบกขา ( อีก ๕ ) มีโพชฌงคุเบกขา

เป็นต้นก็ไม่มีในที่นั้น หรือว่าโพชฌงคุเบกขามีอยู่ในที่ใด อุเบกขา

( อีก ๕ ) มีฉฬังคุเบกขาเป็นอาทิก็ไม่มีในที่นั้น ก็แลความที่อุเบกขา

๖ นั้นเป็นอันเดียวกันโดยความ ย่อมมีฉันใด แม้ความเป็นอันเดียว

กันโดยความแห่งสังขารุเบกขาและวิปัสสนูเบกขาก็มีฉันนั้นแท้จริง

อุเบกขาทั้งสองนั้นคือปัญญาเหมือนกัน แต่เป็น ๒ โดยกิจ เหมือน

อย่างว่าเมื่อบุรุษถือไม้ง่ามค้นหางูซึ่ง ( เลื้อย ) เข้าไปสู่เรือนเมื่อตอน

เย็น พบมันซุกอยู่ที่ลังแกลบ จ้องดูว่ามันเป็นงูหรือมิใช่ เห็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 175

สวัสติกะสามเฉก* ( ที่หัวมัน ) แล้วสิ้นสงสัยความวางเฉยในการที่จะ

เฟ้นว่างูไม่ใช่งูก็ย่อมมีฉันใด เมื่อเห็นลักษณะ ๓ ด้วยวิปัสสนา

ญาณแล้ว ความวางเฉยอันใดในอันที่จะเฟ้นความไม่เที่ยงแห่ง

สังขารทั้งหลายเป็นต้นย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้ทำวิปัสสนา ฉันนั้น

เหมือนกัน ความวางเฉย ( ในการเฟ้นสังขาร ) นี้ ชื่อว่าวิปัสสนูเบกขา

ส่วนว่าเมื่อบุรุษนั้น ( กด )จับงูไว้มั่นด้วยไม้ง่ามแล้วคิดจะปล่อยมัน

ไป ( โดย ) ไม่เบียดเบียนมันด้วย ไม่ให้มันกัดตัวด้วย ( ตรอง ) หา

วิธีการจะปล่อยอยู่นั่นแล ความวางเฉยในอันจะจับเอา ( งู ) ไว้ย่อมมี

ฉันใด เมื่อพระโยคาวจรเห็นภพ ๓ ดุจถูกไฟไหม้เพราะเห็นลักษณะ

๓ แล้ว ความวางเฉยอันใดในอันที่จะยึดถือเอาสังขารไว้ ย่อมมี

ฉันนั้นแล ความวางเฉย ( ในการยึดสังขาร ) นี้ชื่อว่า สังขารุเบกขา

โดยประการดังนี้ เมื่อวิปัสสนูเบกขาสำเร็จแล้ว แม้สังขารุเบกขา

ก็เป็นอันสำเร็จด้วยแท้ อันอุเบกขานี้แตกเป็น ๒ โดยกิจ กล่าวคือ

ความวางเฉยในความเฟ้น ( สังขาร ) และ ( วางเฉยใน )

ความยึดถือ ( สังขาร ) ไว้ ( ดัง ) นี้แล

ส่วนวิริยุเบกขาและเวทนูเบกขา ต่างกันและกันด้วย โดยความ

ก็ต่างจากอุเบกขานอกนั้นด้วยแท้แล

โดยนัยดังนี้ ในอุเบกขาเหล่านี้ ฌานุเบกขาท่านประสงค์เอา

ในที่นี้ ฌานุเบกขานั้นมีความวางเฉยเป็นลักษณะ มีความไม่

* โสวตฺถิกตฺตยํ ไทยเราเรียก "ดอกจันทน์" นักปราชญ์ว่า เครื่องหมายสวัสดิกะ

มี ๒ อย่าง คือสี่แฉกอย่างหนึ่ง สามแฉกอย่างหนึ่ง สวัสติกะสี่แฉกเป็นเครื่องหมาย

ข้างดี สวัสติกะสามแฉกเป็นครองหมายข้างร้าย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 176

คำนึงเป็นรส มีความไม่ต้องขวนขวายเป็นเครื่องปรากฏ มีความ

คลายไปแห่งปีติเป็นเหตุใกล้ แล

ในข้อนี้มีปัญหาว่า " ก็ฌานุเบกขานี้โดยความก็คือ ตัตรมัชฌตตุ-

เบกขานั่นเอง และตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นก็มีอยู่แม้ในปฐมฌาน

และทุติยฌานมิใช่หรือ เพราะเหตุนั้น อุเบกขานี้จึงเป็นข้อที่น่าจะ

ตรัสด้วยปาฐะว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ ดังนี้ ไว้ในปฐมฌานและ

ทุติยฌานนั้นบ้าง เหตุไฉนอุเบกขานั้นจึงไม่ได้ตรัสไว้ ( ในฌานทั้ง

สองนั้น )"มีคำแก้ว่า " เพราะอุเบกขาในฌานทั้งสองนั้นมีกิจยัง

ไม่ชัดเจน แท้จริง กิจแห่งอุเบกขาในฌานทั้งสองนั้น จัดว่ายังไม่

ชัดเจน เพราะถูกปัจจนีกธรรมมีวิตกเป็นอาทิครอบงำอยู่ ส่วนอุเบกขา

ในตติยฌานนี้ เพราะความที่วิตกวิจารและปีติไม่ครอบงำ เป็นเสมือน

ว่าโงศีรษะขึ้นได้แล้ว จึงเกิดเป็นธรรมชาติมีกิจชัดเจน เพราะฉะนั้น

จึงตรัสไว้ "

พรรณนาความอย่างครบถ้วนแห่งปาฐะว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ

นั้น จบแล้ว

( แก้ สโต จ สมฺปชาโน )

บัดนี้พึงทราบวินิจฉัยในปาฐะว่า สโต จ สมฺปชาโน นี้

( ต่อไป ) ภิกษุชื่อว่า สโต เพราะระลึกได้ ชื่อว่า สมฺปชาโน

เพราะรู้ตัวโดยชอบ ( สองบทนั้นก็คือ ) สติและสัมปชัญญะ พระผู้มี

พระภาคเจ้าตรัสโดยเป็นบุคคลใน ๒ อย่างนั้น สติ มีความระลึกได้

เป็นลักษณะ มีความไม่ลืมเป็นรส มีความระวังรักษาเป็นเครื่อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 177

ปรากฏ สัมปชัญญะ มีความไม่หลงเป็นลักษณะ มีความตัดสินใจ

เป็นรส มีความเลือกเฟ้นเป็นเครื่องปรากฏ

ในฌานเหล่านั้น สติสัมปชัญญะนี้ ย่อมมีแม้ในฌานต้นๆ

ด้วยว่าแม้เพียงแต่อุปจารก็ย่อมไม่สำเร็จแก่ภิกษุผู้ลืมสติไม่มีสัมปชัญญะ

จะป่วยกล่าวไปไยถึงอัปปนา ก็จริงแล แต่ทว่าเพราะความที่ฌาน

( ต้นๆ ) เหล่านั้นยังหยาบอยู่ ความดำเนินไปแห่งจิตยังเป็นการ

สะดวก ดุจการที่บุรุษเดินไปบนพื้นราบ ย่อมเป็นการสะดวกฉะนั้น

กิจแห่งสติสัมปชัญญะในฌานเหล่านั้นจึงยังไม่ชัด แต่เพราะความที่

( ตติย ) ฌานนี้ละเอียดเข้าเพราะละองค์ที่หยาบได้จำปรารถนาความ

ดำเนินไปแห่งจิตมีสติสัมปชัญญกิจประคับประคองทีเดียว ดุจการที่

คนเดินไปบนพื้นอันแหลมคมฉะนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัส ( สโต

สมฺปชาโน ) ไว้แต่ในตติยฌานนี้

พึงทราบอรรถาธิบายยิ่งขึ้นอีกหน่อย ลูกโคที่ยังติดแม่ ถูก

พรากไปจากแม่แล้วไม่ ( มีใคร ) คุมไว้ ก็ย่อมเข้าไปหาแม่อีกนั่นเอง

ฉันใด สุขในตติยฌานนี้ที่ถูกพรากออกจากปีติแล้วก็ฉันนั้น สุขนั้น

พระโยคาวจรไม่คุมไว้ด้วยเครื่องคุมคือสติสัมปชัญญะ ก็จะพึงเข้าไป

สู่ปีติอีกแน่แท้ ( กลับ ) เป็นฌานที่สัมปยุตด้วยปีติไปเสียเท่านั้น* อนึ่ง

บัณฑิตพึงทราบว่า บททั้ง ๒ ( คือ สโต สมฺปชาโน ) นี้พระผู้มีพระภาค

เจ้าตรัสไว้แต่ในตติยฌานนี้ เพื่อแสดงอรรถพิเศษนี้อีกว่า ถึงแม้

สัตว์ทั้งหลายยินดีนักในความสุข และสุข ( ในตติยฌาน ) นี้เล่าก็เป็น

* หมายความว่า เสื่อมลงเป็นทุติยฌานไป (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 178

สุขหวานนัก เพราะไม่มีสุขยิ่งกว่านั้น แต่ว่าความไม่ติดใจในสุขใน

ตติยฌานนี้ ย่อมมีได้ด้วยอานุภาพสติสัมปชัญญะ มิใช่ด้วย

ประการอื่น ดังนี้แล

( แก้ สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ )

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในปาฐะว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ

นี้ ( ต่อไป ) ความคำนึงถึงการเสวยสุขย่อมไม่มีแก่พระโยคาวจรผู้ได้

ตติยฌานโดยแท้ แม้เช่นนั้น เพราะเหตุที่เธอพึงได้เสวยสุขอัน

สัมปยุตด้วยนามกายของเธอ อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่รูปกายของ

เธอมี อติปณีตรูปอันมีความสุขที่สัมปยุตด้วยนามกายนั้นเป็นสมุฏฐาน

ถูกต้อง ( ซาบซ่าน ) แล้ว ซึ่งเพราะความที่รูปกายมีอติปณีตรูปถูก

ต้อง แม้ออกจากฌานแล้ว เธอก็ยังรู้สึกเป็นสุข เพราะเหตุนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจะแสดงความข้อนั้น ( คือการเสวยสุขด้วยนามกาย

และรูปกายทั้ง ๒ นัย ) จึงตรัสว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ

( เสวยสุขด้วยกายด้วย ) ดังนี้

( แก้ ยนฺติ อริยา ฯ เป ฯ สุขวิหารี )

พึงทราบวินิจฉัยในปาฐะว่า " ยนฺตํ อริยา ฯ เป ฯ สุขวิหารี "

นี้ต่อไป บัณฑิตพึงทราบโยชนา (การประกอบความ) ในปาฐะนี้ดังนี้

ว่า " เพราะ ( ตติย ) ฌานใดเป็นเหตุ เพราะ ( ตติย ) ฌานใดเป็น

การณ์ พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมกล่าว แสดง

แต่งตั้ง เปิดเผย ทำให้ตื้น หมายความว่าประกาศสรรเสริญซึ่งบุคคล

ผู้ได้ตติยฌานนั้น ถามว่าสรรเสริญอย่างไร ? ตอบว่าสรรเสริญว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 179

" เป็นผู้วางเฉยมีสติเป็นสุขวิหารี ( มีปกติอยู่เป็นสุข ) " พระโยคาวจร

เข้าถึงตติยฌานนั้นอยู่ "

ถามว่า " ก็เพราะเหตุไฉน ท่านจึงสรรเสริญบุคคลผู้ได้ตติย-

ฌานนั้นอย่างนี้ ? "

แก้ว่า " เพราะควรแก่การสรรเสริญ แท้จริง ผู้ได้ตติยฌานนี้

เพราะเหตุที่เป็นผู้วางเฉยได้ ใน ( ขณะแห่ง )ตติยฌานที่แม้มีความ

สุขอย่างหวานยิ่ง ถึงขนาดเป็นสุขบารมี* ก็ไม่ถูกเครื่องติดข้องคือ

ความสุขในตติยฌานนั้นดึงเหนี่ยวไว้ประการ ๑ เพราะเหตุที่เป็นผู้ชื่อ

ว่ามีสติ เพราะความที่มีสติตั้งมั่นอยู่จนปีติเกิดขึ้นไม่ได้ประการ ๑

เพราะเหตุที่ได้เสวยสุขอันไม่เศร้าหมอง เป็นสุขที่พระอริยะใคร่ใจ

และเป็นสุขที่อริยชนเสพโดยแท้ด้วยนามกายประการ ๑ เพราะเหตุนั้น

จึงเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ บัณฑิตพึงทราบว่า เพราะควรแก่การ

สรรเสริญ ดังกล่าวมาฉะนี้ พระอริยะเหล่านั้น จะประกาศคุณอันเป็น

เหตุแห่งความสรรเสริญอย่างนี้ จึงสรรเสริญบุคคลผู้ได้ตติยฌาน

นั้นว่า " ผู้วางเฉย มีสติ เป็นสุขวิหารี " ดังนี้

บทว่า " ตติยํ " คือฌานนี้เป็นที่ ๓ เพราะมีลำดับแห่งจำนวน

บ้างชื่อว่า ตติยะ เพราะพระโยคาวจรเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๓

ส่วนในคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า " ตติยฌานละองค์ ๑ ประกอบ

ด้วยองค์ ๒ " ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำนั้น ( ต่อไป ) ความ

ที่ตติยฌานละองค์ ๑ พึงทราบโดยที่ละปีติได้ ก็แลปีตินี้นั้นละไปใน

* สุขที่จะส่งให้ถึงฝั่ง คือเป็นนิรามิสสุขอย่างเยี่ยม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 180

ขณะอัปปนานั่นแล้ว ดุจวิตกวิจารอันละไปในขณะอัปปนาแห่งทุติย-

ฌานเช่นกัน เพราะเหตุนั้น ปีตินั้นจึงเรียกว่า เป็นองค์สำหรับละ

ส่วนความที่ตติยฌานประกอบด้วยองค์ ๒ พึงทราบโดยเกิดขึ้นแห่ง

องค์ ๒ นี้คือ สุข จิตเตกัคคตา เพราะเหตุนั้น คำใดที่ท่านกล่าวไว้ใน

วิภังค์ว่า อุเบกขา สติสัมปชัญญะ สุข เอกัคคตาแห่งจิต ชื่อว่า ฌาน

คำนั้นจึงเป็นอันท่านกล่าวไว้โดยอ้อม เพื่อแสดงฌานพร้อมทั้งบริขาร

แต่ว่าตติยฌานนี้เว้นอุเบกขาและสติสัมปชัญญะแล้ว ก็คงมีองค์ ๒ โดย

เป็นองค์ที่เข้าลักษณะอุปนิชฌานโดยตรง ดังท่านกล่าวไว้ ( ในวิภังค์ )

ว่า " ถามว่า ในสมัยนั้นฌานประกอบด้วยองค์ ๒ คืออะไรบ้าง ?

ตอบว่า ( ฌานประกอบด้วยองค์ ๒ ) คือ สุข ๑ เอกัคคตาแห่งจิต ๑"

ดังนี้ คำวินิจฉัยที่เหลือมีนัยดุจอันกล่าวแล้วในปฐมฌาน

[จตุตถฌาน]

ก็แลครั้นได้บรรลุตติยฌานนั้นอย่างนี้แล้ว พระโยคาวจรพึง

ประพฤติให้เป็นวสีโดยอาการ ๕ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ออกจาก

ตติยฌานอันช่ำชองแล้ว ( พิจารณา ) เห็นโทษในตติยฌานนั้นว่า

" สมาบัตินี้มีข้าศึกคือปีติอยู่ใกล้ " และว่า " สมาบัตินี้ชื่อว่ายังมีองค์

ทราม เพราะ ( องค์คือ ) สุข ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า " ความ

คำนึงแห่งใจว่า สุข ในตติยฌานนั้นอันใดเล่า เพราะความคำนึงอันนั้น

ในตติยฌานนี้ ท่านจึงกล่าวว่ายังหยาบ " ดังนี้เป็นองค์ที่ยังหยาบ ทำ

ในใจถึงจตตุถฌานโดยว่าเป็นธรรมละเอียด ปล่อยวางความพอใจใน

ตติยฌาน ทำโยคะเพื่อบรรลุจตุตถฌาน ( ต่อไป )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 181

ครั้นเมื่อพระโยคาวจรนั้นออกจากตติยฌานแล้ว มีสติสัม-

ปชัญญะปัจจเวกขณ์องค์ฌานทั้งหลายอยู่ สุขกล่าวคือ โสมนัสเวทนา

เจตสิกสุข ปรากฏโดยความเป็นองค์หยาบ อุเบกขาเวทนาและจิตเต

กัคคตาปรากฏโดยความเป็นองค์ละเอียดในกาลใด ในกาลนั้นเมื่อเธอ

ทำในใจแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งนิมิตนั้นนั่นแล โดยบริกรรมว่า ปฐวี ปฐวี

ดังนี้เพื่อละองค์หยาบและเพื่อได้องค์ละเอียดอยู่ ขณะที่ปรากฏว่า

จตุตถฌานจักเกิด มโนทวาราวัชชนะย่อมตัดภวังค์ ทำปฐวีกสิณ

นั่นเองให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ต่อนั้น ชวนะ ๔ หรือ ๕ ดวงย่อมเกิด

ในอารมณ์นั้นแล ซึ่งดวงหนึ่งในที่สุดเป็นรูปาวจรจิตมีจตุตถฌาน

ดวงที่เหลือเป็นกามาวจรจิตมีประการดังกล่าวแล้ว ( ในตอนแก้ปฐม-

ฌาน )แล แต่ความ ( ต่อไป ) นี้เป็นข้อแปลก ( จากความที่กล่าวๆ

มาแล้ว ) คือเพราะเหตุที่สุขเวทนาหาเป็นปัจจัยโดยเป็นอาเสวนปัจจัย

แห่งอทุกขมสุขเวทนาไม่ อันอทุกขมสุขเวทนาพึงเกิดขึ้นในจตุตถฌาน

นั่นเอง เพราะเหตุนั้นชวนะ ( ในอัปปนาวิถี ) เหล่านั้น จึงเป็น

จิตสัมปยุตอุเบกขาเวทนา ก็เพราะสัมปยุตด้วยอุเบกขานั่นแล แม้

ปีติในฌานนี้ก็เสื่อมไปสิ้น

ก็ด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้น เพราะละสุขด้วย

เพราะละทุกข์ด้วย เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไปก่อนเทียว ชื่อ

ว่าเข้าถึงฌานที่ ๔ อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีความบริสุทธิ์แห่งสติอันเกิด

แต่อุเบกขาอยู่ ด้วยประการดังนี้ จตุตถฌานปฐวีกสิณอันละองค์ ๑

กอบด้วยองค์ ๒ งาม ๓ ประการ พร้อมไปด้วยลักษณะ ๑๐ ก็เป็นอัน

พระโยคาวจรนั้นได้บรรลุแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 182

[ แก้อรรถแห่ง จตุตถฌานปาฐะ ]

( แก้ สุขสฺส จ ปหานา ฯ เป ฯ อตฺถงฺคมา )

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า " เพราะละสุขด้วย เพราะละทุกข์

ด้วย " นั้น คือเพราะละกายิกสุข และกายิกทุกข์ด้วย บทว่า " ก่อน

เทียว " หมายความว่า การละนั้นแลได้มีมาก่อนแล้ว มิใช่เพิ่งมามีใน

ขณะแห่งจตุตถฌาน คำว่า " เพราะโสมนัสและโทมนัสดับหายไป "

นั้น ความว่า เพราะธรรมทั้ง ๒ นี้ คือ เจตสิกสุข และเจตสิกสุขด้วย

ดับหายไป ( ซึ่งก็ ) อธิบายว่า ละไปนั่นเองเสียแต่ในขณะก่อนนั้น

แล้ว ถามว่า " ก็การละไปแห่งธรรมเหล่านั้นน่ะ มีในขณะไหน ? "

แก้ว่า " มีในอุปจารขณะแห่งฌานทั้ง ๔ " แท้จริง โสมนัส ละได้

ในอุปจารขณะแห่งจตุตถฌานนี่แหละ ทุกข์ โทมนัส และสุข ละได้

ในอุปจารขณะแห่งปฐมฌาน ทุติยฌานและตติยฌาน ( ตามลำดับ )

การละสุขทุกข์โสมนัสโทมนัส ซึ่งแม้ในจตุตถฌานปาฐะนี้ มิได้ตรัส

ไว้ตามลำดับแห่งการละมันเลยก็ดี แต่ก็ได้ตรัสไว้ตามลำดับอุเทศแห่ง

อินทรีย์ในอินทรีย์วิภังค์โดยแท้* บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวมา

ฉะนี้

ถามว่า " ก็ถ้าองค์เหล่านั้นละได้เสียแต่ในอุปจารขณะแห่งฌาน

นั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสความดับในตัว

* หมายความว่า เมื่อว่าตามลำดับแห่งการละ ก็ต้องว่าทุกข์ โทมนัส สุข โสมนัส แต่

ที่ตรัสในจตุตถฌานปาฐะเป็นสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส นั้นไปได้กันกับลำดับข้อแห่ง

อินทรีย์ ในอินทรียวิภังค์ ซึ่งเรียกลำดับไว้ว่า สุขินฺทฺริยํ ทุกฺขินฺทฺริยํ โสมนสฺสินฺทฺริยํ

โทมนสฺสินฺทฺริยํ อุเปกฺขินฺทฺริยํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 183

ฌานทีเดียวอย่างนี้ว่า" ก็ทุกขินทรีย์อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไม่เหลือ

ในที่ไหน ? ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามทั้งหลาย

ฯลฯ เข้าถึงฌานที่ ๑ อยู่ ทุกขินทรีย์อันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปไม่เหลือ

ในที่นี้ ก็โทมนัสสินทรีย์ ... สุขินทรีย์ ... โสมนัสสินทรีย์อันเกิดขึ้นแล้ว

ย่อมดับไปไม่เหลือในที่ไหน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เพราะละสุขด้วย ฯลฯ เข้าถึงฌานที่ ๔ อยู่ โสมนัสสินทรีย์อันเกิดขึ้น

แล้วย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้ " ดังนี้เล่า แก้ว่า " เพราะความนิโรธใน

ตัวฌานนั้นๆ เป็นอติสัยนิโรธ ( ดับสนิทเลย) แท้จริง ความดับแห่ง

องค์เหล่านั้นในตัวฌานมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นความดับสนิท หาใช่

ความดับสามัญไม่ ส่วนความดับในอุปจารขณะเป็นความดับสามัญ ไม่เป็น

ความดับสนิท จริงอย่างนั้น ความเกิดขึ้นแห่งทุกขินทรีย์ ซึ่งแม้ดับไป

ในอุปจารแห่งปฐมฌานอันเป็นนานาวัชชนะ๑แล้ว ก็พึงมีได้ เพราะ

สัมผัสมีเหลือบและยุงเป็นต้นบ้าง เพราะความเดือดร้อน ( เมื่อยขบ )

อันเกิดแต่ที่นั่งไม่เรียบบ้าง๒ แต่ว่าภายในอัปปนาไม่พึงมีเลย อีกนัย

หนึ่งทุกขินทรีย์นั้น แม้ดับไปในอุปจารแล้ว ก็ชื่อว่ายังไม่ดับด้วยดี

เพราะทุกข์นั้นอันปฏิปักขธรรม ( คือ สุข ) ยังมิได้กำจัด ( ให้สิ้น ) ไป แต่

ว่าภายในอัปปนา สรรพางค์กาย ( ของพระโยคาวจร )เป็นสภาพก้าว

๑. นานาวัชชนะ มหาฎีกาว่า อาวัชชนะอันแตกต่างจากอาวัชชนะทางอัปปนา

หรือว่าเป็นอาวัชชนะอเนก เพราะว่าในทางอัปปนานั้น อุปจารเป็นเอกาวัชชนะ ( มี

อาวัชนนะเดียว ) อุปจารนอกนั้น ( คือมิใช่ในทางอัปปนา )เป็นอเนกาวัชชนะ ( มี

อาวัชชนะหลายดวง ) เพราะเป็นไปหลายครั้ง

๒. วิสมาสนุปตาป ในมหาฎีกาเป็น วิสมานุปตาป (ไม่มีอาสน) และแก้ไว้ว่า วิสม-

นิ สชฺชาย อุปฺปนฺนกิลมโถ (ความเมื่อยอันเกิดแต่การนั่งผิดท่า)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 184

ลงสู่ความสุขแล้ว เพราะความซาบซ่านแห่งปีติ อันทุกขินทรีย์ของผู้ที่

มีกายหยั่งลงสู่ความสุขแล้วย่อมเป็นอันดับด้วยดี เพราะทุกข์นั้นถูก

ปฏิปักขธรรม ( คือสุข ) กำจัดไปแล้ว

อนึ่ง ความเกิดแห่งโทมนัสสินทรีย์ ซึ่งแม้ดับไปแล้วในอุปจาร

แห่งทุติยฌานอันเป็นนานาวัชชนะเหมือนกัน ก็พึงมีได้ เพราะเหตุที่

โทมนัสสินทรีย์นั้น เมื่อความเหนื่อยกายและความเหนื่อยใจอันมีวิตก

วิจารเป็นปัจจัยมีอยู่ ก็ย่อมเกิดขึ้น และเพราะไม่มีวิตกวิจาร มันจะ

ไม่เกิดขึ้นเลย อนึ่งเล่า วิตกวิจารใน ( ขั้น ) อุปจารแห่งทุติยฌานนับ

ว่ายังมิได้ละแท้ เพราะความที่โทมนัสสินทรีย์เกิดขึ้นในที่ใด ก็มีวิตก

วิจารในที่นั้น เพราะเหตุนั้น ความเกิดขึ้นแห่งโทมนัสสินทรีย์ จึงพึง

มีได้ในอุปจารแห่งทุติยฌานนั้น แต่ว่าใน ( อัปปนา ) ทุติยฌานหามี

ไม่ เพราะละปัจจัย( คือ วิตกวิจาร ) เสียได้แล้ว

เช่นเดียวกันนั้น ความเกิดขึ้นแห่งสุขินทรีย์ซึ่งแม้ละไปแล้วใน

อุปจารแห่งตติยฌาน ก็พึงมีได้แก่พระโยคาวจรผู้มีกายอันปณีต-

รูปที่มีปีติเป็นสมุฏฐานสัมผัสแล้ว แต่ใน ( อัปปนา ) ตติยฌานหามี

ไม่ เพราะใน ( อัปปนา ) ตติยฌานปีติอันเป็นปัจจัยแห่งสุขดับไป

แล้วโดยประการทั้งปวงแล

นัยเดียวกันนั้น ความเกิดขึ้นแห่งโสมนัสสินทรีย์ ซึ่งแม้ละไป

แล้วในอุปจารแห่งจตุตถฌาน ก็พึงมีได้ เพราะโสมนัสสินทรีย์นั้นยัง

อยู่ใกล้ประการหนึ่ง เพราะยังไม่ล่วงไปดี เหตุว่าอุเบกขาที่ไม่ถึง

อัปปนาไม่มีประการหนึ่ง แต่ใน( อัปปนา ) จตุตถฌานหามีไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 185

ก็เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงทำอปริเสสศัพท์

(ประกอบไว้) ในบาลี (ฌานนิโรธ) นั้น ๆ (ทุกข้อ) เป็นต้นว่า

"เอตฺถุปฺปนฺนํ ทุกฺขินฺทฺริยํ อปริเสสํ นิรุชฺฌติ ทุกขินทรีย์ที่เกิด

ขึ้นแล้วย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้" ดว้ ยประการฉะนแี้ ล

ในอธิการนี้ นักปราชญ์กล่าว (อธิบายเป็นปุจฉาวิสัชนา) ไว้

ว่า "ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นเวทนาเหล่านี้ แม้นว่าละไปแล้วใน

อุปจารแห่งฌานนั้น ๆ ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประมวลมา

(ตรัส) ในจตุตถฌานนี้ (อีกเล่า ?)" ตอบว่า "เพื่อ (ให้กำหนด)

จับได้โดยง่าย เพราะอทุกขมสุขเวทนานี้ใด ที่ตรัสไว้ในปาฐะว่า

อทุกฺขมสุขํ นั้น อทุกขสุขเวทนานั้นเป็นธรรมชาติสุขุม รู้ได้ยาก

ไม่อาจ ( กำหนด ) จับเอาโดยง่าย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงทรงประมวลเวทนาทั้งหมดนั้นมา ( ตรัสไว้ในจตุตถฌาน )เพื่อ ( ให้

กำหนด ) จับ ( อทุกขมสุขเวทนา ) ได้โดยง่าย เปรียบประดุจนาย

โคบาลต้อนโคทั้งหมดเข้าไว้ในคอกเดียวเพื่อจะจับโค ( ตัวหนึ่งซึ่ง

เป็นโค ) พยส ใครๆ ไม่อาจเข้าจับ ( มัน ) ท่าไรได้ ให้ได้โดยง่าย

ครั้นแล้วปล่อยออกทีละตัวก็จะชี้ให้คนจับมันนั่นแหละซึ่ง ( ออก )

มาตามลำดับได้ว่า นี่โคตัวนั้น พวกท่านจงจับมันเถิด ดังนี้ฉะนั้น

ด้วยว่าครั้นทรงแสดงเวทนาเหล่านั้น อันประมวลไว้อย่างนั้นแล้ว ก็

ทรงอาจยังพระโยคาวจรให้ ( กำหนด ) จับอทุกขมสุขเวทนานั้นได้ว่า

" อันใดไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่โสมนัส ไม่ใช่โทมนัส นี่คือ

อทุกขมสุขเวทนา "

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 186

อีกนัยหนึ่ง พึงทราบว่าเวทนาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

เพื่อแสดงปัจจัยแห่งเจโตวิมุติที่เป็นอุทุกขมสุขด้วยก็ได้ แท้จริง อาการ

ทั้งหลายมีการละทุกข์เป็นอาทิ เป็นปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติที่เป็นอทุกข-

มสุขนั้น ดังพระธรรมทินนาเถรีกล่าว ( กะวิสาขอุบาสก ) ว่า " ดูกร

อาวุโส ปัจจัยแห่งเจโตวิมุติสมาบัติที่เป็นอุทกขมสุขมี ๔ ประการแล

ดูกรอาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขด้วย ฯลฯ

เข้าถึงฌานที่๔ อยู่ นี้แล อาวุโส ปัจจัย ๔ แห่งเจโตวิมุตติสมาบัติที่

เป็นอทุกขมสุข "* ดังนี้

หรือนัยหนึ่ง พึงทราบว่าเวทนาเหล่านั้น พระองค์ตรัสไว้ใน

จตุตถฌานนี้เพื่อสรรเสริญฌานนั้นก็ได้ เปรียบเหมือนโอรัมภาคิย-

สังโยชน์มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ละได้ (ลางส่วน ) แล้วในมรรคอื่น

แต่ตรัสว่าละในตติยมรรค (ทั้งหมด) ก็เพื่อสรรเสริญตติยมรรคนั้น

ฉะนั้น

หรือนัยหนึ่ง พึงทราบว่าเวทนาเหล่านั้น ตรัสเพื่อแสดงความที่

ราคะ โทสะ ในฌานนั้นอยู่ไกลยิ่ง เพราะ ( ฌานนั้น ) ขจัดเสียได้ซึ่ง

ปัจจัย ( ของมัน ) ก็ได้ แท้จริง ในเวทนาเหล่านั้น สุขเป็นปัจจัยแห่ง

โสมนัส โสมนัสเป็นปัจจัยแห่งราคะ ทุกข์เป็นปัจจัยแห่งโทมนัส โทมนัส

เป็นปัจจัยแห่งโทสะ ก็เพราะฌานนั้นขจัดเวทนา มีสุขเป็นต้น

เสียได้ ราคะ โทสะ พร้อมทั้งปัจจัย ก็เป็นอันถูกขจัดไป เพราะฉะนั้น

ราคะ โทสะ จึงชื่อว่าอยู่ไกลยิ่งแล

* อทุกขมสุขเจโตวิมุตติก็คือ จตุตถฌาน นั่นเอง ปัจจัย ๔ ก็คือละสุข ๑ ละทุกข์ ๑

ละโสมนัส ๑ ละโทมนัส ๑ ;

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 187

( แก้ อทุกฺขมสุขํ )

ปาฐะว่า อทุกฺขมสุขํ มีวินิจฉัยว่า ฌานนี้ชื่อว่าอทุกข เพราะ

ไม่มีทุกข์ ชื่อว่าอสุข เพราะไม่มีสุข พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง

เวทนาที่ ๓ อันเป็นปฏิปักษ์แห่งทุกข์และสุขด้วยคำนั้น มิใช่ทรงแสดง

เพียงแต่ความไม่มีทุกข์และสุขในฌานนี้ อันเวทนาที่ ๓ ท่านเรียกว่า

อทุกขมสุขเวทนา บ้าง ว่า อุเบกขาเวทนา บ้าง เวทนาที่ ๓ นั้น

บัณฑิตพึงทราบว่า มีอันเสวยอารมณ์ผิดไปจากอิฏฐารมณ์และ

อนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีความเป็นกลางเป็นรส มีอาการไม่ชัด

เป็นปัจจุปัฏฐาน๑ มีสุขนิโรธ (สุขดับ) เป็นปทัฏฐาน๒

( แก้ อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ )

ปาฐะว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ แปลว่า มีความบริสุทธิแห่งสติ

ที่อุเบกขาให้เกิด เพราะว่าสติในฌานนี้บริสุทธิ์ดี ก็แลความบริสุทธิ์

แห่งสตินั้นอันใด ความบริสุทธิ์อันนั้น อุเบกขาทำขึ้น มิใช่สิ่งอื่นทำ

ขึ้น เพราะเหตุนั้นฌานนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อุเปกฺขาสติ-

ปาริสุทฺธิ ( มีความบริสุทธิ์แห่งสติที่อุเบกขาให้เกิด ) ในวิภังค์กล่าว

ไว้ว่า " สตินี้เป็นธรรมชาติเปิดเผย บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะอุเบกขานี้

เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า อุเปกฺขาปาริสุทฺธิ ( มีความบริสุทธิ์แห่งสติ

เพราะอุเบกขา ) ก็ความบริสุทธิ์แห่งสติในฌานนี้ ย่อมมีเพราะ

อุเบกขาใด อุเบกขานั้นบัณฑิตพึงทราบว่า โดยความก็คือ ตัตรมัช-

๑ มหาฎีกาให้อุปมาไว้ว่า เหมือนทางที่เนื้อเดินไปบนลานหิน ก็ได้แต่อนุมานเอา

๒. มหาฎีกาว่า อุปจารแห่งจตุตถฌาน ชื่อว่า สุขนิโรธ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 188

ฌัตตตา อนึ่ง มิใช่ว่าสติอย่างเดียวเท่านั้นที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานั้น

ในฌานนี้ ที่แท้แม้สัมปยุตธรรม ( ธรรมที่ประกอบกับสติ ) ทั้งปวงก็

บริสุทธิ์ไปด้วย เป็นแต่ตรัสเทศนาโดย ( ยก ) สติเป็นประธาน ใน

ฌานเหล่านั้น อุเบกขานี้ย่อมมีแม้ในฌาน ๓ เบื้องต่ำด้วยก็จริงแล

แต่ทว่าเปรียบเหมือนจันทรเลขา ถึงว่ามีอยู่ในกลางวัน ก็ย่อมไม่แจ่ม

ไม่กระจ่าง เพราะถูกแสงอาทิตย์ในกลางวันข่มประการหนึ่ง เพราะ

ไม่ได้ราตรี ( กา__________ล ) เป็นสภาคกัน โดยความเป็นโสม ( คือแสงอ่อน

ด้วยกัน ) หรือโดยความที่ราตรีเป็นสภาพที่สนับสนุนตน ประการหนึ่ง

ฉันใด แม้จันทรเลขาคือ ตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ก็ฉันนั้น ถึงว่ามีอยู่ก็ไม่

บริสุทธิ์ในฌานต่างประเภทมีปฐมฌานเป็นต้น เพราะถูกเดชแห่ง

ปัจจนีกธรรมมีวิตกเป็นอาทิข่มอยู่ประการหนึ่ง เพราะไม่ได้ราตรีคือ

อุเบกขาเวทนาอันเป็นสภาคกัน (สนับสนุน) ประการหนึ่ง และเมื่อ

อุเบกขาไม่บริสุทธิ์แล้ว แม้สหชาตธรรมทั้งหลายมีสติเป็นอาทิ

ก็ไม่บริสุทธิ์ไปตามกัน ดุจแสงของจันทรเลขาไม่กระจ่างใน

กลางวันก็ย่อมไม่แจ่มฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ในฌานเบื้องตํ่าทั้ง ๓ นั้น

จึงไม่ตรัสว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ แม้ฌานเดียว แต่ในจตุตถฌานนี้

จันทรเลขาคือตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ บริสุทธิ์ยิ่งนัก เพราะไม่มีเดช

แห่งปัจจนีกธรรมมีวิตกเป็นต้นข่ม และเพราะได้ราตรีคืออุเบกขา-

เวทนาอันเป็นสภาคกัน (สนับสนุน) ด้วย เพราะความที่อุเบกขานั้น

บริสุทธิ์แล้ว แม้สหชาตธรรมทั้งหลายมีสติเป็นอาทิ ก็เป็นบริสุทธิ์

ผุดผ่องไปด้วย ดุจแสงจันทร์เลขาที่กระจ่าง ( ก็ย่อมแจ่ม ) ฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 189

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า จตุตถฌานนี้เท่านั้น พระผู้มี

พระภาคเจ้าตรัสว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธิ

บทว่า จตุตฺถํ คือฌานนี้เป็นที่ ๔ เพราะมีลำดับแห่งจำนวน

บ้างว่าชื่อ จตุตถะ เพราะพระโยคาวจรเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๔

ส่วนคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จตุตถฌานละองค์ ๑ ประกอบ

ด้วยองค์ ๒ บัณฑิตพึงทราบอรรถาธิบายในคำนั้นต่อไป ความที่

จตุตถฌานละองค์ ๑ พึงทราบโดยการละโสมนัส ก็แลโสมนัสนั้น

ละได้แต่ในชวนะต้นๆ ในวิถีอันเดียวเพราะฉะนั้น โสมนัสนั้นจึง

เรียกว่า ปหานังคะ ( องค์ที่พึงละ ) ส่วนความที่จตุตถฌานประกอบด้วย

องค์ ๒ พึงทราบโดยความเกิดขึ้นแห่งองค์ ๒ นี้ คือ อุเบกขาเวทนา

เอกัคคตา คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในปฐมฌาน นี่เป็นนัย

ในจตุกฌาน ( ฌานหมวด ๔ ) ก่อน

[ ปัญจกฌาน ฌานหมวด ๕ ]

ส่วนว่าพระโยคาวจรผู้จะยังปัญจกฌานให้เกิด ออกจากปฐม-

ฌานอันช่ำชองแล้ว ( พิจารณา ) เห็นโทษในปฐมฌานนั้นว่า " สมาบัติ

นี้มีข้าศึกคือนิวรณ์อยู่ใกล้ " และว่า " สมาบัตินี้นับว่ามีองค์ทราม

เพราะความที่วิตกเป็นองค์หยาบ " ดังนี้แล้ว พึงทำในใจถึงทุติยฌาน

โดยว่าเป็นธรรมละเอียด ปล่อยวางความพอใจในปฐมฌานเสีย ทำ

โยคะเพื่อบรรลุทุติยฌาน ( ต่อไป ) ครั้นเมื่อพระโยคาวจรนั้นออกจาก

ปฐมฌานแล้ว มีสติสัมปชัญญะปัจจเวกขณ์องค์ฌานทั้งหลายอยู่

วิตกอย่างเดียวปรากฏโดยความเป็นองค์หยาบ องค์ ๔ มีวิจารเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 190

ปรากฏโดยความเป็นองค์ละเอียดในกาลใดในกาลนั้น เมื่อเธอทำใน

ใจแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งนิมิตนั้นแหละ โดยบริกรรมว่า ปฐวี ปฐวี ดังนี้

เพื่อละองค์หยาบและเพื่อได้องค์ละเอียดอยู่ ทุติยฌานย่อมเกิดขึ้นโดย

นัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล วิตกอย่างเดียวเท่านั้นเป็นองค์สำหรับละแห่ง

ทุติยฌานนั้น องค์ ๔ มีวิจารเป็นอาทิเป็นองค์ประกอบ คำที่เหลือมี

ประการดังกล่าวแล้ว

ก็แลครั้นทุติยฌานแม้นั้น อันเธอได้บรรลุอย่างนี้แล้ว พึง

ประพฤติให้เป็นวสีโดยอาการ ๕ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นออกจาก

ทุติยฌานอันช่ำชองแล้ว ( พิจารณา ) เห็นโทษในทุติยฌานนั้นว่า

" สมาบัตินี้มีข้าศึกคือวิตกอยู่ใกล้ "และว่า " สมาบัตินี้นับว่ายังมี

องค์ทรามเพราะความที่วิจารยังเป็นองค์หยาบ " ดังนี้แล้ว ทำใน

ใจถึงตติยฌานโดยว่าเป็นธรรมละเอียด ปล่อยวางความพอใจในทุติย-

ฌานนั้นเสีย ทำโยคะเพื่อบรรลุตติยฌาน ( ต่อไป ) ครั้นเมื่อพระ

โยคาวจรนั้นออกจากทุติยฌานแล้ว มีสติสัมปชัญญะปัจจเวกขณ์องค์

ฌานทั้งหลายอยู่ วิจารอย่างเดียวปรากฏโดยความเป็นองค์หยาบ

องค์ ๓ มีปีติเป็นต้นปรากฏโดยความเป็นองค์ละเอียดในกาลใด ในกาล

นั้น เมื่อเธอทำในใจแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งนิมิตนั้นแล โดยบริกรรมว่า

ปฐวี ปฐวี ดังนี้ เพื่อละองค์หยาบ และเพื่อได้องค์ละเอียดอยู่ตติย-

ฌานย่อมเกิดขึ้นโดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่น วิจารอย่างเดียวเท่านั้นเป็น

องค์สำหรับละแห่งตตยิฌานนั้น องค์ ๓ มีปีติเป็นต้นเป็นองค์ประกอบ

ดุจในทุติยฌานแห่งจตุกนัย คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 191

ตามนัยที่กล่าวมานี้ ฌานซึ่งเป็นทุติยะในจตุกนัยแตกออกเป็น ( ๒ )

มาเป็นทุติยฌานและตติยฌานในปัญจกนัย ส่วนฌานที่เป็นตติยฌานและจตุตถะ

ฌานในจตุกนัยนั้น มาเป็นจตุตถะฌานและปัญจมฌาน ( ในปัญจกนัย )ปฐมฌาน เป็น

ปฐมฌานตรงกันแล

ปริเฉทที่ ๔ ชื่อปฐวีกสิณนิเทศ

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 192

เสสกสิณนิเทศ

[อาโปกสิณ]

ต่อไปนี้เป็นวิตถารกถาในอาโปกสิณ ในลำดับแห่งปฐวีกสิณ

ก็แลพระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญปฐวีกสิณ เป็นผู้นั่งให้สบายฉันใดเล่า

แม้ผู้จะเจริญอาโปกสิณก็พึงเป็นผู้นั่งให้สบายฉันนั้น แล้วถือเอานิมิต

ให้น้ำเถิด บททั้งปวงว่า กเต วา อกเต วา ( นิมิตที่แต่งขึ้นก็ดี ที่

มิได้แต่งขึ้นก็ดี ) เป็นต้น บัณฑิตพึง ( นำมากล่าว ) ให้พิสดาร

( ตามนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณ ) อนึ่ง บททั้งปวงนั้นพึง ( นำมา

กล่าว ) ให้พิสดารในอาโปกสิณนี้ฉันใด ในกสิณทั้งปวงก็พึงให้พิสดาร

ฉันนั้นเถิด เพราะว่าต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวคำ ( กเต วา ฯ เป ฯ

วิตฺถาเรตพฺพํ ) เพียงเท่านี้อีก กล่าวแต่คำที่แปลกออกไป

แม้ในอาโปกสิณนี้ นิมิตในน้ำที่มิได้แต่ง คือ ( น้ำ ) ในสระ

ในบึง หรือในทะเล๑ ในสมุทรก็ตาม ย่อมเกิดขึ้นได้แก่พระโยคาวจร

ผู้มีบุญ มีอธิการได้สร้างไว้ในปางก่อนแท้ ดุจพระจูฬสิวเถร ฉะนั้น

ได้ยินมาว่า เมื่อท่านผู้นั้นละลาภสักการะ ตั้งใจว่าจัก ( ไป ) อยู่อย่างสงัด

ขึ้นเรือที่ท่ามหาติตถะไปชมพูทวีป มองดู ( น้ำใน ) มหาสมุทร

ในระหว่าง ( ทาง ) กสิณนิมิตอันมีส่วนเปรียบแห่ง ( น้ำใน ) มหา-

สมุทร๒นั้น ได้เกิดขึ้น ( ส่วน )พระโยคาวจรผู้มิได้สร้างอธิการไว้

๑. โลณิยํ เช่นทะเลสาบน้ำเค็ม (?)

๒. หมายความว่า มีขนาดเท่าที่มองเห็น (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 193

เมื่อจะหลีกละกสิณโทษทั้ง ๔ อย่าพึงถือเอาน้ำที่มีสีเขียว เหลือง แดง

ขาว สีใดสีหนึ่ง ส่วนน้ำ ( ฝน ) ใด ( ตกลงมา ) ยังไม่ถึงพื้นดิน

บุคคลรองเอาในอากาศด้วยผ้าสะอาด* หรือน้ำอื่นที่ใสสะอาดอย่างนั้น

ก็ได้ พึงบรรจุน้ำนั้นให้เต็มบาตรหรือกุณฑี ( หม้อน้ำ ) เสมอขอบปาก

แล้ว ( นำไป ) ตั้งในที่ว่างที่กำหนด มีประการดังกล่าวแล้ว

นั่งให้สบาย ไม่ต้องพิจารณาสี ( ของน้ำ ) ไม่ต้องใส่ใจลักษณะ

( ของมัน) พึงทำให้มันเป็นสิ่งเสมอกันกับที่อาศัย ( ของมัน คือนึกเสียว่า

สีนั้นเป็นอันเดียวกันกับน้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของมัน ) ตั้งจิตไว้ใน

บัญญัติธรรม ( คือโลกโวหาร )ตามที่เป็นคำใช้กันมาก ภาวนาไปว่า

อาโป อาโป โดยที่เป็นนามเด่นในบรรดานามของน้ำทั้งหลาย เช่น

อมฺพุ อุทกํ วาริ สลิลํ เมื่อเธอภาวนาไปอย่างนั้น นิมิตทั้ง ๒ ย่อม

จะเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นโดยลำดับแต่ว่าในอาโปกสิณนี้

อุคคหนิมิตจะปรากฏเหมือนว่ายังไหวอยู่ ถ้าน้ำนั้นเป็นน้ำเจือด้วยฟอง

ด้วยต่อม อุคคหนิมิตก็จะปรากฏเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ชื่อว่ากสิณ-

โทษปรากฏ ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นดวงนิ่งแจ๋วเหมือนพัดใบตาล

แก้วที่คนวางไว้ในอากาศ และเหมือนวงแว่นแก้วฉะนั้น พร้อมกับ

ความปรากฏแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นแหละพระโยคาวจรนั้น ก็จะบรรลุ

อุปจารฌาน และจตุกฌาน ปัญจกฌาน โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล

อาโปกสิณ จบ

* สุทธวตฺเถน หมายถึงผ้าไม่มีสี เพราะถ้าเป็นผ้ามีสี สีอาจตกทำให้น้ำกลายเป็นน้ำสีไป

ไม่ใสสะอาด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 194

[เตโชกสิณ]

ฝ่ายพระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญเตโชกสิณ พึงถือเอานิมิตในไฟ

ในเตโชกสิณนั้น สำหรับพระโยคาวจรผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้

เมื่อถือเอานิมิตในไฟที่มิได้แต่ง แลดูเปลวไฟที่ตะเกียง ที่เตา ที่ๆ

ระบมบาตรหรือที่ไฟไหม้ป่าที่ใดที่หนึ่งก็ตาม นิมิตก็เกิดขึ้นได้ ดังพระ

จิตตคุตตเถร ฉะนั้น เล่ากันว่าเมื่อท่านผู้นั้นเข้าไปสู่โรงอุโบสถในวัน

ธรรมสวนะ แลดูเปลวตะเกียงเท่านั้น นิมิตก็เกิดขึ้น ส่วนพระ

โยคาวจรนอกนี้ ( คือผู้ไม่มีบุญญาธิการ ) ต้องแต่ง( กสิณนิมิต ) ขึ้น

นี้เป็นวิธีทำ ในการแต่ง ( กสิณนิมิต ) นั้น พึงผ่าฟืนไม้แก่นที่

( แห้ง ) สนิท* ผึ่ง ( แดด ) ไว้แล้ว ( ตัด ) ทำเป็นท่อนๆ ( หอบ ) ไปสู่

โคนไม้หรือมณฑปที่เหมาะสม กอง ( ฟืน ) เข้าโดยอาการดุจระบมบาตร

ก่อไฟขึ้น แล้วทำให้เป็นช่อง ( กว้าง ) ประมาณคืบ ๔ นิ้ว ( เป็นวงกลม )

เข้าที่เสื่อลำแพนหรือแผ่นหนังหรือผืนผ้าก็ได้ ตั้งเสื่อลำแพนหรือ

แผ่นหนังหรือผืนผ้านั้นไว้ข้างหน้า นั่งโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล อย่า

ใส่ใจถึงหญ้าและไม้ข้างใต้ ( ช่อง ) หรือควันและเปลวข้างบน ( ช่อง )

ถือเอานิมิตที่เปลวทึบตรงกลาง ( ช่อง ) ไม่ต้องพิจารณาสี ( ของไฟ )

โดยว่ามันเป็นสีขาว หรือว่าสีเหลืองเป็นต้น ไม่ต้องใส่ใจลักษณะ

( ของเตโชธาตุ ) โดยว่ามันร้อน พึงทำให้มันเป็นสิ่งเสมอกันกับที่อาศัย

( ของมัน คือนึกเสียว่าสีนั้นมันเป็นอันเดียวกันกับไฟ ซึ่งที่อาศัย

* ให้ใช้ฟืนไม้แก่น เพื่อให้ติดไฟอยู่ทน ที่ว่าสนิท หมายความว่าไม่มียางแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 195

ของมัน )ตั้งจิตไว้ในบัญญัติธรรม ( คือโลกโวหาร ) ตามที่เป็นคำใช้

กันมาก ภาวนา เตโช เตโช โดยที่เป็นนามเด่นในบรรดานาม

ของไฟทั้งหลาย เช่น ปาวโก กณฺหวตฺตนิ ชาตเวโท หุตาสโน

เมื่อเธอภาวนาไปอย่างนั้น นิมิตทั้ง ๒ ย่อมจะเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าว

แล้วนั้นโดยลำดับ อุคคหนิมิตในเตโชกสิณนั้น ปรากฏเป็นเช่นกับ

เปลวไฟขาดตกลงไปๆ แต่สำหรับผู้ถือเอา ( นิมิต ) ในไฟที่มิได้แต่ง

กสิณโทษย่อมจะปรากฏ คือ ท่อนฟืนบ้าง ก้อนถ่านบ้าง เถ้าบ้าง

ควันบ้าง ย่อมปรากฏ ( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตปรากฏนิ่ง ดุจท่อนผ้า

กัมพลแดงที่วางไว้ในอากาศ และดุจพัดใบตาลสีทองดุจเสาทอง

ฉะนั้น พร้อมกับความปรากฏแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นแหละ พระโยคาวจร

นั้นก็จะบรรลุอุปจารฌาน และจตุตกฌาน ปัญจกฌาน โดยนัยที่กล่าว

แล้วนั้นแล

เตโชกสิณ จบ

[วาโยกสิณ]

พระโยคาวจรแม้นใคร่จะเจริญวาโยกสิณ พึงถือเอานิมิตในลม

ก็แลนิมิตในลมนั้น พึงถือเอาได้ทางเห็นบ้าง ทางถูกต้องบ้าง เพราะคำ

( ต่อไป ) นี้ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายว่า " พระโยคาวจรผู้จะขึ้น

เอาวาโยกสิณย่อมถือเอานิมิตในลม คือกำหนดเอายอดอ้อยที่ไหว

ไปมา หรือกำหนดเอายอดไผ่ หรือยอดไม้ หรือปลายผมที่ไหวไปมา

ก็ได้ กำหนดเอาลมอัน ( พัดมา ) ต้องที่กายก็ได้ " ดังนี้ เพราะเหตุนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 196

พระโยคาวจร ( ผู้เจริญวาโยกสิณ ) เห็นต้นอ้อยก็ดี กอไผ่ก็ดี ต้นไม้ก็ดี

ที่มีใบหนาตั้งอยู่ ( สูง ) เพียงศีรษะ๑ หรือผมของคนที่มีผมหนายาว

ประมาณ ๔ องคุลี๒ก็ดี ที่ลมพัดอยู่ พึงตั้งสติ ( ระลึก ) ว่า " ลมนี่พัด

ที่นั่น " ก็หรือว่า ลมเข้าทางช่องหน้าต่างบ้าง ช่องฝาบ้าง มาต้อง

ร่างกายของเธออันใด พึงตั้งสติในลมอันนั้น ภาวนาว่า วาโต วาโต

โดยที่เป็นนามเด่นในบรรดานามของลมทั้งหลาย เช่น วาตะ มาลุตะ

อนิละ อุคคหนิมิตในวาโยกสิณนี้ปรากฏยังเป็นนิมิตไหว เช่นกับกลุ่มไอ

( ร้อน ) แห่งข้าวปายาสที่เพิ่งปลงลงจากเตา ( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตเป็น

ดวงนิ่งแน่ว คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นเทอญ

วาโยกสิณ จบ

[นีลกสิณ]

ส่วน ( กสิณ ) ถัดนั้นไป ( บัณฑิตพึงทราบดังนี้ ) โดยคำ ( ในอรรถ-

กถาทั้งหลาย ) ว่า " พระโยคาวจรผู้จะขึ้นเอานีลกสิณ ย่อมถือเอานิมิต

ในสีเขียว ( คราม ) เป็นดอกไม้บ้าง เป็นผ้าบ้าง เป็นธาตุสีบ้าง " ดังนี้

( ว่า ) สำหรับผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้ก่อน เพียงได้เห็นกอดอกไม้

อันมีสีอย่างนั้น หรือพรมดอกไม้ อันมีสีอย่างนั้นในที่บูชาหรือผ้าเขียว

และแก้วเขียว อย่างใดอย่างหนึ่ง นิมิตก็เกิดขึ้นได้ พระโยคาวจรนอกนี้

๑. จะได้เพ่งดูตรงๆ ตามสบาย ไม่ต้องแหงน ไม่ต้องก้ม

๒. ผมสั้นไป ต้องลมก็ไม่ไหว ถ้ายาวไปก็ห้อยเสีย ถ้าบางไปก็ลู่ตามลม

ไม่ปรากฏอาการต้องลม เพราะฉะนั้นท่านจึงกำหนดเอา ๔ องคุลี ไม่สั้น ไม่ยาว และ

หนาด้วย อาการต้องลมจะได้ปรากฏ คือไหวไปมาได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 197

( ที่ไม่มีบุญ ) พึงถือเอาดอกไม้ มีดอกนีลุบล และดอกคิริกัณณิกา

เป็นต้น มาเรียงเข้าให้เต็มผอบหรือเตียบเสมอขอบปากทั้งใบด้วย

โดยวิธีที่เกสรก็ดี ขั้วก็ดี ไม่ปรากฏ หรือใช้ผ้าสีเขียวผูกเข้าเป็นห่อของ

บรรจุลงไปก็ได้ หรือใช้ผ้าสีเขียวนั้นผูก ( ขึง ) เข้าที่ขอบปากมันให้เป็น

ดุจหน้ากลองก็ได้ หรือใช้ธาตุ ( สี ) มีเขียวเหมือนสำริด เขียวเหมือน

ใบไม้ และเขียวเหมือนดอกอัญชัน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งทำให้

เป็นกสิณมณฑล ชนิดเคลื่อนที่ได้ ตามนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณ

หรือ ( ติดไว้ ) ที่ฝาเลยก็ได้ แล้วตัดโดยรอบด้วยสีที่แตกต่าง แต่นั้น

มนสิการว่า นีลํ นีลํ พระโยคาวจรพึงให้เป็นไปโดยนัยอันกล่าวแล้ว

ในปฐวีกสิณเถิด แม้ในนีลกสิณนี้ กสิณโทษก็ปรากฏในอุคคหนิมิต

คือ สิ่งที่เนื่องด้วยกสิณมณฑล มีเกสร ก้าน ระหว่างกลีบเป็นต้น

ย่อมปรากฏ ( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตหลุดจากกสิณมณฑล ปรากฏเช่น

กับขั้วตาลฝังแก้ว ( อินทนิล ) อยู่ในอากาศ คำพรรณนาที่เหลือ

พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้น เทอญ

นีลกสิณ จบ

[ปีติกสิณ]

นัยแม้ในปีติกสิณก็ดุจนัยนั้น สมคำ ( อรรถกถา ) ที่กล่าวไว้ว่า

" พระโยคาวจรผู้จะขึ้นเอาปีตกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในสีเหลือง ใน

ดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุสีบ้าง " ดังนี้ เพราะเหตุนั้น แม้ใน

ปีติกสิณนี้ สำหรับผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้ เพียงได้เห็นกอดอกไม้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 198

หรือพรมดอกไม้ อันมีสีอย่างนั้น หรือผ้าสีเหลือง ธาตุสีเหลือง

อย่างใดอย่างหนึ่ง นิมิตก็เกิดขึ้นได้ ดุจพระจิตตคุตตเถระ ฉะนั้น

ได้ยินว่า เมื่อท่านผู้นั้นแลดูเครื่องบูชาบนแท่นบูชาที่แล้วด้วยดอก

ปัตตังคะทั้งหลาย ณ จิตตลบรรพตวิหาร นิมิตขนาดเท่าแท่นบูชาเกิดขึ้น

พร้อมกับการแลดูนั่นเอง ( ส่วน ) พระโยคาจรนอกนี้ ( ที่ไม่มีบุญ )

พึงใช้ดอกไม้มีดอกกัณณิการ์เป็นต้น หรือใช้ผ้าสีเหลือง หรือธาตุ

( สีเหลือง ) ก็ได้ ทำกสิณ ( มณฑล ) แล้วยังมนสิการว่า ปีตกํ ปีตกํ

ให้เป็นไปโดยนัยที่กล่าวแล้วในนีลกสิณนั้นเถิด คำที่เหลือก็เช่นเดียว

กันนั้นแล

ปีตกสิณ จบ

[โลหิตกสิณ]

นัยแม้ในโลหิตกสิณก็ดุจนัยนั้น สมคำ ( อรรถกถา ) ที่กล่าวไว้ว่า

" พระโยคาวจรผู้จะขึ้นเอาโลหิตกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในสีแดง ใน

ดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุสีบ้าง " ดังนี้ เพราะเหตุนั้น แม้ใน

โลหิตกสิณนี้ สำหรับผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้ เพียงได้เห็นกอดอกไม้

เช่นดอกหงอนไก่ หรือพรมดอกไม้ อันมีสีอย่างนั้น หรือผ้าแดง

แก้วแดง ธาตุสีแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง นิมิตก็เกิดขึ้นได้ ส่วนพระ-

โยคาวจรนอกนี้ ( ที่ไม่มีบุญ ) พึงใช้ดอกไม้เช่นดอกชะบา หงอนไก่ และ

หญ้าหางช้างแดง หรือผ้าสีแดง หรือธาตุ ( สีแดง ) ก็ได้ ทำกสิณ

* อาสนะในที่นี้ คือ แท่นบูชา ที่บูชา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 199

( มณฑล ) แล้วยังมนสิการว่า โลหิตกํ โลหิตกํ ให้เป็นไปโดยนัย

ที่กล่าวแล้วในนีลกสิณนั้นเถิด คำที่เหลือก็เช่นเดียวกันนั้นแล

โลหิตกสิณ จบ

[โอทาตกสิณ]

แม้ในโอทาตกสิณ ( ก็พึงทราบนัยดังนี้ ) โดยคำ ( ในอรรถกถา )

ว่า " พระโยคาวจรผู้จะขึ้นเอาโอทาตกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในสีขาว

ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุสีบ้าง " ดังนี้ ( ว่า ) สำหรับผู้มีบุญ

มีอธิการได้สร้างไว้ก่อน เพียงแต่ได้เห็นกอดอกไม้อันมีสีอย่างนั้น

หรือพรมดอกไม้ มีดอกมะลิซ้อน เป็นต้น หรือกองดอกบัวขาว( ที่เขา

ขนจากที่บูชาไปทิ้งๆ ไว้ ) หรือผ้าขาว ธาตุสีขาวอย่างใดอย่างหนึ่ง

นิมิตก็เกิดขึ้นได้ แม้ในแผ่นดีบุกกลม แผ่นเงินกลม และดวงจันทร์

( เพ็ญ ) นิมิตก็เกิดได้เหมือนกัน ( ส่วน ) พระโยคาวจรนอกนี้ ( ที่ไม่มี

บุญ ) พึงใช้ดอกไม้ขาว หรือผ้าขาว หรือธาตุสีขาวก็ได้ ทำกสิณ

( มณฑล ) แล้วยังมนสิการว่า โอทาตํ โอทาตํ ให้เป็นไปโดยนัยที่

กล่าวแล้วในนีลกสิณนั้นเถิด คำที่เหลือก็เช่นเดียวกันนั้นแล

โอทาตกสิณ จบ

[อาโลกกสิณ]

ส่วน ( นัย ) ในอาโลกกสิณ ( พึงทราบดังนี้ ) โดยคำ ( ในอรรถ-

กถา ) ว่า " พระโยคาวจรผู้จะขึ้นเอาอาโลกกสิณ ย่อมถือเอานิมิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 200

ในแสงที่ช่องฝาบ้าง ที่ช่องดาลบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง " ดังนี้ ( ว่า )

สำหรับผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้ก่อนเพียงแต่ได้เห็นแสงอาทิตย์

หรือแสงจันทร์เข้ามาทางช่อง มีช่องฝาเป็นต้น ช่องใดช่องหนึ่งแล้ว

ทำให้เกิดเป็นดวงขึ้นที่ฝาหรือที่พื้นก็ดี ลอดหว่างกิ่งต้นไม้ที่มีใบทึบ

ทำให้เกิดเป็นดวงขึ้นที่พื้นดินนั่นก็ดี เท่านั้นนิมิตก็เกิดขึ้นได้ แม้พระ-

โยคาวจรนอกนี้ ( ที่ไม่มีบุญ ) ก็พึง ( เพ่งดู ) ดวงแสงมีประการดังกล่าว

แล้วนั้นแหละ ภาวนาไปว่า โอภาโส โอภาโส หรือว่า อาโลโก

อาโลโก ก็ได้ เมื่อไม่อาจ ( ทำ ) อย่างนั้นได้ ๑ พึงตามประทีปเข้าไว้

ในหม้อ ปิดปากหม้อเสีย๒ ทำช่องเข้าที่ ( ข้าง ) หม้อแล้วตั้งหันหน้า

( ช่อง ) เข้าฝา แสงประทีปออกทางช่องนั้น ทำให้เป็น ดวงขึ้นที่ฝา

พึง ( เพ่งดู ) ดวงแสงนั้น ภาวนาไปว่า อาโลโก อาโลโก ดวงแสงนี้อยู่

ได้นานกว่าดวงแสงนอกนั้น ( ที่กล่าวมาข้างต้น ) อุคคหนิมิตในอาโลก-

กสิณนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับดวงที่ติดอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั่นเอง ( ส่วน )

ปฏิภาคนิมิตเป็นดวงหนาและใสคล้ายกับก้อนแสง คำ ( พรรณนา )

ที่เหลือก็เช่นเดียวกันนั้นแล

[ปริจฉินนากาสกสิณ]

แม้ในปริจฉินนากาสกสิณ โดยคำ ( ในอรรถกถา ) ว่า "พระ

๑. มหาฎีกาว่า ดวงแสงที่เกิดแต่แสงอาทิตย์และจันทร์นั้น ตั้งอยู่ไม่นาน

( เพราะมันเคลื่อนไปตามดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ) ผู้ไม่มีบุญ ไม่อาจภาวนาให้นิมิตเกิด

ในชั่วเวลาอันสั้นนั้นได้ จึงต้องใช้ประทีปหม้อ

๒. เพราะแสงที่ออกทางปากหม้อมันใหญ่ และจะทำให้ตาพร่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 201

โยคาวจรผู้จะขึ้นเอาอากาสกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในอากาศที่ช่องฝาบ้าง

ที่ช่องดาลบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง " ดังนี้ สำหรับผู้มีบุญ

มีอธิการได้สร้างไว้ก่อน เพียงแต่ได้เห็นอากาสที่ช่องต่างๆ มีช่องฝา

เป็นต้น นิมิตก็เกิดขึ้นได้ ( ส่วน ) พระโยคาวจรนอกนี้ ( ที่ไม่มีบุญ )

พึงทำช่องขนาดคืบ ๔ นิ้ว เข้าที่ ( ฝา ) โรงที่มุงมิดชิดหรือที่ ( แผ่น )หนัง

และเสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ( เพ่งดู ) ช่องอันต่างโดย

เป็นช่องฝาเป็นต้นนั้นแล ภาวนาไปว่า อากาโส อากาโส ( ว่าง ว่าง )

อุคคหนิมิตในอากาสกสิณนี้ ก็เป็น ( ดวง ) เหมือนกับช่อง พร้อม

ทั้งสิ่งที่เนื่องด้วยช่องมีขอบฝาเป็นต้นนั่นเอง แม้พระโยคาวจรจะ ( นึก )

ขยาย ( ส่วน ) ก็หาขยายไม่ ( ส่วน ) ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นดวง

อากาศแท้ และพระโยคาวจรจะ ( นึก ) ขยาย ก็ขยายได้ คำที่เหลือ

พึงทราบโดยนัยอันกล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั้นแล

ปริจฉินนากาสกสิณ จบ

พระทศพลผู้สรรพธรรมทส ( ทรงเห็นธรรม

ทั้งปวง ) ได้ตรัสทศกสิณ ซึ่งเป็นเหตุแห่ง

จตุกฌานและปัญจกฌานในชั้นรูปาวจร ดัง

พรรณนามาฉะนี้ บัณฑิตได้ทราบทศกสิณนั้น

และนัยะในการเจริญกสิณเหล่านั้นนี่ดังนี้แล้ว

พึงทราบปกิณกกถาในกสิณเหล่านั้นแหละ

ต่อไปนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 202

[ปกิณณกกถา]

( คุณวิเศษต่างๆ ที่สำเร็จด้วยอำนาจกสิณ )

ก็แลกสิณเหล่านี้ ด้วยอำนาจแห่งปฐวีกสิณ คุณวิเศษ

ทั้งหลายเป็นต้นว่า ความบันดาล๑ คือว่าคนเดียวบันดาลเป็นคนมาก

ก็ได้เป็นต้น นิรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปได้ หรือ

สำเร็จอิริยาบถมียืนและนั่งเป็นต้นได้

ด้วยอำนาจแห่งอาโปกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า ผุดขึ้น

และดำลงในแผ่นดินได้ ทำฝนน้ำ๒ให้เกิดขึ้นได้ นิรมิตสิ่งขวางกั้น

มีแม่น้ำและทะเลเป็นต้นได้ ทำของหนักมีแผ่นดิน ภูเขา และปราสาท

เป็นต้นให้ไหวได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจแห่งเตโชกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า บังหวน

ควันได้ บังหวนเพลิงได้ ทำฝนถ่านเพลิงให้เกิดขึ้นได้ ล้างไฟด้วยไฟได้

สามารถเผาเฉพาะสิ่งที่ต้องการได้๓ ทำแสงสว่างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่

การเห็นรูปด้วยทิพจักษุได้ทำสรีระให้ไหม้ไปด้วยเตโชธาตุ ในคราว

ปรินิพพานได้ อย่างนี้ย่อมสำเร็จ

๑. ภาโว ทำให้มีให้เป็นขึ้น เอาความว่าบันดาล

๒. อุทกวุฏฺฐิ ไม่แปลว่า น้ำและฝน แปลว่า ฝนน้ำ เพราะมีที่เทียบ คือในตอนเตโชกสิณ

มี องฺคารวุฏฺฐิ ฝนถ่านเพลิง และในตอนวาโยกสิณมีวาตวุฏฺฐิ ฝนลม คือฝนมีพายุ

๓. มหาฎีกาขยายความว่า เมื่อของต่าง ๆ เช่นฝ้าย สำลี ไม้แก่น ไม่ฟืนกองรวมกันอยู่

ต้องการจะเผาของสิ่งใด ก็ทำให้ไหม้เฉพาะสิ่งนั้นได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 203

ด้วยอำนาจแห่งวาโยกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า ไปได้

( เร็ว ) เยี่ยงพายุ ทำฝนลมให้เกิดขึ้นได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจแห่งนีลกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า นิรมิตรูป

สีเขียวขึ้นได้ ทำให้มืดไปได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจปีตกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า นิรมิตรูป

สีเหลืองได้ น้อมใจลง ( อธิษฐาน ) ว่า ให้เป็นทองได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจแห่งโลหิตกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า นิรมิต

สีแดงขึ้นได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจแห่งโอทาตกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่านิรมิต

รูปสีขาวขึ้นได้ ขับถีนมิทธะ ได้ ไล่ความมืดได้ ทำแสงสว่างขึ้นเพื่อ

ประโยชน์แก่การเห็นรูปด้วยทิพจักษุได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจแห่งอาโลกกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า นิรมิต

รูปโปร่งแสงได้ ขับถีนมิทธะได้ เพิกความมืดได้ ทำแสงสว่างขึ้น

เพื่อประโยชน์แก่การเห็นรูปด้วยทิพจักษุได้ ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ด้วยอำนาจแห่งอากาสกสิณ คุณวิเศษทั้งหลายเป็นต้นว่า ทำสิ่ง

ที่ลี้ลับอยู่ให้เปิดเผยได้ นิรมิตช่องว่างเข้าในที่ทึบเช่นภายในแผ่นดิน

และภายในภูเขาแล้วสำเร็จอิริยาบถอยู่ได้ ผ่านที่ตันมีฝาเป็นต้น

ออกไปข้างนอกได้ไม่ติด ดังนี้ย่อมสำเร็จ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 204

[ความแตกต่างแห่งกสิณ]

กสิณทั้งหมดนั่น มีความแตกต่าง ( ดัง ) นี้ คือ อุทฺธํ ( ขยายขึ้น

เบื้องบน ) อโธ ( ขยายลงเบื้องล่าง ) ติริยํ ( ขยายไปโดยขวางรอบตัว )

อทฺวยํ ( ขยายไปไม่เป็น ๒ ) อปฺปมาณํ ( ขยายไปไม่มีประมาณ ) จริงอยู่

ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า " บุคคลลางคนกำหนดกสิณไป

เบื้องบน ลางคนกำหนดกสิณไปเบื้องล่าง ลางคนกำหนดกสิณไป

โดยขวาง ไม่เป็น ๒ ไม่มีประมาณ " ดังนี้เป็นต้น

ในคำเหล่านั้น คำว่า อุทฺธํ คือมุ่งสู่ท้องฟ้าเบื้องบน คำว่า อโธ

คือมุ่งสู่พื้นดินเบื้องล่าง คำว่า ติริยํ คือกำหนดไปรอบตัวดุจลาน

แท้จริง พระโยคาวจรลางท่าน ขยายกสิณไปเบื้องบนทางเดียว ลางท่าน

ขยายไปเบื้องล่าง ลางท่านขยายไปโดยรอบตัว หรือแผ่ไปอย่างนั้น

ตามเหตุการณ์นั้นๆ ดังผู้ใคร่จะเห็นรูปด้วยทิพจักษุ ก็แผ่แสงสว่างไป

ฉะนั้น *เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส ๓ บทว่า อุทฺธํ อโธ

ติริยํ ส่วนคำว่า อทฺวยํ นี่ ตรัสเพื่อ ( แสดง ) ความที่กสิณอันหนึ่ง

ไม่กลายเป็นกสิณอันอื่นไป เปรียบเหมือนเมื่อคนลงน้ำไป ก็มีแต่น้ำ

ไปทุกทิศ ไม่มีสิ่งอื่นฉันใด ปฐวีกสิณก็ย่อมเป็นแต่ปฐวีกสิณเท่านั้น

ความระคนกับกสิณอื่นหามีแก่ปฐวีกสิณนั้นไม่ ฉันนั้น นัยดังนี้นี่ พึง

ทราบในกสิณทั้งปวงคำว่า อปฺปมาณํ นี่ตรัสโดยที่การแผ่ไปแห่ง

* มหาฎีกาว่า ถ้าใคร่จะเห็นรูปในเบื้องบนก็แผ่แสงสว่างไปเบื้องบน ถ้าใคร่

จะเห็นรูปในเบื้องล่าง ก็แผ่แสงสว่างไปเบื้องล่าง ถ้าใคร่จะเห็นรูปโดยรอบก็แผ่แสง-

สว่างไปรอบๆ ตัว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 205

กสิณนั้นหาประมาณไม่ได้ แท้จริง เมื่อพระโยคาวจรแผ่กสิณนั้นไป

ด้วยใจ ย่อมแผ่รวดไปทีเดียว หาได้ (มัว) กะประมาณว่า (แค่) นี้

เป็นเบื้องต้น (แค่) นี้เป็นท่ามกลางของกสิณนั้นไม่ ดังนี้แล

[ผู้ที่บำเพ็ญกสิณไม่สำเร็จ]

ก็แลสัตว์เหล่าใด ที่ท่านกล่าวว่าเป็นผู้กอบด้วยกัมมาวรณ

( เครื่องกั้นคือกรรม ) ก็ดี กอบด้วยกิเลสาวรณ ( เครื่องกั้นคือกิเลส ) ก็ดี

กอบด้วยวิปากาวรณ ( เครื่องกันคือวิบาก ) ก็ดี ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ

ปัญญาทรามเป็นผู้อภัพที่จะก้าวลงสู่ความแน่นอน ความดำเนินชอบ

ในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ความบำเพ็ญในกสิณแม้แต่ข้อเดียว

ก็ย่อมไม่สำเร็จ แก่สัตว์เหล่านั้น แม้สักผู้เดียว

ในคำเหล่านั้น คำว่า กอบด้วยกัมมาวรณ ได้แก่ประกอบด้วย

อนันตริยกรรม คำว่ากอบด้วยกิเลสาวรณ ได้แก่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ

และเป็นอุภโตพยัญชนก เป็นบัณเฑาะก์ คำว่ากอบด้วยวิปากาวรณ

ได้แก่ปฏิสนธิเป็นอเหตุกะและเป็นทวิเหตุกะ คำว่า ไม่มีศรัทธา

คือไร้ความเชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น คำว่าไม่มีฉันทะ

คือไร้ฉันทะในอปัจจนีกปฏิปทา* คำว่า ปัญญาทราม หมายความว่าไร้

ความเห็นชอบ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระข้อว่า เป็นผู้อภัพที่จะ

ก้าวลงสู่ความแน่นอน ความดำเนินชอบในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนั้น

ความว่าเป็นผู้ไม่อาจก้าวลงสู่อริยมรรคที่นับว่าเป็นความแน่นอน และ

* แปลว่า ปฏิปทาอันไม่เป็นข้าศึก มหาฎีกาแก้เป็นอนุโลมปฏิปทา คือปฏิทาอัน

ควรแก่มรรค และว่าหมายเอาวิปัสสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 206

นับว่าเป็นความดำเนินชอบในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล

อนึ่ง มิใช่แต่ในกสิณเท่านั้น การบำเพ็ญแม้ในกรรมฐาน

อื่นๆ ก็ไม่สำเร็จแก่สัตว์เหล่านั้นแม้แต่ผู้เดียว เพราะเหตุนั้น กุลบุตร

แม้ว่าปราศจากวิปากาวรณแล้ว ก็พึงหลีกเว้นกัมมาวรณและกิเลสา-

วรณเสียให้ไกล ยังศรัทธา ฉันทะ และปัญญาให้เจริญด้วยวุฒิธรรม

มีสัทธัมมัสสวนะ ( ฟังธรรมของสัตบุรุษ ) และสัปปุริสูปัสสยะ ( ความ

พึ่งพิงสัตบุรุษ ) เป็นต้น ทำความเพียรในอันประกอบเนืองๆ ในพระ

กรรมฐาน เทอญ

ปริเฉทที่ ๕ ชื่อเสสกสิณนิเทศ

ในอธิการแห่งสมาธิวัณณนา

ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดั่งนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 207

อสุภกรรมฐานนิเทศ

ก็แลในอสุภที่ไม่มีวิญญาณ ๑๐ คือ อุทธุมาตกะ วินีลกะ

วิปุพพกะ วิจฉิททกะ วิกขายิตกะ วิกขิตตกะ หตวิกขิตตกะ โลหิตกะ

ปุฬุวกะ อัฏฐิกะ ซึ่งท่านจัดไว้ในลำดับแห่งกสิณ

[อุทธุมาตกอสุภ]

อสุภที่ชื่ออุทธุมาตะ เพราะเป็นซากที่พองขึ้น โดยความที่มัน

ค่อยอืดขึ้นตามลำดับนับแต่สิ้นชีวิตไป ดุจลูกหนังอันพองด้วยลม

อุทธุมาตะนั่นเอง เป็นอุทธุมาตกะ นัยหนึ่ง อุทธุมาตอสุภ จัดว่าเป็น

ของน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อุทธุ-

มาตกะ ( อุทธุมาตกอสุภอันน่าเกลียด ) คำว่า อุทธุมาตกะ นั่นเป็น

คำเรียกซากศพที่เป็นอย่างนั้น

[วินีลกอสุภ]

อสุภที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ เรียกว่า วินีละ วินีละนั่นเอง

เป็นวินีลกะ นัยหนึ่ง วินีลอสุภ จัดว่าเป็นของน่าเกลียด เพราะเป็น

สิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วินีลกะ ( วินีลอสุภอันน่าเกลียด )

คำว่า วินีลกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพอันมีสีแดงในที่ๆ เนื้อหนา

มีสีขาวในที่ๆ บ่มหนอง แต่โดยมากมีสีเขียวคล้ำ ในที่ๆ เขียว

เป็นเหมือนคลุมไว้ด้วยผ้าเขียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 208

[วิปุพพกอสุภ]

อสุภที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ในที่* ๆ แตกปริทั้งหลาย ชื่อ

วิปุพพะ วิปุพพะนั่นเองเป็นวิปุพพกะ นัยหนึ่ง วิปุพพอสุภ จัดว่า

เป็นของน่าเกลียดเพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า วิปุพพกะ

( วิปุพพอสุภอันน่าเกลียด ) คำว่า วิปุพพกะ นั่นเป็นคำเรียกซาก

ศพที่เป็นอย่างนั้น

[วิจฉิททกอสุภ]

อสุภที่แยกออกจากกันโดยขาดเป็น ๒ ท่อน เรียกว่า วิจฉิททะ

วิจฉิททะนั่นเอง เป็นวิจฉิททกะ นัยหนึ่ง วิจฉิททอสุภ จัดว่าเป็น

ของน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวิจฉิททกะ

( วิจฉิททอสุภอันน่าเกลียด ) คำว่า วิจฉิททกะ นั่นเป็นคำเรียกซาก

ศพที่ถูกตัดกลางตัว

[วิกขายิตกอสุภ]

อสุภที่ชื่อว่าวิกขายิตะ เพราะถูกสัตว์ทั้งหลายมีสุนัขบ้านและสุนัขป่า

เป็นต้น กัดกินโดยอาการต่างๆ ตรงนี้บ้างตรงนั้นบ้าง วิกขายิตะ

นั่นเองเป็นวิกขายิตกะ นัยหนึ่ง วิกขายิตอสุภจัดว่าเป็นของน่าเกลียด

เพราะเป็นสิ่งปฏิกูลเพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า วิกขายิตกะ คำว่า วิก-

ขายิตกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพที่เป็นอย่างนั้น

* ตรงนี้ปาฐะฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พิมพ์ไว้เป็น...วิสฺสนฺทมานํ ปุพฺเพํ ที่ถูกต้องเรียง

ติดกันเป็นบทสมาสว่า วิสฺสนฺทมานปุพฺพํ เพราะเป็นบทวิเสสนะของ อสุภํ ในมหาฎีกา

ก็เป็นอย่างนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 209

[วิกขิตตอสุภ]

อสุภที่กระจุยกระจายไปต่างๆ เรียกว่า วิกขิตตะ วิกขิตตะนั่นเอง

เป็นวิกขิตตกะ นัยหนึ่ง วิกขิตตอสุภ จัดว่าเป็นของน่าเกลียด เพราะ

เป็นสิ่งปฏิกูล เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าวิกขิตตกะ คำว่า วิกขิตตกะ นั่น

เป็นคำเรียกซากศพที่กระจุยกระจายไปที่นั้นๆ คือมือไปทางหนึ่ง

เท้าไปทางหนึ่ง ศีรษะไปทางหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

[หตวิกขิตตกอสุภ]

อสุภที่ชื่อหตวิกขิตตกะ เพราะอสุภนั้นถูกประหารด้วย กระจุย

กระจายโดยนัยก่อนนั้นด้วย คำว่า หตวิกขิตตกะนั่นก็เป็นคำเรียกซาก

ศพอันถูกคนสับฟันที่อวัยวะใหญ่น้อย โดยอาการ ( ยับอย่างกะ ) ตีนกา

แล้วเหวี่ยงกระจายไปโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น*

[โลหิตกอสุภ]

อสุภที่ชื่อโลหิตกะ เพราะมีโลหิตเรี่ยราดไหลออกจากตรงนั้น

บ้าง ตรงนี้บ้าง คำว่า โลหิตกะ นั่นเป็นคำเรียกซากศพอันเปื้อน

โลหิตที่ไหลออก

* วิกขิตตกะนั้น กระจุยกระจาย เนื่องด้วยสัตว์กัด ส่วนหตวิกขิตตกะนี้ กระจุย

กระจาย เพราะถูกคนที่โกระเกลียดกันสับฟันเอา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 210

[ปุฬุวกอสุภ]

หนอนทั้งหลาย เรียกว่า ปุฬุวะ ปุฬุวะทั้งหลายคลาคล่ำอยู่ใน

อสุภนั่น เหตุนั้น อสุภนั่นจึงชื่อปุฬุวกะ คำว่า ปุฬุวกะนั่นเป็น

คำเรียกซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน

[อัฏฐิกอสุภ]

กระดูกนั่นเองชื่ออัฏฐิกะ นัยหนึ่ง กระดูกจัดว่าเป็นของน่าเกลียด

เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล เหตุนั้นจึงชื่ออัฏฐิกะ คำว่าอัฏฐิกะนั่นเป็นคำเรียก

ร่างกระดูกก็ได้ กระดูกท่อนเดียวก็ได้

ก็แลคำทั้งหลายมีคำว่าอุทธุมาตกะเป็นต้นเหล่านั้นแล เป็นชื่อ

แห่งนิมิตอันอาศัยอสุภมีอุทธุมาตกอสุภเป็นอาทิเหล่านี้เกิดขึ้นก็ได้ เป็น

ชื่อแห่งฌานอันพระโยคาวจรได้ในนิมิตทั้งหลายก็ได้

[วิธีเรียนอุทธุมาตกอสุภกรรมฐาน]

ในอสุภ ๑๐ นั้น พระโยคีผู้ใคร่จะยังอุทธุมาตกนิมิตในซากที่

ขึ้นพองให้เกิด แล้วยังฌานที่ชื่ออุทธุมาตกะให้มีขึ้นพึงเข้าไปหา

อาจารย์มีประการดังกล่าวแล้ว เรียนเอาพระกรรมฐานโดยนัยที่กล่าว

แล้วในปฐวีกสิณนั้นแล อาจารย์นั้นเมื่อจะบอกกรรมฐานแก่เธอ

พึงบอกวิธีทุกอย่าง คือวิธีไปเพื่อ ( ถือเอา ) อสุภนิมิต การกำหนด

( จำ ) นิมิต( ต่างๆ ) โดยรอบ การถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ การ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 211

พิจารณาทางไปมา ดังนี้จนถึงอัปปนาวิธี๑ ฝ่ายพระโยคีนั้นเรียนเอา

วิธีทั้งปวงให้ดีแล้วพึงเข้าไปสู่เสนาสนะมีประการดังกล่าวมาก่อน

แล้วแสวงหาอุทธุมาตกนิมิตอยู่เถิด

ก็แลเมื่อเธออยู่อย่างนั้น แม้นได้ยินคำคนทั้งหลายพูดกันว่า ซาก

อุทธุมาตกะ เขาทอดไว้ที่ช่องทางเข้าหมู่บ้านชื่อโน้น หรือที่ปากดง

ที่หนทาง ที่เชิงเขา ที่โคนไม้ หรือที่สุสานชื่อโน้น ดังนี้ก็ไม่ควรไป

ทันทีทันใด ( จะ ) เป็นเหมือนคนแล่นไปผิดท่า ถามว่าเพราะเหตุอะไร

ตอบว่า เพราะอันอสุภนั่นจะเป็นซากที่สัตว์ร้ายพักเอาไว้บ้าง อมนุษย์

พักเอาไว้บ้าง อันตรายแห่งชีวิตจะพึงมีแก่เธอในเพราะอสุภนั้น ( เป็น

เหตุ ) ก็ได้ หรืออนึ่ง ทางไปที่นั่นจะเป็นทางผ่านช่องทางเข้าหมู่บ้าน

บ้าง ผ่าท่าอาบน้ำบ้าง ผ่านปลายนาบ้าง รูปอันเป็นวิภาค ( ข้าศึก

แห่งพรหมจรรย์ ) ในที่ทั้งหลายนั้น จะมาสู่คลอง ( จักษุ ) หรือมิฉะนั้น

ซาก ( ศพ ) นั้นเองจะเป็นวิภาค จริงอยู่ ซากสตรีย่อมเป็นวิภาค

แห่งบุรุษ และซากบุรุษย่อมเป็นวิภาคแห่งสตรี ซากนั้นนั่นที่ตาย

ไม่นาน๒ ยังปรากฏเป็นร่างสวยงามอยู่ก็ได้ อันตรายแห่งพรหมจรรย์

จะพึงมีแก่เธอเพราะอสุภนั้น ( เป็นเหตุ ) ก็ได้ แต่ถ้าเธอไว้ใจตัวว่า

" มันไม่เป็นของหนัก ( ใจ ) สำหรับภิกษุอย่างอาตมา " ดังนี้ไซร้ เธอ

ผู้ไว้ใจตัวได้อย่างนั้นก็พึงไปเถิด

๑ มหาฎีกาว่า อัปปนาวิธี หมายเอาวิธีปฏิบัติตั้งแต่อุคคหนิมิตเกิด ดังกล่าวไว้ใน

ปฐวีกสิณแล้ว

๒ มหาฎีกาว่า หมายเอาศพที่ยังไม่เป็นอุทธุมาตกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 212

ก็แลเมื่อจะไป พึงบอกพระสังฆเถระ หรืออภิญญาตภิกษุ ( ภิกษุ

ผู้มีชื่อเสียง ) อื่นแล้วจึงไป ถามว่า เพราะเหตุอะไร ? ตอบว่า

เพราะหากว่าเมื่อเธอถูกอนิฏฐารมณ์ เช่นรูปร่างและเสียงแห่งสัตว์ร้าย

ทั้งหลายมีอมนุษย์ และสีห์เสือเป็นอาทิในป่าช้าครอบงำเอา ( จน )

องคาพยพ ( หนาว )สั่นไปก็ดี๑ ( ขวัญหนี ) ของที่บริโภคแล้วไม่อยู่ ( ในท้อง )

ก็ดี๒ อาพาธเป็นอย่างอื่น ( อีก ) ก็ดี ( ไม่สามารถจะเดินกลับมาวิหาร

ได้ ) ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านที่เธอบอกนั้นก็จัก ( ช่วย ) เก็บงำ

บาตรจีวรของเธอไว้ให้อย่างดีในวิหารจักส่งพวกภิกษุหนุ่มบ้าง

สามเณรบ้าง ไปช่วยปรนนิบัติ ( พยาบาล ) ภิกษุนั้น อีกประการหนึ่ง

พวกโจรสำคัญว่า ป่าช้านั่นเป็นที่ไม่ต้องระแวง ( ว่าจะมีคนรู้เห็น )

( มันไป ) ทำการมาแล้วก็ดี ยังมิได้ทำการก็ดี จึงมามั่วกันอยู่ ( ในนั้น )

มัน ( ไปทำการมาแล้ว ) ถูกคนทั้งหลายตามมาทันเข้าก็จะทิ้งห่อของไว้

ใกล้ๆ ภิกษุแล้วหนีไปเสียก็ได้คนทั้งหลาย ( เห็นของตกอยู่ใกล้ภิกษุ )

ก็จะสำคัญว่า " พวกเราพบโจรพร้อมทั้งของกลาง " แล้วจับภิกษุไป

ทรมาน ทีนั้นท่านที่เธอบอก ( ทราบเข้า ) ก็จัก ( ไปช่วย ) อ้อนวอน

ว่า " ท่านทั้งหลายอย่าทรมานภิกษุนี้เลย เธอบอกข้าพเจ้าแล้วจึงไป

ทำงานอันนี้ดอก " ( ชี้แจง ) ให้คนเหล่านั้นเข้าใจถูกแล้ว ทำความ

สวัสดีให้แก่เธอได้ นี่เป็นอานิสงส์ในการบอกแล้วจึงไป

๑. ข้อนี้ ตรงกับที่เราพูดกันว่า "ขวัญหนี" อาการสั่นนั้นเข้าใจว่าถึงกับจับไข้ทีเดียว

ไม่ใช่สั่นพอดีพอร้าย.

๒. ข้อนี้ตรงกับ "ดีฝ่อ" น้ำย่อยอาหารเสีย อาหารที่กินแล้วไม่ย่อยหรือย่อยไม่หมด

เกิดเป็นพิษ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 213

[วิธีไปดูอสุภตามนัยอรรถกถา]

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้ได้บอกแก่ภิกษุมีประการดังกล่าว

แล้ว เกิดความจำนงยิ่งในอันจะดูอสุภนิมิตพึงยังปีติโสมนัสให้เกิดขึ้น*

ไป ( ดู ) โดยวิธีที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ( ให้ ) เหมือน

กษัตริย์เกิดปีติโสมนัสเสด็จไปสู่สถานที่อภิเษก เหมือนผู้จะบูชายัญ

เกิดปีติโสมนัสไปสู่โรงบูชายัญ หรืออนึ่ง เหมือนคนไม่มีทรัพย์เกิดปีติ

โสมนัสไปสู่ที่ตั้งขุมทรัพย์ฉะนั้นเถิด จริงอยู่ คำ ( ต่อไป ) นี้ ท่าน

กล่าวไว้ ( ในอรรถกถา ) ว่า " ภิกษุเมื่อจะขึ้นเอาอสุภนิมิตชนิดอุทธุ-

มาตกะ ย่อมไปผู้เดียว ไม่ ( ต้อง ) มีสหาย มีสติตั้งมั่นไม่หลงลืม มี

อินทรีย์ทั้งหลายอยู่กับตัว ( คือสำรวม ) มีความคิดไม่ไปนอกตัว ( คือ

ไม่คิดกลัวอะไรไปต่างๆ ) พิจารณาดูทางไปมาไว้ อสุภนิมิตชนิด

อุทธุมาตกะมีทอดอยู่ที่แห่งใด เธอย่อมทำก้อนหินก็ดี จอมปลวกก็ดี

ไม้ต้นก็ดี ไม้กอก็ดี ไม้เถาก็ดี ( อันมีอยู่ )ในที่แห่งนั้น ให้เป็นนิมิต

ร่วม ย่อมทำ ( วัตถุนั้นๆ ) ให้เป็นอารมณ์ร่วม ครั้นทำ ( วัตถุนั้นๆ )

ให้เป็นนิมิตร่วมแล้ว ทำ ( วัตถุนั้นๆ ) ให้เป็นอารมณ์ร่วมแล้ว จึง

เข้าไปกำหนดอุทธุมาตกอสุภนิมิตตามความที่มันเป็นของมันเอง ( โดย

อาการ ๑๑ คือ ) โดยสีกายบ้าง โดยเพศบ้างโดยสัณฐานบ้าง โดย

ทิศบ้าง โดยโอกาสบ้าง โดยตัดตอนบ้าง ( และ ) โดยที่ต่อ โดยช่อง

โดยที่เว้า โดยที่นูน โดยรอบตัว เธอย่อมทำนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งที่

ถือเอาไว้อย่างดีแล้ว ย่อมจดจำเอานิมิตนั้นให้เป็นสิ่งที่จำได้อย่าง

* คือเกิดปีติโสมนัสว่า จักพ้นจากชรามาณะด้วยปฏิปทานี้แน่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 214

แม่นยำแล้วย่อมกำหนดเอานิมิตนั้นให้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ได้อย่างดี

แล้ว ครั้นทำนิมิตนั้น ฯลฯ ให้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ได้อย่างดีแล้ว เธอก็

( กลับ ) ไปผู้เดียวไม่มีสหาย มีสติมั่นคงไม่หลงลืม มีอินทรีย์ทั้งหลาย

อยู่กับตัว มีความคิดไม่ไปนอกตัว พิจารณาดูทางไปมา แม้นจะจงกรม

เธอก็อธิษฐานจงกรมให้เป็นการเกื้อกูลแก่ฝ่ายอสุภนิมิตนั้นเท่านั้น แม้

จะนั่ง ก็ปูอาสนะให้เป็นการเกื้อกูลแก่ฝ่ายอสุภนิมิตนั้นอย่างเดียว

ถามว่า การกำหนดจำนิมิต ( ต่างๆ มีก้อนหินเป็นต้น ) โดยรอบ

มีประโยชน์อย่างไร มีอานิสงส์อย่างไร ? แก้ว่า การกำหนดจำนิมิต

โดยรอบ มีความไม่หลงเป็นประโยชน์ มีความไม่หลงเป็นอานิสงส์

ถามว่า การถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ มีประโยชน์อย่างไร

มีอานิสงส์อย่างไร ? แก้ว่า การถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ มีอันนำ

( กรรมฐาน ) เข้าไปผูกไว้เป็นประโยชน์ เป็นอานิสงส์

ถามว่า การพิจารณาดูทางไปมา มีประโยชน์อย่างไร มีอานิสงส์

อย่างไร ? แก้ว่า การพิจารณาดูทางไปมา มีอันยังกรรมฐาน ( ที่เสื่อม )

ให้ ( กลับ ) ดำเนินสู่วิถี เป็นประโยชน์ เป็นอานิสงส์ *

พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้เห็นอานิสงส์อยู่โดยปกติ มีความสำคัญ

( ในอสุภ ) ว่าเป็นดังแก้ว เข้าไปตั้งความยำเกรงไว้ ( ในอสุภนั้น )

ประพฤติดังว่า ( อสุภนั้น ) เป็นที่รักอยู่ นำจิตเข้าไปผูกไว้ในอารมณ์นั้น

เป็นแน่แท้ ( ในที่สุด ) เธอสงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงฌาน

* คำแก้ปัญหา ๓ ข้อนี้ มีอรรถาธิบายข้างหน้า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 215

ที่ ๑ อยู่ ปฐมฌานเป็นรูปาวจร เป็นอันเธอบรรลุแล้ว วิหารธรรม

อันเป็นทิพย์ ก็เป็นอันเธอได้บรรลุ และบุญกิริยาวัตถุส่วนภาวนามัย

ก็เป็นอันเธอได้บรรลุด้วย "

[วัตรในการไปดูอสุภ]

เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดจะไปเยี่ยมป่าช้า เพื่อประโยชน์แก่การ

ยังจิตให้ได้สำนึก ภิกษุนั้นจงเคาะระฆัง ยังคณะ( พระกรรมฐานด้วย

กัน ) ให้ประชุม ( บอกกันให้ทราบก่อน ) ก็ได้แล้วจึงไป ก็แลเมื่อไป

ด้วย ( มุ่ง ) กรรมฐานเป็นสำคัญ พึงเป็นคนผู้เดียวไม่ ( ต้อง ) มีสหาย

เป็นผู้ไม่ละทิ้งมูลกรรมฐาน* มนสิการมูลกรรมฐานนั้นไว้เรื่อยไป

ถือไม้เท้าหรือไม้ถือ ( ไปด้วย ) เพื่อกันอันตรายมีสุนัขเป็นต้นในป่าช้า

ทำสติไว้มิให้หลงลืม โดยยังความเป็นผู้มั่นคง ( ในกรรมฐาน ) ให้

ถึงพร้อม เป็นผู้มีใจไม่ไปนอกตัวโดยยังความที่อินทรีย์ทั้งหลาย

มีใจเป็นที่ ๖ อยู่กับตัวให้ถึงพร้อม ( เดิน ) ไปเถิด

พอออกจากวิหาร พึงสังเกตประตูไว้ว่า " เราออกทางประตูโน้น

ในทิศโน้น " ต่อนั้น เธอไปโดยทางใด พึงกำหนดจำทางนั้นไว้ว่า

" ทางนี้ตรงไปทิศตะวันออก หรือว่า ตรงไปทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้

หรือว่าตรงไปทิศเฉียง " อนึ่งพระโยคาวจรพึงกำหนดทางที่ ( เดิน )

ไปว่า " ตรงนี้ไปทางซ้าย ตรงนี้ไปทางขวา และในที่แห่งอสุภนั้น

* ตจปัญจกกรรมฐาน ที่พระอุปัชฌายะบอกให้เมื่ออุปสมบทได้ยินเรียกมูลกรรมฐาน

แปลว่ากรรมฐานดั้งเดิม ฟังดูก็สม แต่ในที่นี้มหาฎีกาแก้ไว้ว่า มูลกรรมฐานหมาย

เอาสัพพัตถกกรรมฐานมีพุทธานุสสติเป็นอาทิ ที่พระโยคาวจรนั้นบำเพ็ญอยู่ตามปกติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 216

ตรงนี้มีก้อนหิน ตรงนี้มีจอมปลวก ตรงนี้มีไม้ต้น ตรงนี้มีไม้กอ

ตรงนี้มีไม้เถา " ดังนี้ ( เรื่อย ) ไป ( จน ) ถึงที่ๆ นิมิตตั้งอยู่ อนึ่งเล่า

ไม่ควร ( เดินเข้า ) ไปทวนลม เพราะว่าเมื่อไปทวนลม กลิ่นศพจะพึง

กระทบจมูกทำให้เยื่อสมองอักเสบไปก็ได้ ทำให้สำรอกอาหาร ( ที่กิน

เข้าไปแล้วออกมา ) ก็ได้ ทำให้เกิดความเสียใจว่า " โธ่เอ๊ย เรามา

( เจอเอา ) ที่ทิ้งศพเช่นนี้เข้า " ก็ได้ เพราะฉะนั้น พึงเว้นทางทวนลม

เสีย ไปตามลมเถิด* ถ้าไม่อาจไปโดยทางตามลมได้ มีภูเขาหรือเหว

ก้อนหิน ( ใหญ่ ) รั้ว ดงหนาม น้ำหรือหล่มก็ตามอยู่ในระหว่างไซร้

ก็พึงปิดจมูกด้วยชายจีวรไปเถิด นี้เป็นวัตรในการไปแห่งพระโยคาวจร

นั้น

[วัตรเมื่อไปถึงที่อสุภแล้ว]

ก็แลพระโยคาวจรผู้ไปถึง ( ที่อสุภ ) อย่างนี้แล้ว อย่าเพิ่งอสุภ-

นิมิต พึงกำหนดทิศเสียก่อน เพราะเมื่อเธอยืนข้างทิศหนึ่ง อารมณ์จะ

ไม่ปรากฏชัดและจิตก็จะไม่เป็นกัมมนียะ ( ควรแก่การภาวนา ) ด้วย

( ก็ได้ ) เพราะเหตุนั้น พึงเว้นข้างทิศนั้นเสียแล้ว ยืนทางทิศที่เมื่อยืน

แล้วอารมณ์จะปรากฏชัด และจิตก็จะเป็นกัมมนียะด้วยนั้นเถิด

อนึ่ง พึงละ ( การยืน ) ทวนลมและตามลม ( ตรงๆ ) เสีย

เพราะเมื่อยืนทวนลม ( ตรงศพ ) ถูกกลิ่นศพรบกวนจิตจะพล่าน เมื่อ

ยืนตามลม ( ตรงศพ ) ถ้ามีอมนุษย์สิงอยู่ในศพนั้น มันจะโกรธเอา

* ลมที่ว่านี้ หมายเอาลมที่พัดผ่านศพ ท่านพูดว่าทวนลมตามลม เพราะหมายเอาลม

เป็นหลัก ฝ่ายเราพูดกันว่าใต้ลมเหนือลม เพราะมุ่งเอาศพเป็นหลัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 217

แล้วทำความพินาศให้ เพราะเหตุนั้นพึงเลี่ยงเสียหน่อยหนึ่ง ยืนมิให้ตาม

ลม ( ตรง ) นัก

แม้เมื่อยืนอย่างนี้ ก็พึงยืนในที่ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก ไม่ค่อนไป

ทางเท้า ไม่ค่อนไปทางศีรษะ เพราะว่าเมื่อยืนในที่ไกลนัก อารมณ์จะ

ไม่ชัด ใกล้นัก ความกลัวจะเกิดขึ้น เมื่อยืนค่อนไปทางเท้าก็ดี ค่อน

ทางไปศีรษะก็ดี อสุภทั้งหมดจะไม่ปรากฏเท่ากัน เพราะเหตุนั้น พึง

ยืนในที่ตรงส่วนกลางตัว ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก อันเป็นที่ผาสุกสำหรับ

ผู้จะดู ( อสุภ )

[วิธีกำหนดจำนิมิตต่างๆ โดยรอบอสุภนั้น]

พระโยคาวจรผู้ยืนอยอู่ ย่างนั้นแล้ว พึงกำหนดจำนิมิตทั้งหลาย

โดยรอบ ที่กล่าวมาแล้วว่า " เธอย่อมทำก้อนหินก็ดี ฯลฯ ไม้เถาก็ดี

( อันมีอยู่ ) ในที่แห่งนั้นให้เป็นนิมิตร่วม " ดังนี้ ( ต่อไป ) นี้ เป็นวิธี

กำหนดจำในข้อนั้น

ถ้าโดยรอบ ( อสุภ ) นิมิตนั้น ก้อนหินมีอยู่ในคลองจักษุไซร้

พึงกำหนดดูก้อนหินนั้นว่า " หินก้อนนี้สูงหรือเตี้ย เล็กหรือใหญ่

ดำหรือขาว* ยาวหรือกลม " ต่อนั้นจึงสังเกตไว้ว่า " ในโอกาสตรงนี้

นั่นเป็นก้อนหิน นี่เป็นอสุภนิมิต นี่อสุภนิมิต นั่นก้อนหิน "

ถ้าจอมปลวกมีอยู่ แม้จอมปลวกนั้นพึงก็กำหนดดูว่า " สูงหรือ

เตี้ย ย่อมหรือใหญ่ แดง (ช้ำ) ดำหรือขาว สั้น ยาว หรือกลม"

* หน้าคำว่า ดำ (กาโฬ) ในฉบับพม่ามีคำว่า แดง (ตมฺโพ) น่าจะถูก เพราะหิน

สีแดงนั้นมีอยู่ ตมฺพนั้นเป็นแดงช้ำ คือ แดงเจือดำ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 218

ต่อนั้นจึงสังเกตไว้ว่า " ในโอกาสตรงนี้ นั่นเป็นจอมปลวก นี่เป็น

อสุภนิมิต ( นี่อสุภนิมิต นั่นจอมปลวก ) "

ถ้าไม้ต้นมีอยู่ แม้ต้นไม้นั้นก็พึงกำหนดดูว่า " เป็นต้นโพธิ์หรือ

ต้นไทร ต้นเต่ารั้งหรือต้นมะขวิด สูงหรือเตี้ย เล็กหรือใหญ่ ดำ

หรือขาว ต่อนั้นจึงสังเกตไว้ว่า " ในโอกาสตรงนี้ นั่นเป็นต้นไม้

นี่เป็นอสุภนิมิต ( นี่อสุภนิมิต นั่นต้นไม้ ) "

ถ้าไม้กอมีอยู่ แม้กอไม้นั้น ก็พึงกำหนดดูว่า " เป็นกอเป้ง

หรือกอเล็บเหยี่ยว หรือกอพุด หรือกอว่านหางช้าง กอสูงหรือเตี้ย

เล็กหรือใหญ่ ต่อนั้นจึงสังเกตไว้ว่า " ในโอกาสตรงนี้ นั่นเป็น

กอไม้ นี่เป็นอสุภนิมิต ( นี่อสุภนิมิต นั่นกอไม้ ) "

ถ้าไม้เถามีอยู่ แม้เถาไม้นั้นก็พึงกำหนดดูว่า " เป็นเถาน้ำเต้า

หรือเถาฟัก หรือเถาหญ้านาง หรือเถากระพังโหมหรือเถาหัวด้วน "

ต่อนั้นจึงสังเกตไว้ว่า " ในโอกาสตรงนี้ นั่นเป็นเถาไม้ นี่เป็นอสุภ-

นิมิต นี่อสุภนิมิต นั่นเถาไม้ "

ส่วนคำใดที่กล่าวว่า " ทำ---- ให้เป็นนิมิตร่วม ให้เป็นอารมณ์

ร่วม " คำนั้นก็ ( มีอรรถาธิบาย ) รวมอยู่ในข้อ( กำหนดนิมิตโดย

รอบ ) นี้แล เพราะว่าเมื่อกำหนดดู ( นิมิตโดยรอบ ) แล้วๆ เล่าๆ ก็

ชื่อว่าทำ ( นิมิตโดยรอบนั้น ) ให้เป็นนิมิตร่วม เมื่อกำหนดรวม

นิมิต ๒ อย่างเข้าด้วยกันว่า นั่นก้อนหิน นี่อสุภนิมิต นี่อสุภนิมิต

นั่นก้อนหิน ดังนี้ ก็ชื่อว่า ทำให้เป็นอารมณ์ร่วม ก็แลครั้นทำให้

เป็นนิมิตร่วม และให้เป็นอารมณ์ร่วมอย่างนี้แล้ว เพราะความที่กล่าว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 219

ไว้ว่า " สภาวภาวโต ววฏฺฐเปติ๑ กำหนดดูตามความที่มันเป็นของ

มันเอง " ดังนี้ ภาวะอันใด เป็นภาวะที่ซากศพนั้นมันเป็นเอง เป็น

ภาวะที่มันไม่ทั่วไปแก่สิ่งอื่น เป็นภาวะของตัวมัน คือความที่มันเป็น

ซากขึ้นพอง พึงทำในใจโดยภาวะอันนั้น หมายความว่าให้กำหนด

ดูตามความเป็นของมัน ตามรส ( คือกิจ ) ของมันอย่างนี้ว่า " วณิตํ

อุทฺธุมาตกํ อสุภขึ้นพองน่าเกลียด "๒

[ถือเอานิมิตโดยประการ ๖]

ครั้งกำหนดได้อย่างนี้แล้ว พึงถือเอานิมิต โดยประการ ๖

( ก่อน ) คือ โดยสีกายบ้าง โดยเพศบ้าง โดยสัณฐานบ้าง โดยทิศ

บ้าง โดยโอกาสบ้าง โดยตัดตอนบ้าง ถามว่า ถือเอาอย่างไร ?

แก้ว่า ก็พระโยคีนั้นพึงกำหนดดูโดยสีกายว่า " นี่เป็นซากของคน

( ผิว ) ดำ หรือของคน ( ผิว ) ขาว หรือของคนผิวสองสี "

ส่วนโดยเพศ อย่ากำหนดว่า เป็นเพศหญิง หรือว่าเพศชาย พึง

กำหนดว่า ( นี่เป็นซาก ) ของคนตั้งอยู่ในปฐมวัยหรือในมัชฌิมวัย

หรือในปัจฉิมวัย

โดยสัญฐาน ก็พึงกำหนดโดยสัณฐานอสุภที่ขึ้นพองเท่านั้น

( กระจายออกไป ) ว่า " นี่เป็นสัณฐานศีรษะ นี่สัณฐานคอ นี่สัณฐาน

มือ นี่สัณฐานท้อง นี่สัณฐานสะดือ นี่สัณฐานสะเอว นี่สัณฐานอก

๑. ปาฐะเดิม (หน้า ๒๓๐) เป็น. . . อุปลกฺเขติ

๒. มหาฎีกาว่า ความขึ้นพอง เป็นสภาวะ คือ เป็นลักษณะของมัน ความทำ

ให้เกิดความน่าเกลียดเป็นรส คือเป็นกิจ ( เป็นหน้าที่ ) ของมัน )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 220

นี่สัณฐานแข้ง นี่สัณฐานเท้า ของซากนั้น๑

ส่วนโดยทิศ พึงกำหนดว่า " ในซากนี้ มีทิศ ๒ คือ ใต้สะดือ

ลงไปเป็นทิศเบื้องล่าง เหนือ ( สะดือ ) ขึ้นมาเป็นทิศเบื้องบน " อีก

อย่างหนึ่ง พึงกำหนดว่า " เรายืนอยู่ในทิศนี้ อสุภนิมิตตั้งอยู่ใน

ทิศนี้ "

ส่วนโดยโอกาส พึงกำหนดว่า " มือ ( ๒ ข้าง ) อยู่ในโอกาส

ตรงนี้ เท้า ( ๒ ข้าง ) อยู่ในโอกาสตรงนี้ ศีรษะอยู่ตรงนี้ กาย

ท่อนกลางอยู่ตรงนี้ " อีกนัยหนึ่งพึงกำหนดว่า " เรายืนอยู่ใน

โอกาสนี้อสุภนิมิตตั้งอยู่ในโอกาสนี้ "

โดยตัดตอน พึงกำหนดว่า " ซากนี้ เบื้องล่างตัดตอนด้วยพื้น

เท้า เบื้องบนตัดตอนด้วยปลายผม เบื้องขวางตัดตอนด้วยหนัง และ

ในที่เท่าที่ตัดตอนไว้ ( นี้ ) มันเต็มไปด้วยซากศพ ๓๒ ทีเดียว " อีก

นัยหนึ่ง พึงกำหนดว่า " นั่นเป็นตอนมือ นั่นเป็นตอนเท้า นั่นเป็น

ตอนศีรษะ นั่นเป็นตอนกายท่อนกลาง " หรืออนึ่งเธอถือเอาที่ ( แห่ง

อวัยวะ ) ได้เพียงใด ก็พึงตัดตอนเอาที่เพียงนั้นแหละว่า " นี่อุทธุมาตก-

อสุภเป็นเช่นนี้ " แต่ว่าร่างของสตรีย่อมไม่ควรแก่บุรุษ ร่างของ

บุรุษเล่าก็ไม่ควรแก่สตรี อารมณ์ในร่างอันเป็นวิสภาค ย่อมไม่ปรากฏ

๑.มหาฎีกาช่วยขยายความว่า อวัยวะทั้ง ๙ นั้น ต้องขึ้นพองทั้งนั้นจึงถือเอา ตรงไหน

ยังไม่ขึ้นพอง ก็อย่าถือเอา เพราะถ้าไปถือเอาที่ยังไม่ขึ้น มันก็ไม่เป็นอุทธุมาตกะ

๒.มหาฎีกาว่า การกำหนดตอน เช่นว่าตอนมือข้างล่าง ถือเอาแค่ปลายนิ้ว

ข้างบน แค่ที่ต่อจากบ่า ทางขวาง แค่หนังที่หุ้มโดยรอบ แม้ตอนอื่นก็พึงเทียบ

เคียงกำหนดตามนัยนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 221

( อาการปฏิกูล ) มีแต่จะเป็นปัจจัยแห่งความ ( ใจ ) แกว่งไปต่าง ๆ

เพราะท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามัชฌิมนิกายว่า " สตรีแม้ ( ตายจน )

ขึ้นพองแล้วก็ยังยึดจิตบุรุษไว้อยู่ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงถือเอา

นิมิตโดยอาการ ๖ แต่ในร่างที่เป็นเพศเดียวกันเถิด

[ถือโดยอาการ ๕ เพิ่มเติม]

ฝ่ายว่ากุลบุตรใด ( เคย ) เสพกรรมฐาน บริหารธุดงค์ ย่ำ

มหาภูต (โดยจตุธาตุววัฏฐาน) จับสังขาร ( โดยลักขณญาณ )

กำหนดนามรูป เพิกสัตตสัญญา ทำสมณธรรม อบรมวาสนา บำเพ็ญ

ภาวนามาแล้วในสำนักของพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย เป็นผู้มีพืช

( คือกุศลอันเป็นอุปนิสัยทางวิวัฏฏะ ) เป็นผู้มีญาณยิ่ง มีกิเลสน้อย

ปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏแก่กุลบุตรผู้นั้นได้ทุกที่ๆ เธอได้ดู ( อสุภ* ) ถ้า

ไม่ปรากฏ ( โดยง่าย ) อย่างนั้น ครั้นเธอถือเอานิมิตโดยอาการ ๖ ที่

กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะปรากฏได้ แต่แม้ ( ถือเอาโดยอาการ ๖ ) อย่างนั้น

ก็ยังไม่ปรากฏแก่กุลบุตรใดกุลบุตรนั้นจึงควรถือเอานิมิตโดยอาการ ๕

ด้วยอีก คือ โดยที่ต่อ โดยช่อง โดยที่เว้า โดยที่นูน โดยรอบตัว

โดยที่ต่อ

ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า โดยที่ต่อ ไดแ้ ก่โดยที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง

แต่ว่าพระโยคาวจรจักกำหนดดูที่ต่อ ( ตั้ง ) ๑๘๐ แห่งในอุทธุมาตกอสุภ

อย่างไรได้ เพราะฉะนั้นพึงกำหนดโดยที่ต่อแต่ตามที่ต่อใหญ่ ๑๔ แห่ง

* มหาฎีกาเสริมความว่า ไม่ต้องเลือกกาล หรือสถานที่เป็นพิเศษแต่อย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 222

ดังนี้ คือ ที่ต่อทางมือขวา ๓ ที่ต่อทางมือซ้าย ๓ ที่ต่อทางเท้าขวา ๓

ที่ต่อทางเท้าซ้าย ๓ ที่ต่อคอ ๑ ที่ต่อสะเอว ๑

โดยช่อง

ข้อว่าโดยช่อง คือหว่างมือ หว่างเท้า หว่างท้อง หว่างหู

เป็นต้น ชื่อว่าช่อง พระโยคาวจรพึงกำหนดดูโดยช่องอย่างนั้นเถิด แม้

ความที่ในตาหลับก็ดี เหลือก็ดี แม้ความที่ปากหุบก็ดี อ้าก็ดี ก็พึง

กำหนดดู ( ด้วย )

โดยที่เว้า

ข้อว่าโดยที่เว้า คือ ที่ใดเป็นที่หวำลงในสรีระ ได้แก่เบ้าตาก็ดี

ข้างในปากก็ดี หลุมคอก็ดี พึงกำหนดดูที่นั่น อีกนัยหนึ่งพึงกำหนด

ว่า " เรายืนอยู่ที่ลุ่ม ซากศพอยู่ที่ดอน "

โดยที่นูน

ข้อว่าโดยที่นูน คือที่ใดเป็นที่สูงขึ้นในสรีระ ได้แก่หัวเข่าก็ดี

อกก็ดี หน้าผากก็ดี พึงกำหนดดูที่นั้น อีกนัยหนึ่งพึงกำหนดว่า

" เรายืนอยู่ที่ดอน ซากศพอยู่ที่ลุ่ม "

โดยรอบตัว

ข้อว่า โดยรอบตัว ความว่า พึงกำหนดดูร่างทั้งหมดโดยรอบ

คือพึงยังญาณให้ท่องเที่ยวไปในร่างทั้งสิ้น แห่งใดปรากฏเป็นอุทธุ-

มาตกะชัด ก็ตั้งจิตบริกรรมว่า อุทฺธุมาตกํ อุทฺธุมาตกํ ที่แห่งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 223

ถ้าแม้ว่ากำหนดดูโดยอาการอย่างนั้นแล้ว อุทธุมาตกภาวะ ก็ยังไม่

ปรากฏไซร้ ร่าง ( ท่อนบน ) แค่ท้อง ย่อมจะขึ้นมากกว่า ( ท่อนล่าง )

พึงตั้งจิตบริกรรมว่า อุทฺธุมาตกํ อุทฺธุมาตกํ ที่ร่างท่อนนั้นก็ได้

[วินิจฉัยอุคคหนิมิตเป็นอาทิ]

คำต่อไปนี้ เป็นคำวินิจฉัยในอรรถกถาปาฐะมีคำว่า " เธอย่อม

ทำนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งที่ถือเอาได้อย่างดีแล้ว" ดังนี้เป็นอาทิ อัน

พระโยคีนั้นพึงถือเอานิมิตในซากนั้นให้ดี โดย ( วิธี ) ถือเอานิมิตตาม

ที่กล่าวแล้ว พึงทำสติให้มั่นดีแล้วนึกหน่วงไป เธอผู้ทำ ( ความนึก

หน่วง ) อย่างนั้นอยู่แล้วๆ เล่าๆ พึงจดจำและกำหนดเอาไว้ให้แม่น

ด้วยเธอผู้ยืนก็ดี นั่งก็ดี ในที่ไม่ไกลนักไม่ใกล้นักแต่ซากศพ พึง

ลืมตาแลดูถือเอานิมิต ( ให้ได้ ) พึงบริกรรมว่า อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ

อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ ลืมตาแลดู หลับตานึกหน่วงไป ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน

เมื่อเธอทำอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป อุคฺคหนิมิต ก็จะเป็นสิ่งที่เธอถือเอาได้

อย่างดี

ถามว่า อุคฺคหนิมิต จะเป็นสิ่งที่พระโยคาวจรถือเอาได้อย่างดีใน

กาลไร? ตอบว่า ในกาลใด เมื่อเธอลืมตาแลดูก็ดี หลับตานึกหน่วง

ก็ดี นิมิต ( ปรากฏ ) เป็นอย่างเดียวกันมาสู่คลอง ( จักษุ ) ในกาลนั้น

อุคฺคหนิมิต ชื่อว่าเป็นสิ่งที่เธอถือเอาได้อย่างดีแล้ว

พระโยคาวจรนั้น ครั้นทำนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งที่ถือเอาอย่างดี จดจำ

ไว้อย่างดี กำหนดไว้อย่างดีดังนี้แล้ว ถ้าไม่อาจถึงที่สุดแห่งภาวนาใน

ที่นั้นเลยไซร้ เมื่อเช่นนั้น เธอแต่ผู้เดียว ไม่ ( ต้อง ) มีสหาย มนสิการ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 224

กรรมฐานนั้นแหละพลาง ทำสติให้ตั้งมั่นดี มีอินทรีย์ทั้งหลายอยู่

กับตัว ( คือสำรวม ) มีความคิดไม่ไปนอกตัว ( คือไม่คิดกลัวอะไรไป

ต่างๆ ) โดยนัยที่กล่าวแล้วในเวลามานั่นแล ( กลับ ) ไปสู่เสนาสนะ

ของตนเถิด อนึ่ง เมื่อออกจากป่าช้านั้น พึงกำหนดดูทางมาด้วยว่า

" เราออกทางใด ทางนี้ตรงไปทิศตะวันออก หรือว่าตรงไปทิศตะวันตก

เหนือ ใต้ หรือว่าตรงไปทิศเฉียง หรืออนึ่ง ตรงนี้ไปทางซ้าย ตรงนี้ไป

ทางขวา ตรงนี้มีก้อนหิน ตรงนี้มีจอมปลวก ตรงนี้มีไม้ต้น ตรงนี้มี

ไม้กอตรงนี้มีไม้เถา " เธอผู้กำหนดดูทางมาอย่างนี้ มา ( ถึงเสนาสนะ

ของตน ) แล้ว แม้นจะจงกรมก็พึงอธิษฐานจงกรมอันเป็นการเกื้อกูล

แก่ฝ่ายอสุภนั้นเท่านั้น หมายความว่าพึงจงกรมในภูมิประเทศอันหันหน้า

ไปทางทิศแห่งอสุภนิมิต แม้จะนั่งก็พึงลาดอาสนะอันเกื้อกูลแก่ฝ่าย

อสุภนั้นเหมือนกัน แต่ถ้าในทิศนั้น บ่อก็ดี เหวก็ดี ต้นไม้ก็ดี รั้วก็ดี

หล่มก็ดีมีอยู่ เธอไม่อาจจงกรมในภูมิประเทศอันหันหน้าไปทางทิศนั้น

แม้อาสนะก็ไม่อาจลาดได้เพราะไม่มีโอกาส ก็ไม่ ( ต้อง )เหลียวไป

ทางทิศนั้น พึงจงกรมและนั่งในที่อันควรแก่โอกาสก็ได้ แต่พึงทำจิต

ให้มุ่งต่อทิศนั้นไว้เท่านั้น

[อธิบายคำแก้ปัญหาว่า

การกำหนดจำนิมิตโดยรอบมีประโยชน์อะไร]

คำต่อไปนี้เป็นอธิบายคำแก้ ( ปัญหา ) มีคำว่า ( การกำหนดจำ

นิมิตโดยรอบ ) มีความไม่หลงเป็นประโยชน์เป็นต้น แห่งปัญหา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 225

ทั้งหลาย มีข้อว่า การกำหนดจำนิมิตโดยรอบมีประโยชน์อย่างไร เป็น

อาทิ

ก็เมื่อพระโยคาวจรผู้ใด ไปสู่ที่ตั้งอุทธุมาตกนิมิตในเวลาไม่

บังควร๑ ทำการกำหนดนิมิตแม้โดยรอบแล้วลืมตาแลดู เพื่อถือเอา

นิมิตอยู่นั่นแล ซากนั้นจะปรากฏเป็นเหมือนลุกขึ้นยืน เหมือนจะจับเอา

และเหมือนจะไล่เอา พระโยคาวจรนั้นเห็นซากนั้นเป็นอารมณ์

พิลึกสะพึงกลัว ( เช่นนั้น ) แล้ว ก็จะใจหายเหมือนจะเป็นบ้าไปถึง

ซึ่งความกลัว ความสยอง ความขนพอง จริงอยู่ ในอารมณ์ ๓๘ ที่

ท่านจำแนกไว้ในบาลี อารมณ์อื่นที่จัดว่าเป็นอารมณ์น่ากลัวเห็นปานนี้

หามีไม่๒ เพราะในกรรมฐานนี้ พระโยคาวจร ( ถึงกับ ) ได้ชื่อว่า

ฌานวิพภันตกะ ( สึกจากฌาน ) ก็มี เพราะเหตุอะไร เพราะความที่

กรรมฐาน ( นี้ ) เป็นกรรมฐานมีอารมณ์น่ากลัวยิ่ง เพราะเหตุนั้น

พระโยคาวจรผู้นั้น พึงแข็งใจทำสติให้ตั้งมั่นด้วยดี ปลงใจลงว่า " อันร่าง

ที่ตายแล้วจะลุกขึ้นไล่ ( คนเป็น ) ได้ไม่มี ก็ถ้าว่าก้อนหินหรือ ... ไม้เถา๔

ที่อยู่ใกล้ๆ ร่างนั้นมันจะพึง ( เคลื่อน ) มาได้ไซร้ เจ้าร่าง ( นั่น ) ก็จะ

พึง ( ลุก ) มาได้บ้างแต่ก้อนหินหรือ ... ไม้เถานั้นหา ( เคลื่อน ) มาได้

๑. เช่นเวลาโพล้เพล้

๒. อญญํเอว รูปํ น่าจะผิด ที่ถูกจะเป็น อญฺญํ เอวรูปํ เพราะรูปศัพท์และความ ควร

จะเป็นเช่นนั้น

๓. ในวิสุทธิมรรคนี้ ท่านใช้โยคีทุกทีไป แต่หูไทยถนัดข้างโยคาวจร เพราะโยคีเรา

นิยมใช้เรียกผู้ประกอบโยคะ ที่มิใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก็เลยใช้ดึงกันไปดึงกันมา

อยู่เช่นนี้

๔. นิมิตร่วมที่ท่านเคยให้ตัวอย่างไว้มี ๔ คือ ก้อนหิน ไม้ต้น ไม้กอ ไม้เถา แต่ในที่นี้

ท่านกล่าวแต่อันต้นคือก้อนหิน กับอันท้ายคือไม้เถา ก็ต้องเข้าใจเอาได้ว่าท่านทำเปยยาล

แต่เพราะในปาฐะไม่มีเครื่องหมายเปยยาล จึงใช้ . . . แทน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 226

ไม่ฉันใด แม้เจ้าร่าง ( นั่น ) ก็ ( ลุก ) มาไม่ได้ฉันนั้น อันอาการที่

ปรากฏแก่ท่านนี้ เป็นอาการเกิดแต่สัญญา เป็นขึ้นเพราะสัญญาดอก*

กรรมฐานจะปรากฏแก่ท่านในวันนี้แล้ว ท่านอย่ากลัวเลยนะ ภิกษุ "

ดังนี้แล้ว บรรเทาตาสะ ( ความสะดุ้งกลัว ) เสีย ยังหาสะ ( ความร่าเริง

ยินดี ) ให้เกิดขึ้นแล้ว ยังจิตให้เพ่งทั่วไปในนิมิตนั้นเถิด ( เมื่อทำ

ได้ ) อย่างนี้ เธอก็จะได้บรรลุธรรมวิเสส ข้อว่าการกำหนดจำนิมิต

โดยรอบ มีความไม่หลงเป็นประโยชน์นั้น พระอรรถกถาจารย์กล่าว

หมายเอาคำ ( ที่อธิบายมา ) นี้

[อธิบายคำแก้ปัญหาว่า

การถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ มีประโยชน์อย่างไร]

ก็พระโยคาวจร เมื่อยังการถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ ให้สำเร็จ

ชื่อว่านำกรรมฐานเข้าไปผูกไว้ได้ เพราะอุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น

แก่เธอ เพราะการลืมตาแลดู ( นิมิต ) เป็นปัจจัย เมื่อเธอยังมานัส

( ภาวนาจิต ) ให้เพ่งทั่วไปในอุคคหนิมิตนั้น ปฏิภาคนิมิตจึงเกิด ยัง

มานัสให้เพ่งทั่วไปในปฏิภาคนิมิตนั้น จึงถึงอัปปนา ตั้งอยู่ในอัปปนา

ยังวิปัสสนาให้เจริญแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตได้ เพราะเหตุนั้น

ท่านจึงกล่าวว่า การถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑มีอันนำ ( กรรมฐาน )

เข้าไปผูกไว้ได้เป็นประโยชน์

[อธิบายคำแก้ปัญหาว่า

การพิจารณาดูทางไปมามีประโยชน์อย่างไร]

ส่วนในข้อว่า การพิจารณาดูทางไปมามีอันยังกรรมฐาน ( ที่

* มหาฎีกาว่าหมายถึงสัญญาในบริกรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 227

เสื่อม ) ให้ ( กลับ ) ดำเนินสู่วิถีเป็นประโยชน์นั้นความว่า การพิจารณา

ดูทางไปด้วยทางมาด้วยที่กล่าวแล้วอันใด การพิจารณาอันนั้น มี

ประโยชน์ คือยังกรรมฐาน ( ที่เสื่อม ) ให้ดำเนินไปตามวิถีแห่ง

กรรมฐาน ความพิสดารว่า ถ้าใครๆ ถามวันกะภิกษุนี้ผู้ถือเอา

กรรมฐานได้แล้ว ( กลับ ) มาว่า " ท่านเจ้าข้า วันนี้ดิถีที่เท่าไร " ก็ดี

ถามปัญหาก็ดี ทำปฏิสันถารก็ดี ในระหว่างทางไซร้ อันเธอจะนิ่ง

ด้วยไว้ตัวว่า ฉันเป็นพระกรรมฐาน ( เดิน ) ไปเสีย ก็ไม่ควร จำต้อง

บอกวัน ต้องแก้ปัญหา ถ้าไม่รู้ ก็ต้องพูดว่า อาตมาไม่ทราบ ต้องทำ

ปฏิสันถารอันชอบธรรม เมื่อเธอมัวทำอยู่อย่างนั้น นิมิตอันอ่อนที่

ติดตามาก็จักเสื่อม แม้เมื่อนิมิตกำลังเสื่อม เธอถูกถามวัน ก็ต้องบอก

อยู่นั่น ไม่รู้ปัญหา ก็ต้องพูดว่าอาตมาไม่ทราบ แม้นรู้ก็ชอบที่จะ

บอกโดยส่วนเดียว ปฏิสันถารเล่าก็จำต้องทำ อนึ่ง พบภิกษุอาคันตุกะ

ก็ต้องทำอาคันตุกปฏิสันถารอยู่นั่นแหละ แม้วัตรที่ยังเหลือ คือวัตร

อันมาในขันธกวินัยทั้งหลายทั้งปวง มีเจติยังคณวัตร( วัตรอันพึงบำเพ็ญ

ที่ลานพระเจดีย์ ) โพธิยังคณวัตร ( วัตรอันพึงบำเพ็ญที่ลานต้นโพธิ์ )

อุโปสถาคารวัตร ( วัตรอันพึงบำเพ็ญที่เรือนอุโบสถ ) โภชนสาลาวัตร

( วัตรอันพึงบำเพ็ญที่หอฉัน ) ชันตาฆรวัตร ( วัตรอันพึงบำเพ็ญใน

เรือนไฟ ) อาจริยวัตร ( วัตรอันพึงบำเพ็ญต่ออาจารย์ ) อุปัชฌายวัตร

( วัตรอันพึงบำเพ็ญต่ออุปัชฌาย์ )อาคันตุกวัตร ( วัตรอันพึงบำเพ็ญต่อ

อาคันตุกะ ) คมิกวัตร ( วัตรอันพึงบำเพ็ญต่อภิกษุผู้เตรียมจะไป )

เป็นต้นก็จำต้องบำเพ็ญทั้งนั้น แม้เมื่อเธอมัวบำเพ็ญวัตรเหล่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 228

เสีย นิมิตอันอ่อนนั้นก็จักเสื่อมไป เมื่อเธอคิดว่าจักไปถือเอานิมิตอีก

แม้เป็นผู้ใคร่จะไป ก็ไม่อาจแม้แต่จะเข้าไปสู่ป่าช้าได้ เพราะถูก

อมนุษย์หรือสัตว์ร้ายขวางเสียบ้าง ( หากเข้าป่าช้าได้ ) นิมิตก็กลายไป

เสียบ้าง จริงอยู่ อุทธุมาตกอสุภ คง ( สภาพ ) อยู่วัน ๑ หรือ ๒ วัน

เท่านั้น ก็ถึงความเป็นอสุภอย่างอื่นมีวินีลกอสุภเป็นต้นไปเสีย ใน

กรรมฐานทั้งหมด ชื่อว่ากรรมฐานที่หาได้ยากเสมอด้วยอุทธุมาตก-

อสุภนั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น เมื่อนิมิตเสื่อมไปเสียแล้วอย่างนี้

ภิกษุนั้นพึงนั่งในที่พักกลางคืนหรือในที่พักกลางวันก็ตาม แล้ว ( ย้อน )

พิจารณาถึงทางไปทางมา ( ตั้งแต่ต้น ) จนถึงที่ๆ ตนนั่งคู้บัลลังก์ ( อยู่

เวลานี้ ) อย่างนี้ว่า " เราออกจากวิหารโดยประตูชื่อนี้ เดินไปทางที่

ตรงไปทิศโน้น แล้วถือเอา ( เลี้ยว ) ซ้ายในที่ชื่อโน้น ถือเอาขวา

ที่โน่น ในที่แห่งอสุภนั้น ก้อนหินอยู่ตรงโน้น หรือจอมปลวก ไม้ต้น

ไม้กอ ไม้เถา อย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ตรงโน้นๆ เรานั้น ( เข้า ) ไป

โดยทางนั้น จึงได้เห็นอสุภในที่ชื่อโน้น ในที่นั้นเรายืนหันหน้าไปทาง

ทิศโน้น สังเกตจำนิมิตทั้งหลายโดยรอบอย่างนั้นๆ ถือเอาอสุภนิมิต

( เป็นอุคคหนิมิต ) ขึ้นได้อย่างนั้น แล้ว ( กลับ ) ออกจากป่าช้าทางทิศ

โน้น ทำกิจนี้ๆ ตามทางเช่นนั้นๆ พลางมาถึง ( ที่อยู่ )แล้วนั่งอยู่นี่ "

เมื่อเธอ ( ย้อน ) พิจารณาไปอย่างนี้ นิมิตนั้นจะปรากฏขึ้น คือเข้ามา

ตั้งอยู่ ( ในคลอง ) ราวกะวางไว้ข้างหน้า ( ต่อนั้น ) กรรมฐานจะดำเนิน

ไปสู่วิถีด้วยอาการดุจอาการครั้งแรก เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า

การพิจารณาทางไปมา มีประโยชน์คือยังกรรมฐาน ( ที่เสื่อม ) ให้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 229

( กลับ ) ดำเนินสู่วิถีได้ ดังนี้

[อธิบายข้อว่า

อานิสํสทสฺสาวี ฯ เป ฯ จิตฺตํ อุปนิพนฺธติ]

บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบอรรถาธิบายในอรรถกถาปาฐะข้อว่า

" พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้เห็นอานิสงส์อยู่โดยปกติมีความสำคัญ ( ใน

อสุภ ) ว่าเป็นดังแก้ว เข้าไปตั้งความยำเกรงไว้ ( ในอสุภนั้น ) ประพฤติ

ดังว่า ( อสุภนั้น )เป็นที่รักอยู่ นำจิตเข้าไปผูกไว้ในอารมณ์นั้น " นี้

( ต่อไป ) อันพระโยคาวจรผู้ยังมานัส ( คือภาวนาจิต ) ให้ท่องเที่ยวไป

ในอุทธุมาตกอสุภอันปฏิกูล ( จน ) ยังฌานให้เกิดแล้ว เจริญวิปัสสนา

อันมีฌานเป็นบาทฐานอยู่พึงเป็นผู้เห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า " เราจัก

พ้นจากชรามรณะด้วยปฏิปทานี้เป็นแน่แท้ " เหมือนอย่างคนตกยาก

ได้แก้วมณีมีค่ามากแล้ว ดีใจว่าตัวเองได้ของหายาก จะพึงเป็นผู้มีความ

สำคัญในแก้วมณีนั้นว่าเป็นรัตนะ ยังคารวะ( ความตระหนัก ) ให้เกิด

ดื่มด่ำอยู่ด้วยความรักมากยิ่ง รักษาแก้วมณีนั้นไว้ฉันใด พระโยคาวจร

ก็ฉันนั้นเหมือนกันยินดีว่าตัวได้กรรมฐานข้อนี้ อันเป็นกรรมฐานที่

ได้ยากเช่นกับแก้วมณีมีค่ามากของคนทุคตะ เพราะว่าท่านผู้บำเพ็ญ

จตุธาตุกรรมฐาน ก็กำหนดเอามหาภูตรูป ๔ ของตน ผู้บำเพ็ญอานาปาน-

กรรมฐาน ก็กำหนดเอาลมที่จมูกของตน ผู้บำเพ็ญกสิณกรรมฐาน

ก็แต่ง ( วง ) กสิณเอา บำเพ็ญตามสบาย กรรมฐานทั้งหลายนอกนี้

ก็หาได้ง่ายเช่นกัน แต่อุทธุมาตกอสุภกรรมฐานนี้ ( นิมิต ) คง ( สภาพ )

อยู่วัน ๑ หรือ ๒ วันเท่านั้น ต่อนั้นไปก็ถึงความเป็นอสุภอื่นมีวินีลก-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 230

อสุภเป็นต้นไปเสีย เพราะเหตุนั้น กรรมฐานที่หาได้ยากยิ่งกว่าอุทธุ-

มาตกกรรมฐานนี้จึงไม่มี " ดังนี้ จะพึงเป็นผู้มีความสำคัญในอุทธุมา-

ตกอสุภนั้นว่าเป็นดังรัตนะ เข้าไปตั้งความยำเกรงไว้ ( ในอสุภนั้น )

ประพฤติดังว่า ( อสุภนั้น ) เป็นที่รักอยู่รักษานิมิตนั้นไว้ พึงนำจิต

เข้าไปผูกพันในอสุภนั้นร่ำไป ด้วยบริกรรมว่า อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ

อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ พึงนึกหน่วง ( อุคคห ) นิมิตนั้นไว้ ทำนิมิตนั้นไว้

ในใจแล้วๆ เล่าๆ ทำจนเป็นสิ่งตรึกมาได้ นึกมาได้ เมื่อเธอทำอยู่

อย่างนั้น ปฏิภาคนิมิตย่อมจะเกิดขึ้น

[นิมิต ๒ อย่างต่างกัน]

นี่เป็นความต่างกันแห่งนิมิตทั้งสอง ในอุทธุมาตกอสุภนั้น คือ

อุคคหนิมิตปรากฏเป็นรูปพิกลดูพิลึกสะพึงกลัว ส่วนปฏิภาคนิมิตปรากฏ

เป็นเหมือนคนผู้มีองคาพยพใหญ่น้อยอ้วนพี ที่บริโภคอาหารจนหนำ

แล้วนอนอยู่

[ได้ปฏิภาคนิมิต ละนิวรณ์ได้ องค์ฌานเกิด]

พร้อมกับกาลที่ได้ปฏิภาคนิมิตนั่นเอง เพราะไม่ใส่ใจถึงกาม

ทั้งหลายในภายนอก กามฉันทะ พระโยคาวจรนั้นก็ละได้ด้วยอำนาจ

วิกขัมภนปหาน และเพราะละความยินดีได้นั้นแหละ พยาบาทเธอก็

ละได้ด้วย เปรียบเสมือนว่า เพราะละโลหิตได้ บุพโพก็เป็นอันละได้

ด้วยฉะนั้น โดยนัยเดียวกัน เพราะความที่เป็นผู้มีความเพียรอันปรารภ

แล้ว ถีนมิทธะก็ละได้ อุทธัจจกุกกุจจะละได้ด้วยอำนาจการตาม

ประกอบธรรมอันสงบที่ทำความไม่ต้องร้อนใจ ( ในภายหลัง ) เพราะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 231

ความที่ธรรมวิเสสที่ตนได้บรรลุแล้ว เป็นคุณอันประจักษ์ ( แก่ตน )

วิจิกิจฉาในองค์พระศาสดาผู้ทรงแสดงข้อปฏิบัติก็ดี ในตัวข้อปฏิบัติก็ดี

ในผลแห่งการปฏิบัติก็ดี ก็ละได้ นิวรณ์ทั้ง ๕ พระโยคาวจรละได้ดังนี้

อนึ่ง องค์ฌานทั้งหลายคือ วิตก อันมีการปักจิตลงจำเพาะในนิมิตนั้นแล

เป็นลักษณะ วิจาร อันยังกิจคือการตามเฟ้นนิมิตให้สำเร็จ ปีติ อันมี

วิเสสาธิคม ( อธิคม คือธรรมวิเสส ) ที่ได้แล้วเป็นปัจจัย สุขอันจัดว่า

เป็นปัสสัทธิเป็นเหตุ เพราะปัสสัทธิมีขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้มีใจ

กอปรด้วยปีติ และเอกัคคตา อันจัดว่ามีสุขเป็น ( เหตุ ) เพราะ

ความตั้งมั่นแห่งจิตเกิดมีแก่พระโยคาวจรผู้ถึงซึ่งความสุข ( ๕ นี้ ) ย่อม

ปรากฏขึ้นโดยนัยฉะนี้ แม้อุปจารฌานอันเป็นรูปเทียมแห่งปฐมฌาน

ก็เกิดแก่เธอในขณะนั้นเหมือนกัน* ต่อนี้ไป คำพรรณนาทั้งปวงจนถึง

( ตอนที่เป็น ) อัปปนาและถึงความเป็นวสีแห่งปฐมฌาน บัณฑิตพึง

ทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั้นเถิด

๒. วินีลกอสุภกรรมฐาน

อนึ่ง แม้ในกรรมฐานทั้งหลาย ( ที่เหลือ ) มีวินีลกอสุภกรรม-

ฐานเป็นอาทิต่อแต่นี้ไป ลักษณะ ( การถือเอานิมิต ) จับแต่การไป ( ดู

อสุภ ) เป็นต้นไป ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยว่า " อุทฺธุมาตกํ อสุภนิมิตฺตํ

อุคฺคณฺหนฺโต เอโก อทุติโย คจฺฉติ อุปฏฐฺ ิตาย สติยา ( ภิกษุ

* ความตอนนี้ ถ้าไม่ทราบเค้ามูล อ่านไปเผินๆ อาจเข้าใจผิดว่า ได้ปฏิภาคนิมิต

ละนิวรณ์ได้แล้ว องค์ฌานจึงเกิด มหาฎีกาท่านจึงแถลงไว้ว่า อันจะละโทษโดยเว้นปฏิ-

ปักขธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ ปฏิปักขธรรมแห่งนิวรณ์ ก็คือองค์ฌานนั้นเอง ดังที่กล่าวไว้ใน

คัมภีร์เปฏกะว่า "สมาธิ (คือเอกัคคตา) เป็นปฏิปักษ์แห่งกามฉันท์" ดังนี้เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 232

เมื่อจะเรียนเอาอสุภนิมิตชนิดอุทธุมาตกะ ย่อมไปผู้เดียว ไม่ ( ต้อง )

มีสหาย มีสติตั้งมั่น ) " ดังนี้เป็นต้นอันใด ลักษณะนั้นทั้งปวงพร้อม

ด้วยวินิจฉัยและอธิบาย บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวนั่นแล เปลี่ยน

แต่บทอุทธุมาตกะในที่นั้นๆ ตามแต่ ( เป็น ) อสุภนั้น ๆ เช่น

อย่างนี้ว่า " วินีลกํ อสุภนิมิตฺตํ อุคฺคณฺหนฺโต วิปุพฺพกํ อสุภ-

นิมิตฺตํ อุคฺคณฺหนฺโต ( ภิกษุเมื่อจะเรียนเอาอสุภนิมิตชนิดวินีลกะ. . .

ภิกษุเมื่อจะเรียนเอาอสุภนิมิตชนิดวิปุพพกะ. . . ) "( ดังนี้เป็นตัวอย่าง )

ส่วนความ ( ต่อไป ) นี้ เป็นความที่แตกต่างกัน

ในวินีลกอสุภ พระโยคาวจรพึงยังมนสิการให้เป็นไปว่า วินีลกํ

ปฏิกูลํ วินีลกํ ปฏิกูลํ ( วินีลกอสุภปฏิกูลๆ ) อนึ่ง อุคคหนิมิตใน

กรรมฐานข้อนี้ ปรากฏเป็นร่างที่มีสีด่างๆ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อม

ปรากฏด้วยอำนาจสีที่หนา( กว่าเพื่อน )

๓. วิปุพพกอสุภกรรมฐาน

ในวิปุพพกอสุภ พึงยังมนสิการให้เป็นไปว่า วิปุพฺพกํ ปฏิกูลํ

วิปุพฺพกํ ปฏิกูลํ ( วิปุพพกอสุภปฏิกูลๆ ) ส่วนอุคคหนิมิตในกรรมฐาน

ข้อนี้ ปรากฏ ( เป็นร่าง ) คล้ายกับว่า ( มีน้ำเหลือง ) ไหลซึมอยู่ ปฏิภาค-

นิมิตปรากฏเป็นร่างนิ่งอยู่

๔. วิจฉิททกอสุภกรรมฐาน

วิจฉิททกอสุภ ย่อมมีอยู่ในสนามรบบ้าง ในดงโจรบ้าง ใน

ป่าช้าเป็นที่ๆ พระราชาทั้งหลาย ( สั่ง ) ให้ ( ประหารโดยวิธี ) ตัด

( ร่าง ) พวกโจร ( เป็นท่อนๆ ) บ้าง หรือว่าในป่าตรงที่มีคนถูกสีหะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 233

หรือเสือกัด (จนตัวขาดออกจากกัน) บ้าง เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจร

พึงไปสู่สถานที่เห็นปานนั้น ถ้าอสุภนั้นแม้ ( ขาดเป็นท่อน ) ตก ( เรี่ย )

อยู่ต่างทิศกัน ( แต่ ) มาสู่คลอง ( จักษุเดียวกัน ) ได้ด้วยอาวัชชนะเดียวไซร้

มาได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่มา ก็อย่าจับ ( เอามารวมกัน )

ด้วยมือตนเอง เพราะจับต้องเข้าจะชินไปเสีย เพราะเหตุนั้น จึงควร

ใช้คนวัดหรือสมณุเทศหรือใครๆ อื่นก็ได้ ให้ทำ ( การเก็บมารวม )

ไว้ในที่เดียวกัน เมื่อ ( หาคน ) ไม่ได้ พึงใช้ไม้ซ่าวหรือไม้เท้าเขี่ย

เข้ามา ( รวมกัน )ไว้ระหว่าง ( ห่างกันสัก ) องคุลี ๑* ครั้นเขี่ยเข้ามา

( รวมกัน ) อย่างนั้นแล้ว จึงยังมนสิการให้เป็นไปว่า " วิจฺฉิทฺทกํ

ปฏิกูลํ วิจฺฉิทฺทกํ ปฏิกูลํ ( วิจฉิททกอสุภปฏิกูล ๆ ) " อุคคหนิมิต

ในกรรมฐานนั้น ยังปรากฏเป็นร่างคล้ายกับว่าขาดกลางอยู่ ต่อถึง

ปฏิภาคนิมิตจึงปรากฏเป็นร่างเต็ม

๕. วิกขายิตกอสุภกรรมฐาน

ในวิกขายิตกอสุภ พึงยังมนสิการให้เป็นไปว่า วิกฺขายิตกํ ปฏิกูลํ

วิกฺขายิตกํ ปฏิกูลํ ( วิกขายิตกอสุภปฏิกูลๆ ) ส่วนอุคคหนิมิตใน

กรรมฐานนี้ ก็ปรากฏเป็นร่างคล้ายกับร่างถูกสัตว์กัดกะบ่อนกะแบ่น

นั่นเอง ปฏิภาคนิมิตจึงปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์แท้

๖. วิกขิตตกอสุภกรรมฐาน

พระโยคาวจรพึงใช้คนให้ทำ ( การเก็บ ) หรือทำเอง ( โดยใช้

ไม้เท้าเขี่ย ) แม้ซึ่งวิกขิตตกอสุภ ( เข้ามารวมกัน ) ให้มีระหว่าง

* มหาฎีกาว่า ที่ให้ไว้ระหว่างนั้น เพื่อให้ปรากฏความเป็นวิจฉิททกอสุภ

ประโยค๘ - วิ______________สุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 234

( ห่างกัน ) องคุลี ๑ ๆ* โดยนัยที่กล่าวในวิจฉิททกอสุภะนั้นแหละ แล้ว

ยังมนสิการให้เป็นไปว่า วิกฺขิตฺตกํ ปฏิกูลํ วิกฺขิตฺตกํ ปฏิกูลํ

( วิกขิตตกอสุภปฏิกูลๆ ) อุคคหนิมิตใน กรรมฐานนี้ ปรากฏเป็นร่าง

มีรอยแยก ( แตกระแหง ) ติด ต่อปฏิภาคนิมิตจึงปรากฏเป็นร่างเต็มเรียบ

๗. หตวิกขิตตกอสุภกรรมฐาน

แม้หตวิกขิตตกอสุภ ก็หาได้ตามที่ทั้งหลายอันมีประการดังกล่าว

ในวิจฉิททกอสุภ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงไป ณ ที่เหล่านั้น

ใช้คนให้ทำหรือทำเอง ให้มีระหว่างองคุลี ๑ ๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น

แล้วยังมนสิการให้เป็นไปว่า หตวิกฺขิตฺตกํ ปฏิกูลํ หตวิกฺขิตฺตกํ

ปฏิกูลํ ( หตวิกขิตตกอสุภปฏิกูลๆ ) ส่วนอุคคหนิมิตในกรรมฐานนี้

เป็นเหมือนร่างที่มีปากแผลถูกประหารติดอยู่ ( แผลเป็น ? ) ปฏิภาค-

นิมิตจึงปรากฏเป็นร่างเต็มเรียบ

๘. โลหิตกอสุภกรรมฐาน

โลหิตกอสุภ ย่อมได้ในกาลที่เมื่ออวัยวะทั้งหลายมีมือและเท้า

เป็นต้นของบุคคลที่ถูกประหารในที่ต่างๆมีสนามรบเป็นอาทิ ขาดแล้ว

โลหิตไหลอยู่ หรือในกาลที่โลหิตไหลออกจากปากแผลของศพที่มีฝี

และต่อมแตกเป็นต้นเพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเห็นโลหิตนั้นแล้ว

พึงยังมนสิการให้เป็นไปว่า โลหิตกํ ปฏิกูลํ โลหิตกํ ปฏิกูลํ

( โลหิตกอสุภปฏิกูลๆ ) อุคคหนิมิตในกรรมฐานข้อนี้ ปรากฏเป็น

ร่างมีอาการไหว เหมือนธงผ้าแดงต้องลม แต่ปฏิภาคนิมิตปรากฏ

เป็นร่างนิ่ง

* องฺคุลงฺคุลนฺตรํ ใช้ยมการ เพราะกระจุยกระจายอยู่หลายท่อนหลายชิ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 235

๙. ปุฬุวกอสุภกรรมฐาน

ปุฬุวกอสุภ ย่อมเป็นในกาลที่กลุ่มหนอนชอนออกทางปากแผล

ทั้ง ๙ ของซากศพ ( คน ) เมื่อล่วงไป ๒-๓ วัน อนึ่ง ปุฬุวกอสุภนั้น

ย่อมมีขนาดเท่าซากศพต่างๆ เช่น สุนัขบ้าน สุนัขป่า มนุษย์ โค

กระบือ ช้าง ม้า และงูเหลือม ตั้งอยู่ราวกะกองข้าวสุกแห่งข้าวสาลี

พระโยคาวจรพึงยังมนสิการให้เป็นไปในซากเหล่านั้น อย่างใดอย่าง

หนึ่งว่า ปุฬุวกํ ปฏิกูลํ ปุฬุวกํ ปฏิกูลํ ( ปุฬุวกอสุภปฏิกูลๆ )

จริงอยู่ นิมิตในซากช้างภายในบึงกาฬทีฆวาปี ก็ได้ปรากฏแก่พระ

จูฬปิณฑปาติกติสสเถระ ส่วนอุคคหนิมิตในกรรมฐานข้อนี้ปรากฏ

คล้ายกับเป็นร่างไหวอยู่ ปฏิภาคนิมิตจึงปรากฏเป็นร่างนิ่ง ดุจก้อน

ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี

๑๐. อัฏฐิกอสุภกรรมฐาน

อัฏฐิกอสุภ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ( ในมหาสติปัฏฐานสูตร )

โดยประการต่างๆ โดยนัยว่า " ภิกษุนั้นพึงเห็นซาก ( ศพ ) ที่เขาทิ้ง

ไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือด ( ติดอยู่บ้าง ) ยังมีเอ็นยึด

อยู่ " ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ซากนั้นเขาทอดทิ้งไว้ ณ ที่ใดมีอยู่

พระโยคาวจรพึงไป ณ ที่นั้น โดยนัยที่กล่าวมาก่อนนั่นแล ทำนิมิต

ร่วม อารมณ์ร่วม ตามแต่วัตถุ ( อันมีอยู่ ) โดยรอบมีก้อนหินเป็นต้น

แล้วสังเกต ( ซากนั้น ) ให้แม่นตามความที่มันเป็นอยู่ว่า นี่กระดูก แล้ว

จึงถือเอานิมิต ( ให้เป็นอุคคหนิมิตขึ้น ) ด้วยอาการ ๑๑ โดยอาการมีสี

เป็นต้น แต่อัฏฐิกอสุภนั้น เมื่อดู โดยสี ว่าขาว ย่อมไม่ปรากฏ ( ตาม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 236

สภาพ ) ไปปนกับโอทาตกสิณเข้า เพราะฉะนั้น ต้องดูว่าเป็นกระดูก

โดยทางเป็นของปฏิกูลเท่านั้น คำว่าเพศ ( ลิงคะ ) ในอสุภะนี้ เป็นชื่อ

ของอวัยวะทั้งหลายมีมือเป็นต้น เพราะฉะนั้น โดยเพศ พึงกำหนดตาม

( อวัยวะคือ ) มือ เท้า ศีรษะ อก แขน สะเอว ขา แข้ง เถิด

ส่วนว่า โดยสัณฐาน พึงกำหนดโดยความยาวและสั้น กลมและสี่

เหลี่ยม เล็กและใหญ่ทิศ และ โอกาส มีนัยดังกล่าวแล้ว ส่วน โดย

ตัดตอน พึงกำหนดโดยขอบแห่งกระดูกนั้นๆ ในกระดูกเหล่านั้น

นิมิตกระดูกท่อนใดแลปรากฏชัด พึงถือเอานิมิตนั้น ( ไปจน ) ถึง

อัปปนาเถิด ส่วน โดยที่เว้า และ โดยที่นูน พึงกำหนดเอาตามที่เว้า

และที่นูนแห่งกระดูกนั้นๆ อนึ่ง พึงกำหนดโดยสถานที่ว่า เรายืนอยู่

ที่ลุ่ม กระดูกอยู่ที่ดอน หรือว่าเรายืนอยู่ที่ดอน กระดูกอยู่ที่ลุ่ม ดังนี้

ก็ได้ ส่วน โดยที่ต่อ พึงกำหนดเอาตามที่กระดูก ๒ ท่อนชนๆ กัน

โดยช่อง พึงกำหนดเอาตามระหว่างของกระดูกทั้งหลายนั้นแหละ ส่วน

โดยรอบตัว พึงยังญาณให้ท่องเที่ยวไปในกระดูกจนทั่ว กำหนดไปว่า

ตรงนี้กระดูกนี่ เมื่อนิมิตไม่ปรากฏแม้ด้วยภาวนาวิธีอย่างนี้ ก็พึงหยุด

จิตไว้ที่กระดูกหน้าผากเถิด ก็การถือเอานิมิตด้วยอาการ ๑๑ อย่างนี้

ในอัฏฐิอสุภนี่เป็นฉันใด แม้ในอสุภข้อก่อนๆ นี้มีปุฬุวกอสุภเป็นต้น

ก็พึงสังเกตเอาตามอาการที่เหมาะกันเถิด

ก็เพราะกรรมฐานข้อนี้ ย่อมสำเร็จได้ในร่างกระดูกหมดทั้งตัว

ก็ได้ ในกระดูกท่อนเดียวก็ได้ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงถือเอา

นิมิตด้วยอาการ ๑๑ ในร่างกระดูกหรือท่อนกระดูกนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 237

ขึ้นแล้ว ยังมนสิการให้เป็นไปว่า อฏฺฐิ กํ ปฏิกูลํ อฏฺฐิก  ปฏิกูลํ

( อัฏฐิกอสุภปฏิกูลๆ ) เถิด

[ลักษณะนิมิตทั้งสองในอัฏฐิกอสุภ]

ท่านกล่าวไว้ ( ในอรรถกถา ) ว่า " อุคคหนิมิตก็ดี ปฏิภาคนิมิต

ก็ดี ในกรรมฐานนี้ เป็นเช่นเดียวกันนั่นเอง "คำนั้น ( สำหรับ )

ในกระดูกท่อนเดียวก็ชอบอยู่ แต่ ( สำหรับ ) ในร่างกระดูก ( ละก็ )

ความเป็นร่างมีช่องติดอยู่ ( ปรากฏ ) ในอุคคหนิมิต ความเป็นร่าง

บริบูรณ์ ( ปรากฏ ) ในปฏิภาคนิมิตจึงจะชอบ อนึ่ง แม้ในกระดูก

ท่อนเดียว ในอุคคหนิมิตก็ควรเป็นรูปพิกลน่ากลัว แต่ในปฏิภาคนิมิต

ควรเป็นรูปที่ทำให้ปีติโสมนัสให้เกิด เพราะเป็นนิมิตอันจะนำมาซึ่ง

อุปจาร แต่ว่าในโอกาสนี้ คำที่กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านก็

กล่าวให้ช่องไว้เหมือนกันจริงอย่างนั้น ในอรรถกถานั้น แม้จะได้

กล่าวว่า " ในพรหมวิหาร ๔ และในอสุภะ ๑๐ ปฏิภาคนิมิตไม่มี

เพราะในพรหมวิหาร สีมสัมเภท ( ความรวมกันแห่งเขตแดน )

เท่านั้นเป็นนิมิต และในอสุภ ๑๐ เมื่อเห็นความเป็นปฏิกูลจนไม่มีวิกัป

( ข้อแม้ ) แล้วเท่านั้น ก็นับว่าเป็นนิมิต " ดังนี้แล้ว ก็กล่าวติดต่อไป

อีกเลยว่า " นิมิตในอสุภนี้มี ๒ อย่าง คืออุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต

อุคคหนิมิตปรากฏเป็นรูปพิกลดูพิลึก เป็นอารมณ์น่าหวาดกลัว "

ดังนี้เป็นต้นเพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายได้วิจารแล้วกล่าวคำใดไว้

คำนี้นี่แลชอบแล้ว ในโอกาส ( ที่กล่าวถึงนิมิตทั้ง ๒ ในอัฏฐิกอสุภ ) นี้

เออก็เรื่องต่างๆ มีเรื่องร่างกายของหญิง ( คน ๑ ) ทั้งหมดปรากฏเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 238

ร่างกระดูกแก่พระมหาติสสเถระ เพราะแลเห็นแต่เพียงกระดูกฟัน

( ของหญิงผู้นั้น ) เป็นอาทิ เป็นตัวอย่าง ( แสดงความต่างกันแห่งนิมิต

ทั้งสอง ) ในอัฏฐิกกรรมฐานนี้ได้ด้วยแล

[คาถาสรูป อสุภ]

พระทศพลเจ้า ผู้มีพระกิตติคุณอันท่านท้าว

ทศสตโลจน์เทอดทูนแล้ว ผู้ทรงพระสุภคุณ

ได้ตรัสอสุภทั้งหลายเหล่าใด อันเป็นเหตุแห่ง

ฌานแต่ละข้อแล้ว ด้วยประการฉะนี้ บัณฑิต

ได้ทราบอสุภเหล่านั้น และภาวนานัยนี้ แห่ง

อสุภเหล่านั้นด้วย อย่างนี้แล้ว ควรทราบ

ปกิณณกกถาในอสุภเหล่านั้นแหละอีกบ้าง ต่อ

ไปนี้

ปกิณณกกถา

อันที่จริง พระโยคาวจรผู้ได้บรรลุฌานในอสุภกรรมฐานเหล่านั้น

ข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นผู้ไม่มีความประพฤติละโมบ ดูดังว่าเป็นผู้

ปราศจากราคะ เพราะราคะถูกข่มไว้อย่างดีแล้ว แม้เช่นนั้น ประเภท

แห่งอสุภที่ท่านกล่าวไว้นี้ ก็พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ตามความถึง

สภาพ ( เป็นอยู่ ) แห่งซาก ( ศพ ) อย่าง ๑ ตามความแตกต่างกันแห่ง

คนราคจริตอย่าง ๑

เพราะว่า ซากศพเมื่อถึงความเป็นซากปฏิกูล ก็พึงเป็นซาก

ถึงสภาพแห่งอุทธุมาตกอสุภบ้าง ถึงสภาพแห่งอสุภที่เหลือมีวินีลก-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 239

อสุภเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรอาจหา

อสุภชนิดใดๆ ได้ ก็ต้องถือเอานิมิตในอสุภชนิดนั้นๆ โดยมนสิการ

ว่า อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ วินีลกํ ปฏิกูลํ ดังนี้เป็นต้นนั่นเอง ประเภท

แห่งอสุภ พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้เป็น ๑๐ ชนิด ตามความถึงสภาพ

( เป็นอยู่ ) แห่งซากศพฉะนี้แล *

ส่วนว่าโดยความต่างกันในอสุภเหล่านี้ พึงทราบว่าท่านกล่าว

ประเภทแห่งอสุภไว้ถึง ๑๐ ชนิด ตามความต่างกันแห่งคนราคจริตอีก

อย่าง ๑ ดังนี้คือ

[๑] อุทธุมาตกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดใน

ทรวดทรง เพราะส่อความเสียทรวดทรงแห่งร่างกาย

[๒] วินีลกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดในสีกาย

เพราะส่อความเสียนวลแห่งผิว

[๓] วิปุพพกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้กำหนัดในกลิ่นกาย

ที่แต่งขึ้นด้วยอำนาจเครื่องอบกลิ่น มีดอกไม้และเครื่องหอมเป็นต้น

เพราะส่อความที่สิ่งที่เนื่องด้วยกายและผิวพรรณมีกลิ่นเหม็น

[๔] วิจฉิททกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดใน

ความเป็นชิ้นทึบในสรีระ เพราะเผยความเป็นโพรงข้างใน

* มหาฎีกาตั้งปัญหาขึ้นว่า ผิว่าประเภทแห่งอสุภนี้ ท่านกล่าวไว้ตามความถึงสภาพแห่ง

ซากศพไซร้ เหตุไฉนในที่อื่นเช่นมหาสติปัฏฐานสูตรจึงกล่าวไว้แต่ ๙ ประเภทเล่า ? แล้ว

ท่านก็แก้ว่า ประเภท อสุภในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นต้นนั้น ท่านกล่าวตามความถึงสภาพโดย

มันเป็นของมันเอง ( ตามลำดับ ) ส่วนในที่นี้ท่านกล่าวอสุภที่ถูกสัตว์และคนทำร้าย

แถมเข้ามาด้วย และว่าในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นท่านกล่าวทางวิปัสสนา ในที่นี้กล่าวทางสมถะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 240

[๕] วิกขายิตกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดในเนื้อ

นูน ในตำแหน่งแห่งสรีระต่างๆ มีเต้าถันเป็นอาทิ เพราะแสดงความสูญ

เสียสมบัติแห่งเนื้อนูน

[๖] วิกขิตตกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดในลีลา

( ท่าทาง ) ขององคาพยพใหญ่น้อย เพราะชี้ให้เห็นความกระจัด

กระจายแห่งองคาพยพใหญ่น้อย

[๗] หตวิกขิตตกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดใน

สมบัติแห่งเรือนร่าง เพราะประกาศความผิดรูปด้วยแตกกันไปแห่ง

เรือนร่าง

[๘] โลหิตกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดในความ

งามที่เครื่องประดับทำให้เกิด เพราะประกาศความเป็นร่างปฏิกูลด้วย

โลหิตเปื้อน

[๙] ปุฬุวกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดในกาย

ด้วยความสำคัญหมายว่า " ของเรา " เพราะส่อความที่กายเป็นของ

สาธารณะแก่หมู่หนอนหลายชนิด

[๑๐] อัฏฐิกอสุภ เป็นสัปปายะแห่งบุคคลผู้มักกำหนัดในสมบัติ

แห่งฟัน เพราะประกาศความที่กระดูกในสรีระทั้งหลายเป็นของปฏิกูล

( ทั้งนั้น )

[ในอสุภมีฌานเพียงปฐมฌานเท่านั้น]

อนึ่ง เพราะเหตุว่า ในอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนั้น จิตจะตั้งอยู่เป็น

หนึ่งแน่ได้ ก็ด้วยกำลังแห่งวิตก เท่านั้น เว้นวิตกเสีย หาอาจตั้งอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 241

ได้ไม่ เพราะอารมณ์มีกำลังทราม * เปรียบเหมือนในแม่น้ำที่

น้ำไม่นิ่งมีกระแสเชี่ยว เรือจะหยุดอยู่ได้ก็ด้วยกำลังถ่อเท่านั้น เว้นถ่อเสีย

หาอาจหยุดอยู่ได้ไม่ ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ในอสุภกรรมฐานนี้จึงมี

( ฌานเพียง ) ปฐมฌานเท่านั้น ฌานนอกนั้นมีทุติยฌานเป็นต้นหามี

ไม่ อนึ่ง ในเพราะอารมณ์นั้นแม้ปฏิกูล ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้นได้

เพราะพระโยคาวจรเห็นอานิสงส์อย่างนี้วา่ "เราจักพ้นจากชรามรณะได้

ต้วยปฏิปทานี้เป็นแน่แท้" และเพราะละเครื่องร้อนคือนิวรณ์เสียได้

ดุจในเพราะกองคูถ ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้นได้แก่คน ( รับจ้าง ) เทขยะ

ผู้เห็นอานิสงส์ว่า " เราจะต้องได้ค่าจ้างแพงเดี๋ยวนี้ละ" และในเพราะ

อาเจียนหรือถ่ายออกมา ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้นได้แก่คนเป็นโรคผู้มีพยาธิ

ทุกข์หนักฉะนั้น

[อสุภ ๑๐ มีลักษณะเดียว]

อนึ่ง อสุภทั้ง ๑๐ อย่างนั้น โดยลักษณะก็มีอันเดียวเท่านั้น แท้

จริง ความเป็นสิ่งปฏิกูล คือไม่สะอาด เหม็นและน่าเกลียดเท่านั้น เป็น

ลักษณะของอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนั้น อสุภนี้นั้นมิใช่ปรากฏโดยลักษณะนี้

แต่ในสรีระของคนตายอย่างเดียว แต่ย่อมปรากฏได้แม้ในสรีระของ

คนเป็น ดังเช่นที่ปรากฏแก่พระมหาติสสเถระผู้อยู่ ณ เจติยบรรพตวิหาร

ซึ่งได้เห็นกระดูกฟัน ( ของหญิงผู้หนึ่ง ) และดังเช่นที่ปรากฏแก่สามเณร

อุปฐากของพระสังฆรักขิตเถระ ซึ่งได้แลดูพระราชาประทับอยู่บนคอ

* มหาฎีกาว่า เพราะความเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สามารถจะผูกจิตให้ดื่มด่ำอยู่ได้

จึงเรียกว่าเป็นอารมณ์ที่มีกำลังทราม ต้องอาศัยวิตกเท่านั้นตรึงจิตไว้ จิตจึงจะตั้งอยู่ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 242

ช้างด้วยว่าสรีระของคนตายเป็นอสุภฉันใดแล แม้สรีระของคนเป็น

ก็เป็นอสุภฉันนั้นเหมือนกัน เป็นแต่ลักษณะอสุภในสรีระคนเป็นนั้น

ไม่ปรากฏ เพราะเครื่องแต่งกายอันเป็นอาคันตุกะปิดบังไว้ โดยปกติ

แล้ว อันสรีระนี้ มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนกว่าๆ เป็นโครง ( กระดูกนั้น )

ชนติดกันด้วยข้อต่อ ๑๘๐ ข้อ ยึดกันอยู่ด้วยเอ็น ๙๐๐ เส้น ฉาบด้วยเนื้อ

๙๐๐ ชิ้น หุ้มด้วยหนังสดบางๆ ปิดด้วย ( หนัง ) ผิว ( คือหนังกำพร้า )

มีช่องทะลุปรุไป มีมันซึมออกทั้งข้างบนและข้างล่าง ดุจโถมันข้น

เป็นบ่อนของหมู่หนอน เป็นบ่อเกิดแห่งโรคทั้งหลาย เป็นแหล่งแห่ง

ทุกขธรรม ( ธรรมฝ่ายทุกข์ ) ทั้งหลาย เป็นที่หลั่งออกเนืองๆ ( แห่ง

ของไม่สะอาด ) ทางปากแผลทั้ง ๙ ดุจฝีเรื้อรังที่แตกแล้ว คือเป็นสรีระ

ที่มีมูลตาออกทางตาทั้งสองข้าง มูลหูออกทางช่องหู ( ทั้งสองข้าง )

น้ำมูกออกทางช่องจมูก ( ทั้งสองข้าง )อาหาร ( สำรอก ) น้ำดี เสมหะ

และเลือดออกทางปาก อุจจาระปัสสาวะออกทางทวารเบื้องล่าง

( แถม ) หยาดเหงื่ออันไม่สะอาด ออกทางขุมขน ๙๙,๐๐๐ ขุม ตัวแมลง

ทั้งหลายมีแมลงวันหัวเขียวเป็นต้นรุมตอมไป บุคคลไม่ปรนนิบัติสรีระ

ไรเล่า ด้วยสรีรกิจมีสีฟันและบ้วนปาก สระหัว อาบน้ำ นุ่งผ้า ห่มผ้า

เป็นต้น เป็นคน ( ปล่อยกาย )ตามกำเนิด มีผมหยาบยุ่งเที่ยวไปตาม

หมู่บ้าน เป็นราชาก็ดี เป็นคนชั้นเลวมีรับจ้างเทขยะและคนจัณฑาล

เป็นต้นผู้ใดผู้หนึ่งก็ดี ก็หามีความแปลกกันไม่ เพราะความที่มีสรีระ

ปฏิกูลเสมอกัน ชื่อว่าความต่างกันในสรีระของราชาก็ตาม ของ

จัณฑาลก็ตาม หามีไม่ เพราะความที่มีสรีระเป็นของปฏิกูลคือไม่สะอาด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 243

เหม็นและน่าเกลียดดังนี้ ก็แต่บุคคลทั้งหลายขัดสีมลทินทั้งหลายมี

มลทินแห่งฟันเป็นต้นในสรีระนี้ ด้วยกิจมีสีฟันและบ้วนปากเป็นอาทิ

ปกปิดอวัยวะอันจะพร่าความอายเสียด้วยผ้านานาพรรณ ลูบไล้ด้วย

เครื่องลูบไล้อันหอมหลากๆ สี ประดับประดาด้วยเครื่องประดับมี

ดอกไม้และเครื่องอาภรณ์เป็นต้น ทำให้ถึงซึ่งอาการที่พอจะถือเอาได้

ว่าฉัน ว่าของฉัน แต่นั้นเขาทั้งหลาย ก็จำลักษณะอสุภอันเป็นสภาพ

แท้จริงอย่างไรของมันนั้นไม่ได้ เพราะมันถูกปิดไว้ด้วยเครื่องอลังการ

อันเป็นอาคันตุกะนี้ พวกที่เป็นบุรุษจึงทำความยินดีในสตรีทั้งหลาย

พวกที่เป็นสตรีจึงทำความยินดีในบุรุษทั้งหลายแต่โดยปรมัตถ์แล้ว

ชื่อว่าแห่งที่ควรแก่ความน่าใคร่ในสรีระนี้ แม้สักนิดหนึ่งก็ไม่มี จริง

อย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแม้แต่จะแตะต้องด้วยมือ

ย่อมสะอิดสะเอียนเกลียดชังซึ่งโกฏฐาส ( แห่งร่างกาย ) ในบรรดา

โกฏฐาสทั้งหลายมี ผม ขน เล็บ ฟัน และน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ

ปัสสาวะเป็นต้น แม้แต่โกฏฐาสหนึ่งซึ่งตกไปนอกกายแล้วแต่ว่า

โกฎฐาสใดๆ ที่ยังเหลืออยู่ในสรีระนั้น เขาทั้งหลายผู้ถูกความมืดคือ

อวิชชาหุ้มห่อแล้ว ถูกเครื่องย้อม ( ใจ )กล่าวคือความรักตัวย้อมเอา

แล้ว ก็ยังถือเอาโกฐาสนั้นๆ แม้เป็นของปฏิกูล อย่างนี้ว่า เป็น

ของน่าปรารถนา น่าใคร่เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เขา

ทั้งหลายถืออยู่อย่างนั้น ก็นับว่าถึงความเสมอกันกับจิ้งจอกแก่ผู้เห็นต้น

ทองกวาวในดง แล้วร้อนใจด้วยสำคัญดอก ( ทองกวาว ) ที่ยังไม่หล่น

จากต้นว่า นี่ชิ้นเนื้อ นั่นชิ้นเนื้อ นั่นเอง เพราะเหตุนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 244

ผู้รู้ไม่พึงถือแต่โกฏฐาสที่ตก ( ไปนอกกาย )

แล้วเท่านั้นว่า ว่าเป็นอสุภ เหมือนอย่างสุนัข

จิ้งจอกเห็นดอกทองกวาวบานในป่า สำคัญว่า

ตัวได้ต้นเนื้อเข้าแล้วรีบไป ตระกรามงับเอา

ดอกที่หล่นๆ อยู่รู้ว่านี่ไม่ใช่เนื้อ ( แต่ ) ก็

ยังยึดอยู่ว่า ที่ยังอยู่บนต้นโน่นเป็นเนื้อ ฉะนั้น

แล้วถือโกฏฐาสนั้นแม้ที่ยังอยู่ในสรีระว่า เป็น

อสุภเช่นกันเถิด เพราะคนโง่ทั้งหลาย ผู้ถือ

ร่างกายนี้โดยว่าเป็นของงามแล้วลุ่มหลงอยู่

ในร่างกายนั้น มัวทำบาปเสีย ย่อมไม่พ้นจาก

ทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาพึงเห็น

สภาพแห่งกายเน่า อันยังเป็นอยู่หรือตายแล้ว

ก็ตาม ว่าเป็นของเว้นเสียแล้วจากความงามเถิด

จริงอยู่ พระโบราณจารย์ก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า

" กาย ( นี้ ) ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เปรียบ

ประดุจซากศพ ( หรือมิฉะนั้น ) เปรียบเหมือน

หลุมคูถ เป็นกายที่ท่านผู้มี ( ปัญญา ) จักษุ

ทั้งหลายติเตียนกัน ( แต่ ) คนโง่ชมชอบนัก

กายใดเล่ามีหนังสดปิดหุ้มไว้ ( แต่ว่า ) มีแผล

ใหญ่ถึง ๙ ช่อง ของสกปรกมีกลิ่นเน่าไหลซึม

ออกรอบไป ถ้าข้างในของกายนี้พึง ( กลับ )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 245

เป็นข้างนอกไซร้ บุคคลก็จะพึงถือไม้ไว้คอย

ป้องกันกาและสุนัขเป็นแน่ "

เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้เป็นทัพพชาติ* สรีระยังเป็นหรือสรีระตายแล้ว

ก็ตามเถิด อาการแห่งอสุภปรากฏในสรีระใดๆ พึงถือเอานิมิตใน

สรีระนั้นๆ ทำกรรมฐานให้ถึงอัปปนา เทอญ

ปริจเฉทที่ ๖

ชื่ออสุภกรรมฐานนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา

ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

* ทัพพชาติกะ มหาฎีกาแก้ว่า ผู้เป็นภัพพบุคคล ควรจะบรรลุอุติมนุสสธรรมได้ ใน

อภิธานัปปทีปิกาเอนกัตถวรรค กล่าวอรรถทัพพศัพท์ไว้ ๕ คือ เป็นภัพพบุคคล เป็นผู้

ทรงคุณ เป็นบัณฑิต ทรัพย์ เครื่องไม้ (ทัพพสัมภาระ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 246

ฉอนุสสตินิเทศ

ก็แลในอนุสติ ๑๐ ที่ท่านจัดไว้ในลำดับแห่งอสุภ สตินั่นเอง

ชื่อว่าอนุสติ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ อนึ่ง สติ ชื่อว่าอนุสติ เหตุเป็น

ความระลึกอันนับว่าสมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เพราะให้เป็น

ไปในฐานะอันควรให้เป็นไปเท่านั้น ดังนี้ก็ได้*

อนุสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่า

พุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

อนุสติอันปรารภพระธรรมเกิดขึ้น ชื่อธรรมานุสติ คำว่าธรรมา-

นุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระธรรมคุณมีความเป็นสวากขาตธรรม

เป็นต้นเป็นอารมณ์

อนุสติอันปรารภพระสงฆ์เกิดขึ้น ชื่อว่า สังฆานุสติ คำว่า

สังฆานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระสังฆคุณมีความเป็นผู้ปฏิบัติดี

เป็นต้นเป็นอารมณ์

อนุสติอันปรารภศีลเกิดขึ้น ชื่อสีลานุสติ คำว่า สีลานุสตินั่น

เป็นคำเรียกสติอันมีศีลคุณมีความเป็นศีลไม่ขาดเป็นต้นเป็นอารมณ์

อนุสติอันปรารภความสละเกิดขึ้น ชื่อ จาคานุสติ คำว่า จาคา

นุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีจาคคุณมีความเป็นผู้สละปล่อยเลยเป็นต้น

เป็นอารมณ์

อนุสติอันปรารภเทวดาเกิดขึ้น ชื่อเทวตานุสติ คำว่า เทวตา-

* ตามนเห็นได้ว่าท่านไม่ได้แปล อนุสติ ว่า "ความตามระลึก" แต่แปลว่า "ความ

ระลึกเนือง ๆ" หรือ "ความระลึกสมควร"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 247

นุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีคุณมีศรัทธาเป็นต้นของตน ตั้งเทวดาไว้

ในฐานะพยานเป็นอารมณ์

สติอันปรารภความตายเกิดขึ้น ชื่อ มรณานุสติ คำว่า มรณา-

นุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีความขาดแห่งชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์

สติชื่อกายคตา เพราะไปสู่รูปกายอันต่างโดยโกฏฐาสมีผมเป็นต้น

หรือว่า เพราะไปในกาย เมื่อควรจะกล่าว( วิเคราะห์ ) ว่า กายคตา

จ สา สติ จาติ กายคตสฺสติ ( สตินั้นด้วย ไปในกายด้วย เหตุนั้น

จึงชื่อว่ากายคตสติ )แต่ท่านไม่ทำรัสสะ กล่าวว่า กายคตาสติคำว่า

กายคตาสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมี ( ปฏิกูล ) นิมิตในโกฐาสแห่ง

กายมีผมเป็นต้นเป็นอารมณ์*

สติอันปรารภลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเกิดขึ้น ชื่ออานา-

ปานสติ คำว่า อานาปานสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีนิมิตในลม

หายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นอารมณ์ *

อนุสติอันปรารภอุปสมะเกิดขึ้น ชื่อว่าอุปสมานุสติ คำว่า

อุปสมานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมระงับแห่ง

สรรพทุกข์เป็นอารมณ์

[วิธีเจริญพุทธานุสติ]

ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วย

ความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติเป็นอันดับแรก พึงเป็นผู้

* มหาฎีกาว่า กายคตาสติ และอานาปานสติ ๒ นี้ มีนิมิตเกิด ท่านจึงว่า ท่านจึงว่า มีนิมิตใน

โกฐาส... เป็นอารมณ์ และว่ามีนิมิตในลมหายใจ... เป็นอารมณ์ อนุสตินอกนั้นไม่

มีนิมิตเกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 248

ไปในที่ลับ ( คน ) เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณ

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า (โดยอนุสสรณปาฐะ) อย่างนี้ว่า อิติปิ

โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต

โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ

ภควา ( ต่อไป ) นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านั้น ( คือ )

ระลึก ( ประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ) ว่า โส ภควา อิติปิ อรหํ

( แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ ) ฯ เป ฯ

โส ภควา อิติปิ ภควา ( แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า

นั้นเป็นพระภควา ) ( คำ อิติปิ นั้น ) มีอธิบายว่า " เพราะเหตุนี้ๆ "

[แก้อรรถบท อรหํ ๕ นัย]

บัณฑิตย่อมระลึกว่า ในบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

ได้พระนามว่า อรหํ เพราะเหตุ ( ๕ นัย ) นี้ก่อน คือ อารกตฺตา เพราะ

ความเป็นอารกะ ( ผู้ไกล ) ( ๑ ) อรีนํ อรานญฺจ หตตฺตา เพราะ

ความที่ทรงกำจัดอริ ( ข้าศึก ) ทั้งหลายเสียได้ ( ๑ ) และเพราะทรง

ทำลายอระ ( ซี่กำ ) ทั้งหลายเสียได้ ( ๑ ) ปจฺจยาทีนํ อรหตฺตา เพราะ

ความเป็นอรหะ ( ผู้ควร ) ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัย ๔ เป็นต้น ( ๑ )

ปาปกรเณ รหาภาวา เพราะความไม่มีรหะ ( ที่ลับ ) ในอันที่จะทำ

บาป ( ๑ )

[นัยที่ ๑ ผู้ไกล]

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นชื่อว่า อารกะ คือทรงสถิตอยู่ใน

ที่ไกลลิบลับแต่สรรพกิเลส เพราะกิเลสทั้งหลายกับทั้งวาสนา พระองค์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 249

ทรงกำจัดเสียได้แล้ว เพราะความเป็นอารกะ ( ผู้ไกล ) ดังนี้ จึงได้

พระนามว่า อรหํ

[คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๑]

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนาถะ ไม่ทรง

มีความข้องแวะกับกิเลสใด และพระองค์ไม่

ทรงประกอบด้วยสิ่งอันเป็นโทษทั้งหลาย ( คือ

วาสนา ? ) ใด ก็ชื่อว่าทรงไกลแต่กิเลส และ

โทษนั้น เพราะเหตุนั้น จึงปรากฏพระนามว่า

อรหํ ( ผู้ไกล ) แล

[นัยที่ ๒ ผู้กำจัดอริ]

อนึ่ง อริ คือกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น พระองค์ทรงกำจัดเสียได้

แล้วด้วยมรรค เพราะความที่ทรงกำจัดอริทั้งหลายเสียได้ดังนี้ จึงทรง

พระนามว่า อรหํ ประการ ๑

[คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๒]

เพราะเหตุที่อริทั้งหลาย กล่าวคือกิเลสมีราคะ

เป็นต้น แม้ทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็น

นาถะ ทรงกำจัดเสียแล้วด้วยศัสตรา คือ พระ

ปัญญา เพราะเหตุนั้น จึงปรากฏพระนามว่า

อรหํ ( ผู้กำจัดข้าศึก ) ประการ ๑ แล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 250

[นัยที่ ๓ ผู้ทำลายซึ่งกำสังสารจักร]

อนึ่ง สังสารจักร ( ล้อคือสังสาร ) อันมีดุมทำด้วยอวิชชา และ

ภวตัณหา อภิสังขารมีบุญญาภิสังขารเป็นต้นเป็นซี่กำ ชรามรณะ

เป็นกง สอดด้วยเพลาทำด้วยอาสวสมุทัย ประกอบเข้าไว้ในตัวรถ

คือไตรภพหมุนไปตลอดกาลอันหาเบื้องต้นมิได้ นั้นใด ซี่กำทั้งหลาย

ของสังสารจักรนั้นพระองค์ทรงประดิษฐานอยู่ ณ พื้นปฐพี คือ ศีล

ด้วยพระยุคคลบาท คือ วิริยะ แล้วทรงถือขวาน คือ พระญาณอันทำ

ความสิ้นกรรม ด้วยพระหัตถ์ คือ ศรัทธา ทรงทำลายเสียสิ้นแล้ว

เพราะความที่ทรงทำลายอระ ( ซี่กำ คือ สังขาร ) เสียได้ดังนี้ จึงทรง

พระนามว่า อรหํ อีกประการ ๑

หรือมิฉะนั้น สังสารวัฏ ( วงเวียน ) อันไม่ปรากฏที่สิ้นสุด เรียก

ว่าสังสารจักร ก็แล อวิชชา นับว่าเป็นดุมของสังสารจักรนั้น เพราะ

เป็นต้น ( เหตุ ) ชรามรณะนับว่าเป็นกง เพราะเป็นปลาย ( เหตุ ) ธรรม

ที่เหลือ ๑๐ ข้อนับเป็นซี่กำ เพราะมีอวิชชาอยู่ต้นและเพราะมีชรามรณะ

อยู่ปลาย ในธรรมเหล่านั้น ความไม่รู้ในอริยสัจมีทุกข์เป็นอาทิชื่อว่า

อวิชชา และอวิชชาในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายใน

กามภพ อวิชชาในรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในรูปภพ

อวิชชาในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในอรูปภพ ( ด้วยกัน )

สังขารทั้งหลายในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิวิญญาณ

ในกามภพ ในภพนอกนี้ก็นัยนั้น

ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูปในกามภพ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 251

ในรูปภพก็อย่างนั้น ( แต่ ) ในอรูปภพ ( ปฏิสนธิวิญญาณ ) เป็นปัจจัย

แห่งนามอย่างเดียว

นามรูปในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งอายตนะครบ ๖ ในกามภพ

นามรูปในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๓ ในรูปภพ นามในอรูปภพ

เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๑ ในอรูปภพ

อายตนะ ๖ ในกามภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะทั้ง ๖ ในกามภพ

อายตนะในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ๓ ในรูปภพอายตนะ ๑ ใน

อรูปภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ๑ ในอรูปภพ

ผัสสะ ๖ ในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๖ กามภพ ผัสสะ

๓ ในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๓ ในรูปภพนั้นด้วยกัน ผัสสะ ๑

ในอรูปภพก็เป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๑ ในอรูปภพนั้นด้วยกัน

เวทนา ๖ ในกามภพเป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๖ ในกามภพ

เวทนา ๓ ในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๓ในรูปภพด้วยกันนั้น

เวทนา ๑ ในอรูปภพ ก็เป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๑ อรูปภพด้วย

ตัณหานั้น ๆ ในภพนั้น ๆ เป็นปัจจัยแห่งอุปาทานนั้นๆ ธรรม

ที่เหลือมีอุปาทานเป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายมีภพเป็นอาทิ

ถามว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร แก้ว่า " บุคคลลางคนในโลกนี้ ปรารถนา

( ด้วยอำนาจกามตัณหา )ว่า เราจักบริโภคกาม แล้วประพฤติทุจริต

ด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะ

กามุปาทานเป็นปัจจัย ครั้นเพียบไปด้วยทุจริต เขา ( ตายไป ) ก็

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 252

เกิดในอบาย กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปบัติในอบายนั้นของเขา

เป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายอันเกิดเพราะกรรมเป็นอุปบัติภพ ความ

เกิดแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็นชาติ ความหง่อมไป ( แห่งขันธ์เหล่านั้น )

เป็นชรา ความสลายไป ( แห่งขันธ์เหล่านั้น ) เป็นมรณะ

อีกคนหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสมบัติในสวรรค์ แล้ว

ประพฤติสุจริตเพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยอย่างเดียวกันนั้น ครั้นเปี่ยม

ไปด้วยสุจริต เขา ( ตายไป ) ก็เกิดในสวรรค์ นัย ( ความต่อไป ) ก็นัย

เดียวกันนั้น คือ กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปบัติในสวรรค์นั้นของเขา

เป็นกรรมภพ ดังนี้เป็นต้น

ส่วนอีกคนหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสมบัติในพรหมโลก

แล้วเจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะกามุปาทาน

เป็นปัจจัยเหมือนกัน* ครั้นเต็มไปด้วยภาวนา เขา ( ตายไป ) ก็เกิด

ในพรหมโลก นัย ( ความต่อไป ) ก็นัยเดียวกันนั้น คือ กรรมอันเป็น

เหตุแห่งความอุปบัติในพรหมโลกนั้นของเขาเป็นกรรมภพ ดังนี้เป็นต้น

อีกคนหนึ่ง ปรารถนาว่าเราจักเสวยสมบัติในอรูปภพ แล้ว

เจริญสมาบัติมีอากาสานัญจายตนะเป็นอาทิ เพราะกามุปาทานเป็น

ปัจจัยเช่นเดียวกัน* ครั้นบริบูรณ์ไปด้วยภาวนา เขา ( ตายไป ) ก็เกิด

ในอรูปภพนั้นๆ กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปบัติในอรูปภพนั้น

* มีปัญหาว่า รูปภพและอรูปภพไม่เกี่ยวด้วยกามภูมิมิใช่หรือ ไฉนจึงว่าเจริญพรหมวิหาร

และเจริญสมาบัติเพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยเล่า ? มหาฎีกาท่านจึงแก้ไว้ว่า แม้

ภวราคะ ( ความยินดีพอใจในภพ ) ก็นับเป็นกามุปาทาน โดยอาศัยคำนิเทศว่า สพฺเพปิ

เตภูมิกา ธมฺมา กามนียฏฺเฐน กามา ธรรมอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งสิ้นได้ชื่อว่ากาม เพราะ

อรรถว่าเป็นสิ่งที่สัตว์พึงปรารถนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 253

ของเขา เป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายอันเกิดเพราะกรรมเป็นอุปบัติภพ

ความเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็นชาติ ความหง่อมไป ( แห่งขันธ์ ) เป็น

ชรา ความสลายไป ( แห่งขันธ์ ) เป็นมรณะ " ( กามุปาทานเป็นปัจจัย

แห่งภพเป็นต้นดังนี้ ) นัยแม้ในการประกอบ ( ความ ) อันมีอุปาทาน

ที่เหลือเป็นมูล ก็ดุจนัยนี้

( ต่อไปนี้ ท่านชักเอาบาลีในปฏิสัมภิทามรรคมากล่าวย้ำความเรื่อง

ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยเนื่องกันไป โดยเรียกความกำหนดรู้ในเรื่องนี้ว่า

ธรรมฐิติญาณ แล้วสรูปเป็นสังเขปเป็นต้น ดังนี้ ) โดยนัยดังนี้ ปัญญา

ในการกำหนดจับปัจจัยว่า " อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นเหตุสมุบัน

( เกิดแต่เหตุ ) อวิชชาและสังขารทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเหตุสมุบันด้วยกัน๑

นี้ชื่อธรรมฐิติญาณ ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัยว่า " อวิชชาเป็น

เหตุสังขารเป็นเหตุสมุบัน อวิชชาและสังขารทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเหตุ-

สมุบันด้วยกันทั้งในกาลอดีตทั้งในกาลอนาคต "ชื่อว่าธรรมฐิติญาณ

แล๒ บททั้งปวง บัณฑิตพึง ( กล่าว ) ให้พิสดารโดยนัยนี้เทอญ

ในธรรมเหล่านั้น อวิชชากับสังขารเป็นสังเขป ๑ วิญญาณ

นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นสังเขป ๑ ตัณหา อุปาทาน

ภพ เป็นสังเขป ๑ ชาติชรามรณะ เป็นสังเขป ๑ อนึ่ง ใน ๔ สังเขป

นั้น สังเขปแรกเป็นอดีตอัทธา ( อดีตกาล ) สังเขปกลาง ๒ เป็นปัจจุบัน-

อัทธา ชาติชรามรณะ เป็นอนาคตอัทธา อนึ่ง ในธรรมเหล่านั้น

๑. คือว่า สังขารเกิดแต่เหตุฉันใด แม้อวิชชาก็เป็นธรรมมีเหตุเหมือนกันฉันนั้น เหตุ

แห่งอวิชชาก็คืออาสวะ ดังกล่าวแล้ว

๒. ขุ. ป. ๓๑/ ๗๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 254

ด้วยถือเอา ( คือกล่าวถึง ) อวิชชา สังขาร ก็เป็นอันถือเอา ( คือกินความถึง )

ตัณหาอุปาทาน ภพ ( ซึ่งเป็นเหตุคือเป็นกิเลสและกรรมด้วยกัน ) ด้วย

เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ ประการนี้ จึงจัดเป็นกรรมวัฏในอดีต ธรรม ๕ มี

วิญญาณ เป็นต้น ( คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา )

จัดเป็นวิปากวัฏในกาลบัดนี้ ด้วยถือเอา ( คือกล่าวถึง ) ตัณหา อุปาทาน

ภพ ก็เป็นอันถือเอา ( คือกินความถึง ) อวิชชา สังขารด้วย เพราะฉะนั้น

ธรรม ๕ ประการนี้จึงเป็นกรรมวัฏในกาลบัดนี้ ( ด้วย ) ธรรม ๕ ประการ

นี้ ( คือ วิญญาณ ฯลฯ เวทนา )จัดเป็นวิปากวัฏในกาลต่อไป ( ด้วย )

เพราะด้วยการกล่าวถึง ชาติ ชรา มรณะ ก็เป็นอันชี้ถึงธรรม ๕ มี

วิญญาณเป็นต้น ( ซึ่งเป็นธรรมมีชาติชรามรณะเป็นสภาวะ ) ธรรม

เหล่านั้น โดยอาการจึงเป็น ๒๐ อนึ่ง ในธรรมเหล่านั้น ในระหว่าง

สังขารกับวิญญาณ มีสนธิ ๑ ระหว่างเวทนากับตัณหามีสนธิ ๑

ระหว่างภพกับชาติมีสนธิ ๑ ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

คือทรงรู้ยิ่งเห็นจริง ซึ่งปฏิจจสมุบาท อันมี สังเขป ๔ , อัทธา ( กาล ) ๓

อาการ ๒๐ , สนธิ ๓ นั้น โดยอาการทั้งปวงโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

ความรู้นั้น ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่าหยั่งรู้ ชื่อว่าปัญญา

เพราะอรรถว่ารู้ประจักษ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาใน

การกำหนดจับปัจจัย ชื่อว่าธรรมฐิติญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ

ทรงรู้ธรรมเหล่านั้นตามจริงด้วยธรรมฐิติญาณนี้แล้ว ทรงหน่ายใน

ธรรมเหล่านั้น ทรงคลายความยินดีหลุดพ้นไป ชื่อว่าทรงกำจัด คือรื้อ

ทำลาย ซึ่งกำทั้งหลายแห่งสังสารจักรอันมีประการดังกล่าวแล้ว เพราะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 255

ทรงกำจัดกำทั้งหลาย ( แห่งสังสารจักร ) เสียได้อย่างนี้พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑

[คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๓]

เพราะเหตุที่อระ ( ซี่กำ ) ทั้งหลายแห่งสังสารจักร

พระโลกนาถเจ้าทรงทำลายเสียแล้วด้วยดาบคือ

พระญาณ เพราะเหตุนั้นพระองค์จึงทรงพระ-

นามว่า อรหํ ( ผู้ทำลายซี่กำ )

[นัยที่ ๔ ผู้ควร]

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นควรซึ่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น

และซึ่งการบูชาอย่างวิเศษ เพราะความที่พระองค์เป็นอัครทักขิไณย-

บุคคล ก็เพราะเหตุนั้นแล เมื่อพระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ชนทุกหมู่

เหล่าผู้เป็นมเหสักข์ ( ประชุมชนยกย่องว่าเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ) ทั้งที่เป็น

เทวดาทั้งที่เป็นมนุษย์มีอยู่ ท่านเหล่านั้นหาทำการบูชาในที่อื่นไม่

จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้บูชาพระตถาคตเจ้าด้วยพวงรัตนะ

( ใหญ่ ) เท่าเขาสิเนรุ อนึ่ง เทวดาอื่นๆ และมนุษย์ทั้งหลาย เช่น

พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศล ก็ได้บูชา ( พระองค์ ) ตามกำลัง

อนึ่งเล่า พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงสละทรัพย์ประมาณ ๙๖ โกฏ

โปรดให้สร้างวิหารถึง ๘๔,๐๐๐ ( ตำบล ) อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้

เสด็จปรินิพพานแล้ว จะกล่าวอะไรถึงการบูชาอย่างวิเศษอื่นๆ ( ที่

เทวดาและมนุษย์ผู้มิใช่มเหสักข์ทำถวาย ) เล่า เพราะความที่ทรง

เป็นอรห ( ผู้ควร ) แก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัย ๔ เป็นอาทิดังนี้ จึง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 256

ทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑

[คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๔]

เพราะเหตุที่พระโลกนาถเจ้านี้ ทรงควรซึ่งการ

บูชาอย่างวิเศษกับทั้งปัจจัยทั้งหลาย เพราะ

เหตุนั้นพระองค์ผู้เป็นพระชินะจึงทรงควรซึ่ง

พระนามนั้น คือ อรหํ ในโลก ซึ่งเป็นพระนาม

ที่มีอรรถอันสมแก่อรรถ ( แห่งอรหศัพท์ )

[นัยที่ ๕ ผู้ไม่มีที่ลับ]

อนึ่ง คนพาลผู้ไว้ตัวว่าเป็นบัณฑิตทุกจำพวกในโลก ย่อมทำบาป

ในที่ลับ เพราะกลัวเสียชื่อ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหาทรงทำ

( บาปในที่ลับ ) ฉันนั้น ในกาลไหนๆ ไม่ เพราะความไม่มีที่ลับใน

การทำบาปดังนี้ จึงได้พระนามว่า อรหํ ประการ ๑

[คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๕]

เพราะเหตุที่ ขึ้นชื่อว่าที่ลับในการทำบาปทั้งหลาย

ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเจ้า เพราะเหตุนั้น

พระองค์จึงปรากฏพระนามว่า อรหํ เพราะไม่มี

ที่ลับ

[คาถาสรูปสำหรับทุกนัย]

พระมุนีเจ้านั้นทรงพระนามว่า อรหํ เพราะความ

ที่ทรงไกลกิเลส ๑ เพราะความที่ทรงกำจัดอริ

คือกิเลสทั้งหลายเสีย ๑ พระองค์เป็นผู้ทรง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 257

ทำลายซี่กำแห่งสังสารจักร ๑ เป็นผู้ควรแก่

ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัยเป็นอาทิ ๑ ไม่

ทรงทำบาปทั้งหลายในที่ลับ ๑ เพราะเหตุนั้น

จึงทรงพระนามว่า อรหํ โดยประการทั้งปวง

ดังพรรณนามาฉะนี้แล๑

[แก้อรรถบท สมฺมาสัมพุทฺโธ]

ส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ

ก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและโดยพระองค์เอง จริงอย่างนั้น

พระองค์ ทรงรู้โดยชอบด้วย โดยพระองค์เองด้วย ซึ่งธรรมทั้งปวง

คือ ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นอภิญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงรู้ยิ่ง๒

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปริญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปหาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงละทรงรู้

ธรรมทั้งหลายที่เป็นสัจฉิกาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงทำให้แจ้ง

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นภาเวตัพพะโดยความเป็นธรรมที่พึงเจริญ

ก็เพราะเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัส ( แก่เสลพราหมณ์เป็นคาถา ) ว่า

๑. มหาฎีกาจารย์ท่านคิดและค้นอรรถแห่งอรหํได้อีก ๖ นัย ขอสังเขปความมาบันทึกไว้

ในที่นี้ เพื่อเชิดชูความอุตสาหะช่างคิดช่างเล่นของท่าน คือแปลว่า (๑) ผู้ไกล (อสัตบุรุษ)

(๒) ผู้ใกล้ (สัตบุรุษ) (๓) ผู้ไม่มีธรรมที่จะต้องละ (๔) ผู้ที่คนดีไม่ละทิ้ง และผู้ไม่ทรง

ทอดทิ้งคนดี (๕) ผู้ไม่มีความไป (ในคติภพ) (๖) ผู้ควรสรรเสริญไม่สิ้นสุด

๒. อภิญไญยธรรม มหาฎีกาท่านแปลว่าธรรมที่พึงรู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง และว่าหมายเอา

อริยสัจ ๔ นั่นเอง ที่ว่ารู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ก็คือในกาลเบื้องต้นทรงรู้ด้วยวิปัสสนา-

ปัญญา ในขณะที่บรรลุผล ก็ทรงรู้ด้วยมรรคปัญญา ในกาลต่อมา ก็ทรงรู้ด้วยพุทธญาณ

ทั้งหลายมีสัพพัญญุตญาณเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 258

สิ่งที่ควรรู้ยิ่งเราได้รู้ยิ่งแล้ว และสิ่งที่ควรเจริญ

เราได้เจริญแล้ว สิ่งที่ควรละเราก็ได้ละแล้ว๑

เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพุทธะ นะพราหมณ์

อีกนัยหนึ่ง พระองค์ตรัสรู้โดยชอบ และโดยพระองค์เอง ซึ่งธรรม

ทั้งปวง โดยยกขึ้นเอาทีละบทดังนี้ก็ได้ว่าจักษุเป็นทุกขสัจ ตัณหา

อันมีมาแต่ภพก่อน ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิด โดยความเป็นตัวเหตุที่เป็น

มูลแห่งจักษุนั้น เป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งจักษุ และจักษุ-

สมุทัยทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาที่เป็นเหตุรู้นิโรธเป็นมรรคสัจ

ในโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมนะ ก็นัยนี้ อายตนะ ๖ มีรูป

เป็นต้น หมวดวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้นผัสสะ ๖ มีจักขุ-

สัมผัสเป็นต้น เวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสชาเวทนาเป็นต้น สัญญา ๖

มีรูปสัญญาเป็นต้น เจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนาเป็นต้น หมวดตัณหา ๖

มีรูปตัณหาเป็นต้น วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น วิจาร ๖ มีรูปวิจาร

เป็นต้นขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ สัญญา ๑๐

โดยมีอุทธุมาตกสัญญาเป็นต้น อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นอายตนะ ๑๒

ธาตุ ๑๘ ภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น๒ ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น

๑. ขุ. สุ. ๒๕/๔๔๔ เพราะเหตุที่คาถานิ กล่าวถึงความรู้อริยสัจ แต่ไม่จำแนกกิจไว้

ให้ครบ มหาฎีกาท่านจึงบอกโยชนาว่า จ. ศัพท์ในบท ภาเวตพฺพญฺจ นั้นมีอรรถเป็น

อวุตฺตสมุจจัย คือ ผนวกเอาบทที่มีได้กล่าวไว้เข้ามาด้วย เพราะเหตุนั้น ด้วย จ ศัพท์

นั้น พึงทราบว่ากินความถึง สัจฉิกาตัพพะด้วย

๒. มหาฎีกาขยายความว่า ภพ ๙ นั้น คือ ภพ ๓ มีกามภพเป็นต้น (คือกามภพ รูปภพ

อรูปภพ) หมวด ๑ ภพ ๓ มีสัญญีภพเป็นต้น (คือสัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญี-

นาสัญญีภพป หมวด ๑ ภพ ๓ มีเอกโวการภพเป็นต้น (คือเอกโวการภพ-ภพของสัตว์

ที่มีขันธ์ ๑ จตุโวการภพ-ภพของสัตว์ที่มีขันธ์ ๔ ปัญจโวการภพ-ภพของสัตว์ที่มีขันธ์

ครบ ๕) หมวด ๑ จึงรวมเป็น ๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 259

อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนาเป็นต้นอรูปสมาบัติ ๔ และองค์แห่ง

ปฏิจจสมุบาทโดยปฏิโลมมีชรามรณะเป็นต้น โดยอนุโลมมีอวิชชา

เป็นต้น ( เหล่านี้ )ก็พึงประกอบ ( ความ ) เข้าโดยนัยนั้นแล

นี่เป็นการประกอบ ( ความ ) บท ๑ ในธรรมเหล่านั้น ( คือ )

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ คือทรงรู้โดยอนุโลมทรงรู้โดยปฏิโลม โดย

ชอบและโดยพระองค์เอง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยยกขึ้นเอาทีละบทอย่าง

นี้ว่า " ชรามรณะเป็นทุกขสัจ ชาติเป็นสมุทัยสัจ ความออกไปแห่ง

ทุกข์และสมุทัยนั้นทั้งสองเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเหตุรู้นิโรธ เป็น

มรรคสัจ " ( ดังนี้เป็นตัวอย่าง ) เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงว่า " พระ

ผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็เพราะทรงรู้

ธรรมทั้งปวงโดยชอบ และโดยพระองค์เอง " ดังนี้

[แก้อรรถบท วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน]

ส่วนที่ทรงพระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ก็เพราะทรงถึง

พร้อมด้วยวิชชาทั้งหลายและจรณะด้วย ใน ๒ บทนั้น บทว่า วิชชา

หมายเอาทั้งวิชชา ๓ ทั้งวิชชา ๘ วิชชา ๓ พึงทราบตามนัยที่กล่าวใน

ภยเภรวสูตรวิชชา ๘ พึงทราบตามนัยที่กล่าวในอัมพัฏฐสูตรเถิด ก็

อัมพัฏฐสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดเอาอภิญญา ๖ กับ

วิปัสสนาญาณ และมโนมยิทธิ ตรัสเป็นวิชชา ๘

ธรรม ๑๕ ประการ คือ สีลสังวร อินฺทฺริเยสุคุตฺตทฺวารตา ( ความ

คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ) โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค

สัทธรรม ๗ ( คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 260

รูปาวจรฌาน ๔ นี่แล พึงทราบว่า ชื่อ จรณะ แท้จริง ธรรม

๑๕ ประการนี้นั่นเอง ท่านเรียกว่า จรณะ เพราะเป็นทางดำเนินไปถึง

ทิศอมตะแห่งพระอริยสาวกดังพระอานนท์เถระกล่าว ( แก่เจ้ามหานาม

ศากยะ ) ว่า " ดูกรมหานาม อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้

มีศีล " ดังนี้เป็นอาทิ๑ คำ ( ของพระอานนท์ ) ทั้งปวง บัณฑิตพึง

ทราบตามนัยที่กล่าวใน ( เสขปฏิปทาสูตร มัชฌิมนิกาย ) มัชฌิม-

ปัณณาสกะนั้นเทอญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาเหล่านี้ และจรณะนี้

ด้วย เพราะเหตุนั้น จึงได้พระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อม

ด้วยวิชชาและจรณะ

ในความถึงพร้อม ๒ อย่างนั้น ความถึงพร้อมด้วยวิชชาสร้าง

ความเป็นพระสัพพัญญูแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นแล้วตั้งอยู่ ความ

ถึงพร้อมด้วยจรณะ สร้างความเป็นผู้กอปรด้วยพระมหากรุณาแห่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นแล้วตั้งอยู่ พระองค์ทรงรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์

และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ทรงเว้น

สิ่งอันไม่เป็นประโยชน์เสีย ทรงชักนำแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วย

ความเป็นผู้กอปรด้วยพระมหากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงเยี่ยงท่านผู้ถึงพร้อม

ด้วยวิชชาและจรณะ๒ เพระเหตุนั้น สาวกทั้งหลายของพระองค์จึงเป็น

๑. ม.ม.๑๓/๒๖

๒. ยถาตํ วิชฺชจรณสมฺปนโน มหาฎีกาแก้เป็น ยถา อญโญปิ วิชฺชาจรณสมฺปนโน

(เหมือนอย่างผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาจรณะอื่นๆ) หมายความว่าความปฏิบัติอย่างนั้นเป็น

ประเพณีหรือว่าเป็นเยี่ยงอย่างทางดำเนินของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 261

ผู้ปฏิบัติดี ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชั่ว ดุจพวกสาวกของเจ้าลัทธิทั้งหลายผู้ขาด

วิชชาและจรณะ ที่เป็นบุคคลจำพวกทำตนให้ร้อน ( ทรมานตัวเองให้

ลำบาก ) เป็นอาทิ ฉะนั้น

[แก้อรรถบท สุคโต ๔ นัย]

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุคโต เพราะเป็นผู้มีทาง

เสด็จไปอันงาม ๑ เพราะเสด็จไปแล้วเป็นอันดี ๑เพราะเสด็จไปแล้ว

โดยชอบ ๑ เพราะตรัสโดยชอบ ๑

[นัยที่ ๑ ผู้มีทางเสด็จไปอันงาม]

เพราะว่า แม้คมนะ (ทางไป) ก็ใช้ว่า 'คต' ได* ก็แลทางไป

นั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นทางงาม เป็นทางสะอาด หาโทษ

มิได้ ถามว่า ก็ทางไปนั้นคืออะไร? ตอบว่าคือ อริยมรรค จริงอยู่

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปไม่ข้องขัดสู่ทิศอันเกษมได้ก็ด้วยทางไปอันนั้น

เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความเป็นผู้มีทางเสด็จไป

อันงาม

[นัยที่ ๒ ผู้เสด็จไปเป็นอันดี]

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปแล้วเป็นอันดี คือพระอมต-

นิพพาน เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความเป็นผู้เสด็จ

ไปเป็นอันดีแล้ว ประการ ๑

* หมายความว่า ศัพท์ที่ลง ต ปัจจัยใช้เป็นนามก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 262

[นัยที่ ๓ ผู้เสด็จไปโดยชอบ]

อนึ่ง พระองค์เสด็จไปแล้วโดยชอบ คือ ไม่กลับมาสู่กิเลส

ทั้งหลายที่ทรงละได้แล้วด้วยมรรคนั้นๆ อีก สมคำที่กล่าวไว้ ( ใน

ปฏิสัมภิทามรรค ) ว่า กิเลสเหล่าใด ทรงละแล้วด้วยโสดาปัตติมรรค

พระองค์ไม่ทรงคืนมา ไม่ทรงหวนมา ไม่ทรงกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น

เหตุนั้น พระองค์จึงเป็น สุคโต ฯลฯ กิเลสเหล่าใดทรงละแล้วด้วย

อรหัตมรรคพระองค์ไม่ทรงคืนมา ไม่ทรงหวนมา ไม่ทรงกลับมาสู่

กิเลสเหล่านั้น เหตุนั้น พระองค์จึงเป็น สุคโต ดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง

เสด็จไปโดยชอบ คือ ทรงทำแต่ประโยชน์เกื้อกูล และความสุข แก่

โลกทั้งปวง ด้วยพระสัมมาปฏิบัติ เพราะทรงบำเพ็ญพระสมดึงสบารมี

จำเดิมแต่ ( กาลที่ตั้งพระปณิธาน ) แทบบาทมูลพระพุทธทีปังกร ตราบ

เท่าถึงกาลที่พระโพธิญาณแจ่มใส และทรงดำเนินไป ( เป็นมัชฌิมา )

ไม่เข้าใกล้อันตะ ( ๒ คู่ ) คือ สัสสตะ และอุจเฉทะ ( คู่ ๑ ) กามสุขะ

อัตตกิลมถะ ( คู่ ๑ ) เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความ

ที่เสด็จไปโดยชอบ ( ดังนี้ ) ประการ ๑

[นัยที่ ๔ ผู้ตรัสโดยชอบ]

อนึ่ง พระองค์ย่อมตรัสโดยชอบ คือทรงกล่าววาจาแต่ที่ควร ใน

ฐานะอันควร เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความที่ตรัส

โดยชอบประการ ๑ ( ความในอภัยราชกุมารสูตรต่อไป ) นี้ เป็นสูตร

สาธกในความข้อนั้น คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 263

(๑) ตถาคตรู้วาจาใดว่า เป็นวาจาไม่จริงไม่แท้ไม่ประกอบด้วย

ประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย

ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น

(๒) แม้วาจาใดตถาคตรู้ว่าเป็นวาจาจริงแท้ ( แต่ว่า ) ไม่ประกอบ

ด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นๆ

ด้วย แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่กล่าว

(๓) ส่วนวาจาใด ตถาคตรู้ว่า เป็นวาจาจริงแท้ประกอบด้วย

ประโยชน์ ถึงวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นๆ ใน

ข้อนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาลที่จะใช้วาจานั้น

(๔) ตถาคตรู้วาจาใดว่า เป็นวาจาไม่จริงไม่แท้ไม่ประกอบด้วย

ประโยชน์ ถึงวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ตถาคตก็ไม่

กล่าววาจานั้น

(๕) แม้วาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็นวาจาจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วย

ประโยชน์ ถึงวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ แม้วาจานั้น

ตถาคตก็ไม่กล่าว

(๖) ส่วนวาจาใด ตถาคตรู้ว่าเป็นวาจาจริงแท้ ประกอบด้วย

ประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย ในข้อนั้น

ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาลที่จะใช้วาจานั้น*

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัณฑิตพึงทราบว่าทรงพระนามว่า

สุคโต เพราะความที่ตรัสชอบ ดังกล่าวมาฉะนี้ประการ ๑

* ม.ม. ๑๓/๙๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 264

[แก้อรรถบท โลกวิทู]

( โลกยาววา )

ส่วนที่ทรงพระนามว่า โลกวิทู ก็เพราะทรงรู้โลก แม้โดย

ประการทั้งปวง แท้จริงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงรู้ คือ เข้าพระ

หฤทัยปรุโปร่ง ซึ่งโลก โดยประการทั้งปวง คือ โดยสภาวะ โดยสมุทัย

โดยนิโรธ โดยนิโรธุบาย ( วิธีเข้าถึงนิโรธ ) ดังที่ตรัส ( แก่โรหิตัสส-

เทพบุตร ) ว่า " ดูกรอาวุโส ในที่สุดโลกใดแล สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ไม่ตาย

ไม่จุติ ไม่อุปปัติ เราไม่กล่าวที่สุดโลกนั้นว่า เป็นที่จะพึงรู้พึงเห็นพึง

ไปถึงด้วยการ ( เดินทาง )ไป แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ยังไม่ถึงที่สุด

โลกแล้วจะทำที่สุดทุกข์ได้ แต่เออ เราบัญญัติโลกและโลกสมุทัย

โลกนิโรธ โลกนิโรธคามินีปฏิปทา ( ลงใน ) กเลวระ อันยาวประมาณ

หนึ่งวา มีสัญญา มีใจ ( ครอง ) นี้ดอก " สูตรนี้มีนิคมคาถา ความว่า

ที่สุดโลก บุคคลไม่พึง ( ไป ) ถึงได้ด้วยการ

( เดินทาง ) ไป แต่ไรมา แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุด

โลกแล้วแลพ้นทุกข์ได้หามีไม่ เพราะเหตุนั้น

แล ท่านผู้ปัญญาดี ผู้ถึงที่สุดโลก อยู่จบ

พรหมจรรย์ สงบแล้ว รู้ที่สุดโลกแล้ว จึงไม่

ปรารถนาทั้งโลกนี้ และโลกอื่น*

[โลก ๓]

อีกนัยหนึ่ง โลกมี ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก

* องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 265

ในโลก ๓ นั้น สังขารโลก พึงทราบในอาคตสถาน ( บาลี ) ว่า

" โลก ๑ คือสัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร๑ " สัตวโลก พึงทราบใน

อาคตสถาน ( บาลี ) ว่า " ( เห็น ) ว่าโลกเที่ยงบ้าง ว่าโลกไม่เที่ยง

บ้าง " โอกาสโลก พึงเห็นในอาคตสถาน ( บาลีพรหมนิมันตนิก-

สูตร ) ว่า

" ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ลอยไปรอบ ( จักร

วาฬ ทำให้ ) ทิศทั้งหลายสว่างไสว โดยที่มี

ประมาณเท่าใด โลกในที่มีประมาณเท่านั้น มี

อยู่ ๑,๐๐๐ ส่วน ( คือว่ามี ๑,๐๐๐ โลก ? )

อำนาจของท่านปกแผ่ไปในโลกเหล่านั้น๒ "

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรู้โลกทั้ง ๓ นั้น โดยประการทั้งปวง จริง

อย่างนั้น แม้สังขารโลก คือ โลก ๑ คือสัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร

โลก๒ คือ นาม ๑ รูป ๑ โลก ๓ คือเวทนา ๓ โลก ๔ คืออาหาร ๔

โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คืออายตนะภายใน ๖ โลก ๗

คือ วิญญาณฐิติ ๗ โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘ โลก ๙ คือ สัตตาวาส ๙

โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐ โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒ โลก ๑๘ คือ

ธาตุ ๑๘๓นี้ พระองค์ทรงรู้โดยประการทั้งปวง อนึ่ง เพราะเหตุที่

พระองค์ทรงรู้อาสยะ ( ที่มานอนแห่งจิต ) ทรงรู้อนุสยะ ( กิเลสที่นอน

๑. ขุ.ป. ๓๑/๑๗๘

๒. ม. มู. ๑๒/๕๙๔

๓. ขุ.ป. ๓๑/๑๗๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 266

คือ ตกตะกอน อยู่ในสันดาน ) ทรงรู้จริต ( ปกติของจิต ) ทรงรู้อธิมุติ

( ความโน้มเอียงแห่งจิต ) ของสัตว์ทั้งปวงหมด ทรงรู้สัตว์ทั้งหลายที่มี

กิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก ที่มีอินทรีย์กล้า

มีอินทรีย์อ่อน ที่มีอาการดี มีอาการทรามที่จะพึง ( สอน ) ให้รู้ง่าย

ที่จะพึง ( สอน ) ให้รู้ยาก ที่เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์* เพราะ

เหตุนั้น แม้สัตวโลกพระองค์ทรงรู้โดยประการทั้งปวง อนึ่ง สัตว-

โลกพระองค์ทรงรู้ฉันใด แม้โอกาสโลกก็ทรงรู้ฉันนั้น จริงอย่างนั้น

[ขนาดของจักรวาล]

จักรวาลอันหนึ่ง โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์

( ๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร ) ส่วนโดยรอบ

ปริมณฑลทั้งสิ้น ( ของจักรวาลนั้น )ประมาณ

๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์

[ขนาดหนาของแผ่นดิน]

ในจักรวาลนั้น

แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณ

ถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

* มหาฎีกาอธิบายว่า ที่ว่ามีอาการดีนั้น คือมีปกติ (กาย วาจา ?) งาม มีอัฑยาศัย (ใจ)

น้อมไปทางวิวัฏฏะ

ที่ว่าจะพึง (สอน) ให้รู้ง่าย นั้น คือมีศรัทธาและปัญญา ง่ายที่จะให้รู้ธรรมที่ถูกต้อง

ภัพพสัตว์ คือคนที่ปราศจากโทษอันกีดกั้นมิให้บรรลุมรรคผล ๓ อย่าง คือ กรรม

กิเลส วิบาก เรียกเป็นศัพท์ว่า กัมมาวรณ กิเลสาวรณ วิปากาวรณ

ฝ่ายกาฬปักษ์ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 267

[ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน]

สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ คือ

น้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณ

ถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐โยชน์

[ขนาดความหนาของลมรองน้ำ]

ลมอัน ( พัดดัน ) ขึ้นฟ้า* ( โดยความหนา ) มี

ประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่

พร้อมมูลแห่งโลก

[ขนาดภูเขาสิเนรุและต้นไม้ประจำทวีป]

อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี

ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง ( ลึก ) ลง

ไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป

( ในฟ้า ) ก็ประมาณเท่ากันนั้น

ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขา

อิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขา

เนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ

อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขา

ทิพย์ หยั่ง ( ลึก ) ลงไป ( ในมหาสมุทร ) และ

สูงขึ้นไป ( ในฟ้า ) โดยประมาณกึ่งหนึ่ง ๆ

* เพราะพัดดันขึ้นข้างบน จึงธารน้ำไว้ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 268

แต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขา

ใหญ่ทั้ง ๗ นั้น ( ตั้งอยู่ ) โดยรอบภูเขาสิเนรุ

เป็นที่อยู่ของ ( จาตุ ) มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา

และยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง

๓,๐๐๐ โยชน์ ( เท่ากัน ) ประดับไปด้วยยอด

ถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด

ต้นชมพู ( หว้า ) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้

๑๕ โยชน์ ลำต้นสูง ๕๐ โยชน์ และกิ่ง ( แต่

ละกิ่ง ) ก็ยาว ๕๐ โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้

๑๐๐ โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น

ด้วยอานุภาพของต้นชมพู ( นี้ ) ไรเล่า ทวีปนี้

จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป

ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตร-

ปาฏลี ( แคฝอย ) ของพวกอสูร ต้นสิมพลี ( งิ้ว ) ของพวกครุฑ ต้น

กทัมพะ ( กระทุ่ม ) ในอมรโคยานทวีป* ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป

ต้นสิรีระ ( ซึก ) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะ ในดาวดึงส์

เพราะเหตุนั้นแล ท่านโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า

" ( ต้นไม้ประจำภพและทวีป คือ ) ต้นปาฏลี

* ในมหาฎีกา และที่อื่นๆ โดยมากเป็น อปร. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 269

ต้นสิมพลี ต้นชมพู ต้นปาริฉัตตกะของพวก

เทวดา ต้นกทัมพะ ต้นกัปปะ และต้นที่ ๗

คือ ต้นสิรีสะ ดังนี้

[ขนาดภูเขาจักรวาฬ]

ภูเขาจักรวาล หยั่ง ( ลึก ) ลงไปในมหาสมุทร

๘๒,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป ( ในฟ้า ) ก็เท่ากันนั้น

ภูเขาจักรวาลนี้ตั้งล้อมโลกธาตุทั้งสิ้นนั้นอยู่

[ขนาดของภพน์และทวีป]

ในโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ( ขนาดวัดรอบ?)ประมาณ ๔๙

โยชน์ ดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๐ โยชน์ ภพดาวดึงส์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์

ภพน์อสูร มหานรกอเวจี และชมพูทวีปก็เท่ากันนั้น อมรโคยานทวีป

๗,๐๐๐ โยชน์ บุพพวิเทหทวีปก็เท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ๘,๐๐๐ โยชน์

อนึ่ง ในโลกธาตุนั้นทวีปใหญ่ๆ ทวีป ๑ ๆ มีทวีปน้อยเป็นบริวาร

ทวีปละ ๕๐๐

สิ่งทั้งปวง ( ที่กล่าวมานี้ ) นั้น ( รวม ) เป็นจักรวาล ๑ ชื่อว่า

โลกธาตุอัน ๑ ๑ ในระหว่างแห่งโลกธาตุทั้งหลาย มีโลกันตริยนรก

( แห่งละ ๑ ) ๒

๑. มหาฎีกาว่า จักรวาล ก็คือโลกธาตุ โลกธาตุได้ชื่อว่า จักรวาล ก็เพราะมีภูเขา

จักรวาล ซึ่งสัณฐานดังกงรถล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นเองไม่ใช่จักรวาลอัน ๑ โลกธาตุอัน ๑

๒. ท่านว่าจักรวาลหรือโลกธาตุนั้นมีมากนัก ช่องว่างในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาล

ต่อกัน มีโลกันตนรก ๑ ทุกแห่งไป โดยนัยนี้ คำว่า โลกันตนรก ก็แปลว่า นรกอันตั้ง

อยู่ในช่องระหว่างจักรวาล ๓ อันนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 270

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น๑ ได้ทรงรู้ คือเข้าพระหฤทัยปรุโปร่ง ซึ่ง

อนันตจักรวาล อนันตโลกธาตุ มีประการดังกล่าวมาฉะนี้ ด้วยพระ

อนันตพุทธญาณ แม้โอกาสโลก พรองค์ก็ทรงรู้โดยประการทั้งปวง

โดยนัยดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าโลกวิทู เพราะ

ทรงรู้โลกโดยประการทั้งปวง ดังนี้ประการ ๑

[แก้อรรถบท อนุตฺตโร แยกเป็นบท ๑]

ก็แลบุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหามีไม่ เพราะไม่มี

ใครสักคนที่วิเศษกว่าพระองค์โดยคุณทั้งหลายเหตุนั้น จึงทรงพระนาม

ว่า อนุตฺตโร จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นย่อมทรงครอบงำ

เสียซึ่งโลกทั้งปวงด้วยสีลคุณก็ดี ด้วยสมาธิคุณ ปัญญาคุณ วิมุติคุณ

และวิมุติญาณทัสสนคุณก็ดี พระองค์เป็นผู้ไม่มีผู้เสมอ ทรงเสมอ

กับท่านที่ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้คล้าย ไม่มีผู้ทัดเทียม

ด้วยสีลคุณก็ดี ฯลฯ ด้วยวิมุติญาณทัสสนคุณก็ดี ดังที่ตรัสไว้ว่า

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าเราไม่เห็น ( สมณะหรือพราหมณ์อื่น )

ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตถาคตเลย ในโลก ( นี้ ) กับทั้งเทวโลก มารโลก

พรหมโลก ฯลฯ ในประชาชนทั้งที่เป็นเทวดา และมนุษย์ " ดังนี้

เป็นต้น๒ ความพิสดาร บัณฑิตพึงกล่าว ( ตามนัยพระสูตรนี้ ) สูตร

ทั้งหลายมีอัคคัปปสาทสูตรเป็นต้น และคาถาทั้งหลาย เช่นคาถาที่มี

๑. คำว่า "นั้น" นี้แปลจาก "เอส" ในคำ ตถา เหส เอกจกฺกวาฬํ ฯเปฯ ต้นประโยค

พรรณนาจักรวาฬ (หน้า ๒๖๓)

๒. สํ.ส. ๑๕/๒0๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 271

คำขึ้นต้นว่า " น เม อาจริโย อตฺถิ๑ - อาจารย์ของเราไม่มี " บัณฑิต

พึง ( นำมากล่าว ) ให้พิสดาร เทอญ

[แก้อรรถบท ปุริสทมฺมสารถิ]

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะ

ทรงขับ อธิบายว่าทรงฝึก ทรงนำไป ซึ่งบุรุษที่พึงฝึกได้ทั้งหลาย

บุรุษทั้งหลายที่ยังมิได้ฝึก ( แต่ว่า ) ควรจะฝึกได้ เป็นดิรัจฉานบุรุษก็ดี

เป็นมนุษย์บุรุษก็ดี เป็นอมนุษย์บุรุษก็ดี ชื่อว่า ปุริสทมฺมา - บุรุษที่พึง

ฝึกได้ทั้งหลาย๒ ในบท ปุริสทมฺมาสารถิ นั้น จริงอย่างนั้น แม้ดิรัจฉาน

บุรุษทั้งหลาย เช่นอย่าง อปลาลนาคราช จูโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช

อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช ช้างธนปาลกะ ๓

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงฝึกได้ คือทรงทำให้หมดพิษ ( หมดร้าย )

ให้ตั้งอยู่ในสรณะและในศีลได้ แม้มนุษย์บุรุษทั้งหลาย เช่น สัจจกะ

นิครนถบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทัณฑ-

พราหมณ์ กูฏทันตพราหมณ์ แม้อมนุษย์บุรุษทั้งหลาย เช่น

อาฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลมยักษ์ และสักกเทวราช พระองค์

ก็ทรงฝึกได้ คือทรงนำไปได้ด้วยวินยุบาย ( วิธีนำ ) หลากๆ อนึ่ง

ในความข้อนี้ พระสูตรนี้ ( ที่ตรัส ) ว่า " ดูกรเกสี เราก็นำบุรุษที่พึงฝึกได้

๑. ม.มู. ๑๒/๓๒๙

๒. คำว่าบุรุษ ในที่นี้ ท่านมิได้หมายถึงเพศ แต่หมายถึงว่า ใครก็ตามที่จะรับการฝึกได้

๓. มหาฎีกาว่า อปลาละ อยู่ในหินพานต์ จูโฬทร มโหทร อยู่ในนาคทวีป อัคคิสิขะ

ธูมสิขะ อยู่ในสีหฬทวีป ส่วนอาลวาฬะ ท่านไม่บอกว่าอยู่ที่ไหน ช้างธนปาลกะ ก็

คือ ช้างนาฬาคิรีนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 272

ทั้งหลายไปด้วยวิธีละม่อมบ้าง ... ด้วยวิธีหยาบบ้าง ... ด้วยวิธีทั้งละม่อม

ทั้งหยาบ ( ระคนกัน ) บ้าง "๑ ดังนี้เป็นต้นบัณฑิตพึง ( นำมากล่าว )

ให้พิสดารอีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสบอกคุณวิเสส

( ที่ยิ่งขึ้นไป ) มีปฐมฌานเป็นต้น แก่การกบุคคลทั้งหลายมีบุคคลผู้มี

ศีลหมดจดแล้วเป็นอาทิ และตรัสบอกมรรคปฏิปทาอันยิ่งขึ้นไปแก่

อริยบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้น ก็ชื่อว่าทรงฝึกผู้ที่ได้ฝึกแล้ว

ด้วยแท้ ๒

[แก้อรรถบท อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ รวมกัน]

อีกนัยหนึ่ง สองบทว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ นี้ เป็นอรรถบท

( บทแสดงความ ) อันเดียวกัน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับบุรุษ

ที่พึงฝึกทั้งหลายได้ อย่างที่เขาทั้งหลายนั่งขัดสมาธิอยู่แห่งเดียวนั่น

แหละ ( แต่ )แล่นไปได้ทั้ง ๘ ทิศ ไม่ติดขัด๓ เพราะเหตุนั้น บัณฑิต

จึงถวายพระนามว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ - ผู้ขับบุรุษที่พึงฝึกได้

ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า อนึ่ง ในความข้อนี้ พระสูตรนี้ ( ที่ตรัส ) ว่า " ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย ช้างที่พึงฝึกอันผู้ฝึกช้างขับแล้ว ย่อมแล่นไปได้แต่

๑. เกสีสูตร จตุกังคุตตระ ๒๑/๑๕๑

๒. ดังนี้ เป็นอันว่า ผู้ที่ยังไม่ได้ฝึกแต่ควรแก่การฝึกก็ดี ผู้ที่ได้ฝึกแล้ว แต่ยังไม่

ถึงที่สุดก็ดี เป็นปุริสทมฺมะ ทั้งนั้น

๓. มหาฎีกาว่าทิศ ๘ หมายเอาสมาบัติ ๘ แล้วก็อธิบายว่า สมาบัติ ๘ นั้น แม้เนื่องกัน

แต่แยกชี้ได้เป็นอย่าง ๆ ไม่ปนกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นทิศ หรือเหมือนทิศ อันที่จริง

ที่ว่า ๘ ทิศ ก็เป็นเพียงนิทัศนะ แต่ว่าปุริสทมฺมะที่ทรงขับแล้ว อาจแล่นไปถึงทิศนิโรธ-

สมาบัติและทิศอมตะ ที่โลกิยชนไม่เคยไปเลยก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 273

ทิศเดียว "๑ ดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึง ( นำมากล่าว ) ให้พิสดาร เทอญ

[แก้อรรถบท สตฺถา เทวมนุสฺสานํ]

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สตฺถา ( ศาสดา ) เพราะทรง

พร่ำสอน ( เวไนยสัตว์ ) ด้วยประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และ

ประโยชน์อย่างยิ่ง ( คือ พระนิพพาน ) ตามสมควร อีกนัยหนึ่ง พระนาม

ว่า สตฺถา ( นั้น ) หมายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสัตถวาหะ

( ผู้นำหมู่ดุจนายกองเกวียน ) อรรถาธิบายในข้อนี้บัณฑิตพึงทราบ

ตามนัยแห่ง ( บาลี ) นิเทศก็ได้ว่า " สัตถวาหะ ( นายกองเกวียน ) ย่อม

นำหมู่เกวียนให้ข้ามดันการ คือให้ข้ามโจรกันดาร ให้ข้ามวาฬกันดาร

ให้ข้ามทุพภิกขกันดาร ให้ข้ามนิโรทกกันดารจนออกนอกล่วงพ้น

( แดนกันดาร ) ไปถึงพื้นที่เป็นอันเกษม ( ปลอดภัย ) ฉันใด พระ

ผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นนั่นแล ทรงเป็นสัตถา คือเป็นสัตถวาหะ ยัง

สัตว์ทั้งหลายให้ข้ามภพกันดาร ให้ข้ามชาติกันดาร๒ ... ดังนี้เป็นอาทิ

คำว่า เทวมนุสฺสานํ ความว่าของเทวดาทั้งหลายด้วย ของมนุษย์

ทั้งหลายด้วย คำ ( เทวมนุสฺสานํ ) นี้ตรัสโดยกำหนดเอาเวไนยสัตว์

ชั้นอุกฤษฏ์ และโดยกำหนดเอาเวไนยสัตว์ที่เป็นภัพพบุคคล๓ แต่ความ

จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายด้วย

๑. ม.อุ. ๑๔/๔๐๙

๒. ขุ.จู. ๓๐/๓๑๓

๓. หมายความว่า เทวดาและมนุษย์เท่านั้น นับเป็นสัตว์ชั้นสูงอยู่ในฐานะจะเป็น

ภัพพบุคคล คือผู้ควรจะดำเนินไปสู่ธรรมอันถูกต้องได้ สัตว์ดิรัจฉานไม่อยู่ในฐานะ

เช่นนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 274

แท้ โดยโปรยปรายพระอนุสาสนีไปถึงข้าง สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นเล่า

ได้อุปนิสัยสมบัติด้วยการฟังธรรมแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ด้วย

อุปนิสัยสมบัตินั้นเอง จะเป็นผู้มีส่วนแห่งมรรคผลในชาติที่ ๒ หรือ

ที่ ๓ จริงอยู่ ผู้ได้อุปนิสัยสมบัติด้วยการฟังธรรมทั้งหลาย มีมัณฑูก-

เทพบุตรเป็นต้น เป็นตัวอย่างในข้อนี้

[เรื่องมัณฑูกเทพบุตร]

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่

ชาวเมืองจัมปาอยู่ที่ขอบสระโปกขรณีชื่อคัคครา กบตัวหนึ่งจับนิมิต

ในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ( ว่าทรงแสดงธรรม มีจิต

เลื่อมใส ขึ้นมาหมอบนิ่งฟังอยู่บนบก ท้ายหมู่คน ) คนเลี้ยงลูกโคผู้หนึ่ง

( เร่เข้าไปยืนฟัง และยืนอยู่ชิดกบ แต่กบกำลังเลื่อมใสในผูกพันอยู่

ในพระสุรเสียง จึงไม่โดดหนี ฝ่ายคนเลี้ยงลูกโคก็ไม่เห็นกบ ) กระทุ้ง

ไม้พลองตั้งลง ( บังเอิญ )กระแทกถูกมันเข้าที่หัว มันตายทันที แล้ว

ไปเกิดในวิมานทองสูง ๑๒ โยชน์ในภพดาวดึงส์ เป็นเหมือนหลับ

ไปแล้วตื่นขึ้น เห็นตนมีหมู่นางฟ้าห้อมล้อมอยู่ในวิมานนั้น คิดคำนึง

ดูว่า " ชิ ตัวเราก็ ( มา ) เกิดที่นี่ด้วยนะ เราได้ทำกรรมอะไรเล่าหนอ "

ก็มิได้เห็นกรรมอื่นสักอย่าง นอกจากการถือเอานิมิตในพระสุรเสียง

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทันใดนั้น เทพบุตรนั้นก็มา ( เฝ้า ) ทั้งวิมาน

( ครั้นถึง ) จึงถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มี

พระภาคเจ้าก็ทรงทราบอยู่แล ( แต่ ) ตรัสถาม ( เพื่อให้คนทั้งหลายเห็น

ประจักษ์ในผลกรรมและพุทธานุภาพ ) ว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 275

" ใครนะ รุ่งเรืองด้วยฤทธิด้วยยศ ( บริวาร )

มีสีกายงาม ยังทิศทั้งปวงให้สว่าง ( มา ) ไหว้เท้า

ของเรา "

เทพบุตรนั้นกราบทูลว่า

" ในชาติก่อน ข้าพระองค์เป็นกบ ซึ่งเป็นสัตว์

จำพวกวาริโคจร ( หากินทางน้ำ อยู่ ) ในน้ำ

เมื่อข้าพระองค์กำลังฟัง พระสุรเสียงแสดง

ธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงลูกโคได้ทำให้

ข้าพระองค์ตาย "

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมแก่เทพบุตรนั้น ธรรมาภิสมัย

ได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ฝ่ายเทพบุตรตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทำความ

ยิ้มแย้มกลับไป แล

[แก้อรรถบท พุทฺโธ]

ส่วนที่ทรงพระนามว่า พุทฺโธ ก็เพราะความที่ทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้มีอยู่ ทรงรู้สิ่งที่ควรรู้( นั้น ) ทั้งหมด ด้วยอำนาจ

วิโมกขันติกญาณ ( พระญาณอันเกิดขึ้นในที่สุดแห่งวิโมกข์ ) * อีกนัย

หนึ่ง เพราะเหตุที่ตรัสรู้สัจจะ ๔ ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงยังสัตว์อื่นๆ

* มหาฎีกาว่า วิโมกข์ หมายเอาอรหัตมรรค (คืออรหัตมรรค) เพราะพ้นจากปฏิปักข-

ธรรมโดยประการทั้งปวง ที่สุดแห่งวิโมกข์นั้นก็คืออรหัตผล (อรหัตผล) ญาณอันเกิดใน

อรหัตผลนั้น ชื่อ วิโมกขันติกญาณ เพราะเมื่อได้อรหัตผลนั้นแล้วจึงได้ญาณนั้น วิโมก-

ขันติกญาณนี้คือพุทธญาณทั้งปวง กับทั้งพระสัพพัญญุตญาณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 276

ให้รู้ ( ด้วย ) บ้าง เพราะเหตุนั้น จึงทรงรพระนามว่า พุทฺโธ ด้วยเหตุ

ดังกล่าวมาฉะนี้เป็นอาทิก็ได้ ก็แลเพื่อให้รู้ความข้อนี้ชัดนัยแห่งบาลี

นิเทสก็ดี นัยแห่งบาลีปฏิสัมภิทาก็ดีทั้งหมด อันเป็นไปโดยนัยว่า

พุชฺฌิตา สจฺจานีติ พุทฺโธ พระผู้พระภาคเจ้าทรงพระนามว่า พุทฺโธ

เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ ทรงพระนามว่า

พุทฺโธ เพราะทรงยังหมู่สัตว์ให้รู้ ดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึง ( นำมากล่าว )

ให้พิสดาร เทอญ

[แก้อรรถบท ภควา]

ส่วนคำว่า ภควา นี้ เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้วิเศษ

โดยพระคุณ ( ทั้งหลาย ) ผู้อุดมกว่า ( สัตว์ทั้งหลาย ) และผู้เป็นครู

ด้วยความเคารพ เพราะเหตุนั้น ท่านโบราณจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

" คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐ คำว่า ภควา

เป็นคำสูงสุด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็น

ครู ทรงประกอบด้วยคุณธรรมของครู เพราะ

เหตุนั้น ปราชญ์จึงถวายพระนามว่า ภควา "

[นาม ๔ อย่าง]

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อมี ๔ อย่าง คือ อาวัตถิกนาม ( ชื่อที่เรียกตามรุ่น )*

ลิงคิกนาม ( ชื่อที่เรียกตามเพศ คือเครื่องหมายประจำตัว ) เนมิตติกนาม

( ชื่อที่มาตามคุณอันเป็นนิมิต ) อธิจฺจสมุบันนาม ( ชื่อที่ตั้งขึ้นลอยๆ )

* อวตฺถา แปลว่า เวลา สมัย ก็ได้ ในที่นี้แปลว่ารุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับคำแก้

ของท่านต่อไปนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 277

มีคำอธิบายว่า " ชื่อที่ตั้งตามที่ปรารถนา โดยโวหารของชาวโลก

ชื่อว่าตั้งขึ้นลอยๆ "

ในชื่อ ๔ อย่างนั้น ชื่อเช่นว่า วจฺโฉ ( ลูกโค-ลูกแหง่ ) ทมฺโม

( โคฝึก-รุ่นกระทง ) พลิพทฺโท ( โคถึก-โคงาน )ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า

อาวัตถิกนาม ชื่อเช่นว่า ทณฺฑี ( คนถือไม้เท้า = คนแก่ ) ฉตฺตี ( ผู้มีฉัตร

= พระราชา ) สิขี ( สัตว์มีหงอน = นกยูง ) กรี ( สัตว์มีงวง = ช้าง ) ดังนี้

เป็นต้น ชื่อว่าลิงคิกนาม ชื่อเช่นว่า เตวิชฺโช ( ผู้__________ได้วิชชา ๓ )

ฉฬภิญฺโญ ( ผู้ได้อภิญญา ๖ ) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า เนมิตติกนาม ชื่อ

ตั้งส่งไปไม่คำนึงถึงความของคำเช่นว่า สิริวฑฺฒโก ( ผู้เจริญด้วยสิริ )

ธนวฑฺฒโก ( ผู้เจริญด้วยทรัพย์ ) ดังนี้เป็นต้น ชื่อ อธิจจสมุบันนาม

ส่วนพระนามว่า ภควา นี้ เป็นเนมิตติกนาม พระนางเจ้ามหา-

มายามิได้ทรงขนานให้ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็มิได้ทรงขนานให้

พระญาติ ๘๔,๐๐๐ ก็มิได้ขนานถวาย เทวดาผู้วิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกะ

และท้าวสันตุสิตเป็นอาทิก็มิได้ขนานถวาย จริงอยู่ ข้อนี้แม้พระธรรม-

เสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า " พระนามว่า ภควา นั่น พระมารดามิได้ทรง

ขนานให้ ฯลฯ พระนามนั่นเป็นวิโมกขันติกนาม ( นามอันเกิดต่อท้าย

วิโมกข์ ) ( มีขึ้น ) พร้อมกับความได้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โคนโพธิ-

พฤกษ์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย พระนามนั่นเป็นสัจฉิกา-

บัญญัติ ( ตั้งโดยที่รู้แจ้งธรรม ) พระนามนี้คืออะไร พระนามนี้

คือ ภควา " ดังนี้

ก็แลพระนามนั้นมีคุณอันใดเป็นนิมิต เพื่อจะประกาศคุณเหล่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 278

นั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าว ( เป็น )คาถานี้ไว้ว่า๑

" พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า ภควา

เพราะทรงเป็น ( ภคี ) ผู้มีภคะ ( คือโชค )

เพราะเป็น( ภชี ) ผู้เสพ ( ที่สงัด ) เพราะเป็น

( ภาคี ) ผู้มีภาค ( คือมีส่วนควรได้รับจตุปัจจัย

หรือมีส่วนแห่งธรรม ) เพราะเป็น ( วิภตฺตวา )

ผู้จำแนก ( ธรรม ) เพราะได้ทรงทำภัคคะ

( คือการหักกิเลสบาปธรรม ) เพราะทรงเป็นครู

เพราะทรงเป็นภาคยะ ( คือบุญบารมี ) เพราะทรง

เป็น ( สุภาวิตตฺตะ ) ผู้อบรมพระองค์ดีแล้ว ด้วย

ญายธรรมเป็นอันมาก* เพราะเป็น ( ภวนฺตคะ )

ผู้ถึงที่สุดแห่งภพ "

ก็แลอรรถาธิบายแห่งบทนั้นๆ ในคาถานั้น บัณฑิตพึงเห็นตามนัย

แห่งบาลีที่กล่าวในนิเทสนั้นเถิด ส่วนนัย ( ต่อไป ) นี้ เป็นอีกนัยหนึ่งคือ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น ( ภาคฺยวา ) ผู้มี

ภาคยะ เป็น ( ภคฺควา ) ผู้หัก และเป็น

๑. วทนฺติ มีปัญหาว่าใครเป็นผู้กล่าว มหาฎีกาว่า วทนฺตีติ มหาเถรสฺส ครุภาวโต

พหุจเนนาห สงฺคีติกาเรหิ วา กตมนุวาทฺ สนฺธาย-" ท่าน (ผู้แต่งวิสุทธิมรรค) กล่าว

เป็นพหุวจนะว่า วทนฺติ เพราะความเคารพพระมหาเถระ (ธรรมเสนาบดี) หรือมิฉะนั้น

กล่าวมุ่งเอาแนวคำที่พระสังคีติการทั้งหลายแต่งไว้ (ให้เป็นคำของพระสังคีติการไป)"

ในที่นี้แปลตามนัยหลัง

๒. มหาฎีกาว่า สุภาวิตตฺตโน เป็นฉัฏฐีวิภัติในอรรถแห่งปฐมาวิภัติ ส่วนญายะ ท่านว่า

หมายเอาภาวนา (การอบรม) ซึ่งในนิเทสกล่าวไว้ ๔ คืออบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต

อบรมปัญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 279

( ภเคหิ ยุตฺโต ) ผู้ประกอบด้วยภคธรรม

ทั้งหลาย เป็น ( วิภตฺตวา ) ผู้จำแนก เป็น

( ภตฺตวา ) ผู้คบ๑ เป็น ( ภเวสุ วนฺตคมนะ )

ผู้คายความไปในภพทั้งหลายเสียแล้ว เพราะ

เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า ภควา

[แก้บท ภาคฺยวา]

ในบทเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านถึอนิรุติลักษณะ

(คือลักษณะภาษาที่จะเปล่งออกมาให้เสนาะหู และสะดวดปากด้วย)

มีลักษณะว่า "วณฺณาคโม วณฺณวิปริยาโย ลงอักษรใหม่ ย้าย

อักษร" เป็นต้น หรือถือเอาลักษณะคือการรวมเข้าในชุดศัพท์มี

ปิโสทรศัพท์เป็นอาทิ (คือทำอย่างปิโสทรศัพท์เป็นต้น) ตามนัยแห่ง

ศัพทศาสตร์ เมื่อน่าจะเรียกว่า พระภาคฺยวา เพราะพระองค์ทรงมี

พระภาคยะ๒ คือ พระบารมี มีทานและศีลเป็นต้น อย่างเยี่ยมยอด

อันสามารถยังความสุขทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระให้บังเกิดได้

( แต่ ) เรียกเสียว่าพระภควา

[แก้บท ภคฺควา]

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ได้ทรงหักเสียแล้ว ซึ่งกิเลสทำความ

กระวนกระวายและเร่าร้อน ( แก่สัตว์ทั้งหลาย )ทั้งสิ้น นับด้วย

แสนประเภท

๑. ภคฺควา วิภตฺตวา ๓ ศัพท์นี้ลง ตวนฺตุ ปัจจัยกิริยากิตก์ ไม่ใช่ วนฺตุปัจจัย

ตัทธิต

๒. เคยพบในหนังสือเก่าเขียนไว้ว่า "พระผู้มีพระภาคย์" น่าจะเขียนตามนัยนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 280

ประเภท คือประเภทโลภะ ประเภทโทสะ ประเภทโมหะ ประเภท

วิปริตมนสิการ ( ความคิดผิดทาง ) ประเภทอหิริกะและอโนตตัปปะ

ประเภทโกธะและอุปนาหะ ประเภทมักขะและปลาสะ ประเภทอิสสา

และมัจฉริยะ ประเภทมายาและสาเถยยะ ประเภทถัมภะและสารัมภะ

ประเภทมานะและอติมานะ ประเภทมทะและปมาทะ และประเภท

ตัณหาและอวิชชา ประเภทอกุศลมูล ๓ ประเภททุจริต ๓ ประเภท

สังกิเลส ๓ ประเภทมละ ( มลทิน ) ๓ ประเภทวิสมะ ( ความไม่สงบ ) ๓

ประเภทสัญญา ๓ ประเภทวิตก ๓ และประเภทปปัญจะ ( เครื่อง

เนิ่นช้า ) ๓ ประเภทวิปริเยสะ ( ความสำคัญผิด ) ๔ ประเภทอาสวะ ๔

ประเภทคัณฐะ ( เครื่องผูกรัด ) ๔ ประเภทโอฆะ ๔ ประเภทโยคะ ๔

ประเภทอคติ ๔ และประเภทตัณหุปปาทะ ( ที่เกิดตัณหา ) ๔ ประเภท

เจโตขีละ ( ตาปูตรึงจิต )๕ ประเภทวินิพันธะ ( เครื่องผูกจิต ) ๕ ประเภท

นิวรณ์ ๕ และประเภทอภินันทนะ ( เครื่องเพลิดเพลิน ) ๕ ประเภท

วิวาทมูล ( มูลแห่งการวิวาท ) ๖ และประเภทตัณหากาย ( หมู่ตัณหา ) ๖

ประเภทอนุสัย ๗ ประเภทมิจฉัตตะ ๘ ประเภทตัณหามูลกะ ( โทษ

ที่มีตัณหาเป็นมูล ) ๙ ประเภทอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประเภททิฏฐิคตะ

( ความเห็นผิด ) ๖๒ ประเภทตัณหาวิจริต ( ความนึกไปต่างๆ ด้วย

อำนาจตัณหา ) ๑๐๘ ( เป็นตัวอย่าง ) หรือว่าโดยสังเขป ซึ่งมาร ๕ คือ

กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร และมัจจุมาร เพราะ

เหตุนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่า พระภคฺควา เพราะทรงหัก ( กิเลสอันทำ )

อันตรายทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้ ( แต่ ) เรียกเสียว่า พระภควา จริงอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 281

ในความข้อนี้ ท่านกล่าว ( เป็นคาถา ) ไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น ( ภคฺคราโค ) ผู้ทรง

หักราคะ ( ภคฺคโทโส ) ผู้ทรงหักโทสะ

( ภคฺคโมโห ) ผู้ทรงหักโมหะ เป็นผู้หาอาสวะ

มิได้ บาปธรรมทั้งหลายพระองค์ทรงหักเสีย

( สิ้น ) แล้ว เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวาย

พระนามว่า พระภควา

ก็แลความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระ

บุญลักษณะ ( ลักษณะอันเกิดเพราะบุญ ) นับด้วย ๑๐๐ เป็นอันท่าน

แสดงแล้วด้วยความที่ทรงเป็นผู้มีพระภาคย์ ( คือบุญบารมี ) ความถึง

พร้อมแห่งพระธรรม เป็นอันแสดงด้วยความที่ทรงเป็น ( ภคฺคโทสะ )

ผู้หักโทสะ ความเป็นผู้ที่ชาวโลกและคนใกล้เคียงทั้งหลายรู้จักมากก็ดี

ความเป็นผู้ที่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย พึงไปมาหาสู่ก็ดี ความ

เป็นผู้สามารถในอันช่วยขจัดทุกข์กายทุกข์ใจให้แก่เขาทั้งหลายผู้ไปหาก็ดี

ความเป็นผู้ทำอุปการะเขาด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดีความเป็น

ผู้สามารถในอันยังเขาให้ประกอบพร้อมไปด้วยโลกิยสุข และโลกุตตร-

สุขก็ดี ก็เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยพระคุณสมบัติ ๒ อย่างนั้น*

[แก้บท ภเคหติ ยุตฺโต]

อนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ ภคะ ในโลกย่อมเป็นไปในธรรม ๖ อย่าง

* มหาฎีกาท่านช่วยแยกความซึ่งรวมกันอยู่ออกให้เห็น เช่นว่าชาวโลกรู้จักมาก เพราะ

ภาคฺยวตา คนใกล้เคียงรู้จักมาก เพราะ ภคฺคโทสตา คฤหัสถ์ไปหา เพราะ ภาคฺยวตา

บรรพชิตไปหา เพราะ ภคฺคโทสตา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 282

คือ ความเป็นใหญ่ ( อิสสริยะ ) ธรรม ยศ สิริ ความได้อย่างปรารถนา

( กามะ ) และความพยายาม ( ปยัตตะ ) ก็ความเป็นใหญ่ในพระจิตของ

พระองค์เองอย่างยอดเยี่ยมมีอยู่ หรือความเป็นใหญ่ที่โลกสมมติกัน

( ๘ อย่าง ) มีทำร่างกายให้เล็ก ( อณิมา )และทำร่างกายให้เบา

( เดินอากาศได้ ลังฆิมา ) เป็นต้น อันบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงของ

พระองค์ก็มีอยู่โดยนัยเดียวกันนั้น พระธรรมอันเป็นโลกุตตระของ

พระองค์ก็มีอยู่ พระยศของพระองค์ปรากฏทั่วโลก ๓ เป็น

พระยศที่ทรงได้โดยพระคุณตามที่เป็นจริง เป็นพระยศที่บริสุทธิ์ยิ่งนัก

ก็มีอยู่ พระสิริ ( ความงามสง่า ) แห่งพระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวง

บริบูรณ์ด้วยอาการทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถให้เกิดขวัญตาและขวัญใจ

แก่ชนผู้ขวนขวายในการเฝ้าชมพระรูปกาย ก็มีอยู่ พระกามะ อันหมาย

ถึงความสำเร็จแห่งประโยชน์ที่ทรงพระประสงค์ ก็มีอยู่ เพราะประโยชน์

ใดๆที่พระองค์มีพระประสงค์แล้ว ทรงปรารถนาแล้ว จะเป็น

ประโยชน์ตนก็ตาม ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ประโยชน์นั้นๆก็สำเร็จ

สมพระประสงค์ทั้งนั้น และพระปยัตตะ กล่าวคือสัมมาวายามะ อัน

เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งความเปน็ ครูของโลกทั้งปวง ก็มีอยู่ เพราะเหตุนั้น

บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า ภควา โดยอรรถ ( วิเคราะห์ ) นี้ว่า ภคา

อสฺส สนฺติ - ทรงมีภคธรรม เพราะความที่ทรงประกอบด้วยภคธรรม

ทั้งหลาย ( ที่กล่าวมา ) นี้ ประการ ๑

[แก้บท วิภตฺตวา]

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น วิภตฺตวา มีคำ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 283

อธิบายว่าทรงจำแนก ทรงเปิดเผย ทรงแสดง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดย

ประเภททั้งหลาย มีประเภทกุศลเป็นต้น หรือว่าซึ่งธรรมมีกุศลธรรม

เป็นอาทิ โดยประเภท ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ และ

ปฏิจจสมุบาทเป็นต้น หรือว่าซึ่งอริยสัจคือทุกข์ โดยอรรถ ( ๔ ) คือ

ปีฬนะ ( บีบคั้น ) สังขตะ ( อันปัจจัยปรุงแต่ง ) สันตาปะ ( แผดเผา )

วิปริณาม ( แปรปรวน ) ซึ่งอริยสัจคือสมุทัย โดยอรรถ ( ๔ ) คือ

อายูหนะ ( ประมวลมา ซึ่งทุกข์ ) นิทานะ ( เป็นเหตุแห่งทุกข์ ) สังโยคะ

( ผูกไว้กับทุกข์ ) ปลิโพธะ ( หน่วงไว้มิให้ถึงมรรค ) ซึ่งอริยสัจคือ

นิโรธ โดยอรรถ ( ๔ ) คือ นิสสรณะ ( ออกไปจากทุกข์ ) วิเวก ( สงัด

จากทุกข์ ) อสังขตะ ( อันปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ) อมตะ ( เป็นสภาพไม่ตาย )

ซึ่งอริยสัจคือมรรค โดยอรรถ ( ๔ ) คือ นิยยานิกะ ( นำออกจากทุกข์ )

เหตุ ( เป็นเหตุแห่งนิโรธ ) ทัสสนะ ( เป็นเครื่องเห็นแจ้งพระนิพพาน )

อธิปไตย ( เป็นใหญ่ในการเห็นอริยสัจ )๑ เพราะเหตุนั้น เมื่อน่าจะ

เรียกว่า พระ วิภตฺตวา ( แต่ ) เรียกเสียว่า พระภควา

[แก้บท ภตฺตวา]

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงคบ คือทรงเสพ

ทรงทำให้มาก ซึ่งธรรมอันเป็นทิพวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหาร๒

ซึ่งกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์อัปปณิหิต-

วิโมกข์ และอนิมิตวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุสสธรรมทั้งที่เป็นโลกิยะ

๑. อรรถแห่งอริยสัจ ๑๖ อย่างนี้ มหาฎีกาท่านเรียก โสฬสาการ (อาการ ๑๖)

๒. ทิพวิหาร ได้แก่รูปาวจรฌาน อริยวิหาร ได้แก่ผลสมาบัติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 284

และโลกุตตระอื่นๆ เพราะเหตุนั้นเมื่อน่าจะเรียกว่าพระภตฺตวา

( แต่ ) เรียกเสียว่า พระภควา

[แก้บท ภเวสุ วนฺตคมนะ]

อนึ่งเล่า เพราะความไป กล่าวคือตัณหาในภพ ๓ พระองค์ทรง

คายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ภเวสุวนฺตคมโน (แต่)

ท่านถือเอา ภ อักษรแต่ ภว ศัพท์ ค อักษร แต่ คมนศัพท์ และ ว อักษร

แต่ วนฺต ศัพท์ ทำ (ว อักษร) ให้เป็นทีฆะ เรียกเสียว่า พระภควา

เหมือนในทางโลก เมื่อควรเรียก (ให้เต็ม) ว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา

(มาลาแห่งโอกาสอันเป็นที่ลับ ? ) (แต่) นักปราชญ์ (ถือเอา เม แต่

เมหนสฺส ข แต่ ขสฺส ลา แต่ มาลา) เรียกเสียว่า เมขลา* ฉะนั้นแล

[พุทธานุสสติญาณ]

เมื่อพระโยคาวจรนั้น ระลึกถึงพระพุทธคุณว่า " เพราะเหตุนี้ๆ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหํ ฯลฯ เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มี

พระภาคเจ้านั้น เป็นพระภควา " ดังนี้อยู่ ในสมัยนั้น จิตของเธอ

ย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิต

ที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว ในสมัยนั้น จิตของเธอย่อมเป็นจิตดำเนิน

ไปตรงแน่ว ปรารภ ( คุณ ) พระตถาคตเจ้า เมื่อเธอข่มนิวรณ์ได้โดย

ที่ไม่มีปริยุฏฐานกิเลสมีราคะเป็นอาทิอย่างนั้นชื่อว่ามีจิตดำเนินไป

ตรง เพราะความที่มีจิตมุ่งต่อพระกรรมฐานอยู่ ฉะนี้ วิตกและวิจาร

อันโน้มไปในพระพุทธคุณย่อมเป็นไป เมื่อตรึกเมื่อตรองพระพุทธคุณ

* โบราณจึงแปล เมขลา ว่า ระเบียบเครื่องประดับโอกาสอันลับ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 285

ร่ำไปๆ ปีติย่อมเกิดขึ้นความกระวนกระวายกายจิตของเธอผู้มีใจกอปร

ด้วยปีติย่อมระงับ โดยปัสสัทธิอันมีปีติเป็นปทัฏฐาน สุขทั้งทางกาย

ทั้งทางจิต ย่อมเกิดแก่เธอผู้มีความกระวนกระวายอันระงับแล้ว จิต

ของเธอผู้มีสุข เป็นจิตมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ย่อมเป็นสมาธิ

องค์ฌานย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับในขณะเดียว ดังกล่าวมาฉะนี้ แต่เพราะ

ความที่พระพุทธคุณทั้งหลายเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิต

น้อมไปในการระลึกถึงพระคุณมีประการต่างๆ ฌานนี้จึงเป็นฌานที่

ไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจารเท่านั้น ( และ ) ฌานนี้ก็ถึงซึ่งความ

นับ ( คือได้ชื่อ ) ว่าพุทธานุสสตินั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วย

อำนาจการระลึกถึงพระพุทธคุณ

[อานิสงส์เจริญพุทธานุสสติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งพุทธานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มีความ

เคารพมีความยำเกรงในพระศาสดา ได้ความไพบูลย์แห่งศรัทธา ความ

ไพบูลย์แห่งสติ ความไพบูลย์แห่งปัญญา และความไพบูลย์แห่งบุญ

เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจ

สามารถอดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึก ( เสมือน ) ว่าได้อยู่กับพระศาสดา

อนึ่ง แม้สรีระของเธออันพุทธคุณานุสสติประทับอยู่ ย่อมเป็นร่างควร

แก่การบูชาดุจเรือนพระเจดีย์จิต ( ของเธอ ) ย่อมน้อมไปในพุทธ

อนึ่ง ในเมื่อมีการประจวบเข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิดหิริโอตตัปปะ

ย่อมจะปรากฏแก่เธอ ราวกะเธอเห็นพระศาสดาอยู่ต่อหน้า อนึ่ง เมื่อ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 286

ยังไม่บรรลุคุณยิ่งขึ้นไป เธอย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความ

ไม่ประมาทในพุทธานุสสติ อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี้เป็นกถามุข ( คำแก้ข้อที่สำคัญ ) อย่างพิสดาร

ในพุทธานุสสติ

เป็นอันดับแรก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 287

ธัมมานุสสติ

แม้พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญธัมมานุสสติ ก็พึงเป็นผู้

ไปในที่ลับ ( คน ) เร้นอยู่ ( ในเสนาสนะอันสมควร ) แล้วระลึกถึงคุณ

ทั้งหลายแห่งพระปริยัติธรรมและพระโลกุตตรธรรม ๙ (โดยอนุสสรณ-

ปาฐะ) อย่างนี้ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก

เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ

[แก้บท สฺวากฺขาโต]

ก็แลในบทว่า สฺวากฺขาโต นี้ แม้พระปริยัติธรรมก็สงเคราะห์

เข้าด้วย ในบททั้งหลายนอกนี้ ได้แก่พระโลกุตตรธรรมอย่างเดียว

ในธรรม ๒ อย่างนั้น ( ว่าด้วย ) พระปริยัติธรรมก่อน ( พระปริยัติ

ธรรมนั้น ) ชื่อว่า สฺวากฺขาตะ เพราะความเป็นธรรมงามในเบื้องต้น

งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย และเพราะความเป็นธรรม

ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์

บริบูรณ์สิ้นเชิง

[เพราะงามในเบื้องต้น ... ท่ามกลาง ... เบื้องปลาย]

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระคาถาใดสักบทหนึ่ง

พระคาถานั้น ก็งามในเบื้องต้นด้วยบาทแรกงามในท่ามกลางด้วย

บาทที่ ๒ ที่ ๓ งามในเบื้องปลายด้วยบาทท้าย ( ทั้งนี้ก็ ) เพราะความ

ที่พระธรรมมีความดีอยู่รอบด้าน พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว ก็งามใน

เบื้องต้นด้วยคำนิทาน งามในเบื้องปลายด้วยคำนิคม งามในท่ามกลาง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 288

ด้วยคำที่เหลือ พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างๆ ก็งามในเบื้องต้นด้วย

อนุสนธิแรก งามในเบื้องปลายด้วยอนุสนธิท้าย งามในท่ามกลางด้วย

อนุสนธิที่เหลือ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่างามในเบื้องต้น เพราะมีทั้งคำ

นิทานและคำแสดงเหตุเกิดขึ้น ( แห่งพระสูตร ) ชื่อว่างามในท่ามกลาง

เพราะเนื้อความไม่วิปริตไป และเพราะประกอบไปด้วย ( คำชี้ ) เหตุ

และอุทาหรณ์ ตามสมควรแก่เวไนยนิกรทั้งหลาย และชื่อว่างามใน

เบื้องปลายด้วยนิคมอันยังความได้ศรัทธาให้เกิดแก่ผู้ฟังทั้งหลาย*

ศาสนธรรมแม้ทั้งสิ้น งามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นรากฐานของ

ตน งามในท่ามกลางด้วยสมถวิปัสสนาและมรรคผล งามในเบื้องปลาย

ด้วยพระนิพพาน ( ดังนี้ ) ก็ได้ หรือว่างามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ

งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค งามในเบื้องปลายด้วยผล

และนิพพาน หรืองามในเบื้องต้นด้วยพุทธสุโพธิตา ( ความตรัสรู้ดี

แห่งพระพุทธเจ้า ) งามในท่ามกลางด้วยธัมมสุธัมมตา ( ความเป็น

ธรรมดีแห่งพระธรรม ) งามในเบื้องปลายด้วยสังฆสุปฏิปัตติ ( ความ

ปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ ) หรืองามในเบื้องต้นด้วยอภิสัมโพธิ งามใน

ท่ามกลางด้วยปัจเจกสัมโพธิ งามในเบื้องปลายด้วยสาวกโพธิ อัน

บุคคลผู้ได้ฟังศาสนธรรมนั้นแล้ว ปฏิบัติแล้วเพื่อความเป็นอย่างนั้นจะพึง

* สูตรหนึ่งหรือเรื่องหนึ่ง ย่อมมีข้อความเป็นท่อนๆ เรียงต่อกันไป จนกว่าจะจบสูตร

หรือจบเรื่อง น้อยท่อนบ้าง มากท่อนบ้าง ความท่อนหนงึ่ นั้นแหละเรียกว่า อนุสนธิหนึ่ง

นิทาน คือคำขึ้นต้นสูตร บอกกาลที่แสดง สถานที่ๆ แสดง ผู้แสดง และบริษัท

คือผู้รับฟัง เป็นอาทิ

นิคม คือคำท้ายสูตร ย้ำหรือสรุปเรื่องที่กล่าวมา เพื่อให้ผู้ตระหนักก่อนจะจบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 289

บรรลุได้ อนึ่ง ศาสนธรรมนั้น ( เมื่อ ) บุคคลฟังอยู่ ก็นำความงามมา

ให้ได้โดยแท้ แม้ด้วยการฟัง โดยข่มนิวรณ์ได้( ในขณะฟัง ) เพราะ

เหตุนั้น จึงชื่อว่างามในเบื้องต้น ( เมื่อ ) บุคคลปฏิบัติอยู่ ก็นำความ

งามมาให้ได้แม้ด้วยการปฏิบัติ โดยนำความสุขในสมถะและสุขใน

วิปัสสนาให้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในท่ามกลาง และ ( เมื่อ )

บุคคลปฏิบัติแล้วอย่างนั้น ครั้นผลแห่งการปฏิบัติสำเร็จแล้ว ก็ย่อม

นำความงามมาให้แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติโดยนำความเป็นตาที

บุคคล ( ผู้คงที่ไม่หวั่นไหว ) มาให้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่างามในเบื้อง

ปลายแล ศาสนธรรมชื่อว่า สฺวากฺขาตะ เพราะเป็นธรรมงามในเบื้อง

ต้นงามในท่ามกลางและงามในเบื้องปลาย โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

[เพราะประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ... พยัญชนะ ...]

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อทรงแสดงธรรม ย่อมทรง

ประกาศคือทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ซึ่งศาสนพรหมจรรย์ และมรรค-

พรหมจรรย์อันใด ศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์อันนั้น ชื่อ

ว่า สาตฺถะ เพราะความถึงพร้อมแห่งอรรถ ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ

เพราะความถึงพร้อมแห่งพยัญชนะตามสมควร

ชื่อว่า สาตฺถะ เพราะประกอบพร้อมด้วยอรรถบท ( บทแสดง

อรรถ ๖ ) คือ สังกาสนะ ( แสดงความโดยสังเขป ) ปกาสนะ ( เริ่ม

แสดงเป็นหัวข้อ ) วิวรณะ ( ขยายความ ) วิภชนะ ( จำแนกความ )

อุตตานีกรณะ ( ทำความให้ตื้น ) ปัญญัตติ ( แต่งความให้เข้าใจ )

ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ เพราะความถึงพร้อมแห่ง ( พยัญชนบท ๖ คือ )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 290

อักขระ ( ตัวหนังสือ ) บท ( คำที่ประกอบวิภัติ ) พยัญชนะ ( พากย์ )

อาการ ( จำแนกพากย์ออกไป ) นิรุติ ( วิเคราะห์ศัพท์ ) นิเทศ ( ขยาย

นิรุติให้พิสดาร )

ชื่อว่า สาตฺถะ เพราะความเป็นคุณลึกโดยอรรถ และความ

เป็นคุณลึกโดยปฏิเวธ ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ เพราะความเป็นคุณลึก

โดยธรรม และความเป็นคุณลึกโดยเทสนา

ชื่อว่า สาตฺถะ เพราะเป็นวิสัยแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณ-

ปฏิสัมภิทา ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ เพราะเป็นวิสัยแห่งธรรมปฏิสัมภิทา

และนิรุติปฏิสัมภิทา

ชื่อว่า สาตฺถะ เหตุเป็นคุณยังปริกขกชน ( คนมีปัญญาสอบ

สวน ) ให้เลื่อมใส เพราะเป็นปัณฑิตเวทนียธรรม ( สำหรับคนฉลาด

จะพึงรู้ได้ ) ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ เหตุเป็นคุณยังโลกิยชน ( คนทั่วๆ ไป )

ให้เลื่อมใส เพราะเป็นสัทไธยธรรม ( ทำให้ศรัทธาเกิด ) ๑

ชื่อว่า สาตฺถะ เพราะมีอธิบายลึกซึ้ง ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ เพราะ

มีบทตื้น๒

๑. หมายความว่า พวกคนฉลาดๆ เชื่อยาก เพราะชอบใช้ปัญญาพิจารณาสอบ ธรรมนี้

ก็ปลูกความเลื่อมใสให้เกิดแก่คนพวกนี้ได้ เพราะธรรมนี้บริบูรณ์ด้วยอรรถะ ซึ่งยิ่ง

พิจารณาก็ยิ่งเห็นจริง ส่วนพวกคนพื้นๆ แม้ไม่ใช้ปัญญาก็เกิดความเลื่อมใสได้ด้วย

พยัญชนสมบัติ คือธรรมนี้มีพยัญชนะสมบูรณ์พอที่จะฟังให้รื่นหูรื่นใจ เลื่อมใสทั้งที่

ไม่รู้ความก็ได้

๒. หมายความว่า ถ้ามีอรรถาธิบายตื้นๆ ดาดๆ จะสรรเสริญว่ามีอรรถสมบัติอย่างไร

และถ้ามีบทพยัญชนะลึกเสียจนไม่มีใครจะแปลออก จะสรรเสริญว่ามีพยัญชนะสมบัติ

ไฉน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 291

[บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง]

ชื่อว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะความเป็นธรรมเต็มเปี่ยมทั่วถึง

โดยที่ไม่มีข้อที่จะต้องเติมเข้า ชื่อว่า บริสุทธิ์ เพราะความเป็นธรรม

หาโทษมิได้ โดยที่ไม่มีข้อที่จะต้องตัดออก

[ความหมายอีกนัยหนึ่ง]

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า สาตฺถะ เพราะมีประสบการณ์ในอธิคม ( ปฏิ

เวธ ) ด้วยปฏิบัติ ชื่อว่า สพฺยญฺชนะ เพราะมีความกระจ่างในอาคม

( ปริยัติ ) ด้วยการเล่าเรียน* ชื่อว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบ

ด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีสีลขันธ์เป็นต้น ชื่อว่า บริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส

เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การถอนออก ( จากวัฎฎทุกข์ ) และ

เพราะไม่มีความใยดีในโลกามิส แล

ปริยัติธรรม ชื่อว่า สฺวากขาตะ เพราะประกาศพรหมจรรย์

พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ด้วยประการ

ฉะนี้

[ปริยัติธรรมเป็นสฺวากฺขาตะอีกนัยหนึ่ง]

หรืออีกนัยหนึ่ง ปริยัติธรรมนั้น ชื่อว่า ตรัสด้วยดี เพราะไม่มี

อรรถวิปลาส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อ สฺวากฺขาตะ ( ตรัสดี ) เหมือน

อย่างอรรถแห่งธรรมของพวกเจ้าลัทธิอื่น จัดว่าถึงความวิปลาส เพราะ

* หมายความว่า พรหมจรรย์นี้มีสารัตถะ ปฏิบัติไปไม่ไร้ผล มีปฏิเวธประจักษ์อยู่ การ

เล่าเรียนปริยัติเล่า ก็หาโทษมิได้ ยิ่งเรียนยิ่งกระจ่างหายโง่หายหลง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 292

เพราะความที่ธรรมที่เขากล่าวว่าเป็นอันตรายิกธรรมทั้งหลาย หามีความเป็น

ธรรมทำอันตรายไม่ และเพราะความที่ธรรมที่เขากล่าวว่าเป็นนิยยา-

นิกธรรมทั้งหลายก็หามีความเป็นธรรมนำออก ( จากทุกข์ ) ไม่ เพราะ

เหตุนั้น เจ้าลัทธิอื่นเหล่านั้น จึงเป็นผู้มีธรรมเป็นทุรักขาตะ ( กล่าว

ชั่ว ) แท้ฉันใด อรรถแห่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า หาถึงความ

วิปลาสฉันนั้นไม่ เพราะธรรมที่พระองค์ตรัสว่า ธรรมเหล่านี้เป็น

อันตรายิกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นนิยยานิกธรรมดังนี้แล้ว หาล่วงความ

เป็นอย่างนั้นไปไม่ แล

ปริยัติธรรมเป็นสวากขตะ โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับ

แรก

[โลกุตตรธรรมเป็นสฺวากฺขาตะ]

ส่วนโลกุตตรธรรม ชื่อว่า สฺวากฺขาตะ เพราะตรัสข้อปฏิบัติอัน

สมควรแก่พระนิพพาน และพระนิพพานสมควรแก่ข้อปฏิบัติ ดัง

สักกเทวราชทรงกล่าว ( ในมหาโควินทสูตร ) ว่า " ก็แลปฏิปทาอันให้

ถึงพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวก

ทั้งหลาย พระนิพพานและปฏิปทาย่อมเข้ากันได้ อุปมาเหมือนน้ำใน

แม่น้ำคงคา ย่อมเข้ากันย่อมสมกันกับน้ำในแม่น้ำยมุนา ฉันใดก็ดี

ก็แลปฏิปทาอันให้ถึงพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ทรง

บัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลายพระนิพพานและปฏิปทาย่อมเข้ากัน

ได้ ฉันนั้นนั่นแล๑" ดังนี้ อนึ่ง ในโลกุตตรธรรมนั้นอริยมรรคอันเป็น

* ที.มหา ๑0/๒๖๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 293

ทางกลางไม่ไปใกล้อันตะ ( ที่สุดโต่ง ) ทั้ง ๒ ข้างนั้นเอง* ชื่อว่า

สวากขาตะ เพราะอริยมรรคนั้นแหละ ที่ตรัสว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

สามัญผลทั้งหลายอันมีกิเลสระงับแล้วนั่นเอง ชื่อว่า สวากขาตะ เพราะ

สามัญผลนั้นแหละ ที่ตรัสว่าเป็นธรรมชาติมีกิเลสระงับแล้ว พระ

นิพพานอันเป็นสภาพเที่ยง สภาพไม่ตาย สภาพต้าน ( ทุกข์ ) และ

สภาพที่ลี้ ( ทุกข์ ) นั่นเอง ชื่อว่า สวากขาตะ เพราะพระนิพพานนั้น

แหละ ที่ตรัสโดยเป็นสภาพเที่ยงเป็นอาทิแลแม้โลกุตตรธรรมก็เป็น

สวากขาตะ โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

[แก้บท สนฺทิฏฺฐิโ ก]

ส่วนวินิจฉัยในบทว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี้ พึงทราบ ( ต่อไปนี้ )

[นัยที่ ๑ แปลว่า " พึงเห็นเอง "]

ก่อนอื่น อริยมรรคชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก เพราะเป็นธรรมอัน

พระอริยบุคคลผู้ทำความไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้นในสันดานของตนอยู่

พึงเห็นเอง ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า " ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้

กำหนัดแล้ว ถูกความกำหนัดครอบงำแล้ว มีจิตอันราคะยึดไว้รอบ

แล้วนั่นแล ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น

บ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง ย่อมได้เสวย

* อันตะ ๒ คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค

เท่านั้น บรรดาสิ่งที่สุดโต่งไปคนละข้าง ท่านหมายเอาทั้งนั้น เช่น สัสสตะกับอุจเฉทะ

ลีนะ (หดหู่) กับอุทธัจจะ (ฟุ้งซ่าน) ปติฏฺฐานะ (หยุด ไม่พยายาม) กับ อายุหนะ

(พยายามไม่หยุด) เป็นอันตะทั้งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 294

ทุกขโทมนัสทางใจบ้าง ครั้นความกำหนัดเขาละเสียได้แล้ว เขาย่อม

ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่คิด

เพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างเขาย่อมไม่ได้เสวยทุกข-

โทมนัสทางใจ ดูกรพราหมณ์ ธรรมเป็นสันทิฏฐิกะอย่างนี้ประการ ๑*"

ดังนี้ อนึ่ง แม้โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ ก็ชื่อสันทิฏฐิกะ เพราะเป็นธรรมที่

บุคคลใดๆ ได้บรรลุแล้ว บุคคลนั้นๆพึงละความที่จะพึงถึงด้วยความ

เชื่อผู้อื่นเสียแล้ว เห็นเองด้วยปัจจเวกขณญาณ

[นัยที่ ๒ แปลว่า " ชนะ ( กิเลส ) ด้วยสันทิฏฐิ "]

นัยหนึ่ง ทิฏฐิอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ชื่อว่า สันทิฏฐิ โลกุต-

ตรธรรมย่อมชำนะ ( กิเลส ) ด้วยสันทิฏฐิ เหตุนั้นจึงชื่อ สันทิฏฐิกะ

จริงอย่างนั้น ในโลกุตตรธรรมนั้น อริยมรรคย่อมชำนะกิเลสทั้งหลาย

ด้วยสันทิฏฐิ อันสัมปยุต (กับตน ) อริยผลย่อมชำระกิเลสทั้งหลาย

ด้วยสันทิฏฐิ อันเป็นเหตุ ( ของตน ) พระนิพพานย่อมชำนะกิเลส

ทั้งหลายด้วยสันทิฏฐิ อันเป็นวิสัย ( อารมณ์ของตน ) เพราะเหตุนั้น

โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ จึงชื่อว่าสันทิฏฐิกะ เพราะชำนะ ( กิเลส ) ด้วย

สันทิฏฐิประดุจนักรบได้ชื่อว่า รถิกะ เพราะ ( รบ ) ชนะด้วย รถ ฉะนั้น

[นัยที่ ๓ แปลว่า " ควรซึ่งการเห็น "]

อีกนัยหนึ่ง การเห็น เรียกว่า ทิฏฐะ ทิฏฐะนั่นเองเป็นสันทิฏฐะ

แปลว่า การเห็น โลกุตตรธรรมย่อมควรซึ่งสันทิฏฐะ ( การเห็น )

* อง.ติก. ๒๐/๑๙๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 295

เหตุนั้นจึงชื่อว่า สันทิฏฐะ เพราะว่าโลกุตตรธรรม เมื่อบุคคลเห็นอยู่

ด้วยอำนาจภาวนาภิสมัย ( รู้โดยทำให้มีขึ้น ) และด้วยอำนาจสัจฉิ-

กิริยาภิสมัย ( รู้โดยทำให้แจ้ง ) นั่นแล จึงยังวัฏฏภัย ( ภัยคือวัฏฏะ )

ให้กลับได้ ๑ เพราะเหตุนั้น โลกุตตรธรรมนั้นจึงชื่อ สันทิฏฐิกะ เพราะ

ควรซึ่งสันทิฏฐะ ( การเห็น ) เปรียบเหมือนคนที่ได้ชื่อว่า วัตถิกะ

เพราะความซึ่งวัตถะ (ผ้า) ฉะนั้น๒

[แก้บท อกาลิโก]

( นัยที่ ๑ แปลว่า ไม่มีกาล )

ธรรมนั้น มุ่งการให้ผล หามีกาลไม่ เพราะเหตุนั้น

จึงชื่อว่าอกาโล อกาลิโก ก็ อกาโล นั่นเอง มีอธิบายว่า" ธรรมนั้น

หาได้รอกาลอันต่างโดยการกำหนดมีปัญจาหะ ( ๕ วัน ) และสัปดาหะ

( ๗ วัน ) เป็นต้นให้ผลไม่ แต่ย่อมให้ผลติดต่อกันไปกับความเป็นไป

ของตนทีเดียว "

( นัยที่ ๒ แปลว่า " มิใช่ธรรมมีกาล " )

นัยหนึ่ง กาลในอันให้ผลแห่งธรรมนั้น ยังไกลที่จะถึง๓

๑. มหาฎีกาว่า ที่เห็นโดยภาวนาภิสมัย หมายถึงมรรค ที่เห็นโดยสัจฉิกิริยาภิสมัย หมาย

ถึงนิพพาน และยังว่าแม้ผลเบื้องต่ำก็กล่าวได้ว่า " เมื่อบุคคลเห็นอยู่ ย่อมยังวัฏฏภัย

ให้กลับได้ " โดยอ้อม เพราะผลเบื้องต่ำนั้นเป็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุมรรคเบื้องสูง โดย

เป็นปัจจัยแห่งวิปัสสนาเพื่อสกทาคามิผลเป็นต้น

๒. วัตถิกะ หมายถึงเด็กโต ซึ่งจะเปลือยร่างต่อไปไม่น่าดู ควรจะใช้ผ้าปกปิดร่างกาย

แล้ว เช่นนั้นกระมัง ? ท่านชักมากล่าวเพื่อเปรียบเทียบศัพท์เท่านั้น ว่า สันทิฏฐิกะ มี

ทางจะแปลว่า "ควรซึ่งการเห็น" ได้ มีศัพท์เทียบคือ วัตถิกะ แปลว่า "ผู้ควรซึ่งผ้า"

๓. หมายความว่าให้ผลในเวลาอื่น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 296

เหตุนั้น ธรรมนั้น จึงชื่อว่า กาลิกะ ถามว่า ธรรมนั้นคืออะไร ตอบว่า

ธรรมนั้น คือกุศลธรรมที่เป็นโลกิยะส่วนโลกุตตรธรรมนี้มิใช่กาลิกะ

เพราะมีผลต่อเนื่องทันที เหตุนั้นจึงชื่อว่า อกาลิกะ

บทว่า อกาลิโก นี้ ตรัสหมายเอามรรคเท่านั้น

[แก้บท เอหิปสฺสิโก]

ธรรมชื่อ เอหิปสฺสิกะ เพราะควรซึ่งเอหิปัสสวิธีอันเป็นไปโดย

ความว่า " ท่านจงมาดูธรรมนี้ " ดังนี้ ถามว่าก็เพราะเหตุไร ธรรม

นั้นจึงควรซึ่งวิธีนั้น ตอบว่า เพราะธรรมนั้นเป็นสภาพมีอยู่ด้วย เพราะ

ธรรมนั้นเป็นสภาพบริสุทธิ์ด้วย แท้จริง ใครๆ แม้จะพูด ( ลวง ) ได้ว่า

เงินหรือทองก็ตามมีอยู่ในกำมือเปล่า ( แต่ ) ก็ไม่กล้าเรียก ( ผู้อื่น )

ว่า " จงมาดูเงินหรือทองนี้ซิ " เพราะอะไร เพราะเงินหรือทองนั้น

ไม่มีอยู่ และคูถหรือมูตรก็ตามแม้มีอยู่ ใครๆ ก็หาอาจเรียก ( ผู้อื่น )

ว่า " จงมาดูคูถหรือมูตรนี้ เพื่อ ( ให้ ) ร่าเริงใจซิ " โดยเผยความที่

มันเป็นของน่าฟูใจ ( ให้เขาดู ) ได้ไม่ เพราะอะไร เพราะคูถหรือมูตร

นั้น เป็นของโสโครก ส่วนโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ นี้โดยสภาพ เป็นของ

มีอยู่ด้วย เป็นของบริสุทธิ์ดุจดวงจันทร์เพ็ญ ในอากาศอันปราศจาก

เมฆ และเปรียบดุจแก้วมณีแท้อันเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลเหลืองฉะนั้นด้วย

เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเอหิปัสสิกะ เหตุว่าควรซึ่งเอหิปัสสวิธี เพราะ

ความที่เป็นสภาพมีอยู่ และเพราะความเป็นสภาพบริสุทธิ์ด้วย

[แก้บท โอปนยิโก]

ธรรมชื่อ โอปนยิกะ เพราะควรนำเข้าไป ก็แลความ ( ต่อไป ) นี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 297

เป็นวินิจฉัยในบทนี้ คือการนำเข้าไป ชื่อ อุปนยะ ธรรมย่อมควร

ซึ่งการที่บุคคลแม้ผ้าหรือศีรษะไฟไหม้ก็เฉย ( คง ) นำเข้าไปในจิตของ

ตน ๆ โดยทำให้มีขึ้นจนได้ เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อ อุปนยิกะ

อุปนิยกะนั้นเองเป็นโอปนยิกะ คำวิเคราะห์นี้ใช้ได้ในโลกุตตรธรรม

ที่เป็นสังขตะ ส่วนในโลกุตตรธรรมที่เป็นอสังขตะ ( วิเคราะห์ว่า )

ธรรมนั้นควรซึ่งการนำเข้าไปด้วยจิต เหตุนั้นจึงชื่อ โอปนยิกะ

หมายความว่าควรซึ่งการผนึกเข้าโดยทำให้แจ้ง หรือมิฉะนั้น( ธรรม

คือ ) อริยมรรค ชื่อว่า อุปเนยฺย เพราะนำ ( พระอริยบุคคล ) เข้าไป

ถึงพระนิพพาน ธรรมคือผล แลพระนิพพานชื่อว่า อุปเนยฺย เพราะ

เป็นธรรมที่บุคคลพึงนำเข้าไปถึงความที่จะพึงทำให้แจ้ง โอปนยิกะ ก็

อุปเนยฺย นั่นเอง

[แก้บท ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ]

บทว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ความว่า อันวิญญูชน

ทั้งหลายมีอุคฆติตัญญูบุคคลเป็นต้นทั้งปวงพึง * รู้ว่า " มรรค

เราเจริญแล้ว ผลเราบรรลุแล้ว นิโรธเราทำให้แจ้งแล้ว " เพราะว่า

กิเลสทั้งหลายของสัทธิวิหาริกจะละด้วยมรรคที่พระอุปัชฌายะเจริญ

หาได้ไม่ เธอจะอยู่เป็นผาสุกด้วยผลสมาบัติของท่านก็ไม่ได้ จะทำให้

แจ้งซึ่งพระนิพพานที่ท่านทำให้แจ้งก็ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น จึงมีคำ

อธิบายว่า โลกุตตรธรรมนั่น บุคคลไม่พึงเห็นดังเช่นเครื่องประดับที่

ศีรษะของคนอื่น ( ซึ่งจะฉวยเอามาประดับที่ศีรษะของตัวเองได้ ) แต่พึง

เห็นว่าธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงเสวยอยู่ในจิตของตัวเองเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 298

แท้จริง โลกุตตรธรรมนั้น ไม่เป็นวิสัยของพวกคนโง่เลยทีเดียว

[อีกนัยหนึ่ง ธรรมคุณบทหลังๆ เป็นเหตุของบทหน้าๆ]

อีกนัยหนึ่งเล่า ธรรมนี้เป็น สฺวากฺขาตะ ถามว่าเพราะเหตุอะไร

( จึงเป็น สฺวากฺขาตะ ) แก้ว่า เพราะธรรมนี้เป็นสันทิฏฐิกะ ธรรมนี้

ได้ชื่อว่า สันทิฏฐิกะ ก็เพราะเป็นอกาลิกะ ธรรมนี้ได้ชื่อว่า อกาลิกะ

ก็เพราะเป็นเอหิปัสสิกะและธรรมใดได้ชื่อว่า เอหิปัสสิกะ ธรรมนั้น

ก็ย่อมเป็น โอปนยิกะ แล

[ธรรมานุสสติฌาน]

เมื่อพระโยคาวจรนั้น ระลึกถึงพระธรรมคุณทั้งหลาย อันต่าง

โดยคุณมีความเป็นสวากขาตะเป็นต้น ดังกล่าวมาฉะนี้อยู่ ในสมัยนั้น

จิตของเธอย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม

ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว ในสมัยนั้นจิตของเธอย่อมเป็นจิต

ดำเนินไปตรงแน่วปรารภพระธรรมแล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น

ในขณะเดียวกัน แก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วโดยนัยก่อน ( ที่กล่าวใน

พุทธานุสสติ ) นั่นแล แต่เพราะความที่พระธรรมคุณทั้งหลายเป็น

อารมณ์ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึกถึงพระคุณ

หลายอย่างต่างประการ ฌานนี้จึงเป็นฌานไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียง

อุปจารเท่านั้น ( และ ) ฌานนี้นั้น ก็ถึงซึ่งความนับ ( ชื่อ ) ว่า ธรรมา-

นุสสตินั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงพระ

ธรรมคุณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 299

[อานิสงส์เจริญธรรมานุสสติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มี

ความเคารพมีความยำเกรงในพระศาสดา ทำความตระหนัก และ

อ่อนน้อมในพระธรรม ด้วยระลึกถึงพระธรรมคุณโดยนัย ( สักกภาษิต

ในมหาโควินทสูตร ) ว่า" เราไม่พิจารณาเห็นศาสดาผู้แสดงธรรมอัน

เป็นโอปนยิกะอย่างนี้ ผู้แม้ประกอบดว้ ยองค์นี้ในกาลส่วนที่เป็นอดีต

เลย ในกาลบัดนี้เล่า เราก็ไม่พิจารณาเห็น เว้นแต่พระผู้มีพระภาค-

เจ้านั้น "* ดังนี้ ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งคุณมีศรัทธาเป็นต้น เป็นผู้

มากไปด้วยปีติปราโมทย์ ทนต่อความกลัวและความตกใจ สามารถ

อดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึก ( เสมือน ) ว่าได้อยู่กับพระธรรม อนึ่ง แม้

สรีระของเธออันธรรมคุณานุสสติประทับอยู่ ย่อมเป็นร่างควรแก่การ

บูชาดุจเรือนพระเจดีย์ จิต ( ของเธอ ) ย่อมน้อมไปในอันจะบรรลุ ( ให้

ถึง ) อนุตตรธรรม อนึ่ง ในเมื่อมีการประจวบเข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วง

ละเมิด หิริโอตตัปปะย่อมปรากฏแก่เธอผู้ระลึกถึงความเป็นธรรมดี

แห่งพระธรรมได้อยู่ อนึ่ง เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งขึ้นไป เธอย่อม

เป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความ

ไม่ประมาทในธรรมานุสสติ อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี้เป็นกถามุข ( คำแก้ข้อที่สำคัญ ) อย่างพิสดาร

ในธรรมานุสสติ

* ที.มหา ๑0/๒๖๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 300

[สังฆานุสสติ]

แม้พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญสังฆานุสสติ ก็พึงเป็นผู้ไปในที่

ลับ ( คน ) เร้นอยู่ ( ในเสนาสนะอันสมควร ) แล้ว ระลึกถึงคุณ

พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ( โดยอนุสสรณปาฐะ ) อย่างนี้ว่า สุปฏิปนฺโน

ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ญาย-

ปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวก-

สงฺโฆ ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต

สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลิกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส

[แก้บท สุปฏิปนฺโน]

ในบทเหล่านั้น บทว่า สุปฏิปนฺโน แปลว่า ปฏิบัติดี มีคำ

อธิบายว่า ปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิปทา ( คือปฏิบัติชอบ )เป็นอนิวัตติ-

ปฏิปทา ( ปฏิบัติไม่กลับ ) เป็นอนุโลมปฏิปทา ( ปฏิบัติสมควรแก่พระ

นิพพาน ) เป็นอปัจจนีกปฏิปทา ( ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึกแก่ธรรมและ

บุคคล ) เป็นธรรมานุธรรมปฏิปทา ( ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม )

บุคคลเหล่าใด ฟังพระโอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้า

โดยเคารพ เหตุนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่าสาวก ( ผู้ฟัง ) หมู่แห่ง

สาวกทั้งหลายชื่อว่า สาวกสงฆ์ หมายความว่า ชุมนุมแห่งสาวกผู้ถึง

ซึ่งความเป็นกลุ่มก้อนกันด้วยความเป็นผู้เสมอกันโดยศีลและทิฏฐิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 301

[อุชุ... ญาย... สามีจิปฏิปนฺโน เนื่องด้วย สุปฏิปนฺโน]

ก็เพราะว่า สัมมาปฏิปทานั้น เป็นปฏิปทาตรง คือไม่คด ไม่โกง

ไม่งอ * อนึ่ง ปฏิปทานั้นท่านเรียกว่าอริยญายะบ้าง และถึงซึ่งความ

นับ ( ได้ชื่อ ) ว่า สามีจิ เพราะเป็นปฏิปทาอันสมควรบ้าง เพราะเหตุ

นั้น พระอริยสงฆ์ผู้ดำเนินปฏิปทานั้น จึงได้ชื่อว่า อุชุปฏิปนฺโน ( ปฏิบัติ

ตรง ) บ้าง ว่า ญายปฏิปนฺโน ( ปฏิบัติเป็นญายะ ) บ้างว่า สามีจิ-

ปฏิปนฺโน ( ปฏิบัติควร ) บ้าง

[ท่านผู้ตั้งอยู่ในผล ได้ชื่อ สุปฏิปนฺโน อย่างไร]

ก็แลในบท สุปฏิปนฺโน เป็นต้นนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระ

อริยเจ้าเหล่าใดเป็นผู้ตั้งอยู่ในมรรค พระอริยเจ้าเหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติ

ดี เพราะความเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยความปฏิบัติชอบ พระอริยเจ้า

เหล่าใดเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล พระอริยเจ้าเหล่านั้น ก็ชื่อว่าปฏิบัติดี มุ่ง

เอาความปฏิบัติที่ล่วงไปแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นได้บรรลุธรรมที่พึง

บรรลุ ก็ด้วยความปฏิบัติชอบนั่นแล

[แก้ ๔ บท อีกนัยหนึ่ง]

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า สุปฏิปนฺโน เพราะปฏิบัติไปตามอนุศาสนีที่

พระศาสดาทรงสอนไว้ก็ได้ เพราะปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา ( คือปฏิบัติ

ไม่ผิด ) ก็ได้ ( เฉพาะ ) ในธรรมวินัยที่เป็นสวากขาตะ ชื่อว่า อุชุปฏิ-

ปนฺโน เพราะปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าใกล้อันตะ ( ที่สุด

* มหาฎีกาเปรียบเทียบไว้ว่า ไม่คดดังโคมูตร ( หมายถึงรอยมูตรที่ดิน ซึ่งโคเดินพลาง

ถ่ายพลาง คดไปคดมา ) ไม่โกงดังความโก่งของวงเดือน ไม่งอดังหางไถ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 302

โต่ง ) ทั้ง ๒ ข้าง และเพราะปฏิบัติเพื่อละโทษ คือความคด ความโกง

และความงอ ทางกายวาจาใจ

พระนิพพาน ตรัสเรียกว่า ญายะ เพราะปฏิบัติเพื่อประโยชน์

แก่พระนิพพานนั้น จึงชื่อ ญายปฏิปนฺโน

บุคคลทั้งหลายปฏิบัติด้วยประการใด จึงเป็นผู้ควรแก่สามีจิกรรม

เพราะปฏิบัติด้วยประการนั้น จึงชื่อ สามีจิปฏิปนฺโน

[แก้ ยทิทํ ฯ เป ฯ]

คำว่า ยทิทํ ไขเป็น ยานิ อิมานิ ( แปลว่า เหล่านี้ใด ) คำว่า

จตฺตาริ ปุริสยุคานิ ความว่า โดย ( นับเป็น ) คู่ เป็นบุรุษ ๔ คู่ คือ

พระผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรคพระผู้ตั้งอยู่ใน ( ปฐม ) ผล นี่เปน็ คู่ ๑ ดังนี้

เป็นต้น คำว่า อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา ความว่า โดย ( นับ ) บุรุษ ( แยก

เป็น ) บุคคล เป็นบุรุษบุคคล ๘ พอดี โดยนัยนี้ คือพระตั้งอยู่ใน

ปฐมมรรค ๑ พระผู้ตั้งอยู่ใน ( ปฐม ) ผล ๑ เป็นต้น ก็บทว่า บุรุษก็ดี

ว่า บุคคล ก็ดี ในคำว่า อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา นั้น มีอรรถอันเดียวกัน

แต่บทว่า ปุริสปุคฺคลา นั่น ตรัสด้วยอำนาจแห่งเวไนย ข้อว่า เอส

ภควโต สาวกสงฺโฆ ความว่า โดย ( นับเป็น ) คู่ บุรุษ ๔ คู่ โดย

( นับ ) แยกเป็นองค์ๆ บุรุษบุคคล ๘ เหล่านี้ใด นี่คือหมู่สาวกของ

พระผู้มีพระภาคเจ้า

[แก้บทอาหุเนยฺโย]

[นัยที่ ๑]

พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งหลายมีบทว่า อาหุเนยฺโย เป็นต้น ( ต่อ

ไป )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 303

วัตถุใด อันเขานำมาบูชา เหตุนั้น วัตถุนั้น ชื่อว่าอาหุนะ

หมายความว่า วัตถุที่เขานำมาแม้แต่ไกลถวายในท่านผู้มีศีลทั้งหลาย

คำว่า อาหุนะ นั่น เป็นเชื่อแห่งปัจจัย ๔ พระสงฆ์เป็นผู้ควรที่จะรับ

อาหุนะนั้น เพราะทำอาหุนะนั้นให้มีผลมาก เหตุนั้นจึงชื่อ อาหุเนยยะ

( ผู้ควรรับของอันเขานำมาบูชา )

[นัยที่ ๒]

อีกนัยหนึ่ง แม้สมบัติทั้งปวง อันบุคคลมาแม้แต่ไกลพึงบูชา

( คือถวาย ) ในพระสงฆ์นั้น เหตุนั้น พระสงฆ์นั้นจึงชื่อ อาหวนียะ ( ผู้

อันบุคคลควรบูชา ) หรือว่า พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งอาหวนวัตถุ แม้

แห่งเทพเจ้าทั้งหลายมีท้าวสักกะเป็นต้น เหตุนั้นจึงชื่อ อาหวนียะ ( ผู้

ควรของที่เขามาบูชา ) อนึ่ง ไฟอันได้ชื่อว่า อาหวนียะ ของพราหมณ์

ทั้งหลายนี้ใด ซึ่งลัทธิของพวกเขาว่าเป็นของที่ๆของอันบูชาแล้วมีผลมาก

หากว่าไฟนั้นชื่อว่าอาหวนียะ เพราะของที่บุคคลบูชาแล้ว ( ในไฟนั้น )

มีผลมากไซร้ก็พระสงฆ์นี่แหละเป็นอาหวนียะ ( แท้ ) เพราะของที่

บุคคลบูชา ( คือถวาย ) ในพระสงฆ์เป็นสิ่งมีผลมาก ( จริงๆ )ดังพระ

ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

" ก็ชนใด พึงบำเรอไฟอยู่ในป่าสิ้นร้อยปี

ส่วนชนใด พึงบูชาท่านผู้ที่อบรมตนสำเร็จแล้ว

ผู้เดียวแม้ครู่หนึ่ง การบูชานั้นแหละประเสริฐ

กว่า การบูชาไฟสิ้นร้อยปีจะประเสริฐอะไร๒ "

๑. ควรซึ่งของทานที่แม้เทพเจ้ามีสักกะเป็นต้นถวาย

๒. ขุ.ธ. ๒๕/๒๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 304

บทว่า อาหวนียะ นี้นั้นเป็นคำในนิกายอื่น๑ โดยอรรถก็อันเดียวกัน

บทว่า อาหุเนยยะ นี้ในที่นี้ แต่ใน ๒ บทนี้ ต่างกันนิดหน่อยโดย

พยัญชนะเท่านั้น พระสงฆ์เป็น อาหุเนยยะ ด้วยประการฉะนี้

[แก้บท ปาหุเนยฺโย]

ส่วนในบทว่า ปาหุเนยฺโย ( พึงทราบวินิจฉัยต่อไปนี้ ) อาคัน-

ตุกทาน ( ของรับแขก ) ที่เขาจัดอย่างเครื่องสักการะ ( คือจัดอย่างดี )

เพื่อประโยชน์แก่ญาติและมิตรทั้งหลายที่รักที่ชอบใจ อันมาแต่ทิศใหญ่

น้อย เรียกว่า ปาหุนะ แม้อาคันตุกทานนั้น เว้นญาติมิตรที่รัก

ที่ชอบใจเหล่านั้นและแขก ( อื่น ) อันมีฐานะอย่างนั้นเสีย ก็ควรถวาย

แก่พระสงฆ์เท่านั้น พระสงฆ์เท่านั้นควรรับอาคันตุกทานนั้น เพราะว่า

แขก ( ผู้ทรงคุณ ) เช่นดังพระสงฆ์หามีไม่ จริงอย่างนั้น พระสงฆ์นั่น

ต่อพุทธันดรหนึ่งจึงจะได้พบ๒ และท่านประกอบด้วยธรรมทั้งหลายที่ทำ

ความที่เป็นที่รักที่ชอบใจล้วนๆ ด้วย พระสงฆ์ชื่อว่า ปาหุเนยยะ เพราะ

ของรับแขกควรถวายแก่ท่าน และท่านก็ควรรับของรับแขก ดังนี้แล

ส่วนบาลีของชนเหล่าใดว่า ปาหวนีโย บาลีของชนเหล่านั้นมี

อธิบายว่า เพราะเหตุที่พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งบุพการ ( การทำให้ก่อน )

เพราะฉะนั้น ทานวัตถุ บุคคลควรนำมาบูชาในพระสงฆ์นั้นก่อนใคร

หมด เหตุนั้นพระสงฆ์จึงชื่อ ปาหวนียะ ( ผู้ที่ควรนำของมาบูชา

ก่อน ) นัยหนึ่ง พระสงฆ์ควรซึ่งอาหวนะโดยประการทั้งปวงเหตุนั้น

๑. มหาฎีกาว่า หมายถึงนิกายสัพพัตถิกวาที

๒. มหาฎีกาแถมว่า บางทีตั้งอสงไขยกัปจึงจะได้พบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 305

จึงชื่อ ปาหวนียะ ( ผู้ควรของอันเขานำมาบูชาโดยประการทั้งปวง )

ศัพท์ ปาหวนียะ นี้นั้น ในที่นี้กล่าวว่าปาหุเนยยะ โดยอรรถ ( ก็อัน

เดียวกัน ) นั้นแล

[แก้บท ทกฺขิเณยฺโย]

ก็ทานที่บุคคลพึงเชื่อปรโลกแล้วจึงให้ เรียกว่า ทักขิณา พระ

สงฆ์ย่อมควรซึ่งทักขิณานั้น หรือว่าเกื้อกูลแก่ทักขิณา เพราะว่าทำ

ทักขิณาให้หมดจด โดยภาวะคือทำทักขิณานั้นให้มีผลมาก เหตุนั้น

พระสงฆ์จึงชื่อว่า ทักขิเณยยะ ( ผู้ควรซึ่งทักขิณาหรือผู้เกื้อกูลแก่ทักขิณา )

[แก้บท อญฺชลีกรณีโย]

พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งอัญชลีกรรม อันชาวโลกทั้งปวงวางหัตถ์

ทั้งสองไว้เหนือเศียรกระทำอยู่ เหตุนั้นจึงชื่อว่าอัญชลีกรณียะ ( ผู้ควรซึ่ง

การทำอัญชลี )

[แก้ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส]

บทว่า อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ความว่า พระสงฆ์

เป็นที่เพาะปลูกบุญของชาวโลกทั้งปวง ไม่มีที่เสมอเหมือน อย่างว่า

ที่เพาะปลูกข้าวสาลีก็ดี ข้าวเหนียวก็ดี ของพระราชาหรือของอำมาตย์

ก็ตาม เขาก็เรียก รญฺโญสาลิกฺเขตฺตํ รญฺโญ ยวกฺเขตฺตํ นาข้าว

สาลีของพระราชา นาข้าวเหนียวของพระราชา ดังนี้เป็นต้นฉันใด

๑. มหาฎีกาท่านช่างคิดว่า แม้บาลีจะใช้ศัพท์ว่า อนุตฺตรํ ซึ่งแปลว่า "ไม่มีที่ยิ่งกว่า"

ก็จริง แต่ที่แท้นั้น แม้แต่ "ที่เสมอ" ก็หามีไม่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแก้เป็น "อสทิสํ-

ไม่มีเสมอเหมือน"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 306

พระสงฆ์ก็เป็นที่เพาะปลูกบุญทั้งหลายของชาวโลกทั้งปวงฉันนั้น แท้

จริง เพราะอาศัยพระสงฆ์ บุญทั้งหลายอันเป็นเครื่องบันดาลประโยชน์

เกื้อกูล และความสุขนานาประการของชาวโลกจึงได้งอกขึ้น เพราะ

เหตุนั้นพระสงฆ์จึงชื่อว่าเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า๑ แล

[สังฆานุสสติฌาน]

เมื่อพระโยคาวจรระลึกถึงพระสังฆคุณทั้งหลาย อันต่างโดยคุณ

มีความเป็นผู้ปฏิบัติดีเป็นต้น ดังกล่าวมาฉะนี้อยู่ในสมัยนั้นจิต ( ของ

เธอ ) ย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็น

จิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียวในสมัยนั้น จิตของเธอย่อมเป็นจิต

ดำเนินไปตรงแน่วปรารภพระสงฆ์แล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นใน

ขณะเดียวกันแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วโดยนัยก่อน ( ที่กล่าวในพุท-

ธานุสสติ ) นั่นแล แต่เพราะความที่พระสังฆคุณทั้งหลายเป็นอารมณ์

ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึกถึงพระคุณมีประการ

ต่างๆ ฌานนี้จึงเป็นฌานที่ไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจารเท่านั้น

( และ ) ฌานนี้นั้น ก็ถึงซึ่งความนับ ( ชื่อ ) ว่า สังฆานุสสตินั่นเอง

เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงพระสังฆคุณ

[อานิสงส์เจริญสังฆานุสสติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งสังฆานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มีความ

เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ได้ความไพบูลแห่งคุณมีศรัทธาเป็นอาทิ

๑. ปุญญกฺเขตตํ นี้ มหาฎีกาท่านแนะให้แปลว่า "เป็นดุจนาบุญ" (โดยวิเคราะห์ไว้ว่า

เขตฺตํ วิย เขตฺตํ ปุญฺญานํ เขตฺตํ ปุญญกฺเขตตํ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 307

เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจ

สามารถอดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึก ( เสมือน )ว่าได้อยู่กับพระสงฆ์

อนึ่ง แม้สรีระของเธออันสังฆคุณานุสสติประทับอยู่ ย่อมเป็นร่างควร

แก่การบูชา ดุจโรงอุโบสถอันมีสงฆ์ประชุมกันอยู่ฉะนั้น จิตของเธอ

ย่อมน้อมไปในอันจะบรรลุถึงพระสังฆคุณ อนึ่ง ในเมื่อมีการประจวบ

เข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะย่อมจะปรากฏแก่เธอผู้

( รู้สึก ) ราวกะเห็นพระสงฆ์อยู่ต่อหน้าอนึ่งเล่า เมื่อยังไม่บรรลุคุณ

อันยิ่งขึ้นไป เธอย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความ

ไม่ประมาทในสังฆานุสสติ อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี้เป็นถกามุข ( คำแก้ข้อที่สำคัญ ) อย่างพิสดาร

ในสังฆานุสสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 308

[สีลานุสสติ]

ส่วนว่า พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญสีลานุสสติ พึงเป็นผู้ไปใน

ที่ลับ ( คน ) เร้นอยู่ ( ในเสนาสนะอันสมควร )แล้ว ระลึกถึงศีลทั้งหลาย

ของตน โดย ( ระลึกถึง คุณ ( สมบัติแห่งศีล ) มีความเป็นศีลไม่ขาด

เป็นอาทิ โดยนัยว่า" โอ ! ศีลทั้งหลายของเราไม่ขาดหนอ โอ ! ศีล

ทั้งหลายของเราไม่ทะลุหนอ ไม่ด่างหนอ ... ไม่พร้อยหนอ ...เป็น

ไทยหนอ ... ผู้รู้สรรเสริญหนอ ... ไม่ถูกปรามาสหนอ ... เป็นทาง

สมาธิหนอ๑" ดังนี้ ก็แลศีลเหล่านั้น ผู้เป็นคฤหัสถ์พึงระลึกถึงศีลที่เป็น

ของคฤหัสถ์ บรรพชิตก็พึงระลึกถึงศีลที่เป็นของบรรพชิต จะเป็นศีล

ของคฤหัสถ์หรือศีลของบรรพชิตก็ตามแต่ สิกขาบทแม้ข้อเดียวใน

เบื้องต้น หรือในเบื้องปลายของศีลเหล่าใดไม่แตก ศีลเหล่านั้นชื่อว่า

อขัณฑะ เพราะไม่ขาดเหมือนผ้าอันขาดที่ชาย๒

สิกขาบทแม้ข้อเดียวในท่ามกลางของศีลเหล่าใดไม่แตก ศีล

เหล่านั้นชื่อว่า อัจฉิททะ เพราะไม่ทะลุเหมือนผ้าทะลุกลางผืน

สิกขาบท ๒ หรือ ๓ ข้อโดยลำดับของศีลเหล่าใดไม่แตก ศีล

เหล่านั้นชื่อว่า อสพละ เพราะไม่ด่างเหมือนแม่โคซึ่งมีสีตัวดำหรือแดง

เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสีที่ตัดกับสีตัวมีสัณฐาน ( ต่างๆ ) เช่น

ยาวหรือกลม ผุดขึ้นที่หลังบ้างที่ท้องบ้างฉะนั้น

๑. มหาฎีกาท่านแนะให้ประกอบ อโห วต เม สีลานิ ทุกบท

๒. มหาฎีกาว่า วิสทิสุทาหรณํ เจตํ-นี่เป็นอุทาหรณ์ไม่เสมอ คือตัวความมีปฏิเสธว่า

"ไม่ขาด" แต่อุทาหรณ์ไม่มีปฏิเสธว่า "เหมือนผ้าอันขาดที่ชาย" และว่า เอวํ

เสสานิปี อุทาหรณานิ อุทาหรณ์ข้อต่อ ๆ ไปก็อย่างเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 309

ศีลเหล่าใดไม่แตกในระหว่างๆ ไป ศีลเหล่านั้นชื่อว่า อกัมมาสะ

เพราะไม่พร้อย เหมือนแม่โคอันลายพร้อยไปด้วยจุดสีอันตัดกับสีตัว

ฉะนั้น ๑

นัยหนึ่ง โดยอรรถอันไม่แปลกกัน ศีลทั้งปวงชื่อว่าไม่ขาด ไม่

ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เพราะไม่ถูกเมถุนสังโยค ๗ประการ และ

บาปธรรมทั้งหลายมีโกธะ อุปนาหะเป็นต้นเข้ามาทำลาย

ศีลเหล่านั้นแหละ ชื่อว่า ภุชิสสะ เพราะพ้นจากความเป็นทาส

แห่งตัณหาแล้ว ทำความเป็นไทยได้

ชื่อว่า วิญญุปสัตถะ เพราะเป็นศีลอันท่านผู้รู้ทั้งหลายมีพระ

พุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญ

ชื่อว่า อปรามัฏฐะ เพราะเป็นศีลอันตัณหาและทิฏฐิไม่ปรามาส

( แตะต้อง๒ ) หรือว่าเพราะความเป็นศีลอันใครๆ ไม่พึงอาจปรามาส

( ตำหนิ ) ได้ว่า " นี่เป็นความเสียในศีลทั้งหลายของท่าน "

ชื่อว่า สมาธิสังวัตตนิกะ เพราะยังอุปจารสมาธิหรืออัปปนา-

สมาธิให้เป็นไป หรือมิฉะนั้น ยังมรรคสมาธิและผลสมาธิให้เป็นไป

ก็ได้

[สีลานุสสติฌาน]

เมื่อพระโยคาวจรนั้นระลึกถึงศีลทั้งหลายของตน โดยคุณมีความ

๑. อรรถาธิบายบททั้ง ๔ นี้ เคยกล่าวมาแล้วในสีลนิเทศ โปรดดูเชิงอรรถในวิสุทธิมรรค

แปล ตอนที่ ๑ หน้า ๑๑๓

๒. เช่นรักษาศีลตั้งปรารถนาจะเป็นเทพเจ้าหรือเทพเหล่าใดเหล่าหนึ่ง หรือยึดมั่น

ด้วยความเห็นว่า ความบริสุทธิ์จักมีได้ด้วยศีลอย่างนั้นอย่างนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 310

เป็นศีลไม่ขาดเป็นต้นดังนี้อยู่ ในสมัยนั้น จิต ( ของเธอ ) ย่อมไม่เป็น

จิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุม

เลยทีเดียว ในสมัยนั้นจิตของเธอย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงแน่วปรารภ

ศีลแล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกันแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์

ได้แล้ว โดยนัยก่อน ( ที่กล่าวในพุทธานุสสติ ) นั่นแล แต่เพราะความ

ที่สีลคุณทั้งหลายเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิตน้อมไปใน

การระลึกถึงคุณนานาประการ ฌานนี้จึงเป็นฌานที่ไม่ถึงอัปปนา ถึง

เพียงอุปจารเท่านั้น ( และ ) ฌานนี้นั้นก็ถึงซึ่งความนับ ( ชื่อ ) สีลา

นุสสติ นั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงสีลคุณ

[อานิสงส์เจริญสีลานุสตติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งสีลานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มีความ

เคารพในสิกขา มีความประพฤติเหมาะสมไม่ประมาทในการปฏิ-

สันถาร ปราศจากภัย มีอัตตานุวาทภัย ( ภัยคือตนติตนเองได้ ) เป็นต้น *

มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายมาตรว่าเล็กน้อย ได้ความไพบูล

แห่งคุณมีศรัทธาเป็นอาทิ เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช อนึ่ง

เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งขึ้นไป เธอย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปใน

เบื้องหน้า

* หมายเอาภัย ๔ คือ อัตตานุวาทภัย ( ตนติตนเอง ) ปรานุวาทภัย ( คนอื่นติ )

ทัณฑภัย ( ถูกจับลงอาชญา ) ทุคคติ ( ตายไปแล้วไปทุคติ )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 311

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความ

ไม่ประมาทในสีลานุสสติ อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี้เป็นกถามุข ( คำแก้ข้อที่สำคัญ ) อย่างพิสดาร

ในสีลานุสสติ

จาคานุสสติ

ส่วนผู้ใคร่จะเจริญจาคานุสสติ ต้องเป็นผู้ ( มีจิต ) น้อมไปใน

จาคะ มีการให้และการแบ่ง๑เป็นไปอยู่เป็นนิตย์ หรือมิฉะนั้น เมื่อจะ

เริ่มเจริญ พึงทำสมาทานว่า " บัดนี้ จำเดิมแต่กาลนี้ไป เมื่อปฏิคาหก

มีอยู่ เรายังมิได้ให้ทานโดยที่สุดแม้ข้าวสักคำหนึ่งแล้ว จักไม่บริโภค "

ดังนี้แล้ว ให้ทานตามสามารถตามกำลัง ในปฏิคาหกทั้งหลายผู้วิเศษ

โดยคุณ ( ให้ได้ ) ในวันนั้น แล้วถือเอานิมิตในทานนั้น๒ ไปในที่ลับ

( คน ) เร้นอยู่ ( ในเสนาสนะอันสมควร ) แล้ว ระลึกถึงจาคะของตน

โดย ( ระลึกถึง )คุณมีความปราศจากความตระหนี่ อันเป็นตัวมลทิน

เป็นต้น อย่างนี้ว่า " ( เป็น ) ลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ซึ่ง

๑. ทานสํวิภาค เคยได้ยินแปลรวม ๆ ว่า "จำแนกแจกทาน" ก็มี แต่ในที่นี้ท่านแยก

เป็น ๒ จัดของไว้สำหรับให้ผู้อื่น เรียกว่า ทาน แบ่งจากของที่ตนจะบริโภค เรียกว่า

๒. มหาฎีกาว่า ถือเอานิมิตในทานนั้น คือ กำหนดเอาอาการอันเป็นไปแห่งเจตนาบริจาค

ในทานนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 312

เมื่อประชาชนถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุมอยู่ เรา ( มา ) มีใจ

ปราศจากความตระหนี่อันเป็นตัวมลทินอยู่ มีการสละปล่อยเลย ( ไม่

เสียดายอาลัยหรือหวังผลตอบแทน ) มีมืออันล้างไว้ ( คอยจะหยิบของ

ให้ทาน ) ยินดีในการเสียสละ ควรในการขอ พอใจในการให้และ

การแบ่ง"

[แก้อรรถ อนุสสรณปาฐะ]

ในปาฐะเหล่านั้น ข้อว่า ลาภา วต เม นั้น คือ มยฺหํ วต

ลาภา ( ลาภของเราหนอ ) อธิบายว่า " ลาภทั้งหลายของผู้เป็นทายก

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพรรณนาไว้หลายนัยเป็นต้นว่า " ... ก็แลผู้เป็น

ทายกนั้นครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้อายุอันเป็นของทิพย์บ้าง

เป็นของมนุษย์บ้าง๑ " ดังนี้เป็นอาทิก็ดี ว่า " ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ชน

เป็นอันมากย่อมคบเขา " ดังนี้ก็ดี ว่า " บุคคลเมื่อดำเนินตามธรรม

ของสัตบุรุษทั้งหลาย ให้ ( ทาน ) อยู่ ย่อมเป็นที่รัก๒" ดังนี้ก็ดี

เหล่านี้ใด ลาภทั้งหลายเหล่านั้นเป็นส่วนได้ของเราแน่นอน "

ข้อว่า สุลทฺธํ วต เม ( เราได้ดีแล้วหนอ ) ความว่า พระ

ศาสนานี้ หรือว่าอัตภาพมนุษย์นี้ใดที่เราได้แล้ว พระศาสนาหรือ

อัตภาพมนุษย์นั้น ชื่อว่าเราได้ดีแล้วหนอ ถามว่า เพราะอะไร

แก้ว่า เพราะ " เมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทินคือความตระหนกี่ ลุ้มรุมอยู่ เรา

( มา ) มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นตัวมลทินอยู่ ฯลฯ พอใจใน

๑. อง.ปญฺจก. ๒๒/๔๔

๒. อง. ปญฺจก. ๒๒/๔๓ พระบาลีเป็นฉันท์ว่า "ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู"

ไม่มี ชนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 313

การให้และการแบ่ง "

ในบทเหล่านั้น บทว่า มจฺเฉรมลปริยุฏฺฐิตาย ( ถูกมลทินคือ

ความตระหนี่กลุ้มรุม ) หมายความว่า ถูกมลทินคือความตระหนี่

ครอบงำ บทว่า ปชาย ( เมื่อประชาชน ) ความว่า สัตว์ทั้งหลาย

ท่านเรียก ปชา โดยความที่ได้กำเนิดมา ( ตามกรรมของตน ) เพราะ

ฉะนั้น ในข้อนี้จึงมีเนื้อความ ( ดัง ) นี้ว่า " เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ถูก

มลทินคือความตระหนี่ อันมีความทนไม่ไหวซึ่งความที่สมบัติทั้งหลาย

ของตน ( มา ) เป็นของสาธารณแก่คนอื่นๆ ไปเป็นลักษณะ เป็น

จำพวกธรรมดำอันเป็นเครื่องประทุษร้ายความเป็นประภัสสร ( ผ่องใส )

แห่งจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ครอบงำเอาแล้ว "

บทว่า วิคตมลมจฺเฉเรน ความว่า ชื่อว่า ปราศจากมลทินและ

ความตระหนี่ เพราะความที่มลทินอื่นๆ เช่นราคะ โทสะ และความ

ตระหนี่ด้วยปราศไปแล้ว คำว่า เจตสา วิหรามิ ความว่า เราเป็น

ผู้มีจิตมีประการดังกล่าวแล้วอยู่ ส่วนในพระสูตรตรัสว่า อคารํ

อชฺฌาวสามิ ( เรา ... อยู่ครองเรือน ) เพราะเมื่อเจ้ามหานามศากยะ

ผู้เป็นพระโสดาบันทูลถามถึงนิสสัยวิหาร ( ธรรมที่พึงอาศัยอยู่ของพระ

โสดาบัน ) ก็ทรงแสดงไปโดยแนวนิสสัยวิหารด้วยกัน ความในบท

อชฺฌาวสามิ นั้นว่า อภิภวิตฺวา วสามิ เราอยู่ครอบครอง ( เรือน )

บทว่า มุตฺตจาโค แปลว่า มีการสละปล่อยเลย

บทว่า ปยตปาณี หมายความว่า มีมือสะอาด มีคำอธิบายว่า

มีมืออันล้างไว้ทุกเมื่อ เพื่อจะให้ไทยธรรมด้วยมือตนโดยเคารพ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 314

บทว่า โวสฺสคฺครโต อธิบายว่า การเสียสละ ชื่อว่าโวสสัคคะ

ความก็คือ บริจาค ( นั่นเอง ) บุคคลชื่อว่า โวสฺสคฺครต เพราะยินดี

โดยประกอบอย่างยิ่งเนืองๆ ในโวสสัคคะนั้น

บทว่า ยาจโยโค อธิบายว่า เป็นผู้ควรในการขอ เพราะ

คนอื่นๆ ขอสิ่งใดๆ ก็ให้สิ่งนั้นๆ ปาฐะว่า ยาชโยโค ก็มี แปลว่า

ผู้ประกอบด้วยยาชะ กล่าวคือการบูชา ( การให้ )

บทว่า ทานสํวิภาครโต แปลว่า ยินดีในการให้และในการแบ่ง

ด้วย ความว่า พระโยคาวจรผู้ทายกย่อมระลึก ( ในข้อนี้ ) อย่างนี้ว่า

เราแหละ ให้ทานด้วย ทำการแบ่งแม้จากของที่ตนจะพึงบริโภคด้วย

เป็นผู้ยินดีในการให้และการแบ่งทั้งสองอย่างนั้นแลด้วย

[จาคานุสสติฌาน]

เมื่อพระโยคาวจรนั้นระลึกถึงจาคะของตน โดย ( ระลึกถึง ) คุณ

มีความเป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ อันเป็นตัวมลทินเป็นอาทิอย่างนี้

อยู่ ในสมัยนั้น จิต ( ของเธอ ) ย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็น

จิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว ในสมัยนั้น

จิตของเธอย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงแน่วปรารภจาคะแล องค์ฌาน

ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน แกเ่ ธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้ว โดย

นัยก่อน ( ที่กล่าวในพุทธานุสสติ ) นั่นแล แต่เพราะความที่จาคคุณ

ทั้งหลายเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึก

ถึงจาคคุณนานาประการฌานนี้จึงเป็นฌานที่ไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 315

อุปจารเท่านั้น ( และ ) ฌานนี้นั้น ก็ถึงซึ่งความนับ ( ชื่อ ) ว่า จาคา

นุสสตินั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงจาคคุณ

[อานิสงส์เจริญจาคานุสสติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งจาคานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้น้อมไป

ในการสละโดยประมาณยิ่ง (คือยิ่งขึ้นทุกที ?) มีอัธยาศัยไม่โลภ ทำ

สมควรแก่เมตตาอยู่โดยปกติ กล้าหาญ ( ในชุมนุมชน ) มากไปด้วย

ปีติและปราโมช อนึ่ง เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งขึ้นไป เธอย่อมเป็น

ผู้มีสุคติที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความ

ไม่ประมาทในจาคานุสสติ อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี้เป็นกถามุข ( คำแก้ข้อที่สำคัญ ) อย่างพิสดาร

ในจาคานุสสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 316

[เทวตานุสสติ]

ส่วนว่า พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญเทวตานุสสติ ด้องเป็น

ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น อัน ( เกิด ) ขึ้นมาอย่างดี

ด้วยอำนาจอริยมรรคแล้ว แต่นั้น พึงไปในที่ลับ ( คน ) เร้นอยู่ ( ใน

เสนาสนะอันสมควร )แล้ว ตั้งเทวดาไว้ในฐานะแห่งพยาน ระลึกถึง

คุณมีศรัทธาเป็นต้นของตนอย่างนี้ว่า " เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกามีอยู่

เทวดาเหล่าดาวดึงส์ เหล่ายามา เหล่าดุสิต เหล่านิมมานรดี เหล่า

ปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีอยู่ เทวดาจำพวกรูปพรหมก็มีอยู่ เทวดาที่ชั้นสูง

กว่าจำพวกรูปพรหมนั้นก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาอย่าง

ใด จุติจากภพนี้แล้ว ( ไป ) เกิดในภพนั้นๆ ศรัทธาอย่างนั้น แม้ของ

เราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลอย่างใดสุตะอย่างใด จาคะ

อย่างใด ปัญญาอย่างใด จุติจากภพนี้แล้ว ( ไป ) เกิดในภพนั้นๆ

ศีลอย่างนั้น สุตะอย่างนั้นจาคะอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้น แม้ของเรา

ก็มีอยู่ " ดังนี้ แต่ในพระสูตรตรัส ( สองฝ่ายเสมอกัน ) ว่า " ดูกร

มหานาม ในสมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และ

ปัญญาของตนและของเทวดาทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ในสมัยนั้น จิต

ของเธอย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุมเลย*... " ดังนี้ ตรัส ( สองฝ่าย

เสมอกันเช่นนั้น ) ก็จริง แต่ที่แท้ บัณฑิตพึงทราบว่าคำ ( ในพระสูตร )

นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงคุณของเทวดา ที่พึงตั้งไว้ใน

ฐานแห่งพยานทั้งหลาย เสมอกันกับคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นของ

* อง.ฉกฺก. ๒๒/๓๒๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 317

ตนเพราะในอรรถกถาแก้ไว้เป็นมั่นเหมาะว่า " ตั้งเทวดาไว้ในฐาน

แห่งพยาน ระลึกถึงคุณทั้งหลายของตน " ดังนี้

[เทวตานุสสติฌาน]

เพราะเหตุนั้น เมื่อพระโยคาวจรนั้น แม้ระลึกถึงคุณของเทวดา

ทั้งหลายในเบื้องแรกแล้ว ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นที่ตนมีอยู่ใน

เบื้องปลายนั่นแล ในสมัยนั้นจิตของเธอจึงไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม

ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุมไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว ใน

สมัยนั้นจิตของเธอย่อมดำเนินไปตรงแน่วปรารภเทวดาแล องค์ฌาน

ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน แก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้ว โดยนัย

ก่อน ( ที่กล่าวในพุทธานุสสติ ) นั่นแล แต่เพราะความที่สัทธาทิคุณ

ทั้งหลายเป็นอารมณ์ลึกซึ้งหรือเพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึก

ถึงคุณมีประการต่างๆฌานนี้จึงเป็นฌานที่ไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียง

อุปจารเท่านั้น ( และ ) ฌานนี้นั้นก็ถึงซึ่งความนับ ( ชื่อ ) ว่า เทวตานุสสติ

นั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงสัทธาทิคุณ

( ของตน ) อันเป็นเช่นกับคุณของเทวดาทั้งหลาย

[อานิสงส์เจริญเทวตานุสสติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งเทวตานุสสตินี้ ย่อมเป็นที่รัก

ที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ได้บรรลุความไพบูลย์แห่งสัทธาทิคุณโดย

ประมาณยิ่ง เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมชอยู่ อนึ่ง เมื่อยังไม่

บรรลุคุณอันยิ่งขึ้นไป เธอย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

* มหาฎีกาว่า เบื้องแรกคือเริ่มภาวนา เบื้องปลาย คือในเวลาจะสำเร็จอุปจาร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 318

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความ

ไม่ประมาทในเทวตานุสสติ อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี่เป็นกถามุข ( คำแก้ข้อที่สำคัญ ) อย่างพิสดาร

ในเทวตานุสสติ

[แก้อรรถบท อตฺถเวทํ เป็นต้นในมหานามสูตร]

ก็แล ในการทรงแสดงอนุสสติเหล่านั้นโดยพิสดาร พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าตรัสคำว่า " ในสมัยนั้น จิตของเธอเป็นจิตดำเนินไปตรงแน่ว

ปรารภตถาคต " ดังนี้เป็นต้น แล้วตรัสพุทธวจนะใดว่า " ดูกรมหานาม

ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้วนั่นแล ย่อมได้รสอรรถ ย่อมได้

รสธรรม ย่อมได้ความปราโมชอันประกอบด้วยธรรมเมื่อเธอปราโมช

ปีติย่อมเกิด " ดังนี้ ในพุทธวจนะนั้นพึงทราบว่า คำว่าได้รสอรรถ

ตรัสหมายเอาความยินดี อันอาศัยอรรถแห่งอนุสสรณบาลี มีบทว่า

อิติปิ โส ภควา เป็นต้นเกิดขึ้น คำว่า ได้รสธรรม ตรัสหมายเอา

ความยินดีอันอาศัย ( ตัว ) บาลีเกิดขึ้น คำว่าได้ความปราโมชอัน

ประกอบด้วยธรรม ตรัสโดย ( หมายถึง ) ความยินดีทั้ง ๒ อย่าง

ส่วนคำใดที่ตรัสในเทวตานุสสติว่า " ปรารภเทวดา " คำนั้นพึง

ทราบว่าตรัสโดย ( หมายถึง ) จิตอันปรารภเทวดาเป็นไป หรือโดย

( หมายถึง ) จิตที่ปรารภคุณทั้งหลาย ( ของตน ) อันยังความเป็นเทวดา

ให้สำเร็จซึ่งเป็นคุณเช่นเดียวกับคุณของเทวดา เป็นไปในเบื้องแรก

( แห่งการภาวนา )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 319

[อนุสสติ ๖ สำเร็จแก่อริยสาวกเท่านั้น]

ก็แลอนุสสติ ๖ นี้ ย่อมสำเร็จแก่อริยสาวกทั้งหลายเท่านั้น

เพราะคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรม พระสงฆ์ย่อมปรากฏ ( ชัด )

แก่ท่าน และท่านประกอบพร้อมไปด้วยศีลทั้งหลายอันทรงคุณมีความ

ไม่ขาดเป็นต้น ด้วยจาคะที่ปราศจากความตระหนี่ อันเป็นตัวมลทิน

และด้วยคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นอาทิ อันเสมอเหมือนกับคุณของ

ทวยเทพผู้มีอานุภาพมาก อนึ่ง ในมหานามสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า

อันเจ้ามหานามศากยะทูลถามถึงนิสสัยวิหาร( ธรรมที่พึงอาศัยอยู่ ) ของ

พระโสดาบัน ก็ตรัสอนุสสติ ๖ นั้นโดยพิสดาร เพื่อทรงแสดงนิสสัย-

วิหารของพระโสดาบันนั่นเอง แม้ในเคธสูตรก็ตรัส ( อนุสสติ ๖ นั้น )

เพื่อประโยชน์แก่การทำจิตให้หมดจดด้วยอำนาจอนุสสติ แล้วได้

บรรลุปรมัตถวิสุทธิยิ่งขึ้นไปแห่งอริยสาวก อย่างนี้ว่า " ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงตถาคตว่า แม้เพราะ

อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ฯลฯ ในสมัยนั้น จิตของเธอย่อม

เป็นจิตดำเนินไปตรงแน่ว เป็นจิตออกไป พ้นไป เลิกไปจากเคธะ

( ด้วยวิกขัมภนวิมุติ ) ภิกษุทั้งหลาย คำว่า เคธะ นั้นแลเป็นชื่อแห่ง

กามคุณ ๕ ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ลางพวกในโลกนี้ ทำอนุสสติฌานนี้

ให้เป็นอารมณ์แล้ว ย่อมหมดจดได้อย่างนี้ประการหนึ่ง " ดังนี้เป็นต้น

แม้ในสัมพาโธกาสสูตรที่ท่านมหากัจจานะแสดง ก็กล่าว ( อนุสสติ ๖

นี้ ) โดยเป็นธรรมเครื่องได้ช่องว่าง ( ในที่คับแคบ )เพื่อความเป็นผู้มี

* อง. ฉกฺก. ๒๒/ ๓๔๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 320

ปรมัตถวิสุทธิเป็นธรรมแห่งอริยสาวกนั่นเอง อย่างนี้ว่า " ดูกรอาวุโส

ข้อนี้เป็นอัศจรรย์ ดูกรอาวุโส ข้อนี้ไม่เคยมี มามีแล้ว ซึ่งพระผู้มี

พระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็นผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ตรัสรู้ธรรม

เครื่องได้ช่องว่างในที่คับแคบ เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลายฯลฯ

เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ธรรมเครื่องได้ช่องว่างในที่คับแคบนี้คือ

อะไร คือ อนุสตติฐาน ๖ อนุสสติฐาน ๖ คืออะไรบ้าง ดูกรอาวุโส

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงพระตถาคต ฯลฯ สัตว์ลางพวกใน

โลกนี้... ย่อมเป็นผู้มีวิสุทธิเป็นธรรมอย่างนี้ประการ๑ ๑" ดังนี้เป็นต้น

แม้ในอุโบสถสูตร ก็ตรัส ( อนุสสติ ๖ นี้ ) โดยเป็นกรรมฐานเครื่อง

ชำระจิตของอริยสาวกผู้จำอุโบสถศีลนั่นแล อย่างนี้ว่า " ดูกรวิสาขา

ก็แลอริยอุโบสถเป็นอย่างไร ดูกรวิสาขา การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่อง

แผ้ว ย่อมมีได้ด้วยความพยายาม ก็การทำจิตที่เศร้าหมองให้ผ่องแผ้ว

ย่อมมีได้ด้วยความพยายามอย่างไร ดูกรวิสาขา อริยสาวกในธรรม

วินัยนี้ ย่อมระลึกถึงตถาคต... ๒" ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงแสดงความมีผล

มากแห่งอุโบสถ แม้ในเอกาทสกนิบาต ( อังคุตตรนิกาย ) เมื่อเจ้ามหา-

นามทูลถามว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นอยู่

กันด้วยวิหารธรรมต่างๆ กัน ข้าพระองค์จะพึงอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร "

ดังนี้ ก็ตรัส ( อนุสสติ ๖ นี้ ) เพื่อแสดงวิหารธรรมแห่งอริยสาวกนั่นเอง

อย่างนี้ว่า " ดูกรมหานาม ผู้มีศรัทธาแหละเป็นผู้ทำให้สำเร็จได้ ผู้

ไม่มีศรัทธาหาเป็นผู้ทำให้สำเร็จได้ไม่ ผู้ปรารภความเพียร ผู้มีสติ

๑. อง. ฉกฺก. ๒๒/๓๕๐

๒. อง. ติก. ๒0/ ๒๖๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 321

ตั้งมั่น ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ผู้มีปัญญา เป็นผู้ทำให้สำเร็จได้ ผู้เกียจ-

คร้าน ผู้มีสติหลงลืม ผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ ผู้มีปัญญาทราม หาเป็นผู้

ทำให้สำเร็จได้ไม่ ดูกรมหานาม เธอพึงตั้งอยู่ในธรรม ๕ นี้แล้ว

เจริญธรรม ๖ ต่อไป ( คือ ) ในการเจริญธรรม ๖ นี้ เธอพึงระลึกถึง

ตถาคตว่า " แม้เพราะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น*... " ดังนี้เป็นต้น

[บุถุชนบำเพ็ญก็สำเร็จประโยชน์]

ถึงเป็นอย่างนั้น ( อนุสสติ ๖ นี้ ) แม้ปุถุชนผู้ประกอบด้วยคุณมี

ศีลบริสุทธิ์เป็นต้น ก็ควรมนสิการได้ เพราะว่าแม้ด้วยอำนาจแห่งความ

ระลึก จิตของบุคคลผู้ระลึกถึงคุณของอนุสรณวัตถุมีพระพุทธเจ้าเป็น

อาทิอยู่ย่อม ( เกิดความ ) เลื่อมใสได้แท้ ด้วยอานุภาพแห่งความ

เลื่อมใสไรเล่า พระโยคาพจรเจ้าจะพึงข่มนิวรณ์ทั้งหลายเสียได้แล้ว

เป็นผู้มีปราโมชเหลือล้น เริ่ม ( ทำ ) วิปัสสนาไป ก็ทำให้แจ้ง

ซึ่งพระอรหัตได้เหมือนกันดุจพระปุสสเทวเถระผู้อยู่ ณ กัฏฐอันธการ-

วิหาร

ได้ยินว่า ท่านผู้นั้นได้เห็นพระพุทธรูปที่มารนิรมิตแล้วรำพึงไป

ว่า " มารนี่ ยังมี ราคะ โทสะ โมหะอยู่แท้ๆยัง ( นิรมิตพระพุทธรูป

ได้ ) งามถึงปานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งปราศจากราคะ โทสะ โมหะ

โดยประการทั้งปวงแล้วจะงามปานไหนเล่าหนอ " ดังนี้แล้ว ได้ปีติอัน

มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหันตได้แล

* อง. เอกาทสก.๒๔/๓๕๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 322

ปริจเฉทที่ ๗ ชื่อ ฉอนุสสตินิเทศ

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมชแห่งสาธุชน

ดั่งนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 1

ปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

ภาค ๒

อนุสสติกัมมฐานนิเทส

มรณสติ

บัดนี้ ภาวนานิเทสแห่งมรณสติ (อันท่านจัดไว้) ถัดจาก

เทวตานุสสตินี้ ถึงแล้วโดยลำดับ

ความขาดแห่งชีวิติทรีย์ที่เนื่องอยู่กับภพอันหนึ่ง* ชื่อว่ามรณะ

ในคำว่ามรณสตินั้น ส่วนว่าสมุจเฉทมรณะ กล่าวคือความขาดเด็ดแห่ง

วัฏฏทุกข์ของพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ขณิกมรณะ อันได้แก่ความดับ

ในขณะ ๆ แห่งสังขารทั้งหลายก็ดี สัมมติมรณะ (อันได้) ในคำของ

ชาวโลกว่า ต้นไม้ตาย โลหะตาย เป็นต้นก็ดี นั้นใด มรณะนั้น

ท่านมิได้ประสงค์เอาในคำว่ามรณสตินี้ ส่วนมรณะที่ท่านประสงค์เอา

นั้น มี ๒ อย่าง คือ กาลมรณะ อกาลมรณะ ในมรณะ ๒ อย่าง

นั้น กาลมรณะ ย่อมมีเพราะสิ้นบุญบ้าง เพราะสิ้นอายุบ้าง เพราะ

สิ้นทั้งสองอย่างบ้าง อกาลมรณะ ย่อมมีด้วยอำนาจกรรมอันเข้าไปตัด

(ชนก) กรรม ในมรณะเหล่านั้น มรณะใด แม้เมื่อความถึงพร้อม

* ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น เอกภาว. . . .ผิด ที่ถูกเป็น เอกภว. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 2

แห่งปัจจัยอันเป็นเครื่องยังอายุให้สืบต่อไปยังมีอยู่ แต่ก็มีขึ้นได้ เพราะ

ความที่กรรมอันก่อปฏิสนธิ มีวิบากสุกงอมสิ้นเชิงแล้วนี้ ชื่อว่า มรณะ

เพราะสิ้นบุญ๑ มรณะใดมีขึ้นด้วยอำนาจความสิ้นแห่งอายุ ดังอายุ

อันมีประมาณสก ๑๐๐ ปีของคนทุกวันนี้ เพราะความไม่มีสมบัติ เช่น

คติ กาล และอาหารเป็นต้น นี้ชื่อว่ามรณะเพราะสิ้นอายุ ส่วน

มรณะใดย่อมมีแก่บุคคลทั้งหลายผู้มีปัจจัยเครื่องสืบต่อ (แห่งอายุ) ถูก

กรรมที่สามารถยังสัตว์ให้เคลื่อนจากฐานะ (ที่เป็นอยู่) ได้ทันที เข้า

มาตัดเอา ดุจคนบาปทั้งหลายมีพญาทุสิมาร และพญากลาพุเป็นต้น

ก็ดี แก่บุคคลทั้งหลายผู้มีปัจจัยเครื่องทุสิมาร และพญากลาพุเป็นต้น

ด้วยอุปักกมะ (ความทำร้าย) มีการใช้ศัสตราเป็นต้น ด้วยอำนาจ

แห่งกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนก็ดี๒ มรณะนี้ชื่อว่า อกาลมรณะ มรณะ

ทั้งหมดนั้น (ล้วน) สงเคราะห์เข้าด้วยความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ มี

ประการดังกล่าวแล้ว ความระลึกถึงความตาย กล่าวคือความขาดแห่ง

ชีวิตินทรีย์ ดังกล่าวมานี้แล ชื่อมรณสติ

[วิธีเจริญมรณสติ]

พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญมรณสตินั้น พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ

๑. มหาฎีกาว่า มรณะเพราะสิ้นบุญนี้ ท่านกล่าวสำหรับสมบัติภพ คือภพดี ถ้ากล่าวสำหรับวิบัติภพ

คือภพเลว ก็ต้องว่า มรณะเพราะสิ้นบาป หมายความว่าสิ้นบุญตายก็มี สิ้นบาปตายก็มี

๒. นัยแรกหมายถึงกรรมหนักที่ทำในปัจจุบัน นัยหลังเป็นบุริมกรรม แต่ก็นับเป็นอุปัจเฉทกรรม

ทั้งคู่ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 3

(คน) เร้นอยู่ (ในเสนาสนะอันสมควร) แล้วยังมนสิการให้เป็นไป

โดยแยบคายว่า "มรณํ ภวิสฺสติ ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิชฺชิสฺสติ

ความตายจักมี ชีวิตินทรีย์จักขาด" ดังนี้ หรือว่า "มรณํ มรณํ

ตาย ตาย" ดังนี้ก็ได้ เพราะเมื่อยังมนสิการให้เป็นไปโดยไม่แยบคาย

ความโศกจะเกิดขึ้นในเพราะไประลึกถึงความตายของอิฏฐชน (คนรัก)

เข้า ดุจความโศกเกิดแก่มารดาผู้ให้กำเนิดในเพราะไประลึกถึงความ

ตายของบุตรที่รักเข้าฉะนั้น ความปราโมชจะเกิดขึ้น ในเพราะระลึกถึง

ความตายของอนิฏฐชน (คนเกลียด) ดุจความบันเทิงใจเกิดขึ้นแก่คน

ที่มีเวรกันทั้งหลาย ในเพราะระลึกถึงความตายของเวรีชน (คนเป็น

เวรกัน) ฉะนั้น ความสังเวชจะไม่เกิดขึ้นในเพราะระลึกถึงความตาย

ของมัชฌัตตชน (คนที่เป็นกลาง ๆ) ดุจความสลดใจไม่เกิดขึ้นแก่

สัปเหร่อ ในเพราะเห็นซากคนตายฉะนั้น ความสะดุ้งกลัว เกิดขึ้นแก่

คนชาติขลาด เพราะเห็นเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบ (จะฟันเอา) ฉะนั้น

ความเกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นต้นนั้นทั้งหมดนั่น ย่อมมีแก่บุคคลผู้ไร้

สติ และสังเวคะ และญาณ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงดูสัตว์

ที่ถูกฆ่าและที่ตาย (เอง) ในที่นั้น ๆ แล้วคำนึงถึงความตายของพวก

สัตว์ที่ตายซึ่ง (มัน) มีสมบัติ (คือความพร้อมมูลต่าง ๆ) ที่ตนเคย

เห็นมา ประกอบสติ และสังเวคะ และญาณเข้า ยังมนสิการให้เป็น

ไปโดยนัยว่า "มรณํ ภวิสฺสติ ความตายจักมี" ดังนี้ เป็นต้นเถิด

ด้วยว่า เมื่อ (ยังมนสิการ) ให้เป็นไปอย่างนั้น จัดว่าให้เป็นไปโดย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 4

แยบคาย หมายความว่าให้เป็นไปโดยอุบาย (คือถูกทาง) จริงอยู่

สำหรับพระโยคาวจรลางท่าน (ที่อินทรีย์กล้า) ยังมนสิการให้เป็นไป

อย่างนั้นเท่านั้นแหละ นีวรณ์ทั้งหลายจะรำงับลง สติอันมีความตาย

เป็นอารมณ์จะตั้งมั่น กรรมฐานถึงอุปจารทีเดียวก็เป็นได้

[ผู้อินทรีย์อ่อนพึงระลึกโดยอาการ ๘]

แต่สำหรับพระโยคาวจรผู้ใด ด้วยมนสิการเพียงเท่านี้ กรรมฐาน

ยังไม่เป็น (อย่างนั้น) พระโยคาวจรผู้นั้น พึงระลึกถึงความตายโดย

อาการ ๘ นี้ คือ

วธกปจฺจุปฏฺบานโต โดยปรากฏดุจเพชฌฆาต

สมฺปตฺติวิปตฺติโต โดยวิบัติแห่งสมบัติ

อุปสํหรณโต โดยเปรียบเทียบ

กายพหุสาธารณโต โดยร่างกายเป็นสาธารณแก่สัตว์

และปัจจัยแห่งความตายมากชนิด

อายุทุพฺพลโต โดยอายุเป็นของอ่อนแอ

อนิมิตฺตโต โดยชีวิตไม่มีนิมิต

อทฺธานปริจฺเฉทโต โดยชีวิตมีกำหนดกาล

ขณปริตฺตโต โดยชีวิตมีขณะสั้น

[อธิบายอาการที่ ๑ - วธกปจฺจุปฏฺฐานโต]

ใน ๘ บทนั้น บทว่า วธกปจฺจุปฏฺฐานโต แปลว่าโดยปรากฏ

(แห่งความตาย) ดุจเพชฌฆาต ความว่า พระโยคาวจรพึงระลึกว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 5

เพชฌฆาตคิดว่าจักตัดศีรษะคนผู้นี้ ถือดาบจ่อที่คอ ยืนประชิดตัวอยู่

ฉันใด แม้ความตายก็ปรากฏฉันนั้นเหมือนกัน ถามว่า เพราะอะไร

ตอบว่า เพราะมันมาพร้อมกับความเกิด และเพราะมันคร่าเอาชีวิตไป

อุปมาเหมือนดอกเห็ด* ย่อมพาเอาฝุ่นติดตัวขึ้นมาด้วยฉันใด สัตว์

ทั้งหลายก็พาเอาความแก่และความตายเกิดมาด้วยฉันนั้น จริงอย่างนั้น

ปฏิสนธิจิตของสัตว์เหล่านั้นก็ถึงซึ่งความแก่ในลำดับแห่งความเกิดขึ้น

นั้นเอง แล้วก็แตก (ดับ) ไปพร้อมกับสัมปยุตขันธ์ทั้งหลาย ดังศิลา

ตกจากยอดเขาแตกไปฉะนั้น (นี่ว่าด้วย) ขณิกมรณะมาพร้อมกับความ

เกิดก่อน แต่แม้มรณะที่ท่านประสงค์เอาในมรณสตินี้ ก็จัดว่ามาพร้อม

กับความเกิด เพราะความที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว ต้องตายเป็นแน่ เพราะ

เหตุนั้น อันว่าสัตว์นั่น จำเดิมแก่กาลที่เกิดแล้วก็บ่ายหน้าสู่ความตาย

ไปไม่กลับเลยแม้สักน้อยเดียว เปรียบดั่งดวงสุริยะที่ขึ้นแล้ว ย่อมบ่าย

หน้าสู่ความตกไปท่าเดียว มิได้กลับแต่ที่ ๆ ไป ๆ แล้วแม้สักหน่อย

หนึ่ง หรือมิฉะนั้น เหมือนลำธารที่ไหลลงจากภูเขา มีกระแสเชี่ยว

พัดพาเอาสิ่งที่มันจะพาไปได้ไหลรุดไปท่าเดียว มิได้ (ไหล) กลับ

แม้สักนิดฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระอโยฆรกุมารโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า

* ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคเป็น อหิจฺฉตฺตกํ มกุลํ แต่ในมหาฎีกาเป็น อหิจฺฉตฺตกมกุลํ เห็น

ว่าปาฐะหลังนี้เข้าทีกว่า เพราะถ้าแยกอย่างปาฐะแรกจะต้องแปลว่า "เห็ดตูม" ไม่เข้ากับความ

ในประโยค ซึ่งมิได้มุ่งจะพูดถึงเห็ดตูมเห็ดบาน แต่มุ่งจะพูดถึงเห็ดที่ขึ้นจากดิน พาเอาดินติดหัว

ขึ้นมาด้วย จึงเหมาะที่จะเป็น อหิจฺฉตฺตกมกุลํ ซึ่งแปลได้ว่า "ดอกเห็ด" ขึ้นชื่อว่าดอกเห็ดแร

ขึ้นจากดิน มันก็ตูมก่อนทั้งนั้น แล้วจึงได้บานภายหลัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 6

"สัตว์เผ่ามนุษย์ (เข้า) อยู่ในครรภ์ ในตอน

กลางคืน ๆ หนึ่ง ในขณะแรก (ปฏิสนธิ)

ใด (จำเดิมแต่ขณะแรกนั้นไป) สัตว์ผู้ผุดเกิด

เป็นตัวแล้วก็บ่ายหน้าไปทีเดียว เขาไปเรื่อย ไม่

กลับ"๑ ดังนี้

อนึ่ง เมื่อสัตว์นั้น (บ่ายหน้า) ไปอยู่อย่างนั้น ความตายย่อม

ใกล้เข้ามาทุกที ดุจความแห้งไปแห่ง (น้ำใน) ลำน้ำน้อยทั้งหลาย

ที่ถูกแดดในฤดูร้อนแผดเผา ดุจความหล่นแห่งผลไม้ทั้งหลายที่มีขั้วอัน

รสอาโปซาบแล้ว๒ ในตอนเช้า ดุจความแตกแห่งภาชนะดินทั้งหลายที่สุด

ทุบด้วยก้อน และดุจความเหือดหายไปแห่งหยาดน้ำค้างทั้งหลายที่รัศมี

ดวงอาทิตย์ต้องเอาฉะนั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส ( ๓

คาถาแรก และพระโพธิสัตว์กล่าวคาถาที่ ๔) ว่า

วันและคืนล่วงไป ชีวิตใกล้ดับเข้าไป อายุของ

สัตว์ทั้งหลาย (ค่อย) สินไป ดังนี้แห่งลำน้ำน้อย

(ค่อย) แห้งไปฉะนั้น

ภัยแต่ความตาย ย่อมมีเป็นเที่ยงแท้แก่สัตว์

ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้ว ดุจภัยแต่ความหล่นในเวลา

เช้า ย่อมมีแก่ผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้วฉะนั้น

เหมือนอย่างภาชนะดินที่ช่างหม้อทำขึ้นแล้ว ทั้ง

๑. ขุ. ชา. วีสติ. ๒๗/๔๖๙

๒. น่าจะว่าอันรสอาโปซาบไม่ถึง ถ้าเช่นนั้น ปาฐะก็ควรจะเป็นว่า อาโปรสานนุคต. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 7

เล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ล้วนมีความแตกเป็นที่สุด

ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น

น้ำค้างที่ยอดหญ้า เพราะดวงอาทิตย์ขึ้นมา๑ ก็

เหือดไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็เป็น

ฉันนั้น ข้าแต่แม่ ขอแม่อย่าห้ามข้า ฯ (บวช) เลย๒"

ดังนี้

มรณะมาพร้อมกับชาติดุจเพชฌฆาตที่เงื้อดาบอยู่ฉะนี้ อนึ่งมรณะ

นี้นั้นย่อมคร่าเอาชีวิตไปท่าเดียว ครั้นคร่าเอาไปแล้วก็มิได้ (ปล่อย)

ให้กลับ ดุจเพชฌฆาตนั้นจ่อดาบที่คอ (จะฟันลงเป็นแน่) ฉะนั้น

เพราะเหตุนั้น มรณะจึงชื่อว่าปรากฏดุจเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบ เพราะมา

พร้อมกับชาติ และเพราะคร่าเอาชีวิตไปด้วยประการหนึ่ง ดังนี้แล

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตาย โดยอาการปรากฏดุจเพชฌฆาต

ดังกล่าวมาฉะนี้

[อธิบายอาการที่ ๒ - สมฺปตฺติวิปตฺติโต]

บทว่า สมฺปตฺติวิปตฺติโต (โดยวิบัติแห่งสมบัติ) มีอธิบายว่า

อันสมบัติในโลกนี้จะงดงามอยู่ได้ก็ชั่วเวลาที่วิบัติยังไม่ครอบงำ และขึ้น

ชื่อว่าสมบัติที่จะล่วงพ้นวิบัติรอดอยู่ได้ หามีไม่ จริงอย่างนั้น

๑. อุคฺคมนํ มหาฎีกาแก้เป็น อุคฺคมนนิมิตฺตํ

๒. คาถานี้เป็นคาถาเก็บผสม คือคาถาที่ ๑-อจฺจยนฺติ ฯ ป ฯ โอทกํ อยู่ใน สํ. ส. ๑๕/๑๕๙

คาถาที่ ๒ ผลานมิว ฯ เป ฯ มรณโต ภยํ อยู่ใน ขุ. สุ. ๒๕/๔๔๗ คาถาที่ ๓ ยถา

หิ ฯ เป ฯ ชีวิตํ อยู่ใน ที. มหา. ๑๐/๑๔๑ คาถาที่ ๔ อุสฺสาโวว ฯเปฯ นิวารย อยู่ใน

ขุ. ชา. เอกาทสก. ๒๗/๓๑๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 8

แม้พระเจ้าโศกผู้ทรงมีสุข ได้ครอบครองแผ่นดิน

สิ้น (ชมพูทวีป) จ่ายพระราชทรัพย์ (วันละ)

๑๐๐ โกฏิ ในบั้นปลาย (แห่งพระชนมชีพ)

ได้ทรงครองความเป็นใหญ่ต่อมะขามป้อมครึ่งผล

เท่านั้น ด้วยทั้งเรือนร่าง (ของมหาราช) นั้นแหละ

ครั้นบุญมาสิ้นไป พระองค์ก็บ่ายพระพักตร์ต่อ

มรณะ ถึงซึ่งภาวะอันน่าเศร้าไปฉะนี้

อีกนัยหนึ่ง ความไม่มีดรคแม้ทั้งปวง ย่อมมีความเจ็บไข้เป็น

ปริโยสาน ความเป็นหนุ่มทั้งปวงมีความเป็นปริโยสาน ความเป็นอยู่

ทั้งปวงมีความตายเป็นปริโยสาน โลกสันนิวาสทั้งปวงทีเดียว ถูกชาติ

ติดตาม ถูกชราไล่ตาม ถูกพยาธิครอบงำ ถูมรณะทำลายล้าง

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ภูเขาหินใหญ่ (สูง) จดฟ้า กลิ้งบด (สัตว์)

มาทั้งสี่ทิศโดยรอบ (ไม่เว้นใคร) ฉันใดก็ดี

ความแก่และความตาย ก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำสัตว์

ทั้งหลาย คือพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวก

แพศย์ พวกศูทร พวกจัณฑาล และปุกกุสะ

(กรรมกรเทขยะ) ไม่เว้นใคร ๆ บดขยี้หมดทั้งนั้น

ในความแก่และความตายนั้น (ชัย) ภูมิสำหรับ

พลช้างไม่มี สำหรับพลม้าก็ไม่มี สำหรับพลรถก็

ไม่มี สำหรับพลราบก็ไม่มี และทั้งใคร ๆ ไม่อาจ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 9

เอาชนะได้ด้วยมันตยุทธ (การรบด้วยใช้เวทมนต์)

หรือด้วยทรัพย์ (สินบน)

วิบัติคือมรณะ เป็นปริโยสานแห่งสมบัติคือชีวิต โดยนัยดังกล่าว

มาฉะนี้ พระโยคาวจรพึงเป็นผู้กำหนดความที่ชีวิตมีมรณะเป็นปริโยสาน

นั้น ระลึกถึงความตาย โดยอาการวิบัติแห่งสมบัติเทอญ

[อธิบายอาการที่ ๓ - อุปสํหรณโต]

บทว่า อุปสํหรณโต คือโดย (นึก) เปรียบเทียบตนกับคนอื่น ๆ

(ที่ตายแล้ว) ในข้อนั้นมีอธิบายว่า พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตาย

โดยเปรียบเทียบด้วยอาการ ๗ คือ

ยสมหตฺตโต โดยความมียศใหญ่

ปุญฺญมหตฺตโต โดยความมีบุญมาก

ถามมหตฺตโต โดยความมีเรี่ยวแรงมาก

อิทฺธิมหตฺตโต โดยความมีฤทธิ์มาก

ปญฺญามหตฺตโต โดยความมีปัญญามาก

ปจฺเจกพุทธฺโต โดยความเป็นพระปัจเจกพุทธะ

สมฺมาสมฺพุทธโต โดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ

[ยสมหตฺตโต]

ถามว่า (พึงระลึกโดยความมียศใหญ่) อย่างไร ?

แก้ว่า พึงระลึกโดยความมียศใหญ่อย่างนี้ว่า "อันความตายนี้ได้

ตกต้องผองท่านผู้มียศใหญ่ (คือ) ผู้มีบริวารมาก มีทรัพย์และพาหนะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 10

พร้อมพรั่ง แม้กระทั้งพระเจ้ามหาสมมต พระเจ้ามันธาตุ พระเจ้า-

มหาสุทัสสนะ และพระเจ้าทัฬหเนมิ มาแล้วไม่แคล้วได้ ก็เหตุไฉน

มันจักไม่ตกต้องตัวเราเล่า

ท่านผู้มียศใหญ่ทั้งหลาย แม้เป็นท้าวพญาผู้

ประเสริฐเช่นพระเจ้ามหาสมมต ท่านยัง

ประสพอำนาจจมฤตยู กล่าวอะไรใจคนทั้งหลาย

เช่นเราเล่า*

ดังนี้เป็นประการแรก

[ปุญฺญมหตฺตโต]

(พึงระลึก) โดยความมีบุญมากอย่างไร ? พึงระลึกโดยความมี

บุญมากอย่างนี้ว่า

เศรษฐีเหล่านี้คือ โชติยะ ชฏิละ อุคคะ

เมณฑกะ ปุณณกะ และคนอื่น ๆ ที่ปรากฏว่า

เป็นผู้มีบุญมากในโลก ยังถึงซึ่งความตายไป

สิ้น กล่าวอะไรในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า

[ถามมหตฺตโต]

(พึงระลึก) โดยความมีเรี่ยวแรงมากอย่างไร ? พึงระลึกโดย

* เข้าใจว่า ตั้งแต่ อิทํ มรณํ นาม จนถึง ยสมหตฺตโต อนฺสสริตพฺพํ เป็นประโยคเดียวกัน

คือเป็นประโยควิสัชนา อิติ ท้ายคาถานั้นสรุปเข้าใน เอวํ ดังนี้แปลไว้นั้น แม้ในข้อต่อ ๆ ไป

ก็เช่นกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 11

ความมีเรี่ยวแรงมากอย่างนี้ว่า

พระวาสุเทพ พระพลเทพ พระภีมเสน

พระยุธิฏฐิละ แม้หนุระ นักมวยปล้ำใหญ่ ก็

(ตก) ไปสู่อำนาจของความตาย (สิ้น) แล้ว

แต่บุคคลเหล่านั้นผู้เลื่องชื่อในโลกว่า เป็นคน

มีกำลังเรี่ยวแรงอย่างนี้ ก็ยังถึงซึ่งความตาย

กล่าวอะไรในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า

[อิทฺธิมหตฺตโต]

(พึงระลึก) โดยความมีฤทธิ์มากอย่างไร ? พึงระลึกโดยความ

มีฤทธิ์มากอย่างนี้ว่า

พระอัครสาวกที่ ๒ ใด ผู้ได้ชื่อว่า (มีฤทธิ์)

ประเสริฐสุดแห่งผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย (สามารถ)

ยังไพชยนต์ (เทพปราสาท) ให้ไหวได้ ด้วย

อวัยวะเพียงนิ้วแม่เท้า แม้พระอัครสาวกที่ ๒

นั้นก็ยัง (ตก) เข้าสู่ปากของมฤตยูอันน่าสะพึง

กลัวไปพร้อมกับฤทธิ์ทิ้งหลาย (ของท่าน) ดั่ง

มฤคเข้าปากสีหะ กล่าวอะไรในความทั้งหลาย

เช่นเราเล่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 12

[ปญฺญามาหตฺตโต]

(พึงระลึก) โดยความมีปัญญามากอย่างไร ? พึงระลึกโดยความ

มีปัญญามากอย่างนี้ว่า

ยกเว้พระโลกนาถเจ้าแล้ว ก็สัตว์ทั้งหลาย

อื่นใดมีอยู่ สัตว์เหล่านั้น (ว่า) โดยปัญญา

ย่อม (มีค่า) ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระ

สารีบุตร๑ พระอัครสาวกที่ ๑ ได้ชื่อว่ามีปัญญา

มากอย่างนี้ ยังถึงซึ่งอำนาจของความตาย กล่าว

อะไรคนทั้งหลายเช่นเราเล่า

[ปจฺเจกพุทฺธโต]

(พึงระลึก) โดยความเป็นพระปัจเจกพุทธะอย่างไร ? พึงระลึก

โดยความเป็นพระปัจเจกพุทธะอย่างนี้ว่า แม้พุทธบุคคลทั้งหลายเหล่า-

นั้นใด ทำความย่ำยีเสียซึ่งศัตรูคือสรรพกิเลส ด้วยพละคือญาณและ

วิริยะ๒ของตน ๆ (จน) ได้บรรลุปัจเจกสัมโพธิเป็นพระสยัมภู (มี

จริยา) เยี่ยงนอแรด แม้พุทธบุคคลเหล่านั้น ก็มิได้พ้นความตาย ก็ที่ไหน

๑. นาคฺฆนฺติ ในที่นี้เป็นกิริยาของสัตว์ดังที่แปลไว้ แต่ในมหาฎีกาลิขิตไว้เป็น นาคฺฆติ แสดงว่า

เป็นกิริยาของปัญญา และแนะให้แปลว่า ปัญญาของสัตว์เหล่านั้น มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง

ปัญญาของท่านสารีบุตร

๒. ญาณ ได้แก่สัมมาทิฏฐิ วิริยะ ได้แก่สัมมาวายามะ ท่านว่าเมื่อองค์ทั้งสองนี้สำเร็จแล้ว

อริยมรรคย่อมเป็นอันสำเร็จพร้อมทั้ง ๘ องค์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 13

ตัวเราจักพ้นเล่า๑

พระมหาฤษีเหล่าใดอาศัย (จับเอา) นิมิต

นั้น ๆ มาพิจารณาสอบสวนไป๒ (จน) ได้

บรรลุอาสวักขัยด้วย (ลำพัง) ญาณอันกล้า

(ของตน) เป็นพระสยัมภูเปรียบเสมอด้วย

นอแรด เพราะเที่ยวไปและพักอยู่ผู้เดียว แม้

พระมหาฤษีเหล่านั้น ก็หาล่วงความตายไปได้

ไม่ กล่าวอะไรในคนทั้งหลายเช่นเราเล่า

[สมฺมาสมฺพุทฺธโต]

(พึงระลึก) โดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะอย่างไร ? พึง

ระลึกโดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะอย่างนี้ว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า

นั้นใด มีพระรูปกายวิจิตรไปด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ มีอนุพยัญชนะ

๘๐ ประการประดับ มีพระธรรมกายสัมฤทธิ์ด้วยพระคุณรัตนะ มี

สัลขันธ์อันบริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวงเป็นอาทิ ทรงถึงฝั่ง (คือชั้นยอด)

แห่งความมียศใหญ่ ความมีบุญมาก ความมีกำลังมาก ความมีฤทธิ์

มาก และความมีปัญญามาก หาผู้เสมอมิได้ ทรงเสมอกับผู้ที่ไม่มี

๑. อิติศัพท์ที มุญฺจิสฺสามิ น่าจะเกิน เทียบกับประโยคข้างต้นที่แก้ ยสมหตฺตโต ซึ่งดำเนินความ

นัยเดียวกัน น ปติสฺสตริ ก็ไม่มี อิติ

๒. หมายความว่า พระปัจเจกพุทธะนั้น เกิดนอกพุทธกาล ไม่ได้ฟังธรรมพุทธโอวาทและคำสอน

ใครอื่นเลย แต่เพราะมีบารมีญาณแก่กล้าควรจะตรัสรู้ได้ ได้เห็นอะไรก็เก็บเอามาเป็นนิมิต พิจารณา

สอบสวนทบทวนไปจนเกิดยถาภูตญาณทัสสนะปหานกิเลสได้

มหาฎีกาให้ตัวอย่างนิมิตที่พระปัจเจกพุทธจับมาคิดว่า เช่นเห็นความกระทบเสียดสีกันแห่ง

กำไลมือที่สวมไว้หลาย ๆ อัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 14

ใครเสมอ หาผู้เปรียบมิได้ หาคนเทียบมิได้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้

เองโดยชอบ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ยังทรงรำงับ (ดับขันธ์)

ไปโดยพลัน๑ ด้วยหยาดฝนมรณะ ดุจกอบไฟใหญ่มอดไปด้วยหยาดฝน

น้ำฉะนั้น

อันความตายนั้นใด (มัน) แผ่อำนาจมาถึงองค์

พระมหาฤษีเจ้าผู้ทรงอานุภาพใหญ่อย่างนี้ได้

โดยไม่กลัวโดยไม่อาย๒ ไฉนเจ้าความตายนี้นั้น

ซึ่งไร้ความอายปราศจากความกลัว มุ่งแต่จะ

ย่ำยีสัตว์ทุกถ้วนหน้า จักไม่ (มา) ครอบงำ

เอาสัตว์เช่นเราเข้าเล่า

เมื่อพระโยคาวจรนั้น เปรียบเทียบตนกับคนอื่น ๆ ผู้ถึงพร้อม

ด้วยความใหญ่มีความเป็นผู้มียศใหญ่เป็นต้น โดยภาวะ คือความมี

มรณะเสมอกันอย่างนี้แล้ว ระลึกไปว่า "ความตายจะต้องมีแต่เราบ้าง

ดุจมีแก่สัตว์วิเศษทั้งหลายเหล่านั้น" ดังนี้ กรรมฐานจะถึงอุปจารแล

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยเปรียบเทียบ ด้วยประการฉะนี้

๑. ฐานโส มหาฎีกาแก้เป็น ตํขเณเยว แม้ในวิสุทธิมรรคภาค ๒ นี้ หน้า ๔๕ ศัพท์ฐานโส

อนฺตรธาเปติ ท่านก็ไขไว้ว่า ขเณเนว อนฺตรธาเปติ ทำให้นึกไปถึง ฐานโส ในคำอนุโมทนา

ทักษิณานุปทาน คืน ทีฆรตฺตํ หิตายสฺส ฐานโส อุปกปฺปติ ซึ่งแปลทับศัพท์กันว่า 'โดยฐานะ'

ไม่เข้าใจมานานแล้วนั้น ก็น่าจะแปลว่า "โดยพลัน โดยทันที" แบบเดียวกันนี่เอง เป็นอัน

พ้นแก่งไปที

๒. ปาฐะ มรณวสมาคตํ ตัดบทว่า มรณวสํ อาคตํ ถ้าแปลว่า "มาสู่อำนาจความตาย" ก็ต้อง

หากัตตาว่า ใครมา ซึ่งในคาถานั้นไม่มีศัพท์ที่จะเป็นกัตตาได้ ถ้าแปลว่า "อำนาจความตายมา-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 15

[อธิบายอาการที่ ๔ - กายพหุสาธารณโต]

บทว่า กายพหุสาธารณโต มีอธิบายว่า กายนี้เป็นสาธารณแก่

สัตว์มากชนิด คือประการแรกก็เป็นสาธารณแก่เหล่ากิมิชาติ ๘๐ จำพวก

ในกิมิชาติเหล่านั้น จำพวกที่เป็นสัตว์อาศัยผิวหนัง ก็กัดกินผิงหนัง

จำพวกที่อาศัยหนังก็กัดกินหนัง จำพวกที่อาศัยเนื้อก็กัดกินเนื้อ จำพวก

ที่อาศัยเอ็นก็กัดกินเอ็น จำพวกที่อาศัยกระดูกก็กัดกินกระดูก จำพวกที่

อาศัยเยื่อ (ในกระดูก) ก็กัดกินเยื่อ มันเกิด แก่ ตาย ถ่ายอุจจาระ

ปัสสาวะอยู่ในนั้นเอง และร่างกายก็ (นับว่า) เป็นเรือนคลอดด้วย

เป็นโรงพยาบาลด้วย เป็นสุสานด้วย เป็นส้วมด้วย เป็นรางปัสสาวะ

ด้วย ของพวกมัน อันว่าร่างกายนี้นั้น เพราะความกำเริบแห่งกิมิชาติ

แม้เหล่านั้น ก็ถึงซึ่งความตายได้ประการหนึ่งเป็นแท้

อนึ่ง กายนี้เป็นสาธารณแก่เหล่ากิมิชาติ ๘๐ จำพวก ฉันใด ก็

ย่อมเป็นสาธารณแก่ปัจจัยแห่งความตาย ทั้งที่เป็นภายใน ได้แก่โรค

หลายร้อยอย่างทีเดียว ทั้งที่เป็นภายนอก ได้แก่สัตว์มีพิษ เช่นงูและ

แมลงป่อง ฉันนั้น อุปมาดังอาวุธทั้งหลายมีลูกศร หอกแทง หอกซัด

และก้อนหินเป็นต้น อัน ( บุคคลซัด ) มาแต่ทิศทั้งปวง (ประเด)

ถึง" พอไปได้ แต่เข้ากับ น ภเยน น ลชฺชาย ไม่สนิท เพราะถ้าพูดว่า "ความตายนั้นมัน

ไม่กลัวใคร ไม่อายใคร" อย่างนี้ฟังได้สนิท แต่ถ้าพูดว่า "อำนาจความตายไม่อายไม่กลัวใคร"

ฟังอย่างไรอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า ปาฐะตรงนี้เป็น มรณํ วสมาคตํ พิจารณาดูในมหาฎีกา ก็

เข้าใจว่าจะเปน็ อย่างนั้น เพราะท่านยก วสมาคตํ มาแก้ว่า "วสมาคตํ อนุรูปคมนวเสนาติ

อธิปฺปาโย แต่ครั้นฟังอธิบายของท่านแล้ว ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ปาฐะ ถ้าเป็น มรณํ สมาคตํ ก็จะ

แปลได้ความง่ายดีดอกกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 16

ตกลงที่เป้า อันเขาตั้งไว้ ณ สี่แยกถนนใหญ่ ฉันใด แม้อุปัทวะทั้งปวง

ก็ (ประดัง) ตกลงมาที่ร่างกาย ฉันนั้น อันว่าร่างกายนี้นั้น เพราะ

ความ (ประดัง) ตกลงแห่งอุปัทวะเหล่านั้น ก็ถึงซึ่งความตายได้

ประการหนึ่งเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้

ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ครั้นกลางวันผ่านไป

แล้ว กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า "ปัจจัยแห่ง

ความตายของเรามีมากนะ คืองูพึงขบเอาเราก็ได้ แมลงป่องพึงตอด

เอาเราก็ได้ จะขาบพึงกัดเอาเราก็ได้ เพราะปัจจัยมีงูขบเป็นต้นนั้น

กาลกิริยาพึงมีแก่เราได้ ภาวะคือกาลกิริยานั้น พึงเป็นอันตรายแก่เรา

(อนึ่ง) เราพึงพลาดตก (เหว ? ) ก็ได้ ภัตรที่เรากินแล้วพึงเกิดเป็น

พิษก็ได้ น้ำดีของเราพึงกำเริบก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลม

สัตถกะ (ตัดความสืบต่อแห่งชีวิต) ของเราพึงกำเริบก็ได้ เพราะ

ปัจจัยมีพลาดตก (เหว) เป็นต้นนั้น กาลกิริยาพึงมีแก่เราได้ ภาวะ

คือกาลกิริยานั้น พึงเป็นอันตรายแก่เรา"๑ ดังนี้ พระโยคาวจรพึง

ระลึกถึงความตาย โดยร่างกายเป็นสาธารณแก่สัตว์และปัจจัยแห่งความ

ตายมากชนิด โดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้

[อธิบายอาการที่ ๕ - อายุทุพฺพลโต]

บทว่า อายุทุพพลโต อธิบายว่า อันอายุนั้นไม่แข็งแรงอ่อนแอ๒

๑. องฺ. อฏฐก. ๒๔/๓๓๑

๒. ตรงนี้ปาฐะในวิสุทธิมรรคว่า อายุ นาเมตํ อพลํ ทุพฺพลํ น่าจะเรียง ทฺพฺพลํ ไว้หน้า อพลํ

เพราะทุพฺพล เป็นศัพท์มีในบทตั้ง (อายุทุพฺพลโต) อพลเป็นบทไข หมายความว่า ทุ. อุปสัค

ในที่เช่นนี้เป็น ภาวฏฺฐ - มีอรรถว่า "ไม่มี" เช่นเดียวกับ ทุ. ในบท ทุสฺสีโล ทุปฺปฐฺโญ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 17

จริงอย่างนั้น ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายผูกพันอยู่กับลมหายใจเข้าออก ๑

ผูกพันอยู่กับอิริยาบถ ๑ ผูกพันอยู่กับความเย็นความร้อน ๑ ผูกพัน

อยู่กับมหาภูต ๑ ผูกพันอยู่กับอาหาร ๑

ชีวิตนี้นั้น ได้ความเป็นไปสม่ำเสมอแห่งลมหายใจเข้ และ

ลมหายใจออกอยู่เท่านั้น จึงเป็นไปได้ แต่เมื่อลมหายใจที่ออกไป

ข้างนอกแล้วไม่เข้าข้างในก็ดี ที่เข้าไปแล้วไม่ออกก็ดี บุคคลก็ได้ชื่อว่า

ตาย

อนึ่ง ชีวิตนั้นได้ความเป็นไปสม่ำเสมอแห่งอิริยาบถ ๔ อยู่

เท่านั้นจึงเป็นไปได้ แต่เพราะอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งเกินประมาณ

ไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อายุสังขารย่อมขาด

อนึ่ง ชีวิตนั้นได้ความเป็นไปพอสมควรแห่งความเย็นและความ

ร้อนเท่านั้นจึงเป็นไปได้ แต่เมื่อบุคคลถูกความเย็นเกินก็ดี ความร้อน

เกินก็ดี ครอบงำเอา ย่อมวิบัติไป

อนึ่ง ชีวิตนั้นได้ความเป็นไปสม่ำเสมอแห่งมหาภูต (คือธาตุ ๔)

ทั้งหลายเท่านั้นจึงเป็นไปได้ แต่เพราะปฐวีธาตุ หรือธาตุที่เหลือ

มีอาโปธาตุเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งกำเริบไป บุคคลแม้สมบูรณ์

ด้วยกำลัง ก็ (กลาย) เป็นคนมีกายแข็งกระด้างไปบ้าง มีกายเน่า

เหม็นเปรอะเปื้อนด้วยอำนาจแห่งโรคอติสาร (ลงแดง) เป็นต้นบ้า

มีอาการร้อนหนักไปหน้า (คือร้อนไม่ลด) บ้าง ข้อและเส้นขาดไป

บ้าง ถึงสิ้นชีวิต

อนึ่ง เมื่อบุคคลได้กวฬิงการาหารในกาลอันควรเท่านั้น ชีวิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 18

จึงเป็นไปได้ แต่เมื่อไม่ได้อาหาร มันก็สินกันแล

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตายโดยอายุเป็นของอ่อนแอ โดย

นัยดังกล่าวมาฉะนี้

[อธิบายอาการที่ ๖ - อนิมิตฺตโต]

บทว่า อนิมิตฺตโต คือ โดยไม่มีกำหนด หมายความว่า

โดยไม่มีขีดคั่น จริงอยู่

ธรรม ๕ ประการนี้คือ ชีวิต พยาธิ กาล สถาน

ที่ทอดร่าง และคติ ของสัตว์ทั้งหลายในชีวโลก

ไม่มีนิมิต รู้ไม่ได้

ในธรรม ๕ ประการนั้น อันชีวิตชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มี

กำหนดว่า จะพึงเป็นอยู่เพียงเท่านี้ ไม่เป็นอยู่ต่อแต่นี้ไป (ดังนี้

เป็นต้น) ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลาย ย่อมตายเสียแค่ในกาลที่ยังเป็นกลละก็มี

ในกาลที่ยังเป็นอัมพุทะ เป็นเปสิ เป็นฆนะ อยู่ในครรภ์ได้เดือน ๑

ได้ ๒ เดือน ได้ ๓ เดือน ได้ ๔ เดือน ได้ ๕ เดือน ได้ ๑๐ เดือน

ก็มี ในสมัยที่ออกจากท้องก็มี ต่อนั้นก็ตายภายใน ๑๐๐ ปีก็มี ภายนอก

(คือเกิน) ๑๐๐ ปีก็มีเหมือนกัน

พยาธิเล่า ชื่อว่า ไม่มีนิมิต เพราะไม่มีกำหนดว่า สัตว์ทั้งหลาย

จะตายด้วยพยาธินี้เท่านั้น ไม่ตายด้วยพยาธิอื่น ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลาย

ตายด้วยโรคตาก็มี ด้วยโรคนอกนี้มีโรคหูเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็มี

กาลเล่า ก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า จะต้อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 19

ตายในกาลนี้เท่านั้น ไม่ตายในกาลอื่น ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมตาย

ในตอนเช้าก็มี ในตอนอื่นมีตอนเที่ยงเป็นต้นตอนใดตอนหนึ่งก็มี

สถานที่ทอดร่างเล่า ก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีกำหนดอย่าง

นี้ว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายตาย ร่างจะต้องตกอยู่ที่นี่เท่านั้น ไม่ตกอยู่ที่อื่น

ด้วยว่าร่างของบุคคลทั้งหลายผู้เกิดภายในบ้าน (ไปตาย) ตกอยู่ภาย

นอกบ้านก็มี ร่างของบุคคลทั้งหลายผู้เกิดภายนอกบ้าน (มาตาย)

ตกอยู่ภายในบ้านก็มี โดยนัยเดียวกันนั้น บัณฑิตพึง (พรรณนา) ให้

กว้างไปหลาย ๆ ประการ เป็นต้นว่า ร่างของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดบนบก

(ไปตาย) ตกอยู่ในน้ำ หรือว่าร่างของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในน้ำ (มา

ตาย) ตกอยู่บนบก...

คติเล่า ก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีกำหนดอย่างนี้ว่า อันสัตว์

ผู้จุติจากคตินี้ จะต้อง (ไป) เกิดในคตินี้ ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายผู้จุติจาก

เทวโลก (มา) เกิดในพวกมนุษย์ก็มี ผู้จุติจากมนุษยโลก (ไป) เกิด

ในโลกอื่นมีเทวโลกเป็นต้นที่ใดที่หนึ่งก็มี เพราะอย่างนี้ (สัตว)

โลกจึงหมุนเวียนไปใน ๕ คติ ดุจโคที่เขาเทียมไว้ในยนต์ (คือกาง

เวียน ? ) เดินเวียนอยู่ฉะนั้น

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงความตาย โดยชีวิตไม่มีนิมิต ดังกล่าวมา

ฉะนี้

[อธิบายอาการที่ ๗ - อทฺธานปริจฺเฉทโต]

บทว่า อทฺธานปริจฺเฉทโต อธิบายว่า อัน (ระยะ) กาลแห่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 20

ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายในบัดนี้สั้น ผู้ใดเป็นอยู่ยืน ผู้นั้นก็เป็นอยู่

สัก ๑๐๐ ปี เกินนั้นไปก็มีบ้าง แต่ (เป็นส่วน) น้อย เพราะเหตุนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลาย

นี้น้อย สัมปรายภพ (เล่า) ก็จะต้องไป จึงควรทำกุศล ประพฤติ

พรหมจรรย์ ความไม่ตายแห่งสัตว์ผู้เกิดแล้วหามีไม่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ผู้ใดเป็นอยู่ยืน ผู้นั้นก็เป็นอยู่สัก ๑๐๐ ปี เกินนั้นไปก็มีบ้าง แต่

(เป็นส่วน) น้อย"

[นิคมคาถา]

อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย คนดีพึงดูหมิ่นมันเสีย

พึงประพฤติดังคนที่ศีรษะถูกไฟไหม้เถิด ไม่มีละ

ที่มฤตยูจะไม่มา๑

ตรัสไว้อื่นอีกว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาชื่อ

อรกะ๒" ดังนี้เป็นต้น พระสูตรอันประดับด้วยอุปมา ๗ ข้อทั้งปวง๓

บัณฑิตพึง (นำมากล่าว) ให้พิสดาร

ตรัสไว้อีกสูตรหนึ่งว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาน ภิกษุผู้ที่เจริญมรณสติ

๑. สํ. ส. ๑๕/๑๕๘ ขุ. มหา. ๒๙/๕๑

๒. องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๓๘

๓. อุปมา ๗ ข้อ คือ (๑) เหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า พอต้องแสงอาทิตย์พลันเหือดไป

(๒) เหมือนฟองน้ำในน้ำประเดี๋ยวก็แตก ๆ (๓) เหมือนรอยไม้ขีดน้ำประเดี๋ยวก็หาย (๔) เหมือน

ธารน้ำหลังลงมาจากภูเขา มีแต่ไหลไปท่าเดียว (๕) เหมือนคนแข็งแรงจะบ้วนน้ำลายที่ปลายลิ้น

ก็ถุยออกไปได้ทันที (๖) เหมือนชิ้นเนื้อที่คนวางลงในกะทะเหล็กที่ร้อนจัด ก็ไหม้โดยเร็ว

(๗) เหมือนโคที่เขาจะฆ่า เขาจูงเดินไปก็ใกล้คนฆ่าและใกล้ที่ฆ่าเข้าไปทุกที

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 21

อย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วคืน ๑ กับวัน ๑ (เพราะ-

ฉะนั้น) เรา (รีบ) ทำในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด

ข้อนั้นจะพึงเป็นอุปการะแก่เรามากหนอ*" ดังนี้ก็ดี ภิกษุผู้ที่เจริญ

มรณสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วกลางวัน (เพราะ-

ฉะนั้น) เราพึง (รีบ) ทำในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด

ข้อนั้นจะพึงเป็นอุปการะแก่เรามากหนอ" ดังนี้ก็ดี ภิกษุที่เจริญ

มรณสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วเวลาฉันบิณฑบาต

(อิ่ม) มื้อ ๑ (เพราะฉะนั้น) เราพึง (รีบ) ทำในใจถึงคำสอนของ

พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ข้อนั้นจะพึงเป็นอุปการะแก่เรามากหนอ"

ดังนี้ก็ดี ภิกษุผู้ที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่ว

เวลาเคี้ยว (อาหาร) กลืนลงไปได้ ๔-๕ คำ (เพราะฉะนั้น) เราพึง

(รีบ) ทำในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ข้อนั้นจะพึงเป็น

อุปการะแก่เรามากหนอ" ดังนี้ก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้

เรากล่าวว่ายังเป็นผู้ประมาทอยู่ เจริญมรณสติยังต่อการจะสิ้นอาสวะ

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้ที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึง

เป็นอยู่ได้ชั่วเวลาเคี้ยว (อาหาร) กลืนลงไปได้คำเดียว (เพราะ-

ฉะนั้น) เราพึง (รีบ) ทำในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด

ข้อนั้นจะพึงเป็นอุปการะแก่เรามากหนอ" ดังนี้ก็ดี ภิกษุผู้ที่เจริญ

มรณสติอย่างนี้ว่า "โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะหายใจเข้าแล้ว

หายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า (เพราะฉะนั้น) เราพึง

* พหุํ กตํ มีความหมายเท่า พหุการํ (มีอุปการะมาก)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 22

(รีบ) ทำในใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ข้อนั้นจะพึงเป็น

อุปการะแก่เรามากหนอ" ดังนี้ก็ดี ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรา

กล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ เจริญมรณสติเฉียบพลันที่จะสิ้นอาสวะ"

(ระยะ) กาลแห่งชีวิตสั้น (จน) ไม่น่าวางใจ ชั่วขณะเคี้ยว

(อาหารกลืนลงไป) ๔-๕ คำ ดังนี้แล พระโยคาวจรพึงระลึกถึง

ความตาย โดยชีวิตมีกาลกำหนด โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

[อธิบายอาการที่ ๘ - ขณปริตฺตโต]

บทว่า ขณปริตฺตโต ความว่า ว่าโดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิต

ของสัตว์ทั้งหลายสั้นเต็มที ชั่วความเป็นไปแห่งจิตดวงหนึ่งเท่านั้นเอง

อุปมาดังล้อรถ แม้เมื่อหมุนไป ก็หมุนด้วยชิ้นส่วนที่เป็นกงอันเดียว

นั้นแล เมื่อหยดเล่า ก็หยุดด้วยชิ้นส่วนที่เป็นกงอันเดียวกันนั่นแหละ

ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่เป็นไปชั่วขณะจิตเดียวฉันนั้น

เหมือนกัน พอจิตดวงนั้นดับ สัตว์ก็ได้ชื่อว่าดับ (คือตาย) ดังพระ

บาลีว่า ในขณะจิตที่เป็นอดีต สัตว์ชื่อว่าเป็นแล้ว มิใช่เป็นอยู่ มิใช่

จักเป็น ในขณะจิตที่เป็นอนาคต สัตว์มิใช่เป็นแล้ว มิใช่เป็นอยู่

(แต่) ชื่อว่าจักเป็น ในขณะจิตอันเป็นปัจจุบัน สัตว์ก็มิใช่เป็นแล้ว

(แต่) ชื่อว่าเป็นอยู่ (และ) มิใช่จักเป็น

ชีวิต อัตภาพ และสุขทุกข์ ทั้งมวล ประกอบอยู่

ด้วยจิตดวงเดียว ขณะ (แห่งชีวิตเป็นต้นนั้น)

ย่อมเป็นไปเร็ว ขันธิเหล่าใดของคนที่ตายไป หรือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 23

ของคนที่ยังตั้งอยู่ปวัตติกาลนี้ก็ตาม ที่ดับแล้ว

ขันธ์เหล่านั้นทั้งปวงก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ (ดับ)

ไปโดยไม่ต่อกัน โลก (คือสัตว์) ชื่อว่าไม่เกิด

เพราะจิตไม่เกิด ชื่อว่าเป็นอยู่ เพราะจิตเกิดขึ้น

จำเพาะหน้า ชื่อว่าตายเพราะจิตดับ (นี้) บัญญัติ

ทางปรมัตถ์*

พระโยคาวจร พึงระลึกถึงความตาย โดยชีวิตมีขณะสั้น โดยนัยดัง

กล่าวมาฉะนี้

[มรณสติฌาน]

เมื่อพระโยคาวจรแม้ระลึกอยู่ด้วยอาการ ๘ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังนี้ ด้วยอำนาจการทำในใจแล้ว ๆ เล่า ๆ จิตย่อมจะได้อาเสวนา

(ความคล่อง) สติอันมีความตายเป็นอารมณ์ย่อมจะตั้งมั่น นิวรณ์

ทั้งหลายย่อมจะรำงับ องค์ฌานทั้งหลายย่อมจะปรากฏขึ้น แต่เพราะ

อารมณ์ (ของฌานนี้) เป็นสภาวธรรม และเพราะอารมณ์เป็นที่ตั้ง

แห่งความสังเวช ฌานนี้จึงเป็นฌานไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจาร

เท่านั้น ส่วนโลกุตตรฌานและอรูปฌานที่ ๒ ที่ ๔ ถึงอัปปนาได้ แม้

ในสภาวธรรม เพราะเป็นภาวนาพิเศษ จริงอยู่ โลกุตตรฌานถึง

อัปปนาได้ด้วยอำนาจ (การนดำเนินไปโดย) ลำดับแห่งวิสุทธิภาวนา

(การเจริญวิสุทธิ) อรูปฌานถึงอัปปนาได้โดยที่เป็นภาวนาที่ก้าวล่วง

* ขุ. มหา. ๒๙/๔๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 24

อารมณ์ เพราะว่าในอรูปฌานนั้นมีแต่ความก้าวล่วงอารมณ์แห่งฌานที่

ถึงอัปปนาแล้วเท่านั้น แต่ในมรณสตินี้ (วิสุทธิภาวนานุกรมและ

อารมณสมติกกมะ) ทั้ง ๒ นั้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นฌาน

ถึงเพียงอุปจาร ฌานนี้นั้นก็ถึงซึ่งความนับ (คือได้ชื่อ) ว่ามรณสติ

นั้นเอง เพราะเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งความระลึกถึงความตาย

[อานิสงส์เจริญมรณสติ]

ก็แกภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งมรณสตินี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ประ-

มาทเนืองนิตย์ ได้อนภิรติสัญญา (ความหมายว่าไม่น่ายินดี) ในภพ

ทั้งปวง ละความไยดีในชีวิตเสียได้ เป็นผู้ติการบาป ไม่มากไปด้วย

การสะสม ปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ในบริขารทั้งหลาย แม้

อนิจจสัญญาก็ย่อมถึงความช่ำชองแก่เธอ อนึ่ง ทุกขสัญญาและอนัตต-

สัญญาก็ย่อมปรากฏ (แก่เธอ) ไปตามแนวอนิจจสัญญานั้น สัตว์

ทั้งหลายผู้มิได้อบรมเรื่องตาย เวลาจะตายย่อมถึงความกลัว ความ

สะดุ้ง ความหลง ดุจคนถูกสัตว์ร้าย ยักษ์ งู โจร และผู้ร้ายฆ่าคน

จู่โจมเอา (ไม่ทันรู้ตัว) ฉันใด เธอมิได้ถึงความเป็นฉันนั้น เป็น

ผู้ไม่กลัว ไม่หลงทำกาลกิริยา ถ้าเธอมิได้ชมพระอมตะในทิฏฐธรรม

นี้ไซร้ เพราะกายแตก (ตายไป) ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดีพึงทำความไม่มาท

ในมรณสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

นี้เป็นกถามุข (คำแก้ข้อที่สำคัญ) อย่างพิสดารในมรณสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 25

[กายคตาสติ]

กายคตาสติกรรมฐานนั้นใด ไม่เคยเป็นไปนอกพุทธุบาทกาล

ไม่เป็นวิสัยแห่งเดียรถีย์ทั้งปวง อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ

ไว้ในพระสูตรนั้น ๆ ด้วยอาการเป็นอเนกอย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ธรรมเอก บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวช

ใหญ่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่

เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะใหญ่ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไป

เพื่อความอยู่สำราญในทิฏฐธรรม เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งวิชชา วิมุติ

และผล ธรรมเอกคืออะไร ธรรมเอกคือกายคตาสติ ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดบริโภคกายคตาสติอยู่ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า

บริโภคอมฤตอยู่ บุคคลเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติอยู่ บุคคลเหล่า-

นั้นก็ชื่อว่าไม่บริโภคอมฤตอยู่ กายคตาสติอันบุคคลเหล่าใดได้บริโภค

แล้ว อมฤตก็เป็นอันบุคคลเหล่านั้นได้บริโภคแล้ว กายคตาสติอัน

บุคคลเหล่าใดไม่ได้บริโภคแล้ว อมฤตก็เป็นอันบุคคลเหล่านั้นไม่ได้

บริโภคแล้ว กายคตาสติของบุคคลเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมฤตของบุคคล

เหล่านั้นก็เป็นอันเสื่อม กายคตาสติของบุคคลเหล่าใดไม่เสื่อม อมฤต

ของบุคคลเหล่านั้นก็เป็นอันไม่เสื่อม กายคตาสติของบุคคลเหล่าใด

พลาดไป อมฤตของบุคคลเหล่านั้นก็เป็นอันพลาด กายคตาสติ

ของบุคคลเหล่าใดสำเร็จ อมฤตของบุคคลเหล่านั้นก็เป็นอันสำเร็จ*"

* องฺ. เอก. ๒๐/๕๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 26

ดังนี้เป็นต้นแล้ว ทรงนิเทศ (ขยายความ) ไว้โดย (จัดเป็น) ๑๔

บรรพ (ดัง) นี้คือ อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ จตุสัมปชัญญ-

บรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ สิวัฏฐิกบรรพ ๙

โดยนัยว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายคตาสติบุคคลเจริญอย่างไร ทำ

ให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่มีอานิสงส์มาก ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน

ธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี" ดังนี้เป็นอาทิ๑ บัดนี้ นิเทศแห่งการเจริญ

กายคตาสตินั้น ถึงแล้วโดยลำดับ

[กายคตาสติที่ประสงค์ในที่นี้]

ใน ๑๔ บรรพนั้น เพราะเหตุที่ ๓ บรรพนี้คือ อิริยาปถบรรพ

จตุสัมปชัญญบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดย

เป็นวิปัสสนา๒ สิวัฏฐิกบรรพ ๙ ตรัสโดยเป็นอาทีนวานุปัสสนา๓ (คือ

อาทีนวญาณ) ในวิปัสสนาญาณทั้งหลายนั้นแล อนึ่ง แม้สมาธิภาวนา

ใด พึงสำเร็จได้ (คือนับเข้าได้ ?) ในอสุภกรรมฐานทั้งหลาย มี

อุทธุมาตกอสุภเป็นต้น (อันมา) ในสิวัฏฐิกบรรพเหล่านั้น สมาธิ-

ภาวนานั้นก็เป็นอันแจ้งกแล้วในอสุภนิเทศ ส่วน ๒ บรรพนี้เท่านั้น

คืออานาปานบรรพ และปฏิกูลมนสิการบรรพ ตรัสโดยเป็นสมาธิ

๑. ม. อุ. ๑๔/๒๐๔

๒. มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า ธาตุมนสิการกรรมฐาน ให้สำเร็จได้เพียงชั้นอุปจารสมาธิก็จริงแล

แต่ทว่า สัมมสนวาร ในกรรมฐานนั้นมีกำลังยิ่งนัก (สาติสย) เพราะฉะนั้นจึงว่าธาตุมนสิการบรรพ

ตรัสโดยเป็นวิปัสสนา

๓. เพราะนวสิวัฏฐิกบรรพนั้นล้วนแต่แสดงโทษในร่างกาย พร้อมทั้งลักษณะมีความไม่งามและคาม

ไม่เที่ยงเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 27

(ภาวนา) ในอนุสสตินิเทศนี้ ใน ๒ บรรพนั้น อานาปานบรรพ

เป็นกรรมฐานบทหนึ่งต่างหาก โดยเป็นอานาปานสติ (กรรมฐาน)

ส่วนว่า ทวดึงสาการกรรมฐานนั้นใด ที่ทรงแสดงไว้โดยเป็นปฏิกูล-

มนสิการ สงเคราะห์เอามันสมองเข้ากับเยื่อในกระดูกอย่างนี้ว่า "ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย ก็แลข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้นี่แล แต่

พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้ม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด

มีประการต่าง ๆ คือ ผมทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ ขนทั้งหลายมีอยู่ใน

กายนี้ เล็บทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ ฟันทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ หนัง

มีอยู่ในกายนี้๑ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ

พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี

เสมหะ น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว ล้ำลาย

น้ำมูก ไขข้อ มูตร มีอยู่ในกายนี้๒" ดังนี้ ทวดึงสาการกรรมฐานนี้

ประสงค์เอาว่ากายคตาสติ ในอนุสสตินิเทศนี้

[อธิบายบาลีกายคตาสติ]

(ต่อไป) นี้เป็นตอนแสดงการบำเพ็ญในกายคตาสติกรรมฐาน

นั้น อันมีคำแก้บาลีนำหน้า

ปาฐะว่า อิมเมว กายํ ความว่า ซึ่งกายเน่าอันเป็นที่อาศัย

แห่งมหาภูต ๔ นี้ ปาฐะว่า อุทฺธํ ปาทตลา แปลว่า แต่พื้นเท้า

๑. ท่านให้ประกอบ อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ทุกบท ต่อนี้ไปพึงทราบว่าเปยยาลไว้

๒. ที. มหา. ๑๐/๓๒๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 28

ขึ้นไป ปาฐะว่า อโธ เกสมตฺถกา แปลว่า แต่ปลายผมลงมา

บทว่าตจปริยนฺตํ หมายความว่ามีหนังหุ้มโดยขวาง (คือหุ้มรอบ)

ปาฐะว่า ปูรนฺนานปฺปการสฺส อสุจิโน ปจฺจเวกฺขติ คือเห็นว่า

กายน้ำเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีผมเป็นต้นมีประการต่าง ๆ ถามว่า

คืออย่างไร ? ตอบว่า คือ อตฺถิ อิมสฺมํ กาเย เกสา โลมา นขา

ฯ ป ฯ มุตฺตํ ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถิ คือ สํวิชฺชนฺติ๑

(แปลว่ามีอยู่) บทว่า อิมสฺมึ คือในกายที่ตรัสว่า แต่พื้นเท้าขึ้นไป

แต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้ม เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ

บทว่า กาเย คือในสรีระ อธิบายว่า สรีระ เรียกว่ากาย เพราะ

เป็นที่เกิดแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น และแห่งโรคนับ ๑๐๐

มีโรคตาเป็นอาทิ อันชื่อว่าของน่าเกลียด เพราะก่อเกิดมาแต่ของ

ไม่สะอาด๒ บททั้งหลายว่า เกสา โลมา เป็นอาทิเหล่านั้น คือ

อาการ ๓๒ มีผมเป็นอาการต้น๓ บัณฑิตพึงทราบสัมพันธ์ในบทบาลี

นั้น (โดยประกอบ อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ทุกบท) อย่างนี้ว่า

๑. หมายความว่า อตฺถิ เป็นวจนวิปลาส หรือว่าเป็นนิบาต คงรูปอยู่อย่างนั้นทั้ง ๓ วจนะ

๒. มหาฎีกาว่าในประโยคแก้กายศัพท์นี้ มีบทเหตุ ๒ บท คือ อสฺจิสญฺจยโต และ กุจฺฉิ-

ตานํ... อายภูตโต บทหน้าให้ความหมายว่า กายศัพท์แปลว่า "ที่ประชุม (แห่งของไม่สะอาด)"

บทหลังแสดงโดยนิรุตินัย แยกกายศัพท์ออกเป็น กุจฺฉิต+อาย "ที่เกิดแห่งของน่าเกลียด"

แต่ว่าในระหว่าง ๒ บทนี้ หามี จ ศัพท์เป็นเครื่องแสดงว่าศัพท์ทั้ง ๒ เป็นบทเหตุเสมอ

กันไม่ จึงเข้าใจว่า อสุจิสญฺจยโต เป็นเหตุในบท กุจฺฉิตานํ ดังแปลไว้นั้น

๓. เพราะเหตุที่ในบาลีเรียกโกฏฐาสเหล่านี้ว่า 'ประการ' (ในบทว่า นานปฺปการสฺส) แต่ใน

วิสุทธิมรรคนี้เรียก 'อาการ' (ในบทว่า ทฺวตฺตึสาการา) มหาฎีกาท่านเกรงว่าจะเกิดปัญหาขึ้น

จึงบอกไว้ว่า อาการา ปการาติ หิ เอโก อตฺโถ-ที่จริง คำว่า อาการ ประการ ก็ความเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 29

อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา อสฺถิ อิมสฺมึ กาเย โลมา (ผม

ทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ ขนทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้) ดังนี้เป็นตัวอย่า

แท้จริง ใครสักคน เมื่อค้นดูในกเลวระอันยาวประมาณ ๑ วา

มีขนาดเท่านี้ คือ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา ตั้งแต่

หนังเข้าไปโดยรอบนี้ แม้โดยอาการทุกอย่าง จะได้พบภาพของสะอาด

อะไร ๆ เป็นไข่มุกก็ดี แก้วมณีก็ดี แก้วไพฑูรย์ก็ดี กฤษณาก็ดี การบูร

ก็ดี ของอื่นมีกระแจะเป็นต้นก็ดี แม้สักอณูหนึ่งก็หาไม่ ที่แท้ก็พบแต่ของ

ไม่สะอาดนานาประการ ต่างโดยโกฏฐาสมีผมและขนเป็นอาทิ อันมี

กลิ่นเหม็น และน่าเกลียดไม่เป็นขวัญตาเลยเท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึง

ตรัสว่า อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา ฯ เป ฯ มุตฺตํ (ผม

ทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ ขนทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ ฯ ล ฯ มูตรมีอยู่ในกายนี้)

นี้เป็นคำกล่าวแก้โดยบทสัมพันธ์ในบาลีนั้น

[ภาวนานิเทศแห่งกายคตาสติ]

ก็แลอาทิกัมมิกกุลบุตรผู้ใคร่จะเจริญกรรมฐานนี้ พึงเข้าไปหา

กัลยาณมิตรมีประการดังกล่าวแล้วถือเอากรรมฐานนี้เถิด ข้างฝ่าย

กัลยาณมิตร (ผู้อาจารย์) นั้น เมื่อจะกล่าวกรรมฐานแก่เธอ พึงบอก

อุคคหโกสัลละ (วิธีทำให้ฉลาดในการขึ้นเอากรรมฐาน) ๗ วิธี และ

มนสิการโกสัลละ (วิธีทำให้ฉลาดในการมนสิการกรรมฐาน) ๑๐ วิธี

[อุคคหโกสัลละ]

ในโกสัลละ ๒ อย่างนั้น อาจารย์พึงบอกอุคคหโกสัลละ ๗ วิธี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 30

อย่างนี้ คือ ทางวาจา ทางใจ โดยสี โดยสัณฐาน โดยทิศ โดย

โอกาส (คือที่อยู่) โดยตัดตอน

[ทางวาจา]

ก็ในกรรมฐานที่ต้องมนสิการสิ่งปฏิกูลนี้ พระโยคาวจรถึงแม้

เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกก็ควรทำสาธยายด้วยวาจาก่อน ในกาลมนสิการ

เพราะว่า เมื่อพระโยคาวจรลางรูปทำสาธยายไปนั่นแล กรรมฐาน

ย่อมปรากฏได้ดุจกรรมฐานปรากฏแก่พระเถระ ๒ รูป ผู้เรียนกรรมฐาน

ในสำนักพระมหาเทวเถรชาวมลัย ได้ทราบว่า พระเถระ อันท่านทั้งสอง

ขอกรรมฐานแล้ว ก็ให้พระบาลีในทวดึงสาการ สั่งว่า "ท่านทั้งสอง

จงทำสาธยายอันนี้แหละตลอด ๔ เดือน" อันท่านทั้งสองนั้น ท่าน

ช่ำชอง (พระบาลี) อยู่ตั้ง ๒ , ๓ นิกาย ก็จริงแล แต่ทว่า เพราะ

ความที่ท่านเป็นผู้รับ (โอวาท) โดยเคารพอยู่เป็นปกติ ท่านจึง

(อุตสาหะ) สาธยายทวดึงสาการอยู่จนตลอด ๔ เดือน เลยได้ (สำเร็จ)

เป็นพระโสดาบัน* เพราะฉะนั้น อาจารย์ผู้จะกล่าวกรรมฐาน จึง

ควรบอกอันเตวาสิกว่า "ชั้นแรก จงทำสาธยายด้วยวาจาก่อน"

[วิธีสาธยาย]

ก็แลเมื่อจะทำ พึงกำหนดเป็นตอน ๆ มีตอนตจปัญจกะ (๕ ทั้ง

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า เมื่อท่านพร่ำสาธยายกันอยู่ถึง ๔ เดือน ใคร่ครวญอาการนั้น ๆ

ไปตามแนวที่สาธยาย ทวดึงสาการก็ค่อยปรากฏชัดขึ้นโดยลำดับ ครั้นนิมิตนั้นตั้งมั่นโดยปฏิกูล-

สัญญา (คือเห็นปฏิกูลชัด แล้ว ฌานก็เกิด ท่านเจริญวิปัสสนามีฌานเป็นบาทต่อไป ก็บรรลุ

ทัสสนมรรค (คือธรรมจักษุ) จึงว่า ท่านสาธยายอยู่. . . เลยได้ (สำเร็จ) เป็นพระโสดาบัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 31

หนัง) เป็นต้นแล้ว ทำสาธยายโดยอนุโลมและปฏิโลม คือพึงว่า

'เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ' (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง)

แล้วจึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า 'ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา'

(หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ลำดับนั้นพึงว่าในวักกปัญจกะ (๕ ทั้งไต) ว่า 'มํสํ นฺหารู

อฏฺฐี อฏฺฐิมิฐฺชํ วกฺกํ' (เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต)

แล้วว่าโดยปฏิโลมอีก (ให้เชื่อมกับตอนแรกด้วย) ว่า 'วกฺกํ อฏฐิ-

มิญฺชํ อฏฺฐี นฺหารู มํสํ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา' (ไร

เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ต่อนั้นพึงว่าในปัปผาสปัญจกะ (๕ ทั้งปอด) ว่า 'หทยํ ยกนํ

กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ' (หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด) แล้ว

ว่าโดยปฏิโลมอีกว่า 'ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ

วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชำ อฏฺฐี นฺหารู มํสํ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา

เกสา' (ปอด ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ ไต เยื่อในกระดูก

กระดูก เอ็น เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ต่อนั้นพึงว่าในมัตถลุงคปัญจกะ (๕ ทั้งมันสมอง) ว่า 'อนฺตํ

อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ มตฺถลุงฺคํ' (ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่

อาหารเก่า มันสมอง) แล้วว่าโดยปฏิโลมอีกว่า 'มตฺถลุงฺคํ กรีสํ

อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ

วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชำ อฏฺฐี นฺหารู มํสํ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา

เกสา' (มันสมอง อาหารเก่า อาหารใหม่ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ปอด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 32

ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ ไต เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ

หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ต่อนั้นไปพึงว่าในเมทฉักกะ (๖ ทั้งมันข้นป ว่า 'ปิตฺตํ เสมฺหํ

ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท' (ดี เสมหะ น้ำเหลือง เลือด

เหงื่อ มันข้น) แล้วว่าโดยปฏิโลมอีกว่า 'เมโท เสโท โลหิตํ

ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ มตฺถลุงฺคำ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ

ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี

นฺหารู มํสํ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา (มันข้น เหงื่อ

เลือด น้ำเหลือง เสมหะ ดี มันสมอง อาหารเก่า อาหารใหม่

ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ปอด ม้าม พังผืด ตับ หัวใจ ไต เยื่อ

ในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ หนัง ฟัง เล็บ ขน ผม)

ต่อนั้นพึงว่าในมุตตฉักกะ (๖ ทั้งมูตร) ว่า 'อสฺสุ วสา

เขโฬ สิงฺฆาณิกา ลสิกา มุตฺตํ' (น้ำตา มันเหลว น้ำลาย

น้ำมูก ไขข้อ มูตร) แล้วว่าโดยปฏิโลมอีกว่า "มุตฺตํ ลสิกา

สงฺฆาณิก เขโฬ วสา อสฺสุ เมโท เสโท โลหิตํ ปุพฺโพ

เสมฺหํ ปิตฺตํ มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ ปปฺผาสํ ปิหกํ

กิโลมกํ ยกนํ หทยํ วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นฺหารู มํสํ ตโจ

ทนฺตา นขา โลมา เกสา" (มูตร ไขข้อ น้ำมูก น้ำลาย มัยเหลว

น้ำตา มันข้น เหงื่อ เลือด น้ำเหลือง เสมหะ ดี มันสมอง

อาหารเก่า อาหารใหม่ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ปอด ม้าม พันผืด ตับ

หัวใจ ไต เยื่อในกระดูก กระดูก เอ็น เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 33

พึงทำสาธยายด้วยวาจาไปอย่างนี้ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง กระทั่ง

๑๐๐,๐๐๐ ครั้งก็ดี ด้วยว่า ด้วยการสาธยายทางปาก (อย่างนั้น) ระบบ

กรรมฐาน ย่อมจะคล่องตัว จิตจะไม่แล่นไปทางโน้นทางนี้ โกฏฐาส

ทั้งหลายก็จะปรากฏ คือชัด (เป็นถ่องแถว) ดังแถวนิ้วมือ และดัง

แถวกระทู้รั้วฉะนั้น

[ทางใจ-สี-สัณฐาน-ทิศ-โอกาส-ตอน]

ก็ทางวาจา ทำสาธยายอย่างใด ถึงทางใจ ก็พึงทำสาธยาย

อย่างนั้นแหละ เพราะการสาธยายทางวาจา เป็นปัจจัยแห่งการสาธยาย

ทางใจ การสาธยายทางใจ เป็นปัจจัยแห่งการแทงตลอดลักษณะ

(แห่งโกฏฐาส ?)

คำว่า 'โดยสี' คือพึงกำหนดดูสีของโกฏฐาสทั้งหลายมีผม

เป็นต้น

คำว่า 'โดยสัณฐาน' คือพึงกำหนดดูสัณฐานของโกฏฐาสเหล่า

นั้นนั่นแล

คำว่า 'โดยทิศ' อธิบายว่า ในสรีระนี้ เหนือนาภีขึ้นไป

เป็นทิศบน ใต้นาภีลงไป เป็นทิศล่าง เหตุนั้น พึงกำหนดทิศว่า

'โกฏฐาสนี้ (อยู่) ในทิศชื่อนี้'

คำว่า 'โดยโอกาส' ความว่า พึงกำหนดโอกาสของโกฏฐาสนั้น ๆ

อย่างนี้ว่า 'โกฏฐาสนี้ตั้งอยู่ในโอกาสตรงนี้'

คำว่า 'โดยตัดตอน' มีอรรถาธิบายว่า ตัดตอนมี ๒ คือ (สภาค-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 34

ปริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตน (วิสภาคปริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนที่ผิดกับตน ใน ๒ อย่างนั้น ตัดตอนด้วยส่วนของตน พึง

ทราบอย่างนี้ว่า 'โกฏฐาสนี้ กำหนดตัดด้วยส่วนชื่อนี้ ทั้งเบื้องล่าง

เบื้องบนและเบื้องขวาง' ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน พึงทราบโดย

ความไม่ปนกันอย่างนี้ว่า 'ผม คือสิ่งที่มิใช่ขน ขนเล่าก็คือสิ่งที่มิใช่

ผม' ดังนี้เป็นตัวอย่าง*

[ข้อที่ควรทราบก่อนจะบอกอุคคหโกศล]

ก็แลอาจารย์เมื่อจะบอกอุคคหโกศล ๗ วิธีดังกล่าวมานี้ พึงทราบ

(ก่อน) ว่า กรรมฐานนี้ ตรัสในสูตรโน้นโดยเป็นสิ่งปฏิกูล ในสูตร

โน้นโดยเป็นธาตุ ดังนี้แล้วจึงบอก แท้จริง กรรมฐานนี้ ใน

มหาสติปัฏฐานสูตร ตรัสโดยเป็นสิ่งปฏิกูล ในมหาหัตถิปโทปมสูตร

มหาราหุโลวาทสูตร และธาตุวิภังคสูตร ตรัสโดยเป็นธาตุ ส่วนใน

กายคตาสติสูตร ทรงจำแนกฌาน ๔ มุ่งถึงบุคคลผู้ที่โกฏฐาสมีผมเป็นต้น

ปรากฏ (แก่เขา) โดยสี ในกรรมฐาน ๒ ฝ่ายนั้น ที่ตรัสโดยเป็น

ธาตุเป็นวิปัสสนากรรมฐาน ที่ตรัสโดยเป็นสิ่งปฏิกูลเป็นสมถกรรมฐาน

* ข้อนี้อธิบายว่า เนื่องด้วยโกฏฐาสทั้งหลาย ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกันก็มี คล้ายกันก็มี เมื่อจะ

กำหนดโกฏฐาสใดให้ชัด ก็ต้องใช้วิธีตัดตอนโกฏฐานนั้นให้ขาดออกไปจากโกฏฐาสอื่น การตัดตอน

นั้น ท่านแนะให้ทำ ๒ วิธี คือ กำหนดตัดด้วยส่วนของตนเองว่า เบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวางของ

โกฏฐาสนั้น กำหนดตัดด้วยอะไร ถ้าตัดตอนวิธีนี้แล้วยังไม่ปรากฏชัด ก็ใช้วิธีที่ ๒ คือกำหนด

เทียบกับโกฏฐาสอื่นที่ใกล้เคียงหรือคล้ายกัน เช่นผมกับขน เล็บกับฟัน ก็จะเห็นมันเป็นละคนอย่าง

ชัดเจน เช่นนี้กระมัง ?

สภาค ในที่นี้ท่านแก้เป็น อตฺตโน ภาโค สภาโค (ส่วนของตน) ส่วนวิสภาคท่านก็ว่า

อสภาโค (ส่วนมิใช่ของตน) นั่นเอง จึงแปลว่า 'ส่วนที่ผิดกับตน' เพื่อรักษาอรรถแห่ง วิ อุปสัค

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 35

กรรมฐานในปฏิกูลมนสิการบรรพนี้นั้น เป็นสมถกรรมฐานแท้แล

อุคคหโกสัลละ ๗ วิธี อาจารย์พึงบอกโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

[มนสิการโกสัลละ]

อาจารย์พึงบอกมนสิการโกสัลละ ๑๐ วิธี อย่างนี้ คือ โดยลำดับ

โดยไม่เร่งนัก โดยไม่เงื่องนัก โดยป้องกันความฟุ้งซ่าน โดยล่วงเสีย

ซึ่งบัญญัติ โดยปล่อยลำดับ โดยอัปปนา และสุตตันตุ ๓

[มนสิการโดยลำดับ]

ในมนสิการโกศล ๑๐ นั้น ข้อว่าโดยลำดับ อธิบายว่า กรรมฐาน

นี้ เริ่มแต่ทำสาธยาย ต้องมนสิการไปตามลำดับ (บททวดึงสาการ)

อย่ามนสิการโดยไว้ระหว่างเสียบท ๑ (คือข้ามเสียบท ๑ ๆ)* เพราะ

พระโยคาวจรมนสิการโดยไว้ระหว่างเสียบท ๑ จะเหนื่อยใจ (จน) ตก

ไปจากความได้รับอัสสาทะ อันจะพึงได้ด้วยอำนาจความถึงพร้อมแห่ง

ภาวนาเสีย ไม่ยังภาวนาให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนคนที่ไม่ฉลาดขึ้น

บันได ๓๒ ขั้นโดยไว้ระหว่างเสียขั้น ๑ ก็จะเหนื่อยกาย (จน) ตก

ไม่ยังการขึ้นให้สำเร็จได้ฉะนั้น

[มนสิการโดยไม่เร่งนัก]

แม้เมื่อมนสิการโดยลำดับ ก็พึงมนสิการ โดยไม่เร่งนักด้วย

เพราะเมื่อมนสิการเร่งนัก กรรมฐานคงถึงที่สุดเป็นแท้ก็จริง แต่ว่า

ไม่จะแจ้ง ไม่นำคุณวิเสสมาให้ เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษ (ผู้หนึ่ง)

* เช่นว่า เกสา นขา ตโจ---- เว้น โลมา ทนฺตา เสียบหนึ่ง ๆ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 36

เดินทางประมาณ ๓ โยชน์ มิได้สังเกตจำทางที่พึงเดิน และทางที่

พึงเว้น* ทำการคมนาคมด้วยฝีเท้าอันเร็วตั้ง ๗ เที่ยว ทางไปสุดก็

จริง แต่ (เขาจำทางไม่ได้) ต้องถาม (ผู้อื่น) ไป (ทุกเที่ยว)

ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงมนสิการอย่าเร่งนัก

[มนสิการโดยไม่เงื่องนัก]

อนึ่ง แม้มนสิการโดยไม่เงื่องนัก ก็ฉันเดียวกับมนสิการโดยไม่

เร่งนัก เพราะว่าเมื่อมนสิการเงื่องนัก กรรมฐานจะไม่ถึงที่สุด ไม่

เป็นปัจจัยแห่งความได้คุณวิเสส เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษผู้ใคร่จะเดิน

ทาง ๓ โยชน์ (ให้ถึง) ในวันเดียวนั้น มัวโอ้เอ้ออยู่ตามที่ต่าง ๆ

เช่นต้นไม้ ภูเขา และบึง ในระหว่างทางเสีย ทางก็ไม่เปลือง ต่อ

๒-๓ วันจึงสุดฉะนั้น

[มนสิการโดยป้องกันความฟุ้งซ่าน]

ข้อว่าโดยป้องกันความฟุ้งซ่าน ความว่าการที่จิตปล่อยกรรมฐาน

เสียแล้วฟุ้งไปในอารมณ์หลากหลายในภายนอก (นั้น) พระโยคาวจร

ต้องป้องกัน เพราะเมื่อไม่ป้องกัน ครั้งความฟุ้งไปข้างนอกมีอยู่ กรรม-

ฐานย่อมเสื่อมหายทลายไป เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษผู้เดินทางเลียบ

เหวอันเป็นทางเอกบท (รอยเดียว คือแคบเต็มที วางเท้าได้ทีละข้าง ?)

ไม่สังเกตรอยที่จะเหยียบให้แม่น มัวเหลียวข้างนั้นข้างนี้ ก้าวเท้าพลาด

(รอย) ก็จะต้องตกจากทางนั้นลงไปในเหวอันลึก ๑๐๐ ชั่วตัวคน

* โอกฺกมนวิสชฺชนํ มหาฎีกาแก้เป็น ปฏิปชฺชิตพฺพวิสชฺชิตพฺเพ มคฺเค

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 37

ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรจึงควรมนสิการโดยป้องกันความ

ฟุ้งซ่าน (ด้วย)

[มนสิการโดยล่วงเสียซึ่งบัญญัติ]

ข้อว่าโดยล่วงเสียซึ่งบัญญัติ ความว่า บัญญัติว่า เกสา โลมา

เป็นอาทินี้ใด พระโยคาวจรพึงก้าวล่วงเสียซึ่งบัญญัตินั้นแล้วจึงตั้งจิตไว้

แต่ว่า 'ปฏิกูล' เหมือนอย่างว่า ในคราวน้ำหายาก คนทั้งหลาย

พบบ่อน้ำในป่าแล้ว ผูกสิ่งอะไร ๆ มีใบตาลเป็นต้นเป็นเครื่องหมายไว้

ในที่นั้นแล้ว มาตามเครื่องหมายนั้น อาบและดื่มได้ แต่เมื่อใด ด้วย

การเที่ยวไปเนือง ๆ แห่งคนเหล่านั้น รอยของคนที่มา ๆ ย่อมจะ

ปรากฏ เมื่อนั้น กิจด้วยเครื่องหมายามีไม่ คนทั้งหลายย่อมไปอาบ

และดื่มได้ทุกขณะที่ต้องการ ฉันใด เมื่อพระโยคาวจรมนสิการไปตาม

บัญญัติว่า เกลา โลมา---- ในเบื้องแรก (จน) ความเป็นปฏิกูล

ปรากฏ ภายหลังจึงเลิกบัญญัติว่า เกลา โลมา----เสีย ตั้งจิตไว้ในความ

เป็นปฏิกูลแต่อย่างเดียว ฉันนั้นแล

[มนสิการโดยปล่อยลำดับ]

ข้อว่าโดยปล่อยลำดับ มีอรรถาธิบายว่า โกฏฐาสใด ๆ ไม่

ปรากฏ พระโยคาวจรผู้ปล่อยโกฏฐาสนั้น ๆ เสีย มนสิการไป ชื่อว่า

มนสิการโดยปล่อยลำดับ ก็เมื่อพระอาทิกัมมิกะมนสิการ (โดยอนุโลม

เริ่ม) ว่า เกสา มนสิการก็ดำเนินไปจนสุดจดโกฏฐาสปลาย คือ มุตฺตํ

นี้ทีเดียว และเมื่อมนสิการ (โดยปฏิโลม) ว่า มุตฺตํ มนสิการก็

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 38

ดำเนินไปจนสุดโกฏฐาสต้น คือ เกสา นี้เหมือนกัน ทีนี้เมื่อมนสิการ

ไป ๆ โกฏฐาสลางเหล่าก็ปรากฏ ลางเหล่าก็ไม่ปรากฏ* โกฏฐาส

เหล่าใด ๆ ปรากฏ เธอพึงทำงาน (มนสิการ) ในโกฏฐาสเหล่า

นั้น ๆ ไปจนกว่าเมื่อโกฏฐาสปรากฏ (แต่) ๒ แล้ว ๒ นั้นเล่า

อันหนึ่งย่อมปรากฏดีกว่า (อีกอันหนึ่ง) ก็และพระอาทิกัมมิกะผู้มนสิ-

การโกฏฐาสอันนั้นที่ปรากฏ (ดีกว่า) อย่างนั้นนั่นแลซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จะพึงยังอัปปนาให้เกิดขึ้นได้

(ต่อไป) นี้เป็นอุปมาในข้อนั้น เหมือนอย่างว่าพราน (ผู้หนึ่ง)

ใคร่จะจับลิง (ตัวหนึ่ง) ซึ่งอยู่ในดงตาลอันมีต้นตาล ๓๒ ต้น พึงใช้ศร

ยิงใบตาลต้นที่ยืนอยู่ต้นเพื่อนแล้วทำเสียงตะเพิด ทีนี้ ลิงนั้นก็จะพึง

โผนไปที่ต้นตาลนั้น ๆ ตามลำดับจนถึงต้นท้ายเพื่อทีเดียว ครั้น

พรานไปทำอย่างเดียวกันนั้นเข้าที่ต้นท้ายเพื่อนนั้นอีกเล่า มันก็จะพึง

(โผนกลับ) มาท่านั้นแหละจนถึงต้นต้นเพื่อนอีก มันโผนไปตามลำดับ

ต้นบ่อย ๆ เข้าอย่างนั้น (ก็ล้า ? ที่นี้มัน) จะถึงโผล่ขึ้นแต่ในที่ ๆ

พรานทำเสียงตะเพิดไล่เท่านั้น (ถ้าไม่ตะเพิดก็ไม่โผล่) แล้วไป ๆ

ก็จะหลบอยู่ที่ต้นตาลต้นหนึ่ง ยึดยอดตาลตูมอันสะอาด (ซึ่งอยู่) ตรง

กลางต้นมันไว้มั่น แม้ถูกยิงก็ไม่โผล่ ฉันใด คำอุปไมยนี้ก็พึงเห็น

ฉันนั้น (ต่อไป) นี้เป็นคำประเทียบอุปไมยกับอุปมา

โกฏฐาส ๓๒ ในกายนี้เปรียบเหมือนตาล ๓๒ ต้นใจดงตาล จิต

* ตามในมหาฎีกาว่า ที่ว่าปรากฏนั้น คือปรากฏโดยลักษณะของโกฏฐาสนั้น ๆ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 39

เหมือนลิง พระโยคาวจร๑เหมือนพราน การที่จิตของพระโยคี ท่อง

เที่ยวไปในกายอันมีโกฏฐาส ๓๒ โดย (ทำให้) เป็นอารมณ์เหมือนการ

ที่ลิงอาศัยอยู่ในดงตาลอันมีตาล ๓๒ ต้น การที่เมื่อพระโยคีเริ่มมนสิการ

ว่าเกสาแล้ว (มนสิการ) จิตดำเนินไป (จนสุด) หยุดลงที่โกฐาสปลาย

ทีเดียว เหมือนการที่เมื่อพรานใช้ศรยิงใบตาลต้นที่ยืนอยู่ต้นเพื่อนแล้ว

ทำเสียตะเพิด ลิงก็โผนไปที่ต้นตาลนั้น ๆ (จน) ถึงต้นท้ายเพื่อน

แม้ในเที่ยวกลับอีกก็นัยเดียวกันนั้น การที่เมื่อพระโยคาวจรมนสิการ

(อย่างนั้น) บ่อยเข้า ครั้นโกฏฐาสลางเหล่าไม่ปรากฏ ลางเหล่าปรากฏ๒

ก็ปล่อยโกฏฐาสทั้งหลายที่ไม่ปรากฏเสีย ทำบริกรรม (แต่) ในโกฏฐาส

ทั้งหลายที่ปรากฏ เหมือนการที่ลิงโผนไปตามลำดับต้นบ่อย ๆ เข้า (ก็

ล้า) โผล่ขึ้นแต่ในที่ ๆ พรานทำเสียงตะเพิดไล่ (ถ้าไม่ตะเพิดก็ไม่โผล่)

การที่เมื่อในที่สุดโกฏฐาสปรากฏ (แต่) ๒ ในโกฏฐาส ๒ นั้น

โกฏฐาสใดปรากฏดีกว่า พระโยคาวจรมนสิการโกฏฐาสนั้นนั่นแหละ

แล้ว ๆ เล่า ๆ ยังอัปปนาให้เกิดได้ เหมือนการที่ลิงไป ๆ ก็หมอบอยู่ที่

ต้นตาลต้นหนึ่ง ยึดยอดตาลตูมอันสะอาด (ซึ่งอยู่) ตรงกลางต้นมัน

ไว้มั่น แม้ถูกยิงก็ไม่โผล่ฉะนั้น

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนปิณฑปาติกภิกษุ (ผู้ถือการเที่ยวบิณฑ-

๑. เพิ่งพบท่านใช้ 'โยคาวจโร' ที่นี่ แต่แล้วก็ใช้ 'โยคี' ตามถนัดต่อไป

๒. ตรงนี้ปาฐะว่า เกสุจิ เกสุจิ อุปฏฺฐิเ ตสุ นั้นตก อนุปฏฺฐิเ ตสุ ไปบทหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อ

เรียงเต็มก็เปน็ เกสุจิ อนุปฏฐฺ ิ เตสุ เกสุจิ อุปฏฺฐิเ ตสุ แต่ถ้าถือเอาที่ท่านเรียงมาแล้วเปน็ หลักคือ

เกจิ โกฏฺฐาสา อุปฏฺฐหนฺติ เกจิ น อุปฏฺฐหนฺติ ดังนี้ ในที่นี้ ก็ควรเรียง อุปฏฺฐิเ ตสุ ไว้หน้า

อนุปฏฺฐิเ ตสุ ไว้หลังดว้ ย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 40

บาตเป็นปกติ) อาศัยหมู่บ้านอันมีตระกูล ๓๒ ตระกูล (เป็นที่

โคจรบิณฑบาต) อยู่ (ไปบิณฑบาต) ต่างว่าได้ภิกษา ๒ ที่* ใน

เรือนหลังแรกทีเดียวแล้ว ก็สละเรือนหลัง ๑ ข้าหน้าเสีย (ไม่เข้า

ไปรับภิกษา) วันรุ่งขึ้นต่างว่าได้ ๓ ที่ (ในเรือนหลังแรก) แล้วก็

สละเรือน ๒ หลังข้างหน้าเสีย ในวันที่ ๓ ต่างว่าได้ภิกษาเต็มบาตร

ในเรือนหลังต้นที่เดียวแล้วก็ (ไม่ไปบิณฑบาตต่อไป) ไปโรงฉัน ฉัน

เสียเลยฉันใด คำอุปไมยนี้ก็พึงเห็นฉันนั้น อันอาการ ๓๒ ก็เหมือนหมู่

บ้านมีตระกูล ๓๒ ตระกูล พระโยคาวจรเหมือนปิณฑปาติกภิกษุ การ

ที่พระโยคีทำบริกรรมในอาการ ๓๒ เหมือนการที่ปิณฑปาติกภิกษุนั้น

อาศัยหมู่บ้านนั้น (เป็นที่โคจรบิณฑบาต) อยู่ การที่เมื่อพระโยคี

มนสิการไป ๆ สละโกฏฐาสทั้งหลายที่ไม่ปรากฏเสีย ทำบริกรรม (แต่)

ในโกฏฐาสทั้งหลายที่ปรากฏ ๆ ไปจน (เหลือแต่) ๒ โกฏฐาส ก็

เหมือนการที่ปิณฑบาติกภิกษุได้ภิกษา ๒ ที่ ในเรือนแรกแล้วสละเรือน

หลังหนึ่งข้างหน้าเสีย และเหมือนในวันที่ ๒ ได้ ๓ ที่แล้วสละเรือน

๒ หลังข้างหน้าเสีย การที่ในโกฏฐาส (ที่ปรากฏแต่) ๒ โกฏฐาสใด

* มหาฎีกาว่า เทฺว ภิกฺขา หมายความว่า เท่ากับภิกษาที่พึงได้ในเรือน ๒ หลัง สำหรับใน

บ้านเมืองเรานี้ใช้ทัพพีตักภิกษาโดยมาก ใช้ถ้วย และขันก็มีบ้าง แต่ในชมพูทวีปและลังกาทวีป

จะใช้อะไรไม่แจ้ง ในที่นี้จึงใช้คำว่า "ที่" ไว้เป็นกลาง ๆ หมายความว่า เรือนหลัง ๑ ก็ถวาย

ที่ ๑ จะเป็นทัพพีหรือถ้วยขันอะไรก็ตาม

ปิณฑปาติกภิกษุในอุปมานี้ ถือบิณฑบาตไปอีกแบบหนึ่ง คล้ายกับจะถือว่า "เรือนละที่"

เพราะฉะนั้นเมื่อได้ภิกษาในเรือนแรก ๒ ที่แล้ว จึงเว้นเรือนถัดไปเสียหลัง ๑ ไปรับในหลังที่ ๓

ต่อไป ถ้าได้หลังแรก ๓ ที่แล้ว ก็เว้นหลังที่ ๓ ไปรับในหลังที่ ๔ ต่อไป----ก็ชอบกล ถ้าหลัง

แรกถวาย ๒ ที่ ๓ ที่หรือเต็มบาตรเสียเรื่อยไป เรือนหลังถัด ๆ ไปก็เป็นอันไม่ได้ถวายสักทีละซิ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 41

ปรากฏดีกว่า พระโยคีมนสิการโกฏฐาสนั้นแหละ แล้ว ๆ เล่า ๆ ยัง

อัปปนาให้เกิดขึ้นได้ ก็เหมือนในวันที่ ๓ ได้เต็มบาตรในเรือนหลัง

ต้นทีเดียวแล้ว (ไป) นั่งฉันเสียในโรงฉันฉะนั้น

[มนสิการโดยอัปปนา]

ข้อว่า โดยอัปปนา คือ โดยโกฏฐาสที่เกิดอัปปนา นี้เป็น

อธิบายในข้อนั้นคือ บัณฑิตพึงทราบว่าในโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น

อัปปนาย่อมมีได้ในโกฏฐาสหนึ่ง ๆ *

นี้เป็นอธิบายในข้อว่า "และสุตตันตะ ๓" นั้นว่า สุตตันตะ ๓

นี้คือ อธิจิตต (สูตร) สีติภาว (สูตร) โพชฌงคโกสัลล (สูตร)

พระโยคาวจรควรทราบ เพื่อประกอบวิริยสมาธิ

[อธิจิตตสูตร]

ใน ๓ สูตรนั้น สูตรนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ

อธิจิต ต้องมนสิการนิมิต ๓ ตามกาลอันควร คือต้องมนสิการ

สมาธินิมิตตามกาลอันควร ต้องมนสิการปัคคหนิมิตตามกาลอันควร

ต้องมนสิการอุเบกขานิมิตตามกาลอันควร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุ

ผู้ประกอบอธิจิต พึงมนสิการสมาธินิมิตส่วนเดียวเท่านั้นไซร้ ย่อม

เป็นได้ที่จิต (ของเธอ) จะพึงเป็นไปข้างโกสัชชะเสีย ถ้าภิกษุผู้

* ฟังตามนี้เข้าใจว่า อาการ ๓๒ นั้น พระโยคาวจรพึงมนสิการให้เกิดอัปปนาได้ทุกอาการ

แต่ว่าอัปปนาจะเกิด ก็ย่อมเกิดในอาการใดอาการหนึ่งแต่อาการเดียวที่ปรากฏดีกว่าเพื่อน ดังกล่าว

ในตอนก่อน หาใช่ว่าเกิดพรึบพร้อมกันทั้ง ๓๒ ไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 42

ประกอบอธิจิตพึงมนสิการปัคคหนิมิตส่วนเดียวเท่านั้นไซร้ ย่อมเป็น

ได้ที่จิต (ของเธอ) จะพึงเป็นข้างอุทธัจจะเสีย ถ้าภิกษุผู้ประกอบ

อธิจิตพึงมนสิการอุเบกขานิมิตส่วนเดียวเท่านั้นไซร้ ย่อมเป็นได้ที่จิต

(ของเธอ) จะไม่พึงตั้งมั่นถูกทางเพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย ต่อเมื่อ

ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต มนสิการสมาธินิมิต ปัคคหนิมิต อุเบกขานิมิต

ตามกาลอันควร จิต (ของเธอ) นั้นจึงจะเป็นจิตอ่อน ควรแก่การ

เป็นจิตผ่องใสและไม่แตก ตั้งมั่นถูกทางเพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย อุปมา

เหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทอง ก่อเตาเข้า ครั้นก่อเตาแล้ว ก็สุมเบ้า

ครั้งสุมเบ้าแล้วใช้คีมจับทองวางลงไปในเบ้าแล้ว (สูบ) เป่าไปตามกาล

อันควร (ถ้าไฟแรงร้อนมากไปก็) พรมน้ำ (ที่ทอง) ตามากาลอันควร

(ถ้าไฟพอดีก็) ดูอยู่เฉย ๆ ตามกาลอันควร ภิกษุทั้งหลาย หากว่า

ช่างทองก็ตาม ลูกมือช่างทองก็ตาม จะพึง (สูบ) เป่าทองนั้นไป

ส่วนเดียวไซร้ ย่อมเป็นได้ที่ทองนั้นจะพึงไม้ไป หากช่างมองก็ตาม

ลูกมือช่างทองก็ตาม พรมน้ำทองนั้นไปท่าเดียวไซร้ ย่อมเป็นได้ที่

ทองนั้นจะพึงเย็นเสีย หากช่างทองก็ตาม ลูกมือช่างทองก็ตาม (พัก)

ดูทองนั้นอยู่เฉย ๆ ไปอย่างเดียวไซร้ ย่อมเป็นได้ที่ทองนั้นจะไม่พึงถึง

ซึ่งความสุกดี ต่อเมื่อช่างทองก็ดี ลูกมือช่างทองก็ดี (สูบ) เป่าทอง

นั้นไปตามกาลอันควร พรมทน้ำทองนั้นไปตามกาลอันควร (พัก)

ดูทองนั้นอยู่เฉย ๆ ตามกาลอันควร ทองนั้นจึงจะอ่อน ควรแก่

การ เป็นทองสุกปลั่งและไม่เปราะ ใช้การได้ดี แม้นช่างทองประสงค์

(จะทำเป็น) เครื่องประดับชนิดใด ๆ เป็นเข็มขัดก็ดี เป็นตุ้มหูก็ดี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 43

เป็นเครื่องประดับคอก็ดี เป็นสายสังวาลก็ดี สิ่งที่ประสงค์นั้นก็ย่อม

สำเร็จแก่เขาแล ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจาติ (ต้อง

มนสิการนิมิต ๓ ตามกาลอันควร) ฯลฯ (จิตของเธอจึงจะ) ตั้ง

มันถกทางเพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย แม้นเธอน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้ง

ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่เป็นอภิญญาสัจฉิกรณียะใด ๆ เมื่อได้เหตุ

อันควร เธอย่อมจะถึงความเป็นผู้อาจทำให้ประจักษ์ได้ในอภิญญา-

สัจฉิกรณีธรรมนั้น ๆ โดยแท้"๑ ดังนี้ พึงทราบว่า ชื่ออธิจิตต (สูตร)

[สีติภาวสูตร]

สูตรนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม

๖ ประการ เป็นผู้อาจเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสีติภาวะ (ความดับเย็น) อัน

ยอดเยี่ยม ธรรม ๖ ประการคืออะไรบ้าง คือภิกษุในธรรมวินัยนี้

ข่มจิตในสมัยที่จิตควรข่ม ๑ ยกจิตในสมัยที่จิตควรยก ๑ ทำจิตให้

ร่าเริงในสมัยที่จิตควรทำให้ร่าเริง ๑ เพ่งดูจิตอยู่เฉย ๆ ในสมัยที่จิต

ควรเพ่งดูอยู่เฉย ๆ ๑ เป็นผู้มีอธิมุติ (คืออัธยาศัย) ประณีต ๑

มุ่งยินดีพระนิพพาน ๑ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม

๖ ประการนี้แล เป็นผู้อาจทำให้แจ้งซึ่งสีติภาวะอันยอดเยี่ยม"๒ ดังนี้

พึงทราบว่า ชื่อ สีติภาว (สูตร)

๑. องฺ. ติก. ๒๐/๓๒๙

๒. องฺ. ฉกฺก. ๒๒-๔๘๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 44

[โพชฌงคโกสัลลสูตร]

ส่วนสัตตโพชฌงคโกศล ได้แสดงมาแล้วในอัปปนาโกศลกถาว่า

"ฉันนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใดจิตหดหู่ ในสมัยนั้น (กาลนั้น)

มิใช่กาลที่จะบำเพ็ญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์" ดังนี้เป็นอาทิ*

พระโยคีนั้น ทำอุคคหโกสัลละ ๗ วิธีนี้ ให้เป็นอันถือเอาได้

อย่างดี และกำหนดมนสิการโกสัลละ ๑๐ วิธีนี้ด้วยดี โดยนัยดังกล่าว

มาดังนี้แล้ว ก็จะพึงขึ้นเอากรรมฐานได้ดี ด้วยอำนาจแห่งโกสัลละ

ทั้ง ๒ (นั้น)

[ก่อนจะเริ่มกรรมฐาน]

ก็ถ้าว่าพระโยคีนั้นมีความผาสุกอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระอาจารย์

ไซร้ เธอก็ไม่จำต้องให้อาจารย์บอก (วิธีต่าง ๆ ) โดยพิสดารอย่าง

นั้น ประกอบกรรมฐานไปได้คุณวิเสส (แห่งภาวนาขั้น ๑) แล้วจึง

(ขอ) ให้ท่านบอกขั้นสูง ๆ ขึ้นไป (แต่) พระโยคีผู้ใคร่จะ (ไป)

อยู่ที่อื่น พึงให้อาจารย์บอกให้โดยพิสดาร โดยวิธีตามที่กล่าวแล้ว

ทบทวนบ่อย ๆ (ให้ช่ำปากและใจ) ตัดที่ ๆ เป็นปมเสียทั้งหมด

ละเสนาสนะที่ไม่เหมาะแล้วและอยู่ในเสนาสนะที่เหมาะสม ทำการ

ตัดปลิโพธเล็กน้อยเสียตามนัยที่กล่าวในปฐวีกสิณนิเทศนั่นแล้ว จึงทำ

บริกรรมโดยปฏิกูลมนสิการเถิด

ก็แลเมื่อจะทำ พึงถือเอานิมิตในผมทั้งหลายเป็นอันดับแรก

* สํ. มหาวาร. ๑๙/๑๕๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 45

ถามว่า พึงถือเอานิมิตในผมทั้งหลายอย่างไร ? ตอบว่า พึงถอนผม

เส้น ๑ หรือ ๒ เส้น๑ วางลงที่ฝ่ามือแล้วกำหนดสี (ของมัน) ก่อน

จะดูผมทั้งหลายแม้ในที่ ๆ เขาตัดผม๒ ก็ควร แม้จะดูผมทั้งหลายที่ตก

อยู่ในน้ำหรือตกอยู่ในยาคู ก็ควรเหมือนกัน เห็นในกาลที่สีมันยังคำ

ก็พึงมนสิการว่ามันคำ เห็นในกาลที่สีมันขาว ก็พึงมนสิการว่ามันขาว

แต่เห็นในกาลที่มันมีสีเจือปน ก็พึงมนสิการโดยสีที่หนา (กว่า) ก็ใน

ผมทั้งหลายฉันใด ในโกฏฐาสตจปัญจกะทั้งสิ้นก็ฉันนั้น ได้เห็นเทียว

จึงถือเอานิมิต๓" ครั้นถือเอานิมิตอย่างนี้แล้วพึงกำหนดลักษณะโกฏ-

ฐาสทั้งปวง โดยสี สัณฐาน ทิศ โอกาส (ที่ตั้ง) และตัดตอนแล้ว

จึงกำหนดความเป็นปฏิกูล ๕ ประการ โดยสี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัย

อยู่ และโอกาส

(ต่อไป) นี้เป็นอนุบุพพิกถาในการกำหนด (ลักษณะและความ

เป็นปฏิกูล) นั้นในโกฏฐาสทั้งปวง

[ผม]

อันดับแรก เกสา-ผมทั้งหลาย โดยสีปกติ เป็นสีดำดุจสีผล

ประคำดีควายใหม่ ๆ โดยสัณฐาน ยาว กลม ดุจสัณฐานคันชั่ง โดยทิศ

เกิดในทิศเบื้องบน (แห่งร่างกาย) โดยโอกาส (ที่ตั้ง) หนังสด

๑. วินัยห้ามถอนผม แต่ถอนเพื่อประโยชน์เช่นนี้ท่านว่าไม่มีโทษ

๒. ฉินฺนฏฺฐาเน มหาฎีกาแก้เป็น มุณฺฑิตฏฺฐาเน-ที่ปลงผม

๓. ตจปัญจกะนี้ มองดูเห็นได้ทั้งนั้น ส่วนในโกฏฐาสนอกนั้นดูไม่เห็น ได้แต่ฟังและนึกรู้แล้วถือ

เอานิมิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 46

ที่หุ้มกะโหลกศีรษะ ด้านข้างทั้งสองกำหนดตัดเอาแค่หมวกหู ด้าน

หน้าแค่กรอบหน้าผาก ด้านหลังแค่คอต่อ เป็นโอกาส (ที่ตั้ง) ของ

ผมทั้งหลาย๑ โดยตัดตอน ผมทั้งหลาย ข้างล่างตัดตอนด้วย

พื้นรากของตน อัน (หยั่ง) เข้าไปหนังหุ้มศีรษะสักแค่ปลายเมล็ด

ข้าวเปลือกตั้งอยู่ ข้างบนตัดตอนด้วยอากา ข้าง ๆ ตัดตอนด้วยเส้น

ผมด้วยกัน การกำหนดตัดโดยนัยว่า 'ผม ๒ เส้นไม่มีรวมเป็นเส้น

เดียว (คือเป็นเส้น ๆ หรือเส้นใครเส้นมัน)' นี้เป็น (สภาคปริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนของตน ชื่อว่าผมทั้งหลาย (นั้น) ธรรมดาทำมา

มิให้ปนกับโกฏฐาสที่เหลืออีก ๓๐ โดยนัยเช่นว่า 'ผมมิใช่ขน ขน

ก็มิใช่ผม' ดังนี้ การกำหนดตัดว่า 'โกฏฐาสนั่นเป็นส่วนหนึ่งต่าง

หาก' นี้เป็น (วิสภาคปริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน๒ นี้

เป็นกำหนดโดยลักษณะมีสีเป็นต้นแห่งผมทั้งหลาย

ส่วนต่อไปนี้ เป็นกำหนดโดยความปฏิกูล ๕ ส่วน โดยประการ

มีสีเป็นอาทิแห่งผมเหล่านั้น

อันผมนั้น แม้โดยสีก็ปฏิกูล แม้โดยสัณฐาน แม้โดยกลิ่น

แม้โดยที่อาศัย แม้โดยโอกาส ก็ปฏิกูล อธิบายว่า คนทั้งหลายเห็น

๑. ตอนกำหนดโดยโอกาสนี้ ปาฐะแยกเป็น ๒ ประโยค คือโอกาสโต----ปริจฺฉินฺนา ประโยค ๑

สีสกฎาห----โอกาโส ประโยค ๑ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน เพราะตรงนี้กำหนดหนังซึ่งเป็นโอกาส

คือที่ตั้งของผม ไม่ใช่กำหนดผม ควรแก้ ปริจฺฉินฺนา เป็น ปริจฺฉินฺนํ ให้เป็นวิเสสนะของ----จมฺมํ

๒. ตอนวิสภาคปริเฉทนี้ ปาฐะก็วุ่น ๆ อย่างไรอยู่ ความไม่ใคร่ดี ในท้ายหน้า ๓๕

กล่าวไว้หน ๑ ว่า 'เกสา น โลมา โลมาปิ น เกสาติ เอวํ อมิสฺสกตาวเสน วิสภาคปริจฺเฉโท

เวทิตพฺโพ' เป็นประโยคเดียวชัดดี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 47

สิ่งอะไร ๆ ที่มีสีคล้ายผม ในภาชนะข้าวต้มหรือในภาชนะข้าวสวย

ก็ตาม แม้เป็นของพึงใจ ก็จะเกลียดขึ้นมา บอกว่า 'นี่มันปนผม

นำมันไปเสีย' ผมทั้งหลายเป็นของปฏิกูลแม้โดยสี ดังนี้

อนึ่ง คนทั้งหลายกินอาหารกลางคืนอยู่ แม้นถูก (ใย) เปลือก

รัก หรือเปลือกปออันมีสัณฐานดังผมเข้า ก็จะเกลียดขึ้นมาอย่างนั้น

เหมือนกัน ผมปฏิกูลโดยสัณฐาน ดังนี้

อนึ่ง กลิ่นของผมที่เว้นจากการตกแต่ง มีทาน้ำมันและอบดอกไม้

เป็นต้น ย่อมน่าเกลียดนัก กลิ่นของผมที่ถูกไฟยิ่งน่าเกลียดกว่านั้น

แท้จริง ผมทั้งหลาย โดยสีและสัณฐานจะพึงไม่ปฏิกูลก็เป็นได้ แต่ว่า

โดยกลิ่นแล้ว ปฏิกูลทีเดียว อุปมาเหมือนก้อนอุจจาระของเด็กเล็ก

โดยสี สีมันก็เหมือนสีขมิ้น แม้โดยสัณฐาน ก็สัณฐานเหมือนแง่งขมิ้น

และซากสุนัขดำที่ขึ้นแล้ว เขาทิ้งไว้ในที่สำหรับทิ้งขยะ โดยสี สีมันก็

เหมือนสีผลตาลสุก โดยสัณฐาน ก็สัณฐานเหมือนตะโพนทีเขาปล่อย

กลิ้งอยู่ เขี้ยวของมันเล่าก็สัณฐานเหมือนดอกมะลิตูม เพราะเช่นนี้

อุจจาระเด็กและซากสุนัขดำทั้ง ๒ อย่าง โดดสีและสัณฐาน จะไม่

ปฏิกูลก็เป็นได้ แต่ว่าโดยกลิ่นละก็ปฏิกูลแน่ฉันใด แม้ผมก็ฉันน้นั

โดยสีและสัณฐานจะไม่ปฏิกูลก็เป็นได้ แต่ว่าโดยกลิ่นแล้วปฏิกูลเป็น

แท้แล*/SUP>

อนึ่ง ผักสำหรับแกง อันเกิดในที่โสโครกด้วยน้ำครำที่ไหลออก

* เทียบกับข้างหน้าและข้าหลัง ตรงนี้น่าจะมี เอวํ คนฺธโต ปฏิกูลา หรือ อิทํ เนสํ คนฺธโต

ปาฏิกุลฺยํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 48

ไปแต่หมู่บ้าน ย่อมเป็นของน่าเกลียดไม่น่าบริโภคสำหรับคนชาวเมือง

ฉันใด แม้ผมก็ฉันนั้น ชื่อว่าน่าเกลียด เพราะเกิดด้วยน้ำที่ซึมออก

มาแต่โกฏฐาสมีน้ำเหลือง เลือด มูตร กรีส น้ำดีและเสมหะเป็นอาทิ*

นี้แลเป็นความปฏิกูลโดยที่อาศัยแห่งผมทั้งหลายนั้น

อนึ่ง อันผมทั้งหลายนี้ เกิดในกองโกฏฐาส ๓๑ ดุจผักที่ขึ้นใน

กองคูถ มันจึงเป็นของน่าเกลียดนัก เพราะเกิดในที่ไม่สะอาด ดุจผัก

ที่เกิดในที่โสมมทั้งหลายมีที่ป่าช้าและที่เทขยะเป็นต้น และดุจดอกไม้

(น้ำ) มีดอกบัวหลวงและดอกบัวสายเป็นอาทิ ที่เกิดในที่ไม่สะอาด

ทั้งหลาย มีคูเมือง เป็นต้น นี้แลเป็นความปฏิกูลโดยโอกาสแห่งผล

ทั้งหลายนั้น

พระโยคาวจรพึงกำหนดความปฏิกูล ๕ ส่วน โดยสี สัณฐาน

กลิ่น ที่อาศัย และโอกาส แห่งโกฏฐาสทั้งปวง ดุจกำหนดความปฏิกูล

แห่งผมทั้งหลายฉะนั้นเถิด แต่ว่าโดย (ลักษณะคือ) สี สัณฐาน ทิศ

โอกาส และการตัดตอน ต้องกำหนดแยก ๆ กันทุกโกฏฐาส

[ขน]

ในโกฏฐาสเหล่านั้น พึงกำหนด โลมา- ขนทั้งหลายก่อน ขนปกติ

มีประมาณ ๙๐,๐๐๐ ขุม โดยสีปกติ ไม่ดำแท้เหมือนผม แต่เป็นดำปน

เหลือง โดยสัณฐาน ปลายโค้ง สัณฐานดังรากตาล โดยทิศ เกิดใน

ทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส เว้นโอกาสที่ผมตั้งอยู่และฝ่ามือฝ่าเท้าเสีย

เกิดอยู่ตามหนังหุ้มสรีระนอกนั้นโดยมาก โดยตัดตอน เบื้องล่าง

* ผม เกิดด้วยบุพโพโลหิต พอคิดเห็น แต่เลยไปถึงมูตร และกรีส. . .นั้น ติดจะลึก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 49

ตัดตอนด้วยพื้นรากของตนอัน (หยั่ง) เข้าไปในหนังหุ้มสรีระประมาณ

ลิขา๑ ๑ ตั้งอยู่ เบื้องบนตัดตอนด้วยอากาศ เบื้องขวางตัดตอนด้วย

เส้นขนด้วยกัน การกำหนดตัดโดยนัยว่า 'ขน ๒ เส้นไม่มีรวมเป็น

เส้นเดียว (คือเส้นใครเส้นมัน)' นี้เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนของคนแห่งขนเหล่านั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนที่ผิดกับตนก็ เป็นเช่นเดียวกับ (การกำหนด) ผมนั่นแล

[เล็บ]

คำว่า นขา - เล็บทั้งหลาย เป็นชื่อแห่งใบเล็บ ๒๐ อัน๒ เล็บ

ทั้งปวงนั้น โดยสี เป็นสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังเกล็ดปลา

โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ คือ เล็บเท้า เกิดในทิศเบื้องล่าง เล็บมือ

เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่หลังปลายนิ้วทั้งหลาย โดย

ตัดตอน ในทิศทั้ง ๒ (คือ ล่าง บน) กำหนดตัดด้วยเนื้อปลายนิ้ว

ข้างใน กำหนดตัดด้วยเนื้อหลังนิ้ว ข้างนอกและปลาย กำหนดตัด

ด้วยอากาศ ด้านขวาง กำหนตัดด้วยเล็บด้วยกัน การกำหนดตัด

โดยนัยว่า "เล็บ ๒ ใบไม่มีรวมอยู่ด้วยกัน" นี้เป็น (สภาคบริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งเล็บเหล่านั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท)

๑. ลิขา เข้าใจว่าเป็นมาตราวัดความยาว ซึ่งกล่าวไว้ในอภิธานัปปทีปิกา ดังนี้ ๓๖ ปรมาณูเป็น

อณู, ๓๖ อณูเป็นตัชชารี, ๓๖ ตัชชารีเป็นรถเรณู, ๓๖ รถเรณูเป็นลิกขา, ๗ ลิกขาเป็น

อูกา, ๗ อูกาเป็นธัญญมาส (เมล็ดข้าวเปลือก), ๗ ธัญญมาสเป็นอังคุละ (นิ้ว),

๑๒ อังคุละเป็นวิทัตถิ (คืบ), ๒ วิทัตถิเป็นรตนะ (ศอก) ฯลฯ

ได้ยินแปลกันว่าไข่เหาบ้าง ปลายเหล็กจารบ้างก็มี

๒. มหาฎีกาว่า ใบเล็บก็นั่นแหละ เรียกว่าใบเล็บ เพราะมันคล้ายใบไม้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 50

ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับ (การกำหนด) ผมนั่นแล

[ฟัน]

คำว่า ทนฺตา - ฟันทั้งหลาย คือกระดูกฟัน ๓๒ ซี่ของผู้มีฟัน

เต็ม แม้ฟันทั้งหลายนั้น โดยสีก็ขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานหลาย

อย่าง จริงอยู่ บรรดาฟันเหล่านั้น (ว่าด้วย) ฟัน ๔ ซี่ตรงกลาง

ฟันแถวล่างก่อน มีสัณฐานดุจเมล็ดน้ำเต้าที่เขาปักเรียงกันไว้ที่ก้อนดิน

เหนียว สองข้าฟันกลาง ๔ ซี่นั้น ฟันข้างละซี่มีรากเดียว ปลายก็

แง่เดียว สัณฐานดุจดอกมะลิตูม ถัดไป ฟังข้างละซี่ มี ๒ ราก ปลาย

ก็มี ๒ แง่ สัณฐานดุจไม้ค้ำเกวียน ถัดไป ฟันข้างละ ๒ ซี่ มี ๓ ราก

ปลายก็ ๓ แง่ ถัดไป ฟันข้างละ ๒ ซี่ มี ๔ ราก ปลายก็ ๔ แง่แล

แม้แถวบนก็ท่าเดียวกันนั้น โดยทิศ ฟันนั้นเกิดในทิศเบื้องบน โดย

โอกาส ตั้งอยู่ในกระดูกกรามทั้ง ๒ โดยตัดตอน ข้างล่างกำหนดตัด

ด้วยพื้นรากของตนอันตั้งอยู่ในกระดูกกราม ข้างบน กำหนดตัดด้วย

อากาศ เบื้องขวาง กำหนดตัดด้วยฟันด้วยกัน การกำหนดตัดโดยนัย

ว่า "ฟัน ๒ ซี่ไม่มีรวมอยู่ด้วยกัน" นี้เป็น (สภาคบริเฉท) ตัด

ตอนด้วยส่วนของตนแห่งฟันเหล่านั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัด

ตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับ (การกำหนด) ผมนั่นแล

[หนัง]

คำว่า ตโจ - หนัง คือหนังที่หุ้มร่างกายทั้งสิ้นอยู่ เหนือหนัง

นั้น มีสิ่งที่ชื่อว่าฉวี (ผิว) มีสีต่าง ๆ เช่น ดำ คล้ำ เหลือง ซึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 51

(หาก) ชักเอาออกจากร่างกายจนสิ้น (ปั้นเป็นก้อนเข้า) ก็จะได้

ประมาณเท่าเมล็ดในพุทรา* แต่ตโจ โดยสีก็ขาวเท่านั้น ก็แล

ความที่มันขาวนั้นจะปรากฏเมื่อฉวีถลอก เพราะเหตุมีเปลวไฟลวกเอา

และถูกเครื่องประหารเป็นต้น โดยสัณฐานมันก็มีสัณฐานเหมือนร่าง

กายนั่นเอง นี่เป็นความสังเขปในข้อว่าโดยสัณฐานนี้

[สัณฐานหนังต่าง ๆ]

ส่วนโดยความพิสดาร (พึงทราบ) ดังนี้ หนังนิ้วเท้า สัณฐาน

ดังรังไหม หนังหลังเท้า สัณฐานดังรองเท้าหุ้มหลังเท้า หนังแข้ง

สัณฐานดังใบตาลห่อข้าว หนังขา สัณฐานดังไถ้บรรจุข้าวสารเต็ม

หนังตะโพก สัณฐานดังผืนผ้ากรองอุ้มน้ำ หนังหลัง สัณฐานดัง

หนังหุ้มโล่ หนังท้อง สัณฐานดังหนังหุ้มรางพิณ หนังอก โดยมาก

มีสัณฐานสี่เหลี่ยม หนังแขนทั้งสองข้าง สัณฐานดังหนังหุ้มแล่งธนู

หนังหลังมือ สัณฐานดังฝักมีด หรือสัณฐานดังถุงโล่ หนังนิ้วมือ

สัณฐานดังฝักกุญแจ หนังคอ สัณฐานดังเสื้อปิดคอ หนังหน้า มี

ช่องใหญ่น้อย สัณฐานดังรังตั๊กแตน หนังศีรษะ สัณฐานดักถลกบาตร

วิธีกำหนดหนัง

ก็แลพระโยคาวจรผู้จะกำหนดเอาหนัง (เป็นอารมณ์) พึงส่ง

ญาณมุ่งขึ้นเบื้องบน (แห่งสรีระ) จับแต่ริมฝีปากบน กำหนดหนัง

ที่หุ้มอยู่รอบปากเข้าก่อนเป็นปฐม แต่นั้นจึงกำหนดหนังหุ้มกระดูก

* พุทราพันธุ์ชมพูทวีป ไม่ใช่พุทราพันธุ์ไทย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 52

หน้าผาก ต่อนั้นจึงส่งญาณเข้าไปโดยระหว่างกระดูกศีรษะและหนังหุ้ม

ศีรษะ ดุจสอดมือเข้าไปโดยระหว่างแห่งบาตรที่สวมถลกฉะนั้น แล้ว

และแยกความที่หนังเนื่องเป็นอันเดียวกันกับกระดูกออก กำหนด (แต่)

หนังศีรษะ ต่อนั้น กำหนดหนังคอ ต่อนั้นกำหนดหนังมือขวาทั้งโดย

อนุโลมและโดยปฏิโลม๑ ครั้นแล้วกำหนดหนังมือซ้ายโดยนัยนั้นเหมือน

กัน ต่อนั้นกำหนดหนังหลัง ครั้นกำหนดหนังหลังนั้นแล้ว จึง

กำหนดโดยนัยเดียวกันนั้น แต่นั้นกำหนดหนังท้องน้อย หนังหน้า

เท้าซ้ายโดยนัยเดียวกันนั้น แต่นั้นกำหนดหนังท้องน้อย หนังหน้า

ท้อง หนังทรวงอกและหนังคอโดยลำดับไป ทีนี้กำหนดหนังใต้คาง

ถัดหนังคอ (ขึ้นมา) จนถึงริมฝีปากล่างเป็นที่สุดจึงเสร็จ เมื่อพระ

โยคาวจรกำหนดเอาหนังหยาบ ๆ ได้อย่างนี้ แม้หนังที่ละเอียดก็ย่อม

จะปรากฏ๒

โดยทิศ หนังเกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส มันหุ้มร่างกายทั้ง

สิ้นอยู่ โดยตัดตอน เบื้องล่างกำหนดตัดด้วยพื้นที่มันตั้งอยู่ เบื้องบน

กำหนดตัดด้วยอากาศ นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของ

ตนแห่งหนังนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับ

ตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

๑. มหาฎีกาว่า กำหนดตั้งแต่หัวไหล่ลงไปทางหลังแขน เป็นอนุโลม กำหนดแต่ข้อมือขึ้นมา

ทางหน้าแขน เป็นปฏิโลม

๒. มหาฎีกาว่า ที่ว่าละเอียด คือละเอียดกว่าหนังหยาบที่กล่าวมาแล้ว อีกนัยหนึ่ง หมายถึง

หนังที่กำหนดเห็นยาก เพราะถูก ตโจ (หนังหยาบ) ปิดบังอยู่ เช่นหนังในที่ลับต่าง ๆ มีหนัง

ข้างในปากเป็นต้น ซึ่งจะต้องส่งญาณเพิกตโจเข้าไปดูมันจึงจะปรากฏ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 53

[เนื้อ]

คำว่า มํสํ - เนื้อ คือเนื้อ ๙๐๐ ชิ้น เนื้อทั้งปวงนั้น โดยสีแดง

เช่นดังดอกทองกวาว โดยสัณฐาน เนื้อปลีแข้ง สัณฐานดังข้าวในห่อ

ใบตาล๑ เนื้อขา สัณฐานดังลูกหินบด เนื้อสะโพก สัณฐานดังก้อน

เส้า เนื้อหลัง สัณฐานดังแผ่นตาลงบ๒ เนื้อสีข้างทั้งสอง สัณฐาน

ดังดินไล้บาง ๆ ตามท้องฉางข้าว๓ เนื้อนม สัณฐานดังก้อนดินที่เขา

ผกไว้แล้วมันคล้อยลง เนื้อแขนทั้งสองข้าง สัณฐานดังหนูตัวใหญ่

ถลกหนัง เขาตั้งไว้ทำเป็น ๒ ชั้น๔ เมื่อพระโยคาวจรกำหนดเนื้อหยาบ ๆ

ได้อย่างนี้๕/SUP> แม้เนื้อที่ละเอียดก็ย่อมจะปรากฏ โดยทิศ เนื้อนั้นเกิด

ในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส มันโอบอยู่ตามกระดูก ๓๐๐ ท่อนกว่า ๆ๖/SUP>

๑. ใบตาลนั้นแข็ง จะห่อพับอย่างใบตองหรือใบบัวไม่ได้ คงจะต้องเย็บเป็นกล่องรูปกระบอก

ท่านจึงนำมาเปรียบกับเนื้อปลีแข้ง

๒. ตาลคุฬปฏล มหาฎีกาบอกไว้ว่า เขาเอาเยื่อตาลสุกมาไล้บาง ๆ บงที่ใบตาลหรืออะไรก็ได้

ที่แบน ๆ ผึ่งแดดไว้จนหมาดติดกันแล้วลอกเอาเป็นแผ่น ๆ ดังนี้ท่วงทีก็คล้าย "มะม่วงแผ่น"

ของไทยเรา คือมะม่วงกวนแล้วไล้แผ่ผึ่งแดด ลอกเอาเป็นแผ่น ๆ เหมือนกัน จะต่างกัน

ก็ที่ตาลแผ่นไม่ได้กวน แต่มะม่วงแผ่นกวนก่อน เพราะทำเป็นแผ่นจึงเรียกว่างบ

๓. ท่านใช้ กุจฺฉิ ก็ต้องแปลว่าท้อง แต่ว่าในภาษาไทยก็ดูเหมือนจะใช้นัยเดียวกัน คือ บรรดา

สิ่งที่มีระวางบรรทุกหรือบรรจุของเก็บของได้ ก็ใช้คำว่าท้องทั้งนั้น เช่น ท้องพระคลัง ท้องเรือ

ท้องคลอง ฯลฯ

๔. เนื้อแขนท่อนบนชั้น ๑ ท่อนล่างชั้น ๑ เช่นนั้นกระมัง

๕. ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น เอกํ เข้าใจว่าพิรุธ ที่ถูกเป็น เอวํ มีทีเทียบในตอน

นฺหารู คือ เอวํ โอฬาริโกฬาริกํ ปริคฺคณฺหนฺตสฺส. . . ท่าเดียวกัน

๖. ปาฐะว่า นาธิกานิ ตีณี อฏฺฐิส ตานิ จะตอ้ งบอกทำอะไรว่า 'ไม่เกิน' คิดไม่เห็น

เหตุ แต่ว่า นาธิกานิ นั้น ฉบับพม่าเป็นวีสาธิกานิ เลยกลายเป็นกระดูก ๓๒๐ ไป ได้

พบในปรมัตถโชติกาอรรถกถาขุททกปาฐะ ตอนแก้ทวดึงสาการ (หน้า ๕๒) เป็นสาธิกานิ

(อิมานิ สาธิกานิ ตีณิ อฏฺฐิสตานิ) ถ้าอย่างนี้ก็ต้องแปลว่า 'กระดูก ๓๐๐ กว่า ๆ'

ปาฐะนี้น่าจะถูกกว่า เพราะในตอนว่าถึงกระดูกต่อไป ท่านใช้ศัพท์ มตฺต-ประมาณ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 54

โดยตัดตอน เบื้องล่าง กำหนดตัดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ที่โครงกระดูก เบื้อง

บน กำหนดตัดด้วยหนัง เบื้องขวาง กำหนดตัดด้วยเนื้อด้วยกัน นี้เป็น

(สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งเนื้อนั้น ส่วน (วิสภาค-

ปริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[เอ็น]

บทว่า นฺหารู - เอ็นทั้งหลาย คือ เอ็น ๙๐๐ เส้น โดยสี เอ็น

ทั้งปวงสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานต่าง ๆ จริงอยู่ ในเอ็นเหล่า

นั้น เอ็นใหญ่ที่รึงรัดสรีระจับแต่ส่วนบนแห่งคอหยั่งลงไปทางข้างหน้า

๕ เส้น ทางข้างหลังก็ ๕ เส้น ทางเข้าขวาก็ ๕ เส้น ทางข้างซ้าย

ก็ ๕ เส้น แม้ที่รึงรัดมือขวา ทางข้างหน้ามือก็ ๕ ทางข้างหลัง

(มือ) ก็ ๕ ที่รึงรัดมือซ้ายก็อย่างนั้น แม้ที่รึงรัดเท้าขวา ทาง

ข้างหน้าเท้าก็ ๕ ทางข้างหลังก็ ๕ ที่รึงรัดเท้าซ้ายเล่าก็อย่างนั้น ดังนี้

แล เอ็นใหญ่ ๖๐ เส้น อันได้ชื่อว่า สรีรธารกา (เอ็นดำรงร่าง)

รึงรัดกายหยั่งลงไป (ตลอดร่าง) ซึ่งท่านเรียกว่า กัณฑรา (เอ็น

รากเง่า ?) บ้าง* เอ็นเหล่านั้นทั้งปวง มีสัณฐานดังต้นคล้าอ่อน

ส่วนเอ็นอื่น ๆ แผ่คลุมตำแหน่ง (แห่งร่างกาย) นั้น ๆ อยู่ ที่เล็กกว่า

(ติมตฺตานิ อฏฺฐิสตานิ) ซึ่งมหาฎีกาให้ข้อสังเกตไว้ว่า ด้วย มตฺต ศัพท์ ส่อว่ายังมีกระดูก

อื่นอีกที่มิได้นำมากล่าวไว้ในที่นั้น เชน่ กระดูกกน้ (อานิสทฏฺฐิ) เป็นต้น ดังนี้ จึงแก้เป็น

สาธิกานิ แปลว่า กว่า ๆ

* เย ในประโยค เย กณฺฑราติปิ วุจฺจนฺติ นั้น เป็นสากังขคติของประโยคข้างหน้า

หาใช่เป็นคู่ ย. ต. กับ เต ในประโยคข้างหลังไม่ เพราะฉะนั้น ควรถอนเครื่องหมายหัวตาปู

หลัง โอติณฺณา มาไว้หลัง วุจฺจนฺติ รวมเป็นประโยคเดียวกันจึงจะถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 55

เอ็นสรีรธารกานั้น สัณฐานดังเชือกด้วย* ยังมีเอ็นอื่น ๆ เล็กกว่านั้น

สัณฐานดังเถากระพังโหมนั่นแหละ อื่น (อีก) เล็กกว่านั้น สัณฐาน

ดังสายพิณใหญ่ อื่น (อีก) สัณฐานดังเส้นด้วยอ้วน ๆ เอ็นที่หลังมือ

และเท้า สัณฐานดังตีนนก เอ็นที่ศีรษะ สัณฐานดังข่ายคลุมศีรษะ

ทารก เอ็นที่หลัง สัณฐานดังอวนเปียกที่เขาแผ่ไว้ในแดด เอ็นอัน

(แล่น) ไปตามองคาพยพใหญ่น้อยนั้น ๆ ที่เหลือ (จากที่กล่าว

แล้ว) มีสัณฐานดังเสื้อร่างแหที่สวมร่างกายไว้ โดยทิศ 'เอ็นเกิดใน

ทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส มันยึดกระดูกในร่างกายทั้งสิ้นอยู่ โดยตัด

ตอน เบื้องล่าง กำหนดตัดด้วยพื้นที่มันตั้งอยู่บนกระดูก ๓๐๐ ท่อน

เบื้องบน กำหนดตัดด้วยตำแหน่งที่มันตั้งจดเนื้อและหนังอยู่ เบื้องขวาง

กำหนดตัดด้วยเอ็นด้วยกัน นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วน

ของตนแห่งเอ็นเหล่านั้น ส่วน (วิสภาคปริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วน

ที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[กระดูก]

คำว่า อฏฺฐี - กระดูกทั้งหลาย คือ ยกเว้นกระดูกฟัน ๓๒ ซี่

เสีย ที่เหลือเป็นกระดูกประมาณ ๓๐๐ ชิ้น ดังนี้ คือ กระดูกมือ ๖๔

กระดูกเท้า ๖๔ กระดูกอ่อนที่ติดเนื้ออยู่ ๖๔ กระดูกซ่นเท้า ๒

กระดูกข้อเท้าข้างละ ๒ กระดูกแข้ง (ข้างละ) ๒ กระดูกเข่า (ข้างละ) ๑

กระดูกขา (ข้างละ) ๑ กระดูกสะเอว ๒ กระดูกสันหลัง ๑๘

* เทียบดูกับประโยคหลัง ๆ แล้ว เห็นว่า อญฺเญ ปน . . . ฐิตา กับ ตโต สุขุมตรา

สุตฺตรชฺชุกสณฺฐานา นี้เป็นประโยคเดียวกัน จึงควรถอนเครื่องหมายหัวตาปูหลัง  ิตา เสีย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 56

กระดูกซี่โครง ๒๔ กระดูกหน้าอก ๑๔ กระดูก (บัง) หัวใจ ๑

กระดูกรากขวัญ ๒ กระดูกสะบัก ๒ กระดูกต้นแขน ๒ กระดูก

ปลายแขนข้างละ ๒ กระดูก้านคอ ๗ กระดูกคาง ๒ กระดูก

จมูก ๑ กระดูกเบ้าตา ๒ กระดูกหู ๒ กระดูกหน้าผาก ๑ กระดูก

กระหม่อม ๑ กระดุกกะโหลกศีรษะ ๙๑

กระดูกทั้งปวงนั้น โดยสี เป็นสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐาน

ต่าง ๆ จริงอยู่ ในกระดูเหล่านั้น กระดูกนิ้วเท้าข้อปลาย มี

สัณฐานดังเมล็ดบัว๒ กระดูกข้อกลางถัดข้อปลายนั้นเข้ามา สัณฐาน

ดังเม็ดขนุน๓ กระดูกข้อโคน (ถัดข้อกลางเข้ามา) สัณฐานดัง

บัณเฑาะว์ กระดูกหลังเท้า สัณฐานดังกองหัวคล้าที่ถูกบุบ๔ กระดูก

ซ่นเท้า สัณฐานดังจาวตาลในลอนเดียว กระดุกข้อเท้า สัณฐานดัง

ลูกสะบ้า (คู่) ประกบกัน๕ กระดูกแข้งตรงที่ ๆ ตั้งลงในกระดูกข้อเท้า

๑. ระเบียบแสดงจำนวนกระดูกนี้วุ่นอยู่ ที่มีทั้ง ๒ ข้าง บอกรวมเลยก็มี เช่นกระดูกมือ ๖๔

กระดูกเท้า ๖๘ กระดูกเช่น ๒ บอกแยกข้างไว้ก็มี เช่นกระดุกข้อเท้าข้างละ ๒ ก็บอกไว้ว่า

เอเกกสฺมึ ปาเท เทฺว เทฺว โคปฺผกฏฺฐีนิ ทีนี้มีทั้ง ๒ ข้าง แต่ไม่มีศัพท์บอกแยกข้างก็มี

เช่นกระดูกแข้ง กระดูกเข่า กระดูกขา ท่านว่าไว้เฉย ๆ ว่า เทฺว ชงฺฆฏฺฐีนิ เอกํ

ชนฺนุกฏฺฐิ เอกํ อูรุฏฺฐิ ก็ต้องเติม 'ข้างละ' เอาเอง เพราะถ้าแปลไปตรง ๆ นอกจาก

ไม่ได้ ๓๐๐ แล้ว ยังไม่ตรงกับของจริงด้วย

ในปรมัตถโชติกาไม่บอกจำนวน และใช้ศัพท์แปลกไปก็มี เช่นกระดูกสะบักใช้ว่า

ปิฏฺฐิพาหกฏฺฐิ แต่ในวิสุทธิมรรคนี้ใช้ว่า โกฏฏฏฺฐิ

๒. โบราณแปลกันมาเช่นนั้น ในปรมัตถโชติกาเป็น กกฺกฏพีช. . .อภิธานัปปทีปิกาว่า เมล็ดตูมกา

๓. ในปรมัตถโชติกาว่า อปริปุณฺณปนสฏฐิ เม็ดขนุนที่ยังไม่เต็ม

๔. ในปรมัตถโชติกาเป็น โกฏิตกนฺทลปิญฺชราสิ. . .

๕. ในปรมัตถโชติกา มี เอกโต อยู่หน้า พนฺธ. . . ดังนี้ โคปฺผกฏฺฐีนิ เอกโต พนฺธกีฬา

คุฬกสณฺฐานานิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 57

สัณฐานดังหน่อเป้งที่ปอเปลือก กระดูกแข้งท่อนเล็ก สัณฐานดังคัน

ธนู* ท่อนใหญ่ สัณฐานดังหลังงูที่เหี่ยว ๆ กระดูกเข่า สัณฐานดังต่อม

น้ำที่แหว่งไปข้างหนึ่ง กระดูกแข้งตรงที่ตั้งจดในกระดูกเข่านั้น สัณฐาน

ดังเขาโคปลายทู่ กระดูกขา สัณฐานดังด้ามพร้าและด้ามขวานที่ถาก

แต่งหยาบ ๆ กระดูกขาตรงที่ตั้งจดในกระดูกสะเอว สัณฐานดังลูกสะบ้า

กระดูกสะเอวตรงที่ตั้งจดกับกระดูกขานั้น สัณฐานดังผลมะงั่วใหญ่

ปลายปาด กระดูกสะเอว แม้เป็น ๒ ชิ้น แต่มันติดกัน สัณฐานดัง

เตาช่างหม้อ (ถ้าแยกกันออก) แต่ละชิ้น สัณฐานดังคีมช่างทอง

กระดูกตะโพกทางปลาย สัณฐานดังพังพานงูที่เขาจับคว่ำหน้าลง มีช่อง

น้อยใหญ่ ๗-๘ แห่ง กระดูกสันหลังข้างใน สัณฐานดังห่วงแผ่น

ตะกั่วที่วางซ้อน ๆ กันไว้ ข้างนอก สัณฐานดังลูกประคำ ในระหว่าง ๆ

กระดูกสันหลังเหล่านั้น มีเดือยอยู่ ๒-๓ ซี่คล้ายฟันเลื่อย ในกระดูก

ซี่โครง ๒๔ ซี่ ซี่ที่ไม่เต็ม (คือสั้น) สัณฐานดังเคียวไม่เต็มเล่ม ซี่

ที่เต็ม (คือยาวจดกัน) สัณฐานดังเคียวเต็มเล่ม หมดด้วยกันสัณฐาน

ดังปีกกางของไก่ขาว กระดูกอก ๑๔ ชิ้น สัณฐานดังเรือนคานหาม

ที่คร่ำคร่า กระดูกที่หัวใจ สัณฐานดังจวัก กระดูกรากขวัญ สัณฐาน

ดังมีดโลหะเล่มเล็ก ๆ กระดูกสะบัก สัณฐานดังจอบชาวสีหลที่เหี้ยน

ไปข้างหนึ่ง กระดูก (ต้น) แขน สัณฐานดังด้ามแว่น กระดูก

ปลายแขน สัณฐานดังรากตาลคู่ กระดูกข้อมือ สัณฐานดังห่วงแผ่น

ตะกั่วที่เขาเชื่อมให้ติดกันตั้งไว้ กระดูกหลังมือ สัณฐานดังกองหัว

* มหาฎีกาว่า หมายถึงคันธนูเล็ก ๆ สำหรับเด็กเล่น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 58

คล้าที่ถูกบุบ กระดูกข้อโคนนิ้วมือ สัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูก

ข้อกลางนิ้ว สัณฐานดังเมล็ดขนุนไม่เต็มเม็ด กระดูกข้อปลายนิ้ว

สัณฐานดังเมล็ดตุมกา กระดูกคอ ๗ ชิ้น สัณฐานดังแว่นหน่อไม้ที่

คนใช้ไม้เสียบตั้งไว้ (เป็นแว่น ๆ) โดยลำดับกัน กระดูกคางอัน

ล่าง สัณฐานดังคีมเหล็กของพวกช่างโลหะ อันบน สัณฐานดังเหล็ก

สำหรับขูด กระดูกกระบอกตาและกระบอกจมูก สัณฐานดังเต้าตาล

อ่อนที่ควักจาวออกแล้ว กระดูกหน้าผาก สัณฐานดังเปลือกสังข์ที่วาง

คว่ำหน้าไว้ กระดูกกกหู สัณฐานดังฝักมีดโกนของช่างกัลบก กระดูก

ในที่ ๆ หน้าผากกับกกหูติดกันเป็นแผ่นอยู่ตอนบน สัณฐานดังท่อน

ผ้าที่ยู่ยี่และเต็มไปด้วยเนยใส กระดุกกระหม่อม สัณฐานดังกะโหลก

มะพร้าวเบี้ยวที่ปาดหน้าแล้ว กระดูกศีรษะ สัณฐานดังกะโหลก

น้ำเต้าแก่ที่เขาเย็บตรึงเอาไว้ (ไม่ให้มันแตกแยะออกจากกัน ?)

โดยทิศ กระดูกเกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส (ว่า) โดยไม่

แปลกกัน มันตั้งอยู่ทั่วร่างกาย แต่ (ว่า) โดยแปลกกัน ในกระดูก

ทั้งหลายนั้น กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอตั้งอยู่บน

กระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอว

ตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้า

ตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้า โดยตัดตอน ข้างใน กำหนดตัดด้วยเยื่อใน

กระดูก ข้างบน กำหนดตัดด้วยเนื้อ ที่ปลายและโคน กำหนดตัดด้วย

กระดูกด้วยกัน นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 59

ตนแห่งกระดูกเหล่านั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่

ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[เยื่อในกระดูก]

คำว่า อฏฺฐิมิญฺชํ-เยื่อในกระดูก คือเยื่ออันอยู่เฉพาะภายในแห่ง

กระดูกทั้งหลายนั้น ๆ เยื่อในกระดูกนั้น โดยสี ขาว โดยสัณฐาน เยื่อ

ที่อยู่ภายในกระดูกท่อนใหญ่ ๆ สัณฐานดังยอดหวายใหญ่ที่เขาลนไฟ

แล้วสอดเข้าไว้ในกระกอบไม้ไผ่ เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนเล็ก ๆ

สัณฐานดังยอดหวายเล็กที่เขาลนไฟแล้ว สอดเข้าไว้ในปล้องอ้อ๑ โดย

ทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในกระดูก โดยตัดตอน

กำหนดตัดด้วยพื้นข้างในกระดูกทั้งหลาย นี้เป็น (สภาคบริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งเยื่อในกระดูกนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[ไต]

คำว่า วกฺกํ - ไต๒ ได้แก่ก้อนเนื้อ ๒ ก้อน มีขั้วเดียวกัน ไต

นั้น โดยสี แดงอ่อนดุจสีเม็ดทองหลางป่า โดยสัณฐาน มีสัณฐานดัง

๑. ศัพท์ ปกฺขิตฺต และเสทิต ในบทสมาส ปกฺขิตฺต . . . สณฺฐานํ นั้น ลักษณะเป็นวิเสสนะ

ทั้ง ๒ บท ทำให้แปลฝืดและฝืน เพราะต้องแปล เสทิต ก่อน ปกฺขิตฺต สู้ปาฐะในปรมัตถ-

โชติกาไม่ได้ ท่านเรียงไว้ให้แปลง่าย และได้ความดี ดังนี้ มหนฺตมหนฺตานํ อฏฐีนํ

อพฺภนฺตรคตํ เสเทตฺวา วฏฺเฏตฺวา มหนฺเตสุ วํสนฬกปพฺเพสุ ปกฺขิตฺตมหาเวตฺตงฺกูร-

สณฺฐุน นํ. . . เยื่อที่อยภู่ ายในกระดูกท่อนใหญ่ ๆ สัณฐานดังหน่อหวายใหญ่ที่เขาลนไฟแล้วบิดสอด

เข้าไว้ในปล้องไม้ไผ่และไม้อ้อที่ใหญ่. . .

๒. วักกะ นี้ โบราณแปลว่าม้าม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 60

ลูกสะบ้าคู่ของเด็ก ๆ (สำหรับล้อเล่น) หรือสัณฐานดังผลมะม่วงแฝด

ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส มันเป็น

ก้อนเนื้อที่เอ็นใหญ่ซึ่งโคนเป็นเส้นเดียว (แล่น) ออกจากหลุมคอไป

หน่อยแตกเป็น ๒ เส้น รัดไว้ โอบเนื้อหัวใจตั้งอยู่* โดยตัดตอน ไต

ก็กำหนดตัดด้วยส่วนของไต นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่อน

ของตนแห่งไตนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่อนที่ผิดกับ

ตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[หัวใจ]

คำว่า หทยํ - คือเนื้อหัวใจ หัวใจนั้น โดยสี แดงดังสีหลัง

กลีบปทุม โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังดอกปทุมตูมที่เขาปลิดกลีบ

ชั้นนอกออกแล้วตั้งคว่ำลง ข้างนอกเกลี้ยง ข้าในเป็น (รัง) เช่น

ดังภายในบวบขม ของพวกคนมีปัญญาแย้มหน่อยหนึ่ง ของพวก

คนปัญญาอ่อนคงตูกอยู่นั่น อนึ่ง ข้างในหัวใจนั้นมีหลุมขนาดจุเมล็ด

ในบุนนาคได้ เป็นที่ขังอยู่แห่งโลหิตประมาณกึ่งซองมือ ซึ่งมโนธาตุ

และมโนวิญญาณธาตุได้อาศัยเป็นไป ก็แลโลหิตนี้นั้น ของคนราค-

จริตเป็นสีแดง ของคนโทสจริตเป็นสีดำ ของคนโมหจริตเป็นสีเช่น

ดังน้ำล้างเนื้อ ของคนวิตกจริตเป็นสีดังเยื่อถั่วพู ของคนสัทธาจริต

เป็นสีดังดอกกรรณิการ์ ของคนปัญญาจริตใส่ผ่องไม่หมองมัว ขาว

บริสุทธิ์ ปรากฏมีแสงดังแก้วมณีแท้ที่เจียระไนแล้ว โดยทิศ เกิด

ในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่หว่างกลางนมทั้ง ๒ ภายในร่างกาย

* ในสรีรวิทยาว่า ไตอยู่ที่ข้างกระดูกสันหลัง แถวบั้นเอวทั้ง ๒ ข้าง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 61

โดยตัดตอน หัวใจก็กำหนดตัดด้วยส่วนของหัวใจ นี่เป็น (สภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งหัวใจนั้น ส่วน (วิสภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[ตับ]

คำว่า ยกนํ - ตับ ได้แก่แผ่นเนื้อสองแฉก ตับนั้น โดยสี แดง

(แต่) พื้นเหลือง (จึง) ไม่แดงจัด สีดังสีหลังกลีบบัวแดง โดย

สัณฐาน ที่โคนเป็นแผ่นเดียว ที่ปลายเป็นสองแฉก สัณฐานดังใบทอง

หลาง อนึ่ง ตับนั้น ของพวกคนโง่ เป็นแผ่นโตแผ่นเดียวเท่านั้น

ของคนมีปัญญา เป็นแผ่นย่อม ๆ ๒ หรือ ๓ แผ่นก็มี โดยทิศ มัน

เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่หว่างนมทั้งสองค่อนไปข้าขวา

โดยตัดตอน ตับก็กำหนดตัดด้วยส่วนของตับเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งตับนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[พังผืด]

คำว่า กิโลมกํ-พังผืด ได้แก่เนื้อ (เยื่อ) สำหรับหุ้ม มี

๒ ประเภท โดยแยก เป็นพังผืดปกปิด และพังผืดเปิดเผย พังผืด

ทั้ง ๒ อย่างนั้น โดยสี ขาวดังสีผ้าทุกูลเก่า* โดยสัณฐาน มีสัณฐาน

ตามโอกาส (ที่อยู่) ของตน โดยทิศ พังผืดประเภทปกปิดเกิดใน

* ผ้าทุกูล เป็นผ้าอย่างดีชนิดหนึ่ง ไม่ทราบว่าทำด้วยอะไร ท่านจึงมักใช้ศัพท์ว่า

'ทุกูลพัสตร์' มาเรื่อย ๆ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 62

ทิศเบื้องบน พังผืดอีกอย่างเกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส พังผืด

ประเภทปกปิด หุ้มหัวใจและไตอยู่ พังผืดประเภทเปิดเผย ยึดเนื้อ

(กล้าม) ใต้หนังอยู่ทั่วร่างกาย โดยตัดตอน เบื้องล่างกำหนดตัด

ด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดตัดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดตัดด้วยส่วน

ของพังผืดเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนเอง

พังผืดนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน

ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[ม้าม]

คำว่า ปิหกํ-ม้าม๑ ได้แก่เนื้อสัณฐานเป็นลิ้นอยู่ในท้อง ม้าม

นั้น โดยสี มีสีคราวอ่อนดุจสีดอกคนทิสอ๒ โดยสัณฐาน สัณฐาน

ดังลิ้นลูกโคดำ มีขั้วยาวประมาณ ๗ นิ้ว โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส มันตั้งอยู่ติดข้างบนของพื้นท้องทางซ้ายหัวใจ ซึ่งเมื่อมัน

ออกมาข้างนอก เพราะถูกทำร้ายด้วยเครื่องประหาร สัตว์ทั้งหลาย

ก็จะสิ้นชีวิต๓ โดยตัดตอน ม้ามกำหนดตัวด้วยส่วนของม้ามเอง นี่เป็น

(สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งม้ามนั้น ส่วน (วิสภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

๑. ปิหกํ โบราณแปลว่า ไต

๒. นีลํ แปลได้หลายอย่าง สีดำ สีขาบ (น้ำเงินแก่) สีเขียวแก่ และสีคราอ่อนก็ได้

ในที่นี้เปรียบด้วยคนทิสอ ๆ นั้นว่าสีครามอ่อน

๓. อวัยวะข้างใน มีอันเป้นออกมาข้างนอก ก็เป็นอาการร้ายแรงทั้งนั้น เหตุไร ท่านจึงมา

กล่าวที่ตรงม้ามนี่แห่งเดียว ? ศัพท์ ปหรณปฺปหาเรน นั้น ถ้าแปลตรง ๆ ว่า ประหารด้วย

เครื่องประหาร ก็ฟังทื่อเต็มที จึงแปลเยื้องไปว่าทำร้ายด้วยเครื่องประหาร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 63

[ปอด]

คำว่า ปปฺผาสํ-ปอด ได้แก่เนื้อปอดอันมีเนื้อย่อย ๆ ๓๒ ชิ้น

(ประกอบกันอยู่) ปอดนั้น โดยสี แดงดังสีผลมะเดื่อที่สุกยังไม่จัด

โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังชิ้นขนมหนา ๆ ที่เขาตัดไม่เรียบ มันเป็น

เนื้อที่ซีดเผือดเหมือนก้อนใบไม้ที่คนเคี้ยวแล้ว (จนจืดเหลือเป็นชาน)

เพราะมันถูกไอร้อนที่เกิดแต่กรรมอันพลุ่งขึ้นมาทำเอา เพราะข้างใน

มันไม่มีสิ่งที่กินเข้าไปและสิ่งที่ดื่มเข้าไปเลย* โดยทิศ มันเกิดในทิศ

เบื้องบน โดยโอกาส มันปกหัวใจและตับห้อยติดอยู่ในระหว่างนม

ทั้ง ๒ ในภายในร่างกาย โดยตัดตอน ก็กำหนดตัดด้วยส่วนของ

ปอดเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งปอดนั้น

ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผม

นั่นแล

[ไส้ใหญ่]

คำว่า อนฺตํ-ไส้ใหญ่ ได้แก่ลำไส้ ของผู้ชายยาวประมาณ

* ความตอนนี้ ในปรมัตถโชติกาท่านแยกเป็นประโยคหนึ่ง ดังนี้ ตเทตํ อพฺภนฺตเร

อสิตปีตาทีนํ. . . นีรสํ นิโรชํ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ความท่อนนี้เป็นความแสดงลักษณะ ไม่ใช่แสดง

สัณฐาน จึงไม่น่าเรียบไว้ตรงนี้ น่าจะเรียบไว้ท่อนต้น

อนึ่ง ที่ว่าเนื้อปอดไม่สดใส เพราะถูกไอร้อนเกิดแต่กรรมนั้น อย่างไรอยู่ ทำไม

กรรมจะไปทำแต่ปอดอย่างเดียวเล่า ถ้าว่าเป็นกรรมแล้วก็น่าจะเป็นหมดทั่วทั้งเนื้อตัวนั่นแหละ

และที่ว่าปอดมันซีดเผือดเพราะภายในมันไม่มีข้าวและน้ำนั้น ก็อย่างไรอีก ธรรมดาสร้างปอดไว้ทำ

หน้าที่อย่างอื่น ไม่ใช่หน้าที่รับข้าวน้ำ แล้วจะยกเรื่องนั้นมาอ้างอย่างไรได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 64

๓๒ ศอก ของผู้หญิงยาวประมาณ ๒๘ ศอก ขดไปมา ๒๑ ทบ๑

ไส้ใหญ่นี้นั้น โดยสี ขาวดังสีก้อนกรวด (ขาว) หรือปูนขาว โดย

สัณฐาน มีสัณฐานดังงูหัวขาดที่คนวางขนไว้ในรางเลือด โดยทิศ

เกินในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในร่างกาย มีปลายอยู่ที่คอ

หอย (ข้าง ๑) และที่ทวารหนัก (ข้าง ๑) เพราะข้างบนมันติดอยู่ที่

คอหอย๒ และข้างล่างติดอยู่ที่ทวารหนัก โดยตัดตอนก็กำหนดตัด

ด้วยส่วนของไส้ใหญ่เอง นี้เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วน

ของตนแห่งไส้ใหญ่นั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่

ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[ไส้น้อย]

คำว่า อนฺตคุณํ-ไส้น้อย คือไส้อันเป็นสายพันอยู่ตามขนดไส้

ใหญ่ ไส้น้อยนั้น โดยสี ขาวดังสีรากจงกลนี โดยสัณฐาน ก็สัณฐาน

ดังรากจงกลนีนั่นแหละ โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส

มันยึดขนดไส้ใหญ่ให้เป็นมัดอยู่ด้วยกัน ดุจเชือกยนต์ยึดแป้นยนต์ไว้

ในเวลาที่พวกช่างผู้ทำงานต่าง ๆ มีงานขุดเจาะเป็นต้นชักยนต์ (มัน)

อยู่ในระหว่างแห่งขนดไส้ใหญ่ ๒๑ ทบ เหมือนเชือก (เล็ก) ที่เย็บ

๑. ท่านน่าจะเผลอ ศัพท์ที่เป็นวิเสสนะ ๒ ข้างต้น คือ ทวตฺตึสหตฺถํ กับ อฏฺฐีวีสติหตฺถํ

เป็น นุํป. อีกศัพท์หนึ่งคือ โอภคฺคา เป็น อิต. เห็นได้วา่ . . . หตฺถํ นนั้ มุ่งให้เปน็ วิเสสนะ

ของ อนฺตํ น่าแก้เป็น . . . หตฺถา จะได้มีลิงค์เสมอกับบทลิงคัตถะ คือ อนฺตวฏฺฏิ

๒. ถ้าอย่างนี้ ก็เป็นอันรวมกระเพาะอาหารเข้าด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 65

ร้อยไปตามหว่างแห่งขดเชือกสำหรับเช็ดเท้าฉะนั้น๑ โดยตัดตอน

ก็กำหนดตัดด้วยส่วนของไส้น้อยเอง นี้เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนของตนแห่งไส้น้อยนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[อาหารใหม่]

สิ่งที่มีอยู่ในอุทร ชื่อ อุทริยํ - อาหารใหม่ หมายเอาสิ่งที่กิน ดื่ม

เคี้ยว ลิ้ม เข้าไป๒ อุทริยะนั้น โดยสี มีสีดังสีอาหารที่กลืนเข้าไป

โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังข้าวสารที่บรรจุหลวม ๆ ในผ้ากรอง (ที่ทำ

เป็นถุง) โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่ในอุทร

[อุทร]

อวัยวะที่หุ้มไส้ (ป่อง) คล้ายโปงผ้าที่เกิดขึ้นตรงกลางผ้าเปียก

น้ำที่คนรวบ (ชาย) ทั้ง ๒ ข้าเข้า ชื่อว่า อุทร ข้างนอกเกลี้ยง

ข้างในเป็นดังผ้าซับระดูที่เปื้อนแล้ว เขาห่อเศษเนื้อไว้ แม้นจะกล่าว

๑. ได้ความตรงนี้ว่าขดเชือกสำหรับเช็ดเท้านั้น รู้จักทำใช้กันมานานแล้ว มหาฎีกาว่าตรงนี้

ความตอนเดียว แต่มีอุปมาเป็น ๒ ท่อน ท่อนหน้าแสดงหน้าที่ไส้น้อย ท่อนหลังอาการที่มัน

อยู่อย่างไร อนึ่ง ปาฐะว่า----อนฺตรา ตํ สิพฺพิตฺวา----นั้นเข้าใจว่าคลาดเคลื่อน สอบปรมัตถโชติกา

แล้ว เป็น----อนฺตรา สํสิพฺพิตฺวา ได้แปลตามนี้

๒. มหาฎีกาว่า ของกิน เช่นข้าว เรียกอสิตะ ของดื่ม เช่นปานะ เรียก ปีตะ ของแข็งกรอบ

ต้องขบ เช่นแป้งทอดผลไม้ เรียกขาทิตะ ของลิ้ม เช่นมะม่วงสุก น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เรียก สายิตะ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 66

ว่า ข้างในอุทรนั้นเป็นดังข้างในของผลขนุนละมุด๑ ดังนี้ก็ชอบ มัน

เป็นที่ที่หมู่หนอน (ตัวพยาธิ) อันมีแตกต่างกันถึง ๓๒ ตระกูล มี

ชนิดตักโกฏกะ (พยาธิปากขอ) ชนิดคัณฑุปปาทกะ (พยาธิตัวกลม)

ชนิดตาลหีรกะ (พยาธิเสี้ยนตาล) ชนิดสูจิมุขกะ (พยาธิตัวจี๊ด)

ชนิดปฏตันตุ (พยาธิตัวแบน) ชนิดสุตตกะ (พยาธิเส้นด้าย) อย่าง

นี้เป็นต้น อาศัยอยู่กันคลาคล่ำเป็นกลุ่ม ๆ ไป ซึ่งเมื่อของกินมีน้ำ

และข้าวเป็นต้น ไม่มีอยู่ (ในอุทร) มันก็จะพลุ่งพล่านกันให้ระงมไป

พากันตรงเข้าเล่นงานเนื้อหัวใจ๒ และเมื่อเวลาที่คนกลืนอาหารมีน้ำ

และข้าวเป็นต้นลงไป มันจะพากันชูปากตะลีตะลานเข้าแย่งอาหารที่คน

กลืนลงไปแรก ๆ ๒-๓ คำ อุทรไรเล่า เป็นดุจเรือนคลอด วัจกุฏิ

โรงพยาบาลและสุสานของหนอนเหล่านั้น ในอุทรไรเล่า ของกินมี

น้ำและข้าวเป็นต้น มีประการต่าง ๆ ที่แหลกด้วยสากคือฟัน คลุก

๑. มํส----กิลิฏฺฐํ ปาวารปุปฺผกสทิสํ ในปรมัตถโชติกาเป็นบทเดียวว่า มํสกสมฺพุปลิเวฏ-

ฐิต กิลิฏฺฐปาวารปุปฺผกสทิสํ และ กฏฺฐิ ตปนสตจสฺส ในปรมัตถโชติกา เป็น----ผลสฺส ในที่นี้

แปลตามปาฐะปรมัตถโชติกา ด้วยเห็นว่าแปลได้ความดี

๒. วิรวนฺตา จะแปลว่า 'ร้อง' ไปตรง ๆ ก็อย่างไรอยู่ เพราะไม่มีใครเคยได้ยอนหนอน

หรือตัวพยาธิร้อง ถ้ามันร้องได้จริง ก็ทีจะต้องมีทิพโสตจึงจะได้ยิน เทียบเรื่องเล็นร้อง

ในอรรถกถาธรรมบท ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงได้ยินด้วยพระทิพโสต ในที่นี้ จึงเลี่ยงว่า 'ระงม'

วิรวนฺตา นี้ ได้พบในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์ ตอนนิเทศแห่งสติปัฏฐานวิภังค์ เป็น

วิจรนฺตา-อุลฺลงฺฆิตฺวา วิจรนฺตา ถ้าเช่นนี้ก็แปลว่า 'เที่ยวพลุ่งพล่านไป' ดูจะแนบเนียนกว่า----

วิรวนฺตา กระมัง

อภิหรนฺติ ในปรมัตถโชติกาเป็น----หนนฺติ พวกหนอนหรือตัวพยาธิส่วนมากอยู่ในลำไส้

จึงกินยาถ่ายพยาธิออกมาได้ แล้วอย่างไร มันจึงจะเจาะลำไส้ออกไปแทะเนื้อหัวใจได้ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 67

ด้วยมือคือลิ้น เคล้าด้วยน้ำย่อยคือเขฬะแล้ว ทันทีนั้น มัน (กลาย)

เป็นของปราศจากความถึงพร้อมแห่งสี กลิ่น และรสเป็นต้นไป ดู

ประหนึ่งข้าวลงด้ายของช่างหูกและรากสุนัข* (กลืน) ลงไปแล้ว น้ำดี

เสมหะและลม (ออกมา) กลั้วเป็นไอขึ้นด้วยกำลังสันดาปแห่งไฟ

(ธาตุ) ในอุทร อากูลไปด้วยหมู่หนอน ปล่อยฟองและต่อมขึ้นข้างบน

เรื่อย ถึงซึ่งความเป็นขยะ (ที่จะต้องทิ้ง) เป็นของเหม็นและน่าเกลียด

อย่างยิ่ง ตั้งอยู่ (ในอุทร) อุปมาเหมือนเมื่อฝนเม็ดหนาตกลงมาใน

หน้าแล้ง ซากชนิดต่าง ๆ จับแต่ปัสสาวะอุจจาระ ท่อนหนัง ท่อน

กระดูก ท่อนเอ็น น้ำลาย น้ำมูลและเลือด ที่น้ำ (ฝน) พัดพามา

ตกลงในแอ่งโสโครกข้างประตูหมู่บ้านพวกจัณฑาลแล้ว ประสมเข้า

กับน้ำโคลน (ในแอ่ง) ๒-๓ วัน ก็มีหมู่หนอนเกิดแล้ว เป็นไอขึ้น

ด้วยกำลังสันดาปแห่งแสงแดด ปล่อยฟองและต่อมขึ้นข้างบนเรื่อย

สีเขียวคล้ำเหม็นจัดน่าเกลียด ถึงซึ่งความเป็นรูปไม่น่าเข้าใกล้ไม่น่าดู

เลยตั้งอยู่ จะกล่าวไยถึงความเป็นสิ่งน่าดมหรือน่าลิ้มเล่า ฉะนั้น แม้

เพราะได้ฟังเรื่องอุทรไรเล่า ความเป็นสิ่งไม่น่าพอใจของกินทั้งหลาย

* ข้าวลงด้าย คือข้าวต้นข้น ๆ สำหรับลงด้ายที่จะทอผ้า เมื่อขยำด้ายไป สีที่ย้อมด้ายไว้

ก็จะออก ทำให้ข้าวและน้ำข้น ๆ นั้น ดูน่าเกลียดไป

รากสุนัข แปลจากศัพท์สุวานวมถุ แต่ในปรมัตถโชติกาและสัมโมหวิโนทนี ตอนนิเทศ

แห่งธาตุวิภังค์ มีศัพท์สุวานโทณิยํ เรียงไว้ข้างหน้า สุวานวมถุ ถ้าเช่นนี้ สุวานวมถุ จะไม่ใช่

รากสุนัขเสียแล้ว เป็น 'ข้าวสุนัข' กระมัง มันจึงอยู่ใน 'รางสุนัข' แม้เป็น 'ข้างสุนัข'

ถ้าเป้นอย่างในพื้นบ้านเรานี้ ก็ดูน่าเกลียดจริง เพราะเป็นเศษข้าวปนเศษแกงกับสารพัด เขาเทลง

ในรางสำหรับขุนสุนัข ท่านใช้ศัพท์วมถุ เพราะมันคล้ายรากกระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 68

มีน้ำและข้าวเป็นต้น ก็เกิดได้ จะกล่าวไยถึงความไม่น่าพอใจในของ

กินอันเกิดขึ้น เพราะได้พิจารณาดูด้วยปัญญาจักษุแล้วเล่า อนึ่ง ใน

อุทรไรเล่า ของกินมีน้ำและข้าวเป็นอาทิที่ตกลงไปแล้ว ย่อมถึงความ

จำแนกออกเป็น ๕ ส่วน คือตัวสัตว์ (พยาธิ) กินเสียส่วนหนึ่ง ไฟ

(ธาตุ) ในอุทรเผาไปเสียส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นปัสสาวะ ส่วนหนึ่ง

เป็นอุจจาระ ส่วนหนึ่งถึงซึ่งความเป็น (โอชา) รสไปเพิ่มพูนโกฏฐาส

แห่งร่างกายมีเลือดและเนื้อเป็นต้น

โดยตัดตอน อุทริยะนั้น กำหนดตัดด้วยกระพุ้งอุทรและด้วยส่วน

ของอุทริยะเองด้วย นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตน

แห่งอุทริยะนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน

ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[อาหารเก่า]

คำว่า กรีสํ-อาหารเก่านั้น ได้แก่อุจจาระ กรีสนั้น โดยสี

ก็มีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไปนั่นแหละโดยมาก โดยสัณฐาน มีสัณฐาน

ตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องล่าง โดย

โอกาส มันตั้งอยู่ในปักกาสยะ (ที่พักของสุก คือกระเพาะอุจจาระ)

อันปักกาสยะ (นั้น) เป็นเหมือนกระบอกไม้ไผ่นี่เอง สูง

ประมาณ ๘ องคุลี อยู่ที่ปลายไส้ใหญ่ ในระหว่างนาภีตอนล่างกับโคน

กระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นที่ ๆ ของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้นทุกชนิดที่ตก

ลงไปในอามาสยะ (ที่พักของดิบ คือกระเพราะอาหาร) แล้วเดือดเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 69

ฟองด้วยไฟ (ธาตุ) ในอุทร สุกไป ๆ จนแหลกราวกะบดด้วยหินบด

แล้วเลื่อนลงไปตามโพรงไส้ใหญ่ ไปตกทับถมกันอยู่ คล้ายดินสีเหลือง

ที่คนขยี้บรรจุลงไปในกระบอกไม้ไผ่ อุปมาเหมือนน้ำฝนอันตกลง

ในภาคพื้นข้างบน ย่อมไหลลงมาทำให้ภาคพื้นข้างล่างเต็มแล้วขังอยู่

ฉะนั้น

โดยตัดตอน กรีสนั้น กำหนดตัดด้วยกระพุ้งกระเพาะอุจจาระ

และด้วยส่วนของอุจจาระเองด้วย นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนของตนแห่งกรีสนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนส่วน

ที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[มันในสมอง]

คำว่า มตฺถลุงฺคํ-มันในสมอง คือกองเยื่อ อันตั้งอยู่ภายใน

กะโหลกศีรษะ มันในสมองนั้น โดยสี ขาวดังสีดอกเห็ด แม้จะ

ว่าสีดังนมสดที่ไม่สดแล้ว แต่ยังไม่ถึงเป็นนมส้ม ดังนี้ก็ควร โดย

สัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ มันเกิดใน

ทิศเบื้องบน โดยโอกาส มันอาศัยแนวประสาน ๔ แฉก ตั้งชุมกัน

อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ คล้ายก้อนแป้ง ๔ ก้อน ที่คนวางชุมกันไว้

ฉะนั้น โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยพื้นภายในกะโหลกศีรษะและด้วย

ส่วนของมันสมองเองด้วย นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วน

ของตนแห่งมันสมองนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วย

ส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 70

[น้ำดี]

คำว่า ปิตฺตํ-น้ำดีนั้น มีพรรณนาว่า ดีมี ๒ คือ ดีติดที่ (มีฝัก)

๑ ดีไม่ติดที่ (ไม่มีฝัก) ๑ ในดี ๒ อย่างนั้น ดีติดที่ โดยที่ มีสี

(เขียว) ดังน้ำมันมะซางข้น ๆ ดีไม่ติดที่ มีสี (เหลืองหม่น ?)

ดังดอกพิกุลแห้ง โดยสัณฐาน ดีทั้ง ๒ อย่าง มีสัณฐานตามโอกาส

(ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ ดีติดที่เกิดในทิศเบื้องบน ดีอีกอย่างเกิด

ในทิศทั้ง ๒

โดยโอกาส ดีไม่ติดที่ ยกเว้นแห่งที่พ้นจากเนื้อของผม ขน ฟัน

เล็บ๑ และหนังที่กระด้างที่แห้งเสียแล้ว (มัน) เอิบอาบไปทั่วร่าง

ที่เหลือตั้งอยู่ ดุจหยาดน้ำมัน (ที่ตกลงไปบนน้ำ) อาบแผ่ไปทั่วน้ำ

ฉะนั้น ซึ่งเมื่อมันกำเริบ (เป็นโรคดีซ่าน) ดวงตาของสัตว์ทั้งหลาย

จะเหลืองวิเวียนไป ตัวก็จะอักเสบเป็นผื่นคัน ดีติดที่ ขังอยู่ในฝัก

น้ำดี๒ ซึ่งคล้ายกับรังบวบใหญ่ อยู่ติดเนื้อต่ำในระหว่างหัวใจกับ

ปอด ซึ่งเมื่อมันกำเริบ (เป็นดีเดือด) สัตว์ทั้งหลายจะเป็นบ้าขึ้น

จิตวิปลาสไป ละเลยหิริโอตตัปปะ ที่ไม่น่าทำก็ทำได้ ที่ไม่น่าพูดก็พูด

ได้ ที่ไม่น่าคิดก็คิดไปได้

โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยส่วนของดีเอง นี่เป็น (สภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งดีนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

๑. เกสโลมทนฺตนขานํ น่าจะเรียงลำดับผิด ในปรมัตถโชติกาเป็น เกสโลมนขทนฺตานํ ถูกลำดับ

๒. เดี๋ยวนี้มักเรียกกันว่า ถุงน้ำดี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 71

[เสมหะ]

คำว่า เสมฺหํ-คือเสลด อันมีประมาณเต็มบาตรหนึ่ง*อยู่ภายใน

ร่างกาย เสมหะนั้น โดยสี ขาวดังสีน้ำใบแตงหนู โดยสัณฐาน

มีสัณฐานตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส ตั้งอยู่ในกระพุ้งอุทร ซึ่งในเวลาที่กลืนอาหาร มีน้ำ

และข้าวเป็นต้น เมื่อน้ำและข้าวเป็นต้นตกลงไป มันแยกออกจากกัน

เป็น ๒ ส่วนแล้วหุ้มเข้าตามเดิม เหมือนแหนในน้ำ เมื่อไม้หรือ

กระเบื้องตกลงไป มันจะแยกออกจากกันเป็น ๒ ข้าง แล้วหุ้มเข้า

ตามเดิมฉะนั้น อนึ่ง เมื่อมันมีบางไป อุทรจะ (ส่งกลิ่นออกมา)

เป็นกลิ่นซากสัตว์น่าเกลียดนัก ดุจผีแตกและดุจฟองไก่เน่ามีกลิ่นเหม็น

น่าเกลียดฉะนั้น และเพราะกลิ่นที่ขึ้นมาแต่อุทรนั้น แม้ลมเรอ แม้

ปากก็ (พลอย) เหม็นเป็นเช่นกลิ่นซากสัตว์เน่าไปด้วย และคนผู้

(เรอเหม็นปากเหม็น) นั้น จะถึงกับถูกเขาไล่เอาว่า "ไป แกส่งกลิ่น

เหม็น" แต่มันเพิ่มมากขึ้นจนหนาแล้ว ก็ปิดกั้นกลิ่นซากสัตว์ไว้แต่

ข้างในกระพุ้งอุทรอยู่ได้ ดุจแผ่นกระดานปิดวัจกุฏิฉะนั้น

โดยตัดตอน กำหนดตัดส่วนของเสมหะเอง นี่เป็น (สภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งเสมหะเอง ส่วน (วิสภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

* ถ้าเป็นบาตร ก็คงเป็นบาตรย่อม ๆ ในฉบับพม่าเป็น----ปตฺถ----ปัตถะ เป็นมาตราตวง

แปลว่า แล่ง คือประมาณกอบหนึ่ง ๒ ปัตถะเป็น ๑ นาฬี (คือทะนาน) เอาความว่ามีสมหะอยู่

ในร่างกายประมาณกอบหนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 72

[ปุพโพ-น้ำเหลือง-หนอง]

คำว่า ปุพฺโพ มีอธิบายว่า บุพโพนั้น (โดยสีปกติ) มีสี

(เหลืองอ่อน) ดังสีใบไม้เหลือง แต่ในร่างคนตาย (กลาย) เป็นมีสี

(ขาวหม่น) ดังสีน้ำข้าวบูดข้น ๆ ไป๑ โดยสัณฐาน มีสัณฐานตาม

โอกาส (ที่อยู่ของมัน) โลยทิศ มันเกิดทั้ง ๒ ทิศ โดยโอกาส ชื่อ

ว่าโอกาสของบุพโพ ซึ่งเป็นที่ ๆ มันจะพึงขังอยู่เป็นประจำ หามีไม่

เป็นแต่ในตำแหน่งร่างกายแห่งใด ๆ ที่ถูกตอ หนาม เครื่องประหาร

และเปลวไฟเป็นต้นโดนเอา โลหิตห้อไหม้ไป หรือว่าฝีและต่อมเป็น

ต้นเกิดขึ้น มันจึง (มา) อยู่แห่งนั้น ๆ โดยตัดตอน กำหนดตัด

ด้วยส่วนของบุพโพเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของ

ตนแห่งบุพโพนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับ

ตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[โลหิตํ-โลหิต]

คำว่า โลหิตํ มีอธิบายว่า โลหิตมี ๒ คือสันนิจิตโลหิต (โลหิต

ขัง) ๑ สังสรณโลหิต (โลหิตไหลเวียน) ๑ ในโลหิต ๒ อย่างนั้น

สันนิจิตโลหิต โดยสี มีสีดังสีน้ำครั่งข้นที่แก่ไฟ สังสรณโลหิตสีดังน้ำ

ครั่งใส๒ โดยสัณฐาน โลหิตทั้ง ๒ อย่างมีสัณฐานตามโอกาส (ที่อยู่

ของมัน) โดยทิศ สันนิจิตโลหิตเกิดในทิศเบื้องบน โลหิตอีกอย่าง

๑. เพราะฉะนั้น ปุพฺโพ จึงแปลว่า น้ำเหลืองบ้าง น้ำหนองบ้าง

๒. สันนิจิตโลหิต จะตรงกับที่เรียกว่า โลหิตดำ ส่วนสังสรณโลหิต จะตรงกับโลหิตแดง

กระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 73

เกิดทั้ง ๒ ทิศ โดยโอกาส สังสรณโลหิตเว้นแห่งที่พ้นจากเนื้อของ

ผม ขน ฟัน เล็บ และหนังที่กระด้างที่แห้งเสียแล้ว (มัน) แผ่ไปทั่ว

ร่างกายที่มีใจครองทั้งสิ้น ตามสายข่ายเส้น (เลือด) อยู่เสมอ สันนิ-

จิตโลหิต (ขังอยู่) เต็มส่วนใต้ที่ตั้งของตับ มีประมาณเต็มบาตรหนึ่ง๑

ค่อย ๆ ซึมไปบนไต หัวใจ ตับ๒และปอด ทำไตหัวใจตับและปอดให้

ชุ่มอยู่เสมอ เพราะว่าเมื่อมันไม่ทำไตและหัวใจเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ สัตว์

ทั้งหลายจะเกิดระหายขึ้น โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยส่วนของโลหิต

เอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งโลหิตนั้น

ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผม

นั่นแล

[เสโท-เหงื่อ]

คำว่า เสโท-เหงื่อ ได้แก่อาโปธาตุที่ไหลออกตามช่องใน

ร่างกายมีช่องขุมขนเป็น เสโทนั้น โดยสี สีสีดังสีน้ำมันงาใส โดย

สัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ เกิดทั้ง ๒ ทิศ

โดยโอกาส ชื่อว่าโอกาสประจำของเสโท ซึ่งเป็นที่ ๆ มันจะพึงตั้งอยู่

ทุกเมื่อเหมือนดัง (สันนิจิต) โลหิตหามีไม่ ต่อเมื่อใด ร่างกายร้อน

๑. ก็คงจะบาตรย่อม ๆ อีกนั่นแหละ

๒. เนื่องจากน่าจะมีปัญหาว่าตับ (ยกนะ) นั้นก็ว่ามีเลือกขังแช่อยู่แล้ว ไฉนจึงยกมากกล่าว

ในตอนนี้อีกเล่า มหาฎีกาจึงไขความไว้ว่า ๐ขอให้เข้าใจว่า ตับ (ยกนะ) นั้นชุ่มด้วยเลือด

ที่ขังอยู่นั่นแหละ นอกนั้นชุ่มด้วยเลือดที่ซึมไป"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 74

ขึ้นด้วยเหตุต่าง ๆ เช่นร้อนไฟ ร้อนแดด และความผันแปรแห่งฤดู

เมื่อนั้นมันจึงไหลออกตามช่องขุมผมและขนทั้งปวง ดุจกำสายบัวที่พอ

คนถอนขึ้นจากน้ำ มีเง่าและรากขาดไม่เสมอกัน (น้ำไหลออกไม่เสมอ

กัน) ฉะนั้น๑ เพราะฉะนั้น แม้สันฐานของเสโทนั้น ก็พึงเข้าใจว่าเป็น

ตามช่องขุมผมและขนนั่นแล พระโยคีผู้จะกำหนดเอาเสโท (เป็น

อารมณ์) เล่า ก็พึงมนสิการเสโท ตามที่มันขังอยู่ในช่องขุมผมและ

ขนเหมือนกัน โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยส่วนของเสโทเอง นี่เป็น

(สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งเสโทนั้น ส่วน (วิสภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[เมโท-มันข้น]

คำว่า เมโท-คือมันข้น๒ มันข้นนั้น โดยมี มีสีดังขมิ้นแตกหน่อ

(เหลืองอ่อน ? ) โดยสัณฐาน ว่าสำหรับคนอ้วนก่อน มีสัณฐานดัง

ผ้าทุกูลเก่าสีขมิ้นที่แทรกไว้ในระหว่างหนังกับเนื้อ สำหรับคนผอม มี

สัณฐานดังผ้าทุกูลเก่าสีขมิ้นที่ซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น แนบติดเนื้อเหล่านี้

คือ เนื้อแข้ง (น่อง) เนื้อขาอ่อน เนื้อหลังที่ติดกระดูกสันหลัง เนื้อ

ช่องท้อง โดยทิศ มันเกิดทั้ง ๒ ทิศ โดยโอกาส มันแผ่ไปทั่วร่าง

ของคนอ้วน ติดเนื้อต่าง ๆ เช่นเนื้อน่องของคนผอมอยู่ ซึ่งแม้ถึงนับ

๑. คือเหงื่อไหลออกจากที่สูงคือศีรษะก็มี จากที่ต่ำคือเท้าก็มี จากตัวทั่ว ๆ ไปไม่ว่าที่ไหนก็มี

ดังกำสายบัวที่คนรวบถอนขึ้นมา มันขาดไม่เสมอกัน พอยกขึ้นพ้นน้ำ น้ำไหลลงจากที่ต่าง ๆ กัน

ตามที่มันขาดสั้นบ้างยาวบ้างฉะนั้น

๒. ถีนสิเนโห ในสัมโมหวิโนทนี เป็น ปตฺถินฺนสิเสโห

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 75

ว่าเป็นมัน (แต่) เพราะมันเป็นของน่าเกลียดนัก คนทั้งหลายจึงไม่

ถือเอาใช้เป็นน้ำมันทา (ผม) ที่ศีรษะ ไม่ถือเอาใช้เป็นน้ำมันอย่าง

อื่น ๆ มีเป็นน้ำมันสำหรับ (นัตถุ์ทาง) จมูกเป็นต้น โดยตัดตอน

เบื้องล่างกำหนดตัดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดตัดด้วยหนัง๑ เบื้องขวาง

กำหนดตัดด้วยส่วนของมันข้นเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนของตนแห่งมันข้นนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วย

ส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[อสฺสุ - น้ำตา]

คำว่า อสฺสุ-น้ำตา ได้แก่อาโปธาตุที่ไหลออกทางดวงตา น้ำตา

นั้น โดยสี มีสีดังสีน้ำมันงาใส โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส

(ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ มันเกิดในทิศเบื้อบน โดยโอกาส มัน

อยู่ในเบ้าตา แต่ว่ามันมิได้ขังอยู่ทุกเมื่อในบ้าตา ดังน้ำดีขังอยู่ในฝัก

น้ำดีฉะนั้นดอก ต่อเมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเกิดความดีใจหัวเราะเสีย

ใหญ่ เกิดความเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ หรือว่ากินอาหารแสลง (ตา)

อย่างนั้นเข้าไป๒ อนึ่ง เมื่อใดดวงตาของสัตว์เหล่านั้น ถูกสิ่งที่จะทำ

ให้น้ำตาไหล มีควันละออกและผงเป็นต้นกระทบเอาก็ดี เมื่อนั้น มัน

๑. เพราะเนื้ออยู่ล่าง หนังอยู่บน ส่วนมันข้นอยู่กลาง

๒. ตถารูํป ในที่นี้มิได้เพ่งข้อความอะไรที่กล่าวมาแล้ว แต่เพ่งความที่มุ่งหมายจะกล่าวคือ

น้ำตาไหล 'อย่างนั้น' คืออย่างที่จะทำให้น้ำตาไหล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 76

จึงเกิดขึ้น เพราะความดีใจ ความเสียใจ อาหารและฤดูที่แสลง๑ (ตา)

เหล่านั้น (อย่างใดอย่างหนึ่ง) แล้วเอ่ออยู่เต็มเบ้าตาบ้าง ไหลออก

มาบ้าง ก็พระโยคีผู้จะกำหนดเอาน้ำตา (เป็นอารมณ์) ก็พึงกำหนด

เอาตามที่มันเอ่ออยู่เต็มเบ้าตานั่นแหละ โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วย

ส่วนของน้ำตาเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วนส่วนของตน

แห่งน้ำตานั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับคน

ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[วสา-มันเหลว]

คำว่า วสา แปลว่ามันเหลว มันเหลวนั้น โดยสี มีสีดังสีน้ำมัน

มะพร้าว แม้จะกล่าวว่า มีสีดังน้ำมันที่ราดลงไปในน้ำข้าวก็ควร โดย

สัณฐาน มีสัณฐานดังหยาดน้ำมัน ที่ซ่านไปลอดคว้างอยู่เหนือน้ำอันใส

ในเวลาล้าง๒ (มัน) โดยทิศ มันเกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส มันอยู่

ในฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า

โดยมาก แต่ว่ามันหาได้ละลายอยู่ในโอกาสเหล่านี้ทุกเมื่อไม่ ต่อเมื่อ

ใดตำแหน่งเหล่านั้นเกิดอบขึ้นเพราะร้อนไฟ ร้อนแดด ผิดอากาศ

๑. ฤดู ไม่ได้พูดถึงมาก่อน มาโผล่แถมขึ้นอย่างไรอยู่ วิสภาคาหารนั้นข้างต้นเป็นวิสมาหาร

แต่ในปรมัตถโชติการ เป็น โสมนสฺสโทมนสฺสวิสมาหาราทีหิ ตรงกับที่ว่ามาข้างต้น อย่างไรก็ดี

บทเหล่านี้ว่าไว้ในประโยค ยทา แล้ว ไม่น่ากล่าวซ้ำอีกในประโยค ตทา พอขึ้นประโยค ตทา

ก็น่าจะกล่าวผลเลยทีเดียว ความถึงจะสนิท

๒. นฺหานกาเล ถ้าจะแปลว่าในเวลา (คน) อาบน้ำ ก็มีปัญหาว่า น้ำมันอะไรในตัวเอง

ไหลซ่านออไปอย่างนั้น จึงคิดว่า นฺหานศัพท์นี้จะต้องแปลว่า 'ล้าง' คือล้างน้ำมันทีติดอะไรอยู่

ก็ตาม น้ำมันจึงซ่านออกไปลอยอย่างนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 77

และธาตุพิการ เมื่อนั้น มันจึงจะกระจายไปทางโน้นทางนี้ในที่เหล่านั้น

ดังหยาดน้ำมันที่ซ่านไปบนน้ำใสในเวลาล้าง (มัน) ฉะนั้น โดยตัดตอน

กำหนดตัดด้วยส่วนของมันเหลวเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนของตนแห่งมันเหลวนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอน

ด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[เขโฬ - น้ำลาย]

คำว่า เขโฬ - น้ำลาย คืออาโปธาตุที่ประสมขึ้นเป็นฟองภายใน

ปาก น้ำลายนั้น โดยสี ขาวดังสีฟองน้ำ โดยสัณฐาน มีสัณฐาน

ตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) แม้จะว่าสัณฐานดังฟองน้ำก็ได้ โดย

ทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส มันลงจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ข้าง

มาอยู่ที่ลิ้น แต่ว่ามันมิได้ขังอยู่ที่นั่นทุกเมื่อดอก ต่อเมื่อใด สัตว์

ทั้งหลายเห็นหรือนึกถึงอาหารอย่างนั้น (คืออย่างที่ชวนน้ำลายออก)

เข้าก็ดี วางอาหารมีรสร้อน ขม เผ็ด เค็ม เปรี้ยว อะไร ๆ ลงไป

ในปากก็ดี หรือว่า เมื่อใด หัวใจของสัตว์เหล่านั้นละเหี่ยไปก็ดี ความ

สะอิดสะเอียนเกิดขึ้นในอะไร ๆ ก็ดี เมื่อนั้น น้ำลายจึงเกิดขึ้นลงจาก

กระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ข้างมาอยู่ที่ลิ้น อนึ่ง น้ำลายนั้นที่ลิ้นทางปลายมี

น้อย ที่ลิ้นทางโคนมีมาก และมันไม่รู้จักสิ้นไปเลย ดังน้ำในบ่อที่ขุด

ไว้ในหาดทราบไม่รู้จักสิ้นฉะนั้น สามารถจะยังข้าวเม่าหรือข้าวสารหรือ

ของขบเคี้ยว (ที่ดูดน้ำลาย ?) อะไร ๆ อื่นก็ตาม ที่ใส่เข้าไปในปาก

ให้เปียกชุ่มได้ โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยส่วนของน้ำลายเอง นี่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 78

เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งน้ำลายนั้น ส่วน

(วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[สิงฺฆาณิกา - น้ำมูก]

คำว่า สิงฺฆาณิกา - น้ำมูก ได้แก่น้ำไม่สะอาดที่ไหลออกจากมัน

ในสมอง น้ำมูกนั้น โดยสี มีสีดังเยื่อในเม็ดตาลอ่อน โดย

สัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ เกิดในทิศ

เบื้องบน โดยโอกาส มันอยู่เต็มโพรงจมูก แต่ว่ามันมิได้ขังอยู่ที่นั่น

ทุกเมื่อดอก โดยที่แท้ เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายร้องไห้ก็ดี เป็นผู้มีความ

กำเริบแห่งธราตุ อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจอาหารแสลง และฤดูสำแลงก็ดี

เมื่อนั้น มันในสมองที่กลายเป็นเสมหะเสีย จึงเลื่อนจากภายในศีรษะ

ลงมาตามช่วงเพดานจนเต็มโพรงจมูกอยู่บ้าง ไหลออกมาบ้าง เปรียบ

เหมือนคนห่อนมส้มไว้ในใบปทุม แล้วพึงใช้หนามแทงข้างล่าง ทีนี้

น้ำใสแห่งนมส้ม ก็จะพึงหยดออกทางช่องนั้น ตกไปข้าวนอกฉะนั้น

ก็แลพระโยคีผู้จะกำหนดเอาน้ำมูก (เป็นอารมณ์) ก็พึงกำหนดเอา

ตามที่มันเต็มโพรงจมูกอยู่นั่นแล โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยส่วน

ของน้ำมูกเอง นี่เป็น (สภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่ง

น้ำมูกนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็

เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[ลสิกา - ไขข้อ]

คำว่า ลสิกา ไขข้อ ได้แก่ไขมีกลิ่นสาง ภายในข้อต่อใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 79

ร่างกาย ไขข้อนั้น โดยสี มีสีดังยางดอกกรรณิการ์ โดยสัณฐาน

มีสัณฐานตามโอกาส (ที่อยู่ของมัน) โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดย

โอกาส มันอยู่ภายในข้อต่อ ๑๘๐ แห่ง คอยทำหน้าที่ทาข้อต่อกระดูก

ทั้งหลาย ก็แลไขข้อนั้น ของผู้ใดมีน้อย เมื่อผู้นั้นลุก นั่ง ก้าว

ถอย คู้ เหยียด กระดูกทั้งหลายจะลั่นดังกฏะกฏะ คล้ายคนเที่ยวทำ

เสียงดีดมือไปฉะนั้น เมื่อเขาเดินทางแม้สัก ๑ โยชน์ ๒ โยชน์ วาโย-

ธาตุจะกำเริบ ตัวจะระบม แต่ว่าของผู้ใดมีมาก กระดูกทั้งหลายของ

ผู้นั้นจะไม่ลั่นดังกฏะกฏะในเพราะความเคลื่อนไหวมีลุกนั่นเป็นต้น เมื่อ

เขาเดินทางแม้ไกล วาโยธาตุก็ไม่กำเริบ ตัวก็ไม่ระบม

โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยส่วนของไขข้อเอง นี่เป็น (สภาค-

บริเฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งไขข้อนั้น ส่วน (วิสภาคบริ-

เฉท) ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[มุตฺตํ - มูตร]

วินิจฉัย คำว่า มุตฺตํ - มูตร มูตรนั้น โดยสี มีสีดังน้ำด่างถั่ว

มาส โดยสัณฐาน มีสัณฐานดังน้ำอยู่ภายในหม้อน้ำที่เขาตั้งคว่ำปากไว้

โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องล่าง โดยโอกาส มันอยู่ภายในหัวไส้

กระเพราะเบา ท่านเรียกชื่อว่าหัวไส้ ซึ่งเป็นที่ที่น้ำมูตรแต่สรีระ (ซึม)

เข้าไป แต่ว่าทางเข้าไปของมันไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ทางออก เหมือน

น้ำครำ (ซึม) เข้าไปในหม้อเนื้อหยาบไม่มีปาก ที่เขาวาง (แช่) ไว้

ในแอ่งน้ำครำได้ แต่ทางเข้าไปของมันไม่ปรากฏฉะนั้น อนึ่ง เมื่อ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 80

กระเพาะไรเล่า เต็มด้วยน้ำมูตรแล้ว ความขวนขวายว่า เราจะถ่าย

ปัสสาวะ ย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยด้านใน

ของกระเพาะเบา และด้วยส่วนของน้ำมูตรเอาด้วย นี่เป็น (สภาคบริ-

เฉท) ตัดตอนด้วยส่วนของตนแห่งน้ำมูตรนั้น ส่วน (วิสภาคบริเฉท)

ตัดตอนด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

[สรูป]

ก็แล เมื่อพระโยคาวจรกำหนดโกฏฐาสทั้งหลาย มีผมเป็นอาทิ

โดยสี สัณฐาน ทิศ โอกาส และตัดตอนอย่างนี้แล้ว มนสิการว่าปฏิกูล ๆ

โดยประการ ๕ ทางสี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัย และโอกาส โดยนัย

(มนสิการโกศลวิธี) มีโดยลำดับ โดยไม่เร่งนักเป็นต้นอยู่ ในที่สุด

แห่งมนสิการตอนล่วงเสียซึ่งบัญญัติ พิจารณาดูกายนี้อยู่ว่า 'อตฺถิ

อิมสฺมึ กาเย เกสา- ผมทั้งหลายมีอยู่ในกายนี้ เป็นอาทิ ธรรม

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น* ย่อมจะปรากฏดังว่าไม่ก่อนไม่หลังกัน อุปมา

เหมือนเมื่อบุรุษตาดีมองดูพวงมาลาที่ร้อยดอกไม้ ๓๒ สีไว้ด้วยด้ายเส้น

เดียวกัน ดอกไม้ทั้งปวง (ในพวงนั้น) ย่อมจะปรากฏ ดังว่าไม่ก่อน

ไม่หลังกันฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ในตอนว่าด้วยมน-

สิการโกศลว่า "ก็เมื่อพระอาทิกัมมิกะมนสิการ (โดยอนุโลม เริ่ม)

ว่า เกสา มนสิการก็ดำเนินไปจนสุดจุโกฏฐาสปลาย คือ มุตฺตํ นี้

ทีเดียว" ดังนี้ ก็ถ้าว่าพระโยคาวจรนั้น จะนำ (ปฏิกูล) มนสิการ

ออกไปนอกตัวบ้างไซร้ ครั้นโกฏฐาสทั้งปวงปรากฏชัดอย่างนั้นแล้ว

* มหาฎีกาว่า ธรรมทั้งหลาย คือโกฏฐาสที่ปรากฏโดยอาการปฏิกูล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 81

ทีนี้ สัตว์หลายมีมนุษย์และดิรัจฉานเป็นต้นที่เดินไปมาอยู่ ก็จะละ

อาการของสัตว์ปรากฏแก่เธอโดยเป็นกองโกฏฐาสไปหมด อาหารมีน้ำ

และข้าวเป็นต้น ที่สัตว์เหล่านั้นกลืนกินลงไปเล่า ก็ปรากฏดุจของที่

เขาใส่ลงไปในกองโกฏฐาส* (ไปสิ้น)

[นิมิตและอัปปนา]

ในลำดับนั้น เมื่อเธอมนสิการเนือง ๆ ว่า 'ปฏิกูล ๆ' ตามมน-

สิการโกศลวิธีต่อไปมีวิธีปล่อยลำดับเป็นต้น อัปปนาจะเกิดขึ้นโดย

ลำดับ ในการเกิดขึ้นแก่งอัปปนานั้น บัณฑิตพึงทราบว่าความปรากฏ

แห่งโกฏฐาสมีผมเป็นต้นด้วยอำนาจแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาส และ

ตัดตอน เป็นอุคคหนิมิต ความปรากฏ (แห่งโกฏฐาสเหล่านั้น)

ด้วยอำนาจแห่งความปฏิกูลโดยอาการทั้งปวง เป็นปฏิภาคนิมิต เมื่อ

ส้องเสพเจริญปฏิภาคนิมิตนั้นไป อัปปนาจะเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่ง

ปฐมฌาน (คือได้เพียงปฐมฌาน) ดุจอัปปนาในอสุภกรรมฐาน

โดยนัยที่กล่าวแล้ว พระโยคาวจรใด มีโกฏฐานปรากฏแต่อย่างเดียว

หรือว่าพระโยคาวจรใด ได้บรรลุอัปปนาในโกฏฐาสอย่าหนึ่งแล้ว

ไม่ทำความเพียรในโกฏฐาสอื่นต่อไปก็ดี อัปปนานั้นก็ย่อมเกิดขึ้นแก่

พระโยคาวจรนั้นแต่ดวงเดียว ส่วนพระโยคาวจรใดมีโกฏฐาสหลายอย่าง

ปรากฏ หรือว่าพระโยคาวจรใดได้บรรลุฌานในโกฏฐาสอย่างหนึ่งแล้ว

ยังทำความเพียร แม้ในโกฏฐาสอย่างอื่นต่อไปอีกก็ดี ปฐมฌานหลาย

* มหาฏีกาว่า นี่เป็นภาวนาพิเศษของพระโยคี คล้ายวิธีขยายกสิณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 82

ดวงตามจำนวนโกฏฐาส ย่อมเกิดแก่พระโยคาวจรนั้นได้ ดุจปฐมฌาน

หลายดวงเกิดแก่พระมาลกเถระฉะนั้น

ได้ยินว่า ท่านผู้นั้นจับมือพระอภัยเถระผู้เป็นทีฆภาณกาจารย์

(ผู้บอกพระสูตรทีฆนิกาย) กล่าวว่า "แน่ะอาวุโสอภัย แต่นี้ไป ท่าน

จงเรียนปัญหานี้ก่อนเถิด" แล้วบอกว่า "พระเถระผู้เฒ่า (รูปหนึ่ง)

เป็นผู้ได้ปฐมฌาน ๓๒ ดวงในโกฏฐาส ๓๒ อย่าง ถ้าเข้ากลางคืน

ฌาน ๑ กลางวันฌาน ๑ ท่านจะเชื่อมฌานนั้นได้โดยเวลากึ่งเดือน

กว่า ๆ แต่ถ้าเข้าวันละฌาน ท่านจะเชื่อมได้โดยเวลาเดือนกว่า ๆ"

[เหตุที่เรียกกายคตาสติ]

ก็กรรมฐานนี้ แม้ว่าสำเร็จด้วยอำนาจปฐมฌาน (คือได้เพียง

ปฐมฌานเหมือนอสุภกรรมฐานที่กล่าวมาแล้ว) แต่เพราะสำเร็จด้วย

เรี่ยวแรงแห่งสติ (อันเป็นไป) ในโกฏฐาสทั้งหลาย อันมีลักษณะ

ต่าง ๆ มีสีและสัณฐานเป็นต้น จึงเรียกว่า กายคตาสติ* (ไม่เรียก

อสุภ ?)

[อานิสงส์เจริญกายคตาสติ]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบโดยสมควรซึ่งกายคตาสตินี้แล้ว (๑) ย่อม

* ข้อสำคัญที่ต่างกันนั้น คืออสุภ พิจารณาร่างคนอื่นที่ตายแล้ว ส่วนกายคตาสติ พิจารณา

ร่างของตนที่ยังเป็นอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 83

เป็นผู้ข่มได้ทั้งความไม่ยินดีและความยินดี๑ อันความไม่ยินดีหาข่มเธอ

ได้ไม่ (แต่) เธอข่มเสียได้ครอบงำเสียได้ ซึ่งความไม่ยินดีที่เกิดขึ้น๒อยู่

(๒) เป็นผู้ข่มความกลัวภัยได้ อันความกลัวภัยหาข่มเธอได้ไม่ (แต่)

เธอข่มเสียได้ครอบงำเสียได้ ซึ่งความกลัวภัยที่เกิดขึ้นอยู่ (๓) เป็นผู้

ทนต่อความหนาวร้อน ฯ ล ฯ (๔) เป็นคนชนิดที่อดกลั้นต่อทุกขเวทนา

กล้า. . . ขนาดจะคร่าชีวิตได๓ (๕) ได้อาศัยสีต่าง ๆ แห่งโกฏฐาส

ทั้งหลามีผมเป็นต้น จะเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ ตลอดไปถึงอภิญญา ๖

(ก็ได้)๔

เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้มีปัญญาพึงเป็นผู้ไม่ประมาท

บำเพ็ญกายคตาสตินี้อันมีอานิสงส์เป็นอเนกดังกล่าวมา

ฉะนี้เทอญ

นี่เป็นกถามุขโดยพิสดาร

ในกายคติสติ

๑. มหาฎีกาว่า "อรติ คือไม่ยินดีในเสนาสนะสงัด และในกุศลธรรมอันยิ่ง ส่วนรติ

ได้แก่ยินดีในกามคุณ" แต่คำทั้ง ๒ นี้กล่าวเป็นคู่กัน น่าจะมีความหมายที่ตรงกันข้าม

เพ่ง รติ ที่ว่ายินดีในกามคุณ อรติ ก็น่าจะหมายความตรงกันข้าม คือ ไม่ยินดีในพรหมจรรย์

หรือเนกขัม

๒. บทตั้งคือ อรติรติสโห มีทั้งอรติ และรติ แต่ตอนขยายความ กล่าวแต่อรติ

น่าจะตกรติไป

๓. ปาฐะที่เปยยาลไว้นี้ มรในจตุกกังคุตตระหน้า ๑๕๘ ความเต็มว่า ขโม โหติ สีตสฺส

อุณฺหสฺส ชิฆจฺฉาย ปิปาสาย ฑํสมกสวาตาตปลิรึสปสมฺผสฺสานํ ทุรุตฺตานํ ทุราคตานํ

วจนปถานํ อุปฺปนฺนานํ สารีริกานํ เวทนานํ ทุกฺขานํ ติพฺพานํ ขรานํ กฏฺกานํ อสาตานํ

อมนาปานํ ปาณหรานํ อธิวาสกชาติโก โหติ

๔. ที่เป็นได้ดังนี้ ด้วยอาศัยสี หมายความว่ากลายเป็นวัณณกสิณไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 84

[อานาปานสติ]

อานาปานสติกรรมฐานนั้นใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรร-

เสริญไว้อย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อานาปานสติสมาธินี้แล

บุคคลทำให้มีทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมละเมียดแท้ด้วย๑ ประณีต

แท้ด้วย เป็นธรรมเครื่องพักอยู่อันละมุนละไมและเป็นสุขด้วย ยังธรรม

อันเป็นบาปอกุศลทั้งหลาย ที่เกิด ๆ ขึ้นให้หายลับรำงับไปโดยพลันด้วย๒

ดังนี้แล้วตรัสจำแนกให้เป็นกรรมฐานมีวัตถุ (ลูกข้อ) ๑๖ อย่างนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ บุคคลทำให้มีอย่างไร ทำ

ให้มากอย่างไร จึงเป็นธรรมละเมียดแท้ด้วย ประณีตแท้ด้วย เป็น

เครื่องพักอยู่อันละมุนละไม และเป็นสุขด้วย ยังธรรมอันเป็นบาป

อกุศลทั้งหลายที่เกิด ๆ ขึ้นให้หายลับรำงับไปโดยพลันด้วย ? ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอคงมีสติหายใจ

ออก คงมีสติหายใจเข้า (มีวัตถุ ๑๖ คือ)

๑. เคยได้รับอาจริยกะว่า สนฺตะ ที่มาคู่กับ ปณีตะ เช่นในที่นี้ ให้แปลว่า 'ละเอียด'

แต่ดูตอนท่านแก้ (หน้า ๕๓) แล้วไม่มีเค้าจะให้แปลอย่างนั้นได้ เพราะท่านแก้ไว้ว่า

สนฺโต วูปสนฺโต นิพฺพุโต อันชวนให้แปลว่า "สงบ คือ รำงับดับเย็น" แต่อาจริยกะที่

กล่าวนั้น ท่านนำสืบกับมานาน จะทิ้งเสียทีเดียว ก็น่าเสียดาย ในที่นี้จึงคิดแปลใหม่เป็น

ละเมียด ในที่หมายความว่าเรียบราบ เรียบร้อยหรือเรียบสนิท จะตีความว่า สงบ

ก็ได้ เช่นทะเลราบ ก็คือคลื่นลมสงบ บ้านเมืองราบคาบ ก็คือโจรผู้ร้ายสงบ จะตีความ

ว่า ละเอียดก็ได้ เพราะถ้าหยาบคายขรุขระ จะเรียกว่าละเมียดกระไรได้

๒. สํ. มหาวาร. ๑๙/๔๐๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 85

[จตุกกะที่ ๑]

(๑) เธอหายใจออกยาวอยู่ ก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว

หรือหายใจเข้ายาวอยู่ ก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว

(๒) เธอหายใจออกยาวอยู่ ก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น

หรือหายใจออกสั้นอยู่ ก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น

(๓) เธอสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจ

ออก สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจเข้า

(๔) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจออก

สำเหนียกว่า เราจัดเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจเข้า

[จตุกกะที่ ๒]

(๕) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งปีติหายใจออก สำเหนียก

ว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งปีติหายใจเข้า

(๖) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งสุขหายใจออก สำเหนียก

ว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งสุขหายใจเข้า

(๗) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งจิตตสังขารหายใจออก

สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ชัดซึ่งจิตตสังขารหายใจเข้า

(๘) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตตสังขารหายใจออก

สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตตสังขารหายใจเข้า

[จตุกกะที่ ๓]

(๙) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจออก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 86

สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจเข้า

(๑๐) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ยังจิตให้บันเทิงยิ่งหายใจออก

สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ยังจิตให้บันเทิงยิ่งหายใจเข้า

(๑๑) สำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก สำเหนียกว่า

เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า

(๑๒) สำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก สำเหนียกว่า

เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า

[จตุกกะที่ ๔]

(๑๓) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจ

ออก สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยวหายใจเข้า

(๑๔) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไป

หายใจออก สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไป

หายใจเข้า

(๑๕) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความดับไปหาย

ใจออก สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความดับไปหายใจเข้า

(๑๖) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละทิ้ง

หายใจออก สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละทิ้ง

หายใจเข้า"* ดังนี้

บัดนี้ นิเทศแห่งการเจริญอานาปานสติกรรมฐานนั้น มาถึงแล้ว

โดยลำดับ แต่เพราะนิเทศนั้น เมื่อกล่าวไปตามแนวคำบาลีนั่นแล

* สํ. มหาวาร. ๑๙/๔๐๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 87

จึงจะบริบูรณ์อาการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น นิเทศในอานาปาน-

สติกรรมฐานนั้น (ต่อไป) นี้ จึงเป็นนิเทศยึดคำบาลีเป็นเบื้องหน้า

[ขยายความบาลีคำถาม]

บัณฑิตพึงทราบนิเทศ (ขยายความ) แห่งบาลีคำถามว่า

"กถํ ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็อานาปานสติสมาธิ บุคคลทำให้มีอย่างไร" เป็นต้นนี้ก่อน คำว่า 'กถํ'

เป็นพระปุจฉาด้วยความเป็นผู้ทรงใคร่จะตรัสการเจริญอานาปานสติสมาธิ

ให้พิสดารโดยประการต่าง ๆ คำต่อไปว่า 'ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานา-

ปานสฺสติสมาธิ' เป็นคำทรงชี้ธรรมที่ได้ตรัสถามไว้ ด้วยความเป็นผู้

ทรงใคร่จะตรัสให้พิสดารโดยประการต่าง ๆ แม้ในคำว่า 'กถํ พหุลี-

กโต ฯ เป ฯ วูปสเมติ' นั้นก็นัยนี้เหมือนกัน

ในบทเหล่านั้น บทว่า ภาวิโต-ทำให้มี นั้นคือ ทำให้เกิดขึ้น

หรือเจริญขึ้น บทว่า อานาปานสฺสติสมาธิ แปลว่า สมาธิที่

สัมปยุตกับสติ อันกำหนดเอาลมหายใจออกและลมหายใจเข้า (เป็น

อารมณ์) นัยหนึ่ง สมาธิในอานาปานสติ ชื่อว่า อานาปานสติสมาธิ

บทว่า พหุลีกโต-ทำให้มาก คือทำบ่อย ๆ

[แก้ สนฺโต ปณีโต]

สองบทว่า สนฺโต เจว ปณีโต จ นั้น พึงประกอบว่า สนฺโต

เจว ปณีโต เจว-ละเมียดแท้ด้วย ประณีตแท้ด้วย พึงทราบว่า การ

จำกัดความด้วยเอวศัพท์ ย่อมมีทั้ง ๒ บท ถามว่า พระพุทธาธิบายมีอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 88

อย่างไร ? เฉลยว่า พระพุทธาธิบายมีอยู่ว่า "อันอานาปานสติสมาธินี้

จะได้เป็นธรรมไม่ละเมียดหรือไม่ประณีตโดยปริยายไร ๆ เหมือนอย่าง

อสุภกรรมฐาน ซึ่งละเมียดและประณีตแต่โดยปฏิเวธอย่างเดียว แต่ไม่

ละเมียดไม่ประณีตทางอารมณ์เลย เพราะมีอารมณ์หยาบ และมีสิ่งปฏิกูล

เป็นอารมณ์ (เช่นนั้น) หามิได้ ที่แท้เป็นธรรมชื่อว่าละเมียด คือ เรียบ

ราบดับเย็น เพราะทั้งละเมียดโดยอารมณ์ เพราะทั้งละเมียดโดยองค์ที่

นับว่าปฏิเวธ ชื่อว่าประณีต คือ ไม่ทำให้เบื่อ เพราะทั้งประณีตโดย

อารมณ์ เพราะทั้งประณีตโดยองค์" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า

"(อานาปานสติสมาธิ) เป็นธรรมละเมียดแท้ด้วย ประณีตแท้ด้วย"

[แก้ อเสจนโก]

ส่วนในคำว่า "อเสจนโก จ สุโข จ วิหาโร เป็นธรรมเครื่อง

พักอยู่อันละมุนละไมและเป็นสุขด้วย" นั้น มีอรรถาธิบายว่า เสจนะ

(ความเปียก) ไม่มีแก่อานาปานสติสมาธินั้น เหตุนั้น อานาปานสติ-

สมาธินั้นจึงชื่อว่า อเสจนโก-ละมุนละไม (เหมือนข้าวสวย) คือ

ไม่เปรอะ ไม่ปน แยกเป็นหนึ่งได้จำเพาะตัว หมายความว่า ความ

ละเมียดในอานาปานสติสมาธินี้ หามีโดยบริกรรมหรือโดยอุปจารก็ตาม

ไม่ อานาปานสติสมาธินี้ เป็นธรรมละเมียดด้วย ประณีตด้วย โดย

สภาวะของตนแท้ จำเดิมแต่อาทิสมันนาหาร (การเริ่มต้นประมวลจิต

เข้าทำกรรมฐาน) ไป ส่วนอาจารย์ลางเหล่า*กล่าวว่า บทว่า

* มหาฎีกาว่า เกจิอาจารย์ที่ว่านี้ หมายถึงอาจารย์วัดอุตตรวิหาร (วัดเหนือ ?) อยู่ที่ไหน

ไม่บอก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 89

'อเสจนโก' ความว่า ไม่ต้องเติมอะไร เป็น (ดุจ) สิ่งมีรสดีอร่อย

โดยสภาพเอง บัณฑิตพึงทราบว่า อานาปานสติสมาธินี้ เป็น

อเสจนกะอย่างนี้แหละ จึงเป็นสุขวิหารด้วย เพราะเป็นไปเพื่อได้

กายกสุขและเจตสิกสุข ทุกขณะที่ถึงอัปปนา๑

คำว่า ที่เกิด ๆ ขึ้น หมายความว่าที่ยังมิได้ข่ม ๆ ลง คำว่า บาป

คือชั่ว คำว่า ธรรมอันเป็นอกุศล คือธรรมอันเกิดแต่ความไม่ฉลาด

คำว่า ให้หายไปโดยพลัน หมายความว่าให้ลับไป คือข่มลงได้โดยทันที

ทีเดียว คำว่า ให้รำงับไป คือให้สงบไปอย่างดี นัยหนึ่ง เธอถึง

ความเจริญแห่งอริยมรรคโดยลำดับ ย่อมตัดขาดได้ อธิบายว่า ให้สงบ

ราบคาบไปได้ เพราะอานาปานสติสมาธิเป็นนิพเพธภาคิยธรรม๒

ก็ในพระบาลีคำถามนี้ มีความสังเขป (ดังต่อไป) นี้ว่า ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ บุคคลทำให้มีด้วยประการไร ด้วย

อาการไร ด้วยวิธีไร ทำให้มากด้วยประการไร... จึงเป็นธรรมละเมียด

แท้ด้วย ฯลฯ ให้รำงับไปโดยพลันด้วย

[ขยายความแห่งบาลีคำเฉลย]

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงยังความข้อนั้นให้พิสดาร จึง

๑. มหาฎีกาขยายความว่า ที่ว่าได้กายิกสุขด้วยนั้น ก็โดยที่ร่างกายของผู้เข้าฌาน

ซาบซ่านด้วยประณีตรูปที่เกิดแต่ฌาน จะรู้สึกเป็นสุขเมื่อออกจากฌานแล้ว

๒. มหาฎีกาว่า การบำเพ็ญฌานของศาสนิกชน ส่วนมากก็เป็นนิพเพธภาคิยะ แต่สำหรับ

พระพุทธเจ้าแล้วเป็นนิพเพธภาคิยะโดยส่วนเดียวแท้ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเจริญ

กรรมฐานนี้เองจึงได้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ส่วนบท อนุปุพฺเพน อริยมคฺควุฑฺฒิปฺปตฺโต ท่านอธิบายว่า สมาธินี้เป็นบาทแห่งอริยมรรค

เจริญไปโดยลำดับย่อมเป็นดุจเข้าถึงความเป็นอริยมรรค

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 90

ตรัสคำว่า อิธ ภิกฺขเว เป็นต้น

[แก้ อิธศัพท์]

ในคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ แปลว่า 'ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้' เพราะอิธศัพท์ในพระบาลีนั้นนี้เป็นศัพท์

แสดงถึงศาสนา อันเป็นที่ก่อเกิดแห่งบุคคลผู้ทำอานาปานสติสมาธิ

ทุกประการ๑ให้เกิดขึ้น และปฏิเสธความเป็นอย่างนั้นแห่งศาสนาอื่น

สมพระพุทธพจน์นี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะมีอยู่ในศาสนานี้

เท่านั้น ฯลฯ วาทะ๒ (ลัทธิ) อื่น ๆ ว่างเปล่าจากสมณะทุกจำพวก"

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงแก้ (อิธ ภิกฺขุ) ว่า อิมสฺมึ สาสเน ภิกฺขุ

-ภิกษุในศาสนานี้

[เหตุที่ตรัส อรญฺญคโต ฯ เป ฯ นัยที่ ๑]

คำว่า 'ไปสู่ป่าหรือโคนไม้หรือเรือนว่างก็ตาม' นี้เป็นคำแสดง

ถึงการกำหนดคือเอาเสนาสนะ อันเหมาะแก่การบำเพ็ญอานาปานสติ-

สมาธิแห่งโยคาวจรภิกษุนั้น เพราะจิตของภิกษุนี้ (เคย) เพ่นพ่าน

ไปตามอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปารมณ์เป็นต้นมาเสียนาน ไม่ใคร่จะขึ้นสู่

๑. มหาฎีกาว่า คำว่าทุกประการนี้หมายถึง ๑๖ ประการนั่นเอง

๒. สมเณภิ อญฺญาหิ ในจตุกกังคุตตระหน้า ๓๒๓ อันเป็นที่มาแห่งพระบาลีนี้ พิมพ์ไว้

เป็น สมเณภิ อญฺเญหิ แต่จะเป็นอย่างไหนก็ยากในการแปลทั้งนั้น

อญฺญาหิ รูปเป็นอิตถีลิงค์ เป็นวิเสสนะของ สมเณหิ ไม่ได้ อญฺญา แปลว่า

อรหัตผลได้ แต่อญฺญา ในอรรถนี้ไม่เคยมีรูปเป็นพหฺวจนะ จึงเป็นอันตกไป

อญฺเญหิ เป็นวิเสสนะของ สมเณภิ ได้ แต่ถ้าแปลไปตรง ๆ ว่า 'เหล่าอื่น'

ความไม่เป็นภาษา-ลัทธิอื่นว่างจากสมณะเหล่าอื่น - เช่นนี้จึงยักเยื้องแปลว่า 'ทุกจำพวก'

คือจะเป็นสมณะจำพวกที่ ๑ (โสดาบัน) จำพวกที่ ๒ (สกทาคามี) จำพวกที่ ๓

(อนาคามี) จำพวกที่ ๔ (อรหันต์) ก็ว่างทั้งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 91

อารมณ์แห่งอานาปานสติสมาธิได้ คอยแต่จะเล่นไปนอกทาง เหมือน

รถที่เทียมด้วยโคโกง แล่นออกนอกทางไปฉะนั้น เพราะฉะนั้น

นายโคบาลใคร่จะฝึกลุกโคโกงซึ่งดื่มน้ำนมแม้โคโกง* (หมอ) จนเติบ

ใหญ่แล้วพึงพราก (มัน) ไปเสียจากแม่ ฝังหลักใหญ่เข้าข้างหนึ่ง

ผูก (มัน) ด้วยเชือกไว้ที่หลักนั้น ทีนี้เจ้าลูกโคของเขาตัวนั้นจะดิ้นไป

ดิ้นมา (แต่) ไม่อาจหนีไปได้ (เหนื่อยเข้าหมดพยศ) ก็จะพึง

หมอบอิง หรือนอนอิงหลักนั้นอยู่นั่นเองฉันใดก็ดี แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน ใคร่จะทรมานจิตร้าย อันเติบขึ้นด้วยการดื่มรสอารมณ์มี

รูปารมณ์เป็นต้นมาเสียนาน ก็พึงพราก (มัน) เสียจากอารมณ์มีรูปเป็น

อาทิ เข้าไปสู่ป่าหรือโคนไม้หรือเรือนว่างก็ตาม แล้วผูก (มัน)

ไว้ที่หลักคือลมหายใจออกและลมหายใจเข้านั้นด้วยเชือกคือสติ เมื่อถูก

ผูกไว้อย่างนั้น จิตของเธอนั้นแม้จะดิ้นรนไปมา ก็ไม่ได้อารมณ์ที่เคย

ชินมา (แต่) ไม่อาจตัดเชือกคือสติหนีไปได้ ก็ย่อมจะหมอบและ

นอนอิงอารมณ์ (กรรมฐาน) นั้นเอง โดย (ถึงความเป็น) อุปจาร

และอัปปนา เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวไว้ว่า

คนจะฝึกลูกโดค พึงผูก (มัน) ไว้ที่หลักฉันใด

พระโยคาวจรในศาสนานี้ ก็พึงผูกจิตของตน

ไว้ที่อารมณ์ (กรรมฐาน) ให้มั่นด้วยสติ

ฉันนั้นเถิด

* มหาฎีกาอธิบายว่า โคโกงนั้นคือโคฝึกยาก ส่วนแม่โคโกง หมายเอาแม่โคที่ขยักน้ำนมไว้

ในเต้าได้ รีดก็ไม่ยอมปล่อยให้ไหลออกหมด !

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 92

เสนาสนะ (ที่กล่าวมา) นั่น เป็นที่เหมาะแก่การภาวนาแห่ง

พระโยคาวจรนั้นด้วยประการฉะนี้ เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า คำนี้

เป็นคำแสดงถึงการกำหนดถือเอาเสนาสนะ อันเหมาะแก่การบำเพ็ญ

อานาปานสติสมาธิแห่งโยคาวจรภิกษุนั้น ดังนี้

[เหตุที่ตรัส อรญฺญคโต ฯเปฯ นัยที่ ๒]

อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุที่อานาปานสติกรรมฐานอันเป็นยอดใน

ประเภทกรรมฐาน เป็นปทัฏฐานแห่งการบรรลุธรรมวิเศษและทิฏฐ-

ธรรมสุขวิหาร ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธ และพุทธสาวก

ทั้งปวงนี้ มิใช่เป็นการง่ายที่จะไม่สละแดนบ้านอันอึงไปด้วยเสียงต่าง ๆ

เช่นเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงช้าง เสียงม้า แล้วบำเพ็ญขึ้นได้

เพราะฌานมีเสียงเป็นข้าศึก แต่ในที่มิใช่แดนบ้านคือในป่า (ละก็)

เป็นการง่ายที่พระโยคาวจรจะถือกรรมฐานนี้ ยังอานาปานจตุตถฌาน

ให้เกิดแล้วทำฌานนั้นแหละให้เป็นบาท พิจารณากองสังขารจนบรรลุ

พระอรหัตอันเป็นผลสุดยอดได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จะทรงแสดงเสนาสนะอันเหมาะแก่พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสคำว่า

อรญฺญคโต วา ดังนี้เป็นอาทิ

[เหตุที่ตรัส อรญฺญคโต ฯ เป ฯ นัยที่ ๓]

แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นดุจวัตถุวิชาจารย์ (อาจารย์

ิวิชาชี้ที่) วัตถุวิชาจารย์พบภูมิอันควรจะสร้างเมืองเข้า ตรวจดู

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 93

ตลอดแล้ว จึงชี้บอกว่า "ท่านทั้งหลายจงสร้างเมืองในที่นี้เถิด"

ก็แลครั้นเมืองสำเร็จโดยสวัสดีแล้ว ย่อมได้รับสักการะใหญ่แต่ราชสกุล

ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงตรวจดู

เสนาสนะอันเหมาะแก่พระโยคาวจรแล้วจึงทรงชี้บอกว่า "กรรมฐาน

ควรประกอบในสถานที่นี้" แต่นั้น ครั้นพระอรหัตผล อันพระโยคี

ผู้ประกอบกรรมฐาน ณ ที่นั้นได้บรรลุโดยลำดับแล้ว ย่อมทรงได้รับ

สักการะใหญ่ (โดยสรรเสริญพระคุณ) ว่า "พระผู้พระเจ้านั้น

เป็นพระสัมมาสัมพุทธะหนอ" ดังนี้ ส่วนว่าภิกษุ (โยคี) นี้ท่าน

กล่าวว่าเป็นดุจเสือเหลือง พึงทราบอธิบายว่า เหมือนอย่างพญาเสือ

เหลืองใหญ่อาศัยพงหญ้าหรือป่ารกหรือดงเข้าในป่าซุ่มอยู่ จึงจับสัตว์

ป่าทั้งหลายมีกระบือป่า กวาง และสุกรป่าเป็นต้นได้ ฉันใด ภิกษุ

ผู้ประกอบกรรมฐานอยู่ในเสนาสนะอันเหมาะทั้งหลาย มีป่าเป็นอาทินี้

ก็ย่อมคว้าเอาโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค

และอรหัตมรรค และอริยผลตามลำดับได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะ

เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

อุปมาดังเสือเหลืองซุ่มตัวอยู่ จึงจับสัตว์ป่าได้

ฉันใดก็ดี พระพุทธบุตรประกอบความเพียร

บำเพ็ญวิปัสสนานี้ก็ฉันนั้นแล (ต้อง) เข้าป่า

จึงคว้าเอาอุดมผลได้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะป่าอันเป็น

โยคภมิ (ที่ทำความเพียร) แห่งผู้มีความบากบั่นและความว่องไว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 94

(ในการภาวนา) แก่โยคาวจรภิกษุนั้น จึงตรัสคำว่า อรญฺญคโต

วา เป็นอาทิ

[แก้อรรถบทต่าง ๆ แห่งบาลีคำเฉลย]

ในบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญคโต ความว่า ในบรรดาป่า

อันมีลักษณะที่ท่านกล่าวไว้ว่า "ชื่อว่าป่า คือที่นอกเสาอินทขีลออก

ไปนั่นจัดเป็นป่าทั้งสิ้น"๑ ดังนี้ก็ดี ว่า "เสนาสนะอันมีในที่ประมาณ

๕๐๐ ชั่วธนู (แต่แดนบ้าน) เป็นอย่างต่ำ ชื่อว่าเสนาสนะป่า"๒

ดังนี้ก็ดี ภิกษุไปสู่ป่าอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นที่สงัดเป็นสุข บทว่า

รุกฺขมูลคโต คือไปสู่ที่ใกล้ต้นไม้๓ บทว่า สุญฺญาคารคโต

หมายความว่าไปสู่โอกาสอันว่างคือสงัด และในบาลีบทนี้ เว้นที่เป็น

ป่าและรุกขมูลเสีย แม้ไปสู่เสนาสนะที่เหลืออีก ๗ อย่าง๔ ก็ควรเรียกว่า

สุญฺญาคารคโต ได้๕

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงชี้เสนาสนะอันเหมาะแก่การบำเพ็ญ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๒๖๔

๒. วิ. มหา. ๒/๑๔๖

๓. หมายความว่า คำว่า รุกขมูล นั้น มิได้จำกัดเอาที่ตรงโคนไม้เท่านั้น เพราะฉะนั้น มหาฎีกา

จึงชักเอาคำอธิบายมากล่าวไว้ว่า "ในเวลาเที่ยง เงาไม้แผ่ออกไปเท่าใด ในเวลาไม่มีลม ใบไม้

หล่นลงในที่เพียงใด ที่เท่านนเพียงนั้นเรียกว่า รุกขมูล"

๔. เสนาสนะที่เหลืออีก ๗ มหาฎีกาชักเอามาบอกไว้ว่า คือภูเขา ๑ ซอกเขา ๑ ถ้ำในเขา ๑

ป่าช้า ๑ ป่าตง ๑ ที่แจ้ง ๑ กองฟาง ๑

๕. ถ้าอธิบายอย่างนี้ถูก สุญญาคาร ก็จะต้องแปลว่า 'ที่ว่างจากเรือน' ไม่ใช่ 'เรือนว่าง' อย่างที่

เคยแปลกัน เคยอ่านพบที่ไหนแห่งหนึ่งว่า สุญญาคารนั้น ได้แก่เรือนที่เขาปลูกไว้ตามทางสำหรับ

คนเดินทางพักอาศัย เรียกว่า สุญญาคาร เพราะไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้ถือสิทธิครอบครอง เมื่อไม่มี

ใครพัก ภิกษุก็ไปพักทำกรรมฐานได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 95

อานาปานสติอนุกูลแก่ฤดูทั้ง ๓ และอนุกูแก่ธาตุและจริยาด้วย อย่างนี้

แล้ว๑ จงทรงชี้อิริยาบถอันสงบ ไม่เป็นไปข้างหู่และไม่เป็นข้างฟุ้ง

แก่พระโยคาวจรภิกษุนั้น (ต่อไป) จึงตรัสคำว่า 'นั่ง'๒ ต่อนั้น

เมื่อจะทรงแสดงความมั่นคงแห่งการนั่ง ความเป็นไปสะดวกแห่งลม

หายใจออกเข้า และอุบายในการกำหนดถือเอาอารมณ์ด้วย๓ จึงตรัส

คำว่า 'คู้บัลลังก์' เป็นอาทิ

ในบทเหล่านั้น บทว่า บัลลังก์ ได้แก่นั่งคู้เขาเข้าโดยรอบ

บทว่า คู้ คือขดเข้า คำว่า ตั้งกายตรง คือตั้งสรีระส่วนบทให้ตรง

ให้ปลายกับปลายกระดูกสันหลัง ๑๘ ข้อจดกัน เพราะเมื่อพระโยคาวจร

นั่งอย่างนี้ หนังเนื้อและเอ็นย่อมไม่ขด เมื่อเป็นอย่างนั้น เวทนา

เหล่าใดจะพึงเกิดขึ้นในขณะ ๆ เพราะความขดแห่งหนังเนื้อและเอ็นนั้น

เป็นปัจจัย เวทนาเหล่านั้นก็จะไม่เกิดขึ้นแก่เธอ ครั้นเวทนาเหล่านั้น

ไม่เกิดขึ้น จิตก็จะมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กรรมฐานไม่ตก เข้าถึงความ

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า อนุกูลแก่ฤดู คือป่าอนุกูลในฤดูร้อน รุกขมูลอนุกูลในฤดูหนาว

สุญญาคารอนุกูลในฤดูฝน (นี่แสดงว่า สุญญาคาร เป็นเรือนมีเครื่องมุงบังกันฝนได้)

อนุกูลแก่ธาตุ คือป่าอนุกูลแก่คนเสมหธาตุ (มีเสมหะมาก ?) รุกขมูลอนุกูลแก่คนปิตตธาตุ

(ตีพิการ อาหารไม่ค่อยย่อย ?) สุญญาคารอนุกูลแก่คนวาตธาตุ (มักเป็นลมวิงเวียน ?)

อนุกูลแก่จริยา คือป่าอนุกูลแก่คนโมหจริต รุกขมูลอนุกูลแก่คนโทสตริต สุญญาคารอนุกูล

แก่คนราคจริต

๒. มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า อิริยาบถนอนไปข้างโกสัชชะ ยืนและเดินไปข้างอุทธัจจะ ส่วน

อิริยาบถนั่งหาเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าเป็นอิริยาบถสงบ

๓. มหาฎีกาช่วยไขความว่า ทรงแสดงความมั่นคงแห่งการนั่งด้วยการคู้บัลลังก์ ทรงแสดงความเป็น

ไปสะดอกแห่งลมหายใจ ด้วยการตั้งกายส่วนบนนั้นให้ตรง ทรงแสดงอุบายในการกำหนดถือเอา

อารมณ์ด้วยการดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 96

เจริญงอกงามขึ้น คำว่า ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า คือตั้งสติให้มุ่งหน้าต่อ

กรรมฐาน อีกนัยหนึ่ง อรรถาธิบายในคำนี้พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ใน

ปฏิสัมภิทาอย่างนี้ว่า "ศัพท์ว่า ปริ มี ปริคฺคห (ความกำหนดถือเอา

เป็นอรรถ ศัพท์ว่า มุข มี นิยฺยาน (ความออกไป) เป็นอรรถ

ศัพท์ว่า สติ มี อุปฏฺฐาน (ความเข้าไปตั้งอยู่ ไม่ลืมเลือนป เป็น

อรรถ เหตุนั้น จึงตรัสว่า ปริมุขํ สรี" ดังนี้ก็ได้ นี่เป็นอธิบาย

สังเขปในคำนั้น คือ "ทำสติให้มีความออก (จากปฏิปักขธรรม) อัน

กำหนดถือเอาแล้ว"๑

[สโตการี]

คำว่า "เธอคงมีสติหายใจเข้า" เป็นต้น ความว่า ภิกษุนั้น

นั่งอย่างนี้และตั้งสติไว้มั่นอย่างนี้แล้ว ไม่ละสตินั้นอยู่ ชื่อว่าคงมีสติ

หายใจออก คงที่สติหายใจเข้า๒ มีคำอธิบายว่า เป็นสโตการี (ผู้มี

สติทำ)

บัดนี้ พระโยคาวจรเป็นสโตการีด้วยอาการเหล่าใด เพื่อจะ

ทรงแสดงอาการเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า ทีฆํ วา อสฺสนฺโต เป็นอาทิ

จริงอยู่ ในปฏิสัมภิทาท่านก็กล่าวคำ (ต่อไป) นี้ไว้ในวิภังค์แห่ง

ปาฐะว่า 'โส สโตว อสฺสสติ สโต ปสฺสติ' นั้นนั่นแหละว่า

"โยคาวจรภิกษุย่อมเป็นสโตการีด้วยอาการ ๓๒ คือ (๑) เมื่อเธอรู้

๑. มหาฎีกาช่วยให้ความตรงนี้ว่า ทำสติให้มีความไม่หลงลืมอันถือเอาได้แล้ว คือว่าสละความ

หลงลืมทิ้งเสียแล้ว

๒. มหาฎีกาแนะให้ประกอบ เอว ศัพท์ ในสโตทั้ง ๒ บท

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 97

ความมีอารมณ์เดียว ความไม่ส่ายไปมาแห่งจิต ด้วยอำนาจแห่งการ

หายใจออกยาวอยู่ สติย่อมตั้งมั่น (ในอารมณ์นั้น) เธอก็เป็นสโตการี

ด้วยสตินั้น ด้วยความรู้นั้น (๒) เมื่อเธอรู้ความมีอารมณ์เดียว ความ

ไม่ส่ายไปมาแห่งจิต ด้วยอำนาจแห่งการหายใจเข้ายาวอยู่ สติย่อมตั้งมั่น

(ในอารมณ์นั้น) เธอก็เป็นสโตการีด้วยสตินั้นด้วยความรู้นั้น ฯ เป ฯ

(๓๑) เมื่อเธอรู้ความมีอารมณ์เดียว ความไม่ส่ายไปมาแห่งจิต ด้วย

อำนาจแห่งความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละละทิ้ง หายใจออกอยู่----

(๓๒) ----ด้วยอำนาจแห่งความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละละทิ้งหายใจ

เข้าอยู่ สติย่อมตั้งมั่น (ในอารมณ์นั้น) เธอก็เป็นสโตการีด้วยสตินั้น

ด้วยความรู้นั้น"๑ ดังนี้

[แก้ศัพท์ อัสสาสะปัสสาสะ]

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต คือยังอัสสาสะ

ยาวให้เป็นไป หรือ ในอรรถกถาพระวินัยกล่าวว่า ลมออกข้างนอก

ชื่ออัสสาสะ ลมเข้าข้างในชื่อปัสสาสะ แต่ในอรรถกถาพระสูตรทั้ง

หลายมากลับกัน (กับคำอรรถกถาวินัย) ในลม ๒ อย่างนั้น เวลาที่

ครรภไสยกสัตว์ทั้งปวงออกจากท้องมารดา ลมข้างในออกมาข้างนอก

ก่อน ลมข้างนอกพาเอาธุลีละเอียดเข้าข้างในทีหลัง พอถึงเพดานปาก

ก็ดับ๒ พึงทราบเรื่องลมอัสสาสะและปัสสาสะอย่างนี้ก่อน

๑. ขุ. ป. ๓๑/๒๖๔

๒. มหาฎีกาเสริมความว่า "เพราะอย่างนี้เอง เขาจึงว่าเด็กแรกคลอดมันไอออกมา" คงหมาย

ความว่าเพราะไอออกมาปะทะเสีย ลมเข้าครั้งแรกจึงตับแค่เพดานปาก เช่นนั้นกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 98

ส่วนความยาวและสั้นของลมทั้ง ๒ นั้นอันใด ความยาวและสั้น

นั้นพึงทราบ (ว่าเป็น) ด้วยอำนาจอัทธานะ (คือระยะที่ และ

ระยะกาล)๑ เหมือนอย่างน้ำหรือทรายก็ดี ที่แผ่ไปตลอดอัทธานะคือที่

(ยาวหรือสั้น) เขาก็เรียก (ลำ) น้ำยาว (หาด) ทรายยาว (ลำ)

น้ำสั้น (หาด) ทราบสั้น ฉันใด ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าที่แม้

เป็นของละเอียดยิ่งนัก (แต่มันเข้าไป) ทำอัทธานะ (คือที่) อัน

ยาว ในร่างกายช้างและในร่างกายงู กล่าวคือลำตัวของมันให้เต็มช้า ๆ

แล้วออกช้า ๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เขาจึงว่าลมหายใจ (ของช้าง

และงู) ยาว ลมนั้น (เข้าไป) ทำอัทธานะ (คือที่) อันสั้น

กล่าวคือลำตัวของสัตว์ (ตัวเล็กและตัวสั้น) มีสุนัขและกระต่าย

เป็นต้นให้เต็มโดยเร็วแล้วออกเร็วเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เขาจึงว่า

ลมหายใจ (ของสัตว์เล็ก) สั้น๒ ส่วนในพวกมนุษย์ ว่าโดยอัทธานะ

คือกาล บางเหล่าก็หายใจออกและหายใจเข้ายาว ดังสัตว์ (ตัว

ใหญ่และตัวยาว) มีช้างและงูเป็นต้น บางเหล่าก็หายใจออกและ

หายใจเข้าสั้น ดังสัตว์ (ตัวเล็กและตัวสั้น) มีสุนัขและกระต่ายเป็น

อาทิ๓ เพราะเหตุนั้น ลมหายใจของพวกมนุษย์นั้น เมื่อออกก็ดี เข้า

ก็ดี กินระยะเวลานาน ก็พึงทราบว่ายาว เมื่อออกก็ดี เข้าก็ดี กิน

ระยะเวลานิดหน่อย ก็พึงทราบว่าสั้น โดยเนื่องด้วยกาล

๑. มหาฎีกาว่า อัทธานศัพท์ บอก กาละ ก็ได้ เทสะ ก็ได้ ดังความอุทาหรณ์ต่อไปนั้น อัทธานะ

หมายเอา เทสะ ทั้งนั้น ส่วนตอนว่าถึงความยาวสั้นของลมหายใจ หมายเอากาละ

๒. อธิบายอย่างนี้ก็ต้องเข้าใจว่าลมหายใจแล่นเข้าไปตลอดลำตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องของปอด (?)

๓. ท่านเปรียบน่ากลัว !

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 99

[อานาปานสติเป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐาน]

ในการหายใจออกและเข้ายาวสั้นนั้น ภิกษุ (โยคาวจร) นี้

เมื่อหายใจออกก็ดี หายใจเข้าก็ดียาว ย่อมรู้ว่าเราหายใจออกหายใจเข้า

ยาว ด้วยอาการ ๙ และเมื่อเธอรู้อยู่อย่างนั้น พึงทราบว่าสติปัฏฐาน-

ภาวนาส่วนกายานุปัสนา ย่อมสำเร็จโดยอาการอันหนึ่ง ดังท่านกล่าว

ไว้ในปฏิสัมภิทาว่า "ถามว่า ภิกษุโยคาวจรเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่า

หายใจออกยาว๑ เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว ด้วย

อาการอย่างไร" แก้ว่า "(๑) ภิกษุระบายลมออกเป็นลมหายใจออก

ยาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว (๒) สูดลมเข้าเป็นลมหายใจ

เข้ายาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว (๓) ทั้งระบายลมออก ทั้ง

สูดลมเข้า เป็นลมหายใจออกและลมหายใจเข้ายาว ในเพราะกาลที่นับ

ว่าระยะยาว๒

เมื่อเธอทั้งระบายลมออกทั้งสูดลมเข้า เป็นลมหายใจออกและลม

หายใจเข้ายาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาวอยู่ ฉันทะเกิดขึ้น (๔)

ด้วยอำนาจฉันทะ เธอระบายลมออก เป็นลมหายใจออกยาว ใน

เพราะกาลที่นับว่าระยะยาว เป็นลมละเอียดกว่าก่อนนั้น (๕) ด้วย

๑. ตรงนี้ปาฐะตก ทีฆํ ในระหว่าง อสฺสสนโต กับ อสฺสสามีติ

๒. มหาฎีกาว่า พระโยคาวจรลางรูปกำหนดลมหายใจออกได้ชัด ลางรูปก็กำหนดลมหายใจเข้า

ได้ชัด ลางรูปก็กำหนดได้ชัดทั้ง ๒ อย่าง ท่านจึงแจกเป็นอาการ ๓ และอาการนี้แล เมื่อฉันทะ

และปราโมชเกิด ก็แจกออกไปด้วยอำนาจฉันทะ ๓ ด้วยอำนาจปราโมช ๓ จึงเป็น ๙ ดังกล่าว

ต่อไปนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 100

อำนาจฉันทะ เธอสูดลมเข้าเป็นลมหายใจเข้ายาว ในเพราะกาลที่นับว่า

ระยะยาว เป็นลมละเอียดกว่าก่อนนั้น (๖) ด้วยอำนาจฉันทะ เธอ

ทั้งระบายลมออกทั้งสูดลมเข้า เป็นลมหายใจออกและลมหายใจเข้ายาว

ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว เป็นลมละเอียดกว่าก่อนนั้น

เมื่อเธอทั้งระบายลมออกทั้งสูดลมเข้าเป็นลมหายใจออกและลม

หายใจเข้ายาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว เป็นลมละเอียดกว่าก่อน

นั้นด้วยอำนาจฉันทะอยู่ ปราโมชเกิดขึ้น (๗) ด้วยอำนาจปราโมช

เธอระบายลมออก เป็นลมหายใจออกยาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะ

ยาว เป็นลมละเอียดยิ่งกว่านั้นไปอีก (๘) ด้วยอำนาจปราโมช เธอ

สูดลมเข้า เป็นลมหายใจเข้ายาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว เป็น

ลมละเอียดยิ่งกว่านั้นไปอีก (๙) ด้วยอำนาจปราโมช เธอทั้งระบาย

ลมออกทั้งสูดลมเข้า เป็นลมหายใจออกและลมหายใจเข้ายาว ในเพราะ

กาลที่นับว่าระยะยาว เป็นลมละเอียดยิ่งกว่านั้นไปอีก*

เมื่อเธอทั้งระบายลมออกทั้งสูดลมเข้า เป็นลมหายใจออกและ

หายใจเข้ายาว ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว เป็นลมละเอียดยิ่งกว่านั้น

ไปอีก ด้วยอำนาจปราโมชอยู่ จิตก็ผละจากกลมหายใจออกและลม

* มหาฎีกาว่า ฉันทะนี้ได้แก่กัตตุกามตาฉันทะ (ความพอใจอันมีลักษณะใคร่จะทำ) เกิดขึ้น

เพราะได้อัสสาทะในภาวนา ส่วนปราโมชได้แก่ปีติอ่อน ๆ เกิดเพราะอารมณ์กรรมฐานละเมียดเข้า

เพราะลมหายใจละเอียดยิ่งขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 101

หายใจเข้ายาว (นั้น) อุเบกขาก็ตั้งขึ้น๑

ลมหายใจออกและลมหายใจเข้ายาว (ที่เป็นไป) โดยอาการ ๙

นี้นับเป็นกาย สิ่งที่เข้าไป (ทำกายนั้นเป็นอารมณ์) ตั้งอยู่ เป็นตัวสติ

อนุปัสนา (ความตามกำหนดดูกายให้รู้ตามที่มันเป็น) เป็นตัวญาณ

กาย เป็นที่เข้าไปตั้งอยู่ (แห่งสติ) มิใช่ตัวสติ สติ เป็นทั้งสิ่งที่เข้า

ไปตั้งอยู่ และเป็นตัวระลึกด้วย พระโยคาวจรตามกำหนดดูกายนั้น

ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้นแล เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า "การตาม

กำหนดดูกายในกาย เป็นการบำเพ็ญสติปัฏฐาน" ดังนี้๒

นัยแม้ในรัสสบท (บทว่าด้วยลมหายใจสั้น) ก็ดุจนัยนี้ แต่นี่

เป็นความแปลกกัน คือคำว่า ทีฆํ อสฺสาสํ อทฺธานสงฺขาเต (เป็น

ลมหายใจออกยา ในเพราะกาลที่นับว่าระยะยาว) ที่ท่านกล่าวใน

ทีฆบท (บทว่าด้วยลมหายใจยาว) นั้นฉันใด ในรัสสบทนี้ คำนั้น

ก็มา (เป็น) ว่า รสฺสํ อสฺสาสํ อิตฺตรสงฺขาเต อสฺสสติ (ระบาย

ลมออกเป็นลมหายใจสั้น ในเพราะกาลที่นับว่าระยะสั้น) ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงประกอบคำเข้าโดยใช้รัสสศัพท์ (แทน

ทีฆศัพท์) ไปจนถึงคำว่า เตน วุจฺจติ กาเย กายานุปสฺสนา สติ-

ปฏฺฐานภาวนา (เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า การตามกำหนดดูกายในกาย

๑. มหาฎีกาว่า ลางอาจารย์ว่า "เพราะลมหายใจละเอียดเข้าโดยลำดับจนไม่ปรากฏว่ามีหรือ

ไม่มี จิต (ซึ่งตามกำหนดดูลมนั้น) จึงได้ผละคือเลิกกำหนด" แต่ส่วนมติของท่านว่าเมื่อลม

หายใจละเอียดหนักเข้าด้วยกำลังภาวนา ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตจึงผละจากลมหายใจปกติ

(มาอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต ? ) อนึ่ง เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดได้สมาธิแล้ว จิตก็วางเฉยเพราะไม่ต้องพยายาม

ที่จะทำฌานให้เกิดอีก จึงว่าอุเบกขาตั้งขึ้น

๒. ปาฐะในฎีกาเรียงติดกันเป็น----กายานุปสฺสนาสติหฏฺฐานภาวนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 102

เป็นการบำเพ็ญสติปัฏฐาน) ฉะนี้เถิด

พระโยคาวจรนี้ เมื่อรู้ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าตามอาการ

เหล่านี้ ทั้งโดยกาลระยะยาวและโดยกาลระยะสั้นอยู่อย่างนี้ บัณฑิต

พึงทราบว่า เธอได้ชื่อว่า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว

หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่า

หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น (ดังที่กล่าว

ในบาลี) ก็แลเมื่อภิกษุนั้นรู้อยู่อย่างนี้

ลม ๔ อย่าง๑ คือลมหายใจออกยาวและสั้น แม้ลม

หายใจเข้าเล่าก็อย่างนั้น ย่อมเป็นไป (คือรู้สึก ?)

อยู่ที่ปลายจมูก๒ ของภิกษุนั่นแล

[แก้ สพฺพกายปฏิสํเวที]

ข้อว่า "เธอสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจ

ออก----หายใจเข้า" นั้น คือเธอใส่ใจว่าเราจักทำต้น กลาง ปลาย

แห่งกายคือลมหายใจทั้งสิ้นให้เป็นสิ่งที่เรารู้ คือทำ (ลมหายใจนั้น)

ให้เป็นสิ่งที่เห็นชัดหายใจออก ใส่ใจว่าจักทำต้นกลางปลายแห่งกายคือ

ลมหายใจทั้งสิ้นให้เป็นสิ่งที่เรารู้ คือทำ (ลมหายใจนั้น) ให้เป็นสิ่งที่

เห็นชัดหายใจเข้า เมื่อทำ (ลมหายใจ) ให้เป็นสิ่งที่ตนรู้ คือทำ

๑. วณฺณ แปลว่า อย่าง ชนิด ก็ได้

๒. ว ที่นาสิกคฺเคว นี้ มหาฎีกาท่านว่าเป็นวา รัสสะให้ได้คาถา และว่า วา ศัพท์นี้มีอรรถ

เป็นอนิยม เพราะฉะนั้น จึงรวมเอาริมฝีปากบนเข้าด้วย

รู้สึกว่าท่านคิดมากไป แม้จะเป็น ว อวธารณะ แต่นาสิกคฺเค ก็คงมิได้หมายเอาตรงจะงอย

จมูกเท่านั้น แต่หมายถึงบริเวณนั้น ซึ่งมันก็ถึงริมฝีปากบนด้วยอยู่เอง ต่างว่าเป็น วา อย่างท่าน

ว่าแล้วจะแปลอย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 103

(ลมหายใจ) ให้เป็นสิ่งที่เห็นชัดอย่างนั้น ก็ชื่อว่าเธอหายใจออกและ

หายใจเข้าด้วยทั้งจิตอันประกอบด้วยญาณ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า

"เธอสำเหนียกว่า เราจัก----หายใจออก----หายใจเข้า" ดังนี้

จริงอยู่ สำหรับภิกษุลางรูป ต้นลมในกองลมหายใจออกก็ดี ใน

กองลมหายใจเข้าก็ดี ที่แล่น (ออกเข้า) อยู่อย่างละเอียด (นั้น)

ชัด (แต่) กลางลมและปลายลมไม่ชัด เธอก็อาจกำหนดถือเอาได้

แต่ต้นลม ยุ่งยากอยู่ในตอนกลางลมและปลายลม สำหรับลางรูป

กลางลมชัด (แต่) ต้นและปลายไม่ชัด (เธอก็อาจกำหนดถือเอาได้

แต่กลางลม ยุ่งยากอยู่ในตอนต้นและปลาย*) สำหรับลางรูป ปลาย

ลมชัด (แต่) ต้นและกลางไม่ชัด เธอก็อาจกำหนดลือเอาได้แต่ปลาย

ลม ยุ่งยากอยู่ในตอนต้นและกลาง สำหรับลางรูปชัดหมดทุกตอน

เธอก็อาจกำหนดถือเอาได้หมด ไม่ยุ่งยากเลยสักตอน พระผู้มีพระภาค

เจ้าจะทรงแสดงความว่า อันพระโยคาวจรควรเป็นเช่น (รูปที่ ๔) นั้น

จึงตรัส (ข้อนี้) ว่า "ภิกษุสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมด

หายใจออก----หายใจเข้า" ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า สำเหนียก คือเพียรพยายาม (ทำ

มนสิการเพื่อรู้) อย่างนั้น อีกนัยหนึ่ง อรรถาธิบายในบทนี้ บัณฑิต

พึงทราบอย่างนี้ว่า ความสำรวมแห่งภิกษุผู้เป็นอย่างนั้น (คือผู้เจริญ

อานาปานสติ) อันใด ความสำรวมนี้จัดเป็นอธิสีสลสิกขาในที่นี้ ความ

* ความที่วงเล็บไว้นี้น่าจะมี เพราะต้นก็มีปลายก็มี แต่ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคไม่มี จึงเดิม

และวงเล็บไว้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 104

ตั้งจิตมั่นแห่งภิกษุผู้เป็นอย่างนั้นอันใด คามตั้งจิตมั่นนี้จัดเป็นอธิจิตต-

สิกขาในที่นี้ ความรู้ทั่วถึงแห่งภิกษุผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ความรู้ทั่วถึง

นี้จัดเป็นอธิปัญญาสิกขาในที่นี้ ภิกษุสำหนียก คือส้องเสพ เจริญ

ทำให้มากซึ่งสิกขา ๓ ตามที่กล่าวมานี้ในอารมณ์นั้น ด้วยสตินั้น ด้วย

มนสิการนั้น ดังนี้

ในจตุกกะที่ ๑ นั้น เพราะเหตุที่ในนัยแรก พระโยคาวจรพึง

หายใจออกหายใจเข้าอย่างเดียวเท่านั้น และไม่พึงทำกิจอะไร ๆ อื่น*

แต่ว่าต่อนี้ไปควรทำความเพียรในอาการทั้งหลายมีการยังญาณให้เกิด

เป็นต้น เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระบาลี

โดยเป็นวัตตมานกาลว่า----อสฺสสามีติ ปชานาติ----ปสฺสสามีติ ปชา-

นาติ (----รู้ว่าเราหายใจออก----รู้ว่าเราหายใจเข้า) ดังนี้ในนัยแรก

นั้นแล้ว จึงทรงยกพระบาลีเป็นคำแสดงอนาคตกาล โดยนัยว่า สพฺพ-

กายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามิ (----เราจักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมด

หายใจออก) ดังนี้เป็นต้น เพื่อจะทรงแสดงอาการมีการทำญาณให้เกิด

เป็นต้น อันควรทำต่อแต่นัยแรกนี้ไป

[แก้ ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ]

ข้อว่า "เธอสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจ

ออก----หายใจเข้า" นั้น คือเธอใส่ใจว่าเราจักเป็นผู้ระงับ คือทำกาย-

สังขารที่หยาบให้ค่อย ๆ เบาลง ให้ดับไปให้สงบไปหายใจเข้าหายใจออก

ความหยาบและละเอียดก็ดี ความระงับก็ดี ในข้อนั้น พึงทราบ

* นัยแรกหมายถึงวัตถุหมายเลข ๑ และ ๒ ในจตุกกะที่ ๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 105

ดังนี้ ก็กายและจิตของภิกษุนี้ ในกาลก่อนที่ยังมิได้กำหนดถือเอา

(อานาปานสติกรรมฐานนั้น) เป็นกายจิตที่ยังมีความกระวนกระวาย

(นับว่า) ยังหยาบ ครั้นความหยาบแห่งกายจิตยังไม่สงบ แม้ลมหายใจ

ออกและลมหายใจเข้าก็เป็นลมหยาบ คือเป็นไปแรงมาก จมูกไม่พอ

ยืนหายใจทั้งออกทั้งเข้าทางปาก ต่อเมื่อใด ทั้งกายทั้งจิตของเธอ

ถูกกำหนดถือเอา (เป็นที่ตั้งกรรมฐาน) แล้ว๑ เมื่อนั้นมันก็ละเมียด

เข้า (จน) สงบไป ครั้นกายจิตนั้นสงบแล้ว ลมหายใจออกและเข้า

ก็เป็นไปละเอียดลง (จน) ถึงซึ่งอาการคือความที่ต้องวิจัยว่ามีอยู่หรือ

ไม่มีหนอ อุปมาเหมือนลมหายใจออกและเข้าของคนที่วิ่งลงมาจากภูเขา

หรือปลงของหนักมากลงจากศีรษะแล้วยืนอยู่ ย่อมเป็นลมหยาบ จมูก

ไม่พอ ยืนหายใจทั้งออกทั้งเข้าทางปากอยู่ ต่อเมื่อใดเขาบรรเทา

ความเหนื่อยนั้นแล้ว ได้อาบและดื่มน้ำแล้ว ทำ (คือประทับ) ผ้า

เปียกไว้ตรงที่หัวใจ๒ นอน (พัก) เสียที่ร่มอันเย็น ที่นี้ลมหายใจออก

เข้าของเขานั้นก็ละเอียดลง (จน) ถึงซึ่งอาการคือความที่ต้องวิจัยว่ามี

อยู่หรือไม่มีหนอ๓" ฉันใดก็ดี กายและจิตของภิกษุนี้ ในกาลก่อน

ที่ยังมิได้กำหนดถือเอา (อานาปานสติกรรมฐานนั้น) ฯลฯ ถึงซึ่ง

อาการคือ ความที่ต้องวิจัยว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่หนอ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

๑. มหาฎีกาไขความว่า กิริยาที่นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง เป็นกายปริคหะ กิริยาที่ดำรงสติไว้เฉพาะ

หน้า เป็นจิตตปริคหะ

๒. เพิ่งทราบนี่เองว่า การใช้ผ้าเปียกประทับอก ช่วยทำให้หายเหนื่อยได้

๓. ท่านพรรณนาเพลินไปกระมัง การนอนพักเช่นนั้น ลมหายใจจะละเอียดถึงต้องวิจัยเทียวหรือ

ถ้ายิ่งหลับกรนฟู้ ๆ ก็ยิ่งไม่ต้องวิจัยเลย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 106

ถามว่า ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ตอบว่า เพราะเป็นความจริง

ว่า ในกาลก่อนที่ยังมิได้กำหนดถือเอา (พระกรมฐานนั้น) ความ

คำนึง ความรวมใจ ความใส่ใจ ความไตร่ตรอง ว่าเราจะระงับกาย-

สังขารหยาบ ๆ หามีแก่เธอไม่ ต่อในกาลที่กำหนดถือเอา (พระ

กรรมฐาน) แล้วจึงมี เพราะเหตุนั้น กายสังขารของเธอในกาลที่ได้

กำหนดถือเอา (พระกรรมฐาน) แล้ว จึงละเอียดกว่า (กายสังขาร

ใน) กาลที่ยังมิได้กำหนดถือเอา (พระกรรมฐาน) เพราะฉะนั้น

พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

เมื่อกายละจิตกระสับกระส่าย กายสังขารย่อม

เป็นไปหยาบแล ครั้นกายและจิตไม่กระสับ

กระส่ายแล้ว กายสังขารย่อมเป็นไปละเอียด

[ลมหยาบและละเอียดเป็นชั้น ๆ]

[นัยทางสมถะ]

"แม้ในชั้นกำหด กายสังขารก็นับว่ายังหยาบ ในชั้นอุปจาร

แห่งปฐมฌานจึงละเอียด ในชั้นอุปจารปฐมฌานนั้นเล่า ก็นับว่ายัง

หยาบ ในชั้นตัวปฐมฌานจึงละเอียด ในชั้นปฐมฌานและชั้นอุปจาร

แห่งทุติฌานก็นับว่ายังหยาบ ในชั้นตัวทุติยฌานจึงละเอียด ในชั้น

ทุติยฌานและอุปจารแห่งตติยฌานก็นับว่ายังหยาบ ในชั้นตัวตติยฌาน

จึงละเอียด ในชั้นตติยฌานและอุปจารแห่งจุตตถฌาน ก็นับว่ายัง

หยาบ ต่อชั้นจตุตถฌานจึงละเอียดยิ่ง (จน) ถึงซึ่งความไม่เป็นไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 107

ทีเดียว" คำที่กล่าวมานี้เป็นมติของพระทีฆภาณกะ (ผู้กล่าวคัมภีร์

ทีฆนิกาย) และพระสังยุตตภาณกะ (ผู้กล่าวคัมภีร์สังยุตนิกาย) ก่อน

ฝ่ายพระมัชฌิมภาณกะ (ผู้กล่าวคัมภีร์มัชฌิมนิกาย) ทั้งหลาย ประสงค์

เอาว่าแม้ในอุปจารแห่งฌานชันสูง ๆ ก็ละเอียดกว่าตัวฌานชั้นต่ำ ๆ

(โดยลำดับกัน) เช่นว่า "ในปฐมฌานก็ยังหยาบ ในอุปจารแห่ง

ทุติยฌานจึงละเอียด" ดังนี้ (เป็นตัวอย่าง)* แต่ว่าโดยมติของ

อาจารย์ทั้งหมดด้วยกัน คงได้ความว่า กายสังขารอันเป็นไปในกาลที่

ยังมิได้กำหนดถือเอา (พระกรรมฐาน) ไประงับลงในกาลที่กำหนด

ถือเอา (พระกรรมฐาน) แล้ว กายสังขารอันเป็นไปในกาลที่

กำหนดถือเอา (พระกรรมฐาน) ก็ไประงับลงในอุปจารแห่งปฐมฌาน

ฯลฯ กายสังขารอันเป็นไปในอุปจรแห่งจตุตถฌาน ก็ไประงับลงใน

จตุตถฌาน" ดังนี้แล นี่เป็นนัยทางสมถะ เป็นอันดับแรก

[นัยทางวิปัสนา]

ส่วนในทางวิปัสนา กายสังขารอันเป็นไปในตอนที่ยังมิได้

กำหนดก็ยังหยาบ ในตอนที่กำหนดมหาภูตรูปเข้าจึงละเอียดลง แม้

กายสังขารในตอนที่กำหนดมหาภูตรูปนั้น ก็นับว่ายังหยาบอยู่ ต่อ

ตอนที่กำหนดอุปาทารูปจึงละเอียดเข้า กายสังขารในตอนที่กำหนด

อุปาทารูปนั้นเล่าก็นับว่ายังหยาบอยู่ ถึงตอนที่กำหนดสกลรูปนั้น

* คือมติแรกท่านถือว่าตัวฌานชั้นต่ำกับอุปจารชั้นต่อไปนั้นเท่ากัน ส่วนมติหลังถือว่าอุปจารฌาน

ชั้นสูงย่อมสุขุมกว่าตัวฌานชั้นต่ำ ไม่เท่ากัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 108

เล่า ก็นับว่ายังหยาบ ต่อตอนที่กำหนดทั้งรูปทั้งอรูปจึงละเอียดเข้า แม้

กายสังขารในตอนที่กำหนดทั้งรูปทั้งอรูปนั้นก็นับว่ายังหยาบ ในตอนที่

กำหนดปัจจัย (ของนามรูป) จึงละเอียดเข้า การสังขารในตอนที่

กำหนดปัจจัยนั้นเล่าก็นับว่ายังหยาบ ต่อตอนที่เห็นนามรูปพร้อมทั้ง

ปัจจัยจึงละเอียดเข้า แม้กายสังขารในตอนที่เห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย

นั้นก็นับว่ายังหยาบ ถึงตอนที่เป็นวิปัสนา อันมี (ไตร) ลักษณ์เป็น

อารมณ์ จึงละเอียดเข้า๑ ในทุรพลวิปัสนา (วิปัสนากำลังอ่อน)

ก็นับว่ายังหยาบ ในพลววิปัสนา๒ (วิปัสนากำลังกล้า) จึงละเอียดเข้า

ในวิปัสนานั้น ความระงับแห่งกายสังขารอันเป็นไปในกาลตอน

แรก ๆ ด้วยกาลตอนหลัง ๆ (โดยลำดับ) บัณฑิตก็พึงทราบโดยนัย

ที่กล่าวมาก่อนนั้นเถิด๓

ความหยาบและละเอียดก็ดี ความระงับก็ดี (แห่งกายสังขาร)

ในข้อ ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ----ปสฺสสิสฺสามิ นี้

บัณฑิตพึงทราบโดยประการดังกล่าวมาฉะนี้เทอญ

[อรรถาธิบายในปฏิสัมภิทามรรค]

ส่วนในปฏิสัมภิทา ท่านกล่าวความแห่งข้อนี้ พร้อมทั้งคำท้วง

๑. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ครั้งที่ ๓ ลงหัวตาปูคั่นประโยคไว้หลัง โอฬาริโก ทุกแห่งนั้น

คลาดเคลื่อนไป ที่ถูกควรลงคั่นหลัง สุขุโม เพราะประโยคความสุดลงที่ สุขุโม ทุกแห่ง

๒. มหาฎีกาว่า ตอนพิจารณากลาปเป็นลักขณารัมมณิกวิปัสนา ตั้งแต่นิพพิทานุปัสนาไป จัดเป็น

พลววิปัสนา หย่อนกว่านั้นเป็นทุรพลวิปัสนา

๓. คือให้ประกอบความเช่นเดียวกับที่กล่าวในสมถนัย เช่นว่ากายสังขารอันเป็นไปในตอนที่ยังมิได้

กำหนด มาระงับลงในตอนกำหนดมหาภูตรูป กายสังขารอันเป็นไปในตอนกำหนดหมาภูตรูป

มาระงับลงในตอนอุปาทารูป----ดังนี้เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 109

และคำเฉลยไว้ดังนี้ว่า "ถามว่า 'ภิกษุสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับ

กายสังขารหายใจออก----หายใจเข้า อย่างไร อะไรชื่อกายสังขาร'

เฉลยว่า 'ธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในกาย คือลมหายใจออกหายใจเข้ายาว

อันเป็นธรรมเนื่องด้วยกาย นี้ชื่อกายสังขาร ภิกษุทำกายสังขารทั้ง

หลายนั้นให้รำงับ คือให้ดับสงบลง สำเหนียกไป ฯ ล ฯ (คือ)

สำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร (หยาบ) ที่เป็นเหตุให้กายโยก

โคลงโอนเอนส่ายสั่นหวั่นไหวไปมาเสีย หายใจออก สำเหนียกว่า

เราจักระงับกายสังขาร (หยาบ)--- หายใจเข้า สำเหนียกว่าเราจัก

ระงับกายสังขารอันสงบอันละเอียด ที่เป็นเหตุให้กายไม่โยกไม่โคลง

ไม่โอนไม่เอนไม่ส่ายไม่สั่นไม่หวั่นไม่ไหว หายใจออก----หายใจเข้า

มีคำท้วง (สอดเข้ามา) ว่า หากว่าอย่างนั้น ชื่อว่า ปสฺสมฺภยํ

กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสมภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ

สิกฺขติ ละก็ เมื่อเป็นอย่างนั้น (คือแม้กายสังขารที่ละเอียดยิ่งก็ให้

ระงับเสียอีก เช่นนั้น ?) การทำวาตุปลัทธิ (ความกำหนดรู้ลม ?)

ให้เกิดต่อไปก็ไม่มีละ การยังลมหายใจออกหายใจเข้าให้เป็นไปก็ไม่มี

(เพราะทั้งหยาบทั้งละเอียดระงับไปหมดแล้ว ?) การเจริญอานาปานสติ

ต่อไปก็ไม่มี (เพราะลมหายใจไม่มี ?) การบำเพ็ญอานาปานสติสมาธิ

ต่อไปก็ไม่มี (เพราะไม่มีลมเป็นอารมณ์ ?) และบัณฑิตทั้งหลาย

ก็เป็นอันไม่ได้เข้าสมาบัตินั้น ทั้งก็ไม่ได้ออกจากสมาบัตินั้นด้วยละซิ ?

มีคำเฉลยว่า ถึงว่าอย่างนั้น ชื่อว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ

อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 110

เมื่อเป็นเช่นนั้น (คือเมื่อกายสังขารระงับไปอย่างนั้น ?) การทำ

วาตุปลัทธิให้เกิดต่อไปก็ยังมีได้ การยังลมหายใจออกและลมหายใจ

เข้าให้เป็นไปก็มีได้ การเจริญอานาปานสติต่อไปก็มีได้ การบำเพ็ญ

อาหาปานสติสมาธิต่อไปก็มีได้ และบัณฑิตทั้งหลายเข้าสมาบัตินั้นก็ได้

ออกจากสมาบัตินั้นก็ได้อยู่๑ ตามที่กล่าวมานี้มีอุปมาอย่างไร ? อุปมา

เหมือนเมื่อกังสดาลถูกเคาะแล้ว เสียงหยาบย่อมเป็นไปก่อน จิต (ความ

รู้สึกของคน ?) ก็เป็นไปได้ เพราะถือเอานิมิต๒ แห่งเสียงหยาบได้ง่าย

เพราะทำนิมิตแห่งเสียงหยาบไว้ในใจได้ง่าย เพราะจดจำนิมิตแห่ง

เสียงหยาบได้ง่าย แม้เมื่อเสียงหยาบดับแล้ว หลังนั้นถัดไปเสียง

ละเอียดก็ยังเป็นไป จิตก็ยังเป็นไปได้ เพราะยังถือเอานิมิตแห่งเสียง

ละเอียดได้ดี เพราะยังทำนิมิตแห่งเสียงละเอียดไว้ในใจได้ดี เพราะยังจด

จำนิมิตแห่งเสียงละเอียดได้ดี ครั้นเมื่อเสียงละเอียดดับแล้วเล่า หลังนั้น

ไป จิตก็ยังเป็นไปได้แม้เพราะมีนิมิตแห่งเสียงละเอียดเป็นอารมณ์ ฉันใด

ก็ดี อุปไมยก็ฉันนั้น ลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบย่อมเป็นไปก่อน จิต

ก็ไม่ส่ายไป เพราะถือเอานิมิตแห่งลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบได้ง่าย

เพราะทำนิมิตแห่งลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบไว้ในใจได้ง่าย เพราะ

๑. นัยมหาฎีกาอธิบายว่า เพราะกายสังขารหยาบ ๆ ระงับไป แต่ที่ละเอียด ๆ ยังมีอยู่ เมื่อ

ละเอียดถึงที่สุดโดยลำดับแล้ว นิมิตเกิด ก็ถือนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ เจริญอานาปานสติ และ

อานาปานสติสมาธิต่อไปได้

บาลีปฏิสัมภิทานี้ท่านใช้สำนวนลึกเต็มที โดยเฉพาะประโยค อิติ กิร นั้นลับลี้มาก ได้อาศัย

นัยมหาฎีกาท่านจึงทราบว่า ประโยค อิติ กิร ข้างหน้าเป็นประโยคโจทนา คือคำท้วง ส่วน อิติ

กิร หลัง เป็นประโยคโสธนาคือคำเฉลย จึงพอจับเค้าแปลให้เป็นภาษาได้ดังนั้น

๒. นิมิตตฺตํ มหาฎีกาว่าเป็นทุติยาวิภัติในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัติ เท่ากับ นิมิตฺตสฺส หมายความว่า

เป็นภาวาทิสัมพันธ์ในบทหลัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 111

สังเกตนิมิตแห่งลมหายใจออกหายใจเข้าที่หยาบได้ง่าย แม้เมื่อลมหายใจ

ออกหายใจเข้าที่หยาบดับแล้ว หลังนั้น ลมหายใจออกหายใจเข้าที่

ละเอียดก็ยังเป็นไป จิตก็ยังไม่ส่ายไปได้ เพราะยังถือเอานิมิตแห่งลม----

ละเอียดได้ดี ยังทำนิมิตแห่งลม----ละเอียดไว้ในใจได้ดี ยังสังเกตนิมติ

แห่งลม----ละเอียดได้ดี ครั้นเมื่อลมหายใจออกหายใจเข้าที่ละเอียดดับไป

เล่า หลังนั้นไป จิตก็ยังไม่ส่ายไปได้ แม้เพราะยังมีนิมิตแห่งลม

หายใจออกหายใจเข้าที่ละเอียดเป็นอารมณ์ เมื่อเป็นดังนี้จึงว่าการทำ

วาตุปลัทธิให้เกิดต่อไปก็ยังมีได้ การยังลมหายใจออกหายใจเข้าให้เป็น

ไปก็มีได้ การเจริญอานาปานสติต่อไปก็มีได้ การบำเพ็ญอานาปานสติ-

สมาธิต่อไปก็มีได้ และบัณฑิตทั้งหลายเข้าสมาบัตินั้นก็ได้ ออกจาก

สมาบัตินั้นก็ได้อยู่

กองลมที่ระงับกายสังขารหายใจออกหายใจเข้านับเป็นกาย สิ่ง

ที่เข้าไป (ทำกายนั้นเป็นอารมณ์) ตั้งอยู่ เป็นตัวสติ อนุปัสนา

(ความตามกำหนดดูกายให้รู้ตามที่มันเป็น) เป็นตัวญาณ กายเป็นที่

เข้าไปตั้งอยู่ (แห่งสติ) มิใช่ตัวสติ สติเป็นสิ่งที่เข้าไปตั้งอยู่และ

เป็นตัวระลึกด้วย โยคาวจรภิกษุตามกำหนดดูกายนั้นด้วยสตินั้น ด้วย

ญาณนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า การตามกำหนดดูกายในกาย

เป็นการบำเพ็ญสติปัฏฐาน"

นี่เป็นคำพรรณนาบทตามลำดับแห่งจตุกกะที่ ๑ ที่ตรัสได้เป็น

กายานุปัสนา ในอานาปานสตินี้ เป็นอันดับแรก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 112

[วิธีฝึกหัดทำ]

ก็เพราะว่าในจตุกกะทั้ง ๔ นั้น จตุกกะนี้เท่านั้นที่ตรัสโดยเป็น

กรรมฐานสำหรับอาทิกัมมิกะ (ผู้เริ่มปฏิบัติ) ส่วนจตุกกะ ๓ นอกนี้

ตรัสโดยเป็นเวทนานุปัสนา จิตตานุปัสนา และธัมมานุปัสนา สำหรับ

ผู้ได้ฌานในจตุกกะแรกนี้แล้ว เพราะเหตุนั้น อาทิกัมมิกกุลบุตรผู้ใคร่

จะเจริญกรรมฐานนี้แล้ว บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ด้วย

วิปัสนาอันมีอานาปานจตุตถฌานเป็นปทัฏฐาน ก็พึงทำกิจทั้งปวงมีการ

ทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นอาทิ โดยนัยที่กล่าวมาก่อนนั้นและ แล้วจึงเรียน

เอากรรมฐานอันมีสนธิ ๕* ในสำนับของอาจารย์ผู้มีประการดังกล่าว

แล้วเถิด

[ปัญจสนธิ]

นี้สนธิ ๕ ในคำนั้น คือ อุคคหะ ปริปุจฉา อุปัฏฐาน อัปปนา

ลักขณะ ในสนธิ ๕ นั้น การเรียนเอา (แบบแผน) กรรมฐาน

ชื่อว่าอุคคหะ การไต่ถาม (ข้อความ) กรรมฐาน ชื่อว่าปธิปุจฉา

ความปรากฏแห่ง (นิมิต) กรรมฐาน ชื่อว่าอุปัฏฐาน ความแน่วแน่

แห่งกรรมฐาน ชื่อว่าอัปปนา ความกำหนดกรรมฐานไว้ มีอธิบายว่า

จดจำสภาพแห่งกรรมฐานไว้ว่า กรรมฐานนี้มีลักษณะอย่างนี้ ชื่อว่า

ลักษณะ

พระโยคาวจร เมื่อเรียนเอากรรมฐานมีสนธิ ๕ ดังนี้ ตัวเอง

* ปญฺจสนฺธิกํ มหาฎีกาและให้แปลว่า ปญฺจปพฺพํ - ๕ หมวด ๕ ข้อ หรือ ปญฺจภาคํ - ๕ ส่วน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 113

เล่าก็ไม่ลำบาก ทั้งไม่เบียดเบียนอาจารย์ด้วย เพราะฉะนั้น อานาปาน-

สติกรรมฐานนี้ พระโยคาวจรพึงให้อาจารย์แสดงขึ้นให้แต่ (คราวละ)

น้อย ใช้เวลาสาธยายไปนาน ๆ เรียนเอากรรมฐานให้ได้สนธิ ๕ อย่าง

นั้นแล้ว อยู่ในสำนักของอาจารย์ก็ได้ ในเสนาสนะอื่นมีประการดัง

กล่าวมาก่อนก็ได้ ตัดปลิโพธเล็กน้อยเสีย ทำภัตกิจ บรรเทาความเมา

อาหารแล้วนั่งให้สบาย (คือนั่งตามแบบ) ยังจิตให้ร่าเริงด้วยระลึกถึง

คุณพระรัตนตรัย ไม่ลืมแม้สักบทเดียวแต่ที่เรียนจากอาจารย์ มนสิการ

ไปเทอญ

[วิธีมนสิการ]

นี่เป็นวิธีมนสิการในอานาปานสติกรรมฐานนั้น คือ

๑. คณนา นับ (ลม)

๒. อนุพนฺธนา ติดตา (ลม)

๓. ผุสนา ที่ (ลม) กระทบ

๔. ฐปนา ตั้ง (จิต) มั่น

๕. สลฺลกฺขณา กำหนดได้ชัด

๖. วิวฏฺฏนา หยุด

๗. ปาริสุทฺธิ หมดจด และ

๘. เตสํ ปฏิปสฺสนา ย้อนดูวิวฏฺฏนาและปาริสุทฺธินั้น

ในบทเหล่านั้น บทว่า คณนา ก็คือนับ (ลม) นั่นเอง บทว่า

อนุพนฺธนา คือตาม (ลม) ไป บทว่า ผุสนา หมายถึงที่ ๆ ลม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 114

กระทบ บทว่า ฐปนา หมายเอาอัปปนา บทว่า สลฺลกฺขณา

ได้แก่วิปัสนา บทว่า วิวฏฺฏนา ได้แก่มรรค บทว่า ปาริสุทฺธิ

ได้แก่ผล และบทว่า เตสํ ปฏิปสฺสนา ก็คือปัจจเวกขณ์

[คณนา-วิธีนับ]

ในวิธีเหล่านั้น อาทิกัมมิกกุลบุตรนี่ควรมนสิการกรรมฐานนี้

ด้วยวิธีนับก่อน ก็แลเมื่อนับ ไม่พึงหยุดได้ ๕ ไม่พึงนำไปเหนือ ๑๐

ไม่พึงแสดงความ (นับ) ขาดในระหว่าง เพราะเมื่อหยุดใต้ ๕ จิต-

ตุบาทจะดิ้นรนอยู่ในโอกาสอับแคบ ดังฝูงโคถูกกั้นไว้ในคอกแคบ ๆ

ดิ้นอยู่ฉะนั้น เมื่อนำไปเหนือ ๑๐ เล่า จิตตุบาทก็จะพะวงอยู่ในการ

นับนั้นเสีย (ไม่พะวงถึงกรรมฐาน) เมื่อแสดงความ (นับ) ขาดใน

ระหว่าง จิตจะหวั่นไป ด้วยคิดท้อ) ว่ากรรมฐานของเราจะถึงที่สุด

หรือไม่หนอ ?* เพราะฉะนั้น พึงนับเว้นโทษเหล่านั้นเสีย

[นับช้า]

อันอาทิกัมมิกะผู้จะนับ ควรนับโดยวิธีนับช้าคือนับอย่างคนตวง

ข้าวเปลือกก่อน จริงอยู่ คนตวงข้าวเปลือกตักเต็มทะทานแล้วร้องว่า

'๑' เทลงไป ตักอีก เห็นมูลฝอยอะไร ๆ (ปนอยู่ในข้าว เก็บ) ทิ้ง

มันไปพลางก็ (เท) ร้องว่า '๑.๑' ไป นัยในการร้อยว่า '๒.๒'

* มหาฎีกาว่า นับขาดนั้นคือนับข้ามเสีย ๑ เช่นว่า ๑. ๓. ๕. เข้าใจว่านับข้าม ๆ ขาด ๆ

อย่างนั้น หนักเข้าจิตจะเหนื่อย จึงเกิดท้อใจขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 115

เป็นต้น ก็ดุจนัยนี้๑ ฉันใด แม้อาทิกัมมิกกุลบุตรนี้ ก็พึงถือเอาลม

อัสสาสะปัสสาสะอันที่ปรากฏ๒ กำหนดลมซึ่งเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ นั่นแหละ

นับเริ่มแต่ว่า ๑.๑ จนถึง ๑๐.๑๐ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเธอนับ

อยู่อย่างนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะที่ออกและเข้าอยู่ย่อมปรากฏ๓

[นับเร็ว]

ทีนี้ เธอพึงละวิธีนับช้า คือนับอย่างคนตวงข้าวเปลือกนั้นเสีย

แล้ว นับโดยวิธีนับเร็ว คือนับอย่างโคบาล จริงอยู่ โคบาลผู้ฉลาด

พกก้อนกรวด ถือเชือกและไม้ตะพด ไปสู่คอก (โค) แต่เช้าตรู่ (เปิด

คอก) หวดโคหลายตัวเข้าที่หลัง แล้ว (ขึ้น) นั่งบนปลายเสาลิ่ม

(คอย) นับแม่โคที่ออกมา ๆ ถึงประตูว่า ๑.๒---- (โดย) ซัดกรวด

ลงที่ละเม็ด (เป็นคะแนน) เรื่อยไป ฝูงโคซึ่งอยู่กันอย่างลำบากใน

ที่แคบมาตลอด ๓ ยามราตรี เมื่ออกก็เบียดเสียดกันออกเป็นกลุ่ม ๆ

โดยเร็ว โคบาลนั้นก็นับเร็ว ๆ เหมือนกันว่า ๓.๔.๕.----๑๐ (ฉันใด)

แม้เมื่ออาทิกัมมิกกุลบุตรนี้นับอยู่โดยนัยก่อน ลมอัสสาสะปัสสาสะ

ปรากฏแล้วเดินเร็วถี่ขึ้น ต่อนั้น เธอทราบว่าลมเดินถี่แล้วอย่าพึงถือ

เอาลมข้างในและข้างนอก ถือเอาแต่ที่มันมาถึงช่อง (จมูก) เท่านั้น

๑. ทำไมชาวสีหลจึงใช้ทะนาน (นาฬี) ตวงข้าวเปลือก และทำไมคนตวงข้าวจึงต้องร้องบอก

คะแนนเป็นคู่ว่า ๑. ๑, ๒. ๒ ไม่เข้าใจอีกแหละ จะเป็นร้อง ๒ คน คือคนตวงร้องก่อน แล้ว

คนรับเอาไปเทร้อยซ้ำกระมัง ?

๒. มหาฎีกาว่า นี่หมายถึงผู้ที่ลมอัสสาสะหรือปัสสาสะ ปรากฏแต่อย่างเดียว ลมอย่างใดปรากฏ

ก่อนก็นับลมนั้นไป แต่ผู้ใดลมปรากฏทั้ง ๒ คือทั้งออกทั้งเข้า ก็พึงนับทั้ง ๒

๓. มหาฎีกาว่า ปรากฏเพราะจิตส่ายไปภายนอกไม่ ด้วยอำนาจแห่งการนับหน่วงไว้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 116

นับเร็ว ๆ ว่า

๑. ๒. ๓. ๔. ๕.

๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖

๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗

๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘

๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. ๙

๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. ๙. ๑๐

ฉันนั้น เพราะว่าในกรรมฐานที่เนื่องด้วยการนับ จิตจะมีอารมณ์

เดียวได้ก็ด้วยกำลังแห่งการนับเท่านั้น ดุจความหยุดของเรือในกระแส

น้ำเชี่ยว จะมีได้ก็ด้วยอำนาจการค้ำไว้ด้วยถ่อฉะนั้น เมื่อเธอนับเร็ว ๆ

อยู่อย่างนั้น กรรมฐานย่อมปรากฏ เป็นดังว่าเป็นไปไม่มีช่องว่าง๑

ครั้นว่าเธอทราบว่า กรรมฐานเป็นไปไม่มีช่องว่าง ก็อย่ากำหนดลม

ข้างในและข้างนอก พึงนับเร็ว ๆ โดยนัยที่กล่าวมาก่อนนั่นเถิด เพราะ

ว่าเมื่อส่งจิตไปพร้อมกับลมที่เข้าข้างใน๒ จิตจะ (รู้สึก) เป็นเหมือน

ถูกลมปะทะ และเหมือนเต็มไปด้วยมันข้นอยู่ข้างใน เมื่อปล่อยจิต

ออกไปพร้อมกับลมที่ออกข้างนอก จิตก็จะแส่ส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ

ภายนอกเสีย ต่อเมื่อตั้งสติไว้ตรงโอกาสที่ลมกระทบภาวนาไปนั่นแล

ภาวนาจึงจะสำเร็จได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงว่า "อย่างกำหนดลม

๑. มหาฎีกาว่า นิรันตรปวัติ (เป็นไปไม่มีช่องว่าง) ก็คือจิตตั้งมั่นอยู่กับลม ไม่ส่ายมาส่ายไป

นั่นเอง (?)

๒. วาตพฺภาหตํ เมทปูริตํ วิย โหติ มหาฎีกาแก้เป็น ๒ อุปมาว่า วาเตน ตํ ฐานํ อพฺภาหตํ

วิย เมเทน ปูริตํ วิย จ โหติ ในที่นี้แปลตามฎีกา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 117

ข้างในและข้างนอก พึงนับเร็ว ๆ โดยนัยที่กล่าวมาก่อนนั่นเถิด"

ถามว่า ก็ลมนั้นจะต้องนับไปนานเท่าไร ?

ตอบว่า พึงนับไป จนกว่าเว้นนับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่อยู่ได้ใน

อารมณ์คืออัสสาสะปัสสาสะ ด้วยว่าการนับก็ทำเพื่อตัดความตรึกที่ซ่าน

ไปภายนอกเสียแล้วตั้งสติไว้ในอารมณ์คืออัสสาสะปัสสาสะให้ได้นั่นแล

[อนุพนฺธนา - วิธีติดตามลม]

ครั้นมนสิการโดยวิธีนับอย่างนี้แล้ว พึงมนสิการโดยวิธีติดตาม

(ต่อไป)

เลิกนับเสีย แล้วใช้สติตามลมอัสสาสะปัสสาสะไปมิให้ขาดระยะ

ชื่อว่าอนุพนฺธนา - ติดตาม ก็แลการตามไปนั้น ไม่พึงทำโดยวิธีตาม

ไป (กำหนด) ต้น (ลม) กลาง (ลม) และปลาย (ลม) เพราะ

ว่าสำหรับลมที่ออกข้างนอก ก็นาภีเป็นต้น หทัยเป็นกลาง นาสิกเป็น

ปลาย สำหรับลมเข้าข้างใน ก็ปลายนาสิกเป็นต้น หทัยเป็นกลาง

นาภีเป็นปลาย ก็เมื่ออาทิกัมมิกะนั้นตามลมนั้นไป จิตอันแกว่งไปมา

จะเป็น (ไป) เพื่อความป่วนปั่นและหวั่นไหวเป็นแท้ ดังท่านกล่าว

ไว้ (ในบาลีปฏิสัมภิทา) ว่า "เมื่อภิกษุใช้สติตามลมอัสสาสะไป ทั้งต้น

กลาง และปลาย (ก็เป็นอัน) มีจิตแกว่งไปมาอยู่ภายใน ทั้งกายทั้ง

จิต (ของเธอ) ย่อมจะป่วนปั่น หวั่นไหวและวุ่นวายไป เมื่อภิกษุ

ใช้สติตามลมปัสสาสะไป ทั้งต้น กลาง และปลาย (ก็เป็นอัน) มีจิต

แกว่งไปมาอยู่ภายใน ทั้งกายทั้งจิต (ของเธอ) ย่อมจะป่วนปั่นหวั่น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 118

ไหวและวุ่นวาย" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เมื่อจะมนสิการโดยวิธีอนุ-

พันธนา อย่าพึงมนสิการโดย (ตามไปกำหนด) ต้น กลาง ปลาย

ที่แท้มนสิการโดยวิธีผุสนาและฐปนานั่นแล

แท้จริง การมนสิการโดยวิธีผุสนาและวิธีฐปนา หาได้มีเป็นส่วน

หนึ่งต่างหาก ดังมนสิการโดยวิธีคณนาและอนุพันธนาไม่ แต่ว่าผู้ที่

นับ (ลม) อยู่ตรงที่ ๆ ลมกระทบ ๆ นั่นแหละ ชื่อว่ามนสิการโดย

วิธีคณนาด้วย โดยวิธีผุสนาด้วย ผู้ที่เลิกนับแล้วติดตามลมอัสสาสะ

ปัสสาสะนั้นไปด้วยสติ และตั้งจิตไว้ตามทางอัปปนา ในที่ ๆ ลมกระ-

ทบ ๆ นั่นแหละ ก็เรียกว่ามนสิการโดยวิธีอนุพันธนาด้วย โดยวิธี

ผุสนาด้วย โดยวิธีฐปนาด้วย ความข้อนี้นั้น บัณฑิตพึงทราบโดย

อุปมาด้วยคนง่อยและคนรักษาประตู ที่กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย๑

และโดยอุปมาด้วยเลื่อย ที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทา

ใน ๓ อุปมานั้น นี่เป็นอุปมาด้วยคนง่อย คือคนง่อยไกวชิงช้า

ให้แม่ลุกผุ้เล่นชิงช้ากัน๒ นั่งอยู่ที่โคนเสาชิงช้านั้นแหละ ย่อมเห็นปลาย

๒ ข้าง ทั้งตรงกลางด้วย๓ ของกระดานชิงช้าอัน (แกว่ง) มาและไป

อยู่โดยลำดับ แต่ก็มิได้ขวนขวายจุดูปลายทั้ง ๒ ข้าง และกลาง (ของ

๑. ถ้ายอมรับว่า พระพุทธโฆสแต่งวิสุทธิมรรคนี้ก่อนอรรถกถาอื่น ๆ คำว่า 'ในอรรถกถาทั้งหลาย'

นี้ ก็ต้องหมายถึงอรรถกถาทั้งหลาย ที่ปราชญ์ชาวสีหลแต่งไว้ก่อน เช่น มหาอรรถกถา (?)

๒. มหาฎีกาว่า คำว่า แม่ลูก (มาตุปุตฺตานํ) หมายถึงภรรยาและบุตรของเขา

๓. มหาฎีกาว่า ที่เห็นว่าปลายกระดานทั้ง ๒ ข้างนั้น คือ เมื่อมันแกว่งมา เห็นปลายหน้า เมื่อ

มันแกว่งไป เห็นปลายหลัง เช่นนี้เราต้องเข้าใจว่า ท่านหมายถึงเขาไกวให้มันแกว่งไปมาทางปลาย

กระดาน อย่างชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ ไม่ใช่ไกวให้แกว่งทางหน้ากระดาน อย่างที่

เห็นตามสนามเด็กเล่น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 119

กระดานชิงช้า) ฉันใดก็ดี ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยืนที่โคนเสา

อันเป็นที่ผูก (จิต คือปลายจมูก) ด้วยอำนาจแห่งสติ ไกวชิงช้าคือ

ลมอัสสาสะปัสสาสะแล้ว นั่งลงที่นิมิตนั้นแหละด้วยสติ เมื่อติดตามไป

ด้วยสติ ตั้งจิตไว้ (มั่น) ตรงที่ลมกระทบนั้นนั่นแหละ ย่อมเห็น ต้น

กลาง ปลาย ของลมอัสสาสะปัสสาสะ ในที่ ๆ มันมาและไปกระทบอยู่

โดยลำดับ แต่ไม่ขวนขวายที่จะดูมัน นี่เป็นอุปมาด้วยคนง่อย

ส่วนความ (ต่อไป) นี้เป็นอุปมาด้วยคนรักษาประตู คือ คน

รักษาประตูไม่ (เที่ยว) สอบสวนคน (ที่อยู่) ในเหมือนและนอกเมือง

ว่าท่านเป็นใคร หรือว่าท่านมาแต่ไหน หรือว่าท่านจะไปไหน หรือ

ว่าอะไรอยู่ในมือท่าน เพราะว่าคนเหล่านั้น มิใช้เป็นภาระของเขา

เขาจะสอบสวนแต่คนที่มา ๆ ถึงประตูเข้าเท่านั้น ฉันใจก็ดี ลมเข้า

ข้าในก็ดี ลมออกข้างนอกก็ดี ไม่เป็นภาระของภิกษุนี้ ลมที่มา ๆ ถึง

ช่อง (จมูก) เท่านั้นเป็นภาระ ฉันนั้นเหมือนกันและ นี่เป็นอุปมาด้วย

คนรักษาประตู

ส่วนอุปมาด้วยเลื่อย พึงทราบตั้งแต่ต้นไป* ดังนี้

ก็และ คำ (ต่อไป) นี้ท่านกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า

นิมิต ลมอัสสาสะ ลมปัสสาสะ มิได้เป็นอารมณ์

ของจิตดวงเดียวกัน แต่เมื่อภิกษุไม่รู้ธรรม ๓ อย่าง

(นี้) ภาวนาก็ไม่สำเร็จ นิมิต ลมอัสสาสะ ลม

ปัสสาสะมิได้เป็นอารมณ์ของจิตดวงเดียว แต่เมื่อ

* คือตั้งแต่ความที่เป็นอุปไมยไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 120

ภิกษุรู้ธรรม ๓ อย่าง (นี้) ภาวนาย่อมสำเร็จ๑

มีอธิบายอย่างไร ? มีอธิบายว่า ธรรม ๓ อย่างนี้ มิได้เป็น

อารมณ์ของจิตดวงเดียวกัน แต่ธรรม ๓ นี้ จะเป็นสิ่งที่พระโยคีไม่รู้ก็

หามิได้ จิตเล่าก็มิได้ถึงซึ่งความส่ายไป ปธาน (ความเพียร) เล่า

ก็ปรากฏ และพระโยคีก็ยังประโยคให้สำเร็จบรรลุธรรมวิเศษได้ เปรียบ

เหมือน (ขอน) ไม้ที่เขาทอดไว้ที่พื้นดินราบ๒แล้ว บุรุษพึงตัดมันด้วย

เลื่อย บุรุษ (นั้น) ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้ หาใส่ใจฟัน

เลื่อยที่มาหรือไปก็ตามไม่ แต่ว่าฟันเรื่อยที่มาหรือไปก็ไม่ใช่เขาไม่รู้

ปธาน (คือความเพียรเลื่อยไม้) เล่าก็ปรากฏอยู่ และขายังประโยค

(คือกิริยาเลื่อยไม้) ให้สำเร็จ ได้รับประโยชน์อันเยี่ยม ฉันใดก็ดี อุป-

นิพันธนานิมิต๓ (ที่หมายสำหรับผูกจิต คือปลายจมูกหรือริมฝีปากบน)

ก็เหมือน (ขอน) ไม้ที่เขาทอดไว้ที่พื้นดินราบ ลมอัสสาสะปัสสาสะ

เหมือนฟันเลื่อย ภิกษุนั่งตั้งสติไว้ที่ปลายจมูกหรือมุขนิมิต๔ (ที่หมาย

ริมฝีปากบน) ไม่ใส่ใจถึงลมอัสสาสะปัสสาสะ ที่มาหรือไปก็ตาม แต่

ลมอัสสาสะปัสสาสะที่มาก็ดีไปก็ดี จะเป็นสิ่งทีเธอไม่รู้ก็หามิได้ ปธาน-

เล่าก็ปรากฏ และเธอยังประโยคให้สำเร็จ บรรลุธรรมวิเศษได้ ก็

๑. ที่ว่าไม่รู้ธรรม ๓ อย่าง หมายความว่าไม่ได้ทำธรรม ๓ อย่างนั้นให้เป็นอารมณ์ รู้ ก็คือได้

ทำให้เป็นอารมณ์

๒. ที่ท่านประกอบคำว่า 'ราบ' ไว้ด้วยนี้ ก็เพราะว่าถ้าพื้นไม่ราบ ขอนไม้ก็กระโดกกระเดก

เลื่อยยาก

๓. เป็นอุปนิพนฺธน...ก็มี

๔. มหาฎีกาว่า คนจมูกยาว ใช้ปลายจมูกเป็นที่หมาย คนจมูกสั้นใช้ริมฝีปากบน ซึ่งเรียกว่า

มุขนิมิต (เพราะคนจมูกสั้น ลมถูกริมฝีปากบนชัด ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 121

เหมือนบุรุษ (นั้น) ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้ ไม่ใส่ใจถึงฟัน

เลื่อยมาหรือไป แต่ว่าฟันเลื่อยที่มาหรือไปก็มิใช่เขาไม่รู้ ปธาน

(คือ ความเพียรเลื่อยไม้) เล่าก็ปรากฏอยู่ และเขายังประโยค (คือ

กิริยาเลื่อยไม้) ให้สำเร็จ ก็ได้รับประโยชน์อันเยี่ยมฉะนั้น

พึงทราบอรรถาธิบายแห่งคำว่า ปธาน เป็นต้น ถามว่า ปธาน

เป็นไฉน ? แก้ว่า ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้ปรารภความเพียร เป็น

(กัมมนิยะ) ควรแก่การ (ภาวนา ด้วยความเพียรใด ความเพียร

อันเป็นเหตุควรแก่การแห่งกายและจิต) นี้ ___________เรียกว่า ปธาน๑

ถามว่า ประโยคเป็นไฉน ? แก้ว่า อุปกิเลสทั้งหลาย ภิกษุผู้

ปรารภความเพียรละได้ วิตกทั้งหลาย (ของเธอ) รำงับไป (ด้วย

ภาวนานุโยคใด ภาวนานุโยคอันเป็นเหตุละอุปกิเลสรำงับวิตก) นี้

เรียกว่า ประโยค๒

ถามว่า ธรรมวิเศษเป็นไฉน ? แก้ว่า สังโยชน์ทั้งหลาย ภิกษุ

ผู้ปรารภความเพียรละได้ อนุสัยทั้งหลายสุดสิ้นไป (ด้วยธรรมใด

ธรรมอันเป็นเหตุละสังโยชน์ เป็นเหตุสิ้นอนุสัย) นี้เรียกว่าธรรมวิเศษ

ธรรม ๓ อย่างนี้ มิได้เป็นอารมณ์ของจิตดวงเดียวกัน แต่ธรรม

๓ อย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่พระโยคีไม่รู้ก็หามิได้ จิตเล่าก็มิได้ถึงซึ่งความ

ส่ายไป ปธาน (ความเพียร) เล่าก็ปรากฏ และพระโยคีนั้นก็ยัง

๑. พูดอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ผเลน เหตุทัสสนะ (แสดงเหตุด้วยผล)

๒. มหาฎีกาว่า อุปกิเลส ในที่นี้หมายเอานีวรณ์ ละโดยวิกขัมภนปหาน วิตก หมายถึงมิจฉาวิตก

มีกามวิตกเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 122

ประโยคให้สำเร็จ บรรลุธรรมวิเศษได้ ด้วยประการฉะนี้

อานาปานสติ อันภิกษุใดลำเพ็ญดีเต็มที่แล้ว

สั่งสม (ทำให้ช่ำชอง) โดยลำดับ ตามที่

พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ภิกษุนั้น ย่อมยัง

โลกนี้ให้สว่าง ดุจดวงจันทร์พ้นจากหมอก

ส่องแสงอยู่ฉะนั้น* แล

นี่เป็นอุปมาด้วยเลื่อย ก็การที่พระโยคีไม่ต้องใส่ใจไปตามลมที่มาและ

ไปอย่างเดียวเท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นประโยชน์ (ที่ต้องการ)

ในข้อนี้

สำหรับผู้มนสิการกรรมฐานนี้ลางท่าน นิมิตจะเกิด และ ฐปนา

กล่าวคืออัปปนาอันประดับด้วยองค์ฌานที่เหลือ จะสำเร็จไม่ช้าเลย

แต่สำหรับลางท่าน เมื่อความกระสับกระส่ายทางกายรำงับลงด้วยอำนาจ

ความดับไปแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะที่หยาบโดยลำดับ จับแต่กาลที่

มนสิการโดยวิธีนับ ทั้งกายทั้งจิตย่อมเบา สรีระเป็นประหนึ่งถึงซึ่ง

อาการลอยอยู่ในอากาศ เมื่อคนมีกายกระสับกระส่าย นั่งบนเตียงหรือ

ตั่งก็ตาม เตียงตั่งย่อมโยกย่อมลั่น เครื่องลาดย่อมยับ แต่เมื่อคนมีกาย

ไม่กระสับกระส่ายนั่ง เตียงตั่งก็ไม่โยกไม่ลั่นเลย เครื่องลาดก็ไม่ยับ

เตียงตั่งเป็นดังว่ายัดนุ่น เพราะอะไร เพราะกายที่ไม่กระสับกระส่าย

ย่อมเบา ฉันใด เมื่อความกระสับกระส่ายทางกายรำงับลงด้วยอำนาจ

ความดับไปแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะที่หยาบโดยลำดับ จับแต่กาลที่

* ข. ป. ๓๑/๒๕๘_______________

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 123

มนสิการโดยวิธีนับ ทั้งกายทั้งจิตย่อมเบา สรีระเป็นประหนึ่งถึงซึ่ง

อาการลอยออยู่ในอากาศ ฉันนั้นเหมือนกัน ครั้งลมอัสสาสะปัสสาสะ

หยาบดับไปแล้ว จิตของพระโยคีนั้นก็ยังมีนิมิตแห่งลมอัสสาสะ

ปัสสาสะละเอียดเป็นอารมณ์เป็นไปอยู่ แม้นิมิตนั้นดัง จิตดวงต่อ ๆ

ไปก็ยังมีนิมิตแห่งลมที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นเป็นอารมณ์ต่อไปอยู่นั่น ถาม

ว่า เป็นไปอย่างไร ? เฉลยว่า บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเหมือนบุรุษ

เคาะกังสดาลด้วยแท่นโลหะ เสียงอันดังพึงเกิดขึ้นฉับพลัน จิตของเขา

พึงมีเสียงหยาบเป็นอารมณ์เป็นไป ครั้งเสียงหยาบดับแล้ว หลังนั้นไป

จิตของเขาก็มีนิมิตแห่งเสียงละเอียดเป็นอารมณ์---- แม้เมื่อนิมิตนั้นดับ

จิตดวงต่อ ๆ ไปของเขา ก็ยังมีนิมิตแห่งเสียงละเอียดยิ่งกว่านั้นเป็น

อารมณ์ต่อไปได้ ฉะนั้น จริงอยู่ แม้พระสารีบุตรก็ได้กล่าวข้อนี้ไว้

(ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า "เมื่อกังส (ดาล) ถูกเคาะแล้ว---- แม้

ฉันใด" ดังนี้ เป็นต้น ความพิสดาร บัณฑิตพึงกล่าว (ตามแนว

ปฏิสัมภิทามรรคนั้น) เถิด

[ลักษณะที่ต่างจากกรรมฐานอื่น]

กรรมฐานนี้ หาเป็นอย่างกรรมฐานอื่น ๆ ซึ่ง (เมื่อเจริญไป)

ยิ่งชัดแจ้งยิ่งขึ้นไม่ ส่วนกรรมฐานนี้ เมื่อเจริญยิ่งขึ้นไป (กลับ)

ถึงซึ่งความละเอียดลงจนถึง (ลม) ไม่ปรากฏไปเลย แต่เมื่อกรรม-

ฐาน (ลม) นั้นไม่ปรากฏไปอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็อย่าเพ่อลุกจากที่นั่ง

สลัดจัมขัณฑ์ไปเสีย ถามว่า จะพึงทำอย่างไรเล่า ? เฉลยว่า อย่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 124

พึงคิดว่าจักไปถามอาจารย์ หรือ เข้าใจว่า บัดนี้ กรรมฐานของเรา

เสื่อมเสียแล้ว ลุกไปเสีย เพราะเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถไป กรรมฐาน

ก็กลายเป็นงานใหม่ไปใหม่เสียเท่านั้น เพราะฉะนั้น เธอนั่งอยู่ตามเดิม

นั่นแหละ พึงนำ (ลม) มาจากตำแหน่ง (แห่งที่มันกระทบ) เถิด

[อุบายนำลมคืน]

(ต่อไป) นี้ เป็นอุบายนำ (ลมคืน) มา ในคำนั้น ภิกษุ

นั้นรู้ภาวะคือความไม่ปรากฏแห่งกรรมฐานแล้ว พึงคิดดูเองดังนี้ว่า

"อันลมอัสสาสะปัสสาสะนี้มีอยู่ที่ไหน ไม่มีที่ไหน มีแก่ใคร หรือ

ไม่มีแก่ใคร" ทีนี้ เมื่อเธอคิดดูไปอย่างนั้น ก็จะทราบได้ว่า "ลม

อัสสาสะปัสสาสะนี้ ไม่มีอยู่ภายในท้องของมารดา (๑) ไม่มีแก่พวก

คนที่ดำลงในน้ำ (๑) อย่างเดียวกัน คือไม่มีแก่พวกคนที่สลบ (๑)

คนตายแล้ว (๑) ผู้เข้าจตุตถฌาน (๑) ผู้ประกอบด้วยรูปภพและ

อรูปภพ (๑) ผู้เข้านิโรธ (๑)" ฉะนี้แล้วพึงตักเตือนตนด้วยตนเอง

ดังนี้ว่า "นี่แน่ะพ่อบัณฑิต ตัวเจ้ามิใช่ผู้อยู่ในท้องของมารดา มิใช่ผู้ดำ

ลงในน้ำมิใช่ผู้สลบ มิใช่ผู้ตายแล้ว มิใช่ผู้เข้าจตุตถฌาน มิใช่ผู้ประกอบ

ด้วยรูปภพและอรูปภพ มิใช่ผู้เข้านิโรธ มิใช่หรือ ลมอัสสาสะปัสสาสะ

ของข้ามีอยู่แท้ แต่เจ้าไม่อาจกำหนดได้ เพราะความที่เจ้าเป็นคนมี

ปัญญาอ่อนดอก" ต่อนั้น เธอพึงตั้งจิตไว้ตามที่ ๆ ลมกระทบโดยปกติ

ยังมนสิการให้เป็นไปเถิด ก็ลมอัสสาสะปัสสาสะนี้ สำหรับคนจมูกยาว

กระทบกระพุ้งจมูกเป็นไป สำหรับคนจมูกสั้น กระทบริมฝีปากบน

เป็นไป เพราะฉะนั้น เธอพึงตั้งที่หมายไว้ว่า ลมกระทบที่ตรงนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 125

แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ (คือเหตุ) นี้แล

จึงตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติภาวนา

แก่คนที่หลงลืมสติไม่มีสัมปชัญญะ*" ดังนี้

อันกรรมฐานทุกอย่าง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติสัมปชัญญะเท่านั้น ก็

จริงแล แต่ทว่ากรรมฐานอื่นจากนี้ เมื่อภิกษุมนสิการไป ๆ (ยิ่ง)

เห็นชัด ส่วนอานาปานสติกรรมฐานนี้หนัก การภาวนาก็หนัก เป็น

ภูมิมนสิการแห่งพระพุทธ พระปัจเจกพุทธ และพระพุทธบุตรทั้งหลาย

ผู้เป็นมหาบุรุษเท่านั้น ไม่ใช่การนิดหน่อย และไม่ใช่การที่สัตว์เล็ก

น้อยจะส้องเสพได้ มนสิการไปด้วยประการใด ๆ ก็ย่อมสงบและสุขุม

ไปด้วยประการนั้น ๆ เพราะเหตุนั้น ในกรรมฐานข้อนี้ จำปรารถนา

สติและปัญญาอันกล้าแข็ง เหมือนในเวลาชุมผ้าเนื้อเกลี้ยง (ละเอียด)

แม้เข็มก็ต้องใช้เข็มเล็ก ทั้งปัญญาอันสัมปยุตด้วยสตินั้น ที่เปรียบด้วย

ด้ายร้อยห่วงเข็มอันกล้าแข็ง ฉันนั้นเหมือนกัน

ก็แลภิกษุผู้ประกอบด้วยสติปัญญานั้น อย่าพึงแสวงหาลมอัสสาสะ

ปัสสาสะในที่อื่นจากที่ ๆ ลมกระทบตามปกติ เหมือนชาวนาไถนา

แล้วปล่อยโคพลิพัท (โคงานตัวผู้) ทำให้มันบ่ายหน้าสู่ที่หากิน แล้ว

พึงนั่งพักอยู่ในร่ม ครั้นแล้ว โคพลิพัทเหล่านั้นของเขา ก็เข้าดงไป

(หากิน) โดยเร็ว ชาวนาผู้ที่เป็นคนฉลาด ใคร่จะจับมันมาเทียม (ไถ)

* ม. อุ. ๑๔/๑๙๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 126

อีก จะไม่ตามรอยมันเที่ยวดั้นดง (ไปจับ) แต่เขาถือเชือกและปฏัก

ตรงไปท่าที่มันลง (น้ำ) ทีเดียว นั่งหรือนอน (คอย) อยู่ ทีนี้เขา

เห็นโคเหล่านั้นที่มันเที่ยว (หากิน) ตอนกลางวันแล้วลงสู่ท่าน้ำ แช่๑

และดื่มน้ำแล้วขึ้นมายืนอยู่ จึงผูกด้วยเชือก ทิ่มด้วยปฏัก จูงมาเทียม

(ไถ) ทำงานอีก ฉันใด ภิกษุนั้นก็ไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสะปัสสาสะ

นั้นในที่อื่น จากที่ ๆ ลมกระทบตามปกติ แต่พึงถือเชือกคือสติ และ

ปฏักคือปัญญา ตั้งจิตไว้ ณ ที่ ๆ ลมกระทบตามปกติ ลมนั้นจะ

ปรากฏไม่นานเลย ดุจโคทั้งหลายปรากฏตัวที่ท่าลงน้ำฉะนั้น แต่นั้น

เธอพึงผูกไว้ด้วยเชือกคือสติ เทียมไว้ที่ตรงนั้นแหละ แทงด้วยปฏัก

คือปัญญา ประกอบกรรมฐานไว้ร่ำไปเถิด เมื่อเธอประกอบไปอย่างนั้น

ไม่ช้านิมิต๒ก็จะปรากฏ

[นิมิตปรากฏต่าง ๆ กัน]

ก็แล อาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่า นิมิตนี้นั้นหาเป็นเช่นเดียวกันแก่

พระโยคาวจรทั้งปวงไม่ แต่ว่ามันปรากฏแก่ลางท่านเป็นเหมือนปุยนุ่น

ก็มี เหมือนปุยฝ้ายก็มี เหมือนสายลมก็มี ที่ยังสุขสัมผัสให้เกิด

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นวินิจฉัยในอรรถกถาทั้งหลาย

ก็นิมิตนี้ สำหรับลางท่าน ปรากฏเป็นเหมือนดวงดาว เหมือน

เม็ดมณี และเหมือนเม็ดไข่มุกก็มี ลางท่าน ปรากฏเป็นสิ่งมีสัมผัส

๑. โคเมืองไทย ดูเหมือนไม่ใคร่ชอบแช่น้ำ

๒. มหาฎีกาว่า นิมิต นี้ คือ อุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 127

หยาบ เหมือนเม็ดฝ้ายและเหมือนเสี้ยนไม้แก่นก็มี ลางท่านเหมือน

สายสังวาลยาว เหมือนพวงดอกไม้และเหมือนเปลวควันก็มี ลางท่าน

เหมือนใยแมลงมุมที่ขึงแล้ว เหมือนแผ่นเมฆ เหมือนดอกปทุม

เหมือนล้อรถ เหมือนวงดวงจันทร์ และเหมือนวงดวงอาทิตย์ก็มี

ก็แลกรรมฐานนี้นั้นก็อย่างเดียวนั่นแล (แต่นิมิต) ปรากฏต่าง ๆ กัน๑

ก็เพราะความที่พระโยคาวจรมีสัญญาต่าง ๆ กัน เปรียบเหมือนเมื่อภิกษุ

หลายรูปนั่งสาธยายพระสูตร (สูตรหนึ่ง) กันอยู่ ครั้นภิกษุรูปหนึ่ง

กล่าว (ถาม) ขึ้นว่า สูตรนี้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลายเป็นเช่นอะไร ภิกษุ

รูปหนึ่งก็บอกว่า ปรากฏแก่ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลำน้ำใหญ่ที่ไหลลงจาก

ภูเขา อีกรูปหนึ่งบอกว่า สำหรับข้าพเจ้าเหมือนแนวป่าอันหนึ่ง

(ซึ่งสะพรั่งด้วยไม้เป็นแนวไป ?) รูปหนึ่งบอกว่า สำหรับข้าพเจ้า

เหมือนต้นไม้ที่เต็มไปด้วยพวงผล เพรียบพร้อมไปด้วยกิ่งก้านมีร่มเงา

เย็น อันที่จริง พระสูตรนั้นก็สูตรเดียวนั่นแหละ (แต่) ปรากฏแก่เธอ

ทั้งหลายต่าง ๆ กัน เพราะความที่เธอทั้งหลายมีสัญญาต่างกัน ฉะนั้น๒

๑. มหาฎีกาว่า อุปมาทั้งหลาย มีเม็ดมณีเป็นต้นไป ควรจะเป็นปฏิภาคนิมิต

๒. เรื่องอุปมาด้วยภิกษุหลายรูปสาธยายพระสูตรเดียวกัน ปรากฏความรู้สึกต่าง ๆ กันนี้เข้าใจ

ยากอยู่ มหาฎีกาท่านจึงช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ว่า ที่พระสูตรปรากฏเหมือนสายน้ำ ใหญ่ใหลลง

จากภูเขานั้น หมายถึงสวดได้คล่อง เจื้อยไม่ขาดสาย ราวกะสายน้ำไหลพลั่ง ๆ ลงจากภูเขา

ที่ว่าเหมือนแนวป่าหมายถึงพระสูตรนั้นมีความงามด้วยอรรถ และพยัญชนะ เป็นถ่องแถวไป

แต่ต้นจนจบ ราวกะหมู่ไม้ในป่าต้นฤดูฝน ผลิตอกออกใบงามสะพรั่งเป็นแนวเนื่องไปทั้งป่า

ที่ว่าเหมือนไม้ออกผล. . . มีเงาร่มเย็น หมายถึงพระสูตรนั้น มีอนุสนธิหลายตอนมีนัยต่าง ๆ

ละเอียด แสดงกรรมฐานหลายอย่างต่างวิธี พอที่คนผุ้มีความประสงค์จะอาศัยศึกษาเป็นแนวทาง

ปฏิบัติได้อย่างดี ราวกะต้นไม้มีผลดก. . . ร่มเงาเย็น เป็นที่อาศัยของคนและสัตว์ ที่ต้องการผล

ก็เข้าเก็บกิน ที่ต้องการร่มเงาก็เข้าจับเข้าพัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 128

เพราะกรรมฐานนี้เกิดจากสัญญา มีสัญญาเป็นเหตุ มีสัญญาเป็นแดนเกิด

เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ย่อมปรากฏได้ต่าง ๆ กัน เพราะมีสัญญาต่างกัน

[ย้ำเรื่องธรรม ๓ ข้อ]

ก็ในกรรมฐานนี้ จิตที่มีลมอัสสาสะเป็นอารมณ์ เป็นจิตดวงหนึ่ง

จิตที่มีลมปัสสาสะเป็นอารมณ์ ก็เป็นจิตดวงหนึ่ง จิตที่มีนิมิตเป็น

อารมณ์ ก็เป็นจิตดวงหนึ่งแท้ อันธรรม ๓ ข้อนี้ ของผู้ใดไม่มี

กรรมฐานของผู้นั้นย่อมไม่ถึงอัปปนา ไม่ถึงอุปจารเลยทีเดียว* แต่ธรรม

๓ ข้อนี้ของผู้ใดมีอยู่ กรรมฐานของผู้นั้นแหละ ย่อมถึงอุปจารด้วย

อัปปนาด้วย จริงอยู่ คำนี้ ท่านกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า

นิมิต ลมอัสสาสะ ลมปัสสาสะ มิได้เป็น

อารมณ์ของจิตดวงเดียวกัน แต่เมื่อภิกษุไม่รู้

ธรรม ๓ อย่าง (นี้) ภาวนาก็ไม่สำเร็จนิมิต

ลมอัสสาสะ ลมปัสสาสะ มิได้เป็นอารมณ์

ของจิตดวงเดียวกัน แต่เมื่อภิกษุรู้ธรรม ๓

อย่าง (นี้) ภาวนาย่อมสำเร็จ

* ปาฐะในวิสุทธิมรรคว่า เนว อปฺปนํ น อุปจารํ ปาปุณาติ เรียงอัปปนาไว้ก่อนอุปจาร

ผิดลำดับอย่างไรอยู่ ไม่เห็นมีความจำเป็นอย่างไรเลยที่จะเรียงอย่างนั้น ปาฐะต่อไปบรรทัดล่างก็มี

ว่า . . . อุปจารญฺจ อปฺปนญจ ปาปุณาติ ถูกลำดับดี ตรงนี้มหาฎีกาแก้ไว้ว่า "น อุปจารนฺติ

อุปาจารมฺปิ น ปาปุณาติ ปเคว อปฺปนนฺติ อธิปฺหาโย-คำว่าไม่ถึงอุปจาร อธิบายว่า แม้อุปจาร

ก็ยังไม่ถึง จะกล่าวอะไรถึงอัปปนาเล่า" ดังนี้ น่าจะเข้าใจว่า ตรงนี้มีแต่ น อุปจารํ ส่วน เนว

อปฺปนํ เกิน ถ้าตัด เนว อปปนํ ออก ความจะสนิทดีกว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 129

[นิมิตปรากฏแล้วทำอย่างไร]

พระทีฆภาณกาจารย์ทั้งหลาย กล่าวอย่างนี้ก่อนว่า "ก็เมื่อนิมิต

ปรากฏแล้วดังนี้ ภิกษุนั้นพึงไปหาอาจารย์แล้วเรียนว่า 'ข้าแต่ท่านผู้

เจริญ อารมณ์รูปอย่างนี้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า' ฝ่ายอาจารย์อย่าเพิ่งบอก

ว่านั่นคือนิมิต หรือว่า ไม่ใช่นิมิต พึงกล่าวว่า "มันย่อมเป็นอย่าง

นั้นแหละ อาวุโส (สำหรับผู้ประกอบภาวนา)" แล้วกล่าว (กำชับ)

ว่า "เธอจงมนสิการอย่างนั้นบ่อย ๆ เข้าเถิด" เพราะว่า เมื่ออาจารย์

บอกว่า เป็นนิมิตเข้า เธอจะหยุดพักเสีย ครั้นบอกว่า ไม่ใช่นิมิต

เธอก็จะหมดหวังท้อเสีย เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรบอกทั้ง ๒ อย่าง

เป็นแต่กำชับในการมนสิการเท่านั้น

ฝ่ายพระมัชฌิมภาณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า "โยคาวจรภิกษุนั้น

เป็นผู้ที่อาจารย์ควรบอก (ตรง ๆ ) ว่า 'นี่ นิมิตละ อาวุโส เธอจง

มนสิการกรรมฐานบ่อย ๆ เข้าเถิด สัตบุรุษ"*

ลำดับนั้น โยคาวจรภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ในนิมิตนั้นแหละ (ให้

* โดยนัยมหาฎีกา มติของอาจารย์ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็มีทางเป็นได้ด้วยกัน คือ มติของพระทีฆภาณ-

กาจารย์ ที่ว่า ถ้าบอกว่าเป็นนิมิตเข้า เธอจะหยุดพักเสียนั้น ก็อาจเป็นได้ว่าเมื่อเธอรู้ว่าได้นิมิตแล้ว

ก็จะคิดว่า "อันนิมิตนี้ยากที่จะทำให้เกิดขึ้น บัดนี้ นิมิตนั้นเราก็ได้แล้ว เอาละ เราจะต้องบรรลุ

ธรรมวิเศษ เมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละ" ดังนี้แล้วก็จะหย่อนความเพียรพักเสียบ้าง ครั้นบอกว่าไม่ใช่

นิมิต ก็จะคิดว่า "เราอุตส่าห์บำเพ็ญภาวนามานานถึงเพียงนี้แล้ว แม้แต่นิมิตก็ไม่เกิด เราจะเป้น

คนอาภัพต่อธรรมวิเศษเสียละกระมัง" ดังนี้แล้วก็ท้อเสีย

ส่วนมติของมัชฌิมภาณกาจารย์ที่ให้บอกตรง ๆ นั้น ก็เป็นได้ว่า เมื่อพระโยคาวจรปฏิบัติด้วย

ความมั่นใจว่า เธอจะต้องพ้นจากชรามรณะได้ด้วยปฏิปทาอันนี้ ครั้นทราบแน่ว่า นิมิตเกิดแล้ว ที่ไหน

จะหย่อนเพียรเสีย มีแต่จะทำความอุตสาหะยิ่งขึ้นไปเสียอีก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 130

มั่น) โดย (การตั้งภาวนาจิตไว้ในปฏิภาคนิมิต มี) ประการดังกล่าว

ภาวนาของเธอนี้ จำเดิมแต่ (เกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น) นี้ไป จึงเป็น

ภาวนาเนื่องด้วยวิธีฐปนา สมดังคำพระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าว

ไว้ว่า

พระโยคาวจรผู้มีปัญญาตั้งจิตไว้ใน (ปฏิภาค)

นิมิต ยังอาการต่าง ๆ ในลมอัสสาสะ ปัสสาสะ

ให้หายไป ย่อมผูกจิตของตนไว้ (ให้เป็น

อัปปนา) ได๑

ตั้งแต่ปรากฏนิมิตอย่างนั้นไป นีวรณ์ทั้งหลายก็เป็นโทษที่เธอ

ข่มได้แน่ กิเลสทั้งหลายระงับเงียบไป สติมั่นคง จิตดำรงมั่นโดย

อุปจารสมาธิเป็นแท้

ลำดับต่อไป นิมิตนั้น เธออย่าพึงใส่ใจโดยสี อย่าพึงกำหนด

โดยลักษณะเลยทีเดียว๒ แต่ว่าพึงเป็นผู้เว้นอสัปปายะ ๗ มีอาวาส

(ที่เป็นอสัปปายะ) เป็นต้น แล้วเสพสัปปายะ ๗ มีอาวาส (ที่เป็น

๑. นานาการํ - อาการต่าง ๆ หมายถึงที่เรียกว่า 'จตฺตาโร วณฺณา' คือ หายใจออกสั้น - ยาว

หายใจเข้าสั้น - ยาว เป็นอาการ ๔ อย่าง

วิภาวยํ ท่านแก้เป็น ๒ นัย ๆ แรก แปลว่า 'ทำให้หายไป ' คือให้อันตรธานไป หมายความ

ว่า ตั้งแต่ปฏิภาคนิมิตเกิดแล้ว พระโยคาวจรมิได้ใส่ใจถึงลม อาการเหล่านั้นจึงเท่ากับอันตรธานไป

อีกนัยหนึ่ง ลางท่านแปล วิภาวยํ ว่า 'ทำให้มี - ให้ปรากฏ' ถ้าแปลอย่างนี้ต้องยกขึ้นแปล

ก่อน ฐปยํ ดังนี้ 'พระโยคีผู้มีปัญญายังอาการต่าง ๆ ในลมอัสสาสะปัสสาสะให้ปรากฏ คือ รู้ลม

เหล่านั้นโดยอาการต่าง ๆ ---นิมิตใดในลมนั้นเกิดขึ้น ตั้งจิตไว้ในนิมิตนั้น ย่อมผูกจิตของตนไว้ได้

คือทำให้เป็นอัปปนาได้โดยลำดับ' ในที่นี้แปลตามนัยแรก

๒. ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ นี้ ในมหาฎีกาเป็น ลกฺขิตพฺพํ ดูจะเข้าทีกล่า เพราะเข้ารูปกับ ลกฺขณโต สนิท

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 131

สัปปายะ) เป็นต้นเหล่านั้นแหละ รักษาไว้ให้ดี ดังพระขัตติย-

มเหสี รักษาพระครรภ์ที่เกิดแต่พระเจ้าจักรพรรดิ และชาวนารักษาท้อง

ข้าวสาลี และข้าวเหนียวฉะนั้น ที่นี้ ครั้นเธอรักษานิมิตนั้นไว้อย่างนี้

แล้ว พึงทำให้ถึงความเจริญงอกงามโดยวิธีมนสิการบ่อย ๆ ยังอัปปนา-

โกศล ๑๐ ประการให้ถึงพร้อม ประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอไว้เถิด

เมื่อเธอพยายามอยู่อย่างนั้น จตุกฌานหรือปัญจาฌานจะเกิดขึ้นใน

เพราะนิมิตนั้น โดยลำดับที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั่นแล

[วิธีเจริญวิปัสนาต่อ]

[กำหนดนามรูป]

ก็แล ภิกษุผู้มีจตุกฌานหรือปัญจกฌานเกิดแล้วอย่างนี้ เป็นผู้

ใคร่จะเจริญกรรมฐานโดยวิธีสัลลักขณา (คือวิปัสนา) และวิวัฏฏนา

(คือมรรค) แล้วบรรลุปาริสุทธิ (คือผล) ในอานาปานสติภาวนานี้

(ต่อไป) ย่อมทำฌานนั้นแลให้ถึงความเป็นวสีด้วยอาการ ๕ แคล่ว

คล่องแล้ว กำหนดนามรูปเริ่มตั้งวิปัสนา ถามว่า เริ่มตั้งอย่างไร ?

ตอบว่า อันโยคาวจรภิกษุนั้นออกจากสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า

กรัชกายและจิตด้วย เป็นสมุทัยแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งหลาย เปรียบ

เหมือนเมื่อเตา (สูบ) ของช่างทอง ถูกชักสูบอยู่ ลมอาศัยสูบและ

ความพยายามที่ควรแก่การนั้นของบุรุษ (ประกอบกัน) ย่อมเข้าออก

ได้ฉันใด ลมอัสสาสะปัสสาสะก็อาศัยกายและจิต (ประกอบกัน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 132

เข้าออกได้ฉันนั้นเหมือนกันแล* ต่อนั้นเธอย่อมกำหนดลงได้ว่า ลม

อัสสาสะปัสสาสะและกายด้วย เป็นรูป จิตและธรรมที่สัมปยุตกับจิตนั้น

ด้วย เป็นอรูป นี้เป็นความสังเขปในการกำหนดนามรูปนั่น ส่วนการ

กำหนดนามรูปโดยพิสดารจักมีแจ้งข้างหน้า

ครั้งกำหนดนามรูปได้อย่างนี้แล้วก็หาปัจจัยของมันดู เมื่อหาดู

เห็นมันแล้วก็ข้ามความสงสัยปรารภความเป็นไปแห่งนามรูปในกาลทั้ง

๓ เสียได้ ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดยพิจารณา

เป็นกลาป ละวิปัสนูปกิเลส ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น อันเกิดขึ้นในส่วน

เบื้องต้นแห่งอุทยัพพยานุปัสนาเสีย กำหนดเห็นปฏิปทาญาณอันพ้น

จากอุปกิเลสแล้วว่าเป็นทาง ละ (การพิจารณา) ข้างเกิดแล้ว ก็ถึง

ภังคานุปัสนา (ดูแต่ข้างดับ) แล้วก็เบื่อหน่ายหายรัก ในสังขารทั้งปวง

ที่ปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว เพราะเห็นแต่ข้างดับหาระหว่างมิได้

หลุดพ้นไป ถึงอริยมรรค ๔ ตามลำดับ ตั้งอยู่ในอรหัตผล ถึงที่สุด

แห่งปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ประเภท เป็นอัครทักขิไณยของโลกกับทั้ง

เทวดา

ก็แล การเจริญอานาปานสติสมาธิแห่งโยคาวจรภิกษุนั้น อัน

จัดเอาคณนา (วิธีนับ) เป็นเบื้องต้น มีปฏิปัสนา (คือปัจจเวกขณะ)

เป็นปริโยสาน ก็เป็นอันจบลงแต่เพียงนี้แล นี้เป็นพรรณนาจตุกกะ

ที่ ๑ (จบ) โดยอาการทั้งปวง ส่วนในจตุกะ ๓ นอกนี้ เพราะ

ไม่จัดว่ามีนัยแห่งการเจริญกรรมฐานอีกแผนกหนึ่ง เพราะฉะนั้น

* มหาฎีกาว่า กรัชกาย เหมือนตา จิต เหมือนความพยายามของคน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 133

เนื้อความแห่งจตุกกะ ๓ นั้น บัณฑิตพึงทราบแต่โดยนัยแห่งการ

พรรณนาอนุบท (บทย่อย ?) เถิด

[พรรณนาจตุกกะที่ ๒]

ข้อว่า ปีติปฏิสํเวที----นั้น ความว่า ภิกษุสำเหนียกว่า 'เรา

จักทำปีติให้เป็นสิ่งที่ตนรู้ชัด คือทำให้ปรากฏ หายใจออกหายใจเข้า'

ในข้อนั้นมีอรรถาธิบายว่า ปีติเป็นสิ่งที่ภิกษุรู้ชัดโดยอาการ ๒ คือ

โดยอารมณ์ ๒ โดยอสัมโมหะ ๑ ถามว่า ปีติเป็นสิ่งที่ภิกษุรู้ชัด

โดยอารมณ์อย่างไร ? ตอบว่า ภิกษุเข้าฌาน ๒ ที่มีปีติ (เป็นองค์)๑

เพราะได้ฌาน (๒ นั้น) ปีติก็เป็นอันภิกษุนั้นรู้ชัดได้โดยอารมณ์

เพราะอารมณ์ (ของฌานนั้น) เป็นสิ่งที่เธอรู้ประจักษ์อยู่ในขณะที่

เธอเข้า (ฌาน) อยู่๒ (นั้น)

ถามว่า ปีติเป็นสิ่งที่ภิกษุรู้ชัดโดยสัมโมหะอย่างไร ? ตอบว่า

ครั้นเธอเข้าฌาน ๒ ที่มีปีติ (เป็นองค์) ออกแล้วก็พิจารณาปีติ

อันสัมปยุตตด้วยฌาน (นั้น) โดยความสิ้นไปเสื่อมไป ปีติก็เป็นอันเธอ

รู้ชัดได้โดยอสัมโมหะ เพราะรู้แจ้งลักษณะ๓ ในขณะที่เห็นด้วยวิปัสนา-

๑. หมายถึงเข้าปฐมฌานและทุติยฌานโดยลำดับ

๒. มหาฎีกาแสดงอุปมาว่า เหมือนคนเดินหาจับงู เมื่อพบโพรงที่อาศัยของมันแล้วก็เท่ากับได้พบ

ตัวงู แล้วเขาก็จับมันได้จริง เพราะการจับงูด้วยอำนาจมนต์นั้นทำได้ง่าย ๆ ฉันใด เมื่อภิกษุได้รู้

อารมณ์ (ฌาน) อันเป็นที่อาศัยของปีติแล้ว ปีตินั้นก็เป็นอันเธอรู้ด้วยโดยแท้ เพราะกรที่จะ

กำหนดจับปีตินั้นโดยลักษณะของมัน หรือโดยสามัญลักษณะ ทำได้ง่าย ฉันนั้น

๓. มหาฎีกาว่า หมายถึงลักษณะของปีติเอง และสามัญลักษณะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 134

ปัญญาอยู่ (นั้น) สมด้วยคำทีกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า "เมื่อภิกษุรู้

อยู่ซึ่งความมีอารมณ์เดียว ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ด้วยอำนาจความ

หายใจออกยาง (เป็นอารมณ์).... สติย่อมตั้งมั่น (อยู่ในอารมณ์นั้น)

ปีตินั้นก็เป็นสิ่งที่เธอรู้ได้ชัดด้วยสตินั้นด้วยความรู้นั้น เมื่อภิกษุรู้อยู่ซึ่ง

ความมีอารมณ์เดียว ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ด้วยอำนาจความหายใจ

เข้ายาว (เป็นอารมณ์)---- ด้วยอำนาจความหายใจออกสั้น (เป็น

อารมณ์)---- ด้วยอำนาจความหายใจเข้าสั้น (เป็นอารมณ์)----ด้วยอำนาจ

ความเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจออกหายใจเข้า (เป็นอารมณ์)----

ด้วยอำนาจความเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจออกหายใจเข้า (เป็น

อารมณ์) สติย่อมตั้งมั่น (อยู่ในอารมณ์นั้น) ปีตินั้นเป็นสิ่งที่เธอรู้

ได้ชัดด้วยสตินั้นด้วยความรู้นั้น เมื่อภิกษุนึกหน่วง (ฌาน) อยู่ ปีติ

นั้นก็เป็นสิ่งที่เธอรู้ชัดได้ เมื่อภิกษุรู้อยู่----เห็นอยู่----ปัจจเวกขณ์อยู่----

อธิษฐานจิตอยู่* ---- ตัดสินใจด้วยศรัทธาอยู่---- ประคองความเพียรอยู่----

ยังสติให้ตั้งมั่นอยู่---- ตั้งจิตให้แน่วแน่อยู่---- รู้ด้วยปัญญาอยู่---- รู้ยิ่งซึ่ง

อภิญไญยธรรมอยู่---- กำหนดรู้ซึ่งปริญไญยธรรมอยู่---- ละซึ่งปหาตัพพ-

ธรรมอยู่---- เจริญภาเวตัพพธรรมอยู่---- ทำให้แจ้งซึ่งสัจฉิกาตัพพธรรม

อยู่ ปีตินั้นก็เป็นสิ่งที่เธอรู้ได้ชัด ปีตินั้นเป็นสิ่งที่ภิกษุรู้ชัดด้วย

* คืออธิฐานฌานจิตว่า จักอยู่ในฌานตลอดเวลาเท่านั้นเท่านี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 135

ประการฉะนี้"๑

แม้บทที่เหลือ (คือ สุขปฏิสํเวที จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที)

ก็พึงทราบโดยความตามนัยนี้เถิด แต่นี่เป็นความแปลกกกันนิดหน่อยใน

บทเหล่านั้น คือ สุขปฏิสํเวทิตา (ความที่ภิกษุรู้ชัดซึ่งสุข) พึงเข้าใจ

ว่าเนื่องด้วยฌาน ๓ (ที่มีสุขเป็นองค์) จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวทิตา

(ความที่ภิกษุรู้ชัดซึ่งจิตตสังขาร) พึงเข้าใจว่า เนื่องด้วยฌานทั้ง ๔

(ซึ่งมีเวทนาเป็นองค์ตลอด) ขันธ์ ๒ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อจิตตสังขาร

ก็ในบทสุขปฏิสํเวทีนั้น ท่านแก้ไว้ในปฏิสัมภิทาว่า คำว่า สุข ได้แก่

สุข ๒ คือกายิกสุข ๑ เจตสิกสุข ๑ ดังนี้ เพื่อแสดงวิปัสนาภูมิ๒

ข้อว่า ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ นั้น ความว่า ระงับ คือดบ

จตตสังขารที่หยาบ ๆ ความดับจิตตสังขารนั้น พึงทราบโดยนัยที่

๑. มหาฎีกาว่าแบ่งเป็น ๔ ตอน ๆ แรก ๔ อาการ และตอสอง ๕ อาการ (แต่อาวชฺชโต-

นึกหน่วง ถึง จิตฺตํ อธิฏิฐหโต - อธิษฐานจิต) แสดงการรู้ปีติโดยอารมณ์ตอนสี่ (แต่อภิญฺเญยฺยํ

อภิชานโต - รู้ยิ่ง ซึ่งอภิญไญยธรรม ถึง สจิฉิกาตพฺพํ สจฺฉิกโรโต - ทำให้แจ้งซึ่งสัจฉิกาตัพพธรรม)

แสดงการรู้ปีติโดยอสัมโมหะ ส่วนตอนสาม (สทฺธาย อธิมุจฺจโต - ตัดสินใจด้วยสรัทธา ถึง

ปญฺญาย ปชานโต - รู้ด้วยปัญญา) แสดงการรู้ปีติทั้งโดยอารมณ์ทั้งโดยอสัมโมหะ เมื่อว่าโดย

สังเขป รู้โดยอารมณ์ ก็ด้วยเป็นสมถะ รู้โดยอสัมโมหะ ก็ด้วยเป็นวิปัสนา

ปาฐะตอนสี่ ในวิสุทธิมรรค เรียงไว้ว่า อภิญฺเญยฺยํ ปริญฺเญยฺยํ ปหาตพฺพํ ภาเวตพฺพํ

สจฺฉิกาตพฺพํ สจฺฉิกโรโต เมื่อแปลจำต้องเติม อภิชานโต ปริชานโต ปชหโต และภาวยโต

ตามลำดับ ท่านไม่เรียงไว้ ด้วยเห็นว่านักเรียนอาจเติมได้เองกระมัง แต่ในมหาฎีกาแก้ไว้ ดูเป็นว่า

ของท่านเรียงไว้เสร็จ เพราะท่านยกมาเป็นบทตั้งเช่นว่า อภิชานโตติ วิปสฺสนาปญฺญาปพฺพงฺคมาย

มคฺคปญฺญาย ชานโต-บทว่ารู้ยิ่งคือรู้ด้วยมรรคปัญญาอันมีวิปัสสนาปัญญาไปหน้า

๒. มหาฎีกาว่า สมเถ กายิกสุขาภาวโต เพราะในสมถะ ไม่มีกายิกสูข

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 136

กล่าวแล้วใน (ตอนแก้) กายสังขารโดยพิสดาร๑ อนึ่ง ในบทเหล่านั้น

ในบทปีติ ท่านกล่าวเวทนาโดยแง่ปีติ ในบทสุข กล่าวเวทนา

โดยรูปของมันเอง ในบทจิตตสังขาร ๒ บท นับว่ากล่าวเวทนาที่

ประกอบกันกับสัญญา เพราะบาลี (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า

"สัญญาและเวทนาเป็นเจตสิก ธรรม (๒) นั้นเนื่องกับจิต เป็นจิตต-

สังขาร" ดังนี้แล๒

บัณฑิตพึงทราบว่าจตุกกะนี้ตรัสโดยนัยแห่งเวทนานุปัสนา ด้วย

ประการฉะนี้

[จตุกกะที่ ๓]

แม้ จิตฺตปฏิสํเวทิตา (ความกำหนดรู้จิต) ในจตุกกะที่ ๓

ก็พึงทราบว่าเนื่องด้วยฌานทั้ง ๔ ข้อ ข้อว่า อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ

นั้น ความว่า ภิกษุสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ยังจิตให้บันเทิง ให้ปลื้ม

ให้ร่าเริง ให้เบิกบาน หายใจออกหายใจเข้า ความบันเทิงในข้อนั้น

ย่อมมีด้วยอาการ ๒ คือด้วยอำนาจสมาธิ ๑ ด้วยอำนาจวิปัสนา ๑

ถามว่า บันเทิงอำนาจสมาธิอย่างไร ? แก้ว่า ภิกษุเข้าฌาน ๒

ที่มีปีติ (เป็นองค์) เธอยังจิตให้บันเทิงให้ปลื้มด้วยปีติ อันเป็นสัม-

๑. หมายความว่า แก้ความนัยเดียวกัน ต่างกันแต่ที่นั่นเป็นกายสังขาร ที่นี่เป็นจิตตสังขารเท่านั้น

๒. อรรถาธิบายว่า ใน ๓ บทนี้ แสดงเวทนาด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันตรงที่ว่า บทปีติแสดงสุขเวทนา

ในแง่ปีติ หมายความว่า เวทนานี้สัมปยุตกับปีติ ไม่ใช่เวทนาลุ่น ๆ และไม่ใช่ปีติอิสระ ส่วนใน

บทสุขนั่นแหละแสดงเวทนาตรงตัว แต่ในบทจิตตสังขารแสดงเวทนาที่สัมปยุตกับสัญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 137

ปยุตธรรม ในขณะที่เข้าฌานอยู่นั้น (อย่างนี้เรียกว่า บันเทิงด้วย

อำนาจสมาธิ) ถามว่า บันเทิงด้วยอำนาจวิปัสนาอย่างไร ? แก้ว่า

ภิกษุ ครั้นเข้าฌาน ๒ ที่มีปีติ (เป็นองค์) ออกแล้วพิจารณาปีติอัน

สัมปยุตกับฌาน โดยความสิ้นไปเสื่อมไป เธอทำปีติอันสัมปยุตกับฌาน

ให้เป็นอารมณ์ ยังจิตให้บันเทิง ให้ปลื้มอยู่ในขณะที่เห็นด้วยวิปัสนา

อยู่ (นั้น) อย่างนี้

ผู้ปฏิบัติดังนี้เรียกว่า "สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ยังจิตใช้บันเทิง

ยิ่ง หายใจออกหายใจเข้า"

ข้อว่า สมาทหํ จิตฺตํ นั้น ความว่า ดำรงจิตให้เสมอ คือตั้ง

จิตให้เสมอ*ในอารมณ์ ด้วยอำนาจฌาน มีปฐมฌานเป็นอาทิ หรือ

อนึ่ง เมื่อภิกษุเข้าฌานเหล่านั้นออกแล้วพิจารณาจิตอันสัมปยุตกับฌาน

โดยความสิ้นไปเสื่อมไปอยู่ ขณิกจิตเตกัคคตา (ความมีอารมณ์เดียว

แห่งจิตอันตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง) เกิดขึ้นเพราะความรู้แจ้ง (ไตร) ลักษณะ

ในขณะแห่งวิปัสนา ภิกษุดำรงจิตให้เสมอ คือตั้งจิตให้เสมอใน

อารมณ์แม้ด้วยอำนาจขณิกจิตเตกัคคตาอันเกิดขึ้นอย่างนั้นก็ดี เรียกว่า

"สำเหนียกว่า 'เราจักตั้งจิตมั่นหายใจออกหายใจเข้า"

ข้อว่า วิโมจยํ จิตฺตํ นั้น ความว่า ภิกษุเปลื้องปลดจิตจาก

นีวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน เปลื้องปลดจิตจากวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน

เปลื้องปลดจิตจากปีติด้วยตติยฌาน เปลื้องปลดจิตจากสุขทุกข์ด้วย

จตุตถฌาน หรืออนึ่ง ภิกษุเข้าฌานเหล่านั้นออกแล้วพิจารณาจิตที่

* หมายความว่า ตั้งแน่วเป็นอัปปนา ไม่หดหู่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ยุบไม่ฟู

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 138

สัมปยุตกับฌานโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ในขณะแห่งวิปัสนา (นั้น)

เธอเปลื้องปลดจิตจากนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา เปลื้องปลดจิตจาก

สุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา---- จากอัตตสัญญญด้วยอนัตตานุปัสนา----

จากนันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา---- จากราคะด้วยวิราคานุปัสนา---- จาก

สมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา---- จากอาทาน (ความยึดถือ) ด้วยปฏินิส-

สัคคานุปัสนา หายใจออกและหายใจเข้า เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า

"สำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออกหายใจเข้า"

พึงทราบว่า จตุกกะนี้ ตรัสโดยเป็นจิตตานุปัสนา ด้วยประการ

ฉะนั้น

[จตุกกะที่ ๔]

[อนิจฺจานุปสฺสี]

ส่วนในจตุกกะที่ ๔ มีพรรณนาว่า ในข้อ อนิจฺจานุปสฺสี นั้น

บัณฑิตพึงทราบ อนิจฺจํ (สิ่งที่ไม่เที่ยง) พึงทราบอนิจจตา (ความ

ไม่เที่ยง) พึงทราบอนิจจานุปัสนา (การพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง)

พึงทราบอนิจจานุปัสสี (ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง) ก่อน

ใน ๔ บทนั้น บทว่า อนิจฺจํ (สิ่งที่ไม่เที่ยง) ได้แก่ปัญจขันธ์

เพราะอะไร เพราะความที่ปัญจขันธ์เหล่านั้นมีความเกิดขึ้นเสื่อมไป

และเป็นอื่นไป บทว่า อนิจจตา (ความไม่เที่ยง) ก็ได้แก่ความ

เกิดขึ้นเสื่อมไปและเป็นอื่นไป หรือความที่มีแล้วก็ไม่มี แห่งปัญจ-

ขันธ์เหล่านั้นแหละ อรรถาธิบายว่า อนิจจตา ก็คือความที่ปัญจขันธ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 139

ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ไม่ตั้งอยู่ตามอาการ (ที่เกิดมา) นั้น สลายไป

โดยขณภังคะ (คือดับไปทุกขณะ) ทีเดียว บทว่า อนิจจานุปัสนา

คือการพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง ในขันธ์ทั้งหลายมีรูปเป็นอาทิ ด้วย

อำนาจแห่งอนิจจตา (ที่กล่าวมา) นั้น บทว่า อนิจจานุปัสสี ก็ได้แก่

พระโยคาวจรผุ้ประกอบด้วยการพิจารณาเห็นนั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุผุ้

เป็นอย่างนั้นหายใจออกและหายใจเข้าอยู่ พึงทราบว่า ชื่อว่า สำเหนียก

ว่า 'เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออกหายใจเข้า' ในที่นี้

[วิราคานุปสฺสี นิโรธานุปสฺสี]

ส่วนในบทว่า วิราคานุปสฺสี นี้ วิราคะ (ความคลายไป) มี ๒

คือ ขยวิราคะ (ความคลายโดยสิ้นไป) ๑ อัจจันตวิราคะ (ความ

คลายสุดยอด) ๑ ในวิราคะ ๒ อย่างนั้น ความสลายไปทุกขณะแห่ง

สังขารทั้งหลาย ชื่อขยวิราคะ พระนิพพาน ชื่ออัจจันตวิราคะ

วิปัสนาและมรรคอันเป็นไปโดยอนุปัสนา ๒ อย่างนั้น* ชื่อว่าวิราคา-

นุปัสสนา พระโยคาวจรเป็นผู้ประกอบด้วยอนุปัสนาทั้ง ๒ อย่างนั้น

หายใจออก และหายใจเข้าอยู่ พึงทราบว่า ชื่อว่า สำเหนียกว่า

'เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไป หายใจออกหายใจเข้า'

นัยแม้ในบทว่า นิโรธานุปสฺสี ก็ดุจนัยนี้

* มหาฎีกาและให้ประกอบความว่า ขยวิราคานุปัสา สำหรับวิปัสนา อัจจันตวิราคานุปัสนา

สำหรับมรรค

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 140

[ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี]

แม้ในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี นี้ ปฏินิสสัคคะก็มี ๒ คือ

ปริจจาคปฏินิสสัคคะ (ปฏินิสสัคคะ คือสละเสีย) ๑ ปักขันทนปฏิ-

นิสสัคคะ (ปฏินัสสัคคะ คือแล่นเข้าไป) ๑ อนุปัสนา คือปฏินิสสัคคะ

ชื่อปฏินิคสัคคานุปัสนา คำนี้เป็นชื่อแห่งวิปัสนาและมรรค แท้จริง

วิปัสาย่อมสละเสียซึ่งกิเลสพร้อมทั้งขันธ์ (คือวิบาก) และอภิสังขาร

(คือกรรม) ด้วยอำนาจตทังคปหาน และย่อมและเข้าไปในพระ

นิพพานอันตรงกันข้ามกับกิเลสนั้น โดยความที่น้อมโน้มไปทางนั้น

เพราะเห็นโทษในสังขตธรรม เพราะเหตุนั้น จึงเรียก (ปฏินิสสัคคะ

มี ๒ คือ) ปฏินิสสัคคะคือสละเสีย ๑ ปฏินิสสัคคะคือแล่นเข้าไป ๑

ส่วนมรรคก็สละเสียซึ่งกิเลสพร้อมทั้งธันธ์และอภิสังขารด้วยอำนาจสมุจ-

เฉทปหาน และแล่นเข้าไปในพระนิพพาน โดยทำ (พระนิพพาน)

ให้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า (ปฏินิสสัคคะมี ๒ คือ)

ปฏินิสสัคคะคือสละเสีย ๑ ปฏินิสสัคคะคือแล่นเข้าไป ๑ ดังนี้

ก็วิปัสนาญาณและมรรคญาณทั้ง ๒ (นี้) เรียกว่าอนุปัสนา เพราะ

เห็น (พระนิพพาน) ภายหลังญาณก่อน ๆ* พระโยคาวจรภิกษุ

เป็นผุ้ประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนาทั้ง ๒ อย่างนั้น หายใจออกและ

หายใจเข้าอยู่ พึงทราบว่า ชื่อว่าสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณา

* มหาฎีกาสนับสนุนว่า จริง แม้มรรคญาณก็เห็นพระนิพพานภายหลังโคตรภูญาณ นี่คือ

ท่านให้แปล อนุ ว่า 'ภายหลัง' ท่านอธิบายแบบนี้ทำให้กระเทือนอนุปัสนาที่อื่น ๆ แล้วก็มี

ปัญหาว่าปฏินิสสัคคานุปัสสีเล่าจะแปลอย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 141

เห็นความสละทิ้งหายใจออกหายใจเข้า

จตุกกะที่ ๔ นี้ ตรัสโดยเป็นวิปัสนาล้วน ส่วน ๓ จตุกกะก่อน

ตรัสโดยเป็นสมถะและวิปัสนา (เจือกัน)

การเจริญอานาปานสติมีวัตถุ (ลูกข้อ) ๑๖ โดยจัดเป็นจตุกกะ

(หมวดละ ๔ ) ๔ หมวด บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่พรรณนามาฉะนี้

และอานาปานสตินี้ (ที่ภิกษุเจริญแล้ว) ตามวัตถุ ๑๖ อย่างนี้ ย่อม

มีผลใหญ่มีอานิสงส์มาก

[อานิสงส์อานาปานสติ]

ในอานิสงส์แห่งอานาปานสตินั้น มีพรรณนาว่า ความที่อานา-

ปานสตินั้นมีนิสงส์มาก บัณฑิตพึงทราบโดยเป็นธรรมที่พระผู้มี

พระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ มีความเป็นธรรมละเมียดเป็นต้น ตาม

พระพุทธพจน์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย แม้อานาปานสติสมาธินี้แล บุคคล

ทำให้มีทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมละเมียดแท้ด้วยประณีตแท้ด้วย"*

ดังนี้เป็นต้นบ้าง โดยความเป็นธรรมสามารถในอันตัดเสียซึ่งวิตก

(มีกามวิตกเป็นต้น) บ้าง จริงอยู่ อานาปานสติสมาธินี้ เพราะเป็น

ธรรมละเมียด ประณีต และเป็นธรรมเครื่องพักอยู่อันละมุนละไมและ

เป็นสุข จึงตัดความพล่านไปมาแห่งจิตด้วยอำนาจวิตกทั้งหลายอัน

เป็นตัวทำอันตรายแก่สมาธิเสียได้ แล้วทำจิตให้มุ่งหน้าต่ออารมณ์คือ

ลมหายใจออกหายใจเข้าเท่านั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง

* สํ. มหาวาร. ๑๙/๔๐๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 142

ตรัสไว้ว่า "อานาปานสติ ภิกษุพึงบำเพ็ญเพื่อตัดเสียซึ่งวิตก"๑ ดังนี้

อนึ่ง ความที่อานาปานสตินั้นมีอานิสงส์มาก บัณฑิตพึงทราบโดย

ความเป็นมูลแห่งการทำวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์ก็ได้ จริงอยู่ พระผู้มี

พระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ

ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติ-

ปัฏฐาน ๔ ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้

บริบูรณ์"๒ ดังนี้

อีกอย่างหนึ่ง ความที่อานาปานสตินั้นมีอานิสงส์มาก พึงทราบ

โดยทำความรู้ลมอัสสาสะปัสสาสะที่เป็นจริมกะ (คือครั้งสุดท้าย) ก็ได้

สมคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ในราหุโลวาทสูตร) ว่า "ดูกรราหุล

เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล

แม้ลมอัสสาสะปัสสาสะอันเป็นจริมกะดับก็รู้ หาดับไม่รู้ไม่"๓ ดังนี้

ในลมเหล่านั้น ว่าโดยความดับ มีจริมกะ ๓ คือ ภวจริมกะ

(สุดด้วยอำนาจภาพ) ฌานจริมกะ (สุดด้วยอำนาจฌาน) จุติ-

จริมกะ (สุดโดยจุติ) ว่าข้างภพ ลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งหลายย่อม

เป็นไปในกามภพ หาเป็นไปในรูปภพและอรูปภพไม่ เพราะฉะนั้น

ลมเหล่านั้น จึงชื่อภวจริมกะ (สุดด้วยอำนาจภพ) ว่าข้างฌาน ลม

๑. องฺ. นวก. ๒๓/๓๗๑ ๒. ม. อ. ๑๔/๑๙๓ ๓. ม. ม ๑๓/๑๔๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 143

อัสสาสะปัสสาสะ ย่อมเป็นไปในฌาน ๓ ข้างต้น หาเป็นไปในฌานที่ ๔

ไม่ เพราะฉะนั้น ลมเหล่านั้นจึงชื่อฌานจริมกะ (สุดด้วยอำนาจฌาน)

ส่วนลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่าใดเกิดขึ้นพร้อมกับจิตขณะที่ ๑๖ เบื้องหน้า

แต่จุติจิต๑ แล้วดับพร้อมกับจุติจิต ลมเหล่านี้ ชื่อ จุติจริมกะ (สุดโดย

จุติ) ลมจุติจริมกะนี้ (แล) พระผุ้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่า

เป็นลมครั้งสุดท้าย ในพระสูตรนี้

ได้ยินว่า เพราะความที่ลมหายใจออกหายใจเข้า อันภิกษุกำหนด

เป็นอารมณ์ด้วยดีแล้ว แม้ความเกิดขึ้นแห่งลมเหล่านั้น ก็ปรากฏแก่

ภิกษุผู้ประกอบกรรมฐานนี้ เมื่อเธอนึกหน่วงถึงความเกิด (ของมัน)

ในขณะที่จิตดวงที่ ๑๖ เกิดเบื้องหน้าแต่จุติจิต แม้ความตั้งอยู่แห่งลม

เหล่านั้น ก็ปรากฏ เมื่อเธอนึกหน่วงถึงความตั้งอยู่ (ของมัน)

(ของมัน)

แท้จริง ภิกษุผู้เจริญกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจาก

กรรมฐานนี้แล้ว ได้บรรลุพระอรหัต ย่อมกำหนดระยะกาลแห่งอายุ

ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ นี้แล้วได้

บรรลุพระอรหัต ย่อมกำหนดระยะกาลแห่งอายุได้ทั้งนั้น

ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติได้บรรลุพระอรหัตนั้น ย่อมรู้ว่า 'บัดนี้

๑. ท่านว่า อายุของรูปธรรมนั้น เท่ากับ ๑๖ ขณะจิต เพราะฉะนั้น จึงว่าอัสสาสะปัสสาสะ

(ซึ่งเป็นรูปธรรม) เกิดพร้อมกับจิตขณะที่ ๑๖ หลังจุติจิตไป แต่ถ้านับจุติด้วยก็เป็น ๑๗ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 144

อายุสังขารของเราเป็นไปได้เพียงนี้ ไม่เคยนี้ไป' ดังนี้แล้วทำกิจทั้ง

ปวงมีการชำระร่างกายและการนุ่งห่มเป็นต้น ตามธรรมดาของตน

นั่นแหละ (เรียบร้อย) แล้วก็หลับตา (ดับไป) ดังพระติสสเถระ

วัดโกฏิบรรพตวิหาร ดังพระมหาติสสเถระ วัดมหากรัญชนิยวิหาร

ดังพระปิณฑปาติกติสสเถระในเทวปุตรัฐ และดังพระเถระสองพี่น้อง

วัดจิตตลบรรพวิหาร ฉะนั้น

(ต่อไป) นี้เป็นคำแสดงเรื่อง ๆ หนึ่ง ในเรื่องแห่งพระเถระ

ทั้งหลายนั้น

มีเรื่องเล่าว่า ท่านองค์หนึ่ง แห่งพระเถระสองพี่น้อง (นั้น)

ลงปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถปุณณมีแล้ว มีหมู่ภิกษุแวดล้อมไปสู่ที่อยู่ของ

ตน (ไป) ยืน ณ ที่จงกรม แลดู (ท้องฟ้าและพื้นดินอันสว่างด้วย)

แสงจันทร์ ใคร่ครวญดูอายุสังขารของตนแล้ว กล่าวกะหมู่ภิกษุว่า

"ท่านทั้งหลายเคยเห็นภิกษุผู้ปรินิพพานด้วยอาการอย่างไรบ้าง" ใน

ภิกษุเหล่านั้น บ้างก็ว่าเคยเห็นนั่งที่อาสานะนั่งเองปรินิพพาน บ้างก็

ว่าเคยเห็นนั่นคู้บัลลังก์ในอากาศปรินิพพาน พระเถระจึงว่า "บัดนี้

เราจักแสดงภิกษุผู้กำลังจงกรมนั่นเองปรินิพพานให้ท่านทั้งหลาย (ดู)"

ว่าแล้วก็ทำรอยขีดไว้ในที่จกรม บอกว่า "เราเดินไปจากปลายที่

จลกรมนี้ ถึงปลายที่จงกรมอีกข้างหนึ่งแล้วกลับมา พอถึงรอยนี้จัก

ปรินิพพาน" ดังนี้แล้ว ลงสู่ที่จงกรมไปถึงปลายข้างนอกแล้วกลับมา

ในขณะเท้าข้างหนึ่งเหยียบรอย (ที่ขีดไว้) ก็ปรินิพพานพอดี*

* ท่านน่าจะเล่าตออีกสักนิดว่า ปรินิพพานแล้ว ก็คงยืนอยู่ท่านั้น หรือว่าล้มลงท่าไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 145

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ประกอบ

อานาปานสติ อันมีอานิสงส์เป็นอเนกดังกล่าวมาฉะนี้

ทุกเมื่อเทอญ

นี่เป็นกถามุขโดยพิสดาร

ในอานาปานสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 146

[อุปสมานุสติ]

ส่วนว่าโยคาจรภิกษุผู้ใคร่จะเจริญอุปสมานุสติ ซึ่งท่านยกขึ้น

แสดงไว้ในลำดับแห่งอานาปานสติ ก็พึงไปในที่ลับคน เร้นอยู่แล้ว

ระลึกถึงคุณทั้งหลายแห่งพระนิพพาน ที่นับว่าเป็นที่ระงับแห่งทุกข์

ทั้งมวล โดยนัยพระบาลีอย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย

เป็นสังขตะก็ดี อสังขตะก็ดี มีประมาณเพียงใด วิราคธรรม เรากล่าว

ว่าเป็นเลิศแห่งธรรมเหล่านั้น วิราคธรรมนี้คืออะไร ? วิราคธรรมนี้

คือ ธรรมเป็นที่สร่างเมา เป็นที่กำจัดความกระหาย เป็นที่ถอนอาลัย

เป็นที่ตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอก (ตัณหา) เป็นที่ดับ

(ตัณหา) คือนิพพาน (แดนออกไปแห่งเครื่องร้อยรัด คือตัณหา)"*

ดังนี้

[แก้อรรถบาลี]

ในปาฐะเหล่านั้น คำว่า 'มีประมาณเพียงใด' คือ มีประมาณ

เท่าใด คำว่า 'ธรรมทั้งหลาย' หมายเอาสภาวธรรม คำว่า 'เป็น

สังขตะก็ดี อสังขตะก็ดี' นั้น คือ อันปัจจัยทั้งหลายประชุมทำขึ้นก็ดี

อันปัจจัยทั้งหลายมิได้ประชุมทำขึ้นก็ดี คำว่า 'วิราคธรรม เรากล่าว

ว่าเป็นเลิศแห่งธรรมเหล่านั้น' คือว่า วิราคธรรม เรากล่าวว่าเลิศ คือ

ประเสริฐสูงสุด แห่งสังขตธรรม และอสังขตธรรมทั้งหลายเหล่านั้น

* องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๔. คำแปลบาลีนี้ แปลตายนัยวิสุทธิมรรค ที่ท่านแก้วไว้ต่อไปนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 147

ใช่ว่าเพียงแต่ความไม่มีระคะเท่านั้น ชื่อว่า วิราคธรรมในบาลีนั้น

ก็หาไม่ ที่แท้ อสังขตธรรม ที่ได้นามต่าง ๆ มีนามว่า มทนิมฺมทโน

เป็นอาทิ ตามบาลีว่า ยทิทํ มทนิมฺมทโน ฯ เป ฯ นิพฺพานํ นั้น

ก็พึงได้ชื่อว่า วิราคธรรมด้วย แท้จริงวิราคธรรมนั้น ท่านเรียกว่า

มทนิมฺมทนะ เพราะความเมาทั้งหลายทั้งปวงมีความเมาด้วยอำนาจ

มานะ และความเมาในความเป็นผู้ชาย เป็นต้น มาถึงวิราคธรรมนั้น

เข้า ก็สร่าง คือ หายเมาไป และเรียกว่า ปิปาสวินยะ เพราะความ

กระหายในกามทั้งหลายทั้งปวง มาถึงวิราคธรรมนั้นเข้า ก็ถึงซึ่งความ

ปราศไป คือตกไป อนึ่ง เรียกว่า อาลยสมุคฺฆาคะ เพราะอาลัย

คือปัญจกามคุณ มาถึงวิราคธรรมนั้นเข้า ก็ถึงซึ่งความถอนขึ้นหมด

และเรียกว่า วฏฺฏูจฺเฉทะ เพราะวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ มาถึง

วิราคธรรมนั้นเข้าก็ขาด อนึ่ง เรียกว่า ตณฺหกฺขยะ วิราคะ นิโรธะ

เพราะตัณหามาถึงวิราคธรรมนั้นเข้า ย่อมถึงซึ่งความสิ้นไป สำรอกไป

และดับไปโดยประการทั้งปวง อนึ่งเล่า เรียกว่า นิพฺพานะ เพราะ

วิราคธรรมนั้นออกไปคือสลัดตัดไปจากตัณหาอันได้โวหารว่า 'วานะ'

เพราะร้อยไว้ผูกไว้เย็บไว้ซึ่งกำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และ

สัตตาวาส ๙ เพื่อความเป็นสืบ ๆ ไปและ อุปสมะ กล่าวคือพระนิพพาน

พระโยคาวจรพึงระลึกถึงโดยอำนาจคุณทั้งหลาย มีความเป็นที่สร่างเมา

เป็นต้นเหล่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ หรือหนึ่ง แม้คุณแห่งอุปสมะอื่นใด

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสูตรต่าง ๆ เช่นสูตรว่า "ดูกรภิกษุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 148

ทั้งหลาย เราจักแสดงอสังขตธรรม (ธรรมอันปัจจัยมิได้ประชุมทำขึ้น)

แก่ท่านทั้งหลายด้วย เราจักแสดงสัจธรรม (ธรรมอันจริงแท้) ด้วย. . .

ปารธรรม (ธรรมอันเป็นฝั่งนอก) ด้วย. . . สุทุทฺทสธรรม (ธรรมอัน

เห็นยากนัก) ด้วย. . . อัชชรธรรม (ธรรมอันไม่มีชรา) ด้วย. . .

ธุวธรรม (ธรรมอันยั่งยืน) ด้วย. . . นิปฺปปัญจธรรม (ธรรมอันไม่มี

สิ่งที่ทำให้เนิ่นช้า) ด้วย. . . อมตธรรม (ธรรมอันไม่ตาย) ด้วย. . .

สิวธรรม (ธรรมอันปลอดโปร่ง) ด้วย. . . เขมธรรม )ธรรมอันพ้น

ภัย) ด้วย . . . อัพภูตธรรม (ธรรมอันอัศจรรย์) ด้วย. . . อนีติก-

ธรรม (ธรรมอันไม่มีเสนียด) ด้วย. . . อัพยาปัชฌธรรม (ธรรม

อันไม่มีความเบียดเบียน) ด้วย. . . วิสุทธิธรรม (ธรรมคือความหมด

จด) ด้วย. . . ทีปธรรม (ธรรมดุจเกาะ) ด้วย. . . ตามธรรม

(ธรรมอันเป็นเครื่องต้านทุกข์) ด้วย. . . เลณธรรม (ธรรมเป็นที่ลี้

ทุกข์) ด้วยแก่ท่านทั้งหลาย" ดังนี้เป็นต้น พระโยคาวจรพึงระลึก

ถึงโดยอำนาจคุณเหล่านั้นก็ได้เหมือนกัน

[อานิสงส์อุปสมานุสติ]

เมื่อเธอระลึกถึงอุปสมะ โดยอำนาจคุณมีความเป็นที่สร่างเมา

เป็นต้น อย่างนี้อยู่ ในสมัยนั้น จิต (ของเธอ) ไม่ถูกราคะกลุ้มรุม. . .

ไม่___________ถูกโทสะกลุ้มรุม. . . ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุมเลย ในสมัยนั้น จิตของเธอ

เป็นจิตดำเนินตรงมุ่งต่ออุปสมะแท้แล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นแก่

เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้วในขณะเดียวกัน โดยนัยที่กล่าวแล้วในอนุสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 149

ก่อน ๆ มีพุทธานุสติเป็นต้น แต่เพราะความที่อุปสมคุณทั้งหลายเป็น

คุณอันลึก หรือว่า เพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึกคุณมีประการ

ต่าง ๆ กัน ฌานนี้จึงเป็นฌานไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจารเท่านั้น

ฌานนี้นั้น ก็ได้เชื่อว่า อุปสมานุสติ นั่นเอง เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจ

ความระลึกถึงคุณแห่งอุปสมะ และแม้อุปสมานุสตินี้ ก็ย่อมสำเร็จแก่

พระอริยสาวกเท่านั้น เช่นดังฉอนุสติ (ที่กล่าวแล้ว) ถึงเช่นนั้น

แม้ปุถุชนผู้หนักในอุปสมะ ก็ควรใส่ใจด้วย เพราะแม้ด้วยอำนาจการ

ฟัง จิตก็เลื่อมใสในอุปสมะได้

ก็แลภิกษุผู้ประกอบอุปสมานุสตินั้น ย่อมหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข

เป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ น่าเลื่อมใส

มีอัชฌาสัยประณีต เป็นที่เคารพและยกย่องแห่งสพรหมจารีทั้งหลาย

อนึ่ง เมื่อยังไม่บรรลุคุณที่สูงขึ้นไป ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้อง

หน้า

เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตผู้เห็นแจ้งพึงเป็นผู้ไม่

ประมาท เจริญความระลึกในอริยอุสมะ อันมี

อานิสงส์เป็นอเนก โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้เทอญ

นี้เป้นกถามุขโดยพิสดาร

ในอุปสมานุสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 150

บริเฉทที่ ๘

ชื่ออนุสสติกัมมฐานนิเทส

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา

ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมชแห่งสาธุชน

ดั่งนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 151

พรหมวิหารนิเทส

เมตตาพรหมวิหาร

ก็แลในพรหมวิหาร ๔ นี้ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ที่ท่านยกขึ้นแสดงในลำดับอนุสติกัมมฐาน พระอาทิกัมมิกโยคาวจร

ผู้ใคร่จะเจริญเมตตาพรมหมวิหารเป็นอันดับแรก พึงเป็นผุ้ตัดปลิโพธ

ถือเอากรรมฐานแล้ว ทำภัตกิจ บรรเทาความเมาอาหารแล้ว นั่งให้

สบลาย (ตามแบบนั่งกรรมฐาน) ณ อาสนะที่จัดไว้อย่างดีในที่สงัด

ชั้นแรก พึงพิจารณาให้เห็นโทษในโทสะ และอานิสงส์ในขันติก่อน

ถามว่า เพราะเหตุอะไร ?

ตอบว่า เพราะโทสะจะพึงลงได้ และขันติจะพึงบรรลุได้ ก็ด้วย

ภาวนานี้ และใคร ๆ จะอาจละโทษที่ตนไม่เห็นสักหน่อย หรือได้

อานิสงส์ที่ตนไม่ทราบสักนิดหาดได้ไม่ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึง

เห็นโทษในโทสะ ตามแนวพระสูตทั้งหลาย เช่นสูตรว่า "ดูกร

อาวุโส บุคคลผู้เกิดโทสะแล้ว อันโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะยึดไว้

รอบแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์บ้างไ ดังนี้เป็นอาทิ พึงทราบอานิสงส์ในขันติ

ตามแนวพระบาลีทั้งหลายเช่น บาลีว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา*

ขันติ คือความอดกลั้นเป็นบรมตบะ พระพุทธทั้งหลาย กล่าว

* ที. มหา. ๑๐/๕๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 152

นิพพานเป็นบรมธรรม

ขนฺติพลํ พลานีกํ ตนหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ๑

เรากล่าวบุคคลนั้น ผู้มีขันติเป็นกำลัง มีกำลังคือขันติเป็นกอบทัพ

ว่าเป็นพราหมณ์

ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ

ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติหามีไม่

ดังนี้เป็นต้นเถิด

ครั้นแล้วพึงเริ่มเมตตาภาวนา เพื่อยังจิตให้สงัดจากโทสะอันมี

โทษที่ตนเห็นแล้ว และเพื่อผูกจิตไว้ในขันติ อันมีอานิสงส์ที่ตนทราบ

แล้วอย่างนี้ (ต่อไป)

[บุคคลที่เป็นโทษแก่ภาวนา ๖]

ก็แล เมื่อจะเริ่ม เบื้องต้นทีเดียว ควรทราบปุคคลโทส (บุคคล

ที่เป็นโทษแก่ภาวนา) ว่า ในบุคคลเหล่านี้ไม่ควรเจริญเมตตาไปเป็น

ปฐม ในบุคคลเหล่านี้ไม่ควรเจริญเมตตาไปเลยทีเดียว แท้จริงเมตตา

นี้ไม่ควรเจริญเป็นปฐม ในบุคคล ๔ นี้ คือในบุคคลที่เกลียดกัน ใน

บุคคลที่เป็นสหายรักกันมาก ในบุคคลที่เป็นกลาง ๆ กัน ในบุคคลที่

เป็นศัตรูกัน (ส่วน) ในบุคคลที่มีเพศเป็นข้าศึกกัน ไม่ควรเจริญโดย

เจาะจง ในบุคคลที่ทำกาลกิริยาแล้ว ไม่ควรเจริญทีเดียว

ถามว่า เพราเหตุไร จึงไม่ควรเจริญไปในบุคคล ๔ ประเภท

มีบุคคลที่เกลียดกันเป็นต้นเป็นปฐม ?

๑. ขุ. ธ. ๒๕/๖๙ ๒. ส. ส. ๑๕/๓๒๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 153

เฉลยว่า เพราะว่าพระโยคาวจร เมื่อ (นึก) ตั้งคนที่เกลียดกัน

ไว้ในฐานะแห่งคนรัก ย่อมลำบาก (ใจ) เมื่อ (นึก) ตั้งสหายที่รัก

กันมาไว้ในฐานะแห่งคนกลาง ๆ กัน ก็ลำบาก ด้วยเมื่อทุกข์แม้เล็ก

น้อยเกิดขึ้นแก่เขา เธอจะถึงกับร้องไห้ออกมาก็เป็นได้ เมื่อ (นึก)

ตั้งคนกลาง ๆ กันไว้ในฐานะแห่งครูและในฐานะแห่งคนรัก ก็ลำบาก

เมื่อระลึกถึงคนที่เป็นศัตรูกัน ความโกรธย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น๑

จึงไม่ควรเจริญไปในบุคคล ๔ ประเภท มีคนเกลียดกันเป็นต้น เป็น

ปฐม

ส่วนในบุคคลที่มีเพศเป็นข้าศึกกัน เมื่อเจริญโดยเจาจงถึงผู้มี

เพศเป็นข้าศึกกันนั้นเข้า ความกำหนัดย่อมเกิดขึ้น ดังมีเรื่องเล่าว่า

บุตรขุนนางผู้ใดผู้หนึ่ง (จะเจริญเมตตา) ถามพระเถระชีต้นว่า "ท่าน

เจ้าข้า เมตตาควรเจริญในบุคคลไร" พระเถระบอก (โดยไม่มี

เงื่อนไข) ว่า "ในบุคคลที่รัก" ก็ภริยาของตนย่อมเป็นที่รักของเขา

เขาจึงเจริญเมตตาแก่หล่อน ก็ (ต้อง) ทำการรบกับฝาคืนยังรุ่ง๒

เพราะฉะนั้น ในคนที่มีเพศเป็นข้าศึกกัน จึงไม่ควรเจริญโดยเจาะจง

ส่วนในคนที่ทำกาลกิริยาแล้ว เจริญไปก็ไม่ถึงอัปปนา ไม่ถึง

อุปจารได้เลย มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุหนุ่มรูปใดรูปหนึ่งทำเมตตาภาวนา

๑. ปาฐะในวิสุทธิมรรค พิมพ์ครั้งที่ ๓ (๒๕๐๓) เป็น ตสฺมึ ผิด ที่ถูกเป็น ตสฺมา

๒. รบกับฝา (ภิตฺติยุทฺธ) มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า บุตรขุนนางผู้นั้นอธิษฐานศีลแล้วเขานั่งบน

เตียงนอนในห้อง ปิดประตูเจริญเมตตาถึงภรรยา ถูกราคะซึ่งมาในหน้าเมตตาทำให้มืดไป ใคร่จะ

ไปหาภรรยา แต่คลำหาประตูไม่เจอ จึงรบกับฝา คือทุบฝาด้วยอยากจะออกไป

ส่วนคำว่า 'คืนยังรุ่ง' (สพฺพรตฺตึ) ซึ่งฟังดูอย่างไรอยู่นั้น ท่านเลยไปเสีย ไม่พูดถึง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 154

ถึงอาจารย์ เมตตาของเราหาดำเนินไปไม่ เธอจึงไปหาพระมหาเถระ

(รูปหนึ่ง) เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ การเข้าเมตตาฌานของข้าพเจ้า

คล่องแคล่วทีเดียว แต่ (เวลานี้) ข้าพเจ้าไม่อาจเข้าเมตตาฌานนั้น

ได้ เหตุอะไรเล่าหนอ ?" พระเถระแนะว่า "เธอจงหานิมิตดูเถิด*

อาวุโส" ภิกษุนั้นหา (นิมิต) ดูไปจึงรู้ความที่อาจารย์ถึงมรณภาพแล้ว

ก็ทำเมตตาถึงผู้อื่นต่อไป จึงยังสมาบัติให้แน่วแน่ได้ เพราะเหตุนั้น

ไม่ควรเจริญไปในคนที่ทำกาลกิริยาแล้วเลยทีเดียว

[ให้เจริญเมตตาในตนเองก่อน]

แต่ว่าก่อนอื่นหมด ควรเจริญในตนเองบ่อย ๆ อย่างนี้ว่า 'ขอ

เราจงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข ไม่มีทุกข์เถิด' หรือว่า 'ของเราจงเป็นผู้ไม่มี

เวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุขบริหารตนไป

เถิด' ดังนี้ก็ได้

หากมีความแคลงใจว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น คำใดที่ตรัสไว้ใน

วิภังค์ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุมีใจไปกับเมตตาแผ่ไปตลอดทิศ

หนึ่งอยู่อย่างไร เปรียบเหมือนบุคคลเห็นบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รัก

ที่เจริญใจแล้ว พึงแสดงความรักออกไปฉันใด ภิกษุย่อมแผ่เมตตา

* นิมิต มหาฎีกาแก้ว่า อารมณ์ ไม่เข้าใจของท่าน น่าจะหมายถึงภาพที่ปรากฏแก่ใจของผุ้เพ่ง

ตรวจดู (อย่างที่เรียกกันว่า 'นั่งทางใน') เมื่อเห็นภาพคนตาย จึงได้รู้ว่าอาจารย์ถึง

มรณภาพ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 155

ไปถึงสัตว์ทั้งปวงฉันนั้นนั่นแล"๑ ดังนี้ก็ดี คำใดที่กล่าวไว้ในปฏิ-

สัมภิทาว่า "เมตตาเจโตวิมุติที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจง ด้วยอาการ ๕ คือ

อะไรบ้าง ? คือ (ด้วยอาการปรารถนา) ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จง

เป็นผุ้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุขบริหาร

ตนไปเถิด ปาณะทั้งหลายทั้งปวง . . . ภูตทั้งหลายทั้งปวง . . . บุคคล

ทั้งหลายทั้งปวง. . . ผู้เนื่องอยู่ในอัตภาพทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มี

เวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุขบริหารตนไป

เถิด" ดังนี้เป็นอาทิก็ดี คำใดที่ตรัสไว้ในเมตตาสูตรว่า "สัตว์

ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้มีความสุขความเกษม เป็นผู้มีตนถึงแล้ว

ซึ่งความสำราญ" ดังนี้เป็นอาทิก็ดี คำในวิภังค์เป็นต้นนั้นก็ผิด (นะซิ)

เพราะในคำนั้น มิได้ตรัสการเจริญ (เมตตา) ในตนไว้" ดังนี้ไซร้

พึงเฉลยว่า "คำในวิภังค์เป็นต้นนั้นไม่ผิดดอก เพราะอะไร เพราะ

คำนั้นตรัสโดยเป็นภาวนาถึงอัปปนา (ส่วน) คำแผ่เมตตาในตน

มีคำว่า 'ขอเราจงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข' เป็นต้นนี้ ข้าพเจ้ากล่าวโดย

ความ (ทำตน) เป็นพยาน จริงอยู่ แม้หากบุคคลจะเจริญเมตตาใน

ตนโดยนัยว่า 'ขอเราจงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข' เป็นต้นนี้ ข้าพเจ้ากล่าวโดย

ความ (ทำตน) เป็นพยาน จริงอยู่ แม้หากบุคคลจะเจริญเมตตาใน

ตนโดยนัยว่า 'ขอเราจงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข' ดังนี้เป็นต้น ไป ๑๐๐ ปี

หรือ ๑,๐๐๐ ปี อัปปนาก็ไม่เกิดขึ้นแก่เขาได้เลย แต่ว่าเมื่อเจริญ

(เมตตาในตน) ว่า 'ขอเราจงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข' ดังนี้เป็นต้นไป

ความเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์สุขในสัตว์อื่น ๆ ย่อมเกิดขึ้น (โดย)

ทำตนให้เป็นพยานว่า "เราเป็นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ และอยากเป็นอยู่

๑. อภิ. วิ. ๓๕/๓๗๐ ๒. ขุ. ปุ. ๓๑/๔๘๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 156

ไม่อยากตายฉันใด แม้สัตว์อื่น ๆ ก็ฉันนั้น" อนึ่ง แม้พระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าที่ตรัสว่า

"บุคคลตามค้นไปด้วยใจตลอดทุกทิศ ก็มิได้

พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนที่ไหนเลยฉันใด ตน

ของคนอื่น ๆ ก็ย่อมเป็นที่รัก (ของเขา) มาก

ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียด

เบียนผู้อื่น"

ดังนี้ ก็ทรงแสดงนัยอันนี้นั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรจึงควร

แผ่เมตตาให้ตนเป็นปฐม เพื่อเป็นพยาน แล้วในลำดับนั้นเพื่อยังเมตตา

ภาวนาให้เป็นไปโดยสะดวก ท่านผู้ใดเป็นที่รักที่เจริญใจ เป็นที่

เคารพที่เชิดชู เป็นอาจารย์หรืออาจริยมัต (ภิกษุขนาดอาจารย์) เป็น

อุปัชฌายหรืออุปัชฌายมัต (ภิกษุขนาดอุปัชฌาย) ของเธอ พึงระลึก

ถึงเหตุแห่งความเป็นท่รี ักที่เจริญใจ มีการให้ปันและการพูดไพเราะ

เป็นต้น และเหตุแห่งความเป็นที่เคารพและเชิดชู มีศีลและสุตะ

เป็นอาทิแห่งท่านผู้นั้นแล้วเจริญเมตตาไปโดยนัยว่า 'ขอท่านสัตบุรุษ

นั่นจงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข ไม่มีความทุกข์เถิด' ดังนี้เป็นต้น ก็แล

(เมื่อเจริญไป) ในบุคคลเห็นปานนั้น อัปปนาย่อมจะสำเร็จเป็นแท้

[เจริญเมตตารวมแดน]

แต่ (โยคาวจร) ภิกษุนี้ เป็นผู้ไม่ถึงซึ่งความพอใจด้วยความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 157

สำเร็จแต่เพียงนั้น ใคร่จะทำสีมสัมเภท (การรวมแดน)* ต่อไป จึง

ในลำดับนั้น พึงเจริญเมตตาไปในบุคคลผู้เป็นสหายรักกันมาก ต่อ

บุคคลผู้เป็นสหายรักกันมาก พึงเจริญไปในบุคคลที่กลาง ๆ กัน ต่อ

บุคคลที่กลาง ๆ กัน พึงเจริญไปในบุคคลที่เป็นศัตรูกัน และเมื่อเจริญ

ไป พึงจำจิตให้อ่อน ควรแก่การในแต่ละส่วน นำ (ภาวนาจิต)

ไปในลำดับ ๆ กัน (ให้ได้) ส่วนว่าโยคาวจรภิกษุใด บุคคลที่เป็น

ศัตรูกันไม่มีก็ดี แม้เมื่อผู้อื่นทำอนัตถะให้ ความรุ้สึกว่าเป็นศัตรูก็ไม่

เกิดขึ้น เพราะความที่เธอเป็นคนจำพวกมหาบุรุษก็ดี โยคาวจรภิกษุ

ผู้นั้นไม่ต้องทำความขวนขวายว่า 'เมตตาจิตของเรา ในคนที่กลาง ๆ

กัน เกิดเป็นจิตควรแก่การแล้ว บัดนี้เราจะนำเมตตาจิตนั้นเข้าไปใน

คนเป็นศัตรูกัน (ต่อไป)' ดังนี้เลย ส่วนคำที่ว่าให้เจริญเมตตาใน

บุคคลผู้เป็นศัตรูกัน ต่อจากคนกลาง ๆ กันนั้น ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอา

ผู้ที่มี (คนเป็นศัตรูกัน) ดอก

[การสอนตนเมื่อเกิดปฏิฆะ]

[นัยที่ ๑-ระลึกถึงโทษของความโกรธ]

แต่ถ้าเมื่อเธอนำจิตเข้าไปในคนเป็นศัตรูกัน ปฏิฆะเกิดขึ้นเพราะ

ระลึกถึงความผิดที่เขาทำให้ไซร้ เมื่อเช่นนั้น เธอพึงเข้าเมตตา (ฌาน)

ในบุคคลลำดับหน้า ๆ (มีคนที่รักเป็นต้น) ในบุคคลไร ๆ ก็ได้บ่อย ๆ

ออกแล้วทำเมตตาถึงบุคคลนั้นร่ำไป บรรเทาปฏิฆะให้ได้

ถ้าแม้เมื่อเธอพยายามไปอย่างนั้น มันก็ไม่ดับไซร้ ทีนี้

* หมายความว่า ไม่ต้องเป็นแดนเป็นตัวเอง คนที่รัก คนกลาง ๆ คนเป็นศัตรูกัน เจริญเมตตา

ต่อทุก ๆ คน โดยลำดับกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 158

เธอพึงพยายามเพื่อละปฏิฆะ โดยระลึกถึงพระพุทธโอวาท

ทั้งหลาย มีกกจูปมโอวาท (พระโอวาทที่มีความอุปมาด้วย

เลื่อย) เป็นต้น บ่อย ๆ เถิด๑

ก็แลโยคาวจรภิกษุนั้นเมื่อจะสอนตน พึงสอนด้วยอาการ (ต่อไป)

นี้แลว่า๒ "อะไรนี่เจ้าบุรุษขี้โกรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า

(๑) "ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากพวกโจรป่า๓ จะพึง (จับ

ตัว) ตัดองค์อวัยวะด้วยเลื่อยที่มีด้าม ๒ ข้าง แม้นผู้ใดยังใจให้คอด

๑. ความตอนนี้ ฉบับยุโรปเรียงไว้เป็นรูปคาถาว่า

กกจูปมโอวาท- อาทีนํ อนุสฺสรโต

ปฏิฆสฺส ปหานาย ฆฎิตพฺพํ ปุนปฺปุนํ

ข้าทีทีเดียว ส่วนฉบับของเราเรียงเป็นความเรียง และ ปุนปฺปุนํ พลัดไปอยู่ต้นประโยคหลัง

อย่างไรอยู่ ในที่นี้แปลตามฉบับยุโรป

๒. ประโยนี้มีปัญหา มหาฎีกาก็แก้แต่ศัพท์ และแก้ไว้นิดหน่อย ไม่พอจะเก็บประสมเป็นความ

ขึ้นได้

ศัพท์ ตํ นั้นแหละขัดนัก มหาฎีกาเห็นเป็นสำคัญ แนะไว้ให้โยค ฆฏนํ วายมนํ แต่ก็แนะ

ค้างไว้แค่นั้น ไม่บอกสัมพันธ์ให้ตลอด แต่ในที่นี้เห็นว่า ตํ นี้เป็นศัพท์เกินเข้ามา จึงตัดเสียก็

แปลได้ความดี

โอวทนฺตเนว เป็นวิเสสนะของโยคาวจเรน ไม่มีปัญหา รูปเป็นอนภิหิตกัตตาแน่ แต่ไม่มี

กิริยาหมายประโยคเรียงไว้ที่ไหนเลย จึงต้องเดิม โอวทิตพฺพํ ให้เป็นประโยคและแปลได้ความ

เช่นนั้น

๓. โจรา โอจรกา ศัพท์ โอจรกา แห่งนี้ท่านแก้ไปทางความประพฤติ คือในอรรถกถากกจูปมสูตร

แก้ว่า นีจกมฺมการกา ผู้ทำกรรมอันต่ำช้า ในมหาฎีกาแห่งวิสุทธิมรรคนี้แก้ว่า ลามกาจารา ผู้มีความ

ประพฤติเลวทราม แต่ในที่อื่น ศัพท์นี้หมายถึงพวกคนสอดแนม คือลอบเข้าไปสืบความลับ เช่น

ในโกสลสังยุต กล่าวถึงพวกราชบุรุษที่พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้ปลอมเป็นนักบวชลัทธิต่าง ๆ

ไปสืบราชการลับในต่างแดน ก็เรียกว่า โอจรา มีอรรถกถาอธิบายว่า แม้พวกนี้จะไปเดินสืบอยู่

บนภูเขา ก็คงเรียกว่า โจรกา ผุ้เที่ยวไปต่ำ อยู่นั่นเอง เพราะไปด้วยอาการลอบ เป็นความลับ

(ราวกับไปใต้ดิน)

ในที่นี้ไม่เห็นด้วยกับนัยแรก เพราะแปลอย่างนั้นไม่ทำให้ความวิเศษอะไรขึ้นเลย ขึ้นชื่อว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 159

ร้ายในพวกโจรนั้น เพราะเหตุที่ใจร้ายนั้น ผู้นั้นหาได้ชื่อว่าสาสนกร

(ผู้ทำตามคำสอน) ของเราไม่๑" และว่า

(๒) ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธเอา (ก่อน)

เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ผู้นั้นกลับเลวกว่าผู้

ที่โกรธ (ก่อน) นั้นเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบ

ผู้โกรธเอา ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะยาก ผู้ใด

รู้ว่าผู้อื่นขุ่นเคืองขึ้นมาแล้วมีสติระงับใจเสียได้

(ไม่เคืองตอบ) ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติเป็นประ-

โยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและ

ฝ่ายท่าน"๒ และว่า

(๓) "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ศัตรูปรารถนา (ให้มีแก่ผู้

เป็นศัตรูกัน) ที่ศัตรูพึงทำ (ให้แก่ผู้เป็นศัตรูกัน) ๗ ประการนี้ย่อม

มาถึงคนมกโกรธ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม ธรรม ๗ ประการคือ

อะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศัตรูในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้

ต่อผุ้เป็นศัตรูกันว่า เออน่ะ ขอ (ให้) มันเป็นคนมีผิดพรรณทราม

เถิด" ดังนี้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ภิกษุทั้งหลาย (เพราะ)

โจรแล้ว ก็ย่อมมีความปะรพฤติเลยทรามทำกรรมอันต่ำช้าทั้งนั้น ไม่จำต้องบอกไว้ ด้วยเหตุนี้ จึง

เห็นด้วยกับนัยหลัง คือการที่ท่านเรียงศัพท์ โอจรกา กำกับไว้ด้วย ก็เพื่อแสดงว่า โจรนี้ไม่ใช่โจร

สามัญตามหมู่บ้าน แต่เป็นพวกโจรที่ตั้งช่องเป็นที่มั่งสุมซุ่มซ่อนอยู่ในป่า คอยดักจับคนเดินทาง

หรือลอบเข้าปล้นเมือง เมื่อฝ่ายปกครองอ่อนแอหรือประมาท เพราะเช่นนั้นจึงสามารถจับ

คนทรมาน ถึงขนาดใช้เลื่อยตัดลำตัวตามสบายได้ ในที่นี้จึงแปลเอาความว่า 'โจรป่า'

๑. ม. มู. ๑๒/๓๕๑

๒. ส. สํ. ๑๕/๓๒๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 160

ศัตรูย่อมไม่ยินดีด้วยความมีผิวพรรณ (งาม) แห่งผู้เป็นศัตรูกัน

ภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลผู้มักโกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว

โกรธเต็มประดาแล้ว ถึงเขาจะเป็นผู้อาบน้ำแล้วอย่างดี ลูบไล้กาย

อย่างดี ตัดแต่งผมและหนวด นุ่งห่มผ้าขาวสะอาด ก็ตามเถิด ถึง

กระนั้น เขาผู้ถูกความโกรธครอบงำ ก็เป็นคนมีผิวพรรณทรามอยู่

นั่นเอง นี้ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ศัตรูปรารถนา (ให้มีแก่ผู้เป็น

ศัตรูกัน) ที่ศัตรูพึงทำ (ให้แก่ผู้เป็นศัตรูกัน) ประการต้น

ย่อมมาถึงคนมักโกรธ จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม อีกข้อหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ศัตรูย่อมปรารถนานี้ต่อผู้เป็นศัตรูกันว่า "เออ

น่ะ ขอ (ให้) มันนอนเป็นทุกข์เถิด" ฯลฯ "ขอ (ให้) มันเป็น

คนอัตคัดเถิก* ฯลฯ "ขอ (ให้) มันเป็นคนไม่มีโภคะเถิด" ฯลฯ

"ขอ (ให้) มันเป็นคนไม่มี (เกียรติ) ยศเถิด" ฯลฯ "ขอ

(ให้) มันเป็นคนไม่มีมิตรเถิด" ฯลฯ เพราะกายแตกตายไป ขอ

(ให้) มันอย่าได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เลย" ดังนี้ ข้อนั้นเป็น

เพราะเหตุอะไร ภิกษุทั้งหลาย (เพราะ) ศัตรูย่อมไม่ยินดีด้วย

ความไปสุคติแห่งผู้เป็นศัตรูกัน ภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลผู้มัก

โกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว โกรธเต็มประดาแล้ว ย่อม

ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ

เขาผู้ถูกความโกรธครอบงำ ครั้นประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจแล้ว

* น ปจุรตฺโถ อสฺส แปลโดยพยัญชนะว่า 'ขอมัน ไม่พึงเป็นผู้มีผลประโยชน์มากเถิด"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 161

เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก"๑ และว่า

(๔) "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดุ้นฟืนเผาศพ ไฟไหม้ทั้ง ๒

ข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถ ใช้ประโยชน์เป็นเครื่องไม้ในบ้านก็ไม่ได้

เป็นฟืนในป่าก็ไม่ได้ ฉันใดก็ดี เรากล่าวบุรุษบุคคลผู้นี้ว่า มีอุปมา

ฉันนั้น"๒ ดังนี้

บัดนี้ ตัวเจ้านั้นมัวโกรธอยู่อย่างนี้ ก็จะไม่ชื่อว่าเป็นสาสนกร (ผู้

ทำตามคำสอน) ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย มัวโกรธตอบ (เขา)

กลับเป็นคนเลวกว่าคนที่โกรธ (ก่อน) แล้วก็จักไม่ชื่อว่าชนะสงคราม

ที่ชนะยากด้วย จักได้ชื่อว่าทำสปัตตกรณธรรม (สิ่งที่ศัตรูทำให้แก่ผู้

ที่เป็นศัตรูกัน) แก่ตนด้วยตนเองด้วย จักเป็นคนเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ

ด้วยละซิ"

[สอนตนนัยที่ ๒ - ระลึกถึงความดีของเขา]

เมื่อเธอเพียรพยายาม (สอนตน) อยู่อย่างนี้ ถ้าปฏิฆะนั้นระงับ

ลงได้ไซร้ ระงับได้ดังนี้นั่นเป็นการดี หากไม่ระงับ ทีนี้ธรรมใด ๆ

ของบุคคลนั้น เป็นส่วนที่เรียบร้อยหมดจด ระลึกถึงเข้าจะนำมาซึ่ง

ความเลื่อมใสได้ ก็พึงระลึกถึงธรรมนั้น ๆ (ของเขา) ขจัดความ

อาฆาตเสียให้ได้เถิด

จริงอยู่ สำหรับบุคคลลางคน กายสมาจารอย่างเดียวเป็นส่วนที่

๑. องฺ. สตฺตก. ๒๓/๙๘

๒. องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๒๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 162

เรียบร้อย และความที่กายสมาจารของเขาเรียบร้อย (นั้น) เมื่อเขา

ทำวัตรปฏิบัติเป็นอันมาก (ให้เห็น) อยู่ ชนทั้งปวงก็รู้ได้ ส่วนวจี-

สมาจารและมโนสมาจารไม่เรียบร้อย พระโยคาวจรก็อย่าคิดถึงวจี-

สมาจารและมโนสมาจารที่ไม่เรียบร้อยของเขานั้น ระลึกถึงแต่ความ

เรียบร้อยแห่งกายสมาจาร (ของเขา) อย่างเดียว

สำหรับลางคน วจีสมาจารอย่างเดียวเป็นส่วนที่เรียบร้อย และ

ความเรียบร้อยแห่งวจีสมาจารของบุคคลนั้น ชนทั้งปวงรู้ได้ เพราะ

ตามปรกติเขาเป็นคนฉลาดในการปฏิสันถาร อ่อนหวาน พูดด้วยง่าย

(พูด) ให้คนอื่นบันเทิงใจ มีหน้าชื่นบาน ทักก่อน สวดธรรมด้วยเสียง

อันไพเราะ กล่าวธรรมกถาด้วยบทพยัญชนะอันกลมกล่อม ส่วนกาย-

สมาจารและมโนสมาจารไม่เรียบร้อย พระโยคาวจรก็อย่างคิดถึงกาย-

สมาจารและมโนสมาจารนั้น ระลึกถึงแต่ความเรียบร้อย แห่งวจี-

สมาจารของเขาอย่างเดียว

สำหรับลางคน มโนสมาจารอย่างเดียวเรียบร้อย และความ

เรียบร้อยแห่งมโนสมาจาร (ของเขา) นั้น ปรากฏแก่ชนทั้งปวงใน

การ (ทำวัตร) ต่าง ๆ มีการไหว้พระเจดีย์เป็นต้น จริงอยู่ ผู้ใดเป็น

คนมีใจไม่เรียบร้อย ผู้นั้นจะไหว้พระเจดีย์ก็ตาม ต้นโพธิก็ตาม พระ

เถระทั้งหลายก็ตาม ย่อมไหว้โดยไม่เคารพ นั่งใจลอยบ้าง โงกบ้าง

อยู่ในมณฑปที่ฟังธรรม ส่วนผู้ที่มีใจเรียบร้อย ย่อมปลงใจลงไหว้

โดยเคารพ (เมื่อฟังธรรมก็) เงี่ยโสต ทำ (ธรรม) ให้เป็นของมี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 163

ความสำคัญ๑ ทำความเลื่อมใสแห่งจิตให้แจ้งออกมาทางกายบ้าง ทาง

วาจาบ้าง ฟังธรรม สำหรับลางคน มโนสมาจารอย่างเดียวเป็นส่วน

ที่เรียบร้อยดังนี้ (แต่) กายสมาจารและวจีสมาจารไม่เรียบร้อย พระ

โยคาวจรก็อย่าคิดถึงกายสมาจารและวจีสมาจารของเขานั้น ระลึกถึง

ความเรียบร้อยแห่งมโนสมาจาร (ของเขา) แต่อย่างเดียวเถิด

ส่วนสำหรับลางคน ในธรรม ๓ ประการนี้ ธรรมแม้ประการ

เดียวก็ไม่เรียบร้อย พระโยคาวจรพึงเจ้าไปตั้งความกรุณาในบุคคลนั้น

ด้วยคิด (สงสาร) ว่า "เวลานี้เขาเที่ยวอยู่ในโลกมนุษย์แท้ ๆ แต่ว่า

ล่วงไปไม่กี่วัน เขาก็จะต้อง (ไป) เพิ่มให้มหานรกทั้ง ๘ และอุสสท-

นรก ๑๖ เต็มขึ้นละ๒" ด้วยว่าความอาฆาตย่อมระงับลงเพราะอาศัย

ความกรุณาก็ได้

สำหรับลางคน ธรรมทั้ง ๓ นี้เรียบร้อย (หมด) พระโยคาวจร

๑. อฏฺฐีก ตฺวา (เป็นอฏฺฐิ ...ก็มี) มหาฏีกาแก้เป็น ๒ นัย คือนัยหนึ่งว่า อตฺถํ กตฺวา (ทำให้เป็น

ประโยชน์) อีกนัยหนึ่งว่า อตฺถิโก หุตฺวา (เป็นผู้ใครประโยชน์ ?)

ที่แปลว่า 'ทำให้เป็นประโยชน์' นั้นได้กับพยัญชนะ แต่ดูทีจะเป็นคำมีสำนวน จะถือเอา

ความตรง ๆ ไม่ได้ เพราะ 'ธรรม' เป็นของมีประโยชน์อยู่แล้ว จะไปทำให้เป็นของมีประโยชน์

อะไรขึ้นอีก จึงเห็นความในภาษาไทยว่า 'ประโยชน์' นี้ ได้แก่ 'มีความสำคัญ' 'ความสำคัญ'

นั้นต้อง 'ทำ' คือต้อง 'ให้' จึงจะ 'สำคัญ' ขึ้น ถ้า 'ไม่ให้' ถึงจะมีประโยชน์สักเพียงไร

ก็กลายเป็นของ 'ไม่สำคัญ' โดยนัยนี้ อฏฺฐึกตฺวา หมายความว่า 'ให้ความสำคัญในธรรมที่ฟังนั้น'

อันแสดงออกโดยอาการต่าง ๆ เช่นนั่งในท่าเคารพ ประณมมือสำรวม ไม่นั่งใจลอย หรือปล่อยให้

โงก ไม่พูดคุย...

๒. มหาฎีกาว่า มหานรก ๘ มีสัญชีวนรกเป็นต้น ส่วนนรกสาขาของอเวจีมหานรก มีกุกกุฬนรก

เป็นต้น ซึ่งตั้งอยู่ข้างประตุทั้ง ๔ ของอเวจี ประตูละ ๔ ขุม รวมเป็น ๑๖ ขุม เรียกว่า อุสสทนรก

(นรกเพิ่ม ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 164

ต้องการธรรมส่วนใด ๆ ของเขา ก็พึงระลึกเอาธรรมส่วนนั้น ๆ เถิด

อนึ่ง เพื่อจะยังความข้อนี้ว่า "การเจริญเมตตา (นั้น)

มิใช่เป็นการที่บุคคลทั้งหลายเช่นนั้นจะทำได้ยาก" ดังนี้ ให้กระจ่าง

อาฆาตปฏิวินัยสูตร ในปัญจกนิบาต (ดัง) นี้ว่า "ดูกรอาวุโส

อาฆาตปฏิวินัย ๕ นี้ ซึ่งเป็นที่ ๆ ความอาฆาตอันเกิดขึ้นแก่ภิกษุแล้ว

พึงถูกขจัดเสียได้ โดยประการทั้งปวง๑" ดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึง

(นำมากล่าว) ให้พิสดารเถิด

[สอนตนนัยที่ ๓ - โกรธคือทำทุกข์ให้ตนเอง]

แต่ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้นพยายามอยู่ถึงอย่างนั้น ความอาฆาต

ก็ยังเกิดขึ้นอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงโอวาทตนดังนี้ว่า

"(๑) ถ้าศัตรูทำทุกข์ให้แก่เจ้าใจสิ่งอันเป็นวิสัย

(คือกาย) ของตนไซร้ ไฉนเจ้าจึงปรารถนาจะทำ

ทุกข์ไว้ในใจของตัว ซึ่งมิใช่วิสัย (คือไม่ใช่กาย)

ของเขาเล่า๒

(๒) ตัวเจ้า (เมื่_____________อออกบวช) ยังละ (มารดาบิดา)

ผู้มีอุปการคุณมาก (และ) หมู่ญาติผู้ร้องให้น้ำตา

๑. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๐๗

๒. ท่อนหลังนี้อธิบายว่า "โกรธแล้วคิดอาฆาตจะทำทุกข์ให้เขา ท่านั้นท่านี้ให้กลุ้มไป แต่เขาไม่รู้

และไม่ทุกข์สักหน่อย ที่แท้ก็ทำทุกข์ไว้ในใจตัว คือว่าทำทุกข์ให้ตัวนั่นเอง" เช่นนี้กระมัง วิสัย

นั้นมหาฎีกาแก้ว่า กาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 165

นองหน้า (ออกมาได้) แล้วทำไมจึงละความโกรธ

อันเป็นศัตรูทำความฉิบหายใหญ่ให้เสียไม่ได้เล่า

(๓) เจ้าไปพะนอความโกรธ อันเป็นตัวตัดมูลราก

ของศีลทั้งหลายที่เจ้ารักษาเสีย ขอถามหน่อย ใคร

โง่เหมือนเจ้าบ้างเล่า

(๔) เจ้าโกรธว่า คนอื่นทำกรรมป่าเถื่อนให้ อย่าง

ไรหนอ เจ้าจึงปรารถนาจะทำกรรมเช่นเดียวกัน

นั้นเสียเองเล่า

(๕) ถ้าคนอื่น อยากให้เจ้าโกรธ จึงทำความไม่

พอใจให้ ไฉนเจ้าจึงจะช่วยทำมโนรถของเขาให้

สำเร็จ โดย (ปล่อย) ให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่านั่น

(๖) อนึ่ง น่าตำหนิ เจ้าโกรธแล้วจักได้ทำทุกข์

ให้แก่เขาหรือหาไม่ก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้เจ้าก็ได้เบียด

เบียนตนเอง ด้วยโกธทุกข์ (ความทุกข์ใจพระ

โกรธ) อยู่แท้ ๆ

(๗) อนึ่ง ถ้า (เห็นว่า) พวกศัตรูขึ้น (คือเดินไป)

สู่ทางอำมหิต* คือความโกรธแล้วไซร้ เหตุไฉน

* คำนี้เข้าใจว่ามาจากศัพท์ อหิต นี่เอง ความหมายก็ไปกันได้ คือดุร้าย เดิมก็จะเพียงแผลง

อะเป็นอำ เป็น อำหิต เช่นเดียวกับอนรรฆ เป็น อำนรรฆ อนนต์ เป็น อำนนต์ อมาตย์ เป็น

อำมาตย์ นานมาจึงแถม ม เข้าไปให้เข้าแถวกับ อำมฤต อำมรินทร์ ตามคล่องปาก และได้สัมผัส

ในบทกลอน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 166

เจ้าจึงโกรธเลียนแบบเขาด้วยเล่า

๘) ศัตรูอาศัยความโกรธอันใดของเจ้า (เป็น

ชนวน) จึงทำสิ่งไม่พึงใจให้ (เจ้า) ได้ เจ้าจง

ตัตความโกรธอันนั้นเสียให้ได้เถิด เจ้าจะมาเดือด

ร้อนในฐานะอันไม่ควร (จะเดือดร้อน) ทำไม่กัน

(๙) อนึ่ง ศัตรูทำสิ่งไม่พอใจแก่เจ้าด้วยขันธ์

เหล่าใด ขันธ์เหล่านั้นก็ดับไปแล้ว เพราะธรรม

ทั้งหลายเป็นไปชั่วขณะ แล้วทีนี้เจ้ามาโกรธให้

ใครกันในที่นี้๑

(๑๐) ศัตรูใดจะทำทุกข์ให้แก่บุคคลใด เว้น (คือ

ไม่มีตัว) บุคคลนั้นเสีย ศัตรูนั้นจะทำทุกข์ให้ใคร

ได้ ตัวเจ้าเป็นเหตุของทุกข์อยู่เองฉะนี้ ทำไมเจ้า

จึง (ไป) โกรธเขาเลา๒"

[สอนตนนัยที่ ๔ - พิจารณากัมมัสสกตา]

แต่ถ้าเมื่อเธอแม้สอนตนอยู่อย่างนี้ ปฏิฆะก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้

๑. นี่ว่าโดยปรมัตถ์ ขันธ์ที่เป็นเครื่องมือทำทุกข์ให้ ดับไปหมดแล้วในขณะนั้น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเวลา

โกรธอยู่นี้เป็นขันธ์อื่น ที่สืบต่อมาโดยสันตติ นับเป็นขันธ์ที่ไม่ได้ทำผิด เมื่อโกรธ ก็กลายเป็นโกรธ

ผู้ไม่ผิดนะซิ จะชอบหรือ ?

๒. นี่ก็ปรมัตถ์ ถ้าตัวผู้รับทุกข์ไม่มีอยู่ ศัตรูมันจะทำทุกข์ให้แก่ใครเล่า เพราะตัวเรามีอยู่เป็นเหตุ

ของทุกข์ เขาจึงทำทุกข์ให้ได้ เมื่อตัวเป็นเหตุของทุกข์อยู่เองแล้ว จะไปโกรธคนอื่นจะถูกหรือ ถ้า

จะโกรธก็ควรจะโกรธตัวเองซิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 167

ทีนี้ เธอพึงพิจารณาให้เห็นความที่ตนและคนอื่น มีกรรมเป็นของ ๆ

ตนต่อไป ใน ๒ ฝ่ายนั้น พึงพิจารณาฝ่ายตนก่อนดังนี้ "นี่แน่ะ

พ่อเอ๊ย เจ้าโกรธเขาแล้ว เจ้าจักทำอะไร กรรมอันมีโทสะเป็นเหตุ

นั่นมันจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่ตัวเจ้าเองมิใช่หรือ เพราะว่า

เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม เป็นผู้มี

กรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัยไป เจ้าจัก

ทำกรรมใดไว้ เจ้าจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น อนึ่ง กรรมอันนี้

จะได้สามารถยังพระสัมมาสัมโพธิ (ญาณ) ให้สำเร็จแก่เจ้าก็หามิได้

ยังพระปัจเจกโพธิ (ญาณ) ให้สำเร็จแก่เจ้าก็หามิได้ ยังสาวกภูมิ

(ญาณ) ให้สำเร็จแก่เจ้าก็หามิได้ ยังสมบัติทั้งหลายมีความเป็นพระ

พรหม เป็นพระอินทร์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และเป็นพระราชา

เฉพาะในประเทศหนึ่งเป็นต้น สมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สำเร็จแก่

เจ้าก็หามิได้เลย ที่แท้กรรมนี้มีแต่จะยังเจ้าให้เคลื่อนจากพระศาสนาแล้ว

ยังภาวะแห่งคนเข็ญใจมีความเป็นวิฆาสาท (คนกินเดน) เป็นอาทิ

และยังทุกข์ชั้นวิเศษทั้งหลาย มีทุกข์ในนรกเป็นต้น ให้เป็นไปแก่เจ้า

ตัวเจ้านั้นเมื่อทำกรรมอันนี้ (ลงไป) ก็เท่ากับเผาตัวเองก่อน และทำ

ตัวเองให้เหม็นก่อน ดังบุรุษผู้จับถ่านอัน (ไฟติดทั่วแล้วจน) ปราศ-

จากเปลวก็ดี คูถก็ดี ด้วยมือทั้ง ๒ (มา) หวังจะประหารคนอื่น ก็

เท่ากับเผา (มือ) ตัวเองก่อน หรือทำ (มือ) ตัวให้เหม็นก่อนฉะนั้น"

ครั้นเธอพิจารณากัมมัสสกตาฝ่ายตนอย่างนี้แล้ว จึงพิจารณา

ฝ่ายผู้อื่นบ้างดังนี้ว่า "แม้เขาโกรธเจ้าแล้วจักทำอะไร กรรมอันมี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 168

โทสะเป็นเหตุนั้น จักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่เขาเองมิใช่หรือ

เพราะว่าท่านผู้นี้ก็เป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับมรดกของ

กรรม ฯลฯ เขาจักทำกรรมอันใดไว้ เขาก็จะต้องเป็นผู้รับผลของ

กรรมนั้น และกรรมอันนี้จะได้สามารถยังพระสัมมาสัมโพธิ (ญาณ)

ให้สำเร็จแก่เขาก็หามิได้ ยังพระปัจเจกโพธิ (ญาณ) ให้สำเร็จแก่เขา

ก็หามิได้ ยังสาวกภมิ (ญาณ) ให้สำเร็จแก่เขาก็หามิได้ ยังสมบัติ

ทั้งหลายมีความเป็นพระพรหม เป็นพระอินทร์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

และเป็นพระราชาเฉพาะในประเทสหนึ่งเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง

ให้สำเร็จแก่เขาก็หามิได้เลย ที่แท้กรรมนี้มีแต่จะยังเขาให้เคลื่อนจาก

พระศาสนาแล้ว ยังภาวะแห่งคนเข็ญใจ มีความเป็นวิฆาสาทเป็นอาทิ

และยังทุกข์ชั้นวิเศษทั้งหลายมีทุกข์ในนรกเป็นต้น ให้เป็นไปแก่เขา

ตัวเขานั้นเมื่อทำกรรมนี้ (ลงไป) ก็เท่ากับโปรย (โทษ) ใส่ตนเอง

ดังบุรุษผู้ยืนทวนลมอยู่ หวังจะโปรยฝุ่นใส่คนอื่น (ทวนลม) ก็เท่ากับ

โปรยใส่ตนนั่นเองฉะนั้น*" จริงอยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระเจ้าก็ได้ตรัส

ไว้ว่า

"คนพาลผู้ใดทำร้ายต่อคนผู้มิได้ประทุษร้าย ซึ่ง

เป็นคนบริสุทธิ์ มิได้มีความคิดชั่ว ผลร้ายก็ย่อม

กลับไปถึงคนพาลผู้นั้นเอง ดังฝุ่นละเอียดที่คนชัด

ไปทวนลม ก็ย่อมกลับมาถึงผู้ซัดนั่นเองฉะนั้น"

* ความพิจารณากัมมัสสกตาท่อนนี้ น่าจะไปสุดที่พระคาถาทัฬหีกรณ์ ความจะได้รับกันสนิท แต่

ในฉบับวิสุทธิมรรค ลงอิติที่โอกีรติ แสดงว่าสุดที่นั่น อย่างไรอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 169

[สอนตนนัยที่ ๕ - พิจารณาถึงบุพจริยาของพระศาสดา]

แต่ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้น แม้พิจารณากัมมัสสกตาอยู่อย่างนี้

ปฏิฆะก็ยังไม่ระงับอยู่อีกไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงพระคุณส่วนบุพ-

จริยาของพระศาสดา๑ (ต่อไป) (ต่อไป) นี้เป็นนัยแห่งการ

พิจารณาในบุพจริยคุณของพระศาสดานั้น (คือสอนตน) ว่า "นี่

แน่ะพ่อนักบวช พระศาสดาของเจ้าในกาลก่อนแก่สัมโพธิสมัย แม้

เป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ตลอด ๔ อสงไขย

กับแสนกัป ก็มิได้ทรงยังพระจิตให้ (คิด) ประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลาย

ผู้เป็นศัตรู แม้ (ถึงกับ) เป็นผู้ปลงพระชนม์เอาในชาตินั้น ๆ มิใช ่

หรือ ข้อนี้มีเรื่องอย่างไรบ้าง ?

[สีลวชาดก]

พึงทราบเรื่องในสีลวชาดกก่อน พระเจ้าสีสวะโพธิสัตว์ เมื่อ

พระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ ที่อำมาตย์ชั่วผู้ประทุษร้ายในพระเทวีของ

พระองค์ นำมายึดเอาราชอาณาเขต๒ อันมีเนื้อที่ถึง ๓๐๐ โยชน์ ก็

มิได้โปรดให้หมู่อำมาตย์ผู้ลุกขึ้นจะป้องกัน แตะต้อง (อะไร) แม้แต่

อาวุธ ซ้ำเมื่อถูกปฏิปักษ์ขุดดิน (ลึก) แค่คอ (จับพระองค์) ฝังไว้

ในป่าช้าดิบ กับพวกอำมาตย์ ๑,๐๐๐ คนเล่า ก็มิได้ทรงทำพระวิการ

๑. มหาฎีกาช่วยไขความว่า พิจารณาพระคุณส่วนบุพจริยาไป ปฏิฆะอาจระงับได้ด้วยความเคารพ

ต่อพระศาสดา

๒. รชฺชํ ถ้าจะแปลว่า 'ราชสมบัติ' ดังที่แปลดันอยู่โดยมาก ความไปขัดกับคำแสดงเนื้อที่ จึง

เยื้องแปลว่า ราชอาณาเขต จะแปลว่า รัชสีมา ก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 170

แม้แต่เพียงยังพระจิตให้ (คิด) ประทุษร้าย (เขา) (แต่) อาศัย

การคุ้ยดินของฝูงสุนัขจิ้งจองซึ่งมาจะ (หา) กินซากศพ (ทำให้ดิน

หลวม) จึงทรงทำบุรุษการ (คือใช้กำลังแรงของลูกผู้ชาย ช่วยพระ

องค์เองขึ้นจากหลุม) รอดมาได้ (ลอบ) เสด็จเข้าไปถึงห้องพระ

บรรทมของพระองค์ได้ด้วยอานุภาพของยักษ์ (ซึ่งสวามิภักดิ์ในพระ

องค์) ทอดพระเนตรเห็นศัตรูนอนอยู่บนพระแท่นบรรทม ก็มิได้

กริ้ว (กลับทรงปลุกขึ้นป ทรงทำสบถให้กันและกันแล้วโปรดสถาปนา

พระราชาปฏิปักษ์องค์นั้น ไว้ในตำแหน่งพระสหาย (ในที่สุด)

ตรัส (อุทาน) ว่า

คนฉลาดพึงมุ่งหวังอยู่นั่น ไม่พึงเบื่อหน่ายเสีย เรา

ได้เห็นตัวเรา (เป็นพยานอยู่) ว่าเราได้เป็นตามที่

เรามุ่ง (จริง ๆ)

[ขันติวาทีชาดก]

เรื่องในขันติวาทีชาดก ขันติวาทีดาบสโพธิสัตว์ เมื่อพระราชา

(กลาพุ) แคว้นกาสีผู้โว่เขล่า (ตะคอก) ถามว่า "สมณะ แกเป็น

วาทีอะไร" ตอบว่า "อาตมาชื่อว่า ขันติวาที" ถูกโบยด้วยหวาย

ทั้งหนามแล้ว ตัดมือและเท้าเสีย ก็มิได้ทำแม้แต่อาการขุ่นเคือง

ข้อที่ขันติวาทีดาบสเป็นผู้ใหญ่ถึงได้บวชแล้ว พึงทำได้อย่างนั้น

นับว่าไม่อัศจรรย์ (เท่าไร)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 171

[จูฬธัมมปาลชาดก]

แต่ในจูฬธัมมปาลชาดก พระธรรมปาลกุมารโพธิสัตว์ แม้ยัง

เป็นเด็กอ่อนนอนแบอยู่ เมื่อ (ทั้ง ๆ ที่) พระมารดาทรงพระพิลาป

อยู่ว่า

โอ้พระทูลกระหม่อม (แม้น) พาหาทั้ง ๒ อันลูบ

ไล้ด้วยจันทนรส (น้ำอบแก่นจันทน์) ของพ่อ

ธรรมบาล ผู้เป็นทายาท (แห่งราชสมบัติ) ใน

ปฐพีขาดไป ชีวิตของเกล้ากระหม่อมฉันก็จะดับ

(ด้วย)

ดังนี้ ก็ถูกพระราชาทรงนามมหาปตาปนะผู้เป็นพระบิดา สั่งให้ตัดมือ

และเท้าทั้ง ๔ ข้างอัน (เรียวสลวย) ราวกะหน่อไม้เสีย (จะได้) แล้ว

เท่านั้นยังไม่พอพระหฤทัย ตรัสสั่งว่า "พวกเจ้าจงตัดหัวมันเสีย"

ดังนี้อีกเล่า จึงเตือนตนว่า "กาลบัดนี้นี่เป็นกาลที่เจ้าจะข่มจิตของเจ้า

ไว้ให้ดี เอาละเจ้าธรรมบาล คราวนี้ เจ้าจงเป็นผู้มีจิตเสมอในบุคคล

ทั้ง ๔ คือ ในพระบิดาผู้ทรงสั่งให้ตัดศีรษะ ในเจ้าหน้าที่ผู้ตัดศีรษะ

ในพระมารดาผู้กำลังทรงคร่ำครวญ และในตัวเองเถิด ดังนี้แล้วทรง

อธิษฐานทัฬหสมาทาน (ถือการทำใจเสมอให้มั่น) มิได้ทรงกระทำ

แม้แต่อาการร้าย (ให้ปรากฏ)

แม้การที่พระธรรมปาลกุมารผู้เป็นมนุษย์ทำได้อย่างนี้เล่า ก็นับว่า

ยังไม่อัศจรรย์แท้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 172

[ฉัททันตชาดก]

แต่ (ในฉัททันตชาดก) พระโพธิสัตว์ผู้แม้เป็นดิรัจฉาน (คือ)

เป็นช้างชื่อฉัททันต์ แม้ถูกพรานยิงเข้าที่นาภีด้วยลูกศรกำซาบยาพิษ

แล้ว มิได้ยังจิตให้ (คิด) ประทุษร้ายในพรานผู้ทำความพินาศให้

ถึงเพียงนั้น ดังพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า

ช้างมีอาการหนักด้วย (ถูก) ศรใหญ่ ก็ไม่มีจิตคิดร้าย

กล่าว (ถาม) พราน (โดยดี) ว่า ดูกรพรานผู้สหาย

ท่านยิงข้าพเจ้าเพื่อประโยชน์อะไร หรือว่าเพราะเหตุ

อะไร หรือมิฉะนั้น ประโยค (คือการกระทำ) อันนี้

(ท่านทำ) เพื่อใคร

ก็และครั้นกล่าว (ถาม) อย่างนี้แล้ว เมื่อพานบอกว่า "พ่อผู้เจริญ

ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระมเหสีของพระเจ้ากาสี ทรงสั่งมาเพื่อต้องการงา

ทั้ง ๒ ของพ่อ" ดังนี้ ยังช่วยให้มโนรถของเขาสำเร็จ จึง (ให้) ตัด

งาทั้ง ๒ ของตน อันแผ่ฉัพพัณณรังสีเป็นงางามน่ารัก* ให้ไปเสียด้วย

[มหากปิชาดก]

(ในมหากปิชาดก) พระโพธิสัตว์เป็นกระบี่ใหญ่ เมื่อถูกบุรุษผู้

ที่ตนเอง (ช่วย) ฉุดขึ้นจากเหว (รอดชีวิต) แล้ว ยังคิด (ร้าย) ว่า

* มหาฎีกาว่า ที่ได้ชื่อว่า "ฉัททันต์" นั้น ก็เพราะงามีรังสี ๖ นั่นเอง มิใช่เพราะมี

งา ๖ งา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 173

"ลิงนี่ก็เป็นอาหารของพวกมนุษย์ เหมือนสัตว์ป่า

อื่น ๆ ในป่านั่นเอง อย่ากระนั้นเลยเราก็หิวแล้ว

ฆ่าลิงตัวนี้กินเสียเถิดน่ะ๑ เรากินอิ่มแล้ว ก็จะต้อง

ถือเอาเนื้อมันเป็นเสบียงไปด้วย (เมื่อเป็นเช่นนั้น)

เราก็จักข้ามทางกันดารไปได้ เสบียงก็จักมีแก่

เรา (ด้วย)"

ดังนี้แล้วยกก้อนหินทุ่มหัวเอา ก็ยังมองบุรุษนั้น ด้วยดวงตาอันนอง

ด้วยน้ำตา กล่าว (กะเขาโดยดี) ว่า

"นายจ๋า นายอย่าทำกะข้าซิ น่าติ ! ท่านทำกรรม

เช่นน้ไี ด้ (ลงคอ) ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอายุยืน

ควรแต่จะห้ามคนอื่น (มิให้ทำร้ายกัน แต่นี่ท่าน

กลับทำร้ายเสียเอง)"๒

ไม่ยังจิตให้คิดร้ายในบุรุษนั้น ไม่คิดถึงความทุกข์ของตนเลย ยังพาบุรุษ

นั้น (ไปส่ง) ให้ถึงที่ ๆ ปลอดภัยเสียด้วย

๑. ขาเทยฺย นี้ คือ ขาเทยฺยํ ลบนิคคหิตด้วยอำนาจฉันท์

๒. คาถานี้แปลยา อรรถกถาท่านก็ทิ้งเสีย เปิดดูในอรรถกถามหากปิชาดก ตึสตินิบาต ท่าน

เรียงไว้ดังนี้

มายฺโย มํ กริ ภทฺทนฺเต ตฺวญฺจ นาเมทิสํ กริ

ตฺวญฺจ โข นาม ที่ฆาวุ อญฺเญ วาเตุมรหสิ

เห็นว่าพอแปลได้ จึงแปลตามนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 174

[ภูริทัตตชาดก]

(ในภูริทัตตชาดก) พระโพธิสัตว์เป็นนาคราช ชื่อภูริทัต อธิษฐาน

องค์อุโบสถแล้วนอน (ขด) อยู่บนยอดจอมปลวก แม้เมื่อถูกพราหมณ์

อาลัมพานใช้ยาอัน (ร้อน) เช่นดังไฟประลัยกัลป์ ราดเอาตลอดตัว

(จับ) ใส่หีบ (นำไป) ให้เล่น (ระบำงู) ไปจนทั่วชมพูทวีป ก็มิได้ทำ

วิการ แม้ความคิดร้ายในพราหมณ์นั้น ดังท่านเองกล่าว่า

"แม้เมื่ออาลัมพาน (จับเรา) ใส่กระสอบ และแม้

อาลัมพานกระทืบ (เรา) ด้วยซ่นเท้า เราก็มิได้

โกรธอาลัมพาน๑ เพราะกลัวศีลของเราขาด"

[จับเปยยชาดก]

แม้ (ครั้ง) เป็นนาคราช ชื่อ จับเปยยะ ถูกหมองงูเบียดเบียนเอา

ก็มิได้ยังวิการแม้แต่เพียงความคิดร้ายให้เกิดขึ้น ดังท่านกล่าวว่า

"หมองงูจับเราผู้ประพฤติธรรม จำศีลอุโบสถอยู่

(นำไปให้) เล่น (ระบำงู) ทีประตูวัง เมื่อครั้ง

นั้น เขาคิด (ให้ตัวเราเป็น) สีใด เขียว เหลือง

หรือแดง๒ ก็ดี เราเมื่อตามใจเขา ก็เปล่งรัศมี (ให้

เป็นสี) ที่เขาคิด เรา (มีอานุภาพป จะพึงทำที่

๑. บางแห่งเป็นอลัมพายน ซึ่งนักเทศน์ของเราออกเสียงเป็นไทยว่า 'อาลำพาย'

๒. ปีตญฺจ นั้น มหาฎีกาลิขิตไว้เป็น ปีตํว และว่า ว นั้นคือ วา เป็นไปใน อวฺตฺตตฺถวิกัป

สงเคราะห์เอาสี่ที่มิได้กล่าวในคาถาเข้าด้วย เช่น สีขาว สีฝาง เป็นต้น

เห็นว่า ปาฐะในมหาฎีกาเข้าทีกว่า จึงแก้และแปลตามนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 175

บกให้เป็นน้ำก็ได้ ทำน้ำให้เป็นบกก็ได้ หากเรา

โกรธเขาขึ้นมา จะทำ (ร่างกาย) เขาให้ (ไหม้)

เป็นเถ้าไปโดยทันทีก็ได้ (แต่) ถ้าเราจักเป็นผู้

ตามใจตัว (ทำร้ายเขาดังกล่าวมานั้น ไซร้

เราก็จักเสือมจากศีล เมื่อเราเสื่อมจากศีลเสียแล้ว

ประโยชน์สูงสุด (ที่เรามุ่ง คือพระโพธิญาณ)

ก็จะไม่สำเร็จ"

[สังขปาลชาดก]

แม้ (ครั้ง) เป็นสังขปาลนาคราช ถูกลูกพราน ๑๖ คน ปักเอา

ด้วยหอกอันคม ๘ แห่ง (๘ แผล) แล้ว สอดเครือเถามีหนามเข้าทาง

ปากแผล สนเชือกอย่างเหนียวเข้าที่จมูก (ยก) ใส่กระชุลากไป ตัว

ครูดพื้นดินได้รับทุกข์มาก แม้เป็นผู้สามารถจะทำลูกพรานทั้งหมดให้

(ไหม้) เป็นเถ้าไปได้ ด้วยเพียงแต่โกรธขึ้นมาแล้วจ้องดูเท่านั้น

(แต่) ก็มิได้ทำแม้เพียงอาการที่จะลืมตาขึ้นทำร้ายเขา ดังท่านกล่าว

(กะนายกองเกวียนผู้ช่วยท่านให้พ้นจากมือพราน) ว่า

"ดูกร (นายกองเกวียน) อุฬาระ ข้าพเจ้าจำศีล

อุโบสถในวันจาตุทสี และวันปัญจทสีอยู่เป็นนิตย์

อยู่มาลูกพราน ๑๖ คน ได้มา (พบเข้า) พวกพราน

(เหล่านั้น) ถือเชือกและบ่วงอันมั่น* สนเข้าจมูก

* ทฬํ ไม่พบคำแปล เข้าใจว่า เป็น ทฬฺหํ แปลได้ความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 176

(ของข้าพเจ้า) แล้วชักเชือก (ที่ร้อยจมูก) รุมกัน

จับข้าพเจ้านำไป ข้าพเจ้าสู้อดกลั้นความทุกข์เห็น

ปานนั้น ไม่ทำอุโบสถศีลให้กำเริบ"

และพระบรมศาสดานั้นได้ทรงทำคุณน่าอัศจรรย์ มีประการดังกล่าวมา

นี้เท่านั้นก็หาไม่ ยังได้ทรงทำคุณน่าอัศจรรย์อย่างอื่น ๆ อีกเป็นอเนก

(ดังกล่าว) ในชาดกทั้งหลายมีมาตุโปสกชาดกเป็นต้น อันการยัง

ปฏิฆจิตให้เกิดขึ้น เป็นการไม่ชอบไม่ควรเหลือเกินแก่ตัวเจ้าผู้อ้างเอา

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ซึ่งบัดนี้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงมีพระ

ขันติคุณ อันใคร ๆ ในโลก (นี้) กับทั้งเทวโลกไม่มีเสมอเหมือน๑

นั้นว่า เป็นพระศาสดา (ของตน) ดังนี้

[สอนตนนัยที่ ๖ - พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ]

แต่ถ้าเมื่อเธอแม้พิจารณาถึงพระคุณ อันเป็นส่วนบุพจริยาของ

พระศาสดาดังกล่าวมานี้อยู่ ปฏิฆะของเธอผุ้ตกเป็นทาสของกิเลสทั้ง

หลายมาช้านานนั้น ก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงบท

พระสูตรทั้งหลาย ที่มีความเนื่องด้วยศัพท์อนมตัคคะ (สงสารที่ไม่

ปรากฏต้นปลาย) ก็ในสุตตบทเหล่านั้น สุตตบท (ต่อไป) นี้ พระผู้

มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดุกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดา

ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่

เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดา (ของเรา) มิใช่หาได้ง่าย"๒ ดังนี้

๑. อปฺปฏิสมํ ขนฺติคุณํ ปาฐะในมหาฎีกาเป็นบทสมาสว่า อปฺปฏิสมกฺขนฺติคุณ---- เข้าทีกว่า

๒. สํ. นิทาน. ๑๗/๒๒๓-๒๒๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 177

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงยังจิตอย่างนี้ ให้เกิดขึ้นในบุคคลนั้นว่า

"นัยว่าบุคคลผู้นี้เป็นมารดาในอดีตของเรา รักษา (เรา) อยู่ในท้อง

ุถ้วนทศมาส (คลอดแล้ว) ไม่ (แสดงอาการ) เกลียดสิ่งปฏิกูลทั้ง

หลาย มีเยี่ยว ขี้ น้ำลาย และน้ำมูก เป็นต้น เช็ดได้ราวกะจันทน์แดง

ให้ (เรา) นอนแนบบอก อุ้ม (เรา) ไปรอบ เลี้ยง (เรา) มา

. . . เป็นบิดาเดินทางลำบากต่าง ๆ มีอชบถ (ทางแพะเดิน) และสังกุบถ

(ทางที่คนใช้ไม้ขอเหนี่ยวตัวขึ้นไป) เป็นต้น ประกอบการค้าขาย

สละแม้แต่ชีวิตเข้าสงคราม อันจัดกระบวมแล้วทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง แล่น

เรือไปในมหาสมุทรบ้าง ทำงานที่ยากอื่น ๆ บ้าง เพื่อประโยชน์แก่ตัว

เรา คิดว่าจักเลี้ยงลูกน้อย (อุตส่าห์) รวบรวมทรัพย์ด้วยอุบายนั้น ๆ

เลี้ยงเรามา . . .แม้เป็นพี่น้องชาย พี่น้องหญิง บุตร และธิดาเล่า

ก็ได้ทำอุปการะสิ่งนี้ ๆ (แก่เรา) เพราะฉะนั้น อันการทำใจร้ายใน

บุคคลนั้น หาควรแก่เราไม่"

[สอนตนนัยที่ ๗ - พิจารณาอานิสงส์เมตตา]

แต่ถ้าแม้อย่างนี้ เธอก็ยังไม่อาจดับจิต (ร้าย) ลงได้ไซร้ ทีนี้

เธอพึงพิจารณาถึงอานิสงส์เมตตา (ต่อไป) อย่างนี้ว่า "นี่แน่ะพ่อ

บรรพชิต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า 'ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเจโตวิมุติ คือ เมตตา ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อ เจริญทำให้มาก ทำให้

เป็นดุจยาน ทำให้เป็นดุจวัตถุ* ก่อตั้งสั่งสมทำให้สำเร็จอย่างดีแล้ว

* ทำให้เป็นดุจยาน หมายความว่า ทำให้เข้าได้ว่องไว ทำให้เป็นดุจวัตถุ หมายความ

ว่า ทำให้คล่อง ดุจของใช้ประจำ หยิบใช้เมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 178

อานิสงส์ ๑๑ เป็นหวังได้ อานิสงส์ ๑๑ คืออะไรบ้าง อานิสงส์ ๑๑

คือผู้เจริญเมตตา ย่อม

หลับเป็นสุข

ตื่นเป็นสุข

ไม่ฝันร้าย

เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

เทวดารักษา

ไฟก็ดี พิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่แผ้วพานเขา

จิตตั้งมั่นเร็ว

สีหน้าผ่องใส

ไม่หลงทำกาลกิริยา

เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก"

ดังนี้ ถ้าเจ้าจักไม่ยังจิต (ร้าย) นี้ให้ดับไซร้ เจ้าก็จักเป็นผู้เริดร้าง

จากอนิสงส์เหล่านี้ไป"

[สอนตนนัยที่ ๘ - ใช้วิธีแยกธาตุ]

แต่พระโยคาวจรผู้ไม่อาจยังจิต (ร้าย) ให้ดับไป แม้โดยอุบาย

อย่างนี้ พึงทำธาตุวินิพโภค (แยกธาตุ) ต่อไป ถามว่า ทำอย่างไร

แก้ว่า พึงสอนตนโดยวิธีแยกอย่างนี้ว่า 'นี่แน่ะพ่อบรรพชิต ก็ตัวเจ้า

เมื่อโกรธบุคคลนั้น โกรธอะไร โกรธผมหรือ หรือว่า โกระขน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 179

โกรธเล็บ ฯลฯ โกรธมูตร หรือมิฉะนั้น โกรธธาตุดิน โกรธธาตุน้ำ

โกรธธาตุไฟ โกรธธาตุลม ในโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น หรือว่า

ท่านผู้นี้ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะอาศัยขันธ์ ๕ เหล่าใด เพราะอาศัย

อายตนะ ๑๒ เหล่าใด เพราะอาศัยธาตุ ๑๘ เหล่าใด ในธรรม

ทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นเหล่านั้น เจ้าโกรธรูปขันธ์หรือ* หรือว่าโกรธ

เวทนาขันธ์...สัญญาขันธ์...สังขารขันธ์...วิญญาณขันธ์ มิฉะนั้น เจ้า

โกรธจักขวายตนะหรือ โกรธรูปายตนะหรือ ฯลฯ โกรธมนายตนะหรือ

โกรธธัมมายตนะหรือ มิฉะนั้น เจ้าโกรธจักขุธาตุหรือ โกรธรูปธาตุ

หรือ โกรธจักขุวิญญาณธาตุหรือ ฯลฯ โกรธมโนธาตุหรือ โกรธ

ธัมมธาตุหรือ โกรธมโนวิญญาณธาตุหรือ" ก็เมื่อเธอทำธาตุวินิพโภค

อยู่อย่างนี้ ฐานที่ตั้งแห่งความโกรธก็ไม่มี ดุจฐานที่ตั้งแห่งเมล็ด

พันธุ์ผักกาดบนปลายเหล็กแหลมไม่มี และฐานที่ตั้งแห่งจิตรกรรมใน

อากาศก็ไม่มี ฉะนี้

[วิธีสุดท้าย - ทำทานสังวิภาค]

แต่พระโยคาวจรผู้ไม่อาจทำธาตุวินิพโภค ก็พึงทำทานสังวิภาค

(การให้และการแบ่ง) เถิด (คือ) พึงให้ของ ๆ ตนแก่ปรปักษ์ รับ

ของ ๆ ปรปักษ์มาเพื่อตน แต่ถ้าปรปักษ์เป็นภินนาชีวะ (มีอาชีวะ

แตก คือไม่บริสุทธิ์) มีบริขารไม่เป็นของควรแก่การบริโภคไซร้ ก็พึง

ให้แต่ของ ๆ ตน (ไปฝ่ายเดียว อย่ารับของ ๆ เขาเลย) เมื่อเธอทำ

* รูปกฺขนฺเธสุ ผิด ที่ถูกเป็น รูปกฺขนฺธสฺส เพราะบทหลัง ๆ เป็นรูปจตุตถีวิภัติทั้งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 180

ไปอย่างนั้น ความอาฆาตในบุคคลนั้น จะระงับไปโดยส่วนเดียวเป็นแท้

และความโกรธของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะ

ระงับไปในทันทีเหมือนกัน ดังความโกรธของพระมหาเถระผู้ได้บาตร

ที่พระปิณฑปาติเถระผู้ถูกไล่เสาสนะ ในจิตตลบรรพตวิหารถึง

๓ ครั้ง (นำบาตรเข้าไป) กราบเรียนว่า "ข้าแต่พระมหาเถระ

ผู้เจริญ บาตรใบนี้ราคา ๘ กหาปณะ อุบาสิกาโยมผู้หญิงของกระผม

ถวาย จึงเป็นภาพอันชอบธรรม ขอพระคุณเจ้าได้โปรดช่วยมหาอุบาสิกา

(ของกระผม) ให้ได้บุญด้วยเถิด" ดังนี้แล้ว (น้อม) ถวาย ระงับ

ไปฉะนั้น๑ อันชื่อว่าการให้นี่ มีอานุภาพมากอย่างนี้ สมคำ

(โบราณ) ว่า

การให้ ปราบคนที่ใคร ๆ ปราบไม่ได้ (ก็ได้)

การให้ ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จ (ก็ได้) ด้วย

การให้กับการเจรจาไพเราะ (ประกอบกันทำให้)

คนทั้งหลายเงยก็มี ก้มก็มี๒

เมื่อพระโยคาวจรนั้นมีปฏิฆะในบุคคลผู้เป็นศัตรูระงับไปด้วยการสอน

ตนที่ประการต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จิต (ของเธอ) ก็ย่อมจะเป็นไป

โดยทำเมตตาให้มีขึ้นแม้ในบุคคลผู้เป็นศัตรูนั้นได้ ดุจในบุคคลผู้เป็น

ที่รัก บุคคลผู้เป็นสหายรักกันมาก และบุคคลที่เป็นกลาง ๆ ฉะนั้น

๑. น่าจะเล่าสักนิดว่า โกรธกันเรื่องอะไร มหาฎีกาก็ไม่เล่าในเรื่องนี้

๒. มหาฎีกาว่า ฝ่ายเงย คือฝ่ายผู้ให้ ฝ่ายก้ม คือฝ่ายผู้รับ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 181

[สีมสัมเภท - รวมแดน]

ต่อนี้พระโยคาวจรนั้นผู้ทำเมตตาให้มีขึ้นได้บ่อย ๆ (จน) ยัง

สมจิตตา (ความมีจิตเสมอ) ในชนทั้ง ๔ คือ ในตนเอง ใน

บุคคลที่รัก ในคนกลาง ๆ ในคนเป็นศัตรูกัน ให้สำเร็จได้อยู่ พึง

ทำสีมสัมเภท (การรวมแดน) ต่อไป นี้เป็นลักษณะแห่งสีมสัมเภท

นั้น (คือ)

ถ้าเมื่อบุคคล (โยคาวจร) นี้ พร้อมด้วยภิกษุที่รักและที่กลาง ๆ

ที่เป็นข้าศึกกัน เป็น ๔ รูปทั้งตนเอง นั่งกันอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ต่างว่า

พวกโจรมาบอกว่า "ท่านให้ภิกษุรูปหนึ่งแก่พวกข้าพเจ้า" เมื่___________อเธอ

ถามว่า "เพราะเหตุไร" ก็ตอบว่า "เพื่อฆ่าภิกษุรูปนั้นแล้ว

เอาเลือดคอทำพลีกรรม" ดังนี้ไซร้ หากว่าภิกษุ (โยคาวจร) นั้น

คิดว่า ในภิกษุเหล่านั้น พวกโจรจงจับภิกษุรูปโน้น ๆ เถิด ดังนี้ละก็

เป็นอันไม่ได้ทำสีมสัมเภทเลย แม้หากเธอคิดว่า "พวกโจรจงจับเรา

เถิด อย่างจับภิกษุ ๓ รูปนี้เลย" ดังนี้ ก็เป็นการยังมิได้ทำสีมสัมเภท

ถามว่า เพราะอะไร ตอบว่า เพราะเธอต้องการ (ให้โจร) จับภิกษุ

รูปใด ๆ ก็ชื่อว่าเธอหาความพินาศให้แก่ภิกษุรูปนั้น ๆ หาประโยชน์

ให้แก่ภิกษุนอกนี้ข้างเดียว ต่อเมื่อใดเธอไม่เห็น (ใคร) สักคนใน

ระหว่าง ๔ คน จะควรให้แก่พวกโจร จิตเป็นไปเสมอแท้ทั้งในตนเอง

และคนทั้ง ๓ นั้น เมื่อนั้นจึงชื่อว่าเป็นอันได้ทำสีมสัมเภทแล เหตุนั้น

พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 182

เมื่อใด พระโยคาวจรผู้มีจิตคิดเกื้อกูลแก่สัตว์

ทั้งหลาย ยังเห็นความต่างกันในคน ๔ คน คือใน

ตน ในคนที่เกื้อกูล (คือรัก) กัน ในคนกลาง ๆ

กัน และในคนไม่เกื้อกูล (คือเกลียด) กันอยู่

เมื่อนั้นยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ฉลาดได้เมตตา (ฌาน)

อย่างที่ต้องการ ต่อเมื่อใด แดนทั้ง ๔ ภิกษุ

(โยคาวจร) รวมเข้าด้วยกันแล้ว แผ่เมตตาไปยัง

สัตวโลกทั้งปวง กับทั้งเทวดาด้วย เสมอกันหมด

เมื่อนั้น เธอผู้มีเมตตาไม่ปรากฏแดน จึงได้ชื่อว่า

เป็นผู้ยิ่งใหญ่ (ในเมตตาภาวนา) กว่าพระโยคา-

วจรรูปก่อน

[เมตตาฌาน]

ในกาลเสมอกับกาลที่รวมแดนได้อย่างนี้นั่นแล ภิกษุ (โยคา-

จวร) นี้ ก็เป็นอันได้นิมิต และอุปจารด้วย* ก็แลครั้นทำการรวม

แดนแล้ว เธอเสพยิ่งขึ้นไป เจริญทำให้มากขึ้นไปซึ่งนิมิตนั้นแหละ

ก็จะบรรลุอัปปนา ตามนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณโดยไม่ยากเลย

ด้วยภาวนานุโยคเพียงนี้ ปฐมฌานที่สหรคตกับเมตตาอันละองค์

๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ มีความงาม ๓ ประการ ถึงพร้อมด้วยลักษณะ

* มหาฎีกาว่า นิมติ ในที่นี้ ก็คือสีมสัมเภทนั่นเอง (ไม่ใช่นิมิตอย่างนิมิตในกสิณ)

เพราะเมื่อได้สีมสัมเภทแล้ว นิวรณ์จึงระงับ กิเลสจึงชมไป จิตจึงตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 183

๑๐ ก็เป็นอันภิกษุ (โยคาวจร) นั้นได้บรรลุแล้ว และครั้นได้บรรลุ

ปฐมฌานนั้นแล้ว เธอเสพยิ่งขึ้นไป เจริญทำให้มากขึ้นไปซึ่งนิมิต

นั้นแหละ ก็จะบรรลุทุตยฌานและตติยฌานในจตุกนัย และ (หรือ)

ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ในปัญจกนัยตามลำดับ๑ แท้

จริง พระโยคาวจรนั้นจะชื่อว่ามีใจสหรคตกับเมตตาแผ่ไปตลอดทิศ

หนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น

ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศขวาง ก็โดยนัยนั้นแล เธอมีใจสหรคต

กับเมตตา เป็นใจกว้างใหญ่ไม่มีประมาณ เป็นใจไม่มีเวร ไม่มีความ

บีบคั้น แผ่ไปในทิศทั้งปวงตลอดโลกที่มีสรรพสัตว์โดยความเป็นตน

(เสมอกัน) ในสัตว์ทั้งปวงอยู่ (ได้ดังนี้) ก็ด้วยอำนาจฌาน มี

ปฐมฌานเป็นต้น ฌานใดฌานหนึ่ง เพราะว่าวิกุพพนา (การทำ

[เมตตา] ได้ต่างๆ ) นี้ ย่อมสำเร็จแก่พระโยคาวจรผู้มีจิตถึงอัปปนา

ด้วยอำนาจฌาน มีปฐมฌานเป็นต้นเท่านั้น๒ (มิใช่สำเร็จแก่ผู้ได้เพียง

อุปจาร)

๑. พรหมวิหาร ๓ ข้างต้นให้สำเร็จได้เพียง ๓ ฌาน ในจตุกนัย หรือ ๔ ฌานในปัญจกนัย

ไม่ถึงจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน เพราะจิตยังไม่เป็นอุเบกขา

๒. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ครั้งที่ ๓ ว่า ปฐมชฺฌานาทิวเสน. . . อยํ วิกุพฺพนา

อปฺปนา ปมฺปชิชติ เห็นว่า บทอปฺปนานั้นเกิน เพราะไม่มีความจะจอด และในแก้อรรถ

กล่าวถึงความตอนนี้ (หน้า ๑๐๙ บรรทัดที่ ๘ นับลง) ก็มีแต่วิกุพฺพนา ไม่มีอปฺปนา คือ

ยถา จายํ อปฺปนาปฺปตฺตจิตฺตสฺเสว วิกุพฺพนา สมฺปชฺชติ วิกุพฺพนา มหาฎีกาแก้เป็น

วิวิธา กิริยา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 184

[แก้บาลีอัปปมัญญา]

ก็ในบาลีนี้ บทว่า เมตฺตาสหคเตน (สหรคตกับเมตตา)

ความว่า ประกอบไปด้วยเมตตา บทว่า เจตสา (มีใจ) ก็คือ

จิตฺเตน (มีจิต) คำว่า เอกํ ทิสํ (ตลอกทิศหนึ่ง) ตรัสโดย

เป็นการแผ่ไปถึงสัตว์ที่เนื่องอยู่ในทิศหนึ่ง มุ่งเอาสัตว์ที่พระโยคาวจร

กำหนดครั้งแรกในทิศอันหนึ่ง๑ บทว่า ผริตฺวา (แผ่) คือสัมผัส

(ด้วยใจ) ได้แก่ทำให้เป็นอารมณ์ บทว่า วิหรติ (อยู่) หมาย

ความว่า ยังอิริยาบถวิหาร (การเปลี่ยนอริริยาบถอยู่) ที่อธิษฐานเพื่อ

พรหมวิหารให้เป็นไป คำว่า ตถา ทุติยํ (ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น)

เป็นต้น ความว่า ในทิศทั้งหลาย มีทิศตะวันออกเป็นต้น เธอแผ่

ไปตลอดทิศใด ๆ ก็ตาม ทิศหนึ่งอยู่ อย่างใด ก็แผ่ไปตลอดทิศที่ ๒

ที่ ๓ และที่ ๔ ในลำดับกัน๒อย่างนั้นแล คำว่า อิติ อุทฺธํ ไขความ

ว่า และโดยนัยเดียวกันนั้น (แผ่ไป) ในทิศเบื้องบน สองบทว่า

อโธ ติริยํ คือแม้ในทิศเบื้องล่าง แม้ในทิศขวาง ก็อย่างนั้นเหมือน

กัน ก็แลใน ๒ บทนั้น บทว่า อโธ (ทิศล่าง) ได้แก่ทิศใต้

(ตัวเรา) ลงไป บทว่า ติริยํ (ทิสขวาง) ได้แก่ในทิศเฉียง

ทั้งหลาย

๑. หมายความว่า พูดว่าทิศ แต่ที่จริงหมายถึงสัตว์ที่อยู่ในทิศนั้น

๒. มหาฎีกาว่า ลำดับการแผ่ ไม่ใช่ลำดับทิศ เพราะทิศเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เมื่อแผ่ไปทิศใด

ทิศหนึ่งเป็นการประเดิมแล้ว แผ่ไปทิศใดต่อไป ทิศนั้นก็นับเป็นทิศที่ ๒ แผ่ต่อไปก็เป็นที่ ๓ ที่ ๔

ทีละทิศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 185

โดยนัยดังนี้ พระโยคาวจรชื่อว่ายังจิตอันประกอบไปด้วยเมตตา

ให้แล่นไปบ้าง ให้แล่นกลับมาบ้าง ในทิศทั้งปวง ดุจสารถียังม้าให้

แล่นไปมาอยู่ในสนามม้าวงกลม ฉะนั้นแล

การกำหนดเอาทิศหนึ่ง ๆ แผ่เมตตาไปเป็นแถบ ๆ พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าทรงแสดงด้วยบทพระบาลีเพียงนี้ (คือเพียง อุทฺธมโธ ติริยํ)

ส่วนบทพระบาลีมีบทว่า สพฺพธิ เป็นต้นไป ตรัสเพื่อแสดง (การ

แผ่) โดยไม่เป็นแถบ (คือรวมหมด)

ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพธิ ก็คือ สพฺพตฺถ (ในทิศ

ทั้งปวง) บทว่า สพฺพตฺตตาย ความว่า โดยความเป็นตนในสัตว์

ทั้งปวง อันมีประเภทต่าง ๆ เช่นสัตว์ชั้นเลย ชั้นกลาง และชั้นสูง

ที่เป็นมิตรกัน เป็นศัตรูกัน และกลาง ๆ เป็นต้น มีอธิบายว่า โดย

ความเสมอกับตน ไม่แบ่งแยกว่าเราว่าสัตว์อื่น* อีกนัยหนึ่ง บทว่า

สพฺพตฺตตาย นั้น หมายความว่า โดยจิตตภาพ (กำลังจิต ?) ทั้งหมด

อธิบายว่า ไม่ (ปล่อยให้) เขยื้อนไปภายนอก (กรรมฐาน) แม้

แต่นิดเดียว บทว่า สพฺพาวนฺตํ ความว่าที่มีสรรพสัตว์ คือประกอบ

ด้วยสรรพสัตว์ บทว่า โลกํ หมายเอาสัตวโลก

ส่วนคำว่า เมตฺตาสหคเตน ตรัสซ้ำอีกในตอนอโนธิโสผรณะ

(แผ่รวม) นี้ เพราะ (เพื่อ) แสดงปริยาย (คือไวพจน์แห่งเมตตา-

* ปาฐะวิสุทธิมรรคฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พิมพ์ไว้ว่า อยํ ปรสตฺโตติ วิภาคํ อกตฺวา

อตฺตสมตาย เห็นว่า อยํ ผิด ที่ถูกเป็น อหํ เพราะความเลขนอกยันอยู่ ในที่นี้แปลตาม

ที่เห็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 186

สหคตจิต) มีคำว่า วิปุเลน ดังนี้เป็นอาทิ หรือว่า เพราะในตอน

อโนธิโสผรณะนี้ มิได้ใช้ตถาศัพท์หรืออิติศัพท์๑อีก ดังในตอนโอธิโส-

ผรณะ (แผ่เป็นแถบ ๆ) เพราะเหตุนั้นจึงตรัสคำว่า เมตฺตาสหคเตน

เจตสา ซ้ำอีก หรือมิฉะนั้น คำว่า เมตฺตาสหคเตน เจตสา (ใน

ตอนนี้) นั้น (พึงทราบว่า) ตรัสโดยเป็นคำนิยม (ก็ได้)

[อรรถแห่งวิกุพพนา]

ก็ในบทว่า วิปุเลน เป็นต้นนั้น (พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้)

ความที่เมตตาสหคตจิตเป็นจิตกว้าง บัณฑิตพึงเห็น (ว่าเป็น) ด้วย

อำนาจการแผ่ และอนึ่ง จิตนั้นเป็นจิตใหญ่ด้วยอำนาจภูมิ (คือเป็น

รูปาวจร) เป็นจิตไม่มีประมาณ ด้วยอำนาจความคล่องแคล่ว และ

ด้วยอำนาจความที่มีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ ชื่อว่าเป็นจิต

ไม่มีเวร เพราะละข้าศึกคือพยาบาทเสียได้ ชื่อว่าเป็นจิตไม่มีความ

บีบคั้น อธิบายว่า ไม่มีทุกข์ เพราะละโทมนัสได้

นี้เป็นความหมายแห่งวิกุพพนา อันกล่าวโดยนัยว่า เมตฺตา

สหคเตน เจตสา เป็นต้น๒ และวิกุพพนานี้ ย่อมสำเร็จแก่พระ

โยคาวจรผู้มีจิตถึงอัปปนาเท่านั้น ฉันใด แม้ลักษณะ (ที่นับว่า

วิกุพพนา) อันใด ที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า "เมตตาเจโตวิมุติ

๑. หมายถึง ตถา และ อิติ ที่เพ่งความข้างหน้า ดัง ตถา ทุติยํ ตถา ตติยํ ตถา จตุตฺถํ และ

อิติ อุทฺธมโธ ติริยํ

๒. หมายความว่า เมตตาสหคตจิต มีอาการได้ต่าง ๆ คือกว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มี

ความบีบคั้น นี่แหละเรียกว่า วิกุพฺพนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 187

เป็นอโนธิโสผรณาด้วยอาการ ๕ เมตตาเจโตวิมุติ เป็นโอธิโสผรณา

ด้วยอาการ ๗ เมตตาเจโตวิมุติ เป็นทิสาผรณาด้วยอาการ ๑๐"* ดังนี้

แม้ลักษณะ (ที่นับว่าวิกุพพนา) นั้น บัณฑิตก็พึงทราบว่า ย่อมสำเร็จ

แก่พระโยคาวจรผู้มีจิตถึงอัปปนา ฉันนั้นเหมือนกัน

[อโนธิโสผรณา ๕]

ก็แลในลักษณะเหล่านั้น เมตตเจโตวิมุติ บัณฑิตพึงทราบว่า

เป็นอโนธิโสผรณาด้วยอาการ ๕ นี้ คือ

(๑) สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี

อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มี

ความบีบคั้น ไม่มีทุกข์ มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

(๒) สพฺเพ ปาณา---- ขอปาณะ (ผู้เนื่องด้วยลมหายใจ)

ทั้งหลายทั้งปวง----

(๓) สพฺเพ ภูตา---- ขอภูต (ผู้เป็นแล้วป ทั้งหลายทั้งปวง----

(๔) สพฺเพ ปุคฺคลา---- ขอบุคคลทั้งหลายทั้งปวง----

(๕) สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา อเวรา ฯ เป ฯ ปริหรนฺตุ

ขอผู้เนื่องอยู่ในอัตภาพทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ฯลฯ รักษา

ตนอยู่เถิด

[โอธิโสผรณา ๗]

เมตตาเจโตวิมุติ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นโอธิโสผรณาด้วยอาการ

* ขุ. ป. ๓๑/๔๓๘๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 188

๗ นี้ คือ

(๑) สพฺพา อิตฺถิโย อเวรา ฯ เป ฯ อตฺตานํ ปริหรนฺตุ

ขอสตรีทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ฯ ล ฯ รักษาตนอยู่เถิด

(๒) สพฺเพ ปุริสา---- ขอบุรุษทั้งหลายทั้งปวง----

(๓) สพฺเพ อริยา---- ขออริยชนทั้งหลายทั้งปวง----

(๔) สพฺเพ อนริยา---- ขออนริยชนทั้งหลายทั้งปวง----

(๕) สพฺเพ เทวา---- ขอเทพทั้งหลายทั้งปวง----

(๖) สพฺเพ มนุสฺสา---- ขอมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง----

(๗) สพฺเพ วินิปาติกา อเวรา ฯ เป ฯ อตฺตานํ ปริหรนฺตุ

ขอวินิปาติกะ (ผู้ตกอยู่ในอบาย) ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร

ฯ ล ฯ รักษาตนอยู่เถิด

[ทิสผรณา ๑๐]

เมตตาเจโตวิมุติ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นทิสาผรณา (แผ่เป็น

ทิศ ๆ ด้วยอาการ ๑๐ นี้ คือ

(๑) สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา ฯ เป ฯ

อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ในทิศตะวันออก จงเป็น

ผู้ไม่มีเวร ฯลฯ รักษาตนอยู่เถิด

(๒) สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาบ

ทั้งปวง ในทิศตะวันตก----

(๓) สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศเหนือ----

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 189

(๔) สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศใต้----

(๕) สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศเฉียงตะวันออก (คือตะวันออกเฉียงเหนือ)----

(๖) สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศเฉียงตะวันตก (คือตะวันตกเฉียงใต้)----

(๗) สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศเฉียงเหนือ (คือตะวันตกเฉียงเหนือ)----

(๘) สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศเฉียงใต้----(คือตะวันออกเฉียงใต้)----

(๙) สพฺเพ เหฏฺฐีมาย ทิสาย สตฺตา---- ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง ในทิศเบื้องล่าง----

(๑๐) สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา ฯ เป ฯ

ปริหรนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ในทิศเบื้องบน จงเป็นผู้ไม่มีเวร

ฯ ลฯ รักษาตนอยู่เถิด

(นี้แสดงบท สตฺตา เป็นตัวอย่าง บทต่อไปมีบท ปาณา เป็นต้น ก็พึง

ประกอบความอย่างเดียวกัน ต่อไปนี้ ท่านเปยยาลไว้)

สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย ปาณา---- ภูตา---- ปุคฺคลา----

อตฺตภาวปริยาปนฺนา---- สพฺพา ปุรตฺถิมาย ทิสาย อิตฺถิโย----

ปุริสา---- อริยา---- อนริยา---- เทวา---- มนุสฺสา---- วินิปาติกา

อเวรา ฯ เป ฯ ปริหรนฺตุ ขอปาณะทั้ง---- ภูตทั้งหลาย----

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 190

บุคคลทั้งหลาย---- ผู้เนื่องอยู่ในอัตภาพทั้งหลายทั้งปวงในทิศตะวันออก

---- ขอสตรีทั้งหลาย---- บุรุษทั้งหลาย---- อริยชนทั้งหลาย---- อนริย-

ชนทั้งหลาย---- เทพทั้งหลาย---- มนุษย์ทั้งหลาย---- วินิปาติกะทั้งหลาย

ทั้งปวงในทิศตะวันออก จงเป็นผู้ไม่มีเวร ฯลฯ รักษาตนอยู่เถิด

สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย---- อุตฺตราย---- ทกฺขิณาย---- อนุ-

ทิสาย---- เหฏฺฐิมาย ทิสาย---- อุปริมาย ทิสาย ปาณา ฯ เป ฯ

อิตฺถิโย ฯ เป ฯ วินิปาติกา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี

อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอปาณะทั้งหลาย ฯ ล ฯ สตรีทั้งหลาย ฯ ล ฯ

วินิปาติกะทั้งหลายทั้งปวง ในทิศตะวันตก---- ทิศเหนือ----

ทิศใต้---- ทิศเฉียงตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้---- ทิศเบื้องล่าง----

ทิศเบื้องบน จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความบีบคั้น ไม่มีทุกข์ มีความสุข

รักษาตนอยู่เถิด"

[แก้อรรถ สพฺเพ สตฺตา เป็นต้น]

ในบทเหล่านั้น บทว่า 'ทั้งปวง' นั้น เป็นคำถือเอาหมด

ไม่มีเหลือ ชนผู้ข้องอยู่ ติดอยู่ด้วยฉันทราคะ ในขันธ์ทั้งหลายมีรูป

เป็นอาทิ ชื่อว่าสัตว์ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ (แก่

พระราธะ) ว่า "ดูกรราธะ ผู้ใดมีความพอใจ ความกำหนัด ความ

ยินดี ความปรารถนาในรูป ผู้นั้นชื่อว่าข้องอยู่ในรูปนั้น ติดอยู่ใน

รูปนั้น เหตุนั้นแลจึงได้ชื่อว่า สัตว์ ผู้ใดมีความพอใจ ความกำหนัด

ความยินดี ความปรารถนาใน เวทนา----สัญญา----สังขาร----วิญญาณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 191

ผู้นั้นชื่อว่าข้องอยู่ในเวทนา----สัญญา----สังขาร----วิญญาณนั้น ติดอยู่ใน

เวทนา ฯ ล ฯ วิญญาณนั้น เหตุนั้นแล จึงได้ชื่อว่า สัตว์๑" ดังนี้

แต่ด้วยรุฬหิศัพท์ (ศัพท์งอก) โวหาร (ว่าสัตว์) นี้ ใช้ในท่านผู้

ปราศจากระคะแล้วก็ได้เหมือนกัน ดังคำ ตาลวัณฏะ (พัดก้านตาล)

ใช้ในพัดชนิดหนึ่ง ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ (สาน) ก็ได้ ฉะนั้น ส่วนพวก

อักขรจินตกะ (ผู้คิดเล่นอักขระ) ไม่วิจารความ ลงเอาว่า นั่นเป็น

คำนามเท่านั้น ข้างพวกท่านผู้วิจารความ ประสงค์ความว่า ชื่อว่า

สัตว์ เพราะประกอบด้วยสัตตะ๒ก็มี

สัตว์ทั้งหลายชื่อว่า ปาณะ เพราะภาวะคือการหายใจ หมาย

ความว่า เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยลมหายใจออกหายใจเข้า

ชื่อว่า ภูต เพราะเป็นแล้ว หมายความว่า เพราะเป็นขึ้นพร้อม

คือ เกิดใหญ่ขึ้น

นิรยะ ท่านเรียกว่า ปํุ สัตว์ทั้งหลายย่อมเลื่อน หมายคามว่า

ย่อมไปในนิริยะที่เรียกปุํนั้น เหตุนั้นจึงชื่อ ปุคฺคล"๓

๑. สํ. ขนฺธวาร. ๑๗/๒๓๒

๒. มหาฎีกาว่า คำว่า สัตตะ ในที่นี้ ได้แก่พุทธิ หรือ วิริยะ หรือ เดช เพราะฉะนั้น สตฺโตก็

แปลว่า ผู้ประกอบด้วยพุทธิ (คือความรู้) หรือผู้ประกอบด้วยวิริยะ หรือผู้มีเดช (คืออำนาจ)

ก็ได้

ท่านช่างคิดเสียจริง ๆ แม้แต่บาลีอธิบายไว้ชัดเจนแล้วก็ยังอุตส่าห์คิดอยู่อีก น่าสนุก

๓. ตามนี้ ปุคฺคล แปลว่า ผู้เลื่อนไปนรก ไม่น่าโมทนาเลย มหาฎีกาก็ทีจะไม่โมทนาเหมือนกัน

จึงไม่ช่วยขยายความอะไรเลย กลับไปนำเอาอรรถาธิบายของอาจารย์ทางนิรุติศาสตร์มากกล่าวไว้แทน

ว่า ทางนิรุติแก้ว่า "ชื่อว่า ปุคฺคล เพราะเพิ่มจำนวน และเพราะเลื่อนไป" ตามนี้ ปุ ออกเป็น

ปูรณ ส่วน คล ก็ คลธาตุ ในความเลื่อนไป แล้วก็มีอธิบายว่า แท้จริง สัตว์ทั้งหลายเกิดมา ก็

เป็นดุจมาเพิ่มจำนวนหมู่สัตว์นั้น ๆ ขึ้น และเลื่อน คือเลื่อนไปตามรุ่นตามคราวนั้น ๆ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 192

ร่างกาย เรียกอัตภาพ อีกนัยหนึ่ง อัตภาพ ก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง

คำว่าอัตภาพนี้ ก็เป็นแต่คำที่หมายเอาขันธ์ ๕ บัญญัติขึ้นโดยสภาวะ๑

สัตว์ทั้งหลายนับเนื่องอยู่ในอัตภาพนั้น เหตุนั้นจึงชื่อ อตฺตภาวปริยา-

ปนฺน คำ ปริยาปนฺน - นับเนื่อง หมายความว่ากำหนดไว้ (ในนั้น)

อยู่ภายใน (นั้น)

ก็แล คำว่า สตฺตา - สัตว์ทั้งหลาย (มีความหมาย) ฉันใจ

แม้คำที่เหลือ (มีคำว่าปาณาเป็นต้น ก็มีความหมาย) ฉันนั้น บัณฑิต

พึงทราบว่า คำเหล่านั้นเป็นไวพจน์ของคำว่า 'สรรพสัตว์' ทั้งนั้น

แหละ เพราะยกขึ้นด้วยอำนาจรุฬหิศัพท์

ไวพจน์ของคำสรรพสัตว์อื่น ๆ เช่นว่า สพฺเพ ชนฺตู สพฺเพ

ชีวา ยังมีอยู่อีกก็จริง แต่ทว่า (ในปฏิสัมภิทา) ท่านถือเอาคำ ๕ คำนี้

เท่านั้น กล่าวไว้ว่า "เมตตาเจโตวิมุติ เป็นอโนธิโสผรณาด้วย

อาการ ๕" ดังนี้ ก็โดยที่ (คำทั้ง ๕ นั้น) เป็นคำปรากฏ (คือเด่น)

ส่วนเกจิอาจารย์เหล่าใดไม่ต้องการ (ให้เป็น) เพียงความที่คำทั้งหลาย

มี สตฺตา ปาณา เป็นต้น เป็นไวพจน์กันเท่านั้น แต่หากต้องการถึง

ความที่คำเหล่านั้นต่างกันโดยอรรถด้วย ความต้องการของเกจิอาจารย์

เหล่านั้น ผิดจากอโนธิโสผรณา๒ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรไม่ควร

๑. คือโดยลักษณะที่มันเป็นของมันได้ มิใช่โดยปรมัตถ์ เพราะว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ตัวตนบุคคล

หามีไม่ ?

๒. เววจนมตฺโต นั้น ในมหาฎีกาเป็น เววจนตามตฺตํ เห็นว่าของท่านถูก เพราะมี สตฺตา

ปาณาติอาทีนํ เป็นภาวาทิสัมพันธ์อยู่ข้างหน้า และเป็นอวุตตกรรม ใน อิจฺเฉยฺยุํ เสมอกับบท

นานตฺตํ ข้างหลัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 193

ถือเอาความหมายอย่าง (เกจิอาจารย์) นั้น พึงแผ่อโนธิโสเมตตา ใน

อาการ ๕ เหล่านี้โดยอาการใดอาการหนึ่งไปเถิด

[อัปปนา ๕๒๘]

ก็แลในเมตตาภาวนานี้ ภาวนาว่า "สพฺเพ สตฺตา อเวรา

โหนฺตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด" นี้ก็เป็นอัปปนา

อันหนึ่งได้ ภาวนาว่า "(สพฺเพ สตฺตา) อพฺยาปชฺฌา ดหนฺตุ-

ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความไม่บีบคั้นเถิด" นี้ก็เป็นอัปปนา

อันหนึ่งได้

คำว่า 'อพฺยาปชฺฌา - ไม่มีความบีบคั้น' นั้น คือ พฺยาปาทรหิตา

ปราศจากพยาบาท

ภาวนาว่า "(สพฺเพ สตฺตา) อนีฆา โหนฺตุ - ขอสัตว์

ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์เถิด" นี้ก็เป็นอัปปนาอันหนึ่งได้

คำว่า อนีฆา ได้แก่ นิทฺทุกฺขา - ไม่มีทุกข์

ภาวนาว่า "(สพฺเพ สตฺตา) สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ - ขอ

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด" นี้ก็เป็น

อัปปนาอันหนึ่งได้

อโนธิโส ผรณาติ วุจฺจติ ในมหาฎีกาเป็น...ผรณา วิวุชฺฌติ เห็นว่าของท่านถูก เพราะ

แปลได้ความดี

ในที่นี้ได้แก้และแปลตามที่เห็นว่าถูก

ที่ว่าผิดจาอโนธิโสผรณานั้น หมายความว่า ถ้าถือตามมติเกจิอาจารย์ว่าคำทั้ง ๕ มีความ

หมายต่างกันแล้วก็จะกลางเป็นว่า สตฺตาก็อย่าง ๑ ปาณาก็อย่าง ๑ ภูตาก็อย่าง ๑ ปุคฺคลาก็อย่าง ๑

...แยกแดนกันไป ไม่สมกับพระบาลีที่กล่าวความตอนเป็นอโนธิโสผรณา (แผ่รวมแดน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 194

เพราะเหตุนั้น ในบทเหล่านี้ แม้นบทใด ๆ ปรากฏ (เห็นชัด

ขึ้น) พระโยคาวจรก็พึงแผ่เมตตาไปตามกำลังของบทนั้น ๆ เถิด

โดยนัยที่กล่าวมาดังนี้ อัปปนาในอโนธิโสผรณะจึงเป็น ๒๐

เนื่องด้วยอัปปนา ๔ ๆ ในอาการ ๕ ส่วนในโอธิโสผรณะเป็น ๒๘

เนื่องด้วยอัปปนา ๔ ๆ ในอาการ ๗

ก็แลในอาการ ๗ นั้น คำว่า อิตฺถิโ ย ปุริสา - สตรี บุรุษ

ท่านกล่าวโดยเพศ คำว่า อริยา อนริยา - อริยชน อนริยชน กล่าว

โดย (แยก) เป็นพระอริยะ และปุถุชน คำว่า เทวา มนุสฺสา

วินิปาติกา - เทวดา มนุษย์ วินิปาติกะ กล่าวโดยอุปบัติ (กำเนิด)

ส่วนในทิสาผรณะ อัปปนาเป็น ๔๘๐ คือ ตามนัย (ตอน

อาการ ๕) มี สพฺเพ ปุรตฺถิมาย ทิสาย สตฺตา----เป็นข้อต้น ทำ

เป็นทิศละ ๒๐ (๑๐ ทิศรวม) เป็น ๒๐๐ ตามนัย (ตอนอาการ ๗)

มี สพฺพา ปุตฺถิมาย ทิสาย อิตฺถิโย---- เป็นข้อต้น ทำเป็นทิศ

ละ ๒๘ (๑๐ ทิศรวม) เป็น ๒๘๐

ทั้งหมดตามที่ว่ามานี้เป็นอัปปนา ๕๒๘ ที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิ-

สัมภิทาแล

[แก้อรรถเมตตานิสงส์]

พระโยคาวจรนี้ครั้งเจริญเมตตาเจโตวิมุติตามทางอัปปนาเหล่านั้น

ทางใดทางหนึ่งดังกล่าวมาฉะนี้แล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๑๑ ประการ ที่

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยว่า "ผู้เจริญเมตตาเจโตวิมุติ ย่อม

หลับเป็นสุข" ดังนี้เป็นอาทิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 195

ในอานิสงส์ ๑๑ นั้น ข้อว่า หลับเป็นสุข มีอธิบายว่า ชน

ทั้งหลายนอกนั้น (ที่ไม่ได้เมตตาเจโตวิมุติ) ย่อมหลับพลิกกายไปมา

(และ) กรนอยู่ ดูเป็นทุกข์อย่างใด ท่านผู้ได้เมตตาเจโตวิมุติหาหลับ

อย่างนั้นไม่ ย่อมหลับสบาย แม้หลับสนิทแล้วก็เป็นดุจเข้าสมาบัติ

ข้อว่า ตื่นเป็นสุข มีอธิบายว่า ชนทั้งหลายอื่นตื่นขึ้นทำเสียง

คราง บิดกายพลิกไปมาอยู่ ดูเป็นทุกข์อย่างใด ท่านผู้ได้เมตตา-

เจโตวิมุติหาตื่นอย่างนั้นไม่ ย่อมตื่นสบาย คือ ไม่มีการ (อาการผิด

แปลก) ดุจดอกปทุมแย้มอยู่ฉะนั้น

ข้อว่า ไม่ฝันร้าย อธิบายว่า ท่านผู้ได้เมตตาเจโตวิมุตินั้น

แม้นฝันเห็น ก็ฝันเห็นแต่นิมิตที่ดีงาม เป็นเหมือนว่ากำลังไหว้พระ

เจดีย์ เหมือนว่ากำลังทำการบูชา และเหมือนว่ากำลังฟังธรรม ส่วน

ชนทั้งหลายอื่น (ฝัน) เห็นตนเหมือนว่าถูกพวกโจรล้อม เหมือนว่า

ถูกฝูงสัตว์ร้ายทำอันตรายเอา และเหมือนว่ากำลังตกเหว อย่างใด ท่าน

ผู้ได้เมตตาเจโตวิมุติหาฝันร้ายอย่างนั้นไม่

ข้อว่า เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือว่าเป็นที่รักที่พอใจของ

มนุษย์ทั้งหลาย ราวกะสร้อยไข่มุกที่สวมไว้แนบอก และราวกะพวง

ดอกไม้อันประดับไว้ที่ศีรษะฉะนั้น

ข้อว่า เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือว่า ผู้เจริญเมตตา-

เจโตวิมุตินั้น เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายฉันใด ก็ย่อมเป็นที่รักของ

อมนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น เหมือนดังท่านวิสาขเถระ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 196

[เรื่องพระวิสาขเถระ]

ได้ยินว่า พระวิสาขเถระนั้น (เมื่อเป็นคฤหัสถ์) เป็นกุฎุมพี

อยู่ในกรุงปาฏลิบุตร ท่านอยู่ในกรุงนั้นแหละได้ยินข่าวว่า ตัมพ-

ปัณณิทวีป (คือเกาะลังกา) ประดับประดาไปด้วยถ่องแถวพระเจดีย์

รุ่งเรืองด้วยกาสาวพัสตร์ ในทวีปนั้น ใคร ๆ อาจจะนั่งหรือนอนได้

ในที่ทุกแห่งที่ตนปรารถนา๑ สัปปายะทั้งปวง คือ อุตุสัปปายะ

เสนาสนสัปปายะ ปุคคลสัปปายะ ธัมมสวนสัปปายะ หาได้ง่ายใน

ทวีปนั้น ดังนี้ ท่านจึงมอบกองโภคทรัพย์ของตนให้แก่บุตรและภริยา

มีเงินกหาปณะเดียวอันผูก (ขอด) ไว้ที่ชายผ้าเท่านั้น ออกจากเรือน

ไป คอยเรือที่ริมฝั่งทะเลอยู่ถึงเดือนหนึ่ง และเพราะความที่เป็น

ผู้ฉลาดในเชิงพูด ท่านซื้อของ (สินค้า) ที่ช่องนี้ไปขายที่ช่องโน้น๒

โดยกาลในระหว่าง (ที่คอยเรือ) เดือนหนึ่งนั่นเอง (สามารถ) รวบ

รวมทรัพย์ได้ถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ด้วยการค้าขายอันชอบธรรม ท่าน

มาถึงมหาวิหาร (ในลังกา) โดยลำดับ แล้วขอบรรพชา (เมื่อ)

ภิกษุทั้งหลายนำท่านไปสู่สีมาเพื่อให้บรรพชา ท่านทำถุงเงิน ๑,๐๐๐

กหาปณะนั้นตกลงที่พื้นทางช่องชายผ้า และเมื่อภิกษุทั้งหลายทักวา

นั่นอะไร ก็บอกว่า "กหาปณะ ๑,๐๐๐ เจ้าข้า" ภิกษุทั้งหลายเตือน

๑. มหาฎีกาว่า ที่นั่งนอนได้ทุกแห่ง เพราะเป็นประเทศเกษม คือปลอดภัยนั้นอย่างหนึ่ง เพราะมี

ที่ ๆ รื่นรมย์น่านั่งน่าชมอยู่ทั่ว ๆ ไปอีกอย่างหนึ่ง (มาถึงตอนนี้ แม้แต่ตัมพปัณณิทวีป ก็วิเศษกว่า

มัชฌิมประเทศในชมพูทวีปเสียแล้ว)

๒. ทฺวาร ในที่นี้จะแปลว่า 'ประตู' ความไม่ผุด สู้แปลว่า 'ช่อง' ไม่ได้เพราะมีตัวอย่างอยู่ใน

บ้านเมืองเรานี้ คือท่าจอดเรือสินค้าย่อม ๆ ริมทะเล มีทางขึ้นบกติดต่อไปที่อื่นได้ เขาเรียกว่า

'ช่อง' เช่นช่องแสมสาร ที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 197

ว่า "แน่ะอุบาสก ตั้งแต่กาลที่บรรพชาแล้วไป ท่านจะจัดการไม่ได้

ท่านจงจัดการมันเสียบัดนี้แหละ" ดังนี้ ท่านจึงประกาศว่า "คน

ทั้งหลายผู้มาสู่สถานที่นายวิสาขะบรรพชา อย่างได้มือเปล่า (กลับ) ไป

เลย" แล้วแก้ (ถุง) โปรย (ทานกหาปณะ)๑ ในวงสีมาแล้ว จึง

บรรพชาอุปสมบท ท่าน (อยู่มา) มีพรรษาครบ ๕ แล้ว (เรียน

ทำมาติกา ๒ มาติกาให้คล่องแล้ว ปวารณา (ออกพรรษา) แล้ว

เรียนเอากรรมฐานที่เป็นสัปปายะแก่แล้ว เที่ยวอยู่บำเพ็ญวัตรสม่ำ

เสมอกันไปในวิหารหนึ่ง ๆ วิหารละ ๔ เดือน ๆ๒ และ

พระเถระวิสาขะ (นั้น) เที่ยว (บำเพ็ญวัตร)

ไปอย่างนั้นอยู่ (วันหนึ่ง) ยืนอยู่ในกลางป่า

(พิจารณา) ตรวจค้นดูคุณธรรมของตนไป จะ

บันลือเสียง (ให้ปรากฏไว้) จึงได้กล่าวความข้อ

นี้ว่า "ข้าพเจ้าอุปสมบทมาโดยกาลเท่าใด (และ)

มาในที่นี้โดยกาลเท่าใด ในระหว่างกาลเท่านั้นนี้

(ความผิด) ของข้าพเจ้าไม่มีเลย โอ เป็นลาภแท้

นะท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย"

๑. จะเป็นเยี่ยงที่คนไทยเรา (ผู้มีเงิน) จัดให้เจ้านาคโปรยทานที่หน้าโบสถ์ ก่อนจะเข้าไปขอ

อุปสมบท (ซึ่งบัดนี้ไม่ใคร่นิยมกันแล้ว) หรือเปล่า

๒. สมวตฺตวาสํ มหาฎีกาให้อรรถาธิบายว่า กล่าวกันว่าพระเถระองค์นี้เข้าไปสู่วิหารใด ๆท่าน

ไม่คิดว่า 'ฉันเป็นอาคันตุกะ' ท่านจะบำเพ็ญวัตรต่าง ๆ ที่ควรบำเพ็ญ เยี่ยงภิกษุประจำในวิหา

นั้น ๆ เสมอกันทุกแห่งที่ท่านไปอยู่ แต่ลางอาจารย์ประสงค์ความว่า อยู่ด้วยวิหารธรรมคือเมตตา

อันเป็นไปเสมอในสัตว์ทั้งปวง เพราะพระเถระองค์นี้เป็นผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรม ทั้งในเวลาก่อ

และหลังบรรลุพระอรหัต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 198

ท่านกำลังเดินไปจิตตลบรรพตวิหาร ถึงทางสอบแพร่ ก็หยุดคิดอยู่ว่า

ทางนี้หรือทางนี้หนอ ครั้นนั้นเทวดาผู้ลิงอยู่ที่ภูเขายื่นมือชี้ให้ท่านว่า

นั่นทาง ท่านอยู่ที่จิตตลบรรพต ๔ เดือนแล้ว คิดว่าจักไปในเวลา

เช้าตรู่แล้ว (เข้า) จำวัด เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นมณิละทางหัวที่จงกรม

(มา) นั่งร้องไห้อยู่ที่ขั้นบันได พระเถระทักว่าใครนั่น

"ข้าพเจ้าชื่อมณิลิยา๑ เจ้าข้า"

"ร้องไห้ทำไม"

"เกี่ยวกับการจะไปของท่าน"

"เมื่ออาตมาอยู่ที่นี่ มีคุณอะไรแก่ท่านทั้งหลาย"

"ท่านเจ้าข้า เมื่อท่านอยู่ที่นี่ พวกอมนุษย์ มีเมตตากันและกัน

ทีนี้ ครั้นท่านไปเสีย เขาทั้งหลายก็จักก่อนการทะเลาะกัน พูดคำหยาบ

กัน"๒

พระเถระจึงว่า "ถ้าเมื่ออาตมาอยู่ที่นี่ ความอยู่ผาสุก (เกิ___________ด)

มีแก่ท่านทั้งหลายไซร้ ก็นับเป็นการดีอยู่" แล้วอยู่ที่จิตตลบรรพต

นั้นต่ออีก ๔ เดือน แล้วยังคมนจิต (ความคิดจะไป) ให้เกิดขึ้น

เช่นเดิมอีก ข้างเทวดาก็ (มา) ร้องไห้เช่นนั้นอีก โดยอุบายนั้น

พระเถระอยู่ที่นั่น (จน) ปรินิพพานไปในที่นั้นเองแล ภิกษุผู้มีเมตตา

เป็นวิหารธรรม ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้๓

๑. มหาฎีกาว่า รุกขเทวดามักได้ชื่อตามต้นไม้ที่อาศัย เทวดาผู้นี้อยู่ที่ต้นมณิละ จึงได้ชื่อเช่นนั้น

๒. พวกอมนุษย์นี้หมายถึงอะไร หมายถึงจำพวกอสุรกายกระมัง

๓. ฟังจนจบแล้วก็ไม่ทราบว่าพระวิสาขะท่านบำเพ็ญเมตตาอย่างไร อมนุษย์ถึงได้รักนัก ท่านเล่า

แต่ผล เหตุไม่เล่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 199

ข้อว่า 'เทวดารักษา' คือเทวดาทั้งหลายย่อมรักษา (ผู้มีเมตตา

เป็นวิหารธรรม) ดุจมารดาบิดาทั้งหลายรักษาบุตรฉะนั้น

ข้อว่า 'ไฟก็ดี พิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่แผ้วพานเขา' อธิบายว่า

ไฟเล่าก็ไม่แผ้วพาน คือไม่เข้าในร่างกายของผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรม

ดุจไฟไม่เข้าในร่างกายของอุตตราอุบาสิกา* ฉะนั้น พิษเล่าก็ไม่แผ้วพาน

คือไม่เข้าในร่างกายของผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรม ดุจพิษไม่เข้าในร่าง

กายของพระจุฬสิวเถระผู้สวดสังยุตนิกายฉะนั้น ศัสตราเล่าก็ไม่แผ้วพาน

คือไม่เข้าในร่างกายของผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรม ดุจศัสตราไม่เข้าใน

ร่างกายของสังกิจจสามเณรฉะนั้น มีอธิบายว่า ไฟก็ดี พิษก็ดี ศัสตราก็ดี

ย่อมไม่ทำร่างกายของท่านผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรมนั้นให้กำเริบได้และ

ในข้อนี้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเรื่องแม่โคนม (เป็นนิทัสนะ) บ้างก็ได้

มีเรื่องเล่าว่า แม่โคนมตัวหนึ่ง ยืนปล่อยกษีรธารา (สายน้ำนม)

ให้แก่ลูกโคอยู่ พรานผู้หนึ่ง คิดจะแทงมัน จึงควงหอกด้ามยาวพุ่งไป

หอกนั้น (ไป) ถึงร่างมันเข้าก็ปลิวไปดังใบตาล (ไม่เข้า) (ทั้งนี้) ด้วย

กำลังแห่งอุปจารสมาธิก็หามิได้ ด้วยกำลังแห่งอัปปนาสมาธิก็หามิได้

เลย (แต่) ด้วยความที่แม่โคนั้น มีจิตรักใคร่เป็นกำลังในลูกโคเท่านั้น

เมตตามีอานุภาพมากดังนี้แล

ตกลงจะบวช เดินไปโบสถ์ ยังพกเงินอยู่อีก ถ้าถุงเงินไม่หล่นเสียก่อน มิพกเข้าไปถึง

ในโบสถ์หรือ ฟังดูราวกะเป็นคนไม่รู้เหนือรู้ใต้ ท่านเล่าเลอะเลือนหรือเปล่า

สำเร็จอรหัตด้วยกรรมฐานอะไร สำเร็จเมื่อไร ท่านก็ไม่เล่า ไปโผล่เอาตอนจบว่า ปริ-

นิพพานอยู่ที่จิตตบรรพตนั้นเอง

* อุตตราอบาสิกาถูกนางสิริมารดด้วยน้ำมันเดือด ๆ ที่ว่าไฟไม่เข้า หมายความว่าไม่ร้อนกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 200

ข้อว่า จิตตั้งมั่นเร็ว คือจิตของผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรม ย่อม

เป็นสมาธิได้เร็วทีเดียว ความชักช้าแห่งสมาธิจิตนั้นหามีไม่*

ข้อว่า สีหน้าผ่องใส คือ ประการหนึ่ง หน้าของผู้มีเมตตาเป็น

วิหารธรรมนั้น ย่อมมีสีหน้าผ่องใส ดัง (หัว) ตาลสุกที่เพิ่มหลุดจาก

ขั้วฉะนั้น

ข้อว่า ไม่หลงทำกาลกิริยา ความว่า ขึ้นชื่อว่า สัมโมหมรณะ

(ความหลงตาย) ของผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรม ย่อมไม่มี ท่านเป็นผู้

ไม่หลงเลยทำกาลกิริยา ดังว่าหลับไปฉะนั้น

ข้อว่า เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งกว่า----นั้น ความว่า ประการหนึ่ง

ผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรมนั้น เมื่อไม่อาจบรรลุพระอรหัต อันเป็นคุณ

ยิ่งกว่าเมตตาสมาบัติ เคลื่อนจากภพนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงพรหมโลก

ดังว่าหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น

นี้เป็นกถาอย่างพิสดารในการเจริญเมตตา

[กรุณาพรหมวิหาร]

ส่วนว่า พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญกรุณาพรหมวิหาร พึง

พิจารณาให้เป็นโทษของความไม่มีกรุณา และอนิสงส์ของกรุณาแล้ว

จึงเริ่มเจริญกรุณาพรหมวิหาร (ต่อไป) ก็แลเมื่อจะเริ่มเจริญกรุณา

นั้นไม่ควรเริ่มในบุคคลที่เป็นโทษแก่ภาวนา มีบุคคลที่รักเป็นต้นก่อน

* มหาฎีกาว่า หมายถึงผู้ที่ฌานเสื่อมไปเพราะอันตรายอะไร ๆ ก็ตาม เมื่อจะทำสมาธิอีก

จิตของเขาจะเป็นสมาธิได้เร็ว เพราะพยาบาทนิวรณ์ได้ถูกกำจัดไว้เสียไกลแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 201

เพราะบุคคลที่รักก็ตั้งอยู่ในฐานแห่งคนที่รักนั่นแหละ (หาเป็นที่ตั้งแห่ง

กรุณาไม่) บุคคลผู้เป็นสหายที่รักยิ่งเล่าก็ตั้งอยู่ในฐานแห่งสหายที่รักยิ่ง

บุคคลกลาง ๆ ก็ก็ตั้งอยู่ในฐานแห่งคนกลาง ๆ บุคคลที่ไม่รักก็ตั้งอยู่

ในฐานแห่งคนไม่รัก บุคคลที่เป็นศัตรูกันก็ตั้งอยู่ในฐานแห่งคนเป็น

ศัตรูกันนั่นแหละ (ทั้งหมดนี้หาเป็นที่ตั้งแห่งกรุณาไม่) (ส่วน) บุคคล

ผู้มีเพศเป็นข้าศึกกัน และบุคคลที่ทำกาลกิริยาแล้ว ก็ไม่ใช่แดน (ที่จะ

แผ่กรุณาไป) เลยทีเดียว แต่เพราะกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า "อนึ่ง ภิกษุมี

ใจสหรคตกับกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่อย่างไร ? (คือ) ภิกษุมีกรุณา

แผ่ไปยังสัตว์ทั้งปวง เหมือนอย่างที่เห็นบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนยาก

แค้นเข็ญใจ* แล้วพึงสงสารฉะนั้น" ดังนี้ (เพราะฉะนั้น) ก่อนอื่น

หมด พระโยคาวจรได้พบใครสักคนที่น่าสงสาร (คือ) มีรูปร่างน่า

เกลียด ถึงซึ่งความลำบากเต็มประดา ยากแค้นแสนเข็ญ เป็นคน

กำพร้า (แถม) มือและเท้ากุด นอนอยู่ที่ศาลาคนอนาถา วางกระเบื้อง

(ขอทาน) ไว้ข้างหน้า มีหมู่หนอนออกจากมือและเท้า ทำเสียงครวญ

ครางอยู่ พึงยังกรุณาให้เป็นไปว่า "สัตว์ผู้นี้ถึงซึ่งความทุกข์ยากหนอ

ไฉนเล่าหนอเขาจะพึงพ้นจากทุกข์นี้ได้" ดังนี้เถิด

เมื่อไม่ได้คนทุคตะ (เช่น) นั้น (เป็นอารมณ์) แม้บุคคลผู้มี

ความสุขแต่มักทำบาป ก็พึงเจริญกรุณาได้ (โดย) เปรียบกับโจรที่เขา

* ทุรูเปตํ มหาฎีกาแก้ว่า ได้แก่ประพฤติชั่ว (กายทุจฺจริตาทีหิ อุเปตํ) เห็นว่าในที่นี้

ไม่น่าแก้เช่นนั้น เพราะการแผ่กรุณาแก่คนทำชั่ว ท่านกล่าวในตอนต่อไป เห็นว่า ทุรูเปตํ

นี้ก็ไวพจน์ของ ทุคฺคตํ นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 202

จะฆ่าก่อน ถามว่า เปรียบอย่างไร ? ตอบว่า เปรียบเหมือนราชบุรุษ

ทั้งหลายมัดโจรที่จับได้พร้อมทั้งของ (กลาง) โดยพระราชบัญชาว่า

จงฆ่ามันเสีย ให้ประหาร (เฆี่ยน) ๑๐๐ ที ๆ ทุกที่สี่แพร่ง นำไปสู่

ตะแลงแกง คนทั้งหลาย (สงสารมัน) ให้ของเคี้ยวบ้าง ของกินบ้าง

ดอกไม้ของหอมเครื่องไล้และ (หมาก) พลูบ้างแก่มัน มันขบเคี้ยวและ

กินของเหล่านั้นไป ดูราวกะเป็นคนมีความสุขพรั่งพร้อมด้วยโภคะก็

จริงอยู่ ถึงกระนั้น ใคร ๆ ก็มิได้สำคัญเห็นมันว่า 'โจรผู้นี้เป็นผู้มีความ

สุข มีโภคะมากหนอ' ดังนี้เลย ที่แท้คนเขากรุณามัน "คนน่าสงสาร

ผู้นี้จักตายบัดเดี๋ยวนี้ละ เพราะมันวางเท้าข้างใด ๆ ลงไป (ก้าวเดิน)

มันก็ใกล้ความตายเข้าไปทุกทีด้วยเท้าข้างนั้น ๆ" ดังนี้ ฉันใดก็ดี แม้

บุคคลผู้มีความสุข (แต่ว่ามักทำบาป)๑ ภิกษุผู้บำเพ็ญกรุณากรรมฐาน

ก็พึงแผ่กรุณาได้อย่างนี้ว่า "บุคคลผู้น่าสงสารนี้ ในกาลบัดนี้เป็นผู้ถึง

ซึ่งความสุข จัดตรียม (สุขวัตถุ) ไว้อย่างดี๒ บริโภคโภคะ ก็จริงแล

แต่ทว่าเขาจะต้องได้เสวยทุกข์โทมนัสมิใช่น้อยในอบายทั้งหลาย ในไม่

ช้านี้ เพราะไม่มีกัลยาณกรรมที่ได้ทำไว้ด้วยทวารทั้ง ๓ แม้แต่ทวาร

เดียว" ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ครั้นกรุณาบุคคล (ผู้มีความสุข

แต่มักทำบาป) นั้นได้อย่างนี้แล้ว ต่อนั้นไปจึงยังกรุณาให้เป็นไปโดย

ลำดับ คือ ในบุคคลที่รักกัน ต่อนั้น ในบุคคลที่เป็นกลาง ๆ กัน แต่

๑. ตรงนี้น่าจะตก ปาปการี เพราะตอนนี้ กล่าวถึงคนมีความสุข แต่มักทำบาป ดังกล่าว

ไว้ต้นประโยค จึงเติมวงเล็บไว้

๒. สุสชฺชิโต มหาฎีกาแก้ว่า สุขานุภวเน สนฺนทโธ - แต่งไว้ครบในการเสวยความสุข (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 203

นั้น ในบุคคลที่เป็นศัตรูกัน โดยอุบาย (วิธี) เดียวกันนั้น แต่ถ้าปฏิฆะ

(ความขึ้งเคียด) ในศัตรูเกิดขึ้นแก่เธอ โดยนัยที่กล่าวมาในก่อนนั้นไซร้

ปฏิฆะนั้น เธอก็พึงระงับเสีย ตามนัยที่กล่าวในเมตตาภาวนานั่นเถิด

อนึ่ง ในการแผ่กรุณาวิธีนี้ พระโยคาวจรได้พบหรือได้ยินข่าวบุคคลผู้

ที่แม้ได้ทำความดีไว้ แต่มาประสบความเสื่อม มีความเสื่อมญาติ เสื่อม

เพราะเกิดโรค เสื่อมโภคทรัพย์เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็พึง

เจริญกรุณาได้ทุกประการอย่างนี้ว่า "บุคคลผู้นี้ แม้ไม่มีความเสื่อม

เหล่านั้น แต่ก็เป็นผู้ชื่อว่ามีทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะยังไม่ล่วงวัฏฏทุกข์----"

ดังนี้แล้ว จึงทำสีมสัมเภท (รวมแดน) ในชนทั้ง ๔ คือ ในตนเอง

ในบุคคลที่รัก ในบุคคลกลาง ๆ ในบุคคลที่เป็นศัตรู ตามนัยที่กล่าว

แล้วนั่นแหละ แล้วส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้นไป ก็ทำ

อัปปนาให้เจริญได้ด้วยอำนาจแห่งฌาน ๓ (ในจตุกนัย) และฌาน ๔

(ในปัญจกนัย) โดยนัยที่กล่าวแล้วในเมตตาภาวนานั่นแล

ส่วนในอรรถกถาอังคุตร กล่าวลำดับ (อารมณ์ของกรุณาภาวนา)

ไว้ (ดัง) นี้ว่า 'บุคคลที่เป็นศัตรู พระโยคาวจรพึงเจริญกรุณาให้ก่อน

เพื่อน ทำจิตให้อ่อนในบุคคลที่เป็นศัตรูนั้นได้แล้ว จึงเจริญกรุณาให้คน

ทุคตะ แต่นั้น ให้บุคคลที่รัก ต่อนั้นให้ตน' ดังนี้ ลำดับที่กล่าวใน

อรรถกถานี้ ไม่สมกับพระบาลี (ในวิภังค์) ที่มีคำว่า ทุคฺคตํ ทุรูเปตํ

(ยากแค้นแสนเข็ญ) เป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงเริ่มทำ

ภาวนาในกรุณานี้ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ แล้วทำสีมสัมเภทยัง

อัปปนาให้เจริญเถิด เบื้องหน้าแต่นั้น วิกุพพนา คือ กรุณาภาวนาเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 204

อโนธิโสผรณาด้วยอาการ ๕ เป็นโอธิโสผรณาด้วยอาการ ๗ เป็น

ทิสาผรณาด้วยอาการ ๑๐ นี้ และอานิสงส์ทั้งหลายมีข้อว่า หลับเป็นสุข

เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในเมตตาภาวนานั่นเทอญ

นี้เป็นกถาอย่างพิสดารในการเจริญกรุณา

[มุทิตาพรหมวิหาร]

พระโยคาวจรผู้จะเริ่มทำมุทิตาภาวนา ก็ไม่ควรเริ่มทำในบุคคลที่

เป็นโทษแก่ภาวนา มีบุคคลที่รักเป็นต้นก่อน เพราะว่า บุคคลที่รัก

หาเป็นปทัฏฐานแห่งมุทิตา ด้วยเพียงแต่ความเป็นที่รักเท่านั้นไม่ จะ

กล่าวไยถึงบุคคลที่เป็นกลาง ๆ และที่เป็นศัตรูเล่า (ส่วน) บุคคลที่มี

เพศเป็นข้าศึกกัน และบุคคลที่ทำกาลกิริยาแล้ว ก็มิใช่แดน (ที่จะเจริญ

มุทิตา) เหมือนกัน แต่บุคคลผู้เป็นสหายที่รักยิ่ง ซึ่งในอรรถกถา

เรียกว่าสหายนักเลง พึงเป็นปทัฏฐานได้* เพราะสหายนักเลงนั้น

เป็นคนบันเทิงเริงรื่นแท้ (พบกันก็) หัวเราะก่อน แล้วจึงพูดภายหลัง

เพราะเหตุนั้น สหายนักเลงนั้น พระโยคาวจรพึงแผ่มุทิตาให้ก่อนก็ได้

หรือมิฉะนั้น ได้พบหรือได้ยินข่าวบุคคลที่รักได้รับความสุขก็ดี มีสุขวตถุ

จัดเตรียมไว้ก็ดี บันเทิงอยู่ พึงยังมุทิตาให้เกิดขึ้นว่า "สัตว์ผู้นี้บันเทิง

หนอ โอ สาธุ ดีแท้" แท้จริง ท่านอาศัยอำนาจแห่งความข้อนี้แหละ

กล่าวไว้ในวิภังค์ว่า "อนึ่ง ภิกษุมีใจสหรคตกับมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศ

* โย ที่ โย อฏฺฐกถายํ นั้นเป็น สากังขคติ ของประโยคหน้า ไม่ใช่เป็น คู่ ย. ต. กับ

ประโยคหลัง จึงควรยกหัวตาปู ระหว่าง ปทฏฺฐานํ กับโย ออกเสีย จะได้ไม่ทำให้เขว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 205

หนึ่งอยู่อย่างไร คือ ภิกษุมีมุทิตาแผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เหมือน

อย่างเห็นบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักที่เจริญใจแล้ว พึงเป็นผู้บันเทิงใจ

ฉะนั้น*" ดังนี้

ถ้าแม้สหายนักเลง หรือบุคคลที่รักของเธอนั้น เป็นผู้ได้รับความ

สุขมาแล้วในอดีต แต่เดี๋ยวนี้เป็นทุคตะเข็ญใจไป ก็พึงระลึกถึงภาวะที่

เขาได้รับความสุขอันเป็นอดีตนั่นแหละ แล้วถือเอาอาการบันเทิงใจ

(ในอดีต) ของเขานั่นเอง ยังมุทิตาให้เกิดขึ้นว่า เขาผู้นั้น ในอดีต

ได้เป็นผู้มีโภคะมากอย่างนั้น มีบริวารมาอย่างนั้น บันเทิงใจอยู่เป็น

นิตย์อย่างนั้น หรือว่า ถือเอาอาการบันเทิงใจของเขาที่เป็นอนาคตก็ได้

ยังมุทิตาให้เกิดขึ้นว่า ในอนาคตเขาจักได้สมบัตินั้นอีก แล้วเที่ยวไปด้วย

ยานวิเศษทั้งหลาย มีคอช้าง หลังม้า และวอทองเป็นต้น

ครั้งยังมุทิตาให้เกิดขึ้นในบุคคลที่รักได้อย่างนี้แล้ว ทีนี้จึงยัง

มุทิตาให้เป็นไปในคนกลาง ๆ ต่อนั้น ในคนเป็นศัตรู ดังนี้โดยลำดับ

แต่ถ้าปฏิฆะในคนที่เป็นศัตรูเกิดขึ้นแก่เธอโดยนัยที่กล่าวในก่อนนั้นไซร้

ก็พึงระงับมันเสียตามนัยที่กล่าวในเมตตาภาวนานั้น แล้วทำสีมสัมเภท

โดยความมีจิตเสมอในชนทั้ง ๔ คือ ในบุคคล ๓ (ที่กล่าวแล้ว) นี้

และในตนเองด้วย จึงต้องเสพเจริญกระทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้นไป

ก็จะพึงยังอัปปนาให้เจริญได้ด้วยอำนาจแห่งฌาน ๓ (ในจตุกนัย) และ

ฌาน ๔ (ในปัญจกนัย) โดยนัยที่กล่าวแล้วในเมตตาภาวนานั้นแล

ต่อนั้นไป วิกุพพนา คือ มุทิตาภาวนาเป็นอโนธิโสผรณาด้วยอาการ ๕

* อภิ. วิ. ๓๕/๓๗๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 206

เป็นโอธิโสผรณาด้วยอาการ ๗ เป็นทิสาผรณาด้วยอาการ ๑๐ นี้ และ

อานิสงส์ทั้งหลาย มีข้อว่า หลับเป็นสุข เป็นอาทิ บัณฑิตพึงทราบตาม

นัยที่กล่าวแล้วในเมตตาภาวนานั้นเทอญ

นี้เป็นกถาอย่างพิสดารในการเจริญมุทิตา

อุเบกขาพรหมวิหาร

ส่วนพระโยคาวจารผู้ใคร่จะเริ่มทำอุเบกขาภาวนา ออกจากฌาน

ที่ ๓ หรือที่ ๔ อันคล่องแคล่ว* ตามที่เป็นติกฌานหรือจตุกฌาน ที่ตน

ได้ในภาวนา ๓ มีเมตตาภาวนาเป็นต้นแล้ว เห็นโทษในภาวนา ๔ ข้าง

ต้น เพราะเป็นภาวนาประกอบด้วยมนสิการอันเป็นไปโดยความรักใน

สัตว์ เนื่องด้วยความนึกแผ่ไปว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้ถึงซึ่งความ

สุขเถิด ดังนี้เป็นต้น ๑ เพราะเป็นภาวนาที่ท่องเที่ยวอยู่ใกล้ความยิน

ร้าย (ปฏิฆะ) และความยินดี ๑ เพราะเป็นภาวนาที่ยังหยาบ เหตุยัง

ประกอบด้วยโสมนัส ๑ และ (เห็น) อานิสงส์ในอุเบกขาโดยความเป็น

ธรรมละเมียดแล้ว บุคคลใดเป็นกลาง ๆ อยู่โดยปกติของเธอพึงวางเฉย

กะบุคคลนั้น ยังอุเบกขาให้เกิดขึ้น ต่อนั้นจึงยังอุเบกขาให้เกิดขึ้นใน

บุคคลประเภทอื่น ๆ มีบุคคลที่รักเป็นอาทิ สมคำที่กล่าวไว้ (ในวิภังค์)

* บทตติยาวิเสสนะข้างหน้า คือ ปฏิลทฺธติกจตุกฺกชฺฌาเนน กล่าวทั้งติกฌาน และจตุก-

ฌาน แล้วบทหลังจะมีกล่าวแต่ตติยฌานอย่างไรได้ ที่ถูกควรจะเป็น ปคุณตติยจตุตฺถชฺฌานา

ในที่นี้แปลเพิ่มตามที่เห็นว่าถูก ส่วนมหาฎีกาแก้.... ตติยชฺฌานา เป็นตติยพฺรหฺมวิหารชฺฌานโต

เห็นไม่สม เพราะไม่มีความตรงไหนส่อว่าจะพูดถึงเฉพาะมุทิตาในที่นี้เลย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 207

ว่า "อนึ่ง ภิกษุมีใจสหรคตกับอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่อย่างไร

คือ ภิกษุแผ่อุเบกขาไปยังสัตว์ทั้งปวง เหมือนอย่างได้เห็นบุคคลผู้หนึ่ง

ซึ่งเป็นที่พอใจก็มิใช่ ไม่พอใจก็มิใช่ แล้วพึงวางเฉยอยู่ฉะนั้น"* ดังนี้

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรครั้นยังอุเบกขาให้เกิดขึ้นได้ ในบุคคล

กลาง ๆ โดยนัยที่กล่าวแล้ว ทีนี้จึงยังอุเบกขาให้เกิดในบุคคลที่รัก แต่

นั้นในสหายนักเลง ต่อนั้นในคนที่เป็นศัตรูแล แล้วทำสีมสัมเภทโดย

(วางใจ) เป็นกลางในบุคคลทั้งปวงคือ ในบุคคล ๓ ตามที่กล่าวมานี้

และในตนเอง แล้วเสพนิมิตนั้นให้ยิ่ง เจริญนิมิตนั้น ทำนิมิตนั้นให้มาก

เมื่อพระโยคาวจรทำไปอย่างนั้น จตุตถฌาน (หรือปัญจมฌาน) จะ

เกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั้นแหละ

มีปัญหาว่า "ก็จตุตถฌาน (ที่ว่า) นี้ เกิดแก่พระโยคาวจรผู้

ได้ตติยฌานที่เกิดในกรรมฐานอื่น มีปฐวีกสิณเป็นต้นด้วยหรือ ?"

ตอบว่า "หาเกิดไม่"

ถามว่า "เพราะเหตุอะไร ?"

ตอบว่า "เพราะความที่มีอารมณ์ไม่สมกัน แต่เกิดแก่ผู้ได้

ตติยฌานที่เกิดในพรหมวิหารภาวนา มีเมตตาภาวนาเป็นต้นเท่านั้น

เพราะมีอารมณ์สมกัน"

ส่วนวิกุพพนา และความได้อานิสงส์ ต่อแต่นั้นไป บัณฑิตพึง

ทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว ในเมตตาภาวนานั้นเทอญ

นี้เป็นกถาอย่างพิสดารในการเจริญอุเบกขา

* อภิ. วิ. ๓๕/๓๗๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 208

ปกิณณกกถา

บัณฑิตได้รู้พรหมวิหาร อันพระพรหมอุตตมา-

จารย์ตรัสไว้เหล่านี้ดังนี้แล้ว พึงทราบ

ปกิณณกกถาในพรหมวิหารทั้งหลายนั่นอีกบ้าง

ต่อไปนี้

[วินิจฉัยโดยอรรถ]

ก็ในเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขานี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดย

อรรถก่อน (ดังต่อไปนี้)

ธรรมชาติใดย่อมรัก หมายความว่ามีเยื่อใย เหตุนั้น ธรรมชาติ

นั้นจึงชื่อว่าเมตตา (แปลว่าธรรมชาติผู้รัก) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั่น

มีอยู่ในมิตร หรือว่าย่อมเป็นไปแก่มิตร เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า

เมตตา (แปลว่าธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร)

ธรรมชาติใด เมื่อความทุกข์ของผู้อื่นมีอยู่ ย่อมทำความหวั่นใจ

แก่สาธุชนทั้งหลาย* เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า กรุณา (แปลว่า

ธรรมชาติผู้ทำความหวั่นใจ) นัยหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมซื้อเอาเสีย

คือเบียนเอาเสียซึ่งความทุกข์ของผู้อื่น หมายความว่า ทำทุกข์ของ

ผู้อื่นให้หายไปเสีย เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า กรุณา (แปลว่า

ธรรมชาติผู้ซื้อเอาทุกข์ของผู้อื่น) อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติใด อันสาธุชน

ย่อมทำไป คือเหยียดออกโดยการแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายผู้ได้รับทุกข์

* หมายความว่า ผู้ที่รู้จักหวั่นใจ เมื่อคนอื่นได้ทุกข์ ก็มีแต่สาธุชนเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 209

เหตุนั้นธรรมชาตินั้น จึงชื่อกรุณา (แปลว่าธรรมชาติที่เขาทำออกไป)

สาธุชนทั้งหลาย ย่อมบันเทิงต่อบุคคลผู้เพียบพร้อมไปด้วย

สมบัตินั้น ด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า มุทิตา

(แปลว่า ธรรมชาติเป็นเหตุบันเทิงแห่งสาธุชน) นัยหนึ่งธรรมชาติ

นั้นบันเทิงในตัวเอง เหตุนั้นจึงชื่อมุทุตา (แปลว่า ธรรมชาติ

อันบันเทิง) อีกนัยหนึ่ง คำว่ามุทิตานั้น ได้แก่กิริยาบันเทิงเท่านั้น

เอง (นัยนี้ มุทิตา แปลว่า ความบันเทิง)

ธรรมชาติใดวางเฉย โดยละเสียซึ่งความขวนขวาย ในการ

มนสิการมีมนสิการว่า "(สพฺเพ สตฺตา) อเวรา โหนฺตุ" เป็นต้น

และโดยเข้าถึงความ (วางใจ) เป็นกลางเสีย เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น

จึงชื่อว่า อุเบกขา (แปลว่า ธรรมชาติผู้วางเฉย)

[วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น]

ส่วนวินิจฉัยโดยประการอื่นมีลักษณะเป็นต้น ในพรหมวิหาร-

ธรรม ๔ นั้น พึงทราบ (ต่อไปนี้)

เมตตา มีความเป็นไปโดยอาการ (คิด) เกื้อกูล* (แก่สัตว์

ทั้งหลาย) เป็นลักษณะ มีอันนำเอาประโย

(คือเป็นกิจ) มีอันนำความอาฆาตออกไปเสียได้เป็นเครื่องปรากฏ

(คือเป็นผล ?) มีอันมองเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่าเจริญใจเป็น

เหตุใกล้ ความรำงับไปแห่งพยาบาท (ด้วยอำนาจวิกขัมภนปหาน)

เป็นสมบัติ (คือคามถูกต้อง) แห่งเมตตานั่น ความเกิดขึ้นแห่ง

* มหาฎีกาและให้แปลอีกนัยหนึ่งว่า มีอันยังอาการเกื้อกูลให้เป็นไปเป็นลักษณะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 210

สิเนหา (คือกลายเป็นความรักด้วยตัณหาไป) เป็นวิบัติ (คือวิปริตไป)

แห่งเมตตานั่น๑

กรุณา มีความเป็นไปโดยอาการ (คิด) เปลื้องทุกข์ (ของ

สัตว์ทั้งหลาย) เป็นลักษณะ มีอันทนไม่ได้ต่อความทุกข์ของผู้อื่น

เป็นรส มีความไม่เบียดเบียน (สัตว์) เป็นเครื่องปรากฏ มีอันมอง

เห็นความที่สัตว์ผู้ถูกทุกข์ครอบงำทั้งหลายเป็นผู้อนาถ เป็นเหตุใกล้

ความรำงับไปแห่งวิหิงสา (ด้วยอำนาจวิกขัมภนปหาน) เป็นสมบัติ

แห่งกรุณานั้น ความเกิดขึ้นแห่งความโศก (คือกลายเป็นโศกไป)

เป็นวิบัติแห่งกรุณานั้น๒

มุทิตา มีความบันเทิงใจ (ในสมบัติของผู้อื่น) เป็นลักษณะ

มีความไม่หึงหวงเป็นรส มีอันกำจัดเสียได้ซึ่งความริษยา (ใน

สมบัติของผู้อื่น) เป็นเครื่องปรากฏ มีอันมองเห็นสมบัติแห่งสัตว์

ทั้งหลายเป็นเหตุใกล้ ความรำงับไปแห่งอรติ (ด้วยอำนาจวิกขัมภน-

ปหาน) เป็นสมบัติแห่งมุทิตานั้น ความเกิดขึ้นแห่งความรื่นเริง

(คือกลายเป็นสนุกรื่นเริงด้วยกิเลสไป) เป็นวิบัติแห่งมุทิตานั้น

อุเบกขา มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลาง ในสัตว์ทั้งหลาย

เป็นลักษณะ มีอันมองเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นรส

มีอันรำงับไปแห่งความยินร้ายและความยินดี เป็นเครื่องปรากฏ มี

อันเห็จกัมมัสสกตา ที่เป็นไปโดยนัยว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ

๑. ท่านว่า ราคะมันลวงมาโดยหน้าเมตตาได้

๒. - ๓. ความโศกลวงมาโดยหน้ากรุณาได้ ความสนุกรื่นเริงก็ลวงมาโดยหน้ามุทิตาได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 211

ตน สัตว์เหล่านั้น จักเป็นผู้ถึงซึ่งความสุขก็ดี จักพ้นจากทุกข์ก็ดี

จักไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้รับแล้วก็ดี ตามความพอใจของกรรม ดังนี้

เป็นเหตุใกล้ ความรำงับไปแห่งความยินร้ายและความยินดี (ด้วย

อำนาจวิกขัมภนปหาน) เป็นสมบัติแห่งอุเบกขานั้น ความเกิดขึ้น

แห่งอญาณุเบกขา (ความเฉยโดยโง่) เป็นคหสิตะ (อิงกามคุณ)

เป็นวิบัติแห่งอุเบกขานั้น

[ประโยชน์ของพรหมวิหาร]

ก็แลวิปัสนาสุข (ความสุขในวิปัสนา) ก็ดี ภพสมบัติ (ความ

ได้กำเนิดในรูปภพ ?) ก็ดี เป็นประโยชน์ทั่วไป ความกำจัดปฏิปักข-

ธรรมมีพยาบาทเป็นต้นได้ เป็นประโยชน์เฉพาะข้อ แห่งพรหมวิหาร

ทั้ง ๔ นั่น จริงอยู่ ในพรหมวิหาร ๔ นั่น เมตตามีการกำจัด

พยาบาทได้เป็นประโยชน์ ๓ ข้อนอกนี้ ก็มีการกำจัดวิหิงสา อรติ

และราคะเป็นประโยชน์๑ (ตามลำดับ) สมคำพระสาริบุตรกล่าวไว้ว่า

"ดูกรอาวุโส สิ่งซึ่งเป็นทางออกไปแห่งพยาบาท ก็คือเมตตเจโต-

วิมุติ สิ่งซึ่งเป็นทางออกไปแห่งวิเหสา ก็คือกรุณาเจโตวิมุติ สิ่งซึ่ง

เป็นทางออกไปแห่งอรติ ก็คือมุทิตาเจโตวิมุต สิ่งซึ่งเป็นทางออกไป

แห่งราคะ ก็คืออุเบกขาเจโตวิมุติ"๒ ดังนี้

๑. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น อหึสา---- ปฏิฆาตปฺปโยชนา คำ อหึสา นั้นผิด

ที่ถูกเป็น วิหึสา เพราะคำทั้ง ๓ คือ วิหึสา อรติ ราคะ เป็นฉัฏฐีกรรมในปฏิฆาตะ

๒. ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๖๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 212

[ข้าศึกใกล้และไกลของพรหมวิหาร]

อนึ่ง ในพรหมวิหาร ๓ นั่น แต่ละข้อมีข้าศึกข้อละ ๒ ๆ โดย

เป็นข้าศึกใกล้และข้าศึกไกล ความพิสดารว่า ราคะเป็นข้าศึกใกล้ของ

เมตตาพรหมวิหาร เพราะความที่เมตตากับราคะมีส่วนเสมอกัน โดย

มองดูแต่ส่วนที่เป็นคุณ ดุจข้าศึกของคนที่มันเที่ยวอยู่ใกล้ ๆ มันย่อม

ได้ช่องโดยง่าย เพราะเหตุนั้น เมตตา พระโยคาวจรต้องรักษาให้ดี

(ให้ไกล) จากราคะ (ส่วน) พยาบาทเป็นข้าศึกไกล (ของเมตตา)

เพราะเมตตากับพยาบาทมี (สภาพ) ส่วนที่เป็นของตนไม่เหมือนกัน

ดุจข้าศึกของคนที่มันซุ่มอยู่ในป่าดงมีภูเขาเป็นต้น เพราะฉะนั้น

พระโยคาวจรจึงไม่ต้องกลัวแต่พยาบาทนั้น เจริญเมตตาไปเถิด อัน

ข้อที่ว่าบุคคลจักเจริญเมตตาด้วย ทำอาการโกรธไปด้วย นั่นเป็นอฐานะ

(คือเป็นไปไม่ได้)

เคหสิตโทมนัส อันมา (ในบาลี) โดยนัยว่า "เมื่อบุคคล

เห็นความไม่ได้ซึ่งรูปทั้งหลายที่พึงรู้ทางจักษุ อันน่าปรารถนาน่าใคร่น่า

เจริญใจน่ารื่นรมย์ใจ ประกอบไปด้วยโลกามิส โดยความ (เสียใจว่า)

ไม่ได้ก็ดี เมื่อระลึกถึงรูปารมณ์เห็นปานนั้นที่ไม่เคยได้มาก่อน ที่ล่วง

ไปแล้ว ที่ดับไปแล้ว ที่แปรไปแล้วก็ดี โทมนัสเกิดขึ้น โทมนัสใด

มีรูปอย่างนี้ โทมนัสนั้น เรียกว่า เคหสิตโทมนัส (ความเสียใจอิง

กามคุณ)"* ดังนี้เป็นต้น เป็นข้าศึกใกล้ของกรุณาพรหมวิหาร เพราะ

กรุณากับเคหสิตโทมนัสมีส่วนเสมอกัน โดยมองดูแต่วิบัติ (คือส่วน

* ม. อุ. ๑๔/๔๐๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 213

เสีย) (ส่วน) วิเหสา เป็นข้าศึกไกล (ของกรุณา) เพราะมี (สภาพ)

ส่วนที่เป็นของตนไม่เหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรจึงไม่ต้อง

กลัวแต่วิเหสานั้น เจริญกรุณาไปเถิด อันข้อที่ว่าบุคคลจักทำความ

กรุณาด้วย จักเบียดเบียน (สัตว์) ด้วยเครื่องประหารมีฝ่ามือเป็นต้น

ด้วย นั่นเป็นอฐานะ (คือเป็นไปไม่ได้)

เคหสิตโสมนัสอันมา (ในบาลี) โดยนัยว่า "เมื่อบุคคลเห็น

ความได้ซึ่งรูปทั้งหลายที่พึงรู้ทางจักษุ อันน่าปรารถนาน่าใคร่น่าเจริญ

ใจน่ารื่นรมย์ใจ ประกอบไปด้วยโลกามิส โดยความ (ดีใจว่า) ได้ก็ดี

เมื่อระลึกถึงรูปารมณ์เห็นปานนั้น ที่เคยได้มาก่อน ที่ล่วงไปแล้ว

ที่ดับไปแล้ว ที่แปรไปแล้วก็ดี โสมนัสเกิดขึ้น โสมนัสใดมีรูปอย่างนี้

โสมนัสนั้น เรียกว่าเคหสิตโสมนัส (ความดีใจอิงกามคุณ)"๑ ดังนี้

เป็นต้น เป็นข้าศึกใกล้ของมุทิตาพรหมวิหาร เพราะมุทิตากับเคหสิต-

โสมนัสมีส่วนเสมอกัน โดยมองดูแต่สมบัติ (คือส่วนได้) ส่วน

อรติเป็นข้าศึกไกล (ของมุทิตา) เพราะมี (สภาพ) ส่วนที่เป็น

ของตนไม่เหมือนกัน เพระเหตุนั้น พระโยคาวจรจึงไม่ต้องกลัวแต่

อรตินั้น เจริญมุทิตาไปเถิด อันข้อที่ว่า บุคคลจักเป็นผู้บันเทิงใจ

(ในความได้ดีของผู้อื่น) ด้วยจักหน่ายในเสนาสนะสงัดหรือในอธิกุศล-

ธรรมทั้งหลาย๒ด้วย นั่นเป็นอฐานะ (คือเป็นไปได้)

๑. ม. อุ. ๑๔/๔๐๓

๒. มหาฎีกาว่า อธิกุศลธรรม ได้แก่สมถะวิปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 214

ส่วนเคหสิตอญาณุเบกขา อันมา (ในบาลี) โดยนัยว่า

"เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อุเบกขา (ความรู้สึกเฉย) เกิดขึ้นแก่บุถุชน

ผู้โง่เขลา ผู้เป็นคนกิเลสหนา ยังไม่เป็นโอธิชินะ (ผู้ชนะแดน)

ไม่เป็นวิปากชินะ (ผู้ชนะวิบาก)๑ ไม่เห็นโทษ (ในความลุ่มหลง ?)

มิได้สดับ (อริยธรรม) อุเบกขาใดมีรูปอย่างนี้ อุเบกขานั้นย่อม

ไม่ล่วงรูปไปได้๒ เพราะเหตุนั้น อุเบกขานั้นจึงเรียกว่า เคหสิตา

(อิงกาม)" ดังนี้เป็นต้น เป็นข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร

เพราะอุเบกขาพรหมวิหารกับเคหสิตอญาณุเบกขา มีส่วนเสมอกันโดย

ไม่วิจารโทษและคุณ (เช่นกัน) ราคะและปฏิฆะ เป็นข้าศึกไกล

(ของอุเบกขา) เพราะมี (สภาพ) ส่วนที่เป็นของตนไม่เหมือนกัน

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรจึงไม่ต้องกลัวแต่ระคะและปฏิฆะนั้น

๑. อโนธิชิน และ อวิปากชิน เป็นศัพท์แปลก อโนธิชิน นั้น ตามมหาฎีกาท่านแบ่ง

แดนเป็น ๒ คือ แดนกิเลสเรียก กิเลโสธิ แดนมรรค เรียกว่า มคฺโคธิ อโนธิชิน

ท่านให้อรรถาธิบายว่า ยังไม่ชนะแดนกิเลสด้วยแดนมรรค ก็หมายความว่า ยังตกอยู่ใน

แดนกิเลสนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง คำโอธิชิน หมายเอาพระเสขะ เพราะท่านชนะกิเลสเป้น

แดน ๆ ขึ้นไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น อโนธิชิน ก็แปลว่า ผู้ยังมิได้เป็นพระเสขะ

ความก็คือยังเป็นบุถุชนนั่นเอง

อวิปากชิน ท่านให้อรรถาธิบายว่า ยังไม่ชนะวิบากที่อำนวยให้เป็นไปเกินกว่าภพ

ที่ ๗ ก็แปลว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ซึ่งก็ได้ความว่ายังเป็นบุถุชนนั่นแหละ อีกนัยหนึ่ง

ท่านว่า วิปากชิน หมายเอาพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ชนะวิบากถึงที่สุดไม่ปฏิสนธิอีก

เพราะฉะนั้น อวิปากชิน ก็ได้แก่ยังไม่เป็นพระอเสขะ นัยนี้ไม่สมกับความในที่นี้ เพราะ

ในที่นี้พระบาลีจำกัดความเฉพาะบุถุชนที่โง่ ๆ เท่านั้น ที่ว่ายังไม่เป็นพระอเสขะ ความแล่น

ไปว่า เป็นพระเสขะแล้วก็ได้

๒. มหาฎีกาขยายความว่า ไม่ล่วงกิเลสอันมีรูปเป็นอารมณ์ไปได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 215

เจริญอุเบกขาไปเถิด อันข้อที่ว่าบุคคลจักอุเบกขาด้วย จักยินดีและ

ยินร้ายไปด้วย นั่นเป็นอฐานะ (คือเป็นไปไม่ได้)

[เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด อารมณ์และการขยายอารมณ์

แห่งพรหมวิหาร]

อนึ่ง พรหมวิหารทุกข้อนั่น มีกัตตุกามตาฉันทะ (ฉันทะคือ

ความใคร่จะทำ) เป็นเบื้องต้น มีการข่มนิวรณ์ได้เป็นต้น เป็นท่าม

กลาง มีอัปปนาเป็นที่สุด ด้วยอำนาจบัญญัติธรรม จัดว่ามีเอกสัตว์

เป็นอารมณ์ หรือว่า (โดยสมมติธรรม ?) มีอเนกสัตว์เป็นอารมณ์

เมื่อถึงอุปจารหรืออัปปนาแล้ว การขยายอารมณ์จึงมีได้

ในการขยายอารมณ์นั้น บัณฑิตพึงทราบลำดับการขยาย (ดัง

ต่อไป) นี้ เหมือนอย่างชาวนาผู้ฉลาดกำหนดที่ ที่จะพึงไถแล้วจึง

ไถไปฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น ชั้นแรกทีเดียวพึงกำหนดเอา

เรือน*หลังหนึ่ง แล้วเจริญเมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายในเรือนนั้น โดย

นัยว่า "ขอสัตว์ทั้งหลายในเรือนนี้จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด" ดังนี้เป็นต้น

ทำจิตให้อ่อน ควรแก่การในภาวนา เฉพาะเรือนหลังหนึ่งนั้นแล้ว

จึงกำหนด ๒ หลัง ต่อนั้นจึงกำหนด ๓-๔-๕-๖-๗-๘-๘-๙-๑๐ หลัง

(แล้ว) ถนนสายหนึ่ง ครึ่งหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่ง ชนบท (จังหวัด)

หนึ่ง ราชอาณาจักรหนึ่ง ทิศหนึ่ง โดยนัยดังนี้ไปจนกระทั่งจักรวาล

หนึ่ง หรือว่าจะพึงเจริญเมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายในที่นั้น ๆ ยิ่งกว่านั้น

* อาวาสในที่นี้ มิได้หมายถึงวัด แต่หมายถึงที่อยู่ของคนเป็นหลัง ๆ เพราะต่อไปมีกล่าวถึง

ถนนสายหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง กล่าวใหญ่ขึ้นโดยลำดับ จึงแปลเอาความว่า 'เรือน'

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 216

ไปอีกก็ได้ พรหมวิหารที่เหลือมีกรุณาเป็นต้น ก็พึงเจริญนัยเดียวกัน

นั้นแล นี้เป็นลำดับแห่งการขยายอารมณ์ในพรหมวิหารภาวนานั่น

[อุเบกขาพรหมวิหารเป็นผลลัพธ์แห่งพรหมวิหาร ๓ ข้างต้น]

อนึ่ง อารูปเป็นผลลัพธ์แห่งกสิณทั้งหลาย เนวสัญญนาสัญญาย-

ตนะเป็นผลลัพธ์แห่งสมาธิทั้งหลาย ผลสมาบัติเป็นผลลัพธ์แห่งวิปัสนา

นิโรธสมาบัติเป็นผลลัพธ์แห่งสมถะวิปัสนาฉันใด อุเบกขาพรหมวิหาร

ในพรหมวิหารภาวนานี้ ก็เป็นผลลัพธ์แห่งพรหมวิหาร ๓ ข้างต้นฉันนั้น

เพราะเหมือนว่ายังมิได้ตั้งเสา ยังมิได้ยกชื่อและจันทันแล้ว ก็ไม่อาจ

วางจั่วและกลอนในอากาศได้ฉันใด เว้นตติยฌานในพรหมวิหาร ๓

ข้างต้นเสีย ก็ไม่อาจทำ (อุเบกขา) จตุตถฌานให้เกิดได้ฉันนั้นแล

[เพาะเหตุไรจึงเรียกพรหมวิหาร เพราะอะไรจึงมา ๔ ฯลฯ]

ในที่นี้ปัญหาพึงมีว่า ก็เพราะเหตุอะไร เมตตา กรุณา มุทิตา

อุเบกขานั่น ท่านจึงเรียกพรหมวิหาร ข้อ ๑ เพราะอะไรจึงมี ๔ ข้อ ๑

อะไรเป็นลำดับแห่งคุณชาตเหล่านั้น ข้อ ๑ เหตุไฉน ในอภิธรรม

ท่านจึงเรียกอัปปมัญญา ข้อ ๑ ข้าพเจ้าขอเฉลย (ดังต่อไปนี้)

ข้อแรก ความเป็นพรหมวิหาร ในคุณชาตมีเมตตาเป็นอาทินั่น

พึงทราบ (ว่าเป็น) เพราะอรรถว่าเป็นธรรมประเสริฐ และ

เพราะความเป็นธรรมหาโทษมิได้ แท้จริง ธรรมเหล่านั้น จัดว่าเป็น

วิหารธรรมอันประเสริฐ เพราะภาวะที่เป็นความปฏิบัติชอบในสัตว์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 217

ทั้งหลาย๑ อนึ่ง พรหมทั้งหลายเป็นผู้มีจิตหาโทษมิได้อยู่๒ ฉันใด พระ

โยคีทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรมเหล่านั้น ก็เป็นผู้ (มีจิต)

เสมอด้วยพรหมอยู่แท้ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น ท่านจึง

เรียกว่าพรหมวิหาร เพราะอรรถว่าเป็นธรรมประเสริฐประการ ๑

เพราะความเป็นธรรมหาโทษมิได้ประการ ๑

ส่วนคำ (ต่อไป) นี้ เป็นคำแก้ปัญหา (อีก ๓ ข้อ) มีข้อว่า

อนึ่ง เพราะอะไรจึงมี ๔ เป็นต้น

ภาวนามีเมตตาเป็นอาทิเป็น ๔ เพราะอำนาจแห่งกิจ

มีความเป็นทางแห่งวิสุทธิเป็นต้น ส่วนลำดับแห่ง

ภาวนาเหล่านั้น เป็นเพราะอำนาจแห่งอาการมีความ

คิดเกื้อกูลเป็นต้น อนึ่ง เพราะเหตุที่ภาวนาเหล่า

นั้นเป็นไปในอารมณ์ (คือสัตว์) หาประมาณมิได้

จึงชื่ออัปปมัญญา

ก็เพราะในภาวนา ๔ ประการนั้น เมตตาเป็นทางหมดจดแห่ง

บุคคลผู้มากด้วยพยาบาท กรุณาเป็นทางหมดจดแห่งบุคคลผู้มาด้วย

วิเหสา มุทิตาเป็นทางหมดจดแห่งบุคคลผู้มากด้วยอรติ อุเบกขาเป็น

ทางหมดจดแห่งบุคคลผู้มากด้วยราคะ และเพราะเหตุที่การมนสิการ

๑. มหาฎีกาว่า กรรมฐานอื่น ๆ มีแต่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ส่วนกรรมฐานนี้เป็นปฏิบัติ

เพื่อประโยชน์ผู้อื่น โดยภาวนาว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุขเถิด ดังนี้เป็นต้น จึงว่าเป็น

ความปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย

๒. มหาฎีกาว่า ผู้จะไปเกิดเป็นพรหมนั้น บำเพ็ญฌาน จิตปราศจากนิวรณ์แล้วจึงได้ไปเกิด

ในพรหมโลก แล้วก็เป็นผู้ที่มีจิตปราศจากนิวรณ์เช่นนั้นไปจนตลอดอายุของพรหม เพราะเหตุนั้น

จึงว่าพรหมทั้งหลายเป็นผู้มีจิตหาโทษมิได้อยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 218

ไปในสัตว์ทั้งหลาย ก็มีอยู่ ๔ ทางเท่านั้น โดยเป็นอาการ (คิด)

หาประโยชน์ให้ (คิด) บำบัดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ยินดีในความได้ดี

และความไม่คิดคำนึงถึง (คือเพิกเฉย) อนึ่ง เพราะอุปมาเหมือน

มารดา ในบุตร ๔ คน ที่ (คน ๑) เป็นเด็กเล็ก (คน ๑) ป่วย

(คน ๑) เป็นหนุ่ม และ (คน ๑ ออกเรือนไป) ประกอบการงาน

ส่วนตัว ย่อมเป็นผู้ปรารถนาความเจริญเติบโต เพื่อบุตรคนเล็ก

ปรารถนาบำบัดไข้เพื่อบุตรที่ป่วย ปรารถนาความยั่งยืนแห่งสมบัติ

ความเป็นหนุ่ม เพื่อบุตรที่เป็นหนุ่ม ไม่ขวนขวายไม่ว่าในทางไร ๆ

เพื่อบุตรที่ (ออกเรือนไป) ประกอบการงานส่วนตัวแล้ว ฉันใด แม้

พระโยคาวจรก็พึงเป็นผู้มีอัปปมัญญาเป็นวิหารธรรม ด้วยอำนาจเจริญ

ธรรม ๔ มีเมตตาในสัตว์ปวงเป็นอาทิ ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น

อัปปมัญญา ก็เป็น ๔ เพราะอำนาจแห่งกิจมีความเป็นทางแห่งวิสุทธิ

เป็นต้นนี้เหมือนกัน

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญอัปปมัญญานั่น

(ครบ) ทั้ง ๔ ทีแรกพึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหมด โดยยังอาหาร (คิด)

เกื้อกูลให้เป็นไป ภาวนาอันมีความเป็นไปแห่งอาการ (คิด) เกื้อกูล

เป็นลักษณะนั้นเองเป็นเตตา แต่นั้นได้พบก็ดี ได้ยินก็ดี ใคร่ครวญเห็น

ก็ดี ซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาแต่ประโยชน์เกื้อกลอย่างนี้แล้วยัง

ถูกทุกข์ครอบงำ พึงปฏิบัติโดยยังอาการ (คิด) บำบัดทุกข์ให้เป็นไป

ภาวนาอันมีความเป็นไปแห่งอาการ (คิด) บำบัดทุกข์เป็นลักษณะ

นั้นเองเป็นกรุณา ทีนี้ ได้เห็นความได้ดีแห่งสัตว์เหล่านั้นผู้ปรารถนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 219

ประโยชน์และปรารถนาความปราศจากทุกข์อย่างนั้นแล้ว พึงปฏิบัติโดย

ยังใจให้บันเทิงในความได้ดี (ของเขา) ภาวนาอันมีความบันเทิง

ใจเป็นลักษณะนั้นเองเป็นมุทิตา ส่วนต่อนั้นไปพึงปฏิบัติโดยอาการ

เป็นกลาง กล่าวคือความวางเฉย เพราะความไม่มีกิจอันควรจะทำ

ภาวนาอันมีความเป็นไปแห่งอาการเป็นกลางเป็นลักษณะนั้นเองเป็น

อุเบกขา เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ก็เพราะอำนาจแห่งอาการมี

(คิด) เกื้อกูลเป็นต้นนี้ ลำดับนี้ คือ เมตตา ตรัสเป็นข้อแรก แล้วกรุณา

แล้วมุทิตา แล้วอุเบกขา จึงเป็นลำดับของอัปปมัญญา ๔ นั้น๑

อนึ่ง เพราะเหตุที่เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขานั่นทุกข้อ ย่อม

เป็นไปในอารมณ์หาประมาณมิได้ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ

เป็นอารมณ์ของภาวนาเหล่านั้น เพราะแม้สำหรับเอกสัตว์ (สัตว์ผู้เดียว)

ภาวนาเหล่านั้น ก็เป็นไปโดยอำนาจที่แผ่ไปทั่ว (ทั้งร่าง) มิได้ถือเอา

ประมาณอย่างนี้ว่า ภาวนามีเมตตาเป็นอาทิ จะต้องเจริญในที่ (ส่วน

หนึ่งของร่างกาย) เท่านี้๒ ดังนี้แล เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า

ภาวนามีเมตตาเป็นอาทิเป็น ๔ เพราะอำนาจแห่งกิจ

มีความเป็นทางแห่งวิสุทธิเป็นต้น ส่วนลำดับแห่ง

๑. แปลอีกนัยว่า เพราะเหตุนั้น พึงทราบลำดับของอัปปมัญญาเหล่านั้น ดังนี้ว่า พระผู้มี

พระภาคเจ้าตรัสเมตตาก่อน แล้วจึงตรัสกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ในลำดับ เพราะ

อำนาจแห่งอาการมีอันนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นต้นนี้

๒. มหาฎีกาช่วยชี้ตัวอย่างว่า เช่นเจริญอุทธุมาตกอสุภ ก็ให้ถือเอานิมิตตรงที่ ๆ ขึ้นมาก ๆ

ที่ ๆ ขึ้นไม่มาก ก็ไม่ให้ถือเอา ส่วนอัปปมัญญาภาวนานี้ แม้จะแผ่ไปในสัตว์ผู้เดียว ก็มิได้

เจาะจงแผ่ให้อวัยวะส่วนไหน แผ่เป็นสกลผรณา (คือแผ่ไปทั่วทั้งร่าง) จึงนับเข้าว่าเป็น

อัปปมัญญาเช่นกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 220

ภาวนาเหล่านั้น เป็นเพราะอำนาจแห่งอาการมีความ

คิดเกื้อกูลเป็นต้น อนึ่ง เพราะเหตุที่ภาวนาเหล่า

นั้นเป็นไปในอารมณ์ (คือสัตว์) หาประมาณมิได้

จึงชื่ออัปปมัญญา

[๓ พรหมวิหารข้างต้นสำเร็จได้เพียงตติยฌาน]

ก็แลในภาวนาเหล่านั้น ที่แม้มีลักษณะเป็นอันเดียวกันโดยความ

ที่มีอารมณ์หาประมาณมิได้ (ด้วยกัน) อย่างนี้ ภาวนา ๓ ข้างต้นก็

เป็นติกฌานิกา เป็นไปเพียงในฌาน ๓ ในจตุกนัย) และหรือเป็นจตุก-

ฌานิกา (เป็นไปเพียงในฌาน ๔ ในปัญจกนัยป เท่านั้น เพราะ

เหตุอะไร เพราะพรากจากโสมนัสไม่ได้ ความพรากจากโสมนัส

ไม่ได้มีแก่ภาวนาเหล่านั้น เพราะเหตุอะไร เพราะภาวนาเหล่านั้น

เป็นทางออกไปแห่งปฏิปักขธรรมมีพยาบาทเป็นต้น* ซึ่งเกิดจากโทมนัส

ส่วนภาวนาข้อสุดท้ายเป็นอวเสสเอกฌานิกา (เป็นไปในฌานเดียวที่

เหลือ คือจตุตถฌาน ในจตุกนัย หรือปัญจมฌาน ในปัญจกนัย)

เพราะเหตุอะไร เพราะประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา แท้จริง

อุเบกขาพรหมวิหาร อันเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

เว้นอุเบกขาเวทนาเสียย่อมเป็นไปไม่ได้แล

ส่วนบุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า เมตตา กรุณา และมุทิตาเป็นทางออกไปแห่งพยาบาท

วิหึสา และอรติ อันเกิดแต่โทมนัสหรือเจือด้วยโทมนัส เพราะฉะนั้น เมื่อพยาบาท วิหึสา

และอรติออกไปแล้ว โทมนัสก็ระงับ กลับเป็นโสมนัส (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 221

ไว้ในอัฏฐกนิบาต (อังคุตรนิกาย) โดยความไม่แปลกกันในอัปปมัญญา

ทั้ง ๔ ว่า 'ดูกรภิกษุ เมื่อนั้นเธอพึงเจริญสมาธินี้อันมีทั้งวิตกทั้งวิจาร

บ้าง พึงเจริญสมาธินี้อันไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง พึงเจริญสมาธินี้อันไม่มี

วิตกไม่มีวิจารบ้าง พึงเจริญสมาธินี้ อันมีปีติบ้าง พึงเจริญสมาธินี้อันไม่มี

ปีติบ้าง พึงเจริญสมาธินี้ อันประกอบไปด้วยความสำราญ (คือสุข) บ้าง

พึงเจริญสมาธินี้ อันประกอบไปด้วยอุเบกขาบ้าง"๑ ดังนี้ เพราะเหตุ

นั้นอัปปมัญญาทั้ง ๔ ก็เป็นจตุกฌานิกา (เป็นไปในฌานทั้ง ๔ ใน

จตุกนัย) หรือเป็นปัญจกฌานิกา (เป็นไปในฌานทั้ง ๕ ในปัญจกนัย

เท่า ๆ กัน)

บุคคลนั้น เป็นผู้อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวว่า "ท่านอย่าพูด

อย่างนั้น เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ภาวนาทั้งหลายมีกายานุปัสนา

เป็นต้น ก็จะพึงเป็นจตุกฌานิกาหรือปัญจกฌานิกา (ด้วยละซิ)๒

และในภาวนามีเวทนานุปัสนาเป็นอาทิ แม้แต่ปฐมฌานก็ไม่มี จะ

กล่าวอะไรถึงทุติยฌานเป็นต้นเล่า เพราะเหตุนั้นท่านอย่าได้ถือเอาแต่

เพียงเงา (ของสมาธิ) ตามพยัญชนะแล้วกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

อันพระพุทธวจนะเป็นคำลึกซึ้ง พระพุทธวจนะนั้นท่านควรเข้าไปหา

อาจารย์ (ตามอาจารย์ให้อธิบายแล้ว) ถือเอาโดยความหมาย ก็แล

ความ (ต่อไป) นี้ เป็นความหมายในพระพุทธจนะนั้น "นัยว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิภิกษุ (รูปหนึ่ง) ผู้ซึ่งกราบทูลขอพระ

๑. องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๑๑๐

๒. ซึ่งความจริงไม่เป็น เพราะกายานุปัสนาเป็นต้นนั้น ตรัสเป็นทางวิปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 222

ธรรมเทศนาอย่างนี้ว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ สาธุ ขอ

พระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยสังเขปเถิด

ข้าพระองค์ได้ฟังธรรมไรเล่า จึงพึงเป็นผู้หลีกออก (จากหมู่) ไป ไม่

ประมาท ทำความเพียรเด็ดเดี่ยวอยู่ผู้เดียว"๑ ดังนี้ ว่า "ก็อย่างนี้แหละ

โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้เชิญเรา (ให้แสดงธรรม) เทียว แต่ครั้น

เราแสดงธรรมแล้วก็ยังสำคัญเห็นเราเป็นผู้ที่พวกเขาจะพึงติดตาม (รบ

กวน) อยู่นั่นเอง" ดังนี้ เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นแม้ฟังธรรมครั้งก่อน

แล้วก็ยังอยู่ที่นั่นเอง ไม่ปรารถนาจะ (ไป) ทำสมณธรรม (แต่)

เพราะภิกษุนั้นถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัต เพราะฉะนั้น เมื่อ

จะทรงโอวาทเธอ จึงตรัสอีกว่า "ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้น ในข้อนี้เธอ

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'จิตของเราจักเป็นจิตหยุดตั้งมั่นอยู่ภายใน และ

ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องไม่ยึดจิตตั้งอยู่' ดูกร

ภิกษุเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล" ก็แลดูมูลสมาธิ (สมาธิขั้นมูล) อำนาจ

อันได้แก่อาการที่พอเป็นจิตเตกัคคตา๒ โดยอำนาจที่จิตหยุดอยู่ภายในตน

เป็นอันตรัสแก่ภิกษุนั้นด้วยพระโอวาทข้อนี้ ต่อนั้น เพื่อที่จะทรงแสดง

พระพุทธประสงค์ว่า ภิกษุนั้นไม่ควรถึงซึ่งความพอใจด้วยสมาธิเพียงเท่า

นั้นแล้วทำ (มูล) สมาธินั้นให้เจริญดังต่อไปนี้ จึงตรัสการเจริญ (สมาธิ

ต่อไป) โดยทางเมตตา แก่ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุ เมื่อใด

จิตของเธอเป็นจิตหยุดตั้งมั่นอยู่ในภายใน และธรรมทั้งหลายอันเป็น

๑. องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๓๐๘

๒. มหาฎีกาว่า ได้แก่ขณิกสมาธิ ที่เรียกว่า มูลสมาธิ ก็เพราะเป็นมูลแห่งสมาธิวิเสส

ต่อ ๆ ไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 223

บาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ยึดจิตตั้งอยู่ เมื่อนั้นเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า

'เมตตาเจโตวิมุติ จักเป็นภาวนาอันเราเจริญ ทำให้มาก ทำให้เป็น

ดุจยาน ทำให้เป็นดุจของใช้ ก่อตั้งสั่งสมทำให้สำเร็จอย่างดี ' ดูกร

ภิกษุ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล" ดังนี้แล้วจึงตรัส (ต่อไป) อีกว่า

"ดูกรภิกษุ เมื่อใดแล (มูล) สมาธินี้ เป็นธรรมอันเธอเจริญทำให้

มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นเธอพึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตก มีทั้งวิจาร

บ้าง ฯลฯ พึงเจริญสมาธินี้ อันประกอบไปด้วยอุเบกขาบ้าง"

เนื้อความแห่งพระโอวาทนั้นว่า "ดูกรภิกษุ เมื่อใด มูลสมาธิ

นี้เป็นธรรมอันเธอเจริญโดยทางเมตตาอย่างนั้นแล้ว เมื่อนั้นเธออย่า

เพิ่งพอใจด้วยสมาธิแต่เพียงนั้น เมื่อจะยังมูลสมาธินี้ให้ลุถึงจตุกฌาน

หรือปัญจกฌานในอารมณ์อื่น ๆ* (ต่อไป) พึงเจริญ (สมาธินี้) โดย

นัยว่า "สวิตกฺกมฺปิ สวิจารํ - สมาธิมีทั้งวิตก มีทั้งวิจารบ้าง" เป็นต้น

อนึ่ง ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จะทรงแสดงความว่า 'ภิกษุพึงทำการเจริญ

สมาธิ แม้ที่มีพรหมวิหารที่เหลือมีกรุณาเป็นต้นเป็นตัวนำ โดย

(ให้ถึง) จตุกฌานหรือปัญจกฌานในอารมณ์อื่น ๆ ด้วย' จึงตรัสแก่

ภิกษุนั้น (ต่อไป) อีกว่า "ดูกรภิกษุ เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรม

อันเธอเจริญทำให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า

กรุณาเจโตวิมุติ จักเป็นภาวนาอันเราเจริญทำให้มาก----" ดังนี้เป็นต้น

ครั้นทรงแสดงการเจริญจตุกฌานหรือปัญจกฌาน อันมีพรหมวิหาร ๔

มีเมตตาเป็นตัวนำอย่างนี้แล้ว จะทรงแสดงสมาธิอันมีอนุปัสนา ๔ มี

* มหาฎีกาว่า อารมณ์อื่น ๆ มีปฐวีกสิณเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 224

กายานุปัสนาเป็นต้นเป็นตัวนำ จึงตรัส (ต่อไป) อีกว่า "ดูกรภิกษุ

เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอเจริญทำให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น

เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราจักเป็นผู้พิจารณาดูกายในกายอยู่" ดังนี้

เป็นต้นแล้ว จึงทรงยังภิกษุนั้นให้ถือเอา (พระธรรม) เทศนาด้วย

ยอดคือพระอรหัตว่า "ดูกรภิกษุ เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นอันเธอเจริญ

ทำให้เป็นดีแล้วอย่างนี้ เมื่อนั้น เธอจักเดินไปทางใด ๆ ก็ดี เธอ

ก็จักเดินเป็นผาสุกแท้ เธอจักยืนอยู่ ณ ที่ใด ๆ ก็ดี เธอก็จักยืนเป็น

ผาสุกเทียว เธอจักนั่ง ณ ที่ใด ๆ ก็ดี เธอก็จักนั่งเป็นผาสุกทีเดียว

เธอจักสำเร็จการนอน ณ ที่ใด ๆ ก็ดี เธอก็จักสำเร็จการนอนเป็น

ผาสุกแล" ดังนี้

เพราะเหตุนั้น๑ อัปปมัญญา ๓ มีเมตตาเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบ

ว่า เป็นติกฌานิกาหรือจตุกฌานิกา (คือเป็นไปในฌาน ๓ ข้างต้น

ในจตุกนัย หรือเป็นไปในฌาน ๔ ข้างต้นในปัญจกนัย) เท่านั้น

ส่วนอุเบกขา ก็พึงทราบว่า เป็นอวเสสเอกฌานิกา (เป็นไปในฌาน

เดียวที่เหลือ คือ จตุตถฌานในจตุกนัย หรือปัญจมฌานในปัญจก-

นัย) เท่านั้น และในอภิธรรม ท่านก็จำแนกไว้อย่างนั้นเหมือนกันแล๒

[อัปปมัญญามีอานุภาพแปลกกัน]

บัณฑิตพึงทราบว่า อัปปมัญญา ๔ นั่น แม้ตั้งไว้เป็น ๒ ส่วน

๑. คือ เพราะเหตุที่พระพุทธโอวาทให้บำเพ็ญสมาธิที่กล่าวตอนต้นนั้น ตรัสหมายเอาสมาธิ

ในอารมณ์อื่น มิใช่อารมณ์แห่งอัปปมัญญา

๒. มหาฎีกาว่า เช่นในอัปปมัญญาวิภังค์ ในจิตตุบาทกัณฑ์เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 225

โดยเป็นติกฌานหรือจตุกฌานส่วน ๑ เป็นอวเสสเอกฌานส่วน ๑ ดัง

กล่าวมานี้แล้วก็ดี ยังมีอานุภาพวิเสสไม่เหมือนกัน โดยภาวะมีความ

เป็นสุภปรมา (มีสุภวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง) เป็นต้น จริงอยู่ ใน

หลิทฺทวสนสูตร อัปปมัญญาเหล่านั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แปลก

กัน โดยภาวะมีความเป็นสุภปรมาเป็นอาทิ ตรัสไว้อย่างไร ? ตรัส

ไว้อย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุติว่า มี

สุภวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง กล่าวกรุณาเจโตวิมุติว่า มีอากาสานัญจายตน-

วิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง กล่าวมุทิตาเจโตวิมุติว่า มีวัญญาณัญจายตนวิโมกข์

เป็นอย่างยิ่ง กล่าวอุเบกขาเจโตวิมุติว่า มีอากิญจัญญายตนวิโมกข์

เป็นอย่างยิ่ง" ดังนี้ ถามว่า ก็เพราะเหตุไฉน อัปปมัญญาเหล่านั่น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าอย่างนั้น แก้ว่า เพราะอัปปมัญญาเหล่านั่น

เป็นอุปนิสัยแห่งวิโมกข์นั้น ๆ แท้จริง สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นสิ่ง

ไม่ปฏิกูล (ไม่พึงเกลียด) สำหรับพระโยคาวจรผู้เป็นเมตตาวิหารี

ทีนี้ เพราะคุ้นในสิ่งไม่ปฏิกูล เมื่อพระโยคาวจรเมตตาวิหารีนั้น นำจิต

เข้าในวรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น อันเป็นสีบริสุทธิ์ไม่

ปฏิกูล จิต (ของเธอ) ย่อมแล่นไปในวรรณกสิณนั้นโดยไม่สู้ยากเลย

เมตตาเป็นอุปนิสัยแห่งสุภวิโมกข์ โดยนัยดังกล่าวนี้ ไม่ (เป็นอุปนิสัย

แห่งวิโมกข์) ยิ่งกว่า (สุภวิโมกข์) นั้นไป เพราะเหตุนั้น เมตตา

นั้น จึงตรัสว่าเป็น สุภปรมา (มีสุภวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง)

สำหรับพระโยคาวจรผู้เป็นกรุณาวิหารี ผู้มองเห็นความทุกข์ของ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 226

สัตว์ ซึ่งมีรูป (ร่างกาย) เป็นเหตุ เช่นถูกหวดด้วยท่อนไม้๑ โทษ

ในรูป (ร่างกาย) ก็เป็นอันรู้ชัด ทั้งที่มีความเป็นไปแห่งกรุณา ทีนี้

เพราะความที่รู้โทษในรูปชัด เมื่อเธอเพิกกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน

บรรดากสิณมีปฐวีกสิณเป็นต้น (เว้นอากาสกสิณ) แล้วนำจิตเข้าใน

อากาศอันเป็นรูปนิสสรณะ (ที่จากไปแห่งรูป คือว่างจากรูป ?) จิต

(ของเธอ) ย่อมแล่นไปในอากาศนั้นโดยไม่สู้ลำบากเลย กรุณาเป็น

อุปนิสัยแห่งอกาสานัญจายตนวิโมกข์โดยนัยดังกล่าวมานี้ ไม่ (เป็น

อุปนิสัยแห่งวิโมกข์) ยิ่งกว่านั้นไป เพราะเหตุนั้น กรุณานั้น จึงตรัส

ว่าเป็น อากาสานญฺจารยตนปรมา (มีอากาสานัญจายตนวิโมกข์เป็น

อย่างยิ่ง)

ส่วนจิตของพระโยคาวจรมุทิตาวิหารี ผู้พิจารณาเห็นวิญญาณ

(จิตใจ ?) ของสัตว์ผู้เกิดความบันเทิงใจ ด้วยเหตุแห่งความบันเทิง

น้นั ๆ อยู่ ย่อมเป็นจิตคุ้นในการยึดถือวิญญาณ๒ ทั้งที่มีความเป็นไป

แห่งมุทิตา ทีนี้ เมื่อเธอก้าวล่วงอากาสานัญจารยตนะที่ได้บรรลุโดย

ลำดับแล้ว นำจิตเข้าในวิญญาณ ซึ่งยังมีนิมิตคืออากาศเป็นอารมณ์

จิต (ของเธอ) ย่อมแล่นไปในวิญญาณนั้นโดยไม่ยากเลย มุทิตา

เป็นอุปนิสัยแห่งวิญญาณัญจายตนวิโมกข์โดยนัยดังกล่าวนี้ ไม่ (เป็น

๑. ปาฐะเรียงติดกันว่า ทณฺฑาภิฆาตาทิรูปนิมิตฺตํ ทำให้แปลยาก ถ้าแยกเป็น ทณฺฑาภิฆาตาทึ

รูปนิมิตฺตํ ก็แปลได้ความดีดังที่แปลไว้นี้ เพราะบททั้งสองต่างก็เป็นวิสสนะของบท สตฺตทุกฺขํ

แม้มหาฎีกา ลงท้ายก็ให้ความหมายว่า "ทณฺฑปฺปหาราทิชริตํ กรชรูปเหตุกํ สตฺตานํ

อุปฺปชฺชนกทุกฺขนฺติ อตฺโถ"

๒. ปาฐะ เป็น วิญฺญาณคฺคหณปริวิทิตํ แต่ในมหาฎีกา เป็น. . . ปริจิตํ เห็นว่าเข้าทีกว่า

เพราะจิตรู้. . . ไม่ได้ความ แต่จิตคุ้ม. . . ได้ความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 227

อุปนิสัยแห่งวิโมกข์) ยิ่งไปกว่านั้น เพราะเหตุนั้น มุทิตานั้น จึงตรัส

ว่าเป็น วิญฺญาณญฺจายตนปรมา (มีวิญญาณัญจายตนวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง)

ส่วนจิตของพระโยคาวจรอุเบกขาวิหารี เป็นจิตยากที่จะถือเอาสิ่ง

ที่ไม่มี เพราะความที่เป็นผู้เพิกเฉยต่อการถือเอาประโยชน์ผู้อื่นมาความ

สุขความทุกข์เป็นต้น* เพราะไม่มีความคำนึงว่า 'ขอสัตว์ทั้งหลาย

จงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุขเถิด' หรือว่า 'ขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์เถิด'

หรือว่า 'ขอสัตว์ทั้งหลายอย่าได้พรากจากความสุขที่ถึงพร้อมแล้วเลย'

ดังนี้ก็ดี ทีนี้ เมื่อเธอผู้มีจิตคุ้นในความเพิกเฉยต่อการถือเอาประโยชน์

ผู้อื่น และมีจิตยากที่จะถือเอาสิ่งที่ไม่มีโดยปรมัตถ์ ก้าวล่วงวิญญาณัญ-

จายตนะที่ได้บรรลุโดยลำดับแล้ว นำจิตเข้าไปในสิ่งที่ไม่มีโดยสภาวะ

คือในความไม่มีแห่งวิญญาณที่เป็นปรมัตถ์ จิต (ของเธอ) ย่อมจะ

แล่นไปในความไม่มีแห่งวิญญาณนั้น โดยไม่สู้ยากเลย อุเบกขาเป็น

อุปนิสัยแห่งวิโมกข์) ยิ่งกว่านั้นไป เพราะเหตุนั้น อุเบกขานั้น จึง

ตรัสว่าเป็น อากิญฺจญฺญายตนปรมา (มีอากิญจัญญายตนวิโมกข์เป็น

อย่างยิ่ง)

[อัปปมัญญาทำกัลยาณธรรมให้บริบูรณ์]

บัณฑิตได้ทราบอานุภาพของอัปปมัญญาเหล่านั้น โดยความเป็น

* ปาฐะ เป็น สุขทุกฺขาทิปรมตฺถ . . . เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น. . . ปรตฺถ เพราะ

สุขทุกฺขาทิ ที่เป็นวิเสสนะ ก็บ่งอยู่ว่าเป็น ปรัตถะ ไม่ใช่เรื่องปรมัตถะ ความคิดคำนึง

ก็สนับสนุนว่าเป็นเรื่อง ปรัตถะ ทั้งนั้น แม้บท ปรมตฺถคฺคาหโต บรรทัดล่างก็เช่นเดียวกัน

ในที่นี้แปลตามที่เห็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 228

สุภปรมาเป็นอาทิอย่างนี้แล้ว ควรทราบต่อไปอีกว่า อัปปมัญญา

ทั้งปวงนั่นเป็นภาวนาที่ทำกัลยาณธรรมทั้งสิ้น มีทางเป็นต้นให้บริบูรณ์

แท้จริง พระมหาสัตว์ทั้งหลายผู้มีจิตเป็นไปสม่ำเสมอ โดยความเป็นผู้มี

อัชฌาสัยในอันทำประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย โดยความที่ทนไม่ได้

ต่อความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย โดยความเป็นผู้ปรารถนาความตั้งอยู่

นานแห่งสมบัติต่าง ๆ ของสัตว์ และโดยความที่ไม่ตกเป็นฝักฝ่ายใน

สัตว์ทั้งปวง ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายด้วยอาการอย่างนี้ คือ (๑)

ทรงให้ทานอันเป็นเหตุแห่งความสุขแก่สัตว์ทุกถ้วนหน้า ไม่ทรงทำการ

แบ่งแยกว่า ควรให้แก่ผู้นี้ ไม่ควรให้แก่ผู้นี้ (๒) ทรงเว้นการ

ทำร้ายเขา (ไม่แบ่งแยกว่าควรทำร้ายผู้นี้ ไม่ควรทำร้ายผู้นี้) สมาทาน

ศีล (อันเป็นเหตุแห่งความสุขแก่สัตว์ทุกถ้วนหน้า) (๓) ทรงเสพ

เนกขัมมะ (อันเป็นเหตุแห่งความสุขแก่สัตว์ทุกถ้วนหน้าไม่แบ่งแยก)

เพื่อทรงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ (๔) ทรงชำระปัญญาให้ผ่องแผ้ว

เพื่อประโยชน์แก่ความไม่งมงาย ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่

ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย (ทุกถ้วนหน้าไม่แบ่งแยก) (๕) ทรงทำ

ความเพียรเป็นนิจเพื่อประโยชน์สุขแก่สัตว์ทั้งหลาย (ทุกถ้วนหน้า

ไม่แบ่งแยก) (๖) อนึ่ง แม้ทรงถึงความเป็นวีรบุรุษ ด้วยอำนาจ

ความเพียรอันยิ่งยวด ก็ยังทรงยอมอดโทษมีประการต่าง ๆ ให้แก่

สัตว์ทั้งหลาย (ทุกถ้วนหน้าไม่แบ่งแยก) (๗) ไม่ทรงยังปฏิญญา

ที่ทำไว้ว่า 'ฉันจักให้สิ่งนี้แก่ท่าน จักทำสิ่งนี้แก่ท่าน' ดังนี้ ให้คลาดไป

(๘) ทรงเป็นผู้มีความตั้งใจมั่นไม่หวั่นไหว เพื่อประโยชน์สุขของ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 229

สัตว์เหล่านั้น (ทุกถ้วนหน้าไม่แบ่งแยก) (๙) ทรงเป็นบุพการี

ในสัตว์เหล่านั้น ด้วยพระเมตตาอันไม่หวั่นไหว (๑๐) แต่ไม่ตรง

หวัดการตอบแทน ด้วยพระอุเบกขา ดังนี้ ตลอดจนทรงทำกัลยาณธรรม

ทุกอย่าง อันต่างโดยพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖

พุทธธรรม ๑๘ ให้บริบูรณ์ อัปปมัญญานั้นเป็นภาวนาที่ทำกัลยาณ-

ธรรมทั้งปวงมีทานเป็นต้นให้บริบูรณ์อย่างนี้แล

บริเฉทที่ ๙ ชื่อพรหมวิหารนิเทส

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา

ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดั่งนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 230

อารุปฺปนิเทส

อากาสานัญจายตนะ

ก็ในอรูปกรรมฐาน ๔ ที่ท่านยกขึ้นแสดงไว้ในลำดับแห่งพรหม-

วิหาร พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญอากาสานัญจายตนะ เป็นอันดับแรก

(พิจารณา) เห็นโทษในกรัชรูป (คือร่างกายสด ๆ) ทางโทษ (ภาย

นอก) มีการที่ต้องถือไม้พลอง (เพื่อประหารกัน) เป็นต้นนั่น ตาม

บาลีว่า "ก็แล การถือไม้พลอง ถือศัสตรา และการทะเลาแก่งแย่ง

ทุ่มเพียงกันทั้งหลาย ปรากฏมีอยู่ก็เพราะมีรูปเป็นเหตุ แต่ว่าโทษมีการ

ถือไม้พลองเป็นต้นนั้นไม่มีโดยประการทั้งปวงในอรูปภพ เธอพิจารณา

เห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่ายรูปทั้งหลาย เพื่อ

ความหายรักรูปทั้งหลาย เพื่อความดับไปแห่งรูปทั้งหลายโดยแท้"

ดังนี้ก็ดี ทางความเจ็บป่วยตั้ง ๑,๐๐๐ อย่าง มีโรคตาโรคหูเป็นต้นก็ดี

แล้ว จึงยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นในกสิณ ๙ มีปฐวีกสิณเป็นต้น อย่าง

ในอย่างหนึ่ง เว้นปริจฉินนากาสกสิณ เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งกรัชรูปนั้น

อันที่จริง กรัชรูปก็เป็นอารมณ์ที่พระโยคาวจรนั้นก้าวล่วงเสียได้แล้ว

ด้วยอำนาจรูปาวจรจตุตถฌาน แต่เพราะว่าแม้กสิณรูป (คือนิมิตกสิณ)

ก็มีส่วนคล้ายกรัชรูปนั้นอยู่นั่นเอง เพราะเหตุนั้น เธอจึงใคร่จะก้าว

ล่วงกสิณรูปนั้นเสียอีก ถามว่า ก้าวล่วงอย่างไร ? ตอบว่า เปรียบ

เหมือนบุรุษผู้กลัวงู ถูกงูในป่าไล่เอา ก็ (วิ่ง) หนีโดยเร็ว (วิ่งไป)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 231

เห็นใบตาลมีลายเป็นรอย๑ (คดไปมา ?) หรือเถาวัลย์ หรือเชือก หรือ

รอยดินแตกระแหงก็ดี (ผาด ๆ คล้ายงู) ในที่ที่หนีไปแล้ว ก็กลัว

ก็หวาด ไม่อยากมองมันเลยทีเดียว ฉันใด อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ

ผู้อยู่ในบ้านเดียวกันกับคนที่เป็นศัตรูกัน ผู้คอยทำความพินาศให้ ถูก

เขาข่มเหงเอา ด้วยการกระทำต่าง ๆ เช่นทำร้ายเอา (จะให้ตาย)

จับมัด (ทรมาน) หรือเผาเรือนเอาเป็นต้น (ทนไม่ไหว) ก็ไปอยู่

บ้านอื่น (ไป) เห็นคนที่มีรูปร่างเท่า หรือเสียงเหมือน หรือท่าทาง

คล้ายคลึงกับคนที่เป็นศัตรูในหมู่บ้านนั้นเข้า ก็กลัว ก็หวาด ไม่อยาก

มองเขาเลยทีเดียวฉันใด

(ต่อไป) นี้เป็นการเทียบคำอุปมา ในข้ออุปไมยที่ว่านั้น คือ

เวลาที่ภิกษุพรั่งพร้อมอยู่ด้วยกรัชรูป โดยทำมันให้เป็นอารมณ์๒ เหมือน

เวลาที่บุรุษ (๒ คน) นั้น ถูกงู หรือศัตรูเล่นงานเอา เวลาที่ภิกษุ

ก้าวล่วงกรัชรูปเสียได้ด้วยอำนาจรูปาวจรจตุตถฌาน เหมือนการที่บุรุษ

(๒ คน) นั้น (วิ่ง) หนีไปโดยเร็ว หรือไปอยู่บ้านอื่นเสีย ความ

ที่ภิกษุกำหนดเห็นลงไปว่า แม้กสิณรูปนี้ก็มีส่วนคล้ายกรัชรูปนั้นอยู่นั่น

เอง ดังนี้แล้ว ใคร่จะก้าวล่วงกสิณรูปนั้นเสียอี เหมือนความที่บุรุษ

(๒ คน) นั้น เห็นสิ่งคล้ายงู เช่น ใบตาลมีลายเป็นรอย (คดไปมา)

๑. เลขาจิตฺตํ ตาลปณฺรํ มหาฎีกาว่า ใบตาลมีลายด้วยรอยที่คนเอาสีต่าง ๆ เช่น สีดำ ขีดเขียน

เข้าไว้ นึกไม่เห็นเหตุเลยว่าทำไมคนจึงไปทำจิตรกรรมใบตาลไว้ในป่า จะเป็นฝีมือพวกโคบาล

กระมัง

๒. มหาฎีกาว่า ทำกรัชรูปให้เป็นอารมณ์ว่า ตาของเรางาม ร่างกายของเราแข็งแรง บริขาร

ของเราดี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 232

ก็ดี บุรุษคล้ายศัตรูก็ดี ในที่ ๆ (วิ่ง) หนีไปก็ดี ในหมู่บ้านอื่นก็ดี

แล้วหวาดกลัว และไม่อยากมองฉะนั้น

อนึ่ง แม้อุปมา (อื่นอีก) มีอุปมาด้วยสุนัขที่ถูกสุกร (ป่า)

ขวิด และคนกลัวผีเป็นต้น ก็ควร (นำมา) กล่าว ในความข้อนี้ได้*

พระโยคาวจรนั้น หน่ายจากกสิณรูปอันเป็นอารมณ์ของจตุตถ-

ฌานนั้นอย่างนี้แล้ว เป็นผู้ใคร่จะหลีกหนีไป จึงบำเพ็ญความเป็นวสี

ด้วยอาการ ๕ ได้แล้ว ออกจากรูปาวจรจตุตถฌานอันคล่องแคล่วแล้ว

เห็นโทษในฌานนั้นว่า "ฌานนี้ทำ (กสิณ) รูปทีเราหน่ายแล้วให้

เป็นอารมณ์" บ้าง ว่า "ฌานนี้มีข้าศึกคือโสมนัสอยู่ใกล้" บ้าง ว่า

"ฌานนี้หยาบว่าสันตวิโมกข์ (วิโมกข์อันละเอียด คืออรูปฌาน)"

บ้าง

ก็ความมีองค์หยาบ หามีในอรูปานนั้นไม่ เพราะแม้อรูปฌาน

ทั้งหลาย ก็มีองค์สอง ดุจรูปาวจรจตุตถฌานนั้นซึ่งมีองค์สองนั่นเอง

แล (คืออุเบกขา กับ เอกัคคตา)

[เพิกกสิณ]

พระโยคาวจรนั้น ครั้นเห็นโทษในรูปาวจรจตุตถฌานนั้นอย่างนี้

แล้ว ตัดความไยดี (ในฌานนั้น) เสีย ทำในใจซึ่งอากาสานัญจายตนะ

โดย (ว่า) เป็นธรรมละเอียด แผ่กสิณไปจนตลอดเขตจักรวาล หรือ

* มหาฎีกาช่วยเล่าขยายความว่า สุนัขตัวหนึ่งพอถูกสุกรในป่าขวิดเอาก็วิ่งหนี ขณะที่วิ่งหนี

ไปเห็นหม้อข้าวผาด ๆ สำคัญว่าสุกรก็กลัว วิ่งหนีต่อไป

คนกลัวผี ในเวลากลางคืนเดินไปในที่ ๆ ไม่คุ้น เห็นต้นตาลยอดด้วนเข้า สำคัญว่าผี

ก็กลัวจนสิ้นสติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 233

ตลอดที่เท่าที่ต้องการ ทำในใจซึ่งโอกาสที่กสิณรูปนั้นแผ่ไปถึงว่า

'อากาโส อากาโส๑ - อากาศ อากาศ' หรือว่า 'อนนฺโต อากาโส-

อากาศเป็นอนันตะ' ดังนี้ไป ย่อมเพิกกสิณได้๒ ก็แลเมื่อเพิก หา

ใช่ม้วนเอาเหมือนม้วนเสื่อลำแพนไม่ หาใช่ยกเอาเหมือนยกขนมจา

กะทะไม่ เป็นแต่ไม่คิดถึง ไม่ทำในในถึง ไม่พิจารณาถึง กสิณนั้น

เสีย เท่านั้น และเมื่อไม่คิดถึง ไม่ทำในใจถึง ไม่พิจารณาถึง (กสิณ

นั้น) ทำในใจแต่โอกาสที่กสิณรูปแผ่ไปท่าเดียวว่า 'อากาโส อากาโส

-อากาศ อากาศ' ดังนี้ ชื่อว่าเพิกกสิณ ข้างกสิณเล่า เมื่อถูก

เพิก ก็ไม่ใช่หลุดขึ้น มิใช่กระจัดกระจายไป เป็นแต่อาศัยความไม่ทำ

ในใจถึงกสิณรูปนี้ และทำในใจแต่ว่า 'อากาโส อากาโส- อากาศ

อากาศ' ก็ได้ชื่อว่า ถูกเพิกแล้วเท่านั้น กสิณุคฆาฏิมากาสนิมิต

(นิมิตคืออากาศตรงที่กสิณรูปเพิกไป) ก็ปรากฏขึ้น

คำว่า กสิณูคฺฆาฏิมากาล (อากาศตรงที่กสิณรูปเพิกไป) ก็ดี

คำว่า กสิณผุฏฺโฐกาส (โอกาสเท่าที่กสิณแผ่ไป) ก็ดี คำว่า กสิณ-

วิวิตฺโตกาส (โอกาสที่ว่างจากกสิณรูป) ก็ดี ทั้งหมดนี้ก็อันเดียวกัน

นั่นเอง

๑. ปาฐะเรียงอากาโสไว้บทเดียว ที่ถูกควรเป็น ๒ บท ถัดไปอีก ๔ บรรทัดก็มีเห็นเป็นตัวอย่างอยู่

๒. กสิณํ ที่ถูกเป็นอวุตฺตกรรมในอุคฺฆาเฏติข้างหน้า แต่ปาฐะเรียงไว้ชิด อุคิฆาเฏนฺโต ข้าหลัง

ชวนให้เข้าใจผิด

๓. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคเป็น กสิณุคฺฆาฏิมากาสมตฺตํ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน เพราะบทนี้

เป็นกัตตาใน ปญฺญายติ และถัดไป ๒ บรรทัดก็มี กสิณุคฺฆาฏิมากาสนิมิตฺตํ เป็นพยานยันอยู่

ในที่นี้แก้และแปลตามที่เห็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 234

[อุปจารและอัปปนา]

พระโยคาวจรนั้น นึกหน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นแล้ว ๆ

เล่า ๆ ว่า 'อากาโส อากาโส - อากาศ อากาศ' ทำไปจนเป็นนิมิต

ที่นึกเอามาได้ (ตักกาหตะ) ตรึกเอามาได้ (วิตักกาหตะ) เมื่อเธอ

นึกหน่วง (นิมิตนั้น) แล้ว ๆ เล่า ๆ ทำไปจนเป็นนิมิตที่นึกเอามาได้

ตรึกเอามาได้อย่างนั้นอยู่ นิวรณ์ทั้งหลายก็รำงับ๑ สติตั้งมั่น จิตเป็น

สมาธิชั้นอุปจาร เธอส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งนิมิตนั้นให้บ่อยเข้า ๆ

เมื่อเธอส้องเสพ เจริญ ทำให้มากบ่อยเข้า ๆ อย่างนั้นอยู่๒ อากาสา-

นัญจายตนจิตย่อมแนบแน่งในอากาศ ดุจดังรูปาวจรจิตแนบแน่นใน

กสิณมีปฐวีกสิณเป็นต้น ฉะนั้น ก็แม้ในอากาสานัญจายตนฌานนี้

ชวนะ ๓ หรือ ๔ ดวงในส่วนเบื้องต้น ยังเป็นกามาวจรสัมปยุตด้วย

อุเบกขาเวทนาอยู่ ชวนะดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ จึงเป็นอรูปาวจร คำ

พรรณนาที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว ในปฐวีกสิณนั่นแล

๑. มหาฎีกาตั้งข้อสังเกตว่า "ไฉนท่านจึงมากล่าวถึงนิวรณ์ ในที่นี้อีก นิวรณ์ทั้งหลายรำงับไปแล้ง

แต่ในอุปจารขณะแห่งรูปาวจรปฐมฌาน ตั้งแต่นั้นมันก็ไม่เกิดอีก มิใช่หรือ ถ้ามันเกิด ก็เสื่อม

จากฌานละซิ ส่วนที่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า "นิวรณ์ละเอียดที่จะพึงละด้วยอรูปฌานมีอยู่

เหมือนกัน ที่ท่านกล่าวถึงการละนิวรณ์ในที่นี้อีกนั้น ก็หมายถึงนิวรณ์ละเอียดนั้นเอง" นี้ก็เป้น

แต่มติของอาจารย์เหล่านั้น เพราะในมหัคคตกุศลทั้งหลาย หามีการละเป็นชั้น ๆ เหมือนใน

โลกุตตรกุศลไม่. . . แต่ที่จริง คำว่านิวรณ์รำงับ ในที่นี้ท่านกล่าวเป็นโวหารพรรณนาสรรเสริญ

ไปอย่างนั้นเอง กิเลสที่ละแล้วในเบื้องต่ำมากล่าวการละอีกในเบื้องสูง ก็มีกล่าวในที่อื่นเหมือนกัน. . .

ท่านแก้นุ่มนวลดีแท้ ถ้าเป็นเราก็ว่า "ท่านเผลอไปกระมัง"

๒. ตรงนี้ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคเป็น ตสฺสวํ ปุนปฺปุนํ อาวชฺชโต มนสิกโรโต เห็นว่า

คลาดเคลื่อน เพราะประโยคหน้าเป็น อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรติ ประโยคหลังนี้ก็ต้อง

เป็น อาเสวโต ภายโต พหุลีกโรโต ไปตามกันจึงจะถูก ในที่นี้แก้และแปลตามที่เห็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 235

[ความแปลกในอากาสานัญจายตนะ]

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความแปลก (ในอากาสานัญจาย-

ตนฌาน คือ) เมื่ออรูปาวจรจิตเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว ภิกษุนั้น (เคย)

เพ่งดวงกสิณด้วยฌานจักษุมาก่อนอยู่แล้ว ครั้น (กสิณ) นิมิตนั้นมาถูก

การมนสิการด้วยบริกรรมว่า "อากาโส อากาโส" นี้พรากออกไปโดย

ฉับพลันเสียแล้ว ก็คงเพ่งแต่อากาศอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ที่ผูก

(แต่ง) ช่องต่าง ๆ มีช่องประตูเล็กของยาน (วอ) หรือช่องปากหม้อ

เป็นต้น* อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยท่อนผ้าสีเขียว หรือสีอื่นมีสีเหลือง แดง

ขาว เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเพ่งดูอยู่ ครั้นท่อนผ้า (นั้น)

ถูกกำลังลมหรือกำลังอะไร ๆ อื่นพัดเอาไปเสียแล้ว ก็คงยืนเพ่งมองแต่

อากาศอยู่ฉะนั้น

ก็แล ด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ ภิกษุนั้นได้ชื่อว่า "เพราะ

ก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะตกไปแห่งปฏิฆสัญญาโดย

ประการทั้งปวง เพราะไม่ทำในใจถึงนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง

ทำในใจแต่ว่า 'อนนฺโต อากาโส - อากาศเป็นอนันตะ' เข้าถึง

อากาสานัญจายตนะอยู่"

* มหาฎีกาแยกเป็น ๓ คือ ยาน ปโตฬิ กุมฺภิ และบอกให้ประกอบ มุข ทุกบท เป็นยานมุข

ปโตพิมุข กุมฺภิมุข และปโตฬิ ท่านแก้ว่า ขุทฺทกทฺวาร แต่ในที่นี้แปลตามรูปปาฐะในฉบับ

วิสุทธิมรรค ที่เรียงไว้ให้เห็นว่าเป็น ๒ ศัพท์เท่านั้น คือ ยานปฺปโตฬิ ศัพท์ ๑ กุมฺภิมุข ศัพท์ ๑

ซึ่งก็แปลได้ความดีอยู่แล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 236

[แก้อรรถปาฐะในอากาสานัญจายตนะ]

[แก้ สพฺพโส]

ในปาฐะเหล่านั้น บทว่า 'สพฺพโส - โดยประการทั้งปวง' คือ

สพฺพากาเรน - โดยอาการทั้งปวง๑ ความก็คือว่า ทั้งหมด หรือว่าไม่

มีส่วนเหลือ

[แก้ รูปสญฺญานํ]

บทว่า รูปสัญญา ได้แก่รูปาวจรฌานที่กล่าวโดยยกสัญญาเป็น

สำคัญนั่นเอง และได้แก่อารมณ์ของรูปาวจรฌานนั้นด้วย จริงอยู่

แม้รูปาวจรฌานเรียกว่ารูป (เฉย ๆ) ก็ได้ (ดัง) ในบาลีว่า รูปี

รูปานิ ปสฺสติ๒ (ผู้ได้รูปฌาน ย่อมเห็นกสิณรูปด้วยฌานจักษุ) เป็น

ต้น แม้อารมณ์ของรูปาวจรนั้น ก็เรียกว่ารูป (เฉย ๆ) ได้ (ดง)

ในบาลีว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ สุวณฺณทุพฺพณฺณานิ๓ (ผู้ได้

รูปฌาน ย่อมเห็นกสิณรูปทั้งหลายในภายนอก อันงามและทราม)

เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ในที่นี้ คำว่ารูปสัญญา ที่มีความไขว่า

รูเป สญฺญา รูปสญฺญา-สัญญาในรูป (ฌาน) ชื่อว่ารูปสัญญา' ดัง

นี้นั้น พึงทราบว่าเป็นชื่อแห่งรูปาวจรฌาน ที่กล่าวโดยยกสัญญาเป็น

สำคัญ และคำนั้นที่มีความไขว่า 'รูปํ สญฺญา อสฺสาติ รูปสญฺญํ

๑. เคยบอกแล้วว่า ประการ กับ อาการ ท่านว่าอันเดียวกัน คือ ประการ ในที่เช่นนี้ มีความ

หมายว่า ชนิด อย่าง ส่วน อาการ มีความหมายว่า ส่วน เช่นเดียวกับ ทวัตตึสาการ - ๓๒ อาการ

ก็คือ ๓๒ ส่วน เพราะฉะนั้น จะว่า ทุกชนิด ทุกอย่าง หรือทุกส่วน ก็ได้ความเป็นอันเดียวกัน

๒. ที. ปาฏิ. ๑๑/๓๒๘

๓. ม. ม. ๑๓/๒๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 237

รูปเป็นสัญญาแห่งอารมณ์นั้น เหตุนั้น อารมณ์นั้นจึงชื่อ รูปสัญญะ

(มีรูปเป็นสัญญา) อธิบายว่า ฌานนั้นมีรูปเป็นชื่อ*' ดังนี้ พึงทราบว่า

เป็นคำเรียกอารมณ์ของรูปาวจรณานนั้น อันต่างโดยกสิณ (๙) มี

ปฐวีกสิณ เป็นอาทิ

[แก้สมติกฺกมา]

บทว่า เพราะก้าวล่วง คือเพราะหายรัก และเพราะดับ ถามว่า

คำอธิบายมีอย่างไร ? แก้ว่า "เพราะหายรัก และเพราะดับ คือ

เหตุที่หายรักและเหตุที่ดับไป แห่งรูปสัญญาทั้งหลาย ที่ได้แก่ฌาน ๑๕

โดยจัดเป็นกุศล วิบาก และกิริยา (อย่างละ ๕ป เหล่านั้น และรูป-

สัญญาทั้งหลายที่ได้แก่อารมณ์ ๙ ตามจำนวนกสิณ มีปฐวีกสิณเป็นต้น

เหล่านั้น โดยทุกส่วน หรือไม่มีส่วนเหลือ จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ

อยู่ได้ เพราะว่าผู้มีรูปสัญญายังไม่ก้าวล่วงไปโดยประการทั้งปวง ไม่

อาจเข้าถึงอากาสานัญจายตนะนั้นอยู่ได้" เพราะเหตุที่การก้าวล่วง

สัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ยังไม่หายรักในอารมณ์ แต่ครั้นสัญญาทั้งหลายก้าว

ล่วงไปแล้ว อารมณ์ก็เป็นอันก้าวล่วงอารมณ์ไว้ ในอากาสานัญจา-

ยตนะนั้น ตรัสแต่การก้าวล่วงสัญญาไว้ในวิภังค์ อย่างนี้ว่า "บรรดา

สัญญาเหล่านั้น รูปสัญญาทั้งหลายเป็นอย่างไร ? สัญญา คือ ความจำได้

ความหมายรู้อันใดแห่งภิกษุผู้ถึงพร้อม หรือเข้าถึงซึ่งรูปาวจรสมาบัติ

* เทียบกับ รุเป สญฺญา รูปสญฺญาติ เอวํ. . . ท่อนหน้าแลว้ ท่านหลังคือ รูปํ สญฺญา. . .

วุตุตํ โหติ เอวํ. . . นำจะประกอบ อิติ ที่ โหติ ในที่นี้แปลตามที่เข้าใจนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 238

หรือมีรูปาวจรสมาบัติเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม๑ก็ดี สัญญา

เหล่านี้เรียกว่า รูปสัญญา ภิกษุนั้นเป็นผู้ก้าวล่วง คือล่วงเลยไปอย่างดี

แล้วซึ่งรูปสัญญาเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น จึงว่า "เพราะก้าวล่วงรูป

สัญญาโดยประการทั้งปวง๒" ดังนี้

แต่เพราะ (อรูปาวจร) สมาบัติเหล่านั้น พระโยคาวจรจะพึง

บรรลุได้ด้วยการก้าวล่วงอารมณ์ (ตามลำดับ) ไม่เหมือนรูปาวจรฌาน

มีปฐมฌานเป็นต้น ที่พึงบรรลุได้ในอารมณ์อันเดียวเท่านั้น เพราะ

ฉะนั้น การพรรณนาความนี้ พึงทราบว่าข้าพเจ้าทำโดย (หมายถึง)

การล่วงอารมณ์ด้วย

[แก้ ปฏิฆสญฺญานํ อตฺถงฺคมา]

ข้อว่า ปฏิฆสญฺญานํ อตฺถงฺคมา (เพราะตกไปแห่งปฏิฆ-

สัญญา) มีพรรณนาความว่า สัญญาอันเกิดขึ้นพร้อมเพราะการกระทบ

กันแห่งวัตถุ มีจักษุเป็นอาทิ กับอารมณ์มีรูปเป็นต้น ชื่อปฏิฆสัญญษ

คำนี้เป็นชื่อแห่งสัญญา ๕ มีรูปสัญญาเป็นต้น ดังบาลีว่า "ในสัญญา

เหล่านั้น ปฏิฆสัญญาเป็นไฉน ? คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธ-

สัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา สัญญาเหล่านี้เรียกว่า ปฏิฆ-

๑. มหาฎีกาว่า ศัพท์ทั้ง ๓ คือ สมาปนฺน อุปปนฺน และทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาร ท่านใช้หมายต่างกัน

คือ สมาปนฺน (ถึงพร้อม คือเข้า) หมายทางกุศลสัญญา อุปปนฺน (เข้าถึง คือเกิด หมายทาง

วิปากสัญญา ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาร หมายทางกิริยสัญญา เพราะฌานเป็นเครื่องพักผ่อนอยู่สำราญ

ในอัตภาพปัจจุบันแห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย หมายความว่า พระอรหันต์เข้าฌานมิใช้เพื่อข่มนิวรณ์

หรือเพื่อไปเกิดเป็นพรหมในภพหน้า ท่านเข้าฌานเพื่อพักผ่อนอยู่สบายในอัตภาพปัจจุบันนี้เท่านั้น

ดุจสามัญชนพักผ่อนหลับนอน เพื่ออยู่เป็นผาสุกในแต่ละวันฉะนั้น (?)

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๓๕๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 239

สัญญา*" ดังนี้

เพราะตกไป คือ เพราะละไป เพราะไม่เกิดขึ้น อธิบายว่าเพราะ

ทำมิให้เป็นไปแห่งปฏิฆสัญญาเหล่านั้นทั้ง ๑๐ คือ ฝ่ายกุศลวิบาก ๕

ฝ่ายอกุศลวิบาก ๕ โดยประการทั้งปวง

สัญญาเหล่านั้น ย่อมไม่มีแม้แก่พระโยคาวจรผู้บรรลุรูปาวจรฌาน

มีปฐมฌานเป็นต้น เพราะในสมัย (ที่บรรลุฌาน) นั้น จิตย่อมไม่

เป็นไปทางทวารทั้ง ๕ ก็จริงอยู่ ถึงเช่นนั้นการกล่าวถึงสัญญาเหล่านั้น

ในอากาสานัญจายตนกถานี้ (อีก) บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นการ

กล่าวโดย (หมายจะ) สรรเสริญฌานนี้ เพื่อยังอุตสาหะให้เกิด (แก่ผู้

ปฏิบัติ) ในฌานนี้ ดุจการกล่าวถึงสุขและทุกข์อันละได้แล้วในฌานอื่น

ในจตุตถฌาน (อีก) และดุจการกล่าวถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ มีสักกาย-

ทิฏฐิเป็นต้น อันละได้ในมรรคอื่นแล้ว ในตติยมรรค (อีก) ฉะนั้น

อีกนัยหนึ่ง สัญญาเหล่านั้น ไม่มีแม้แก่ผู้บรรลุรูปาวจรฌานแล้วก็จริง

ถึงกระนั้น ก็มิใช่ไม่มีเพราะละได้ เพราะรูปาวจรภาวนา (การเจริญ

รูปาวจรฌาน) มิได้เป็นไปเพื่อสำรอกรูป อันความเป็นไปแห่งสัญญา

เหล่านั้น ยังเนื่องด้วยรูปอยู่ ส่วน (อรูปาวจร) ภาวนานี้เป็นไปเพื่อ

สำรอกรูป (โดยตรง) เพราะเหตุนั้น จึงควรกล่าวไว้ว่า ปฏิฆสัญญา

เหล่านั้นละได้แล้วในอารูปที่ ๑ นี้ และมิใช่แต่จะกล่าวเท่านั้น แม้จะ

จำกัดความลงไปอย่างนั้นเสียทีเดียวก็ควร ก็เพราะปฏิฆสัญญาเหล่านั้น

ยังละไม่ได้ในฌานก่อนแต่นี้นั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

* อภิ. วิ. ๓๕/๓๕๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 240

เสียงเป็นหนาม (คือเป็นข้าศึก) สำหรับผู้เข้าปฐมฌาน* ส่วนใน

อรูปฌานนี้ ตรัสความที่อรูปสมาบัติทั้งหลายเป็นอาเนญชา (ไม่หวั่น

ไหว) และเป็นสันตวิโมกข์ (วิโมกข์อย่างละเอียด) ด้วย ก็เพราะ

ความที่ปฏิฆสัญญาเหล่านั้นละได้แล้วโดยแท้ จริงอยู่ ท่านอาฬาร-

ดาบสกาลามโคตรเข้าอรูปสมาบัติอยู่ หาเห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม

ที่ผ่านไปใกล้ ๆ ไม่ ท่านไม่ได้ยินเสียงมันด้วยซ้ำไป แล

[แก้ นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา]

ข้อว่า นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา (เพราะไม่ทำในใจถึง

นานัตตสัญญา) มีอรรถาธิบายว่า (คำว่า นานตฺตสญฺญานํ) คือซึ่ง

สัญญาทั้งหลายอันเป็นไปในโคจร (คืออารมณ์) อันเป็นต่างกัน ๆกัน

หรือซึ่งสัญญาทั้งหลายอันมีสภาวะต่าง ๆ กัน ก็เพราะสัญญาเหล่านั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจำแนกไว้ในวิภังค์อย่างนี้ว่า "ในสัญญาเหล่านั้น

นานัตตสัญญา เป็นไฉน ? สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้แห่งพระ

โยคาวจร ผู้ประกอบไปด้วยมโนธาตุ หรือพร้อมไปด้วยมโนวิญญาณ-

ธาตุ แต่ไม่ได้เข้าสมาบัติ สัญญาเหล่านี้เรียกว่า นานัตตสัญญา"

ดังนี้ สัญญาอันประสงค์เอาในที่นี้ จึงเป็นสัญญาที่สังเคราะห์อยู่ด้วย

มโนธาตุ หรือมโนวิญญาณธาตุ แห่งพระโยคาวจรผู้ไม่ได้เข้าสมาบัติ

ย่อมเป็นไปในโคจร (คืออารมณ์) อันเป็นต่าง ๆ คือมีสภาวะต่าง ๆ

อันแตกต่างกันเป็นหลายอย่าง มีรูปเสียงเป็นต้น อนึ่ง เพราะแม้

สัญญาทั้ง ๔๔ อย่างนี้ คือ สัญญาเป็นกามาวจรกุศล ๘ สัญญาเป็น

* องฺ. ทสก. ๒๔/๑๔๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 241

อกุศล ๑๒ สัญญาเป็นกามาวจรกุศลวิบาก ๑๑ สัญญาเป็นอกุศลวิบาก

๒ สัญญาเป็นกามาวจรกิริยา ๑๑ เหล่านี้เป็นต่าง ๆ กัน คือ มีสภาวะ

ต่างกัน ไม่เหมือนกันและกัน เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า นานัตต-

สัญญา (ความในข้อ นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา นี้ว่า) เพราะ

ไม่ทำในใจ คือ ไม่นึกหน่วงเหนี่ยวเหลียวแลถึงนานัตตสัญญาเหล่านั้น

โดยประการทั้งปวง มีคำอธิบายว่า เพราะเหตุที่พระโยคาวจรไม่นึกถึง

ไม่ใส่ใจ ไม่พิจารณาถึง ซึ่งนานัตตสัญญาเหล่านั้นเสีย

[ความหมายต่างแห่งปาฐะ]

อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า เพราะเหตุทีในสัญญา ๓ นั้น รูป-

สัญญาและปฏิฆสัญญาข้างต้น ย่อมไม่มีแม้ในภพที่เกิดด้วยฌานนี้ทีเดียว

จะกล่าวไยถึงกาลที่เข้าถึงฌานนี้อยู่ในภพนั้นเล่า เพราะฉะนั้น พระ

ผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสความไม่มีทีเดียวแห่งสัญญาเหล่านั้น ทั้งสองฝ่าย

ด้วยคำว่า 'เพราะก้าวล่วง (และว่า) เพราะตกไป' ส่วนใน

นานัตตสัญญา เพราะเหตุที่สัญญา ๒๗ คือ สัญญาเป็นกามาวจรกุศล ๘

สัญญาเป็นกิริยา ๙ สัญญาเป็นอกุศล ๑๐ เหล่านี้ ยังมีอยู่ในภพที่เกิด

ด้วยฌานนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าตรัส (ใช้คำ) ว่า 'เพราะไม่

ทำในใจถึงนานัตตสัญญาเหล่านั้น' แท้จริง แม้ในภพนั้น พระโยคา-

วจรเมื่อจะเข้าถึงฌานนี้อยู่ ก็เข้าถึงอยู่ได้เพราะไม่ทำในใจถึงนานัตต-

สัญญาเหล่านั้นนั่นเอง ด้วยเมื่อยังทำในใจถึงนานัตตสัญญาเหล่านั้นอยู่

ก็ชื่อว่า เป็นผู้ยังไม่เข้าฌาน แล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 242

[ความหมายโดยสังเขป]

แต่ (ว่า) โดยสังเขป พึงทราบว่า ในปาฐะเหล่านั้น ด้วย

ปาฐะว่า 'รูปสญฺญานํ สมติกฺกมา - เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย'

นี้ เป็นอันตรัสการละรูปาวจรธรรมทั้งหมด ด้วยปาฐะว่า 'ปฏิฆ-

สญฺญานํ อตฺถงฺคมา นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา - เพราะตกไปแห่ง

ปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่ทำในใจถึงนานัตตสัญญาทั้งหลาย' นี้

ตรัสการละและการไม่ทำในใจซึ่งจิตและเจตสิกอันเป็นกามาวจรทั้งสิ้น

[แก้ อนนฺโต อากาโส]

ในปาฐะว่า "อนนฺโต อากาโส - อากาศเป็นอนันตะ" นี้ มี

วินิจฉัยว่า ที่สุดข้างเกิดก็ดี ที่สุดข้างเสื่อมก็ดี ของอากาศนั้น ไม่

ปราก เหตุนั้น อากาศนั้นจึงชื่อ อนันตะ* (มีที่สุดไม่ปรากฏ)

กสิณุคฆาฏิมากาส (อากาศตรงที่กสิณรูปเพิกไป) เรียกว่า อากาศ

อนึ่ง ความเป็นอนันตะในอากาศนั้น พึงทราบ (ว่าเป็น) ด้วยอำนาจ

แห่งมนสิการก็ได้ เพราะเหตุนั้นแหละ ในวิภังค์จึงว่า "ภิกษุตั้ง

ดำรงจิตไว้มั่นในอากาศนั้น แผ่ไปหาที่สุดมิได้ เหตุนั้น จึงเรียกว่า

'อนนฺโต อากาโส - อากาศเป็นอนันตะ" ดังนี้

[แก้ อากาสานญฺจายตนํ. . .]

ส่วนในปาฐะว่า "อากาสาญฺจายตนํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ-

* มหาฎีกาว่า สภาวธรรม กำหนดได้ด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เพราะไม่มีแล้วมามีขึ้น

ก็ได้ มีแล้วเสื่อมหายไปก็ได้ ส่วนอากาศ ท่านกล่าวว่าเป็น อนันตะ เหตุไม่มีทั้งสองอย่าง

เพราะไม่ใช่สภาวธรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 243

เข้าถึงอากาสานัญจายตนะอยู่" นั้น มีอรรถวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ชื่อ

อนันตะ เพราะไม่มีที่สุด อากาศเป็นอนันตะ จึงชื่ออากาสานันตะ

อากาสานันตะนั่นเอง เป็นอากาสานัญจะ อากาสานัญจะนั้นชื่อว่าเป็น

อายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่แห่งฌานนี้ พร้อมทั้งสัปยุต-

ธรรม ดังคำว่า เทวายตนะ (คือ เทวสถาน) ของเทวดาทั้งหลาย

เหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่ออากาสานัญจายตนะ (ฌานมีอากาศหาที่สุดมิได้

เป็นที่อาศัยอยู่*) คำว่า "เข้าถึง----อยู่" นั้น ความว่า บรรลุ

อากาสานัญจายตนะนั้นแล้ว คือทำอากาสานัญจายนะนั้นให้สำเร็จแล้ว

แลอยู่ไปโดยอิริยาบถวิหาร (การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ) อันสมควรแก่

ฌานนั้น

นี้เป็นคำแก้อย่างพิสดาร

ในอากาสานัญจายตนกรรมฐาน

วิญญาณัญจายตนะ

ส่วนพระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญวิญญานัญจายตนะ (ต่อไป) พึง

เป็นผู้ประพฤติวสีภาวะ (ทำให้ชำนิชำนาญ) ในอากาสานัญจายน-

สมาบัติ โดยอาการ ๕ แล้ว (พิจารณาให้) เห็นโทษในอากาสา-

นัญจายตนะ ว่า "สมาบัตินี้ มีข้าศึกคือรูปาวจรฌานอยู่ใกล้ และยัง

* ในที่นี้ อายตนะ มีความหมายว่า ที่อาศัยอยู่ มหาฎีกาว่า แม้จะหมายความว่า เป็นเหตุ

เป็นบ่อเกิด ที่เกิด. . . อีกก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 244

ไม่ละเอียดดังวิญญาณัญจายตนะ" ดังนี้แล้ว ตัดความพอใจในอากาสา-

นัญจายตนะนั้นเสีย ใส่ใจถึงวิญญาณัญจายตนะโดยว่าเป็นธรรมละเอียด

แล้ว นึกหน่วงเอาความรู้สึกที่เป็นไปแผ่อยู่ทั่วอากาศ (นิมิต) นั้น

มนสิการไปปัจจเวกขณ์ไปเนือง ๆ ว่า 'วิญฺญาณํ วญิ ฺญาณํ - วิญญาณ

วิญญาณ' ทำจนเป็นตักกาหตะ (นึกเอามาได้) เป็นวิตักกาหตะ

(ตรึกเอามาได้) แต่อย่างมนสิการ (แต่เพียง) ว่า 'อนนฺตํ

อนนฺตํ - ไม่มีที่สุด ไม่มีที่สุด,* เมื่อเธอยังจิตให้ท่องไปในนิมิตนั้น

เนือง ๆ อย่างนั้น นีวรณ์ทั้งหลายจะรำงับลง สติจะตั้งมั่น จิตจะเป็น

สมาธิชั้นอุปจาร เธอส้องเสพเจริญทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้นเนือง ๆ

ไป เมื่อเธอทำไปอย่างนั้น วิญญาณัญจายตนจิตย่อมจะแนบแน่น

(เป็นอัปปนา) อยู่ในวิญญาณที่แผ่อยู่ทั่วอากาศ (นิมิต) ดุจอากาสา-

นัญจายตนะ (จิต) แนบแน่นอยุ่ในอากาศฉะนั้น

ส่วนนัยแห่งอัปปนาในวิญญาณัญจายตนะนี้ บัณฑิตพึงทราบ

ตามนัยที่กล่าวแล้ว (ในอากาสานัญจายตนะ) เถิด

ก็และ ด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั่นเรียกว่า

"ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว ทำในใจว่า

'อนนฺตํ วิญฺญาณํ - วิญญาณเป็นอนันตะ' เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะอยู่"

* ปาฐะว่า อนนฺตํ อนนฺตนฺติ ปน มนสิกาตพฺพํ นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น. . .น มนสิกาตพฺพํ

ถึงกระนั้น ความตอนนี้ก็รู้สึกว่ามีอะไรขาดไป มหาฎีกาท่านจึงช่องเติมให้ได้ความชัดว่า อย่า

มนสิการเพียงว่า อนนฺตํ อนนฺตํ แต่พึงมนสิการว่า อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ หรือ

วิญฺญาณํ วิญฺญาณํ เท่านั้นก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 245

[แก้อรรถปาฐะในวิญญาณัญจายตนะ]

ในปาฐะเหล่านั้น คำว่า 'โดยประการทั้งปวง' นี้ มีนัยอันกล่าว

มาแล้ว ส่วนในคำ 'ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ' นั้น มีอธิบายว่า

ตามนัยที่กล่าวมาก่อน แม้ฌานก็ชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ แม้อารมณ์ก็

ชื่อ อากาสานัญจายตนะ จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็ชื่อ อากาสานัญจายตนะ

เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า "อากาสานัญจะ (อากาศหาที่สุดมิได้)

ด้วย อากาสานัญจะนั้นชื่อว่าเป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่

ดุจ (คำว่า) เทวายตนะ (คืเทวสถาน) ของเทวดาทั้งหลาย

เพราะอากาสานัญจะนั้นเป็นอารมณ์แห่งอารูปฌานที่ ๑ ด้วย" ดังนี้

ตามนัยแรก อีกนัยหนึ่ง อารมณ์ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ เพราะ

อรรถวิเคราะห์ว่า "อากาสานัญจะด้วย อากาสานัญจะนั้นชื่อว่าเป็น

อายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่กำเนิด ดังคำว่า 'แคว้นกัมโพชาเป็น

อายตนะ (คือถิ่นกำเนิด) ของม้าทั้งหลาย' เพราะอากาสานัญจะนั้น

เป็นเหตุกำเนิด แห่งฌานนั้นด้วย" ดังนี้ก็ได้* เพราะเหตุที่

วิญญานัญจายตนะนี้ พระโยคาวจรจำต้องก้าวล่วงเสียทั้งสองอย่างนั้น

คือทั้งฌานทั้งอารมณ์อย่างนั้น โดยทำมิให้ (อากาสานัญจายตนะนั้น)

เป็นไป และโดยไม่ทำในใจ (ถึงอากาสานัญจายตนะนั้น) เท่านั้น จึง

จะเข้าถึงอยู่ได้ เพราะเหตุนั้น คำว่า 'ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ'

นี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวรวมเอาฌานและอารมณ์ทั้งสองนั้นเข้าด้วยกัน

* รวมความว่า อายตนะ มีความ ๒ นัย นัยหนึ่งว่าเป็ฯที่อาศัยอยู่ อีกนัยหนึ่งว่าเป็นที่เกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 246

คำ อนนฺตํ วิญฺญาณํ มีอธิบายว่า มนสิการเอาความรู้สึกที่

เป็นไปแผ่อยู่ทั่วอากาศ (นิมิต) นั้น อย่างนี้ว่า 'อนนฺโต อากาโส-

อากาศเป็นอนันตะ' ดังนั้นนั่นแหละมาว่า 'อนนฺตํ วิญฺญาณํ-

วิญญาณเป็นอนันตะ'* ดังนี้ อีกนัยหนึ่ง วิญญาณนั้นเป็นอนันตะ

ด้วยอำนาจมนสิการ จริงอยู่ พระโยคาวจรนั้น เมื่อมนสิการถึงวิญญาณ

ซึ่งมีอากาศเป็นที่ยึดหน่วงอยู่นั้นโดยไม่มีส่วนเหลือ ก็เท่ากับมนสิการว่า

(วิญญาณ) ไม่มีที่สุด แม้คำใดที่กล่าวในวิภังค์ว่า "อนนฺตํ วิญฺญา-

ณนฺติ ตญฺเญว อากาสํ วิญฺญาเณน ฯ เป ฯ เตน วุจฺจติ อนนฺตํ

วิญฺญาณํ" ดังนี้ บทว่า 'วิญฺญาเณน' ในคำนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า

เป็นตติยาวิภัติในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ เพราะพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย

พรรณนาความแห่งบทนั้นไปนัยนั้น (ซึ่ง) มีอรรถาธิบาย (ให้แปล

วิญฺญาเณน ว่า ซึ่งวิญญาณ) ว่า พระโยคาวจรแผ่ (วิญญาณ) ไป

คือทำในใจซึ่งวิญญาณที่สัมผัสอากาศ (นิมิต) นั้นนั่นแหละ หาที่สุด

มิได้

ส่วนในคำว่า 'เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะอยู่' นั้น มีอรรถวิเคราะห์

ว่า ที่สุดแห่งวิญญาณนั้นไม่มี เหตุนั้น วิญญาณนั้นจึงชื่อ อนันตะ

อนันตะนั่งเองเป็นอานัญจะ ท่านไม่กล่าววิเคราะห์ว่า วิญญาณเป็น

อานัญจะ ชื่อว่า วิญญาณานัญจะ (แต่) กล่าวว่า 'วิญญาณัญจะ'

ไปเสีย นี่แหละเป็นรุฬหิศัพท์ (ศัพท์งอก ในอรรถนี้ วิญญาณัญจะ

* หมายความว่าวิญญาณนี้ ก็คือความรู้สึกที่แผ่อยู่ที่อากาศนิมิตนั้นเอง ถึงตอนนี้ เพิกอากาศนิมิต

เสีย ใส่ใจแต่ความรู้สึกที่แผ่อยู่นั้น เพราะอากาศเป็นอนันตะ วิญญาณที่แผ่อยู่ก็พลอยเรียก

อนันตะ ไปด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 247

นั้นชื่อว่า เป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่แห่งฌานนั้น

พร้อมทั้งสัมปยุตธรรม ดุจคำว่าเทวายตนะของเทวดาทั้งหลาย เพราะ

เหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อ วิญญาณัญจายตนะ (ฌานมีวิญญาณหาที่สุด

มิได้เป็นที่อาศัยอยู่) คำที่เหลือมีอรรถเช่นที่กล่าวมาก่อนนั้นแล

นี้เป็นคำแก้อย่างพิสดาร

ในวิญญาณัญจายตนกรรมฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 248

อากิญจัญญายตนะ

ส่วนพระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญอากิญจัญญายตนะ พึงเป็นผู้

ประพฤติวสีภาวะ (ทำให้นิชำนาญ) ในวิญญาณัญจายตนสมาบัติ

โดยอาการ ๕ แล้ว (พิจารณาให้) เห็นโทษในวิญญาณัญจายตนะ ว่า

"สมาบัตินี้มีข้าศึกคืออากาสานัญจายตนะอยู่ใกล้ และไม่ละเอียดดัง

อากิญจัญญายตนะ" ดังนี้แล้ว ตัดความพอใจในวิญญาณัญจายตนะ

นั้นเสีย ใส่ใจถึงอากิญจัญญายตนะ โดยว่าเป็นธรรมละเอียดแล้ว ทำใน

ใจถึงความไม่มี ความเปล่าว่าง อาการที่ว่างเปล่าไปแห่งความรู้สึกใน

อากาสานัญจายตนะ ที่เป็นอารมณ์แห่งวิญญาณัญจายตนะนั้นนั่นแหละ

ถามว่า พึงทำในใจอย่างไร ? เฉลยว่า อย่าใส่ใจถึงความรู้สึกอันนั้น

นึกหน่วงทำในใจกำหนดใจอยู่แต่ว่า 'นตฺถิ นตฺถิ - ไม่มี ไม่มี' หรือว่า

'สุญฺญํ สุญฺญํ - เปล่า เปล่า ' หรือว่า 'วิวิตฺตํ วิวิตฺตํ - ว่าง ว่าง'

ดังนี้แล้ว ๆ เล่า ๆ ทำจนเป็นตักกาหตะวิตักกาหตะ เมื่อเธอยังจิตให้

ท่องไปในนิมิตนั้นเนือง ๆ อย่างนั้น นีวรณ์ทั้งหลายจะระงับ สติจะตั้ง

มั่น จิตจะเป็นสมาธิชั้นอุปจาร เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งนิมิต

นั้นเนือง ๆ ไป เมื่อเธอทำไปอย่างนั้น อากิญจัญญายตนจิตย่อมจะ

แนบแน่น (เป็นอัปปนา) อยู่ในความเปล่าความว่าง หรือความไม่มี

แห่งมหัคคตวิญญาณ (ความรู้สึกในฌาน ?) ที่แผ่เป็นไปอยู่ทั่วอากาศ

(นิมิต) นั้นนั่นแหละ ดังวิญญาณัญจายตนะ (จิต) แนบแน่นอยู่ใน

มหัคคตวิญญาณที่แผ่อยู่ที่อากาศ (นิมิต) ฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 249

ส่วนนัยแห่งอัปปนาแม้ในอากิญจัญญายตนะนี้ บัณฑิตก็พึงทราบ

ตามนัยที่กล่าวแล้ว (ในอากาสานัญจายตนะ) เถิด แต่นี่เป็นความ

แปลกกัน คือ เมื่ออัปปนาจิตนั้นเกิดขึ้นแล้ว (โยคาวจร) ภิกษุนั้น

เห็นความรู้สึกที่เป็นไปอยู่ในอากาศด้วยนัยน์ตาวิญญาณัญจายตนฌานอยู่

ก่อนแล้ว ครั้นความรู้สึกนั้นมาหายไป เพราะมนสิการด้วยบริกรรมว่า

'ไม่มี ไม่มี' เป็นต้นเสียแล้ว ก็เห็นแต่ความไม่มี กล่าวคือความ

ปราศไปแห่งความรู้สึกนั้นอยู่เท่านั้นเอง๑ เปรียบเหมือนบุรุษ (ผู้หึ่ง)

เห็นภิกษุสงฆ์ผู้ประชุมกันด้วยกรณียะลางอย่างอยู่ในสถานที่ประชุมมีโรง

กลม๒ เป็นต้นแล้วไปไหน ๆ เสีย ต่อเมื่อเสร็จกิจประชุม ภิกษุทั้งหลาย

ลุกเลิกไปแล้ว จึงมายืนที่ประตูมองดูสถานที่นั้นอีก ก็เห็นแต่ความ

เปล่าเท่านั้น เห็นแต่ความว่างเท่านั้น ความคิดทำนองนี้ย่อมไม่มีแก่

เขาว่า "ตายจริง ภิกษุ (มาก) ตั้งเท่านั้น มรณภาพ (หมด) หรือว่า

ต่างองค์ต่างไป (หมด)" โดยที่แท้เขาเห็นแต่ความไม่มี โดยอาการ

ว่า ที่นี่ว่างเปล่า เท่านั้น ฉะนั้น

ก็แล ด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ พระโยคาวจรนั้น เรียกว่า

"ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว ทำในใจว่า 'นตฺถิ

กิญฺจิ - ไม่มีสักหน่อย' เข้าถึงอากิญจิญญายตนะอยู่"

๑. หมายความว่า เห็นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เห็นสิ่งอันใด เห็นแต่ความไม่มี (?)

๒. มณฺฑลมาล หนังสือเก่าเป็น มณฺฑปสาลา ก็มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 250

[แก้อรรถปาฐะในอากิญจิญญายตนะ]

แม้ในที่นี้ บทว่า 'สพฺพโส - โดยประการทั้งปวง' นี้ก็มีนัย

ดังกล่าวแล้วนั่นแล อนึ่ง ในบท 'วิญญาณัญจายตนะ' นั้นเล่า ก็หมาย

เอาทั้งฌานทั้งอารมณ์ เป็นวิญญาณัญจายตนะ โดยนัยที่กล่าวมาก่อน

เหมือนกัน จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็ชื่อวิญญาณัญจายตนะ เพราะอรรถ

วิเคราะห์ว่า "วิญญาณัญจะ (วิญญาณหาที่สุดมิได้) ด้วย วิญญาณัญจะ

นั้น ชื่อว่าเป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่ ดุจ (คำว่า)

'เทวายตนะ ของเทวดาทั้งหลาย' เพราะวิญญาณัญจะนั้นเป็นอารมณ์

ของอรูปฌานที่ ๒ ด้วย" ดังนี้ตามนัยแรกนั้นแล อีกนัยหนึ่ง อารมณ์

ชื่อวิญญาณัญจายตนะ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า "วิญญาณัญจะด้วย

วิญญาณัญจะนั้นชื่อว่าเป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่กำเนิด ดังคำว่า

'แคว้นกัมโพชาเป็นอายตนะ (คือถิ่นกำเนิด) ของม้าทั้งหลาย' เป็น

ต้น เพราะวิญญาณัญจะนั้นเป็นเหตุกำเนิดแห่งฌานนั้นเหมือนกันด้วย"

ดังนี้ก็ได้ เพราะเหตุที่อากิญจัญญายตนะนี้ พระโยคาวจรจำต้องก้าว

ล่วงเสียทั้งสองอย่างนั้น คือทั้งฌานทั้งอารมณ์อย่างนั้น โดยทำมิให้

(วิญญาณัญจายตนะนั้น) เป็นไป และโดยไม่ทำในใจ (ถึงวิญญา-

ณัญจายตนะนั้น) เท่านั้น จึงจะเข้าถึงอยู่ได้ เพราะเหตุนั้น คำว่า

'ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะ' นี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวรวมเอฌานและ

อารมณ์ทั้งสองนั้นเข้าด้วยกัน

คำว่า 'นตฺถิ กิญฺจิ - ไม่มีสักหน่อย' นั้นมีอธิบายว่า (ก็เท่า

กับ) มนสิการอย่างนี้ว่า 'นตฺถิ นตฺถิ - ไม่มี ไม่มี ' 'สุญฺญํ สุญฺญํ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 251

เปล่า เปล่า' 'วิวิตฺตํ วิวิตฺตํ - ว่าง ว่าง' ดังนี้ (นั่นเอง) แม้คำ

ใดที่กล่าวไว้ในวิภังค์ ว่า "คำว่า นตฺถิ กิญฺจิ คือทำวิญญาณนั้นแล

ไม่ให้มี ให้ปราศไป ให้อันตรธานไป (จน) เห็นว่าไม่มีอะไร ๆ

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า นตฺถิ กิญฺจิ" ดังนี้ คำนั้นราวกะกล่าวการ

พิจารณาโดยความเสื่อมสิ้นไปก็จริง แก่ที่แท้ ความหมายของคำนั้น ก็

พึงเห็นอย่างที่ว่านั้นแหละ เพราะเมื่อพระโยคาวจรไม่นึกถึงไม่ใส่ใจถึง

ไม่กำหนดใจถึงวิญญาณนั้นเสีย ใส่ใจแต่ความไม่มี ความเปล่า ความ

ว่าง ของมันอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะเรียกได้ว่า ทำไม่ให้มี ให้ปราศไป

ให้อันตรธานไป มิใช่โดยอย่างอื่น แล

ส่วนในคำว่า 'เข้าถึงอากิญจัญญายตนะอยู่' นั้น มีอรรถ

วิเคราะห์ว่า "น้อยหนึ่งแห่งวิญญาณนั้นไม่มี" เพราะเหตุนั้น วิญญาณ

นั้นจึงชื่อว่า อกิญจนะ มีอธิบายว่า สิ่งที่เหลืออยู่แห่งวิญญาณนั้น โดย

ที่สุดแม้แต่เพียงความดับก็ไม่มี ความเป็น อกิญจนะ ชื่อว่า อากิญ-

จัญญะ คำนี้เป็นคำเรียกความปราศไปแห่งวิญญาณ (ความรู้สึกที่มีอยู่)

ในอากาสานัญจายตนะ (นั่นเอง) อากิญจัญญะนั้น ชื่อว่าเป็นอายตนะ

โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่แห่งฌานนั้น ดังคำว่า เทวายตนะของเทวดา

ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อ อากิญจัญญายตนะ (ฌานมี

ความไม่มีวิญญาณสักหน่อยเป็นที่อาศัยอยู่) คำที่เหลือก็มีอรรถเช่นที่

กล่าวมาก่อนนั้นแล

นี้เป็นคำแก้อย่างพิสดาร

ในอากิญจัญญายตนกรรมฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 252

เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ส่วนพระโยคาวจรภิกษุผู้ปรารถนาจะเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนะ

(ต่อไป) พึงเป็นผู้ประพฤติวสีภาวะ (ทำให้ชำนิชำนาญ) ในอากิญ-

จัญญายตนสมาบัติโดยอาการ ๕ แล้ว (พิจารณาให้) เห็นโทษใน

อากิญจัญญายตนะอย่างนี้ว่า "สมาบัตินี้มีข้าศึกคือวิญญาณัญจายตนะอยู่

ใกล้ และยังไม่ละเอียดดังเนวสัญญานาสัญญายตนะ หรือ (เห็นโทษ)

ว่าสัญญาเป็นดุจโรค สัญญาเป็นดุจผี สัญญาเป็นดุจลูกศร ธรรมชาต

นั่นละเอียด ธรรมชาตินั่นประณีต ธรรมชาตนั่นคืออะไร ธรรมชาต

นั่นก็คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ" และ (เห็น) อานิสงส์ในคุณที่สูง

ขึ้นไป (คืออารูปที่ ๔) แล้ว ตัดความพอใจใจอากิญจัญญายตนะเสีย

ใส่ใจถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยว่าเป็นธรรมละเอียด นึกหน่วง

เอาอากิญจัญญายตนสมาบัติ ที่ทำความไม่มีเป็นอารมณ์เป็นไปอยู่นั่น

แหละ มามนสิการไปปัจจเวกขณ์ไปเนือง ๆ ว่า สนฺตา สนฺตา ละเอียด

ละเอียด' ทำจนเป็นตักกาหตะ วิตักกาหตะ เมื่อเธอยังจิตให้ท่องไป

ในนิมิตนั้นเนือง ๆ อย่างนั้น นีวรณ์ทั้งหลายจะระงับ สติจะตั้งมั่น จิต

เป็นสมาธิชั้นอุปจาร เธอส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งนิมิตนั้นเนือง ๆ ไป

เมื่อเธอทำไปอย่างนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนจิต ย่อมจะแนบแน่น

(เป็นอัปปนา) อยู่ในขันธ์ทั้ง ๔ กล่าวคือ อากิญจัญญายตนสมาบัติ

ดุจอากิญจัญญายตน (จิต) แนบแน่นอยู่ในความปราศไปแห่งวิญญาณ

ฉะนั้น ส่วนนัยแห่งอัปปนาในข้อนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเถิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 253

ก็แลด้วยภาวนานุกรมเพียงเท่านี้ โยคาวจรภิกษุนั้น เรียกว่า

"ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงเนวสัญญา-

นาสัญญายตนะอยู่"

แก้อรรถปาฐะในเนวสัญญานาสัญญายตนะ

แม้ในที่นี้ บทว่า 'สพฺพโส - โดยประการทั้งปวง' นี้ก็มีนัยดัง

กล่าวแล้วนั่นแล ในคำว่า 'ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะ' นั้นเล่า ก็

หมายเอาทั้งฌานทั้งอารมณ์เป็นอากิญจัญญายตนะ โดยนัยที่กล่าวมา

ก่อนเหมือนกัน จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็ชื่ออากิญจัญญายตนะ เพราะ

อรรถวิเคราะห์ว่า "อากิญจะ* (วิญญาณไม่มีสักน้อย) ด้วย อากิญจะ

นั้น ชื่อว่าเป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่ ดุจ (คำว่า)

เทวายตนะ ของเทวดาทั้งหลาย เพราะอากิญจะนั้นเป็นอารมณ์ของ

อรูปฌานที่ ๓ ด้วย" ดังนี้ ตามนัยแรกนั่นแล อีกนัยหนึ่ง อารมณ์ชื่อ

อากิญจัญญายตนะ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า "อากิญจะด้วย อากิญจะ

นั้นชื่อว่าเป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่กำเนิด ดังคำว่า "แคว้น

กัมโพชาเป็นอายตนะ (คือถิ่นกำเนิด) ของม้าทั้งหลาย' เป็นต้น

เพราะอากิญจะนั้น เป็นเหตุกำเนิดแห่งฌานนั้นเหมือนกันด้วย" ดังนี้

ก็ได้ เพราะเหตุที่เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ พระโยคาวจรจำต้องก้าว

ล่วงเสียทั้งสองอย่างนั้น คือทั้งฌานทั้งอารมณ์อย่างนั้น โดยทำมิให้

(อากิญจัญญายตนะนั้น) เป็นไปและโดยไม่ทำในใจถึง (อากิญจัญญา-

ยตนะ) เสียเท่านั้น จึงจะเข้าถึงอยู่ได้ เพราะเหตุนั้น คำว่า "ก้าว

* น่าจะใช้ อากิญฺจญฺญ เพราะเป็นศัพท์มีนิปผันรูป ส่วนอากิญฺจ ไม่มีนิปผันรูป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 254

ล่วงอากิญจัญญายตนะ" นี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวรวมเอาฌานและ

อารมณ์ทั้งสองนั่นเข้าด้วยกัน

ส่วนในบทว่า 'เนวสัญญานาสัญญายตนะ' นั้นมีอรรถาธิบายว่า

ฌานนั้นเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะความมีแห่งสัญญาใด

สัญญานั้นย่อมมีแก่พระโยคาวจร ผู้ปฏิบัติอย่างใด ในวิภังค์จะแสดง

ความปฏิบัติของพระโดยคาวจรนั้นก่อน จึงยกขึ้น (เป็นปุคคลาธิฏฐาน)

ว่า 'เนวสัญญีนาสัญญี' แล้วกล่าว (อธิบาย) ว่า พระโยคาวจรทำ

ในใจซึ่งอากิญจัญญายตนะนั้นนั่นแล โดยว่าเป็นธรรมละเอียด ทำจน

เป็นสังขาราวเสสสมาบัติ (สมาบัติมีเพียงเศษสังขารเป็นอารมณ์ ?)

เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า "เนวสัญญีนาสัญญี" ดังนี้ ในคำเหล่านั้น

คำว่า "ทำในใจโดยว่าเป็นธรรมละเอียด" นั้น คือ ทำในใจซึ่งอากิญ-

จัญญายตนะนั้นว่าเป็นสมาบัติละเอียด เพราะความที่มีอารมณ์ละเอียด

(โดยนัย) ดังนี้ว่า 'สมาบัตินี้ละเอียดจริงหนอ ดูเถิด สมาบัติไรเล่า

จักทำแม้ความไม่มี (แห่งวิญญาณ) ให้เป็นอารมณ์ตั้งอยู่ได้'

หากมีคำท้วงว่า "พระโยคาวจร (มัว) ทำในใจ (ซึ่งอากิญ-

จัญญายตนะ) โดยว่าเป็นธรรมละเอียด (อยู่เช่นนั้น) ความก้าวล่วง

จะมีได้อย่างไร"* พึงเฉลยว่า "(ความก้าวล่วงมีได้) เพราะความที่

พระโยคาวจรมิได้เป็นผู้ปรารถนาจะเข้า (อากิญจัญญายตนะนั้น) จริง

อยู่เธอทำในใจซึ่งอากิญจัญญายตนะนั้นโดยว่าเป็นธรรมละเอียด (เช่น

* มหาฎีกาช่วยเสริมความว่า เมื่อทำในใจเช่นนั้น ความเห็นโทษก็ไม่มี เมื่อไม่มีเห็นโทษจะก้าว

ล่วงได้อย่างหร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 255

นั้น) ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น ความคิดคำนึง ความรวมใจ ความใสใน

ว่าเราจักนึกหน่วง เราจักเข้า เราจักยั้งอยู่ เราจักออก เราจักปัจจเวกขณ์

ถึงสมาบัตินั่น" นี้ ก็หามีแก่เธอไม่ ถามว่าเพราะเหตุไฉน ? ตอบว่า

เพราะความที่เนวสัญญานาสัญญายตนะละเอียดกว่า ประณีตกว่า อากิญ-

จัญญายตนะ เหมือนอย่างว่า พระราชาประทับคอช้างตัวประเสริญ เสด็จ

ไปในถนนในพระนครด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่อยู่ (ต่างว่า) ทอด

พระเนตรเห็นพวกช่างฝีมือมีช่างงาเป็นต้น ซึ่งนุ่งผ้าผืนหนึ่งไว้มั่น โพก

ศีรษะด้วยผ้าผืนหนึ่ง มีตัวเปื้อนด้วยผงทั้งหลายมีผงงาเป็นต้น ทำการ

ผีมือต่าง ๆ มีทันตวิกัติ (ประดิษฐ์งาเป็นรูปต่าง ๆ) เป็นต้น ก็พอ

พระหฤทัยในความฉลาดของพวกเขาด้วยรับสั่งว่า "เออแน่ะ เจ้าพวก

อาจารย์นี่ฉลาดนะ ดูรึ ทำการฝีมือถึงเช่นนี้ก็ได้" ดังนี้ แต่จะทรงดำริ

ว่า "เออ เราละสมบัติไปเป็นช่างฝีมือเช่นนั้นเถิดน่ะ" อย่างนี้ หามี

แก่พระองค์ไม่ เพราะเหตุไร เพราะสิริราชสมบัติมีคุณใหญ่กว่า พระ-

องค์ก็เสด็จล่วงเลยพวกช่างฝีมือไปเสียเท่านั้นเองฉันใด อันพระโยคา-

วจรนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำในใจถึงสมาบัตินั้นโดยว่าเป็นธรรม

ละเอียดก็จริงแล แต่ทว่าความคิดคำนึง ความรวมใจ ความใส่ใจว่า

"เราจักนึกหน่วง เราจักเข้า เราจักยั้งอยู่ เราจักออก เราจักปัจจเวกขณ์

ถึงสมาบัตินั้น" นี้ ไม่มีแก่เธอเลย เธอเมื่อทำในใจถึงสมาบัตินั้น โดย

ว่าเป็นธรรมละเอียดโดยนัยที่กล่าวมาก่อนนั้นแล ก็จะบรรลุถึงสัญญา

อันถึงอัปปนาที่ละเอียดยิ่งนั้น ซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่าเป็น

เนวสัญญีนาสัญญี ชื่อว่าทำจนเป็นสังขาราวเสสมาบัติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 256

คำว่าสังขาราวเสสสมาบัติ ก็คืออารูปสมาบัติที่ ๔ อันมีสังขารถึง

ซึ่งความละเอียดที่สุด

[คำว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะประสงค์เอาอะไร]

บัดนี้ เพื่อจะแสดงสิ่งที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วย

อำนาจแห่งสัญญาที่พระโยคาวจรได้บรรลุแล้วอย่างนั้น โดยความหมาย

(ในวิภังค์) จึงกล่าวไว้ว่า "คำว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ หมาย

ถึงธรรมคือจิตและเจติสิก ของบุคคลผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

(ฌาน) หรือผู้เข้าถึง (คือเกิดใน) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภพ)

ผู้มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌาน) เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขใน

ทิฏฐธรรมก็ได้"* ดังนี้ ในบุคคล ๓ นั้น ธรรมคือจิตและเจตสิกของ

บุคคลผู้เข้า (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ท่านประสงค์เอาในที่นี้

[ความหมายแห่งคำ]

ส่วนความหมายแห่งคำในคำว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ นั่นพึง

ทราบ (ดังต่อไปนี้) ฌานนั้นพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมชื่อว่ามีสัญญาก็มิใช่

ไม่มีสัญญาก็มิใช่โดยแท้ เพราะไม่มีสัญญาหยาบ แต่ว่ามีสัญญาละเอียด

เหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญะ (ฌานมีสัญญาก็มิใช่ไม่มี

สัญญาก็มิใช่) เนวสัยญานาสัญญะ (ฌาน) ด้วย เนวสัญญานาสัญญะ

(ฌาน) นั้น ชื่อว่าเป็นอายตนะ เพราะนับเนื่องอยู่ในมนายตนะ และ

ธัมมายตนะด้วย เหตุนั้นจึงชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อายตนะ

* ศัพท์ทั้ง ๓ คือ สมาปนฺน อุปปนฺน ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาร มีความหมายต่างกัน ได้กล่าวไว้

แล้วในเชิงอรรถ ๑ หน้า ๒๓๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 257

คือฌานมีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่) อีกอรรถวิกัปหนึ่ง นี้สัญญาใด

ในอารูปที่ ๔ นี้ สัญญานั้นนับว่าเป็นสัญญาก็มิใช่แท้ เพราะไม่สามารถ

จะทำสัญญากิจ (หน้าที่สัญญา) ที่ชัดแจ้งได้ จัดว่าไม่เป็นสัญญาก็มิใช่

เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยความเป็นเศษสังขารที่ละเอียด เพราะเหตุนั้น

สัญญานั้นจึงชื่อ เนวสัญญานาสัญญา (สัญญาที่นับว่าเป็นสัญญาก็มิใช่

ไม่เป็นสัญญาก็มิใช่) เนวสัญญานาสัญญาด้วย เนวสัญญานาสัญญานั้น

เป็นอายตนะ โดยอรรถว่าเป็นที่อาศัยอยู่แห่งธรรมที่เหลือ (คือสัมปยุต-

ธรรม) ด้วย เหตุนั้นจึงชื่อ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ก็แลในอารูปที่ ๔ นี้ สัญญาแต่เพียงอย่างเดียวเป็นเช่นนั้นก็หา

มิได้ ที่แท้ แม้เวทนาก็เป็น เนวเวทนานาเวทนา- เป็นเวทนาก็มิใช่

ไม่เป็นเวทนาก็มิใช่ แม้จิตก็เป็น เนวจิตฺตํนาจิตฺตํ- เป็นจิตก็มิใช่

ไม่เป็นจิตก็มิใช่ แม้ผัสสะก็เป็น เนวผสฺโสนาผสฺโส - เป็นผัสสะก็มิใช่

ไม่เป็นผัสสะก็มิใช่ ในสัมปยุตธรรมที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้ เพราะ

(พระธรรม) เทศนานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำ

โดย (ยก) สัญญาเป็นประธาน อนึ่ง ความข้อนี้บัณฑิตพึงทำให้

กระจ่างด้วยอุปมาทั้งหลาย เริ่มแต่เรื่องน้ำมันทาบาตรไป (ดังนี้)

เล่ากันว่าสามเณรทาบาตรด้วยน้ำมันแล้วตั้ง (เก็บ) ไว้ ถึงเวลา

ดื่มยาคู พระเถระเรียกเธอให้นำบาตรมา เธอเรียนว่า "ในบาตร

มีน้ำมัน ขอรับ" ทีนั้นครั้งพระเถระบอกว่า "นำมาเถิด สามเณร

เราจักเติมกะโหลกน้ำมันไว้" ก็เรียนว่า "ไม่มีดอกของรับ น้ำมัน"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 258

ในคำของสามเณรนั้น คำว่า 'น้ำมันมี' ก็ใช่ โดยมุ่งถึงความ

(ที่น้ำมัน) ไม่ควร (ปน) กับยาคู เพราะมัน (มีติด) อยู่ข้างใน

(บาตร) คำว่า 'ไม่มี' ก็ใช่ โดย (มุ่งถึง) การจะใช้งานต่าง ๆ มี

เติมกะโหลกน้ำมันเป็นต้นฉันใด แม้สัญญานั้นก็ฉันนั้น จัดว่าเป็นสัญญา

ก็มิใช่แท้ เพราะไม่สามารถจะทำสัญญากิจที่ชัดแจ้งได้ ไม่เป็นสัญญา

ก็มิใช่ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยความเป็นเศษสังขารที่ละเอียด

ถามว่า "ก็สัญญากิจในคำนั้น คืออะไร ? " แก้ว่า "สัญญา-

กิจ ก็คือการจำอารมณ์ได้อย่างหนึ่ง การเข้าถึงความเป็นวิสัย (คือ

อารมณ์) แห่งวิปัสนาแล้วยังนิพพิทาให้เกิดได้อย่างหนึ่ง อันสัญญานั่น

แม้กิจคือการจำ (อารมณ์) ก็มิอาจทำให้ชัดได้ ดังธาตุไฟในน้ำร้อน

มิอาจทำกิจคือการเผาไห้ได้ฉะนั้น แม้การเข้าถึงความเป็นวิสัยแห่ง

วิปัสนาแล้วยังนิพพิทาให้เกิด ดังสัญญาในสมาบัติที่เหลือ ก็มิอาจทำ

ได้ เพราะว่า ภิกษุผู้มิได้ทำอภินิเวส (คือวิปัสนา) ใน (นาม) ขันธ์

อื่น ๆ มาเลย อันจะสามารถที่จะพิจารณา (แต่) เนวสัญญานาสัญ-

ญายตนขันธ์แล้วถึงนิพพิทาได้ หามีไม่ เออ จะมีก็แต่ท่านสารีบุตร

หรือท่านผู้มีปัญญามากเป็นปกติวิปัสสก (พิจารณาเห็นแจ้งอยู่โดยปกติ)

ปานท่านสารีบุตรนั่นแหละจึงจะอาจ (พิจารณาเนวสัญญานาสัญญายตน-

ขันธ์ทำให้ถึงนิพพิทาได้ ) (แต่) แม้ท่านสารีบุตรนั้นก็อาจ (ทำได้)

แต่โดยพิจารณาเป็นกลาป (คือเป็นกลุ่มเป็นหมวด) เท่านั้น หาอาจ

(ทำ) โดยพิจารณา (แยกสัมปยุต) ธรรม (มีผัสสะเป็นต้น) ออกเป็น

บทย่อย ๆ ไม่ ด้วยท่านเห็นอยู่ว่า 'อันธรรมเหล่านี้ก็เป็นอย่างนั้น คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 259

(จะว่า) ไม่มี ก็มีอยู่ (จะว่า) มี ก็บอกไม่ได้ (คือไม่ชัด)' ดังนี้*

สมาบัตินี้ถึงซึ่งความละเอียด ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง ความข้อนี้ บัณฑิตพึงทำให้กระจ่าง ด้วยอุปมาด้วย

น้ำในทาง (เดิน) ฉันเดียวกันกับอุปมาด้วยน้ำมันทาบาตรก็ได้

สามเณรผู้เดินไปข้างหน้าพระเถระ (องค์หนึ่ง) ซึ่งเดินอยู่ในทาง

เห็นน้ำหน่อยหนึ่ง (ในทาง) จึงเรียนว่า "น้ำ ขอรับ โปรดถอด

รองเท้า" ทีนั้น ครั้นพระเถระบอกว่า "สามเณร ถ้านำมี ก็จงนำ

ผ้าอาบมา เราจักอาบน้ำ" จึงเรียนว่า "(น้ำ) ไม่มีดอก ขอรับ"

ในคำของสามเณรนั้น คำว่า 'น้ำมี' ก็ใช่ โดยมุ่งถึง (มันมี)

พอเปียกรองเท้า คำว่า '(น้ำ) ไม่มี' ก็ใช่ โดยมุ่งถึง (มันไม่มี

พอจะ) อาบฉันใด แม้สัญญานั้นก็ฉันนั้น จัดว่าเป็นสัญญาก็มิใช่

แท้ เพราะไม่สามารถทำสัญญากิจให้ชัดได้ นับว่าไม่เป็นสัญญาก็มิใช่

เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยความเป็นเศษสังขารที่ละเอียด

และความข้อนี้จะควรทำให้กระจ่างเพียงด้วยอุปมา (๒ ข้อที่กล่าว

แล้ว) นี้เท่านั้นหามิได้ บัณฑิตพึงทำให้กระจ่าง แม้ด้วยอุปมาอื่น ๆ ที่สม

* ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคท่อนนี้ ตั้งแต่ อปิจ อายสฺมา สารีปุตฺโต ถึง โน อนุปท-

ธมฺมปวิสฺสนาวเสน บทพยัญชนะไม่สมบูรณ์พอจะแปลให้ได้ความดี จึงตกเติมแปลไปดังนี้

เห็นว่าตามที่แปลนี้ ได้ความตรงตามที่ท่านประสงค์เป็นแน่ และไม่ผิดธัมมะด้วย

ตามที่แปลนี้ แยก อปิจ อายสฺมา สารีปุตฺโต เป็นประโยค ๑ ปกติวิปสฺสโก

สกฺกุเณยฺย ประโยค ๑ ในประโยคนี้ ปน เติม วา เป็น วา ปน

หุตฺวา ปฏิเวทนฺติ นี่ตก น. แน่ เพราะความบังคับอยู่ จึงเติม น. เข้าเป็น หุตฺวา น

ปฏิเวเทนฺติ (มีก็บอกไม่ได้) จึงได้ความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 260

กันอีกก็ได้*

คำว่า 'อุปสมฺปชฺช วิหรติ-เข้าถึง . . . อยู่' นี้ มีนัยอันกล่าว

มาแล้วนั่นแล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดาร

ในเนวสัญญานาสัญญายตนกรรมฐาน

ปกิณณกกถา

พระนาถะเจ้า ผู้มีพระรูปไม่มีใครเทียมถึง ตรัส

อารูป ๔ ประการอันใจใดไว้ บัณฑิตได้ทราบอารูป ๔

นั้นอย่างนี้แล้ว ควรเข้าใจปกิณณกกถาในอารูป

นั้นอีกบ้าง

อารูปเลื่อนชั้นโดยล่วงอารมณ์ มิใช่ล่วงองค์

ก็อารูปสมาบัติทั้งหลาย-

เหล่านี้แม้เป็น ๔ โดยการก้าวล่วงอารมณ์ (แต่)

นักปราชญ์ทั้งหลายหาต้องการความก้าวล่วงองค์แห่ง

สมาบัติเหล่านั้นไม่

* มหาฎีกาติดอุปมาได้ขอหนึ่งว่า พราหมณ์ผู้หนึ่ง เห็นชายคนหนึ่ง ถือภาชนะดินน่าชอบใจ

ยืนอยู่ จึงออกปากขอภาชนะนั้น ชายคนนั้นมุ่งถึงว่าภาชนะนั้นเปื้อนสุรา ซึ่งเป็นของไม่ควร

แก่พราหมณ์ จึงบอกว่า ถวายไม่ได้ ในภาชนะนี้มีสุรา ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งยืนอยู่ใกล้ ๆ

พราหมณ์จึงว่า ถ้ามีก็ขอให้คนนี้ดื่มบ้าง ทีนี้ เจ้าของภาชนะมุ่งถึงว่า สุรานั้นไม่มีพอจะดื่มได้

จึงบอกว่าสุราไม่มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 261

จริงอยู่ อารูปสมาบัติเหล่านี้ พึงทราบว่าแม้เป็น ๔ โดยการล่วง

อารมณ์ทุกประการ คือ ในสมาบัติ ๔ นั้น สมาบัติที่ ๑ เป็นโดยการ

ก้าวล่วงรูปนิมิต ที่ ๒ โดยก้าวล่วงอากาศ ที่ ๓ โดยก้าวล่วงวิญญาณ

ที่เป็นไปอยู่ในอากาศ ที่ ๔ โดยก้าวล่วงความปราศไปแห่งวิญญาณที่

เป็นไปอยู่ในอากาศ แต่บัณฑิตทั้งหลายไม่ต้องการความก้าวล่วงองค์

แห่งสมาบัติเหล่านั้น เพราะความก้าวล่วงองค์ในสมาบัติเหล่านั้นหามี

ดังในรูปาวรสมาบัติทั้งหลายไม่ ด้วยในสมาบัติเหล่านั้นทุกข้อมีองค์

ฌานอยู่ ๒ องค์เท่านั้น คือ อุเบกขา จิตเตกัคคตา

[อารูปประณีตกว่ากันเพราะองค์ประณีตเข้าโดยลำดับ]

แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น

ในอารูปสมาบัตินี้ สมาบัติข้อหลัง ๆ ก็ย่อม

ประณีตดีกว่า (ข้อหน้า ๆ) บัณฑิตพึงทราบ

(เรื่อง) พื้นปราสาทและผ้า เป็นอุปมาในความ

ที่ประณีตดีกว่ากันนั้น

เหมือนอย่างว่า ในพื้นชั้นล่างแห่งปราสาท ๔ ชั้น เบญจกามคุณ

อันประณีตโดยอำนาจเครื่องบำเรอมีการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลง

ดนตรี เครื่องหอม และพวงดอกไม้หอม โภชนะ ที่นอนและเครื่อง

นุ่งห่ม (ราวกะเป็นของ) ทิพย์เป็นต้น ต่างว่าเป็นสิ่งจัดไว้ครบ (แต่)

ในชั้นที่ ๒ เบญจกามคุณ (จัดไว้) ประณีตกว่าชั้นล่างนั้น ในชั้น

ที่ ๓ ประณีตกว่านั้น (ไปอีก) ในชั้นที่ ๔ ประณีตกว่าเพื่อนหมด

ในความอุปมานั้น พื้นทั้ง ๔ นั้น ก็เป็นพื้นปราสาท (ด้วยกัน) นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 262

ความแปลกกันโดยความเป็นพื้นปราสาท แห่งพื้นทั้ง ๔ นั้น หามีไม่

ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น พื้นชั้นบน ๆ ก็ย่อมประณีตกว่าชั้นล่าง ๆ โดย

มีความสมบูรณ์แห่งเบญจกามคุณแปลกกันฉันใด อนึ่ง ผ้า (เนื้อบาง

น้ำหนักเบา) ชนิดจตุปละ (หนัก ๔ ปละ) และชนิดติปละ (หนัก

๓ ปละ) ทวิปละ (หนัก ๒ ปละ) เอกปละ (หนักปละเดียว (อัน

ประณีตด้วยอำนาจ) แห่งด้าย (๔ ชนิดคือ) หยาบ ละเอียด ละเอียดกว่า

และละเอียดที่สุด ที่หญิงคนหนึ่งปั่นไว้* ต่างว่าเป็นผ้ามีขนาดเท่ากัน

ทั้งโดยยาวและโดยกว้าง ในความอุปมานั้น ผ้าทั้ง ๔ ชนิดนั้นมีขนาด

เท่ากันทั้งโดยยาวและโดยกว้าง ความแปลกกันโดยขนาดแห่งผ้าเหล่า

นั้นหามีไม่ ก็จริงแล แต่ทว่า ผ้าชนิดหลัง ๆ ก็ย่อมประณีตกว่าชนิด

หน้า ๆ โดยความมีสัมผัสนิ่ม เนื้อละเอียด และความมีราคาแพงฉันใด

แม้ในอารูปสมาบัติทั้ง ๔ ก็มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา จิตตกัคคตา นี้

เท่านั้นโดยแท้ ถึงอย่างนั้น บัณฑิตก็พึงทราบเถิดว่า ในสมาบัตินี้

สมาบัติข้อหลัง ๆ ย่อมประณีตดีกว่า โดยความประณีตและประณีตกว่า

กันแห่งองค์เหล่านั้น ด้วยความวิเศษ (กว่ากัน) แห่งภาวนา ฉันนั้น

เหมือนกัน อันอารูปสมาบัติเหล่านั้น ประณีตและประณีตไปโดยลำดับ

ด้วยประการฉะนี้

[อารูป ๔ อุปมาด้วยบุรุษ ๔ คน]

บุรุษผู้หนึ่งเกาะอยู่ที่มณฑป (อันตั้งอยู่) ในที่

* ปละ (อ่านปะละ) เป็นชื่อมาตราน้ำหนัก ว่าประมาณ ๘ ออนซ์ เคยเห็นผ้า ซึ่งคลี่ออก

แล้วห่มนอนได้ แต่เมื่อรวบเข้าได้กำเดียว จะเป็นผ้าชนิดนั้นกระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 263

ไม่สะอาด คนหนึ่ง (มา) อาศัย (เกาะ) บุรุษ

ผู้นั้น คนหนึ่ง (มา) ไม่อาศัย (เกาะ) ผู้นั้น

(ยืนอยู่) ข้างนอก และอีกคนหนึ่ง (มา) อาศัย

(อิง) คนที่ยืนอยู่ข้างนอกนั้นยืนอยู่ อารูปสมาบัติ

ทั้ง ๔ นักปราชญ์พึงทราบโดยความเป็นธรรมชาติ

เสมอกับบุรุษ ๔ คนนั่นโดยลำดับเถิด

(ต่อไป) นี้ เป็นคำประกอบความในอุปมานั้น เรื่องมีว่า มีมณฑป

หลังหนึ่ง (อยู่) ในที่ไม่สะอาด คราวนั้นบุรุษผู้หนึ่งมา (ที่นั่น) เกลียด

ที่ไม่สะอาดนั้น จึงโหนมณฑปนั้นด้วยมือ (ทั้งสองข้าง) เกาะอยู่ที่

มณฑปนั้นราวกะถูกแขวนไว้ ครั้นแล้ว อีกคนหนึ่งมาอาศัย (เกาะ)

บุรุษผู้เกาะมณฑปนั้น แล้วคนหนึ่งมาถึง คิดว่า "บุรุษผู้มีเกาะ

มณฑป และผู้ที่อาศัย (เกาะ) บุรุษนั้นก็ดี ทั้งสองนี้ท่าลำบาก และ

การตกเหวมณฑปจะต้องมีแก่เขาทั้งสองเป็นแม่นมั้น เอาเถิด เราอยู่

ข้างนอกนี่ละ" ดังนี้แล้ว เขาไม่อาศัย (เกาะ) คนที่อาศัย (เกาะ)

บุรุษคนแรกนั้น คงยืนอยู่ข้างนอกนั้นเอง แล้วอีกคนหนึ่งมา สำคัญ

(เห็น) คนที่คิด (เห็น) ความไม่ปลอดภัยแห่งบุรุษผู้เกาะมณฑปและ

คนที่อาศัย (เกาะ) บุรุษนั้นด้วย แล้วยืนอยู่ข้างนอกนั่นแหละ (ว่า)

ท่าดี จึงอาศัย (อิง) คนที่ยืนข้างนอกนั้นอยู่

กสิณุคฆาฏิมากาส (อากาศตรงที่กสิณเพิก) บัณฑิตพึงเห็น

เหมือนมณฑป (อยู่) ในที่ไม่สะอาด ในคำอุปมานั้น อากาสานัญจา-

ยตนะ อันมีอากาศเป็นอารมณ์ เพราะเกลียดรูปนิมิต พึงเห็นเหมือน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 264

บุรุษที่เกาะมณฑป (โหนอยู่) เพราะเกลียดที่ไม่สะอาด วิญญา-

ณัญจายตนะอันปรารภอากาสานัญจายตนะที่มีอากาศเป็นอารมณ์เป็นไป

พึงเห็นเหมือนคนที่อาศัย (เกาะ) บุรุษผู้เกาะมณฑป อากิญจัญญา-

ยตนะอันไม่ทำอากาสานัญจายตนะให้เป็นอารมณ์ มีความไม่มีวิญญาณ

นั้นเป็นอารมณ์ พึงเห็นเหมือนคนที่คิด (เห็น) ความไม่ปลอดภัยแห่ง

คนทั้งสองนั้น จึงไม่อาศัย (เกาะ) บุรุษผู้เกาะมณฑปนั้น ยืนอยู่

เสียข้างนอก เนวสัญญานาสัญญายตนะ อันปรารภอากิญจัญญาย-

ตนะ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่ข้างนอก ที่ได้แก่ความไม่มีแห่งวิญญาณเป็นไป

พึงเห็นเหมือนผู้ที่สำคัญ (เห็น) คนที่คิด (เห็น) ความไม่ปลอดภัย

แห่งบุรุษผู้เกาะมณฑป และคนผู้อาศัย (เกาะ) บุรุษนั้นแล้วยืนอยู่

เสียข้างนอกนั่นแหละว่า เป็นผู้มีท่าดี จึงอาศัย (อิง) คนผู้นั้นยืนอยู่

ฉะนั้น อันเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้เมื่อเป็นไปอย่างนั้น

จำต้องทำอากิญจัญญายตนะนั้นให้เป็นอารมณ์

เพราะไม่มีอารมณ์อื่น ดุจดัง (ประชา) ชน

จำต้องอาศัยพระราชาผู้แม้มีความไม่มีปรากฏ

อยู่เป็นไป เพราะการเลี้ยงชีพเป็นเหตุฉะนั้น

ขยายความว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ จำต้องทำอากิญจัญญายตนะ

นั้นแม้ที่มีโทษอันเห็นอยู่แล้วว่า 'สมาบัตินี้ มีข้าศึกคือวิญญาณัญจาย-

ตนะอยู่ใกล้' ดังนี้ ให้เป็นอารมณ์ เพราะไม่มีอารมณ์อื่น เปรียบ

เหมือนอะไร ? เปรียบเหมือน (ประชา) ชนจำต้องอาศัยพระราชาผู้แม้มี

ความไม่ดีปรากฏอยู่เป็น (อยู่) ไป เพราะการเลี้ยงชีพเป็นเหตุฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 265

อธิบายว่า (ประชา) ชนเมื่อไม่ได้การเลี้ยงชีพในประเทศอื่น ก็จำต้อง

อาศัยพระราชาสักองค์หนึ่งผู้ไม่ทรงสำรวม (ในศีล) มีความประพฤติ

ทางกายวาจาใจหยาบคาย แม้มีความไม่ดีที่ใคร ๆ เห็นกันว่าพระราชานี้

เป็นผู้มีความประพฤติหยาบคาย ดังนี้เป็น (อยู่) ไป เพราะการเลี้ยงชีพ

เป็นเหตุฉันใด เนวสัญญนาสัญญายตนะนี้เมื่อไม่ได้อารมณ์อื่นก็จำต้อง

ทำอากิญจัญญายตนะนั้นแม้มีโทษอันเห็นอยู่แล้วให้เป็นอารมณ์ฉันนั้น

เหมือนกัน ก็แลเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ เมื่อทำอย่างนั้น

ก็ย่อมเกาะ (อากิญจัญญายตนะ) ฌานนั้น เป็น

ไป (เพราะไม่มีอะไรจะเกาะ) เหมือนอย่าง

คนขึ้นบันไดยาว (ถึงขั้นบนแล้ว) ก็ย่อมยึดหัว

(แม่) บันได (เพราะไม่มีอะไรจะยึด) และ

เหมือนคนขึ้นเขา (ดินปนหิน) สุดแล้วก็ยึด

ยอดมัน (เพราะไม่มีอะไรจะยึด) หรือเหมือน

คนขึ้นเขา (โขดหิน) สุดแล้วก็ยันเข่าของตน

(เพราะไม่มีอะไรจะยึดยัน) ฉะนั้นแล

ปริเฉทที่ ๑๐ ชื่ออารุปปนิเทส

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา

ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดั่งนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 1

สมาธินิเทศ

อาหารเรปฏิกูลสัญญา

บัดนี้ ภาวนานิเทศแห่งอาหาเรปฏิกูลสัญญา ที่ท่านยกขึ้นแสดง

ไว้ถัดอารุปปนิเทศว่า "เอกา สญฺญา - สัญญา ๑ " ดังนี้ มาถึงแล้ว

โดยลำดับ

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในอาหารเรปฏิกูลสัญญานั้น ดังต่อไปนี้

สภาพใดย่อมนำมา เหตุนี้ สภาพนั้นจึงชื่อว่า อาหาร (แปล

ว่า สภาพผู้นำมา ) อาหารนั้นมี ๔ อย่าง คือ กพฬิงการาหาร

ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร

[สิ่งที่อาหารนำมา]

ถามว่า ก็ในอาหาร ๔ อย่างนั้น อาหารอย่างไหน ย่อมนำ

อะไรมา ?

ตอบว่า กพฬิงการาหารย่อมนำโอชัฏฐมกรูป (รูปกลาปมีโอชา

เป็นที่ ๘ )* มา ผัสสาหารนำเวทนา ๓ มา มโนสัญเจตนาหาร

นำปฏิสนธิในภพ ๓ มา วิญญาณหารนำมารูปในขณะปฏิสนธิมา

[ภัยที่เกิดเพราะอาหารเป็นเหตุ]

ในอาหาร ๔ อย่างนั้น ภัยคือความนิยมยินดี ย่อมมีในเพราะ

* คือมหาภูตรูป ๔ และ สี กลิ่น รส โอชา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 2

กพฬิงการาหาร ภัยคือความเข้าไปหา ย่อมมีในเพราะผัสสาหาร

ภัยคือความเข้าถึง (คือเกิด) ย่อมมีในเพราะมโนสัญเจตนาหาร

ภัยคือปฏิสนธิ ย่อมมีในเพราะวิญญาณาหาร ก็แลในอาหารทั้งหลาย

อันมีภัยจำเพาะอย่างนี้นั่น กพฬิงการาหาร จึงควรชี้แจงด้วยพระโอวาท

ที่เปรียบอาหารด้วยเนื้อบุตร ผัสสาหาร ควรชี้แจงด้วยพระโอวาทที่

เปรียบผัสสะด้วยโคถกหนัง มโนสัญเจตนาหาร ควรชี้แจงด้วย

พระโอวาทที่เปรียบภพด้วยหลุมถ่านเพลิง วิญญาณหารควรชี้แจง

ด้วยพระโอวาทที่เปรียบวิญญาณด้วยหอกหลาว แล

[อาหารที่ประสงค์เอาในกรรมฐานนี้]

แต่ในอาหาร ๔ นี้ กพฬิงการาหารอันแยกประเภทเป็นของกิน

ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม เท่านั้น ท่านประสงค์เอาว่าอาหารในความ

ข้อนี้ ความหมายรู้อันเกิดขึ้นโดยที่ถือเอาอาการที่ปฏิกูลในอาหารนั้น

ชื่ออาหาเรปฏิกูลสัญญา พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญอาหารเรปฏิกูลสัญญา

นั้น พึงเรียนเอากรรมฐานได้แล้ว (จำไว้) มิให้ผิดจากที่เรียกมา

แม้แต่บทเดียว ไปในที่ลับ (คน) เร้นอยู่ (คนเดียว) แล้วจึง

พิจารณาดูความปฏิกูลในกพฬิงการาหารอันแยกเป็นของกิน ของดื่ม

ของเคี้ยว ของลิ้ม โดยอาการ ๑๐ อาการ ๑๐ นี้ คืออะไรบ้าง คือ

คมนโต โดยการเดินไป

ปริเยสนโต โดยการแสวงหา

ปริโภคโต โดยการบริโภค

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 3

อาสยโต โดยอาสยะ (อาโปธาตุในลำไส้ที่ออก

มาประสมกับอาหารที่กลืนลงไป

นิธานโต โดยที่พัก (คือกระเพาะอาหาร ?)

อปริปกฺกโต โดยยังไท้ย่อย

ปริปกฺกโต โดยย่อยแล้ว

ผลโต โดยผล

นิสฺสนฺทโต โดยการไหลออก

สมฺมกฺขนโต โดยความเปรอะเปื้อน

[คมนโต-ปฏิกูลโดยการเกิดไป]

ใน ๑๐ บทนั้น บทว่า "คมนโต - โดยการเดินไป " นั้น

ความว่า ความปฏิกูลโดยการเดินไป พระโยคาวจรพึงพิจารณาเห็น

โดยนัยดังนี้ว่า "อันบรรพชิตในพระศาสนาที่ขึ้นชื่อว่ามีอานุภาพมาก

อย่างนี้ละ ทำการสาธายายพระพุทธวจนะก็ดี สมณธรรมก็ดี ตลอดทั้ง

คืน เลิกในตอนเช้าตรู่แล้ว (ไป) ทำวัตรที่ลานพระเจดีย์และลาน

พระโพธิ์ ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ กวาดบริเวณ ชำระร่างกายแล้ว ขึ้น

ที่นั่ง มนสิการกรรมฐานสัก ๒๐ - ๓๐ คาบ แล้วจึงลุกขึ้นถือบาตรและ

จีวร (จำต้อง) ละตโปวันอันเป็นที่ปราศจากชนเบียดเสียด สะดวก

แก่ (การอยู่อย่าง) ปวิเวก ถึงพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ สะอาด เย็น

เป็นภาคพื้นน่ารื่นรมย์ (จำต้อง) งดมุ่งหวังความยินดีในวิเวกอันเป็น

อริยคุณ มีหน้ามุ่งสู่หมู่บ้านไปเพื่อต้องการอาหาร ดังสุนัขจิ้งจอก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 4

มุ่งหน้าสู่ป่าช้าไป (เพื่อต้องการซากศพ) ฉะนั้น เมื่อไปอย่างนั้น

เล่า ตั้งแต่ลงเตียงหรือตั่งไป ก็ต้องย่ำเครื่องลาดอันเกลื่อนกล่น

ไปด้วยสิ่งไม่สะอาดมีละอองติดเท้าและมูลจิ้งจอกเป็นต้น ต่อนั้นไปก็

จำต้องเจอหน้ามุขอันปฏิกูลยิ่งกว่าภายในห้อง เพราะลางทีก็ถูกสิ่งปฏิกูล

มีมูลหนูและมูลค้างคาวเป็นต้นทำให้เสียไป ถัดออกไปก็จำต้องเจอ

พื้นล่าง (กุฎี) ซึ่งปฏิกูลยิ่งกว่าชั้นบน เพราะลางทีก็เปรอะไปด้วยมูล

นกเค้าและมูลนกพิราบเป็นต้น ต่อออกไปก็จำต้องเจอบริเวณอันปฏิกูล

ยิ่งกว่าพื้นล่าง (ของกุฎี) เพราะลางทีก็สกปรกไปด้วยหญ้าและใบไม้

เก่า ๆ ที่ลมพัดมา ด้วยปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก ของพวก

สามเณรที่เป็นไข้ และด้วยน้ำและโคลนในหน้าฝนเป็นต้น ทางเดิน

ไปวิหาร (จากบริเวณ) อันปฏิกูลยิ่งกว่าบริเวณไปอีก ก็จำต้องเจอ๑

อนึ่ง เธอผู้ไหว้พระโพธิ์และพระเจดีย์โดยลำดับแล้ว (ไปหยุด) ยืน

อยู่ที่วิตักมาลก (โรงหยุดตรึก๒) ตรึกไปว่าตนจำต้องไม่เหลียวแล

พระเจดีย์อัน (งาม) เช่นกับกองแก้วมุกดา และพระโพธิ์อัน (งาม)

จับใจเช่นกับกำหางนกยูง และเสนาสนะอัน (งาม) มีสง่าด้วยความ

๑. ไม่สมกับคำพรรณนาชมเสนาสนะ (ถัดไป ๓ บรรทัด) ที่ว่างามสง่าราวกะเทพพิมาน

น่ารื่นรมย์.

๒. มหาฎีกาว่า "เป็นที่ ๆ ภิกษุไปหยุดตรึกว่า วันนี้จะไปภิกขาที่ไหนหนอ " ใน

วิสุทธิมรรคแปลร้อยอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ว่า " วิตักกมาลกนั้น เป็นโรงสำหรับภิกษุ

ผู้ถือบิณฑบาต แต่ในขณะไปยืนอยู่ที่โรงวิตกนั้นเวลาเดียว เวลานอกนั้นเธอตรึกอยู่แต่ใน

พระกรรมฐานทั้งวันทั้งคืน" ชอบกล ทำไมต้องทำที่ไว้ให้ไปหยุดตรึก จะตรึกเสียที่กุฏิ

หรือที่อื่นไม่ได้หรือ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 5

พร้อมมูลแล้วแม้นเทพพิมาน หันหลังให้สถานที่อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้

ไป ก็เพราะอาหารเป็นเหตุ ดังนี้แล้วก้าวออกเดินไปตามทางไปสู่

หมู่บ้าน ก็จำต้องเจอทางอันมีตอแลหนามบ้าง ทางอันถูกกำลังน้ำ

เซาะ (เป็นล่องลึก) และลุ่ม ๆ ดอน ๆ บ้าง แต่นั้น เธอผู้นุ่ง

ผ้า (ด้วยความรู้สึก) เหมือนปิดแผลฝี คาดประคด (ด้วยความ

รู้สึก) เหมือนพันผ้าพันแผล ห่มจีวร (ด้วยความรู้สึก) เหมือน

คลุมโครงกระดูก นำบาตรไป (ด้วยความรู้สึก) เหมือนนำกระเบื้อง

ใส่ยาไป ถึงที่ใกล้ช่องทางเข้าหมู่บ้าน ก็จะพึงได้เจอซากต่าง ๆ

เช่นซากช้างบ้าง ซากม้าบ้าง ซากโคบ้าง ซากกระบือบ้าง ซาก

คนบ้าง ซากงูบ้าง ซากสุนัขบ้าง * ใช่แต่จะพึงได้พึงได้เจอก็หาไม่ แม้

กลิ่นของซากเหล่านั้นที่มากระทบจมูก ก็เป็นสิ่งที่เธอจำต้องทนด้วย

ต่อนั้น เธอจะต้อง ( หยุด ) ยืนที่ช่องเข้าหมู่บ้าน มองดูทางเดิน

ในหมู่บ้าน (เสียก่อน) เพื่อหลีกอันตราย มีช้างดุ ม้าดุเป็นต้น

สิ่งปฏิกูลมีเครื่องลาด (ที่เปื้อนละออง) เป็นต้น มีซาก

หลายอย่างเป็นปริโยสาน ดังกล่าวมาฉะนี้นี้ เป็นสิ่งที่เธอจำต้องเหยียบ

ย่ำด้วย จำต้องเจอด้วย จำต้องได้กลิ่นด้วย ก็เพราะอาหารเป็นเหตุ

ความปฏิกูลโดยการเดินไป พระโยคาวจรพึงเห็นลงดังนี้เถิดว่า "โอ !

ปฏิกูลจริงนะพ่อ อาหาร (นี้) "

* ฟังดูพิลึกพิลั่น หมู่บ้านอะไร มีกระทั่งซากช้างและซากคน ทิ้งให้เหม็นโขงอยู่

เช่นนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 6

[ปริเยสนโต - ปฏิกูลโดยการแสวงหา]

(ความปฏิกูล) โดยการแสวงหา เป็นอย่างไร ? บรรพชิต

ผู้แม้ทนความปฏิกูลในการเดินไปอย่างนี้แล้ว เข้าสู่หมู่บ้าน คลุมตัว

ด้วยสังฆาฏิ ก็ต้องเที่ยวไปตามทางในหมู่บ้างตามลำดับเรือน เหมือน

คนกำพร้ามือถือกระเบื้องเที่ยวไปฉะนั้น ในทางไรเล่า คราวฤดูฝน

ในที่ ๆ ย่ำ ๆ ไป เท้าจมลงในเลนกระทั่งถึงเนื้อปลีแข้ง ต้องถือบาตร

ด้วยมือข้างหนึ่ง ยกจีวรได้ด้วยมือข้างหนึ่ง ครั้นถึงฤดูร้อน ก็ต้อง

เที่ยวไป (ภิกขา) ทั้งที่ร่างกายมอมแมมด้วยฝุ่นและละอองหญ้า ที่

ฟุ้งขึ้นด้วยกำลังลม ถึงประตูเรือนนั้น ๆ แล้ว ก็ต้องเจอ ลางทีก็ต้อง

ย่ำหลุมโสโครกและแอ่งน้ำครำ อันคละคล่ำไปด้วยของโสโครกมีน้ำ

ล้างปลา น้ำล้างมือ น้ำซาวข้าว น้ำลาย น้ำมูก และมูลสุนัขมูลสุกร

เป็นต้น คลาคล่ำไปด้วยหมู่หนอนและแมลงวันหัวเขียว ซึ่งเป็น

แหล่งที่แมลงวันในหมู่บ้านขึ้นมาเกาะที่สังฆาฏิบ้าง ที่บาตรบ้าง ที่

ศีรษะบ้าง เมื่อเธอเข้าไปถึงเรือนเล่า เจ้าของเรือนลางพวกก็ให้

ลางพวกก็ไม่ให้ ที่ให้เล่า ลางพวกก็ให้ข้าวที่หุงไว้แต่เมื่อวานบ้าง

ของเคี้ยวเก่า ๆ บ้าง กับข้าวมีแกงถั่วบูด ๆ เป็นต้นบ้าง ที่ไม่ให้เล่า

ลางพวกบอกว่า "โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด เจ้าข้า" เท่านั้น แต่

ลางพวกแสร้งทำเป็นไม่เห็น นิ่งเฉยเสีย ลางพวกก็เบือนหน้าเสีย

ลางพวกก็ร้องว่าเอาด้วยคำหยาบ ๆ เป็นต้นว่า "ไปเว้ย คนหัวโล้น"

ถึงอย่างนี้ เธอก็จำต้องเที่ยวบิณฑบาตไปในหมู่บ้านอย่างคนกำพร้า

แล้วจึงออกไปแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 7

สิ่งปฏิกูลมีเลนเป็นอาทิดังกล่าวมาฉะนี้นี่ เป็นสิ่งที่เธอจำต้อง

เหยียบย่ำด้วย จำต้องเจอด้วย จำต้องทนด้วย ตั้งแต่เข้าสู่หมู่บ้าน

จนกระทั่งออกไป ก็เพราะอาหารเป็นเหตุโดยแท้ ความปฏิกูลโดย

การแสวงหา พระโยคาวจรพึงเห็นลงดังนี้เถิดว่า "โอ ! ปฏิกูล

จริงนะพ่อ อาหาร (นี่) "

[ปริโภคโต - ปฏิกูลโดยการบริโภค]

(ความปฏิกูล) โดยการบริโภคเป็นอย่างไร ? ก็ความปฏิกูล

โดยการบริโภค บรรพชิตผู้มีอาหารอันแสวงหา (ได้มา) อย่างนี้แล้ว

นั่งตามสบายอยู่ในที่อันผาสุกภายนอกหมู่บ้าน พึงเห็นลงดังนี้เถิดว่า

"เธอยังมิได้หย่อนมือลงในอาหาร (ที่อยู่ในบาตร) นั้นเพียงใด

เธอได้เห็นภิกษุผู้เป็นครุฐานิยะก็ดี คนผู้เป็นลัชชีก็ดี เช่นนั้นแล้ว

ก็อาจนิมนต์ (หรือเชื้อเชิญให้บริโภคอาหารนั้น) ได้อยู่เพียงนั้น๑

แต่ครั้นพอเธอหย่อนมือลงในอาหารนั้นด้วยใคร่จะฉัน จะกล่าว (เชื้อ

เชิญท่าน) ให้รับ (อาหารนั้น) มีอันจะต้องกระดากอาย๒ ครั้น

เมื่อเธอหย่อนมือลงแล้วขยำอยู่ เหงื่อ (มือ) ออกตามนิ้วทั้ง ๕

ทำข้าวสุกแม้ที่กระด้างเพราะความแห้งให้ชุ่มจนอ่อนไปได้ ทีนี้ ครั้น

บิณฑบาตนั้นเสียงความงามไปแล้วเพราะการกระทำแม้เพียงขยำ เธอ

๑. ลชฺชิมนุสฺสํ (คนผู้เป็นลัชชี) นี้ ถ้าหมายถึงคฤหัสถ์ก็อย่างไรอยู่ เพราะอาหารที่

ภิกษุยังมิได้ทำให้เป็นแดน จะให้คฤหัสถ์ได้ก็เฉพาะมารดาบิดาเท่านั้น ให้คฤหัสถ์อื่น

เป็นอาบัติเพราะทำให้ศรัทธาไทยให้ตก เพราะฉะนนั้ ถ้าเป็น ลชฺชิภิกขุํ ก็จะสนิทดี.

๒. เพราะเกรงไปว่าท่านจะรังเกียจว่าจะให้ของที่เป็นแดน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 8

ทำให้เป็นคำวางลงในปากแล้ว ฟันล่างทำกิจแห่งครก ฟันบททำกิจ

แห่งสาก ลิ้นทำกิจแห่งมือให้สำเร็จไป บิณฑบาตนั้น* อันโขลกด้วย

สากคือฟัน พลิกไปมาอยู่ด้วยลิ้น ราวกะข้าวสุนัขในรางข้าวสุนัขอยู่

ในปากนั้น น้ำลายใสจางที่ปลายลิ้นก็เปื้อนเอา น้ำลายข้นแต่กลางลิ้น

เข้าไปก็เปื้อนเอา มูลฟันในที่ ๆ ไม่ชำระฟันไม่ถึงก็เปื้อนเอา บิณฑ-

บาตนั้นที่แหลกและเปื้อนแล้วอย่างนี้ มีสีกลิ่นและการปรุงแต่อย่าง

วิเศษหานไปทันที กลับกลายเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง ดังสำรอก

ของสุนัขที่อยู่ในรางข้าวสุนัขฉะนั้น บิณฑบาตนั้นแม้เป็นอย่างนี้ก็เป็น

สิ่งที่พึงกลืนลงไปได้ เพราะมันล่วงคลองจักษุ (คือมองไม่เห็น)"

[อาสยโต - ปฏิกูลโดยอาสยะ]

(ความปฏิกูล) โดยอาสนะ (อาโปธาตุในลำไส้ที่ออกมาประสม

กับอาหารที่กลืนลงไป) เป็นอย่างไร ? ความปฏิกูลโดยอาสยะพึง

เห็นลงอย่างนี้ว่า "ก็แลอาหารที่ได้บริโภคเข้าไปแล้วอย่างนี้ เมื่อ

กำลังเข้าไปข้างใน (สำไส้) เพราะเหตุที่ในอาสยะ ๔ คือ ปิตตาสยะ

(อาสยะคือน้ำดี) เสมหาสยะ (อาสยะคือเสมหะ) ปุพพาสยะ

(อาสจยะคือบุพโพ) โลหิตาสยะ (อาสยะคือโลหิต) อาสยะอย่างใด

อย่างหนึ่งย่อมมีเป็นแท้ แม้แก่พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธ แม้

* ตํ (ปิณฺฑปาตํ) เป็นอวุตตกรรม ในมกฺเขติ ทั้ง ๓ บท จะแปลเป็นอวุตตกรรม

ความจะฟังยากในภาษาไทย จึงแปลดัดไปอย่างนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 9

แก่พระเจ้าจักรพรรดิ แต้สำหรับพวกคนมีปัญญาอ่อน๑ อาสยะมีทั้ง ๔

อย่าง เพราะเหตุนั้น ผู้ใดมีปิตตาสยะยิ่ง (อาหารที่เข้าไปในลำไส้)

ของผู้นั้น ก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยยางมะซางข้น ๆ น่าเกลียดยิ่งนัก

ผู้ใดมีเสมหาสยะยิ่ง ของผู้นั้นก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยน้ำในแตงหนู ผู้

ใดมีปุพพาสยะยิ่ง ของผู้นั้นก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยเปรียงเน่า ผู้ใด

มีโลหิตาสยะยิ่ง ของผู้นั้นก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยน้ำย้อม (จีวร)

น่าเกลียดยิ่งนัก"๒

[นิธานโต - ปฏิกูลโดยที่พัก (คือกระเพาะอาหาร]

(ความปฏิกูล) โดยที่พัก (คือกระเพาะอาหาร ?) เป็น

อย่างไร ? ความปฏิกูลโดยที่พักพึงเห็นลงอย่างนี้ว่า "อาหารอัน

กลืนเข้าไปที่เปื้อนด้วยอาสยะ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วนั้น เข้าไป

ภายในท้องแล้วจะได้ไปพักอยู่ในภาชนะทำด้วยทองงก็หามิได้ ไปพัก

อยู่ในภาชนะ (อันวิเศษอื่นๆ ) มีภาชนะประดับแก้วมณีหรือภาชนะ

ทำด้วยเงินเป็นต้นก็หาก็ได้ แต่ว่าถ้าคนอายุ ๑๐ ขวบกลืนลงไป (มัน)

ก็ (ไป) พักอยู่ในโอกาสที่เป็นเช่นหลุมคูถอันไม่ได้ล้างมา ๑๐ ปี

๑. ฉบับพม่าเป็น มนฺทปุญฺญานํ - บุญน้อย ในมหาฎีกาเป็น มนฺทปุญฺญ แต่ว่าจะเป็น

ปัญญาอ่อน หรือบุญน้อย อย่างไหนก็เข้าใจยากอยู่นั่นเองทำไมจึงเป็นเช่นนั้น.

๒. อาสยะ ในที่อื่นหมายถึงกระเพาะก็มี เช่น อามาสยะ หมายถึงกระเพาะอาหาร

และ ปกฺกาสยะ หมายถึงกระเพาะอุจจาระ แต่ในที่นี้ท่านหมายถึงโอกาสหนึ่ง ยังไม่

ถึง อามาสยะ อาหารลงไปถึงนั่นแล้วต้องระคนกับอาโปธาตุ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ

ทั้ง ๔ อย่าง คือ น้ำดี เสมหะ บุพโพ และโลหิต แล้วจึงเลื่อนต่อไปถึง อามาสยะ

(?) ข้อนี้พอเห็นเค้า อาหารที่สำรอกออกมามีสีแปลก ๆ ก็มี ดังที่เราพูดกันว่า "ราก

เขียวรากเหลือง"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 10

ถ้าคนอายุ ๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐ ปีกลืนลงไป (มัน)

ก็ (ไป) พักอยู่ในโอกาสที่เป็นเช่นหลุมคูถอันไม่ได้ล้างมา ๒๐-๓๐-

๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐ ปี ถ้าคนอายุ ๑๐๐ ปีกลืนลงไป (มัน)

ก็ (ไป) พักอยู่ในโอกาสที่เป็นเช่นหลุมคูถอันไม่ได้ล้างมา ๑๐๐ ปี ๑"

[อปริปกฺกโต - ปฏิกูลโดยยังไม่ย่อย]

(ความปฏิกูล) โดยยังไม่ย่อย เป็นอย่างไร ? ความปฏิกูล

โดยยังไม่ย่อย พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า "ก็แลอาหารนี้นั้น ที่เข้าไปพัก

อยู่ในโอกาสอย่างนั้นแล้ว ยังไม่ย่อยเพียงใด ที่กลืนลงไปในวันนั้น

บ้าง ในวันวานบ้าง ในวันก่อนนั้นบ้าง ทั้งหมดด้วยกัน อันฝ้าเสมหะ

ปิดคลุมไว้ ก่อเป็นฟองเป็นต่อมขึ้น อันเกิดซึ่งความเป็นของน่าเกลียด

อย่างยิ่งตั้งอยู่ในที่มีประการดังกล่าวแล้วนั้นแหละอันเป็นที่มืดมิด ตลบ

ไปด้วยกลิ่นอายอับด้วยกลิ่นซากสัตว์ (ที่เป็นอาหาร) ต่าง ๆ ๒ มี

กลิ่นเหม็นน่าเกลียดนักอยู่เพียงนั้น เปรียบประดุจของไม่สะอาดต่าง ๆ

เช่นหญ้า ใบไม้ เสื่อขาด ๆ และซากงู ซากสุนัข (กระทั่ง)

๑. ข้อ นิธานโต นี้ ว่าโดยลำดับความก็น่าจะเป็นกระเพาะอาหาร แต่อธิบายที่ว่า

เหมือนหลุมคูถ ฟังดูเป็นลักษณะกระเพาะอุจจาระไปไม่สมกัน อาหารที่กลืนลงไปยัง

ไม่ย่อย ยังไม่เข้าลักษณะกระเพาะอุจจาระไปไม่สมกัน อาหารที่กลืนลงไปยัง

๒. นานรุณป...ปวนวิจริเต ปาฐะนี้ถ้าไม่คลาดเคลื่อน ปวน ตรงนี้ก็มิได้หมายถึง

ป่า ปวน แปลว่า ลม ก็ได้ ในที่นี้จึงแปลเอาความว่ากลิ่นอาย ส่วน วิจริต เมื่อ

เข้ากับกลิ่น ก็ต้องแปลว่า ตลบ ว่า ฟุ้ง ให้ประสบประสานกันไปเช่นนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 11

ซากคน ๑ ที่ตกอยู่ในหลุม (โสโครก) ข้างช่องเข้าหมู่บ้านพวก

จัณฑาล อันถูกเมฆ (ฝน) นอก (ฤดู) กาลในหน้าร้อนตกรด

แล้ว ถูกแดดแผดเผาก็ก่อเป็นฟองเป็นต่อม (ส่งกลิ่นน่าเกลียด)

อยู่ฉะนั้น"

[ปริปกฺกโต - ปฏิกูลโดยย่อมแล้ว]

(ความปฏิกูล) โดยย่อยแล้วเป็นอย่างไร ? ความปฏิกูลโดย

ย่อยแล้ว พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า "อาหารนั้นเมื่อเป็นสิ่งที่ย่อยไปด้วย

ไป (ธาตุ) ในร่างกาย ในโอกาส (ที่พักอยู่ ) นั้นแล้ว ก็หาได้

กลายเป็นของมีค่าเช่นทองและเงินไป ดังแร่ทั้งหลายมีแร่ทองแร่เงิน

เป็นต้นไม่๒ แต่มัน (กลับ) ปล่อยฟองและต่อม (ออกมา)

กลายเป็นกรีสประจุปักกาสยะ (กระเพาะอุจจาระ) ไป เหมือนดิน

สีเหลืองที่เขาบดที่หินบดแล้วบรรจุเข้าไว้ในกระบอก (ไม้ไผ่) ฉะนั้น

และกลายเป็นมูตรประจุมุตตวัตถิ (กระเพาะปัสสาวะ) ไป"

[ผลโต - ปฏิกูลโดยผล]

(ความปฏิกูล) โดยผลเป็นอย่างไร ? ความปฏิกูลโดยผล

พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า "ก็อาหารนี้ ที่ย่อยดีเท่านั้นจึงผลิตซากต่าง ๆ มี

๑. พวกจัณฑาลมักง่ายสกปรก ถึงกับทิ้งศพคนไว้เช่นนั้นเทียวหรือ ? จะเป็นลางครั้ง

ลางทีกระมัง พอนึกเห็นอย่างได้ในบ้านในเมืองเรานี้ นาน ๆ ก็มีความนำทารกเป็นบ้าง

ตายบ้างไปทิ้งตามกองขยะ ผู้ร้ายฆ่าคนตายแล้วนำศพไปหมกทิ้งไว้ตามร่องตามคู แต่

ก็ทำไมพวกจัณฑาลจึงไม่นำพาต่อศพนั้นเสียเลย ช่างทนดมกลิ่นอยู่ได้ !

๒. อธิบายว่า แร่ธาตุ เช่น แร่ทองแร่เงินนั้น ใช้ไฟถลุงมันเข้า มันก็ปล่อยเนื้อแท้

ของมันออกมา กลายเป็นทองเป็นเงินบริสุทธิ์ไป แต่อาหารหาเป็นเช่นนั้นไม่.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 12

ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้นขึ้นได้ ที่ย่อมไม่ดี (กลับ) ก่อโรค

ตั้ง ๑๐๐ ชนิดขึ้น เป็นต้นว่า หิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด เรื้อน

กลาก หืด ไอ และลงแดง* นี้ผลของมัน"

[นิสฺสนฺทโต - ปฏิกูลโดยการไหลออก]

(ความปฏิกูล) โดยการไหลออก เป็นอย่างไร ? ความปฏิกูล

โดยการไหลออก พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า "ก็อาหารนั่น เมื่อกลืนลงไป

เข้าไปช่องเดียว (แต่) เมื่อไหลออก ไหลออกจากหลายช่อง

อย่างเช่นว่า มูลตา (ไหลออก) จากตา มูลหู (ไหลออก) จาก

หู อนึ่ง อาหารนั่น ในคราวกิน กินกับพรรคพวกมากคนก็มี แต่

ในคราวไหลออกมันกลายเป็นของไม่สะอาด มีอุจจาระปัสสาวะเป็นต้น

ไปเสียแล้ว ก็ถ่ายออกแต่คนเดียว อนึ่ง ในวันที่หนึ่ง คนกินมัน

ร่าเริง เบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัสก็มี (แต่) ในวันที่สองมันไหล

ออก คนปิดจมูก เบือนหน้า เกลียด กระดาก อนึ่ง ในวันที่หนึ่ง

คนยินดี ละโมบ ติดใจ สยบ กลืนมันลงไปก็มี แต่พอวันที่สอง

เพราะค้างอยู่คืนเดียวก็สิ้นยินดี เกิดเป็นทุกข์ อาย รังเกียจ ถ่าย

ออกไป เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

* โรคลงแดง เกิดเพราะอาหารย่อมไม่ดี หรือไม่ย่อย นี้ติดจะลึก ! ทำให้นึกคลาง

แคลงศัพท์อติสาร แปลว่า โรคลงแดง ถูกแล้วหรือ ได้พบลางแห่งแปลว่า โรคบิด

ก็เข้าเค้าเหมือนกัน แต่ถ้าแปลเสียว่า โรคท้องร่วง หรือ ลงท้อง ก็จะหมดปัญหา

ในที่นี้ เพราะว่าอาหารย่อยไม่ดีหรือไม่ย่อย เกิดเป็นพิษขึ้นก็ทำให้ท้องร่วง ฟังได้สนิท.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 13

"ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก

เข้าทางช่องเดียว (แต่) ไหลออกจาก ๙ ช่อง

ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของกินอันมีค่ามาก คน

กินกันพร้อมทั้งพวกพ้อง (แต่) เมื่อถ่ายออก

ย่อมซ่อนเร้น ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของกิน

อันมีค่ามาก คนนิยมยินดีกินเข้าไป (แต่) เมื่อ

ถ่ายออกย่อมเกลียด ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และ

ของกินอันมีค่ามาก ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และ

ของกินอันมีค่ามาก เพราะค้างอยู่คืนเดียว ก็เป็น

ของเสียไปสิ้น"

[สมฺมกฺขนโต - ปฏิกูลโดยความเปรอะเปื้อน]

(ความปฏิกูล) โดยความเปรอะเปื้อนเป็นอย่างไร ? ความ

ปฏิกูลโดยความเปรอะเปื้อนพังเห็นลงอย่างนี้ว่า "ก็แลอาหารนั่น

แม้ในเวลาบริโภค ก็เปื้อนมือ ริมฝีปาก ลิ้น แลเพดานปาก มือ

ริมฝีปาก ลิ้น แลเพดานปากนั้นเป็นสิ่งปฏิกูลไปเพราะถูกอาหารนั้น

เปื้อนเอา ซึ่งแม้ล้างก็ยังต้องล้างอีกเล่า เพื่อขจัดกลิ่น เมื่อคน

บริโภคมันเข้าไปแล้ว (มัน) ย่อยเป็นฟองปุดขึ้นด้วยไฟ (ธาตุ)

ในกายอันซ่านไปทั่วร่างแล้วก็ขึ้นมาเปื้อนฟันโดยเป็นมูลฟัน เปื้อน

สิ่งที่เนื่องด้วยปากเช่นลิ้นและเพกานปาก โดยเป็นเขฬะและเสมหะ

เป็นต้น เปื้อนทวารทั้งหลาย มีช่องตา ช่องหู ช่องจมูก และช่อง

เบื้องล่าง เป็นต้น โดยเป็นมูลตา มูลหู น้ำมูก น้ำมูตร และกรีส

เปรียบเหมือนเมื่อข้าวถูกหุงอยู่ สิ่งที่เป็นกากทั้งหลายมีแกลบ รำ และ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 14

ข้าวลีบเป็นต้น ย่อมลอยขึ้นมาเปื้อนขอบปากหม้อข้าวและฝาละมี

ฉะนั้น ซึ่งทวารเหล่านี้ที่มันเปื้อนเอาแล้ว แม้ล้างอยู่ทุกวันก็ยังเป็น

สิ่งไม่สะอาดไม่น่าขอบใจอยู่นั่น ในทวารทั้งหลายไรเล่า เพราะล้าง

ทวารลางอย่างเข้า มือก็เป็นสิ่งที่จำต้องล้างด้วยน้ำอีกที เพราะล้าง

ทวารลางอย่างแล้ว มือนั้นฟอกด้วยโคมนัยบ้าง ด้วยดินบ้าง ด้วย

ฝุ่นหอมบ้างตั้ง ๒-๓ ครั้ง จึงหายจากความปฏิกูล*"

[อาหารเรปฏิกูลสัญญาฌาน]

เมื่อโยคางจรภิกษุนั้น พิจารณาเห็นความปฏิกูลโดยอาการ ๑๐

อย่างนี้ ทำจนเป็นตักกาหตะ (ตรึกเอามาได้) วิตักกาหตะ (ตริ

เอามาได้) อยู่ กพฬิงการาหารย่อมจะปรากฏโดยอาการปฏิกูล เธอ

ส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งนิมิตนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อเธอทำไป

อย่างนั้น นิวรณทั้งหลายจะรำงับ จิตจะตั้งมั่นโดยอุปจารสมาธิ อัน

ไม่ถึงอัปปนา เพราะความที่กพฬิงการาหารเป็นสภาพลึกโดยความ

* ปกฐะในวิสุทธิมรรค พิมพ์ครั้งที่ ๓ พิมพ์ไว้เป็น ปาฏิกุลฺยตา น ววิคจฺฉติ - ความ

ปฏิกูลไม่หาย เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น ปาฏิกุลฺยตาย วิคจฺฉติ เพราะถึงจะ

เป็นมือล้างทวารหนัก เมื่อได้ฟอกถึง ๓ ครั้งก็ควรจะหายปฏิกูลแล้ว แม้ในวิสุทธิมรรค

แปลร้อย สมาธินิเทศ พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๒ หน้า ๒๙๓ ก็พิมพ์ไว้ว่า "ต้องสี

ด้วยโคมัย สีด้วยดิน สีด้วยจุณของหอม จึงปราศจากปฏิกูล " ดังนี้

ถึงกระนั้น ความที่ว่า "มือหายจากความปฏิกูล" นั้นก็ฟังดูไม่สู้จะแยบคาย

เพราะที่จริงนั้น "ความปฏิกูลหายไปจากมือ" ต่างหาก ถ้าจะเป็นอย่างนี้ ปาฐะก็ต้อง

เป็น "ปาฏิกุลฺยตา ววิคจฺฉติ" และเมื่อเป็นดังนี้ ปาฏิกุลฺยตา ย่อมเป็นประธายของ

ประโยต โธวิโต (หตฺโถ) ก็เก้อ หาที่จอดไม่ได้ ถ้าจะให้เข้ารูปประโยคได้ ก็ต้อง

ทำเป็นลักษณะ คือ เป็น โธวิเต อย่างนี้ดูจะแยบคายดีกว่าอย่างอื่นด้วยซ้ำไป.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 15

เป็นสภาวธรรม๑ แต่เพราะว่าสัญญา (ความกำหนดหมาย) ใน

กพฬิงการาหารนั้น ย่อมปรากฏด้วยอำนาจการถือเอาการปฏิกูล

เพราะเหตุนั้น กรรมฐานนี้จึงถึงซึ่งความนับ (คือได้ชื่อ) ว่า

" อาหาเรปฏิกูลสัญญา " ดังนี้

[อานิสงส์แห่งอาหารเรปฏิกูลสัญญา]

ก็แลจิตของภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งอาหาเรปฏิกูลสัญญานี้ย่อม

ถอย ย่อมหด ย่อมกลับจากรสตัณหา เธอเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา

กลืนกินอาหารเพียงเพื่อต้องการจะข้ามทุกข์ไปได้ ดุจคน (เดินทาง

กันดาร) มีความต้องการจะข้ามทางกันดาร (ให้จงได้ ไม่มีอะไร

จะกิน จำต้องฆ่าบุตรแล้ว) กินเนื้อบุตรฉะนั้น ทีนี้ราคะอันเป็นไป

ในเบญจกามคุณของเธอก็จะถึงซึ่งความกำหนดรู้ (ละได้)๒ ไม่สู้

ยาก โดยมีความกำหนดรู้กพฬิงการาหาร (โดยอาการปฏิกูล) เป็น

มุข (คือเป็นตัวนำทาง) เธอจะกำหนดรู้รูปขันธ์ได้โดยมีความ

๑. มหาฎีกาว่า นิมิตในอาหาเรปฏิกูลสัญญานี้ ก็คือกพฬิงการาหารที่ปรากฏโดยอาการ

ปฏิกูลนั่นเอง หาใช้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตไม่ เพราะถ้าอุคคหนิมิตเกิด ปฏิภาค-

นิมิตก็ต้องมี และเมื่อปฏิภาคนิมิตมี ฌานก็ต้องถึงอัปปนา แต่นี่ไม่มี เพราะอะไร

เพราะภาวนามีอาการต่าง ๆ ประการหนึ่ง เพราะเป็นกรรมฐานลึกโดยความเป็นสภาว-

ธรรมประการหนึ่ง จริงอยู่ ภาวนานี้เป็นไปโดยอาการปฏิกูล แต่วาสิ่งที่ปฏิกูลนั้น ได้แก่

สภาวธรรมอันเป็นที่อาศัยแห่งสิ่งที่บัญญัติเรียกว่ากพฬิงการาหารนั่นต่างหาก หาใช่ตัว

บัญญัตินั้นปฏิกูลไม่ ก็เพราะภาวนานี้ปรารภสภาวธรรมโดยถือเอาอาการปฏิกูลออกหน้า

เป็นไป และเพราะสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของลึกโดยสภาพ คือมันลึกของมันเอง

เพราะฉะนั้น ฌานนี้จึงไม่ถึงอัปปนา.

๒. ปริญฺญํ มหาฎีกาไขความว่า สมติกฺกมํ ก้าวล่วง (คือละได้) แก้อย่างนี้เข้าหลัก

ปหารปริญญา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 16

กำหนดรู้เบญจกามคุณเป็นมุข๑ อนึ่ง แม้การเจริญกายคตาสติของเธอ

ก็จะถึงความบริบูรณ์ ด้วยอำนาจความปฏิกูล (แห่งอาหาร) มี

อาหารที่ยังไม่ย่อมเป็นต้นด้วย๒ เธอนับว่าเป็นผู้ดำเนินข้อปฏิบัติอนุโลม

แก่อสุภสัญญา (ด้วย)๓ อนึ่งเล่า เธออาศัยข้อปฏิบัติอันนี้แล้ว เมื่อ

ยังไม่ลุถึงความสิ้นสุดคือพระอมตะในทิฏฐธรรมนี่ ก็จะมีสุคติเป็นที่

ไปในเบื้องหน้าแล

นี่เป็นคำกล่าวแก้อย่างพิสดารในการเจริญอาหารเรปฏิกูลสัญญา

จตุธาตวุวัฏฐาน

บัดนี้ นิเทศ (คำอธิบาย) การเจริญจตุธาตุววัฏฐาน ที่ท่าน

แสดงไว้ถัดอาหาเรปฏิกูลสัญญามาว่า "ววัฏฐาน ๑ " ดังนี้ มาถึง

แล้วโดยลำดับ

[อธิบายคำบทมาติกา]

วินิจฉัยในบทมาติกานั้น บทว่า ววัฏฐาน (วิเคราะห์ดู)

๑. เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สงเคราะห์ในรูปขันธ์ (?)

๒. หมายความว่าการพิจารณาความปฏิกูลแห่งอาหารโดยอาการต่าง ๆ นั้น ก็เท่ากับได้

พิจารณาอาการ ๓๒ ไปด้วย เช่นว่าพิจารณาอาหารที่ยังไม่ย่อย ก็คือพิจารณาอุทริยะ

(อาหารใหม่) นั่นเอง พิจารณาโดยอาสยะ ก็คือพิจารณาน้ำดี เสมหะ บุพโพ โลหิต

พิจารณาอาหารที่ย่อยแล้วก็เป็นอันได้กำหนดกรีสและมูตร พิจารณาโดยผลก็เป็นอันได้

กำหนดโกฏฐาสทั้งหลายมีผลเป็นอาทิไปด้วย.

๓. อธิบายว่า แม้อสุภสัญญาจะหมายถึงกำหนดซากศพ ส่วนสัญญานี้กำหนดความ

ปฏิกูลในอาหาร แต่ว่ากำหนดโดยอาการปฏิกูล เหม็น น่าเกลียดในร่างกายด้วยกัน จึง

ว่าอนุโลมกันได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 17

ได้แก่สันนิฐาน (ลงความเห็น) ตามที่ได้กำหนดเห็นสภาวะ (ของ

มัน) การวิเคราะห์ดูธาตุทั้ง ๔ ชื่อว่าจตุธาตุววัฏฐาน คำว่า

ธาตุมนสิการ (ความทำในใจโดยความเป็นธาตุ) ธาตุกรรมฐาน

(กรรมฐานมีธาตุเป็นอารมณ์) จตุธาตุววัฏฐาน (การวิเคราะห์ดู

ธาตุ ๔) โดยความก็อันเดียวกัน

[จตุธาตุวัฏฐาน ๒ อย่าง]

จตุธาตุววัฏฐานนี้นั้น (มี) มา ๒ อย่าง คือ อย่างสังเขป ๑

อย่างพิสดาร ๑ จตุธาตุววัฏฐานอย่างสังเขปนั้นมาในมหาสติปัฏฐาน

ูสูตร อย่างพิสดารมาในมหาหัตถิปทุปมสูตร ราหุโลวาทสูตร และ

ธาตุวิงภังคสูตร

[จตุธาตุววัฏฐานอย่างสังเขป]

จริงอยู่ จตุธาตุววัฏฐานนั้น มาโดยสังเขปในมหาสติปัฏฐาน-

สูตร โดยเป็นธรรมสำหรับผู้เจริญธาตุกรรมฐานที่มีปัญญากล้า ดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย โคฆาตก์ผู้ชำนาญ หรือลูกมือโคฆาตก์ ฆ่าโค๑

แล้ว (ชำแหละ) แบ่ง (เนื้อ) ออกเป็นส่วน ๆ แล้วพึงนั่ง

(ขาย) อยู่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ ฉันใดก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ

ก็ฉันนั้น พิจารณาดูกายนี้นี่แหละ ที่มันตั้งอยู่เท่าไร ที่เธอตั้งไว้เท่าไร ๒

๑. คาวี แปลว่า โค สามัญก็ได้ สำหรับในที่นี้ฟังสนิทกว่าที่จะแปลว่า แม่โค.

๒. ปณิหิตํ รูปเป็นกัมมวาจก สองบทนี้น่าจะเป็นดังนี้ ยถาฐิตํ เมื่อพิจารณาดูกายนั้น

กายจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ ภิกษุจะเดินอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ ก็เจริญธาตุ-

มนสิการได้ ยถาปณิหิตํ ก่อนจะเจริญธาตุมนสิการ ภิกษุจัดแจงแต่งกายให้อยู่ในท่า

ที่ต้องการ เช่นนั่งขัดสมาธิ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 18

(ก็ตาม) โดยธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน อาตุน้ำ ธาตุไป ธาตุ

ลม"

[ขยายความพระสูตร]

ความแห่งสูตรนั้นว่า "โคฆาตก์ผู้ฉลาด หรือลูกมือของเขาเอง

ที่เขาจ้างด้วยข้าวและค่าจ้าง ฆ่าโคแล้วชำแหละทำให้เป็นส่วน ๆ

พึงนั่ง (ขาย) อยู่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ กล่าวคือที่ตรงกลางทางใหญ่ อัน

(แล่น) ไปสู่ทิศทั้งสี่ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณา

ดูกายที่ชื่อว่าตั้งอยู่เท่าไร เพราะตั้งอยู่ด้วยอาการแห่งอิริยาบถ ๔ อย่าง

ใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าตั้งไว้เท่าไร เพราะมันตั้งอยู่ด้วยอาการอย่างไร

นั่นแล โดยธาตุอย่างนี้ว่า มีอยู่นี้ว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ฯลฯ ธาตุลม "

ถามว่า พุทธาธิบายมีอยู่อย่างไร ?

ตอบว่า พุทธาธิบายมีอยู่ว่า เมื่อโคฆาตก์ปรน*โคอยู่ก็ดี จูง

(มัน) มาสู่โรงฆ่าก็ดี จูงมาถึงแล้วผูกพักไว้ที่โรงฆ่านั้นก็ดี กำลัง

ฆ่าก็ดี เห็นมันถูกฆ่า มันตายก็ดี ความรู้สึกว่าโคยังไม่หายไปตราบ

เท่าที่เขายังมิได้ชำแหละมันแบ่ง (เนื้อ) ออกเป็นส่วน ๆ แต่เมื่อ

แบ่งไปนั่ง (ขาย) แล้ว ความรู้สึกว่าโคจึงหายไป กลายเป็น

ความรู้สึกว่ามังสะไป ความคิดดังนี้หาได้มีแก่เขาไม่ว่า "เราขายโค

ชนเหล่านี้นำเอาโคไป" แต่ที่แท้เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า "เรา

* มหาฎีกาว่า ให้มันกินของดี ๆ เช่น รำ ข้าว และเมล็ดฝ้าย เพื่อให้มันอ้วนมีเนื้อ

มาก จึงแปบว่าปรน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 19

ขายมังสะ ข้างชนเหล่านี้นำเอามังสะไป" ดังนี้ฉันใด แม้เมื่อภิกษุ

นี้ยังเป็นคฤหัสถ์ก็ดี บวชแล้วก็ดี ในกาลก่อนที่ยังเป็นปุถุชนโง่ ๆ

อยู่ (นั้น) ความรู้สึกว่าสัตว์ ว่าบุรุษ ว่าบุคคล ยังไม่หายไป

ตราบเท่าที่เธอยังมิได้พิจารณาดูกายนี้นี่แหละ ที่มันอยู่เท่าไร ที่

เธอตั้งไว้เท่าไร (ก็ตาม) โดยธาตุ ทำให้ฆนวินิพโภค (แยก

ก้อนออกไปเป็นส่วนย่อย ) ต่อเมื่อเธอพิจารณาเห็นโดยธาตุ สัตต-

สัญญา (ความรู้สึกว่าสัตว์) จึงหายไป จิตจึงตั้งมั่นอยู่โดยว่าเป็น

ธาตุเท่านั้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย โคฆาตก์ผู้ชำนาญ ฯลฯ พึงนั่ง (ขาย) อยู่ที่ทางใหญ่

สี่แพร่ ฉันใดก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

พิจารณาดูกายนี้นี้แหละ ฯลฯ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม "

ส่วนในมหาหัตถิปทุปมสูตร มาอย่างพิสดารโดยเป็นธรรมสำหรับ

ผู้เจริญธาตุกรรมฐานที่มิใช่ผู้มีปัญญากล้านัก ดังนี้ว่า

"ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ธาตุดินภายในเป็นอย่างไร ? สิ่งใด

มีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็นของแข้นแข็งหยาบไป ซึ่งบุคคลยึดถือ

(เป็นของตน) สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้คือผมทั้งหลาย ขนทั้งหลาย

เล็บทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือแม้

สิ่งใดสิ่งหนึ่งอื่นอีกที่มีอยู่ในตนอาศัยตนอยู่ เป็นของแข้นแข็งหยาบไป

ซึ่งบุคคลยึดถือ (เป็นของตน) ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นี้เรียกว่า

ธาตุดินภายใน "

และว่า "ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ธาตุน้ำภายในเป็นอย่างไร ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 20

สิ่งใดมีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็นของเหลวอาบเอิบไป ซึ่งบุคคล

ยึดถือ (เป็นของตน) สิ่งนี้คืออะไร ? สิ่งนี้คือ น้ำดี ฯลฯ น้ำ

มูตร หรือแม้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอื่นอีกที่มีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็น

ของเหลวอาบเอิบไป ซึ่งบุคคลยึดถือ (เป็นขอตน) ดูกรอาวุโส

ทั้งหลาย นี้เรียกว่าธาตุน้ำ"

และว่า "ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ธาตุไฟภายในเป็นอย่างไร ?

สิ่งใดที่มีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็นของร้อนเผาไหม้ไป ซึ่งบุคคล

ยึดถือ (เป็นของตน) สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เป็นเหตุอบอุ่น

(แห่งกาย) ๑ เป็นเหตุทรุดโทรม (แห่งกาย) ๑ เป็นเหตุกระวน

กระวาย (แห่งกาย) ๑ เป็นเครื่องย่อยไปดีแห่งของที่กินดื่มเคี้ยวลิ้ม

เข้าไป ๑ หรือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งอื่นอีกที่มีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็นของ

ร้อนเผาไหม้ไป ซึ่งบุคคลยึดถือ (เป็นของตน) ดูกรอาวุโสทั้งหลาย

นี่เรียกว่าธาตุไฟภายใน"

และว่า "ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ธาตุลมภายในเป็นอย่างไร ?

สิ่งใดมีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็นของกระพือพัดไป ซึ่งบุคคลยึดถือ

(เป็นของตน) สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้คือลมขึ้นเบื้องสูง ลมลงเบื้อง

ต่ำ ลมอยู่ในท้อง ลมอยู่ในไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลม

หายใจออกหายใจเข้า ดังนี้คือ หรือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งอื่นอีกที่มีอยู่ในตน

อาศัยตนอยู่เป็นของกระพือพัดไป ซึ่งบุคคลยึดถือ (เป็นของตน)

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นี่ธาตุลมภายใน"

ก็แลจตุธาตุววัฏฐานในมหาหัตถิปทุปสูตรนี้ มีฉันใด แม้ใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 21

ราหุโลวาทสูตรและสูตรวิภังคสูตรก็มีฉันนั้น

[อธิบายคำในมหาหัตถิปทุปมสูตร]

(ต่อไป) นี้เป็นคำแก้บทที่ไม่ง่าย ในพระสูตรนั้น ก่อนอื่น

บท อชฺฌตฺตํ ปจฺจตฺตํ ทั้งสองบทนี่เป็นคำทับศัพท์นิยกะ สิ่งที่เกิด

ในตน หมายความว่าเนื่องอยู่ในสันดานของตน ชื่อว่านิยกะ นิยกะ

นี้นั้น (แหละ) ท่านกล่าวเสียว่า อชฺฌตฺตํ เพราะสิ่งนั้นเป็นไป

อยู่ในตน กล่าวเสียว่า ปจฺจตฺตํ เพราะสิ่งนั้นอาศัยตนเป็นไป

เหมือนถ้อยคำ (อันเป็นไปเฉพาะ) ในหมู่ผู้หญิงในโลก เขาก็เรียกว่า

อธิตฺถี (ถ้อยคำเฉพาะหมู่ผู้หญิง)๑ ฉะนั้น

บทว่า กกฺขงฬํ แปลว่า กระด้าง บทว่า ขริคตํ แปลว่า

หยาบ ในสองบทนั้น บทที่หนึ่งบอกลักษณะ บทที่สองบอกอาการ

เพราะปฐวีธาตุนั้นมีลักษณะแข้นเข็ง มีอาการหยาบ เพราะฉะนั้น๒

ท่านจึงกล่าวว่า "กกฺขฬํ ขริคตํ"๓

บทว่า อุปาทินฺนํ แปลว่าถือมั่น อธิบายว่า ถือเอายึดเอา

จับเอาไว้มั่น (ด้วยสำคัญ) อย่างนี้ ว่าเรา ว่าของเรา

๑. เข้าใจว่าท่านมุ่งอธิบายถึง อธิอุปสัค ว่าใช้ในความหมายภายใน หรือเฉพาะ

ก็ได้ (?)

๒. ปาฐะวิสุทธิมรรคพิมพ์ครั้งที่ ๓ พิมพ์ไว้เป็น ตสฺสา ผิด ที่ถูกเป็น ตสฺมา.

๓. ตอนนี้ท่านแก้บท กกฺขฬํ และบท ขริคตํ ทั้งสองเป็นคู่กันไป แต่ทำไมจึงไป

ลงท้ายแต่บทเดียวว่า ตสฺมา ขริคตตนฺติ วุตฺตา การเรียงบทข้างหน้าก็อย่างไรอยู่ คือ

เรียงไว้เป็น ๒ ประโยคว่า กกฺขฬลกฺขณา หิ ปฐวีธาตุ ฯ วา ผรุสาการา โหติ ตสฺมา

ขริคตนฺติ วุตฺตา ไม่สนิทเลย น่าจะเป็นประโยคเดียวว่า กกฺขฬลกฺขณา หิ ปฐวีธาตุ

ผรุสาการา โหติ ตสฺมา กกฺขฬํ ขริคตนฺติ วุตฺตา ในที่นี้แปลไว้ตามที่เห็นว่าถูก.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 22

บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต นิบาตนั้น มีความว่า "หาก

ถามว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร" ต่อนั้น ท่านจะแสดง (ตอบ) ความที่

ถามนั้น จึงกล่าวคำต่อไปว่า เกสา โลมา เป็นอาทิ ก็ในปฐวีธาตุ

นิเทศนี้ พึงทราบว่าท่านแสดงปฐวีธาตุโดยอาการ ๒๐ เพราะเติม

มัตถลุงค์เข้า ด้วยคำว่า "ยํ วา ปนญฺญมฺปิ กิญฺจิ หรือแม้สิ่งใด

สิ่งหนึ่งอื่นอีก " เป็นอันท่านสงเคราะห์เอา (สิ่งที่เป็น) ปฐวีธาตุ

(อันพึงมีอยู่) ในส่วน (แห่งธาตุ) ๓ ที่เหลือด้วย๑

[อาโป]

สิ่งใดเอิบอายไปได้ คือไปถึงที่นั้น ๆ ได้ โดยภาวะคือไหลไป

เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่า อาโป สิ่งใดในอาโปทั้งหลาย อันมี

ประการต่าง ๆ ด้วยอำนาจแห่งสมุฏฐานมีกรรมสมุฏฐานเป็นต้น เหตุนี้

สิ่งนั้นจึงชื่อ อาโปคต สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? สิ่งนั้นได้แก่ลักษณะ

คือความซึมซาบได้แห่งอาโปธาตุ

[เตโช]

สิ่งที่ชื่อว่า เตโช เพราะอำนาจแห่งความเป็นเครื่องทำให้ร้อน๒

สิ่งใดไปในแต่เตโชทั้งหลายโดยนัยที่กล่าวแล้ว๓นั่นแล เหตุนั้น จึงชื่อว่า

๑. หมายความว่า สิ่งที่นับเป็นปฐวีธาตุ เท่าที่จำแนกไว้เป็น ๑๙ อาการ มีผมเป็นต้น

มีอาหารเก่าเป็นปริโยสานนั้น เป็นการจำแนกแต่อาการที่ปรากฏชัดเท่านั้น แต่ที่จริง

สิ่งที่นับเป็นปฐวีธาตุปนอยู่ในส่วนธาตุอื่นอีกก็มี เป็นอันนับเอาเป็นปฐวีธาตุด้วยหมดนั่น.

๒. เตชนวเสน เตชน นี้มหาฎีกาให้แปลว่า คม.

๓. คือนัยตอนที่แก้อาโป ที่ว่า "มีประการต่าง ๆ ด้วยอำนาจแห่งสมุฏฐาน ..."

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 23

เตโชคต สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? สิ่งนั้นได้แก่ลักษณะคือความเป็นของ

ร้อน (แห่งเตโชธาตุ)

คำว่า เยน จ (สนฺปฺปติ) ความว่า ร่างกายนี้ ย่อม

เร่าร้อน คือเกิดเป็นไอร้อนขึ้นโดยเป็นไข้มีวันเดียวหายเป็นต้น

เพราะเตโชคตใดอันกำเริบขึ้น

คำว่า เยน จ ชริยติ ความว่า ร่างกายนี้ย่อมทรุดโทรม

คือ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีอินทรีย์ (มีตาเป็นต้น) บกพร่องไป ซึ่ง

ความถดถอยกำลัง และซึ่งความเป็นผู้มี (หนัง) เหี่ยว และ (มี

ผม) หงอกเป็นต้น เพราะเตโชคตใด

คำว่า เยน จ ปริทยฺหติ ความว่า ร่างกายนี้กระสับกระส่าย

และบุคคลนั้นคร่ำครวญไปว่า ฉันร้องจริง ฉันร้องจริง รอคออยยา

ชะโลมมีสตคโธตสัปปิ (เนยใสอันชำระร้อยครั้ง)* และโคสีตจันทน์

(น้ำไม้จันทน์ผสมด้วยน้ำนมโค) เป็นต้น และลมแต่พัดก้านตาล

ด้วย เพราะเตโชคตใดอันกำเริบขึ้น

คำว่า เยน จ อสิต ปีต ขายิด สายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ

ความว่า สิ่งที่เคี้ยวกินเข้าไปมีขนมแป้ง (ทอกรอบ) เป็นต้นก็ดี

สิ่งที่ลิ้มเข้าไปมีมะม่วงสุกและน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้นก็ดีนั่น ย่อมถึงซึ่ง

ความย่อยไปด้วยดี หมายความว่าถึงซึ่งความแยกออกไปโดยเป็น (สิ่ง

* มหาฎีกาว่า เนยใสที่เขาตั้งไฟให้ร้อนแล้วยกลงแช่น้ำเย็น ทำไปเช่นนั้น ๑๐๐ ครั้ง

เรียกว่า สตโธตสัปปิ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 24

ที่ร่างกายต้องการต่าง ๆ มี ) รส (คือของเหลวอันมีประโยชน์

แก่ร่างกาย ? ) เป็นต้น๑ เพราะเตโชคตใด

ก็ในอาการ ๔ อย่างนั้น อาการ ๓ ข้างต้นมีเตโชธาตุเป็น

สมุฏฐาน อาการสุดท้ายมีกรรมเป็นสมุฏฐานแท้

[วาโย]

สิ่งที่ชื่อว่า วาโย เพราะอำนาจแห่งความเป็นสิ่งทำให้ฟุ้งไป

สิ่งใดไปในวาโยทั้งหลายโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน๒ เหตุนั้น สิ่งนั้น

จึงชื่อว่า วาโยคต สิ่งนั้นได้แก่อย่างไร ? สิ่งนั้นได้แก่ลักษณะคือการไหว

ตัวได้

คำว่า อุทฺธงฺคมา วาตา คือลมขึ้นเบื้องบน ยังอาการมีเรอ

และสะอึกเป็นต้นให้เป็นไป คำว่า อโธคมา วาตา คือ ลมลงเบื้อง

ล่าง นำเอาอุจจาระปัสสาวะเป็นต้นออกไป คำว่า กุจฺฉิสยา วาตา

คือลมอยู่ภายนอกลำไส้ คำว่า โกฏฐาสยา วาตา คือลมอยู่ภายใน

สำไส้ คำว่า องฺคมงฺคานุสาริโน วาตา คือ ลมอันแล่นไปตาม

องคาพยพใหญ่น้อยทั่วสรีระ ตามแนวข่ายเส้น (เลือด) ยังการคู้

(อวัยวะ) และการเหยียด (อวัยวะ) เป็นต้นให้เกิดขึ้นได้ คำว่า

อสฺสาโส ได้แก่ลมหายใจเข้าข้างใน คำว่า ปสฺสาโส ได้แก่ลม

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า อาหารย่อยแล้วเกิดเป็นรสขึ้น แล้วก็แยกไปเป็นเลือด เนื้อ มัน

เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก และน้ำสุกกะ.

๒. ดูเชิงอรรถ ๓ หน้า ๒๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 25

หายใจออกข้างนอก ๑

ก็แลในลม ๖ อย่างนี้ ลม ๕ ข้างต้นเป็นจตุสมุฏฐาน ลม

อัสสาสะปัสสาสะเป็นจิตสมุฏฐานอย่างเดียว๒

ด้วยบทนี้ว่า "ยํ วา ปนญฺญมฺปิ กิญฺจิ หรือแม้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอื่น

อีก" ในทุกนิเทศ (มีอาโปธาตุนิเทศเป็นต้น) เป็นอันท่านสงเคราะห์

เอา (สิ่งที่เป็น) อาโปธาตุเป็นต้น (อันพึงมีอยู่) ในส่วน (แห่ง

ธาตุ) ที่เหลือเข้าด้วย๓

ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้ ธาตุ ๔ เป็นอันท่านให้พิสดารแล้ว

ด้วยอาการ ๔๒ คือ ปฐวีธาตุ... ด้วยอาการ ๒๐ อาโปธาตุ...

ด้วยอาการ ๑๒ เตโชธาตุ... ด้วยอาการ ๔ วาโยธาตุ...ด้วยอาการ

๖ ดังนี้แล

นี่เป็นพรรณนาความแห่งบาลีในธาตุววัฏฐาน (วิตถารนัย) นั้น

(เท่านี้) ก่อน

๑. ในตอนอานาปานสติ ท่านแก้ อัสสาสะ เป็นลมหายใจออก ปัสสาสะเป็นสมหายใจ

เข้า ครั้นมาตอนนี้แก้กลับไปตรงกันข้าม ว่าเด็ดขาดเสียด้วย ไม่มีวิเคราะห์อะไร

ทั้งสิ้น ถ้าไม่แต่งคนละองค์ ก็น่าจะว่ามาถึงตอนนี้ท่านได้หลักวินิจฉัยใหม่กระมัง ก็ดี

เหมือนกัน พวกเราจะได้หายข้องใจกันเสียที ว่าอย่างนี้แหละถูก.

๒. จตุสมุฏฐาน คือมีจิต กรรม ฤดู อาหาร เป็นสมุฏฐาน ที่ว่าสมอัสสาวะปัสสาสะ

มีจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวนั้น มีอธิบายว่า ลมหายใจจะพ้นสรีระไปหามีไม่ แล้ว

จิตตสมุฏฐานจะไปเกิดนอกร่างกายก็ไม่มี.

๓. มหาฎีกาว่า เช่นในนิเทศแห่งอาโปธาตุ ก็สงเคราะห์เอาน้ำสัมภวะเข้าด้วย ใน

นิเทศแห่งเตโชธาตุสงเคราะห์เอาไออุ่นที่มีอยู่ตามปกติในร่างกายเข้าด้วย ในนิเทศ

แห่งวาโยธาตุ สงเคราะห์เอาลมที่ยังหูดและสิวให้เกิดเข้าด้วย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 26

[ภาวนานัย - วิธีภาวนา]

[สังเขปนัย]

ส่วนวินิจฉัยในภาวนานัยในธาตุกรรมฐานนี้ (พึงทราบดังนี้)

สำหรับภิกษุผู้มีปัญญากล้า การกำหนดธาตุโดยพิสดาร (แจก

ไปตามอาการ ๔๒ ) ว่า "เกสา ปฐวีธาตุ ผมทั้งหลายเป็นธาตุ

ดิน โลมา ปฐวีธาตุ - ขนทั้งหลายเป็นธาตุดิน " ดังนี้เป็นต้น จะ

ปรากฏเป็นชักช้าไป แต่เมื่อเธอมนสิการ (แต่โดยลักษณะ) ว่า

"สิ่งที่มีลักษณะกระด้าง เป็นธาตุดิน สิ่งที่มีลักษณะซึมซาบ เป็น

ธาตุน้ำ สิ่งที่มีลักษณะร้อน เป็นธาตุไฟ สิ่งที่มีลักษณะไหวตัวได้

เป็นธาตุลม" ดังนี้ กรรมฐานก็จะปรากฏแล้ว ส่วนสำหรับภิกษุ

ผู้มีปัญญาไม่กล้านัก เมื่อมนสิการ (โดยย่อ) อย่างนั้น กรรมฐาน

ย่อมมืดไป ไม่ชัดแจ้ง ต่อมนสิการอย่างพิสดารโดยนัยก่อน กรรมฐาน

จึงจะปรากฏ ความข้อนี้มีอุปมาอย่างไร ? มีอุปมาว่า เมื่อภิกษุ

๒ รูปสาธยายแบบ (บาลี) ที่มีไปยาลมากอยู่ ภิกษุรูปที่มีปัญญา

กล้า ยังไปยาลมุข (คือตัวเต็ม) ให้พิสดาร (คือสวดเต็ม)

จบอหนึ่งหรือสองจบแล้ว ต่อนั้นไปก็ทำสาธยายแต่โดยเงื่อนทั้งสอง

(คือต้นกับปลาย) ไป ในเธอ ๒ รูปนั้น รูปที่มีปัญญาไม่กล้านัก

จะเป็นผู้กล่าว*อย่างนี้ว่า "นั่นได้ชื่อว่าสาธยายอะไรกัน ไม่ให้ทำ

มาตาว่าริมฝีปากกระทบกัน (คือสวดละละไป) ไม่ทันไรก็จบเสียแล้ว

ราวะว่าริมฝีปากยังไม่ทันกระทบกัน) เมื่อทำสาธยายวิธีนี้ สักเมื่อไร

* ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า วุตฺตา ผิด ที่ถูกเป็น วตฺตา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 27

แบบ (บาลี) จึงจักคล่อง " เธอยังไม่ยามุขที่มาถึง ๆ ให้พิสดาร

ทุกที ทำสาธยายไป (คือสาธยายเต็มทุกแห่ง ไม่ละตามไปยาล) ภิกษุ

อีกรูปหนึ่ง (คือรูปที่มีปัญญากล้า) ก็กล่าวกะเธอรูปนั้นอย่างนี้ว่า

"นั้นได้ชื่อว่าสาธยายอะไรกัน ไม่ให้ถึงที่สุดได้ เมื่อทำสาธยายวิธีนี้

สักเมื่อไร แบบ (บาลี) จึงจักถึงที่จบ " ดังนี้ฉันใด การกำหนด

ธาตุอย่างพิสดารไปตามอาการมีผมเป็นต้น ก็ปรากฏเป็นชักช้าสำหรับ

ภิกษุผู้มีปัญญากล้า ต่อเมื่อเธอมนสิการอย่างสังเขปโดยนับว่า "สิ่ง

ที่มีลักษณะกระด้าง เป็นธาตุดิน " เป็นต้น กรรมฐานจึงปรากฏ

สำหรับอีกรูปหนึ่งมนสิการอย่างนั้น กรรมฐานจะมืดไปไม่ชัดแจ้ง ต่อ

มนสิการโดยพิสดารไปตามอาการมีผมเป็นต้น กรรมฐานจึงปรากฏ

ก็ฉันน้นั แล

[วิธีเจริญธาตุกัมมัฏฐานสำหรับผู้มีปัญญากล้า]

เพราะเหตุนั้น อันภิกษุที่มีปัญญากล้าผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญ

กรรมฐานนี้ ชั้นแรกพึงเป็นผู้ไปในที่ลับ (คน) เร้นอยู่ (ผู้เดียว) แล้ว*

* รโนคเตน ปฏิสลฺลีเนน มหาฎีกาอธิบายให้ความรู้ว่า รโหคต เป็นส่วนกายวิเวก

คือไปสู่ที่อันอนุกูลแก่การเจริญภาวนาอยู่ผู้เดียว ปฏิสลฺลียา เป็นส่วนจิตตวิเวก คือพราก

จิตจากอารมณ์ต่าง ๆ แล้วซ่อนจิตไว้ในกรรมฐาน

เราเข้าใจกันว่า ทั้งสองบทนี้เป็นส่วนกายวิเวกเท่านั้น การจะทำกรรมฐาน ก่อน

อื่นก็ต้องหาที่ลับคน ถ้าไปนั่นทำอยู่ต่อหน้าคนหรือในที่ ๆ คนไปมาเห็นได้ ก็จะกลายเป็น

อาปาถกชฺฌายี - เข้าฌานอวดคนไป นี่รโหคต ในที่ลับเช่นนั้นอาจมีภิกษุไปอาศัยทำ

กรรมฐานด้วยกันหลายรูป ถ้าเช่นนั้นเมื่อจะนั่งเมื่อจะนั่งกรรมฐานก็พึงปลีกตัวไปหาที่เร้น คือ

ให้ห่างกันตามสมควร ไม่ใช่นั่งทำอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม นี่ปฏิสลฺลีน แม้ในปาฐะท่าน

ก็เรียง ๒ บทนี้ไว้เป็นบุพภาค แล้วจึงพิจารณากายกำหนดธาตุต่อไป.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 28

รำพึงถึงรูปกายของตนให้ทั่งร่าง กำหนดถือเอา (เป็น) ธาตุทั้งหลาย

โดยสังเขปอย่างนี้ว่า "ภาวะที่กระด้างก็ดี ภาวะที่แข็งก็ดี อันใด (มี

อยู่) ในกายนี้ อันนี้เป็นธาตุดิน ภาวะที่ซึมซาบก็ดี ภาวะที่เหลว

ก็ดี อันใด (มีอยู่) ในกายนี้ อันนี้เป็นธาตุน้ำ ภาวะที่เผาไหม้ก็ดี

ภาวะที่ร้อนก็ดี อันใด (มีอยู่) ในกายนี้ อันนี้เป็นธาตุไป ภาวะ

ที่พัดไปก็ดี ภาวะที่ไหวได้ก็ดี อันใด (มีอยู่) ในกายนี้ อันนี้เป็น

ธาตุลม*" ดังนี้แล้ว คะนึงนึกไปพิจารณาไปโดยว่าเป็นแต่ธาตุ หา

สัตว์หาชีวะมิได้ (โดยบริกรรม) ว่า "ธาตุดิน ธาตุน้ำ" เป็นต้นไป

แล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อภิกษุนั้นพยายามไปอย่างนั้น สมาธิอัน (ภาว-

นา) ปัญญาที่ (ทำกิจ) สอดส่องความแตกต่างแห่งธาตุกำหนดยึด

เอาได้ เป็นสมาธิไม่ถึงอัปปนา เป็นเพียงอุปจาร เพราะความที่มี

สภาวธรรมเป็นอารมณ์ ย่อมจะเกิดขึ้นโดยไม่ช้าเลย

หรือมิฉะนั้น โกฏฐาส ๔ เหล่านี้ใดที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้

เพื่อแสดงความที่มหาภูตทั้ง ๔ เป็นนิสสัตตะ (หาสัตว์ คือวิญญาณ

* มหาฎีกาว่า ถทฺธภาโว - ภาวะที่กระด้าง เป็นลักษณะ ขรภาโว - ภาวะที่แข็ง เป็น

อาการที่ปรากฏแห่งธาตุดิน ทฺรวภาโว - ภาวะที่เหลว เป็นลักษณะ อาพนฺธนภาโว-

ภาวะที่ซึมซาบ เป็นอาการที่ปรากฏแห่งธาตุน้ำ อุณฺหภาโว - ภาวะที่ร้อน เป็นลักษณะ

ปริปาจนภาโว - ภาวะที่เผาไหม้ เป็นอาการที่ปรากฏแห่งธาตุไฟ วิตฺถมฺภนภาโว ภาวะ

ที่พัดไป เป็นลักษณะ สมุทีรณภาโว - ภาวะที่ไหวได้ เป็นอาการที่ปรากฏแห่งธาตุลม

ที่ว่าอาการที่ปรากฏ หมายถึงอาการที่ชัดแจ้งแก่ญาณ โดยธาตุทำหน้าที่ของมัน

ให้ปรากฏ

ที่ท่านกล่าวธาตุละ ๒ บท เพราะเมื่อมนสิการธาตุไป ลางคนธาตุก็ปรากฏทาง

สภาวะคือลักษณะ ลางคนก็ปรากฏทางกิจคือหน้าที่ของมัน ทางใดปรากฏก็ถือเอาทา

นั้นมนสิการไป.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 29

มิได้) ว่า "อากาศอันอาศัยกระดูก ๑ อาศัยเอ็น ๑ อาศัยเนื้อ ๑

อาศัยหนัง ๑ ห่อหุ้ม (ตั้งอยู่) ได้ชื่อว่า "รูป" เท่านั้นเอง"

ดังนี้ ภิกษุพึงแยกโกฏฐาสเหล่านั้นออกด้วยมือคือญาณอันแล่นไปตาม

ระหว่างแห่งโกฏฐาสนั้น ๆ กำหนดถือเอาธาตุทั้งหลายโดยนัยก่อน

นั่นแลว่า "ภาวะที่แข็งก็ดี ภาวะที่หยาบก็ดี อันใด ในโกฏฐาส

เหล่านั้น นี่เป็นธาตุดิน" ดังนี้เป็นต้น คะนึงนึกพิจารณาไปโดยว่า

เป็นแต่ธาตุ หาสัตว์หาชีวะมิได้ (โดยบริกรรม) ว่า "ธาตุดิน

ธาตุน้ำ" เป็นอาทิไปแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อเธอพยายามไปอย่างนั้น

สมาธิอัน (ภาวนา) ปัญญาที่ (ทำกิจ) สอดส่องความแตกต่างแห่ง

ธาตุกำหนดถือเอาได้ เป็นสมาธิไม่ถึงอัปปนา เป็นเพียงอุปจาร

เพราะความที่มีสภาวธรรมเป็นอารมณ์ ย่อมจะเกิดขึ้นโดยไม่ช้าเลย

นี้เป็นภาวนานัยในจตุธาตุววัฏฐาน ที่มาโดยสังเขป

[วิตถารนัย]

ส่วนภาวนานัยในจตุธาตุววัฏฐาน ที่มาโดยพิสดาร พึงทราบดัง

(ต่อไป) นี้

ก็แลพระโยคีผู้มีปัญญาไม่กล้านัก ใคร่จะเจริญกรรมฐานนี้ พึง

เรียนเอาธาตุอย่างพิสดารโดยอาการ ๔๒ ในสำนักของอาจารย์แล้ว อยู่

ในเสนาสนะมีประการดังกล่าวแล้ว ทำกิจทั้งปวงเสร็จแล้วไปในที่ลับ

(คน) เร้นอยู่แล้วจึงเจริญกรรมฐานโดยอาการ ๔ อย่างนี้ คือ โดย

สสัมภารสังเขป (สังเขปโกฏฐาสทั้งหลายเข้าเป็นหมู่ ๆ ตามอาการ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 30

ของธาตุนั้น ๆ ) โดยสสัมภารวิภัติ (จำแนกโกฏฐาสแห่งธาตุนั้น ๆ

ออก กำหนดอาการไปทีละอย่าง ) โดยสลักขณสังเขป (สังเขป

โกฏฐาสทั้งหลายเข้าเป็นหมู่ ๆ ตามลักษณะของธาตุนั้น ๆ ) โดย

สลักขณะวิภัติ (จำแนกโกฏฐาสแห่งธาตุนั้น ๆ ออก กำหนดลักษณะ

ไปทีละอย่าง )*

[เจริญโดยสสัมภารสังเขป]

ในอาการ ๔ นั้น เจริญโดยสสัมภารสังเขปอย่างไร ? ภิกษุ

ในพระศาสนานี้กำหนดเอาอาการแข้นเแข็งในโกฏฐาส ๒๐ ว่าปฐวีธาตุ

กำหนดเอาอาการซึมซาบ อันเป็นความเหลวกล่าวคือเป็นน้ำในโกฏฐาส

๑๒ ว่า อาโปธาตุ กำหนดเอาความร้อนอันเป็นเครื่องเผาไหม้ใน

โกฏฐาส ๔ ว่าเตโชธาตุ กำหนดเอาอาการพัดไปมาในโกฏฐาส ๖ ว่า

วาโยธาตุ เมื่อเธอกำหนดอยู่อย่างนั้นแหละธาตุทั้งหลายจะปรากฏได้

เธออาวัชนาการไปมนสิการไปซึ่งธาตุทั้งหลายนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ อุป-

จารสมาธิจะเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล แต่เมื่อภิกษุใดเจริญไป

* ศัพท์ สสมฺภาร สลกฺขณ เข้าใจยากอยู่บ้าง พิจารณาตามนัยมหาฎีกาเข้าใจว่าดังนี้

ธาตุ ๔ ชื่อว่าสัมภาร เพราะเป็นเครื่องรวบรวมหรือเลี้ยงรักษาไว้แห่งโกฏฐาสทั้งหลาย

มีผมเป็นต้น ส่วนโกฏฐาสทั้งหลายนั้นชื่อว่าสสัมภาร เพราะเป็นไปกับสัมภารคือธาตุ

เหล่านั้น หรือว่าเพราะมีอาการของธาตุนั้น ๆ อยู่ในตัว

นัยเดียวกัน ธาตุ ๔ ชื่อว่าลักขณะ เพราะเป็นเครื่องกำหดนแห่งโกฏฐาส

ทั้งหลาย (ว่าเป็นธาตุอะไร) ส่วนโกฏฐาสทั้งหลายชื่อว่าสลักขณะ เพราะเป็นไปกับ

ลักขณะคือธาตุเหล่านั้น หรือว่าเพราะมีอาการของธาตุนั้น ๆ อยู่ในตัว

สสัมภาร...กำหนดอาการ สลักขณ...กำหนดลักษณะ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 31

อย่างนั้น กรรมฐานยังไม่สำเร็จ ภิกษุนั้นพึงเจริญโดยสสัมภารวิภัติ

เถิด

[เจริญโดยสสัมภารวิภัติ]

(เจริญโดยสสัมภารวิภัติ) อย่างไร ? คือภิกษุนั้น ชั้นแรก

พึงทำอุคคหโกศล ๗ ประการ และมนสิการโกศล ๑๐ ประการ ที่

กล่าวแล้วกายคตาสติกรรมฐานนิเทศทั้งหมดมิให้บกพร่องแล้วทำวิธีที่

กล่าวในกายคตาสติกรรมฐานนิเทศนั้นทุกอย่าง ตั้งต้นแต่สาธยายด้วย

วาจา ซึ่งอาการทั้งหลาย มีอาการหมวดตจปัญจกะเป็นต้น ในอาการ

๓๒ ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ส่วนความแปลกกันมีดังนี้เท่านั้น

คือ แม้มนสิการอาการทั้งหลายมีผมเป็นต้นโดยสี สัณฐาน ทิศ โอกาส

และบริเฉท (ด้วยกัน แต่ว่า) ในกายคตาสิตินั้น ต้องตั้งจิตไว้

ทางปฏิกูล ในธาตุวัฏฐานนี้ ต้องตั้งจิตไว้ทางธาตุ เพราะเหตุนั้น

โยคาวจรภิกษุ ครั้นมนสิการอาการทั้งหลายมีผมเป็นอาทิอย่างละ ๕

ส่วน โดยประการมีสีเป็นต้นแล้ว ในที่สุดพึงยังมนสิการให้เป็นไป

ดังนี้

[ปฐวีโกฏฐาส]

เกสา- ผมทั้งหลาย

ว่า "อันผมทั้งหลายนี้ เกิดที่หนังหุ้มกระโหลกศีรษะ ใน

หนังหุ้มกระโหลกศีรษะกับผมทั้งหลายนั้น หนังหุ้มกระโหลกศีรษะ

หารู้ไม่ว่าผมทั้งหลายเกิดที่เรา ผมทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่หนัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 32

หุ้มกระโหลกศีรษะ เปรียบเหมือนในหญ้ากุณฐะทั้งหลายอันเกิดอยู่ที่ยอด

จอมปลวก ยอดจอมปลวกหารู้ไม่ว่าหญ้ากุณฐะทั้งหลายเกิดที่เรา หญ้า

กุณฐะเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดที่ยอดจอมปลวกฉะนั้น ธรรม (คือ

สิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด

เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ)

มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

โลมา - ขนทั้งหลาย

ว่า "ขนทั้งหลายเกิดที่หนังหุ้มสรีระ ในหนังหุ้มสรีระกับขน

ทั้งหลายนั้น หนังหุ้มสรีระหารู้ไม่ว่าขนทั้งหลายเกิดอยู่ที่เรา ขน

ืทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่หนังหุ้มสรีระ เปรียบเหมือนใน

หญ้าแพรกทั้งหลายอันเกิดอยู่ในที่บ้านร้าง ที่บ้างร้างหาทราบไม่ว่า

หญ้าแพรกเกิดอยู่ที่เรา หญ้าแพรกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ในที่บ้าน

ร้างฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึง

และไตร่ตรองถึงกันและกัน อันขนทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่ง

ในร่างกายนี้ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า จากอัตตา) หา

สัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วย

ประการฉะนี้"

นขา - เล็บทั้งหลาย

ว่า "เล็บทั้งหลายเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย ในนิ้วกับเล็บทั้งหลาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 33

นั้น นิ้วทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเล็บเกิดทีปลายของเรา เล็บทั้งหลายเล่าก็

หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่ที่ปลายนิ้วทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อเด็กทั้งหลาย

ใช้ไม้หลายอันเสียบเม็ดมะซางเล่นอยู่ ไม้ทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเม็ดมะซาง

ติดอยู่ที่เรา เม็ดมะซางเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราติดอยู่ที่ไม้ทั้งหลาย ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรอง

ถึงกันและกัน อันเล็บทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้

ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จา___________กอัตตา) หาสัตว์ (คือ

วิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

ทนฺตา - ฟันทั้งหลาย

ว่า "ฟันทั้งหลายเกิดที่กระดูกคาง ในกระดูกคางกับฟัน

ทั้งหลายนั้น กระดูกคางหารู้ไม่ว่าฟันทั้งหลายเกิดอยู่ที่เรา ฟันทั้งหลาย

เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดอยู่กระดูกคาง เปรียบเหมือนในเสา (เรือน)

ที่ช่างไม่ทั้งหลายพัน (โคน) ด้วยยางเหนียวลางชนิดแล้ว (ยก)

ตั้งลงในหลุมหินทั้งหลาย * หลุมทั้งหลายหารู้ไม่ว่าเสาทั้งหลายตั้งอยู่ใน

* ปาสาณอุทุกฺขลเกสุ อุทุกฺขล ตามปกติแปลว่าครก แต่ว่าโดยความ หมายถึง

รูหรือหลุมที่เจาะขุดลงไปอย่างครก เพื่อรับสิ่งที่จะตั้งหรือสอดลงไปอย่างสาก เช่นรูที่

ธรณีประตูสำหรับเดือยบางประตู เราก็เรียกว่าครก บาลีก็เรียก อุทุกฺขล เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น อุทุกฺขลิกา จึงแปลว่า ธรณีประตู

ในทนนำมาใช้กันเสาเรือน จะคงแปลว่าครกไม่ได้กับสมมติในภาษาไทย จึงแปล

ว่าหลุม

ส่วนมหาฎีกาว่า หินที่เขาวางรองโคนเสาเรือน (แทนเข็ม ?) นั่นแหละ

ปาสาณอุทุกฺขลก.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 34

เรา เสาทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในหลุมฉะนั้น ธรรม (คือ

สิ่ง) ทั้งหลายนั้น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันปละกัน

อันฟันทั้งหลายเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็น

อัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้

เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

ตโจ - หนัง

ว่า "หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้นตั้งอยู่ ในสรัระกับหนังนั้น สรีระหารู้

ไม่ว่า เราถูกหนังหุ้ม หนังเล่าก็หารู้ไม่ว่า สรีระน่ะ เราหุ้มไว้ เปรียบ

เหมือนในพิณใหญ่ที่หุ้มด้วยหนังโคสด๑ พิณใหญ่หารู้ไม่ว่า เราถูก

หนังโคสดหุ้ม หนังโคสดเล่าก็หารู้ไม่ว่า พิณใหญ่น่ะ เราหุ้มไว้ ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรอง

ถึงกันและกัน อันหนัง (นั่น) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้

ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ

วิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

มํสํ - เนื้อ

ว่า "เนื้อ ฉาบทาติดอยู่ตามโครงกระดูก ในเนื้อกับโครง

กระดูกนั้น โครงกระดูกหารู้ไม่ว่า เราอันเนื้อต่างอย่าง ๙๐๐ ชิ้นฉาบ

๑. มหาฎีกาว่าที่เปรียบด้วยหนังโคสด ก็เพื่อให้ได้กันกับหนังจริงของคนที่หุ้มร่างกายอยู่

ยิ่งกว่านั้นก็เป็นเหมือนกันโดยประการอื่นอีก เช่นมีกลิ่นเหม็นปฏิกูลเหมือนกัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 35

อยู่ เนื้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า โครงกระดูกถูกเราฉาบไว้ เปรียบเหมือนใน

ฝา (เรือน) ที่พอกไว้ด้วยดินเหนียวก้อนใหญ่ ๆ * ฝาหารู้ไม่ว่า เรา

ถูกดินเหนียวก้อนใหญ่พอก ดินเหนียวก้อนใหญ่เล่าก็หารู้ไม่ว่า ฝา

ถูกเราพอก ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิด

คำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันเนื้อ (นั้น) เป็นโกฏฐาสแผนก

หนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา)

หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วย

ประการฉะนี้ "

นฺหารู - เอ็นทั้งหลาย

ว่า "เอ็นทั้งหลาย รัดรึงกระดูกทั้งหลายไว้อยู่ภายในสรีระ ใน

กระดูกกับเอ็นทั้งหลายนั้น กระดูกทั้งหลายรู้ไม่ว่า เราถูกเอ็น

ทั้งหลายรัดรึง เอ็นทั้งหลายเล่าก็หารู้ไม่ว่า กระดูกทั้งหลาย เรารัดรึง

ไว้ เปรียบเหมือนในไม้ (เชิง) ฝาที่เขามัดด้วยเถาวัลย์ทั้งหลาย ไม้

(เชิง) ฝาหารู้ไม่ว่า เราถูกเถาวัลย์มัด เถาวัลย์เล่าก็หารู้ไม่ว่า ไม้

(เชิง) ฝา ถูกเรามัดไว้ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจาก

ความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันเอ็นทั้งหลายเป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

ด้วยประการฉะนี้ "

* มหาฎีกาว่าที่เปรียบด้วยดินเป็นก้อน ๆ ก็เพราะชิ้นเนื้อโดยมากเป็นก้อนหนา ๆ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 36

อฏฺฐี - กระดูกทั้งหลาย

ว่า " ในกระดูกทั้งหลาย กระดูกซ่นเท้าค้ำกระดูกข้อเท้าตั้งอยู่

กระดูกข้อเท้าค้ำกระดูกแข้งตั้งอยู่ กระดูกแข้งค้ำกระดูกขาตั้งอยู่ กระดูก

ขาค้ำกระดูกสะเอวตั้งอยู่ กระดูกสะเอวค้ำกระดูกสันหลังตั้งอยู่ กระดูก

สันหลังค้ำกระดูกคอตั้งอยู่ กระดูกคอค้ำกระดูกศีรษะตั้งอยู่ กระดูก

ศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ ๆ ตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง ๆ ตั้งอยู่บนกระดูก

สะเอว ๆ ตั้งอยู่บนกระดูกขา ๆ ตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง ๆ ตั้งอยู่บนกระดูก

ข้อเท้า ๆ ตั้งอยู่บนกระดูกซ่นเท้า ในกระดูกเหล่านั้น กระดูกซ่นเท้า

หารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกข้อเท้าตั้งอยู่ กระดูกข้อเท้าหารู้ไม่ว่า เราค้ำ

กระดูกแข้งตั้งอยู่ กระดูกแข้งหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกขาตั้งอยู่ กระดูก

ขาหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกสะเอวตั้งอยู่ กระดูกข้อเท้าหารู้ไม่ว่า เราค้ำ

ค้ำกระดูกสันหลังหลังตั้งอยู่ กระดูกสันหลังหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกคอตั้ง

อยู่ กระดูกคอหารู้ไม่ว่า เราค้ำกระดูกศีรษะตั้งอยู่ กระดูกศีรษะก็หารู้

ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกคอ ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูก

สันหลัง ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เรา

ตั้งอยู่บนกระดูกขา ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง ๆ ก็หารู้ไม่

ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บน

กระดูกซ่นเท้า เปรียบเหมือนในกองวัตถุ (ที่วางซ่อน ๆ กัน) มีอิฐ

ไม้ และโคมัย (แห้ง) เป็นต้น* อันล่าง ๆ หารู้ไม่ว่า เราค้ำอันบน ๆ

* ได้ทราบว่า โคมัยคือมูลโค เป็นของมีค่าสำหรับชาวชมพูทวีปจมทุกวันนี้ ใช้ไล้พื้น

ฉาบฝา เป็นยา และทำเป็นแผ่นตากแห้ง กองซ้อน ๆ กันไว้เป็นเชื้อเพลิง ดังกล่าวในที่นี้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 37

ตั้งอยู่ อันบน ๆ เล่า ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนอันล่าง ๆ ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึง

กันและกัน อันกระดูกเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความ

คิด เป็นอัพยากฤตว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้

เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

อฏฺฐิมิญฺชํ - เยื่อในกระดูก

ว่า "เยื่อในกระดูก ตั้งอยู่ในส่วนในของกระดูกนั้น ๆ ใน

กระดูกกับเยื่อนั้น กระดูกทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เยื่อตั้งอยู่ในภายในของเรา

เยื่อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในภายในของกระดูกทั้งหลาย เปรียบ

เหมือนในหน่อไม้ทั้งหลาย มีหน่อหวายที่นึ่งแล้วเป็นต้น อันบุคคล

สอดเข้าไว้ในภายในของปล้องไม้มีปล้องไผ่เป็นอาทิ ปล้องไผ่เป็นอาทิ

หารู้ไม่ว่า หน่อหวายเป็นต้นเขาสอดไว้ในเรา หน่อหวายเป็นต้นเล่า

ก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไผ่เป็นอาทิ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง)

ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อัน

เยื่อในกระดูกเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็น

อัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็น

ของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

วกฺกํ - ไต (โบราณว่า ม้าน)

ว่า "วักกะ เป็นก้อนเนื้อ (คู่) ติดอยู่กับเอ็นใหญ่ ซึ่งโคนเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 38

เส้นเดียวแล่นออกจากหลุมคอไปหน่อย แตกเป็นสองเส้นโอบเนื้อหัวใจ

อยู่ ในเอ็นใหญ่กับวักกะนั้น เอ็นใหญ่หารู้ไม่ว่า วักกะติดอยู่กับเรา

วักกะก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่กับเอ็นใหญ่* เปรียบเหมือนในผลมะม่วงคู่

อันติดอยู่กับขั้ว (เดียวกัน) ขั้วหารู้ไม่ว่า ผลมะม่วงคู่ติดอยู่กับเรา

ผลมะม่วงคู่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่กับขั้ว ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง)

ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อัน

วักกะเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต

ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง

เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

หทํย - หัวใจ

ว่า "หัวใจ อาศัยตรงกลางซี่กรงกระดูกอกตั้งอยู่ในภายในสรีระ

ในภายในซี่กระดูกอกกับหัวใจนั้น ภายในซี่กระดูกอกหารู้ไม่ว่า

หัวใจอาศัยเราอยู่ หัวใจเล่าก็ไม่หารู้ไม่ว่า เราอาศัยภายในซี่กระดูกอก

ตั้งอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อที่คนวางแอบไว้ภายในซี่กรงคานหาม

(ปีกครุฑ) เก่า ๆ ภายในซี่กรงคานหามเก่าหารู้ไม่ว่าชิ้นเนื้อเขาวาง

แอบเราไว้ ชิ้นเนื้อเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราถูกเขาวางแอบไว้ภายในซี่กรง

* สรีรวิทยาว่า ไต เป็นอวัยวะจำพวกต่อมชนิดหนึ่ง อยู่ที่ข้างกระดูกสันหลังแถวบั้นเอว

ทั้งสองข้าง มีหน้าทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ เพื่อส่งไปยังกระเพราะปัสสาวะ ไม่ตรงกับ

ลักษณะที่ท่านว่าในที่นี้ ส่วนม้าน ว่าเป็นอวัยวะอยู่ริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย ก็ไม่ตรง

กับลักษณะที่ท่านว่าในที่นี้อีกแหละ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 39

คานหามเก่า* ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิด

คำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันหัวใจเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่ง

ในร่างกายนี้ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หา

สัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วย

ประการฉะนี้ "

ยกนํ - ตับ

ว่า " ตับ ตั้งอยู่ติดสีข้าง ๆ ขวาในส่วนในของนมทั้งสองภายใน

สรีระ ในสีข้าง ๆ ขวาส่วนในของนมกับตับนั้น สีข้าง ๆ ขวาใน

ส่วนในของนมรู้ไม่ว่า ตับตั้งติดเราอยู่ ตับเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้ง

ติดสีข้าง ๆ ขวาในส่วนในของนมอยู่ เปรียบเหมือนในชิ้นเนื้อคู่อันติด

อยู่ที่ข้างของกระเบื้องหม้อ ข้างของกระเบื้องหม้อหารู้ไม่ว่า ชิ้นเนื้อคู่

ติดอยู่ที่เรา ชิ้นเนื้อคู่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่ที่ข้างของกระเบื้องหม้อ

ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและ

ไตรตรองถึงกันและกัน อันตับ (นั่น) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่าง

กายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์

(คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

กิโลมกํ - พังผืด

ว่า " ในพังผืดทั้งหลาย พังผืดชนิดปกปิด ล้อม (หุ้ม) ทั้งหทัย

* มหาฎีกาว่า โครงกระดูกอก ท่านเรียกว่า ซี่กรงกระดูกอก เพราะโครงกระดูกอกนั้น

คล้ายซี่กรง และที่เปรียบด้วยซี่กรงคานหามเก่า ๆ ก็เพื่อแสดงภาวะที่โครงกระดูกอก

เป็นของคร่ำเขรอะ และมิใช่ของมั่นคงอันใด.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 40

และวักกะอยู่ พังผืดชนิดเปิดเผย หุ้มยึด (กล้าม) เนื้ออยู่ใต้หนังทั่วสรีระ

ในวักกะ หทัย และเนื้อ (กล้าม) ทั่วสรีระกับพังผืดนั้น วักกะ หทัย

และเนื้อ (กล้าม) ทั่วสรีระหารู้ไม่ว่า เราถูกพังผืดปิด (หุ้ม) พังผืด

เล่าก็หารู้ไม่ว่า วักกะ หทัย และเนื้อ (กล้าม) ทั่วสรีระถูกเราปิด (หุ้ม)

เปรียบเหมือนใน (ชิ้น) เนื้อที่เขาห่อไว้ด้วยผ้าขี้ริ้ว เนื้อหารู้ไม่ว่า เรา

ถูกห่อไว้ด้วยผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วเล่าก็หารู้ไม่ว่า เนื้อน่ะเขาห่อไว้ด้วยเรา

ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่

ตรองถึงกันและกัน อันพังผืดเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มี

ความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ

วิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

บีหกํ - ม้าม (โบราณว่า ไต)

ว่า " ม้าม อยู่ติดด้านบนแห่งเพดานท้องข้างซ้ายของหัวใจ* ใน

ด้านบนแห่งเพดานท้องกับม้านนั้น ด้านบนแห่งเพดานท้องหารู้ไม่ว่า

ม้านติดเราอยู่ ม้านเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดด้านบนแห่งเพดานท้องอยู่

เปรียบเหมือนในก้อนโคมัยที่ติดด้านบนแห่งยุ้งข้าวอยู่ ด้านบทแห่งยุ่ง

ข้าวหารู้ไม่ว่า ก้อนโคมัยติดเราอยู่ ก้อนโคมัยเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติด

้ด้านบนแห่งยุ้งข้าวยู่ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจาก

ความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันม้าม (นั่น) เป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

* สรีรวิทยาว่า อยู่ข้างซ้ายกระเพาะอาหาร.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 41

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

ด้วยประการฉะนี้ "

ปปฺผาสํ - ปอด

ว่า "ปอด ห้อยคลุมทั้งหัวใจและตับอยู่ในระหว่างนมทั้งสอง

ในส่วนในของสรีระ ในส่วนในของสรีระกับปอดนั้น ส่วนในของ

สรีระหารู้ไม่ว่า ปอดห้อยอยู่ที่เรา ปอดเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ใน

ส่วนในของสรีระมีรูปอย่างนั้น เปรียบเหมือนในรังนกอันห้อยอยู่ใน

ภายในของยุ้งข้าวเก่า ๆ ส่วนภายในของยุ้งเก่าหารู้ไม่ว่า รังนกห้อยอยู่

ในเรา รังนกเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ในภายในของยุ้งเก่า ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึง

กันและกัน อันปอด (นั่น) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มี

ความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ)

มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

อนฺตํ - ไส้ใหญ่

ว่า "ไส้ใหญ่ อยู่ในภายในของสรีระ มีปลายอยู่ที่ต้องคอ (ข้าง ๑)

และที่ทวารหนัก (ข้าง ๑) ในภายในของสรีระกับไส้ใหญ่นั้น ภายใน

ของสรีระหารู้ไม่ว่า ไส้ใหญ่อยู่ในเรา ไส้ใหญ่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่

ในภายในของสรีระ เปรียบเหมือนในซากงูเรือนหัวขาดที่เขาขดวางลง

ไว้ในรางเลือด รางเลือดหารู้ไม่ว่า ซากงูเรือนอยู่ในเรา ซากงูเรือน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 42

เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในรางเลือด ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลาย

นั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันไส้ใหญ่

(นั่น) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยา-

กฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของ

แข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

อนฺตคุณํ - ไส้น้อย

ว่า "ไส้น้อย พันขนดไส้ใหญ่ (ซึ่งขดไปขดมา) ๒๑ ขด อยู่

ในระหว่าง (ๆ) ของไส้ใหญ่ ในไส้ใหญ่กับไส้น้อยนั้น ไส้ใหญ่หารู้

ไม่ว่า ไส้น้อยพันเราอยู่ ไส้น้อยเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราพันไส้ใหญ่อยู่

เปรียบเหมือนในเชือก (เล็ก) ทั้งหลาย ที่ร้อยขดเชือก (ใหญ่) สำหรับ

เช็ดเท้าอยู่ ขดเชือก (ใหญ่) สำหรับเช็ดเท้าหารู้ไม่ว่า เชือก (เล็ก)

ร้อยเราอยู่ เชือก (เล็ก) เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราร้อยขดเชือก (ใหญ่)

สำหรับเช็ดเท้าอยู่ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจาก

ความคิดคำนึงและไตรตรองถึงกันและกัน อันไส้น้อยเป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ

ด้วยประการฉะนี้ "

อุทริยํ - อาหารใหม่

ว่า "อาหารใหม่ คือสิ่งที่กินดื่มเคี้ยวลิ้มเข้าไปอยู่ในท้อง ใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 43

ท้องกับอาหารใหม่นั้น ท้องหารู้ไม่ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา อาหาร

ใหม่เล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในท้อง เปรียบเหมือนในรากสุนัขที่อยู่ใน

รางสุนัข รางสุนัขหารู้ไม่ว่า รากสุนัขอยู่ในเรา รากสุนัขเล่าก็หารู้

ไม่ว่า เราอยู่ในรางสุนัข ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น

ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันอาหารใหม่เป็น

โกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่าง

เปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของแข้นแข็ง

เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

กรีสํ - อาหารเก่า

ว่า "อาหารเก่า อยู่ที่ปลายลำไส้ใหญ่ (สัณฐาน) ดังปล้องไม้ไผ่

(ยาว) ประมาณ ๘ นิ้ว ที่เรียกกันว่า (ปักกาสยะ) กระเพาะอุจจาระ

ในกระเพาะอุจจาระกับอาหารเก่านั้น กระเพาะอุจจาระหารู้ไม่ว่า

อาหารเก่าอยู่ในเรา อาหารเก่าเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระเพาะ

อุจจาระ เปรียบเหมือนในดินสีเหลืองอย่างละเอียด ที่เขาอัดบรรจุลง

ไปในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม้ไผ่หารู้ไม่ว่า ดินเหลืองอยู่ในเรา ดิน

เหลืองเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง)

ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อัน

อาหารเก่าเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็น

อัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็น

ของแข้งแข็ง เป็นปฐวีธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 44

มตฺถลุงฺคํ - มันในสมอง

ว่า "มันสมอง อยู่ในภายในของกระโหลกศีรษะ ในภายใน

ของกระโหลกศีรษะกับมันสมองนั้น ภายในของกระโหลกศีรษะหารู้

ไม่ว่า มันสมองอยู่ในเรา มันสมองเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ใน

ภายในของกระโหลกศีรษะ เปรียบเหมือนในก้อนแป้งที่เขาบรรจุลงใน

กระโหลกน้ำเต้าเก่า ๆ กระโหลกน้ำเต้าหารู้ไม่ว่า ก้อนแป้งอยู่ในเรา

ก้อนแป้งเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระโหลกน้ำเต้า ฉะนั้น ธรรม

(คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและ

กัน อันมันสมองเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด

เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้

เป็นของแข้นแข็ง เป็นปฐวีธาตุ๑ ด้วยประการฉะนี้"

[อาโปโกฏฐาส]

ปีตฺตํ - ดี

ว่า "ในดีทั้งหลาย ดีชนิดไม่ติดที่ เป็นของเนื่องอยู่กับชีวิติน-

ทรีย์ ๒ เอิบอาบอยู่ทั่วสรีระ ดีชนิดติดที่ อยู่ในถึงน้ำดี๓ ในสรีระ

๑. ยังไม่พบคำพรรณนาว่า มัตถลุงค นี้ มีหน้าที่อย่างไร.

๒. มหาฎีกาอธิบายว่า ดีชนิดไม่ติดที่ ก็ดุจเดียวกันกับโลหิตที่เดินเวียนอยู่ในร่างกาย

และดุจเดียวกับไออุ่นในร่างกาย ซึ่งมันเป็นไปเนื่องอยู่กับกรรมชรูป ท่านจึงว่าเนื่องอยู่

กับชีวิตนทรีย์ เพราะเมื่อชีวิตทรีย์ยังมีอยู่ มันจึงมี ถ้าชีวิตนทรีย์หาไม่แล้ว มันก็เหือด

หายไป

๓. ปิตฺตโกสก เคยแปลกันว่าฝักน้ำดี แต่สมัยนี้เรียกว่า "ถุงน้ำดี" ในพจนานุกรม

ราชบัณฑิตยสถานก็เรียกเช่นนั้น อนึ่ง ศัพท์โกสก นี้แปลยักเยื้องไปตามภาษานิยมได้

พึงเห็น โกสาตกีโกสก ซึ่งอยู่ถัดลงไป ๕ บันทัด ก็แปลว่า รังบวบขม.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 45

กับดีไม่ติดที่ และถุงน้ำดีกับดีติดที่ สรีระหารู้ไม่ว่าดีไม่ติดที่อาบเราอยู่

ดีไม่ติดที่เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอาบสรีระอยู่ เปรียบ เหมือน ในน้ำมันที่ซาบ

ขนมอยู่ ขนมหารู้ไม่ว่าน้ำมันซาบเราอยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราซาบ

ขนมอยู่ ฉะนั้น (และ) ถุงน้ำดีหารู้ไม่ว่าดีติดที่อยู่ในเรา ดีติดที่

เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในถุงน้ำดี เปรียบเหมือนในรังบวบขมที่เต็มด้วย

น้ำฝน รังบวบขม ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้นปราศจากความคิด

คำนึง และความไตรตรองถึงกันและกัน อันน้ำดีเป็นโกฏฐาสแผนก

หนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา)

หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็น

อาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

เสมฺหํ - เสมหะ

ว่า "เสมหะ มีประมาณเต็มปัตถะ ๑* อยู่ที่เพดานท้อง ใน

เพดานท้องกับเสมะนั้น เพดานท้องหารู้ไม่ว่าเสมหะอยู่ที่เรา เสมหะ

เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ที่เพดานท้อง เปรียบเหมือนในบ่อน้ำโสโครกที่มี

แผ่นฟอง (เป็นฝา) เกิดในเบื้องบน บ่อน้ำโสโครกหารู้ไม่วาแผ่น

ฟองเกิดที่เรา แผ่นเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่บ่อน้ำโสโครก ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และความไตร

ตรองถึงกันและกัน อันเสมหะ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้

* ปาฐะเป็น เอกปตฺต... ลางฉบับเป็น เอกปตฺถ... น่าจะถูก เพราะเสมหะ ๑

ปัตถะ คือกอบ ๑ พอฟังได้ ถ้าถึงบาตร ๑ จะมากไปกระมัง ?.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 46

ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ

วิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

ด้วยประการฉะนี้ "

ปุพฺโพ - น้ำหนอง น้ำเหลือง

ว่า "บุพโพ ไม่มีโอกาส (คือที่อยู่) ประจำ ในตำแหน่ง

แห่งร่างกายใด ๆ ที่ถูกตอตำหนามยอกและเปลวไฟเป็นต้นกระทบเอา

โลหิตคั่งแล้วเสีย หรือฝีและต่อมเป็นต้นเกิดขึ้น (มัน) ก็ (มา) อยู่

ในตำแหน่งแห่งร่างกายนั้น ๆ แหละ ในตำแหนงแห่งร่างกายที่ถูกตอ

และหนามเป็นต้นกระทบบุพโพนั้น ตำแหน่งแห่งร่างกายที่ถูกตอ

และหนามเป็นต้นกระทบ หารู้ไม่ว่าบุพโพ (มา) อยู่ในเรา บุพโพ

เล่าก็รู้ไม่ว่าเราอยู่ในตำแหน่ง (แห่งร่างกาย) ทั้งหลายนั้น เปรียบ

เหมือน ในต้นไม้ที่มียางไหลด้วยอำนาจแห่งการฟันด้วยขวานเป็นต้น

ตำแหน่งตรงที่ถูกฟันเป็นของต้นไม้ หารู้ไม่ว่ายาง (มา) อยู่ในเรา

ยางเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่ถูกฟันเป็นของต้นไม้ ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรอง

ถึงกันและกัน อันบุพโพเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มี

ความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ)

มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการ

ฉะนี้ "

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 47

โลหิตํ - เลือด

ว่า "ในโลหิตทั้งหลาย สังสรณโลหิต (โลหิตเดินฉ ซาบซ่าน

ไปอยู่ทั่วสรีระ ดังน้ำดี (ชนิดไม่ติดที่) สันนิจิตโลหิต (โลหิตขัง)

(ขังอยู่) เต็มส่วนล่างที่อยู่ของตับ มีประมาณเต็มปัตถะ ๑ ยังไต หัวใจ

ตับ และปอด ให้ชุ่มอยู่ ๑ ในโลหิต ๒ อย่างนั้น วินิจฉัยในสังสรณ-

โลหิต ก็เช่นเดียวกับดีชนิดไม่ติดที่นั่นแล ส่วนในโลหิตอีกอย่าง๒

(คือ สันนิจิตโลหิต) พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ ในน้ำที่บุคคลเทลงใน

กระเบื้องหม้อเก่า (ทะลุ หยดลงไป) ทำก้อนดินและก้อนกรวดเป็น

ต้น๓ (ที่อยู่) ข้างล่างให้เปียกด้วย ก้อนดินและก้อนกรวดเป็นต้น หา

รู้ไม่ว่าเราถูกน้ำทำให้เปียกอยู่ น้ำเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราทำก้อนดินและ

ก้อนกรวดเป็นต้นให้เปียก ฉันใด ที่ส่วนล่างของตับก็ดี ไตเป็นต้น

ก็ดี หารู้ไม่ว่าโลหิต (ขัง) อยู่ในเรา หรือว่าโลหิตทำเราให้ชุ่มอยู่

โลหิตเล่าก็หารู้ไม่ว่าเรา (ขังอยู่) เต็มที่ส่วนล่างของตับ ทำไตเป็นต้น

ให้ชุ่มอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้นปราศจาก

ความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน อันโลหิตเป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบ

ได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

๑. ท่านอธิบายว่า ตับชุ่ม เพราะโลหิตขังอยู่ล่าง นอกนั้นชุ่มเพราะโลหิตไหล

ผ่านไปข้างบนนิดหน่อย ฟังดูแล้วก็เข้าใจยาก !.

๒. ปาฐะใช้ศัพท์ว่า อิตรํ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน เพราะเป็นคู่กับ สํสรณโลหิเต จึงควร

เป็น อิตเร อนึ่ง เป็น อิตรํ ไม่มีทางจะสัมพันธ์ให้สนิทได้ ในที่นี้แปลตามที่เห็นว่าถูก.

๓. เลฑฺฑุขนฺธาทีนิ เข้าใจว่าเป็น เลฑฺฑุขณฺฑาทีนิ ถูกกว่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 48

เสโท - เหงื่อ

ว่า "เหงื่อ (ขัง) อยู่เต็มช่องขุมผลและขนบ้าง ไหลออกมา

ในเวลาที่ร้อนเพราะไปเป็นต้นบ้าง ในช่องขุมผมและขนกันเหงื่อนั้น

ช่องขุมผมและขนทั้งหลายหารู้ไม่ว่า เหงื่อไหลออกจากเรา เหงื่อเล่า

ก็หารู้ไม่ว่า เราไหลออกจากช่องขุมผมและขนทั้งหลาย เปรียบเหมือน

ในกำเง่าบัวและสายบัง พอถูกถอนขึ้นจากน้ำ ช่องในกำเง่าบัวเป็นต้น

หารู้ไม่ว่าน้ำไหลออกจากเรา น้ำที่กำลังไหลออกจากช่องในกำเง่าบัว

เป็นต้นเล่า ก็หารู้ไม่ว่าเราไหลออกจากช่องในกำเง่าบัวเป็นต้น ฉะนั้น

ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั้นปราศจากความคิดคำนึง และไตรตรอง

ถึงกันและกัน อันเหงื่อ (นั้น) เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้

ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ

วิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

ด้วยประการฉะนี้ "

เมโท - มันข้น

ว่า "มันข้น คือมันแข้น ที่แผ่ไปอยู่ทั่วสรีระของคนอ้วน ติด

อยู่ตามเนื้อ (กล้าม) มีปลีน่องเป็นต้นของคนผอม ในเนื้อ (กล้าม)

กับมันข้นนั้น เนื้อ (กล้าม) ในสรีระทั้งสิ้น (ของคนอ้วน) ก็ดี

ในอวัยวะมีแข้ง (น่อง) เป็นต้น (ของคนผอม) ก็ดี หารู้ไม่ว่ามัน

ขันติดเราอยู่ มันข้นเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราติดเนื้อ (กล้าม) อยู่ในสรีระ

ทั้งสิ้น (ของคนอ้วน) หรือในอวัยวะมีแข้งเป็นต้น (ของคนผอม)

เปรียบเหมือนในก้อนเนื้อที่เขาปิดไว้ด้วยผ้าเก่าสีขมิ้น (เหลืองหม่น)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

ก้อนเนื้อหารู้ไม่ว่าผ้าเก่าสีขมิ้นติดเราอยู่ ผ้าเก่าสีขมิ้นเล่า ก็หารู้ไม่ว่า

เราติดก้อนเนื้ออยู่ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลาย นั้น ปราศจาก

ความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน อันมันข้น เป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลวข้น ๆ มีอาการ

ซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

อสฺสุ - น้ำตา

ว่า "น้ำตา เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ (ขัง) อยู่เต็มเบ้าตา

บ้าง ไหลออกมาบ้าง ในเบ้าตากับน้ำตานั้น เบ้าตาหารู้ไม่ว่าน้ำตาอยู่

ในเรา น้ำตาเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเบ้าตา เปรียบเหมือนในเบ้าตา-

อ่อนที่เต็มด้วยน้ำ เบ้าตาลอ่อนหารู้ไม่ว่าน้ำอยู่ในเรา น้ำในเบ้าตาลอ่อน

เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในเบ้าตาลอ่อน ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลาย

นั้นปราศจากความคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน อันน้ำตา

เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต

ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว

มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

วสา - มันเหลว

ว่า "มันเหลว คือมันที่ละลายอยู่ตามฝ่ามือหลังมือ ฝ่าเท้าหลัง

เท้า ดั้งจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า ในเวลาที่ร้อนเพราะไฟเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 50

ในตำแหน่งแห่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้นกับมันเหลวนั้น ตำแหน่ง

ร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้น หารู้ไม่ว่ามันเหลวท่วมเราอยู่ มันเหลวเล่าก็หา

รู้ไม่ว่า เราท่วมตำแหน่งร่างกายมีฝ่ามือเป็นต้นอยู่ เปรียบเหมือน

ในข้าวตังอันมีน้ำมันที่คนขาดไว้ ข้าวตังหารู้ไม่ว่าน้ำมันท่วมเราอยู่

น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราท่วมข้าวตังอยู่ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง)

ทั้งหลายนั่นปราศจากความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน อัน

มันเหลวเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยา-

กฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของ

เหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

เขโฬ - น้ำลาย

ว่า "น้ำลาย เมื่อปัจจัยให้น้ำลายออกอย่างนั้นมีอยู่ มันลงจาก

กระพุ้งแก้มทั้งสองข้าง (มา) อยู่ที่แผ่นลิ้น ในแผ่นสิ้นกับน้ำลายนั้น

แผ่นลิ้นหารู้ไม่ว่า เราลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้าง (มา) อยู่ที่เรา

น้ำลายเล่าก็หารู้ไม่ว่า เราลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้าง (มา) อยู่ที่

แผ่นลิ้น เปรียบเหมือนในหลุมริมฝั่งแม่นั้น อันมีน้ำซึมออกไม่ขาด

พื้นหลุมหารู้ไม่ว่าน้ำอยู่ในเรา น้ำเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในพื้นหลุม

ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความคิดคำนึงและ

ไตร่ตรองถึงกันและกัน อันน้ำลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกาย

นี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์

(คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบได้ เป็นอาโปธาตุ

ด้วยประการฉะนี้ "

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 51

สิงฺฆาณิกา - น้ำมูก

ว่า "น้ำมูก เกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็ (ขัง) เต็มโพรงจมูก

อยู่บ้าง ไหลออกมาบ้าง ในโพรงจมูกกับน้ำมูกนั้น โพรางจมูกหารู้

ไม่ว่าน้ำมูกอยู่ในเรา น้ำมูกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในโพรงจมูก เปรียบ

เหมือนใน (เปลือก) หอยโข่งที่เต็มด้วยนมส้มเสีย (เปลือก) หอย

โข่งหารู้ไม่ว่านมส้มเสียอยู่ในเรา นมส้มเสียเล้าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ใน

(เปลือก) หอยโข่ง ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจาก

ความคิดคำนึงและไตร่ตรองถึงกันและกัน อันน้ำมูก เป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบ

ได้ เป็นอาโปรธาตุ ด้วยประการฉะนี้ "

ลสิกา - ไขข้อ

ว่า "ไข้ข้อ ทำกิจคือการทาที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จ

อยู่ในที่ต่อ (แห่งกระดูกประมาณ) ๑๘๐ แห่ง ในที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง

กับไข้ข้อนั้น ที่ต่อ ๑๘๐ แห่งหารู้ไม่ว่า ไขข้อทาเราติดอยู่ ไขข้อเล่า

ก็หารู้ไม่ว่า เราทาที่ต่อ ๑๘๐ แห่งติดอยู่ เปรียบเหมือนในเพลาที่คน

ทาด้วยน้ำมัน เพลาหารู้ไม่ว่าน้ำมันทาเราติดอยู่ น้ำมันเล่าก็หารู้ไม่ว่า

เราทาเพลาติดอยู่ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจาก

ความคิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน อันไขข้อเป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 52

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบ

ได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

มุตฺตํ - น้ำมูตร

ว่า "น้ำมูตร อยู่ข้างในกระเพาะปัสสาวะ ในกระเพาะปัสสาวะ

กับน้ำมูตรนั้น กระเพาะปัสสาวะหารู้ไม่ว่าน้ำมูตรอยู่ในเรา น้ำมูตร

เล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เปรียบเหมือนในหม้อดินเนื้อ

หยาบ ที่คนโยนลงไปคว่ำอยู่ในหลุมโสโครก หม้อดินเนื้อหยาบหารู้

ไม่ว่าน้ำโสโครกอยู่ในเรา น้ำโสโครกเล่าก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในหม้อดิน

เนื้อหยาบ ฉะนั้น ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายนั่น ปราศจากความ

คิดคำนึง และไตร่ตรองถึงกันและกัน อันน้ำมูตร เป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ เป็นของเหลว มีอาการซึมซาบ

ได้ เป็นอาโปธาตุ ด้วยประการฉะนี้"

[เตโชโกฏฐาส]

พระโยคาวจร ครั้นยังมนสิการให้เป็นไปในปฐวีโกฏฐาส และ

อาโปโกฏฐาสทั้งหลาย มีผมเป็นอาทิ ดังกล่าวมานี้แล้ว พึงยังมนสิการ

ให้เป็นไปในเตโชโกฏฐาสทั้งหลายอย่างนี้ว่า

"ร่างกายย่อมเร่าร้อนเพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุเร่าร้อน

แห่งกาย) นี้ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 53

อัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มี

อาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ"

ว่า "ร่างกายย่อมทรุดโทรมเพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุ

ทรุดโทรมแห่งกาย) นี้ เป็นโกฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มี

ความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ)

มิได้ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ"

ว่า "ร่างกายย่อมกระสับกระส่ายเพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุ

กระสับกระส่ายแห่งกาย) นี้ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มี

ความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ)

มิได้ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุ "

ว่า "ของที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มเข้าไปแล้ว ย่อมถึงความย่อยไปด้วยดี

เพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุย่อยดีแห่งของที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม) นี้

เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต

ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการเผาไหม้

เป็นเตโชธาตุ" ดังนี้

[วาโยโกฏฐาส]

ต่อนั้น พึงกำหนดจับอุทธังคมวาต โดยเป็นลมขึ้นเบื้องบน (ให้

ได้) กำหนดจับอโธคมวาต โดยเป็นลมลงเบื้องล่าง (ให้ได้) กำหนด

จับกุจฉิสยวาต โดยเป็นลมอยู่ในท้อง (นอกลำไส้ ให้ได้) กำหนดจับ

โกฏฐาสยวาต โดยเป็นลมอยู่ในภายในลำไส้ (ให้ได้) กำหนดจับ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 54

อังคมังคานุสาริวาต โดยเป็นลมแล่นไปตามอังคาพยพใหญ่น้อย (ให้ได้)

กำหนดจับอัสสาสะปัสสาสะ โดยเป็นลมหายใจเข้าและหายใจออก (ให้

ได้) แล้ว ยังมนสิการให้เป็นไปในวาโยโกฏฐาสทั้งหลายอย่างนี้ว่า

"อันลมขึ้นเบื้องบนทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกาย

นี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์

(คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ "

ว่า "อันลมลงเบื้องล่างทั้งหลาน เป็นโกฏฐาสแผนหนึ่งใน

ร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หา

สัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ"

ว่า "อันลมอยู่ในท้อง (นอกลำไส้) ทั้งหลาย เป็นโกฏฐาส

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการกระพือไปมา เป็น

วาโยธาตุ "

ว่า "อันลมอยู่ในลำไส้ทั้งหลาย เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งใน

ร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาอัตตา) หา

สัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการกระพือไปมา เป็นวาโยธาตุ "

ว่า "อันลมแล่นไปตามอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งหลาย เป็นโกฏ-

ฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า

(จากอัตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการกระพือไปมา

เป็นวาโยธาตุ"

ว่า "อันลมหายใจเข้าและหายใจออกทั้งหลาย เป็นโกฏฐาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 55

แผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จาก

อัตตตา) หาสัตว์ (คือวิญญาณ) มิได้ มีอาการกระพือไปมา เป็น

วาโยธาตุ"

ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้น ผู้มีมนสิการเป็น

ไปอย่างนี้ เมื่อเธออาวัชนาการไป มนสิการไปซึ่งธาตุเหล่านั้น แล้ว ๆ

เล่า ๆ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้น โดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล

แต่เมื่อพระโยคาพจรผู้ใดเจริญไปอย่างนั้น กรรมฐานยังไม่

สำเร็จ พระโยคาวจรผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณสังเขปเถิด

[เจริญโดยสลักขณสังเขป]

พึงเจริญโดยสลักขณสังเขปอย่างไร ? พึงกำหนดเอาลักษณะที่

แข้นแข็งในโกฏฐาส ๒๐ ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบ

ได้ในโกฏฐาส ๒๐ นั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อน

ในโกฏฐาส ๒๐ นั้นแหละว่า ธาตุไป พึงกำหนดเอาลักษณะทีเขยื้อน

ได้ในโกฏฐาส ๒๐ นั้นแหละว่า ธาตุลม

พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึบซาบในโกฏฐาส ๑๒ ว่า ธาตุน้ำ พึง

กำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส ๑๒ นั้นแหละว่า ธาตุไป พึง

กำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในโกฏฐาส ๑๒ นั้นแหละว่า ธาตุลม พึง

กำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส ๑๒ นั้นแหละว่า ธาตุดิน

พึงกำหนดเอาลักษณะทีร้อนในโกฏฐาส ๔ ว่า ธาตุไป พึง

กำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ ว่า ธาตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 56

ลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นเข็ง ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ว่า

ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้

ว่า ธาตุน้ำ*

พึงกำหนดเอาลักษณะทีเขยื้อนได้ในโกฏฐาส ๖ ว่า ธาตุลม พึง

กำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส ๖ นั้นแหละว่า ธาตุดิน พึง

กำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในโกฏฐาส ๖ นั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึง

กำหนดเอาลักษณะทีร้อยในโกฏฐาส ๖ นั้นแหละว่า ธาตุไฟ

เมื่อพระโยคาวจรนั้นกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะ

ปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอผู้อาวัชชนาการไป มนสิการ

ไปซึ่งธาตุทั้งหลายนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

แต่เมื่อพระโยคาพจรผู้ใดแม้เจริญไปอย่างนั้น กรรมฐานก็ยังไม่

สำเร็จ พระโยคาวจรผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณวิภัติ (ต่อไป)

[เจริญโดยสลักขณวิภัติ]

พึงเจริญโดยสลักขณวิภัติอย่างไร ? พึงจับเอาโกฏฐาสทั้งหลาย

มีผมเป็นอาทิ โดยนัยที่กล่าวมาก่อน (ในสสัมภารวิภัติ) นั้นแล มา

กำหนดดูลักษณะที่แข้นเข็งในผมว่า ธาตุดิน พึงกำหนดดูลักษณะที่

* อธิบายตามนัยมหาฎีกาว่า ปฐวีโกฏฐาสมีผมเป็นต้น เป็นสิ่งที่มีรูปร่างต่างกันเป็น

ส่วน ๆ ธาตุอื่นมีอาโปรธาตุเป็นต้น ที่มีอยู่ในโกฏฐาสเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่รู้กันได้ง่าย แม้

อาโปโกฏฐาสมีน้ำดีเป็นอาทิเช่นกัน ถึงวาโยโกฏฐาสไม่มีรูปร่างสีสัณฐาน ก็อาจ

กำหนดถือเอาเป็นสัดเป็นส่วนได้ แต่ธาตุลม ดิน น้ำที่มีอยู่ในเตโชโกฏฐาสทั้ง ๔นั่น

รู้ได้ยาก เพราะแยกไม่ออก ถึงกระนั้นก็มีอยู่แน่ ๆ เพราะถ้าไม่มีธาตุอื่นๆ ธาตุไฟก็

ไม่ปรากฏ (?).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 57

ซึมซาบในผมนั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดดูลักษณะที่ร้อนในผม

นั้นแหละว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดดูกลักษณะที่เขยื้อนได้ในผมนั้นแหละว่า

ธาตุลม พึงกำหนดดูธาตุ ๔ ๆ ในโกฏฐาส ๑ ๆ ไปทุกโกฏฐาสอย่างนี้

เมื่อเธอกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิ

ย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอผู้อาวัชนาการไป นมสิการไป ซึ่งธาตุทั้งหลาย

นั้น แล้ว ๆ เล่า ๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

[มนสิการโดยอาการ ๑๓ ก็ได้]

ก็แลอีกนัยหนึ่ง พึงมนสิการธาตุทั้งหลายโดยอาการเหล่านี้ก็ได้

คือ

วจนฏฺฐโต โดยความของคำ

กลาปโต โดยกลาป (คือเป็นกลุ่ม)

จุณฺณโต โดย (ย่อมให้) เป็นจุณ

ลกฺขณาทิโต โดยอาการมีลักษณะเป็นต้น

สมุฏฺฐานโต โดยสมุฏฐาน

นานตฺเตกตฺตโต โดยความต่างกันและความเป็นอัน

เดียวกัน

วินิพฺโภคาวินิพฺโภคโต โดยแยกกันได้และแยกกันมิได้

สภาควิสภาคโต โดยที่เข้ากันได้แลเข้ากันไม่ได้

อชฺฌตฺติกพาหิรวิเสสโต โดยความแปลกกันแห่งธาตุภายใน

กับธาตุภายนอก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 58

สงฺคหโต โดยรวม (ที่เหมือนกัน) เข้าด้วยกัน

ปจฺจยโต โดยเป็นปัจจัย (ของกันและกัน)

อสมนฺนาหารโต โดยไม่มีความคิดคำนึง

ปจฺจยวิภาคโต โดยจำแนกปัจจัย

[โดยความแห่งคำ]

ในอาการเหล่านั้น พระโยคาวจรผู้เมื่อจะมนสิการโดยความแห่ง

คำ พึงมนสิการโดยความแห่งคำตอบที่แปลกกันและเสมอกันอย่างนี้

(โดยแปลกกัน) ว่า ธาตุชื่อว่าปฐวี เพราะความเป็นของหยาบ ชื่อ

ว่าอาโป เพราะไหลไปได้ หรือเพราะเอิบอาบไปได้ หรือเพราะ (ทำ

ให้) ชุ่มชื้น ชื่อว่าเตโช เพราะทำให้ร้อน ชื่อว่าวาโย เพราะพัดไปได้

ส่วนว่าโดยไม่แปลกกัน (พึงมนสิการว่า) สิ่งที่ชื่อว่า ธาตุ เพราะ

ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์* และเพราะเป็นที่

รองรับทุกข์ "

[โดยกลาป]

ข้อว่า "โดยกลาป" มีพรรณนาว่า ปฐวีธาตุที่ท่านแสดงด้วย

อาการ ๒๐ โดยนัยว่า ผม ขน เป็นต้น และอาโปธาตุที่แสดงด้วย

* ทุกฺขฏฐานโต ท่านผู้ชำระลงเชิงอรรถแก้เป็นต้น ทุกฺขาทานโต เพราะถือเอาทุกข์ ส่วน

มหาฎีกาแก้อรรถว่า ทุกฺขสฺส วิทหนโต - เพราะจัดสรรค์ทุกข์ อธิบายธาตุเหล่านั้น

ก่อขึ้นเป็นเหตุแล้ว สรรค์สร้างทุกข์เป็นอเนกประการ ดุจธาตุคือแร่เหล็กแร่ทองแดง

เป็นต้น สรรค์สร้างเนื้อเหล็กเนื้อทองแดงเป็นอาทิขึ้นฉะนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 59

อาการ ๑๒ โดยนัยว่า ดี เสมหะ เป็นต้นนี้ใด เหตุที่ในอาการเหล่านั้น

เพราะความประชุมกันแห่งธรรม ๘ คือ สี กลิ่น

รส โอชา และธาตุทั้ง ๔ ความสมมติว่า "ผม"จึง

มีได้ เพราะธรรมเหล่านั้นแยกกันเสีย ความสมมติว่า

"ผม" ก็หามิไม่

เพราะเหตุนั้น คำว่า ผม ก็คือกลุ่มแห่งธรรม ๘ เท่านั้นเอง คำว่าขน

เป็นต้น ก็อย่างนั้น แต่ในโกฏฐาสเหล่านั้น โกฏฐาสใดมีกรรมเป็น

สมุฏฐาน โกฏฐานสั้นเป็น (ทสธรรมกลาป) กลุ่มแห่งธรรม ๑๐ กับ

ชีวิตนทรีย์และภาวะบ้าง* แต่ก็คงนับว่า เป็นปฐวีธาตุ อาโปธาตุ โดย

อำนาจแห่งลักษณะที่เด่น พระโยคาวจรพึงมนสิการโดยกลาปดังกล่าว

มาฉะนี้

[โดย (ย่อยให้) เป็นจุณ]

ข้อว่า "โดยเป็นจุณ" มีพรรณนาว่า ก็และปฐวีธาตุที่ย่อยจนเป็น

ชนิดปรมาณู เป็นละอองละเอียด ในสรีระนี้ เมื่อกำหนดถือเอาโดย

ประมาณ (ร่างกายคนขนาด) กลาง จะพึงมีสักโทณะหนึ่ง (เท่านั้น)

ปฐวีธาตุนั้น อันอาโปธาตุซึ่งมีประมาณกึ่งโทณะนั้น ช่วยยึดไว้ (ให้

ติดกัน) เตโชธาตุช่วยรักษาไว้ (มิให้เน่าเสีย) วาโยธาตุช่วยพะยุงไว้

จึงไม่กระจัดกระจายไม่พังทะลายไป มันไม่กระจัดกระจายไม่พังทะลาย

ไป จึงได้รับภารวิกัป (ความกำหนดแยกภาวะ) หลายอย่าง มีความ

* คือกลุ่ม ๘ กลุ่มนั้นแหละ เพิ่มชีวตินทรีย์กับภาวรูปเข้าเป็น ๑๐.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 60

นับว่าหญิงว่าชายเป็นต้น และประกาศภาวะ (ต่าง ๆ) มีความผอมอ้วน

สูงต่ำ ล่ำสัน บอบบาง เป็นอาทิ

ส่วนอาโปธาตุที่ถึงความเป็นของเหลว มีอาการซึมซาบในสรีระ

นี้ อาศัยปฐวีธาตุอยู่ เตโชธาตุช่วยรักษาไว้ วาโยธาตุช่วยพะยุงไว้

จึงไม่หยดไม่ไหลออกมา (เสียหมด) มันได้หยดไม่ไหลออกมา (เสีย

หมด) จึงแสดงความอิ่มเอิบ (ออกมาให้ปรากฏ)

ส่วนเตโชธาตุอันมีความร้อนเป็นลักษณะ มีอาการเป็นไออุ่น

ยังของที่กินเข้าไปดื่มเข้าไปเป็นต้นให้ย่อยได้ ในสรีระนี้ อาศัยปฐวีธาตุ

อยู่ อาโปธาตุช่วยยึดไว้ วาโยธาตุช่วยพะยุงไว้ จึงทำกายนี้ให้อบอุ่น

อยู่ได้ และนำเอาความถึงพร้อมแห่งผิวพรรณมาให้แก่กายนั้นด้วย

และอนึ่งกายนี้ อันเตโชธาตุนั้นทำให้อบอุ่นไว้ จึงมิได้แสดงความเน่า

(ให้ปรากฏ)

ส่วนวาโยธาตุ อันมีความเคลื่อนไหวและพยุงไว้เป็นลักษณะ

แล่นไปตามองค์อวัยวะใหญ่น้อยในสรีระนี้ อาศัยปฐวีธาตุอยู่ อาโปธาตุ

ช่วยยึดไว้ เตโชธาตุช่วยรักษาไว้ จึงพะยุงกายนี้ไว้ได้ ก็แลกายนี้อัน

วาโยธาตุ (ที่มีลักษณะพะยุงไว้) นั้น พะยุงไว้ จึงไม่ล้ม จึงตั้งตรง

อยู่ได้ อันวาโยธาตุอิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่น นอนได้ คู้ได้ เหยียด

ได้ กระดิกมือเท้าได้

ธาตุยนต์ (เครื่องกลไปที่ทำด้วยธาตุ) นี่ เป็นไปเช่นกับมายารูป

(รูปกลเช่นภาพยนตร์ ? ) เป็นเครื่องลวงคนโว่ได้ โดยภาพมีภาพหญิง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 61

และภาพชายเป็นต้น ดังนี้แล

พระโยคาวจรพึงมนสิการโดย (ย่อมให้) เป็นจุณ ดังกล่าวมา

ฉะนี้

[โดยอาการมีลักษณะ]

ข้อว่า "โดยอาการมีลักษณะเป็นต้น" มีพรรณนาว่า พระโยคา-

วจรพึงอาวัชนาการถึงธาตุทั้งสี่ (เป็น ๓ ข้อ) ดังนี้ว่า ธาตุ*(๑) มี

อะไรเป็นลักษณะ (๒) มีอะไรเป็นรส (คือเป็นกิจ) (๓) มีอะไรเป็น

เครื่องปรากฏ (คือเป็นผลปรากฏ) เป็นต้น แล้วจึงมนสิการโดยอาการ

มีลักษณะเป็นอาทิ อย่างนี้ว่า

ปฐวีธาตุ มีความเป็นของหยาบเป็นลักษณะ มีความเป็นที่อาศัย

อยู่ (แห่งธาตุอื่น) เป็นรส มีความรับเอา (ธาตุอื่น) ไว้ได้เป็นเครื่อง

ปรากฏ

อาโปธาตุ มีความไหลได้เป็นลักษณะ มีความช่วยเพิ่มพูน

(ธาตุอื่น) เป็นรส มีความยึดเอา (ธาตุอื่น) ไว้ได้ เป็นเครื่องปรากฏ

เตโชธาตุ มีความร้อนเป็นลักษณะ มีความทำให้ย่อยเป็นรส มี

การให้ความอ่อน (แก่ร่างกาย) ไว้เรื่อย เป็นเครื่องปรากฏ

วาโยธาตุ มีความพะยุงไว้เป็นลักษณะ มีความเคลื่อนไหวเป็นต้น

รส มีความแสดงท่าทาง (ต่าง ๆ) ได้ เป็นเครื่องปรากฏ

* ปาฐะเป็น ปฐวีธาตุ เข้าใจว่า ปฐวี เกิด เพราะยังไม่ถึงวาระจะพูดถึงปฐวี ในที่นี้

แปล ตัด ปฐวี ออก ตามที่เห็นว่าถูก.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 62

[โดยสมุฏฐาน]

ข้อว่า "โดยสมุฏฐาน" มีพรรณนาว่า พระโยคาวจรพึงมนสิการ

โดยสมุฏฐานอย่างนี้ว่า โกฏฐาส ๔๒ มีผมเป็นต้น ที่พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าทรงแสดงไว้ โดยทรงแสดงเป็นโกฏฐาสแห่งธาตุ มีปฐวีธาตุ

เป็นอาทิโดยพิสดารนี้ใด ในโกฏฐาสทั้งหลายนั้น โกฏฐาส ๔ นี้คือ

อาหารใหม่ อาหารเก่า บุพโพ มูตร เป็นอตุสมุฏฐาน (มีฤดูเป็น

สมุฏฐาน) อย่างเดียว ๔ นี้คือ น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก เป็นอุตุ-

จิตตสมุฏฐาน (มีฤดูบ้าง จิตบ้างเป็นสมุฏฐาน) ไฟที่ยังอาหารที่กิน

เข้าไปเป็นต้น ให้ย่อย เป็นกรรมสมุฏฐาน (มีกรรมเป็นสมุฏฐาน )

อย่างเดียว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เป็นจิตตสมุฏฐาน (มีจิต

เป็นสมุฏฐาน) อย่างเดียว โกฏฐาสที่เหลือทั้งหมด (คือปฐวีและอาโป

โกฏฐาส ๓๒) เป็นจตุสมุฏฐาน (คือ มีกรรมบ้าง จิตบ้าง อาหารบ้าง

ฤดูบ้าง เป็นสมุฏฐาน)

[โดยความต่างกันและความเป็นอันเดียวกัน]

ข้อว่า "โดยความต่างกันและความเป็นอันเดียวกัน" มีพรรณนา

ว่า ธาตุทั้งปวงย่อมมีความต่างกันโดยอาการมีลักษณะประจำตนเป็นต้น

จริงอยู่ ลักษณะ รส และเครื่องปรากฏแห่งปฐวีธาตุก็อย่างหนึ่ง แห่ง

ธาตุอื่นมีอาโปธาตุเป็นต้นก็อย่างอนึ่ง แต่ว่าธาตุทั้งหลายนั่น แม้เป็น

ต่าง ๆ กัน ด้วยอำนาจแห่งอาการมีลักษณะเป็นต้น และด้วยอำนาจแห่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 63

สมุฏฐานมีกรรมสมุฏฐานเป็นต้น ก็ยังมีความเป็นอันเดียวกัน ด้วย

อำนาจแห่งความเป็นรูป เป็นมหาภูต เป็นธาตุ เป็นธรรม และเป็น

ของไม่เที่ยงเป็นอาทิ

แท้จริง ธาตุทั้งปวงได้ชื่อว่ารูป เพราะธาตุทั้งปวงนั้นไม่ล่วง

รุปปนลักษณะ (ลักษณะคือความทรุดโทรม) ไปได้ ชื่อว่าเป็นมหาภูต

ด้วยเหตุหลายอย่าง เช่นมีปรากฏการณ์ใหญ่เป็นอาทิ

คำว่า เช่นมีปรากฏการณ์ใหญ่เป็นอาทิ นั้นอธิบายว่า ก็ธาตุ

ทั้งหลายนี้ท่านเรียกว่า "มหาภูต" ด้วยเหตุเหล่านี้ คือ

มหนฺตปาตุภาวโต เพราะมีปรากฏการณ์ใหญ่

มหาภูตสามญฺญโต เพราะเสมอด้วยมหาภูต

มหาปริหารโต เพราะต้องบริหารใหญ่

มหาวิการโต เพราะมีวิการใหญ่

มหตฺตา ภูตตฺตา จ เพราะเป็นของใหญ่ และเพราะเป็นของ

จริงด้วย

[ความมีปรากฏการณ์ใหญ่]

ในบททั้งหลายนั้น บทว่า "เพราะมีปรากฏการณ์ใหญ่" ความ

ว่า ก็ภูตคือธาตุทั้งสี้นี้* ปรากฏเป็นของใหญ่ ทั้งในอนุปาทินนสันดาน

ทั้งในอุปาทินนสันดาน ความที่ปรากฏเป็นของใหญ่แห่งสันดาน ๒ อย่าง

* เอตานิ มหาฎีกาว่า ท่านเพ่ง ภูตศัพท์ ซึ่งเป็นได้สองลิงค์ (คือ ปุํ. และ นุปํ.) จึง

ทำเป็น นปุํ. ไป.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 64

นั้น ในอนุปาทินนสันดาน กล่าวไว้แล้วในพุทธานุสตินิเทศ โดย

นัยว่า

แผ่นดินนี้คำนวณด้านหนาได้ประมาณเท่านี้

คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

ดังนี้เป็นต้น แม้ในอุปาทินนสันดาน ก็ปรากฏเป็นของใหญ่เหมือนกัน

โดย (ปรากฏแห่ง) สรีระของปลาเต่า เทวดา และทานพ เป็นต้น สม

พระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทร อัตภาพ (ลำตัวของ

สัตว์) ทั้งหลาย ยาวตั้ง ๑๐๐ โยชน์ก็มี" ดังนี้เป็นอาทิ*

[ความเสมอด้วยมหาภูต]

บทว่า "เพราะเสมอด้วยมหาภูต" มีพรรณนาว่า ก็ภูตคือธาตุ

ทั้งหลายนั้น ตัวเองมิได้เป็นสิ่งมีสีเขียวเลย (แต่) แสดงอุปาทายรูป

สีเขียวได้ ตัวเองมิได้เป็นสิ่งมีสีเหลืองเลย (แต่) แสดงอุปาทายรูป

สีแดงได้ ตัวเองมิได้เป็นสิ่งมีสีขาวเลย (แต่) แสดงอุปาทายรูปสีขาวได้

เปรียบประดุจคนเล่นกล แสดง (กล) ทำน้ำอันมิใช้แก้วเลย ให้

เป็นแก้วได้ แสดงทำก้อนดินอันมิใช่ทองเลย ให้เป็นทองได้ ฉะนั้น

อนึ่ง เหมือนคนเล่นกลนั้น ตัวเองมิได้เป็นยักษ์มิได้เป็นนกเลย (แต่

แสดงเป็นยักษ์ก็ได้เป็นนกก็ได้ ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ธาตุทั้งหลายนั้น

จึงได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเสมอด้วยคนประหลาด (หรือคนไม่จริง)

* องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๑๐.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 65

ใหญ่ คือคนเล่นกล๑

นัยหนึ่ง ภูตใหญ่ทั้งหลายมียักษ์เป็นต้น จับ (คือเข้าสิง) คน

ผู้ใด ที่(จับ) ๒อยู่แห่งภูตเหล่านั้น ย่อมหาไม่พบเลยในภายใน (กาย)

ของคนผู้นั้น (ถึง) ภายนอก (กาย) ของเขาก็หาไม่พบ และมันมิได้

แอบอิงคนผู้นั้นอยู่ก็หามิได้ ฉันใด แม้ภูตคือธาตุทั้งหลายนั้น ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน ที่ตั้ง๓อยู่ภายในกันและกันก็หาได้ ที่ตั้งอยู่ภายนอกกัน

และกันก็หาไม่ได้ และมันมิได้อาศัยกันและกันอยู่ก็หาก็ได้ เพราะเหตุ

นั้น๔ ธาตุทั้งหลายนั้นจึงได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเสมอด้วยภูตใหญ่ มี

ยักษ์เป็นต้น เหตุว่ามีที่อยู่อันคิด (หา) ไม่ได้๕ ประการ ๑

นัยหนึ่ง ภูตใหญ่ทั้งหลาย กล่าวคือยักษิณี ปกปิดภาวะที่ตน

๑. มหาภูต นัยนี้มหาฎีกาท่านให้แยกเป็น มหา + อพฺภูต (คนประหลาดใหญ่) หรือ

มหา + อภูต (คนไม่จริงใหญ่) หมายถึงคนเล่ากล ซึ่งแสดงสิ่งประหลาด ๆ ได้มาก

แต่ว่าล้วนไม่จริงทั้งนั้น.

๒. ฐานํ เป็นประธานในประโยคนี้ แต่ปาฐะเรียงไว้ติดกับพนิ เป็น พหิฏฺฐานํ ชวนให้

เขวไปว่า ฐานํ เข้ากับ พหิ ศัพท์เดียว แต่ที่เดียวเข้ากับ อนฺโต ด้วย จึงควรเรียงแยกเป็น

หหิ ฐานํ จะได้ไม่ชวนเขว.

๓.  ิตานิ หากเป็นวิเสสนะดังที่แปลไว้นี้ ได้ความดีกว่าเป็นวิกติกัตตา ถ้าเช่นนั้น หุตฺวา

น่าจะเกินเข้ามา ในที่นี้แปลตามที่เห็นว่าถูก.

๔. น ติฏฺฐนฺติ ตรงมนี้เห็นได้ว่าตก อิติ เพราะมีประโยครูปเดียวกัน เป็นที่เทียบอยู่ทั้ง

ข้างหน้าและข้างหลัง ข้างหน้าคือ... อุปาทายรูปํ ทสฺเสนฺตีติ ข้างหลังคือ ทฏฺฐุํ น เทนฺตีติ

ในที่นี้จึงแปลอย่างมี อิติ (เป็นเหตุ แปลว่า เพราะเหตุนั้น).

๕. อจินฺเตยฺยฏฺฐานตาย หากแปลว่า "เพราะความมีฐานะเป็นอจินไตย " หรือว่า "โดย

ความเป็นฐานะไม่ควรคิด " อะไรก็แล้วแต่ ก็แปลได้ แต่ว่าไม่ส่องความที่กล่าวมาแล้ว

และไม่ได้กับหลักอจินไตย ถึงแม้ท่านจะใช้ศัพท์เช่นนั้น เราก็ต้องแปลเยื้องไปให้ได้กับ

รูปความในที่นั้น โดยไม่เสียหลักไวยากรณ์ด้วย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 66

เป็นภูตที่น่ากลัวเสียแล้ว ลวงสัตว์ทั้งหลายด้วยผิวพรรณสัณฐานและ

การกรีดกรายที่น่าพอใจฉันใด แม้ภูตคือธาตุเหล่านี้ก็ฉันนั้นแล ปกปิด

รส (คือกิจ) และลักษณะประจำตน๑ อันต่างโดยสภาพมีความที่ตน

เป็นของหยาบเป็นต้นเสียแล้ว ลวงคนโง่ด้วยฉวีวรรณอันน่าพอใจ

ด้วยทรวดทรงองค์อวัยวะน้อยใหญ่อันน่าชอบใจ ในร่างทั้งหลายมีร่างหญิง

และชายเป็นต้น ไม่ให้เห็นสภาพแห่งตน เพราะเหตุนั้น ธาตุทั้งหลาย

นั้นจึงได้ชื่อว่ามหาภูก เหตุเสมอด้วยภูตใหญ่คือยักษิณี๒ เพราะความ

ที่เป็นสิ่งลวง ประการ ๑

[ความที่ต้องการบริหารใหญ่]

บทว่า "เพราะต้องบริหารใหญ่" ความว่า เพราะต้องบริหาร

ด้วยปัจจัยทั้งหลายเป็นอันมาก จริงอยู่ ภูตธาตุทั้งหลายนั้นเป็นแล้ว

คือเป็นไปได้ด้วยปัจจัยทั้งหลาย มีของกินและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ที่นับ

ว่ามาก เพราะต้องนำเข้ามา (ปรนเปรอ) ทุกวัน ๆ เพราะเหตุนั้นจึง

ชื่อ มหาภูต อีกนัยหนึ่ง ชื่อมหาภูต เพราะเป็นภูตมีเครื่องบริหาร

มาก ดังนี้ก็ได้

๑. สรสลกฺขณํ มหาฎีกาแปลว่า สภาวภูตลกฺขณํ - ลักษณะอันเป็นความจริง สกิจฺจกํ

วา สภาวํ - หรือสภาพอันเป็นหน้าที่ของตน.

๒. พวกยักษ์นั้น ท่านว่ามันมีรูปใหญ่โตโดยกำเนิดของมัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 67

[ความมีวิการใหญ่]

บทว่า "เพราะมีวิการใหญ่" ความว่า ก็ภูตคือธาตุทั้งหลายนั้น

ทั้งที่เป็นอุปาทินนะ ทั่งที่เป็นอนุปาทินนะ เป็นธรรมชาติมีความผิด

ปกติใหญ่ ใน ๒ อย่างนั้น สำหรับอนุปาทินนะ ความใหญ่แห่งความ

ผิดปกติย่อมปรากฏในเมื่อกัปวินาศ สำหรับอุปาทินนะ ปรากฏเมื่อ

ธาตุกำเริบ จริงอย่างนั้น

เปลวไฟอันลุกขึ้นแต่แผ่นดิน แล่นล่วง (ขึ้นไป)

กระทั่งถึงพรหมโลก ในเมื่อโลกถูกไฟ (ประลัยกัลป์)

ไหม้

แสนโกฏิจักรวาฬหนึ่ง๑ถล่มทลายไป เมื่อโลก

วินาศด้วยน้ำ (ประลัยกัลป์) อันกำเริบขึ้น

แสนโกฏิจักรวาฬหนึ่งกระจัดกระจายไป เมื่อ

โลกวินาศด้วยธาตุลม (ประลัยกัลป์) กำเริบขึ้น

ประการหนึ่ง ร่างกายถูกงูกัฏฐมุข (ปากไม้ ?)

กัดเอาแล้ว ย่อมแข็งกระด้างไป ร่างกายนั้น เพราะ

ปฐวีธาตุกำเริบ ก็ย่อมแข็งกระด้าง ดัง(ที่แข็ง

กระด้าง) ในเพราะงูกัฏฐมุขฉะนั้น๒

๑. คำว่า เอกํ - หนึ่ง หมายความว่าทั้งหมดนั่น เป็นอาณาเขตหนึ่ง ของไฟ - น้ำ - ลม

ประลัยกัลป์.

๒. วา ศัพท์ ที่ กฏฺฐมุเขน นั้น มหาฎีกาแนะไว้ถึง ๓ นัย คือ

นัยที่ ๑ ใช้ในอรรถอุปมา คือ วา เมาะเป็นยถา กฏฺฐมุเขว ก็ไขเป็น กฏฺฐมุข-

มุขคโต วิย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 68

ประการหนึ่ง ร่างกายถูกงูปูติมุข (ปากเน่า ?)

กัดเอาแล้ว ย่อมเน่า (เฟอะ) ไป ร่างกายนั้น เพราะ

อาโปธาตุกำเริบก็ย่อมเน่า (เฟอะ) ดัง (ที่เน่าเฟอะ)

ในเพราะงูปูติมุข ฉะนั้น

ประการหนึ่ง ร่างกายถูกงูอัคคิมุข (ปากไฟ ?)

กัดเอาแล้วย่อมเร่าร้อน ร่างกายนั้น เพราะเตโชธาตุ

ื กำเริบ ก็ย่อมเร่าร้อน ดัง (ที่เร่าร้อน) ในเพราะงู

อัคคิมุข ฉะนั้น

ประการหนึ่ง ร่างกายถูกงูสัตถมุข (ปากมีด ?)

กัดเอาแล้วย่อมขาดยับ ร่างกายนั้น เพราะวาโยธาตุ

กำเริบ ก็ย่อมขาดยับ ดัง (ที่ขาดยับ) ในเพราะงู

สัตถมุข ฉะนั้น

ภูต (คือธาตุ) ทั้งหลายมีวิการใหญ่ ๆ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อ

มหาภูต

นัยที่ ๒ ใช้ในอรรถอาธารณะ แต่นำไปสัมพันธ์เข้ากับ ปฐวีธาตุปฺปโกเปน

เป็น... โกเปเนว เรียงเป็นความว่า ร่างกายแม้ถูกงูกัฏฐมุขกัดก็แข็งกระด้างไป เพราะ

ปฐวีธาตุกำเริบนั่นเอง เพราะฉะนั้น ร่างกายซึ่งยังไม่ปราศจากปฐวีธาตุ ก็เท่ากับอยู่

ในปากงูกัฏฐมุขทุกเมื่อ

นัยที่ ๓ ใช้ในอรรถอนิยม คือไม่แน่ ส่องความว่า กายที่ถูกงูกัฏฐมุขกัดแล้ว

จะแข็งกระด้างหรือไม่แข็งกระด้างก็ได้ เพราะมีมนต์และมียาแก้พิษงู แต่ร่างกายซึ่ง

ปราศจากมนต์และยานี้ เพราะปฐวีกำเริบละก็เท่ากับตกอยู่ในปากงูกัฏฐมุข คือแข็ง

กระด้างแน่ ๆ

ในที่นี้ เห็นว่าแปลเท่าศัพท์ในคาถา ตามที่ไม่ขัดไวยากรณ์และสัมพันธ์ ก็พอ

ได้ความแล้ว จึงไม่แปลตามมหาฎีกา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 69

[ความเป็นของใหญ่และจริงด้วย]

ข้อว่า "เพราะเป็นของใหญ่ของจริงด้วย" นั้น

ความว่า ก็ภูตคือธาตุทั้งหลายนั้น ชื่อว่าเป็นของใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่

จะพึงกำหนด (ให้เห็นตามสภาพ) ได้ด้วยความพยายามอันใหญ่ (เพราะ

สภาวะเป็นสิ่งที่รู้ยาก) ชื่อว่าเป็นของจริง เพราะเป็นของมีอยู่ เพราะ

เหตุนั้น จึงได้ชื่อว่ามหาภูต เหตุเป็นของใหญ่ และเหตุเป็นของจริง

ด้วย

ธาตุทั้งปวงนั้น ได้ชื่อว่ามหาภูต ด้วยเหตุหลายอย่าง มีความ

เป็นสิ่งมีปรากฏการณ์ใหญ่เป็นอาทิ ดังกล่าวมาฉะนี้

แต่เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ๑ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ๑

เพราะเป็นที่รองรับทุกข์ ๑ ธาตุทั้งปวงจึงได้ชื่อว่าธาตุ เหตุไม่ล่วง

ลักษณะของธาตุ (ดังกล่าว) ไปได้ ชื่อว่ากรรม ก็เพราะทรงไว้ซึ่ง

ลักษณะของตนนั่นเอง๑ และเพราะทรงอยู่ตามควรแก่ขณะของตน๒

ด้วย ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะความหมายว่าสิ้นไป ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะ

ความหมายว่าเป็นภัย ชื่อว่าอนัตตา เพราะความหมายว่าหาสาระมิได้

ธาตุทั้งปวงมีความเป็นอันเดียวกัน โดยที่เป็นรูป เป็นมหาภูต เป็น

ธาตุ เป็นธรรม และเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ดังนี้แล พระโยคาวจร

พึงมนสิการโดยความต่างกันและความเป็นอันเดียวกัน ดังกล่าวมาฉะนี้

๑. สลกฺขณธารเณน จ ในมหาฏีกาเป็น ... ธารเณเนว เห็นว่าปาฐะในมหาฎีกาเข้าทีกว่า

จึงแปลตามนั้น.

๒. หมายถึงขณะเกิดดับของรูป (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 70

[ความแยกกันได้และแยกกันมิได้ ]

ข้อว่า "โดยแยกกันได้และแยกกันมิได้" ความว่า ธาตุทั้งหลาย

นั้นเกิดร่วมกันแท้ แยกกันเป็นสัดส่วนมิได้ แม้ในกลาปหนึ่ง ๆ มี

สุทธัฏฐกลาปเป็นต้น อันมีจำนวนต่ำกว่าเพื่อนก็ดี * แต่ว่าโดยลักษณะ

ละก็แยกกันได้ พระโยคาวจรพึงมนสิการโดยแยกกันได้และแยกกัน

มิได้ ดังกล่าวฉะนี้

[ความเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้]

ข้อว่า "โดยที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ " นั้น ความว่า ใน

ธาตุเหล่านั้น แม้ที่แยกกันไม่ออกอย่างนี้ก็ดี ธาตุ ๒ ข้างหน้าเข้ากันได้

เพราะเป็นธาตุหนัก (ด้วยกัน) ธาตุ ๒ ข้างหลังก็อย่างนั้น คือเข้ากัน

ได้ เพราะเป็นธาตุเบา (ด้วยกัน) แต่ว่าธาตุ (๒) ข้างหน้า เข้ากันไม่ได้

พระโยคาวจรพึงมนสิการ โดยที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ ดังกล่าวมา

ฉะนี้

[ความแปลกกันแห่งธาตุภายในกับธาตุภายนอก]

ข้อว่า "โดยความแปลกกันแห่งธาตุภายในกับธาตุภายนอก" นั้น

* วิเสสนะอยู่นอกสมาสบ้างก็ได้ สุทธัฏฐากกลาป คือกลุ่มรูปที่เป็นหมวด ๘ คือ ดิน

น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา อันเป็นรูปแท้ดั้งเดิม เรียกว่า อวินิพโภครูป แยกกัน

ไม่ได้ ในกามภพนี้ ถ้ามีอะไรมาผสมอีกก็เป็น ๙ เป็น ๑๐... เช่นมีชีวิตมาผสมก็เป็น

ชีวิตนวกะ (๙ กับชีวิต อายุนวกะ ก็เรียก) เป็นต้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 71

ความว่า ธาตุภายในเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณวัตถุ วิญญัติ และอินทรีย์

ทั้งหลาย* มีอิริยาบถ มีสมุฏฐานสี่ (ส่วน) ธาตุภายนอกมีประการ

ตรงกันข้ามกับธาตุในที่กล่าวแล้ว พระโยคาวจรพึงมนสิการโดย

ความแปลกกันแห่งธาตุภายในกับธาตุภายนอก ดังกล่าวมาฉะนี้

[ความรวมเข้าด้วยกัน]

ข้อว่า "โดยรวม (ที่เหมือนกัน) เข้าด้วยกัน" นั้น ความว่า

ปฐวีธาตุ (ส่วน) ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็รวมเข้าเป็นอันเดียวกันกับ

ธาตุนอกนี้ ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) เพราะไม่มีความต่างกัน

แห่งสมุฏฐาน ปฐวีธาตุ (ส่วน) ที่มีสิ่งอื่นมีจิตเป็นเป็นสมุฏฐาน

ก็อย่างนั้น คือรวมเป็นอันเดียวกับธาตุนอกนี้ ที่มีสิ่งอื่นมีจิตเป็นต้น

เป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) พระโยคาวจรพึงมนสิการโดยรวม ที่เหมือน

กัน) เข้าด้วยกัน ดังกล่าวมาฉะนี้

[ความเป็นปัจจัยของกันและกัน]

ข้อว่า "โดยเป็นปัจจัย (ของกันและกัน) " นั้นความว่า ปฐวีธาตุ

อันอาโปช่วยยึดไว้ เตโชธาตุช่วยรักษาไว้ วาโยธาตุช่วยพะยุงไว้ (นั่น

* มหาฎีกาว่า วิญญาณวัตถุ ก็คืออายาตนะภายใน ๖ มีจักษุเป็นต้น วิญญัติ ๒ คือ กาย-

วิญญัติ วจีวิญญาติ อินทรีย์ ๓ คือ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ และชีวิตทรีย์ แต่ถ้า

วิญญาณวัตถุ หมายเอา หทยวัตถุ (คือหัวใจ) ตามที่เกิดอาจารย์ว่า อินทรีย์ก็เป็น ๘ ขึ้น

โดยเพิ่มอินทรีย์ที่เป็นรูปอีก ๕ คือ จักขุนทรีย์ ฯลฯ กายินทรีย์.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 72

แหละ) เป็นปัจจัย โดยเป็นที่ตั้ง*แห่งมหาภูต ๓ (นั้น)

อาโปธาตุ อันตั้งอยู่ในปฐวีธาตุ เตโชธาตุช่วยรักษาไว้ วาโย

ธาตุช่วยพะยุงไว้ (นั่นแหละ) เป็นปัจจัย โดยเป็นเครื่องยึดให้ติดกัน

แห่งมหาภูต ๓ (นั้น)

เตโชธาตุ อันตั้งอยู่ในปฐวีธาตุ อาโปธาตุช่วยยึดไว้ วาโยธาตุ

ช่วยพะยุงไว้ (นั่นแหละ) เป็นปัจจัย โดยเป็นเครื่องทำให้อุ่นแห่ง

มหาภูต ๓ (นั้น)

วาโยธาตุ อันตั้งอยู่ในปฐวีธาตุ อาโปธาตุช่วยยึดไว้ เตโชธาตุ

ช่วยทำให้อุ่นไว้ (นั่นแหละ) เป็นปัจจัย โดยเป็นเครื่องพะยุงไว้แห่ง

มหาภูต ๓ (นั้น)

[ความไม่มีความคิดคำนึง]

ข้อว่า "โดยไม่มีความคิดคำนึง" นั้นความว่า ก็แลในธาตุ ๔

นั้น ปฐวีธาตุหารู้ว่า "เราเป็นปฐวีธาตุ" หรือว่า "เราเป็นที่ตั้งแห่ง

มหาภูต ๓ จึงเป็นปัจจัย (ของมหาภูต ๓ นั้น)" ดังนี้ไม่ แม้มหาภูต ๓

* ...ปติฏฺฐา หุตฺวา ปจฺจโย โหติ เอา หุตฺวา เป็น ภาเวน ตามนัยอรรถกถาอภิธรรม

ที่แก้บท เหตุปจฺจโย คือท่านแยกเป็น เหตุ หุตวา ปจฺจโย แล้วก็ไขเป็น เหตุภาเวน

ปจฺจโย - ธรรมเป็นเหตุจึงเป็นปัจจัย อธิบายว่า ธรรมนั้นเป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ

แม้ในมหาฎีกาก็แก้ไปทำนองนี้ คือแก้ว่า ...ปติฏฺฐา หุตฺวา ตโต เอว ...อวสฺสโย โหติ

ในตอนต่อไปก็พึงทราบตามนัยนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 73

นอกนี้ ก็หารู้ว่า "ปฐวีธาตุเป็นที่ตั้งแห่งเราทั้งหลาย จึงเป็นปัจจัย

(ของเราทั้งหลาย) " ดังนี้ไม่ นัยในธาตุทั้งปวงก็ดุจนัยนี้ พระโยคาวจร

พึงมนสิการโดยไม่มีคิดคำนึง ดังกล่าวมาฉะนี้

[ความจำแนกปัจจัย]

ข้อว่า "โดยจำแนกปัจจัย" นั้น มีพรรณนาว่า ก็ปัจจัยของธาตุ

ทั้งหลายมี ๔ คือ กราม จิต อาหาร ฤดู* ในปัจจัยเหล่านั้น กรรม

นั่นเอง เป็นปัจจัยของธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ปัจจัยธรรม

(อีก ๓) มีจิตเป็นต้นหาเป็นปัจจัยไม่ ธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นต้นเป็น

สมุฏฐานเล่า ก็มีปัจจัยธรรม (ตามลำดับ) มีจิตเป็นต้นนั่นเองเป็น

ปัจจัย ธรรมนอกนี้หาเป็นปัจจัยไม่

อนึ่ง กรรมเป็นชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน

เป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งธาตุที่เหลือ (มีธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเป็นต้น)

โดยปริยาย

จิต เป็นชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็น

ปัจฉาชาตปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิตปัจจัยแห่งธาตุที่เหลือ

* มหาฎีกาชี้ข้อสังเกตความแปลกกันแห่งข้อ ปจฺจยโต ที่กล่าวแล้ว กับข้อนี้ ว่า ข้อ

ปจฺจยโต นั้น กล่าวความที่ธาตุ ๔ เป็นปัจจัยของกันและกัน ส่วนข้อนี้กล่าวถึงสิ่งที่เป็น

ปัจจัยให้ธาตุ ๔ นั้นเกิดขึ้น โดยนัยต่าง ๆ อย่างละเอียด

ท่านว่า กรรม หมายถึงกุศลและอกุศลที่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น จิต ก็หมาย

ถึงจิตอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น อาหาร หมายถึงอาหารภายในตนที่เป็น

ปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ฤดู ก็ฤดูอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยความก็มุ่งเอาเตโชธาตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 74

อาหารเป็นชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน

เป็นอาหารปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุที่เหลือ*

ฤดู เป็นชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน เป็น

อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุที่เหลือ

มหาภูตที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้งหลาย

ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) บ้าง ที่มีสิ่งอื่นมีจิตเป็นต้นเป็น

สมุฏฐานบ้าง (ก็ได้)

ฉันเดียวกัน มหาภูตที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยแห่ง

มหาภูตทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) บ้าง ที่มีสิ่งอื่นมีกรรม

เป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้าง (ก็ได้)

มหาภูตที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้ง-

หลายที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) บ้าง ที่มีสิ่งอื่นมีกรรมเป็นต้น

เป็นสมุฏฐานบ้าง (ก็ได้)

มหาภูตที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้งหลาย

ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) บ้าง ที่มีสิ่งอื่นมีกรรมเป็นต้นเป็น

สมุฏฐานบ้าง (ก็ได้)

ในมหาภูตที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเหล่านั้น ปฐวีธาตุที่มีกรรมเป็น

* ชนกปัจจัย เป็นปัจจัยโดยทำให้เกิด อุปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นพื้นฐาน

ปัจฉาชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยที่เกิดทีหลัง คือว่า จิตเจตสิกเกิดทีหลัง ก็เป็นปัจจัย

คือสนับสนุนรูปซึ่งเกิดก่อนได้ อัตถิปัจจัย เป็นปัจจัยโดยที่อยู่ ถ้าไม่มีอยู่ก็สิ้นความ

เป็นปัจจัย อวิคตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยที่ยังไม่ปราศ ถ้าปราศไปแล้วก็สิ้นความเป็น

ปัจจัย อาหารปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นอาหาร สนับสนุนรูป.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 75

สมุฏฐาน ย่อมเป็นต้น โดยเป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย

นิสสยปัจจัย* อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย และโดยเป็นที่ตั้งด้วย แห่งธาตุ

นอกนี้ (มีอาโปธาตุเป็นต้น) ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน (ด้วยกัน) (แต่)

หาเป็นปัจจัยโดยเป็นชนกปัจจัยไม่ (อนึ่ง) เป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสย-

ปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย แห่งมหาภูตที่เนื่องกันอีก ๓ (คือ

มหาภูตที่มี จิต อาหาร และอุตุ เป็นสมุฏฐาน) (แต่) มิได้เป็นปัจจัย

โดยเป็นที่ตั้ง มิได้เป็นโดยเป็นชนกปัจจัย

อนึ่ง ในมหาภูตที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเหล่านั้น อาโปธาตุย่อม

เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจัยเป็นต้น และโดยเป็นเครื่องยึดให้ติดกัน

ด้วย แห่งธาตุอีก ๓ (แต่) หาเป็นโดยเป็นชนกปัจจัยไม่ เป็นปัจจัย

โดยเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งมหาภูตที่เนื่องกัน

อีก ๓ (คือที่มี จิต อาหาร และฤดู เป็นสมุฏฐาน) เหมือนกัน (แต่)

มิได้เป็นปัจจัยโดยเป็นเครื่องยึดให้ติดกัน มิได้เป็นโดยเป็นชนกปัจจัย.

อนึ่ง ในมหาภูตที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเหล่านั้น เตโชธาตุย่อม

เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยเป็นต้น และโดยเป็นเครื่องทำให้อุ่นด้วย

แห่งธาตุอีก ๓ (แต่) หาเป็นโดยเป็นชนกปัจจัยไม่ เป็นปัจจัยโดยเป็น

นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งมหาภูตที่เนื่องกันอีก ๓

(คือที่มี จิต อาหาร ฤดู เป็นสมุฏฐาน) เหมือนกัน (แต่) มิได้เป็น

โดยเป็นเครื่องทำให้อุ่น มิได้เป็นชนกปัจจัย

* สหชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยที่เกิดพร้อมกัน อัญญมัญญปัจจัย เป็นปัจจัยโดยอิง

อาศัยกันและกัน นิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 76

อนึ่ง ในมหาภูตที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเหล่านั้น วาโยธาตุย่อม

เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยเป็นตัน และโดยเป็นเครื่องพะยุงด้วย

แห่งธาตุอีก ๓ (แต่) หาเป็นโดยเป็นชนกปัจจัยไม่ เป็นปัจจัยโดยเป็น

นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งมหาภูตที่เนื่องกันอีก ๓

(คือที่มี จิต อาหาร ฤดู เป็นสมุฏฐาน) เหมือนกัน (แต่) มิได้เป็น

โดยเป็นเครื่องพะยุง มิได้เป็นโดยเป็นชนกปัจจัย

นัย แม้ในมหาภูต (นอกนี้) มีปฐวีธาตุที่มี จิต อาหาร ฤดู

เป็นสมุฏฐานเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้

ก็แล ในธาตุทั้งหลายนั่นอันเป็นไปโดยอำนาจปัจจัย มีสหชาต-

ปัจจัยเป็นต้น ดังกล่าวมานี้

ธาตุ ๓ อาศัย ๑ คงเป็น ๔

และธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๓ ก็คงเป็น ๔

(แต่) ธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๒ (กลาย) เป็น ๖*

แท้จริง ในธาตุทั้งหลายมีปฐวีธาตุเป็นต้น ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑

ดังนี้คือ (จัด) ธาตุทีละ ๓ อาศัยธาตุทีละ ๑ จึงเป็น ๔ ทุกที ฉัน

เดียวกัน ในธาตุทั้งหลายมีปฐวีธาตุเป็นอาทิ ธาตุ ๑ อาศัยธาตุ ๓

(ทุกทีเช่ากัน) แต่ธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๒ ดังนี้คือ ธาตุ ๒ ข้างหลัง

อาศัยธาตุ ๒ ข้างหน้า (๑) ธาตุ ๒ ข้างหน้าอาศัยธาตุ ๒ ข้างหลัง (๑)

* ตรงนี้ มหาฎีกาว่าเป็นคาถา แต่ปาฐะในวิสุทธิมรรคไม่ได้เรียงไว้ในรูปคาถา พิจารณา

ดูอักขระถ้อยคำ ก็ท่วงทีจะเป็นคาถา แต่จะเป็นฉันท์หรือกาพย์อะไรนั้นยังไม่ได้สอบ

ในที่นี้แปลเรียงในรูปคาถาตามมหาฎีกาว่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 77

ธาตุที่ ๒ ที่ ๔ อาศัยธาตุที่ ๑ ที่ ๓ (๑) ธาตุที่ ๑ ที่ ๓ อาศัยธาตุที่ ๒

ที่ ๔ (๑) ธาตุที่ ๒ ที่ ๓ อาศัยธาตุที่ ๑ ที่ ๔ (๑) ธาตุที่ ๑ ที่ ๔

อาศัยธาตุที่ ๒ ที่ ๓ (๑) จึง (กลาย) เป็น ๖๑

ในธาตุเหล่านั้น ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยแห่งการยัน ในเวลสก้าว

และถอยเป็นต้น ปฐวีธาตุนั้นแหละ อันอาโปธาตุช่วยแล้วก็เป็นปัจจัย

แห่งการทรงตัว ส่วนอาโปรธาตุอันปฐวีช่วยแล้ว เป็นปัจจัยแห่งความ

ไม่กระจัดกระจาย เตโชธาตุอันวาโยธาตุช่วยแล้ว เป็นปัจจัยแห่งการ

ยกขึ้น วาโยธาตุอันเตโชธาตุช่วยแล้ว เป็นปัจจัยแห่งการแกว่งไกว๒

พระโยคาวจรพึงมนสิการโดยจำแนกปัจจัย ดังกล่าวมาฉะนี้

[ธาตุววัฏฐานให้สำเร็จอุปจารสมาธิ]

แม้เมื่อพระโยคาวจรมนสิการไป โดย (กำหนด) อากร (๑๓)

มีอรรถแห่งคำเป็นตนดังกล่าวมานี้แล ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ

โดยมุขอันหนึ่ง ๆ เมื่อเธอนึกหน่วงมนสิการธาตุเหล่านั้นไปเนือง ๆ

อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นโดยนับที่กล่าวมาแล้วนั่นแล อุปจารสมาธินี้

นั้น ก็ได้ชื่อว่าจตุธาตุววัฏฐานนั่นเอง เพราะเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่ง

ญาณที่กำหนดธาตุ ๔

๑. เรื่องธาตุอาศัยธาตุ หรือธาตุเป็นปัจจัยของกันและกันที่กล่าวตรงนี้ ดูลำพังพยัญชนะ

แล้ว ก็เข้าใจความหายของท่านได้ยากมา ต้องแปลเติมบ้างตัดบ้าง จึงพอได้ความ

ดังนี้แหละ.

๒. มหาฎีกาว่า เตโชธาตุ มีคติพลุ่งขึ้นข้างบน จึงเป็นปัจจัยแห่งการยกขึ้น ส่วน

วาโยธาตุ มีคติพัดไปโดยขวาง จึงเป็นปัจจัยแห่งการแกว่งไกว แต่ก็ต้องช่วยกัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 78

[อานิสงส์แห่งธาตุววัฏฐาน]

ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งจตุธาตุววัฏฐานนี้ ย่อมจะหยั่งลง

ถึงสุญญตา (ความว่างจากตัวตน) ถอนสัตตสัญญา (ความสำคัญว่า

เป็นสัตว์บุคคล) เสียได้ เพราะถอนสัตตสัญญได้ เธอไม่ถึงกำหนด

แยก ว่าพาฬมฤค ว่ายักษ์ ว่ารากษส เป็นต้น ย่อมเป็นผู้ข่มความกลัว

ภัยได้ ข่มความยินร้ายและยินดีได้ ไม่ถึงซึ่งความฟูขึ้นและความยุบลง

ในเพราะอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ทั้งหลาย อีกทั้งจะเป็นผู้มีปัญญา

มาก มีพระอมตะ (นิพพาน) เป็นที่สุด หรือมิฉะนั้นก็จะมีสุคติเป็น

ที่ไปในเบื้องหน้าแล

ผู้มีปัญญาพึงเสพธาตุววัฏฐาน อันมีอานุภาพมาก

อย่างนี้ (ที่นับว่าเป็นกีฬา) ซึ่งพระโยคีผู้เป็นสีหะ

ประเสริฐเล่นกันแล้วนั่น เป็นนิตย์เทอญ

นี้เป็นภาวนานิเทศแห่งจตุธาตุววัฏฐาน

[สรูปสมาธินิเทศ]

ก็การพรรณนาความโดยประการแห่ง (ปัญหากรรม ข้อว่า

"สมาธิพึงบำเพ็ญอย่างไร " นี้ ในปัญหากรรมที่ข้าพเจ้าทำไว้โดยนัยว่า

"อะไรชื่อว่าสมาธิ ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร " ดังนี้เป็นต้น*

เพื่อแสดงความพิสดารและนัย (วิธี) แห่งการบำเพ็ญสมาธิ เป็นอันจบ

แล้วเพียงเท่านี้

* ปัญหากรรมนี้อยู่ในกัมมฐานคหถนิเทศ ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นสมาธินิเทศ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 79

สมาธินี้นั้นก็มีเพียงสองอย่างเท่านั้น ซึ่งเป็นสมาธิที่ประสงค์เอา

ในที่นี้ คืออุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ ในสมาธิสองอย่างนั้น

อุปจารสมาธิก็คือเอกัคคตาในกรรมฐาน ๑๐ และในจิตอันเป็นบุพภาค

แห่งอัปปนาทั้งหลาย* อัปปนาสมาธิ ก็คือเอกัคคตาแห่งจิตในกรรมฐาน

ที่เหลือ (๓๐) สมาธิทั้งสองอย่างนั้น จะชื่อว่าเป็นธรรมอันพระ

โยคาวจรได้เจริญแล้ว ก็เพราะกรรมฐานเหล่านั้นเธอได้บำเพ็ญแล้ว

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าว่า "การพรรณนาความโดยทุกประการแห่ง

(ปัญหา) ข้อว่า "สมาธิพึงบำเพ็ญอย่างไร" นี้ จบแล้ว"

[อานิสงส์แห่งการบำเพ็ญสมาธิ]

ส่วนใน (ปัญหา) ข้อที่กล่าวไว้ว่า "อะไรเป็นอาสิงสงส์แห่งการ

บำเพ็ญสมาธิ " มีคำเฉลยว่า "อานิสงส์แห่งการบำเพ็ญสมาธิมี ๕

ประการ มีทิฏฐธรรมสุขวิหาร (ความอยู่สำราญในภพปัจจุบัน) เป็น

อาทิ" จริงอย่างนั้น

[มีทิฏฐธรรมสุขวิหารเป็นอานิสงส์]

(๑) ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ย่อมเจริญสมาธิด้วย

ประสงค์ว่า จักเข้าสมาบัติให้จิตมีอารมณ์เดียวอยู่เป็นสุขตลอดวัน การ

เจริญอัปปนาสมาธิของภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่าทิฏฐธรรมสุขวิหารเป็น

อานิสงส์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (กะพระจุนทะ)

* มหาฎีกา หมายเอาจิตตุบาทอันเป็นบุพภาคแห่งฌาน ๘.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 80

ว่า "ดูกรจุนทะ ฌานธรรม (ที่พาหิรกบรรพชิตบำเพ็ญ) เหล่านั้น

หาเรียก สัลเลขะ ในอริยวินัยไม่ ฌานธรรมเหล่านั้นเรียก ทิฏฐธรรม-

สุขวิหาร ในอริยวินัย "๑

[มีวิปัสสนาเป็นอานิสงส์]

(๒) ทั้งการเจริญอัปปนาสมาธิ ทั้งการเจริญอุปจารสมาธิ โดย

นัยแห่งการได้ช่องในที่คับแคบ๒ แห่งพระเสขะและปุถุชนทั้งหลาย ผู้

เจริญ (สมาธิ) ด้วยประสงค์ว่า ออกจากสมาบัติแล้วจักทำวิปัสสนาทั้ง

จิตที่ยังตั้งมั่นอยู่ ชื่อว่ามีวิปัสสนาเป็นอานิสงส์ เพราะสมาธินั้นเป็น

ปทัฏฐาน (เหตุใกล้ที่สุด) แห่งวิปัสสนา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงเจริญสมาธิ

เถิด ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง "๓

[มีอภิญญาเป็นอานิสงส์]

(๓) ส่วนภิกษุเหล่าใด ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้วเข้าฌานอันเป็น

๑. ม. มู. ๑๒/๗๓.

๒. ดูเหมือนจะหมายความว่า สงสารนี้เป็นที่คับแคบอย่างยิ่ง เพราะรกเรื้อนเบียดเสียด

ไปด้วยสังกิเลสมากนัก ยากที่คนไม่มีบุญจะได้ช่องที่จะได้กำเนิดเกิดมาเป็นคน มีอัตภาพ

จิตใจสติปัญญาสมบูรณ์พอ แม้เพียงจะทำอุปจารสมาธิให้เกิดได้ พระโยคาวจรผู้นี้มีบุญ

ได้ช่องมาเกิดเป็นคนมีอัตภาพสมบูรณ์ และยินดีในโยคภาวนา จนสามารถทำอุปจาร

สมาธิให้เกิดขึ้นได้ ชื่อว่าเธอได้สิ่งที่ได้โดยยาก ควรเป็นที่ตั้งแห่งความสังสารทุกข์

เสียโดยเร็ว เพราะฉะนั้น แม้การเจริญอุปจารสมาธิของเธอผู้นี้ ก็ชื่อว่ามีวิปัสสนาเป็น

อานิสงส์เหมือนกัน.

๓. สํ. ขนฺธวาร. ๑๗/๑๘.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 81

บาทแห่งอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ออกจากสมาบัติแล้ว ปรารถนาอยู่

ก็ทำอภิญญาอันมีนัยที่กล่าวไว้โดยประการว่า "เป็นคนเดียวแล้ว

(อธิษฐานให้) เป็นมากคนก็ได้ " ดังนี้เป็นต้นให้เกิดขึ้นได้ การเจริญ

อัปปนาสมาธิแห่งภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่ามีอภิญญาเป็นอานิสงส์ เพราะ

สมาธินั้น ในเมื่อเหตุ (ที่จะให้ได้อภิญญา)๑ มีพร้อมอยู่ เป็นปทัฏฐาน

แห่งอภิญญาได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "เธอ

น้อมจิตไปเฉพาะเพื่อทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมอันพึงทำให้แจ้ง

ด้วยอภิญญาใด ๆ ก็ดี เธอก็บรรลุความเป็นผู้อาจเพื่อทำให้ประจักษ์ได้

ในอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมนั้น ๆ ทีเดียว ในเมื่อเหตุ (ที่จะให้ได้

อภิญญา) มีพร้อมอยู่"๒

[มีภพวิเศษเป็นอานิสงส์]

(๔) บุถุชนเหล่าใดมีฌานไม่เสื่อม ปรารถนาความเข้าถึง

พรหมโลก ว่าเราจักเกิดในพรหมโลก หรือแม้ไม่ปรารถนาก็ตาม (แต่)

ไม่เสื่อมจากสมาธิ การเจริญอัปปนาสมาธิแห่งบุถุชนเหล่านั้น ชื่อว่ามี

ภพวิเศษเป็นอานิสงส์ เพราะสมาธินั้นนำภพวิเศษมาให้ เหตุนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ถามว่า บุคคลทั้งหลายบำเพ็ญปฐม-

๑. มหาฎีกาว่า อายตนะ ในที่นี้หมายถึงเหตุที่จะให้ได้อภิญญา อันสำเร็จมาแต่ชาติก่อน

เพราะว่าผู้จะได้อภิญญานั้นต้องเป็นคนมีอธิการ (คือบุญบารมี) ซึ่งลางทีก็เรียก "ปุพเพ-

เหตุ" มิใช่ได้เพราะความเชี่ยวชาญในสมาบัติ.

๒. องฺ. ติก. ๒๐/๓๓๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 82

ฌานอันยังเป็นปริตกุศล๑ได้แล้ว (ตายไป) ได้กำเนิดที่ไหน ? ตอบว่า

ได้กำเนินร่วมกับพวกเทพเหล่าพรหมปาริสัชชา " ดังนี้เป็นอาทิ๒ ส่วน

การเจริญอุปจารสมาธิเหล่า ก็นำภพวิเศษคือสุคติชั้นกามาวจร ๖ มาให้

เหมือนกัน

[มีนิโรธเป็นอานิสงส์]

(๕) ส่วนว่าพระอริยะเหล่าใดยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้วอข้านิโรธ-

สมาบัติ เจริญสมาธิด้วยประสงค์ว่า จักเป็นผู้ไม่มีจิต (คือดับความคือ

เสีย) (เข้า) ถึงนิโรธนิพพานอยู่สำราญในทิฏฐธรรมนี่สัก ๗ วันเถิด

การเจริญอัปปนาสมาธิแห่งพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่ามีนิโรธเป็นอานิสงส์

เหตุนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวไว้ว่า "ความรู้ในการเจริญความเป็นวสี

(คล่องแคล่วในการเข้านิโรธสมาบัติ) ด้วยญาณจริยา (ทางญาณ) ๑๖

ด้วยสมาธิจริยา (ทางสมาธิ๓) ๙ จัดเป็นญาณในนิโรธสมาบัติ"๔

๑. คือยังเกี่ยวด้วยวัตถุกาม เพราะยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้.

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๕๗๑.

๓. มหาฎีกาว่า "ญาณจริยา ๑๖ คืออนิจจานุปัสสนา ทกุขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา

นิพพิทานุปัสสนา วิราคานุปัสสนา นิโรธานุปัสสนา ปฏินิสสัคคานุปัสสนา วิวัฏฏานุ-

ปัสสนา เป็น ๘ รวมกับมรรคญาณและผลญาณ ๘ เป็น ๑๖ ส่วนสมาธิจริยา ๙ หมายเอา

สมาธิในรูปฌาน ๕ อรูปกฌาน ๔ ลางอาจารย์ว่า ได้แกสมาธิในรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

เพิ่มอุปจารสมาธิแห่งฌานทั้ง ๘ นั้นเข้า ๑ เป็น ๙.

ตรงนี้ ไม่เข้าใจตลอดสาย ข้อต้นไม่เข้าใจว่า คำในปฏิสัมภิทาที่ท่านชักมาอ้างนั้น

สมกับเรื่องเข้านิโรธสมาบัติตรงไหน ? ข้อสอง นิโรธสมาบัติ ถึงจะมีญาณอะไร ก็คง

เป็นโลกิยะอยู่ แต่ท่านแก้ญาณจริยาถึงมรรคถึงผลอันเป็นโลกุตตระ จะไปกันได้หรือ ?

ข้อสาม สมาธิจริยา น่าจะแก้ตามตามแนวอนุปุพวิหาร ๙ ให้เข้าเรื่องนิโรธสมาบัติไป ?

๔. ขุ. ป. ๓๑/๑๔๗.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 83

นี่เป็นอานิสงส์แห่งการเจริญสมาธิ ๕ ประการ มีทิฏฐธรรมสุข-

วิหารเป็นอาทิ ดังกล่าวมาฉะนี้

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงไม่ควรประมาทในการ

ประกอบสมาธิภาวนา อันมีอานิสงส์เป็นอเนก เป็น

เครื่องชำระมลทินคือกิเลสได้แล

ก็แล ด้วยการพรรณนาความมาเพียงเท่านี้ สมาธิใสวิสุทธิมรรค

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยหัวข้อ คือ สีล สมาธิ ปัญญา

ด้วยคาถาว่า สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ เป็นอาทินี้ ก็เป็นอัน

ได้อธิบายจบแล้วอีกข้อหนึ่ง

ปริเฉทที่ ๑๑ ชื่อสมาธินิเทศ

ในปกรณ์วิเศษ ชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมชแห่งสาธุชน

ดังนี้

[ทบทวนลำดับนิเทศที่ว่ามาแล้ว]

ที่ ๑ สีลนิเทศ

ที่ ๒ ธุดงคนิเทศ

ที่ ๓ กัมมฐานคหณนิเทศ

ที่ ๔ ปฐวีกสิณนิเทศ

ที่ ๕ เสสกสินิเทศ

ที่ ๖ อสุภนิเทศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 84

ที่ ๗ ฉอนุสตินิเทศ

ที่ ๘ เสสอนุสตินิเทศ

ที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ

ที่ ๑๐ อารุปปนิเทศ

ที่ ๑๑ สองนิเทศคือปฏิกูลสัญญาและธาตุววัฏฐาน (ซึ่งท่าน

รวมเรียกว่า สมาธินิเทศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 85

อิทธิวิธนิเทศ

เพราะเหตุที่การเจริญสมาธินี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า มีอภิญญา

เป็นอานิสงส์ ด้วยอำนาจแห่งโลกิยอภิญญา*ทั้งหลายใด พระโยคีผู้ได้

จตุตถฌานในกสิณทั้งหลายมีปฐวีกสิณเป็นต้นแล้ว ควรทำโยคะ (ต่อไป)

เพื่อยังอภิญญาทั้งหลายนั้นให้ถึงพร้อม ด้วยว่า เมื่อทำได้อย่างนั้น การ

เจริญสมาธินั้นของเธอก็จักเป็นภาวนาที่มีอานิสงส์อันได้แล้ว และจัก

เป็นภาวนาที่มั่นคงยิ่ง (กว่าปกติภาวนา) ด้วย เธอผู้ประกอบด้วย

สมาธิภาวนาที่มีอานิสงส์อันได้แล้ว ที่มั่งคงยิ่ง ก็จักยังการเจริญปัญญา

ให้ถึงพร้อมได้โดยง่ายทีเดียว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจักเริ่ม

อภิญญากถาก่อน ณ กาลบัดนี้

[โลกิยอภิญญา ๕]

ก็โลกิยอภิญญา ๕ คือ

อิทฺธิวิธ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ

ทิพฺพโสตธาตุญาณ ความรู้ดุจได้ยินด้วยโสตธาตุ

อันเป็นทิพย์

เจโตปริยญาณ ความรู้กำหนดใจ (คนอื่น) ได้

ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณ ความรู้ในอันตามระลึกถึง

ชาติก่อน ๆ ของตนได้

* ปาฐะในวิสุทธิมรรคท่านใช้ โลกิกะ แต่ไทยเราใช้ โลกิยะ มานานแล้ว คล่องลิ้น

สนิทหูดีกว่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 86

สตฺตานํ จุตูปปาตญาณ ความรู้ในเรื่องตายไปและได้

กำเนิดขึ้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยว่า "ภิกษุนั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น

บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีอังคณะ (ความคิดไปตามอำนาจความปรารถนา ?)

ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนควรแก่การ ตั้งอยู่ ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว

อย่างนี้แล้ว นำจิตมุ่งไป น้อมจิตมุ่งไปเพื่อฤทธิ์ชนิดหนึ่ง เธอก็บรรลุ

ชนิดแห่งฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ เป็นคนเดียว (อธิษฐาน) เป็นหลายคน

ก็ได้"๑ ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงแสดงอานิสงส์แห่งการเจริญสมาธิ และ

เพื่อแสดงธรรมอันประณีต ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แก่กุลบุตรทั้งหลายผู้ได้บรรลุ

สมาธิในจตุตฌานแล้ว

[จิตฺตปริทมนวิธิ - วิธีฝึกฝนจิต]

ในโลกิยอภิญญา ๕ นั้น พระโยคีผู้เป็นอาทิกัมมิกะ (แรกทำ)

ใคร่จะทำอิทธิวิกุพพนะ (การทำฤทธิ์ต่าง ๆ ) มีฤทธิ์คือ เป็นคนเดียว

(อธิษฐาน) เป็นหลายคนก็ได้ เป็นต้น ๒ พึงยังสมาบัติ ๘ ๆ ในกสิณ ๘

๑. ที. สี. ๙/๑๐๓

๒. วิกุพฺพนะ ที่ตรงนี้เข้าใจว่าท่านใช้แทน วิธะ นั่นเอง ศัพท์ วิกุพฺพนะ ถ้าใช้เป็น

วิเสสนะ เรียงไว้หน้า อิทฺธิ เปลี่ยนรูปเป็นอิตถีลิงค์ คือเป็น วิกุพฺพนา เป็นชื่อฤทธิ์อย่าง

หนึ่ง เรียกว่า วิกุพฺพานอิทฺธิ หมายถึงบิดเบือนร่างกายได้ต่าง ๆ ส่วน เอโกปิ หุตฺวา

พหุธา โหติ - เป็นคนเดียว (อธิษฐาน) เป็นคนมากก็ได้ นั้นเป็น อธิฏฺฐานาอิทฺธิ

หมายถึงสำเร็จ.ได้ด้วยแรงอธิษฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 87

มีโอทาตกสิณเป็นข้อสุดท้ายให้เกิด๑ ฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ นี้ คือ

กสิณานุโลมโต โดยตามลำดับกสิณ

กสิณปฏิโลมโต โดยย้อนลำดับกสิณ

กสิณานุโลมปฏิโลมโต โดยทั้งตามลำดับ

ทั้งย้อนลำดับกสิณ

ฌานานุโลมโต โดยตามลำดับฌาน

ฌานปฏิโลมโต โดยย้อนลำดับฌาน

ฌานานุโลมปฏิโลมโต โดยทั้งตามลำดับ

ทั้งย้อนลำดับฌาน

ฌานุกฺกนฺตกโต๒ โดยข้ามฌาน

กสิณุกฺกนฺตกโต โดยข้ามกสิณ

ฌานกสิณุกฺกนฺตาโต โดยข้ามทั้งฌานทั้งกสิณ

องฺคสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนองค์ฌาน

อารมฺมณสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนอารมณ์

องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต โดยเลื่อนทั้งองค์ทั้งอารมณ์

องฺคววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดดูองค์

อารมฺมณววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดดูอารมณ์

๑. หมายความว่าจะเข้าสมาบัติในกสิณข้อไหน ก็ให้ทำสมาบัติให้เกิดครบ ๘ (คือตั้งแต่

ปฐมฌาน จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ) ทุกข้อไป

อนึ่ง มหาฎีกาว่า ที่กำหนดกสิณเพียงโอทาตาสิณ เพราะอากาสกสิณทำให้เกิด

อรูปสมาบัติไม่ได้ ส่วนอาโลกกสิณ นับรวมเข้าในโอทาตกสิณได้

๒. ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น ฌานานุกฺกนฺตกโต นั้นคลาดเคลื่อน เพราะศัพท์นี้

แยกเป็น ฌาน + อุกฺกนฺตก แม้ปาฐะต่อ ๆ ไปก็พึงทราบตามนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 88

ถามว่า "ก็ในอาการเหล่านั้น กสิณานุโลม (ตามลำดับกสิณ)

เป็นไฉน ? ฯลฯ อารัมมณววัฏฐาปนะ (กำหนดดูอารมณ์) เป็น

อย่างไร ?"

[เข้าตามลำดับกสิณ]

วิสัชนาว่า ภิกษุในพระศาสนานี้เข้า (ฌาน) ในกสิณ ๘ ตาม

ลำดับดังนี้ คือ เข้าฌานในปฐวีกสิณ ต่อนั้น (เข้า) ในอาโปกสิณ...

เป็นต้น ตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐๐ ครั้ง ก็ดี นี้ ชื่อว่า กสิณานุโลม (ตาม

ลำดับกสิณ)

[เข้าย้อนลำดับกสิณ]

ส่วนการเข้า (ฌาน) อย่างนั้นแหละ โดยลำดับย้อนตั้งแต่

โอทาตกสิณ (เข้ามา) ชื่อว่า กสิณปฏิโลม (ย้อนลำดับกสิณ)

[เข้าทั้งตามลำดับทั้งย้อนลำดับกสิณ]

การเข้า (ฌานในกสิณ) แล้ว ๆ เล่า ๆ (ร้อยครั้งพันครั้ง)

โดย (เข้า) ทั้งตามลำดับทั้งย้อนลำดับ ดังนี้ คือ (เข้า) ตั้งแต่ปฐวี-

กสิณไปจนถึงโอทาตกสิณ (เข้า) ตั้งแต่โอทาตกสิณมาจถึงปฐวีกสิณ

ชื่อว่า กสิณานุโลม (ทั้งตามลำดับทั้งย้อนลำดับกสิณ)

[เข้าตามลำดับฌาน]

ทีนี้ การเข้า (ฌาน) แล้ว ๆ เล่า ๆ ตั้งแต่ปฐมฌานไปตามลำดับ

จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ชื่อว่า ฌานานุโลม (ตามลำดับฌาน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 89

[เข้าย้อนลำดับฌาน]

การเข้า (ฌาน) แล้ว ๆ เล่า ๆ ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะ

เข้ามาจนถึงปฐมฌาน ชื่อว่า ฌานปฏิโลม (ย้อนลำดับฌาน)

[เข้าทั้งตามลำดับทั้งย้อนลำดับฌาน]

การเข้า (ฌาน) แล้ว ๆ เล่า ๆ โดย (เข้า) ทั้งตามลำดับ

ทั้งย้อนลำดับ ดังนี้ คือ (เข้า) ตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงเนวสัญญานา-

สัญญายตนะ และ (เข้า) ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะเข้ามาจนถึง

ปฐมฌาน ชื่อว่า ฌานานุโลมปฏิโลม (ทั้งตามลำดับทั้งลำดับฌาน)

[เข้าข้ามฌาน]

ส่วนว่าการ (เข้า) ไม่ข้ามกสิณ แต่ข้ามฌาน โดยทำให้เป็น

เอกันตริยะ (ข้ามฌานถัดไปเสีย ๑) อย่างนี้ คือ เข้าปฐมฌานใน

ปฐวีกสิณแล้วเข้าตติยฌานในปฐวีกสิณนั้นแหละ ต่อนั้น เพิกปฐวีกสิณ

นั้นเสีย (เข้า) อากาสานัญจายตนะ แล้ว ต่อนั้น (เข้า) อากิญจัญญายตนะ

ดังนี้ ชื่อว่า ฌานุกกันตกะ (ข้ามฌาน)

แม้โยชนา (การประกอบความ) อันมีกสิณที่เหลือ มีอาโปกสิก

เป็นอาทิเป็นต้นไป ก็พึงทำอย่าง (เดียวกัน) นี้

[เข้าข้ามกสิณ]

การ(เข้า) ไม่ข้ามฌาน แต่ข้ามกสิณ โดยทำให้เป็นเอกันตริกะ

(ข้ามกสิณถัดไปเสีย ๑) โดยนัยนี้ คือ เข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 90

เข้าปฐมฌานนั่นแหละอิก ในเตโชกสิณ ต่อนั้น ในนีลกสิณ แล้วต่อนั้น

ในโลหิตกสิณ... ดังนี้ ชื่อว่า กสิณุกกันตกะ (ข้ามกสิณ)

[เข้าข้ามทั้งฌานทั้งกสิณ]

การ (เข้า) ข้ามทั้งฌานทั้งกสิณ โดยนัยนี้ คือ เข้าปฐมฌาน

ในปฐวีกสิณแล้ว ต่อนั้น (เข้า) ตติยฌานในเตโชกสิณ เพิกนีลกสิณ

แล้ว (เข้า) อากาสานัญจาตนะ (เข้า) อากิญจัญญายตนะ แต่

โลหิตกสิณ๑ ดังนี้ ชื่อว่า ฌานกสิรุกกันตกะ (ข้ามทั้งฌานทั้งกสิณ)

[เข้าเลื่อนองค์]

ส่วนว่าการเข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้ว เข้าฌานแม้นอกนี้

(คือ ทุติยะ ... จตุตถ..)๒ ในปฐวีกสิณนั้นเหมือนกัน ชื่อว่า

อังคสังกันติกะ (เลื่อนองค์)

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า นึกหน่วงเอาโลหิตกสิณมาไว้เฉพาะหน้า เมื่อโลหิตกสิณเพิก

ปรากฏมีกสิณุคฆาฏิมากาส (อากาศตรงที่ดวงกสิณเพิก) ไม่ทำในใจกสิณุคฆาฏิ-

มากาสนั้น เข้าอากาสานัญจายตนะฌานแล้ว ทำความปราศไปแห่งวิญญาณที่เป็นไปอยู่

ในอากาสานัญจายตนะนั้น ให้เป็นอารมณ์แล้วเข้าอากิญจัญญายตนะ

๒. มหาฎีกาว่า การทีข้อนี้หมายเอาแต่รูปาวจรฌาน ก็เพราะในอรูปาวจรฌานหามีการ

เลื่อนองค์ไม่ ทั้งอรูปวจรฌานจะมาเป็นไปในปฐวีกสิณ ก็ไม่ได้ (เพราะกสิณเป็นรูป)

แต่ส่วนคำที่ว่า "เพิกนีลกสิณแล้วเข้าอากาสานัญจายตนะ" เป็นต้น ซึ่งกล่าวในตอน

"เลื่อนทั้งองค์ทั้งอารมณ์นั้น " ต่อไปนั้น พึงเห็นว่าเป็นคำกล่าวไปตามที่ได้ที่มี หรือว่า

กล่าวโดยอ้อมก็ได้ แต่โดยตรงนั้น การเลื่อนองค์ย่อมมีได้แต่ในรูปฌานเท่านั้น ฉันใด

การเลื่อนอารมณ์ก็มีได้แต่ในอรูปฌาน ฉันนั้น เพราะอารัมมณสังกันตี (การเลื่อนอารมณ์

ก็คือฌานนั้น ๆ ย้ายอารมณ์ไปนั่นเอง ท่านจึงว่า "เข้าแต่ฌานเดียวในทุกกสิณ... ชื่อว่า

เลื่อนอารมณ์"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 91

[เข้าเลื่อนอารมณ์]

เข้าแต่ฌานเดียวในทุกกสิณอย่างนี้ คือ เข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณ

แล้ว (เข้า) ปฐมฌานนั่นแหละ ในอาโปกสิณ ฯลฯ (เข้า) ปฐมฌาน

นั้นเอง ในโอทาตกสิณ ดังนี้ ชื่อว่า อารัมมณสังกันติกะ (เลื่อนอารมณ์)

[เข้าเลื่อนทั้งองค์ทั้งอารมณ์]

การเลื่อนทั้งองค์ทั้งอารมณ์โดยเอกันตริกะ (เลื่อนไปทีละ ๑)

อย่างนี้ คือ เข้าปฐมฌานในปฐวีกสิณแล้ว (เข้า) ทุติยฌานในอาโปกสิณ

ตติยฌานในเตโชกสิณ จตุตถฌานในวาโยกสิณ เพิกนีลกสิณแล้วเข้า

อากาสานัญจายตนะ เข้าวิญญาณัญจายตนะแต่ปิตกสิณ เข้าอากิณ

ดังนี้ ชื่อว่า อังคารัมมณสังกันติกะ (เลื่อนทั้งองค์ทั้งอารมณ์)

[กำหนดดูองค์]

ส่วนการกำหนดดูแต่เพียงองค์ฌานอย่างนี้ คือ กำหนดดูปฐมฌาน

ว่ามีองค์ ๕ แล้วกำหนดดูทุติยฌานว่ามีองค์ ๓ ... ตติยฌานว่ามีองค์ ๒

... จตุตถฌาน อากาสนัญจายตนะ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ก็ (มีองค์ ๒ ) อย่างนั้น ดังนี้ ชื่อว่า อังคววัฏฐาปนะ (กำหนดดูองค์)

[กำหนดดูอารมณ์]

นัยเดียวกัน การกำหนดดูแต่เพียงอารมณ์อย่างนี้ คือ กำหนด

ดูว่า นี่ปฐวีกสิณแล้วกำหนดดูว่า นี่อาโปกสิณ ฯลฯ นี่โอทาตกสิณ ดังนี้

ชื่อว่า อารัมมณววัฏฐาปนะ (กำหนดดูอารมณ์)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 92

อาจารย์พวกหนึ่ง ต้องการ (ให้มี) อังคารัมมณววัฏฐาปนะ

(กำหนดดูทั้งองค์ทั้งอารมณ์) อิก (ข้อหนึ่ง) แต่เพราะอังคารัมมณ-

ววัฏฐาปนะ ไม่มาในอรรถกถาทั้งหลาย อังคารัมมณววัฏฐาปนะนั้น

จึงน่าจะไม่เป็นสำคัญในการภาวนากระมัง*

[การทำฤทธิ์เป็นงานหนัก]

ข้อที่ว่ายังมิได้ฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ อย่าง ดังกล่าวมานี้แล้ว

พระอาทิกัมมิกโยคาวจรผู้ไม่เคยบำเพ็ญภาวนามาแต่ปางก่อน จักยังการ

ทำฤทธิ์ต่าง ๆ ให้สำเร็จได้นั้น มิใช่ฐานะจะมีได้ เพราะว่า แม้แต่การ

บริกรรมกสิณก็เป็นงานหนักแก่พระอาทิกัมมิกะ (เสียแล้ว) หนึ่งในร้อย

หรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (บริกรรมได้) สำหรับผู้ทำบริกรรมกสิณ

ได้แล้ว การทำ (ปฏิภาค) นิมิตให้เกิดก็เป็นงานหนัก หนึ่งในร้อย

หรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (บรรลุอัปปนาได้) สำหรับผู้ได้

อัปปนาแล้ว การฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ ก็เป็นงานหนัก หนึ่งในร้อย

หรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (บรรลุอัปปนาได้) สำหรับผู้ได้

อัปปนาแล้ว การฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ ก็เป็นงานหนัก หนึ่งในร้อย

หรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (ฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ ได้) สำหรับ

ผู้มีจิตอันได้ฝึกฝนโดยอาการ ๑๔ แล้วเล่า อันกระทำฤทธิ์ได้ต่าง ๆ

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า เมื่อองค์ก็ได้กำหนดดูแล้วว่า ฌานนี้มีองค์ ๕ เป็นต้น

อารมณ์ก็ได้กำหนดดูแล้ว ว่านี้ปฐวีกสิณเป็นอาทิ แล้วจะไปกำหนดดูทั้งสองอย่างนั้น

รวมกันอีก จะมีอะไรพิเศษขึ้นอีกเล่า เพราะฉะนั้น วิธีนี้จึงไม่มีมาในอรรถกถาทั้งหลาย

ด้วยท่านเห็นว่าจะทำให้เนิ่นช้าไปเปล่า ๆ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 93

ก็ยังเป็นการหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (ทำ

ฤทธิ์ได้ต่าง ๆ ) แม้ผู้ทำฤทธิ์ต่าง ๆ ได้แล้ว อันความเป็นขิปปนิสันติ

(รวมจิตเข้าฌานได้ฉับพลัน) ก็เป็นการหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพัน

เท่านั้น จะขิปปนิสันติได้ นิทัศนะดังพระรักขิตเถระผู้มีพรรษา ๘

(นับ) แต่อุปสมบท (ผู้เป็นหนึ่ง) ในภิกษุผู้มีฤทธิ์ประมาณ ๓๐,๐๐๐ รูป

ที่มาพยาบาลไข้พระมหาโรหณคุตตเถระ ณ เถรัมพัตถลวิหาร ฉะนั้น ๑

อานุภาพของท่าน ได้กล่าวไว้ในปฐวีกสิณนิเทศแล้ว ก็พระ (มหา)

เถระได้เห็นอานุภาพนั้นของท่านแล้ว จึงกล่าว (เตือนภิกษุทั้งหลาย)

ว่า "อาวุโสทั้งหลาย ถ้ารักขิตจักไม่มีอยู่ (ในที่นี้) แล้ว เราทั้งปวง

ก็จะต้องได้รับความตำหนิ ว่า "(ภิกษุเหล่านี้) ไม่สามารถจะปกป้อง

พญานาคได้" เพราะเหตุนั้น ขึ้นชื่อว่าอาวุธประจำตัวที่จะพึงถือเที่ยวไป

ชำระสนิมเสียก่อนจึงถือเที่ยวไปนั่นแหละ จึงควร " ภิกษุทั้ง ๓๐,๐๐๐

นั้น ตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระ ก็ได้เป็นขิปปนิสันติ (ทุกรูป)

แม้เมื่อขิปปนิสันติมีอยู่เล่า ความที่จะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ ก็ยังเป็น

การหนัก หนึ่งในร้อยหรือในพันเท่านั้น จะสามารถ (เป็นที่พึ่งของ

คนอื่นได้) ดังพระเถระ (รูปหนึ่ง) ผู้ เมื่อฝนถ่านเพลิง อันมาร

บันดลให้เป็นไป ใน (คราวทำ) คิริภัณฑวาหนบูชา ๒ สร้างแผ่นดินขึ้น

๑. ประโยค เถรมฺพตฺถเล ฯ เป ฯ รกฺขิตตฺเถโร วิย เป็นประโยคนิทัศนะ ของประโยค

ขิปฺปนิสนฺติ ข้างหน้า ซึ่งควรจะเรียงต่อกันไป แต่ฉบับวิสุทธิมรรคเผลอแยกไปเรียง

ย่อหน้า โปรดเรียงเสียให้ถูกด้วย

๒. มหาฎีกาว่า คิริภัณฑวาหนบูชา นั้น หมายถึงการตามประทีปบูชาเป็นการใหญ่ ตั้งต้น

ที่เจติยคิรี แผ่ออกไปทั่วเกาะ (ลังกา) และเลยลงไปสนทะเลอีกโยชน์หนึ่งโดยรอบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 94

ในอากาศ ป้องกันฝนถ่านเพลิง (มิให้ตกลงมาถูกคน) ได้ ฉะนั้น

[ผู้มีบุพโยคะกล้าไม่ต้องฝึกฝนตามนี้ก็ทำฤทธิ์ได้]

แต่สำหรับท่านผู้มีบุพโยคะ (ความเพียรที่ทำมาแต่ปางก่อน)

แรงกล้า เช่นพระพุทธ พระปัจเจกพุทธ และพระอัครสาวกทั้งหลาย

แม้เว้นภาวนานุกรม (คือการฝึกฝนจิตตามลำดับ) มีประการดังกล่าว

มานี้ อิทธิวิกุพพนะนี้ และคุณทั้งหลายอื่นต่างโดยปฏิสัมภิทาเป็นต้น

ก็สำเร็จได้ ด้วยอำนาจแห่งความได้พระอรหัตโดยแท้ เพราะเหตุนั้น

พระอาทิกัมมิกโยคาวจร จึงควรฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ นี้ ทำ (จิต)

ให้อ่อน ให้ควรแก่การ ด้วยอำนาจการเข้า (ฌาน) ทำฉันทะให้เป็น

ใหญ่ และทำวิริยะให้เป็นใหญ่ ทำจิตตะให้เป็นใหญ่ ทำวิมังสาให้เป็น

ใหญ่ และด้วยอำนาจ (ทำให้) เป็นวสี มีอาวัชชนวสี เป็นต้นด้วย

จึงทำโยคะเพื่ออิทธิวิธะเถิด เปรียบเหมือนช่างทอผู้ใคร่จะทำเครื่อง

ประดับต่างชนิด ก็ย่อมทำทองให้อ่อนควรแก่การ ด้วยกรรมวิธีมีสูบ

เป่าไฟเป็นต้น แล้วจึงทำให้ ฉะนั้น อนึ่ง เปรียบเหมือนช่างหม้อ

ผู้ประสงค์จะทำภาชนะต่างชนิด ก็ย่อมทำดินให้เป็นดินที่ขยำดี ให้เป็น

ดินอ่อน แล้วจึงทำได้ ฉะนั้น แต่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยบุพเหตุ (คือ

บุพโยคะที่กล่าวแล้ว) แม้ประพฤติให้เชี่ยวชาญเพียงจตุตถฌานในกสิณ

ทั้งหลาย ก็ทำได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 95

[วิธีทำโยคะ]

ก็แลโยคะ ในการทำอิทธะให้สำเร็จนั้น จะพึงทำด้วยวิธีใด

พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงวิธีนั้น จึงตรัสว่า "โส เอวํ สมาหิเต

จิตฺเต - ภิกษุนั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว " ดังนี้ เป็นอาทิ

[วินิจฉันคำ โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต เป็นต้น]

(ต่อไป) นี้ เป็นคำวินิจฉัยในวิธีนั้น ตามแนวนัยพระบาลีนั่นแล

ในบทพระบาลีเหล่านั้น บทว่า "โส" คือพระโยคีผู้บรรลุจตุตถฌาน

แล้วนั้น คำว่า "เอวํ" นั่นเป็นคำแสดงขั้นจตุตถฌาน ด้วยคำนี้

เป็นอันอธิบายว่า ได้จตุตถฌานโดยลำดับการบรรลุ ตั้งต้นแต่บรรลุ

ปฐมฌานมา บทว่า "สมาหิเต" คือตั้งมั่นด้วยจตุตถฌานสมาธินี้

บทว่า "จิตฺเต" หมายเอารูปาวจรจิต ส่วนในบทที่เหลือมีบทว่า

"ปริสุทฺเธ - บริสุทธ" เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า (จิต) ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะ

ภาวะ คือความบริสุทธิแห่งสติด้วยอำนาจอุเบกขา ๑ ก็เพราะบริสุทธิ์

นั่นเอง จึงชื่อว่า สะอาด อธิบายว่า ผ่องใส

ชื่อว่า ไม่มีอังคณะ เพราะความที่อังคณะมีราคะเป็นต้น ถูกจำกัด

ไปด้วยความดับแห่งปัจจัยทั้งหลายมีสุขเป็นต้น ๒

๑. หมายถึงจตุตถฌาน

๒. มหาฎีกาขยายความว่า หมายถึงความรำงับไปแห่งสุขโสมนัส และทุกขโทมนัส อัน

เป็นปัจจัยแห่งราคะ ทุกข์เป็นปัจจัยแห่งโทมนัส โทมนัสเป็นปัจจัยแห่งโทสะ

(ตรงนี้ ปาฐะในมหาฎีกา ตก โทมนสฺสํ โทสสฺส)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 96

เพราะความไม่มีอังคณะนั่นแล จึงชื่อว่า ปราศจากอุปกิเลส

เพราะว่าจิตย่อมเศร้าหมองด้วยอังคณะ

ชื่อว่า เป็นจิตอ่อน เพราะความเป็นจิตที่ได้อบรมดีแล้ว อธิบาย

ว่า เป็นจิตถึงซึ่งความเป็นวสี (อยู่ในอำนาจ) เพราะจิตที่เป็นไป

อำนาจ ท่านเรียกว่า จิตอ่อน เพราะความเป็นจิตอ่อนนั่นแหละ จึง

เป็นจิตควรแก่การ อธิบายว่า ทนงาน ใช้การได้ อันจิตอ่อน เป็น

จิตควรแก่การ เหมือนทองคำที่เขาเป่า (ไล่มลทิน) ดีแล้ว๑ (ก็อ่อน

ใช้การได้) ฉะนั้น ก็แล ความอ่อนและควรแก่การทั้งสองนั้น จะมีได้

ก็เพราะความที่จิตได้อบรมดีแล้วเท่านั้นแล ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

ไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักอย่างหนึ่ง ซึ่งได้

อบรมทำให้มากแล้ว เป็นของอ่อนควรแก่การ เหมือนอย่างจิตนี้เลย"๒

ดังนี้

เพราะความที่จิตนั้นตั้งอยู่ในอาการทั้งหลาย มีความเป็นสิ่ง

บริสุทธิ์เป็นต้นนั้น จึงชื่อว่า ตั้งอยู่ เพราะตั้งอยู่นั่นเอง จึงชื่อว่า ถึง

ความไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่คลอนแคลน ไม่มีความเคลื่อนไหว

หรือว่า ชื่อว่า ตั้งอยู่ เพราะตั้งอยู่ในอำนาจของตน โดยความเป็น

จิตอ่อนควรแก่การ ชื่อว่า ถึงความไม่หวั่นไหว เพราะเป็นจิตอันคุณ

มีศรัทธาเป็นต้นจับแล้ว แท้จริง จิตอันศรัทธาจับแล้วย่อมไม่หวั่นไหว

๑. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สุทนฺตมิว นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น สุธนฺต คือเป็น ธมธาตุ

จึงจะสมกับเรื่อง

๒. องฺ. เอก. ๒๐/๑๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 97

ด้วยความไม่เชื่อ อันวิริยะจับแล้วย่อมไม่หวั่นไหวด้วยความเกียจคร้าน

อันสติจับแล้วย่อมไม่หวั่นไหวด้วยความเลินเล่อ อันสมาธิจับแล้วย่อม

ไม่หวั่นไหวด้วยความฟุ้งซ่าน อันปัญญาจับแล้วย่อมไม่หวั่นไหวด้วย

ความไม่รู้ ไปกับแสงสว่าง (แห่งญาณ) แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวด้วย

ความมืด คือกิเลส จิตอันธรรม ๖ ประการนี้จับแล้ว ย่อมเป็นจิต

ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว จิตประกอบด้วยองค์ ๘ ดังกล่าวมานี้๑ จึง

เป็นจิตควรแก่การนำมุ่งไป เพื่อการทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง ซึ่ง

อภิญญาสัจฉิกรณียธรรมทั้งหลาย

[วินิจฉัยคำพระบาลีอิกนัยหนึ่ง]

พึงทราบนัยอื่นอิก ชื่อว่า ตั้งมั่น เพราะ (เป็น) สมาธิใน

จตุตถฌาน ชื่อว่า บริสุทธ เพราะความเป็นจิตอยู่ไกลนิวรณ์ ชื่อว่า

สะอาด เพราะก้าวล่วงองค์ (หยาบ) มีวิตกเป็นต้น ชื่อว่า ไม่มีอังคณะ

เพราะความไม่มีแห่งอิจฉาวจร (ความท่องเที่ยวไปแห่งความปรารถนา)

ทั้งหลายที่เลว อันเป็นข้าศึกแห่งการได้ฌาน๒ ชื่อว่า ปราศจากอุปกิเลส

เพราะความปราศไปแห่งเครื่องเศร้าหมองจิต มีอภิชฌาเป็นต้น ก็บท

ทั้งสอง (คือ อนงฺคเณ และ วิคตุปกฺกิเลส) นี้ พึงทราบตามทำนอง

๑. ท่านนับ  ิต กับ อาเนญฺชปฺปตฺต เป็นองค์เดียวกัน จึงได้ ๘

๒. มหาฎีกาให้ตัวอย่างอิจฉาเลวว่าได้แก่มานะ มายา สาไถย เป็นต้น ที่พล่านไปด้วย

อำนาจความอยาก เช่นอยากให้พระศาสดา หรือครูอาจารย์ทักตัวก่อนแล้วจึงสอน โดย

นัยนี้ อังคณะ ก็คือกิเลสประเภทอยากเด่น สมกับที่แปลกันอยู่ว่า "กิเลสดุจเนิน"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 98

ความในอนังคณสูตร และวัตถสูตรเถิด ๑ ชื่อว่า เป็นจิตอ่อน เพราะ

ถึงความเป็นวสี ชื่อว่า ควรแก่การ เพราะเข้าถึงความเป็นบาทแห่งอิทธิ

ชื่อว่า ตั้งอยู่ ถึงความไม่หวั่นไหว หมายความว่า ตั้งอยู่อย่างที่เป็นสิ่ง

ถึงความไม่หวั่นไหว๒ เพราะเข้าถึงความเป็นจิตประณีต ด้วยความ

เต็มเปี่ยมแห่งภาวนา

จิตประกอบด้วยองค์ ๘ แม้โดยนัยนี้ ก็เป็นจิตควรแก่การนำมุ่งไป

คือเป็นบาท เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) เพื่อทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง

ซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณียธรรมทั้งหลาย แล

[วินิจฉัยศัพท์ อิทฺธิ - ฤทธิ์]

พึงทราบวินิจฉันในบาลีว่า "นำจิตมุ่งไป น้อมจิตมุ่งไป เพื่อ

การแสดงฤทธิ์" นี้ (ต่อไป)

สิ่งที่ชื่อว่า ฤทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ มีอธิบายว่า เพราะอรรถ

ว่า เกิดผล และเพราะอรรถว่า ได้เฉพาะ ด้วยว่าสิ่งใดเกิดผล และ

บุคคลได้เฉพาะซึ่งสิ่งใด สิ่งนั้น ก็เรียกได้ว่า สำเร็จ ดังพระบาลี

(กามสูตร) ว่า

"กามํ กามยมานสฺส ตสฺส เจ ตํ สมิชฺฌติ๓

เมื่อบุคคลปรารถนา (วัตถุ) กามอยู่ หากว่าสิ่งที่ปรารถนานั้น

สำเร็จแก่เขา (คือเขาได้ดังปรารถนา) ไซร้" ดังนี้ นัยเดียวกัน บาลี

๑. สูตรทั้งสองนี้อยู่ในมัชฌิมนิกาย

๒. ท่านแก้เช่นนี้ หมายความว่า อาเนญฺชปฺปตฺต เป็นวิเสสนะของ ฐิต

๓. ข. ส. ๒๕/๔๘๔ ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น เจตํ ผิด ที่ถูกเป็น เจ ตํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 99

ว่า "เนกขัม ชื่อว่าฤทธิ เพราะสำเร็จ (คือ เกิดผล) ชื่อว่า ปาฏิหาริย์

เพราะนำปฏิปักขธรรมไปเสีย อรหัตมรรค ชื่อว่า ฤทธิ์ เพราะสำเร็จ

(คือ ได้บรรลุ) ชื่อว่า ปาฏิหาริย์ เพราะนำปฏิปักขธรรมไปเสีย"๑

อิกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ฤทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ (คือ เกิดผล)

คำว่า ฤทธิ์ นี้ เป็นชื่อแห่งอุปายสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอุบาย)

จริงอยู่ อุปายสัมปทา ย่อมสำเร็จ (คือให้ผล) เพราะเป็นเหตุเกิดผล

ที่ประสงค์ ดังบาลีว่า "จิตตะคฤหบดีนี้แล เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม

ถ้าปรารถนาว่า "ในอนาคตกาล ขอเราพึงได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์เถิด"

ดังนี้ ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จ (คือ เกิดผล) เป็นแท้ เพราะ

ความตั้งในปรารถนาแห่งผู้มีศีล เป็นกิริยาอันสะอาด" ๒ ดังนี้

อิกนัยหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ (คือเจริญ) ด้วยคุณชาตินั่น

เหตุนั้น คุณชาตนั้น จึงชื่อว่า ฤทธิ์ มีอธิบายว่า คำว่า อิชฺฌนฺติ-

สำเร็จ (นัยนี้) ประสงค์ความว่า เป็นผู้เจริญรุ่งเรือนเฟื่องฟู๓

[ฤทธิ์ ๑๐ อย่าง]

ฤทธิ์นั้นมี ๑๐ อย่าง ดังพระบาลีว่า คำว่า ฤทธิ์ทั้งหลาย หมาย

เอาฤทธิ์ ๑๐ อย่าง และท่านกล่าวต่อไปอิกว่า ฤทธิ์ ๑๐ อย่างคืออะไร

บ้าง ? ฤทธิ์ ๑๐ อย่าง คือ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๖๑๙

๒. สํ. สฬา. ๑๘/๓๗๓

๓. รวมทุกนัยได้ความว่า อิทฺธิ ที่เราแปลทับศัพท์ว่า ฤทธิ์ นั้น มีความหมายอย่างน้อยก็ ๔

คือ สำเร็จ เกิดผล ได้ตามประสงค์ และเจริญ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 100

อธิฏฺฐานาอิทฺธิ ฤทธิ์อธิฏฐาน

วิกุพฺพนาอิทฺธิ ฤทธิ์บิดเบือน

มโนมยาอิทฺธิ ฤทธิ์มโนมัย

ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ ฤทธิ์ญาณปกแผ่

สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ฤทธิ์สมาธิปกแผ่

อริยอิทฺธิ ฤทธิ์ของพระอริยะ

กมฺมวิปากชาอิทฺธิ ฤทธิ์เกิดด้วยวิบากกรรม

ปุญฺญวโต อิทฺธิ ฤทธิ์ของผู้มีบุญ

วิชฺชามยาอิทฺธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยวิทยา

ตตฺถ ตตฺถ สมฺมาปโยค- ฤทธิ์โดยความหมายว่าสำเร็จ

ปจฺจยา อิชฺฌานฏฺเฐน อิทฺธิ เพราะความประกอบชอบ

ในกิจนั้น ๆ เป็นปัจจัย๑

[๑ อธิฏฺฐานาอิทฺธิ]

ในฤทธิเหล่านั้น ฤทธิที่ท่านแจกแจงแสดงไว้ว่า "(พระโยคี)

โดยปกติเป็นคนผู้เดียว (แต่) นึกให้เป็นคนมาก จำนวน ๑๐๐ ก็ดี

จำนวน ๑,๐๐๐ ก็ดี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ก็ดี ครั้นนึกแล้วก็อธิฏฐาน

ด้วยญาณ๒ ว่า "เราจงเป็นคนจำนวนมาก" (แล้วเธอก็เป็นคนจำนวน

มากขึ้น)"๓ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า อธิฏฺฐานาอิทฺธิ - ฤทธิ์อธิฏฐาน เพราะ

ความที่สำเร็จด้วยอำนาจการอธิฏฐาน

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๘๙

๒. หมายถึงญาณในอภิญญา

๓. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 101

[๒ วิกุพฺพนาอิทฺธิ]

ฤทธิ์ที่ (กล่าว) มาโดยพระบาลีว่า "พระโยคีนั้น ละเพศปกติ

(ของตน) แล้ว แสดง (เป็น) เพศเด็กก็ดี แสดง (เป็น) เพศนาค ก็ดี

ฯลฯ แสดง (เป็น) กระบวนทัพต่างอย่างก็ดี "๑ เรียกว่า วิกุพฺพนา-

อิทฺธิ - ฤทธิ์บิดเบือน เพราะเป็นไปโดยละเพศปกติ (ของตน) และ

ทำ (เพศ) ให้ผิดไป (จากเพศปกติตน)

[๓ มโนมยาอิทฺธิ]

ฤทธิ์ที่ (กล่าว) มาโดยนัยนี้ว่า ภิกษุในศาสนานี้ นิรมิตกายอื่น

(อิกอย่างหนึ่ง) จากกาย (เดิม) นี้ ให้มีรูปร่างแล้วแต่ใจ (ในอภิญญา)๒

ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า มโนมยาอิทฺธิ - ฤทธิ์มโนนัย เพราะเป็นไปโดยเกิด

เป็นร่างกายขึ้นอิกร่างหนึ่ง ซึ่ง (มีรูปร่าง) แล้วแต่ใจ ภายในร่างกายนี้

[๔ ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ]

คุณวิเศษทีเกิดด้วยอานุภาพแห่งญาณ ในกาลก่อนหรือภายหลัง

แต่ความเป็นไปแห่งญาณ ก็ดี ในขณะที่ญาณนั้นเป็นไป ก็ดี ๓ ชื่อว่า

ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ - ฤทธิ์ญาณปกแผ่ สมคำบาลีว่า "ผลคือการละ

นิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ได้ ชื่อว่า ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ เพราะ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๖

๒. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๗

๓. ญาณที่กล่าวนี้ท่านหมายเอาอรหัตตมรรคญาณ ก่อนอรหัตมรรคญาณเกิด หมายถึง

ในขณะวิปัสสนาปัญญา หรือก่อนนั้นขึ้นไป นับตั้งแต่ถือปฏิสนธิมา สำหรับท่านผู้เป็น

อันติมภวิกะ (มีภพครั้งสุดท้าย)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 102

สำเร็จด้วยอนิจจานุปัสสนา (ปัญญาพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง) ฯลฯ

ผลคือการละกิเลสทั้งสิ้นได้ ชื่อว่า ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ เพราะสำเร็จด้วย

อรหัตมรรค (ญาณ) ได้แก่ ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ ของท่านพากุละ

ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ ของท่านสังกิจจะ ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ ของท่าน

ภูตปาละ"๑

[ญาญวิปฺผาราอิทฺธิของท่านพากุละ]

ในสามท่านนั้น อันดับแรก ท่านพากุล (เมื่อ) ยังเล็ก ใน

วันมงคล (วันหนึ่ง) เขาให้ (ลง) อาบน้ำอยู่ในแม่น้ำ (พลัด) ตกลง

ไปในสายน้ำ เพราะความเลิกเล่อของหญิงพี่เลี้ยง ปลา (ใหญ่ฮุบเอา)

กลืนท่าน (ลงไปในท้อง) แล้ว (ว่าย) ไป (จน) ถึงท่าน้ำเมืองพาราณสี

คนหาปลา (ผู้หนึ่ง) จับมันได้ที่ท่านั้นแล้ว (นำไป) ขายแก่ภริยาเศรษฐี

ภริยาเศรษฐีนั้น เกิดมีความเยื่อใยในปลา (ตัวนั้น) จึงบอก (พวกบ่าง)

ว่า ตัวจักต้มมันเอง ชำแหละออกก็เห็นเด็ก (รูปงาม) ราวกะรูปทอง

อยู่ในท้องปลา ก็เกิดความดีใจว่า ตัวได้บุตร ความที่ไม่เจ็บป่วยอยู่

ในท้องปลาดังนี้ จัดเป็น ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ - ฤทธิ์ญาณปกแผ่ของท่าน

พากุละ ผู้เป็นปัจฉิมภวิก (มีภพครั้งสุดท้าย) เพราะความไม่เจ็บป่วย

อยู่ในท้องปลานั้น เกิดด้วยอานุภาพแห่งอรหัตมรรคญาณที่ท่านจะพึงได้

โดยอัตภาพนั้น อันเรื่อง (ของท่านพากุละนี้ ) น่าเล่าโดยพิสดาร๒

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๗

๒. เรื่องพระพากุละ มีเล่าไว้ในพากุลสูตร มัชฌิมนิกาย และอรรถกถาของสูตรนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 103

[ญาญวิปฺผาราอิทฺธิของท่านสังกิจจะ]

อิกเรื่องหนึ่ง เมื่อพระสังกิจจเถระยังอยู่ในครรภ์ มารดาทำกาล-

กิริยา (คนทั้งหลายเข้าใจว่าตายทั้งกลม) ครั้น (ศพ) นาง อันสัปเหร่อ

ยกขึ้นเชิงตะกอน แทง (เจาะท้อง) ด้วยเหล็กแหลมเผาอยู่ ทารกถูก

ประหารที่เบ้าตา๑ด้วยปลายเหล็กแหลม ก็ส่งเสียงขึ้น บัดนั้น พวก

สัปเหร่อรู้ว่าทารกยังเป็นอยู่ จึงยก (ศพ) นางลมมาผ่าท้อง (ดู ได้

ทารกแล้ว) ให้ทารกแก่ยายไป ทารกนั้น ยายเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่

ได้บรรพชาแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ความที่ไม่

เจ็บป่วยอยู่บนเชิงตะกอนฟืน โดยนัยที่กล่าวแล้วดังนี้ จัดเป็น ญาณ-

วิปฺผาราอิทฺธิ ของท่านสังกิจจะ๒

[ญาณวิปฺผาราอิทฺธิของท่านภูตปาละ]

อิกเรื่องหนึ่ง บิดาของเด็กชายภูตปาละ เป็นคนจน (อยู่) ใน

กรุงราชคฤห์ (วันหนึ่ง) เขา (กับลูก) ไปป่าด้วยเกวียนเพื่อหาฟืน

บันทุกฟืนแล้ว (กลับมา) ถึงที่ใกล้ประตูเมืองเวลาเย็น บังเอิญโค

(ทั้งสอง) ของเขาสลัดแอก (วิ่ง) เข้าเมืองไป เขาจึงให้ลูกเล็กนั่งอยู่

ใต้ (ร่ม) เกวียน๓ แล้วตามรอยโคเข้าเมืองไปเหมือนกัน เมื่อเขายัง

๑. ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า อกฺขิกูเฏ คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น อกฺขิกูเป

๒. เรื่องท่านสังกิจจะ มีเล่าไว้ในอรรถาธรรมบท

๓. สกฏมูเล มหาฎีกาแก้ไว้ว่า สกฏสมีเป - ที่ใกล้เกวียน แต่เทียบกับ รุกฺขมูล ซึ่ง

ท่านหมายเอาในร่มเงาต้นไม้ที่แผ่ในเวลาเที่ยง จึงเข้าใจว่า สกฏมูล ก็น่าจะนัยเดียวกัน

เด็กเล็ก ๆ ให้นั่งซุกอยู่ใต้เกวียน ก็เห็นว่าดีแล้ว ยิ่งเวลานอน ก็ยิ่งไม่มีที่ไหนเหมาะเท่า

ใต้เกวียน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 104

ไม่ทันออก ประตู (เมือง) ก็ปิดเสียแล้ว (ทิ้งลูกเล็กนอนอยู่นอกเมือง

คนเดียว) ความที่เด็กไม่เจ็บป่วยตลอดคืนทั้ง ๓ ยามอยู่ภายนอกเมือง

ทั้งที่มียักษ์ร้ายออกพล่านไป๑ จัดเป็น ญาณวิปฺผาราอิทฺธิ โดยนัยที่กล่าว

แล้วเหมือนกัน อันเรื่อง (นี้) น่า (เล่า) ให้พิสดาร๒

[๕ สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ]

คุณวิเศษอันเกิดด้วยอนุภาพแห่งสมถะ (ความที่จิตสงบ) ก่อน

หรือหลังสมาธิ ก็ดี ๓ ในขณะแห่งสมาธินั้น ก็ดี ชื่อว่า สมาธิวิปฺผารา-

อิทฺธิ - ฤทธิ์สมาธิปกแผ่ สมคำบาลีว่า "ผลคือการละนีวรณ์ทั้งหลายได้

ชื่อว่า สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ เพราะสำเร็จด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ผลคือ

การละสัญญาในอากิญจัญญายตนะได้ ชื่อว่า สมาธิวิปฺาราอิทฺธิ

ของท่านสารีบุตร สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของท่านสัญชีวะ สมาธิวิปฺผารา-

อิทฺธิของท่านขาณุโกณฑัญญะ สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของอุตตราอุบาสิกา

สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ของพระนางสามาวดีอุบาสิกา"๔

๑. บ้านใหญ่เมืองโต ขนาดมหาอำนาจในสมัยนั้น ปล่อยให้มียักษ์ร้ายเที่ยวพล่านอยู่

ใกล้ ๆ กำแพงเมืองอย่างนั้น ก็เต็มทีอยู่แล้ว มหาฎีกายังหนุนหนักเข้าไปอีกว่า "ยกฺข-

ปริคฺคหิตณฺหิ ราชคหนครํ - จริงซิ กรุงราชคฤห์เป็นเมืองที่ยักษ์สิง" แต่ไม่พบเล่าไว้

ที่ไหนเลย ว่ายักษ์พวกนั้นเคยรบกวนภิกษุทั้งหลาย ซึ่งพักอยู่ในบริเวณเมืองนั้น !

๒. เรื่องของท่านองค์นี้ น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องนายทารุสากฏิกะ เล่าไว้ใน

ปกิณณกวรรค อรรถกถาธรรมบทภาค ๗

๓. มหาฎีกาว่า "ก่อน" หมายเอาขณะแห่งอุปจารณาน "หลัง" หมายเอาที่สุดแห่งสมาบัติ

๔. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 105

[สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของท่านสารีบุตร]

ในท่านเหล่านั้น เมื่อครั้งท่านสารีบุตรพักอยู่ที่วิหาร ชื่อ

กโปตกันทรา (ซอกเขานกพิราบ) กับพระมหาโมคคัลลานเถระ ปลง

ผมใหม่ ๆ นั่งอยู่กลางแจ้งในคืนเดือนหงาย ยักษ์ร้ายตนหนึ่ง แม้ยักษ์

สหายห้ามอยู่ (ก็ไม่ฟัง) ประหารลงไปที่ศีร์ษะ (ท่าน) มีเสียงดัง

ราวกะเสียฟ้าร้อง เวลามันประหาร พระเถระเข้าสมาบัติแน่วอยู่

ครั้งนั้น อาพาธอะไร ๆ มิได้มีแก่ท่าน เพราะการประหารนั้นเลย นี่

สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ของท่าน (สารีบุตร) นั้น ส่วนเรื่อง (ละเอียด)

มาในอุทานแล

[สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของท่านสัญชีวะ]

ฝ่ายพระสัญชีวเถระเข้านิโรธอยู่ พวกโคบาลหมายว่าท่านตาย

จึงสุมหญ้าไม้และมูลโค (แห้ง) เข้า (ทับตัวท่าน) แล้วจุดไฟขึ้น แม้

แต่เส้นด้ายในจีวรของท่านก็มิได้ไหม้ (ไม่ต้องกล่าวถึงร่างกายท่าน)

นี้เป็น สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ของท่าน (สัญชีวะ) ซึ่งเกิดแต่อานุภาพ

แห่งสมถะ อันเป็นไปโดยอำนาจอนุบุพสมาบัติ ส่วนเรื่อง (ละเอียด)

มาในพระสูตรแล ๑*

* มหาฎีกาว่า พระสัญชีวะ นี้ หมายถึงพระสัญชีวะมหาเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกที่ ๒

ของพระผู้มีพระภาคกกุสันธะ ท่านนั่งอยู่ที่ใด ๆ ก็เข้านิโรธได้ไม่สู้ยาก และว่า เพราะ

ถูกเขาคลอกด้วยไฟก็ไม่เป็นอะไรนั่นแหละ ท่านจึงได้นามว่า "สัญชีวะ" (ตรงกับที่ไทย

เราเรียกว่า "พระรอด" นั่นเอง !)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 106

[สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของท่านขาณุโกณฑัญญะ]

ฝ่ายพระขาณุโกณฑัญญเถระ ท่านเป็นผู้มากไปด้วย (การเข้า)

สมาบัติอยู่โดยปกติแล้ว คืนหนึ่งท่านนั่นเข้าสมาบัติอยู่ในป่าแห่งในแห่ง

หนึ่ง พวกโจร ๕๐๐ ลักของเขาไป (มาถึงที่ท่านนั่งอยู่) คิดว่าป่านนี้

ไม่มีใครตามรอยพวกตนมาละ ก็ใคร่จะหยุดพัด เมื่อจะปลงของลง

สำคัญ (องค์พระเถระ) ว่า นี่หัวตอ จึงพากันวางของทั้งปวงลงไปบน

(องค์) พระเถระนั่นเอง เมื่อพวกมันพัก (พอ) แล้วจะไป เวลาที่หยิบ

เอาของชิ้นที่วางลงทีแรก๑ ก็พอดีพระเถระออก (จากสมาบัติ) ตามที่

กำหนดกาลไว้ พวกมันเห็นอาการไหวของพระเถระก็กลัว ร้องขึ้น

พระเถระจึงบอกว่า "อย่ากลัวเลย อุบาสกทั้งหลาย ฉันเป็นภิกษุดอก"

โจรพวกนั้นจึงพากันมาไหว้ (ต่อมา) บวชด้วยความเลื่อมใสอัน (เป็น)

ไปในพระเถระแล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ความที่

พระเถระผู้ถูกของถึง ๕๐๐ ชิ้นทับตัวแล้ว ไม่มีอาพาธ (อะไรเลย) นี้

เป็น สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ในเรื่องนี้

[สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของนางอุตตรา]

ฝ่ายอุตตราอุบาสิกาเป็นธิดาของปุณณกเศรษฐี หญิงคณิกาชื่อ

สิริมา ถูกความหึงครอบงำ ราดน้ำมันเดือด ๆ ทั้งกะทะ๒ลงไปที่ศีรษะ

๑. ชิ้นที่วางลงทีแรก ก็ย่อมอยู่ข้างล่าง ชิ้นที่วางลงหลัง ๆ สุมอยู่ข้างบน เมื่อหยิบชิ้น

บน ๆ หมดแล้ว จึงหยิบชิ้นแรกที่อยู่ข้างล่างได้ จึงได้เห็นองค์พระเถระ.

๒. ตตฺตเตลกฏาหํ มหาฎีกาอธิบายว่า เป็นคำกล่าวถึงของ โดยยกเอาภาชนะที่บรรจุ

ของนั้นออกหน้า ความก็คือว่า ราดน้ำมันอันเดือดอยู่ในกะทะลงไปทั้งกะทะนั่นเอง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 107

ของนาง นางอุตตราเข้าเมตตา (สมาบัติ) ในทันทีนั้น น้ำมันก็กลอก

(ตก) ไป เหมือนหยาดน้ำกลอก (ตก) ไปจากใบบัวฉะนั้น นี้เป็น

สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ของอุตตราอุบาสิกา อันเรื่อง (ของอุตตราอุบาสิการ

นี้) บัณฑิตพึง (เล่า) ให้พิสดารเถิด

[สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิของพระนางสามาวดี]

พระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน พระนามว่า สามาวดี มาคัณ-

ฑิยพราหมณ์ปรารถนาตำแหน่งอัครมเหสีแก่ (นางมาคัณฑิยา) ธิดาของ

ตน จึง (บอกอุบาย) ให้นางธิดาของตนนั้นซุกอสรพิษไว้ใน (ราง) พิณ

(ของพระราชา) แล้วแสร้งทูลพระราชาว่า "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า

พระนางสามาวดีทรงคิดจะปลงพระชนม์พระองค์ ทรงจับอสรพิษขังไว้

ในพิณ" พระราชาทอดพระเนตรเห็นอสรพิษนั้นแล้วก็กริ้ว ทรงคิดว่า

จะต้องฆ่าพระนางสามาวดีเสีย (ให้จับพระนางและบริวารไปยืนกลาง

แจ้งแล้ว) ทรงยกธนูขึ้น สอดลูกธนูอาบยาพิษเข้า (เตรียมจะยิง)

พระนางสามาวดีพร้อมทั้งบริวาร (พร้อมใจกัน) แผ่เมตตาไปยังพระ

ราชา พระราชาไม่อาจทรงยิงลูกศรออกไปได้เลย จะลดคันศรลงก็

ไม่ได้ (ด้วย) ทรงยืนพระองค์สั่นอยู่ ดังนั้นพระนางจึงทูล (ถาม)

พระองค์ว่า "ทรงลำบาก (พระวรกาย) อยู่หรือเพคะ " พระราชาตรัส

(สารภาพ) ว่า "จ้ะ ฉันกำลังลำบาก" พระนางจึงทูลว่า "ถ้ากระนั้น

ของพระองค์จงทรงลดธนูลงเถิด " (พอขาดพระดำรัสของพระนาง) ศร

ก็ตกลงแทบพระบาทของพระราชานั่นเอง ต่อนั้นพระนางทรงเตือน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 108

พระองค์ โดยใจความว่า บุคคลไม่ควรประทุษร้ายต่อผู้ที่มิได้ทำร้าย

ความที่พระราชาไม่อาจทรงปล่อยลูกศรออกไปได้ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็น

สมาธิวิปฺผาราอิทฺธิ ของพระนางสามาวดีอุบาสิกา แล

[๖ อรินาอิทฺธิ]

ส่วนฤทธิมีความเป็นผู้สำคัญว่าไม่ปฏิกูล ในสิ่งปฏิกูลเป็นอทชาทิอยู่

เป็นปกติได้เป็นต้น ชื่อว่า อริยาอิทฺธิ (สมคำที่กล่าวในปฏิสัมภิทา) ว่า

"อริยาอิทฺธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ หากจำนงว่า "ขอเราพึง

เป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ปฏิกูลอยู่เถิด" ดังนี้ไซร้ เธอก็

ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ได้ ฯลฯ เป็น

ผู้มีสติสัมปัญญะวางเฉยในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ได้ *" ฤทธิมีความเป็นผู้

สำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลเป็นอาทิอยู่เป็นปกติได้เป็นต้นนี้แล เรียก

ว่า อริยาอิทฺธิ เพราะมีแต่แก่พระอริยะทั้งหลายผู้ได้เจโตวสีเท่านั้น

จริงอยู่ ภิกษุขีณาสพผู้ประกอบด้วยอริยาอิทฺธินั้น เมื่อทำการแผ่เมตตา

ก็ดี ธาตุมนสิการก็ดี ในวัตถุที่ปฏิกูล คือที่ไม่น่าปรารถนา ชื่อว่า

เป็นผู้มีอัปปฏิกูลสัญญา (ความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ปฏิกูล) อยู่

เมื่อทำการแผ่อสุภก็ดี มนสิการว่าไม่เที่ยงเป็นต้นก็ดี ในวัตถุที่ไม่ปฏิกูล

ในสิ่งไม่ปฏิกูล) อยู่ นัยเดียวกันนั้น ภิกษุเมื่อทำการแผ่เมตตาก็ดี

ธาตุมนสิการก็ดี นั้นแหละ ในวัตถุทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ก็ชื่อว่าเป็น

* ขุ. ป. ๓๑/๕๙๙.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 109

ผู้มีอัปปฏิกูลสัญญาอยู่ และเมื่อทำการแผ่อสุภก็ดี มนสิการว่าไม่เที่ยง

เป็นต้นก็ดีนั้นแหละ ในวัตถุทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ก็ชื่อว่าเป็นผู้มี

ปฏิกูลสัญญาอยู่ ส่วนว่าเมื่อยังฉฬังคุเบกขา อันกล่าวไว้โดยนัยว่า

"ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่เป็นผู้ดีใจ...เลย๑" ดังนี้เป็นต้นให้เป็นไป

เว้นอาการทั้งสอง (คือดีใจและเสียใจ) นั้นเสีย ทั้งในวัตถุที่ปฏิกูลและ

ไม่ปฏิกูล ก็ชื่อว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะวางเฉยอยู่ เพราะในปฏิสัม-

ภิทา จำแนกความนี้แหละไว้โดยนัยว่า "ถามว่า ภิกษุเป็นผู้มีความ

สำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่เป็นไฉน ? แก้ว่า ภิกษุแผ่ไปโดย

เมตตาก็ดี พิจารณาโดยความเป็นธาตุก็ดี ในวัตถุอันไม่น่าปรารถนา..."

ดังนี้เป็นอาทิแล ฤทธิมีความเป็นผู้สำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลเป็น

อาทิอยู่เป็นปกติได้เป็นต้นนี้ เรียกว่า อริยาอิทฺธิ เพราะมีแต่แก่พระ

อริยะทั้งหลายผู้ได้เจโตวสีเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้๒

๑. องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๑๐.

๒. คำว่า ปฏิกูล ในที่นี้ท่านมิได้หมายแต่เพียงว่า สกปรก โสโครก แต่หมายถึงวัตถุที่

ไม่น่าปรารถนา น่าเกลียดน่าชัง ตลอดถึงสัตว์ คน ที่เป็นศัตรูผู้ร้ายที่เราเกลียดด้วย ฝ่าย

ที่ไม่ปฏิกูลก็หมายตรงกันข้าม คือวัตถุที่น่าปรารถนา น่ารักน่าพอใจ ตลอดถึงสัตว์ คน

ที่เป็นญาติมิตรที่เรารักด้วย จะเห็นได้ที่มีกล่าวถึงแผ่เมตตา การแผ่เมตตา ก็ต้องแผ่ไป

ในคนและสัตว์ มิใช่แผ่ไปในสิ่งของ

แม้ในสัตว์ คน ที่พึงเกลียด แต่ถ้าแผ่เมตตาไป ใจมุ่งหมายอยู่ในความสุขของ

เขา หรือทำธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นเป็นแต่ธาตุ สัญญาของผู้นั้นเป็นอัปปฏิกูลสัญญา

แต่ถ้าเจริญอสุภ พิจารณาในด้านไม่งาม หรือมนสิการทางไตรลักษณ์ แม้วัตถุ สัตว์ คน

นั่นน่ารักน่าปรารถนา สัญญาของผู้นั้นก็เป็นปฏิกูลสัญญา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 110

[๗ กมฺมวิปากชาอิทฺธิ]

ส่วนฤทธิมีความไปทางอากาศได้เป็นอาทิ แห่งสัตว์มีนกเป็นต้น

ชื่อว่า กมฺมวิปากชาอิทฺธิ ดังพระบาลีว่า "ถามว่า ฤทธิเกิดด้วย

วิบากกรรมเป็นไฉน แก้ว่า ฤทธิของนกทั้งปวง ของเทวดาทั้งปวง

ของมนุษย์ลางพวก ของวินิปาติกะลางเหล่า นี้เป็นฤทธิเกิดด้วยวิบาก-

กรรม"๑ ดังนี้ แท้จริง ในสัตว์เหล่านั้น ความไปทางอากาศได้โดย

เว้นฌานหรือวิปัสสนาทีเดียว๒ แห่งนกทั้งปวง เป็น กมฺมวิปากชาอิทฺธิ

อย่างเดียวกัน ความไปทางอากาศได้แห่งเทวดาทั้งปวงและแห่งมนุษย์

ที่เกิดในปฐมกัปลางพวก ก็เป็น กมฺมวิปาชาอิทฺธิ ฉันเดียวกัน

ความไปทางอากาศได้แห่งวินิปาติกะลางเหล่า เช่นยักษิณียังกรมาตา

ยักษิณีอุตตรมาตา ยักษิณีปุสสมิตตา ยักษิณีธัมมคุตตา เป็นอาทิ๓

ก็เป็น กมฺมวิปากชาอิทฺธิ แล

[๘ ปุญฺญวโตอิทฺธิ]

ส่วนฤทธิมีการไปทางอากาศได้เป็นต้น แห่งบุคคลผู้มีบุญทั้งหลาย

มีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นอาทิ ชื่อว่า ปุญฺญ วโตอิทฺธิ ดังพระบาลีว่า

๑. ขุ. ป. ๓๑/๖๐๐.

๒. มหาฎีกาว่า ฌานนี้หมายเอาฌานที่ถึงอภิญญา วิปัสสนา ก็หมายเอาวิปัสสนาแก่กล้า

เกิดอุพเพงคาปีติ ทำให้ร่างกายโลดลอยไปในอากาศได้.

๓. ยักษิณีเหล่านี้ ไม่พบเรื่องเล่าไว้ จึงแปลชื่อทับศัพท์ไว้ ควรสังเกตว่า วินิปาติกะ

หมายถึงยักษ์ด้วย สัตว์จำพวกนี้แม้เกิดด้วยกุศลกรรม (จึงมีฤทธิ์) แต่ก็ตกต่ำ คือไม่

อาจเพิ่มพูนความสุขเยี่ยงผู้เกิดด้วยกุศลกรรมจำพวกอื่น ทั้งนี้ก็เพราะอำนาจวิบากของ

อกุศลอย่างหนึ่งที่ทำไว้ จึงเรียกว่า วินิปาติกะ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 111

"ถามว่า ปุญฺญวโตอิทฺธิ เป็นไฉน พระเจ้าจักรพรรดิย่อมไปในอากาศ

ได้ ๑ พร้อมทั้งจตุรงคินีเสนา โดยที่สุดจนชั้นพวกคนเลี้ยงม้าคนเลี้ยง

โค (ฤทธิของพระเจ้าจักรพรรดินี้เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ) ฤทธิของ

โขติกคฤหบดีก็เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ ฤทธิของชฎิลคฤหบดีก็เป็น

ปุญฺญวโตอิทฺธิ ฤทธิของโฆสกคฤหบดีก็เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ ฤทธิของ

เมณฑกคฤหบดีก็เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ ฤทธิของผู้มีบุญทั้งห้า ก็เป็น

ปุญฺญวโตอิทฺธิ"๒ ดังนี้ ว่าโดยสังเขป คุณวิเศษที่สัมฤทธิ์ขึ้นในเมื่อ

บุญสมภารถึงความสุกงอมแล้ว ชื่อว่า ปุญฺญวโตอิทฺธิ

ก็แล บรรดาท่านผู้มีบุญเหล่านั้น สำหรับโชติกคฤหบดี มี

ปราสาทแก้ว (หลังหนึ่ง) และกัลปพฤกษ์ ๖๔ ต้น ทำลายแผ่นดินขึ้น

มาตั้งอยู่ นี้แล ปุญฺญวโตอิทฺธิ ของโชติกคฤหบดีนั้น สำหรับชฎิล-

คฤหบดี มีภูเขาทอง (สูงใหญ่) ประมาณ ๘๐ ศอกเกิดขึ้น (นี่ ปุญฺญ-

วโตอิทฺธิ ของชฎิลคฤหบดีนั้น) ความที่แม้เมื่อเขาทำความพยายาม

จะฆ่าถึง ๗ แห่ง (๗ ครั้ง) แต่ก็ไม่เจ็บอะไรเลย เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ

ของโฆสกคฤหบดี ความที่แกะอันล้วนแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ๓

เกิดปรากฏขึ้นในที่ (นา) ที่เพียงแต่ไถได้รอยเดียว เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ

ของเมณฑกคฤหบดี

บุคคลคือ เมณฑกเศรษฐี ภริยาของเขาชื่อจันทปทุมสิริ บุตร

๑. เวหาสํ มหาฎีกาว่า ในที่นี้เป็นทุตินาวิภัติ ในอรรถแห่งสัตตมี หรือในอัจจันตสังโยค

(คือแปลว่า "สิ้น หรือ ตลอด" ก็ได้).

๒. ขุ. ป. ๓๑/๖๐๐.

๓. ไม่ใช่แก้ว ๗ ประการ อย่าของพระเจ้าจักรพรรดิ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 112

ชื่อธนัญชันเศรษฐี สะใภ้ชื่อสุมนเทวี ทาสชื่อปุณณะ ชื่อว่าผู้มีบุญ

ทั้งห้า ในบุคคลทั้งห้านั้น ในกาลที่ท่านเศรษฐีผู้ดำหัวแล้วแหงนดู

อากาส ฉางข้าว ๑๒๕๐ ฉางก็เต็มด้วยข้าวสาลีแดงจากอากาศ เมื่อ

ภริยา (ของท่าน) ถือเอาข้าวสุกเพียงทะนานเดียว เลี้ยงชาวชมพูทวีป

ทั้งสิ้น ข้าวก็ไม่ (รู้จัก) สิ้น เมื่อบุตร (ของท่าน) ถือเอาถุงบรรจุเงิน

๑,๐๐๐ กหาปณะให้ (ทาน) แก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นไป กหาปณะก็ไม่

(รู้จัก) เปลือง เมื่อสะใภ้ (ของท่าน) ถือเอาข้าวเปลือกตุมพะเดียวแจก

ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นไป ข้าวเปลือกก็ไม่ (รู้จัก) หมด เมื่อทาส (ของ

ท่าน) ไถนาด้วยไถ (ผาล) เดียว (รอบเดียว) ก็เกิดเป็น ๑๔ รอย คือ

ด้านละ ๗ รอย๑ นี้เป็น ปุญฺญวโตอิทฺธิ ของบุคคลทั้งห้านั้น

[๙ วิชฺชามยาอิทธิ]

ส่วนฤทธิมีาการไปอากาศได้เป็นต้น แห่งเทพชั้นต่ำมีวิทยาธร

เป็นอาทิ ชื่อว่า วิชฺชามยาอิทฺธิ ดังพระบาลีว่า "ถามว่า วิชฺชามยา

อิทฺธิ เป็นไฉน ? แก้ว่า พวกวิทยาธรวิทยาแล้วไปทางอากาสได้

แสดงช้างในอากาศกลางหาวก็ได้ ฯลฯ แสดงขบวนเสนาต่าง ๆใน

อากาศกลางหาวก็ได้"๒

๑. สมัยนี้ทำไมไม่มีคนมีบุญอย่างนี้หนอ ชมพูทวีปของท่านคงไม่กว้างใหญ่ และ

ชาวชมพูทวีปก็คงมีจำนวนไม่มากเท่าปัจจุบันนี้กระมัง.

๒. ขุ. ป. ๓๑/๖๐๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 113

[๑๐ ตตฺถ ตตฺถ...อิชฺฌนฏเฐน อิทฺธิ]

ส่วนว่าความสำเร็จแห่งกรรมนั้น ๆ เพราะความประกอบชอบ

นั้น ๆ ชื่อว่า ตตฺถ ตตฺถ สมฺมาปโยคปจฺจยา อิชฺฌนฏฺเฐน อิทฺธิ

- ฤทธิโดยความหมายว่าสำเร็จ เพราะประกอบชอบในกิจนั้น ๆ เป็น

ปัจจัย ดังพระบาลีว่า "ผลคือการละกามฉันท์ ย่อมสำเร็จด้วยเนกขัมมะ

เพราะเหตุนั้น ผลนั้นจึงชื่อว่าฤทธิ โดยความหมายว่าสำเร็จ เพราะ

ประกอบชอบในกิจนั้น ๆ เป็นปัจจัย ฯลฯ ผลคือการละกิเลสทั้งปวง

ย่อมสำเร็จด้วยอรหัตมรรค เพราะเหตุนั้น ผลนั้นจึงชื่อว่าฤทธิ โดย

ความหมายว่าสำเร็จ เพราะประกอบชอบในกิจนั้น ๆ เป็นปัจจัย"๑

ก็บาลีมาในนิเทศแห่งฤทธิข้อที่ ๑๐ นี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับบาลีใน

นิเทศแห่งฤทธิข้อก่อน ๆ (มีสมาธิวิปฺผาราอิทฺธิเป็นต้น) โดยแสดง

สัมมาปโยค ที่ได้แก่การปฏิบัติเหมือนกัน แต่มาในอรรถกถาว่า "ความ

วิเศษที่เกิดขึ้นเพราะทำการนั้น ๆ คือศิลปกรรม (แสดงฝีมือ) อย่างใด

อย่างหนึ่ง โดยสามารถทำพยูหะ (ค่ายกล ?) มีสกฏพยูหะ (กลกอง

เกวียน ?) เป็นต้น๒ เวชกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง การเรียนไตรเพท

๑. ขุ. ป. ๓๑/๖๐๑.

๒. ตรงนี้มหาฎีกาแก้ สกฏพฺยูหาทิกรณ เป็นการจัดพยูหะต่าง ๆ มี สกฏพยูหะ จักร-

พยูหะ และปทุมพยูหะเป็นต้น พยูหะต่าง ๆ นี้ น่าจะมีพรรณนาไว้ในตำราพิชัยสงคราม

หรือตำราตั้งค่ายกล ซึ่งจะต้องใช้เวลาไปค้น เวลานี้ได้พบแต่คำอธิบายปทุมพยูหะ ว่า

ไว้ย่อ ๆว่า ยุทธวิธีแบบหนึ่ง จัดพลรบเป็นแนวรูปวงกลมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างกลีบ

ปทุม.

และมหาฎีกาบอกสัมพันธ์ไว้ว่า บทสกฏ...วเสน นี้ เข้ากับบท นิพฺพตฺตวิเสโส

เห็นว่าไกลไป ที่จริงเป็นตติยาวิเสสนะในบท สิปฺปกมฺมํ ใกล้ ๆ นั่นเอง เพราะท่าน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 114

การเรียนพระไตรปิฎก โดยที่สุดจนชั้นการกสิกรรมมีการไถหว่านเป็น

อาทิ ชื่อว่า ตตฺถ ตตฺถ สมฺมาปโยคปจฺจนา อิชฺฌนฏฺเฐน อิทฺธิ -

ฤทธิโดยความหมายว่าสำเร็จ เพราะประกอบชอบในกิจนั้น ๆ เป็น

ปัจจัย"

[ฤทธิที่ท่านประสงค์เอาในบาลี]

ในอิทธิ ๑๐ ดังว่ามานี้ อธิฏฺฐานาอิทฺธิ เท่านั้นมาใน (บาลี) บท

ว่า อิทฺธิวิธาย นี้ แต่ว่าในอรรถนี้จำต้องปรารถนา วิกุพฺพนาอิทฺธิ และ

มโนมยาอิทฺธิ (ประกอบ) ด้วยแท้

[แก้อรรถบทบาลี]

บทว่า "อิทฺธวิธาย - เพื่อฤทธิชนิดหนึ่ง " นั้นคือ เพื่อส่วนหนึ่ง

แห่งฤทธิ หรือเพื่อวิกัป (อย่าง) หนึ่งแห่งฤทธิ คำว่า "นำจิตมุ่งไป"๑

ความว่า ภิกษุนั้น เมื่อจิตนั้นคือฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญาเกิดแล้ว

ด้วยอำนาจแห่งการฝึกจิตมีประการดังกล่าวแล้ว นำบริกรรมจิตมุ่งไป

เพื่อประโยชน์แก่การได้ฤทธิชนิดหนึ่ง คือพราก (จิต) จากอารมณ์กสิณ

เสียแล้วส่ง (จิตนั้น) ให้มุ่งหน้าต่อชนิดแห่งฤทธิ บทว่า "น้อม (จิต

มุ่งไป" คือทำ (จิต) ให้โน้มไปสู่ฤทธิที่จะพึงบรรลุ๒ ให้เอียงไปหาฤทธิ

สัมพันธ์ห่างไปนั่นเอง ท่านเลยแก้ สิปฺปกมฺมํ เป็นการคำนวณ และการดนตรีเป็นต้นไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น การสามารถจัดพยูหะ ก็เก้อ.

๑. ตรงนี้ ปาฐะในฉบับวิสุทธิมมรรค ลิขิตไว้ทั้ง อภิหีหรติ ทั้ง อภินินฺนาเมติ เข้าใจว่า

บทหลังนี้เกิน เพราะมีแยกแก้เป็นบทหนึ่งต่างหาก ในที่นี้ได้แปลตามที่เข้าใจนี้.

๒. ปาฐะลิขิตไว้เป็น อธิคนฺตพฺพํ อิทฺธิโปณํ... แปลยาก เข้าใจว่าจะเป็น อธิคนฺตพฺพ-

อิทฺธิ... ดังแปลไว้นั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 115

ที่จะพึงบรรลุ ปาฐะว่า "โส" นั้น ได้แก่ภิกษุผู้มีการนำจิตมุ่งไป ได้

กระทำแล้วอย่างนั้น บทว่า อเนกวิหิตํ แปลว่าหลายอย่างต่างประการ

บทว่า อิทฺธิวิธํ แปลว่า ส่วน (หนึ่ง) แห่งฤทธิ บทว่า ปจฺจนุโภติ

ความว่าได้เสวย คือได้ถูกต้อง ได้ทำให้แจ้ง ได้บรรลุ

[พหุภาวปาฏิหาริย์ - ทำคนเดียวให้เป็นคนมาก]

ต่อนี้ เมื่อจะทรงแสดงความที่อิทธิวิธะนั้นมีหลายอย่าง ตึงตรัส

คำว่า เอโกปิ หุตฺวา เป็นอาทิ ในคำเหล่านั้น คำว่า เอโกปิ หุตฺวา

คือโดยปกติก่อนแต่ทำฤทธิ (เธอ) ก็เป็นคนเดียวนั่นแหละ คำว่า พหุธา

โหติ หมายความว่า (เธอ) เป็นผู้ใคร่จะจงกรม หรือใคร่จะทำการ

สาธยาย หรือใคร่จะถามปัญหาก็ดี ในที่ใกล้ภิกษุมากรูป* ก็ (นิรมิต

กายตนขึ้น) เป็น ๑๐๐ รูปก็ได้ เป็น ๑,๐๐๐ รูปก็ได้

[อิทธิวิธี]

ถามว่า ก็ภิกษุนี้จะเป็นอย่างนั้นได้ด้วยวิธีอย่างไร ? ตอบว่า

เธอยังภูมิ ๔ แห่งฤทธิ และบาท ๔ บท ๘ มูล ๑๖ แห่งฤทธิให้ถึง

พร้อมแล้ว อธิษฐานด้วยญาณไป ย่อมเป็นอย่างนั้นได้

[ภูมิ ๔ แห่งฤทธิ]

ในวิธีเหล่านั้น ฌาน ๔ พึงทราบว่า (เรียกว่า) ภูมิ ๔ จริงอยู่

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า ภิกษุมากรูปที่ว่านี้ก็คือ ภิกษุที่ตนนิรมิตขึ้นนั่นเอง คือ

นิรมิตภิกษุขึ้นมาก ๆ แล้วตัวเองก็เดินจงกรม..อยู่ในหมู่ภิกษุนิรมิตนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 116

พระธรรมเสนาบดีได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า "ถามว่า ภูมิ ๔ แห่งฤทธิเป็น

ไฉน๑ ? แก้ว่า ปฐมฌาน เป็นวิเวกชภูมิ (ภูมิเกิดแต่วิเวก) ทุติยฌาน

เป็นปีติสุขภูมิ (ภูมิปีติและสุข) ตติยฌาน เป็นอุเบกขาสุขภูมิ (ภูมิ

อุเบกขาและสุข) จตุตถฌาน เป็นอทุกขมสุขภูมิ (ภูมิอทุกขมสุข) นี้

ภูมิ ๔ แห่งฤทธิ เป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ เพื่อความบรรลุฤทธิ เพื่อ

ความทำฤทธิได้ต่าง ๆ เพื่อความได้รับอานิสงส์ต่าง ๆ แห่งฤทธิ เพื่อ

ความเชี่ยวแห่งฤทธิ เพื่อความกล้าแห่งฤทธิ"๒ ดังนี้

ก็เพราะเหตุที่พระโยคีเข้าสู่สุขสัญญา (ความกำหนดหมายอันไป

ด้วยกันกับความสุขในฌาน) และลหุสัญญา (ความกำหนดหมายอันไป

ด้วยกันกับความเบาที่ประกอบด้วยความสุขนั้น) แล้วเป็นผู้มี (นาม)

กาย เบา อ่อน ควรแก่การได้ฤทธิ เพราะความซาบซ่านแห่งปีติ (ใน

ปฐมฌานและทุติยฌาน) และเพราะความซาบซ่านแห่งสุข (ในตติย-

ฌาน) เพราะเหตุนนั้น ในฌาน ๔ นั่น ฌาน ๓ ข้างต้น พึงทราบว่า

เป็นสัมภารภูมิ (ภูมิประกอบ ?) เพราะเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิโดย

ปริยายนี้ ส่วนจตุตฌาน เป็นปกติภูมิ (ภูมิตามปกติ) เพื่อความได้

ฤทธิแท้

[บาทแห่งฤทธิ์ ๔]

อิทธิบาท ๔ พึงทราบว่า (เรียกว่า) บาท ๔ สมพระบาลีว่า

๑. ภูมิ ในที่นี้มหาฎีกาให้แปลว่า ที่เป็นที่มีขึ้นแห่งฤทธิ์ หรือที่เป็นเหตุมีขึ้นแห่งฤทธิ์

ซึ่งหมายถึงฌาน.

๒. ข. ป. ๓๑/๕๘๙.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 117

"ถามว่า บาท ๔ แห่งฤทธิเป็นไฉน ? แก้ว่า ภิกษุในพระธรรมวินัย

นี้เจริญอิทธิบาท อันมาพร้อมด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร เจริญ

อิทธิบาทอันมาพร้อมด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร เจริญอิทธิบาท

อันมาพร้อมด้วยจิตตสมาธิและปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทอันมาพร้อม

ด้วยวีมังสาสมาธิและปธานสังขาร นี้บาท ๔ แห่งฤทธิ ย่อมเป็นไป

เพื่อความได้ฤทธิ ฯลฯ เพื่อความกล้าแห่งฤทธิ"๑ ดังนี้

ก็แลในนิเทศแห่งอิทธิบาทนี้ สมาธิที่มีฉันทะเป็นต้นเหตุ หรือยิ่ง

้ด้วยฉันทะ ชื่อว่าฉันทสมาธิ คำนี้เป็นคำเรียกสมาธิที่พระโยคีทำฉันทะ

คือความใคร่จะทำให้เป็นใหญ่ จึงได้บรรลุ

สังขารอันเป็นตัวความเพียร ชื่อว่าปธานสังขาร คำนี้เป็นชื่อ

แห่งความเพียร กล่าวคือสัมมัปปธาน อันยังกิจ ๔ ให้สำเร็จ๒

คำว่า มาพร้อม... คือประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร

ทั้งหลายด้วย

คำว่า อิทธิบาท ได้แก่กองจิตและเจตสิกที่เหลือ อันชื่อว่าเป็น

บาท เพราะความหมายว่าเป็นที่ตั้งแห่งฉันทสมาธิ และปธานสังขาร

ทั้งหลาย ที่สัมปยุตด้วยอภิญญาจิต อันถึงซึ่งความนับว่าอิทธิ เพราะ

อรรถว่าสำเร็จ โดยปริยายว่าเกิดผล หรือนัยหนึ่ง ถึงซึ่งความนับวา

อิทธิ เพราะเป็นเครื่องสำเร็จแห่งสัตว์ทั้งหลาย โดยปริยายนี้ว่า เป็น

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๘๘.

๒. กิจทั้ง ๔ คือ สํวรกิจ ระวังมิให้อกุศลเกิดขึ้น ปหานกิจ ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนากิจ ทำกุศลให้เกิด อนุรกฺขนากิจ รักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อมไปเสีย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 118

เครื่องรุ่งเรือน เจริญ สูงขึ้นไปแห่งสัตว์ทั้งหลาย สมพระบาลีว่า "คำ

ว่า อิทธิบาท ได้แก่กอง กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ

แห่งภิกษุผู้เป็นอย่างนั้น"*

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าบาท เพราะเป็นเครื่องอันบุคคลถึง หมาย

ความว่า เป็นเครื่องให้บรรลุ บาทแห่งฤทธิ ชื่อว่าอิทธิบาท คำนี้

เป็นชื่อแห่งธรรมมีฉันทะเป็นต้น ดังพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

หากภิกษุอาศัยฉันทะ ได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไซร้

นี้เรียกว่าฉันทสมาธิ ภิกษุนั้นยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร

ประคองจิตตั้งใจ เพื่อยังอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ฯลฯ

อาการเหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร ด้วยประการดังนี้ ฉันทะนี้ด้วย

ฉันทสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารทั้งหลายนี้ด้วย นี้เรียกว่า อิทธิบาท

ประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร" ดังนี้ แม้ในอิทธิบาทที่เหลือ

ก็พึงทราบความตามนัยที่กล่าวมานี้เทอญ

[บท ๘ แห่งฤทธิ]

บท ๘ มีฉันทะเป็นอาทิ พึงทราบว่า (เรียกว่า) บท ๘ สมพระ

บาลี (ในปฏิสัมภิทา) ว่า "บท ๘ แห่งฤทธิเป็นไฉน ? (บท ๘ แห่ง

ฤทธิคือ) หากภิกษุอาศัยฉันทะได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็น

หนึ่งไซร้ ฉันทะมิใช่สมาธิ สมาธิก็มิใช่ฉันทะ ฉันทะเป็นอย่างหนึ่ง

สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง หากภิกษุอาศัยวิริยะ ได้สมาธิ ได้ความที่จิตมี

* อภิ. วิ. ๓๕/๒๙๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 119

อารมณ์เป็นหนึ่งไซร้ วิริยะมิใช่สมาธิ สมาธิก็มิใช้วิริยะ วิริยะเป็น

อย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง หากภิกษุอาศัยจิตตะ ได้สมาธิ ได้

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไซร้ จิตตะมิใช่สมาธิ สมาธิก็มิใช่จิตตะ

จิตตะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง หากภิกษุอาศัยวีมังสาได้

สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไซร้ วีมังสามิใช่สมาธิ สมาธิก็

มิใช่วีมังสา วีมังสาเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง เหล่านี้บท ๘

แห่งฤทธิ เป็นไปเพื่อได้ฤทธิ ฯลฯ เพื่อความกล้าแห่งฤทธิ์ "๑ ดังนี้

เพราะเหตุที่ฉันทะ คือความเป็นผู้ใคร่จะยังฤทธิให้เกิดขึ้น ที่

ประกอบเข้าด้วยกันกับสมาธิแล้วเท่านั้น จึงเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ อิทธิ-

บาทที่เหลือมีวิริยะเป็นต้นก็อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น บท ๘ มีฉันทะ

เป็นต้นนี้ พึงทราบว่าท่านเรียกว่า บท ๘ ในพระบาลีนั้น ๒

[มูล ๑๖ แห่งฤทธิ]

ความที่จิตไม่หวั่นไหวโดยอาการ ๑๖ พึงทราบว่า (เรียกว่า)

มูล ๑๖ สมบาลี (ในปฏิสัมภิทา) ว่า "ถามว่า มูลแห่งฤทธิมีเท่าไร

ตอบว่า มูลมี ๑๖ คือ

(๑) จิตที่ไม่ฟุบลง ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

โกสัชชะ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๐

๒. บท ๘ นี้ ก็คือสมาธิที่ประกอบด้วยอิทธิบาท ๔ มีฉัทธสมาธิเป็นต้น กับตัวอิทธิบาท ๔

มีฉันทธเป็นต้น ลำพังอิทธิบาทจะทำให้เกิดฤทธิ์หาได้ไม่ ต่อประกอบเข้าด้วยกันกับ

สมาธิ จึงจะสามารถทำให้เกิดฤทธิ์ได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 120

(๒) จิตที่ไม่ฟูขึ้น ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

อุทธัจจะ

(๓) จิตที่ไม่โอบไว้ ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

ราคะ

(๔) จิตที่ไม่ผลักออก ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

พยาบาท

(๕) จิตที่ไม่เกาะเกี่ยว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

ทิฏฐิ

(๖) จิตที่ไม่ผูกพัน ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

ฉันทะราคะ

(๗) จิตที่หลุดพ้น ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

กามราคะ

(๘) จิตที่ไม่พัวพัน ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

กิเลส

(๙) จิตที่ทำมิให้มีเขตแดน ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวด้วย

ด้วยเขตแดนคือกิเลส

(๑๐) จิตที่ถึงความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะ

ไม่หวั่นไหวด้วยกิเลสต่าง ๆ

(๑๑) จิตที่ศรัทธากำกับแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่น

ไหวด้วยอสัทธิยะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 121

(๑๒) จิตที่วิริยะกำกับแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหว

ด้วยโกสัชชะ

(๑๓) จิตที่สติกำกับแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหว

ด้วยปมาทะ

(๑๔) จิตที่สมาธิกำกับแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหว

ด้วยอุทธัจจะ

(๑๕) จิตที่ปัญญากำกับแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่น

ไหวด้วยอวิชชา

(๑๖) จิตที่ถึงความสว่างแล้ว ชื่อว่า อาเนญชะ เพราะไม่หวั่น

ไหวด้วยความมืดคืออวิชชา

นี่มูล ๑๖ แห่งฤทธิ เป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ ฯลฯ เพื่อความ

กล้าแห่งฤทธิ"๑ ดังนี้

ความข้อ (ที่ว่าไม่หวั่นไหวเพราะโกสัชชะเป็นต้น) นี้ เป็นอัน

เสร็จไปแล้ว แม้ด้วยปาฐะ (พระบาลี) ว่า เอวํ สมาหิเต จิตฺเต-

ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น ... อย่างนี้แล้ว " ดังนี้เป็นต้น ๒ โดยแท้ แต่ว่าท่าน

กล่าวไว้อีก ก็เพื่อแสดงความที่ฌานมีปฐมฌานเป็นอาทิ เป็นภูมิ เป็น

บาท เป็นบท และเป็นมูลแห่งฤทธิ อนึ่ง นับก่อนเป็นนัยมาในพระสูตร

ทั้งหลาย นัยนี้มาในปฏิสัมภิทา ท่านกล่าวไว้อีกเพื่อไม่หลงในนัยทั้ง

สอง ดังนี้ก็ได้

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๐ (อาเนญชะ ที่กล่าวทั้งปวงนี้ หมายถึงฌานเท่านั้น).

๒. เพราะในบาลีนี้มีบท "อาเนญฺชปฺปตฺเต - ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว" อยู่ด้วยแล้ว.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 122

[อธิษฐานด้วยญาณ]

ส่วนคำว่า "อธิษฐานด้วยญาณ" มีอธิบายว่า ภิกษุนี้นั้น ครั้น

ยังธรรมอันเป็นภูมิ เป็นบท และเป็นมูล แห่งฤทธิเหล่านั้นให้ถึง

พร้อมแล้ว เข้าฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกแล้ว๑ ถ้าต้องการ

(ให้ต้นเป็น) ๑๐๐ คน ก็บริกรรมว่า "สตํ โหมิ สตํ โหมิ - เรา

จงเป็น ๑๐๐ คน เราจงเป็น ๑๐๐ คน" แล้วเข้าฌานอันเป็นบาท

แห่งอภิญญาอีก ออกแล้วจึงอธิษฐาน พร้อมกับจิตอธิษฐานนั่นเอง

เธอก็เป็น ๑๐๐ คนขึ้นได้ นัยแม้ใน (การอธิษฐานให้เป็น) ๑,๐๐๐ คน

เป็นต้น ก็ดุจนัยนี้ ถ้า (ทำ) อย่างนั้นยังไม่สำเร็จไซร้ พึงทำบริกรรม

แล้วเข้า (ฌาน) เป็นวาระที่ ๒ ออกแล้วจึงอธิษฐานอีกก็ได้ เพราะใน

อรรถกถาสังยุตนิกายกล่าวไว้ว่า "เข้าวาระหนึ่ง สองวาระก็ควร" ดัง

นี้ ๒ ในการอธิษฐานนั้น จิตในฌานอันเป็นบาท มี (ปฏิภาค) นิมิตเป็น

อารมณ์ จิตในบริกรรมมีคนจำนวนร้อยเป็นอารมณ์ หรือมีคนจำนวน

พันเป็นอารมณ์ (ตามที่ต้องการ) แต่ว่าอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นแต่พรรณ

๑. มหาฎีกาว่า "อาจารย์ลางพวกกล่าวว่า "เข้าฌาน ๔ โดยลำดับ แล้วไปออกจาก

จตุตถฌาน" คำของเกจิอาจารย์นี้ไม่ชอบ เพราะการฝึกจิต ประโยชน์อยู่ที่สามารถเข้า

ฌานได้ตามปรารถนา (คือเข้าฌานไหนก็ได้ ไม่จำต้องเข้าตามลำดับ) และฌานที่เป็น

บาทแห่งอภิญญาก็ได้แก่จตุตถฌานเท่านั้น ฌานนอกนี้หาเป็นบาทแห่งอภิญญาได้ไม่."

๒. มหาฎีกาว่า สามวาระหรือยิ่งไปกว่านั้นก็ได้ เพราะการเจริญอภิญญาก็เช่นเดียวกับ

การเจริญฌาน (กี่วาระก็ไม่เห็นจะเสียอะไร ?) คำอรรถกถาที่ว่า วาระหนึ่ง สองวาระ

ก็เป็นแต่นิทัสสนะ

อนึ่ง ตามที่กล่าวกันว่า "พระพุทธโฆสะ แต่งวิสุทธิมรรคก่อนแต่งอรรถกถา"

นั้น ถ้าคำนี้เป็นจริง ก็ไฉนจึงมีการอ้างถึงอรรถกถาเช่นนี้เล่า ?.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 123

(เพศที่นึกกำหนดขึ้น) หาเป็นบัญญัติ (ว่าสัตว์คนจริง ๆ) ไม่ แม้จิต

ในอธิษฐานก็อย่างนั้นเหมือนกัน คือมีคนจำนวนร้อยเป็นอารมณ์ หรือ

มีคนเป็นจำนวนพันเป็นอารมณ์ อธิษฐานจิตนั้น เป็นจิตสัมปยุตด้วย

รูปาวจรจตุตถฌาน เกิดขึ้นดวงเดียวเท่านั้นต่อกับโคตรภูจิต เช่นดัง

อัปปนาจิตที่กล่าวมาแต่ก่อน แม้ในคำที่กล่าวในปฏิสัมภิทาว่า "โดย

ปกติ (พระโยคี) เป็นคนผู้เดียว (แต่) นึกให้เป็นคนมากจำนวน ๑๐๐

ก็ดี จำนวน ๑,๐๐๐ ก็ดี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ก็ดี ครั้นนึกแล้วก็อธิษฐาน

ด้วยญาณว่า "เราจงเป็นคนจำนวนมาก" เธอก็เป็นคนมากจำนวน ๑๐๐

ดังท่านจุลปันถกฉะนั้น " ดังนี้เล่า คำว่า "อาวชฺชติ - นึก" ท่านก็

กล่าวโดยเป็นบริกรรมนั่นเอง (ไม่ใช่อาวัชชนะ) คำว่า "ครั้นนึกแล้ว

ก็อธิษฐานด้วยญาณ" (นี่) ก็กล่าวโดยเล็งเอาญาณในอภิญญา (ไม่ใช่

ญาณที่สัมปยุตด้วยบริกรรมจิต หรือญาณที่เป็นกามาวจรอื่น ๆ) เพราะ

เหตุนั้น บัณฑิตพึงเห็นความในคำว่า "อธิษฐานด้วยญาณ" นั้น ดังนี้

ว่า (พระโยคี) นึกให้เป็นคนมาก ครั้นแล้วในที่สุดแห่งบริกรรมจิต

เหล่านั้นก็เข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัติแล้วนึกอีกว่า "เราจงเป็นคนมาก"

แล้วจึงอธิษฐานด้วยญาณในอภิญญา อันเป็นญาณดวงเดียวเกิดขึ้นใน

ลำดับแห่งจิตที่เป็นบุพภาคสามหรือสี่ดวงที่เป็นไปต่อแต่นั้น ซึ่งได้ชื่อ

ว่า อธิษฐาน (ญาณ) ด้วยอำนาจที่เป็นเหตุให้สำเร็จลง" ดังนี้เทอญ

ส่วนคำที่ว่า "ดังท่านจุลปันถก" นั้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงกาย

สักขี (ประจักษ์พยาน) แห่งพหุธาภาพ (ความอธิษฐานให้เป็นคนมาก)

ก็คำนั้นควรแสดงด้วยเรื่อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 124

[เรื่องพระจุลปันถก]

ได้ยินมาว่า ท่านสองพี่น้องนั้นได้นามว่าปันถก เพราะท่านเกิด

ใน (กลาง) ทาง ท่านทั้งสองนั้น ผู้พี่ชื่อว่ามหาปันถก ท่านบวชแล้ว

ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ครั้นเป็นพระอรหันต์แล้วจึงให้

(น้องชายชื่อ) จุลปันถกบวช แล้วได้ให้ (ท่อง) คาถานี้ว่า

ปทฺมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ

ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ

องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ

ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข

ขอเชิญชมพระอังคีรสเจ้าผู้เบิกบาน หอมดังดอก

ปทุมพรรณโกกนุทอันบานเมื่อยามเช้า ยังไม่วายกลิ่น

หอมกรุ่นอยู่ฉะนั้น

ขอเชิญชมพระอังคีรสเจ้าผู้แจ่มใส ดังพระอาทิตย์

ส่องแสงอยู่ในกลางหาวฉะนั้น

พระจุลปันถก (เป็นคนทึบในทางท่องจำ) ไม่อาจทำ (ท่อง) คาถานั้น

ให้คล่องได้โดย (เวลาถึง) ๔ เดือน ดังนั้นพระเถระจึงบอกเธอว่า

"เจ้าเป็นคนอภัพในพระศาสนา " แล้วขับออกจากวิหารไป ก็แลใน

คราวนั้น พระเถระเป็นพระภัตตุเทสก์ หมอชีวกไปหาเถระ กล่าว

(นิมนต์) ว่า "ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ ขอท่านจงพาภิกษุ ๕๐๐ รูปพร้อม

ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปรับภิกษาในเรือนของข้าพเจ้า" ข้างฝ่าย

พระเถระรับนิมนต์โดยกล่าวว่า "อาตมารับนิมนต์สำหรับภิกษุที่เหลือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 125

เว้นพระจุลปันถก" พระจุลปันถก (เสียใจไป) ยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ่มประตู

(วัด) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นด้วยทิพจักษุ ก็เสด็จไปหาเธอ รับสั่ง

(ถาม) ว่าร้องไห้ทำไม เธอกราบทูลเล่าความเป็นมานั้น (ให้ทรงทราบ)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ปลอบ) ว่า "ผู้ไม่อาจทำการท่อง (คาถา) ได้

จะนับเอาเป็นอภัพในศาสนาของเราหามิได้ อย่างโศกเศร้าไปเลย

ภิกษุ" แล้วทรงจับเธอที่แขน (จูง) เสด็จเข้าสู่วิหาร ทรงเนรมิตผ้า

(ขาว) ขึ้นท่อนหนึ่งด้วยพระฤทธิ์ประทานให้ ทรงแนะว่า "เอาเถิด

ภิกษุ เธอจงลูบผ้านี้ไปมาพลางท่อง (คำ) ว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ

- ปัดธุลี ปัดธุลี" ไว้ร่ำไปเถิด" เมื่อเธอทำอย่างนั้นไป ผ้านั้นก็เกิด

มีสีดำขึ้น เธอก็ได้ (ปฏิกูลและอนิจจ) สัญญาขึ้นว่า "ผ้า (นี้) สะอาด

โทษในผ้านี้หามีไม่ แต่โทษ (คือความมีสีดำขึ้น) นี้ เป็นโทษของ

ร่างกาย" แล้วหยั่งญาณลงในปัญจขันธ์ เจริญวิปัสสนาไปจนถึง (ขณะ)

แต่อนุโลมญาณไปใกล้โคตรภูญาณ ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส

โอภาสคาถาแก่เธอว่า

"ราคะ เรียกว่า ธุลี แต่ละออง (ภายนอก) ไม่

เรียกว่าธุลี (ในอริยวินัย) คำว่าธุลีนั่นเป็นคำเรียก

ราคะ บุคคลทั้งหลายผู้ที่ละธุลี (คือราคะ) นั้นได้

แล้ว ก็เป็นบัณฑิตอยู่ในศาสนาของพระองค์ผู้

ปราศจากธุลีได้

* มหาฎีกาว่า คาถาที่พระผู้มีพระภารเจ้าทรงเปล่งแสงสว่างไปปรากฏแก่ผู้ฟังก่อนแล้ว

จึงตรัส เรียกว่า โอภาสคาถา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 126

โทสะ เรียกว่า ธุลี แต่ละอองไม่เรียกว่าธุลี คำ

ว่าธุลีนั่นเป็นเรียกโทสะ บุคคลทั้งหลายผู้ที่ละธุลี

(คือโทสะ) นั้นได้แล้ว ก็เป็นบัณฑิตอยู่ในศาสนา

ของพระองค์ผู้ปราศจากธุลีได้

โมหะ เรียกว่า ธุลี แต่ละอองไม่เรียกว่าธุลี

คำว่าธุลีนั่นเป็นคำเรียกโมหะ บุคคลทั้งหลายผู้ที่

ละธุลี (คือโมหะ) นั้นได้แล้ว ก็เป็นบัณฑิตอยู่

ในศาสนาของพระองค์ผู้ปราศจากธุลีได้"

เมื่อจบพระคาถา นวโลกุตรธรรมอันมีจตุปฏิสัมภิทาและฉฬ-

ภิญญาเป็นบริวาร ก็ได้อยู่ในมือของพระจุลปันถกนั้นแล้ว

วันรุ่งขึ้น พระศาสดาได้เสด็จไปสู่เรือนของหมอชีวก พร้อม

ด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นสุด (การหลั่ง) ทักษิโณทก* จะถวายยาคู ก็ทรงปิด

บาตรไว้ด้วยพระหัตถ์ หมอชีวกทูลถามว่า "เหตุอะไร พระพุทธ-

เจ้าข้า " ตรัสบอกว่า "ในวิหารยังมีภิกษุ (เหลือ) อยู่รูปหนึ่ง " ท่าน

(หมอ) จึงส่งบุรุษ (ผู้หนึ่ง) ไป สั่งว่า "เจ้าจงไปรับพระคุณเจ้ามาเร็ว"

ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากวิหารไป (นั้น)

พระปันถกได้นิรมิตตนขึ้น ๑,๐๐๐ ส่วน นั่นอยู่ใน

สวนอัมพวันอันรื่นรมย์ จนถึงเวลา (ที่เขามา) บอก

(ภัต) กาลแล

* ทักษิโณทก ในที่นี้ได้แก่น้ำที่หลั่งในเวลาทำงาน (ลงในมือของผู้รับทาน) มิได้หมาย

ถึงน้ำกรวด.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 127

ครั้งนั้น บุรุษผู้นั้นไป (ถึง) เห็นสวน (มะม่วงของหมอชีวก)

รุ่งเรืองเป็นอันเดียวด้วยผ้ากาสาวะทั้งหลาย จึง(กลับ) มากราบทูลว่า

"สวนเต็มไปด้วยภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่

ทราบว่า พระคุณเจ้านั้นเป็นรูปไหน " ครั้งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า

ตรัสกะบุรุษผู้นั้นว่า "เจ้าจงไป (ใหม่) พบภิกษุรูปใดก่อน จงจับ

ภิกษุนั้นไว้ที่ชายจีวร พูดขึ้นว่า "พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน" แล้วนำ

มาเถิด" บุรุษนั้นจึง (กลับ) ไป จับที่ชายจีวรของพระเถระเข้า

ทันใดนั้น ภิกษุนิรมิตทั้งปวงก็อันตรธานไป พระเถระจึงบอกว่า "ท่าน

จงไป (ก่อน) เถิด" ส่งเขาไปแล้ว ทำสรีรกิจมีบ้วนปากเป็นต้นเสร็จ

แล้ว ไป (ด้วยฤทธิ์) ถึงก่อน (บุรุษนั้น) นั่ง ณ อาศนะที่เขาจัด

(เตรียม) ไว้แล้ว

คำว่า "ดังท่านจุลปันถก" (นั้น) ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาเรื่อง

(ที่เล่ามา) นี้

ภิกษุจำนวนมากที่ท่านผู้มีฤทธิ์นิรมิตขึ้น ในเรื่องที่เล่ามานั้น

ก็ (มีอาการ) เป็นเช่นกันท่านผู้มีฤทธิ์นั้นเอง เพราะท่านนิรมิตขึ้น

(โดย) ไม่กำหนด (ให้มีอาการต่างกัน) (คือ) ท่านผู้มีฤทธิ์ทำกิริยาใน

อิริยาบถมียืนและนั่งเป็นต้นก็ดี ในอาการมีพูดและนิ่งเป็นต้นก็ดีใด ๆ

ภิกษุนิรมิตเหล่านั้น ก็ทำกิริยานั้น ๆ เหมือนกัน แต่ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์

เป็นผู้ใคร่จะทำภิกษุนิรมิตทั้งหลายให้มีเพศต่าง ๆ กัน คือลางพวก (มี

วัย) เป็นปฐมวัย ลางพวกมัชฌิมวัย ลางพวกปัจฉิมวัย โดยนัยนั้น

บ้างก็มีผมยาว (คือควรจะปลงแล้วแต่ยังไม่ได้ปลง ? ) บ้างก็ศีรษะโล้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 128

(คือปลงไปแล้ว) ครึ่งหนึ่ง (ยังไม่เสร็จ) บ้างก็มีผลแซม (คือหงอกประ

ปราย) บ้างก็มีจีวรสีแดงครึ่งหนึ่ง * บ้างมีจีวรสีเหลือง (ล้วน) บ้าง

กำลังทำกิจต่าง ๆ กันมีบทภาณ (สวดไปตามบทพระบาลี) ธรรมกถา

(กล่าวอธิบายธรรม) สรภัญญะ (สวดคาถาโดยใช้เสียงมีทำนอง) ถาม

ปัญหา ตอบปัญหา และระบบบาตร เย็บจีวร สุจีวรเป็นต้น หรือว่า

เป็นผู้ใคร่จะทำภิกษุนิรมิตให้มีหลายอย่างต่างประการอื่น ๆ อีก (เช่น

สูงเตี้ยอ้วนผอม) ก็ดี ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นออกจากฌานอันเป็นบาทแล้ว

พึงทำบริกรรมโดยนัยว่า "ภิกษุจำนวนเท่านั้นจง (มีวัย) เป็นปฐมวัย"

ดังนี้เป็นต้นแล้วเข้าฌานอีก ออกแล้วจึงอธิษฐาน ภิกษุนิรมิตเหล่านั้น

ก็จะเป็นอย่างที่ผู้มีฤทธิ์ปรารถนาทุกประการ พร้อมกับจิตอธิษฐานแล

ในข้อว่า "เป็นคนมากแล้ว (กลับ) เป็นคนเดียวก็ได้ " เป็นต้น

ก็นัยนี้ แต่นี่เป็นความแปลกกัน คือ

[เอกภาวปาฏิหาริย์ - ทำคนมากให้กลับเป็นคนเดียว]

อันภิกษุ (ผู้มีฤทธิ์) นี้ ครั้นนิรมิต (ตน) ให้เป็นคนมากอย่างนั้น

แล้วคิดว่า "เราจัก (กลับ) เป็นคนเดียวอีก แล้วจงกรม ทำสาธยาย

ถามปัญหาเถิด" หรือคิดด้วยความมักน้อยว่า "วิหารนี้ (ตามปกติ)

มีภิกษุน้อย ถ้าใคร ๆ จักมา (เห็นภิกษุมาก) เข้า ก็จักนึกว่า "ภิกษุ

เหล่านี้มีจำนวน (มากถึง) เท่านี้ แต่ (มีรูป) เป็นเช่นเดียวกัน (หมด)

* เข้าใจว่า จะไม่ใช่การติดตลก น่าจะเป็นว่า ไปได้ผ้าบังสุกุลต่างสีมาเย็บต่อกันเข้า

เกิดเป็นจีวรหลายสี (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 129

จักมีได้แต่ไหน นั่นเป็นอานุภาพของพระเถระเป็นแน่" แล้วก็รู้จักเรา

(ว่าเป็นผู้มีฤทธิ์) " ดังนี้ก็ดี แล้วปรารถนาว่า "เราจะ (กลับ) เป็น

คนเดียวเสียในระหว่าง (แห่งกาลที่กำหนดไว้) เถิด" ก็พึงเข้าฌาน

อันเป็นบาท ออกแล้วทำบริกรรมไปว่า "เราจงเป็นคนเดียว" แล้ว

เข้าอีก ออกแล้วจึงอธิษฐานว่า "ขอเราเป็นคนเดียว" พร้อมกับจิต

อธิฐานนั่นเอง เธอก็จะ (กลับ) เป็นคนเดียว แต่ (แม้) เมื่อไม่ทำ

อย่างนั้น ก็คง (กลับ) เป็นคนเดียวได้เอง ด้วยอำนาจกาลที่กำหนดไว้

อย่างไร

[อาวิภาวปาฏิหาริย์ ติโรภาวปาฏิหาริย์]

ในข้อว่า อาวิภาวํ ติโรภาวํ นั้น พึงทราบความ (ดัง) นี้คือ

อาวิภาววํ กโรติ ติโรภาวํ กโรติ - ทำอาวิภาวะ ทำติโรภาวะ๑ จริง

อยู่ พระสารีบุตรก็หมายเอาการทำอาวิภาวะและติโรภาวะนี้แล กล่าวไว้

ในปฏิสัมภิทาว่า "บทว่า อาวิภาวํ ความว่า (ทำให้) เป็นสิ่งที่

อะไร ๆ มิได้กั้นไว้ เป็นสิ่งไม่กำบัง เป็นสิ่งเปิดเผยปรากฏ บทว่า

ติโรภาวํ ความว่า (ทำให้) เป็นสิ่งที่อะไร ๆ กั้นไว้ เป็นสิ่งกำบัง

เป็นสิ่งถูกปิดถูกครอบไว้"๒ ดังนี้

๑. หมายความว่า เมื่อแปลบาลี ๒ บทนี้ให้เติมกิริยา กโรติ.

๒. บุ. ป_______________. ๓๑/๕๙๒.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 130

[อาวิภาวปาฏิหาริย์ - ทำสิ่งกำบังให้เปิดเผย]

ในปาฏิหาริย์ ๒ อย่างนั้น ภิกษุผู้มีฤทธิ์นี้ใคร่จะทำอาวิภาว-

ปาฏิหาริย์ ย่อมทำที่มืดให้สว่างบ้าง ทำสิ่งกำบังให้เปิดเผยบ้าง ทำสิ่งที่

ไม่มีอยู่ในคลอง (จักษุ) ให้อยู่ในคลอง (จักษุ) บ้าง ทำอย่างไร ? ก็

ภิกษุนี้ใคร่จะทำตนหรือคนอื่นก็ตาม ให้เป็นอย่างที่แม้ถูกสิ่งอื่นปิดบังอยู่

หรือแม้อยู่ในที่ไกลก็มองเห็นได้ ออกจากฌานที่เป็นบาทแล้ว ก็นึก

หน่วงบริกรรมไปว่า "ที่มืดนี้จงกลายเป็นสว่าง" หรือว่า "ที่กำบังนี้จง

เป็นที่เปิด " หรือว่า "สิ่งที่ไม่อยู่ในคลอง (จักษุ) นี้ จงเป็นสิ่งที่อยู่ใน

คลอง (จักษุ)" แล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล พร้อมกับจิต

อธิษฐาน มันก็จะเป็นตามที่อธิษฐานทีเดียว คนอื่น ๆ แม้อยู่ไกลก็

(มองหา) เห็น (ตน) ผ่ายตนอยากจะเห็น (เขา) บ้าง ก็ (มองไป) เห็น

ถามว่า (อาวิภาว) ปาฏิหาริย์นี้ใครเคยทำ ? ตอบว่าพระผู้มีพระ

ภาคเจ้า จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า (ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี) นาง

จุลสุภิททา (อยู่เมืองสาเกต) กราบมูลนิมนต์ (พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐)

เมื่อเสด็จจากเมืองสาวัตถีสู่เมืองสาเกต อันมีระยะทาง ๗ โยชน์ (ทาง

อากาศ) ด้วยเรือนยอด ๕๐๐ หลังซึ่งพระวิสสุกรรมนิรมิตถวาย (ครั้ง

นั้น) ได้ทรงอธิษฐานอย่างที่ชาวเมืองสาเกตมองเห็นชาวเมืองสาวัตถีได้

และชาวเมืองสาวัตถีก็มองเห็นชาวเมืองสาเกตได้ เสด็จลง (จากอากาศ)

ที่ตรงกลางเมืองทีเดียว แล้วทรงแสดงแยกแผ่นดิน (ให้เห็นลงไป)

กระทั่งถึงอเวจี และทรงแหวกอากาศ (ให้เห็นขึ้นไป) จนถึงพรหมโลก

อนึ่ง ความข้อนี้ บัณฑิตควร (แสดง) ให้แจ่มแจ้งด้วยเรื่อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 131

เทโวโรหนะอีกก็ได้ ได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงทำยมก-

ปาฏิหาริย์ ปลดเปลื้องสัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ เสียจากเครื่องผูก (คือ

มิจฉาทิฏฐิ ?) แล้ว ทรงคำนึกว่า พระอดีตพุทธทั้งหลาย เมื่อสุดสิ้น

ยมกปาฏิหาริย์ เสด็จไปที่ไหน ก็ทรงเห็นว่า ท่านเสด็จไปภพน์ดาวดึงส์

กัน ดังนั้น จึงทรงเหยียบยันพื้นปฐพีด้วยพระบาทข้างหนึ่ง วาง

พระบาทข้างที่สองลงบนเขายุคันธร แล้วยกพระบาทแรกเหยียบยอดเขา

สิเนรุอีกที ทรงจำพรรษาที่พื้นพระแท่นสิลาบัณฑุกัมพล (ของพระ-

อินทร์) ณ ยอดเขาสิเนรุ (คือดาวดึงส์) นั้น ทรงเริ่ม (แสดง) อภิธรรม-

กถาตั้งแต่ต้น (พรรษา) ไป แก่เทวดาในแสนจักรวาฬที่มาประชุมกัน๑

ในเวลาภิกขาจาร ทรงแปลงพระนิรมิตพุทธขึ้น พระนิรมิตพุทธนั้น

แสดงธรรม (แทน) พระผู้มีพระภาค๒เจ้าทรงเคี้ยวไม้ชำระฟันนาคลดา

(เถาวัลย์งูหรือเถาพลู) แล้ว (เสด็จลงไป) ทรงชำระพระโอษฐ์ที่สระ

อโนดาต ทรงรับบิณฑบาตในหมู่ชนชาวอุตตรกุรุแล้ว (เสด็จกลับมา)

เสวยที่ริมสระอโนดาต พระสารีบุตรเถระ (ขึ้น) ไปถวายบังคมพระผู้มี

๑. ท่านเล่าเรื่องที่ซึมทราบกันดีมาโดยลำดับ ครั้นถึงตอนสำคัญ คือตอนทรงแสดง

อภิธรรม แทนที่จะว่าตามที่ซึมทราบกันว่า ทรงแสดงอภิธรรมแก่พระพุทธมารดา หรือ

ว่า แก่เทวดาทั้งหลายมีพระพุทธมารดาเป็นประมุข ท่านกลับทำเป็นไม่ทราบข้อสำคัญ

กล่าวแต่ว่าทรงแสดงแก่เทวดาเฉย ๆ จะลงเอาว่า เป็นเพราะท่านไม่ปลงใจเชื่อเรื่องทรง

แสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ไม่ถนัดนัก เพราะข้ออื่น ๆ ที่ไม่สู่สำคัญ แม้แต่

ดาวดึงส์ตั้งอยู่บนเขาพระสุเมรุ ท่านก็ยังเชื่อ เพราะฉะนั้น จึงน่านึกว่า ปาฐะแห่งนี้จะ

ตกข้อสำคัญนั้นไปละกระมัง ?

๒. ตรงนี้น่าจะใช่ สยํ ความจะได้กลมกลืนกับข้างต้น ว่า "... พระนิรมิตพุทธนั้น

แสดงธรรม (แทน) ส่วนพระองค์ทรงเคี้ยวไม้ชำระฟัน..."

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 132

พระภาคเจ้าที่นั่น (ทุกวัน ?) พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดประทานนยะแก่

พระเถระว่า "วันนี้เราแสดงธรรมเท่านี้๑" พระองค์ตรัสอภิธรรมกถา

ไม่หยุดเลยตลอด ๓ เดือนด้วยประการฉะนี้ เพราะได้ฟังอภิธรรมกถา

นั้น ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาถึง ๘๐ โกฏิ๒

ทั้งฝ่ายหมู่คนอันเต็มอยู่ในเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ ที่ประชุม

กันเมื่อวันทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คิดกันว่า "พวกเราได้เฝ้าองค์พระ

ผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่นแหละจึงจัก (กลับ)ไป" ดังนี้ จึงปลูกค่ายพัก

(รอ) อยู่ ท่านจุลอนาถบัณฑิกเศรษฐีผู้เดียวช่วยเหลือคนหมู่นั้น ด้วย

ปัจจัยทั้งปวง๓

คนทั้งหลายวอนพระอนุรุทธเถระ เพื่อ (ให้ทำอย่างไรให้) ทราบ

ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระเถระก็เจริญอาโลกกสิณ

ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าพรรษาอยู่ ณ ภพน์ดาวดึงส์นั้นด้วยทิพ

จักษุ ครั้นเห็นแล้วจึงบอก (คนทั้งหลายนั้นให้ทราบ) เขาทั้งหลาย

วอนพระมหาโมคคัลลานเถระ เพื่อ (ให้ทำอย่างไรให้พวกเราได้)

๑. การจะแสดงฤทธิ์ขึ้นไปเฝ้าถึงดาวดึงส์ ก็ชอบที่จะเป็นพระมหาโมคคัลลานะ แต่

ท่านแต่งให้พระสารีบุตรขึ้นไปรับนัยะพระอภิธรรมทุกวัน เพื่อให้เข้าตำนานที่ว่า พระ

อภิธรรมนั้นมาทางสายพระสารีบุตร (?)

๒. ที่ท่านเกณฑ์ให้ทรงแสดงอภิธรรมไม่หยุดเลยตลอด ๓ เดือน ก็เพื่อให้สมกับความ

ยาวของพระอภิธรรมปิฎก (๑๒ เล่มใหญ่) ซึ่งคำนวณดูแล้วว่า ถ้าให้แสดงตามปกติ

วันละครั้ง สามเดือนเป็นไม่จบแน่ แต่ท่านไม่เล่าความเป็นไปทางฝ่ายผู้ฟังบ้างว่า ฟังกัน

อย่างไร นั่งฟังกันแน่วจนตลอดสามเดือนหมดทั้งแสนจักรวาฬ หรือผลัดเปลี่ยนหมุน

เวียนกันฟังอย่างไร หรือฟังไป ๆ ผู้ฟังก็ชักน้อยลงไป ๆ จนเหลือพวกฟังอึดอยู่พียง ๘๐

โกฎิ เลยได้สำเร็จหมด.

๓. มหาฎีกาว่า จุลอนาถบัณฑิกเศรษฐี เป็นน้องชายของท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 133

บังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเถระก็ดำลงไปในมหาปฐพีที่ตรงท่าม-

กลางหมู่คนนั่นเอง แล้ว (ไป) ชำแรกเขาสิเนรุ (อยู่ในท่า) ถวายบังคม

พระบาทยุคลพระผู้มีพระภาคเจ้า โผล่ขึ้นแทบบาทมูลของพระตถาคต

เจ้าทีเดียว๑ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ชนชาวชมพูทวีปถวายบังคมพระบาทบุคลพระผู้มีพระภาคเจ้า (มา) พูด

กันว่า "เราทั้งหลายได้เห็น (พระองค์) แล้วนั่นแหละจึงจัก (กลับ) ไป"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ถาม) ว่า "โมคคัลลาน ก็เดี๋ยวนี้ ธรรมเสนา-

บดี พี่ชายท่าน (อยู่) ที่ไหน" กราบทูลว่า "(อยู่) ทีเมืองสังกัสสะ

พระพุทธเจ้าข้า " จึงรับสั่งว่า "โมคคัลลาน ชนเหล่าใดใคร่จะเห็นเรา

ชนเหล่านั้นจงมาสู่เมืองสังกัสสะในวันพรุ่งนี้ เราจักลงที่เมืองสังกัสสะ

ในวันพรุ่งนี้ อันเป็นวันเพ็ญมหาปวารณาและเป็นวันอุโบสถ๒" พระ

เถระรับรับสั่ง ถวายบังคมพระทศพลเจ้าแล้ว (กลับ) ลงมาตามทางที่มา

นั้นแล จนถึงที่พักของคนทั้งหลาย ท่านอธิษฐานอย่างที่คนทั้งหลาย

เห็นท่านได้ทั้งเวลาไปและมา พระมหาโมคคัลลานเถระได้ทำอาวิภาว-

ปาฏิหาริย์นี้ในตอนนี้ก่อน ท่านมาถึงอย่างนั้นแล้วจึงแจ้งข่าวนั้น (ให้

ทราบทั่วกัน) กล่าว (กำชับ) ว่า "ท่านทั้งหลายอย่าได้สำคัญว่าไกล

พอรับประทานอาหารเช้าแล้วจงออก (เดินทาง)เถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบอก (ลา) แก่ท้าวสักกะเทวราชว่า "ดูกร

๑. หมายความว่า โผล่ขึ้นมาทั้งท่าถวายบังคม และโผล่ขึ้นตรงที่ใกล้พระบาท ได้ระยะ

ถวายบังคมพอเหมาะทีเดียว หาใช่ไปโผล่เอาที่ไหน ๆ ต้องเดินมาถวายบังคมไม่.

๒. บทเดียว ท่านเรียงไว้ทั้งมหาปวารณา ทั้งอุโบสถ ซึ่งเป็นคนละความหมาย จึงเข้าใจ

ว่า เป็นทวันทวสมาส ดังแปลไว้นั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 134

มหาราช๑ วันพรุ่งนี้ ตถาคตจะ (กลับ) ไปสู่มนุษยโลกละ" พระ

เทวราชจึงตรัสสั่งพระวิสสุกรรมว่า "แน่ะพ่อ (วิสสุกรรม) พระผู้มีพระ

ภาคเจ้ามีประสงค์จะเสด็จไปสู่มนุษยโลกวันพรุ่งนี้ เจ้าจงแปลง

บันไดขึ้น ๓ แถว บันไดหนึ่งแล้วด้วยทอง บันไดหนึ่งแล้วด้วยเงิน

บันได้หนึ่ง แล้วด้วยแก้ว " พระวิสสุกรรมก็ทำตามเทวบัญชา

วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่ยอดเขาสิเนรุทอด

พระเนตรดูโลกธาตุด้านตะวันออก จักรวาฬหลายแสนก็เกิดโล่งราวกะ

ลายเดียวกัน และทอดพระเนตรเห็นสิ่งอันเปิดเผยทุกสิ่งทางด้านตะวัน

ออกฉันใด แม้ทางด้านตะวันตก ทางด้านเหนือ ทางด้านใต้ ก็ทอด

พระเนตรเห็นสิ่งอันเปิดเผยทุกสิ่งฉันนั้น เบื้องล่างเล่า ก็ทอดพระเนตร

เห็นจนถึงอเวจี เบื้องบนถึงอกนิฐภพน์ ว่ากันว่าวันนั้นได้ชื่อว่า โลก-

วิวรณ (วันเปิดโลก) ข้างมนุษย์ก็เห็นเทวดา เทวดาเล่าก็เห็นมนุษย์

ในการเห็นกันนั้น มิใช่มนุษย์แหงนดู มิใช่เทวดาก้มดู ทุกผู้เห็นกัน

และกันตรงหน้าทีเดียว

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จลงโดยบันไดแก้วในท่ามกลาง ทวย-

เทพกามาพจรทั้ง ๖ ชั้นลงโดยบันไดทองข้างซ้าย เหล่าเทพสุทธาวาส

และมหาพรหม (สหัมบดี) ลงโดยบันไดเงินข้างขวา พระเทวราชทรง

ถือพระบาตรและพระจีวร๒ ท่านมหาพรหมถือฉัตรขาวอันมีปริมณฑล

๑. น่าจะใช้ เทวราช เพราะท่านเป็นเทวดา.

๒. ท่านพรรณนาเพลิดไปตามแบบ คือธรรมเนียมภิกษุในชมพูทวีปนั้น ตามปกติหาได้

ห่มจีวรเสมอไม่ (อาจเนื่องด้วยการถนอมจีวร และอากาศร้อน) โดยเฉพาะเมื่อจะ

เข้าบ้าน ก็ถือบาตรจีวร (ถ้ามีลูกศิษย์ก็ให้ลูกศิษย์ถือ) ไป ต่อจะเข้าเขตหมู่บ้าน จึง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 135

ได้ ๓ โยชน์ ท้าวสุยามถือวาลวัชนี๑ ปัญจสิขะ บุตรคนธรรพ์ ถือ

พิณสีเหลืองดุจผลมะตูมสุก ยาวประมาณ ๓ คาพยุต ทำบูชาแด่พระ

ตถาคตเจ้า (ด้วยเสียงพิณ ?) ลงมา ขึ้นชื่อว่าสัตว์ผู้ได้เห็นพระผู้มีพระ

ภาคเจ้าในวันนั้นแล้ว ไม่ยังความกระหยิ่มต่อความเป็นพระพุทธเจ้าให้

เกิดขึ้น (เฉย) อยู่ได้ ไม่มีแล๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำอาวิภาว-

ปาฏิหาริย์นี้ในตอนนี้ (ตอนแรกพระโมคคัลลานทำดังกล่าวแล้ว)

อีกเรื่องหนึ่ง ยังมีพระเถระชื่อธัมมทินนะ ชาว (เมือง) ตฬังคระ

ในตามพปัณณิทวีป นั่งอยู่ ณ ลาน พระเจดีย์ในติสสะมหาวิหาร กล่าว

(แสดง) อปัณณกสูตร โดยปาฐะว่า ตีหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต

ภิกฺขุ อปณฺณกปฏิปทํ ปฏิปนฺโน โหติ - ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ

ผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา

(ข้อปฏิบัติไม่ผิด) " ดังนี้เป็นอาทิอยู่ (พลาง) คว่ำพัดลง ที่แต่อเวจี

ขึ้นมา (แลเห็นโล่ง) เป็นลานเดียว แล้วหงายพัดขึ้น ที่แต่พรหมโลก

ลงมา (ก็แลเห็นโล่ง) เป็นลายเดียว พระเถระแสดงธรรม (โดย) สำทับ

หยุดครองจีวรแล้วจึงเข้าบ้าน แม้พระพุทธองค์ก็ทรงทำอย่างนั้น แต่ในการเสด็จลงจาก

ทวโลก ในท่ามกลางทวยเทพผู้ซึ่งล้วนแต่แต่งกายงดงาม แต่ส่วนพระพุทธองค์สิ ไม่

ทรงครอบพระจีวร ปล่อยพระองค์เถระ ๆ ลงมาอย่างนั้น จะน่าเสื่อมใสศรัทธา เป็น

ทัสนานุตริยะหรือ ?

๑. วาลวีชนี คือพัดหรือแส้ทำด้วยขนสัตว์ สัตว์บทเทวโลกไม่มี ถ้าเทวดาจะทำขึ้นใช้

ก็ต้องหาอุปกรณ์ไปจากมนุษยโลกนี้ และมีอะไรให้ปัด จึงต้องทำขึ้นใช้ บนโน้นมีแมลง

หรือไฉน ?

๒. ที่ว่า "กระหยิ่มต่อความเป็นพระพุทธเจ้า" นี้ ก็คงหมายความว่า เกิดอยากเป็นพระ

พระพุทธเจ้าขึ้นมาบ้าง หรือพูดให้เข้าแบบก็ว่า ปรารถนาพุทธภูมิกันไปทุกคน กิเลส

แบบนี้ (เอื้อมอาจ ?) นัยว่าเป็นกิเลสมาทางฝ่ายมหายานแต่ครั้งกระโน้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 136

ด้วยภัยในนรก และประโลมด้วยสุขในสวรรค์ (ทำให้) ผู้ฟังลงพวก

ได้เป็นพระโสดาบัน ลางพวกได้เป็นพระสกทาคามี... พระอนาคามี...

พระอรหันต์แล

[ติโรภาวปาฏิหาริย์ - ทำสิ่งเปิดเผยให้กำบัง]

ส่วนภิกษุผู้ใคร่จะทำติโรภาวปาฏิหาริย์ ย่อมทำที่สว่างให้มือบ้าง

ทำสิ่งที่ไม่กำบังให้เป็นสิ่งกำบังบ้าง ทำสิ่งที่อยู่ในคลอง (จักษุ) ให้เป็น

สิ่งไม่อยู่ในคลอง (จักษุ) บ้าง ทำอย่างไร ? ก็ภิกษุผู้มีฤทธิ์นี้ใคร่จะทำ

ตนหรือคนอื่นก็ตาม ให้เป็นอย่างที่แท้ไม่มีอะไรปิดบังเลย หรือแม้

ยืนอยู่ใกล้ ๆ ก็มองไม่เห็น ออกจากฌานที่เป็นบาทแล้ว ก็นึกหน่วง

บริกรรมไปว่า "ที่ส่วนนี้จงกลายเป็นมืดไป" หรือว่า "ที่ไม่กำบังนี้

จงเป็นที่กำบังไป" หรือว่า "สิ่งที่อยู่ในคลอง (จักษุ) นี้ จงเป็นสิ่งที่

ไม่อยู่ในคลอง (จักษุ) ไป " แล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวนั่นแล พร้อม

กับจิตอธิษฐาน มันก็จะเป็นตามที่อธิษฐานโดยทีเดียว คนอื่น ๆ แม้ยืน

อยู่ใกล้ ๆ (ตน) ก็ไม่เห็น (ตน) ฝ่ายตนอยากจะไม่เห็น (เขา) บ้าง ก็

ไม่เห็น (ได้เหมือนกัน)

ถามว่า ก็ติโรภาวนาปาฏิหาริย์นั่น ใครเคยทำ ? ตอบว่า พระผู้มี

พระภาคเจ้า จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำยศกุลบุตรซึ่งนั่ง

อยู่ใกล้ ๆ นั่นเอง ให้เป็นอย่างที่บิดา (ของเธอ) มองไม่เห็นเธอได้

อย่างเดียวกันนั้น (เสด็จพระพุทธดำเนินไป) ทรงทำประจุคมน์

(ต้อนรับ) พระเจ้ามหากัปปินะ ระยะทางถึง ๑๒๐ โยชน์ โปรดให้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 137

ท้าวเธอตั้งอยู่ในอนาคามิผล และโปรดอมาตย์ ๑,๐๐๐ ของท้าวเธอให้

ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ทรงทำอย่างที่พระนางอโนชาพร้อมทั้งหญิง

บริวาร ๑,๐๐๐ ผู้เสด็จ (ตาม) มา ตามทางของพระเจ้ามหากัปปินะนั้น

มาถึงแล้วแม้ประทับนั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่ทอดพระเนตรเห็นพระราชากับ

ราชบริษัท ครั้นพระนางทูล (ถาม) ว่า "ทอดพระเนตรเห็นพระราชา

บ้างหรือเพคะ" ตรัสว่า "ก็พระนางทรงหาพระราชาดีกว่า หรือว่า

ทรงหาพระองค์เองดีกว่า" เมื่อพระนางทรงรับว่า "หาตนเองดีกว่า

เพคะ" แล้วประทับนั่งลง จึงทรงแสดงธรรมโดยประการที่ (จบพระ

ธรรมเทศนาแล้ว) พระนางพร้อมทั้งหญิง (บริวาร) ๑,๐๐๐ ทรงตั้งอยู่

ในโสดาปัตตผล พวกอำมาตย์ตั้งอยู่ในอนาคามิผล พระราชาทรงตั้ง

อยู่ในอรหัตผลแล

อีกเรื่องหนึ่ง แม้พระมหินทเถรเจ้า ผู้เมื่อทำอย่างที่พระราชาไม่

ทอดพระเนตรเห็นชนที่เหลือผู้มาพร้อมกับตน ในวันที่มาถึงตามพ-

ปัณณิทวีป ก็ชื่อว่าได้ทำติโรภาวปาฏิหาริย์นี้เหมือนกัน

[อธิบายปาฏิหาริย์ทั้งสองอีกความหมายหนึ่ง]

อีกนัยหนึ่ง ปากฎปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์ที่ปรากฏตัวผู้มีฤทธิ์) ทุก

อย่าง ชื่อว่า อาวิภาวปาฏิหาริย์ อปากฏปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์ที่ไม่

ปรากฏตัวผู้มีฤทธิ์) ชื่อว่า ติโรภาวปาฏิหาริย์ ในปาฏิหาริย์สองอย่าง

นั้น ในปากฎปาฏิหาริย์ ปรากฏทั้งฤทธิ์ทั้งผู้มีฤทธิ์ทีเดียว ปากฏ-

ปาฏิหาริย์นั้น พึงชี้ให้เห็นได้ด้วยยมกปาฏิหาริย์ แท้จริงในยมกปาฏิหาริย์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 138

นั้น ปรากฏทั้งสองอย่างดังนี้ คือ พระตถาคตเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์

ในกาลนี้ ไม่ทั่วไปกันพระสาวกทั้งหลาย (คือพระสาวกทำไม่ได้ นี้

องค์ผู้มีฤทธิ์ปรากฏ) ลำไฟเป็นไปจากพระกายส่วนบน สายน้ำเป็นไป

จากพระกายส่วนล่าง... (นี่ฤทธิ์ปรากฏ)

ในอปากฏปาฏิหาริย์ ปรากฏแต่ฤทธิ์อย่างเดียว ผู้มีฤทธิ์หา

ปรากฏไม่ อปากฏปาฏิหาริย์นั้น พึงชี้แจงด้วยมหากสูตรและพรหม-

นิมันตนิกสูตร จริงอยู่ ในปาฏิหาริย์ที่กล่าวในสูตรทั้งสองนั้น ปรากฏ

แต่ฤทธิ์แห่งท่านมหากะ และแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ผู้มีฤทธิ์

(คือท่านมหากะและองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า) หาปรากฏไม่ ดังท่าน

กล่าวไว้ (ในมหากสูตร) ว่า "จิตตะคฤหบดีผู้นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

แล้วแล ได้กล่าวคำนี้กะท่านมหากะว่า "สาธุ ขอพระคุณท่านมหากะ

ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตริมนุษยธรรมแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด " ท่าน

มหากะกล่าวว่า "คฤหบดี ถ้ากระนั้นท่านจงปูผ้าอุตราสงค์เข้าที่ระเบียง

แล้วเกลี่ยกำหญ้า (แห้ง) ลง (บนผ้านั้น)" จิตตคฤหบดีรับคำท่านมหากะ

แล้ว ปูผ้าอุตราสงค์ลงที่ระเบียงแล้วเกลี่ยกำหญ้าลงไว้ ครั้นแล้วท่าน

มหากะจึงเข้าสู่วิหาร (ไม่ให้เห็นตัว) แล้วแต่งฤทธาภิสังขารชนิดที่ (มี)

เปลวไฟออกทางช่องดาลและช่องทับหลังประตู แล้วไหม้แต่หญ้า ไม่

ไหม้ผ้าอุตตราสงค์

อีกสูตรหนึ่งว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ครั้งนั้นแล เราแต่ฤทธาภิสังขารชนิดที่ว่า (พกะ) พรหม พรหมบริวาร

และพรหมปาริสัชชา จักได้ยินแต่เสียงของเรา และจักไม่เห็นตัวเรา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 139

โดยกาลกำหนดเท่านี้ " ดังนี้แล้วทรงหายพระองค์ ตรัสพระคาถานี้ว่า

(ภเววาหํ ภยํ ทิสฺวา ภวญฺจ วิภเวสินํ

ภวํ นาภิวทึ กิญฺจิ นนฺทิญฺจ น อุปาทิยึ)

เราเห็นภัยในภพ และ (เห็นตัว) ภพ (เอง) ที่ก่น

แต่จะวิภพ (คือเสื่อม) ไปนั่นเทียว จึงไม่อภิวัท (คือ

ยกย่อง) ซึ่งภพสักนิด และไม่อุปาทานเอานันทิ (คือ

ภวตัณหา) ไว้ด้วย*

[ติโรกุฑฺฑาทิคมนปาฏิหารริย์ - ผ่านสิ่งกีดขวางมีฝาเป็นต้นไปได้]

พึงทราบวินิจฉัยในปาฏิหาริย์ข้อว่า "ติโรกุฑฺฑํ ติโรปาการํ

ติโรปพฺพตํ อสชฺชมาโน คจฺฉติ เสยฺยถาปิ อากาเส - ไปนอกฝา

นอกกำแพง นอกภูเขาได้ไม่ติด เหมือนไปในอากาศก็ได้ " นี้ (ดังต่อ

ไปนี้)

บทว่า ติโรกุฑฺฑํ แปลว่า นอกฝา อธิบายว่า ส่วนข้างนอก

ของฝา ในบทนอกนี้ก็นัยนี้ และคำว่า กุฑฺฑ นั่น เป็นคำเรียกฝาเรือน

* คาถานี้ท่านเล่นอักษร คือ ภ. ว. และตอนท้ายแถมเล่นอักษร น.ท. จึงพลอยแปล

ทับศัพท์เล่นอักษรตามท่านไปบ้างเล็กน้อย ในทางความ บาทสองคือ ภวญฺจ วิภเวสินํ

ติดจะมัว ๆ อยู่ ในเวลานี้เห็นว่า ความน่าจะเป็นดังแปลไว้นั้น

เนื่องด้วยคาถานี้ มีตำนานว่าพระพุทธองค์ทรงหายพระองค์ ตรัสไม่ให้พวกพรหม

เห็นพระองค์ ให้ได้ยินแต่พระสรเสียง เกจิอาจารย์ที่นิยมความขลัง จึงนับถือเอาว่าเป็น

"คาถาหายตัว" มาจนบัดนี้ แต่ที่จริงพระพุทธองค์มิได้ทรงบริกรรมคาถานี้แล้วหายพระ

องค์ ทรงหายพระองค์ด้วยติโรภาวปาฏิหาริย์ หรืออปากฏปาฏิหาริย์ แล้วจึงตรัสคาถานี้

เช่นนั้นต่างหาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 140

คำว่า ปาการ หมายเอากำแพงล้อมสถานที่มี เรือน วิหาร และบ้าน

เป็นต้น คำว่า ปพฺพต ได้แก่ภูเขาดินหรือภูเขาหินก็ได้ บทว่า

อสชฺชมาโน แปลว่า ไม่ติด คำว่า เสยฺยถาปิ อากาเส แปลว่า

ดัง (ไป) ในอากาศ

ก็แลภิกษุผู้มีฤทธิ์ใคร่จะไปอย่างนั้น เข้าอากาสกสิณ ออกแล้ว

นึกหน่วงถึงฝาหรือกำแพงหรือภูเขา แม้ในภูเขาสิเนรุและภูเขาจักรวาฬ

ลูกในลูกหนึ่งก็ตาม (ที่ตนต้องการจะผ่านไป) ทำบริกรรมไป อธิษฐาน

ว่าจะเป็นอากาศ(ๆ) มันก็เป็นอากาศไปทันที สำหรับผู้ใคร่จะลงไป

ข้างล่าง หรือผู้ใคร่จะขึ้นไปข้างบน มันก็เป็นโพรง (ให้) สำหรับ

ผู้ใคร่จะทะลวงไป (ตรง ๆ) มันก็เป็นช่องให้ เธอก็ไปในโพรงหรือ

ช่องนั้นได้ไม่ติด

ส่วนพระติปิฎกจูฬาภยเถระกล่าว( ค้าน) ในการทำปาฏิหาริย์ข้อนี้

ว่า "ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การเข้าอากาสกสิณมีประโยชน์อะไร ผู้มี

ฤทธิ์ใคร่จะนิรมิตรูปต่าง ๆ มีช้างและม้าเป็นต้น ก็จะ (ต้อง) เข้ากสิณ

(สัตว์) มีกสิณช้างกสิณม้าเป็นต้นด้วยหรือ ความเป็นผู้เชี่ยวชาญใน

สมาบัติ ๘ เพราะทำบริกรรมในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นแหละ เป็น

ประมาณ ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัติ ๘ ปรารถนาให้เป็นสิ่งใด ๆ มันก็

ย่อมเป็นสิ่งนั้น ๆ เองแหละ มิใช่หรือ " ภิกษุทั้งหลายกล่าว (ท้วง) ว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อากาสกสิณนั่นแหละมาในพระบาลี เพราะเหตุนั้น

การเข้าอากาสกสิณ (ในการทำติโรกุฑฑาทิคมนปาฏิหาริย์) นั่น ควร

กล่าวได้โดยแท้ " นี้บาลีในข้อนั้น คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 141

"ภิกษุผู้มีฤทธิ์ เป็นผู้ได้อากาสกสิณสมาบัติอยู่โดยปกติ อาวัช-

นาการถึงที่นอกฝานอกกำแพงนอกภูเขา ครั้นแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า

"(ฝากำแพงภูเขา) จงเป็นอากาศ (ๆ)" มันก็เป็นอากาศไป เธอก็ไป

นอกฝานอกกำแพงนอกภูเขาได้ไม่ติด มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่มีฤทธิ์อยู่โดย

ปกติ ย่อมไปในที่ ๆ ไม่มีอะไรกั้นไม่มีอะไรล้อมได้ ไม่ติด ฉันใด

ภิกษุผู้มีฤทธิ์ได้เจโตวสีนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไปนอกฝานอก

กำแพงนอกภูเขาไม่ติด ดุจไปในอากาศก็ได้ ฉะนั้น๑"

ถามว่า "ก็ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอธิษฐานแล้วกำลังไปอยู่ (อย่างนั้น

เกิดมี) ภูเขาหรือต้นไม้ก็ตามผุดขึ้น (กั้น) ในระหว่าง (ทาง) เธอจำ

ต้องเข้าสมาบัติแล้วอธิษฐานอีกหรือไฉน ?" แก้ว่า "โทษ (ในการ

เข้าสมาบัติแล้วอธิษฐานอีกนั้น) หามีไม่" ด้วยว่าการเข้าสมาบัติแล้ว

อธิษฐานอีก ก็เป็นเช่นกับการถือนิสสัยในสำนักพระอุปัชฌายะ และก็

(หากมีภูเขาเป็นต้นผุดขึ้นกั้นจริง ๆ ) เพราะภิกษุนี้อธิษฐานว่า "จงเป็น

อากาศ (ๆ)" มันก็คงเป็นอากาศอีกนั่นแหละ อันข้อที่ว่าภูเขาหรือ

ต้นไม้อื่นจักเกิดด้วยฤดูผุดขึ้น (กั้น) ในระหว่าง (ทาง) ด้วยกำลังแห่ง

ความอธิษฐานครั้งแรกของเธอนั่นเอง นั่นมิใช่ฐานะ (คือเป็นไปได้)๒

ในกรณีที่สิ่งที่ผุดขึ้นในระหว่างนั้น เป็นสิ่งที่ผู้มีฤทธิ์อื่นนิรมิตขึ้นเล่า

การนิรมิตก่อนย่อมมีกำลัง (กว่า) สิ่งที่นิรมิตทีหลังต้อง (หลีก) ไปข้าง

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๔.

๒. มหาฎีกาสรูปว่าเป็น อฐานปริกัป คือข้อกำหนดที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไรจะโผล่ขึ้น

มาเช่นนั้นไม่มีดอก.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 142

บนหรือข้างล่างสิ่งที่นิรมิตก่อนนั้น ๑

[ปฐวีอุมฺมุชฺชนิมฺมชฺชปาฏิหาริย์ - ผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินก็ได้]

ในปาฏิหาริย์ข้อว่า "ปฐวิยาปิ อุมฺมุชฺชนิมฺมุชฺชํ - ผุดขึ้นและ

ดำลงในแผ่นดินก็ได้" นี้มีอธิบายว่า การผุดขึ้นเรียกว่า อุมฺมุชฺช

การดำลงเรียกว่า นิมฺมุชฺช ทั้ง อุมฺมุชฺช และ นิมฺมุชฺช เรียกว่า

อุมฺมุชฺชนิมฺมุชฺช อันภิกษุผู้ใคร่จะทำอย่างนั้น พึงเข้าอาโปกสิณ

ออกแล้วทำบริกรรม (โดย) กำหนดตัดตอน (พื้นดิน) ว่า "แผ่นดินใน

พื้นที่เท่านั้นจะเป็นน้ำ" แล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล พร้อม

กับการอธิษฐาน แผ่นดินในพื้นที่เท่าที่กำหนดตัดตอน ก็เป็นน้ำทีเดียว

เธอก็ทำความผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินตรงนั้นได้ นี้บาลีในข้อนั้น

คือ

"ภิกษุผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้อาโปกสิณสมาบัติอยู่โดยปกติ เธออาวัช -

นาการถึงแผ่นดิน ครั้นแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า "(แผ่นดิน) จงเป็น

น้ำ" มันก็เป็นน้ำไป เธอก็ทำความผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินได้

๑. ปาฐะตอนนี้วุ่น ๆ อยู่ นิมฺมิเตน นั้น ฉบับพม่าเป็น นิมฺมิเต ปน ถ้าเป็น นิมฺมิเตน

ก็จะต้องเป็น อปาทาน ใน พลวํ คือแปลว่า กว่า... อนุสนธิ (คือการเชื่อมความ)

ไม่ดี หรือจะว่าไม่มีอนุสนธิก็ได้ เห็นว่าปาฐะฉบับพม่าจะเข้าทีกล่า เป็นรูปนิมิตสัตมี

(ที่ในไวยากรณ์ให้แปลว่า "ในเพราะ..." แต่ในที่นี้ยักใช้โวหารที่เข้าใจกันดีในบัดนี้ว่า

"ในกรณีที่...") ได้อนุสนธิว่า ประโยคหน้ากล่าวสิ่งที่ผุดขึ้นมาเป็น อุตุมยะ คือเกิด

ด้วยฤดู ซึ่งว่าเป็นไปไม่ได้ ส่วนประโยคนี้กล่าวสิ่งที่ผุดขึ้นมานั้นว่า หากเป็นสิ่งที่ท่าน

ผู้มีฤทธิ์อื่นนิรมิตขึ้นเล่า ซึ่งแม้อาจเป็นได้ แต่ก็ไม่สามารถจะกั้นได้ดอก เพราะการ

นิรมิตก่อนย่อมมีกำลัง (กว่า) สิ่งที่นิรมิตทีหลังย่อมหลีกไปไม่ประจัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 143

มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปกติ ย่อมทำความผุดขึ้นและดำลงในน้ำ

ได้ฉันใด ภิกษุผู้มีฤทธิ์ได้เจโตวสีนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทำ

ความผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดิน ดุลผุดขึ้นและดำลงในน้ำก็ได้ฉะนั้น*"

อนึ่ง มิใช่แต่ผุดขึ้นและดำลงได้เท่านั้น ในกิจเนื่องด้วยน้ำ

ทั้งหลาย เช่น อาบ ดื่ม ล้างหน้าสิ่งของ เธอต้องการ (ทำ) กิจ

ใด ๆ ก็ทำกิจนั้น ๆ ได้ อนึ่งเล่า ใช่แต่ (อธิษฐานให้) เป็นน้ำได้แต่

อย่างเดียวก็หามิได้ ในของเหลวทั้งหลายเช่นเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำ

อ้อย เมื่อเธอต้องการ (ให้เป็น) สิ่งใด ๆ ก็อาวัชนาการถึงสิ่งนั้น ๆ

ทำบริกรรมไปว่า "สิ่งนั้น ๆ จงเป็นเท่านี้" แล้วอธิษฐาน มันก็เป็นตาม

ที่อธิษฐานทีเดียว เมื่อเธอตักขึ้นมาทำให้มันอยู่ในภาชนะเนยใสก็เป็น

เนยใสแท้ สิ่งอื่นมีน้ำมันเป็นต้น ก็เป็นน้ำมันเป็นต้นแท้ น้ำก็เป็นน้ำ

แท้ ในน้ำนั้น เธอต้องการให้เปียกเท่านั้น จึงเปียก ไม่ต้องการให้

เปียก ก็ไม่เปียก อนึ่ง แผ่นดินตรงนั้น เป็นน้ำสำหรับผู้มีฤทธิ์นั้น

เท่านั้น คงเป็นดินสำหรับคนนอกนั้น ที่แผ่นดินตรงนั้น พวกคน

เดินเท้า ก็เดินไปได้ ไปด้วยพาหนะมียานเป็นต้นก็ได้ ทำกิจมีกสิกรรม

เป็นต้น ก็ได้แท้ แต่ถ้าผู้มีฤทธิ์นี้ปรารถนาว่า (ดินตรงนั้น) จงเป็นน้ำ

สำหรับคนทั้งหลายนั้นด้วยไซร้ มันก็เป็นเหมือนกัน ต่อล่วงกาลที่

กำหนดไว้ เว้นน้ำในทีขังน้ำทั้งหลายมีหม้อและตระพังเป็นต้น ซึ่งมีอยู่

ตามปกติเสีย ที่ที่ผู้มีฤทธิ์กำหนดตัดตอนไว้นอกนั้น ก็ (กลับ) เป็นดิน

ไปตามเดิน

* ขุ. ป. ๓๑/๕๙๓.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 144

[อภิชชมาโนทกคมนปาฏิหาริย์ - เดินบนน้ำอันไม่แตกก็ได้]

ในปาฏิหาริย์ข้อว่า "อุทเกปิ ปภิชฺชมาเน- (เดินไป) บนน้ำ

อันไม่แตกก็ได้ " มีพรรณนาว่า บุคคลย่ำน้ำใดแล้วจม น้ำนั้นเรียกว่า

ภิชฺชมาน - แตก น้ำตรงกันข้าม เรียกว่า อภิชฺชมาน - ไม่แตก ก็แล

ภิกษุผู้ใคร่จะเดิไป (บนน้ำอันไม่แตก) อย่างนั้น พึงเข้าปฐวีกสิณ

ออกแล้วทำบริกรรม (โดย) กำหนดตัดตอน (พื้นน้ำ) ว่า "น้ำในที่

เท่านั้นจะเป็นดิน" แล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแหละ พร้อมกับ

การอธิษฐาน น้ำในที่เท่าที่กำหนดตัดตอน ก็เป็นดินทีเดียว เธอก็

เดินไปบนนั้นได้ นี้บาลีในข้อนั้น คือ

"ภิกษุผู้มีฤทธิเป็นผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติอยู่โดยปกติ เธออา-

วัชนาการถึงน้ำ ครั้นแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า "(น้ำ) จงเป็นดิน"

มันก็เป็นดินไป เธอก็เดินไปได้บนน้ำอันไม่แตก มนุษย์ทั้งหลาย

ผู้ไม่มีฤทธิโดยปกติย่อมเดินบนแผ่นดินอันไม่แต่ได้ฉันใด ภิกษุผู้มี

ฤทธิได้เจโตวสีนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเดินไปบนน้ำอันไม่แตก

ดุจเดินไปบนแผ่นดินก็ได้ ฉะนั้น"

อนึ่ง มิใช่แต่เดินได้เท่านั้น เธอต้องการอิริยาบถใด ๆ ก็ทำ

อิริยาบถนั้น ๆ ได้ และใช่แต่ (อธิษฐานให้) เป็นดินได้อย่างเดียว

เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในอวิญญาณกวัตถุทั้งหลาย เช่น แก้ว ทอง

และภูเขา ต้นไม้ เธอต้องการสิ่งใด ๆ ก็อาวัชนาการถึงสิ่งนั้น ๆ

แล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่น มันก็เป็นไปตามที่อธิษฐานทั้งนั้น

ก็แลน้ำนั้นเป็นดินสำหรับผู้มีฤทธินั้นเท่านั้น คงเป็นน้ำสำหรับคนนอก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 145

นั้น ปลา เต่า และสัตว์หากินในน้ำมีนกกาน้ำเป็นต้น๑ คงท่อนไป

ได้ตามพอใจ แต่ถ้าผู้มีฤทธินี้ปรารถนาจะทำนั้นให้เป็นดินสำหรับ

คนทั้งหลายอื่นด้วย ก็ทำได้เหมือนกัน ต่อล่วงกาลที่กำหนดไว้ มัน

จึง(กลับ) เป็นน้ำไปตามเดิม

[อากาเส ปัลลังกกมปาฏิหาริย์ - นั่งขัดสมาธิไปในอากาศก็ได้]

คำว่า ปลฺลงฺเกน กมติ ความว่า ไปทั้ง (ที่นั่งคู้) บัลลังก์

(คือนั่งขัดสมาธิไป) คำว่า ปกฺขี สกุโณ แปลว่า นกที่ประกอบ

ด้วยปีกทั้งสอง๒ ก็แล ภิกษุผู้ใคร่จะทำ (ปาฏิหาริย์) อย่างนั้น

พึงเข้าปฐวีกสิณ ออกแล้ว ถ้าเธอต้องการจะนั่งไป ก็กำหนดตัดตอน

ที่ (ในอากาศ) ขนาดเท่าบัลลังก์ (คือพอนั่งขัดสมาธิได้) ทำ

บริกรรมไปแล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ พึงกำหนด

ตัดตอนที่ (ในอากาศ) ตามควรอย่างนี้คือ ถ้าเธอเป็นผู้ใคร่จะนอน

ไป ก็กำหนดตัดตอนที่ (ในอากาศ) ขนาดเท่าเตียงนอน ถ้าเธอ

เป็นผู้ใคร่จะเดินไป ก็กำหนดตัดตอนที่ (ในอากาศ) ขนาดเท่าหนทาง

แล้วอธิษฐานว่า "(อากาศ) จงเป็นแผ่นดิน" โดยนัยที่กล่าวแล้ว

๑. อุทกชาตาทโย ไม่เข้าทีเลย นี่ก็พูดถึงสัตว์น้ำแล้ว จะว่ามีสัตว์เกิดในน้ำเป็นต้น

อย่างไรกัน เป็นต้นของอะไร ปาฐะฉบับพม่าเป็น อุทกกากาทโย เข้าทีกว่า มจฺฉกจฺฉปา

ว่าถึงสัตว์น้ำโดยตรง ส่วนอุทกกากาทโย ว่าถึงสัตว์บก แต่ชอบกินปลา จึงหากินใน

น้ำ ดำน้ำก็ได้ เช่นนกกาน้ำ ได้ความดี ในที่นี้แปลตามฉบับพม่า.

๒. ที่บาลีใช้ ปกฺขี เป็นวิเสสนะของ สกุโณ นั้นเป็นความรอบคอบของภาษา พูด

ไม่ให้ดิ้นได้ เพราะนกที่ไปในอากาศได้นั้นต้องเป็นนกมีปีกสมบูรณ์ นกปีกยังไม่งอก

หรือปีกหักหาไปได้ไม่.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 146

เหมือนกัน พร้อมกับกรอธิษฐาน มันก็เป็นแผ่นดินไปจริง ๆ นี้

บาลีในข้อนั้น คือ

"ข้อว่า "อากาเสปิ ปลฺลงฺเกน กมติ เสยฺยถาปิ ปกฺขี

สกุโณ - ไปทั้ง (ที่นั่งคู้) บัลลังก์ (คือนั่งขัดสมาธิไป) ในอากาศ

เหมือนนกมีปีกบินไปในอากาศก็ได้ " นั้น ความว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ

เป็นผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติอยู่โดยปกติ เธออาวัชนาการถึงอากาศ ครั้น

แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า "(อากาศ) จงเป็นดิน" มันก็เป็นดิน

ไป เธอจงกรมก็ได้ หยุดยืนก็ได้ นั่งก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ในอากาศ

ที่นับว่ากลางหาว ๑ มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่มีฤทธิโดยปกติย่อมเดินไปมา

ก็ได้ หยุดยืนก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ บนแผ่นดิน ฉันใด ภิกษุ

ผู้มีฤทธิ์ได้เจโตวสีนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมจงกรมก็ได้ หยุดยืน

ก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ในอากาศที่นับว่ากลางหาว๒"

แต่ว่าภิกษุผู้ใคร่จะไปในอากาศ ต้องเป็นผู้ได้ทิพจักษุด้วย ถาม

ว่า เพราะอะไร ? แก้ว่า (เพราะ) สิ่งที่กีดขวางมีภูเขาและต้นไม้

เป็นต้นที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอุตุมีอยู่ในระหว่าง (ทาง) บ้าง พวก

สัตว์มีฤทธิ์ เช่น นาคและครุฑที่มีใจฤษยาบันดาลขึ้นเพื่อแสดงสิ่งกีด

ขวางเหล่านั้นบ้าง ถามว่า บทสิ่งกีดขวางเหล่านั้นเข้า จะพึงทำ

อย่างไรเล่า ? แก้ว่า ก็เข้าฌานที่เป็นบาท ออกแล้วทำบริกรรม

อธิษฐานว่า (สิ่งนั้น) จงเป็นอากาศไป

๑. หมายความว่าในอากาศที่สูงถึงท้องฟ้า ไม่ใช่เรี่ย ๆ ดิน.

๒. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 147

ฝ่ายพระเถระ (ติปิฎกจูฬาภัย) กล่าว (ท้วง) ว่า "อาวุโส

การเข้าสมาบัติ (อีก) มีประโยชน์อะไร จิตของผู้มีฤทธิ์นั้นก็เป็น

สมาธิอยู่แล้ว เธอใช้จิตนั้นอธิษฐานที่ใด ๆ ว่าจะเป็นอากาศ ที่นั้น ๆ

มันก็เป็นอากาศได้อยู่แล้ว มิใช่หรือ" ท่านกล่าวอย่างนั้นก็จริงอยู่

ถึงกระนั้นก็ควรปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาในติโรกุฑฑปาฏิหาริย์นั่นเอง

อีกประการหนึ่ง แม้เพื่อจะลงในที่ ๆ เป็นโอกาส (คือที่เหมาะ)

ภิกษุนี้ก็ต้องเป็นผู้ได้ทิพจักษุด้วย เพราะถ้าเธอลงในที่ไม่เป็นโอกาส

(คือไม่เหมาะ) เป็นท่านอาบน้ำก็ดี เป็นประตูหมู่บ้านก็ดี เธอก็จะ

เป็นผู้ปรากฏแก่มหาชน เพราะเหตุนั้น เธอเห็น (โอกาส) ด้วย

ทิพจักษุแล้ว ก็เว้นที่อันไม่เป็นโอกาส ลงในที่เป็นโอกาสได้แล

[จันทิมสูริยปรามสนปาฏิหาริย์ - จับต้องลูบคลำจันทร์สูรย์ได้]

ในปาฏิหาริย์ข้อว่า "อิเมปิ จนฺทิมสูริเย เอวํมหิทฺธิเก เอวํ-

มหานุภาเว ปาณินา ปรามสติ ปริมชฺชติ - จับต้องลูบคลำจันทร์และ

สูรย์นี้ อันมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ด้วยฝ่ามือ

ก็ได้" นี้ มีพรรณนาว่า ความมีฤทธิ์มาแห่งจันทร์และสูรย์พึงทราบ

โดยการที่จรไปได้เหนือปฐพีอันมีปริมาณถึง ๔๒,๐๐๐ โยชน * (ส่วน)

ความมีอานุภาพมาก พึงทราบโดยการที่ทำความสว่างใน ๓ ทวีปได้

* มหาฎีกาช่างคิด ว่าปริมาณนี้คำนวณไว้แต่ครั้งปฐมกัป เดี๋ยวนี้น่าจะเปลี่ยนแปลง

ไปแล้ว.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 148

ในขณะเดียวกัน๑ นัยหนึ่ง นับว่ามีฤทธิ์มาก โดยจรไปเหนือ

(ปฐพี) และทำความสว่างอย่างนั้นได้ ชื่อว่ามีอานุภาพมาก ก็

โดยความมีฤทธิ์มากนั้นนั่นเอง๒ บทว่า ปรามสติ แปลว่าจับ หรือ

แตะต้องในเอกเทส (แห่งดวงจันทราทิตย์) บทว่า ปริมชฺชติ คือลูบคลำ

ไปโดยรอบ ดังลูบหน้าแว่น (ส่องหน้า)

ก็ฤทธิ์นี้ ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้น ด้วยอำนาจแห่งฌาน

อันเป็นบาทแห่งอภิญญาเท่านั้น ความนิยมด้วยกสิณสมาบัติมามีใน

ฤทธิ์ข้อนี้ไม่ สมบาลีในปฏิสัมภิทาว่า "ในข้อว่า "จับต้องลูบคลำ

จันทร์และสูรย์นี้ ฯลฯ ก็ได้ " นี้ ความว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ได้เจโตวสี

นั้น อาวัชนาการถึงจันทร์และสูรย์ ครั้นแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า

"จันทร์และสูรย์) จงมี (คือมาอยู่) ในหัตถบาลี๓" (จันทร์และ

สูรย์) ก็มีในหัตถบาส เธอผู้นั่งอยู่หรือนอนอยู่ก็ตาม ก็จับต้อง

ลูบคลำจันทร์และสูรย์ด้วยฝ่ามือได้ มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปกติ

ย่อมจับต้องลูกคลำสิ่งที่เป็นรูปอะไร ๆ (อันอยู่) ในหัตถบาสได้ฉันใด

ภิกษุผู้มีฤทธิ์ได้เจโตวสีนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมจับต้องลูบคลำจันทร์

๑. มหาฎีกาอธิบายเป็นทีว่า ไม่ใช่สว่างเท่ากันทั้งสามทวีป ถ้าส่องแวงเจ้าอยู่กลางทวีป

หนึ่ง อีกทวีปหนึ่งจะเห็นเป็นกำลังอัสดง อีกทวีปหนึ่งเห็นเป็นกำลังอุทัย.

๒. มหาฎีกาช่วยคิดแถมว่า ชื่อว่ามีอนุภาพมาก โดยพระอาทิตย์รำงับความหนาว พระจันทร์

รำงับความร้อนของสัตว์ทั้งหลายได้ และช่วยทำต้นไม้ใบหญ้างอกงามเจริญ.

๓. หัตถบาส แปลว่า บ่วงมือ คือใกล้ตัว พอยื่นมือไปจับได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 149

และสูรย์ ฯลฯ ได้ *"

ภิกษุผู้มีฤทธิ์นี้นั้น หากว่าปรารถนาจะ (ขึ้น) ไปจับต้อง

จันทร์และสูรย์) ก็ (ขึ้น) ไปจับต้องได้ แต่ผิว่าประสงค์จะเป็น

ผู้นั่งหรือนอนจงต้องอยู่ที่นี่แหละ ก็อธิษฐานว่า "(จันทร์และสูรย์)

จงมี (คือมาอยู่) ในหัตถบาส" เธอก็จับต้องจันทร์และสูรย์อันมา

อยู่ในหัตถบาสด้วยกำลังแหก่งการอธิษฐานได้ ดุจผลตาลหลุดจากขั้ว

มาอยู่ในหัตถบาสฉะนั้น หรือมิฉะนั้นยืดมือ (ขึ้นไป) จับก็ได้

ถามว่า ก็แลเมื่อยืดออกไป (นั้น) ยืดส่วนที่เป็นอุปาทินนกะ

หรือส่วนที่เป็นอนุปาทินนกะ ? ตอบว่า อาศัยส่วนที่เป็นอุปาทินนกะ

ยืดส่วนที่เป็นอนุปาทินนกะออกไป ในข้อนั้น พระติปิฎกจูฬนาค-

เถระกล่าว่า "ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็อุปาทินนกะจะเป็นของเล็กบ้าง

ใหญ่บ้างไม่ได้หรือ เมื่อใดภิกษุ (แสดงฤทธิ์) ออกทางช่องเล็ก ๆ

มีช่องดาลเป็นต้น เมื่อนั้นอุปาทินนกะก็เป็นของเล็กได้ เมื่อใดภิกษุ

ทำอัตภาพให้ใหญ่ เมือนั้นอุปาทินนกะก็เป็นของใหญ่ได้ ดังอุปา-

ทินนกะของพระมหาโมคคัลลานเถระฉะนั้น มิใช่หรือ"

[เรื่องพระมหาโมคคัลลานะทรมานนันโทปนันทนาคราช]

ได้ยินว่า ในสมัยหนึ่ง อนาถบิณฑิกคฤหบดีฟังพระธรรมเทศนา

แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

* ขุ. ป. ๓๑/๕๙๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 150

วันพรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงรับภิกษาในเรือน

ข้าพระองค์เถิด" แล้วกลับไป พระผู้มีพระภาคทรงรับ (นิมนต์)

แล้ว ทรงใช้ (เวลากลางวัน) วันนั้น อีกทั้งส่วนราตรีกาลให้ล่วง

ไป (ด้วยพุทธกิจอื่น ๆ ) แล้ว ถึงปัจจูสสมัยจึงทรงตรวจดูหมื่น

โลกธาตุ ครั้งนั้นนันโทปนันทนาคราชาสู่คลอง (พุทธจักษุ)

ในทางแห่งพระญาณของพระองค์๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคำนึกดูว่า

"นาคราชผู้นี้มาสู่คลองในทางแห่งญาณของเรา อุปนิสัยของเขามีอยู่

หรือนาค" ก็ทรงเห็นว่า "นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เสื่อมใสใน

พระไตรรัตน์" จึงทรงรำพึง( ต่อไป) ว่า "ใครเล่าหนอ จะพึง

เปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฏฐิได้" ก็ได้ทรงเห็นพระมหาโมคคัลลาน-

เถระ (ว่าจะสามารถทำอย่างนั้นได้) ต่อนั้น ครั้นราตรีรุ่งสว่าง

ทรงชำระพระกายแล้ว จึงตรัสเรียกท่านอานนท์ว่า "อานนท์ เธอ

จงบอกแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปว่าตถาคตจะไปจาริกในเทวโลก"

พอดีวันนั้น พวกนาคราชได้จัดแต่งอาปานภูมิ (ที่กินเลี้ยง๒)

สำหรับนันโทปนั้นทนาคราช นาคราชนั้นมีเศวตรฉัตรทิพกั้น มี

เหล่าระบำ ๓ พวก๓ และนาคบริษัทแวดล้อม นั่งชมข้าวน้ำต่างอย่างที่

๑. สำนวนอย่างนี้ไม่คุ้นหูของเรา ที่คุ้นหูนั้นเป็นสำนวนในอรรถกถาธรรมบทว่า "ปรากฏ

ในข่ายแห่งพระญาณ"

๒. อาปานภูมิ ตามรูปศัพท์น่าแปลว่า "ที่เป็นที่มาดื่ม" ชวนให้นึกไปว่าเป็นที่เลี้ยงสุรา

แต่พิจารณาดูความต่อไปก็ไปมีตรงไหนส่อว่าในการเลี้ยงนั้นมีสุราด้วยเลย ในมหาฎีกา

ก็แก้ว่าเป็นที่นั่งทำโภชนกิจ แล้วสรูปว่า บริเวสนฏฺฐานํ - ที่จัดอาหารเลี้ยง ในเรื่อง

เล่าทั้งหลายก็ไม่เคยพบเรื่องนาคดื่มสุรา มีแต่เรื่องอสูรชอบดื่มสุรา.

๓. มหาฎีกาว่าหมายเอาหญิงนักฟ้อนรำ ๓ รุ่น คือ รุ่นวธู รุ่นกุมารี รุ่นกัญญา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 151

เขาจัดลงในภาชนะทิพย์ทั้งหลาย อยู่บนรัตนบัลลังก์ทิพย์ ครั้งนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอย่างที่นาคราชมองเห็น เสด็จมุ่งไปดาวดึงส-

เทวโลกพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป (ผ่านไป) ทางเบื้องบนเพดาน

(อาปานภูมิ) ของนาคราชนั้นทีเดียว

ก็แลสมัยนั้น ความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่นันโทปนันทนาคราช

ว่า "ชิชะ พวกสมณะหัวโล้นนี่ เข้า ๆ ออก ๆ ภพน์ดาวดึงส์ของ

พวกเทวดา โยทำอำนาจเหนือ๑พวกเราทุกทีไป ทีนี้ข้า ฯ จะต้องไม่ให้

สมณะพวกนี้โปรยละอองตีนลงบนหัวพวกเราได้อีกต่อไปละ" (ว่า

แล้ว) ลุก (จากบัลลังก์) ไปยังเชิงเขาสิเนรุ ละอัตภาพ (เดิม)

นั้นเสีย (นิรมิตเป็นนาคใหญ่พิลึก) พันโอบเขาสิเนรุด้วยขนด ๗ รอบ

ทำดังพานขึ้นเบื้องบน (เขาสิเนรุ) แล้วกุมเอาภพน์ดาวดึงส์ไว้ด้วย

พังพานอันคว่ำลง ถึงกับมองไม่เห็น (ภพน์ดาวดึงส์)

ครั้งนั้น ท่านรัฏฐปาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้า

แต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนข้าพระองค์ยืน ณ ที่ตรงนี้ ย่อมมอง

เห็นเขาสิเนรุ เห็นบริภัณฑ์ (เขาที่ล้อมรอบ) เขาสิเนรุ๒ เห็น

ภพน์ดาวดึงส์ เห็นปราสาทไพชยนต์ เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย บัด

เดี๋ยวนี้ข้าพระองค์มองไม่เห็นเขาสิเนรุ ฯลฯ ไม่เห็นธงบนยอด

๑. อุปรูปริภวน เทียบปริภวน และ อภิภวน.

๒. สิเนรุปริภณฺฑํ มหาฎีกาแก้เป็น สิเนรุเมขลํ สานรัดเขาสิเนรุ แล้วก็มีอธิบายว่า

ได้ทราบว่า มีบริภัณฑ์ ๔ สวยโดยรอบเขาสิเนรุ พวกนาค ครุฑ กุมกัณฑ์ ยักษ์ ตั้งไว้

เพื่ออารักขาภพน์ดาวดึงส์.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 152

ปราสาทไพชยนต์"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า "ดูกรรัฏฐปาละ นี่ นาคราช

ชื่อนันโทปนันทะ ขัดเคืองท่านทั้งหลาย พันโอบเขาสิเนรุด้วยขนด

ถึง ๗ รอบแล้วบังข้างบนเสียด้วยพังพาน (จึง) ทำให้มืดอยู่"

ท่านรัฏฐปาละกราบทูล (อาสา) ว่าจะทรมานนาคราชนั้น

(แต่) พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต ลำดับนั้นภิกษุทั้งปวง

เช่นท่านภัททิยะ ท่านราหุลเป็นต้นลุกขึ้น (ทูลอาสา) โดยลำดับ

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็หาทรงอนุญาตไม่ ในที่สุด พระมหาโมคคัลลาน-

เถระกราบทูล (อาสา) ว่า "ข้าพระองค์ขอทรมานเอง" พระผู้มี

พระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า "ทรมานเถิด โมคคัลลานะ"

พระเถระก็ละอัตภาพ (เดิม) เสียแล้วนิมิตเป็นเพศนาคราช

ใหญ่ (ยิ่งกว่านันโทปนันทนาคราช) พันโอบ (ตัว) นันโทป-

นันทะไว้ด้วยขนดถึง ๑๔ รอบ ตั้งพังพานของตนไว้เหนือพังพาน

นันโทปนันทะนั้นแล้วบีบ (รัด) เข้ากับเขาสิเนรุ นาคราชบังหวน

ควันขึ้น (รมพระเถระ) ฝ่ายพระเถระจึงว่า "มิใช่ควันจะมีอยู่แต่

ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว ของข้า ฯ ก็มีเหมือนกัน" แล้วบังหวนควัน

ขึ้น (บ้าง) ควันของนาราชไม่เบียดเบียนพระเถระ แต่ควันของ

พระเถระเบียดเบียนนาคราช ลำดับนั้นนาคราชบันดลไฟขึ้น (ลน

พระเถระ) ฝ่ายพระเถระจึงว่า "มิใช่ไฟจะมีอยู่แต่ในร่างกายของ

เจ้าผู้เดียว ของข้า ฯ ก็มีเหมือนกัน " แล้วบันดลไฟขึ้น (บ้าง) ไฟ

ของนาคราชไม่ทำพระเถระให้ลำบาก แต่ไฟของเถระทำนาคราช

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 153

ให้ลำบาก นาคราชคิดว่า "คนผู้นี้บีบ (รัด) เราเข้ากันเขาสิเนรุ

ไว้แล้ว ทั้งบังหวนควัน ทั้งบันดลไฟเอา (ทำเราให้ลำบาก)" (จำ

เราจะแสร้งพูดจาด้วยโดยดีให้ตายใจ) จึงแสร้งถามขึ้นว่า "พ่อคุณ

ท่านเป็นใคร" พระเถระบอกว่า "เราคือโมคคัลลานะ (อย่างไร)

ละ นันทะ" นาคราช (ลวง) ว่า "พระคุณท่านเจ้าข้า ขอ

พระคุณท่านโปรดดำรงความเป็นภิกษุ (ตามเดิม) เถิด " พระเถระ

ก็ละอัตภาพ (นาค) นั้นเสีย (แล้วนิรมิตเป็นอัตภาพอันละเอียด)

เข้าทางช่องหูขวาของนาคราชนั้น แล้วออกทางช่องหูซ้าย เข้าทาง

ช่องหูซ้ายออกทางช่องหูขวา โดยนัยเดียวกันนั้นเข้าทางช่องจมูกขวา

ออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้ายออกทางช่องจมูกขวา พอ

นาคราชอ้าปากขึ้น พระเถระก็เข้าทางปากเดินจงกรมไปทางตะวันออก

และทางตะวันตก*อยู่ภายในท้อง (ของนาคราช) พระผู้มีพระภาคเจ้า

ตรัส (เตือน) ว่า "โมคคัลลานะ จงใส่ใจไว้นะว่านาคนั่นมีฤทธิ์

มาก" พระเถระ (อยู่ในท้องนาค) กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์

ผู้เจริญ อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์ได้เจริญทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน

(ที่เทียมแล้ว) ทำให้เป็นดุจของใช้ (ที่จัดเตรียมไว้) เฝ้าตั้งไว้

(มิให้เสื่อม) ช่ำชองทำได้ทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่าว่าแต่

นันโทปนันทะ (ผู้เดียวเลย) ข้าพระองค์จะพึงทรมานนาคราชเช่น

นันโทปนันทะนี้ตั้งร้อยตั้งพันตั้งแสนก็ได้"

* มหาฎีกาว่า เพราะนาคราชทอดตัวอยู่อย่างนั้น (คือ หัวอยู่ทางตะวันออก ทาง

ไปทางตะวันตก เช่นนั้นกระมัง ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 154

ฝ่ายนาคราชคิด (แค้น) ว่า "เมื่อเข้าไป ข้า ฯ ไม่ (ทัน)

เห็นก็ช่างก่อนเถิด เวลาออกมาทีนี้ละ ข้า ฯ จะต้องยัดแกเข้าซอก

เขี้ยวขบเสียจงได้ " จึงแสร้งพูด (อ้อนวอน) ว่า "นิมนต์ออกมา

เถิด เจ้าข้า โปรดอย่าเดินไปมาอยู่ในท้องทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย"

พระเถระก็ออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชพอเห็นว่านี้คือท่าน ก็

ปล่อยลมนาสวาต (คือพ่นลมออกทางจมูกอย่างแรง สามารถพัดเอา

ข้าศึกไปได้ ?)๑ พระเถระเข้าจตุตถฌาน (ทันที) ลม (นั้น) ไม่อาจ

ทำแม้แต่เส้นขน๒ของท่านให้ไหว

นัยว่า ภิกษุนอกนั้นพึงอาจทำปาฏิหาริย์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นมาได้

แต่ถึงฐานะ (คือกรณีปล่อยลมนาสวาต) นี้เข้า จักไม่อาจเข้าสมาบัติ

เป็นขิปปนิสันติ (เข้าได้ฉับพลัน) อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มี

พระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตการทรมานนาคราชแก่ภิกษุเหล่านั้น

นาคราชคิด (ท้อใจ) ว่า "เราไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนขอ

สมณะผู้นี้ให้ไหวได้ด้วยลมนาสวาต สมณะ (นี่) มีฤทธิ์มากนะ"

(เห็นว่าสู่ไม่ได้ก็กลัว หนีไป ) พระเถระจึงละอัตภาพ (นั้น) แปลง

เป็นรูปครุฑ แสดงสุบรรณวาต (ลมปีกครุฑ คือกระพือปีกทำให้

เกิดลมอย่างแรงขึ้น) ติดตามนาคราช นาคราช (เห็นว่าจะหนี

๑. ถ้าหมายถึงลมออกทางจมูก น่าจะเป็น นาสาวาต ให้ชัดไปทีเดียว เมื่อใช้ว่า นาส..

อาจทำให้เข้าใจเขวไปว่า นาส แปลว่า ทำลาย ก็ได้ การใช้ลมทำอันตรายข้าศึก มี

ด้วยกันทั้งนาคครุฑ นาคใช้พ่นออกทางจมูก เรียกนาสาวาต ครุฑให้กระฟือปีก

เรียกว่าสุบรรณวาต (ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า)

๒. โลมกูปํ ก็แปลกันว่าขุมขน แต่ถ้าแปลเรียงความไปว่า "ลมไม่อาจทำแม้แต่ขุมขน

ของท่านให้ไหว " ก็เหลือที่จะฟังได้ ในที่นี้จึงแปลเสียว่า "เส้นขน" (ถ้าแปลว่า

"ปลายขน" ได้ ยิ่งวิเศษ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 155

ไม้พ้น) จึงละอัตภาพนั้นเสียแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพ กล่าวขึ้นว่า

"พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึง" พลางกราบเท้าพระเถระ

พระเถระ (เห็นนาคหมดพยศ) จึงว่า "นันทะ พระศาสดาก็เสด็จ

มา (ด้วย) มา เราจักไป (เฝ้ากัน) ทรมานนาคราชทำให้หมดพิษ

แล้ว ก็พาไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นาคราชบังคมพระผู้มี

่พระภาคเจ้ากล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ของถึง

พระองค์เป็นที่พึ่ง" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ประทานพร) ว่า

"สุขี โหหิ นาคราช - จงเป็นสุขเถิด นาคราช*" แล้วมีภิกษุสงฆ์

แวดล้อมเสด็จไปสู่นิเวสน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดี

อนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูล (ถาม) ว่า "ไฉนจึงได้เสด็จ

มาถึงจนสาย พระเจ้าข้า " ตรัส (เล่า) ว่า "โมคคัลลานะกับ

นันโทปนันทนาราชเกิดสงครามกันขึ้น" กราบทูลถามว่า "ใคร

ชนะ ใครแพ้ พระเจ้าข้า " ตรัสบอกว่า "โมคคัลลานะชนะ

นันโทปนันทะแพ้" อนาถบิณฑิกะจึงกราบทูลว่า "พระเข้าข้า ขอ

* น่าสังเกตว่า ที่พระพุทธเจ้าจะประทานพรแก่ใครตรง ๆ อย่างนี้มีน้อยเต็มที เท่าที่

นึกออกเวลานี้ ในบาลีพบ ๔ แห่ง คือในอัมพัฏฐสูตร ที. สี. (๙/๑๓๙) ประทานพร

แก่อัมพัฏฐมาณพแห่งหนึ่ง ในสักกปัญหาสูตร ที่. ม. (๑๐/๓๐๓) ประทานแด่

สักกเทวราชแห่งหนึ่ง ในกัณณกัตถลสูตร ม. ม. (๑๓/๕๑๙) ประทานพรแด่

เจ้าหญิง ๒ องค์ ราชภคินีของพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งหนึ่ง เป็นการประทานพร

ลับหลังทั้งนั้น

ส่วนในอรรถกถาก็ในวิสุทธิมรรคเหล่านี้ กับในอรรถกถาธรรมบทอีกแห่งหนึ่ง ใน

เรื่องอายุวัฑฒนกุมาร (ภาค ๔ หน้า ๑๒๑) ประทานพรแก่อายุวัฑฒนกุมาร แต่ในเรื่อง

นี้ประทานว่า ทีฆายุโก โหหิ ทั้งสองเรื่องนี้ประทานพรต่อหน้า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 156

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ (เสวย) ภัตตาหารของข้าพระองค์

โดยลำดับเดียว (คือไม่เว้น) ตลอด ๗ วันเถิด ข้าพระองค์จักทำ

สักการะแด่พระเถระสัก ๗ วัน" แล้วได้ทำมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐

มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจนครบ ๗ วัน

คำว่า "เมื่อใด ภิกษุทำอัตภาพให้ใหญ่ เมื่อนั้น อุปาทินนกะ

ก็เป็นของใหญ่ได้ ดังอุปาทินนกะของพระมหาโมคคัลลานเถระฉะนั้น"

นั้น พระติปิฏกะจูฬนาคเถระกล่าวหมายเอาอัตภาพใหญ่ที่พระมหา-

โมคคัลลานะทำในการทรมานนันโทปนันทนาคราชนี้แล ถึงแม้ท่าน

กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ยังพากันกล่าว (ยืนอยู่) ว่า "อนุ-

ปาทินนกะนั่นแหละอาศัยอุปาทินนกะยืดออกไป" และก็วาทะของ

ภิกษุทั้งหลายนี้แหละเป็นยุติในปาฏิหาริย์ข้อนี้

ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้น ครั้นทำได้อย่างนี้ (คือยืดมือไปหรือทำให้จันทร์

และสูรย์มาอยู่ในหัตถบาสได้แล้ว) มิใช่แต่จับต้องจันทร์และสูรย์ได้เท่า

นั้น ถ้าเธอปรารถนา จะทำ (จันทร์และสูรย์นั้น) ให้เป็นกระเบื้อง

รองเท้าแล้ววางเท้า (ไว้บนจันทร์และสูรย์นั้นก็ได้) ทำให้เป็นตั่งแล้ว

นั่ง (ก็ได้) ทำให้เป็นเตียงแล้วนอน (ก็ได้) ทำเป็นแผ่นพนักแล้ว

อิง (ก็ได้) และผู้มีฤทธิ์ผู้หนึ่งทำได้ฉันใด แม้ผู้มีฤทธิ์อื่นอีกก็ทำได้

ฉันนั้น จริงอยู่ แม้ภิกษุแม้หลายแสนรูปทำกันอยู่อย่างนั้น (พร้อม ๆ

กัน) ปาฏิหาริย์ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุเหล่านั้นแต่ละรูปเป็นอย่างเดียวกัน

ด้วย การ (โคจร) ไปก็ดี การทำความสว่างก็ดีแห่งจันทร์และสูรย์ก็คง

มีอยู่เช่นเดิมนั่นเองด้วย เปรียบเหมือนเมื่อตุ่ม ๑,๐๐๐ ใบเต็มด้วยน้ำ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 157

มีอยู่ วงจันทร์ย่อมปรากฏอยู่ในตุ่มทุกใบ (แต่) การ (โคจร) ไป

ก็ดี การทำความสว่างก็ดีแห่งจันทร์ ก็คงมีอยู่ตามปกตินั่นเองฉันใด

ปาฏิหาริย์ข้อนี้ก็อุปมาฉันนั้น*

[กาเยน วสวัตตนปาฏิหาริย์ - ใช้อำนาจด้วยกายไปถึงพรหมโลกก็ได้]

คำว่า "ยาว พรฺหมโลกาปิ - เพียงไรแต่พรหมโลกก็ได้" หมาย

ความว่าทำพรหมโลกให้เป็นที่กำหนดก็ได้" คำว่า "กาเยน วสํ

วตฺเตติ - ยังอำนาจให้เป็นไปด้วยกาย" ความว่าใช้อำนาจของตนด้วย

กายไปในพรหมโลกนั้น ความแห่งปาฐะนั้น พึงทราบไปตามพระ

บาลีเถิด

ก็แล ปาฐะ (ต่อไป) นี้ เป็นบาลีในปาฏิหาริย์ข้อนี้คือ "บาลีว่า

"ยาว พฺรหฺมโลกาปิ กาเยน วสํ วตฺเตติ - ยังอำนาจให้เป็นไปด้วย

กายจนถึงพรหมโลกก็ได้ " มีอรรถาธิบายว่า ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์ได้เจโตวสี

นั้น เป็นผู้ใคร่จะไปสู่พรหมโลกไซร้ เธออธิษฐานที่ ๆ อยู่ไกลให้เป็น

ที่ ๆ อยู่ใกล้ก็ได้ว่า (ที่ ๆ อยู่ไกล) จงเป็นที่ ๆ อยู่ใกล้" มันก็เป็นที่ ๆ

อยู่ใกล้ไป อธิษฐานที่ ๆ อยู่ใกล้ให้เป็นที่ ๆ อยู่ไกลก็ได้ว่า "(ที่ ๆ

อยู่ใกล้) จงเป็นที่ ๆ อยู่ไกล" มันก็เป็นที่ ๆ อยู่ไกลไป อธิษฐาน

ของมากให้เป็นของน้อยก็ได้ว่า "(ของมากนั้น) จงเป็นของน้อย"

มันก็เป็นของน้อย อธิษฐานของน้อยให้เป็นของมากก็ได้ว่า "(ของ

น้อยนั้น) จงเป็นของมาก" มันก็เป็นของมากไป เธอย่อมเห็นรูป

* ถ้าอธิบายอย่างนี้ ปาฏิหาริย์ข้อนี้ก็ดูไม่ต่างอะไรกับฝันไป จะอัศจรรย์ตรงไหน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 158

ของพรหมนั้นได้ด้วยจักษุทิพย์ ย่อมได้ยินเสียงพรหมนั้นได้ด้วยโสตธาตุ

ทิพย์ ย่อมรู้จิตของพรหมนั้นได้ด้วยเจโตปริยญาณ* ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์

ได้เจโตวสีนั้น เป็นผู้ใคร่จะไปสู่พรหมโลกด้วยทิสสมานกาย (กายที่

ปรากฏ) ไซร้ เธอก็น้อมจิตไปตามอำนาจกาย อธิษฐานจิตไปตาม

อำนาจกาย ครั้นน้อมจิตไปตามอำนาจกาย อธิษฐานจิตไปตามอำนาจ

กายแล้วก้าวลงสู่สุขสัญญา (ความกำหนดหมายว่าสุข) และลหุสัญญา

(ความกำหนดหมายว่าเบา) ก็ไปสู่พรหมโลกได้ด้วยทิสสมานกาย ถ้า

ภิกษุผู้มีฤทธิ์ได้เจโตสีนั้นเป็นผู้ใคร่จะไปสู่พรหมโลกด้วยอทิสสมานกาย

(กายอันไม่ปรากฏ) ไซร้ เธอก็น้อมกายไปตามอำนาจจิต อธิษฐาน

กายไปตามอำนาจจิต ครั้นน้อมกายไปตามอำนาจจิต อธิษฐานกาย

ไปตามอำนาจจิตแล้วก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา ก็ไปสู่พรหมโลก

ได้ด้วยอทิสสมานกาย เธอนิรมิตรูปมโนนัยอันมีอวัยวะใหญ่น้อยครบ

มีอินทรีย์ (เช่นตาหู) ไม่พร่องขึ้นต่อหน้าพรหมนั้น ถ้าเธอผู้มี

ฤทธิ์นั้นจงกรม ภิกษุนริ มิตก็จงกรมอยู่ในพรหมโลกนั้นด้วย ถ้าเธอ

ผู้มีฤทธิ์นั้นหยุดยืน นั่ง นอน ภิกษุนิรมิตก็หยุดยืน นั่ง นอนอยู่ใน

พรหมโลกนั้นด้วย ถ้าเธอผู้มีฤทธิ์นั้นบังหวนควัน บันดลไฟ กล่าว

ธรรม ถามปัญหา ถูกถามปัญหาแล้วแก้ ภิกษุนิรมิตก็บังหวนควัน

บันดลไฟ กล่าวธรรม ถามปัญหา ถูกถามปัญหาแล้วแก้อยู่ในพรหม

* เนื่องด้วยบาลีกล่าวถึงพรหมโดยเอกวจนะว่า "ตสฺส พฺรหฺมุโน - ของพรหมนั้น"

ชวนให้นึกไปว่าท่านใช้วจนะผิดก็ได้ มหาฎีกาจึงช่วยไขความว่า "หมายถึงพรหมผู้ที่

ภิกษุนั้นใคร่จะเห็นรูป ใคร่จะได้ฟังเสียง ใคร่จะได้รู้จิตผู้เดียวเท่านั้น " ดังนี้ มหาฎีกา

ท่านช่วยแก้ปมได้ดีจริง ๆ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 159

โลกนั้นด้วย ถ้าเธอผู้มีฤทธิ์นั้นแสดงกิริยายืนด้วยกัน แสดงกิริยา

ปราศรัยกัน แสดงกิริยาสนทนา (ธรรม) กันกับพรหมนั้น๑ ภิกษุ

นิรมิตก็ยืนด้วยกัน ปราศรัยกัน สนทนา (ธรรม) กันกับพรหมนั้น

ในพรหมโลกนั้นด้วย ตกว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นทำกิจใด ๆ ภิกษุ

นิรมิตก็ทำกิจนั้น ๆ ด้วยทั้งนั้นแหละ๒"

[อธิบายความแห่งบาลีและเรื่องนิทัศนะ]

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า "ทูเรปิ สนฺติเก อธิฏฺฐาติ-

อธิษฐานที่ ๆ อยู่ไกลให้เป็นที่ ๆ อยู่ใกล้ก็ได้" นั้นความว่า ภิกษุ

ผู้มีฤทธิ์นั้นออกจากฌานอันเป็นบาทแล้ว อาวัชนาการถึงเทวโลกหรือ

พรหมโลกก็ตาม (อันอยู่) ในที่ไกลว่า "จงมาอยู่ในที่ใกล้" ครั้น

อาวัชนาการแล้วทำบริกรรมไป เข้าฌานอีกแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า

"(เทวโลกหรือพรหมโลกนั้น) จงมาอยู่ในที่ใกล้" มันก็มาอยู่ในที่

ใกล้ นัยนี้พึงทราบแม้ในบทที่เหลือ

[ทำที่ไกลให้ใกล้]

ถามว่า "ในปาฏิหาริย์เหล่านั้น ใครจับเอาที่ไกล (มา) ทำ

ให้เป็นที่ใกล้ ? "

๑. ถ้าแปลไปเท่าตัวศัพท์ ก็มีปัญหาว่าภิกษุนั้นอยู่ในมนุษยโลกนี้จะยืนด้วยกัน ปราศรัย

กัน สนทนากันกับพรหมนั้นอย่างไรกัน ในที่นี้จึงเติมคำ "แสดงกิริยา " ไว้ เพื่อให้

ได้กับความจริง.

๒. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 160

ตอบว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า" จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อครั้งเสร็จ (การแสดง) ยมกปาฏิหาริย์ จะเสด็จไปสู่เทวโลก ก็

ทรงทำเขายุคันธรและเขาสิเนรุไว้ใกล้ ๆ จากพื้นดิน ทรงวางพระบาท

ข้างหนึ่งบนเขายุคันธร แล้วทรงวางพระบาทข้างที่สองลงบนยอดเขา

สเนรุ

ถามว่า "ผู้อื่น ใครทำได้อีกบ้าง " ตอบว่า "พระมหา-

โมคคัลลานเถระ " จริงอยู่ พระเถระย่นทางไปเมืองสังกัสสะประมาณ

๓๐ โยชน์ ยังบริษัทอันเต็มในเนื้อที่ ๑๒ โยชน์ซึ่งทำภัตกิจแล้วออกจาก

กรุงสาวัตถีให้ถึงพร้อมกันในทันทีนั้นทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่ง แม้พระจูฬสมุทรเถระในตามพปัณณิทวีปก็ได้ทำ

ได้ยินมาว่า ในคราวกันดารข้าว (คราวหนึ่ง) ภิกษุ ๗๐๐ รูปได้พา

กันมาสู่สำนักพระเถระแต่เช้า พระเถระคิดคำนึงดูว่า ภิกษุสงฆ์เป็น

หมู่ใหญ่ การภิกขาจารจักมีได้ในที่ไหน* (จึงจะได้ภิกขาพอกัน) ก็

มองไม่เห็นตามพปัณณิทวีปทั้งสิ้น เห็นว่าจักมีได้ ณ กรุงปาฏลิบุตร

ฟาก (ทะเล) ข้างโน้น จึงให้ภิกษุทั้งหลายถือบาตรจีวรเข้า บอกว่า

"มา อาวุโสทั้งหลาย เราจักไปภิกขาจารกัน" แล้วย่นแผ่นดิน

(พาภิกษุทั้งหลายไป) ถึงกรุงปาฏลิบุตร (ในทันใด) ภิกษุทั้งหลาย

เรียนถามว่า "นี่เมืองอะไร ขอรับ " ก็ตอบว่า "เมืองปาฏลิบุตร

อาวุโส" ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า "เมืองปาฏลิบุตรอยู่ไกลนี่นา ขอรับ"

* มหาภิกฺขุสงฺโฆ ไม่ได้เป็นกัตตาใน ภวิสฺสติ เพราะฉะนั้นต้องแยกเป็นประโยค

หนึ่งตากหาก เรียกเป็น มหา ภิกฺขุสงฺโฆ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 161

ท่านว่า "อาวุโส พระเถระแก่ ๆ ละก็ จับเอาที่ ๆ อยู่ไกลมาทำให้

อยู่ใกล้ก็ได้นะ " ภิกษุทั้งหลายเรียนถามว่า "มหาสมุทรอยู่ไหนล่ะ

ขอรับ" ท่านจึงว่า "อาวุโส พวกท่านได้ผ่านได้ผ่านเหมือนน้ำเขียวแห่ง

หนึ่งในระหว่างทางมามิใช่หรือ " ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า "ใช่ ขอรับ

แต่ว่ามหาสมุทรน่ะใหญ่นี่นา" ท่านก็ว่า "อาวุโส พระเถระแก่ ๆ

ละก็ ทำของใหญ่ให้เป็นของเล็กก็ได้นะ"

อนึ่ง พระจูฬสมุทรเถระนี้ฉันใด แม้พระติสสทัตตเถระก็ฉันนั้น

ในตอนเย็น สรงน้ำ ครองอุตตราสงค์แล้ว พอความคิดว่า "เรา

จักไหว้พระมหาโพธิ" เกิดขึ้น ก็ทำ (พระมหาโพธิซึ่งอยู่ไกล) ให้

มาอยู่ใกล้ได้

[ทำที่ใกล้ให้ไกล]

ถามว่า "ฝ่ายหนึ่ง ใครจับเอาที่ใกล้มาทำให้เป็นที่ไกล ?" ตอบ

ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า" จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำ

ที่ระหว่างพระองค์กับโจรองคุลิมาลซึ่งเป็นที่ใกล้ ให้เป็นที่ไกลก็ได้

[ทำของมากให้เป็นของน้อย]

ถามว่า "ก็แล้วใครทำของมากให้เป็นของน้อย" ตอบว่า

พระมหากัสสปเถระ" ได้ทราบว่า ในวันนักขัตฤกษ์ (วันหนึ่ง)

ในกรุงราชคฤห์ กุมาริกาประมาณ ๕๐๐ คน ถือขนมวงเดือน*เดินกัน

* จนฺทปูว คงจะทำเป็นวง อย่างขนมกงขอไทยเรา หรือทำเป็นแผ่นกลม อย่าง

ขนมของจีนกระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 162

ไปเพื่อจะเล่นนักขัตฤกษ์ พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วมิได้ถวายอะไร

เลย แต่พอพบพระเถระซึ่งเดินมาข้างหลังก็พูดกันขึ้นว่า "พระเถระ

ของพวกเรามา พวกเราจักถวายขนม" แล้วทุกคนถือขนมเข้าไปหา

พระเถระ พระเถระนำบาตรออก (รับนม) ได้ทำขนมทั้งหมดให้

พอจุลงได้ในบาตรเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งรอพระเถระ

อยู่ข้างหน้า พระเถระก็นำ (ขนม) มาถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ฉะนี้แล

[ทำของน้อยให้เป็นของมาก]

ส่วนในเรื่องอิลลิสเศรษฐี พระมหาโมคคัลลานเถระได้ทำของ

น้อยให้เป็นของมาก

อนึ่ง ในเรื่องกากวฬิยะ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทำ ได้

ยินมาว่า พระมหากัสสปเถระใช้เวลาเข้า (นิโรธ) สมาบัติอยู่ ๗ วัน

(ออกแล้ว) จะทำการสงเคราะห์คนยากจน จึง (ไป) ยืนอยู่ที่

ประตูเรือนของคนเข็ญใจ (ผู้หนึ่ง) ชื่อกากวฬิยะ เมียของเขา

เห็นพระเถระก็ (ยกเอา) ข้าวต้มอันไม่มีรสเปรี้ยวเค็ม (อะไรเลย*)

ที่ต้นไว้เพื่อผัวไปตักบาตร พระเถระรับข้าวต้มนั้น (นำไป) ประ-

เคนพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานทำ (ข้าวต้ม

* อโลณมฺพิลยาคุ อาจเป็นข้าวต้มมีแต่รสเปรี้ยว ไม่มีรสเค็มคือไม่เติมเกลือเลยก็ได้

หรือไม่มีทั้งสองรสก็ได้ ดังที่กล่าวไว้ จะเป็นข้าวต้มที่เขานิยมว่ามีรสอร่อยหรือไม่ เรา

ไม่อาจทราบได้ แต่เป็นข้าวต้มของคนทุคคตะ ก็น่าจะไม่อร่อย ถ้าไม่มีทั้งสองรสก็เป็น

ข้าวต้มเปล่า ถ้ามีรสเปรี้ยว ก็เป็นข้าวต้มเปรี้ยว ลิ้นไทยเห็นจะเต็มกลืน แต่อย่างไร

ก็ตาม พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ครั้งนั้นท่านก็ฉันกันได้สบาย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 163

นั้น) ให้ (มากขึ้น) พอแก่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ข้าวต้มที่พระเถระ

นำมาด้วยบาตรใบเดียวจึงเป็นอันพอแก่ภิกษุทุกรูป ข้างฝ่ายกากวฬิยะ

ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐี๑ในวันที่ครบ ๗ แล

[ทำของไม่อร่อยให้อร่อย ฯลฯ ก็ได้]

ใช่แต่ทำของน้อยให้เป็นของมากได้เท่านั้นก็หาก็ได้ แม้ในการ

ทำต่าง ๆ มีทำของอร่อยให้เป็นของไม่อร่อย ทำของไม่อร่อยให้เป็น

ของอร่อย ดังนี้เป็นต้น ผู้มีฤทธิ์ปรารถนาการทำ (อย่าง) ใด ๆ

การทำ (อย่าง) นั้น ๆ ก็สำเร็จแก่ผู้มีฤทธิ์ทั้งสิ้น จริงอย่างนั้น

พระมหาอนุฬเถระนั่นเป็นไร (ท่าน) เห็นภิกษุเป็นอันมาก เที่ยว

บิณฑบาตได้อาหารปอน ๆ (มา) นั่งฉันกันอยู่ที่ริมฝั่งริมแม่น้ำ๒ ก็

อธิษฐานว่า "น้ำในแม่น้ำจงเป็นสัปปิมัณฑะ๓" แล้วให้สัญญาแก่

สามเณรทั้งหลาย (คือชี้ให้สามเณรเข้าใจว่าน้ำในแม่น้ำกลายเป็นเนย

แล้ว) สามเณรเหล่านั้นจึงใช้ถ้วยตักมาถวายภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งปวง

๑. การเป็นเศรษฐีครั้งกระนั้น ต้องได้รับแต่งตั้งจากพระราชา ไม่ใช่ยกกันเอาเอง

เพราะฉะนั้น เสฏฺฐิฏ ฐานํ จึงได้แปลว่าตำแหน่งเศรษฐี.

๒. คงฺคาตีเร มหาฎีกาท่านว่าในตามพปัณณิทวีปก็มีแม่น้ำคงคาเหมือนกัน แต่ในที่นี้

แปลว่าแม่น้ำเฉย ๆ เพราะไม่แน่ใจว่าในลังกามีแม่น้ำคงคา.

๓. สัปปิมัณฑะ เป็นผลิตภัณฑ์จากนมชนิดหนึ่ง พบในบาลีปัญจกังคุณตตระว่าเป็นยอด

ของผลิตภัณฑ์จากนม โดยเทียบคุณค่าไว้ดังนี้ : ทธิ (นมส้ม) ดีกว่า (ขีระ) นมสด

นวนีตะ (เนยข้น) ดีกว่า ทธิ สัปปิ (เนยใส) ดีกว่า นวนีตะ สัปปิมัณฑะ

ดีกว่า สัปปิ โดยนัยนี้ สัปปิมัณฑะ น่าจะได้แก่ "หัวเนยใส" เช่นเดียวกับ "หัว

กระทิ " ของเรา คลุกข้าวกินได้ อร่อยด้วย !

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 164

ก็ได้ฉัน (อาหาร) กัปสัปปิมัณฑะอันอร่อยแล

คำว่า "...ด้วยจักษุทิพย์" เป็นต้น ความว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์

นั้น สถิตอยู่ ณ มนุษย์โลกนี้แหละ เจริญอาโลกกสิณเข้าก็มองเห็นรูป

ของพรหมผู้นั้น และเธอสถิตอยู่ ณ มนุษยโลกนี้แหละ เมื่อพรหม

นั้นพูดก็ได้ยินเสียง (และ) รู้จิต (ของพรหมนั้น) ได้

[กายวเสน จิตตปริณามนปาฏิหาริย์ - ไปด้วยทิสสมานกายก็ได้]

คำว่า "น้อมจิตไปตามอำนาจกาย" นั้น มีอรรถกาธิบายว่า

น้อมจิตไปตามของกรัชกาย คือถือเอาจิตในฌานที่เป็นบาทยกขึ้น

ไว้ในกาย* คือทำ (จิตนั้น) ให้มีคติตามกาย คือว่าให้ไปช้า ด้วย

ว่าการไปแห่งกายย่อมช้า คำว่า "ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา"

(ในข้อนี้) มีความหมายว่า ก้าวลง คือ เข้าไป ถูกต้องเข้า ถึง

เข้า ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา ซึ่งเกิดพร้อมกับอิทธิจิตอันมีปาทกฌาน

เป็นอารมณ์ สัญญาอันสัมปยุตกับอุเบกขาชื่อว่าสุขสัญญา เพราะ

อุเบกขาท่านกล่าวว่าเป็นสุขอันละเอียด และสัญญานั้นนั่นแหละพึง

ทราบว่าชื่อลหุสัญญาบ้าง เพราะเป็นสัญญาที่พ้นจากนิวรณ์ทั้งหลาย

และจากธรรมที่เป็นข้าศึกทั้งหลายมีวิตกเป็นอาทิ (ซึ่งเป็นของหนัก)

ด้วย เมื่อเธอก้าวลงสู่สัญญานั้นอยู่ แม้กรัชกายก็ย่อมเบาดุจปุยนุ่น

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า พระโยคีเมื่อน้อมจิตไปด้วยอำนาจความใคร่จะไปด้วย

ทิสสมานกาย ก็เข้าฌานอันเป็นบาท ออกแล้วทำบริกรรมว่า "จิตนี้จงไปช้าเหมือน

กาย" แล้วเข้าฌานอีก ออกแล้วอธิษฐานด้วยญาณให้เป็นอย่างนั้น คือไปช้า อย่างนี้

เรียกว่าถือเอาจิต ... ยกขึ้นไว้ในกาย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 165

(ไปด้วย) ดังนั้น เธอก็ไปพรหมโลกได้ด้วยทิสสมานกายอันมา ดุจ

ปุยนุ่นถูกลมพัดขึ้นไป และเมื่อขณะไปอย่างนั้น ถ้าเธอต้องการ เธอ

จะนิรมิตหนทางขึ้นในอากาศ ด้วยอำนาจปฐวีกสิณแล้วเดินไป (ก็ได้)

ถ้าเธอต้องการ เธอจะอธิษฐานให้เป็นพายขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณ

แล้วไปด้วยพายุนั้นดุจปุยนุ่น (ปลิว) ไปด้วยลม (ก็ได้) แต่

ความใคร่จะไปนั่นแลเป็นประมาณในการไปด้วยทิสสมานกายนี้ เพราะ

เมื่อความใคร่จะไปมีอยู่ เธอผู้มีจิตตาธิฏฐานอันทำแล้วอย่างนั้น จะ

เป็นผู้ถูกกำลังแห่งความอธิษฐานซัดขึ้นไป ก็ไป (พรหมโลก) ได้

ทั้งที่ใคร ๆ มองเห็น (ตัว) อยู่ ดังลูกศรที่นายขมังธนูยิงขึ้นไป

ฉะนั้น

[จิตตวเสน กายปริฌามนปาฏิหาริย์ - ไปด้วยอทิสสมานกายก็ได้]

คำว่า "น้อมกายไปตามอำนาจจิต " นั้น อธิบายว่าถือเอากาย

ยกขึ้นไว้ในจิต * คือทำ (กาย) ให้มีคติตามจิต คือว่าทำให้ไปเร็ว

ด้วยว่าการไปแห่งจิตย่อมเร็ว คำว่า "ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุ-

สัญญา" (ในข้อนี้) หมายความว่าก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาที่

เกิดพร้อมกับอิทธิจิตอันมีรูปกายเป็นอารมณ์ คำที่เหลือพึงทราบโดย

นัยที่กล่าวแล้วนั้นเถิด

ที่จริง การ (ปาฏิหาริย์) ไป (ในข้อ) นี้ ก็คือการไปแห่ง

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า ถือเอากรัชกายด้วยบริกรรมจิต โดยทำให้เป็นอารมณ์

ยกขึ้นในปาทกฌานจิต ด้วยอธิษฐานว่า "กายนี้จงเป็นเหมือนจิตนี้" ก็คือกายให้มี

คติเหมือนจิตนั่นเอง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 166

จิตนั่นเอง๑ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นว่า "ผู้มีฤทธิ์นี้เมื่อไปด้วยอทิสสมาน-

กายอย่างนั้น ไปในอุปปาทขณะแห่งอธิฏฐานจิตนั้นหรือ หรือว่าใน

ฐิติขณะหรือในภังคขณะ (แห่งอธิฏฐานจิต) ?" พระเถระ๒ก็กล่าวว่า

"ไปได้ทั้ง ๓ ขณะ๓" เมื่อถามอีกว่า "ก็ผู้มีฤทธิ์นั้นไปด้วยตนเอง

หรือ หรือว่าส่งรูปนิรมิตไป ?" ท่านก็ตอบว่า "ทำได้ตามชอบใจ"

แต่ (ที่จริง) การไปด้วยตนเองแห่งผู้มีฤทธิ์นั้นนั่นแหละมาในปาฐะ

(ที่กล่าวถึงปาฏิหาริย์ไปพรหมโลก) นี้ ๔ คำว่า "มโนมัย" คือ

รูปนั้นชื่อว่ามโนมัย เพราะเป็นรูปที่ผู้มีฤทธิ์นิรมิตขึ้นด้วยใจอธิษฐาน

คำว่า "มีอินทรีย์ไม่พร่อง" นี้ ท่านกล่าวโดยความตั้งอยู่พร้อมแห่ง

องคาพยพมีตาหูเป็นต้น แต่ว่าประสาทในรูปนิรมิต ส่วน

ปวงมีคำว่า "ถ้าภิกษุผู้มีฤทธิ์จงกรม ภิกษุนิรมิตหามีไม่ คำทั้ง

โลกนั้นด้วย" เป็นต้น ท่านกล่าวหมายถึงพระสาวกนิรมิต ส่วน

พระพุทธนิรมิต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำกิจใด ๆ ก็ย่อมทำกิจนั้น ๆ

ด้วย ย่อมทำกิริยาอื่นอีก ตามพอพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ด้วย แล

ก็แล ในปาฏิหาริย์ (ใช้อำนาจด้วยกาย) นี้ กิริยาที่ผู้มีฤทธิ์

นั้นสถิตอยู่ในมนุษยโลกนี้นี่แหละ เห็นรูป (พรหม) ได้ด้วยทิพจักษุ

ได้ยินเสียง (พรหม) ได้ด้วยทิพโสตธาตุ รู้จิต (ของพรหม) ได้

๑. หมายความว่า ไปด้วยอทิสสมานกาย ก็คือไปแต่จิต กายไม่ได้ไป (?)

๒. มหาฎีกาว่าหมายถึงพระเถระชั้นอรรถกถาจารย์องค์หนึ่ง.

๓. มหาฎีกาว่าหมายถึงขณะเริ่มไป.

๔. ที่ว่าไปเอง ก็เพราะกล่าวว่า "ไปพรหมโลก" หาได้กล่าวว่าส่งรูปอะไรไปไม่.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 167

ด้วยเจโตปริยญาณ เพียงเท่านี้ยังไม่ชื่อว่าใช้อำนาจด้วยกาย แม้ข้อที่

ผู้มีฤทธิ์นั้นสถิตอยู่ในมนุษยโลกนี้นี่แหละ (แสดงกิริยาไป) ยืนด้วย

กัน ปราศรัยกัน สนทนา (ธรรม) กันกับพรหมนั้นได้ เพียงนั้น

ก็ยังไม่ชื่อว่าใช้อำนาจด้วยกาย ถึงการที่เธออธิษฐาน (ได้ต่าง ๆ)

มีอธิษฐานที่ไกลให้เป็นที่ใกล้ก็ได้เป็นต้น เพียงนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าใช้

อำนาจด้วยกาย แม้แต่การที่ผู้มีฤทธิ์นั้นไปพรหมโลกได้ด้วยทิสสมานกาย

ก็ดี ด้วยอทิสสมานกายก็ดี ถึงเพียงนี้ก็ยังไม่ชื่อว่าใช้อำนาจด้วยกาย

ส่วนการที่ผู้มีฤทธิ์นั้นมาถึงวิธี (แสดงฤทธิ์) ที่กล่าวไว้โดยนัยว่า

นิรมิตรูปขึ้นต่อหน้าพรหมนั้นได้เป็นต้น เพียงนี้จึงชื่อว่าใช้อำนาจด้วย

กาย๑ ส่วนวิธีที่เหลือ (ที่กล่าวมาข้างต้น) ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดง

บุพภาคแห่งการใช้อำนาจด้วยกายนั้นแล

นี่ อธิฏฺฐานาอิทฺธิ - ฤทธิ์อธิษฐาน

เป็นอันดับแรก

[วิกุพฺพนาอิทฺธิ - ฤทธิบิดเบือน]

ส่วน วิกุพฺพนาอิทฺธิ กับ มโนมยาอิทฺธิ๒ มีข้อแตกต่างกัน

ดังนี้

๑. เป็นอันได้ความว่า การนิรมิตรูปกายขึ้นพุดจากับพรหมได้ เป็นยอดปาฏิหาริย์ใน

ข้อนี้.

๒. อย่าลืมว่าท่านบอกไว้ข้างต้นแล้วว่า ในอิทธิวิธะนี้ได้แก่ อธิฏฺฐานาอิทฺธิ เท่านั้น

แต่มี วิกุพฺพาอิทฺธิ กับ มโนมยาอิทฺธิ ประกอบด้วย เพราะเป็นพวกสำเร็จด้วยอธิษฐาน

ด้วยกัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 168

ภิกษุผู้มีฤทธิ์เมื่อจะทำวิกุพพนฤทธิ์ก่อน ในรูปร่างทั้งหลายมี

ร่างเด็กหนุ่มเป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) อย่างนี้

ว่า "ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นละรูปร่างปกติเสีย แสดงเป็นร่างเด็กหนุ่ม หรือ

แสดงเป็นร่างนาค... ร่างครุฑ... ร่างอสูร หรือแสดงเป็นเพศพระ-

อินทร์... เพศเทวดา...เพศพรหม หรือแสดงเป็นรูปสมุทร์...รูป

ภูเขา หรือแสดงเป็นร่างสีหะ...ร่างเสือโคร่ง...ร่างเสือเหลือง แสดง

เป็น (พล) ช้างบ้าง แสดงเป็น (พล) ม้าบ้าง แสดงเป็น

(พล) รถบ้าง แสดงเป็น (พล) ทหารราบบ้าง แสดงเป็น

กระบวนทัพต่าง ๆ บ้าง *" ดังนี้ เธอจำนงรูปร่างใด ๆ ก็พึงอธิษฐาน

รูปร่างนั้น ๆ ขึ้น ก็แลเมื่ออธิษฐาน ออกจากฌานที่เป็นบทแห่ง

อภิญญาอันมีกสิณ ในบรรดากสิณมีปฐวีกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

เป็นอารมณ์แล้ว พึงนึกถึงซวดทรงเด็กหนุ่มของตนเข้า ครั้นแล้วใน

ที่สุดแห่งบริกรรม พึงเข้าฌานอีก ออกแล้วจึงอธิษฐานว่า "เราจงเป็น

เด็กหนุ่มมีรูปอย่างนี้เถิด" พร้อมกับจิตอธิษฐาน เธอก็เป็นเด็กหนุ่ม

ไป ดังพระเทวทัตเป็นฉะนั้น ในบททั้งปวง (มีนาควณฺณํ ทสฺเสติ

-แสดงเป็นร่างนาคเป็นต้น) ก็นัยนี้ ส่วนบทว่า "หตฺถิมปิ

ทสฺเสติ - แสดงเป็น (พล) ช้างบ้าง " ในบาลีนั้น ท่านกล่าวโดยว่า

* ขุ. ป. ๓๑/๕๙๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 169

แสดงเป็น (พล) ช้างเป็นต้นขึ้นในภายานอกบ้าง๑ ในการแสดง

ภายนอกนั้น เธอไม่อธิษฐานว่า "หตฺถี โหมิ - เราจงเป็นช้าง"

(แต่) พึงอธิษฐานว่า "หตฺถี โหตุ-ช้างจงเป็นขึ้น" นับแม้ใน

(การอธิษฐานเป็น) ม้าเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้แล

นี่ วิกุพฺพนาอิทฺธิ - ฤทธิบิดเบือน

[มโนมยาอิทฺธิ - ฤทธิมโนมัย]

ส่วนภิกษุผู้ใคร่จะทำมโนนัยฤทธิ์ ออกจากฌานที่เป็นบาทแล้ว

ชั้นแรกก็นึกถึงกายแล้วอธิษฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแลว่า "กาย

จงเป็นโพรง" มันก็เป็นโพรงไป ครั้นแล้วนึกถึงกายอื่น (อีก

กายหนึ่งซ้อนขึ้น) ในภายในภายนั้น ทำบริกรรมไปแล้ว อธิษฐาน

โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละว่า "กายอื่น (อีกกายหนึ่ง) จงมีขึ้นใน

กายนั้น " เธอก็ชัก๒กายนั้นออกมาได้ ดังชักไส้ (หญ้า) ออกจาก

๑. มหาฎีกาให้อรรถาธิบายว่า ข้อต้น ๆ ที่ประกอบวาศัพท์ หมายถึงบิดเบือนรูปร่างตน

ให้เป็นรูปร่างอะไรต่าง ๆ แต่ละอย่าง ส่วน ๕ ข้อหลังที่ประกอบปิศัทพ์ หมายถึงบิด

เบือนรูปร่างตนให้เป็นช้าง... อย่าข้อต้น ๆก็ได้ แสดงให้เป็นช้าง...ขึ้นนอกตัวก็ได้

แต่ลางอาจารย์ก็ค้านว่า ที่ว่าแสดงเป็นช้าง...ขึ้นนอกตัวนั้นผิดลักษณะวิกุพพนฤทธิ์ที่

กล่าวว่า ละรูปร่างปกติของตนแล้วแสดงเป็นรูปร่างต่าง ๆ ขึ้น คำค้านของเกจิอาจารย์

นี้ไม่ชอบ เพราะอะไร เพราะการไม่แสดงรูปร่างปกติของตนให้คนอื่นเห็น ก็นับเป็น

ละรูปร่างปกติของตนได้ ไม่ใช่ต้องทำให้รูปร่างปกตินั้นหายให้คนอื่นเห็น ก็นับเป็น

๒. ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น อพฺภาหติ เข้าใจว่าพิรุธ ที่ถูกจะเป็น อุพฺพานติ

(อุ. วห).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 170

หญ้าปล้อง ดังชักดาบออกจากฝัก และดังชักงูออกจากคราบ* ฉะนั้น

เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า "ภิกษุใน

ธรรมวินัยนี้นิรมิตกายอื่นขึ้น (อีกกายหนึ่ง) จากกายนี้ให้เป็นกายมี

รูปมโนมัย มีอวัยวะใหญ่น้อยครบ มีอินทรีย์ไม่พร่องได้ เปรียบ

เหมือนบุรุษพึงซักไส้ (หญ้า) ออกจากหญ้าปล้อง ความรู้อย่างนี้ก็พึง

มีแก่บุรุษผู้นั้นเองว่า "นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้มัน หญ้าปล้องก็อันหนึ่ง

ไส้มันก็อันหนึ่ง แต่ว่าไส้มันเราก็ชักออกมาจากหญ้าปล้องนั่นเอง"

ดังนี้เป็นต้น ก็อุปมาในบาลีนี้นั้นท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า "ไส้

(หญ้า) เป็นต้น ย่อม (มีรูปร่าง) เป็นเช่นเดียวกันกับหญ้าปล้อง

เป็นต้นฉันใด รูปมโนมัยก็ (มีรูปร่าง) เป็นเช่นเดียวกันกับผู้ฤทธิ์

เหมือนกันฉันนั้นแล

นี่ มโนมยาอิทฺธิ - ฤทธิ์มโนนัย

ปริเฉทที่ ๑๒ ชื่ออิทธิวิธนิเทศ

ในปกรณ์วิเศษชื่อว่าวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดั่งนี้

* กรณฺฑาย มหาฎีกาแก้ไว้ว่า เปฬาย แปลว่า จากหีบ แล้วก็บอกไว้อีกว่า "นิมฺ-

โมกโตติ จ วทนฺติ - อนึ่ง แปลกันว่า "คราบ" ก็มี" ในที่นี้เห็นว่าแปลว่า "คราบ"

สนิทกว่า.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 171

อภิญญานิเทศ

ทิพพโสตธาตุกถา

บัดนี้ ลำดับนิเทศแห่งทิพพโสตธาตุมาถึงแล้ว อรรถแห่งบาลี

(อภิญญา) มีคำว่า "โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต - ภิกษุนั้น ครั้นจิต

เป็นสมาธิ ... อย่างนี้แล้ว " เป็นต้น ในทิพพโสตธาตุนิเทศนั้นก็ดี

ในอภิญญา ๓ ต่อนั้นไปก็ดี๑ พึงทราบโดยนับที่กล่าวแล้ว (ในตอน

ต้นอิทธินิเทศ) เถิด ข้าพเจ้าจักพรรณนาแต่คำที่แปลกกันเท่านั้น

ในอภิญญาทั้งปวง

[อรรถาธิบายศัพท์บาลีทิพพโสต]

ในบาลี (ทิพพโสต) นั้น พึงทราบอรรถาธิบาย ในคำว่า

"ทิพฺพาย โสตธาตุยา - เพื่อโสตธาตุอันเป็นทิพย์" นี้ โสตธาตุ

นั้น ชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะเป็นเช่นของทิพย์ จริงอยู่ จริงอยู่ ธาตุคือ

ประสาทหูของเทวดาทั้งหลาย เป็นธรรมชาติที่เกิดด้วยสุจริตกรรม อัน

โทษทั้งหลาย มีน้ำดี เสมหะ และโลหิตเป็นต้น ไม่ขัดขวาง สามารถ

รับอารมณ์แม้ในที่ไกลได้ เพราะพ้นจากโทษเครื่องขุนมัว จึงเป็นทิพย์

แม้ธาตุคือญาณโสต (ประสาทหูอันสำเร็จด้วยญาณ) อันเกิดด้วยกำลัง

แห่งวิริยภาวนา๒ของภิกษุนี้นี่เล่า ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุ

๑. โปรดนึกทบทวนว่าโลกิยอภิญญานั้นมี ๕ อธิบายมาแล้ว ๑ คืออิทธิวิธี ทิพโสต

นี้เป็นที่ ๒ จึงเหลืออีก ๓

๒. วิริยภาวนา ถ้าให้เราแปลก็คงแปลว่า "การบำเพ็ญเพียร" ง่าย ๆ เท่านั้นเอง แต่

มหาฎีกาท่านไม่ง่าย ท่านแก้ไว้ว่า กุศลภาวนาทั้งปวง เรียกว่าวิริยาภาวนา เพราะสำเร็จ

ด้วยอำนาจวิริยารัมภะทั้งนั้น แต่เมื่อว่าโดยพิเศษ ในที่นี้ก็ได้แก่อิทธิบาทภาวนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 172

นั้น จึงว่าเป็นทิพย์ เพราะเป็นเช่นของทิพย์ อีกนับหนึ่งชื่อว่าเป็น

ทิพย์ เพราะได้มาเฉพาะด้วยอำนาจทิพยวิหาร (คือฌานที่เป็นบาท)

และเพราะอิงอาศัยทิพยวิหารของตน (คืออาศัยทิพยวิหารเป็นนิสสย-

ปัจจัย) บ้าง

ธรรมชาตินั้นชื่อว่า โสตธาตุ เพราะอรรถว่าได้ยิน และเพราะ

อรรถว่ามิใช่ชีวะ (เป็นแต่ธาตุ) อนึ่ง ชื่อว่า โสตธาตุ เพราะเป็น

เหมือนธาตุหู เหตุทีกิจแห่งธาตุหูดังนี้บ้าง (ความหมายแห่งบาลีที่ว่า

ทิพฺพาย โสตธาตุยา นั้นก็คือ) เพื่อโสตธาตุอันเป็นทิพย์นั้น

บทว่า "วิสุทฺธาย - หมดจด" คือสะอาด ปราศจากโทษเครื่อง

ขุ่นมัว บทว่า "อติกฺกนฺตนมานุสิกาย ล่วงโสตธาตุที่เป็นของมนุษย์"

ความว่าล่วง คือล้ำธาตุหูเนื้ออันเป็นของมนุษย์ไป โดยได้ยินเสียงเลย

อุปจารของมนุษย์ไป คำว่า "อุฏภ สทฺเท สุณาติ" แปลว่า

ได้ยินเสียงทั้งสอง เสียงสองคืออะไรบ้าง คือเสียงทิพย์ด้วย เสียง

มนุษย์ด้วย อธิบายว่า เสียงของเทวดาทั้งหลายและของคนทั้งหลาย

ด้วย ด้วยคำ (อุโส สทฺเท) นี้ พึงทราบว่าเป็นการกำหนดคือ

เอา (เสียง) เป็นลางแห่ง (คือเพียงเสียงเทวดาและเสียงคน) คำว่า

"เย ทูเร สนฺติเก จ" อธิบายว่า เสียงเหล่าใดในที่ไกล แม้ใน

จักรวาฬอื่น และเสียงเหล่าใดในที่ใกล้ โดยที่สุดแม้เสียงสัตว์ที่

อาศัยอยู่ในร่างกายของตน ก็ได้ยินเสียงเหล่านั้น ด้วยคำ (เย ทูเร

สนฺติเก จ ) นี้ พึงทราบว่าเป็นการกำหนดถือเอา (เสียง) ไม่มีเขต

แดน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 173

[วิธีทำทิพยโสต]

ปุจฉาว่า "ก็ทิพยโสตธาตุนี้ พระโยคาวจรภิกษุจะพึงให้เกิดขึ้น

ได้อย่างไร ?" วิสัชนาว่า ภิกษุนั้นเข้าฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา

ออกแล้วพึงอาวัชนาการถึงเสียงสัตว์มีสีหะเป็นต้นในป่า อันเป็นเสียง

หยาบ ในระยะไกลขนาดโสตวิสัยปกติเข้าก่อนอื่น ด้วยสมาธิจิตส่วนที่

เป็นบริกรรม (แห่งทิพพโสตญาณ) (ต่อนั้น) พึงอาวัชนาการถึง

เสียงที่ละเอียด ๆ เข้าตามลำดับ จับแต่เสียงที่หยาบกว่าเพื่อนดังนี้คือ

เสียงระฆังในวิหาร เสียงกลอง เสียงสังข์ เสียงสวดของสามเณรและ

ภิกษุหนุ่มผู้สวดเต็มแรง เสียง (ถามกัน) ว่า "อะไรท่าน อะไรคุณ"

เป็นต้น ของภิกษุสามเณรเหล่านั้นผู้พูดกันอยู่เป็นปกติ เสียงนก เสียง

ลม เสียงเท้า เสียงฉี่ ๆ ของน้ำเดือด เสียงใบตาลแห้งกรอบในแดด

เสียงแมลงมีมดดำมดแดงเป็นต้น ภิกษุนั้นพึงมนสิการถึงสัททนิมิต*

แห่งเสียงทั้งหลาย ในทิศตะวันออก พึงมนสิการถึงสัททนิมิตแห่งเสียง

ทั้งหลายในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ...ทิศตะวันตกเฉียงใต้...ทิศตะวันตก

เฉียงเหนือ...ทิศตะวันออกเฉียงใต้ พึงมนสิการถึงสัททนิมิตแห่งเสียง

ทั้งหลาย ทั้งหยาบทั้งละเอียด เสียงเหล่านั้นย่อมปรากฏ(ชัด) แก่เธอ

ผู้แม้มีจิตเป็นไปตามปกติ แต่มันย่อมจะปรากฏ (ชัด) อย่างยิ่งแก่เธอ

ผู้มีสมาธิจิตในบริกรรม

* มหาฎีกาว่า เสียงนั่นเอง ท่านเรียกว่า สัททนิมิต เพราะเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งญาณ

หรือมิฉะนั้นก็หมายถึงอาการหยาบละเอียดแห่งเสียงทั้งหลายตามที่กล่าวมา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 174

เมื่อเธอมนสิการถึงสัททนิมิตอยู่นั่นแล มโนทวาราวัชชนะ ทำ

เสียงเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นว่า "ทิพพโสต-

ธาตุจักเกิดขึ้นในบัดนี้" ครั้นมโนวาราวัชชนะนั้นดับแล้ว ชวนะ

๔ หรือ ๕ ดวง ย่อมแล่นไป ซึ่งบรรดาชวนะเหล่านั้น ๓ หรือ ๔

ดวงแรก เป็นกามาวจร มีชื่อว่าบริกรรม อุปจาร อนุโลม และ

โคตรภู ดวงที่ ๔ หรือดวงที่ ๕ เป็นอัปปนาจิตรูปาวจรชั้นจตุตถฌาน

ในชวนะนั้น ญาณใดที่เกิดขึ้นพร้อมกับอัปปนาจิตนั้น ธาตุคือญาณ

นี้พึงทราบว่าชื่อทิพพโสตธาตุ ต่อนั้นไป ทิพพโสตธาตุนั้นก็ตกเข้าไป

(คือนับเข้า) ใน (ญาณ) โสต (ประสาทหูอันสำเร็จด้วยญาณ) นั้น*

พระโยคาวจรภิกษุเมื่อจะทำทิพพโสตธาตุนั้นให้เป็นกำลัง (แรง

กล้า) ขึ้น พึงขยาย (อารมณ์แห่งปาทกฌาน คือกสิณนิมิต) กำหนด

เอาเพียง ๑ องคุลี (ก่อน) ด้วยตั้งใจว่า "เราจะฟังเสียงในระหว่าง

โอกาสนี้" แต่นั้นพึงขยาย (โดย) กำหนด ๆ ออกไปตาม (ลำดับ)

ขนาดที่เช่น ๒ นิ้ว ๔ นิ้ว ๘ นิ้ว คืบหนึ่ง ศอกหนึ่ง ภายในห้อง

หน้ามุข ปราสาท บริเวณ (เขตสังฆาวาส ?) สังฆาราม (วัด)

โคจรคาม (หมู่บ้างที่บิณฑบาต) และชนบท (หัวเมือง ?) ไป

จนกระทั่งจักรวาฬหนึ่ง หรือแม้ยิ่งไปกว่านั้น ภิกษุผู้มีอภิญญาอันได้

บรรลุแล้วอย่างนี้นั้น ย่อมได้ยินเสียงที่ (แล่น) ไปภายในโอกาสที่

อารมณ์แห่งปาทฌาน (แผ่ไป) ถูกต้องเข้าได้โดยแท้ และเมื่อได้ยิน

อย่างนั้นเล่า ถ้าแม้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวด้วยเสียงเครื่องประโคมมี

* มหาฎีกาเสริมความตรงนี้ว่า จำเดิมแต่อัปปนาจิตเกิดขึ้น ภิกษุนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ได้

ทิพพโสตญาณ ไม่ต้องการที่จะประกอบภาวนายิ่งขึ้นไป เพื่อให้ได้ทิพพโสตนนั้นอีกแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 175

สังข์กลองและบัณเฑาะว์เป็นต้น (ดังขึ้นไป) กระทั่งถึงพรหมโลกก็ดี

เมื่อความเป็นผู้ใคร่จะกำหนดแยก (เสียง) มีอยู่ เธอยังอาจกำหนด

(แยก) ว่า นี่เสียงสังข์ นี่เสียงกลอง เป็นต้นได้เสียด้วยแล

ทิพพโสตธาตุกถา จบ

เจโตปริยญาณกถา

[อรรถาธิบายศัพท์บาลีเจโตปริยญาณ]

ในบทว่า "เจโตปริยญาณาย - เพื่อเจโตปริญาณ" นี้ ใน

ในเจโตปริยญาณกถา มีอรรถาธิบายว่า ญาณชื่อปริยะ เพราะไปรอบ

หมายความว่ากำหนดได้ ญาณอันกำหนดได้ซึ่งใจ (ของผู้อื่น) ชื่อเจโต-

ปริยะ ญาณนั้นด้วย กำหนดได้ซึ่งใจ (ของผู้อื่น) ด้วย เหตุนั้นจึงชื่อ

เจโตปริยญาณ (ญาณอันกำหนดใจของผู้อื่นได้) (บทว่า เจโตปริย-

ญาณาย) มีอธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่เจโตปริยญาณนั้น บทว่า

ป_____________รสตฺตานํ ของสัตว์อื่น " คือของสัตว์ที่เหลือทั้งหลายเว้นตนเสีย แม้

บทว่า "ปรปุคฺคลานํ - ของบุคคลอื่น " นี้ ก็มีความเป็นอันเดียวกับบท

นี้แล แต่ทรงทำพยัญชนะต่างกันไป ตามประเภทแห่งเวไนย และโดย

เทสนาวิลาส (ทำนองการแสดงที่ไพเราะ ?) คำว่า "เจตสา เจโต"

คือซึ่งจิตของสัตว์อื่นบุคคลอื่นเหล่านั้น ด้วยจิตของตน บทว่า

"ปริจฺจ" แปลว่ากำหนด บทว่า "ปชานาติ" คือรู้โดยประการต่างๆ

โดยประการแห่งจิตทั้งหลาย มีจิตมีราคะเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 176

[วิธีทำเจโตปริยญาณ]

ปุจฉาว่า "ก็ญาณนี้ พระโยคาวจรภิกษุจะพึงให้เกิดขึ้นได้

อย่างไร ? วิสัชนาว่า เพราะว่าญาณนี้ย่อมสำเร็จด้วยอำนาจทิพพจักขุ-

(ญาณ) ทิพพจักขุญาณนั้นจึง (เท่ากับ) เป็นบริกรรมแห่งญาณนี้นั่น

เอง เพราะเหตุนั้น ภิกษุ (ผู้ได้ทิพพจักขุญาณแล้ว ใคร่จะทำเจโต

ปริยญาณนี้ให้เกิดขึ้น) นั้น พึงเจริญอาโลกกสิณสอบสวนดูจิต (โดย)

ดูสีของโลหิตที่อาศัยหทัยรูปของคนอื่นเป็นไปอยู่ด้วยทิพยจักษุ ก็โส-

มนัสจิตเป็นไปในกาลใด ในกาลนั้น โลหิตก็สีดำ เช่นกับผลไทรสุก

โทมนัสจิตเป็นไปในกาลใด ในกาลนั้น โลหิตก็สีดำ เช่นกับผลหว้า

สุก อุเบกขาจิตเป็นไปในกาลใด ในกาลนั้น โลหิตก็ใส เช่นกับ

น้ำมันงา๑ เพราะฉะนั้น เธอผู้สอบสวน (จิต) อยู่ (โดย) ดูสีของ

โลหิตในหทัยของคนอื่นว่า "รูปนี้มีโสมนัสสินทรีย์เป็นสมุฏฐาน รูป

นี้มีโทมนัสสินทรีย์เป็นสมุฏฐาน รูปนี้มีอุเปกขินทรีย์เป็นสมุฏฐาน"

จะพึงทำเจโตปริยญาณให้ถึงความแรงกล้าได้ ด้วยว่าเมื่อเจโตปริย-

ญาณนั้น ถึงความแรงกล้าอย่างนั้นแล้ว ๒ เธอย่อยรู้ซึ่งกามาวจรจิต

และรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต ทั้งหมดได้โดยลำดับ ก้าวจากจิตสู้จิต

ได้ทีเดียว แม้เว้นจากการดูหทัยรูปเสียก็ดี ๓ จริงอยู่ แม้ในอรรถกา

๑. ถ้าโลหิตถึงใสดังน้ำมันงาแล้ว จะอยู่ได้อย่างไร เพียงแต่โลหิตจาง ก็ต้องเยียวยา

กันเป็นการใหญ่แล้ว

๒. ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น ถามคเตหิ นั้นพิรุธ ที่ถูกเป็น ถามคเต หิ

คือไม่ต้องไปหัดดูสีเลือดในหัวใจใครอีก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 177

ก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า "ถามว่า โยคาวจรภิกษุผู้ใคร่จะรู้จิตของผู้อื่นใน

ชั้นอรูปภพ จะเห็นหทัยรูปของใคร จะดูความผันแปรแห่งอินทรีย์ของ

ใคร" แก้ว่า "ไม่ (ต้อง) ดูของใคร ๆ ข้อที่อาวัชนาการถึงจิต

(ของผู้อื่น) ในภพใดภพหนึ่ง (ที่เป็นปัญจโวการ หรือจตุโวการ)

ไป ย่อมรู้จิต ๑๖ ประเภทได้ นั่นเป็นวิสัยของภิกษุผู้มีฤทธิ์ (อยู่แล้ว)

ส่วนกถา (กล่าวถึงการทำบริกรรม เริ่มแต่เจริญอาโลกกสิณไปเป็น

อาทิ) นี้ (นั้น) กล่าวสำหรับภิกษุผู้ยังมิได้ทำอภินิเวส (คือความลงมือ

ทำจริงจังในการบำเพ็ญอภิญญา)*"

[อธิบายจิต ๑๖ ประเภท]

ส่วนในปาฐะมี "สราคํ วา จิตฺตํ - จิตมีราคะ...หรือ" เป็น

อาทิ มีอรรถกาธิบายว่า จิตที่สหรคตกับโลภะ ๘ ดวง พึงทราบว่าชื่อ

สราคจิต (จิตมีราคะ) จิตที่เหลือ คือจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต

เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อวีตรคจิต (จิตปราศจากราคะ) ส่วนจิต ๔

ดวงนี้ คือ โทมนัสจิต ๒ วิกิจฉาจิตและอุทธัจจจิต ๒ ไม่ถึงซึ่งการ

สงเคราะห์ (คือรวมเข้า) ในทุกะนี้ แต่พระเถระลางเหล่าก็สงเคราะห์

จิตทั้ง ๔ นั้นเข้าด้วย

ส่วนโทมนัสจิต ๒ ชื่อว่า สโทสจิต (จิตมีโทสะ) จิตที่เป็น

กุศลและอัพยากฤตเป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งปวง ชื่อว่า วีตโทสจิต (จิต

ปราศจากโทสะ) จิตที่เหลือทั้งหลาย คืออกุศลจิต ๑๐ ไม่ถึงซึ่งการ

* โดยมากที่ท่านใช้ศัพท์ อาทิกัมมิกะ (ผู้แรกทำ) ในที่นี้ท่านยักโวหารใช้ อกตาภินิเวส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 178

สงเคราะห์เข้าในทุกะนี้ แต่พระเถระลางเหล่าก็สงเคราะห์อกุศลจิต

๑๐ นั้นเข้าด้วย

ส่วนในทุกะ คือ "สโมหํ วีตโมหํ" นี้ (ว่า) โดยปาฏิปุคคลิก-

นัย (นัยเฉพาะตน ไม่ปนเจือ คือเป็นโมหะแท้ ไม่เจือด้วยโลภะโทสะ

ก็จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ ๒ ดวงเท่านั้น ชื่อว่าสโมหจิต

(จิตมีโมหะ) แต่แม้อกุศลจิต ๑๒ ดวง ก็พึงทราบว่าเป็นสโมหจิต

ด้วย เพราะโมหะมีอยู่ในอกุศลทั้งปวง จิตที่เหลือชื่อวีตโมหจิต (จิต

ปราศจากโมหะ)

ส่วนจิตที่ (ตก) ไปตามถีนมิทธ ชื่อว่า สังขิตตจิต (จิตหดหู่)

จิตที่ (ตก) ไปตามอุทธัจจะ ชื่อว่า วิกขิตตจิต (จิตฟุ้งซ่าน)

จิตที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร ชื่อว่า มหัคคตจิต (จิตถึงความ

เป็นใหญ่ด้วยสามารถข่มกิเลสได้) จิตที่เหลือ (คือที่เป็นกามาวจร ?)

ชื่ออมหัคคตจิต (จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่)

จิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด ชื่อสอุตตรจิต (จิตมีธรรมที่ยิ่ง

กว่า) จิตที่เป็นโลกุตตระ ชื่ออนุตตรจิต (จิตไม่มีธรรมที่ยิ่งกว่า)

จิตที่ถึงอุปจาร และที่ถึงอัปปนาด้วย ชื่อว่าสมาหิตจิต (จิตเป็น

สมาธิ) จิตที่ไม่ถึงทั้งสองอย่าง ชื่ออสมาหิตจิต (จิตไม่เป็นที่ยิ่งกว่า)

จิตที่ถึงตทังควิมุติ วิกขัมภนวิมุติ สมุจเฉทวิมุติ ปฏิปัสสัทธิ-

วิมุติปละนิสสรณวิมุติ พึงทราบว่าชื่อวิมุตจิต (จิตพ้น) จิตที่ยังไม่ถึง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 179

วิมุติทั้ง ๕ อย่างนั้น ชื่อว่าวิมุตจิต (จิตยังไม่พ้น)*

ภิกษุผู้ได้เจตโตปริญาณ ย่อมรู้จิตทุกประการว่า "จิตนี้เป็นจิตมี

ราคะหรือ ฯลฯ หรือว่าเป็นจิตยังไม่พ้น" ด้วยประการฉะนี้แล

เจโตปริยญาณกถา จบ

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา

[อรรถาธิบายศัพท์บาลีในญาณนี้]

ในปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา มีอรรถาธิบายว่า บทว่า "ปุพฺเพ-

นิวาสานุสฺสติญาณาย - เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือญาณใด

(จะพึงเป็นไป) ในปุพเพนิวาสานุสสติ เพื่อประโยชน์แก่ญาณนั้น คำ

ว่า "ปุพฺเพนิวาส" หมายถึงขันธ์ที่ตนอาศัยอยู่ในปางก่อน คือในชาติ

ที่ล่วงแล้วทั้งหลาย คำว่า "นิวุฏฺฐ - ที่ตนอาศัยอยู่ " หมายความว่าที่

ตนครอบครองมา ที่ตนเสวยมา ที่มันเกิดดับอยู่ในสันดานของตนมา

* จิต ๘ คู่นี้ เป็นอย่างเดียวกันกับที่กล่าวในจิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน ซึ่งในที่นั้นท่าน

ให้พิจารณารู้จิตของตนเอง ตามที่มันเป็นอย่างไร แต่ในที่นี้เป็นการรู้จิตของคนอื่นที่

เป็นเช่นนั้น

ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า จิตเหล่านี้เป็นโลกิยจิตทั้งนั้น เช่น สอุตตรจิต

ท่านก็ว่าได้แก่กามาวจร อนุตตรจิต ได้แก่รูปาณุปาวจร วิมุตจิต ก็หมายเพียง ตทังค-

วิมุต และวิกขัมภนวิมุต แต่ที่นี่แก้ถึงโลกุตระก็มี เช่นอนุตตรจิต ว่าได้แกโลกุตตรจิต

วิมุตจิต ก็แก่ถึงสมุจเฉท...

ก็น่าคิดอยู่ว่า อภิญญา ๕ นี้ เป็นโลกิยอภิญญา ผู้ได้เจโตปริยญาณนี้ก็ยังไม่ได้บรรลุ

มรรคผล จะไปรู้โลกุตตรจิตได้อย่างไร ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 180

อีกนัยหนึ่ง นิวุฏฐธรรม (เรื่องหรืออาการต่าง ๆ ที่อาศัยขันธ์ เช่น

กำเนิด ชื่อ โคตร เพศ ผิวพรรณ ?) ทั้งหลาย ก็ชื่อนิวุฏฐ๑ หมาย

ความว่าเป็นสิ่งที่อาศัยอยู่โดยเป็นโคจร (คือ เป็นอารมณ์สำหรับระลึก)

กำหนดรู้ได้ด้วยวิญญาณ (ความรู้) ของตน อนึ่ง แม้ที่กำหนดรู้

ด้วยวิญญาณ (ความรู้) ของท่านผู้อื่น ก็ชื่อ นิวุฏฐะ พึงเห็นในการ

ระลึกถึงท่านผู้เป็นฉินนวัฏฏุมกะ (ผู้ตัดวัฏฏสงสาร คือปริพพานแล้ว)

นิวุฏฐธรรมเหล่านั้น ย่อมมีได้แต่พระพุทธทั้งหลายเท่านั้น ๒

คำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ คือภิกษุระลึกปุพเพนิวาสได้ด้วยสติ

ใด สตินั้นชื่อว่าปุพเพนิวาสานุสสติ คำว่าญาณ หมายเอาญาณที่

สัมปยุตกับสตินั้น

เพื่อประโยชน์แก่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้ ชื่อ

ว่า "เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ๓" มีอธิบายว่า "เพื่อบรรลุถึงซึ่งญาณ

นั้น"

บทว่า อเนกวิหิตํ แปลว่า มิใช่อย่างเดียว อีกนัยหนึ่งความว่า

ให้เป็นไปคือพรรณนาได้โดยประการเป็นอันมาก บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ

ได้แก่ (ขันธ) สันดานที่อาศัยมาในภพนั้น ๆ ตั้งต้นแต่ภพที่เป็นอดีต

ใกล้ที่สุด๔ บทว่า อนุสฺสรติ คือระลึก (ย้อน) ตามไป ๆ โดย

๑. ถ้าแปลอย่างนี้เป็นถูก เครื่องหมายหัวตาปูที่ นิวุฏฺฐธมฺมา วา ก็เกิน

๒. นิวุฏฐธรรม ที่กำหนดรู้ด้วยวิญญาณของท่านผู้อื่น เช่นประวัติของพระอดีตพุทธ

ทั้งหลาบ ซึ่งพระพุทธเจ้าด้วยกัน ทรงระลึกกำหนดรู้แล้วตรัสเล่าไว้ ทั้งท่านเจ้าของ

ประวัติและท่านผู้กำหนดรู้ ต่างก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุไปหมดแล้ว (?)

๓. ถ้าแปลอย่างนี้เป็นถูก เครื่องหมายหัวตาปูที่ อตฺถาย ก็เกิน

๔. หมายถึงภพที่ล่วงมานี่เอง นับเป็น ๑ แล้วระลึกย้อนไป ๒-๓-๔-๕ ฯลฯ โดย

ลำดับจนเป็นกัป ๆ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 181

ลำดับแห่งขันธ์ หรือว่าโดยจุติปฏิสนธิ

[บุคคลผู้ระลึกปุพเพนิวาสได้ ๖ ประเภท]

ก็ชน ๖ ประเภท ย่อมระลึกปุพเพนิวาสนี้ได้ คือเดียรถีย์ทั้งหลาย

พระปกติสากทั้งหลาย พระมหาสาวกทั้งหลาย พระอัครสาวกทั้งหลาย

พระปัจเจกพุทธทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

[ระยะกาลต่างกัน]

ในชน ๖ ประเภทนั้น เดียรถีย์ทั้งหลาย ระลึกได้เพียง ๔๐ กัป

ไม่ยิ่งกว่านั้น* เพราะอะไร เพราะมีปัญญาอ่อน จริงอยู่ ปัญญา

ของเดียรถีย์เหล่านั้น จัดว่าเป็นปัญญาอ่อน เพราะปราศจากการกำหนด

นามรูป พระปกติสาวก ระลึกได้ ๑๐๐ กัปก็มี ๑,๐๐๐ กัปก็มี

ทีเดียว เพราะเป็นผู้มีปัญญากล้า พระอสีติมหาสาวก ระลึกได้แสน

กัป พระอัครสาวกทั้งสองระลึกได้หนึ่งอสงไขยกับแสนกัป พระ-

ปัจเจกพุทธระลึกได้สองอสงไขยกับแสนกัป เพราะว่าอภินิหารของ

ท่านเหล่านั้นมีเท่านี้ แต่สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายหามีกำหนด

(กาล) ไม่

[ความสามารถในการระลึกต่างกัน]

อนึ่ง เดียรถีย์ทั้งหลาย ระลึกได้แต่ลำดับขันธ์ ไม่อาจปล่อย

ลำดับ มาระลึกโดยจุติปฏิสนธิได้ เพราะการก้าวลง (ด้วยญาณ)

* มหาฎีกาว่า เดียรถีย์ในที่นี้ หมายเอาจำพวกที่เป็นกรรมวาที กิริยาวาที มีพวกดาบส

เป็นต้น และว่าเรื่องเดียรถีย์ระลึกได้ ๔๐ กัปนี้ มีอาคตสถานในพระสูตรมีพรหมชาลสูตร

เป็นอาทิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 182

ตรงที่ ๆ ต้องประสงค์ ย่อมไม่มีแก่เดียรถีย์เหล่านั้นผู้เป็นดังคน

ตาบอด อนึ่ง คนตาบอดทั้งหลาย ไม่ปล่อยไม้เท้าเที่ยวจึงเดินไปได้

ฉันใด เดียรถีย์เหล่านั้นก็ไม่ปล่อยลำดับแห่งขันธ์เทียว จึงระลึกไปได้

ฉันนั้น พระปกติสาวกทั้งหลาย ระลึกโดยลำดังขันธบ้าง (ระลึก)

ก้าวไปโดยจุติปฏิสนธิบ้าง พระอสิติมหาสาวกก็อย่างนั้น แต่สำหรับ

พระอัครสาวกทั้งสอง กิจด้วย (ระลึกตาม) ลำดับขันธ์หามีไม่ ท่าน

(ระลึก) ก้าวไปโดยจุติปฏิสนธิทีเดียว ดังนี้คือ เห็นจุติแห่งอัตภาพ

หนึ่งแล้วก็เห็นปฏิสนธิ (ในอัตภาพอื่นต่อไป) อีก๑... พระปัจเจกพุทธ

ทั้งหลายก็เช่นนั้น แต่สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กิจด้วย (ระลึก

ตาม) ลำดับขันธ์ไม่มีเลย กิจด้วย (ระลึก) ก้าวไปโดยจุติปฏิสนธิก็ไม่มี

แท้จริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระประสงค์ (จะทรงทราบ) ตรงที่ใด ๆ

ในเบื้องต่ำหรือในเบื้องบนก็ตาม ใน (กาล) หลายโกฏิกัป ที่นั้น ๆ

ก็ย่อมปรากฏแด่พระองค์โดยแท้ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นั้น จึง (เท่ากับ) ทรงย่นกัปหลาย ๆ โกฏิเข้าดังเปยยาลบาลี (บาลี

ที่ละไว้ด้วยไปยาล) แล้ว ทรงพระประสงค์ (จะทรงทราบ) ตรงที่ใด ๆ

(ในกัปใดในภพใด) ก็ก้าว (เจาะ) ลง (ด้วยพระญาณ) ในที่นั้น ๆ

๑. โดยลำดับขันธ์ คือระลึกยึดเอารายละเอียดความเป็นไปแห่งขันธ์ ตั้งแต่เกิดจาตาย

ไปในชาติหนึ่ง ๆ โดยลำดับ ส่วนว่าโดยจุติปฏิสนธินั้น ระลึกเห็นจุติในชาตินั้น ๆ แล้ว

ก้าวข้ามรายละเอียด ความเป็นไปในระหว่างเสีย ไปดูปฏิสนธิทีเดียว คือดูแต่ตอนจุติ

ปฏิสนธิ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ดูว่าตายจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในอัตภาพไหนเช่นนั้นไป

เรื่อย ๆ รายละเอียดความเป็นในระหว่างตายเกิดไม่ดู คล้ายกับว่าคนตาดีก็ก้าว

ฉับ ๆ ไปตามสบาย ไม่ต้องสักไม้เท้าเดินคลำไปอย่างคนตาบอด (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 183

(ในกัปนั้นในภพนั้น) ทีเดียว ทรงดำเนิน (พระญาณ) ไปได้

(อย่างแม่นยำ) โดยอาการดังราชสีห์ปบ (สัตว์)* ก็และเมื่อทรง

ดำเนิน (พระญาณ) ไปอย่างนั้น พระญาณของพระองค์ย่อมไม่ติดขัด

อยู่ในชาติระหว่าง ๆ ย่อมไม่ผิดพลาด (ที่หมาย) เมื่อไม่ติดขัดไม่

ผิดพลาด ก็ย่อมทรงจับเอาที่ ๆ ต้องพระประสงค์ได้แท้ เปรียบ

เหมือนลูกศรที่นายขมังธนูผู้ทำความช่ำชองในการยิงขนทรายมาแล้วเช่น

สรภังคโพธิสัตว์ ยิงออกไป ไม่ติดอยู่เสียในต้นไม้และเครือเถาเป็นต้น

ในระหว่าง ย่อมตกถูกเป้าไม่ติดไม่ผิด ฉะนั้น

[เทียบอานุภาพแห่งญาณ]

ก็และในชนผู้ระลึกปูพเพนิวาสได้เหล่านี้ความเห็นปุพเพนิวาสแห่ง

เดียรถีย์ทั้งหลาย ปรากฏเป็นเช่นกับแสงหิงห้อย ...แห่งพระปกติ-

สาวกทั้งหลาย ... เช่นกับแสงตะเกียง ... แห่งพระมหาสาวกทั้งหลาย

...เช่นกับแสงคบเพลิง ...แห่งพระอัครสาวก ...เช่นกับแสง

ดาวประกายพรึก ...แห่งพระปัจเจกพุทธทั้งหลาย .. เช่นกับ

แสงจันทร์ ...แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปรากฏเป็นเช่นกับดวง

อาทิตย์ ๑,๐๐๐ ดวง ในฤดูสารท ซึ่ง (แต่ละดวง) ประดับไปด้วย

สหัสรังสี (พันแสง) (นี่) ประการหนึ่ง

ประการหนึ่ง ความระลึกปุพเพนิวาสได้แห่งเดียรถีย์ทั้งหลาย

เป็นดังการเดิน (คลำ) ด้วยปลายไม้เท้าแห่งพวกคนตาบอด ...แห่ง

* สีโหกฺกนฺต (การปบสัตว์แห่งสีหะ?) มหาฎีกาแก้เป็นสีหาติปตน (การประหาร

สัตว์แห่งสีหะ ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 184

พระปกติสาวกทั้งหลาย เป็นดังเดินบนสะพานไม้ท่อน (เดินได้คน

เดียว) ...แห่งพระมหาสาวกทั้งหลายเป็นดังเดินบนสะพานเท้า (คือ

ปูกระดานคนเดินได้หลายคน) ... แห่งพระอัครสาวก เป็นดังเดิน

บนสะพานเกวียน ...แห่งพระปัจเจกพุทธทั้งหลายเป็นดังเดินในทาง

เท้าใหญ่ ...แห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นดังเดินในทางเกวียนใหญ่

[ความระลึกที่ประสงค์]

แต่ในอธิการ (แห่งสมาธิภาวนา) นี้ ประสงค์เอาความระลึก

ปุพเพนิวาสแห่งสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า

"บทว่า อนุสฺสรติ คือระลึก (ย้อน) ตามไป ๆ โดยลำดับแห่งขันธ์

หรือว่าโดยจุติปฏิสนธิ" ดังนี้

[วิธีทำปุพเพนิวาสานุสสติ]

เพราะเหตุนั้น ภิกษุอาทิกัมมิกะผู้ใคร่จะระลึกได้อย่างนั้น เวลา

หลังอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว พึงไปในที่ลับ (คน) เร้นอยู่

(ผู้เดียว) เข้าฌาน ๔ โดยลำดับ ออกจากจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่ง

อภิญญาแล้ว อาวัชนาการถึงการนั่งครั้งสุดท้ายเพื่อน (คือการนั่นครั้งนี้

แหละ) ต่อนั้นพึงอาวัชนาการถึงกิจที่ทำมาตลอดคืนและวันทั้งสิ้น

โดยย้อนลำดับดังนี้ คือ การปูอาเสวนะ (ก่อนจะนั่ง) การเข้ามาสู่เสนา-

สนะ (ที่นั่ง) การเก็บบาตรจีวร เวลาฉัน เวลามาจากหมู่บ้าง เวลา

เที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน เวลาเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เวลาออก

จากวิหาร เวลาไหว้ (พระเจดีย์และพระโพธิ) ที่ลานพระเจดีย์และที่ลาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 185

พระโพธิ เวลาชำระบาตร เวลาหยิบบาตร กิจที่ทำแต่อหยิบบาตรจนถึง

ล้างหน้า* กิจที่ทำในเวลาใกล้รุ่ง กิจที่ทำในมัชฌิมยาม กิจที่ทำใน

ปฐมยาม

ก็กิจเพียงเท่านี้ ย่อมปรากฏแม้แก่ปกติจิต ยิ่งสมาธิจิตในบริ

กรามก็ยิ่งจะปรากฏชัดทีเดียว แต่ถ้าในกิจเหล่านั้น กิจอะไรอย่างหนึ่งไม่

ปรากฏไซร้ ก็พึงเข้าฌานอันเป็นบาท ออกแล้วอาวัชชนาการไปใหม่

ด้วยวิธีเท่านี้ กิจนั้นก็ย่อมจะปรากฏ (เห็นได้สิ้น) ฉะนั้น

ภิกษุพึงอาวัชนาการถึงกิจที่ทำมาโดยย้อนลำดับไปทางเดียวอย่างนี้

แม้ในวันที่ ๒ แม้ในวันที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ แม้ใน ๑๐ วัน แม้ในกึ่ง

เดือน แม้ในเดือนหนึ่ง แม้กระทั่งปีหนึ่ง โดยอุบายนี้แล ภิกษุผู้

เมื่ออาวัชนาการ (ย้อน) ไปได้ถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี เป็นอาทิไปจนถึง

การปฏิสนธิของตนในภพนี้ได้ ก็พึงอาวัชนาการถึงรูปอันเป็นไปใน

ขณะจุติในภพก่อน (ต่อไป) อันภิกษุผู้มีปัญญาย่อมอาจเพิกปฏิสนธิ

เสีย ทำนามรูปในขณะจุติให้เป็นอารมณ์ได้โดยวาระแรกทีเดียว แต่

เพราะนามรูปในภพก่อน ก็ดับไปแล้วไม่มีเหลือ นามรูปอื่นเกิดขึ้น

(ใหม่) เพราะเหตุนั้น ฐานะนั้นจึงเป็นที่อับทึบ ดุจที่มืดตื้อ ยากที่ผู้มี

* ปตฺตปฏิคฺคหณ ถ้าแปลว่า รับเอาบาตร ความก็ส่อไปว่า ต้องมีผู้ให้ ภิกษุจึงได้รับ

เอา ก็บาตรเป็นบริขารประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อเก็บเธอก็เก็บไว้เอง จะต้องมีผู้ให้อะไรอีก

ในที่นี้จึงแปลว่า หยิบ ปตฺตโธวน ถ้าแปลว่าล้างบาตร ไม่ได้กับความจริง เพราะก่อนจะ

เก็บ ก็ต้องล้างและเช็ดแล้ว ตอนนี้จะเป็นเพียงทำความสะอาด เช่นเช็ดฝุ่นละอองเท่านั้น

ในที่นี้จึงแปลเสียว่า ชำระ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 186

ปัญญาทรามจะเห็นได้ แม้กระนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ควรทำความทอดธุระ

เสียว่า "เราไม่อาจที่จะเพิกปฏิสนธิเสีย ทำนามรูปที่เป็นไปในขณะจุติ

ให้เป็นอารมณ์ได้" แต่ว่าควรเข้าฌานที่เป็นบาทนั้นแหละบ่อยๆ และ

ออกจากฌานนั้นแล้วก็พึงอาวัชนาการถึงฐานะนั้น (ร่ำไป) เถิด ด้วยว่า

เมื่อทำไปอย่างนั้น ก็เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เมื่อตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อ

ประโยชน์ (จะทำ) เป็นช่อฟ้าของเรือนยอด แม้เมื่อคมขวานบิ่น

เสียด้วยเพียงแต่ตัดกิ่งใบ ไม่อาจตัดต้นใหญ่ได้ ก็ไม่ทำความทอดธุระ

เสียเลย พึง (ถือขวานนั้น) ไปโรงช่างเหล็ก ให้ช่างเหล็กทำขวาน

(นั้น) ให้คมแล้วมาตัดอีก และเมื่อมันบิ่นอีก ก็ให้ช่างทำอย่างนั้น

แล้ว (มา) ตัดอีกอยู่น่นั บุรุษนั้น (เพียร) ตัดไปอย่างนั้น ไม่นา

นักก็จะพึงโค่นต้นไม้ใหญ่ลงได้ เพราะ (เนื้อ) ไม้ที่ตัดแล้วไม่เป็นสิ่ง

ที่จะต้องตัดอีก และเพราะตัดแต่ที่ยังไม่ได้ตัด ฉันใดก็ดี ภิกษุออกจาก

ฌานที่เป็นบาทแล้ว ไม่อาวัชนาการถึงกิจทีอาวัชนาการมรก่อนแล้ว

อาวัชนาการแต่ปฏิสนธิอย่างเดียว ไม่นานนักก็จะพึงเพิกปฏิสนธิ ทำ

นามรูปอันเป็นไปในขณะจุติให้เป็นอารมณ์ได้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

ความข้อนี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วยเรื่องอื่น ๆ มีเรื่องคนผ่าฟืน

และช่างปลงปมเป็นต้นบ้างก็ได้

[ความรู้ตอนที่เป็นปุพเพนิวาสญาณ]

ในกิจเหล่านั้น ญาณที่ทำ (กิจ) จำเดิมแต่การนั่งครั้งสุดท้าย

จนถึงการปฏิสนธิให้เป็นอารมณ์เป็นไป หาได้ชื่อว่าปุพเพนิวาสญาณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 187

ไม่* แต่ญาณนั้นจัดเป็นบริกรรมสมาธิญาณ (ญาณที่ประกอบกับ

บริกรรมสมาธิ) อาจารย์พวกหนึ่งเรียกว่าอตีตังสญาณก็มี คำ (ของ

อาจารย์พวกหนึ่ง) นั้นไม่ชอบ เพราะ (อตีตังสญาณ) หมายถึงรูปา-

วจร (ส่วนบริกรรมสมาธิญาณเป็นกามวจร)

ต่อเมื่อใด มโนทวาราวัชนะก้าวล่วงปฏิสนธิ (ในภพนี้) เสีย

ทำนามรูปอันเป็นไปในขณะจุติ (จากภพก่อน) ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น

แก่ภิกษุน้นั และครั้นมโนทวาราวัชนะนั้นดับไปแล้ว ชวนะ ๔ หรือ

๕ ดวง ทำนามรูปนั้นแหละให้เป็นอารมณ์แล่นไป ซึ่งชวนะดวงต้น ๆ

ที่มีชื่อว่าบริกรรมเป็นต้น เป็นกามาวจร ดวงสุดท้าย (คือดวงที่ ๔

หรือที่ ๕) เป็นรูปางจรเป็นไปในจตุตถฌานเป็นอัปปนาจิต โดยนัย

ที่กล่าวแล้วในก่อนนั่นแล เมื่อนั้น ญาณอันใดเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น

พร้อมทั้งอาการ (เช่นผิวพรรณ) พร้อมทั้งอุเทศ (เช่นชื่อโคตร)

ตลอดกาลดังนี้ คือชาติ ๑ ก็มี ๒ ชาติก็มี ฯลฯ ดังนี้

[ความหมายของคำว่า ชาติ และกัป]

ในปาฐะเหล่านั้น คำว่า "ชาติ ๑ ก็มี" ได้แก่ขันธสันดาน

อันหนึ่ง ซึ่งมีปฏิสนธิเป็นต้น มีจุติเป็นปลาย เนื่องอยู่ในภพเดียวกัน

* มหาฎีกาว่า ไม่ชื่ออปุพเพนิวาสญาณ เพราะปุพเพนิวาสญาณต้องมีนิวุฏฐธรรมในอดีต

ชาติเป็นอารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 188

ก็มี แม้ในคำว่า "๒ ชาติก็มี" เป็นต้น ก็นัยนี้

[สังวัฏกัป วิวัฏกัป]

ส่วนในคำว่า "หลายสังวัฏกัปก็มี" เป็นต้น กัปเสื่อม พึงทราบ

ว่า ชื่อสังวัฏกัป กัปเจริญ พึงทราบว่า ชื่อวิวัฏกัป ในสองกัปนั้น

สังวัฏฏัฏฐายีกัป เป็นอันถือเอาด้วยสังวัฏกัป เพราะอะไร ? เพราะ

สังวัฏฏัฏฐายีกัปมีสังวัฏกัปนั้นเป็นมูล วิวัฏฏัฏฐายีกัป ก็เป็นอันถือ

เอาด้วยวิวิฏกัป (เพาะวิวัฏฏัฏฐายีกัปมีวิวัฏกัปเป็นมูลเหมือนกัน)๑

ด้วยเมื่อเป็นอย่างนั้น อสงไขยกัปเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัป ๔ นี้ อสงไขยกัปแห่งกัป ๔ คือ

อะไรบ้าง คือสังวัฏกัป (๑) สังวัฏฏฐายีกัป (๑) วิวัฏกัป (๑)

วิวัฏฏัฏฐายีกัป (๑)"๒ ดังนี้ อสงไขยกัปเหล่านั้น ก็เป็นอันได้ถือ

เอาครบ

[สังวัฏกัป ๓]

ในกัปเหล่านั้น สังวัฏกัปมีถึง ๓ ทีเดียว คืออาโปสังวัฏฏะ

(พินาศด้วยน้ำ) เตโชสังวัฏฏะ (พินาศด้วยไฟ) วาโยสังวัฏฏะ

(พินาศด้วยลม)

[สังวัฏสีมา - แดนแห่งความพินาศ]

แดนแห่งสังวัฏฏะ (ด้านสูง) ก็ ๓ คือ (พรหมโลก) ชั้นอาภัสสรา

๑. สังวัฏฏัฏฐายี คือระยะกาลในระหว่างเสื่อม วิวัฏฏัฏฐายี คือระยะกาลในระหว่าง

เจริญ นานเป็นอสงไขย ๆ เหมือนกัน

๒. องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๘๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 189

ชั้นสุภกิณหา ชั้นเวหัปผลา เมื่อกัปพินาศด้วยไฟ (โลก) ใต้ชั้น

อาภัสสราลงมาถูกไฟไหม้ (สิ้น) เมื่อกัปพินาศด้วยน้ำ (โลก) ใต้

ชั้นสุภกิณหาลงมาละลายด้วยน้ำ (ลิ้น) เมื่อกัปพินาศด้วยลม (โลก)

ใต้ชั้นเวหัปผลาลงมา ทำลายไปด้วยลม (สิ้น) แต่ (เมื่อว่า ) โดย

แดนด้านกว้าง (โลก) พุทธเกษตรหนึ่ง ย่อมพินาศทุกครั้งไป

[พุทธเกษตร ๓]

อันพุทธเกษตร (นั้น) มี ๓ อย่าง คือชาติเกษตร อาณา-

เกษตร และวิสัยเกษตร ในพุทธเกษตร ๓ นั้น ชาติเกษตร มี

ขอบเขตหมื่นจักรวาฬ ซึ่งเป็นเขตที่ไหว ในเพราะเหตุอัศจรรย์ทั้งหลาย

มีการถือปฏิสนธิแห่งองค์พระตถาคตเจ้าเป็นต้น อาณาเกษตรมีขอบ

เขตแสนโกฏิจักรวาฬ ซึ่งเป็นเขตที่อานุภาพแห่งพระปริตเหล่านี้ คือ

รตนปริต ขันธปริต ธชัคคปริต อาฏานาฏิยปริต และโมรปริต

เป็นไป วิสัยเกษตร ไม่มีที่สุด ไม่มีปริมาณ ซึ่ง (ตรงกับที่)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ก็หรือว่า ตถาคตพึงจำนง (จะรู้) โดยที่

เท่าใด" * ดังนี้เป็นต้น เป็นเขตที่พระตถาคตเจ้าทรงจำนง (จะทรง

ทราบ) สิ่งใด ๆ ก็ย่อมทราบสิ่งนั้น ๆ

ในพุทธเกษตร ๓ ดังกล่าวมานี้ เกษตรเดียวคือ อาณาเกษตร

ย่อมพินาศไป แต่ว่าเมื่ออาณาเกษตรนั้นพินาศไปอยู่ แม้ชาติเกษตร

ก็ย่อมเป็นอันพินาศด้วยอยู่เอง อันพุทธเกษตรทั้งสองนั้นเมื่อพินาศย่อม

พินาศด้วยกัน เมื่อตั้งขึ้น (ใหม่) เล่าก็ตั้งขึ้นด้วยกัน

* องฺ. ติก. ๒/๒๙๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 190

ความพินาศและความตั้งขึ้นใหม่ แห่งพุทธเกษตรนั้น พึงทราบ

ดัง (ต่อไป) นี้

[เตโชสังวัฏฏะ]

ก็ในสมัยที่กัปพินาศด้วยไฟ แรกทีเดียวมหาเมฆล้างกัป ตั้งขึ้น

ยังฝนใหญ่ห่าหนึ่งใต้ทั่วแสนโกฎิจักรวาฬ มนุษย์ทั้งหลายดีใจ นำ

เอาพืชทั้งปวงไปหว่าน แต่ครั้นข้าวทั้งหลายงอกขึ้น (ยาว) พอโค

กัดกินได้ เมฆนั้นก็ร้องเป็นเสียงลา ไม่ยังฝนให้ตกแม้แต่หยาดเดียว

ฝนเป็นอันขาดไปในกาลนั้น ซึ่งเป็นกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมาย

ถึง ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้นมีอยู่ ซึ่งเป็นสมัยที่ฝน

ไม่ตกหลายปี...หลายร้อยปี...หลายพันปี...หลายแสนปี"๑ ดังนี้ สัตว์

ทั้งหลายผู้เป็นวัสสุปชีวี (อาศัยฝนเป็นอยู่) ก็ทำกาละไปเกิดในพรหม-

โลก เทวดาจำพวกที่เป็น ปุปฺผผลุปชีวินี (อาศัยดอกไม้และผลไม้เป็น

อยู่) (ก็จุติไปเกิดในพรหมโลก) ด้วย ครั้นกาลนานไกลล่วงไปโดย

การขาดฝนอย่างนั้น น้ำในที่นั้น ๆ ก็ถึงซึ่งความสิ้นไป ทีนี้ปลาและ

เต่าทั้งหลายก็ค่อย ๆทำกาละไปเกิดในพรหมโลกบ้าง แม้พวกสัตว์นรก

(ก็จุติไปเกิดในพรหมโลก) ด้วย อาจารย์พวกหนึ่งว่า "ในสัตว์

เหล่านั้น พวกสัตว์นรกย่อมพินาศ เพราะความปรากฏเกิดขึ้นแห่งสูรย์

ดวงที่ ๗๒

๑. องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๐๒.

๒. ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นการยอมรับว่า ไฟนรกนั้นไม่เท่าไร สู้ไฟบรรลัยกัลป์ ที่เกิดแต่

สูรย์ ๗ ดวงไม่ได้ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 191

มีปัญหาว่า "เว้นฌานเสีย ความเกิดในพรหมโลกหามีได้ไม่

และบรรดาสัตว์ที่กล่าวมานั้น ลางพวกก็ถูกความขาดอาหารบีบคั้น ลาง

พวกก็ยังอภัพ (ไม่อาจ) ที่จะบรรลุฌานได้ สัตว์เหล่านั้นจะ (ไป) เกิด

ในพรหมโลกนั้นได้อย่างไร ?" มีคำแก้ว่า "สัตว์เหล่านั้น (ไป) เกิด

ในพรหมโลกได้ด้วยอำนาจฌานที่ตนไปได้ในเทวโลก" จริงอยู่ พวก

กามาพจรเทพ เหล่าที่ชื่อว่า โลกพยูหะ (กระบวนการกู้โลก ?) ทราบ

ว่า "โดยล่วงไปแสนปี ความสิ้นกัปจักมี" ก็ปล่อยเศียร (ไม่โพกผ้า)

สยายผม (ไม่กล้าไม่แต่ง) (ร้องไห้) น้ำตานองหน้า เช็ดน้ำตาด้วยมือ

นุ่งผ้าแดง ทรงเพศแห่งบุคคลผู้มีรูปวิกาลยิ่งนัก เที่ยวร้องบอกไปในถิ่น

มนุษย์ อย่างนี้ว่า "ชาวเราเอ๋ย ๆ แต่นี้ล่วงไปแสนปี ความสิ้นกัป

จักมีละ โลกนี้จักพินาศ มหาสมุทรเล่าก็จักแห้ง มหาปฐพีนี้และขุนเขา

สิเนรุ ก็จักถูกไฟไหม้พินาศ (สิ้น) ความพินาศจักมี (ขึ้นไป) กระทั่ง

พรหมโลก ชาวเราเอ๋ย ท่านทั้งหลายจงเจริญเมตตา จงเจริญกรุณา

จงเจริญมุทิตา จงเจริญอุเบกขาเถิด จงบำรุงมารดา จงบำรุงบิดา จง

เป็นผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุลเถิด"๑ ได้ฟังคำของโลกพยูหเทพ

เหล่านั้นแล้ว พวกมนุษย์และภุมเทวดาโดยมาก เกิดความสลดใจมาก

ก็เป็นผู้จิตอ่อนโยนกะกันและกัน พากันทำบุญทั้งหลายมีเมตตาเป็น

อาทิ๒ (ตายแล้ว) จึงไปเกิดในเทวโลก ได้บริโภคทิพยสุธาโภชน์แล้ว

๑. มีปัญหาว่า เทพพวกนี้รู้ได้อย่างไรว่าจะสิ้นกัป ? มหาฎีกาท่านว่า อาจารย์ทั้งหลาย

กล่าวว่า "ธรรมดาเตือนให้รู้" แต่อาจารย์พวกหนึ่งก็ว่า "รู้เพราะเห็นนิมิตเช่นนั้น"

อีกพวกหนึ่งว่า "พวกพรหมส่งมาบอก"

๒. หมายถึงเมตตาชั้นกามาวจรกุศล.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 192

ืทำบริกรรมในวาโยกสิณ จึงได้ฌานในเทวโลกนั้น๑ ส่วนสัตว์อื่น

จากนั้น (คือพวกอบาย) ก็ไปเกิดในเทวโลกได้ด้วยอปราปริยเวทนีย-

กรรม จริงอยู่ ชื่อว่าสัตว์ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ที่ปราศจากอปรา-

ปริยเวทนียกรรม ย่อมไม่มี แม้สัตว์เหล่านั้นก็ย่อมได้ฌานในเทวโลก

นั้น ๆ ได้เหมือนกัน สัตว์แม้ทั้งปวงย่อมเกิดในพรหมโลกได้ ด้วย

อำนาจฌานที่ตน (ไป) ได้ในเทวโลก ดังนี้แล

[เกิดสูรย์ ๗ ดวง]

อนึ่ง ต่อแต่ฝนขาด ล่วงกาลไปนานไกล สูรย์ดวงที่ ๒ ก็เกิด

ปรากฏขึ้น จริงอยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย สมัยนั้นมีอยู่ "๒ ดังนี้เป็นอาทิ สัตตสูริยสูตร บัณฑิตพึง

(นำมากล่าว) ให้พิสดารเถิด ก็แลครั้นสูรย์ดวงที่ ๒ นั้น เกิดปรากฏ

ขึ้นแล้ว กาลตอนกลางคืนตอนกลางวันก็มิได้รู้กันเลย สูรย์ดวงหนึ่งขึ้น

ดวงหนึ่งตก โลกมีความร้อนจากสูรย์มิได้ขาดระยะเลย และในกัปป-

วินาสกสูรย์ (สูรย์ล้างกัป) หามีสูริยเทพบุตรเหมือนดังที่มีในปกติสูรย์ไม่๓

ในสูรย์ ๒ อย่างนั้น เมื่อปกติสูรย์ยังเป็นไปอยู่ ก้อนเมฆบ้าง เปลวควัน

๑. มหาฎีกาว่า พวกเทวดาได้ลมเย็นสบายอยู่โดยปกติจนชิน เจริญโยกสิณจึงสำเร็จ

ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวแต่ว่าเทวดาทำบริกรรมในวาโยกสิณ ไม่กล่าวถึง

กสิณอื่น.

๒. องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๐๒

๓. มหาฎีกาช่วยแก้ปัญหาว่า แม้สูริยเทพบุตรก็เจริญฌานได้แล้ว ก็ทิ้งสูริยวิมานไปเกิด

ในพรหมโลกเสียงเหมือนกามาวจรเทพอื่นๆ .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 193

บ้าง ยัง (มี) ลอยอยู่ในอากาศ ครั้นกัปปวินาสกสูรย์เป็นไป ท้องฟ้า

เป็นปราศจากควัน และก้อนเมฆ ใสราวะวงแว่น (ส่องหน้า) เว้น

เบญจมหานทีแล้ว* น้ำในที่ทั้งหลายมีแม่น้ำน้อยที่เหลือเป็นต้น แห้ง

(หมด)

แต่นั้นไปอิกล่วงกาลนานไกล สูรย์ดวงที่ ๓ ก็เกิดปรากฏขึ้น

เพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสูรย์ดวงที่ ๓ ไรเล่า แม้ (เบญจ)

มหานทีก็แห้ง

แต่นั้นไปอิกล่วงกาลนานไกล สูรย์ดวงที่ ๔ ก็เกิดปรากฏขึ้น

เพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสูรย์ดวงที่ ๔ ไรเลา่ มหาสระทั้ง ๗ นี้

คือ สระสีหปาตนะ สระหงสหาตหะ สระกัณณมุณฑกะ สระรถการ

สระอโนดาต สระฉัททันต์ สระกุณาละ อันเป็นต้นน้ำ (เบญจ) มหานที

(อยู่) ในหิพพานต์ ก็แห้ง

แต่นั้นไปอิกล่วงกาลนานไกล สูรย์ดวงที่ ๕ ก็เกิดปรากฏขึ้น

เพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสูรย์ดวงที่ ๕ ไรเล่า น้ำในมหาสมุทรแม้

แต่พอเปียกข้อองคุลีก็ไม่เหลืออยู่ (แห้งไป) โดยลำดับ

แต่นั้นไปอิกล่วงกาลนานไกล สูรย์ดวงที่ ๖ ก็เกิดปรากฏขึ้น

เพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสูรย์ดวงที่ ๖ ไรเล่า สกลจักรวาฬก็เกิด

เป็นควันกลุ่มไป (จน) สิ้นยาง (คืออาโปธาตุ) เพราะควัน (รม)

และจักรวาฬนี้เป็นฉันใด แม้แสนโกฏิจักรวาฬก็เป็นฉันนั้น

* เบญจมหานที ท่านก็ชี้เอาแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ในชมพูทวีปของท่าน คงคา ยมุนา

สรภู อจิรวดี มหี เท่านั้นเอง.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 194

แต่นั้นไปอิกล่วงกาลนานไกล สูรย์ดวงที่ ๗ ก็เกิดปรากฏขึ้น

เพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสูรย์ดวงที่ ๗ ไรเล่า สกลจักรวาฬก็ลุก

(ไหม้) พรึบขึ้นพร้อมทั้งแสนโกฎิจักรวาฬ แม้ยอดเขาสิเนรุทั้งหลาย

(อันมีจำนวนมาก) ต่างโดยขนาดมียอดที่สูง ๑๐๐ โยชน์ เป็นต้น

ก็ละลายหายไปในอากาศนั่นเอง เปลวไฟนั้นลุกขึ้นไปติดเทวโลกชั้น

จาตุมหาราช เผาวิมานทองวิมานแก้ววิมานเพชร์พลอย ในชั้นจาตุ-

มหาราชนั้น (สิ้น) แล้ว ก็ติดภพน์ดาวดึงส์ โดยวิธีนั้แล มันติด

กระทั่งถึง (พรหมโลก) ภูมิปฐมฌาน เผาพรหมโลกทั้ง ๓ ชั้นในภูมิ

ปฐมฌานนั้นแล้ว จดชั้นอาภัสราจึงหยุด เปลวไฟนั้น สิ่งที่เป็นสังขาร

แม้ประมาณสักอณูหนึ่ง ยังมี (เหลือ) อยู่เพียงใด ก็ไม่ (ยอม) ดับ

เพียงนั้น ต่อสิ้นสังขารทั้งปวงจึงดับไปไม่ให้อะไรเหลือแม้แต่เถ้า ดัง

เปลวไฟที่ไหม้เนยใสและน้ำมันฉะนั้น อากาศเบื้องบนกับทั้งอากาศ

เบื้องล่างก็เกิดมืดมิดเป็นอันเดียว*

[ตอนสังวัฏฏัฏฐายี - ระยะกาลระหว่าเสื่อม]

ต่อมาลวงกาลนานไกล เมฆใหญ่ตั้งขึ้น ทีแรกยังฝนฝอย ๆ ให้

ตกลงมา (แล้ว) ยังฝนให้ตกโดยหยาดน้ำ (ใหญ่ขึ้น) ขนาดก้านบัว

ขนาดไม้เท้า ขนาดสาก และขนาดลำตาลเป็นอาทิอยู่โดยลำดับ (จน)

ยังที่ ๆ ไฟไหม้ทั้งปวง ในแสนโกฏิจักรวาฬให้เต็มแล้วจึงหายไป ลม

* น่าจะกล่าวอีกนิดว่า สูรย์ทั้ง ๗ ดวง ที่เป็นต้นเพลิงนั้น ก็เผาไหม้ตัวเองมอดสลาย

ไปด้วย อากาศจึงได้มืดมิด !

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 195

(พัด) อุ้มน้ำนั้นไว้ข้างล่างและทางขวาง (คือพัดไปรอบน้ำไม่ให้น้ำ

กระจายไป ) ทำจน (น้ำนั้นแข้นเข้า) เป็นก้อน น้ำก้อนนั้นกลม

เช่นกับหยาดน้ำในใบบัว

หากมีคำถามว่า "ลมทำกองน้ำใหญ่ปานนั้น ให้เป็นก้อนได้

อย่างไร ?" คำแก้พึงมีว่า "ทำได้โดยน้ำเปิดช่องให้" จริงอยู่ น้ำนั้น

ย่อมให้ช่องแก่ลมนั้น ในที่น้นั ๆ (ให้ลมแทรกเข้าไปทำให้แข้นได้)

น้ำนั้นถูกลมปั้น๑ทำให้เป็นก้อนอยู่อย่างนั้น ก็ค่อยเหือดไปงวดลงข้างล่าง

โดยลำดับ ครั้นน้ำงวดลง ๆ พรหมโลกก็เกิดปรากฏขึ้นในที่ ๆ เคย

เป็นพรหมโลก และเทวโลกทั้งหลายก็เกิดปรากฏขึ้นในที่ ๆ เคยเป็น

กามาวจรเทวโลก ๔ ชั้นข้างบน๒ แต่ครั้นงวดลงมาถึงที่ ๆ เคยเป็น

แผ่นดินแต่ก่อน ลมแรงก็เกิดขึ้น ลมนั้นกั้นน้ำนั้นไว้ทำมิให้ระบาย

ไปได้ ดังน้ำอยู่ในกระบอกกรองที่คนปิดช่อง (ระบายอากาศ) ไว้ฉะนั้น

น้ำอันมีรสหวานถึงซึ่งความเหือดไป ทำให้เกิดง้วนดินเป็นฝาขึ้น

ง้วนดินนั้น เป็นสิ่งที่ถึงพร้อมด้วยสี และถึงพร้อมด้วยกลิ่นรส ดัง

หน้าข้าวปายาสที่หุงไม่ใช่น้ำเลย (คือหุงด้วยน้ำนม) ฉะนั้น

๑. ปาฐะฉบับที่พิมพ์ไว้เป็น วาเต สมฺปิณฺฑิมานํ คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น วาเตน...

๒. เทวโลก ๔ ชั้นข้างบน คือ ยามะ ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี ส่วน ๒ ชั้น

ข้างล่วง คือ ดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิก ท่านว่าเพราะสัมพันธ์กับแผ่นดิน จึงยังไม่เกิด

ก่อน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 196

[อาภัสสรพรหมลงมาเกิดและกินง้วนดินเป็นอาหาร]

ก็ในกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดอยู่แต่แรก๑ในอาภัสสรพรหมโลก

จุติจากอาภัสสรพรหมโลกนั้น เพราะสิ้นอายุบ้าง เพราะสิ้นบุญบ้าง

(มา) เกิดในโลกนี้ (โดย) เป็นอุปปาติกะ พรหมสัตว์เหล่านั้นเป็น

ผู้มีแสงในตัว ท่องเที่ยวไปในท้องฟ้าได้ (คือเหาะได้) เขาทั้งหลาย

ได้สิ้นง้วนดินนั้นเข้าก็เกิดหื่นกระหาย๒ ลงมือ (ปั้น) กินเป็นคำ ๆ

โดยนัยที่กล่าวในอัคคัญญสูตรนั้นแล๓ อยู่มาแสงในตัวของเขาทั้งหลาย

อันตรธานไป ความมืดก็มีขึ้น เขาทั้งหลายเห็นมืดเข้าก็กลัว

[เกิดดวงอาทิตย์]

ต่อนั้น ดวงสูรย์ (ใหญ่) ๕๐ โยชน์เต็ม อันยังความกลัวให้หาย

แล้วยังความกล้าให้เกิดแก่สัตว์เหล่านั้นได้ เกิดปรากฏขึ้น เขาทั้งหลาย

เห็นดวงสูรย์นั้นแล้วก็ตื่นเต้นดีใจว่า "พวกเรากลับได้แสงสว่างแล้ว"

พากันตั้งชื่อดวงสว่างนั้นว่า "สูรย์" นั่นเอง เพราะ (เนื่องด้วย) คำที่

เขาทั้งหลายกล่าวกันว่า "ดวงสว่างอันยังความกลัวของพวกเราที่กลัวอยู่

แล้วให้หาย ยังความกล้าให้เกิด (แก่พวกเรา) โผล่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น

ดวงสว่างนั่นจงชื่อสูรย์ (ผู้โผล่ขึ้นมายังความกล้าให้เกิด) เถิด" ดังนี้

๑. คือเกิดอยู่ก่อนที่โลกพยูหเทพจะมาบอกกล่าวเรื่องกัปจะสิ้น

๒. กระหาย กับระหาย ความหายต่างกัน กระหาย เป็นอาการของใจที่มีความต้องการ

อยากได้อารมณ์ ส่วนระหาย เป็นอาการทางกายที่ต้องการน้ำ เพราะฉะนั้น กระหาย

จึงใช้ได้กับความหมายของตัณหา.

๓. ที. ปาฏิ. ๑๑/๘๗.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 197

[เกิดดวงจันทร์]

อยู่มา ครั้นสูรย์ทำความสว่างในกลางวันแล้วอัสดงไป เขา

ทั้งหลายก็คร่ำครวญว่า "พวกเราได้แสงสว่างดวงใดเล่า แสงสว่างดวง

นั้นของเราก็มาหายไปเสียแล้ว" ก็เกิดกลัวกันขึ้นมาอีก พวกเขาได้

แต่คิดรำพึงกันไปว่า "จะเป็นการดีนะ หากว่าพวกเราได้แสงสว่างอิก

ดวงหนึ่ง " (ครั้นนั้น) ดวงจันทร์ (ใหญ่) ๕๐ โยชน์หย่อนหนึ่ง ๑

ราวกะรู้ใจของพวกเขา ก็เกิดปรากฏขึ้น พวกเขาได้เห็นดวงจันทร์นั้น

ยิ่งตื่นเต้นยินดีนัก พากันตั้งชื่อดวงจันทร์นั้นว่า "จันทะ" นั่นเอง

เพราะ(เนื่องด้วย) คำที่พวกเขากล่าวกันว่า "ดวงสว่างนั้นราวกะรู้ฉันทะ

(ความพอใจ) ของพวกเรา โผล่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ดวงสว่างนั่น

จงชื่อว่า จันทะ (ผู้ราวกะรู้ฉันทะของสัตว์ โผล่ขึ้น) เถิด๒ ดังนี้

[เกิดดวงนักษัตร คืนวัน...ทวีป]

ครั้นจันทร์สูรย์เกิดปรากฏอย่างนั้นแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย

ก็เกิดปรากฏขึ้น จำเดิมแต่นั้น กลางคืนกลางวันก็รู้กันขึ้น และเดือน

กึ่งเดือน ฤดู ปี ก็รู้จักขึ้นโดยลำดับ

อนึ่ง ในวันที่จันทร์สูรย์เกิดปรากฏขึ้นนั่นเอง๓ ภูเขาสิเนรุ ภูเขา

๑. เล็งถึงดวงอาทิตย์ซึ่งใหญ่ ๕๐ โยชน์เต็ม (ปริปุณฺณปญฺญาสโยชนํ) ส่วนดวงจันทร์

๕๐ โยชน์หย่อน คือ ๔๙ โยชน์.

๒. ถ้าอย่างนี้ ก็หมายความว่า จันท แปลงมาจาก ฉันท.

๓. ตรงนี้คลุมไป เพราะสูรย์กับจันทร์มิได้เกิดพร้อมกัน.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 198

จักรวาฬ และภูเขาหิมพานต์ก็เกิดปรากฏขึ้น ก็แลภุเขาทั้ง ๓ นั้น

เกิดปรากฏขึ้นในวันเพ็ญเดือนผัคคุณะ (คือเดือน ๔) ไม่ก่อนไม่หลัง

กันเลยทีเดียว๑ ถามว่า เป็นอย่างไร ? แก้ว่า เมื่อข้าวฟ่าง (ที่หุง) สุก

ฟองขึ้นซู่เดียวเท่านั้น (หน้าข้าว) ลางแห่งก็ปูดขึ้น ลางแห่งก็บุ๋มลง

ลางแห่งก็เรียบ ๆ ฉันใด สิ่งเหล่านั้น ตรงที่ ๆ สูงขึ้นไปมันก็เป็น

ภูเขา ที่ลุ่มลึกลงไปก็เป็นสมุทร ที่ราบเรียบก็เป็นทวีป (คือแผ่นดิน

ใหญ่) ฉันนั้นเหมือนกัน

[อาหารละเอียดหาย กลายเป็นอาหารหยาบ]

อยู่มา เมื่อสัตว์เหล่านั้นกินง้วนดินไป ลางพวกมีผิวพรรณงาม

ลางพวกก็มีผิวพรรณทรามไปตามลำดับ ในสองพวกนั้น พวกผิวพรรณ

งามเหยียดหยามพวกผิวพรรณทราม๒ เพราะการเหยียดหยามกันเป็น

ปัจจัย ง้วนดินนั้นเล่าก็หายไป สะเก็ดดินเกิดปรากฏขึ้น (แทน)

ต่อมา โดยนัย (การเหยียดหยามกัน) นั้นแหละ แม้สะเก็ดดินนั้น

ก็หายไปอิกเล่า เครือดินเกิดปรากฏขึ้น (แทน) โดยนัยเดียวกันนั้น

๑. มหาฎีกาเห็นว่าความตรงนี้ขาดไป คือควรจะกล่าวถึงทวีปและสมุทรด้วย ไม่ใช่แต่

ภูเขาเท่านั้น เพราะความต่อไปก็กล่าวอยู่ว่า ที่สูงเป็นภูเขา ที่ลุ่มเป็นสมุทร ที่ราบเป็น

ทวีป เพราะฉะนั้น สิเนรุ...ปพฺพตา ปาตุภวนฺติ ควรจะมีคำว่า ทีปสมุทฺทาปิ ต่ออีก

ความจึงจะไม่ขาด.

๒. การถือวรรณะในชมพุทวีป นักปราชญ์ว่า เดิมก็คือถือผิวกาย ดังกล่าวนี้เอง แล้ว

ต่อมากลายเป็นถือจำพวกไป การถือผิวกายนั้นก็ยังปรากฏอยู่ในลางประเทศจนทุกวันนี้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 199

แม้เครือดินก็หายไปเสียอิก๑ ข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยไฟฟืน เป็น

เมล็ดข้าวสารไม่มีรำไม่มีแกลบมีกลิ่นหอม เกิดปรากฏขึ้น (แทน)

ต่อนั้น ภาชนะทั้งหลายก็เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น พวกเขาบรรจุข้าวสาลี

ลงในภาชนะแล้วตั้งไว้ที่หลังแผ่นหิน เปลวไฟลุกขึ้นหุงข้างสาลีนั้น

เองแหละ มันก็เป็นข้างสวย เช่นดังดอกมะลิ (ตูม) ทีเดียว กิจด้วย

แกงหรือกับก็ตาม หามีแก่ข้าวนั้นไม่ สัตว์ทั้งหลายใคร่จะกินข้าวมีรส

(อย่าง) ใด ๆ มันก็เป็นข้าวมีรส (อย่าง) นั้น ๆ เอง๒

[เกิดมุตรกรีส ทวาร และเมถุน]

เมื่อสัตว์เหล่านั้นกินอาหารหยาบนั้นเข้าไป แต่นั้นมูตรและกรีส

ก็เกิดมา ทีนี้ ปากแผล (คือทวารทั้ง ๙) ก็แตกออก เพื่อประโยชน์แก่

การถ่ายมูตรและกรีสนั้นของสัตว์เหล่านั้น ความเป็นชายจึงเกิดปรากฏ

ขึ้นแก่คนผู้ชาย ความเป็นหญิงก็เกิดปรากฏขึ้นแก่คนผู้หญิงด้วย ใน

ชายและหญิงนั้น ว่ากันว่า ผู้หญิงจ้องดูผู้ชาย และผู้ชายก็จ้องดูผู้หญิง

๑. ง้วนดิน (รสปฐวี) สะเก็ดเดิน (ภูมิปปฺปฎก) เครือดิน (ปทาลตา) ท่านว่าเป็น

ของละเอียด กินแล้วระงับความหิวระหายได้ มีรสซาบซ่านไปบำรุงร่างกาย ไม่มีอะไร

เหลือเป็นกาก คล้ายสุธาหาร (คืออาหารทิพย์ของเทวดา)

ง้วนดิน คือโอชะของดิน ยังเป็นรสคือเป็นของเหลวข้น ๆ ว่าหวานอร่อยนัก

สะเก็ดเดิน ท่วงทีก็จะง้วนดินนั่นเอง แต่หมาดเข้าแล้วแตกระแหงเป็นสะเก็ด คือเป็น

ชิ้นย่อยๆ เครือดิน คือดินนั้นแห้งเข้า ก็ทีจะก่อเกิดเป็นพืชชนิดเลื้อยไปตามดิน แต่ยัง

ไม่เป็นพืชแท้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงยังเป็นอาหารละเอียดดังกล่าวแล้ว จึงเรียกว่าเครือดิน

ในไตรภูมิวินิจฉันว่า มีสัณฐานดังผักบุ้งและแพวพวย.

๒. มหาฎีกาแสดงว่า ยํยํรสํ ตํตํรโส เป็นบทสมาส.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 200

เกินเวลา (คือนาน) ไป เพราะการจ้องดูกันเกินเวลาเป็นปัจจัย ความ

เร่าร้อนทางกามก็เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น แต่นั้นก็เสพเมถุนธรรมกัน

เพราะการเสพอสัทธรรมเป็นปัจจัย พวกเขาถูกท่านพวกนักปราชญ์

ตำหนิเอาเบียนเอา๑ ก็ปลูกเรือนขึ้น เหตุจะปกปิดอสัทธรรมนั้น

[เกิดอทินนาทาน]

สัตว์เหล่านั้นอยู่ครองเรือนไป ได้เยี่ยงอย่างสัตว์ชาติเกียจคร้าน

ผู้ใดผู้หนึ่งเข้า จึงทำ (สันนิธิ) การสะสม (ข้าว) ไว้โดยลำดับ ตั้งแต่

นั้น ทั้งรำทั้งแกลบก็ (เกิด) หุ้ม (เมล็ด) ข้าวสาร แม้ที่ ๆ เกี่ยวแล้ว

ก็ไม่กลับงอกขึ้นอิก พวกเขาจึงประชุมปรับทุกข์กันว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย

ธรรมอันลามกเกิดปรากฏขึ้นในหมู่สัตว์เสียแล้วละหนอ พวกเราแต่ก่อน

เป็นสัตว์มโนมัย (สำเร็จด้วยใจ) " ดังนี้เป็นอาทิ คำทั้งปวงพึง (นำ

มากล่าว) ให้พิสดารโดยนัยที่กล่าวในอัคคัญญสูตรเถิด ๒ แต่นั้น พวก

เขาจึงปักปันแดน (นา) กัน อยู่มาสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่ง (ไป) ถือเอา (ข้าว)

ส่วนของผู้อื่น ที่เจ้าของมิได้ให้เข้า พวกเขาต่อว่าสัตว์ผู้นั้นสองครั้ง

(ถ้ามิฟัง) ในครั้งที่สาม จึงประหารเอาด้วยอาวุธมีฝ่ามือ ก้อนดิน

และท่อนไม้เป็นต้น

๑. เบียนเอา (วิเหฐิยมานา) จะหมายความแค่ไหน? เห็นแล้วเกิดบัดสีก็ไล่ตะเพิดเอา

หรือใช้ไม้แพ่นเอา ให้ไปเสียให้พ้นสายตา เช่นนั้นกระมัง ?

๒. ที. ปาฏิ. ๑๐/๙๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 201

[แรกเกิดรพระราชา]

ครั้นการลักทรัพย์ การติโทษ การพูดเท็จ และการจับท่อนไม้

(เป็นอาวุธ) เกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว พวกเขาจึงประชุมคิดกันว่า "ถ้า

กระไร เราทั้งหลายพึงสมมตสัตว์ผู้หนึ่งขึ้น ในเราทั้งหลาย สัตว์ผู้ใดเล่า

พึงตำหนิผู้ควรตำหนิ พึงติโทษผู้ควรติโทษ พึงขับไล่ผู้ควรขับไล่ได้

โดยถูกต้อง อนึ่ง เราทั้งหลายจักเพิ่มให้ ซึ่งส่วนแห่งข้าวสาลีแก่สัตว์

ผู้นั้น " ดังนี้ ก็แล ในสัตว์ทั้งหลาย ที่ทำความตกลงกันอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้แหละ เป็นพระโพธิ์สัตว์ในกัปนี้ก่อน

สมัยนั้น ทรงเป็นผู้มีพระรูปงามกว่า (ใครหมด) เป็นขวัญตายิ่งกว่า

(ใครหมด) และเป็นมเหสักข์ (ผู้ที่คนทั้งหลายยกย่อง ว่าเป็นผู้ใหญ่)

ยิ่งกว่า (ใครหมด) ในบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย

พุทธิ (คือปัญญา) สามารถจะทำนิคนะและปัคหะ (คนในปกครองได้)

เขาทั้งหลายจึงเข้าไปหาท่าน อ้อนวอน (ให้ท่านรับตำแหน่ง) แล้ว

สมมตขึ้น พระโพธิสัตว์นั้นปรากฏโดยพระนาม ๓ คือ พระนาม ว่า

(พระเจ้า) มหาสมมต เพราะเป็นผู้ที่มหาชนนั้นสมมตขึ้น พระนามว่า

กษัตริย์ เพราะทรงเป็นจ้าวเป็นใหญ่แห่งเกษตรทั้งหลาย พระนามว่า

ราชา เพราะทรงยังผู้อื่นให้ยินดีโดยธรรมสม่ำเสมอกัน ก็ตำแหน่งใด

นับเป็นตำแหน่งอัจฉริยะในโลก พระโพธิสัตว์เจ้านั่นเอง ทรงเป็นอาทิ-

บุรุษ (คนแรก) ในตำแหน่งนั้นแล ครั้นวงกษัตริย์ยกพระโพธิสัตว์

เป็นต้นเดิมก่อตั้งขึ้นอย่างนั้นแล แม้วรรณะทั้งหลายมีพราหมณ์เป็นต้น

ก็ก่อตั้งขึ้นโดยลำดับ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 202

[กำหนดระยะกาลแห่งอสงไขยกัปในเตโชสังวัฏฏะ]

ในกัป ๔ นั้น (ระยะกาล) แต่ (เกิด) มหาเมฆล้างกัปไปจนถึง

เปลวไฟขาด นี้เป็นอสงไขยหนึ่งเรียกว่า สังวัฏกัป แต่เปลวไฟผลาญ

กัปขาดไปจนถึง (เกิด) มหาเมฆก่อเกิด (โลก) ที่ยังแสนโกฏิจักรวาฬ

ให้เต็ม (ด้วยน้ำ) นี่เป็นอสงไขยที่ ๒ เรียกว่า สังวัฏฏัฏฐายีกัป แต่

มหาเมฆก่อเกิด (โลก) ไปจนถึงความเกิดปรากฏขึ้นแห่งจันทร์และสูรย์

นี่เป็นอสงไขยที่ ๓ เรียกว่า วิวัฏกัป แต่ความเกิดปรากฏขึ้นแห่งจันทร์

และสูรย์ไปจน (เกิด) มหาเมฆล้างกัปอิก นี่เป็นอสงไขยที่ ๔ เรียกว่า

วิวัฏฏัฏฐายีกัป (รวม) ๔ อสงไขยนี้เป็นมหากัป ๑

ความพินาศด้วยไฟ และความตั้งขึ้นใหม่ (แห่งพุทธเกษตร)

บัณฑิตพึงทราบโดยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[อาโปสังวัฏฏะ]

ส่วนในสมัยที่กัปพินาศด้วยน้ำ (คำพรรณนาทั้งปวง) บัณฑิต

พึง (กล่าว) ให้พิสดารตามนัยที่กล่าวในตอนก่อน (คือในตอนเตโช-

สังวัฏฏะ) ว่า "แรกที่เดียว มหาเมฆล้างกัปตั้งขึ้น" ดังนี้เป็นต้น

นั่นเถิด แต่ความ (ต่อไป) นี้เป็นความแปลกกัน มหาเมฆน้ำกรดที่

เป็นต้นล้างกัปในอาโปสังวัฏฏะนี้ตั้งขึ้น เปรียบได้กับสูรย์ดวงที่ ๒ ใน

เตโชสังวัฏฏะนั้น มหาเมฆน้ำกรดนั้น แต่แรกก็ตกลงมาเป็นฝอย ๆ

(ค่อย) ตกโดย (เป็น) หยาดน้ำใหญ่ (ขึ้น) ตามลำดับ (จน) ยัง

แสนโกฏิจักรวาฬให้เต็ม สิ่งทั้งปวงมีแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น ที่น้ำกรด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 203

ถูก ๆ เข้าแล้ว ย่อมละลายไป (สิ้น) น้ำ (นั่น) ลมธารไว้รอบ (คือ

ลมแทนฝั่ง) น้ำจับแต่แผ่นดิน๑ (ขึ้นไป) จนถึง (พรหมโลก) ชั้น

ทุติยฌานภูมิ มันยังพรหมโลกทั้ง ๓ ชั้น๒ในทุติยฌานนั้นให้ละลาย

แล้ว (ขึ้นไป) หยุดจด (ใต้) ขั้นสุภิกณหะ๓ น้ำล้างกัปนั้น สิ่งที่นับ

ว่าเป็นสังขาร แม้สักอณูหนึ่งยังมี (เหลือ) อยู่ตราบใด ก็ยังไม่ระงับ

ตราบนั้น ต่อครอบงำ (คือย่อย) สิ่งที่นับเป็นสังขารทั้งปวงอันถูกน้ำ

แล้ว (ให้ละลายไปสิ้นแล้ว) จึงระงับคือถึงซึ่งความเหือดหายไปโดย

ฉับพลัน อากาศเบื้องบนกับทั้งอากาศเบื้องล่างก็มืดมิดเป็นอันเดียวกัน

แล (แต่นี้) คำที่เหลือทั้งปวงก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว (ในเตโช-

สังวัฏฏะ) (เป็น) แต่ในอาโปสังวัฏฏะนี้ (ตอนเกิดขึ้นใหม่)

โลกนับอาภัสสรพรหมโลกเป็นต้น เกิดปรากฏขึ้น (เพราะอาภัสสร-

พรหมโลกก็ถูกน้ำกรดละลายด้วย) และสัตว์ทั้งหลายจุติจากชั้นสุภกิณหะ

(ลงมา) เกิดในที่ต่าง ๆมีที่ (ที่เคยเป็น) พรหมโลกชั้นอาภัสสรเป็นต้น

เท่านั้น ๔

๑. มหาฎีกาขยายความว่า ที่ว่า "แต่แผ่นดิน" นี้ หมายถึง "แต่ส่วนล่างสุดแห่งแผ่นดิน"

ก็คือว่าละลายดินทั้งหมด ตลอดทั้งน้ำรองแผ่นดินและลมอุ้มน้ำนั้น ให้สลายกลายเป็น

น้ำกรดไปหมดสิ้น.

๒. ทุติยฌานภูมิ ๓ ชั้น คือชั้นปริตตาภะ อัปปมาณาภะ และอาภัสสระ.

๓. มหาฎีกาว่า ที่ว่า ชั้นสุภกิณหะ นั้น ท่านกำหนดเอาตติยฌานภูมิทั้ง ๓ ชั้นนั่นแหละ

แต่ยกเอาชั้นสูงสุดมากล่าวแต่ชั้นเดียว เพราะฉะนั้น ความที่แท้ก็คือว่า น้ำกรดขึ้นไป

หยุดจดใต้ตติยฌานภูมินั่นเอง (ตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภะ อัปปมาณสุภะ และ

สุภกิณหะ)

๔. "เท่านั้น" คำนี้แปลจากศัพท์ เกวสํ ต้นประโยค (เกวลํ ปนิธ...) เข้าใจว่า

สัมพันธ์พึงประโยคหลังด้วย เพราะมี ๗ ศัพท์ควบอยู่ (สุ_______________ภกิณฺหโต จ...)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 204

[กำหนดระยะกาลแห่งอสงไขยกัปในอาโปสังวัฏฏะ]

ในกัป ๔ นั้น (ระยะกาล) แต่ (เกิด) มหาเมฆล้างกัปไปจนถึง

น้ำกรดล้างกัปขาด (หายไป) นี่เป็นอสงไขยหนึ่ง แต่น้ำ (กรด) ขาด

(หายไป) จนถึง (เกิด) มหาเมฆก่อเกิด (โลก) นี่เป็นอสงไขยที่ ๒

แต่ (เกิด) มหาเมฆก่อเกิดไปจนถึงความเกิดปรากฏขึ้นแห่งจันทร์และ

สูรย์ นี่เป็นอสงไขยที่ ๓ แต่ความเกิดปรากฏขึ้นแห่งจันทรและสูรย์ไป

จงถึง (เกิด) มหาเมฆล้างกัปอิก นี่เป็นอสงไขยที่ ๔ (รวม) ๔

อสงไขยนี้ เป็นมหากัป ๑

ความพินาศด้วยน้ำ และความตั้งขึ้นใหม่ (แห่งพุทธเกษตร)

บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

[วาโยสังวัฏฏะ]

ในสมัยที่กัปพินาศด้วยลม (คำพรรณนาทั้งปวง) บัณฑิตพึง

(กล่าว) ให้พิสดารตามนัยที่กล่าวในตอนแรก (คือตอนเตโชสังวัฏฏะ)

ว่า "แรกทีเดียว มหาเมฆล้างกัปตั้งขึ้น" ดังนี้เป็นต้นนั่นเถิด แต่

ความ (ต่อไป) นี้เป็นความแปลกกัน ลมตั้งขึ้นเพื่อทำลายกัปในวาโย-

สังวัฏฏะนี้ เปรียบได้กับสูรย์ดวงที่ ๒ ในเตโชสังวัฏฏะนั้น ลมนั้น

แรกก็หอบเอาฝุ่นหยาบขึ้นไป ต่อนั้น ก็หอบเอาฝุ่นละเอียด (ที่ติดดิน)

...ทรายละเอียด ...ทราบหยาบ...สิ่งที่เขื่องขึ้นไปมีหินกรวดเป็นต้น

ดังนี้ไปจนหินก้อนขนาดเรือนยอด และต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่ในที่โคก

ขึ้นไป สิ่งเกล่านั้นขึ้นจากดินไปสู่ท้องฟ้า และไม่ตกลงมาอีก มันเหลก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 205

ละเอียดสลายไปในฟ้านั้นเอง ลำดับนั้นลมทั้งขึ้นภายใต้มหาปฐพีพลิก

แผ่นดินเอาล่างขึ้นบนแล้วซัดไปในอากาศ ที่ส่วนหนึ่ง ๆ แห่งแผ่นดิน

ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ก็มี ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐-๔๐๐-๕๐๐ โยชน์ก็มี

แตกออกแล้วถูกกำลังลมซัดขึ้นไป แหลกละเอียดสลายไปในอากาศ

เหมือนกัน แม้ภูเขาจักรวาฬ แม้ภูเขาสิเนรุ ลมก็ยกขึ้นแล้วซัดไปใน

อากาศ มันกระทบกระแทกกันและกันแหลกละเอียดยับไป ลมซึ่งทำ

วิมานจองภุมมัฏฐกเทวดาทั้งหลาย และวิมานของอากาสัฏฐกเทวดา

ทั้งหลายให้พินาศไปโดยอุบาย (คือวิธี) เดียวกันนั้น (ไป) ทำกามาวจร

เทวโลก ๖ ชั้นให้พินาศแล้ว ทำแสนโกฏิจักรวาฬให้พินาศไป เขา

จักรวาฬกับยเขาจักรวาฬ เขาหิมพานต์กับเขาหิมพานต์ เขาสิเนรุกับเขา

สิเนรุทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาฬนั้น กระทบกระแทกกันและกัน

แหละละเอียดพินาศไป ลมจับแต่แผ่นดินขึ้นไปถึงพรหมโลกตติยฌาน

ภูมิ ยังพรหมโลก ๓ ชั้นในตติยฌานภูมินั้น ให้พินาศแล้วไปหยุดจด

พรหมโลกชั้นเวหัปผละ ลมนั้นทำสิ่งที่นับเป็นสังขารทั้งปวงให้สลายไป

อย่างนี้แล้ว ตัวเองก็สลายไปด้วย อากาศเบื้องบนกับทั้งอากาศเบื้องล่าง

ก็มืดมิดเป็นอันเดียวกันแล (ต่อนี้) คำที่เหลือทั้งปวงก็เช่นเดียวกับที่

กล่าวแล้ว (ในเตชสังวัฏฏะ) (เป็น) แต่ในวาโนสังวัฏฏะนี้ (ตอน

เกิดโลกขึ้นใหม่) โลกนับสุภกิณพรหมโลกเป็นต้น เกิดปรากฏขึ้น

(เพราะสุภกิณพรหมโลกก็ลูกลมทำพินาศไปด้วย) และสัตว์ทั้งหลาย

จุติจากชั้นเวปัปผล (ลงมา) เกิดในที่ต่าง ๆ มีที่ (ที่เคยเป็น) พรหมโลก

ชั้นสุภกิหะเป็นต้น (เท่านั้น)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 206

[กำหนดระยะกาลแห่งอสงไขยกัปในวาโยสังวัฏฏะ]

ในกัป ๔ นั้น (ระยะกาล) แต่ (เกิด) มหาเมฆล้างกัปไปจนถึง

ลมผลาญกัปบาด นี่เป็นอสงไขยหนึ่ง แต่ลมบาดไปจนถึง (เกิด) มหา-

เมฆก่อเกิด นี่เป็นอสงไขยที่ ๒ แต่ (เกิด) มหาเมฆก่อเกิดไปจนถึง

ความเกิดปรากฏขึ้นแห่งจันทร์และสูรย์ นี่เป็นอสงไขยที่ ๓ แต่ความ

เกิดปรากฏขึ้นแห่งจันทร์และสูรย์ไปจนถึง (เกิด) มหาเมฆล้างกัปอีก

นี่เป็นอสงไขยที่ ๔ (รวม) ๔ อสงไขยนี้เป็นมหากัป ๑

ความพินาศด้วยลมและความตั้งขึ้นใหม่ (แห่งพุทธเกษตร)

บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนั้น

[โลกพินาศด้วยอกุศลมูลเป็นเหตุ]

ถามว่า "โลกพินาศไปอย่างนั้น เพราะอะไรเป็นเหตุ" ตอบว่า

"เพราะอกุศลมูลเป็นเหตุ" แท้จริง เมื่ออกุศลมูลทั้งหลายหนาขึ้น

โลกจึงพินาศอย่างนั้น ก็แลโลกนั้น เมื่อราคะหนามากกว่า (อย่างอื่น)

ย่อมพินาศด้วยไฟ เมื่อโทสะหนามมากว่า ย่อมพินาศด้วยน้ำ แต่

อาจารย์ลางพวกกล่าวว่า "เมื่อโทสะหนามากกว่า (ย่อพินาศ) ด้วยไฟ

เมื่อราคะหนามากกว่า (ย่อมพินาศ) ด้วยน้ำ" เมื่อโมหะหนามากกว่า

ย่อมพินาศด้วยลม*

* เรื่องว่าเมื่ออะไรหนาแล้วโลกย่อมพินาศด้วยอะไรนี้ ท่านไม่ชี้เหตุไว้เลย มหาฎีกา

จึงช่วยชี้ไว้ แต่ปาฐะจะตกขาดไปหรืออย่างไรทราบ เรื่องราคะหนาแล้วโลกพินาศด้วย

ไฟเพราะอะไร ไม่เห็นกล่าวไว้ กล่าวแต่โทสะ ว่าเมื่อโทสะหนาแล้วโลกพินาศด้วย

น้ำกรดนั้นชอบแล้ว เพราะน้ำกรมนั้นมันร้ายเฉียบนัก เหมือนโทสะที่เกิดแรง ๆ นั่นเอง

ส่วนวาทะของเกจิอาจารย์ที่กล่าวแย้ง มีอธิบายว่า โทสะนั้นอุปมาดังศัตรูที่ปรากฏตัว

จึงได้กับไฟ ส่วนราคะเป็นดังศัตรูที่ไม่ปรากฏตัว ได้กันกับน้ำกรด ท่านว่า "ก็ชอบ

เหมือนกัน " แต่เรื่องโมหะ ท่านไม่พูดถุงเลย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 207

และเมื่อพินาศอย่างนั้นเล่า มันพินาศด้วยไฟ ๗ วาระติดต่อกัน

ไป ในวาระที่ ๘ จึงพินาศด้วยน้ำ (เสียคราวหนึ่ง) พินาศด้วยไฟ

๗ วาระ ในวาระที่ ๘ พินาศด้วยน้ำอีกเล่า...โดยนัยดังนี้ โลกเมื่อ

พินาศอย่างนั้น พินาศด้วยน้ำ ๗ หน ทุกวาระที่ ๘ แล้วพินาศด้วยไฟ

(แถม) อีก ๗ วาระ โดยกาลเท่านี้เป็นอันล่วงไปถึง ๖๓ กัป* ใน

ระหว่าง ๖๓ กัปนั้น ลมซึ่งกันวาระที่จะพินาศด้วยน้ำอันมาถึงเข้าเสีย

(วาระหนึ่ง) แล้วจึงได้ช่องทำลายเหล่าสุภกิณหพรหมผู้มีกำหนดอายุ ๖๔

กัปเต็ม ยังโลกให้พินาศได้

[แก้บาลีที่แสดงอาการระลึก]

ก็แลภิกษุผู้ระลึกได้ตลอดกัป แม้เมื่อระลึกถึงบุพเพนิวาส ในกัป

เหล่านั่น ย่อมระลึกได้หลายสังวัฏกัปก็มี หลายวิวัฏกัปก็มี หลายสังวัฏ

วิวัฏกัปก็มี ระลึกได้ด้วยอาการอย่างไร ? ระลึกโดยนัยพระบาลีว่า

"อมุตฺราสึ" เป็นอาทิ

ในปาฐะเหล่านั้น คำว่า "อมุตฺราสึ - ในที่โน้น เราได้เป็น...

แล้ว" ความว่าในสังวัฏกัปโน้น หรือว่าในภพโน้น หรือว่าในกำเนิด

* คือพินาศด้วยไฟ ๗ หน หนละ ๗ วาระ = ๔๙ วาระ พินาศด้วยน้ำหนละ ๑ วาระ =

๗ วาระ พินาศด้วยไฟแถมอีก ๗ วาระ รวม ๔๙ + ๗ + ๗ จึงเป็น ๖๓ วาระ แต่ละวาระ

นั้นนานเป็นกัปทั้งนั้น จึงเป็น ๖๓ กัป

ตามนี้เห็นได้ว่า โลกพินาศด้วยอำนาจราคะ (ไฟ) มากกว่าโทสะ (น้ำ) หลาย

เท่า ทั้งนี้ว่าเพราะราคะเกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย มากกว่าโทสะหลายเท่านั่นเอง โมหะ

(ลม) ยิ่งเบาไปกว่าโทสะ ไม่มีวาระของตัว ต้องไปกันเอาวาระของโทสะ (น้ำ) มา

วาระหนึ่ง จึงได้ช่อง แต่ว่าพอได้ช่องก็ทำลายโลกได้มากกว่าใครหมด คือเล่นงานถึงชั้น

สุภกิณหะ ตติยฌานภูมิ ดังกล่าวต่อไปนั้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 208

... ในคติ... ในวิญญาณฐิติ... ในสัตตาวาส ... ในสัตวนิกายโน้น

ตัวเราได้เป็น...แล้ว คำว่า "เอวํนาโม - มีชื่ออย่างนี้" คือชื่อติสสะ

หรือชื่อปุสสะ (เป็นต้น) คำวา "เอวํโคตฺโต - มีโคตรอย่างนี้"

คือโคตรกัจจายนะ หรือโคตรกัสสปะ (เป็นต้น) สองคำนี้ตรัสโดย

เป็นการระลึกถึงชื่อและโคตรของตน ในอดีตภพแห่งภิกษุนั้น แต่ถ้า

เธอเป็นผู้ใคร่จะระลึกถึง ความถึงพร้อมแห่งผิวพรรณก็ดี ความเป็นผู้

เลี้ยงชีพอย่างปอน หรืออย่างประณีตก็ดี ความเป็นผู้มากไปด้วยความ

สุข หรือความทุกข์ก็ดี ความเป็นผู้มีอายุสั้นหรืออายุยืนก็ดี ของตนใน

กาลนั้น เธอก็ย่อมระลึกถึงภาวะนั้นได้ด้วยเป็นแท้ เพราะเหตุนั้น จึง

ตรัส (ต่อไป) ว่า "เอวํวณฺโณ - มีผิวพรรณอย่างนี้ ฯลฯ เอว-

มายุปริยนฺโต - มีขีดอายุอย่างนี้ "

ในปาฐะเหล่านั้น คำว่า "เอวํวณฺโณ - มีผิวพรรณอย่างนี้" คือ

เป็นคนขาวหรือเป็นคนดำ (เป็นต้น) คำว่า (เอวมาหาโร - มี

อาหารอย่างนี้" คือกินข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยมังสะ หรือกิน

ผลไม้ที่เป็นไป (คือที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น*) (เป็นต้น) คำว่า "เอวํ

สุขทุกฺขปฏิสํเวที - เสวยสุขทุกข์อย่างนี้ " คือเสวยสุขและทุกข์อันเป็น

ไปทางกาย และทางใจ หรือมีชนิดต่าง ๆ เช่น สามิส และนิรามิส

โดยอเนกประการ คำว่า "เอวมายุปริยนฺโต - มีขีดอายุอย่างนี้"

คือมีขีดอายุประมาณ ๑๐๐ ปี หรือว่ามีขีดอายุถึง ๘๔,๐๐๐ กัป อย่างนี้

* ศัพท์ปวัตตผล เทียบกับศัพท์ปวัตตมังสะ - เนื้อที่มีอยู่ในท้องตลาด (คู่กับอุทิศ -

มังสะ - เนื้อที่เขาเชือดเจาะจงภิกษุ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 209

(เป็นต้น) ข้อว่า "โส ตโต จุโต อมุตฺร อุทปาทึ - เรานั้น

จุติจากที่นั้นแล้วเกิดในที่โน้น " ความว่า อนึ่ง เรานั้นจุติจากภพหรือ

จากกำเนิด จากคติ จากวิญญาณฐิติ จากสัตตาวาส จากสัตวนิกายนั้น

แล้ว (ไป) เกิดในภพหรือในกำเนิด ในคติ ในวิญญาณฐิติ ใน

สัตตวาส ในสัตวนิกาย ชื่อโน้น คำว่า "ตตฺราปาสึ - แม้ในที่นั้น

เราได้เป็น...แล้ว " ความว่า ต่อมาแม้ในภพหรือในกำเนิด ในคติ

ในวิญญาณฐิติ ในสัตตาวาส ในสัตวนิกายนั้น เราก็ได้เป็น.. อีกเล่า

คำว่า "เอวํนาโม - มีชื่ออย่างนี้ " เป็นต้น (ต่อนี้ไป) ก็มีนัยดัง

กล่าวแล้วนั่นแล

อนึ่ง เพราะเหตุที่คำว่า "อมุตฺราสึ - ในที่โน้นเราได้เป็น...แล้ว"

นี้ ตรัสหมายเอาความระลึกได้เท่าที่ต้องการ แห่งภิกษุนั้นผู้ขึ้น (สู่

บุพเพนิวาสย้อนขึ้นไป) โดยลำดับ คำว่า "โส ตโต จุโต -

เรานั้นจุติจากที่นั้น" ตรัสหมายเอาความพิจารณา (บุพเพนิวาสที่ระลึก

ได้แล้ว) ของเธอผู้ (ระลึก) ย้อนกลับมา เพราะเหตุนั้น คำว่า

"อมุตฺร อุทปาทึ - เกิดในที่โน้น " นี้ พึงทราบว่า ตรัสหมายถึงที่เกิด

ของเธอ ถัดความเกิดในอิธภพ ที่ตรัสในบทว่า "อิธุปปนฺโน" นี้

ขึ้นไปนั่นเอง ส่วนคำว่า "ตตฺราปาสึ - แม้ในที่นั้น เราก็ได้เป็นต้น

ในที่เกิดของเธอ ภายในการอุปบัติ (ครั้ง) นี้ในภพนั้น คำว่า "โส

ตโต จุโต อิธุปปนฺโน - เรานั้นจุติจากที่นั้น (มา) เกิดในที่นี้" ความ

ว่า เรานั้นเคลื่อนจากที่นั้น คือจากที่เกิดถัดขึ้นไป แล้ว (มา) เกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 210

ในที่นี้ คือในตระกูลกษัตริย์ หรือตระกูลพราหมณ์ชื่อโน้น (เป็นต้น)

คำว่า อิติ คือ เอวํ (แปลว่า) โดยประการดังกล่าวมานี้) คำว่า

"สาการํ สอุทฺเทสํ - (ซึ่งบุพเพนิวาส) พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ"

อธิบายว่า (ซึ่งบุพเพนิวาส) นับว่าพร้อมทั้งอุเทศ ก็ด้วยอำนาจชื่อ

และโคตร นับว่าพร้อมทั้งอาการก็ด้วยอำนาจเครื่องปรากฏอื่น ๆ มี

ผิวพรรณเป็นอาทิ จริงอยู่ โดยชื่อและโคตร สัตว์ (คนเรานี้) เขา

จึงชี้ตัวได้ว่า "นายติสสะ กัสสปะ (โคตร) " เป็นต้น โดยประการ

อื่น ๆ มีผิวพรรณเป็นอาทิ เขาจึงรู้จักต่างกันว่า (คนดำ คนขาว"

(เป็นต้น) เพราะฉะนั้น ชื่อและโคตรจึงเป็นอุเทศ (เครื่องชี้ตัว)

ประการนอกนี้เป็นอาการ (สภาพร่างกาย) คำว่า "อเนกวิหิตํ ปุพฺเพ-

นิวาสํ อนุสฺสรติ - ระลึกบุพเพนิวาสได้หลายอย่าง" นี้ มีอรรถตื้นอยู่

แล้วแล.

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณกถา จบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 211

จุตูปปาตญาณกถา

พรรณนาความ ในเรื่องความรู้ในจิตและอุปบาต แห่งสัตว์ทั้ง

หลาย พึงทราบ (ดังต่อไปนี้)

[แก้อรรถบาลีจุตูปปาตญาณ]

คำว่า "เพื่อจุตูปปาตญาณ "คือ เพื่อความรู้ในจุติและในอุปบาต

มีอธิบายว่า "ความเคลื่อนไป และความเกิดขึ้นแห่งสัตว์ทั้งหลาย อัน

พระโยคาวจรรู้ได้ด้วยญาณอันใด เพื่อญาณอันนั้น คือเพื่อทิพจักขุ-

ญาณ" คำว่า "นำจิตมุ่งไป น้อมจิตไปเฉพาะ คำว่า "โส" คือภิกษุผู้มี

การนำจิตมุ่งไปได้ทำมาแล้วนั้น ส่วนในคำทั้งหลาย มีคำว่า "ทิพฺเพน

-เป็นทิพย์" เป็นต้น (มีพรรณนาความดังนี้)

[ทิพยจักษุ]

จักษุชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะเป็นเช่นของทิพย์ จริงอยู่ ประสาท

จักษุของเทวดาทั้งหลาย เป็นธรรมชาติเกิดด้วยกรรมเป็นสุจริต โทษ

ทั้งหลายมี น้ำดี เสมหะ และเลือดเป็นต้น ไม่ขัดขวาง สามารถรับ

อารมณ์แม้ในที่ไกลได้ เพราะพ้นจากโทษเครื่องขุ่นมัว จึงเป็นทิพย์

แม้ญาณจักษุอันเกิดด้วยกำลังแห่งวิริยภาวนา*นี้เล่า ก็เป็นเช่นนั้นเหมือน

กัน เพราะเหตุนั้น จึงว่าเป็นทิพย์ เพราะเป็นเช่นของทิพย์ (นัย

หนึ่ง ) ชื่อว่าเป็นทิพย์เพราะได้มาเฉพาะ ด้วยอำนาจทิพยวิหาร (คือ

* ดูเชิงอรรถ ๒ หน้าต้นอภิญญานิเทศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 212

ฌานที่เป็นบาท) และเพราะอิงอาศัยทิพยวิหารของตน๑ (คืออาศัย

ทิพยวิหารเป็นนิสสยปัจจัย) บ้าง ชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะมีแสงสว่าง

ใหญ่๒ เหตุกำหนดอาโลกกสิณ (ได้มา) บ้าง ชื่อว่าเป็นทิพย์ เพราะ

ความมีที่ไปใหญ่๓ เหตุเห็นรูปอันอยู่ในที่ (กำบัง) มีที่นอกฝาเป็น

ต้นได้บ้าง คำว่า "ทิพพ" ทั้งปวงนั้น บัณฑิตพึงทราบ (อรรถ) ตาม

แนวคัมภีร์ศัพทศาสตร์นั้นเถิด

ญาณนั้นชื่อว่าจักษุ เพราะอรรถว่าเห็น ๔ อนึ่ง ชื่อว่าจักษุ

เพราะเป็นดังตา เหตุทำกิจของตา (คือเห็น)

(ญาณ) จักษุนั้น จัดว่าหมดจด เพราะเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ

ด้วยการเห็นทั้งจุติและอุปบาต เพราะว่าบุคคลใดเห็นแต่จุติอย่าเดียว

ไม่เห็นอุปบาต บุคคลนั้นย่อมยึดอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ)

บุคคลใดเห็นแต่อุปบาตข้างเดียว ไม่เห็นจุติ บุคคลนั้นย่อมยึดสัสสตา-

ทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) ในเพราะความเกิดปรากฏขึ้นแห่งสัตว์ใหม่๕

๑. อตฺตนา เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่มีที่จอด สำนวณนี้ท่านกล่าวมาหนหนึ่งแล้ว

ตอนแก้ทิพโสต (หน้า ๒๔๕) ที่นั่นเป็น อตฺตโน เข้าความดี ดังที่แปลไว้ ด้วยเหตุนี้

จึงแก้เป็น อตฺตโน

๒. มหาฎีกาว่า แม้แสงสว่างใหญ่ก็เรียกว่า ทิพย์ ได้ในคำว่า "ทิพฺพมิทํ พฺยมหํ-

วิมานนี้สว่าง ?"

๓. มหาฎีกาติกตฺตา มหาฎีกาแก้เป็น มหนียคมนตฺตา วิมฺหยนียปฺกวตฺติตตฺตา - เพราะมี

ความไปน่าบูชา คือเพราะเป็นไปอย่างน่าพิศวง

๔. เป็นอันว่ารู้กับเห็นนั้นอันเดียวกัน เพราะเหตุนั้น ญาณทัสสนะ จึงแปลว่า ความรู้

ความเห็น (ไม่ใช่แปลว่าเห็นด้วยญาณ)

๕. นวสตฺตปาตุภาวสสฺสตทิฏฐิ ชอบกล ! ท่านแสดงเหตุแห่งสัสสตทิฏฐิไว้ในตัวด้วย

เสร็จ แต่อุจเฉททิฏฐิ ท่านมิได้แสดงเหตุอระไรไว้ มหาฎีกาเลยต้องช่วยแสดงว่า "เพราะ

ไม่เห็นความเกิดต่อไป จึงเห็นว่าขาดสูญแค่นั้น"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 213

ส่วนบุคคลใดเห็นทั้งสองทางนั้น บุคคลนั้น เพราะเหตุที่ล่วงเสียซึ่ง

ความเห็น (ผิด) ไปนั้นได้ทั้งสอง ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นเหตุ

แห่งทิฏฐิวิสุทธิ อันภิกษุพุทธบุตรทั้งหลายย่อมเห็น๑จุติและอุปบาตนั้น

ได้ทั้งสองเป็นแท้ เพราะเหตุนั้น จึงว่า "(ญาณ) จักษุนั้นจัดว่าหมด

จด เพราะเป็นเหตุแห่งทิฏฐิวิสุทธิ ด้วยการเห็นทั้งจุติและอุปบาต"

ดังนี้ (ญาณ) จักษุนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ล่วงจักษุของมนุษย์

เพราะเห็นรูปได้เลยอุปจารของมนุษย์ไป หรือชื่อว่าล่วงจักษุของมนุษย์

เพราะล้ำตาเนื้อที่เป็นของมนุษย์ (ความแห่งบาลีตอนนี้ก็ว่า เห็น)

ด้วยจักษุทิพย์ อันหมดจดล่วงจักษุของมนุษย์ (ดังอรรถาธิบายมา)นั้น

คำว่า "ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลาย" คือมองเห็นสัตว์ทั้งหลาย ราว

กะเห็นด้วยตาเนื้อของมนุษย์ ในสองคำว่า "จวมาเน อุปปชฺชมาเน

-ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ " นั้น มีอรรถาธิบายว่า ในขณะจุติก็ดี ใน

ขณะอุปปบัติก็ดี ไม่อาจเห็น (แม้) ด้วยทิพยจักษุ๒ แต่สัตว์เหล่าใดใกล้

จะจุติ กล่าวได้ว่าจักจุติบัดนี้ละ สัตว์เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง

ประสงค์เอาว่ากำลังจุติ และสัตว์เหล่าใดถือปฏิสนธิแล้ว กล่าวได้ว่า

๑. ปาฐะในมหาฎีกาลิขิตไว้มีเอวศัพท์ที่ ปสฺสนฺติ ดังนี้ "พุทฺธปุตฺตา ปสฺสนฺติเยว"

แล้วบอกไว้ด้วยว่า เอวศัพท์นั้นเป็นอวธารณะในบทหลัง ไม่เป็นอวธารณะในบทหน้า

๒. มหาฎีกาช่วยชี้เหตุว่า ไม่อาจเห็นแม้ด้วยทิพยจักษุญาณ เพราะขณะเป็นระยะสั้นนิด

เดียว และเพราะรูปของสัตว์ลางเหล่าเป็นของละเอียดนัก อนึ่ง รูปรมณ์ของทิพยจักษุเป็น

ปัจจุบัน และรูปารมณ์นั้นเป็นปุเรชาตปัจจัย ความเป็นไปแห่งมหรคตธรรมเหล่า ที่จะเว้น

อาวัชนะและบริกรรมเสียหามีไม่ อีกทั้งรูปเมื่อขณะเกิดขึ้นหรือเมื่อขณะดับ หาอาจเป็น

อารัมมณปัจจัยได้ไม่ เพราะฉะนั้น รูปในขณะจุติและอุปบาท จึงไม่อาจเห็นได้ด้วยทิพย-

จักษุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 214

เกิดเดี๋ยวนี้ละ๑ สัตว์เหล่านั้น ทรงประสงค์เอาว่ากำลังอุปบัติ ด้วย

บททั้งสองนั้น๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความว่า "ภิกษุนั้นย่อม

เห็นสองทั้งหลายที่กำลังจุติ และกำลังอุปบัติอย่าง (ที่ทรงประสงค์เอา)

นั้น"

คำว่า "หีเน - เลว" คือที่เขาเหยียดหยามดูหมิ่นถิ่นแคลน ด้วย

อำนาจแห่งฐานะมีชาติตระกูล และโภคะเป็นต้น ที่นับว่าเลว เพราะ

ประกอบด้วยผลแห่งโมหะ คำว่า "ปณีเต - ประณีต" คือที่ตรงกัน

ข้ามกับเลว เพราะประกอบด้วยผลแห่งอโมหะ คำว่า "สุวณฺเณ -

ผิวพรรณงาม" คือประกอบด้วยผลแห่งอโทสะ คำว่า "ทุพฺพณฺเณ -

มีผิวพรรณทราม" คือกอบด้วยผิวพรรณไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่

ไม่น่าชอบใจ เพราะประกอบด้วยผลแห่งโทสะ หมายความว่ามีรูป

ไม่งาม มีรูปน่าเกลียด๓ คำว่า "สุคเต - ได้ดี "คือสุคติ หรือ

เป็นผู้มั่งมีทรัพย์มาก เพราะประกอบด้วยผลแห่งอโลภะ คำว่า

ทุคฺคเต -ตกยาก" คือถึงทุคติ หรือขัดสนอัตคัดข้าวน้ำ เพราะ

๑. สมฺปติ นิพฺพตฺตา จ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถุงจะเป็น... นิพฺพตฺาติ (ไม่ใช่ จ)

เพราะประโยคทั้งสอง (แก้จวมานาประโยคหนึ่ง แก้อุปปชชมานาประโยคหนึ่ง ) ต้อง

เสมอกัน ประโยคหน้า เย อาสุนฺนจอตอการ อิทานิ จวิสฺสนฺตีติ เต จวมานา นี้เรียบร้อย

เป็นตัวอย่างอยู่ ประโยคหลังก็ควรเป็นรูปเดียวกัน คือ เย จ คหิตปฏิสนฺธิกา สมฺปติ

นิพฺพตฺตาติ เต อุปปชฺชมานา ในที่นี้แปลตามที่เห็นว่าถูก

๒. เต นี้ก็เข้าใจว่าพิรุธ ที่ถูกจะเป็น เตน ตามรูปประโยค ในที่นี้แปลตามที่เข้าใจ

ว่าถูก

๓. แปลตามฉบับหม่าที่เป็นอนภิรูเป วิรูเป ซึ่งน่าจะถูกว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 215

ประกอบด้วยผลแห่งโลภะ คำว่า "ยถากมฺมุปเค - เข้าถึง (คติ) ตาม

กรรม" คือกรรมใด ๆ ที่ตนก่อไว้ เข้าถึง (คติ) ตามกรรมนั้น ๆ

[ยถากัมมูปคญาณ]

ในบทเหล่านั้น กิจแห่งทิพยจักษุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยบท

ทั้งหลายข้างต้น มีบทว่า "จวมาเน" เป็นต้น ส่วนกิจแห่งยถากัมมูป-

คญาณ (ความรู้ว่าสัตว์เข้าถึงคติตามกรรมของตน) ตรัสด้วยบท (ยถา

กมฺมุปเค) นี้ และ (ความต่อไป) นี้ เป็นลำดับความเกิดขึ้นแห่ง

ญาณนั้น

ภิกษุในพระศาสนานี้ ขยายอาโลกกสิณ (ลง) ไปเบื้องล่าง มุ่ง

หน้าสู่นรก ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดอยู่ในนรก ที่กำลังเสวยทุกข์หนัก

ความเห็นนั้นเป็นกิจแห่งทิพยจักษุเท่านั้น ภิกษุนั้นทำในใจอย่างนี้ (ต่อ

ไป) ว่า "สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอะไรเล่าหนอ จึงได้เสวยทุกข์นั้น"

ลำดับนั้น ญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์* จึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นว่า

"(สัตว์เหล่านั้น) ทำกรรมชื่อนี้..." นัยเดียวกันนั้น ภิกษุขยาย

อาโลกกสิณ (ขึ้น) ไปเบื้องบน มุ่งหน้าสู่เทวโลก ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลาย

ที่กำลังเสวยมหาสมบัติอยู่ในทิพยสถาน มีนันทวัน มิสสกวัน และ

ปารุสกวันเป็นอาทิ แม้ความเห็นนั้นก็เป็นกิจแห่งทิพยจักษุนั่นเอง เธอ

ทำในใจอย่างนี้ (ต่อไป) ว่า "สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอะไรหนอ จึงได้

* ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า ตํ กมฺมารมฺมณํ ญาณํ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็นศัพท์สมาส

ว่า ตํกมฺมารมฺมณํ... เพราะความที่ควรจะเป็นนั้นว่า "ญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์

ไม่ใช่ "ญาณอันมีกรรมเป็นอารมณ์นั้น" มหาฎีกาก็ตั้งวิเคราะห์ไว้ว่า ตํ นิรยสํวตฺตนิยํ

กมฺมํ อารมฺมณํ เอคสฺสาติ ตํกกมฺมารมฺมณํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 216

เสวยสมบัตินั่น " ลำดับนั้น ญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์ จึงเกิด

ขึ้นแก่เธอว่า "(สัตว์เหล่านั้น) ทำกรรมชื่อนี้..." ความรู้นี้ชื่อ ยถา-

กัมมุปคญาณ อันบริกรรมแผนกหนึ่งแห่งญาณนี้หามีไม่ และ

(บริกรรมแผนกหนึ่ง) แห่งญาณนี้ (ไม่มี) ฉันใด แม้ (บริกรรม

แผนกหนึ่ง) แห่งอนาคตตังญาณ (ก็ไม่มี) ฉันนั้น เพราะญาณอันมี

ทิพยจักษุเป็นบาท (คือเป็นพื้นฐาน) ทั้งหลายนั่นเอง ก็ย่อมสำเร็จมา

พร้อมกับทิพยจักษุญาณนี้แล*

[ทุจริต]

ในบททั้งหลายมีบทว่า "กายทุจฺจริตเตน - ด้วยกามทุจริต" เป็นต้น

มีพรรณนาความว่า "ความประพฤติชั่ว หรือความประพฤติเสีย เพราะ

เป็นความประพฤติที่เน่าไปด้วยอำนาจกิเลส เหตุนั้นจึงชื่อทุจริต ความ

ประพฤติชั่วด้วยกาย หรือความประพฤติชั่วอันเกิดขึ้นทางกาย เหตุนั้น

จึงชื่อกายทุจริต" นับแม้ใน (สอง) บทนอกนี้ ก็ดุจนัยนี้ บทว่า

"สมนฺนาคตา - มาตามพร้อม" คือ สมงฺคีภูตา - เป็นผู้ประกดบได้วย

[อริยุปวาท]

ข้อว่า "อริยานํ อุปวาทกา - ผู้ว่าร้ายพระอริยะทั้งหลาย" ความ

* ที่ว่าบริกรรมแผนกหนึ่งแห่งญาณนี้หามีไม่นั้น อ่านมหาฎีกากาดเหมือนท่านอธิบายว่า

ไม่มีแผนกหนึ่งต่างหากจากทิพยจักษุญาณ คือไม่ต้องดำเนินกรรมวิธีตั้งบริกรรม เพื่อญาณ

นี้โดยเฉพาะเป็นแผนกหนึ่งขึ้นใหม่เท่านั้น หาใช่ว่าไม่มีบริกรรมเสียเลยไม่ เพราะมน-

สิกโรติ - ทำในใจ นั่นก็คือบริกรรมด้วยใคร่จะรู้กรรมของสัตว์เหล่านั้นเอง ทั้งนี้

ก็เพราะญาณนี้ (และอนาคตังสญาณด้วย) เกิดเนื่องกับทิพยจักษุญาณ ถ้ายังไม่ทิพ

จักษุญาณก่อนแล้ว ก็หาอาจทำให้ญาณนี้เกิดได้ไม่ จึงว่าญาณนี้มีทิพยจักษญาณเป็นบาท

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 217

ว่า เป็นผู้มุ่งความเสื่อมเสีย ว่าร้ายเอา อธิยาบว่าด่าเอง ติโทษเอา

ซึ่งพระอริยะทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธ และพระสาวก

ทั้งหลาย โดยที่สุด แม้พระโสดาบันคฤหัสถ์ ด้วยอันติวัตถุ๑ก็ตาม

ด้วยการลบล้างคุณก็ตาม ในอาการสองอย่างนั้น ผู้กล่าวว่า "สมณ-

ธรรมของบุคคลเหล่านี้ไม่มี บุคคลเหล่านั้นไม่เป็นสมณ" ดังนี้ พึง

ทราบว่า "ว่าร้ายด้วยอันติมวัตถุ" ผู้กล่าวคำ (ไม่จริง) เป็นต้นว่า

"ฌานก็ดี วิโมกขก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ของบุคคลเหล่านี้ไม่มี" ดังนี้

พึงทราบว่า "ว่าร้ายโดยมุ่งลบล้างคุณ" ก็แลบุคคล (ผู้ว่าร้าย) นั้น

รู้อยู่ (ว่าท่านเป็นพระอริยะ) ยังว่าร้าย (ท่าน) ก็ตาม ไม่รู้ (ว่าท่าน

เป็นพระอริยะ) ว่าร้ายท่านไปก็ตามก็คงเป็นอริยปวาททั้งสองสถาน๒

เดียวกันอนันตริยกรรม แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (พอเยียวยาได้๓) เพื่อ

ให้อริยุปวาทกรรมนั้นชัดเจนขึ้น ยัณฑิตพึทราบเรื่อง (ต่อไป) นี้

[เรื่องภิกษุหนุ่มว่าร้ายพระอริยะ]

เล่ากันว่า พระเถระรูปหนึ่ง และภิกษุหนุนรูปหนึ่ง ไปบิณฑบาต

๑. คำว่าอันติมวัตถุ เป็นโวหารทรงพระวินัย แปลว่า เรื่องอันถึงที่สุด คือเรื่องทีทำให้ถึง

ขาดจการความเป็นสมณะทีเดียว อันได้แก่ วัตถุปาราชิก ในกรณีอริยุปวาทนี้ ไปว่าพระ

อริยะว่าทานไม่มีสมณธรรม ไม่เป็นสมณะ ก็เท่ากับว่าท่านเป็นปาราชิกเหมือนกัน

๒. มหาฎีกาว่า รู้หรือไม่รู้ไม่เป็นประมาณ ความเป็นพระอริยะเท่านั้นเป็นสำคัญ แต่

อาจารย์ลางพวกกล่าวว่า เมื่อไม่รู้ว่าท่านเป็นอริยะ สำหรับผู้ไม่มีจิตคิดร้ายต่อท่าน

เป็นต่อพูดไปว่าท่านไม่มีอริยคุณ ก็ไม่เป็นการลบล้างคุณ เพราะฉะนั้น อริยุปวาทก็

ไม่มี (?)

๓. เป็นสเตกิจฉาด้วยการขอขมาได้ แต่อนันตริยกรรมเป็น อเตกิจฉา (เยียวยาไม่ได้

ด้วยประการทั้งปวง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 218

ในหมู่บ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง ท่านทั้งสองนั้นได้ยาคูยังร้อนประมาณ

กระบวยหนึ่ง ในเรือนหลักแรกทีเดียว พอลมในท้องของพระเถระ

เสียดขึ้น ท่านจึงคิดว่า "ยาคูนี้ เป็นของสัปปายะสำหรับเรา เราจะ

ดื่มมันเสียแต่เวลามันยังไม่เย็นเถิด " ดังนี้แล้ว ท่านจึงนั่งลงที่ท่อนไม้

ซึ่งคนทั้งหลายนำมาเพื่อ (จะทำ) ธรณีประตู แล้วดื่ม (ยาคูนั้น)

ข้างฝ่ายอีกรูปหนึ่ง รังเกียจท่าน (ที่นั่งลงฉันกลางหมู่บ้างเช่นนั้น)

ก็ว่าเอาว่า "คนแก่ หิวจัดเต็มที (ละซิ) จึงได้ทำความขายหน้าถึง

เราด้วย " พระเถระเที่ยว (บิณฑบาต) หมู่บ้าน แล้ว (กลับ) ไป

ถึงวิหาร จึงพูดกะภิกษุหนุ่มว่า "ที่พึ่งในพระศาสนานี้ของเธอมีอยู่หรือ

อาวุโส" ภิกษุหนุ่มบอกว่า "มีขอรับ กระผมเป็นโสดาบัน" พระ-

เถระจึงว่า "อาวุโส ถ้ากระนั้นเธออย่าได้ทำความพยายามเพื่อมรรค

เบื้องสูง (ต่อไป) เลย" ภิกษุหนุ่มถามว่า "เพราะเหตุอะไร ขอรับ"

พระเถระบอกว่า "พระขีณาสพ ถูกเธอว่าร้ายเอาแล้ว "ภิกษุหนุ่ม

รูปนั้น (จึงได้สำนึก) ขอขมาท่าน ด้วยการขอขมานั้น กรรมของ

เธอนั้นจึงได้ (กลับ) เป็นปกติ*

* เรื่องที่เล่านี้มีปัญหามาก เช่นว่า

ก. คำที่ภิกษุหนุ่มว่าพระเถระนั้น เป็นอริยุปวาทโดยสถานไหน ทางอันติมวัตถุนั้น

ไม่ใช่แน่ แต่ทางคูณปริธัสนะก็ไม่ชัดนัก อริยคุณที่ให้ตัวอย่างไว้นั้น หมายถึงคุณวิเศษ

ที่เป็นอุตตริมนุสธรรม แต่ในเรื่องนี้ไม่ได้ว่าถึงเช่นนั้น คำที่ว่านั้นเมื่อสรุปเป็นคำไทย ๆ

ก็คงจะว่า "คนแก่หน้าไม่อาย " เท่านั้นเอง จัดเป็นคำคุณปริธํสนะได้หรือไม้ ?

ข. ภิกษุหนุ่มรูปนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ปฏิบัติจนเป็นพระโสดาบัน (ตามที่ท่านเปิดเผย

เอง) แล้ว ท่านน่าจะหยั่งทราบได้ว่าพระเถระนั้นมีภูมิธรรมสูงกว่าท่าน ซึ่งท่านน่าจะ

เคารพ แต่ที่ท่านกล่าววาจาเอาพระเถระเช่นนั้น ส่อว่าไม่เคารพ พระโสดาบันเป็นพระ

อริยะ กลับไปทำอริยุปวาทเสียเอง อย่างไรอยู่ ฯลฯ

รวมความว่า ตามที่ทานบอกว่าเล่าเรื่อง เพื่อให้เป็นอริยุปวาทกรรมชัดเจนขึ้นนั้น

การตรงกันข้ามเสียแล้ว คือฟังเล่าแล้วกลับเกิดความฟั่นเฝือต่าง ๆ ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 219

[วิธีขอขมา]

เพราะฉะนั้น แม้นผู้ใดอื่นว่าร้ายพระอริยะเข้า ผู้นั้นพึงไป (หา

ท่าน) ถ้าท่านเป็นผู้อ่อน (พรรษา*) กว่าตน ก็นั่งกระโหย่ง (ไม่ต้อง

ไหว้) ขอขมา (ด้วยคำ) ว่า อหํ อายสมนตํ อิทญฺจิทญิจ อวจํ

ตมฺเม ขมาหิ -ฉันได้กล่าวคำนี้ ๆ กะท่าน ขอท่านจงอดโทษนั้นแก่

ฉันด้วยเถิด" ถ้าท่านเป็นผู้แก่พรรษากว่า ก็พึงไหว้ (ท่าน) นั่ง

กระโหย่งประคองอัญชลี ขอขมา (ด้วยคำ) ว่า "อหํ ภนฺเต ตุมฺเห

อิทญฺจิทญฺจ อวจํ ตมฺเม ขมถ - ท่านเจ้าข้า กระผมได้กล่าวคำนี้ ๆ

กะท่าน ขอท่านโปรดอดโทษนั้นแก่พระผมด้วยเถิด"

ถ้าแม้นท่านหลีกไปสู่ทิศ (คือไปที่อื่น) เสียแล้ว พึงไปเองหรือ

ส่งศิษย์มีสัทธิวิหาริกเป็นต้นไปขอมา (ท่าน) แต่ถ้าไม่อาจไป (เอง)

ทั้งไม่อาจส่ง (ใคร ๆ ) ไปด้วยไซร้ ภิกษุเหล่าใดอยู่ในวิหาร (เดียว

กันกับตน) นั้น พึงไปหาภิกษุเหล่านั้น ถ้าเธอทั้งหลายเป็นผู้อ่อน

พรรษากว่า ก็นั่งกกระโหย่ง (ไม่ต้องไหว้) ถ้าเธอทั้งหลายเป็นผู้แก่

พรรษากว่า ก็ปฏิบัติโดยนัยแห่งวัตรที่พึงทำในท่านผู้แก่พรรษาดังกล่าว

แล้วนั่นแล แล้วกล่าวขอขมาว่า "อหํ ภนฺเต อสุกํ นาม อายสฺมนฺคํ

อิทญฺจิทญฺจ อวจํ ขมตุ มา โส อาสฺมา - ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้

กล่าวคำนี้ ๆ กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น ขอท่านผู้มีอายุนั้น จงอดโทษแก่

* ปาฐะตรงนี้พิมพ์ไว้เป็น วุฑฺฌตเร ถัดไปประโยคหลังเป็น นวกตโร เข้าใจว่าลิขิต

ไว้ไขกันไป เพราะความข้างหลังไม่สมกัน ในที่นี้ได้แก้บทประโยคหน้าเป็น นวกตโร

ในประโยคหลังเป็น วุฑฺฌตโร ดังที่แล้วไว้นี้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 220

ข้าพเจ้าด้วยเถิด " แม้เมื่อไม่ได้ขอขมาต่อหน้า (ท่าน) ก็พึงทำวัตร

นั้นเหมือนกัน๑

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นเอกจาริกภิกขุ (ภิกษุผู้จาริกไปผู้เดียว) สถาน

ที่อยู่ของท่านไม่มีใครรู้ สถานที่ไปขอท่านเล่าก็ไม่ปรากฏไซร้ ก็พึง

ไปหาภิกษุที่เป็นบัณฑิตรูปหนึ่ง แล้วบอก (ปรึกษาท่าน) ว่า "ท่าน

ขอรับ กระผมได้กล่าวถึงท่าน กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น วิปฏิสาร (เกิด

มีแก่กระผมทุกทีที่ระลึกถึงท่าน กระผมทำอย่างไร (ดี)" ภิกษุ

บัณฑิตนั้นจะกล่าวว่า "ท่านอย่าคิดไปเลย พระเถระจะย่อมอดโทษให้แก่

ท่าน ท่านจงทำจิตให้ระงับเถิด " ฝ่ายเธอก็พึงบ้างหน้าต่อทิศทางที่

พระอริยะไป ประคองอัฐชลีกล่าว (ขึ้น) ว่า "ขมตุ" - ขอพระเถระ

นั้นขงอดโทษเถิด"

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นผู้ปรินิพานเสียแล้ว เธอพึงไป (ให้) ถึง

ที่ที่นับว่าเป็นเตียงที่ท่านปรินิพพาน๒ กระทั่งถึงป่าช้าผิดิบก็ดี ขอขมา

๑. อชมฺนเต ในมหาฎีการเป็น อขมาเปนฺเต แล้วบอกไว้ว่าปาฐะเป็น อขมนฺเต ก็มี

เห็นว่า อขมาเปนฺเต นั่นแหละถูกต้อง เพราะข้างต้นเป็น ขมาเปสิ ขมาเปตพฺโพ ขมา-

เปตพฺพํ มาเป็นแถว

การขอขมานี้ ภาษาไขว้เขวกันอยู่ ภาษาไทยว่า "ขอขมา" นั้น อาจฟังเป็นว่าเรา

ไปขมาท่าน แต่ที่จริงเป็นคำสมาส พูดเต็มว่า "ขอให้ท่านขมา" คือขอให้ท่านอดโทษ ให้

ตรงกับภาษาบาลีว่า ขมาปน - ยังท่านให้อดโทษนั่นแหละ ในที่นี้แปลดตัดเป็นสำนวนไทย

ว่า ขอขมา.

๒. ปรินิพฺพุตมญฺจฏฐานํ มหาฎีกาว่า หมายถึง "ปูชากรณฏฺฐานํ - ที่ท่านทำการบูชา

(ถึงท่าน)" จะอธิบายว่าอย่างไร น่าจะอธิบายว่า พระอรหันต์มิได้ปริพพานบนเตียง

ไปทุกองค์ อนึ่ง แม้มีเตียง ล่วงกาลนานไปเตียงก็ผุพังไป เขาก็ทำที่สังเขปว่าเป็นที่

ปรินิพพานของท่านขึ้นไว้ เป็นที่บูชาถึงท่าน ทำนองพระแท่นดงรังของเรานั่นกระมัง (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 221

(ท่าน) เถิด ๑

เมื่อได้ทำ (การขอขมา) เสียได้อย่างนี้แล้ว กรรมนั้นก็ไม่เป็น

สัคคาวรณ์ ไม่เป็นมัคคาวรณ์เลย (กลับ) เป็นปกติเท่านั้นเองแล

[มิจฉาทิฏฐิ]

บทว่า "ผู้มีความเห็นผิด" คือผู้มีความเห็นวิปริต (ผิดคลอง

ธรรม) บทว่า "ผู้มีกรรมสมาทานด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ" ความว่า

ผู้มีกรรมต่างอย่างที่ถือเอาด้วยอำนาจความเห็นผิด ซึ่งเป็นผู้ที่ชักชวน

คนอื่น ๆ ในกรรมทั้งหลายมีกายกรรมเป็นต้น ที่มีความเห็นผิดเป็น

มูลด้วย

ก็แล ในอริยุปวาทและมิจฉาทิฏฐินี้ แม้เมื่ออริยุปวาท เป็นอัน

สงเคราะห์ (รวม) เอาไว้แล้วด้วยศัพท์คือวจีทุจริต และมิจฉาทิฏฐิ

เล่า ก็เป็นอันสงเคราะห์เอาไว้แล้วด้วยศัพท์คือมโนทุจริตก็ดี (แต่)

การตรัสสองบทนี้อีก บัณฑิตทราบว่า เพื่อทรงแสดงความที่อริยุป-

วาท และมิจฉาทิฏฐินั้นมีโทษมาก อันอริยุปวาท (นั้น) จัดว่ามี

โทษมากจริง เพราะเป็นโทษแม้อนันตริยกรรมทีเดียว จริงอยู่ แม้

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้ถึงพร้อม

ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา๒ พึงยังอรหัตผลให้

๑. ประโยคนี้มี คนฺตฺวา ซ้อนกัน ศัพท์ข้างหน้าน่าจะเกิน ในที่นี้แปลอย่างตัดศัพท์หน้า

ออกก็คงได้ความดี

ที่กล่าวถึงป่าช้าผีดิบนั้น หมายความว่า หากศพท่านเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าผีดิบ ก็

พึงอุตสาหะไปกราบที่ศพท่านให้จงได้ อย่าได้รังเกียจเลย เช่นนั้นกระมัง (?)

๒. มหาฎีกาว่า ตรัสหมายถึงผู้มีอินทรีย์แก่กล้า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 222

สำเร็จได้ในทิฏฐธรรมนี้แน่ อุปมาฉันใด อุปไมยนี้ก็ฉันนั้น สาริบุตร

เรากล่าวว่า บุคคลไม่เลิกคำพูดอันนั้น ไม่ละความคิดอันนั้น ไม่สละ

ทิ้งความเห็นอันนั้น๑ เสียแล้ว ย่อมเป็นผู้ถูกเก็บไว้ในนรก ดุลถูกเขานำ

(ตัว) ไปเก็บไว้ฉะนั้น๒" อนึ่ง โทษอื่นที่ชื่อว่ามีโทษมากกว่ามิจฉา

ทิฏฐิหามีไม่ ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา

ไม่เห็นธรรมอื่นสักอย่างหนึ่ง ซึ่งมีโทษมากยิ่งอย่างนี้ เหมือนดังมิจฉา-

ทิฏฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง๓"

ดังนี้

[อบาย ทุคติ วินิบาต นิรยะ]

คำว่า "เพราะความแตกไปแห่งกาย" คือเพราะความสละไป

แห่งอุปาทินนขันธ์ (ขันธ์ที่วิญญาณครอง) คำว่า "เบื้องหน้าแต่

ตายไป " คือในการถือเอาขันธ์ที่เกิด (ใหม่) ในลำดับแห่งอุปาทินน-

ขันธ์ (ที่สละไป) นั้น หรือนัยหนึ่งคำว่า "เพราะความแตกไปแห่ง

กาย" คือเพราะความขาดไปแห่งชีวิตนทรีย์ คำว่า "เบื้องหน้าแต่

ตายไป " คือต่อจากจุติจิตไป

คำว่า "อบาย" ดังนี้เป็นต้น ทุกคำเป็นไวพจน์ของคำนิรยะนั่นเอง

จริงอยู่ นิรยะ จัดเป็นอบาย เพราะปราศจากอายะ ที่รู้กันว่าบุญ

อันเป็นเหตุแห่งสรรค์และนิพพาน หรือว่าเพราะความไม่มีแห่งอายะ

๑. หมายถึงคำพูด และความคิดเห็นที่เป็นอริยุปวาย

๒. ม. มู ๑๒/๑๔๕

๓. องฺ. เอก. ๒๐/๔๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 223

(แดนมา) แห่งความสุขทั้งหลาย

นิรยะ จัดเป็นทุคติ เพราะเป็นคติ คือเป็นที่อาศัยไปแห่งทุกข์

นัยหนึ่ง จัดเป็นทุคติ เพราะเป็นคติอันเกิดด้วยกรรมที่ชื่อว่าชั่ว เพราะ

เป็นกรรมมากไปด้วยโทษ

นิรยะ จัดเป็นวินิบาต เพราะเป็นที่ตกลงไปอย่างหมดอำนาจ

แห่งคนทำชั่วทั้งหลาย นัยหนึ่ง จัดเป็นวินิบาต เพราะเป็นที่ตกลงไป

อย่างวินาศ คือมีอวัยวะใหญ่น้อยย่อยยับ (แห่งคนทำชั่วทั้งหลาย) ดัง

นี้ก็ได้

อายะ ที่เรียกกันว่า อัสสาทะ (ความยินดี) ไม่มีในที่นั้น เหตุ

ฉะนี้ ที่นั้นจึงชื่อนิรยะ

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบ่นถึงกำเนิดดิรัจฉาน ด้วย

อปายศัพท์ จริงอยู่ กำเนินดิรัจฉานชื่อว่าอบาย เพราะปราศจากสุคติ

(แต่) ไม่จัดเป็นทุคติ เพราะเป็นที่สมภพแห่งดิรัจฉานจำพวกมเหสักข์๑

มีนาคราชเป็นต้น

ทรงบ่งถึงเปรถวิสัย ด้วยทุคคติศัพท์ จริงอยู่ เปรตวิสัยนั้น

จัดเป็นอบายด้วย เป็นทุคติด้วยแท้ เพราะปราศจากสุคติ และเพราะ

เป็นคติแห่งทุกข์ แต่ไม่จัดเป็นวินิบาต เพราะเปรตวิสัยมิได้ตกอย่า

ย่อมยับเช่นกับอสุรกาย๒ (ดังจะกล่าวต่อไป)

๑. มเหสักข์ แยกเป็นมหา + อีส - อกฺข แปลว่าผู้มี่เขากล่าวว่าเป็นเจ้าใหญ่ คู่กับอัปเปสักข์

ผู้ที่เขากล่าวว่าเป็นเจ้าน้อย ตรงกับภาษาไทยเราว่า ผู้ใหญ่ ผู้น้อย (?)

๒. อสุรสทิสํ มหาฎีกาแก้เป็น เปตาสฺรสทิสํ จะหมายถึงอะไรของท่านทราบ ในที่

นี้เห็นว่า อสุร ควรจะเป็นอสุรกาย ซึ่งจะกล่าวต่อไป ไม่จัดเป็นพวกอบายภูมิ

ศัพท์ อสุรสทิสํ สะดุดตาน่าพิจารณาอยู่ ว่าใช้ได้หรือไม่ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 224

ทรงบ่งถึงอสุรกายด้วยวินิปาตศัพท์ จริงอยู่ อสุรกายนั้นจัดเป็น

อบาย และเป็นทุคติด้วยแท้ โดยอรรถตามที่กล่าวแล้ว และยังเรียกว่า

วินิบาตด้วย เพราะอสุรกายนั้นตกไปจากความเจริญ (ด้วยสมบัติ) ทุก

อย่าง

ทรงบ่งถึงนิรยะ (คือนรก) มากชนิด มีอเวจีเป็นต้นนั่นเอง

ด้วยนิรยศัพท์แล

บทว่า "อุปปนฺนา" คือ อุปคตา - เข้าถึง อธิบายว่า "เกิด

ในอบายเป็นต้นนั้น"

[สุคติโลกสวรรค์]

สุกกปักข์ (ฝ่ายดี) บัณฑิตพึงทราบโดยปริยายที่ผิด (ตรงกัน

ข้าม) จาก (ฝ่ายชั่ว) ที่กล่าวแล้วนั้นเถิด แต่ความ (ต่อไป) นี้

เป็นความแปลกกัน คือ

ในคำว่าสุคติเป็นต้นนั้น ด้วยสุคติศัพท์ ท่านรวมเอามนุษยคติ

เข้าด้วย (แต่) ด้วยสัคคศัพท์ ท่านถือเอาแต่เทวคติอย่างเดียว (ส่วน

ความ (ต่อไป ) นี้ เป็นความหมายแห่งคำ คือในคำว่าสุคติโลกสวรรค์

นั้น ภูมิที่ชื่อว่าสุคติ เพราะเป็นคติดี ชื่อว่าสวรรค์ เพราะเลิศ

อย่างดีด้วยอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ทั้งหมดนั้น ได้ชื่อว่าโลก

เพราะความหมายหว่า มีอันจะต้องทรุดโทรมไป

คำว่า "อิติ ทิพฺเพน จกฺขุนา" เป็นต้น ทั้งหมดเป็นคำนิคม

ความตามที่กล่าวมานี้ เป็นความสังเขปในพระบาลีว่า "เห็น...

ด้วยทิพยจักษุ" นั้น ด้วยประการฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 225

[เริ่มทำทิพยจักษุ]

ก็แลอาทิกัมิกกุลบุตร ผู้ปรารถนาจะเห็น (ด้วยทิพยจักขุ)

อย่างนั้น พึงทำฌานที่เป็นบาทแห่งอภิญญา อันมีกสิณเป็นอารมณ์

ให้ควรแก่การนำ (จิต) ไป๑ (เพื่อทิพจักขุญาณ) ด้วยอาการทั้งปวง

แล้ว ทำบรรดากสิณ ๓ นี้คือ เตโชกสิณ โอทาตรสิณ อาโลกสิณ

อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ใกล้ (ที่จะเกิดทิพจักขุญาณ) พึงทำอุปจาร -

ฌานให้เป็นโคจร๒ ขยาย (กสิณารมณ์) แล้วพักไว้ อธิบายว่า

อัปปนา ไม่ควรให้เกิดขึ้นในอารมณ์ที่ขยายแล้วนั้น เพราะถ้าให้เกิด

ขึ้น อารมณ์นั้นก็เป็นที่อาศัยแห่งปาทกฌานไป ไม่เป็นที่อาศัยแห่ง

บริกรรม๓

ก็ในกสิณ ๓ นี้ อาโลกกสิณนั่นแหละดีกว่าเพื่อน เพราะเหตุนั้น

พึงยังอาโลกกสิณนั้น หรือกสิณนอกนี้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ให้เกิด

ขึ้น (เป็นอุปจารฌาร) โดยนัยที่กล่าวในกสิณนิเทศแล้ว ตั้งอยู่ใน

อุปจารภูมิแล จึงขยาย (อารมณ์กสิณ) เถิด๔ แม้นัยในการขยาย

อารมณ์นั้น ก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวในกสิณนิเทศนั้นเหมือนกัน

พระโยคาวจรพึงดูรูปที่มีอยู่ ในภายในที่แห่งกสิณารมณ์ที่ขยาย ๆ

๑. อภินิหารนี้มุ่งถึงบาลีว่า จิตฺตํ อภินีหรติ อภินินฺนาเมติ ที่กล่าวในเบื้องต้น.

๒. ทำ...ให้เป็นโคจร มหาฎีกาอธิบายว่า ทำ...ให้คล่องแคล่ว

๓. มหาฎีกาว่า เมื่อถึงอัปปนาแล้ว ก็เป็นอันไม่ได้ทำบริกรรม ปราศจากบิกรรมเสียแล้ว

อภิญญาจะเกิดไม่ได้ การเห็นรูปก็ไม่มี

๔. เพราะปฏิกาคนิมิตเกิดพร้อมกับอุปจารฌาน ถึงอุปจารแล้วปฏิภาคนิมิตเกิด จึงขยาย

ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 226

ไปเท่านั้น (ไม่พึงดูไปภายนอก๑) ก็แล เมื่อเธอดูรูปเสีย วาระแห่ง

บริกรรมย่อมล่วงไป ต่อนั้นแสงสว่างก็หายไป ครั้นแสงสว่างนั้นหาย

ไปแล้ว รูปก็ไม่ปรากฏด้วย๒ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระโยคาวจรนั้นพึง

เข้า๓ปาทฌานนั่นแหละ ออกจากฌานนั้นแล้ว จึงแผ่ (ขยาย) แสง

สว่างไปให้บ่อย ๆ เถิด เมื่อทำไปอย่างานั้น แสงสว่างย่อมจะถึงความ

แรงกล้า (คืออยู่ได้นาน) โดยลำดับแล (ต่อไปนี้) เธออธิษฐาน

ว่า "แสงสว่างจงมีอยู่ในที่นี้" กำหนดที่ไว้เท่าใด แสงสว่างก็คงอยู่ใน

ที่ (เท่า) นั้น การเห็นรูปย่อมมีแก่เธอผู้นั่งดูอยู่ทั้งวันก็ได้ ก็บุรุษ

ผู้เดินทางในกลางคืนด้วยคบเพลิงหญ้า เป็นข้ออุปมาได้ในคำที่กล่าวนี้

ได้ยินว่าบุรุษผู้หนึ่ง เดินทางไปในกลางคือด้วยคบเพลิงหญ้า

(ครั้นเดินไป) คบเพลิงหญ้านั้นของเขามอดลง ทีนี้พื้นดิน ทำ

เรียบ ก็ไม่ปรากฏแก่เขา เขาจึงเขี่ยคบเพลิงหญ้านั้นเข้าที่พื้นดิน ทำ

ให้มันโพลกขึ้นอีก ก็แลคบเพลิงหญ้านั้น ครั้นโพลงขึ้นแล้ว ได้ทำ

แสงสว่างมากกว่าแสงสว่างครั้นก่อน (ไปอีก) เมื่อเขาทำคบก็ค่อยขึ้นมา

ครั้นตะวันขึ้นแล้ว การใช้คงเพลิงก็ไม่มี ดังนั้นเขาจึงทิ้งคบเพลิงนั้น

เสียแล้ว (เดิน) ไปได้ตลอดวัน

๑. เพราะถ้าดูออกไปภายนอก จะเป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่าน

๒. มหาฎีกาอธิบายตรงนี้ว่า คำว่าบริกรรมในที่นี้ ก็คืออุปจารฌาน ที่มีกสิณเป็นอารมณ์

ดังกล่าวแล้ว อุปจารฌานนั้น เมื่อพระโยคาวจรดูรูปเสีย ก็ไม่เป็นไป การเห็นรูปมีได้ด้วย

อำนาจแสงสว่างแห่งกสิณ ๆ มีได้ก็ด้วยอำนาจบริกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อบริกรรม (คือ

อุปจารฌาน) ไม่เป็นไป แสงสว่างและการเห็นรูปก็มีไม่ได้ทั้งสองอย่าง

๓. เข้าฌานท่านเคยใช้ สมาปชฺชิตฺวา มาทั้งนั้น เพิ่งมาใช้ ปวิสิตฺวา ที่ตรงนี้ แต่ออก

จากฌานยังคงใช้ วุฏฐฺาย ไม่ยักใช้ นิกฺขมิตฺวา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 227

ในข้ออุปมาทั้งหลายนั้น แสงสว่างกสิณในเวลาบริกรรม (คือ

ในอุปจารฌาน) เปรียบดังแสงสว่างแห่งคบเพลิง การที่เมื่อแสงสว่าง

หายไป เพราะเหตุที่เมื่อพระโยคาวจรดูรูปอยู่ วาระแห่งบริกรรมล่วง

ไปเสีย ก็ไม่เห็นรูปทั้งหลาย เปรียบดังเมื่อคบเพลิงมอดเสียแล้ว (บุรุษ

นั้น) ก็ไม่เห็นที่เรียบที่ไม่เรียบฉะนั้น การเข้า (ปาทกฌาน) บ่อย ๆ

เปรียบดังเขี่ยคบเพลิง (ร่ำไป) การที่เมื่อพระโยควจรทำบริกรรม

อีก แสงสว่างที่แรงกล้ากว่าเก่าแผ่ (ขยาย) ไป เปรียบดังการที่คบเพลิง

(ถูกเขี่ยให้โพลงแล้ว) ทำแสงสว่างมากกว่าแสงสว่างครั้งก่อน การที่

แสงสว่างอันแรงกล้าคงอยู่ตามที่ ๆ กำหนดไว้ เปรียบดังการที่ตะวันขึ้น

การที่พระโยคาวจรทิ้งแสงสว่างอันน้อยเสียแล้ว เห็นรูปได้ทั้งวัน ด้วย

แสงสว่างที่แรงกล้า เปรียบดังการที่ (บุรุษนั้น) ทิ้งคบเพลิงหญ้าแล้ว

(เดิน) ไปได้ตลอดวัน (ด้วยแสงตะวัน) ฉะนั้น

[เมื่อทิพยจักษุเกิด]

ในการเห็นรูปนั้น เมื่อใด รูปนี้ คือรูปที่อยู่ในท้องและรูปที่อาศัย

อยู่ในหทัยวัตถุ รูปที่อาศัยอยู่ใต้พื้นดิน รูปที่อยู่นอกฝา นอกภูเขา

นอกกำแพง๑ และรูปที่อยู่ในจักรวาฬอื่น อันไม่มาสู่คลองมังสจักษุของ

ภิกษุนั้น (คือภิกษุนั้นมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ) มาสู่คลองแห่งญาณจักษุ

(ของเธอ) เป็นราวกะว่าปรากฏแก่มังสจักษุ เมื่อนั้นพึงทราบว่า

ทิพยจักษุเป็นอันเกิดขึ้นแล้ว และในบรรดาจิตที่ปรารภรูปนี้ ทิพยจักษุ

เท่านั้นสามารถในการเห็นรูป บุพพภาคจิตทั้งหลายมาหามารถไม่๒

๑. หมายความว่า ภิกษุอยู่ภายในอาคาร ภายในถ้า ภายในกำแพง

๒. บุพภาคจิต มหาฎีกาว่า ได้แก่อาวัชนจิต และบริกรรมจิต แม้จะทำรูปให้เป็นอารมณ์

แต่ก็ไม่อาจทำรูปให้แจ้งชัดอย่างของจริงได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 228

[ทิพยจักษุเป็นอันตรายแก่บุถุชน]

ก็แลทิพยจักษุนี้นั้น ย่อมเป็นอันตรายแก่บุถุชนได้ เพราะเหตุ

อะไร ? เพราะเหตุว่าบุถุชนนั้นอธิษฐานว่าให้แสงสว่างมีในที่ใด ๆ

ที่นั้น ๆ เกิดมีแสงสว่างเป็นอันเดียวลอดแผ่นดินสมุทรและภูเขาเข้าไป

ก็ได้ ทีนี้ เมื่อเขาเห็นรูปอมนุษย์มียักษ์และรากษสเป็นต้นอันเป็นรูปที่

น่ากลัวในที่เหล่านั้นเข้า ความกลัวก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถึง

วิกลจริต (กลาย) เป็นฌานวิพภันตกะ (บ้าเพราะฌาน) ไป (ก็ได้)

เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการดูรูป

[ลำดับความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ]

ในตอนทิพยจักษุเกิดนั้น นี่เป็นลำดับความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ

(คือ) คำทั้งปวง (ที่แสดงลำดับความเกิดแห่งทิพยจักษุ) ว่า "ครั้น

มโนทวาราวัชนะ ทำรู)ที่ประการดังกล่าวแล้วนั้นให้เป็นรูปารมณ์เกิด

ขึ้นแล้วดับไป ชวนะ ๔ หรือ ๕ ดวง ทำรูปนั้นแหละเป็นอารมณ์

เกิดขึ้น" ดังนี้เป็นอาทิ พึงทราบโดยนัยที่มีมาในตอนก่อนนั้นเถิด

แม้ในญาณนี้ กามาวจรจิตทั้งหลายอันยังมีวิตามีวิจาร นับเป็นบุพภาคจิต

(คือจิตเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งญาณนี้) รูปาวจรจิตอันเป็นไปใน

จตุตถฌาน เป็นอรรถสาธกจิต (จิตยังประโยชน์คือญาณนี้ให้สำเร็จ)

ในปริโยสาน ญาณอันเกิดพร้อมกับรูปาวจรจิตนั้นแหละ ท่านเรียกว่า

สัตตานังจุตูปปาตญาณบ้าง ว่าทิพจักขุญาณ บ้าง แล

จุตูปปาตญาณกถา จบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 229

[ปกิณณกกถา]

อนึ่ง พระนาถะเจ้าผู้ทรงรู้ขันธ์ ๕ ได้ตรัส

อภิญญา ๕ ใดไว้โดยประการดังกล่าวมานี้

แล้ว บัณฑิตได้ทราบอภิญญา ๕ นั้นแล้ว

พึงทราบเรื่องเบ็ดเตล็ดในอภิญญา ๕ นั้น

(ดังต่อไป) นี้_____________อีกบ้าง

ก็ในอภิญญา ๕ นั้น ทิพพจักขุ กล่าวคือจุตูปปาตญาณนั้น มี

ปริภัณฑญาณ (ญาณเป็นบริวาร) ถึง ๒ อย่าง คืออนาคตังสญาณ และ

ยถากัมมูปคญาณ เพราะฉะนั้น อภิญญาญาณมาในที่นี้ จึงเป็น ๗ คือ

ปริภัณฑญาณ ๒ นี้ และ (ตัว) อภิญญาญาณ ๕ มีอิทธิวิธญาณเป็นต้น

บัดนี้

บัณฑิตพึงแสดงความเป็นไปแห่งอภิญญาญาณ ๗

ในอารัมมณติกะ ๔ ที่พระมหาฤษีเจ้าตรัสไว้

เพื่อไม่หลงในการจำแนกอารมณ์แห่งอภิญญาญาณเหล่านั้น นี้เป็น

การแสดงในอารัมมณติกะนั้น

ก็อารัมมณติกะ (หมวด ๓ แห่งอารมณ์) ๔ พระมหาฤษีเจ้า

ตรัสไว้ อารัมมณติกะ ๔ คืออะไรบ้าง คือปริตตารัมมณติกะ

(หมวด ๓ แห่งปริตตารมณ์) มัคคารัมมติกะ (หมวด ๓ แห่ง

มัคคารมณ์) อตีตารัมมณติกะ (หมวด ๓ แห่งอตีตารมณ์)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 230

อัชฌัตตารัมมณติกะ (หมวด ๓ แห่งอัชฌัตตารมณ์)*

[อิทธิวิธญาณเป็นไปในอารมณ์ ๗]

ในอภิญญาญาณเหล่านั้น อิทธิวิธญาณย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๗

โดยเป็นปริตตารมณ์ มหัคคตารมณ์ อนาคตารมณ์ ปัจจุบัน-

นารมณ์ อัชฌัตตารมณ์ และพหิทธารมณ์ ถามว่า เป็นไปอย่างไร ?

แก้ว่า ก็อิทธิวิธญาณนั้น

จัดเป็นปริตตารมณ์ ก็เพราะมีรูปกายเป็นอารมณ์ (โดย) ทำ

ความหมายถึงความที่ว่า "เมื่อใดพระโยคีทำกายให้อาศัยจิต ใคร่จะ

ไปด้วยอทิสสมานกาย (กายที่ไม่ปรากฏ คือใคร ๆ มองไม่เห็น) ก็

น้อมกายไปตามอำนาจจิต วางรูปกายลงไปในมหัคคตจิต ปลูกรูปกาย

ลงไปในมหัคคตจิต เมื่อนั้น รูปกายก็เป็นอารมณ์ที่ได้อุปโยคะ (คือใช้

การได้อย่างจิต ?)" ดังนี้

จัดเป็นมหัคคตารมณ์ ก็เพราะมีมหัคคตจิตเป็นอารมณ์ (โดย)

ทำความหมายถึงความที่ว่า "เมื่อใด พระโยคีทำจิตให้อาศัยกาย ใคร่จะ

ไปด้วยทิสสมานกาย (กายที่ปรากฏ คือใคร ๆ มองเห็น) ก็น้อมจิต

ไปตามอำนาจกาย วางปาทกฌานจิตลงไปในรูปกาย ปลูกปาทกฌานจิต

* ปริตตารัมมณติกะ คือ ปริตตารัมมณะ มหัคคตารัมณะ อัปปมาณารัมมณะ

มัคคารัมมณติกะ คือ มัคคารัมมณะ มัคคเหตุกะ มัคคาธิปติ

อตีตารัมมณติกะ คือ อตีตารัมมณะ อนาคตรัมมณะ ปัจจุปันนารัมมณะ

อัชฌัตตารัมมณติกะ คือ อัชฌัตตารัมมณะ พหิทธารัมมณะ อัชฌัตตพหิทธา-

รัมมณะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 231

ลงไปในรูปกาย เมื่อนั้นปาทกฌานจิต ก็เป็นอารมณ์ที่ได้อุปโยคะ

(คือใช้การได้อย่างรูปกาย ?)" ดังนี้

อนึ่ง จัดเป็นอตีตารมณ์ ก็เพราะทำ (ปาทกฌาน) จิตนั้นแหละ

ที่ล่วงไปแล้วคือดับไปแล้ว ให้เป็นอารมณ์

เป็นอนาคตารมณ์ สำหรับพระโยคีทั้งหลายผู้อธิษฐาน (ฤทธิ)

ไว้เป็นอนาคต ดังพระเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปเถระเป็นต้น

(อธิฐานไว้) ณ ที่บรรจุพระมหาธาตุ๑ ได้ยินว่า พระมหากัสสปเถระ

เมื่อทำการบรรจุพระมหาธาตุ ได้อธิษฐานไว้ว่า "ตลอด ๒๑๘ ปี ใน

อนาคต กลิ่นหอมทั้งหลาย (นี้) ก็อย่าได้ดับไป" ดังนี้ ของ

ทุกสิ่งนั้น ก็ได้เป็นตามที่อธิษฐานนั้นเทียว

พระอัสสคุตตเถระเห็นหมู่ภิกษุในวัตตนิยเสนาสนะ๒ฉันข้าวขาว ๆ

(คือข้าวเปล่า ไม่มีแกงกับคลุกเลย ?) จึงอธิษฐานไว้ว่า "(น้ำใน)

ตระพัง จงเป็นน้ำนมส้ม (ข้น ๆ คลุกข้าวได้) ในเวลาปุเรภัต ทุกวัน ๆ"

ดังนี้ น้ำ (ในตระพุงนั้น) ที่ภิกษุตักเอาในปุเรภัต เป็นน้ำนมส้มไป

ครั้นปัจฉาภัต มันก็เป็นน้ำตามปกตินั่นเอง

แต่เป็นปัจจุปันนารมณ์ ในกาลที่พระโยคีทำกายให้อาศัยจิต ไป

ด้วยอทิสสมานกาย

๑. มหาฎีกาว่า หมายถึง ที่บรรจุพระมหาธาตุ ซึ่งพระเถระใช้ฤทธิ์เชิญเอาพระธาตุใน

พระเจดีย์ที่ผู้ครองนครทั้ง ๘ สร้างขึ้นเมื่อคราวแจกธาตุนั้น เว้นเจดีย์ที่รามคามเสีย

แห่ง ๑ เอาแต่ ๗ แห่ง มาบรรจุไว้ ณ พระมณฑปในกรุงราชคฤห์ (?)

๒. มหาฎีกาว่า วิหารในดงดิบ ชื่อวัตตนิยเสนาสนะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 232

เป็นอัชฌัตตารมณ์ โดยที่ทำกายและจิตของตนให้เป็นอารมณ์

ในกาลที่น้อมจิตไปตามอำนาจกาย หรือน้อมกายไปตามอำนาจจิต และ

ในกาลที่นิรมิตตนเป็นเพศต่าง ๆ มีเพศกุมารเป็นต้น แต่ในกาลที่

แสดงรูปต่าง ๆ มีช้าง ม้าเป็นต้น อันเป็นสิ่งภายนอก (กายของตน)

ก็เป็นพหิทธารมณ์ แล

ความที่อิทธิวิธญาณเป็นไปในอารมณ์ ๗ บัณฑิตพึงทราบโดยนัย

ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[ทิพพโสตธาตุญาณเป็นไปในอารมณ์ ๔]

ทิพพโสตธาตุญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๔ โดยเป็นปริตตารมณ์

ปัจจุปันนารมณ์ อัชฌัตตารมณ์ และพหิทธารมณ์ ถามว่า เป็นไป

อย่างไร ? แก้ว่า ก็ทิพพโสตธาตุญาณนั้น เพราะเหตุที่ทำเสียงให้เป็น

อารมณ์ และเสียงเป็นปริตตธรรม (คือเป็นกามาวจร) เพราะเหตุนั้น

จึงเป็นปริตตารมณ์ แต่เพราะทำเสียงอันมีอยู่ (คือเป็นไปอยู่) นั่นเองให้

เป็นอารมณ์เป็นไป จึงเป็นปัจจุปันรมณ์ ในกาลที่ได้ยินเสียง (สัตว์)

ในท้องของตน ทิพพโสตธาตุญาณนั้นก็เป็นอัชฌัตตารมณ์ ในกาลที่ได้

ยินเสียงของผู้อื่น ก็เป็นพหิทธารมณ์แล ความที่ทิพพโสตธาตุญาณ

เป็นไปในอารมณ์ ๔ บัณฑิตพึงทราบโดยนับดังกล่าวมาฉะนี้

[เจโตปริยญาณเป็นไปในอารมณ์ ๘]

เจโตปริยญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ โดยเป็นปริตตารมณ์

มหัคคตารมณ์ อัปปมาณารมณ์ มัคคารมณ์ อตีตารมณ์ อนาคตารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 233

ปัจจุปันนารมณ์ และพหิทธารมณ์ ปุจฉาว่า เป็นไปอย่างไร ? วิสัชนา

ว่า ก็เจโตปริยญาณนั้น ในกาลที่รู้จิตอันเป็นกามาวจรของคนอื่น ๆ

ก็เป็นปริตตารมณ์ ในกาลที่รู้จิตเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร (ของคน

อื่น) ก็เป็นมหัคคตารมณ์ ในกาลที่รู้ (จิต) เป็นมรรคและเป็น

ผล (ของคนอื่น) ก็เป็นอัปปมาณารมณ์

ก็แลในอัปปมาณารมณ์นี้ บัณฑิตพึงทราบความแปลกกัน (ดัง)นี้

คือ ปุถุชนย่อมไม่รู้จิตของพระโสดาบัน พระโสดาบันเล่าก็ย่อมไม่รู้จิต

ของพระสกทาคามี... บัณฑิตพึงนำคำดังกล่าวมานี้ (เรียง) ไปจนถึง...

ของพระอรหัตต์เถิด* แต่พระอรหันต์ย่อมรู้จิตของพระอริยะทั้งปวง

แม้พระอริยะชั้นสูงอื่น (มีพระอนาคตมีเป็นอาทิ) ก็ย่อมรู้จิตของพระ

อริยะชั้นต่ำ (มีพระสกทาคามีเป็นอาทิ) ก็ย่อมรู้จิตของพระ

(เจโตปริยญาณนั้น) ในกาลที่มีมรรคจิตเป็นอารมณ์ ก็เป็น

มัคคารมณ์

ส่วนว่า เมื่อใดพระโยคีรู้จิตคนอื่นได้ในกาลภายใน ๗ วันที่ล่วง

แล้วก็ดี ในกาลภายใน ๗ วันที่ยังไม่มีถึงก็ดี เมื่อนั้น เจโตปริยญาณ

นั้น ก็เป็นอตีตารมณ์และอนาคตารมณ์

[ปัจจุบันจิต ๓]

เจโตปริยญาณเป็นปัจจุบันนารมณ์อย่างไรเล่า ? ชื่อว่าปัจจุบัน

(จิต) มี ๓ คือ ขณะปัจจุบัน (จิตเป็นปัจจุบันชั่วขณะ) ๑ สัตติ-

* คือให้เรียงคำต่อว่า "พระสกทาคามี ก็ไม่รู้จิตของพระอนาคามี พระอนาคามีก็ไม่รู้

จิตของพระอรหันต์"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 234

ปัจจุบัน (จิตเป็นปัจจุบันชั่วสันตติแห่งรูป ) ๑ อัทธาปัจจุบัน (จิต

เป็นปัจจุบันชั่วกาลภพหนึ่ง) ๑

ในปัจจุบัน (จิต) ๓ อย่างนั้น (จิต) ที่ถึงความเกิดขึ้นตั้งอยู่และ

ดับไป (ขณะหนึ่ง) ชื่อขณะปัจจุบัน ที่นับเนื่องอยู่ใน (ระยะ) ๑-๒

สันตติวาระชื่อสันตติปัจจุบัน

[สันตติปัจจุบัน]

พึงทราบอธิบายในสันตติปัจจุบันนั้น (ดังนี้)

อารมณ์ (คือรูป) ย่อมไม่ปรากฏทันทีแก่คนผู้นั่งอยู่ในที่มืด

แล้วไปสู่ที่สว่าง (ระยะ) ชั่วอารมณ์นั้นปรากฏ ในระหว่างนั้น

พึงทราบว่าเป็น (ระยะ) ๑-๒ สันตติวาระ

รูปย่อมไม่ปรากฏโดยพลันทันที แม้แก่คนผู้เที่ยวไปในที่สว่าง

แล้วเข้าสู่ห้องใน (ระยะ) ชั่วรูปนั้นปรากฏ ในระหว่างนั้น พึงทราบว่า

เป็น (ระยะ) ๑-๒ สันตติวาระ๑

อนึ่ง ภิกษุยืนอยู่ไกล แม้ (มอง) เห็นกิริยาเคลื่อนไหวมือ และ

กิริยาท่าทางในการตีฆ้องกลองเป็นต้น ของพวกนักฟ้อนรำ ๒ ก็ยังไม่ได้

๑. มหาฎีกาว่า ชั่วเวลาอันนิดน้อยที่สันคติ คือความสืบต่อแห่งรูปเป็นไปนั้นเรียกว่า

วาระ เมื่อออกจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง หรือจากทีสว่างไปสู่ที่มืด ชั่วระยะเวลาที่รูปปรากฏ

ชัดนั้น แบ่งเป็น ๒ วาระ ครึ่งเวลาแรกเป็นอวิภูตวาระ (วาระไม่ชัด) ครึ่งเวลาหลัง

เป็นวิภูตตวาระ (วาระชัด) รวมเข้าด้วยกันเรียกว่า เทฺวสนฺตติวาระ - สันตติ ๒ วาระ แต่

ความปรากฏชัดแห่งรูปนั้น ลางคนก็เป็นปรากฏเร็วจนไม่พอจะแบ่งเป็น ๒ วาระ เพราะฉะนั้น

ท่านจึงเรียงคำ เอก ไว้ด้วย เป็น เอกํเทฺวสนฺตติวาร แปลว่า สันตติ ๑ หรือ ๒ วาระ

๒. ศัพท์ รชกานํ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน รชกะ แปลว่าคนย้อมผ้า คนชักผ้า ไม่เข้า

กับเรื่องเลย ในที่นี้แก้เป็น นฏานํ ดังที่แปลไว้นั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 235

ยังเสียงทันที๑ (ระยะ) ชั่วได้ยินเสียงนั้น แม้ในระหว่างนั้นก็พึง

ทราบว่าเป็น (ระยะ) ๑-๒ สันตติวาระ

พระมัชฌิมภาณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ก่อน

ส่วยพระสังยุตภาณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวสันตติ ๒ คือ รูปสันตติ

อรูปสันตติ แล้วกล่าว (อธิบาย) ว่า "เมื่อคนย่ำน้ำ (ริมตลิ่ง) ไป

(ระยะ) ชั่วรอยน้ำที่คนย่ำไปริมตลิ่งยังไม่ใส นี่ชื่อว่ารูปสันตติ (หนึ่ง)

เมื่อคน (เดิน) ทางมาไกล (ระยะ) ชั่วความร้อนในภายยังไม่รำงับ

นี่ก็ชื่อว่า รูปสันตติ (หนึ่ง) เมื่อคนมาจากแดดเข้าห้อง (ระยะ)

ชั่วความมืด (มัว) ยังไม่หาย นี่ก็ชื่อว่ารูปสันตติ (หนึ่ง) เมื่อภิกษุ

มนสิการกรรมฐานอยู่ภายในห้อง แล้วเปิดหน้าต่างมองออกไปในตอน

กลางวัน (ระยะ) ชั่วความพร่าแห่งตายังไม่ระงับ นี่ก็ชื่อว่า รูปสันตติ

(หนึ่ง) วาระแห่งชวนะ ๒-๓ วาระ ชื่อว่าอรูปสันตติ" ดังนี้แล้ว

จึงกล่าว (สรูป) ว่า "สันตติทั้งสองนั้น ชื่อว่า สัตติปัจจุบัน"

[อัทธาปัจจุบัน]

ธรรมชาตที่กำหนดไว้ชั่วภพอันหนึ่ง ชื่ออัทธาปัจจุบัน๒ ซึ่งเพราะ

มหากัจจายนเถระหมายถึง กล่าวไว้ในภัทเทกรัตตสูตรว่า "ดูกรอาวุโส

มนะอันใดด้วย ธรรมทั้งหลายใดด้วย ธรรมชาตทั้งสองนั้นแล ชื่อว่า

๑. ที่ว่าเห็นรูปแล้วยังไม่ได้ยินเสียงนี้ เข้าหลักทีว่า "แสงเดินเร็วกว่าเสียง"

๒. มหาฎีกาแก้ว่า กำหนดชั่วปฏิสนธิถึงจุติ ซึ่งพึงกล่าวได้ว่าเป็นกาลปัจจุบันนี้ จึงได้

ชื่อว่า อัทธาปัจจุบัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 236

ปัจจุบัน วิญญาณย่อมผูกหันด้วยอำนาจฉันทราคะในปัจจุบันนั้น๑ เพราะ

ความที่วิญญาณผูกพันอยู่ด้วยอำนาจฉันทราคะ บุคคลจึงยินดีนักใน

ปัจจุบันนั้น เมื่อยินดีนักในปัจจุบันนั้น จึงชื่อว่าคลอนแคลน๒ใน

ปัจจุบันธรรมทั้งหลาย "๓ ดังนี้

ก็ในปัจจุบันทั้งสองนี้ สันตติปัจจุบันมาในอรรถกถาทั้งหลาย

อัทธาปัจจุบันมาในพระสูตร๔

ในปัจจุบันทั้งสามนั้น อาจารย์ลางพวก๕กล่าวว่า "ขณปัจจุบัน-

จิต เป็นอารมณ์ของเจโตปริยญาณได้" มีคำถามว่า เพราะเหตุไฉน ?

มีคำแก้ว่า "เพราะจิตของผู้มีฤทธิ์และของผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้นในขณะ

เดียวกันได้" และนี้เป็นคำอุปมาแห่งจิตเหล่านั้น คือเมื่อดอกไม้

กำหนึ่ง บุคคลซัดไปในอากาศแล้ว ดอกไม้ดอกหนึ่ง ย่อมจะเสียบก้าน

เข้ากับก้านของดอก (อีก) ดอกหนึ่งได้เป็นแน่ ฉันใด เมื่อจิตของ

คนหมู่มากคิดนึกกันเป็นกลุ่มด้วยตั้งใจว่า "เราจักรู้จิตของคนอื่น "

จิตของคนผู้หนึ่งย่อมจะประสานเข้ากับจิตดวงหนึ่ง (ของผู้ใดผู้หนึ่ง

ในหมู่นั้น) ในอุปบาทขณะ หรือฐิติขณะ หรือภังคขณะก็ได้ เป็นแท้

ฉันนั้น"

๑. วิญญาณชนิดนี้ ท่านเรียกว่า นิกันติวิญญาณ (วิญญาณใคร่)

๒. คำว่าคลอนแคลนนี้ มหาฎีกาอธิบายว่า ถูกกิเลสมีตัณหาและทิฏฐิเป็นต้นชักไป (ให้

ยินดียินร้ายมีประการต่าง ๆ)

๓. ม.อุ. ๑๔/๓๖๖

๔. มหาฎีกาว่า ที่ท่านไม่กล่าวว่า ขณะปัจจุบันมาในบาลี เพราะการทำอารมณ์ โดย

ขณปัจจุบันนั้น ไม่มาในอรรถกถา (?)

๕. ว่าหมายถึงเกจิอาจารย์วัดอภัยศิรี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 237

แต่คำของเกจิอาจารย์นั้นถูกคัดค้านในอรรถกถาทั้งหลายว่า "คำ

นั้นไม่ชอบ เพราะคนแม้คิดนึกกันไป ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ก็ดี จิตที่เป็น

เครื่องนึกคิด และจิตที่เป็นเครื่องรู้ ทั้งสองนั้น มิได้มีฐานร่วมกันเลย

และเพราะโทษคืออาวัชนจิต และชวนจิตถึงซึ่งความมีอารมณ์ต่างกันไป

ในฐานอันไม่ต้องการ (โดยเป็นการนอกออกไปจากวิถีแห่งมรรค

ผล ?)"

ส่วนสันตติปัจจุบันและอัทธาปัจจุบัน พึงทราบว่า เป็นอารมณ์

(แห่งเจโตปริยญาณ) ได้ พระอรรถกอาจารย์กล่าว (อธิบาย) ไว้

ในอรรถกถาสังยุตนิกาย*ว่า "ในปัจจุบันสองอย่างนั้น จิตของคนอื่น

ในกาลประมาณ ๒-๓ ชวนวิถี โดยเป็นอดีตหรืออนาคต แต่ชวนวิถี

อันเป็นไปอยู่ (คือปัจจุบัน) อันใด จิตของคนอื่นทั้งปวงนั้น ชื่อสันตติ-

ปัจจุบัน ส่วนอัทธาปัจจุบัน พึงชี้แจงด้วยชวนวาร" ดังนี้ คำของ

พระอรรถกถาจารย์นั้นกล่าวดีแล้ว (ต่อไป) นี้เป็นคำชี้แจงในอัทธา-

ปัจจุบันนั้น คือ

ภิกษุผู้มีฤทธิ์ใคร่จะรู้จิตของคนอื่น อาวัชนาการไป อาวัชนะ

(จิตนั้น) ทำขณปัจจุบันเป็นอารมณ์แล้วดับไปพร้อมกับอารมณ์นั้น

นั่นเอง แต่นั้น ชวนะ ๔ หรือ ๕ ดวง (แล่นไป) ซึ่งดวงสุดท้าย (คือ

ดวงที่ ๔ หรือดวงที่ ๕) เป็นอิทธิจิต นอกนั้นเป็นกามาวจรจิต

จิตที่ดับไปแล้วนั่นเองเป็นอารมณ์แห่งจิตทั้งปวงนั้น และจิตทั้งหลาย

นั้นหามีอารมณ์ต่าง ๆ กันไม่ เพราะความที่จิตเหล่านั้นมีปัจจุบันโดย

* เมื่ออ้างเช่นนี้ ก็ส่อว่าวิสุทธิมรรคนี้แต่งทีหลังอรรถกถาสังยุต แต่พบในอรรถกถา

อังคุตตร (๒/๙) แก้หิริโอตตัปปะย่อ ๆ แล้วบอกว่าความพิสดารกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค

กลับแสดงว่าแต่งวิสุทธิมรรคก่อนอรรถกถาอังคุตตร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 238

(กำหนดไว้ด้วย) อำนาจกาล (คือภพ) เป็นอารมณ์ อนึ่ง แม้ใน

เพราะมีอารมณ์เดียวกัน ก็อิทธิเท่านั้นย่อมรู้จิตคนอื่นได้ จิตนอกนี้

หารู้ได้ไม่ เปรียบเหมือนจักขุวิญญาณในจักขุทวารเท่านั้นย่อมเห็นรูปได้

วิญญาณนอกนี้หาเห็นได้ไม่ฉะนั้น

เจโตปริยญาณนี้เป็นปัจจุบันนารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งสันตติปัจจุบัน

และอัทธาปัจจุบันโดยนัยดังนี้

อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่แม้สันตติปัจจุบัน ก็ย่อมเป็นไปใน

อัทธาปัจจุบันเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น สันตติปัจจุบันนั่น ก็พึงทราบว่า

เป็นปัจจุบันนารมณ์ด้วยอำนาจแห่งอัทธาปัจจุบันนั่นเอง

ก็แลเจโตปริยญาณนั้นจัดเป็นพหิธารมณ์ ก็เพราะมีจิตของ

คนอื่นเป็นอารมณ์แท้แล

ความเป็นไปในอารมณ์ ๘ แห่งเจโตปริยญาณ บัณฑิตพึงทราบ

โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้

[ปุพเพนิวาสญาณเป็นไปในอารมณ์ ๘]

ปุพเพนิวาสญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ โดยเป็นปริตตารมณ์

มหัคคตารมณ์ อัปปมาณารมณ์ มัคคารมณ์ อตีตารมณ์ อัชฌัตตารมณ์

พหิทธารมณ์ และวัตตัพพารมณ์ (มีเรื่องไม่ควรกล่าวเป็นอารมณ์)

เป็นไปอย่างไร ? ก็แลปุพเพนิวาสญาณนั้น ในกาลทีระลึกถึงขันธ์ที่

เป็นกามาวจร ก็เป็นปริตตารมณ์ ในกาลที่ระลึกถึงขันธ์ที่เป็นรูปาวจร

และอรูปวจร ก็เป็นมหัคคตารมณ์ ในกาลที่ระลึกถึงมรรคที่ตนหรือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 239

คนอื่นเจริญแล้ว และถึงผลที่ตนหรือคนอื่นทำให้แจ้งแล้วในอดีตกาล

ก็เป็นอัปปมาณารมณ์ ในการที่ระลึกถึงมรรคที่ตนหรือคนอื่นเจริญ

แล้วอย่างเดียว ก็เป็นมัคคารมณ์

แต่โดยแน่นอนแล้ว ปุพเพนิวาสญาณนั้นเป็นอตีตารมณ์แท้

(ต่อไป) นี้เป็นนัยแห่งอรรถกถาในเรื่องอตีตารมณญาณนั่นว่า "บัณฑิต

พึงทราบความแปลกกัน (ดัง) นี้คือ ในญาณทั้งหลายนั้น แม้เจโต

ปริยญาณและยถากัมมูปคญาณ ก็เป็นอตีตารมณ์ ก็จริงแล แต่ทว่า

ญาณทั้งสองนั้น เจโตปริยญาณมีจิตที่เป็นอดีตภายใน (ระยะ) ๗ วัน

เท่านั้นเป็นอารมณ์ เพราะเจโตปริยญาณนั้นหารู้ขันธ์หรือสิ่งที่เนื่องด้วย

ขันธ์๑อื่นไปไม่ แต่ท่านกล่าวว่าเป็นมัคคารมณ์โดยปริยาย ก็เพราะมีจิต

ที่สัมปยุตด้วยมรรคเป็นอารมณ์ ยถากัมมูปคญาณเล่า ก็มีแต่เจตนา

ที่เป็นอดีตเท่านั้นเป็นอารมณ์ แต่ขันธ์ทั้งหลายและสิ่งอะไร ๆ ที่เนื่อง

ด้วยขันธ์ที่เป็นอดีต จะชื่อว่ามิได้เป็นอารมณ์แห่งปุพเพนิวาสญาณ

หามีไม่ ด้วยว่าปุพเพนิวาสญาณนั้นเป็นญาณมีคติเสมอด้วยสัพัญญุต-

ญาณในธรรมทั้งหลาย คือขันธิและสิ่งอันเนื่องด้วยขันธิที่เป็นอดีต"

อนึ่ง เพราะเหตุที่ในคัมภีร์ปัฏฐานกล่าวไว้ว่า "ขันธ์ทั้งหลานที่

เป็นกุศลเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัยแห่งอิทธิวิธญาณ เจโตปริย-

ญาณ ปุพเพนิวาสนุสติญาณ ยถากัมมูปคญาณ อนาคตตังสญาณ๒"

ดังนี้ เพราะเหตุนั้น แม้ขันธ์ ๔ ก็เป็นอารมณ์แห่ง เจโตปริยญาณและ

๑. มหาฎีกาว่า สิ่งที่เนื่องด้วยขันธิ คือ ชื่อ และโคตรเป็นต้น

๒. อภิ. ป. ๔๐/๑๕๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 240

ยถากัมมูปคญาณได้ อนึ่ง ในญาณ ๒ นั้น ขันธ์ทั้งที่เป็นกุศลทั้ที่เป็น

อกุศลทีเดียวเป็นอารมณ์แห่งยถากัมมูปคญาณแล

ก็แล ปุพเพนิวาสญาณนั้น ในกาลที่ระลึกถึงขันธ์ของตน ก็เป็น

อัชฌัตตารมณ์ ในการที่ระลุกถึงขันธ์ของคนดื่อน ก็เป็นพหิทธารมณ

ในกาลที่ระลึกสิ่งที่เนื่องด้วยขันธ์มีชื่อ และโคตรเป็นต้น๑โดยนัยเช่นว่า

"ในอดีตกาล พระผู้มีพระภาควิปัสสีได้มีแล้ว พระมารดาของพระองค์

ทรงนามว่าพันธุมตี พระบิดาทรงนามว่าพันธุมา" ดังนี้ เป็นนวัตตัพ-

พารมณ์

ในข้อนวัตตัพพารมณ์นี้ นี้เป็นความชอบใจของพวกข้าพเจ้า คือ

"ก็คำว่า ชื่อและโคตร ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่เนื่องด้วยขันธ์ สำเร็จด้วย

สมมติพึงเห็นว่าเป็นเนื้อความที่อาศัยพยัญชนะ มิใช่พยัญชนะ เหตุ

พยัญชนะ จัดเป็นปริตตธรรม เพราะท่านสงเคราะห์เข้าในสัททายตนะ

(คือเสียง) ดังบาลีว่า "นิรุตติปฏิสัมภิทาเป็นปริตตารมณ์" ๒

ความเป็นในอารมณ์ ๘ แห่งปุพเพนิวาสญาณ บัณฑิตพึงทราบ

โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้

๑. ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้ว่า นามโคตฺตปฐวันิมิตฺตาทิ-- นามโคตฺต นั้นเข้ากับ

เรื่อทีเดียว แต่ปฐวีนิมิตฺต ไม่เข้ากับเรื่องไหนทั้งสิ้น เข้าใจว่าจะเกินเข้ามา หรือ

คลาดเคลื่อนเลือนมาจากศัพท์อะไรอื่น สิ่งที่เนื่องด้วยขันธ์ตามที่กล่าวไว้นิเทศแห่ง

ปุพเพนิวาสญาณก็มี โคตร วัณณะ อาหาร สุขทุกข์ และขีดอายุ เท่านั้น

ในอนาคตังสญาณ มีนวัตตัพพารมณ์เหมือนกัน ก็กล่าวแต่ว่า นามโคตฺต-

ชานนกาเล ไม่มีปฐวีนิมิตฺต ด้วยเหตุนี้ ในที่นี้จึงแปลตัดปฐวีนิมิตฺต ออก ซึ่งไม่ทำให้

เสียความอะไรเลย

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๔๑๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 241

[ทิพพจักขุญาณเป็นไปในอารมณ์ ๔]

ทิพพจักขุญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๔ โดยเป็นปริตตารมณ์

ปัจจุปันนารมณ์ อัชฌัตตารมณ์ และพหิธารมณ์ เป็นไปอย่างไร ?

ก็ทิพพจักขุญานนั้น เพราะเหตุที่ทำรูปให้เป็นอารมณ์ และรูปเป็น

ปริตตธรรม เพราะเหตุนั้นจึงเป็นปริตตารมณ์ อนึ่ง เพราะเป็นไปใน

รูปอันมีอยู่ (เฉพาะหน้า) เท่านั้น จึงเป็นปัจจุปันนารมณ์ ในกาลที

เห็นรูปอันกำบังมีรูปที่อยู่ในท้องเป็นต้นของตน ก็เป็นอัชฌัตตารมณ์

ในกาบที่เห็นรูปคนอื่น ก็เป็นพหิทธารมณ์แล

ความเป็นไปในอารมณ์ ๔ แห่งทิพพจักขุญาณ บัณฑิตพึงทราบ

โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้

[อนาคตังสญาณเป็นไปในอารมณ์ ๘]

อนาคตตังสญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ โดยเป็นปริตตารมณ์

มหัคคตารมณ์ อัปปมาณารมณ์ มัคคารมณ์ อนาคตารมณ์ อัชฌัตตา-

รมณ์ พหิทธารมณ์ และ นวัตตัพพารมณ์ เป็นไปอย่างไร ? ก็อนา-

คตังสญาณนั้น ในกาลที่รู้ว่า "บุคคลผู้นี้ ในอนาคต จักเกิดในกามา-

วจรภพ" ก็เป็นปริตตารมณ์ ในกาลที่รู้ว่า "บุคคลผู้นี้ในอนาคต จัก

เกิดในรูปาวจรภพหรืออรูปาวจรภพ" ก็เป็นมหัคคตารมณ์ ในกาล

ที่รู้ว่า "บุคคลผู้นี้ในอนาคต จักทำมรรคให้มีขึ้น จักทำให้แจ้งซึ่งผล"

ก็เป็นอัปปมาณารมณ์ ในกาลที่รู้ว่า "บุคคลผู้นี้ในอนาคต จักทำ

มรรคให้มีขึ้น " แต่เท่านี้ ก็เป็นมัคคารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 242

แต่โดยแน่นอนแล้ว อนาคตังสญาณนั้น เป็นอนาคตารมณ์แม้

ในอนาคตารมณญาณทั้งหลายนั้น แม้เจโตปริยญาณก็เป็นอนาคตารมณ์

ได้ก็จริงแล แต่ทว่า เจโตปริยญาณนั้น มีจิตที่เป็นอนาคตภายใน (ระยะ)

๗ วันเท่านั้นเป็นอารมณ์ เพราะเจโตปริยญาณนั้นหารู้ขันธ์หรือสิ่งที่

เนื่องด้วยขันธ์อื่นไปไม่ (แต่) สิ่งอะไร ๆ ในอนาคต ชื่อว่ามิได้

เป็นอารมณ์แห่งอนาคตังสญาณหามีไม่ โดยนัยที่กล่าวแล้วในปุพเพ-

นิวาสญาณ

ในกาลที่รู้ว่า "เรา (ในอนาคต) จักเกิดในที่โน้น" ก็เป็น

อัชฌัตตารมณ์ ในกาลที่รู้ว่า "คนโน้น (ในอนาคต) จักเกิดที่โน้น"

ก็เป็นพหิทธารมณ์ ในกาลที่รู้ชื่อและโคตรโดยนัยเช่นว่า "ในอนาคต

พระผู้มีพระภาคเมตเตตยะจักเกิดขึ้น พราหมณ์ชื่อสุพรหมา จักเป็น

พระบิดา พราหมณ์ชื่อพรหมวดี จักเป็นพระมารดาของพระองค์"

ดังนี้ ก็เป็นนวัตตัพพารมณ์ โดยนัยที่กล่าวแล้วในปุพเพนิวาสญาณ

นั้นแล

ความเป็นไปในอารมณ์ ๘ แห่งอนาคตตังสญาณ บัณฑิตพึงทราบ

โดยประการที่กล่าวมาฉะนี้

[ยถากัมมูปคญารเป็นไปในอารมณ์ ๕]

ยถากัมมูปคญาณ ย่อมเป็นไปในอามรณ์ ๕ โดยเป็นปริตตารมณ์

มหัคคตารมณ์ อตีตรมณ์ อัชฌัตตารมณ์ และพหิทธารมณ์ เป็นไป

อย่างไร ? ก็ยถากัมมูปคญาณนั้น ในกาลที่รู้กรรมอันเป็นกามาวจร

ก็เป็นปริตตารมณ์ ในกาลที่รู้กรรมอันเป็นรูปวจร และอรูปาวจร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 243

ก็เป้นมหัคคตารมณ์ เป็นอตีตารมณ์ เพราะรู้แต่กรรมที่เป็นอดีต

เท่านั้น ในกาบที่รู้กรรมของตนเอง เป็นอัชฌัตตารมณ์ ในกาลที่

รู้กรรมของคนอื่น ก็เป็นพหิทธารมณ์แล

ความเป็นไปในอารมณ์ ๕ แห่งยถากัมมูปคญาณ บัณฑิตพึงทราบ

โดยประการที่กล่าวมาฉะนี้

ส่วนว่า ในตอนที่กล่าวถึงอัชฌัตตารมณ์และพหิธารมณ์นี้ คำใด

กล่าวไว้ในโบราณอรรถกถาว่า "ยถากัมมูปคญาณเป็นทั้งอัชฌัตตา-

รมณ์และพหิธารมณ์" ดังนี้ คำนั้นท่านกล่าวด้วยอธิบายว่า ยถา-

กัมมูปคญาณนั้น ในเวลาที่รู้ (กรรม) ภายใน (คือของตน) ตามกาล

(กรรม) ภายนอก (คือของคนอื่น) ตามกาล (หมายความว่าลางคราว

รู้กรรมภายใน ลางคราวรู้กรรมภายนอก ตามที่ตั้งใจจะรู้ ?) จะ

นับเป็นอัชฌัตตพหิทธารมณ์บ้างก็ได้เท่านั้นเองและ*

บริเฉทที่ ๑๓ ชื่ออภิญญานิเทศ

ในปกรณ์วิเศษ ชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

* เกิดปัญหาขึ้นในตอนจบ มหาฎีกาว่าที่อธิบายอย่างนี้ก็หมายความว่าไม่ยอมเพิ่ม

อัชฌัตตพหิทธารมณ์เข้าอีกข้อหนึ่ง และก็มิได้หมายว่าทำสองอย่างนี้ให้มีอารมณ์เป็น

อันเดียวกันด้วย

คิดดูชอบกล จะรู้กรรมทั้งของคนอื่นในคราวเดียวกันบ้างไม่ได้หรือ

เช่นเมื่อตนและใครคนหนึ่งทำกรรมอะไรร่วมกัน แล้วมาได้รัวผลเช่นเดียวกัน เมื่อ

ทำยถากัมมูปคญาณให้เกิดขึ้นแล้ว ก็รู้ได้ในคราวเดียวว่า ตนและใครคนนั้นทำกรรมอะไร

ไว้ด้วยกัน อย่างนี้เป็นอัชฌัตตพหิทธารมณ์ ไม่ได้หรือ จะไดครบติกะ คือัชฌัตตารมณ์

พหิธารมณ์ และอัชฌัตตพหิธทธารมณ์ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 1

ปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

ภาค ๓

ขันธนิเทศ

บัดนี้ เพราะเหตุที่สมาธิซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงออกไว้

ด้วยหัวข้อคือจิต ในบาทพระคาคา (ที่นิกเขปได้เบื้องต้น) ว่า สีเล

ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ----นั้น เป็นอัน

ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยสมาธิภาวนาอันมั่นคง มีอานิสงส์อันได้รับแล้ว

โดย (ที่ได้บรรลุ) อภิญญาดังกล่าวมานี้ ได้บำเพ็ญเสร็จแล้ว ด้วย

อาการทั้งปวง* ก็แลปัญญาอันอยู่ในลำดับแห่งสมาธินั้น ภิกษุผู้ประกอบ

พร้อมด้วยสมาธิภาวนานั้นแล้วพึงลำเพ็ญ (ต่อไป) ก็แต่ปัญญา

นั้น เพราะทรงแสดงไว้สังเขปนัก ก่อนอื่นก็ไม่เป็นการง่ายแม้แต่จะ

เข้าใจ (เสียแล้ว) จะกล่าวไยถึงจะบำเพ็ญเล่า เพราะเหตุนั้น เพื่อ

จะแสดงความพิสดารแห่งปัญญานั้น และนัย (วิธี) ในการบำเพ็ญด้วย

จึงมีปัญหากรรม (ดัง) นี้ คือ

(๑) อะไรเป็นปัญญา

(๒) ได้ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถอะไร

(๓) อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส เป็นปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน

ของปัญญานั้น

* คำว่า อาการทั้งปวง มหาฎีกาท่านช่วยจาระไนให้ฟังว่า เช่นอาการที่ได้อุปจาร

ได้อัปปนา ได้วสีภาวะ อาการที่ก้าวล่วงองค์มีวิตกเป็นต้น อาการที่หน่ายจากรูปารมณ์

เป็นต้น อาการที่ฝึกจิต ๑๔ สถาน อาการที่ได้อานิสงส์ ๕ เป็นอาทิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 2

(๔) ปัญญามีกี่อย่าง

(๕) ปัญญาจะพึงบำเพ็ญขึ้นได้อย่างไร

(๖) อะไรเป็นอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญปัญญา

(ต่อไป) นี้ เป็นคำวิสัชนาในปัญหากรรมนั้น

[๑. อะไรเป็นปัญญา]

ปัญหากรรม (ข้อแรก) ว่า "อะไรเป็นปัญญา" นั้น มีวิสัชนา

ว่า ปัญญามีหลายอย่างต่างประการ อันจะวิสัชนาพยายามชี้แจกปัญญา

นั้นไปทุกอย่าง จะไม่พึงยังประโยชน์ที่ประสงค์ให้สำเร็จ ทั้งจะพึงเป็น

ไปเพื่อความเฝือยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจะกล่าวหมาย

เอาปัญญาที่ประสงค์ในที่นี้เท่านั้น คือ วิปัสนาญาณ อันสัมปยุตด้วย

กุศลจิต (นั่นแล) เป็นปัญญา

[๒. ได้ชื่อว่าปัญญาเพราะอรรถอะไร]

ปัญหากรรม (ข้อ ๒) ว่า "ได้ชื่อว่าปัญญาเพราะอรรถอะไร"

มีวิสัชนาว่า (ธรรมชาติอันนั้น) ได้ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ทั่ว

อันความรู้ทั่วนี้คืออะไร คือรู้โดยประการต่าง ๆ วิเศษกว่าอาการที่รู้

จักและอาการที่รู้แจ้ง จริงอยู่ แม้เมื่อสัญญา (ความรู้จัก) วิญญาณ

(ความรู้แจ้ง) และปัญญา (ความรู้ทั่ว) เป็นความรู้ด้วยกัน (แต่)

สัญญาก็เป็นแต่ความรู้จักอารมณ์ว่า (รูปนั้น) มีสีเขียว มีสีเหลือง

เป็นต้นเท่านั้น ไม่อาจให้ถึงความเข้าตลอดซึ่ง (ไตร) ลักษณะ คือ

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ วิญญาณ รู้อารมณ์ว่า (รูป) เขียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 3

เหลือง เป็นต้นด้วย ทำให้ถึงความเข้าใจตลอดซึ่ง (ไตร) ลักษณะด้วย*

แต่ไม่อาจส่งให้ถึงความเกิดปรากฏขึ้นแห่งมรรคได้ ส่วนปัญญารู้อารมณ์

และทำให้ถึงความเข้าใจตลอดซึ่ง (ไตร) ลักษณะตามนัยที่กล่าวแล้ว

ด้วย ส่งให้ถึงความเกิดปรากฏขึ้นแห่งมรรคได้ด้วย อุปมาเหมือน

อย่างว่า เมื่อคน ๓ คน คือ คนหนึ่งเป็นทารกยังไม่เดียงสา คนหนึ่ง

เป็นบุรุษชาวบ้าน คนหนึ่งเป็นเหรัญญิก มองดูกองกหาปณะที่ตั้งไว้

บนเป็น (กองเงิน) ของเหรัญญิก ทารกยังไม่เดียงสาก็รู้แต่ความงาม

แปลก ๆ ยาว สั้น สี่เหลี่ยม และกลม แห่งกหาปณะทังหลายเท่านั้น

หารู้ไม่ว่า สิ่งนี้เขาสมมตกันว่าเป็นแก้ว เป็นเครื่อง (ซื้อหา) อุปโภค

และบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งหลายได้ บุรุษชาวบ้านรู้ความสดใสแปลก ๆ

เป็นต้นด้วย รู้ว่าสิ่งนี้เขาสมมตกันว่าเป็นแก้ว เป็นเครื่อง (ซื้อหา)

อุปโภคและบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งหลายได้ด้วย แต่ไม่รู้คัดแยก (อย่าง)

นี้ว่า กหาปณะนี้แท้ กหาปณะนี้ปลอม กหาปณะนี้ (ปน) มีเงินจริง

ครึ่งหนึ่ง เป็นต้น เหรัญญิกรู้ประการทั้งหลายนั้นทุกอย่าง เมื่อรู้เล่า

* มหาฎีกาตั้งปัญหาว่า วิญญาณ ทำให้ถึง (ลักขณปฏิเวธ) ความเข้ใจตลอดซึ่งไตรลักษณ์ได้

อย่างไร ? แล้วแก้ว่า "เข้าใจได้ตามทางที่ปัญญาชี้ให้" อธิบายว่า เมื่อวิปัสนาปัญญาอันมี

ไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งไตรลักษณ์ไปหลาย ๆ วาระเข้า วิปัสนาย่อมมีได้แม้ด้วย

จิตที่เป็นญาณวิปยุต (คือวิญญาณ) ด้วยอำนาจความเคยชินด้วยชำนาญ ดังเช่นการสาธยายพระ

คัมภีร์ที่ชำนาญ ก็ว่าไปได้กล่อง ๆ โดยไม่รู้ความก็ได้ และว่าลักขณปฏิเวธ ในข้อนี้ก็หมายเพียง

ว่า ทำไตรลักษณ์เป็นอารมณ์เท่านั้น มิใช่รู้แจ้งแทงตลอด (ด้วยปัญญา)

อธิบายของพระฎีกาจารย์นี้ กระเทือนถึงโวหารที่เราพูดกันอยู่ คือเราพูดกันว่าบุถุชน

รู้ธรรมเช่นไตรลักษณ์ได้เหมือนกัน แต่เป็น "รู้ด้วยสัญญา ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา" แต่ในฎีกานี้

ท่านว่า "รู้ด้วยวิญญาณ" ซึ่งสูงกว่าสัญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 4

แม้มองดูกหาปณะก็รู้ แม้ฟังเสียงกหาปณะที่เขาเคาะก็รู้ แม้ดมกลิ่นดู

ก็รู้ แม้ลิ้นรสดูก็รู้ แม้ชั่วดูด้วยมือก็รู้ เหรัญญิกนั้นรู้ด้วยว่า "กหาปณะ

นั้น ทำที่บ้านชื่อโน้น หรือที่นิคม ที่นคร ที่ภูเขา หรือที่ฝั่งแม่น้ำ

ชื่อโน้น ๆ" รู้แม้ (กระทั่ง) ว่า อาจารย์ชื่อโน้นทำ ดังนี้ฉันใด ข้อ

อุปมัยนี้ก็พึงทราบฉันนั้น แท้จริง สัญญา (ความรู้จัก) ก็เป็นราวกะ

การดูกหาปณะแห่งทารกยังไม่เดียงสา เพราะถือเอาแต่เพียงอาการที่

ปรากฏแห่งอารมณ์โดยเป็นสีเขียวเป็นต้น วิญญาณ (ความรู้แจ้ง)

เป็นเหมือนการดูกหาปณะแห่งบุรุษชาวบ้าน เพราะถือเอาอาการแห่ง

อารมณ์ (ที่ปรากฏ) โดยเป็นสีเขียวเป็นต้นด้วย ให้ถึงความเข้าใจ

ตลอดซึ่ง (ไตร) ลักษณะสูงขึ้นไปก็ได้ด้วย ปัญญา เป็นดังการดู

กหาปณะแห่งเหรัญญิก เพราะถือเอาการแห่งอารมณ์โดยเป็นสีเขียว

เป็นต้นก็ได้แล้ว และให้ถึงความเข้าใจตลอดซึ่ง (ไตร) ลักษณะก็

ได้แล้ว ยัง(ส่ง) ให้ถึงความเกิดปรากฏแห่งมรรคสูงขึ้นไปกว่านั้นก็ได้

ด้วย เพราะเหตุนั้น ความรู้โดยประการต่าง ๆ วิเศษกว่าอาการที่รู้จัก

และอาการที่รู้แจ้งนั้นใด ความรู้นี้ (แหละ) พึงทราบว่า เป็นความรู้

ทั่ว คำที่ว่า "ได้ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ทั่ว" นั้น ข้าพเจ้า

กล่าวหมายเอาความรู้ทั่วนี้แล

ก็แลปัญญานี้นั้น สัญญาและวิญญาณมีอยู่ในจิตตุบาทใด หาได้มี

ในจิตตุบาทนั้น (ด้วย) โดยส่วนเดียวไม่๑ แต่เมื่อใดปัญญามี (ด้วย)

เมื่อนั้นก็แยกจากธรรม (คือสัญญาและวิญญาณ) เหล่านั้นไม่ได้ จึง

๑. มหาฎีกาว่า เพราะปัญญาย่อมไม่เกิดในจิตตุบาทที่เป็นทุเหตุกะและอเหตุกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 5

เป็นธรรมชาติที่ละเอียดเห็นได้ยาก เพราะมีความต่างที่จะพึงแยกออก

ไม่ได้ว่า นี่สัญญา นี่วิญญาณ นี่ปัญญา๑ เพราะเหตุนั้น ท่านนาคเสน

จึงถวายพระพร (พระเจ้ามิลินท์) ว่า "ดูกรมหาบพิตร กิจที่ทำได้ยาก

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำแล้ว" พระเจ้ามิลินท์ตรัสซักว่า "ท่าน

นาคเสนผู้เจริญ ก็กิจที่ทำได้ยากอะไรเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรง

ทำแล้ว" ท่านนาคเสนถวายวิสัชนาว่า "ดูกรมหาบพิตร กิจอันทำได้

ยากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำ ก็คือตรัสบอกการกำหนด (แยก)

ธรรมทั้งหลายอันไม่มีรูป คือจิตและเจตสิกเหล่านี้ที่เป็นไปในอารมณ์

เดียวกันอยู่ว่า นี่ผัสสะ นี่เวทนา นี่สัญญา นี่เจตนา นี่จิต" ดังนี้

[๓. อะไรเป็นลักษณะ ฯลฯ ของปัญญา]

ส่วนในปัญหากรรม (ข้อ ๓) นี้ว่า "อะไรเป็นลักษณะเป็นรส

เป็นปัจจุปัฏฐาน และเป็นปทัฏฐานของปัญญานั้น" มีวิสัชนาว่า ปัญญา

มีการตรัสรู้สภาวะแห่งธรรมเป็นลักษณะ มีอันขจัดเสียซึ่งความมืดคือ

โมหะอันปิดบังสภาวะแห่งธรรมทั้งหลายเป็นรส (คือเป็นกิจ) มีความหาย

หลงเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือเป็นเครื่องปรากฏหรือเป็นผล) ส่วนสมาธิจัด

เป็นปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้) ของปัญญานั้น โดยพระบาลีว่า "สมาหิโต

ยถาภูตํ ชานาติ ปสฺสติ ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง๒"

๑. มหาฎีกาท่านช่างคิดเปรียบเทียบว่า สัญญาและวิญญาณ แยกจากปัญญาโดย

เด็ดขาดได้ ก็เหมือนสุขแยกจากปีติโดยเด็ดขาดได้ ส่วนปัญญาแยกจากสัญญาและ

วิญญาณโดยเด็ดขาดไม่ได้ เหมือนปีติแยกจากสุขโดยเด็ดขาดไม่ได้

๒. องฺ. ทสก. ๒๔/๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 6

[๔. ปัญญามีกี่อย่าง]

ปัญหากรรม (ข้อ ๔) ว่า "ปัญญามีกี่อย่าง" มีวิสัชนา ว่า

โดยลักษณะคือความตรัสรู้สภาวะแห่งธรรม ปัญญาก็อย่างเดียวเท่านั้น

เป็น ๒ อย่าง โดย (จำแนก) เป็นโลกิยะ และโลกุตตระ เป็น

๒ อย่างนัยเดียวกันนั้น โดย (จำแนก) เป็นสาสวะ (มีอาสวะ) และ

อนาสวะ (ไม่มีอาสวะ) เป็นต้น โดย (จำแนก) เป็นนามววัฏฐาปนะ

(กำหนดนาม) และรูปววัฏฐาปนะ๑ (กำหนดรูป) โดย (จำแนก)

เป็นโสมนัสสหคตะ (ร่วมกับโสมนัส) และอุเบกขาสหคตะ (ร่วมกับ

อุเบกขา) และโดย (จำแนก) เป็นทัสนาภูมิ (ชั้นเห็น) และภาวนา-

ภูมิ (ชั้นเป็น)

เป็น ๓ อย่าง โดย (จำแนก) เป็นจินตามยะ สุตมยะ และภาวนา-

มยะ เป็น ๓ อย่างนัยเดียวกันนั้น โดย (จำแนก) เป็นปริตตารัมมณะ

มหัคคตารัมมณะและอัปปมาณารัมมณะ โดย (จำแนก) เป็นอายโกศล

อปายโกศล และอุปายโกศล และโดย (จำแนก) เป็นอภินิเวส ๓ มี

อัชฌัตตาภินิเวส (มุ่งมั่นข้างใน) เป็นต้น

เป็น ๔ อย่าง โดยเป็นญาณในอริยสัจ ๔ และโดยเป็นปฏิ-

สัมภิทา (ญาณ) ๔ แล

ในส่วนแห่งปัญญาทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนแห่งปัญญาที่เป็นอย่าง

เดียว มีเนื้อความง่ายอยู่แล้ว

๑ ปาฐะในมหาฎีกาเป็น.....ววฏฺฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 7

[ปัญญา ๒]

ในส่วนแห่งปัญญาที่เป็น ๒ อย่าง (มีอธิบายดังนี้)

(ในทุกะที่ ๑) ปัญญาเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นโลกิยะ และโลกุตระ

ดังนี้คือ ปัญญาที่สัมปยุตด้วยโลกิยมรรค เป็นโลกิยปัญญา ปัญญาที่

สัมปยุตด้วยโลกุตรมรรค เป็นโลกุตรปัญญา

ในทุกะที่ ๒ ปัญญาที่เป็นอารมณ์แห่งอาสวะทั้งหลาย (คือสนับ

สนุนอาสวะ) เป็นสาสวปัญญา ปัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์แห่งอาสวะ

เหล่านั้น (คือไม่สนับสนุนอาสวะ) เป็นอนาสวปัญญา ก็ปัญญา ๒ นี้

โดยเนื้อความก็เป็นโลกิยปัญญาและโลกุตรปัญญานั่นเอง นัยแม้ใน

สาสวทุกะอื่นเช่นว่า ปัญญาที่ประกอบกับอาสวะ เป็นสาสวปัญญา

ปัญญาที่ไม่ประกอบกับอาสวะ เป็นอนาสวปัญญา ดังนี้ก็ดี ก็ดุจนัยนั้น

(คือโดยความก็เป็นโลกิยะโลกุตระเหมือนกัน) ดังนี้ ปัญญาเป็น ๒

อย่าง โดยเป็นสาสวะและอนาสวะ

ในทุกะที่ ๓ ปัญญาเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นนามววัฏฐาปนะ

และรูปววัฏฐาปนะ ดังนี้ คือ ปัญญาในการกำหนดรูปขันธ์ ๔ แห่ง

ภิกษุผู้ใคร่จะเริ่ม (ทำ) วิปัสนาอันใด ปัญญาอันนี้ เป็นนามววัฏฐา-

ปนปัญญา ปัญญาในการกำหนดรูปขันธ์ (แห่งภิกษุนั้น) อันใด ปัญญา

อันนี้ เป็นรูปววัฏฐาปนาปัญญา

ในทุกะที่ ๔ ปัญญาเป็น ๒ อย่าง โดยเป็นโสมนัสสหคตะ และ

อุเบกขาสหคตะ ดังนี้คือ ปัญญาในกามาวจรกุศลจิต ๒ ดวง และใน

มรรคจิตที่เป็นไปในจตุถฌานโดยปัญจกนัย ๑๖ ดวง เป็นโสมนัสสหคต-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 8

ปัญญา ปัญญาในกามาวจรกุศลจิต ๒ ดวง และในมรรคจิต อันเป็น

ไปในปัญจมฌาน ๔ ดวง เป็นอุเบกขาสหคตปัญญา๑

ในทุกะที่ ๕ ปัญญาในปฐมมรรค เป็นทัสนภูมิปัญญา ปัญญา

ในมรรค ๓ ที่เหลือ เป็นภาวนาภูมิปัญญา ปัญญาเป็น ๒ อย่าง โดย

เป็นทัสนภูมิ และภาวนาภูมิ ดังนี้แล

[ปัญญา ๓]

ในติกะ (หมวดปัญญา ๓) ทั้งหลาย (มีอธิบายดังนี้)

ในติกะที่ ๑ ปัญญาที่ไม่ได้ฟังแต่คนอื่นได้มา เป็นจินตามยปัญญา

เพราะสำเร็จโดยลำพังความคิดของตนเอง ปัญญาที่ฟังแต่ผู้อื่นแล้วจึงได้

มาเป็นสุตมยปัญญา เพราะสำเร็จด้วยอำนาจการฟัง ปัญญาที่ถึงอัปปนา๒

อันสำเร็จด้วยอำนาจภาวนาอย่างใดก็แล้วแต่ เป็นภาวนามยปัญญา สม

คำ (ในวิภังค์) กล่าวไว้ว่า "ในปัญญา ๓ นั้น จินตามยปัญญาเป็นไฉน ?

บุคคลไม่ได้ฟังแต่ผู้อื่นแล้วแลได้ซึ่งกัมมัสกตาญาณ หรือซึ่งสัจจานุโล-

มิกญาณ (คือวิปัสนาญานอันเป็นไปโดยนัย) ว่า รูปไม่เที่ยงก็ดี ว่า

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยงก็ดี หรือซึ่งขันติ (ความอาจเห็น

๑. ฌานตามบาลีพระสูตรเป็นจตุกนัย คือเป็นฌาน ๔ ทั้งนั้น แต่ในอภิธรรมท่านจัด

ใหม่ให้เป็นปัญจกนัย คือเป็นฌาน ๕ โดยล่วงองค์ไปขึ้นละ ๑ ๆ อุเบกขาไปมีเอาในฌาน

ที่ ๕ พึงทราบว่าในที่นี้ท่านกล่าวฌานโดยปัญจกนัยนั้น

๒. คำว่าปัญญาถึงอัปปนา (อปฺปนาปฺปตฺตา ปญฺญา) นี้ ฟังอย่างไรอยู่ เพราะ

เคยฟังแต่ว่า อัปปนาเป็นเรื่องของจิต มหาฎีกาท่านก็รู้สึกอย่างไรอยู่เหมือนกัน จึงแก้

ไว้ว่า "คำว่าปัญญาถึงอัปปนานี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงภาวนามยปัญญาที่ถึงสุดยอด น ปน

อปฺปนาปฺปตฺตาว ภาวนามยา แต่ไม่ใช่ภาวนามยปัญญาถึงอัปปนาดอก" ถือเอา

ความว่าปัญญาของผู้ที่ได้อัปปนา ก็จะได้กระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 9

ได้) ทิฏฐิ (ความเห็น) รุจิ (ความพอใจ) มุติ (ความรู้) เปกขะ

(ความค้นพบ) ธัมมนิชฌานขันติ (ความทนต่อความเพ่งแห่งธรรม)

อันเป็นอนุโลมิกะ (คือควรแก่ธรรมคือการงานที่ประสงค์จะทำไม่ขัด

กัน) รูปเดียวกันนั้น ในกัมมายตนะ (อายตนะคือการงาน) ทั้งหลาย

ที่บุคคลจัดทำด้วยโยคะ (คือปัญญา) ก็ดี ในสิปปายตนะ (อายตนะ

คือศิลปะ) ทั้งหลายที่บุคคลจัดทำด้วยโยคะ (คือปัญญา) ก็ดี ในวิชา-

ฐานะ (คือวิทยาการเสกเป่า ?) ทั้งหลาย ที่บุคคลจัดทำด้วยโยคะ (คือ

ปัญญา) ก็ดีอันใด ความรู้นี้เรียกว่า จินตามยปัญญา

สุตมยปัญญาเป็นไฉน ? บุคคลได้ฟังแต่ผู้อื่นแล้วจึงได้ซึ่งกัมมัส-

กตาญาณ ฯลฯ อันใด ความรู้นี้เรียกว่า สุตมยปัญญา

(ภาวนามยปัญญาเป็นไฉน ?) ความรู้ของผู้เข้าสมาบัติทุกอย่าง

เรียกว่าภาวนามยปัญญา๑"

ปัญญาเป็น ๓ โดยเป็นจินตามยปัญญา สุตมยปัญญา และภาวนา-

มยปัญญา ดังกล่าวมาฉะนี้

ในติกะที่ ๒ ปัญญาเป็น ๓ โดยเป็นปริตตารัมมณปัญญา มหัคค-

ตารัมมณปัญญา และอัปปมาณารัมมณปัญญา อย่างนี้ คือ ปัญญาที่ปรารภ

ธรรมทั้งหลายอันเป็นกามาวจรเป็นไป เป็นปริตตารัมมณปัญญา ที่

ปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรเป็นไป เป็นมหัคค-

ตารัมมณปัญญา ปัญญา ๒ นั้นเป็นโลกิยวิปัสนาปัญญา ปัญญาที่ปรารภ

พระนิพพานเป็นไป เป็นอัปปมาณารัมณปัญญา อัปปมาณารัมมณ-

๑. อภิ. วิ. ๓๕/๔๓๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 10

ปัญญา เป็นโลกุลตวิปัสนาปัญญา๑

ในติกะที่ ๓ ความเจริญชื่อว่าอายะ ความเจริญนั้นมี ทาง

คือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสื่อมไปทาง ๑ ประโยชน์เกิดขึ้นทาง ๑ ความ

ฉลาดใน ๒ ทางนั้น ชื่ออายโกศล ดังบาลีว่า "ในโกศล ๓ นั้น อาย-

โกศลเป็นไฉน ? ผู้มีปัญญารู้ว่า "เมื่อเรามนสิการธรรมเหล่านี้อยู่

อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้นด้วย อกุศลธรรมทั้งหลายที่

เกิดขึ้นแล้วก็ละไปด้วย อนึ่งเล่า เมื่อเรามนสิการธรรมเหล่านี้อยู่ กุศล

ธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมาเกิดขึ้นด้วย กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว

มาเป็นไปเพื่อภิยโยภาพไพบูลย์เจริญเต็มที่ด้วย" ปัญญาคือความรู้ทั่ว

ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรมได้ ความเห็นถูกต้องในความไม่

เกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย และในความเกิดขึ้น

และความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลายด้วย แห่งผู้มีปัญญานั้น อันใด

อันนี้เรียกว่า อายโกศล" ดังนี้๒

ส่วนความเสื่อมชื่อว่า อาปายะ ความเสื่อมนั้นก็มี ๒ ทาง คือ

ประโยชน์เสื่อมไปทาง ๑ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นทาง ๑ ความ

ฉลาดใน ๒ ทางนั้น ชื่ออปายโกศล ดังบาลีว่า "ในโกศล ๓ นั้น

อปายโกศลเป็นไฉน ? ผู้มีปัญญารู้ว่า "เมื่อเรามนสิการธรรมเหล่านั้นอยู่

๑. มหาฎีกาว่า โลกุตรวิปัสนาปัญญานั้นหมายถึงมรรคปัญญา จริงอยู่มรรคปัญญา

นั้น แม้มิ ได้ยึดไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงแห่งสังขารเป็นต้น ก็เรียกว่าวิปัสนาได้ เพราะ

เต็มไปด้วยวิปัสนากิจ หรือเพราะเห็นอย่างวิเศษซึ่งลักษณะอันแท้จริงแห่งพระนิพพาน

แต่ส่วนโคตรภูญาณเป็นอัปปมาณารัมมณะก็จริง แต่เพราะโคตรภูญาณนั้นอยู่ในฐานเป็น

อาวัชชนะแห่งวรรค จึงไม่ได้ชื่อว่าวิปัสนา

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๔๓๙-๔๔๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 11

กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้นด้วย" ดังนี้เป็นต้น๑

ส่วนว่า ความฉลาดอันเป็นไปทันที คือ เกิดขึ้นฉับพลันในอุบาย

คือ เหตุแห่งความสำเร็จแห่งธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ทุกสถาน ชื่อว่าอุปาย-

โกศล ดังบาลีว่า "ปัญญาอันเป็นอุบายในการลำอกุศลธรรมและเจริญ

กุศลธรรมนั้นทุกอย่าง ชื่ออุปายโกศล"๒ ดังนี้

ปัญญาเป็น ๓ โดยเป็นอายโกศล อปายโกศล และอุปายโกศล

ดังกล่าวมาฉะนี้

ในติกะที่ ๔ ปัญญาเป็น ๓ โดยเป็นอัชฌัตตาภินิเวสเป็นต้น

อย่างนี้คือ วิปัสนาปัญญาที่ (กำหนด) ถือเอาขันธ์ของตนปรารภไป

เป็นอัชฌัตตาภินิเวสปัญญา (ปัญญาอันมุ่งมั่นข้างใน) ที่ (กำหนด) ถือ

เอาขันธ์ของผู้อื่น หรือรู้ภายนอกที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ปรารภไป เป็น

พหิทธาภินิเวสปัญญา (ปัญญาอันมุ่งมั่นข้างนอก) ที่ (กำหนด) ถือ

เอาขันธ์ข้างในและขันธ์ข้างนอกทั้งสองปรารภไป๓ เป็นอัชฌัตตพหิท-

๑. ๒. อภิ. วิ. ๓๕/๔๔๐

ที่ท่านอธิบายอุปายโกศลว่าเป็นความฉลาดในอบายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีนั้น มหา

ฎีกาอธิบายสนับสนุนว่า เมื่อกิจรีบด้วยหรือภัยเกิดขึ้น ความฉลาดแก้ไขให้กิจสำเร็จ

หรือให้ปลอดภัยได้ทันที เป็นอุปายโกศล

แต่พิจารณาลำดับความแล้วก็ไม่เห็นเหตุว่าทำไม่จึงต้อง "ฉับพลันทันที" ต่างว่า

ตรองหาอุบายที่จะละและที่จะเจริญช้าไปสัก ๑ ชั่วโมง จึงได้อุบายนั้น ดังนี้จะไม่นับเป็น

อุปายโกศลหรือ ในบาลีก็มิได้มีคำว่าฉับพลันทันที เห็นว่าถือเอาความเท่าบาลีก็ดีแล้ว

๓. ข้อนี้มหาฎีกาช่วยไขความว่า กำหนดทั้งสองข้างตามลำดับกัน คือกำหนดข้าง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 12

ธาภินิเวสปัญญา (ปัญญาอันมุ่มมั่นทั้งข้างในทั้งข้างนอก)

[ปัญญา ๔]

ในจตุกกะ (หมวดปัญญา ๔) ทั้งหลาย (มีอธิบายดังนี้)

ในจตุกกะที่ ๑ ปัญญาเป็น ๔ โดยเป็นญาณในอริยสัจ ๔ ดังนี้คือ

ความรู้อันปรารภทุกขสัจเป็นไป เป็นญาณในทุกข์ ความรู้อันปรารภ

ทุกขสมุทัยเป็นไป เป็นญาณในทุกขสมุทัย ความรู้อันปรารภทุกขนิโรธ

เป็นไป เป็นญาณในทุกขนิโรธ ความรู้อันปรารภทุขนิโรธคามินี-

ปฏิปทาเป็นไป เป็นญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ในจตุกกะที่ ๒ ความรู้ ๔ อันถึงซึ่งความแตกฉานในวัตถุ ๔ มี

อรรคเป็นต้น ชื่อว่าปฏิสัมภิทา ๔ สมพระบาลีว่า "ความรู้ในอรรถ

ชื่ออัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในธรรม ชื่อธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในการ

กล่าวธรรมนิรุติ (คือภาษาที่ดี ภาษาที่ถูกต้อง)๑ ชื่อนิรุติปฏิสัมภิทา

ความรู้ในความรู้ทั้งหลาย ชื่อปฏิภาณปฏิสัมภิทา"๒ ดังนี้

ในแล้วก็กำหนดข้างนอกติดต่อกันไป อีกนัยหนึ่งหมายความว่า กำหนดปัญจขันธ์รวม

กันไปทีเดียว ไม่จำแนกข้อ โดยนัยว่า ยํกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ

๑. อตฺถธมฺมนิรุตฺตาภิลาเป ศัพท์ อตฺถ ดูเหมือนจะเกิน พิจารณาแล้วได้ความว่า

ภาษาที่ดีนั้นท่านเรียก ธรรมนิรุติ เห็นได้ในตอนอธิบาย-' "ตนฺสา ธมฺมนิรุตฺติสญฺญิตาย

สภาวนิรุตฺติยา... มูลภาสาย ปเภทคตํ ญาณํ- ความรู้อันถึงซึ่งความแตกฉานในมูล-

ภาษา...อันเป็นภาษาแท้ (ไม่วิปริต) ซึ่งได้ชื่อว่า ธรรมนิรุติ นั้น " ดังนี้

ปาฐะในมหาฎีกาก็ไม่มีอตฺถ ท่านลิขิตไว้ว่า "ธมฺมนิรุตฺตาภิลาเปติ เอตฺถ ธมฺมสทฺโท

สภาววาจโกติ กตฺวา อาห ยา สภาวนิรุตฺตีติ อวิปรีตนิรุตฺตีติ อตฺโถ- ท่านทำความ

อธิบายว่า ธมฺม ศัพท์ในบทว่า ธมฺมนิรุตฺตาภิลาเป นี้บ่งสภาวะ จึงกล่าวว่า ยา สภาวนิ-

รุตฺติ-ภาษาที่แท้ใด หมายความว่าภาษาที่ไม่วิปริต" ดังนี้ ในที่นี้จึงแปลตัด อตฺถ ออก

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๓๙๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 13

[อัตถปฏิสัมภิทา]

ในวัตถุ ๔ นั้น คำว่า "อรรถ" นั้น โดยสังเขปเป็นคำเรียกผลที่

เผล็ดมาแต่เหตุ จริงอยู่ ผลที่เผล็ดมาแต่เหตุ ท่านเรียกว่า 'อรรถ'

เพราะเหตุที่ถึง คือได้บรรลุโดยทำนองแห่งเหตุ (คือเป็นไปตามเหตุ)

แต่ (ว่า) โดยประเภท ธรรม ๕ นี้ คือสิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยอย่างใด

อย่างหนึ่ง พระนิพพาน* เนื้อความแห่งภาสิต วิบาก กิริยา พึงทราบ

ว่าชื่ออรรถ ความรู้อันถึงซึ่งความแตกฉานในอรรถนั้น แห่งบุคคลผู้

พิจารณาอรรถนั้น ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา

[ธัมมปฏิสัมภิทา]

คำว่า 'ธรรม' นั้นเล่า โดยสังเขปก็เป็นคำเรียกปัจจัย จริงอยู่

ปัจจัย ท่านเรียกว่าธรรม เพราะเหตุที่จัดแจงผลนั้น ๆ คือยังผลนั้น ๆ ให้

เป็นไปหรืออำนวยให้ถึงผลนั้น ๆ แต่ (ว่า) โดยประเภท ธรรม ๕ นี้

คือ เหตุที่ยังผลให้เกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง อริยมรรค ภาสิต กุศล

อกุศล พึงทราบว่าชื่อธรรม ความรู้อันถึงซึ่งความแตกฉานในธรรม

นั้นแห่งบุคคลผู้พิจารณาธรรมนั้น ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา

แท้จริง ความ (ที่แจกอรรถธรรมเป็น ๕ ๆ) น้แี หละ ทา่ น

จำแนกแสดงไว้ในอภิธรรมโดยนัยว่า "ความรู้ในทุกข์เป็นอัตถปฏิสัม-

ภิทา ความรู้ในทุกขสมุทัยเป็นธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในทุกขนิโรธ เป็น

อัตถปฏิสัมภาทา ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นธัมมปฏิสัมภาทา

ความรู้ในเหตุ เป็นธัมมปฏิสัมภิทา ความรู้ในผลที่เผล็ดมาแต่

* จัดพระนิพพานเป็นผลอย่างไรอยู่ ? น่าจะกล่าว 'อริยผล' จะได้เข้าคู่กับ

'อริยมรรค' ในธัมมปฏิสัมภิทา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 14

เหตุ เป็นอัตถปฏิสัมภิทา

ธรรมเหล่าใดชาตะแล้ว เป็นแล้ว ได้กำเนิดเกิดสำเร็จแล้ว ปรากฏ

ขึ้นมาแล้ว ความรู้ในธรรมเหล่านี้เป็นอัตถปฏิสัมภิทา ธรรมเหล่านั้น

ชาติแล้วเป็นแล้ว... แต่ธรรมใด ความรู้ในธรรมนั้น* เป็นธัมมปฏิ-

สัมภาทา

ความรู้ในชรามรณะ เป็นอัตถปฏิสัมภิทา ความรู้ในชรามรณ-

สมุทัย เป็นธัมมปฏิสัมภิทา ฯลฯ ความรู้ในสังขารนิโรธเป็นอัตถ-

ปฏิสัมภิทา ความรู้ในสังขารนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นธัมมปฎิสัมภิทา

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ซึ่งธรรมอันเป็น สุตตะ เคยยะ ฯลฯ

เวทัลละ ความรู้ธรรมนี้เรียกธัมมปฏิสัมภิทา ภิกษุนั้นย่อมรู้เนื้อความ

แห่งภาษิตนั้น ๆ นั่นแหละ ว่านี่เป็นความแห่งภาษิตนี้ นี่เป็นความ

แห่งภาษิตนี้ ความรู้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ เรียกอัตถปฏิสัมภิทา

ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลเป็นไฉน ? สมัยใดจิตเป็นกายาวจรกุศล

เกิดขึ้น ฯลฯ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ความรู้ในธรรมเหล่านี้เป็นธัมม-

ปฏิสัมภิทา ความรู้ในวิบากแห่งธรรมเหล่านั้น เป็นอัตถปฏิสัมภาทา"

ดังนี้เป็นต้น

[นิรุติปฏิสัมภิทา]

ข้อว่า 'อตฺถธมฺมนิรุตฺตาภิลาเป ญาณํ' มีอรรถาธิบายว่า

สภาวนิรุติ (ภาษาที่แท้) คืออัพยาภิจาริโวหาร (ถ้อยคำที่ใช้กันเป็น

* เตสุ ธมฺเมสุ ต. ศัพท์นี้ต้องรับกับ ย. ศัพท์-ยมฺหา ธมฺมา แต่วจะไม่เสมอกัน

น่าจะเรียงเพลินเนื่องมาแต่ อิเมสุ ธมฺเมสุ ข้างหน้ากระมัง มองไม่เห็นเหตุที่จะต้องเป็น

พหุวจนะ ในที่นี้จึงแปลแก้เป็นเอกวจนะ คือเป็น ตสฺมํ ธมฺเม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 15

ตายตัว ไม่วิปริตคลาดเคลื่อน) อันใดในอรรถและธรรมนั้น๑ ความ

รู้ในการกล่าวถ้อยคำอันนั้น คือในการพูดในการเปล่งขึ้นซึ่งถ้อยคำอัน

นั้น ได้แก่ความรู้อันถึงซึ่งความแตกฉานในมูลภาษาของสรรพสัตว์ทั้ง

หลาย คือภาษามคธ อันเป็นสภาวนิรุติ (ภาษาแท้) ซึ่งได้ชื่อว่า

ธรรมนิรุติ (ภาษาดี) นั้นโดยนัยว่า พอได้ยินถ้อยคำที่พูด ที่กล่าว ที่

เปล่งขึ้นนั้น ก็รู้ว่านี่เป็นสภาวนิรุติ นี่ไม่ใช่สภาวนิรุติ ดังนี้ เป็นนิรุติ-

ปฏิสัมภิทา จริงอยู่ ผู้ถึงนิรุติปฏิสัมภิทา พอได้ยินคำว่า ผสฺโส เวทนา

ดังนี้เป็นต้น ก็ย่อมรู้ใดว่านี่เป็นสภาวนิรุติ แต่ได้ยินคำว่า ผสฺสา

เวทโน ดังนี้เป็นต้นละ ก็รู้ได้ว่านี่ไม่ใช่สภาวนิรุติ๒

[ปฏิภาณปฏิสัมภิทา]

ข้อว่า 'ญาเณสุ ญาณํ' มีอรรถาธิบายว่า ความรู้อันมีความ

รู้เป็นอารมณ์แห่งบุคคลผู้พิจารณา (โดย) ทำความรู้ในความรู้ทั้งปวง

ให้เป็นอารมณ์ หรือว่า ความรู้อย่างกว้างขวางด้วยอำนาจอารมณ์และ

กิจของตนเป็นต้น ในความรู้ทั้งหลายตามที่กล่าวมานั้น เป็นปฏิภาณ-

ปฏิสัมภิทา๓

๑. เพราะมี อตฺถ ศัพท์เดียวเป็นเหตุ ดังกล่าวในเชิงอรรถ ๑ หน้า ๑๒ ท่านจึงไข

ความเจื่อน ๆ ออกมาดังนี้ ถ้าไม่มี ตสฺมึ อตฺเถ ธมฺเม จ เสียก็หายเจื่อนเข้าร่องรอยสนิท

๒. นิรุติ เป็นเรื่อง 'พูดเป็น' ท่านอธิบายอย่างไรลงท้ายกลายเป็น 'ฟังเป็น' และ

ที่ว่าภาษามคธเป็นมูลภาษานั้น ต้องหมายเฉพาะในชมพูทวีป ไม่ใช่ทั้งโลก

๓. ปฏิภาณ เราสอนกันว่าหมายถึงเชาว์ไวไหวพริบที่จะโต้ตอบและที่จะทำให้สบ

เหมาะทันที แต่ท่านอธิบายคลุม ๆ ว่ารู้ในรู้หรือรู้อย่างกว้างขวางอะไรไป เลยไม่ทราบว่า

ปฏิภาณอยู่ที่ตรงไหน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 16

[ภูมิปฏิสัมภิทามี ๒]

ก็แลปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นั่น ย่อมถึงความแตกฉานในภูมิ ๒ คือใน

เสขภูมิ ๑ ในอเสขภูมิ ๑ ใน ๒ ภูมินั้น ปฏิสัมภิทาของพระอัครสาวก

และของพระมหาสาวกทั้งหลาย ถึงความแตกฉานในอเสขภูมิ ปฏิสัม-

ภิทาของพระเสขอริยสาวกทั้งหลาย เช่นพระอานนทเถระ (เมื่อยังเป็น

พระเสขะ) ท่านจิตตคฤหบดี และท่านขุชชุตตราอุบาสิกา ถึงความ

แตกฉานในเสขภูมิ

[ปฏิสัมภิทาแจ่มใสด้วยอาการ ๕]

อนึ่ง ปฏิสัมภิทานั้นแม้ถึงความแตกฉานในภูมิ ๒ อย่างนี้ จะแจ่มใส

ขึ้นก็ด้วยอาการ ๕ นี้คือ ด้วยอธิคม ด้วยปริยัติ ด้วยสวนะ ด้วย

ปริปุจฉา และด้วยบุพโยคะ ในอาการเหล่านั้น การบรรลุพระอรหัต

ชื่อว่าอธิคม การเล่าเรียนพระพุทธวจนะชื่อว่าปริยัติ การสนใจฟังพระ

สัทธรรมโดยเคารพ ชื่อว่าสวนะ การกล่าววินิจฉัยคัณฐีบทและอรรถบท

ในคัมภีร์ทั้งหลายมีบาลีและอรรถกถาเป็นต้น ชื่อว่าปริปุจฉา๑ การ

ประกอบเนือง ๆ ซึ่งวิปัสสนาถึงขึ้นใกล้อนุโลมญาณและโคตรภูญาณ๒

โดยภาวะแห่งพระโยคาวจรผู้มีการ (ท่องเที่ยว) ไป ๆ มา ๆ๓ อยู่ในศาสนา

๑. ปริปุจฺฉา นัยนี้ท่านมิได้แปลว่าไต่ถาม แต่แปลว่า 'ปริโต สพฺพโต ญาตุํ อิจฺฉา-

ปรารถนาจะรู้โดยรอบคือโดยประการทั้งปวง' จึงได้พูดจาหาทางวินิจฉัยให้เป็นที่ตกลง

ในคัณฐีบท คือบทที่แปลยาก และอรรถบท คือบทที่อธิบายยาก ในคัมภีร์นั้น ๆ จน

แตกฉาน

๒. มหาฎีกาว่า หมายเอาขั้นสังขารุเบกขาญาณ เพราะสังขารุเบกขาญาณเป็นไปใกล้ญาณ

ทั้งสองนั้น

๓. คตปจฺจาคติก... มหาฎีกาแปลว่าผู้มีความไปและกลับประกอบด้วยภาวนานุโยค แล้ว

อธิบายว่าจะไปไหนและกลับจากไหน เช่นจากที่อยู่ในสู่โคจรคาม กลับจากโคจรคามมา

สู่ที่อยู่ ก็พยายามทำกรรมฐานอยู่เสมอ

อธิบายอย่างนี้เป็นการยึดพยัญชนะตรงเกินไป ไม่คำนึงถึงความที่ควรจะเป็นได้

หรือไม่ ในที่นี้จึงหาทางเข้าไปอย่างอื่นดังแปลไว้นั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 17

ของพระพุทะเจ้าองค์ก่อน ๆ ชื่อว่าบุพโยคะ

อาจารย์อื่นอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า

ปัจจัย (เครื่องอุดหนุน) ของปฏิสัมภิทา (มี ๘) คือ บุพโยคะ ๑

พาหุสัจจะ ๑ เทศภาษ ๑ อาคม ๑ ปริปุจฉา ๑ อธิคม ๑ ครุสันนิสัย ๑

มิตรสมบัติ ๑

ในปัจจัยเหล่านั้น บุพโยคะก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ความ

ฉลาดในคัมภีร์และสิปปายตนะ (กระบวนศิลปะ ?) ทั้งหลายนั้น ๆ๑ ชื่อว่า

พาหุสัจจะ ความฉลาดในโวหาร (ถ้อยคำ) ร้อยเอ็ด (ท้องถิ่น)๒ ชื่อ

เทศภาษา แต่ (ว่า) โดยพิเศษก็ความฉลาดในโวหารของชาวมคธ (นั่น

แหละ) ชื่อเทศภาษา การเล่าเรียนพระพุทธวจนะ โดยที่สุดแม้เพียง

โอปัมมวรรค๓ (สักวรรค ๑) ชื่ออาคม การไต่ถามถึงคำวินิจฉัยเนื้อ

ความแห่งคาถาแม้คาถาหนึ่ง ชื่อว่าปริปุจฉา ความเป็นพระโสดาบันก็ดี

ความเป็นพระสกทาคามีก็ดี ความเป็นพระอนาคามีก็ดี ความเป็นพระ

อรหันต์ก็ดี ชื่อว่าอธิคม การอยู่ในสำนักของครูทั้งหลายผู้มีสุตปฏิภาณ

มาก๔ชื่อว่าครุสันนิสัย ความได้มิตรทั้งหลายเห็นปานนั้นนั่นแล ชื่อว่า

มิตรสมบัติ ด้วยประการฉะนี้

ในปัจจัยเหล่านั้น พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธทั้งหลาย อาศัย

บุพโยคะและอธิคมเท่านั้นทรงบรรลุปฏิสัมภิทา พระสาวกทั้งหลายอาศัย

๑. หมายเอาเฉพาะคัมภีร์และศิลปะที่หาโทษมิได้

๒. มหาฎีกาว่า ภาษาท้องถิ่นของพญา (เจ้าแผ่นดิน) ร้อยเอ็ดในบรรพกาล เรียกว่า เอกสต-

โวหาร (คำ 'พญาร้อยเอ็ด' นี้ ไทยเราก็พูดกัน แต่ดูเหมือนความหมายว่ามากเท่านั้น ในชมพู

ทวีป พญาอาจมีถึงร้อยเอ็ดจริง ๆ แต่ไทยเรามีไม่ถึงแน่ ๆ)

๓. หมายถึงโอปัมมวรรค ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กระมัง ?

๔. สุตปฏิภาณพหุลานํ มหาฎีกาว่าเป็นพหูสูต มีปฏิภาณด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 18

เหตุ (คือปัจจัย) เหล่านั้นทุกอย่างจึงได้บรรลุ อนึ่ง อันการประกอบ

กรรมฐานภาวนาเป็นส่วนหนึ่งต่างหากสำหรับจะบรรลุปฏิสัมภิทาหามีไม่

แต่การบรรลุปฏิสัมภิทาสำหรับพระเสขะทั้งหลายก็มีขึ้นในที่สุดแห่งผล-

วิโมกข์ชั้นเสขะ สำหรับพระอเสขะทั้งหลายก็มีขึ้นในที่สุดแห่งผลวิโมกข์

ชั้นอเสขะนั่นเอง จริงอยู่ ปฏิสัมภิทาทั้งหลายสำเร็จแด่พระตถาคตเจ้า

ทั้งหลาย ก็ด้วยอริยผลแห่งอริยบุคคลเจ้าด้วยอริยผลแห่งอริยบุคคลทั้ง

หลายเหมือนกัน)๑

คำว่า 'ปัญญาเป็น ๔ อย่าง โดยเป็นปฏิสัมภาทา ๔' ข้าพเจ้ากล่าว

หมายเอาปฏิสัมภิทาเหล่านี้แล

[๕ ปัญญาจะพึงบำเพ็ญขึ้นได้อย่างไร]

ส่วนในปัญหากรรม (ข้อ ๕) ว่า "ปัญญาจะพึงบำเพ็ญได้อย่าง

ไร" นี้ มีพรรณนาว่า เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายอันแยกประเภทเป็น

ขันธ อายตนะ ธาตุ อินทรีย สัจจะ และปฏิจสมุบาท เป็นต้น เป็น

ภูมิ (คือเป็นพื้น) ของปัญญานี้๒ วิสุทธิ ๒ นี้คือ สีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิ

๑. มหาฎีกาขยายความว่า แม้พระคุณวิเศษอื่น ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง มีพระ

สัพพัญญตญาณเป็นต้น ก็มีขึ้นในที่สุดแห่งผลวิโมกข์ชั้นอเสขะเหมือนกัน

๒. มหาฎีกาท่านมีอรรถาธิบายน่าฟัง คือท่านตั้งปัญหาขึ้นว่า เหตุไฉนท่านจึงจัดธรรม

เป็นปัญญาภูมิหรือวิปัสนาภูมิมากอย่างเช่นนี้ แม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นขันธอย่าง

เดียวก็สำเร็จประโยชน์ได้มิใช่หรือ ? แล้วท่านก็แก้ว่า อย่างเดียวไม่พอ เพราะสัตว์ผู้จะ

บำเพ็ญวิปัสนาปัญญานั้น แบ่งออกได้ถึง ๓ พวก ว่าโดยความหลงติด ก็มี ๓ คือ หลงรูป

หลงรูป และหลงทั้งสองอย่าง ว่าโดยอินทรีย์ก็ ๓ คือ อินทรีย์กล้า อินทรีย์ปานกลาง

และอินทรีย์อ่อน ว่าโดยความชอบใจ ก็ ๓ คือ ชอบสังเขป ชอบปานกลาง ชอบพิสดาร

ต่างก็เหมาะที่จะถือเอารูปต่างกัน เช่นพวกหลงอรูปก็ถือเอาขันธ เพราะขันธเป็นอรูปถึง

๔ พวกหลงรูปก็ถือเอาอายตนะ เพราะอายตนะเป็นรูปตั้ง ๑๐ พวกหลงทั้งสองอย่างก็

ถือเอาธาตุ เพราะธาตุเป็นทั้งสองส่วน ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 19

เป็นมูล (คือเป็นรากเง่า) วิสุทธิ ๕ นี้คือ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ ญาณทัสนวิสุทธิ

เป็นสรีระ (คือเป็นลำตัวหรือลำต้น) ของปัญญานี้ เพราะเหตุนั้น

ปัญญานั่น ภิกษุผู้ทำความสั่งสมความรู้โดยการเล่าเรียนและไต่ถามใน

ธรรมทั้งหลายที่เป็นภูมิเหล่านั้นแล้ว ยังวิสุทธิ ๒ ที่เป็นมูลให้ถึงพร้อม

แล้วทำวิสุทธิ ๕ ที่เป็นสรีระให้ถึงพร้อมอยู่ (นั่นแหละ) จะพึงบำเพ็ญขึ้น

ได้ นี่เป็นความสังเขปในปัญหากรรมข้อนี้ ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็น

ความพิสดาร

[ภูมิของปัญญา]

คำใดข้าพเจ้ากล่าไว้ว่า "ธรรมทั้งหลายอันแยกประเภทเป็นขันธ

อายตนะ ธาตุ อินทรีย สัจจะ และปฏิจสมุบาทา เป็นภูมิ (ของปัญญา

นี้) ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยความในคำนั้นเป็นอันดับแรก

[ขันธ]

คำว่า ขันธ ได้แก่ขันธห้า คือ รูปขันธ เวทนาขันธ สัญญา-

ขันธ สังขารขันธ วิญญาณขันธ

[รูปขันธ]

ในขันธห้านั้น ธรรมชาตอันมีความสลายไป โทรมไป เพราะ

ปัจจัยที่เป็นข้าศึกทั้งหลายมีหนาวเป็นต้นเป็นลักษณะทุกอย่าง* พึงราบ

ว่าชื่อว่ารูปขันธ (กองรูป) เพราะ (เรียก) รวมธรรมชาตทั้งปวงนั้น

เข้าด้วยกัน อันว่าธรรมชาตนี้นั้น แม้เป็นอย่างเดียวโดยลักษณะคือ

ความสลาย (แต่) ก็เป็นสอง โดยแยกเป็นภูตรูป และอุปาทายรูป

* ยงฺกิญฺจิ แปลว่า 'ทุกอย่าง' ก็ได้ในที่ ๆ เหมาะแม้ในมหาฎีกาก็แก้ไว้ว่า 'ยงฺกิญฺจีติ

อนวเสสปริยาทานํ'

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 20

[ภูตรูป]

ในรูป ๒ อย่างนั้น ภูตรูปมี ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ

วาโยธาตุ ลักษณะ รส (คือกิจ) ปัจจุปัฏฐาน (คือผล) ของธาตุ ๔ นั้น

ได้กล่าวไว้แล้วในจตุธาตุววัฏฐาน แต่ว่าโดยปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้)

ธาตุทุกอย่างนั้นแต่ก็มีธาตุที่เหลืออีก ๓ เป็นปทัฏฐาน

[อุปาทายรูป]

อุปาทายรูปมี ๒๔ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น

รส อิตถินทรีย ปุริสินทรีย ชีวิตตินทรีย หทัยวัตถุ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ

อากาสธาตุ รูปสฺส ลหุตา (ความเบาแห่งรูป) รูปสฺส มุทุตา (ความ

อ่อนแห่งรูป) รูปสฺส กมฺมญฺญตา (ความคล่องแห่งรูป) รูปสฺส อุปจย๑

(ความเติบขึ้นแห่งรูป) รูปสฺส สนฺตติ (ความสืบต่อแห่งรูป) รูปสฺส ชรตา

(ความทรุดโทรมแห่งรูป) รูปสฺส อนิจฺจตา (ความไม่ยั่งยืนแห่งรูป)

กวฬิงการาหาร

[ลักษณะ ฯลฯ แห่งอุปาทายรูป]

[ปลาทรูป ๕]

ในอุปาทายรูปเหล่านั้น ตา มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบรูป

ได้เป็นลักษณะ๒ นัยหนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูปอันมีกรรมที่มีความ

ใคร่จะเห็นเป็นต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีอันเวียนอยู่ในรูป

ทั้งหลายเป็นรส มีความเป็นฐานที่รองรับจักขุวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน

๑. ในที่อื่นเป็น อุจฺจย ก็มี

๒. หมายความว่า ตรงที่เป็นตานั้น ภูตรูปมีความผ่องใสจนสามารถกระทบรูปคือเห็น

รูปได้ ตรงไหนเห็นรูปได้ ก็รู้ได้ว่าตรงนั้นเป็นตา นัยในหูเป็นต้นก็อย่างเดียวกันนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 21

มีภูตรูปอันเกินแต่กรรมที่มีความใคร่จะเห็นเป็นต้นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

หู มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบเสียงได้เป็นลักษณะ นัย

หนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูปอันมีกรรมที่มีความใคร่จะฟังเป็นต้นเหตุ

เป็นสมุฏฐาน เป็นลักษณะ มีอันเวียนอยู่ในเสียงทั้งหลายเป็นรส มี

ความเป็นฐานที่รองรับโสตวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่

กรรมที่มีความใคร่จะฟังเป็นต้นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

จมูก มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบกลิ่นได้เป็นลักษณะ นัย

หนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูปอันมีกรรมที่มีความใคร่จะดมเป็นต้นเหตุ

เป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีอันเวียนอยู่ในกลิ่นทั้งหลายเป็นรส มีความ

เป็นฐานที่รองรับฆานวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรม

ที่มีความใคร่จะดมเป็นต้นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

ลิ้น มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบรสได้เป็นลักษณะ นัย

หนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูปอันมีกรรมที่มีความใคร่จะลิ้มเป็นต้นเหตุ

เป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีอันเวียนอยู่ในรสทั้งหลายเป็นรส มีความ

เป็นฐานที่รองรับชิวหาวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรม

ที่มีความใคร่จะลิ้มเป็นต้นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

กาย มีความผ่องใสแห่งภูตรูปพอกระทบโผฏฐัพพะได้เป็นลักษณะ

นัยหนึ่ง มีความผ่องใสแห่งภูตรูปอันมีกรรมที่มีความใคร่จะถูกต้องเป็น

ต้นเหตุเป็นสมุฏฐานเป็นลักษณะ มีอันเวียนไปในโผฏฐัพพะทั้งหลาย

เป็นรส มีความเป็นฐานที่รองรับกายวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูป

อันเกิดแต่กรรมที่มีความใคร่จะถูกต้องเป็นต้นเหตุ เป็นปทัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 22

[ลักษณะตา ฯลฯ ตามมติเกจิอาจารย์]

ฝ่ายอาจารย์ลางพวกกล่าวว่า "ตา ก็คือความผ่องใสแห่งภูตรูป

ทั้งหลาย (ส่วน) ที่ยิ่งด้วยธาตุไฟ หู จมูก ลิ้น ก็คือความผ่องใสแห่ง

ภูตรูปทั้งหลาย (ส่วน) ที่ยิ่งด้วยธาตุลม ธาตุดิน และธาตุน้ำ (ตาม

ลำดับ) กาย ก็คือความผ่องใสแห่งภูตรูปทุกอย่าง (เสมอกัน)"

อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า "ตา คือความผ่องใสแห่งภูตรูปทั้ง

หลาย (ส่วน) ที่ยิ่งด้วยไฟ หู จมูก ลิ้น กาย คือความผ่องใสแห่ง

ภูตรูปทั้งหลาย (ส่วน) ที่ยิ่งด้วยโพรง (คืออากาศ ? ) ลม น้ำ และดิน

(ตามลำดับ)"

อาจารย์เหล่านั้น น่าบอกให้ท่านชักพระสูตรมา (อ้าง) ท่านจัก

ไม่พบพระสูตรเป็นแน่แท้ทีเดียว

ยังอาจารย์ลางพวก (ช่วย) อ้างเหตุในคำของเกจิอาจารย์ที่กล่าวมา

นั้นว่า "เพราะธาตุทั้งหลายมีธาตุไฟเป็นต้น อันสิ่งที่เป็นคุณมีรูปเป็นต้น

ต้องช่วยอนุเคราะห์"* อาจารย์พวก (นี้) นั้น บัณฑิตพึงกล่าว (ด้าน)

ได้ว่า "ใครกันเล่ากล่าวดังนี้ว่า สภาวะมีรูปเป็นอาทิเป็นคุณแก่ธาตุมี

* มหาฎีกาว่า เกจิอาจารย์ที่กล่าวอย่างนี้ ได้แก่ภิกษุลางพวกในนิกายมหาสังฆิกะ และ

ว่าพระวสุธรรมเป็นตัวตั้งที่กล่าวว่า "ธาตุไฟยิ่ง (คือมีมาก) ในตา ธาตุลมยิ่งในหู ธาตุ

ดินยิ่งในจมูก ธาตุน้ำยิ่งในลิ้น ธาตุทุกอย่างเสมอกันในกาย (จึงทำให้เห็นให้ได้ยินได้

กลิ่นได้รสได้สัมผัส)" ส่วนอีกพวกหนึ่งว่า "ไฟยิ่งในตา โพรงยิ่งในหู ลมยิ่งในจมูก

น้ำยิ่งในลิ้น ดินยิ่งในกาย" แล้วยังมีอีกพวกหนึ่งช่วยอ้างเหตุว่า "ไฟคือประทีป อัน

รูปคือแสงสว่างต้องช่วยอนุเคราะห์ ลม เสียงอนุเคราะห์ ดิน กลิ่นอนุเคราะห์ น้ำ คือ

เขฬะ รสอนุเคราะห์"

ลัทธิของท่านพวกนี้ก็ชอบกล แต่อาจารย์วิสุทธิมรรคนี้ท่านค้านทั้งนั้น ฟังของท่าน

เข้าใจยากสักหน่อย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 23

ไฟเป็นต้น ? เพราะว่าในภูตรูปทั้งหลายอันมีความเป็นไปที่แยกกันไม่

ออก ใคร ๆ ก็กล่าวไม่ได้ว่า สิ่งนี้เป็นคุณแก่สิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นคุณแก่สิ่งนี้"

แม้อาจารย์พวกนั้นจะพึงกล่าวต่อไปอีกว่า "ท่านทั้งหลายประสงค์

เอากิจ (คือหน้าที่) เช่นการทรงไว้ของธาตุดินเป็นต้นได้ ก็เพราะความ

ที่ภูตรูป (คือธาตุ) นั้น ๆ มีมากในสัมภาระ (คือองค์อวัยวะ ?) นั้น ๆ

ฉันใด ข้อที่ว่ารูปเป็นต้นเป็นคุณแก่ธาตุไฟเป็นอาทินั้น ก็น่าจะประสงค์

เอาได้ เพราะรูปเป็นต้นปรากฏเป็นจำนวนมากในสัมภาระที่ยิ่งด้วยธาตุ

ไฟ (คือตา) เป็นอาทิ ก็ฉันนั้น"

อาจารย์เหล่านั้น เราพึงกล่าว (ค้าน) ว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย

ก็จะพึงประสงค์ หากว่ากลิ่นใน (เมล็ด) ฝ้ายที่ยิ่งด้วยดินจะพึงเป็น

กลิ่นยิ่ง (คือฉุน) กว่ากลิ่นของดอกที่ยิ่งด้วยน้ำ และสีของน้ำเย็นจะ

พึงจาก (ใส) กว่าสีของน้ำร้อนที่ยิ่งด้วยไฟบ้างละก็ แต่เพราะทั้ง ๒

อย่างนั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงเลิก๑การคิดกำหนดความ

แปลกกันแห่งภูตรูปอันเป็นที่อาศัยของปสาทรูปมีตาเป็นต้นเหล่านั้น

เสียเถิด ควรถือเอายุตินี้ว่า "รูปรสเป็นต้นแห่งภูตรูปทั้งหลายแม้

ในกลาปเดียวกัน ไม่มี (อะไร) วิเศษ (กว่ากัน) ก็ยังไม่เหมือนกัน

ฉันใด ประสาททั้งหลาย มีจักษุประสาทเป็นต้น แม้เหตุแห่งความ

วิเศษ (กว่ากัน) อย่างอื่นไม่มี (มัน) ก็ไม่เหมือนกัน ฉันนั้น"๒

๑. ปหาเยถ ปาฐะในมหาฎีกาเป็น ปหาย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องสัมพันธ์เป็นบุพกาลกิริยา

ใน คเหตพฺพํ ประกอบความว่า "พึงเลิก. . . เสีย แล้วถือเอา. . . เถิด" ดูจะเข้าทีกว่า

ปหาเยถ ซึ่งต้องแยกเป็นประโยคหนึ่งประดับประเดิดอยู่

๒. ตอนเกจิวาทะและคำค้านนี้ คือเอาความยากเต็มที พิจารณาดูให้ดีเถิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 24

(หากมีคำถามว่า ถ้าความแปลกความยิ่งกว่ากันแห่งภูตรูปไม่มี

ดังกล่าวนั้นไซร้) ก็อะไรเล่าเป็นเหตุ (ให้ปสาทรูปเหล่านั้น) ไม่

สาธารณะแก่กันและกัน ? (คำแก้ก็พึงมีว่า) ก็กรรมนั้นซิเป็นเหตุแห่ง

ความแปลกกันของปสาทรูป มีจักษุเป็นต้นเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น

ความแปลกกันแห่งปสาทรูปเหล่านั้น ย่อมเป็นเพราะความแปลกกัน

ของกรรม หาใช่เป็นเพราะความแปลกกันของภูตรูปไม่ ด้วยว่า เมื่อ

ภูตรูป (เกิด) มีความแปลก (ยิ่งหย่อนกว่ากันขึ้น) ความผ่องใส

(ประสาท) ย่อมไม่เกิดขึ้นเป็นแท้ จริงอยู่ พระโบราณจารย์ทั้งหลาย

ก็กล่าวไว้ว่า "เมื่อภูตรูปทั้งหลายเสมอกัน ความผ่องใส (ประสาท)

จึงมี เมื่อภูตรูปทั้งหลายไม่เสมอกัน ความผ่องใส ก็ไม่มี" ดังนี้ ก็

ในปสาทรูปเหล่านั้นอันมีความแปลกกัน เพราะความแปลกกันแห่ง

กรรมอย่างนี้ จักษุและโสตรับวิสัยรูป (คืออารมณ์ ได้แก่รูปและเสียง)

อันไม่ (มา) ถึงตัวได้ เพราะตาและหูเป็นเหตุแห่งวิญญาณในวิสัย-

รูปอันมีที่อาศัยไม่ติด (กับ) ที่อาศัยของตนเลย๑ (ส่วน) ฆานะชิวหา

และกาย รับได้แต่วิสัยรูปที่ (มา) ถึงตัวเข้า เพราะฆานะชิวหากาย

เป็นเหตุแห่งวิญญาณในวิสัยรูป อันติดที่อาศัยของตน ๆ อยู่แล้วนั่นเอง

โดยเป็นที่อาศัย (ของวิสัยรูป) และเป็น (วิสัยรูปในตัว) เองด้วย๒

๑. คือที่อาศัยของตาหูกับที่อาศัยของรูปเสียงนั้นไม่ติดกัน

๒. คือที่อาศัยของกลิ่น รส ติดอยู่ในที่อาศัยของฆานะและชิวหา ส่วนโผฏฐัพพะติดอยู่

ในกายเอง เพราะโผฏฐัพพะก็คือภูตรูป ๓ เว้นอาโป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 25

[ที่ตั้ง ฯลฯ แห่งปสาทรูป]

[จักขุ]

ในปสาทรูป ๕ นี้ สิ่งที่ในโลกเรียกว่าจักษุ เรียงรายด้วยขนตา

สีดำ วาวงามด้วยแววตาดำและขาว (สัณฐาน) คล้ายกับกลีบบัวขาบ

นั้นใด แต่ (ตัว) จักษุ (แท้ ๆ นั้น เล็ก) โดยประมาณก็สักเท่า

ศีรษะเล็น ได้รับอุปการะอันธาตุทั้ง ๔ ซึ่งมีหน้าที่อาบ๑เยื่อตาทั้ง ๗ ชั้น

ดุจน้ำมันที่คนราดลงไปในปุยนุ่น ๗ ชั้น อาบปุยนุ่นทุกชั้นอยู่ ฉะนั้น

แล้ว (ธาตุดิน) ทรงไว้ (ธาตุน้ำ) ยึด (ให้ติดกัน) ไว้ (ธาตุ

ไฟ) ทำให้อุ่นไว้ (ธาตุลม) พยุงไว้ ทำให้ ดังขัตติยกุมารมีอุปการะ

อันพระพี่เลี้ยงทั้ง ๔ ผู้มีหน้าที่ (คนหนึ่ง) อุ้ม (คนหนึ่ง) ให้สรง

สนาน (คนหนึ่ง) แต่งองค์ (คนหนึ่ง) อยู่งานพัด ทำถวายอยู่

ฉะนั้น (และจักษุนั้น) อันฤดูจิตและอาหารอุปถัมภ์ไว้ อันอายุอนุบาล

ไว้ อันอวินิพโภครูปมีสีกลิ่นรสเป็นต้นแวดล้อม ยังความเป็นวัตถุ

และเป็นทวารตามควรแก่วิถีจิตทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้น ให้สำเร็จ

ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง (ในร่างกาย) ที่เกิดขึ้นแห่ง (เงา) ทรวดทรง

ร่างกาย๒ของรูปทั้งหลายที่อยู่ตรงหน้า ในกลางแววตาดำ ที่แววตาขาว

ล้อมอยู่ ของสสัมภารจักขุ (จักษุพร้อมทั้งสัมภาระ คือเครื่องประกอบ)

นั้น จริงอยู่ แม้พระธรรมเสนาบดีก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า

๑. พฺยาเปตฺวา มหาฎกี าเติม ฐิตาหิ เป็นวิเสสนะของ ธาตูหิ แตใ่ นที่นแี้ ปลเป็น

บุพกาลกิริยาใน สนฺธารณ. . .

๒. ที่ไทยเราเรียก 'ตุ๊กตา' (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 26

"คนย่อมเห็นรูปทั้งหลายด้วยจักษุประสาทใด จักษุ

ประสาทนั้นเป็นของเล็กละเอียด เปรียบได้กับ

ศีรษะเล็น" ดังนี้

[โสตะ]

ส่วนโสตะ ก็ได้อุปการะอันธาตุมีประการดังกล่าวแล้วทำให้ อัน

ฤดูจิตและอาหารอุปถัมภ์ไว้ อันอายุอนุบาลไว้ อันอวินิพโภครูปมีสี

เป็นต้นแวดล้อม ยังความเป็นวัตถุและเป็นทวารตามควรแก่วิถีจิต

ทั้งหลาย มีโสตวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง (ใน

ร่างกาย) ที่มีสัณฐานดังวงแหวน มีขนอ่อนสีน้ำตาลพอกพูน (คือ

ขึ้นอยู่มาก) ภายในช่อง สสัมภารโสต (โสตพร้อมทั้งสัมภาระคือ

เครื่องประกอบ)

[ฆานะ]

ฆานะ ก็ได้ความอุปการะ ความอุปถัมภ์ ความอนุบาลและ

เครื่องแวดล้อมมีประการดังกล่าวแล้ว ยังความเป็นวัตถุและเป็น

ตามควรแก่วิถีจิตมีฆานวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง

(ในร่างกาย) มีสัณฐานดังกีบแพะอยู่ภายในช่องสสัมภารฆานะ (ฆานะ

พร้อมทั้งสัมภาระคือเครื่องประกอบ)

[ชิวหา]

ชิวหา ก็ได้ความอุปการะ ความอุปถัมภ์ ความอนุบาลและ

เครื่องแวดล้อมมีประการดังกล่าวแล้ว ยังความเป็นวัตถุและเป็นทวาร

ตามควรแก่วิถีจิตมีชิวหาวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 27

(ในร่างกาย) มีสัณฐานดังปลายกลีบอุบล ที่ด้านบนของส่วนกลาง

สสัมภารชิวหา (ชิวหาพร้อมทั้งสัมภาระคือเครื่องประกอบ)

[กาย]

ก็แล ชื่อว่าอุปาทินรูปในกายนี้ยังมีอยู่ตราบใด ตราบนั้นกาย

(ประสาท) ก็เป็นอันได้ความอุปการะ ความอุปถัมภ์ ความอนุบาล

และเครื่องแวดล้อมมีประการดังกล่าวแล้วเหมือนกัน ดังน้ำมัน (อาบ

อยู่) ในเยื่อปุยฝ้ายฉะนั้น ยังความเป็นวัตถุและเป็นทวารตามควรแก่

วิถีจิตมีกายวิญญาณเป็นต้นให้สำเร็จ ตั้งอยู่ในทุกตำแหน่ง (แห่งร่างกาย)

อนึ่ง ปสาทรูปมีจักษุเป็นต้นนั้น บัณฑิตพึงทราบว่ามันก็โน้ม

เอียงไปสู่โคจร (ที่ไป) ของมันมีรูปเป็นต้นนั่นเอง ดังงู จรเข้ นก

สุนัขบ้าน และสุนัขป่า ก็คอยแต่จะไปหาโคจรของตน กล่าวคือจอม

ปลวก น้ำ อากาศ หมู่บ้าน และป่าช้าผีดิบฉะนั้น

[โคจรรูป ๔]

ส่วนในโคจรรูปทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น ต่อแต่ปสาทรูปนั้นไป

(มีวินิจฉัย ดังนี้)

รูป มีอันกระทบจักษุเป็นลักษณะ มีความเป็นวิสัยแห่งจักขุวิญ-

ญาณเป็นรส (คือกิน) มีความเป็นโคจรแห่งจักขุวิญญาณนั้นแหละเป็น

ปัจจุปัฏฐาน* (คือผล) มีมหาภูตรูป ๔ เป็นปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้)

* คำว่า วิสัยและโคจร เราก็แปลว่าอารมณ์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ไม่เคยคิดวินิจฉัยว่าแปลก

กันอย่างไร มหาฎีกาท่านช่างคิดแคะได้ให้เห็นความแปลกกันได้ คือท่านว่าวิสยภาโว

ได้แก่ อนญฺญตฺถภาโว ความไม่มีในที่อื่น หมายความว่า จักขวิญญาณย่อมมีในรูป

เท่านั้น จะไปมีในที่อื่นหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นรูปจึงเป็นวิสัย คือเป็นขอบเขตแห่งจักขุ-

วิญญาณ ส่วนโคจรตา ได้แก่ ตพฺพหุลจาริดา ความท่องเที่ยวไปมากในรูปนั้น หมาย

ความว่า จักขุวิญญาณก็เวียนเกิดอยู่ในรูปแล้ว ๆ เล่า ๆ อยู่นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 28

ก็แล ข้อ (ที่รูปมีมหาภูตรูป ๔ เป็นปทัฏฐาน) นี้ ฉันใด

อุปาทายรูปแม้ทั้งปวงก็เป็นฉันนั้น เป็นแต่ในที่ใดที่ความแปลกออกไป

ข้าพเจ้าจึงจักกล่าว (ความที่แปลก) ในที่นั้น

รูปนี้นั้นมีมากอย่าง ด้วยอำนาจแห่งสี มีสีเขียวสีเหลือง เป็นต้น

เสียง มีอันกระทบโสตเป็นลักษณะ มีความเป็นวิสัยแห่งโสต-

วิญญาณเป็นรส มีความเป็นลักษณะ มีความเป็นวิสัยแห่งโสต-

ปัฏฐาน มีมากอย่าง โดยนัยเป็นต้นว่าเสียงกลอง เสียงตะโพน

กลิ่น มีอันกระทบฆานะเป็นลักษณะ มีความเป็นวิสัยแห่ง

ฆานวิญญาณเป็นรส มีความเป็นโคจรแห่งฆานวิญญาณนั้นแหละเป็น

ปัจจุปัฏฐาน มีมากอย่าง โดยนัยเป็นต้นว่า กลิ่นราก (ไม้) กลิ่น

แก่น (ไม้)

รส มีอันกระทบชิวหาเป็นลักษณะ มีความเป็นวิสัยแห่งชิวหา-

วิญญาณเป็นรส มีความเป็นโคจรแห่งชิวหาวิญญาณนั่นแหละเป็น

ปัจจุปัฏฐาน มีมากอย่าง โดยนัยเป็นต้นว่า รสราก (ไม้) รสลำต้น

(ไม้)

[ภาวรูป ๒]

อิตถินทรีย์ มีภาวะแห่งหญิงเป็นลักษณะ มีอันประกาศว่าหญิง

เป็นรส มีภาวะคือการทำ (อิตถีลิงคะ) เพศแห่งหญิง (อิตถีนิมิตตะ)

นิมิตแห่งหญิง (อิตถีกุตตะ) กิริยาแห่งหญิง และ (อิตถากัปปะ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 29

อากัปแห่งหญิง๑ เป็นปัจจุปัฏฐาน

ปุริสินทรีย์ มีภาวะแห่งชายเป็นลักษณะ มีอันประกาศว่าชาย

เป็นรส มีภาวะคือการทำ (ปุริสลิงคะ) เพศแห่งชาย (ปุริสนิมิตตะ)

นิมิตแห่งชาย (ปุริสกุตตะ) กิริยาแห่งชาย และ (ปุริสากัปปะ)

อากัปแห่งชาย เป็นปัจจุปัฏฐาน

อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ทั้ง ๒ นั้น ปกแผ่ไปทั่วร่าง (ของ

หญิงชาย) ดังกายประสาทเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับจะกล่าวได้ว่า มัน

ตั้งอยู่ในโอกาสที่กายประสาทตั้งอยู่ หรือว่ามันตั้งอยู่ในโอกาสที่กาย-

ประสาทมิได้ตั้งอยู่ก็ตาม ความปะปนกันและกัน (แห่งภาวรูปกับกาย

ประสาท) ก็ไม่มี ดังรูปกับรสเป็นต้น (ก็มิได้ประปนกัน๒) ฉะนั้น

[ชีวิตรูป ๑]

ชีวิตทรีย์ มีการตามรักษาสหัชรูป (รูปที่เกิดร่วมกับตน) ไว้

เป็นลักษณะ มีการยังสหัชรูปเหล่านั้นให้เป็นไปเป็นรส มีอันดำรงไว้

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า ความกลมกลึง และอวัยวะมีมือเท้าเป็นต้น ไม่กระด้าง เป็นอิตถีลิงคะ

ความมีเนื้อถันนิ่ม ไม่มีหนวดเครา ถักผมและห่มผ้า เป็นอิตถีนิมิต เพราะเป็นปัจจัยให้จำได้ว่า

หญิง การเล่นด้วยเครื่องตำข้าวมีกระด้งและสากเป็นต้น ในตอนเป็นเด็ก และการทำงานเกี่ยวด้วย

การทอมีกรอด้ายเป็นต้น เป็นอิตถีกุตตะ คือกิริยาของหญิง อาการมียืนเดินไม่ผ่านเผยเป็นต้น

เป็นอิตถากัปปะ

อีกนัยหนึ่ง อิตถีลิงคะ หมายถึงอวัยวะเพศของหญิง อิตถีนิมิต หมายถึงเสียงของหญิง

อิตถีกุตตะ หมายถึงกิริยาต่าง ๆ ของหญิง มียืน เดิน นั่ง เคี้ยวกินเป็นต้นที่มิดเมี้ยน อิตถากัปปะ

หมายถึงทรวดทรงของผู้หญิง

๒. มหาฎีกาว่า ภาวรูปกับกายประสาท ไม่ปะปนเกี่ยวข้องกัน เพราะมีที่อาศัยต่างกัน ส่วนรูป

กับรส แม้มีที่อาศัยร่วมกัน ก็ไม่ปะปนดาบเกี่ยวกัน เพราะมีลักษณะต่างกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 30

ได้ซึ่งสหัชรูปเหล่านั้นแหละเป็นปัจจุปัฏฐาน มีภูตรูปที่ตนจะพึงให้เป็น

ไป (ด้วยอำนาจการตามรักษา) เป็นปทัฏฐาน

ก็แล ชีวิตินทรีย์นั้น แม้เมื่อวิธาน (การทำงาน) มีลักษณะคือ

การตามรักษาเป็นต้นยังมีอยู่ ก็ย่อมตามรักษาสหัชรูปทั้งหลายแต่ในขณะ

ที่ (สหัชรูปที่ตนจะพึงตามรักษานั้น) ยังมีอยู่เท่านั้น ดุจน้ำรักษาไม้น้ำ

ทั้งหลายมีอุบลเป็นต้น (ก็แต่ในขณะที่อุบลเป็นต้นนั้นยังมีอยู่) ฉะนั้น

อนึ่ง ย่อมรักษา (แต่) ธรรม (คือสิ่ง) ทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน (เกิดขึ้น

เฉพาะหน้า)* ตามที่เป็นของ ๆ ตน (ที่อยู่ในวิสัยที่ตนจะพึงเลี้ยงรักษา ?)

ดุจนางพระพี่เลี้ยง ก็ย่อมเลี้ยง (แต่) พระกุมารที่ได้พระกำเนิดมา

เฉพาะหน้าแล้ว ตามที่อยู่ในหน้าที่ของตน (เท่านั้น) อนึ่ง ชีวิตินทรีย์

นั้น ย่อมเป็นไปแต่โดยสัมพันธ์กับธรรม (คือสิ่ง) ที่ตนให้เป็นไปเอง

เท่านั้น ดุจนายเรือย่อมเป็นไปโดยผูกพันกับสิ่งที่ตนให้เป็นไป (คือเรือ)

ฉะนั้น หาเป็นไปต่อแต่แตกทำลายไม่ เพราะ (เมื่อแตกทำลายแล้วก็)

ไม่มีตนและสิ่งทั้งหลายที่ตนจะพึงให้เป็นไปด้วย (อนึ่ง) ย่อมไม่ดำรง

(สหัชรูป) ไว้ได้ในภังคขณะ เพราะตัวเองก็กำลังแตกอยู่ ดังไส้และ

น้ำมันกำลังสิ้น ย่อมไม่ดำรงเปลวประทีปไว้ได้ฉะนั้น แต่พึงเห็นว่า

ชีวิตินทรีย์นั้นหาใช่ไร้อานุภาพในการเลี้ยงรักษา (สหัชรูป) การ (ยัง

สหัชรูป) ให้เป็นไป และการดำรงไว้ (ซึ่งสหัชรูปนั้น) ไม่ เพราะ

(ชีวิตินทรีย์) ยังกิจนั้น ๆ (มีการเลี้ยงรักษาเป็นต้น) ให้สำเร็จในขณะ

ตามที่กล่าวแล้ว

* ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น - ปจฺจยุปฺปนฺเนปิ ธมฺมา ปาเลติ ไม่เห็นทางที่

จะแปลให้ได้ความเลย พิจารณารอบคอบแล้วเห็นว่าจะเป็น ปจฺจุปฺปนฺเน----ธมฺเม แปล

แล้วได้ความดีตลอดถึงประโยคอุปมาด้วย ดังที่แปลไว้นั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 31

[หทัยรูป ๑]

หทัยวัตถุ มีความเป็นที่อาศัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ

เป็นลักษณะ มีการรองรับธาตุเหล่านั้นแหละไว้เป็นรส มีการแบก

ธาตุทั้งสองนั้นไปเป็นปัจจุปัฏฐาน

หทัยวัตถุนั้น อาศัยโลหิตมีประการดังกล่าวแล้วในกายคตาสติกถา

ได้อุปการะที่ภูตรูป (๔) ซึ่งมีหน้าที่ค้ำจุนไว้เป็นต้นทำให้ อันฤดูจิตและ

อาหารอุปถัมภ์อยู่ อายุคอยเลี้ยงรักษาอยู่ ยังความเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง)

แห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ และธรรมอันสัมปยุตกับธาตุทั้งสอง

นั้น ให้สำเร็จตั้งอยู่ในภายในแห่งหัวใจ

[วิญญัติรูป ๒]

ความเปลี่ยนอาการ อันเป็นปัจจัยแห่งการค้ำกาย การทรงกาย

และการไหวกายที่เป็นสหัชรูปแห่งวาโยธาตุ อันมีจิตที่ยังกิริยามีการย่าง

ก้าวเป็นต้นให้เป็นไปเป็นสมุฏฐาน๑ ชื่อกายวิญญัติ (กายวิญญัตินั้น)

มีอันประกาศความประสงค์เป็นรส มีความเป็นเหตุแห่งความไหวกาย

เป็นปัจจุปัฏฐาน มีวาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเป็นปทัฏฐาน ก็กิริยา

อันนี้นั้นท่านเรียกกายวิญญัติ เพราะเป็นเหตุให้ (ผู้อื่น) รู้ความประสงค์

ด้วยการไหวกาย และเพราะตัวเองก็พึงรู้ได้ด้วยกาย กล่าวคือความ

ไหวกายนั้นด้วย๒ ก็และกิริยาทั้งหลายมีก้าวและถอยเป็นต้น บัณฑิต

๑. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น อติกฺกม-นั้นผิด ที่ถูกเป็น อภิกฺกม-

๒. หมายความว่าวิญญัติมีอรรถเป็นทั้งเหตุกัตตุและสยกัตตุ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 32

พึงทราบว่า ย่อมเป็นไปได้ เพราะความไหวแม้แห่งอุตุชรรูปเป็นต้น อัน

สัมพันธ์กันโดยเฉพาะกับจิตตัชรูปที่ไหวเพราะวิญญัตินั้น

[วจีวิญญัต]

ความเปลี่ยนอาการ ที่เป็นปัจจัยแห่งความกระทบกันแห่งอุปา-

ทินนรูปแห่งปฐวีธาตุ๑ อันมีจิตที่ยังความเปล่งวาจาให้เป็นไปเป็นสมุฏ-

ฐาน ชื่อว่า วจีวิญญัติ มีอันประกาศความประสงค์เป็นรส มีความ

เป็นเหตุแห่งการเปล่งคำพูดเป็นปัจจุปัฐาน มีปฐวีธาตุที่มีจิตเป็น

สมุฏฐานเป็นปทัฏฐาน ก็กิริยาอันนี้นั้นท่านเรียกวจีวิญญัติ เพราะ

เป็นเหตุให้ (ผู้อื่น) รู้ความประสงค์ด้วยการเปล่งคำพูด และเพราะ

ตัวเองก็พึงรู้ได้ด้วยวาจากล่าวคือการเปล่งคำพูดนั้น

เหมือนอย่างว่า บุคคลเห็นเครื่องหมาย (บ่อ) น้ำ มี (รูปไม้ที่ทำ

เป็น) หัววัวเป็นต้น ที่เขายกขึ้นผูกไว้ (ที่ปลายคันโพง) ในป่า ก็รู้ได้ว่า

น้ำมีอยู่ที่นั่น ฉันใด แม้กายวิญญัติและวจีวิญญัติ บุคคลจับการไหวกาย

และการเปล่งวาจาได้ ก็รู้ได้ฉันนั้น

[บริเฉทรูป ๑]

อากาสธาตุ มีการตัดตอนรูปเป็นลักษณะ มีอันประกาศริมรอบ

ของรูปเป็นรส มีขอบรองรูปเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือว่ามีความที่ไม่ถูก

ภูตรูปสัมผัสและความเป็นช่องเป็นรูเป็นปัจจุปัฏฐาน มีรูปที่ถูกตัดตอน

แล้วเป็นปทัฏฐาน ในรูปทั้งหลายที่ถูกอากาศธาตุไรเล่าตัดตอนแล้ว

ย่อมมีการกำหนดได้ว่า รูปนี้ ทางนี้บน ทางนี้ล่าง และทางนี้ขวาง

๑. หมายถึงอวัยวะที่กระทบกันทำให้เกิดอักขระเกิดเสียง (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 33

[วิการรูป ๓]

ลหุตา (ความเบา) แห่งรูป มีความไม่อืดยาดเป็นลักษณะ มี

อันบรรเทาเสียซึ่งความหนักแห่งรูปทั้งหลายเป็นรส มีการเปลี่ยน (ท่า)

ได้เร็วเป็นปัจจุปัฏฐาน มีรูปที่เบาเป็นปทัฏฐาน

มุทุตา (ความอ่อนสลวย) แห่งรูป มีความไม่แข็งเป็นลักษณะ

มีอันบรรเทาเสียซึ่งความกระด้างแห่งรูปทั้งหลายเป็นรส มีความไม่ขัด

ในกิริยาทั้งปวงเป็นปัจจุปัฏฐาน มีรูปที่อ่อนเป็นปทัฏฐาน

กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน) แห่งรูป มีความคล่องแคล่ว

อันอนุกูลแก่กิริยาทางร่างกายเป็นลักษณะ มีอันบรรเทาเสียซึ่งความไม่

คล่องแคล่วเป็นรส มีความไม่ทุพลภาพเป็นปัจจุปัฏฐาน มีรูปที่ใช้

การได้เป็นปทัฏฐาน

ก็วิการตา (ความที่รูปมืออาการต่างจากรูปของคนตาย) ๓ นี้ ย่อม

ไม่ละกันและกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ความแปลกกันแห่งวิการตา ๓ นั้น

ก็พึงทราบได้ดังนี้ คือ :-

รูปวิการใดเป็นความเบาแห่งรูปทั้งหลาย ดุจรูปของคนไม่มีโรค

มีความไม่อืดอาดและความเปลี่ยน (ท่า) ได้เร็วเป็นอาการทั่ว ๆ ไป

มีปัจจัยอันเป็นฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุที่ทำให้รูปหนัก เป็น

สมุฏฐาน๑ รูปวิการนั้นจัดเป็นรูปัสสลหุตา (ความเบาแห่งรูป)

รูปวิการใดเป็นความอ่อนแห่งรูปทั้งหลาย ดุจหนังที่ขัดดีแล้ว

๑. ปัจจัยอันเป็นฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุ มหาฎีกาว่าได้แก่ฤดูและอาหาร ที่

เป็นสัปปายะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 34

มีความอ่อนโดยที่บังคับได้ในกิริยาทั้งปวงแปลก ๆ กัน เป็นอาการทั่ว ๆ

ไป มีปัจจัยอันเป็นฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุที่ทำให้รูปแข็งกระ-

ด้างเป็นสมุฏฐาน รูปวิการนั้น จัดเป็นรูปัสสมุทุตา (ความอ่อน

สลวยแห่งรูป)

ส่วนรูปวิการใด เป็นความใช้การได้แห่งรูปทั้งหลาย ดุจทองที่

หลอมดีแล้ว มีความอนุกูลแก่กิริยาทางร่างกายเป็นอาการทั่ว ๆ ไป มี

ปัจจัยอันเป็นฝ่ายต่อต้านความกำเริบแห่งธาตุที่ทำความไม่อนุกูลแก่กิริยา

ทางร่างกายเป็นสมุฏฐาน รูปวิการนั้นจัดเป็นรูปัสสกัมมัญญตา (ความ

ควรแก่การงานแห่งรูป)

[ลักขณรูป ๔]

อุปจยะ (ความเติบ) แห่งรูป มีความก่อขึ้นเป็นลักษณะ มีการ

ยังรูปทั้งหลายให้ผุด (คือโต) ขึ้นไปภายหน้าเป็นรส มีการมอบให้

(คือเหมือนเชื้อเชิญให้ถือเอา ?) เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือว่ามีความเป็น

รูปบริบูรณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีรูปที่เติบแล้วเป็นปทัฏฐาน

สันตติ (ความสืบเนื่อง) แห่งรูป มีความเป็นไปเป็นลักษณะ

มีการสืบต่อไว้เป็นรส มีความไม่ขาดสายเป็นปัจจุปัฏฐาน มีรูปที่สืบต่อ

กันมาได้เป็นปทัฏบาน

รูปทั้งสองนี้ก็เป็นชื่อแห่งชาติรูปเท่านั้นเอง แต่ว่าตอนแสดง

อุเทศ ท่านทำ (เป็นสอง) ว่า อุปจยะ สันตติ ก็โดยที่ชาติรูปนั้นมี

อาการ (เป็นไป) ต่าง ๆ กันและโดยอำนาจแห่งเวไนยด้วย แต่เพราะ

เหตุว่า ความต่างกันโดยความหมายในบททั้งสองนั้นหามีไม่ เพราะเหตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 35

นั้นในนิเทศแห่งบทเหล่านี้ จึงกล่าวไว้ว่า "อาจยะ (ความก่อขึ้น)

แห่งอายตนะทั้งหลายอันใด รูปัสสอุปจยะ (ความเติบแห่งรูป) ก็อันนั้น

รุปัสสอุปจยะอันใด รูปัสสสันตติ (ความสืบเนื่องแห่งรูป) ก็อันนั้น"๑

ดังนี้ แม้ในอรรถกถาก็กล่าวว่า "ความเกิดขึ้น ชื่อว่าอาจยะ ความ

เติบขึ้น ชื่อว่าอุปจยะ ความเป็นไป ชื่อว่าสันตติ" แล้วทำอุปมาว่า

"อาจยะ ได้แก่ความเกิด เหมือนเวลาที่น้ำ (ซึม) ขึ้นในหลุมที่เขาขุด

ไว้ริมฝั่งน้ำ อุปจยะ ได้แก่ความเติบขึ้น เหมือนเวลาที่น้ำเต็ม (หลุม)

สันตติได้แก่ความเป็นไป เหมือนเวลาที่น้ำล้น (หลุม) ไปฉะนั้น" และใน

ที่สุดแห่งอุปมาท่านกล่าวว่า "ถามว่า ด้วยคำนิเทศ (ที่ว่า 'อาจยะ (ความ

ก่อขึ้น) แห่งาอายตนะทั้งหลาย' เป็นต้น) อย่างนั้น เป็นอันท่านกล่าว

ข้อความอะไร ? (ตอบว่า) ท่านกล่าวอาจยะด้วยอายตนะ กล่าวอายตนะ

ด้วยอาจยะ๒" ดังนี้ เพราะเหตุนั้นความเกิดขึ้นทีแรกแห่งรูปทั้งหลาย

อันใด อันนั้นพึงทราบเถิดว่า เรียกว่าอาจยะ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเหล่า

อื่นอันเกิดต่อเติมรูปเหล่านั้นขึ้นไปอันใด อันนั้นพึงทราบเถิดว่าเรียกว่า

อุปจยะ เพราะปรากฏโดยอาการเติบขึ้น๓ ความเกิดขึ้นแห่งรูปอื่น ๆ

๑. อภิ. สํ. ๓๔/๒๒๖

๒. มหาฎีกาอรรถาธิบายว่า อาจยะ อุปจยะ และสันตติ รวมเข้าว่า อาจยะ คำเดียวก็ได้

เพราะว่าโดยความก็เป็นเรื่องก่อเกิดด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงว่า "กล่าวอาจยะด้วย

อายตนะ" เหตุว่าอาจยะเป็นต้น ประกาศออกมาให้เห็นได้ก็อายตนะทั้งหลาย อายตนะ

ทั้งหลายเล่าก็มีความก่อขึ้นเป็นสภาวะ คือว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น

จึงว่า กล่าวอายตนะด้วยอาจยะ' เพราะจะเรียกอายตนะได้ก็ด้วยความก่อเกิดขึ้นเป็นอาทิ

๓. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้แยกกันเป็น วฑฺฒิ อากาเรน นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูก

เข้าสมาสเป็น วฑฺฒิอากาเรน เพราะมี อนุปฺปพนฺธากาเรน เป็นบทเทียบยันอยู่ข้างหลัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 36

อันเกิดต่อเติมรูปเหล่านั้นขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ อันใด อันนั้นพึงทราบ

เถิดว่า เรียกว่าสันตติ เพราะปรากฏโดยอาการสืบเนื่องกัน

ชรตา (ความทรุดโทรม) แห่งรูป มีความแก่ไปแห่งรูปเป็น

ลักษณะ มีอันนำเข้าไป (หาความแตกดับ) เป็นรส มีความที่แม้เมื่อ

สภาวะ (มีความหยาบแข็งเป็นต้น) ยังมิได้หายไป (แต่) ความใหม่

(แห่งรูป) ก็หายไปได้เป็นปัจจุปัฏฐาน ดุจความเก่าแห่งข้าวเปลือกฉะนั้น

มีรูปอันแก่อยู่เป็นปทัฏฐาน

ความแก่ (ที่ว่า) นี้ กล่าวหมายเอาปากฏชรา (แก่เปิดเผย)

เพราะแสดงความวิการในอวัยวะมีฟันเป็นต้น โดยภาวะมีความหักเป็นต้น

ส่วนความแก่แห่งอรูปธรรมทั้งหลาย จัดเป็นปฏิจฉันนชรา (แก่ปก

ปิด) ความวิการ (มีความหักเป็นต้น) นั่น หามีแก่ปฏิจฉันนชรานั้น

ไม่ อนึ่ง ความชราซึ่งมีในแผ่นดิน น้ำ ภูเขา และจันทร์ สูรย์ เป็น

ต้น อันได้ชื่อว่า อวีจิชรา (ชราไม่มีเปลว) เล่า ความวิการนั้น

ก็ไม่มีเหมือนกัน

อนิจฺจตา (ความไม่ยั่งยืน) แห่งรูป มีความแตกทำลายเป็น

ลักษณะ มีความทรุดลงไปเป็นรส มีความสิ้นความเสื่อมเป็นปัจจุ-

ปัฏฐาน มีรูปอันแตกทำลายอยู่เป็นปทัฏฐาน

[โอชารูป ๑]

กวฬิงการาหาร มีดอชาเป็นลักษณะ มีอันนำมาซึ่งรูปเป็นรส

มีการค้ำจุน (ร่างกาย) ไว้เป็นปัจจุปัฏฐาน มีวัตถุพึงทำให้เป็นคำ

แล้วกลืนกินเป็นปทัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 37

สัตว์ทั้งหลายยังชีวิตให้เป็นไปได้ด้วยโอชาใด คำว่า กวฬิงการา-

หารนี้ เป็นชื่อแห่งโอชานั้นแล

รูปที่มาในบาลีมีเท่านี้เอง

[อุปาทายรูปเพิ่มเติมตามมติเกจิอาจารย์]

แต่ในอรรถกถา ท่านนำเอารูปอื่น ๆ อีก (มากล่าวเพิ่มเติมไว้)

อย่างนี้คือ "พลรูป (รูปคือกำลัง) สัมภวรูป (รูปคือน้ำสัมภวะ)

ชาติรูป (รูปคือความเกิด) โรครูป (รูปคือโรค) (และ) ตาม

มติของอาจารย์ลางพวก (อีกรูป ๑ คือ) มิทธรูป (รูปคือความง่วง)"

ดังนี้แล้ว ชักเอาคำบาลี (ใน ขุ. สุ. ๒๕/๔๓๕) มากล่าว (เป็น

หลักฐาน) ว่า

"อทฺธา มุนีสิ สมฺพุทฺโธ นตฺถิ นีวรณา ตว"

"พระองค์เป็นพระมุนีผู้ตรัสรู้เองแน่แท้ นิวรณ์ทั้งหลายหามีแก่

พระองค์ไม่" ดังนี้เป็นต้นแล้วคัดค้านว่า มิทธรูปไม่มีแต่อย่างเดียว

เท่านั้น

(แต่อันที่จริง แม้) ในรูปนอกนี้ โรครูปก็เป็นอันถือเอาแล้ว

โดยถือชรตาและอนิจจตา (เป็นหลัก) ชาติรูป ก็เป็นอันถือเอา

แล้วโดยถืออุปจยะ และสันตติ (เป็นหลัก) สัมภวรูป ก็เป็นอัน

ถือเอาแล้วโดยถืออาโปธาตุ (เป็นหลัก) พลรูป ก็เป็นอันถือเอา

แล้วโดยถือวาโยธาตุ (เป็นหลัก) แท้ เพราะเหตุนั้น จึงลง

สันนิษฐานได้ว่า ในรูปเหล่านั้น ไม่มีรูปที่ (แยก) เป็นส่วนหนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 38

แม้แต่รูปเดียว๑

อุปาทายรูปนี้มี ๒๔ อย่าง กับภูตรูปที่กล่าวมาก่อน ๔ อย่าง

เพราะฉะนั้น จึงเป็นรูป ๒๘ อย่าง ไม่หย่อนไม่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้

[รูป ๑]

รูปทั้งปวงนั้นเป็นอย่างเดียว โดยนัยเป็นต้นว่า รูปเป็น นเหตุ

(ไม่ใช่เหตุ) เท่านั้น เป็น อเหตุกะ (ไม่มีเหตุ) เป็น เหตุวิปยุต

(ไม่ประกอบกับเหตุ) เป็น สัปปัจจยะ (เป็นไปกับปัจจัย) เป็น

โลกิยะ (ถูกประกอบไว้ในโลก) เป็น สาสวะ (เป็นไปกับอาสวะ)

เท่านั้น๒

[รูป ๒]

เป็น ๒ อย่างด้วยอำนาจแห่งรูป (หมวด ๒) มีรูปคือ อัชฌัต-

ติกะ (รูปภายใน) พาหีระ (รูปภายนอก) โอฬาริกะ (รูปหยาบ)

๑. มหาฎีกาช่วยอธิบายมติเรื่องรูปเพิ่มว่า "ในกายนี้ พละ มีอยู่จริง สัมภวะ โรค

และชาติก็มีอยู่จริง ทั้ง ๔ นี้น่าจัดเป็นอุปาทายรูป เพราะมหาภูตรูปมีมันจึงมี เว้นมหา

ภูตรูปเสียมันก็ไม่มี" ดังนี้ แต่ท่านผู้แต่งวิสุทธิมรรคค้านว่า รูปที่ว่าเหล่านี้มันรวมอยู่

ในอุปาทายรูปและมหาภูตรูปแล้ว เช่น โรครูปก็รวมอยู่ในชรตาและอนิจจตาแล้ว จึง

ไม่ควรแยกเป็นรูปอีกส่วนหนึ่ง ส่วนมิทธรูปที่อรรถกถาค้านว่าไม่มีนั้น ก็เพราะมิทธะ

เป็นนีวรณ ไม่ใช่รูป

อาจารย์ที่กล่าวมิทธรูปนี้ ท่านว่าเป็นฝ่ายอภัยคิรี

๒. หมายความว่า เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นอย่างเดียว ไม่มีคู่ คำว่าเหตุ ได้แก่

กุศลมูลและอกุศลมูล มีอโลภะ และโลภะเป็นต้น รูปไม่ใช่เหตุ ไม่มีเหตุ ไม่ประกอบ

กับเหตุเช่นนั้น รูปที่เป็นเหตุ. . . เช่นนั้นหามีไม่

รูปเป็นไปกับปัจจัย ไม่มีปัญหา รูปที่ไม่อาศัยปัจจัยไม่มี รูปถูกปัจจัยของตน

ประกอบไว้ คือบังคับไว้ในโลกเท่านั้น รูปจึงเป็นแต่โลกิยะ รูปโลกุตตระไม่มี รูป

เป็นไปกับอาสวะ หมายความว่าเป็นสิ่งที่อาสวะทั้งหลายพึงยึดหน่วงเกาะเกี่ยว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 39

สุขุมะ (รูปละเอียด) ทูเร (รูปในที่ไกล) สันติเก

(รูปในที่ใกล้) นิปผันนะ (รูปสำเร็จแล้วคือสมบูรณ์) อนิปผันนะ

(รูปไม่สำเร็จคือไม่สมบูรณ์) ปสาทรูป (รูปใส) นปสาทรูป (รูป

ไม่ใส) อินทริยะ (รูปเป็นใหญ่) อนินทริยะ (รูปไม่เป็นใหญ่)

อุปาทินนะ (รูปที่กรรมครอง) อนุปาทินนะ (รูปที่กรรมมิได้ครอง)

เป็นต้น

ในรูปเหล่านั้น รูป ๕ อย่าง มีจักขุรูปเป็นต้น จัดเป็นอัชฌัตติกรูป

เพราะเป็นไปเฉพาะอัตภาพ รูปที่เหลือ (๒๓) จัดเป็นพาหิรรูป

เพราะเป็นไปภายนอกอัตภาพนั้น

รูป ๑๒ อย่าง คือ รูป ๙ มีจักขุรูปเป็นต้น (มีรสรูปเป็นที่สุด)

กับธาตุ ๓ เว้นอาโปธาตุ จัดเป็นโอฬาริกรูป เพราะเป็นสิ่งพึงถือเอา

ด้วยสามารถกระทบได้ รูปที่เหลือ (๑๖) จัดเป็นสุขุมรูป เพราะ

เป็นสิ่งตรงกันข้ามจากโอฬาริกรูปนั้น (คือไม่เป็นสิ่งที่พึงถือเอาได้ด้วย

การกระทบ)

รูปที่เป็นสุขุมรูปนั่นแหละ จัดเป็นทูเรรูป เพราะเป็นรูปมีสภาพ

ที่รู้ได้ยาก รูปนอกนี้ (คือโอฬาริกรูป) จัดเป็นสันติเกรูป เพราะ

เป็นรูปมีสภาพที่รู้ได้ง่าย

รูป ๑๘ อย่าง คือ ธาตุ ๔ กับรูป ๑๓ มีจักขุรูปเป็นต้น (มี

หทัยวัตถุรูปเป็นที่สุด) และกวฬิงการาหาร จัดเป็นนิปผันนรูป เพราะ

ล่วงความเป็นบริเฉทรูปวิการรูปและลักขณรูปเสีย แล้วกำหนดถือเอา

ได้โดยสภาพทีเดียว (เช่นความแข้นแข็งเป็นต้น) รูปที่เหลือ (๑๐)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 40

จัดเป็นอนิปผันนรูป เพราะเป็นรูปตรงกันข้ามจากนิปผันนรูปนั้น

(คือกำหนดถือเอาโดยสภาพไม่ได้)

รูป ๕ อย่าง มีจักขุรูปเป็นต้น ชื่อว่า ปสาทรูป เพราะเป็นรูป

ใสผ่องดุจหน้าแว่น โดยความเป็นปัจจัยให้รับอารมณ์ทั้งหลายมีรูป

เป็นต้นได้ รูปนอกนี้ชื่อ นปสาทรูป เพราะเป็นรูปตรงกันข้ามจาก

ปสาทรูปนั้น (คือไม่ใส)

ปสาทรูปนั่นเองรวมกับอินทรียรูป ๓ มีอิตถินทรีย์เป็นต้น ชื่อว่า

อินทรียรูป เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่๑ รูปที่เหลือชื่ออนินทรียรูป เพราะ

เป็นรูปตรงกันข้ามจากอินทรียรูปนั้น

รูปที่ข้าพเจ้าจักกล่าวข้างหน้าว่า กัมมัชรูป จัดเป็นอุปาทินนรูป

เพราะเป็นรูปที่กรรมครอง๒ รูปที่เหลือจัดเป็นอนุปาทินนรูป เพราะ

เป็นรูปตรงกันข้ามจากอุปาทินนรูปนั้น

[รูป ๓]

รูปทั้งปวงอีกนั่นแล เป็น ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งติกะ (รูป

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า อินทรีย์ ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น เป็นใหญ่ในวิญญาณ มี

จักขุวิญญาณเป็นต้น อิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ เป็นใหญ่ในกิจของตน ชีวิตินทรีย์

เป็นใหญ่ในการอนุบาลสหัชรูป.

๒. ศัพท์อุปาทินฺน เราแปลกันคล่องปากว่า 'มีใจครอง' (จากคำ อุปาทินนกสังขาร

และอนุปาทินนกสังขารป แต่ในที่นี้ท่านให้แปลว่า 'กรรมครอง' กมฺเมน อุปาทินฺน

มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า รูปที่เกิดแต่กรรม ก็เป็นเหมือนถูกกรรมยึดครองเอาว่า 'นี่เป็น

ผลของฉัน'

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 41

หมวด ๓) คือสนิทัสสนติกะและกัมมชาทิติกะ๑ ในรูปเหล่านั้น รูป

(คือรูปายตนะ) ในโอฬาริกรูป (๑๒) เป็นสนิทัสสนสัปปฏิฆรูป

(รูปที่ทั้งเห็นได้และกระทบได้) โอฬาริกรูปที่เหลือ (๑๑) เป็น

อนิทัสสนสัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้) สุขุมรูปทั้งสิ้น

เป็นอนิทัสสนอัปปฏิฆรูป๒ (รูปที่เห็นไม่ได้และกระทบก็ไม่ได้) รูป

เป็น ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งสนิทัสสนติกะ ดังกล่าวมานี้ เป็น

อันดับแรก

ส่วนรูปเป็น ๓ ด้วยอำนาจแห่งกัมมชาทิติกะ พึงทราบดังนี้คือ

รูปที่เกิดแต่กรรม ชื่อกัมมชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นจาก

กรรมนั้น (คือเกิดแต่ฤดู จิต และอาหาร) ชื่อ อกัมมชรูป รูป

ที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ก็มิใช่ ชื่อว่า เนวกัมมชนากัมมชรูป (ได้แก่

ลักขณะรูป)

รูปที่เกิดแต่จิต ชื่อจิตตชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นจากจิตนั้น

ชื่อ อจิตตชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ก็มิใช่ ชื่อ เนวจิตตชนา-

จิตตชรูป๓

รูปที่เกิดแต่อาหาร ชื่อ อาหารชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นจาก

๑. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคเรียงไว้เป็น สนิทสฺสน กมฺมชาทีนํ ติกานํ ชวนให้หลง

แปลว่า 'แห่งติกะทั้งหลาย มีสนิทัสสนติกะและกัมมชาทิติกะ เป็นต้น' แต่ที่ถูกนั้น

ว่า "แห่งสนิทัสสนติกะและกัมมชาทิติกะทั้งหลาย" เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าสมาสเป็น

สนิทสฺสนกมฺมชาทิติกานํ เสีย ก็หมดปัญหา

๒. ในบาลีปัฏฐาน ทำสนธิเป็น อนิทสฺสนาปฺปฏิฆ

๓. ปาฐะ พิมพ์ไว้ตก เนว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 42

อาหรนั้น ชื่ออนาหารชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ก็มิใช่ ชื่อ

เนวอาหารชนอนาหารชรูป

รูปที่เกิดแต่ฤดี ชื่ออุตุชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอื่นจากฤดู ชื่อ

อนุตุชรูป รูปที่เกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ก็มิใช่ ชื่อเนวอุตุชนอนุตุชรูป

รูปเป็น ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งกัมมชาทิติกะ* ดังกล่าวมาฉะนี้

[รูป ๔]

รูปทั้งปวงนั้นอีกแหละ เป็น ๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐา-

ทิจตุกกะ (รูป ๔ มีทิฏฐรูปเป็นต้น) รูปรูปาทิจตุกกะ (รูป ๔ มีรูป-

รูปเป็นต้น) และ วัตถาทิจตุกกะ (รูป ๔ มีวัตถุรูปเป็นต้น)

อันดับแรก รูปเป็น ๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐาทิจตุกกะ

พึงทราบดังนี้คือ

ในรูปเหล่านั้น รูปายตนะ ชื่อทิฏฐรูป เพาะเป็นวิสัย

แห่งอันเห็น สัททายตนะ ชื่อสุตรูป เพราะเป็นวิสัยแห่งอันได้ยิน

๓ อายตนะ คือ คันธะ รสะ โผฏฐัพพะ ชื่อมุตรูป เพราะเป็นวิสัย

แห่งอินทรีย์ที่รับอารมณ์อันถึงเข้า รูปที่เหลือ ชื่อวิญญาตรูป เพราะ

เป็นวิสัยแห่ง (มโน) วิญญาณเท่านั้น

ส่วนรูปเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งรูปรูปาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้

คือ ในรูปเหล่านี้ (รูปที่เรียกว่า) นิปผันรูป ชื่อรูปรูป (รูปแท้ ?)

อากาสธาตุ ชื่อบริเฉทรูป รูปมีกายวิญญัติเป็นต้นมีกัมมัญญตาเป็น

ปลาย ชื่อวิการรูป ความเกิดความแก่และความแตกดับ ชื่อลักขณรูป

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น กมฺมชาติตฺติก ผิด ที่ถูกเป็น กมฺมชาทิตฺติก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 43

ส่วนรูปเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งวัตถาทิจตุกกะ พึงทราบดังนี้คือ

ในรูปเหล่านี้ รูปใดชื่อหทัยรูป รูปนั้นเป็นวัตถุรูป (เพราะเป็นที่อาศัย

แห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ) ไม่เป็นทวารรูป วิญญัติรูปทั้ง

๒ เป็นทวารรูป ไม่เป็นวัตถุรูป ปสาทรูป เป็นทั้งวัตถุรูปและ

ทวารรูป รูปที่เหลือไม่เป็นทั้งวัตถุรูปทั้งทวารรูป

รูปเป็น ๔ อย่างด้วยอำนาจแห่งวัตถาทิจตุกรูป ดังกล่าวมาฉะนี้

[รูป ๕]

รูปทั้งปวงนั้นอีก เป็น ๕ อย่างด้วยอำนาจแห่งรูปเหล่านี้ คือ

เอกชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัยอย่างเดียว) ทวิชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัย ๒

อย่าง) ติชรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัย ๓ อย่าง) จตุชรูป (รูปเกิดแต่

ปัจจัย ๔ อย่าง) น กุโตจิชาตรูป (รูปเกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ก็มิใช่)

ในรูป ๕ อย่างนั้น รูปที่เกิดแต่กรรมอย่างเดียวและรูปที่เกิดแต่

จิตอย่างเดียว ชื่อว่า เอกชรูป ในรูปที่เกิดแต่กรรมและรูปที่เกิดแต่

จิตนั้น อินทรียรูปกับหทัยวัตถุ เป็นรูปที่เกิดแต่กรรมอย่างเดียว

วิญญัติรูปทั้งสอง เป็นรูปที่เกิดแต่จิตอย่างเดียว

ส่วนรูปใดเกิดแต่จิตก็มี แต่ฤดูก็มี รูปนั้นชื่อทวิชรูป๑ ทวิชรูป

นั้นได้แก่สัททายตนะอย่างเดียว๒

รูปใดเกิดแต่ฤดู จิต และอาหาร รูปนั้นชื่อติชรูป อันติชรูปนั้น

ได้แก่วิการรูป ๓ มีลหุตาเป็นอาทินั่นแล

๑. มหาฎีกาว่า ลางทีเกิดแต่จิต ลางที่เกิดแต่ฤดู

๒. สัททายตนะที่เกิดแต่จิตอย่างเดียว ว่าได้แก่วิตกฺกวิจารสทฺโท - เสียงวิตกวิจาร (คือ

คิดพูดอย่างในใจ ?) ซึ่งจะพึงรู้ได้ด้วยทิพโสต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 44

รูปใดเกิดแต่ปัจจัยทั้ง ๔ มีกรรมเป็นต้น รูปนั้นชื่อ จตุชรูป

จตุชรูปนั้นก็ได้แก่รูปที่เหลือเว้นลักขณรูป (คือชาติ ชรา ภังคะ หรือ

มรณะ)

ส่วนลักขณรูป เป็น นกุโตจิชารูป เพราะเหตุอะไร ? เพราะ

ความเกิดแห่งความเกิดหามีไม่ และอีก ๒ ก็เป็นแต่ความงอมไปและ

แตกไปแห่งรูปที่เกิดแล้ว* แม้ความที่ชาติเกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ซึ่ง

ท่านยอมให้ไว้ในบาลีว่า "ธรรมทังหลาย คือ รูปายตนะ สัททายตนะ

คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ อากาสธาตุ อาโปธาตุ

รูปัสสลหุตา รูปัสสมุทุตา รูปัสสกัมมัญญตา รูปัสสอุปจยะ รูปัสสสันตติ

กวฬิงการาหารเหล่านี้มีจิตเป็นสมุฏฐาน" ดังนี้เป็นต้น ก็พึงทราบว่า

(ที่ท่านยอมให้) เพราะชนกปัจจัยแห่งรูปทั้งหลาย ปรากฏในลักษณะ

คืออานุภาพแห่งกิน

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในรูปขันธ์เป็นอันดับแรก

* ผู้อ่านศึกษาอาจงงว่า ลักขณรูปเดิมว่ามี ๔ คือ อุปจยะ สันตติ ชรตา และอนิจจ-

ตา มาถึงตรงนี้อย่างไรจึงว่ามี ๓ ไป พึงทราบว่า ท่านรวมอุปจยะกับสันตติ เข้าเป็น

ชาติรูป ส่วนชรตาก็เป็นชรา อนิจฺจตา เปลี่ยนเรียกว่า ภังคะ หรือมรณะ มหาฎีกา

ขยายความว่า ที่เรียกว่า นกุโตจิชาตรูป เพราะเกิดแต่ปัจจัยอะไร ๆ ก็มิใช่ เกิดเองก็

มิใช่ เพราะสิ่งที่เกิดเอง เว้นจากปัจจัย ไม่มีโดยประการทั้งปวง ถามว่า ที่ว่า

ลักขณรูปไม่เกิด จะพึงรู้ได้อย่างไร ตอบว่า รู้ได้โดยความไม่มีลักษณะ (คือ ตัวเป็น

ลักษณะอยู่เองแล้ว จะมีลักษณะของลักษณะอะไรอีกเล่า ?) จริงอยู่ ลักษณะมีความเกิด

เป็นต้น แห่งรูปทั้งหลายที่มีความเกิดมีรูปายตนะเป็นต้นนั้นมีอยู่ แต่ลักษณะอย่างนั้น

หามีแก่ลักขณรูปมีความเกิดเป็นต้นไม่ เพราะฉะนั้น พึงทราบเถิดว่า ลักษณะมีความเกิด

เป็นตนย่อมไม่เกิด ถ้าความเกิดเป็นสิ่งที่มีความเกิดไซร้ ก็จะว่ากันไปไม่รู้จบ - เกิดเกิด

จากเกิด แล้วเกิดที่เกิดจากเกิด ก็เกิดจากเกิด ฯลฯ แก่ตายก็เหมือนกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 45

[นามขันธ์ ๔]

ส่วนในขันธ์นอกนี้ เวทนาขันธ์ พึงทราบว่า (เรียกอย่างนั้น)

เพราะรวมธรรมชาตที่มีการเสวย (รสอารมณ์) เป็นลักษณะ สิ้นทุก

อย่างเข้าด้วยกัน สัญญาขันธ์. . .เพราะรวมธรรมชาตที่มีความจำได้

เป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน สังขารขันธ์ . . .เพราะรวมธรรม

ชาตที่มีการประสม (เจตสิต) เป็นลักษณะ๑ สิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน

วิญญาณขันธ์. . .เพราะรวมธรรมชาตที่มีความรู้แจ้ง (รู้สึกทางทวาร ๖)

เป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน

ในขันธ์ทั้ง ๔ นั้น เพราะเหตุที่เมื่อวิญญาณขันธ์อันบุคคลเข้าใจ

แล้ว ขันธ์นอกนี้ก็จะเป็นสิ่งที่พึงเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะเหตุนั้น

ข้าพเจ้าจึงจักทำวรรณนาจับวิญญาณขันธ์เป็นต้นไป

[วิญญาณขันธ์]

ก็คำว่า "วิญญาณขันธ์ พึงทราบว่า (เรียกอย่างนั้น) เพราะ

รวมธรรมชาตที่มีความรู้แจ้งเป็นลักษณะ สิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ดังนี้

ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ถามว่า "ธรรมชาตอันมีความรู้แจ้งเป็น

ลักษณะชื่อว่าวิญญาณเป็นไฉน๒" ตอบว่า ธรรมชาตอันมีความรู้แจ้ง

เป็นลักษณะ ชื่อว่าวิญญาณ ดังพระสารีบุตรเถระกล่าว (แก่พระ-

มหาโกฏฐิกะ) ว่า "ดูกรอาวุโส เพราะเหตุที่ธรรมชาตนั้นย่อมรู้แจ้ง

ย่อมรู้ต่าง ๆ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าวิญญาณ" ดังนี้ คำว่า วิญญาณ

จิต มโน โดยเนื้อความก็อันเดียวกัน วิญญาณนี้นั้น แม้เป็นอย่าง

๑. ในวิสุทธิมรรคนี้ อภิสงฺขรณ ท่านแก้ไปทางรวบรวม ไม่ใช่ปรุงแต่ง จะเห็นได้ตอน

วินิจฉัยสังขารขันธ์ข้างหน้า

๒. ปาฐะในฉบับวิสุทธิมรรคเป็น กิญฺจิ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น กิญฺจ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 46

เดียวตามสภาพ โดยลักษณะคือความรู้แจ้ง (แต่) ว่าโดยชาติเป็น

๓ อย่าง คือ เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต

(ท่านใช้คำว่า วิญญาณบ้าง จิตบ้างปน ๆ กัน)

[กุศลวิญญาณ]

ในวิญญาณ ๓ อย่างนั้น กุศลวิญญาณเป็น ๔ โดยต่างแห่งภูมิถือ

กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตระ ใน ๔ ภูมินั้น กมาวจร

มี ๘ โดยประเภทแห่งโสมนัส อุเบกขา ญาณ และสังขาร กามาวจร-

วิญญาณ ๘ นี้ คืออะไรบ้าง ? คือวิญญาณโสมนัสสหรคต ญาณสัมป-

ยุตเป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑ ที่เป็นญาณวิปยุต ก็อย่างนั้น คือ เป็น

อสังขาร ๑ สสังขาร ๑ (รวมเป็นฝ่ายโสมนัสสหรคต ๔) วิญญาณ

อุเบกขาสหรคต ญาณสัมปยุต เป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑ ที่เป็น

ญาณวิปยุต ก็อย่างนั้น คือเป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑* (รวมเป็น

ฝ่ายอุเบกขาสหรคต ๔ รวมเข้าด้วยกันทั้งสองฝ่ายจึงเป็น ๘)

ก็ในกาลใด บุคคลอาศัยความพร้อมมูลแห่งไทยธรรมและปฏิคา-

หกเป็นต้น หรือเหตุแห่งโสมนัสอย่างอื่น (เช่นเห็นอานิสงส์เกิดศรัทธา

เต็มเปี่ยมเป็นต้น) แล้วเป็นผู้ร่าเริงยินดีทำความเห็นชอบอันเป็นไป

โดยนัยว่า "(ผล) ทานที่ให้แล้วมีอยู่" เป็นต้นให้ออกหน้า ไม่

ขยับขย่อน คนอื่น ๆ ก็มิได้ชักจูง ทำบุญทั้งหลามีทานเป็นต้น (ได้เอง)

ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้น เป็นโสมนัสสหรคต ญาณสัมปยุต

* ในอรรถนี้คัมภีร์ฎีกาอภิธรรม ท่านประกอบศัพท์เป็น อสังขาริก สสังขาริก ให้ต่างจากคำ

สังขารทั่ว ๆ ไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 47

อสังขาร (ร่วมกับโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีใครจูงใจ) แต่

ว่าในกาลใด บุคคลเป็นผู้ร่าเริงยินดี แม้ทำความเห็นชอบให้ออกหน้า

โดยนัยที่กล่าวแล้ว (แต่ว่า) มัวขยักขย่อนด้วยอำนาจแห่งโทษมี

อมุตฺตจาคตา (ความไม่เป็นผู้สละปล่อยเลย คือมีความอาลัยในไทย-

ธรรม) เป็นต้นเสียก็ดี คนอื่น ๆ ชักจูงก็ดีจึงทำ ในกาลนั้น จิต (เช่น)

นั้นแหละของบุคคลนั้นก็เป็นสสังขาร (มีผู้อื่นจูงใจ)

ก็แลบทว่า "สังขาร" ในอรรถนี้นั้น เป็นคำเรียกบุพโยคะ

(ความริเริ่ม ?) อันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งตนหรือแห่งคนอื่นก็ตาม

ส่วนว่า ในกาลใด พวกเด็กอ่อนที่เกิดความคุ้นเคยด้วยได้เห็น

การปฏิบัติแห่งคนที่เป็นญาติ พบภิกษุทั้งหลายเข้าก็เกิดโสมนัส ถวาย

ของที่อยู่ในมือนิดหน่อยก็ดี ไหว้ก็ดี ทันทีนั้น ในกาลนั้นจิตดวงที่ ๓

(คือที่เป็นญาณวิปยุต อสังขาร) ย่อมเกิดขึ้นแก่เด็กเหล่านั้น แต่

ในกาลใด เด็กเหล่านั้น ญาติทั้งหลายชักจูงบอกให้ถวายให้ไหว้ จึง

ปฏิบัติอย่างนั้นได้ ในกาลนั้น จิตดวงที่ ๔ (คือที่เป็นญาณวิปยุต

สสังขาร) ย่อมเกิดขึ้นแก่เด็กเหล่านั้น

ส่วนว่าในกาลใด บุคคลอาศัยความไม่พร้อมมูลแห่งไทยธรรม

และปฏิคาหกเป็นต้น หรือความไม่มีแห่งเหตุของโสมนัสอื่น ๆ (เลย)

เป็นผู้ปราศจากโสมนัสในวิกัปทั้ง ๔ ในกาลนั้น จิตอุเบกขาสหรคต ๔

ที่เหลือ จึงเกิดขึ้นแล

กามาวจรกุศลเป็น ๘ โดยประเภทแห่งโสมนัส อุเบกขา ญาณ

และสังขาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 48

ส่วนรูปาวจรกุศลมี ๕ โดยต่างแห่งการประกอบขององค์ฌาน

รูปาวจร ๕ นี้ เป็นไฉน ? รูปาวจร ๕ คือ (รูปฌาน) ที่ ๑ ประ-

กอบด้วย (องค์คือ) วิตก วิจาร ปีติ สุขและสมาธิ ที่ ๒ วิตก

ก้าวล่วงไป แต่นั้น ที่ ๓ วิจารก้าวล่วงไป ต่อนั้นที่ ๔ ปีติคลายไป

ที่ ๕ สุขตกไป ประกอบด้วยอุเบกขาและสมาธิ*

อรูปาวจรกุศล มี ๔ ด้วยอำนาจการประกอบแห่งอารูป ๔ คือ

ว่า อารูปที่ ๑ ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌาน โดยประการที่

กล่าวแล้ว อารูปที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ประกอบด้วยฌานที่เหลือมี

วิญญาณัญจายตนฌาน เป็นต้น

โลกุตรกุศล มี ๔ โดยประกอบด้วยมรรค ๔ แล

กุศลวิญญาณเท่านั้นเป็น ๒๑ อย่าง ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอัน

ดับแรก

[อกุศลวิญญาณ]

ส่วนอกุศลวิญญาณ โดยภูมิก็อย่าเดียว คือ เป็นกามาวจรเท่านั้น

โดยมูลมี ๓ คือ โลภมูล โทสมูล และโมหมูล

ใน ๓ มูลนั้น โลภมูลมี ๘ โดยประเภทแห่งโสมนัส อุเบกขา

ทิฏฐิคตะ (ความเห็นไป คือเห็นผิด) และสังขาร โลภมูล ๘ นี้ เป็น

อย่างไร ? โลภมูล ๘ คือ (อกุศลจิต) เป็นโสมนัสสหรคต ทิฏฐิ-

คตสัมปยุตเป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑ ที่เป็นทิฏฐิคตวิปยุต ก็อย่างนั้น

คือเป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑ (เป็นฝ่ายโสมนัสสหรคต ๔) เป็น

อุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต เป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑ ที่

* สมาธิ ในที่นี้ก็คือที่เราเรียกกันโดยมากว่า เอกัคตา นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 49

เป็นทิฏฐิคตวิปยุตก็อย่างนั้น คือ เป็นอสังขาร ๑ สสังขาร ๑ (เป็น

ฝ่ายอุเบกขาสหรคต ๔ รวมทั้งสอฝ่ายด้วยกันจึงเป็น ๘)

ก็ในกาลใด บุคคลทำความเห็นผิด (อันเป็นไป) โดยนัยว่า

'โทษในกามทั้งหลายหามีไม่' เป็นอาทิให้ออกหน้า เป็นผู้ร่าเริงยินดี

บริโภคกามทั้งหลายก็ดี เชื่อถือมงคลทั้งหลายมีทิฏฐมงคล (สิ่งที่ได้เห็น

เป็นมงคล) เป็นต้น โดยว่าเป็นสาระก็ดี มีจิตกล้าแข็งเอง มิได้ถูก

(ใคร ๆ) ชักจูงเลยที่เดียว ในกาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ ๑ (คือ

โสมนัสสหรคต ทิฏฐิตตสัมปยุต อสังขาร - ร่วมกับโสมนัส ประกอบ

ด้วยความเห็นผิด ไม่มีใครจูงใจ) ย่อมเกิดขึ้น ในกาลใด บุคคล. . .

มีจิตเฉื่อยชา คนอื่นชักจูง (จึงทำอย่างนั้น) ในกาลนั้น อกุศลจิตดวง

ที่ ๒ (คือที่เป็น. . .สสังขาร - มีคนจูงใจ) ย่อมเกิดขึ้

ในกาลใดบุคคลมิได้ทำความเห็นผิดให้ออกหน้า เป็นแต่ร่าเริง

ยินดี เสพเมถุนก็ดี เพ่งเล็ง (อยากได้) สมบัติของผู้อื่นก็ดี ลักของ ๆ

ผู้อื่นก็ดี มีจิตกล้าแข็งเอง มิได้ถูก (ใคร ๆ) ชักจูงเลยทีเดียว ใน

กาลนั้น อกุศลจิตดวงที่ ๓ (คือที่เป็น . . .ทิฏฐิคตวิปยุต อสังขาร-

ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ไม่มีใครจูงใจ) ย่อมเกิดขึ้น ในกาลใด

บุคคลมีจิตเฉื่อยชา คนอื่นชักจูง (จึงทำอย่างนั้น) ในกาลนั้น

อกุศลจิตดวงที่ ๔ (คือที่เป็น . . .สสังขาร) ย่อมเกิดขึ้น

ส่วนว่า ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ปราศจากโสมนัสในวิกัปทั้ง ๔

เพราะอาศัยความไม่พร้อมมูลแห่งกามทั้งหลายก็ตาม เพราะความไม่มี

แห่งเหตุของโสมนัสอื่น ๆ ก็ตาม ในกาลนั้น จิตอุเบกขาสหรคต ๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 50

ดวงที่เหลือจึงเกิดขึ้นแล

(อกุศลจิต) โลภมูลเป็น ๘ โดยประเภทแห่ง โสมนัส อุเบกขา

ทิฏฐิคตะ และสังขาร พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้

ส่วนโทสมูลมี ๒ เท่านั้น คือเป็นโทมนัสสหรคต ปฏิฆสัมปยุต

อสังขาร ๑ สสังขาร ๑ ความเกิดขึ้นแห่งโทสมูลจิตนั้น พึงทราบ

ในกาลที่เป็นไปกล้าแข็งและเฉื่อยชา (แห่งจิต) ในโทษทั้งหลายมี

ปาณาติบาตเป็นต้น

โมหมูลก็มี ๒ คือ เป็นอุเบกขาสหรคตวิจิกิจฉาสัมปยุต ๑ อุทธัจจ-

สัมปยุต ๑ ความเป็นไปแห่งโมหมูลจิตนั้น พึงทราบในกาลที่ลังเลและ

ฟุ้งซ่าน (แห่งจิต) แล

อกุศลวิญญาณเป็น ๑๒ โดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้

[อัพยากฤตวิญญาณ]

อัพยากฤตวิญญาณ โดยประเภทแห่งชาติ เป็น ๒ คือ วิบาก ๑

กิริยา ๑* ใน ๒ ชนิดนั้น วิบาก โดยภูมิเป็น ๔ คือ กามาวจร รูปา-

วจร อรูปวจร และโลกุตระ ใน ๔ ภูมินั้น กามาวจรเป็น ๒ คือ

กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

(กามาวจรกุศลวิบาก - อเหตุกะ)

กุศลวิบากเล่าก็เป็น ๒ คือเป็นอเหตุกะ ๑ สเหตุกะ ๑ ในกุศล-

วิบาก ๒ นั้น วิญญาณอันเว้นจากวิปากเหตุ (เหตุแห่งวิบาก) มี

* ในที่นี้ท่านใช้ว่า 'กิริยะ' เป็นนํปุสกลิงค์ไปตามตัวประธาน คือ วิญฺญาณํ แต่

หูไทย ชินกับคำ 'กิริยา' เป็นอิตถีลิงค์ จึงใช้อนุโลมหูไทย จะได้ไม่สะดุด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 51

อโลภะเป็นต้น ชื่ออเหตุกะ อเหตุกะนั้นมี ๘ คือ จักขุวิญญาณ

โสต. . . ฆาน. . .ชิวหา. . .กายวิญญาณ มโนธาตุอันทำหน้าที่สัม-

ปฏิจฉนะ๑ (รับอารมณ์) และมโนวิญญาณธาตุ ๒ อันทำหน้าที่

สันตีรณะ (สอบสวนอารมณ์) เป็นต้น

ในอเหตุกกุศลวิบาก ๘ นั้น จักขุวิญญาณ มีอันอาศัยจักษุ

แล้วรู้แจ้งซึ่งรูปเป็นลักษณะ๒ มีอันทำแต่รูปอย่างเดียวให้เป็นอารมณ์

เป็นรส มีความเป็นธรรมชาตมุ่งหน้าต่อรูป (อย่างเดียว) เป็นปัจจุ-

ปัฏฐาน มีอันไปปราศแห่งกิริยามโนธาตุอันมีรูปเป็นอารมณ์ (ที่เรียก

อีกอย่างว่า อาวัชนะจิต ?)๓ เป็นปทัฏฐาน

โสต----ฆาน----ชิวหา----กายวิญญาณ มีอันอาศัยโสตะเป็นต้น

แล้วรู้แจ้งซึ่งเสียงเป็นอาทิเป็นลักษณะ มีอันทำแต่เสียงเป็นต้นอย่างเดียว

ให้เป็นอารมณ์เป็นรส มีความเป็นธรรมชาตมุ่งหน้าต่อเสียงเป็นต้น

เป็นปัจจุปัฏฐาน มีอันปราศไปแห่งกิริยามโนธาตุทั้งหลาย อันมีเสียง

เป็นต้นเป็นอารมณ์๔ เป็นปทัฏฐาน

มโนธาตุ มีอันรู้แจ้งซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น ในลำดับแห่งวิญญาณ

๑. ที่คล่องลิ้นและหูของเรานั้นเป็น 'สัมปฏิจฉันนะ' รูปกิริยากิต แต่ที่จริงควรจะเป็น

นาวกิต คือเป็น 'สัมปฏิจฉนะ' อย่างที่ท่านใช้ในที่นี้ เพราะมีเพื่อนเทียบอยู่เป็นแถว

คือ อาวัชนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ

๒. จกฺขุสนฺนิสฺสิตรูปวิชานน. . .มหาฎีกาแก้ไว้ว่า จกฺขุสนฺนิสฺสิตํ หุตฺวา รูปสฺส

วิชานนํ. . . ซึ่งก็กล่าวตามแนวพระบาลีที่ว่า จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุ-

วิญฺญาณํ นั่นเอง

๓. นี่กล่าวโดยลำดับแห่งวิถีจิต เมื่ออาวัชนจิตกิริยาโนธาตุไปปราศ คือดับไปแล้ว

ปัญจวิญญาณจึงจะเกิด

๔. นัยเดียวกับ เชิงอรรถ ๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 52

มีจักขุวิญญาณเป็นอาทิ๑ ___________เป็นลักษณะ มีการรับเอาอารมณ์มีรูปเป็นต้น

เป็นรส มีความเป็นอย่างนั้น (คือเป็นสัมปฏิจฉนะ) เป็นปัจจุปัฏฐาน

มีความไปปราศแห่งวิญญาณมีจักษุวิญญาณเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน๒

มโนวิญญาณธาตุ อันทำหน้าที่สันตีรณะเป็นต้น ทั้งสอง มีอัน

รู้แจ้งอารมณ์ ๖ ในลำดับแห่งอเหตุวิบากวิญญาณเป็นลักษณะ มีการ

สอบสวนอารมณ์เป็นต้นเป็นรส มีความเป็นอย่างนั้น (คือเป็นสันตี-

รณะเป็นต้น) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีหทัยวัตถุเป็นปทัฏฐาน ส่วยความ

แตกต่างกัน (เป็นสอง) แห่งมโนวิญญาณธาตุนั้น เป็นเพราะประกอบ

ด้วยโสมนัส (๑) และอุเบกขา (๑) และเพราะแยกเป็นทวิฐานและ

ปัญจฐาน จริงอยู่ ในมโนวิญญาณธาตุ ๒ นั้น ดวงหนึ่งชื่อว่าเป็น

โสมนัสสัมปยุต เพราะมีความเป็นไปในเอกันตอิฏฐารมณ์ (อารมณ์

อันน่าปรารถนายิ่งนัก) เป็นสภาพ จัดเป็นทวิฐาน เพราะเป็นไปใน

ปัญจทวารและในวิถีวิญญาณมีชวนะเป็นที่สุด ด้วยอำนาจแห่งสันตีรณะ

และตทารัมมณะ๓ ดวงหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอุเบกขาสัมปยุต เพราะมีความ

เป็นไปในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ (อารมณ์อันน่าปรารถนาแต่พอปานกลาง)

เป็นสภาพ จัดเป็นปัญจฐาน เพราะเป็นไปด้วยอำนาจแห่ง สันตีรณะ

ตทารัมมณะ ปฏิสนธิ ภวังค และจุติ

อนึ่ง อเหตุกวิบากวิญญาณทั้ง ๘ นี้ (ยังแบ่ง) เป็น ๒ เพราะ

เป็นนิยตารมณ์ (มีอารมณ์แน่นอนก็มี) และอนิยตารมณ์ (มีอารมณ์

๑.๒. นี่ก็กล่าวโดยลำดับวิถีจิต ปัญจวิญญาณล่วงเลยไปแล้ว สัมปฏิจฉนะ จึงเกิด

๓. ตทารัมมณะ ในคัมภีร์อื่นใช้ ตทาลัมพนะบ้าง เพราะอารัมมณะ กับ อาลัมพนะ

นั้นความเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 53

ไม่แน่นอนก็มี) (และ) เป็น ๓ เพราะต่างโดย (ประกอบด้วย)

อุเบกขา สุข โสมนัส จริงอยู่ ในวิญญาณเหล่านั้น วิญญาณทั้ง ๕

(ข้างต้น) จัดเป็นนิยตารมณ์ เพราะเป็นไปในอารมณ์ (๕) มีรูป

เป็นต้นนั่นแลตามลำดับ วิญญาณที่เหลือ เป็นอนิยตารมณ์ เพราะ

ในวิญญาณที่เป็นอนิยตารมณ์นั้น มโนธาตุ เป็นไปในอารมณ์มีรูป

เป็นตนทั้ง ๕ มโนวิญญาณธาตุทั้งสอง เป็นไปในอารมณ์ ๖ แล

ส่วนว่า ในวิญญาณที่เป็น ๓ นั่น กายวิญญาณประกอบด้วยสุข มโน

วิญญาณธาตุที่เป็นทวิฐาน ประกอบด้วยโสมนัส วิญญาณที่เหลือ

(อีก ๖) ประกอบด้วยอุเบกขา แล

วิญญาณ ๘ ดวงอันเป็นอเหตุกะ ใน (ฝ่าย) กุศลวิบาก พึง

ทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก (ในอัพยากฤต-

วิญญาณกามาวจรภูมิ)

[กามาวจรกุศลวิบาก- สเหตุกะ]

ส่วนอัพยากฤตวิญญาณที่ประกอบด้วยวิปากเหตุ มีอโลภะเป็นต้น

ชื่อสเหตุกะ สเหตุกะอัพยากฤตนั้นก็มี ๘ โดยต่างแห่งสัมปยุตธรรมมี

โสมนัสเป็นต้น ดังกามาวจรกุศลวิญญาณ แต่สเหตุกะอัพยาฤตนี้ หา

เหมือนกุศลวิญญาณ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ ๖ ด้วยอำนาจแห่งบุญกิริยา

มีทานเป็นต้นไม่ ด้วยสเหตุกะอัพยากฤตวิญญาณนี้ เป็นไปในอารมณื ๖

ที่นับเนื่องอยู่ในปริตธรรม (คือกามาวจร) เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่ง

(กิจคือ) ปฏิสนธิ ภวัค จุติ และตทารัมมณะ ส่วนความเป็นสสังขาร

และอสังขาร ในสเหตุกอัพยากฤตวิญญาณนี้ บัณฑิตพึงทราบ (ว่าเป็น)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 54

ด้วยอำนาจแห่งที่มาเป็นอาทิ๑ อนึ่ง แม้เมื่อความแปลกกันแห่งสัมปยุต-

ธรรมทั้งหลายไม่มี ก็พึงทราบว่า วิปากวิญญาณเป็นธรรมชาตไม่มี

(อุสสาหะ) กำลังชักจูง ดุจเงาหน้าในพื้นแว่นเป็นต้น (ส่วน) กุศล

วิญญาณมี (อุสสาหะ) กำลังชักจูง ดุจหน้า (ของคนที่ส่องดูเงาหน้า)๒

[กามาวจรอกุศลวิบาก]

ส่วนว่าอกุศลวิบากวิญญาณ เป็นอเหตุกะอย่างเดียวเท่านั้น อกุศล

วิบาวิญญาณนั้นมี ๗ คือ จักขุวิญญาณ โสตะ----ฆาน----ชิวหา----

กายวิญญาณ มโนธาตุอันทำหน้าที่สัมปฏิจฉนะ (และ) มโนวิญญาณธาตุ

ชนิดปัญจฐานอันทำหน้าที่สันตีรณะเป็นต้น อกุศลวิบาก ๗ นั้น โดย

ความแปลกกันมีลักษณะเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าแล้วในอเหตุก-

วิบากฝ่ายกุศลนั้นเถิด เป็นแต่กุศลวิบากวิญญาณทั้งหลาย เป็นอิฏฐา-

รมณ์และอิฏฐมัชฌัตตารมณ์สิ้นเชิง อกุศลวิบากวิญญาณทั้งหลายนี้ ก็

เป็นอนิฏฐารมณ์และอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ทั้งสิ้น อนึ่ง กุศลวิบาก

๑.๒. อาคมนาทิ มหาฎีกาว่า ที่ท่านใช้อาทิศัพท์นั้น เพราะมี ๒ คือ อาคมนะและปัจจัย

อาคมนะ (ในที่นี้แปลว่า ที่มา) ท่านให้นิทัศนะว่า โดยมติของอาจารย์ลางเหล่าว่า

วิบากของกุศลที่เป็นอสังขาร มันก็เป็นอสังขาร วิบากของกุศลที่เป็นสสังขาร มันก็เป็น

สสังขาร เหมือนอย่างว่า เมื่อหน้าของคนส่องไหว เงาหน้าในแว่นมันก็ไหวด้วย (ถ้า

หน้าคนส่องไม่ไหว เงาก็ไม่ไหว) ฉะนั้น นี่เป็นอสังขารและสสังขารโดยที่มา (คือว่า

แล้วแต่มันจะมาแต่กุศลชนิดไหน)

โดยปัจจัยนั้นว่า โดยมติของอาจารย์เหล่าหนึ่งว่า วิบากที่เกิดเพราะปัจจัยมี

กรรมเป็นต้นที่มีกำลัง ก็เป็นอสังขาร ที่เกิดเพราะปัจจัยที่กำลังอ่อน ก็เป็นสสังขาร

โดยสัมปยุตธรรมแล้ว วิบากก็ไม่มีอะไรแปลกจากกุศล เป็นแต่วิบากไม่มี

กำลังชักจูง คือไม่มีความสามารถในอันจะทำวิบากอะไรให้เกิด แม้ในสันดานของสัตว์

ที่ยังมีกิเลส แต่กุศลมีกำลังเช่นนั้น เหมือนเงากับหน้าคน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 55

ทั้งหลายนั้น เป็นสามโดยประเภทแห่ง (เวทนาคือ) อุเบกขา สุข โสม-

นัส อกุศลวิบากทั้งหลายนี้มีสอง ด้วยอำนาจแห่งทุกข์และอุเบกขา

ก็ในอกุศลวิบากวิญญาณนี้ กายวิญญาณเท่านั้นเป็นทุกขสหรคต วิญญาณ

ที่เหลือเป็นอุเบกขาสหรคต อุเบกขาในอกุศลวิบากวิญญาณทั้งหลาย

นั้นนั่นเล่า ก็เป็นอุเบกขาอย่างเลย ไม่เฉียบนัก คล้ายทุกข์ อุเบกขา

ในฝ่ายกุศลวิบากทั้งหลายเป็นอุเบกขาประณีต (แต่) ก็ไม่สู้เฉียบ คล้าย

สุข

กามาวจรวิบากวิญญาณเป็น ๒๓ โดย (รวม) อกุศลวิบาก ๗

นี้ และกุศลวิบาก ๑๖ ที่กล่าวมาก่อน ด้วยประการฉะนี้

[รูปาวจร----อรูปาวจร----และโลกุตรวิบาก]

ส่วนรูปาวจรวิบากวิญญาณก็มี ๕ ดัง (รูปาวจร) กุศล แต่ (รูปา-

วจร) กุศลเป็นไปในชวนวิถีโดยทางสมบัติ (คือเข้าฌาน) รูปาวจร-

วิบากนี้เป็นไปในอุปบัติ (คือเข้าถึง)* ทางปฏิสนธิ ภวังค และจุติ

อนึ่ง รูปาวจรวิบากเป็นฉันใด แม้อรูปาวจรวิบากก็มี ๔ ดัง

(รูปาวจร) กุศลฉันนั้น ถึงประเภทแห่งความเป็นไปของอรูปาวจร-

วิบากนั้น ก็มีนัยดังกล่าวแล้วในรูปาวจรวิบากเหมือนกัน

โลกุตรวิบาก จัดเป็น ๔ เพราะเป็นผลของจิตที่ประกอบด้วย

มรรค ๕ โลกุตรวิบากนั้น เป็นไป ๒ ทาง คือทางมรรควิถี ๑ ทาง

ผลสมาบัติ ๑ แล

วิบากวิญญาณทั้งสิ้นมี ๓๖ ในภูมิ ๔ ดังกล่าวมาฉะนี้

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น อุปฺปตฺติยํ เข้าใจว่าพิรุธ ที่ถูกเป็น อุปปตฺติยํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 56

[กิริยาวิญญาณ]

ส่วนกิริยาวิญญาณ โดยประเภทแห่งภูมิ มี ๓ คือ กามาวจร

รูปาวจร อรูปาวจร ใน ๓ ภูมินั้น กามาวจรเป็น ๒ คือ อเหตุกะ

และสเหตุกะ ใน ๒ นั้น กามาวจรกิริยาวิญญาณอันเว้นจากกิริยเหตุ

มีอโลภะเป็นต้น ชื่ออเหตุกะ อเหตุกะนั้นก็เป็น ๒ โดยแยกเป็น

มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ ในอเหตุกะ ๒ นั้น มโนธาตุ มี

ความเป็นปุเรจร (นำหน้า) แห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นอาทิแล้ว

แลรู้แจ้งซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น เป็นลักษณะ มีความรำพึงเป็นรส

มีความเป็นธรรมชาตมุ่งหน้าต่ออารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นปัจจุปัฏฐาน มี

ความขาดแห่งภวังคเป็นปทัฏฐาน มโนธาตุนั้นเป็นธรรมชาตประกอบ

ด้วยอุเบกขาเท่านั้น

ส่วนมโนวิญญาณธาตุ เป็น ๒ คือ สาธารณะ (ทั่วไปแก่พระ-

เสขะ พระอเสขะ และบุถุชน) ๑ อาสาธารณะ (ไม่ทั่วไป คือเฉพาะ

พระอเสขะ) ๑ ใน ๒ นั้น มโนวิญญาณธาตุที่เป็นสาธารณะ ก็คือ

อเหตุกิริยาที่สหรคตกับอุเบกขา มีอันรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ๖ เป็นลักษณะ

มีโวฏฐัพนะและอาวัชนะในปัญจทวารและมโนทวาร ด้วยอำนาจแห่ง

กิจ (คือโวฏฐัพนะทำกิจในปัญจทวาร ส่วนอาวัชนะทำกิจในมโน-

ทวาร) เป็นรส มีความเป็นเช่นนั้น (คือเป็นโวฏฐัพนะและอาวัชนะ)

เป็นปัจจุปัฏฐาน มีความไปปราศแห่งเหตุกวิบากมโนวิญญาณธาตุ

(ในโวฏฐัพนกาล) และภวังค* (ในอาวัชนกาล) อย่างใดอย่างหนึ่ง

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น อเหตุก. . .ธาตุภงฺคานํ ผิด ที่ถูกเป็น. . .ภวงฺคานํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 57

เป็นปทัฏฐาน (ส่วนมโนวิญญาณธาตุที่เป็น) อสาธารณะ ได้แก่

อเหตุกกิริยาที่สหรคตกับโสมนัส มีอันรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ๖ เป็นลักษณะ

มีอันยังความยิ้มแย้มในเพราะวัตถุทั้งหลายอันไม่อุฬาร (คือไม่ดีอะไร

นัก) ให้เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งกิจ (คือจิต

ชนิดนี้ทำกิจหสิตุบาท) เป็นรส มีความเป็นอย่างนั้น (คือเป็นหสิตุ-

บาท) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีหทัยวัตถุเป็นปทัฏฐานโดยส่วนเดียว

(เพราะเกิดแต่ในปัญจโวการภพเท่านั้น) แล

กามาวจรกิริยาวิญญาณที่เป็นอเหตุกะ มี ๓ ดังกล่าวมาฉะนี้*

ส่วนที่เป็นสเหตุกะมี ๘ โดยต่างแห่งสัมปยุตธรรมมีโสมนัสเป็นต้น

ดังกุศลวิญญาณ แต่นี่เป็นความแปลกกัน ในกุศลวิญญาณและกิริยา

วิญญาณนี้ คือ กุศลวิญญาณย่อมเกิดแก่พระเสขะและบุถุชนทั้งหลาย

เท่านั้น กิริยาวิญญาณนี้เกิดแก่พระอรหันต์ทั้งหลายพวกเดียว

กิริยาวิญญาณที่เป็นกามาวจรมี ๑๑ ดังนี้เป็นของแรก

ส่วนที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจรก็มี ๕ และ ๔ เหมือนกุศล-

วิญญาณ และความต่างจากกุศลวิญญาณแห่งกิริยาวิญญาณทั้งสองนั้น

ก็พึงทราบโดยว่าเกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้นแล

กิริยาวิญญาณทั้งหมดใน ๓ ภูมิเป็น ๒๐ ดังนี้

[วิญญาณทั้งปวงเป็นไปโดยอาการ ๑๔]

โดยประการดังกล่าวมานี้ วิญญาณทั้งสิ้น คือกุศลวิญญาณ ๒๑

* ที่ว่ามี ๓ คือ มโนธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๒ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 58

อกุศลวิญญาณ ๑๒ วิบากวิญญาณ ๓๖ กิริยาวิญญาณ ๒๐ จึงเป็น

วิญญาณ ๘๙ ซึ่งเป็นไปโดยอาการ ๑๔ ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ

ภวังค อาวัชนะ ทัสนะ (เห็น) สวนะ (ได้ยิน) ฆายนะ (ได้กลิ่น)

สายนะ (ได้รส) ผุสนะ (ได้ถูกต้อง) สัมปฏิจฉนะ สันตีรณะ

โวฏฐัพนะ ชวนะ ตทารัมมณะ และจุติ

ถามว่า เป็นอย่างไร ?

[๑. ปฏิสนธิ]

แก้ว่า ก็ในกาลใด สัตว์ทั้งหลายเกิดใน (กำเนิด) เทวาดา และ

มนุษย์ ด้วยอานุภาพแห่งกามาวจรกุศล ๘ ในกาลนั้น วิบากจิต ๙

ดวง คือ สเหตุกกามาวจรวิบาก ๘ และอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็น

อุเบกขาสหรคต อันเป็นวิบากแห่งทวิเหตุกกุศลอย่างอ่อน* ของพวกสัตว์

ที่ถึงความเป็นคนวิกล มีเป็นกระเทยเป็นต้นในหมู่มนุษย์ ย่อมทำกรรม

กรรมนิมิตและคตินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เข้าไปปรากฏในกาล (ใกล้)

จะตายแห่งสัตว์เหล่านั้นเป็นอารมณ์ เป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิ ใน

กาลใด สัตว์ทั้งหลายเกิดในรูปภพและอรูปภพ ด้วยอานุภาพแห่งรูปา-

วจรกุศลและอรูปาวจรกุศล ในกาลนั้น รูปาวจรวิบากจิตและอรูปา-

วจรวิบากจิต ๙ ดวง ย่อมทำกรรมนิมิตอย่างเดียว ที่เข้าไปปรากฏใน

กาล (ใกล้) จะตายแห่งสัตว์เหล่านั้นเป็นอารมณ์ เป็นไปด้วยอำนาจ

ปฏิสนธิ อนึ่ง ในกาลใด สัตว์ทั้งหลายเกิดในอบายด้วยอานุภาพแห่ง

* ปาฐะ ทุพฺพล. . .วิปากมโนวิญฺญาณธาตุ ในมหาฎีกา ศัพท์ วิปาก หน้ามโนวิญฺญาณ-

ธาตุไม่มี เห็นว่าเข้าทีกว่า ในที่นี้จึงแปลตามมหาฎีกา.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 59

อกุศล ในกาลนั้น อเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นวิบากแห่งอกุศล

ดวง ๑ ย่อมทำกรรม กรรมนิมิต และคตินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่เข้าไปปรากฏในกาล (ใกล้) จะตายแห่งสัตว์เหล่านั้น เป็นอารมณ์

เป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิ แล

ความเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ ๑๙ ดวง ด้วยอำนาจปฏิสนธิ

บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาในวิญญาณขันธนิเทศนี้ เป็นอันดับแรก

(ในอาการ ๑๔)

[๒. ภวังค]

ก็แล เมื่อปฏิสนธิวิญญาณดับ (คือทำกิจเสร็จ) แล้ว วิญญาณ

ชื่อภวังค อันคอยติดตามปฏิสนธิวิญญาณนั้น ๆ อยู่ อันเป็นวิบากแห่ง

กรรมนั้น ๆ (อย่างเดียวกับปฏิสนธิวิญญาณ) นั่นเอง อันเป็นเช่นนั้น

(คือเป็นเช่นเดียวกันกับปฏิสนธิวิญญาณ) ในอารมณ์ (มีกรรมเป็นต้น)

นั้นแหละย่อมเป็นไป เมื่อจิตตุบาทอื่น (คืออาวัชนะ ?) ที่เป็นเหตุ

ยังความสืบต่อ (แห่งภวังค) ให้หมุนกลับ (คือให้ภวังคขาดไป) ไม่มี

ภวังควิญญาณนั้นย่อมเป็นไปในกาลทั้งหลายมีกาลลงสู่ความหลับเป็นต้น

แห่งคนผู้ไม่ฝัน โดยอาการ (สืบต่อ) คือเป็นเช่นนั้นอีกแล้วก็เป็นเช่น

นั้นอีกเล่า ดังนี้ จะนับประมาณ (จำนวนจิต) มิได้โดยแท้ ดังกระแส

น้ำ ฉะนั้นแล

ความเป็นไปแห่งวิญญาณเหล่านั้นแหละ แม้ด้วยอำนาจแห่งภวังค

พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 60

[๓. อาวัชนะ]

ก็แล เมื่อความสืบต่อแห่งภวังคเป็นไปอย่างนั้น ในกาลใด อิน-

ทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายควรแก่การรับอารมณ์ได้ ในกาลนั้น เมื่อรูปถึง

คลองจักษุเข้า ความประสานเข้าแห่งจักษุประสา เกี่ยวกับรูปก็มีขึ้น แต่

นั้น ด้วยอานุภาพแห่งความประสานกัน ภวังคจลนะ (ความไหวแห่ง

ภวังค) ก็มีขึ้น ต่อนั้น ครั้นภวังคดับไป กิริยามโนธาตุทำรูปนั้น

แหละเป็นอารมณ์ เป็นดังตัดภวังค ยังอาวัชนกิจ (กิจคือความคำนึงถึง

อารมณ์) ให้สำเร็จเกิดขึ้น นัยแม้ในโสตทวารเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้ แต่

ในมโนทวาร เมื่ออารมณ์ทั้ง ๖ ถึงคลอง (แห่งมโน) เข้า อเหตุก-

กิริยามโนวิญญาณธาตุที่สหรคตกับอุเบกขา เป็นราวกะตัดภวังค ยัง

อาวัชนกิจให้สำเร็จ เกิดขึ้นในลำดับแห่งภวังคจลนะ แล

ความเป็นไปแห่งกิริยาวิญญาณ ๒ ดวง ด้วยอำนาจอาวัชนะ พึง

ทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[๔-๘ ทัสสนะ สวนะ ฆายนะ สายนะ ผุสนะ]

ก็และ ในลำดับแห่งอาวัชนะ ข้อแรก จักขุวิญญาณอันมีจักษุ

ประสาทเป็นที่ตั้ง ยังทัสสนกิจ (กิจคือการเห็น) ให้สำเร็จเป็นไปในจักษุ-

ทวาร โสต. . .ฆาน. . .ชิวหา. . .กาย วิญญาณ (อันมีโสตประสาท. . .

ฆานประสาท. . .ชิวหาประสาท. . . กายประสาทเป็นที่ตั้ง) ยังกิจมีสวน-

กิจ (กิจคือการได้ยิน) เป็นต้นให้สำเร็จเป็นไปในทวารมีโสตทวารเป็น

อาทิ วิญญาณเหล่านั้น (ที่เป็นไป) ในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นอิฏฐะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 61

(น่าปรารถนาแท้) และอิฏฐมัชฌัตตะ (น่าปรารถนาแต่ปานกลาง) ก็

เป็นกุศลวิบาก (ที่เป็นไป) ในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นอนิฏฐะ (ไม่น่า

ปรารถนาทีเดียว) และอนิฏฐมัชฌัตตะ (ไม่น่าปรารถนาแต่ปานกลาง)

ก็เป็นอกุศลวิบาก แล

ความเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ ๑๐ (คือเป็นกุศลวิบาก ๕ อกุศล

วิบาก ๕) ด้วยอำนาจแห่งทัสสนะ (เห็น) สวนะ (ได้ยิน) ฆายนะ

(ได้กลิ่น) สายนะ (ได้รส) ผุสนะ (ได้ถูกต้อง) พึงทราบดังกล่าว

มาฉะนี้

[๙ สัมปฏิจฉนะ]

ก็แลโดยบาลีว่า "จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนธาตุอันเกิดแต่จิต

นั้น ที่เป็น (ไปใน) ลำดับแห่งจักขุวิญญาณธาตุ อันเกิดขึ้นดับไป

แล้ว ย่อมเกิดขึ้น*" ดังนี้เป็นต้น มโนธาตุที่เป็น (ไปใน) ลำดับแห่ง

วิญญาณ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น (หากเป็นไป) ในลำดับแห่งกุศลวิบาก-

วิญญาณ ก็เป็นกุศลวิบาก (หากเป็นไป) ในลำดับแห่งอกุศลวิบาก-

วิญญาณ ก็เป็นอกุศลวิบาก (ทำกิจ) รับเอาอารมณ์แห่งวิญญาณเหล่า-

นั้นแหละเกิดขึ้น

ความเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ ๒ ด้วยอำนาจแห่งสัมปฏิจฉนะ

(รับเอา) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[๑๐ สันตีรณะ]

อนึ่งเล่า โดยบาลีว่า "จิต มโน มนัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุ

* อภิ. วิ. ๓๕/๑๑๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 62

เกิดแต่จิตนั้น ย่อมเกิดขึ้นในลำดับแห่งมโนธาตุอันเกิดขึ้นดับไปแล้ว"

ดังนี้เป็นต้น* วิปากาเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นลำดับแห่งอกุศล

วิบากมโนธาตุ ก็เป็นอกุศลวิบาก ที่เป็นลำดับแห่งกุศลวิบากมโนธาตุ

ก็เป็นกุศลวิบาก (ที่เป็นไป) ในอิฏฐารมณ์ ก็เป็นโสมนัสสหรคต

(ที่เป็นไป) ในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ก็เป็นอุเบกขาสหรคต (ทำกิจ)

สอบสวนอารมณ์ที่มโนธาตุรับเอาไว้นั่นแหละ เกิดขึ้น แล

ความเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ ๓ ด้วยอำนาจแห่งสันตีรณะ

(สอบสวน) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[๑๑ โวฏฐัพนะ]

ส่วนกิริยาเหตุกมโนวิญญาณธาตุ เป็นอุเบกขาสหรคต วิเคราะห์ดู

อารมณ์นั้นนั่นแหละ เกิดขึ้นในลำดับแห่งสันตีรณะ แล

ความเป็นไปแห่งกิริยามโนวิญญาณดวงเดียว ด้วยอำนาจแห่ง

โวฏฐัพนะ (วิเคราะห์ดู) พึงทราบดังกล่าวมาฉะนั้น

[๑๒ ชวนะ]

ส่วนว่า ในลำดับแห่งโวฏฐัพนะ ถ้าอารมณ์มีรูปเป็นต้น เป็น

มหันตารมณ์ (อารมณ์ใหญ่) ไซร้ ทีนั้นชวนะ ๖ หรือ ๗ ดวง ย่อม

แล่นไปในอารมณ์ตามที่โวฏฐัพนะวิเคราะห์ไว้แล้ว ด้วยอำนาจแห่ง

กามาวจรกุศล ๘ บ้าง อกุศล ๑๒ บ้าง กามาวจรกิริยาที่เหลือ ๙ บ้า

อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่เป็นนยะในปัญจทวารเท่านั้น ส่วนในมโนทวาร

* อภิ. วิ. ๓๕/๑๑๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 63

กามาวจรชวนะ (๒๙) เหล่านั้นนั่นแล ย่อมแล่นไปในลำดับมโนทวารา-

วัชนะ ต่อแต่โคตรภูไป บรรดาชวนะเหล่านี้ คือ ทางรูปาวจร กุศล

ชวนะ ๕ กิริยาชวนะ ๕ ทางอรูปาวจร กุศลชวนะ ๔ กิริยาชวนะ ๔

ทางโลกุตระมรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ ชวนะใด ๆ ได้ปัจจัยแล้ว ชวนะ

นั้น ๆ ย่อมแล่นไป๑ แล

ความเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ เป็นกุศล อกุศล และกิริยา (รวม)

๕๕ ดวง ด้วยอำนาจชวนะ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[๑๓ ตทารัมมณะ]

ส่วนว่า ในที่สุดแห่งชวนะ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอติมหันตารมณ์

(อารมณ์ใหญ่ยิ่ง๒) ในปัญจทวาร และเป็นวิภูตารมณ์ (อารมณ์ที่ปรากฏ

ชัด) ในมโนทวารไซร้ ทีนั้นวิบากวิญญาณ ในบรรดาสเหตุกกามา-

วจรวิบาก ๘ และวิปากาเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง

อันติดตามชวนะที่แล่นไปในอารมณ์อื่นแต่อารมณ์ของภวังค๓ ดังน้ำ

อันไหลทวนกระแสไปในระหว่างขณะนิดหน่อย ติดตามเรือที่แล่นไป

ทวนกระแส ย่อมเกิดขึ้น ๒ ขณะ หรือขณะเดียว ด้วยสามารถของ

ปัจจัยนั้น ๆ ตามที่ตนได้ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์มีอิฏฐารมณ์เป็นอาทิ

และแห่งปุริมกรรม และแห่งจิตมีชวนะจิตเป็นต้น ในที่สุดแห่งกามา-

๑. ในบรรดาวิญญาณหรือจิตทั้งหลาย ชวนะนี่เข้าใจยากกว่าเพื่อน เพราะคำแปลว่า

"แล่นไป" นั้นไม่เข้าแถวกับพวกเลย แต่อาจารย์ทั้งหลายท่านว่า "ชวนะนั้นได้แก่

อาการที่ดื่มรสอารมณ์ไ

๒. ท่านว่า มหันตารมณ์ มีอายุ ๑๔ ขณะจิต อติมหันตารมณ์ มีอายุ ๑๖ ขณะจิต และ

ว่าตทารัมมณะ ย่อมเกิดแต่ในอติมหันตารมณ์ ไม่เกิดในอารมณ์อื่น

๓. หมายความว่าไม่ตกภวังค (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 64

วจรชวนะของกามาวจรสัตว์ทั้งหลาย๑ วิบากวิญญาณนี้นั้น เป็นจิตควร

แก่ความเป็นไปในอารมณ์ของภวังค ในที่สุดแห่งชวนะ (แต่) เพราะ

มันทำอารมณ์ของชวนะนั้นให้เป็นอารมณ์เป็นไป (อีก) จึงเรียกว่า

ตทารัมมณะ (มีอารมณ์ของชวนะนั้นเป็นอารมณ์)

ความเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ ๑๑ ดวง ด้วยอำนาจแห่งตทารัม-

มณะ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[๑๔ จุติ]

ก็แล ในที่สุดแห่งตทารัมมณะ ก็ภวังคนั่นเองเป็นไปอีก ครั้น

ภวังคขาด วิถีวิญญาณทั้งหลายมีอาวัชนะเป็นต้น ก็เป็นไปอีกแล

จิตสันดานที่มีปัจจัยอันได้แล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปแล้ว ๆ เล่า ๆ

ด้วยอำนาจแห่งจิตนิยม คือ อาวัชนะย่อมมีในลำดับแห่งภวังค วิญญาณ

กิจมีการเห็น (รูป) เป็นต้น ย่อมมีในลำดับแห่งอาวัชนะ ดังนี้เป็น

อาทิอยู่นั่นเอง จนกว่าภวังคในภพหนึ่งจะสิ้นไป จริงอยู่ ในภพหนึ่ง

ภวังคจิตดวงใดเป็นดวงสุดท้ายเพื่อน ภวังคจิตดวงนั้นท่านเรียกว่า จุติ

เพราะเคลื่อนไปจากภพนั้น เพราะฉะนั้น แม้จุติจิตนั้นก็มี ๑๙ ดวง

เหมือนกัน (กับปฏิสนธิและภวังคจิต)

คามเป็นไปแห่งวิบากวิญญาณ ๑๙ ดวง ด้วยอำนาจแห่งจุติ พึง

ทราบดังกล่ามาฉะนี้

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า ชวนะที่ว่านี้ หมายเอากามาวจรชวนะเท่านั้น เพราะว่าวิบาก

วิญญาณที่ติดตามชวนะไป (อันจะเป็นตทารัมมณะ) นั้นเกิดแต่กรรมซึ่งมีตัณหาเป็นเหตุ

จึงไม่ติดตามมหัคคตชวนะ และอนุตตรชวนะ เพราะชวนะทั้งสองนั้นมิใช่ชนกปัจจัยของ

ตน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 65

ก็จิตสันดานอันไม่ขาดสายสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวอยู่ใน

ภพ คติ ฐิติ และนิวาสทั้งหลาย๑ ย่อมเป็นไปดังนี้ คือ แต่จุติก็ปฏิสนธิ

อีก ต่อปฏิสนธิก็ภวังคอีก . . . อยู่นั่นเอง แต่ในสัตว์ทั้งหลายนั้น ท่าน

ผู้ใดได้บรรลุพระอรหัต เมื่อจุติจิตของท่านผู้นั้นดับแล้ว จิต (ของ

ท่าน) ก็เป็นอันดับทีเดียวแล

นี้เป็นกถามุข (คำแก้ข้อที่สำคัญ) อย่างพิสดาร ในวิญญาณขันธ์

[เวทนาขันธ์]

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้ในข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "เวทนาขันธ์

พึงทราบว่า (เรียกอย่างนั้น) เพราะรวมธรรมชาติที่มีการเสวย (รส

อารมณ์) เป็นลักษณะสิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ดังนี้ต่อไป

อันธรรมชาตที่มีการเสวย (รสอารมณ์) เป็นลักษณะ ก็คือ

เวทนานั่นเอง ดังพระสารีบุตรเถระกล่าว (แก่พระมหาโกฏฐิกะ) ว่า

"ดูกรอาวุโส เพราะเหตุที่ธรรมชาตนั้นย่อมเสวย (รสอารมณ์) ย่อม

รู้สึก (สุข ทุกข์) เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า เวทนา"๒ ดังนี้

[เวทนา ๑ เวทนา ๓]

ก็เวทนานั้น แม้นว่าตามสภาพก็มีอย่างเดียว โดยลักษณะ คือ

เสวย (รสอารมณ์) (แต่) ว่าโดยชาติเป็น ๓ คือ กุศล อกุศล และ

อัพยากฤต ในเวทนา ๓ นั้น พึงทราบว่า เวทนาที่สัมปยุตด้วยกุศล-

วิญญาณอันกล่าวไว้โดยนัยว่า "กามาวจรวิญญาณมี ๘ โดยต่างแห่ง

๑. ก็คือ ภพ ๓ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ นั่นเอง

๒. ม. มู. ๑๒/๕๓๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 66

โสมนัส อุเบกขา ญาณและสังขาร" ดังนี้เป็นต้น จัดเป็นกุศลเวทนา

ที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณ จัดเป็นอกุศลเวทนา ที่สัมปยุตด้วยอัพยา-

กฤตวิญญาณ จัดเป็นอัพยากฤตเวทนา

[เวทนา ๕]

เวทนานั้น (ว่า) โดยแยกตามสภาวะ ก็เป็น ๕ คือ สุข ทุกข์

โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ในเวทนา ๕ นั้น สุข สัมปยุตด้วยการวิญญาณ

อันเป็นกุศลวิบาก ทุกข์ สัมปยุตด้วยกายวิญญาณอันเป็นอกุศลวิบาก

โสมนัส สัมปยุตด้วยวิญญาณ ๖๒ ดังนี้ คือ ฝ่ายกามาวจรวิญญาณ

กุศล ๔ สเหตุกวิบาก ๔ อเหตุกวิบาก ๑ สเหตุกกิริยา ๔ อเหตุกกิริยา ๑

อกุศล ๔ (เป็น ๑๘) ฝ่ายรูปาวจรวิญญาณ เว้นปัญจฌานวิญญาณ

กุศล ๔ วิบาก ๔ กิริยา ๔ (เป็น ๑๒) ฝ่ายโลกุตรวิญญาณ เพราะ

อันโลกุตรวิญญาณที่ไม่ประกอบด้วยฌานหามีไม่ เหตุนั้น โลกุตร-

วิญญาณ ๘ จึงเป็น ๔๐ ด้วยอำนาจแห่งฌาน ๕ ในโลกุตรวิญญาณ

๔๐ นั้น เว้นวิญญาณที่เป็นไปในปัญจมฌาน ๘ เสีย เหลือกุศลวิบาก

๓๒ (รวมเป็น ๖๒) โทมนัส สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณ ๒ อุเบกขา

สัมปยุตด้วยวิญญาณ ๕๕ ที่เหลือ

[ลักษณะ. . .ของเวทนา ๕]

ในเวทนา ๕ นั้น สุข มีการเสวยโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนาเป็น

ลักษณะ มีอันเพิ่มสัมปยุตธรรมทั้งหลายขึ้นเป็นรส มี (อัสสาทะ)

ความสบายทางกาย เป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายินทรีย์เป็นปทัฏฐาน ทุกข์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 67

มีการเสวยโผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ มีอันลดสัมปยุต

ธรรมทั้งหลายลงเป็นรส มีความไม่สบายทางกายเป็นปัจจุปัฏฐาน มี

กายินทรีย์เป็นปทัฏฐาน โสมนัส มีการเสวยอิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ

มีอันเสวย (สุข) ด้วยอาการพอใจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง๑ เป็นรส มีความ

สบายทางใจเป็นปัจจุปัฏฐาน มีปัสสัทธิ (ความระงับแห่งนามกาย) เป็น

ปทัฏฐาน โทมนัส มีการเสวยอนิฏฐารมณ์เป็นลักษณะ มีอันเสวย

(ทุกข์) ด้วยอาการไม่พอใจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเป็นรส มีความไม่

สบายทางใจเป็นปัจจุปัฏฐาน มีหทัยวัตถุเป็นปทัฏฐานโดยส่วนเดียวเท่า

นั้น๒ อุเบกขา มีการเสวยมัชณัตตารมณ์เป็นลักษณะ มีอันไม่เพิ่มและ

ไม่ลดสัมปยุตธรรมนักเป็นรส มีความละเมียดเป็นปัจจุปัฏฐาน มีจิตอัน

ปราศจากปีติเป็นปทัฏฐาน แล

นี้เป็นกถามุขอย่างพิสดารในเวทนาขันธ์

[สัญญาขันธ์]

บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้ในข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "สัญญาขันธ์

พึงทราบว่า (เรียกอย่างนั้น) เพราะรวมธรรมชาตที่มีความจำได้เป็น

ลักษณะสิ้นทุกอย่าเข้าด้วยกัน" ดังนี้ต่อไป

๑. ยถา ตถา วา มหาฎีกาแก้ว่า ภาวโต ปริกปฺปนโต วา โดยภาวะ (คือแสดงความ

พอใจออกมาให้ปรากฏ อย่างไทยเราพูดว่า ออกนอกหน้า ?) หรือโดยปริกัป (คือคิด

พอใจอยู่ในใจ อย่างไทยเราว่า อยู่ในหน้า ?) และไขความออกไปอีกว่า ยถาภูเตน วา

อยถาภูเตน วา อิฏฺฐากาเรน ด้วยอาการพอใจตามที่เป็น (คือแสดงออกมาตรง ๆ ) หรือ

มิใช่ตามที่เป็น (คือคิดอยู่แต่ในใจ หรือแสร้งแสดงเป็นอย่างอื่น ที่เรียกว่ามารยา ?)

๒. มหาฎีกาว่า โทมนัสมีหทัยวัตถุเป็นปทัฏฐานโดยส่วนเดียว เพราะโทมนัสเกิดแต่ใน

กามธาตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 68

อันธรรมชาตที่มีความจำได้เป็นลักษณะ ก็คือ สัญญานั่นเอง ดัง

พระสารีบุตรเถระกล่าว (แก่พระมหาโกฏฐิกะ) ว่า "ดูกรอาวุโส

เพราะเหตุที่ธรรมชาตนั้นย่อมรู้จักย่อมจำได้ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า

สัญญา" ดังนี้

[สัญญา ๑ สัญญา ๓]

ก็สัญญานี้นั้น แม้ว่าตามสภาพก็มีอย่างเดียว โดยลักษณะ คือ

ความจำได้ (แต่) ว่าโดยชาติเป็น ๓ คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต

ในสัญญา ๓ นั้น (พึงทราบว่า) สัญญาที่สัมปยุตด้วยกุศลวิญญาณ จัด

เป็นกุศลสัญญา ที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญญาณ จัดเป็นอกุศลสัญญา ที่

สัมปยุตด้วยอัพยากฤตวิญญาณ จัดเป็นอัพยากฤตสัญญา เพราะว่าวิญญาณ

ที่ไม่ประกอบด้วยสัญญาหามีไม่ เพราะฉะนั้น ประเภทแห่งวิญญาณมี

เท่าใด ประเภทแห่งสัญญาก็มีเท่านั้น แล

[ลักษณะ. . .แห่งสัญญา]

ก็แลสัญญานี้นั้น แม้มีประเภทเสมอกันกับวิญญาณอย่างนี้ (เมื่อ

ว่า) โดยอาการมีลักษณะเป็นต้น สัญญาทั้งปวงนั้นแหละ มีความจำ

ได้เป็นลักษณะ มีการทำเครื่องหมายไว้เป็นปัจจัยแห่งความจำต่อไปว่า

'นั่นคือสิ่งนั้น' เป็นรส ดังช่างมีช่างไม่เป็นต้น ทำเครื่องหมายไว้ใน

วัตถุ มีตัวไม้เป็นอาทิฉะนั้น มีการทำความมั่นใจตามเครื่องหมายที่ยึดไว้

เป็นปัจจุปัฏฐาน ดังคนตาบอดคลำช้างทั้งหลาย มั่นใจตามเครื่องหมาย

ที่ตนจับได้ (ว่าช้างเป็นอย่างไร) ฉะนั้น มีอารมณ์ที่ปรากฏอย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 69

เป็นปทัฏฐาน ดังความจำที่เกิดขึ้นแก่ลูกเนื้อทั้งหลาย ในหุ่นคนที่ผูก

ด้วยหญ้า ว่าเป็นคน (จริง ๆ) ฉะนั้นแล

นี้เป็นกถามุขอย่างพิสดารในสัญญาขันธ์

[สังขารขันธ์]

ส่วนข้อใดข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "สังขารขันธ์ พึงทราบว่า (เรียก

อย่างนั้น) เพราะรวมธรรมชาติที่มีการประสม (เจตสิก) เป็นลักษณะ

สิ้นทุกอย่างเข้าด้วยกัน" ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในข้อนั้น (ต่อ

ไป)

ธรรมชาติที่มีการทำให้เป็นกลุ่มเป็นลักษณะ ชื่อว่าธรรมชาติที่มี

การประสมเป็นลักษณะ ก็ธรรมชาติดันนั้นคืออะไร ? คือสังขารนั่นเอง

ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมเหล่า-

นั้นย่อมประสมสิ่งที่เป็นสังขตะแล เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงได

ชื่อว่า สังขาร* (แปลว่าธรรมผู้ประสม ?") ดังนี้

[ลักษณะ. . .แห่งสังขาร]

สังขารเหล่านั้น มีการประสมเป็นลักษณะ มีการประมวลเข้าเป็น

รส มีความเผยออกไปเป็นปัจจุปัฏฐาน มีขันธ์ ๓ ที่เหลือเป็นปทัฏฐาน

สังขาร ๑ สังขาร ๓

สังขารทั้งหลาย แม้เป็นอย่างเดียวโดยลักษณะเป็นต้นดังกล่าวมา

นี้ (แต่) ว่าโดยชาติก็เป็น ๓ คือ กุศล อกุศล อัพยากฤต ในสังขาร

๓ นั้น สังขารที่สัมปยุตด้วยกุศลวิญญาณจัดเป็นกุศลสังขาร ที่สัมปยุต

* สํ. ขนฺธวาร. ๑๗/๑๐๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 70

ด้วยอกุศลวิญญาณ จัดเป็นอกุศลสังขาร ที่สัมปยุตด้วยอัพยากฤต-

วิญญาณ จัดเป็นอัพยากฤตสังขาร

[กุศลสังขาร ๓๖]

ในสังขารเหล่านั้น ก่อนอื่น สังขารที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกุศล-

วิญญาณดวงที่ ๑ (คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต ญาณสัมปยุต

อสังขาร) มี ๓๖ คือ เป็นนิยตะ มา (ในบาลี) โดยรูปของตน (คือ

ไม่ปะปน ?) ๒๗ เป็นเยวาปนกะ ๔ เป็นอนิยตะ ๕ ในสังขาร ๓๖

นั้น สังขาร ๒๗ คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร ปีติ วิริยะ ชีวิต

สมาธิ สัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ กาย-

ปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา

กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายฺ-

ชุกตา จิตตุชุกตา เหล่านี้เป็นนิยตะ มา (ในบาลี) โดยรูปของตน

สังขาร ๔ คือฉันทะ อธิโมกข มนสิการ ตัตรมัชฌัตตตา นี้เป็น

เยวาปนกะ (เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ?) สังขาร ๕ คือ กรุณา

มุทิตา กายทุจริตวิรัติ วจีทุจริตวิรัติ มิจฉาชีววิรัติ นี้เป็นอนิยตะ

เพราะสังขาร ๕ นั้น ย่อมเกิดในลางครั้ง แม้เมื่อเกิดเล่าก็หาเกิดร่วม

กันไม่ (จึงชื่ออนิยตะ)

[อรรถาธิบายสังขาร ๓๖]

[นิยตสังขาร ๒๗]

[๑ ผัสสะ]

วินิจฉัยในบทเหล่านั้น สภาวธรรมใดย่อมถูกต้อง เหตุนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 71

สภาวธรรมนั้นจึงชื่อว่า ผัสสะ (ผู้ถูกต้อง)* ผัสสะนี้นั้น มีการถูกต้อง

เอาเป็นลักษณะ มีการทำให้กระทบเป็นรส มีความร่วมกันเข้า (แห่ง

จิตกับอารมณ์) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีอารมณ์ที่มาถึงคลอง (แห่งจิต ?)

เป็นปทัฏฐาน จริงอยู่ ผัสสะนี้แม้เป็นอรูปธรรม ก็ย่อมเป็นไปใน

อารมณ์ ด้วยอาการ (ดุจ) ถูกต้องเอา (จึงว่ามีการถูกต้องเอาเป็น

ลักษณะ) หนึ่ง ผัสสะนั้น แม้ไม่ติดอยู่ (ที่ไหน) สักแห่ง ก็ยังจิต

และอารมณ์ให้กระทบกันได้ ดังรูปกระทบจักษุและเสียงกระทบหูฉะนั้น

(จึงว่า มีการทำให้กระทบกันเป็นรส) ชื่อว่ามีความร่วมกันเข้าเป็น

ปัจจุปัฏฐาน เพราะปรากฏด้วยอำนาจเหตุของตน กล่าวคือติกสันนิบาต

(ความร่วมกันเข้าแห่งธรรม ๓ คืออายตนะภายใน - อายตนะภายนอก

และวิญญาณ) ชื่อว่ามีอารมณ์ที่มาถึงคลองเป็นปทัฏฐาน เพราะเกิด

ขึ้นในอารมณ์ที่สมันนาหาร (การประมวลความคิด) อันควรแก่ผัสสะ

นั้น และอินทรีย์ด้วย (ช่วยกัน) แต่งให้ โดยไม่มีอันตรายทีเดียว

แต่ว่าโดยความเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ผัสสะนี้ บัณฑิตพึงเห็นเป็น

ดังแม่โคหลังเปิกเถิด

[๒ เจตนา]

ธรรมชาติใดย่อมคิด อธิบายว่าย่อมพัวพัน (อารมณ์) เหตุนี้

* วิเคราะห์นี้เป็นกัตตุสาธนะ มหาฎีกาว่าเป็นกรณสาธนะก็ได้ แปลว่าเครื่องถูก

ต้อง อธิบายว่า สัมปยุตธรรมทั้งหลายเมื่อเป็นไปในอารมณ์ ย่อมเป็นดังว่า ถูกต้องเอา

อารมณ์นั้นด้วยผัสสะซึ่งมีการถูกต้องเป็นลักษณะ หรือมิฉะนั้น เป็นภาวสาธนะก็ได้ แปลว่าความ

ถูกต้อง ท่านว่า การกล่าวความเป็นกัตตถสาธนะและกรณสาธนะในสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นการ

กล่าวโดยอ้อม กล่าวเป็นภาวสาธนะนั่นแหละ เป็นการกล่าวโดยตรง เพราะฉะนั้น จึงว่า ผุสน-

ลกฺขโณ ผัสสะมีการถูกต้องเป็นลักษณะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 72

ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่าเจตนา (ธรรมชาติผู้คิด) เจตนานั้น มีภาวะ

คือความจงใจเป็นลักษณะ มีความเคลื่อนไหวเป็นรส มีความจัดแจง

เป็นปัจจุปัฏฐาน คือยังกิจของตนและกิจของผู้อื่นให้สำเร็จ ดุจคนผู้ใหญ่

มีศิษย์ผู้ใหญ่ (ของทิศาปาโมกข์) และนายช่างไม้ใหญ่เป็นต้น๑ ก็แล

เจตนานี้เมื่อเป็นโดยภาวะที่ยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้แข็งขันขึ้น ย่อม

ปรากฏในเมื่อนึกถึงงานรีบด่วนเป็นต้น

[๓-๔-๕ วิตก จาร ปีติ]

คำใดพึงเป็นข้อที่ควรกล่าวในวิตก วิจาร และปีติ คำนั้นทั้งหมด

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วละ ในตอนพรรณนาปฐมฌานในปฐวีกสิณนิเทศ

[๖ วิริยะ]

ความกล้า ชื่อว่าวิริยะ วิริยะนั้นมีความแข็งขันเป็นลักษณะ

มีการค้ำจุนสหชาตธรรมทั้งหลายเป็นรส มีภาวะที่ไม่จมลงเป็นปัจจุปัฏ-

ฐาน มีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน ตามบาลีว่า "ผู้สังเวชแล้วย่อมทำ

ความเพียรโดยแยบคาย"๒ หรือว่ามีวัตถุแห่งวิริยารัมภะ (เรื่อง

ที่จะต้องใช้ความเพียร) เป็นปทัฏฐานก็ได้

วิริยะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า บุคคลทำโดยถูกทางแล้ว ย่อมเป็น

มูลแห่งสมบัติทั้งปวง

๑. มหาฎีกาขยายความว่า ศิษย์ผู้ใหญ่เมื่อจัดให้ศิษย์อื่น ๆ สาธยายมนต์ ตนเองก็ย่อม

สาธยายด้วย เมื่อนายช่างใหญ่ลงมือทำงานแล้ว ช่างลูกมือทั้งหลายก็ทำด้วย

๒. องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๕๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 73

[๗ ชีวิต]

สหชาตธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ด้วยธรรมชาตนั้น เหตุนี้

ธรรมชาตนั้น จึงชื่อชีวิต (แปลว่าธรรมชาตเครื่องเป็นอยู่แห่งสหชาต-

ธรรม) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นเป็นอยู่เอง เหตุนั้น จึงชื่อชีวิต

(แปลว่าธรรมชาตผู้เป็นอยู่) นัยหนึ่ง ธรรมชาตนั้นเป็นเพียงความ

เป็นอยู่เท่านั้น เหตุนั้น จึงชื่อชีวิต (แปลว่าความเป็นอยู่) ส่วน

ลักษณะเป็นต้นแห่งชีวิตนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในชีวิตแห่งรูป

เถิด ความต่างกันในชีวิต - นั่นก็คือ อันนั้นเป็นชีวิตแห่งรูปธรรม

ทั้งหลาย อันนี้เป็นชีวิตแห่งอรูปธรรมทั้งหลาย เท่านี้เอง

[๘ สมาธิ]

อรรถแห่งสมาธิศัพท์

ธรรมใดตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ เหตุนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า

สมาธิ (ธรรมผู้ตั้ง (จิต) ไว้เสมอ) นัยหนึ่ง ธรรมใดตั้งจิตไว้โย

ชอบในอารมณ์ เหตุนั้น ธรรมนั้นชื่อว่า สมาธิ (ธรรมผู้ตั้ง (จิต)

ไว้โดยชอบ) นัยหนึ่ง ธรรมชาติที่ชื่อสมาธินั้น ก็คือความตั้งมั่นแห่ง

จิตเท่านั้นเอง

[ลักษณะ----แห่งสมาธิ]

สมาธินั้นมีความไม่พล่านไปเป็นลักษณะ หรือว่ามีความไม่ฟุ้งซ่าน

เป็นลักษณะก็ได้ มีการประมวลสหชาตธรรมทั้งหลายไว้ (ให้เป็น

กลุ่ม) เป็นรส ดุจน้ำผนึกเอาจุณสำหรับสนานไว้ (ให้เป็นก้อน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 74

ฉะนั้น มีความสงบระงับเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความสุขเป็นปทัฏฐาน

โดยพิเศษ๑

สมาธินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นความตั้งอยู่แห่งจิต ดุจความตั้ง

อยู่แห่งเปลวประทีปในที่ไม่มีลมฉะนั้น๒

[๙ สัทธา]

บุคคลทั้งหลายย่อมเชื่อด้วยธรรมชาตินั้น เหตุนี้ ธรรมชาตินั้น

จึงชื่อสัทธา (แปลว่าธรรมชาติเป็นเหตุเชื่อ) นัยหนึ่ง ธรรมชาติ

นั่น ย่อมเชื่อเอง เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อสัทธา (แปลว่าธรรมชาติ

ผู้เชื่อ) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั่นเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เหตุนี้

ธรรมชาตินั้นจึงชื่อสัทธา (แปลว่าความเชื่อ)

[ลักษณะ----แห่งสัทธา]

สัทธานั้น มีความเชื่อเป็นลักษณะ หรือว่า มีความวางใจเป็น

ลักษณะก็ได้ มีการทำให้ใสเป็นรส ดังแก้วอุทกปสาทกะ (แก้วทำน้ำให้

ใส) หรือว่ามีความแล่นไป (ตามอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ)

เป็นรสก็ได้ ดุจแล่นไป (คือไหลลอยตามกระแสน้ำเชี่ยว) ในการข้าม

ห้วยน้ำ (ที่บ่ามา) ฉะนั้น มีความไม่ขุ่นมัวเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือ

๑. วิเสสโต-โดยพิเศษ มหาฎีกาแก้ว่า 'โดยมาก' แล้วอธิบายว่า เพราะสมาธิที่เว้น

จากสุขก็มี

๒. หมายความว่า ตั้งแน่วอยู่ไม่วอกแวกก็จริง แต่ไม่ใช่ดับ มีความสืบต่ออยู่เหมือน

เปลวประทีปในที่ไม่มีลม ตินิ่งอยู่ฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 75

ว่ามีอธิมุติ (ความตัดสินใจ)๑ เป็นปัจจุปัฏฐานก็ได้ มีสัทไธยวัตถุ

(วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ)๒ เป็นปทัฏฐาน หรือว่ามีโสตาปัตติยังคะ

มีสัทธัมมสวนะเป็นต้น๓ เป็นปทัฏฐานก็ได้

สัทธานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นเหมือนมือ เหมือนทรัพย์ และ

เหมือนพืช ฉะนั้น๔

[๑๐ สติ]

บุคคลทั้งหลายย่อมระลึกได้ด้วยธรรมชาตินั่น เหตุนี้ ธรรมชาติ

นั่นจึงชื่อสติ (แปลว่าธรรมชาติเป็นเหตุระลึกได้) นัยหนึ่ง ธรรมชาติ

นั่นย่อมระลึกได้เอง เหตุนี้ ธรรมชาตินั่น จึงชื่อสติ (แปลว่าธรรม

ชาติอันระลึกได้) นัยหนึ่งธรรมชาตินั้น สักว่าเป็นอันระลึกได้เท่านั้น

เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อสติ (แลว่าความระลึกได้)

สตินั้น มีความไม่ใจลอยเป็นลักษณะ มีอันทำไม่ให้หลงลืมเป็น

รส มีอันคุ้มครอง (ใจ) ไว้ได้เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความเป็นเหตุ

มุ่งหน้า (จดจ่อ) ต่ออารมณ์ (ของจิต) เป็นปัจจุปัฏฐานก็ได้ มี

๑. อธิมุตินี้ มหาฎีกาแก้ว่า นิจฺฉโย - ตัดสินใจ ตั้งใจแน่ ยึดสัทไธยวัตถุเป็นหลัก

เป็นฝ่ายกุศล เป็นข้าศึกต่ออสัทธิยะ ไม่ใช่อธิโมกข์ที่เป็นเยวาปนกะ (เป็นกุศลก็ได้

อกุศลก็ได้ ?)

๒. สัทไธยวัตถุ มหาฎีกาชี้ไว้ ๓ คือ พระรัตนตรัย กรรม และผลของกรรม

๓. โสดาปัตติยังคะ ๔ คือ สัปปุริสสํเสวนะ สัทธัมมสวนะ โยนิโสมนสิการ ธัมมานุ-

ธัมมปฏิปัตติ

๔. มหาฎีกาขยายความว่า สัทธาเหมือนมือ ในกรณียึดเอากุศลธรรมทั้งหลายได้ เหมือน

ทรัพย์ ในกรณียังสมบัติทั้งปวงให้ถึงพร้อม เหมือนพืช ในกรณีเผล็ดกสิผลที่เป็น

อมตะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 76

ความจำมั่นคงเป็นทัฏฐาน หรือว่ามีสติปัฏฐานมีกายเป็นต้น เป็น

ปทัฏฐานก็ได้

อันสตินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นเหมือนเสาเขื่อน เพราะปักธง

ไปมั่นคงในอารมณ์ และเป็นเหมือนนายประตู เพราะรักษาทวารมี

จักขุทวารเป็นอาทิ

[๑๑-๑๒ หิริ โอตตัปปะ]

ธรรมชาติใดย่อมขวย เพราะความประพฤติชั่วมีกายทุจริตเป็นต้น

เหตุนี้ธรรมชาตินั้น จึงชื่อ หิริ คำว่าหิรินั่นเป็นคำเรียกความละอาย

ธรรมชาตย่อมกลัว เพราะความประพฤติชั่วเหล่านั้นแหละ เหตุ

นี้ ธรรมชาตนั้นจึงชื่อโอตตัปปะ คำว่า โอตตัปปะนั้นเป็นคำเรียก

ความหวาดแต่บาป

[ลักษณะ----แห่งหิริโอตตัปปะ]

ในหิริและโอตตัปปะนั้น หิริมีความเกลียดแต่บาปเป็นลักษณะ

โอตตัปปะมีความสะดุ้งแต่บาปเป็นลักษณะ หิริมีความไม่ทำบาปทั้งหลาย

โดยอาการละอายเป็นรส โอตตัปปะมีความไม่ทำบาปทั้งหลายโดยอาการ

สะดุ้งกลัวเป็นรส อนึ่ง ทั้งสองอย่างนั้น มีอันหดกลับจากบาปโดย

ประการที่กล่าวแล้วนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความเคารพตนและความ

เคารพผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน จริงอยู่ บุคคลทำตนให้เป็นที่เคารพ จึงละ

บาปได้ด้วยความละอาย ดุจกุลพธู ทำคนอื่นให้เป็นที่เคารพจึงละบาป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 77

ได้ด้วยความกลัว ดุจแพศยา ฉะนั้น

ก็แลธรรม ๒ ประการนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นโลกปาลกธรรม

[๑๓.๑๔.๑๕ อโลภะ อโทสะ อโมหะ]

สัตว์ทั้งหลายไม่โลภด้วยธรรมนั้นเป็นเหตุ ธรรมนั้นจึงชื่ออโลภะ

(แปลว่าธรรมเป็นเหตุไม่โลภแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง ธรรมใด

ไม่โลภอยู่เอง ธรรมนั้นชื่ออโลภะ (แปลว่าธรรมอันไม่โลภ) นัย

หนึ่ง ธรรมชาตินั่นสักว่าเป็นอันไม่โลภเท่านั้น เหตุนี้จึงชื่ออโลภะ

(แปลว่าความไม่โลภ) นัยะแม้ในอโทสะแลอโมหะ ก็นัยเดียวกัน๑

[ลักษณะ----แห่งอโลภะอโทสะอโมหะ]

ในธรรม ๓ ประการนั้น อโลภะมีความที่จิตไม่กำหนัด (ไม่อยาก

ได้) ในอารมณ์เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความที่จิตไม่ติดข้องอยู่ใน

อารมณ์เป็นลักษณะ ประหนึ่งหยาดน้ำไม่ติดในกลีบบัวฉะนั้น มีความ

ไม่หวงแหน (ในอารมณ์) เป็นรส ประหนึ่งภิกษุผู้พ้นแล้ว (จาก

ฆราวาสกิจ ไม่หวงแหนวัตถุแห่งฆราวาส ?) ฉะนั้น มีความต้องการ

ในอันไม่ติด (แช่) อยู่ (ในอารมณ์) เป็นปัจจุปัฏฐาน ประหนึ่งคน

ที่ตกอยู่ในที่โสโครก๒ (ไม่ต้องการจะติดแช่อยู่ในที่โสดครกนั้น) ฉะนั้น

อโทสะ มีความไม่ดุร้ายเป็นลักษณะ นัยหนึ่งมีความไม่ถือผิดเป็น

๑. คือมีอรรถเป็น ๓ สาธนะเหมือนกัน

๒. อนลฺลีนภาโว มหาฎีกาแก้ ออกเป็น อธิปฺปาโย แล้วว่า เอวณฺหิ อุปมาย

สเมติ - อย่างนี้แหละจึงจะสมกับอุปมา คืออุปมาว่า เหมือนคนตกอยู่ในที่โสโครก ย่อม

ต้องการที่จะไม่ติดแช่อยู่ในที่โสโครกฉันใด อโลภะก็ฉันนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 78

ลักษณะ ประหนึ่งมิตรผู้อารีฉะนั้น มีอันขจัดความอาฆาตเสียได้เป็น

รส นัยหนึ่ง มีอันขจัดความรุ่มร้อนเสียได้เป็นรส ประหนึ่งไม้จันทน์

(อันมีรสเย็น) ฉะนั้น มีโสมภาพ (ความสุภาพ ความเยือกเย็น)

เป็นปัจจุปัฏฐาน ประหนึ่ง ดวงจันทร์เพ็ญ (มีรัศมีเย็น) ฉะนั้น

อโมหะ มีความ (รู้แจ้ง) แทงตลอดตามสภาพ (แห่งธรรม)

เป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความ (รู้แจ้ง) แทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็น

ลักษณะ ประหนึ่งการแทงทะลุ (ตรงเป้า) แห่งลูกธนูที่นายขมังธนู

ผู้ฉลาดยิงไปฉะนั้น มีอันส่องอารมณ์ (ให้เห็นตามสภาพ) เป็นรส

ประหนึ่งประทีปฉะนั้น มีความไม่หลงลืมเป็นปัจจุปัฏฐาน ประหนึ่งผู้

ชี้ทางที่ชำนาญชี้ทางแก่คนไปป่า ฉะนั้น

อันธรรมทั้ง ๓ นี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นมูลแห่งกุศลธรรมทั้งปวง

[๑๖.๑๗ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสิทธิ]

ความรำงับแห่งกาย ชื่อกายปัสสัทธิ ความรำงับแห่งจิต ชื่อ

จิตตปัสสัทธิ แตคำว่ากายในบทกายปัสสัทธินี้ ประสงค์เอาขันธ์ ๓

มีเวทนาเป็นต้น* ก็แลกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ รวมเข้าด้วยกัน

ทั้งสองนั้นมีความรำงับไปแห่งความเร่าร้อนกายและจิตเป็นลักษณะ มี

อันบีบเอาความเร่าร้อนกายจิตออกไปเป็นรส มีความเยือกเย็นโดยไม่มี

* นักเรียนมักจะเข้าใจเอาชื่อ ๆ ว่า คำว่ากายในบทนี้ คือรูปกาย เพราะมีจิตเป็นคู่

อยู่ แต่ที่แท้ท่านหมายเอานามกาย ดังกล่าวนี้ แต่มหาฎีกากล่าวในที่สุดว่า จิตฺตปฺปสฺ-

สทฺธิอาทีหิ จิตฺตเมว ปสฺสทฺธํ...อุชุ จ โหติ กายปฺปสฺสทฺธิอาทีหิ ปน รูปกาโยปิ

-ด้วยบาททั้งหลาย มีทจิตฺตปปสฺสทฺธิเป็นต้น ได้แก่จิตอย่างเดียว รำงับ. . .และตรง

แต่ด้วยบททั้งหลายมีบทกายปฺปสฺสทฺธิ เป็นต้น ได้แก่รูปกายด้วย (ไม่ใช่ได้แก่นามกาย

อย่างเดียว ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 79

ความกระวนกระวายกายจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน

กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธินี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์

ต่อกิเลสมีอุทธัจจะเป็นอาทิ อันทำความไม่รำงับแห่งกายและจิต

[๑๘.๑๙ กายลหุตา จิตตลหุตา]

ความเบาแห่งกาย ชื่อกายลหุตา ความเบาแห่งจิต ชื่อจิตต-

ลหุตา กายลหุตาและจิตตลหุตานั้น มีความเข้าไปรำงับแห่งความหนัก

ของกายและจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความหนักแห่งกายจิตออกไป

เป็นรส มีความไม่อืดอาดแห่งกายและจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการและ

จิตเป็นปทัฏฐาน

ลหุตานี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีถีนมิทธะเป็นต้น

ที่ทำความหนักแห่งกายและจิต

[๒๐.๒๑ กานมุทุตา จิตตมุทุตา]

ความอ่อนแห่งกาย ชื่อกายมุทุตา ความอ่อนแห่งจิต ชื่อ

จิตตมุทุตา กายมุทุตาและจิตตมุทุตานั้น มีความเข้าไปรำงับแห่งความ

กระด้างของกายจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความกระด้างแห่งกายและ

จิตออกไปเป็นรส มีความไม่ข้องขัดเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการและจิต

เป็นปทัฏฐาน

มุทุตานี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีทิฏฐิมานะ

เป็นต้นที่ทำความกระด้างแห่งกายและจิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 80

[๒๒.๒๓ กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา]

ความควรแก่การแห่งกาย ชื่อกายกัมมัญญตา ความควรแก่การ

แห่งจิต ชื่อจิตตกัมมัญญตา กายกัมมัญญตาและจิตตกัมมัญญตานั้น

มีความเข้าไปรำงับแห่งความไม่ควรแก่การของกายและจิตเป็นลักษณะ๑

มีอันบีบเอาความไม่ควรแก่การของกายและจิตออกไปเป็นรส๒ มีความ

ถึงพร้อมแห่งการทำอารมณ์๓ เป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน

กัมมัญญตานี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีนิวรณ์ที่

เหลือเป็นต้น ที่ทำความไม่ควรแก่การแห่งกายและจิต นำมาซึ่งความ

เลื่อมใสในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสทั้งหลาย นำมาซึ่งความ

เลื่อมใสในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสทั้งหลาย นำมาซึ่งความควร

แก่อันประกอบด้วยประการต่าง ๆ ในการทำประโยชน์ทั้งหลาย ดัง

ความหมดจด (จากมลทิน) แห่งทอง (ควรแก่อันประกอบเป็นอลังการ

ต่าง ๆ ชนิด) ฉะนั้น

[๒๔.๒๕ กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา]

ความคล่องแห่งกาย ชื่อกายปาคุญญตา ความคล่องแห่งจิต

ชื่อจิตตปาคุญญตา กายปาคุญญตาและจิตตปาคุญญตานั้น มีความ

ไม่เป็นไข้แห่งกายจิตเป็นลักษณะ มีอันบีบเอาความเป็นไข้แห่งกายจิต

ออกไปเป็นรส มีความไร้โทษ (แห่งกายจิต) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีกาย

และจิตเป็นปทัฏฐาน

๑.๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น กายจิตฺตกมฺมญฺญ ---- นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น กายจิตฺตา-

กมฺมญฺญ... (ตัดบทเป็นกายจิตฺต +อกมฺมญฺญ)

๓. หมายความว่าถือเอาอารมณ์ด้วยอาการถึงพร้อม คือด้วยความควรแก่การนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 81

ปาคุญญตานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อบาปธรรมมี

อสัทธิยะเป็นต้น ที่ทำความเป็นไข้ แห่งกายและจิต

[๒๖.๒๗ กายุชุกตา จิตตุชุกตา]

ความตรงแห่งกายชื่อกายุชุกตา ความตรงแห่งจิต ชื่อจิตตุชุกตา

กายุชุกตาและจิตตุชุกตานั้น มีความซื่อตรงแห่งกายและจิตเป็นลักษณะ

มีอันบีบเอาความคดแห่งกายและจิตออกไปเป็นรส มีความไม่คด

(แห่งกายและจิต) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นทักฐาน

อุชุกตานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ต่ออุปกิเลสมีมายาและ

สาไถยเป็นต้น ที่ทำความคดโกงแห่งกายและจิต

[เยวาปนกสังขาร ๔]

[๑ ฉันทะ]

คำว่าฉันทะนั่น เป็นคำเรียกกัตตุกัมยตา (ความใคร่จะทำ)

เพราะเหตุนั้น ฉันทะนั้น จึงมีความใคร่จะทำเป็นลักษณะ มีอันแสวง

หาอารมณ์เป็นรส มีความต้องการด้วยอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน อารมณ์

นั้นแหละเป็นปทัฏบานของฉันทะนั้น

อันฉันทะนี้ ในการจะถือเอาอารมณ์ บัณฑิตพึงเห็นว่าเหมือน

ใจยื่นมือออกไป ฉะนั้น

[๒ อธิโมกข]

ความน้อมใจเชื่อ ชื่ออธิโมกข อธิโมกขนั้นมีการลงความเห็น

เป็นลักษณะ มีอันไม่รวนเรเป็นรส มีความตัดสินใจเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีสันนิไฐยธรรม (เรื่องที่จะต้องลงความเห็น) เป็นปทัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 82

อธิโมกนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นดังเสาเขื่อน เพราะความที่นิ่ง

อยู่ในอารมณ์๑

[๓ มนสิการ]

ความทำ ชื่อว่าการ ความทำ (อารมณ์ไว้) ในใจ ชื่อมนสิการ

นัยหนึ่ง เจตสิกธรรมใดย่อมทำใจให้ไม่เหมือนใจเดิม (คือใจภวังค์)

เหตุนี้เจตสิกธรรมนั้นจึงชื่อมนสิการ (แปลว่า เจตสิกธรรมอันทำใจให้

ผิดเดิม) ดังนี้ก็ได้ มนสิการนี้นั้นมี ๓ ประการคืออารัมมณปฏิปาทกะ

(มนสิการอันจัดแจงในอารมณ์) วีถิปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจง

ในวิถีจิต) ชวนปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจงในชวนจิต)

ในมนสิการ ๓ นั้น อารัมมณปฏิปาทกะ ชื่อว่ามนสิการ เพราะทำ

(อารมณ์) ไว้ในใจ อารัมมณปฏิปาทกมนสิการนั้น มีการยังสัมปยุต-

ธรรมทั้งหลายให้แล่นไป (มุ่งหน้าสู่อารมณ์) เป็นลักษณะ มีอันผูก

สัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้ในอารมณ์เป็นรส มีความจดต่อต่ออารมณ์เป็น

ปัจจุปัฏฐาน๒ มีอารมณ์เป็นปทัฏฐาน

มนสิการนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นธรรมจัดเข้าในสังขารขันธ์

เพราะความเป็นธรรมยังสัมปยุตธรรมให้ดำเนินไปในอารมณ์ ดุจสารถี

(ยังม้าให้แล่นไป ? ) ฉะนั้น

๑. มหาฎีกาว่าอธิโมกขเจตสิก ที่เป็นเยวาปนกสังขารนี้ เป็นไปด้วยอำนาจความตกลงใจ

เท่านั้นซึ่งเป็นกุศลก็ได้อกุศลก็ได้ ส่วนอธิโมกขที่เป็นฝ่ายสัทธานั้น เป็นปสาทาธิโมกข

น้อมใจเชื่อด้วยอำนาจความเลื่อมใส เป็นกุศลแท้

๒. สติกับมนสิการ มีความมุ่งหน้า คือจดจ่อต่ออารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐานเหเมือนกัน

มหาฎีกาท่านชี้ให้เห็นความแปลกกันว่า สตินั้นจดจ่ออยู่ด้วยอำนาจความไม่ลืม ส่วน

มนสิการนี้ จดจ่ออยู่ด้วยอำนาจความผูกพัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 83

ส่วนคำว่า วีถิปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจงในวิถี) นั่น เป็น

คำเรียกปัญจวาราวัชนะ คำว่า ชวนปฏิปาทกะ (มนสิการอันจัดแจง

ในชวนะ) นั่น เป็นคำเรียกมโนทวาราวัชนะ มนสิการทั้งสองนั้นไม่

ประสงค์เอาในที่นี้

[๔ ตัตรมัชฌัตตตา]

ความเป็นกลางในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าตัตรมัชฌัตตตา

ตัตรมัชฌัตตตานั้น มีการนำจิตและเจตสิกทั้งหลายไปโดยเสมอเป็น

ลักษณะ มีอันห้ามเสียซึ่งความหย่อนและความยิ่งเป็นรส หรือนัยเนึ่ง

มีอันเข้าไปตัดเสียซึ่งความตกไปเป็นฝักฝ่ายเป็นรส มีความเป็นกลาง

เป็นปัจจุปัฏฐาน

ตัตรมัชฌัตตตานี้ โดยที่เป็นความวางเฉยแห่งจิตและเจตสิก

ทั้งหลาย บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นเหมือนสารถีผู้เพ่งดูอยู่เฉย ๆ ซึ่งม้า

อาชาไนย (เทียมรถ) ที่วิ่งไปเรียบแล้วฉะนั้น๑

[อนิยตสังขาร ๕]

[๑. ๒. กรุณา มุทิตา]

กรุณาและมุทิตา พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในพรหมวิหาร-

นิเทศเถิด แท้จริง ความแปลกกันก็มีเพียงว่ากรุณามุทิตา (ในพรหม-

วิหาร) นั้นเป็นรูปาวจรถึงอัปปนา (ส่วน) กรุณามุทิตา (ในอนิยต-

๑. มหาฎีกาว่า ตัตรมัชฌัตตตานี้ แม้เป็นไปโดยอาการวางเฉย แต่ก็คุมสัมปยุตธรรม

ให้เป็นไปในกิจตามที่เป็นหน้าที่ของตน ๆ (ไม่ใช่เฉยเมย) เปรียบเหมือนพระราชา

แม้ประทับนั่งอยู่นิ่ง ๆ ก็ทรงคุมพวกเจ้าหน้าที่ตุลาการให้ไม่ประมาทพิจารณาและ

พิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามหน้าที่ได้ฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 84

สังขาร) นี้เป็นกามาวจร เท่านี้เอง แต่อาจารย์ลางพวกก็ต้องการเอา

เมตตาและอุเบกขาเข้าในอนิยตสังขารด้วย คำของอาจารย์เหล่านั้น

ไม่ควรถือเอา เพราะว่าโดยความแล้ว เมตตาก็คืออโทสะ อุเบกขา

ก็คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานั่นเองแล

[๓.๔.๕. กายทุจริตวิรัติ ฯลฯ]

ความเว้นจากกายทุจริต ชื่อกายทุจริตวิรัติ แม้ในวิรัติที่เหลือ

ก็นัยนี้ ส่วนว่าโดยอาการมีลักษณะเป็นอาทิ วิรัติทั้ง ๓ นั่น มีความ

ไม่ก้าวล่วงวัตถุแห่งทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้น มีอธิบายว่า ไม่ทำลาย

(วัตถุเหล่านั้น) เป็นลักษณะ๑ มีอันสยิ้ว (คือทำหน้านิ่วแสดงกิริยา

เกลียดชัง) แต่วัตถุแห่งทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นรส๒ มีความไม่

กระทำเป็นปัจจุปัฏฐาน มีคุณธรรมมีศรัทธาหิริโอตตัปปะและอัปปิจฉตา

เป็นอาทิเป็นปทัฏฐาน

วิรัตินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นภาวะที่จิตเบือนหน้าจากการทำบาป

ก็ได้

[สังขารอะไรสัมปโยคกับกุศลวิญญาณดวงไหน]

สังขาร ๓๖ ดังกล่าวมานี้แล พึงทราบว่า ถึงความสัมปโยคกับ

กามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ ๑ (คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต

ญาณสัมปยุต อสังขาร) ก็แล สังขารที่สัมปโยคกับกามาวจรกุศล-

๑. มหาฎีกาว่า วัตถุแห่งทุจริต ก็คือปาณะของผู้อื่น ทรัพย์ของผู้อื่น ภรรยาของผู้อื่น เป็นต้น

๒. มหาฎีกาว่า ข้อนี้ท่านกล่าวกิริยาสยิ้วแต่ตัวทุจริตนั่นเอง โดยไปชี้เอาวัตถุแห่งทุจริต เพราะว่า

วิรัติหาใช่การไม่ทำวัตถุแห่งทุจริตไม่ ที่แท้คือไม่ทำทุจริตต่างหาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 85

วิญญาณดวงที่ ๑ เป็นฉันใด แม้ที่สัมปโยคกับกามาวจรกุศลวิญญาณ

ดวงที่ ๒ ก็เป็นฉันนั้น ความแปลกในวิญญาณดวงที่ ๒ นี้ มีเพียงแต่

ว่าเป็นสสังขารเท่านั้น ส่วนสังขารเว้นอโมหะ ที่เหลือ (๓๕) พึง

ทราบว่าสัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ ๓ (คือโสมนัสสหรคต ญาณวิปยุต

อสังขาร) ที่สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ ๔ ก็อย่างนั้น แปลกแต่ใน

วิยญาณดวงที่ ๔ นี้เป็นสสังขารเท่านั้น ส่วนว่า ในสังขารทั้งหลาย

ที่กล่าวในวิญญาณดวงที่ ๑ สังขารเว้นปีติ ที่เหลือย่อมถึงความสัมป-

โยคกับวิญญาณดวงที่ ๕ (คืออุเบกขาสหรคต ญาณสัมปยุต อสังขาร)๑

แลแม้ที่สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ ๖ ก็เช่นเดียวกันกับที่สัมปโยคกับ

วิญญาณดวงที่ ๕ ด้วยว่าในวิญญาณดวงที่ ๖ นั่นก็มีแปลกแต่เพียงเป็น

สสังขารเท่านั้น ส่วนสังขารเว้นอโมหะ ที่เหลือพึงทราบว่าสัมปโยค

กับวิญญาณดวงที่ ๗ (คืออุเบกขาสหรคต ญาณวิปยุต อสังขาร) ที่

สัมปโยคกับวิญญาณดวงที่ ๘ ก็อย่างนั้น แปลกแต่ในวิญญาณดวงที่ ๘

นั่นเป็นสสังขารเท่านั้น

ส่วนว่าในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในกามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ ๑

สังขารเว้นวิรัติ ๓ ที่เหลือ (๓๓) ถึงความสัมปโยคกับปฐมวิญญาณใน

๑. สังขารที่สัมปโยคกับกามาวจรกุศลวิญญาณดวงที่ ๕ ซึ่งเป็นอุเบกขาสหรคตนี้ มี

กรุณาและมุทิตาอยู่ด้วย จึงเกิดมีปัญหาขึ้นว่า กรุณามุทิตาจะมามีในวิญญาณที่เป็น

อุเบกขาสหรคตได้อย่างไร ? มหาฎีกาว่าอาจารย์ทั้งหลายท่านว่า 'มีได้ โดยเป็นบุพภาค

เพราะกรุณามุทิตาที่ถึงอัปปนาเท่านั้นจึงไม่เป็นอุเบกขาสหรคต นอกจากนั้นเป็นอุเบกขา-

สหรคตบ้างก็ได้'

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 86

รูปาวจรกุศล๑ แต่นั้นสังขารทั้งหลายเว้นวิตก (เหลือ ๓๒) สัมปโยค

กับทุติยวิญญาณ แต่นั้นสังขารเว้นวิจาร (เหลือ ๓๑) สัมปโยคกับ

ตติยวิญญาณ แต่นั้นสังขารเว้นปีติ (เหลือ ๓๐) สัมปโยคกับจตุตถ-

วิญญาณ แต่นั้นสังขารเว้นกรุณามุทิกาในฝ่ายอนิยตสังขาร (เหลือ ๒๘)

สัมปโยคกับปัญจมวิญญาณ

สังขารในอารุปกุศลวิญญาณ ๔ ก็คือสังขาร (ในรูปาวจรปัญจม-

วิญญาณ) เหล่านั้นแหละ ด้วยว่าความเป็นอรูปาวจรเท่านั้นเป็นความ

แปลกในอารุปกุศลนั้น

ในโลกุตรวิญญาณทั้งหลาย สังขารในมรรควิญญาณที่มี

ปฐมฌาน พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในปฐมรูปาวจรวิญญาณ เป็นข้อแรก

(ข้อต่อไป) สังขารในมรรควิญญาณอันต่างโดยเป็นมรรควิญญาณที่มี

ทุติฌานเป็นต้น ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในวิญญาณเป็นลำดับไปมี

ทุติรูปาวจรวิญญาณเป็นต้นเหมือนกัน แต่นี่เป็นความแปลกในโลกุตร-

วิญญาณนี้ คือ กรุณาและมุทิตาไม่มี ๑ วิรัติเป็นนิยตะ ๑ เป็นโลกุตระ ๑๒

สังขารทั้งหลายที่เป็นกุศลเท่านั้น บัณฑิตพึงทราบโดยประการ

ที่กล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า สำหรับพระโยคาวจรผู้มีการกรรมวจีกรรมและอาชีวะหมดจดดีแล้ว รุปา-

รูปาวจรกุศลของท่าน ย่อมเป็นไปทางทำจิตให้ตั้งมั่นเท่านั้น มิใช่จะชำระกายกรรมวจีกรรมและ

อาชีวะ ทั้งมิใช่จะตัดจะระงับทุจริตและทุราชีวะอะไรอีก เพราะฉะนั้น วิรัติทั้งหลายจึงไม่มีใน

จิตตุบาทที่เป็นมหรคต

๒. มหาฎีกาอธิบายว่า เพราะมรรควิญญาณมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ส่วนกรุณาทิตามีสัตว์

เป็นอารมณ์ กรุณามุทิตาจึงไม่มีในมรรควิญญาณ และอริยมรรคย่อมตัดทุจริตเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น วิรัติในโลกุตรวิญญาณจึงเป็นนิยตะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 87

[อกุศลสังขารโลภมูล ๑๗]

ในอกุศลสังขารทั้งหลาย ก่อนอื่น สังขารที่สัมปยุตด้วยอกุศล

วิญญาณดวงที่ ๑ ในโลภมูล (คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต

ทิฏฐิคตสัมปยุต อสังขาร) มี ๑๗ คือเป็นนิยตะมาโดยรูปของตน ๑๓

เป็นยวาปนกะ ๔ ในอกุศลสังขาร ๑๗ นั้น สังขาร ๑๓ คือ ผัสสะ

เจตนา วิตก วิจาร ปีติ วิริยะ ชีวิต สมาธิ อหิริกะ อโนตตัปปะ

โลภะ โมหะ มิจฉาทิฏฐิ เหล่านี้เป็นนิยตะมาโดยรูปของตน สังขาร

๔ คือ ฉันทะ อธิโมกข์ อุทธัจจะ มนสิการ นี้เป็นเยวาปนกะ

[อรรถาธิบายอกุศลสังขารโลภมูลลางข้อ]

อรรถาธิบายในอกุศลสังขารเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบดังต่อไปนี้

[อหิริกะอโนตตัปปะ]

บุคคลใดไม่อาย เหตุนี้บุคคลนั้นจึงชื่ออหิริโก (แปลว่าผู้ไม่อาย)

ความเป็นแห่งผู้ไม่อาย ชื่อว่าอหิริกํ๑ (แปลว่าความไม่อาย) ความ

ไม่กลัวชื่อว่า อโนตตัปปะ ใน ๒ อย่างนั้น อหิริกะ มีความไม่

รังเกียจแต่ทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือว่ามีความไม่ขวยใจ

แต่ทุจริตทั้งหลายเป็นลักษณะ (ก็ได้) อโนตตัปปะ มีความไม่พรั่นแต่

ทุจริตทั้งหลายนั่นแลเป็นลักษณะ หรือว่า มีความไม่สะดุ้งแต่ทุจริต

ทั้งหลายนั้นเป็นลักษณะ (ก็ได้) นี่เป็นความสังเขปในอหิริกะและ

อโนตตัปปะนั้น ส่วนความพิสดาร พึงทราบโดยทำนองความที่ตรง

๑. มหาฎีกาว่าควรจะเป็น อหิริกฺกํ แต่ท่านใช้กันลบ ก. ออกเสียตัวหนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 88

กันข้ามกับความแห่งหิริโอตตัปปะที่กล่าวแล้วนั้นเถิด๑

[โลภะ โมหะ]

สัตว์ทั้งหลายย่อมโลภด้วยเจตสิกธรรมนั้นเป็นเหตุ เจตสิกธรรม

นั้นจึงชื่อว่า โลภะ (แปลว่าธรรมเป็นเหตุโลภแห่งสัตว์ทั้งหลาย)

นัยหนึ่ง เจตสิกธรรมใดย่อมโลภอยู่เอง เจตสิกธรรมนั้น ชื่อโลภะ

(แปลว่าธรรมอันโลภ) นัยหนึ่ง ธรรมชาตนั้นสักว่าเป็นอันโลภเท่านั้น

เหตุนี้จึงชื่อโลภะ (แปลว่าความโลภ)

สัตว์ทั้งหลายย่อมหลงด้วยเจตสิกธรรมนั้นเป็นเหตุ เจตสิกธรรม

นั้นจึงชื่อ โมหะ (แปลว่าธรรมเป็นเหตุหลงแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง

เจตสิกธรรมใดย่อมหลงอยู่เอง เจตสิกธรรมนั้นชื่อโมหะ (แปลว่า

ธรรมอันหลง) นัยหนึ่ง ธรรมชาตนั้นสักว่าเป็นอันหลงเท่านั้น เหตุนี้

จึงชื่อโมหะ (แปลว่าความหลง)

ในโลภะและโมหะนั้น โลภะ มีความยึดอารมณ์ไว้เป็นลักษณะ

ดุจตังสำหรับดักลิง (ยึดลิงที่มาต้องเข้าไว้) ฉะนั้น มีอันตั้งหน้า

เกาะติดไปเป็นรส ดุจชิ้นเนื้อที่คนโยนลงไปในกระทะอันร้อน (ก็ตั้ง

หน้าติดไหม้ไปในกระทะนั้น) ฉะนั้น มีอันไม่ยอมสละเป็นปัจจุปัฏฐาน

๑. มหาฎีกาว่า ความพิสดาร ก็คือเพิ่มรส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานเข้าอีกดังนี้ว่า

อหิริกะมีการทำบาปโดยอาการไม่ละอายเป็นรส อโนตตัปปะ มีการทำบาปโดยอาการ

ไม่สะดุ้งเป็นรส ทั้งสองอย่าง มีความไม่ระย่อแต่บาปโดยประการที่กล่าวแล้วเป็น

ปัจจุปัฏฐาน มีความไม่เคารพในตนและในคนอื่นเป็นปทัฏฐาน ความไม่รังเกียจความ

โสมม ดุจสุกรบ้านไม่รัวเกียจของโสโครก ย่อมีเพราะอหิริกะ ความไม่สะดุ้งกลัว

แต่บาป ดุจตัวแมลงไม่สะดุ้งแต่ไฟ ย่อมมีเพราะอโนตตัปปะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 89

ดุจสีป้ายตาผสมน้ำมัน (ป้ายแล้วติด ล้างออกยาก) ฉะนั้น มีความเห็น

ว่าน่ายินดีในสังโยชนิยธรรมทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน

โลภะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เมื่อมันขยายตัวขึ้นจนเป็นแม่น้ำ

ตัณหา ก็มีแต่พาไปนรกเท่านั้น ดังแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็มีแต่

พาไปสู่มหาสมุทรทางเดียว ฉะนั้น

โมหะ มีความบอดแห่งจิตเป็นลักษณะ นัยหนึ่ง มีความไม่รู้

เป็นลักษณะ มีความไม่เข้าใจตลอดเป็นรส นัยหนึ่ง มีอันปกปิดเสีย

ซึ่งสภาพแห่งอารมณ์เป็นรส มีความปฏิบัติไม่ชอบเป็นปัจจุปัฏฐาน

นัยหนึ่ง มีความมืด (คือโง่เขลา) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีความทำในใจ

โดยไม่แยบคาย เป็นปทัฏฐาน

โมหะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นมูล แห่งอกุศลทั้งปวง

[มิจฉาทิฏฐิ]

สัตว์ทั้งหลายย่อมเห็นผิดด้วยธรรมชาตินั้นเป็นเหตุ ธรรมชาติ

นั้นจึงชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ (แปลว่าธรรมชาติเป็นเหตุเห็นผิดแห่งสัตว์

ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง ธรรมชาติใด ย่อมเห็นผิดอยู่เอง ธรรมชาตินั้น

ชื่อมิจฉาทิฏฐิ (แปลว่าธรรมชาติอันเห็นผิด) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั่น

สักว่าเป็นอันเห็นผิด เหตุนี้จึงชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ (แปลว่าความเห็นผิด)

มิจฉาทิฏฐินั้น มีความยึดมั่นโดยไม่ถูกทางเป็นลักษณะ มีอัน

จับเอาผิด ๆ เป็นรส มีความปักใจผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน มีโทษมีความ

ไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 90

มิจฉาทิฏฐินี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นบรมวัชชะ (โทษอย่างยอด)

[อุทธัจจะ]

ความที่จิตฟุ้งซ่าน ชื่ออุทธัจจะ อุทธัจจะนั้นมีความไม่สงบราบ

เป็นลักษณะ ดุจน้ำกระเพื่อมเพราะลมตี ฉะนั้น มีความไม่หยุดนิ่ง

เป็นรส ดุจธงและผืนผ้าอันโบกสะบัดเพราะลมต้อง ฉะนั้น มีอาการ

หมุน (กระจัดกระจาย) ไป เป็นปัจจุปัฏฐาน ดุจเถ้าอันฟุ้งกระจาย

เพราะถูกทุ่มด้วยก้อนหิน ฉะนั้น มีความทำในใจโดยไม่แยบคาย

ในเพราะความไม่สงบลงแห่งใจเป็นปทัฏฐาน*

อุทธัจจะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นความซัดส่าย (ไปมา) แห่งจิต

อกุศลสังขารที่เหลือ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกุศลสังขาร

เถิด ด้วยว่า ความเป็นอกุศลและความเป็นเจตสิกธรรมเลวทรามด้วย

ความเป็นอกุศลเท่านั้น เป็นความแหลกของมันจะกุศลสังขารเหล่านั้น

[สังขารอะไรสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงไหน]

สังขาร ๑๗ ดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าถึงความสัมปโยคกับอกุศล-

วิญญาณดวงที่ ๑ (ในโลภมูล คือวิญญาณที่เป็นโสมนัสสหรคต

ทิฏฐิตตสัมปยุต อสังขาร) ก็แลสังขารที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณ

ดวงที่ ๑ (นี้) เป็นฉันใด แม้ที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ ๒

ก็เป็นฉันนั้น ส่วนว่า ความต่างในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๒ นี้ ก็คือ

* เจตโส อวูปสมอโยนิโสมนสิการ. . . ปาฐะในมหาฎีกาเป็น. . .อวูปสเม. . .

เห็นว่าเข้าทีกว่า จึงแปลตามท่าน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 91

ความเป็นสสังขาร และถีนมิทธะ เป็นอนิยตะ

[ถีนมิทธะ]

ในถีนมิทธะนั้น ความท้อแท้ ชื่อถีนะ ความง่วงงุน ชื่อ

มิทธะ ขยายความว่า (ถีนะก็คือ) กิริยาที่ม้วนกลับ (คือถอย)

เสีย ด้วยหมดอุตสาหะ (มิทธะก็คือ) ทลายลง (คือเลิกล้มป เสีย

ด้วยหมดความสามรถ๑ ถีนะด้วย มิทธะด้วย (รวมกัน) ชื่อถีน-

มิทธะ ในสองอย่างนั้น ถีนะ มีความไม่มีอุตสาหะเป็นลักษณะ มี

อันคลายความเพียรเสียเป็นรส มีอันจมอยู่เป็นปัจจุปัฏฐาน มิทธะ

มีความไม่ควรแก่การงาน (คือไม่คล่องแคล่ว) เป็นลักษณะ๒ มี

อันปิด (ทวาร) ลงเป็นรส มีอันหู่เข้าเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือว่ามีอัน

หลับโงกเป็นปัจจุปัฏฐาน (ก็ได้)๓ ทั้งสองอย่างด้วยกันมีความทำในใจ

โดยไม่ถูกทาง ในเพราะความไม่ยินดี (ในกุศลธรรม) และความ

คร้านกายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน

ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๑ สังขารเว้น

มิจฉาทิฏฐิ ที่เหลือ (๑๖) พึงทราบว่า สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณ

ดวงที่ ๓ (คือ โสมนัสสหรคต ทิฏฐิคตวิปยุต อสังขาร) แต่

๑. ปาฐะในวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น อาสตฺติวิฆาโต เข้าใจว่าเป็น อสตฺติ---- มหาฎีกาก็แก้ไว้

เป็น อสมตฺถตาวิฆาต ได้แก้และแปลตามที่เข้าใจนี้

๒. มหาฎีกาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ถีนะก็มีสภาพไม่ควรแก่การงานเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ถีนะเป็น

สำหรับจิต แต่มิทธะเป็นสำหรับขันธ์ ๓ มีเวทนาขันธ์เป็นต้น

๓. มหาฎีกาว่า ถีนะ เป็นเหตุหดหู่แห่งจิตเท่านั้น แต่มิทธะ ถึงรูปกายด้วย เพราะเหตุนั้น

ท่านจึงว่า มิทธะ มีอันหลับโงกเป็นปัจจุปัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 92

มานะในกุศลวิญญาณดวงที่ ๓ นี้ เป็นอนิยตะ นี่เป็นความแปลก

[มานะ]

มานะนั้น มีความหยิ่งเป็นลักษณะ มีความยกตัวเป็นรส มี

ความใคร่เป็นเช่นธง (คืออยากเด่น) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีโลภะอันไม่

ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน*

มานะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นดังความบ้า

ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๒ (คือโสม-

นัสสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต สสังขาร) สังขารเว้นมิจฉาทิฏฐิ ที่

เหลือพึงทราบว่าสัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ ๔ (คือโสมนัสสหร-

คต ทิฏฐิคตวิปยุต สสังขาร) แม้ในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๔ นี้เล่า

มานะก็เป็นสังขารนในจำพวกอนิยตะเหมือนกัน ส่วนว่าในสังขารทั้งหลาย

ที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๑ สังขารเว้นปีติ ทีเหลือถึงความ

สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ ๕ (คืออุเบกขาสหรคต ทิกฐิคต-

สัมปยุต อสังขาร) และแม้สังขารที่สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่

๖ (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตสัมปยุต สสังขาร) ก็เหมือนสังขารที่

สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ ๕ แปลกกันแต่ในดวงที่ ๖ นี้เป็น

สสังขารและถีนมิทธะเป็นอนิยตะ ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในอกุศล-

วิญญาณดวงที่ ๕ สังขารเว้นทิฏฐิ ที่เหลือพึงทราบว่า สัมปโยคกับอกุศล

* มหาฎีกาอธิบายว่า มานะนั้นเป็นไปคล้ายทิฏฐิ เพราะเป็นไปโดยอหังการ แต่มัน

ไม่เกิดในจิตตุบาทเดียวกันกับทุฏฐิ มันอิงความรักตัว เพราเหตุนั้น ท่านจึงว่ามันมี

โลภะอันไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 93

วิญญาณดวงที่ ๗ (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคตวิปยุต อสังขาร)

แต่ในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๗ นี้ มานะเป็นอนิยตะ ในสังขารทั้งหลาย

ที่กล่าวในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๖ สังขารเว้นทิฏฐิ ที่เหลือพึงทราบว่า

สัมปโยคกับอกุศลวิญญาณดวงที่ ๘ (คืออุเบกขาสหรคต ทิฏฐิคต-

วิปยุต สสังขาร) แม้ในอกุศลวิญญาณดวงที่ ๘ นี้เล่า มานะก็

เป็นสังขารในจำพวกอนิยตะเหมือนกันแล

[อกุศลสังขารโทสมูล ๑๘]

ส่วนในโทสมูล ๒ อันดับแรก สังขารที่สัมปยุตด้วยอกุศลวิญ-

ญาณดวงที่ ๑ (คือโทมนัสสหรคต ปฏิฆสัมปยุต อสังขาร) มี ๑๘ คือ

เป็นนิยตะมาโดยรูปของตน ๑๑ เป็นเยวาปนกะ ๔ เป็นอนิยตะ ๓ ใน

อกุศลสังขาร ๑๘ นั้น สังขาร ๑๑ คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร

วิริยะ ชีวิต สมาธิ อหิริกะ มโนตตัปปะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เป็น

นิยตะมาโดยรูปของตน สังขาร ๔ คือ ฉันทะ อธิโมกข อุทธัจจะ

มนสิการ นี้เป็นเยวาปนกะ สังขาร ๓ คือ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ

นี้เป็น อนิยตะ

[อรรถาธิบายอกุศลสังขารโทสมูลลางข้อ]

[โทสะ]

พึงทราบอรรถในบทเหล่านั้น (ดังนี้) สัตว์ทั้งหลายย่อมประ-

ทุษร้ายด้วยเจตสิกธรรมนั้น เหตุนี้ เจตสิกธรรมนั้นจึงชื่อโทสะ (แปล

ว่าธรรมเป็นเหตุประทุษร้ายแห่งสัตว์ทั้งหลาย) นัยหนึ่ง เจตสิก-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 94

ธรรมใดย่อมประทุษร้ายอยู่เอง เหตุนี้ เจรสิกธรรมนั้นจึงชื่อโทสะ

(แปลว่าธรรมอันประทุษร้าย) นัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นสักว่าเป็นอัน

ประทุษร้ายเท่านั้น จึงชื่อโทสะ (แปลว่าความประทุษร้าย)

โทสะนั้น มีความดุเป็นลักษณะ ดังอสรพิษที่ถูกดี มีความ

พลุ่งพล่านเป็นรส ดังถูกพิษแทรก นัยหนึ่ง มีอันเผาที่อาศัยของตน

เสียเป็นรส ดังไฟป่า มีความประทุษร้าย เป็นปัจจุปัฏฐาน ดังข้าศึก

ได้โอกาส มีอาฆาตวัตถุ (เรื่องที่จะให้เกิดอาฆาต) เป็นปทัฏฐาน

โทสะนี้ บัณฑิตเห็นว่าเป็นเหมือนน้ำมูตรเน่าระคนด้วยอาพิษ

ฉะนั้น๑

[อิสฺสา]

ความประพฤติหึงหวง ชื่อว่าอิสสา (ริษยา) อิสฺสา นั้นมี

ความทนไม่ได้ต่อสมบัติ (ความได้ดี) ของคนอื่นเป็นลักษณะ มีความ

ไม่ยินดีด้วยในสมบัติของผู้อื่นนั้นแหละเป็นรส มีความเบือนหน้าจาก

สมบัติของผู้อื่นนั้น เป็นปัจจุปัฏฐาน มีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน

อิสสานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นสังโยชน์๒ (เครื่องผูกมัดจิต)

[มัจฉริยะ]

ความตระหนี่ ชื่อว่า มัจฉริยะ มัจฉริยะนั้น มีการปิดซ่อน

สมบัติทั้งหลายของตนที่ได้มาแล้ว หรือที่จะพึงได้ก็ตามไว้เป็นลักษณะ

มีความทนไม่ได้ต่อความที่สมบัติทั้งหลายของตนนั้น จะเป็นของทั่วไปกับ

คนอื่น ๆ เป็นรส มีความสยิ้วเป็นปัจจุปัฏฐาน นัยหนึ่ง มีความเป็น

๑. คือทั้งเหม็นทั้งมีพิษ ไม่ควรแตะต้องด้วยประการทั้งปวง

๒. เป็นสังโยชน์ข้อ ๑ ในสังโยชน์ ๑๐ (อีกนัยหนึ่ง)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 95

เสื้อเกราะที่รัดกุม (คือความเหนียวแน่น) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีสมบัติ

ของตนเป็นปทัฏฐาน

มัจฉริยะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นความผิดรูป (คือพิการ) แห่งใจ

[กุกกุจจะ]

การทำ (ทางใจ) อันบัณฑิตเกลียด (คือไม่ดี) ชื่อ กุกตะ

ภาวะแห่งกุกตะนั้น ชื่อกุกกุจจะ (แปลว่า ความเป็นการทำ (ทางใจ)

อันบัณฑิตเกลียด) กุกกุจจะนั้น มีความทำให้ร้อนใจในภายหลัง

เป็นลักษณะ มีความเสร้าใจถึงการที่ทำและการที่มิได้ทำเป็นรส มีความ

เดือดร้อนเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการที่ทำและการที่มิได้ทำเป็นปทัฏฐาน๑

กุกกุจจะนี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เหมือนความเป็นทาส๒

อกุศลสังขารที่เหลือ ก็มีประการดังกล่าวแล้วนั่นแล

๑. ท่านแก้อรรถกุกุจจะชอบกล กตะ ซึ่งในที่นี้แปลเป็นนามว่าการทำนั้น น่าจะหมาย

ถึงการทำทางใจ เพราะกุกุจจะเป็นเจตสิก จึงเติมคำ "ทางใจ" วงเล็บไว้ ถึงกระ

นั้นก็ไม่เห็นมีคำไหนส่องความว่ากุกกุจจะ จะแปลว่า ความรำคาญหรือความกังวลใจ

ดังที่เราว่ากัน มหาฎีกาท่านก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน ท่านจึงแนะไว้ว่า พึงเข้าใจว่า

กุกตะนั้น หมายถึงจิตที่ปรารภถึงการทำอันบัณฑิตเกลียดแล้วเกิดร้อนใจขึ้น ความที่

เป็นเช่นนั้น เรียกว่ากุกกุจจะ (แล้วจึงแปลเอาความว่าความรำคาญ ความกังวล หรือ

ความร้อนใจ) และท่านว่า กุกตะนั้นมิได้หมายเอาการทำอย่างเดียว การที่มิได้ทำก็

เป็นกุกตะเหมือนกัน คือว่าการทำความชั่ว และการที่มิได้ทำความดี ก็เป็นเหตุให้ร้อน

ใจภายหลังได้เหมือนหัน เพราะฉะนั้นจึงว่า กตากตานิโสจนรสํ-มีความเศร้าใจถึงการ

ที่ทำและการที่มิได้ทำเป็นรส

๒. มหาฎีกาอธิบายว่า ทาสนั้นมีความเป็นอยู่ในบังคับผุ้อื่น ต้องอาศัยเขาเป็นไป ไม่อาจ

ทำกิจอะไรตามลำพังตนได้ด้วยมีกังวลฉันใด ผู้มีกุกกุจจะก็ฉันนั้น ไม่อาจยังกุศลธรรม

ให้เป็นไปโดยธรรมดาของตนได้ ด้วยมัวรำคาญหรือกังวลอยู่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 96

สังขาร ๑๘ ที่กล่าวมานี้แล บัณฑิตพึงทราบว่าถึงความสัมปโยค

กับอกุศลวิญญาณที่เป็นโทสมูลดวงที่ ๑ ก็แลสังขารที่ถึงความสัมปโยค

กับอกุศลวิญญาณโทสมูลดวงที่ ๑ เป็นฉันใด แม้ที่ถึงความสัมปโยค

กับโทสมูลดวงที่ ๒ ก็ฉันนั้น แต่ความแปลก (ในดวงที่ ๒ นี้) ก็คือ

เป็นสสังขาร และในพวกอนิยตะมีถีนมิทธะด้วย

[อกุศลสังขารโมหมูล ๑๓]

ส่วนในโมหมูล ๒ (ว่า) ทางวิจิกิจฉาสัมปยุตก่อน สังขาร

(เป็นวิติกิจฉาสัมปยุต) ๑๓ คือ (เป็นนิยตะ) มาโดยรูปของตน ๑๑

คือ ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร วิริยะ ชีวิต จิตตฐิติ (ความหยุดแห่ง

จิต) อหิริกะ อโนตตัปปะ โมหะ วิจิกิจฉา และเป็นเยวาปนกะ ๒

คือ อุทธัจจะ มนสิการ

ในคำเหล่านั้น คำว่า จิตตฐิติ หมายเอาอาการสักว่าความหยุด

แห่งปวัตติจิต (เป็นขณะ ๆ) ได้แก่สมาธิอย่าอ่อน

ความแน่ใจปราศไป เหตุนั้นจึงชื่อว่าวิจิกิจฉา วิจิกิจฉานั้น มี

ความสงสัยเป็นลักษณะ มีอันไหวไปเป็นรส มีอันไม่ชี้ขาดเป็นปัจจุปัฏ-

ฐาน นัยหนึ่งว่า มีอันถือเอาหลายอย่างเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความทำในใจ

โดยไม่ถูกทางในเพราะความลังเล เป็นปทัฏฐาน

วิจิกิจฉานี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นธรรมชาติอันทำอันตราย

(ขัดขวาง) แก่การปฏิบัติ

สังขาร (วิจิกิจฉาสัมปยุต) ที่เหลือ ก็มีประการดังกล่าวแล้ว

นั่นแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 97

(ว่า) ทางอุทธัจจสัมปยุต ในสังขารทั้งหลายที่กล่าวในวิจิกิจฉา-

สัมปยุต สังขารเว้นวิจิกิจฉา ที่เหลือ ๑๒ เป็นอุทธัจจสัมปยุต แต่

เพราะในอุทธัจจสัมปยุตนี้ ไม่มีวิจิกิจฉา อธิโมกขื (ความตัดสินใจป

จึงเกิดขึ้น รวมรับอธิโมกข์นั้นก็เป็น ๑๓ เหมือนกัน และเพราะมี

อธิโมกข์ร่วม (จิตตฐิติ) จึงเป็นสมาธิมีกำลังกว่า อนึ่ง อุทธัจจะใด

ในอุทธัจจสัมปยุตนี้ อุทธัจจะนั้นมาโดยรูปของตนแท้ อธิโมกข์และ

มนสิการ มาโดยเป็นเยวาปนกะ แล

สังขารเป็นอกุศลทั้งหลาย พึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้

[อัพยากตสังขารฝ่ายวิบาก]

[อเหตุกวิบาก]

ในอัพยากตสังขารทั้งหลาย อันดับแรก อัพยากตสังขารฝ่าย

วิบากมี ๒ โดยแยกเป็นอเหตุกะ และสเหตุกะ ใน ๒ อย่างนั้น

อัพยากตสังขารที่สัมปยุตด้วยอเหตุกวิบากวิญญาณ จัดเป็นอเหตุกสังขาร

ในอเหตุกสังขารทั้งหลายนั้น ข้อแรก สังขารที่สัมปยุตด้วยจักขุวิญญาณ

ทั้งที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบากมี ๕ คือ สังขารที่มาโดยรูปของตน

๔ คือ ผัสสะ เจตนา ชีวิต จิตตฐิติ ที่เป็นเยวาปนกะมีแต่มนสิการ

อย่างเดียว แม้ที่สัมปยุตด้วย โสต----ฆาน----ชิวหา----กายวิญญาณ ก็

๕ นั่นแหละ ในมโนธาตุที่เป็นวิบากทั้งสองฝ่าย (คือทั้งฝ่ายกุศล

และฝ่ายอกุศล) มี ๘ คือ สังขาร ๕ นั้น และวิตก วิจาร อธิโมกข์

และฝ่ายอกุศล) มี ๘ คือ สังขาร ๕ นั้น และวิตก วิจาร อธิโมกข์

ด้วย แม้ในอเหตุกมโนวิญญาณธาตุทั้งสาม (คืออุเบกขาสหรคต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 98

สุขสหรคต โสมนัสสหรคต ?) ก็อย่างนั้น แต่ในอเหตุกมโนวิณญาณ-

ธาตุนี้ มโนวิญญาณธาตุใดเป็นโสมนัสสหรคต ปีติ (ที่เกิด) พร้อม

กับมโนวิญญาณธาตุนั้น พึงทราบว่าเป็นอธิกปิติ (ปีติยิ่ง)

[สเหตุกวิบาก]

ส่วนอัพยากตสังขาร ที่สัมปยุตด้วยเหตุกวิบากวิญญาณ จัดเป็น

สเหตุกสังขาร ในสหตุกสังขารทั้งหลายนั้น ข้อแรก สังขารที่

สัมปยุตด้วยกามาวจรวิบากวิญญาณ ๘ ก็เป็นเช่นเดียวกับสังขารที่สัม-

ปยุตด้วยกามาวจรกุศลวิญญาณ ๘ นั่นเอง แต่กรุณาและมุทิตาใดใน

จำพวกอนิยตสังขาร กรุณาและมุทิตานั้นไม่มีในพวกวิบากสังขาร เพราะ

กรุณาและมุทิตาเป็นสัตตารมณ์ (มีสัตว์เป็นอารมณ์) ฝ่ายกามาวจร-

วิบากสังขารทั้งหลายเป็นปริตตารมณ์ (มีกามาวจรธรรมเป็นอารมณ์)

ส่วนเดียว และมิใช่แต่กรุณามุทิตาเท่านั้น แม้วิรัติทั้งหลาย ก็ไม่มีใน

พวกวิบากสังขาร เพราะท่านกล่าวว่า "สิกขาบท ๕ เป็นกุศลเท่านั้น"

ส่วนอัพยากตสังขารทั้งหลาย ที่สัมปยุตด้วยวิบากวิญญาณ ที่เป็นรูปาวจร

อรูปาวจรและโลกุตระ ก็เป็นเช่นเดียวกับสังขารที่สัมปยุตด้วยตัวกุศล-

วิญญาณแห่งวิบากวิญญาณเหล่านั้นนั่นเอง๑

[อัพยากตสังขารฝ่ายกิริยา]

แม้อัพยากตสังขารฝ่ายกิริยาก็เป็น ๒ โดยแยกเป็นอเหตุกะ และ

๑. เตสํ มหาฎีกาท่านโยค รูปาวจราทิวิปากวิญฺญาณานํ คือโยคศัพท์ข้างหน้านั่นเอง

แล้วบอกสัมพันธ์ไว้ว่า บท เตสํ นี้เป็นฉัฏฐีวิภัติ ในชเนตัพพชนกสัมพันธ์ (ความ

เกี่ยวเนื่องกันแห่งลูกกับพ่อ ?) จะหมายความว่าลูกก็เช่นเดียวกับพ่อ ฉันใด กุศลวิบาก

ก็เป็นเช่นเดียวกับตัวกุศล ฉันนั้น เช่นนี้กระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 99

สเหตุกะ ในสองอย่างนั้น อัพยากตสังขารทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยอเหตุก-

กิริยาวิญญาณจัดเป็นอเหตุกะ อเหตุกกิริยาสังขารเหล่านั้นก็เสมอกับ

สังขารที่ประกอบด้วยกุศลวิบากมโนธาตุ และอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ

ทั้งคู่ แต่วิริยะ (ที่ประกอบ) ด้วยมโนวิญญาณธาตุทั้งคู่เป็นอธิกวิริยะ

(วิริยะยิ่ง) และสมาธิก็เป็นสมาธิถึงซึ่งความมีกำลัง เพราะมีวิริยะร่วม

นี่เป็นความแปลกในสังขารที่ประกอบด้วยมโนวิญญาณธาตุทั้งคู่นั้น

ส่วนอัพยากตสังขารทั้งหลาย ที่สัปยุตด้วยสเหตุกกิริยาวิญญาณ

จัดเป็นสเหตุกะ ในเสเหตุกกิริยาสังขารเหล่านั้น ข้อแรก สังขาร

ที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกิริยาวิญญาณ ๘ เว้นวิรัติ๑ ก็เป็นเช่นกับสังขาร

ที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกุศล ๘ สังขารที่สัมปยุตด้วยรูปาวจรกิริยาวิญ-

ญาณและอรูปาวจรกิริยาวิญญาณเล่า ก็เป็นเช่นกับสังขารที่สัมปยุตกับ

ตัวกุศลวิญญาณแห่งกิริยาวิญญาณเหล่านั้น๒ ทุกประการเหมือนกันแล

สังขารทั้งหลายแม้ที่เป็นอัพยากตะ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่

กล่าวมาฉะนี้

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารใดสังขารขันธ์

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในขันธ์ทั้งหลาย

ตามนัยแห่งบทภาชนียในพระอภิธรรมเท่านี่ก่อน

[ขันธวิภาคอีกนัยหนึ่ง]

[แจกขันธ์ โดยกาลเป็นต้นตามนัยพระสูตร]

ก็แลขันธ์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า (ทรงจำแนก) ให้

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า เพราะการเว้นของพระอรหันต์ทั้งหลาย สำเร็จด้วยสมุจเฉท-

วิรัติแล้ว วิรัติในกิริยาจิต จึงไม่มี

๒. เตสํ นี่ก็รูปเดียวกับ เตสํ ในตอนก่อน (เชิงอรรถ ๑ หน้า ๙๘)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 100

พิสดารอย่างนี้๑ ว่า "รูปทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็น

ภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต

ก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรืออยู่ในที่ใกล้ก็ตาม กลุ่มรูปนี้เรียกว่ารูปขันธ์

เพราะรวบรวมรูป (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน เวทนาทุกอย่างทั้งที่

เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มเวทนานี้ เรียกว่าเวทนาขันธ์

เพราะรวบรวมเวทนา (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน สัญญาทุกอย่าง

ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสัญญานี้เรียกว่า สัญญา-

ขันธ์ เพราะรวบรวมสัญญา (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน สังขาร

ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสังขารนี้เรียกว่า

สังขารขันธ์ เพราะรวบรวมสังขาร (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน

วิญญาณทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือเป็น

ภายนอกก็ตาม ฯลฯ กลุ่มวิญญาณนี้ เรียกว่าวิญญาณขันธ์ เพราะรวบ

รวมวิญญาณ (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน" ดังนี้

[อรรถาธิบายรูปวิภาค]

ในบทบาลีเหล่านั้น บทว่า ยงฺกิญฺจิ-ทุกอย่าง เป็นคำ (มีความ

หมายว่า) ถือเอาหมดไม่มีเหลือ๒ บทว่ารูปํ-รูป เป็นคำจำกัดสิ่งที่

ประสงค์โดยเฉพาะ ด้วยบททั้งสอง๓ ดังนี้ ก็เป็นอันได้ทรงทำความ

๑. ท่านกล่าวอย่างนี้ ราวกะว่าพระอภิธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัส กระนั้น

แหละ ?

๒. เพราะฉะนั้น ยงฺกิญจิ จึงแปลว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ก็ได้

๓. บททั้งสองนี้ เราเข้าใจว่าหมายถึง ยงฺกิญฺจิ บทหนึ่ง รุปํบทหนึ่ง แต่มหาฎีกาท่าน

ว่า คำว่า ด้วยบททั้งสองนี้ หมายเอา ยํศัพท์บทหนึ่ง กึศัพท์กับทั้งจินิบาตบทหนึ่ง

เพราะแสดงอรรถอนิยมด้วยกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 101

กำหนดเอารูปอย่างไม่เหลือ ต่อนั้นจึงทรงเริ่มจำแนกรูปนั้น โดยกาล

มีอดีตเป็นอาทิ จริงอยู่ รูปนั้น บ้างก็เป็นอดีต บ้างก็แตกต่างเป็น

อนาคตเป็นต้นแล นัยแม้ในขันธ์ที่เหลือมีเวทนาเป็นต้น ก็ดุจนัยนี้

[รูปขันธ์]

ในขันธ์ทั้งหลายนั้น ข้อแรก รูปจัดเป็นอดีตโดยส่วน ๔ ด้วย

อำนาจแห่ง อัทธา สัตติ สมัย และขณะ เป็นอนาคตและปัจจุบัน

ก็อย่างนั้น

ในส่วน ๔ นั้น ว่าโดย อัทธา ก่อน ในภพหนึ่ง รูปของบุคคล

ผู้หนึ่งในกาลก่อนแต่ปฏิสนธิ จัดเป็นอดีต รูปในกาลต่อแต่จุติไปเป็น

อนาคต รูปในระหว่างกาลทั้งสองนั้น จัดเป็นปัจจุบัน

ว่าโดย สันตติ รูปอันมีอุตุที่เป็นสภาคอันหนึ่งเป็นสมุฏฐาน และ

มีอาหาร (ที่เป็นสภาค) อันหนึ่งเป็นสมุฏฐาน* แม้เป็นไปด้วยอำนาจ

ระยะกาลเป็นเบื้องต้นและเบื้องปลายก็ดี จัดเป็นปัจจุบัน รูปที่มีอุตุ

และอาหารเป็นวิสภาคเป็นสมุฏฐานในกาลก่อนแต่นั้น จัดเป็นอดีต ภาย

หลังแต่นั้น จัดเป็นอนาคต ฝ่ายรูปที่เกิดแต่จิต มีวิถีจิตหนึ่ง ชวน

จิตหนึ่ง และสมาบัติจิตหนึ่งเป็นสมุฏฐาน จัดเป็นปัจจุบัน รูปในกาล

ก่อนแต่นั้น จัดเป็นอดีต รูปในกาลภายหลังนั้นเป็นอนาคต สำหรับ

* อุตุหมายเอาเย็นร้อน มหาฎีการอธิบายว่า เย็นเป็นสภาคของเย็น ร้อนก็เป็นสภาค

ของร้อน แต่ว่าเย็นหรือร้อนอันรวมกันอยู่ในร่างกายนี้ เป็นอาการอันหนึ่งไม่หย่อน

ไม่ยิ่ง เป็นไปโดยสืบต่อกัน อาการเย็นหรือร้อนนั้น ท่านเรียกว่าเอกอุตุ-อุตุอันหนึ่ง

ที่ท่านประกอบศัพท์เอก- หนึ่งไว้นั้น เพราะอุตุที่เป็นสภาคมีมาก แม้ในอาหารก็

อย่างนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 102

รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน หามีการแยกประเภทเป็นอดีตเป็นต้น ด้วย

อำนาจสันตติเป็นส่วนหนึ่งต่างหากไม่ แต่ความเป็นอดีตเป็นต้น

แห่งรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั้น พึงทราบ (ว่าเป็น) โดยเป็น

อุปถัมภกปัจจัยของรูปที่มีอุตุ อาหาร และจิตเป็นสมุฏฐานเหล่านั้น

แหละ

ว่าโดยสมัย รูปมีสมัยนั้น ๆ อันเป็นไปโดยสืบต่อกันในสมัย

ทั้งหลายมีครู่หนึ่ง และตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน ตอนกลางวัน

เป็นต้น จัดเป็นปัจจุบัน รูปในสมัยก่อนแต่นั้น จัดเป็นอดีต รูปใน

สมัยหลังแต่นั้น จัดเป็นอนาคต

ว่าโดย ขณะ รูปที่เนื่องอยู่ในขณะ ๓ มีอุปาทขณะเป็นต้น จัด

เป็นปัจจุบัน รูปก่อนนั้น จัดเป็นอนาคต รูปหลังนั้นจัดเป็นอดีต๑

อีกอย่างหนึ่ง รูปที่มีเหตุกิจและปัจจัยกิจล่วงไปแล้ว จัดเป็นอดีต รูป

ที่มีเหตุกิจเสร็จแล้ว แต่ปัจจัยกิจยังไม่เสร็จ จัดเป็นปัจจุบัน รูปที่กิจ

ทั้งสองยังไม่ถึงเข้า จัดเป็นอนาคต หรือว่ารูปในขณะทำกิจของตน

เป็นปัจจุบัน รูปก่อนนั้นเป็นอนาคต รูปหลังนั้นเป็นอดีต

ก็แลในกถาจำแนกรูปนี้ ขณาทิกถา (ว่าด้วยขณะเป็นต้น)

๑. ตรงนี้ชวนแงน เพราะกลับกันกับตอนต้น ๆ แต่ฟังท่านชี้เหตุแล้วก็เห็นได้ทันที คือ

ความเกิดของรูปนับอยู่ในขณะ ๓ นั้นเท่านั้น ก่อนแต่นั้นนับเป็นอนาคต ก็เพราะยังไม่

เกิด หลังแต่นั้นนับเป็นอดีต เพราะมันล่วงเลยขณะ ๓ ไปแล้ว

ป_______________ระโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 103

อย่างเดียว ไม่มีปริยาย กถาที่เหลือ มีปริยาย๑

ประเภทรูปภายในและรูปภายนอก มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล

ก็แต่ว่า ในสุตตันตนัยนี้ พึงทราบว่า แม้รูปที่มีอยู่ภายในตนของตน

ก็จัดเป็นภายใน และแม้รูปที่เป็นของบุคคลอื่น ก็จัดเป็นภายนอกด้วย๒

ประเภทรูปหยาบ และรูปละเอียด ก็มีนัยดั่งกล่าวแล้วเหมือนกัน

ประเภทรูปเลว และรูปประณีต เป็น ๒ คือ เป็นรูปเลวและ

ประณีตโดยปริยาย ๑ (คือแยกเป็นชั้น ๆ ) โดยนิปปริยาย ๑ (คือ

๑. มหาฎีกาท่านว่า คำที่ว่า 'ก่อนนั้นจัดเป็นอนาคต หลังนั้นจัดเป็นอดีต' ในขณาทิกถานั้น เป็น

คำไม่มีปริยาย เพราะไม่มีความแตกต่างเหมือนอย่างในอัทธิทิกถา จริงอยู่ โดยอัทธาเป็นต้น มี

ปริยาย คือแยกกันได้เป็นประเภท ๆ อดีตธรรมก็มีอย่างหนึ่ง อนาคตธรรมก็มีอย่างหนึ่ง ปัจจุบัน-

ธรรมก็มีอย่างหนึ่ง เช่นว่ารูปก่อนปฏิสนธิก็มีเป็นประเภทหนึ่ง จัดเป็นอดีต รูปแต่จุติไปก็มีเป็น

ประเภทหนึ่ง จัดเป็นอนาคต รูปในระหว่างปฏิสนธิและจุติ ก็มีเป็นประเภทหนึ่ง จัดเป็นปัจจุบัน

แต่เมื่อว่าโดยขณะ หามีอะไรที่จะแยกประเภทธรรมอย่างนั้นไม่ มีแต่แยกกาลเท่านั้นเอง คือก่อน

เกิดเป็นอนาคต กำลังเป็นไปอยู่ในขณะ ๓ เป็นปัจจุบัน ล่วงขณะ ๓ ไปแล้วก็เป็นอดีต เพราะ

ฉะนั้น จึงว่าไม่มีปริยาย เพราะไม่มีรูปที่จะพึงกล่าวว่าเป็นอดีตอนาคต โดยปริยายอะไรสัก

อย่างเหมือนอย่างอัทธานั้นเลย

๒. มหาฎีกาท่านอธิบายว่า ความที่ว่าภายในภายนอกนั้น มีศัพท์ใช้ ๒ คู่ คือ อชฺฌตฺติก กับ

พาหิร คู่หนึ่ง อชฺฌตฺต กับพหิทฺธา คู่หนึ่ง แปลว่าภายในและภายนอกเหมือนกัน แต่ที่ใช้หมาย

ความต่างกันก็มี เช่นอชฺฌตฺติกศัพท์ (ที่ใช้ในคำว่าอายตนะภายใน) ย่อมหมายเอายายตนะมีจักขุ

เป็นต้นที่เป็นไปในสันดานทั้งของตนและคนอื่น พาหิรศัพท์ (ที่ใช้ในคำว่าอายตนะภายนอก) ก็

หมายเอารูปเป็นต้นทั้งของตนและของคนอื่น ส่วน อชฺฌตฺต ศัพท์ เช่นที่ใช้ในที่นี้ ย่อมหมายเอา

สิ่งที่เป็นรูปอันเป็นไปในสันดานของตนแห่งสัตว์นั้น ๆ เท่านั้น ส่วนพหิทฺธาศัพท์ก็หมายถึงสิ่งที่เป็น

รูปอื่นไปจากของตน เพราะฉะนั้น อชฺฌตฺตศัพท์และพหิทฺธาศัพท์นี้ จึงไม่เหมือน อชฺฌตฺติกศัพท์

และพาหิรศัพท์ที่กล่าวแล้วทีเดียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 104

ไม่แยกเป็นชั้น) ใน ๒ อย่างนั้น ความเป็นรูปเลว และรูปประณีต

โดยปริยาย พึงทราบโดยปริยาย คือ รูปของเทพเหล่าสุทัสสี เลวกว่า

รูปของเทพเหล่าอกนิฏฐา รูปของเทพเหล่าสุทัสสีนั้นแหละ ประณีต

กว่ารูปของเทพเหล่าสุทัสสา ดังนี้ จนกระทั่งถึงรูปของพวกสัตว์นรก

(เลยกว่ารูปขงพวกมนุษย์ ?) ส่วนความเป็นรูปเลยและรูปประณีต

โดยนิปปริยาย พึงทราบว่า อกุศลวิบากวิญญาณเกิดขึ้นในรูปใด รูป

นั้นก็เป็นรูปเลว กุศลวิบากวิญญาณเกิดขึ้นในรูปใด รูปนั้นก็เป็นรู

ประณีต

แม้ข้อว่า รูปไกลรูปใกล้ นี้ ก็มีนัยกล่าวมาแล้วเหมือนกัน แต่ว่า

ในข้อนี้ พึงทราบความเป็นรูปไกลใกล้โดยอาศัยเทียบกันโดยโอกาส

(คือที่ตั้งอยู่ของรูปนั้น ๆ) ด้วย

ในปาฐะว่า "ตเทกชฺฌํ อภิสญฺญูหิตฺวา อภิสงฺขิปิตฺวา-

เพราะรวบรวมรูป (ที่แจงมา) นั้นเข้าด้วยกัน" นี้ มีความ (ดัง)

นี้ว่า พวกรูปนี้เรียกว่ารูปขันธ์ เพราะทำรูปที่ทรงแจงออกเป็นส่วน ๆ

ด้วยบททั้งหลายมีอดีตเป็นต้นนั้นทั้งสิน เข้าเป็นกองด้วยปัญญา ใน

ความเป็นอย่างเดียว ที่ได้แก่รุปปนลักษณะ (ลักษณะที่รู้ทำลายได้)

ด้วยปาฐะนี้ เป็นอันแสดงว่ารูปทั้งสิ้น ชื่อว่ารูปขันธ์ เพราะเข้าถึง

ความ (รวมเข้า) เป็นกองได้ในรุปปนลักษณะ ด้วยขึ้นชื่อว่ารูป-

ขันธ์ จะเป็นอื่นไปจากรูปหามีไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 105

[เวทนาวิภาค]

ก็แล รูป (ได้ชื่อว่ารูปขันธ์ เพราะเข้าถึงความ (รวมเข้า)

เป็นกองในรุปปนลักษณะได้) ฉันใด แม้เวทนาเป็นต้นก็ได้ชื่อว่าขันธ์

มีเวทนาขันธ์เป็นอาทิ เพราะเข้าถึงความ (รวมเข้า) เป็นกอง ใน

ลักษณะทั้งหลายมีเวทยิตลักษณะ (ลักษณะที่รู้เสวยรสอารมณ์) เป็นต้น

ได้ ฉันนั้น ด้วยขึ้นชื่อว่า ขันธ์ท้งั หลายมีเวทนาขันธ์เป็นอาทิ จะ

เป็นอื่นไปจากเวทนาเป็นต้นหามีไม่

ส่วนว่า ในการจำแนกโดยกาลมีอดีตเป็นต้น ในเวทนาขันธ์นี้

พึงทราบความเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันแห่งเวทนา ด้วยอำนาจ

สันตติ และด้วยอำนาจขณะ เป็นต้น

ในสันตติและขณะเป็นต้นนั้น ว่าโดยสันตติ เวทนาที่เนื่องอยู่

ในวิถีจิตหนึ่ง ชวนจิตหนึ่ง และสมาบัติจิตหนึ่ง และเวทนาที่เป็นไป

โดยประกอบอยู่กับอารมณ์อย่างเดียว* เป็นปัจจุบัน เวทนาในกาล

ก่อนแต่นั้น เป็นอดีต เวทนาในกาลภายหลังแต่นั้น เป็นอนาคต

ว่าโดยขณะเป็นต้น เวทนาที่เนื่องอยู่ในขณะ ๓ และเวทนาที่

กำลังทำกิจของตนทั้งที่เป็นตอนต้น ตอนปลาย และตอนกลาง เป็น

ปัจจุบัน เวทนาในขณะก่อนนั้นเป็นอดีต เวทนาในขณะภายหลังนั้น

เป็นอนาคต

ประเภทเวทนาภายในภายนอก พึงทราบโดยเป็นเวทนาภายใน

* มหาฎีกาชี้ตัวอย่างเวทนาชนิดนี้ว่า ได้แก่เวทนาที่ประกอบด้วยกุศลเจตสิกมีศรัทธา

เป็นต้น อันเป็นไปแก่บุคคลผู้มองดูพระพุทธรูป หรือฟังธรรมอยู่ทั้งวัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 106

ตนของตน และของบุคคลอื่น๑ ประเภทเวทนาหยาบละเอียด พึงทราบ

ด้วยอำนาจแห่งชาติ สภาวะ บุคคล โลกิยะ และโลกุตระ ที่กล่าวไว้

ในคัมภีร์วิภังค์ โดยนัยว่า "เวทนาที่เป็นอกุศลเป็นเวทนาหยาบ เวทนา

ที่เป็นกุศลและอัพยากฤตเป็นเวทนาละเอียด๒" ดังนี้เป็นต้น

ก่อนอื่น ว่าโดย ชาติ เวทนาที่เป็นอกุศล หยาบกว่าเวทนา

ที่เป็นกุศล เหตุมีความเป็นไปไม่สงบ (ไม่เรียบราบ) เพราะเป็นเหตุ

แห่งการทำกรรมที่มีโทษ และเพราะมีความเร่าร้อนด้วยกิเลส หยาบ

กว่าเวทนาที่เป็นวิบากอัพยากฤต เพราะเป็นไปกับความพยายาม (ที่

จะให้มีวิบาก ?) เพราะเป็นไปกับความอุสาหะ (คือความสามารถใน

อันทำวิบากให้เกิด ?) เพราะเป็นไปกับวิบาก (คือมีวิบาก ?) เพราะ

มีความเล่าร้อนด้วยกิเลส เพราะเป็นไปกับความลำบาก และเพราะ

เป็นไปกับโทษ หยาบกว่าเวทนาที่เป็นกิริยาอัพยากฤต เพราะเป็นไป

กับวิบาก เพราะมีความเล่าร้อนด้วยอำนาจกิเลส เพราะเป็นไปกับความ

ลำบาก และเพราะเป็นไปกับโทษ ส่วนเวทนาที่เป็นกุศลและเวทนา

ที่เป็นอัพยากฤต ละเอียดกว่าเวทนาที่เป็นอกุศล โดยปริยายต่างจาก

ปริยายที่กล่าวแล้ว (ตรงกันข้าม)๓ เวทนาที่เป็นกุศลและอกุศลทั้ง

สอง หยาบกว่าเวทนาที่เป็นอัพยากฤตทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นไปกับความ

พยายาม เพราะเป็นไปกับความอุสาหะ และเพราะเป็นไปกับวิบาก

๑. นิยกชฺเตฺตวเสน การที่แปลโดยนัยเอกเสสสมาสเช่นนี้ ก็เพราะท่านกล่าวถึงทั้ง

อชฺฌตฺต และพหิทธา อชฺฌตฺตพหิทฺธาเภโท

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๔

๓. คือเพราะเป็นเหตุแห่งการทำกรรมที่ไม่มีโทษ เพราะไม่มีความรุ่มร้อนด้วยกิเลส

เพราะไม่มีความลำบาก และเพราะมีความเป็นไปสงบ (เรียบราบ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 107

ตามที่ควรกัน๑ เวทนาที่เป็นอัพยากฤตทั้งสองฝ่ายเล่า ก็ละเอียดกว่า

เวทนาที่เป็นกุศล และเวทนาที่เป็นอกุศลทั้งสองนั้น โดยปริยายต่าง

จากปริยายที่กล่าวแล้ว (ตรงกันข้าม)

ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งชาติ พึงทราบ

โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

ส่วนว่าโดย สภาวะ ทุกขเวทนาหยาบกว่าเวทนา ๒ นอกนี้

เพราะไม่มีอัสสาทะ (ไม่มีรสอร่อย) เพราะเป็นไปกับความเผยตัว

เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความหวาดกลัว และเพราะข่มเอา ฝ่ายเวทนา ๒

นอกนี้ ก็ละเอียดกว่าทุกขเวทนา เพราะเป็นที่ยินดี เพราะละเมียด

เพราะประณีต เพราะน่าชอบใจ และเพราะเป็นกลาง ๆ ตามที่ควร

กัน ส่วนสุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้งสอบหยาบกว่าอทุกขมสุขเวทนา

เพราะเป็นไปกับความเผยตัว เพราะทำความไหวตัว และเพราะความ

ปรากฏ อทุกขนสุขเวทนานั้นละเอียดกว่าสุขเวทนา และทุกขเวทนา

ทั้งสองนั้น โดยปริยายต่างจากปริยายที่กล่าวแล้ว (ตรงกันข้าม)

ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งสภาวะ พึงทราบ

โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

ส่วนว่าโดย บุคคล เวทนาของบุคคลผู้มิได้เข้าสมาบัติ หยาบ

กว่าเวทนาของท่านผู้เข้าสมาบัติ เพราะเวทนาของผู้มิได้เข้าสมาบัตินั้น

ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ เวทนานอกนี้ (คือเวทนาของท่านผู้เข้า

๑. คือในเหตุ ๓ ประการนั้น เหตุประการใด ควรแก่เวทนาข้อใด ก็ประกอบเหตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 108

สมาบัติ) ก็ละเอียด (กว่าเวทนาอีกฝ่าย) โดยปริยายตรงกันข้าม

ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งบุคคล พึงทราบ

โดยนัยดังกล่าวมานี้

ส่วนว่าโดย โลกิยะ และ โลกุตระ เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะ

เป็นโลกิยเวทนา เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะนั้น หยาบกว่าเวทนาอัน

หาอาสวะมิได้ เพราะเป็นเหตุเกิดอาสวะ เพราะเกื้อกูลแก่โอฆะ เพราะ

เกื้อกูลแก่โยคะ เพราะเกื้อกูลแก่คันถะ เพราะเกื้อกุลแก่นีวรณ เพราะ

เกื้อกูลแก่อุปาทาน เพราเกี่ยวเนื่องด้วยสังกิเลส และเพราะมีทั่วไปแก่

บุถุชน* เวทนาอันหาอาสวะมิได้นั้น ละเอียดกว่าเวทนาที่เป็นไปกับ

อาสวะ โดยปริยายตรงกันข้าม

ความเป็นเวทนาหยาบละเอียดด้วยอำนาจแห่งโลกิยะและโลกุตระ

พึงทราบโดยนัยดังกล่าวนี้

[หยาบละเอียดเป็นส่วน ๆ อย่าให้ปนกัน]

ความปนคละกันด้วยอำนาจแห่งชาติเป็นต้น ในความหยาบ ละเอียด

ตามที่กล่าวมานั้น บัณฑิตพึงกันเสีย (อย่าให้ปนกันวุ่น) เพราะว่า

เวทนาที่สัมปยุตด้วยกายวิญญาณอันเป็นอกุศลวิบาก แม้จัดเป็น

เวทนาละเอียดเพราะเป็นอัพยากฤตโดยชาติ แต่ก็เป็นหยาบโดยส่วน

อื่นมีสภาวะเป็นต้น สมพระบาลีว่า "อัพยากฤตเวทนาเป็นเวทนา

ละเอียด ทุกขเวทนาเป็นเวทนาหยาบ เวทนาของผู้ไม่ได้เข้าสมาบัติเป็น

* ปาฐะว่า ปุถุชฺชนโต สาธารณโต อย่างไรอยู่ เห็นว่า แปลตามปาฐะฉบับพม่า ซึ่งเป็น

ปุถุชฺชนสาธารณโต เข้าทีกว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 109

เวทนาหยาบ เวทนาของผู้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาละเอียด เวทนาเป็น

ไปกับอาสวะเป็นเวทนาหยาบ เวทนาอันหาอาสวะมิได้ เป็นเวทนา

ละเอียด๑" ดังนี้ และทุกขเวทนาเป็นฉันใด แม้สุขเวทนาเป็นต้นก็เป็น

เวทนาหยาบโดยชาติ แต่ละเอียดโดยสภาวะเป็นอาทิฉันนั้น เพราะ

เหตุนั้น ความปนคละกันด้วยอำนาจแห่งชาติเป็นต้น จะไม่มีด้วยประ-

การใด ความหยาบละเอียดแห่งเวทนาทั้งหลาย บัณฑิตก็พึงทราบด้วย

ประการนั้นเถิด คือ (เช่น) ว่า อัพยากฤตเวทนาเป็น เวทนาละเอียด

กว่ากุศลเวทนา และอกุศลเวทนา โดยชาติ ก็ไม่ต้องไปแตะต้องถึง

ความต่างโดยส่วนอื่นมีสภาวะเป็นต้น ดังนี้ว่า "ในเวทนาเหล่านั้น

อัพยากฤตเวทนาเป็นไฉน เป็นทุกข์หรือ เป็นสุขหรือ เป็นของท่านผู้

เข้าสมาบัติหรือ เป็นของผู้ไม่ได้เข้าสมาบัติหรือ เป็นสาสวะหรือ เป็น

อนาสวะหรือ๒" นัยในเวทนาทั้งปวงก็นัยนี้

[นัยหนึ่ง หยาบละเอียดโดยเทียบกัน]

อีกนัยหนึ่ง โดยบาลีว่า "หรืออนึ่ง เวทนาเป็นหยาบละเอียด พึง

เห็นโดยเทียบเคียงเวทนานั้น ๆ "๓ ดังนี้ พึงทราบว่าในเวทนาอื่นมี

อกุศลเวทนาเป็นต้น เวทนาที่เป็นโทสสหรคตหยาบกว่าเวทนาที่เป็น

โลภสหรคต เพราะ (โทสะ) เผาที่อาศัยของตนเหมือนไฟ เวทนา

ที่เป็นโลภสหรคต ก็เป็นละเอียดไป โทสสหรคตเวทนาเล่า ที่เป็น

๑. ๓. อภิ. วิ. ๓๕/๔

๒. คือว่า ใน ๔ ส่วน คือ ชาติ สภาวะ บุคคล และโลกิยะ โลกุตระ ให้ว่ากันเป็น

ส่วน ๆ อย่างจับเอามาปนกันให้ยุ่งไปหมด เพราะเวทนาอย่างเดียวเป็นได้ทั้งหยาบ ทั้ง

ละเอียดโดยส่วนนั้น ๆ (?) )

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 110

นิยตะ๑ เป็นหยาบ ที่เป็นอนิยตะก็เป็นละเอียดไป นิยตะเล่า ที่เป็น

กัปปัฏฐิติกะ๒เป็นหยาบ นอกนี้ก็เป็นละเอียดไปเล่า แม้ในพวกที่เป็น

กัปปัฏฐิติกะ ที่เป็นอสังขาริกเป็นหยาบ นอกนี้ (คือที่เป็นสสังขาริก)

ก็เป็นละเอียดไป ฝ่ายเวทนาโลภสหรคต ที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตเป็นหยาบ

นอกนี้ (คือทิฏฐิวิปยุต) เป็นละเอียด แม้ทิฏฐิสัมปยุตนั้นเล่าที่เป็น

นิยตะ เป็นกัปปัฏฐิติกะ เป็นอสังขาริก ก็เป็นหยาบ นอกนี้ก็เป็น

ละเอียดไป

แต่ (เมื่อว่า) โดยไม่แปลกกัน (คือไม่แยกเป็นโทสสหรคต

โลภสหรคต) อกุศลเวทนาที่มีวิบากมาก เป็นหยาบ ที่มีวิบากน้อย

เป็นละเอียด ส่วนกุศลเวทนาที่มีวิบากน้อย เป็นหยาบ ที่มีวิบากมาก

เป็นละเอียด

อนึ่ง กามาวจรกุศลเวทนา เป็นหยาบ รูปาวจรกุศลเวทนา

เป็นละเอียด อรูปาวจรกุศลเวทนาละเอียดกว่ารูปาวจรกุศลเวทนานั้น

โลกุตรเวทนาละเอียดกว่าอรูปาวจรกุศลเวทนานั้น กามาวจรเวทนาเล่า

ที่เป็นทานมัย จัดเป็นหยาบ ที่เป็นสีลมัยเป็นละเอียด ที่เป็นภาวนามัย

ละเอียดกว่าที่เป็นสีลมัยนั้น ---- แม้ภาวนามัยเล่า ที่เป็นทุเหตุกะ๓ เป็น

หยาบ ที่เป็นติเหตุกะก็เป็นละเอียด ติเหตุกะเล่า ที่เป็นสสังขาริก เป็น

หยาบ ที่เป็นอสังขาริก ก็เป็นละเอียด ส่วนรูปาวจรเวทนาที่เป็นไป

๑.-๒. เป็นนิยตะ คือโทสะอย่างดิ่ง ยากที่จะถอน ถึงกับทำอนันตริยกรรม เรียกว่า

กัปปัฏฐิติกะ เพราะให้ผลอยู่ตลอดกัป เช่นโทสะ ของพระเทวทัต

๓. มหาฎีกาว่า ในกาลที่ภาวนาคล่องแคล่วมีกำลัง ลางคราวมนสิการไปด้วยจิตที่เป็น

ญาณวิปยุตก็มีได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงว่า ภาวนามัยเป็นทุเหตุกะก็มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 111

ในปฐมฌานเป็นหยาบ ที่เป็นในทุติยฌานเป็นละเอียด ที่เป็นไป

ในตติยฌานละเอียดกว่าที่เป็นไปในทุติยฌาน ที่เป็นในจตุตถฌาน

ละเอียดกว่าที่เป็นไปในตติยฌาน ที่เป็นไปในปัญจมฌานละเอียดกว่าที่

เป็นไปในจตุตถฌานแท้ ข้างอรูปาวจรเวทนา ที่สัมปยุตด้วยอากาสา-

นัญจายตนะเป็นหยาบ ที่สัมปยุตด้วยวิญญาณัญจายตนะเป็นละเอียด

ที่สัมปยุตด้วยอากิญจัญญายตนะ ละเอียดกว่าที่สัมปยุตด้วยวิญญาณัญจา-

ยตนะ ที่สัมปยุตด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะละเอียดกว่าที่สัมปยุต

ด้วยอากิญจัญญายตนะแท้ ฝ่ายโลกุตรเวทนา ที่สัมปยุตด้วยโสตาปัตติ-

มรรค เป็นหยาบ ที่สัมปยุตด้วยสกทาคามิมรรคเป็นละเอียด ที่สัมปยุต

ด้วยอนาคามิมรรคละเอียดกว่าที่สัมปยุตด้วยสกทาคามิมรรค ที่สัมปยุต

ด้วยอรหัตมรรคละเอียดกว่าที่สัมปยุตด้วยอนาคามิมรรคแท้

นัยในเวทนาที่เป็นวิบากและที่เป็นกิริยาในภูมินั้น ๆ และใน

เวทนาที่กล่าวด้วยอำนาจสภาวะมีทุกขเวทนาเป็นต้น ด้วยอำนาจบุคคล

มีอสมาปันนเวทนา (เวทนาของผู้มิได้เข้าสมาบัติ) เป็นต้น และด้วย

อำนาจโลกิยโลกุตระมีสาสวเวทนา (เวทนาที่เป็นไปกับอาสวะ) เป็นต้น

ก็นัย (เดียวกัน) นี้*

เมื่อว่าโดยโอกาสเล่า ทุกขเวทนาในนรกเป็นหยาบ ทุกขเวทนา

ในกำเนิดดิรัจฉานละเอียด ทุกขเวทนาในกำเนิดมนุษย์ละเอียดกว่า

ทุกขเวทนาในกำเนิดดิรัจฉาน ทุกขเวทนาในเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิด

* เช่นว่า กามาวจรวิบากหยาบ รูปาวจรวิบากละเอียด ฯลฯ กามาวจรกิริยาหยาบ

รูปาวจรกิริยาละเอียด ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 112

ละเอียดกว่าทุกขเวทนาในกำเนิดมนุษย์ ทุกขเวทนาในเทวดาเหล่าดาว-

ดึงส์ละอียดกว่าทุขเวทนาในเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิด ทุกขเวทนาใน

เทวดาเหล่ายามะละเอียดกว่าทุกขเวทนาในเทวดาเหล่าดาวดึงส์ ทุกข-

เวทนาในเทวดาเหล่าดุสิต ละเอียดกว่าทุกขเวทนาในเทวดาเหล่ายามะ

ทุกขเวทนาในเทวดาเหล่านิมมานรดี ละเอียดกว่าทุกขเวทนาในเทวดา

เหล่าดุสิต ทุกขเวทนาในเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตดี ละเอียดกว่า

ทุกขเวทนาในเทวดาเหล่านิมมานรดีแท้ ก็แลทุกขเวทนาประกอบ

(ความ) ฉันใด แม้สุขเวทนา ก็พึงประกอบ (ความ) ตามควร

ในภูมิทั้งปวง ฉันนั้นเถิด

อนึ่ง ว่าโดยวัตถุ เวทนาทุกอย่างที่มีวัตถุเลวเป็นเวทนาหยาบ

ที่มีวัตถุประณีตเป็นเวทนาละเอียด*

ในประเภทเลวประณีต พึงเห็นเถิดว่า เวทนาใดหยาบ เวทนา

นั้นก็เลว และเวทนาใดละเอียด เวทนานั้นก็ประณีต

ส่วนทูเรบท (บทว่าไกล) ท่านจำแนกไว้ในคัมภีร์วิภังค์โดย

นัยว่า "เวทนาที่เป็นอกุศลไกลแต่เวทนาที่เป็นกุศลและอัพยากฤต"

ดังนี้เป็นต้น สันติเกบท (บทว่าใกล้) ท่านก็จำแนกไว้ในคัมภีร์วิภังค์

โดยนัยว่า "เวทนาที่เป็นอกุศลใกล้กับเวทนาที่เป็นอกุศล (ด้วยกัน)"

และอัพยากฤตเวทนา เพราะเป็นวิสภาคกัน เพราะไม่เกี่ยวกัน และ

เพราะไม่สมกัน กุศลเวทนาและอัพยากฤตเวทนาไกลแต่อกุศลเวทนา

* มหาฎีกาว่า วัตถุ คือ สิ่งที่เป็นอารมณ์ให้เกิดเวทนา ท่านชักตัวอย่าง เช่นเวทนา

ของคนที่กินข้าวฟ่างก็หยาบ เพราะข้าวฟ่างเป็นวัตถุเลว เวทนาของคนที่กินข้าวสาลี

กับเนื้อ ก็ละเอียด เพราะข้าวสาลีกับเนื้อเป็นวัตถุประณีต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 113

ก็อย่างนั้น (คื___________อเพราะเหตุอย่างเดียวกัน) ในวาระทั้งปวงก็นัยนี้ ส่วน

อกุศลเวทนาใกล้กับอกุศลเวทนา (ด้วยกัน) ก็เพราะเป็นสภาคกัน

และเพราะสมกันด้วย*แล

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารในการจำแนกเวทนาขันธ์โดยส่วนต่างๆ

มีเป็นอดีตเป็นต้น

แม้กถามุขอย่างพิสดารในการจำแนกสัญญาเป็นต้น ที่สัมปยุตกับ

เวทนานั้น ๆ ก็พึงทราบโดยนัยดังนี้นี่แล

[นัยสำหรับวินิจฉัยขันธ์ ๖ ประการ]

ก็แลครั้นทราบอย่างนั้นแล้ว

เพื่อความแตกฉานแห่งความรู้ในขันธ์ทั้งหลาย นั้น

แหละ ผู้มีปัญญาพึงทราบนัยสำหรับวินิจฉัย โดย

ชอบ คือ โดยลำดับ โดยแปลกกัน โดยไม่หย่อน

ไม่ยิ่ง โดยอุปมา โดยเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ

๒ และโดยความสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ผู้เห็น

อย่างนั้น (ต่อไป)

[นัยโดยลำดับ]

ในนัย ๖ ประการนั้น ในข้อว่า 'โดยลำดับ' นี้มีวินิจฉัยว่า

ลำดับมีมกอย่าง คือ ลำดับแห่งความเกิดขึ้น ลำดับแห่งการละ ลำดับ

* ท่านแก้ข้อไกลใกล้ชอบกล เราเข้าใจกันว่าหมายเอา "อยู่ในที่ไกล ในที่ใกล้ไ

เข้าแถวกันกับอดีตอนาคตปัจจุบัน ภายในภายนอก หยาบละเอียด เลวประณีต แล้ว

ก็อยู่ในที่ไกลหรือยู่ในที่ใกล้ก็ตาม ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 114

แห่งการปฏิบัติ ลำดับแห่งภูมิ ลำดับแห่งการแสดง ในลำดับ ๕ อย่างนั้น

ลำดับเช่นว่า "รูป (เกิด) เป็นกลละก่อน ต่อกลละไปเป็นอัพพุทะ----"

ดังนี้ ชื่อว่าลำดับความเกิดขึ้น ลำดับเช่นว่า "ธรรมทั้งหลาย ที่พึง

ละด้วยทัสสนะ (คือโสดาปัติมรรค) ธรรมทั้งหลายที่พึงละด้วย

ภาวนา (คือสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค)----" ดังนี้

ชื่อว่าลำดับแห่งการละ๑ ลำดับเช่นว่า "สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ----"

ดังนี้ชื่อว่าลำดับแห่งการปฏิบัติ๒ ลำดับเช่นว่า "ธรรมทั้งหลายเป็น

กามาวจร ธรรมทั้งหลายเป็นรูปาวจร" ดังนี้ชื่อว่าลำดับแห่งภูมิ ลำดับ

เช่นว่า "สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔----" หรือว่า "(ทรงแสดง)

ทานกถา สีลกถา----" ดังนี้ ชื่อว่า ลำดับแห่งการแสดง

ในลำดับเหล่านั้น ก่อนอื่น ลำดับแห่งความเกิดใช่ไม่ได้ในที่นี้

เพราะขันธ์ทั้งหลายมิได้เกิดขึ้นโดยกำหนดก่อนหลัง๓ ดังกลลรูปเป็นต้น

ลำดับแห่งการละก็ใช้ไม่ได้ เพราะขันธ์ที่เป็นกุศลและอัพยากฤต มิใช่

สิ่งที่จะพึงละ ลำดับแห่งการปฏิบัติก็ใช้ไม่ได้ เพราะขันธ์ทั้งหลาย

ที่เป็นอกุศล มิใช่สิ่งที่พึงปฏิบัติ ลำดับแห่งภูมิก็ใช้ไม่ได้ เพราะ

ขันธ์ (๔) มีเวทนาเป็นต้น เป็นสิ่งที่เนื่องไปในภูมิทั้ง ๔๔ แต่ลำดับ

๑. หมายความว่า ธรรมที่พึงละก่อน ก็กล่าวไว้ก่อน ธรรมที่พึงละถัดไป ก็กล่าวเป็น

ข้อรองลงไป

๒. หมายความว่า ปฏิบัติลีลวิสุทธิก่อนแล้วจึงปฏิบัติจิตตวิสุทธิ. . .

๓. ปาฐะในคัมภีร์ของเราเป็น ปพฺพาจริยววฏฺฐาเนน แต่ฉบับพม่า เป็นปพฺพาปริย. . .

เข้าทีกว่า ในที่นี้แปลตามต้นฉบับพม่า ก็ได้ความดี

๔. คือเวทนาทิขันธ์นั้นมีติดไปทุกภูมิ จะว่าอยู่ในภูมิไหนก็ว่าไม่ได้ จึงไม่มีลำดับภูมิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 115

แห่งการแสดงใช้ได้ ด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหวังประโยชน์ ใคร่

จะโปรดเวไนยชนผู้ตกอยู่ในอัตตคาหะ (ความยึดถือว่าเป็นตัวตน) ใน

ขันธ์ทั้ง ๕ โดยไม่แยกกัน ให้หลุดพ้นจากอัตตคาหะ ด้วย (ให้) เห็น

โดยกระจายกลุ่มก้อนออกไป จึงทรงแสดงรูปขันธ์อันเป็นส่วนหยาบ

เป็นวิสัยแม้แห่งจักขุทวารเป็นต้นก่อน เพื่อ (ให้เวไนย) ชนนั้น

(กำหนด) จับเอาได้ง่าย ต่อนั้นจึงทรงแสดงเวทนาอันเป็นส่วนความ

รู้สึกในรูปอันน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ทรงแสดงสัญญาอัน

เป็นส่วนความยึด (จำ) อาการแห่งอารมณ์ของเวทนา โดยนัยตามที่

กล่าวว่า 'รู้สึกสิ่งใด ก็จำสิ่งนั้น' ดังนี้ ทรงแสดงสังขารอันเป็น

ส่วนความปรุงแต่ง (นึกคิด) ไปตามอำนาจแห่งสัญญา๑ ทรงแสดง

วิญญาณอันเป็นที่อาศัยแห่งขันธ์ ๔ มีเวทนาเป็นต้นนั้น และเป็น

อธิบดีแห่งขันธ์ ๔ นั้นด้วย๒

นัยสำหรับวินิจฉัยโดยลำดับ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

เป็นประการแรก

[นัยโดยแปลกกัน]

ข้อว่า 'โดยแปลกกัน' คือโดยแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลาย และ

แห่งอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ก็ความแปลกกันแห่งขันธ์และอุปาทาน-

๑. หมายความว่า สังขารนั้นก็นึกคิดไปในอารมณ์ที่สัญญาจำเอาไว้แล้วนั่นเอง หาใช่ไป

คว้าเอาที่ไหนมาคิดปรุงแต่งเอาเองไม่มีไม่

๒. มหาฎีกาว่า ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นอธิบดีนั้นมีบาลีสาธก เช่น มโนปุพฺพงฺคม ธมฺมา-

ธรรมทั้งหลาย (คือขันธ์ ๔) มีมโนเป็นหัวหน้า จิตฺตานุปริวตฺติโจ-ธรรมทั้งหลาย

ปริวัตไปตามจิต ฉทฺวารราธิปติ ราชา-ราชา (คือจิต) เป็นอธิบดีในทวารหก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 116

ขันธ์ทั้งหลายนั้นคืออะไร ? (คือ) ในขันธ์และอุปาทาขันธ์ทั้งสอง

นั้น ก่อนอื่น ขันธ์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยไม่มีอะไร

แปลก (ส่วน) อุปาทานขันธ์ตรัสไว้แปลก โดยความเป็นขันธ์ที่

เป็นไปกับอาสวะและเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ดังตรัสไว้ว่า "ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ แท้ (และ) อุปาทานขันธ์ ๕ แก่

ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังเรื่องขันธ์นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็ขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปทุกอย่าง ทั้งที่เป็น

อดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรืออยู่ในที่ใกล้ก็ตาม กลุ่ม

รูปนี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและ

ปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มเวทนานี้เรียกว่า เวทนาขันธ์ สัญญาทุกอย่าง

ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มสัญญานี้เรียกว่า สัญญา

ขันธ์ สังขารทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่ม

สังขารนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ วิญญาณทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคต

และปัจจุบัน ฯลฯ กลุ่มวิญญาณนี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย กลุ่มเหล่านี้ เรียกว่าขันธ์ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร ? ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย รูปทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่

ไกลหรืออยู่ในที่ใกล้ก็ตาม เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน

นี่เรียกว่า รูปอุปาทานขันธ์ เวทนาทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและ

ปัจจุบัน ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า เวทนา-

อุปาทานขันธ์ สัญญาทุกอย่าง ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 117

แห่งอุปาทาน นี้เรียกว่า สัญญาอุปาทานขันธ์ สังขารทุกอย่าง ฯลฯ

เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี่เรียกว่า สังขารอุปาทานขันธ์

วิญญาณทุกอย่าง ฯลฯ เป็นไปกับอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นี่

เรียกว่า วิญญาณอุปาทานขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า

อุปาทานขันธ์ ๕" ดังนี้

ก็แลในขันธ์ทั้งหลายนี้ ขันธ์ ๔ มีเวทนาเป็นต้น เป็นอนาสวะ

บ้างก็มี เป็นสาสวะบ้างก็มีฉันใด รูปหาเป็นฉันนั้นไม่ แต่เพราะเหตุที่

รูปนั้น เป็นขันธ์ก็ถูก ด้วยอรรถว่าเป็นกอง เหตุนั้นจึงตรัสไว้ในพวก

ขันธ์ (แท้) (และ) เพราะรูปนั้น เป็นอุปาทานขันธ์ก็ถูก ด้วยอรรถ

ว่าเป็นกองด้วย ด้วยอรรถว่าเป็นสาสวะด้วย เหตุนั้น จึงตรัสไว้ใน

พวกอุปาทานขันธ์ ส่วนขันธ์ ๔ มีเวทนาเป็นต้น ที่เป็นอนาสวะ

ตรัสไว้ในพวกขันธ์ (แท้) เท่านั้น ที่เป็นสาสวะตรัสไว้ในพวก

อุปาทานขันธ์

ก็แลเนื้อความในคำว่า 'อุปาทานขันธ์' นี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า

"ขันธ์ทั้งหลายเป็นที่โคจรแห่งอุปาทาน ชื่ออุปาทานขันธ์" ดังนี้เถิด

แต่ในปกรณ์วิสุทธิมรรคนี้ หมายเอาทั้งขันธ์ (แท้) ทั้งอุปาทาน

ขันธ์ หมดนั่นรวมกันเข้าว่า 'ขันธ์'

[นัยโดยไม่หย่อมไม่ยิ่ง]

ข้อว่า "โดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง" มีวินิจฉัยว่า ถามว่า เพราะเหตุ

อะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสขันธ์แต่ ๕ เท่านั้นไม่หย่อนไม่ยิ่ง ?

แก้ว่า เพราะทรงสงเคราะห์ (รวบรวม) สังขตธรรมทั้งปวงเข้าด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 118

กันตามที่เป็นสภาคกัน ๑ เพราะวัตถุแห่งความยึดถือว่าเป็นตนเป็นของ

ตนมีเพียงนั้น ๑ เพราะรวบเอาธรรมที่จัดเป็นขันธ์อื่น ๆ ไว้ในนั้นได้ ๑

ด้วยว่า ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย อันมีประเภทเป็นอเนก

เมื่อสงเคราะห์เข้าตามที่เป็นสภาคกัน รูปจัดเป็นขันธ์อันหนึ่ง โดยที่

สงเคราะห์เอาธรรมที่เป็นสภาคกับรูปเข้าด้วยกัน เวทนาก็จัดเป็นขันธ์

อันหนึ่ง โดยที่สงเคราะห์เอาธรรมที่เป็นสภาคกับเวทนาเข้าด้วยกัน

ในขันธ์ที่เหลือมีสัญญาเป็นต้นก็นัยนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค

เจ้าจึงตรัสขันธ์แต่ ๕ เท่านั้น เพราะทรงสงเคราะห์สังขตธรรมทั้งปวง

เข้าด้วยกันตามที่เป็นสภาคกัน

อนึ่ง วัตถุแห่งความยึดถือว่าเป็นตนเป็นของตนนั่น มีเพียงนั้น

คือมี ๕ มีรูปเป็นต้น สมพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป

แหละมีอยู่ ความเห็น (ผิด) อาศัยรูป ยึดรูป จึงเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า

นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวของเรา เมื่อเวทนา ----เมื่อ

สัญญา---- เมื่อสังขาร---- เมื่อวิญญาณมีอยู่ ความเห็น (ผิด) อาศัย

เวทนา---- สัญญา---- สังขาร---- วิญญาณ ยึดเวทนา---- สัญญา----

สังขาร---- วิญญาณ จึงเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น

นั่นเป็นตัวของเรา" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส

ขันธ์แต่ ๕ เท่านั้น เพราะวัตถุแห่งความยึดถือว่าเป็นต้น เป็นของตน

มีเพียงนั้น ประการ ๑

อนึ่งเล่า ธรรมขันธ์ ๕ อื่นมีสีลเป็นต้นอันใด พระผู้มีพระภาค

เจ้าตรัสไว้ แม้ธรรมขันธ์ทั้งหลายนั้น ก็ถึงซึ่งความรวบรวมเข้าใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 119

ขันธ์ ๕ นี้แหละได้ เพราะธรรมขันธ์ทั้งหลายนั้น นับเข้าในสังขาร-

ขันธ์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสขันธ์แต่ ๕ เท่านั้น

เพราะรวบเอาธรรมที่จัดเป็นขันธ์อื่น ๆ ไว้ในนั้นได้ ประการ ๑

นัยสำหรับวินิจฉัยโดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[นัยโดยอุปมา]

ก็แลวินิจฉัยในข้อว่า 'โดยอุปมา' นี้ บัณฑิตพึงทราบ (ดังนี้)

ว่า รูปอุปาทานขันธ์เปรียบเหมือนโรงพยาบาล เพราะเป็นที่อาศัยอยู่

แห่งวิญญาณอุปาทานขันธ์อันเปรียบเหมือนคนไข้ โดยเป็นวัตถุ (พื้น

ฐาน) เป็นทวารและเป็นอารมณ์ (แห่งวิญญาณนั้น) เวทนาอุปา-

ทานขันธ์เปรียบเหมือนความไข้ เพราะเป็นธรรมชาติอาพาธ๑ สัญญา

อุปาทานขันธ์เปรียบเหมือนสมุฏฐานแห่งความไข้ เพราะเป็นแดน

เกิดแห่งเวทนาที่ประกอบด้วยกิเลสมีราคาเป็นต้น โดยเป็นสัญญา

(อกุศล) มีกามสัญญาเป็นอาทิ สังขารอุปาทานขันธ์ เปรียบเหมือน

การเสพของแสลง เพราะเป็นเหตุแห่งความไข้คือเวทนา สมบาลี

ว่า "สังขารทั้งหลายย่อมปรุงแต่งเวทนา เพื่อ (ให้คง) เป็นเวทนา

(ตามสภาพ)"๒ นัยเดียวกันนั้น วิญญาณอุปาทานขันธ์เปรียบเหมือน

คนไข้ เพราะไม่พ้นจากความไข้คือเวทนา โดยบาลีว่า "เพราะอกุศล-

๑. มหาฎีกาว่า ความที่เวทนาเป็นธรรมชาติอาพาธ พึงเห็นโดยความเป็นทุกข์ ๓ สถาน

คือทุกขทุกข์ - เป็นทุกข์เพราะความยากลำบาก วิปริณามทุกข์ - เป็นทุกข์เพราะความ

แปรปรวน สังขารทุกข์ - เป็นทุกข์เพราะปรุงแต่ง.

๒. สํ. ขนฺธวาร. ๑๗/๑๐๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 120

กรรมอันบุคคลทำไว้สั่งสมไว้ กายวิญญาณที่เป็นวิบาก จึงเกิดขึ้นเป็น

วิญญาณที่ร่วมไป (คลุกเคล้าไป) กับทุกข์"๑ ดังนี้

อีกนัยหนึ่ง อุปาทานขันธ์ทั้งหลายนั่น เปรียบเหมือนคุก และ

การลงโทษ โทษ เจ้าหน้าที่ผู้ลงโทษ นักโทษ และเหมือนภาชนะ

โภชนะ (ข้าว) กับข้าว ผู้เลี้ยง (คือพ่อครัว) และผู้กิน (ก็ได้)

นัยสำหรับวินิจฉัยโดยอุปมา บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[นัยโดยความเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ ๒]

ข้อว่า "โดยเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ ๒" ความว่า ก็นัย

สำหรับวินิจฉัยในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบ โดยเป็นสิ่งพึงเห็นโดยอาการ

๒ อย่างนี้ คือโดยสังเขป ๑ โดยพิสดาร ๑ จริงอยู่ โดยสังเขป

อุปาทานขันธ์ ๕ พึงเห็นโดยเป็นข้าศึกผู้เงื้อดาบ (จ้องจะฆ่า) ตาม

นัยที่ตรัสไว้ในอาสีวิสูปมสูตร๒ โดยเป็นของหนัก ตาม (ที่ตรัสใน)

ภารสูตร โดยเป็นผู้กัด ตาม (ที่ตรัสใน) ขัชชนียปริยาย โดย

เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสังขตะ และเป็นผู้ฆ่า

ตาม (ที่ตรัสใน) ยมกสูตร ส่วนว่าโดยพิสดารในที่นี้ รูปพึงเห็น

เหมือนก้อนฟองน้ำ เพราะไม่ทนต่อการบีบคั้น เวทนาพึงเห็นเหมือน

ต่อมน้ำ เพราะเป็นสิ่งน่ายินดี (คือดูงาม) อยู่ครู่เดียว สัญญาพึงเห็น

เหมือนพยับแดด เพราะล่อใจ สังขารพึงเห็นเหมือนต้นกล้วย เพราะ

๑. อภิ. สํ. ๓๔/๑๗๓.

๒. สํ. สฬายตน. ๑๘/๒๑๘.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 121

ไม่มีแก่น วิญญาณพึงเห็นเหมือนกล เพราะเป็นสิ่งลวง๑

ว่าโดยพิเศษอีกนัยหนึ่ง อัชฌัตติกรูป (รูปภายใน คือรูปของ

ตน ?) แม้โอ่อ่า ก็พึงเห็นว่าเป็นของไม่งาม เวทนาพึงเห็นว่าเป็น

ทุกข์ เพราะไม่พ้นจากความเป็นทุกข์ ๓๒ สัญญาสังขารพึงเห็นว่าเป็น

อนัตตา เพราะไม่เชื่อฟัง วิญญาณพึงเห็นว่าเป็นอนิจจัง เพราะมีสภาวะ

เกิดขึ้นเสื่อมไป

[นัยโดยความสำเร็จประโยชน์แก่ผู้เห็นอย่างนั้น]

ข้อว่า "โดยความสำเร็จประโยชน์แก่ผู้เห็นอย่างนั้น" มีความว่า

ก็แลความสำเร็จประโยชน์อันใด ย่อมมีแก่ผู้เห็นโดยอาการ ๒ โดย

เป็นอย่างสังเขปและอย่างพิสดาร ดังกล่าวมานั้น บัณฑิตพึงทราบนัย

สำหรับวินิจฉัย โดยความสำเร็จประโยชน์นั้นอีกบ้าง ข้อนี้คืออย่างไร

คือ ข้อแรก โดยสังเขป พระโยคาวจรผู้เห็นอุปาทานขันธ์ ๕ โดย

ความเป็นข้าศึกผู้เงื้อดาบ (จ้องจะฆ่าตน) เป็นต้นอยู่ ย่อมไม่เดือด

ร้อนเพราะขันธ์ทั้งหลาย ส่วนโดยพิสดาร ผู้เห็นขันธ์ทั้งหลายมีรูป

เป็นต้น โดยความเป็นเช่นก้อนฟองน้ำเป็นอาทิอยู่ ก็ชื่อว่าไม่เป็นผู้

เห็นสาระในสิ่งที่ไม่เป็นสาระทั้งหลาย

ว่าโดยพิเศษอีกนัยหนึ่งเล่า ผู้เห็นอัชฌัตติกรูปโดยความเป็นของ

๑. ตามอธิบายนี้ โดยสังเขป คือวินิจฉัยโดยรวบว่าขันธ์ ๕ โดยพิสดารก็คือวินิจฉัย

โดยแยกขันธ์ ๕ ออกไปเป็นอย่าง ๆ เท่านั้นเอง

๒. ดูเชิงอรรถ ๑ หน้า ๑๑๙. ๑๙.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 122

ไม่งามอยู่ ชื่อว่ากำหนดรู้กวฬิงการาหาร* ย่อมละความวิปลาสว่างาม

ในสิ่งที่ไม่งามเสียได้ ย่อมข้ามกามโอฆะได้ ย่อมแยกตัวออกจากกาม-

โยคะได้ ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ทางกามาสวะ ย่อมทำลายกายคันถะ

(เครื่องร้อยรัดนามกาย) คืออภิชฌาเสียได้ ย่อมไม่ถือมั่นอย่างกามุ-

ปาทาน ผู้เห็นเวทนาโดยความเป็นทุกข์อยู่ ชื่อว่ากำหนดรู้ผัสสหาร*

ย่อมละความวิปลาสว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์เสียได้ ย่อมข้ามภวโอฆะ

ย่อมแยกตัวออกจากภวโยคะได้ ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางภวาสวะ

ย่อมทำลายกายคันถะคือพยาบาทได้ ย่อมไม่ถือมั่นอย่างสีลัพพตุปาทาน

ผู้เห็นสัญญาและสังขารทั้งหลายโดยความเป็นอนัตตาอยู่ ชื่อว่ากำหนดรู้

มโนสัญเจตนาหาร* ย่อมละความวิปลาสว่าเป็นตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตน

เสียได้ ย่อมข้ามทิฏฐิโอฆะได้ ย่อมแยกตนออกจากทิฏฐิโยคะได้ ย่อม

เป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางทิฏฐาสวะ ย่อมทำลายกายคันกะ คือ อิทัง-

สัจจาภินิเวส (ความปักใจว่า นี่เท่านั้นจริง) เสียได้ ย่อมไม่ถือมั่น

อย่างอัตตวาทุปาทาน ผู้เห็นวิญญาณโดยความเป็นอนิจจัง ชื่อว่า

กำหนดรู้วิญญาณาหาร* ย่อมละความวิปลาสว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยงเสียได้

ย่อมข้ามอวิชชาโอฆะได้ ย่อมแยกตนออกจากอวิชชาโยคะได้ ย่อม

เป็นผู้หาอาสวะมิได้ทางอวิชชาสวะ ย่อมทำลายกายคันถะคือสีลัพพต-

ปรามาสได้ ย่อมไม่ถือมั่นอย่างทิฏฐุปาทาน

* มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า กวฬิงการาหารเป็นปัจจัยของรูป ผัสสาหารเป็นปัจจัยของ

เวทนา มโนสัญเจตนาก็คือตัวสังขาร ส่วนสัญญาก็สัมปยุตกับสังขารนั้น วิญญาณก็

วิญญาณตรงตัว เพราะฉะนั้น พิจารณาเป็นขันธ์ ๕ จนละฉันทราคะในขันธ์ได้ ก็เป็น

อันกำหนดรู้ คือละฉันทราคะในปัจจัยของขันธ์นั้น ๆ ได้ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 123

เพราะเหตุที่การเห็น (ขันธ์) โดยความเป็น

เพชฌฆาตเป็นต้น มีอานิสงส์มาก ดังนี้

เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาพึงเห็นขันธ์

ทั้งหลาย โดยความเป็นเพชฌฆาตเป็นต้น

เทอญ

บริเฉทที่ ๑๔ ชื่อ ขันธนิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 124

อายตน ธาตุนิเทศ

อายตนนิเทศ

อายตนะ ๑๒ คือ จักขวายตนะ รูปายตนะ โสตายตนะ สัท-

ทายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ

โผฏฐัพพายตนะ มนายตนะ ธัมมายตนะ ชื่อว่า อายตนะทั้งหลาย

วินิจฉันในอายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบ

โดยอรรถ และ โดยลักษณะ โดยความมี

เพียงนั้น โดยลำดับ โดยสังเขป โดยพิสดาร

อนึ่ง โดยเป็นสิ่งพึงเห็นด้วยแล

[โดยอรรถ]

[แก้จักษุศัพท์เป็นต้น]

ในบทเหล่านั้น ว่าโดยอรรถ (แห่งศัพท์) ที่แปลกกันก่อน

ธรรมชาตใดย่อมเห็น เหตุนี้ ธรรมชาตนั้นจึงชื่อ จักขุ ความ

(แห่งศัพท์จกฺขติ-เห็น) ว่า ย่อมยินดี (ลิ้มรส) รูป และย่อมบอก (ให้รู้)

รูป สิ่งใดย่อมแสดงสี เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อว่ารูป ความ (แห่งศัพท์

รูปยติ - แสดงสี) ว่า รูปเมื่อถึงความเปลี่ยนสีย่อมประกาศความในใจ๑

ธรรมชาตใดย่อมได้ยิน เหตุนี้ ธรรมชาตนั้นจึงชื่อ โสตะ สิ่งใด

ถูก (ปัจจัยของตน) เสือก (ส่ง) ออกไป เหตุนี้สิ่งนั้นจึงชื่อ สัททะ

๑. เช่นในเวลาเกิดกำหนัดหรือขัดเคือง รูปย่อมเปลี่ยนสีได้ มหาฎีกาให้อุปมาว่า

ดังรูปกิ้งก่า รูปศัพท์ในอรรถนี้ (คือที่หมายความว่าแสดงสี) ท่านทำวิเคราะห์ว่า รูปยติ

ส่วนในอรรถที่หมายถึงรูปขันธ์ ธ์ ท่านทำวิเคราะห์ว่า รุปฺปติ ดังกล่าวมาแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 125

ความ (แห่งศัพท์ สปฺปติ - ถูกส่งออกไป) ว่าถูกเปล่าขึ้น (ให้เป็น

สิ่งพึงรู้ได้ทางโสต)

ธรรมชาตใดย่อมสูด (เอากลิ่น) ได้ เหตุนี้ ธรรมชาตนั้นจึง

ชื่อ ฆานะ สิ่งใดย่อมฟุ้งไปได้ เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อ คันธะ (กลิ่น)

ความ (แห่งศัพท์ คนฺธยติ - ฟุ้งไป) ว่า ส่อที่อยู่ของตน

ธรรมชาติใดย่อมเรียกชีวิต เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อ ชิวหา

สัตว์ทั้งหลายย่อมชอบใจซึ่งวิสัยนั้น เหตุนั้น วิสัยนั้นจึงชื่อ รส (วิสัยเป็น

ที่ชอบใจแห่งสัตว์ทั้งหลาย) ความ (แห่งศัพท์ รสนฺติ- ชอบใจ) ว่า

ยินดี (รู้สึกอร่อย)

ธรรมอันชื่อว่ากาย เพราะเป็นอายะ (ที่มา) แห่งกุจฉิตธรรม

(ธรรมเลว) คือสาสวธรรม (ธรรมที่เป็นไปกับอาสวะ) ทั้งหลาย

คำว่า อายะ (ที่มา) ได้แก่ที่เกิด*

สิ่งใดถูกต้องได้ (ด้วยกาย) เหตุนี้ สิ่งนั้น จึงชื่อ โผฏฐัพพะ

สภาพใดย่อมรู้ เหตุนี้ สภาพนั้นจึงชื่อ มนะ สภาพทั้งหลายใด

ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน เหตุนี้ สภาพทั้งหลายนั้นจึงชื่อ ธรรม

[แก้อายตนศัพท์โดยแยกอวยวะ]

แต่ (เมื่อว่า) โดยว่าแปลกกัน พึงทราบว่าทวารและอารมณ์

มีจักขุและรูปเป็นต้นนั้น ได้ชื่อว่า อายตน เพราะเป็นที่สืบต่อ ๑

เพราะแผ่อายะทั้งหลาย ๑ เพราะนำอายตะไป ๑

* ตามนัยมหาฎีกา สาสวธรรมในทนี้ดูเหมือนหมายเอากามระคะเท่านั้น ท่านว่า

บรรดาฆานะชิวหาและกาย ซึ่งเป็นปัจจัยวิเศษของกามราคะนั้น กายเป็นปัจจัยวิเศษกว่า

เพื่อน เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายเมื่อยินดีความสุขในโผฏฐัพพะ จึงถึงกับเสพเมถุน

อันนับเป็นกุจฉิตธรรมได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 126

(อรรถนัยที่ ๑ คืออายตนโต - เพราะเป็นที่สืบต่อ) มีอธิบายว่า

ก็จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย ย่อมสืบต่อ คือ หมั่นเพียรพยายามไปตาม

กิจ (คือหน้าที่) ของตน ๆ มีการเสวย (รสอารมณ์) เป็นอาทิ ใน

ทวารและอารมณ์นั้น ๆ* มีจักขุและรูปเป็นต้น (เพราะเหตุนั้น ทวาร

และอารมณ์นั้น ๆ จึงชื่ออายตนะ) แปลว่า เป็นที่สืบต่อแห่งจิตเจตสิก

ธรรมทั้งหลาย)

(อรรถนัยที่ ๒ คือ อายานํ ตนนโต - เพราะแผ่อายะทั้งหลาย)

มีอธิบายว่า ก็แลทวารและอารมณ์ทั้งหลายนั้น ย่อมแผ่ คือขยาย (จิต

เจตสิก) ธรรมเหล่านั้นอันเป็นอายะ (ผู้มา) (เพราะเหตุนั้น ทวาร

และอารมณ์เหล่านั้นจึงชื่อ อายตนะ (แปลว่า แผ่ขยายอายะ คือ จิต-

เจตสิกธรรม)

(อรรถนัยที่ ๓ คือ อายตสฺส นยนโต - เพราะนำอายตะไป) มี

อธิบายว่า ก็ทวารและอารมณ์ทั้งหลายนั้นยังไม่กลับ (คือยังไม่ดับ)

เพียงใด ก็ย่อมนำไปคือยังสงสารทุกข์อันเป็นไปในสงสาร ซึ่งมีเบื้องต้น

เบื้องปลายที่รู้ไม่ได้ เป็นอายตะ (คือยืดเยื้อ) ยิ่งนักอยู่แล้ว ให้เป็นไป

* ปาฐะในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (๒๕๐๓) เป็น ตํตํทฺวารารมฺมณา เข้าใจว่าคลาด

เคลื่อน เพราะไม่เข้าลักษณะอะไรในไวยากรณ์ ที่จะแปลให้เป็นภาษาได้ ว่าโดยรูปทวัน-

ทวสมาสก็ต้องเป็นนปุํ. คือเป็น ทฺวารารมฺมณานิ เห็นได้ในประโยคหลัง (บรรทัดที่ ๓)

ท่านใช้สัพพนามว่า เอตานิ จะจับให้เป็นวิเสสนะของธมฺมา ร่วมกับจิตฺตเจตสิกา เล่า

ก็ไม่เข้าเรื่องอะไรทั้งสิ้น

อายตนศัพท์ในอรรถนี้เป็นอธิกรณสาธนะ ก็แล้วศัพท์ไหนเล่าเป็นตัวอธิกรณะ

ความบ่งอยู่ว่า ทฺวารารมฺมณ นั่นเองเป็นตัวอธิกรณะ จึงตกลงแก้เป็น ทฺวารารมฺมเณสุ

เป็นอธิกรณะในอายตนุติ ได้ทั้งไวยากรณ์และอรรถพยัญชนะทุกอย่าง ดังแปลไว้นั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 127

อยู่นั่นเพียงนั้น (เพราะเหตุนั้น ทวารและอารมณ์ทั้งหลายนั้น จึงชื่อ

อายตนะ (แปลว่านำอายตนะ คือสงสารทุกข์อันยืดเยื้ออยู่แล้วไป)

ธรรมทั้งปวงนี้ ได้ชื่อว่าอายตนะ ๆ เพราะเป็นที่สืบต่อ (แห่ง

จิตเจตสิก) ๑ เพราะแผ่อายะ (คือจิตและเจตสิกที่มาในทวารและ

อารมณ์นั้น ๆ ) ๑ เพราะนำอายตะ (คือสารทุกข์อันยืดเยื้ออยู่แล้ว)

ไป ๑ โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

[แก้อายตนศัพท์โดยปริยาย]

อีกนัยหนึ่ง อายตน (ศัพท์) พึงทราบโดยอรรถว่าเป็นสถานที่

อยู่ ๑ โดยอรรถว่าเป็นบ่อเกิด ๑ โดยอรรถว่าเป็นที่ชุมนุม ๑ โดย

อรรถว่าเป็นถิ่น (หรือแหล่ง) กำเนิด ๑ โดยอรรถว่าเป็นเหตุ ๑

จริงอย่างนั้น สถานที่อยู่ เรียกว่า อายตนะ (ได้) ในคำว่า

"อิสฺสรายตนํ - ศาลพระอิศวร วาสุเทวายตนํ - ศาลพระวาสุเทพ"

เป็นต้น บ่อเกิด ก็เรียกอายตนะ (ได้) ในคำว่า "สุวณฺณายตนํ-

บ่อทอง รตนายตนํ - บ่อแก้ว (เพชรพลอย) " เป็นต้น ส่วนในพระ

ศาสนา๑ (นี้) สถานเป็นที่ชุมนุม ก็เรียกอายตนะ (ได้) ในคำว่า

"มโนรเม อายตเน เสวนฺติ นํ วิหงฺคมา๒ - ฝูงวิหคในอรัญอันเป็น

ที่ชุมนุมที่น่ารื่นรมย์ในย่อมเสพต้นไม้ใหญ่นั้น" เป็นต้น ถิ่น (หรือ

แหล่ง) กำเนิด ก็เรียกอายตนะ (ได้) ในคำว่า "ทกฺขิณาปโถ คุนฺนํ

๑. สาสเน ศัพท์นี้เรียงไว้เพื่อประโยชน์อะไร ?

๒. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๔๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 128

อายตนํ - ประเทศทักขิณาบถ (แถบใต้) เป็นถิ่นกำเหนิดแห่งโคทั้งหลาย"

เป็นต้น เหตุ ก็เรียกอายตนะ (ได้) ในคำว่า "ตตฺร ตเตฺรว สกฺขิ-

ภพฺพตํ ปาปุณาติ สติ สติ อายตเน๑ - เมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่ ภิกษุ

นั้นย่อมถึงความเป็นผู้อาจทำให้ประจักษ์ในธรรมนั้น ๆ ทีเดียว" เป็นต้น

อีกปริยายหนึ่ง จิตและเจตสิกธรรมนั้น ๆ ก็ (เป็นเหมือน)

อาศัยอยู่ในทวารและอารมณ์ทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น เพราะมีความเป็นไป

เนื่องกับจักขุเป็นต้นนั้น เหตุนั้นทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น จึงได้

ชื่อว่าเป็นที่อยู่แห่งจิตเจตสิกเหล่านั้น ประการ ๑

อนึ่ง จิตเจตสิกเหล่านั้น (เป็นเหมือน) เกลือนกล่นอยู่ในจักขุ

เป็นต้น เพราะอาศัยจักขุเป็นต้นนั้น (เป็นทวาร) และเพราะมีรูป

เป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์ เหตุนั้นทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น จึงได้

ชื่อว่าเป็นบ่อเกิด๒แห่งจิตเจตสิกเหล่านั้น ประการ ๑

ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น ได้ชื่อว่าเป็นที่ชุมนุมแห่งจิตเจต-

สิกเหล่านั้น เพราะ (จิตเจตสิกเหล่านั้นเป็นเหมือน) ประชุมกันอยู่

ในทวารและอารมณ์นั้น ๆ โดย (มีจักขุเป็นต้นนั้น) เป็นวัตถุ (ที่ตั้ง

ที่อยู่) เป็นทวารและเป็นอารมณ์ ประการ ๑

ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งกำเนิดแห่ง

จิตเจตสิกเหล่านั้น เพราะ (จิตเจตสิกเหล่านั้น) เกิดขึ้นแต่ในจักขุ

เป็นต้นนั้นเท่านั้น โดยมีจักขุเป็นต้นนั้นเป็นที่อาศัย และ มีรูปเป็นต้น

เป็นอารมณ์ ประการ ๑

๑. องฺ. ติก. ๒๐/๓๓๑

๒. ปาฐะเป็น อากโรติ ผิด ที่ถูกเป็น อากโร [ไม่มีติ]

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 129

ทวารและอารมณ์มีจักขุเป็นต้น ได้ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งจิตเจตสิก

ทั้งหลายนั้น เพราะเมื่อทวารและอารมณ์เหล่านั้นไม่มี (จิตเจตสิก)

ก็ไม่มี ประการ ๑

ธรรมทั้งหลาย (มีจักขุและรูปเป็นต้น) นั่นได้ชื่อว่า อายตนะ ๆ

แม้โดยเหตุเหล่านี้คือ โดยอรรถว่าเป็นสถานที่อยู่ ๑ โดยอรรถว่าเป็น

บ่อเกิด ๑ โดยอรรถว่าเป็นที่ชุมนุม ๑ โดยอรรถว่าเป็นถิ่น (หรือ

แหล่ง) กำเนิด ๑ โดยอรรถว่าเป็นเหตุ ๑ โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้แล

เพราะเหตุนั้น วินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้พึงทราบโดยอรรถอย่างนี้

ก่อนว่า จักขุด้วย จักขุนั้นเป็นอายตนะโดยอรรถตามที่กล่าวแล้วด้วย๑

เหตุนั้นจึงชื่อจักขายตนะ๒ ฯลฯ ธรรมทั้งหลายด้วย ธรรมเหล่านั้นเป็น

อายตนะ โดยอรรถตามที่กล่าวแล้วด้วย เหตุนั้นจึงชื่อธรรมายตนะ

[โดยลักษณะ]

คำว่าลักษณะ คือวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้ พึงทราบโดยลักษณะ

แห่งจักขุเป็นต้นด้วย ก็แลลักษณะทั้งหลายแห่งจักขุเป็นต้นเหล่านั้น ๆ

บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธนิเทศเถิด

[โดยมีเพียงนั้น]

คำว่า ตาวตฺวโต คือ ตาวภาวโต - โดยความมีเพียงนั้น พระ

พุทธาธิบายนี้มีอยู่ว่า "หากมีคำท้วงว่า 'ก็ธรรมทั้งหลายมีจักขุเป็นอาทิก็

๑. คือโดยอรรถว่า ชื่อว่าจักขุเพราะเห็นเป็นต้น และชื่อว่าอายตนะ เพราะเป็นที่

สืบต่อ เพราะเป็นที่อยู่เป็นต้น ที่กล่าวมาแล้ว

๒. ไม่สมกับข้างต้น ที่เป็น จักขวายตนะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 130

คือธรรมนั่นแหละเมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนจึงไม่ตรัสว่า 'ธรรมายตนะ'

แต่เท่านั้น (แต่) ตรัสอายตนะถึง ๑๒ เล่า" คำเฉลยพึงมีว่า "เพราะ

ในที่นี้แยกเป็นทวารฝ่าย ๑ เป็นอารมณ์ฝ่าย ๑ แห่งกองวิญญาณ ๖

โดยที่ทรงกำหนด (จักขุและรูปเป็นต้นนั้นไว้) เป็นอุบัติทวารและเป็น

อารมณ์แห่งกอบวิญญาณ ๖ นี่เองเป็นความต่างแห่งธรรมเหล่านั้น

เพราะเหตุนี้ จึงตรัสอายตนะถึง ๑๒ แท้จริง จักขายตนะเท่านั้นเป็น

อุบัติทวารและรูปายตนะเท่านั้นเป็นอารมณ์ แห่งกองวิญญาณที่เนื่องใน

วิถีของจักขุวิญญาณ ฉันเดียวกันนั้น อายตนะนอกนั้นก็เป็นอุบัติทวาร

และเป็นอารมณ์แห่งกองวิญญาณที่เนื่องในวิถีของวิญญาณนอกนี้ ส่วน

มนายตนะเป็นเอกเทส (ส่วนหนึ่ง) ซึ่งได้แก่ ภวังคมนะ* เท่านั้น

เป็นอุบัติทวาร และธรรมายตนะเป็นอารมณ์แห่งกองวิญญาณที่ ๖ ไม่

ทั่วไป (แก่วิญญาณอื่นมีจักขุวิญญาณเป็นต้น)"

อายตนะ ๑๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส โดยที่ทรงกำหนดไว้เป็น

อุบัติทวารและเป็นอารมณ์แห่งกองวิญญาณ ๖ ดังนี้แล

วินิจฉัยโดยความมีเพียงนั้น ในอายตนะเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยลำดับ]

ข้อว่าโดยลำดับ ความว่า บรรดาลำดับทั้งหลาย มีลำดับความ

เกิดเป็นต้นที่กล่าวในนิเทศก่อน แม้ในที่นี้ก็ลำดับการแสดงเท่านั้น

* มหาฎีกาว่าหมายเอา ภวังคมนะ ที่ไหวสองครั้งแล้วเป็นไปพอจะให้เกิดอาวัชนะ

จึงเป็นอุบัติทวารได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 131

แหละใช้ได้ แท้จริงในเหล่าอายตนะภายใน จักขายตนะเป็นอายตนะ

ที่ปรากฏ เพราะเป็นวิสัยที่เห็นได้และกระทบได้ เหตุนี้จึงทรงแสดง

เป็นข้อแรก ต่อนั้นจึงทรงแสดงอายตนะที่เหลือมีโสตายตนะเป็นต้น

อันเป็นวิสัยที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ อีกนัยหนึ่ง ในเหล่าอายตนะ

ภายใน จักขายตนะและโสตายตนะ ทรงแสดงก่อนเพราะเป็นสิ่งมี

อุปกะระมากโดยความเป็นเหตุแห่งทัสนานุตริยะและสวนานุตริยะ ต่อนั้น

จึงทรงแสดงอายตนะ ๓ มีฆานายตนะเป็นอาทิ มนายตนะทรงแสดง

ไว้ในที่สุด เพราะเป็นโคจรวิสัยแห่งอายตนะ ๕ มีจักขายตนะเป็นต้น

ส่วนในเหล่าอายตนะภายนอก อายตนะ ๖ มีรูปายตนะเป็นต้น ทรง

แสดงไว้เป็นลำดับ ๆ แห่งอายตนะภายในนั้น ๆ เพราะเป็นโคจรแห่ง

อายตนะภายในมีจักขายตนะเป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง ลำดับของอายตนะทั้งหลายนี่ บัณฑิตพึงทราบ

โดยกำหนด (แจกไปตามลำดับ) เหตุเกิดแห่งวิญญาณก็ได้ จริงอยู่

คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุ-

วิญญาณ ฯลฯ อาศัยมนะและธรรมทั้งหลาย เกิดมโนวิญญาณ"

ดังนี้

ก็แล วินิจฉัยโดยลำดับในอายตนะเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยสังเขปและโดยพิสดาร]

ข้อว่า โดยสังเขปและพิสดาร ความว่า "เมื่อว่าโดยสังเขป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 132

อายตนะทั้ง ๑๒ ก็เป็นแต่นามรูปเท่านั้น เพราะมนายตนะและธรรมา-

ยตนะเป็นส่วนหนึ่ง สงเคราะห์เข้ากับนาม และอายตนะที่เหลือนั้น

สงเคราะห์เข้ากับรูป แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร (ว่า) ในอายตนะภายใน

ก่อน จักขายตนะ โดยชาติก็เป็นแต่จักขุปสาทเท่านั้น แต่แตกออก

ไปเป็น ปัจจัย คติ นิกาย และบุคคล๑ ก็มีประเภทเป็นอนันต์ อายตนะ ๔

มี โสตายตนะเป็นต้น ก็อย่างนั้น มนายตนะมี ๘๙ ประเภท โดย

แยกเป็นกุศลวิญญาณ อกุศลวิญญาณ วิบากวิญญาณ และกิริยา-

วิญญาณ และ (อีกอย่างหนึ่ง) มีถึง ๑๒๑ ประเภท๒ แต่เมื่อแยกเป็น

วัตถุและปฏิปทาเป็นต้น๓ก็มีประเภทเป็นอนันต์

รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ และรสายตนะ ก็มีประเภท

เป็นอนันต์ โดยแยกเป็น (สภาค) วิสภาค และปัจจัย๔ เป็นต้น

โผฏฐัพพายตนะมี ๓ ประเภท ด้วยอำนาจแห่งปฐวีธาตุ เตโชธาตุ

และวาโยธาตุ (แต่) โดยความแตกต่างแห่งปัจจัยเป็นต้น ก็มีประเภท

เป็นอเนก ธรรมายตนะก็มีประเภทเป็นอเนก โดยความแตกต่างแห่ง

สภาวะและความต่างกันแห่งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า ปัจจัยมีกรรมเป็นต้น คติมีนรกเป็นต้น นิกาย คือ

สัตวนิกาย (พวกสัตว์) พวกติรัจฉาน เช่น ช้าง ม้า พวกมนุษย์ เช่นกษัตริย์เป็นต้น

บุคคล หมายถึงสันดานของสัตว์นั้น ๆ

๒. มหาฎีกาว่า โลกุตรจิตเว้นจากฌานไม่มี เพราะฉะนั้น โลกุตรจิต ๘ คูณด้วยฌาน

๕ จึงเป็น ๔๐ รวมเข้ากับโลกิยจิต ๘๑ จึงเป็น ๑๒๑

๓. มหาฎีกาว่า วัตถุ - ที่อาศัย มีจักขุเป็นต้น ปฏิปทามีทุกขาปฏิปทาเป็นต้น

๔. มหาฎีกาให้ตัวอย่าง เช่น รูปสีเขียว ก็เป็นสภาคแห่งรูปสีเขียว สีอื่นก็เป็นวิสภาค

ปัจจัยมีกรรมเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 133

สุขุมรูปและนิพพาน"

วินิจฉัยโดยสังเขปและโดยพิสดาร บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมา

ฉะนี้

[โดยเป็นสิ่งพึงเห็น]

ส่วนในข้อว่า 'โดยเป็นสิ่งพึงเห็น' นี้ มีวินิจฉัยว่า "อายตนะ

ทั้งหลายที่เป็นสังขตะทั้งสิ้น พึงเห็นโดยความไม่มา และโดยความไม่

จากไป* จริงอยู่ อายตนะเหล่านั้น ก่อนเกิดขึ้นก็มิได้มาแต่ที่ไหน ๆ

ทั้งเบื้องหน้าแต่เสื่อมไปก็มิได้ไปในที่ไหน ๆ โดยที่แท้ ก่อนเกิดขึ้น

มันก็ยังไม่ได้ (มี) สภาวะ เบื้องหน้าแต่เสื่อมไป มันก็เป็นสิ่งที่มี

สภาวะอันแตกไปแล้ว ในท่ามกลาง (ระหว่าง) ต้นกับปลาย ก็เป็น

สิ่งไม่มีอำนาจเป็นไป เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย เพราะ

เหตุนั้น อายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงเห็นโดยความไม่มา และโดย

ความไม่จากไปเถิด

นัยเดียวกันนั้นพึงเห็นโดยไม่มีความดำริ และโดยไม่มีความ

ขวนขวาย จริงอยู่ ความดำริอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่จักขุและรูปเป็นต้นว่า

"โอ ชื่อว่าวิญญาณพึงเกิดขึ้นในเพราะความพร้อมเพรียงของเราทั้งหลาย

เถิด" ทั้งจักขุและรูปเป็นต้นเหล่านั้นไม่ดำริ ไม่ถึงความขวนขวายโดย

ความเป็นทวารก็ดี โดยความเป็นวัตถุก็ดี โดยความเป็นอารมณ์ก็ดี

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น นิคมนโต เข้าใจว่าจะคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น นิคฺ. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 134

เพื่อให้วิญญาณเกิดขึ้น๑ ที่แท้มันเป็นธรรมดานี่เอง ที่วิญญาณทั้งหลาย

มีจักขุวิญญาณเป็นอาทิเกิดขึ้นในเพราะความพร้อมเพรียงแห่งจักขุและ

รูปเป็นต้นแล เพราะเหตุนั้น อายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงเห็นโดย

ไม่มีความดำริและโดยไม่มีความขวนขวายเถิด

อีกอย่างหนึ่ง อายตนะภายในพึงเห็นเหมือนบ้านร้าง๒ เพราะ

ปราศจากความยั่งยืน ความงาม ความสุข และความเป็นตัวตน

อายตนะภายนอกพึงเห็นเหมือนโจรปล้นหมู่บ้าน เพราะอายตนะภาย

อายตนะภายนอกพึงเห็นเหมือนโจรปล้นหมู่บ้าน เพราะอายตนะภาย

นอกเหล่านั้นเป็นฝ่ายอภิฆาต (กระทบ เบียดเบียน) ซึ่งอายตนะ

ภายใน สมพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักขุถูกรูปทั้งหลายทั้งที่

น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจเบียดเบียนเอา๓" ดังนี้เป็นต้น ความพิสดาร

บัณฑิตพึงทราบ (ตามแนวพระบาลีนั้นเทอญ)

อีกอย่างหนึ่ง อายตนะภายในพึงเห็นเหมือนสัตว์ ๖ จำพวก

อายตนะภายนอกพึงเห็นเหมือนที่โคจรแห่งสัตว์ ๖ จำพวกนั้น๔"

๑. มหาฎีกาท่านแปล อีหา ว่าความดิ้นรนขวนขวาย (สปริผนฺทกิริยาวเสน อีหนํ)

แปล พฺยาปาร ว่าคิด (จินฺตนวเสน พฺยาปารณํ) กลับกันกับที่แปลในที่นี้ และท่านว่า

ปาฐะ น หิ จกฺขรูปาทีนํ เอวํ โหติ. . . แสดงพิยาปาร ส่วน น จ ตานิ. . . แสดง

อีหา ด้วยเหตุนี้ท่านเลยปรับเอาว่า ปาฐะในวิสุทธิมรรคนี้เรียงผิดลำดับ (อุปฺปฏิปาฏิ-

วจนํ) คือเรียงอีหาก่อนพิยาปาร ทำไมท่านจึงว่าเช่นนี้ยังนึกหาเหตุไม่ได้

๒. ปาฐะเป็น สุญฺญาคาโม ผิด ที่ถูกเป็น สุญฺญคาโม

๓. สํ. สฬา. ๑๘/๒๑๙. แต่ในบาลีเป็น มนาปามนาเปสุ รูปเปสุ ถ้าเช่นนั้นจะต้องแปล

ว่า จักขุเดือนร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย....กระมังกระมัง

๔. มหาฎีกาว่า สัตว์ ๖ จำพวก ได้แก่ อหิ - งู สุํสุมาร - จรเข้ ปักขิ - นก กุกฺกฺร-

สุนัขบ้าน สิงคาล - สุนัขป่า มักกฏ - ลิง ที่โคจรแห่งสัตว์ ๖ จำพวกนั้น ได้แก่ วิสม-

ที่รก พิล - วังน้ำ อากาส - ท้องฟ้า คาม - หมู่บ้าน สุสาน - ป่าช้า วน - ป่าไม้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 135

วินิจฉัยโดยเป็นสิ่งพึงเห็น ในอายตนะเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารแห่งอายแห่งอายตนะทั้งหลาย เป็นอันดับแรก

ธาตุนิเทศ

ส่วนธาตุ อันกล่าวไว้ต่ออายตนะนั้นไป มีวินิจฉัยว่า ธาตุ ๑๘

คือจักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสต-

วิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ

รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณ-

ธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ชื่อว่าธาตุทั้งหลาย

วินิจฉัยในธาตุเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบโดย

อรรถ โดยลักษณะเป็นต้น โดยลำดับ โดย

ความมีเพียงนั้น โดยความนับ (จำนวน) โดย

ปัจจัย และโดยเป็นสิ่งพึงเห็น

[โดยอรรถ]

ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า โดยอรรถ ความว่า วินิจฉัยโดยอรรถ

ที่แปลกกันแห่งจักขุศัพท์เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยเช่นว่า "ธรรม-

ชาติใดย่อมบอก เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าจักขุ สิ่งใดย่อมแสดงสี

เหตุนี้สิ่งนั้นจึงชื่อว่ารูป ความรู้แจ้งแห่งจักขุ ชื่อว่าจักขุวิญญาณ"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 136

ดังนี้เป็นต้นก่อน ส่วนว่าวินิจฉัยโดยอรรถที่ไม่แปลกกัน พึงทราบดังนี้

ธรรมใดย่อมจัด (จำทุกข์ให้เกิดขึ้น) เหตุนี้ ธรรมนั้นจึงชื่อ

ว่าธาตุ (แปลว่าธรรมผู้จัดขึ้น๑)

หรือว่า ธรรมทั้งหลายใด อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือถือ

ไว้) เหตุนี้ ธรรมทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่า ธาตุ (แปลว่า ธรรมที่

สัตว์ทรงไว้)

หรือว่า วิธาน - การตั้งไว้ (คือกฎเกณฑ์) ชื่อว่าธาตุ

หรือว่า ทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือถือไว้) ด้วย

ธรรมชาตินั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าธาตุ (แปล

ว่า ธรรมชาติเป็นเหตุทรง (ทุกข์) ไว้ แห่งสัตว์ทั้งหลาย)

หรือว่า ทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือตั้งไว้) ในธรรม

ชาตินั่น เหตุนี้ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าธาตุ (แปลว่า ธรรมชาติเป็นที่

อันสัตว์ทรง (ทุกข์) ไว้)

จริงอยู่ ธาตุทั้งหลายที่เป็นโลกิยะ เป็นสิ่งที่ธรรมดากำหนดไว้

โดยความเป็นตัวมูลเหตุ ย่อมจัดแจงสังสารทุกข์ขึ้นเป็นอเนกประการ

ดุจธาตุ (แร่) ทั้งหลาย มีธาตุทองธาตุเงินเป็นอาทิ จัดสรรโลหะ

มีทองและเงินเป็นต้นขึ้น ฉะนั้น๒

๑. วิทหติ (ซึ่งแปลว่าจัด ในที่นี้) มหาฎีกาให้ความหมายว่า 'ทำให้เกิดขึ้น ดุจ

บังคับว่า เจ้าต้องเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้' เพราะฉะนั้น จะแปลโดยความอีกอย่างหนึ่ง

ว่า 'บังคับ' ตรง ๆ ก็น่าจะได้ในลางแห่ง

๒. มหาฎีกาว่า โลกุตรธาตุ ย่อมไม่จัดแจงสังสารทุกข์ให้เกิดขึ้น มีแต่รื้อทำลายทุกข์

เพราะฉะนั้น ในที่นี้ท่านจึงเรียง 'โลกิยะ' เป็นวิเสสนะกำกับไว้ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 137

อนึ่ง โลกิยธาตุทั้งหลายนั้นอันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ หมายความ

ว่า (ยึด) ถือไว้ ดุจภาระ (ของหนัก) อันคนทั้งหลายผู้ขนภาระ

ถือ (แบกหาม) ไป ฉะนั้น

อนึ่ง โลกิยธาตุนั้น เป็นแต่ทุกขวิธาน (กฎเกณฑ์แห่งทุกข์)

เท่านั้น เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร)

อนึ่ง สังสารทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายตาม (ยึด) ถือไว้ ก็ด้วย

ธาตุทั้งหลายนั่นเป็นเหตุ

อนึ่ง สังสารทุกข์นั้นที่ถูกจัดไว้แล้วอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายก็ทรงไว้

หมายความว่า ตั้งไว้ในธาตุทั้งหลายนั่นแล

ในธรรมทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น ธรรมแต่ละข้อทรงเรียกว่าธาตุ

ก็ด้วยอำนาจแห่งความหมาย มีความหมายว่า 'วิทหติ - จัดขึ้น วิธียเต-

อันสัตว์ทรงไว้' เป็นต้น ตามความที่เป็นได้ ดังกล่าวมาฉะนี้

อีกนัยหนึ่ง ธาตุนี่หาเหมือนอัตตาของพวกเดียรถีย์ซึ่งมิได้มีอยู่

โดยสภาวะไม่ แต่ธาตุนี่ ได้ชื่อว่าธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน

อนึ่ง เสลาวยวะ (ชิ้นหิน) ทั้งหลายมีหรดาลและมโนศิลา

เป็นต้น อันวิจิตร (แปลก ๆ ) ในโลก ก็เรียกว่าธาตุ ฉันใด แม้

ธาตุทั้งหลายนี้ ก็เหมือนธาตุทั้งหลายนั่น เพราะมันก็เป็นอวยวะแห่ง

ความรู้และสิ่งที่ควรรู้อันวิจิตร ฉันนั้นแล หรือเปรียบเหมือนสมญาว่า

ธาตุ ย่อมมีได้ในโกฏฐาสทั้งหลายอันกำหนดลักษณะต่างกันและกัน เช่น

รสและโลหิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอวยวะแห่งกลุ่ม กล่าวคือสรีระ ฉันใด

สมญาว่าธาตุ ก็พึงทราบ (ว่ามีได้) แม้ในอวยวะทั้งหลายแห่งอัตภาพ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 138

กล่าวคือปัญจขันธ์นี่ ฉันนั้น เพราะอวยวะมีจักขุเป็นต้นนั่นก็กำหนด

ลักษณะต่างกันและกันได้แล๑

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ธาตุ นั่นเป็นคำเรียกสภาวะที่เป็นนิรชีพ

(ไม่มีชีพ) เท่านั้นเอง จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทำ

ธาตุเทศนาเพื่อถอนชีวสัญญา (ความสำคัญว่าชีพ) ไว้ในพระบาลีว่า

"ดูกรภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ ๖" ดังนี้เป็นอาทิแล๒

เพราะเหตุนั้นแล โดยอรรถตามที่กล่าวมา (บัณฑิตพึงทราบ

วิเคราะห์ว่า) จักขุด้วย จักขุนั้นเป็นธาตุด้วย จึงชื่อจักขุธาตุ ฯลฯ

มโนวิญญาณด้วย มโนวิญญาณนั้นเป็นธาตุด้วย จึงเชื่อมโนวิญญาณธาตุ

แล

วินิจฉัยโดยอรรถในธาตุเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมา

ฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[โดยลักษณะเป็นต้น]

ข้อว่าโดยลักษณะเป็นต้น๓ ความว่า วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น

แห่งธาตุมีจักขุเป็นอาทิในนิเทศนี้ บัณฑิตก็พึงทราบด้วย ก็แต่ว่า

ลักษณะเป็นต้นนั้นแห่งธาตุทั้งหลายนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วใน

๑. ความท่อนนี้ ตอนต้นดูเหมือนหมายความว่า อวยวะ คือชิ้นส่วนย่อย ๆ เรียกว่าธาตุ

ส่วนตอนหลังดูเหมือนหมายความว่า อวยวะซึ่งกำหนดลักษณะต่างกันได้ จึงเรียกว่า

ธาตุ (?)

๒. ม. อุ. ๑๔๑๔๓๖.

๓. หมายถึง ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐน และปทัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 139

ขันธนิเทศเถิด

[โดยลำดับ]

ข้อว่า โดยลำดับ ความว่า แม้ในที่นี้ บรรดาลำดับทั้งหลายมี

ลำดับแห่งความเกิดเป็นต้นที่กล่าวแล้วในนิเทศก่อน ก็ลำดับแห่งการ

แสดงเท่านั้นใช้ได้ ก็แลลำดับแห่งการแสดงนี้นั้น ท่านกล่าวโดย

กำหนดลำดับแห่งเหตุและผล จริงอยู่ ธาตุสองนี้คือจักขุธาตุ รูปธาตุ

เป็นเหตุ ธาตุหนึ่งคือจักขุวิญญาณธาตุเป็นผล ลำดับอย่างนี้ บัณฑิต

พึงทราบในธาตุที่เหลือทั้งปวง

[โดยความมีเพียงนั้น]

คำว่า ตาวตฺวโต คือ ตาวภาวโต - โดยความมีเพียงนั้น พระ

พุทธาธิบายนี้มีอยู่ว่า หากมีคำท้วงว่า "ก็แม้ธาตุทั้งหลายอื่น เช่นว่า

'อาภาธาตุ สุภธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิยญาณัญจายตนธาตุ

อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ สัญญาเวทยิตนิโรธ-

ธาตุ กามธาตุ พยาบาทธาตุ วิหิงสาธาตุ เนกขัมมธาตุ อพยา-

บาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสธาตุ โสมนัส-

ธาตุ อุเบกขาธาตุ อวิชชาธาตุ อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกม-

ธาตุ หีนธาตุ มัชฌิมธาตุ ปณีตธาตุ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโช-

ธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ สังขตธาตุ อสังขตธาตุ

โลกมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่าง ๆ ' ดังนี้เป็นต้นก็ปรากฏอยู่ในลางที่

แห่งพระสูตรและพระอภิธรรมนั้น ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ เหตุไฉนพระ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 140

ผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงทำปริเฉท (กำหนดจัดเข้าเป็นหมวด) โดย

อำนาจแห่งธาตุทั้งสิ้น มาทรงทำปริเฉทแต่ว่าธาตุ ๑๘ เหล่านี้เล่า"

ดังนี้ไซร้ คำเฉลยพึงมีว่า "เพราะธาตุทั้งปวงอันมีอยู่โดยสภาวะ ก็

แท้จริง อาภาธาตุ ก็คืออรูปธาตุ ส่วนสุภธาตุก็เนื่องอยู่ในรูป-

ธาตุเป็นต้น เพราะอะไร ? เพราะสุภธาตุก็คือสุภนิมิต จริงอยู่

สุภธาตุ คือสุภนิมิต และสุภนิมิตนั้นพ้นไปจากรูปเป็นต้นหามีไม่ นัย

หนึ่ง สุภธาตุก็คือธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นที่เป็นอารมณ์แห่งกุศลวิบาก

เพราะเหตุนั้น สุภธาตุนั้น ก็คือรูปธาตุเป็นต้นเท่านั้นเอง

จิตในอรูปธาตุ ๔ มีอากาสานัญจายตนธาตุเป็นต้น ก็เป็นมโน-

วิญญาณธาตุ ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เป็นธรรมธาตุ ส่วนสัญญา-

เวทยิตนิโรธธาตุ ไม่มีโดยสภาวะ เพราะสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุนั้น เป็น

แต่ความดับแห่งธาตุ ๒ (คือมโนวิญญาณธาตุและธรรมธาตุ) เท่านั้น

กามธาตุ ก็เป็นแต่ธรรมธาตุ ดังพระบาลีว่า "ในธาตุเหล่านั้น

กามธาตุเป็นอย่างไร ? กามธาตุคือความคิด ความตรึก ฯลฯ ความ

ดำริผิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยกาม๑" ดังนี้ หรือมิฉะนั้น ก็เป็นธาตุทั้ง ๑๘

ดังพระบาลีว่า "เบื้องต่ำทำอเวจีนรกให้เป็นที่สุด เบื้องสูงทำพวกเทพ

ปรนิมมิตรสวัตดีไว้ภายใน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา

สังขาร วิญญาณ ที่ท่องเที่ยวอยู่ในภพทั้งหลายนั่น ที่เนื่องอยู่ในภพ

ทั้งหลายนั่น ในระหว่าง (ที่กำหนด) นั้น อันใด อันนี้เรียกว่ากาม-

๑ อภิ. วิ. ๓๕/๑๐๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 141

ธาตุ๑" ดังนี้

เนกขัมมธาตุ เป็นธรรมธาตุแท้ แม้จะเป็นมโนวิญญาณธาตุ

ก็ได้เหมือนกัน เพราะ (มี) บาลีว่า "ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลทั้งปวง

ชื่อเนกขัมมธาตุ"๒

พยาบาทธาตุ วิหิงสาธาตุ อพยาบาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ สุขธาตุ

ทุกขธาตุ โสมนัสธาตุ โทมนัสธาตุ อุเบกขาธาตุ อวิชชาธาตุ อารัมภ-

ธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ก็เป็นธรรมธาตุเหมือนกัน

หีนธาตุ มัชฌิมธาตุ ปณีตธาตุ ก็ธาตุ ๑๘ นั่นเองแหละ จริง

อยู่ ธาตุมีจักขุธาตุเป็นต้น ที่เลว ก็เป็นหีนธาตุ ที่ปานกลางและ

ที่ประณีต ก็เป็นมัชณิมธาตุ และปณีตธาตุ แต่ (เมื่อว่า) โดย

นิปริยาย (สิ้นเชิง) ธรรมธาตุและมโนวิญญาณธาตุทั้งหลายฝ่ายอกุศล

จัดเป็นหีนธาตุ ธาตุทั้งสอง (นั้น) ฝ่ายกุศลและอัพยากฤต และ

จักขุธาตุเป็นต้นด้วยที่เป็นโลกิยะ จัดเป็นมัชฌิมธาตุ ส่วนธรรมธาตุ

และมโนวิญญาณธาตุที่เป็นโลกุตระ จัดเป็นปณีตธาตุ

ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ก็ได้แก่โผฏฐัพพธาตุ อาโป

ธาตุและอากาสธาตุ จัดเป็นธรรมธาตุ วิญญาณธาตุก็เป็นสังเขปแห่ง

วิญญาณธาตุ ๗ มีจักขุวิญญาณเป็นต้นนั่นแหละ๓

๑. อภ. วิ. ๓๕/๑๐๖.

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๑๐๗.

๓. มหาฎีกาว่า วิญญาณธาตุ โดยทั่วไปก็แจกเป็น ๖ แต่ในที่นี้ท่านถือเอาตัวมโนธาตุ

(ธาตุรู้) เข้าด้วย จึงเป็น ๗ เพราะมโนธาตุเป็นทั้งปุเรจาริกและปัจฉาจาริกแห่ง

วิญญาณธาตุนั้น (หมายความว่ามโนธาตุมีอยู่ก่อนวิญญาณธาตุ และเมื่อวิญญาณธาตุดับ

ไปแล้ว มโนธาตุก็ยังไปอยู่ เช่นนั้นกระมัง ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 142

ธาตุ ๑๗๑ เอกเทสแห่งธรรมธาตุ เป็นสังขตธาตุ ส่วนอสัง-

ขตธาตุ ได้แก่เอกเทสแห่งธรรมธาตุอย่างเดียว

ส่วนอเนกธาตุนานาธาตุโลก ก็คือความแตกออกไป (เป็น

หลายอย่างต่างชนิด) แห่งธาตุ ๑๘ เท่านั้นเองแล๒

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธาตุแต่ ๑๘ เพราะธาตุทั้งปวงอันมีอยู่

โดยสภาวะ ตกอยู่ภายในธาตุ ๑๘ นั้นแล้ว ดังกล่าวมาฉะนี้แล

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธาตุแต่ ๑๘ เพื่อถอนสัญญา

ของบุคคลจำพวกชีวสัญญี (มีความสำคัญว่ามีชีวะ) ในวิญญาณ อันมี

ความรู้เป็นสภาพด้วย จริงอยู่ บุคคลจำพวกชีวสัญญีในวิญญาณอันมี

ความรู้เป็นสภาพมีอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรง

ประกาศความที่วิญญาณนั้นมีเป็นอเนก โดยแตกออกเป็นจักขุวิญญาณ-

ธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กาย-

วิญญาณธาตุ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ๓ ดังกล่าวมานั้น และ

ความที่วิญญาณนั้นเป็นของไม่เที่ยง เพราะมีความเป็นไปเนื่องอยู่ด้วย

ปัจจัยมีจักขุและรูปเป็นต้น ทรงถอนชีวสัญญาอันนอนเนื่อง (อยู่ใน

สันดาน) มานานของบุคคลเหล่านั้นเสีย จึงทรงประกาศธาตุ ๑๘

แถมอีกหน่อย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธาตุแต่ ๑๘

๑. นับตั้งแต่จักขุธาตุถึงมโนวิญญาณธาตุ เว้นธรรมธาตุ.

๒. หมายความว่า ธาตุนั้นมีหลายอย่าง มีจักขุธาตุเป็นต้น และแต่ละอย่างก็มีประการ

ต่าง ๆ

๓. เข้าใจว่าท่านกล่าววิญญาณธาตุ ๗ คือนับมโนธาตุด้วย ตามนัยที่อธิบายไว้แล้ว ใน

เชิงอรรถ ๓ หน้า ๑๔๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 143

เท่านั้น ก็ด้วยอำนาจแห่งอัชฌาสัยของสัตว์ที่จะพึงฝึกสอนได้ด้วยประการ

อย่างที่กล่าวมานั้นประการหนึ่ง อนึ่ง สัตว์เหล่าใดเป็นสัตว์จำพวกที่

จะพึงฝึกสอนได้ด้วยเทศนาอันไม่สังเขปและไม่พิสดารนักอันนี้๑ ก็ด้วย

อำนาจแห่งอัชฌาสัยของสัตว์จำพวกนั้น ประการหนึ่งด้วย

จริงอยู่ ความมืดในหทัยของเวไนยสัตว์

ทั้งหลาย อันเดชแห่งพระสัทธรรมของ

พระองค์กำจัดแล้ว๒ ย่อมถึงซึ่งความสลาย

ไปโดยพลัน ด้วยประการใด ๆ พระองค์

ย่อมทรงประกาศธรรมโดยนัยสังเขปบ้าง

พิสดารบ้าง ด้วยประการนั้น ๆ แล

วินิจฉัยโดยความมีเพียงนั้นในธาตุทั้งหลายนั่น บัณฑิตพึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยการนับ (จำนวน)]

ข้อว่า โดยการนับ (จำนวน) ความว่า อันดับแรก จักขุ

๑. มหาฎีกาว่า ขันธเทศนา และอายตนเทศนา เป็นเทศนาสังเขป อินทริยเทศนา

เป็นเทศนาพิสดาร เพ่งเทศนา ๒ อย่างนั้น ธาตุเทศนานี้ ก็เป็นเทศนาไม่สังเขป ไม่

พิสดารนัก อีกอย่างหนึ่ง ธาตุเทศนาที่กล่าวในอภิธรรม หรือในสุตตันตภาชนีย เป็น

เทศนาสังเขปนัก ส่วนธาตุเทศนาที่พึงแสดงด้วยอำนาจธาตุทั้งหลาย มีอาภาธาตุเป็นต้น

มีอเนกธาตุนานาธาตุเป็นที่สุด เป็นเทศนาพิสดารนัก เพ่งธาตุเทศนา ๒ อย่างนั้นแล้ว

ธาตุเทศนานี้ก็เป็นเทศนาไม่สังเขปไม่พิสดารนัก.

๒. สทฺธมฺมเตชวิหตํ ท่านเรียงไว้หน้า วิลยํ ชวนให้เห็นว่าเป็นบทวิเสสนะของวิลยํ

แต่ทางความเป็นไปไม่ได้ ในที่นี้แปลเป็นวิเสสนะของ ตโม ได้ความดี ส่วนปัญหาว่า

เหตุไร ลิงค์จึงไม่เสมอกันเล่า ? ข้อนี้อะไรจะวิปลาศไปบ้างหรือไม่ ไม่ทราบได้ แต่ว่า

ตม นั้นเป็นได้สองลิงค์ คือเป็นปุํ. ก็ได้ นปุํ. ก็ได้.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 144

ธาตุ (ว่า) โดยชาติก็ถึงซึ่งความนับว่าเป็นธรรมจำนวน ๑ คือเป็น

จักขุประสาท โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ รูปธาตุ

สัททธาตุ คันธธาตุและรสธาตุ ก็อย่างนั้น คือถึงซึ่งความนับว่าเป็น

ธรรมจำนวน ๑ โดยเป็นโสตประสาทเป็นต้น แต่โผฏฐัพพธาตุถึง

ซึ่งความนับว่าเป็นธรรมจำนวน ๓ ด้วยอำนาจแห่งปฐวีธาตุเตโชธาตุ

และวาโยธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ ถึงซึ่งความนับว่าเป็นธรรมจำนวน ๒

โดยเป็นกุศลวิบากวิญญาณและอกุศลวิบากวิญญาณ โสตวิญญาณธาตุ

ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ และกายวิญญาณธาตุก็อย่างนั้น

ส่วนมโนธาตุ ถึงซึ่งความนับว่าเป็นธรรมจำนวน ๓ โดยเป็นปัญจทวารา-

วัชนะ กุสลากุสลวิบาก และสัมปฏิจฉันนะ ธรรมธาตุถึงซึ่งความ

นับว่าเป็นธรรมจำนวน ๒๐ ด้วยอำนาจแห่งอรูปขันธ์ ๓ สุขุมรูป ๑๖

และอสังขตธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ถึงซึ่งความนับว่า เป็นธรรม

จำนวน ๗๖ ด้วยอำนาจแห่งกุศลวิญญาณ อกุศลวิญญาณและอัพยากต-

วิญญาณที่เหลือ แล

วินิจฉัยแม้โดยการนับ (จำนวน) ในธาตุทั้งหลายนั่น บัณฑิต

พึงทราบดังกล่าวมา ฉะนี้

[โดยปัจจัย]

ในข้อว่า ปัจจัย นี้มีวินิจฉัยว่า ก่อนอื่น จักขุธาตุเป็นปัจจัยโดย

ปัจจัย ๖ โดยเป็นวิปยุตปัจจัย ๑ ปุเรชาตปัจจัย ๑ อัตถิปัจจัย ๑

อวิคตปัจจัย ๑ นิสสยปัจจัย ๑ อินทริยปัจจัย ๑ รูปธาตุเป็นปัจจัย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 145

โดยปัจจัย ๔ โดยเป็นปุเรชาตปัจจัย ๑ อัตถิปัจจัย ๑ อวิคตปัจจัย ๑

อารัมมณปัจจัย ๑ แห่งจักขุวิญญาณธาตุ ธาตุที่เหลือ (อีก ๔ คู่)

มีโสตธาตุ สัททธาตุเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณธาตุที่เหลือ มี

โสตวิญญาณธาตุเป็นอาทิอย่างนั้น ส่วนอาวัชชมโนธาตุที่เหลือ มี

โดยปัจจัย ๕ โดยเป็นสมนันตรปัจจัย ๑ อนันตรปัจจัย ๑ นัตถิ-

ปัจจัย ๑ วิคตปัจจัย ๑ อนันตรุปนิสสยปัจจัย* ๑ แห่งวิญญาณธาตุ

ทั้ง ๕ นั้น วิญญาณธาตุทั้ง ๕ นั้นเล่าก็เป็นปัจจัยแห่งสัมปฏิจฉันน-

มโนธาตุ ฉันเดียวกันนั้น สัมปฏิจฉันนมโนธาตุ ก็เป็นปัจจัยแห่ง

สันตีรณมโนวิญญาณธาตุ สันตีรณมโนวิญญาณธาตุนั้นเล่า ก็เป็น

ปัจจัยแห่งโวฏฐัพนมโนวิญญาณธาตุ โวฏฐัพพนมโนวิญญาณธาตุเล่า

ก็เป็นปัจจัยแห่งชวนมโนวิญญาณธาตุ ส่วนชวนมโนวิญญาณธาตุเป็น

ปัจจัยโดยปัจจัย ๖ คือโดยปัจจัย ๕ นั้น และอนันตรปัจจัย ๑ แห่ง

ชวนมโนวิญญาณธาตุเป็นลำดับ ๆ ไป นี่เป็นนัยในปัญจทวารก่อน

ส่วนในมโนทวาร ภวังคมโนวิญญาณธาตุเป็นปัจจัยแห่งอาวัชนมโน-

วิญญาณธาตุ และอาวัชชนมโนวิญญาณธาตุ เป็นปัจจัยแห่งชวนมโน-

วิญญาณธาตุโดยปัจจัย ๕ (มีสมนันตรปัจจัยเป็นต้น) ที่กล่าวมาก่อน

นั่นแล ส่วนธรรมธาตุ เป็นปัจจัยมากอย่าง โดยปัจจัยเป็นต้นว่า สห-

ชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตปัจจัย อัตถิปัจจัย

อวิคตปัจจัย แห่งวิญญาณธาตุทั้ง ๗ ส่วนธาตุทั้งหลาย (๑๗) มี

* อุปนิสสยปัจจัย ท่านแจกเป็น ๓ คือ อารัมมณูปนิสสัย อนันตรูปนิสสัย ปกตูป-

นิสสัย.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 146

จักขุธาตุเป็นต้น และธรรมธาตุลางอย่าง เป็นปัจจัยแม้โดยปัจจัยมี

อารัมณปัจจัยเป็นต้น แห่งมโนวิญญาณธาตุลางอย่าง อนึ่ง ใช่แต่

จักขุและรูปเป็นต้นเท่านั้น เป็นปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุเป็นอาทิ

ก็หาไม่ ที่แท้แม้สิ่งอื่นมีแสงสว่างเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยด้วย เพราะ-

เหตุนั้น บุรพาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า "อาศัยจักษุ รูป แสงสว่าง

และมนสิการ (คืออาวัชนะ) เกิดจักขุวิญญาณขึ้น อาศัยโสต เสียง

ช่อง (หู) และมนสิการ เกิดโสตวิญญาณขึ้น อาศัยฆนะ กลิ่น

ลม และมนสิการ เกิดฆานวิญญาณขึ้น อาศัยชิวหา รส น้ำ (ลาย)

และมนสิการ เกิดชิวหาวิญญาณขึ้น อาศัยกาย โผฏฐัพพะ ปฐวีธาตุ

(ที่อาศัยของกายประสาท) และมนสิการ เกิดกายวิญญาณขึ้น อาศัย

ภวังคมนะ (คือภวัคจิตที่ไหวแล้ว ๒ ครั้ง) ธรรม และมนสิการ

เกิดมโนวิญญาณขึ้น" ดังนี้

นี่เป็นความสังเขปในข้อว่าปัจจัยนี้ ส่วนประเภทปัจจัยโดยพิสดาร

จักมีแจ้งในนิเทศแห่งปฏิจจสมุปบาท

วินิจฉัยแม้โดยปัจจัย ในธาตุทั้งหลายนั่น บัณฑิตพึงทราบดัง

กล่าวมาฉะนี้

[โดยเป็นสิ่งพึงเห็น]

ข้อว่า ทฏฺฐพฺพา ความว่า อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยโดยเป็นสิ่ง

พึงเห็นในธาตุทั้งหลายนั่น แท้จริง สังขตธาตุทั้งหมดเทียว บัณฑิต

พึงเห็นโดยความเป็นของว่างจากส่วนเบื้องต้น (คืออดีต) และส่วน

เบื้องปลาย (คืออนาคต) โดยความเป็นของเปล่าจากความยั่งยืน ความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 147

งามความสุขความเป็นตน และโดยมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย แต่

(เมื่อว่า) โดยความแปลกกันในธาตุทั้งหลายนั้น จักขุธาตุพึงเห็น

เหมือนหน้ากลอง รูปธาตุเหมือนไม้ (ตีกลอง) จักขุวิญญาณธาตุ

เหมือนเสียง (กลอง) โดยนัยอย่างนั้น จักขุธาตุเหมือนหน้าแว่น

(ส่องหน้า) รูปธาตุเหมือนหน้า จักขุวิญญาณธาตุเหมือนเงาหน้า

อีกนัยหนึ่ง จักขุธาตุเหมือน (ท่อน) อ้อย และเมล็ดงา รูปธาตุ

เหมือนเครื่องหีบอ้อยและไม้บีบเงา จักขุวิญญาณธาตุเหมือนน้ำอ้อยและ

น้ำมันงา นัยเดียวกันนั้นจักขุธาตุเหมือนไม้สีไฟอันล่าง รูปธาตุเหมือน

ไม้สีไฟอันบน จักขุวิญญาณธาตุเหมือนไม้สีไฟอันล่าง รูปธาตุเหมือน

โสตธาตุเป็นต้น ก็นัยนี้ ส่วนมโนธาตุพึงเห็นเหมือนปุเรจร (ผู้นำ

หน้า) และอนุจร (ผู้ตามหลัง) แห่งวิญญาณธาตุทั้งหลายมีจักขุ

วิญญาณธาตุเป็นต้น โดยความตามที่มันเป็นได้ ในธรรมธาตุ เวทนา-

ขันธ์ พึงเห็นเหมือนลูกศรและเหมือนหลาว สัญญาขันธ์และสังขาร-

ขันธ์ เหมือนคนที่อาดูรเพราะต้องศรและหลายคือเวทนาเข้า นัยหนึ่ง

สัญญาของบุถุชนทั้งหลาย เหมือนกำมือเปล่า เหตุทำทุกข์เพราะความ

หวังให้เกิด เหมือนเนื้อป่า เพราะทำให้ถือเอานิมิตโดยความไม่เป็นจริง

สังขาร (ขันธ์) เหมือนบุรุษผู้ซัด (คนอื่น) ลงหลุมถ่านเพลิง

เพราะชัด (สัตว์) ไปในปฏิสนธิ เหมือนโจรที่ราชบุรุษติดตาม

(จับ) เพราะถูกชาติทุกข์ติดตาม เหมือนพืชต้นไม้มีพิษ เพราะ

เป็นเหตุแห่งขันธสันดาน อันนำอนัตถะทั้งปวงมาให้ รูปพึงเห็น

เหมือนกงจักรอันคม เพราะเป็นเหตุแห่งอุปัทวะนานาชนิด ส่วน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 148

อสังขตธาตุทั้งหลาย บัณฑิตพึงเห็นโดยความเป็นอมตะ เป็นสันตะ

(สงบระงับ) เป็นเขมะ (พ้นภัย) เพราะอะไร ? เพราะเป็น

ฝ่ายตรงข้ามต่ออนัตถะทั้งปวง มโนวิญญาณธาตุ พึงเห็นเหมือนลิง

ในป่า เพราะไม่มีความหยุดอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย เหมือนม้าเลว

เพราะฝึกได้ยาก เหมือนท่อนไม้ที่ขว้างขึ้นฟ้า เพราะมันตกไปตามที่

มันปรารถนา เหมือนนักฟ้อนรำในโรงฟ้อนรำ (อันแต่งายหลาก ๆ)

เพราะประกอบด้วยเพศ (เครื่องแต่งกาย) คือกิเลสมีประการต่าง ๆ

มีโลภะโทสะเป็นต้น แล

บริเฉทที่ ๑๕ ชื่ออายตนธาตุนิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 149

อินทรีย สัจจนิเทศ

อินทรียนิทศ

ส่วนว่า อินทรีย์ ๒๒ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์

ชิวหินทรีย์ กายินทรีย มนินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิติน-

ทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์

อุเบกขินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์

ปัญญินทรีย์ อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ อัญญินทรีย์ อัญญาตาวิน-

ทรีย์ ชื่อว่าอินทรีย์ ที่ยกขึ้นแสดงไว้ถัดธาตุมา

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในอินทรีย์ทั้งหลาย

นั้น โดยอรรถ โดยลักษณะเป็นต้น และโดย

ลำดับ อนึ่ง โดยแยกประเภท และไม่แยก

ประเภท โดยกิจ และโดยภูมิ

[โดยอรรถ]

ในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น เบื้องแรก อรรถแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย

มีจักขุเป็นต้น ชัดแจ้งตามนัย (ที่กล่าวมาแล้วในอายตนนิทศ) ว่า

"ธรรมชาตใดย่อมเห็น เหตุนี้ ธรรมชาตนั้นจึงชื่อจักขุ" ดังนี้เป็นต้น

แล้ว

ส่วนในอินทรีย์ ๓ ข้างท้าย ข้อแรกตรัสเรียกว่า อนัญญตัญญัส-

สามีตินทรีย์ เพราะเกิดแก่บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งอย่างนี้ว่า "เราจักรู้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 150

ซึ่งอมตบทหรือว่าซึ่งสัจจธรรม ๔ ที่ยังไม่รู้ ในบุพภาค (คือก่อน

โสดาปัติมรรค)" และเพราะมีอรรถ (คือสภาวะ) แห่งความเป็นอินทร

(ใหญ่ยิ่ง) อยู่พร้อมด้วย ข้อ ๒ ตรัสเรียกว่าอัญญินทรีย์ เพราะ

รู้ชัด (ด้วยมรรค) และเพราะมีอรรถแห่งความเป็นอินทรอยู่พร้อม

ด้วย ข้อ ๓ ตรัสเรียกว่า อัญญาตาวินทรีย์ เพราะเกิดแต่พระขีณาสพ

ผู้รู้ทั่วถึง คือมีญาณกิจในสัจจะ ๔ สำเร็จแล้ว และเพราะมีอรรถ

แห่งความเป็นอินทรอยู่พร้อมด้วย

ถามว่า "อะไรเล่า ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทรแห่งอินทรีย์

เหล่านั้น ?" แก้ว่า อรรถแห่งเครื่องหมายของสิ่งที่เป็นใหญ่ยิ่ง (คือ

กรรม) ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถแห่งสิ่งที่ท่านผู้เป็น

ใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) แสดงไว้ ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร

อรรถแห่งสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) ได้เห็น (คือรู้)

ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถแห่งสิ่งอันสิ่งที่เป็นใหญ่ยิ่งคือ

(กรรม) จัด (ให้เกิด) ขึ้น ชื่อว่าอรรถแห่งความเป็นอินทร อรรถ

แห่งสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) ใช้สอย ชื่อว่าอรรถแห่ง

ความเป็นอินทร์* อรรถทั้งปวงนั้นใช้ได้ตามที่ควรใช้ในอินทรีย์นิเทศนี้

แท้จริง พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า

* ตรงนี้มหาฎีกาท่านสอนให้แปลว่าอรรถแห่ง. . . และ 'อรรถ' ท่านแก้เป็นภาว

และ สภาว เช่น อินฺทลิงฺคสฺส อตฺโถ ตํสภาโว อินฺทลิงฺคฏฺโฐ และ อินฺทฏฺฐํ

กาเรติ . . . อินฺทภาวํ การยติ (ครองความเป็นอินทร) แต่ลางแห่งก็แปลว่า

อรรถคือ. . . เราแปลว่าอรรถว่า . . . กันมาก เพราะฉะนั้นตรงไหนแปลอย่างใดความ

จับใจดี ก็จะแปลอย่างนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 151

อินทร เพราะทรงมีความเป็นใหญ่ยิ่ง๑ อนึ่ง กุศลากุศลกรรม ก็ชื่อว่า

อินทร เพราะไม่มีใคร ๆ เป็นใหญ่ในกรรมทั้งหลาย (แต่กรรมเป็น

ใหญ่ยิ่ง)๒ เพราะเหตุนั้น ในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น (ว่าถึง) อินทรีย์

ที่กรรมให้เกิดก่อน (อินทรีย์ที่กรรมให้เกิดนั้น) ย่อมส่อ (ให้รู้)

กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล และมันก็เป็นสิ่งที่กรรมนั้นจัด (ให้เกิด)

ขึ้นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงชื่ออินทรีย์ เพราะอรรถว่าส่อ (ให้รู้ถึง)

สิ่งเป็นใหญ่ยิ่ง (คือกรรม) ด้วย เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งอันสิ่งที่เป็น

ใหญ่ยิ่ง (คือกรรม) จัด (ให้เกิด) ขึ้นด้วย อนึ่งอินทรีย์ทั้งหมด

นั่นแหละเป็นสิ่งอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศขึ้น และเป็นสิ่งที่

พระองค์ได้ตรัสรู้เองด้วยตามที่เป็นจริง เพราะเหตุนั้นจึงชื่ออินทรีย์

เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งอันท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทธเจ้า) แสดง

ขึ้นไว้ด้วย เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งอันท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่ง (คือพระพุทะ

เจ้า) ได้เห็น (คือตรัสรู้) ด้วย อนึ่ง อินทรีย์เหล่านั้นลางอย่าง

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นมุนีใหญ่ยิ่งพระองค์นั้นแหละ ทรงใช้สอยโดย

ใช้เป็นโคจร (คือเป็นอารมณ์) ลางอย่างทรงใช้สอยโดยใช้ทางภาวนา

(คือทรงทำให้มีขึ้นเช่นสัทธินทรีย์เป็นต้น) เพราะเหตุนั้น จึงชื่ออิน-

ทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งที่ท่านผู้เป็นใหญ่ยิ่งใช้สอยด้วยประการหนึ่ง๓

๑. อินท หรือ อินทร ท่านไขเป็น ปรมิสฺสร - เป็นใหญ่ยิ่ง ลางทีเราจึงแปลว่า จอม

๒. ปาฐะเป็น กมฺเมสุ กสฺสจิ อิสฺสริยาภาวโต น่าจะเป็น . . . อิสฺสริยภาวโต

แปลว่า เพราะบรรดากรรมไม่ว่ากรรมอะไรก็มีความเป็นใหญ่ (ทั้งนั้น) จะได้เสมอ

กับบท ปรมิสฺสริยภาวโต ข้างต้น

๓. ตามนี้ อรรถทั้ง ๕ นี้ ใช้ในกรรม ๒ ใช้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 152

อีกอย่างหนึ่ง จักษุเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถแห่ง

ความเป็นใหญ่ที่ได้แก่ความเป็นอธิบดี (คือเป็นอินทรียปัจจัย - สนับสนุน

โดยความเป็นใหญ่) จริงอยู่ความเป็นอธิบดีแห่งจักษุเป็นต้น ชื่อว่า

สฤษฏ์ผลในความเป็นไปแห่งจักขุวิญญาณเป็นอาทิ เพราะเมื่อมันกล้า

วิญญาณก็กล้า และเพราะเมื่อมันอ่อน วิญญาณก็อ่อน แล

นี่เป็นวินิจฉัยโดยอรรถในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น เป็นอันดับแรก

[โดยลักษณะเป็นต้น]

ข้อว่า โดยลักษณะเป็นต้น ความว่า พึงทราบวินิจฉัยแห่งจักษุ

เป็นต้น โดยลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานด้วย ก็แลลักษณะ

เป็นต้นของจักษุเป็นอาทินั้น ได้กล่าวไว้แล้วในขันธนิเทศ ส่วน

อินทรีย์ ๔ (ข้างท้าย) มีปัญญินทรีย์เป็นต้น โดยความก็คืออโมหะ

นั่นเอง อินทรีย์ที่เหลือก็มาแล้วโดยสรุปในขันธนิเทศนั้นเหมือนกันแล

[โดยลำดับ]

แม้ลำดับในข้อว่าโดยลำดับนี้ ก็เป็นลำดับแห่งการแสดงเหมือน

กัน

ในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น อินทรีย์ (๖) มีจักขุนทรีย์ เป็นต้น อัน

นับเข้าในอัตภาพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงก่อน เหตุว่าความ

ได้อริยภูมิย่อมมีเพราะกำหนดรู้ธรรมภายใน (ตนของตน) อัตภาพ

นั้นเล่า ถึงซึ่งอันนับว่าหญิงก็ดี ว่าชายก็ดี เพราะอาศัยธรรมอันใด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 153

เพื่อจะทรงชี้ว่านี่ธรรมอันนั้น จึงทรงแสดงอิตถินทรีย์ และปุริสินทรีย์

เป็นลำดับไป ต่อนั้นทรงแสดงชีวิตนทรีย์ เพื่อให้ทราบว่า "แม้ธรรม

ทั้งสองอย่างนั้น ก็มีความเป็นไปเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์" ถัดไปทรงแสดง

อินทรีย์ (๕) มีสุขินทรีย์เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่า "ความเป็นไปแห่ง

ชีวิตินทรีย์นั้นยังมีอยู่ตราบใด ความไม่กลับ (คือไม่ดับ) แห่งความเสวย

อารมณ์เหล่านั้นก็ยังมีอยู่ตราบนั้น และความเสวยอารมณ์ทุกอย่างนั้นก็

ล้วนเป็นทุกข์" ต่อนั้นทรงแสดงอินทรีย์ (๕) มีสัทธินทรีย์เป็นอาทิ

เพื่อชี้ข้อปฏิบัติว่า "อันธรรม (มีสัทธาเป็นต้น) นั่น พึงบำเพ็ญขึ้น

เพื่อความดับแห่งความเสวยอารมณ์นั้น" ลำดับนั้นทรงแสดงอนัญญตัญ-

ญัสสามีตินทรีย์ เพื่อแสดงความไม่เปล่าประโยชน์แห่งการปฏิบัติว่า

"ด้วยการปฏิบัตินี้ ธรรมนั่นจึงเกิดปรากฏขึ้นในตนเป็นปฐม" แต่นั้น

ทรงแสดงอัญญินทรีย์ เพราะเป็นผลของอนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์นั้นเอง

และเพราะเป็นธรรมพึงบำเพ็ญติดต่อกันไปด้วย ในที่สุดทรงแสดง

อัญญาตาวินทรีย์ อันเป็นบรมอัสสาสะ (ที่โล่งใจอย่างยิ่ง)* เพื่อให้

ทราบว่า "ความบรรลุธรรมอันนี้ย่อมมีได้ด้วยภาวนาต่อนั้นไป ก็แล

ครั้นธรรมอันนี้ พระโยคีได้บรรลุแล้วก็ไม่มีกิจที่จะต้องทำยิ่งขึ้นไปอะไร

อีกเลย" แล

นี่เป็นลำดับในอินทรีย์ทั้งหลายนี้

* มหาฎีกาภาค ๓ หน้า ๔๔๗ ว่า โดยปรมัตถ์ อริยผล ชื่อว่า อัสสาสะ - ที่โล่ง

ใจ ส่วนอริยมรรค ชื่อ ปติฏฺฐา - ที่พึ่งที่อาศัยในพระศาสนา

อัญญาตาวินทรีย์นั้น ได้แก่อรหัตผล ซึ่งเป็นอริยผลชั้นยอด ท่านจึงเรียก

ปรมัสสาสะ ที่โล่งใจอย่างยิ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 154

[โดยแยกประเภทและไม่แยกประเภท]

ก็ในข้อว่าโดยแยกประเภทและไม่แยกประเภทนี้ ชีวิตินทรีย์

อย่างเดียว มีการแยกประเภท เพราะชีวิตินทรีย์นั้นมี ๒ คือ รูปชีวิติน-

ทรีย์ อรูปชีวิตทรีย์ อินทรีย์ที่เหลือไม่มีการแยกประเภทเลยแล

พึงทราบวินิจฉันโดยแยกประเภทและไม่แยกประเภทในอินทรีย์

ทั้งหลายนี้ ดังกล่าวฉะนี้

[โดยกิจ]

ข้อว่าโดยกิจ มีความว่า หากมีคำถามว่า "อะไรเป็นกิจแห่งอิน-

ทรีย์ทั้งหลาย "ดังนี้ไซร้ คำเฉลยพึงมีว่า "โดยบาลีว่า 'จักขายตนะ

เป็นปัจจัย (คือเป็นอุปการธรรม) โดยเป็นอินทรีย์ปัจจัยแห่งจักขุ-

วิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุ

นั้น"๑ ดังนี้ การที่ยังธรรมทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นอาทิให้เป็นไป

ตามอาการของตน ที่ได้แก่อาการกล้าและอ่อนเป็นต้น อันจะพึงให้สำเร็จ

ด้วยความเป็นอินทรียปัจจัย และด้วยความที่ตนมีอาการกล้าและอ่อน

เป็นอาทิด้วย นั้นใด นี่เป็นกิจแห่งจักขุนทรีย์๒ เป็นอันดับแรก กิจ

แห่งโสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์และกายินทรีย์ ก็มีนับอย่างนั้น

แต่ว่าการยังสหาชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจของตน เป็นกิจ

๑. อภิ. ป. ๔๐/๑๐

๒. สรุปความว่า จักขุเป็นอินทรียปัจจัย (อุดหนุนโดยความเป็นใหญ่) ของจักขุ-

วิญญาณ เพราะฉะนั้น กิจคือหน้าที่ของจักขุ ก็คือยังจักขุวิญญาณและสัมปยุตธรรมให้

เป็นไปตามอาการของตน ถ้าตนกล้า (เช่นตาแจ่มใสดี) จักขุวิญญาณก็กล้าคือชัดเจน

ด้วย ถ้าตนอ่อน (เช่นตามัว) จักขุวิญญาณก็อ่อน คือไม่ชัดเจนด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 155

แห่งมนินทรีย์"๑ การที่คอยเลี้ยงสหชาตธรรมไว้ เป็นกิจแห่งชีวิติน-

ทรีย์ การที่คอยจัดแจงเครื่องหมายเพศและอาการแห่งจริต และการ

แต่งกายแห่งหญิงและชาย เป็นกินแห่งอิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ การ

ที่คอยครอบงำสหชาตธรรมทั้งหลายไว้เสีย (มิให้ปรากฏ) แล้วยัง

สหชาตธรรมนั้นให้ถึงซึ่งอาการหยาบ (คือปรากฏชัดออกมา) ตาม

หน้าที่ของตน ๆ เป็นกิจแห่งสุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์และ

โทมนัสสินทรีย์ การที่คอยยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้ถึงซึ่งอาการเป็น

กลาง ๆ อันเป็นอาการที่ละเอียดประณีต เป็นกิจแห่งอุเบกขินทรีย์

การที่ครองงำเสียซึ่งปฏิปักขธรรม (ธรรมฝ่ายตรงข้าม มีอสัทธิยะ

เป็นต้น) และยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ถึงซึ่งความมีอาการเลื่อมใส

เป็นอาทิ เป็นกิจแห่งอินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น การละสังโยชน์ ๓

(ข้างต้น) และการทำสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้มีความมุ่งหน้าต่อการ

ละสังโยชน์ ๓ นั้นด้วย เป็นกิจแห่งอนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ การละ

โดยทำสังโยชน์ที่เหลือมีกามราคพยาบาทเป็นต้น๒ ให้เบาบางลงไป

และการยังสหชาตธรรมทั้งหลายให้เป็นไปอำนาจของตนด้วย เป็น

กิจแห่งอัญญินทรีย์ การละเลิกความขวนขวายในกิจ (ละสังโยชน์)

ทั้งปวงและความเป็นปัจจัยให้สัมปยุตธรรมทั้งหลายมีความมุ่งหน้าต่อ

อมตธรรมด้วย๓ เป็นกิจแห่งอัญญาตาวินทรีย์

พึงทราบวินิจฉัยโดยกิจในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ดังกล่าวมาฉะนี้

๑. เพราะธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า

๒. เมื่อมีคำว่า 'เป็นต้น' ก็เป็นอันกินความถึงอุทธัมภาคิยสังโยชน์ด้วย

๓. เพราะไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอะไรอีก ก็มุ่งหน้าต่อพระนิพพานไปเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 156

[โดยภูมิ]

ข้อว่าโดยภูมิ ความว่า "ก็ในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ จักขุนทรีย์

โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์

สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ และโทมนัสสินทรีย (๑๐) เป็นกามาวจรแท้

มนินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ อุเบกขินทรีย์ และสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์

สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ (๘) เนื่องไปในภูมิทั้ง ๔

โสมนัสสินทรีย์ เนื่องไปใน ๓ ภูมิ โดยเป็นกามาวจร (ก็มี) รูปาวจร

(ก็มี) โลกุตตระ (ก็มี) อินทรีย์ ๓ ข้างท้าย เป็นโลกุตระแท้"

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยภูมิในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ ดังกล่าว

มาฉะนี้ด้วย ด้วยว่า

ภิกษุผู้ทราบอย่างนี้อยู่ จักเป็นผู้มากไปด้วยความสังเวช

ตั้งอยู่ในอินทรียสังวร กำหนดรู้อินทรีย์ทั้งหลายแล้วทำที่สุด

ทุกข์ได้แล

นี่เป็นกถามุขอย่างพิสดารแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย

สัจจนิเทศ

ก็อริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริย-

สัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ชื่อว่าสัจจะ อันมาในลำดับแห่ง

อินทรีย์นั้น

[หัวข้อวินิจฉัย]

วินิจฉันในอริยสัจอันเป็นที่ดำเนินไปแห่งพระ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 157

ศาสนานั้น* ปราชญ์พึงทราบ โดยวิภาค (จำแนก

อรรถแห่งอริยสัจ ๔ป ๑ โดยนิพจน์ (แยกคำ) ๑

โดยประเภทแห่งลักษณะเป็นต้น ๑ โดยอรรถ

(แห่งสัจจศัพท์) ๑ โดยอัตถุทธาระ (ระบุอรรถที่

ประสงค์) ๑ โดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่ง ๑ โดย

ลำดับ ๑ โดยวินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น ๑ โดยกิจ

แห่งญาณ ๑ โดยประเภทแห่งธรรมทั้งหลายที่อยู่

ภายใจ (คือนับเข้าในอริยสัจ) ๑ โดยอุปมา ๑

โดยจตุกกะ (เป็นและไม่เป็นอริยสัจ ๔ นัย) ๑

โดยว่างเปล่า ๑ โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียว

เป็นต้น ๑ โดย (สภาคและวิสภาค) มีส่วนเสมอ

กันและไม่เสมอกัน ๑

[โดยวิภาค]

ในหัวข้อเหล่านั้น ข้อว่าโดยวิภาค ความว่าก็อรรถแห่งอริยสัจ

มีทุกข์เป็นต้น ท่านจำแนกเป็น ๔ ๆ (คือสัจจะละ ๔) เป็นอรรถจริง

* มหาฎีกาว่า อริยสัจ ท่านเรียกว่า สาสนักกมะ เพราะพระศาสนาอันเป็นคำของ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งมวล ที่จะพ้นไปจากสัจจะหามีไม้ เพราะเป็นคำชี้แจงปวัตติ

(ความหมุนไปคือความก่อให้เกิด) และนิวัตติ (ความหมุนกลับ คือความละเลิก

ความดับ) และเหตุแห่งปวัตตินิวัตติทั้งสองนั้นด้วย เพราะฉะนั้น พระศาสนาคือ

พุทธพจน์นั้น จึงชื่อว่าก้าวไป คือดำเนินไปในสัจจะทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง พระศาสนา

กล่าวคือศีลสมาธิปัญญาย่อมก้าวไป คือเป็นไปโดยทำกิจมีปริญญากิจเป็นต้นในสัจจะนั้น

ให้สำเร็จ เพราเหตุนั้น สัจจะนั้นจึงชื่อกมะ เพราะเป็นที่ก้าวไปแห่งพระศาสนาคือ

ศีลสมาธิปัญญา รวมความก็ว่าอริยสัจเป็นปวัตติฐานแห่งพระศาสนานั่นแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 158

แท้ไม่เป็นเท็จไม่เป็นอื่น ซึ่งพระโยคาวจรทั้งหลายผู้ตรัสรู้อริยสัจมี

ทุกข์เป็นต้นพึงรู้ได้ ดังบาลีว่า "อรรถแห่งทุกข์คือความบีบคั้น (๑)

---- ความเป็นสังขตะ (๑) ----ความเร่าร้อน (๑) ---- ความแปรปรวน

(๑) อรรถ ๔ ประการนี้เป็นอรรถว่าทุกข์แห่งทุกขสัจ เป็นอรรถจริง

แท้ไม่เป็นเท็จไม่เป็นอื่น

อรรถแห่งสมุทัย คือ ความประมวลเอาไว้ (๑) ----ก่อเหตุเข้าไว้

(๑) ----ผูกไว้ (๑) ----พัวพันไว้ (๑) อรรถ ๔ ประการนี้ เป็น

อรรถว่าสมุทัยแห่งสมุทัยสัจ เป็นอรรถจริงแท้ไม่เป็นเท็จไม่เป็นอื่น

อรรถแห่งนิโรธคือความออกไป (๑) ----ความว่าง (๑) ----

ความเป็นอสังขตะ (๑) ----ความเป็นอมตะ (๑) อรรถ ๔ ประการนี้

เป็นอรรถว่านิโรธแห่งนิโรธสัจ เป็นอรรถจริงแท้ไม่เป็นเท็จไม่

เป็นอื่น

อรรถแห่งมรรถ คือ ความนำออกไป (๑) ----ความเป็นเหตุ (๑)

----ความเห็น (ตามเป็นจริง) (๑) ----ความเป็นอธิบดี (๑) อรรถ ๔

ประการนี้ เป็นอรรถว่ามรรคแห่งมรรคสัจ เป็นอรรถจริงแท้ไม่เป็น

เท็จไม่เป็นอื่น"*

บาลีที่กล่าวไว้ (ในที่อื่น) ว่า "อรรถแห่งทุกข์ คือ ความบีบ

คั้น ----ความเป็นสังขตะ ----ความเร่าร้อน ----ความแปรปรวน ----ความ

เป็นสิ่งพึงตรัสรู้" ดังนี้เป็นต้น ก็อย่างเดียวกัน

อริยสัจมีทุกข์เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบด้วยอำนาจแห่งอรรถ ๔ ๆ

* ข. ป. ๓๑/๔๔๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 159

ที่ท่านจำแนกไว้ดังกล่าวมาฉะนี้แล

นี่เป็นวินิจฉัยโดยวิภาคในอริยสัจนี้เป็นอันกับแรก

[โดยนิพจน์]

ส่วนใน ๒ หัวข้อคือ นิพฺพจนลกฺขณาทิปฺปเภทโต - โดยนิพจน์

และประเภทมีลักษณะเป็นต้นนี้ พึงทราบวินิจฉัย โดยนิพจน์ (แยกคำ)

ก่อน๑

[แยกคำศัพท์ - ทุกขํ]

ในคำว่า 'ทุกขํ' นี้ ศัพท์ว่า 'ทุ' นี่ ท่านถือเอา๒ ในอรรถ

คือน่าเกลียด ได้แก่ชั่วเลวทราม จริงอยู่ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุตร

ที่น่าเกลียด (คือชั่ว) ว่า 'ทุรบุตร' ส่วนศัพท์ - ขํ ถือเอาใน

อรรถ คือ ที่ว่างเปล่า จริงอยู่ ที่ว่างเปล่า คืออากาศ เขาก็เรียกว่า

'ขํ' อันสัจจะที่ ๑ นี้ จัดว่าน่าเกลียด เพราะเป็นที่ตั้งแห่งสิ่งที่เลว

ทรามมีอุปัทวะเป็นต้นเป็นอเนก จัดว่าว่างเปล่า เพราะเว้นจากความ

ยั่งยืนความงามความสุขและความเป็นตนที่พาลชนคาดหมายเอา เหตุ

นั้น จึงเรียกว่า ทุกข์ เพราะน่าเกลียดและเพราะว่างเปล่าด้วย๓

๑. เครื่องหมายหัวตาปูหลัง ปน ควรถอนออก เพราะ เอตฺถ เป็นนิทธารณียะ ของ

นิพฺพจนโต ๆ เป็นนิทฺธารณะ

๒. นิส ธาตุ เป็นไปในความดูความเห็นก็มี ในความถือเอายึดเอาก็มี ในที่นี้เข้าใจว่า

จะเป็นอรรถหลังนี้

๓. ตามนี้ ทุกฺขํ ท่านแยกเป็นทุ - ขํ - น่าเกลียดและว่างเปล่า แต่เราชอบแยกอีกนัย

หนึ่ง คือทุ - ขมํ แปลว่าทนยาก ลบที่สุดธาตุจึงเป็น ทุกฺขํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 160

[แยกคำศัพท์สมุทัย]

ส่วน (ในคำว่าสมุทัย) ศัพท์ว่า 'สํ' นี้ บ่งถึงความประกอบ

กันเข้า (พึงเห็น) ในคำว่า 'สมาคมะ สเมตะ (ประชุมกัน)' เป็นต้น

ศัพท์ว่า 'อุ' นี่บ่งถึง ความเกิดขึ้น (พึงเห็น) ในคำว่า 'อุปฺปนฺนะ

อุทิตะ (เกิดขึ้น ขึ้นไป)' เป็นต้น ศัพท์ 'อยะ' บ่งถึงเหตุ อัน

สัจจะที่ ๒ นี้เล่า เมื่อความประกอบกันเข้ากับปัจจัยที่เหลือมีอยู่ ก็

เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เหตุนั้น จึงเรียกว่าทุกขสมุทัย เพราะเมื่อ

มีความประกอบกันเข้า (แห่งปัจจัย) ก็เป็นเหตุเกินขึ้นแห่งทุกข์๑

[แยกคำศัพท์นิโรธ]

ส่วนสัจจะที่ ๓ เพราะเหตุที่ นิ ศัพท์บ่งถึงความไม่มี และ โรธ

ศัพท์ บ่งถึงคุก เหตุนั้น ความไม่มีแห่งที่คุมขังทุกข์ที่นับว่าคุกสังสาร-

(วัฏ) ในสัจจะข้อนี้ จึงเรียกว่าทุกขนิโรธ เพราะว่าเปล่าจากคติ

ทั้งปวง หรือว่า เมื่อสัจจะข้อนี้ พระโยคาวจรได้บรรลุแล้ว ก็เป็น

อันไม่มีที่คุมขังทุกข์ที่นับว่าคุกสังสาร (วัฏ) เพราะสัจจะนี้เป็นปฏิปักษ์

ต่อทุกข์นั้น เหตุนี้อีกประการ ๑ จึงเรียกว่าทุกขนิโรธ๒ หรือมิฉะนั้น

๑. ตามนี้ สมุทย แยกเป็น สํ - อุ - อย

๒. นิโร ท่านแยกเป็นนิ - โรธ - ไม่มีที่ปิดล้อม เอาความว่าไม่มีคุก ไม่มีเรือนจำคือ

สังสารวัฏ แต่การศึกษาของเราไม่เคยแปลกันแบบนี้ เราแปลแต่ว่าความดับ ที่จริงก็

รุธหรือรุธิธาตุด้วยกัน แต่ใช้อุปสัคนิ. คนละอย่าง ท่านใช้นิ - ไม่มี เราใช้นิ -ลง นิโรธ

แปลตามพยัญชนะว่า ปิดลง เอาความว่าเลิก หมดสิ้น (ได้กันกับคำ ปิดฉากปิดม่าน)

สำหรับทุกข์เราเอาความว่าดับ (คู่กับเกิด เกิดเป็นเปิดฉาก ดับเป็นปิดฉาก) ตามนัย

สุดท้ายของท่านนั่นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 161

เรียกว่า ทุกขนิโรธ เพราะเป็นปัจจัยแห่งความดับ คือ ความไม่เกิดขึ้น

แห่งทุกข์๑

[แยกคำศัพท์นิโรธคามินีปฏิปทา]

ส่วนสัจจะที่ ๔ เรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหตุที่สัจจะนี้

ชื่อว่า (ดำเนิน) ไปสู่ทุกขนิโรธ เพราะเป็นธรรมมุ่งหน้าต่อทุกข-

นิโรธนั้น โดยที่ (มีทุกขนิโรธนั้น) เป็นอารมณ์ และเป็นปฏิปทา

แห่งการบรรลุทุกขนิโรธด้วย๒

[แยกคำศัพท์อริยสัจ]

ก็แลสัจจะทั้งหลายนี้ พระผุ้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อริยสัจ

เพราะเป็นธรรมที่พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแทงตลอด

ดังบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ นี้ อริยสัจ ๔ คืออะไร

บ้าง ฯลฯ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ พระอริยะทั้งหลาย

ย่อมแทนตลอดซึ่งสัจจะเหล่านี้ เหตุนั้น สัจจะทั้งหลายนี้จึงเรียกว่า

อริยสัจ"

อีกนัยหนึ่ง เรียกว่าอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะของพระอริยะ ก็ได้

ดังบาลีว่า "ตถาคตเป็นพระอริยะในโลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ในหมู่

๑. อนุปฺปาทนิโรธ ความดับคือความไม่เกิดขึ้น ท่านใช้อนุปฺปาทกำกับ เพื่อให้เห็นว่า

ความดับนี้ไม่หมายความว่า แตกทำลาย แต่หมายว่าไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

๒. นิโรธคามินีปฏิปทา ท่านแยกเป็น ๒ ความคือ นิโรธคามินี - ไปสู่นิโรธ และนิโรธ-

ปฏิปทา - ปฏิปทาแห่งนิโรธ แต่เราแปลรวมเป้นความเดียว เอาคามินีเป็นวิเสสนะ

ของปฏิปทา เพราะเห็นว่ามีลิงค์เสมอกัน และคามินีก็มีรูปเป็นเหตุกัต. ด้วย จึงแปลว่า

ปฏิปทาให้ถึงนิโรธ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 162

สัตว์กับทั้งสมณะ พราหมณ์ ทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์ เพราะเหตุ

(ตถาคตเป็นพระอริยะ) นั้น สัจจะทั้งหลายนี้ (ของตถาคต) จึงเรียก

อริยสัจ"๑

หรือนัยหนึ่ง เรียกอริยสัจ โดยที่ความสำเร็จเป็นพระอริยะ

(มีได้) ก็เพราะได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายนั้นก็ได้ ดังบาลีว่า "ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ นี้ตามจริงแล พระตถาคตอรหันต-

สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้นามว่าพระอริยะ"๒

อนึ่งโสด เรียกอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะอย่างอริยะก็ได้ คำว่า

อริยะ (ในอรรถนี้) มีความหมายว่าจริงแท้ไม่เท็จไม่ลวง ดังบาลี

ว่า "นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เป็นความจริงแท้ไม่เท็จไม่เป็น

อื่น เพราะเหตุนั้น สัจจะทั้งหลายนี้จึงเรียกว่า อริยสัจ"๓

วินิจฉัยโดยนิพจน์ (แยกคำ) ในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยประเภทแห่งลักษณะเป็นต้น]

ถามว่า "วินิจฉัยโดยประเภทแห่งลักษณะเป็นต้นอย่างไร ?" เฉลย

ว่า "ก็ในสัจจะ ๔ นี้ ทุกขสัจ มีความเบียดเบียนเป็นลักษณะ มีความ

๑. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๔๕

๒. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๔๓

๓. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๔๕

เป็นอันว่า คำ 'อริยสัจ' แปลได้ ๔ นัย คือ สัจจะที่พระอริยะแทงตลอด ๑

สัจจะของพระอริยะ ๑ สัจจะที่ยังความเป็นพระอริยะให้สำเร็จ ๑ สัจจะอย่างอริยะ

(คือจริงแท้) ๑ เรามักแปลันตามนัยที่ ๔ นี้ แต่แปลอริยะว่าประเสริฐ คือแปล

ว่า ความจริงอย่างประเสริฐ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 163

ทำให้เร่าร้อนเป็นรส มีปวัตติ (ความเป็นไปไม่แล้วไม่รอด) เป็น

ปัจจุปัฏฐาน

สมุทัยสัจมีความก่อให้เกิดขึ้นเป็นลักษณะ มีอันทำไม่ให้ขาดสาย

เป็นรส มีความห่วงใยเป็นปัจจุปัฏฐาน

นิโรธสัจมีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่เคลื่อน (คือไม่

เปลี่ยนสภาพ) เป็นรส มีความไม่มีนิมิต (เครื่องหมายแห่งทุกข์)

เป็นปัจจุปัฏฐาน

มรรคสัจ มีความนำออก (จากคุกสังสารวัฏ) เป็นลักษณะ มี

การทำความละกิเลสเป็นรส มีความออก (จากนิมิตและปวัตติ) เป็น

ปัจจุปัฏฐาน

อีกนัยหนึ่ง สัจจะ ๔ มีปวัตติ (ความหมุนไป) ปวัตตนะ

(เหตุให้หมุนไป) และนิวัตติ (ความหมุนกลับ) นิวัตตนะ (เหตุ

ให้หมุนกลับ) เป็นลักษณะโดยลำดับกัน อนึ่ง มีความเป็นสังขตะ

ตัณหา (ความกระหาย)* และความเป็นอสังขตะ ทัสสนะ (ความ

เห็นตามเป็นจริง) เป็นลักษณะโดยลำดับกันอย่างนั้น"

วินิจฉัยโดยประเภทแห่งลักษณะเป็นต้น ในอริยสัจนี้ พึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยอรรถ]

ส่วนใน ๒ หัวข้อคือ อตฺถตฺถุทฺธารโต เจว - โดยอรรถและโดย-

* ระหายกับกระหาย ไม่ใช่อันเดียวกัน ระหายเป็นอาการที่ร่างกายต้องการน้ำ ส่วน

การกระหาย เป็นอาการปรารถนาแห่งใจ ได้แก่ความอยาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 164

อัตถุทธาระนี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ (แห่งสัจจศัพท์) ก่อน๑

หากมีคำถามว่า "อะไรเป็นอรรถแห่งสัจจะ" ดังนี้ไซร้ คำตอบ

ก็พึงมีว่า "สภาวะใด เมื่อพระโยคาวจรทั้งหลาย เข้าไปสอบดูด้วย

ปัญญาจักษุอยู่ ก็ไม่เป็นสภาวะที่วิปริต (ผิดความจริง) ไปเหมือนกล

ไม่เป็นสภาวะที่ลวงดุจพยับแดด และไม่เป็นสภาวะที่ใคร ๆ หาไม่ได้

(คือไม่มี) ดังเช่นอัตตาของพวกเดียรถีย์ แต่เป็นโคจร (คือเป็น

อารมณ์) แห่งอริยญาณ โดยความเป็นสภาวะที่แท้ไม่วิปริตและเป็นจริง

อันมีประการ (คืออาการ) เบียดเบียน ก่อให้เกิดขึ้น สงบ และนำออก

ไปเท่านั้น ความเป็นสภาวะที่แท้ไม่วิปริตและเป็นจริงดังลักษณะ

ของไฟ และดังปกติของโลก๒นั่น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นอรรถของ

สัจจะ ดังพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่านี่ทุกข์ นั่นเป็นคำ

จริงแท้ นั่นเป็นคำไม่เท็จ นั่นเป็นคำไม่ (แปรปรวน) เป็นอื่น "ดังนี้

เป็นต้น ความพิสดาร บัณฑิตพึงนำมากล่าวเถิด อีกนัยหนึ่ง

เหตุใด ทุกข์ไม่เบียดเบียนไม่มี สิ่งอื่น (นอก)

จากทุกข์เบียดเบียนก็ไม่มี เพราะเหตุนั้น ทุกข์นี่

จึงตกว่าเป็นสัจจะ เพราะเหตุนั้น ทุกข์นี่

ธรรมชาตที่เบียดเบียน

๑. เครื่องหมายหัวตาปูหลัง ปน ตรงนี้ก็ควรถอนออก เช่นเดียวกับที่กล่าวในเชิงอรรถ

หน้า ๑๕๙

๒. มหาฎีกาว่าลักษณะของไฟ ก็คือความร้อน มันไม่มีลวง ไม่แปรปรวน ไม่ว่ามี

อะไรเป็นเชื้อ ไม่ว่ากาลไหน ๆ

ปกติของโลก ก็คือมีเกิดแก่ตายเป็นธรรมดาจริงแท้ไม่แปรผัน ลางอาจารย์

ก็ว่า ความที่ลำตัวสัตว์ติรัจฉานยาวไปโดยขวาง ลำตัวมนุษย์สูงตรงขึ้น และ

กฏธรรมดาเช่นว่า สิ่งที่เจริญสุดยอดแล้วย่อมไม่เจริญอีกเป็นต้นเรียกว่า ปกติของโลก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 165

เหตุใด เว้นมัน (คือตัณหา) เสีย ทุกข์

(เกิด) แต่เหตุอื่นไม่มี และมันไม่มี ทุกข์นั้นก็

ไม่มี เพราะเหตุนั้น วิสัตติกา (คือตัณหา) จึง

ตกว่าเป็นสัจจะ เพราะแน่นอนในความเป็นเหตุแห่ง

ทุกข์

เหตุใด ความสงบอื่นจากนิพพานไม่มี และ

สันตะ (คือนิพพาน) ไม่มี ความสงบนั้นก็

ไม่มี เพราะเหตุนั้น นิพพานนี่ จึงตกกว่าเป็นสัจจะ

เพราะแน่นอนในความเป็นธรรมสงบ*

เหตุใด เครื่องนำออกอื่นจากมรรคไม่มีและ

นิยยานะ (คือมรรค) ไม่มี แม้ธรรมเครื่อง

นำออกนั้นก็ไม่มี เพราะเหตุนั้น มรรคนั้นจึงตก

ว่าเป็นสัจจะ เพราะความเป็นธรรมเครื่องนำออก

แน่แท้

บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวความแท้ความไม่คลาด

เคลื่อนและความเป็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ มีทุกข์เป็น

ต้นโดยแปลกกัน ว่าเป็นอรรถแห่งสัจจศัพท์ ด้วย

ประการฉะนี้

วินิจฉัยโดยอรรถ (แห่งสัจจศัพท์) พึงททราบดังกล่าวมาฉะนี้

* ขอให้สังเกตไว้ตรงนี้ก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ท่านหมายเอานิพพานทีเดียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 166

[โดยอัตถุทธาระ]

วินิจฉัยโดยอัตถุธาระ (ระบุอรรถที่ประสงค์) อย่างไร ในข้อนี้

สัจจศัพท์นี่ถือเอาในอรรถได้หลายอย่าง คืออย่างไร้บ้าง ? คือสัจจศัพท์

ในคำทั้งหลายมีคำว่า "สจฺจํ ภเณ น กุชฺเฌยฺย๑ - บุคคลพึงพูดคำจริง

ไม่พึงโกรธ" เป็นต้น ถือเอาใน (อรรถคือ) วาจาสัจ (จริงทางวาจา)

สัจจศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า สจฺจ  ิตา สมณพฺราหฺมณา วา-

สมณะพราหมณ์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในสัจจะก็ดี" เป็นต้น ถือเอาในวิรติสัจ

(จริงทางวิรัติ)๒ สัจจศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า

กสฺมา นุ สจฺจานิ วทนฺติ นานา

ปวาทิยาเส กุสลาวทานา๓

เหตุอะไรหนอ เจ้าลัทธิทั้งหลายผู้สำคัญว่าตนเป็นผู้มีวาทะเป็น

กุศล (คือถูกต้อง) จึงกล่าวสัจจะหลายอย่างต่างกัน" เป็นต้น ถือเอา

ในทิฏฐิสัจ (จริงทางความเห็น) สัจจศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า

๑. ขุ. ธ. ๒๕/๔๕

๒. มหาฎีกาว่า "วิรติสัจจะไ ได้แก่มุสาวาทวิรัติ (เว้นจากพูดเท็จ) เพราะสัจจ

ศัพท์ไม่งอกไปในวิรัติข้ออื่น ๆ ส่วนที่ลางอาจารย์ว่า วิรติสัจจะได้แก่สมาทานวิรัติ

(เว้นตามที่สมาทาน) นั้น เพียงการสมาทาน ยังมิใช่สัจจะ การไม่ให้ผิดสมาทาน

จึงเป็นสัจจะ แต่นั่นเป็นปฏิญญาสัจจะ (คือรักษาให้จริงตามปฏิญญา) ก็คือมุสาวาท-

วิรัตินั่นเอง"

ท่านอธิบายชอบกล น่าคิดว่า ถ้าเช่นนั้นสัจจะข้อนี้แปลกกับวาจาสัจจะอย่างไร?

เห็นอยู่ทางหนึ่งก็คือ วิรติสัจจะ นี้เป็นปหานกิจ - เว้นจากพูดเท็จ ส่วนวาจาสัจจะ เป็น

ภาวนากิจ - พูดจริง

๓. ขุ. สุ. ๒๕/๕๐๗ ขุ. มหา. ๒๙/๓๕๓ ปวาทิยาเส อรรถกถาจูฬพยูหสูตรแก้เป็น

วาทิโน กุสลาวทานา อรรถกถาปสูรสูตรแก้ว่า มยํ กุสลวาทา ปณฺฑิตวาทาติ

เอวํ สญฺญิโน หุตฺวา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 167

"เอกํ หิ สจฺจั น ทุติยํ - สัจจะ อันหนึ่งแลไม่มีที่สอง" เป็นต้น

ถือเอาในนิพพานและมรรคด้วย อันเป็นปรมัตถสัจ (จริงโดยปรมัตถ์)

สัจจศัพท์ในคำทั้งหลายมีคำว่า "จตุนฺนํ สจฺจานํ กตี กุสลา - บรรดา

สัจจะ ๔ สัจจะเท่าไรเป็นกุศล" เป็นต้น ถือเอาในอริยสัจ (จริง

อย่างอริยะ) แม้สัจจศัพท์นี่ในข้อนี้นั้นก็เป็นไปใน (อรรถคือ)

อริยสัจ แล

วินิจฉัยแม้โดยอัตถุทธาระในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่ง]

ข้อว่า "โดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่ง" ความว่า หากคำถามพึงมี

ว่า "ก็เพราะเหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอริยสัจแต่ ๔ เท่านั้น

ไม่หย่อนไม่ยิ่ง ?" ดังนี้ไซร้ คำแก้ก็พึงมีว่า "เพราะไม่มีอริยสัจอื่น

ประการ ๑ เพราะลดออกเสียข้อใดข้อหนึ่งก็มิได้ ประการ ๑ แท้จริง

อริยสัจอื่นจากอริยสัจ ๔ นั่นเป็นส่วนยิ่ง (คือเกิน) ก็ดี อริยสัจ ๔ นั่น

แม้สักข้อหนึ่ง พึงลดออกเสียได้ก็ดี หามีไม่ ดังพระบาลีว่า "ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ก็ตามในโลกนี้ จะพึงมากล่าวว่า

"นี่ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจเป็นอย่างอื่น ข้าพเจ้าจักยกเลิกทุกข-

อริยสัจนี่เสียแล้วบัญญัตทุกขอริยสัจอื่น (ขึ้นใหม่)" ดังนี้ นี่ไม่มีทาง

เป็นไปได้" ดังนี้เป็นอาทิ (และ) ดังพระบาลี (อีกข้อหนึ่ง) ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม พึงกล่าว

อย่างนั้นว่า 'ทุกขอริยสัจซึ่งพระสมณโคดมแสดงไว้นี่ไม่ใช่อริยสัจข้อที่ ๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 168

ข้าพเจ้าจักบอกปัดทุกขอริยสัจที่ (ว่า) เป็นอริยสัจข้อที่ ๑ นั่นเสียแล้ว

บัญญัตทุกขอริยสัจอื่นเป็นอริยสัจข้อที่ ๑ (ขึ้นใหม่)" ดังนี้ นี่ไม่มี

ทางเป็นไปได้"๑ ดังนี้เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสบอกปวัตติ (ความ

หมุนไป) ก็ตรัสบอกพร้อมทั้งเหตุ เมื่อตรัสบอกนิวัตตุ (ความหมุน

กลับ) เล่า ก็ตรัสบอกพร้อมทั้งอุบายด้วย ดังนี้ จึงเป็นอันตรัสแต่ ๔

เท่านั้น เพราะมีปวัตตินิวัตติและเหตุแห่งปวัตตินิวัตติทั้งสองนั้นเพียง

เท่านั้น นัยเดียวกันนั้น ตรัสแต่ ๔ เท่านั้นแม้ด้วยอำนาจแห่งธรรม

ที่พึงกำหนดรู้ ธรรมที่พึงละ ธรรมที่พึงทำให้แจ้ง และธรรมที่พึงทำให้มี

ขึ้น ๑ แห่งวัตถุของตัณหา (ตัว) ตัณหา ความดับตัณหา แล

อุบายดับตัณหา ๑ แห่งอาลัย ความยินดีในอาลัย ความถอนอาลัย

เสียได้ และอุบายถอนอาลัย ๑๒"

วินิจฉัยโดยมีจำนวนไม่หย่อนไม่ยิ่งในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าว

มาฉะนี้

[โดยลำดับ]

แม้ลำดับในข้อว่า 'โดยลำดับ' นี้ ก็ได้แก่ลำดับแห่งการแสดง

เหมือนกัน ก็ในอริยสัจ ๔ นี้ ทุกขสัจ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

๑. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๓๘

๒. มหาฎีกาเสริมความว่า สำหรับผู้ปรารถนานิพพาน ก็มีกิจที่ควรทำอยู่แต่ ๔ เท่านั้น

คือกำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น ไม่มีกิจอื่น ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 169

เป็นข้อแรก เหตุว่ารู้ได้ง่าย เพราะเป็นของหยาบและเป็นของสาธารณ

แก่สัตว์ทั้งปวง สมุทัยสัจตรัสไว้ในลำดับนั้น เพื่อแสดงเหตุแห่งทุกข-

สัจนั้นแหละ นิโรธสัจตรัสต่อนั้นไป เพื่อให้รู้ว่าความดับแห่งผลย่อมมี

เพราะความดับแห่งเหตุ มรรคสัจตรัสไว้ในที่สุด เพื่อแสดงอุบายบรรลุ

นิโรธสัจนั้น* นัยหนึ่ง ตรัสทุกข์ก่อนเพื่อยังความสังเวชให้เกิดแก่สัตว์

ทั้งหลายผู้ติดใจในรสชาติแห่งความสุขในภพ ตรัสสมุทัยในลำดับนั้น

เพื่อให้ทราบว่า "ทุกข์นั้น ตัณหามิได้แต่งขึ้นก็ไม่มา มันมีขึ้นเพราะ

เหตุภายนอกมีพระอิศวรบันดาลเป็นต้นก็หาไม่ แต่มันมีขึ้นเพราะ

ตัณหานี้" ต่อนั้นตรัสนิโรธ เพื่อยังความโล่งใจด้วยได้เห็นนิสสรณะ

ให้เกิดแก่บุคคลทั้งหลาย ผู้มีใจสลด เพราะถูกทุกข์กับทั้งเหตุครอบงำ

แล้วแสวงหาความออกไปจากทุกข์ ต่อนั้น จึงตรัสมรรคอันเป็นธรรม

ยังนิโรธให้ถึงพร้อมเพื่อบรรลุนิโรธ แล

วินิจฉัยโดยลำดับในอริยสัจนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[โดยวินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น]

ข้อว่า "โดยวินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น" ความว่า ธรรม

ทั้งหลายมีชาติเป็นต้นนั้นใด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เมื่อทรงแจกแจงอริย-

สัจทั้งหลาย ได้ตรัสไว้ในนิเทศแห่งอริยสัจ ๔ ดังนี้ คือ ธรรม ๑๒

ประการตรัสไว้ในนิเทศแห่งทุกขสัจว่า "ความเกิดก็เป็นทุกข์อย่าง ๑

* ปาฐะเป็น ตทาธิคมุปาย. . . นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น ตทธิ. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 170

ความแก่ก็เป็นทุกข์อย่าง ๑ ความตายก็เป็นทุกข์อย่าง ๑๑ ความเศร้าใจ

ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้น

ก็เป็นทุกข์แต่ละอย่าง (นับ ๕) ความประสบเข้ากับสิ่งที่ไม่รัก

ทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์ (อย่าง ๑) ความพรากไปจากสิ่งที่รัก

ทั้งหลายก็เป็นทุกข์ (อย่าง ๑) ความที่ปรารถนาอยู่ แต่ไม่ได้

ก็เป็นทุกข์อย่าง ๑ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์๒" ตัณหา

๓ ประการตรัสไว้ในนิเทศแห่งสมุทัยสัจว่า "ตัณหานี้ใด มีการก่อ

ภพ (ใหม่) อีกเป็นปกติ ไปด้วยกันกับนันทิราคะ มีปกติมุ่งเพลิดเพลิน

ไปในอัตภาพนั้น ๆ ตัณหานี้คืออะไรบ้าง คือกามตัณหา ภวตัณหา

วิภวตัณหา" นิพพานอันมีประการเดียวโดยประสงค์ ตรัสไว้ในนิเทศ

แห่งนิโรธสัจดังนี้ว่า "ความดับโดยสำรอกออกอย่างไรเหลือแห่งตัณหา

นั้นนั่นแหละอันใด ความสละไป ความสลัดทิ้งไปความหลุดไปความหมด

เยื่อใด แห่งตัณหานั้นนั่นแหละอันใด" ธรรม ๘ ประการ ตรัสไว้

๑. มหาฎีกาตั้งปัญหาว่า เหตุไฉนจึงไม่ทรงนับเอาพยาธิเข้าด้วย ? แล้วก็แก้ว่า เพราะ

พยาธิไม่เป็นเอกันตะ คือไม่แน่นอน จริงอยู่พยาธินั้นลางคราวก็ไม่มี ลางคนก็ไม่มี

ดังที่ว่ากันว่า "แต่ก่อน โรคมี ๓ อย่าง คือ ความหิว ความอด ความทรุดโทรม" และ

ลางคนเช่นพระพากุลเถรไม่มีพยาธิเลย นัยหนึ่ง พยาธิก็เป็นอันนับเอาแล้วด้วยทุกขศัพท์

(ความไม่สบายกาย) เพราะว่าทุกข์ทางกายอันมีความกำเริบแห่งธาตุเป็นปัจจัย ชื่อว่า

พยาธิโดยปรมัตถ์

๒. ปาฐะในนี้เป็น ปญฺจุปาทานกฺขนฺธาปิ แต่ที่เราสวดกันอยู่ทั่วไปไม่มีปิ ที่จริงก็ไม่น่า

มีปิ เพราะเป็นความสังเขป ทีสมฺปโยโควิปฺปโยโค น่า น่าจะมี จะได้เสมอกันกับบทอื่น ๆ

ทำไม่จึงไม่มีก็ไม่ทราบ แต่เปิดไปดูตอนแก้อรรถ (หน้า ๙๒) ปรากฏว่าไม่มีปิ

ในที่นี้ จึงแปลอย่างไม่มีปิ

เราเคยนับ ๑๑ แต่ในนี้ท่านนับสังขิตทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ด้วย จึงเป็น ๑๒

อย่างไรอยู่เหมือนกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 171

ในนิเทศแห่งมรรคสัจดังนี้ว่า "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็น

ไฉน ? คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้คืออะไรบ้าง

คือสัมมทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ" ดังนี้ โดยวินิจฉัยธรรมทั้งหลาย

มีชาติเป็นต้นนั้น"๑

[ทุกขนิเทศ]

[วินิจฉัยศัพท์ว่าชาติ]

วินิจฉัยในทุกขธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบ

(ต่อไป) วินิจฉัยนี้เป็นอย่างไร ?

ก็ศัพท์ว่าชาตินี้ มีอรรถหลายอย่าง จริงอย่างนั้น ศัพท์ว่าชาติ

นั่น ในคำว่า "(ระลึกชาติได้) ๑ ชาติก็มี ๒ ชาติก็มี"๒ เป็นต้น นี่

มาใน (อรรถคือ) ภพ ในคำว่า "ดูกรวิสาขา สมณชาติชื่อนิครนถ์

มีอยู่"๓ นี่มาใน (อรรถคือ) นิกาย (พวก) ในคำว่า "ชาติ

สงเคราะห์เข้ากับขันธ์ ๒"๔ นี่มาใน (อรรถคือ) สังขตลักษณะ ใน

๑. อิติศัพท์ที่นิจฺฉยา ตรงนี้ เข้าใจเป็นสรูปในอตฺโถ และสุดประโยค จึงควรลง

เครื่องหมายหัวตาปูขั้น ส่วน เอตฺถ วินิจฺฉโย เวทิตพโพ ขึ้นประโยคใหม่

ถ้าอย่างนี้ถูก หัวตาปูหลัง นิจฺฉยาติ ข้างต้น (ย่อหน้า) ก็ควรถอนออก ในที่นี้

ได้แปลเรียงความตามที่เข้าใจนี้

๒. ที. สี. ๙/๑๗

๓. องฺ. ติก. ๒๐/๒๖๔

๔. อภิ. ธา. ๓๖/๑๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 172

คำว่า "จิตดวงแรกเกิดขึ้น วิญญาณดวงแรกปรากฏขึ้นในท้องของ

มารดาอันใด ชาตินั้นนั่นแลอาศัยจิตดวงแรกนั้นจึงมี"๑ นี่มาใน

(อรรถคือ) ปฏิสนธิ ในคำว่า "ดูกรอานนท์ ทันทีที่พระโพธิ-

สัตว์ชาตะ๒" นี่ มาใน (อรรถคือ) ประสูติ (การคลอด) ในคำว่า

"เป็นผู้ไม่ถูกคัดค้านไม่ถูกติเตียนด้วยชาติวาทะ (ถ้วยคำปรารภชาติ)"๓

นี่มาใน (อรรถคือ) ตระกูล ในคำว่า "ดูกรน้องหญิง เราเกิด

แล้วโดยชาติเป็นอริยะ แต่กาลใด"๔ นี่มาใน (อรรถคือ) อริยศีล

ศัพท์ว่า ชาติ นี้นั้น ในที่นี้พึงเห็นว่ามาในขันธ์ทั้งหลายอันเป็นไปตั้งแต่

ปฏิสนธิจนถึงออกจากท้องมารดาสำหรับสัตว์จำพวกครรภไสยกะ (คือ

อัณฑชะและชลาพุชะ) มาในปฏิสนธิขันธ์ทั้งหลายเท่านั้น สำหรับ

สัตว์จำพวกนอกนี้ (คือสังเสทชะ และอุปปาติกะ) แม้วินิจฉัยกถาที่

กล่าวมานี้เล่าก็ยังเป็นปริยายกถา (ว่าโดยอ้อม) อยู่ เมื่อว่าโดย

นิปริยาย (โดยตรง) ขันธ์ทั้งหลายใด ๆ ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย

ผู้เกิดอยู่ในภพนั้น ๆ ความปรากฏขึ้นทีแรกแห่งขันธ์นั้น ๆ ชื่อว่าชาติ

ก็แลชาตินี้นั้น มีความเกิดทีแรกในภพนั้น ๆ เป็นลักษณะ มีการ

มอบให้เป็นรส มีความผุดขึ้นในภพนี้จากอดีตภาพเป็นปัจจุปัฏฐาน

นัยหนึ่ง มีความวิจิตรไปด้วยทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน

๑. วิ. มหาวคฺค. ๔/๑๘๗

๒. ม. อุ. ๑๔/๒๕๓

๓. ม. ม. ๑๓/๕๙๔

๔. ม. ม. ๑๓/๔๘๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 173

[ชาติทุกข์]

หากคำถามพึงมีว่า "ก็เหตุไฉน ชาติจึงเป็นทุกข์ ?" ดังนี้ไซร้

คำแก้พึงมีว่า "เพราะความเป็นวัตถุ (คือเป็นพื้นเป็นที่ตั้ง) ของทุกข์

เป็นอเนก" จริงอยู่ทุกข์ทั้งหลายมีเป็นอเนก เช่นอะไรบ้าง เช่น

ทุกขทุกข์ วิปริณามทุกข์ สังขารทุกข์ ปฏิจฉันทุกข์ อปฏิจฉันทุกข์

ปริยายทุกข์ นิปริยายทุกข์

ในทุกข์เหล่านั้น ทุกขเวทนาทั้งทางกายและทางใจ เรียกว่า

ทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ทั้งโดยสภาวะและโดยชื่อ สุขเวทนา*เรียก

ว่า วิปริณามทุกข์ เพราะเป็นเหตุเกิดทุกข์โดยแปรปรวนไป อุเบกขา-

เวทนาและสังขารทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ เรียกว่าสังขาร-

ทุกข์ เพราะถูกความเกิดและความเสื่อมบีบคั้น ความเจ็บป่วย

ทั้งทางกายและทางใจ มีปวดหู ปวดฟัน และความรุ่มร้อนเกิดแต่ราคะ

ความเดือดดาลเกิดแต่โทสะเป็นต้น เรียกปฏิจฉันทุกข์ เพราะต้องถาม

จึงรู้ และเพราะความไม่ปรากฏการกระทำ ความเจ็บป่วยมีทวดึงส-

กรรมกรณ์ (การลงอาชญา ๓๒ ประการ) เป็นต้น เป็นสมุฏฐาน

เรียกว่าอปฏิจฉันทุกข์ เพราะไม่ต้องถามก็รู้ และเพราะความปรากฏ

การกระทำด้วย เว้นทุกขทุกข์เสีย ทุกข์ที่เหลือมีชาติเป็นอาทิ ซึ่งมา

ในวิภังค์แห่งทุกขสัจทั้งหมดเรียกว่าปริยายทุกข์ เพราะความเป็นวัตถุ

แห่งทุกข์นั้น ๆ ส่วนทุกขทุกข์เรียกว่านิปปริยายทุกข์

* ปาฐะ พิมพ์ไว้เรียงศัพท์ สุขเวทนา ติดกับ วิปริณาเมน คลาดเคลื่อน ที่ถูกเรียง

แยกเป็น สุขเวทนา วิปริณาเมน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 174

[คัพโภกกันติมูลกทุกข์]

ในทุกข์เหล่านั้น ชาติ จัดเป็นทุกข์ เพราะความเป็นวัตถุแห่ง

ทุกข์อันมีในอบาย ที่แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงประกาศไว้ในสูตร

ทั้งหลายมีพาลบัณฑิตสูตรเป็นอาทิ โดยเป็นข้ออุปมา (มีอุปมาด้วย

หลุมถ่านเพลิงเป็นต้น) และแห่งทุกข์อันต่างโดยทุกข์มีความลงสู่ครรภ์

เป็นมูลเป็นต้นในมนุษยโลก ซึ่งเกิดขึ้นแม้ในสุคติ

ในทุกข์เหล่านั้น (ต่อไป) นี้ เป็นทุกข์อันต่างโดยทุกข์มีความ

ลงสู่ครรภ์เป็นมูล เป็นต้น

ก็แลสัตว์นี้ เมื่อเกิดในท้องมารดา ก็หาใช่เกิดในกลีบดอกไม้

มี อุบล ปทุม และบุณฑริกเป็นต้นไม่ ที่แท้ย่อมเกิดในกุจฉิประเทศ

(ส่วนหนึ่งของท้อง) ใต้กระเพาะอาหารใหม่ เหนือกระเพาะอาหารเก่า

ท่ามกลางแห่งหน้าท้องและกระดูกสันหลัง เป็นที่คับแคบอย่างยิ่ง มืดมิด

อบอวลด้วยกลิ่นอายอันเหม็นยิ่ง ซึ่งกลิ่นซากสัตว์ (ที่กินเข้าไป) ต่าง ๆ

ทำให้เกิดขึ้น น่าเกลียดยิ่งนัก ราวกะตัวหนอนเกิดอยู่ในปลาเน่า ขนม

บูด และหลุมน้ำครำเป็นต้น ฉะนั้น สัตว์ที่เกิดอยู่ในท้องมารดานั้น

ร้อนอบอยู่*ด้วยสัมภวะ (น้ำกำเนิด น้ำเลี้ยง ?) ในท้องของมารดา

(เท่ากับ) ถูกต้มอยู่เหมือนปุฏปากะ (ข้าวต้มมัด ?) (เท่ากับ) ถูก

นึ่งอยู่เหมือนปิฏฐปิณฑิ (ขนมก้อนแป้ง) ปราศจากความไหวกายมี

คู้เหยียด (อวัยวะ) เป็นต้น เสวยทุกข์ขนาดหนักอยู่ตลอดทศมาส แล

* ปาฐะเป็น อุสฺมานา คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น อุสฺมาโน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 175

นี่เป็น คัพโภกกันติมูลทุกข์ (ทุกข์มีความลงสู่ครรภ์เป็นมูล)

เป็นอันดับแรก

[คัพภปริหรณมูลกทุกข์]

ประการหนึ่ง สัตว์นั้นได้เสวยทุกข์ขนาดหนักอันใด๑ ในเพราะการ

ลื่นล้ม การเดิน การนั่งลง การลุกขึ้นและการพลิกตัวโดยเร็วของมารดา

เป็นต้น (ก็ดี) เพราะการกระทำ (ของคนอื่น) มีการฉุดกระชาก

ลากถู การกระแทกและการผลักเป็นต้น เหมือนลูกแกะอยู่ในมือนักเลง

สุรา และเหมือนลูกงูอยู่ในมือหมองู (ก็ดี) อนึ่ง สัตว์นั้นได้เสวยทุกข์

ล้าอันใด ในเวลาที่มารดาดื่มน้ำเย็นเป็นเหมือนสัตว์ที่ตำนรกหนาว

ในเวลาที่มารดากลืนข้าวต้ม และข้าวสวยร้อนลงไปเหมือนถูกปรายด้วย

เม็ดฝนถ่านเพลิง ในเวลามารดากลืนอาหารรสจัดเช่นเค็มและเปรี้ยว

เป็นต้นลงไปก็เหมือนได้รับการลงโทษมีวิธีธาราวตัจฉิกะ (สับร่างกาย

แล้วราดด้วยน้ำกรด)๒ เป็นต้น ทุกข์นี้เป็นคัพภปริหรณมูลกทุกข์

(ทุกขืมีการบริหารครรภ์เป็นมูล)

คัพภวิปัตติมูลกทุกข์

ประการหนึ่ง ทุกข์อันใดเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้น เพราะเวชกรรมมี

๑. ปาฐะ ตรงนี้เป็น อยํ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน เทียบกับท่อนหลัง ๆ ซึ่งกล่าวความ

เสมอกันเป็น ยํ ทั้งนั้น มี อิทํ รับอยู่ข้างหลัง ในที่นี้แก้เป็น ยํ ดังที่แปลนี้

๒. ปาฐะเป็น ขาราปติจฺฉก ก็มี มีอธิบายในที่อื่นว่า เป็นวิธีลงกรรมกรณ์ครั้งโบราณ

อย่างหนึ่ง โดยสับร่างกายของนักโทษให้เป็นแผลแล้วราดด้วยน้ำกรด แล้วใช้แปรง

แข็งถูไปมาให้เนื้อหลุดถึงกระดูก วิธีลงโทษ "แล่เนื้อเกลือทา" ของเราแต่โบราณ

น่าจะได้เค้าจากวิธีขาราวตัจฉิกะนี้เอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 176

การตัดและผ่าเป็นต้น ตรงที่ ๆ เกิดทุกข์ (คือมดลูก ?) ของมารดา

ผู้ครรภ์หลง (คือครรภ์ขัด) อันเป็นที่ไม่ควรดูแม้แห่งคนที่สนิทกันมี

มิตรสหายและคนชอบพอกันเป็นต้น* ทุกข์นี้เป็นคัพภวิปัตติมูลกทุกข์

(ทุกข์มีความวิบัติขัดข้องแห่งครรภ์เป็นมูล)

[วิชายนมูลกทุกข์]

(ประการหนึ่ง) ทุกข์อันใดเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้น ผู้ถูก (ลม) กรรม-

ชวาตของมารดาเมื่อจะคลอดพัดผัน (ศีรษะ) ให้กลับลงตรงช่องคลอด

อันน่ากลัวยิ่งประดุจปล่องเหว ถูกเบ่งออกทางช่องคลอดอันแคบยิ่งนัก

ประดุจช้างใหญ่ถูกดันออกทางช่องดาล และถูกบีบด้วยภูเขาคือขื่อ

(เชิงกราน) เหมือนสัตว์นรกถูกบดด้วยสังฆาตบรรพต ทุกข์นี้เป็น

วิชายนมูลกทุกข์ (ทุกข์มีการคลอดเป็นมูล)

[พหินิกขมนมูลกทุกข์]

ประการหนึ่ง ทุกข์อันใดที่เป็นเช่นกับการแทงและผ่าด้วยปลาย

เข็มและคมมีดโกน ในเวลาที่เขารับด้วยมือให้อาบน้ำล้าง (ครรภมลทิน)

และเช็ดด้วยผ้าเป็นต้น เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว ซึ่งมีร่างกายยังละเอียด

อ่อนเช่นกับแผลใหม่ ทุกข์นี้เป็น มาตุกุจฺฉิโต พหินิกฺขมนมูลก-

ทุกข์ (ทุกข์มีการออกมานอกท้องมารดาเป็นมูล)

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น มิตฺตามจฺจสุชฺชาทีหิปิ น่าจะคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น . . .ทีนํปิ

เป็นภาวาทิสัมพันธ์ใน อทสฺสน

อมจฺจ มาคู่กับ มิตฺต ท่านว่าหมายเอาสหาย สุหชฺช ก็แปลกันว่าเพื่อน ถ้าจะ

แปลไปว่า มิตรสหายและเพื่อน ก็ฟังดูเฝือไปนัก จึงแปล สุหชฺช เสียว่า คนชอบ

พอกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 177

[อัตตุปักกมมูลกทุกข์]

(ประการหนึ่ง) ในความเป็นไปต่อแต่นั้นไป ทุกข์อันใดเกิดมีแก่

สัตว์นั้นผู้ทำร้ายตนเอง๑ ก็ดี ผู้ประกอบอาตาปนปริตาปนานุโยค (ประ

กอบการทรมานตัวเพื่ออย่างกิเลส) ตามทำนองวัตรของเดียรถีย์มีอเจลก-

วัตร (วัตรของชีเปลือย) เป็นต้นก็ดี ผู้ไม่กิน (อาหาร) และ

แขวนคอตาย ด้วยอำนาจความโกรธก็ดี ทุกข์นี้เป็นอัตตุปักกมมูลก-

ทุกข์ (ทุกข์มีการทำตัวเองเป็นมูล)

[ปรุปักกมมูลกทุกข์]

ประการหนึ่ง ทุกข์อันใดเกิดขึ้นแก่สัตว์นั้นผู้ได้รับการกระทำมี

ฆ่าและจองจำเป็นต้นแต่คนอื่น ทุกข์นี้เป็นปรุปักกมมูลกทุกข์ (ทุกข์

มีการถูกคนอื่นทำเอาเป็นมูล) แล

[สรูปชาติทุกข์]

ชาตินี้เป็นพื้น (ที่ตั้ง) แห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แท้ ดังกล่าวมา เพราะ

เหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

ชาเยถ โน เจ นรเกสุ สตฺโต

ฯ เป ฯ

ทุกฺขาติ สพฺพปฐมํ อิมมา ชาตึ

หากว่าสัตว์ไม่พึงเกิดในนรกทั้งหลายไซร้ เขาก็

ไม่พึงได้รับทุกข์เหลือทนมีเผาด้วยไฟเป็นต้น ใน

๑. วเธนฺตสฺส มหาฎีกาแก้ว่า "เบียดเบียนตัวเองด้วยการร้องให้คร่ำครวญทุบอกชก

หัวเป็นต้น" (น่าจะหมายเลยไปถึงฆ่าตัวตายด้วย ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 178

นรกนั้น (ถ้าไม่เกิด) ทุกข์จะพึงได้ที่ตั้งที่ไหนเล่า

เพราะเหตุนั้น พระมุนีเจ้าจึงตรัสความเกิดในนรกนี้

ว่าเป็นทุกข์

ทุกข์ในพวกสัตว์ดิรัจฉานเป็นอันมาก เกิด

เพราะถูกฆาตด้วยแส้ ปะฏัก และท่อนไม้เป็นต้น

อันใด ทุกข์อันนั้น เว้นความเกิดในพวกดิรัจฉาน

นั้นเสียจะพึงมีอย่างไรเล่า เพราะเหตุนั้น แม้

ความเกิดในพวกดิรัจฉานนั้น จึงเป็นทุกข์

อนึ่ง ทุกข์ในพวกเปรตหลายหลาก เกิดเพราะ

ความหิวระหายและลมแดดเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่

สัตว์ผู้ไม่เกิดในพวกเปรตนั้น เหตุใด แม้เพราะ

เหตุนั้น พระมุนีเจ้าจึงตรัสความเกิด (ในพวก

เปรตนั้น) ว่าเป็นทุกข์

อนึ่ง ทุกข์ใดในพวกอสูรในโลกันตร์อันเป็น

ที่มืดมิดและเย็นเหลือทน หากความเกิดในโลกันตร์

นั้นไม่มีไซร้ ทุกข์นั้นก็ไม่พึงมี เหตุใด แม้เพราะ

เหตุนั้น ความเกิดนี้จึงเป็นทุกข์

อนึ่ง สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งเป็นเหมือน

คูถนรกเป็นเวลานาน และออกมานอกครรภ์นั้นย่อม

ได้รับทุกข์อันร้ายกาจแม้ใด แม้ทุกข์นี้เว้นความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 179

เกิดเสีย ก็หามีไม่ แม้เพราะเหตุนั้น ความเกิด

นี้จึงเป็นทุกข์แท้

ต้องการอะไรที่จะกล่าวไปมาก ทุกข์ใดแม้

เล็กน้อยมีอยู่ในที่ไหน ๆ ในโลกนี้ก็ดี ทุกข์นี้

เพราะเว้นความเกิดเสีย ก็ไม่มีในกาลไหน ๆ เลย

เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระมหาฤษีเจ้าจึงตรัส

ความเกิดนี้ว่าเป็นทุกข์ก่อนทุกข์ทั้งปวง

นี่เป็นวินิจฉัยในชาติเป็นข้อแรก

[ชราทุกข์]

ในข้อว่า "แม้ชราก็เป็นทุกข์" นี้ มีวินิจฉัยว่า ชรามี ๒ อย่าง

คือ สังขตลักษณะ* ๑ ความเก่าไปแห่งขันธ์ที่เนื่องอยู่ในภพอันหนึ่งใน

(รูป) สันตติซึ่งรู้กันโดยอาการมีฟันหักเป็นต้น ๑ ชรา (อันปรากฏ)

คือความเก่าไปแห่งขันธ์นั้น (แหละ) หมายเอาในที่นี้

ก็แลชรานี้นั้น มีความแก่ไปแห่งขันธ์เป็นลักษณะ มีอันนำเข้า

ไปหาความตายเป็นรส มีความเสื่อมหายไปแห่งความเป็นหนุ่มเป็น

ปัจจุปัฏฐาน ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์และเพราะเป็นที่

ตั้งแห่งทุกข์ด้วย จริงอยู่ทุกข์อันเป็นไปทางกายและทางใจนี้ใด มีปัจจัย

เป็นอเนก เช่นความหย่อนยานแห่งอวัยวะใหญ่น้อย ความพิการแห่ง

อินทรีย์ ความมีรุปร่างวิกลไป ความเป็นหนุ่มหายไป ความเพียร

* หมายเอาขณิกชราที่กล่าวในสังขตลักษณะ ว่าฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ - เมื่อตั้งอยู่ ความ

แปรไปย่อมปรากฏ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 180

(ความกล้า ?) ตกไป* สติ (ความจำ ?) และมติ (ความคิดอ่าน ?)

จากไป และเป็นที่ดูแคลนของคนอื่นเป็นต้น เกิดขึ้น ชราเป็นที่ตั้ง

แห่งทุกข์นั้น เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

องฺคานํ สถิลีภาวา ฯ เป ฯ ยสฺมา ตสฺมา ชรา ทุกฺขา

มัจจะ (สั_____________ตว์ที่จะต้องตาย) ได้รับทุกข์ทางกาย

และทางใจอันใด เพราะความหย่อนยานไปแห่ง

องคาพยพ เพราะความวิการไปแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย

เพราะความเสื่อมหายไปแห่งความเป็นหนุ่ม เพราะ

ความถดถอยไปแห่งกำลัง เพราะความจากไป

แห่งสติ (ความจำ ?) เป็นต้น เพราะลูกเมียของ

ตนเองก็ไม่พึงใจ และเพราะ (มีแต่จะ) ถึงซึ่งความ

อ่อนเพลียยิ่งขึ้น เพราะเหตุที่ทุกข์ (ที่กล่าวมา) นั่น

ล้วนมีชราเป็นเหตุ เพราะเหตุนั้น ชราจึงเป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในชรา

* วิริยาปสาท ท่านผู้ชำระบอกเชิงอรรถไว้ว่า ฉบับสีหลเป็นวิริยาวสาท ฉลับพม่า

เป็นพลูปฆาต น่าวิจารณ์ดู

ของเรากับของสีหล พอไปกันได้ เพราะอปสาทกับอวสาท ก็สิทธาตุ ในความ

จม จบ หยุด ฯลฯ ด้วยกัน ส่วนพลูปฆาต ของพม่านั้นมองไม่เห็นกันเลยกับของเรา

แต่ไปมองเห็นกันกับบาทคาถาสรูปต่อไปนั้น คือ พลสฺส อุปฆาตโต เหมาะเจาะ

ทีเดียว ถ้าถือว่าความในประโยคเนาต้องกลมกลืนกับคาถา ปาฐะฉบับพม่าก็จะถูกต้อง

กว่ากระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 181

[มรณทุกข์]

แม้ในข้อว่า 'แม้มรณะก็เป็นทุกข์' นี้ มรณะก็มี ๒ คือ สังขต-

ลักษณะ๑ ซึ่งท่านหมายเอากล่าวไว้ว่า "ชรามรณะ สงเคราะห์ด้วย

ขันธ์ ๒"๒ ดังนี้ ๑ ความขาดการติดต่อกันไปแห่งชีวิตินทรีย์ที่เนื่อง

อยู่ในภพอันหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า "ความ

กลัวตายมีอยู่เป็นนิจ"๓ ดังนี้ ๑ มรณะคือความขาดชีวิตินทรีย์นั้น

(แหละ) ประสงค์เอาในที่นี้ แม้คำว่า ชาติปัจจยามรณะ (ความ

ตายมีเพราะความเกิดเป็นปัจจัย) อุปักกมมรณะ (ความตายเพราะการ

กระทำ) สรสมรณะ (ความตายโดยสภาพ คือตายเอง ? ) อายุขยมรณะ

(ความตายเพราะสิ้นอายุ) ปุญขยมรณะ (ความตายเพราะสิ้นบุญ)

ดังนี้ก็เป็นชื่อของมรณะคือความขาดชีวิตินทรีย์นั่นเอง

มรณะนี้นั้น มีจุติ (ความเคลื่อนไปจากปัจจุบันภพ) เป็นลักษณะ

มีวิโยค (ความพรากไปจากสัตว์และสังขารตามที่ตนได้ไว้) เป็นรส

มีคติวิปวาส (ความพลัดจากคติตามที่ตนเข้าถึงแล้วไป) เป็นปัจจุ-

ปัฏฐาน ส่วนที่ว่า (มรณะ) เป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะความ

เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

ปาปสฺส ปาปกมฺมาทิ - ฯ เป ฯ ทุกฺขมิจฺเจว ภาสิตํ

ทุกข์ทางใจอันใดมีขึ้นโดยไม่แปลกกันแก่คนที่กำลัง

๑. หมายถึงขณิกมรณะ ที่กำหนดด้วยความเสื่อมไปแห่งสังขาร

๒. อภิ. ธา. ๓๖/๑๔

๓. ขุ. สุ. ๒๕/๔๔๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 182

จะตายที่เป็นคนชั่ว เห็นนิมิตมีกรรมนิมิตฝ่ายบาป

เป็นต้น แม้ที่เป็นคนดี (แต่) ทนความ

พลัดพรากอันมีของรักเป็นที่ตั้งไม่ไหว อนึ่ง ทุกข์

ทางกายอันใด มีข้อและเส้นเอ็นขาดเป็นต้น มีขึ้น

แก่คนทุกคนผู้มีมัมมฐาน (ตำแหน่งสำคัญของ

ร่างกาย) ถูกลมร้ายแทงเอา ทุกข์นี้เป็นทุกขท์ ่คี น

ทนไม่ไหว แก้ไขก็ไม่ได้ เพราะเหตุที่มรณะเป็น

ที่ตั้งแห่งทุกข์ (ที่กล่าวมาทั้งหมด) นั่น เพราะ

เหตุนั้น มรณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็น

ทุกข์แท้

นี่เป็นวินิจฉัยในมรณะ

[โสกะ]

ในปกิณกทุกข์มีโสกเป็นต้น ความเร่าร้อนจิตแห่งบุคคลผู้ถูก

ทุกข์มีเสียญาติไปเป็นต้นต้องเอา ชื่อว่า โสก โสกนั้น โดยความก็

เป็นโทมนัสนั่นเอง๑ก็จริงแล แม้เป็นเช่นนั้น ก็ (มีลักษณะประจำตัว

คือ) มีความตรอมตรมภายในเป็นลักษณะ มีความกรมเกรียมใจเป็นรส

มีความละห้อยหาเป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่าโสกเป็นทุกข์พึงทราบว่า

เพราะเป็นทุกขทุกข์ (คือเป็นตัวทุกข์) และเพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์

ด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

๑. หมายความว่า โสก ก็เป็นพวกโทมนัสเจตสิกนั่นเอง เพราะไม่มีเจตสิกอื่น แต่ถึง

กระนั้น ก็มีความแตกต่างกันโดยลักษณะเป็นต้นดังกล่าวต่อไปนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 183

สตฺตานํ หทยํ โสโก ฯ เป ฯ ตสฺมา ทุกฺโขติ - วุจฺจติ

โสกย่อมทิ่มแทงหัวใจของสัตว์ทั้งหลาย ดังลูกศร

อาบยาพิษแทงเอา และยังเผาหัวใจเอาอย่างร้ายแรง

อีกด้วย ราวกะหลาวเหล็กเผาไฟ (ทิ่มเข้าไป)

เผาเอา และยังนำวิวิธทุกข์ต่างโดยความเจ็บไข้

ความแก่และความตายมาอีกด้วย* เหตุใด เพราะ

เหตุนั้น โสกนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในโสก

[ปริเทวะ]

ความคร่ำครวญแห่งบุคคลผู้ถูกทุกข์มีเสียญาติไปเป็นต้น ต้องเอา

ชื่อปริเทวะ ปริเทวะนั้น มีความพร่ำบ่นเป็นลักษณะ มีการบอก

(รำพัน) ความดีความเสียเป็นรส มีความกลิ้งเกลือกไปเป็นปัจจุปัฏฐาน

ส่วนที่ว่าปริเทวะเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นสังขารทุกข์และเป็น

ที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้

ไว้ว่า

ยํ โสกสลฺลวิหโต ปริเทวมาโน

ฯ ป ฯ

ทุกฺโขติ เตน ภควา ปริเทวมาห

บุคคลผู้ต้องศรโศกประหารเอาแล้ว ยังมาคร่ำครวญ

* หมายความว่า ความโศกทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นได้ ทำให้แก่เร็ว และโศกหนัก

ก็ถึงตายได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 184

(อีก) ย่อมได้รับทุกข์หนักยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นทุกข์

เกิดแต่ความแห้งผากแห่ง คอ ริมฝีปากและเพดาน

ปากเหลือจะทน เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มี

พระภาคเจ้าจึงตรัสปริเทวะว่าเป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในปริเทวะ

[ทุกขะ]

ความทุกข์อันเป็นไปในกาย ชื่อว่าทุกขะ ทุกขะนั้น มีความ

บีบคั้นกายเป็นลักษณะ มีอันทำความโทมนัสแก่บุคคลผู้ทรามปัญญา

ทั้งหลายเป็นรส มีความเจ็บป่วยทางกายเป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่า

ทุกขะเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นทุกขทุกข์ (คือเป็นตัวทุกข์)

และเพราะนำความทุกข์ทางใจมาให้ด้วย เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์

จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

ปีเฬติ กายิกมิทํ ฯ เป ฯ ทุกฺขนฺติ วิเสสโต วุตฺตํ

ทุกข์ทางกายนี้ย่อมบีบคั้น (กาย) ซ้ำยังทำทุกข์

ทางใจให้เกิดด้วย เหตุใด เพราะเหตุนั้น ทุกข์

ทางกายนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า เป็น

ทุกข์โดยพิเศษ (คือเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก)

นี่เป็นวินิจฉัยในทุกขะ

[โทมนัส]

ความทุกข์อันเป็นไปในใจ ชื่อว่าโทมนัส โทมนัสนั้นมีความ

บีบคั้นจิตเป็นลักษณะ มีความแค้นใจเป็นรส มีความเจ็บป่วยทางใจ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 185

เป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่าโทมนัสเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็น

ทุกขทุกข์ และเพราะนำทุกข์ทางกายมาให้ด้วย จริงอยู่ คนทั้งหลายที่

เพียบด้วยความทุกข์ใจแล้ว ย่อมเสวยทุกข์มีประการต่าง ๆ เช่นสยายผม

(ที่ขมวดไว้) ร้องให้ ทุบอก หมุนตัวไปมา ทอดกาย ยกเท้า (ไขว่ขึ้น

ลง) จับศัสตรา (ทำร้ายตัวเอง) กินยาพิษ๑ แขวน (คอ) ด้วยเชือก

(โจน) เข้า (กอง) ไฟ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประ-

พันธ์นี้ไว้ว่า

ปีเฬติ ยโต จิตฺตํ ฯ เป ฯ ตโต อาหุ

โทมนัสย่อมบีบคั้นจิต และยังนำความลำบากกายมา

ให้ด้วย เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้า

ทั้งหลายผู้ปราศจากโทมนัส๒ จึงตรัสโทมนัสว่าเป็น

ทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในโทมนัส

[อุปายาส]

โทสะ อันความทุกข์ใจอย่างหนักบันดาลขึ้น แห่งบุคคลที่ถูกทุกข์

มีเสียญาติเป็นต้นต้องเอานั้นเอง ชื่อว่าอุปายาส อาจารย์พวกหนึ่งว่า

๑. วิสํ ขาทนฺติ ขาทธาตุ โดยมากใช้ในของที่ต้อง ขบ เคี้ยว กัดกิน ทีเรียกว่า

ขาทนียะ ยาพิษ ไม่ใช่ของชนิดนั้นโดยตรง แต่ท่านใช้ขาทธาตุ ก็ต้องแปลว่ากิน

นักเรียนควรสังเกตจำ

๒. วิโทมนสฺสา ต้องหมายถึงพระพุทธเจ้า จะเป็นคนอื่นไม่ได้ เพราะทุกคาถาที่กล่าว

มาแล้ว และอีกหลายคาถาต่อไป ก็พระพุทธเจ้าทั้งนั้น แต่ตรงนี้แปลกเขาหมดเป็น

พหุวจะ คือ วิโทมนสฺสา. . อาหุ สงสัยว่าจะคลาดเคลื่อน เพราะไม่เห็นจำเป็น

อันใดที่จะต้องเป็นพหุวจนะ ถ้าเป็นเอกวจนะ เสมอกับคาถาอื่น ๆ เสียจะดีกว่า เป็น

วิโทมนสฺโส. . อาห

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 186

อุปายาสเป็น (เจตสิก) ธรรมอันหนึ่งนับเข้าในสังขารขันธ์ อุปายาส

นั้นมีความแผดเผาจิตเป็นลักษณะ มีการทอดถอนเป็นรส มีความ

ตรมความเป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่า อุปายาสเป็นทุกข์ พึงทราบว่า

เพราะความเป็นสังขารทุกข์ เพราะแผดเผาจิตและเพราะทำร่างกายให้

เผือดซีดด้วย เพราะเหตุนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

จิตฺตสฺส จ ปริทหนา ฯ เป ฯ ทุกฺโข ตโต วุตฺโต

อุปายาส ย่อมยังทุกข์ใดให้เกิด ทุกข์นั้นจัดว่ามี

ประมาณยิ่ง เพราะทั้งแผดเผาจิต ทั้งทำกายให้

เผือดซีด เหตุนั้น อุปายาส พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสว่า เป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในอุปายาส

[เปรียบเทียบโสกะปริเทวะอุปายาส]

ก็แล ในโสกะ ปริเทวะ และอุปายาสนี้ โสกะ พึงเห็นเหมือน

การที่ (น้ำ) เดือดอยู่ภายในภาชนะด้วยไฟอ่อน ๆ ปริเทวะ พึงเห็น

ดังการ (ล้น) ออกนอกภาชนะแห่งน้ำที่เดือนด้วยไฟแรง อุปายาส

พึงเห็นเช่นการเดือดจนแห้งไปอยู่ภายในภาชนะนั่นเอง แห่งน้ำทีเหลือ

จาก (ล้น) ออกข้างนอกแล้วไม่พอจะ (ล้น) ออกอีก

[อัปปิยสัมปโยคทุกข์]

การร่วมเข้ากับสัตว์และสังขารทั้งหลายที่ไม่ชอบใจ ชื่อว่าอัปปิย-

สัมปโยค อัปปิยสัมปโยคนั้น มีการพบปะกับสัตว์และสังขารที่ไม่

ปรารถนาเป็นลักษณะ มีการทำความคับใจเป็นรส มีความเกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 187

อนัตถะเป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่าอัปปิยะสัมปโยคเป็นทุกข์ พึงทราบ

ว่า เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหตุนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้

ไว้ว่า

ทิสฺวาน อปฺปิเย ทุกฺขํ ฯ เป ฯ อปฺปิเยหิ สมาคโม

เพราะพบคนที่เกลียดเข้า ทีแรกทุกข์ก็มีขึ้นในใจ

ต่อไปทุกข์อันเกิดแต่การทำร้ายเขาเข้า (ด้วยกาย

และวาจา) ก็มีขึ้นในกาย (ของบุคคล) ในโลกนี้

(ด้วย) เหตุใด เพราะเหตุนั้น การพบปะกับ

สิ่งที่เกลียดนั้น พึงทราบว่าพระมหาฤษีเจ้า ตรัสว่า

เป็นทุกข์ เหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งสอง (คือทั้ง

ทางใจและทางกาย)

นี่เป็นวินิจฉัยในอัปปิยสัมปโยคทุกข์

[ปิยวิปโยคทุกข์]

ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งหลายที่ชอบใจ ชื่อว่าปิย-

วิปโยค ปิยวิปโยคนั้น มีความพรากจากวัตถุที่พอใจเป็นลักษณะ มี

อันยังความโสกให้เกิดขึ้นเป็นรส มีความเสียหายไปเป็นปัจจปัฏฐาน

ส่วนที่ว่า ปิยวิปโยคเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์

คือความโศก เหตุนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

ญาติธนาทิวิโยคา ฯ เป ฯ มโต ปิยวิปฺปโยโค

คนเขลาทั้งหลายผู้เพียบแปล้ด้วยศรโศก เพราะ

พลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่รักมีญาติและทรัพย์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 188

เป็นต้น ย่อมเจ็บปวด (ใจ) เหตุใด เพราะ

เหตุนั้น ปิยวิปโยคนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส

ว่าเป็นทุกข์

นี่เป็นวินิจฉัยในปิยวิปโยคทุกข์

[อิจฉิตาลาภทุกข์]

ในข้อว่า 'ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ----' นี้ มีวินิจฉัยว่า ความ

ปรารถนาใน (อลัพภไนยวัตถุ) สิ่งที่ไม่มีทางจะได้ทั้งหลาย เช่น

ปรารถนาว่า 'โอ หนอ เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีความเกิดเป็น

ธรรมดา*' เป็นต้น นั่นแล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 'ยมฺปิจฺฉํ

น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ - ปรารถนาอยู่แต่ไม่ได้ แม้อันใด แม้ความไม่ได้

สิ่งที่ปรารถนาอันนั้นก็เป็นทุกข์' ดังนี้ ความปรารถนานั้น มีความ

ต้องการสิ่งที่ไม่มีทางจะได้เป็นลักษณะ มีการแสวงหาสิ่งที่ไม่มีทางจะได้

นั้นเป็นรส มีความไม่ได้สิ่งเหล่านั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนที่ว่าความ

ปรารถนานั้นเป็นทุกข์ พึงทราบว่า เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหตุนั้น

นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์ไว้ว่า

ตํ ตํ ปฏฺฐยมานานํ ฯ เป ฯ อิจฺฉิตาลาภมพฺรวิ

ทุกข์อันประกอบไปด้วยความขุ่นเคืองอันใด เกิด

แก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะเมื่อเขาทั้งหลาย

ปรารถนาสิ่งนั้น ๆ อยู่แต่ไม่ได้สิ่งนั้น ๆ ความ

ปรารถนาสิ่งที่ไม่มีทางจะได้ทั้งหลาย (นั่นแหละ)

* อภิ. วิ. ๓๕_______________/๑๓๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 189

เป็นเหตุของทุกข์อันนั้น เหตุใด เพราะเหตุนั้น

พระชินะเจ้าจึงตรัสความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาว่าเป็น

ทุกข์*

นี่เป็นวินิจฉัยในอิจฉิตาลาภทุกข์

[ปัญจุปาทานขันธทุกข์]

ส่วนในข้อว่า 'โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์' นี้ มี

วินิจฉัยว่า

ทุกข์ตั้งแต่ชาติทุกข์มาอันใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ผุ้ทรงตาทิคุณ ตรัสไว้ในทุกขนิเทศนี้แล้วก็ดี ทุกข์

อันใดที่มิได้ตรัสไว้ในทุกขนิเทศนี้ก็ดี ทุกข์ทั้งปวง

นั้น เว้นอุปาทานขันธ์ห้านั่นเสีย ก็หามีไม่ เหตุใด

เพราะเหตุนั้น อุปาทานขันธ์ทั้งหลายนี้ พระ

มหาฤษีเจ้าผู้ทรงชี้ที่สุดทุกข์ จึงตรัสว่าเป็นทุกข์

โดยย่อ

* ท่านแก้ทุกข์ข้อนี้ ค่อนข้างจะกำกวม คือไม่เด็ดขาดลงไปว่า จะหมายเอาตัว

ความปรรถนา หรือว่าจะหมายเอาความไม่ได้ (สิ่งที่ปรารถนา) ตอนต้นก็ว่า อิจฺฉาว

-ความปรารถนานั่นแล แต่ตอนท้ายในคาถาว่า อิจฉิตาลาภะ จบก็ว่าอิจฉิตาลาภะ-

ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา

มหาฎีกาท่านก็รู้สึกอย่างนี้ จึงกล่าวว่า อาจารย์ทั้งหลายว่า คำว่า อิจฺฉาว - ความ

ปรารถนานั่นแล นี้ก็คือความไม่ได้เนื่องด้วยความปรารถนานั่นเอง (ไม่ใช่ปรารถนา

เฉย ๆ เท่านั้น) และท่านว่า อิจฉิตาลาภะ ก็คือความไม่ได้อะไรก็แล้วแต่ที่ตนปรารถนา

เพราะบาลีก็ว่าเพียงว่า ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ - ปรารถนาอยู่แต่ไม่ได้ แม้อันใด เท่านั้น

แต่ในคัมภีร์นี้ท่านกล่าวอิจฉิตาลาภะอย่างสุดยอด ตามนัยพระบาลีว่าว่า สัตว์ที่ยังจะ

ต้องเกิด ปรารถนาไม่เกิด เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 190

จริงอย่างนั้น ทุกขธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้น ซึ่งเบียนอุปา-

ทานขันธ์ทั้งนี่แหละ โดยประการต่าง ๆ อยู่ ดังไฟเบียนเชื้อ ดัง

เครื่องประหารเบียนเป้า ดังแมลงทั้งหลายมีเหลือบและยุงเป็นต้นเบียน

โค ดังคนเกี่ยวข้าวทั้งหลายเบียนนา ดังพวกโจรปล้นบ้านเบียน

หมู่บ้าน ก็เกิดที่อุปาทานขันธ์ทั้งหลายนี่เอง เหมือนหญ้าและไม้เถา

เป็นต้นเกิดที่พื้นดิน เหมือนดอกผลและหน่อเกิดที่ต้นไม้ทั้งหลาย

ฉะนั้น อนึ่ง ทุกข์ในเบื้องต้นของอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ก็คือชาติ

ทุกข์ในท่ามกลาง คือชรา ทุกข์ในที่สุด คือมรณะ ทุกข์คือความ

รุ่มร้อน (ใจ) เพราะกระทบมรณันติกทุกข์ (ทุกข์เมื่อใกล้ตาย) เป็___________น

โสกะ ทุกข์คือความคร่ำครวญ เพราะทนต่อทุกข์นั้นไม่ได้ เป็น

ปริเทวะ ต่อไปทุกข์คือความเจ็บกาย เพราะประสบอนิฏฐโผฏฐัพพะ

กล่าวคือความกำเริบแห่งธาตุ เป็นทุกขะ ทุกข์คือความเจ็บใจ เพราะ

เกิดปฏิฆะในทุกข์กายนั้น แห่งปุถุชนทั้งหลายผู้ถูกความเจ็บกายนั้น

เบียนเอา เป็นโทมนัส ทุกข์คือความหมกไหม้* ของบุคคลทั้งหลาย

ผู้มีความเศร้าสลดที่ความเพิ่มมากขึ้นแห่งทุกข์ที่กล่าวแล้วมีโสกะเป็นต้น

ทำให้เกิดขึ้น เป็นอุปายาส ทุกข์คือความไม่สมปรารถนาของบุคคล

ทั้งหลาย ผู้ได้รับความคลาดหวัง เป็นอิจฉิตาลาภะ เพราะเหตุนั้น

อุปาทานขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูโดยประการต่าง ๆ ดัง

กล่าวมานี้ ย่อมเป็นทุกข์แท้แล

* อนุตฺถุนน เคยแปลกันว่า ทอดถอนใจ แต่ตรงนี้มหาฎีกาท่านแก้ว่า อนฺโตนิชฺ-

ฌายนํ - ไหม้อยู่ข้างใน พอได้กันกับภาษาเราว่าหมกไหม้ ความแรงพอสมกับความของ

อุปายาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 191

ใคร ๆ ไม่อาจกล่าว (พรรณนา) ทุกข์แต่ละอย่างนี้ใด ที่

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงไว้ มิให้ (หลง) เหลือโดยกาลแม้หลาย

กัปได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงแสดง (โดย) ย่น

ทุกข์ทั้งปวงนั้น เข้าในอุปาทานขันธ์ ๕ ทุกอย่าง ดุจย่นรสน้ำทะเล

ทั้งสิ้นไว้ในหยดน้ำหยดเดียว จึงได้ตรัสว่า "โดยย่อ อุปาทานขันธ์

๕ เป็นทุกข์' ดังนี้

นี่เป็นวินิจฉัยในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย

นี้เป็นนยะในทุกขนิเทศเป็นอันดับแรก

[ทุกขสมุทัยนิเทศ]

ส่วนในสมุทัยนิเทศ มีวินิจฉัยว่า คำว่า ยายํ ตณฺหา ความว่า

ตัณหานี้ใด คำว่า โปโนพฺภวิกา ความว่า การก่อภพ (ใหม่)

อีกชื่อว่าปุนัพภวะ การก่อภพ (ใหม่) อีกเป็นปกติของตัณหา

นั่น เหตุนี้ตัณหานั้นจึงชื่อ โปโนพฺภวิภา๑ (มีการก่อภพ (ใหม่)

อีกเป็นปกติ)๒ ตัณหานั้นชื่อ นนฺทิราคสหคตา เพราะไปด้วย

กันกับนันทิราคะ (ความยินดีอย่างเพลิดเพลิน) มีอธิบาย

ว่า ถึงซึ่งความเป็นอันเดียวกันกับนันทิราคะโดยอรรถ๓ คำว่า ตตฺร

ตตฺราภินนฺทินี ความว่า มันเกิดในอัตภาพใด ๆ มันก็มีปกติมุ่งเพลิด

๑. มีปัญหาว่า เมื่อศัพท์นี้สำเร็จรูปมาจาก ปุนพฺภว ก็น่าจะเป็นโปนพฺภวิก ไฉนจึง

เป็น โปโนพฺ. . . ไป เคยเรียนถามนักปราชญ์ผู้หนึ่ง ท่านบอกนิบาตที่แปลว่า 'อีก'

มี ๒ คือ ปน และปุโน โปโนพฺภวิก นี้ใช้ปุโน เขลาไปที่ไม่ได้ถามท่านว่า ท่านพบ

อยู่ในคัมภีร์อะไร

๒. เราถือเอาความเป็นปัจจุบันว่า 'ไม่รู้จบ'

๓. เราถือเอาความง่าย ๆ ว่า ตัณหานั้น ไม่ใช่อยากลุ่น ๆ มันต้องมีความยินดีพอใจ

เป็นเกลอไปด้วยเสมอ พูดสั้น ๆ ว่า อยากไปตามที่พอใจ

๔. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น อตฺตภาโว ผิด ที่ถูกเป็น อตฺตภาเว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 192

เพลินไปในอัตภาพนั้น ๆ๑ คำว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต นี่เป็นความ

ของนิบาตนั้น คือ "หากถามว่า ตัณหานั้นเป็นไฉน" ธรรมทั้งหลาย

นี้คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จักมีแจ้งในปฏิจจสมุปบาท-

นิเทศ ส่วนในที่นี้ตัณหาทั้ง ๓ อย่างนี้ พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงผนวกเข้าเป็นอันเดียวตรัสว่าเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ โดยอรรถว่า

เป็นเหตุยังทุกขสัจให้เกิด

[ทุกขนิโรธนิเทศ]

ในทุกขนิโรธนิเทศ มีวินิจฉัยว่า โดยนัยว่า โย ตสฺสาเยว

ตณฺหาย เป็นต้น เป็นอันตรัสความดับแห่งสมุทัย หากถามว่า เหตุ

ไร จึงว่าตรัสความดับแห่งสมุทัย ? คำแก้พึงมีว่า ความดับแห่งทุกข์

ย่อมมีเพราะความดับแห่งสมุทัย แท้จริง ทุกข์ย่อมดับเพราะความดับ

ไปแห่งสมุทัย มิใช่เหตุอื่น เหตุนั้นจึงตรัสไว้ (ในธรรมบท) ว่า

ต้นไม้ เมื่อโคน๒ยังมั่นอยู่ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด

(ส่วนบน) แล้วก็งอดได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้

ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้ง

แล้ว ก็เกิดได้ร่ำไป

เพราะเหตุที่ทุกข์ย่อมดับ เพราะความดับไปแห่งสมุทัยดังกล่าวมา

๑. เรานิยมเทศน์กันมาว่า "----ในอารมณ์นั้น ๆ " ฟังดูดเป็นปัจจุบันดี ใจฉวยเอาได้

ง่ายด้วย

๒. มูล แปลว่า โคนก็ได้ รากก็ได้ ฯลฯ เห็นว่าแปลว่า โคน ก็กินความถึงรากด้วย

ดีกว่าแปลว่า ราก เสียทีเดียว เพราะไม้ลางอย่าง หากเหลือแต่ราก ไม่มีโคนโผล่อยู่

ด้วย จะไม่งอก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 193

นั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงความดับแห่งทุกข์ จึงทรง

แสดงโดยความดับแห่งสมุทัยนั่นเอง

อันพระตถาคตทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติเสมอด้วยสีหะ

ท่านจะดับทุกข์และจะแสดงความดับแห่งทุกข์ ย่อมปฏิบัติในเหตุ มิ

ได้ปฏิบัติในผล ส่วนเดียรถีย์ทั้งหลาย มีความประพฤติเสมอ

ด้วยสุวาน เขาจะดับทุกข์และจะแสดงความดับแห่งทุกข์ ย่อมปฏิบัติ

ในผล โดยแสดงอัตตกิลมถานุโยคเป็นต้น หาปฏิบัติในเหตุไม่๑ ด้วย

ประการฉะนี้

ประโยชน์ (ความมุ่งหมาย ?) แห่งการแสดงความดับแห่งทุกข์

ด้วยอำนาจความดับแห่งสมุทัย บัณฑิตพึงทราบ โดยนัยดังนี้ก่อน

[แก้อรรถบาลีทุกขนิโรธ]

ส่วน (ต่อไป) นี้ เป็น (แก้) อรรถ (แห่งบาลีทุกขนิโรธ)

คำว่า ตสฺสาเยว ตณฺหาย ความว่า แห่งตัณหาที่พระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าตรัส (ลักษณะ) ว่า 'โปโนพฺภวิกา - มีการก่อภพ (ใหม่)

อีกเป็นปกติ' เป็นอาทิ แล้วทรงจำแนกโดยประเภทมีกามตัณหาเป็น

ต้นนั้น

๑. คือแทนที่จะดับกิเลสอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด กลับหาทุกข์มาทับถมตนหนักเข้าอีก

ท่านว่าราชสีห์นั้น เมื่อถูกยิงด้วยศรแล้ว มันไม่มัวโกรธลูกศร เห็นตัวคนยิง

แล้วก็พยายามจับตัวคนยิงประหารเสีย ลูกศรก็ไม่มาอีก ส่วนสุนัขนั้นถูกขว้างด้วยก้อน

ดินแล้วก็มัวแต่เห่าไล่งับกันก้อนดิน ไม่ไล่ตะเพิดคนขว้างไปเสีย ก้อนดินก็มาอีกร่ำไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 194

มรรค เรียกว่าวิราคะ - ความสำรอกออก๑ เพราะพระบาลีว่า

"วิราคา วิมุจจฺติ - ย่อมหลัดพ้นเพราะวิราคะ"๒ ความดับโดยสำรอกออก

ชื่อว่าวิราคนิโรธ ความดับโดยสำรอกออกอย่างไม่เหลือ เพราะถอน

อนุสัยได้๓ ชื่อว่า อเสสวิราคนิโรธ อีกนัยหนึ่ง การละก็เรียกว่า วิราคะ

เพราะฉะนั้น ในบทว่า อเสสวิราคนิโรโธ นี้ บัณฑิตพึงเห็น (ว่า)

ประกอบความว่า "การละอย่างไม่เหลือ ความดับอย่างไม่เหลือ" ดังนี้

ก็ได้ แต่ (เมื่อว่า) โดยเนื้อแท้ บททั้งปวงนั่นเป็นไวพจน์ของ

นิพพานทั้งนั้น เพราะพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า

ทุกขนิโรธอริยสัจ โดยปรมัตถ์ ก็เหตุใด ตัณหาสำรอกออกและดับไปได้

ก็เพราะ (พระโยคาวจร) อาศัย (หน่วง) พระนิพพานนั้น (เป็น

อารมณ์) เพราะเหตุนั้น พระนิพพานนั้น จึงตรัสเรียกว่า วิราคะ

และว่า นิโรธะ ด้วย อนึ่ง เหตุใด ธรรมทั้งหลายมีความสละไปแห่ง

ตัณหานั้นเป็นต้น ย่อมมีขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยพระนิพพานนั้นนั่นแหละ

อนึ่งเล่า บรรดาอาลัยทั้งหลายมีกามคุณาลัยเป็นต้น๔ อาลัยแม้อย่างเดียว

๑. ราคะ แปลว่า ย้อม ก็ได้ กำหนัดยินดี ก็ได้ วิราคะ อาจารย์แต่ก่อนจึงแปลว่า

ปราศย้อมบ้าง ปราศจากความกำหนัดบ้าง ตามควรแก่ความในที่นั้น ๆ สำหรับในที่นี้

เหมาะที่จะแปลว่าปราศย้อม อธิบายว่า สี คือตัณหาที่ย้อมใจมาแต่ก่อนนั้นมันปราศไป

แต่คำว่าปราศย้อม เป็นภาษาตรงทื่อไป ฟังยาก ท่านจึงแปลเอาความเสียใหม่ว่า

สำรอก อธิบายว่า สีคือตัณหานั้นมันสำรอกออกจากใจ ฟังง่ายขึ้น

๒. หมายความว่า ความหลุดพ้นนั้นเป็นผล วิราคะซึ่งเป็นเหตุ จึงเป็นมรรค

๓. หมายความว่า ถอนได้กระทั่งตัณหาอย่างละเอียดที่เรียกว่าอนุสัย จึงว่าดับอย่าง

ไม่เหลือ

๔. มหาฎีกาว่าบทนี้ลิขิตกันไว้ในหลายฉบับว่า กามคุณาลเยสุ แต่ปาฐะที่ถูกว่า กาม-

คุณาลยาทีสุ ในที่นี้ได้แปลตามปาฐะที่ถูกนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 195

ย่อมไม่มีในพระนิพพานนั้น เพราะเหตุนั้น พระนิพพานนั้น จึง

ตรัสเรียกว่า จาคะ ปฏินิสฺสัคคะ มุตฺติ อนาลยะ๑

พระนิพพานนี้นั้น มีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่เลื่อน

(คือไม่เปลี่ยนสภาพ) เป็นรส หรือว่ามีอันทำความโล่งใจเป็นรส

(ก็ได้)๒ มีความไม่มีนิมิต (คือไม่มีเครื่องหมายแห่งทุกข์) เป็นปัจจุ-

ปัฏฐาน หรือว่ามีความไม่มีเรื่องหน่วงเหนี่ยว (จิต) เป็นปัจจุปัฏฐาน

(ก็ได้)

[ปัญหาซับซ้อนในเรื่องพระนิพพาน]

หากมีคำยืนยันว่า "ไม่มีดอก พระนิพพานน่ะ เพราะไม่ใช่สิ่ง

ที่จะพึง (หา) ได้ ดุจเขากระต่างฉะนั้น" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า

"พระนิพพานไม่มีหามิได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นธรรมชาตที่พึง

(หา) ได้ด้วยอุบาย แท้จริง พระนิพพานนั้น ย่อม (หา) ได้ด้วยอุบาย

กล่าวคือความปฏิบัติอันสมควรแก่พระนิพพานนั้น ดุจโลกุตรจิตของ

คนอื่น ๆ พระอริยะย่อมรู้ได้ด้วยเจโตปริยญาณฉะนั้น เหตุนั้น จึง

๑. เมื่อแก้อย่างนี้ บททั้งหลายนี้ ก็ต้องเป็นกัตตุรูป กัมมสาธนะ คือแปลว่า 'เป็นที่...'

ดังนี้ วิราคะ - เป็นที่สำรอก นิโรธะ - เป็นที่ดับ จาคะ - เป็นที่สละไป ปฏินิสฺสัคคะ - เป็น

ที่สลัดทิ้งไป มุตฺติ - เป็นที่หลุดไป อนาลยะ - เป็นที่ไม่มีอาลัย แต่เราใช้เป็นภาวสาธนะ

คือแปลว่า 'ความ...' กันมาแต่ไหน ๆ เห็นว่าเหมาะดีกับความในที่นี้แล้ว

๒. มหาฎีกาว่า ปาฐะในท่อนนี้ ไม่ใช่ของเดิม (ใครก็ไม่ทราบ) นำเอาความที่กล่าว

ในตอนแก้อรรถสัจจะ ๔ มาเพิ่มเข้าในภายหลัง แท้จริง อาการมีลักษณะเป็นต้นนี้

กล่าวไว้ก่อนในตอนนั้นแล้ว ก็นำมากล่าวซ้ำอีก (ดูตอนประเภทแห่งลักษณะเป็นต้น

ในวิสุทธิมรรคหน้า ๗๘ - ๗๙ แปลหน้า ๑๖๓)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 196

ไม่ควรกล่าวว่า "พระนิพพานไม่มี เพราะมิใช่สิ่งที่จะพึงได้" อันจะ

ว่า บุถุชนโง่ ๆ ไม่ได้ (ประสบ) สิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่มี" ดังนี้

หาควรจะว่าไม่ (เพราะท่านผู้ได้ประสบมีอยู่) อนึ่ง ไม่ควรกล่าว

ว่าพระนิพพานไม่มี เพราะอะไร เพราะต้อง (คือเป็นผิดต่อ) ความ

ไม่เป็นหมันแห่งความปฏิบัติ จริงอยู่ เมื่อพระนิพพานไม่มี ความ

ปฏิบัติชอบที่สงเคราะห์ในธรรมขันธ์ ๓ มีสีลขันธ์เป็นต้น อันมีสัมมา-

ทิฏฐินำหน้า๑ ก็ต้องเป็นหมัน แต่ว่าความปฏิบัติชอบนี้ หาเป็นหมัน

ไม่ เพราะเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพานได้แล"

หากมีคำแย้งว่า "ความต้อง (คือเป็นผิดต่อ) ความไม่เป็น

หมันแห่งความปฏิบัติไม่มีดอก เพาะความปฏิบัตินั้น ก็เป็นเหตุให้ถึง

ความไม่มี (อย่างไรล่ะ)๒" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "(ความไม่มีเป็น

นิพพาน) หามิได้ เพราะไม่มีการบรรลุพระนิพพาน ในเพราะความ

ไม่มี (ขันธ์) อดีตและอนาคต (ไม่มีขันธ์อดีตอนาคตก็บรรลุพระ-

นิพพานได้)"

หากแย้งอีกว่า "(มิใช่แต่ขันธ์อดีตอนาคตเท่านั้น) แม้ความ

ไม่มีวัตตมานขันธ์ (คือขันธ์ปัจจุบัน) ทั้งหลาย ก็เป็นนิพพานด้วย"

ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "หามิได้ เพราะพระนิพพานหาได้มีเพราะความ

๑. หมายความว่าในองค์มรรค ๘ ที่ย่นลงในศีลสมาธิปัญญานั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า

มหาฎีกาอธิบายว่าเป็นประธาน คือตรัสเป็นองค์แรกเท่านั้น ไม่ใช่เกิดก่อนเพื่อน

๒. นี่คงหมายความว่า นิพพานก็คือ ความไม่มี ! ไม่มีอะไร ท่านไม่แสดงไว้ มหา-

ฎีกาจึงช่วยแสดงว่า ขนฺธาภาโว - ไม่มีขันธ์ ก็จำต้องดำเนินความตามมติมหาฎีกา

ต่อไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 197

ไม่มีวัตตมานขันธ์เหล่านั้นไม่* อนึ่ง เพราะเมื่อวัตตมานขันธ์ไม่มี

พระนิพพานก็ถึงซึ่งความไม่เป็นไป (ด้วย) (มิใช่ไม่มีวัตตมานขันธ์

แล้วเป็นนิพพานดอก) และเพราะโทษคือไม่มีการบรรลุสอุปาทิเสส-

นิพพานธาตุ ในขณะแห่งมรรคจิตซึ่งอาศัยวัตตมานขันธ์ด้วย (คือว่า

ในขณะแห่งมรรคจะบรรลุนิพพานไม่ได้ ?)"

หากแย้งอีกว่า "โทษไม่มี เพราะในขณะ (แห่งมรรค) นั้น

กิเลสทั้งหลาย ก็ไม่เป็นไปอยู่ (แล้ว)" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า

"หามิได้ เพราะ (หากในขณะแห่งมรรค กิเลสไม่เป็นไปละก็ป

อริยมรรคก็ถึงซึ่งความไม่มีประโยชน์ (นะซิ) จริงทีเดียว เมื่อเป็น

อย่างนั้น กิเลสทั้งหลายก็ (เป็นอัน) ไม่มีมาเสียแต่ก่อนขณะแห่ง

อริยมรรค เพราะฉะนั้น อริยมรรคก็ต้องถึงความไม่มีประโยชน์"

เพราะเหตุดังกล่าวมานั้น ข้อ (ที่ว่าพระนิพพานไม่มี เพราะ

เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ดุจเขากระต่าง และว่าความปฏิบัติไม่เป็นหมัน เพราะ

ความปฏิบัตินั้นเป็นเหตุให้ถึงความไม่มี และว่าโทษคือบรรลุพระ-

นิพพานในขณะแห่งมรรคไม่ได้นั้นไม่มี เพราะในขณะแห่งมรรค กิเลส

ก็ไม่เป็นไปอยู่แล้ว) นั้น จึงมิใช่เหตุ (คือไม่ชอบแก่เหตุ)

หากมีคำยืนยันอีกว่า "ขโย - ความสิ้นไปเป็นนิพพาน โดยบาลี

ว่า 'โย โข อาวุโส ราคกฺขโย - ดูกรอาวุโส ความสิ้นไปแห่ง

* ตรงนี้ปาฐะ เรียงไว้เป็น. . . อาภาวา สมฺภวโต เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น. . .

อภาวาสมฺภวโต แม้ในมหาฎีกาก็แสดงไว้อย่างนั้นคือ วตฺตมานานํ อภาโวปิ น สมฺภวติ

(หน้า ๑๙๒)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 198

ราคะใดแล' เป็นต้น๑" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "หามิได้ เพราะ

เพียงแต่ความสิ้น หมายถึงพระอรหัตก็ได้ ด้วยพระอรหัตนั้นท่านก็

แสดงไว้โดยนัยว่า 'โย โข อาวุโส ราคกฺขโย' เป็นต้น ด้วย

เหมือนกัน๒ ยังมี (ผิด) อะไร ๆ ต่อไปอีก คือ (การกล่าวเพียง

แต่ว่าความสิ้นกิเลสเป็นนิพพานนั้นไม่ชอบ) เพราะโทสคือพระนิพพาน

กลายเป็นธรรมชาติมีชั่วกาลอันสั้นเป็นต้นไป จริงอยู่ เมื่อเป็นอย่าง

นั้น พระนิพพานก็ถึงซึ่งความเป็นธรรมชาตมีชั่วาลอันสั้น ความ

เป็นธรรมชาตมีลักษณะแห่งสังขตธรรม และความเป็นธรรมชาตที่จะ

พึงบรรลุได้โดยไม่แยแสถึงสัมมาวายามะไปเสียด้วย อนึ่ง เพราะ

ความเป็นธรรมชาตมีลักษณะแห่งสังขรธรรมนั่นแล พระนิพพานก็

(เลย) ถึงซึ่งภาวะคือเป็นธรรมชาตนับเข้าในสังขตธรรมไป เพราะ

เป็นธรรมชาตนับเข้าในสังขตธรรม ก็ (เลย) ถึงซึ่งภาวะคือเป็น

ธรรมชาตถูกไฟมีราคะเป็นต้นเผาเอาได้ เพราะเป็นธรรมชาตถูกเผา

ก็ (เลย) ถึงซึ่งภาวะคือเป็นทุกข์ไปเสียด้วย"

หากมีคำแย้งอีกว่า "โทษไม่มี เพราะความเป็นไป (แห่ง

๑. สํ. สฬา. ๑๘/๓๑๑

๒. อธิบายตามนัยมหาฎีกาว่า พระอรหัตนั้นเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นกิเลส ส่วน

พระนิพพานเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งบุคคลจะพึงถึงเข้า ไม่ใช่สิ่งที่จะพึงทำให้เกิดได้

พระบาลีใช้ศัพท์ ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย อย่างเดียวกัน แต่ความหมายต่าง

กัน คือหมายถึงพระอรหัต แปลว่าความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ถ้าหมายถึงพระนิพพาน

แปลว่า ธรรมที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เพราะมาถึงพระนิพพาน กิเลสจึงสิ้น (หรือว่า

หน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์ กิเลสจึงสิ้น) เพราะฉะนั้น ขยะ ถ้าแปลแต่ว่า ความ

สิ้น ก็เป็นนิพพานไม่ได้ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 199

กิเลส) ชื่อว่าไม่มีอีกต่อไป จำเดินแต่ความสิ้น (ครั้งสุดท้าย) อันใด

ความสิ้นอันนั้นเป็นนิพพาน' ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "หามิได้

เพราะไม่มีความสิ้นเช่นนั้น๑ ประการหนึ่ง เพราะแม้มีความสิ้นนั้นก็

ไม่ล่วงโทษมีประการดังกล่าวแล้ว และเพราะอริยมรรคจะกลายเป็น

นิพพานไปด้วย จริงอยู่ อริยมรรคย่อมยังโทษทั้งหลายให้สิ้น เพราะ

ฉะนั้น ท่านจึงเรียก ขโย (ด้วย) และตั้งแต่นั้นไป ความเป็นไป

(แห่งโทษ) ก็ไม่มีอีกต่อไปด้วยแล แต่ว่าเพราะพระนิพพานนั้นเป็น

อุปนิสัย (คือเป็นที่อาศัยมั่น๒) โดยปริยาย แห่งขย (คือมรรค)

ที่ได้แก่อนุปปัตตินิโรธ (นิโรธคือความไม่เกิดขึ้น) พระนิพพานนั้น

ท่านจึงเรียกว่า ขโย (ด้วย) โดยโวหารอันเป็นอุปจาร (คือเกี่ยว

ข้องกันกับ) สิ่งซึ่งมีพระนิพพานเป็นอุปนิสัย๓"

หากมีคำถามว่า 'เพราะเหตุไร พระนิพพานนั้นพระผู้มีพระภาค

เจ้าจึงไม่ตรัสโดยสรูปเสียทีเดียว ?" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "เพราะ

พระนิพพานเป็นธรรมสุขุมนัก ก็แลความที่พระนิพพานนั้นเป็นธรรม

สุขุมนัก เป็นความที่สำเร็จ (คือปรากฏทั่วไป) แล้ว เพราะเป็น

เหตุนำมาซึ่งความเป็นผู้ขวนขวายน้อยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า และ

๑. มหาฎีกาขยายความว่า ความสิ้นที่จะพึงกำหนดแน่ว่า นี่แหละเป็นอารมณ์แห่งมรรค-

ญาณผลญาณ ไม่มี (แต่พระนิพพานมี ?)

๒. ทางอภิธรรม อุป (ในบทอุปนิสฺสยปจฺจโย) มีอรรถว่า ยิ่ง ว่า มั่น

๓. ควรทราบในที่นี้อีกว่า ขโย นั้น เป็นได้ทั้งมรรคผลและนิพพาน เป็นมรรคแปลว่า

เป็นเครื่องสิ้นหรือเป็นเหตุสิ้น เป็นผลแปลว่าความสิ้น เป็นนิพพานแปลว่าที่สิ้น ดัง

กล่าวแล้วในเชิงอรรถ ๒ หน้า ๑๙๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 200

เพราะเป็นธรรมที่ต้องเห็นด้วยอริยจักษุ๑ เพราะเหตุนั้น๒ พระนิพพาน

นี้นั้น จึงเป็นธรรมชาตไม่ทั่วไป เพราะเป็นธรรมอันบุคคลผู้เพียบ

พร้อมด้วยมรรค (เท่านั้น) จะพึงถึงได้ เป็นธรรมชาตไม่มีแดนเกิด

เพราะไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย"

หากมีคำแย้งว่า "พระนิพพาน มิใช่ธรรมชาตไม่มีแดนเกิด

เพราะเมื่อมีมรรคจึงมีได้" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "หามิได้ เพราะ

พระนิพพานมิใช้ธรรมชาตที่มรรคจะพึงให้เกิดขึ้นได้ แท้จริง พระ

นิพพานนั้น เป็นธรรมชาตที่บุคคลพึงถึงด้วยมรรคเท่านั้น มิใช่มรรค

จะพึงให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงชื่อว่าไม่มีแดนเกิดแท้

เพราะไม่มีแดนเกิด จึงไม่มีชรามรณะ เพราะไม่มีแดนเกิดและชรา

มรณะ จึงเที่ยง"

หากมีคำเสนออีกว่า "แม้อณูเป็นต้น๓ก็ถึงซึ่งภาวะอันเที่ยง ดัง

๑. ที่ว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความเป็นผู้ขวนขวายน้อยนั้น ท่านเล็งถึงพระรำพึง เมื่อตรัสรู้

แล้วใหม่ ๆ ว่า ธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้ สุขุมลุ่มลึกนัก ยากที่คนมีกิเลสจะเห็นได้ จึงไม่

ทรงขวนขวายที่จะทรงแสดงธรรมในตอนแรก ๆ ส่วนข้อที่จะต้องเห็นด้วยอริยจักษุนั้น

เล็งถึงพระบาลีในมาคัณฑิยสูตร [มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก] ที่ตรัสแก่มาคัณฑิย-

พราหมณ์ว่า เขายังไม่มีอริยจักษุที่จะเห็นพระนิพพานได้

๒. อิติท้ายศัพท์ สิทฺธา เข้าใจว่าเป็นเหตุ

๓. อณุอาทีนํ มหาฎีกาไขออกไปเป็น ๔ คือ อณุ ปกติ กาล ปุริส แล้วก็ลงอาทิไว้

ด้วย ส่อว่ายังมีอะไรต่อไปอีก สิ่งเหล่านี้ลักทธิอื่นถือว่า เที่ยงแท้ไม่แตกดับ และ

เป็นตัวอำนาจบันดาลโลกให้เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่เสมอ อณู พบคำอธิบายสั้น ๆ ว่า อณูหิ

โลโก ปวตฺตติ - โลกย่อมเป็นไปด้วยอณูทั้งหลาย ปกติ สังสกฤตเป็นประกฤติ หมายถึง

สิ่งที่เป็นมูลเดิมของสิ่งต่าง ๆ ปุริสะ เป็นชื่อหนึ่งแห่งอาตมัน ส่วนกาล [น่าจะตรง

กับที่ไทยเราเรียกพระกาล] เป็นผู้สร้างและผุ้ทำลายสัตว์ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 201

พระนิพพาน" ฉะนี้ไซร้ คำสนองไขพึงมีว่า "อณูเป็นต้นนั้นชื่อว่า

เที่ยงหามิได้ เพราะไม่มีเหตุ (ที่จะให้เข้าถึง)" หากมีคำเสนอย้ำ

อีกว่า "เพราะพระนิพพานเที่ยง สิ่งเหล่านั้นก็เที่ยง" ฉะนี้ไซร้ คำ

สนองไขก็พึงมีว่า "หามิได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เข้าลักษณะแห่งเหตุ

(มีความเป็นธรรมที่พึงมุ่งหมายปรารถนาได้เป็นต้น)" หากมีคำเสนอ

อีกว่า "สิ่งเหล่านั้นจัดเป็นเที่ยง เพราะไม่มีเหตุให้เกิดขึ้นเป็นต้น

เหมือนพระนิพพาน" ฉะนี้ไซร้ คำสนองไขพึงมีว่า "หามิได้ เพราะ

อณูเป็นต้นไม่สัมฤทธิผล (คือไม่อำนายผลให้ปรากฏ ?)

อันพระนิพพานนี้เท่านั้นเที่ยงแท้ เพราะมีสภาวะคือความถูกต้อง

(ชอบด้วยเหตุผล) ดังกล่าวแล้ว เป็นอรูป เพราะล่วงเสียซึ่งสภาวะ

แห่งรูป (มีความเสื่อมโทรมเป็นต้น) มิใช่สิ่งไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์

เพราะเป็นสิ่งที่พึงบรรลุได้ด้วยญาณวิเศษที่สำเร็จด้วยความบากบั่นอันไม่

ย่อหย่อน และเพราะเป็นพระดำรัสของพระสัพพัญญูเจ้าด้วย จริงอยู่

พระสัพพัญญูเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า "มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาต

อันไม่เกิด ไม่เป็น อันเหตุอะไร ๆ มิได้ทำขึ้น อันปัจจัยอะไร ๆ มิได้

แต่งขึ้น*" ดังนี้

* การที่ท่านกล่าวทุกขนิโรธว่า เป็นนิพพาน นี่อย่างไรอยู่ เราเข้าใจกันมาว่า อริยสัจ

เป็นระบบเหตุกับผล คือทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุคู่ ๑ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ

คู่ ๑ แต่ส่วนพระนิพพานหาได้อยู่ในระบบเหตุผลไม่ อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ที่หมายถึง

มรรคก็ได ผลก็ได้ นิพพานก็ได้ อาจารย์สอนให้แปลต่างกัน ดังศัพท์ ขโย ที่กล่าว

แล้ว ในเชิงอรรถ ๓ หน้า ๑๙๙ เพราะฉะนั้น นิโรธ ถ้าเป็นนิพพาน ก็ต้องแปลว่า

"ธรรมเป็นที่ดับ" แต่เราแปลกันมาแต่ว่า "ความดับ" อันหมายถึงผล ยังไม่เคยมี

นักปราชญ์ผู้ใดคัดค้านเลยว่าแปลผิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 202

นี่เป็นคำวินิจฉัยข้อที่สำคัญในทุกขนิโรธนิเทศ

[ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานิเทศ]

ก็และ ธรรม (คืออริยมรรค) ๘ ที่ตรัสไว้ในนิเทศแห่งทุกข-

นิโรธคามินีปฏิปทา (นี้) เป็นอันแจ่มแจ้งโดยใจความแล้วแท้ แม้

ในขันธนิเทศก็จริง แต่ว่าในที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวเพื่อให้ทราบความ

แปลกกันแห่งธรรมทั้ง ๘ นั้น อันเป็นไปในขณะเดียวกัน

[สัมมาทิฏฐิ]

แท้จริง (ว่า) โดยสังเขป ปัญญาจักษุอันมีพระนิพพานเป็น

อารมณ์ ถอนอวิชานุสัยขึ้นได้ แห่งพระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อแทงตลอดซึ่ง

สัจจะ ๔ (นั่นแล) ชื่อสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้น มีความเห็นชอบ

เป็นลักษณะ มีอันประกาศความจริงแท้เป็นรส มีการทำลายความมืด

คืออวิชาเสียได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมาสังกัปปะ]

ความยกจิตขึ้นเฉพาะสู่ทางไปพระนิพพาน อันสัมปยุตด้วยสัมมา-

ทิฏฐินั้น กำจักมิจฉาสังกัปปะออกเสียได้ แห่งพระโยคีผู้มีทิฏฐิอันถึง

พร้อมแล้วอย่างนั้น ชื่อสัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะนั้น มีความ

ยกจิตขึ้นถูกทางเป็นลักษณะ มีอัปปนา (ความตรึกแน่วอยู่ในทาง*)

เป็นรส มีการละมิจฉาสังกัปปะได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมวาจา]

ความงดเว้นจากมิจฉาวาจา อันสัมปยุตด้วยสัมมาสังกัปปะนั้น

* ในอภิธรรมกล่าว อปฺปนา เป็นศัพท์ปริยายหนึ่งแห่งวิตก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 203

แหละ ถอนวจีทุจริตขึ้นเสียได้แห่งพระโยคีผู้เห็นอยู่ (ด้วยสัมมาทิฏฐิ)

และตรึกหอยู่ (ด้วยสัมมาสังกัปปะ) อย่างนั้น ชื่อสัมมาวาจา สัมมา-

วาจานั้นมีความกำหนดถือเอา (คือประมวลสัมปยุตธรรมไว้) เป็น

ลักษณะ มีความละเว้นเป็นรส มีความละมิจฉาวาจาได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมากัมมันตะ]

ความงดเว้นจากกายทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้น อันสัมปยุตด้วย

สัมมาวาจานั้นแหละ ตัดมิจฉากัมมันตะได้ขาด แห่งพระโยคีผู้เว้นอยู่

(ด้วยสัมมาวาจา) อย่างนั้น ชื่อสัมมากัมมันตะ สัมมากัมมันตะนั้น

มีการพยุง (สัมปยุตธรรม) ไว้เป็นลักษณะ มีความละเว้นเป็นรส

มีการละมิจฉากัมมันตะได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมาอาชีวะ]

ส่วนความงดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ อันสัมปยุตด้วยความงดเว้น

ที่เป็นความหมดจดแห่งสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะนั้น* เข้าไปตัด

เสียได้ซึ่งอเนสนา มีความล่อลวงเป็นต้น แห่งพระโยคีนั้น อันใด

ความงดเว้นนั้น ชื่อสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะนั้น มีความสะอาด

(แห่งอาชีวะ) เป็นลักษณะ มีอันยังอาชีวะที่ชอบธรรมให้เป็นไป

เป็นรส มีการละมิจฉาอาชีวะเสียได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมาวายามะ]

ลำดับนั้น วิริยารัมภะอันอนุรูปแก่สัมมาอาชีวะนั้น สัมปยุตด้วย

* ปาฐะเรียงแยกไว้เป็น สมฺมาวาจา กมฺมนฺตานํ คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็นบทสมาส

คือ สมฺมาวาจากมฺมนฺตานํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 204

สัมมาอาชีวะนั้นแหละ ตัดโกสัชชะเสียได้ขาด แห่งพระโยคีนั้น ผู้ตั้ง

มั่นอยู่แล้วในภูมิแห่งศีล กล่าวคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะนั้น อันใด วิริยารัมภะนั้นชื่อสัมมาวายามะ สัมมา-

วายามะนั้น มีการประคอง (จิต) ไว้เป็นลักษณะ มีสัมมัปปธาน ๔

อันยังอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้นเป็นต้นเป็นรส มีอันละมิจฉา-

วายามะเสียได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมาสติ]

ความไม่ลืมแห่งใจ อันสัมปยุตด้วยสัมมาวายามะนั้นแหละ กำจัด

มิจฉาสติออกเสียได้ แห่งพระโยคีนั้น ผู้เพียรพยายามอยู่อย่างนั้น ชื่อ

สัมมาสติ สัมมาสตินั้นมีการตั้ง (สติ) ไว้มั่นเป็นลักษณะ มีความ

ไม่ลืมเป็นรส มีการละมิจฉาสติได้เป็นปัจจุปัฏฐาน

[สัมมาสมาธิ]

เอกัคคตาแห่งจิต อันสัมปยุตด้วยสัมมาสตินั้นแหละ ทำลายมิจฉา-

สมาธิเสียได้ แห่งพระโยคีนั้นผู้มีจิตอันสติชั้นยอดเยี่ยมรักษาอยู่อย่างนั้น

ชื่อสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินั้นมีความไม่ส่ายไป (แห่งจิต) เป็น

ลักษณะ มีอันตั้ง (จิต) ไว้มั่นเป็นรส มีการละมิจฉาสมาธิได้ เป็น

ปัจจุปัฏฐาน แล

นี่เป็นนยะในทุกขนิโรธมินีปฏิปทานิเทศ

วินิจฉัยคำว่าชาติเป็นต้น ในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบ ดัง

กล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 205

[โดยกิจแห่งญาณ]

ข้อว่า 'โดยกิจแห่งญาณ' ความว่า บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัย

โดยกิจแห่งสัจจญาณ (ความรู้อริยสัจ) ด้วย ก็สัจจญาณมี ๒ คือ

อนุโพธญาณ (ความรู้โดยรู้ตาม) ๑ ปฏิเวธญาณ (ความรู้โดย

ตรัสรู้) ๑ ในญาณ ๒ อย่างนั้น อนุโพธญาณ เป็นโลกิยะ เป็นไปใน

นิโรธและมรรค ด้วยอำนาจการได้ฟังกันมาเป็นต้น ปฏิเวธญาณ เป็น

โลกุตระ ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์แล้ว ตรัสรู้สัจจะทั้ง ๔ ได้โดยกิจ

(มีกำหนดรู้สัจจะเป็นต้น) ดังพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใด

เห็นทุกข์ ผู้นั้นย่อมเป็นทุกขสมุทัยด้วย ย่อมเห็นทุกขนิโรธด้วย ย่อม

เห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาด้วย"๑ ดังนี้เป็นต้น คำบาลีแห่งนี้ บัณฑิต

พึง (นำมา) กล่าวให้หมดเถิด อันกิจแห่งปฏิเวธญาณนั้น จักมี

แจ้งใน (ตอนว่าด้วย) ญาณทัสสนวิสุทธิ ก็แล สัจจญาณที่เป็น

โลกิยะนี้ใด ในโลกิยญาณนั้น ทุกขญาณ (ความรู้ในทุกข์) ย่อม

ยังสักกายทิฏฐิอันเป็นไปด้วยอำนาจความครอบงำเอาไว้อย่างกลุ้มรุมให้

กลับ สมุทัยญาณ (ความรู้ในสมุทัย) ย่อมยังอุจเฉททิฏฐิให้กลับ

นิโรธญาณ (ความรู้ในนิโรธ) ย่อมยังสัสสตทิฏฐิให้กลับ มรรค-

ญาณ (ความรู้ในมรรค) ย่อมยังอกิริยทิฏฐิให้กลับ๒ นัยหนึ่ง ทุกข-

๑. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๔๗.

๒. มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า ทุกขญาณยังสักกายทิฏฐิให้กลับ คือว่าละสักกายทิฏฐิได้

เพราะเห็นร่างกายเป็นแต่กองสังขารล้วน ๆ สมุทัยญาณ ยังอุจเฉททิฏฐิให้กลับ เพราะ

เหตุผลสัมพันธ์กันอยู่ไม่ขาดสาย นิโรธญาณยังสัสสตทิฏฐิให้กลับ เพราะเห็นว่าเมื่อเหตุ

ดับ ผลก็ดับ มรรคญาณยังอกิริยทิฏฐิให้กลับ เพราะเห็นอัตตการ (การกระทำของตน

การสร้างสรรค์โดยตนเอง ?) อย่างประจักษ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 206

ญาณ ยังความปฏิบัติผิดในผล กล่าวคือความสำคัญว่ายั่งยืน ว่างาม

ว่าเป็นสุข ว่าเป็นตัวตน ในขันธ์ทั้งหลายอันปราศจากความยั่งยืน

ความงาม ความเป็นสุข ความเป็นตัวตน ให้กลับ สมุทัยญาณ ยัง

ความปฏิบัติผิดในเหตุ อันเป็นไปโดยความนับถือในสิ่งที่มิใช่เหตุว่า

เป็นเหตุ เช่นว่า "โลกย่อมเป็นไปโดยท่านผู้เป็นใหญ่ (พระอิศวร)

โดยสิ่งที่เป็นประธาน โดย (พระ) กาล และโดยสภาวะ (ความ

เป็นเอง) เป็นต้น๑ ให้กลับ นิโรธญาณ ยังความปฏิบัติผิดในนิโรธ

อันได้แก่ความถือว่า ความหลุดพ้น๒ (มี) ในอรูปโลกและในโลก-

ถูปิกา (ภูมิที่ถือว่าเป็นยอดโลก) เป็นต้น๓ ให้กลับ มรรคญาณ ยัง

ความปฏิบัติผิดในอุบาย ที่เป็นไปโดยอำนาจความถือในสิ่งที่มิใช่ทาง

แห่งวิสุทธิ อันต่างโดยกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมาถานุโยค ว่า

เป็นทางแห่งวิสุทธิ ให้กลับ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวคำประพันธ์นี้

๑. มหาฎีกาว่า พวกที่ถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ตกแต่งโลก เรียกว่า อิสสรการณี (ถือว่า

พระอิศวรเป็นเหตุ) พวกที่ถือว่า โลกปรากฏขึ้นโดยสิ่งที่เรียกว่าประธาน (เรียก

ปกติ หรือ ประกฤติก็มี) และประธานนั้นก็ซ่อนอยู่ในโลกนี่เอง เรียกว่าปธานการณี

(ถือว่าประธานเป็นเหตุ) พวกที่ถือว่าพระกาลสร้างสัตว์ พระกาลสังหารสัตว์ ฯ ล ฯ

เรียกว่ากาลวาที พวกที่ถือว่าโลกเป็นตากสภาวะ คือเป็นของมันเอง เช่น ความแหลม

ของหนาม ความกลมของผลมะขวิด ความมีลายหลาก ๆ ของเนื้อนกและงูเป็นต้น เรียก

ว่าสภาวาที ฯ ล ฯ

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น อปฺปวตฺต. . . แต่ในมหาฎีกาเป็น อปวคฺค. . . และไขว่า โมกฺข

๓. มหาฎีกาว่า ความถือว่าความหลุดพ้นมีอยู่ในอรูปโลก เช่นความถือของอุทกดาบส

และอาฬารดาบสเป็นต้น ความถือว่าความหลุดพ้นมีในโลกถูปิกา เช่นความถือของพวก

นิครนถ์เป็นต้น

โลกถูปิกา - ยอดโลก น่าจะได้กันกับ ภวัคคะ - ยอดภพ ในคัมภีร์ฝ่ายเรา ดังคำ

ว่า ภวัคคพรหม - พรหมในภพสูงสุด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 207

ไว้ว่า

นรชนยังไม่รู้แจ้งสัจจะทั้งหลายอยู่ตราบใด เขาก็

ยังหลงงมอยู่ในเรื่องโลก ในเหตุเกิดแห่งโลก

ในนิพพานอันเป็นที่ดับแห่งโลก และในอุบาย

(เครื่องเข้าถึง) นิพพานนั้น อยู่ตราบนั้น

วินิจฉัยโดยกิจแห่งญาณในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมา

ฉะนี้ประการหนึ่ง

[โดยประเภทแห่งธรรมที่นับเข้าในอริยสัจ]

ข้อว่า "โดยประเภทแห่งธรรมทั้งหลาย ที่อยู่ภายใน (คือนับ

เข้าในอริยสัจ)" ความว่า เว้นตัณหาและอนาสวธรรมทั้งหลายเสีย

(โลกิย) ธรรมที่เหลือทั้งปวงนับเข้าในทุกขสัจ ตัณหาวิจริต ๓๖ นับ

เข้าในสมุทัยสัจ นิโรธสัจไม่เจือปน (กับอะไร) โดยมุข (หัวหน้า)

คือสัมมาทิฏฐิ วีมังสิทธิบาท ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ และธรรมวิจย-

สัมโพชฌงค์ นับเข้าในมรรคสัจ โดยอปเทส (ข้ออ้าง) คือสัมมา-

สังกัปปะ วิตก ๓ มีเนกขัมมวิตกเป็นต้นนับเข้าในมรรคสัจ โดย

อปเทสคือสัมมาวาจา วจีสุจริต ๔ นับเข้าในมรรคสัจ โดยอปเทสคือ

สัมมากัมมันตะ กายสุจริต ๓ นับเข้าในมรรคสัจ โดยมุขคือสัมม-

อาชีวะ ความมักน้อย และความสันโดษนับเข้าในมรรคสัจ๑ หรือ

อนึ่ง สัทธินทรีย์ สัทธาพละ และฉันทิทธิบาทก็นับเข้าในมรรคสัจ

๑. มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า เมื่อความมักน้อยและความสันโดษมี สัมมาอาชีวะจึงมี

เพราะเหตุนั้น ความมักน้อยและความสันโดษท่านจึงนับเข้าในสัมมาอาชีวะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 208

เพราะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ทั้งหมดนั่นเป็น

อริยกันตศีล และเพราะอริยกันตศีลเป็นธรรมที่พึงรับไว้ด้วยมือคือ

ศรัทธา เพราะเหตุที่สัทธินทรีย์ สัทธาพละ และฉันทิทธิบาทมี ศีลจึง

มี๑ โดยอปเทสคือสัมมาวายะมะ สัมมัปธาน ๔ วิริยิทธิบาท วิริ-

ยินทรีย์ วิริยพละ และวิริยสัมโพชฌงค์ นับเข้าในมรรคสัจ โดย

อปเทสคือสัมมาสติ สติปัฏฐาน ๔ สตินทรีย์ สติพละ และสติสัม-

โพชฌงค์ นับเข้าในมรรคสัจ โดยอปเทศคือสัมมสมาธิ สมาธิ ๓ มี

สวิตักกสวิจารสมาธิเป็นต้น จิตตสมาธิ (คือจิตติทธิบาท) สมาธินทรีย์

สมาธิพละ ปีติสัมโพชฌงค์๒ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์

และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ นับเข้าในมรรคสัจแล

วินิจฉัยโดยประเภทแห่งธรรมทั้งหลายที่อยู่ภายในอริยสัจนี้ บัณ-

ฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ประการหนึ่ง

[โดยอุปมา]

ข้อว่า โดยอุปมา ความว่า ก็แลทุกขสัจ พึงเห็นเหมือนของ

หนัก สมุทัยสัจเหมือนการถือของหนัก นิโรธสัจเหมือนการวางของ

หนัก มรรคสัจเหมือนอุบาย (คือวิธี) วางของหนัก อนึ่งทุกขสัจ

เหมือนโรค สมุทัยสัจเหมือนเหตุของโรค นิโรธสัจเหมือนความหาย

๑. อริยกันตศีล คือองค์มรรคทั้ง ๓ นั้น จะยั่งยืนอยู่ในสันดานของพระอริยเจ้า ก็ด้วย

มืออันเหนียวแน่นคือศรัทธา เพราะฉะนั้น สัทธา ท่านจึงนับเข้าในองค์มรรคข้อนี้ ส่วน

ฉันทะ เป็นคุณติดตามศรัทธา จึงพลอยถูกนับเข้าด้วย

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น . . .สมาธิ อุเบกขาสมฺโพชฺฌงฺคานิ คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็นบท

สมาส ต้องเรียงติดกันเป็น . . . สมาธิอุเปกฺขา. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 209

โรค มรรคสัจเหมือนยา หรือว่าทุกขสัจเหมือนขาดแคลนอาหาร

สมุทัยสัจเหมือนฝนไม่ดี๑ นิโรธสัจเหมือนมีอาหารสมบูรณ์ มรรคสัจ

เหมือนฝนดี๒

สัจจะ ๔ นี้ บัณฑิตพึงทราบโดยประกอบ (ความ) อุปมา

ด้วยคนมีเวร มูลแห่งเวร ความถอนเวร และอุบายถอนเวร ด้วย

ต้นไม้มีพิษ รากของต้นไม้ การตัดราก และอุบายตัดรากนั้น

ด้วยภัย มูลแห่งภัย ความปราศภัย และอุบายบรรลุความปราศภัยนั้น

ด้วยฝั่งใน ห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งนอก และความพยายามที่ให้ (ข้ามห้วง

น้ำไป) ถึงฝั่งนอกนั้น บ้างก็ได้๓

วินิจฉัยโดยอุปมาในอริยสัจนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวฉะนี้

[โดยจตุกกะ - เป็นและไม่เป็นอริยสัจ ๔]

ข้อว่า โดยจตุกกะ ความว่า ก็ในอริยสัจ ๔ นี้ สิ่งที่เป็นทุกข์

(แต่) ไม่เป็นอริยสัจก็มี สิ่งที่เป็นอริยสัจ (แต่) ไม่เป็นทุกข์ก็มี

สิ่งที่เป็นทั้งทุกข์ทั้งอริยสัจก็มี สิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นอริยสัจก็มี ใน

อริยสัจที่เหลือมีสมุทัยเป็นต้นก็นัยนี้๔

๑. ทุพฺพุฏฺฐิ - ฝนชั่ว คือฝนไม่ดี หมายความว่าแล้ง หรือตกมากเกินไป

๒. ถ้านิโรธอริยสัจ ได้แก่นิพพาน ดังท่านว่าไว้ข้างต้น ภารนิกฺเขปนํ โรควูปสโม

สุภิกฺขํ มิต้องแปลว่า เป็นที่ . . . ไปเป็นแถวหรือ ?

๓. มหาฎีกาช่วยขยายความอุปมาข้อหนึ่งว่า เวรได้แก่พยาบาทหรือความเป็นศัตรูกัน

ความถอนเวร คือความระงับเวร ได้แก่เมตตา อุบายถอนเวร ได้แก้สังคหวัตถุทั้งหลาย

นอกนั้นไม่ขยาย

๔. เช่นว่า เป็นสมุทัยแต่ไม่เป็นอริยสัจก็มี เป็นอริยสัจแต่ไม่เป็นสมุทัยก็มี เป็นทั้ง

สมุทัยทั้งอริยสัจก็มี ไม่เป็นสมุทัยไม่เป็นอริยสัจก็มี ฯ ล ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 210

ในจตุกกะนั้น ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมรรคและสามัญผล

ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์ ตามพระบาลีว่า

'สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์' แต่ไม่เป็นอริยสัจ๑ นิโรธเป็นอริยสัจ

แต่ไม่เป็นทุกขื ส่วนอริยสัจ ๒ นอกนี้ (คือสมุทัยและมรรค) พึง

เป็นทุกข์ก็ได้ เพราะไม่เที่ยง แต่ว่าพระโยคาวจรอยู่ (ประพฤติ)

พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเพื่อกำหนดรู้ทุกข์ใด มิใช่เป็น

ทุกข์โดยความเป็นทุกข์อย่างนั้น (คือว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง มิใช่

เป็นทุกข์โดยเป็นปริญไญยธรรม) ส่วนอุปาทานขันธ์ ๕ เว้นแต่ตัณหา๒

เป็นทั้งทุกข์ทั้งอริยสัจ โดยอาการทั้งปวง๓ ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุต

กับมรรคแลเสามัญผลทั้งหลาย ไม่เป็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์สำหรับ

กำหนดรู้แห่งพระโยคาวจรผู้อยู่ (ประพฤติ) พรหมจรรย์ในพระผู้มี

พระภาคเจ้า (คือไม่เป็นทุกข์โดยเป็นปริญไญยธรรม แต่เป็นทุกข์โดย

เป็นสังขารทุกข์ ดังกล่าวในบทแรก) (ทั้ง) ไม่เป็นอริยสัจ

วินิจฉัยในอริยสัจนี้โดยจตุกกะ โดยประกอบความเข้าตามควร

ในอริยสัจอื่นมีสมุทัยเป็นต้นด้วย บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

๑. มรรคสัมปยุตธรรมและสามัญผล ยังเป็นสังขรธรรม จึงยังเป็นสังขารทุกข์ มีเกิด

มีดับ แต่ไม่เป็นอริยสัจ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นปริญไญยธรรม ปหาตัพพธรรม

อสังขตธรรมและนิยยานธรรม ตามกิจของอริยสัจ

๒. เพราะตัณหาเป็นอริยสัจข้อหนึ่งต่างหาก คือเป็นสมุทัย

๓. คือไม่มียกเว้นอะไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 211

ประการหนึ่ง*

[โดยว่างเปล่า]

ในสองข้อว่า 'โดยว่างเปล่าและโดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียว

เป็นต้น' นี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยว่างเปล่าก่อน เพราะ (เมื่อว่า)

โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งสิ้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นของว่างเปล่า เพราะ

ไม่มีผู้รู้สึก ผู้ทำ (คือผู้สร้าง) ผู้ดับ และผู้เดิน เหตุนั้นนักปราชญ์

จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

"อันทุกข์มีอยู่แท้ แต่ใคร ๆ ผู้รับทุกข์ไม่มี ผู้ทำ

ไม่มี แต่การกระทำมีอยู่แท้ ความดับมีอยู่ แต่

คนผู้ดับไม่มี ทางมีอยู่ แต่ผู้เดินไม่มี"

อีกนัยหนึ่ง

* มหาฎีกาช่วยบอกข้อธรรมที่เป็นและไม่เป็นในอริยสัจข้อต่อไปโดยสังเขปว่า กิเลส

ที่เหลือ (นอกจากตัณหา) จัดเป็นสมุทัย เพราะอรรถว่าทำให้เกิด (ทุกข์) แต่ไม่เป็น

อริยสัจ นิโรธเป็นอริยสัจแต่ไม่เป็นสมุทัย อีก ๒ คือทุกข์และมรรคพึงเป็นสมุทัยก็ได้

เพราะเป็นปัจจัยแห่งผลของตน แต่ไม่ใช่เป็นสมุทัยโดยเป็นปหาตัพพธรรม ตัณหาเป็น

ทั้งสมุทัยทั้งอริยสัจโดยประการทั้งปวง มรรคสัมปยุตธรรมและสามัญผล ไม่เป็นสมุทัย

ที่จะต้องละ และไม่เป็นอริยสัจ

สังขารนิโรธิและนิโรธสมาบัติ เป็นนิโรธแต่ไม่เป็นอริยสัจ สมุทัยเป็นอริยสัจ

แต่ไม่เป็นนิโรธ อีก ๒ คือทุกข์และมรรคพึงเป็นนิโรธก็ได้ เพราะมีสภาวะเป็นขณนิโรธ

คือดับไปในขณะ แต่ไม่ใช่นิโรธที่จะต้องทำให้แจ้ง อสังขตธาตุ เป็นทั้งนิโรธทั้ง

อริยสัจ (มรรคสัมปยุตธรรมและสามัญผล ไม่เป็นนิโรธไม่เป็นอริยสัจ)

องค์มรรคอื่นจากอริยมรรค เป็นมรรคแต่ไม่เป็นอริยสัจ นิโรธเป็นอริยสัจแต่ไม่

เป็นมรรค อีก ๒ คือ ทุกข์และสมุทัย พึงเป็นมรรคก็ได้เพราะเป็นทางให้ไปสู่ภพ แต่

ไม่ใช่มรรคที่จะต้องทำให้มีขนึ้ นิโรธคามินีปฏิปทา เป็นทั้งมรรคทั้งอริยสัจ โดย

ประการทั้งปวง (มรรคสัมปยุตธรรมและสามัญผล ไม่เป็นมรรคไม่เป็นอริยสัจ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 212

ความว่าง๑ในสัจจะ ๔ นั้น พึงทราบดังนี้ คือ สัจจะ

สองข้างต้น ว่างจากความยั่งยืน ความงาม ความ

สุข และความเป็นตัวตน อมตบท (คือนิโรธ)

ว่างจากความเป็นตัวตน มรรคเว้นว่างจากความ

ยั่งยืน ความสุข และความเป็นตัวตน

หรือว่าสัจจะ ๓ ว่างจากนิโรธ และนิโรธก็ว่างจากสัจจะ ๓ ที่เหลือ

หรือว่าในสัจจะ ๔ นี้ สัจจะที่เป็นเหตุว่างจากสัจจะที่เป็นผล เพราะ

ไม่มีทุกข์ในสมุทัย และไม่มีนิโรธในมรรค (เหตุ) การ่วมครรภ์กับ

ผล ดังเช่นปกติ (หรือประกฤติ) ของพวกปกติวาทีไม่๒ และผล

เล่าก็ว่างจากเหตุ เพราะทุกข์กับสมุทัยและนิโรธกับมรรคร่วมกลุ่มกัน

ไม่ได้ (ผล) หาร่วมอยู่ในเหตุ เป็น 'เหตุผล - ผลร่วมเหตุ' ดัง

เช่นทวิอณุกผล (ผลเกิดแต่อณู ๒ ) เป็นต้น ของพวกสมวายวาที

ไม่๓ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่สา

๑. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สุญฺญตฺตา เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น สุญฺญตา

๒.-๓. วาทะของนักปราชญ์นอกพระศาสนาต่าง ๆ นี้ ไม่ทราบว่ามีตำรากล่าวไว้โดยละเอียด

ที่ไหน ก็ได้แต่อาศัยมหาฎีกา ซึ่งท่านก็กล่าวแต่ย่อ ๆ อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง นัก

ปราชญ์พวกปกติวาทีกล่าวว่า ปกติ (สังสกฤต เป็นประกฤติ คือสิ่งที่เป็นมูลเดิม) เป็น

ตัวเหตุ เรียกประธานก็มี สิ่งทั้งหลายที่นับว่าเป็นผลของปกตินั้น เมื่อยังมิได้แยกตัว

ออกมา ก็รวมอยู่กับปกติ คือเป็นตัวปกตินั่นเอง จึงว่า 'ปกติร่วมครรภ์กับสิ่ง

เหล่านั้น' แต่เหตุคือสมุทัยและมรรคหาร่วมครรภ์กับผลคือทุกข์และนิโรธอย่างนั้นไม่

พวกสมวายวาทีก็คล้ายกัน คือ กล่าวว่า ผลร่วมติดอยู่ในเหตุได้ คล้ายกับว่าเป้น

อันเดียวกัน เช่นว่าผืนผ้าร่วมติดอยู่ในเส้นด้าย เสื่อร่วมติดอยู่ในหญ้ากก ส่วนอณุนั้น

พวกนี้กล่าวว่าเป็นตัวเหตุที่ให้โลกเป็นไป ผลของอณูนั้นเรียกว่าอณูกะ ถ้าอณูที่เป็นเหตุ

มี ๒ ผลก็เรียกทวิอณุกะ ถ้าอณูที่เป็นเหตุมี ๓ ผลก็เรียกติอณุกะ ฯ ล ฯ ร่วมติดอยู่ใน

อณูเป็นเหตุนั่นเอง แต่สัจจะที่เป็นผลหาร่วมติดอยู่ในสัจจะที่เป็นเหตุอย่างนั้นไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 213

ในสัจจะ ๔ นี้ สัจจะ ๓ ว่างจากนิโรธ นิพพุติ

(คือนิโรธ) เล่า ก็ว่างจากสัจจะ ๓ นั้น สัจจะที่

เป็นเหตุว่างจากสัจจะที่เป็นผล สัจจะที่เป็นผลนั้น

เล่าก็ว่างจากสัจจะที่เป็นเหตุ

พึงทราบวินิจฉัยโดยว่างเปล่าดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

[โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น]

ข้อว่า โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น ความว่า ก็แลใน

สัจจะ ๔ นี้ ทุกข์ทั้งหมดเป็นอย่างเดียวโดยเป็นปวัตติ (ความหมุนไป

แห่งสงสาร) เป็น ๒ โดยเป็นนามและรูป เป็น ๓ โดยต่างแห่งอุปปัติ-

ภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็น ๔ โดยแยกตามอาหาร ๔

(ที่เป็นปัจจัย) เป็น ๕ โดยแตกเป็นอุปาทานขันธ์ ๕

ส่วนสมุทัย เป็นอย่างเดียว โดยเป็นปวัตตกะ (ผู้ยังสงสารไห้

หมุนไป) เป็น ๒ โดยเป็นสัมปยุตกับทิฏฐิและไม่สัมปยุตกับทิฏฐิ เป็น

๓ โดยต่างแห่งกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็น ๔ โดยเป็น

โทษที่พึงละดับมรรค ๔ เป็น ๕ โดยแยกเป็นความมุ่งยินดีในอารมณ์

๕ มีมุ่งยินดีในรูปเป็นต้น* เป็น ๖ โดยแตกเป็นกองตัณหา ๖

ส่วนนิโรธ เป็นอย่างเดียว โดยเป็นอสังขตธาตุ แต่โดยปริยาย

เป็น ๒ โดยเป็นสอุปาทิเสสและอนุปาทิเสส เป็น ๓ โดยเป็นความสูญ

ไปแห่งภพ ๓ เป็น ๔ โดยเป็นธรรมที่พึงบรรลุด้วยมรรค ๔ เป็น ๕

* มหาฎีกาแก้เป็น ๒ นัย นัย ๑ ว่า ในขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น นัย ๑ ว่า ในอารมณ์

๕ มีรูปารมณ์เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 214

โดยเป็นความหายไปแห่งความมุ่งยินดี ๕ เป็น ๖ โดยมีความ

ทำลายไปแห่งกองตัณหา ๖๑

ส่วนมรรค เป็นอย่างเดียว โดยเป็นภาเวตัพพธรรม๒ เป็น ๒

โดยแยกเป็นสมถะและวิปัสนา หรือโดยแยกเป็น ทัสสนะ (คือโสดา-

ปัตติมรรค) และภาวนา (คือสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัต-

มรรค) เป็น ๓ โดยต่างแห่ง (ธรรม) ขันธ์ ๓ แท้จริง มรรคนี้

เพราะเหตุที่มีองค์เป็นส่วนย่อย ท่านจึงสงเคราะห์ (คือรวมเข้า)

ด้วย (ธรรม) ขันธ์ ๓ ซึ่งเป็นส่วนรวม เหมือนเมืองรวมเข้าด้วย

แคว้นฉะนั้น ดังพระธัมมทินนาเถรีกล่าว (แห้ปัญหาของวิสาขอบาสกป

ว่า "ดูกรอาวุโสวิสขะ ขันธ์ ๓ ท่านมิได้สงเคราะห์เข้าด้วยอริย-

มรรคมีองค์ ๘ ดอก แต่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ต่างหาก ท่านสงเคราะห์

เข้าด้วยขันธ์ ๓ ดูกรอาวุโสวิสาขะ สัมมวาจาใดด้วย สัมมกัมมันตะ

ใดด้วย สัมมาอาชีวะใดด้วย ธรรม (๓) นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วย

สีลขันธ์ สัมมาวายามะใดด้วย สัมมสติใดด้วย สัมมาสมาธิใดด้วย

ธรรม (๓) นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ สัมมทิฏฐิใดด้วย

๑. ฉตณฺหากายเภทโต เภท มีความเป็น ๒ คือ แตกต่างก็ได้ แตกทำลายก็ได้

ตรงนี้ต้องแปลว่าแตกทำลาย จึงจะเข้ากับเรื่อง

๒. เรื่องอริยสัจเป็น ๑ นี้ ท่านกล่าวอย่างไรอยู่ ฟังของท่านไม่ออก เมื่อชี้ทุกข์เป็น

ปวัตติ สมุทัยเป็นปวัตตกะแล้ว ก็น่าจะชี้นิโรธเป็นนิวัตติ มรรคเป็นนิวัตตกะ ไปแนว

เดียวกัน ซึ่งก็เคยกล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่ท่านกลับแยกแนวไปชี้นิโรธเป็นอสังขต-

ธาตุ มรรคเป็นภาวตัพพธรรม หรือเมื่อจะชี้โดยกิจ ดังที่ว่ามรรคเป็นภเวตัพพธรรม

ก็น่าจะชี้ทุกข์เป็นปริญไญยธรรม สมุทัยเป็นปหาตัพพธรรม และนิโรธเป็นสัจฉิ-

กาตัพพธรรม เข้าแนวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 215

สัมมาสังกัปปะใดด้วย ธรรม (๒) นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยปัญญา

ขันธ์๑" ดังนี้

เพราะในอริยมรรคนี้ ธรรม ๓ มีสัมมาวาจาเป็นต้น เป็นศีลแท้

เพราะเหตุนั้น ธรรม ๓ นั้นท่านจึงสงเคราะห์เข้าด้วนสีลขันธ์ โดย

ความมีชาติเสมอกัน

ก็แลในบาลี ท่านทำนิเทศไว้โดยภุมมวจนะว่า 'สีลกฺขนฺเธ'

ก็จริง แต่ก็พึงทราบเนื้อความโดยเป็นกรณเวจนะ (คือเป็นสีลกฺขนฺเธน)

เถิด๒

ส่วนในธรรม ๓ มีสัมมาวายามะเป็นต้น สมาธิมิอาจแนบแน่น

โดยความเป็นหนึ่งแน่ในอารมณ์โดยธรรมดาของตนได้ ต่อเมื่อวิริยะ

ทำกิจคือประคอง (จิต) ไว้ให้สำเร็จ และสติทำกิจคือไม่ฟั่นเฟือนไป

ให้สำเร็จอยู่ (สมาธิ) เป็นธรรมได้รับอุปการะ (ดังนั้น) แล้ว จึง

อาจ (แนบแน่นได้)

(ต่อไป) นี้เป็นอุปมาในธรรม ๓ นั้น เหมือนอย่างว่าในสหาย

๓ คนผู้เข้าไปสู่อุทยานด้วยประสงค์ว่าจักเล่นนักขัตฤกษ์ ต่างว่าสหาย

ผู้หนึ่งเห็นต้นจำปามีดอกบานงาม ก็เอื้อมมือขึ้นไป แต่เก็บไม่ถึง คนที่

๑. จุลเวทัลลสูตร ม. มู. ๑๒/๕๔๙

๒. สำนวนบาลีท่านนิยมใช้ว่า 'สงเคราะห์ด้วย. . .' แต่ปาฐะตรงนี้ในฉบับที่ท่านพบ

เป็นรูปสัตมีวิภัติอันแปลว่า ใน. . . ท่านจึงบอกอยู่อย่างนั้น น่าสังเกตว่าโบราณาจารย์ท่าน

เคารพพระบาลีนัก ไม่กล้าแม้แต่จะบอกว่าปาฐะนี้คลาดเคลื่อน แต่ในบาลีฉบับของเรา

เป็น สีลกฺขนฺเธน สมาธิกฺขนฺเธน ปญฺญากฺขนฺเธน เรียบร้อยแล้ว จะเป็นมาแต่เดิม

หรือท่านผู้ชำระภายหลังแก้ก็ไม่ทราบ ส่วนสำนวนไทยกลับนิยมพูดว่า 'สงเคราะห์

ใน . . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 216

สองจึงก้มตัวลงให้หลังแก่สหายผู้นั้น สหายผู้นั้นแม้ยืนอยู่บนหลังสหาย

ที่สองแล้ว แต่ตัวยังโงนเงน ก็ยังเก็บไม่ได้ ที่นี้สหายอีกคนหนึ่งจึงเอียง

ไหล่ให้สหายผู้นั้น สหายผู้นั้นยืนบนหลังสหายผู้หนึ่ง เหยียบยันไหล่สหาย

ผู้หนึ่ง จึงเลือกเก็บดอกไม้ตามชอบใจมาประดับกายเล่นนักขัตฤกษ์ได้

ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็พึงเห็นฉันนั้น อันธรรม ๓ มีสัมมาวายามะเป็นต้น

เป็นธรรมเกิดร่วมกัน เปรียบเหมือนสหาย ๓ คนผู้เข้าสู่อุทยานด้วยกัน

อารมณ์ (ของสมาธิ) เหมือนต้นจำปามีดอกบานงาม สมาธิที่ไม่

อาจแนบแน่น โดยความเป็นหนึ่งแน่ในอารมณ์โดยธรรมดาของตนได้

เหมือนสหายผู้แม้เอื้อมมือขึ้นไปแล้วแต่เก็บไม่ถึง วายามะ เหมือน

สหายผู้ก้มหลังให้ สติ เหมือนสหายผู้ยืนเอียงไหล่ให้ เมื่อวิริยะยังกิจ

คือการประคอง (จิต) ให้สำเร็จ และเมื่อสติยังกิจคือไม่ฟั่นเฟือน

ไปให้สำเร็จอยู่ สมาธิเป็นธรรมได้รับอุปการะ (ดังนั้น) แล้ว จึงอาจ

แนบแน่นโดยความเป็นหนึ่งแน่ในอารมณ์ได้ เปรียบเหมือนในสหาย

๓ คนนั้น อีกผู้หนึ่งยืนบนหลังของคนหนึ่ง เหยียบยันไหล่ของคนหนึ่ง

จึงสามารถเก็บดอกไม้ได้ตามชอบใจฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ในธรรม ๓

นั้น สมาธิอย่างเดียว ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยสมาธิขันธ์โดยความมีชาติ

เสมอกัน ส่วนวายามะและสติเป็นธรรมที่ท่านสงเคราะห์เข้าโดยกิริยา

(คือเป็นธรรมอุดหนุนสมาธิ)

แม้ในสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเล่า ปัญญาก็มิอาจตัดสิน

อารมณ์ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาโดยธรรมดาของตนได้ ต่อเมื่อ

วิตกแคะ ๆ ให้จึงอาจ ข้อนี้อย่างไร ? เหมือนอย่างว่าเหรัญญิก วาง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 217

เหรียญกษาปณ์ลงที่ (ฝ่า) มือแล้ว แม้เป็นผู้ใคร่จะตรวจดูในทุก

ส่วน (ของเหรียญ) ก็มิอาจใช้เปลือกตาพลิก (ดู) ได้เลย ต่อ

ใช้ข้อนิ้วมือ (จับ) พลิกไปมา จึงอาจดูส่วนนั้นส่วนนี้ได้ ฉันใด

ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน มิอาจตัดสินอารมณ์โดยว่าไม่เที่ยงเป็นต้น

โดยธรรมดาของตนได้ ต่อวิตกซึ่งมีการปัก (จิต) ลงไปเฉพาะ

(ในอารมณ์) เป็นลักษณะ มีการกระทบ (อารมณ์) ไปมา เป็นรส

ดังว่าแคะเอามาให้ และดังว่าพลิกเอามาให้นั่นแหละ จึงอาจตัดสินได้

เพราะเหตุนั้น แม้ในองค์มรรค ๒ นี้ ก็สัมมาทิฏฐิเท่านั้นท่านสงเคราะห์

เข้าด้วยปัญญาขันธ์โดยมีชาติเสมอกัน ส่วนสัมมาสังกัปปะเป็นธรรมที่

ท่านสงเคราะห์เข้าโดยเป็นกิริยา (คือเป็นองค์อุดหนุน)

มรรค ถึงซึ่งความสงเคราะห์เข้าด้วย (ธรรม) ขันธ์ ๓ นี้

ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงว่า 'มรรคเป็น ๓ โดยต่าง

แห่ง (ธรรม) ขันธ์ ๓'

มรรคนั้นเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น

อีกนัยหนึ่ง สัจจะทุกข้อ จัดว่าเป็นอย่างเดียว เพราะเป็นธรรม

ไม่กลายเป็นไม่จริง หรือเพราะเป็นอภิญไญยธรรม เป็น ๒ โดยเป็น

โลกิยะและโลกุตระหรือโดยเป็นสังขตะและอสังขตะ เป็น ๓ โดยเป็น

ธรรมที่ต้องละด้วยทัสสนะและภาวนา และโดยเป็นธรรมที่ไม่ต้องละ

เป็น ๔ โดยต่างแห่งกิจมีเป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้เป็นต้น แล

วินิจฉัยโดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้นในอริยสัจนี้ พึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 218

[โดยมีส่วนเสมอกันและไม่เสมอกัน]

ข้อว่า 'โดย (สภาคและวิสภาค) มีส่วนเสมอกันแลไม่เสมอ

กัน' ความว่า สัจจะทุกข้อมีส่วนเสมอกันและกัน โดยเป็นธรรมไม่

กลายเป็นไม่จริง ๑ โดยเป็นธรรมว่างเปล่าจากอัตตา ๑ โดยมีการตรัสรู้

อันทำได้ยาก ๑ ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ถามพระอานนท์) ว่า "ดู

กรอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่บุคคลจะพึงยิงลูกศร

ลอดช่องดาลเล็ก ๆ แต่ที่ไกลมิให้พลาดลูกแล้วลูกเล่าหรือ หรือว่า

ข้อที่บุคคลจะพึงใช้ปลายขนสัตว์ผ่า ๗๑ ยิงไปให้ถูกปลายขนสัตว (ที่

เป็นเป้า) ข้อไหนทำได้ยากกว่า สำเร็จได้ยากกว่า" พระอานนท์

กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุคคลจะพึงใช้ปลายขนสัตว์

ผ่า ๗ ยิงไปให้ถูกปลายขนสัตว์ (ที่เป็นเป้า) นั่นแหละทำได้ยากกว่า

สำเร็จได้อากกว่า" ตรัสว่า "ดูกรอานนท์ บุคคลผู้มีแทงทะลุตาม

เป็นจริงว่านี่ทุกข์ ฯ ล ฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ยังแทงให้ทะลุ

ได้ยากยิ่งกว่ายิงขนสัตว์ด้วยขนสัตว์นั้นไปอีกนะ" ดังนี้ (แต่) สัจจะ

ทุกข้อนั้นมีส่วนไม่เสมอกันโดยกำหนดต่างกันไปตามลักษณะของตน ๆ

อนึ่งสัจจะ ๒ ข้างต้นจัดว่ามีส่วนเสมอกัน เหตุเป็นสภาพลึก เพราะ

อรรถว่ายากที่จะหยั่ง๒ เหตุเป็นโลกิยธรรมและเป็นสาสวธรรมด้วยกัน

(แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดยแยกกันเป็นผล (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นเหตุ

๑. มหาฎีกาว่า ขนสัตว์ผ่า ๗ นั้นติดไว้ที่ปลายลูกศร ((ไม่ใช่ใช้มือจับจี้))

๒. มหาฎีกาว่า ที่จริงทุกข์และสมุทัย ก็เป็นสภาพที่หยาบ เพราะแม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน

ก็มีทุกข์และความอยากอาหารเป็นต้นปรากฏเห็นได้ แต่เพราะไม่อาจหยั่งทราบโดยถ่อง

แท้ตามลักษณะว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุของทุกข์ จึงว่าลึก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 219

(ฝ่ายหนึ่ง) และโดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นปริญไญยธรรม (ฝ่ายหนึ่ง)

เป็นปหาตัพพธรรม สัจจะ ๒ ข้างปลายเล่า นับว่าส่วนเสมอกัน

เหตุเป็นธรรมหยั่งได้ยาก เพราะเป็นธรรมลึก เหตุเป็นโลกุตรธรรม

และเป็นอนาสวธรรมด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดยแยกกัน

เป็นวิสัย (คือแดนดับทุกข์ฝ่ายหนึ่ง) และเป็นวิสยี (คือทางไปสู่

แดนนั้นฝ่ายหนึ่ง) และโดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม

(ฝ่ายหนึ่ง) เป็นภาเวตัพพธรรม อนึ่งเล่า สัจจะที่ ๑ กับที่ ๓ มีส่วน

เสมอกันโดยเป็นข้อที่ถูกชี้ว่าเป็นผลด้วยกัน* (แต่) มีส่วนไม่เสมอ

โดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นสังขตธรรม และ (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นอสังขต-

ธรรม ข้างฝ่ายสัจจะที่ ๒ กับที่ ๔ มีส่วนเสมอกัน โดยเป็นข้อที่ถูกชี้

ว่าเป็นเหตุด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดย (ฝ่ายหนึ่ง)

เป็นกุศลส่วนเดียว และ (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นอกุศลส่วนเดียว ฝ่ายข้าง

สัจจะที่ ๑ กับที่ ๔ มีส่วนเสมอกัน โดยเป็นสังขตธรรมด้วยกัน (แต่)

มีส่วนไม่เสมอกัน โดย (ฝ่ายหนึ่ง) เป็นโลกิยธรรม และ (ฝ่าย

หนึ่ง) เป็นโลกุตตรธรรม แม้สัจจะที่ ๒ กับที่ ๓ เล่า ก็มีส่วนเสมอ

กันโดยเป็นเนวเสกขานาเสกขธรรม (ธรรมของพระเสกขะก็มิใช่ของ

พระอเสกขะก็มิใช่) ด้วยกัน (แต่) มีส่วนไม่เสมอกัน โดย (ฝ่าย

หนึ่ง) เป็นสารัมมณธรรม (ธรรมมีอารมณ์) และ (ฝ่ายหนึ่ง)

* คัมภีร์นี้ท่านกล่าวว่า นิโรธอริยสัจได้แก่นิพพาน ดังได้ปรารภมาแล้ว ตรงนี้ท่าน

ใช้โวหารว่านิโรธเป็นวิสัย มรรคเป็นวิสยี (ไม่ว่าเป็นผลเป็นเหตุดังสัจจะ ๒ ข้างต้น)

ก็เป็นหารกลมกลืนกันได้ แต่แล้วต่อไปนั้นกลับว่านิโรธเป็นผลเช่นเดียวกับทุกข์ ฟัง

สับสนอยู่ เมื่อนิพพานเป็นอสังขตะแล้วจะอยู่ในระบบเหตุผลอย่างไรเล่า ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 220

เป็นอนารัมมธรรม (ธรรมไม่มีอารมณ์)

ผู้มีสติปัญญาพึงทราบความที่อริยสัจมีส่วนเสมอกัน

และเสมอกัน โดยประการและโดยนัยดังกล่าว

มาฉะนี้แล

ปริเฉทที่ ๑๖ ชื่ออินทริยสัจจนิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์ชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 221

ปัญญาภูมินิเทศ

เพราะเหตุที่ในธรรมทั้งหลาย ที่เป็นภูมิแห่งปัญญานี้ ที่ท่านกล่าว

ไว้ว่า "ธรรมทั้งหลายต่างโดยขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ และ

ปฏิจสมุบาทเป็นอาทิ เป็นภูมิ (แห่งปัญญา)" ดังนี้ ปฏิจสมุบาท

และปฏิจสมุบันธรรมทั้งหลาย ที่รวมเข้าไว้ด้วยอาทิศัพท์ ยังเหลืออยู่

(ยังมิได้พรรณนา) เพราะเหตุนั้น บัดนี้ จึงถึงลำดับแห่งการสังวรรณนา

ปฏิจสมุบาทและปฏิจสมุบันธรรมทั้งหลายนั้น

ในธรรมสองอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น พึงทราบว่า

ชื่อปฏิจสมุบาท เป็นอันดับแรก จริงอยู่ คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้

ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจสมุบาทเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย

สังขารทั้งหลาย มีเพราะปัจจัยคือ อวิชชา

วิญญาณ " " สังขาร

นามรูป " " วิญญาณ

สฬายตนะ " " นามรูป

ผัสสะ " " สฬายตนะ

เวทนา " " ผัสสะ

ตัณหา " " เวทนา

อุปาทาน " " ตัณหา

ภพ " " อุปาทาน

ชาติ " " ภพ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 222

ชรามรณะ โสกะ

ปริเทวะ ทุกขะ

โทมนัส อุปายาส มีเพราะปัจจัยอคือ ชาติ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั่น ย่อมมีดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย

นี้เรียกว่า ปฏิจสมุบาท๑"

ส่วนธรรมทั้งหลายมีชรามรณะเป็นต้น พึงทราบว่าชื่อ ปฏิจ-

สมุบันธรรม จริงอยู่คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย ก็ปฏิจสมุบันธรรมทั้งหลายเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ชรามรณะ เป็นธรรมไม่เที่ยง เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็น

ปฏิจสมุบัน (อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น) เป็นธรรมมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา

มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับ

ไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาติ----ภพ----อุปาทาน----ตัณหา----

เวทนา----ผัสสะ----สฬายตนะ----นามรูป----วิญญาณ----สังขาร----อวิชชา

เป็นธรรมไม่เที่ยง เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นปฏิจสมุบัน

(อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น) เป็นธรรมมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อม

ไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้เรียกว่า ปฏิจสมุบันธรรม๒" ดังนี้

๑. สํ. นิทาน. ๑๖/๑

๒. สํ. นิทาน. ๑๖/๓๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 223

[ความหมายของคำปฏิจสมุบาท]

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความหมายสังเขปในปฏิจสมุบาท

และปฏิจสมุบันธรรมนั้น

ธรรมที่เป็นปัจจัยทั้งหลาย พึงทราบว่าชื่อ ปฏิจสมุบาท ธรรมที่

เกิดเพราะปัจจัยทั้งหลายนั้น ๆ พึงทราบว่าชื่อปฏิจสมุบันธรรม หาก

มีคำถามว่า "ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไร ?" พึงแก้ว่า "ทราบได้โดย

พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า" จริงอยู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ

ทรงแสดงปฏิจสมุบาทในพระสูตร อันว่าด้วยการแสดงปฏิจสมุบาท

และปฏิจสมุบันธรรมไว้ดังนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจสมุบาท

เป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ

เพราะความเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม เพราะความไม่เกิด

ขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม ธาตุอันนั้น ธัมมฐิตตา (ความ

ตั้งอยู่แห่งธรรมดา) อันนั้น ธัมมนิยามตา (ความแน่นอนแห่งธรรมดา)

อันนั้น อิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้) อันนั้น ก็คงตัว

อยู่นั่น ตถาคตมารู้ถึงธาตุอันนั้นเข้า ครั้นรู้ถึงเข้าแล้วจึงบอกจึงแสดง

จึงบัญญัติแต่งตั้งเปิดเผยจำแนกออกทำให้ง่ายขึ้น ท่านทั้งหลายจงดูเถิด"

ดังนี้เป็นต้น และตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะ มีเพราะปัจจัย

คือชาติ ชาติมีเพราะปัจจัยคือภพ ฯ ล ฯ สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัย

คืออวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม เพราะ

ความไม่เกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม ฯลฯ จำแนกออกทำให้

ง่ายขึ้น ท่านทั้งหลายจงดูเถิด" และตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 224

สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา ตถตา (ความมีเพราะปัจจัย

อย่างนั้น)๑ อย่างนี้แลอันใด อวิตถตา (ความไม่มีที่จะไม่มีเพราะ

ปัจจัยอย่างนั้น) อย่างนี้แลอันใด อนัญญถตา (ความไม่มีธรรมอื่น

เพราะปัจจัยอื่น) อย่างนี้แลอันใด อิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้เป็น

ปัจจัยของสิ่งนี้) อย่างนี้แลอันใด ในธรรมนั้น อันนี้เรียกว่าปฏิจ-

สมุบาท" ดังนี้เป็นต้น๒ ก็เป็นอันตรัสธรรมที่เป็นปัจจัยทั้งหลายนั่นเอง

ว่าเป็นปฏิจสมุบาท โดยคำทั้งหลายที่เป็นไวพจน์ (ของปฏิจสมุบาท)

มีตถตาเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ปฏิจสมุบาท บัณฑิตพึงทราบว่า

มีความเป็นปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลาย มีชรามรณะเป็นต้นเป็นลักษณะ

มีการผูกพันทุกข์ไว้เป็นรส มีความเป็นทางผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน ก็แล

ปฏิจสมุบาทนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตถตา (ความมี

เพราะปัจจัยอย่างนั้น) เพราะความมีขึ้นแห่งธรรมนั้น ๆ ก็เพราะปัจจัย

ทั้งหลายนั้น ๆ อันไม่ขาดไม่เกินนั่นเทียว ตรัสเรียกว่า อวิตถตา

(ความไม่มีที่จะไม่มีเพราะปัจจัยอย่างนั้น) ก็เพราะเมื่อปัจจัยทั้งหลายถึง

ความพร้อมกันเข้าแล้ว เป็นไม่มีละที่ธรรมทั้งหลายอันเกิดเพราะปัจจัย

นั้นจะไม่มีขึ้นแม้แต่ครู่หนึ่ง ตรัสเรียกว่า อนัญญถตา (ความไม่มี

ธรรมอื่นเพราะปัจจัยอื่น) ก็เพราะธรรม (ที่เป็นผล) อย่างหนึ่งไม่เกิด

๑. คำแปล ตถตา เป็นต้น ที่วงเล็บไว้นี้ แปลตามนัยมหาฎีกาแก้ไว้ต่อไปนั้น

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้ลงหัวตาปูที่ ปฏิจฺจสมุปฺปาโทติ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน อิติศัพท์นี้ทาง

สัมพันธ์เป็นสรูปใน เอวํ ข้างหลังไม่มีปัญหา จึงควรถอนหัวตาปูนั้นออก

ประโยคนี้ ขึ้นต้นที่ ภควตา หิ สุดลงที่ ปฏิจฺจสมุปฺปาโทติ วุตฺตา และ

ปจฺจยธมฺมา เป็นประธาน ภควตา เป็นอนภิหิตกัตตา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 225

ขึ้นเพราะปัจจัยของธรรม (ที่เป็นผล) อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกว่า

อิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้) ก็เพราะความเป็นปัจจัย

หรือเพราะเป็นประชุมแห่งปัจจัยของธรรม (ที่เป็นผล) ทั้งหลายมี

ชรามรณะเป็นอาทิตามที่กล่าวแล้วนั้น

[แก้อิทปฺปจฺจยตา]

(ต่อไป) นี้เป็นความหมายแห่งคำในคำอิทัปปัจจยตานั้น ธรรม

ทั้งหลายใดเป็นปัจจัยของธรรมเหล่านี้ ธรรมทั้งหลายนั้นชื่อว่า อิทัป-

ปัจจยา อิทัปปัจจยตา ก็ อิทัปปัจจยา นั่นเอง* นัยหนึ่ง ประชุม

แห่งอิทัปปัจจยา ชื่อว่าอิทัปปัจจยตา

ก็แลลักษณะในคำอิทัปปัจจยตานี้ พึงค้นดูจากศัพทศาสตร์เถิด

[ค้านความหมายปฏิจสมุบาทในลัทธิเดียรถีย์]

เจ้าลัทธิบางพวกกล่าวกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น (เฉย ๆ ไม่มี

เหตุ) ว่าเป็นปฏิจสมุบาท โดยนัยดังนี้ว่า "ความอิง (สิ่งต่าง ๆ)

เกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างถูกต้องด้วย (โดย) ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุ เช่น

ความเกิดแห่งปกติ (ประกฤติ - มูลเดิม) และปุริส (อาตมัน) เป็นต้น

* มหาฎีกาช่วยอธิบายหนุนว่า ตาเป็นศัพท์แถม ไม่มีความอะไร เช่นเดียวกับ

เทวดาก็เทโวนั่นเอง ดังนี้ก็เป็นอันว่า อิทปฺปจฺจยตา ไม่ใช่ภาวตัทธิต คือไม่แปลว่า

ความ - แต่ว่าศัพท์พวกเดียวกันคือ ตถตา อวิตถตา อนญฺญถตา ก็แปลว่า ความ-

มาเป็นแถวแล้ว อิทปฺปจฺจยตา ไม่แปลว่าความ - จะเข้าแถวกันอย่างไรได้

ส่วนคำแปล อิทปฺปจฺจยตา ที่วงเล็บไว้ว่า 'ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้'

นั้น โดยเข้าในว่าศัพท์นี้ท่านจะสรูปมาจาก 'ยอดความแห่งปฏิจจสมุบาท' ในบาลีว่า

"อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ - ในเมื่อสิ่งนี้มีอยู่สิ่งนี้ย่อมมี

เพราะความเกิดขึ้นแหง่ สิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกดิ ขึ้น -" นี่เอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 226

ซึ่งเดียรถีย์กำหนดขึ้น ชื่อว่าปฏิจสมุบาท๑" คำของเจ้าลัทธินั้นไม่ชอบ

เพราะอะไร ? เพราะไม่มีพระสูตร (อ้าง) เพราะผิดต่อพระสูตร เพราะ

ไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย และเพราะเป็นสัททเภท (ศัพท์แตก) ด้วย

[ไม่มีพระสูตรอ้างและผิดต่อพระสูตร]

จริงอยู่ พระสูตรว่า "กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น (ไม่มีเหตุ) ชื่อว่า

ปฏิจสมุบาท" ดังนี้หามีไม่ และความผิดต่อปเทสวิหารสูตร (พระ

สูตรที่กล่าวถึงปเทสวิหารธรรม) ก็ต้อง (มี) แก่ผู้ที่กล่าวว่า 'กิริยาเพียง

แต่ความเกิดขึ้นนั้นชื่อว่าปฏิจสมุบาท' ด้วย ถามว่า (ผิด) อย่างไร ?

แก้ว่า ก็การมนสิการปฏิจสมุบาทเป็นปฐมาภิสัมพุทธวิหาร (วิหารธรรม

เมื่อแรกตรัสรู้) แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยบาลีว่า "ครั้งนั้นแล

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมนสิการปฏิจสมุบาท ทั้งอนุโลมและปฏิโลม

ตลอดปฐมยามแห่งราตรี๒" ดังนี้เป็นอาทิ อนึ่ง วิหารธรรมเป็น

ส่วนหนึ่งแห่งปฏิจสมุบาทนั้น ชื่อ ปเทสวิหารธรรม ดังที่ตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแรกตรัสรู้ พักผ่อนอยู่ด้วยวิหารธรรมใด

เราพักผ่อนอยู่แล้วด้วยปเทส (ส่วนหนึ่ง) แห่งวิหารธรรมนั้น๓" ก็แล

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพักผ่อนอยู่ในปเทสวิหารธรรมนั้น ก็โดยทรง

(พิจารณา) ดูปัจยาการ (อาการแห่งปัจจัยธรรม) หาใช่ทรง (พิจารณา)

๑. ตามนี้ แยกศัพท์เป็น ปฏิจฺจ - สมฺมา - อุปฺปาท แต่ว่า ปฏิจฺจ ในลัทธินี้มิได้เล็ง

ถึงเหตุปัจจัย เป็นแต่อิง คือเข้าสิงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ เหมือนผีสิง (?)

๒. วิ. มหาวรรค ๔/๑

๓. สํ. มหาวาร. ๑๙/๑๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 227

ดูกิริยาสักว่าความเกิดขึ้นไม่แล ดังที่ตรัสว่า "เรานั้นรู้ทั่วถึงอย่างนี้ว่า

'ความเสวยอารมณ์มีเพราะปัจจัยคือมิจฉาทิฏฐิก็มี ความเสวยอารมณ์มี

เพราะปัจจัยคือสัมมาทิฏฐิก็มี ความเสวยอารมณ์มีเพราะปัจจัยคือมิจฉา

สังกัปปะก็มี"* ดังนี้ เป็นต้น คำบาลีทั้งปวง บัณฑิตพึง (นำมากล่าว)

ให้พิสดารเถิด ความผิดต่อปเทสวิหารสูตร ต้อง (มี) แก่ผู้กล่าวว่า

'กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น ชื่อว่าปฏิจสมุบาท' ด้วยประการฉะนี้

นัยเดียวกัน ผิดต่อกัจจานสูตรด้วย จริงอยู่ แม้ในกัจจานสูตร

ก็กล่าวว่า "ดูกรกัจจานะ อนึ่ง เมื่อบุคคลเห็นโลกสมุทัย (เหตุเกิดขึ้น

แห่งโลก) ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ นัตถิตา (ความเห็นว่า

ไม่มี เห็นว่าขาดสูญ) อันใดในโลก นัตถิตาอันนั้นย่อมไม่มี" ดังนี้

ปฏิสมุบาทฝ่ายอนุโลม ชื่อว่า โลกสมุทัย เพราะเป็นปัจจัยแห่งโลก

เพราะฉะนั้น ปฏิจสมุบาทฝ่ายอนุโลมนั้น จึงเป็นธรรมที่ทรงประกาศ

เพื่อถอนอุจเฉททิฏฐิ มิใช่ทรงประกาศกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น

(เฉย ๆ ) เหตุว่าความถอนอุจเฉททิฏฐิ จะมีขึ้นด้วยการ (พิจารณา)

เห็นแต่เพียงความเกิดขึ้นหาได้ไม่ แต่ย่อมมีได้ด้วยการ (พิจารณา)

เห็นความสืบต่อกันแห่งปัจจัย เพราะความสืบต่อแห่งผลย่อมมีในเพราะ

ความสืบต่อแห่งปัจจัยแล แม้ความผิดต่อกัจจานสูตรก็ต้อง (มี) แก่ผู้

กล่าวว่า "กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นชื่อว่าปฏิจสมุบาท" ดังประการ

ฉะนี้

* มหาฎีกาสรูปความว่า ที่ว่าทรงพักผ่อนอยู่ด้วยวิหารธรรมส่วนหนึ่งแห่งปฏิจสมุบาท ในที่นี้

ก็คือทรงพิจารณาดูปัจยาการแห่งเวทนานั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 228

ไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย

ข้อว่า 'เพราะไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย' ความว่า ก็แลคำนี้พระ

ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรอานนท์ ปฏิจสมุบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง

ทั้งอาการที่ปรากฏก็ลึกด้วย๑" ดังนี้ ก็อันความลึกซึ้ง (แห่งปฏิจสมุบาท

นั้น) มี ๔ ประการ ข้าพเจ้าทั้งหลายจักพรรณนาความลึกซึ้งนั้น

ข้างหรน้า ความลึกซึ้งนั้นหามีในกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นไม่

อนึ่ง บัณฑิตทั้งหลายพรรณนาปฏิจสมุบาทนั้นไว้ให้ประดับด้วย

นัย ๔ ประการ แม้นัยทั้ง ๔ นั้นก็หามีในกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นไม่

กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นไม่เป็นปฏิจสมุบาท เพราะไม่เกิด

ความลึกซึ้งและนัย ดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑

[เป็นสัททเภท]

ข้อว่า 'เพราะเป็นสัททเภท (ศัพท์แตก)' ความว่า ก็แลปฏิจ

ศัพท์นี้ ในเพราะกัตตาเสมอกัน (คือหากมีกัตตาเดียวกันกับอุปฺปาท)

ประกอบไว้ในบุพกาล (คือใช้เป็นบุพกาลกิริยา) จึงทำความสำเร็จแห่ง

อรรถได้ (คือได้ความเป็นภาษา) เช่นกับพากย์นี้ว่า "จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ

รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ๒ จักษุวิญญาณ ย่อมอาศัยจักษุและ

รูปเกิดขึ้น" แต่ในคำของเกจิอาจารย์นี้ ปฏิจฺจศัพท์นั้นประกอบเข้า

กับอุปฺบาท ศัพท์อันเป็นภาวสาธนะ (คือแปลว่าความเกิดขึ้น) จึงถึง

ซึ่งความเป็นสัททเภท เพราะไม่มีกัตตาเสมอกัน และไม่ยังอรรถอะไร ๆ

๑. ที. มหา. ๑๐/๖๕

๒. สํ. นิทาน. ๑๖๑๘๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 229

ให้สำเร็จด้วย เพราะฉะนั้น กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นจึงไม่เป็นปฏิจ-

สมุบาท เพราะเป็นสัททเภทประการ ๑ ฉะนี้

ในข้อนั้น พึงมีคำแย้งว่า "พวกข้าพเจ้าจักประกอบเข้ากับโหติ-

ศัพท์ว่า 'ปฏิจฺจสมุปฺปาโท โหติ' ดังนี้ก็ได้" คำแก้พึงมีว่า "คำนั้น

ก็ไม่ชอบ เพราะอะไร ? เพราะไม่มีความที่ควรประกอบประการ ๑

เพราะโทษคือต้อง (กลายเป็นความว่า) ความเกิดขึ้นแห่งความเกิดขึ้น

ไปประการ ๑ ด้วยว่าในบททั้งหลายเหล่านี้คือ "ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ โว

ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ กตโม จ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท ฯ เป ฯ

อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท" (ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจัก

แสดงปฏิจสมุบาทแก่ท่านทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลปฏิจสมุบาท

เป็นอย่างไร ฯ ล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี่เรียกว่าปฏิจสมุบาท) โหติศัพท์

ก็ไม่ถึงซึ่งความควรประกอบเข้ากับบท (ไหน) แม้แต่บทเดียว ทั้งไม่

เป็นความเกิดขึ้นด้วย (เพราะไม่ประกอบด้วยลักษณะแห่งความเกิด)

ถ้าหากเป็น ก็จะต้อง (กลายเป็น) ความเกิดขึ้นแห่งความเกิดขึ้นไปอี

ประการ ๑

แม้อาจารย์เหล่าใดสำคัญเอาว่า "ภาวะแห่งอิทัปปัจจยธรรม

ทั้งหลาย ชื่ออิทัปปัจจยตา และอันภาวะ (นั้น) ก็ได้แก่อาการที่เป็น

เหตุแห่งปัจจยธรรมทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นอาทิ ในเพราะความปรากฏ

ขึ้นแห่งสังขาร (สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ?) เป็นต้น และชื่อว่าปฏิจสมุบาท

(นั้นเล่าก็มีขึ้น) ในเพราะความมีแปลก ๆ แห่งสังขารนั้นแหละ" ดังนี้

ความสำคัญเอาแห่งอาจารย์เหล่านั้นก็ไม่ชอบ เพราะอะไร เพราะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 230

กล่าวเหตุของปัจจยธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ที่จริงปัจจยธรรม

ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นตัวเหตุ

โดยนัยพระสูตรว่า 'เพราะเหตุนั้นนั่นแล อานนท์ สิ่งนั้นแลเป็นเหตุ

สิ่งนั้นเป็นนิทาน สิ่งนั้นเป็นสมุทัย สิ่งนั้นเป็นปัจจัยแห่งชรามรณะ

สิ่งนี้คืออะไร คือชาติ ฯ ล ฯ สิ่งนั้นเป็นเหตุ----แห่งสังขารทั้งหลาย

สิ่งนี้คืออะไร (เป็นปฏิจสมุบาท) ไม่ เพราะเหตุนั้น พึงทราบเถิดว่า

ปัจจยธรรมทั้งหลาย (นั่นแหละ) ชื่อว่าปฏิจสมุบาท คำนั้นใดที่

ข้าพเจ้ากล่าวไว้ดังนี้ คำนั้นพึงทราบว่าเป็นคำกล่าวชอบแล้ว

ส่วนความเข้าใจไปอันใดเกิดขึ้นในบทปฏิจสมุบาทนั้นว่า 'ความ

เกิดขึ้นนี่เอง เรียกว่าปฏิจสมุบาท' (ไม่ใช่เหตุ) ด้วยฉายาแห่ง

พยัญชนะว่าปฏิจสมุบาทนี้ ความเข้าใจไปอันนั้น อาจารย์ทั้งหลาย

พึงถือเอาอรรคแห่งบทนี้ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น แล้วระงับเสียเถิด

ด้วยว่า

ในกลุ่ม (ปัจจยุบัน) ธรรมอันเป็นไปเพราะกลุ่ม

ปัจจัยธรรมนั้น คำ (ปฏิจสมุบาท) นี้ (ท่าน

ประสงค์) โดยส่วน ๒ (คือทั้งส่วนผลและส่วน

เหตุ) เหตุใด เพราะเหตุนั้น (แม้) ปัจจัยแห่ง

กลุ่มธรรมนั้นนี่ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า

ปฏิจสมุบาท โดยอุปจาร (คือโดยโวหาร) แห่งผล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 231

จริงอยู่กลุ่มธรรม (ปัจจยุบันคือที่เป็นผล) อันเป็นไป (คือเกิดขึ้น)

เพราะกลุ่มปัจจัยอันนี้ใด ในกลุ่มธรรมนั้นบัณฑิตทั้งหลายประสงค์เอา

คำว่าปฏิจสมุบาทนี้เป็น ๒ ส่วน ขยายความว่า

[ปฏิจสมุบาทส่วนผล]

กลุ่มธรรมนั้น อันบัณฑิตอาศัย (ดำเนินญาณ) อยู่ ย่อมเป็นไป

เพื่อประโยชน์และเพื่อความสุข (ที่เป็นโลกุตระ) เหตุใด เพราะ

เหตุนั้น กลุ่มธรรมนั้น จึงชื่อปฏิจจะ เพราะเป็นที่บัณฑิตควรอาศัย

และกลุ่มธรรมนั้นชื่อสมุบาทด้วย เหตุว่าเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น

ด้วยกันและ (เกิดขึ้น) โดยชอบ เพราะมิได้เกิดขึ้นทีละอย่าง ทั้งมิได้

เกิดขึ้นโดยหาเหตุมิได้ด้วย เหตุฉะนี้กลุ่มนั้น จึงชื่อปฏิจสมุบาท

เพราะเป็นที่บัณฑิตควรอาศัยด้วย เกิดขึ้นด้วยกัน และโดยชอบด้วย

โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ อีกนัยหนึ่ง กลุ่มธรรม (ที่เป็นผล) ชื่อสมุบาท

เพราะเกิดขึ้นด้วยกัน อนึ่งกลุ่มธรรมนั้นอาศัยคือไม่ปฏิเสธความพร้อม

เพรียงแห่งปัจจัยเกิดขึ้น เหตุฉะนี้ กลุ่มธรรมนั้นจึงชื่อปฏิจสมุบาท

เพราะกลุ่มธรรมนั้นอาศัย (ปัจจัย) ด้วย เกิดขึ้นด้วยกันด้วย ดังกล่าวมา

ฉะนี้ อีกนัยหนึ่ง

[ปฏิจสมุบาทส่วนเหตุ]

ส่วนว่ากลุ่มเหตุนี้เล่า ก็เป็นปัจจัยของกลุ่มธรรมนั้น เหตุนี้กลุ่ม

เหตุนั้นจึงได้ชื่อ ตัปปัจจยะ เพราะความที่กลุ่มเหตุเป็นตัปปัจจยะ (นั่น

แล) แม้กลุ่มเหตุนี้ บัณฑิตก็พึงทราบเถิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 232

เรียกว่าปฏิจสมุบาทเหมือนกัน โดยโวหารแห่งผล ดังเช่นในทางโลก

ก้อนน้ำอ้อยอันเป็นปัจจัยแห่งเสมหะ เขาเรียกกันเสียว่า 'ก้อนเสมหะ'

และเหมือนอย่างในทางศาสนา ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธทั้งหลายอัน

เป็นปัจจัยแห่งความสุข ท่านก็กล่าวเสียว่า 'ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธ

ทั้งหลายเป็นสุข' ฉะนั้น อีกนัยหนึ่ง

กลุ่มเหตุนี้เรียกว่าปฏิจจะ เพราะอรรถว่า 'ถึง

เฉพาะหน้ากัน' และกลุ่มเหตุนั้นเรียกว่าสมุบาท

ด้วย เพราะอรรถว่ายังธรรมทั้งหลายที่ไปด้วยกัน

ให้เกิด

จริงอยู่ กลุ่มเหตุของความปรากฏ (เกิดขึ้น) แห่งธรรมทั้งหลาย

มีสังขารเป็นอาทิ ที่ทรงแสดงไว้โดยหัวข้อเหตุเป็นข้อ ๆ มีอวิชชา

เป็นต้นนั้นใด กลุ่มเหตุนั้น เรียกว่า 'ปฏิจจะ' เพราะทำอรรถวิเคราะห์

ว่าบรรดาปัจจยธรรมที่เป็นองค์แห่งความรวมกลุ่ม ต่างถึงเฉพาะหน้า

กันและกัน คือไปพบหน้ากันและกัน (หมด) โดยอรรถว่า (ร่วมกัน)

ยังผลทั่วไปให้สำเร็จ และโดยอรรถว่าไม่มี (ผลอะไร) ขาดตกบกพร่อง

ไป (และ) กุล่มเหตุนี้นั้น ยังธรรมทั้งหลายที่ไปด้วยกัน คือธรรมที่มี

ความเป็นไปไม่แยกกันและกันนั่นแลให้เกิดขึ้น เพราะฉะนี้ กลุ่มเหตุ

นั้นจึงเรียกว่า 'สมุบาท' ด้วย (ดังนี้) กลุ่มเหตุ จึงได้ชื่อปฏิจสมุบาท

เพราะกลุ่มเหตุนั้นถึงเฉพาะหน้ากันด้วย ยังธรรมที่ไปด้วยกันให้เกิด

ด้วย ดังกล่าวมาฉะนี้อีกนัยหนึ่ง

นัยอื่นอีกยังมี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 233

กลุ่มปัจจัยนี้ อาศัยกันและกัน (เป็นเหตุร่วม)

ยังธรรมทั้งหลาย (ที่เป็นผลของตน) ให้เกิดขึ้นเสมอ

กันและด้วยกัน เหตุใด แม้เพราะเหตุนั้น

กลุ่มปัจจัยนี้ พระมุนีเจ้าจึงตรัสไว้ในบทปฏิจ-

สมุบาทนี้ด้วยเหมือนกัน

จริงอยู่ ในปัจจัยทั้งหลายที่ทรงแสดงไว้ด้วยหัวข้อมีอวิชชาเป็นต้น

ปัจจัยเหล่าใดยังธรรมมีสังขารเป็นต้นให้เกิดขึ้น ปัจจัยเหล่านั้นหาใช่ไม่

อาศัยกันและกัน (เป็นเหตุร่วม) เมื่อขาดกันและกันไปเสียจะสามารถ

ยังธรรมมีสังขารเป็นต้นนั้นให้เกิดขึ้นได้เลยไม่ เพราะฉะนั้น กลุ่ม

ปัจจัยนี้พระมุนีเจ้าผู้ฉลาดในโวหารตามทำนองความว่า "กลุ่มปัจจัยนี้

อาศัย (กันและกันเป็นเหตุร่วม) ยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้นโดยเสมอ

กันและด้วยกัน คือมิใช่ (ให้เกิดขึ้น) เป็นส่วน ๆ ทั้งมิใช่ (ให้เกิดขึ้น)

โดยเป็นก่อนและหลัง" ดังนี้ จึงตรัสไว้ในบทปฏิจสมุบาทนี้ด้วย

เหมือนกัน หมายความว่าตรัสว่าเป็นปฏิจสมุบาทด้วยนั่นเอง

[ปฏิจสมุบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทา]

ก็แล พระมุนีเจ้านั้น เมื่อตรัสอย่างนี้

ก็เป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นสัสสตวาทะ เป็นต้น

ด้วยบทหน้า และทรงแสดงความแย้งต่ออุจเฉทวาทะ

เป็นอาทิด้วยบทหลัง ทรงแสดงความถูกต้อง ด้วย

บททั้งสอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 234

อรรถาธิบายแห่งคำประพันธ์นี้ว่า คำว่า 'ด้วยบทหน้า' เป็นต้น

ความว่า ความเป็นสัสสตวาทะ เป็นต้น ซึ่งแยกออกไปเป็นลัสสตวทะ

(กล่าวว่าอัตตาและโลกเที่ยง ไม่สูญ ตายแล้วเกิด) อเหตุวาทะ

(กล่าวว่าเหตุปัจจัยแห่งความเศร้าหมอง และความบริสุทธิ์ ของสัตว์

ทั้งหลายไม่มี แล้วแต่โชคเคราะห์) วิสมเหตุวาทะ (กล่าวว่าโลกเป็น

ไปด้วยอำนาจเหตุไม่เสมอกัน คือด้วยอำนาจประกฤติ อณู และกาล

เป็นต้น) วสวัตติวาทะ (กล่าวว่ามีพระอิศวร อาตมัน หรือพระปชาบดี

คือพรหม เป็นผู้ครอบงำสัตว์ไว้ในอำนาจ คือเป็นผู้บันดาล) เป็นอัน

ทรงแสดงด้วยบทปฏิจจะ ซึ่งส่องความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย เพราะ

ปวัตติธรรม (ธรรมฝ่ายปวัตติ - หมุนไป) มีความเป็นไปเนื่องอยู่ใน

ความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย จริงอยู่ ประโยชน์อะไรด้วยความ

พร้อมเพรียงแห่งปัจจัยเล่า สำหรับที่เป็นสัสสตะเป็นต้น หรือสำหรับ

สิ่งที่เป็นไปด้วยอำนาจจอเหตุเป็นต้น

คำว่า 'และ----ด้วยบทหลัง' เป็นต้น ความว่า อุจเฉทวาทะ

(กล่าวว่าตายแล้วสูญ) นัตถิกวาทะ (กล่าวว่าอะไร ๆ ไม่มี ผลของ

บุญบาปก็ไม่มี) อภิริยวาทะ (กล่าวว่าไม่เป็นอันทำ คือทำอะไรไม่เป็น

กรรม) ชื่อว่าถูกปัดออกไป เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลาย

ก็เพราะความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย เหตุนั้นจึงเป็นอันทรงแสดงความ

แย้งต่ออุจเฉทวาทเป็นต้นด้วยบทสมุบาท ซึ่งส่องความเกิดขึ้นแห่งธรรม

ทั้งหลาย จริงอยู่ในเมื่อธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ๆ เล่า ๆ ด้วย

อำนาจแห่งปัจจัยก่อน ๆ อยู่ อุจเฉทวาทะ นัตถิกวาทะและอกิริยวาทะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 235

จักมีแต่ไหนเล่า

คำว่า 'ด้วยบททั้งสอง' เป็นต้น ความว่า ความถูกต้องนี้คือ

มัชฌิมาปฏิปทา (ทางกลาง) ความละเสียซึ่งวาทะว่า "ผู้นั้นทำ ผู้นั้น

ได้รับผล (คือใครทำใครได้เรื่อยไปไม่มีจบสิ้น)" ความละเสียซึ่งวาทะ

ว่า 'คนอื่นทำ คนอื่นได้รับผล (คือคนหนึ่งทำ คนหนึ่งได้)" ความ

ไม่ยึดมั่นในภาษาของท้องถิ่น ความไม่ล่วงเลยเสียซึ่งสมัญญา (คือชื่อ

คนและสัตว์สิ่งของที่ชาวโลกเรียกรู้กัน) เป็นอันทรงแสดงด้วยคำว่า

ปฏิจสมุบาทหมดทั้งคำ เพราะธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้นโดยไม่ตัด (คือไม่

เว้น ?) ความสืบเนื่องกับความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยนั้น ๆ*

นี่เป็นความหมายของคำเพียงแต่ว่า 'ปฏิจสมุบาท' เท่านั้น

ส่วนว่าแบบที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงปฏิจสมุบาท

ได้ทรงวางไว้โดยนัยว่า 'อวิชฺชปจฺจยา สงฺขารา - สังขารทั้งหลายมีเพราะ

ปัจจัยคืออวิชชา' เป็นต้นนี้ใด บัณฑิตเมื่อจะทำสังวรรณนาความแห่ง

* ตอน ทฺวเยน นี้ เมื่อเทียบกับสอบตอนต้น (คือตอนปุริเมน และปจฺฉิเมน)

แล้ว หัวตาปูคั่นประโยคหลัง----วจเนนและหลัง----ปฏิปทา ควรถอนออก รวมเข้า

เป็นประโยคเดียวกันดังแปลไว้นี้ น่าจะถูกกว่า

สรูปความตอนนี้ว่าที่ทรงแสดงปฏิจสมุบาท ก็คือทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง

เพราะไม่สุดโต่งไปข้างสัสสตะ และอุจเฉทะ

ที่ว่าใครทำใครได้เรื่อยไป ไปข้างสัสสตะ ผิดหลักที่ว่ากรรมและวิบากสิ้นสุด

ได้ด้วยอรหัตมรรค ที่ว่าคนหนึ่งทำคนหนึ่งได้ไปข้างอุจเฉทะ ผิดหลักที่ว่า กรรมเกิด

ในสันดานของผู้ใด ผลของมันก็เกิดในสันดานาของผู้นั้น จะรับผลแทนกันไม่ได้

ส่วนการพูดจานั้น แม้หยั่งรู้ปฏิจสมุบาทแล้ว ก็ว่าไปตามภาษานิยมของชาวโลก แต่

ไม่ยึดมั่น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 236

แบบที่ทรงวางไว้นั้น ลงสู่วงวิภัชวาทีแล้วไม่กล่าวตู่๑ อาจารย์ทั้งหลาย

ไม่ดิ่งลงสู่สกสมัย (คือไม่ยึดแต่ความรู้ฝ่ายตน ?) ไม่ขึ้นคร่อมปรสมัย

(คือไม่ข่มขี่ความรู้ฝ่ายอื่น ?) ไม่ค้านพระสูตร อนุโลมพระวินัย มองดู

มหาปเทสไว้ ชี้ข้อธรรม (คือบาลี) ได้ (ถูกต้อง) ถือเอาอรรถ (คือความ

อธิบายแห่งบาลีนั้น) ได้ (ไม่ผิด) และยักเยื้องอรรถนั้นนั่นแหละอธิบาย

ไปโดยบรรยายอื่นอีกก็ได้ (ดังนี้) จึงควรทำอรรถสังวรรณนาได้

อนึ่งเล่า โดยปกติ อรรถสังวรรณนาแห่งปฏิจสมุบาท ก็ทำยากอยู่แล้ว

ดังโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า

ธรรม ๔ ประการ คือสัตย สัตว๒ ปฏิสนธิและ

ปัจจยาการนี่แหละ เป็นธรรมที่เห็นได้ยาก ทั้งยาก

ที่จะแสดงด้วย

ดังนี้ เหตุใด เพราะเหตุนั้น การสังวรรณนาความแห่งปฏิจจสมุบาท

อันใคร ๆ เว้นเสียแต่ท่านผู้สำเร็จอาคม (คือพระปริยัติ) และอธิคม

(คือมรรคผล) จะทำได้มิใช่ง่าย เหตุดังนี้ ข้าพเจ้าชั่งใจดูแล้ว

วันนี้ใคร่จะกล่าว๓พรรณนาปัจจยาการ (ทั้ง ๆ ที่)

ยังไม่ได้ (นัยอันเป็น) ที่ตั้ง (ที่อาศัย ด้วยกำลัง

ปัญญาตน) ดังก้างลงสู่สาครยังไม่ได้ที่เหยียบยัน

ฉะนั้น ก็แต่ว่าคำสอนข้อนี้เป็นคำสอนที่ประดับ

๑. ปาฐะพิมพ์เป็น อนพฺภาจิกฺขนฺเต คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น...จิกฺขนฺเตน

๒. มหาฎีกาว่า อาจารย์ทั้งหลายกว่าวว่า คำนี้หมายเอา 'สัตตสุญญตา' เพราะในกอง

สังขารซึ่งเป็นสภาพว่างจากสัตว์ เมื่อใช้คำว่าสัตว์ ก็หมายถึงสัตตสุญญตา

๓. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น วตฺถุกาโม คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น วตฺตุกาโม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 237

ประดาไปด้วยนัยเทศนาเป็นนานา (วิธี) ทั้งแนวทาง

(พรรณนาคืออรรถกถา) ของท่านบุรพาจารย์เล่าก็

ยังไม่ขาดสาย เป็นไปอยู่ (จนทุกวันนี้) เหตุใด

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจักอาศัยนัยทั้งสองนั้นลงมือ

พรรณนาความแห่งปฏิจจสมุบาทนั้น (ดู) ของท่าน

ทั้งหลายจงตั้งใจฟังคำพรรณนานั้นเถิด

ด้วยพระบุรพาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า

"ผู้ใดผู้หนึ่งหากสนใจฟังข้าพเจ้า จะพึงได้รับคุณ

(คือความรู้) วิเศษอันมีอยู่แต่ต้นไปจนปลาย ครั้นได้

รับคุณ (คือความรู้) วิเศษอันมีอยู่แต่ต้นไปจนปลาย

แล้ว ก็จะพึงลุถึงฐานะที่มัจจุราชมองไม่เห็น" ดังนี้

ก็แลในคำบาลีปฏิจสมุบาทมีคำว่า 'อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

เป็นต้น

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยประเภทแห่งเทศนา โดย

อรรถ โดยลักษณะ (เป็นต้น) โดยอย่างต่าง ๆ

มีอย่างเดียวเป็นต้น และโดยกำหนดองค์ทั้งหลาย

แต่ต้นไปทีเดียว กังนี้ก่อน

[วินิจฉัยโดยประเภทแห่งเทศนา]

ในบทเหล่านั้น บทว่า 'โดยประเภทแห่งเทศนา' มีวินิจฉัยว่า

ก็การแสดงปฏิจสมุบาทแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ อย่าง คือ ทรงแสดง

ตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายบ้าง ตั้งแต่กลางไปจนถึงปลายบ้าง นัยเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 238

นั้น ทรงแสดงแต่ปลายมาถึงต้นบ้าง แต่กลางมาถึงต้นบ้าง ดุจการ

(ชัก) เอาเถาวัลย์แห่งคนหาเถาวัลย์ ๔ คนฉะนั้น

[แสดงแต่ต้นถึงปลาย]

เหมือนอย่างว่า ในคนหาเถาวัลย์ ๔ คน คนหนึ่ง พบโคน

เถาวัลย์เข้าก่อน เขาก็ตัดมันที่โคนแล้วชักเอามาจนหมด นำไปใช้งาน

ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงแสดงปิจสมุบาท ตั้งแต่ต้น

ไปจนปลายว่า "ดังนี้ และ ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีเพราะปัจจัย

คืออวิชชา ฯ ล ฯ ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ"๑ ดังนี้ก็มี

[แสดงแต่กลางถึงปลาย]

อนึ่ง ในคนพวกนั้น คนหนึ่งพลตอนกลางเถาวัลย์นั้นเข้าก่อน

เขาก็ตัดมันตรงกลาง ชักเอาส่วนบนเท่านั้นนำไปใช้งาน ฉันใด พระผู้

มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้น ทรงแสดง (ปฏิจจสมุบาท) ตั้งแต่กลางไปถึง

ปลายว่า "เมื่อกุมารนั้น๒ตั้งหน้ายินดีซึ่งเวทนานั้นอยู่ พร่ำชมเชนเวทนา

นั้นอยู่ ยึดเวทนานั้นติดอยู่ นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น

นันทิในเวทนาทั้งหลายอันใด อันนั้นเป็นอุปทาน ภพย่อมมีแก่เขาเพราะ

ปัจจัยคืออุปทาน ชาติย่อมมีเพราะปัจจัยคือภพ๓" ดังนี้เป็นต้นก็มี

[แสดงแต่ปลายถึงต้น]

อนึ่ง ในคนพวกนั้น คนหนึ่งพบปลายเถาวัลย์เข้าก่อน เขาก็จับ

๑. ม. มู. ๑๒/๔๘๐

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป้น ตสฺมึ คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น ตสฺส

๓. ม. มู. ๑๒/๔๘๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 239

มันเข้าที่ปลายและชักเอาหมดจนถึงโคน โดยสาวไปแต่ปลายนั่นแหละ

นำไปใช้งานฉันใด พระผุ้มีพะภาคเจ้า ก็ฉันนั้น ทรงแสดงปฏิจสมุบาท

ตั้งแต่ปลายไปจนถึงต้นว่า "ก็แลคำที่เรากล่าวว่า ชรามรณะมีเพราะ

ปัจจัยคือชาติ ดังนี้นี่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือ

ชาติหรือหนอ หรือว่ามิใช่ หรือว่าความสำคัญของท่านทั้งหลายในข้อ

นี้มีอย่างไร" (ภิกษุทั้งหลายทราบทูลว่า) "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ชรามรณะย่อมมีเพราะปัจจัยคือชาติ ความสำคัญของข้าพระองค์ทั้งหลาย

ในข้อนี้มีอย่างนี้ว่า ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ" (ตรัสต่อไปว่า)

"คำที่เรากล่าว่า ชาติมีเพราะปัจจัยคือภพ ฯ ล ฯ สังขารทั้งหลายมี

เพราะปัจจัยคืออวิชชา ดังนี้นี่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย. . . สังขารทั้งหลายมี

เพราะปัจจัยคืออวิชชาหรือหนอ หรือว่ามิใช่ หรือว่าความสำคัญของ

ท่านทั้งหลายในข้อนี้มีอย่างไร"* ดังนี้เป็นต้นก็มี

[แสดงแต่กลางถึงต้น]

อนึ่ง ในคนพวกนั้น คนหนึ่งพบตอนกลางเถาวัลย์เข้าก่อน เขา

ก็ตัดมันตรงกลางแล้วสาวลงไปส่วนล่างจนถึงโคน นำไปใช้งาน ฉันใด

พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้น ทรงแสดง (ปฏิจสมุบาท) เริ่มแต่กลาง

ไปถึงต้นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลอาหาร ๔ นี้ มีอะไรเป็นต้นเหตุ

มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ? อาหาร ๔

นี้มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นสมุทัย มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหา

เป็นแดนเกิด ตัณหามีอะไรเป็นต้นเหตุ. . . เวทนา. . . ผัสสะ. . .

* ม. มู. ๑๖/๔๘๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 240

สฬายตนะ. . . นามรูป. . .วิญญาณ. . . สังขารมีอะไรเป็นต้นเหตุ. . .

สังขารมีอวิชาเป็นเหตุ ฯ ล ฯ มีอวิชชาเป็นแดนเกิด"๑ ดังนี้ก็มี

[เหตุที่ทรงแสดงเช่นนี้]

ถามว่า ก็เพราะเหตุไฉนจึงทรงแสดงอย่างนี้ ? แก้ว่า เพราะ

ปฏิจสมุบาทเป็นธรรม (สมันตภัทร) มีความงามรอบตัว และเพราะ

พระองค์เองก็ทรงถึงซึ่ง (เทสนาวิลาส) ความงามใน (กระบวน)

เทศนาด้วย จริงอยู่ปฏิจสมุบาทเป็นธรรมมีความงามรอบตัว จึงเป็น

ไปเพื่อแทงตลอดซึ่งธรรมที่ถูกต้อง เพราะ (กระบวน) เทศนานั้น ๆ

โดยแท้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเล่าก็ทรงถึงซึ่งความงามใน (กระบวน)

เทศนา เพราะทรงประด้วยพระเวสารัชญาณ ๔ และพระปฏิสัม-

ภิทาญาณ ๔ และเพราะทรงถึงซึ่งพระคัมภีรภาพ ๔ ประการ๒ด้วย

เพราะทรงถึงซึ่งความงามใน (กระบวน) เทศนา พระองค์จงทรง

แสดงธรรมได้โดยนัยต่าง ๆ แท้

แต่ (เมื่อว่า) โดยความแปลกกัน (แห่งเทศนาทั้ง ๔) อนุโลม-

เทศนา (การแสดงปฏิจสมุบาทโดยอนุโลม) ตั้งแต่ต้นไปอันใด

อนุโลมเทศนานั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นไปแก่พระองค์ผู้ทรงพิจารณา

เห็นเวไนยชน ซึ่งยังเขลาอยู่ในการจำแนกเหตุแห่งปวัตติ (ความหมุน

ไป) เพื่อทรงชี้แจงซึ่งปวัตติ (ความหมุนไป) ตามเหตุทั้งหลายที่เป็น

๑. สํ. นิทาน. ๑๖/๑๔

๒. มหาฎีกาแจกคัมภีรภาพ ๔ ว่า ได้แก่ลึกโดยธรรม ลึกโดยอรรถ ลึกโดยเทศนา ลึก

โดยปฏิเวธ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 241

ของตน และเพื่อทรงชี้แจงซึ่งลำดับแห่งความเกิดขึ้นด้วย

ปฏิโลมเทศนา (การแสดงปฏิจสมุบาทโดยปฏิโลม) ตั้งแต่

ปลายเข้ามาอันใด ปฏิโลมเทศนานั้น พึงทราบว่าเป็นไปแก่พระองค์

ผู้ทรงเล็งเห็นสัตโลกซึ่งต้องทุกข์ยาก โดยนัย (พระพุทธรำพึง) ว่า

"สัตวโลกนี้ต้องทุกข์ยากหนอ เกิดอยู่ด้วย แก่อยู่ด้วย ตายอยู่ด้วย"*

ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงชี้แจงซึ่งเหตุของทุกข์นั้น ๆ มีชรามรณะเป็นต้น

ซึ่งพระองค์ได้ทรง (ค้น) พบ ตามแนวความตรัสรู้ในตอนแรก (คือ

แรกตรัสรู้)

เทศนาที่เป็นไปตั้งแต่กลางถึงต้นอันใด เทศนานั้นพึงทราบว่า

เป็นไปเพื่อทรงชี้แจงซึ่งละดับแห่งเหตุและผล ตั้งต้นแต่ข้ามอตีตอัทธา

เสีย ไปจนถึงอตีตอัทธาอีก ตามแนวกำหนดเหตุแห่งอาหาร

ส่วนเทศนาที่เป็นไปเริ่มแต่กลางถึงปลายอันใน เทศนานั้นพึง

ทราบว่าเป็นไปเพื่อทรงชี้แจงซึ่งธรรม (อันจักมีใน) อนาคตอัทธา (กาล

อนาคต) เริ่มแต่ความเกิดขึ้นแห่งธรรมอันเป็นเหตุแห่ง (ผลอันจักมี

ใน) อนาคตอัทธาในกาลปัจจุบัน (นี้เอง)

ในเทศนา (๔) นั้น อนุโลมเทศนาเริ่มแต่ต้นไป เพื่อทรงชี้แจง

ซึ่งปวัตติ (ความหมุนไป) ตามเหตุทั้งหลายที่เป็นของตน และเพื่อทรง

ชี้แจงลำดับแห่งความเกิดขึ้น แก่เวไนยชนผู้ยังเขลาใน (การจำแนก)

เหตุแห่งปวัตติ (ความหมุนไป) อันใด อนุโลมเทศนานนั้นบัณฑิตพึง

ทราบว่า 'เป็นแบบที่ทรงวางไว้' ในที่นี้

* สํ. นิทาน ๑๑/๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 242

[อวิชชาก็มีเหตุ]

ถามว่า ก็เพราะเหตุไฉน ในปัจยาการนี้ อวิชชา พระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าจึงตรัสไว้เป็นข้อต้น แม้อวิชชาก็เป็นสิ่งไม่มีเหตุ (แต่) เป็นตัว

มูลเหตุของโลก ดังปกติ (ประกฤติ) ของพวกปกติวาทีด้วยหรือ ? แก้

ว่า อวิชชาเป็นสิ่งไม่มีเหตุหามิได้ เพราะว่าเหตุของอวิชชาก็ได้ตรัสไว้

(ในพระบาลี) ว่า "อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย๑ - ความเกิดขึ้นแห่ง

อวิชชามีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ" ดังนี้ แต่ว่าปริยาย (คือเหตุ

โดยอ้อม) ซึ่งเป็นเหตุ (ให้กล่าวได้ว่าอวิชชา) เป็นตัวมูลเหตุ ก็มีอยู่

ถามว่าก็ปริยายนั้นคืออะไร ? แก้ว่า คือความที่อวิชชาเป็นสีสะ (เป็น

ยอดเหตุ) ในวัฏฏกถา (คือพระธรรมเทศนาว่าด้วยวัฏฏะ) จริงอยู่

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถา ย่อมตรัสโดยทรงยกธรรม ๒

ประการเป็นสีสะ คือ อวิชชาบ้าง ดังที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เบื้อต้นเบื้องปลายแห่งอวิชชาไม่ปรากฏ หากใคร ๆ กล่าวว่า 'ก่อนนี้

อวิชชาไม่มี มาภายหลังมันจึงเกิด' ดังนี้ไซร้ แต่ที่แท้อวิชชามีสิ่งนี้ ๆ

เป็นปัจจัยก็ปรากฏอยู่" ฉะนี้ ภวตัณหาบ้าง ดังที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย เบื้องต้นเบื้องปลายแห่งภวตัณหาไม่ปรากฏ หารใคร ๆ กล่าว

ว่า 'ก่อนนี้ภวตัณหาไม่มี มาภายหลังมันจึงเกิด' ดังนี้ไซร้ แต่ที่แท้

ภวตัณหามีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัยก็ปรากฏอยู่"๒ ฉะนี้

ถามว่า ก็เพราะเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถา

๑. ม. มู. ๑๒/๑๐๐

๒. องฺ. ทสก. ๒๔/๑๒๐.๑๒๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 243

จึงตรัสโดยยกธรรม ๒ ประการนี้ เป็นสีสะ ? แก้ว่า เพราะธรรม ๒

ประการนี้ เป็นเหตุพิเศษของกรรมที่เป็นสุคติคามี และทุคติคามี จริง

อยู่ อวิชชาเป็นเหตุพิเศษของกรรมที่เป็นทุคติคามี เพราะอะไร เพราะ

บุถุชนผู้ถูกอวิชชาครอบงำแล้ว ย่อมริทำกรรมที่เป็นทุคติคามีเป็นอเนก-

ประการ มีปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งทั้งไม่มี (อะไร) ที่น่าพอใจ เพราะ

เร่าร้อนด้วยกิเลส ทั้งนำมาซึ่งอนัตถะแต่ตนเอง เพราะทำให้ตกไปสู่ทุกคติ

เหมือนโคที่เขาจะฆ่า ซึ่งถูกความเหนื่อยหอบเพราะถูกลนด้วยไปและถูก

ทุบด้วยไม้ค้อนครองงำแล้ว* ย่อมรนดื่มน้ำร้อน (ที่เขาตั้งให้) ซึ่งทั้ง

ไม่อร่อยทั้งนำมาซึ่งความพินาศแก่ตน (ทั้งนี้ก็) เพราะกระสับกระส่าย

อยู่ด้วยความเหนื่อยหอบนั้น ฉะนั้น

ส่วนภวตัณหาเป็นเหตุพิเศษของกรรมที่เป็นสุคติคามี เพราะอะไร

เพราะบุถุชนที่ภวตัณหาครอบงำแล้ว ย่อมพยายามทำกรรมอันเป็น

สุคติคามีเป็นอเนกประการ มีเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งเป็นกรรม

มีคุณน่าชื่นใจ เพราะปราศจากความเร่าร้อนด้วยกิเลส และเป็นกรรม

ที่บรรเทาเสียซึ่งความทุรนทุรายด้วยทุกข์ในทุคติของตน เพราะยังผู้ทำ

ให้ถึงสุคติ ดุจโคมีอาการดังกล่าวแล้วนั้น (ไม่ยอมดื่นน้ำร้อน) พยายาม

* การฆ่าโคอย่างทารุณวิธีหนึ่ง ซึ่งมหาฎีกาขยายความไว้นิดหน่อยว่า จับมันผูกตรึง

ไว้ ก่อไฟล้อมลนมัน ใช้ไม้ค้อนทุบมันไปทั่ว ๆ ด้วย เพื่อให้เนื้อฟูล่อนไม่ติดกระดูก

เมื่อมันบอบช้ำเหนื่อยหอบเต็มทีแล้ว ก็นำน้ำร้อน (น่าจะผสมเกลือด้วย) ไปตั้งให้มัน

ดื่ม มันก็จำต้องซังกะตายดื่ม เพื่อแก้ระหาย ดื่มเข้าไปแล้วก็ทำให้มันท้องเดิน ระบายมูล

ออกมาจากเกลี้ยง.... ในที่สุด โคฆาตก์ก็ได้เนื้อโคที่ฟูล่อนไม่ติดกระดูก และเครื่องในก็สะอาด

ไปขาย....

วิธีนี้ก็แบบเดียวกับวิธีฆ่าสุกรของจุนทสูกริกะ ในอรรถกถาธรรมบทนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 244

(หา) ดื่มน้ำเย็น ซึ่งมีรสอร่อย และบรรเทาความเหนื่อยหอบของตน

ได้ด้วย (ทั้งนี้ก็) เพราะความระหายในน้ำเย็น ฉะนั้น

แต่ในธรรม (ทั้งสอง) ที่เป็นสีสะในวัฏฏกถานั้น ในลางสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดง (ปฏิจสมุบาท) เทศนา ยกธรรมข้อ

เดียวเป็นมูล นี่เช่นอย่างไร เช่นว่า "ดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สังขาร

ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นสาเหตุ วิญญาณมีสังขารเป็นสาเหตุ"๑ ดังนี้เป็น

ต้น นัยเดียวกัน เช่นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหาย่อมงอกงามแก่

บุคคลผู้คอยเห็นแต่ส่วนที่น่าพอใจในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่ง

อุปาทาน อุปาทานก็มีขึ้นเพราะปัจจัยคือตัณหา"๒ ดังนี้เป็นอาทิ ใน

ลางสูตรก็ทรงแสดง (ปฏิจสมุบาท) เทศนา ยกธรรมทั้งสองข้อเป็น

มูลก็มี นี่เช่นอย่างไร เช่นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายอันนี้ของคนเขลา

ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น ประกอบไปด้วยตัณหา เป็นไปแล้ว (คือเกิด

ขึ้น) ด้วยเหตุฉะนี้ กายดังกล่าวนี้ด้วย นามรูปภายนอกด้วย ทั้งสอง

นั่นเป็นทวัย (คือเป็นคู่กัน) อย่างนี้ เพราะอาศัยทวัยธรรม คือ

อายตนะ ๖ นั้นแล ผัสสะก็เกิดขึ้น คนเขลาถูกธรรมมีผัสสะเป็นต้น

ไรเล่า กระทบเอาแล้ว ย่อมได้เสวยสุขทุกข์"๓ ดังนี้เป็นอาทิ

ในเทศนาเหล่านั้น เทศนาว่า "อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา - สังขาร

ทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา" เป็นต้นนี้ เฉพาะในที่นี้พึงทราบว่า

เป็นเทศนาที่มีธรรมข้อเดียวเป็นมูล โดย (ยก) อวิชชา (เป็นสีสะ)

๑. สํ. นิทาน. ๑๖/๓๗

๒. สํ. นิทาน. ๑๖/๑๐๒

๓. สํ. นิทาน. ๑๖/๒๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 245

วินิจฉัยโดยประเภทแห่งเทศนาในบาลีปฏิจสมุบาทนี้ บัณฑิตพึง

ทราบดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[วินิจฉัยโดยอรรถ]

คำว่า "โดยอรรถ" คือโดยความ (แปล) แห่งบททั้งหลาย มี

บทว่า อวิชฺชา เป็นต้น อรรถนี้อย่างไรบ้า

[อรรถแห่งบทอวิชฺชาปจฺจยา]

[อวิชฺชา]

(๑) อกุศลกรรมมีกายทุจริตเป็นต้น ชื่ออวินทิยะ แปลว่าไม่

ควรได้ เพราะอรรถว่าไม่ควรบำเพ็ญ ธรรมชาติใดย่อมได้ซึ่งอวินทิยะ

นั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อ อวิชชา (ได้สิ่งที่ไม่ควรได้)

(๒) กุศลกรรม ที่กายสุจริตเป็นต้น ชื่อ วินทิยะ (แปลว่าควร

ได้) เพราะอรรถตรงกันข้าม (คือควรบำเพ็ญ) ธรรมชาติใดย่อมไม่ได้

ซึ่งวินทิยะนั้น เหตุนี้ธรรมชาตินั้นจึงชื่ออวิชชา (ไม่ได้สิ่งที่ควรได้)

(๓) ธรรมชาติใด ทำอรรถคือความเป็นกองแห่งขันธ์ทั้งหลาย

มิให้ปรากฏ ทำอรรถคือความเป็นเครื่องต่อแห่งอายตนะทั้งหลายมิให้

ปรากฏ ทำอรรถคือความว่างเปล่าแห่งธาตุทั้งหลาย มิให้ปรากฏ ทำ

อรรถคือความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์ทั้งหลายมิให้ปรากฏ ทำอรรถคือ

ความจริงแท้แห่งสัจจะทั้งหลายมิให้ปรากฏ เหตุนี้ธรรมชาตินั้น จึงชื่อ

อวิชชา (ทำอรรถแห่งขันธ์เป็นต้นมิให้ปรากฏ)

(๔) ธรรมชาติใดทำอรรถ ๔ อย่าง (ในอริยสัจ ๔) ที่กล่าว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 246

โดยอรรถคือบีบคั้นเป็นต้นแห่งสัจจะมีทุกขสัจเป็นอาทิมิให้ปรากฏ เหตุ

นี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่ออวิชชา (ทำอรรถแห่งอริยสัจมิให้ปรากฏ)

(๕) ธรรมชาติใด ยังสัตว์ทั้งหลายให้แล่นไปกำเนิด คติ ภพ

วิญญาณฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง ในสงสารอันปราศจากที่สิ้นสุด เหตุ

นี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่ออวิชชา (ยังสัตว์ให้แล่นไปในสงสารอันปราศจาก

ที่สิ้นสุด)*

(๖) ธรรมชาติใดย่อมแล่นไปในบัญญัติธรรมทั้งหลาย มีหญิง

และชายเป็นต้น อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่แล่นไปในบัญญัติธรรมมี

ขันธ์เป็นอาทิ แม้มีอยู่โดยปรมัตถ์ เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อ อวิชชา

(แล่นไปในอวิชชมานบัญญัติ หรือไม่แล่นไปในวิชชมานบัญญัติ)

(๗) อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นชื่ออวิชชา เพราะปกปิดเสียซึ่ง

วัตถุและอารมณ์แห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น และซึ่งธรรม

ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นปฏิจสมุบาท (คือปัจจัย) และที่เป็นปฏิจสมุบัน

(คือผล) (ดังนี้) ก็ได้ (โดยสภาวะ)

[ปัจจัย]

ผลอาศัยธรรมใดไป ธรรมนั้นชื่อปัจจัย (แปลว่าธรรมเป็นที่

อาศัยไปแห่งผล) ศัพท์ว่า 'ปฏิจฺจ - อาศัย' หมายความว่าไม่เว้น ไม่

ปฏิเสธ ศัพท์ว่า 'เอติ - ไป' หมายความว่าเกิดขึ้นและเป็นไป อีก

* มหาฎีกาช่างสังเกตุ ชี้ไว้ว่าอวิชชาในอรรถนี้ ท่านจับเอาอักษะต้นศัพท์ อนฺตวิรหิเต

ชวาเปติ คือ อ. จาก อนฺต วิ. จาก วิรหิเต ช. จาก ชวาเปติ ประกอบเข้า ลบอักษร

อื่น ๆ เสียแล้ว ลง ช. อาคมที่อักษรที่ ๑ สำเร็จรูปเป็น อวิชฺชา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 247

อย่างหนึ่ง อรรถว่าอุปการกะ - ผู้อุดหนุน เป็นอรรถแห่งปัจจัยศัพท์

อวิชชาด้วย อวิชชานั้นเป็นปัจจัยด้วย เหตุนั้นจึงชื่อ อวิชชา-

ปัจจัย (แปลว่าอวิชชาเป็นปัจจัย) (บทว่าอวิชฺชาปจฺจยา แปลว่า)

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้น๑

[สังขาร]

ธรรมทั้งหลายใดมุ่งแต่ปรุงแต่ง (สิ่งต่าง ๆ) ให้เป็น (อย่าง

สังขตะขึ้น เหตุนี้ ธรรมทั้งหลายนั้นจึงชื่อสังขาร (แปลว่าธรรมผู้ปรุง

แต่ง) แต่ว่าสังขารมี ๒ อย่าง คือ อวิชชาปัจจัยสังขาร - สังขารที่มี

อวิชชาเป็นปัจจัย ๑ สังขารที่มาโดยสังขารศัพท์ ๑

ในสังขาร ๒ อย่างนั้น สังขารเหล่านี้คือ บุญญาภิสังขาร อบุญ-

ญาภิสังขาร และอเนยชาภิสังขาร เป็น ๓ (กับ) กายสังขาร วจีสังขาร

และจิตตสังขาร (อีก) ๓ (รวม) เป็น ๖ จัดเป็นอวิชชาปัจจัยสังขาร

อวิชชาปัจจัยสังขารทั้งหมดนั้น ก็ได้แก่กุศลเจตนาและอกุศลเจตนา

ฝ่ายโลกิยะนั่นเอง ส่วนสังขาร ๔ นี้ คือสังขตสังขาร (สังขาคือสิ่งที่

ปัจจัยของตน ๆ แต่งขึ้น) อภิสังขตสังขาร (สังขารคือสิ่งที่กรรมแต่ง

ขึ้น) อภิสังขรณกสังขาร (สังขารคือตัวกรรมผู้เป็นเจ้าหน้าที่แต่ง)

๑. อวิชฺชาปจฺจยา มหาฎีกาแปลว่า เพราะปัจจัยคืออวิชชา ตลอดถึง ชาติปจฺจยา

ท่านก็แปลว่า ชาติสงฺขาตา ปจฺจยา - เพราะปัจจัยคือชาติ แต่ในที่นี้ท่านวิเคราะห์เป็น

วิเสสนุตรบท กัมธารยะ ก็ต้องแปลว่าอวิชชาเป็นปัจจัย ได้กันกับที่เราแปลกันอยู่

อย่างไหนจะชอบด้วยระเบียบไวยากรณ์และภาษา ก็โปรดพิจารณาดูเถิด

๒. มหาฎีกาว่า แม้อวิชชาปัจจัยสังขาร ก็มาโดยสังขารศัพท์เหมือนกัน แต่ท่านแยกมา

กล่าวเป็นปธานสังขารในปฏิจสมุบาทเทศนานี้เป็นส่วนหนึ่ง วนหนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 248

ปโยคาภิสังขาร (สังขารคือความเพียรพยายาม) จัดเป็นสังขารที่มา

โดยสังขารศัพท์ ในสังขาร ๔ นั้น ธรรมที่มีปัจจัยทั้งปวง ที่กล่าวไว้ใน

บาลีทั้งหลาย มีคำว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารม - สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

หนอ" เป็นต้นชื่อว่าสังขตสังขาร อภิสังขตสังขารกล่าวไว้ในอรรถกถา

ทั้งหลายว่า "รูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดแต่กรรม เป็นไปใน

ไตรภูมิ ชื่ออภิสังขตสังขาร" ดังนี้ แม้อภิสังขตสังขารนั้นก็ถึงความ

สงเคราะห์ลง (ในสังขตสังขารที่กล่าวใน) บาลีว่า "อนิจฺจา วต

สงฺขารา" นี้เหมือนกัน แต่อาคตสถานแห่งอภิสังขตสังขารนั้นมิได้

ปรากฏ (ในบาลี) โดยเฉพาะ ส่วนกุศลเจตนาและอกุศลเจตนาอัน

เป็นไปในไตรภูมิ เรียกว่าอภิสังขรณกสังขาร อาคตสถานแห่งอภิ-

สังขรณกสังรารนั้นปรากฏในบาลีทั้งหลายมีบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

บุรุษบุคคลนี้ตกอยู่ในอวิชชาย่อมสร้างสังขารที่เป็นบุญบ้าง. . ."๑ ดังนี้

เป็นต้น ส่วนความเพียรทางกายและทางจิต เรียกว่า ปโยคาภิสังขาร

สังสาร (คือกำลังความเพียร) มีเพียงใด เขาก็ไปได้เพียงนั้นแล้วก็หยุ

ราวกะเกวียนเพลาหักฉะนั้น"๒ ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง สังขารที่มาโดยสังขารศัพท์ ใช่มีแต่สังขาร ๔ นั่นเท่านั้น

ก็หามิได้ สังขารที่มาโดยสังขารศัพท์อื่น ๆ อีกก็มีเป็นอเนก โดยนัย

(พระบาลี) ว่า "ดูกรอาวุโสวิสาขะ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

๑. สํ. นิทาน. ๑๖/๙๘

๒. องฺ. ติก. ๒๐/๑๔๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 249

วจีสังขารดับก่อน แต่นั้นกายสังขารดับ ต่อนั้นจิตตสังขารจึงดับ"๑ ดังนี้

เป็นต้น ในสังขารทั้งหลายนั้น สังขารที่จะไม่พึงถึงความสงเคราะห์ลง

ในสังขตสังขารหามีไม่

[อรรถแห่งศัพท์มีวิญญาณเป็นต้น]

อธิบาย๒ในบาลีทั้งหลายมีคำว่า 'สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ - วิญญาณ

มีเพราะปัจจัยคือสังขาร' เป็นต้น ต่อนี้ไป พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว

เถิด ส่วนในคำที่ยังมิได้อธิบาย พึงทราบดังต่อไปนี้

ธรรมชาตที่ชื่อว่าวิญญาณ เพราะรู้ (อารมณ์) ต่าง ๆ ชื่อว่า

นาม เพราะน้อมไป (สู่อารมณ์) ชื่อว่ารูป เพราะ (รู้จัก) สลาย

ชื่อว่า อายตนะ เพราะแผ่ไปในอายะ (คือขยายตัว) และเพราะนำให้

อายตะ (คือต่อออกไป) สภาพที่ชื่อว่า ผัสสะ เพราะถูกต้องกันเข้า

(แห่งอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก) ธรรมชาติที่ชื่อ เวทนา

เพราะรู้ (รสอารมณ์) ชื่อว่า ตัณหา เพราะกระหาย (อารมณ์) ชื่อ

ว่า อุปาทาน เพราะถือมั่น สภาพอันชื่อว่า ภพ เพราะเป็นขึ้น หรือ

เพราะทำให้เป็นขึ้น๓ ความเกิดชื่อว่า ชาติ ความแก่ ชื่อว่า ชรา

๑. ม. มู. ๑๒/๕๕๑

๒. แปลจากศัพท์ วุตฺตํ หมายถึงอธิบายเรื่องอรรถแห่งสังขารศัพท์ และอรรถแห่ง

ปัจจยศัพท์เป็นต้น

๓. มหาฎีกาว่า ภวติ - เป็นขึ้น หมายถึงอุปปัติภพ ภาวยติ - ทำให้เป็นขึ้น หมายถึง

กรรมภพ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 250

ธรรมชาติอันชื่อว่า มรณะ เพราะเป็นเหตุตาย (แห่งสัตว์)๑ ความ

เศร้า ชื่อว่า โศก ความคร่ำครวญชื่อว่า ปริเทวะ ธรรมชาติที่ชื่อว่า

ทุกขะ เพราะทำให้ลำบาก หรือว่าชื่อทุกขะ เพราะขุดอยู่สองตอน โดย

(ขุดตอน) เกิดขึ้น และ (ตอน) ตั้งอยู่๒ ก็ได้ ความเป็นผู้เสียใจ

ชื่อว่าโทมนัส ความตรอมใจอย่างหนัก ชื่อว่าอุปายาส

คำว่า 'สมฺภวนฺติ - มี' ได้แก่ 'เกิดขึ้น' อนึ่ง บัณฑิตอย่างพึง

ทำโยชนา (ประกอบ) สมฺภวนฺติศัพท์เข้ากับบททั้งหลายมีโสกะเป็นต้น

ไปแต่เพียงเท่านั้น ที่ถูกต้องทำโยชนสมฺภวนฺติศัพท์เข้ากับบททั้งปวง

เพราะว่า เมื่อกล่าวโดยประการนอกนี้ (คือเมื่อไม่ประกอบสมฺภวนฺติ-

ศัพท์) ว่า "อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา" (เฉย ๆ ) ความก็จะไม่ปรากฏ

ว่า สังขารทั้งหลายทำอะไร (คือไม่มีบทกิริยา) แต่ครั้นมีประกอบ

ศัพท์ว่า สมฺภวนฺติเข้า ย่อมเป็นอันทำความกำหนดได้ทั้งปัจจยธรรมทั้ง

ปัจจยุบันธรรมว่า "อวิชฺชา จ สา ปจฺจโย จาติ อวิชฺชาปจฺจโย ตสฺมา

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สมฺภวนฺติ - อวิชาด้วย อวิชชานั้นเป็นปัจจัยด้วย

เหตุนั้นจึงชื่ออวิชชาปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชา-

๑. มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า "จุติ ขนฺธานํ มรณนฺติ เอเตนาติ วุตฺตํ - ความ

เคลื่อนไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่ามรณะ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นเหตุตาย" (หมาย

ความว่าตายด้วยความเคลื่อนไปแห่งขันธ์เป็นเหตุ ไม่ใช่ตายลอย ๆ เช่นนั้นกระมัง เมื่อ

ว่าเช่นนี้ ทำไมชราท่านจึงไม่ว่าเป็นเหตุแก่บ้างเล่า เพราะชราก็คือความเติบขึ้นแก่ขึ้น

แห่งขันธ์นัยเดียวกัน)

๒. หมายถึงความที่บาลีกล่าวไว้ว่า ทุกขเวทนานั้นเป็นทุกข์ตอนที่มันเกิดขึ้น (อุปฺปาท-

ทุกฺขา) และตอนที่มันยังตั้งอยู่ ( ิติทุกฺขา) เมื่อมันแปรไปแล้ว ก็เลิกทุกข์ ลางทีก็

กลายเป็นสุขไป จึงว่าขุดอยู่สองตอน (ทุ: ๒ ข: ขุด)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 251

ปัจจัยนั้น" ดังนี้ ในบททั้งปวงก็นัยนี้

คำว่า 'เอวํ' เป็นคำชี้นัยที่แสดงมาแล้ว ด้วยคำเอวํนั้น แสดง

ว่า ปัจจยุบันธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะปัจจัยธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั่น

เองเป็นเหตุ หาใช่เกิดขึ้นเพราะพระอิศวรบันดาลเป็นต้นไม่ คำว่า

'เอตสฺส - นั่น' คือตามที่กล่าวมา คำว่า 'เกวลสฺส' แปลว่าไม่ (มีสุข)

เจือปน หรือว่าทั้งมวล คำว่า 'ทุกฺขกฺขนฺธสฺส' แปลว่า กองทุกข์ คือ

ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ของสุขของงามเป็นต้น คำว่า "สมุทโย" แปลว่า

ความเกิดขึ้น คำว่า โหติ แปลว่าย่อมมี

วินิจฉัยโดยอรรถในบาลีปฏิจสมุบาทนี้ บัณฑิตพึงทราบดัง

พรรณนามาฉะนี้

[วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น]

คำว่า 'โดยลักษณะเป็นต้น' คือโดยลักษณะเป็นต้น แห่งบทมี

อวิชชาเป็นอาทิ ลักษณะเป็นต้นนี้อย่างไรบ้าง ?

อวิชชา มีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีการทำให้หลงเป็นรส มีการ

ปกปิด (เสียซึ่งสภาวะ) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีอาสวะเป็นปทัฏฐาน*

สังขาร มีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ มีความพยายาม (เพื่อก่อ

ปฏิสนธิ) เป็นรส มีเจตนาเป็นปัจจุปัฏฐาน มีอวิชชาเป็นปทัฏฐาน

วิญญาณ มีความรู้พิเศษเป็นลักษณะ มีความเป็นหัวหน้า (แห่ง

นามรูป) เป็นรส มีปฏิสนธิเป็นปัจจุปัฏฐาน มีสังขารเป็นปทัฏฐาน

* เพราะมีบาลีว่า "อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย - ความเกิดขึ้นแห่งอวิขชามีเพราะ

ความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ" ดังกล่าวแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 252

หรือว่า มีวัตถุและอารมณ์เป็นปทัฏฐาน

นาม มีความน้อมไป (สู่อารมณ์) เป็นลักษณะ มีสัมปโยค

(ความประกอบกันและกันไว้) เป็นรส มีความไม่แยกกันเป็นปัจจุ-

ปัฏฐาน มีวิญญาณเป็นปทัฏฐาน

รูป มีความ (รู้จัก) สลายเป็นลักษณะ มีความกระจายตัวเป็น

รส๑/SUP> มีความเป็นอัพยากฤตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีวิญญาณเป็นปทัฏฐาน

สฬายตนะ มีความติดต่อเป็นลักษณะ มีการเห็นเป็นต้นเป็นรส

มีความเป็นวัตถุและเป็นทวารเป็นปัจจุปัฏฐาน มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน

ผัสสะ มีความถูต้องเป็นลักษณะ มีการกระทบเข้าเป็นรส มี

ความประจวบกัน (แห่งทวารอารมณ์และวิญญาณ) เป็นปทัฏฐาน มี

สฬายตนะเป็นปทัฏฐาน

เวทนา มีการประสพ (อารมณ์) เป็นลักษณะ มีการเสวยรส

อารมณ์เป็นรส มีสุขและทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน

ตัณหา มีความเป็นเหตุ (คือเป็นทุกขสมุทัย) เป็นลักษณะ มี

ความมุ่งยินดี (ในอารมณ์นั้น ๆ ) เป็นรส๒/SUP> มีความไม่อิ่ม (ในอารมณ์)

เป็นปัจจุปัฏฐาน มีเวทนาเป็นปทัฏฐาน

อุปทาน มีความถือไว้เป็นลักษณะ มีความไม่ปล่อยเป็นรส มี

ความเห็นด้วยอำนาจความเหนียวแน่นแห่งตัณหาเป็นปัจจุปัฏฐาน มี

๑. มหาฎีกาว่าเหมือนเมล็ดข้าวสาร เพราะไม่มีสัมปโยค

๒. เพราะมีบาลีว่า "ตตฺรตตฺราภินนฺทินี - ตัณหามีปกติมุ่งยินดีไปในอารมณ์นั้น ๆ" เป็น

หลัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 253

ตัณหาเป็นปทัฏฐาน

ภพ มีกรรมและผลของกรรมเป็นลักษณะ มีความได้ประสบ

ความมีความเป็นเป็นรส มีกุศลอกุศลและอัพยากฤตเป็นปัจจุปัฏฐาน มี

อุปาทานเป็นปทัฏฐาน

ลักษณะเป็นต้น แห่งชาติเป็นอาทิ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว

ในสัจจนิเทศนั้นเทอญ

วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้นในบาลีปฏิจจสมุบาทนี้ พึงทราบดัง

กล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑

[โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น]

ในคำว่า "โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น" นี้ มีวินิจฉัย

ว่า "อวิชชามีอย่างเดียว โดยภาวะ คือ ความไม่รู้หรือความไม่เห็น

หรือความหลงเป็นต้น มี ๒ อย่างโดยความไม่ปฏิบัติและความปฏิบัติ

ผิด* อนึ่ง มี ๒ โดยเป็นสสังขารและอสังขาร มี ๓ อย่าง โดยสัมปโยค

กับเวทนา ๓ มี ๔ อย่าง โดยเป็นความไม่ตรัสรู้สัจจะ ๔ มี ๕ อย่าง

โดยปกปิดเสียซึ่งโทษในคติ ๕ ส่วนความที่ตัณหามี ๖ อย่างในองค์

ปฏิจสมุบาทที่เป็นอรูปธรรมทั้งสิ้น พึงทราบโดย (เป็นไปใน) ทวาร

(๖) และอารมณ์ (๖)

สังขาร มีอย่างเดียว โดยเป็นสาสวธรรม เป็นวิปากธัมมธรรม

(ธรรมมีวิบากเป็นธรรมดา) เป็นต้น มี ๒ อย่าง โดยเป็นกุศลและ

* มหาฎีกาว่า ไม่ปฏิบัติ โดยไม่รู้ในอริยสัจ ปฏิบัติผิดโดยสำคัญคิดเห็นวิปลาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 254

อกุศล อนึ่ง มี ๒ โดยเป็นปริตตะ มหัคคตะ เป็นหีนะ มัชฌิมะ

เป็นมิจฉัตตะ สีมมัตตะ เป็นนิยตะ อนิยตะ มี ๓ อย่าง โดยความเป็น

อภิสังขาร ๓ มีบุญญาภิสังขารเป็นต้น มี ๔ อย่าง โดยให้เป็นไปใน

กำเนิด ด ๔ มี ๕ อย่าง โดยยังสัตว์ให้ไปสู่คติ ๕

วิญญาณ มีอย่างเดียว โดยเป็นโลกิยวิบากเป็นต้น มี ๒ อย่าง

โดยเป็นสเหตุกะและอเหตุกะเป็นต้น มี ๓ อย่างโดยนับเนื่องในภพ ๓

โดยสัมปโยคกับเวทนา ๓ และโดยเป็นอเหตุกะ ทุเหตุกะ และติเหตุกะ

มี ๔ อย่าง และ ๕ อย่าง โดยกำเนิด (๔) และคติ (๕)

นามรูป มีอย่างเดียว โดยเป็นวิญญาณสันนิสสัย (ที่อาศัยแห่ง

วิญญาณ) และโดยเป็นกัมมปัจจัย (ปัจจัยของกรรม) มี ๒ อย่าง

โดยเป็นสารัมมณะ (มีอารมณ์ = นาม) และอนารัมมณะ (ไม่มีอารมณ์ =

รูป) มี ๓ อย่าง โดยกาลมีอดีตเป็นต้น มี ๔ และ ๕ อย่าง โดย

กำเนิดและคติ

สฬายตนะ มีอย่างเดียว โดยเป็นที่เกิด และโดยเป็นที่ประชุม

(แห่งวิญญาณและธรรมที่สัมปยุตกับวิญญาณนั้น๑) มี ๒ อย่าง โดยเป็น

ภูตปสาท (ส่วนที่ผ่องใสแห่งภูตรูป) และเป็นเครื่องรู้พิเศษ๒ มี ๓

อย่าง โดยเป็นสัมปัตตโคจร (รับได้แต่อารมณ์ที่มาถึงตัว) อสัมปัตต-

โคจร (รับอารมณ์ที่ไม่มาถึงตัวได้) และโนภยโคจร (รับอารมณ์ไม่ใช่

๑. ข้อนี้ กล่าวโดยนัยแก้อรรถอายตนะศัพท์ ในอายตนะนิเทศ หน้า ๑๒๗

๒. ภูตปฺปสาทวิญฺญาณาทิโต มหาฎีกาว่า. . .วิญฺญาณโต (ไม่มีอาทิ) ถูก ในที่นี้เห็น

ชอบด้วย เพราะถ้ามีอาทิ ก็มีปัญหาว่านอกจากนี้แล้วมีอะไรอีกเล่า ไม่ทราบจะหาคำตอบ

อย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 255

ทั้งสองอย่างนั้น)๑ มี ๔ อย่าง และ ๕ อย่าง โดยเนื่องด้วยกำเนิด

และคติ"

แม้ความมีอย่างต่างๆ มีอย่างเดียวเป็นต้นแห่งองค์ที่เหลือมีผัสสะ

เป็นอาทิ ก็พึงทราบโดยนัย (ที่กล่าว) นี้เทอญ๒

วินิจฉัยโดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น ในบาลีปฏิจสมุบาท

นี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑

[โดยกำหนดองค์]

ข้อว่า 'และโดยกำหนดองค์ทั้งหลาย' มีวินิจฉัยว่า ก็แลใน

ปฏิจสมุบาทธรรมทั้งหลายนี้ ธรรมมีโสกะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

ตรัสเพื่อแสดงความไม่ขาดตอนแห่งภวจักร (วงล้อแห่งภพ) เพราะ

ธรรมมีโสกะเป็นต้นนั้น ย่อมมีแก่คนเขลาผู้ถูกชราและมรณะกระทบ

เอา ดังที่ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้มิได้สดับ เป็นผู้ถูก

๑. ข้อนี้กล่าวโดยนัยแก้อปาทายรูปในขันธนิเทศหน้า ๒๔ ความว่าจักษุและโสต รับรูป

และเสียงอันไม่มาถึงตัว คืออยู่ห่างตัวได้ เพราะที่อาศัยของจักษุโสตะ และที่อาศัยของ

รูปเสียงนั้นไม่ติดกัน ส่วนฆานะชิวหาและกาย รับได้แต่อารมณ์คือ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ที่มาถึงตัวเข้า เพาะที่อาศัยของกลิ่นรสโผฏฐัพพะติดอยู่กับที่อาศัยของฆานะชิวหากาย

และฆานะชิวหากายเกิดเป็นกลิ่นรสโผฏฐัพพะขึ้นในตัวเองได้ด้วย ส่วนธรรมารมณ์ที่กระทบมนา-

ยตนะนั้น จะว่าอยู่ใกล้หรือไกลก็แยกไม่ออก มนายตนะ จึงเรียก โนภยโคจร ไม่เหมือนที่

กล่าวแล้วทั้งสองอย่า

๒. มหาฎีกาช่วยขยายอย่างต่าง ๆ จนครบ เช่นว่า ผัสสะ มีอย่างเดียวโดยสภาวะสัมผัส

และโดยเป็นโลกิยะหรือสาสวะเป็นต้น มี ๒ อย่าง โดยเป็น สเหตุกะ อเหตุกะ มี ๓

อย่าง โดยเนื่องด้วยภพ ๓ และสัมปโยคกับเวทนา ๓ และเป็น อเหตุกะ ทุเหตุกะ

ติเหตุกะ มี ๔ และ ๕ อย่าง โดยกำเนิดและคติ ฯ ล ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 256

ทุกขเวทนากายต้องเอาแล้ว ย่อมเศร้าโศกลำเค็ญคร่ำครวญทุบอก

ร่ำให้ ถึงซึ่งความฟั่นเฟือนไป"* เป็นต้น และด้วยพระพุทธพจน์ว่า

"ความหมุนไปแห่งธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้นนั้น ยังมีอยู่ตราบใด

ความหมุนไปแห่งอวิชชาก็ยังมีอยู่ตราบนั้นไ ดังนี้ ภวจักรก็เป็นอัน

เชื่อมเข้ากับบทว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อีกเล่า เพราะเหตุนั้น

ธรรม ๑๒ เท่านั้น โดยนำสังเขปธรรมมีโสกะเป็นต้นนั้นแหละเข้าเป็น

อันเดียวกันกับชรามรณะเสีย พึงทราบว่าเป็นองค์แห่งปฏิจสมุบาท

วินิจฉัยโดยกำหนดองค์ทั้งหลายในบาลีปฏิจสมุบาทนี้ บัณฑิต

พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑

นี่เป็นเพียงสังเขปกถาในปฏิจสมุบาทธรรมนี้ ส่วนความ (ต่อ

ไป) นี้ เป็นวิตถารนัย

[แก้บทอวัชชา]

โดยปริยาย (ทาง) พระสูตร ความไม่รู้ในฐานะ ๔ มีทุกข์เป็นต้น

ชื่อว่าอวิชชา โดยปริยาย (ทาง) พระอภิธรรม ความไม่รู้ในฐานะ ๘

กับทั้งฐานะมีปุพพันตะ (เงื่อนต้น) เป็นต้น ชื่อว่าอวิชชา สมพระบาลี

ว่า "ในธรรมเหล่านั้น อวิชชาเป็นไฉน ? ความไม่รู้ในทุกข์ ฯ ล ฯ

ไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในปุพพันตะ (เงือนต้น)

ความไม่รู้ในอปรันตะ (เงื่อนปลาย) ความไม่รู้ในปุพพันตาปรันตะ

(ทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย) ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็น

* สํ. สฬา. ๑๘/๒๕๗.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 257

อิทัปปัจจยตา (คือกลุ่มเหตุ) และปฏิจสมุบัน (กลุ่มผล) นี่เรียกว่า

อวิชชา" ดังนี้

ในฐานะเหล่านั้น ยกเว้นสัจจะสอง (คือนิโรธและมรรค) ที่เป็น

โลกุตระเสีย อวิชชาย่อมเกิดขึ้นในฐานะที่เหลือแม้โดยทำให้เป็น

อารมณ์ก็ได้ก็จริง (แต่) แม้เป็นอย่างนั้น ในบาลีนี้ท่านก็ประสงค์เอา

โดยว่าเป็นเครื่องปิดบังเท่านั้นเอง จริงอยู่ อวิชชานั้นท่เี กิดขึ้นแล้ว

ย่อมปิดบังทุกขสัจตั้งอยู่ ไม่ให้รู้แจ้งซึ่งลักษณะอันเป็นรส (คือสภาวะ)

ประจำตนตามเป็นจริงได้ อย่างเดียวกัน ย่อมปิดบังสมุทัยสัจ นิโรธสัจ

มรรคสัจ ขันธบัญจกส่วนอดีตที่นับว่าเงื่อนต้น ขันธบัญจกส่วนอนาคต

ที่นับว่าเงื่อนปลาย ขันธบัญจกทั้งสองส่วนนั้นที่นับว่าทั้งเงื่อนต้นและ

เงื่อนปลาย อิทัปปัจจยตา และปฏิจสมุบันธรรมทั้งหลาย ที่นับว่า

อิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุบันธรรมด้วยตั้งอยู่ มิให้รู้แจ้งซึ่งลักษณะอัน

เป็นรส (คือสภาวะ) ประจำตนตามเป็นจริง ในทุกข์เป็นต้นนั้นว่า 'นี่

อวิชชา นี่สังขาร' ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

(อวิชชาคือ) ไม่รู้ในทุกข์ ฯ ล ฯ ไม่รู้ในอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุ-

บันธรรมทั้งหลาย"

[แก้บทสังขาร]

บทว่า 'สังขารทั้งหลาย' ได้แก่สังขาร ๖ ที่กล่าวโดยสังเขปไว้

ในตอนก่อนดังนี้ว่า "สังขาร ๓ มีบุญเป็นต้น (และ) สังขาร ๓ มี

กายสังขารเป็นต้น"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 258

ส่วนว่าโดยพิสดาร ในสังขารเหล่านี้ สังขารทั้ง ๓ ได้แก่

เจตนา ๒๙ คือ บุญญาภิสังขารได้แก่เจตนา ๑๓ คือ เจตนาเป็น

กามาวจรกุศล ๘ อันเป็นไปด้วยอำนาจกุศลมีทานศีลเป็นต้น และ

เจตนาเป็นรูปาวจรกุศล ๕ อันเป็นไปด้วยอำนาจภาวนาอย่างเดียว

อบุญญาภิสังขารได้แก่เจตนาเป็นอกุศล ๑๒ อันเป็นไปด้วยอำนาจ

อกุศลมีปาณาติบาตเป็นต้น อเนญชาภิสังขาร ได้แก่เจตนาเป็น

อรูปาวจรกุศล ๔ อันเป็นไปด้วยอำนาจภาวนาเหมือนกัน

ส่วนในสังขารอีก ๓ กายสัญเจตนา (ความจงใจแสดงออกทา

กาย) เป็นกายสังขาร วจีสัญเจตนา (ความจงใจแสดงออกทางวาจา)

เป็นวจีสังขาร มโนสัญเจตนา (ความจงใจแสดงออกทางใจ) เป็น

จิตตสังขาร ติกะนี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงความเป็นไปแห่งอภิสังขาร ๓

มีบุญญาภิสังขารเป็นต้นทางทวาร ในขณะพยายามทำกรรม จริงอยู่

เจตนา ๒๐ ถ้วน คือกามาวจรกุศลเจตนา ๘ อกุศลเจตนา ๑๒ อันยัง

กายวิญญัติให้ตั้งขึ้นเป็นไปทางกายทวาร ได้ชื่อว่ากายสังขาร เจตนา

เหล่านั้นแหละ ที่ยังวจีวิญญัติให้ตั้งขึ้นเป็นไปทางวจีทวาร ได้ชื่อว่า

วจีสังขาร

แต่อภิญญาเจตนา (เจตนาในอภิญญา) ไม่เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ

องค์ต่อไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ถือเอาในคำว่า กาย----วจีสังขารนี้*

* มหาฎีกาตั้งปัญหาขึ้นว่า เหตุไฉน อภิญญาเจตนา จึงไม่เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ

อภิญญาเจตนาก็เป็นกุศลและมีวิบากมิใช่หรือ ? แล้วท่านก็ตอบเองว่า จริง แต่ว่าความ

ที่อภิญญาเจตนาเป็นกุศลและมีวิบากนั้น ท่านกล่าวโดยความที่อภิญญาเจตนานั้น เป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 259

และอภิญญาเจตนาไม่เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณฉันใด แม้อุทธัจจเจตนา

ก็ไม่เป็นฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ถึงอุทธัจจเจตนานั้นก็ต้องคัดออก

ในความเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ แต่เจตนาทั้งปวงนั่นก็คงเป็นธรรมมี

อวิชชาเป็นปัจจัย (เหมือนกัน)

ส่วนเจตนา ๒๙ ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในมโนทวาร (โดย) ไม่ยัง

วิญญัติทั้งสองให้ตั้งขึ้น เป็นจิตตสังขารแล

ด้วยประการดังนี้ ติกะนี้ก็เข้าไปสู่ติกะก่อน (คือผนวกอยู่กับติกะ

ก่อน) นั่นเอง เพราะฉะนั้น ว่าโดยใจความแล้ว ความที่อวิชชาเป็น

ปัจจัย (แห่งสังขาร) ก็พึงทราบโดยที่เป็นปัจจัยแห่งอภิสังขาร ๓ มี

บุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแล

ในข้อนั้น หากมีปัญหาว่า "ก็ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไรว่า

สังขารทั้งหลายนี้เป็นธรรมมีอวิชชาเป็นปัจจัย ?" คำแก้พึงมีว่า "ทราบ

ได้โดยที่เมื่ออวิชชามี มันจึงมี" แท้จริง ความไม่รู้ในฐานะทั้งหลาย

มีทุกข์เป็นต้นที่เรียกว่าอวิชชา บุคคลใดยังละไม่ได้ก่อนแล้ว บุคคลนั้น

เพราะความไม่รู้ในทุกข์และในฐานะนอกนี้มีเงื่อนต้นเป็นอาทิ จึงถือ

เอาสังสารทุกข์โดยสำคัญว่าเป็นสุข แล้วก็ก่อสังขารทั้ง ๓ อย่าง ซึ่ง

เป็นเหตุแห่งสังสารทุกข์นั่นเองขึ้น เพราะไม่รู้ในสมุทัย จึงสำคัญเห็น

ไปด้วยความพยายามของตนในสันดานที่ยังมีตัณหาอันยังตัดไม่ขาด หาใช่กล่าวเช่นนั้น

โดยเป็นปัจจัยยังวิบากให้เกิดขึ้นไม่ อนึ่งอภิญญาเจตนานั้น เมื่อยังวิบากให้เกิด วิบาก

นั้นก็เป็นรูปาวจรเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น อันอภิญญานั้นเป็นอานิสงส์แห่งสมาธิในชั้น

จตุตถฌาน ที่พระโยคาวจรทำให้เกิดขึ้นในกสิณ เพราะฉะนั้น อภิญญาก็เท่ากับเป็นผล

ของสมาธิ ไม่ให้ผลเหมือนกุศล มี ทาน ศีล เป็นต้น.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 260

สังขารทั้งหลายอันมีตัณหาเป็นเครื่องประดับ ซึ่งแม้เป็นเหตุแห่งทุกข์

โดยว่าเป็นเหตุแห่งสุขไป ก็ก่อสังขารทั้ง ๓ อย่างขึ้น อนึ่ง เพราะ

ไม่รู้ในนิโรธและในมรรค จึงเป็นผู้มีความสำคัญในคติวิเศษ (มี

พรหมโลกเป็นต้น) ซึ่งแม้มิใช่เป็นที่ดับทุกข์ ว่าเป็นที่ดับทุกข์ไป

เป็นผู้มีความสำคัญในพาหิรมรรคมี (บูชา) ยัญ และ (บำเพ็ญ) อมร-

ตบะเป็นต้น๑ ซึ่งแม้มิใช่ทางแห่งความดับทุกข์ ว่าเป็นทางดับทุกข์ไป

เมื่อปรารถนาความดับทุกข์ ก็ก่อสังขารทั้ง ๓ อย่างขึ้นทางมุขพาหิร-

มรรคมียัญและอมรตบะเป็นต้น อีกประการหนึ่ง บุคคลนั้น เพราะ

ความที่ละอวิชชาในสัจจะ ๔ ยังไม่ได้นั้น ก็ไม่รู้ทุกข์กล่าวคือผลแห่ง

บุญ ซึ่งแม้แทรกซ้อนด้วยอาทีนพโทษเป็นอเนก มี ชาติ ชรา โรค

และมรณะเป็นต้นอย่างวิเศษ โดยว่าเป็นทุกข์ได้ จึงก่อบุญญาภิสังขาร

อันต่างโดยเป็นกายสังขาร (บ้าง) วจีสังขาร (บ้าง) จิตตสังขาร

(บ้าง) เพื่อได้ผลแห่งบุญนั้น ดังบุคคลผู้ปรารถนาเทพอัปษร ริโจน

หน้าผา (ตาย)๒ มิเช่นนั้นก็ไม่เห็นความที่ผลแห่งบุญนั้น ซึ่งแม้สมมติ

กันว่าเป็นสุข เป็นวิปริณามทุกข์ อันจะก่อให้เกิดความร้อนใจใหญ่ใน

๑. อมรตบะ มหาฎีกาไขความไว้ ๓ นับ คือ ทุกกรกิริยาที่ถือว่าทำแล้วจะไม่ตาย ๑ การ

ประพฤติพรตเพื่อเป็นอมรคือเป็นเทวดาหรือเทพเจ้า ๑ ตบะอันทำลายตน เพราะทำตน

ให้เป็นทุกข์ ๑ นัยหลังนี้ท่านว่า อมรใช้ในอรรถว่า มร คือตายก็ได้.

๒. มรุปฺปาตํ แปลกันว่า 'ความเกิดเป็นเทวดา' ก็มี แต่พิจารณาลักษณะศัพท์แล้ว

ศัพท์นี้ต้องแยกเป็น มรุ + ปาต (ภูเขา + ที่ลาดชัน) ในมหาฎีกาไม่ได้แปลศัพท์นี้โดย

ตรง แต่มีอธิบายความไว้ในรูป 'ปปาต' (ไม่ใช่อุปปาต) ดังนี้ ชาติอาทิปปาตทุกฺข-

ชนนโต มรุปฺปปาตสทิสตา ปุญฺญภิสงฺขารสฺส วุตฺตา - ท่านกล่าวความที่บุญญาภิ-

สังขารเป็นเช่นมรุปปาตะ เพราะเหวผาคือชาติเป็นต้น เป็นเหตุยังทุกข์ให้เกิด.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 261

ที่สุด (เมื่อหมดบุญ) และ (ไม่เห็น) ความที่ผลแห่งบุญนั้น (แม้มีคุณ

น่ายินดีก็) มีคุณน่ายินดีเป็นส่วนน้อย จึงก่อบุญญาภิสังขารมีประการดัง

กล่าวแล้วนั่น อันเป็นปัจจัยแห่งวิปริณามทุกข์นั่นเอง ดังแมลงเม่า

ริเข้าตอมเปลวไฟ และดังสัตว์ที่ตะกรามหยาดน้ำผึ้งริเข้าเลียคมศัสตรา

ทีน้ำผึ้งติดฉะนั้น อนึ่ง ไม่เห็นโทษในโลกิยวิสัย มีการเสพกามเป็นต้น

พร้อมทั้งผลของมัน เพราะสำคัญว่าเป็นสุข และเพราะถูกกิเลสครอบงำ

ด้วย จึงก่ออบุญญาภิสังขารอันเป็นไปในทวารทั้ง ๓ ขึ้นก็ได้ ดังเด็ก

อ่อนริเล่นคูถ และดังคนอยากตายริกินยาพิษฉะนั้น อนึ่งเล่า ไม่รู้

ความทีสังขารแม้ในฝ่ายอรูปวิบากก็เป็นวิปริณามทุกข์ จึงก่ออเนญชาภิ-

สังขารซึ่งเป็นจิตตสังขารขึ้น ด้วยวิปลาสไปว่าเป็นของเที่ยงเป็นต้น

ดังคนหลงทิศริอ่านเดินทางมุ่งหน้าไปสู่เมืองปิศาจฉะนั้น

เพราะเหตุที่สังขารมีเพราะอวิชชามีเท่านั้น หามีโดย (อวิชชา)

ไม่มีไม่ ดังกล่าวมาฉะนี้ บัณฑิตจึงรู้ข้อที่ว่า "สังขารทั้งหลายนี้เป็น

ธรรมมีอวิชชาเป็นปัจจัย" นั่นได้แล จริงอยู่ ข้อนี้แม้พระผู้มีพระ

ภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ฉลาดตกอยู่ใน

อวิชชา ย่อมปรุงแต่งบุญญาภิสังขารบ้าง ย่อมปรุงแต่งอบุญญาภิสังขาร

บ้าง ย่อมปรุงแต่งอเนญชาภิสังขารบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อเมื่อใด

อวิชชา ภิกษุละได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น ภิกษุนั้น เพราะ

ความสำรอกออกไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา ย่อม

ไม่ปรุงแต่งบุญญาภิสังขารเลย"* ดังนี้เป็นต้น

* สํ. นิทาน. ๑๖/๙๙.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 262

ในบทว่าอวิชชานี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอพัก๑ข้อว่า "อวิชชาเป็น

ปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลาย" นี่ไว้ก่อน ด้วยข้อนี้ควรจะกล่าว (ต่อไป)

คือ (ปัญหา) ว่า "อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเหล่าไหน อย่างไร ?"

ในความที่อวิชชาเป็นปัจจัยอย่างไรบ้างนั้น ท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้

[ปัจจัย ๒๔]

ก็แลปัจจัย ๒๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ คือ

เหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย อธิปติปัจจัย อนันตรปัจจัย

สมนันตรปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย

อุปนิสสยปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย อาเสวนปัจจัย

กัมมปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทรียปัจจัย ฌานปัจจัย

มัคคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย วิปปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย

วิคตปัจจัย อวิคตปัจจัย๒

[แก้เหตุปัจจัย]

ในอุเทศบทเหล่านั้น ธรรมที่ได้ชื่อว่าเหตุปัจจัย เพราะธรรมนั้น

เป็นเหตุด้วย เป็นปัจจัยด้วย คือ เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ อธิบายว่า

๑. คณฺหาม ถ้าแปลตรง ๆ ว่า 'ถือไว้ จับไว้ ยึดไว้ กุมไว้' ความไม่ผุดในภาษาไทย

จึงแปลเอาความว่า 'พักไว้' (หรือ 'หยุดไว้' ก็จะได้) ที่พักไว้ ก็เพราะพรรณนา

ข้อนี้มาพอเห็นความแล้ว ยังมีความที่ควรกล่าวอยู่ต่อไปอีก.

๒. อภิ. ป. ๔๐/๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 263

เป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ๑ นัยแม้ในอุเทศบทอื่นมีอารัมมณปัจจัย

เป็นต้น ก็นัยเดียวกันนี้

[แก้ศัพท์เหตุ]

ในบท 'เหตุปัจจัย' นั้น คำว่า 'เหตุ' เป็นคำเรียกวจนาวยวะ

(อวัยวะแห่งคำ คือถ้อยคำที่ให้รู้ความแต่ละคำ ?) และการณะ (สิ่งที่

ก่อผล) มูละ (สิ่งที่เป็นรากเง่า) ก็วจนาวยวะ เรียกว่าเหตุ ในทาง

โลก เช่นในคำว่า 'ปฏิญฺญเหตุ๒ - ข้อปฏิญญา' แต่ในทางพระศาสนา

การณะ เรียกว่า เหตุ เช่นในคำว่า 'เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา๓ - ธรรม

ทั้งหลายใดมีเหตุ (คือการณะ) เป็นแดนเกิด' มูล ก็เรียกว่า เหตุ

เช่นในคำว่า 'ตโย กุสสเหตู ตโย อกุสลเหตู๔ - เหตุ (คือมูล) แห่ง

กุศล ๓ เหตุ (คือมูล) แห่งอกุศล ๓' มูลนั้น (แหละ) ประสงค์เอา

(ว่าเหตุ) ในที่นี้

[แก้ศัพท์ปัจจัย]

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความหมายแห่งคำในคำว่า 'ปัจจัย' นี้

ธรรม (ที่เป็นผล) อาศัยไปแต่ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั่น หมาย

๑. ที่ท่านไข เหตุปจฺจโย เป็น เหตุ หุตฺวา ปจฺจโย แล้วไขอีกทีเป็น เหตุภาเวน

ปจฺจโย นั้น ก็เพื่อแสดงว่า ศัพท์ประกอบ ตฺวา ปัจจัย คือ หุตฺวา นั้น เป็นกิริยาตติยา-

วิเสสนะ คือแปลว่า โดย. . . (ไม่ใช่บุพกาลกิริยา สมานกาลกิริยา ฯ ล ฯ)

๒. ปาฐะเรียงแยกไว้เป็น ปฏิญฺญา เหตุ แต่ในมหาฎีกาเรียงติดกันเป็น ปฏิญฺญาเหตุ

เหตุ แปลว่า 'ข้อความ' ก็ได้ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๔๙๓).

๓. วิ. มหาวรรค. ๔/๗๔.

๔. อภิ. สํ. ๓๔/๒๗๑.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 264

ความว่า ไม่ปฏิเสธธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้นเป็นไป เหตุนี้ ธรรม (ที่

เป็นเหตุ) นั้นจึงชื่อว่าปัจจัย มีคำอธิบายว่า อันธรรม (ที่เป็นผล) ใด

อาศัย คือไม่ปฏิเสธซึ่งธรรม (ที่เป็นเหตุ) ใดตั้งอยู่หรือว่าเกิดขึ้นก็ดี

ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้น ชื่อว่าเป็นปัจจัยแห่งธรรม (ที่เป็นผล) นั้น

แต่ (เมื่อว่า) โดยลักษณะ ปัจจัยมีความอุดหนุนเป็นลักษณะ ด้วยว่า

ธรรม (ที่เป็นเหตุ) ใด เป็นสภาพอุดหนุนเพื่อความตั้งอยู่หรือเพื่อ

ความเกิดขึ้นแห่งธรรม (ที่เป็นผล) ใด ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้น

ท่านเรียกว่าเป็นปัจจัยแห่งธรรม (ที่เป็นผล) นั้น

คำว่า "ปัจจัย เหตุ การณ นิทาน สัมภว ปภว" เป็นต้น โดย

ความก็อันเดียวกัน ต่างกันแต่โดยพยัญชนะ

ธรรมชื่อว่าเหตุ เพราะอรรถว่าเป็นมูล ชื่อว่าปัจจัย เพราะ

อรรถว่าเป็นสภาพอุดหนุน ดังกล่าวมาฉะนี้ เพราะเหตุนั้น (เมื่อว่า)

โดยสังเขป ธรรมผู้อุดหนุนโดยความหมายว่าเป็นมูล ชื่อว่าเหตุปัจจัย

อธิบายของอาจารย์ทั้งหลาย*ว่า "เหตุปัจจัยนั้นเป็นสภาพยังความ

เป็นกุศลเป็นต้นให้สำเร็จแก่ (สัมปยุต) ธรรมทั้งหลายมีกุศลธรรมเป็น

อาทิ ดังพืชทั้งหลายมีพืชข้าวสาลีเป็นต้น ยัง (ความเป็น) ธัญญชาติ

มีข้าวสาลีเป็นอาทิให้สำเร็จ และดังสีของมณีเป็นต้น ยังแสงของมณี

เป็นอาทิให้สำเร็จฉะนั้น" แต่เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยก็

ไม่สำเร็จไปถึงในรูปทั้งหลายที่มีเหตุนั้นเป็นสมุฏฐาน (ด้วยนะซิ) เพราะ

ว่า เหตุปัจจัยนั้นหายังความเป็นกุศลเป็นต้นให้สำเร็จแก่รูปเหล่านั้นไม่

* มหาฎีกาว่า ท่านหมายถึงพระอาจารย์เรวตะ (อยู่ที่ไหนไม่ได้บอกไว้)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 265

แต่ก็มิใช่ไม่เป็นปัจจัย สมพระบาลีว่า "เหตุ เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ-

ปัจจัย แห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับเหตุ และแห่งรูปทั้งหลายที่มี

เหตุนั้นเป็นสมุฏฐาน" ดังนี้ อนึ่ง สำหรับอเหตุกจิตทั้งหลาย ความ

เป็นอัพยากฤต เว้นเหตุนั่นเสียก็สำเร็จได้ (เพราะอัพยากฤตเป็น

อเหตุกะ) แม้สำหรับสเหตุกจิตทั้งหลายเล่า ความเป็นกุศลเป็นต้น

ก็เนื่องด้วยโยนิโสมนสิการเป็นต้น๑ มิใช่เนื่องด้วยสัมปยุตเหตุ (เหตุผู้

สัมปยุต) และหารว่าความเป็นกุศลเป็นต้น พึงมีได้โดยสภาวะแท้ใน

สัมปยุตเหตุทั้งหลายไซร้ ในสัมปยุตธรรมทั้งหลาย อโลภะซึ่งเนื่อง

ด้วยเหตุ ก็พึงเป็นกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้างได้ แต่เพราะเหตุที่เป็นได้

ทั้งสองอย่าง ในสัมปยุตธรรมทั้งหลาย หาความเป็นกุศลเป็นต้น (ที่

เนื่องด้วยเหตุ มิใช่เป็นโดยสภาวะ) ได้ฉันใด แม้ในเหตุทั้งหลาย

ก็พึงหาความเป็นกุศลเป็นต้น (ที่เนื่องด้วยธรรมอื่น มิใช่เป็นโดย

สภาวะ) ได้ฉันนั้น

แต่อันที่จริง เมื่ออรรถว่าเป็นมูล๒แห่งเหตุทั้งหลาย บัณฑิตไม่ถือ

เอาโดยว่าเป็นเหตุยังความเป็นกุศลเป็นต้นให้สำเร็จ (แต่) ถือเอา

โดยว่าเป็นเหตุยังความตั้งมั่นด้วยดี (แห่งธรรมทั้งหลาย) ให้สำเร็จ ก็

๑. โดยพระบาลีว่า "โยนิโส ภกฺขเว มนสิกโรโต ฯ เป ฯ อภิวฑฺฒนฺติ ดูกรภิกษุ

ทั้งหลาย กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้ว

ย่อมเจริญยิ่งแก่ภิกษุผู้ทำในในโดยแบบคาย"

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น มูลฏฺฐํ ตรงนี้เป็นประโยคลักขณะ มี คยฺหมาเน เป็นลักขณกิริยา

แสดงอยู่ แต่ตัวนามที่เป็นลักขณวันตะไม่ปรากฏ พิจารณาแล้วก็เห็นแต่ มูลฏฺฐํ เท่านั้น

เป็นลักขณวันตะ จึงตกลงแก้เป็น มูลฏฺเฐ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 266

ไม่ผิดอะไรเลย แท้จริง ธรรมทั้งหลายที่ได้เหตุปัจจัยแล้ว ย่อมเป็น

ธรรมมั่นคงตั้งลงด้วยดี ดังต้นไม่ทั้งหลายที่มีรากงอกงามแล้วก็ตั้งอยู่ได้

ด้วยดีฉะนั้น (ส่วน) อเหตุกธรรมทั้งหลายเป็นธรรมไม่ตั้งมั่นด้วยดี

ดุจสาหร่ายทั้งหลาย มีสาหร่ายชนิดติลพีชกะ (สาหร่ายเมล็ดงา ?)

เป็นต้น ฉะนั้น

เหตุปัจจัยเป็นธรรมอุดหนุนโดยความหมายว่าเป็นมูลดังนี้ เพราะ

เหตุนั้น ธรรมผู้อุดหนุนโดยยังความตั้งมั่นด้วยดี (แห่งสัมปยุตธรรม)

ให้สำเร็จ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อเหตุปัจจัย

[แก้อารัมมณปัจจัย]

ในอุเทศบทแต่นั้นไป ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นอารมณ์

ชื่อว่าอารัมมณปัจจัย ธรรมอะไร ๆ จะไม่เป็นอารัมมณปัจจัยนั้นไม่มี

เพราะคำนิเทศแม้ท่านจะขึ้นต้นว่า "รูปายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัม-

มณปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ๑" ดังนี้เป็นต้น แต่ก็ลงท้ายว่า "ธรรม

ทั้งหลายใด ๆ เป็นจิตเจตสิกธรรม ปรารภธรรมใด ๆ เกิดขึ้น ธรรม

ทั้งหลาย (ที่ถูกปรารภ) นั้น ๆ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัย

แห่งธรรม (ที่เกิดขึ้น) นั้น ๆ "๒ ฉะนี้ เปรียบเหมือนคนอ่อนกำลัง

ได้ยึดท่อนไม้หรือเชือกนั่นแหละ จึงลุกขึ้นและยืนอยู่ได้ ฉันใด จิตและ

เจตสิกธรรมทั้งหลายก็ฉันนั้น ปรารภอารมณ์มีรูปเป็นต้นเข้านั่นแหละ

จึงเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายอันเป็นอารมณ์

๑-๒. อภิ. ป. ๔๐/๑.๒.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 267

แห่งจิตเจตสิกทั้งหลายทั้งปวง บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าอารัมมณปัจจัย

[แก้อธิปติปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นใหญ่ ชื่อว่าอธิปติปัจจัย อธิปติ-

ปัจจัยนั้นมี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งสหชาตธรรมและอารมณ์ ใน ๒

อย่างนั้น ธรรม ๔ ประการ กล่าวคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

พึงทราบว่าชื่อ สหชาตาธิปติปัจจัย (เป็นอธิปติปัจจัยแห่งสหชาตธรรม)

โดยบาลีว่า "ฉันทาธิบดี เป็นปัจจัยโดยเป็นอธิปติปัจจัยแห่งธรรม

ทั้งหลายที่สัมปยุตกับฉันทะ และแห่งรูปทั้งหลายที่มีฉันทะนั้นเป็น

สมุฏฐาน" ดังนี้เป็นต้น แต่ว่าธรรมทั้ง ๔ นั้น มิได้เป็นอธิบดีร่วมกัน

จริงอยู่ ในขณะใดจิตทำฉันทะให้เป็นธุระ ทำฉันทะให้เป็นใหญ่เป็น

ไป ในขณะนั้นก็ฉันทะอย่างเดียวเป็นอธิบดี นอกนี้มิได้เป็น ใน

ธรรมที่เหลือ (อีก ๓) ก็นัยนี้ ส่วนว่าอรูปธรรมทั้งหลายทำธรรมใดให้

เป็นที่หนัก (คือเป็นทีหน่วง) เป็นไป ธรรมนั้นเป็นอารัมมณาธิบดี

แห่งอรูปธรรมทั้งหลายนั้น เหตุนั้นท่านจึงกล่าวคำนิเทศไว้ว่า "ธรรม

ทั้งหลายใด ๆ เป็นจิตเจตสิกธรรม ทำ (อารมณ์) ธรรมใด ๆ ให้เป็น

ที่หนักเกิดขึ้น ธรรม(อารมณ์) ทั้งหลายนั้น ๆ เป็นปัจจัย โดยเป็น

อธิปติปัจจัยแห่งธรรม (จิตเจตสิก) ทั้งหลายนั้น ๆ"* ดังนี้

[แก้อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมไม่มีระหว่าง (คั่น) ชื่อ

* อภิ. ป. ๔๐/๒.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 268

อนันตรปัจจัย ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมใกล้ที่สุด ชื่อ

สมนันตรปัจจัย ก็เลยอาจารย์ทั้งหลายอธิบายปัจจัยคู่นี้ไว้มากประการ

แต่ความ (ต่อไป) นี้ เป็นแก่สารในปัจจัยคู่นี้

ก็จิตตนิยม (ทางของจิต) เป็นต้นว่า "มโนธาตุมีในลำดับแห่ง

จักขุวิญญาณ มโนวิญญาณธาตุมีในลำดับแห่งมโนธาตุ๑" ดังนี้นั้นใด

จิตตนิยมนั้น ย่อมสำเร็จด้วยอำนาจแห่งจิตดวงก่อน ๆ เท่านั้น หา

สำเร็จโดยประการอื่นไม่ เหตุใด เพราะเหตุนั้น ธรรมผู้สามรถ

ในอันยังจิตตุบาทที่คู่ควรกันให้เกิดขึ้นในลำดับแห่งตน ๆ ชื่อว่า

อนันตรปัจจัย เพราฉะนั้นแลท่านจึงกล่าว่า "บทว่า อนันตรปัจจัย

ความว่า จักขุวิญญาณธาตุ และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับจักขุวิญญาณ-

ธาตุนั้น เป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยแห่งมโนธาตุ และแห่งธรรม

ทั้งหลายอันสัมปยุตกับมโนธาตุนั้น"๒ ดังนี้เป็นต้น อนันตรปัจจัย

อันใด สมนันตรปัจจัยก็อันนั้นแหละ แท้จริง ความต่างกันในปัจจัย

คู่นี้ เป็นเพียงพยัญชนะเท่านั้น ดุจความต่างเพียงพยัญชนะในศัพท์

อุปจยะ (เติบขึ้น) กับสันตติ (สืบต่อ) และในศัพท์คู่คือ อธิวจนะ

(คำเรียก) กับ นิรุตติ (คำกล่าว) ฉะนั้น แต่ความต่างโดยอรรถหามีไม่

ส่วนมติมของอาจารย์ทั้งหลายว่า "ธรรมชื่อว่า อนันตรปัจจัย

เพราะความเป็นธรรมไม่มีระหว่างโดยอรรถ (คือไม่มีความอื่นคั่น ?)

๑. มหาฎีกาว่า ด้วยคำว่า 'เป็นต้น' แสดงถึงจิตตนิยมทุกอย่างที่เกิดในลำดับกัน เช่น

ว่า โวฏฐัพพนะเกิดในลำดับสันตีรณะ ปฏิสนธิมีในลำดับจุติ. . .

๒. อภิ. ป. ๔๐/๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 269

ชื่อว่าสมนันตรปัจจัย เพราะความเป็นธรรมไม่มีระหว่างโดยกาล (คือ

ไม่มีกาลคั่น ?)" ดังนี้ใด มตินั้นผิดจากบาลีว่า "เมื่อพระโยคาวจร

ออกจากนิโรธ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลย่อมเป็นปัจจัย โดยเป็น

สมนันตรปัจจัยแห่งผลสมาบัติ" ดังนี้เป็นต้น

ในความที่ธรรมที่สมนันตรปัจจัย เพราะความเป็นธรรมไม่มี

ระหว่างโดยกาลนั้น อาจารย์ทั้งหลายกล่าวแม้คำใดว่า "ความที่ธรรม

นั้นเป็นธรรมสามารถในอันยังธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นมิได้เสื่อมไป แต่

เพราะกำลังแห่งภาวนากั้นไว้ ธรรมทั้งหลายที่เป็นสมนันตระจึงยังเกิด

ขึ้นไม่ได้" ดังนี้ แม้คำนั้นก็ยังความไม่มีแห่งความเป็นกาลานันตระ

(ไม่มีระหว่างโดยกาล) นั่นเองให้สำเร็จ (คือพิสูจน์ให้เห็นว่าความ

เป็นกาลานันตระไม่มีนั่นเอง) เพราะความเป็นกาลานันตระในธรรม

นั้นไม่มีด้วยกำลังแห่งภาวนา เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงยังคง

ยืนยันข้อนั้นแหละ (คือกาลานนตระไม่มี) ก็เหตุใด ความเป็น

กาลานันตระไม่มี เพราะเหตุนั้น ความที่ธรรมนั้นเป็นสมนันตรปัจจัย

ก็ใช้ไม่ได้ด้วย ด้วยว่าความเห็นของท่านทั้งหลายว่า 'ธรรมชื่อว่าเป้น

สมนันตรปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายนั้น เพราะความเป็นธรรมไม่มี

ระหว่างโดยกาล' (เช่นนั้นนี่)

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าทำความยึดมั่น (ความเห็น) ไป

เลย พึงเชื่อเถิด (ว่า) ความต่างกันในปัจจัยคู่นี้ ก็เพียงแต่โดยพยัญชนะ

เท่านั้น หาต่างกันโดยอรรถไม่ ต่างกันโดยพยัญชนะอย่างไร ? ต่างกัน

เท่านี้ คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 270

ระหว่างแห่งธรรมเหล่านั้นไม่มี เหตุนี้ ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อ

อนันตระ (ไม่มีระหว่าง)

ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าอนันตระอย่างดี เพราะไม่มีหยุดชะงัด

เหตุนี้ ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อ สมนันตระ (ไม่มีระหว่างอย่างดี)๑

[แก้สหชาตปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมที่เมื่อเกิดขึ้น ก็ยังธรรมอื่น

ให้เกิดขึ้นพร้อมกันด้วย ชื่อว่าสหชาตปัจจัย ดุจประทีปเป็นปัจจัยโดย

ยังแสงสว่างให้เกิดขึ้นพร้อมกัน ฉะนั้น๒ สหชาตปัจจัยนั้นเป็น ๖ อย่าง

ด้วยอำนาจแห่งอรูปขันธ์เป็นต้น ดังบาลีว่า "ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูปเป็น

ปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน มหาภูต ๔ เป็นปัจจัยโดยเป็น

สหชาตปัจจัยซึ่งหันและกัน นามและรูปในขณะก้าวลง (สู่ครรภ์) เป็น

๑. เราไม่รู้ศัพทศาสตร์ลึกซึ้ง ก็ได้แต่นึกไปด้วยสามัญสำนึกว่า ถ้าไม่มีความต่างกันแล้ว

พระบาลีจะแยกหัวข้อไว้เพื่อประโยชน์อะไร ?

ศัพท์ สมนนฺตร นั้น ที่นึกออกในเวลานี้ ก็ในปรินิพพานสูตร พรหมสังยุต

สังยุตตนิกาย คือ "...จตุตฺถชฺฌานา วุฏฺฐหิตฺวา สมนนฺตรํ ภควา ปรินิพฺพายิ" ซึ่ง

น่าจะแปลว่า "ออกจากจตุตถฌานแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ปรินิพพานในทันที"

สมนนฺตรนี้ ปราชญ์ในชั้นหลังตีความว่า "ระยะกาลใกล้ที่สุด" หรือว่า

"ระยะกระชั้นชิด" ซึ่งก็ได้กันกับคำว่า 'ทันที' นั่นเอง สมกับที่ท่านเติม สํ อุปสัค

เข้าไว้ ก็เพื่อให้มีความต่างจาก อนนฺตร เฉย ๆ โดยนัยนี้ อนนฺตร - ไม่มีระหว่าง เอา

ความว่าลำดับปกติ สมนนฺตร - ไม่มีระหว่างด้วยดี เอาความว่าลำดับกระชั้นชิด ส่วนว่า

อะไร ได้แก่อะไรนั้น ขอยกไว้ถวายท่านผุ้เชี่ยวชาญ

๒. มหาฎีกาว่า มิใช่เป็นปัจจัยแห่งความเกิดขึ้นเท่านั้น เป็นปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ด้วย

เหมือนประทีปเป็นปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของแสงสว่างด้วย มิใช่เป็นปัจจัยแห่งความ

เกิดขึ้นเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 271

ปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและดัน จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย

เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน มหา-

ภูตทั้งหลาย เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแห่งอุปาทายรูปทั้งหลาย

ธรรมมีรูปทั้งหลายลางเหล่า เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแห่งธรรม

ไม่มีรูปทั้งหลายในกาลลางครั้ง ลางครั้งเป็นปัจจัยมิใช่โดยเป็นสหชาต-

ปัจจัย"๑ คำหลัง (คือธรรมมีรูป) นี้ท่านกล่าวหมายเอาหทัยวัตถุอย่าง

เดียว

[แก้อัญญมัญญปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความที่ยังกันและกันให้เกิด และสนับสนุน

ซึ่งกันและกัน ชื่อว่าอัญญมัญญปัจจัย ดุจไม้สามท่อน (ตั้งพิงกันอยู่)

ค้ำกันและกันไว้ฉะนั้น อัญญมัญญปัจจัยนั้นเป็น ๓ อย่างด้วยอำนาจ

อรูปขันธ์เป็นต้น ดังบาลีว่า "ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัยโดยเป็น

อัญญมัญญปัจจัย มหาภูต ๔ เป็นปัจจัยโดยเป็นอัญญมัญญปัจจัย นาม

และรูปในขณะก้าวลง (สู่ครรภ์) เป็นปัจจัยโดยเป็นอัญญมัญญปัจจัย"๒

[แก้นิสสยปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุนโดยอาการเป็นที่ตั้งและโดยอาการเป็นที่อาศัย ชื่อ

ว่า นิสสยปัจจัย ดุจแผ่นดินและแผ่นผ้าเป็นต้น เป็นที่ตั้งและเป็นที่อาศัย

๑. มหาฎีกาว่า กิญฺจิกาเล ขยายเป็น เกจิ กิสฺมิญฺจิ กาเล คำ กิญฺจิ เป็นทุติยาวิภัติ-

เอกวจนะ เมื่อมาสัมพันธ์กับ รูปิโน ธมฺมา กลายเป็นปฐมาวิภัติพหุวจนะไป และ

สัมพันธ์กับ กาเล ก็เป็นสัตตมีวิภัติเอกวจนะด้วย

๒. อภิ. ป. ๔๐/๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 272

แห่งต้นไม้และแห่งจิตรกรรมเป็นอาทิฉะนั้น นิสสยปัจจัยนั้นพึงทราบ

ตามนัยความที่กล่าวในสหชาตปัจจัยนั้นแหละว่า "ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูป

เป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัยซึ่งกันและกัน"* ดังนี้เป็นต้นเถิด แต่

โกฐาส (ส่วน) ที่ ๖ ในปัจจัยนี้ ท่านจำแนกไว้ดังนี้ว่า "จักขายตนะ

เป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ และแห่งธรรม

ทั้งหลายที่สัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น โสตายตนะ----ฆานายตนะ----

ชิวหายตนะ---- กายายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัยแห่งกาย-

วิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุนั้น

มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้นเป็นปัจจัยโดย

เป็นนิสสยปัจจัยแห่งมโนธาตุ แห่งมโนวิญญาณธาตุ และแห่งธรรม

ทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนวิญญาณธาตุนั้น----"*

[แก้อุปนิสสยปัจจัย]

ส่วนในบทว่าอุปนิสสยปัจจัยนี้ พึงทราบความหมายแห่งคำนี่ก่อน

ธรรมอันผลแห่งตนอาศัย คือไม่ปฏิเสธ โดยที่มีความเป็นไปเนื่องด้วย

ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้น เพราะเหตุนี้ ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้นจึงชื่อ

นิสสยะ (เป็นที่อันผลแห่งตนอาศัย) (อุป ศัพท์ในบทอุปนิสสยนั้น

มีอรรถว่า 'ยิ่ง' ว่า 'นัก') เหมือนอย่างว่า ความคับใจนัก ชื่อว่า

อุปายาสฉันใด ธรรมเป็นที่อันผลแห่งตนอาศัยยิ่งนักก็ชื่อว่าอุปนิสสยะ

ฉันนั้น คำว่า อุปนิสสยะ นั่นเป็นชื่อแห่งเหตุอันมีกำลัง (เหตุอันเรี่ยว

* อภิ. ป. ๔๐/๖.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 273

แรง) เพราะเหตุนั้น ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นเหตุมีกำลัง พึง

ทราบว่าชื่ออุปนิสสยปัจจัย

อุปนิสสยปัจจัยนั้นเป็น ๓ อย่าง คือ อารัมมณุปนิสสยะ อนันตรุ-

ปนิสสยะ ปกตุปนิสสยะ

[อารัมมณุปนิสสยะ]

ในอุปนิสสยปัจจัย ๓ นั้น อันดับแรก อารัมมณุนิสสยะ ท่าน

จำแนกไว้ (โดย) ไม่ทำความต่างกับอารัมมณาธิบดี (ความมีอารมณ์

เป็นใหญ่ ?) เลย โดยนัยว่า "การกบุคคลให้ทานแล้ว สมาทานศีลแล้ว

ทำอุโบสถกรรมแล้ว ปัจจเวกขณ์ถึงกุศลกรรมที่กล่าวนั้น (โดย) ทำ

(กุศลกรรมนั้น) ให้เป็นที่หนัก (คือเป็นใหญ่เป็นสำคัญ) ปัจจเวกขณ์

ถึงกุศลกรรมทั้งหลายที่ได้ประพฤติมาดีแล้วในกาลก่อน (โดย) ทำ

(กุศลกรรมนั้น) ให้เป็นที่หนัก ออกจากฌานแล้วปัจจเวกข์ (องค์)

ฌาน (โดย) ทำ (ฌานนั้น) ให้เป็นที่หนัก พระเสกขบุคคลทั้งหลาย

ปัจจเวกขณ์โคตรภู (โดย) ทำ (โคตรภูนั้น) ให้เป็นที่หนัก ปัจจเวกขณ์

โวทาน (ความผ่องแผ้วแห่งจิต) (โดย) ทำ (โวทานนั้น) ให้เป็นที่หนัก

พระเสกขบุคคลทั้งหลายออกจากมรรค (ภวังค์) แล้ว ปัจจเวกขณ์มรรค

(โดย) ทำ (มรรคนั้น) ให้เป็นที่หนัก"* ดังนี้เป็นอาทิ

* อภิ. ป. ๔๐/๑๗๓ มหาฎีกาว่า พระเสกขบุคคลปัจจเวขณ์โคตรภูนั้นหมายถึง

พระโสดาบัน (เพราะเป็นผุ้แรกผ่านโคตรภู ?) ส่วนท่านผู้ปัจจเวกขณ์โวทาน หมายเอา

พระสกาทาคามีและพระอนาคามี เพราะจิตของพระเสกขบุคคลสองประเภทนี้ได้ชื่อว่า

โวทาน อีกนัยหนึ่ง พระเสกขบุคคล หมายเอาพระอริยบุคคลทั้ง ๓ ประเภทนั้นก็ได้

ส่วนที่ว่าออกจากมรรคนั้นหมายความว่าออกจากมรรคที่ตนได้ โดยก้าวล่วงมรรคภวังค์

(หาใช่การออกจากมรรคแท้ ๆ ดังออกจากฌานไม่ ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 274

ในอารมณ์นั้น จิตและเจตสิกทั้งหลายทำอารมณ์ใดให้เป็น

ที่หนักเกิดขึ้น อารมณ์นั้น โดยนิยมก็นับเป็นอารมณ์มีกำลังในบรรดา

อารมณ์เหล่านั้น ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ความต่างกันแห่งอารมณ์

เหล่านั้น พึงทราบดังนี้ว่า นับว่าเป็นอารัมมณาธิบดี โดยหมายว่าเป็น

เพียงอารมณ์ที่พึงทำให้เป็นที่หนัก นับว่าเป็นอารัมมณุปนิสสยะ โดย

หมายว่าเป็นอารมณ์ที่เป็นเหตุมีกำลัง

[อนันตรุปนิสสยะ]

แม้อนันตรุปนิสสยะ ท่านก็จำแนกไว้โดยไม่ทำความต่างกับ

อนันตรปัจจัยเหมือนกัน โดยนัยว่า "ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นกุศลก่อน ๆ

ย่อมเป็นปัจจัย โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เป็นกุศล

หลัง ๆ " ดังนี้เป็นต้น แต่ในมาติกานิกเขป ความแปลกกันในนิกเขป

แห่งจิตและเจตสิก (ที่เป็นอนันตรปัจจัยและอนันตรุปนิสสยะ) เหล่านั้น

มีอยู่ เพราะอนันตรปัจจัยมาโดยนัยว่า "จักขุวิญญาณธาตุและธรรม

ทั้งหลายที่สัมปยุตกับจุกขุวิญญาณธาตุนั้น เป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตร-

ปัจจัยแห่งมโนธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนธาตุนั้น"

ดังนี้เป็นต้น (ส่วน) อุปนิสสยะมาโดยนัยว่า "ธรรมทั้งหลายที่เป็น

กุศลก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่

เป็นกุศลหลัง ๆ" ดังนี้เป็นอาทิ

แม้ความแปลกกันในนิกเขปนั้น โดยใจความก็ถึงซึ่งความเป็น

อันเดียวกันนั่นแล ถึงเป็นอย่างนั้น (ความแปลกกันก็มีอยู่คือ) ความเป็น

อนันตรปัจจัย พึงทราบโดยความเป็นธรรมสามารถในอันยังจิตตุบาท

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 275

ที่ควรแก่ลำดับของตน ๆ ให้เป็นไป (ส่วน) ความเป็นอนันตรุปนิสสยะ

พึงทราบโดยความที่จิตดวงก่อนเป็นเหตุมีกำลัง ในอันยังจิตดวงหลังให้

เกิดขึ้น เพราะอันความเกิดขึ้นแห่งจิตเว้นจิตเป็นลำดับเสีย หามีดัง

จิตที่แม้เว้นธรรมเสียสักอย่าง ในบรรดาธรรมทั้งหลายมีเหตุปัจจยธรรม

เป็นต้นก็เกิดขึ้นได้ฉะนั้นไม่ เพราะเหตุนั้น อนันตรุปนิสสยะ จึงเป็น

ปัจจัยมีกำลัง ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ความต่างกันแห่งธรรม

๒ อย่างนั่น บัณฑิตพึงทราบดังนี้เถิดว่า "ธรรมเป็นอนันตรปัจจัยด้วย

อำนาจแห่งความ (สามารถ) ยังจิตอันควรแก่ลำดับของตน ๆ ให้เกิดขึ้น

เป็นอนันตรุปนิสสยะ ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเหตุมีกำลัง"

[ปกตุปนิสสยะ]

ส่วนปกตุปนิสสยะ พึงทราบ (ดังต่อไปนี้) ว่า อุปนิสสยะที่ทำขึ้น

อย่างดี ชื่อว่าปกตุปนิสสยะ

ปัจจยธรรมที่บุคคลสร้างขึ้นในสันดานของตนก็ดี ปัจจัยภายนอก

มีฤดูและโภชนะเป็นต้น ที่บุคคลเสพด้วยอำนาจศรัทธาและศีลเป็นต้น

ก็ดี ชื่อว่าปกตะ (ทำขึ้นอย่างดี)

อีกนัยหนึ่ง อุปนิสสยะ โดยปกติ (คือโดยสภาวะของตน) นั่นเอง

ชื่อว่า ปกตุปนิสสยะ หมายความว่าไม่เจือปนด้วยอารัมมณุปนิสสยะ

และอนันตรุปนิสสยะ

ประเภทโดยอเนกประการแห่งปกตุปนิสสยะนั้น พึงทราบโดย

นัยว่า "ปกตุปนิสสยะ คือบุคคลอาศัยยิ่งนักซึ่งศรัทธาแล้ว ย่อมให้ทาน

ย่อมสมาทานศีล ย่อมทำอุโบสถกรรม ย่อมยังฌานให้เกิดขึ้น ย่อมยัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 276

วิปัสสนาให้เกิดขึ้น ย่อมยังมรรคให้เกิดขึ้น ย่อมยังอภิญญาให้เกิดขึ้น

ย่อมยังสมาบัติให้เกิดขึ้น อาศัยยิ่งนักซึ่งศีล----ซึ่งสุตะ----ซึ่งจาคะ---- ซึ่ง

ปัญญาแล้ว ย่อมให้ทาน ฯลฯ ย่อมยังสมาบัติให้เกิดขึ้น ศรัทธา

ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา จึงเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งศรัทธา

ศีล สุตุ จาคะ ปัญญา๑ ดังนี้เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นนี้ อันบุคคลทำขึ้นอย่างดีด้วย เป็น

อุปนิสสยะ โดยความหมายว่า เป็นเหตุมีกำลังด้วย ดังกล่าวมาฉะนี้

เหตุนั้นจึงได้ชื่อว่า ปกตุนิสสยะ

[แก้ปุเรชาตปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุน โดยความเป็นสภาพเกิดขึ้นก่อนแล้วเป็นไปอยู่

ชื่อว่า ปุเรชาตปัจจัย๒ ปุเรชาตปัจจัยนั้นมี ๑๑ อย่าง โดยเป็นวัตถุ

และอารมณ์ในปัญจทวาร (เป็น ๑๐) และหทัยวัตถุ (รวมเป็น ๑๑) ดัง

บาลีว่า "จักขายตนะ เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณ-

ธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น โส-

ตายตนะ----ฆานายตน----ชิวหายตนะ----กายายตนะ เป็นปัจจัยโดยเป็น

ปุเรชาตปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับ

กายวิญญาณธาตุนั้น รูปายตนะ เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่ง

๑_______________. อภิ. ป. ๔๐/๑๗๓ หมายความว่า กุศลธรรมก่อน ๆ เป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่ง

กุศลธรรมหลัง ๆ (?)

๒. ปัจจัยข้อนี้ท่านหมายเอารูปธรรม ได้แก่อายตนะภายใน ๕ อายตนะภายนอก ๕

และหทัยวัตถุ (คือหัวใจ) ซึ่งจะกล่าวต่อไปนั้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนอรูปธรรม เป็นปัจจัย

แห่งอรูปธรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 277

จักขุวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุ

นั้น สัททายตนะ----คันธายตนะ----รสายตนะ----โผฏฐัพพายตนะ เป็น

ปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลาย

อันสัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุนั้น รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ

รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่ง

มโนธาตุ๑ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้น

(คือหทัยวัตถุ) เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งมโนธาตุและแห่ง

ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับมโนธาตุนั้น เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาต-

ปัจจัยแห่งมโนวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับมโน-

วิญญาณธาตุนั้นในกาลลางครั้ง (คือในปวัตติกาล) ไม่เป็นปัจจัยโดย

เป็นปุเรชาตปัจจัยในกาลลางคราว (คือในจุติกาลและปฏิสนธิกาล)"๒

[แก้ปัจฉาชาตปัจจัย]

อรูปธรรมผู้อุดหนุน โดยความเป็นธรรมค้ำจุนรูปธรรมทั้งหลาย

ที่เกิดก่อนไว้ ชื่อว่าปัจฉาชาตปัจจัย ดังเจตนาคือความหวังในอาหาร

ค้ำจุนสรีระของลูกแร้งทั้งหลายไว้ฉะนั้น๓ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า

"จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายอันเกิดภายหลัง เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจฉา-

ชาตปัจจัยแห่งกายนี้ อันเกิดก่อน"๔

๑. เข้าใจว่าปาฐะตก ตํสมฺปยุตฺตกานญฺจ ธมฺมานํ - และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุต

กับมโนธาตุนั้น

๒. อภิ. ป. ๔๐/๘

๓. มหาฎีกาว่า เจตนาชนิดนี้เป็นไปด้วยอำนาจมโนสัญเจตนาหาร

๔. อภิ. ป. ๔๐/๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 278

[แก้อาเสวนปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความหมายคืออาเสวนะ (เสพมาก คือประพฤติ

จนคุ้น) เพื่อความคล่องแคล่วและมีกำลังแห่งอนันตรธรรม (ธรรมเป็น

ลำดับ) ทั้งหลา ชื่อว่า อาเสวนปัจจัย ดุจอภิโยค (ความประกอบยิ่ง

คือความพากเพียร) ตอนก่อน ๆ ในการเรียนคัมภีร์เป็นต้น (เพื่อความ

คล่องแคล่วในการเรียนคัมภีร์ตอนหลัง ๆ) ฉะนั้น อาเสวนปัจจัยนั้น

เป็น ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งชวนะที่เป็นกุศลอกุศลและกิริยา ดังบาลีว่า

"กุศลธรรมทั้งหลายก่อน ๆ เป็นปัจจัยโดยเป็นอาเสวนปัจจัยแห่งกุศล-

ธรรมทั้งหลายหลัง ๆ อกุศลธรรมทั้งหลายก่อน ๆ เป็นปัจจัยโดยเป็น

อาเสวนปัจจัยแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายหลัง ๆ กิริยาอัพยากฤตธรรม

ทั้งหลายก่อน ๆ เป็นปัจจัยโดยเป็นอาเสวนปัจจัยแห่งกิริยาอัพยากฤต-

ธรรมทั้งหลายหลัง ๆ"*

[แก้กรรมปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุน โดยความเป็นการกระทำ ที่ได้แก่จิตตประโยค

(ความประกอบทางจิต คือเจตนา) ชื่อว่ากรรมปัจจัย กรรมปัจจัยนั้น

เป็น ๒ ด้วยอำนาจแห่งกุศลเจตนาและอกุศลเจตนาอันเป็นไปในขณะ

ต่าง ๆ และแห่งเจตนาทั้งปวงที่เป็นสหชาต ดังบาลีว่า "กุศลกรรม

และอกุศลกรรม เป็นปัจจัยโดยเป็นกรรมปัจจัยแห่งวิบากขันธ์ทั้งหลาย

และแห่งกฏัตตารูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) ทั้งหลายด้วย สหชาตเจตนา

* อภิ. ป. ๔๐/๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 279

เป็นปัจจัย โดยเป็นกรรมปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับเจตนาและ

แห่งรูปทั้งหลายที่มีเจตนานั้นเป็นสมุฏฐานด้วย"๑

[แก้วิปากปัจจัย]

วิบากธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมสงบ (คือว่ากรรมทำมา

เสร็จแล้ว หรือว่าละเอียด เพราะรู้ยาก ?) ไม่มีอุตสาหะ (คือไม่ต้อง

พยายามทำอะไรอีก ?) เพื่อความเป็นสภาพสงบไม่มีอุตสาหะ (คือต้อง

เป็นอย่างนั้นไม่มีทางบ่ายเบี่ยง ?) ชื่อว่าวิปากปัจจัย วิบากธรรมนั้น

ย่อมเป็นปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานในปวัตตกาล และ

แห่งกฏัตตารูปทั้งหลายในปฏิสนธิกาล และแห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย

ในกาลทั้งปวงด้วย ดังบาลีว่า "ขันธ์ ๑ ที่เป็นวิบากอัพยากฤต เป็นปัจจัย

โดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ ๓ และแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน

ฯ ล ฯ ขันธ์ ๑ ทีเป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่ง

ขันธ์ ๓ และแห่งกฏัตตารูปทั้งหลายในปฏิสนธิขณะ ขันธ์ ๓ เป็น

ปัจจัยโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ ๑ ขันธ์ ๒ เป็นปัจจัยโดยเป็น

วิปากปัจจัยแห่งขันธ์ ๒ และแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย ขันธ์ทั้งหลาย

เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งวัตถุ (คือหทัยวัตถุ ?)"๒

[แก้อาหารปัจจัย]

อาหาร ๔ ผู้อุดหนุนโดยความคือเป็นผู้ค้ำจุนรูปและอรูปทั้งหลาย

ไว้ ชื่อว่าอาหารปัจจัย ดังบาลีว่า "กพฬิงการหาร เป็นปัจจัยโดย

เป็นอาหารปัจจัยแห่งกายนี้ อาหารทั้งหลายที่เป็นอรูป (คือผัสสะ มโนสัญ-

๑. อภิ. ป. ๔๐/๙ ๒. อภิ. ป. ๔๐/๑๘๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 280

เจตนาและวิญญาณ) เป็นปัจจัยโดยเป็นอาหารปัจจัยแห่งสัมปยุตธรรม

ทั้งหลาย และแห่งรูปทั้งหลายอันมีอรูปาหาร (ทั้ง ๓) นั้นเป็นสมุฏฐาน๑"

แต่ในปัญหาวาร กล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ อาหารทั้งหลายที่

เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัย โดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลายอัน

สัมปยุตกับอาหารนั้น และแห่งกฏัตตารูปทั้งหลายด้วย๒" ดังนี้อีกด้วย

[แก้อินทรีย์ปัจจัย]

อินทรีย์ ๒๐ เว้นอิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ ผู้อุดหนุนโดยความ

คือเป็นใหญ่ ชื่อว่าอินทรียปัจจัย ก็แลในอินทรีย์ ๒๐ นั้น อินทรีย์ ๕

มีจักขุนทรีย์เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งอรูปธรรมทั้งหลายอย่างเดียว อินทรีย์

ทีเหลือ (๑๕) เป็นปัจจัยทั้งแห่งรูปธรรมและอรูปธรรม ดังบาลีว่า

"จักขุนทรีย์เป็นปัจจัย โดยเป็นอินทรียปัจจัยแห่งจักขุวิญญารธาตุ และ

แห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น โสตินทรีย์----

ฆานินทรีย์----ชิวหินทรีย ----กายินทรีย์เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรีย์ปัจจัยแห่ง

กายวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุ

นั้น รูปชีวิตินทรีย์เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรียปัจจัยแห่งกฏัตตารูป

ทั้งหลาย อินทรียทั้งหลายที่เป็นอรูป (๑๔) เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรีย-

ปัจจัยแห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย และแห่งรูปทั้งหลายที่มีอรูปินทรีย์นั้น

เป็นสมุฏฐานด้วย๓" แต่ในปัญหาวาระ กล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ

๑. อภิ. ป. ๔๐/๙

๒. อภิ. ป. ๔๐/๑๘๙

๓. อภิ. ป. ๔๐ ๑๘๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 281

อินทรีย์ทั้งหลายที่เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัย โดยเป็นอินทรียปัจจัย

แห่งสัมปยุตขันธ์ทั้งหลายและแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย๑" ดังนี้อีกด้วย

[แก้ฌานปัจจัย]

องค์ฌาน ๗ (คือวิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส

อุเบกขา) อันต่างโดยเป็นกุศลฌานเป็นต้นทั้งปวง ยกเว้นเวทนาสอง

คือสุขทุกข์ในทวิปัญจวิญญาณ ผู้อุดหนุนโดยความคือเข้าไปเพ่ง

(อารมณ์และลักษณะ) ชื่อว่าฌานปัจจัย ดังบาลีว่า "องค์ฌาน

ทั้งหลายเป็นปัจจัยโดยเป็นฌานปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับฌาน

และแห่งรูปทั้งหลายที่มีฌานนั้นเป็นสมุฏฐานด้วย๒" แต่ในปัญหาวาระ

กล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ องค์ฌานทั้งหลายอันเป็นวิบากอัพยากฤต

เป็นปัจจัยโดยเป็นฌานปัจจัยแห่งสัมปยุตขันธ์ทั้งหลาย และแห่งกฏัตตา-

รูปทั้งหลายด้วย๓" ดังนี้อีกบ้าง

[แก้มรรคปัจจัย]

องค์มรรค ๑๐๔ (คือสัมมาทิฏฐิ ฯ ล ฯ สัมมาวิมุติ) อันต่างโดย

เป็นกุศลมรรค (คือเป็นสัมมัตตะ) เป็นต้น ผู้อุดหนุนโดยความคือนำ

ออกไปจากสิ่งใดก็แล้วแต่ (คือจากผิดหรือชอบ ก็แล้วแต่มรรค)๕

ชื่อว่ามรรคปัจจัย ดังบาลีว่า "องค์มรรคทั้งหลายเป็นปัจจัยโดยเป็น

๑. อภิ. ป. ๔๐/๑๙๐

๒. อภิ. ป. ๔๐/๑๐ ๓. อภิ. ป. ๔๐/๑๙๓

๔. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น ทฺวาทส คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น ทส

๕. อธิบายว่า ถ้าเป็นกุศลเป็นสัมมัตตะ ก็นำออกจากผิด ถ้าเป็นอกุศล คือเป็น

มิจฉัตตะ ก็นำออกจากชอบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 282

มรรคปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมรรค และแห่งรูปทั้งหลาย

ที่มีมรรคนั้นเป็นสมุฏฐานด้วย๑" แต่ในปัญหาวาระ กล่าวไว้ว่า "ใน

ปฏิสนธิขณะ องค์มรรคทั้งหลายอันเป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดย

เป็นมรรคปัจจัยแห่งสัมปยุตขันธ์ทั้งหลาย และแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย

ด้วย๒" ดังนี้อีกบ้าง

แต่ว่าฌานปัจจัยและมรรคปัจจัยทั้ง ๒ นี่ พึงทราบว่าย่อมไม่มี

ในทวิปัญจวิญญาณ และอเหตุกจิตทั้งหลาย

[แก้สัมปยุตปัจจัย]

อรูปธรรมทั้งหลาย ผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมประกอบกัน

กล่าวคือมีวัตถุเดียวกันมีอารมณ์เดียวกัน และเกิดด้วยกันดับด้วยกัน

ชื่อว่า สัมปยุตปัจจัย ดังบาลีว่า "ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัย โดย

เป็นสัมปยุตปัจจัยซึ่งกันและกัน๓"

[แก้วิปยุตปัจจัย]

รูปธรรมทั้งหลายผู้อุดหนุนโดยไม่เข้าถึง (คือไม่เกี่ยวกับ) ความ

เป็นธรรมมีวัตถุเดียวกันเป็นต้น เป็นวิปยุตปัจจัยแห่งอรูปธรรม

ทั้งหลาย แม้อรูปธรรมทั้งหลายเล่า ก็เป็นวิปยุตปัจจัยแห่งรูปธรรม

ทั้งหลาย (เหมือนกัน) วิปยุตปัจจัยนั้นเป็น ๓ โดยแยกเป็นสหชาต (เกิด

พร้อมกัน) ปัจฉาชาต (เกิดทีหลัง) และปุเรชาต (เกิดก่อน) สมดังบาลี

ว่า "กุศลขันธ์ทั้งหลายที่เป็นสหชาต เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัย

๑. อภิ. ป. ๔๐/๑๐

๒. อภิ. ป. ๔๐/๑๙๓

๓. อภิ. ป. ๔๐/๑๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 283

แห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน กุศลขันธ์ทั้งหลายที่เป็นปัจฉาชาต

เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่งกายนี้ซึ่งเป็นปุเรชาต๑" แต่ในสหชาต-

วิภังค์แห่งบทอัพยากฤต กล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ ขันธ์ทั้งหลายที่

เป็นวิบากอัพยากฤต เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่งกฏัตตารูป

ทั้งหลาย ขันธ์ทั้งหลายเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่ง (หทัย)

วัตถุ (หทัย) วัตถุเป็นปัจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลาย๒"

ดังนี้บ้าง ส่วนที่เป็นปุเรชาต พึงทราบด้วยอำนาจแห่งวัตถุมีจักขุนทรีย์

เป็นต้นเท่านั้น ดังบาลีว่า "จักขายตนะที่เป็นปุเรชาต เป็นปัจจัย

โดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณ ฯ ล ฯ กายายตนะที่เป็นปุเรชาต

เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่งกายวิญญาณ (หทัย) วัตถุเป็นปัจจัย

โดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลาย ที่เป็นวิบากอัพยากฤต---- ที่เป็น

กิริยาอัพยากฤต ฯ ล ฯ (หทัย) วัตถุเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่ง

กุศลขันธ์ทั้งหลาย ฯ ล ฯ (หทัย) วัตถุเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปยุตปัจจัยแห่ง

อกุศลขันธ์ทั้งหลาย๓"

[แก้อัตถิปัจจัย]

ธรรมผู้อุดหนุน โดยความเป็นธรรมค้ำจุนซึ่งธรรมที่เป็นเช่นเดียว

กันด้วยความที่มีอยู่อันมีลักษณะเป็นปัจจุบัน ชื่อว่าอัตถิปัจจัย มาติกา

แห่งอัตถิปัจจัยนั้นท่านวางไว้ ๗ ประการ ด้วยอำนาจแห่งอรูปขันธ์

มหาภูต นามรูป จิตเจตสิก มหาภูตรูป อายตนะ และ (หทัย) วัตถุ

๑-๒-๓. อภิ. ป. ๔๐/๑๙๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 284

ดังบาลีว่า "ขันธ์ ๔ ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัยโดยเป็นอัตถิปัจจัยซึ่งกันและกัน

มหาภูต (คือธาตุ) ๔ เป็น----อัตถิปัจจัยซึ่งกันและกัน นามรูปเป็น----

อัตถิปัจจัยซึ่งกันและกันในโอกกันติขณะ (ขณะลงสู่ครรภ์) จิตและ

เจตสิกธรรมทั้งหลายเป็น ---- อัตถิปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏ-

ฐาน มหาภูตรูปเป็น----อัตถิปัจจัยแห่งอุปาทานรูปทั้งหลาย จักขายตนะ

เป็น----อัตถิปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ ฯ ล ฯ กายายตนะเป็น----อัตถิ

ปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุ รูปายตนะ ฯ ล ฯ โผฏฐัพพายตนะเป็น----

อัตถิปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับกาย

วิญญาณธาตุนั้น รูปายตนะ ฯ ล ฯ โผฏฐัพพายตนะ เป็น----อัตถิปัจจัย

แห่งมโนธาตุ และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนธาตุนั้น มโนธาตุ

และมโนวิญญาณธาตุ อาศัยรูป (คือหทัยวัตถุ) ใดเป็นไป รูปนั้นเป็น----

อัตถิปัจจัยแห่งมโนธาตุและแห่งมโนวิญญาณธาตุ และแห่งธรรม

ทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนวิญญาณธาตุนั้น" แต่ในปัญหาวาระวางมาติกา

เพิ่มไว้อีกคือ "สหชาต ปุเรชาต ปัจฉาชาต อาหาร อินทรีย์" แล้ว

ทำนิเทศ (คืออธิบาย) ในสหชาตก่อน โดยนัยว่า "ขันธ์ ๑ เป็น ----

อัตถิปัจจัยแห่งขันธ์ ๓ และแห่งรูปอันมีขันธ์ ๓ นั้นเป็นสมุฏฐาน"

ดังนี้เป็นต้น (ส่วน) ในปุเรชาต ทำนิเทศด้วยอำนาจแห่งอายตนะ

มีจักษุเป็นต้นซึ่งเป็นปุเรชาตธรรม ในปัจฉาชาต ทำนิเทศด้วยอำนาจ

แห่งกายนี้อันเป็นปุเรชาต เป็นปัจจัยแห่งจิตและเจตสิกทั้งหลายอันเป็น

ปัจฉาชาต ในอาหารและอินทรีย์ ทำนิเทศฉะนี้ว่า "กพฬิงการราหาร

เป็น----อัตถิปัจจัยแห่งกายนี้ รูปชีวิตินทรีย์เป็น----อัตถิปัจจัยแห่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 285

กฏัตตารูปทั้งหลาย" ดังนี้

[แก้นัตถิปัจจัย]

อรูปธรรมทั้งหลายทั้งหลายที่ดับ ๆ ไปเร็ว ผู้อุหนุนโดยให้โอกาสเพื่อ

ความเป็นไปแห่งอรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งตน ชื่อว่า

นัตถิปัจจัย ดังบาลีว่า "จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายที่ดับ ๆ ไปเร็ว

เป็น----นัตถิปัจจัยแห่งจิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นปัจจุบัน"

[แก้วิคตปัจจัย]

นัตถิปัจจยธรรมเหล่านั้นแหละชื่อว่าวิคตปัจจัย เพราะเป็นธรรม

ผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมที่ปราศไปแล้ว (คือไม่มีแล้ว) ดังบาลีว่า

"จิตและเจตสิธรรมทั้างหลายที่ดับ ๆ ไปเร็ว เป็น----วิคตปัจจัยแห่งจิต

และเจตสิกธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน"

[แก้อวิคตปัจจัย]

อนึ่ง อัตถิปัจจยธรรมทั้งหลายนั่นแลพึงทราบว่า ชื่อว่าอวิคตปัจจัย

เพราะเป็นธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมที่ยังไปปราศไป (คือยังมีอยู่ป

ก็แลทุกะนี้ (คือปัจจัยคู่นี้) ตรัสด้วยเทสนาวิลาส (ความงดงาม

แห่งเทศนา) หรือด้วยอำนาจแห่งเวไนยที่จะพึงทรงฝึกสอนได้ด้วย

เทศนาวิธีนั้น ดุจเหตุวิปยุตทุกะ แม้ตรัสอเหตุกทุกะแล้วก็ยังตรัส (อีก)

ฉะนั้นแล

[แก้บทอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา]

[อวิชชาเป็นปัจจัยหลายประการ]

ในปัจจัย ๒๔ ที่กล่าวมานี้ อวิชชานี่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 286

นับเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขาร คือบุญทั้งหลาย โดย

ประการ ๒ แต่มันเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อถัดไป

(คืออปุญญาภิสังสาร) โดยหลายประการ เป็น

ปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อสุดท้าย (คืออเนญชาภิสัง-

ขาร) โดยประการเดียวแล

ในคำเหล่านั้น คำว่า 'เป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารคือบุญทั้งหลาย

โดยประการ ๒' ความว่า อวิชชาเป็นปัจจัย (แห่งบุญญาภิสังขาร)

โดยประการ ๒ คือโดยเป็นอารัมมณปัจจัย ๑ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย ๑

อธิบายว่า อวิชชานั้นเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัยแห่งบุญญา-

ภิสังขารทั้งหลายฝ่ายกามาวจร ในกาลที่พิจารณาอวิชชาโดยความสิ้น

ความเสื่อม เป็น---- อารัมมณปัจัยแห่งบุญญาภิสังขารฝ่ายรูปาวจร ใน

กาลที่รู้จิตอันเป็นไปกับโมหะ (ทั้งของตนและคนอื่น) ด้วยอภิญญาจิต

(มีเจโตปริยญาณเป็นต้น) แต่ว่าเมื่อบุคคลบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุฝ่าย

กามาวจรทั้งหลายมีทานเป็นต้นก็ดี ยังรูปาวจรฌานทั้งหลายให้เกิดขึ้นก็ดี

เพื่อประโยชน์แก่การก้าวล่วงเสียซึ่งอวิชชา มันก็เป็นปัจจัยโดยเป็น

อุปนิสสยปัจจัยแห่งบุญญาภิสังขารทั้งสองนั้น เมื่อบุคคลปรารถนา

สมบัติในกามภพและรูปภพแล้วทำบุญ (ทั้งสอง) นั้นแหละอยู่ เพราะ

หลงไปด้วยความไม่รู้ ก็อย่างนั้น (คืออวิชชานั้นเป็น----อุปนิสสยปัจจัย

แห่งบุญญาภิสังขารทั้งสองนั้นเช่นเดียวกัน)

คำว่า 'แต่มันเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อถัดไปโดยหลายประการ'

ความว่า อวิชชาย่อมเป็นปัจจัยแห่งอบุญญาภิสังขารทั้งหลายโดยหลาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 287

ประการ ปุจฉาว่า เป็นอย่างไร ? วิสัชนาว่า ก็อวิชชานั่นย่อมเป็น

ปัจจัย (แห่งอบุญญาภิสังขาร) โดยหลายประการคือ ในกาลที่เจตสิกมี

ราคะเป็นต้นปรารภอวิชชาเกิดขึ้น มันก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัย

ในกาลที่ทำอวิชชาให้เป็นที่หนัก (คือน้ำหนักอยู่ที่อวิชชา) (เกิดความ)

พอใจขึ้น มันก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณาธิบดีและอารัมณูปนิสสยะ

เมื่อบุคคลผู้หลงไปด้วยความไม่รู้ไม่เห็นโทษ (ในบาป) ทำบาปทั้งหลาย

มีปาณาติบาตเป็นต้นเข้า มันก็เป็น----อุปนิสสยปัจจัย มันเป็น----

อนันตร. . สัมนันตร. .อนันตรุปนิสสยะ. . อาเสวนะ. .นัตถิ. .และวิคตปัจจัย

แห่งชวนะจิตมีชวนะดวงที่สองเป็นต้นไป เมื่อบุคคลทำอกุศลทุกอย่าง

มันเป็น----เหตุ . .สหชาต. .อัญญมัญญะ. .นิสสยะ. .สั___________มปยุตตะ. .อัตถิและ

อวิคตปัจจัย

คำว่า 'นับว่าเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อสุดท้ายโดยประการเดียว'

คืออวิชชานับว่าเป็นปัจจัยโดยประการเดียว คือโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย

เท่านั้นแห่งอเนญชาภิสังขารทั้งหลาย ก็แลความที่มันเป็นอุปนิสสย-

ปัจจัยนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในบุญญาภิสังขารนั่นเถิด

[แก้ปัญหาว่าอวิชชาอย่างเดียวเป็นปัจจัยแห่งสังขารหรือ]

ในบทว่า 'สังขารทั้งหลายย่อมมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา' นี้ โจท-

กาจารย์กล่าว (ทัก) ว่า "ก็อวิชชานี่อย่างเดียวเท่านั้นเป็นปัจจัยแห่ง

สังขารทั้งหลายหรือ หรือว่าปัจจัยอื่น ๆ อีกก็มี ?" พระอาจารย์

กล่าวเฉลยว่า "ก็ในข้อนี้จะพึงว่ากันอย่างไร (ดี) เล่า ผิว่าอวิชชา

อย่างเดียว (เป็นปัจจัย) ไซร้ ก็ต้องเป็นพวกเอกการณวาทะ (กล่าวว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 288

มีเหตุอันเดียว ซึ่งไม่ถูกต้อง) หากว่าปัจจัยอื่น ๆ อีกก็มีไซร้

เอกการณนิเทศ (คำบาลีที่แสดงเหตุไว้อันเดียว) ว่า "อวิชฺชาปจฺจยา

สงฺขารา - สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา" ก็ไม่เกิดประโยชน์

พระอาจารย์กล่าวต่อไปว่า "(แต่อันที่จริง) เอกการณนิเทศนั้นจะไม่เกิด

ประโยชน์หามิได้ เพราะอะไร เพราะ

เอกผล (เกิด) แต่เอกเหตุไม่มี แม้อเนกผล (เกิด)

แต่เอกเหตุก็ไม่มี เอกผลเล่า (เกิด) แต่อเนกเหตุ

ก็ไม่มี แต่อรรถ (คือประโยชน์) ในการแสดง

เอกเหตุเอกผลมีอยู่

จริงอยู่ ผลอย่างเดียว (เกิด) แต่เหตุอันเดียวไม่มีสักอย่างใน

ปัจจยาการนี้ ผลหลายอย่าง (เกิด) แต่เหตุอันเดียวก็ไม่มี ผลอย่างเดียว

(เกิด) แต่เหตุหลายอันเล่าก็ไม่มี แต่ว่าผลหลายอย่าง (เกิด) แต่เหตุ

หลายอันนั่นมี จริงอย่างนั้นผลหลายอย่างได้แก่รูป กลิ่น รสเป็นต้น

และหน่อ (ไม้) นั่นเกิดขึ้นแต่เหตุหลายอันกล่าวคือฤดู ดิน พืช (พันธุ์)

และน้ำปรากฏอยู่ แต่การแสดงเหตุอันเดียวและผลอย่างเดียว ที่พระผู้

มีพระภาคเจ้าทรงทำไว้ว่า 'อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา

วิญฺญาณํ"* นั้นใด ในการแสดงเหตุอันเดียวและผลอย่างเดียวนั้น

อรรถมีอยู่ คือประโยชน์มีอยู่ แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง

เอกเหตุบ้าง เอกกผลบ้างเหมือนกัน โดยควรแก่พระเทศนาวิลาศและแก่

* มหาฎีกาว่า บท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แสดงเอกเหตุ บท สงฺขารปจฺจยา

วิญฺญาณํ แสดงเอกผล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 289

(อัชฌาสัยของ) เวไนยสัตว์ทั้งหลายบ้าง ในลางบทเพราะเป็นเหตุและ

ผลประธาน ลางบทเพราะเป็นเหตุปรากฏ (เห็นเด่นชัด) ลางบทเพราะ

เป็นเหตุอสาธารณะ (เฉพาะ) ขยายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

เอกเหตุและเอกผลด้วย เพราะความเป็นเหตุประธานและผลประธาน

เช่นในบทว่า 'ผสฺสปจฺจยา เวทนา' เหตุว่าผัสสะเป็นประธานเหตุแห่ง

เวทนา เพราะกำหนดเวทนาตามควรแก่ผัสสะ เวทนาเล่าก็เป็นประธาน

ผลแห่งผัสสะ เพราะกำหนดผัสสะตามควรแก่เวทนา๑ ตรัสเอาเหตุ

เพราะความปรากฏ เช่นในคำว่า 'เสมฺหสมุฏฺฐานา อาพาธา๒ - อาพาธ

ทั้งหลายที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน' เพราะว่าในอาพาธนี้เสมหะเป็นเหตุ

ที่ปรากฏ เหตุอื่นมีกรรมเป็นต้นไม่ปรากฏ ตรัสเอกเหตุเพราะความ

เป็นเหตุอสาธารณะ เช่นในข้อว่า 'เยเกจิ ภิกฺขเว อกุสลา ธมฺมา

สพฺแพ เต อโยนิโสมนสิการมูลกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรม

ทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง (บรรดามี) อกุศลธรรมทั้งหลายนั้นล้วนมี

อโยนิโสมนสิการเป็นมูล' เพราะอโยนิโสมนสิการเป็นเหตุอสาธารณะ

เหตุอื่น ๆ มีวัตถุและอารมณ์เป็นต้นเป็นเหตุสาธารณะแก่อกุศลทั้งหลาย

แล

เพราะเหตุนั้น ในปัจจยาการนี้ อวิชชานี่ แม้เมื่อเหตุแห่ง

สังขารทั้งหลายอื่นมีวัตถุ อารมณ์และสหชาตธรรมเป็นต้นมีอยู่ ก็พึง

ทราบเถิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงโดยความเป็นเหตุแห่งสังขาร

๑. เช่นว่า เวทนา อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ชื่อว่าสุขเวทนา

๒. องฺ. ทสก. ๒๔/๑๑๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 290

ทั้งหลาย เพราะความที่อวิชชานั้นเป็นสังขารเหตุที่เป็นประธาน๑ แห่ง

สังขารเหตุอื่น ๆ มีตัณหาเป็นต้น โดยพระบาลีว่า "ตัณหาย่อมพอก-

พูนแก่บุคคลผู้คอยดูแต่ส่วนที่น่ายินดี (ในสังโยชนียธรรม). . . ๒" เป็นต้น

และโดยพระบาลีว่า "ความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ ย่อมมีเพราะความเกิด

ขึ้นแห่งอวิชชา"๓ เพราะเป็นเหตุปรากฏและเพราะเป็นเหตุอสาธารณะ

ด้วย โดยพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โง่เขลาตกอยู่ในอวิชชา

ย่อมสร้างบุญญาภิสังขารขึ้นบ้าง. . ." เป็นต้น ก็แลประโยชน์ในการ

ทรงแสดงเอกเหตุเอกผลในบททั้งปวง พึงทราบโดยคำเฉลยการทรง

แสดงเอกเหตุเอาผล (ที่กล่าวมา) นั่นเทอญ

[แก้ปัญหาว่าอวิชชาเป็นเหตุแห่งสังขารฝ่ายดีได้หรือ]

ในบท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้ โจทกาจารย์กล่าวทัก (อีก

ประเด็นหนึ่ง) ว่า "ถึงเป็นอย่างกล่าวมานั้น (แต่) การที่อวิชชา

ซึ่งเป็นสิ่งมีโทษ มีผลอันไม่น่าปรารถนาโดยส่วนเดียว มาเป็นปัจจัยแห่ง

บุญญาภิสังขารและอเนญชาภิสังขาร (ซึ่งมีผลน่าปรารถนา) จะใช้ได้

ไฉน ? เพราะว่าอ้อยจะเกิดแต่พืชสะเดาหาได้ไม่" พึงเฉลยว่า "ไฉน

จักใช้ไม่ได้เล่า เพราะในโลก

ปัจจัยแห่ง (สภาว) ธรรมทั้งหลาย ที่ผิดกัน

(กับผล) ก็ดี ไม่ผิดกันก็ดี ที่เหมือนกันและไม่

๑. ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า สงฺขารเหตูติ ปธานตฺตา ไม่เห็นทางจะแปลให้ได้ความ เข้าใจว่า

ที่ถูกจะเป็น สงฺขารเหตุปธานตฺตา ดังแปลไว้นั้น

๒. สํ. นิทาน. ๑๖/๑๐๒ ท่านว่าข้อนี้แสดงว่า ตัณหาเป็นเหตุแห่งสังขาร

๓. ม. มู. ๑๒/๑๐๑ ท่านว่าข้อนี้แสดงว่า อวิชชา เป็นเหตุแห่งตัณหา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 291

เหมือนกัน (กับผล) ก็เช่นกัน ย่อมเป็นเหตุสำเร็จ

(คือให้เกิดผล) ได้ แต่ธรรมเหล่านั้น มิได้เป็น

วิบาก (แห่งปัจจัยเหล่านั้น) เลย

จริงอยู่ ปัจจัยที่ผิดกันโดยฐาน (ตำแหน่งที่และเวลา) สภาวะ และ

กิจเป็นต้นแห่ง (สภาว) ธรรมทั้งหลายก็ดี ไม่ผิดกันก็ดี ย่อมเป็น

เหตุสำเร็จได้ในโลก ด้วยจิตดวงก่อน ย่อมเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยฐาน

แห่งจิตดวงหลังได้ และการศึกษามีศึกษาศิลปะเป็นต้นก่อน ย่อม

เป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยฐานแห่งการทำงานมีประกอบศิลปะเป็นต้น อัน

เป็นไปในภายหลังก็ได้ กรรมเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยสภาวะแห่งรูปได้

และนมสดเป็นต้น เป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยสภาวะแห่งนมสัมเป็นต้นก็ได้

แสงสว่างเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยกิจแห่งจักษุวิญญาณได้ และน้ำอ้อยงบ

เป็นต้น เป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยกิจแห่งน้ำดอง (คือน้ำเมา) เป็นต้น

ก็ได้ ส่วนจักขุและรูปเป็นต้น เป็นปัจจัยที่ไม่ผิดกันโดยฐานแห่งจักขุ-

วิญญาณเป็นต้น ชวนจิตดวงก่อนเป็นต้น เป็นปัจจัยที่ไม่ผิดกันโดย

สภาวะ และไม่ผิดกันโดยกิจแห่งชวนจิตดวงหลังเป็นต้น

อนึ่ง ปัจจัยที่ผิดกันและไม่ผิดกัน (กับผล) เป็นเหตุสำเร็จได้

ฉันใด แม้ปัจจัยที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน (กับผล) ก็เป็นเหตุ

สำเร็จได้ฉันนั้น จริงอยู่ รูปกล่าวคือฤดูและอาหาร ซึ่งเหมือนกัน

นั่นเองเป็นปัจจัยแห่งรูป พืชข้าวสาลีเป็นต้น ซึ่งก็เหมือนกันนั่นแล

เป็นปัจจัยแห่งเมล็ดข้าวสาลีเป็นต้น รูปซึ่งแม้ไม่เหมือนกัน แต่เป็น

ปัจจัยแห่งอรูปได้ อรูปเล่าก็เป็นปัจจัยแห่งรูปได้ และขนโค ขนแกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 292

เขาสัตว์ นมสัม งา แป้งเป็นต้น ซึ่งไม่เหมือนกันก็เป็นปัจจัยแห่งหญ้า

แพรกและตะไคร้เป็นต้นได้* แต่ปัจจัยธรรมเหล่านั้นเป็นปัจจัยที่ผิดกัน

ไม่ผิดกันและเหมือนกันไม่เหมือนกัน (ก็ดี) แห่งธรรมเหล่าใด ธรรม

เหล่านั้นก็มิได้เป็นวิบากแห่ง (ปัจจย) ธรรมเหล่านั้นเลย

ด้วยประการดังนี้ อวิชชานี่ แม้ว่าโดยวิบาก เป็นสิ่งที่มีผลไม่น่า

ปรารถนาโดยส่วนเดียว และว่าโดยสภาวะก็เป็นสิ่งมีโทษ (แต่ก็) พึง

ทราบเถิดว่า มันเป็นปัจจัยแห่งสังขารมีบุญญาภิสังขารเป็นต้นนั้นทั้งหมด

ได้ ด้วยสามารถเป็นปัจจัยที่ผิดกัน และไม่ผิดกัน โดยฐาน กิจ สภาวะ

และด้วยสามารถเป็นปัจจัยที่เหมือนกันและไม่เหมือนกันตามควร ก็และ

ความที่มันเป็นปัจจัยนั้น ได้กล่าวแล้วโดยนัยว่า "ความไม่รู้ที่นับว่า

อวิชชาในทุกข์เป็นต้น บุคคลใดยังละไม่ได้แล้ว บุคคลนั้น เพราะ

ความไม่รู้ในทุกข์ก่อน และในวัตถุแห่งอวิชชาทั้งหลายมีขันธบัญจกส่วน

อดีตเป็นต้น จึงยึดเอาสังสารทุกข์ไว้โดยสำคัญว่าเป็นสุขแล้วย่อมริ (ทำ)

สังขารทั้งสามอย่าง อันเป็นเหตุแห่งสังสารทุกข์นั้นขึ้น" ดังนี้ เป็นต้น

นั่นแล

(ต่อไป) นี้เป็นปริยาอื่นอีกปริยายหนึ่งว่า

บุคคลใดหลงใน (เรื่อง) จุติ อุปบาต ใน (เรื่อง)

สงสาร และในลักษณะแห่งสังขารทั้งหลาย และ

* ข้อนี้แจกผลไม่เท่ากับปัจจัย มหาฎีกาช่วยแจกและเพิ่มเติมว่า ขนโคและขนแกะ

เป็นปัจจัยแห่งหญ้าแพรก เขาสัตว์ (สำหรับเป่า) เป็นปัจจัยแห่งเสียง นมส้ม งา

แป้ง และน้ำอ้อยงบ เป็นปัจจัยแห่งตะไคร้ สาหร่าย เป็นปัจจัยแห่งกะเพราะ ล่อและ

ม้าเมีย เป็นปัจจัยแห่งม้าอัสดร เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 293

ในปฏิจจสมุบันธรรมทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมสร้าง

สังขารทั้งสามนั้นขึ้น (ทั้งนี้ก็) เพราะเหตุที่อวิชชานี่

เป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งสามนั้น

หากมีคำถามว่า "ก็ไฉน บุคคลใดหลงในธรรมเหล่านั้น บุคคล

นั้นจึงทำสังขารทั้งสามนั้นขึ้น ?" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "อันดับแรก

บุคคลผู้หลงใน (เรื่อง) จุติ ไม่ถือเอาจุติ (โดยความจริง) ว่า "ความ

แตกแห่งขันธ์ทั้งหลายในภพทั้งปวง ชื่อว่า มรณะ" (แต่) กำหนดใจ

ไปว่า "สัตว์ตาย* ความตายก็คือความก้าวไป (คือเคลื่อนไป) สู่ร่าง

อื่นแห่งสัตว์" ดังนี้เป็นต้น

ผู้หลงในอุปบาต ไม่ถือเอาอุปบาต (โดยความจริง) ว่า "ความ

ปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายในภพทั้งปวง ชื่อว่า ชาติ" (แต่) กำหนด

ใจไปว่า "สัตว์เกิดขึ้น ความเกิดก็คือความปรากฏขึ้นแห่งร่างใหม่ของ

สัตว์" ดังนี้เป็นต้น

ผู้หลงในสงสาร ไม่ถือเอาสงสารอย่างที่ท่านพรรณนาไว้ดังนี้ว่า

"ความสืบเนื่องกันแห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะ

ทั้งหลาย เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย เรียกว่า สงสาร"

(แต่) กำหนดใจไปว่า "สัตว์ผู้นี้ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ มาสู่โลกนี้จาก

โลกอื่น" ดังนี้เป็นต้น

ผู้หลงในลักษณะแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่ถือเอาสภาวลักษณะ

(มีรู้จักเสื่อมเป็นต้น) และสามัญลักษณะ (มีไม่เที่ยงเป็นต้น) แห่ง

* มหาฎีกาว่า คำว่า สัตว์ ในที่นี้ หมายถึง อัตตา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 294

สังขารทั้งหลาย (แต่) กำหนดใจเอาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นตน

โดยความเป็นของตน โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของงาม

และโดยความเป็นสุข

ผู้หลงในปฏิจสมุบันธรรมทั้งหลาย ไม่ถือความหมุนไปแห่ง

ปัจจยุบันธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นต้น เพราะปัจจยธรรมมีอวิชชาเป็น

อาทิ (แต่) กำหนดใจไปว่า "อัตตา ย่อมรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อัตตา

นั่นแลทำ (เอง) และใช้ (ผู้อื่น) ให้ทำด้วย ในปฏิสนธิก็อัตตานั่นแล

เกิดขึ้น ผู้บันดาลมีอณูและพระอิศวรเป็นต้น* จัดแจงร่างให้อัตตานั้น

โดย (แต่งให้) เป็นกลละเป็นต้น (จน) ทำอินทรีย์ทั้งหลายให้ครบ

ครัน อัตตานั้นมีอินทรีย์ครบครันแล้วจึงสัมผัสได้รู้ (อารมณ์) ได้ อยาก

เป็น ยึดถือเป็น พยายามเป็น อัตตานั้นย่อมมีในภพอื่นอีก" ดังนี้บ้าง

ว่า "สัตว์ทั้งปวงแปรเปลี่ยนไปตามภาวะ คือความเป็นไปตามโชค

เคราะห์" ดังนี้บ้าง

บุคคลนั้น อันอวิชชาทำให้เป็นคนบอดแล้วกำหนดใจไปอย่างนั้น

อยู่ ก็ย่อมก่อสังขารเป็นบุญบ้าง ไม่เป็นบุญบ้าง เป็นอเนญชาบ้างขึ้น

เปรียบเหมือนคนตาบอดเที่ยวไปบนแผ่นดิน ก็ย่อมเดินไปถูกทางบ้า

ผิดทางบ้าง ที่ดอนบ้าง ที่ลุ่มบ้าง ที่ราบบ้าง ที่ขรุขระบ้าง ฉะนั้น

เพราะเหตุนั้น พระอาจารย์จึงกล่าวคำเป็นคาถานี่ไว้ (ความ) ว่า

เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่มีคนจูง

ลางทีก็เดินไปตามทาง ลางทีก็เดินไปนอกทางบ้าง

* ดูเชิงอรรถ ๓ หน้า ๒๐๐ และหน้า ๒๐๖.๒๑๒ สัจจนิเทศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 295

ฉันใดก็ดี คนเขลาผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสารไม่มีผู้

ชักนำ ลางคราวก็ทำบุญ ลางคราวก็ทำกรรมที่มิใช่

บุญบ้างฉันนั้น ต่อเมื่อใดเขาจักรู้ธรรมแล้วตรัสรู้

สัจจุได้ เมื่อนั้น เพราะอวิชชาสงบไป เขาจึงจัก

เป็นอุปสันตบุคคลไปได้

นี่เป็นวิตถารกถา*ในบทว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

[แก้บท สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ]

(ต่อไปนี้เป็น) วิตารกถาในบท สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ

คำว่า วิญญาณ ได้แก่วิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น ใน

วิญญาณ ๖ นั้น จักขุวิญญาณ มี ๒ อย่าง คือ จักขุวิญญาณเป็นกุศล-

วิบาก (๑) เป็นอกุศลวิบาก (๑) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา-

วิญญาณ กายวิญญาณก็อย่างนั้น มโนวิญญาณมี ๒๒ คือ มโนธาตุ ๒

เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก มโนวิญญาณธาตุเป็นอเหตุกะ ๓ กามา-

วจรวิบากจิตเป็นสเหตุกะ ๘ รูปาวจรจิต ๕ อรูปาวจรจิต ๔ ดังนี้

จึงเป็นอันรวมวิบากวิญญาณฝ่ายโลกิยะทางวิญญาณ ๖ นี้ ทั้งหมดด้วย

กันได้ ๓๒ ส่วนวิญญาณฝ่ายโลกุตระทั้งหลายใช่ไม่ได้ในกถาว่าด้วย

วัฏฏะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือเอา

ในบทว่าวิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขารนั้น หากมีคำถามว่า

"ก็ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไรว่า วิญญาณมีประการดังกล่าวมานี้ มีขึ้น

* ปาฐะเป็น วิตฺถารกถามุขํ เข้าใจว่า มุขํ เกิน เพราะขัดกับสัพพนาม อยํ ข้างหน้า

และบทหลัง ๆ ต่อไปก็เป็น อยํ. . .วิตฺถารกถา ทั้งนั้น ในที่นี้จึงแปลตัด มุขํ ออก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 296

เพราะปัจจัยคือสังขาร ?" แก้ว่า "ทราบได้เพราะความที่เมื่อกรรมที่

ก่อไว้ไม่มี วิบากก็ไม่มี" แท้จริง วิญญาณนั่นเป็นวิบาก อันวิบาก

ในเมื่อกรรมที่ก่อไว้ไม่มี ย่อมไม่เกิดขึ้น ผิว่ามันจะพึงเกิดขึ้นได้ (โดย

ไม่อาศัยกรรม) ไซร้ วิบากวิญญาณทุกอย่าง ก็จะพึงเกิดขึ้นแก่สัตว์

ทุกจำพวกได้ (นะซิ)* แต่มันไม่เกิดดอก (ในเมื่อไปมีกรรมที่ก่อไว้)"

เพราะเหตุนั้น จึงทราบข้อว่า วิญญาณนี้ ย่อมมีเพราะปัจจัยคือสังขาร

นั่นได้

หากถามว่า "วิญญาณไหนย่อมมีเพราะปัจจัยคือสังขารไหน"

ดังนี้ไซร้ พึงตอบว่า "อันดับแรก วิญญาณ ๑๖ ดวง คือวิญญาณ

มีจักขุวิญญาณเป็นต้นที่เป็นกุศลวิบาก ๕ ในมโนวิญญาณ มโนธาตุ ๑

มโนวิญญาณธาตุ ๒ กามาจวรวิบากวิญญาณ ๘ ย่อมมีเพราะปัจจัยคือ

บุญญาภิสังขารฝ่ายกามาจร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมที่เป็นกุศล

กามาวจรอันบุคคลทำไว้แล้วก่อไว้แล้ว จักขุวิญญาณ. . .โสตวิญญาณ. . .

ฆานวิญญาณ. . . ชิวหาวิญญาณ. . .กายวิญญาณ ที่เป็นวิบาก จึงเกิดขึ้น

มโนธาตุที่เป็นวิบากจึงเกิดขึ้น มโนวิญญาณธาตุที่เป็นโสมนัสสหรคต. . .

อุเบกขาสหรคตจึงเกิดขึ้น ที่เป็นโสมนัสสหรคตญาณสัมปยุต. . .โสมนัส

สหรคตญาณสัมปยุตกับสสังขาร. . . โสมนัสสหรคต ญาณวิปยุต. . .

โสมนัสสหรคตญาณวิปยุตกับสสังขาร. . . อุเบกขาสหรคตญาณสัม-

ปยุต. . . อุเบกขาสหรคตญาณสัมปยุตกับสสังขาร. . . อุเบกขาสหรคต

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า สัตว์ลางจำพวกอยู่ในภพที่ไม่เป็นโอกาสแห่งวิบาก-

วิญญาณบางชนิด เช่นมหาวิบากวิญญาณ และฆานวิญญาณเป็นต้น ไม่เกิดแก่สัตว์ที่เกิด

เป็นพรหม เพราะพรหมมิได้ก่อกรรมที่จะให้มีวิบากอย่างนั้นเป็นต้น (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 297

ญาณวิปยุต. . . อุเบกขาสหรคตญาณวิปยุตกับสสังขาร จึงเกิดขึ้น*"

ดังนี้

ส่วนรูปาวจรวิบากวิญญาณ ๕ ดวง มีเพราะปัจจัยคือบุญญาภิ-

สังขารฝ่ายรูปาวจร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมที่เป็นกุศลฝ่ายรูปาวจร

นั้นนั่นแล อันบุคคลทำไว้แล้วก่อนไว้แล้ว จึงสงัดจากกามทั้งหลาย

ฯ ล ฯ เข้าถึงปฐมฌาน ฯ ล ฯ ปัญจมฌานอันเป็นวิบากอยู่" ดังนี้

(รวม) วิญญาณ ๒๑ ดวง ย่อมมีเพราะปัจจัยคือบุญญาภิสังขาร

ฉะนี้

ส่วนวิญญาณ ๗ ดวง ดังนี้คือ วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น

ที่เป็นอกุศลวิบาก ๕ มโนธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๑ ย่อมมีเพราะ

ปัจจัยคืออบุญญาภิสังขาร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมเป็นอกุศล อันบุคคล

ทำไว้แล้วก่อไว้แล้ว จักขุวิญญาณ. . . โสตวิญญาณ. . . ฆานวิญญาณ. . .

ชิวหาวิญญาณ. . . กายวิญญาณ อันเป็นวิบากจึงเกิดขึ้น มโนธาตุอันเป็น

วิบาก. . . มโนวิญญาณธาตุอันเป็นวิบากจึงเกิดขึ้น" ดังนี้

ส่วนวิญญาณ ๔ ดวง ดังนี้คือ วิญญาณที่เป็นอรุปวิบาก ๔

ย่อมมีเพราะปัจจัยคืออเนญชาภิสังขาร ดังบาลีว่า "เหตุกรรมที่เป็นกุศล

ฝ่ายอรูปาวจรนั้นนั่นแล อันบุคคลทำไว้แล้วก่อไว้แล้ว เพราะก้าวล่วง

รูปสัญญาทั้งหลายเสียได้โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณอันสหรคต

ด้วยอากาสานัญจายตนสัญญา. . . วิญญาณัญจายตนสัญญา. . . อากิญจัญ-

* อภิ. สํ. ๓๔๑๑๒๘. ๑๔๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 298

ญายตนสัญญา. . . เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ซึ่งเป็นวิบากอยู่๑" ดังนี้

[ความเป็นไปแห่งวิญญาณ]

วิญญาณใด ๆ ย่อมมีเพราะปัจจัยคือสังขารใด ๆ แล้ว บัดนี้ พึง

ทราบปวัตติ (ความเป็นไป เรื่องราว) แห่งวิญาณนั้น ๆ๒ ดัง (ต่อไป) นี้

ก็วิญญาณทั้งปวงนี้แหละ ย่อมเป็นไปโดยส่วน ๒ ด้วยอำนาจแห่ง

ปวัตติ (ความเป็นไปส่วนต่อแต่ปฏิสนธิไป) และ (ส่วนตอน) ปฏิสนธิ

ใน ๒ ส่วนนั้น วิญญาณ ๑๓ ดวงนี้ คือ ปัญจวิญญาณ ๒ (เป็น ๑๐)

มโนธาตุ ๒ อเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นโสมนัสสหรคต (๑) ย่อม

เป็นไปในส่วนปวัตติในปัญจโวการภพเท่านั้น วิญญาณที่เหลือ ๑๙ ดวง

เป็นไปทั้งในส่วนปวัตติทั้งในส่วนปฏิสนธิตามควรใน ๓ ภพ (คือปัญจ-

โวการ จตุโวการ และเอกโวการ)

ปุจฉาว่าเป็นไปอย่างไร ?

[ส่วนปวัตติ]

วิสัชนาว่า ในอรรถกถามัชฌิมนิกายกล่าวไว้ว่า "อันดับแรก

วิญญาณ ๕ มีจักขุวิญญาณเป็นต้นฝ่ายกุศลวิบาก ปรารภอารมณ์มีรูป

เป็นต้น ที่มาสู่คลองแห่งทวารมีจักขุทวารเป็นต้น ของบุคคลผู้เกิดมา

๑. อภิ. สํ. ๓๔/๑๔๕ ปาฐะมี สุขสฺส จ ทุกฺขสฺส จ ปหานา จติตฺถํ ฌานํ แทรก

อยู่ตอนท้าย เข้าใจว่าเกิดเข้ามา เพราะทรงนี้ว่าด้วยอรูปาวจร ส่วนจตุตถฌานเป็น

รูปาวจร ไม่มีทางจะประสมประสานกันได้ จึงตัดออ

๒. มหาฎีกาว่า ยํ ที่ สงฺขารปจฺจยา และที่วิญฺญาณํ เป็นอาเมฑิตโลโป - ลบคำซ้ำ

เสียคำหนึ่ง ต้องไขออกเป็น ยสฺส ยสฺส และ ยํ ยํ แปลว่าใด ๆ ทีนี้เมื่อ ย. เป็น 'ใด ๆ'

ต. ก็ต้องเป็น 'นั้น ๆ' ด้วย จึงจะเข้ารูปกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 299

ด้วยกุศลวิบากหรือด้วยกุศลวิบากก็ตาม ที่มีอินทรีย์เข้าถึงความแก่กล้า

แล้วตามลำดับ เป็นอฏิฐารมณ์ก็ตาม อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ก็ตาม อาศัย

ประสาทมีจักษุประสาทเป็นอาทิ ก็ยังกิจ คือการเห็น การได้ยิน การดม

การลิ้ม การสัมผัสให้สำเร็จเป็นไป วิญญาณ ๕ ฝ่ายอกุศลวิบากก็เป็นไป

อย่างนั้น เป็นแต่อารมณ์ของอกุศลวิบากวิญญาณเหล่านั้น เป็นอนิฏฐา-

รมณ์หรืออนิฏฐมัชฌัตตารมณ์สิ้นเชิง (เท่า) นี้เอง เป็นความแปลกกัน

จริงอยู่ วิญญาณทั้ง ๑๐ นั่นก็มีทวาร อารมณ์วัตถุและฐานคงตัว และ

มีกิจตายตัวอยู่เท่านั้นเอง ต่อนั้น มโนธาตุที่เป็นกุศลวิบาก ในลำดับ

แห่งวิญญาณทั้งหลาย มีจักขุวิญญาณเป็นต้นที่เป็นกุศลวิบาก ปรารภ

อารมณ์ของวิญญาณเหล่านั้นแหละ อาศัยหทัยวัตถุก็ยังสัมปฏิจฉันนกิจให้

สำเร็จเป็นไป มโนธาตุฝ่ายอกุศลวิบากในลำดับแห่งอกุศลวิบากวิญญาณ

ทั้งหลายก็เป็นไปอย่างนั้น ก็แต่ว่ามโนธาตุคู่นี้มีทวารและอารมณ์ไม่แน่

แต่มีวัตถุและฐานคงตัว และกิจก็ตายตัว ส่วนอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ

ที่เป็นกุศลวิบากมโนธาตุนั้นแหละ อาศัยหทัยวัตถุ ยังสันตีรณกิจให้

สำเร็จ ตัดวิถีภวังค์ในที่สุดแห่งชวนะที่สัมปยุตด้วยโลภะโดยมาก แห่ง

เหล่าสัตว์จำพวกกามาวจร ในเมื่ออารมณ์นั้นเป็นอารมณ์มีกำลังใน

ทวารทั้ง ๖ เป็นไปวาระเดียวบ้างสองวาระบ้าง ด้วยอำนาจแห่งตทา-

รัมมณะในอารมณ์ที่ชวนะยึดไว้" ดังนี้ แต่ในอรรถกถาอภิธรรม

วาระจิตในตทารัมมณะมาเป็น ๒ (วาระเดียวไม่มี) ก็แลจิตดวงนี้มี ๒

ชื่อ คือ ชื่อตทารัมมณะ ๑ ชื่อปิฏฐิภวังค์ (มีภวังค์แอบหลัง ?) ๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 300

เป็นจิตมีทวารและอารมณ์ไม่แน่ แต่มีวัตถุคงตัว ฐานและกิจก็ไม่ตาย

ตัวแล

วิญญาณ ๑๓ ดวง พึงทราบว่า ย่อมเป็นไปในส่วนปวัตติ

ในปัญจโวการภพเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

ในวิญญาณ ๑๙ ที่เหลือเล่า วิญญาณอะไร ๆ ไม่เป็นไปโดย

ปฏิสนธิ (กิจ) อันควรแก่ตนก็หามิได้ แต่ในส่วนปวัตติ อันดับแรก

อเหตุกมโนวิญญาณธาตุอันเป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบากทั้ง ๒ ยังกิจ ถ

ให้สำเร็จ คือ ยังสันตีรณกิจในลำดับแห่งกุสลากุศลวิบากมโนธาตุใน

ปัญจทวารให้สำเร็ว ยังตทารัมมณกิจในทวาร ๖ โดยนัยที่กล่าวในตอน

ก่อนนั่นแลให้สำเร็จ ยังตทารัมมณกิจในทวาร ๖ โดยนัยที่กล่าวในตอน

ก่อนนั่นแลให้สำเร็จ เมื่อจิตตุบาทที่เข้าไปตัดภวังค์ไม่มี ยังภวังคกิจ

เบื้องหน้าแต่ปฏิสนธิที่ตนให้แล้วไปให้สำเร็จ และยังจุติกิจในบั้นปลาย

ให้สำเร็จ เป็นวิญญาณธาตุที่มีวัตถุคงตัว แต่มีทวาร อารมณ์ ฐาน และกิจ

ไม่คงตัวเป็นไป สเหตุกจิตฝ่ายกามาจร ๘ ยังกิจ ๓ ให้สำเร็จ คือ

ยังตทารัมมณกิจในทาร ๖ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละให้สำเร็จ เมื่อ

จิตตุบาทที่เข้าไปตัดภวังค์ไม่มี ก็ยังภวังคกินเบื้องหน้าแต่ปฏิสนธิที่ตนให้

แล้วไปให้สำเร็จ และยังจุติกิจในบั้นปลายให้สำเร็จ เป็นจิตมีวัตถุคงตัว

แต่ทวาร อารมณ์ ฐาน และกิจไม่คงตัวเป็นไป รูปาวจรวิญญาณ ๕

และอรูปาวจรวิญญาณ ๔ ยังกิจ ๒ ให้สำเร็จ คือเมื่อจิตตุบาทที่เข้าไป

ตัดภวังค์ไม่มี ก็ยังภวังคกิจเบื้องหน้าแต่ปฏิสนธิที่ตนให้แล้วไปให้สำเร็จ

และยังจุติกิจในบั้นปลายให้สำเร็จเป็นไป ในจิตสองประเภทนั้น รูปา-

วจรจิตทั้งหลาย มีวัตถุ ทวาร และอารมณ์คงตัว แต่ฐานและกิจไม่คงตัว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 301

ส่วนอรูปาวจรจิตทั้งหลาย มีวัตถุคงตัว อารมณ์คงตัว แต่ฐานและกิจ

ไม่คงตัว เป็นไปแล

วิญญาณทั้ง ๓๒ ดวง ย่อมเป็นไปเพราะสังขารปัจจัย ในส่วน

ปวัตติ ดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

สังขารนั้น ๆ เป็นปัจจัยโดยเป็นกัมมปัจจัยและเป็นอุปนิสสยปัจจัย

แห่งวิบากวิญญาณ ๓๒ นั้น ในปวัตตินั้น

[ส่วนปฏิสนธิ]

ส่วนคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "ในวิญญาณ ๑๙ ที่เหลือเล่า

วิญญาณอะไร ๆ ไม่เป็นไปโดยปฏิสนธิ (กิจ) อันควรแก่ตนก็หามิได้"

คำนั้นยังรู้ได้ยากเพราะเป็นคำสังเขปนัก เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าว

เพื่อแสดงวิตถารนัยแห่งปฏิสนธิวิญญาณนั้น (ต่อไป) โดยตั้งปัญหาว่า

(๑) ปฏิสนธิมีกี่อย่าง ?

(๒) ปฏิสนธิจิตมีเท่าไร ?

(๓) ปฏิสนธิย่อมมีในภพไหนด้วยจิตอะไร ?

(๔) อะไรเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิ ?

คำตอบมีว่า

(๑) ปฏิสนธิมี ๒๐ ทั้งปฏิสนธิของอสัญญีสัตว์ (คือ โดยปฏิสนธิ

จิตก็มีเพียง ๑๙ แต่นับปฏิสนธิของพวกอสัญญีเข้าด้วยจึงเป็น ๒๐

(๒) ปฏิสนธิจิตมี ๑๙ ประการดังกล่าวแล้วนั่นแหละ

(๓) ในปฏิสนธิจิต ๑๙ นั้น ปฏิสนธิในอบายทั้งหลายย่อมมีด้วย

อเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นอกุศลวิบาก ปฏิสนธิแห่งพวกคนบอด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 302

แต่กำเนิด คนหนวกแต่กำเนิด คนบ้าแต่กำเนิด คนใบ้แต่กำเนิด และ

คนกะเทยทั้งหลายในมนุษยโลก ย่อมมีด้วยอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่

เป็นกุศลวิลาก ปฏิสนธิแห่งเหล่าผู้มีบุญในพวกเทพชั้นกามาวจรก็ดี ใน

พวกมนุษย์ก็ดี ย่อมมีด้วยสเหตุกามาวจรวิบากจิต ๘ ปฏิสนธิในโลก

รูปพรหม ย่อมมีด้วยรูปาวจรวิบากจิต ๕ ปฏิสนธิในโลกอรูปพรหม

ย่อมมีด้วยอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ก็แลปฏิสนธิย่อมมีในภพไรด้วยจิตไร

ดังกล่าวมาฉะนี้ ปฏิสนธินั้นแล ชื่อว่า ปฏิสนธิอันควรแก่วิญญาณนั้น

(๔) ส่วนอารมณ์ของปฏิสนธิ โดยย่อมี ๓ คือ อตีตารมณ์

ปัจจุปันนารมณ์ และนวัตตัพพารมณ์ (คืออารมณ์ที่ไม่ควรจะกล่าวได้

ว่าเป็นอดีตหรือปัจจุบัน) (แต่) ปฏิสนธิของพวกอสัญญีเป็นอนารมณ์

(คือไม่มีอารมณ์) แล

ในอารมณ์ ๓ นั้น อารมณ์ของปฏิสนธิแห่งสัตว์ชั้นวิญญาณัญ-

จายตนะ และชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอตีตารมณ์อย่างเดียว

แห่งสัตว์ชั้นกามาจร ๑๐ เป็นอตีตรมณ์บ้าง ปัจจุปันนารมณ์บ้าง

แห่งสัตว์ที่เหลือ๑ เป็นนวัตตัพพารมณ์แท้

อนึ่ง ปฏิสนธิที่เป็นไปในอารมณ์ ๓ อยู่ดังนี้ ก็ย่อมเป็นไปใน

ลำดับแห่งจุติจิต ซึ่งมีอารมณ์เป็นอตีตารมณ์บ้าง นวัตตัพพารมณ์บ้าง

เท่านั้น เพราะธรรมดาว่าจุติจิตเป็นปัจจุปันนารมณ์หามีไม่๒ เหตุใด

๑. สัตว์ที่เหลือได้แก่รูปาวจรสัตว์ ๕ อรูปาวจรสัตว์ ๒ คือ พรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ

และอากิญจัญญายตนะ

๒. มหาฎีกาว่า จุติจิต ไม่เป็นปัจจุปันนารมณ์ เพราะเป็นไปในอารมณ์แห่งปฏิสนธิ

(ซึ่งเป็นอดีต) นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 303

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงควรทราบอาการเป็นไปแห่งปฏิสนธิอันมี

อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ ๓ ในอันดับแห่งจุติซึ่งมีอารมณ์

อย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ ๒ ด้วยอำนาจแห่งสุคติและทุคติ (ต่อไป)

ข้อนี้เป็นฉันใด

อันดับแรก บาปกรรมตามที่ตนสะสมไว้บ้าง กรรมนิมิตบ้าง ย่อม

มาสู่คลองในมโนทวารของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสุคติชั้นกามาวจร (แต่)

เป็นคนมีบาปกรรม ซึ่ง (เจ็บหนัก) นอนอยู่บนเตียงมรณะ (ทั้งนี้)

โดยบาลีกล่าวไว้ว่า "ในสมัยนั้น กรรมทั้งหลาย (ที่ตนทำไว้ก่อน) นั้น

ย่อมเกาะอยู่ (ในจิต) ของบุคคล (ผู้ใกล้ตาย) นั้น*" ดังนี้เป็นต้น จุติ-

จิตทำอารมณ์แห่งภวังค์ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในลำดับแห่งชวนวิถีอัน

ปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตนั้นเกิดขึ้น มีตทารัมมณะเป็นสุดท้าย ครั้น

จุติจิตนั้นดับแล้ว ปฏิสนธิจิตอันกำลังแห่งกิเลสที่ยังตัดไม่ได้ชักนำถลำ

เข้าไปทางทุคติ ก็ปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตที่มาสู่คลอง (มโนทวาร)

นั้นแลเกิดขึ้น นี่เป็นปฏิสนธิมีอารมณ์เป็นอดีต (เกิด) ในลำดับแห่ง

จุติซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต (ด้วยกัน)

ในมรณสมัย (เวลาใกล้จะตาย) ทุคตินิมิตมีวรรณรูปแห่งเปลว

เพลิงเป็นต้นในทุคติทั้งหลายมีนรกเป็นอาทิ ย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร

ของบุคคลผู้มีบาปกรรมอีกคนหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งกรรมมีประการ

ดังกล่าวแล้ว ครั้งภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป ๒ วาระ วิถีจิต ๓ ดวง

คือ อาวัชนะ ๑ ชวนะ (เพียง) ๕ เพราะเป็นจิตมีกำลังอ่อนด้วยความ

ที่มรณะใกล้เข้ามา ตทารัมมณะ ๒ ปรารภอารมณ์นั้นเกิดขึ้นแก่บุคคล

* ม. อุ. ๑๔/๓๑๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 304

นั้น ต่อนั้นจุติจิตดวง ๑ ทำอารมณ์ของภวังค์ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น

ขณะจิต ๑๑ (คือภวังค์ ๒ อาวัชนะ ๑ ชวนะ ๕ ตทารัมมณะ ๒ จุติ ๑)

เพียงนี้นับเป็นอดีต ลำดับนั้น ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นในอารมณ์

นั้นนั่นแหละ ซึ่งมีอายุชั่ว ๕ ขณะจิตที่เหลือ นี่เป็นปฏิสนธิมีอารมณ์

เป็นปัจจุบัน (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต

ในมรณสมัย อารมณ์ทรามอันเป็นเหตุแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น

มาสู่คลองในทวาร ๕ ทวารใดทวารหนึ่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง ชวนะ

(เพียง) ๕ เพราะเป็นจิตมีกำลังอ่อนด้วยความที่มรณะใกล้เข้ามา และ

ตทารัมมณะ ๒ เกิดขึ้นในที่สุดแห่งโวฏฐัพพนะอันเกิดขึ้นตามลำดับแก่

บุคคลนั้น ต่อนั้น จุติจิตดวง ๑ ทำอารมณ์ของภวังค์ให้เป็นอารมณ์

เกิดขึ้น ก็แลขณะจิต ๑๕ คือ ภวังค์ ๒ อาวัชนะ (๑) ทัสสนะ

(เห็น ๑) สัมปฏิจฉันนะ (๑) สันตีรณะ (๑) โวฏฐัพพนะ (๑) ชวนะ ๕

ตทารัมมณะ ๒ จุติจิต ๑ เพียงนี้นับว่าเป็นอดีต ลำดับนั้น ปฏิสนธิจิต

เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ซึ่งมีอายุชั่วขณะจิต ๑ ที่เหลือ แม้ปฏิสนธิ

นี้ก็เป็นปฏิสนธิมีอารมณ์เป็นปัจจุบัน (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งมีอารมณ์

เป็นอดีต

นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งทุคติปฏิสนธิ อันมีอารมณ์เป็นอดีตบ้าง

ปัจจุบันบ้าง (เกิด) ในลำดับแห่งสุคติจุติซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต เท่านี้ก่อน

สำหรับผู้ตั้งอยู่ในทุคติ (แต่) มีกรรมอันไม่มีโทษได้สั่งสมไว้

คำทั้งปวงบัณฑิตก็พึงทราบโดยนัยก่อนนั่นและ โดยบรรจุคำฝ่ายขาวลง

(แทน) ในคำฝ่ายคำ เช่นว่า 'กรรมไม่มีโทษนั้นบ้าง กรรมนิมิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 305

บ้าง ย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร" เป็นต้น ตามนัยที่กล่าวแล้วเถิด

นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งสุคติปฏิสนธิมีอารมณ์เป็นอดีตบ้าง ปัจจุบัน

บ้าง (เกิด) ในลำดับแห่งทุคติจุติซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต

ข้างฝ่ายผู้ตั้งอยู่ในสุคติมีกรรมอันไม่มีโทษได้สั่งสมไว้ (เจ็บหนัก)

นอนอยู่บนเตียงมรณะ กรรมไม่มีโทษตามที่ได้สั่งสมไว้บ้าง กรรม

นิมิตบ้าง ย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร (ทั้งนี้) โด___________ยพระบาลี (กล่าว

ไว้) ว่า "ในสมัยนั้นอนวัชชกรรมทั้งหลาย (ที่ตนสั่งสมไว้ก่อน)

นั้น ย่อมเกาะอยู่ (ในจิต) ของบุคคล (ผู้ใกล้ตาย) นั้น๑" ดังนี้

เป็นต้น ก็แต่ว่าข้อที่ไม่กำหนดแน่ว่า อนวัชชกรรมหรือกรรมนิมิตจะ

มาสู่คลองมโนทวารนั้น สำหรับผู้สั่งสมอนวัชชกรรมฝ่ายกามาวจรไว้

เท่านั้น ส่วนผู้สั่งสมมหรคตกรรมไว้ มีแต่กรรมนิมิตอย่างเดียวมาสู่

คลอง (มโนทวาร) จุติจิตทำอารมณ์แห่งภวังค์ให้เป็นอารมณ์ เกิด

ขึ้นในลำดับแห่งชวนวิถีมีตทารัมมณะเป็นสุดท้าย หรือชวนวิถีล้วน

(ไม่มีตทารัมมณะ) ซึ่งปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตนั้นเกิดขึ้น ครั้น

จุติจิตนั้นดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตอันกำลังแห่งกิเลสที่ยังตัดไม่ได้ชักนำ

เข้าไปทางสุคติ ก็ปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตที่มาสู่คลอง (มโน-

ทวาร) นั้นแลเกิดขึ้น นี่เป็นปฏิสนธิเป็นอตีตารมณ์บ้าง เป็นนวัต-

ตัพพารมณ์บ้าง๒ (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์

บุคคลผู้มีอนวัชชกรรมได้สั่งสมไว้อีกผู้หนึ่ง ในมรณสมัย มี

๑. ม. อุ. ๑๔/๓๒๓

๒. ปฏิสนธินวัตตัพพารมณ์ ได้แก่ รูปวจรปฏิสนธิ ๕ และอรูปาวจรปฏิสนธิ ๒ คือ

อากาสานัญจายตนปฏิสนธิ และอากิญจัญญายตนปฏิสนธิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 306

สุคตินิมิตได้แก่วรรณรูปแห่งท้องมารดาในมนุษยโลกบ้าง ได้แก่วรรณ-

รูปแห่งอุทยาน วิมาน และกัลปพฤกษ์เป็นต้นในเทวโลกบ้าง มาสู่

คลองในมโนทวาร ด้วยอำนาจแห่งอนวัชชกรรมกามาวจร ปฏิสนธิ

จิตเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นในลำดับแห่งจุติจิต ตามลำดับจิตที่แสดงมาแล้ว

ใน (ตอนว่าด้วย) ทุคตินิมิตนั่นแล นี่เป็นปฏิสนธิเป็นปัจจุบันนา-

รมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์

อีกผู้หนึ่ง ในมรณสมัย พวกญาติบอกว่า "นี่แน่ะพ่อ พุทธ-

บูชาเราทำเพื่อประโยชน์แก่ท่าน ท่านจงยังจิตให้เลื่อมใสเถิด" แล้ว

นำรูปารมณ์โดยเป็นเครื่องบูชามีช่อดอกไม่และธงแผ่นผ้าเป็นต้น

บ้าง สัททารมณ์โดยเป็นการฟังธรรมและการบูชาด้วยเสียงดนตรีเป็น

ต้นบ้าง คันธารมณ์โดยเป็นกลิ่นธูปและเครื่องอบเป็นต้นบ้าง รสา-

รมณ์โดยเป็นเครื่องลิ้มมีน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น (โดย) บอกว่า

"แน่ะพ่อ เชิญท่านชิมนี่ดู เป็นไทยธรรมที่เราจะพึงให้เพื่อประโยชน์

แก่ท่าน" ดังนี้บ้าง โผฏฐัพพารมณ์ โดยเป็นผ้ามีผ้าจีนและผ้า

โสมาระเป็นต้น (โดย) บอกว่า "แน่ะพ่อ เชิญแตะนี่ดู เป็นไทยธรรม

ที่เราจะพึงให้เพื่อประโยชน์แก่ท่าน" ดังนี้บ้าง (น้อม) เข้าไปให้

ประจักษ์ในทวาร ๕ ชวนะ (เพียง) ๕ เพราะเป็นจิตมีกำลังอ่อน

ด้วยความที่มรณะใกล้เข้ามา และตทารัมมณะ ๒ เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น

ในที่สุดแห่งโวฏฐัพนะที่เกิดขึ้นตามลำดับในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่มาสู่

คลองทวารนั้น ต่อนั้นจุติจิตดวง ๑ ทำอารมณ์แห่งภวังค์ให้เป็นอารมณ์

เกิดขึ้น ในที่สุดแห่งจุติจิตนั้น ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 307

ซึ่งตั้งอยู่ชั่งขณะจิตเดียว แม้ปฏิสนธินี้ก็เป็นปฏิสนธิเป็นปัจจุบันนา-

รมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์

ส่วนอีกผู้หนึ่ง สถิตอยู่ในสุคติติสำหรับบุคคลผู้ได้มหรคตวิบาก

ด้วยอำนาจฌานมีปฐวีกสิณฌานเป็นอาทิ ในมรณสมัย กามาวจรกุศล

กรรม กรรมนิมิตหรือคติมิตอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง กสิณนิมิตมีนิมิต

แห่งปฐวีกสิณเป็นต้นบ้าง มหรคตจิตบ้าง มาสู่คลองในมโนทวาร

หรือมิฉะนั้นอารมณ์ประณีตอันเป็นเหตุเกิดกุศลมาสู่คลองในจักษุทวาร

หรือมิฉะนั้นอารมณ์ประณีตอันเป็นเหตุเกิดกุศลมาสู่คลองในจักษุทวาร

หรือโสตทวาร อันใดอันหนึ่ง ชวนะ (เพียง) ๕ เพราะเป็นจิตมี

กำลังอ่อนด้วยความที่มรณะใกล้เข้ามา เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น ในที่สุด

แห่งโวฏฐัพนะที่เกิดขึ้นตามลำดับ เพราะตทารัมมณะย่อมไม่มีแก่

บุคคลผู้เข้าถึงคติมหรคตทั้งหลาย เหตุนั้น จุติจิตดวง ๑ จึงทำอารมณ์

แห่งภวังค์ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในลำดับแห่งชวนะนั่นเอง ในที่สุดแห่ง

จุติจิตนั้น ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์ตามที่เข้ามาปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่งเป็น

อารมณ์ หยั่งเข้าในสุคติเป็นกามาวจรหรือมหรคต สถานใดสถานหนึ่ง

แล้วก็เกิดขึ้น นี่เป็นปฏิสนธิอันเป็นอตีตารมณ์ ปัจจุบันนารมณ์ และ

นวัตตัพพารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งสุคติจิติ ซึ่งเป็นนวัตตัพพารมณ์

แม้ปฏิสนธิในลำดับแห่งอารูปจุติ ก็พึงทราบโดยทำนองนั้น

นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งปฏิสนธิที่เป็นอตีตารมณ์ นวัตตัพพา-

รมณ์ ปัจจุบันนารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งสุคติจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์

นวัตตัพพารมณ์

ฝ่ายผู้มีบาปกรรมอยู่ในทุคติ (ในมรณสมัย) ย่อมมีกรรม (ที่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 308

ทำไว้) นั้นบ้าง กรรมนิมิตบ้าง คตินิมิตบ้าง มาสู่คลองในมโนทวาร

หรือมิฉะนั้น อารมณ์ที่เป็นเหตุเกิดอกุศลมาสู่คลองในปัญจทวาร โดย

นัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ต่อนั้น ในที่สุดแห่งจุติจิตตามลำดับ ปฏิสนธิ-

จิตมีอารมณ์เหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ ตกไปทางทุคติก็เกิด

ขึ้นแก่เขา นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งปฏิสนธิอันเป็นอตีตารมณ์ ปัจจุ-

ปันนารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งทุคติจุติ ซึ่งเป็นอตีตารมณ์และ

ความเป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิ แห่งวิญญาณทั้ง ๑๙ ดวง

เป็นอันแสดงแล้วเพียงเท่านี้

วิญญาณทั้งสิ้นนี้นั้น

[คาถาสังเขปปฏิสนธิวิญญาณ]

เมื่อเป็นไปใน (ปฏิ) สนธิดังกล่าวมานั้น ย่อม

เป็นไปด้วยกรรม ๒ แผนก และมีประเภท*ต่าง ๆ

เช่นประเภท ๒ เป็นต้น โดยประเภททั้งหลาย มี

ประเภทผสมเป็นอาทิ

[ขยายความ]

แท้จริง วิบากวิญญาณทั้ง ๒๙ ดวงนี้ เมื่อเป็นไปในปฏิสนธิ

ย่อมเป็นไปด้วยกรรม ๒ แผนกด้วยกัน ด้วยว่า ชนกกรรมย่อมเป็น

ปัจจัย โดยเป็นกรรมปัจจัยอันเป็นไปในขณะต่าง ๆ กัน ๑ โดยเป็น

อุปนิสสยปัจจัย ๑ แห่งวิบากวิญญาณนั้นตามที่เป็นของตน สมคำ

บาลีว่า "กุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย

* ปาฐะ เภทสฺส เข้าใจว่าตัดเป็น เภโท อสฺส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 309

แห่งวิบาก"๑ ดังนี้

อนึ่ง พึงทราบประเภทมีประเภท ๒ เป็นต้น โดยประเภท

ทั้งหลายมีประเภทผสมกันเป็นอาทิ แห่งวิบากวิญญาณอันเป็นไปอยู่

อย่างนี้นั้น (ต่อไป) ข้อนี้เป็นฉันใด ? ก็วิบากวิญญาณนี้ แม้

เป็นไปอยู่อย่างเดียวด้วยอำนาจปฏิสนธิ (แต่) เป็น ๒ โดยแยกเป็น

ประเภทผสมกับรูป และประเภทไม่ผสมกับรูป เป็น ๓ โดยแยกเป็น

กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็น ๔ โดยกำเนิดอัณฑชะ ชลาพุชะ

สังเสทชะ โอปปาติกะ เป็น ๕ โดยคติ เป็น ๗ โดยวิญญาณฐิติ

เป็น ๘ โดยสัตตาวาส๒

ในวิญญาณผสมและไม่ผสมนั้น

[คาถาสังเขปวิญญาณผสม]

วิญญาณผสมเป็น ๒ โดยต่างแห่งภาวะ และใน

ภาวประเภทนั้นเล่า วิญญาณที่มีภาวะก็เป็น ๒ (รูป

กลาป) ทสกะ ๒ หรือ ๓ บ้างเป็นอย่างต่ำ ย่อม

เกิดพร้อมกับวิญญาณประเภทต้น (คือวิญญาณ

ผสม)

[ขยายความ]

ข้อว่า "วิญญาณผสมเป็น ๒ โดยต่างแห่งภาวะ" นั้น ความว่า

ก็ในวิญญาณผสมและไม่ผสมนั้น ปฏิสนธิวิญญาณที่ผสมกับรูปนั้นใด

เกิดขึ้น (ในภพ) เว้นแต่อรูปภพ ปฏิสนธิวิญญาณผสมนั้นย่อมมี

๑. อภิ. ป. ๔๐/๔๖๐

๒. สัตตาวาสทั้งหมดมี ๙ แต่ในที่นี้เว้นสัตตาวาสจำพวกอสัญญีเสีย ๑ จึงว่าเป็น ๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 310

เป็น ๒ คือมีภาวะ (๑) ไม่มีภาวะ (๑) เพราะเกิดขึ้นเว้นจาก

ภาวะกล่าวคืออิตถินทรีย์และปุริสินทรีย์ในรูปภพ และเกิดขึ้นพร้อม

กับภาวะในกามภาพ เว้นแต่ปฏิสนธิของคนกะเทยโดยกำเนิด

ข้อว่า "และในภาวะประเภทนั้นเล่า วิญญาณที่มีภาวะก็เป็น

๒" อธิบายว่า และแม้ในภาวประเภทนั้นเล่า ปฏิสนธิวิญญาณใดมี

ภาวะ ปฏิสนธิวิญญาณนั้นก็เป็น ๒ เหมือนกัน เพราะเกิดขึ้นพร้อม

กับอิตถีภาวะหรือปริสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อว่า "(รูปกลาปฉ ทสกะ ๒ หรือ ๓ เป็นอย่างต่ำ ย่อมเกิด

พร้อมกับวิญญาณประเภทต้น" มีอรรถาธิบายว่า ก็ (รูปกลาป)

ทสกะ ๒ โดยเป็นวัตถุทสกะ และกายทสกะ หรือทสกะ ๓ โดยเป็น

วัตถุทสกะ กายทสกะ และภาวทสกะบ้างเป็นอย่างต่ำ ย่อมเกิดขึ้น

พร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณที่ผสมกับรูป อันเป็นประเภทต้นใน ๒ ประ-

เภท คือ ผสม (และ) ไม่ผสมนั้น รูป (กลาป) ลดลงไปยิ่ง

กว่านี้ไม่มี

ก็แลปฏิสนธิวิญญาณที่มีปริมาณรูปกลาปอย่างต่ำดับกล่าวนี้นั้น๑

เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดเป็นสิ่งที่ได้ชื่อว่า 'กลละ' อันมีประมาณเท่า

(หยด) หัวเนยใสที่ใช้ขนแกะ๒เส้นหนึ่ง (จุ่ม) ยกขึ้น ในกำเนิน ๒

๑. มหาฎีกาว่า หมายเอารูปกลาปของพวกครรภไสยกสัตว์เท่านั้น

๒. ชาติอุณฺณา มหาฎีกาท่านไม่แปล เป็นแต่ยกเอาคำแปลของท่านผู้อื่นมาว่าไว้ว่า

"ลางอาจารย์ว่าขนแกะที่เกิดใหม่ในวันนั้น เรียกว่า ชาติอุณฺณา ลางอาจารย์ว่าขนแกะ

เกิดในถิ่นหิมพานต์ เรียกว่า ชาติอุณฺณา ลางอาจารย์ว่าขนลูกแกะที่ยังอยู่ในท้องแม่

ผ่าท้องเอาออกมา เรียกว่า ชาติอุณฺณา" ดังนี้ ก็คงได้ความว่าเป็นขนแกะอย่างละเอียด

เท่านั้นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 311

ที่มีชื่อว่าอัณฑชะและชลาพุชะ ในกำเนิดและคติเหล่านั้น บัณฑิต

พึงทราบความมีขึ้นแห่งกำเนิดทั้งหลายที่แตกต่างกันด้วยอำนาจคติ (ดัง

ต่อไปนี้) ก็ในกำเนิดทั้งหลายนั้น

[คาถาสังเขปกำเนิด]

กำเนิด ๓ ข้างต้น ย่อมไม่มีในนรก และในพวก

เทพ เว้นภุมเทพ๑ กำเนิดทั้ง ๔ ย่อมมีในคติ ๓

[ขยายความ]

ในบทเหล่านั้น ด้วย จ ศัพท์ในบทว่า 'เทเวสุ จ' กำเนิด

๓ ข้างต้นพึงทราบว่า ไม่มีในนรกและในพวกเทพเว้นภุมเทพฉันใด ก็

ย่อมไม่มีในพวกนิชฌามตัณหิกเปรตด้วยฉันนั้น เพราะพวกนิชฌาม-

ตัณหิกเปรตนั้นก็เป็นโอปปาติกะเหมือนกัน๒ ส่วนในคติ ๓ ที่เหลือ

อันได้แก่ดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ และในพวกภุมเทพที่เว้นไว้

ก่อนด้วย ย่อมมีกำเนิด (ครบ) ทั้ง ๔๓

ในคติและกำเนิดเหล่านั้น

[คาถาสังเขปรูปกลาป]

รูป ๓๐ และ ๙ ย่อมเกิดในพวกรูปพรหม อนึ่ง

๑. หมายความว่าสัตว์นรกและพวกเพทมีกำเนิดอย่างเดียว คือเป็นโอปปาติกะ ที่ท่าน

เว้นภุมเทพก็ต้องหมายความว่าพวกภุมเทพไม่ใช่โอปปาติกะ มหาฎีกาก็ไม่อธิบายเป็นแต่

แย้มไว้หน่อยว่า เพราะพจกภุมเทพนั้นเป็นเช่นกับมนุษย์ ถ้าเป็นเช่นกับมนุษย์ ก็เป็น

กำเนิดชลาพุชะนะซิ ชอบกล ยังไม่เคยพบเรื่องภุมเพทตั้งครรภ์และคลอดบุตรเล่าไว้

ที่ไหนเลย

๒. แล้วก็เปรตพวกอื่น ๆ ไม่เป็นโอปปาติกะด้วยดอกหรือ ?

๓. คือดิรัจฉานเป็นอัณฑชะและสังเสทชะ เปรตวิสัยเป็นโอปปาติกะ มนุษย์เป็นชลา-

พุชะ ภุมเทพก็เป็นชลาพุชะด้วย (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 312

โดยกำหนดอย่างสูง รูป ๗๐ ย่อมเกิดในสัตว์จำพวก

ที่เกิดในกำเนิดสังเสทชะและอุปปาตะ อีกอย่าง

หนึ่ง โดยกำหนดอย่างต่ำ รูป ๓๐ ย่อมเกิด

[ขยายความ]

อันดับแรก รูป ๓๐ และ ๙ ด้วยอำนาจแห่งกลาป ๔ คือจักขุ-

ทสกะ โสตทสกะ วัตถุทสกะ และชีวิตนวกะ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับ

ปฏิสนธิวิญญาณ ในเหล่าสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดโอปปาติกะในจำพวกรูป

พรหม ส่วนว่าโดยกำหนดอย่างสูง รูป ๗๐ ด้วยอำนาจแห่ง (กลาป-

๗ คือ) จักขุทสกะ โสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ กายทสกะ

วัตถุทสกะ และภาวทสกะ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยปฏิสนธิวิญญาณใน

เหล่าสัตว์ที่เกิดในกำหนดสังเสทชะและโอปปาติกะจำพวกอื่น๑เว้นจำพวก

รูปพรหม อนึ่ง รูปทั้ง ๗๐ นั้นย่อมเกิดขึ้นในจำพวกเทพเป็นนิตย์๒

ในทสกะเหล่านั้น กลุ่มรูปมีปริมาณรูป ๑๐ นี้ คือ สี กลิ่น

รส โอชา อีกธาตุ ๔ จักษุประสาท และชีวิต๓ ชื่อจักขุทสกะ (๑๐ ทั้ง

จักษุ) ทสกะที่เหลือก็พึงทราบโดยนัยดับนี้

๑. มหาฎีกาว่า อญฺญ ศัพท์เป็นวิเสสนะของโอปปาติกะเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะให้

ชัดควรเรียงว่า 'รูปีพฺรหฺเม ปน ฐเปตฺวา อญฺเญสุ โอปปาติเกสุ สํเสทเชสุ จ'

๒. มหาฎีกาว่า เพราะพวกเทพไม่มีอินทรีย์วิกลและไม่กะเทย จึงมีรูปครบสืบต่อไป

จนสิ้นชีพ

๓. นี่ท่านตัดมาจากคาถา ถ้าเรียงตามที่ควรเป็น ก็ควรเรียงว่าธาตุ ๔ และ สี กลิ่น รส

โอชา ชีวติ กับจักษุ ปริมาณเพียงชีวิต เรียกว่าทชีวิตนวกะ (๙ กับชีวิต) เพิ่มจักขุ

เข้าจึงเป็นจักขุทสภะ (๑๐ ทั้งจักษุ) ถ้าเพิ่มโสต ก็เป็นโสตทสกะ (๑๐ ทั้งโสต)

ฯ ล ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 313

ส่วนว่าโดยอย่างต่ำ รูป ๓๐ ด้วยอำนาจแห่ง (กลาป ๓ คือ)

ชิวหาทสกะ กายทสกะ วัตถุทสกะ ย่อมเกิดขึ้นแก่คนตาบอดแต่กำเนิด

คนหูหนวกแต่กำเนิด คนจมูกด้วน (ไม่มีฆานประสาท) แต่กำเนิด

คนกะเทยแต่กำเนิด อนึ่ง พึงทราบการกำหนด (รูปกลาป) ใน

ระหว่างปริมาณรูปอย่างสูงและรูปอย่างต่ำ (คือในระหว่างรูป ๗๐ และ

๓๐) ตามควรเถิด*

ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว

[คาถาสังเขปจุติปฏิสนธิแปลก ๆ]

พึงกำหนดรู้ความแปลกแห่งความแตกต่าง และไม่

แตกต่าง แห่งจุติปฏิสนธิ โดยขันธ์ อารมณ์ คติ

เหตุ เวทนา ปีติ วิตก และวิจาร

(ต่อไป) อีก

[ขยายความ]

ความแห่งคาถานั้นว่า "ก็ปฏิสนธิ ๒ อย่างโดยเป็นปฏิสนธิผสม

และปฏิสนธิไม่ผสมนั้นใด และจิติอันมีในลำดับที่เป็นอดีตแห่งปฏิสนธิ

นั้นใด พึงทราบความแปลกแห่งความแตกต่างและไม่แตกต่างแห่ง

ปฏิสนธิและจิตินั้น โดยขันธ์เป็นต้นเหล่านี้" แปลกอย่างไร ? ก็

ลางทีปฏิสนธิอันมีขันธ์ ๔ ไม่แตกต่างกัน (กับจุติ) แม้โดยอารมณ์

* เช่นคนตาบอดก็มีรูป ๖๐ เพราะไม่มีจักขุทสกะ คนหูหนวกก็เช่นนั้น เพราะไม่มี

โสตทสกะ แต่ถ้าทั้งบอดทั้งหนวกก็เหลือ ๕๐ เพราะไม่มีจักขุทสกะและโสตทสกะ ดังนี้

เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 314

มีขึ้นในลำดับแห่งอารูปจุติที่มีขันธ์ ๔ (เหมือนกัน๑) ก็มี ลางทีปฏิสนธิ

มีอารมณ์เป็นมหรคตและเป็นภายใน มีขึ้นในลำดับแห่งจุติที่มีอารมณ์

ไม่เป็นมหรคตและเป็นภายนอกก็มี๒ นี่เป็นนัยในพวกอรูปภูมิเท่านั้น

ก่อน

อนึ่ง ลางทีกามาวจรปฏิสนธิอันมีขันธ์ (ครบ) ๕ มีในลำดับ

แห่งอารูปจุติที่มีขันธ์ ๔ (คือจุติจากอรูปภูมิมาปฏิสนธิในกามาจรภูมิ)

ก็มี ลางทีอารูปปฏิสนธิที่มีขันธ์ ๔ มีในลำดับแห่งกามาจรจุติอันมี

ขันธ์ ๕ บ้าง แห่งรูปาวจรจุติบ้าง (คือจุติจากกามาจรภูมิบ้าง รูปา-

วจรภูมิบ้าง ไม่ปฏิสนธิในอรูปภูมิ) ก็มี อย่างนี้ เป็นปฏิสนธิมี

อารมณ์เป็นปัจจุบัน มีในลำดับแห่งจุติมีอารมณ์เป็นอดีต

ทุคติปฏิสนธิลางอย่าง มีในลำดับแห่งสุคติจุติลางอย่าง (เช่น

คนลางคนตายไปเกิดเป็นสัตว์ลางชนิด ?) ก็มี สเหตุกปฏิสนธิมีใน

ลำดับแห่งอเหตุกจุติ ติเหตุกปฏิสนธิมีในลำดับแห่งทุเหตุกจุติก็มี ปฏิ-

สนธิเป็นโสมนัสสหรคต มีในลำดับแห่งจุติเป็นอุเบกขาสหรคตก็มี ปฏิ-

สนธิประกอบด้วยปีติมีในลำดับแห่งจุติไม่ประกอบด้วยปีติก็มี ปฏิสนธิ

มีวิตกมีในลำดับแห่งจุติไม่มีวิตก ปฏิสนธิมีวิจารมีในลำดับแห่งจุติไม่มี

วิจาร ปฏิสนธิมีทั้งวิตกวิจารมีในลำดับแห่งจุติไม่มีทั้งวิตกวิจารก็มีแล

๑. มหาฎีกาว่า ที่ว่าไม่แตกต่างกันแม้โดยอารมณ์นั้น หมายความว่าจุติจากภูมินั้น ๆ

ในอารูป ๔ แล้วก็เกิดในภูมินั้น ๆ นั่นอง

๒. มหัคคตอัชฌัตตรัมมณปฏิสนธิ มหาฎีกาว่า หมายเอาอารูปปฏิสนธิที่ ๒ คือ

วิญญาณัญชายตนะ และที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ส่วนอมหัคคตพหิทธารัมมณ-

จุติ ท่านไม่ขยายว่าอะไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 315

อนึ่ง พึงประกอบ (คำ) เข้าตามที่ควรประกอบได้โดยคำตรง

กันข้ามแห่งบทนั้น ๆ เถิด*

[คาถาสังเขปโดยปรมัตถ์]

อันว่าวิญญาณที่ได้ปัจจัยดังกล่าวมาฉะนี้ นั่นก็เป็น

แต่ธรรมเข้าถึงภพอื่น ความเคลื่อนมาแต่ภพนั้น

ของมันก็ไม่มี (แต่ว่า) เว้นเหตุแต่ภพนั้นเสีย มัน

ก็ไม่มี

[ขยายความ]

ก็วิญญาณที่ได้ปัจจัยดังกล่าวมาฉะนี้ นั่นก็เป็นแต่เพียงรูปธรรม

อรูปธรรม เมื่อเกิดขึ้นก็ (มีโวหาร) เรียกว่า เข้าถึงภพอื่น มิใช่

สัตว์ มิใช่ชีวะ อีกทั้งความเคลื่อนจากอดีตภพมาในภพนี้ของมันก็ไม่มี

แต่ว่าเว้นเหตุแต่อดีตภพนั้นเสีย ความปรากฏขึ้นในภพนี้ของมันก็ไม่มี

ข้าพเจ้าทั้งหลายจักประกาศความเป็นไปแห่งวิญญาณดังกล่าวนี้นั้น

โดยทางสืบปฏิสนธิจากจุติแห่งมนุษย์ซึ่งเห็นได้ชัด

ก็ในอดีตภพ เมื่อบุคคลผู้จวนจะตายเพราะความสิ้นไปเอง หรือ

* คือประกอบคำกลับกันไปมา เช่นเริ่มว่า ทุคติปฏิสนธิลางอย่าง มีในลำดับแห่ง

สุคติจุติลางอย่างก็มี แล้วก็กลับว่า สุคติปฏิสนธิลางอย่าง มีในลำดับแห่งทุคติจุติลาง

อย่างก็มี . . . แต่ที่ประกอบกลับไม่ได้ก็มี เพราะเป็นไปไม่ได้ เหตุฉะนั้นท่านจึงว่า

ประกอบตามที่ควรประกอบได้

อนึ่ง ท่านว่าที่กล่าวมานี้เป็นแต่ส่วนที่จุติกับปฏิสนธิแตกต่างกันทั้งนั้น ส่วนที่

ไม่แตกต่างคือจุติกับปฏิสนธิอะไร ๆ เสมอกัน ก็ประกอบเอาเองได้ไม่ยาก เช่นว่า

กามาวจรปฏิสนธิมีขันธ์ ๕ มีในลำดับแห่งกามาวจรจุติมีขันธ์ ๕ ฯ ล ฯ ปฏิสนธิไม่มีทั้ง

วิตกวิจารมีในลำดับแห่งจุติไม่มีทั้งวิตกวิจาร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 316

เพราะการกระทำ (ร้าย) ก็ตาม* ไม่อาจทนความรุมเอาแห่งศัสตรา

คือมรณันติเวทนา (ความเจ็บชนิดถึงตาย) ทั้งหลาย ซึ่งเชือดเฉือน

เส้นเอ็นทั่วอวยวะใหญ่น้อยเหลือที่จะทน ครั้นร่างกายซูบซีดไปโดย

ลำดับ ดุจใบตาลสดที่เขาวางไว้ในแดด ค่อยเหี่ยวแห่งไปฉะนั้น ครั้น

อินทรีย์ทั้งหลายมีจักขุเป็นต้นดับ กายินทรีย์ มนินทรีย์และชีวิตินทรีย์

คง (เหลือ) อยู่แต่ในหทัยวัตถุ วิญญาณซึ่งอาศัยหทัยวัตถุ (เท่า)

ที่เหลืออยู่ในขณะนั้น ก็ปรารภเอาครุกรรม (กรรมหนัก) สมาเสวิต-

กรรม (กรรมที่ทำเนือง ๆ ) อาสันนกรรม (กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย)

บุพกตกรรม (กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง

ได้แก่สังขารอันได้ปัจจัยที่เหลือ (มีอวิชชาเป็นต้น) แล้ว หรือ

(ปรารภเอา) วิสัย (คือวรรณรูปารมณ์) ซึ่งได้แก่กรรมนิมิต คติ-

นิมิตอันเข้าไปปรากฏแก่วิญญาณนั้นเป็นไป ตัณหาในวิสัยนั้นอันมีโทษ

ที่อวิชชาปกปิดไว้เพราะยังละตัณหาอวิชชาไม่ได้ ก็ชักเอาวิญญาณที

เป็นไปอยู่อย่างนี้นั้นไป สังขาร (คือเจตนา) ที่เกิดร่วมกันก็ (ช่วย)

ซัด (วิญญาณนั้น) ไป วิญญาณที่ถูกตัณหาซัดไป ถูกสังขารทั้งหลาย

ซัดไปด้วยอำนาจแห่งสันตติอยู่นั้น ก็ละทิ้งที่อาศัย (คือหทัยวัตถุ)

* สรเสน. รส ใช้ในอรรถหลายอย่าง ว่า ยินดี เยื่อใย รักใคร่ และเสื่อมสิ้น

ก็ได้ ในที่นี้อรรถว่าเสื่อมสิ้นเป็นเหมาะ มีศัพท์ใช้เทียบว่า รสติพฺพโย-วัยเสื่อมสิ้นไป

(ธาตุปฺปทีปิกา หน้า ๓๒๑) มหาฎีกาก็แก้ไปทางนั้น คือแก้ว่า สภาเวน - เพราะเป็นเอง

แล้วไขว่า ปริกฺขีณาอายุสงฺ ขารตาย - เพราะความที่อายุสังขารสิ้นไป ส่วนอุปกฺกม แก้

ว่า การกระทำมีตัดศีรษะเป็นต้นที่ตนทำเองหรือคนอื่นทำเอา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 317

เดิมด้วย ได้ที่อาศัยใหม่อันกรรมสร้างขึ้นบ้าง ไม่ได้บ้าง๑ เป็นไปด้วย

ปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นเท่านั้นด้วย ดุจคนหน่วงเชือกซึ่งผูกต้น

ไม้ที่ฝั่งในไว้ข้ามคลองไปฉะนั้นแล๒

ก็แล ในวิญญาณที่เป็นไปนี้ วิญญาณดวงก่อนเรียกว่าจุติวิญญาณ

เพราะเคลื่อนไป ดวงหลังเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ เพราะสืบต่อมาแต่

เบื้องต้นแห่งภพอื่น อันว่าวิญญาณนี้นั้น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า

มันมา ณ ภพนี้จากภพก่อนหามิได้๓ อีกทั้งเว้นเหตุ มีกรรม สังขาร

ตัณหาผู้ชักและวิสัยเป็นต้นจากภพก่อนนั้นเสีย มันก็ปรากฏมีขึ้นหาได้ไม่

[คาถาสังเขปนิทัสนะจุติปฏิสนธิ]

ธรรมทั้งหลายมีเสียงสะท้อนเป็นต้น พึงเป็นนิทัศนะ

ในข้อนี้ได้ อนึ่ง เพราะความเนื่องกันในสันดาน

(คือการสืบต่อ) ความเป็นอันเดียวกันจึงไม่มี ทั้ง

๑. อสฺสาทยมานํ มหาฎีกาแนะให้แปลว่า ถึง ว่า ได้ และที่ว่าได้ที่อาศัยใหม่ หมาย

ความว่าเกิดในปัญจโวการภพ ซึ่งมีหทัยวัตถุให้เป็นที่อาศัย ไม่ได้ที่อาศัย หมายความ

ว่าเกิดในจตุโวการภพ ซึ่งไม่มีรูป จึงไม่มีหทัยวัตถุเป็นที่ตั้ง

๒. มหาฎีกาเทียบไว้ว่า อารมณ์มีกรรมเป็นต้นที่ผูกพันอัตภาพในภพก่อน เปรียบ

เหมือนเชือกที่ผู้ต้นไม่ไว้ที่ฝั่งนี้ วิญญาณเปรียบเหมือนคน ตัณหาเปรียบเหมือน

ความปรารถนาจะข้ามคลองแห่งคนผู้นั้น สังขารผู้ซัดเปรียบเหมือนความพยายามข้าม

คนผู้นั้นเมื่อข้ามไปยืนอยู่ที่ฝั่งนอก ได้อะไร ๆ ที่ติดอยู่ที่ต้นไม่ฝั่งนอกบ้างไม่ไดบ้าง ก็

คนยืนอยู่ที่แผ่นดินได้ตามกำลังของตนแท้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ก็ฉันนั้น ได้ที่อาศัย

กล่าวคือหทัยวัตถุที่ติดอยู่ในอัตภาพในภพอื่น (ที่เป็นปัญจโวการ) บ้าง ไม่ได้ที่อาศัย

นั้น (ในจตุโวการภพ) บ้าง ก็คงเป็นไปได้ด้วยกรรมอันสัมปยุตกับอารมณ์ทั้งหลาย

เท่านั้นเป็นแท้

๓. ที่ว่าวิญญาณนี้มิได้มา ณ ภพนี้ . . . มหาฎีกาท่านว่า "ก็เพราะมันเกิดขึ้นในภพนี้

นี่เอง"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 318

ความต่างกันก็ไม่มีด้วย

[ขยายความ]

แท้จริง ธรรมทั้งหลายมีประการคือเสียงสะท้อน ประทีป ตรา

และรูปสะท้อน (คือเงา) พึงเป็นนิทัศนะในข้อนี้ คือในความมิได้มา

ณ ภพนี้ แต่ภพก่อน และในความเกิดขึ้นด้วยเหตุที่เนื่องมาแต่ภพอดีต

แห่งวิญญาณนั้น เหมือนอย่างว่าเสียงสะท้อน ประทีป ตรา และเงา

ย่อมมีเสียงเป็นต้นเป็นเหตุ๑จึงมี เว้นเสียงเป็นต้นเสีย ก็หาไปมีได้ไม่

ฉันใด จิตนี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อนึ่ง ในข้อนี้ เพราะความเนื่อง

กันในสันดาน (คือการสืบต่อ) ความเป็นอันเดียวกันจึงไม่มี ทั้ง

ความต่างกันก็ไม่มีด้วย จริงอยู่ ผิดว่าเมื่อความเนื่องกันในสันดาน

(คือการสืบต่อ) มีอยู่ ความเป็นอันเดียวกันอย่างเด็ดขาดจะพึงมีไซร้

นมสัมก็ไม่ใช่เป็นสิ่งเกิดมาแต่นมสดนะซิแม้นความต่างกันอย่างเด็ดขาด

จะพึงมีเล่า นมสัมก็ไม่ใช่เป็นสิ่งอาศัย๒นมสดละซิ

(นัยการประกอบความ) ในสิ่งที่เป็นเหตุและที่เกิดแต่เหตุ (คือ

ผล) ทั้งปวง ก็นัยนี้๓ เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้น (คือเมื่อถือว่าเหตุ

๑. มหาฎีกาขยายความไว้ให้ครบว่า เสียสะท้อนมีเสียง (ต้น) เป็นเหตุ ประทีป

มีประทีปดวงอื่นเป็นต้นเป็นเหตุ ตรา มีการประทับเป็นเหตุ เงา มีอวัยวะมีหน้า

เป็นต้นที่หันไปตรงวัตถุสะท้อนแสงมีแว่นส่องหน้าเป็นต้นเป็นเหตุ

๒. ขีรสฺสาธีโน ทธิ ทธิ เป็นนปุํ. ศัพท์หน้าจึงควรเปน็ . . . ธีนํ ประโยคหน้าก็เปน็

ทธิ สมุภูตํ เทียบให้เห็นอยู่

๓. มหาฎีกาให้ตัวอย่างการประกอบความตรงนี้ว่า เมื่อวิญญาณที่เป็นเหตุและวิญญาณ

ที่เป็นผล เป็นอันเดียวกันเด็ดขาดละก็ คติเทวดาก็มิได้เกิดแต่คติมนุษย์ละซิ และ

เมื่อมันเป็นคนละอันเด็ดขาด ผล (ของกรรม) ก็ไม่มีแก่ผู้ทำละซิ เปรียบเหมือน

เมล็ดพืชกับหน่อมัน จะว่ามันเป็นอันเดียวกันหรือคนละอันแท้ ก็ไม่ใช่ทั้งนั้น เพราะ

มันเนื่องกันด้วยการสืบต่อ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 319

กับผลเป็นอันเดียวกันหรือต่างกันเป็นคนละอันเด็ดขาดไปอย่างใดอย่าง

หนึ่งเช่นนั้น) การลบล้างโวหารของโลกทั้งปวงก็จะมีขึ้น* แต่การ

ลบล้างโวหารของโลกนั้น บัณฑิตไม่ปรารถนา เพราะเหตุนั้น ความ

เป็นอันเดียวกันหรือว่าความต่างกันเด็ดขาด ในสิ่งที่เป็นเหตุและผลอัน

เนื่องกันในสันดานทั้งหลายนี่ บัณฑิตจึงไม่ควรข้องแวะ (คืออย่า

ใส่ใน) แล

[คำท้วง]

ในข้อนี้ (มี) โจทกาจารย์ (ผู้ท้วง) กล่าวว่า "เมื่อเป็น

ความปรากฏ (เกิดขึ้นแห่งวิญญาณ) โดยมิได้เคลื่อนมา (แต่ภพ

ก่อน) อย่างนั้น เพราะขันธ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในอัตภาพมนุษย์นี้ดับไป

และเพราะกรรมที่เป็นปัจจัยแห่งผลไม่ไปในที่เกิดขึ้นแห่งผลนั้น ผลนั้น

ก็มิ (ไป) มีแก่ผู้อื่น และแต่กรรมอื่นหรือ อนึ่ง เมื่อผู้เสวย (ผล)

ไม่มี ผลนั้นจะพึงมีแก่ใครเล่า เพราะเหตุนั้น วิธาน (คือกฎเกณฑ์)

อันนี้ไม่มีดอก"

ในคำท้วงนั้น ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไปนี้

[คาถาสังเขปเรื่องสันดาน]

ผล (แห่งกรรม) ที่มีในสันดาน (คือการสืบต่อ

* คือสิ่งที่สืบต่อกันนั้น ชาวโลกเขามิได้คำนึงถึงว่าเป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เขา

เรียกไปตามที่มันเป็น เช่น นมสด นมส้ม เนย. . . เมล็ดมะม่วง หน่อมะม่วง ต้น

มะม่วง. . . ในจุติปฏิสนธิก็เช่นนั้น เขาพูดกันว่า คนชื่อนี้ตายไปเกิดเป็นเทพบุตร

หรือเทพบุตรจุติมาปฏิสนธิเป็นคนชื่อนี้ กับไปเกิดเป็นเทพบุตร มนุษย์ไปเกิดเป็น

สัตว์. . . ถ้าเอาลัทธิอันเดียวกันหรือคนละอันเข้ามาถือ ก็พูดตามโวหารชาวโลกไม่ได้

จึงว่าเป็นการลบล้างโวหารของชาวโลก (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 320

อันหนึ่ง) หา (ไป) มีแก่ผู้อื่นไม่ และหามีแต่

กรรมอื่นไม่ อภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่ง) แห่ง

พืชทั้งหลาย เป็นสาธกแห่งความข้อนี้ได้

[ขยายความ]

แท้จริง ผล (แห่งกรรม) เมื่อเกิดขึ้นในสันดานอันหนึ่ง

(ถึงแม้) เพราะความเป็นอันเดียวกัน และความต่างกันเด็ดขาด ใน

สันดานอันหนึ่งนั้นถูกปฏิเสธ ก็หา (กลาย) เป็นว่า (ไป) เกิดแก่

ผู้อื่น หรือเป็นว่าเกิดแต่กรรมอื่น (ไป) ไม่ ก็อภิสังขาร (สภาพ

ที่ปรุงแต่ง) แห่งพืชทั้งหลาย เป็นสาธกความแห่งคำนี้ได้ จริงอยู่

เมื่ออภิสังขารทั้งหลายแห่งพืชทั้งหลายมีพืชมะม่วงเป็นต้น อันธรรมชาติ

ทำให้แล้ว ผลต่าง ๆ เมื่อเกิดขึ้นในกาลอื่น (ภายหลัง) เพราะได้

ปัจจัยในสันกานแห่งพืชนั้น ก็หาใช่เกิดขึ้นแก่พืชอื่น ๆ ไม่ ทั้งหาใช่

เกิดเพราะปัจจัยคืออภิสังขารอื่นไม่ แต่ว่าพืชเหล่านั้น หรืออภิสังขาร

ทั้งหลาย ก็หา (ไป) ถึงที่เกิดผลไม่ ข้ออุปไมยนี้ บัณฑิตก็พึง

ทราบฉันนั้น*

อนึ่ง ความข้อนี้พึงทราบแม้โดยวิทยา ศิลป และโอสถเป็นต้น

ที่บุคคลประกอบเข้าไว้ในตัวเด็กแล้ว (ไป) ให้ผลในตัว (คนนั้น)

* มหาฎีกาประเทียบความไว้ว่า สัตว์ผู้มีกรรมเหมือนพืชที่ธรรมชาติปรุงแต่งแล้ว

กรรมเหมือนอภิสังขารของพืช ความสืบเนื่องกันแห่งปฏิสนธิวิญญาณเป็นต้นของสัตว์

เหมือนความสืบเนื่องกันแห่งหน่อเป็นต้นของพืช ความมีขึ้นแห่งผลแก่สัตว์ผู้ทำกรรม

นั่นก็เพราะกรรมของเขานั่นเอง เหมือนความมีช่อดอกหรือผลก็เพราะอภิสังขารแห่งพืช

นั้นนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 321

ที่เติบโตขึ้นเป็นต้น ในกาลอื่น (ภายหลัง) ก็ได้*

แม้คำใดที่โจทกาจารย์กล่าวว่า "อนึ่ง เมื่อผู้เสวย (ผล) ไม่

มี ผลนั้นจะพึงมีแก่ใครเล่า" ดังนี้ ข้าพเจ้าจะเฉลยในคำนั้น (ต่อไป)

[คาภาสังเขปเรื่องผู้เสวย]

ความสมมติว่า (มี) ผู้เสวย ย่อมเป็นอันสำเร็จ

ได้ด้วยความเกิดขึ้นแห่งผล เปรียบเหมือนความ

สมมติว่ามีผล เป็นอันสำเร็จได้ด้วยความเกิดขึ้น

แห่งผลของต้นไม้ฉะนั้น

[ขยายความ]

เหมือนอย่างว่าต้นไม้ จะเรียกว่ามีผลหรือว่าเผล็ดผลก็ตาม ก็

ด้วยความเกิดขึ้นแห่งผลไม้อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมทั้งหลายที่เรียกว่า

ต้นไม่นั่นเอง ฉันใด เทวดาหรือมนุษย์ก็ดี จะเรียกว่าได้เสวย (ผล)

หรือจะเรียกว่าผู้ได้รับความสุข ผู้ได้รับความทุกข์ก็ตาม ก็ด้วยความ

เกิดขึ้นแห่งผลคือสุขทุกข์ ซึ่งนับเป็นอุปโภค (ของเสวย) เป็นส่วน

หนึ่งแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เรียกว่าเทวดาและมนุษย์ ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุนั้น ความหมายอะไร ๆ ด้วยผู้เสวยอื่น (นอกไปจากขันธ์)

ในข้อว่าด้วยผู้เสวย (ผล) นี้ หามีไม่แล

* มหาฎีกาขยายความไว้ว่า การเรียนวิทยา การศึกษาศิลปะ และการประกอบโอสถ

ที่ทำไว้ในตัวเด็ก หาได้ไปถึงตัวคนนั้นที่เติบโตไม่ แต่ว่าความเชี่ยวชาญวิทยา ความ

รู้ศิลปะ และความไม่มีโรค ซึ่งมีการประกอบไว้นั้นเป็นเหตุ ไปมีในตัวเขาที่เติบโตขึ้น

ได้ มันหาไปมีแก่คนอื่นไม่ เพราะมันเกิดขึ้นในตัวเขาที่เติบโต ซึ่งเนื่องกันมาด้วยการ

สืบต่อแต่ตัวเด็กนั้นเอง และเว้นเหตุมีการเรียนเป็นต้นเมื่อเป็นเด็กเสีย มันจะไปมีแต ่

เหตุอื่นก็หามิได้ เพราะเมื่อการเรียนเป็นต้นไม่มี มันก็ไม่มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 322

แม้โจทกาจารย์ผู้ใดพึงกล่าวว่า "แม้นเมื่อเป็นอย่างนั้น สังขาร

เหล่านั้น เมื่อมีอยู่จึงเป็นปัจจัยแห่งผลหรือ หรือว่าไม่มีอยู่ก็เป็นปัจจัย

แห่งผลได้เล่า ก็ถ้ามีอยู่จึงเป็นปัจจัยได้ไซร้ วิบากของมันก็จะพึงมีแต่

ในปวัตติขณะ (คือในขณะที่สังขารเป็นไปอยู่) เท่านั้น ถ้าแม้นไม่มี

มันก็เป็นปัจจัยได้เล่า มันก็จะพึงนำผลมาให้ได้เป็นนิตย์ไป ทั้งในขณะ

ก่อนปวัตติ (คือในขณะทำกรรม) ทั้งภายหลังปวัตติ (คือเมื่อให้ผล

เสร็จแล้ว ?) ละซิ" ดังนี้ โจทกาจารย์ผู้นั้น พึงได้รับเฉลยดังนี้

[คาถาสังเขปขอบเขตความเป็นปัจจัยแห่งสังขาร]

สังขารทั้งหลายนั้น เป็นปัจจัย (แห่งผล)

เพราะทำ (ผล) ขึ้น แต่มันนำผลมาให้เป็นนิตย์

หามิได้ กิริยามีการประกันเป็นต้น พึงทราบว่า

เป็นนิทิศนะในข้อนั้นได้

[ขยายความ]

แท้จริง สังขารทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยแห่งผลของตน เพราะทำ

(ผล) ขึ้นเท่านั้น มิใช่เพราะมันมีอยู่หรือมันไม่มี ดังบาลีว่า "จักขุ-

วิญญาณอันเป็นวิบาก ย่อมเป็นสิ่งเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมฝ่ายกามาวจร

ทำขึ้นก่อขึ้น" ดังนี้เป็นอาทิ และมันเป็นปัจจัยแห่งผลของตนตามที่

ควรแล้วก็ไม่เป็นปัจจัยนำผลมาให้อีก เพราะมันมีวิบากสุกแล้ว (คือ

ให้ผลเสร็จแล้ว) กิริยามีการประกันเป็นต้น (ดังจะกล่าวต่อไป) นี้

พึงทราบว่าเป็นนิทัศนะในการอธิบายความข้อนั้นได้ เหมือนอย่างใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 323

ทางโลก คนผู้ใดเป็นนายประกันเพื่อส่งผลประโยชน์อะไร ๆ (ให้

เจ้าทรัพย์) หรือซื้อของก็ตาม กู้หนี้ก็ตาม ก็เพียงแต่การทำกิริยานั้น

(คือประกันหรือซื้อหรือกู้) แห่งคนผู้นั้นเท่านั้น เป็นปัจจัยในการส่ง

ผลประโยชน์นั้นเป็นต้น๑ หาใช่ความมีอยู่หรือไม่มีแห่งกิริยา (เป็น

ปัจจัย) ไม่ และเบื้องหน้าแต่ส่งผลประโยชน์ให้ (แล้ว) เป็นต้นไป

เขาก็ไม่เป็นลูกหนี้อีกเลย เพราะอะไร เพราะการส่ง (ผลประโยชน์)

ให้เป็นต้น เขาได้ทำแล้ว ฉันใด แม้สังขารทั้งหลายก็เป็นปัจจัยแห่งผล

ของตน เพราะทำ (ผล) ขึ้นเท่านั้น และเบื้องหน้าแต่ให้ผลตามที่ควร

(แล้ว) ไป มันก็ไม่เป็นปัจจัยนำผลมาให้อีกต่อไป ฉันนั้นแล

ความเป็นไปแห่งปฏิสนธิวิญญาณอันเป็นไปทั้งสองส่วน โดย

เป็นวิญญาณผสมและไม่สมเพราะปัจจัยคือสังขาร เป็นอันแสดงแล้ว

ด้วยนิเทศกถาเพียงเท่านี้

บัดนี้ เพื่อกำจัดเสียซึ่งความเลือนหลง ในวิบากวิญญาณ ๓๒

ทั้งหมดนั่น

[คาถาสังเขปสังขารเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณอะไรอย่างไร]

บัณฑิตพึงเข้าใจสังขารทั้งหลายนั่น (ว่า) เป็น

ปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไรและอย่างไร๒ ใน

แหล่งเกิดทั้งหลายมีภพเป็นต้น ด้วยอำนาจ (คือ

หลังบังคับ) แห่งปฏิสนธิและปวัตติ

๑. ที่ท่านประกอบคำ "เป็นต้น" ไว้ เพราะยังมีกิริยาที่กล่าวไว้อีก ๒ คือการให้ค่าของ

ที่ซื้อ และการใช้หนี้

๒. ย. ไม่มี ต. รับ อาจริยกะให้แปลว่า 'ไร'

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 324

[ขยายความ]

ความในคาถานั้นว่า แหล่งเกิดเหล่านี้ คือ ภพ ๓ กำเนิด ๔

คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ชื่อว่าแหล่งเกิดมีภพเป็นต้น

สังขารทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไรใน (ตอน)

ปฏิสนธิและในปวัตตกาล ในแหล่งเกิดทั้งหลายมีภพเป็นต้นเหล่านั้น

แลมันเป็นปัจจัยด้วยประการใด บัณฑิตพึงทราบด้วยประการนั้นเถิด

[พรรณนาความ]

ในสังขารทั้งหลายนั้น พรรณนาในบุญญาภิสังขารก่อน

บุญญาภิสังขารประเภท (กุศล) เจตนา ๘ ฝ่ายกามาวจร (ว่า)

โดยไม่แยก (ประเภท) กัน๑ ย่อมเป็นปัจจัยโดยส่วนสอง คือโดยเป็น

กรรมปัจจัยในขณะต่าง ๆ ด้วย โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยด้วย แห่งวิบาก-

วิญญาณ ๙ ในสุคติกามภพ ใน ปฏิสนธิ (กาล) บุญญาภิสังขาร

ประเภทกุศลเจตนา ๕ ฝ่ายรูปาวจร เป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณ ๕

แม้ในรูปภพ เฉพาะใน ปฏิสนธิ อนึ่ง บุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจรมี

ประเภทดังกล่าว เป็นปัจจัยโดยส่วนสองตามนัยที่กล่าวนั่นแล แห่ง

วิบากวิญญาณกามภูมิ ๗ เว้นอเหตุมโนวิญญาณธาตุที่สหรคตกับ

อุเบกขา ในสุคติกามภพ ใน ปวัตตกาล๒ ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ

บุญญาภิสังขารประเภทที่กล่าวนั้นแหละ เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่าง

๑. คือกล่าวรวมทั้งหมด ไม่แยกเป็นประเภทไตรเหตุ ทวิเหตุ เอกเหตุ และอเหตุ (?)

๒. ท่านใช้ ปวัตติ บ้าง ปวัตตะบ้าง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 325

นั้นเหมือนกันแห่งวิบากวิญญาณ ๕๑ ในรูปภพ ใน ปวัตตกาล ไม่เป็น

ปัจจัยในปฏิสนธิ

ส่วนในทุคติกามภพ บุญญาภิสังขารกามาจรที่กล่าวนั้น เป็น

ปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิบากวิญญาณกามภูมิทั้ง ๘

ใน ปวัตตกาล ได้ (แต่) ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ ในทุคติกามภพนั้น

ในนรก บุญญาภิสังขารกามาวจรนั้นก็เป็นปัจจัยในการประสบอิฏฐารมณ์

ได้ ในคราวต่าง ๆ เช่นความจาริกไป (เยี่ยม) นรกแห่งพระมหาโมค-

คัลลานเถระเป็นต้น๒ อนึ่ง อิฏฐารมณ์ย่อมมีได้ในพวกสัตว์ดิรัจฉาน

และในพวกเปรตที่มีฤทธิมากด้วยเหมือนกัน บุญญาภิสังขารกามาวจร

นั้นแหละ เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิญญาณที่

เป็นกุศลวิบากทั้ง ๑๖ ในสุคติกามภพ ทั้งใน ปวัตตกาล ทั้งใน ปฏิสนธิ

แต่ (ว่า) โดยไม่แยกกัน (คือ รวมกามาวจรและรูปาวจรเข้าด้วยกัน)

บุญญาภิสังขารเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน แห่งวิบาก

วิญญาณ ๑๐ ในรูปภพ ทั้งใน ปวัตตกาล และใน ปฏิสนธิ ด้วย

อบุญญาภิสังขาร ประเภทอกุศลเจตนา ๑๒ เป็นปัจจัยโดยส่วน

สองอย่างนั้นนั่นแล แห่งวิญญาณดวง ๑ (คือปฏิสนธิวิญญาณ ? ) ใน

ทุคติกามภพ ในปฏิสนธิ ไม่เป็นในปวัตตกาล เป็นปัจจัยแห่งอกุศล-

วิบากวิญญาณ ๖ ในปวัตตกาล ไม่เป็นในปฏิสนธิ เป็นปัจจัยแห่งอกุศล

๑. วิบากวิญญาณ ๕ ตรงนี้ มหาฎีกาบอกไว้ว่าได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ สัม-

ปฏิจฉันนมโนธาตุ สันตีรณะมโนวิญญาณธาตุ ๒

๒. มหาฎีกาว่า ท่านใช้ฤทธินิรมิตฝนขึ้นในนรกนั้น ดับไฟนรกเสียชั่วเวลาหนึ่ง

แสดงธรรมแก่สัตว์นรกเหล่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 326

วิบากวิญญาณทั้ง ๗ ทั้งในปวัตตกาลและในปฏิสนธิ ส่วนในสุคติ-

กามภพ อบุญญาภิสังขารก็เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นนั่นแหละ

แก่อกุศลวิบากวิญญาณทั้ง ๗ นั้นในปวัตตกาลได้เหมือนกัน (แต่) ไม่

เป็นในปฏิสนธิ ในรูปภพมันก็เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นแหละ

แห่งวิลากวิญญาณ ๔ ในปวัตตกาล (แต่) ไม่เป็นในปฏิสนธิ ก็แต่

ว่าความที่อบุญญาภิสังขารเป็นปัจจัยในรูปภพนั้น เป็นโดยได้เห็นรูปที

ไม่น่าปรารถนาและได้ยินเสียงที่ไม่น่าปรารถนาในกามาวจรภพ เพราะ

ว่าในพรหมโลก อันสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลายมีรูปที่ไม่ปรารถนา

เป็นต้นหามีไม่ แม้ในกามาจรเทวโลกก็อย่างนั้น*

ส่วนอเนญชาภิสังขาร เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกัน

แห่งวิบากวิญญาณ ๔ ในอรูปภพ ทั้งในปวัตตกาลปละในปฏิสนธิ

สังขารเหล่านั้นเป็นปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไร ด้วยอำนาจ

แห่งปฏิสนธิและปวัตติในภพทั้งหลาย และมันเป็นปัจจัยด้วยประการใด

พึงทราบด้วยประการนั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

แม้ในกำเนิดเป็นต้น ก็พึงทราบโดยนัยนั้นเหมือนกัน (ต่อไป)

นี้เป็นคำชี้แจงข้อสำคัญในกำเนิดเป็นต้นนั้น ตั้งแต่ต้นไป

* กามาวจรภพที่ว่านี้ ต้องหมายถึงมนุษยโลก เพราะเทวโลกท่านก็ว่าไม่มีอนิฏฐารมณ์

การที่พรหมได้ประสบอนิฏฐารมณ์ในโลกอื่นนี้ เห็นจะพอเทียบได้กับพระในวัดได้ประสบ

อนิฏฐารมณ์ในหมู่บ้าน เช่นได้เห็นหรือได้ยินชาวบ้านข้างวัดตบตีด่าทอกันเป็นต้น

ส่วนที่ว่าเทวโลกไม่มีอนิฏฐารมณ์นั้น มหาฎีกาไม่ยอมให้ทั้งหมด ท่านว่านั่น

เป็นแต่ 'ส่วนมาก' แต่ที่จริงชาวเทวโลกอาจมีเวลาประสบอนิฏฐารมณ์ได้ เมื่อถึงกาล

จะจุติ ย่อมมีบุพนิมิตปรากฏขึ้นเช่นดอกไม้เหี่ยวเป็นต้น นั่นก็เป็นอนิฏฐารมณ์นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 327

ก็เพราะว่าในสังขารทั้งหลายนี้ อันดับแรก บุญญาภิสังขารให้

ปฏิสนธิในภพ ๒ (คือกามภพและรูปภพ) แล้วยังวิบากของตนทั้งปวง

ให้เกิด (อย่างใด) ก็ให้ปฏิสนธิในกำเนิด ๔ อันอัณฑชะเป็นต้น ใน

คติ ๒ กล่าวคือเทวดาและมนุษย์ ในวิญญาณฐิติ ๔ ได้แก่นานัตตกาย-

นานัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน) นานัตต-

กายเอกัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกันแต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน)

เอกัตตากายนานัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกันแต่มีสัญญา

ต่างกัน) เอกัตตกายเอกัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกันมี

สัญญาอย่างเดียวกัน) และในสัตตาวาสเพียง ๔ เพราะว่าในอสัญญี-

สัตตาวาส บุญญาภิสังขารนั้นปรุงแต่งแต่รูปอย่างเดียวเท่านั้น แล้วยัง

วิบากของตนทั้งปวงให้เกิดอย่างเดียวกันนั้น เพราะเหตุนั้น บุญญาภิ-

สังขารนั้นจึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้ว (คือเป็นนานาขณิกกรรม-

ปัจจัยและอุปนิสยปัจจัย) นั่นแล แห่งวิบากวิญญาณ ๒๑ ในภพ ๒

กำเนิด ๔ คติ ๒ วิญญาณฐิติ ๔ และสัตตวาส ๔ เหล่านั้น ทั้งใน

ปฏิสนธิและในปวัตตกาล ตามที่มันเป็น*

ส่วนอบุญญาภิสังขาร ย่อมให้ผลโดย (ให้) ปฏิสนธิในกามภพ ๆ

เดียวเท่านั้น ในกำเนิด ๔ นอกนั้นก็ในคติ ๓ ในวิญญาณฐิติเดียว

(คือนานัตตกายเอกัตตสัญญี) และในสัตตวาสก็ (เดียว) เช่นนั้น

* คือในกามาวจรและรูปาวจรกุศลวิบากวิญญาณ ๒๑ นั้น บุญญาภิสังขารเป็นปัจจัย

แห่งวิญญาณ ๑๔ ทั้งในปฏิสนธิและปวัตตกาล เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ ๗ เฉพาะใน

ปวัตตกาล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 328

เหมือนกัน เหตุใด เพราะเหตุนั้น อบุญญาภิสังขารนั่น จึงเป็นปัจจัย

โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเหมือนกัน แห่งวิบากวิญญาณ ๗ ในภพเดียว

ในกำเนิด ๔ ในคติ ๓ ในวิญญาณฐิติเดียว และในสัตตาวาสเดียว ทั้ง

ในปฏิสนธิและในปวัตตกาล

ส่วนอเนญชาภิสังขาร ให้ผลโดย (ให้) ปฏิสนธิในอรูปภพ ๆ

เดียวเท่านั้น ในกำเนิดโอปปาติกะกำเนิดเดียว ในเทวคติ ๆ เดียว

ในวิญญาณฐิติ ๓ มีชั้นอากาสนัญจายตนะเป็นต้น เหตุใด เพราะ

เหตุนั้น อเนญชาภิสังขารนั่น จึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือน

กัน แห่งวิญญาณ ๔ ในภพเดียว กำเนิดเดียว คติเดียว วิญญาณฐิติ ๓

สัตตาวาส ๔ ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตตกาล แล

บัณฑิตพึงเข้าใจสังขารทั้งหลายนั่น (ว่า) เป็น

ปัจจัยแห่งวิบากวิญญาณเหล่าไรและอย่างไร ใน

แหละเกิดทั้งหลาย มีภพเป็นต้น ด้วยอำนาจ (คือ

หลักบังคับ) แห่งปฏิสนธิและปวัตติ

โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เทอญ

นี่เป็นกถาอย่างพิศดารในบทว่า สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ

[แก้บท วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ]

ในบท วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัย โดยวิภาคแห่งนามรูป

ทั้งหลาย โดยความเป็นไป (แห่งนามรูป) ใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 329

แหล่งทั้งหลายมีภพเป็นต้น โดยสงเคราะห์

(ย่อเข้า) โดยปัจจยนัย

[วินิจจฉัยโดยวิภาค]

ก็ในข้อว่า "โดยวิภาคแห่งนามรูปทั้งหลาย" นั้น มีวินิจฉัยว่า

ขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่า นาม* เพราะน้อมไปมุ่งหน้าต่ออารมณ์

มหาภูต ๔ และอุปาทายรูป (รูปอาศัย) แห่งมหาภูต ๔ ชื่อว่ารูป

วิภาค (คือประเภท) แห่งนามรูปทั้งหลายนั้น ได้กล่าวไว้ในขันธ-

นิเทศแล้วแล

วินิจฉัยในบท วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นั้น โดยวิภาคแห่ง

นามรูปทั้งหลาย พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[วินิจฉัยโดยความเป็นไป]

ส่วนในข้อว่า "โดยความเป็นไป (แห่งนามรูป) ในแหล่ง

ทั้งหลายมีภพเป็นต้น" นั้น มีวินิจฉัยว่า นาม ย่อมเป็นไปในภพ

กำเนิด คติ วิญญาณฐิติทั้งปวงและในสัตตาวาสที่เหลือ เว้นสัตตาวาส

หนึ่ง (คืออสัญญสัตตาวาส) รูป ย่อมเป็นไปในภพ ๒ กำเนิด ๔ ใน

คติ ๕ ในวิญญาณฐิติ ๔ ข้างต้น ในสัตตาวาส ๕ ข้างต้น (รวมอสัญญ-

สัตตาวาสด้วย) ก็แลเมื่อนามรูปนั่นเป็นไปอยู่อย่างนั้น เหตุที่ใน

ปฏิสนธิขณะแห่งเหล่าสัตว์ครรภไสยกะกำเนิดที่ยังไม่แสดงภาวะ (เพศ)

* ที่จริง อรูปขันธ์ทั้ง ๔ (รวมวิญญาณด้วย) เป็นนาม แต่ในที่นี้ท่านกล่าวแต่อรูปขันธ์ ๓

เป็นนาม ก็เพราะแยกวิญญาณไปเป็นตัวปัจจัยเสีย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 330

และแห่งเหล่าสัตว์อัณฑชะกำเนิดที่ยังไม่แสดงภาวะ สันตติสีสะ (คือ

รูปกลาปซึ่งเป็นต้นเป็นมูลแห่งการสืบต่อ) ๒ โดยเป็นรูปด้วยอำนาจ

แห่งวัตถุทสกะ (หมวดรูป ๑๐ ทั้งหทัย) และกายทสกะ (หมวดรูป ๑๐

ทั้งกายประสาท) กับอรูปขันธ์ ๓ ย่อมเกิดปรากฏขึ้น เหตุนั้น โดย

กระจายรูปเหล่านั้นออกไป (ก็) ธรรม ๒๓ คือ (รูป) ธรรม ๒๐ โดย

เป็นรูปรูป (คือรูปที่สำเร็จแล้ว) กับอรูปขันธ์ ๓ นั่น (แหละ)

บัณฑิตพึงทราบว่าชื่อว่า นามรูป อันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ แต่โดย

ถือเอาแต่รูปที่ยังไม่ได้ถือเอา (คือถือเอาแต่ที่ไม่ซ้ำกัน) ชักรูปธรรม

๙ จากสันตติสีสะหนึ่งออกเสียก็ (เหลือ) ๑๔ เพิ่มภาวทสกะ (หมวด

รูป ๑๐ ทั้งภาวะ) สำหรับสัตว์ที่มีภาวะ (แล้ว) เข้าก็เป็น ๓๓ อนึ่ง

โดยถือเอาแต่ที่ยังไม่ถือเอา ชักรูปธรรม ๑๓ จากสันตติสีสะ ๒ หมวด

ออกเสียอีกก็ (เหลือ) ๑๕* (ชื่อว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ สำหรับ

สัตว์ ๒ กำเนิดนั้น)

ส่วนในเหล่าสัตว์โอปปาติกะกำเนิด เหตุที่ในปฏิสนธิขณะแห่ง

* ในคัมภีร์นี้ท่านบัญญัติคำเรียกรูปกลาปว่า 'สันตติสิสะ' รูปกลาปนั้นตั้งต้นด้วยอัฏฐกะ (หมวด ๘)

คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา เรียกว่าอวินิพโภครูป - แยกกันหรือลดไม่ได้ มีแต่

เพิ่ม สำหรับอุปาทินรูป เริ่มด้วยเพิ่มชีวิตเข้า ทีนี้ก็เป็นนวกะ (หมวด ๙) เรียกว่า ชีวิตนวกะ

(หมวดรูป ๙ ทั้งชีวิต อายุนวกะก็เรียก แปลว่า - ๙ ทั้งอายุ) ต่อไปตั้งชีวิตนวกะเป็นหลัก เพิ่ม

รูปต่าง ๆ เข้าเป็น ๑๐,๑๑,๑๒,๑๓ ฯลฯ เช่นเพิ่มวัตถุคือหทัยเข้าเป็นวัตถุทสกะ - ๑๐ ทั้ง

วัตถุ เพิ่มภาวะคือเพศเข้าเป็นภาวทสกะ - ๑๐ ทั้งภาวะ เพิ่มจักษุประสาทเข้าเป็นจักขุทสกะ - ๑๐

ทั้งจักษุ ฯลฯ ดังนั้นรูป ๙ คือ อวินิพโภครูป ๘ กับชีวิตรูป จึงมีทั่วกันทุกกลาป สำหรับอุปาทิน-

รูปในกำเนิดครรภไสยกะและอัณฑชะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 331

รูปพรหมมีจำพวก พรหมกายิกะ เป็นต้น สันตติสีสะ ๔ โดยเป็นรูป

ด้วยอำนาจแห่งจักขุทสกะ โสตทสกะ วัตถุทสกะ และชีวิตินทริยนวกะ

กับอรูปขันธ์ ๓ ย่อมปรากฏ เหตุนั้น โดยกระจายรูปของรูปพรหม

เหล่านั้นออกไป (ก็) ธรรม ๔๒ คือ (รูป) ธรรม ๓๙ โดยเป็นรูปรูป

กับอรูปขันธ์ ๓ นั่นบัณฑิตพึงทราบว่าชื่อว่า นามรูป อันมีเพราะปัจจัย

คือวิญญาณ แต่โดยถือเอาแต่ที่ยังไม่ได้ถือเอา ชัก (รูป) ธรรม ๒๗

(ที่ซ้ำกัน) จากสันตติสีสะ ๓ หมวดออกเสีย ก็ (เหลือ) ๑๕

ส่วนในกามภพ เหตุที่ในปฏิสนธิขณะแห่งเหล่าสัตว์โอปปาติกะ

กำเนิดที่เหลือก็ดี แห่งเหล่าสัตว์สังเสทชะกำเนิดก็ดี ที่มีภาวะและมี

อายตนะครบ สันตติสีสะ ๗๑ โดยเป็นรูปและอรูปขันธ์ ๓ ย่อมปรากฏ

เหตุนั้น โดยกระจายรูปเหล่านั้นออกไป (ก็) ธรรม ๗๓ คือ (รูป)

ธรรม ๗๐ โดยเป็นรูปรูปกับอรูปขันธ์ ๓๒ นั่นบัณฑิตพึงทราบว่าชื่อว่า

นามรูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ แต่โดยถือเอาแต่ที่ยังไม่ได้ถือเอา

ชัก (รูป) ธรรม ๕๔ (ที่ซ้ำกัน) จากรูปสันตติสีสะ ๖ หมวดออกเสีย ก็

(เหลือ) ๑๙ นี่๓ เป็นการนับอย่างสูง ส่วนอย่างต่ำ การนับนามรูปอันมี

เพราะปัจจัยคือวิญญาณในปฏิสนธิแห่งเหล่าสัตว์ผู้มีรูปสันตติสีสะนั้น ๆ

วิกล (บกพร่อง) ก็พึงทราบโดยลด ๆ ย่นลงบ้าง ขยายออกบ้าง ตาม

เกณฑ์แห่งสันตติสีสะนั้น ๆ เถิด

๑. สันตติสีสะ ๗ คือ วัตถุ - ภาวะ - จักขุ - โสตะ - ฆานะ - ชิวหา - กายะทสกะ

๒. ปาฐะพิมพ์ตก อิติ ที่ถูกเป็น. . . ขนฺธาติ เอเต. . .

๓. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น เสน เข้าใจว่าที่ถูกเป็น เอส เพราะความส่องไปอย่างนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 332

ส่วนว่าในปฏิสนธิแห่งอรูปพรหมทั้งหลาย ก็ปรากฏแต่อรูป-

ขันธ์ ๓ (ไม่มีรูป) ในปฏิสนธิแห่งเหล่าอสัญญีพรหม ปรากฏแต่ชีวิ-

ตินทริยนวกะเป็นรูปเท่านั้นแล นี่เป็นนัยในปฏิสนธิก่อน

ส่วนในปวัตตกาล สุทธัฏฐกรูป (กลุ่มรูป ๘ ล้วนคืออวินิพโภค-

รูป) อันมีฤดูเป็นสมุฏฐานโดยฤดู (คือเตโชธาตุ) ที่เป็นไปพร้อมกับ

ปฏิสนธิจิต ย่อมปรากฏขึ้นในฐิติขณะแห่งปฏิสนธิจิต ในทุกแหล่งที่

เป็นไปแห่งรูป แต่ (ตัว) ปฏิสนธิจิตหายังรูปให้ตั้งขึ้นได้ไม่ แท้จริง

ปฏิสนธิจิตนั้นไม่อาจยังรูปให้ตั้งขึ้นได้ เพราะเป็นจิตมีกำลังน้อย เหตุ

ที่ (หทัย) วัตถุ (เพิ่มเกิด) ยังมีกำลังอ่อน เปรียบเหมือนคนตกเหว

ไม่สามารถเป็นที่อาศัยแห่งคนอื่นได้ฉะนั้น จำเดิมแต่ภวังคจิตดวงแรก

ต่อแต่ปฏิสนธิจิตไป สุทธัฏฐกกรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานจึงปรากฏขึ้น

ถึงกาลที่เสียงปรากฏ (คือถึงคราวจะเกิดเสียงได้) สัททนวกะ (กลุ่ม

รูป ๙ ทั้งเสียง) จึงปรากฏขึ้นแต่ฤดูอันเป็นไปต่อแต่ปฏิสนธิขณะนั่นแล

และแต่จิตด้วย* ส่วนสัตว์เหล่าใดเป็นครรภไสยกสัตว์อาศัยกพฬิงการา-

หารเป็นอยู่ สุทธัฎฐกรูปอันมีอาหารเป็นสมุฏฐาน ย่อมปรากฏใน

สรีระของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งอาหารที่มารดากลืนกินลงไปซึมซาบเข้าไป

ตามบาลีว่า

"ก็สัตว์ผู้กำบังตัวอยู่ในท้องของมารดา มารดา

ของเขาบริโภคโภชนะอันใด เป็นข้าวก็ดี น้ำก็ดี

* เสียงในที่นี้เป็นเสียงเกิดจากการกระทบ เช่นเสียงดิ้นเสียงดีด. . . ไม่ใช่เสียงพูด

มีสมุฏฐาน ๒ คือฤดูกับจิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 333

(ลงไป) เขายังชีพให้เป็นไปในท้องมารดานั้น

ด้วยโภชนะนั้น"

ดังนี้ สำหรับโอปปาติกสัตว์ทั้งหลาย สุทธัฏฐกรูปอันมีอาหารเป็น

สมุฏฐาน ย่อมปรากฏในกาลที่กลืนเขฬะที่อยู่ในปากของตนลงไปเป็น

ครั้งแรก เพราะฉะนั้น๑ โดยรวมกันเข้า ธรรม ๙๙ คือรูป ๙๖ อย่าง

ได้แก่รูป ๒๖ ด้วยอำนาจแห่งสุทธัฏฐกรูปมีอาหารเป็นสมุฏฐน (๘)

และแห่งนวกรูป ๒ อย่างสูง อันมีฤดูและจิตเป็นสมุฏฐาน๒ (๑๘) และ

รูป ๗๐ อย่างที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน อันเกิดขึ้น ๓ วาระในขณะจิต

หนึ่ง ๆ ซึ่งกล่าวมาก่อนแล้ว กับอรูปขันธ์ ๓ (รวมเป็น ๙๙) หรือว่า

เหตุที่เสียงเป็นสิ่งไม่แน่นอน เพราะปรากฏในลางคราวเท่านั้น เหตุนั้น

ชักเสียงทั้ง ๒ อย่าง (คือที่เป็นอุตุสมุฏฐานและจิตสมุฏฐาน) นั้น

ออกเสีย ธรรมจำนวนนี้ก็เป็น ๙๗ บัณฑิตพึงทราบว่าชื่อว่านามรูป

อันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณแห่งสัตว์ทั้งปวงตามที่มันเป็น๓ ด้วยว่าเมื่อ

สัตว์ทั้งปวงนั้น แม้หลังไป๔ แม้มัวเมา แม้กินอยู่ แม้ดื่มอยู่ ธรรม

อันมีวิญญาณเป็นปัจจัยเหล่านั้น ก็คงเป็นไปทั้งกลางวันและกลางคืน

ก็แลความที่ธรรมเหล่านั้นมีวิญญาณเป็นปัจจัยนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจัก

๑. อิติ ที่ สุทฺธฏฺฐกนฺติ เห็นว่าเป็นเหตุ ได้ความดีกว่า

๒. นวกรูปนี้ ก็คือสัททนวกะนั่นเอง แยกเป็นอุตุสมุฏฐาน ๑ เป็นจิตตสมุฏฐาน ๑ จึง

เป็น ๒ และที่ว่าอย่างสูงนั้น หมายความว่าอย่างต่ำ (คืออย่างทั่ว ๆ ไป) รูปก็ ๘ เท่านั้น

แต่ถึงคราวมรเสียงได้ เพิ่มขึ้นเป็น ๙ จึงว่าอย่างสูง

๓. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น ยถาสมฺภาวํ นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น สมฺภวํ

๔. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สตฺตานํ นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น สุตฺตานํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 334

พรรณนาข้างหน้า๑

ส่วนว่าในรูปเหล่านั้น กรรมชรูป (รูปเกิดแต่กรรม มีกรรมเป็น

สมุฏฐาน) นั้นใด กรรมชรูปนั้นแม้ตั้งขึ้นก่อนเพื่อน ในภพ กำเนิด

คติ (วิญญาณ) ฐิติ และสัตตาวาสทั้งหลาย (แต่หาก) รูป ๓ สมุฏฐาน

(คือ ฤดู จิต อาหาร) ไม่ช่วยอุปถัมภ์แล้ว ก็หาอาจตั้งอยู่ทนไม่

แม้รูป ๓ สมุฏฐานเล่า (หาก) กรรมชรูปนั้นไม่อุปถัมภ์ ก็ไม่อาจตั้ง

อยู่ได้นาน (เหมือนกัน) ที่แท้นั้นรูปทั้ง ๔ สมุฏฐานนั้นต่างอุปถัมภ์

กันและกันไว้นั่นแล จึงไม่ตกไปเสีย ตั้งอยู่ได้ปีหนึ่งก็มี ๒ ปีก็มี ฯลฯ

ถึง ๑๐๐ ปีก็มี เป็นไปตราบเท่าสิ้นอายุหรือสิ้นบุญแห่งสัตว์เหล่านั้น

ดังกลุ่มไม้อ้อที่รากยึดไว้ทั้ง ๔ ทิศ๒ แม้ถูกลมตีก็ตั้งอยู่ได้ และดับพวก

คนเรือแตกที่ได้ที่พึ่งทีไหนสักแห่งในมหาสมุทรแล้ว แม้ถูกกำลังคลื่น

ตีก็ตรงตัวอยุ่ได้ฉะนั้นแล

การวินิจฉัยในบท วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นี้ โดยความเป็น

ไปในแหล่งทั้งหลายมีภพเป็นต้น บัญฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ประการ ๑

วินิจฉัยโดยสงเคราะห์

ส่วนในข้อว่า "โดยสงเคราะห์" นั้นมีวินิจฉัยว่า นามอันมี

เพราะปัจจัยคือวิญญาณอย่างเดียว ทั้งในปวัตติกาลและปฏิสนธิกาล ใน

๑. ประโยคนี้ ของท่านเป็นกัตตุวาจก แต่ในความภาษาของเรา เรียงเป็นกรรมวาจก

ฟังสนิทกว่า ดังทีเรียงไว้นั้น

๒. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า ต้นอ้อตามปกติมันขึ้นเป็นกลุ่มเกี่ยวกันและกันไว้ ราก

มันยึดไว้ทั้ง ๔ ทิศ (ลมจะมาทิศไหน ก็ต้านได้ทุกทิศ)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 335

อรูปภพ และ (เฉพาะ) ในปวัตติกาลในปัญจโวการภพ อันใดก็ดี

รูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณอย่างเดียว ในทุกกาลในพวกอสัญญสัตว์

และ (เฉพาะ) ในปวัตติกาลในปัญจโวการภพ อันใดก็ดี ทั้งนามและ

รูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ ในทุกกาลในปัญจโวการภพ อันใดก็ดี

นานและรูปทั้งปวงนั้น บัณฑิตพึงสงเคราะห์เข้าโดยเอกเทศสรูเปกเศษ-

นัย (วิธีรวมศัพท์ที่มีรูปเสมอกันแต่ละส่วนเข้าให้เหลือแต่ ๑) ดังนี้

ว่า "นามด้วย รูปด้วย ทั้งนามและรูปด้วย ชื่อว่า นามรูป" แล้ว

พึงทราบเถิดว่า นามรูปนั้นชื่อว่านามรูปที่มีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ

หากมีคำท้วงว่า "คำวินิจฉัยนี้ไม่ชอบ เพราะในพวกอสัญญสัตว์

ไม่มีวิญญาณ" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "ไม่ชอบหามิได้ เพราะ

[คาถาสังเขป]

วิญญาณที่เป็นเหตุแห่งนามรูปนี้ใด วิญญาณนั้น

ปราชญ์ทราบกันว่ามี ๒ ส่วน คือ วิบากวิญญาณ

(วิญญาณที่เป็นวิบาก) ๑ อวิบากวิญญาณ (วิญญาณ

ที่ไม่ใช่วิบาก) ๑ เพราะเหตุที่วิญญาณมี ๒ ส่วน

(ดังนี้) คำวินิจฉัยนี้จึงชอบแท้

[ขยายความ]

จริงอยู่ วิญญาณใดเป็นเหตุแห่งนามรูป วิญญาณนั้นปราชญ์

ทราบกันว่ามี ๒ ส่วน โดยแยกเป็นวิบากวิญญาณและอวิบากวิญญาณ

ในพวกอสัญญีสัตว์ ก็วิญญาณนี้เองเป็นรูป ซึ่งมีเพราะปัจจัยคืออภิ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 336

สังขารวิญญาณที่เป็นไปในปัญจโวการภพ เพราะเป็นรูปที่มีกรรมเป็น

สมุฏฐาน ในปวัตติกาลในปัญจโวการภพก็อย่างนั้น คือในขณะจิตมี

กุศลจิตเป็นต้น รูปก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน (เช่นกัน) เพราะฉะนั้น

คำวินิจฉัยนี้จึงชอบแล้ว

วินิจฉัยในบท วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นี้ โดยสงเคราะห์เข้า

บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑

[โดยปัจจยนัย]

ส่วนในข้อว่า "โดยปัจจัยนัย" นั้น มีวินิจฉัยว่า

[คาถาสังเขป]

วิบากวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนาม ๙ อย่าง แห่ง

วัตถุรูป (คือ หทัย) ก็ ๙ อย่าง แห่งรูปที่เหลือ ๘

อย่าง อภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งรูปอย่างเดียว

ส่วนวิญญาณนอกนั้น เป็นปัจจัยแห่งนามรูปนั้น ๆ

ตามควร

[ขยายความ]

จริงอยู่ นามที่นับว่าเป็นวิบาก ในปฏิสนธิกาลหรือในปวัตติกาล

ก็ดีนั้นใด วิบากวิญญาณที่เป็นไปในปฏิสนธิกาลบ้าง อื่นบ้าง ย่อม

* อภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณผู้แต่ง ?) เข้าใจว่า เป็นอันเดียวกันกับอวิปากวิญญาณ

ที่กล่าวในคาถา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 337

เป็นปัจจัย ๙ อย่างโดยเป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย

สัมปยุตปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทรียปัจจัย และอวิคต-

ปัจจัย แห่งนามนั้น อันผสมกับรูปหรือมิได้ผสมก็ตาม เป็นปัจจัย

๙ อย่าง โดยเป็นสหชาต---อัญญมัญญ----นิสสย----วิปาก----อาหาร----

อินทรีย----วิปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย แห่งวัตถุรูปในปฏิสนธิ-

กาล แต่เป็นปัจจัยโดยปัจจัยใน ๙ นี้ ชักอัญญมัญญปัจจัยออกเสีย

เหลือ ๘ แห่งรูปที่เหลือเว้นวัตถุรูป ส่วนอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย

อย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่งรูปอสัญญีสัตว์บ้าง

แห่งกรรมชรูปในปัญจโวการภพบ้าง (ทั้งนี้) โดยปริยายทางพระสูตร

วิญญาณที่เหลือทั้งหมดนับแต่ภวังค์ดวงแรก พึงทราบว่าย่อมเป็นปัจจัย

แห่งนามรูปนั้น ๆ ตามควร อันจะแสดงปัจจัยนัยแห่งนามรูปนั้นโดย

พิสดาร ก็จำต้องขยายปัฏฐานกถาทั้งหมด (คัมภีร์) เพราะเหตุนี้

ข้าพเจ้าจึงไม่ริวิตถารนัยนั้น

ในความที่วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนามรูปนั้น หากมีคำถามว่า

ก็ข้อที่ว่านามรูปในปฏิสนธิย่อมมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ นั่นจะพึง

ทราบได้อย่างไร ?" ดังนี้ พึงแก้ว่า "ทราบได้โดยพระสูตรและโดย

ยุติ (คือข้ออนุมานที่ชอบด้วยเหตุ)

จริงอยู่ ในพระสูตร ความที่นามธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น

มีวิญญาณเป็นปัจจัยเป็นส่วนมาก เป็นอันสำเร็จได้โดยนัยในพระสูตร

เช่นว่า "จิตฺตานุปริวตฺติโน ธมฺมา - ธรรมทั้งหลายย่อมหมุนเวียน

ไปตามจิต" ดังนี้เป็นอาทิ ส่วนว่าโดยยุติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 338

[คาถาสังเขป]

ก็ข้อว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งรูปแม้ที่ (มอง)

ไม่เห็น ย่อมสำเร็จได้โดยจิตตชรูปที่ (มอง) เห็น

ได้ในโลกนี้

[ขยายความ]

ความว่า โดยนัยที่ว่า "เมื่อจิตผ่องใสหรือไม่ผ่องใส รูปอันเป็น

ไปตามจิตนั้น เมื่อเกิดขึ้นเป็นรูปที่ (มอง) เห็นได้ และการอนุมานถึง

รูปที่ (มอง) ไม่เห็น ก็มีได้โดยรูปที่ (มอง) เห็น" (ดัง) นี้ ข้อว่า

"วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิรูปที่แม้ (มอง) ไม่เห็น" นั่นจึงทราบ

ได้โดยจิตตชรูปที่ (มอง) เห็นได้ในโลกนี้ จริงอยู่ ความที่แม้รูปที่มี

กรรมเป็นสมุฏฐาน ก็มีวิญญาณเป็นปัจจัยได้ดังรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน

มาในคัมภีร์ปัฏฐานแล*

วินิจฉัยในบทวิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นี้ โดยปัจจยนัย บัณฑิต

พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ประการ ๑ แล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ

[แก้บท นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ]

[คาถาสังเขป]

ในบทว่า นามรูปจฺจยา สฬายตนํ

นามได้แก่ขันธ์ ๓ รูปได้แก่รูปมีภูตรูป

* มหาฎีกาให้ข้อสังเกตว่า โดยพระสูตรแสดงว่า วิญญาณเป็นปัจจัยของนาม ส่วน

โดยยุติแสดงว่า วิญญาณเป็นปัจจัยของรูป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 339

และวัตถุ (ทวาร) รูปเป็นต้น นามรูป

นั้นอันทำให้เป็นเอกเศษ เป็นปัจจัยแห่ง

สฬายตนะนั้นอันทำให้เป็นเอกเศษเช่นนั้น

เหมือนกัน

[ขยายความ]

ความว่า นามรูปอันเป็นปัจจัยแห่งสฬายตนะนั้นใด ในนามรูป

นั้น พึงทราบว่าขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่านาม ส่วนรูปเป็น

ของเนื่องด้วยสิ่งที่มีสันตติ โดยเฉพาะได้แต่รูปมีภูตรูป และวัตถุ

(ทวาร) รูปเป็นต้น อย่างนี้คือ ภูตรูป ๔ วัตถุ (ทวาร) รูป ๖

ชีวิตินทรียรูป (๑) ก็แลนามรูปนั้น อันทำให้เป็นเอกเศษว่า

"นามด้วย รูปด้วย ทั้งนามและรูปด้วย ชื่อว่านามรูป" ดังนี้ พึง

ทราบว่า ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสฬายตนะอันทำให้เป็นเอกเศษเหมือนกัน

ดังนี้ว่า "ฉัฏฐายตนะ (อา___________ยตนะที่ ๖) ด้วย สฬายตนะ (อายตนะ ๖)

ด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ๑" ถามว่า เพราะเหตุไร (จึงทำเอกเศษอย่าง

นั้น) ? ตอบว่า เพราะในอรูปภพ นามอย่างเดียวเป็นปัจจัย และ

นามนั้นก็เป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ เท่านั้น หาเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ

อื่นไม่ สมคำในวิภังค์ว่า "นามปจฺจยา ฉฏฺฐายตนํ๒ - อายตนะที่ ๖

ย่อมมีเพราะปัจจัยคือนาม" ดังนี้

๑. มหาฎีกาช่วยไขความว่า ฉัฏฐายตนะ กับสฬายตนะ ไม่มีรูปเสมอกันโดยศัพท์ก็

จริง แต่ว่าโดยอรรถ ฉัฏฐายตนะ เป็นเอกเทศ (คือเป็นส่วนหนึ่ง) แห่งสฬายตนะ

เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าท่านทำเป็นเอกเทศสรูเปกเศษ (คือทำศัพท์ที่เสมอกันโดย

เอกเทศให้เหลือ ๑)

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๒๑๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 340

ในบท (นี้) นั้น หากมีคำถามว่า "ก็ข้อที่ว่า "นามรูปเป็น

ปัจจัยแห่งสฬายตนะ" นั่น จึงพึงทราบได้อย่างไร ?" คำแก้พึงมีว่า

"ทราบได้โดยที่มันมีในเมื่อนามรูปมี" จริงอยู่ เพราะมีนามและ

รูปนั้น ๆ อายตนะนั้น ๆ จึงมี มันหามีโดยประการอื่นไม่ ก็แล

ความที่อายตนะมีเพราะนามรูปนั้นมีนั้น จักมีแจ้งในปัจจยนัยทีเดียว

(ต่อไปนี้) เพราะฉะนั้น

ในปฏิสนธิกาล หรือในปวัตตกาลก็ดี

นามใดและรูปใด เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ

ใด (ๆ) และเป็นปัจจัยโดยประการ

ใด (ๆ) ปราชญ์พึงนำพา*โดยประการ

นั้น (ๆ) เทอญ

(ต่อไป) นี้เป็นคำขยายความในคาถา (ปัจจยนัย) นั้น

[นามเป็นปัจจัยในอรูปภพ]

ความว่า ในอรูปภพ นามอย่างเดียวเป็นปัจจัย

๗ อย่าง (และ) ๖ อย่าง ในปฏิสนธิกาล

และปวัติกาล นั่น (ว่า) โดยอย่างต่ำ

เป็นอย่างไร ? (ว่า) ในปฏิสนธิกาลก่อน โดยอย่างต่ำ นามย่อมเป็น

ปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ ๗ อย่าง โดยเป็นสหชาต----อัญญมัญญะ----นิสสย

* เนยฺยํ มหาฎีกาแนะให้แปลว่า 'พึงทราบ' (เญยฺยํ) แต่เห็นว่าในภาษาไทย มี

คำที่พอเป็นคำแปลศัพท์ เนยฺยํ ตรง ๆ ได้ คือ 'นำพา' ซึ่งมีความหมายว่า 'ใส่ใจ'

ก็ได้ จึงแปลไว้เช่นนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 341

----สัมปยุต----วิปาก----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย อนึ่ง ในปฏิสนธิกาลนี้

นามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้ คือ นามลงอย่างเป็นโดย

เหตุปัจจัย ลางอย่างเป็นโดยอาหารปัจจัย ส่วนอย่างสูงและอย่างต่ำ

พึงทราบโดยอำนาจเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น* แม้ในปวัตตกาล นามที่

เป็นวิบากก็เป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน แต่ในปัจจัยมี

ประการดังกล่าวโดยอย่างต่ำ (นั้น) นามนอกนี้ (คือนามที่ไม่ใช่

วิบาก) ย่อมเป็นปัจจัยโดยปัจจัย ๖ ยกเว้นวิบากปัจจัย อนึ่ง ใน

ปวัตตกาลนี้ อวิปากนามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้ คือ นาม

ลางอย่างเป็นโดยเหตุปัจจัย ลางอย่างเป็นโดยอาหารปัจจัย ส่วน

อย่างสูงและอย่างต่ำ พึงทราบโดยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น

[คาถาสังเขปนามเป็นปัจจัยในภพอื่นในปฏิสนธิ]

แม้ในภพอื่น นามก็เป็นปัจจัยแห่ง

อายตนะที่ ๖ ในปฏิสนธิอย่างนั้น (คือ ๗

อย่าง) เหมือนกัน (แต่) มันเป็นปัจจัย

แห่งอายตนะนอกนี้ โดยอาการ ๖

[ขยายความ]

ความว่า แม้ในภพอื่นจากอรูปภพ คือในปัญจโวการภพ วิบาก-

นามนั้น เป็นสหาย (คือร่วมกับ) หทัยวัตถุ เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ

* นามลางอย่างที่ว่านี้ จะได้แก่สังขารขันธ์กระมัง เป็นกุศลเหตุ อกุศลเหตุและเป็น

มโนสัญเจตนาหารก็ได้ ท่านแยกกล่าวไว้ทำไม ไม่ทราบความประสงค์ของท่าน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 342

ที่ ๖ คือ มนายตนะ อย่างต่ำก็ ๗ อย่างเช่นที่กล่าวใน (ตอน) อรูปภพ

เหมือนกัน แต่มันเป็นสหาย (คือร่วมกับ) มหาภูต ๔ เป็นปัจจัย

แห่งอายตนะ ๕ นอกนี้มีจักขายตนะเป็นต้น โดยอาการ ๖ โดยเป็นสห-

ชาต----นิสสย----วิปาก----วิปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย อนึ่ง ใน

ปฏิสนธิกาลนี้ วิปากนามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้คือ นาม

ลางอย่างเป็นโดยเหตุปัจจัย ลางอย่างเป็นโดยอาหารปัจจัย ส่วน

อย่างสูงอย่างต่ำ พึงทราบโดยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น

[คาถาสังเขปนามเป็นปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะในปวัตกาล]

แม้ในปวัตกาล วิปากนามก็เป็นปัจจัยแห่ง

อายตนะที่ ๖ อันเป็นวิบากอย่างนั้น (คือ

๗ อย่าง) (ส่วน) อวิปากนาม เป็น

ปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ ที่ไม่ใช่วิบาก ๖ อย่าง

[ขยายความ]

ความว่า แม้ในปวัตกลในปัญจโวการภพ วิบากนามก็เป็นปัจจัย

แห่งอายตนะที่ ๖ ที่เป็นวิบาก อย่างต่ำก็ ๗ อย่างดังในปฏิสนธิกาลเช่น

กัน ส่วนอวิปากนามเป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ ที่ไม่ใช่วิบาก อย่าง

ต่ำ ๖ อย่างเท่านั้น โดยชักวิปากปัจจัยออกเสียจากปัจจัย ๗ นั้น ส่วน

อย่างสูงอย่างต่ำในปัจจัยตอนนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 343

[คาถาสังเขปนามเป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่เหลือ]

ในปวัตกาลนั้นแหละ วิบากนาม

เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๕ ที่เหลือ ๔ อย่าง

แม้วิบากนาม ท่านก็ประกาศไว้เหมือน

อย่างนั้น

[ขยายความ]

ความว่า ในปวัตกาลนั้นนั่นแหละ วิบากนามที่เป็นวัตถุแห่ง

ประสาทมีจักขุประสาทเป็นต้นก็มี นอกนั้นก็ดี ย่อมเป็นปัจจัย ๔ อย่าง

แห่งอายตนะที่เหลือ ๕ มีจักขายตนะเป็นอาทิ โดยเป็นปัจฉาชาต----

วิปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย ก็แลวิบากนามเป็นปัจจัยอย่างใด

แม้อวิบากนาม ท่านก็ประกาศไว้ (ว่าเป็นปัจจัย) อย่างนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า นามแม้แตกต่างกันโดยเป็นกุศลเป็นต้น ก็

เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๕ นั้น ๔ อย่าง

นามอย่างเดียวเป็นปัจจัยแห่งอายตนะใด ๆ และเป็นปัจจัยด้วย

ประการใด (ๆ) ในปฏิสนธิกาลหรือในปวัตกาลก็ดี บัณฑิตพึงทราบ

โดยประการนั้น (ๆ) ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[รูปเป็นปัจจัย]

[คาถาสังเขป]

ส่วนรูปไม่เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ แม้

อย่างเดียวในอรูปภพนั้น แต่ในปัญจ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 344

ขันธภพ๑ ในปฏิสนธิทางรูป วัตถุรูปเป็น

ปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ ๖ อย่าง ภูตรูป

ทั้งหลายเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๕ โดยไม่

แปลกกัน ๔ อย่าง

[ขยายความ]

ความว่า ในปฏิสนธิทางรูป วัตถุรูปย่อมเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ

ที่ ๖ คือมนายตนะ ๖ อย่าง โดยเป็นสหชาต----อัญญมัญญ----นิสสย----

วิปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย ส่วนภูตรูป ๔ เป็นปัจจัย ๔ อย่าง

แห่งอายตนะทั้ง ๕ มีจักขายตนะเป็นต้น สุดแต่อายตนะไหนจะเกิดขึ้น๒

โดยเป็นสหชาต----นิสสย----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย ทั้งในปฏิสนธิกาล

และในปวัตกาลโดยไม่แปลกกัน

[คาภาสังเขปชีวิตรูปเป็นต้นเป็นปัจจัย]

ชีวิตรูป และอาหารรูป เป็นปัจจัยแห่ง

อายตนะ ๕ นั้น (ฝ่ายละ) ๓ อย่าง ใน

ปวัติกาล อายตนะ ๕ นั้นเล่าก็เป็นปัจจัย

๑. น เอกายตนสฺสาปิ เข้ากับประโยคข้าหน้า ส่วน ปญฺจกฺขนฺธกเว ปน เข้ากับ

ประโยคข้างหลัง เพราะฉะนั้นเครื่องหมายหัวตาปู ขั้นประโยคหลัง ปน ต้องถอนออก

เสียจึงจะถูกต้อง

๒. มหาฎีกาว่า สำหรับสัตว์จำพวกอัณฑชะและชลาพุชะ ในกาลปฏิสนธิ ก็มีแต่

กายายตนะเท่านั้นเกิดขึ้น สำหรับสัตว์นอกนั้น ก็มีอายตนะนอกนี้เกิดตามควรแก่กำเนิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 345

แห่งฉัฏฐายตนะ ๖ อย่าง วัตถุรูปก็เป็นปัจจัย

แห่งฉัฏฐายตนะนั้นเหมือนกัน ๕ อย่าง

[ขยายความ]

ส่วนรูปชีวิตเป็นปัจจัย ๓ อย่าง โดยเป็นอัตถิ----อวิคต----และอิน-

ทรียปัจจัย แห่งอายตนะ ๕ นั้น มีจักขายตนะเป็นต้น ในปฏิสนธิกาล

และในปวัตกาลด้วย และอาหารก็เป็นปัจจัย ๓ อย่าง โดยเป็นอัตถิ----

อวิคต----และอาหารปัจจัย ก็แต่อาหารนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแต่ในกาย

ที่ซาบ (รส) อาหารได้ของสัตว์เหล่าที่อาศัยอาหารเป็นอยู่ในปวัติกาล

เท่านั้น หาเป็นปัจจัยในปฏิสนธิกาลไม่ ส่วนอายตนะ ๕ มีจักขายตนะ

เป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ คือนายตนะ อันได้แก่จักขุ----

โสต----ฆาน----ชิวหา----กายวิญญาณ ๖ อย่าง โดยเป็นนิสสย----ปุเรชาต

----อินทรีย----วิปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย ในปวัตกาล ไม่เป็นใน

ปฏิสนธิกาล อนึ่ง วัตถุรูปเป็นปัจจัยแห่งมนายตนะนั่นแหละเว้น

วิญญาณ ๕ คือมนายตนะที่เหลือ (ได้แก่มโนวิญญาณ ?) ๕ อย่าง

โดยเป็นนิสสย----ปุเรชาต----วิปยุต---อัตถิ----และอวิคตปัจจัย เฉพาะ

ในปวัตกาล ไม่เป็นในปฏิสนธิกาล

รูปอย่างเดียวเป็นปัจจัยแห่งอายตนะใด ๆ ในปฏิสนธิกาลหรือใน

ปวัตกาลก็ดี และรูปนั้นเป็นปัจจัยโดยประการใด บัณฑิตพึงทราบโดย

ประการนั้น ดังกล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 346

[คาถาสรูปนามรูปปัจจัย]

ก็นามและรูปทั้งสองใด เป็นปัจจัยแห่ง

อายตนะไร และเป็นโดยประการไร แม้

นามและรูปนั้น ปราชญ์ก็พึงทราบในประ-

การทั้งปวงเถิด

ข้อนี้เช่นอย่างไร ? เช่นว่า "(ชั้นแรกว่า) ในปฏิสนธิก่อน นาม

และรูปกล่าวคือขันธตรัยและวัตถุรูป ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาต----

อัญญมัญญ----นิสสย----วิปาก----สัมปยุต----วิปยุต----อัตถิ----และอวิคต-

ปัจจัยเป็นต้น แห่งฉัฏฐายตนะในปัญจโวการภพ" ดังนี้เป็นต้น นี่เป็น

เพียงมุข (หนึ่ง) ในข้อนี้ แต่ปราชญ์อาจประกอบความได้ทุกอย่าง

ตามทำนองนัยที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่แสดงความ

พิสดารในข้อนี้ แล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ

[แก้บท สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส]

ในบทว่า สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส

[คาถาสังเขป]

โดยสังเขป ผัสสะก็มี ๖ เท่านั้น มี

จักขุสัมผัสเป็นต้น (แต่) โดยพิสดาร

มันมีถึง ๓๒ ดุจวิญญาณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 347

[ขยายความ]

ความว่า โดยสังเขป ผัสสะ ในบทว่าสฬายตนปจฺจยา ผสฺโส

ก็มี ๖ เท่านั้นมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเหล่านี้ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส

ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส แต่ว่าโดยพิสดาร

ผัสสะ มีจักขุสัมผัสเป็นต้นทั้งหมด มีถึง ๓๒ ดุจวิญญาณที่กล่าวแล้ว

ซึ่งมีเพราะสังขารปัจจัย ดังนี้ คือ ผัสสะ ๑๐ คือเป็นกุศลวิบาก ๕

อกุศลวิบาก ๕ และผัสสะ ๒๒ อันสัมปยุตกับวิบากวิญญาณฝ่ายโลกิยะ

๒๒ ที่เหลือ

ก็แลสฬายตนะอันเป็นปัจจัยแห่งผัสสะทั้ง ๓๒ อย่างนั้นใด ใน

สฬายตนะนั้น

[คาถาสังเขปวาทะของอาจารย์]

อาจารย์ผู้มีปัญญาทั้งหลายปรารถนาเอา

สฬายตนะภายในมีจักษุเป็นต้นกับฉัฏฐายตนะ

บ้าง ปรารถนาเอาสฬายตนะกับอายตนะ

ภายนอก ๖ บ้าง

[ขยายความ]

ในอาจารย์ทั้งหลายนั้น อันดับแรก อาจารย์เหล่าใดชี้เอาธรรมที่

เนื่องด้วยสิ่งที่มีสันตติประจำตัว* ที่เป็นทั้งปัจจัยธรรม และเป็นปัจจยุบัน

* ตรงนี้ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สกสนฺตติปริยาปนฺนเมว แต่ที่อื่น ๆ เป็น สสนฺตติ. . .

ทั้งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 348

ธรรมด้วยทีเดียว ด้วยหมายว่า นี่เป็นการกล่าวถึงความเป็นไปแห่งสิ่ง

ที่เป็นอุปาทินกะ อาจารย์เหล่านั้นย่อมปรารถนาเอาว่า สฬายตนะ

ภายในมีจักขุเป็นต้น กับฉัฏฐายตนะ โดยทำเอกเทศสรูปเปกเศษว่า

"ฉัฏฐายตนะในอรูปภพโดยทำนองบาลีว่า 'ฉฏฺฐายตนะปจฺจยา ผสฺโส๑-

ผัสสะมีเพราะปัจจัยคือฉัฏฐายตนะ" กระนี้ด้วย สฬายตนะในภพอื่น

โดยสรรพสังคหะ (รวมเข้าด้วยกันหมด) ด้วย เป็นปัจจัยแห่งผัสสะ"

ดังนี้ อันที่จริง คำดังว่านั้น ก็เท่ากับ (วิเคราะห์เอกเศษ) ว่า

"ฉฏฺฐายตนญฺจ สฬายตนญฺจ สฬายตนํ - ฉัฏฐายตนะ (อายตนะที่ ๖)

ด้วย สฬายตนะ (อายตนะ ๖) ด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" นั่นเอง

ส่วนอาจารย์เหล่าใด ชี้เอาธรรมที่เนื่องด้วยสิ่งที่เป็นเอกสันตติ

(สันตติอันเดียว) ซึ่งเป็นปัจจยุบันธรรมเท่านั้น แต่แสดงปัจจยธรรม

เป็นพวกภินนสันดาน (คือมีสันตติแตกต่างกันไม่เนื่องกัน)๒ อาจารย์

เหล่านั้น อายตนะใด ๆ เป็นปัจจัยแห่งผัสสะได้ จะแสดงเอาอายตนะ

นั้น (ๆ) ทั้งหมด จึงกำหนดเอาอายตนะภายนอกด้วย ปรารถนาเอา

ว่า ๐อายตนะภายในกับฉัฏฐายตนะนั้นแหละ พร้อมทั้งอาตนะภาย

นอกมีรูปายตนะเป็นต้นด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" ดังนี้ ที่จริงแม้คำ

ที่ว่านั้น เมื่อทำมันให้เป็นเอกเศษเสียว่า "ฉฏฺฐายตนญฺจ สฬายตนญฺจ

สฬายตนํ - ฉัหฐายตนะด้วย สฬายตนะด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" ฉะนี้

๑. อภิ. วิ. ๓๕/๒๑๐

๒. ศัพท์นี้ มหาฎีกาหน้า ๓๙๕ แก้ไว้ว่า สมฺพนฺธรหิต และไขเป็น นานตฺต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 349

แล้ว ก็เรียกได้ว่า 'สฬายตนะ' เหมือนกัน๑

ในข้อนี้ (มี) ผู้ท้วงกล่าวว่า "ผัสสะอันเดียวหาเกิดแต่อายตนะ

ทุกอย่างได้ไม่ ทั้งผัสสะทุกอย่างก็หาเกิดแต่อายตนะอันเดียวได้ไม่ แต่

ผัสสะในปาฐะว่า 'สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส' นี้ ตรัสไว้แต่อันเดียว

ไฉนจึงตรัสผัสสะนั้นแต่อันเดียวเล่า ?

นี่เป็นคำแก้ในข้อนั้น คือที่ว่าผัสสะอันเดียวเกิดแต่อายตนะทุก

อย่างไม่ได้ หรือว่าผัสสะทุกอย่างเกิดแต่อายตนะอันเดียวก็ไม่ได้ นั่น

จริง แต่ว่าผัสสะอันเดียวย่อมเกิดแต่อายตนะหลายอย่างได้ เช่นจักขุ

สัมผัสย่อมเกิดแต่จักขายตนะ (กับ) แต่รูปายตนะ แต่มนายตนะ กล่าว

คือจักขุวิญญาณ และแต่ธรรมายตนะอันเป็นสัมปยุตธรรมที่เหลือ (ร่วม

กัน) เป็นอาทิ บัณฑิตพึงประกอบความตามควรในผัสสะ (ข้อื่น)

ทุกข้อดังนิทัศนะที่กล่าวนี้เถิด๒ ก็เพราะเหตุนั้นแหละ

ผัสสะนี้ในบท สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส นี่

พระตาทีเจ้าจึงทรงแสดง โดยเอกวจนนิเทศ

๑. มหาฎีกาเสริมความว่า อาจารย์พวกแรกถือว่า อายตนะภายในมีจักษุเป็นต้น

ซึ่งเป็นสิ่งเกิดแต่กรรมมีสันตติประจำตัว เป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ส่วนอายตนะภายนอก

มีรูปเป็นต้น เป็นอนุปาทินกะ ได้แต่เป็นอารมณ์ของผัสสะ หาเป็นปัจจัยของผัสสะ

ดังอายตนะภายในไม่ จึงไม่นับเอาเป็นสฬายตนะในบทนี้ ส่วนอาจารย์พวกหลังถือว่า

เมื่ออะไร ๆ มันพอเป็นปัจจัยอะไร ๆ ได้ ก็จะเว้นมันเสียกระไรได้ จึงนับรวมเอา

อายตนะภายนอกเข้าในบทสฬายตนะด้วย

๒. เช่นว่า โสตสัมผัส เกิดแต่โสตายตนะ กับสัททายตนะ มนายตนะ คือ โสตวิญญาณ

และแต่ธรรมายตนะ ที่เป็นสัมปยุตธรรมที่เหลือ ฯ ล ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 350

เพื่อส่องความว่า ผัสสะแม้อันเดียว

มีอายตนะหลายอย่างเป็นแดนเกิดได้*

คำว่า "โดยเอกวจนะนิเทศ" เป็นต้น ความว่า พระตาทีเจ้าทรง

แสดงพระพุทธาธิบายว่า 'ผัสสะอันเดียวย่อมมีเพราะอายตนะหลายอย่าง

ได้' โดยแสดงออกด้วยคำเป็นเอกพจน์นี้ว่า 'สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส'

ส่วนว่า ในอายตนะทั้งหลาย

บัณฑิตพึงชี้แจงอายตนะ ๕ ในความเป็น

ปัจจัยแห่งผัสสะนั้น ๖ อย่าง พึงชี้แจงอาย-

ตนะ ๑ ถัดอายตนะ ๕ นั้นไป ในความเป็น

ปัจจัยแห่งผัสสะนั้น ๙ อย่าง พึงชี้แจง

อายตนะภายนอก ๖ ในความเป็นปัจจัย

แห่งผัสสะนั้นตามที่มันเป็น

(ต่อไป) นี้เป็นคำชี้แจงในความที่อายตนะเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้น

อันดับแรก อายตนะ (ภายใน) ๕ มีจักขายตนะเป็นต้น เป็น

ปัจจัย ๖ อย่าง โดยเป็นนิสสย----ปุเรชาต----อินทริย----วิปยุต----อัตถิ----

และอวิคตปัจจัยแห่งผัสสะ ๕ อย่าง โดยแยกเป็นจักขุสัมผัสเป็นต้น

อายตนะ ๑ ถัดอายตนะ ๕ นั้นไปคือมนายตนะอันเป็นวิบาก เป็นปัจจัย ๙

อย่างโดยเป็นสหชาต----อัญญมัญญ----นิสสย----วิปาก----อาหาร----อินทริย

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น เอโก ปเนกาตน. . . นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกต้องเรียงติดเป็น

เอโกปเนกายตน. . . ซึ่งมหาฎีกาตัดบทไว้ว่า เอโกปิ อเนกายตน. . . (ปาฐะในมหาฎีกา

ก็เรียงไว้คลาดเคลื่อนเหมือนกัน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 351

สัมปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย แห่งมโนสัมผัสที่เป็นวิบากหลายประ-

เภท ส่วนในอายตนะภายนอกทั้งหลาย รูปายตนะเป็นปัจจัย ๔ อย่าง

โดยเป็นอารัมมณะ----ปุเรชาต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัยแห่งจักขุสัมผัส

อายตนะที่เหลือมีสัททายตนะเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแห่งผัสสะที่เหลือมี

โสตสัมผัสเป็นอาทิโดยนัยเดียวกันนั้น แต่สำหรับมโนสัมผัส มีอายตนะ

เหล่านั้นด้วย ธรรมารมณ์ด้วยเป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจัยนัยเดียวกันนั้น

และโดยเพียงแต่เป็นอารัมมณปัจจัยเท่านั้นด้วย บัณฑิตพึงชี้แจง

อายตนะภายนอก ๖ ในความเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้นตามที่มันเป็น (มี

เป็นอารัมมณปัจจัยเป็นต้น) โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้และ

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส

[แก้บท ผสฺสปจฺจยา เวทนา]

ในบทว่า ผสฺสปจฺจยา เวทนา

[คาถาสังเขปเวทนา]

เวทนากล่าวโดยทวารก็มี ๖ มีจักขุสัม-

ผัสสชาเวทนาเป็นต้นเท่านั้น (แต่) โดย

ประเภท ทราบกันว่ามันมีถึง ๙

[ขยายความ]

จริงอยู่ ในวิภังค์แห่งบทนี้ กล่าวเวทนาไว้ ๖ ตามทวารเท่านั้น

ดังนี้ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสต----ฆาน----ชิวหา----กาย----มโน-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 352

สัมผัสสชาเวทนา แต่โดยประเภท ทราบกันว่ามันมีถึง ๘๙ เพราะ

ความที่มันสัมปยุตกับจิต ๘๙ ดวง

แต่ในเวทนาเหล่านั้น เวทนา ๓๒ ที่

ประกอบกับวิบากจิตเท่านั้น ท่านกล่าวว่า

เป็นเวทนาที่ประสงค์เอาในบทนี้

[คาถาสังเขปปัจจยนัย]

ในเวทนา (ที่ประสงค์เอา) เหล่านั้น

ผัสสะเป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๕ ในปัญจ-

ทวาร ๘ อย่าง เป็นปัจจัยแห่งเวทนาที่เหลือ

อย่างเดียว แม้ในมโนทวารมันก็เป็น

อย่างนั้น

[ขยายความ]

ความว่า ในเวทนาเหล่านั้น ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเป็นปัจจัย

๘ อย่าง โดยเป็นสหชาต----อัญญมัญญ----นิสสย----วิปาก----อาหาร----

สัมปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย แห่งเวทนา ๕ อันมีจักขุประสาท

เป็นต้นเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) ในปัญจทวาร แต่ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้น

นั้น เป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่งเวทนา

ที่เหลือ คือ เวทนาที่เป็นกามาวจรวิบาก อันเป็นไปด้วยอำนาจสัมปฏิจ-

ฉันนจิตสันตีรณจิตและตทารัมมณจิตในทวารหนึ่ง ๆ

ข้อว่า 'แม้ในมโนทวารมันก็เป็นอย่างนั้น' ความว่า แม้ใน

มโนทวาร ผัสสะกล่าวคือมโนสัมผัสที่เกิดร่วมกันนั้นก็เป็นปัจจัย ๘ อย่าง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 353

เช่นนั้นเหมือนกัน แห่งเวทนาที่เป็นกามาวจรวิบาก อันเป็นไปด้วย

อำนาจตทารัมมณจิต และแม้แห่งเวทนาเตภูมิวิบากอันเป็นไปด้วย

อำนาจปฏิสนธิจิตและภวังคจุติจิต ส่วนกามาวจรเวทนาทั้งหลายที่

เป็นไปด้วยอำนาจตทารัมมณจิตในมโนทวารนั้นใด มโนสัมผัสอัน

สัมปยุตกับมโนทวาราวัชนจิต เป็นปัจจัยแห่งเวทนาเหล่านั้นแต่อย่าง

เดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า ผสฺสปจฺจยา เวทนา

[แก้บท เวทนาปจฺจยา คณฺหา]

[คาถาสังเขปตัณหา]

ตัณหา ๖ โดยแยกเป็นรูปตัณหาเป็นต้น

ทรงแสดงในบทนี้ ในตัณหาเหล่านั้น

ตัณหาข้อหนึ่ง ๆ ทราบกันว่าเป็น ๓ (ๆ)

อย่าง ตามอาการที่เป็นไป

[ขยายความ]

จริงอยู่ ในบทนี้ ในวิภังค์ท่านแสดงตัณหา ๖ โดยให้ชื่อตาม

อารมณ์ว่า รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-

ตัณหา ธรรมตัณหา ดุจบุตรที่ถูกแสดงโดยให้ชื่อตามบิดาว่า เศรษฐี-

บุตร พราหมณบุตร เป็นต้นฉะนั้น อนึ่ง ในตัณหาเหล่านั้น

ตัณหาข้อหนึ่ง ๆ ทราบกันว่าเป็น ๓ (ๆ) อย่าง ตามอาการที่เป็นไป

ดังนี้คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 354

ก็รูปตัณหานั่นและ เมื่อใด (มัน) ยินดีรูปารมณ์ที่มาสู่คลองจักษุ

ด้วยอำนาจความพอใจทางกามเป็นไป เมื่อนั้น (มัน) ก็ได้ชื่อว่า

เป็นกามตัณหา เมื่อใดมันเป็นไปกับสัสสติทิฏฐิ อันเป็นไปโดยเห็น

ว่า อารมณ์อันนั้นแหละเป็นของเที่ยงยั่งยืน เมื่อนั้นมันก็ได้ชื่อว่า

เป็นภวตัณหา ด้วยว่า ราคาที่สหรคตกับสัสสตทิฏฐิ ท่านเรียกว่า

ภวตัณหา ส่วนว่าเมื่อใดมันเป็นไปกับอุจเฉททิฏฐิ อันเป็นไปโดย

เห็นว่า อารมณ์อันนั้นแหละจะขาดสูญไป เมื่อนั้นมันก็ได้ชื่อว่าเป็น

วิภวตัณหา ด้วยว่าราคะที่สหคตกับอุจเฉททิฏฐิ ท่านเรียกว่าวิภว-

ตัณหา แม้ในตัณหาที่เหลือมีสัททตัณหาเป็นต้น ก็นัยนี้ เพราะ

เหตุนั้น มันจึงเป็นตัณหา ๑๘ มันเป็นไปในรูปารมณ์เป็นต้นที่เป็น

ภายใน ๑๘ ที่เป็นภายนอก ๑๘ เพราะฉะนั้น จึงเป็นตัณหา ๓๖

โดยประการดังนี้ มันเป็นอดีต ๓๖ เป็นอนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖

ดังนั้นมันจึงเป็นตัณหา ๑๐๘ ตัณหาเหล่านั้นบัณฑิตพึงทราบว่า เมื่อ

ย่อมันเข้าอีก มันก็คงเป็นตัณหา ๖ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น

หรือเป็นตัณหา ๓ โดยเป็นประเภทกามตัณหาเป็นอาทิเท่านั้นเอง

ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายนี้ พอใจเวทนาอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจ

อารมณ์มีรูปเป็นต้น จึงทำสักการ (รางวัล) ใหญ่แก่จิตรการ (ช่าง

เขียน) คนธรรพ์ (นักดนตรีและขับร้อง) คันธิก (ช่างปรุงเครื่องหอม)

สูท (พ่อครัว) ตันตวาย (ช่างทอผ้า) และ รสายนวิธายกแพทย์

(แพทย์ผู้แต่งยาตามตำหรับรสายนเวท*) เป็นอาทิ ซึ่งเป็นผู้ให้อารมณ์

* รสายนเวท ในที่นี้ คือวิชาเคมีแผนโบราณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 355

มีรูปเป็นต้น๑ ก็ด้วยความรักในเวทนา ดุจบิดาพอใจบุตร (ของตน)

แล้วทำสักการใหญ่แก่แม่นม ก็ด้วยความรักในบุตรฉะนั้น เหตุฉะนั้น

ตัณหาทั้งปวงนั่น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า เป็นตัณหามีเพราะปัจจัยคือ

เวทนา

ก็เพราะ สุขเวทนาที่เป็นวิบากอย่างเดียว

เท่านั้น ท่านประสงค์เอาในบทนี้ เหตุนั้น

สุขเวทนานั้น จึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหา

ประการเดียวเหมือนกัน

คำว่า '(เป็นปัจจัย) ประการเดียว' คือเป็นปัจจัยโดยเป็น

อุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น หรือเพราะว่า

ผู้มีทุกข์ ย่อมปรารถนาความสุข ผู้มี

สุขเล่าก็ปรารถนาความสุขยิ่งขึ้นไป ส่วน

อุเบกขาเวทนา เพราะเป็นเวทนาละเอียด

ท่านก็กล่าวว่าเป็นสุขเหมือนกัน๒ เหตุนั้น

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า ช่างทอนั้นให้โผฏฐัพพารมณ์ คือ ผ้าเนื้อดีสัมผัสนิ่ม

แพทย์ให้ธรรมารมณ์ (คือความชุ่มชื่อใจ ?) ด้วยอำนาจรสยาที่ซึมซาบไป และช่วย

เยียวยาให้รอดอยู่ได้

๒. มหาฎีกาว่า อีกประการหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า อุเบกขาเป็นได้ทั้งทุกข์ทั้งสุข คือ

อุเบกขาที่เป็นอกุศลวิบาก จัดเข้าฝ่ายทุกข์ เพราะเป็นอนิฏฐะ ที่เป็นกุศลวิบาก จัดเข้า

ฝ่ายสุข เพราะเป็นอิฏฐะ เหตุฉะนั้น มันจึงเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งตัณหาได้

เหมือนทุกข์และเหมือนสุข

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 356

เวทนาจึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหาได้ทั้ง ๓ แต่

เพราะว่าตัณหา ซึ่งพระมหาฤษีเจ้าตรัสไว้

ในบทว่า เวทนาปจฺจยา ตณฺหา นั้น แม้

มีเวทนาเป็นปัจจัย (แต่) เว้นอนุสัย

เสีย มันก็ไม่มี เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มี

แก่พราหมณ์ (คือสมณะ) ผู้อยู่จบพรหม-

จรรย์แล้ว*

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า เวทนาปจฺจยา ตณฺหา

* เนื่องมาแต่ปัญหาซึ่งอาจมีว่า เมื่อตัณหาเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพราะปัจจัยคือเวทนา พระ

อรหันต์ก็มีเวทนาเหมือนกัน ถ้ากระนั้น พระอรหันต์มิมีตัณหาด้วยหรือ ? ในที่นี้ท่าน

จึงแก้ไว้ว่า ถึงมีเวทนาเป็นปัจจัย แต่ไม่มีอนุสัยเป็นเชื้อ ตัณหาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น

ตัณหาจึงไม่มีแก่พระอรหันต์

มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อจะห้ามความประสงค์ที่ว่ามีเวทนา

เป็นปัจจัยแล้ว ตัณหาต้องเกิดแน่นอน เพราะบาลีว่าไว้อย่างนั้น (คือ เวทนาปจฺจยา

ตณฺหา-ตัณหามีเพราะปัจจัย คือเวทนา) มิได้มีบาลีว่า อนุสยสหายา เวทนา ตณฺหาปจฺจยา

- เวทนามีอนุสัยเป็นสหาย จึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหา เพราะฉะนั้น จะค้านความประสงค์

นั้นอย่างไรได้ ? แก้ว่า มิใช่เช่นนั้น เรื่องนี้พระองค์ตรัสเป็นเรื่องวัฏฏะ อันวัฏฏะนั้น

ปราศจากอนุสัยแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความก็บ่งอยู่ในตัวว่า มันก็ต้อง

เป็นเวทนาที่ประกอบด้วยอนุสัยนั่นแหละ จึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหาได้ อีกประการหนึ่ง

มันเนื่องเป็นสายมาแต่อวิชชา มันก็ย่อมมีอนุสัยประกอบอยู่เอง หนึ่ง บาลีบทนี้

ก็กำหนดความแต่ว่า ตัณหามีเพราะปัจจัยคือเวทนา เว้นเวทนาเสียมันก็ไม่มีเท่านั้น

หาใช่กำหนดเด็ดขาดว่า มีเวทนาเป็นปัจจัยแล้ว ตัณหาต้องมี ดังนี้ไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 357

[แก้บท ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ]

ในบทว่า ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

อุปาทานมี ๔ บัณฑิตพึงอธิบายอุปาทาน ๔ นั้น

โดยอรรถวิภาค (จำแนกความ) โดยสังเขป

และโดยพิสดารแห่งธรรม และโดยลำดับ

นี่เป็นอธิบายในอุปาทานนั้น คือ ในคาถานี้ ชั้นแรก (ว่าด้วย)

อุปาทานมี ๔ นี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน

อัตตวาทุปาทาน

(ต่อไป) นี้เป็นอรรถวิภาคแห่งอุปาทานเหล่านั้น

[อรรถแห่งกามุปาทาน]

(อรรถว่า) บุคคลย่อมถือมั่นซึ่งกามที่ได้แก่วัตถุ เหตุนี้จึงชื่อ

กามุปาทาน (แปลว่า ความถือมั่นกามแห่งบุคคล) ดังนี้บ้าง

(อรรถว่า) กาม (คือกิเลส) ด้วย กาม (คือกิเลส) นั้นเป็น

ธรรมชาตผู้ถือมั่นด้วย เหตุนี้จึงชื่อกามุปาทาน (แปลว่ากามผู้ถือมั่น)

ดังนี้บ้าง*

[อรรถแห่งอุปาทานศัพท์]

คำว่า อุปาทาน แปลว่า ถือมั่น (คือยึดไว้) เพราะอุปศัพท์

ในที่นี้มี ทัฬห ศัพท์ (มั่น แขงขัน รุนแรงยิ่งนัก) เป็นอรรถ ดังอุป

* มหาฎีกาว่า "กามศัพท์ในอรรถก่อนเป็นกรรมสาธนะ ในอรรถหลังเป็นกัตตุสาธนะ เพราะ

หมายถึงกิเลสกาม ส่วนอุปาทานศัพท์เป็นกัตตุสาธนะทั้งสอุงอรรถ"(?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 358

ศัพท์ในคำอุปยาส (ลำบากใจยิ่งนัก คือคับแค้น) และคำ อุปกฏฺฐ๑

(ชักมาใกล้นัก คือจวนเจียน) เป็นต้น

[อรรถแห่งทิฏฐูปาทาน]

นัยเดียวกันนั้น (คืออุปาทานศัพท์มีอรรถว่า ถือมั่น ยึดไว้

เช่นเดียวกัน) คือ (อรรถว่า) ทิฏฐิด้วย ทิฏฐินั้นเป็นธรรมชาตถือ

มั่นด้วย เหตุนั้นจึงชื่อ ทิฏฐูปาทาน (แปลว่า ทิฏฐิอันยึดไว้) อีกอรรถ

หนึ่งว่า ทิฏฐิย่อมถือมั่นทิฏฐิ เหตุนั้น จึงชื่อทิฏฐูปาทาน (แปลว่า

ทิฏฐิยึดทิฏฐิ) ด้วยว่า อุตรทิฏฐิ (ความเห็นชั้นหลังมา) ย่อมยึด

ปริมทิฏฐิ (ความเห็นที่มีมาก่อน) ในความเห็นผิดทั้งหลาย มีเห็นว่า

อัตตาเที่ยง และโลกเที่ยง เป็นต้น

[อรรถแห่งสีลัพพตุปาทาน]

นัยเดียวกัน คือ (อรรถว่า) บุคคลย่อมถือมั่นศีลพรต เหตุนี้

จึงชื่อ สีลัพพตุปาทาน (แปลว่า ความถือมั่นศีลพรตแห่งบุคคล) ดังนี้

บ้าง (อรรถว่า) ศีลพรตด้วย ศีลพรตนั้นเป็นธรรมชาตถือมั่นด้วย

เหตุนั้น จึงชื่อ สีลัพพตุปาทาน (แปลว่า ศีลพรตอันถือมั่น) ดังนี้บ้าง

ด้วยว่า ศีลพรตต่าง ๆ มีโคศีล และ โคพรต เป็นต้น๒ เป็นอุปาทานอยู่

ในตัวมันเอง เพราะยึดมั่นว่า ความบริสุทธิ์จักมีด้วยศีลพรตอย่างนั้น

๑. ปาฐะในมหาฎีกาเป็นอุปกุฏฺฐ (แปลว่าเดือดพล่าน หรือเน่าเฟะ กระมัง)

๒. ศีลหรตในที่ท่านหมายถึงปกติธรรมเนียมและการปฏิบัติที่วิปริตวิปลาสต่าง ๆ เช่น

ถือธรรมเนียมโค เรียกว่า โคศีล ปฏิบัติอย่างโคเป็นอาจิณ เรียกว่า โคพรต โคศีล

นั้น เช่นยืน ๔ ขา เปลือยกาย โคพรต เช่นเดิมกิน ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ฯ ล ฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 359

[อรรถแห่งอัตตวาทุปาทาน]

นัยเดียวกัน บุคคลทั้งหลายย่อมกล่าวเพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ)

เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อ วาทะ (แปลว่าสิ่งเป็นเหตุกล่าว)

สัตว์ทั้งหลายย่อมถือนั้น แม้เพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้

สิ่งนั้นจึงชื่อ อุปาทาน (แปลว่า สิ่งเป็นเหตุถือมั่น)

ถามว่า บุคคลทั้งหลาย ย่อมกล่าวก็ดี ย่อมถือมั่นก็ดี ซึ่งอะไร ?

ตอบว่า---- ซึ่งอัตตา

สิ่งเป็นเหตุกล่าวเป็นเหตุถือมั่นซึ่งอัตตา ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน

อีกอรรถหนึ่ง บุคคลทั้งหลาย ย่อมถือมั่นเอาเพียงคำว่า อัตตา

เท่านั้นเอง ว่าเป็นอัตตา เพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อ

อัตตาวาทุปาทาน (แปลว่าสิ่งเป็นเหตุถือมั่นเพียงคำว่า อัตตา)๑

นี่เป็นอรรถวิภาคแห่งอุปาทานเหล่านั้น เป็นอันดับแรก

[โดยสังเขปและโดยพิสดาร]

ส่วนในข้อสังเขปและพิสดารแห่งธรรม๒ (นั้น) โดยสังเขป อัน

๑. เพราะอัตตาจริง ๆ ไม่มี มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า อัตตวาทุปาทานนี้ โดยความ

ก็คือทิฏฐิที่เป็นเหตุแห่งการกล่าวการบัญญัติอัตตาขึ้น และถือมั่นว่าเป็นอัตตาจริง ๆ

อรรถวิภาคแห่งอุปาทานนี้ แปลก็ฝืด เข้าในก็ยาก ท่านยักเยื้องความทำเป็น

สาธนะต่าง ๆ คิดไม่เห็นเหตุว่าทำไม่ท่านจึงต้องทำให้ต่าง ๆ กัน ให้ยุ่งยากเช่นนั้น

อุปาทาน เราเคยแปลมาเป็นภาวสาธนะ คือแปลว่า "ความ. . .อย่างเดียว ไม่เคยนึก

ว่าจะเป็นสาธนะอื่นเลย ทั้งนี้ ก็เห็นจะต้องปรับเข้าบท "รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอย

รำคาญ" นั่นแหละ นักศึกษาพิจารณาดูให้ดีเถิด

๒. มหาฎีกาวินิจฉัยว่า ธมฺมสงฺเขปวิตฺถาเร นี้เป็นนิทธารณะ มี สงฺเขปโต และ

วิตฺถารโต เป็นนิทธารณิยะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 360

ดังแรก ตัณหาทัฬหัตตะ (ความแน่นเหนียวแห่งตัณหา) เรียกว่า

กามุปทาน เพราะมาในบาลีว่า "ในอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทาน

เป็นไฉน ? กามฉันทะ (ความพอใจด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม

(คุณ) ทั้งหลายอันใด กามราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม)

ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามนันทิ (ความยินดีด้วยอำนาจกิเลสกาม)

ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามตัณหา (ความอย่างด้วยอำนาจกิเลส-

กาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามเสนหะ (ความรักด้วยอำนาจ

กิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามปริฬาหะ (ความรุ่มร้อน

ด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามมุจฉา (ความ

สยบอยู่ด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามัช-

โฌสานะ (ความจอดใจอยู่ด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ)

ทั้งหลายอันใด อันนี้เรียกว่า กามุปาทาน*"

อุตรตัณหา (ตัณหาที่เกิดทีหลังต่อ ๆ มา) อันเกิดเป็นโทษ

หนาแน่นขึ้น เพราะมีปุริมตัณหา (ตัณหาที่เกิดก่อน ๆ ) เป็นอุปนิสสย-

* อภ. สํง ๓๔/๓๐๖ ศัพท์เหล่านี้เคยแปลกันว่า ความพอใจในกาม ความกำหนัด

ในกาม ฯ ล ฯ แต่ในบาลีนี้มี กาเมสุ ซึ่งหมายถึง วัตถุกาม เรียงกำกับไว้ข้างหน้า

กามในศัพท์ทั้งหลายนั้น จึงหมายถึงกิเลสกาม ซึ่งเป็นเหตุให้พอใจให้กำหนัด ฯ ล ฯ

จะแปลอย่างเคยไม่ได้ โดยนัยนี้ กามุปาทาน ก็น่าจะต้องแปลว่า "ความถือมั่นด้วย

อำนาจกิเลสกาม" ไปตามกัน ส่วนในมหาฎีกาแนะให้แปลเป็นอวธารณ คือแปลว่า

ความพอในคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ (กามสงฺขาโต ฉนฺโท กาโมเยว

ราโค. . .) ฟังขัดหูนักศึกษาไทย จึงไม่แปลตามท่าน และถ้าแปลอย่างนี้ กามุปาทาน

ก็ทีจะต้องแปลว่า "ความถือมั่นคือความใคร่" ไปด้วยกันกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 361

ปัจจัย๑ นั่นเอง ชื่อตัณหาทัฬหัตตะ

แต่อาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่า "ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มา

ถึง เป็นตัณหา อุปมาดังการยื่นมือของโจร (ความหาสิ่งของ) ใน

ที่มืด ฉะนั้น ความยึดเอาอารมณ์ที่มาถึงเข้าไว้เป็นอุปาทาน อุปมา

ดังการคว้าเอาสิ่งของ (ที่ควานเจอเข้า) ของโจรนั้นนั่นแหละ อัน

ธรรม (ทั้งสอง) นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่ออัปปิจฉตาและสันตุฏฐิตา (คนละ

อย่าง) อนึ่ง เป็นมูลแห่งปริเยสนทุกข์ (ทุกข์เพราะการแสวงหา) และ

อารักทุกข์ (ทุกข์เพราะการรักษา)" (คนละอย่างเหมือนกัน๒)

ส่วนอุปาทาน ๓ ที่เหลือ โดยสังเขปก็เป็นเพียงทิฏฐิ (อย่างหนึ่ง ๆ)

เท่านั้น

ส่วนว่าโดยพิสดาร ความแน่นเหนียวแห่งตัณหา หา ใน

อารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น อันมีประเภทตั้ง ๑๐๘ ที่กล่าวมาก่อน (นั่น)

เป็นกามุปาทาน มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ เป็นทิฏฐูปาทาน ดังบาลีว่า

"ในอุปาทานเหล่านั้น ทิฏฐูปาทานเป็นอย่างไร ? ความเห็น ฯ ล ฯ

ความถือวิปลาสเช่นนี้ว่า "การให้ (เป็นทาน) ไม่มี (ผลวิบาก)

๑. ปาฐะในสุทธิมรรคเรียงแยกไว้เป็น ปุริมตณฺหา อุปนิสฺสยปจฺจเยน เข้าใจว่า

คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็นศัพท์สมาสเรียงติดกัน จึงจะได้ความดังแปลไว้นั้น

๒. มติของเกจิอาจารย์นี้ก็น่าฟัง ! เพราะตามที่แก้มาว่า กามุปาทาน ก็คือตัณหาอย่าง

แน่นเหนียว โดยอ้างบาลีที่กล่าวไว้ว่า กามตัณหานั่นเอง เรียกว่า กามุปาทาน ดังนี้

ก็สรูปได้ว่า ตัณหากับอุปาทานเป็นอันเดียวกัน จึงน่ามีปัญหาว่า เมื่อเป็นอันเดียวกันแล้ว

จะว่าตัณหาเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอย่างไรกัน ? เกจิอาจารย์นี้เห็นว่าเป็นคนละอัน

(ก็เป็นค้านบาลีนั่นแหละ) มหาฎีกาก็อธิบายสนับสนุนด้วย ท่านพุทธโฆสะ ก็ดูที

จะอ้ำอึง เพราะไม่วินิจฉัยว่าชอบไม่ชอบอย่างไรเลย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 362

การ (ให้เป็นการ) บูชา ไม่มี (ผลวิบาก) ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย

ผุ้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ผู้ซึ่งทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกอื่น ด้วย

อภิญญาเองแล้ว (ประกาศ) ให้รู้ทั่วกัน ไม่มีในโลก" ดังนี้อันใด

อันนี้เรียกว่า ทิฏฐูปาทาน"๑

ส่วนความยึดมั่นว่า 'ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตทั้งหลาย

เป็นสีลัพพตุปาทาน ดังบาลีว่า "ในอุปาทานเหล่านั้น สีลัพพตุปาทาน

เป็นอย่างไร ? ความเห็น ฯ ล ฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้ว่า "ความ

บริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยพรต ความบริสุทธิ์ได้ด้วย

ศีลและพรต" ดังนี้อันใด อันนี้เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน"๒

สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ เป็นอัตตวาทุปาทาน ดังบาลีว่า "ใน

อุปาทานเหล่านั้น อัตตวาทุปาทานเป็นอย่างไร? ปุถุชนผู้มิได้สดับ

ในโลกนี้ ฯ ล ฯ มิได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปโดย

ความเป็นตน ฯ ล ฯ ความเห็น ฯ ล ฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้อันใด

อันนี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน๓"

นี่เป็นความสังเขปและความพิสดารแห่งธรรมในอุปาทานนั้น

[โดยลำดับ]

ส่วนในข้อว่า 'โดยลำดับ' นั้น มีพรรณนาว่า ลำดับมี ๓ อย่าง

คือลำดับความเกิดขึ้น ๑ ลำดับการละ ๑ ลำดับการแสดง ๑

ในลำดับ ๓ อย่างนั้น เพราะไม่มีว่า "ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้

๑. ๒. ๓. อภิ. สํ. ๓๔/๓๐๖-๗-๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 363

มีก่อนเพื่อน ในสงสารอันไม่มีใครรู้เบื้องต้นเบื้องปลาย" ดังนี้ ลำดับ

ความเกิดขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย ท่านจึงไม่กล่าวไว้โดยตรง แต่โดย

อ้อมพึงกล่าวได้ว่า อัตตวาทุปาทานเกิดก่อนเพื่อน ต่อนั้นทิฏฐูปาทาน

สีลัพพตุปาทาน และกามุปาทานจึงเกิด (โดยลำดับ) โดยอธิบายดังนี้

คือ โดยมาก ในภพอันหนึ่ง (อัตตวาทุปาทานคือ) ความถือมั่นว่าเที่ยง

หรือว่าขาดสูญ อันมีความถืออัตตาไปหน้า (เกิดขึ้นก่อน) ต่อนั้น

สีลัพพตุปาทาน อันมีความวิสุทธิ์แห่งอัตตาเป็นข้อมุ่งหมาย (จึงเกิดขึ้น)

แก่บุคคลผู้ถือว่า อัตตานี้เที่ยง (แล้ว) กามุปาทาน (จึงเกิดขึ้น)

แก่บุคคลผู้ถือว่า อัตตานี้ขาดสูญ ไม่แยแสต่อปรโลก นี่เป็นลำดับ

ความเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน ๔ นั้น ในภพอันหนึ่ง

ส่วนลำดับการละพึงทราบว่า ในอุปาทาน ๔ นั้น อุปทาน ๓

มีทิฏฐูปาทานเป็นต้น ละได้ก่อน เพราะอุปาทาน ๓ นั้น เป็นโทษ

ที่โสดาปัตติมรรคพึงกำจัด กามุปาทานละได้ภายหลัง เพราะกามุปาทาน

เป็นโทษที่อรหัตมรรคพึงกำจัด นี่เป็นลำดับการละแห่งอุปาทาน

ทั้งหลายนั้น

ส่วนลำดับการแสดง พึงทราบว่าในอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทาน

แสดงก่อน เพราะเป็นโทษมีวิสัยใหญ่ และเพราะเป็นโทษปรากฏ

(เห็นชัด) ด้วย จริงอยู่ กามุปาทานนั้น นับเป็นโทษมีวิสัยใหญ่

เพราะสัมปโยคกับจิตทั้ง ๘ ดวง อุปาทานนอกนี้นับเป็นโทษมีวิสัยน้อย

เพราะสัมปโยคกับจิต (เพียง) ๔ ดวง* อนึ่ง กามุปาทาน นับว่าเป็น

* คำว่าวิสัย มหาฎีกาว่า ได้แก่จิตตุบาท อันเป็นที่เกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 364

โทษปรากฏแก่หมู่สัตว์ เพราะความที่หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในอาลัย๑ โดย

มาก อุปาทานนอกนี้ไม่ปรากฏ ผู้มีกามุปาทาน ย่อมเป็นผู้มากไป

ด้วยการทำมงคล มีโกตุหลมงคล (การมงคลที่ทำให้เป็นการครึกครื้น ?)๒

เป็นต้น เพื่อ (ให้) ได้ (วัตถุ) กามทั้งหลายโดยง่าย ความเป็น

ผู้มากด้วยการทำมงคล มีโกตุหลมงคลเป็นต้น ของบุคคลผู้มีกามุปาทาน

นั้น เป็นสัสตทิฏฐิ๓ เพราะฉะนั้น ทิฏฐูปาทาน จึงแสดงในลำดับ

กามุปาทานนั้น ทิฏฐูปาทานนั้น เมื่อแตกออกก็เป็นสองอย่าง โดย

เป็นสีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน ในสองอย่างนั้น สีลัพพตุ-

ปาทาน แสดงก่อน เหตุว่าเป็นโทษหยาบ เพราะแม้เห็นกิริยาโคหรือ

กิริยาสุนัขก็ตาม (ที่คนมีสีลัพพดตุปาทานแสดง) ก็พึงทราบได้ อัตต-

วาทุปาทาน แสดงไว้สุดท้าย เพราะเป็นโทษละเอียด นี่เป็นลำดับ

การแสดงแห่งอุปาทาน ๔ นั้น

๑. อาลยรามตา ในบาลีโดยมากเป็นอาลยา. . . อาลัย มหาฎีกาว่าได้แก้ปัญจุปาทาน-

ขันธ์ (น่าจะว่าได้แก่กามคุณ)

๒. โกตุหล หรือ โกตูหล แปลว่า ไหวหวั่นด้วยเสียง อย่างไทยเราพูดว่า 'เสียงสนั่น

หวั่นไหว' (โกตุ - เสียง หล - ไหว) ชาวชมพูทวีปมักชอบเสียงดัง แม้แต่คุยกัน

ก็ราวกะทะเลาะกัน ยังคำว่า 'โกตุหลสาลา' ก็คือศาลาที่ปลูกไว้สำหรับคนไปคุยกัน

โต้วาทะกัน โดยใช้เสียงอันดัง จะแปลงว่า 'ศาลาอึกทึก' ก็น่าจะได้

๓. ปาฐะวิสุทธิมรรคตรงนี้เรียงพิมพ์ไว้ว่า . . .พหุโล โหติ น สสฺสตทิฏฺฐีติ ตทนนฺตรํ

ทิฏฐูปาทานํ ไม่สามารถจะแปลให้ได้ความตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะก็ น สสฺสต-

ทิฏฺฐิ เมื่อปฏิเสธว่า ไม่เป็นสัสสตทิฏฐิเสียแล้ว ก็เข้ากับความข้างหลังไม่ได้ทีเดียว

เดชะบุญ มหาฎีกาท่านนำศัพท์ตรงนี้มาแก้ไว้ ๒ ศัพท์ คือ สา กับ อสฺส สา โยค

โกตุ. . . พหุลตา อสฺส โยค กามุปาทานวโต จึงเห็นความขึ้น และวินิจฉัยได้ว่า น.

นั้นพลัดเข้ามาแน่ และตกคำสำคัญไป ๒ คำ เมื่อเรียงศัพท์ตามนัยมหาฎีกา จึงควร

เป็นว่า . . .พหุโล โหติ สาสฺส สสฺสตทิฏฺฐีติ . . . ดังที่แปลไว้นั้น ได้ความดีทีเดียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 365

[คาถาสังเขปปัจจยนัย]

ก็ในอุปาทานทั้งหลายนี้ ตัณหาเป็นปัจจัยอย่าง

เดียวแห่งอุปาทานข้อหน้าเพื่อน มันเป็นปัจจัย

๗ อย่างบ้าง ๘ อย่างบ้างก็มี แห่งอุปาทาน ๓ ที่เหลือ

[ขยายความ]

ก็แลในอุปาทานทั้งหลายนี้ คือในอุปาทาน ๔ ที่แสดงมาดังนี้

กามตัณหาเป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่ง

อุปาทานข้อหน้าเพื่อน คือ กามุปาทาน เพราะเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลาย

ที่ตัณหายินดีโดยเฉพาะ แต่มันเป็นปัจจัย ๗ อย่าง โดยเป็นสหชาตปัจจัย

อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย

และเหตุปัจจัยบ้าง เป็น ๘ อย่าง กับทั้งอุปนิสสยปัจจัยบ้างก็มี

แห่งอุปาทาน ๓ ที่เหลือ แต่ว่าเมื่อใดมันเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยะ

เมื่อนั้นมันก็เป็นอสหชาต (คือไม่เป็นสหชาต)* ด้วยแล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

[แก้บท อุปาทานปจฺจยา ภโว]

ในบทอุปาทานปจฺจยา ภโว

พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ (คือความแห่งคำ) ๑

โดยธรรม (คือ ความหมายของข้อธรรม) ๑ โดย

สาตะถะ [คือ ข้อที่ยังมีประโยชน์ที่จะกล่าวซ้ำ] ๑

* ชอบกล เมื่อเป็นอุปนิสสยะแล้วไม่เป็นสหชาตด้วย จะเป็น ๘ ได้อย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 366

โดยเภทะ (คือ แบ่งออก) และโดยสังคหะ (คือ

รวมเข้า) ๑ โดยสิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไร ๑

[วินิจฉัยโดยอรรถ]

วินิจฉัยโดยอรรถในบทนั้นว่า ธรรมใดย่อมเป็น เหตุนี้ ธรรมนั้น

จึงชื่อว่า ภพ (แปลว่าธรรมที่เป็นขึ้น) ภพนั้นมี ๒ ประเภท คือ

กรรมภพ ๑ อุปบัติภพ ๑ ดังบาลีว่า "ภพมีโดยส่วน ๒ คือ กรรมภพ

ก็มี อุปบัติภพก็มี๑ ดังนี้

ในภพ ๒ นั้น ภพ คือกรรม ชื่อว่า กรรมภพ นัยเดียวกัน

ภพคือความเข้าถึง ชื่อว่า อุปบัติภพ ก็แลในกรรมแลอัปบัตินี้

อุปบัติจัดเป็นภพ เพราะเป็น (คือเกิด) ขึ้น ส่วนกรรม พึงทราบ

ว่า จัดเป็นภพโดยผลโวหาร (คือกล่าวเล็งถึงผล) เพราะกรรมนั้น

เป็นเหตุแห่งภพ ดังความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธทั้งหลาย ตรัสว่าเป็นสุข

เพราะเป็นเหตุแห่งความสุขฉะนั้น๒

วินิจฉัยโดยอรรถในบทนี้ พึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้

เป็นอันดับแรก

[วินิจฉัยโดยธรรม]

[กรรมภพ]

ส่วนวินิจฉัยโดยธรรม พึงทราบว่า ดันดับแรก กรรมภพ โดย

สังเขป ก็ได้แก่เจตนา และธรรมทั้งหลายที่นับเป็นกรรมมีอภิชฌา

๑. อภิ. วิ. ๓๕/๑๘๓ ๒. ขุ. ธ. ๒๕/๔๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 367

เป็นต้น อันสัมปยุตกับเจตนานั่นเอง ดังบาลีว่า "ในภพ ๒ นั้น

กรรมภพเป็นไฉน บุญญาภิสังหาร อบุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร

เป็นปริตตภูม (คือภูมิกาม) ก็ดี เป็นมหาภูม (คือ ภูมิมหรคต) ก็ดี

นี่เรียกว่า กรรมภพ อนึ่ง กรรมที่เป็นภวคามี (ยังสัตว์ให้ไปสู่ภพ)

ทั้งปวง ก็เรียกกรรมภพ๑"

ก็แลในกรรมภพนี้ เจตนา ๑๓ ดวง ชื่อว่า บุญญาภิสังขาร

เจตนา ๑๒ ดวง ชื่ออบุญญาภิสังขาร เจตนา ๔ ดวงชื่อ อเนญชาภิสังขาร

โดยประการดังนี้ ความที่เจตนาเหล่านั้นแหละมีวิบากน้อยและมาก

เป็นอันกล่าวด้วยคำว่า "เป็นปริตตภูม ก็ดี เป็นมหาภูม ก็ดี" นั่น

ส่วนธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นที่สัมปยุตกับเจตนา เป็นอันกล่าว

ด้วยคำว่า "อนึ่ง กรรมที่เป็นภวคามีทั้งปวง" นี่

[อุปบัติภพ]

ส่วนอุปบัติภพ โดยสังเขปก็ได้แก่ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรม

โดยเฉพาะ (ว่า) โดยประเภทมี ๙ อย่าง ดังบาลีว่า "ในภพ ๒

นั้น อุปบัติภพเป็นไฉน กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ

อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ

ปัญจโวการภพ นี่เรียกว่า อุปบัติภพ"๒

ในภพเหล่านั้น ภพที่นับว่ากาม ชื่อกามภพ (ความหมาย)

ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้ (คือว่า รูปภพ ก็แปลว่า ภพที่นับว่ารูป

๑. ๒. อภิ. วิ. ๓๕/๑๘๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 368

อรูปภพ แปลว่า ภพที่นับว่าอรูป)

ภพของสัตว์ทั้งหลายผู้มีสัญญา ชื่อสัญญาภพ นัยหนึ่ง สัญญา

มีอยู่ในภพนั้น เหตุนี้ ภพนั้นจึงชื่อ สัญญาภพ (แปลว่า ภพที่มีสัญญา)

อสัญญาภพ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม

ธรรมชาติที่เป็นเนวสัญญานาสัญญา (มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา

ก็มิใช่) เพราะไม่มีสัญญาหยาบและเพราะมีแต่สัญญาละเอียด มีอยู่ใน

ภพนั้น เหตุนี้ ภพนั้นจึงชื่อ เนวสัญญานาสัญญาภพ

ภพที่เต็มไปด้วยรูปขันธ์อย่างเดียว ชื่อเอกโวการภพ นัยหนึ่ง

โวการ (คือขันธ์) ของภพนั้นมีอย่างเดียว เหตุนี้ ภพนั้น จึงชื่อ

เอกโวการภพ (แปลว่าภพมีโวการเดียว) (ความหมาย) ในจตุ-

โวการภพแลปัญจโวการภพ ก็นัยนี้ (คือจตุโวการภพ ก็แปลว่า ภพ

มีโวการ ๔ ปัญจโวการภพ แปลว่า ภพมีโวการ ๕)

ในภพเหล่านั้น กามภพ ได้แก่อุปาทินขันธ์ (ขันธ์มีใจครอง) ๕

รูปภพ ก็อย่างนั้น อรูปภพ ได้แก่อุปาทินขันธ์ ๔ สัญญาภพ

ได้แก่อุปาทินขันธ์ ๕ อสัญญาภพ ได้แก่อุปาทินขันธ์ ๑ เนว-

สัญญานาสัญญาภพ ได้แก่อุปาทินขันธ์ ๔ ภพ ๓ มีเอกโวการภพ

เป็นต้น ก็ได้แก่ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๔ โดยเป็นอุปาทินขันธ์*

วินิจฉัยโดยธรรมในบทนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

ประการ ๑

* เรื่องภพอะไร ได้แก่ขันธ์อะไรนี้ ฟังวุ่น ๆ ชอบกล กามภพก็ขันธ์ ๕ รูปภพ

ก็ขันธ์ ๕ สัญญาภพก็ขันธ์ ๕ ฯ ล ฯ เมื่อมีขันธ์เท่ากันแล้ว ไฉนจึงเรียกชื่อต่างกัน

ท่านไม่แย้มอธิบายไว้บ้างเลย มหาฎีกาก็เฉยเสียด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 369

[วินิจฉัยโดยสาตถะ]

ข้อว่า 'โดยสาตถะ' มีวินิจฉัยว่า ก็แลอภิสังขารทั้งหลายมี

บุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแหละ แม้กล่าวมาแล้วในตอนแก้สังขาร เช่น

ดังที่กล่าวในตอนแก้ภพ (นี้) เหมือนกันก็จริง แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น

อภิสังขารตอนก่อน ท่านกล่าวโดยเป็นอดีตกรรม เพราะเป็นปัจจัย

แห่งปฏิสนธิในภพนี้ (แต่) อภิสังขารตอนนี้กล่าวโดยเป็นปัจจุบันกรรม

เพราะเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในภพต่อไป เพราะฉะนั้น การกล่าว

(ถึงอภิสังขาร) ซ้ำจึงยังมีประโยชน์แท้ หรือ (อีกตัวอย่างหนึ่ง)

ในตอนก่อน เจตนาเท่านั้นท่านกล่าวว่าเป็นสังขาร โดยนัยว่า 'ใน

อภิสังขาร ๓ นั้น บุญญาภิสังขารเป็นไฉน เจตนาเป็นกุศลกามาวจร. . .

(นี้เรียกว่าบุญญาภิสังขาร) ดังนี้เป็นต้น แต่ในตอนนี้ แม้ธรรมทั้งหลาย

ที่สัมปยุตกับเจตนา ท่านก็กล่าวด้วย โดยคำว่า "แม้กรรมที่เป็นภวคามี

ทั้งปวง (ก็ชื่อว่ากรรมภพ)" ดังนี้ อนึ่ง ทีก่อน กรรมที่เป็นปัจจัย

แห่งวิญญาณเท่านั้น ท่านกล่าวว่าเป็นสังขาร มาทีนี้ แม้กรรมที่ยังสัตว์

ให้เกิดในอสัญญาณภพ ท่านก็กล่าวด้วย จะกล่าวมากไปทำไมมี ใน

บทว่า 'อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา' นั่น ก็บุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแหละ

ท่านกล่าวแต่ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ส่วนในบทว่า 'อุปาทาน-

ปจฺจยา ภโว' นี้ ท่านกล่าวธรรมทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล ทั้งที่

เป็นอัพยากฤต ก็เพราะ (ในตอนนี้) สงเคราะห์เอาอุปบัติภพเข้าด้วย

เพราะฉะนั้น การกล่าวซ้ำนี้ จึงยังมีประโยชน์แท้

วินิจฉัยโดยสาตถะในบทนี้ พึงทราบโ ดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

อีกประการหนึ่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 370

[วินิจฉัยโดยแบ่งออกและรวมเข้า]

ข้อว่า 'โดยเภทะ และสังคหะ' คือโดยแบ่งออกและโดยรวมเข้า

ซึ่งภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน

[โดยแบ่งออก]

ความว่า กรรมที่ยังสัตว์ให้เกิดในกามภพ ซึ่งมีเพราะปัจจัย คือ

กามุปาทานใด อันสัตว์ทำเข้า ธรรมคือกรรมนั้น๑ ชื่อกรรมภพ

ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นโดยเฉพาะ ชื่ออุปบัติภพ ใน

รูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้๒

โดยนัยดังนี้ กามภพ ทั้งสัญญาภพ และปัญจโวการภพที่อยู่ภายใน

(คือรวมอยู่ในกามภพ) เป็น ๒ รูปภพทั้งสัญญาภพ อสัญญาภพ

เอกโวการภพ และปัญจโวการภพที่อยู่ภายใน เป็น ๒ อรูปภพ

ทั้งสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ และจตุโวการภพ ที่อยู่ภายใน

เป็น ๒๓ ดังนี้ ภพจึงเป็น ๖ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน อันมีเพราะ

ปัจจัยคือกามุปาทาน ก็แล ภพที่มีเพราะปัจจัยคือกามุปาทาน เป็น ๖

๑. โส กมฺมภโว โส นี้รับกับ ยํ ซึ่งหมายถึงกรรม เหตุไรท่านจึงไม่ประกอบเป็น

ตํ จะโยคว่า โส กมฺมํ ก็ขัดเชิงนัก จึงโยคว่า โส กมฺมธมฺโม

๒. ที่ว่า 'ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้' คือเรียงความอย่างเดียวกันกับกามภพ เปลี่ยน

กามภวนิพฺพตฺตกํ ที่ยังสัตว์ให้เกิดในกามภพ เป็นรูปภวนิพฺพตฺตกํ อรูปภวนิพฺพตฺตกญฺจ

ที่ยังสัตว์ให้เกิดในรูปภพ และที่ยังสัตว์ให้เกิดในอรูปภพ เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกัน

๓. กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นอย่างละ ๒ คือ เป็นกรรม ๑ อุปบัติ ๑ ประกอบ

เป็นศัพท์ดังนี้ กามกรรมภพ กามุปบัติภพ รูปกรรมภพ รูปุปบัติภพ อรูปกรรมภพ

อรูปุปบัติภพ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 371

พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในฉันใด แม้ภพที่มีเพราะปัจจัยคืออุปาทานที่เหลือ

ก็เป็น ๖ ๆ ฉันนั้นแล

ด้วยประการดังนี้ โดยแบ่งออก ภพที่มีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน

จึงเป็น ๒๔ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

[โดยรวบเข้า] >

ส่วนว่าโดยรวมเข้า มีวินิจฉัยว่า รวมกามภพและอุปบัติภพเข้า

ด้วยกันเสีย กามภพก็เป็น ๑ กับทั้งภพที่อยู่ภายใน รูปภพและอรูปภพ

ก็รวมเข้าอย่างนั้น ดังนี้จึงเป็นภพ ๓ อันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน

แม้ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทานที่เหลือก็อย่างนั้น (คือคงเป็น ๓ ๆ)

ด้วยประการดังนี้ โดยรวมเข้า ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน จึง

เป็น ๑๒ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

อีกนัยหนึ่ง กรรมที่มีผลเป็นกามภพ จัดเป็นกรรภพอันมีเพราะ

ปัจจัยคืออุปาทาน โดยไม่แปลกกัน (คือไม่แยกประเภทอุปาทาน)

ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นโดยเฉพาะ จัดเป็นอุปบัติภพ ใน

รูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้ ด้วยประการนี้ โดยรวมเข้าอีกปริยาย

หนึ่ง. . . ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทานจึงเป็น ๖ คือ กามภพ ๒

รูปกภพ ๒ อรูปภพ ๒ พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

หรือว่าไม่แตะต้องการแยกเป็นกรรมภพและอุปบัติภพ*เสีย ภพ

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น กามภวอุปปตฺติภวเภทํ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น

กมฺมภว. . .

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 372

ก็คงเป็น ๓ โดยเป็นกามภพเป็นต้น พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

อนึ่งเล่า ไม่แตะต้องการแยกเป็นภพ ๓ มีกามภพเป็นต้นเสีย

ภพก็เป็น ๒ โดยเป็นกรรมภพและอุปบัติภพ

ไม่แตะต้องการแยกเป็นกรรมภพและอุปบัติภพเสียอีกเล่า ภพ

ก็คงเป็น ๑ เท่านั้น โดยเป็นภพ (เอกพจน์) ตามบทว่า อุปาทานปจฺจยา

ภโว แล

วินิจฉัยโดยแยกออกและรวมเข้า ซึ่งภพอันมีอุปาทานเป็นปัจจัย

ในบทนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ ๑

[วินิจฉัยโดยสิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไร]

ข้อว่า "ยํ ยสฺส ปจฺจโย จ" ความว่า อนึ่ง ในบทอุปาทาน-

ปจฺจยา ภโว นี้ อุปาทานไร เป็นปัจจัยของภพไร บัณฑิตพึงทราบ

วินิจฉัยโดยประการที่สิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไรนั้นด้วย*

ถามว่า ก็ในบทนี้ สิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไรเล่า ?

ตอบว่า ทุกสิ่งเป็นปัจจัยของทุกสิ่งแหละ

จริงอยู่ บุถุชนเปรียบเหมือนคนบ้า เขาหาวิจารว่า สิ่งนี้ควร

สิ่งนี้ไม่ควรไม่ ปรารถนาภพทุกภพด้วยอำนาจอุปาทานทุกข้อ แล้ว

ก็ทำกรรมทุกอย่างทีเดียว เพราะฉะนั้น อาจารย์ลางเหล่ากล่าวคำใด

ว่า "รูปภพอรูปภพย่อมไม่มีเพราะสีลัพพตุปาทาน" ดังนี้ คำนั้น จึง

* ตโต มิใช่รับกับ ยํ ยสฺส แต่แทนความทั้งประโยคนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 373

ไม่ควรถือเอา๑ แต่ควรถือว่า "ภพทั้งปวงย่อมมีได้เพราะอุปาทาน

ทั้งปวง" ข้อนี้มีอย่างไร ?

[กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งกามภพ]

บุคคลลางคนในโลกนี้ คิดไปด้วยอำนาจการได้ยินสืบกันมาบ้าง

ตามแบบอย่างที่ได้เห็นบ้าง ว่า "อันกามทั้งหลายนั้น ก็สมบูรณ์แต่

ในตะกูลมหาสาลมีตระกูลขัตติมหาสาลเป็นต้น ในมนุษยโลก และ

ในกามาวจรเทวโลก ๖ ชั้นเท่านั้น" ดังนี้แล้ว ถูกอสัปปุริสธรรมมีการ

ฟังเรื่องอสัทธรรมเป็นต้น กล่อมใจเข้า สำคัญไปว่า กามทั้งหลายจะ

สำเร็จได้ด้วยการกระทำ (อย่าง) นี้ (คืออย่างที่ได้ยิน) เลยกระทำ

ทุจริต มีกายทุจริตเป็นต้น ไปตามอำนาจแห่งกามุปาทานเข้าก็ได้๒

เพื่อ (ให้) ได้กามทั้งหลายนั้น เพราะทุจริตเต็มเข้า เขาก็ไปเกิดใน

อบาย หรือมิฉะนั้น เมื่อปรารถนากามทั้งหลายที่ประสบพบเข้า หรือ

จะคุ้มครองกามทั้งหลายที่ได้มาแล้วก็ตาม ทำทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้น

เข้า ด้วยอำนาจแห่งกามุปาทาน (ก็ได้)๓ เพราะทุจริตเต็มเข้า เขา

ก็ไปเกิดในอบาย

กรรมที่เป็นเหตุแห่งความอุบัติในอบายนั้น เป็นกรรมภพ ขันธ์

๑. มหาฎีกาขยายความว่า เกจิอาจารย์สำคัญเอาว่าการบำเพ็ญฌานย่อมไม่สำเร็จแก่คน

ที่มีสีลัพพตุปาทาน เพราะมีบาลีกล่าวไว้ว่า คนที่ถือธรรมเนียมของโคของสุนัขเต็มที่แล้ว

ก็จะไปเกิดร่วมกับโคและสุนัข เหตุนั้น จึงได้กล่าวว่า รูปภพ และ อรูปภพ ย่อมไม่มี

เพราะสีลัพพตุปาทาน แต่ที่จริงมีได้ ดังจะอธิบายต่อไปนั้น

๒. เช่นฆ่าสัตว์บูชายัญ หรือฆ่าสัตว์เช่นสรวงต่าง ๆ

๓. เช่นรบเอา ปล้นเอา ยื้อแย่งเอา ข่มขืนเอา หลอกลวงเอา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 374

ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้น ก็เป็นอุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วน

สัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในนั้นนั่นเอง

ฝ่ายบุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นผู้มีความรู้เพิ่มพูนขึ้นด้วยสัปปุริสธรรม

ทั้งหลายมีการได้ฟังสัทธรรมเป็นต้นแล้ว สำคัญเอาว่า กามทั้งหลายจะ

สำเร็จได้ด้วยการกระทำ (อย่าง) นี้ ก็กระทำสุจริตมีกายสุจริตเป็นต้น

ด้วยอำนาจกามุปาทาน เพราะสุจริตเปี่ยมเข้า เขาก็ไปเกิดในหมู่เทพ

บ้าง ในหมู่มนุษย์บ้าง

กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุบัติในหมู่เทพและมนุษย์นั้น เป็น

กรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นอุปบัติภพ ของ

บุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในนั้นเหมือนกัน

กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งกามภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท

เช่น สุคติ ทุคติ) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน ดังนี้

[กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งรูปภพอรูปภพ]

บุคคลอีกคนหนึ่ง ได้ฟังหรือคาดคะเนเอาก็ตาม ว่า กามทั้งหลาย

ในรูปภพและอรูปภพสมบูรณ์กว่ากามในกามภพนั้น ก็ทำรูปสมาบัติ

และอรูปสมาบัติให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจกามุปาทานนั่นเอง แล้วก็ไปเกิด

ในโลกรูปพรหม และอรูปพรหม ด้วยกำลังแห่งสมาบัติ

กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุบัติในพรหมโลกนั้นเป็นกรรมภพ

ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้น เป็นอุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วน

สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ และ เอกโวการภพ

จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ก็รวมอยู่ในนั้นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 375

กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งรูปภพอรูปภพอันมีแตกต่างกัน (หลาย

ประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ในก็ได้ดังนี้

[ทิฏฐูปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม]

บุคคลอีกผู้หนึ่งเห็นไปว่า "อันอัตตานี่ เมื่อภพแห่งกามาวจร-

สมบัติ หรือรูปภพอรูปภพอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามขาดแล้ว ก็เป็นอัน

ขาดสูญ" ดังนี้แล้วยึดถืออุจเฉททิฏฐิ แล้วก็ทำกรรมที่ไปกันได้กับ

ทิฏฐินั้น

กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็น

อุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วนภพทั้งหลายมีสัญญาภพเป็นต้น ก็รวม

อยู่ในนั้นแหละ

ทิฏฐูปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้ง ๓ คือทั้งกามภพและรูปภพอรูป

ภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในก็ได้ดังนี้

[อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม]

บุคคลอีกผู้หนึ่ง เห็นว่า "อันอัตตานี่ ย่อมจะมีความสุขปราศจาก

ความเร่าร้อนอยู่ในภพแห่งกามาวจรสมบัติ หรือในรูปภพและอรูปภพ

แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้" ดังนี้แล้วก็ทำกรรมที่ไปก้นได้กับความเห็นนั้น

ด้วย (อำนาจ) อัตตวาทุปาทาน

กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็น

อุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้นแหละ

อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสามอันมีแตกต่างกัน (หลาย

ประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 376

[สีลัพพตุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม]

บุคคลอีกผู้หนึ่งเห็นว่า "อันความสุขย่อมถึงซึ่งความเต็มเปี่ยมแก่

บุคคลผู้ทำศีลพรตนี้ให้บริบูรณ์ ในภพแห่งกามาวจรสมบัติก็ตาม ใน

รูปภพและอรูปภพแห่งใดแห่งหนึ่งก็ตาม" ดังนี้แล้วก็ทำกรรมที่ไปกัน

ได้กับความเห็นนั้น ด้วยอำนาจสีลัพพตุปาทาน

กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็

เป็นอุปบัติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้น

เหมือนกัน

แม้สีลัพพตุปาทาน ก็เป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสามอันมีแตกต่างกัน

(หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในได้ ดังนี้แล

วินิจฉัยโดยประการที่สิ่งไรเป็นปัจจัยของสิ่งไร ในบทนี้ พึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[อะไรเป็นปัจจัยของอะไรอย่างไร]

หากถามว่า "ก็ในบทนี้ อุปาทานอะไรเป็นปัจจัยของภพอะไร

อย่างไร" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า

[คาถาสังเขปปัจจยนัย]

บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า อุปาทานเป็นอุปนิสสยปัจจัย

แห่งรูปภพและอรูปภพ อนึ่ง มันเป็นปัจจัยแห่ง

กามภพโดยปัจจัยทั้งหลายมีสหชาตปัจจัยเป็นอาทิ

[ขยายความปัจจยนัย]

ขยายความว่า อุปาทานทั้ง ๔ อย่างนั่น เป็นปัจจัยประเภทเดียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 377

โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น ของรูปภพอรูปภพ คือของกรรมเฉพาะ

ที่เป็นกุศลในกรรมภพ อันนับเนื่องในกามภพ และของอุปบัติภพด้วย๑

(ส่วน) ในกามภพ มันเป็นปัจจัยโดยสหชาตปัจจัยเป็นต้นซึ่งแยกออกเป็น

สหชาต----อัญญมัญญ----นิสสย----สัมปยุตต----อัตถิ----อ___________วิคต----และเหตุ

ปัจจัย ของอกุศลกรรมภพอันสัมปยุตกับตน๒ แต่เป็นปัจจัยโดย

อุปนิสสยปัจจัยอย่างเดียว ของกรรมภพที่เป็นวิปยุต

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า อุปาทานปจฺจยา ภโว

[แก้บท ภวปจฺจยา ชาติ]

ในบททั้งหลายมีบทว่า ภวปจฺจยา ชาติ เป็นอาทิ การวินิจฉัยคำ

มีคำว่าชาติเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสัจจนิเทศเถิด ส่วน

คำว่า ภโว ในบทนี้หมายเอากรรมภพอย่างเดียว เพราะกรรมภพนั้น

เป็นปัจจัยแห่งชาติ อุปบัติภพหาเป็นปัจจัยไม่๓ ก็แลกรรมภพนั้นเป็น

ปัจจัยสองอย่าง โดยเป็นกัมมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแล

หากคำถามจะพึงมีว่า "ก็ข้อที่ว่า 'ภพเป็นปัจจัยของชาติ' นั่นจะ

พึงทราบได้อย่างไร ?" ดังนี้ไซร้ คำตอบพึงมีว่า "พึงทราบได้โดย

ที่แม้ในเมื่อปัจจัยภายนอกมีเสมอกัน ก็ปรากฏความแปลกกันมีความเป็น

๑. กมฺมภเว เป็นภินนาธารใน กุสลกมฺมสฺส หมายความว่า กรรมภพนั้นได้ทั้งกุศลกรรม

และอกุศลกรรม แต่ในที่นี้ได้แก่กุศลกรรมอย่างเดียว

ความท่อนนี้ว่า อุปาทานเป็นอุปนิสสยปัจจัยของรูปภพอรูปภพ ทั้งส่วนกรรม

และส่วนอุปบัติ

๒. ทำไม่จึงว่าแต่อกุศลกรรม ไม่เข้าใจอธิบายของท่าน

๓. เพราะชาตกิ ็คือความเกิดขึ้นแห่งอุปบัตภิ พนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 378

ผู้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้นได้ จริงอยู่ แม้ความเสมอกันแห่ง

ปัจจัยภายนอกทั้งหลายมีสุกกโสณิต (เลือดขาว) ของชนกชนนี และ

อาหารเป็นต้นมีอยู่ ความแปลกกันมีความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีต

เป็นต้นของสัตว์ทั้งหลายแม้เป็นลูกแฝดก็เห็นได้อยู่ อันความแปลก

กันแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้นมิใช่ไม่มีเหตุ เพราะไม่มีไปทุกเมื่อและทุกคน

มิใช่มีเหตุอื่นไปจากกรรมภพ เพราะไม่มีเหตุอย่างอื่นในสันดานเฉพาะ

ตัวของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาเพราะกรรมภพนั้น เหตุฉะนั้นมันจึงมี

กรรมภพเป็นเหตุแท้ เพราะกรรมเป็นเหตุแห่งความแปลกกันมีความ

เป็นผุ้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสว่า "กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย นี่คืออย่างหร คือย่อม

จำแนกโดยความเป็นผุ้ทรามและเป็นผู้ประณีต" ดังนี้ เหตุนั้นข้อที่ว่า

'ภพเป็นปัจจัยของชาติ' นั่นจึงควรทราบได้ (โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้)

[แก้บท ชาติปจฺจยา ชรามรณํ ฯ เป ฯ]

ก็แล เหตุใด เมื่อชาติไม่มีอยู่ ขึ้นชื่อว่าชราและมรณะ หรือ

ธรรมทั้งหลายมีโสกเป็นต้นก็ย่อมไม่มี แต่เมื่อชาติมีอยู่ ชรามรณะ

และธรรมทั้งหลายมีโสกเป็นต้นที่เนื่องกับความแก่ความตาย (ของตน)

ย่อมมีแก่คนเขลาผู้ถูกทุกขธรรมกล่าวคือชรามรณะต้องเอาบ้าง ที่ไม่

เนื่อง (กับความแก่ความตายของตน) ก็ย่อมมีแก่คนเขลานั้นผู้ถูก

ทุกขธรรมนั้น ๆ (มีญาติตายเป็นต้น) กระทบเอาบ้าง เพราะเหตุนั้น

แม้ชาตินี่ก็พึงทราบว่า เป็นปัจจัยแห่งชรามรณะและแห่งธรรมทั้งหลาย

มีโสกเป็นต้นด้วย อันชาตินั้นเป็นปัจจัยอย่างเดียวโดยเป็นปัจจัยยอด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 379

คืออุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น๑แล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบททั้งหลายมีบทว่า ภวปจฺจยา ชาติ

เป็นต้น

[ภวจักร - ล้อแห่งภพ]

ก็เหตุใด ในปฏิจจสมุบาทเทศนานี้ ปกิณกธรรมมีโสกเป็นต้น

พระผุ้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเบื้องปลาย เหตุนั้น อวิชชาที่ตรัสไว้ใน

เบื้องต้นแห่งภวจักรนั่นว่า 'อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา' ดังนี้ อวิชชา

นั้นก็เป็นไป (คือมีได้)๒ เพราะโสกเป็นต้น (นั่นเอง)๓

อันว่าภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า มีเบื้องต้น

ไม่ปรากฏ ปราศจากบุคคลผู้สร้างและบุคคลผู้เสวย

(ผล) ว่างเปล่าโดยสุญญตา ๑๒ ประการ ย่อม

หมุนไปเสมอเป็นเนืองนิตย์ (จนกว่าจะบรรลุพระ

อรหัต)

หากมีคำปุจฉาว่า "ก็ในปฏิจสมุบาทเทศนานี้ อวิชชามีได้เพราะ

โสกเป็นต้นอย่างไร ภวจักรนี้มีเบื้องต้นไม่ปรากฏอย่างไร ปราศจาก

บุคคลผู้สร้างและบุคคลผู้เสวย (ผล) อย่างไร ว่างเปล่าโดยสุญญตา ๑๒

ประการอย่างไร" ดังนี้ไซร้

๑. หมายความว่าอุปนิสสยปัจจัยนี้ เป็นได้อ้างได้แทบทั้งนั้น จึงว่าเป็นยอด มหาฎีกา

ว่าอุปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจยมหาปเทส คือเป็นปัจจัยสำหรับอ้างใหญ่

๒. สิทฺธ นี้ได้แก่สิธุธาตุ เป็นไปในอรรถว่า ไป ถึง เป็นไป มหาฎีกาไขว่า ลพฺภมาน

แปลว่ามีได้

๓. หมายความว่า โสกเป็นต้นนั้น ก็หมุนกลับไปเป็นปัจจัยแห่งอวิชชาอีก จึงเรียก

ภวจักร ไม่ใช่สุดไปเลย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 380

[อวิชชามีเพราะโสกเป็นต้นได้]

คำวิสัชนาก็พึงมีว่า "ก็ในปฏิจสมุบาทธรรมทั้งหลายนี้ โสก ทุกข

โทมนัส อุปายาส ย่อมมีแก่บุคคลผู้ยังไม่พรากจากอวิชชา อันปริเทวะเล่า

ก็ย่อมมีแก่บุคคลผู้หลง เพราะเหตุนั้น ประการแรก เมื่อธรรมมีโสก

เป็นต้นเหล่านั้นเป็นไปแล้วอวิชชาก็เป็นอันมีอยู่เอง อีกประการหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ความเกิดขึ้นแห่งอวิชชาย่อมมีเพราะ

ความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ๑" ดังนี้ ก็แลธรรมทั้งหลายมีโสกเป็นต้นนั่น

ก็ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ ข้อนี้มีอย่างไร ? อันดับแรก

ในกรณีที่พลัดพรากจากวัตถุกาม โสกก็เป็นอันเกิดขึ้นเพราะกามาสวะ

ดังพระบาลีว่า

ตสฺส เจ กามยามสฺส ฯ เป ฯ สลฺลวิทฺโธว รุปฺปติ

หากว่า เมื่อชนผู้นั้นเกิดความพอใจรักใคร่กาม

เหล่าใดอยู่ กามเหล่านั้นมาพรากไปเสียไซร้ เขา

ย่อมโศกาดูรดุจถูกลูกศรเสียบ"๒

และดังพระบาลีว่า "กามโต ชายตี โสโก - ความโศกย่อมเกิดแต่กาม๓"

ดังนี้

ธรรมทั้งหลายมีโสกเป็นต้นทั้งปวงนั่น ย่อมเป็นธรรมเกิดขึ้น

เพราะทิฏฐาสวะด้วย ดังบาลีว่า "ตสฺส อหํ รูปํ ฯ เป ฯ----โทม-

นสฺสุปายาสา - โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคล

นั้น ผู้ยืนกราน (ด้วยทิฏฐิ) ว่า 'เราเป็นรูป รูปเป็นของเรา' เพราะ

ความที่รูปแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงไป"๔ ดังนี้เป็นต้น

๑. ม. มู. ๑๒/๑๐๐. ๒. ขุ. สุ. ๒๕/๔๘๔. ๓. ขุ. ธ. ๒๕/๔๓.

๔. สํ. ขนฺธวาร. ๑๗/๔.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 381

อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐาสวะได้

ฉันใด ก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งภวาสวะก็ได้ฉันนั้น ดัง

พระบาลีว่า "แม้เทวดาเหล่านั้นใดผู้มีอายุยืน ผิวพรรณงาม มากไป

ด้วยความสุข สถิตอยู่ในวิมานอันสูงตลอดกาลยาวนาน แม้เทวดา

เหล่านั้น ได้ฟังธรรมเทศนาของตถาคตแล้วยังต้อง (คือรู้จัก) กลัว

สะดุ้งใจ สลดใจ๑" (ธรรมเหล่านั้นเกิดแก่เทวดาทั้งหลาย เพราะความ

เกิดขึ้นแห่งภวาสวะ) ดังความโศกเป็นต้นเกิดแก่เทวดาทั้งหลายผู้ถูก

มรณภัยคุกคาม เพราะเห็นบุพนิมิต ๕ ฉะนั้น๒

อนึ่งธรรมเหล่านั้น เกิดเพราะความเกิดขึ้นแห่งภวาสวะได้

ฉันใด ก็ย่อมเกิดเพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชาสวะก็ได้ฉันนั้น ดัง

พระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนเขลานั้นนั่นแล ย่อมได้เสวยทุกข์

โทมนัส ๓ ประการในทิฏฐธรรมนี่แหละ๓" ดังนี้เป็นต้น

เพราะเหตุที่ธรรมเหล่านั้น ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ

ดังกล่าวมาฉะนี้ ธรรมเหล่านั้นเมื่อมีขึ้น จึงยังอาสวะอันเป็นเหตุแห่ง

อวิชชาให้มีด้วย และครั้นอาสวะทั้งหลายมีแล้ว แม้อวิชชาก็เป็นอันมี

ด้วยแท้ เพราะเมื่อปัจจัยมี ธรรมที่เกิดแต่ปัจจัยก็ (ต้อง) มีแล

ในปฏิจสมุบาทเทศนานี้ อวิชชา บัณฑิตพึงทราบว่าย่อมมีได้

เพราะธรรมทั้งหลายมีโสกเป็นต้น โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นประการ

แรก

๑. สํง ขนฺธวาร. ๒๗/๑๐๔. ๒. ประโยคนี้เป็นอุปมาความข้างหน้า แต่ความอุปไมย

ที่เรียงไว้ใกล้ ๆ กันไม่มี จึงเติมเข้ามาเช่นนั้น

๓. ม. อุ. ๑๔/๓๑๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 382

[ภวจักรมีเบื้องต้นไม่ปรากฏ]

ประการต่อไป เพราะความที่เมื่อปัจจัยมี ธรรมที่เกิดแต่ปัจจัยก็

(ต้อง) มีดังนี้ ครั้นอวิชชามีขึ้นแล้ว ความจบสิ้นก็ไม่มี เพราะความ

สืบต่อกันแห่งเหตุและผล คือ สังขารทั้งหลายก็มีขึ้นเพราะปัจจัยคือ

อวิชชาอีก วิญญาณก็มีขึ้นเพราะปัจจัยคือสังขารอีก อย่างนี้เป็นต้น

เหตุใด เหตุนั้น ภวจักรมีองค์ ๑๒ อันหมุนไปด้วยอำนาจความ

สัมพันธ์กันแห่งเหตุและผลนั้น จึงเป็นอันสำเร็จ (คือเป็นได้) ว่า 'มี

เบื้องต้นไม่ปรากฏ'

หากคำท้วงพึงมีว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น (คือเมื่อไม่มีอะไรเป็นตัว

ต้นเช่นนั้น) การกล่าวความที่ภวจักรมีเบื้องต้นว่า 'อวิชฺชาปจฺจยา

สงฺขารา' นี่ก็ผิด (นะซิ)" ดังนี้ไซร้ พึงแก้ว่า นี่ไม่ใช่การกล่าวความ

ที่ภวจักรมีเบื้องต้นดอก แต่นั่นเป็นการกล่าวธรรมที่เป็นตัวประธาน

(ต่างหาก) ด้วยว่าอวิชชา เป็นประธานแห่งวัฏฏะ ๓ จริงอยู่ เพราะ

ยึดอวิชชาไว้ กิเลสวัฏที่เหลือ และวัฏอีกสองมีกรรมวัฏเป็นต้น ก็พัน

เอาคนเขลาเข้าด้วย ดุจเพราะจับหัวงูไว้ ลำตัวงูที่เหลือก็พันเอาแขน

(คนจับ) เข้าฉะนั้น แต่เมื่อตัดอวิชชาขาดเสร็จแล้ว ความพ้นจาก

ธรรมเหล่านั้นก็มีขึ้น ดุจเมื่อตัดหัวงูเสร็จแล้ว ความพ้นจากความเป็น

แขนที่ถูกงูพันก็มีขึ้นฉะนั้น ดังพระบาลีว่า "ส่วนความดับแห่งสังขาร

ย่อมมี เพราะความดับโดยสำรอกออกอย่างไม่เหลือแห่งอวิชชานั่นแล"

ดังนี้เป็นต้น

นี่เป็นการกล่าวธรรมอันเป็นตัวประธาน ที่เมื่อบุคคลยึดอยู่ ย่อม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 383

เป็นผู้ถูกผูกพัน เมื่อปล่อยเสีย ความพ้นย่อมมี มิใช่กล่าวความที่

ภวจักรมีเบื้องต้น ดังนี้แล

ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มีเบื้องต้นไม่ปรากฏ ดังกล่าวมา

ฉะนี้

[ภวจักรปราศจากผู้สร้างผู้เสวย]

ภวจักรนี้นั้น เพราะเหตุที่ความหมุนไปแห่งธรรมทั้งหลายมี

สังขารเป็นอาทิ ย่อมมีเพราะเหตุทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น จึงว่างเว้น

จากผู้สร้างสังสาระคือพรหมเป็นต้น ซึ่งกำหนดกันเอา (เอง) อย่างนี้ว่า

"พฺรหฺมา - พระพรหม มหาพิรหฺมา - ท้าวมหาพรหม เสฏฺโฐ - ท่านผู้

เป็นใหญ่ สชิชิตา - ท่านผู้บันดาล" อื่นไปจากเหตุมีอวิชชาเป็นต้นนั้น

ก็ดี จากผู้เสยสุขและทุกข์คืออัตตา ซึ่งกำหนดกันเอา (เอง) อย่างนี้ว่า

"ก็แลอัตตาของเรานี้นั้นแลเป็น วโท - ผู้กล่าว เวเทยฺโย - ผู้เสวย" ฉะนี้

ก็ดี

ภวจักร บัณฑิตพึงทราบว่าปราศจากผู้สร้างและผู้เสวย ดังกล่าว

มานี้

[ภวจักรว่างเปล่าโดยสุญญตา ๑๒ ประการ]

อีกประการหนึ่ง ในปฏิจสมุบาทธรรมนี้ อวิชชาชื่อว่าว่างจาก

ความยั่งยืน เพราะมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ๑ (ว่าง)

จากความงาม เพราะเป็นสังกิเลสิกธรรม เหตุเป็นธรรมเศร้าหมอง ๑

(ว่าง) จากความเป็นสุข เพราะถูกความเกิดขึ้นและเสื่อมไปบีบคั้น ๑

(ว่าง) จากความเป็นอัตตาคือที่ (หมายความว่า) เป็นสิ่งบังคับได้ เพราะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 384

มีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย ๑ แม้องค์ทั้งหลายมีสังขารเป็นต้น

ก็อย่างนั้น เหตุใด นัยหนึ่ง อวิชชา มิใช่ตน มิใช่ของตน มิใช่มีใน

ตน มิใช่มีตน แม้องค์ทั้งหลายมีสังขารเป็นต้นก็อย่างนั้น เหตุใด

เหตุนั้น ภวจักรนั่น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า ว่างเปล่าโดยสุญญตา ๑๒

ประการ (โดยนัยดังกล่าวมา)

[มูลและกาลแห่งภวจักร]

ก็แลครั้งทราบอย่างนี้แล้ว พึงทราบอีกว่า

[คาถาสังเขปมูลและกาล]

อวิชชาและตัณหาเป็นมูลแห่งภวจักรนั้น กาลของ

มันมี ๓ มีอดีตกาลเป็นต้น องค์ในกาล ๓ นั้นโดย

สรูปก็ ๒ และ ๘ และ ๒ เท่านั้นเอง

[ขยายความ]

ความว่า ธรรม ๒ คือ อวิชชาและตัณหา พึงทราบว่า เป็นมูล

แห่งภวจักรนั้นนั่นแล ภวจักรนั้นเล่าก็จัดเป็น ๒ ส่วน คือที่มีอวิชชา

เป็นมูลมีเวทนาเป็นที่สุด (เป็นภวจักร ๑) เพราะนำ (ปัจจุบันผล) มาแต่

ส่วนเบื้องต้น (คือส่วนอดีต) ที่มีตัณหาเป็นมูล มีชรามรณะเป็นที่สุด

(เป็นภวจักร ๑) เพราะต่อกับ (ผล) ส่วนเบื้องปลาย (คืออนาคต)

ในภวจักร ๒ ส่วนนั้น ภวจักรส่วนแรกกล่าวด้วยอำนาจบุคคลทิฏฐิจริต

ส่วนหลังกล่าวด้วยอำนาจบุคคลตัณหาจริต ด้วยว่า อวิชชาเป็นสังสาร-

นายิกา (ผู้นำไปในสังสาร) สำหรับบุคคลทิฏฐิจริตทั้งหลาย ตัณหา

เป็นสังสารนายิกาสำหรับบุคคลตัณหาจริตทั้งหลาย นัยหนึ่ง ภวจักรที่ ๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 385

กล่าวเพื่อถอนอุจเฉททิฏฐิ เพราะประกาศความไม่ขาดสูญแห่งเหตุ

ทั้งหลาย โดยความเกิดขึ้นแห่งผล (ปัจจุบันปรากฏอยู่) ภวจักรที่ ๒

กล่าวเพื่อถอนสัสตทิฏฐิ เพราะประกาศชรามรณะแห่งสัตว์ที่เกิดมา

แล้วทั้งหลาย นัยหนึ่ง ภวจักรแรกกล่าวด้วยอำนาจครรภไสยสัตว์

เพราะแสดงความหมุนไปแห่งธรรมตามลำดับ* ภวจักรหลังกล่าวด้วย

อำนาจโอปปาติกสัตว์ เพราะแสดงความเกิดขึ้นพร้อมกัน (แห่งอุปบัติ-

ภพและขันธ์)

ส่วนกาลของภวจักรนั้นมี ๓ คือ อดีต ปัจจุบันและอนาคต ในกาล

๓ นั้น ว่าโดยที่มาในบาลีโดยสรูป องค์ ๒ คืออวิชชาและสังขาร พึงทราบ

ว่าเป็นอดีตกาล องค์ ๘ มีวิญญาณเป็นต้นมีภพเป็นที่สุด พึงทราบว่า

เป็นปัจจุบันกาล องค์ ๒ คือชาติและชรามรณะ พึงทราบว่าเป็นอนา-

คตกาล

[สนธิ ๓ สังคหะ ๔ อาการ ๒๐ วัฏฏะ ๓ แห่งภวจักร]

พึงทราบแม้ดังนี้อีกว่า

* มหาฎีกาขยายความว่า ความหมุนไปแห่งธรรมตามลำดับเช่นว่า วิญญาณมีเพราะ

สังขารเป็นปัจจัย นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย. . . สาธกให้เห็นเช่นในบทนามรูปมี

เพราะวิญญาณนี่กล่าวกลลรูปอันมีอายตนะยังไม่ครบแล้ว ต่อนั้น จึงกล่าวความเป็นไป

ครบแห่งอายตนะว่า สฬายตนะมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ค่อยมีโดยลำดับดังความเป้น

ไปแห่งครรภไสยกสัตว์ดังนี้ ส่วนภวจักรหลังเช่นบทว่า ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

ก็ดี ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัยก็ดี นี่แสดงความเกิดขึ้นพร้อมกันแห่งอุปบัติภพและ

ขันธ์ ดังอาการเกิดแห่งโอปปาติกสัตว์ หาได้กล่าวความเกิดขึ้นแห่งอายตนะโดยลำดับ ดังในภว-

จักรแรกไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 386

[คาถาสังเขป]

ภวจักรนั่นมีสนธิ (เงื่อนต่อ) ๓ มีคำว่าเหตุผลและ

ผลเหตุเป็นบทหน้า และมีสังคหะ (คือสังเขป)

๔ ประเภท มีซี่กำคืออาการ ๒๐ มีวัฏฏะ (วงกลม)

๓ ย่อมหมุนไปไม่หยุด (จนกว่าจะถึงอรหัตมรรค)

[ขยายความ]

[สนธิ ๓]

ในสนธิ ๓ นั้น เงื่อนอันหนึ่งในระหว่างสังขารกับปฏิสนธิ-

วิญญาณ ชื่อว่า เหตุผลสนธิ (ต่อเหตุกับผล) เงื่อนอันหนึ่งในระหว่าง

เวทนากับตัณหา ชื่อว่า ผลเหตุสนธิ (ต่อผลกับเหตุ) เงื่อนอันหนึ่ง

ในระหว่างภพกับชาติ ชื่อว่า เหตุผลสนธิ (ต่อเหตุกับผล) ภวจักรนี้

บัณฑิตพึงทราบว่า มีสนธิ ๓ มีคำว่าเหตุผลและผลเหตุเป็นบทหน้า

อย่างนี้แล

[สังคหะ ๔]

ส่วนสังคหะแห่งภวจักรนั้น กำหนดด้วยองค์ต้นกับปลายแห่ง

สนธิทั้งหลายเป็น ๔ คืออย่างไรบ้าง คืออวิชชาและสังขารเป็น

สังคหะอัน ๑ วิญญาณนามรูปสฬายตนะผัสสะเวทนา เป็นสังคหะ

ที่ ๒ ตัณหา อุปาทาน ภพ เป็นสังคหะที่ ๓ ชาติชรามรณะเป็นสังคหะ

ที่ ๔ ภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบว่ามีสังคหะ ๔ ประเภท ดังนี้แล

[อาการ ๒๐]

อนึ่ง ภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบว่า มีอาการ ๒๐ โดยซึ่งกำกล่าวคือ

อาการ ๒๐ นั่นคือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 387

[คาถาสังเขปอาการ ๒๐]

เหตุในกาลล่วงแล้ว ๕ ผลในกาลบัดนี้ ๕ เหตุใน

กาลบัดนี้ ๕ ผลในกาลต่อไป ๕๑

[ขยายความ]

[อดีตเหตุ ๕]

ในสี่ข้อนั้น ข้อว่า 'เหตุในกาลล่วงแล้ว ๕' ขยายความว่า

ชั้นแรก (อดีตเหตุนั้น) ก็กล่าวเอาธรรม ๒ ประการคืออวิชชากับ

สังขารนี้เท่านั้น แต่เพราะคนไม่รู้ย่อมทะเยอทะยาน คนทะเยอทะยาน

ย่อมถือมั่น เพราะความถือมั่นของเขาเป็นปัจจัย ภพก็มีขึ้น เพราะ

ฉะนั้น แม้ตัณหาอุปาทานและภพ ก็จึงถูกรวมเข้าด้วย เหตุนั้นพระ-

ธรรมเสนาบดีสารีบุตร จึงกล่าวไว้ว่า "ความหลงในบุริมกรรมภพเป็น

อวิชชา เจตนาอันประมวลไว้ในบุริมกรรมภพ๒ เป็นสังขาร ความใคร่

ในบุริมกรรมภพเป็นตัณหา ความข้องแวะในบุริมกรรมภพเป็นอุปาทาน

เจตนาในบุริมกรรมภพเป็นภพ ธรรม ๕ ประการดังกล่าวนี้ ใน

บุริมกรรมภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในภพนั้น๓"

อรรถ (แห่งบาลีนั้น) พึงทราบดังนี้ว่า ในบทเหล่านั้น บทว่า

'ในบุริมกรรมภพ' คือในกรรมภพที่มีมาก่อน หมายความว่า ใน

๑. อภิธมฺมตฺถสงฺคห ๕๑

๒. อายุหนา หรืออายูหนํ ท่านแปลกันหลายนัย แต่ที่นี้มหาฎีกาแก้ไว้ว่า สมฺปิณฺฑนกา

จึงแปลตามท่านว่า ประมวลไว้ ถ้าแปลอีกนัยหนึ่งว่า ตระเตรียมไว้ ตกแต่งไว้

(อภิสงฺขรณ) ก็จะเข้ากับสังขารได้สนิท

๓. ขุ. ป. ๓๑/๗๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 388

กรรมภพที่ได้ทำมาในชาติที่ล่วงแล้ว

คำว่า 'ความหลงเป็นอวิชชา' ความว่า ความหลงในธรรมเป็น

ที่ตั้งแห่งความหลงทั้งหลายมีทุกข์เป็นต้นในกาลนั้นอันใด บุคคลผู้หลง

แล้วทำกรรมด้วยความหลงอันใด ความหลงนั้น๑เป็นอวิชชา

คำว่า 'เจตนาอันประมวลไว้เป็นสังขาร' ได้แก่เจตนาดวงแรก ๆ

ของบุคคลผู้ทำกรรมนั้น ดังเช่นเจตนาดวงแรก ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ทายกผู้

ยังจิตให้เกิดขึ้นว่าเราจักให้ทานแล้วตระเตรียมเครื่องอุปกรณ์ในการทาน

ทั้งหลายอยู่เดือนหนึ่งก็ดี ปีหนึ่งก็ดี ส่วนเจตนาของทายกนั้นผู้วาง

ทักษิณาลงในมือของปฏิคาหกทั้งหลาย เรียกว่าภพ นัยหนึ่งเจตนา

ในชวนะ ๖ ที่เป็นจิตมีอาวัชนะเดียว ชื่อว่าเจตนาอันประมวลไว้ นับ

เป็นสังขาร เจตนาในชวนะที่ ๗๒ เป็นภพ หรือมิฉะนั้น เจตนา

ทุกดวงเป็นภพ ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุต (กับเจตนาเหล่านั้น) ชื่อว่า

เจตนาอันประมวลไว้ เป็นสังขาร

คำว่า 'ความใคร่เป็นตัณหา' ความว่า เมื่อบุคคลทำกรรมอยู่

ความใคร่คือความปรารถนาในอุปบัติภพ อันเป็นผลของกรรมนั้นอันใด

ความใคร่อันนั้นชื่อว่าตัณหา

๑. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สา เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน เพราะรับกับ ย. ข้างหน้าซึ่งโยค โมโห

เป็นปํ. จึงแก้เป็น โส วิกติกัตตาต่างลิงค์กับปกติกัตตาก็ได้ เจตนา ภโว ข้างหลังก็เป็นพยานอยู่

ข้าหลังก็เป็นพยานอยู่

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สตฺตมา เจตนา ท่านผู้ชำระมหาฎีกาบอกเชิงอรรถไว้ว่า ฉบับ

พม่าเป็น สตฺตเม เจตนา เห็นว่าปาฐะฉบับพม่าเข้าทีกว่า เพราะเพ่ง ฉสุ ชวเนสุ

เจตนา ข้างหน้า ในที่นี้จึงแปลตามที่เห็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 389

คำว่า 'ความข้องแวะเป็นอุปาทาน' ความว่าการที่ทำกรรมอัน

เป็นปัจจัยแห่งกรรมภพนี้แล้ว ข้องแวะคือถือเอายึดเอา อันเป็นไป

โดยนัยว่า "เราจัก (ไปเกิด) เสพกามทั้งหลายในที่ชื่อโน้น (หรือว่า)

เราจักขาดสูญ (คือไม่เกิด)" ดังนี้เป็นต้นอันใด ความข้องแวะอันนี้

ชื่อว่าอุปาทาน

คำว่า 'เจตนาเป็นภพ' คือเจตนาที่กล่าวแล้วในที่สุดแห่งเจตนา

อันประมวลไว้ เป็นภพ๑

[ปัจจุบันผล ๕]

ข้อว่า 'ผลในกาลบัดนี้ ๕' ได้แก่องค์มีวิญญาณเป็นต้นมีเวทนา

เป็นที่สุดอันมาในบาลีนั่นเอง ดังบาลีว่า "ปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้

เป็นวิญญาณ ความก้าวลง (ในครรภ์) ในปัจจุบันภพนี้เป็นนามรูป

ประสาทในปัจจุบันภพนี้เป็นอายตนะ ภาวะที่กระทบ (อารมณ์) ใน

ปัจจุบันภพนี้เป็นผัสสะ ความเสวย (วิบาก) ในปัจจุบันภพนี้เป็นเวทนา

ธรรม ๕ ประการดังกล่าวนี้ มีในอุปบัติภพนี้ เพราะกรรมที่ทำไว้ใน

ภพก่อนเป็นปัจจัย"๒

อรรถ (แห่งบาลีนั้น) พึงทราบดังนี้ว่า ในคำเหล่านั้น คำว่า

'ปฏิสนธิเป็นวิญญาณ' หมายความว่า สิ่งใดท่านเรียกว่าปฏิสนธิ เพราะ

เกิดขึ้นด้วยอำนาจการเชื่อมต่อภพอื่น (กับปัจจุบันภพนี้) สิ่งนั้นเป็น

วิญญาณ

๑. เครื่องหมายหัวตาปูตรงนี้ควรถอนออก เพราะอิติศัพท์ที่ภโวติ เป็นสรูปใน เอวํ

น่าจะถูกต้องกว่า

๒. ขุ. ป. ๓๑/๗๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 390

คำว่า 'ความก้าวลงเป็นนามรูป' ความว่าความก้าวลงแห่ง

รูปธรรมและอรูปธรรมในครรภ์ ราวกะว่ามา (แต่ที่อื่น) แล้วเข้าไป

(ในครรภ์) อันใด อันนี้เป็นนามรูป

คำว่า 'ประสาทเป็นอายตนะ' นี่ท่านกล่าวด้วยอำนาจอายตนะ ๕

มีจักขายตนะเป็นต้น

คำว่า 'ภาวะที่กระทบเป็นผัสสะ' ความว่า ภาวะในกระทบคือถูก

ต้องอารมณ์เกิดขึ้น ภาวะนี้เป็นผัสสะ

คำว่า 'ความเสวยเป็นเวทนา' ความว่า ความเสวยวิบากอันเกิด

ขึ้นร่วมกับปฏิสนธิวิญญาณก็ดี กับผัสสะที่มีสฬายตนะเป็นปัจจัยก็ดี

ความเสวยวิบากนั้นเป็นเวทนา

[ปัจจุบันเหตุ ๕]

ข้อว่า 'เหตุในกาลบัดนี้ ๕' ได้แก่ปัจจยธรรมมีตัณหาเป็นต้น

ที่มาในบาลีก็ตัณหาอุปาทานและภพ แต่เมื่อภพถูกถือเอาแล้ว สังขาร

อันเป็นบุพภาคของภพนั้น หรือว่าที่สัมปยุตกับภพนั้น ก็เป็นอันถือ

เอาด้วย และด้วยการถือเอาตัณหาอุปาทาน อวิชชาอันสัมปยุตกับ

ตัณหาอุปาทานนั้น หรือว่าที่เป็นเหตุทำกรรมแห่งคนหลง ก็เป็นอัน

ถือเอาด้วย ดังนี้แหละปัจจุบันเหตุจึงเป็น ๕ เหตุนั้น พระสารีบุตร

จึงกล่าวว่า "เพราะความที่อายตนะทั้งหลายงอมแล้วในภพนี้ ความ

หลงเป็นอวิชชา เจตนาอันพยายามเป็นสังขาร ความใคร่เป็นตัณหา

ความข้องแวะเป็นอุปาทาน เจตนาเป็นภพ ธรรม ๕ ประการดังกล่าว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 391

นี้ในกรรมภพนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในภพต่อไป"๑

ในคำเหล่านั้น คำว่า 'เพราะความที่อายตนะทั้งหลายงอมแล้ว

ในภพนี้' ท่านแสดงความลุ่มหลงในเวลาทำกรรมแห่งบุคคลผู้มีอายตนะ

งอมแล้ว๒ คำที่เหลือมีเนื้อความตื้นอยู่แล้ว

[อนาคตผล ๕]

ข้อว่า 'ผลในกาลต่อไป ๕' ได้แก่องค์ ๕ มีวิญญาณเป็นต้น

ธรรม ๕ นั้น ท่านกล่าวโดยถือเอาว่าเป็นชาติ ส่วนชรามรณะ ก็คือ

ชรามรณะแห่งธรรมเหล่านั้นนั่นเอง เหตุนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า

"ปฏิสนธิในภพต่อไปเป็นวิญญาณ ความก้าวลง (ในครรภ์) ในภพ

ต่อไปเป็นนามรูป ประสาทในภพต่อไปเป็นอายตนะ ภาวะที่กระทบ

(อารมณ์) ในภพต่อไปเป็นผัสสะ ความเสวย (ผล) ในภพต่อไปเป็น

เวทนา ธรรม ๕ ประการดังกล่าวนี้มีในอุปบัติภพต่อไป เพราะกรรม

ที่ทำในภพนี้เป็นปัจจัย"๓

ภวจักรนี้มีซี่กำคืออาการ ๒๐ ดังกล่าวมาฉะนี้

[วัฏฏะ (วงกลม) ๓]

ส่วนในข้องว่า 'ภวจักรมีวัฏฏะ ๓ หมุนไปไม่หยุด' นี้มีอรรถา-

ธิบายว่า ภวจักรนี้มีวัฏฏะ ๓ โดยวัฏฏะ ๓ นี้ คือ สังขารและภพ เป็น

๑. ขุ. ป. ๓๑/๗๖

๒. มหาฎีกาว่า ความเป็นไปแห่งจิตของเด็กหนุ่มมักตกภวังค์เสียมาก ไม่สามารถจะ

ประมวลชนกรรม. . . เห็นจะหมายความว่าเด็กหนุ่มนั้นทำอะไรก็ทำเผิน ๆ ทำแล้วก็

แล้วกัน ส่วนคนที่มีอายตนะงอมแล้ว คือแก่แล้ว ทำอะไรด้วยความขมักเขม้นหวังผล

ทำแล้ว ก็ยังพระวงจะทำอีก จะปรับปรุง หมกมุ่นอยู่นั่น. . . เช่นนั้นกระมัง

๓. ขุ. ป. ๓๑/๗๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 392

กรรมวัฏ อวิชชาตัณหาอุปาทานเป็นกิเลสวัฏ วิญญาณนามรูป

สฬายตนะผัสสะเวทนาเป็นวิปากวัฏ พึงทราบเถิดว่ากิเลสวัฏยังไม่ขาด

ลงตราบใด ก็ชื่อว่าหมุน เพราะเป็นไปรอบแล้วรอบเล่า ชื่อว่าไม่

หยุด เพราะมีปัจจัยยังไม่ขาดลงตราบนั้นอยู่นั่นเอง

[ความรู้เบ็ดเตล็ดในภวจักร]

ภวจักรนั้นอันหมุนอยู่อย่างนี้นี่

[คาถาสังเขปหัวข้อเบ็ดเตล็ด]

บัณฑิตพึงทราบโดยว่า (องค์ไหน) เกิดแต่สัจจะ

(ไหนและองค์ไหนเป็นสัจจะอะไร) ๑ โดยกิจ ๑

โดยเป็นเครื่องกั้น ๑ โดยอุปมาทั้งหลาย ๑ โดย

ต่างความลึก ๑ โดยต่างนัย ๑ (อีก) ตามควร

[ขยายความ]

[โดยว่าองค์ไหนเกิดแต่สัจจะไหน]

ในข้อเหล่านั้น เพราะเหตุที่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ท่าน

กล่าวไว้ในสัจวิภังค์ว่าเป็นสมุทัยสัจ โดยไม่แปลกัน ในธรรมทั้ง

หลาย ในบทว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น สังขารอันมีเพราะ

อวิชชา จึงเป็นทุติยสัจเกิดแต่ทุติยสัจ (ด้วยกัน) วิญญาณอันมีเพราะ

สังขารเป็นปฐมสัจเกิดแต่ทุติยสัจ องค์มีนามรูปเป็นต้น มีวิบากเวทนา

เป็นที่สุด อันมีเพราะวิญญาณเป็นต้น เป็นปฐมสัจ เกิดแต่ปฐมสัจ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 393

(ด้วยกัน) ตัณหาอันมีเพราะเวทนา เป็นทุติยสัจ เกิดแต่ปฐมสัจ

อุปาทานอันมีเพราะตัณหา เป็นทุติยสัจ เกิดแต่ทุติยสัจ (ด้วยกัน)

ภพอันมีเพราะอุปาทาน เป็นปฐมสัจและทุติยสัจทั้งสอง* เกิดแต่ทุติยสัจ

ชาติอันมีเพราะภพเป็นปฐมสัจเกิดแต่ทุติยสัจ ชรามรณะอันมีเพราะ

ชาติ เป็นปฐมสัจ เกิดแต่ปฐมสัจ (ด้วยกัน)

ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบโดย (ว่าองค์ไหน) เกิดแต่สัจจะ

(ไหน) ตามควร โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[โดยกิจ]

อีกข้อหนึ่ง เหตุใด ในองค์เหล่านี้ อวิชชา ย่อมยังสัตว์ทั้งหลาย

ให้ลุ่มหลงในวัตถุ (คืออารมณ์ ?) ทั้งหลาย และเป็นปัจจัยเพื่อความ

ปรากฏขึ้นแห่งสังขารทั้งหลายด้วย นัยเดียวกันนั้น สังขารก็ปรุงแต่ง

สังขตธรรมและเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณด้วย ฝ่ายวิญญาณก็รับรู้วัตถุ

(คืออารมณ์) และเป็นปัจจัยแห่งนามรูปด้วย ข้างนามรูปก็ค้ำจุนกัน

และกัน และเป็นปัจจัยแห่งสฬายตนะด้วย สฬายตนะเล่าก็เป็นไปใน

วิสัยของตน ๆ (มีรูปเป็นต้น) และเป็นปัจจัยแห่งผัสสะด้วย ผัสสะ

เล่าก็สัมผัสอารมณ์และเป็นปัจจัยแห่งเวทนาด้วย เวทนาเล่าก็เสวยรส

อารมณ์และเป็นปัจจัยแห่งตัณหาด้วย ตัณหาเล่าก็กำหนัดยินดีในธรรม

เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี และเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานด้วย

อุปาทานเล่าก็ถือมั่นในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความถือมั่น และเป็นปัจจัย

* เพราะภพแยกเป็น ๒ คือกรรมภพ อุปบัติภพ กรรมภพเป็นสมุทัยสัจ อุปบัติ-

ภพ เป็นทุกขสัจ จึงว่าเป็นทั้งสอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 394

แห่งภพด้วย ภพเล่าก็พล่านไปในคติต่าง ๆ และเป็นปัจจัยแห่งชาติด้วย

ชาติเล่าก็ยังขันธ์ทั้งหลายให้เกิด และเพราะเป็นไปโดยเป็นอาการเกิด

ขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายนั้น จึงเป็นปัจจัยแห่งชรามรณะด้วย ชรามรณะ

เล่าก็ครอบเอาความงอมและความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายไว้ และเป็น

ปัจจัยเพื่อความปรากฏขึ้นในภพอื่น เพราะเป็นที่ตั้ง (คือเป็นเหตุ)

แห่งปกิณกทุกข์มีโสกเป็นต้น๑ เหตุนั้น ภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบแม้โดย

กิจคือความเป็นไปโดยหน้าที่ ๒ ๆ๒ ในบททั้งปวงตามควร

[โดยเป็นเครื่องกั้น]

อีกข้อหน้า เหตุใด ในบทเหล่านี้ บทว่า 'สังขารมีเพราะปัจจัย

คืออวิชชา' นี้เป็นเครื่องกั้น (คือปฏิเสธ) ความเห็นว่ามีผู้สร้าง บทว่า

'วิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขาร' เป็นเครื่องกั้นความเห็นว่า อัตตา

เคลื่อนที่ได้ บทว่า 'นามรูปมีเพราะวิญญาณ' เป็นเครื่องกั้นฆนสัญญา

(ความสำคัญว่าเป็นก้อน) เพราะแสดงความแตกได้แห่งวัตถุที่คนเขลา

กำหนดเอา (เอง) ว่าเป็นอัตตา บทว่า สฬายตนะมีเพราะปัจจัยคือ

นารูป' เป็นต้น เป็นเครื่องกั้นความเห็น (ผิดต่าง ๆ) มีเห็นว่าอัตตา

๑. ตรงนี้มหาฎีกาช่วยอธิบายว่า ว่า ชรามรณะเป็นปัจจัยเพื่อความเกิดในภพอื่นได้นั้น

ก็เพราะมีสหายคืออวิชชากันสังขาร อวิชชาตอนนี้เป็นผลเนื่องมาแต่ความหลงเศร้าโศก

เป็นต้น แล้วก็ก่อสังขารขึ้นเป็นสหายของชรามรณะ อีกนัยหนึ่ง จุติจิตย่อมเป็นอนันตร-

ปัจจัยแห่งปฏิสนธิวิญญาณ เพราะฉะนั้นจึงนับว่ามรณะเป็นปัจจัยเพื่อความเกิดในภพอื่น

ได้ อันจุติจิตนั้นเว้นอวิชชาและสังขารเสียแล้วหาเป็นปัจจัยแห่งภพอื่นได้ไม่

๒. เทฺวธา ตรงนี้มหาฎีกาให้แปลซ้ำเบน ๒ คำ เพราะเพ่งความเช่นนั้นหลายข้อ

ด้วยกัน ท่านเรียกว่า พฺยาปนิจฉาโลป (ลงคำที่ต้องการด้วยอำนาจความซึมทราบเสีย

คำหนึ่ง ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 395

เห็น ฯลฯ อัตตารู้สึก อัตตาสัมผัส อัตตาเสวย (เวทนา) อัตตาอยาก

อัตตาถือมั่น อัตตาเป็น อัตตาเกิด อัตตาแก่ อัตตาตาย' ดังนี้เป็นต้น

เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตพึงทราบแม้โดยเป็นเครื่องกั้นความเห็นผิด

ตามควร

[โดยอุปมา]

อีกข้อหนึ่ง เหตุใด ในองค์เหล่านี้ อวิชชาอุปมาเหมือนคนบอด

เพราะไม่เห็นธรรมทั้งหลายทั้งโดยลักษณะประจำตัว (ของธรรมนั้น ๆ)

ทั้งโดยสามัญลักษณะ สังขารอันมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา เหมือนการ

ก้าวพลาดของคนบอด วิญญาณอันมีเพราะปัจจัยคือสังขาร เหมือนการ

หกล้มของคนก้าวพลาด นามรูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ เหมือน

ความเกิดเป็นแผลฝีขึ้นแห่งคนหกล้ม สฬายตนะอันมีเพราะปัจจัยคือ

นามรูป เหมือนต่อม (หัวฝีอันเกิดขึ้นเพื่อให้) ฝีแตก ผัสสะอันมี

เพราะปัจจัยคือสฬายตนะ เหมือน (อะไร) กระทบต่อฝีเข้า เวทนา

อันมีเพราะปัจจัยคือผัสสะ เหมือนความทุกข์ (เจ็บปวด) เกิดแต่การ

กระทบ ตัณหาอันมีเพราะปัจจัยคือเวทนา เหมือนความปรารถนาจะแก้

ทุกข์ อุปาทานอันมีเพราะปัจจัยคือตัณหา เหมือนการคว้าเอายาแสลง

ด้วยมุ่งแต่จะแก้ (ทุกข์) ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน เหมือนการ

ทายาแสลงที่ตนยึดถือ ชาติอันมีเพราะปัจจัยคือภพ เหมือนเกิดเป็นฝี

กลาย เพราะทายาแสลงเข้า ชรามรณะอันมีเพราะชาติ เหมือนความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 396

แตกแห่งฝีเพราะฝีกลาย*

หรือนัยหนึ่ง เหตุใด ในองค์เหล่านี้ อวิชชาย่อมงำสัตว์ทั้งหลาย

ไว้ โดยทำให้ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติผิด เหมือนฝ้างำดวงตา (ทั้งสองข้าง)

ไว้ คนโง่ที่ถูกอวิชชานั้นงำไว้แล้ว ย่อมห่อตัวไว้ด้วยสังขารทั้งหลาย

อันนำไปสู่ภพใหม่ เหมือนตัวไหมห่อตัวไว้ด้วยส่วนหนึ่งแห่งฝักไหม

วิญญาณที่สังขารครอบครองแล้วย่อมได้ที่อาศัยในคติทั้งหลาย เหมือน

พระราชกุมารที่ปริณายกปกป้องแล้วย่อมได้ความสนับสนุนในราชสมบัติ

วิญญาณย่อมยังนามรูปมากประการให้เกิดในปฏิสนธิ เพราะตรึกไปใน

อารมณ์อันเป็นนิมิตแห่งอุปบัติ (มีกรรมนิมิตเป็นต้น) เหมือนนัก

เล่นกลทำกลให้เกิดได้หลายประการ สฬายตนะที่ตั้งมั่นอยู่ในนามรูป

แล้วย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ เหมือนพุ่มไม้ในป่าที่ตั้งมั่นอยู่ใน

พื้นดินดี ย่อมถึงความเติบโตงอกงามแผ่กว้าง ผัสสะย่อมเกิดเพราะ

ความกระทบกันแห่งอายตนะ เหมือนไฟเกิดเพราะการสีแห่งไม้สีไฟอัน

บน เวทนาย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ถูกผัสสะกระทบ เหมือนความร้อนเกิด

แก่คนที่ไฟถูกเอา ตัณหาย่อมเจริญมากแก่คนที่เสวยเวทนาอยู่ เหมือน

ความระหายเพิ่มมากขึ้นแก่คนที่ดื่มน้ำเกลือเข้าไป ผู้ทะเยอทะยาน

(ด้วยตัณหา) แล้วย่อมทำความปรารถนาในภพทั้งหลาย เหมือนคน

* ชรามรณะอุปมาเหมือนฝีแตกนี้ ฟังดูชอบกล เพราะธรรมดาคนเป็นฝี เมื่อฝีแตก

แล้วก็ย่อมสบายหายเจ็บปวด ! แต่ดูเหมือนท่านไม่ได้หมายความอย่างเราคิด เพราะฝี

เป็นอุปมาของนามรูป นามรูปในภพหนึ่งย่อมสิ้นสุดที่มรณะ เหมือนฝีก็สิ้นสุดลงที่

แตก ฉะนั้น หาได้หมายถึงเจ็บปวดอะไรไม่

อุปมาท่อนแรกนี้เป็นอุปมาเรื่องเดียวตลอดสาย คือเรื่องคนตาบอดหกล้มแล้ว

เป็นฝี มหาฎีกาเรียกว่า เอกาธิฏฐานุปมา ส่วนอุปมาท่อนหลังต่อไปนั้น เป็นอุปมา

หลายเรื่อง คือข้อละเรื่อง ๆ เรียกว่า นานาธิฏฐานุปมา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 397

ระหายปรารถนาในน้ำดื่ม การทำความปรารถนานั้นนับเป็นอุปาทาน

ของเขา เขาย่อมยึดเอาภพไว้มั่นด้วยอุปาทาน เหมือนปลายึดเอาเบ็ด

ไว้มั่นด้วยความโลภในเหยื่อ เมื่อภพมีอยู่ชาติก็ย่อมมี เหมือนเมื่อพืชมี

อยู่หน่อก็ย่อมมี ชรามรณะย่อมมีแก่ผู้เกิดมาแล้วแน่แท้ เหมือนความ

ล้มย่อมมีแก่ต้นไม้ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นแน่ เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิต

พึงทราบแม้โดยอุปมาทั้งหลายดังกล่าวมาฉะนี้ ตามควร

[โดยต่างความลึก]

อีกข้อหนึ่ง เหตุใด คำบาลีว่า "ดูกรอานนท์ ก็แลปฏิจสมุบาท

นี้เป็นธรรมลึกด้วย เค้า (ที่ปรากฏออกมา) ก็ลึกด้วย*" ดังนี้ พระผู้

มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความที่ปฏิจจสมุบาทนั้นเป็นธรรมลึกทั้งโดย

อรรถ (คือผล) ทั้งโดยธรรม (คือเหตุ) ทั้งโดยการแสดง ทั้งโดย

ปฏิเวธ เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตพึงทราบแม้โดยต่างความลึก

ตามควร

[ลึกโดยผล]

ในความลึกเหล่านั้น เหตุใด อรรถคือความที่ชรามรณะเกิดขึ้น

เป็นไปพร้อมเพราะปัจจัยคือชาติ ชื่อว่าเป็นธรรมลึก เพราะอรรถคือ

ความที่ชรามรณะเป็นไปพร้อม เพราะปัจจัยคือชาติอย่างนี้ว่า 'ชรามรณะ

ย่อมไม่มีแต่ชาติหามิได้ และเว้นชาติเสียมันจะมีแต่เหตุอื่นก็หามิได้

และมันย่อมเป็นไปพร้อมแต่ชาติด้วยประการอย่างนี้' ดังนี้เป็นธรรมที่รู้

ได้ยาก นัยเดียวกันนั้น อรรถคือความที่ชาติเกิดขึ้นเป็นไปพร้อมเพราะ

* มหาฎีกาอธิบายว่า ลางอย่างไม่ลึกเลย แต่ปรากฏเหมือนลึก เช่น แอ่งน้ำบนเขา

ซึ่งมีหญ้าและไม้ปกคลุมอยู่เต็ม (หรืออย่างบึงของเราที่มีหญ้าคลุมอยู่ก็ได้) แต่

ปฏิจสมุบาทธรรมนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ลึกทังโดยสภาวะ ทั้งโดยเค้าโดยโฉมที่ปรากฏออกมา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 398

ปัจจัยคือภพ ฯ ล ฯ อรรถคือความที่สังขารเกิดขึ้นเป็นไปพร้อมเพราะ

ปัจจัยคืออวิชชา (ล้วน) เป็นธรรมลึก. . . เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่า

ลึกโดยอรรถแล นี่เป็นความลึกโดยอรรถ (คือผล) ในภวจักรนี้เป็น

อันดับแรก แท้จริง ผลที่เกิดแต่เหตุ ท่านเรียกว่าอรรถ ดังบาลีว่า

"ความรู้ในผลอันเกิดแต่เหตุ ชื่อว่า อรรถปฏิสัมภิทา*"

[ลึกโดยเหตุ]

ประการหนึ่ง เหตุใด อรรถคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่ง

สังขารทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นธรรมลึก เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขาร

นั้น ๆ โดยอาการใดและโดยสถานะใด อาการนั้นและสถานะนั้นเป็น

กรณีที่รู้ได้ยาก นัยเดียวกันนั้น อรรถคือความที่สังขารเป็นปัจจัยแห่ง

วิญญาณ ฯ ล ฯ อรรถคือความที่ชาติเป็นปัจจัยแห่งชรามรณะ (ล้วน) เป็น

ธรรมลึก. . .เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยธรรมแล นี่เป็นความ

ลึกโดยธรรม (คือเหตุ) ในภวจักรนี้ แท้จริงคำว่า 'ธ___________รรม' เป็น

ชื่อแห่งเหตุ ดังบาลีว่า "ความรู้ในเหตุ ชื่อว่า ธรรมปฏิสัมภิทา"*

[ลึกโดยการแสดง]

ประการหนึ่ง เหตุใด แม้การแสดงปฏิจสมุบาทนั้นก็ลึก เพราะ

เป็นการแสดงที่พึงให้ดำเนินไปโดยเหตุนั้น ๆ โดยประการนั้น ๆ ญาณ

อื่นแต่พระสัพพัญญุตญาณย่อมไม่ได้ที่ตั้งในปฏิจสมุบาทนั้น จริงอย่าง

นั้น ภวจักรนั่น ในลางสูตรทรงแสดงโดยอนุโลม ลางสูตรทรงแสดง

* อภิ. วิ. ๓๕/๓๙๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 399

โดยปฏิโลม ลางสูตรทรงแสดงทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม ลางสูตรทรง

แสดงตั้งต้นแต่ตอนกลางไปโดยอนุโลมบ้างโดยปฏิโลมบ้าง ลางสูตรทรง

แสดงทั้ง ๓ สนธิ ๔ สังเขป ลางสูตรทรงแสดง ๒ สนธิ ๓ สังเขป

ลางสูตรทรงแสดงแต่สนธิเดียว ๒ สังเขป เหตุนั้น ภวจักรนี้ จึงชื่อว่า

ลึกโดยการแสดงและ นี่เป็นความลึกโดยการแสดง

[ลึกโดยปฏิเวธ]

ประการหนึ่ง เหตุใด ในปฏิจสมุบาทธรรมนี้ สภาวะแห่ง

ธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั้นใด อนึ่ง เพราะสภาวะใดที่พระโยคาวจร

แทงตลอดแล้ว ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ก็เป็นอันได้แทนตลอด

โดยลักษณะประจำตัว (ของธรรมนั้น ๆ ) อย่างถูกต้องด้วย สภาวะ

นั้นจัดว่าลึกเพราะหยั่งได้ยาก เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยปฏิเวธ

นัยเดียวกันนั้นแล เหตุใด ในปฏิจสมุบาทธรรมนี้ อรรถคือ

ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่แทงตลอดด้วยดีซึ่งสัจจะ แห่งอวิชชา

ก็ลึก อรรถคือความปรุงแต่ง ความพอกพูนขึ้น ความเป็นไปกับราคะ

ความแย้งต่อราคะ แห่งสังขารทั้งหลาย* ก็ลึก อรรถคือความว่างเปล่า

* สราคะวิราคะ มหาฎีกาอธิบายว่า ส่วนหนึ่งแห่งอบุญญาภิสังขารเป็นสราคะ

อภิสังขารอื่น เป็นวิราคะ นัยหนึ่ง อบุญญาภิสังขาร อันเพิ่มพูนราคะเป็นสราคะทั้งหมด

เพราะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อราคะ อภิสังขารนอกนี้เป็นวิราคะ เพราะเป็นปฏิปักษ์คือแย้งต่อ

ราคะ

อธิบายอย่างนี้เข้าใจยาก ถ้าอธิบายว่า บุญญาภิสังขารและอบุญญาภิสังขารเป็น

สราคะเพราะเป็นกามาวจร อเนญชาภิสังขาร เป็นวิราคะ เพราะเป็นรูปาวจรอรุปาวจร

ไม่เกี่ยวกับกาม จะเข้าใจง่ายกว่ากระมัง ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 400

ความไม่ขวนขวาย (คือไม่มีความคิด) ความไม่เคลื่อนที่ไป (แต่)

ปรากฏโดยปฏิสนธิได้ แห่งวิญญาณ ก็ลึก อรรถคือความเกิดขึ้นพร้อม

กัน ความแยกกัน ความแยกกันไม่ได้๑ ความน้อมไปได้ ความสลาย

ได้ แห่งนามรูป ก็ลึก อรรถคือความเป็นอธิบดี ความเป็นโลก

ความเป็นทวาร ความเป็นเขต ความเป็นวิสยี (คือเป็นอินทรีย์)

แห่งสฬายตนะ ก็ลึก อรรถคือความต้องกันเข้า ความเบียดกันเข้า

ความถึงกันเข้า ความประชุมกันเข้า แห่งผัสสะ ก็ลึก อรรถคือ

ความเสวยรสอารมณ์ ความเป็นสุขเป็นทุกข์และกลาง ๆ ความเสวย

อย่างนิชีวะ (คือไม่มีอัตตาผู้เสวย) แห่งเวทนา ก็ลึก อรรถคือความ

เพลิดเพลิน๒ ความจอดใจ ความปรารถนา (ที่ไหลรุด) ดุจลำธาร

(แผ่คลุม) ดุจเครือเถา (แผ่กว้าง) ดุจแม้น้ำ และไม่รู้จักเต็มดุจทะเล

แห่งตัณหา ก็ลึก อรรถคือความยึด ความถือความประมวลไว้ ความ

ความก้าวล่วงยาก แห่งอุปาทาน ก็ลึก อรรถคือความประมวลไว้ ความ

ปรุงแต่งไว้ และความซัดไปในกำเนิดในคติใน (วิญญาณ) ฐิติ และใน

(สัตว) นิวาส๓ แห่งภพ ก็ลึก อรรถคือความเกิด ความได้กำเนิด

ความหยั่งลง (ในครรภ์) ความผลิตขึ้น ความปรากฏขึ้นแห่งชาติ ก็ลึก

อรรคถือความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกไป ความแปรไป แห่ง

ชรามรณะ ก็ลึก เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยปฏิเวธแล

๑. มหาฎีกาว่า ในปฏิสนธิขณะ นามรูปเกิดพร้อมกัน นามกับรูปแยกกันได้ นาม

กับนาม รูปกับรูป แยกกันไม่ได้ ฯ ล ฯ

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้ว่าอภินนฺทิ. . . แต่ในมหาฎีกาเป็นอภินนฺทิต. . .

๓. ปาฐะพิมพ์แยกไว้เป็น. . . นิวาเสสุ ขิปนฏโฐ แต่มหาฎีกาว่าเป็นอลุตตสมาส

เป็น ๓ บทเข้าสมาสกัน คือ อายุหน อภิสงฺขรณ โยนิ. . .นิวาเสสุขิปน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 401

นี่เป็นความลึกโดยปฏิเวธในปฏิจสมุบาทธรรมนี้

[โดยต่างนัย]

ประการหนึ่ง เหตุใดในปฏิจสมุบาทธรรมนี้ มีนัยแห่งอรรถอยู่

๔ คือ เอกัตตนัย (นัยแห่งอรรถเป็นอันเดียว) นานัตตนัย (นัย

แห่งอรรถต่าง ๆ กัน) อัพยาปารนัย (นัยแห่งอรรถว่าไม่มีความแขวน

ขวาย) เอวํธัมมตานัย (นัยแห่งอรรถว่าเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)

เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตจึงควรทราบแม้โดยความต่างนัยอีกตามควร

[เอกัตตนัย]

ใน ๔ นัยนั้น ความไม่ขาดสายแห่งความสืบต่อดังนี้คือ สังขารมี

เพราะปัจจัยคืออวิชชา วิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขารเป็นต้น ดุจความ

ที่พืชถึงความเป็นต้นไม่เพราะความมีขึ้นแห่งอวัยวะขงอต้นไม้มีหน่อเป็น

ต้น (สืบต่อกันมา) ฉะนั้น ชื่อว่าเอกัตตนัย ซึ่งเป็นนัยที่เมื่อพระโยคาวจร

เห็นโดยถูกต้อง ย่อมาละอุจเฉททิฏฐิได้ เพราะหยั่งรู้ความไม่ขาดสาย

แห่งความสืบต่ออันเป็นไปอยู่โดยความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผล เมื่อ

เห็นผิดไป ย่อมจะยึดมั่นสัสสตทิฏฐิ เพราะถือเอาความไม่ขาดสายแห่ง

ความสืบต่ออันเป็นไปอยู่โดยความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผลว่าเป็นอัน

เดียวไปเสีย*

* ฟังยากอยู่หน่อย อ่านมหาฎีกาแล้วพอได้ความว่า เหตุกับผลนั้นต่างกันไม่ใช่อัน

เดียวกัน แต่ว่าเนื่องกันอยู่เป็นธรรมดา พวกสัสสตทิฏฐิ ไม่แยกเหตุและผล ถือเป็น

เอกัตตะ (หรือที่มักเรียกกันว่าเอกภาพ) โดยใจความก็คือ ถือว่ามีอัตตาเที่ยงแท้

หรือว่าวิญญาณไม่สูญย่อมเวียนเกิดต่อไป ไม่เกี่ยวด้วยเหตุผล

ส่วนเอกัตตนัยที่ชอบนั้นหมายความว่า เป็นอันเดียวกันโดยนับเนื่องด้วยสันตติอัน

เดียวกันมาไม่ขาดสาย เหมือนต้นไม้ที่สืบมาแต่พืช จนเป็นต้นใหญ่ด้วยสันตติอันเดียวไม่

ขาดฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 402

[นานัตตนัย]

ส่วนการกำหนดลักษณะของใครของมัน แห่งธรรมทั้งหลายมี

อวิชชาเป็นต้น ชื่อว่านานัตตนัย ซึ่งเป็นนัยที่เมื่อเห็นโดยถูกต้องย่อม

ละสัสสตทิฏฐิได้ เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งสิ่งใหม่ ๆ๑ เมื่อเห็นผิดไป

ย่อมจะยึดมั่นอุจเฉททิฏฐิ เพราะถือเอาเหตุผลอันตกอยู่ในสันดานเดียว

กัน (คือมีสันตติเดียวกันดังกล่าวแล้ว) สันดานมาแตกลง (คือตาย ?)

นั่นเองว่าต่างกัน (คือเป็นคนละอัน ไม่สืบต่อกัน) ไปเสีย๒

[อัพยาปารนัย]

ความที่อวิชชาไม่มีความขวนขวาย (คือไม่มีความคิด) ว่า

"สังขารทั้งหลาย ข้าทำให้เกิดขึ้น" หรือว่า สังขารไม่มีความขวนขวาย

(คือไม่มีความคิด) ว่า "วิญญาณ ข้าทำให้เกิดขึ้น" ดังนี้เป็นอาทิ

ชื่อว่า อัพยาปารนัย ซึ่งเป็นนัยที่เมื่อเห็นโดยถูกต้อง ย่อมละอัตตทิฏฐิ

(ความเห็นว่ามีอัตตา) ได้ เพราะหยั่งรู้ความไม่มีผู้สร้าง เมื่อเห็นผิด

ไม่ย่อมจะยึดเอาอกิริยทิฏฐิ เพราะไม่ถือเอาความเป็นเหตุแห่งธรรม

ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ซึ่งแม้เมื่อความขวนขวายไม่มี ก็มีได้โดย

๑. ไม่พบคำอธิบายของท่าน จะอธิบายว่า "เมื่อมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นแปลก ๆ

กันอยู่เสมอ ก็แสดงว่ามันมีเหตุให้เกิดต่าง ๆ กัน จะว่าเป็นเอกัตตะ อย่างไรได้" เช่น

นี้กระมัง ?

๒. อธิบายตามนัยมหาฎีกาว่า พวกอุจเฉททิฏฐินั้นถือนานัตตะ คนหนึ่งตายแล้วก็

สูญไป คนหนึ่งเกิดขึ้นมาใหม่เป็นคนละคน ไม่มีอะไรสืบต่อกัน (แต่ไม่อธิบายว่าคนที่

เกิดมาใหม่นั้นมาจากไหน ?) ส่วนนานัตตนัยที่ชอบนั้น หมายความว่า ธรรมทั้งหลาย

มีอวิชชาเป็นต้น คือเหตุและผลนั้นมีลักษณะ คือสภาวะแตกต่างกัน (แต่มันสัมพันธ์กัน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 403

สภาวนิยม๑

[เอวํธัมมตานัย]

ส่วนนัยว่า 'ความเกิดขึ้นแห่งผลมีสังขารเป็นต้น ย่อมมีแต่เหตุ

มีอวิชชาเป็นต้นเท่านั้น ดุจความเกิดขึ้นแห่งนมส้มเป็นต้น ย่อมมีแต่

นมสดเป็นต้น ฉะนั้น มิใช่อื่น' (ดัง) นี้ ชื่อว่า เอวํธัมมตานัย ซึ่งเป็น

นัยที่เมื่อเห็นโดยถูต้องย่อมละอเหตุกทิฏฐิแล้วอกิริยทิฏฐิได้ เพราะ

หยั่งรู้ผลโดยสมควรแก่ปัจจัย เมื่อเห็นผิดไปย่อมจะยึดมั่นอเหตุกทิฏฐิ

และนิยติวาทะ๒ เพราะไม่ถือเอาความเป็นไปแห่งผลตามควรแก่ปัจจัย

แล้ว ยังถือว่าสิ่งอะไร ๆ มิได้เกิดแต่เหตุอะไร ๆ (ถือว่าสุดแต่โชค

เคราะห์ต่างหาก) แล

ภวจักรนี้

บัณฑิตพึงทราบ โดยว่า (องค์ไหน) เกิดแต่สัจจะ

(ไหน) ๑ โดยกิจ ๑ โดยเป็นเครื่องกั้น ๑ โดย

อุปมาทั้งหลาย ๑ โดยต่างความลึก ๑ โดยต่าง

นัย ๑ ตามควร

ด้วยประการฉะนี้

เพราะเหตุที่บุคคลผู้ยังมิได้ทำลายภวจักรอันหยั่งไม่ถึง เพราะเป็น

๑. พวกอกิริยทิฏฐิ (เห็นว่าไม่เป็นอันทำ) คือเห็นว่าเพราะผู้ทำไม่มี กิริยา คือการกระทำก็เป็น

อันไม่มี แล้วผลอะไรก็ไม่มีไปตามกัน

๒. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็นนิยตวาทะ แต่ในมหาฎีกาเป็น นิยติ. . .เห็นว่าปาฐะในมหาฎีกาดีกว่า เพราะ

เข้ากับความที่พรรณนาได้สนิท จึงใช้ตามท่าน เพราะนิยติ แปลว่า โชติ เคราะห์ ส่วนนิยตะ

แปลว่า เที่ยง แน่นอน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 404

ธรรมลึก อันต่อต้านยาก เพราะถือเอาได้โดยนัยต่าง ๆ นี้เสียด้วยดาบ

คือญาณอันดีลับดีที่หินอย่างประเสริฐคือสมาธิ แล้วแลล่วงสังสารภัยอัน

บีบคั้นอยู่เป็นนิตย์ ดุจอสนีวิจักร (คือสายฟ้า ?) ไปได้ ไม่สักคน

แม้ในฝัน จริงอยู่ ข้อนี้แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "ดูกร

อานนท์ ก็ปฏิจสมุบาทนี้เป็นธรรมลึกด้วย เค้า (ที่ปรากฏออกมา) ก็

ลึกด้วย ดูกรอานนท์ ก็เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ตามซึ่งธรรมนั่น หมู่

สัตว์นี้จึงเกิดเป็นผู้ (ยุ่งเหยิง) ดุจด้ายยุ่ง เกิดเป็นผู้ (ซับซ้อน) ดุจ

รังนกคุณิ๑ เกิดเป็นผู้ (สับสน) ดุจหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง

ไม่ล่วงอบาย ทุคติ วินิบาต สงสารไปได้๒" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น

บัณฑิตผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่ตนก็ดี แก่ผู้อื่นก็ดี

พึงละกิจเศษ ๆ เสียแล้ว

จะได้ความหยั่งลงมั่นในประเภทแห่งปัจจยาการ

อันลึกนี้ ด้วยประการใด ก็พึงเป็นผู้มีสติ

ประกอบเนือง ๆ ด้วยประการนั้นเทอญ

บริเฉทที่ ๑๗ ชื่อปัญญาภูมินิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

๑. คุณิคณฺฐกชาติ ในมหาฎีกาเป็นกุลิกุณฑิก. . ท่านผู้ชำระบอกเชิงอรรถไว้ว่า ในบาลีและ

อรรถกถาทั้งหลายลิขิตปาฐะนี้ไว้ต่าง ๆ กัน ท่านชอบในปาฐะว่า 'กุลาคณฺฑิก.'

๒. ที. มหา. ๑๐/๖๕

๓. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น ยถาคาธํ คลาดเคลื่อน ที่ถูกแยกเบน ยถา ตาธํ มี เอวํ รับอยู่ข้างหลัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 1

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓

ตอนจบ

ทิฏฐิวิสุทธินิเทศ

บัดนี้ วิสุทธิทั้งหลายใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "วิสุทธิอันเป็นมูล

๒ คือ สีลวิสุทธิ ๑ จิตตวิสุทธิ ๑ อันพระโยคาวจรทำความพอกพูน

ความรู้โดยการเล่าเรียนและสอบถาม ในธรรมทั้งหลายที่เป็นภูมิ (แห่ง

วิปัสนามีขันธ์เป็นต้น) เหล่านี้แล้วพึงทำให้ถึงพร้อมเถิด " ดังนี้ ใน

วิสุทธิ ๒ นั้น ศีล ๔ อย่าง มีปาฏิโมกขสังสรศีลเป็นต้น ที่บริสุทธิ์ดี

ชื่อว่าสีลวิสุทธิ อันศีล ๔ อย่างนั้นข้าพเจ้าก็ได้ (กล่าว) ให้พิสดารใน

สีลนิเทศนั่นแล้ว สมาบัติ ๘ พร้อมทั้งอุปจาร ชื่อว่าจิตตวิสุทธิ แม้

สมาบัตินั้นเล่า ข้าพเจ้าก็ได้ (กล่าว) ให้พิสดารโดยอาการทั้งปวงใน

สมาธินิเทศที่กล่าวโดยหัวข้อคือจิตแล้วเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นวิสุทธิ

๒ นั้น บัณฑิตพึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้าได้ (กล่าว) ให้พิสดารแล้ว

ในนิเทศทั้งสองนั้นเถิด ส่วนคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "วิสุทธิ ๕ นี้

คือ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคญาณทัสนวิสุทธิ ปฏิปทา-

ญาณทัสนาวิสุทธิ ญาณทัสนวิสุทธิ เป็นสรีระ (คือเป็นตัวปัญญา)"

ดังนี้ ความเห็นนามและรูปโดยถ่องแท้ ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ ในคำนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 2

วิปัสนาวิธีแห่งสมภยานิกะ

พระโยคาวจรผู้ใคร่จะทำทิฏฐิวิสุทธินั้นให้ถึงพร้อม (ว่าด้วย) ผู้

ที่เป็นสมถยานิกะ๑ก่อน ออกจากรูปาวจรฌาน และอรูปวจรฌานที่เหลือ

อันใดอันหนึ่ง ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ๒ แล้วพึงกำหนดจับ

องค์ฌานทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับองค์ฌาน

นั้น โดยลักษณะและรสเป็นอาทิ ครั้นกำหนดจับได้แล้วพึงกำหนดลง

ว่าทั้งหมดนั่นเป็นนาม ด้วยอรรถว่าเป็นสิ่งที่น้อมไปได้ เพราะมันโน้ม

มุ่งหน้าไปสู่อารมณ์ ลำดับนั้น อุปมาดังบุรุษเห็นงูอยู่ในเรือนแล้ว

ติดตามมันไปก็จะพบที่อยู่ของมัน ฉันใดก็ดี แม้พระโยคาวจรนี้ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน เมื่อสำรวจนามนั้นหาดูไปว่านามนี้อาศัยอะไรเป็นไป ก็จะ

พบหทัยรูปอันเป็นที่อาศัยของนามนั้น ต่อนั้นจึงกำหนดจับรูป คือภูตรูป

ทั้งหลายอันเป็นที่อาศัยแห่งหทัยรูป และอุปทายรูปที่เหลือ อันอาศัย

ภูตรูปอยู่ (ครั้นกำหนดจับได้แล้ว) เธอจึงกำหนดลงว่าทั้งปวงนั่นเป็น

รูป เพราะเป็นสิ่งสลายได้ แต่นั้นจึงกำหนดลงว่าทั้งปวงนั่นเป็น

โดยสังเขปว่า สิ่งที่มีความน้อมไปได้เป็นลักษณะเป็นนาม สิ่งที่มีอัน

สลายได้เป็นลักษณะเป็นรูป

๑. สมถยานิกะ มหาฎีกาแปลว่า พระโยคาจรผู้มียานคือสมถะ และว่าคำนี้เป็นชื่อของพระโยคา-

วจรผู้ตั้งอยู่ในฌานหรืออุปจารแห่งฌานแล้วประกอบวิปัสนา

๒. มหาฎีกาว่า ที่ท่านให้เว้นนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะภวัคคธรรม (ธรรมแห่งภพชั้นสูง)

กำหนดได้ยาก สำหรับอาทิกัมมิกะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 3

[วิปัสนาวิธัแห่ววิปัสนายานิกะ]

[กำหนดนามรูปโดยจตุธาตุววัฏฐาน]

ส่วนพระโยคาวจรผู้ที่เป็นวิปัสนายานิกะล้วน๑ หรือผู้ที่เป็น

สมถยานิกะ (ตามที่กล่าวแล้ว) นี่เองก็ตาม กำหนดจับธาตุ ๔ อย่าง

สังเขปหรืออย่างพิสดาร โดยธาตุปริคหมุข (ทางกำหนดธาตุ) นั้น ๆ

ที่กล่าวแล้วในจตุธาตุววัฏฐานมุขใดมุขหนึ่ง๒ (ครั้นกำหนดจับได้แล้ว)

ลำดับนั้น ในธาตุทั้งหลายอันปรากฏชัดโดยรส (คือสภาวะที่พึงรู้แจ้ง)

และลักษณะของตนตามเป็นจริงแล้ว (จะว่า) ในผมซึ่งมีกรรมเป็น

สมุฏฐาน๓ก่อน รูป ๑๐ (ในผมนั้น) โดยบังคับแห่งกายทสกะ (กลุ่ม

รูป ๑๐ ทั้งกาย) ดังนี้คือ ธาตุ ๔ สี กลิ่น รส โอชา ชีวิต กายประสาท

รูป ๑๐ โดยบังคับแห่งภาวทสกะ (กลุ่มรูป ๑๐ ทั้งภาวะคือเพศ)

เพราะในผมที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานนั้นและมีภาวะด้วย๔ รูป ๒๔ แม้

อื่นอีกในกลุ่มรูปที่มีชื่อว่าผมนั้นเหมือนกัน คือ โอชัฏฐมกรูป (กลุ่ม

รูปมีโอชาเป็นที่ ๘) ที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน โอชัฏฐมกรูปมีฤดูเป็น

สมุฏฐาน โอชัฏฐมกรูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน (กลุ่มละ ๘ รวมเป็น ๒๔

กับข้างต้นอีก ๒๐ รวมเป็น ๔๔) ย่อมปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้นแล

๑. วิปัสนายานิกะ คือผู้ประกอบววิปัสนาโดยไม่อาศัยสมถะ ใช้วิปัสนาเป็นยานเลยทีเดียว ที่ว่า

วิปัสนายานิกะล้วน ก็หมายความว่าไม่เจือปนด้วยสมถภาวนานั่นเอง

๒. เช่นกำหนดโดยมุขสังเขปว่า สิ่งใดมีลักษณะแข้นแข็ง สิ่งนั้นเป็นปฐวีธาตุ เป็นต้น

๓. มหาฎีกาว่า ผมนั้นเกิดติดอยู่ในหนัง จึงนับเป็นกรรมสมุฏฐาน

๔. มหาฎีกาว่า ภาวะก็มีเอิบอาบอยู่ทั่วร่าง เช่นเดียวกับกายประสาทเหมือนกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 4

(ในผม มีรูป ๔๔ ฉันใด) ในโกฏฐาส ๒๔ ที่เป็นจตุสมุฏฐาน

(หักโกฏฐาสที่จะแยกกล่าวต่อไปเสีย ๘) ก็มีรูป (อย่างละ) ๔๔ ๆ

ฉันนั้น ส่วนในโกฏฐาสที่มีฤดูและจิต (๒ อย่าง) เป็นสมุฏฐาน ๔ นี้

คือ เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก มีรูป (อย่างละ) ๑๖ ๆ โดยบังคับ

แห่งโอชัฏฐมกรูป ๒ กลุ่ม ในโกฏฐาสที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน (อย่าง

เดียว) ๔ นี้ คืออาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำหนอง น้ำมูตร ก็มีรูป

(อย่างละ) ๘ ๆ โดยบังคับแห่งโอชัฏฐมกรูป อันมีฤดูเป็นสมุฏฐาน

อย่างเดียว ปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้นแล นี่เป็นนัยในอาการ ๓๒

เป็นดับแรก

อนึ่ง ครั้นอาการ ๓๒ นี้ ปรากฏชัดแล้ว อาการ ๑๐ อื่นอีก

(คือเตโชโกฏฐาส ๔ และวาโยโกฏฐาส ๖) เหล่าใด ย่อมปรากฏชัด

ในอาการเหล่านั้น ก่อนอื่นในเตโชโกฏฐาสอันเกิดแต่กรรมที่ยังอาหาร

ที่กินเข้าไปเป็นต้นให้ย่อย มีรูป ๙ คือ โอชัฏฐมกรูป (๘) และชีวิต-

รูป (๑) นัยเดียวกัน ในโกฏฐาสคือลมหายใจอันเกิดแต่จิตก็มีรูป ๙ คือ

โอชัฏฐมกรูป (๘) และสัททรูป (๑) ในโกฏฐาสที่เหลืออีก ๘ (คือ

เตโช ๓ วาโย ๕) อันเป็นจตุสมุฏฐานมีรูป ๓๓ ๆ คือ ชีวตินวกรูป

(๙) และโอชัฏฐมกรูป ๓ (=๒๔) ปรากฏ (แก่พระโยคาวจรนั้น)

ครั้นภูตรูปและอุปทาทายรูปเหล่านี้เกิดปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้น

โดยเป็นอาการ ๔๒ อย่างพิสดารดังนี้แล้ว แม้รูปอื่นอีก ๖๐ คือ รูป-

กลาป ๕ มีจักขุทสกะเป็นต้น และหทยวัตถุทสกะ โดยเป็นวัตถุและ

ทวาร ก็ย่อมปรากฏ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 5

พระโยคาวจรนั้น รวมรูปทั้งปวงนั้นเข้ากันโดยลักษณะ คือ

ความสลาย ก็เห็นว่า "นั่นเป็นรูป"

อรูปธรรมทั้งหลายก็ย่อมปรากฏ โดยเป็นทวาร แก่พระโยคาวจร

นั้นแหละผู้กำหนดจับรูปได้แล้ว อรูปธรรมนี้ได้อะไรบ้าง ได้แก่

โลกิยจิต ๘๑ คือทวิปัญจวิญญาณ (=๑๐) มโนธาตุ ๓ มโนวิญญาณ

ธาตุ ๖๘ อนึ่ง (ว่า) โดยไม่แปลกกัน (คือเป็นสาธารณะ) ได้แก่

เจตสิก ๗ นี้ คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ชีวิต จิตตฐิติ (ความ

หยุดแห่งจิต คือสมาธิอย่างอ่อน)* มนสิการ อันเกิดร่วมกับจิตเหล่านั้น

แล

ส่วนโลกุตรจิตทั้งหลายจะถึงซึ่งความกำหนดจับเอาได้ แก่พระ

โยคาวจรสุทธวิปัสสก (ผู้เจริญวิปัสนาล้วน) ก็หามิได้ แก่พระโยคาวจร

สมถยานิกะก็หามิได้ เพราะยังมิได้บรรลุ

พระโยคาวจรนั้น รวมอรูปธรรมทั้งปวงนั้นเข้ากันโดยลักษณะ

คือความน้อมไปได้ ก็เห็นว่า "นั่นเป็นนาม"

พระโยคาวจรผู้หนึ่ง กำหนดนามรูปอย่างพิสดารโดยมุขจตุธาตุ-

ววัฏฐาน ดังพรรณนามาฉะนี้

[กำหนดนามรูปทางธาตุ ๑๘]

พระโยคาวจรอีกผู้หนึ่งกำหนดนามรูปทางธาตุ ๑๘ กำหนดอย่าง

ไร คือ ภิกษุในพระศาสนานี้อาวัชนาการถึงธาตุทั้งหลายว่า "มีอยู่ใน

* มีอธิบายในวิสุทธิมรรคแปล ขันธนิเทศ ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า ๙๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 6

อัตภาพนี้ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ ฯลฯ มโนธาตุ

ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ" ดังนี้แล้ว ไม่ถือเอาก้อนเนื้อที่สายเอ็น

ยึดติดไว้ในเบ้าตา มีสัณฐานรี ๆ งดงาม (แปลก ๆ) ด้วยแววสีเทา

(ก็มี) และสีดำสนิท (ก็มี) ซึ่งชาวโลกรู้จักกันว่าจักษุ (ว่าเป็นจักขุ-

ธาตุ) (แต่) กำหนดเอาจักษุประสาท มีประการดังกล่าวไว้ในพวก

อุปาทายรูปในขันธนิเทศว่าเป็นจักขุธาตุ อนึ่ง รูปที่เหลือ ๕๓ เหล่าใด

มีอยู่ดังนี้ คือ สหชาตรูป (ของจักษุประสาท) ๙ ได้แก่ธาตุ ๔ อัน

เป็นที่อาศัยแห่งจักษุประสาทนั้น รูป ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชา อัน

เป็นรูปแวดล้อม ชีวิตนทรีย์อันเป็นรูป (เจ้าหน้าที่) อนุบาย กรรมช-

รูป ๒๐ โดยเป็นกายทสกรูป (๑๐) และภาวทสกรูป (๑๐) อันตั้ง

อยู่ในจักษุประสาทนั้นแหละ อนุปาทินนกรูป (คือกรรมชรูป) ๒๔

โดยเป็นโอชัฏฐมกรูป ๓ แห่งรูปที่เป็นอาหารสมุฏฐานเป็นต้น (๙+

๒๐+๒๔=๕๓) ก็ไม่กำหนดเอารูป ๕๓ นั้นว่าเป็นจักขุธาตุ แม้ใน

ธาตุทั้งหลายมีโสตธาตุเป็นต้นก็นัยนี้ แต่ในกายธาตุ รูปที่เหลือเป็น

๔๓๑ ฝ่ายอาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่ามี ๔๕ โดยทำรูปที่เป็นอุตุสมุฏฐาน

และจิตตสมุฏฐานเป็นกลุ่มละ ๙ กับสัททรูป ๒

พระโยคาวจรนั้นกำหนดว่า "รูป ๑๐ คือ ประสาท ๕ ดังกล่าว

มานี้ และวิสัยแห่งประสาทเหล่านั้น ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏ-

๑. ๒. มหาฎีกาว่า เพราะไม่ถือเอาเสียทสกะ ๑ จึงเหลือ ๔๓ รูปที่ไม่ถือเอานั้นดูเหมือนจะเป็น

สัททรูป ด้วยว่าสัททรูปเป็นอนิยตะ คือเป็นเสียงเกิดแต่ฤดู เช่นเสียงฟ้า เสียงลมพัด ฯลฯ

เรียกว่าสุทธสัททะ-เสียงแท้ก็มี เป็นเสียงเกิดแต่จิต คือเสียงที่คนพูด สัตว์ร้อง ทีเรียกว่าวจีวิญญัติ

ก็มี (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 7

ฐัพพะ เป็นธาตุ ๑๐ รูปที่เหลือ* นับเป็นธรรมธาตุอย่างเดียว ส่วน

ทวิปัญจวิญญาณโดยนัยว่า "จิตอาศัยจักษุปรารภรูปเป็นไป ชื่อว่าจักษุ

วิญญาณธาตุ" ดังนี้เป็นต้น เป็นวิญญาณธาตุ ๕ จิตมโนธาตุ ๓ ดวง

เป็นมโนธาตุ ๑ จิตมโนวิญญาณธาตุ ๖๘ ดวง เป็นมโนวิญญาณธาตุ ๑

(รวมเป็นธาตุ ๑๘ )"

กำหนดว่า "โลกิยจิตทั้งสิ้น ๘๑ ดวง วิญญาณธาตุ ๗ ธรรม

ทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นที่สัมปยุตกับวิญญาณธาตุนั้น ก็เป็นธรรมธาตุ"

ในธาตุ ๑๘ นี้ ธาตุ ๑๐ กึ่ง เป็นรูป ธาตุ ๗ กึ่ง เป็นนาม

ดังนี้แล

พระโยคาวจรผู้หนึ่ง กำหนดนามรูปทางธาตุ ๑๘ โดยนัยดังกล่าว

มาฉะนี้

[กำหนดนามรูปทางอายตนะ ๑๓]

พระโยคาวจรอีกผู้หนึ่ง กำหนดนามรูปทางอายตนะ ๑๒ กำหนด

อย่างไร กำหนดแต่จักษุประสาท เว้นรูป ๕๓ ตามนัยที่กล่าวใน (ตอน)

จักขุธาตุเสีย ว่าเป็นจักขายตนะ และกำหนดโสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหา-

ธาตุ กายธาตุ ตามนับที่กล่าวใน (ตอน) จักขุธาตุนั้นเหมือนกันว่า

เป็นโสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ กำหนดธรรม ๕

อันเป็นวิสัยแห่งอายตนะ ๕ นั้น ว่าเป็นรูปายตนะ สัททายตนะ

คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ กำหนดโลกิยจิต และ

* มหาฎีกาว่า หมายเอานิปผันรูป ๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 8

สัตตวิญญาณธาตุ ว่าเป็นมนายตนะ กำหนดธรรมทั้งหลายมีผัสสะ

เป็นต้นที่สัมปยุตกับวิญญาณธาตุนั้น และรูปที่เหลือ ว่าเป็นธรรมายตนะ

ในอายตนะ ๑๒ นี้ อายตนะ ๑๐ กึ่ง เป็นรูป อายตนะ ๑ กึ่ง

เป็นนาม ดังนี้แล

พระโยคาวจรผู้หนึ่ง กำหนดนามรูปทางอายตนะ ๑๒ โดยนัย

ดังกล่าวมาฉะนี้

[กำหนดนามรูปทางขันธ์ ๕]

พระโยคาวจรอีกผู้หนึ่ง กำหนดให้ย่อลงกว่านั้น ทางขันธ์ (๕)

กำหนดอย่างไร ภิกษุในพระศาสนานี้ กำหนดว่า "รูป ๑๗ ในสรีระ

นี้ คือ ธาตุ ๔ ทั้งสี่สมุฏฐาน สี กลิ่น รส โอชา ที่อาศัยธาตุ ๔

นั้นอยู่ ประสาม ๕ มีจักษุประสาทเป็นต้น วัตถุรูป ภาวะ ชีวิตนทรีย์

เสียงทั้งสองสมุฏฐาน เหล่านี้เป็นรูปสำเร็จแล้วเป็นรูปแท้ ควรแก่การ

ลูกคลำ (พิจารณา) ส่วนรูป ๑๐ คือ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ อากาสธาตุ

ความเบาแห่งรูป ความอ่อนแห่งรูป ความคล่องแคล่วแห่งรูป ความ

เติบขึ้นแห่งรูป ความสืบต่อแห่งรูป ความโทรมไปแห่งรูป ความไม่

เที่ยงแห่งรูป เหล่านี้มิใช่รูปสำเร็จมิใช่รูปแท้ เป็นแต่อาการแห่งรูป

วิการแห่งรูป และเครื่องกำหนดตัดระหว่างแห่งรูป* มิใช่รูปที่ควรแก่

การลูกคลำ (พิจารณา) ก็แต่ว่ามันก็ถึงซึ่งความนับว่ารูป โดย

เพียงเป็นอาการ เป็นวิการ เป็นเครื่องกำหนดตัดระหว่างแห่งรูปทั้ง

* อาการได้แก่วิญญัติ ๒ วิการได้แก่ลหุตาทิตรัย (รูป ๓ มีความเบาเป็นต้น ) และลักษณะ ๔

มีความเติบโตขึ้นเป็นต้น ส่วนเครื่องกำหนดตัดระหว่าง ได้แก่อากาสธาตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 9

หลาย รูปทั้งปวงนั่น (รวม) ๒๗ เป็นรูปขันธ์ เวทนาอันเกิดขึ้น

พร้อมกับโลกิยจิต ๘๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาอันสัมปยุตกับโลกิยจิต

นั้นเป็นสัญญาขันธ์ สังขารทั้งหลาย... เป็นสังขารขันธ์ วิญญาณ...เป็น

วิญญาณขันธ์" รูปขันธ์เป็นรูป อรูปขันธ์ ๔ เป็นนาม ดังนี้แล

พระโยคาวจรผู้หนึ่ง กำหนดนามรูปทางขันธ์ ๕ โดยนัยดังกล่าว

มาฉะนี้

[กำหนดนามรูปโดยสังเขป]

พระโยคาวจรอีกผู้หนึ่ง กำหนดเอารูปในอัตภาพนี้โดยย่นย่อ

ทีเดียวว่า "รูปทุกอย่าง รูปทั้งสิ้น คือมหาภูต ๔ และรูปอาศัยมหาภูต๔

ด้วย (เป็นรูป"๑ ดังนี้แล้ว กำหนดเอามนายตนะและส่วนหนึ่งแห่ง

ธรรมายตนะ ว่าเป็นนาม โดยย่นเช่นเดียวกันแล้ว กำหนดนามรูป

ลงโดยสังเขปว่า "นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วยดังกล่าวมา นี้เรียกว่านามรูป"

[การกำหนดรูปเป็นอุบายอุดหนุนการกำหนดนาม]

ก็ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้นกำหนดรูปโดยมุขนั้น ๆ แล้วกำหนด

อรูป (คือนาม) ไป อรูปยังไม่ปรากฏ เพราะเป็นธรรมละเอียดไซร้

เธอก็อย่าเพิ่งทอดธุระเสีย พึงลูกคลำทำในใจกำหนดแยกแยะดู๒ รูปนั่น

๑. อภิธมฺมตฺถสงฺคห ๓๗

๒. สมฺมสิตพฺพํ มนสิการตพฺพํ ปริคคเหตพฺพํ ววฏฺฐเปตพฺพํ เรามักแปลคลุมเหมือน ๆ กันว่า

กำหนด แต่ในที่นี้มหาฎีกาคิดแปลให้เห็นต่างกันได้ว่า สมฺมสิตพฺพํ คือสอบสวนดูโดยลักษณะ

เป็นต้นโดยถูกต้อง มนสิกาพพฺพํ คือตั้งจิตไว้อย่างนั้น ปริคฺคเหตพฺพํ คือกำหนดตัดด้วยปัญญาถือ

เอา ววฏฺฐเปตพฺพํ คือ ชี้ขาดได้เป็นอย่าง ๆ ไม่ปะปนคาบเกี่ยวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 10

แหละไว้ร่ำไปเถิด ด้วยว่ารูป (ปรากฏ) เป็นสิ่งที่สะอาดหมดจดดีไม่มี

อะไรคาบเกี่ยว โดยประการใด ๆ อรูปธรรมทั้งหลายอันมีรูปธรรมนั้น

เป็นอารมณ์ก็ย่อมปรากฏขึ้นเองโดยประการนั้น ๆ เหมือนอย่างว่า เมื่อ

บุรุษตาดีมองดูเงาหน้าในแว่นที่มัว เงาไม่ปรากฏ เขาหาคิดว่าเงาไม่

ปรากฏแล้วทิ้งแว่นเสียไม่ แต่ทว่าเขาขัดแว่นนั้นบ่อย ๆ เข้า ครั้นแว่น

ใสแล้ว เงาหน้าของเขาก็ปรากฏเองแหละฉันใด อนึ่ง เหมือนคนผู้

ต้องการน้ำมัน เทแป้งวา (คือวาป่น) ลงในรางแล้วพรมด้วยน้ำ (เย็น)

เมื่อน้ำมันยังไม่ออกด้วยเพียงแต่บีบทีหนึ่งสองที เขาก็ไม่ทิ้งแป้งงาเสีย

แต่เขาพรมมันด้วยน้ำร้อยแล้วขยำบีบไปแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อเขาทำไป

อย่างนั้น น้ำมันงาแม้อย่างใสก็ย่อมออก ฉันใด หรืออนึ่งเหมือนคน

ผู้ต้องการจะทำน้ำให้ใส ถือเม็ดตุมกา* หย่อนมือลงข้างในหม้อน้ำ

เมื่อน้ำยังไม่ได้ด้วยเพียงแต่ถูทีหนึ่งสองที เขาก็ไม่ทิ้งเม็ดตุมกาเสีย แต่

เขาถูมันเข้าร่ำไป เมื่อเขาทำอย่างนั้นไป ตมบาง ๆ (คือตะกอน) ย่อม

จะตก น้ำย่อมจะใสสะอาดฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่พึง

ทอดธุระเสีย ลูบคลำทำในใจกำหนดแยกแยะรูปนั่นแหละบ่อย ๆ เข้า

เถิด ด้วยว่ารูป (ปรากฏ) เป็นสิ่งที่สะอาดหมดจดดีไม่มีอะไรคาบเกี่ยว

โดยประการใด ๆ กิเลสทั้งหลายที่เป็นข้าศึกแก่ญาณกำหนดอรูปธรรม

นั้น ย่อมจะซบไป จิตย่อมจะใสเหมือนน้ำ (ใส) อยู่บนตม อรูปธรรม

ทั้งหลายอันมีรูปธรรมนั้นเป็นอารมณ์ ก็ย่อมจะปรากฏเองโดยประการ

* กตกฏฺฐิ ยังไม่ได้สอบว่าเม็ดตุมกามีรสเปรี้ยวเหมือนสารส้มหรืออย่างไร จึงกวนน้ำให้ใส

ได้ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 11

นั้น ๆ

ความข้อนี้ บัณฑิตพึงประกาศโดยอุปมาอื่น ๆ เช่น อ้อย โจร

โค นมส้ม และปลา ก็ได้ ตามนัยดังกล่าวมานี้*

[อรูปธรรมปรากฏโดยอาการ ๓]

ก็แล อรูปธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้มีการกำหนดรูปที่

หมดจดดี (ไม่มีอะไรเจือปนคาบเกี่ยว) ได้อย่างนี้แล้วนั้น โดยอาการ

๓ คือโดยอำนาจผัสสะบ้าง โดยอำนาจเวทนาบ้าง โดยอำนาจวิญญาณ

บ้าง ปรากฏอย่างไร ?

[อรูปธรรมปรากฏทางผัสสะ]

อันดับแรก เมื่อพระโยคาวจรภิกษุรูปหนึ่งกำหนดธาตุทั้งหลาย

โดยนัยว่า "ปฐวีธาตุ มีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ " ดังนี้เป็นต้นอยู่

อรูปธรรมที่ตกลงมาเฉพาะหน้าทีแรก ชื่อผัสสะ ย่อมปรากฏ แต่นั้น

เวทนาอันสัมปยุตกับผัสสะนั้น ชื่อเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏ สัญญาอัน

สัมปยุตกับผัสสะนั้น ชื่อสัญญาขันธ์ ก็ปรากฏ เจตนาร่วมกับผัสสะ ชื่อ

สังขารขันธ์ก็ปรากฏ จิตชื่อวิญญาณขันธ์ก็ปรากฏ โดยนัยเดียวกันนั้น

เมื่อพระโยคาวจรภิกษุกำหนดธาตุท้งั หลาย (อย่างพิสดาร) โดยนัยว่า

* มหาฎีกาช่วยขยายความว่า คนจะใคร่ได้น้ำอ้อย เอาอ้อยเข้าหีบ เพียงหมุนเครื่องหีบทีสองที

น้ำอ้อยยังไม่ออกก็อย่าเพิ่งทิ้งอ้อยเสีย ฯลฯ เจ้าหน้าที่จับโจรได้ใคร่จะทราบการที่มันทำ เพียง

เฆี่ยนทีสองทีมันยังไม่สารภาพ ก็อย่าเพิ่มปล่อยมันไปเสีย ฯลฯ คนจะกวนนมส้นให้เป็น

เนยข้น เพียงกวนทีสองทีมันยังไม่เห็นเนยข้น ก็อย่าเพงิ่ ทิ้งนมส้มนั้นเสีย ฯลฯ คนจะปิ้งปลากิน

เพียงปิ้งกลับสองกลับ ปลายังไม่สุก ก็อย่างเพิ่งทิ้งปลาเสีย ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 12

"ปฐวีธาตุในผมมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ ฯลฯ ปฐวีธาตุในลม

หายในเข้าออกมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ " ดังนี้เป็นต้นอยู่ อรูปธรรม

ที่ตกลงมาเฉพาะหน้าทีแรก ชื่อผัสสะ ย่อมปรากฏ (แต่นั้น) เวทนา

อันสัมปยุตกับผัสสะนั้น ชื่อเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏ ฯลฯ จิตชื่อวิญญาณ-

ขันธ์ ก็ปรากฏ

อรูปธรรมทั้งหลายปรากฏโดยอำนาจผัสสะ ดังกล่าวมาฉะนี้

[อรูปธรรมปรากฏทางเวทนา]

เมื่อพระโยคาวจรภิกษุรูปหนึ่ง กำหนดธาตุทั้งหลายโดยนัยว่า

"ปฐวีธาตุมีความแข้นเข็งเป็นลักษณะ " ดังนี้เป็นต้นอยู่ เวทนาอันเสวย

รสแห่งสภาวะ คือความแข้นแข็งนั้น ชื่อเวทนาขันธ์ ปรากฏ (ก่อน

เพื่อน แล้ว) สัญญาอันสัมปยุตกับเวทนานั้น ชื่อสัญญาขันธ์ ก็ปรากฏ

ผัสสะและเจตนาอันสัมปยุตกับเวทนานั้น ชื่อสังขารขันธ์ ก็ปรากฏ จิต

อันสัมปยุตกับเวทนานั้น ชื่อวิญญาณขันธ์ ก็ปรากฏ โดยนัยเดียวกัน

นั้น เมื่อพระโยคาวจรภิกษุกำหนดธาตุทั้งหลาย (อย่างพิสดาร) โดย

นัยว่า "ปฐวีธาตุในผมมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ ฯลฯ ปฐวีธาตุ

ในลมหายใจเข้าออกมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ " ดังนี้เป็นต้นอยู่

เวทนาอันเสวยรสแห่งสภาวะคือความแข้นแข็งนั้น ชื่อเวทนาขันธ์ ย่อม

ปรากฏ (ก่อน แล้ว) ฯลฯ จิตอันสัมปยุตกับเวทนานั้น ชื่อวิญญาณ-

ขันธ์ ก็ปรากฏ

อรูปธรรมทั้งหลายปรากฏโดยอำนาจเวทนา ดังกล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 13

[ อรูปธรรมปรากฏทางวิญญาณ ]

เมื่อพระโยคาวจรภิกษุอีกรูปหนึ่ง กำหนดธาตุทั้งหลายโดยนัยว่า

' ปฐวีธาตุมีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ ' ดังนี้เป็นต้นอยู่ วิญญาณอันรู้

แจ้งเฉพาะซึ่งอารมณ์ (นั้น) ชื่อวิญญาณขันธ์ ปรากฏ (ก่อน แล้ว)

เวทนาอันสัมปยุตกับวิญญาณนั้น ชื่อเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏ สัญญา

อันสัมปยุตกับวิญญาณนั้น ชื่อสัญญาขันธ์ ก็ปรากฏ ผัสสะและเจตนา

ชื่อ สังขารขันธ์ ก็ปรากฏ โดยนัยเดียวกันนั้น เมื่อพระโยคาวจรภิกษุ

กำหนดธาตุทั้งหลาย (อย่างพิสดาร) โดยนัยว่า "ปฐวีธาตุในผม มี

ความแข้นแข็งเป็นลักษณะ ฯ ล ฯ ปฐวีธาตุในลมหายใจเข้าออกมี

ความแข้นแข็งเป็นลักษณะ" ดังนี้เป็นต้นอยู่ วิญญาณอันรู้แจ้งเฉพาะซึ่ง

อารมณ์ (นั้น) ชื่อวิญญาณขันธ์ ปรากฏ (ก่อน แล้ว) เวทนาอัน

สัมปยุตกับวิญญาณนั้น ชื่อเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏ สัญญาอันสัมปยุต

กับวิญญาณนั้น ชื่อสัญญาขันธ์ ก็ปรากฏ ผัสสะและเจตนาอันสัมปยุต

กับวิญญาณนั้น ชื่อสังขารขันธ์ ก็ปรากฏ

อรูปธรรมทั้งหลายปรากฏโดยอำนาจแห่งวิญญาณ ดังกล่าวมา

ฉะนี้

โดยอุบายนี้นั่นแล บัณฑิตพึงทำโยชนา (การประกอบความ)

ในโกฏฐาสแห่งธาตุ ๔๒ โดยนัยว่า ' ปฐวีธาตุในผมอันมีกรรมเป็น

สมุฏฐาน มีความแข้นแข็งเป็นลักษณะ ' ดังนี้เป็นต้น และในธาตุที่

เหลือมีจักษุธาตุเป็นต้นด้วยอำนาจแห่งธาตุ ๔ ๆ (คือกำหนดจักษุเป็น

อาทิตามลักษณะธาตุทั้ง ๔ เป็นต้น ?) ไปตามประเภทแห่งนัยทั้งปวง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 14

ในหัวข้อกำหนดรูป (ที่กล่าวแล้ว) เถิด

อนึ่ง เพราะเหตุที่อรูปธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏโดยอาการ ๓

แก่ภิกษุผู้มีการกำหนดรูปที่หมดจดดีอย่างนี้เท่านั้น เหตุนั้น พระโยคา-

วจรพึงทำโยคะเพื่อกำหนดอรูปธรรม โดยการกำหนดรูปที่หมดจดดีนั่น

แล ไม่พึงทำโดยการกำหนดอย่างอื่น เพราะถ้าเมื่อรูปธรรมอย่าง ๑

หรือ ๒ อย่างปรากฏ (ยังไม่หมดจดดี) เธอละรูปเสีย เริ่มกำหนด

อรูปไซร้ เธอจะเสื่อมจากกรรมฐานเสียก็ได้ เหมือนโคที่หากินบน

ภูเขา (ไม่รู้จักเขตแดน เดินไปพลัดตกเหว) มีประการดังกล่าวใน

(ตอน) บำเพ็ญปฐวีกสิณ ต่อเมื่อเธอทำโยคะเพื่อกำหนดอรูปโดยการ

กำหนดรูปที่หมดจดดีแล้ว กรรมฐานจึงจะถึงซึ่งความเจริญงอกงาม

ไพบูลย์

พระโยคาวจรนั้น กำหนดเอาอรูปขันธ์ ๔ อันปรากฏโดยอำนาจ

แห่งผัสสะเป็นต้นว่าเป็นนาม กำหนดเอามหาภูต ๔ อันเป็นอารมณ์

แห่งอรูปขันธ์นั้น และรูปอาศัยแห่งมหาภูต ๔ ว่าเป็นรูป ด้วยประการ

ฉะนี้

พระโยคาวจรย่อมกำหนดธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งสิ้น

คือธาตุ ๑๘ อายตนะ ๑๒ ขันธ์ ๕ แยกเป็น ๒ ส่วน คือ นาม ๑

รูป ๑ ดุจคนเปิดสมุค*ด้วยขรรค์ และดุจคนผ่าเง่าตาลแฝดด้วยขรรค์

ฉะนั้น เธอย่อมถึงความปลงตกว่า "นอกจากเป็นเพียงนามรูปแล้ว

* สมุคและเง่าตาลแฝดมันเป็นภินนสันดาน คือมันต่อกันโดยมีรอยแยกอยู่แล้ว คือสมุคมีฝา

เง่าตาลแฝดเป็น ๒ เง่า เมื่อเอาขรรค์ (คือกระบี่สองคม) งัดหรือผ่า มันก็แยกกันออกเป็น

๒ ส่วน (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 15

สิ่งอื่นเป็นสัตว์ก็ดี บุคคลก็ดี เทพก็ดี พรหมก็ดี หามีไม่"

พระโยคาวจรนั้น ครั้นกำหนดแยกนามรูปตามสภาพที่เป็นจริงได้

อย่างนี้แล้ว เพื่อประโยชน์ที่จะละเสียซึ่งโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลก

เรียกรู้กัน) นี้ว่า 'สัตว์' ว่า 'บุคคล' เพื่อประโยชน์ที่จะก้าวล่วงเสีย

ซึ่งความลุ่มหลงว่าเป็นสัตว์ เพื่อประโยชน์ที่จะตั้งจิตไว้ในอสัมโมหภูมิ

ให้ดียิ่งขึ้นไป ย่อมกำหนดโดยเทียบเคียงความข้อที่ว่า ' นี่มันเป็นแต่

เพียงนามรูปเท่านั้น สัตว์ไม่มี บุคคลไม่มี ' นี้ได้ตามพระสูตรหลายสูตร

จริงอยู่ (ในวชิราสูตร) พระวชิราภิกษุณีก็กล่าวคำนี้ไว้ว่า

"เหมือนอย่างว่า เพราะมีองคสัมภาระ (ส่วนต่าง ๆ

ที่ประกอบกันเข้า) เสียงว่า 'รถ' จึงมีฉันใด เมื่อ

ขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ความสมมติว่า 'สัตว์' จึงมีฉันนั้น๑"

อีกสูตรหนึ่ง พระสารีบุตร กล่าวไว้ว่า "ดูกรอาวุโส อากาศอาศัย

เครื่องไม้ด้วย อาศัยเถาวัลย์ (สำหรับมัด) ด้วย อาศัยดินเหนียว

(สำหรับฉาบฝา) ด้วย อาศัยหญ้า (สำหรับมุง) ด้วย ล้อมอยู่ ย่อม

ได้ชื่อว่า ' เรือน ' เท่านั้นเอง ฉันใดก็ดี ดูกรอาวุโส อากาศอาศัย

กระดูกด้วยอาศัยเอ็นด้วย อาศัยเนื้อด้วย อาศัยหนังด้วย ล้อมอยู่ ย่อม

ได้ชื่อว่า ' รูป ' เท่านั้นเอง ฉันนั้นนั่นแล๒"

พระวชิราภิกษุณี กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า

"ความจริง ทุกข์นั่นเองเกิด ทุกข์นั่นเองตั้งอยู่และ

เสื่อมไป นอกจากทุกข์หาใช่สิ่งอื่นเกิดไม่ นอกจาก

ทุกข์หาใช่สิ่งอื่นดับไม่"๓

๑. สํ. ส. ๑๕/๑๙๘ ๒. ม. มู. ๑๒/๓๕๘ ๓. สํ. ส. ๑๕/๑๙๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 16

นามรูปนั่นเอง ที่พระสูตรหลายร้อยสูตรแสดงไว้โดยนัยดังกล่าว

มานี้ หาใช่สัตว์ไม่ หาใช่บุคคลไม่ เพราะเหตุนั้น เมื่อองคสัมภาระ

มีเพลา ล้อ กรง และงอนเป็นต้น ตั้งอยู่เรียบร้อยโดยอาการอันหนึ่ง

แล้ว โวหารว่า ' รถ ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง (แต่ว่า) เมื่อสำรวจดูองค์

แต่ละส่วน ๆ ไปโดยปรมัตถ์ ชื่อว่ารถ ก็หามีไม่ ฉันใด อนึ่ง เมื่อ

เครื่องเรือนมีไม้เป็นต้น ล้อมอากาศตั้งอยู่โดยอาการอันหนึ่งแล้ว* โว-

หารว่า ' เรือน ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง....โดยปรมัตถ์ ชื่อว่าเรือนหามีไม่

ฉันใด อนึ่ง เมื่อนิ้วทั้งหลายมีนิ้วหัวแม่มือเป็นต้น ตั้งอยู่โดยอาการ

อันหนึ่งแล้ว โวหารว่า ' กำปั้น ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง....โดยปรมัตถ์ ชื่อ

ว่ากำปั้นหามีไม่... เมื่อชิ้นส่วนของพิณมีรางเป็นต้น ตั้งอยู่โดยอาการ

อันหนึ่งแล้ว โวหารว่า ' พิณ ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง....โดยปรมัตถ์ ชื่อว่าพิณ

หามีไม่.... เมื่อองค์แห่งกองทัพมีพลช้างและพลม้าเป็นต้น ตั้งอยู่โดย

อาการอันหนึ่งแล้ว โวหารว่า ' กองทัพ ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง....โดยปรมัตถ์

ชื่อว่ากองทัพหามีไม่.... เมื่อองค์แห่งเมืองมีกำแพงและประตูหอรบ

เป็นต้น ตั้งอยู่โดยอาการอันหนึ่งแล้ว โวหารว่า ' เมือง ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง

....โดยปรมัตถ์ ชื่อว่าเมืองหามีไม่.... เมื่ออวัยวะแห่งต้นไม้มีลำต้นกิ่งใบ

เป็นต้น ตั้งอยู่โดยอาการอันหนึ่งแล้ว โวหารว่า ' ต้นไม้ ' ก็มีขึ้นเท่านั้น

เอง (แต่ว่า) เมื่อสำรวจดูอวัยวะแต่ละส่วน ๆ ไปโดยปรมัตถ์ ชื่อว่าต้น

* บาลีเป็นปฐมาวิภัติว่า อากาโส ปริวาริโต - อากาศล้อม ในอรรถกถาแห่งสูตรนี้ก็แก้ตามนัย

บาลีว่า อากาโส ตานิ ปริวาเรตฺวา  ิโต - อากาศล้อมเครื่องเรือนเหล่านั้นตั้งอยู่ อย่างไรในที่นี้ท่าน

จึงแก้เป็นทุติยาวิภัติ กลายเป็นเครื่องเรือนล้อมอากาศไป อย่างไหนจะถูกหรือผิด น่าคิดดู

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 17

ไม้หามีไม่ ฉันใด เมื่ออุปาทานขันธ์ ๕ มีอยู่ โวหารว่า ' สัตว์ ' ว่า

' บุคคล ' ก็มีขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อสำรวจดูธรรมแต่ละส่วน ๆ ไปโดย

ปรมัตถ์ ชื่อว่าสัตว์อันเป็นวัตถุแห่งความยึดถือว่า ' เราเป็น ' หรือว่า

' เป็นเรา ' หามีไม่ โดยปรมัตถ์แท้แล้ว ก็มีแต่นามกับรูปเท่านั้นเอง

ฉันนั้นเหมือนกันแล

ทัสนะแห่งพระโยคาวจรนั้นผู้เห็นอยู่อย่างนี้แหละ ชื่อว่า ยถาภูต-

ทัสนะ

ส่วนบุคคลใดละยถาภูตทัสนะนั้นเสีย (ไป) ถือเอาว่า ' สัตว์มี '

บุคคลนั้นก็จะพึงชื่อว่าอำนวยความหายสูญ หรือว่าความไม่หายสูญ ให้แก่

ตนเอง (คือ) เมื่อจะอำนวยความไม่หายสูญก็จะตกไปในสัสสตะ เมื่อ

อำนวยความหายสูญ ก็จะตกไปในอุจเฉทะ เพราะเหตุไร เพราะไม่มี

สิ่งอื่นจะเป็นสิ่งติดตามมันไป ดังนมส้มติดตามนมสด บุคคลนั้น เมื่อ

ถือว่า ' สัตว์เที่ยง ' ชื่อว่าล้าหลังอยู่ เมื่อถือว่า ' สัตว์ขาดสูญ ' ชื่อว่าเลย

ธงไป เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ถูกทิฏฐิคตะ (ความเห็นไป คือเห็นวิปลาส)

๒ อย่างกลุ้มรุม (ครอบงำ) แล้ว พวกหนึ่งล้าหลังอยู่ พวกหนึ่งเลย

ธงไป ฝ่ายพวกมีจักษุ (คือปัญญา) ทั้งหลายย่อมเห็น (ความจริง)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งล้าหลังอยู่เป็น

อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ (พวกหนึ่ง) มีภพเป็น

ที่ยินดี พอใจใยภพ บันเทิงใจในภพ เมื่อธรรมเพื่อความดับแห่งภพ

อันเราแสดงอยู่ จิตของเทวดาและมนุษย์นั้นไม่แล่นไป (ตาม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 18

กระแสธรรม) ไม่เลื่อมใส ไม่ยั้งหยุด ไม่น้อมใจลง (เชื่อ) อย่างนี้

แล ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งล้าหลังอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งเลยธงไปเป็น

อย่างไร ก็แลเทวดาและมนุษย์พวกหนึ่ง ระอา ขยะแขยง รังเกียจภพ

นั่นแล ยินดีนักซึ่งวิภพ (ความขาดสูญ) เป็นเหตุ (ให้) กล่าวว่า

" ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นัยว่า อัตตานี้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกไป

ย่อมขาด ย่อมสูญ ย่อมไม่มี (อีก) เบื้องหน้าแต่ตายไป ความขาดสูญ

นั่นเป็นธรรมชาติละเอียด ความขาดสูญนั่นเป็นธรรมชาติประณีต ความ

ขาดสูญนั่นเป็นธรรมชาติแท้จริง อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและ

มนุษย์พวกหนึ่งเลยธงไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ฝ่ายพวกผู้มีจักษุย่อมเห็นเป็นอย่างไร ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นภูต (คือเบญจขันธ์หรือนาม

รูป) โดยความเป็นภูต (คือไม่เห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคล) ครั้นเห็นภูต

โดยความเป็นภูตแล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อหายยินดี

เพื่อดับไปแห่งภูต อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายพวกที่มีจักษุย่อมเห็น*"

ดังนี้

เพราะเหตุนั้น ไม้ยนตร์เป็นของว่างเปล่า (จากตัวตน) ไม่มี

ชีวะ ไม่มีความดำริ แต่ทว่ามันเดินก็ได้ หยุดก็ได้ ปรากฏเหมือนของ

มีความดำริมีความพยายาม ด้วยอำนาจการประกอบกันเข้าแห่งไม้ กับ

เชือก (ชัก) ฉันใด แม้นามและรูปนี้บัณฑิตก็พึงเห็นว่าเป็นสิ่งว่างเปล่า

ไม่มีชีวะ ไม่มีความดำริ แต่ทว่ามันเดินก็ได้หยุดก็ได้ ปรากฏเหมือน

* ขุ. อิติ. ๒๕/๒๖๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 19

สิ่งมีความดำริ มีความพยายาม ด้วยอำนาจการประกอบกันและกันเข้า

ฉันนั้น เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

"นามและรูป (เท่านั้น) มีอยู่ในโลกนี้โดย (ปรมัตถ)

สัจจะ ก็แลในนามและรูปนั้น สัตว์และคนไม่มีเลย

นามและรูปนี้เป็นของว่างเปล่า อันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง

ขึ้น เหมือนยนตร์ มันเป็นกองทุกข์ เป็นเช่นกับ

(กอง) หญ้าและฟืน"

อนึ่ง นามรูปนั่นจะควร (อธิบาย) ให้แจ่มแจ้งด้วยอุปมาด้วย

ไม้ยนตร์เพียงเท่านั้นหามิได้ บัณฑิตควร (อธิบาย) ให้แจ่มแจ้งแม้ด้วย

อุปมาอื่น ๆ (อีก) มีกำอ้อเป็นต้น จริงอยู่ เมื่อกำอ้อ ๒ กำเขาตั้ง

พิงกันไว้ มันต่างค้ำกันไว้ เมื่อกำหนึ่งล้ม อีกกำหนึ่งก็ล้มด้วย ฉันใด

นามและรูปในปัญจโวการภพ ก็อาศัยกันและกันเป็นไป ต่างค้ำจุนกัน

ไว้ เมื่ออย่างหนึ่งล้มด้วยอำนาจมรณะ อีกอย่างหนึ่งก็ล้มด้วย ฉันนั้น

เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

"นามและรูปเป็นคู่กัน ทั้งคู่อาศัยกันและกัน

เมื่ออย่างหนึ่งแตก ก็แตกทั้งคู่ตามปัจจัย"

อนึ่ง เมื่อเสียงอาศัยกลองที่คนตีด้วยไม้เป็นไปอยู่ กลองก็อันหนึ่ง

เสียงก็อันหนึ่ง กลองและเสียงมิได้ปนกัน กลองว่างจากเสียง เสียงก็

ว่างจากกลองฉันใด เมื่อนามอาศัยรูปกล่าวคือ (หทัย) วัตถุ ทวาร

และอารมณ์เป็นไปอยู่ รูปก็อันหนึ่ง นามก็อันหนึ่ง นามและรูปมิได้

ปนกัน นามว่างจากรูป รูปก็ว่างจากนาม ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นแต่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 20

ว่านามอาศัยรูปเป็นไป ดังเสียงอาศัยกลองเป็นไปฉะนั้น เพราะฉะนั้น

พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ มิได้เกิดแต่ตา

มิได้เกิดแต่รูป และมิได้เกิดในระหว่างตาและรูป

ทั้งสอง มันเป็นสังขตะ อาศัยเหตุเกิดขึ้น เปรียบ

เหมือนกลองถูกตี เสียงก็เกิดขึ้นฉะนั้น.

ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ มิได้เกิดแต่หู

มิได้เกิดแต่เสียง และมิได้เกิดในระหว่างหูและ

เสียงทั้งสอง ฯ ล ฯ

ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ มิได้เกิดแต่จมูก

มิได้เกิดแต่กลิ่น และมิได้เกิดในระหว่างจมูกและ

กลิ่นทั้งสอง ฯ ล ฯ

ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ มิได้เกิดแต่ลิ้น

มิได้เกิดแต่รส และมิได้เกิดในระหว่างลิ้นและรส

ทั้งสอง ฯ ล ฯ

ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ มิได้เกิดแต่กาย

มิได้เกิดแต่ผัสสะ และมิได้เกิดในระหว่างกายและ

ผัสสะทั้งสอง ฯ ล ฯ

สังขตธรรมทั้งหลาย มิได้เกิดแต่วัตถุรูป (คือ

หทัย) ทั้งมิได้ออกจากธรรมายตนะทั้งหลายด้วย

มันเป็นสังขตะ อาศัยเหตุเกิดขึ้น เปรียบเหมือน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 21

เมื่อกลองถูกตี เสียงก็เกิดฉะนั้น"

อนึ่งเล่า ในนามและรูปนี้ นามไม่มีเดช (อำนาจ) ไม่อาจเป็น

ไปด้วยเดชของตนได้ ขบเคี้ยวไม่ได้ ดื่มไม่ได้ พูดไม่ได้ สำเร็จอิริยาบถ

ไม่ได้ แม้รูปก็ไม่มีเดช ไม่อาจเป็นไปด้วยเดชของตน ทั้งความใคร่

จะขบเคี้ยวของมันก็ไม่มี ความใคร่จะดื่มก็ไม่มี ความใคร่จะพูดก็ไม่มี

ความใคร่จะสำเร็จอิริยาบถก็ไม่มีเลย ที่แท้นั้น รูปอาศัยนามเป็นไป

นามก็อาศัยรูปเป็นไป ก็แต่เมื่อความใคร่จะขบเคี้ยว เมื่อความใคร่จะ

ดื่ม เมื่อความใคร่จะพูด เมื่อความใคร่จะสำเร็จอิริยาบถ ของนามมีอยู่

รูปก็ขบเคี้ยว ก็ดื่ม ก็พูด ก็สำเร็จอิริยาบถ

อนึ่ง อาจารย์ทั้งหลายนำอุปมา (ต่อไป) นี้มาอ้างไว้ เพื่อยัง

ความข้อนี้ให้แจ่มแจ้ง (ยิ่งขึ้นว่า) เหมือน (คนพิการ ๒ คน) คนหนึ่ง

ตาบอดแต่กำเนิด คนหนึ่งเป็นคนง่อย ใคร่จะหลีกไปสู่ทิศ (คือคิดจะ

เดินทาง) คนบอดแต่กำเนิดจึงพูดกะคนง่อยดังนี้ว่า "แน่ะภเณ ข้าน่ะ

สามารถใช้เท้าได้ แต่ตาที่จะใช้ดูที่เรียบของข้าไม่มี" ข้างคนง่อย

ก็พูดกะคนตาบอดดังนี้ว่า "เออภเณ ข้าทีสามารถใช้ตาได้ แต่ตีนที่จะ

ก้าวหรือถอยของข้าไม่มี" คนตาบอดนั้นดีใจจึงคนง่อยขึ้นบ่า คน

ง่อยนั่งบนบ่าของคนตาบอด (คอย) บอกดังนี้ว่า "หลีกซ้าย ไว้ขวา

หลีกขวา ไว้ซ้าย" (คนตาบอดทำตามคนง่อยบอก พากันไปได้) ใน

สองคนนั้น ข้างคนตาบอดก็ไม่มีเดช อ่อนแอ ไปด้วยเดชของตนก็หาไม่

ไปได้ด้วยพละของตนก็หาไม่ คนง่อยเล่าก็ไม่มีเดช อ่อนแอ ไปได้ด้วย

เดชขอบตนก็หาไม่ ไปได้ด้วยพละของตนก็หาไม่ แต่การอาศัยกันและ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 22

กันไปของเขาทั้งสองนั้นเป็นไปไม่ได้ก็หาไม่ ฉันใด แม้นามก็ไม่มีเดช

เกิดขึ้นด้วยเดชของตนก็หาไม่ เป็นไปในกิริยานั้น ๆ ก็หาไม่ รูปเล่า

ก็ไม่มีเดชเกิดขึ้นด้วยเดชของตนก็หาไม่ เป็นไปในกิริยานั้น ๆ ก็หาไม่

แต่ความอาศัยกันและกันเกิดขึ้นหรือเป็นไป แห่งนามและรูปนั้น ไม่มีก็

หาไม่ เพราะเหตุนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

"ธรรมทั้งหลายเป็นสังขตะ อ่อนแอโดยลำพัง

ตน เกิดด้วยพละของตนไม่ได้ ทั้งตั้งอยู่ด้วยกำลัง

ของตนก็ไม่ได้ด้วย มันมีปกติเป็นไปตามอำนาจ

ของธรรมอื่นเกิดขึ้น (คือ) ธรรมเหล่านี้เกิดเพราะ

มีธรรมอื่นเป็นปัจจัย ตั้งขึ้นพร้อมเพราะมีธรรมอื่น

เป็นอารมณ์ และอันอารมณ์และปัจจัยทั้งหลาย ซึ่ง

เป็นธรรมอื่นให้เป็น (คือให้เกิด) ขึ้น

คนทั้งหลาย อาศัยเรือไปในทะเลได้ฉันใดก็ดี

นามกายก็อาศัยรูปเป็นไปได้ฉันนั้นนั่นแล เรือ

อาศัยคนทั้งหลายไปในทะเลได้ฉันใด รูปกายก็

อาศัยนามเป็นไปได้ฉันนั้นเหมือนกัน คนทั้งหลาย

และเรือทั้งสองฝ่ายต่างอาศัยกันไปในทะเลได้ ฉันใด

นามและรูปทั้งสอง ก็เป็นธรรมอาศัยกันและกัน

(เป็นไป) ฉันนั้น"

ความเห็นนามรูปตามเป็นจริง อันครอบงำเสียซึ่งสัตตสัญญา ตั้ง

อยู่ในอสัมโมหภูมิ แห่งพระโยคาวจรผู้กำหนดนามรูปโดยนัยต่าง ๆ ดัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 23

พรรณนามาฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่าชื่อ ทิฏฐิวิสุทธิ คำว่า ' นามรูป-

ววัฏฐาน - ความกำหนดนามรูป ' ก็ดี คำว่า ' สังขารปริเฉท - กำหนด

สังขาร ' ก็ดี ก็เป็นคำเรียก นามรูปยาถาวทัสนะ (ความเห็นนามรูป

ตามเป็นจริง) นั่นเอง

ปริเฉทที่ ๑๘ ชื่อ ทิฏฐิวิสุทธินิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 24

กังขาวิตรณวิสุทธินิเทศ

ส่วนญาณอันข้ามความสงสัยในอัทธา ๓ เสียได้ ด้วยการกำหนด

จับปัจจัยของนามรูปนั่นแหละ แล้วแลตั้งอยู่ ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ

[รำพึงถึงเหตุปัจจัยของนามรูป]

ภิกษุผู้ใคร่จะยังกังขาวิตรณวิสุทธินั้นให้ถึงพร้อม ย่อมรำพึงถึง

การหาเหตุปัจจัยของนามรูปนั้น ประดุจแพทย์ผู้ฉลาด เห็นโรคแล้วย่อม

หาสมุฏฐานของมันฉะนั้น หรืออนึ่ง ประดุจบุรุษ (ผู้มีน้ำใจ) มักสงสาร

พบเด็กอ่อนตัวเล็ก ๆ ยังนอนแบ นอนอยู่ที่ถนนแล้วย่อมรำพึงถึงมารดา

บิดาของเด็กนั้น ด้วยคิด (ถามในใจ) ว่า ' นี่ลูกน้อยของใครเล่าหนอ '

ฉะนั้น

เบื้องแรกทีเดียว ภิกษุนั้นย่อมใคร่ครวญดังนี้ว่า "นามรูปนี้

ก่อนอื่น มิใช่สิ่งที่ไม่มีเหตุ เพราะมันถึงซึ่งความเป็นเช่นเดียวกันทุกแห่ง

ทุกเมื่อ และทุกอัน มิใช่เป็นสิ่งมีปัจจัยภายนอกมีอิศวรเป็นต้นเป็น

เหตุ เพราะไม่มีสิ่งทั้งหลายมีอิศวรเป็นต้นเหนือกว่านามรูปไป เพราะ

แม้ชนเหล่าใดกล่าวเพียงแต่นามรูปนั่นเอง ว่าเป็นอิศวรเป็นต้น นาม

รูปกล่าวคืออิศวรเป็นต้นของชนเหล่านั้นก็ต้อง (กลาย) เป็นสิ่งไม่มีเหตุ

ไป เพราะเหตุนั้น อันเหตุปัจจัยทั้งหลายของนามรูปนั้นน่าจะพึงมี

(ก็แล้ว) เหตุปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่อะไรเล่าหนอ"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 25

[กำหนดจับเหตุปัจจัยของนามรูป นัยที่ ๑]

ภิกษุนั้นครั้นรำพึงถึงเหตุปัจจัยทั้งหลายของนามรูปอย่างนี้แล้ว

ย่อมกำหนดจับเหตุปัจจัยของรูปกายนี้ก่อนดังนี้ว่า "กายนี้เมื่อเกิด หาได้

เกิดในภายใน (กลีบ) ดอกไม้มีอุบล (บัวสาย) ปทุม (บัวก้านสีแดง)

บุณฑริก (บัดก้านสีขาว) และโสคันธิกะ (บัวเผื่อนสีขาว) เป็นต้น

ไม่ หาได้เกิดในภายในรัตนชาติมีมณีและมุกดาหารเป็นต้นไม่ ที่แท้

เกิดอยู่ในระหว่างกระเพาะอาหารใหม่และกระเพาะอาหารเก่า หันกลัง

ทางหน้าท้อง หันหน้าทางกระดูกสันหลัง มีไส้ใหญ่และไส้น้อยล้อมอยู่

ตัวมันเองก็เป็นสิ่งปฏิกูลมีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด (ยังอยู่) ในโอกาสที่ปฏิกูล

มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด เป็นที่คบแคบยิ่งนัก ราวกะตัวหนอนเกิดอยู่

ในปลาเน่า ขนมบูด บ่อน้ำโสโครก และหลุมน้ำครำเป็นต้นฉะนั้น

ธรรม ๕ ประการ เป็นเหตุปัจจัยของรูปกายนั้นที่เกิดอยู่อย่างนั้นคือ

ธรรม ๔ นี้ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม จัดเป็นเหตุ

เพราะเป็นตัวทำให้เกิด อาหารจัดเป็นปัจจัยเพราะเป็นตัวอุดหนุน

อนึ่ง ในธรรม ๕ นั้น ธรรม ๓ มีอวิชชาเป็นต้น เป็นที่อาศัย (เกิด)

ของกายนี้ ดังมารดาเป็นที่อาศัย (เกิด) ของทารก กรรมเป็นตัวยัง

กายนี้ให้เกิด ดุจบิดายังบุตรให้เกิด อาหารเป็นตัวอุ้มชูกายนี้ไว้

เสมือนพี่เลี้ยงอุ้มทารกฉะนั้น" ครั้นทำการกำหนดจับปัจจัยของรูปกาย

ได้อย่างนี้แล้ว ย่อมทำการกำหนดจับปัจจัยของนามกายต่อไปโดยนัยว่า

"จักขุวิญญาณอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น " ดังนี้เป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 26

[ความสงสัย ๑๖ ประการ]

ภิกษุนั้นเห็นความเป็นไปแห่งนามรูปโดยปัจจัยอย่างนี้แล้ว ย่อม

สังเกตเห็นได้เองว่า "นามรูปนี้เป็นไปอยู่ในกาลบัดนี้ฉันใด แม้ใน

กาลอดีตมันก็เป็นไปแล้วโดยปัจจัย ในกาลอนาคตเล่ามันก็จักเป็นไป

โดยปัจจัยฉันนั้น " เมื่อเธอสังเกตเห็นเองอยู่อย่างนั้น ความสงสัย

ปรารภส่วนเบื้องต้น (คืออดีต) ๕ ประการที่กล่าวไว้ (ในบาลี) ว่า

"ในอดีตกาล เราได้มีได้เป็นมาแล้วหรือหนอ

" เราได้มีมิได้เป็นหรือหนอ

" เราได้เป็นอะไรหนอ

" เราได้เป็นอย่างไรหนอ

" เราได้เป็นอะไรแล้วเป็นอะไรหนอ"

ดังนี้นั้นใด แม้ความสงสัยปรารภส่วนเบื้องปลาย (คืออนาคต)

๕ ประการที่กล่าวไว้ (ในบาลี) ว่า

"ในอนาคตกาล เราจักมีจักเป็นหรือหนอ

" เราจักไม่มีไม่เป็นหรือหนอ

" เราจักเป็นอะไรหนอ

" เราจักเป็นอย่างไรหนอ

" เราจักเป็นอะไรแล้วเป็นอะไรหนอ"

ดังนี้นั้นใด แม้ความสงสัยปรารภปัจจุบัน ๖ ประการ ที่กล่าว

(ในบาลี) ว่า

อนึ่ง หรือว่าบุคคลเป็นผู้มีความสงสัยในภายใน (ตนของตน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 27

ปรารภปัจจุบันกาล บัดนี้ว่า

เรามีอยู่เป็นอยู่หรือหนอ

เราไม่มีอยู่ไม่เป็นอยู่หรือหนอ

เราเป็นอะไรอยู่หนอ

เราเป็นอย่างไรอยู่หนอ

สัตว์ผู้นี้มาแต่ไหนหนอ

สัตว์ผู้นั้นจักเป็นผู้ไปที่ไหน (หนอ)๑"

ดังนี้นั้นใด ความสงสัยทั้งปวงนั้น เธอย่อมละได้๒

[กำหนดปัจจัยของนามรูป นัยที่ ๒]

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เห็นปัจจัยของนาม ๒ ประการโดยเป็นสาธารณ-

ปัจจัยและอสาธารณปัจจัย เห็นปัจจัยของรูป ๔ ประการ โดยเป็น

กรรมปัจจัยเป็นต้น แท้จริง ปัจจัยของนามมี ๒ ประการ คือสาธารณะ

และอสาธารณะ ในปัจจัย ๒ นั้น ทวาร ๖ มีจักษุเป็นต้น อารมณ์ ๖

มีรูปเป็นต้น เป็นสาธารณปัจจัยของนาม ธรรมมีมนสิการเป็นต้น

อันเป็นไป (ต่อ) แต่จักษุและรูปเป็นต้นนั้น เป็นอสาธารณปัจจัย

ของนามแม้ทุกประการ โดยประเภทมีนามที่เป็นกุศลเป็นต้น จริงอยู่

๑. มหาฎีกาติงว่า อยุตฺตํ ปเนตํ เรื่องสงสัยตัวเองนี้ไม่เข้าทีเลย ตัวมีอยู่โทนโท่ ยังจะสงสัยว่า

ตัวมีหรือไม่มี ตัวเป็นอะไร เป็นอย่างไร เช่นว่าเป็นคฤหัสถ์เป็นบรรพชิต เป็นหญิงเป็นชย

และสูงต่ำดำขาวอย่างไร ก็ล้วนโทนโท่อยู่ทั้งนั้น สงสัยทำไม ฯลณ แต่ลงท้ายก็สรูปว่า อย่า

ไปคิดเลยว่าเข้าทีไม่เข้าที มันเป็นเรื่องของปุถุชนโง่ ๆ ซึ่งเหมือนคนบ้า คิดสงสัยไปได้แปลก ๆ

ทั้งนั้นแหละ

๒. มหาฎีกาว่า ละได้ตอนนี้ ยังเป็นวิกขัมภนปหานเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 28

ธรรมมีโยนิโสมนสิการและสัทธัมมสวนะเป็นต้น เป็นปัจจัยของนาม

ที่เป็นกุศลอย่างเดียว ธรรมฝ่ายที่ตรงกันข้ามก็เป็นปัจจัยของนามที่เป็น

อกุศล ธรรมมีกรรมเป็นต้นปัจจัยของนามที่เป็นวิบาก ธรรมมี

ภวังค์เป็นต้นปัจจัยของนามที่เป็นกิริยา แล

ส่วนธรรม ๔ ประการมีกรรมเป็นต้นนี้ คือ กรรม จิต ฤดู

อาหาร เป็นปัจจัยของรูป ในธรรม ๔ ประการนั้น กรรมที่เป็น

อดีตเท่านั้นเป็นปัจจัยของรูปที่เป็นกรรมสมุฏฐาน จิตที่เกิดขึ้นอยู่เป็น

ปัจจัยของรูปที่เป็นจิตตสมุฏฐาน ฤดูและอาหารเป็นปัจจัยของรูปที่เป็น

อุตุสมุฏฐานและอาหารสมุฏฐานในฐิติขณะ แล

ภิกษุรูปหนึ่งทำการกำหนดปัจจัยของนามรูปโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

ภิกษุนั้นครั้นเห็นความเป็นไปแห่งนามรูปโดยปัจจัยอย่างนั้นแล้ว ย่อม

สังเกตเห็นบอกว่า "นามรูปนี้เป็นไปโดยปัจจัยอยู่ในกาลบัดนี้ฉันใด แม้

ในกาลอดีตมันก็เป็นไปแล้วโดยปัจจัย ในกาลอนาคตเล่ามันก็จักเป็นไป

โดยปัจจัยฉันนั้น" ความสงสัยในกาลทั้ง ๓ เธอผู้สังเกตเห็นเองอยู่

อย่างนั้นก็ละได้โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

[กำหนดปัจจัยของนามรูป นัยที่ ๓]

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เห็นความถึงซึ่งชราแห่งสังขารทั้งหลายที่ได้แก่

นามรูปเหล่านั้นนั่นแหละ และความสลายไปแห่งสังขารทั้งหลายที่ชรา

แล้ว ทำการกำหนดจับปัจจัยของนามรูปทางปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม

อย่างนี้ว่า อันชราและมรณะแห่งสังขารทั้งหลายนี้ เมื่อชาติมี จึงมี

ชาติ เมื่อภพมี จึงมี ภพ เมื่ออุปาทานมี จึงมี อุปาทาน เมื่อตัณหามี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 29

จึงมี ตัณหา เมื่อเวทนามี จึงมี เวทนา เมื่อผัสสะมี จึงมี ผัสสะ

เมื่อสฬายตนะมี จึงมี สฬายตนะ เมื่อนามรูปมี จึงมี นามรูป เมื่อ

วิญญาณมี จึงมี วิญญาณ เมื่อสังขารทั้งหลายมี จึงมี สังขารทั้งหลาย

เมื่ออวิชชามี จึงมี " ดังนี้ ครั้นแล้วความสงสัยเธอก็ละได้โดยนัยที่

กล่าวแล้วนั่นแล

[กำหนดปัจจัยของนามรูป นัยที่ ๔]

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง กำหนดปัจจัยของนามรูปทางปฏิจจสมุปบาท

โดยอนุโลมที่ได้แสดงให้พิสดารมาแล้วแต่ก่อนว่า "ดังนี้แล สังขาร

ทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา " ดังนี้เป็นต้น ครั้นแล้วความสงสัย

เธอก็ละได้โดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน

[กำหนดปัจจัยของนามรูป นัยที่ ๕]

ภิกษุอีกรูปหนึ่งทำการกำหนดจับปัจจัยของนามรูปทางกรรมวัฏ*

และวิปากวัฏอย่างนี้ว่า "ธรรม ๕ ประการนี้ คือ ความหลงในบุริม-

กรรมภพเป็นอวิชชา เจตนาอันประมวลไว้ในบุริมกรราภพเป็นสังขาร

ความใคร่ในบุริกรรมภพเป็นตัณหา ความข้องแวะในบุริมกรรมภพ

เป็นอุปาทาน เจตนาในบุริมกรรมภพเป็นภพ เมื่อบุริมกรรมภพมี

อยู่ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิใน (อุปบัติ) ภพนี้

ธรรม ๕ ประการนี้คือ ปฏิสนธิใน (อุปบัติ) ภพนี้เป็นวิญญาณ

* มหาฎีกาว่า กิเลสวัฏ ท่านรวมไว้ในกรรมวัฏ เพราะกิเลสเป็นสหายของกรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 30

ความก้าวลง (ในครรภ์) ใน (อุปบัติ) ภพนี้ เป็นนามรูป ประสาท

ใน (อุปบัติ) ภพนี้ เป็นอายตนะ ภาวะที่กระทบ (อารมณ์)

ใน (อุปบัติ) ภพนี้ เป็นผัสสะ ความเสวย (ผล) ใน (อุปบัติ)

ภพนี้ เป็นเวทนา เมื่ออุปบัติภพนี้มีอยู่ ย่อมเป็นปัจจัย (คือเป็นที่

อาศัยเป็นไป ? ) แห่งกรรมที่ทำไว้ก่อน เพราะความที่อายตนะทั้ง-

หลายงอมแล้ว ธรรม ๕ ประการนี้ คือ ความหลงในกรรมภพนี้เป็น

อวิชชา ฯลฯ เจตนาในกรรมภพนี้ เป็นภพ เมื่อกรรมภพนี้มีอยู่

ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในภพต่อไป ดังนี้

[กรรมวิภาค]

[กรรมให้ผลตามคราว ๔]

ในกรรและวิบากนั้น กรรม (วิภาคหนึ่ง) มี ๔ อย่าง คือ

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในอัตภาพปัจจุบัน) อุปปัชช-

เวทนียกรรม (กรรมให้ผลในอัตภาพถัดไป) อปราปริยเวทรียกรรม

(กรรมให้ผลในภพต่อ ๆ ไป ) อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล)

ในกรรม ๔ นั้น ชวนเจตนาดวงแรกเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ใน

จิต ๗ ดวงในชวนวิถีอันหนึ่ง ชื่อว่าทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ทิฏฐธรรม-

เวทนียกรรมนั้นย่อมให้วิบากในอัตภาพนี้เท่านั้น แต่เมื่อไม่อาจ (ให้

วิบาก) อย่างนั้น ก็ได้ชื่อ (คือกลายเป็น) อโหสิกรรมไป

อันอโหสิกรรมย่อมเป็นด้วยอำนาจติกะ (คือไม่มีผลทั้ง ๓ กาล

ดังกล่าวในบาลี ) นี้ว่า "วิบากของกรรมไม่ได้มีแล้ว วิบากของกรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 31

จักไม่มี วิบากของกรรมไม่มีอยู่"๑

ส่วนชวนเจตนาดวงที่ ๗ อันยังผลที่มุ่งหมาย (เป็นกุศลหรือ

อกุศลก็ตาม) ให้สำเร็จ ได้ชื่อว่าอุปปุชชเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนีย-

กรรมนั้น ย่อมให้วิบากในอัตภาพถัดไป เมื่อไม่อาจ (ให้วิบาก)

อย่างนั้น ก็ได้ชื่อ (คือกลายเป็น) อโหสิกรรมไป

ชวนเจตนา ๕ ดวง ในระหว่างชวนเจตนา ๒ ดวงนั้น ชื่อว่า

อปราปริยเทนียกรรม อปราปริยเวทนียกรรมนั้น ได้โอกาสเมื่อใด

ย่อมให้วิบากเมื่อนั้นในอนาคต เมื่อความเป็นไปแห่งสงสารยังมีอยู่๒

อปราปริยเวทนีกรรมนั้นย่อมไม่ได้ชื่อ (คือไม่กลายเป็น ) อโหสิกรรม

[กรรมให้ผลตามลำดับ ๔]

กรรม ๔ อย่างอีกวิภาคหนึ่ง คือกรรมที่เป็นครุกกรรม (กรรม

หนัก) พหุลกรรม (กรรมหนา) อาสันนกรรม (กรรมใกล้ตาย)

กฏัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ) ในกรรม ๔ นั้น กรรมเป็นกุศล

หรือเป็นอกุศลก็แล้วแต่ ในกรรมหนักและไม่หนัก กรรมใดหนักคือ

เป็น (อนันตริย) กรรมมีมาตุฆาตเป็นต้นก็ดี เป็นมหรคตกรรมก็ดี

กรรมที่หนักนั่นแหละย่อมให้ผลก่อน

แม้ในกรรมหนาและไม่หนาก็อย่างนั้น กรรมใดหนา (คือทำมาก)

เป็น (ฝ่ายกุศล) เช่นความมีศีลงาม หรือเป็น (ฝ่ายอกุศล) เช่น

๑. ขุ. ป. ๓๓๑/๔๑๔

๒. สงฺขารปฺปวตฺติยา ในมหาฎีกา ท่านผู้ชำระบอกเชิงอรรถไว้ว่า ฉบับพม่าเป็น สํสารปฺปวตฺติยา

เห็นว่าปาฐะฉบับพม่าได้ความดีกว่า จึงแก้และแปลตามฉบับพม่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 32

ความมีศีลทรามก็ตาม กรรมหนานั้นแหละย่อมให้ผลก่อน

กรรมที่บุคคลระลึกได้ในเวลาใกล้ตาย ชื่อว่าอาสันนกรรม อัน

บุคคลผู้ใกล้ตายอาจระลึกถึงกรรมอันใดได้ เขาย่อม (ไป) เกิดด้วย

กรรมอันเป็นนั้นนั่นแล

ส่วนกรรมนอกจากกรรม ๓ อย่างนั้น ที่ได้อาเสวนะบ่อย ๆ ชื่อว่า

กฏัตตาวาปนกรรม ในเมื่อกรรม ๓ อย่างนั้นไม่มี มันก็ฉุดไปสู่

ปฏิสนธิได้*

[กรรมให้ผลตามกิจ ๔]

กรรม ๔ อย่าง อีกวิภาคหนึ่ง คือ ชนกกรรม (กรรมแต่งให้

เกิด) อุปถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน) อุปปีฬกกรรม (กรรม

บีบคั้น) อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน) ในกรรม ๔ อย่างนั้น

กรรมที่ชื่อชนกกรรม เป็นได้ทั้งกุศลทั้งอกุศล ชนกกรรมนั้นย่อมยัง

วิบากขันธ์ ทั้งที่เป็นกามาวจร และรูปวจร อรูปาวจรให้เกิด ทั้งใน

ปฏิสนธิกาลทั้งในปวัตกาล ส่วนอุปถัมภกกรรมไม่อาจยังวิบากให้เกิด

(เป็นแต่) เมื่อปฏิสนธิ อันกรรมอื่นให้แล้ว ย่อมเข้าสนับสนุนสุข

หรือทุกข์ ที่เกิดขึ้นในวิบาก (ขันธ์) ที่กรรมอื่นให้เกิดแล้ว ให้

(สุขและทุกข์นั้น ) เป็นไปนาม อุปปีฬกกรรม เมื่อปฏิสนธิอัน

* กฏิตตาวาปกรรมนี้ หวังไว้ว่าจะได้พบคำอธิบายอย่างชัดเจน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้

แต่ผิดหวัง อยากจะว่าท่านไม่ได้อธิบายอะไรเลย ซ้ำมีคำว่า "ได้อาเสวนะบ่อย ๆ " เข้าอีก ยิ่งทำ

ให้งง เพราะถ้าได้อาเสวนะบ่อย ๆ (คือทำจนช่ำ ?) แล้วจะต่างกับพหลกรรมอย่างไร ? มหาฎีกา

ก็ไม่พูดถึงเสียเลยด้วย (แต่จะได้แก่กรรมที่ทำโดยไม่เจตนา ตรงกับคำว่าพุ่งหอกเข้ารก)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 33

กรรมอื่นให้แล้ว ย่อมบีบย่อมคั้นสุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในวิบาก (ขันธ์)

ที่กรรมอื่นให้เกิดแล้ว มิให้ (สุขและทุกข์นั้น ) เป็นไปนาน ฝ่าย

อุปฆาตกรรม ตัวเองเป็นกุศลก็ดี เป็นอกุศลก็ดี ย่อมตัดรอนกรรม

อื่นที่กำลังน้อย (กว่า) ห้ามกันวิบากของกรรมอื่นนั้นเสียแล้วเปิดช่อง

ให้แก่วิบากของตน ก็แล เมื่อกรรมเปิดช่องให้อย่างนั้นแล้ว วิบาก

นั้นก็เรียกได้ว่าเกิดขึ้นแล้ว

ความแตกต่างแห่งกรรม และความแตกต่างแห่งวิบาก* แห่ง

กรรม ๑๒ อย่าง ดังกล่าวมานี้ ย่อมปรากฏโดยสภาพอย่างถ่องแท้แก่

กรรมวิบากญาณของพระพุทธทั้งหลายเท่านั้น ไม่สาธารณ์กับพระสาวก

ทั้งหลาย ทั้งความแตกต่างแห่งกรรม และความแตกต่างแห่งวิบาก

วิปัสสกภิกษุ (ผู้เห็นแจ้งด้วยการบำเพ็ญวิปัสสนา) จะพึงรู้ได้ (ก็แต่)

โดยเอกเทศ เพราะเหตุนั้น ความแปลกกันแห่งกรรมนี้ ก็นับว่า

เป็นอันได้ประกาศแล้ว ด้วยการแสดงกรรมแต่เพียงที่เป็นมุข ด้วย

ประการฉะนี้

ภิกษุรูปหนึ่งทำการกำหนดจับปัจจัยของนามรูปทรงกรรมวัฏ และ

วิปากวัฏอย่างนี้ โดยผนวกกรรม ๑๒ อย่างนี้ เข้าในกรรมวัฏ ด้วย

* กมฺมนฺตรํ มหาฎีกาแก้ว่า กมฺมวิเสโส กมฺมานํ พลกพลเภโท- ความแปลกกันแห่งกรรม

คือความแตกต่างเป็นแรงและไม่แรงแห่งกรรม วิปากนฺตรํ ท่านก็แก้ว่า วิปารวิเสโส ตสฺส

หีนปฺปณีตตาทิเภโท - ความแปลกกันแห่งวิบาก คือ ความแตกต่างเป็นอย่างเลว และประณีต

เป็นต้น แห่งวิบากนั้นดังนี้ ก็เป็นอันได้ความว่า อนฺตร ศัพท์ในที่นี้ แปลว่า ความแปลกกัน

ความแตกต่างกัน นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 34

ประการฉะนี้

ภิกษุนั้น เห็นความเป็นไปแห่งนามรูปโดยปัจจัยทางการวัฏ

และวิปากวัฏ ดังกล่าวมานี่แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นเองว่า "นามรูปนี้

เป็นไปโดยปัจจัยด้วยอำนาจกรรมวัฏ และวิปากวัฏในกาลบัดนี้ ฉันใด

แม้ในกาลอดีต ก็เป็นไปโดยปัจจัย ด้วยอำนาจกรรมวัฏและวิปากวัฏ

มาแล้ว ในกาลอนาคตเล่า ก็จักเป็นไปโดยปัจจัยด้วยอำนาจกรรมวัฏ

และวิปากวัฏก็ดี ฉันนั้นเหมือนกัน กรรมและวิบากขอกรรมก็ดี กรรม-

วัฏและวิปากวัฏก็ดี กรรมประวัต (ความหมุนไปแห่งกรรม) และ

วิปากประวัต (ความหมุนไปแห่งวิบาก) ก็ดี กรรมสันติ (ความ

สืบเนื่องแห่งกรรม) และวิปากสันตติ (ความสืบเนื่องแห่งวิบาก)

ก็ดี กิริยาและผลแห่งกิริยาก็ดี ย่อมเป็นไปโดยนัยดังนี้

"วิบากทั้งหลายย่อมเป็นไปเพราะกรรม วิบากมี

กรรมเป็นแดนเกิด ภพใหม่ย่อมมี เพราะกรรม

โลกย่อมหมุนไปดังนี้"

เมื่อเธอพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่ ความสงสัยปรารภส่วนเบื้องต้นเป็น

อาทิ ที่กล่าว (ในบาลี) โดยนัยว่า "(ในอดีตกาล) เราได้มี ได้

เป็นมาแล้วหรือหนอ " เป็นต้นนั้นใด ความสงสัยทั้งปวงนั้น เธอ

ย่อมละเสียได้ ปรากฏอยู่แต่นามรูปอันเป็นไปในกำเนิด คติ ฐิติ

และนิวาสทั้งปวง ด้วยอำนาจความสืบเนื่องกันแห่งเหตุและผลเท่านั้น

เธอไม่เห็นผู้สร้างนอกเหนือไปจากเหตุ ไม่เห็นผู้เสวยผล นอกเหนือ

ไปจากความเป็นไปแห่งวิบากเลย ก็เป็นอันเธอเห็นอย่างดีด้วยปัญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 35

อันชอบว่า "เมื่อเหตุมีอยู่ บัณฑิตทั้งหลาย ก็กล่าวโดยคำเพียงเป็น

สมญาว่า "ผู้สร้าง" เมื่อความเป็นไปแห่งวิบากมีอยู่ บัณฑิตทั้งหลาย

ก็กล่าวโดยคำเพียงเป็นสมญาว่า "ผู้เสวย (ผล)" เท่านั้นเอง เพราะ

เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ผู้สร้างกรรมไม่มี ผู้เสวยก็ไม่มี (เป็นแต่)

ธรรมล้วน ๆ ย่อมเป็นไป ความเห็นดังนี้นี่ เป็น

ความเห็นชอบ

เมื่อกรรมและวิบากพร้อมทั้งเหตุเป็นไปอยู่อย่าง

นั้น เบื้องต้น เบื้องปลาย ใคร ๆ รู้ไม่ได้ ดังก่อน

หลังแห่งพืชและต้นไม้เป็นต้น ซึ่งใคร ๆ รู้ไม่ได้

(ว่าพืชเกิดก่อนต้นหรือต้นเกิดก่อนพืช) ฉะนั้น

แม้ในอนาคตกาล เมื่อสงสารยังมีอยู่ ความจะไม่

เป็นไป (แห่งกรรมและวิบาก) ก็ยังมองไม่เห็น

(มันต้องเป็นไป เป็นแน่แท้)

พวกเดียรถีย์ ไม่รู้ความข้อนี้ จึงไม่เป็น สยํวสี

(คือ ไม่มีอำนาจในตน แต่ตกอยู่ในอำนาจความ

ยึดถือผิด ๆ) คว้าเอาสัตสัญญา (สำคัญว่ามีสัตว์

บุคคล) เข้า แล้วก็มีความเห็นไปว่า เที่ยง (บ้าง)

ว่า ขาดสูญ (บ้าง) ถือทิฏฐิ ๖๒ ขัดแย้งกันและ

กัน เขาทั้งหลายถูกเครื่องมัดคือทิฏฐิมัดไว้ ล่อง

ลอยไปตามกระแสน้ำคือตัณหา เขาทั้งหลายล่อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 36

ลอยไปตามกระแสน้ำคือตัณหาอยู่ จึงไม่พ้นจาก

 ทุกข์ไปได้

ภิกษุพุทธสาวกรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งความ

ดังกล่าวมาดังนี้นี่แล้ว จึงแทงตลอดปัจจัย (ของ

นามรูป) อันลึกละเอียด (และ) ว่างเปล่าได้

กรรมไม่มีอยู่ในวิบาก วิบากเล่าก็ไม่มีอยู่ใน

กรรม ทั้งสองว่างจากกันและกัน แต่ว่าเว้นกรรม

เสีย ผลก็ไม่มี

เปรียบเหมือนไฟไม่มีในดวงสูรย์ ไม่มีในแก้ว

(สูรย์กานต์) ไม่มีในโคมัย (คือมูลโคแห้งใช้

เป็นเชื้อไฟ) ภายนอกวัตถุทั้ง ๓ นั้น มันก็ไม่มี

แต่มันเกิดด้วยสัมภาระทั้งหลาย (คือวัตถุ ๓ อย่าง

นั้นรวมกันเข้า) ฉันใด วิบากย่อมหาไม่ได้ใน

ภายในกรรม แม้ภายนอกกรรมก็หาไม่ได้ กรรม

เล่าก็ไม่มีอยู่ในวิบากนั้น กรรมนั้นว่างจากผล

ผลก็ไม่มีอยู่ในกรรม แต่ว่าผลก็อาศัยกรรมนั่น

แหละ จึงเกิดขึ้น ฉันนั้น

แท้จริง ในสังสารประวัตินี้ ผู้สร้างสงสาร จะ

เป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม หามีไม่ (เป็นแต่)

ธรรมล้วน ๆ ย่อมเป็นไป เพราะการรวมกันเข้า

แห่งเหตุเป็นปัจจัยแล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 37

เมื่อภิกษุนั้นทำการกำหนดจับปัจจัยของนามรูปทางกรรมวัฏ และ

วิปากวัฏจนละความสงสัยในกาลทั้ง ๓ ได้อย่างนี้แล้ว ธรรมที่เป็นอดีต

อนาคตและปัจจุบันทั้งปวง ก็ย่อมเป็นอันเธอรู้ได้ด้วยอำนาจจุติและ

ปฏิสนธิ* ความรู้ของเธอนั้น เป็นญาตปริญญา

(คือ) เธอรู้อย่างนี้ว่า "ขันธ์เหล่าใด มีกรรมเป็นปัจจัยเกิด

แล้วในอดีต ขันธ์เหล่านั้นก็ดับไปแล้วในอดีตนั้นเอง ส่วนขันธ์

เหล่าอื่นมีอดีตกรรมเป็นปัจจัย เกิดขึ้นในภพนี้ ธรรม (อะไรสัก)

สิ่งหนึ่งที่มาสู่ภพนี้จากอดีตภพหามีไม่ แม้ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะ

กรรมปัจจัยในภพนี้เล่าก็จักดับ ขันธ์เหล่าอื่น จักเกิดในภพใหม่ (ต่อ

ไป) แม้ธรรม (อะไรสัก) สิ่งหนึ่ง ก็จักไม่ไปสู่ภพใหม่จากภพนี้

ก็แต่ว่า เปรียบเหมือนการสาธยายจากปากของอาจารย์ ย่อมไม่เข้าไป

สู่ปากของอันเตวาสิก แต่ว่าการสาธยายในปากของอันเตวาสิก จะ

เป็นไปไม่ได้ เพราะการสาธยายจากปากของอาจารย์ ก็หามิได้ ฉันใด

น้ำมนต์ (ของหมอวิเศษ) ที่ผู้แทนตัวดื่ม ย่อมไม่เข้าสู่ท้องของคน

มีโรค แต่ว่าโรคของเขาจะไม่หาย เพราะการดื่มน้ำมนต์ของผู้แทนตัว

นั้นเป็นปัจจัยก็หามิได้ ฉันใด วิธีแต่ที่หน้าย่อมไม่ไปสู่เงาหน้าในเครื่อง

ส่องหน้าทั้งหลายมีหน้าแว่นเป็นต้น แต่ว่าวิธีแต่งจะไม่ปรากฏในเครื่อง

ส่องหน้าเหล่านั้น เพราะวิธีแต่งนั้นเป็นปัจจัยก็หามิได้ ฉันใด เปลว

ประทีปของไส้ (ตะเกียง) อันหนึ่ง ย่อมไม่ข้ามไปสู่ไส้อันอื่น แต่ว่า

เปลวประทีปจะไม่เกิดในไส้อันอื่นนั้น เพราะเปลวประทีปของไส้อัน

* รู้ด้วยอาการดังจะกล่าวในตอนต่อไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 38

หนึ่งนั้นเป็นปัจจัย ก็หามิได้ ฉันใด ธรรมสักสิ่ง ย่อมไม่ข้ามมาสู่ภพนี้

จากอดีตภพ หรือไม่ข้ามไปสู่ภพใหม่จากภพนี้ แต่ว่าขันธ์ อายตนะ

ธาตุ จะไม่เกิดในภพนี้ เพราะขันธ์ อายตนะ ธาตุ ในอดีตภพเป็น

ปัจจัย หรือขันธ์ อายตนะ ธาตุ ในภพใหม่ จะไม่เกิดเพราะขันธ์

อายตนะ ธาตุ ในภพนี้เป็นปัจจัย ก็หามิได้ ฉันนั้นเหมือนกัน"

[คาถาสรูปเรื่องจุติปฏิสนธิจิต]

จักขุวิญญาณมีในลำดับแห่งมโนธาตุ แต่มันมิได้

มาจากมโนธาตุ ทั้งมันไม่เกิดในลำดับแห่งมโนธาตุ

ก็หามิได้ ฉันใดก็ดี สันตติแห่งจิตย่อมเป็นไปใน

ปฏิสนธิ ฉันนั้นเหมือนกัน* จิตดวงก่อน (คือ

จุติจิต) แตกดับ จิตดวงหลัง (คือปฏิสนธิจิต)

ก็เกิด (ในลำดับ) ต่อนั้น สิงขัดขวางของจิต

ทั้งสองนั้นไม่มี ลูกคลื่นไม่มีแก่จิตทั้งสองนั้น จิต

อะไร ๆ มิได้ไปแต่จุติจิตนี้ แต่ปฏิสนธิจิตก็เกิด

ได้ (ตามปัจจัย) แล

ญาณที่กำหนดจับปัจจัยของนามรูป ของโยคาวจรภิกษุผู้รู้ธรรม

ทั้งปวง ด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิอย่างนี้ ย่อมเป็นญาณถึงความมี

กำลังโดยอาการทั้งปวง ความสงสัย ๑๖ ประการ เธอก็ละได้อย่างดี

ยิ่ง มิใช้แต่ความสงสัย ๑๖ ประการนั้นเท่านั้น แม้ความสงสัย ๘

* อธิบายว่า ปฏิสนธิจิต แม้มิได้มาจากจุติจิต แต่มันก็เกิดในลำดับแห่งจุตินั่นเอง ดุจจักขุ-

วิญญาณมิได้มาจากกิริยามโนธาตุ แต่มันก็เกิดในลำดับกิริยามโนธาตุนั่นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 39

ประการ อันเป็นไปโดยนัยว่า "ภิกษุย่อมสงสัยในพระศาสดา" ดังนี้

เป็นต้น ก็ละได้ด้วยเหมือนกัน ทิฏฐิ ๖๒ ย่อมรำงับไป

ญาณอันข้ามความสงสัยในอัทธา ๓ เสียได้ด้วยการกำหนดจับปัจจัย

ของนามรูปโดยนัยต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้แล้วแลตั้งอยู่ พึงทราบว่าชื่อ

กังขาวิตรณวิสุทธิ คำว่า ธรรมฐิติญาณ ก็ดี คำว่า ยถาภูตญาณ ก็ดี

คำว่า สัมมาทัสสนะ ก็ดี ก็เป็นไวพจน์ของคำว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ

นั่นเอง จริงอยู่ คำ (ต่อไป) นี้ พระสารีบุตรก็ได้กล่าวไว้ว่า

"อวิชชาเป็นปัจจัย (คือเป็นเหตุ) สังขารทั้งหลายเป็นปัจจัยสมุบัน

(คือเป็นผล) ธรรมทั้งหลายนั้นเป็นปัจจัยสมุบัน (ด้วยกันด้วย เพราะ

อวิชชาก็มีปัจจัยเหมือนกัน) ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัยโดยนัย

ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าธรรมฐิติญาณ* (รู้ที่ตั้งแห่งธรรม คือรู้ปัจจยธรรม ?)"

(และกล่าวว่า) ถามว่า "ภิกษุมนสิการไปโดยความไม่เที่ยง

ย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเหล่าไหน สัมมาทัสนะย่อมมี

อย่างไร สังขารทั้งปวงย่อมเป็นอันภิกษุนั้นเห็นอย่างดี โดยความไม่

เที่ยง ไปตาแนวความรู้เห็นตามเป็นจริงนั้นอย่างไร ความสงสัยเธอ

ย่อมละได้ในที่ไหน ภิกษุมนสิการไปโดยความเป็นทุกข์... โดยความ

เป็นอนัตตา ย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเหล่าไหน ฯลฯ

ความสงสัย เธอย่อมละได้ในที่ไหน ?"

ตอบว่า "ภิกษุมนสิการไปโดยความไม่เที่ยง ย่อมรู้ย่อมเห็นซึ่ง

* ขุ. ป. ๓๑/๗๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 40

นิมิตตะ (คือสังขาร ?) ตามเป็นจริง เพราะความรู้เห็นตมเห็นจริงนั้น

จึงเรียกสัมมาทัสนะ สังขารทั้งปวงย่อมเป็นอันภิกษุนั้นเห็นอย่างดีโดย

ความไม่เที่ยงไปตามแนวความรู้เห็นตามเป็นจริงนั้นอย่างนี้ ความสงสัย

เธอย่อมละได้ในที่นี้ (คือในธรรมตามที่รู้เห็น) ภิกษุมนสิการไป

โดยความเป็นทุกข์ ย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริงซึ่งปวัตตะ (ความเป็น

ไปแห่งสังขาร ?) ตามเป็นจริง... ภิกษุมนสิการไปโดยความเป็น

อนัตตา ย่อมรู้ย่อมเห็นทั้งนิมิตตะทั้งปวัตตะตามเป็นจริง เพราะความ

รู้เห็นตามเป็นจริงนั้น จึงเรียกสัมมาทัสนะ ธรรมทั้งปวง ย่อมเป็น

อันภิกษุนั้นเห็นอย่างดี โดยความเป็นอนัตตา ไปตามแนวความรู้เห็น

ตามเป็นจริงนั้นอย่างนี้ ความสงสัย เธอละได้ในที่นี้ (คือในธรรม

ตามที่รู้เห็น)"

ถามว่า "ยถาภูตญาณ (ความรู้ตามเป็นจริง) อันใดก็ดี สัมมา-

ทัสนะ (ความเห็นชอบ) อันใดก็ดี กังขาวิตรณา (ความข้ามเสียได้

ซึ่งความสงสัย) อันใดก็ดี ธรรมเหล่านี้มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่าง

กัน หรือว่ามีอรรถอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ ?" ตอบว่า

"ยถาภูตญาณอันก็ดี สัมมาทัสนะอันใดก็ดี กังขาวิตรณาอันใดก็ดี

ธรรมเหล่านี้ มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต้พยัญชนะ"* ดังนี้

ก็แลวิปัสสกภิกษุผู้ประกอบด้วยญาณนี้แล้ว นับว่าเป็นผู้ได้ความ

* ขุ. ป. ๓๑/ ๓๙๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 41

อุ่นใจ ได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนา มีคติแน่นอน ได้ชื่อว่าจูฬโสดาบัน*

เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้มีความต้องการด้วยกังขา-

วิตรณวิสุธิ พึงเป็นผู้มีสติกำหนดจับปัจจัย

ทั้งหลายแห่งนามรูปโดยประการทั้งปวงทุกเมื่อ

เทอญ

ปริเฉทที่ ๑๙ ชื่อกังขาวิตรณวิสุทธินิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสัทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

* ที่เติมคำว่า นับว่า ชื่อว่า ก็เพราะยังไม่ได้บรรลุมรรคผลจริง ๆ เป็นแต่ตั้งอยู่ในทางแห่ง

มรรคผล เมื่อไม่เสื่อมจากกังขาวิตรณวิสุทธิ แม้ไม่ก้าวหน้าในปฏิปทายิ่งขึ้นไปก็ย่อมจะเป็นผู้มีสุคติ

เป็นเบื้องหน้าเป็นแน่แท้ คล้ายพระโสดาบันซึ่งเป็นผู้สิ้นทุคติแล้ว จึงยกให้ว่าเป็นจูฬโสดาบัน หรือ

จุลโสดาบัน - โสดาบันน้อย หมายความว่า น้อง ๆ พระโสดาบันเข้าไปนั่นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 42

มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิเทศ

ส่วนญาณอันรู้ธรรมที่เป็นทรง และธรรมที่มิใช่ทางว่า "นี่เป็น

ทาง นี้มิใช่ทาง " ดังนี้แล้วแลตั้งอยู่ ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ๑

[นยวิปัสนาหรือกลาปสัมมมสนะ]

พระโยคาวจรผู้ใคร่จะทำมัคคามัคคญาณทัสนาวิสุทธินั้นให้ถึงพร้อม

พึงทำโยคะในนยวิปัสนา (เจริญวิปัสนาดำเนินตามนัยพระบาลี) ที่

เรียก (อีกอย่างหนึ่ง) ว่า กลาปสัมมสนะ (การพิจารณาเป็น

กลาป ?)๒ ก่อน (หากมีปัญหาว่า) เพราะเหตุไร ? พึงแก้ว่า เพราะ

สำหรับผู้ลงมือทำวิปัสนาแล้ว ในเมื่อวิปัสนูปกิเลสมีโอภาสเป็นต้นมีขึ้น

มัคคามัคคญาณทัสนะจึงมี แท้จริง เมื่อวิปัสนูปกิเลสทั้งหลายมีโอภาส

เป็นอาทิเกิดขึ้นแล้ว มัคคามัคคญาณจึงมีแก่พระโยคาวจรผู้ลงมือทำ

วิปัสนา ก็เพราะกลาปสัมมสนะ เป็นเบื้องต้นของวิปัสนา เพราะ

เหตุนั้น มัคคามัคคญาณนั้นท่านจึงแสดงขึ้นไว้เป็นลำดับแห่งกังขาวิตรณ-

ญาณ อนึ่ง เหตุใด เมื่อตีรณปริญญาเป็นไปอยู่ มัคคามัคคญาณจึง

๑. สำหรับผู้อ่าน ควรทราบไว้ในชั้นต้นก่อนว่า วิปัสนาปัญญาที่ดำเนินไปตามวิถี ไม่ข้อแวะกับ

วิปัสนูปกิเลส ท่านเรียกว่า "ทาง" ส่วนวิปัสนูปกิเลส ๑๐ มีแสงสว่างเป็นต้นที่เกิดขึ้นใน

ระยะนี้ เรียกว่า "มิใช่ทาง"

๒. มหาฎีกาว่า การพิจารณาโดยสังเขปธรรมอันเป็นมากเช่นแยกเป็นอดีตอนาคต

ปัจจุบัน... เข้าเป็นกลาป คือเป็นกลุ่มเป็นหมวด ชื่อว่ากลาปสัมมสนะ การเจริญวิปัสนาพิจารณา

ธรรมทั้งหลายไปตามนัยบาลีสังเขปนั้นว่า "รูปทุกชนิด... ไม่เที่ยง.." เป็นต้น เรียกว่านยวิปัสนา

ก็วิปัสนาอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เรียกต่างกันคือทางชมพูทวีปเรียก กลาปสัมมสนะ ทาง

ตามปัณณิทวีปเรียก นยวิปัสนา เพราะฉะนั้นจึงว่า "ในนยวิปัสนาที่เรียกว่ากลาปสัมมสนะ"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 43

เกิดขึ้น และตีรณปริญญาเล่าก็มีในลำดับแห่งญาตปริญญา แม้เพราะ

เหตุนั้น พระโยคีผู้ใคร่จะทำมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินั้นให้พร้อม

จึงต้องทำโยคะในกลาปสัมมสนะก่อน

[ปริญญา ๓]

(ต่อไป) นี้เป็นวินิจฉัยในปริญญาทั้งหลายนั้น ก็โลกิยปริญญา

มี ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหารปริญญา ซึ่งท่านหมาย

เอากล่าว (จำแนกญาณไว้ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า "อภิญญาปัญญา

(ปัญญาอันมุ่งหน้ารู้ไญยธรรม) จัดเป็นญาณ เพราะอรรถคือรู้ (ธรรม

ที่ควรรู้) ได้ ปริญญาปัญญา (ปัญญาอันกำหนดรู้ปริญไญยธรรม)

จัดเป็นญาณ เพราะอรรถคือตัดสินได้ ปหานปัญญา (ปัญญาอันละ

ปหาตัพพธรรม) จัดเป็นญาณ เพราะอรรถคือสละได้" ดังนี้

ในปริญญา ๓ นั้น ปัญหาอันเป็นไปโดยกำหนดปัจจัตตลักษณะ

(ลักษณะเฉพาะตัว) แห่งธรรมทั้งหลายนั้น ๆ โดยนัยว่า "รูปมีอัน

สลายไปได้เป็นลักษณะ เวทนามีอันเสวย (รสอารมณ์) ได้ เป็น

ลักษณะ" ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ญาตปริญญา ส่วนลักขณารัมมณิย-

วิปัสนาปัญญา (วิปัสนาปัญญาอันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์) ที่เป็นไป

โดยยกขึ้นสู่สามัญลักษณะแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแหละโดยนัยว่า "รูป

ไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง " เป็นต้น ชื่อว่าตีรณปริญญา ส่วนลักขณา-

รัมมณิยวิปัสนาปัญญานั่นเอง ที่เป็นไปด้วยสามารถละวิปลาสสัญญามี

ความสำคัญว่าเที่ยงเป็นต้นในธรรมทั้งหลายนั้นแหละได้ ชื่อปหาน-

ปริญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 44

[ภูมิของปริญญา]

ภูมิ (คือชั้น) ของญาตปริญญา เริ่มตั้งแต่สังขารปริเฉท

(กำหนดสังขารคือนามรูป) ไปจนถึงปัจจยปริคหะ (กำหนดจับปัจจัย

ของนามรูป) ด้วยว่าในระหว่างนี้ความเป็นใหญ่ย่อมมีแก่ความแทง

ตลอดปัจจัตตลักษณะของธรรมทั้งหลายเท่านั้น

ภูมิของตีรณปริญญา เริ่มตั้งแต่กลาปสัมมสนะไปจนถึงอุทยัพพยา-

นุปัสสนา (เห็นทั้งเกิดทั้งดับ) ด้วยว่าในระหว่านี้ความเป็นใหญ่

ย่อมมีแก่ความแทงตลอดสามัญลักษณะเท่านั้น

ภูมิของปหารปริญญา จังภังคานุปัสนา (เห็นแต่ความดับ) เป็น

ต้น สูงขึ้นไป ด้วยว่าตั้งแต่นั้นไปความเป็นใหญ่ย่อมมีแก่อนุปัสนา

๗ อันยังการละปหาตัพพธรรมมีนิจจสัญญาเป็นต้นให้สำเร็จ ดังนี้ คือ

พระโยคาวจรผู้ตามเห็น (สังขาร) โดยอาการไม่เที่ยงอยู่ ย่อมละนิจจ-

สัญญาได้ ตามเห็นโดยอาการเป็นทุกข์อยู่ ย่อมละสุขสัญญาได้ ตามเห็น

โดยอาการเป็นอนัตตาอยู่ ย่อมละอัตตสัญญาได้ เบื่อหน่ายอยู่ ย่อม

ละนันทิได้ คลายกำหนัดอยู่ ย่อมละราคะได้ ดับ (คือปิดทางเกิด

ของสังขารต่อไป) อยู่ ย่อมละสมุทัย (คือความเกิดของสังขาร) ได้

สละคืน (คือสสัดทิ้ง) อยู่ ย่อมละความยืดถือได้

ในปริญญา ๓ ดังกล่าวมานี้ ญาตปริญญาอย่างเดียว อันพระโยคี

ผู้นี้ได้บรรลุแล้วมีอยู่ ส่วนปริญญานอกนี้ (คือตีรณปริญญา และ

ปหานปริญญา) ก็พึงได้บรรลุด้วย เพราะสังขารปริเฉทและปัจจยปริคหะ

ทำให้สำเร็จได้ เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ (ตอนต้น) ว่า "เหตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 45

ใด เมื่อตีรณปริญญาเป็นไปอยู่ มัคคามัคคญาณจึงเกิดขึ้น และตีรณ-

ปริญญาเล่าก็มีในลำดับแห่งญาตปริญญา แม้เพราะเหตุนั้น พระโยคี

ผู้ใคร่จะทำมัคคามัคคญาณทัสนาวิสุทธินั้นให้ถึงพร้อม จึงต้องทำโยคะ

ในกลาปสัมมสนะก่อน " ดังนี้

[บาลีสัมมสนญาณ]

(ต่อไป) นี้ เป็นบาลีในกลาปสัมมสนะนั้นว่า "ปัญญาในอัน

กำหนด (โดย) สังเขปธรรมทั้งหลายที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน

เข้า ชื่อสัมมสนญาณ (ญาณในการพิจารณา) เป็นไฉน ?

รูปทุกอย่างทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภาย

นอกก็ตาม ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ภิกษุกำหนดรูป

ทั้งปวง (นั้น) โดยอาการไม่เที่ยง เป็นสัมมสนะหนึ่ง กำหนดโดย

อาการเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะหนึ่ง กำหนดโดยอาการเป็นอนัตตา

เป็นสัมมสนะหนึ่ง เวทนาทุกอย่าง ฯลฯ วิญญาณทุกอย่าง ฯลฯ

กำหนดโดยอาการเป็นอนัตตา เป็นสัมมสนะหนึ่ง ภิกษุกำหนดจักษุ

ฯลฯ ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน โดยอาการไม่เที่ยง

เป็นสัมมสนะหนึ่ง กำหนดโดยอาการเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะหนึ่ง

กำหนดโดยอาการเป็นอนัตตา เป็นสัมมสนะหนึ่ง

ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "รูปทั้งที่เป็นอดีต

อนาคตและปัจจุบันไม่เที่ยงเพราะอรรถคือสิ้นไป เป็นทุกข์เพราะอรรถ

คือเป็นภัย เป็นอนัตตาเพราะอรรถคือหาสาระมิได้ " ดังนี้ ชื่อ สัมม-

สนญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "เวทนา ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 46

วิญญาณทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันไม่เที่ยง ฯลฯ " ชื่อสัมม-

สนญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "จักษุ ฯลฯ

ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันไม่เที่ยง ฯลฯ" ชื่อสัมม-

สนญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "รูปทั้งที่เป็น

อดีตอนาคตและปัจจุบันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น

อาศัยเหตุเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา " ดังนี้ชื่อสัมม-

สนญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "เวทนา ฯลฯ

วิญญาณทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีความ

ดับไปเป็นธรรมดา" ชื่อว่าสัมมสนญาณ ปัญญาในอันกำหนด

(โดย ) สังเขปเข้าว่า "จักษุ ฯลฯ ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต

และปัจจุบันเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา " ชื่อ

ว่าสัมมสนญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "ชรา

มรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะก็ไม่มี " ชื่อสัมม-

สนญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "ชรามรณะ

มีเพราะปัจจัยคือชาติ เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะก็ไม่มี แม้ในกาลอดีตแม้

ในกาลอนาคต" ชื่อสัมมสมญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สัง-

เขปเข้าว่า "ชาติมีเพราะปัจจัยคือภพ ฯลฯ สังขารทั้งหลายมีเพราะ

ปัจจัยคืออวิชชา เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารทั้งหลายก็ไม่มี " ชื่อสัมมสน-

ญาณ ปัญญาในอันกำหนด (โดย) สังเขปเข้าว่า "สังขารทั้งหลาย

มีเพราะปัจจัยคืออวิชชา เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารทั้งหลายก็ไม่มี แม้ใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 47

กาลอดีต แม้ในกาลอนาคต " ชื่อสัมมสนญาณ

ความรู้นั้น ชื่อว่าญาณ เพราะว่าอรรถรู้ได้ ชื่อว่าปัญญา เพราะ

อรรถว่ารู้ทั่ว เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า "ปัญญาในอันกำหนด

(โดย) สังเขปธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันเข้า ชื่อ

สัมมสนญาณ"*

ก็แลกลุ่มธรรมทั้งหลายนี้ คือ ธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในทวาร

พร้อมทั้งตัวทวารและอารมณ์ (๑) ขันธ์ ๕ (๑) ทวาร ๖ (๑)

อารมณ์ ๖ (๑) วิญญาณ ๖ (๑) ผัสสะ ๖ (๑)

เวทนา ๖ (๑) สัญญา ๖ (๑) เจตนา (๑)

ตัณหา ๖ (๑) วิตก ๖ (๑) วิจาร ๖ (๑) ธาตุ ๖ (๑)

กสิณ ๑๐ (๑) โกฏฐาส (คือ อาการ) ๓๒ (๑) อายตนะ

๑๒ (๑) ธาตุ ๑๘ (๑) อินทรีย์ ๒๒ (๑) ธาตุ ๓ (๑)

ภพ ๓ (๑) ภพแม้อื่นอีก ๓ (๑) ภพอื่นอีก ๓ ด้วย

(๑) ฌาน ๔ (๑) อัปปมัญญา ๔ (๑) สมาบัติ ๔ (๑)

องค์แห่งปฏิจสมุบาท ๑๒ (๑) บัณฑิตพึงทราบว่าท่านสังเขป

ไว้ด้วยไปยาล คือ "จกฺขุํ ฯ เป ฯ ชรามรณํ - จักษุ ฯลฯ ชรามรณะ"

นี่ ในบาลีสัมมสนญาณนี้

[อภิญไญยนิเทศ]

แท้จริง ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในอภิญไญยนิเทศว่า

* ขุ. ป. ๓๑/๗๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 48

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้ง

ปวงที่พึงรู้ยิ่ง คืออะไรเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักขุเป็นพึงรู้ยิ่ง รูป

ทั้งปลายเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง จักขุวิญญาญเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง จักขุสัมผัสเป็นสิ่งพึง

รู้ยิ่ง แม้ความเสวย (รสอารมณ์) เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุข

บ้างนี้ใด เกิดเพราะปัจจัยคือจักขุสัมผัส แม้ความเสวย (รสอารมณ์)

นั้นก็เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง โสตะเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง ฯลฯ แม้ความเสวย (รสอารมณ์)

เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้างนี้ใด เกิดขึ้นเพราะปัจจัยคือ

มโนสัมผัส แม้ความเสวย (รสอารมณ์) นั้น ก็เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง

รูป... วิญญาณ เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง รูปทั้งหลาย...ธรรมทั้งหลาย

เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง จักขุวิญญาณ...มโนวิญญาณ เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง จักขุ-

สัมผัส...มโนสัมผัส เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง จักขุสัมผัสสชาเวทนา...มโน-

สัมผัสสชาเวทนาเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง รูปสัญญา...ธรรมสัญญา เป็นสิ่งพึงรู้

ยิ่ง รูปสัญเจตนา...ธรรมสัญเจตนาเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง รูปตัณหา...ธรรม-

ตัณหาเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง รูปวิตก...ธรรมวิตกเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง รูปวิจาร..

ธรรมวิจารเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง ปฐวีธาตุ...วิญญาณธาตุ เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง

ปฐวีกสิณ...วิญญาณกสิณเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง ผม...มันในสมองเป็นสิ่งพึง

รู้ยิ่ง จักขายตนะ รูปยาตนะ...มนายตนะ ธรรมายตนะเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง

จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ...มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญ-

ญาณธาตุเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง จักขุนทรีย์...อัญญาตาวินทรีย์เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง

กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง กามภพ รูปภพ อรูปภพ

เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 49

สิ่งพึงรู้ยิ่ง เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ เป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง

ปฐมฌาน...จตุตฌานเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง เมตตาเจโตวิมุติ...อุเบกขาเจโต-

วิมุติเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง อาการสนัญจายตนสมาบัติ...เนวสัญญานาสัญญาย-

ตนสมาบัติเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง อวิชชา...ชรามรณะเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง" ดังนี้

สิ่งทั้งปวงที่พึงรู้ยิ่งนั้น ชื่อว่าท่านได้สังเขปไว้ด้วยไปยาลทั้ง

ปวงในบาลีสัมมสนญาณนี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้อย่าง

พิสดารในอภิญไญยนิเทศนั้นดังกล่าวมาฉะนี้

แต่ว่าธรรมเหล่าใดเป็นโลกุตรธรรม มาในอภิญไญยนิเทศที่

สังเขปไว้อย่างนี้ ธรรมเหล่านั้นไม่พึงถือเอาในอธิการ (แห่งสัมมสนะ)

นี้ เพราะไม่เข้า (เกณฑ์) สัมมสนะ แม้ธรรมเหล่าใดเข้า (เกณฑ์)

สัมมสนะเล่า ในธรรมเหล่านั้น ธรรมทั้งหลายใดแจ้งชัดถึงซึ่งความ

กำหนดจับเอาได้โดยง่ายแกพระโยคีรูปใด พระโยคีรูปนั้นก็พึงเริ่มทำ

สัมมสนะในธรรมทั้งหลายนั้นเทอญ

[แบบทำสัมมสนะ]

(ต่อไป) นี้ เป็นอารัพภวิธานโยชนา (การประกอบแบบทำ

สัมมสนะ) ทางขันธ์ (โดยยกรูปขันธ์ขึ้นกล่าวเป็นนิทัศนะ) ว่า

"รูปทุกอย่าง ฯลฯ ภิกษุกำหนดรูปทั้งปวงโดยอาการไม่เที่ยง เป็น

สัมมสนะหนึ่ง กำหนดโดยอาการเป็นทุกข์ เป็นสัมมสนะหนึ่ง กำหนด

โดยอาการเป็นอนัตตา เป็นสัมมสนะหนึ่ง" เพียงเท่านี้ ภิกษุนี้นับ

ว่าได้กำหนด (ตัด) รูปทั้งปวง ที่นิเทศไว้โดยโดยคำไม่เจาะจง ดังนี้ว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 50

"ยงฺกิญฺจิ รูปํ - รูปทุกอย่าง " โดยโอกาส ๑๑ (คือตัดเป็น ๑๑ ช่อง)

คือ โดยอตีตติกะ (หมวด ๓ ทั้งอดีต คืออดีตอนาคตปัจจุบันนับ ๓)

และโดยทุกะ (หมวด ๒) ๔ มีอัชฌัตตทุกะ (หมวด ๒ ทั้งรูปภาย

ใน คือรูปภายในรูปภายนอก) เป็นต้น (นับ ๘ รวมเป็น ๑๑)

แล้วกำหนดรูปทั้งปวงลงโดยอาการไม่เที่ยง คือ สัมมสนะ (พิจารณา)

ว่าไม่เที่ยง ถามว่า สัมมสนะอย่างไร ? ตอบว่า สัมมสนะโดยนัยที่

(บาลี) กล่าวตอนต่อไปนั่นแหละ เพราะ(บาลีตอยต่อไป) ท่าน

กล่าวไว้ (ดัง) นี้ว่า "รูปํ อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ อนิจฺจํ ขนฎฺเฐน-

...รูปทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันไม่เที่ยง โดยอรรถคือสิ้นไป"

ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงสัมมสนะว่า "รูปใดเป็นอดีต รูป

นั้นก็สิ้นไปแล้วในภพอดีตนั่นเอง หามาถึงภพนี้ไม่ เหตุใด เหตุนั้นจึง

ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถคือสิ้นไป รูปใดเป็นอนาคตจักเกิดในภพถัด

ไป แม้รูปนั้นก็จักสิ้นไปในภพที่เกิดนั่นแหละ หาไปสู่ภพต่อแต่ภพนั้น

ไปไม่ เหตุนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถคือสิ้นไป รูปใดเป็นปัจจุบัน

แม้รูปนั้นก็สิ้นอยู่ในภพนี้แหละ หาไปจากภพนี้ไม่ เหตุนั้นจึงชื่อว่าไม่

เที่ยง เพราะอรรถคือสิ้นไป รูปใดเป็นภายนอกไม่ เหตุนั้นก็สิ้นอยู่ในภาย

ในนั่นแหละ หาไปสู่ความเป็นภายนอกไม่ เหตุนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะ

อรรถคือสิ้นไป รูปใดเป็นภายใน ฯลฯ ... เป็นรูปหยาบ...รูป

ละเอียด...รูปเลว ...รูปประณีต..รูปในที่ไกล...รูปในที่ใกล้ แม้

รูปนั้นก็สิ้นอยู่ในที่ใกล้นั้นแหละ หาไปสู่ความเป็นรูปในที่ไกลไม่

เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถคือสิ้นไป สัมมสนะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 51

ทั้งปวงนี้ จัดเป็นสัมมสนะหนึ่ง ด้วยอำนาจบทว่า "อนิจฺจํ ขยฏฺเฐ-

ชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะอรรถคือสิ้นไป" นั่น แต่ (ว่า) โดยแยกออกไป

ก็เป็นสัมมสนะ ๑๑ อย่าง (มีอตีตสัมมสนะ - พิจารณารูปที่เป็นอดีต

เป็นต้น)

อนึ่ง รูปทั้งปวงนั้นแหละชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะอรรถคือเป็นภัย

คำว่า "เพราะอรรถคือเป็นภัย " หมายความว่า เพราะเป็นสิ่งน่ากลัว

ด้วยว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมนำความกลัวมาให้ ดังความกลัวเกิด

ขึ้นแก่เทวดาทั้งหลาย ในเพราะ (ได้ฟัง) สีโหปมสูตร*ฉะนั้น แม้

สัมมสนะดังกล่าวมานี้ก็จัดเป็นสัมมสนะหนึ่ง ด้วยอำนาจบทว่า "ทุกขํ

ภยฏฺเฐน-ชื่อว่าเป็นทุกข์เพราะอรรถคือเป็นภัย" นั่น แต่ (ว่า) โดย

แยกออกไปก็เป็นสัมมสนะ ๑๑ อย่าง (เหมือนกัน)

อนึ่ง รูปทั้งปวงนั้นชื่อว่าเป็นทุกข์ฉันใด ก็ชื่อว่าเป็นอนัตตา

เพราะอรรถคือหาสารมิได้ฉะนั้น คำว่า "เพราะอรรถคือหาสาระมิ

ได้" หมายความว่าเพราะไม่มีสาระคืออัตตา ที่พวกอัตตวาทีคาดคิด

* สํ. ขนฺธ. ๑๗/๑๐๓ สีโหปมสุตฺเต มหาฎีกาแนะให้แปลเป็นลักขณะ เติม เทสิบมาเน

เป็นลักขณกิริยา เห็นว่าแปลเป็นนิมิตสัตมีดังที่แปลนี้ ก็พอได้ความแล้ว จึงไม่แปลตามท่าน

ความสังเขปสีโหปมสูตรนั้นว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงความไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนแห่งเบญจขันธ์

พวกเทวดาซึ่งสำคัญว่าพวกตนเป็นพวกยั่งยืนไม่รู้จักแก่ตาย ได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้วได้สำนึก

รู้ความจริงขึ้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัวว่าตัวจะต้องแก่ตาย จะต้องพลัดพรากสวรรคสมบัติ ดุจ

สัตว์ทั้งหลายได้ยินเสียงแผดของราชสีห์ก็สะดุ้งกลัวฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 52

เอาดังนี้ว่า "รูปมีอัตตาครอง*เป็นผู้สร้าง ผู้เสวย (ผล) ผู้มีอำนาจ

ในตน" เพราะรูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นย่อมเป็นทุกข์ ไม่อาจห้ามความ

ไม่เที่ยงหรือความเกิดความเสื่อมความถูกบีบคั้นแม้ของตนเองได้ (ก็

แล้ว) ความเป็นผู้สร้างเป็นต้นแห่งรูปนั้นจักมีที่ไหนเล่า เพราะเหตุนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็หากรูปนี้จักได้เป็น

อัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ" ดังนี้เป็นอาทิ แม้สัมม-

สนะดังกล่าวมานี้ก็เป็นสัมมสนะหนึ่ง ด้วยอำนาจบทว่า "อนตฺตา

อสารกฏฺเฐน-ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถคือหาสาระมิได้" นั่น

แต่ (ว่า) โดยแยกออกไปก็เป็นสัมมสนะ ๑๑ อย่าง (เหมือนกัน)

นัยในขันธ์ที่เหลือมีเวทนาขันธ์เป็นต้น ก็นัย (เดียวกัน)นี้

อนึ่ง รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นก็ย่อมเป็นประเภทสังขตะเป็นต้นโดย

แน่แท้ เหตุใด เพราะเหตุนั้นเพื่อจะแสดงปริยาย (คือคำไวพจน์) ของ

อนิจจศัพท์นั้น หรือว่าเพื่อแสดงความเป็นไปแห่งมนสิการโดยอาการ

ต่าง ๆ พระบาลีจึงว่าไว้จึงอีกว่า "...รูปทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและ

ปัจจุบันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ปัจจัยปรุงแต่ขึ้น อาศัยเหตุเกิดขึ้น

มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลาย

ไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา " ดังนี้ นัยในขันธ์ที่

เหลือมีเวทนาขันธ์เป็นต้น ก็นัย (เดียวกัน) นี้แล

เพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงแห่ง อนิจจสัมมสนะ ทุกขสัมมสนะ

* ปาฐะเรียกแยกไว้เป็น อตฺตา นิวาสี พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นศัพท์สมาส เรียงติดกันเป็น

อตฺตานิวาสี แปลได้ความดีกว่า เข้ากับความข้างหลังได้สนิทด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 53

และอนัตตาสัมมสนะ ในปัญจขันธ์นั้นแหละ พระโยคาวจรภิกษุนั้น

ย่อมจะพิจารณาปัญจขันธ์นี้ทางอนิจจาทิสัมมสนะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ผู้เมื่อทรงจำแนกอนุโลมญาณ ตรัสโดยแยก (อาการต่าง ๆ ) ไว้ใน

วิภังค์แห่งปาฐะว่า "ภิกษุย่อมได้ขันติ (คือญาณ ๑) อันเป็นอนุโลม๒

โดยอาการ ๔๐ อะไรบ้าง ย่อมหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ความถูกต้อง

แน่นอน)๓ โดยอาการ ๔๐ อะไรบ้าง " นั่น โดยนัยว่า "ภิกษุเห็น

ปัญจขันธ์โดยอาการไม่เที่ยงอยู่ ย่อมได้ขันติ (คือญาณ) อันเป็นอนุโลม

เห็นอยู่ว่า "ความดับแห่งปัญจขันธ์เป็นความเที่ยงเป็นนิพพาน " ย่อม

หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม โดยอาการ ๔๐ คือ

อนิจฺจโต โดยอาการไม่เที่ยง

ทุกฺขโต โดยอาการเป็นทุกข์

โรคโต โดยอาการเป็นโรค

คณฺฑโต โดยอาการเป็นฝี

สลฺลโต โดยอาการเป็นลูกศร

อฆโต โดยอาการเป็นของชั่ว

๑. มหาฎีกาแก้ไว้ว่า ญาณเรียกว่า ขันติ เพราะทนในการกำหนดหยั่งลงไปจนถึงสิ่งซึ่งเป็นวิสัย

๒. มหาฎีกาว่า อนุโลม คืออนุกูลแก่ความบรรลุอริยมรรค

๓. สัมมัตตนิยาม ก็คืออริยมรรคนั่นเอง อริยมรรคนั้นเป็นสัมมัตตะ (ความถูกต้อง) มี

สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเป็นต้น และเป็นนิยาม (ความแน่นอน) เพราะเป็นอนิวัติธรรม มีอัน

ไม่กลับกลายเป็นธรรมดา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 54

อาพาธโต โดยอาการอาพาธ

ปรโต โดยอาการเป็นฝ่ายอื่น

ปโลกโต โดยอาการทลาย

อีติโต โดยอาการเป็นจัญไร

อุปทฺทวโต โดยอาการเป็นอุบาทว์

ภยโต โดยอาการเป็นภัย

อุปสคฺคโต โดยอาการเป็นอุปสรรค

จลโต โดยอาการเป็นไหว

ปภงฺคุโต โดยอาการเป็นแตกสลาย

อทฺธุวโต โดยอาการเป็นไม่คงทน

อตาณโต โดยอาการเป็นไม่มีที่ต้านทาน

อเลณโต โดยอาการเป็นไม่มีที่กำบัง

อสรณโต โดยอาการเป็นไม่มีที่พึ่ง

ริตฺตโต โดยอาการว่าง

ตุจฺฉโต โดยอาการสูญ

สุญฺญโต โดยอาการมิใช่ตน

อาทีนวโต โดยอาการเป็นโทษ

วิวปริณามธมฺมโต โดยอาการมีความแปรไปเป็นธรรมดา

อสารกโค โดยอาการไม่มีแก่น

อฆมูลโต โดยอาการเป็นมูลแห่งความลำบาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 55

วธกโต โดยอาการเป็นผู้ฆ่า

วิภวโต โดยอาการเสื่อม

สาสวโต โดยอาการเป็นไปกับอาสวะ

สงฺขโต โดยอาการเป็นสังขตะ

มารามิสโต โดยอาการเป็นเหยื่อมาร

ชาติธมฺมโต โดยอาการมีชาติเป็นธรรมดา

ชราธมฺมโต โดยอาการมีชราเป็นธรรมดา

พฺยาธิธมฺมโต โดยอาการมีพยาธิเป็นธรรมดา

มรณธมฺมโต โดยอาการมีมรณะเป็นธรรมดา

โสกธมฺมโต โดยอาการมีโสกะเป็นธรรมดา

ปริเทวธมฺมโต โดยอาการมีปริเทวะเป็นธรรมดา

อุปายาสธมฺมโต โดยอาการมีอุปยาสเป็นธรรมดา

สงฺกิเลสิกธมฺมโต โดยอาการเป็นสิ่งมีความเศร้าหมอง

เป็นธรรมดา ดังนี้ก็ได้

ถามว่า พิจารณาปัญจขันธ์ทางอนิจจาทิสัมมสนะอย่างไร ? เฉลย

ว่า ก็โยคาวจรภิกษุนั้นย่อมพิจารณาขันธ์อันหนึ่ง ๆ ทางอนิจจาทิสัมมสนะ

ที่ตรัสโดยแยก (อาการต่าง ๆ) ไว้ดังนี้ คือ

อนิจฺจโต-โดยอาการชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะความที่ขันธ์นั้นไม่เป็น

สิ่งที่อยู่ตลอดไป และเพราะความที่มันมีเบื้องต้นเบื้องปลาย

ทุกฺขโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะภาวะคือถูกความเกิดขึ้น

ความเสื่อมไปบีบคั้น และเพราะความเป็นพื้นที่สำหรับทุกข์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 56

โรคโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นโรค เพราะพึงประทังอยู่ได้ด้วยปัจจัย

และเพราะเป็นมูลของโรค

คณฺฑโต - โดยอาการชื่อว่าเป็นฝี เพราะความเป็นสิ่งอันประกอบ

ด้วยความปวดคือความเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ไหลออกแห่งหนองคือ

กิเลส และเพราะบวมขึ้น แก่เข้า และแตก ด้วยความเกิดขึ้น ความแก่

และความสลายไป

สลฺลโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นลูกศร เพราะเป็นสิ่งยังความเจ็บ

ให้เกิด เพราะทิ่มแทงอยู่ภายใน และเพราะพึงชักออกได้ยาก๑

อฆโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นของชั่ว เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความ

ติเตียน (แห่งอริยชน) เพราะนำความไม่งอกงามมาให้ และเพราะ

เป็นพื้นที่สำหรับของชั่ว

อาพาธโต-โดยอาการชื่อว่าอาพาธ เพราะเป็นสิ่งยังความไม่เป็น

เสรีให้เกิด๒ และเพราะเป็นปทัสถานแห่งความเจ็บไข้

ปรโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นฝ่ายอื่น เพราะไม่อยู่ในอำนาจ และ

เพราะไม่เชื่อฟัง

ปโลกโต-โดยอาการชื่อว่าทลาย เพราะพังไปด้วยพยาธิชรา

มรณะ

อีติโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นจัญไร เพราะนำความโชคร้ายมาให้

เป็นอเนก

๑. มหาฎีกาว่า เพราะเว้นคีมคืออริยมรรคเสีย เป็นไม่อาจชักออกได้

๒. มหาฎีกาว่า เพราะต้องเนื่องด้วยคนอื่น เหมือนคนไข้ต้องอาศัยคนอื่นช่วยป้อนและประคอง

ลุกนั่งเป็นต้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 57

อุปทฺทวโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นอุบาทว์ เพราะเป็นพื้นที่สำหรับ

อุบาทว์ทั้งปวง เหตุนำมาซึ่งอนัตถผลใหญ่ ๆ ที่ไม่รู้ (คือไม่ได้คาด

คิดไว้) เลย

ภยโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นภัย เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งภัยทั้งปวง

และเพราะเป็นฝ่ายตรงข้ามต่ออบรมอัสสาสะ (ความโล่งใจอย่างยอด-

เยี่ยง) ที่ได้แก่ความสงบทุกข์

อุปสคฺคโต-โดยอาการชื่อว่าเป็นอุปสรรค เพราะถูกอนัตถะหลาย

อย่างพัวพัน เพราะถูกสิ่งที่เป็นโทษขัดขวาง และเพราะควรแก่อัน

ไม่พึงรับเอา ดังอุปสรรค

จลโต-โดยอาการชื่อว่าไหว เพราะหวั่นไหวด้วยพยาธิชรามรณะ

และด้วยโลกธรรมทั้งหลายมีลาภะและเสื่อมลาภเป็นต้น

ปภงฺคุโต-โดยอาการชื่อว่าแตกสลาย เพราะมีปกติเข้าถึงความ

แตกสลาย โดยการกระทำ (ของตนหรือคนอื่น) บ้าง โดยเป็นเองบ้าง

อทฺธุวโต-โดยอาการชื่อว่าไม่คงทน เพราะมีปกติตกไปได้ทุกรุ่น

และเพราะไม่มีเสถียรภาพ

อตาณโต-โดยอาการชื่อว่าไม่มีที่ต้านทาน เพราะไม่มีที่คุ้มครอง

และเพราะหารความปลอดภัยมิได้

อเลณโต-โดยอาการชื่อว่าไม่มีที่ต้านทาน เพราะไม่มีที่คุ้มครอง

และเพราะหาความปลอดภัยมิได้

อเลณโต-โดยอาการชื่อว่าไม่มีที่กำบัง เพราะไม่มีที่ลับพอจะหลบ

ซ่อนได้ และเพราะไม่ทำหน้าที่กำบังให้แม้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้ซ่อนตัวอยู่

อสรณโต-โดยอาการชื่อว่าไม่มีที่พึ่ง เพราะไม่มีความเป็นที่

กำจัดภัยให้แก่ผู้อาศัยทั้งหลายได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 58

ริตฺตโต โดยอาการชื่อว่าว่าง เพราะว่างจากความยั่งยืนความ

งามและความสุขตามที่คนเขลาคาดคิดเอา

ตุจฺฉโต โดยอาการชื่อว่าไม่มีแก่น เพราะเป็นของว่างนั่น

แหละ หรือว่าเพราะความเป็นของเล็กน้อยก็ได้ ด้วยว่าแม้ของเล็กน้อย

เขาก็เรียกกันว่าของเปล่าได้ในโลก

สุญฺญโต โดยอาการชื่อว่าสูญ เพราะว่างจากเจ้าของ ผู้

ครอง ผู้สร้าง ผู้เสวย (ผล) และผู้ดูแลรักษา

อนตฺตโต โดยอาการชื่อว่ามิใช่ตน เพราะแม้แต่ตนเองก็มิได้

เป็นเจ้าของเป็นต้น

อาทีนวโต โดยอาการชื่อว่าเป็นอาทีนพ (คือเป็นผลร้าย)

เพราะเป็นปวัติทุกข์ (ทุกข์โดยยังเป็นไป) และเพราะความที่ทุกข์

เป็นตัวโทษ๑ อีกนัยหนึ่ง บุคคลใดย่อมไปสู่ความเข็ญใจ ย่อมถึง

ซึ่งความเข็ญใจ ความเข็ญใจย่อมเป็นไปแก่บุคคลใด เหตุนี้ บุคคล

นั้นจึงชื่ออาทีนวะ คำว่า อาทีนวะนั่นเป็นคำเรียกคนเข็ญใจ แม้

ขันธ์ทั้งหลายเล่า ก็เป็นสภาพเข็ญในแท้ เหตุนั้น (จึงกล่าวได้ว่า)

โดยอาการชื่อว่าเป็นอาทีนพ เพราะเป็นเช่นกับคนเข็ญใจ๒

๑. มหาฏกาชักพระบาลรมาอ้างว่า ยํ ภิกฺขฌว ปญฺจุปานกฺขนฺธา ทุกฺขา วิปริณามธมฺมา

อยํ ภิกฺขเว ปญฺจุปาทานกฺขนฺเธสุ อาทีนโว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

มีอันแปรไปเป็นธรรมดาอันใด อันนี้เป็นโทษในอุปทานขันธ์ ๕

๒. นัยหลังนี้ อาทีนว ท่านวิเคราะห์เป็น ที ธาตุ ในความสิ้น อา บนหน้า มีอรรถว่ายิ่ง ว. คือ

วา ธาตุ ในความไป ถึง เป็นไป รูปสิทธิเป็น อาทีนว แปลว่า ถึงความสิ้นยิ่ง (ตรงสำนวนของ

เราว่าสิ้นเนื้อประดาตัว) ในที่นี้เอาความว่าเข็ญใจ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 59

วิปริณามธมฺมโต โดยอาการชื่อว่ามีความแปรไปเป็นธรรมดา

เพราะมีความเปลี่ยนไปเป็นปกติโดยอาการ ๒ คือโดยชราและโยมรณะ๑

อสารกโต โดยอาการชื่อว่าไม่มีแก่น เพราะเป็นสิ่งอ่อนแอ

และเพราะเป็นสิ่งพึงหักได้ง่ายเหมือนไม่กระพี้

อฆมูลโต โดยอาการชื่อว่าเป็นมูลแห่งความลำบาก เพราะ

เป็นเหตุแห่งความทุกข์ยาก

วธกโต โดยอาการชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า เพราะมักทำลายความไว้

วางใจเสีย ดุจศัตรูผู้มีหน้าเป็นมิตร๒

วิภวโต โดยอาการชื่อว่าเสื่อม เพราะปราศจากความเจริญและ

เพราะเป็นตัวเสื่อม

สาสวโต โดยอาการชื่อว่าเป็นสังขตะ เพราะเป็นสิ่งที่เหตุปัจจัย

ปรุงแต่ขึ้น

มารามิสโต โดยอาการชื่อว่าเป็นเหยื่อมาร เพราะเป็นเหยื่อ

ของมัจจุมารและกิเลสมาร

๑. มหาฎีกาว่า วิ ศัพท์หน้า ปริฌาม นี้ ใช้ในอรรถแห่งทวิศัพท์ มีความหมายว่าแยกเป็น ๒

เช่นเดียวกับศัพท์ วิจิฉิทฺทกํ ก็มีความหมายว่า ขาดออกเป็น ๒ ท่อน ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ในที่นี้ท่าน

จึงแก้วิปริฌามว่า เปลี่ยนไปโดยอาการ ๒

๒. อธิบายว่า ใครวางใจในเบญจขันธ์ว่าเป็นเหตุให้เกิดสุข ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ดอก เป็นเหลว

หมด เหมือนวางใจในศัตรูที่ตีหน้าเป็นมิตร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 60

ชาติชราพฺยาธิมรณธมฺมโต โดยอาการชื่อว่า มีชาติ... ชรา...

พยาธิ... มรณะเป็นธรรมดา เพราะมีความเกิด... ความแก่...

ความเจ็บไข้... ความตายเป็นปกติ

โสกปริเทวอุปายาสธมฺมโต โดยอาการชื่อว่า มีโสกะ...

ปริเทวะ...อุปยาสเป็นธรรมดา เพราะมีความเศร้าโศก... ความ

คร่ำครวญ... ความคับแค้นในเป็นปกติ

สงฺกิเลสิกธมฺมโต โดยอาการชื่อว่าเป็นสิ่งมีความเศร้าหมอง

เป็นธรรมดา เพราะมีความเป็นวิสัย (คือเป็นแดน หรือเป็นอารมณ์)

แห่งสังกิเลส คือ ตัณหา ทิฏฐิ และทุจริตเป็นธรรมดา๑

[รวมสัมมสนะ ๔๐ ลงในอนุปัสนา ๓]

ก็แลในสัมมสนะ ๔๐ นี้ สัมมสนะโดยอาการ ๑๐ คือ โดยอาการ

ไม่เที่ยง โดยอาการทลาย โดยอาการไหว โดยอาการแตกสลาย

โดยอาการไม่คงคน โดยอาการมีความแปรไปเป็นธรรมดา โดยอาการ

ไม่มีแก่น๒ โดยอาการเสื่อม โดยอาการเป็นสังขตะ โดยอาการมีมรณะ

เป็นธรรมดา เป็นอนิจจานุปัสสนา ๕๐ โดยทำเป็น ๑๐ ๆ ในขันธ์หนึ่ง ๆ

๑. มหาฎีกาอธิบายแถมว่า กินความถึงความเศร้าหมอง ความไม่สะอาดแห่งร่างกายด้วย

๒. อสารกโต-โดยอาการไม่มีแก่น น่าจะเป็นอนัตตานุปัสสนา เพราะในตอนก่อนก็มีกล่าวว่า

สพฺพมฺปิ ตํ อนตฺตา อสารกฏฺเฐน สิ่งทั้งปวงนั้นชื่อว่าเป็นอนัตตรเพราะคือไม่มีแก่น คือไม่มี

ตัวตน แต่ที่ตรงนี้ทานเปลี่ยนอธิบายว่า เพราะเป็นของอ่อนแอและหักง่าย เหมือนไม้กระพี้ ให้เข้า

ลักษณะ อนิจฺจํ ก็เป็นอันว่า อสาระ อธิบายให้เป็นอนิจจลักษณะก็ได้ อนัตตลักษณะก็ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 61

สัมมสนะโดยอาการ ๕ คือ โดยอาการเป็นฝ่ายอื่น โดยอาการว่าง

โดยอาการเปล่า โดยอาการสูญ โดยอาการมิใช่ตน เป็นอนัตตานุ-

ปัสนา ๒๕ โดยทำเป็น ๕ ๆ ในขันธ์หนึ่ง ๆ

สัมมสนะที่เหลือ เป็นต้นว่า โดยอาการเป็นทุกข์ โดยอาการ

เป็นโรค เป็นทุกขานุปัสนา ๑๒๕ โดยทำเป็น ๒๕ ๆ ในขันธ์หนึ่ง ๆ แล

เมื่อพระโยคาวจรนั้นพิจารณาเบญจขันธ์ โดยอนิจจาทิสัมมสนะ

อันแยกเป็น ๒๐๐ อาการดังกล่าวมานี้อยู่ อนิจจสัมมสนะ ทุกขสัมมสนะ

และอนัตตสัมมสนะ ที่เรียกว่านยวิปัสนานั้น ย่อมจะมั่งคง

นี่เป็นวิธีทำสัมมสนะ ในอธิการแห่งสัมมสนญาณนี้ โดยดำเนิน

ตามนัยพระบาลีก่อน

[ทำอินทรีย์ให้กล้าโดยอาการ ๙]

แต่เมื่อโยคาวจรภิกษุรูปใด แม้ทำโยคะโดยนยวิปัสนาดังกล่าว

มานี้อยู่ นยวิปัสนาก็ยังไม่ถึงพร้อม* โยควจรภิกษุรูปนั้นพึงทำอินทรีย์

ให้กล้าด้วยอำนาจแห่งอาการ ๙ ที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า "อินทรีย์ทั้งหลาย

(มีสัทธินทรีย์เป็นต้น) ย่อมกล้าแข้งด้วยอาการ ๙ คือ ดูแต่ความสิ้นไป

แห่งสังขารทั้งหลายที่เกิด ๆ ขึ้นถ่ายเดียว ๑ ในการดูความสิ้นนั้น

ยังวิปัสนาญาณให้ถึงพร้อมโดยสาตัจจกิริยา (ทำติดต่อ) ๑ ยังวิปัสนา-

ญาณให้ถึงพร้อมโดยสัปปายกิริยา (ทำอย่างสบาย คือเสพสัปปายะทั้ง ๗

* มหาฎีกาอธิบายว่า อุทยัพพยญาณไม่เกิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 62

มีอาวาสสัปปายะเป็นต้น ) ๑ ยังวิปัสนาญาณให้ถึงพร้อม โดยจับนิมิต

ของสมาธิ (ในวิปัสนา) ให้ได้ ๑ ยังวิปัสนาญาณให้ถึงพร้อม

โดยกิริยาที่ยงโพชฌงค์ให้เป็นไปตามควร๑ ๑ เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความ

ไม่ไยดีในร่างกายและชีวิต ๑ ในการเข้าไปตั้งไว้ซึ่งความไม่ไยดีใน

ร่างกายและชีวิตนั้น ยังภาวนาให้ถึงพร้อมโดยข่ม (ความทุกข์ที่เกิดขึ้น)

ออกไป (เสี___________ยจากความไยดีในร่างกาย และชีวิตให้จงได้ ? ) ๑ ยัง

ภาวนาให้ถึงพร้อมโดยไม่เลิก (ภาวนา) เสียในระหว่าง ๑ แล้ว

เว้นอสัปปายะ ๗ เสพสัปปายะ ๗ โดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนิเทศ

พิจารณารูปตามกาล พิจารณาอรูปตามกาลเถิด

[รูปสัมมสนะ-พิจารณารูปตามกาล]

[ความเกิดของรูป]

พระโยคาวจรผู้จะพิจารณารูป ควรดูความเกิดของรูป ความเกิด

ของรูปนี่เป็นฉันใด ? อันรูปนี้ ย่อมเกิดแต่เหตุ ๔ ประการด้วยอำนาจ

เหตุมีกรรมเป็นต้น ในเหตุ ๔ ประการนั้น รูปของสัตว์ทั้งปวง

เมื่อเกิด ย่อมเกิดแต่กรรมเป็นปฐม๒

ก็ในปฏิสนธิขณะนั่นเอง (ว่า) สำหรับพวกครรภไสยกสัตว์

ก่อน รูป ๓๐ ที่ได้แก่วัตถุทสกะ กายทสกะ และภาวทสกะ ย่อม

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า เมื่อภาวนาจิตหดหู่ย่อหย่อน ก็เจริญปิติวิริยะและธรรมวิจยะสัม-

โพชฌงค์ ยกจิตขึ้น เมื่อภาวนาจิตฟุ้งซ่าน ก็เจริญปัสสสัทธิสมาธิและอุเบกขาสัมโพชฌงค์ข่มจิตไว้

๒. มหาฎีกาว่า เพราะรูปอื่นมีอุตุชรูปเป็นต้น ก็มีกรรมชรูปนั้นเป็นมูล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 63

เกิดด้วยอำนาจสันตติ ๓ อันรูปเหล่านั้นแล ก็เกิดในอุปปาทขณะ

แห่งปฏิสนธิจิตนั่นเอง และแม้ในฐิติขณะ แม้ในภังคขณะ ก็ฉันเดียว

กันกับในอุปปาทขณะเหมือนกัน ในรูปและจิตนั้น รูปเป็นธรรมชาต

ดับช้า เปลี่ยนหนัก จิตเป็นธรรมชาตดับพลัน เปลี่ยนเร็ว เพราะ

เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็น

ธรรมอื่นสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนเร็วเหมือนดังจิตนี้เลย๑" ดังนี้

เพราะเมื่อรูปยังทรงอยู่นั่นแล ภวังคจิตเกิดแล้วดังไปถึง ๑๖ ครั้ง

แม้อุปปทาทขณะ แม้ฐิติขณะ แม้ภังคขณะแห่งจิตก็เป็นเช่นเดียวกัน

แต่อุปปทานขณะและภังคขณะของรูปนั่นแหละ เป็นขณะเร็ว เช่น

เดียวกันกับอุปปาทขณะและภังคขณะของจิตนั้น๒ ส่วนฐิติขณะ (ของ

รูป) เป็นขณะใหญ่ ย่อมเป็นไปเท่าเวลา จิต ๑๖ ดวงเกิดแล้วดับไป

ภวังคจิตดวงที่ ๒ ย่อมอาศัยวัตถุรูปอันเกิดก่อน ที่เกิดขึ้นในอุปปทา-

ขณะแห่งปฏิสนธิจิต ถึงความตั้งอยู่ (คือถึงฐิติขณะ) แล้ว เกิดขึ้น

ภวังคจิตดวงที่ ๓ ย่อมอาศัยวัตถุรูปอันเกิดก่อน ที่เกิดขึ้นพร้อมกับ

ภวังคจิตดวงที่ ๒ นั้น ถึงความตั้งอยู่แล้ว เกิดขึ้น ๓ ความเป็นไป

แห่งจิตจนตลอดอายุ พึงทราบโดยนัยนี้เทอญ

๑. องฺ. เอก. ๒๐/๑๑

๒. มหาฎีกาอธิบายว่า ระยะกาลแห่งอุปปาทขณะ และภังคขณะของสังขารทั้งปวง ไม่แปลกกัน

คือเป็นขณะเร็วเสมอกัน

๓. มหาฎีกาอธิบายว่า วัตถุรูปเป็นที่อาศัยของจิตดวงหนึ่งแล้ว ย่อมไม่เป็นที่อาศัยของจิตดวงอื่น เว้น

แต่มรณาสัน (ที่จะกล่าวต่อไปนั้น) เพราะฉะนั้นจึงว่า...วัตถุรูป...ที่เกิดพร้อมกับภวังคจิตดวง

ที่ ๒ ... (เป็นอีกอันหนึ่ง)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 64

แต่สำหรับสัตว์ผู้ใกล้มรณะ จิต ๑๖ ดวง อาศัยวัตถุรูปอันเกิด

ก่อนถึงความตั้งอยู่แล้วอันเดียวนั่นแหละ เกิดขึ้นได้ รูปที่เกิดในอุป-

ปาทขระแห่งปฏิสนธิจิต ย่อมดับไปพร้อมกับจิตดวงที่ ๑๖ ต่อแต่

ปฏิสนธิจิตไป รูปที่เกิดใยฐานขณะ (คือฐิติขณะ) แห่งปฏิสนธิจิต

ย่อมดับไปพร้อมกับอุปปาทขณะแห่งจิตดวงที่ ๑๗ รูปที่เกิดในภังค-

ขณะแห่งปฏิสนธิจิต ถึงฐานขณะแห่งจิตดวงที่ ๑๗ ย่อมดับ ชื่อว่า

ปวัตติ (ความหมุนไปแห่งสังสารจักร ?) ยังมีอยู่ตราบใด รูปก็ย่อม

เป็นไปอย่างนี้อยู่ตาบนั้นแหละ

แม้สำหรับจำพวกโอปปาติกสัตว์ รูป ๗๐ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจ

สันตติ ๗ อย่างนั้นเหมือนกัน

[วิภาคแห่งกรรมชรูป]

ในความเป็นไปแห่งรูปที่เกิดแต่กรรมนั้น บัณฑิตพึงทราบวิภาค

(ดัง) นี้ คือ (ตัว) กรรม (๑) รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน (๑)

รูปที่มีกรรมเป็นปัจจัย (๑) รูปที่มีจิตอันมีกรรมเป็นปัจจัยเป็นสมุฏ-

ฐาน (๑) รูปที่มีอาหารอันมีกรรมเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑)

รูปที่มีฤดูอันมีกรรมเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑)

ในวิภาคเหล่านั้น กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ชื่อว่ากรรม

วิภาคขันธ์ทั้งหลาย และรูป ๗๐ ถ้วน มีจักขุทสกะเป็นต้น

ชื่อว่ารูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน

วิบากขันธ์และรูป ๗๐ นั้นแหละ ชื่อว่ารูปมีกรรมเป็นปัจจัย ด้วย

ว่ากรรมย่อมเป็นอุปถัมภกปัจจัยแห่งรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 65

รูปที่มีวิบากจิตเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่ารูปมีจิตอันมีกรรมเป็นปัจจัย

เป็นสมุฏฐาน

โอชา (รูป) ที่ถึงความตั้งอยู่แล้วในรูปอันมีกรรมเป็นสมุฏฐาน

ทั้งหลาย ย่อมยังโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น โอชาในโอชัฏฐมกรูปนั้น

เล่า ที่ถึงความตั้งอยู่แล้วก็ยังโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความ

เป็นไป ๔ หรือ ๕ ทอดโดยนัยดังกล่าวมาฉะนั้น ชื่อว่ารูปมีอาหาร

อันมีกรรมเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

เตโชธาตุที่เกิดแต่กรรมอันถึงความตั้งอยู่แล้ว ย่อมยังโอชัฏฐมก-

รูปซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐานให้ตั้งขึ้น ฤดูในโอชัฏฐมกรูปนั้นเล่า ก็ยัง

โอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไป ๔ หรือ ๕ ทอดโดยนัย

ดังกล่าวมาฉะนี้ ชื่อว่ารูปมีฤดูอันมีกรรมเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

ความเกิดแห่งกรรมชรูป บัณฑิตพึงเห็นดังกล่าวมาฉะนี้ เป็น

อันดับแรก

[วิภาคแห่งจิตตชรูป]

แม้ในจิตตชรูปทั้งหลาย ก็พึงทราบวิภาค (ดัง) นี้ คือ (ตัว)

จิต (๑) รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน (๑) รูปที่จิตเป็นปัจจัย (๑)

รูปที่มีอาหารอันมีจิตเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑) รูปที่มีฤดูอันมีจิต

เป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑)

ในวิภาคเหล่านั้น จิต ๘๙ ดวง ชื่อว่าจิต ในจิตเหล่านั้น

จิต ๓๒ (ส่วน ๑) จิต ๒๖ (ส่วน ๑) จิต ๑๙

(ส่วน ๑) จิต ๑ต (ส่วน ๑) บัณฑิตทราบว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 66

เป็นจิตยังรูป อิริยาบถ และวิญญัติ ให้เกิด (ก็มี)

ไม่ยังรูป อิริยาบถ และวิญญัติ ให้เกิด (ก็มี)

ขยายความว่า โดยกามาวจรจิต จิต ๓๒ คือ กุศลจิต ๘

อกุศลจิต ๑๒ กิริยาจิต ๑๐ เว้นมโนธาตุ อภิญญาจิต ๒ โดยเป็นกุศล

และกิริยา ยังรูป อิริยาบถ และวิญญัติให้เกิดได้

จิต ๒๖ คือ กามาวจรจิต ๑๐ ที่เหลือ เว้นวิบากจิต อรูปาวจร-

จิต ๘ ทั้งโลกุตรจิตอีก ๘ ยังรูปและอิริยาบถให้เกิดได้ (แต่) ไม่ยัง

วิญญัติให้เกิด

จิต ๑๙ คือ ภวังคจิต ๑๐ ในกามาวจร ภวังคจิต ๕ ในรูปาวจร

มโนธาตุ ๓ อเหตุกมโนวิญญาณธาตุฝ่ายวิบาก เป็นโสมนัสสหรคต ๑

ยังรูปอย่างเดียวให้เกิด ไม่ยังอิริยาบถให้เกิด ไม่ยังวิญญัติให้เกิด

จิต ๑๖ คือ ปัญจวิญญาณ ๒ (เป็น ๑๐) ปฏิสนธิจิตของสัตว์

ทั้งปวง (๑) จุติจิตของพระขีณาสพทั้งหลาย (๑) อารูปวิบากจิต ๔

ไม่ยังรูปให้เกิด ไม่ยังอิริยาบถให้เกิด ไม่ยังวิญญัติให้เกิดเลย

อนึ่ง ในจิตเหล่านี้ จิตเหล่าใดยังรูปให้เกิดได้ จิตเหล่านั้นก็มิ

ได้*ยังรูปให้เกิดในฐิติขณะ หรือ ภังคขณะ เพราะจิตในขณะ (ทั้งสอง)

นั้นเป็นจิตอ่อนกำลัง แต่จิตในอุปปาทขณะเป็นจิตมีกำลัง เพราะเหตุนั้น

จิตนั้นอาศัยวัตถุรูปอันเกิดก่อนในขณะนั้น จึงยังรูปให้เกิดได้

อรูปขันธ์ ๓ และรูป ๑๗ อย่าง คือ สัททนวกรูป (นับ ๙)

กายวิญญัติ วจีวิญญัติ อากาสธาตุ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา อุปจยะ

* ปาฐะเป็น นตฺถิ แต่ในมหาฎีกาเป็น น. เป็นว่าปาฐะมหาฎีกาดีกว่า เพราะแปลได้ความ

ดังที่แปลไว้นี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 67

สันตติ ชื่อว่ารูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน

รูปมีสมุฏฐาน ๔ ที่กล่าวไว้ดังนี้ว่า "จิตเจตสิกธรรมทั้งหลายอัน

เกิดภายหลัง ย่อมเป็นปัจจัย โดยเป็นปัจฉาชาตปัจจัย แห่งกายนี้อันเกิด

ก่อน*" ชื่อว่ารูปมีจิตเป็นปัจจัย

โอชารูปอันถึงความตั้งอยู่แล้วในรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานทั้งหลาย

ยังโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไปโดยนัยดังนี้ ๒-๓ ทอด

ชื่อว่ารูปมีอาหารอันมีจิตเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

ฤดูที่มีจิตเป็นสมุฏฐานถึงความตั้งอยู่แล้ว ยังโอชัฏฐมกรูปอื่นให้

ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไปโดยนัยดังนี้ ๒-๓ ทอด ชื่อว่ารูปมีฤดูที่มี

จิตเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

ความเกิดแห่งจิตตชรูป บัณฑิตพึงเห็นดังกล่าวมาฉะนี้

[วิภาคแห่งอาหารชรูป]

แม้ในอาหารชรูปทั้งหลาย ก็พึงทราบวิภาค (ดัง) นี้ คือ (ตัว)

อาหาร (๑) รูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน (๑) รูปที่มีอาหารเป็นปัจจัย

(๑) รูปที่มีอาหารอันมีอาหาร (ด้วยกัน) เป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑)

รูปที่มีฤดูอันมีอาหารเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑)

ในวิภาคเหล่านั้น กพฬิงการาหาร ชื่อว่าอาหาร

รูป ๑๔ อย่าง คือ โอชัฏฐมกรูป ที่โอชาอันได้กรรมชรูปมี

ใจครองเป็นปัจจัยแล้วตั้งอยู่ในกรรมชรูปนั้น ถึงความตั้งอยู่แล้ว ให้ตั้ง

ขึ้น (นับ ๘) อากาสธาตุ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา อุปจยะ สัตติ

* อภิ. ป. ๔๐/๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 68

ชื่อว่ารูปมีอาหารเป็นสมุฏฐาน

รูปมีสมุฏฐาน ๔ ที่กล่าวไว้ ดังนี้ว่า "กพฬิงการาหารเป็นปัจจัย

โดยเป็นอาหารปัจจัยแห่งกายนี้ *" ชื่อว่ารูปมีอาหารเป็นปัจจัย

โอชาที่ถึงความตั้งอยู่แล้วในรูปอันมีอาหารเป็นสมุฏฐานทั้งหลาย

ย่อมยังโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น โอชาในโอชัฏฐมกรูปนั้นเล่า ก็ยัง

โอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น สืบต่อความเป็นไป ๑๐ ถึง ๑๒ ทอด โดย

นัยดังกล่าวมาฉะนี้ ชื่อว่ารูปมีอาหารอันมีอาหาร (ด้วยกัน) เป็นปัจจัย

เป็นสมุฏฐาน (ด้วยว่า) อาหารที่บริโภคเข้าไปในวันหนึ่ง ย่อม

อุดหนุน (รูป) อยู่ได้ถึงสัปดาหะหนึ่ง ส่วนโอชาที่เป็นทิพย์อุดหนุน

(รูป) อยู่ได้เดือนหนึ่งถึงสองเดือน แม้อาหารที่มารดาบริโภคเข้า

ไปก็แผ่ไปถึงสรีระของทารก (ในครรภ์) ยังรูป (ของทารก) ให้ตั้ง

ขึ้นได้ แม้แต่อาหารอันทาไว้ที่สรีระก็ยังรูปให้ตั้งขึ้นได้ (อาหาร

ที่กล่าวมานี้เป็นอนุปาทินนกะ ต่อไปนี้ กล่าวอาหารที่เป็นอุปาทินนกะ?)

อาหารที่เกิดแต่กรรม ชื่อว่าอุปาทินนกาหาร แม้อุปาทินนกาหาร

นั้น ที่ถึงความตั้งอยู่แล้วย่อมยังรูปให้ตั้งขึ้น โอชาในรูปนั้นเล่าก็ยังรูป

อื่นให้ตั้งขึ้นต่อไป สืบต่อความเป็นไป ๔ หรือ ๕ ทอด โดยนัยดัง

กล่าวมาฉะนี้ ก็ชื่อว่ารูปมีอาหารอันมีอาหาร (ด้วยกัน) เป็นปัจจัยเป็น

สมุฏฐาน

เตโชธาตุที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน ถึงความตั้งอยู่แล้ว ย่อมยัง

โอชัฏฐมกรูปอันมีฤดูเป็นสมุฏฐานให้ตั้งขึ้น ชื่อว่ารูปมีฤดูอันมีอาหาร

* อภิ. ป. ๔๐/๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 69

เป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

ในสมุฏฐานเหล่านั้น อาหารที่เป็นปัจจัยแห่งรูปที่มีอาหารเป็น

สมุฏฐานทั้งหลายโดยเป็นสภาพผู้ให้เกิด เป็นปัจจัยแห่งรูปที่เหลือ (คือ

รูปที่มีกรรม จิต ฤดู เป็นสมุฏฐาน) โดยเป็นนิสสยปัจจัย อาหารปัจจัย

อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แล

ความเกิดแห่งอาหารชรูป บัณฑิตพึงเห็น ดังกล่าวมาฉะนี้

[วิภาคแห่งอุตุชรูป]

แม้ในอุตุชรูปทั้งหลาย ก็พึงทราบวิภาค (ดัง) นี้ คือ (ตัว)

ฤดู (๑) รูปที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน (๑) รูปที่มีฤดูเป็นปัจจัย (๑)

รูปที่มีฤดูอันมีฤดู (ด้วยกัน) เป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑) รูปที่มี

อาหารอันมีฤดูเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน (๑)

ในวิภาคเหล่านี้ เตโชธาตุอันมีสมุฏฐาน ๔ ชื่อว่าฤดู ก็ฤดู

นั้นมี ๒ อย่าง ดังนี้ คือ อุณหอุตุ-ฤดูอุ่น สีตอุตุ-ฤดูเย็น

ฤดูอันมีสมุฏฐาน ๔ ได้อุปาทินนกรูปเป็นปัจจัย ถึงความตั้งอยู่

แล้วย่อมยังรูปให้ตั้งขึ้นในสรีระ (รูปนั้น) ชื่อว่ารูปมีฤดูเป็นสมุฏฐาน

รูปมีฤดูเป็นสมุฏฐานนั้นมี ๑๕ อย่าง (คือ สัททนวกรูป (นับ ๙

อากาสธาตุ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา อุปจยะ สันตติ

ฤดูย่อมเป็นปัจจัยแห่งความเป็นไปและความฉิบหาย ของรูปที่

ประกอบด้วยสมุฏฐาน ๔ ทั้งหลาย (รูปที่ประกอบด้วยสมุฏฐาน ๔

นั้น) ชื่อว่ารูปมีฤดูเป็นปัจจัย

เตโชธาตุที่มีฤดูเป็นสมุฏฐานถึงความตั้งอยู่แล้ว ย่อมยังโอชัฏ-

ฐมกรูปอื่นให้ตั้งขึ้น ฤดูในโอชัฏฐมกรูปนั้นเล่าก็ยังโอชัฏมกรูปอื่น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 70

ให้ตั้งขึ้น (ต่อไปอีก) รูปมีฤดูเป็นสมุฏฐาน แม้ตั้งอยู่ในฝ่ายอนุปาทินน-

กรูปแล้วก็ยังเป็นไปอยู่นั่นแม้นาน ๆ ก็ได้* โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ ชื่อ

ว่ารูปมีฤดูอันมีฤดู (ด้วยกัน) เป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

โอชาอันมีฤดูเป็นสมุฏฐานถึงความตั้งอยู่แล้ว ย่อมยังโอชัฏฐมก-

รูปอื่นให้ตั้งขึ้น โอชาใจโอชัฏฐมกรูปนั้นเล่า ก็ยังโอชัฏฐมกรูปอื่นให้ตั้ง

ขึ้น (ต่อไปอีก) สืบต่อความเป็นไป ๑๐ ถึง ๑๒ ทอด โดยนับดังกล่าว

ฉะนี้ ชื่อว่ารูปมีอาหารอันมีฤดูเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

ในสมุฏฐานเหล่านั้น ฤดูนี้เป็นปัจจัยแห่งรูปที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน

ทั้งหลาย โดยเป็นสภาพผู้ให้เกิด เป็นปัจจัยแห่งรูปที่เหลือ (คือ รูปที่มี

กรรม จิต อาหาร เป็นสมุฏฐาน) โดยเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และ

อวิคตปัจจัยแล ความเกิดแห่งอุตุชรูป บัณฑิตพึงเห็นดังกล่าวมาฉะนี้

พระโยคมวจรดูความเกิดของรูปโดยนัยดังนี้แล ชื่อว่าพิจาร-

ณารูปตามกาล

[อรูปสัมมสนะ-พิจารณาอรูปตามกาล]

อนึ่ง ความเกิดแห่งรูป พระโยคาวจรผู้พิจารณาดูรูปพึงเห็นได้

ฉันใด ความเกิดแห่งอรูป แม้พระโยคาวจรผู้พิจารณาดูอรูป ก็พึงเห็น

ได้ฉันนั้น ก็แลความเกิดแห่งอรูปนั้น พึงเห็นได้ด้วยอำนาจโลกิยจิตตุ-

บาท ๘๑ ดวงนั่นเทียว โลกิยจิตตุบาทนี้อย่างไร ? อันอรูปนี้ ชั้นแรก

เกิดเป็นจิตตุบาท ๑๙ ประเภท ในปฏิสนธิ ด้วยอำนาจกรรมที่สั่งสมไว้

* เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน ในซากศพ ได้ฤดูอันเป็นสภาคเป็นปัจจัย ก็ยังเป็นไปได้นาน (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 71

ในภพก่อน ก็แลอาการเกิดแห่งอรูปนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว

ในปฏิจสมุบาทนิเทศนั่นเถิด อรูป (คือจิต ๑๙ ประเภท) นั่นแล

ตั้งแต่จิตอันเป็นลำดับแห่งปฏิสนธิจิตไปย่อมเกิดด้วยอำนาจแห่งภวังค

(คือ เป็นภวังคจิต) ในที่สุดอายุ ย่อมเกิดด้วยอำนาจจุติ (คือเป็น

จุติจิต) ในจิตเหล่านั้น จิตใดเป็นกามาวจร จิตนั้นย่อมเกิดในอารมณ์

อันมีกำลังในทวาร ๖ ด้วยอำนาจตทารัมณะ (คือเป็นตทารัมณจิต)

ส่วนในปวัตกาล เพราะจักษุยังไม่ทำลาย เพราะรูปทั้งหลายมาสู่คลอง

(แห่งจักษุ) จักษุวิญญาณอันอาศัยแสงสว่างมีมนสิการเป็นเหตุ ย่อม

เกิดพร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลาย จริงอยู่ ในฐิติขณะแห่งจักษุประสาท

รูปที่ถึงความตั้งอยู่เหมือนกัน*ย่อมกระทบจักษุได้ ครั้นจักษุนั้นถูก

กระทบแล้ว ภวังคเกิดขึ้นดับไป ๒ วาระ ต่อนั้นกิริยามโนธาตุ ยัง

อาวัชนกิจให้สำเร็จเกิดขึ้นในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ลำดับนั้น จักษุ-

วิญญาณเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบากก็ตาม เพ่งรูปนั้นแหละเกิดขึ้น

แต่นั้นวิบากมโนธาตุก็รับเอารูปนั้นแหละเกิดขึ้น (เป็นสัมปฏิจฉนะ)

ต่อไป วิบากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุตรวจรูปนั่นแหละเกิดขึ้น

(เป็นสันตีรณะ) ถัดไป กิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ เป็นอุบกขา-

สหรคต กำหนดเอารูปนั้นแหละเกิดขึ้น (เป็นโวฏฐัพนะ) ต่อไปนั้น

บรรดากุศลจิต อกูศลจิต และกิริยาจิตฝ่ายกามาวจรทั้งหลาย จิตเป็น

อเหตุกะ อุเบกขาสหรคตดวง ๑ หรือชวนะ ๕ ถึง ๗ ดวง เกิดขึ้น ต่อนั้น

* หมายความว่า รูปในอุปปาทขณะ และ ภังคขณะ หาเป็นปัจจัยของอะไรได้ไม่ เป็นได้แต่

ในฐิติขณะเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 72

บรรดาตทารัมณจิต ๑๑ ดวง แห่งกามาวจรจิตทั้งหลาย ตทารัมณจิต

ดวงใดดวงหนึ่ง อันคู่ควรแก่ชวนะก็เกิดขึ้นแล แม้ในทวารที่เหลือ

(มีโสตทวารเป็นต้น) ก็นัยนี้ แต่ว่าในมโนทวาร แม้มหรคตจิต

ทั้งหลายก็เกิดขึ้นได้แล ความเกิดแห่งอรูปในทวาร ๖ บัณฑิตพึง

เห็นดังกล่าวมาฉะนี้

พระโยคาวจรดูความเกิดแห่งอรูปโดยนัยดังกล่าวมานี้แล ชื่อว่า

พิจารณาอรูปตามกาล

พระโยคาวจรผู้หนึ่ง แม้พิจารณารูปตามกาล (พิจารณา) อรูป

ตามกาล ดังกล่าวมานี้แล้วยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ปฏิบัติไปโดยลำดับอยู่ ก็

ยังปัญญาภาวนาให้ถึงพร้อมได้

[พิจารณารูปและอรูปโดยอาการ ๗]

พระโยคาวจรอีกผู้หนึ่ง พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยยกขึ้นสู่

ไตรลักษณ์ทางรูปสัตตกะ (มนสิการโดยอาการ ๗ ในรูป) และ

อรูปสัตตกะ (มนสิการโดยอาการ ๗ ในอรูป)

[รูปสัตตกะ]

ในสัตตกะ ๒ อย่างนั้น พระโยคาวจรเมื่อพิจารณายกขึ้น (สู่

ไตรลักษณ์) โดยอาการเหล่านี้ คือ

อาทานนิกฺเขปนโต โดยการถือเอาและทอดทิ้งไป

วโยวุฑฺฌตฺถคมโต โดยการตกไปแห่งรูปอันเติบขึ้น

ตามวัย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 73

อาหารมยโต โดยเป็นรูปสำเร็จด้วยอาหาร

อุตุมยโต โดยเป็นรูปสำเร็จด้วยฤดู

กมฺมชโต โดยเป็นรูปเกิดแต่กรรม

จิตฺตสมุฏฐานโต โดยเป็นรูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน

ธมฺมตารูปโต โดยเป็นรูปธรรมดา

ชื่อว่าพิจารณาโดยยกขึ้น (สู่ไตรลักษณ์) ด้วยอำนาจรูปสัตตกะ เหตุ

นั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ (เป็นคาถา) ว่า

"พระโยคาวจรย่อม (พิจารณา) เห็นแจ้งอย่างกว้าง

ขวาง (โดยอาการ) ๗ คือ โดยการถือเอาและทอด

ทิ้งไป ๑ โดยความตกไปแห่งรูปอันเติบขึ้นตาม

วัย ๑ โดยอาหาร (เป็นปัจจัย) ๑ โดยฤดู (เป็น

ปัจจัย) ๑ โดยกรรม (เป็นปัจจัย) ๑ โดยจิต

(เป็นปัจจัย) ๑ โดยเป็นรูปธรรมดา ๑"

[ขยายความ]

[อาทานนิกฺเขปนโต]

ในบทเหล่านั้น บทว่าอาทาน-ถือเอา ได้แก่ปฏิสนธิ บทว่า

นิกเขปน-ทอดทิ้งไป ได้แก่จุติ พระโยคาวจรกำหนด (ตัดตอน)

ร้อยปีหนึ่งด้วย การถือเอาและทอดทิ้ง ไปนี้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในสังขาร

(คือรูปธรรม) ทั้งหลายดังนี้ คืออย่างไร ? คือ สังขารทั้งปวง ใน

ระหว่างการถือเอาและการทอดทิ้งไปนี้ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอะไร ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 74

เพราะเป็นไปด้วยอำนาจความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เพราะเปลี่ยน

แปลงได้ เพราะเป็นของชั่วคราว และเพราะแย้งต่อความเที่ยง อนึ่ง

เหตุใดสังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความตั้งอยู่ ใน (ขณะ) ตั้ง

อยู่ ย่อมลำบากด้วยชรา ถึงชราแล้วก็จะแตกแน่แท้ เหตุนั้น สังขาร

ทั้งหลายนั้นจึงชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเบียดเบียนเนือง ๆ มาจนบัดเดี๋ยวนี้

เพราะลำบาก* เพราะทนยาก เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ และเพราะ

แย้งต่อความสุข อนึ่ง เหตุใดความใช้อำนาจ (บังคับ) ได้ ย่อมไม่มี

แก่ใคร ๆ ในฐานะ ๓ นี้ คือว่า "สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว จง

อย่าถึงความตั้งอยู่เลย ที่ถึงความตั้งอยู่แล้วก็จงอย่างชราเลย ที่ถึง

ชราแล้วก็จงอย่าแตกดับเลย" ดังนี้ มันว่างจากอาการใช้อำนาจนั้น

ทีเดียว เหตุนั้น สังขารทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะ

เป็นของว่างเปล่า เพราะหาเจ้าของมิได้ เพราะใช้อำนาจไม่ได้ และ

เพราะแย้งต่ออัตตา แล

[วโยวุฑฺฒตฺถคมโค]

พระโยคาวจร ครั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปที่กำหนด (ตัดตอน)

ร้อยปี ด้วยอำนาจแห่งอาทานะและนิกเขปนะอย่างนี้แล้ว ต่อนั้นไปยก

ขึ้นโดยวโยวุฑฒัตถคมะ

* ทุกฺขโต บทนี้ในฉบับสีหลและฉบันพม่าไม่มี ในมหาฎีกาก็ว่าไว้ว่า จตูหิ การเณหิ-เพราะ

เหตุ ๔ ประการ ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์และอนัตตาอย่างละ ๔ แต่ตรงนี้เป้น ๕ เห็นได้ว่า บท

ทุกฺขโต นี้เกินแน่ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นคำแก้ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 75

[ซอย ๑๐๐ ปี เป็น ๓ ส่วน]

ความตกไปแห่งรูปอันเติบขึ้น คือเจริญขึ้นด้วยอำนาจวัย ชื่อว่า

วโยวุฑฒัตถคมะ ในคำนั้น ความว่ายกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยอำนาจ

วโยวุฑฒัตถคมะนั้น ยกอย่างไร ? คือพระโยคาวจรนั้นตัดตอนร้อยปี

นั้นแหละออกด้วยวัย ๓ คือ ด้วยปฐมวัย ด้วยมัชฌิมวัย ด้วยปัจฉิมวัย

ใน ๓ วัยนั้น ๓๓ ปีแรก จัดเป็นปฐมวัน ๓๔ ปี ถัดไป จัดเป็น

มัชฌิมวัย ต่อนั้น ๓๓ ปี จัดเป็นปัจฉิมวัย ครั้นตัดตอนด้วยวัย ๓ นี้

อย่างนี้แล้ว ก็ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ (ด้วยมนสิการ) ว่า "รูปที่เป็นไป

ในปฐมวัย ก็ดับไปในปฐมวัยนั่นเอง ไม่ถึงมัชฌิมวัน เหตุนั้น รูปที่

เป็นไปในปฐมวัยนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็ชื่อว่าเป็น

ทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ชื่อว่าเป็นอนัตตา รูปที่เป็นไปในมัชฌิม-

วัยเล่า ก็ดับไปในมัชฌิมวัยนั่นเอง ไม่ถึงปัจฉิมวัย เหตุนั้น แม้รูปที่

เป็นไปในมัชฌิมวัยนั้นก็ชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ถึงรูปที่

เป็นไป ๓๓ ปี ในปัจฉิมวัย อันจะมีความสามารถ (เป็น) ไปต่อแต่

มรณะก็หามีไม่ เหตุนั้น แม้รูปที่เป็นไปในปัจฉิมวัยนั้นก็ชื่อว่าไม่เที่ยง

เป็นทุกข์เป็นอนัตตา" ดังนี้

[ซอย ๑๐๐ ปี เป็น ๑๐ ส่วน]

พระโยคาวจร ครั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ โดยวโยวุฑฒัตถมะ

ด้วยอำนาจวัยมีปฐมวันเป็นต้นอย่างนี้แล้ว ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดย

วโยวุฑฒัตถคมะ ด้วยอำนาจทสกะ ๑๐ เหล่านี้อีก คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 76

มันททสกะ ๑๐ ปีแห่งเด็กอ่อน

ขิฑฑาทสกะ ๑๐ ปีแห่งการเล่น

วัณณทสกะ ๑๐ ปีแห่งผิวพรรณ

พลทสกะ ๑๐ ปีแห่งกำลัง

ปัญญาทสกะ ๑๐ ปีแห่งปัญญา

หานิทสกะ ๑๐ ปีแห่งความเสื่อม

ปัพภารทสกะ ๑๐ ปีแห่งความค้อม

วังกทสกะ ๑๐ ปีแห่งความค่อม

โมมูหทสกะ ๑๐ ปีแห่งความหลงลืม

สยนทสกะ ๑๐ ปีแห่งความนอน

[ขยายความ]

ในทสกะเหล่านั้น ๑๐ เป็นแรกของบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี ชื่อว่า

มันททสกะก่อน ด้วยว่าในตอนนั้น บุคคลนั้นยังเป็นเด็กอ่อนซุกซนอยู่

๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อขิฑฑาทสกะ ด้วยในตอนนั้นเขามากไปด้วยความ

ยินดีในการเล่น ๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อวัณณทสกะ ด้วยในตอนนั้น ส่วน

ผิวพรรณของเขาย่อมถังความไพบูลย์ ๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อพลทสกะ

ด้วยในตอนนั้น กำลังและเรี่ยวแรงของเขา ย่อมถึงความเต็มเปี่ยม

๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อปัญญาทสกะ ด้วยตอนนั้นปัญญาของเขาย่อมมั่น

คงดี ได้ยินว่าปัญญาแม้นิดหน่อยของคนที่โดยปกติเป็นคนโง่ ก็เกิดขึ้น

ได้ในกาลนั้นเหมือนกัน ๑ ปีต่อนั้นไป ชื่อหานิทสกะ ด้วยในตอนนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 77

ความยินดีในการเล่น ผิวพรรณ กำลัง และปัญญาของเขา ย่อมเสื่อม

ถอยไป ๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อปัพภารทสกะ ด้วยในตอนนั้นร่างกาย

ของเขาย่อมค้อมไปข้างหน้า ๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อวังกทสกะ ด้วยในตอน

นั้นร่างกายของเขาย่อมค่อมลงดุจหางไถ ๑๐ ปีต่อนั้นไป ชื่อโมมูหทสกะ

ด้วยในตอนนั้นเขาเป็นคนมักหลงลืม ย่อมลืมการที่ทำ ๆ แล้ว ๑๐ ปี

ต่อนั้นไป ชื่อสยนทสกะ ด้วยคนมีอายุถึง ๑๐๐ ปีก็มากไปด้วยการนอน

นั่นแล

พระโยคีผู้นี้ ย่อมไตร่ตรองเพื่อยกขึ้นไตรสู่ไตรลักษณ์โดยวโตวุฑ-

ฒัตถคมะด้วยอำนาจทสกะเหล่านั้นในรูปนั้นว่า ดังนี้ว่า "รูปอันเป็นไป

ในทสกะแรกย่อมดับไปในทสกะแรกนั้นเอง ไม่ถึงทสกะที่ ๒ เหตุนั้น

รูปที่เป็นไปในทสกะแรกนั้น จึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา รูป

อันเป็นไปในทสกะที่ ๒ ฯลฯ รูปอันเป็นในทสกะที่ ๙ ก็ดับไปใน

ทสกะที่ ๙ นั่นเอง ไม่ถึงทสกะที่ ๑๐ ... รูปอันเป็นไปในทสกะที่ ๑๐

ก็ดับไปในทสกะที่ ๑๐ นั้นเอง ไม่ถึงภพใหม่ เหตุนั้น แม้รูปที่เป็นไป

ในทสกะที่ ๑๐ นั้นก็ชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา " เธอย่อมยก

ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ดังกล่าวมาฉะนี้

[ซอย ๑๐๐ ปี เป็น ๒๐ ส่วน]

พระโยคีนั้น ครั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดยวโยวุฑฒัตถคมะด้วย

อำนาจทสกะ ๑๐ อย่างนี้แล้ว ทำ ๑๐๐ ปีนั้นแหละให้เป็น ๒๐ ส่วน

โดยเกณฑ์ (ส่วนละ) ๕ ปี ๆ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดยวโยวุฑฒัตถมะ

อีก ยกอย่างไร ? คือพระโยคีนั้นไตร่ตรองเห็นว่าดังนี้ว่า "รูปอันเป็นไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 78

ใน ๕ ปีแรก ก็ย่อมดับไปใน ๕ ปีแรกนั้นเอง ไปถึง ๕ ปีที่ ๒ เหตุ

นั้น รูปใน ๕ ปีแรกนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา รูปอันเป็น

ไปใน ๕ ปีที่ ๒ ก็ดับไปใน ๕ ปีที่ ๒ นั้นเอง ไม่ถึง ๕ ปีที่ ๓ ฯลฯ

รูปอันเป็นไปใน ๕ ปีที่ ๑๙ ก็ดับไปใน ๕ ปีที่ ๑๙ นั้นเอง ไม่ถึง ๕ ปี

ที่ ๒๐ รูปอันเป็นไปในปีที่ ๒๐ อันจะสามารถ (เป็น) ไปต่อแต่

มรณะก็หารมีไม่ เหตุนั้น แม้รูปอันเป็นไป ๕ ปีที่ ๒๐ นั้น ก็ชื่อว่า

ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[ซอย ๑๐๐ ปี เป็น ๒๕-๓๓-๕๐-๑๐๐ส่วน]

ครั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดยวโยวุฑฌัตถคมะ ด้วยเกณฑ์ส่วน ๒๐

อย่างนี้แล้ว ทำ (๑๐๐ ปี) ให้เป็น ๒๕ ส่วน ยกขึ้นด้วยเกณฑ์ (ส่วน

ละ) ๔ ปี ๆ นัยเดียวกันนั้น ทำให้เป็น ๓๓ ส่วน ด้วยเกณฑ์ (ส่วน

ละ) ๓ ปี ๆ แล้วทำให้เป็น ๕๐ ส่วน ด้วยเกณฑ์ (ส่วนละ) ๒ ปี ๆ

แล้วทำให้เป็น ๑๐๐ ส่วน ด้วยเกณฑ์ (ส่วนละ) ๑ ปี ๆ

[ซอยปี ๑ ให้เป็น ๓ ส่วน]

แต่นั้นทำปี ๑ ๆ ให้เป็น ๓ ส่วน ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในวโย-

วุฑฒัตถคมรูปนั้น ด้วยเกณฑ์ฤดู ๓ คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน

ที่ละฤดู ยกขึ้นอย่างไร ? คือ พระโยคีนั้นไตร่ตรองเห็นดังนี้ว่า "รูป

อันเป็นไป ๔ เดือนในฤดูฝน ก็ดับไปแล้วในฤดูฝนนั้นเอง ไม่ถึงฤดู

หนาว รูปอันเป็นไป ( ๔ เดือน) ในฤดูหนาว ก็ดับไปแล้วในฤดู

หนาวนั้นเอง ไม่ถึงฤดูร้อน รูปอันเป็นไป (๔ เดือน) ในฤดูร้อน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 79

ก็ดับไปแล้วในฤดูร้อนนั้นเอง ไม่ถึงฤดูฝนอีก เหตุนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่า

ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[ซอยปี ๑ ให้เป็น ๖ ส่วน]

ครั้นยกขึ้น (โดยซอยปีเป็น ๓ ส่วน) อย่างนี้แล้ว ทำปี ๑ ให้

เป็น ๖ ส่วนอีก ยกขึ้นสู้ไตรลักษณ์ในวโยวุฑฒัตถคมรูปนั้นดังนี้ว่า

"รูปอันเป็นไป ๒ เดือนในฤดูวัสสานะ ก็ดับไปในฤดูวัสสานะนั้นเอง

ไม่ถึงฤดูสรทะ (สารท) รูปอันเป็นไป (๒ เดือน) ในฤดูสรทะ ก็ดับ

ไปฤดูเหมันตะ ก็ดับไปในฤดูเหมันตะนั้นเอง ไม่ถึงฤดูสิสิระ รูปอัน

เป็นไป (๒ เดือน) ในฤดูสิสิระ ก็ดับไปในฤดูสิสิระนั้นเอง ไม่ถึง

ฤดูวัสสันตะ รูปอันเป็นไป (๒ เดือน) ในฤดูวัสสันตะ ก็ดับไปใน

ฤดูวัสสัตะนั้นเอง ไม่ถึงฤดูคิมหะ รูปอันเป็นไป (๒ เดือน) ในฤดู

คิมหะ ก็ดับไปในฤดูคิมหะนั้นเอง ไม่ถึงฤดูวัสสานะอีก* เหตุนั้น รูป

นั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

* ฤดู ๖ นี้ มหาฎีกาช่วยแบ่งเดือนไว้ให้ทราบดังนี้ ฤดูวัสสานะ (ฝน) ได้แก่เดือนสาวนะ

(สิงหาคม) และเดือนโปฏฐปทะ (กันยายน) ฤดูสรทะ (ใบไม้ร่วง) ได้แก่เดือนอัสสยุชะ

(ตุลาคม) และเดือนกัตติกะ (พฤศจิกายน) ฤดูเหมันตะ (หิมะตก) ได้แก่เดือนมิคสิระ

(ธันวาคม) และเดือนปุสสะ (มกราคม) ฤดูสิสิระ (หนาว) ได้แก่เดือนจิตระ (เมษายน)

และเดือนผัคคุณะ (มีนาคม) ฤดูวัสสันตะ (ใบไม้ผลิ) ได้แก่เดือนจิตระ (เมษายน)

และเดือนเวสาขะ (พฤษภาคม) ฤดูคิมหะ (ร้อน) ได้แก่เดือนเชฏฐะ (มิถุนายน) และ

เดือนอาสาฬหะ (กรกฎาคม)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 80

[ซอยเดือน ๑ เป็น ๒ ส่วน]

ครั้นยกขึ้น (โดยซอยปี ๑ เป็น ๖ ส่วน) อย่างนี้แล้ว แต่นั้น

ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดยเกณฑ์ (แบ่งเดือน ๑ เป็น) ข้างแรมข้างขึ้น๑ว่า

"รูปอันเป็นไปในข้างแรม ก็ดับไปในข้างแรมนั้นเอง ไม่ถึงข้างขึ้น

รูปอันเป็นไปในข้างขึ้น ก็ดับไปในข้างขึ้นนั้นเอง ไม่ถึงข้างแรม เหตุ

นั้น รูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[ซอยวัน ๑ เป็น ๒ ส่วน]

แต่นั้น ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์โดยเกณฑ์ (แบ่งวัน ๑ เป็น) กลาง

คืนกลางวัน๒ว่า "รูปอันเป็นไปในกลางคือ ก็ดับไปในกลางคืนนั่นเอง

ไม่ถึงกลางวัน รูปอันเป็นไปในกลางวันเล่า ก็ดับไปในกลางวันนั้นเอง

ไม่ถึงกลางคืน เหตุนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[ซอยวัน ๑ เป็น ๖ ส่วน]

แต่นั้น ทำคืนและวันนั้นแหละให้เป็น ๖ ส่วน โดยเกณฑ์ส่วน

ของวันมีตอนเช้าเป็นต้น ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ว่า "รูปอันเป็นไปใน

ตอนเช้า ก็ย่อมดับไปในตอนเช้านั้นเอง ไม่ถึงตอนกลางวัน รูปอัน

เป็นไปในตอนกลางวัน ก็ดับไปในตอนกลางวันนั้นเอง ไม่ถึงตอนเย็น

รูปอันเป็นไปในยามเย็น ก็ดับไปในตอนเย็นนั้นเอง ไม่ถึงยามต้น

รูปอันเป็นไปในยามต้น ก็ดับไปในยามต้นนั้นเอง ไม่ถึงยามกลาง

รูปอันเป็นไปในยามกลาง ก็ดับไปในยามกลางนั้นเอง ไม่ถึงยามปลาย

๑-๒. ท่านนับข้างแรมเป็นต้น และนับกลางคืนเป็นต้นวัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 81

รูปอันเป็นไปในยามปลาย ก็ดับไปในยามปลายนั้นเอง ไม่ถึงตอนเช้าอีก

เหตุนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[ซอยโดยอาการ ๖ แห่งรูป]

ครั้นยกขึ้น (โดยแบ่งวันเป็น ๖ ส่วน) อย่างนี้แล้ว ยกขึ้นสู่

ไตรลักษณ์โดยเกณฑ์ (อาการ ๖ คือ) ก้าว ถอย แล เหลียว คู้ เหยียด

อีกว่า "รูปอันเป็นไปในตอนก้าว ก็ดับไปในตอนก้าวนั้นเอง ไม่ถึงตอน

ถอย รูปอันเป็นไปในตอนถอย ก็ดับไปในตอนถอยนั้นเอง ไม่ถึงตอน

แล รูปอันเป็นไปในตอนเหลียว ก็ดับไปในตอนแลนั้นเอง ไม่ถึงตอน

เหลียว รูปอันเป็นไปในตอนเหลียว ก็ดับไปในตอนเหลียวนั้นเอง ไม่

ถึงตอนคู้ รูปอันเป็นไปในตอนคู้ ก็ดับไปในตอนคู้นั้นเอง ไม่ถึงตอน

เหยียด* เหตุนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[ซอยก้าวเท้า ๑ เป็น ๖ ส่วน]

แต่นั้นทำก้าวเท้าครั้ง ๑ ให้เป็น ๖ ส่วน โดยเกณฑ์ (แบ่งท่า

เป็น ๖ ส่วน คือ ) ยก ย่าง ย้าย หย่อน ยัน ใน ๖ ส่วนนั้น

ยกเท้าขึ้นจากพื้น เรียกว่ายก นำเท้าไปข้างหน้า เรียกว่าย่าง เห็นตอ

หนาม งู เป็นต้นอะไร ๆ เข้าแล้วย้ายเท้าไปข้างนั้นข้างนี้ เรียกว่าย้าย

ลดเท้าลงเบื้องล่าง เรียกว่าหย่อน วางเท้าลงที่พื้นดิน เรียกว่าเหยียบ

กดเท้ากับดินในเวลายกเท้าอีก (ข้างหนึ่ง ) เรียกว่ายัน

ใน ๖ ส่วนนั้นในส่วนยก (เท้า) ธาตุ ๒ คือ ปฐวีธาตุ อาโป-

* อาการ ๖ นี้ แยกได้เป็น ๓ คู่ ดูไม่เนื่องกัน ท่านจับมาเข้าแถวกล่าวความให้เนื่องกัน

ฟังไม่ค่อยสนิทนัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 82

ธาตุ มีประมาณต่ำ (คือ) อ่อน (กว่าปกติ) ธาตุ ๒ นอกนี้

(คือเตโชธาตุ วาโยธาตุ) มีประมาณยิ่ง (คือ) แรง (กว่าปกติ)

ในส่วนย่างและส่วนย้ายก็อย่างนั้น ในส่วนหย่อน ธาตุ ๒ คือ เตโช-

ธาตุ วาโยธาตุ มีประมาณต่ำ (คือ) อ่อน (กว่าปกติ) ธาตุ ๒

นอกนี้ (คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ) มีประมาณยิ่ง (คือ) แรง

(กว่าปกติ) ในส่วนเหยียบและส่วนยันก็อย่างนั้น *

ครั้นทำเป็น ๖ ส่วนอย่างนี้แล้ว จึงยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในวโย-

วุฑฒัตถคมรูปนั้นตามเกณฑ์ส่วนทั้ง ๖ นั้น ยกขึ้นอย่างไร ? คือ

พระโยคีนั้นไตร่ตรองเห็นดังนี้ว่า "ธาตุทั้งหลายอันเป็นไปในส่วนยก

อันใดก็ดี อุปาทายรูปแห่งธาตุเหล่านั้นอันใดก็ดี ธรรมทั้งปวงนั้นก็

ย่อมดับไปในส่วนยกนี้เอง ไม่ถึงส่วนย่าง เหตุนั้น ธรรมทั้งปวงนั้น

จึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา อย่างเดียวกันนั้น ธรรมทั้งหลาย

อันเป็นไปในส่วนย่าง ก็ดับไปในส่วนย่างนี้เอง ไม่ถึงส่วนย้าย ธรรม

ทั้งหลายอันเป็นไปในส่วนย้าย ก็ดับไปในส่วนย้ายนี้เอง ไม่ถึงส่วน

หย่อน ธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในส่วนหย่อน ก็ดับไปในส่วนหย่อน

นี้เอง ไม่ถึงส่วนเหยียบ ธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในส่วนเหยียบ ก็ดับ

ไปในส่วนเหยียบนี้เอง ไม่ถึงส่วนยัน สังขารทั้งหลายอันเกิดขึ้นใน

* ตามนัยมหาฎีกา ดูเหมือนจะอธิบายว่า ปฐวีธาตุและอาโปรธาตุมีสภาวะหนัก ส่วนเตโชธาต

และวาโยธาตุมีสภาวะเบา เมื่อจะยกย่างย้ายเท้า ต้องการความเบาจึงจะยกย่างย้ายได้คล่อง

ธรรมดาจึงลดความหนักของปฐวีและอาโปลง และเพิ่มกำลังของเตโชวาโยขึ้น ตรงกันข้าม เมื่อจะ

หย่อนเหยียบยัน ต้องการความหนัก ธรรมดาจงลดความเบาของเตโชวาโยลง เพิ่มกำลังปฐวีอาโป

ขึ้น ให้หย่อนเหยียบยันลงได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 83

ส่วนนั้น ๆ ก็แตกไปในส่วนนั้น ๆเอง เป็นข้อ ๆ เป็นท่อน ๆ เป็น

แดน ๆ ไม่ถึงส่วนนอกนี้ ๆ เหมือนเมล็ดงาทั้งหลาย* ที่ซัดลงใน

กระเบื้องอันร้อน แตกดังตฏะ ๆ (เป็นเมล็ด ๆ ) ดังนี้ เหตุนั้น

สังขารทั้งหลายนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะไม่เที่ยงจึงชื่อว่าเป็นทุกข์

เพราะเป็นทุกข์จึงชื่อว่าเป็นอนัตตา"

[อุปมาความสุขุมแห่งรูปสัมมสนะ]

เมื่อพระโยคีนั้น เห็นแจ้งสังขารทั้งหลายเป็นข้อ ๆ ไปอยู่อย่างนี้

รูปสัมมสนะย่อมสุขุมเข้า ก็แลในความสุขุมแห่งรูปสัมมสนะนั้น มี

ความอุปมา (ดังต่อไป) นี้

ต่างว่าชาวบ้านปลายแดนคนหนึ่ง ผู้ทำความคุ้นเคยแต่ในคบไฟ

มีคบไม้และคบหญ้าเป็นต้น ไม่เคยเห็นตะเกียง มาพระนครเห็นตะเกียง

ส่องแสงอยู่ในย่างตลาด จึงถามบุรุษผู้หนึ่งว่า "ผู้เจริญ นั่นเรียกอะไร

น่าชอบใจ (ออก) อย่างนั้น" บุรุษคนนั้นกล่าวกะเขาผู้นั้นว่า

"น่าชอบใจอะไรในมัน นั่นเรียกว่าประทีป เพราะสิ้นน้ำมันและเพราะ

สิ้นไส้ด้วย แม้ทางไปของมันก็จักไม่ปรากฏดอก"

บุรุษอื่น (อีกคนหนึ่ง) กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า "ความไม่ปรากฏ

แห่งดวงประทีปเพราะสิ้นน้ำมันและไส้นี่ยังเป็นการหยาบ อันที่จริง

เปลวไฟจักดับไปในส่วนที่ ๓ ๆ ของไส้ที่กำลังไหม้อยู่โดยลำดับนี้ ไม่

* ติล โดยมากเป็นนปุํสกลิงค์ แต่ในทนีี่้รูปเป็นลิงค์อื่น กิริยา ตฏตฏายนฺตา มหาฎีกาแก้เปน็

... ยนฺตี เป็นอิตถีลิงค์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 84

ถึงที่ส่วนนอกนี้ ๆ ดอก "

บุรุษอื่น (อีกคนหนึ่ง) กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า "แม้ความดับ

ไปแห่งเปลวไฟในส่วนที่ ๓ ๆ ของไส้นี้ก็ยังเป็นการหยาบ อันที่แท้

เปลวไฟจักดับไปในระหว่างที่องคุลี ๑ ๆ (แต่ละองคุลี) ของไส้นี่

ไม่ถึงที่องคุลีนอกนี้ ๆ ดอก...จักดับไปในระหว่างที่ครึ่งองคุลี ๆ (แต่

ละครึ่งองคุลี) ของไส้นี่ ไม่ถึงที่เครื่ององคุลีนอกนี้ ๆ ดอก...จักดับไป

ในเส้นด้ายแต่ละเส้นของไส้นี่ ไม่ถึงด้านเส้นนอกนี้ ๆ ดอก...จักดับไป

ในใยด้ายแต่ละเส้นของไส้นี่ ไม่ถึงใยนอกนี้ ๆ ดอก ๑ แต่พ้นใยด้านไป

ใคร ๆ ก็ไม่อาจแต่งเปลวไฟ (ให้ปรากฏ) ได้"๒

[เปรียบเทียบความแห่งอุปมาอุปไมย]

ในข้ออุปมานั้นพึงทราบว่า การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปที่กำหนด

ตัดด้วย ๑๐๐ ปี โดยอาทานะแลนิกเขปนะ แห่งพระโยคี เปรียบเหมือน

ความรู้ของบุรุษ (คนแรก) ว่า "เพราะสิ้นน้ำมันและเพราะสิ้นไส้

ด้วย แม้ทางไปของประทีปก็จักไม่ปรากฏ"

การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในวโยวุฑฒัตถคมรูปที่กำหนดตัดด้วยส่วน

๑. อํสุ-ใย คือเส้นฝอย ๆ ที่รวมเข้าเป็นเส้นด้าย

๒. ข้ออุปมานี้ เป็นการหักความว่าเอาให้ได้อย่างที่ต้องการจะว่า ไม่คำนึงถึงตัวคนในท้องเรื่องที่

สมมติขึ้น ก็คนปลายแดนโง่ ๆ แม้แต่ตะเกียงก็ไม่เคยเห็น เรื่องไส้เรื่องน้ำมันก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่ง

ให้มาพบพวกนักปราชญ์ปรมัตถ์อธิบายเรื่องตะเกียงเสียลึกซึ้งอย่างนั้น แกก็กลายเป็นความฟังปี่ไป

เท่านั้นเอง ถ้ายกเองคนปลายแดนออกเสีย สมมติคนที่พอจะฟังปี่เป็นขึ้นแทนก็จะฟังได้ดี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 85

ที่ ๓ ๆ แห่ง ๑๐๐ ปี ของพระโยคี เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ

(คนที่ ๒) ว่า "เปลวไฟจักดับไปในส่วนที่ ๓ ๆ ของไส้ ไม่ถึงที่

ส่วนนอกนี้ ๆ เลย "

การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปที่กำหนดตัดด้วย ๑๐ ปี ๕ ปี ๔ ปี

๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี แห่งพระโยคี เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่

๓ ) ว่า "เปลวไปจักดับไปในระหว่างที่องคุลี ๑ ๆ (แต่ละองคุลีของ

ไส้) ไม่ถึงที่องคุลีนอกนี้ ๆ เลย "

การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปที่กำหนดตัดด้วย ๔ เดือน ๒ เดือน

โดยแบ่งปี ๑ เป็น ๓ ส่วน และ ๖ ส่วน โดยเกณฑ์ฤดู ๑ ๆ แห่งพระ

โยคี เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่ ๔ ) ว่า "เปลวไปจักดับ

ไปในระหว่างที่ครึ่งองคุลี ๆ (แต่ละครึ่งองคุลีของไส้) ไม่ถึงที่ครึ่ง

องคุลีนอกนี้ ๆ เลย

การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปที่กำหนดตัดโดยเกณฑ์ข้างแรมขึ้น

และโดยเกณฑ์กลางคืนกลางวัน และโดยเกณฑ์ส่วนของวันมีตอนเช้า

เป็นต้น โดยทำคืนและวัน ๑ ให้เป็น ๖ ส่วน แห่งพระโยคี เปรียบ

เหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่ ๕ ) ว่า "เปลวไฟจักดับไปในเส้น

ด้ายแต่ละเส้น (ของไส้) ไม่ถึงด้านเส้นนอกนี้ ๆ เลย"

การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปที่กำหนดตัดโดยเกณฑ์อาการ ๖ มี

อาการก้าวเป็นต้น และโดยเกณฑ์ส่วนท่า ๖ มียกเท้าเป็นต้น แต่ละส่วน

แห่งพระโยคี เปรียบเหมือนความรู้ของบุรุษ (คนที่ ๖) ว่า "เปลว

ไปจักดับไปในใยด้ายแต่ละใน (ของไส้ ) ไม่ถึงใยนอกนี้ ๆ เลย"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 86

[มนสิการโดยเกณฑ์สมุฏฐาน ๔]

พระโยคีนั้น ครั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในวโยวุฒัตถรูปโดย

อาการต่าง ๆ อย่างนี้แล้ว กระจายรูปนั้นแหละออก ทำให้เป็น ๔ ส่วน

โดยเกณฑ์สมุฏฐาย ๔ มีอาหารมยรูป (รูปที่เกิดด้วยอาหาร) เป็นต้น

ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในแต่ละส่วนอีก

[มนสิการอาหารมยรูป]

ในรูป ๔ ส่วนนั้น อาหารมยรูป ย่อมปรากฏแก่พระโยคีนั้นด้วย

อำนาจจอดและอิ่ม จริงอยู่ รูปที่ตั้งขึ้นในคราวอด ย่อมเป็นรูปห่อเที่ยว

อิดโรยผิวพรรษคล้ำเสียทรวดทรงไป ราวกะตอไฟไหม้ และราวกะกา

ซุกอยู่ในตะกร้าถ่าน* รูปที่ตั้งขึ้นในคราวอิ่ม ย่อมเป็นรูปอิ่มเต็ม

อ่อนละมุนมีผัสสะ (คือน่าจับต้อง)

พระโยคีนั้นกำหนดเอาอาหารมยรูปนั้น ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูป

นั้นอย่าวงนี้ว่า "รูปอันเป็นไปในคราวอวด ย่อมดับไปในคราวอดนี่เอง

ไม่ถึงคราวอิ่ม รูปอันตั้งขึ้นในคราวอิ่มเล่า ก็ดับไปในคราวอิ่มนี่เอง

ไม่ถึงคราววอด เหตุนั้น แม้อาหารมยรูปนั้น จึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์

เป็นอนัตตา"

[มนสิการอุตุมยรูป]

อุตุมยรูป (รูปที่เกิดด้วยฤดู) ย่อมปรากฏด้วยอำนาจเย็นและ

ร้อน จริงอยู่ รูปที่ตั้งขึ้นในความร้อน ย่อมเป็นรูปเกรียมระโหย

ผิวพรรณคล้ำไป รูปที่ตั้งขึ้นด้วยฤดูอันเย็น (สบาย) ย่อมเป็นรูป

* อุปมานี้ใช้ได้สำหรับคนผิวคล้ำ เช่นชาวลังกาเท่านั้น (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 87

อิ่มเต็มละมุน

พระโยคีนั้นกำหนดเอาอุตุมนรูปนั้น ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปนั้น

อย่างนี้ว่า "รูปอันเป็นไปในคาวก็ดับไปในคราวร้อนนี้เอง ไม่

ถึงคราวเย็น รูปอันเป็นไปในคราวเย็นก็ดับไปในคราวเย็นนี้เอง ไม่ถึง

คราวร้อน เหตุนั้น อุตุมยรูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

[มนสิการกัมมชรูป]

กัมมชรูป (รูปเกิดด้วยกรรม) ย่อมปรากฏด้วยอำนาจอายตน*

ทวาร (ทวารคืออายตนะ)* จริงอยู่ ในจักขุทวาร มีกัมมชรูป ๓๐

โดยเป็นจักขุทสกะ (๑๐) กายทสกะ (๑๐) และภาวทสกะ (๑๐)

อนึ่งรูปอุดหนุรกัมมชรูปเหล่านั้นมีฤดูจิตและอาหารเป็นสมุฏฐาน (อีก)

๒๔ ดังนั้นจึงเป็นรูป ๕๔ ในโสตทวาร ฆานทวารและชิวหาทวารก็

อย่างนั้น ในกายทวารมีรูป ๕๔ โดยเป็นกายทสกะ (๑๐) ภาวทสกะ

(๑๐) และโดยเป็นรูปอุดหนุนมีอุตุสมุฏฐานเป็นต้น (อีก ๒๔)

ในมโนทวาร มีรูป ๕๔ เหมือนกัน โดยเป็นหทยวัตถุทสกะ (๑๐)

กายทสกะ (๑๐) ภาวทสกะ (๑๐) และโดยเป็นรูปอุดหนุนมีอุตุ-

สมุฏฐานรูปเป็นต้น (อีก ๒๔)

พระโยคีนั้นกำหนดเอารูปนั้นทั้งหมด ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในรูปนั้น

อย่างนี้ว่า "รูปอันเป็นไปในจักขุทวาร ก็ดับไปในจักขุทวารนี้เอง ไม่

ถึงโสตทวาร รูปอันเป็นไปในโสตทวาร ก็ดับไปในโสตทวารนี้เอง ไม่

* มหาฎีกาว่า ท่านเรียงคำอายตนะควบไว้ด้วยว่า อายตนทวาร เพื่อมิให้เข้าใจเขวไปเป็น

กรรมทวาร (คือ กาย วจี มโน)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 88

ถึงฆานทวาร รูปอันเป็นไปในฆานทวาร ก็ดับไปในฆานทวารนี้เอง

ไม่ถึงชิวหารทวาร รูปอันเป็นไปในชิวหาทวาร ก็ดับไปในชิวหาทวาร

นี้เอง ไม่ถึงกายทวาร รูปอันเป็นไปในกายทวาร ก็ดับไปในกายทวาร

นี้เอง ไม่ถึงมโนทวาร เหตุนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์

เป็นอนัตตา"

[มนสิการจิตตสมุฏฐานรูป]

รูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมปรากฏด้วยอำนาจคราวดีใจเสียใจ

จริงอยู่ รูปที่เกิดขึ้นในคราวดีใจ ย่อมเป็นรูปละมุนละม่อม เอิบอิ่ม

มีผัสสะ รูปที่เกิดขึ้นในคราวเสียใจ ย่อมเป็นรูปเหี่ยวแห้งระโหย

ผิวพรรณเผือดไป

พระโยคีนั้นกำหนดเอาจิตตสมุฏฐานรูปนั้น ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์

ในรูปนั้นอย่างนี้ว่า "รูปอันเป็นไปในคราวดีใจ ก็ดับไปในคราวดีใจ

นี้เอง ไม่ (อยู่ไป) ถึงคราวเสียใจ รูปอันเป็นไปในคราวเสียใจ

ก็ดับไปในคราวเสียใจนี้เอง ไม่ (อยู่ไป) ถึงคราวดีใจ เหตุนั้น

แม้จิตตสมุฏฐานรูปนั้นจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา"

เมื่อพระโยคีนั้นกำหนดเอารูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน ยกขึ้นสู่ไตร-

ลักษณ์ในรูปนั้นอย่างนี้อยู่ เนื้อความ (ต่อไป) นี้ย่อมจะปรากฏขึ้นว่า

"ชีวิต อัตภาพ และสุลทุกข์ทั้งมวล* ประกอบ

(คือผูก) ไว้กับจิตดวงเดียว ขณะ (แห่งชีวิต)

* เกวลา นี้ มหาฎีกาแก้ไว้ว่า "อตฺตนา นิจฺจภาเวน วา อโวมิสฺสา-ไม่เจือปนกับอัตตา

หรือกับความเที่ยง " ดังนี้ ก็คือให้แปลเกวลาว่า "ล้วน ๆ" นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 89

เป็นต้นนั้น) ย่อมเป็นไปพลัน (คือชั่วขณะจิต

หนึ่ง) แม้เทวดาเหล่าที่ (มีอายุยิน) ตั้งอยู่ได้

ตลอด ๘๔,๐๐๐* กัป ก็ใช่ว่าปลง (ชีวิตเป็นต้น)

ไว้กับจิต ๒ ดวงตั้งอยู่หามิได้

ขันธ์เหล่าใดที่ดับแล้ว ของสัตว์ที่ตายหรือของ

สัตว์ที่ยังตั้งอยู่ในปวัติกาลนี้ก็ตาม ขันธ์เหล่านั้น

ก็เหมือนกันหมด (คือดับ) ไปไม่ต่อกัน

ขันธ์ทั้งหลายที่ (เป็นปัจจุบัน) ดับๆ อยู่ใน

ระหว่างแห่งขันธ์ (อดีต) ที่ดับ ๆ มาแล้วไม่ขาด

ระยะ และขันธ์ที่ (จัก) ดับในอนาคต หามีความ

ต่างกันในเพราะลักษณะ (ที่ดับ) ไม่

เพราะจิตไม่เกิดสัตวโลกก็ชื่อว่าไม่เกิด เพราะ

จิตเกิดขึ้นจำเพาะหน้า สัตวโลกก็ชื่อว่าเป็นอยู่

เพราะความแตกดับแห่งจิต สัตวโลกก็ชื่อว่าตาย

(นี่) เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์

สังขารธรรมทั้งหลายที่แตกดับแล้ว ก็มิได้ไป

เก็บไว้ (ที่ไหน) กอง (สังขารสำหรับที่จะเกิด)

ในอนาคตก็หามีไม่ สังขารทั้งหลายเหล่าใดที่เกิด

แล้วตั้งอยู่เล่า สังขารเหล่านั้นก็อุปมาดังเมล็ด

พรรณผักกาด (ที่คนวางลง) บนปลายเข็ม (พอ

* จุลิลสิติ แปลว่า ๘๔ จุลฺล เป็นสังขยา เท่ากับ จตุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 90

ถูกปลายเข็มก็ตกไปพลัน )

อนึ่ง เมื่อ (สังขาร) ธรรมทั้งหลายเกิดแล้ว

ความแตกดับก็รุมล้อมธรรมเหล่านั้นไว้ มันจึงมี

ความแตกทำลายเป็นธรรมดา (ในตัวมัน) ไม่

ปนกันธรรมก่อน ๆ

มันมาโดยไม่เห็น แตกดับแล้วก็ถึงซึ่งความไม่

เห็น มันเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไป ดังความเกิดขึ้น

แห่งสายฟ้าในอากาศ ฉะนั้น"

[ธรรมดารูป]

พระโยคีนั้นครั้นยกขึ้นสู้ไตรลักษณ์ในรูปทั้งหลาย มีอาหารมยรูป

เป็นต้นอย่างนี้แล้ว ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในธรรมดารูปอีก

รูปอันเกิดขึ้นจำเดิมแต่วิวัฏกัปต่างชนิดเช่น เหล็ก โลหะ (ทอง

แดง) ดีบุก ตะกั่ว ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา

(หินสี) ประพาฬ ทับทิม แก้วลาย แผ่นดิน หิน ภูเขา หญ้า

ไม้ต้น ไม้เถา อันเป็นรูปภายนอก ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ ชื่อว่าธรรมดา-

รูป

ธรรมดารูปนั้น ย่อมปรากฏแก่พระโยคีนั้น โดย (ตัวอย่าง)

ยอดต้นอโศกเป็นต้น* อันยอดอโศก (นั้น) แรกทีเดียวก็เป็น (ปุ่ม)

* องฺกุร ในที่นี้ ถ้าแปลว่า หน่อ ความเข้าใจของเราก็พุ่งไปว่า มันแตกขึ้นจากเง่า จาก

โคน ต่อไปก็เป็นลำต้น แต่ความที่ท่านกล่าวนี้ ไม่มีอะไรแสดงว่า แตกเป็นลำต้น ว่าแต่เรื่องแตก

เป็นใบจนตลอด ด้วยเหตุนี้ จึงแปล องฺกุร ตรงนี้ว่า "ยอด" จะได้เข้ากับความภาษาเราว่า

"แตกยอดแล้วก็แตกใบ"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 91

แดงเรื่อ ๆ แต่นั้นล่วงไป ๒-๓ วัน ก็แดงเข้มขึ้น ล่วงไป ๒-๓

วันอีก แดงจางลง ต่อนั้น (เป็นใบอ่อน) มีสีดังใบอ่อนแรก

ผลิ (ของไม้อื่น ๆ มีมะม่วงเป็นต้น) ต่อไปมีสีเป็นใบอ่อนที่

แก่จัดขึ้น ต่อไปเป็นใบสีเขียวอ่อน แล้วเป็นสีเขียวแก่ ตั้งแต่

กาลที่เป็นใบสีเขียวแก่นั้นไป มันทำความสืบต่อแห่งรูป (ใบของ

มัน) ที่เสมอกัน (คือรูปเดิมนั้น) ให้สืบเนื่องไป (ไม่เปลี่ยนสี)

โดยกาลประมาณปีหนึ่ง จึงเป็นในเหลือง ร่วงจากขั้วหล่นไป

พระโยคีนั้น กำหนดถือเอาใบอโศกนั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ใน

ธรรมดารูปนั้นอย่างนี้ว่า "รูปอันเป็นไปในกาลที่มันมีสีแดงเรื่อ ๆ

ย่อมดับไป ไม่ (อยู่มา) ถึงกาลที่มันมีสีแดงเข้มเลย รูปอันเป็นไป

ในกาลที่มันมีสีแดงเข้มก็ดับไป ไม่ (อยู่มา) ถึงกาลที่มันมีสีแดงจางลง

เลย รูปอันเป็นไปในกาลที่มันมีสีแดงจางลงก็ดับไป ไม่ (อยู่มา)

ถึงกาลที่มันมีสีดังใบอ่อยแรกผลิเลย รูปอันเป็นไปในกาลที่มันมีสี

ดังใบอ่อนแรกผลิก็ดับไป ไม่ (อยู่มา) ถึงกาลที่มันมีสีเป็นใบอ่อนที่

แก่จัดขึ้นเลย รูปอันเป็นไปในกาลที่มันมีสีเป็นใบอ่อนที่แก่จัดขึ้นก็ดับ

ไป ไม่ (อยู่มา) ถึงกาลที่มันเป็นใบสีเขียวอ่อนเลย รูปอันเป็นไป

ในกาลที่มันเป็นใบสีเขียวอ่อนก็ดับไป ไม่ (อยู่มา) ถึงกาลที่มันเป็น

ใบสีเขียวแก่เลย รูปอันเป็นไปในกาลที่มันเป็นในสีเขียวแก่ก็ดับไป ไม่

(อยู่มา) ถึงกาลที่มันเป็นใบเหลืองเลย รูปอันเป็นไปในกาลที่มันเป็น

ในเหลืองก็ดับไป ไม่ (อยู่มา) ถึงกาลที่มันร่วงจากขั้วหล่นไปเลย

เหตุนั้น มันจึงชื่อว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา" ดังนี้แล้ว พิจารณา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 92

ธรรมดารูปทั้งปวงโดยนัย (ดังกล่าวในใบอโศก) นี้

พระโยคีพิจารณาสังขารทั้งหลาย ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ทางรูป-

สัตตกะ ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[อรูปสัตตกะ]

ส่วนข้อในที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "ทางอรูปสัตตกะ" ดังนี้ (ต่อ

ไป) นี้เป็นมาติกาในข้อนั้น คือ

กลาปโต โดยเป็นกลาป

ยมกโต โดยเป็นคู่

ขณิกโต โดยเป็นขณะ

ปฏิปาฏิโต โดยลำดับ

ทิฏฺฐิอุคฺฆาฏนโต โดยเพิกทิฏฐิ

มานสมุคฺฆาฏนโต โดยเพิกมานะ

นิกนฺติปริยาทานโต โดยคุมความยินดีไว้ได้

[กลาปโต-โดยเป็นกลาป]

ใน ๗ ข้อนั้น ข้อว่า "กลาปโต-โดยเป็นกลาป" (พึงทราบ

อรรถาธิบายดังนี้) ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ (ชื่อว่ากลาป)

พิจารณาโดยกลาปอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา

เห็นดังนี้ว่า "ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ อันเกิดขึ้นในสัมมสนะ

ว่า "ผมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา " นี่ใด และธรรม

ทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ อันเกิดขึ้นในสัมมสนะว่า "ขนทั้งหลาย ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 93

มันในสมอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" นี่ใด ธรรมทั้งปวงนั้น

เสื่อมหายไปเป็นข้อ ๆ เป็นแดน ๆ ไม่ (อยู่ไป) ถึงข้อนอกนี้ ๆ ดัง

เมล็ดงาทั้งหลายที่ซัดลงในกระเบื้องอันร้อน (แตก) ดังตฏะ ๆ (เป็น

เมล็ด ๆ ) อยู่ฉะนั้น เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่าไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เพียงนี้เป็นนัยในวิสุทธิกถา

ส่วนในอริยาวังสกถากล่าวไว้ว่า "เมื่อพิจารณาจิตดวงที่เป็นไป

(โดยพิจารณาเห็น) ว่ารูปในฐานะทั้ง ๗ ในรูปสัตตกะในหนหลังไม่

เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ด้วยจิตอีกดวงหนึ่งว่า จิตดวงก่อนนั้นก็ไม่

เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ดังนี้ ชื่อว่า พิจารณาโดยเป็นกลาป"

คำที่กล่าวในอริยวังสกถานั้นถูกต้องกว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า

ทั้งหลายจักจำแนกแม้ข้อที่เหลือโดยนัยนั้นเหมือนกัน

[ยมกโต-โดยเป็นคู่]

ข้อว่า "ยมกโต-โดยเป็นคู่" ความว่า ภิกษุในพระธรรม

วินัยนี้ พิจารณาอาทานนิกเขปรูปว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อนัตตา

แล้วซ้ำพิจารณาจิต (ดวงที่พิจารณารูป)นั้น ด้วยจิตอีกดวงหนึ่งว่า

จิต (ที่พิจารณาก่อน) นั้น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา พิจาณา

วโยวุฑฒัตถคมรูป... อาหารมยรูป... อุตุมยรูป)... กัมมชรูป... จิตต-

สมุฏฐานรูป... ธรรมดารูป ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา แล้วซ้ำ

พิจารณาจิต (ดวงที่พิจารณารูป) นั้นด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง ว่าจิต (ที่

พิจารณาก่อน) นั้น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ดังนี้ชื่อว่าพิจารณา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 94

โดยเป็นคู่* (คือ ๒ ชั้น ?)

[ขณิกโต-โดยเป็นขณะ]

ข้อว่า "ขณิกโต...โดยเป็นขณะ" ความว่า ภิกษุในพระธรรม

วินัยนี้ พิจารณาอาทานนิกเขปรูปว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว

พิจารณาจิตดวงแรก (ที่พิจารณารูป) นั้น ด้วยจิตดวงที่ ๒ ว่าแม้จิต

ดวงแรกนั่น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา พิจารณาจิตดวงที่ ๒ ด้วย

จิตดวงที่ ๓... พิจารณาจิตดวงที่ ๓ ด้วยจิตดวงที่ ๔... พิจารณาจิต

ดวงที่ ๔ ด้วยจิตดวงที่ ๕ ว่าแม้จิตดวงที่ ๒... จิตดวงที่ ๓... จิต

ดวงที่ ๔ นั่น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ภิกษุพิจารณาวโย-

วุฑฒัตถคมรูป... อาหารมยรูป... อุตุมยรูป.. กัมมชรูป... จิตตสมุฏ-

ฐานรูป... ธรรมดารูป ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว พิจารณา

จิตดวงแรก (ที่พิจารณารูป) นั้น ด้วยจิตดวงที่ ๒... พิจารณาจิต

ดวงที่ ๒ ด้วยจิตดวงที่ ๓... พิจารณาจิตดวงที่ ๓ ด้วยจิตดวงที่ ๔...

พิจารณาจิตดวงที่ ๔ ด้วยจิตดวงที่ ๕ ว่าแม้จิตดวงที่ ๑... จิตดวงที่

๒... จิตดวงที่ ๓.... จิตดวงที่ ๔ นั่น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

ภิกษุพิจารณาจิตทีละ ๔ ดวง ตั้งแต่จิตดวงที่กำหนดถือเอารูป (เป็น

อารมณ์) ไป ดังกล่าวมาฉะนี้ ชื่อว่าพิจารณาโดยเป็นขณะ (คือ

พิจารณาจิต ๔ ขณะ หรือ ๔ ชั้น)

* มหาฎีกาอธิบายว่า เพราะพิจารณาปรารภรูปธรรม กับนามธรรม คือ จิต เป็นคู่ ๆ กัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 95

[ปฏิปาฏิโต-โดยลำดับ]

ข้อว่า "ปฏิปาฏิโต-โดยเป็นลำดับ" ความว่า ภิกษุพิจารณา

อาทานนิกเขปรูปว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว พิจารณาจิตดวง

แรก (ที่พิจารณารูป) นั้น ด้วยจิตดวงที่ ๒... พิจารณาจิตดวงที่ ๒ ด้วย

จิตดวงที่ ๓... พิจารณาจิตดวงที่ ๓... ด้วยจิตดวงที่ ๔ ฯลฯ พิจารณา

จิตดวงที่ ๑๐ ด้วยจิตดวงที่ ๓... ด้วยจิตดวงแรก ฯลฯ จิตดวงที่ ๑๐

นั่น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา พิจารณาวโยวุฑฒัคถคมรูป...

อาหารรมยรูป...อุตุมยรูป... กัมมชรูป... จิตตสมุฏฐานรูป... ธรรมดา-

รูป ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว พิจารณาจิตดวงแรก (ที่

พิจารณารูป) นั้___________น ด้วยจิตดวงที่ ๒... พิจารณาจิตดวงที่ ๒ ด้วยจิต

ดวงที่ ๓... ฯลฯ พิจารณาจิตดวงที่ ๑๐ ด้วยจิตดวงที่ ๑๑ ว่าแม้จิต

ดวงแรก ฯลฯ จิตดวงที่ ๑๐ นั่น ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

พึงหมุนเวียน*พิจารณาไปตามลำดับวิปัสนา ดังนี้ตลอดทั้งวันก็ได้ แต่

เพราะว่า เพียงพิจารณาจิตดวงที่ ๑๐ (ไม่ว่า) รูปกรรมฐานก็ดี

อรูปกรรมฐานก็ดี ก็เป็นอันคล่องแคล่ว (คือปรากฏชัดแล้ว) เหตุ

* วฏฺเฏยฺย ปาฐะมหาฎีกาแก้ความไว้ว่า สมฺภเวยฺย พิจารณาแล้วเห็นว่า วฏฺเฏยฺย ในที่นี้

แปลว่า "หมุนเวียน" ได้ความดีกว่าแปลว่า "ควร" เพราะกรรมฐานนี้ให้พิจารณาจิตเพียงดวงที่

๑๐ เป็นวาระ ๑ เมื่อจะพิจารณาอีก ก็กลับตั้งต้นใหม่ โดยนัยนั้นเป็นวาระ ๆ ไป จึงว่า "หมุนเวียน"

ถ้าดังนี้ ปาฐะมหาฎีกาที่พิมพ์ไวว้ ่า "สมฺภเวยฺย" น่าจะคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเปน็ "สมฺภเมยฺย" ซึ่ง

แปลว่า "หมุน" ก็คือให้ แปล วฏฺเฏยฺย ศัพท์นี้ว่า "หมุน" ไม่ใช่ "ควร" นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 96

นั้น (ในอริยวังสกถา) ท่านจึงบอกไว้ว่า "พึงหยุดไว้ในจิตดวงที่ ๑๐

เท่านั้นเถิด"

พิจารณาดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าพิจารณาโดยลำดับ*

[ทิฏฺฐิอุคฺฆาฏนโต-โดยเพิกทิฏฐิ]

ฯ เป ฯ

ใน ๓ ข้อคือ ทิฏฺฐิอุคฺฆาฏนโต-โดยเพิกทิฏฐิ มานสมุคฺฆาฏน-

โต-โดยเพิกมานะ นิกนฺติปริยาทานโต-โดยคุมความยินดีไว้ได้ นี้

หามีนัยสำหรับพิจารณาคนละอย่างไม่ จริงอยู่ รูป (ที่กล่าว) ในหน

หลังนั้นก็ดี อรูปที่กำหนดถือเอาในตอนนี้ก็ดีนั้นใด เมื่อดูรูปและ

อรูปนั่นไป ย่อมไม่เห็นสิ่งอื่นที่จะได้ชื่อว่าสัตว์ นอกเหนือไปจากรูป

และอรูป ตั้งแต่ไม่เห็น (เป็น) สัตว์ไป สัตตสัญญาก็เป็นอันถอนได้

เมื่อพระโยคาวจรกำหนดถือเอา (เป็น) สังขาร ด้วยจิตที่ถอนสัตต-

สัญญาได้แล้ว ทิฏฐิย่อมไม่เกิดขึ้น เมื่อทิฏฐิไม่เกิดขึ้น ทิฏฐิก็ชื่อว่า

ถูกเพิกไป เมื่อกำหนดถือเอา (เป็น) สังขาร ด้วยจิตที่เพิกทิฏฐิแล้ว

มานะย่อมไม่เกิดขึ้น ครั้นมานะไม่เกิดขึ้น มานะก็ชื่อว่าถูกเพิกไป เมื่อ

กำหนดถือเอา (เป็น) สังขาร ด้วยจิตที่เพิกมานะแล้ว ตัณหาย่อมไม่

เกิดขึ้น เมื่อตัณหาไม่เกิดขึ้น ความยินดีก็ชื่อว่าถูกคุมไว้ได้ แล

เพียงนี้เป็นคำกล่าวไว้ในวิสุทธิกถา

* ยมกโต ขณิกโต ปฏิปาฏิโจ ๓ ข้อนี้ ฟังอธิบายก็เป็นความเดียวกัน คือจิตดวงแรกพิจารณา

รูป แล้วต่อไปจิตพิจารณาจิต ที่แปลกกันก็คือ ยมกโต พิจารณาเพียง ๒ ชั้น ขณิกโต พิจารณา

๔ ชั้น ปฏิปาฏิโต พิจารณา ๑๐ ชั้น เท่านั้นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 97

ส่วนในอริยวังสกถา ตั้งมาติกาว่า "ทิฏฺฐิอุคฺฆาฏานโต มานสมุคฺฆา-

ฏนโต นิกนฺติปริยาทานโต" แล้วแสดงนัย (ดัง) นี้

ก็แลเมื่อถือว่า "เราเห็นแจ้งอยู่ ความเห็นแจ้งของเรา " ดังนี้

ไม่ชื่อว่าเพิกทิฏฐิ แต่ถือว่า "สังขารทั้งหลายนั้นเองเห็นแจ้งสังขารทั้ง

หลาย สังขารทั้งหลายนั้นเองพิจารณา...วิเคราะห์ดู... จับดู... กำหนด

แยกดูสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ จึงชื่อว่าเพิกทิฏฐิ เมื่อถือว่า "เราเห็นแจ้งอย่าง

ดีเราเห็นแจ้งอย่างน่าพอใจ " ดังนี้ ไม่ชื่อว่าเพิกมานะ ต่อถือว่า "สังขาร

ทั้งหลายนั่นเองเห็นแจ้งสังขารทั้งหลาย สังขารทั้งหลายนั้นเองพิจารณา...

วิเคราะห์ดู... จับดู... กำหนดแยกดูสังขารทั้งหลาย" ดังนี้จึงชื่อว่าเพิก

มานะ เมื่อพอใจวิปัสนาด้วยคิดว่า "เราสามารถเห็นแจ้งได้" ดังนี้ ไม่

ชื่อว่าคุมความปรารถนาได้ ต่อถือว่า "สังขารทั้งหลายนั่นเองเห็นแจ้ง

สังขารทั้งหลาย สังขารทั้งหลายนั่นเองพิจารณา... วิเคราะห์ดู... จับดู

...กำหนดแยกดูสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ จึงชื่อว่าคุมความยินดีไว้ได้

เมื่อเห็นว่า "ถ้าสังขารทั้งหลายพึงเป็นอัตตาไซร้ จะถือเอาว่ามัน

เป็นอัตตา ก็ควรละ แต่ (นี้) มันไม่ใช่อัตตาเลย มาถือเอาว่าเป็นอัตตา

เพราะเหตุนั้น สังขารทั้งหลายนั้นจึงเป็นอนัตตา เพราะความหมายว่า

ไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร) ไม่เที่ยง เพราะความหมายว่า มีแล้ว

ก็ไม่มี เป็นทุกข์ เพราะความหมายว่าถูกความเกิดและความเสื่อมบีบ

คั้น " ดังนี้ ชื่อว่าเพิกทิฏฐิ เมื่อเห็นว่า "ถ้าสังขารทั้งหลายพึงเป็นของ

เที่ยงไซร้ จะถือเอาว่ามันเที่ยงก็ควรละ แต่ (นี่) มันไม่เที่ยงเลย มา

ถือเอาว่าเที่ยง เพราะเหตุนั้น สังขารทั้งหลายนั้นจึงเป็นของไม่เที่ยง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 98

เพราะความหมายว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกข์เพราะความหมายว่าถูกความ

เกิดและความเสื่อมบีบคั้น เป็นอนัตตา เพราะความหมายว่าไม่เป็นไป

ในอำนาจ (ของใคร)" ดังนี้ ชื่อว่าเพิกมานะ เมื่อเห็นว่า "ถ้าสังขาร

ทั้งหลายพึงเป็นสุขไซร้ จะถือเอาว่ามันเป็นสุขก็ควรละ แต่ (นี่) มัน

เป็นทุกข์แท้ ๆ มาถือเอาว่าเป็นสุข เพราะเหตุนั้น สังขารทั้งลาย

นั้นจึงเป็นทุกข์ เพราะความหมายว่าถูกความเกิดและความเสื่อมบีบคั้น

ไม่เที่ยง เพราะความหมายว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นอนัตตา เพราะความ

หมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร)" ดังนี้ ชื่อว่าคุมความยินดีไว้ได้

ชื่อว่าความเพิกทิฏฐิ ย่อมมีแก่พระโยคีผู้เห็นสังขารทั้งหลายโดย

ความเป็นอนัตตา ชื่อว่าความเพิกมานะ ย่อมมีแก่พระโยคีผู้เห็นสังขาร

ทั้งหลายโดยความไม่เที่ยง ชื่อว่าความคุมความยินดีไว้ได้ ย่อมมีแก่

พระโยคีผู้เห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ดังกล่าวมาดังนี้ วิปัสนา

นี้จึงชื่อว่าตั้งอยู่ในที่ของตน ๆ แท้*

พระโยคีพิจารณาสังขารทั้งหลายยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ทางอรูปสัตตกะ

ดังกล่าวมาฉะนี้

ก็แลด้วยภาวนานุโยคเพียงเท่านี้ รูปกรรมฐานก็ดี อรูปกรรมฐาน

ก็ดี ของพระโยคีนั้น ย่อมเป็นอันคล่องแคล่วละ

[มหาวิปัสนา ๑๘]

พระโยคีผู้มีรูปกรรมฐานและอรูปกรรมฐานคล่องแคล่วอย่างนี้

* หมายความว่าอนิจจานุปัสนา ทุกขานุปัสนา อนัตตานุปัสนา ก็คงปฏิปักขธรรมตามหน้าที่

ของตน ไม่ก้าวก่ายไขว้เขวกัน (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 99

นั้น มหาวิปัสนา (คืออนุปัสนา) ๑๘ เหล่าใดที่พึงถึงได้โดยอาการทั้งปวง

ด้วยอำนาจปหานปริญญา ตั้งแต่ภังคานุปัสนญาณ (ปัญญาคำนึงเห็น

ความดับ) ข้างหน้าไป๑ เมื่อแทงตลอด (คือได้) ส่วนหนึ่งแห่งมหา-

วิปัสนา๒ เหล่านั้น ใน (ชั้น) สสัมมสนญาณ (คือตีรณปริญญา) นี่แล

ก่อนก็ย่อมละปฏิปักขธรรม (มีนิจจสัญญาเป็นต้น) แห่งมหาวิปัสนานั้นได้

ปัญญามีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น ชื่อว่ามหาวิปัสนา ๑๘ ในอนุ-

ปัสนาทั้งหลายไรเล่า (๑) เมื่อเจริญอนิจจานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็น

ความไม่เที่ยง) ย่อมละนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ได้ (๒)

เมื่อเจริญทุกขานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเป็นทุกข์) ย่อมละสุขสัญญา

(ความสำคัญว่าเป็นสุข) ได้ (๓) เมื่อเจริญอนัตตานุปัสนา (ปัญญา

คำนึงเห็นเป็นอนัตตา) ย่อมละอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา)

ได้ (๔) เมื่อเจริญนิพพิทานุปัสนา (ปัญญาคำนึงถึงด้วยความเบื่อ

หน่าย) ย่อมละนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ได้ (๕___________) เมื่อเจริญวิรา-

คานุปัสนา (ปัญญาคำนึงด้วยความคลายกำหนัด) ย่อมละราคะได้

(๖) เมื่อเจริญนิโรธารุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นนิโรธ) ย่อมละสมุทัยได้

(๗) เมื่อเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนา (ปัญญาคำนึงด้วยความสลัดทิ้ง)

ย่อมละอาทาน (ความถือไว้) ได้ (๘) เมื่อเจริญขยานุปัสนา

๑. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น อปริภวฺคานุปสฺสนโต ราวกะจะให้แปลว่า "แต่ภังคานุปัสสนญาณ

เบื้องสูง แต่ไม่ปรากฏว่ามีภังคานุปัสนาญาณเบื้องต่ำเป็นคู่กัน" จึงเข้าใจว่าถูกที่จะเรียงแยกเป็น

อุปริ ภงฺคา...ดังแปลไว้

๒. ที่ว่า "ส่วนหนึ่ง" ก็เพราะเท่าที่จะกล่าวมาแล้วมีเพียง ๓ อนุปัสนาเท่านั้น คือ อนิจจานุปัสนา

ทุกขานุปัสนา อนัตตานุปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 100

(ปัญญาคำนึงเห็นความสิ้นไป) ย่อมละฆนสัญญา (ความสำคัญว่าเป็น

ก้อน คือเป็นร่างกาย) ได้ (๙) เมื่อเจริญวยานุปัสนา (ปัญญา

คำนึงเห็นความเสื่อมไป) ย่อมละอายูหน (ความพยายาม) ได้ (๑๐)

เมื่อเจริญวิปริณามานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความปรวนแปร) ย่อม

ละธุวสัญญา (ความสำคัญว่ามั่งคง) ได้ (๑๑) เมื่อเจริญอนิมิต-

ตานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความไม่มีนิมิต) ย่อมละนิมิต (คือสิ่งที่ถือ

เอาเป็นเครื่องหมายในความเป็นกลุ่มเป็นก้อน) ได้ (๑๒) เมื่อเจริญ

อัปปณิหิตานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นเป็นสิ่งไม่น่าปรารถนา) ย่อมละ

ปณิธิ (ความปรารถนาด้วยอำนาจตัณหา) ได้ (๑๓) เมื่อเจริญสุญญ-

ตานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นความว่างเปล่า) ย่อมละอภินิเวส (ความยือ

มั่นว่าเป็นตน) ได้ (๑๔) เมื่อเจริญอธิปัญญาธัมมวิปัสนา (ปัญญา

เห็นแจ้งในธรรมอันเป็นอธิปัญญา) ย่อมละสาราทานาภินิเวส (ความ

ยึดมั่นโดยถือเอาว่ามีสาระ) ได้ (๑๕) เมื่อเจริญยถาภูตญาณทัสนะ

(ความรู้เห็นตามจริง) ย่อมละสัมโมหาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยอำนาจ

ความหลงงมงาย) ได้ (๑๖) เมื่อเจริญอาทีนวานุปัสนา (ปัญญาคำนึง

เห็นโทษ) ย่อมละอาลยาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยอำนาจความอาลัย)

ได้ (๑๗) เมื่อเจริญปฏิสังขานุปัสนา (ปัญญาคำนึงด้วยพิจารณาหา

ทางพ้น) ย่อมละอัปปฏิสังขา (ความไม่พิจารณาหาทางพ้น) ได้ (๑๘)

เมื่อเจริญวิวัฏฏานุปัสนา (ปัญญาคำนึงเห็นวิวัฏฏะ คือทางพ้นจากวัฏฏะ)*

ย่อมละสังโยคาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยอำนาจสังโยคะ) ได้

* มหาฎีกาว่า สัขารุเบกขา และอนุโลมญาณ ซึ่งว่าวิวัฏฏานุปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 101

ในมหาวิปัสนา ๑๘ นี้ อนิจจานุปัสนา ทุขานุปัสนา และอนัตตา-

นุปัสนา เป็นอันพระโยคีผู้ (เจริญสัมมสนญาณ) นี้ได้แล้ว เพราะเหตุที่

สังขารทั้งหลายเธอเห็นแล้วด้วยอำนาจลักขณตรัยมีอนิจจลักขณะเป็นต้น

อนึ่ง เหตุที่ท่านกล่าวไว้ว่า "อนิจจานุปัสนาอันใดก็ดี อนิมิตตานุปัสนา

อันใดก็ดี ธรรม (๒) นี้มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ นัย

เดียวกันนั้น ทุกขานุปัสนาอันใดก็ดี อัปปณิหิตานุปัสนาอันใดก็ดี ธรรม

(๒)นี้ก็มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ อนัตตานุปัสนาอัน

ใดก็ดี สุญญตานุปัสนาอันในก็ดี ธรรม (๒) นี้ ก็มีอรรถเป็นอันเดียวกัน

ต่างกันแต่พยัญชนะ" ดังนี้ เหตุนั้น แม้อนิมิตตานุปัสนา อัปปณิหิตานุ-

ปัสนาและสุญญตานุปัสนาเหล่านั้นก็เป็นอันพระโยคีผู้นี้ได้แล้ว ส่วนอธิ-

ปัญญาธรรมวิปัสนา ก็คือวิปัสนาทั้งปวง ยถาภูตญาณทัสนะก็สงเคราะห์

เข้าด้วยกังขาวิตรณวิสุทธินั้นเอง เพราะฉะนั้นแม้อธิปัญญาธรรมวิปัสนา

และยถาภูตญาณทั้งหลายที่เหลือ ก็เป็นอันพระโยคีผู้นี้ได้แล้วเหมือนกัน

ในวิปัสนาญาณทั้งหลายที่เหลือ (มีนิพพิทานุปัสนาเป็นต้น) ลางส่วนก็

เป็นอันได้แล้ว ลางส่วนยังไม่ได้* ข้าพเจ้าทั้งหลายจักอธิบายวิภาคแห่ง

วิปัสนาญาณเหล่านั้นให้แจ้งข้างหน้า ก็แลคำว่า "พระโยคีผู้รู้รูปกรรม-

ฐานและอรูปกรรมฐานคล่องแคล่วอย่างนี้ มหาวิปัสนา ๑๘ เหล่าใด

* หมายความว่าได้เป็นเอกเทศ มหาฎีกาขยายความเพิ่มเติมว่า เมื่ออนิจจานุปัสนา

สำเร็จแล้ว นิโรธานุปัสนา ขยานปัสนา วยานุปัสนา และวิปริณามานุปัสนา ก็นับว่า

นับว่าสำเร็จโดยเอกเทศ เมื่ออนัตตานุปัสนาสำเร็จแล้ว อนุปัสสานอกนี้ก็นับว่าสำเร็จ

โดยเอกเทศ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 102

ที่พึงถึงได้โดยอาการทั้งปวง ด้วยอำนาจปหานปริญญา ตั้งแต่ภังคานุ-

ปัสนาญาณข้างหน้าไป๑ เมื่อแทงตลอดส่วนหนึ่งแห่งมหาวิปัสนาเหล่า นั้น

ใน (ชั้น) สัมมสนญาณ (คือตีรณปริญญา) นี่แลก่อน ก็ย่อมละปฏิ-

ปักขธรรมแห่งมหาวิปัสนานั้นได้ " (ดัง) นี้ ข้าพเจ้ากล่าวไว้หมายเอา

วิปัสนาญาณที่พระโยคีผู้นี้ได้แล้วนั่นเอง

[อุทยัพพยานุปัสนญาณ]

พระโยคีนั้น เป็นผู้มีญาณหมดจด เพราะละนิจจสัญญาเป็นต้น อัน

เป็นปฏิปักขธรรมของวิปัสนามีอนิจจานุปัสนาเป็นอาทิได้ ถึงฝั่งแห่ง

สัมมสนญาณอย่างนี้แล้ ย่อมเริ่มทำความเพียร เพื่อบรรลุอุทยัพพยานุ-

ปัสนญาณ ที่ท่านกล่าวไว้ในลำดับสัมมสนญาณว่า "ปัญญาในอันคำนึง

เห็นความปรวนแปรแห่งธรรมทั้งหลายอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ชื่อว่าอุท-

ยัพพยานุปัสนญาณ (ญาณในอันคำนึงเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม

ไป)"๒ ดังนี้ ก็แลเมื่อเริ่มทำย่อมเริ่มทำโดยสังเขปก่อน (ต่อไป) นี้

เป็นบาลีในการเริ่มทำโดยสังเขปนั้น

"ถามว่า ปัญญาในอันคำนึงเห็นความปรวนแปรแห่งธรรมทั้ง

หลายอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ชื่อว่า อุทยัพพยานุปัสนญาฯ๓ เป็นอย่าง

๑. ตรงนี้ ปาฐะเรียงไว้เป็น อุปริภงฺคานุปสฺสนา ตโต ปฏฐาย ไม่สมกับข้างต้นที่เป็น

อุปริภงฺคานุปสฺสนโต ปฏฺฐาย พิจารณาแล้วเห็นว่าปาฐะข้างต้นดีกว่า จึงแก้และแปลตามปาฐะ

ข้างต้น (ดูเชิงอรรถ ๑ หน้า ๙๙ ด้วย)

๒. ขุ. ป. ๓๑/๑

๓. อุทยัพพยานุปัสนา แปลว่าเห็นทั้งเกิดทั้งดับ เหตุไฉนบาลีจึงว่าเห็นความแปรชื่อว่าอุทยัพ-

พยานุปัสนา ซึ่งก็หมายความว่าเห็นความดับนั้นแหละ ชื่อว่าเป็นทั้งเกิดทั้งดับ ดังนี้ มหาฎีกาท่าน

จึงช่วยอธิบายว่า การดูความเกิดก็เพียงจะเห็นความดับ เพราะฉะนั้น เพื่อจะแสดงการเห็นความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 103

ไร ? แก้ว่ารูปเกิดขึ้นปัจจุบัน๑ ลักษณะที่เกิดขึ้นแห่งรูปนั้นเป็น

อุทยะ ลักษณะที่แปรไปแห่งรูปนั้นเป็นวยะ ปัญญาคำนึงเห็น

(อุทยะและวยะนั้น) เป็นญาณ เวทนา... สัญญา... สังขาร...

วิญญาณเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ลักษณะทีเกิดขึ้นแห่งเวทนา...สัญญา

...สังขาร...วิญญาณนั้นเป็นอุทยะ และลักษณะที่แปรไปแห่งเวทนา

...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นเป็นวยะ ปัญญาคำนึงเห็น

(อุทยะและวยะนั้น) เป็นญาณ จักขุเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ฯลฯ ภพ

เกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ลักษณะที่เกิดขึ้นแห่งจักขุ ฯลฯ ภพนั้น เป็น

อุทยะ ลักษณะที่แปรไปแห่งจักษุ ฯลฯ ภพนั้นเป็นวยะ ปัญญา

คำนึงเห็น (อุทยะและวยะนั้น) เป็นญาณ๒"

พระโยคีนั้นคำนึงเห็นนิพพัตติลักขณะ คือความเป็นขึ้นความเกิด

ขึ้น อาการที่เป็นใหม่ขึ้น แห่งนามรูปที่เกิดแล้วว่าเป็นอุทยะ คำนึง

เห็นวิปริณามลักขณะคือความสิ้นไปความดับไปแห่งนามรูปที่เกิดแล้วว่า

เป็นวยะ ตามนัยบาลีนี้ เธอย่อมรู้ทั่วถึงอย่างนี้ว่า "ในกาลก่อนแต่

ความเกิดขึ้นแห่งนามรูปนี้ กองหรือหมวดหมู่ ของนามรูปที่ยังไม่เกิด

ดับเป็นสำคัญ ท่านจึงยกปัญญาเห็นความแปรเป็นประธาน แต่ว่าการเห็นความดับนั้นมีการเห็น

ความเกิดเป็นบุพภาค คือต้องเห็นความเกิดก่อนจึงจะเห็นความดับได้ ท่านจึงเรียกวิปัสนาญาณ

ข้อนี้เสียว่าอุทยัพพยานุปัสนญาณเท่านั้นเอง

๑. ชาตํ-เกิดแล้ว ในบาลีนี้ท่านหมายเอาว่าเนื่องอยู่ในขณะ ๓ ไม่ใช่เป็นอดีต เพราะฉะนั้น

ท่านจึงเรียง ปจฺจุปฺปนฺนํ กำกับไว้ด้วย

๒. ขุ. ป. ๓๑/๗๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 104

หามีไม่ ชื่อว่าความจากกองหรือจากหมวดหมู่แห่งนามรูปที่กำลังเกิด

เล่าก็หามีไม่ ชื่อว่าความไปสู่ทิศใหญ่น้อยแห่งนามรูปที่กำลังดับเล่าก็

หามีไม่ ชื่อว่าความตั้งลง โดย (รวมกัน) เป็นกอง เป็นหมวดหมู่

เป็นหลุมบ่อ ในที่อันหนึ่ง แห่งนามรูปที่ดับไปแล้วเล่าก็หามีไม่ เหมือน

อย่างว่า เมื่อพิณอันบุคคลบรรเลงอยู่ ชุมนุมของเสียงที่เกิดขึ้นมามีอยู่

่ก่อนเกิดขึ้นไม่ กำลังเกิดมันก็มิได้มาแต่ชุมนุม ความไปสู่ทิศใหญ่น้อย

แห่งเสียงที่กำลังดับก็ไม่มี มันดับแล้วก็มิได้ตั้งเป็นชุมนุมอยู่ที่ไหน ๆ

โดยที่แท้ เสียงพิณนั้นไม่มีมาขึ้น เพราะอาศัยตัวพิณ คอพิณ และ

ความพยายามอันควรแก่การนั้นของคน (ประกอบกัน) ครั้นมีแล้ว

ก็กลับหายไปฉันใด แม้ธรรมทั้งหลายทั้งที่รูปและไม่มีรูปทั้งปวงก็

ไม่มีมามีขึ้น ครั้นมีแล้วก็กลับเสื่อมไปฉันนั้น แล

พระโยคีครั้นทำอุทยัพพยมนสิการอย่างสังเขป ดังนี้แล้ว จึงทำ

มนสิการอย่างพิสดารโดยปัจจัยและโดยขณะอีก (ต่อไป) เป็นต้นว่า ความ

เกิดขึ้นแห่งรูปย่อมมี (เพราะความเกิดขึ้นแห่งปัจจัย) อย่างนี้บ้าง ความ

เสื่อมไปแห่งรูปย่อมมี (เพราะความดับแห่งปัจจัย) อย่างนี้บ้าง รูปย่อม

เกิด (โดยขณะ) อย่างนี้บ้างรูปย่อมกลับเสื่อมไป (โดยขณะ) อย่างนี้บ้าง

ตามเกณฑ์ลักษณะ ๕๐ โดยทำเป็น ๑๐ ๆ ด้วยเห็นความเกิดความดับ

แห่งขันธ์แต่ละขันธ์ ซึ่งกล่าว*ไว้ในวิภังค์แห่งอุทยัพพยญาณนั่น

แล ดังนี้ว่า "ภิกษุย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์โดยอรรถคือความ

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น วุตฺตา ผิด ที่ถูกเป็น วุตฺตานิ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 105

เกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า "ความเกิดขึ้นแห่งรูปย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่ง

อวิชชา" ย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์โดยอรรถคือความเกิดขึ้น

แห่งปัจจัยว่า "ความเกิดแห่งรูปย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งตัณหา...

เพราะความเกิดขึ้นแห่งกรรม...เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร" แม้

เห็นนิพพัตติลักขณะ (ลักษณะที่เกิดขึ้นแห่งรูป) ก็ชื่อว่า เห็นความ

เกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์ เมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์ ก็ชื่อว่า เห็น

ลักษณะ ๕นี้ ภิกษุย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์โดยอรรถ คือ

ความดับแห่งปัจจัยว่า "ความดับแห่งรูปย่อมมี เพราะความดับแห่ง

อวิชชา" ย่อมเห็นความเสื่อมไปแห่งรูปขันธ์โดยอรรถคือความดับ

แห่งปัจจัยว่า "ความดับแห่งรูปย่อมมี เพราะความดับแห่งตัณหา...

เพราะความดับแห่งกรรม... เพราะความดับแห่งอาหาร" แม้เห็น

วิปริณามลักขณะ (ลักษณะที่แปรไปแห่งรูป) ก็ชื่อว่า เห็นความเสื่อม

แห่งรูปขันธ์ เมื่อเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ ก็ชื่อว่า เห็นลักษณะ ๕ นี้

นัยเดียวกันนั้น ภิกษุย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์ โดย

อรรถคือความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า "ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาย่อมมี

เพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชา" ย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์

โดยอรรถ คือ ความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า "ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา

ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งตัณหา... เพราะความเกิดขึ้นแห่งกรรม

...เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ" แม้เห็นนิพพัตติลักษณะ (แห่ง

เวทนา) ก็ชื่อว่า เห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์ เมื่อเห็นความ

เกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์ ก็ชื่อว่า เห็นลักษณะ ๕ นี้ ภิกษุย่อมเห็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 106

ความเสื่อมไปแห่งเวทนาขันธ์โดยอรรถคือความดับแห่งปัจจัยว่า "ความ

ดับแห่งเวทนาย่อมมีเพราะความดับแห่งอวิชชา...เพราะความดับแห่ง

ตัณหา...เพราะความดับแห่งกรรม... เพราะความดับแห่งผัสสะ แม้

เห็นวิปริณามลักษณะ (แห่งเวทนา) ก็ชื่อว่า เห็นความเสื่อมแห่ง

เวทนาขันธ์ เมื่อเห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์ ก็ชื่อว่า เห็น

ลักษณะ ๕ นี้

และสำหรับสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ก็เช่น

ดังเวทนาขันธ์ แต่นี้เป็นความแปลกสำหรับวิญญาณขันธ์ คือประกอบ

คำว่า "นามรูปสมุทยา-เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป นามรูป-

นิโรธา-เพราะความดับแห่งนามรูป (แทน) ในที่แห่งคำ ผสฺส"*

เมื่อพระโยคีนั้นมนสิการไปอย่างนี้ ญาณว่า "ธรรมเหล่านี้ไม่มี

มามีขึ้น ครั้นมีแล้วก็กลับเสื่อมไป ดังนี้นี่เอง " จะเฉียบขึ้น

เมื่อพระโยคีนั้นเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปโดยส่วนสอง

คือโดยปัจจัย ๑ โดยขณะ ๑ อย่างนั้นอยู่ ความต่างแห่งสัจจะ ปฏิจจ-

สมุปบาทนัย และลักษณะ ย่อมปรากฏ

พระโยคีนั้นเห็นความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายเพราะความเกิดขึ้น

แห่งปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้น และความดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย เพราะ

ความดับแห่งปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นอันใด อันนี้เป็นเห็นความเกิด

ขึ้นและความเสื่อมไปโดยปัจจัยของเธอ ส่วนว่าเมื่อเห็นลักษณะที่เกิด

* คือเปลี่ยนคำว่า ผสฺสมิทยา เป็น นามรูปสมุทยา เปลี่ยนคำว่า ผสฺสนิโรธา เป็น

นามรูปนิโรธา สำหรับวิญญาณขันธ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 107

ขึ้นและลักษณะที่แปรไป จึงเห็นความเกิดและความเสื่อมแห่งขันธ์

ทั้งหลาย อันใด อันนี้เป็นเห็นความเกิดและความเสื่อมโดยขณะของ

เธอ เพราะว่าลักษณะที่เกิดขึ้นย่อมมีในอุปัตติขณะเท่านั้น และ

ลักษณะที่แปรไปก็ย่อมมีในภังคขณะ

[สัจจะปรากฏ] >

เหตุนี้ เมื่อพระโยคีนั้นเห็นความเกิดและความเสื่อมโดยส่วนสอง

คือโดยปัจจัย ๑ โดยขณะ ๑ ดังกล่าวมาฉะนี้อยู่ ด้วยการเห็นความ

เกิดขึ้นโดยปัจจัย สมุทยสัจก็เป็นอันปรากฏ เพราะมาหยั่งรู้ปัจจัยผู้ให้เกิด

ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยขณะ ทุกขสัจก็เป็นอันปรากฏ เพราะ

หยั่งรู้ชาติทุกข์ ด้วยการเห็นความเสื่อมไปโดยปัจจัย นิโรธสัจก็เป็น

อันปรากฏ เหตุหยั่งรู้ความไม่เกิดขึ้นแห่งสิ่งที่มีปัจจัยทั้งหลายเพราะ

ความไม่เกิดขึ้นแห่งปัจจัย ด้วยการเห็นความเสื่อมโดยขณะ ทุกขสัจ

ก็เป็นอันปรากฏอีกแหละ เพราะหยั่งรู้มรณทุกข์ ส่วนการเห็นความ

เกิดขึ้นและความเสื่อมไป (ทั้งโดยปัจจัยและโดยขณะ) แห่งพระโยคีนั้น

อันใด อันนี้เป็นโลกิยมรรค เพราะเหตุนั้น มรรคสัจก็เป็นอัน

ปรากฏ เพราะกำจักสัมโมหะในมรรคนั้นเสียได้

[ปฏิจจสมุปบาทและปฏิจจสมุบันธรรมปรากฏ]

อนึ่ง ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย อนุโลมปฏิจจสมุปบาท

ก็เป็นอันปรากฏแก่พระโยคีนั้น เพราะหยั่งรู้ว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี "

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 108

ด้วยการเห็นความเสื่อมไปโดยปัจจัย ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาทก็เป็นอัน

ปรากฏ เพราะหยั่งรู้ว่า "เพราะความดับแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับ" แต่

ด้วยการเห็นทั้งความเกิดและความเสื่อมโดยขณะ ปฏิจจสมุบันธรรม

ทั้งหลายนับว่าปรากฏ เพราะหยั่งรู้สังขตลักษณะ ด้วยว่าธรรม

ทั้งหลายที่มีความเกิดและเสื่อมไปได้ ย่อมเป็นสังขตธรรม และ

สังขตธรรมเหล่านั้นก็เป็นปฏิจสมุบันธรรมนั่นแล

[นัยทั้ง ๔ ปรากฏ]

อนึ่ง ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย เอกัตตนัยก็เป็นอัน

ปรากฏแก่พระโยคีนั้น เพราะหยั่งรู้ความไม่ขาดสายแห่งสันดาน ด้วย

การสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผล ดังนั้น เธอก็ละอุจเฉททิฏฐิได้ดียิ่งขึ้น

ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยขณะ นานัตตนัยก็เป็นอันปรากฏ เพราะ

หยั่งรู้ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้น เธอก็ละสัสสตทิฏฐิได้ดียิ่งขึ้น

อนึ่ง ด้วยการเห็นทั้งความเกิดขึ้นและเสื่อมไปโดยปัจจัย อัพยาปารนัย

ก็เป็นอันปรากฏแก่เธอ เพราะหยั่งรู้ความที่ธรรมทั้งหลายเป็นสภาพ

ไม่เป็นไปในอำนาจ ดังนั้น เธอก็ละอัตตทิฏฐิได้ดียิ่งขึ้น อนึ่งเล่า

ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย เอวํธัมมตานัยก็เป็นอันปรากฏ

เพราะหยั่งรู้ความเกิดขึ้นแห่งผลโดยอนุรูปแก่ปัจจัย ดังนั้น เธอก็ละ

อกิริยทิฏฐิได้ดียิ่งขึ้น

[ลักษณะปรากฏ]

อนึ่ง ด้วยการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย อนัตตลักษณะก็เป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 109

อันปรากฏแก่พระโยคีนั้น เพราะหยั่งรู้ความที่ธรรมทั้งหลายเป็นสภาพ

มีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย โดยไม่เคลื่อนคลาด ด้วยการเห็น

ทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปโดยขณะ อนิจจลักษณะย่อมเป็นอัน

ปรากฏ เพราะหยั่งรู้ความที่ธรรมทั้งหลายเป็นสภาพมีแล้วก็ไม่มี และ

เพราะหยั่งรู้ความว่างเปล่า (แห่งสังขารธรรมทั้งหลาย) ทั้งในส่วนก่อน

และส่วนหลัง* (คือทั้งในอดีตและอนาคต) ทั้งทุกขลักษณะก็เป็น

อันปรากฏ เพราะหยั่งรู้ความถูกบีบคั้นด้วยความเกิดและความเสื่อม

แม้สภาวลักษณะ (ลักษณะที่เป็นสภาวะ) ก็เป็นอันปรากฏ เพราะ

หยิ่งรู้ว่าเป็นธรรมที่กำหนดไว้ด้วยความเกิดและความเสื่อม แม้ความที่

สังขตลักษณะเป็นไปชั่วกาล (คือชั่วขณะ ๆ) ก็ปรากฏในสภาวลักษณะ

เพราะหยั่งรู้ความไม่มีแห่งความเสื่อมในลักษณะเกิด และแห่งความเกิด

ในลักษณะเสื่อม แล

สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นของนิตย์แก่พระโยคีนั้น

ผู้มีประเภทแห่งสัจจะ ปฏิจจาสมุปบาท นัย และลักษณะอันเกิดปรากฏ

แล้วอย่างนั้น โดยหยั่งรู้ว่า "อันธรรมเหล่านี้มิใช่ไม่เคยมาเกิดขึ้น

(แต่) มันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปอย่างนี้นี้เอง" อนึ่ง ใช่แต่มันปรากฏ

เป็นของใหม่เป็นนิตย์เท่านั้นหามิได้ มันยังปรากฏเป็นของตั้งอยู่ชั่วกาล

อันสั้นโดยปกติ ดังหยาดน้ำค้าง เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ดังต่อมน้ำ ดัง

รอยไม้ (ขีด) ในน้ำ ดังเมล็ดผักกาดที่ปลายเหล็กแหลม และดังฟ้าแลบ

* หมายความว่า สังขารธรรมนั้น มันก็อยู่ใน ๓ ขณะ คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่มีเหลือตกค้าง

อยู่เป็นอดีต และจักไม่ไปตกค้างอยู่ในอนาคต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 110

ทั้งยังปรากฏว่าเป็นของไม่เป็นสาระ (คือไม่จริงจัง) และไม่มีแก่นสาร

ดังมายา (กล) พยับแดด ความฝัน ล้อไฟ๑ เมืองคนธรรพ์๒

ฟองน้ำ และต้นกล้วยเป็นต้น

ด้วยภาวนาวิธีเพียงเท่านั้น ตรุณวิปัสนาญาณ (วิปัสนาญาณอย่าง

อ่อน) ข้อแรกชื่อว่าอุทยัพยานุปัสนา อันแทงตลอดลักษณะ ๕๐ ถ้วน

ตั้งอยู่ด้วยอาการนี้ว่า "สิ่งที่มีความเสื่อมเป็นธรรมดานั่นเองเกิดขึ้น และ

มันเกิดขึ้นแล้ว ก็เข้าถึงความเสื่อม " ย่อมเป็นอันพระโยคีนั้น ได้

บรรลุแล้ว เพราะได้บรรลุตามตรุณวิปัสนาญาณไรเล่า พระโยคีนั้นจึง

ได้ชื่อว่า "อารัทธวิปัสสก-ผู้เริ่มต้นเห็นแจ้ง"

[วิปัสนูปกิเลส ๑๐]

ลำดับนั้น ด้วย (อำนาจแห่ง) ตรุณวิปัสนานี้ วิปัสนูปกิเลส ๑๐

ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีอารัมธวิปัสสกนั้น อันวิปัสนูปกิเลสทั้งหลาย

หาเกิดขึ้นแก่พระอริยาสาวกผู้ถึงปฏิเวธแล้ว และแก่บุคคลผู้ปฏิบัติผิด

(ทาง) เกียจคร้าน ทอดทิ้งกรรมฐานเสียไม่ แต่ย่อมเกิดแก่กุลบุตร

ผู้ปฏิบัติชอบ ประกอบภาวนาที่ถูกต้อง เป็นอารัทธวปัสสกเท่านั้น

๑. คือตุ้นฟืนติดไฟ จับแกว่งเป็นวงกลม ดูราวกะล้อไฟ

๒. มหาฎีกาว่า ภาพที่เพียงแต่ปรากฏในอากาศ ดูราวกะบ้างเมือง ด้วยอำนาจความคิดเล่นของ

พวกเทพบุตรธรรพ์ เรียกว่า คันธัพพนคร-เมืองคนธรรพ์ (เผอิญตรงกับคำพังเพยของเราที่ว่า

"สร้างวิมานในอากาศ")

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 111

ถามว่า "ก็อุปกิเลส ๑๐ นั้น เป็นไฉน ? แก้ว่า "อุปกิเลส ๑๐ นั้น

คือ โอภาส (แสงสว่าง) ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ (ความรำงับ) สุข

อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ) ปัคคาหะ (ความเพียร) อุปัฏฐาน

(คือสติ) อุเบกขา นิกันติ (ความพอใจ) จริงอยู่ คำ (ต่อไป) นี้

พระธรรมเสนาบดีก็ได้กล่าวไว้ว่า "ปุจฉาว่า "ใจอันถือเอาผิดด้วยธรรม-

อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน คือตื่นอุปกิเลสว่าเป็นธรรม ?) เป็นอย่างไร"

วิสัชนาว่า "เมื่อภิกษุมนสิการโดยความไม่เที่ยงอยู่ โอภาสเกิดขึ้น" เธอ

นึกหน่วงเอาโอภาสว่า "โอภาสเป็นธรรม" ความฟุ้งซ่านไปเพราะ

โอภาสนั้น เป็นอุทธัจจะ เธอเป็นผู้มีใจถือเอาผิดไปด้วยอุทธัจจะนั้น

ย่อมไม่รู้ความปรากฏโดยความไม่เที่ยงตามเป็นจริง ย่อมไม่รู้ความ

ปรากฏความเป็นทุกข์...โดยความเป็นอนัตตาตามความเป็นจริง

นัยเดียวกันนั้น เมื่อภิกษุมนสิการโดยความไม่เที่ยงอยู่ ญาณเกิดขึ้น...

ปีติ... ปัสสัทธิ ... สุข ... อธิโมกข์ ... ปัคคาหะ ... อุปัฏฐาน...

อุเบกขา...นิกันติเกิดขึ้น เธอนึกหน่วงเอานิกันติว่า "นิกันติเป็นธรรม"

ความฟุ้งซ่านไปเพราะนิกันตินั้น เป็นอุทธัจจะ เธอเป็นผู้มีใจถือเอา

ผิดไปด้วยอุทธัจจะนั้น ย่อมไม่รู้ความปรากฏโดยความไม่เที่ยงตามเป็น

จริง ย่อมไม่รู้ความปรากฏโดยความเป็นทุกข์... โดยความเป็นอนัตตา

ตามเป็นจริง"*

* ขุ. ป. ๓๑/๔๔๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 112

[อรรถาธิบายวิปัสนูปกิเลส]

[โอภาส]

ในอุปกิเลส ๑๐ นั้น ข้อว่า โอภาส ได้แก่วิปัสโนภาส (แสงสว่าง

ในวิปัสนา หรือแสงสว่างเกิดแต่วิปัสนา ?) ครั้นโอภาสนั้นเกิดขึ้น

แล้ว พระโยคาวจรคิด (ตื่น) ไปว่า "ก่อนแต่นี้ โอภาสเห็นปานนี้

ไม่เคยเกิดขึ้นแก่เราเลยหนา เราเป็นผู้บรรลุมรรค เป็นผู้บรรลุผลแล้ว

เป็นแน่" ดังนี้แล้ว ถือเอาสิ่งที่มิใช่มรรคเลย ว่าเป็นมรรคไป และ

(ถือเอา) สิ่งที่มิใช่ผลเลย ว่าเป็นผลไป เมื่อเธอเอาสิ่งที่มิใช่มรรค

ว่าเป็นมรรค สิ่งที่มิใช่ผลว่าเป็นผลไปเสีย วิปัสนาวิถี๑ ก็เป็นอันชะงัก

ไป เธอก็ปล่อยมูลกรรมฐาน๒ของตนเสีย นั่งชมโอภาสอยู่นั่งเอง

ก็แลโอภาสนี้นั้น เกิดขึ้นแก่ภิกษุลางรูป ให้สว่างอยู่เพียงที่ (คู้)

บัลลังก์เท่านั้น ลางรูปให้สว่าง (กว้างออกไป แต่ว่า) อยู่ภายในห้อง

ลางรูปให้สว่าง (ออกไป) กระทั่งนอกห้อง ลางรูปให้สว่างไปทั่ววิหาร

ลางรูปให้สว่างไปถึงคาวุต (๑๐๐ เส้น)...ถึงกึ่งโยชน์...ถึงโยชน์...

ถึง ๒ โยชน์...ถึง ๓ โยชน์ ฯลฯ ลางรูป (โอภาสเกิด) ทำให้มี

แสงสว่างเป็นอันเดียวกันแต่พื้นปฐพีจนพรหมโลกชั้นอกนิษฐ์ แต่

โอภาสได้เกิดขึ้นแด่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ให้สว่างไปตลอดหมื่น

๑-๒. มหาฎีกาว่า วิปัสนาที่ดำเนินไปโดยลำดับ ชื่อว่า วิปัสนาวิถี ส่วนมูลกรรมฐาน ก็คือ

วิปัสนาที่บำเพ็ญมานั้นนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 113

โลกธาตุ๑ ก็เรื่อง (ต่อไป) นี้ เป็นเรื่องของความมีประมาณต่างกัน

แห่งโอภาสนั้น ดังกล่าวมา

ได้ยินว่าพระเถระ ๒ รูปนั่ง (ทำความเพียร) อยู่ภายในเรือนฝา

สองชั้น ที่จิตตลบรรพต ก็วันนั้นเป็นวันอุโบสถกาฬปักษ์ ทิศทั้งหลาย

ถูกปิดด้วยเพดานเมฆ ความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นไปในตอน

กลางคือ๒ ครั้นแล้วพระเถระรูปหนึ่งกล่าวขึ้นว่า "ท่านครับ เวลานี้

ดอกไม้เบญจพรรณบนสิงหาศน์ (ท่านเท้าสิงห์ ?) ที่ลานพระเจดีย์

ปรากฏแก่ผม" อีกรูปหนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า "คูณ (ที่) คุณบอก (น่ะ)

ยังไม่น่าอัศจรรย์ แต่เดี่ยวนี้ ปลาและเต่าในที่ (น้ำไกลออกไป)

โยชน์หนึ่งในมหาสมุทรปรากฏแก่ฉัน (นี่) ถึงจะน่าอัศจรรย์ !"

อันวิปัสนูปกิเลสนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่สมถวิปัสนาลาภีบุคคล (ผู้ได้

สมถและวิปัสนา) โดยมาก สมถวิปัสนาลาภีบุคคลนั้น เพราะความ

ไม่ปรากฏขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลายที่สมาบัติข่มไว้๓ จึงยังจิตให้เกิดขึ้น

๑. มหาฎีกาอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่ปรากฏเห็นแต่แสงสว่าง รูปอะไร ๆ ที่อยู่ในที่ ๆแสงสว่าง

แผ่ไปถึง ก็ปรากฏเห็นหมด มีปัญหาว่า ที่เห็นนั้น เห็นด้วยจักขุวิญญาณหรือเห็นทางมโนวิญญาณ

ท่านว่า ดูเหมือนอาจารย์ทั้งหลายกล่าว่า รูปในโอภาสนั้นเป็นสิ่งพึงรู้ทางมโนวิญญาณเท่านั้น ดัง

ท่านผู้ได้ทิพจักขุ

๒. มืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) เป็นวันเดียวดับ (๒) เป็นเวลาเที่ยงคืน (๓) ที่เป็นป่าทึบ

(๔) เมฆปิดท้องฟ้า

๓. เบื้องต้นท่านกล่าวว่า บำเพ็ญวิปัสนามาถึงชั้นอุทยัพพยานนุปัสนา ได้ชื่อว่าอารัทธวิปัสสกแล้ว

วิปัสนูปกิเลสจึงเกิดขึ้น แปลว่า เลยสมถะไปแล้ว แต่คำที่ท่านกล่าวตรงนี้ ฟังเป็นว่า ชั้นสมถะ

ก็มีอุปกิเลสพวกนี้เกิด ถ้าเช่นนั้นมิต้องเรียก "สมถูปกิเลส" หรือ อนึ่ง เราเข้าใจกันว่า ชั้นสมถะ

นั้น กิเลสรำงับด้วยอำนาจสมาบัติ แต่ชั้นวิปัสนา กิเลสรำงับด้วยอำนาจญาณ เฉียบกว่าสมาบัติ

ขึ้นไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 114

(คือคิดไปว่า) "เราเป็นพระอรหันต์ " ดังพระมหานาคเถระผู้อยู่

ณ อุจจังกวาลิก (วิหาร ?) ดังพระมหาทัตตเถระผู้อยู่ ณ หังกนก

(วิหาร ?) และดังพระจูฬสุมนเถระผู้อยู่ที่เรือนเป็นที่ทำความเพียร

ชื่อเรือนนิงเปณณกะ ที่จิตตลบรรพต ฉะนั้น

(ต่อไป) นี้ เป็นการแสดงเรื่อง ๆ หนึ่ง ในความทะนงตัวของ

สมถวิปัสนาลาภีบุคคลนั้น

มีเรื่องเล่าว่าพระมหาขีณาสพผู้มีปฏิสัมภิทาแตกฉานรูปหนึ่ง ชื่อ

ธัมมทินนเถระอยู่ที่ตลังคร (วิหาร?) เป็นผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์

หมู่ใหญ่ วันหนึ่งท่านนั่งอยู่ในที่นั่ง (พัก) กลางวันของท่าน แล้ว

รำพึงถึง (อาจารย์) ว่า "กิจแห่งความเป็นสมณะ ของพระมหานาคเถระ

ผู้อยู่ ณ อุจจุงกวาลิก (วิหาร ?) อาจารย์ของพวกเรา ถึงที่สุดแล้วหรือ

ยังหนอ" ก็เห็นความที่พระมหานาคเถระนั้นยังเป็นบุถุชนเป็นอยู่ และ

ทราบด้วยว่า "เมื่อเราไม่ไป ท่านจักทำกาลกิริยาทั้งที่เป็นบุถุชนเป็น

แน่" จึงโลดขึ้นสู่เวหาสด้วยฤทธิ์ (ลอดลิ่วไป) ลงในที่ใกล้พระเถระ

ผู้นั่งอยู่ ณ ที่นั่ง (พัก) กลางวัน กราบแล้วแสดง (อาจริย) วัตร

แล้วนั่งลงข้างหนึ่ง แล้วถูกพระเถระทักว่า "อาวุโส ธัมมทินนะ

ทำไมจึงมาไม่ใช่เวลา"๑ ก็เรียนว่า มาจะเรียนถามปัญหา ต่อนั้น

ครั้นพระเถระอนุญาตว่า "ถามเกิด อาวุโส เรารู้จักกล่าวแก้ให้"๒

๑. หมายความว่า มาในเวลาท่านกำลังพักกลางวัน เช่นนั้นกระมัง

๒. ชานมานา กถยิสฺสาม การใช้พหุพจน์เป็นการแสดงความเคารพ นี่ท่านเป็นอาจารย์จะแสดง

ความเคารพศิษย์อย่างไรกัน ท่านเรียงเพลินไปกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 115

จึงถามปัญหา (เสียตั้ง) ๑,๐๐๐ ข้อ พระเถระก็กล่าว (แก้) ปัญหา

ที่ถาม ๆ ได้ไม่ข้องขัดเลย๑ ทีนี้เมื่อเรียน (สรรเสริญและถาม) ว่า

ญาณของท่านเฉียบอย่างยิ่ง ธรรมอันนี้๒ ท่านได้บรรลุเมื่อไร พระ

เถระก็บอกว่า เมื่อ ๖๐ ปี (นับ) แต่ปีนี้ (ถอยหลังไป) จึงขอให้

ท่านใช้ (อ___________ภิญญา) สมาธิ (ให้ดู) ท่านก็การใช้สมาธินี่ไม่เป็นการ

หนัก (อะไรเลย) จึงว่า ถ้ากระนั้นขอให้ท่านสร้างช้าง (นิรมิต) ขึ้น

ตัวหนึ่ง๓ ท่านก็สร้างช้างสรรพเศวต (เผือกผ่องสรรพางค์) ขึ้น จึง

กล่าว (ต่อไป) ว่า ทีนี้ขอให้ท่านทำมันให้เป็นอย่างช้างใบหูผึ่ง หางชี้

ม้วนงวงไว้ในปาก ทำเสียงโกญจนาทอย่างน่ากลัว (แล่น) มาตรงหน้า

ท่าน พระเถระก็ทำอย่าง (ที่ขอให้ทำ) นั้น แล้วเห็นอาการอันน่ากลัว

ของช้างซึ่ง (แล่น) มาโดยเร็ว ก็ (เกิดกลัว) ตั้งท่าจะลุกหนี๔

พระเถระขีณาสพจึงเหยียดมือยึดชายจีวรท่านไว้ แล้วเรียนว่า "ท่าน

(อาจารย์) ขึ้นชื่อว่าความขลาดของพระขีณาสพหามีไม่ " ๕ ท่านจึงรู้

ความที่ตนยังเป็นบุถุชน (ขึ้น) ในกาลนั้น แล้วกล่าวว่า "อาวุโส

๑. ปัญหาตั้ง ๑,๐๐๐ ท่านมิใช้เวลาถามตอนกันเป็นวัน ๆ หรือ คิดดูไม่เห็นเหตุว่าทำไมท่านจะต้อง

ขับเคี่ยวกับถึงปานนั้น

๒. ธรรมอันนี้ มหาฎีกาว่า หมายถึงปฏิสัมภิทาธรรม (?)

๓. คำว่า "เชือก" นั้น ใช้เรียกช้างบ้าน ที่เขาใช้เชือกผูกแล้ว เมื่อยังเป็นช้างเถื่อน ช้างนิรมิต ก็ต้อง

เรียก "ตัว" ไปก่อน

๔. กลัวสิ่งที่ตัวสร้างขึ้นมาเอง ไม่น่าเป็นเลย อนึ่ง ตอนนี้เป็นตอนที่พรรณนาเรื่องความตอน

โอภาสวิปัสนูปกิเลส แต่เรื่องที่เล่านี้ไม่เห็นเกี่ยวกับโอกาส กลายเป็นเรื่องอภิญญาแสดงฤทธิ์เอช

อะไรไป

๕. ปาฐะตก น. ที่ถูกเป็น... สารชฺชํ นาม น โหติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 116

ธัมมทินนะ ขอเธอจงเป็นที่พึ่งพึงของฉันด้วยเถิด" แล้วนั่นกระหย่ง

(คือคุกเข่า) แทบเท้า (พระขีณาสพ) พระเถระขีณาสพจึงว่า "ท่าน

(อาจารย์) กระผมมาก็ด้วยตั้งใจว่าจักเป็นที่พึ่งพิงของท่านนั่นแหละ

ท่ายอย่าคิดไปเลย" แล้วบอกกรรมฐานให้ พระเถระรับกรรมฐาน

แล้วขึ้นสู่ที่จงกรม ในย่างเท้าที่ ๓ ก็ได้บรรลุผลเลิศคือพระอรหัต๑

ได้ยินมาว่า พระเถระเป็นคนโทสจริต๒

ภิกษุ (โยคาวจร) ทั้งหลายผู้เป็น (คนทะนง) ชนิดนี้ (แล)

ย่อมหวั่นไหวในเพราะโอภาส

[ญาณ]

ข้อว่า ญาณ ได้แก่วิปัสนาญาณ (ญาณในวิปัสนา) นัยว่า

ญาณอันคมกล้าเฉียบแหลมยิ่ง มีกำลังอันอะไร ๆ ล้างมิได้ ดังวชิราวุธ

ของพระอินทร์ที่ปล่อยออกไปแล้ว (ไม่มีอะไรจะล้างได้) ฉะนั้น ย่อม

เกิดขึ้นแก่พระโยคี (ผู้ได้อุทยัพพยญาณ) นั้น ผู้พินิจพิจารรูปธรรม

และอรูปธรรมทั้งหลายอยู่

[ปีติ]

ข้อว่า ปีติ ก็ได้แก่วิปัสนาปีติ (ปีติในวิปัสนา) นัยว่า ในสมัย

(คือเวลาที่เกิดอุทยัพพยญาณ) นั้น ปิติทั้ง ๕ อย่างนี้ คือ ขุททกาปีติ

๑. ท่านเล่ารวบรัดเต็มที ใจเราพลิกตามไม่ค่อยทัน ท่านได้วิปัสนาญาณอย่างสูงก็เพียงอุทยัพพ-

ยานุปัสนา แล้วก็หลงวิปัสนูปกิเลสอยู่ตั้ง ๖๐ ปี บทจะสำเร็จได้ในไม่กี่อึดใจ !

๒. มหาฎีกาหนุนว่า คนโทสจริต แม้จะเป็นคนกล้า แต่บทจะกลัวก็กลัวขึ้นฉับพลัน เพราะฉะนั้น

จึงตรัสรู้ได้เร็ว เพราะบทจะคลายก็คลายได้เร็วเหมือนกัน (ที่เรียกว่า ขิปฺปวิราคี)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 117

ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคสปีติ อุพเพงคาปีติ ผรณาปีติ ย่อมเกิดแก่

พระโยคีนั้นเต็มทั่วสรีระ๑

[ปัสสัทธิ]

ข้อว่า ปัสสัทธิ ก็ได้แก่วิปัสนาปัสสัทธิ นัยว่า ในสมัย (คือ

เวลา) นั้น ความกระวนกระวายแห่งกายและจิต ย่อมไม่มีเลยแก่พระ

โยคีนั้น ผู้นั่งอยู่ในที่ (สำหรับนั่ง) ในกลางคืน หรือในที่ (สำหรับ

นั่ง) ในกลางวันก็ตาม ความหนักแห่งกายและจิตก็ไม่มี ความกระด้าง

...ความไม่ควรแก่การ...ความไข้...ความโกงแห่งกายและจิตก็ไม่มี

แต่กายและจิตของพระโยคีนั้น ย่อมรำงับ เบา อ่อน ควรแก่การ

แจ่มใส ตรง โดยแท้ทีเดียว๒ พระโยคีนั้น มีกายและจิตอันธรรม

มีปัสสัทธิเป็นต้นทั้งหลายนี้อนุเคราะห์แล้ว ในสมัยนั้น ย่อมได้เสวย

ความยินดีชื่ออมานุสี (มิใช่ของมนุษย์สามัญ)๓ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงหมายถึง ตรัส (พระพุทธพจน์นี้) ไว้ ว่า

ความยินดีชนิดอมานุสี ย่อมมีแก่ภิกษุ

ผู้เข้าไปสู่สุญญาคาร มีจิตสงบเห็นแจ้ง

ธรรมโดยชอบอยู่ ภิกษุพิจารณาเห็น

๑. มหาฎีกาว่า เมื่ออุทยัพพยานุปัสนาดำเนินสู่วิถีแล้ว ปีติ ๕ ย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ แต่เฉพาะ

ผรณาปีตินั้น มีขึ้นพร้อมกับอุทยัพพยญาณที่ถึงจุดสุดยอด

๒. ปัสสัทธิ (ความรำงับ) ลหุหา (ความเบา) มุทุตา (ความอ่อน) กัมมัญญตา (ความสมควร

แก่การ) ปาคุญญตา (ความคล่องแคล่ว) อุชุกตา (ความตรง) แห่งกายและจิตเป็นเป็นคู่ ๆ

เรียกว่า ยุคลธรรม ๖ มหาฎีกาว่า บุคลธรรม ๖ นี้ ไม่พรากจากกันและกัน เพราะฉะนั้น เมื่อ

ปัสสัทธิเกิดแล้ว อีก ๕ อย่างนั้นก็เกิดขึ้นด้วย ในที่นี้ท่านจึงนำมากล่าวรวมกันทั้ง ๖

๓. หมายความว่า ไม่ใช่ความยินดีในกามสุขซึ่งเป็นวิสัยของสามัญมนุษย์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 118

ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์

ทั้งหลายทางไร ๆ (คือทางรูปขันธ์หรือ

ทางอรูปขันธ์ ) ก็ตาม เธอย่อมได้ปีติ

ปราโมทย์ ปีติปราโมทย์ (เช่น) นั้น

เป็นน้ำอมฤตของท่านผู้รู้ทั้งหลาย๑

ปัสสัทธิอันสัมปยุตด้วยยุคลธรรมมีลหุตา (ความเบา) เป็นต้น ที่

ยังความยินดีชนิดอมานุสีนี้ให้สำเร็จ ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคี (ผู้ได้

อุทยัพพยญาณ) นั้น ดังกล่าวมาฉะนี้

[สุข]

ข้อว่าสุข ก็ได้แก่วิปัสนาสุข (คือเจตสิกสุขที่สัมปยุตด้วยวิปัสนาจิต )

นัยว่า ในสมัยนั้น ความสุขอันประณีตยิ่งที่แผ่ไปทั่งร่างกาย ย่อมเกิดขึ้น

แก่พระโยคีนั้น

[อธิโมกข์]

ข้อว่า อธิโมกข์ ได้แก่ศรัทธา ด้วยว่า ศรัทธาที่สัมปยุตกับ

วิปัสนานั่นแหละ เป็นศรัทธามีกำลังยังจิตและเจตสิกให้ผ่องใสอย่าง

ล้ำเลิศ ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้น๒

๑. ขุ. ธ. ๒๕ ๖๖ ศัพท์ อมตํ ในคาถานี้ จะหมายถึง อมตธรรม หรือพระนิพพานหาได้ไม่

เพราะปีติปราโมทย์นี้ เป็นเพียงธรรมที่เกิดขึ้นในวิปัสนาเท่านั้น ในที่นี้จึงแปล อมตํ ว่าน้ำอมฤต

หมายความว่า เป็นชนิดน้ำทิพย์ของเทวดา

๒. มหาฎีกาว่า อธิโมกข์ นี้ มิใช่อันเดียวกับอธิโมกข์ ในเยวปนกฌจตสิก (ซึ่งเป็นกุศลก็ได้

อกุศลก็ได้) ท่านจึงแก้ว่า ได้แก่ศรัทธา ศรัทธานี้เล่าก็มิได้เป็นไปทางความเชื่อกรรมเชื่อวิบาก

หรือเชื่อพระรัตนตรัย แต่เป็นเหตุแห่งความผ่องใสอย่างยิ่งของสัมปยุตธรรม เพราะปราศจาก

เครื่องเศร้าหมองของจิต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 119

[ปัคคาหะ]

ข้อว่า ปัคคาหะ ได้แก่วิริยะ ด้วยว่า วิริยะที่สัมปยุตกับวิปัสนา

นั่นเอง เป็นวิริยะที่ได้ประคองไว้อย่างดีไม่อย่อนนักไม่ตึงนัก ย่อม

เกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้น

[อุปัฏฐาน]

ข้อว่า อุปัฏฐาน ได้แก่สติ ด้วยว่า สติอันสัมปยุตกับวิปัสนา

นั่นแหละ ที่เข้าไปตั้งอยู่อย่างดี ตั้งอยู่อย่างมั่งคง เป็นหลักไม่หวั่นไหว

เช่นกับภูเขาหลวง ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้น เธอคำนึงนึกหน่วง

กำหนดในใจพิจารณาดูฐานะใด ๆ ฐานะนั้น ๆ ก็แล่นไหลเข้าไป

ปรากฏแก่เธอด้วยสติ ดุจปรโลกปรากฏแก่ท่านผู้มีทิพจักษุฉะนั้น

[อุเบกขา]

ข้อว่า อุเบกขา หมายเอาวิปัสนูเบกขา (อุเบกขาในวิปัสนาจิต)

และอาวัชนูเบกขา (อุเบกขาในอาวัชนจิต) ด้วย ด้วยว่า ในสมัยนั้น

ทั้งวิปัสนูเบกขาอันเป็นความเป็นกลาง (คือวางเฉย) ในสังขารทั้งปวง

อย่างมีกำลังก็เกิดขึ้น ทั้งอาวัชนูเบกขาในมโนทวารก็เกิดขึ้นแก่พระโยคี

นั้น อันอุเบขานั้น เมื่อพระโยคีนั้นอาวัชนาการถึงฐานะนั้น ๆ ย่อม

นำไปอย่างกล้าแข็ง ดังวชิสุธของพระอินทร์ที่ปล่อยไปแล้ว ดังหอก

อันร้อนที่ปักลงไปในห่อใบไม้ฉะนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 120

[นิกันติ]

ข้อว่า นิกันติ ได้แก่วิปัสนานิกันติ (ความพอใจในวิปัสนา) ด้วย

ว่า ความพอใจอย่างสุขุมมีอาการสงบ ทำความไยดีในวิปัสนาอันประทับ

ประดาไปด้วยวิปัสนูปกิเลสทั้งหลายมีโอกาสเป็นต้น ดังกล่าวมานั้น

ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่อาจแม้แต่จะกำหนด

จับได้ว่ามันเป็นกิเลส

ก็แลเมื่อโอภาสเกิดขึ้นฉันใด แม้เมื่ออุปกิเลสที่เหลือนั้นอย่างใด

อย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็ฉันนั้น พระโยคาวจรก็คิด (ตื่น) ไปว่า "ก่อนแต่นี้

ญาณเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นแก่เราเลยหนา...ปีติ...ปัสสัทธิ...

สุข...อธิโมกข์...ปัคคาหะ...อุปัฏฐาน...อุเบกขา...นิกันติเห็น

ปานนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นแก่เราเลยหนา เราเป็นผู้บรรลุมรรค เป็นผู้

บรรลุผลแล้วเป็นแน่" ดังนี้แล้ว ถือเอาสิ่งที่ใช่มรรคเลย ว่าเป็น

มรรคไป และ (ถือเอา) สิ่งที่มิใช่ผลเลย ว่าเป็นผลไป เมื่อเธอ

ถือเอาสิ่งที่มิใช่มรรค ว่าเป็นมรรค สิ่งที่มิใช่ผล ว่าเป็นผลไปเสีย

วิปัสนาวิถีก็เป็นอันชะงักไป เธอก็ปล่อยมูลกรรมฐานของตนเสีย นั่ง

ชมนิกันติอยู่นั่นเอง แล

[อุปกิเลส ๑๐ แจกเป็น ๓๐ ก็ได้]

ก็แลในวิปัสนูปกิเลส ๑๐ นี้ วิปัสนูปกิเลส (๙) มิโอภาสเป็นต้น

ท่านเรียกว่าอุปกิเลส เพราะเป็นวัตถุ (คือเป็นที่ตั้งที่เกิด) แห่งอุปกิเลส

มิใช่เพราะเป็นอกุศล แต่นิกันติเป็น (ตัว) อุปกิเลสด้วย เป็นวัตถุ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 121

แห่งอุปกิเลสด้วย อนึ่ง ว่าโดยเป็นวัตถุ วิปัสนูปกิเลสทั้งหลายนั่น

ก็เป็น ๑๐ แต่ว่าโดยคาหะ (ความถือ) เป็น ๓๐ ถ้วน เป็นอย่างไร

ก็อุปกิเลสเป็น ๓๐ ถ้วน ด้วยอำนาจคาหะ ดังนี้ คือ เมื่อถือเอาว่า

"โอภาสเกิดขึ้นแก่เรา" ดังนี้ ก็เป็นทิฏฐิคาหะ (ความถือเอาด้วยอำนาจ

ทิฏฐิ) เมื่อถือเอาว่า "โอภาสน่าชอบใจหนอเกิดขึ้น" ดังนี้ ก็เป็น

มานคาหะ (ความถือเอาด้วยอำนาจมานะ) เมื่อเพลินชมโอภาสอยู่

ก็เป็นตัณหาคาหะ (ความถือเอาด้วยอำนาจตัณหา) ในโอภาสมีคาหะ

๓ ด้วยอำนาจทิฏฐิมานและตัณหา ดังกล่าวมาฉะนี้ แม้ในอุปกิเลส

ที่เหลือทั้งหลายก็อย่างนั้น

พระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาดไม่คงแก่เรียน ย่อมหวั่นไหวไป ย่อม

ฟุ้งซ่านไปในเพราะอุปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งคาหะ ๓

นั้น ย่อมตามเห็นอุปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น แต่ละอย่างว่า "นั่นเป็น

ของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา" เพราะเหตุนั้น พระ

โบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าว (เป็นคาถา) ไว้ว่า

"พระโยคาวจร (ผู้ไม่ฉลาด) ย่อมหวั่นไหว

ไปต่าง ๆ ในเพราะโอภาส...ญาณ...ปีติ

...ปัสสัทธิ...สุข...อธิโมกข์...ปัคคาหะ...

อุปัฏฐาน...อุเบกขา (ในวิปัสนา) และ

อุเบกขาในอาวัชนะ...นิกันติ ซึ่งเป็น

เครื่องสะดุ้งสะเทือนแห่งจิต"

ฝ่ายพระโยคาวจรผู้ฉลาดเป็นบัณฑิตคงแก่เรียน ถึงพร้อมด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 122

พุทธิ (รู้โทษและคุณ) เมื่ออุปกิเลสมีโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อม

กำหนดพิจารณาเห็นมันด้วยปัญญาอย่างนี้ว่า "โอภาสนี้เกิดขึ้นแก่เรา

แล้วละ ก็แต่ว่าโอภาสนี้นั้นไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น อาศัย

(ปัจจัย) เกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น

ธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา"

ดังนี้บ้าง หรือมิฉะนั้น ความพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมมีแก่เธอว่า

"ถ้าว่าโอภาสพึงเป็นอัตตาไซร้ จะถือเอาว่า มันเป็นอัตตาก็ควรละ

แต่นี่มันเป็นอนัตตาแท้ มาถือเอาว่ามันเป็นอัตตา เพราะเหตุนั้น

โอภาสนั้นจึงเป็นอนัตตา โดยความหมายว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ (ของ

ใคร ๆ) เป็นสิ่งไม่เที่ยง โดยความหมายว่า มีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกข์

โดยความหมายว่า ถูกความเกิดและความเสื่อมบีบคั้น" ดังนี้บ้าง

คำพรรณนาทั้งปวงพึง (นำมากล่าว) ให้พิสดารโดยนัยที่กล่าว

แล้วในอรูปสัตตกะเถิด อนึ่ง คำพรรณนาในโอภาสเป็นฉันใด แม้

ในอุปกิเลสที่เหลือก็ฉันนั้น

พระโยคาวจรนั้น ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็ย่อมเข้าใจ

โอภาสได้ว่า "นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา"

ย่อมเข้าใจญาณ ฯลฯ นิกันติได้ว่า "นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น

นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา" เมื่อเข้าใจได้อย่างนั้นอยู่ ก็ไม่หวั่นไหว

ไม่สะดุ้งสะเทือนในเพราะอุปกิเลสมีโอภาสเป็นต้น เหตุนั้น พระ

โบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าว (เป็นคาถา) ไว้ว่า

"ปัญญาของพระโยคาวจรผู้ใดเชี่ยวชาญ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 123

(คือรู้เท่า) ฐานะ (ที่ตั้งที่เกิดอุปกิเลส) ๑๐ นี้

พระโยคาวจรผู้นั้น ย่อมเป็นผู้ฉลาดในธัม-

มุทธัจจะ (ความตื่นอุปกิเลสว่าเป็นธรรม)

และย่อมไม่ถึงซึ่งความฟุ้งซ่านไป"*

[สรุปความ]

พระโยคาวจรนั้น เมื่อไม่ถึงซึ่งความฟุ้งซ่านไปอย่างนี้ ก็ถางชัฏ

คืออุปกิลส ๓๐ ประการนั้นได้แล้ว กำหนดทางและมิใช่ทางลงได้ว่า

"ธรรมทั้งหลายมีโอภาสเป็นต้น มิใช่ทาง ส่วนวิปัสนาญาณอันพ้นจาก

อุปกิเลสด้วยดำเนินไปตามวิถี (ของวิปัสนา) เป็นทาง"

ญาณของพระโยคาวจรนั้น อันรู้ทางและมิใช่ทางว่า นี่เป็นทาว

นี่มิใช่ทาง ตั้งอยู่อย่างนี้ พึงทราบว่า ชื่อมัคคามัคคญาณทัสนาวสุทธิ

ก็แลด้วยวิสุทธิเพียงเท่านี้ เป็นอันพรโยคาวจรนั้นได้ทำความ

กำหนดสัจะได้ ๓ แล้ว กำหนดได้อย่างไร เบื้องแรก ในทิฏฐิวิสุทธิ

ด้วยการกำหนดนามรูป ก็เป็นอันได้ทำความกำหนดทุกขสัจ ในกังขา-

วิตรณวิสุทธิ ด้วยการกำหนดจับปัจจัย (ของนามรูป) ก็เป็นอันได้ทำ

ความกำหนดสมุทัยสัจ ในมัคคามัคคญาณทัสนาวิสุทธินี้ ด้วยการเลือก

เอาแต่ทางที่ถูก ก็เป็นอันได้ทำความกำหนดมรรคสัจ การกำหนด

สัจจะ ๓ เป็นอันพรโยคาวจรนั้นทำได้ ด้วยญาณอันเป็นโลกิยะนี้เอง

ดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

* บาทที่ ๔ คาถานี้ ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า น จ วิกฺเขปํ คจฺฉติ ขัดลักษณะฉันท์ เข้าใจว่า ที่ถูเป็น

น วิกฺเขปํ จ คจฺฉติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 124

ปริเฉทที่ ๒๐

ชื่อมัคคามัคคญาณทัสนาวิสุทธินิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 125

[ปฏิปทาญาณทัสนาวิสุธินิเทศ]

ส่วนวิปัสนาที่ถึงยอด้วยอำนาจแห่งญาณ ๘ และญาณที่ ๙ คือ

สัจจานุโลมิกญาณ นี่แลชื่อปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ

ก็แลในคำว่า (แห่งญาณ) ๘ นั้น พึงทราบ (ว่าได้แก่) ญาณ ๘ นี้

คือ อุพยัพพยานุปัสนาญาณอันพ้นจากอุปกิเลส นับว่าเป็นวิปัสนาที่

ดำเนินไปตามวิถี ภังคานุปัสนาญาณ ภยตุปัฏฐานญาณ อาทีนวานุ-

ปัสนาญาณ นิพพิทานุปัสนาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุ-

ปัสนาญาณ สังขารุเบกขาญาณ คำว่าญาณที่ ๙ คือสัจจานุโลมิกญาณ

นั้น เป็นคำเรียกอนุโลมญาณ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้ใคร่จะ

ทำปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธินั้นให้ถึงพร้อม จึงควรทำความเพียรในญาณ

เหล่านั้น โดยทำอุทยัพพยญาณที่พ้นจากอุปกิเลสที่ให้เป็นข้อต้น

[บำเพ็ญอุทยัพพยญาณซ้ำ]

หากคำถามว่า "ทำความเพียรในอุทยัพพยญาณซ้ำ มีประโยชน์

อะไร?" ดังนี้ไซร้ พึงตอบว่า "มีประโยชน์ที่จะได้กำหนด (ไตร)

ลักษณะให้ชัดขึ้น " เพราะอุทยัพพยญาณในหนหลัง เป็นญาณเศร้า-

หมองไปด้วยอุปกิเลส ๑๖ ไม่อาจกำหนดไตรลักษณะให้ชัดตามสภาพ

ที่เป็นจริงได้ ต่อพ้นจากอุปกิเลสแล้วจึงอาจ เหตุนั้น จึงควรทำความ

เพียรในอุทยัพพยญาณนี้ซ้ำอีก เพื่อกำหนด (ไตร) ลักษณะให้ชัดขึ้น

ก็ลักษณะทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ เพราะอะไรปิดบังไว้ เหตุไม่มนสิการ

ถึงอะไร ? อันดับแรก อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะถูกสันตติปิดบังไว้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 126

เหตุไม่มนสิการถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ทุกขลักษณะไม่

ปรากฏเพราะถูกอิริยาบถปิดบังไว้ เหตุไม่มนสิการถึงความถูกบีบคั้นอยู่

เนือง ๆ อนัตตลักษณะไม่ปรากฏเพราะถูกฆนะ (กลุ่มก้อน) ปิดบัง

ไว้ เหตุไม่มนสิการถึงความแยกจากกันได้แห่งธาตุต่าง ๆ ต่อเมื่อ

สันตติถูกทำให้ยกเลิกไป เพราะกำหนดจากความเกิดขึ้นและความเสื่อม

ไปได้ อนิจจลักษณะจึงปรากฏตามสภาพที่เป็นจริงได้ เมื่ออิริยาบถ

ถูกเพิกเพราะมนสิการถึงความถูกบีบคั้นอยู่เนื่อง ๆ ทุกขลักษณะจึง

ปรากฏตามสภาพที่เป็นจริงได้ เมื่อทำฆนวินิพโภค (ย่อยก้อนออก) ได้

เพราะแยกธาตุต่าง ๆออก อนัตตลักษณะจึงปรากฏตามสภาพที่เป็นจริง

ได้

[วิภาคไตรลักษณะ]

อนึ่ง ในไตรลักษณะนี้ พึงทราบวิภาค (ดัง) นี้ คือ สิ่งที่ไม่เที่ยง

ลักษณะของความไม่เที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ ลักษณะของความเป็นทุกข์

สิ่งที่เป็นอนัตตา ลักษณะของความเป็นอนัตตา

ในวิภาคนั้น ขันธ์ ๕ ชื่อว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง เพราะอะไร เพราะ

ภาวะ คือมันมีความเกิดขึ้นความเสื่อมไป และความเปลี่ยนแปลงไป

หรือเพราะความที่มันมีแล้วก็ไม่มี ความเกิดขึ้นความเสื่อมไป และ

ความเปลี่ยนแปลงไป หรือความแปรไปแห่งอาการ กล่าวคือความที่มี

แล้วก็ไม่มี เป็นลักษณะของความไม่เที่ยง

อนึ่ง ขันธ์ ๕ นั้นเอง ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะบาลีว่า "ยทนิจฺจํ

ตํ ทุกฺขํ-* สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์" เพราะอะไร เพราะ

* สํ. สฬา. ๑๘/๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 127

ความถูกบีบคั้นอยู่เนืองนิตย์ อาการคือความถูกบีบคั้นอยู่เนืองนิตย์

เป็นลักษณะของความเป็นทุกข์

อนึ่งเล่า ก็ขันธ์ ๕ นั้นแหละ ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะบาลีว่า

"ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา-* สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นย่อมเป็นอนัตตา " เพราะ

อะไร เพราะความไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร) อาการคือ

ความไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร ๆ) เป็นลักษณะของความเป็น

อนัตตา

พระโยคาวจรวผู้นี้ ย่อมกำหนดหมายลักษณะ ๓ ละขันธ์ ๕

ทั้งปวงนี้นั้นตามสภาพที่เป็นจริงได้ ด้วยอุทยัพพยานุปัสนาญาณที่

ผ่องพ้นจากอุปกิเลสแล้ว นับเป็นวิปัสนาอันดำเนินไปตามวิถี เมื่อ

เธอกำหนดหมายได้อย่างนั้นแล้ว พินิจพิจารรูปธรรม และอรูปธรรม

ทั้งหลายว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาไปแล้ว ๆ เล่า ๆ ญาณนั้นย่อม

จะเป็นไปคมกล้า สังขารทั้งหลายก็จะปรากฏ (โดยเกิดดับ) เร็วครั้น

ญาณเป็นไปคมกล้า ครั้นสังขารทั้งหลายปรากฏเร็ว ญาณย่อมไม่ประสบ

(คือไม่ถือเอา ปล่อยเสีย) ซึ่งความเกิดขึ้น หรือความตั้งอยู่ หรือ

ความเป็นไป หรือนิมิตก็ตาม สติ (คือความระลึกรู้) ตั้งแน่อยู่แต่

ในความสิ้น ความเสื่อม ความแตก ความดับเท่านั้น

[ภังคานุปัสนาญาณ]

เมื่อพระโยคาวจรนั้นเห็นอยู่ว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสังขารชื่อดังนี้

* สํ. สฬา. ๑๘/๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 128

แล้วย่อมดับไปอย่างนี้" วิปัสนาญานชื่อภังคานุปัสนาย่อมเกิดขึ้นใน

ฐานะนั้น (คือในกาลที่ปล่อยข้างเกิดเสีย ทำในใจแต่ข้างดับอย่างเดียว?)

ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า "ถามว่าปัญญาในการ

พิจารณาอารมณ์แล้วตามเห็น (แต่) ความแตกดับ ชื่อว่า วิปัสนาญาณ

เป็นไฉน? จิตมีรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกดับ ภิกษุพิจารณา

อารมณ์นั้นแล้ว ย่อมตามเห็นความแตกดับแห่งจิตนั้น คำว่าตามเห็น

(นั้น) คือตามเห็นอย่างไร ? คือตามเห็นโดยความไม่เที่ยง มิใช่

โดยความเที่ยง ตามเห็นโดยความเป็นทุกข์ มิใช่โดยความเป็นสุข

ตามเห็นโดยความเป็นอนัตตา มิใช่โดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย

มิใช่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด มิใช่กำหนัด ย่อมดับเสีย มิใช่ให้เกิดขึ้น

ย่อมสลัดทิ้งเสีย มิใช่ถือไว้ เมื่อตามเห็นโดยความไม่เที่ยง ย่อมละ

นิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ได้ เมื่อตามเห็นโดยความเป็นทุกข์

ย่อมละสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ได้ เมื่อตามเห็นโดยความ

เป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอนัตตา) ได้ เมื่อ

เบื่อหน่าย ย่อมละนันทิ (ความเพลิดเพลินยินดี) ได้ เมื่อคลาย

กำหนัด ย่อมละราคะได้ เมื่อดับเสีย ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสลัด

ทิ้งเสีย ย่อมละความยึดถือได้

จิตมีเวทนาเป็นอารมณ์...มีสัญญาเป็นอารมณ์...มีสังขารเป็น

อารมณ์...มีวิญญาณเป็นอารมณ์...มีจักษุเป็นอารมณ์ ฯลฯ มีชรา

มรณะเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมแตกดับ ฯลฯ เมื่อสลัดทิ้งเสีย

ย่อมละความยึดถือได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 129

การพิจารณา (อารมณ์) ที่เลื่อนวัตถุ

(คืออารมณ์) ได้ด้วย เปลี่ยนสัญญา (คือ

ความกำหนดหมาย) ได้ด้วย มีกำลังในการ

นึกหน่วงได้ด้วย (นั่น) ชื่อว่า ปฏิสังขา-

วิปัสนา (เห็นแจ้งโดยการพิจารณาเห็น)

การพิจารณาที่กำหนดอารมณ์ทั้ง ๒ ส่วน

(คือทั้งที่เห็นแล้วทั้งที่มิได้เห็นเพราะเป็นอดีต

อนาคต) ว่ามีสภาพเป็นอันเดียวกัน ตาม

อย่างอารมณ์ (ปัจจุบันที่พิจารณาเห็น) คือ

ความที่นึกน้อมลงไปในนิโรธ (คือความดับ)

นั่นแหละ ชื่อว่า วยลักขณวิปัสนา (เห็นแจ้ง

ในลักษณะเสื่อม)

พิจารณาอารมณ์ (แรก) ด้วยแล้ว*ตาม

เห็นความดับด้วย ความปรากฏโดยความ

ว่างเปล่า (มีขึ้น) ด้วย (นั่น) ชื่อว่า อธิ-

* ปฏิสงฺขา เป็นนามก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ เช่น ปฏิสงฺขา ในบาลี ปฏิสงฺขาโย...

เท่ากับ ปฏิสงฺขาย (เป็นตูนาทิปัจจัย) ในที่ท่านก็แก้เป็นกิริยา คือเป็นชานิตฺวา เมื่อเป็นเช่นนั้น

ทางสัมพันธ์ก็เป็นปุพกาลกิริยาในอนุปสฺสติข้างหลังไป แต่ทางประโยคมี จ สมุจจัย กำกับอยู่ทุก

บาท อันบทหรือประโยคที่เป็นสมุจจัยนั้น ย่อมมีรูปเสมอกัน คือเป็นนามหรือกิริยาก็เป็นเสมอกัน

แต่นี้ประโยคหน้ากับประโยคหลังมีกิริยาไม่เสมอกัน จึงเป็นสมุจจัยชนิดพิเศษ เห็นว่าถ้าเอาเป็น

นามเสียทั้งหมด ก็จะสิ้นปัญหา คือเป็นปฏิสงฺขา อนุปสฺสนา และ อุปฏฐานํ ซึ่งในที่สุดตอนแก้

คำอธิปญฺญาวิปสฺสนา (หน้า ๒๘๐ บรรทัดสุดท้าย) ท่านก็ทำอย่างนี้ คือเป็นนามทุกบท

นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 130

ปัญญาวิปัสนา (เห็นแจ้งเป็นอธิปัญญา)

ภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสนา ๓ และใน

วิปัสนา ๔ ย่อมไม่หวั่นไปในเพราะทิฏฐิ

ต่าง ๆ เหตุที่มีความฉลาดในอุปัฏฐาน ๓

แล

การพิจารณานั้นจัดเป็นญาณ เพราะการพิจารณานั้นมีความหมาย

ว่ารู้ จัดเป็นปัญญา เพราะมีความหมายว่ารู้ทั่ว เหตุนั้น จึงกล่าวไว้ว่า

ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วตามเห็น (แต่) ความแตกดับ ชื่อว่า

วิปัสนาญาณ ดังนี้๑

[อธิบายบาลี]

อรรถาธิบายในบาลีนั้น พึงทราบดังนี้ คำว่า "อารมฺมณ-

ปฏิสงฺขา-พิจารณาอารมณ์" ความว่า พิจารณาแล้ว คือรู้แล้ว ได้

แก่เห็นแล้ว ซึ่งอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยความสิ้น โดยความ

เสื่อม ๒ คำว่า "ภงฺคานุปสฺสเน ปญฺญา-ปัญญาในการตามเห็นความ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๘๓ บาทท้ายแห่งคาถาที่ ๑ และ ๓ ที่ปาฐะพิมพ์แยกไว้เป็น ปฏิสงฺขา

วิปสฺสนา และ อธิปญฺญา วิปสฺสนา นั้น น่าจะเรียงติดกันเป็น ปฏิสงฺขาวิปสฺสนา

อธิปญฺญาวิปสฺสนา เป็นชื่อของวิปัสนาแต่ละขั้น เข้าแถวกัย วยลกฺขณวิปสฺสนา ในคาถ

ที่ ๒

๒. หมายความว่า ปฏิสงฺขา-พิจารณา ในที่นี้ได้แก่รู้ และรู้นั้นก็หมายเอาเห็นโดยความสิ้น

ความเสื่อมนั่นเอง เพราะประสงค์เอาภังคานุปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 131

แตกดับ" เป็นต้น ความว่า ปัญญาในการตามเห็นความแตกดับแห่ง

ความรู้ที่พิจารณาอารมณ์ โดยความสิ้นความเสื่อมเกิดขึ้นนั้น อันใด

อันนี้เรียกว่า วิปัสนาญาณ ถามว่า ญาณนั้นเป็นไฉน ? นี่เป็นความ

(อธิบาย) แห่งกเถตุกัมยตาปุจฉา เป็นอันดับแรก

อันดับต่อนั้น ญาณนั้นเป็นประการใด จะแสดงประการนั้น

ท่านจึงกล่าวคำว่า "รูปารมฺมณตา-มีรูปเป็นอารมณ์" เป็นอาทิ

ในคำเหล่านั้น คำว่า รูปารมฺมณตา จิตฺตํ อุปฺปชฺชิตวา ภิชฺชติ

ความว่า "จิตมีรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกดับไป" หรือนัยหนึ่ง

ความว่า "จิตเกิดขึ้นในความเป็นจิตมีรูปเป็นอารมณ์แล้วย่อมแตกดับ

ไป"*

คำว่า "ตํ อารมฺมรณํ ปฏิสงฺขา-พิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว"ความ

ว่า พิจารณาแล้ว คือรู้แล้ว ได้แก่เห็นแล้ว ซึ่งรูปปารมณ์นั้น โดย

ความสิ้น โดยความเสื่อม

คำว่า "ตสฺส จิตฺตสฺส ภงฺคํ อนุปสฺสติ-ย่อมตามเห็นความ

แตกดับแห่งจิตนั้น " ความว่า รูปารมณ์ นั้น อันจิตดวงใดเห็นแล้ว

โดยความสิ้นความเสื่อม ภิกษุย่อมตามเห็นความแตกดับแห่งจิตดวงนั้น

ด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

"ญาตญฺจ ญาณญฺจ อุโภปิ วิปสฺสติ-พระโยคาวจรย่อมเห็นแจ้ง

* ความนัยแรก ตา. ที่อารมฺมณตา ท่านเห็นเป็นสกัตถปัจจัย ไม่มีอรรถอะไร มหาฎีกา

ชักตัวอย่างว่า เช่น เทวตา ก็เท่ากับ เทโว นั่นเอง ส่วนความนัยหลัง ท่านอธิบายเป็น ภุมฺมตฺเก

ปจฺจตฺตวตนํ คือปฐมาวิภัติใช้ในอรรถสัตมีวิภัติ ถ้าใช้อย่างนี้ น่าจะเรียงติดกับบทหลังเป็น

รูปรมมฺรณตาติตฺตํ เป็นสัตมีตัปปุริสสมาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 132

ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้ (คืออารมณ์) ด้วย ซึ่งตัวรู้ (คืออนุปัสนาญาณ) ด้วย

ทั้ง ๒ อย่าง " ดังนี้

ก็แลคำว่า "อนุปสฺสติ-ย่อมตามเห็น" ในข้อนี้ ได้แก่เห็นเนื่อง

ไป หมายความว่า เห็นเนือง ๆ ด้วยอาการหลายอย่าง เพราะเหตุนั้น

ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "คำว่าตามเห็น (นั้น) คือตามเห็นอย่างไร ? คือ

ตามเห็นโดยความไม่เที่ยง" ดังนี้เป็นต้น

ในอาการเหล่านั้น เหตุใด อันความแตกดับย่อมเป็นปลายสุด

แห่งอนิจจตา เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้เป็นภังคานุปัสสกนั้นจึง

ตามเห็นสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง มิใช่โดยความเที่ยง ลำดับนั้น

เพราะความที่สิ่งที่ไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ และเพราะความที่สิ่งที่เป็นความทุกข์

ก็เป็นอนัตตา จึงตามเห็นสังขารทั้งปวงนั้นแหละโดยความเป็นทุกข์

มิใช่โดยความเป็นสุข ตามเห็นสังขารทั้งปวงนั้นแหละโดยความเป็น

อนัตตา มิใช่โดยความเป็นอัตตา อนึ่ง เหตุใด สิ่งใดไม่เที่ยงเป็น

ทุกข์เป็นอนัตตา สิ่งนั้นก็ไม่พึงนิยมยินดี และสิ่งใดไม่พึงนิยมยินดี

ก็ไม่พึงกำหนัดในสิ่งนั้น เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้นั้นจึงเบื่อหน่าย

มิใช่ยินดี จึงคลายกำหนัด มิใช่กำหนัด ในสังขารที่เห็นแล้วว่าไม่เที่ยง

เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ตามแนวภังคานุปัสนานั่น

เธอไม่กำหนัดอยู่อย่างนั้น ก็ชื่อว่า ยังราคะให้ดับ มิใช่ให้เกิดขึ้น

หมายความว่า ไม่ทำให้เป็นสมุทัย (ก่อขึ้น) ได้ ด้วยญาณอันเป็น

โลกิยะนั่นแล*ก่อน หรืออีกนัยหนึ่ง เธอเป็นผู้คลายกำหนัดอย่างนั้น

* มหาฎีกาว่า ญาณชั้นนี้ สามารถเพียงให้ถึงวิกขัมภนนิโรธ คือดับได้ด้วยข่มไว้ (ไม่ถึง

สมุจเฉท) จึงว่าเป็นญาณโลกิยะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 133

แล้ว เธอยังสังขารที่เห็นแล้ว (คือที่ปรากฏบัดนี้) ให้ดับ มิใช่ให้เกิด

ขึ้น ฉันใด ก็ยังสังขารแม้ที่ไม่ได้เห็น (คือเป็นอดีตอนาคต) ให้ดับ

มิใช่ให้เกิดขึ้น ด้วยอำนาจอันวยญาณ (คือรู้โดยอนุโลมหรืออนุมาน

ตามที่ปรากฏแล้ว) ฉันนั้น หมายความว่า ทำในใจแต่ข้างดับ ดูแต่

ความดับของมันข้างเดียว ไม่ดูความเกิด

เธอปฏิบัติได้อย่างนั้นแล้ว ก็ชื่อว่า สสัดทิ้ง (สังขาร) ได้ มิใช่

ถือเอาไว้ ข้อนี้มีอธิบายอย่างไร ? อธิบายว่า แม้อนุปัสนา มี

อนิจจานุปัสนาเป็นต้นนี่ ก็เรียกได้ว่า เป็นปริจจาคปฏินิสสัคคะ (สลัดทิ้ง

โดยการสละเสีย) และเป็นปักขันทปฏินิสสัคคะ (สลัดทิ้งโดยแล่นไป

เสีย)๑ เพราะสละกิเลสทั้งหลายเสียพร้อมทั้งขันธ์และอภิสังขาร (คือ

กรรม)๒ ด้วยอำนาจตทังคปหาน และเพราะด้วยการเห็นโทษใน

สังขตธรรม จึงแล่นไปเสียในพระนิพพาน อันตรงกันข้ามกับสังขต-

ธรรมนั้น โดยกิริยาที่น้อมใจไปพระนิพพานนั้น เหตุนั้น ภิกษุ

ผู้ประกอบพร้อมด้วยอนุปัสนามีอนิจจานุปัสนาเป็นต้นนั้น จึงสละกิเลส

ทั้งหลายได้ และแล่นไปในพระนิพพานได้ด้วย โดยนัยดังกล่าวแล้ว

ทั้งไม่ยืดเอากิเลสทั้งหลายไว้โดยทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ยึดเอาอารมณ์

ที่เป็นสังขตธรรมไว้ โดยความที่ไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น ท่านจึง

ว่า ปฏินิสฺสชฺชติ โน อาทิยติ-สลัดทิ้งเสีย มิใช่ถือไว้

๑. ท่านแก้ดังนี้ ก็เท่ากับบอกว่า ศัพท์ปฏินิสสัคคะ มีอรรถ ๒ อย่าง สละก็ได้

แล่นไปเสียก็ได้

๒. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า เมื่อจะกิเลสได้ ก็ชื่อว่าละกรรม อันมีกิเลสนั้นเป็นเหตุ และ

ขันธ์อันเกิดแต่กรรมนั้นได้ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 134

ทีนี้ การละธรรมทั้งหลายใด๑ได้ด้วยญาณเหล่านั้น ย่อมมีแก่

พระโยคาวจรนั้น จะแสดงการละธรรมทั้งหลายนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

"เมื่อตามเห็นโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้" ดังนี้เป็นต้น

ในคำเหล่านั้น คำว่า "นนฺทึ-เพลิดเพลินยินดี" ได้แก่ตัณหาอันเป็น

ไปกับด้วยปีติ (ความปลื้มใจ) คำที่เหลือมีนัยอันกล่าวมาแล้วนั้นแล

[อธิบายความคาถา]

ส่วนในคาถาทั้งหลาย (พึงทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้) คำว่า

"วตฺถุสงฺกมนา-เลื่อนวัตถุ" ความว่า การพิจารณาที่เห็นความดับแห่ง

รูปแล้วเลื่อนไปสู่วัตถุอื่นจากวัตถุแรก ด้วยสามารถเห็นความดับแม้

แห่งจิตดวงที่เห็นความดับ (แรก) นั้นอีก๒ คำว่า "สญฺญาย จ วิวฏฺฏนา

-เปลี่ยนสัญญาได้ด้วย" คือการพิจารณาที่ละข้างความเกิดเสียแล้ว ตั้ง

แน่อยู่แต่ในข้างความเสื่อม คำว่า "อาวชฺชนาพลญฺเจว-มีกำลังใน

การนึกหน่วงได้ด้วย " อธิบายว่า เห็นความดับแห่งรูปแล้วสามารถใน

การนึกหน่วง (อารมณ์) ไม่ขาดระยะ เพื่อเห็นความดับแห่งจิตดวงที่มี

ความดับ (ของรูป) เป็นอารมณ์อีก คำว่า "ปฏิสงฺขา วิปสฺสนา"

หมายความว่า การพิจารณาอารมณ์นั้น ชื่อว่า ภังคานุปัสนา

๑. ปาฐะฉบันของเราเป็น เสสธมฺมานํ แต่ของพม่าเป็น เยสํ ธมฺมานํ เห็นว่าฉบับหม่า

เข้าทีว่า เพราะธรรมที่ละได้ด้วยญาณเหล่านั้น ยังไม่ได้กล่าวมาก่อนเลยสักข้อ จะใช้ เสส-

ที่เหลือ กระไรได้

๒. มหาฎีกาว่า วัตถุก็คืออารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นเอง ท่านเรียกวัตถุ เพราะอารมณ์เป็นที่ตั้ง

แห่งความเป็นไปของวิปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 135

ข้อว่า "อารมฺมณานฺวเยเนว อุโภ เอาววฏฺฐนา - การะพิจารณา

ที่กำหนดอารมณ์ทั้ง ๒ ส่วนว่ามีสภาพเป็นอันเดียวกัน ตามอย่างอารมณ์

นั่นแหละ" ความว่า กำหนดอารมณ์ทั้งสองส่วน โดย (ว่า) มีสภาพ

อย่างเดียวกัน ดังนี้ว่า "สังขาร (ปัจจุบัน) นี้ แตกดับอยู่อย่างใด

แม้สังขารในอดีตก็แตกดับมาแล้ว สังขารในอนาคตเล่า ก็จักแตกดับ

อย่างนั้น" ตามอย่างคือตามแบบอารมณ์ที่เห็นแล้วโดยประจักษ์นั่นแหละ

ความข้อนี้ แม้พระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า

"พระโยคาวจรผู้มีความเห็นความจดแล้ว

ในสังขารอันมีอยู่ (คือที่เป็นปัจจุบัน) ย่อม

นำความเห็นตามแบบความเห็นอันนั้นไป

(ใช้) ในสังขารที่เป็นอดีตและอนาคต

(ด้วย) ว่า สังขารทั้งปวงมีความแตกทำลาย

ไปเป็นปกติ ดังหยาดน้ำค้าง เมื่อดวง

อาทิตย์ขึ้นแล้ว (เหือดแห้งไป) ฉะนั้น"

คำว่า "นิโรเธ อธิมุตฺตตา-ความที่นึกน้อมลงไปในความดับ" ความ

ว่า ความที่ทำการกำหนดสังขารทั้งสองส่วนเป็นอย่างเดียวกันด้วยอำนาจ

ความแตกดับอย่างนั้นแล้ว นึกน้อมลงไปในความดับ กล่าวคือความ

แตกนั้นเท่านั้น* หมายความว่า (นึก) หนักไปในความดับนั้น (นึก)

* ศัพท์นิโรธ โดยมากใช้ในอรรถที่หมายถึงมรรคผลนิพพาน เมื่อนำมาใช่ในอรรถเช่นนี้

จึงต้องไขความไว้ว่า หมายเอาภังคะ ความแตกดับแห่งสังขาร เพื่อให้ทราบว่า ไม่ใช่ความ

ดังกิเลส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 136

เอียงไปในความดับนั้น (นึก) ลาดไปในความดับนั้น (นึก) เทไปใน

ความดับนั้น คำว่า "วยลกฺขณวิปสฺสนา" มีอธิบายว่า ความพิจารณา

นั่น ชื่อว่าวยลักษณวิปัสนา (เห็นแจ้วในลักษณะดับ)

คำว่า "อารมฺมณญฺจ ปฏิสงฺขา-พิจารณาอารมณ์ด้วยแล้ว" คือ

รู้อารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่เป็นอารมณ์แรกด้วยแล้ว คำว่า "ภงฺคญฺจ

อนุปสฺสติ-ตามเห็นความดับด้วย" คือเห็นความดับแห่งอารมณ์

(แรก) นั้น แล้วตามเห็นความดับแห่งจิตดวงที่มีอารมณ์ (แรก) นั้น

เป็นอารมณ์ (ด้วย) คำว่า "สุญฺญโต จ อุปฏฺฐานํ - ความปรากฏ

โดยความว่างเปล่า (มีขึ้น) ด้วย" คือเมื่อเธอตามเห็นความดับแห่ง

สังขารนั้นอย่างนั้นอยู่ ความปรากฏโดยความว่างเปล่าว่า "สังขาร

ทั้งหลายนั่นเองแตก ความแตกแห่งสังขารทั้งหลายนั้น เรียกว่าความ

ตาย หามี (อัตตา) อะไร ๆ อื่น (จากขันธ์) ไม่" ดังนี้ ย่อมเจริญขึ้น

เหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ขันธ์ทั้งหลายดับ สิ่งอื่นไม่มีเลย ความ

แตกแห่งขันธ์ทั้งหลายเรียกว่าจาย พระ

โยคาวจรผู้ไม่ประมาท ย่อมเห็นความสิ้น

ไปแห่งขันธ์ทั้งหลายนั้น ดุจคนผู้เจาะแก้ว

ด้วยเพชรโดยแยกคาย (คือโดยวิธีที่ถูก

ต้อง ย่อมเห็นความสิ้นไปแห่งแก้วที่ถูก

เจาะ) ฉะนั้น

คำว่า "อธิปญฺญาวิปสฺสนา" มีอธิบายว่า ความพิจารณา (รู้) อารมณ์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 137

อันใดด้วย ปัญญาตามเห็นความแตกดับอันใดด้วย ความปรากฏโดย

ความว่างเปล่าอันใดด้วย (รวม ๓ ประการ) นี้ ชื่อว่า อธิปัญญาวิปัสนา

(เห็นแจ้งเป็นอธิปัญญา)

คำว่า "กุสโล ตีสุ อนุปสฺสนาสุ- ภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสนา ๓"

คือภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสนา ๓ มีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น คำว่า

"จตสฺโส จ วิปสฺสนาสุ-และในวิปัสนา ๔" คือ ในวิปัสนา ๔ มี

นิพพิทานุปัสนาเป็นต้นด้วย คำว่า "ตโย อุปฏฐาเน กุสลตา-เหตุ

ที่มีความฉลาดในอุปัฏฐาน ๓ คือเพราะความที่เป็นผู้ฉลาดในความ

ปรากฏ ๓ สถานนี้ คือ (ปรากฏ) โดยความสิ้น โดยความเสื่อม โดย

ความว่างเปล่าด้วย* คำว่า "นานาทิฏฺฐีสุ ฯ กมฺปติ-ย่อมไม่หวั่น

ไปในเพราะทิฏฐิต่าง ๆ" คือย่อมไม่ไหวไปในเพราะทิฏฐิทั้งหลายมีประ-

การต่าง ๆ มีสัสสตทิฏฐิเป็นต้น

พระโยคาวจรนั้น ไม่หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น มีมนสิการเป็นไป

โดยนัยว่า "สิ่งที่ยังไม่ดับนั่นแหละ กำลังดับ สิ่งที่ยังไม่แตกนั่นแหละ

กำลังแตก" ย่อมปล่อยนิมิตแห่งความเกิด ความตั้งอยู่ และความเป็น

ไปแห่งสังขารทั้งปวงเสีย แล้วดูแต่ความแตก (ของมัน) อย่างเดียว

เหมือนดูความแตกของภาชนะโทรม ๆ ที่คนทุบอยู่ เหมือนดูความแตก

(กระจาย) ของฝุ่นละเอียดที่คนโปรยอยู่ เหมือนดูความแตกของเมล็ดงา

* ท่านแก้ศัพท์ดังนี้ ก็เป็นอันว่า จตสฺโส ตโย และ กุสลตา เป็นวิภัติวิปลาสเป็นแถว

อนุปัสสนา ๓ คืออนิจจานุปัสนา ทุกขานุปัสนา อนัตตานุปัสนา วิปัสนา ๔ คือ นิพพิทานุปัสนา

วิราคานุปัสนา นิโรธานุปัสนา ปฏินิสสัคคานุปัสนา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 138

ทั้งหลายที่คนคั่วอยู่ฉะนั้น พระโยคาวจรนั้น ย่อมเห็นว่า "สังขาร

ทั้งปวงกำลังแตกอยู่ ๆ " ประดุจบุรุษผู้มีตา (ดี) ยืนอยู่ที่ขอบสระ

โบกขรณี หรือที่ตลิ่งแม่น้ำ เมื่อฝนเม็ดหนาตกลงมา จะพึงเห็นต่อมน้ำ

ใหญ่ๆ บนหลังน้ำ ซึ่งเกิดขึ้น ๆ แล้ว พลันแตกไปโดยเร็วฉะนั้น

แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงหมายถึงพระโยคาวจรเห็นปานนี้ ตรัส

ไว้ว่า

"มัจจุราชย่อม (หาตัว) ไม่พบ ซึ่งบุคคล

ผู้มองดูโลก (คือขันธ์) เหมือนอย่างมองดู

ต่อมน้ำ เหมือนอย่างมองดูพยับแดด"

[อานิสงส์ภังคานุปัสนาญาณ]

เมื่อเห็น*อยู่เนือง ๆ ว่า "สังขารทั้งปวงแตกอยู่ ๆ " อย่างนั้น

ภังคานุปัสนาญาณอันมีอานิสงส์ ๘ เป็นบริวาร ย่อมเป็นญาณมีกำลัง

นี่เป็นอานิสงส์ ๘ ในคำนั้น คือ

ภวทิฏฺฐิปฺปหานํ การละภวทิฏฐได้

ชีวิตนิกนฺติปริจฺจาโค การสละความไยดีในชีวิตได้

สทา ยุตฺตปยุตตตา ความประกอบ (ภาวนา) อันชอบ

ทุกเมื่อ (ทั้งกลางคืนและกลางวัน)

วิสุทฺธาชีวิตา ความมีอาชีวะหมดจด

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น ปสฺสนฺโต คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น ปสฺสโต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 139

อุสฺสุกฺกปฺปหานํ การละความขวนขวาย (ในกิจจา-

นุกิจภายนอก)

วิคตภยตา ความเป็นผู้ปราศจากความกลัว

ขนฺติโสรจฺจปฏิลาโภ ความได้เฉพาะซึ่งขันติโสรัจจะ

อรติรติสหนตา ความอดกลั้น (ครอบงำเสียได้)

ซึ่งความไม่ยินดีใน (อธิกุศล) และ

ความยินดี (ในกามคุณ)

เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

พระมุนีผู้ (สำคัญ) เหมือนคนมีผ้านุ่งห่ม

และศีรษะถูกไหม้อยู่แล้ว เห็นคุณอันเยี่ยม ๘

ประการนี้แล้ว พิจารณาในภังคานุปัสนานั้น

เนือง ๆ ไป ย่อม (สำเร็จ) เป็นภังคานุปัสสี-

บุคคล เพื่อบรรลุ เพื่อบรรลุอมตธรรมได้

ภังคานุปัสนาญาณ จบ

[ ภยตึปัฏฐานญาณ ]

เมื่อพระโยคาวจรนั้น เสพโดยเอื้อเฟื้ออยู่ เจริญอยู่ทำให้มากอยู่

ซึ่งภังคานุปัสนา อันมีความสิ้นความเสื่อมความแตกความดับแห่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 140

สังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อย่างนั้น สังขารทั้งหลายอันแตกอยู่ตามสภาพ*

อยู่ในภพ กำเนิด คติ ฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง ย่อมปรากฏเป็นสิ่ง

น่ากลัวอย่างใหญ่ ดังสิ่งที่น่ากลัวทั้งหลายมี สิงห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง

หมี เสือดาว ยักษ์ รากษส โคดุ สุนัขดุ ช้างดุตกมัน อสรพิษร้าย สายฟ้า

ป่าช้า สนามรบ และหลุมถ่านที่ยังลุกอยู่ เป็นต้น ย่อมปรากฏเป็น

สิ่งน่ากลัวยิ่งนักสำหรับคนขลาดผู้รักชีวิตโดยง่าย (คือเห็นเป็นของ

น่ากลัวยิ่งนักสำหรับคนขลาดผู้รักชีวิตโดยง่าย (คือเห็นเป็นของ

น่ากลัวและกลัวง่าย ๆ) ฉะนั้น เมื่อเธอเห็นอยู่ว่า "สังขารทั้งหลาย

ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ แม้สังขารทั้งหลาย

ที่จะเกิดในอนาคต ก็จักดับอย่างนี้เหมือนกัน" ดังนี้ ญาณชื่อว่า

ภยตุปัฏฐานญาณ ย่อมจะเกิดขึ้นในฐานะ (คือในโอกาส) นั้น

(ต่อไป) นี้ เป็นอุปมาในความเกิดขึ้นแห่งภยตุปัฏฐานญาณนั้น

ต่างว่าบุตร ๓ คนของหญิงผู้หนึ่ง ทำความผิดต่อพระราชา

พระราชาลงพระราชอาชญาตัดศีรษะมันทั้ง ๓ คน หญิงผู้นั้นได้ไปสู่

ตะแลงแกงพร้อมกับบุตร ทีนี้ พวกราชบุรุษตัดศีรษะบุตรคนโตของ

เขาแล้ว ก็เริ่มจะตัดศีรษะบุตรคนกลาง เขาเห็นศีรษะบุตรคนโตขาด

ไปแล้ว และศีรษะบุตรคนกลางกำลังจะขาด ก็ทอดอาลัยในบุตรคนเล็ก

ด้วยเห็นว่า "แม้บุตรคนเล็กนี่ ก็จักเป็นเช่นกับบุตร ๒ คนนั้นเหมือนกัน"

ในทัสนกิจเหล่านั้น การเห็นความดับแห่งสังขารที่เป็นอดีต

ทั้งหลายของพระโยคี เปรียบเหมือนการเห็นศีรษะที่ขาดแล้วแห่งบุตร

* ปาฐะเป็น สเภทกา แต่ฉบับพม่าเป็น ปเภทกา ถ้าเป็น ปเภทกา แปลว่า แตกอยู่ทั่วไป

ก็ได้ความดีเหมือนกัน ข้างหลังต่อไปก็เป็น ปเภทกา ทั้งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 141

คนโตของหญิงผู้นั้น การเห็นความดับแห่งสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน

ของพระโยคี เปรียบเหมือนการเห็นศีรษะที่กำลังขาดของบุตรคนกลาง

ของหญิงคนนั้น การเห็นความดับแห่งสังขารทั้งหลายที่เป็นอนาคต ด้วย

เห็นว่า "แม้สังขารทั้งหลายที่จะเกิดในอนาคต ก็จักดับอย่างนี้เหมือนกัน"

ของพระโยคี เหมือนการทอดอาลัยในบุตรคนเล็ก ด้วยเห็นว่า "แม้

บุตรคนเล็กนี่ ก็จักเป็นเช่นกับบุตร ๒ คนนั้นเหมือนกัน " ของหญิงผู้นั้น

เมื่อเธอเห็นอยู่อย่างนั้น ภยตุปัฏฐานญาณ ย่อมจะเกิดขึ้นในฐานะ

(คือในโอกาส) นั้น

อุปมาอื่นอีกก็มี ต่างว่าหญิงผู้หนึ่งเป็นหญิง (ปูติปชา) มีลูกเสีย

คลอดทารกออกมา ๑๐ คนแล้ว ในทารก ๑๐ คนนั้น ๙ คนตายไป

แล้ว คนหนึ่งอยู่ในมือกำลังตาย อีกคนหนึ่งอยู่ในท้อง หญิงนั้น

เห็นทารก ๙ คนตายไปแล้ว และคนที่ ๑๐ กำลังตาย ก็ทอดอาลัยใน

ทารกที่อยู่ในท้อง ด้วยเห็นว่า "ถึงเจ้าคนที่อยู่ในท้องที่ ก็จักเป็น

เช่นกับพวก ๑๐ คนนั่น เหมือนกัน"

ในทัสนกิจเหล่านั้น การเห็นความดับแห่งสังขารที่เป็นอดีต

ทั้งปลายของพระโยคี เปรียบเหมือนการระลึกถึงความตายแห่งทารก ๙

คนของหญิงผู้นั้น การเห็นความดับแห่งสังขารที่เป็นปัจจุบันทั้งหลาย

ของพระโยคี เปรียบเหมือนคนการเห็นภาวะที่ทารกอยู่ในมือกำลังตาย

ของหญิงผู้นั้น การเห็นความดับแห่งสังขารที่เป็นอนาคตทั้งหลายของ

พระโยคี เปรียบเหมือนการทอดอาลัยในทารกที่ยังอยู่ในท้องของหญิง

ผู้นั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 142

เมื่อเธอเห็นอยู่นั้น ภยตุปัฏฐานญาณย่อมจะเกิดขึ้นในขณะ

นั้น*

[ญาณนี้มีกลัวด้วยหรือไม่]

ถามว่า "ก็ภยตุปัฏฐานญาณ (นี่) กลัวหรือมิได้กลัว ?" ตอบว่า

"มิได้กลัวดอก" เพราะว่าภยตุปัฏฐานญาณนั้น ก็เป็นแต่ความ

วิจารณ์ว่า "สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลัง

ดับ ที่เป็นอนาคตก็จักดับ" เท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงเปรียบเสมือนว่า

คนมีตา (ดี) แลดูหลุมถ่าน (เพลิง) ๓ หลุม ที่ใกล้ประตูเมืองอยู่

ตัวเองมิได้กลัว เขาเป็นแต่มีการวิจารณ์ว่า "สัตว์ไร ๆ จักตกลงไปใน

หลุมถ่าน (เพลิง) ๓ หลุมนี่ ก็จักได้รับทุกข์ไม่น้อยทุกตัว " ดังนี้

เท่านั้นเองฉันใด หรือมิฉะนั้น เปรียบเสมือนว่าคนมีตา (ดี) แลดู

หลาว ๓ เล่มเขาปักเรียงกันไว้อยู่ คือหลาวไม้ตะเคียน หลาวเหล็ก

หลาวทอง ตัวเองก็มิได้กลัว เขาเป็นแต่มีการวิจารณ์ ว่า "สัตว์ไร ๆ

จักตกลงไปที่หลาว ๓ เล่มนี่ ก็จักได้รับทุกข์ไม่น้อยทุกตัว" ดังนี้เท่านั้น

เอง ฉันใด ภยตุปัฏฐานญาณ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตัวเองมิได้กลัว

เป็นแต่มีความวิจารณ์ว่า "สังขารทั้งหลายในภพ ๓ อันเป็นเช่นกับหลุม

ถ่าน (เพลิง) ๓ หลุม และเช่นกับหลาว ๓ เล่ม ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว

ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ ที่เป็นอนาคตก็จักดับ" ดังนี้ เท่านั้นเอง

แต่เพราะสังขารทั้งหลายอันไปอยู่ในภพ กำเนิด คติ ฐิติ และนิวาส

* ท่านใช้ ฐาเน มาสองหน หนี้ใช้ ขเณ ก็เป็นอันว่า ฐาเน ในที่นี้ หมายถึงกาล โอกาส

ขณะ มิใช่หมายถึงสถานที่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 143

ทั้งปวงเป็นสภาพที่ถึงซึ่งความฉิบหาย มีภัยเฉพาะหน้า ปรากฏแก่

ญาญนั้น โดยเป็นของน่ากลัวแต่ย่างเดียว เพราะเหตุนนั้น ญาณนั้น

จึงเรียกว่า ภยตุปัฏฐาน (เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว)

[บาลีภยตุปัฏฐานญาณ]

ก็แลปาฐะ (ต่อไป) นี้ เป็นบาลีในความปรากฏโดยเป็นของ

น่ากลัวดังกล่าวมานี้แห่งญาณนั้น ว่า "ปุจฉาว่า "เมื่อภิกษุทำในใจโดย

ความไม่เที่ยง สิ่งอะไรปรากฏโดยเป็นของน่ากลัว เมื่อภิกษุทำในใจโดย

ความเป็นทุกข์ สิ่งอะไรปรากฏโดยเป็นของน่ากลัว เมื่อภิกษุทำในใจ

โดยความเป็นอนัตตา สิ่งอะไรปรากฏโดยเป็นของน่ากลัว ?" วิสัชนา

ว่า "เมื่อภิกษุทำในใจโดยความไม่เที่ยง นิมิตย่อมปรากฏโดยเป็นของ

น่ากลัว เมื่อภิกษุทำในใจโดยความเป็นทุกข์ ปวัตตะ ย่อมปรากฏโดย

เป็นของน่ากลัว เมื่อภิกษุทำในใจโดยความเป็นอนัตตา ทั้งนิมิตและ

ปวัตตะ ย่อมปรากฏโดยเป็นของน่ากลัว"*

[แก้อรรถบาลีภยตุปัฏฐานญาณ]

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า "นิมิตฺต" ได้แก่สังขารนิมิต คำว่า

"นิมิต" นั่น เป็นชื่อแห่งสังขารทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน

จริงอยู่ ภิกษุผู้ทำในใจโดยความไม่เที่ยงอยู่ ย่อมเห็นแต่มรณะ (คือ

ความแตกดับ) แห่งสังขารทั้งหลายเท่านั้น เหตุ (ที่เห็นแต่ความแตก

* ขุ. ป. ๓๑/๓๖๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 144

ดับ) นั้น นิมิต (คือสังขาร) จึงปรากฏโดยเป็นของน่ากลัวแก่ภิกษุนั้น

ปาฐะว่า "ปวัตตะ" ได้แก่ความหมุนไปในรูปภพและอรูปภพ

จริงอยู่ ภิกษุผู้ทำในใจโดยความเป็นทุกข์อยู่ ย่อมเห็นภาวะคือความ

ถูกบีบคั้นอยู่เนือง ๆ เท่านั้น แห่งความหมุนไปแม้ที่สมมติกันว่าเป็นสุข

เหตุ (ที่เห็นแต่ความถูกบีบคั้น) นั้น ปวัตตะ (แม้ในรูปภพอรูปภพ)

จึงปรากฏโดยเป็นของน่ากลัวแก่ภิกษุนั้น

ส่วนภิกษุผู้ทำในใจโดยความเป็นอนัตตาอยู่ ย่อมเห็นนิมิตและ

ปวัตตะทั้ง ๒ นั้น เป็นสิ่งว่าง เปล่า ร้าง ไม่มีเจ้าของ ไม่มีหัวหน้า

เหมือนบ้างร้าง และเหมือนสิ่ง (ลวงตา) ทั้งหลายมีพยับแดดและ

เมืองคนธรรพ์*เป็นต้น เหตุ (ที่เห็นเป็นแต่สิ่งว่างเปล่า) นั้น นิมิต

และปวัตตะทั้ง ๒ จึงปรากฏโดยเป็นของน่ากลัวแก่ภิกษุนั้นแล

ภยตุปัฏฐานญาณ จบ

[อาทีนวานุปัสนาญาณ]

เมื่อพระโยคาวจรนั้นเสพโดยเอื้อเฟื้ออยู่ เจริญอยู่ ทำให้มากอยู่

ซึ่งภยตุปัฏฐานญาณนั้น ที่ต้านทานไม่ปรากฏ ที่กำบังก็ไม่ปรากฏ ที่

ไปก็ไม่ปรากฏ ที่พึ่งอาศัยก็ไม่ปรากฏเลย หรือความยึดถือเอาไว้ได้ก็ตาม

ในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ในภพ กำเนิด คติ ฐิติ และนิวาสทั้งปวง

* คือ เมืองมายาในอากาศ (ดูเชิงอรรถ ๒ หน้า ๑๑๐)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 145

แม้แต่สังขารหนึ่งก็หามีไม่ ภพ ๓ ปรากฏเป็นดังหลุมถ่านเพลิงอันเต็ม

ไปด้วยถ่าน (แดง ๆ) ปราศจากเปลว มหาภูต ๔ ปรากฏเป็นดัง

อสรพิษเหล่าที่มีพิษร้าย ขันธ์ ๕ ปรากฏเป็นดังเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบ

อายตนะภายใน ๖ ปรากฏเป็นดังหมู่บ้างร้าง อายตนะภายนอก ๖

ปรากฏเป็นดังพวกโจรปล้นหมู่บ้าน อนึ่ง วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตา-

วาส ๙ ถูกไป ๑๑ กอง*ไหม้ ปรากฏเป็นดังลุกโชติช่วงอยู่ สังขาร

ทั้งปวงปรากฏราวกะเป็นหัวฝี ราวกะเป็นโรค ราวกะเป็นลูกศร ราว

กะเป็นตัวทุกข์ร้อย และราวะเป็นตัวเจ็บป่วย จึงเป็นอาทีนพราศี

(กองโทษ) อันใหญ่ไร้คุณที่น่าพอใจ ปราศจากวิสัยที่น่ายินดี ถามว่า

เป็นอย่างไร ? แก้ว่า เป็นดังป่าชัฏ ซึ่งแม้ตั้งอยู่โดยอาการน่ารื่นรมย์

แต่มีสัตว์ร้าย เป็นดังถ้ำมีเสือ เป็นดังน้ำมีคาหะ (ตัวที่คอยกุมคนลงน้ำ

เช่นจระเข้) และรากษส (ผีเสื้อน้ำ) เป็นดังข้าศึกผู้เงื้อขรรค์ เป็นดัง

โภชนะมีพิษ เป็นดังทางมีโจร เป็นดังเรือนไฟไหม้ เป็นดังสนามรบ

มีกองทหารที่เขาส่งออกไป (รบ) ย่อมปรากฏโดยเป็นของน่ากลัวแก่

บุรุษขลาดผู้รักชีวิตโดยง่าย จริงอยู่ บุรุษนั้นมาถึงสิ่งน่ากลัวมีป่าชัฏ

ที่มีสัตว์ร้ายเป็นต้นเหล่านั้นเข้าแล้ว ย่อมเป็นผู้กลัวตัวสั่นจนขนพอง

เห็นแต่อาทีนพ (สิ่งร้าย) อยู่รอบตัวฉันใด พระโยคาวจรนี่จนขนพอง

เหมือนกัน ครั้นสังขารทั้งปวงปรากฏโดยเป็นของน่ากลัว ด้วยอำนาจ

ภังคานุปัสนาแล้ว ก็ย่อมเห็นแต่อาทีนพอันไร้คุณที่น่าพอใจ ปราศจาก

* ไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ

โทมนัส อุปายาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 146

วิสัยที่น่ายินดีอยู่โดยรอบ เมื่อเธอเห็นอยู่อย่างนั้น ญาณชื่ออาทีนวญาณ

ย่อมเกิดขึ้น ซึ่งท่านหมายถึง กล่าวคำ (บทภาชนะ) นี้ไว้ว่า

[บาลีอาทีนวานุปัสนาญาณ]

"ปุจฉาว่า ปัญญา (ความรู้ทั่ว) ในภยตุปัฏฐาน เป็นอาทีนว-

ญาณ (ความรู้ในอาทีพน) อย่างไร ?

วิสัชชนาว่า ปัญญา (ความรู้ทั่ว) ในภยตุปัฏฐานว่า อุปปาทะ

(ความเกิดขึ้น) เป็นภัย เป็นอาทีนวญาณ (ความรู้ในอาทีนพ)

ปัญญาในภยตุปัฏฐานว่า ปวัตตะ (ความหมุนไป) เป็นภัย ...ว่า

นิมิตตะ (คือสังขาร) เป็นภัย ...ว่า อายูหนา (คือกรรม) เป็นภัย

...ว่าปฏิสนธิเป็นภัย ...ว่าคติเป็นภัย ...ว่านิพพัตติ (ความเกิด

ปรากฏขึ้น) เป็นภัย ...ว่าอุปปัตติ (ความเข่าถึง) เป็นภัย ...ว่า

ชาติเป็นภัย ...ว่าชราเป็นภัย ...ว่าพยาธิเป็นภัย ...ว่ามรณะเป็น

ภัย ...ว่าโสกะเป็นภัย ...ว่าปริเทวะเป็นภัย ...ว่าอุปยาสเป็นภัย

เป็นอาทีนวญาณ

ปัญญา (ความรู้ทั่ว) ว่า อนุปปาทะ (ธรรมอันไม่มีความเกิด

ขึ้น) เป็นธรรมเกษม (ปลอดภัย) เป็นสันติบทญาณ (ความรู้ในทาง

สันติ) ปัญญาว่า อัปปวัตตะ (ธรรมอันไม่มีความหมุนไป) ฯลฯ

อนุปายาสะ (ธรรมอันไม่มีอุปายาส) เป็นธรรมเกษม* เป็นสันติบทญาณ

* ข้อธรรมในตอนสันติบทญาณนี้ มีอนุปปาทะเป็นต้น ท่านมุ่งเอานิพพานทั้งสิ้น และมหาฎีกา

แนะให้แปลเป็นพหุพพิหิ จึงแปลตามท่าน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 147

ปัญญาว่า อุปปาทะเป็นภัย อนุปปาทะเป็นธรรมเกษม เป็น

สันติบทญาณ ปัญญาว่า ปวัตตะเป็นภัย อัปปวัตตะเป็นธรรมเกษม

ฯลฯ อุปายาสเป็นภัย อนุปายาสเป็นธรรมเกษม เป็นสันติบทญาณ*

ปัญญาในภยตุปัฏฐานว่า อุปปาทะเป็นทุกข์ เป็นอาทีนวญาณ

ปัญญาในภยตุปัฏฐานว่า ปวัตตะเป็นทุกข์ ฯลฯ อุปายาสเป็นทุกข์

เป็นอาทีนวญาณ

ปัญญาว่า อนุปปาทะเป็นสุข เป็นสันติบทญาณ ปัญญาว่า

อัปปวัตตะ ฯลฯ อนุปายาสเป็นสุข เป็นสันติบทญาณ

ปัญญาว่า อุปปาทะเป็นทุกข์ อนุปปาทะเป็นสุข เป็นสันติบาท-

ญาณ ปัญญาว่า ปวัตตะเป็นทุกข์ อัปปวัตตะเป็นสุข ฯลฯ อุปายาส

เป็นทุกข์ อนุปายาสเป็นสุข เป็นสันติบทญาณ

ปัญญาในภยตุปัฏฐานว่า อุปปาทะเป็นสามิส เป็นอาทีนวญาณ

ปัญญาในภยตุปัฏฐานว่า ปวัตตะ ฯลฯ อุปายาสเป็นสามิส เป็นอาทิ-

นวญาณ

ปัญญาว่า อนุปปาทะเป็นนิรามิส เป็นสันติบทญาณ ปัญญาว่า

อัปปวัตตะ ฯลฯ อนุปายาสเป็นนิรามิส เป็นสันติบทญาณ

ปัญญาว่า อุปปาทะเป็นสามิส อนุปาทะเป็นนิรามิส เป็นสันติ-

* บาลีนี้ท่านแยกอาทีนนวญาณเป็นวาระที่ ๑ สันติบทญาณเป็นวาระที่ ๒ แล้ว รวมความเข้าด้วย

กันอีกทีเป็นวาระที่ ๓ มหาฎีกาท่านว่าเป็นการรวมความเห็นโทษความหมุนไป กับเห็นอานิสงส์

ความหมุนกลับติดต่อเนื่องกันไป เพื่อให้เห็นโทษและอานิสงส์ชัด สำหรับพระโยคาวจรผู้เร่งรัด

วิปัสนาให้สำเร็จโดยเร็ว แม้ในวาระที่ว่าด้วยทุกข์ สุข สามิส นิรามิส และสังขร นิพพาน

ก็นัยเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 148

บทญาณ ปัญญาว่า ปวัตตะเป็นสามิส อัปปวัตตะเป็นนิรามิส ฯลฯ

อูปายาสเป็นสามิส อนุปายาสเป็นนิรามิส เป็นสันติบทญาณ

ปัญญาในภยตุปัฏฐานว่า อุปปาทะเป็นสังขาร เป็นอาทีนวญาณ

ปัญญาในภยปัฏฐานว่า ปวัตตะ ฯลฯ อุปายาสเป็นสังขาร เป็น

อาทีนวญาณ

ปัญญาว่า อนุปปาทะเป็นนิพพาน เป็นสันติบทญาณ ปัญญาว่า

อัปปวัตตะ ฯลฯ อนุปายาสเป็นนิพพาน เป็นสันติบทญาณ

ปัญญาว่า อุปปาทะเป็นสังสาร อนุปปาทะเป็นนิพพาน เป็น

สันติบทญาณ ปัญญาว่า ปวัตตะเป็นสังขาร อัปปวัตตะเป็นนิพพาน

ฯลฯ อุปายาสเป็นสังขาร อนุปายาสเป็นนิพพาน เป็นสันติบทญาณ

ภิกษุย่อมเห็นอุปปาทะ ปวัตตะ นิมิตตะ อายูหนะ

และปฏิสนธิ ว่าเป็นทุกข์ ความเห็น (มีวัตถุ ๕ นี้)

เป็นอาทีนวญาณ อนึ่ง เห็นอุปปาทะ อัปปวัตตะ

อนิมิตตะ อานยูหนะ และอัปปฏิสนธิ ว่าเป็นสุข

ความเห็น (๕ สถาน) นี้ เป็นสันติบทญาณ อาที-

นวญาณนี้ย่อมเกิดในสถาน ๕ สันติบทญาณก็เกิด

ในสถาน ๕ จึงชื่อว่ารู้ญาณ ๑๐ เพราะความที่เป็น

ผู้ฉลาดในญาณ ๒ ภิกษุนั้นจึงไม่หวั่นไหวใน

เพราะทิฏฐิต่าง ๆ แล

ความเห็นนั้น จัดเป็นญาณ ด้วยความหมายว่ารู้ จัดเป็นปัญญา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 149

ด้วยความหมายว่ารู้ทั่ว เหตุนั้นจึงได้กล่าวว่า ปัญญาในภยตุปัฏฐาน

เป็นอาทีนนวญาณ"*

[แก้อรรถบาลีอาทีนวญาณ]

ในปาฐะเหล่านั้น ปาฐะว่า "อุปปาทะ" ได้แก่ความอุบัติขึ้นใน

ภพนี้ เพราะปัจจัยคือกรรมในภพก่อน ปาฐะว่า "ปวัตตะ" ได้แก่

ความหมุนไป (ในปวัติกาล) แห่งสังขารธรรมที่เกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น

ปาฐะว่า "นิมิตตะ" ได้แก่นิมิตคือสังขารทั้งปวง ปาฐะว่า "อายูหนา"

ได้แก่กรรม (ในภพนี้) อันเป็นเหตุแห่งปฏิสนธิ (ในภพ) ต่อไป

ปาฐะว่า "ปฏิสนธิ" ได้แก่ความอุบัติขึ้น (ในภพ) ต่อไป ปาฐะว่า

"คติ" ได้แก่คติที่ปฏิสนธิมีขึ้น ปาฐะว่า "นิพพัตติ" ได้แก่ความ

กำเนิดแห่งขันธ์ทั้งหลาย ปาฐะว่า "อุปปัตติ" ได้แก่ความเป็นไปแห่ง

วิบาก ที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า "วิบากย่อมมีแก่ผู้ถึงพร้อมบ้าง แก่ผู้เข้าถึง

บ้าง" ปาฐะว่า "ชาติ" ได้แก่ชาติที่มีเพราะปัจจัยคือภพ เป็นปัจจัย

แห่งทุกข์ทั้งหลายมีชราเป็นต้น ธรรมทั้งหลายมีชราและมรณะเป็นอาทิ

(มีความ) ปรากฏ (ชัด) แล้วทั้งนั้น ก็แลในธรรมเหล่านี้ ธรรม ๕

มีอุปปาทะเป็นต้นเท่านั้น ท่านกล่าวโดยเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) แห่งอาทีนว-

ญาณ ธรรมที่เหลือท่านกล่าวโดยเป็นไวพจน์ของธรรม ๕ นั้น แท้จริง

คำ ๒ คำคือ นิพพัตติ ชาติ ที่เป็นไวพจน์ของอุปปาทะและของปฏิสนธิ

นั่นเอง ๒ คำคือ คติ อุปปัตติ นี่เป็นไวพจน์ของปวัตตะ ชรา เป็น

* ขุ. ป. ๓๑/๘๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 150

ต้น เป็นไวพจน์ของนิมิตตะแล เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า

"ภิกษุย่อมเห็นอุปปาทะ ปวัตตะ นิมิตตะ อายู-

หนะ และปฏิสนธิ ว่าเป็นทุกข์ ความเห็น (มี

วัตถุ ๕) นี้ เป็นอาทีนวญาณ"

และว่า "อาทีนวญาณนี้ ย่อมเกิดในสถาน ๕" ดังนี้

ส่วนคำว่า "ปัญญาว่า "อนุปปาทะ (ธรรมอันไม่มีความเกิดขึ้น)

เป็นธรรมเกษม" เป็นสันติบทญาณ " เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดง

ญาณฝ่ายตรงข้ามของอาทีนวญาณ นัยหนึ่ง คำนั้นท่านกล่าวเพื่อยัง

ความอุ่นในให้เกิดแก่พระโยคาวจรทั้งหลาย ผู้มีหทัยหวาดหวั่นไป

เพราะเห็นอาทีนพโดยภยตุปัฏฐาน (ความปรากฏเป็นของน่ากลัว) ว่า

"แม้สิ่งที่ไม่น่ากลัว ปลอดภัย หาโทษมิได้ ก็มีอยู่" ดังนี้ก็ได้ หรือว่า

ก็เพราะธรรมทั้งหลายมีอุปปาทะเป็นต้น ยืนเด่น (ปรากฏให้เห็น)

โดยเป็นของน่ากลัวแก่พระโยคาวจรนั้นอยู่ จิตของเธอจึงน้อมไปใน

ธรรมที่ตรงข้ามของธรรม ที่น่ากลัว) นั้น เพราะเหตุนั้น พึงทราบ

ว่า คำนั้นท่านกล่าวเพื่อแสดงอานิสงส์แห่งอาทีนวญาณอันสำเร็จด้วย

อำนาจความปรากฏเป็นของน่ากลัวด้วย

อนึ่ง ในธรรมฝ่ายโทษนี้ เหตุใดสิ่งใดเป็นของน่ากลัว สิ่งนั้น

ย่อมเป็นทุกข์โดยแน่แท้ สิ่งใดเป็นทุกข์เล่า สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นสามิส

เท่านั้น เพราะไม่พ้นไปจากวัฏฏามิส (คืออุปาทินขันธ์ ?) โลกามิส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 151

(คือเบญจกามคุณ ?) และกิเลสามิส อนึ่งเล่าสิ่งใดเป็นสามิส สิ่งนั้น

ก็ย่อมเป็นสังขารเท่านั้นเอง เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า "ปัญญา

ในภยตุปัฏฐานว่า "อุปปาทะเป็นทุกข์" เป็นอาทีนวญาณ" ดังนี้เป็นต้น

แม้เป็นต้นอย่างนั้น ก็พึงทราบความต่างกันในธรรมฝ่ายโทษนี้ด้วยอำนาจ

เป็นไปโดยมีอาหารต่างกันอย่างนี้คือ โดยมีอาการเป็นของน่ากลัว โดย

มีอาการเป็นทุกข์ โดยมีอาการเป็นสามิส๑

คำว่า "ทส ญาเณ ปชานาติ-รู้ญาณ ๑๐" อธิบายว่า ภิกษุนั้น

เมื่อรู้ทั่วอาทีนวญาณ ชื่อว่าย่อมรู้ทั่ว คือแทงตลอด ทำให้แจ้งซึ่ง

ญาณ ๑๐ คือญาณมีธรรมฝ่ายอาทีนพมีอุปปาทะเป็นต้นเป็นที่ตั้ง ๕

ญาณมีธรรมฝ่ายเกษมมีอนุปปาทะเป็นต้นเป็นที่ตั้ง ๕

คำว่า "ทฺวินฺนํ ญาณานํ กุสลตา-เพราะความที่เป็นผู้ฉลาด

ในญาณ ๒" ความว่า เพราะความที่เป็นผู้ฉลาดในญาณ ๒ นี้ ๒ คือ

อาทีนวญาณ ๑ สันติบทญาณ ๑

คำว่า "นานทิฏฐีสุ น กมฺปติ-ไม่หวั่นไหวในเพราะทิฏฐิ

ต่าง ๆ" ความว่า ย่อมไม่สั่นคลอนไปในเพราะทิฏฐิทั้งหลาย อันเป็น

๑. มหาฎีกาว่า ญาณอันเป็นไปโดยอาการ (เห็นสังขาร) เป็นของน่ากลัว เป็นภยตุปัฏฐานญาณ

ที่เป็นไปโดยอาการนอกนั้น เป็นอาทีนวญาณ

๒. มหาฎีกาว่า ญาณานํ เป็นฉัฏฐีวิภัติในอรรแห่งสัตมีวัภัติ เพราะประกอบกับ กุสล ศัพท์

ดังคำว่า กุสลา นจฺจคีตสฺส - ผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและขับร้อง ส่วน กุสลตา เป็นปฐมาวิภัติ

ในอรรถตติยาวัภัติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 152

ไปด้วยอำนาจความถือผิด มีถือว่าทิฏฐธรรมนิพานเป็นบรมธรรม

เป็นต้น๑

คำที่เหลือในบาลีนี้ มีความอันตื้นทั้งนั้นแล

อาทีนวานุปัสนาญาณ จบ

[นิพพิทานุปัสนาญาณ]

พระโยคาวจรนั้น เห็นผองสังขารโดยเป็นโทษอยู่อย่างนั้น ย่อม

เบื่อหน่าย เอือมระอา ไม่ยินดีอย่างยิ่งในสังขารอันแตกอยู่ทั่วไป๒ในภพ

กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง เปรียบประดุจสุวรรณ-

ราชหงส์ผู้อภิรมย์อยู่ที่เชิงเขาจิตรกูฏ (ในหิมพานต์) ย่อมไม่นิยมยินดี

ในบ่อ (น้ำครำ) โสโครกข้างประตูหมู่บ้านคนจัณฑาล ยินดียิ่งนักแต่

ในมหาสระทั้ง ๗ เท่านั้น ฉันใดก็ดี แม้พระโยคีราชหงส์นี้ ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน ย่อมไม่ยินดีในสังขารอันแตกอยู่ทั่วไป๒ ซึ่งมีโทษอัน

ตนเห็นชัดเจนแล้ว ย่อมยินดีแต่ในอนุปัสนา ๗ เท่านั้น (ทั้งนี้ก็)

เพราะประกอบด้วยความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดี ด้วยความยินดีใน

๑. ปรมทิฏฺฐธมฺมนิพฺพาน ไม่พบคำอธิบาย ทิฏฐธรรมนิพาน ท่านหมายความเอาสัญญาเวทยิตนิโรธ

หรือเรียกสั้น ๆ ว่า นิโรธ ท่านนับเป็นนิพพานในปัจจุบัน เข้าใจจะเนื่องมาแต่ปาฐะต้นโอวาท-

ปาฏิโมกข์ที่ว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา- พระพุทธทั้งหลายกล่าวนิพพานว่าเป็นพรมธรรม"

น่าจะมีเกจิอาจารย์ถือว่านิพพานในข้อนี้ ก็คือทิฏฐธรรมนิพพานนั่นเอง ความเห็นอย่างนี้เรียกว่า

ปรมทิฏฐธัมมนิพพานทิฐิ (เห็นว่าทิฏฐธรรมนิพพานเป็นบรมธรรม) เช่นนั้นกระมัง.

๒. ปเภทกา ดูเชิงอรรถหน้า ๑๔๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 153

ภาวนา อนึ่ง เปรียบดังสีหะมฤคราชแม้ขังไว้ในกรงทอง ก็มิได้ยินดี

(ในกรงทองนั้น) ย่อมยินดีแต่ในป่าหิมพานต์อันกว้างได้ ๓,๐๐๐ โยชน์

เท่านั้นฉันใด พระโยคีสีหะนี้ก็ฉันนั้น ย่อมไม่นิยมยินดีแม้แต่ใน

สุคติภพทั้ง ๓ ย่อมยินดีแต่ในอนุปัสนา ๓ เท่านั้น อนึ่ง อุปมาดัง

พญาช้างฉัททันต์ อันเป็นช้างสรรพเศวต (เผือกย่องสรรพางค์) เป็น

ช้างสัปตประดิษฐ์ (มีอวัยวะจดพื้นดิน ๗ อย่าง)* มีฤทธิ์เดินอากาศได้

ย่อมไม่ยินดี (อยู่) ในท่ามกลางเมือง ยินดียิ่งนักแต่ในสระฉันททันต์

และป่าชัฏในหิมพานต์เท่านั้นฉันใด พระโยคีวรวารณะนี้ก็ฉันนั้น

ย่อมไม่นิยมยินดีในสังขารทั้งปวง ยินดียิ่งแต่ในสันติบทอันตนเห็นแล้ว

โดยนัยว่า "อนุปฺปาโท เขมํ-อนุปปาทะ (ธรรมอันไม่มีความเกิด

ขึ้น) เป็นธรรมเกษม" ดังนี้เป็นต้น เป็นผู้มีใจน้อมไปในสันติบท

นั้น ลาดไปในสันติบทนั้น เอียงไปในสันติบทนั้นแล

นิพพิทานุปัสนาฐาณ จบ

[มุญจิตุกัมยตาญาณ]

อันนิพพิทานุปัสนาญาณนี้นั้น โดยอรรถก็เป็นอันเดียวกับญาณ ๒

ข้างต้น เหตุนั้น พระโบราณจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า "ภยตุ-

ปัฏฐาญาณอันเดียวนั่นแหละ ได้ชื่อ ๓ ชื่อ เกิดชื่อว่า ภนยุปัฏฐาน

ก็เพราะได้เห็นสังขารทั้งปวงโดยเป็นของน่ากลัว กลายเป็นชื่อว่า อาที-

* มหาฎีกาว่า งวง ๑ เท้า ๔ หาร ๑ ฝักลึกค์ ๑ สัมผัสพื้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 154

นวานุปัสนา ก็เพราะยัง (ความเห็น) โทษในสังขารเหล่านั้นแหละ

ให้เกิดขึ้น กลายเป็นชื่อว่านิพพิทานุปัสนา ก็เพราะเบื่อหน่ายในสังขาร

เหล่านั้นแหละเกิดขึ้น แม้ในพระบาลีก็กล่าวไว้ว่า "ความรู้ทั่วใน

ภยตุปัฏฐานอันใดก็ดี ความหยั่งรู้ในอาทีนพอันใดก็ดี นิพพิทาอันใด

ก็ดี ธรรมเหล่านี้มีอรรถอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ" ดังนี้

ก็แล เมื่อ (โยคาวจร) กุลบุตรผู้นี้เบื่อหน่ายอยู่ ระอาอยู่ ไม่ยินดี

อย่างยิ่งอยู่ ด้วยนิพพิทาญาณนี้ จิตย่อมไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ผูกพันอยู่ใน

สังขารทั้งหลาย อันแตกอยู่ทั่วไป* ในภพ กำเนิน คติ วิญญาณซิติ

สัตตาวาสทั้งปวง เป็นจิตใคร่จะเปลื้องไป ใคร่จะออกไปจากสังขาร

ทั้งปวง ข้อนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนสัตว์เช่นว่าปลาที่

(ตก) อยู่ภายในตาข่าย กบอยู่ในปากงู ไก่ป่าถูกขังไว้ในกรง เนื้ออยู่

ในอำนาจบ่วงอันมั่น งูอยู่ในมือหมองู ช้างตกหล่มใหญ่ พญานาคอยู่

ในปากครุฑ พระจันทร์ (พลัด) เข้าปากราหู บุรุษถูกศัตรูล้อม

อย่างนี้เป็นต้น ย่อมเป็นผู้ใคร่จะปลดไป ใคร่จะออกไปจากที่ ๆ ติด

อยู่นั้น ๆ ฉันใด จิตของพระโยคีนั้นก็เป็นจิตใคร่จะเปลื้องไป ใคร่จะ

ออกไปจากสังขารทั้งปวงฉันนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น มุญจิตุปัมยตาญาณ

จึงเกิดขึ้นแก่เธอผู้ปราศจากอาลัยในผองสังขาร ใคร่จะพ้นไปจากสังขาร

ทั้งปวงดังกล่าวมาฉะนี้แล

มุญจิคุกัมยตาญาณ จบ

* ดูเชิงอรรถหน้า ๑๔๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 155

[ปฏิสังขานุปัสนาญาณ]

พระโยคาวจรนั้น เป็นผู้ใคร่จะเปลื้องไปจากสังขารทั้งหลายอัน

แตกอยู่ทั่วไป ในภพ กำเนิด คติ ฐิติ และนิวาสทั้งปวงอย่างนั้น จึง

กำหนดสังขารเหล่านั้นแหละอีก (โดย) ยกขึ้นสู่ไตรลักษณะ ด้วย

ปฏิสังขานุปัสนาญาณ เธอย่อมเห็นได้ว่ามันไม่เที่ยง โดยเหตุทั้งหลาย

เช่นว่า

อนจฺจนฺติกโต โดยไม่เป็นส่งิ มีอยู่ตลอดไป

ตาวกาลิกโต โดยเป็นสิ่งมีชั่วคราว

อุปฺปาทวยปริจฺฉินฺนโต โดยเป็นสิ่งถูกกำหนดลงไว้ ด้วยความ

เกิดและความเสื่อม

ปโลกโต โดยเป็นสิ่งต้องพังทลาย

ขณิกโต โดยเป็นสิ่งมีชั่วขณะ

จลโต โดยเป็นสิ่งไหว (ไปมา)

ปภงฺคุโต โดยเป็นสิ่งที่ต้องการแตกสลาย

อทฺธุวโต โดยเป็นสิ่งไม่คงทน

วิวปริณามธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีความแปรปรวนไปเป็น

ธรรมดา

อสารกโต โดยเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร

วิภวโต โดยเป็นสิ่งต้องเสื่อม

สงฺขตโต โดยเป็นสิ่งถูกปรุงขึ้น

มรณธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 156

ย่อมเห็นได้ว่ามันเป็นทุกข์ โดยเหตุทั้งหลายเช่นว่า

อภิณฺหปฏิปีฬนโต โดยถูกบีบคั้นอยู่เนืองนิตย์

ทุกฺขมโต โดยเป็นที่สิ่งทนยาก (คือทนอยู่ไม่ได้)

ทุกฺขวตฺถุโต โดยเป็นที่ตั้งของทุกข์

โรคโต โดยเป็นโรค

คณฺฑโต โดยเป็นแผลผี

สลฺลโต โดยเป็นลูกศร

อฆโต โดยเป็นของชั่วร้าย

อีติโต โดยเป็นอาพาธ

อุปทฺทวโต โดยเป็นอุบาทว์

ภยโต โดยเป็นภัย

อุปสคฺคโต โดยเป็นอุปสรรค

อตาณโต โดยไม่มีที่ต้านทาน

อเลณโต โดยไม่มีที่กำบัง

อสรณโต โดยไม่มีที่พึ่ง

อาทีนวโต โดยเป็นโทษ

อฆมูลโต โดยเป็นมูลของความลำบาก

วธกโต โดยเป็นผู้ฆ่า

สาสวโต โดยเป็นสิ่งเป็นไปกับอาสวะ

มารามิสโต โดยเป็นเหยื่อมาร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 157

ชาติธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา

ชราธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีชราเป็นธรรมดา

พฺยาธิธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา

มรณธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา

โสกธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา

ปริเทวธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีโสกะเป็นธรรมดา

อุปายาสธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีอุปายาสเป็นธรรมดา

สงฺกิเลสิกธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา

ย่อมเห็นได้โดยเป็นของไม่งาม อันเป็นบริวารแห่งทุกขลักษณะ

โดยเหตุทั้งหลายเช่นว่า

อชญฺญโต โดยเป็นสิ่งไม่งาม

ทุคฺคนฺธโต โดยเป็นสิ่งมีกลิ่นเหม็น

เชคุจฺฉโต โดยเป็นสิ่งน่ารังเกียจ

ปฏิกูลโต โดยเป็นสิ่งปฏิกูล

อมณฺฑนหตโต โดยเป็นสิ่งมิใช่กำจัด (ความปฏิกูล)

ได้ด้วยการตบแต่ง

วิรูปโต โดยเป็นสิ่งน่าเกลียด

วิภจฺฉโต โดยเป็นสิ่งน่าขยะแขยง

ย่อมเห็นได้โดยความอนัตตา โดยเหตุทั้งหลายเช่นว่า

ปรโต โดยเป็นฝ่ายอื่น

ริตฺตโต โดยเป็นของว่าง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 158

ตุจฺฉโต โดยเป็นของเปล่า

สุญฺญโต โดยเป็นของสูญ

อสฺสามิกโต โดยเป็นของไม่มีใครเป็นเจ้าของ

อนิสฺสรโต โดยเป็นของไม่มีใครเป็นใหญ่

อวสวตฺติโต โดยเป็นของไม่อยู่ในอำนาจใคร

อันสังขารทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นอันพระโยคาวจรผู้เห็นอยู่อย่างนั้น ได้

กำหนดยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์แล้ว ถามว่า "ก็เพราะเหตุไร พระโยคา-

วจรนี้ จึงกำหนดสังขารทั้งหลายนั่นอย่างนั้น " ตอบว่า "กำหนด

อย่างนั้น เพื่อยังอุบาย (วิธี) แห่งการปลดเปลื้องให้สำเร็จ" (ต่อไป)

นี้เป็นอุปมาในอุบายนั้น

ต่างว่าบุรุษผู้หนึ่ง คิดจักจับปลา คว้าสุ่มจับปลาสุ่มลงไปในน้ำ

(พอรู้สึกว่าสุ่มถูกปลา) จึงหย่อนมือลงไปทางปากสุ่ม๑ จับถูกงู (เห่า)

ที่คอในใต้น้ำ เข้าใจว่าตัวจับถูกปลาก็ดีใจ เขาคิดว่า "เราได้ปลาตัว

ใหญ่นะ" แล้วยกขึ้นมาดู พอรู้จักว่างู ด้วยเห็นสวัสติกะ ๓ แฉก๒

(ดอกจันทร์) ก็กลัว มองเห็นผลร้าย อึดอัด (ลำบากใจ) ในการจับ

(มันไว้) ใคร่จะปล่อยเสีย เมื่อจะทำอุปบาย (วิธี) ปล่อย จึงปลดมือ

๑. ขิปฺปํ (ที่ถูกควรเป็นขิปํ) พบคำแปลได้หลายอย่างในกระบวนเครื่องมือจับปลา แต่ในที่นี้

ดูความที่ท่านเล่า เครื่องมือนี้มีปาก ใช้มือล้วงลงไปจับปลาขึ้นมาได้ เป็นปากโล่ง ไม่มีตา

เครื่องมือจับปลาที่มีลักษณะอย่างนี้ ในบ้านเมืองเรานี้ก็เห็นมีแต่สุ่มอย่างเดียว

๒. โสวตฺถิกตฺตย-สวัสติกะ ๓ แฉก เคยอธิบายมาแล้ว โปรดดูอธิบายที่เชิงอรรถวิสุทธิมรรค

แปลภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๑๘๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 159

(ที่งูพัน) ตั้งแต่หางท่อนปลายออกแล้วชูแขนขึ้น แกว่ง (งู) เหนือ

ศีรษะ ๒-๓ รอบ ทำให้งุเพลีย แล้วตะเพิดว่า "ไป เจ้างูร้าย"

(ว่าแล้วคลายมือเหวี่ยง) สลัด (มัน) ไป แล้วรีบขึ้นขอบบึง ยืนมอง

ดูทางที่ (บุกน้ำขึ้น) มา พลางรำพึง (กับตัวเอง) ว่า "เรารอดจาก

ปากงูใหญ่มาได้ พ่อคุณเอ๋ย"

(พึงทราบการประเทียบความ ในอุปมานั้น ดังต่อไปนี้) ครั้ง

เมื่อฝ่ายพระโยคีนี้ได้อัตภาพแล้วยินดีแต่แรก (เมื่อรู้ความ ?) นั่นแหละ

เปรียบดังเวลาที่บุรุษนั้นจับถูกงูที่คอแล้วดีใจ ด้วยสำคัญว่าปลาฉะนั้น

การทำฆนวินิพโภค (แยกกลุ่มก้อนออกเป็นส่วนย่อย) จนเห็นไตร-

ลักษณ์ในสังขารทั้งหลายแห่งพระโยคีนี้ เปรียบดังการดึงหัว (งู) ออก

จากปากสุ่มแล้วเห็นสวัสติกะ ๓ แฉก (ของมัน) แห่งบุรุษนั้น ภยตุ-

ปัฏฐานญาณแห่งพระโยคีนี้ เปรียบดังเวลา (เกิด) กลัวขึ้นแห่งบุรุษนั้น

ต่อนั้น อาทีนวานุปัสนาญาณ เปรียบดังการเห็นผลร้าย นิพพิทานุ-

ปัสนาญาณ เปรียบดังการอึดใจในการจับ (งูไว้) มุญจิตุกัมยตาญาณ

เปรียบดังความใคร่จะปล่อยงู การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ในสังขารทั้งหลาย

ด้วยปฏิสังขานุปัสนาญาณ เปรียบดังการทำอุบาย (วิธี) ปล่อย เหมือน

อย่างว่าบุรุษนั้นแกว่งงูทำให้มันเพลีย ให้มันถึงซึ่งความไม่สามารถ

จะกลับมาขบได้แล้วปล่อยไปอย่างดีฉันใด พระโยคาวจรนี้ก็แกว่ง

สังขารทั้งหลาย ด้วยยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ทำให้มันอ่อนกำลัง ให้มันถึง

ซึ่งความไม่สามารถจะเสนอหน้าโดยอาการ เที่ยง เป็นสุข งาม และ

เป็นอัตตาได้อีกแล้วปลดเปลื้องไปอย่างดีฉันนั้น เพราะเหตุนั้น จึง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 160

กล่าวไว้ (ข้างต้น) ว่า "พระโยคาวจรกำหนด (สังขาร) อย่างนั้น

เพื่อยังอุบาย (วิธี) แห่งการปลดเปลื้องให้สำเร็จ " ดังนี้

ด้วยการพิจารณา (รู้) เพียงเท่านี้ ปฏิสังขาญาณเป็นอันเกิดขึ้น

แก่พระโยคาวจรนั้นแล้ว ซึ่งท่านหมายเอา กล่าวไว้ (ในบาลีปฏิ-

สัมภิทามรรค) ว่า "(ถามว่า) เมื่อภิกษุมนสิการโดยอาการไม่เที่ยง

ญาณพิจารณา (รู้) อะไรเกิดขึ้น เมื่อภิกษุมนสิการโดยอาการเป็นทุกข์

... โดยอาการเป็นอนัตตา ญาณพิจารณา (รู้) อะไรเกิดขึ้น ? (ตอบ

ว่า) เมื่อภิกษุมนสิการโดยอาการไม่เที่ยง ญาณพิจารณา (รู้) นิมิตเกิด

ขึ้น เมื่อภิกษุมนสิการโดยอาการเป็นทุกข์ ญาณพิจารณา (รู้) ปวัตตะ

เกิดขึ้น เมื่อภิกษุมนสิการโดยอาการเป็นอนัตตา ญาณพิจารณา (รู้)

ทั้งนิมิตทั้งปวัตตะเกิดขึ้น

ก็คำว่า "นิมิตฺตํ ปฏิสงฺขา" ในบาลี หมายความว่า รู้สังขาร-

นิมิตด้วยอำนาจอนิจจลักษณะว่า สังขารนิมิตเป็นของไม่ยั่งยืน เป็นไป

ชั่วคราว จริงอยู่ รู้ก่อนแล้วญาณจึงเกิดทีหลังโดยแท้ ถึงกระนั้นท่าน

กล่าว (เป็นสมานกาลกิริยา) อย่างนั้น ก็ด้วยอำนาจโวหาร ดังคำว่า

"มนญฺจ ปฏิจฺจ ธมฺเม จ อุปฺปชฺชติ มโนวิญฺญาณํ-มโนวิญญาณ

อาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น" ดังนี้เป็นต้น นัยหนึ่ง พึง

ทราบว่าท่านกล่าวอย่างนั้น เพราะทำคำหน้าและคำหลังให้เป็นอัน

เดียวกันโดยเอกัตตนัย ความหมายแม้ในสองบทนอกนี้ก็พึงทราบโดย

นัยนี้แล

ปฏิสังขานุปัสนาญาณ จบ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 161

[สังขารุเบกขาญาณ]

[กำหนดสุญตา ๒ เงื่อน]

พระโยคาวจรนั้น ครั้นกำหนดไว้ว่า "สังขารทั้งปวงเป็นของสูญ

(ว่างเปล่า) ด้วยปฏิสังขานุปัสนาญาณอย่างนี้แล้ว จึงกำหนดสุญตา

(ความว่างเปล่า) เป็น ๒ เงื่อนอีกว่า "สังขารนี้ว่าเปล่าจากอัตตะ

(ตัวตน) ก็ดี จากอัตตนิยะ (ของ ๆ ตน) ก็ดี"

[กำหนดสุญตา ๔ เงื่อน]

พระโยคาวจรนั้นไม่เห็นตัวตน ไม่เห็นสัตว์สังขารอื่นอะไร ๆ

ตั้งอยู่ในความเป็นบริขาร (คือบริวารหรือเครื่องแวดล้อม ?) ของตน

เลย อย่างนี้แล้ว ยังกำหนดสุญตา ๔ เงื่อนที่กล่าวไว้ในอธิการ (ที่กล่าว

ถึง) สุญตานุปัสนานี้อีกว่า "เธอไม่เห็นว่าตัวเรามีอยู่ (๑) ในที่ไหน ๆ

(๒) ในความเป็นอะไร ๆ ของใคร ๆ และไม่เห็นว่าตัวของผู้อื่นมีอยู่

(๓) ในที่ไหน ๆ (๔) ในความเป็นอะไร ๆ ของตัวเราที่ไหน ๆ เลย"

ดังนี้

ปุจฉาว่า อรรถาธิบายสุญตา ๔ เงื่อนมีอย่างไร ? วิสัชนาว่า

อรรถาธิบายมีอย่างนี้ ข้อว่า นาหํ กฺวจนิ คือว่าพระโยคาวจรนี้ ไม่

เห็นตัวตน (มีอยู่) ในที่ไหน ๆ ข้อว่า กสฺสจิ กิญฺจนตสฺมึ คือไม่เห็น

ตัวตนของตัวที่จะพึงนำเข้าไปในความเป็นอะไร ๆ ของใคร ๆ คือของ

ผู้อื่น ขยายความว่า "ไม่เห็นตัวตนของตัวที่พึงนำเข้าไป นับเอาเป็น

พี่น้องในฐานที่ควรเป็นพี่น้อง หรือเป็นสหายในฐานที่ควรเป็นสหาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 162

หรือเป็นบริขาร (บริขาร ?) ในฐานที่ควรเป็นบริขาร (ของผู้อื่น) ื

ในข้อว่า น จ มม กฺวจนิ นี้ ยก มม ศัพท์ไว้ก่อน คำที่เหลือ

ว่า น จ กฺวจนิ มีความ (ดัง) นี้ว่า "และไม่เห็นตัวตนของผู้อื่น

ในที่ไหน ๆ เลย " ที่นี้นำ มม ศัพท์มา* (ประกอบในข้อหลัง) ว่า

มม กิสฺมิญฺจิ กิญฺจนตตฺถิ มีความว่า ไม่เห็นว่าตัวตนของผู้อื่นนั้น

มีอยู่ในความเป็นอะไร ๆ ของตัวเรา ในฐานะอะไร ๆเลย ขยายความ

ว่า "ไม่เห็นตัวตนของคนอื่นที่จะพึงนำเข้าไปโดยความเป็นอะไร ๆ

(ดังต่อไป) นี้ ในฐานะอะไร ๆ เลย คือเป็นพี่น้องในฐานที่ควรเป็น

พี่น้อง หรือเป็นสหายในฐานที่ควรเป็นสหาย หรือเป็นบริขารในฐาน

ที่ควรเป็นบริขารของตนเลย"

เหตุใดพระโยคาวจรนี้ (๑) ไม่เห็นตัวตน (ของตัว) ในที่ไหน ๆ

(๒) ไม่เห็นตัวตน (ของตัว) นั้นที่จะพึงนำเข้าไปในความเป็นอะไร ๆ

ของผู้อื่น (๓) ไม่เห็นตัวของผู้อื่น (ในที่ไหน ๆ ) (๔) ไม่เห็นตัว

ของผู้อื่นที่จะพึงนำเข้ามาในความเป็นอะไร ๆ ของตนเลย ดังกล่าวมา

ฉะนี้ เพราะเหตุนั้น สุญตา ๔ เงื่อนก็เป็นอันพระโยคาวจรผู้นี้ได้กำหนด

แล้ว แล

[กำหนดสุญตาโดยอาการ ๖]

พระโยคาวจรครั้นกำหนดสุญตา ๔ เงื่อนอย่างนี้แล้ว ยังกำหนด

สุญตาโดยอาการ ๖ อีกเล่า กำหนดอย่างไร ? กำหนดแล้ว จักขุเป็น

* ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า นาหริตฺวา นั้นคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น อาหริตฺวา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 163

ของว่างเปล่าจากตัวตนก็ดี จากของ ๆ ตนก็ดี จากความแน่นอนก็ดี

จากความยั่งยืนก็ดี จากความเที่ยงแท้ก็ดี จากความเป็นของไม่มีความ

แปรปรวนเป็นธรรมดาก็ดี โสตะ.... ฆานะ... ชิวหา...กาย...มนะ

เป็นของว่างเปล่า... รูปเป็นของว่างเปล่า... ฯลฯ ธรรมารมณ์

ทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า... จักขุสัมผัสเป็นของว่างเปล่า... ฯลฯ

มโนวิญญาณเป็นของว่างเปล่า ... จักขุสัมผัสเป็นว่างเปล่า... ฯลฯ

มโนสัมผัสเป็นของว่างเปล่า... พึงนำนยะไปดังกล่าวมาฉะนี้แล จน

ถึง (บท) ชรามรณะ

[กำหนดสุญตาโดยอาการ ๘]

ครั้นกำหนดสุญตาโดยอาการ ๖ อย่างนี้แล้ว กำหนดโดยอาการ

๘ อีก กำหนดอย่างไรบ้าง ? กำหนดว่า รูปไม่มีสาระ หาสาระมิได้

ปราศจากสาระ โดยสาระคือนิจจสาระ (เป็นสาระโดยที่เป็นของแน่

นอน) ก็ดี โดยสาระคือธุวสาระ (เป็นสาระโดยที่เป็นของยั่งยืน) ก็ดี

โดยสาระคือสุขสาระ (เป็นสาระโดยที่เป็นสุข) ก็ดี โดยสาระคืออัตต-

สาระ (เป็นสาระโดยที่เป็นอัตตา) ก็ดี โดยความเป็นของแน่นอนก็ดี

โดยความเป็นของยั่งยืนก็ดี โดยความเป็นของเที่ยงแท้ก็ดี โดยความ

เป็นของไม่มีความปรวนแปรเป็นธรรมดาก็ดี เวทนา... สัญญา...

สังขาร... วิญญาณ... จักขุ ฯลฯ ชรามรณะ ไม่มีสาระ หาสาระมิได้

ปราศจากวาระ โดยสระคือนิจจสาระก็ดี โดยสาระคือธุวสาระก็ดี

โดยสาระคือสุขสาระก็ดี โดยสาระคืออัตตาสาระก็ดี โดยความเป็นของ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 164

แน่นอนก็ดี โดยความเป็นของยั่งยืนก็ดี โดยความเป็นของเที่ยงแท้ก็ดี

โดยความเป็นของไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาก็ดี เปรียบเหมือน

ไม้อ้อไม่มีแก่น หาแก่นมิได้ ปราศจากแก่นฉันใด เหมือนไม้ละหุ่ง...

เหมือนไม้มะเดื่อ ... เหมือนไม้กุ่ม... เหมือนไม้ทองกวาว...

เหมือนก้อนฟองน้ำ.. เหมือนต่อมน้ำ... เหมือนพยับแดด...

เหมือนต้นกล้วย... เหมือนกล ไม่มีสาระ หาสาระมิได้ ปราศจาก

แก่นสารฉันใด รูป ฯลฯ ชรามรณะ ก็ฉันนั้นนั่นแหละ ไม่มีสาระ

หาสาระมิได้ ปราศจากสาระ โดยสาระคือนิจจสาระก็ดี ฯลฯ โดย

ความเป็นของไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาก็ดี

[กำหนดสุญตาโดยอาการ ๑๐]

พระโยคาวจรนั้น ครั้นกำหนดสุญตาโดยอาการ ๘ อย่างนี้แล้ว

ยังกำหนดโดยอาการ ๑๐ อีก กำหนดโดยอาการ ๑๐ อย่างไร ? กำหนด

โดยอาการ ๑๐ อย่างนี้คือ เห็นรูปโดยความเป็นของว่าง... โดยความ

เป็นของเปล่า... โดยความเป็นของสุญ... โดยความเป็นอนัตตา...

โดยความไม่มี (ใครครอง) ความเป็นใหญ่... โดยความเป็นสิ่งไม่พึง

ทำ (ให้เป็นอะไรได้) ดังต้องการ... โดยความเป็นสิ่งไม่พึงได้ (ดัง

ปรารถนา)... โดยความเป็นสิ่งไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร) ...

โดยเป็นฝ่ายอื่น (คือไม่เชื่อฟังใคร)... โดยความเป็นของโดดเดี่ยว

(คือไม่อยู่ในอาณัติของใคร ดุจพระเจ้าผู้สร้าง) เห็นเวทนา ฯลฯ

วิญญาณ โดยความเป็นของว่าง ฯลฯ เห็น... โดยความเป็นของ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 165

โดดเดี่ยว

[กำหนดสุญตาโดยอาการ ๑๒]

ครั้นกำหนดสุญตาโดยอาการ ๑๐ อย่างนี้แล้ว กำหนดโดยอาการ

๑๒ อีก กำหนดโดยอาการ ๑๒ อย่างไรบ้าง ? คือกำหนดว่า รูปมิใช่

สัตว์ มิใช่ชีวะ มิใช่นระ (คน) มิใช่มาณพ (ชายหนุ่ม) มิใช่สตรี

มิใช่บุรุษ มิใช่อัตตา มิใช่อัตตนิยะ มิใช่เรา มิใช่ของเรา มิใช่ของ

ผู้อื่น มิใช่ของใคร ๆ เวทนา ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ มิใช่ของใคร ๆ*

[กำหนดสุญตาโดยอาการ ๔๒]

ครั้นกำหนดสุญตาโดยอาการ ๑๒ อย่างนี้แล้ว ยังกำหนดสุญตา

โดยอาการ ๔๒ ด้วยอำนาจตีรณปริญญาอีก คือเห็นรูป

อนิจฺจโต โด___________ยเป็นของไม่เที่ยง

ทุกฺขโต โดยเป็นทุกข์

โรคโต โดยเป็นโรค (เสียดแทง)

คณฺฑโต โดยเป็นแผลฝี

สลฺลโต โดยเป็นลูกศร (เสียบแทง)

อฆโต โดยเป็นของชั่วร้าย

อาพาธโต โดยเป็นอาพาธ (รบกวน เบียดเบียน)

ปรโต โดยเป็นฝ่ายอื่น

* มหาฎีกาว่า ๘ บทข้างต้นแสดง อัตตสุญตา ๔ บทข้างหลังแสดง กิญจนตภาวะ

(ความไม่เป็นอะไร ๆ ของใคร ๆ).

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 166

ปโลกโต โดยเป็นสิ่งต้องพังทลาย

อีติโต โดยเป็นจัญไร (มาเพื่อฉิบหาย)

อุปทฺทวโต โดยเป็นอุบาทว์ (ทำให้เดือดร้อน)

ภยโต โดยเป็นภัย

อุปสคฺคโต โดยเป็นอุปสรรค

จลโต โดยเป็นสิ่งไหว (ไปมา)

ปภงฺคุโต โดยเป็นสิ่งที่ต้องการแตกสลาย

อทฺธุวโต โดยเป็นสิ่งไม่คงทน

อตาณโต โดยเป็นมีที่ต้านทาน

อเลณโต โดยเป็นที่มีกำบัง

อสรณโต โดยไม่มีที่พึ่ง (กำจัดภัย)

อสรณีภูตโต โดยเป็นสิ่งไม่ (ควรถือเอา) เป็นที่พึ่ง

ริตฺตโต โดยเป็นของว่าง

ตุจฺฉโต โดยเป็นของเปล่า

สุญฺญโต โดยเป็นของสูญ

อนตฺตโต โดยเป็นอนัตตา

อนสฺสาทโต โดยเป็นสิ่งไม่มีอะไรน่ายินดี

อาทีนวโต โดยเป็นโทษ

วิปริณามธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

อสารกโต โดยเป็นสิ่งไม่มีสาระ

อฆมูลโต โดยเป็นมูลของความลำบาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 167

วธกโต โดยเป็นผู้ฆ่า

วิภวโต โดยเป็นสิ่งต้องเสื่อม

สาสวโต โดยเป็นสิ่งเป็นไปกับอาสวะ

สงฺขตโต โดยเป็นสิ่งถูกปรุงขึ้น

มารามิสโต โดยเป็นเหยื่อมาร

ชาติธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา

ชราธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีชราเป็นธรรมดา

พฺยาธิธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา

มรณธมฺมโต โดยเป็นสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา

โสกปริเทวทุกฺข- โดยเป็นสิ่งที่มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส

โทมนุสฺสุปายาส ธมฺมโต อุปายาส เป็นธรรมดา

สมุทยโต โดยความเกิดขึ้น

อตฺถงฺคมโต โดยความเสื่อมไป

นิสฺสรณโต โดยความออกไป

เห็นเวทนา ฯลฯ วิญญาณ โดยเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดยความ

ออกไป

แท้จริง แม้คำแสดงการกำหนดสุญตา (ต่อไป) นี้ ก็กล่าวไว้

(ในจูฬนิเทศ ขุททกนิกาย) ว่า ภิกษุเมื่อเห็นรูปโดยความเป็นของ

ไม่เที่ยง ฯลฯ โดยความออกไป ชื่อว่าเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ

เมื่อเห็นเวทนา ฯลฯ วิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ โดย

ความออกไป ชื่อว่าเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ (และตรัสแก่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 168

พระโมฆราชว่า)

ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติ เห็นโลกโดย

ความเป็นของสูญทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย

ความข้ามพ้นมฤตยุพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ (ด้วย

ว่า) มฤตยุราชย่อม (มอง) ไม่เห็นบุคคลผู้เห็น

โลกอยู่ (โดยความเป็นของสูญ) อย่างนั้น*

[สังขารุเบกขาญาณเกิด]

พระโยคาวจรครั้นเห็นโดยความเป็นของสูญอย่างนั้นแล้ว กำหนด

สังขารยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ไป ย่อมละทั้งความกลัวและความยินดีเสียได้

แล้ว เป็นผู้เป็นกลางวางเฉยในสังขารทั้งหลาย ไม่ถือเอาว่าเป็นเรา

ก็ดี ว่าเป็นของเราก็ดี ดังบุรุษผู้มีภริยาอันหย่ากันแล้วฉะนั้น ต่างว่า

ภริยาของบุรุษ (ผู้หนึ่ง) พึงเป็นหญิงน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ

บุรุษผู้นั้นมิอาจทนพรากจากหล่อนได้แม้ครู่เดียว เขาหวนหล่อนเหลือ

เกิน (บังเอิญ) เขาเห็นหญิง (ผู้ที่เขาหวง) นั้น ยืนก็ดี นั่นก็ดี

(นอนก็ดี) พูดอยู่ก็ดี ยิ้มหัวอยู่ก็ดี กับชายอื่นเข้า ก็จะขัดเคืองน้อยใจ

รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง อยู่ต่อมาเขาเห็นความชั่วร้ายของหญิงนั้นแล้ว

คิดจะปลดปล่อยไป จึงหย่าหญิงนั้นเสีย ไม่ถือหญิงผู้นั้นว่าเป็นของ

ข้า ฯ ตั้งแต่นั้นไป แม้จะได้เห็นหญิงนั้นทำกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งกับ

ชายผู้ใดผู้หนึ่ง ก็จะไม่พึงขัดเคืองไม่พึงต้องเสียใจเลย จะพึงเป็นผู้เป็น

* ขุ. ขู. ๓๐/๒๔๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 169

เป็นกลางวางเฉยได้เป็นแท้ฉันใด พระโยคาวจรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เป็นผู้ใคร่จะพ้นไปเสียจากสังขารทั้งปวง จึงกำหนดสังขารทั้งหลายด้วย

ปฏิสังขานุปัสนาไป จนไม่เห็นความที่สังขารทั้งปวงเป็นสิ่งที่น่าถือเอา

ว่าเป็นเรา เป็นของเราแล้ว ก็ละความกลัวและความยินดีเสียได้ ก็

ย่อมเป็นผู้เป็นกลางวางเฉยในสังขารทั้งปวงได้ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนั้น

เห็นอยู่อย่างนั้น จิตย่อมถอย ย่อมหด ย่อมกลับ ไม่เหยียดยื่นไปใน

ภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ อุเบกขา

(ความวางเฉยในสังขารทั้งหลาย) หรือปาฏิกุลยตา (ความน่าเกลียด

แห่งสังขารทั้งหลาย ?*) ย่อมตั้งมั่น เปรียบเหมือนหยาดน้ำทั้งหลาย

(อันตกลง) ในใบปทุมที่เอียงหน่อยหนึ่ง ย่อม (กลิ้ง) ถอยกลับ (ลง

น้ำ) ไม่ (กลิ้ง) ยืดไป (ในในปทุม) ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน...

อนึ่ง เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเอ็นและหนังแห้ง ถูกไฟเข้าย่อมหด

งอกลับไม่เหยียดไป (ในไฟ) ฉันใด จิตของพระโยคาวจรนั้นย่อมถอย

ย่อมหดย่อมกลับไม่เหยียดยื่นไปในภพ ๓... อุเบกขาหรือปาฏิกุลยตา

ย่อมตั้งมั่นฉันนั้น

อันสังขารุเบกขาญาณ ย่อมเป็นอันเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้น

ด้วยประการฉะนี้

[สังขารุเบกขาญาณเหมือนกันกาบอกทิศ]

แต่ว่าสังขารุเบกขาญาณนี้นั้น ถ้าเห็นพระนิพพานอันเป็นสันติบท

* ความวางเฉย กับความน่าเกลียด จะเป็นพวกเดียวกันได้อย่างไร นึกไม่เห็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 170

โดยความเป็นธรรมมีอยู่ไซร้ ย่อมสละปวัตตะ (ความเป็นอยู่) ฝ่าย

สังขารทั้งปวงแล่นไปสู่พระนิพพานทีเดียว หากว่าไม่เห็นพระนิพพาน

โดยเป็นธรรมมีอยู่ไซร้ ก็ย่อมมีแต่สังขารเป็นอารมณ์เป็นไปแล้ว ๆ

เล่า ๆ อยู่นั่นเอง เหมือนกาของพวกสมุทรพาณิชฉะนั้น ได้ยินมาว่า

พวกสมุทรพาณิช เมื่อขึ้นเรือย่อมนำเอากาบอกทิศ (ไปด้วย) เมื่อใด

เรือถูกพายุซัดแล่นไปผิดถิ่น ฝ่งั ไม่ปรากฏ เมื่อนั้นพวกเขาก็ปล่อยกา

บอกทิศ กานั้นจับที่เสากระโดง โลดขึ้นสู่อากาศ (บินสำรวจ) ไปทาง

ทิศใหญ่และทิศน้อยทุกทิศ ถ้าเห็นฝั่ง (ทางทิศใด) ก็ (บิน) มุ่งหน้า

ไปทิศนั้นทีเดียว ถ้าไม่เห็นก็ (บินกลับ) มาเกาะเสากระโดงร่ำไปอยู่

นั่นเอง (ฉันใด) สังขารุเบกขาญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเห็นพระ

นิพพานอันเป็นสันติบทโดยความเป็นธรรมมีอยู่ไซร้ ย่อมสละปวัตตะ

ฝ่ายสังขารทั้งปวงแล่นไปสู่พระนิพพานทีเดียว หากว่าไม่เห็น ก็ย่อมมี

แต่สังขารเป็นอารมณ์เป็นไปแล้ว ๆ เล่า ๆ อยู่นั่นเอง

วิปัสนาญาณนี้นั้น เหมือนแป้งในกระด้งที่ถูกขยี้อยู่ เหมือนฝ้าย

ที่ปล้อน (เมล็ด) แล้วถูกชีอยู่ กำหนดสังขารทั้งหลายโดยประการ

ต่าง ๆ จนละความกลัวและความยินดีได้แล้ว ก็วางตัวเป็นกลางในการ

ตรวจสอบสังขาร ยืนตัวอยู่ด้วยอำนาจอนุปัสนา ๓ เมื่อยืนตัวอยู่อย่าง

นั้น ย่อมถึงซึ่งความเป็นมุข (ปากทาง) แห่งวิโมกข์ ๓ แล้วเป็น

ปัจจัยเพื่อจำแนกพระอริยบุคคล ๗ ประเภท

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 171

[วิโมกขมุข ๓]

ในการถึงซึ่งว่าเป็นมุขแห่งวิโมกข์ และในความเป็นปัจจัย

เพื่อจำแนกพระอริยบุคคลนั้น วิปัสนาญาณนี้ ชื่อว่าถึงชื่อความเป็นมุข

แห่งวิโมกข์ ๓ ก็โดยความเป็นอธิบดีแห่งอินทรีย์ ๓ (คือสัทธินทรีย์

สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์) เพราะเป็นไปด้วยอำนาจแห่งอนุปัสนา ๓๑

จริงอยู่ อนุปัสนา ๓ ท่านเรียกว่า วิโมกขมุข ๓ ดังบาลีว่า "ก็

วิโมกขมุข ๓ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความออกไปจากโลก คือย่อมเป็น

ไปเพื่อภาวะคือความพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงโดยตัดตอน และโดย

รอบด้าน และเพื่อความแล่นเข้าไปแห่งจิต ในอนิมิตธาตุ (คืออสัง-

ขตธาตุอันหาสังขารเป็นนิมิตมิได้ ) (๑) เพื่อภาวะคือความเร่าเร้าใจ

ในสังขารทั้งปวง และเพื่อความแล่นเข้าไปแห่งจิต ในอัปปณิหิตธาตุ

(ธาตุอันไม่มีปณิธิคือความปรารถนาหรือกิเลส) (๑) เพื่อภาวะคือ

ความพิจารณาเห็นธรรมทั้งปวง โดยความเป็นฝ่ายอื่น (คือไม่เชื่อฟัง)

และเพื่อความแล่นเข้าไปแห่งจิตในสุญตธาตุ (ธาตุอันว่างเปล่าจาก

อัตตา) (๑) นี่วิโมกขมุข ๓ เป็นไปเพื่อความออกจากโลก"๒

[อธิบายความบาลี]

ในปาฐะเหล่านั่น ปาฐะว่า "ปริจฺเฉทปริวฏุมโต-โดยตัดตอน

๑. มหาฎีกาอธิบายว่า ผู้เจริญอนิจจานุปัสนามาก สัทธินทรีย์ย่อมมีกำลังเป็นอธิบดี ผู้เจริญ

ทุกขานุปัสนามาก สมาธินทรีย์ย่อมมีกำลังเป็นอธิบดี ผู้เจริญอนัตตานุปัสนามาก ปัญญินทรีย์

ย่อมมีกำลังเป็นอธิบดี อินทรีย์ ๓ อันถึงความมีกำลังเป็นอธิบดีด้วยอำนาจอนุปัสนา ๓ ดังกล่าว

จึงถึงซึ่งความเป็นวิโมกขมุขได้

๒. ขุ. ป. ๓๑/๓๗๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 172

และโดยรอบด้าน" คือทั้งโดยตัดตอน ทั้งโดยรอบด้าน ด้วยอำนาจ

ความเกิดและความดับ ขยายความว่า อนิจจานุปัสนากำหนดตัดว่า

"ก่อนแต่เกิด สังขารทั้งหลายไม่มี" ดังนี้แล้ว ตามค้นดูคติของสังขาร

เหล่านั้นไป ก็พิจารณาเห็นโดยรอบด้านว่า "ต่อแต่ดับ มันก็ไม่ไป

(ไหน) มันหายไปที่นี่แหละ" ดังนี้

ปาฐะว่า "มโนสมุตฺเตชนตาย-เพื่อภาวะคือความเร่งเร้าใจ"

หมายความว่าเพื่อความสังเวชแห่งจิต แท้จริง จิตย่อมสังเวชในสังขาร

ทั้งหลาย ด้วยทุกขานุปัสนา

ปาฐะว่า "ปรโตสมนุปสฺสนตาย-เพื่อภาวะคือความพิจารณา

เห็น (ธรรมทั้งปวง) โดยความเป็นฝ่ายอื่น" หมายความว่า เพื่อ

พิจารณาเห็น (ธรรมทั้งปวง) โดยความเป็นอนัตตา ว่า "มันไม่เป็น

เรา มันไม่เป็นของเรา" ดังนี้

บท๑ (คือพากย์) ทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวด้วย

อำนาจอนุปัสนา ๓ มีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น เพราะเหตุนั้นแหละ ใน

(ตอน) วิสัชนาปัญหาในลำดับนั้นไป ท่านจึงกล่าวว่า "เมื่อภิกษุ

มนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏโดย

ความสิ้น เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏ

โดยเป็นของน่ากลัว เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา สังขารทั้งหลาย

ย่อมปรากฏโดยความเป็นของสูญ"๒ดังนี้

๑. ปาฐะวิสุทธิมรรคพิมพ์ไว้เป็น ปธานานิ แต่ปาฐะมหาฎีกาเป็น ปทานิ เห็นว่าปาฐะหลังถูก

ต้องกว่า จึงแปลตามนี้

๒. ขุ. ป. ๓๑/๓๗๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 173

[วิโมกข์ ๓ หมายเอาอริยมรรค]

ถามว่า "ก็วิโมกข์ซึ่งมีอนุปัสนานี่เป็นมุขนั้นคืออะไรบ้าง " ตอบ

ว่า "วิโมกข์ ๓ นั่นคือ อนิมิตวิโมกข์ อัปณิหิตวิโมกข์ สุญต-

วิโมกข์" จริงอยู่ คำ (ต่อไป) นี้ ก็ได้กล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค)

ว่า "ภิกษุมนสิการไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้มากด้วยอธิโมกข์

ย่อมได้เฉพาะซึ่งอนิมิตวิโมกข์ มนสิการไปโดยความเป็นทุกข์ เป็นผู้

มากด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้เฉพาะซึ่งอัปณิหิตวิโมกข์ มนสิการไปโดย

ความเป็นอนัตตา เป็นผู้มากด้วยเวท (คือความรู้) ย่อมได้เฉพาะซึ่ง

สุญตวิโมกข์"* ดังนี้

ก็ในวิโมกข์ ๓ นี้ อริยมรรคอันทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์

เป็นไปโดยอาการหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตวิโมข์ จริงอยู่ อริย-

มรรคนั้นชื่อว่าอนิมิต เพราะเกิดขึ้นด้วยธาตุอันหานิมิตมิได้ และชื่อ

ว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งหลาย โดยนัยเดียวกันนั้น อริมรรค

อันทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ เป็นไปโดยอาการหาปณิธิมิได้ พึง

ทราบว่า ชื่ออัปณิหิตวิโมกข์ อริยมรรคอันทำพระนิพพานให้เป็น

อารมณ์ไปโดยอาการว่างเปล่า พึงทราบว่า ชื่อสุญตวิโมกข์

[วิโมกข์ ๒ หมายเอาวิปัสนาญาณ]

ส่วนวิโมกข์เพียง ๒ อันใด กล่าวไว้ในอภิธรรมดังนี้ว่า "ใน

สมัยใด ภิกษุเจริญโลกุตรฌานอันเป็นนิยยานิกะ เป็นอปจยคามี (ยัง

* ขุ. ป. ๓๑/๓๘๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 174

การกบุคคลให้ถึงความไม่สั่งสมกิเลส) เพื่อละทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

เพื่อบรรลุปฐมภูมิ เธอสงัดจากกามทั้งหลาย ... เข้าถึงปฐมฌานอัน

เป็นอัปณิหิตะ เป็นสุญตะอยู่ " ๑ ดังนี้ วิโมกข์ ๒ นั้น ท่านกล่าว

หมายถึงที่มาแห่งวิปัสนาโดยนิปริยาย (โดยตรง โดยสิ้นเชิง) (หาใช่

กล่าวหมายถึงอริยมรรคไม่ ?) จริงอยู่ วิปัสนาญาณ ท่านเรียกวา

สุญตวิโมกข์ ด้วยอำนาจการเปลื้องความยึดมั่นได้ ตามนัยบาลีใน

ปฏิสัมภิทามรรคดังนี้ว่า "อนิจจานุปัสนาญาณ ชื่อว่าสุญตวิโมกข์

เพราะเปลื้อง (อภินิเวส) ความยึดมั่นโดยความเป็นของเที่ยงได้ ทุกขา-

นุปัสนาญาณ ชื่อว่าสุญติวิโมกข์ เพราะเปลื้องความยึดมั่นโดยความ

เป็นสุขได้ อนัตตานุปัสนาญาณ ชื่อว่าสุญตวิโมกข์ เพราะเปลื้อง

ความยึดมั่นโดยความเป็นอัตตาได้"๒ ดังนี้ และเรียกว่าอนิมิตวิโมกข์

ด้วยอำนาจการเปลื้องนิมิตได้ ตามนัยบาลี (ในปฏิสัมภิทามรรคนั้น)

ดังนี้ว่า "อนิจจานุปัสนาญาณ ชื่อว่าอนิมิตวิโมกข์ เพราะเปลื้อง

นิมิตโดยความเป็นของเที่ยงได้ ทุกขานุปัสนาญาณ ชื่อว่าอนิมิต-

วิโมกข์ เพราะเปลื้องนิมิตโดยความเป็นสุขได้ อนัตตานุปัสนาญาณ

ชื่อว่าอนิมิตวิโมกข์ เพราะเปลื้องนิมิตโดยความเป็นอนัตตาได้"๒ ดังนี้

และเรียกอัปณิหิตวิโมกข์ ด้วยอำนาจการเปลื้อง (ปณิธิ) ความ

ปรารถนา ตามนับบาลี (ในปฏิสัมภิทามรรคนั้น) ดังนี้ว่า "อนิจจา-

นุปัสนาญาณ ชื่อว่าอัปณิหิตวิโมกข์ เพราะเปลื้องความปรารถนา

๑. อภิ. สํ. ๓๔/๑๐๕

๒. ข. ป. ๓๑/๔๐๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 175

โดยความเป็นของเที่ยงได้ ทุกขานุปัสนาญาณ ชื่อว่าอัปณิหิตวิโมกข์

เพราะเปลื้องความปรารถนาโดยความเป็นสุขได้ อนัตตานุปัสนาญาณ

ชื่อว่าอัปณิหิตวิโมกข์ เพราะเปลื้องความปรารถนาโดยความเป็น

อัตตาได้" ดังนี้ด้วย ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น วิปัสนาญาณนั้นก็หาเป็น

อนิมิตตะโดยนิปริยายไม่ (เป็นแต่โดยปริยาย) เพราะยังละทิ้งสังขาร-

นิมิตไม่ได้ แต่ว่าเป็นสุญตะและเป็นอัปณิหิตะโดยนิปริยายได้แท้

อนึ่ง วิโมกข์ ท่านยกขึ้น (เรียก ?) ในขณะแห่งอริยมรรค ก็ด้วย

อำนาจที่มาแห่งวิปัสนาญาณนั้น พึงทราบว่า (ในอภิธรรม) ท่าน

กล่าวแต่วิโมกข์ ๒ คือ อัปณิหิตะ สุญตะ ก็เพราะเหตุ (ที่เป็น

โดยนิปริยาย ) นั้น

นี่เป็นวิโมกขกถาในวิปัสนาธิการนี้ก่อน

[พระอริยบุคคล ๗]

ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้อีกว่า (วิปัสนาญาณนี้) เป็นปัจจัยเพื่อ

จำแนกพระอริยบุคคล ๗ ประเภท พึงทราบอรรถาธิบายดังนี้ ก่อนอื่น

(พึงทราบว่า ) บุคคลเหล่านี้ คือ สัทธานุสารี สัทธาวิมุต กายสักขี

อุภโตภาควิมุต ธัมมานุสารี ทิฏฐิปัตตะ ปัญญาวิมุต ชื่อว่าพระอริย-

บุคคล ๗ สังขารุเบกขาญาณนี้ ย่อมเป็นปัจจัยเพื่อจำแนกพระอริย-

บุคคล ๗ นั้น

ขยายความว่า บุคคลในมนสิการไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง

เป็นผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ ย่อมได้เฉพาะซึ่งสัทธินทรีย์ บุคลนั้นเป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 176

ผู้ชื่อว่า สัทธานุสารี ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่า สัทธาวิมุต

ใน ๗ สถานที่เหลือ (คือตั้งแต่โสดาปัตติผลถึงอรหัตผล) ส่วน

บุคคลใดมนสิการโดยความเป็นทุกข์ เป็นผู้มากไปด้วยปัสสัทธิ ย่อม

ได้เฉพาะซึ่งสมาธินทรีย์ บุคคลนั้นเป็นผู้ชื่อว่า กายสักขี ในทุกสถาน

(คือตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตผล) แต่ผู้ได้อรูปฌานแล้วจึง

บรรลุอัครผล (คืออรหัตผล) ได้ชื่อว่า อุภโตภาควิมุต ส่วนบุคคลใด

มนสิการไปโดยความเป็นอนัตตา เป็นผู้มากไปด้วยเวท (คือความรู้)

ย่อมได้เฉพาะซึ่งปัญญินทรีย์ บุคคลนั้นเป็นผู้ชื่อว่า ธัมมานุสารี ใน

ขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ ใน ๖ สถาน ชื่อว่า

ปัญญาวิมุต ในอัครผล

จริงอยู่ คำนี้ท่านกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า "เมื่อ

ภิกษุมนสิการไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง สัทธินทรีย์ย่อมเป็นอินทรีย์

มีประมาณยิ่ง เพราะความที่สัทธินทรีย์ประมาณยิ่ง เธอได้โสดาปัตติ

มรรค เหตุนั้น จึงเรียกว่า สัทธานุสารี"* แห่งเดียวกันนั้นกล่าว

ว่า "เมื่อภิกษุมนสิการไปโดนความเป็นของไม่เที่ยง สัทธินทรีย์ย่อม

เป็นอินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะความที่สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง โสดา-

ปัตติผลก็เป็นอันเธอทำให้แจ้งได้ เหตุนั้น จึงเรียกว่า สัทธาวิมุต"

ดังนี้เป็นอาทิ อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า "ภิกษุเชื่ออยู่ หลุดพ้นได้แล้ว

เหตุนั้น จึงชื่อ สัทธาวิมุต ทำให้แจ้งแล้วในลำดับแห่งฌานที่ตนได้

เหตุนั้น จึงชื่อ กายสักขี บรรลุแล้วในลำดับแห่งความเห็น (คือโสดา-

* ขุ. ป. ๓๑ ๓๘๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 177

ปัตติมรรคญาณ) เหตุนั้นจึงชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ (ขยายความอีกว่า) ภิกษุ

เชื่ออยู่จึงหลุดพ้น เหตุนั้นจึงชื่อ สัทธาวิมุต ถูกต้อง (คือได้) ฌาน-

ผัสสะก่อน จึงทำให้แจ้งซึ่งนิโรธคือนิพพานในภายหลัง เหตุนั้นจึงชื่อ

กายสักขิ ญาณว่า "สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ นิโรธเป็นสุข" เป็นอัน

เธอรู้แล้ว เห็นแล้ว ประสบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้อง (คือได้

บรรลุ) แล้วด้วยปัญญา เหตุนั้นจึงชื่อ ทิฏฐิปัตตะ"๑ ดังนี้

ส่วนใน ๔ บทนอกนี้ พึงทราบความแห่งคำดังนี้ว่า "พระอริย-

บุคคลที่ชื่อว่า สัทธานุสารี เพราะความหมายว่าแล่นไปตามศรัทธา

หรือว่าแล่นไป คือดำเนินไปด้วยศรัทธา นัยเดียวกันนั้น ที่ชื่อ ธัมมา-

นุสารี เพราะความหมายว่าแล่นไปตามธรรมกล่าวคือปัญญา๒ หรือ

ว่าแล่นไปด้วยธรรม ที่ชื่อว่า อุภโตภาควิมุต เพราะความหมายว่า

หลุดพ้นโดยส่วนทั้ง ๒ คือทั้งโดยอรูปฌานทั้งโดยอริยมรรค ที่ชื่อ

ว่า ปัญญาวิมุต เพราะความหมายว่ารู้ทั่วอยู่ (ซึ่งอริยสัจ โดยไม่ได้

ฌาน) หลุดพ้นแล้ว ๓

(ขณะนี้กำลังพรรณนา) สังขารุเบกขาญาณ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๓๘๘

๒. มหาฎีกาว่า "คำว่าธรรม หมายถึงปัญญา ในที่อื่นก็มี เช่นในบาทคาถาว่า สจฺจํ ธมฺโม

ฐิติ จาโค" เราไม่เคยคิดกันเลยว่า ธมฺโม ในบาทคาถานหี้ มายถึงปัญญา และในคัมภีร์ของเรา

เป็น ทโม ก็มีโดยมาก

๓. บททั้ง ๗ นี้ มีศัพท์ซ่อนเงื่อนอยู่บทเดียวคือ กายสักขิ กายสักขินั้น ได้อรูปฌานแล้วทำ

นิโรธให้แจ้งในภายหลัง ตอนได้ฌานก็หลุดพ้นด้วยวิกขัมภนวิโมกข์ โดยรูปกายและนามกายลาง

ส่วน แต่ตอนถึงนิโรธนั้นทำให้แจ้งโดยนามกาย เพราะฉะนั้น กายสักขิ ก็ต้องแปลว่า ทำให้แจ้ง

โดยนายกายเท่านั้นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 178

ก็แลสังขารุเบกขาญาณนี้นั้น โดยความก็เป็นอันเดียวกันกับญาณ

๒ ข้างต้น (คือมุญจิตกัมยตาญาณ และปฏิสังขานุปัสนาญาณ) เพราะ

เหตุนั้น พระโบราณจารย์ทั้งปลายจึงกล่าวไว้ว่า "สังขารุเบกขาญาณ

นี้ เป็นอันเดียวแท้ แต่ได้ชื่อ ๓ ชื่อ คือ เกิดชื่อว่ามุญจิตุกัมยตาญาณ

ในตอนต้น ปรากฏชื่อว่า ปฏิสังขานุปัสนาญาณในตอนกลาง และได้

ชื่อว่า สังขารุเบกขาญาณ อันถึงสุดยอดในตอนท้าย แม้ในพระบาลีก็

กล่าวไว้ว่า "ถามว่า "ปัญญาคือมุญจิตุกัมยตา-ความเพิกเฉย

เป็นญาณในสังขารุเบกขา (ความวางเฉยในสังขาร) ทั้งหลาย เป็น

อย่างไร ? แก้ว่า "ปัญญาคือความใคร่จะปลดเปลื้อง ความพิจารณา

(รู้) ความเพิกเฉย ซึ่งอุปปาทะ (ตัวเกิดคือสังขาร) เป็นญาณใน

สังขารุเบกขาญาณทั้งหลาย ปัญญาคือความใคร่จะปลดเปลื้อง ความ

พิจารณา (รู้) ความเพิกเฉยซึ่งปวัตตะ (ตัวหมุนไปคือสังขาร) ซึ่ง

นิมิตตะ (คือสังขาร) ฯลฯ ซึ่งอุปายา (คือสังขาร) เป็นญาณใน

สังขารุเบกขาทั้งหลาย ปัญญาคือความใคร่จะปลดเปลื้อง ความพิจารณา

(รู้) ความเพิกเฉย ว่าอุปปาทะเป็นทุกข์ ฯลฯ ว่าอุปปาทะเป็นภัย

ว่าอุปปาทะเป็นสามิส ฯลฯ ว่าอุปปาทะเป็นสังขาร ฯลฯ อุปายาส

เป็นสังขาร เป็นญาณในสังขารุเบกขาทั้งหลาย" * ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทสมาสว่า มุญฺจิตุกมฺยตาปฏิสงฺขาสนฺติฏฺฐนา

* ขุ. ป. ๓๑/๘๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 179

มีวิเคราะห์ (แยกศัพท์) ว่า มุญจิตุกมฺยตา และ ปฏิสงฺขา และ

สนฺติฏฺฐนา เพราะดังนี้ ความใคร่จะสละเสียซึ่งอุปปาทะเป็นต้น แห่ง

พระโยคาวจรผู้เบื่อหน่ายด้วยนิพพิทาญาณในตอนต้น ชื่อว่ามุญจิตุ-

กามตา ความพิจารณาในตอนกลางเพื่อทำอุบายแห่งการปลดเปลื้อง

ชื่อว่าปฏิสังขา ความที่ปลดเปลื้องได้แล้ววางเฉยอยู่ในตอนท้าย ชื่อวา

สันติฏฐนา ซึ่งท่านหมายถึง กล่าวไว้ว่า "อุปปาทะเป็นสังขาร ภิกษุ

เพ่งดูเฉยซึ่งสังขารเหล่านั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าสังขารุเบกขา "๑ ดังนี้เป็นต้น

ญาณนี้เป็นอันเดียวแท้ดังกล่าวมาฉะนี้ อนึ่ง พึงทราบว่าญาณนี้เป็น

อันเดียวแท้ตามพระบาลี (ดังต่อไป) นี้ก็ได้ แท้จริง คำนี้ท่านได้

กล่าวไว้ว่า "มุญจิตุกัมยตา (ญาณ) อันใดก็ดี ปฏิสังขานุปัสนา (ญาณ)

อันใดก็ดี สังขารุเบกขา (ญาณ) อันใดก็ดี ธรรม (คือญาณ) เหล่านี้

มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ"๒ ดังนี้

[วุฏฐานคามินีวิปัสนา]

วิปัสนาของกุลบุตรผู้นี้ ซึ่งมีสังขารุเบกขาญาณได้บรรลุแล้ว

อย่างนี้ ย่อมเป็น สิขาปฺปตฺต (ถึงยอด) เป็น วุฏฺฐานคามินี (ไปสู่

ความออก) คำว่า "สิขาปฺปตฺตวิปสฺสนา" ก็ดี คำว่า "วุฏฺฐานคามินี"

ก็ดี นั่นเป็นชื่อของญาณ ๓ มีสังขารุเบกขาญาณเป็นต้น (คือ สังขารุ-

เบกขาญาณ อนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ) นั่นเอง ก็วิปัสนานั้นชื่อ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๘๘

๒. ขุ. ป. ๓๑/๓๙๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 180

ว่า สิขาปฺปตฺต เพราะถึงยอดคือความสูงสุด (แห่งโลกิยญาณ) ชื่อว่า

วุฏฺฐานคามินี เพราะไปสู่ความออก มรรคชื่อว่า วุฏฐานะ เพราะ

ออกจากวัตถุที่ยึด อันเป็นนิมิต (คืออารมณ์) ในภายนอก และจาก

ปวัตตะ (คือสังขาร) ในภายในด้วย วิปัสนานี้ไปสุ่วุฏฐานะ คือมรรค

นั้น เหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า วุฏฐานคามินี หมายความว่า สืบต่อกับมรรค

[มาติกาแห่งวุฏฐานะ]

(ต่อไป) นี้ เป็นมาติกา เพื่อประโยชน์แก่ความแจ้งชัดแห่งการ

ออกจากความยึด ในคำที่กล่าวมาโดยสังเขปนั้น คือ

อชฺฌตฺตํ อภินิวิสิตฺวา อชฺฌตฺตา วุฏฺฐาติ ยึด (คือเริ่มตั้ง

วิปัสนา) ใน (สังขารทั้งหลาย) ภายในแล้ว ออกจาก (สังขารทั้งหลาย)

ในภายใน

พหิทฺธา อภินิวิสิตฺวา พหิทฺธา วุฏฐาติ ยึดใน...ภายใน

แล้วออกจาก...ในกายนอก

พหิทฺธา อภินิวิสิตฺวา อชฺฌตฺตา วุฏฐาติ ยึดใน...ภายนอก

แล้วออกจาก...ในภายนอก

พหิทฺธา อภินิวิสิตฺวา อชฺฌตฺตา วุฏฺฐาติ ยึดใน...ภายนอก

แล้วออกจาก...ในภายใน

รูเป อภินิวิสิตฺวา รูปา วุฏฺฐาติ ยึดในรูปแล้วออกจากรูป

รูเป อภินิวิสิตฺวา อรูปา วุฏฐาติ ยึดในรูปแล้วออกจากอรูป

(คือนาม)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 181

อรูเป อภินิวิสิตฺวา อรูปา วุฏฐาติ ยึดในอรูปแล้วออกจากอรูป

อรูเป อภินิวิสิตฺวา รูปา วุฏฐาติ ยึดในอรูปแล้วออกจากรูป

เอกปฺปหาเรน ปญฺจหิ ขนฺเธหิ วุฏฐาติ ออกจากขันธ์ทั้ง ๕

พร้อมกันทีเดียว

อนิจฺจโต อภินิวิสิตฺวา อนิจฺจโต วุฏฺฐาติ ยึดโดยความไม่เที่ยง

แล้วออกโดยความไม่เที่ยง

อนิจฺจโต อภินิวิสิตฺวา ทุกฺขโต...อนตฺตโต วุฏฺฐาติ ยึดโดย

ความไม่เที่ยงแล้วออกโดยความเป็นทุกข์ ... โดยความเป็นอนัตตา

ทุกฺขโต อภินิวิสิตฺวา ทุกฺขโต... อนิจฺจโต ... อนตฺตโต

วุฏฐาติ ยึดโดยความเป็นทุกข์แล้วออกโดยความเป็นทุกข์...โดยความ

ไม่เที่ยง...โดยความเป็นอนัตตา

อนตฺตโต อภินิวิสิตฺวา อนตฺตโต.. อนิจฺจโต...ทุกฺขโต

วุฏฐาติ ยึดโดยความเป็นอนัตตาแล้วออกโดยความเป็นอนัตตา...โดย

ความไม่เที่ยง...โดยความเป็นทุกข์

[อธิบายความแห่งมาติกา]

อรรถาธิบายแห่งมาติกานี้อย่างไร ? พระโยคาวจรลางรูปใน

พระศาสนานี้ ทีแรกยึด (คือเริ่มวิปัสนา) ในสังขารภายใน (ของตน)

ครั้นยึดแล้วก็ (พิจารณา) ดูสังขารภายในเหล่านั้นไป แต่เพราะว่า

มรรควุฏฐานะ (ความออกคือมรรค หรือความออกด้วยมรรค) จะได้

มีแต่ด้วย (พิจารณา) ดูสังขารภายในล้วน ๆ เพียงเท่านั้นหามิได้ ต้อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 182

(พิจารณา) ดูสังขารภายนอกด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระโยคา-

วจรนั้น จึงเห็นขันธ์ของผู้อื่นก็ดี อนุปานิทกสังขารทั้งหลายก็ดี ว่า

ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วย เธอย่อมพิจารณา (สังขาร) ใน

ภายในตามกาล พิจารณา (สังขาร) ในภายนอกตามกาล เมื่อเธอ

พิจารณาไปอย่างนั้น วิปัสนา (ดำเนินไป) ต่อกับมรรคเข้าในกาลที่

พิจารณา (สังขาร) ภายใน เธอผู้นี้ชื่อว่า ยึดใน...ภายในแล้วออก

จาก... ในภายใน แต่ถ้าวิปัสนา (ดำเนินไป) ต่อกับมรรคในกาลที่

เธอพิจารณา (สังขาร) ในภายนอกไซร้ เธอผู้นี้ชื่อว่า ยึดใน...ภายใน

แล้วออกจาก...ในภายนอก แม้ในการยึดภายนอกแล้วออกจากภาย-

นอกและภายใน ก็นัยนี้

พระโยคาวจรอีกผู้หนึ่ง ทีแรกยึด (กำหนด) ในรูป ครั้นยึดแล้ว

ก็ (พิจารณา) ดูโดยทำภูตรูปและอุปทายรูปให้เป็นกองเดียว (คือรวม

รูปทั้ง ๒ อย่างเข้าด้วยกัน กำหนดแต่ว่ารูป) แต่เพราะว่าวุฏฐานะจะ

ได้มี แต่ด้วย (พิจารณา) ดูรูปล้วน ๆ เพียงเท่านั้นหามิได้ ต้อง

(พิจารณา) ดูอรูป (คือนาม) ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระ-

โยคาวจรนั้น ทำรูปนั้นให้เป็นอารมณ์แล้วจึงเห็นอรูป คือเวทนา

สัญญา สังขาร และวิญญาณที่เกิดขึ้น ว่านี่เป็นอรูป เธอย่อมพิจารณา

รูปตามกาล พิจารณาอรูปตามกาล เมื่อเธอพิจารณาไปอย่างนั้น วิปัสนา

(ดำเนินไป) ต่อกับมรรคเข้าในกาลที่เธอพิจารณารูป เธอผู้นี้ชื่อว่า

ยึดในรูปแล้วออกจากรูป แต่ถ้าวิปัสนา (ดำเนินไป) ต่อกับมรรคใน

กาลที่เธอพิจารณาอรูปไร้ เธอผู้นี้ชื่อว่า ยึดในรูปแล้วออกจากอรูป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 183

แม้ในการยึดในอรูปแล้วออกจากอรูปและจากรูป ก็นัยนี้ ส่วนในกาล

ที่ยึดโดยกำหนดว่า "ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ-

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ย่อมมีความดับ

เป็นธรรมดา " ดังนี้ แล้วออกกโดยข้อกำหนดอย่างเดียวกันนั้น ชื่อว่า

ออกจากขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมกันทีเดียว

พระโยคาวจรผู้หนึ่ง ทีแรก พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความ

ไม่เที่ยง แต่เพราะวุฏฐานะจะได้มี แต่ด้วยพิจารณาโดยความไม่เที่ยง

เพียงเท่านั้นหามิได้ ต้องพิจารณาแม้โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็น

อนัตตาด้วยแม้ เพราะฉะนั้น เธอจึงพิจารณาโดยความเป็นทุกข์บ้าง

โดยความเป็นอนัตตาบ้าง เมื่อเธอปฏิบัติไปอย่างนั้น วุฏฐานะมีขึ้น

ในกาลที่พิจารณาโดยความไม่เที่ยง เธอผู้นี้ชื่อว่า ยึดโดยความไม่เที่ยง

แล้วออกโดยความไม่เที่ยง แต่ถ้าวุฏฐานมีขึ้นในกาลที่เธอพิจารณา

โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตาไซร้ เธอผู้นี้ชื่อว่า ยึดโดย

ความไม่เที่ยงแล้ว ออกโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

แม้ในการยึดความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตาแล้ว ออกโดย

ลักษณะที่เหลือ ก็นัยนี้

ก็แลในชนผู้ออกจากความยึดเหล่านี้ ชนผู้ที่ยึดโดยความไม่เที่ยง

ก็ดี ผู้ที่ยึดโดยความเป็นทุกข์ก็ดี ผู้ที่ยึดโดยความเป็นอนัตตาก็ดี แต่

ในเวลาที่ออก วุฏฐานะมีขึ้นโดยความไม่เที่ยง ชนทั้ง ๓ (นี้) เป็น

ผู้มากด้วยอธิโมกข์ ได้สัทธินทรีย์ หลุดพ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ย่อม

เป็นสัทธานุสารีในขณะแห่งปฐมมรรค เป็นสัทธาวิมุตใน ๗ สถาน แต่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 184

ถ้าวุฏฐานะมีขึ้นโดยความเป็นทุกข์ไซร้ ชนทั้ง ๓ (นั้น) ก็เป็นผู้มาก

ด้วยปัสสัทธิ ได้สมาธินทรีย์ หลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ย่อมเป็น

กายสักขิในทุกสถาน แต่ว่าในชนเหล่านั้น ผู้ใดมีอรูปฌานเป็นบาท

ผู้นั้นย่อมเป็นอุภโตภาควิมุตโนอัครผล ทีนี้ วุฏฐานะ โดยความ

เป็นอนัตตา มีขึ้นแก่ชนทั้ง ๓ นั้น ชนทั้ง ๓ ก็เป็นผู้มากด้วยเวท

(คือความรู้) ได้ปัญญินทรีย์ หลุดพ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ ย่อมเป็น

ธัมมานุสารีในขณะแห่งปฐมมรรค เป็นทิฏฐิปัตตะ ใน ๖ สถาน เป็น

ปัญญาวิมุตในอัครผล แล

[อุปมาแห่งวุฏฐานคามินีวิปัสนา ๑๒]

บัดนี้ พึงทราบอุปมา ๑๒ ข้อ เพื่อความชัดแจ้งแห่งวุฏฐานคามินี-

วิปัสนานี้ พร้อมทั้งญาณก่อน (มีภยตุปัฏฐานญาณเป็นต้น) และ

ญาณหลัง (มีโคตรภูญาณเป็นต้น) นี่เป็นอุททาน (หัวข้อเรื่อง) แห่ง

อุปมาทั้งหลายนั้น คือ

ค้างคาว และงูเห่า เรือน โค

ยักษี ทารก ความหิว ความระหาย

หนาว ร้อน ความมืด และเป็น ๑๒ ทั้งยาพิษ

อุปมาเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ (ในวิสุทธิกถา) ว่า "ตั้งอยู่ในญาณใด

ญาณหนึ่ง ตั้งแต่ภยตุปัฏฐานญาณมา จะนำมา (กล่าว) ก็ควร แต่

เมื่อนำมา (กล่าว) ในที่นี้ ญาณทั้งปวง แต่ภยตุปัฏฐานญาณจนถึง

ผลญาณ ย่อมเป็นอันปรากฏ (แจ้งชัดหมด) เพราะฉะนั้น จึงควร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 185

นำมา (กล่าว) ในที่นี้เสียทีเดียว"

[ค้างคาว]

อุปมาข้อว่า ค้างคาว ต่างว่าค้างคาวตัวหนึ่งคิดว่า จักได้ดอก

หรือผลที่ไม้ต้นนี้ จึงเกาะที่ต้นมะซาง มีกิ่ง ๕ กิ่ง แล้วคลำดูทั่ว*กิ่งหนึ่ง

ไม่ได้พบสิ่งที่พอจะถือเอา จะเป็นดอกหรือผลก็ตามสักอย่าง ที่กิ่งนั้น

และคลำกิ่งหนึ่งแล้วไม่ได้พบ (สิ่งที่พอจะถือเอา) ฉันใด คลำกิ่งที่ ๒

กิ่งที่ ๓ กิ่งที่ ๔ แม้กิ่งที่ ๕ แล้วก็ไม่ได้พบฉันนั้น มันจึงรำพึงว่า

ไม้ต้นนี้ ไม่มีผลหนอ สิ่งที่พอจะถือเอาได้สักกิ่ง ที่ไม้ต้นนี้ไม่มีเลย

จึงทอดอาลัยในไม้ต้นนั้น ไต่ขึ้นตามกิ่งตรง โผล่หัวออก (ช่องว่าง)

ระหว่างค่าคบ แหงนดูเบื้องบน บินขึ้นในอากาศไปเกาะที่ไม้มีผลต้นอื่น

[ประเทียบความ]

ในข้ออุปมานั้น พระโยคาวจร บัณฑิตพึงเห็นดังค้างคาว

อุปาทานขันธ์ ๕ ดังต้นมะซางมีกิ่ง ๕ กิ่ง ความยืด (คือเริ่มตั้ง

วิปัสนา) ในขันธ์ ๕ แห่งพระโยคี ดังการเกาะที่ต้นมะซางนั้น แห่ง

ค้างคาว การพิจารณารูปขันธ์แล้วไม่พบสิ่งที่ควรจะถือเอาสักอย่างใน

รูปขันธ์นั้น จึงพิจารณาในขันธ์ที่เหลือ (ต่อไป) แห่งพระโยคี ดังการ

* ปาฐะพิมพ์ไว้ว่า ปริมสิตฺวา แต่ฉบับพม่าเป็น ปรามสิตฺวา ส่วนปาฐะมหาฎีกาเป็น

ปริมัสิตฺวา แล้วแก้ว่า วีมํสิตฺวา หากเป็นอย่างนี้ จะต้องแปลว่า ตรวจดู ก็คงได้ความเหมือนกัน

แต่อาจเป็นว่าท่านใช้ ปริมสิตวา ก็เพื่อเลียนศัพท์ สมฺนสิตฺวา ในฝ่ายอุปไมยกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 186

คลำดูทั่วกิ่งหนึ่ง*แล้วไม่พบสิ่งที่พอจะถือเอาสักอย่าง จึงคลำดูกิ่งที่เหลือ

(ต่อไป) แห่งค้างคาวนั้น ญาณ ๓ มีมุญจิตุกัมยตาญารเป็นต้น แห่ง

พระโยคีผู้เบื่อหน่ายในขันธ์ทั้ง ๕ ด้วยอำนาจความเห็นโดยไตรลักษณ์

มีอนิจจลักษณะเป็นอาทิ ดังการรำพึงว่า ไม้ต้นนี้ไม่มีผลหนอ แล้ว

ทอดอาลัยในต้นไม้แห่งค้างคาวนั้น อนุโลมญาณแห่งพระโยคี ดังการ

ไต่ขึ้นเบื้องสูงตามกิ่งตรง แห่งค้างคาวนั้น โคตรภุญาณ ดังโผล่หัว

ออกแหงนดูเบื้องบน มรรคญาณ ดังบินขึ้นในอากาศ ผลญาณ

ดังการ (ไป) เกาะที่ไม้มีผลต้นอื่น

[งูเห่า]

ข้ออุปมาด้วยงูเห่า กล่าวมาแล้วใน (ตอน) ปฏิสังขาญาณ แต่

ในการประเทียบความอุปมา ในที่นี้มีแปลกไป (ดัง) นี้ โคตรภูญาณ

อุปมาดังการสลัดงูไป มรรคญาณ ดังการหยุดยืนอยู่แห่งบุรุษผู้ปลด

เปลื้อง (งู) แล้วมองดูทางที่ (ปีนตลิ่งขึ้น) มาอยู่ ผลญาณ ดังการ

ไปยั้งอยู่ในที่มีภัย

[เรือน]

ข้ออุปมาว่า เรือน ต่างว่าเมื่อเจ้าของเรือนกินอาหารเย็นแล้ว

ขึ้นที่นอนหลับไป เรือนถูกไฟไหม้ขึ้น เขาตื่นขึ้นเห็นไฟก็กลัว คิดว่า

"จะเป็นการดี ถ้าเรายังไม่ถูกไฟไหม้เอา ออกไปเสีย (ก่อน) " มอง

(หาทางออก) อยู่ พอเห็นทางแล้วก็ออกไปสู่ที่ปลอดภัยโดยเร็ว แล้ว

จึงหยุดอยู่

* ปาฐะเป็น เอเกกํ คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น เอกํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 187

[ประเทียบความ]

ในข้ออุปมานั้น การยึดถือในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

แห่งบุถุชนผู้โง่เขลา ดังการกินอาหารแล้วขึ้นที่นอนหลับไปแห่งเจ้าของ

เรือน การดำเนินสัมมาปฏิปทาจนเห็นไตรลักษณ์แล้วหยั่งรู้สังขาร

ปรากฏเป็นของน่ากลัว (คือเกิดภยตุปัฏฐานญาณ) ดังการที่เจ้าของ

เรือนตื่นขึ้นเห็นไฟแล้วกลัว มุญจิตุกัมยตาญาณ ดังการมองหาทางออก

อนุโลมญาณ ดังการเห็นทาง โคตรภูญาณ ดังการออกไป มรรคญาณ

ดังการไปโดยเร็ว ผลญาณ ดังการหยุดอยู่ในที่อันปลอดภัย

[โค]

ข้ออุปมาว่าโค ต่างว่า เมื่อชาวนาผู้หนึ่งหลับอยู่ในตอนกลางคืน

โคทั้งหลายแหกคอกหนีไป ตอนเช้ามืดเขาไปดูที่คอกนั้น รู้ความที่

โคเหล่านั้นหนีไป ก็ตามรอยไป ได้พบฝูงโคของเหลวเข้า หมายว่า

โคเหล่านั้นเป็นโคของตัว ก็ (ต้อน) นำมา เวลาสว่างขึ้น จำได้ว่า

มันไม่ใช่โคของตัว เป็นโคของหลวง จึงคิดว่าจะต้องหนีไปเสียก่อน

ที่พวกราชบุรุษจะจับ โดยหาว่าเป็นโจรแล้ว (ลงโทษ) ให้ถึงความ

ฉิบหายป่นปี้ (คิดแล้วเกิดความ) กลัว ทิ้งฝูงโครีบหนีไป ยั้งอยู่ในที่

ไม่มีภัย

[ประเทียบความ]

ในข้ออุปมานั้น การยึดถือขันธ์ทั้งหลาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

แห่งบุถุชนผู้โง่เขลา เป็นดังการยึดเอาโคหลวงว่าเป็นโคของตน การ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 188

รู้จักขันธ์ทั้งหลายว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยอำนาจ

ไตรลักษณ์แห่งพระโยคี ดังการจำได้ว่าเป็นโคหลวงต่อสว่างขึ้น ภยตุ-

ปัฏฐานญาณ ดังเวลาที่ (เกิดความ) กลัวขึ้น มุญจิตุกัมยตา

ดังความที่อยากจะทิ้ง (โคหลวง) ไป โคตรภู ดังการทิ้ง (โคหลวง)

มรรค ดังการหนี ผล ดังการหนีไปยั้งอยู่ในที่ไม่มีภัย

[ยักษี]

อุปมาข้อว่า ยักษี ต่างว่าบุรุษผู้หนึ่งสำเร็จความอยู่ร่วมกับยักษิณี

ตอนกลางคืน (คือดึก) นางยักษ์นั้นรู้ว่าเขาหลับแล้ว ก็ไปป่าช้าผีดิบ

(คือป่าช้าที่เขานำศพไปทิ้ง ๆ ไว้ ไม่ฝั่งไม่เผา) กินเนื้อมนุษย์ เขา

(รู้สึกตัวขึ้นไม่เห็นนางยักษ์ แคลงใจว่ามันไปไหน จึงตามหาก็พบ

มันกำลังกินเนื้อมนุษย์ รู้ความที่มันเป็นนางอมนุษย์แล้ว จึงคิดว่าจะ

ต้องหนีไปเสียก่อนที่มันจะกินตัว (คิดแล้วเกิดความ) กลัว รีบหนีไป

ยั้งอยู่ในที่ปลอดภัย

[ประเทียบความ]

ในอุปมานั้น กายยึดถือขันธ์ทั้งหลาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

เป็นดังการอยู่ร่วมกับนางยักษ์ การเห็นไตรลักษณ์แล้วรู้ความที่ขันธ์

ทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ดังการเห็น (นางแปลง) กำลังกิน

เนื้อมนุษย์อยู่ในป่าช้า แล้วรู้ว่ามันเป็นนางยักษ์ ภยตุปัฏฐาน ดัง

การที่ (เกิด) กลัวขึ้น มุญจิตุกัมยตา ดังความอยากจะหนี โคตรภู

ดังการทิ้งป่าช้า มรรค ดังรีบหนีไป ผล ดังการยั้งอยู่ในที่ไม่มีภัย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 189

[ทารก]

อุปมาข้อว่า ทารก ต่างว่าหญิงผู้หนึ่งเป็นคนตะกลามลูก หญิง

นั้นนงอยู่บนปราสาทชั้นบน ได้ยินเสียงทารก (ร้อง) ที่กลางถนน

คิดเอาลูกของตัวถูกใคร ๆ รังแก ผลุนผลัน (ลงจากปราสาท) ไป

คว้าเอาลูกคนอื่นเข้าด้วยสำคัญว่าลูกของตัว (มาอุ้มไว้) พอจำได้ว่า

มันเป็นลูกคนอื่น หล่อนก็สะดุ้งกลัว (ความผิด) มองข้างโน้นข้างนี้

คิดว่าใคร ๆ อย่ามากล่าวหาฉัน ว่าเป็นคนลักเด็กเลย (คิดแล้วก็)

วางเด็กลงที่กลางถนนนั้นแหละ รีบขึ้นปราสาทแล้วนั่งลงอีก

[ประเทียบความ]

ในข้ออุปมานั้น การยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา

เป็นดังการคว้าเอาลูกคนอื่น ด้วยสำคัญว่าเป็นลูกของตัว การรู้จักว่า

ขันธ์ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ด้วยอำนาจไตรลักษณ์ ดังการจำได้ว่า

นี้เป็นลูกคนอื่น ภายตุปัฏฐานญาณ ดังความสะดุ้งกลัว (ความผิด)

มุญจิตุกัมยตาญาณ ดังการมองดูข้างโน้นข้างนี้ อนุโลมญาณ ดังการ

วางเด็กลงที่กลางถนนนั้นแหละ โคตรภูญาณ ดังการที่วางลงแล้ว

ยังยืนอยู่กลางถนน มรรคญาณ ดัง (กลับ) ขึ้นปราสาท ผลญาณ

ดังขึ้นไปแล้วนั่งลง*

* อุปมาข้อนี้อย่างไรอยู่ เพราะที่นั่งอยู่เดิม กับที่หนีขึ้นไปนั่น เป็นที่เดียวกัน ถ้าเล่าเสียว่า

เดิมนั่งอยู่ข้างริมถนน เกิดเรื่องแล้วหนีขึ้นไปอยู่เสียชั้นบนปลอดภัยไป ก็จะพอฟังได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 190

[หิว ระกาย หนาว ร้อน มืด ยาพิษ]

ส่วนอุปมา ๖ ข้อนี้ คือ หิว ระหาย เย็น ร้อน มืด กับยาพิษ

ท่านกล่าวเพื่อแสดงความที่ผู้ตั้งอยู่ในวุฏฐานคามินีวิปัสนาแล้วเป็นผู้

น้อมโน้มโอนเอียงมุ่งหน้าไปสู่โลกุตรธรรม

จริงอยู่ คนที่ถูกความหิวครอบงำแล้วเป็นผู้หิวจัด ย่อมปรารถนา

โภชนะที่มีรสดี ฉันใด พระโยคาวจรผู้ถูกความหิวคือสังสารวัฏกระทบ

เอาแล้วนี้ ก็ย่อมปรารภนาโภชนะคือกายคตาสติ อันมีรสเป็นอมตะ

ฉันนั้นเหมือนกัน*

อนึ่ง คนที่ระหายแล้วมีคอและปากแห้งมาก ย่อมปรารถนาปานะ

ที่มีเครื่องปรุงหลายอย่าง ฉันใด พระโยคาวจรผู้ถูกความระหายคือ

สังสารวัฏกระทบเอาแล้วนี้ ก็ย่อมปรารถนาปานะคืออัฏฐังคิกมรรค

อันเป็นอริยะ ฉันนั้นเหมือนกัน

อนึ่ง คนที่ถูกความหนาวกระทบเอาแล้ว ย่อมปรารถนาความร้อน

(คืออบอุ่น) ฉันใด พระโยคาวจรผู้ถูกความหนาวเย็นคือตัณหาสิเนหะ

(น้ำมันคือตัณหา) ในสังสารวัฏกระทบเอาแล้วนี้ ก็ย่อมปรารถนาไฟ

คือมรรคอันเผากิเลสได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

อนึ่ง คนที่ถูกความร้อนกระทบเอาแล้ว ย่อมปรารถนาความเย็น

/ * มหาฎีกาอธิบายว่า ทุกข์หิวนั้นมันคล้ายวัฏทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้ว ๆ เล่า ๆ ติดตามแล้ว

เท่านาน และยากที่จะทนด้วย

กายคตาสตินี้ ท่านว่าหมายเอาสัมมาสติอันสัมปยุตกับมรรค โดยความก็คือสติปัฏฐาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 191

ฉันใด พระโยคาวจรผู้ถูกความร้อนแห่งไฟ ๑๑ กอง* ในสังสารวัฏ

ลนเอาแล้วนี้ ก็ย่อมปรารถนาพระนิพพานอันเป็นที่เข้าไประงับแห่งไฟ

๑๑ กอง ฉันนั้นเหมือนกัน

อนึ่ง คนที่ถูกความมืดครอบคลุมแล้ว ย่อมปรารถนาแสงสว่าง

ฉันใด พระโยคาวจรผู้ถูกความมืดคืออวิชชาปกคลุมหุ้มห่อแล้วนี้ ก็

ย่อมปรารถนามรรคภาวนาอันมีแสงสว่างสำเร็จด้วยญาณ ฉันนั้นเหมือน

กัน

อนึ่ง คนที่ถูกยาพิษเข้าแล้ว ย่อมปรารถนายากำจัดพิษ ฉันใด

พระโยคาวจรผู้ถูกพิษคือกิเลสเข้าแล้วนี้ ก็ย่อมปรารถนาพระนิพพาน

อันเป็นโอสถอมฤตทำลายพิษกิเลสได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ (ตอนสังขารุเบกขาญาณเกิด)

ว่า "เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนั้นเห็นอยู่อย่างนั้น จิตย่อมถอย ย่อมหด ย่อมกลับ

ไม่เหยียดยื่นไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิ๖ ๗ สัตตาวาส ๙

อุเบกขา (ความวางเฉยในสังขารทั้งหลาย) หรือปาฏิกุลยตา (ความ

น่าเกลียดแห่งสังขารทั้งหลาย) ย่อมตั้งมั่น เปรียบเหมือนหยาดน้ำ

ทั้งหลาย (อันตกลง) ในใบปทุมที่เอียงหน่อยหนึ่ง " ดังนี้เป็นต้น คำ

ทั้งปวงพึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาก่อนแล้วนั่นเถิด

[ผู้ได้สังขารุเบกขาญาณ ได้ชื่อว่า ปฏิลีนจร]

ก็แลด้วยปฏิปทาเท่านี้ พระโยคาวจรนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็น

* ไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ โทสะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส

อุปายาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 192

ปฏิลีนจร๑ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึง ตรัสไว้ว่า

ปฏิลีนจรสฺส ภิกฺขุโน

ภชมานสฺส วิวิตฺตมาสนํ

สามคฺคิยมาหุ ตสฺส ตํ

โย อตฺตานํ ภวเน น ทสฺสเย๒

หากภิกษุใด ไม่แสดงตนในภพน์ (คือ

ที่อยู่) พระอริยะทั้งหลาย กล่าวความ

ไม่แสดงตนนั้น แห่งภิกษุนั้น ผู้เป็น

ปฏิลีนจร เสพแต่อาสนะอันสงัด ว่า

เป็นสมมัคคิยะ (ความดำเนินชอบ)๓

๑. ปฏิลีนจร มหาฏีกาแปลว่า ผู้เที่ยวไปโดยความเป็นผู้หลีกลี้ เอาความไม่แสดงตน...ดังกล่าว

ในคาถาต่อไป

๒. ขุ. สุ. ๒๕/๔๙๔

๓. สามัคคิยะ น่าจะไม่ใช่อันเดียวกับสามัคคี (ที่แปลว่าความพร้อมเพรียงกัน) เพราะปฏิปทา

ของท่านที่กล่าวนี้มิได้เป็นไปในทางชอบสมาคม จึงเข้าใจว่าจะเป็นศัพท์สำเร็จรูปมาแต่ สมฺมคฺคต

ที่แปลว่า ผู้ดำเนินชอบแล้ว อันมักมาคู่กับ สมฺมาปฏิปนฺน (เช่น เย เต สมณพฺราหฺมณา

สมฺมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา) แต่เมื่อมาแต่ศัพท์นี้รูปก็น่าจะเป็น สมฺมคฺคิย โดยวิเคราะห์ว่า

สมฺมา คโต ปฏิปนฺโนติ สมฺมคฺคโต ตสฺส ภาโว สมฺมคฺคิยํ) ทำไมจึงเป็น สามคคิย ไป

ขอฝากไว้พิจารณากันต่อไป

อีกศัพท์หนึ่ง ภวน ที่แปลทับศัพท์ไว้ว่า ภพน์ มหาฏีกาว่า หมายเอาทั้ง ๓ ศัพท์นี้

โดยมากใช้ในที่หมายถึงที่อยู่อาศัย เช่น ยกฺขภวเน-ในที่อยู่ของยักษ์ ตาวตึสภวเน-ในที่อยู่ของ

เทวดาดาวดึงส์ ถึง ภวเน ในคาถานี้ ก็เข้าใจว่า หมายอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะมีคำ "เสพแต่

อาสนะอันสงัด" แสดงให้เห็นความอยู่ชัด ๆ ถือเอาความได้ว่า ภิกษุปฏิลีนจร ท่านหลีกลี้อยู่

แต่ในที่สงัด ไม่แสดงตน คือไม่เปิดเผยตนในที่อยู่ ว่าฉันอยู่ที่นี่จ๊ะ ใครจะมาหาก็เชิญ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 193

[สังขารุกเบปญาณกำหนดความแปลกกันแห่งโพชฌงค์เป็นต้น]

สังขารุเบกขาญาณ กำหนดความเป็นปฏิลีนจรแห่งพระโยคี ดัง

กล่าวนี้แล้ว ยังกำหนดความแปลกกันแห่งโพชฌงค์ ความแปลกกัน

แห่งองค์มรรค ความแปลกกันแห่งองค์ฌาน ความแปลกกันแห่ง

ปฏิปทา ความแปลกกันแห่งวิโมกข์ แม้แห่งอริยมรรคต่อไปอีกด้วย*

แต่พระเถระลางเหล่ากล่าวว่า "ปาทกฌาน (คือฌานที่เป็นบท

แห่งวุฏฐานคามินีวิปัสนา อันดำเนินไปใกล้ต่อมรรค) กำหนดความ

แปลกแห่งโพชฌงค์ แห่งองค์มรรค และแห่งองค์ฌาน" ลางเหล่า

กล่าวว่า "ขันธ์ที่เป็นอารมณ์แห่งวิปัสนากำหนด (ความแปลกนั้น)"

ลางเหล่าก็กล่าวว่า "อัชฌาสัยของบุคคล (ผู้บำเพ็ญวิปัสนา) กำหนด"

ในวาทะขอพระเถระทั้ง ๓ เหล่านั้น ก็พึงทราบเถิดว่า วุฏฐานคามินี-

วิปัสนาอันเป็นบุพภาคนี่เอง กำหนด (ความแปลกนั่น) ทั้งนั้น

(ต่อไป) นี้ เป็นอนุปุพพิกถา (ว่าตามลำดับ) ในการกำหนดความ

แปลกแห่งโพชฌงค์เป็นต้นนั้น

ว่าโดยการกำหนดแห่งวิปัสนา มรรคที่เกิดขึ้นแก่พรสุกขวิปัสสก

ก็ดี มรรคที่มิได้ทำฌานให้เป็นบาทเกิดขึ้นแก่พระสมาบัติลาภี (ผู้ได้

สมาบัติ) ก็ดี มรรคที่ท่านผู้บำเพ็ญวิปัสนาทำปฐมฌานให้เป็นบาทแล้ว

พิจารณาปกิณกสังขาร (คือสังสารอื่น ๆ นอกจากตัวฌานที่เป็นบาท)

ให้เกิดขึ้นก็ดี ก็เป็นปฐมฌานิก (มีปฐมฌาน) อยู่นั่นแหละ โพชฌงค์

ก็มี (ครบ) ๗ องค์ มรรค (คอบ) ๘ องค์ ฌาน (ครบ) ๕ ในทุก

* ความแปลกกันอย่างไรมีอธิบายต่อไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 194

มรรค แม้บุพภาควิปัสนาแห่งมรรคเหล่านั้นเล่า จะเป็นโสมนัสสหรคต

บ้าง อุเบกขาสหคตบ้าง (แต่) ในกาลแห่งวุฏฐานะ ถึงความเป็น

สังขารุเบกขาแล้ว ก็เป็นโสมนัสสหรคต

ในมรรคทั้งหลายที่ผู้บำเพ็ญวิปัสนาทำทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถ-

ฌาน ในปัญจกนัย ให้เป็นบาทแล้วทำให้เกิดขึ้น ฌานย่อมมีองค์ ๔

องค์ ๓ และองค์ ๒ ตามลำดับแท้ ส่วนองค์มรรคมี ๗ ในทุกมรรค

โพชฌงค์มี ๖ ในมรรคที่ ๔ ความแปลกกัน (ในตอน) นี้ ย่อม

มีทั้งโดยการกำหนดแห่งปาทกฌาน ทั้งโดยการกำหนดแห่งวิปัสนา

บุพภาควิปัสนาแม้แห่งมรรค (ที่ทำทุติยตติยจตุตถฌานให้เป็นบาทเกิด

ขึ้น) เหล่านั้นเล่า ก็เป็นโสมนัสสหรคตก็มี เป็นอุเบกขาสหรคตก็มี

(แต่) วุฏฐานคามินีวิปัสนาคงเป็นโสมนัสสหรคตเหมือนกัน

ส่วนในมรรคที่เกิดขึ้นโดยทำปัญจกฌานให้เป็นบาท องค์ฌาน

มี ๒ โดยเป็นอุเบกขาและจิตเตกัคตา โพชฌงค์และองค์มรรคมี ๖

และ ๗ แม้ความแปลกกัน (ในข้อ) นี้ ก็มีด้วยอำนาจนิยมทั้ง ๒

(คือทั้งปาทกฌานและวิปัสนา) แต่ในนัยนั้น บุพภาควิปัสนาเป็น

โสมนัสสหรคตหรือเป็นอุเบกขาสหรคตบ้าง (แต่) วุฏฐานคามินีวิปัสนา

เป็นอุเบกขาสหรคตเท่านั้น

แม้ในมรรคที่ผู้บำเพ็ญวิปัสนาทำอรูปฌานทั้งหลายให้เป็นบาทแล้ว

ทำให้เกิดขึ้น ก็นัยนี้นี่แล

สมาบัติซึ่งออกในที่ใกล้แห่งมรรคที่เกิดขึ้นโดยออกจากปาทกฌาน

แล้วพิจารณาสังขารอย่างใดอย่างหนึ่งดังนั้น ย่อมทำความที่มรรคนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 195

คล้ายตน ดุจสีแผ่นดินทำความที่สีของเหี้ยคล้ายสีของตน ฉะนั้น

ส่วนในเถรวาทะที่ ๒ (พึงทราบว่า) เป็นมรรคที่เกิดขึ้นโดยออก

จากสมาบัติใด ๆ แล้วพิจารณาสมาบัติธรรมทั้งหลายใด ๆ ก็ย่อมคล้าย

กับสมาบัตินั้น ๆ แหละ หมายความว่า คล้ายกับสมาบัติธรรมที่ผู้บำเพ็ญ

วิปัสนาพิจารณา แต่ถ้าพิจารณากามาวจรธรรมทั้งหลาย ก็เป็นปฐม-

ฌานิกะเท่านั้น ก็แล ความกำหนด (ความแปลกกันขององค์ฌาน

เป็นต้น) แห่งวิปัสนา แม้ในเถรวาทะที่ ๒ นั้น ก็พึงทราบโดยนับ

ที่กล่าวแล้วนั่นเถิด

ส่วนในเถรวาทะที่ ๓ (พึงทราบ) เป็นมรรคที่เกิดขึ้นโดยทำ

ฌานใด ๆ ให้เป็นบาท แล้วพิจารณาฌานธรรมใด ๆ ตามควรแก่

อัชฌาสัยของตน ๆ ก็ย่อมคล้ายกับฌานนั้น ๆ แหละ แต่ว่าความที่

มรรคที่เกิดขึ้นคล้ายกับฌานนั้น ๆ นั้น เว้นฌานที่เป็นบาทหรือฌานที่

พิจารณาเสีย หาสำเร็จด้วยเพียงแต่อัชฌาสัย (ของตน) อย่างเดียวได้ไม่

ความข้อนี้นั้น พึงชี้แจงด้วยนันทโกวาทกสูร (เรื่องพระนันทกะให้

โอวาทภิกษุณี)

จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำ (ต่อไป) นี้ไว้ (ใน

สูตรนั้น) ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนว่าในวันอุโบสถ (ขึ้น)

๑๕ ค่ำ ความสงสัยหรือความเคลือบแคลงว่า "ดวงจันทร์แหว่งหรือ

เต็มหนอ" หามีแก่ชนหมู่มากไม่ ที่แท้ย่อมมีความเปลงใจว่า "ดวง

จันทร์เต็ม" ด้วยกันทั้งนั้น ฉันใดก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่า

นั้น ก็เป็นผู้ยินดี และมีความคิด (มุ่งหมาย) อันเต็มเปี่ยมด้วยธรรม-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 196

เทศนาของนันทกะฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณี

ประมาณ ๕๐๐ รูปนั้น ภิกษุณีรูปที่มีคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน

มีอันไม่ตก (อบาย) เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนต่อความตรัสรู้"

ดังนี้

ก็ในภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีรูปใดมีอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผล

ภิกษุณีรูปนั้น ก็ได้เป็นผู้มีความคิด (มุ่งหมาย) เต็มเปี่ยมด้วยโสดา-

ปัตติผลนั่นเอง รูปใดมีอุปนิสัยแห่งสกทาคามิผล...อนาคามิผล... ฯลฯ

มีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล รูปนั้นก็ได้เป็นผู้มีความคิด (มุ่งหมาย) เต็ม

เปี่ยมด้วยอรหัตผลนั่นเอง

มรรคที่ผู้บำเพ็ญวิปัสนาทำฌานใด ๆ ให้เป็นบาทแล้ว พิจารณา

ฌานธรรมใด ๆ ให้เกิดขึ้นตามควรแก่อัชฌาสัยของตน ๆ ก็ย่อมคล้าย

กับฌานนั้น ๆ แหละ แต่ว่าความที่มรรคที่เกิดขึ้นคล้ายกับฌานนั้น ๆ นั้น

เว้นฌานที่เป็นบาท หรือฌานที่พิจารณาเสีย หาสำเร็จด้วยเพียงแต่

อัชฌาสัย (ของตน) อย่างเดียวได้ไม่ ดังกล่าวมาฉะนี้แล ก็แลความ

กำหนด (ความแปลกกันขององค์ฌานเป็นต้น) แห่งวิปัสนา แม้ใน

เถรวาทะที่ ๓ นี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน

พึงทราบว่าสังขารุเบกขา ย่อมกำหนด (ความแปลกกันแห่ง

โพชฌงค์ องค์มรรค และองค์ฌาน ดังกล่าวมาฉะนี้เป็นอันดับแรก

[สังขารุเบกขาญาณกำหนดความแปลกกันแห่งปฏิปทา]

ก็ถ้าว่า สังขารุเบกขานี้ ทีแรกเมื่อข่มกิเลส ข่มได้โดยยาก ต้อง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 197

ใช่ประโยค (คืออุตสาหะ) ใช้สังขาร (คือความพยายาม) ไซร้ ย่อม

ได้ชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา (ปฏิบัติลำบาก) โดยวิปริยาย (คือทางตรง

กันข้าม) ก็ชื่อ สุขาปฏิปทา (ปฏิบัติสะดวก) แต่ครั้นข่มกิเลสได้แล้ว

ค่อยๆ ทำการข่มวิปัสนาไปให้มรรคปรากฏ ชื่อว่า ทันธาภิญญา

(รู้ได้ช้า) โดยวิปริยาย ก็ชื่อว่า ขิปปาภิญญา (รู้ได้เร็ว) สังขารุเบกขานี้

ตั้งอยู่ในอาคมนียฐาน (ที่เป็นแดนมา-เป็นแดนเกิด) ให้นามแก่มรรค

ของตน ๆ ดังนี้ มรรคจึงได้นาม ๔ อย่างตามนามนั้น

ก็แล ปฏิปทานี้นั้น ย่อมมีต่าง ๆ กันแก่ภิกษุลางรูป สำหรับ

ภิกษุลางรูปมีปฏิปาทเดียวในมรรคทั้ง ๔ ส่วนมรรคทั้ง ๓ ของพระ-

พุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นสุขาปฏิปทาขิปภิญญาทั้งนั้น ของพระธรรม-

เสนาบดีก็เช่นนั้น แต่สำหรับพระมหาโมคคลัลานเถระ ปฐมมรรค

เป็นสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา มรรค ๓ เบื้องบนเป็นทุกขาปฏิปทา-

ทันธาภิญญา๑ อนึ่ง ปฏิปทาเป็นฉันใด แม้อธิบดีทั้งหลาย (มีฉันทาธิบดี

เป็นต้น) ก็ฉันนั้น ย่อมมีต่าง ๆ กันในมรรค ๔ แก่ภิกษุลางรูป

สำหรับลางรูปมีอธิบดีเดียว ในมรรคทั้ง ๔

สังขารุเบกขา ย่อมกำหนดความแปลกกันแห่งปฏิปทาดังกล่าว

มาฉะนี้

ส่วนว่าสังขารเบกขา กำหนดความแปลกกันแห่งวิโมกข์อย่างไร

ข้อนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวมาก่อนแล้วแล๒

๑. ชอบกล ท่านสำเร็จก่อนพระสารีบุตร จะว่าเป็นทันธาภิญญาอย่างไร

๒. ดูตอนวิโมกข์ ๓ หน้า ๑๓๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 198

[สังขารุเบกขากำหนดความแปลกกันแห่งวิโมกข์อันหนึ่ง]

อีกนัยหนึ่ง อันมรรค (นั้น) ย่อมได้นามโดยเหตุ ๕ คือโดยรส

ของตน (คือโดยสภาวะ) บ้าง โดยปัจจนีกธรรม (ธรรมที่เป็นข้าศึก)

บ้าง โดยคุณของตนบ้าง โดยอารมณ์บ้าง โดยอาคมน์ (แดนที่มา)

บ้าง

ก็ถ้าสังขารุขาออก (จากอารมณ์ที่ยึด ?) เพราะพิจารณา

สังขารทั้งหลายโดยความไม่เที่ยงไซร้ มรรค (หรือมรรคสมังคีบุคคล)

ย่อมหลุดพ้นโดยอนิมิตวิโมกข์ ถ้าออกเพราะพิจารณาโดยความเป็น

ทุกข์ไซร้ ย่อมหลุดพ้นโดยอัปปณิหิตวิโมกข์ ถ้าออกเพราะพิจารณา

โดยความเป็นอนัตตาไซร้ ย่อมหลุดพ้นโดยสุญตวิโมกข์ นี้ชื่อว่า นาม

โดยรสของตน*

ส่วนว่ามรรคนั้นชื่อว่า อนิมิตมรรค ก็เพราะทำฆมวินิพโภค

(แยกก้อน) แห่งสังขารทั้งหลายแล้วละนิจจนิมิต ธุวนิมิต สัสสตนิมิต

ทั้งหลาย ด้วยอนิจจจานุปัสนา (สำเร็จ) มา อนึ่ง ชื่อว่าอัปปณิหิตมรรค

ก็เพราะละสุขสัญญา ยังปณิธิคือความปรารถนาให้เหือดแห้งด้วยทุกขา-

นุปัสนา (สำเร็จ) มา ชื่อว่า สุญตมรรค ก็เพราะละอัตตสัญญา

สัตตสัญญา ปุคคลสัญญา แล้วเห็นโดยความเป็นของว่างเปล่าแห่งสังขาร

ทั้งหลาย ด้วยอนัตตานุปัสนา นี้ชื่อว่า นามโดยปัจจนีกธรรม

ส่วนว่ามรรคนั้นชื่อว่า สุญตมรรค เพราะว่างจากกิเลสมีราคะ

* สรส-รสของตน มหาฎีกาแก้ว่า ได้แก่ "สภาวะ-ความเป็นเอง" แล้วขยายความว่า

ความเป็นไปของตนที่แปลกใจตามกิจ"

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 199

เป็นต้น ชื่อว่าอนิมิตมรรค เพราะความไม่มีแห่งนิมิตทั้งหลาย มีรูป-

นิมิตเป็นต้น หรือแห่งนิมิตทั้งหลาย มีราคนิมิตเป็นอาทินั่นเอง ชื่อว่า

อัปปณิหิตมรรค เพราะความไม่มีแห่งปณิธิทั้งหลาย มีราปณิธิเป็นต้น

นี้เป็นนามโดยคุณของตน

มรรคนี้นั้นได้ชื่อว่า สุญตมรรค อนิมิตมรรค อัปปณิหิตมรรค

แม้เพราะทำพระนิพพานอันเป็นธรรมว่าง เป็นธรรมไม่มีนิมิต เป็น

ธรรมไม่มีปณิธิให้เป็นอารมณ์ก็ได้ นี้เป็นนามโดยอารมณ์ของมรรคนั้น

ส่วนอาคมน์ (แดนที่มา) มี ๒ คือวิปัสนาคมน์ (แดนที่มาคือ

วิปัสนา) และมัคคาคมน์ (แดนที่มาคือมรรค) ในอาคมน์ ๒ อย่างนั้น

วิปัสนาคมน์ ย่อมได้ในมรรค มัคคาคมน์ ย่อมได้ในผล เพราะว่า

(โดยวิปัสนาคมน์) อนัตตานุปัสนาชื่อว่า สุญตวิปัสนา มรรคแห่ง

สุญตวิปัสนา จึงชื่อสุญตมรรค อนิจจานุปัสนา มรรคแห่ง

มรรคแห่งอนิมิตวิปัสนา จึงชื่อว่าอนิมิตมรรค แต่ชื่อ (อนิมิตมรรค) นี้

ไม่มีทางพระอริธรรม มีแต่ทางพระสูตร ด้วยในทางพระสูตรนั้น

อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า "โคตรภูญาณทำพระนิพพานอันเป็นธรรมไม่มี

นิมิตให้เป็นอารมณ์ เป็นญาณมีนามว่าอนิมิตตะ ตนตั้งอยู่ในอาคมนีย-

ฐานแล้ว จึงให้นามแก่มรรค" ดังนี้ เหตุนั้น มรรคจึงได้ชื่อว่า

อนิมิตตะ

แต่ว่าโดยมัคคาคมน์ ผลได้ชื่อว่าอนิมิตตะ ก็ชอบเหมือนกัน

ทุกขานุปัสนา ชื่อว่าอัปปณิหิตวิปัสนา เพราะยังปณิธิ (ความปรารถนา)

ในสังขารทั้งหลายให้เหือดแห้งแล้ว (สำเร็จ) มา มรรคแห่งอัปปณิหิต-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 200

วิปัสนา จึงชื่อว่าอัปปณิหิตมรรค ผลของอัปปณิหิตมรรค จึงชื่อว่าอัปปณิ-

หิตผล

วิปัสนาให้นามของตนแก่มรรค มรรคให้นามของตนแก่ผล โดย

นัยดังกล่าวมาฉะนี้แล นี้เป็นนามโดยอาคมน์

สังขารุเบกขานี้ กำหนดความแปลกกันแห่งวิโมกข์ดังนี้แล

สังขารุเบกขาญาณ จบ

อนุโลมญาณ

เมื่อพระโยคาวจรนั้น สร้องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งสังขารุ-

เบกขาญาณนั้นอยู่ อธิโมกขสัทธาย่อมมีกำลังยิ่งขึ้น วิริยะก็เป็นอัน

ประคองไว้อย่างดี สติก็เข้าไปตั้งอย่างดี จิตก็ตั้งมั่นอย่างดี สังขารุ-

เบกขากล้าแข็งยิ่งเกิดขึ้น (สามารถเป็นปัจจัยแห่งอนุโลมญาณได้) เมื่อ

พระโยคาวจรนั้น คำนึงว่า "มรรคจักเกิดในบัดนี้" สังขารุเบกขา

พิจารณาสังขารทั้งหลาย โดยอาการว่าไม่เที่ยง หรือว่าเป็นทุกข์ หรือ

ว่าเป็นอนัตตาก็ดี แล้วลงสู่ภวังค์ ในลำดับแห่งภวังค์ มโนทวาราวัชนะ

ทำสังขารทั้งหลายให้เป็นอารมณ์โดยอาการว่าไม่เที่ยง หรือว่าเป็นทุกข์

หรือว่าเป็นอนัตตา โดยนัยที่สังขารุเบกขาทำแล้วนั่นแหละเกิดขึ้น

ต่อนั้น ชวนจิตดวงแรกซึ่งสืบสันตติอันไม่มีระห่างในลำดับแห่งกิริยาจิต

(คือมโนทวาราวัชนะ ?) ดวงนั้น ที่ยังภวังค์ให้หมุนกลับ (คือไม่ให้เป็น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 201

ไปด้วยอำนาจภวังค์) ทำสังขารทั้งหลายให้เป็นอารมณ์อย่างนั้นเหมือนกัน

เกิดขึ้น ซึ่ง (ชวนจิตดวงแรกนี้) ท่านเรียกว่า "บริกรรม" (คือตก

แต่งมรรคขึ้น) ลำดับนั้น ชวนจิตดวงที่ ๒ ทำสังขารทั้งหลายให้เป็น

อารมณ์อย่างนั้นแหละเกิดขึ้น ซึ่งท่านเรียกว่า "อุปจาร" (คือใกล้มรรค)

แม้ในลำดับนั้น ชวนจิตดวงที่ ๓ ก็ทำสังขารทั้งหลายให้เป็นอารมณ์

อย่างนั้นเหมือนกันเกิดขึ้น ซึ่งท่านเรียกว่า "อนุโลม" (คือสมควรแก่

ธรรมทุกส่วน หรือควรจะทำมรรคให้เกิดได้) นี่เป็นนามแยกกันคนละ

ส่วนแห่งจิตเหล่านั้น แต่ละเรียกจิตทั้ง ๓ อย่างนั้นว่า "อาเสวนะ" บ้าง

ว่า "บริกรรม" บ้าง ว่า "อุปจาร" บ้าง ว่า "อนุโลม" บ้าง โดยไม่

แปลกกัน ก็ควร

ถามว่า อนุโลมแก่อะไร ? ตอบว่า อนุโลมแก่ธรรมทั้งหลาย

ทั้งส่วนเบื้องต้นทั้งส่วนเบื้องปลาย ด้วยว่า อนุโลมญาณนั้นชื่อว่า

อนุโลมแก่วิปัสนาญาณทั้ง ๘ เบื้องต้น เพราะความที่มีกิจเหมือนอย่างนั้น

(คือมีกิจพิจารณากำหนดไตรลักษณ์เหมือนวิปัสนาทั้งปวง) และชื่อว่า

อนุโลมแก่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ในเบื้องปลายด้วย จริงอยู่ อนุโลม-

ญาณนั้น เพราะความที่ปรารภสังขารทั้งหลายโดยทางไตรลักษณ์

มีอนิจลักษณ์เป็นต้นเป็นไป จึงชื่อว่าอนุโลมแก่ญาณ ๘ นี้ เพราะมีกิจ

เหมือนอย่าง (ญาณ ๘) นั้น ดุจชี้บอกโดยความว่า "อุทัยพพญาณได้

เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งธรรมทั้งหลาย อันมีความเกิด

และความเสื่อมแท้หนอ" และว่า "ภังคานุปัสนาญาณได้เห็นความ

แตกดับแห่งธรรมทั้งหลายที่มีความแตกดับแท้หนอ " และว่า "สิ่งที่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 202

เป็นไปกับด้วยภัยแท้หนอ ได้ปรากฏโดยเป็นสิ่งน่ากลัวแก่ภยตุปัฏฐาน-

ญาณ และว่า "อาทีนวานุปัสนาญาณได้เห็นโทษในสิ่งที่เป็นไปกับด้วย

โทษแท้หนอ" และว่า "นิพพิทาญาณได้เบื่อหน่ายในสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย

แท้หนอ" และว่า "มุญจิตุกัมยตาญาณได้เกิดมีความใคร่จะปลดเปลื้อง

ในสิ่งที่น่าปลดเปลื้องแท้หนอ " และว่า "สิ่งที่ควรพิจารณา (หาทาง

ปลดเปลื้อง) แท้หนอ อันปฏิสังขารญาณพิจารณา (รู้ทาง) แล้ว" และ

ว่า "สิ่งที่ควรเข้าไปเพ่ง (วางเฉย) แท้หนอ อันสังขารุเบกขาญาณ

เข้าไปเพ่ง (วางเฉย) แล้ว " ดังนี้ และยังอนุโลมแก่โพธิปักขิยธรรม

๓๗ ในเบื้องปลายด้วย เพราะโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมที่จะ

พึงถึงได้ด้วยความปฏิบัติ (คือการข่มกิเลสที่บังสัจจะแห่งอนุโลมญาณ)

นั้น

[อุปมาแห่งอนุโลมญาณ]

อุปมาเหมือนพระราชาผู้ทรงธรรมประทับนั่ง (เป็นประธาน)

ณ วินิจฉันสถาน (ศาลหลวง) ได้ทรงฟัง (คำ) วินิจฉัยของโวหาริก-

มหาอำมาตย์ (ลูกขุน) ทั้ง ๘ แล้วทรงละเสียซึ่งความลำเอียง วางพระ-

องค์เป็นกลาง เมื่อทรงอนุโมทนา (คือพระราชทานราชนุมัติ) ไปว่า

จงเป็นอย่างวินิจฉัยนั้นเถิด ก็ชื่อว่าทรงอนุโลมแก่ (คำ) วินิจฉัยของ

โวหาริกมหาอำมาตย์เหล่านั้นด้วย แก่โบราณราชธรรมด้วย ฉันใด

ข้ออุปไมยนี้ บัณฑิตก็พึงทราบ ฉันนั้น

[ประเทียบความ]

ก็แล อนุโลมญาณ (นั้น) เปรียบเหมือนพระราชา ญาณ ๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 203

(มีอุทยัพพยานุปัสญาณเป็นต้น) เปรียบเหมือนโวหาริกมหาอำมาตย์

ทั้ง ๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เปรียบเหมือนโบราณธรรม ในอุปมานั้น

พระราชนั้น เมื่อรับสั่งว่า จงเป็นอย่างวินิจฉัยนั้นเถิด ชื่อว่าทรง

อนุโลมแก่ (คำ) วินิจฉัยของโวหาริกมหาอำมาตย์ทั้งหลายด้วย และ

แก่ราชกธรรมด้วย ฉันใด อนุโลมญาณนี้ เมื่อปรารภสังขารทั้งหลาย

โดยทางไตรลักษณ์ มีอนิจลักษณ์เป็นต้นเกิดขึ้น ก็ชื่อว่าอนุโลมแก่

ญาณทั้ง ๘ เพราะความที่มีกิจเหมือนอย่าง (ญาณ ๘) นั้นด้วย แก่

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ในเบื้องปลายด้วย ฉันนั้น เพราะเหตุนั้นแหละ

ญาณนี้ท่านจึงเรียกว่า "สัจจานุโลมิกญาณ" (เพราะอนุโลมแก่มรรคสัจ)

แล

อนุโลมญาณ จบ

ก็แล อนุโลมญาณนี้ เป็นญาณสุดท้ายแห่งวุฏฐานคามินิวิปัสนา

อันมีสังขารเป็นอารมณ์ แต่ว่ากันโดยประการทั้งปวงหมดละก็ โคตร-

ภูญาณเป็นที่สุดแห่งวุฏฐานคามินีวิปัสนา*

* หมายความว่า โคตรภูญาณนั้น ไม่นับในวิปัสนาญาณก็จริง แต่ว่า ก็เป็นญาณที่ไปสู่วุฏฐานะ

คืออริยมรรค จึงควรได้นามว่าวุฏฐานคามินี...ด้วยเหมือนกัน และเป็นสุดท้าย เช่นนั้นกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 204

[นามต่าง ๆ แห่งอนุโลมญาณ]

บัดนี้ เพื่อมิให้หลง (เข้าใจผิดคิดเป็นอื่นไป) ในวุฏฐานคามินี-

วิปัสนานั้นแหละ จึงควรทราบการเทียบ (ความใน) พระสูตร (ต่อไป)นี้

ข้อนี้คืออย่างไร ? คือวุฏฐานคามินีวิปัสนานี้ ในสฬายตนวิภังคสูตร

ตรัสเรียกว่า "อตัมมยตา-ความไม่มีตัณหา (ความทะยานใจ)" โดย

สุตตบท ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอิงอตัมมยตา อาศัย

อตัมมยตา ละเสีย ก้าวล่วงเสียที่ซึ่งอุเบกขาอันเป็นเอกัตตะ (มีสภาวะ

เดียว) เป็นเอกัตตสิตะ (อาศัยอารมณ์อันเดียว) นี้ "๑ ดังนี้ ใน

อลคัททูปมสูตร ตรัสเรียกว่า "นิพพิทา" โดยสุตตบทดังนี้ว่า "ภิกษุ

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น"๒

ในสุสิมสูตร (นิทานวรรค) ตรัสเรียกว่า "ธัมมฐิติญาณ-รู้ความตั้งอยู่

คือความเป็นจริงแห่งธรรม" โดยสุตตบท ดังนี้ ว่า "ดูกรสุสิมะ ธัมม-

ฐิติญาณเกิดก่อน ความหยั่งรู้ในนิพพานจึงเกิดภายหลัง"๓ ในโปฏฐ-

ปาทสูตร๔ตรัสเรียกว่า "สัญญัคคะ-ยอดสัญญา" โดยสุตตบท ดังนี้ ว่า

๑. ม. อุ. ๑๔/๔๐๗ สุตตบทนี้ อธิบายว่า จงอาศัยอตัมมยตา คืออนุโลมญาณ ก้าวล่วง

สังขารุเบกขาญาณเสีย เช่นนั้นกระมัง

อุเบกขาในอารมณ์ ๖ ท่านเรียก นามัตตุเบกขา ส่วนอุเบกขาที่เนื่องด้วยอรูปฌานจิต เรียก

เอกัตตุเบกขา

๒. ม. มู. ๑๒/๒๗๖ มหาฎีกาว่า วิรชฺชติ-คลายกำหนัด หมายเอามรรคกิจ วิมุจฺจติ-หลุดพ้น

หมายเอาผล เพราะฉะนั้น นิพฺพิทา จึงหมายเอาวุฏฐานคามินีวิปัสนา

๓. สํ. นิทาน. ๑๖/๑๕๑ มหาฎีกาว่า นิพฺพาน ญาณํ - ความหยั่งรู้ในนิพพาน ได้แก่มรรคญาณ

เพราะฉะนั้น ธัมมฐิติญาณ จึงได้แก่วุฏฐานคามินี...

๔. ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น...สุตฺเตน คลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น...สุตฺเต

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 205

"ดูกรโปฏฐปาทะ สัญญาแลเกิดขึ้นก่อน ญาณจึงเกิดภายหลัง"๑

ในทสุตรสูตร ตรัสเรียกว่า "ปาริสุทธิปธานิยังคะ-องค์ของผู้ประกอบ

ความเพียงเพื่อความบริสุทธิ" โดยสุตตบทดังนี้ว่า "ปาริสุทธิปธานิยังคะ

คือปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ"๒ ในปฏิสัมภิทามรรค กล่าวโดยนาม ๓

อย่าง โดยสุตตบท ดังนี้ ว่า "มุญจิตุกัมยตาอันใดก็ได้ ปฏิสังขานุปัสนา

อันใดก็ดี สังขารุเบกขาอันใดก็ดี ธรรมเหล่านี้ มีอรรถอันเดียวกัน

ต่างกันแต่พยัญชนะ"๓ ในปัฏฐาน ก็กล่าวไว้โดยนาม ๓ อย่าง ดังนี้

ว่า "ญาณอันอนุโลมแก่โคตรภู อนุโลมแก่โวทาน"๔ ในรถวินีตสูตร

เรียกว่า "ปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ" โดยสุตตบนดังนี้ว่า "ดูกรอาวุโส

ก็ท่านผู้มีอายุอยู่ (ประพฤติ) พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อ

ปฏิปทาญาณทัสนาวิสุทธิหรือ"๕

วุฏฐานคามินีวิปัสนาใดสงบสะอาด อัน

พระมหาฤษีเจ้าตรัสยกย่องไว้โดยนามหลาย

อย่าง ดังกล่าวมาฉะนี้ บุคคลผู้มีชาติ

บัณฑิต ปรารถนาจะออกจากทะเลตม คือ

สงสารทุกข์อันเป็นแดนมหาภัย พึงทำ

โยคะในวิปัสนานั้นเนือง เทอญ

๑. ที. สี. ๙/๒๓๐ ตรงนี้ตรัสว่า สัญญา ส่วนคำสัญญัคคะ ตรัสไว้ข้างต้น

๒. ที. ปาฏิ. ๑๑/๓๒๘

๓. ขุ. ป. ๓๑/๓๙๗

๔. อภิ. ป. ๔๐/๑๗๓ มหาฎีกาว่านาม ๓ คือ อนุโลม โคตรภู และ โวทาน

๕. ม. มู. ๑๒/๒๙๑

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 206

ปริเฉทที่ ๒๑

ชื่อปฏิปทาญาณทัสนาวิสุทธินิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 207

[ญาณทัสนวิสุทธินิเทศ]

เบื้องหน้าแต่อนุโลมญาณนี้ไปก็เป็นโคตรภูญาณ โคตรภูญาณ

นั้นไม่ชิดปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ ไม่ชิดญาณทัสนวิสุทธิทีเดียว เพราะ

เป็นญาณตั้งอยู่ในฐานเป็นอาวัชนะแห่งมรรค เป็นอัพโพหาริกญาณอยู่

ในระหว่าง (วิสุทธิทั้ง ๒ นั้น) นั่นเอง แต่เพราะยังตกในกระแส

แห่งวิปัสนา จึงนับว่าเป็นวิปัสนา (ด้วย) ส่วนญาณในมรรค ๔ นี้

คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค

ชื่อว่าญาณทัสนวิสุทธิ

[ปฐมมรรคญาณ]

ในมรรคญาณ ๔ นั้น ชื่อว่ากิจอะไร ๆ อื่นที่พระโยคาวจรผู้ใคร่

จะยังปฐมมรรคญาณให้ถึงพร้อม จะต้องทำเป็นอันดับแรก หามีไม่

ด้วยว่ากิจใดที่เธอจะพึงต้องทำ กิจนั้นอันเธอผู้ยังวิปัสนาซึ่งอนุโลม-

ญาณเป็นที่สุดให้เกิดขึ้นได้ทำเสร็จแล้ว แท้จริง จิตของเธอผู้มีอนุโลม-

ญาณเกิดแล้วอย่างนี้ เมื่อความมืดหยาบ ๆ ที่ปิดบังสัจจะ ถูกอนุโลม-

ญาณทั้ง ๓ นั้นทำให้อันตรธานไปแล้วตามควรแก่กำลังของตน ๆ ย่อม

ไม่แล่นไป ไม่หยุดอยู่ ไม่นึกน้อมไป ไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ผูกพันอยู่ใน

สังขารทั้งปวง ย่อมถอยกลับ งอกลับ หมุนกลับ ดังนี้กลิ้งกลับจาก

ในปทุมฉะนั้น แม้นิมิตตารมณ์ทั้งปวง แม้ปวัตตารมณ์ทั้งปวง ก็

ปรากฏโดยเป็นเครื่องกังวล*

* ก่อนนี้ไม่ปรากฏเป็นเครื่องกังวล เพราะมีความมืดปกปิดอยู่ บัดนี้ความมืดนั้นอันตรธาน

ไปแล้ว จึงปรากฏเห็นเป็นเครื่องกังวลขึ้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 208

[โคตรภูญาณ]

ลำดับนั้น เมื่อนิมิตตารมณ์และปวัตตารมณ์ทั้งปวงปรากฏโดย

เป็นเครื่องกังวลแก่เธอแล้ว ในที่สุดแต่อาเสวนะแห่อนุโลมญาณ (คือ

ในลำดับแห่งอนุโลมญาณที่ได้มาจนคุ้น) โคตรภูญาณทำพระนิพพาน

อันไม่มีนิมิต ไม่มีปวัตตะ ปราศจากสังขาร เป็นนิโรธ (ที่ดับ) ให้

ให้เป็นอารมณ์ พลางก้าวล่วงเสียซึ่งโคตรบุถุชน ชื่อบุถุชน ภูมิ-

บุถุชน ก้าวลงสู่โคตรอริยะ ชื่ออริยะ ภูมิอริยะ เป็นปฐมอาวัชนะ

(ความนึกหน่วงครั้งแรก) ปฐมอาโภค (ความคำนึกครั้งแรก) ปฐม-

สมันนาหาร (ความประมวลจิตครั้งแรก) ในนิพพานารมณ์ ยังความ

เป็นปัจจัยแห่งมรรคโดยอาการ ๖ ด้วยอำนาจอนันตรปัจจัย สมนัตร-

ปัจจัย อาเสวนปัจจัย อปุนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และวิคตปัจจัย ให้

สำเร็จ เป็นญาณถึงยอด เป็นศีรษะของวิปัสนา ไม่เวียนกลับมาอีก

(เพราะเกิดขึ้นครั้งเดียว) เกิดขึ้น ซึ่งท่านหมายถึง กล่าวไว้ (ในปฏิ-

สัมภิทามรรค) ว่า "ความรู้ในอันหมุนกลับคือออกจากสิ่งภายนอก

(คือสังขาร) ได้ชื่อว่าโคตรภูญาณเป็นอย่างไร ? ความรู้ใดครอบงำ

เสียได้ซึ่งอุปปาทะ เหตุนี้ ความรู้นี้จึงชื่อโคตรภู ความรู้ใดครอบงำ

เสียได้ซึ่งปวัตตะ ฯลฯ ซึ่งอุปายาส เหตุนี้ ความรู้นั้นจึงชื่อโคตรภู

ความรู้ใดครอบงำเสียได้ซึ่งสิ่งภายนอกคือสังขารนิมิต เหตุนี้ ความรู้นั้น

จึงชื่อโคตรภู ความรู้ใดแล่นไปสู่ธรรมอันไม่มีอุปปาทะ เหตุนี้ ความรู้

นั้นจึงชื่อโคตรภู ความรู้ใดแล่นไปสู่ธรรมอันไม่มีปวัตตะ ฯลฯ ไม่มี

อุปายาส เป็นที่ดับคือนิพพาน เหตุนี้ ความรู้นั้นจึงชื่อโคตรภู ความ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 209

รู้ใดครอบงำเสียซึ่งอุปปาทะแล้ว แล่นไปสู่ธรรมอันไม่มีอุปปาทะ

เหตุนี้ ความรู้นั้นจึงชื่อโคตรภู"* ดังนี้เป็นอาทิ สุตตบททั้งปวงพึง

(นำมากล่าว) ให้พิสดารเถิด

[อุปมาขั้นตอนแห่งอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ]

ในการทำกิจของอนุโลมญาณและโคตรภูตญาณนั้น นี่เป็นอุปมา

แสดงอาการเป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ แห่งอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ

ซึ่งแม้เป็นไปอยู่ในวิถี (จิต) เดียวกัน โดยอาวัชชะเดียวกัน (ดังต่อ

ไปนี้) เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้ใคร่จะกระโดดข้ามเหมืองใหญ่ (ไป)

ยืนที่ฝั่งนอก วิ่งมาด้วยกำลังเร็ว คว้าเชือกที่ผูกห้อยไว้ที่กึ่งไม้หรือไม้

เส้า (ที่ปักไว้) ริมฝั่งในของเหมือง โหนตัวขึ้นแล้ว (โยนตัวให้) มี

กายน้อมโน้มตรงไปยังฝั่งนอก จนถึงส่วนเบื้องบนของฝั่งนอก จึง

ปล่อยเชือกหรือไม้เส้านั้น ตัวสั่นอยู่ตกลงที่ฝั่งนอกแล้ว จึงค่อยยืนขึ้น

ฉันใด แม้พระโยคาวจรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ใคร่จะตั้งมั่นใน

พระนิพพานอันเป็นฝั่งนอกของ ภพ กำเนิด คติ ฐิติ และนิวาส

ทั้งหลาย แล่นมาด้วยกำลังมีอุทยัพพยานุปัสนาเป็นต้น คว้าเชือกคือ

รูป (ขันธ์) ซึ่งผูกห้อยอยู่ที่กิ่งไม้คืออัตภาพ หรือไม้เส้าคือนามขันธ์

มีเวทนาเป็นต้นขันธ์หนึ่ง ด้วยอาวัชนะแห่งอนุโลมญาณว่า

มันไม่เที่ยง หรือว่ามันเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นอนัตตาแล้ว ยังไม่

ปล่อยเชือกคือรูปและไม้เส้าคือนามนั้น โหนขึ้นด้วยอนุโลมจิตดวงแรก

* ขุ. ป. ๓๑/๙๕.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 210

เป็นผู้มีใจน้อมโน้นตรงไปยังพระนิพพานด้วยอนุโลมจิตดวงที่ ๒ ดุจ

บุรุษนั้นมีกายน้อมโน้มตรงไปยังฝั่งนอก (ของเหมือง) ฉะนั้น แล้วก็

เป็นผู้ใกล้ต่อพระนิพพานอันจะพึงถึงเดี๋ยวนี้ ด้วยอนุโลมจิตดวงที่ ๓

ดุจบุรุษนั้น (โยนตัวไป) ถึงส่วนเบื้องบนแห่งฝั่งนอก (ของเหมือง)

ฉะนั้น เพราะความดับไปแห่งจิต (อนุโลมดวงที่ ๓ ?) นั้น ก็ปล่อย

อารมณ์ที่เป็นสังขารนั้น แล้วตกลงไปในพระนิพพานอันปราศจาก

สังขารเป็นฝั่งนอก (โดยหน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์) ด้วยโคตร

ภูจิต แต่เพราะยังไม่มีความคุ้นเคยในอารมณ์ที่เพิ่งยึดหน่วงครั้งเดียว

จึงยังไม่ตั้งมั่นด้วยดีก่อน ดุจบุรุษนั้นตัวสั่นอยู่ฉะนั้น ต่อนั้นจึงตั้งมั่น

ด้วยมรรคญาณ แล

[อุปมาการทำกิจแห่งอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ]

ในญาณ ๒ นั้น อนุโลมญาณอาจบรรเทาความมืดคือกิเลสอัน

ปิดบังสัจจะได้ (แต่) ไม่อาจทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ได้ โคตร-

ภูญาณอาจทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ได้แท้ (แต่) ไม่อาจบรรเทา

ความมืดที่บังสัจจะได้ (ต่อไป) นี้เป็นอุปมาในการทำกิจแห่งญาณทั้ง

๒ นั้น

ยังมีบุรุษตาดีผู้หนึ่ง ใคร่จะทราบนักษัตรโยค (ความประจวบ

กันแห่งดวงจันทร์กับดาว) ออกไปแหงนดูดวงจันทร์ในเวลากลางคืน

ดวงจันทร์ไม่ปรากฏแก่เขาเพราะถูกพลาหกบัง พอลมลูกหนึ่งตั้งขึ้น

กำจัดพลาหกหนา ๆ (ไป) อีกลูกหนึ่งกำจัดพลาหกปานกลาง (ไป)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 211

อีกลูกหนึ่งกำจัดพลาหกแม้บาง ๆ (ไปหมดสิ้น) ทีนั้นบุรุษนั้น ครั้น

ท้องฟ้าปราศจากพลาหกแล้ว ก็เห็นดวงจันทร์ทราบนักษัตรโยคได้

ในข้ออุปมาและอุปไมยนั้น ความมืดคือกิเลสอย่างกลาง อย่าง

หยาบ และอย่างละเอียดทีปิดบังสัจจะ เปรียบเหมือนพลาหก ๓ ชั้น

อนุโลมจิต ๓ เหมือนลม ๓ ลูก โคตรภูญาณเหมือนบุรุษตาดี พระ

นิพพานเหมือนดวงจันทร์ การบรรเทาความมืดบังสัจจะแห่งอนุโลมจิต

แต่ละดวง เหมือนการกำจัดพลาหก ๓ ชั้นตามลำดับแห่งลมแต่ละลูก

ความที่เมื่อดวงมืดบังสัจจะปราศไปแล้ว เห็นพระนิพพานอันหมดจด

ได้แห่งโคตรภูญาณ เหมือนการที่เมื่อท้องฟ้าปราศจากพลาหกแล้ว

เห็นดวงจันทร์อันกระจ่างได้แห่งบุรุษนั้น ก็แลลม ๓ ลูกอาจกำจัดแต่

พลาหกบังดวงจันทร์ได้เท่านั้น หาอาจเห็นดวงจันทร์ไม่ ฉันใดเล่า

อนุโลมจิตทั้งหลายก็อาจบรรเทาแต่ความมืดบังสัจจะได้เท่านั้น หาอาจ

เห็นพระนิพพานได้ไม่ ก็ฉันนั้น บุรุษนั้นอาจเห็นได้แต่ดวงจันทร์

(แต่) ไม่อาจกำจัดพลาหกได้ฉันใด โคตรภูญาณก็อาจเห็นพระนิพพาน

ได้เท่านั้น ไม่อาจบรรเทาความมืดคือกิเลสได้ฉันนั้น ก็เพราะเหตุนั้น

แหละ โคตรภูญาณนั้น ท่านจึงเรียกว่า อาวัชนะแห่งมรรค

[อุปามรรคญาณอาศัยสัญญาจากโคตรภูญาณ]

จริงอยู่ โคตรภูญาณนั้น แม้เป็นอนาวัชนะ (คือมิใช่อาวัชนะ)

(แต่ว่า) ตั้งอยู่ในฐานแห่งอาวัชนะ ราวกะให้สัญญาแก่มรรคว่า "ท่าน

จงเกิดอย่างนี้" แล้วจึงดับไป ฝ่ายมรรคก็ไม่ปล่อยสัญญาที่โคตรภูญาณ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 212

นั้นให้เลย ติดตาม๑ญาณนั้นไป ด้วยอำนาจสันตติไม่ขาดระยะ เจาะไป

ทำลายไปซึ่งกองโลภะ กองโทสะ กองโมหะ ซึ่งไม่เคยถูกเจาะ ไม่เคย

ถูกทำลาย เกิดขึ้น (ต่อไป) นี้เป็นอุปมาในความข้อนั้น

ยังมีนายขมังธนูผู้หนึ่ง ให้ตั้งแผ่นเป้าไว้ ๑๐๐ แผ่นในที่ (ห่าง)

ประมาณ ๘ อุสภะ๒ แล้ว พัน (ปิด) หน้าด้วยผ้า สอดศร ยืนอยู่บน

จักรยนต์๓ บุรุษอีกผู้หนึ่ง (ทำหน้าที่) ห___________มุนจักรยนต์ (คอย) ให้สัญญา

ด้วยท่อนไม้ (เคาะ) ที่จักรยนต์นั้น เมื่อแผ่นเป้าตรงหน้านายขมังธนู

นายขมังธนูก็ไม่ปล่อยสัญญาท่อนไม้เสียง ยิงศรไป (ทันที) เจาะแผ่น

เฝ้า (ถูกหมด) ทั้ง ๑๐๐ ในข้ออุปมาและอุปไมยนั้น โคตรภูญาณ

เหมือนสัญญาท่อนไม้ มรรคญาณเหมือนายขมังธนู การที่มรรคญาณ

ไม่ปล่อยสัญญาที่โคตรภูญาณให้เสีย ทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์

เจาะและทำลายกองโลภะ โทสะ โมหะ อันไม่เคยถูกเจาะไม่เคยถูกทำลาย

ได้ เหมือนการที่นายขมังธนูไม่ปล่อยสัญญาท่อนไม้เสีย (ยิงศร) เจาะ

แผ่นเป้า (ถูกหมด) ทั้ง ๑๐๐ ฉะนั้น

[อเนกานิสงส์แห่งมรรค]

อันมรรคนั่น ใช่แต่ทำการเจาะ (ทำลาย) กองกิเลสมีกองโลภะ

๑. ปาฐะเป็น อนุพุทฺธมาโน แต่ฉบับพม่าเป็น อนุพนฺธมาโน ในฎีกาก็เป็น อนุพนฺธนํ

เห็นว่าปาฐะหลังถูกต้องกว่า

๒. มหาฎีกาว่า อุสภะ เท่ากับ ๒๐ ยัฐิ ยัฐิเท่ากับ ๔ ศอก (คือว่า) ๒๐ ยัฐิเป็น ๘๐

ศอก (หรือ ๒๐ วา) เพราะฉะนั้น ๘ อุสภะจึงเท่ากับ ๖๔๐ ศอก (หรือ ๑๖๐ วา) คือ ๘

เส้นนั่นเอง

๓. จักรยนต์ คือแป้นกลมหมุนได้ มหาฎีกาว่า คล้ายจักรช่างหม้อ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 213

เป็นต้นเท่านั้นก็หามิได้ แต่ว่ายังทะเลคือวัฏทุกข์ในสงสารอันมีต้น

ปลายที่รู้ไม่ได้ ให้เหือดแห้งได้ ปิดประตูอบายทั้งปวงได้ ทำความ

พร้อมหน้า (คือสำเร็จโดยประจักษ์) แห่งอริยทรัพย์ ๗ ได้ ละมิจฉา-

มรรคมีองค์ ๘ ได้ ยังเวรภัยทั้งปวงให้ระงับได้ ถวายตัวเป็นบุตรชนิด

โอรส (เกิดแต่อก) แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ และยังเป็นไปเพื่อได้

รับอานิสงส์อื่น ๆ หลายร้อนอย่าง ด้วยประการฉะนี้

ญาณที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรค อันให้อานิสงส์เป็นอเนก ดัง

กล่าวมานี้ เป็นญาณในโสดาปัตติมรรค แล

ปฐมญาณ จบ

[ทุติยมรรคญาณ]

ก็แลในลำดับแห่งญาณ (ที่ ๑ ) นี้ ผลจิต ๒ หรือ ๓ ดวง อัน

เป็นวิบากของโสดาบันปัตติมรรคจิตนั้นแหละย่อมเกิดขึ้น ก็เพราะความที่

โลกุตรกุศลทั้งหลายมีวิบากในลำดับ (แห่งตน คือให้ผลทันทีหาอะไร

คั่นมิได้) นั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "สมาธิมานนฺตริ-

กญฺญมาหุ๑-บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสมาธิ (ในมรรค?) ใดว่า เป็น

อานันตริกะ (ให้ผลในลำดับแห่งตน) " และว่า "ทนฺธํ อานฺนฺตริกํ

ปาปุณาติ อาสวานํ ขยาย๒-บุคคลใด บรรลุอานันตริกสมาธิ เพื่อ

ความสิ้นอาสวะช้า " ดังนี้เป็นต้น

๑. ขุ. ข. ๒๔/๖

๒. องฺ. จติกฺก. ๒๑/๒๐๐

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 214

ส่วนอาจารย์ลางพวกกล่าวว่า "ผลจิต ๑,๒,๓, หรือ ๔ ดวง

(เกิดขึ้น)" คำนั้นไม่ควรถือเอา เพราะว่าโคตรภูญาณย่อมเกิดขึ้นใน

ที่สุดแต่อาเสวนะแห่งอนุโลมญาณ เหตุนั้น โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด

อนุโลมจิตต้องมี ๒ ดวง เพราะดวงเดียวย่อมไม่ได้อาเสวนปัจจัย และ

อาวัชวิถีหนึ่ง ย่อมมีจิต ๗ ดวงเดียวย่อมยิ่ง เพราะฉะนั้น ญาณใด

มีอนุโลมจิต ๒ ดวง จิตดวงที่ ๓ แห่งญาณนั้นก็เป็นโคตรภู ดวงที่ ๔

เป็นมรรคจิต (อีก) ๓ ดวงเป็นผลจิต ญาณใดมีอนุโลมจิต ๓ ดวง

จิตดวงที่ ๔ ของญาณนั้นก็เป็นโคตรภู ดวงที่ ๕ เป็นมรรคจิต (อีก)

๒ ดวงเป็นผลจิต เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า "ผลจิต ๒

หรือ ๓ ดวง...ย่อมเกิดขึ้น"

ฝ่ายอาจารย์ลางพวกก็เห็นว่า "ญาณใดมีอนุโลมจิต ๔ ดวง จิตดวง

ที่ ๕ ของญาณนั้นเป็นโคตรภู ดวงที่ ๖ เป็นมรรคจิต (อีก) ดวง ๑

เป็นผลจิต " อันคำนั้นก็ไม่ควรเชื่อถือเป็นสาระ เพราะค้านได้ว่า

"จิตดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ ย่อมเป็นอัปปนา ไม่ยิ่งกว่านั้นไป เพราะใกล้

ภวังค์" ดังนี้

ก็ด้วยความเกิดขึ้นแห่งผลในลำดับปฐมมรรคเท่านี้ พระโยคา-

วจรผู้นั้นก็เป็นพระอริยบุคคลที่ ๒๑ ชื่อพระโสดาบัน แม้จะยังเป็นผู้

ประมาทอยู่มาก๒ ท่องเที่ยวไปในพวกเทพและพวกมนุษย์ ๗ ชาติ

๑.เล็งถึงพระอริยบุคคล ๘ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

จึงเป็นที่ ๒

๒. ที่ว่าพระโสดาบันยังประมาทอยู่มากนี้ หมายความว่าในระหว่างที่ยังเวียนเกิดอยู่ ๗ ชาตินั้น

ย่อมจะได้ประสบสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ทำให้มัวเมาเพลิดเพลินไปบ้างตามประสาคนยัง

ไม่สิ้นกิเลส แต่ไม่ถึงกับล่วงศีลล่วงธรรมทำบาปกรรมอะไรเลอะเทอะไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 215

แล้วก็เป็นผู้สามารถในอันทำที่สุดทุกข์ได้

[ปัจเวกขณ์ ๑๙]

แต่ในที่สุดแห่งผล จิตของพระโสดาบันนั้นย่อมลงสู่ภวังค์ ต่อนั้น

มโนทวาราวัชนะจึงตัดภวังค์เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่มรรคปัจเวกขณ์

(คือย้อนพิจารณาดูมรรค) ครั้นมโนทวาราวัชนะนั้นดับแล้ว ชวนะ

สำหรับมรรคปัจเวกขณ์ ๗ ดวงจึงเกิดขึ้นตามลำดับแล อาวัชนะเป็นต้น

ลงสู่ภวังค์อีก แล้วเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การปัจเวกขณ์ผลเป็นต้น

โดยนัยนั้นนั่นแหละ เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาวัชนะและชวนจิตไรเล่า

พระโสดาบันนั้นจึงปัจเวกขณ์มรรค ปัจเวกขณ์ผล ปัจเจกขณ์กิเลสที่ละ

ได้แล้ว ปัจเวกขณ์กิเลสที่ยังเหลือ ปัจเวกขณ์นิพพานได้

ก็แลพระโสดาบันนั้น ย่อมปัจเวกขณ์มรรค (โดยนัย) ว่า "เรา

มาได้ด้วยมรรคอันนี้หนอ" แต่นั้นจึงปัจเวกขณ์ผล (โดยนัย) ว่า

"อานิสอันนี้เราได้แล้ว" ต่อนั้นจึงปัจเวกขณ์กิเลสที่ละได้แล้ว

(โดยนัย) ว่า "กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ ๆ เราละได้แล้ว" ลำดับนั้นจึง

ปัจเวกขณ์กิเลสที่มรรคเบื้องสูง ๓ จะพึงกำจัด (โดยนัย) ว่า "กิเลส

ทั้งหลายชื่อนี้ ๆ ของเรายังเหลืออยู่" และในที่สุดจึงปัจเวกขณ์เพราะ

อมตนิพพาน (โดยนัย) ว่า "ธรรมอันนี้เรา (รู้แจ้ง) แทงตลอดแล้ว

โดย (ทำให้) เป็นอารมณ์" ปัจเวกขณ์ ๕ ย่อมมีแก่พระอริยสาวก

โสดาบันดังนี้ และปัจเวกขณ์ ๕ นั้นมีแก่พระโสดาบันฉันใด ก็มีแม้

แก่พระสกทาคามีและพระอนาคามีฉันนั้น แต่สำหรับพระอรหันต์ อัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 216

การปัจเวกขณ์กิเลสที่ยังเหลือหามีไม่แล ด้วยประการดังนี้ ทั้งหมด

ด้วยกัน จึงนับเป็นปัจเวกขณ์ ๑๙ แต่นั่นเป็นกำหนดอย่างสูงทีเดียว

ด้วยว่า การปัจเวกขณ์กิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่ยังเหลือ ย่อมมีบ้าง

ไม่มีบ้าง แม้แก่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ก็เพราะไม่มีปัจเวกขณ์นั้น

นั่นเอง ท้าวมหานามจึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ธรรม (คือ

กิเลส) ชื่ออะไรสิ ที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้ในภายใน ซึ่งเป็นเหตุให้

โลภธรรมทั้งหลายยึดจิตของข้าพระองค์ตั้งอยู่ได้บ้างในลางคราว"* ดัง

นี้เป็นต้น สุตตบททั้งปวง (ในสูตรนี้) บัณฑิตควรทราบโดยพิสดาร

[เลื่อนภูมิ]

ก็แลครั้นปัจเวกขณ์อย่างนั้นแล้ว พระอริยาสาวกโสดาบันนั้นนั่ง

อยู่ ณ อาสนะนั้นนั่งเอง หรือโดยสมัยอื่นอีก ย่อมทำโยคะเพื่อบรรลุ

ภูมิที่ ๒ เพื่อความเบาบางลงแห่งกามราคะและพยาบาท ท่านยัง

อินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ให้ชุมนุมกันแล้ว ย่ำยีเสียซึ่งสังขารอัน

ต่างโดยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นแลด้วยญาณ (กำหนด

ไตรลักษณ์) ว่า มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เปลี่ยน (ความ

กำหนดนั้น) ไปมา (จน) หยั่งลงสู่วิถีวิปัสนา เมื่อท่านปฏิบัติไปอย่าง

นั้น ครั้นอนุโลมญาณและโคตรภูญาณเกิดขึ้นด้วยอาวัชนะอันหนึ่งใน

ที่สุดแห่งสังขารุเบกขาญาณ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล สกทาคามิมรรค

* ม. มุ. ๑๒/๑๗๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 217

ย่อมเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูญาณ* ญาณอันสัมปยุตด้วยสกทาคามิ-

มรรคนั้น ชื่อว่าญาณในสกทาคามิมรรค แล

ทุติยญาณ จบ

[ตติยมรรคญาณ]

ผลจิตในลำดับแห่งแห่งญาณนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว

เหมือนกัน ก็แล ด้วยความเกิดขึ้นแห่งผลในลำดับทุติยมรรคเพียงนี้

ท่านก็เป็นพระอริยบุคคลที่ ๔ ชื่อพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกคราว

เดียว ก็สามารถทำที่สุดทุกข์ได้ การปัจเวกขณ์ต่อนั้นไปก็มีนัยดังกล่าว

แล้วนั่นแหละ ก็ครั้นปัจเวกขณ์อย่างนั้นแล้ว พรอริยสาวกสทาคามี

นั้นนั่ง ณ อาสนะนั้นนั่นเอง หรือโดยสมัยอื่นอีก ย่อมทำโยคะเพื่อ

บรรลุภูมิที่ ๓ เพื่อละกามราคะและพยาบาทมิให้เหลือ ท่านยังอินทรีย์

พละ แลโพชฌงค์ ให้ชุมนุมกันแล้ว ย่ำยีเสียซึ่งสังขารนั้นแหละ

ด้วยญาณ (กำหนดไตรลักษณ์) ว่า มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

เปลี่ยน(ความกำหนดนั้น) ไปมา (จน) หยั่งลงสู่วิถีวิปัสนา เมื่อท่าน

ปฏิบัติไปอย่างนั้น ครั้นอนุโลมญาณและโคตรภูญาณเกิดขึ้นด้วย

อาวัชนะอันหนึ่งในที่สุดแห่งสังขารุเบกญาณ โดยนัยที่กล่าวแล้ว

นั่นแหละ อนาคามิมรรคย่อมเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูญาณ ญาณ

* มหาฎีกาว่า โคตรภู ในมรรคที่ ๒ (และที่ ๓ ที่ ๔ ด้วย) ไม่ใช่โคตรภูแท้ เป็นแต่

คล้ายโคตรภู อันโคตรภูญาณนั้น เป็นปุเรจาริกญาณแห่งปฐมมรรค เป็นโคตรภูโดยตรง

เพราะครอบงำโคตรบุถุชนเสีย ก่อเกิดโคตรพระอริยะขึ้น ส่วนโคตรภูในมรรคที่ ๒ เป็นต้นไป

นี้ เป็นโคตรภูโดยอ้อม เพราะคล้ายโคตรภูเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 218

อันสัมปยุตด้วยอนาคามิมรรคนั้น ชื่อว่าญาณในอนาคามิมรรค แล

ตติยญาณ จบ

[จตุตถกมรรคญาณ]

ผลจิตในลำดับแม้แห่งญาณนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว

เหมือนกัน ก็แล ด้วยความเกิดขึ้นแห่งผลในลำดับตติมรรคเพียงนี้

ท่านก็เป็นพระอริยบุคคลที่ ๖ ชื่อพระอนาคามี (มีกำเนิดต่อไป) เป็น

โอปปาติกะ ปรินิพพานในโลก (สุทธาวาส) ที่อุปบัตินั้น มีอันไม่กลับ

มาจากโลกนั้นเป็นธรรม๑ (คือ) ไม่มาสู่โลกนี้อีกด้วยอำนาจปฏิสนธิ๒

การปัจเวกขณ์ต่อนั้นไปก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ก็ครั้นปัจเวกขณ์

อย่างนั้นแล้ว พระอริยสาวกอนาคามีนั้นนั่ง ณ อาสนะนั้นนั่งเอง หรือ

โดยสมัยอื่นอีก ย่อมทำโยคะเพื่อบรรลุภูมิที่ ๔ เพื่อละรูปราคะ อรูป-

ราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มิให้เหลือ ท่านยังอินทรีย์ พละ

และโพชฌงค์ให้ชุมนุมกันแล้ว ย่ำยีเสียซึ่งสังขารนั่นแหละ ด้วยญาณ

(กำหนดไตรลักษณ์) ว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เปลี่ยน

(ความกำหนดนั้น) ไปมา (จน) หยั่งลงสู่วิถีวิปัสนา เมื่อท่านปฏิบัติ

ไปอย่างนั้น ครั้นอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ เกิดขึ้นด้วยอาวัชนะ

อันหนึ่ง ในที่สุดแห่งสังขารุเบกขาญาณ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ

๑. บาลีทั่วเป็นไป อนาวตฺติธมฺโม ตสฺมา โลกา ปาฐะในมหาฎีกาก็อย่างนั้น จึงเข้าใจว่าปาฐะ

จะตก ตสฺมา โลกา

๒. มหาฎีกาว่า แต่การมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังธรรม คงมีอยู่แท้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 219

อรหัตมรรคย่อมเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูญาณ ญาณอันสัมปยุตด้วย

อรหัตมรรคนั้น ชื่อว่าญาณในอรหัตมรรค แล

จตุตถญาณ จบ

ผลจิตในลำดับแม้แห่งญาณนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว

เหมือนกัน ก็แลด้วยความเกิดขึ้นแห่งผลในลำดับจตุตถมรรคเพียงนี้

ท่านก็เป็นซึ่งร่างกายอันสุดท้าย มีภาระ (ของหนัก) อันปลงแล้ว มี

ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันสุดท้าย มีภาระ (ของหนัก) อันปลงแล้ว มี

ประโยชน์อันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพสิ้นไป

แล้ว รู้โดยชอบหลุดพ้นแล้ว เป็นทักษิไณยเลิศของโลกกับทั้งเทวโลก

แล

ด้วยประการดังกล่าวนี้ คำใดข้าพเจ้ากล่าวไว้ (ต้นนิเทศนี้) ว่า

"ส่วนญาณในมรรค ๔ นี้ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค

อนาคามิมรรค อรหัตมรรค ชื่อว่าญาณทัสนวิสุทธิ" ดังนี้ คำนั้น

ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาญาณ ๔ นี่ อันจะพึงบรรลุโดยลำดับ (ดัง) นี้

[อานุภาพแห่งมรรคญาณ]

บัดนี้ เพื่อทราบชัดซึ่งอานุภาพแห่งญาณ ๔ อันชื่อว่าญาณทัสน-

วิสุทธินี่แหละ

[หัวข้อ]

บัณฑิตจึงควรทราบความ (ที่มรรค) มีโพธิปักขิย-

ธรรมบริบูรณ์ ควรทราบวุฏฐานะ (ความออกจาก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 220

นิมิตตะและปวัตตะ) และพลสมาโยค (ความ

ประกอบเสมอกันแห่งสมถพละและวิปัสนาพละ)

ควรทราบการละธรรมทั้งหลายที่ญาณไรพึงละ และ

ควรทราบกิจมีปริญญากิจเป็นต้น ที่ท่านกล่าว (ว่า

มีขึ้น) ในกาลที่ตรัสรู้ตามสภาพทุกประการด้วยแล

[ขยายความ]

[โพธิปักขิยธรรม]

ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า "ความมีโพธิปักขิยธรรมบริบูรณ์" คือ

ความที่โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายเต็มเปี่ยม ก็ธรรม ๓๗ นี้ คือ สติ-

ปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕

โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า โพธิปักขิยะ เหตุเป็นธรรมมีใน

ฝ่ายแห่งอริยมรรคอันได้นามว่าโพธะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุตรัสรู้

คำว่า "เพราะ...มีในฝ่าย" หมายความว่า เพราะตั้งอยู่ในความเป็น

ธรรมอุดหนุน

[อรรถแห่งสติปัฏฐาน]

ในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น ธรรมชื่อว่าปัฏฐาน เพราะแล่น

เข้าไปตั้งอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย (มีกายเป็นต้น) ปัฏฐานก็คือสตินั่นเอง

จึงได้ชื่อว่า สติปัฏฐาน* ก็สตินั้นแตกเป็น ๔ ประการ เพราะเป็นไป

* เรามักแปลกันว่า ที่ตั้งแห่งสติ (หมายถึงอารมณ์) แต่ที่ท่านแปลว่า ปัฏฐาน คือ สติ

(หมายเอาตัวสติเอง)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 221

โดยถือเอาอสุภาการ (อาการไม่งาม) ทุกขาการ (อาการเป็นทุกข์)

อนิจจาการ (อาการไม่เที่ยง) อนัตตาการ (อาการเป็นอนัตตา) ใน

กาย เวทนา จิต ธรรม และโดยยังกิจคือการละสุภสัญญา (ความสำคัญ

ว่างาม) สุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) นิจจสัญญา (ความสำคัญ

ว่าเที่ยง ) อัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอนัตตา) ในกาย เวทนา จิต

ธรรมนั้นให้สำเร็จ๑ จึงแตกเป็น ๔ ประการ เพราะฉะนั้น ท่านจึง

กล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

[อรรถแห่งสัมมัปปธาน]

ธรรมชื่อว่าปธาน เพราะเป็นเหตุเพียร ปธานอันงาม ชื่อว่า สัม-

มัปปธาน (แปลว่า ธรรมเป็นเหตุเพียรอันงาม) นัยหนึ่ง ธรรมชื่อ

มัปมัปปธาน เพราะเป็นเหตุเพียรโดยชอบ ๒ นัยหนึ่ง ธรรมชาตนั้นชื่อ

ว่า งาม เพราะเว้นจากความเป็นสิ่งน่าเกลียดเพราะกิเลส และชื่อว่า

ปธาน เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐสุด และเพราะทำความ

เป็นประธาน (คือสูงสุด ?) โดยความหมายว่ายังประโยชน์สุขให้สำเร็จ

ได้ เหตุนั้นจึงได้ชื่อว่าสัมมัปปธาน คำว่าสัมมัปปธานนั่นเป็นชื่อของ

ิวิริยะ สัมมัปปธานนี้นั้นเป็น ๔ ประการ เพราะยังกิจคือการละ และ

๑. มหาฎีกาว่า การถือเอาอาการมีอสุภาการเป็นต้นในอารมณ์มีกายเป็นต้น เป็นสติปัฏฐาน

บุพภาค การยังกิจคือการละสุภสัญญาเป็นต้นให้สำเร็จ เป็นสติปัฏฐานที่เป็นมรรค

๒. เรามักแปลกันเป็นภาว. ว่า ความเพียร แต่นี้ท่านแลเป็นกรณ. ว่า ธรรมเป็นเหตุเพียร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 222

มิให้เกิดขึ้นแห่งอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วและที่ยังมิได้เกิดขึ้น และ

ยังกิจคือให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ (มิให้เสื่อมไป) แห่งกุศลทั้งหลายที่ยังมิได้

เกิดและเกิดแล้วให้สำเร็จ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สัมมัปปธาน ๔

[อรรถแห่งอิทธิบาท]

คุณชาติชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถคือสำเร็จ (บังเกิดผล) ซึ่งกล่าว

แล้วในกาลก่อน (คือในอิทธิวิธนิเทศ) ธรรมใดเป็นบาทแห่งอิทธิ

โดยอรรถคือเป็นหัวหน้า (คือเป็นอธิบดี) แห่งสัมปยุตธรรมของอิทธิ

นั้น และโดยอรรถคือเป็นเหตุส่วนเบื้องต้น๑แห่งอิทธิที่เป็นผล เหตุนี้

ธรรมนั้นจึงชื่ออิทธิบาท อิทธิบาทนั้นมีวิภาคเป็น ๔ ด้วยอำนาจธรรม

(ที่เป็นบาท) มีฉันทะเป็นต้น เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อิทธิบาท ๔

ดังบาลีว่า "จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ฉนฺทิทฺธิปาโท วิริยิทฺธิปาโท

จิตฺติทฺธิปาโท วีมํสิทฺธิปาโท-อิทธิบาท ๔ คือ อิทธิบาทคือฉันทะ

อิทธิบาทคือวิริยะ อิทธิบาทคืออจิตตะ อิทธิบาทคือวีมังสา"๒ ดังนี้

ธรรมมีฉันทะเป็นต้น (ตามที่กล่าวมา) เหล่านี้เป็นโลกุตระแท้ ส่วนที่

เป็นโลกิยะ แม้เป็นธรรม (เช่นผัสสะ) ที่ได้ด้วยอำนาจฉันทาธิบดี

เป็นต้น ก็นับเป็นอิทธิบาท โดยบาลีว่า "หากภิกษุทำฉันทะให้เป็น

อธิบดี ได้สมาธิได้ความที่จิตอารมณ์เป็นหนึ่งไซร้ นี้เรียกว่าฉันท-

สมาธิ"๓ ดังนี้เป็นอาทิ

๑. ปุพฺพภาคกรณฏฺเฐน ปาฐะมหาฎีกาเป็นต้น...การณฏฺเฐน เข้าที่กว่า

๒. อภิ. วิ. ๓๕/๓๐๑

๓. อภิ. วิ. ๓๕,๒๙๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 223

[อรรถแห่งอินทรีย์และพละ]

ธรรมชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถคือความเป็นใหญ่ได้แก่ครอบ

งำ (อกุศล) ได้ เหตุครอบงำเสียซึ่งอสัทธิยะ (ความไม่เชื่อ) โกสัชชะ

(ความเกียจคร้าน) ปมาทะ (ความขาดสติ) วิกเขปะ (ความฟุ้งซ่าน)

และสัมโมหะ (ความหลงไม่รู้จริง) อนึ่ง ธรรมชื่อพละ เพราะอรรถ

คือไม่พึงหวั่นไหว เหตุอกุศลมีอสัทธิยะเป็นต้นไม่พึงครอบงำได้ ทั้ง

๒ อย่างนั้นมีวิภาคเป็น ๕ ด้วยอำนาจธรรมมีศรัทธาเป็นอาทิ เหตุนั้น

ท่านจึงกล่าวว่า อินทรีย์ ๕ พละ ๕

[อรรถแห่งโพชฌงค์และองค์มรรค]

ธรรม ๗ สติเป็นต้น ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งสัตว์

ผู้ตรัสรู้ (อริยสัจ ๔) อนึ่ง ธรรม ๘ มีสัมมาทิฏฐเป็นต้น ชื่อว่าเป็น

องค์มรรค เพราะอรรถคือเป็นนิยยานิกะ (นำออกจากสังสารวัฏ)

เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

[โพธิปักขิยธรรมมีในจิตต่าง ๆ กันและในจิตดวงเดียว]

โพธิปักขิกยธรรม ๓๗ ดังกล่าวมานี้ ย่อมมีได้ในจิตต่าง ๆ ใน

บุพภาคดังนี้ คือ เมื่อโลกิยวิปัสนาเป็นไปอยู่ กายานุปัสนาสติปัฏบาน

ย่อมมีแก่พระโยคาวจรผู้กำหนดกายด้วยอาการ ๑๔ เวทนานุปัสนาสติ-

ปัฏฐานย่อมมีแก่ผู้กำหนดเวทนาด้วยอาการ ๙ จิตตานุปัสนาสติปัฏฐานย่อม

ย่อมมีแก่ผู้กำหนดจิตด้วยอาการ ๑๖ และธัมมานุปัสนาสติปัฏฐานย่อม

มีแก่ผู้กำหนดธรรมทั้งหลายด้วยอาการ ๕ สัมมัปปธานาที่ ๑ ย่อมมีใน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 224

กาลที่เห็นอกุศลที่ไม่เคยเกิด (แก่ตน) ในอัตภาพนี้ (แต่) เกิดแก่ผู้อื่น

จึงคิดว่า "อกุศลนั่นเกิดแก่ผู้อื่นที่ปฏิบัติอย่างใด เราจักไม่ปฏิบัติอย่าง

นั้น เมื่อเป็นดังนั้นมันก็จักไม่เกิดขึ้นแก่เรา" ดังนี้ แล้วพยายามเพื่อ

มิให้อกุศลนั้นเกิดขึ้น สัมมัปปธานที่ ๒ ย่อมมีในกาลที่เห็นอกุศลที่ถึง

กับเกิดขึ้นแก่ตนแล้วพยายามละอกุศลนั้นเสีย สัมมัปปธานที่ ๓ ย่อมมี

แก่ผู้พยายามเพื่อยังฌานหรือวิปัสนาก็ตาม อันยังไม่เคยเกิดในอัตภาพนี้

ให้เกิดขึ้น สัมมัปปธานที่ ๔ ย่อมมีแก่ผู้ยังฌานหรือวิปัสนาที่เกิดขึ้น

แล้ว ให้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ โดยที่ไม่เสื่อมไปเสีย อิทธิบาทมีฉันทิท-

ธิบาทเป็นอาทิ ย่อมมีในกาลที่ทำอิทธิบาทมีฉัททิทธิบาทเป็นต้นนั้น ๆ

ให้เป็นธุระยังกุศลให้เกิดขึ้น สัมมาวาจาเป็นต้นย่อมมีในการที่เว้นจาก

มิจฉาวาจาเป็นต้น (นี้ โพธิปักขิยธรรมมีใจจิตต่าง ๆ) แต่ในกาลที่

ญาณ ๔ นี้ (มีโสดาปัตติมรรคญาณเป็นต้น) เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้น

ย่อมมีใจจิตดวงเดียว เว้นสัมมัปปธาน ๔ ที่เหลือ ๓๓ ย่อมมีในขณะ

แห่งผลจิต ก็แลในธรรมเหล่านั้นอันมีในจิตดวงเดียวอย่างนี้ สติอันมี

พระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็อันเดียวนั่นแหละ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔

ก็โดยที่ยังกิจคือการละสุภสัญญาเป็นต้น ในอารมณ์มีกายเป็นต้นให้สำเร็จ

วิริยะก็อันเดียวนั่นแหละ ท่านเรียกว่าสัมมัปปธาน ๔ ก็โดยที่ทำกิจมี

ยังอกุศลทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดมิให้เกิดขึ้นเป็นต้นให้สำเร็จ แต่ในส่วนที่

เหลือ (๕ มีอิทธิบาทเป็นต้น) การลด (โดยสังเขปเข้า ดังที่สังเขป

เรียกว่า สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน) และการเพิ่ม (โดยวิภาคออกไป

ดังจำแนกเป็นกายานุปัสนาเป็นต้น) หามีไม่

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 225

[วิภาคโพธิปักขิยธรรมเป็น ๖ ประการ]

อีกวิภาคหนึ่ง ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั้น

ธรรมทั้งหลายนั้นเป็น ๖ ประการ คือ ธรรม ๙

เป็นอย่างเดียว ธรรมอันเดียวเป็น ๒ อย่าง อนึ่ง

ธรรมอันเดียวเป็น ๔ อย่าง เป็น ๕ อย่าง เป็น ๘

อย่าง และเป็น ๙ อย่าง

ข้อว่า "ธรรม ๙ อย่างเป็นอย่างเดียว" อธิบายว่า ธรรม ๙ นี้คือ

ฉันทะ จิตตะ ปีติ ปัสสัทธิ อุเบกขา สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ

อาชีวะ เป็นอย่างเดียวกันเท่านั้น โดยที่ (ฉันทะก็) เป็นฉันทิทธิบาท

(อย่างเดียว) เป็นต้น ไม่สมาคมส่วนอื่น (คือไม่เป็นอย่างอื่นอีก)

ข้อว่า "ธรรมอันเดียวเป็น ๒ อย่าง" ได้แก่ศรัทธาตั้งอยู่เป็น ๒

อย่าง โดยเป็นอินทรีย์ และพละ

ข้อว่า "อนึ่ง ธรรมอันเดียวเป็น ๔ อย่าง เป็น ๕ อย่าง " หมาย

ความว่า อนึ่ง ธรรมอันเดียวอันหนึ่ง ตั้งอยู่เป็น ๔ อย่าง อีกอันหนึ่ง

ตั้งอยู่เป็น ๕ อย่าง ใน ๒ อย่างนั้น สมาธิอันเดียวตั้งอยู่เป็น ๔ อย่าง

โดยเป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นโพชฌงค์ และเป็นองค์มรรค ปัญญา

(อันเดียว) ตั้งอยู่เป็น ๕ อย่าง โดยเป็น ๔ อย่าง (ที่กล่าวแล้ว) นั้น

และเป็นส่วน (หนึ่ง) แห่งอิทธิบาท*

ข้อว่า "ธรรมอันเดียวเป็น ๘ อย่าง และเป็น ๙ อย่าง" หมาย

* ปัญญาเป็นโพชฌงค์ คงหมายเอาอุเบกขา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 226

ความว่า ธรรมอันเดียวอีกอันหนึ่ง ตั้งอยู่เป็น ๘ อย่าง อันหนึ่งตั้งอยู่

เป็น ๙ อย่าง คือสติตั้งอยู่เป็น ๘ อย่าง โดยเป็นสติปัฏฐาน ๔ และ

เป็นอินทรีย์ พละ โพชฌงค์ องค์มรรค วิริยะตั้งอยู่เป็น ๙ อย่าง

โดยเป็นสัมมัปปธาน ๔ และเป็นอิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์

องค์มรรค แล

โดยนัยที่กล่าวมานี้

โพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น ที่ไม่เจือปนกัน

มี ๑๔ เท่านั้น (ว่า) โดยส่วนเป็น ๗ (ว่า)

โดยประเภทมี ๓๗ ธรรมเหล่านั้นทั้งสิ้น

ด้วยกัน ย่อมมีพร้อมในขณะอริยมรรคเกิด

โดย (ต่าง) ทำกิจของตน ๆ ให้สำเร็จ และ

โดยเป็นไปอย่างมีรูปเสมอกัน (คือเป็น

ธรรมสามัคคี) ด้วย แล

ความ (ที่มรรค) มีโพธิปักขิยธรรมบริบูรณ์ในญาณทัสนาวิสุทธินี้ พึง

ทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

[วุฏฐานะและพลสมาโยค]

บทว่า "วุฏฐานพลสมาโยค" แปลว่า "วุฏฐานะ (ความออก)

และพลสมาโยค (ความประกอบพร้อมด้วยพละ)"

[วุฏฐานะ]

เหตุว่า โลกิยวิปัสนา ยังมิได้ออกจากนิมิต เพราะยังมีนิมิต (คือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 227

สังขาร) เป็นอารมณ์ และยังมิได้ออกจากปวัตตะ (ความหมุนไป)

เพราะยังตัดสมุทัยอันเป็นเหตุแห่ปวัตตะไม่ขาด โคตรภูญาณ ก็ยัง

มิได้ออกจากปวัตตะ เพราะยังตัดสมุทัยไม่ขาด แต่ว่าออกจากนิมิตได้

เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เหตุนี้ โคตรภูญาณนั้น จึงเป็น

เอกโตวุฏฐาน (ออกส่วนเดียว) เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ (ใน

ปฏิสัมภิทาวรรค) ว่า "ปัญญาในอันหมุนกลับ ด้วยออกจากอารมณ์

ภายนอก เป็นโคตรภูญาณ๑" อย่างเดียวกันนั้น คำบาลีทั้งปวง

เป็นต้นว่า "เพราะหมุนกลับจากความเกิดขึ้น แล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น

จึงชื่อ โคตรภู เพราะหมุนกลับจากปวัตตะ..."๒ดังนี้ ก็ควรทราบ

ด้วย

ส่วนญาณทั้ง ๔ นี้ ชื่อว่า ออกจากนิมิตได้ เพราะมิได้มีนิมิต

เป็นอารมณ์ ชื่อว่าออกจากปวัตตะได้ เพราะตัดสมุทัยขาด เหตุนี้

ญาณทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นทุภโตวุฏฐาน๓ (ออกทั้ง ๒ ส่วน) เพราะฉะนั้น

ออกาจากส่วนทั้งสอน๓ เป็นญาณในมรรค เป็นไฉน ? ในขณะแห่ง

โสดาปัตติมรรค ธรรมชื่อสัมมาทิฏฐิ โดยอรรถคือความเห็น (อริยสัจ)

ย่อมออกจากมิจฉาทิฏฐิ ย่อมออกจากกิเลสทั้งหลายที่เป็นไปตาม

มิจฉาทิฏฐินั้น และจากขันธ์ทั้งหลายที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นด้วย

๑-๒. ขุ. ๓๑/๙๕

๑. มหาฎีกาว่า ทุภโต ก็คืออุภโต ลง ท. อาคม หรือมิฉะนั้น ก็ทุภศัพท์ นั่นเอง เป็นศัพท์แปลก

ไปอีกศัพท์หนึ่ง มีอรรถเสมอด้วยอภุยศัพท์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 228

ทั้งออกจากนิมิตทั้งปวงในภายนอกด้วย เหตุนั้น จึงได้กล่าวว่า

"ปัญญาในอันหมุนกลับด้วยออกจากส่วนทั้ง ๒ เป็นญาณในมรรค"

ธรรมชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ โดยอรรถคือความปัก (จิต) ลงไปเฉพาะ*

(ในกุศลวิตก ?) ย่อมออกจากมิจฉาสังกัปปะ... ธรรมชื่อสัมมาวาจา

โดยอรรถคือความถูกต้อง (แห่งวาจา) ย่อมออกจากมิจฉาวาจา...

ธรรมชื่อ สัมมากัมมันตะ โดยอรรถคือความตั้งขึ้นดี (แห่งการงาน)

ย่อมออกจากมิจฉากัมมันตะ... ธรรมชื่อสัมมาอาชีวะ โดยอรรถคือ

ความสะอาด (แห่งอาชีพ) ย่อมออกจากมิจฉาอาชีวะ... ธรรมชื่อ

สัมมาวายามะ โดยอรรถคือความประคอง (จิต) ไว้ ย่อมออกจาก

มิจฉาวายามะ... ธรรมชื่อสัมมาสติ โดยอรรถคือความตั้งมั่น (แห่

สติ) ย่อมออกจากมิจฉาสติ... ธรรมชื่อว่าสัมมาสมาธิ โดยอรรถคือ

ความไม่ซัดส่ายไป (แห่งจิต) ย่อมออกจากมิจฉาสมาธิ ย่อมออกจาก

กิเลสทั้งหลายที่เป็นไปตามิจฉาสมาธินั้น และจากขันธ์ทั้งหลายที่เป็น

ไปตามมิจฉาสมาธินั้นด้วย ทั้งออกจากนิมิตทั้งปวงในภายนอกด้วย

เหตุนั้น จึงได้กล่าวว่า "ปัญญาในอันหมุนกลับด้วยออกจากส่วนทั้ง ๒

เป็นญาณในมรรค"

ในขณะแห่งสกทาคามิมรรค ธรรมชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ โดยอรรถคือ

ความเห็น (อริยสัจ)... ธรรมชื่อสัมมาสมาธิ โดยอรรถคือความ

* นิโรปน แปลกันว่า "ยกขึ้น" โดยมาก (เช่นในคำว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์) แต่น่าคิด

นิ. อุปสัคใช้ในความว่า "ลง" ไฉนจึงกลายเป็น "ขึ้น" อาโรปน แปลว่ายกขึ้น ก็มีอยู่แล้วและ

ชอบแล้ว ในที่นี้แปล นิโรปน ว่าปักลง ตามที่เป็นว่าถูก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 229

ไม่ซัดส่ายไป (แห่งจิต) ย่อมออกจากามราคสังโยชน์ที่หยาบ จาก

ปฏิฆสังโยชน์ที่หยาบ จากกามราคานุสัยที่หยาบ จากปฏิฆานุสัยที่หยาบ

... ในขณะแห่งอนาคามิมรรค ธรรมชื่อสัมมาทิฏฐิ โดยอรรถคือ

ความเห็น (อริยสัจ)... ธรรมชื่อสัมมาสมาธิ โดยอรรถคือความไม่

ซัดส่ายไป (แห่งจิต) ย่อมออกจากกามราคสังโยชน์ที่ละเอียด จาก

ปฏิฆสังโยชน์ที่ละเอียด จากกามราคานุสัยที่ละเอียด จากปฏิฆานุสัย

ที่ละเอียด... ในขณะแห่งอรหัตมรรค ธรรมชื่อสัมมาทิฏฐิ โดย

อรรถคือความเห็น (อริยสัจ)... ธรรมชื่อสัมมาสมาธิ โดยอรรถ

คือความไม่ซัดส่ายไป (แห่งจิต) ย่อมออกจากรูปราคะ จากอรูปราคะ

จากมานะ จากอุทธัจจะ จากอวิชชา จากมานานุสัย จากภวราคนุสัย

จากอวิชชานุสัย ย่อมออกจากกิเลสทั้งหลายที่เป็นไปตามอวิชชานุสัยนั้น

และจากขันธ์ทั้งหลายที่เป็นไปตามอวิชชานุสัยนั้นด้วย ทั้งออกจากนิมิต

ทั้งปวงในภายนอกด้วย เพราะเหตุนั้น จึงได้กล่าวว่า "ปัญญาในอัน

หมุนอันด้วยออกจากส่วนทั้ง ๒ เป็นญาณในมรรค *" ดังนี้

[พลสมาโยค]

ก็ในกาลที่บำเพ็ญสมาบัติ ๘ อันเป็นโลกิยะ สมถพละย่อมมี

กำลังยิ่ง ในกาลที่บำเพ็ญวิปัสนามีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น วิปัสนาพละ

ย่อมมีกำลังยิ่ง แต่ในขณะแห่งมรรค ธรรม (ทั้ง ๒ ) นั้น ชื่อว่า

เข้าคู่กันเป็นไป (ดุจคู่แอก) เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปเกินกันและกัน

๑. ขุ. ป. ๓๑/๙๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 230

เหตุนั้น พลสมาโยคทั้ง ๒ จึงมีอยู่ในญาณทั้ง ๔ นี้ ดังบาลีว่า

"เมื่อมรรคออกจากกิเลสทั้งหลายที่สหรคตกับอุทธัจจะ และจากขันธ์

ทั้งหลาย สมาธิ คือความมีอารมณ์เป็นหนึ่งแห่งจิต ความไม่ซัดส่าย

ไปแห่งจิต ย่อมมีนิโรธเป็นโคจร (คือมีนิพพานเป็นอารมณ์) เมื่อ

มรรคออกจากกิเลสทั้งหลายที่สหรคตกับอวิชชา และจากขันธ์ทั้งหลาย

วิปัสนา โดยอรรถคือความพิจารณาเห็น (ตามเป็นจริง) ก็มีนิโรธเป็น

โคจร (คือมีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน) ดังนี้ สมถะ และวิปัสนา

จึงเป็นธรรมมีรสเป็นอันเดียวกัน (คือมีกิจเสมอกัน) โดยความหมาย

ว่าออก (จากนิมิต และปวัตตะด้วยกัน) เป็นธรรมเข้าคู่กัน ไม่

เป็นไปเกินกันและกันแล เหตุนั้น จึงได้กล่าวว่า "พระโยคาวจรเจริญ

สมถะและวิปัสนาให้เข้าคู่กัน โดยความคือออก (จากนิมิตและปวัตตะ

ด้วยกัน)*"

วุฏฐานะ และพลสมาโยค ในญาณทัสนวิสุทธินี้ พึงทราบ

ดังกล่าวมาฉะนี้

[ปหานะ]

ข้อว่า "และควรทราบการละธรรมทั้งหลาย ที่ญาณไรพึงละ"

ความว่า ก็แลธรรม (คือกิเลส) เหล่าใด อันญาณไรในญาณ ๔ นี้

จะพึงละ ควรทราบการละธรรม (คือกิเลส) เหล่านั้นด้วย ก็ญาณ

ทั้ง ๔ นั่น เป็นเจ้าหน้าที่ละธรรมทั้งหลาย ที่เรียกว่า สังโยชน์ กิเลส

มิจฉัตตะ โลกธรรม มัจฉริยะ วิปลาส คัณฐะ อคติ อาสวะ โมฆะ

* ขุ. ป. ๓๑/๔๔๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 231

โยคะ นีวรณ์ ปรามาศ อุปาทาน อนุสัย มละ อกุศลกรรมบถ และ

อกุศลจิตตุบาท ตามควรแก่โยคะ

[สังโยชน์]

ในธรรมเหล่านั้น ธรรม ๑๐ มีรูปราคะเป็นต้น เรียกว่า สังโยชน์

เพราะเป็นธรรมผูกขันธ์ทั้งหลาย (ในปรโลก) ไว้กับขันธ์ทั้งหลาย (ใน

อิธโลก) ผูกกรรมไว้กับผล หรือผูกสัตว์ทั้งหลายไว้กับทุกข์ จริงอยู่

ธรรมมีรูปราคะเป็นต้นนั้น ยังมีอยู่ตราบใด ขันธ์ ผล และทุกข์ทั้งหลาย

นั่น ก็ยังไม่ขาดไปตราบนั้นแล ในธรรม ๑๐ นั้นเล่า ธรรม ๕ นี้

คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์

เพราะผูกขันธ์ที่เกิดในเบื้องสูง (คือในรูปภพและอรูปภพ) เป็นต้น

ไว้ ธรรม ๕ นี้ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ

ปฏิฆะ ชื่ออโธภาคิยสังโยชน์ เพราะผูกขันธ์ที่เกิดในเบื้องต่ำ (คือใน

กามภพ) เป็นต้นไว้

[กิเลส]

ธรรม ๑๐ นี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา

ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ชื่อว่า กิเลส เพราะตัวมันเอง

ก็เศร้าหมอง และเพราะมันยังทำสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เศร้าหมองด้วย

[มิจฉัตตะ]

ธรรม ๘ นี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉา-

กัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ หรือ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 232

เป็น ๑๐ ทั้งมิจฉาวิมุติและมิจฉาญาณะ๑ ชื่อมิจฉัตตะ เพราะเป็นไปผิด

[โลกธรรม]

ธรรม ๘ นี้ คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา

สรรเสริญ ชื่อว่า โลกธรรม เพราะเป็นธรรมที่เมื่อความเป็นไปแห่ง

โลก (คือขันธ์) มีอยู่ ก็มีไม่ขาดสาย แต่คำว่าโลกธรรมในที่นี้นั้น

พึงทราบว่า ท่านทำความถือเอาความยินดีอันมีอิฏฐารมณ์มีลาภเป็นต้น

เป็นที่ตั้ง และความยินร้ายอันมีอนิฏฐารมณ์มีเสื่อมลาภเป็นต้นเป็นที่ตั้ง

ด้วยโลกธัมมศัพท์ โดยอุปจารแห่งเหตุ (คือโดยเกี่ยวข้องเป็นเหตุ๒)

[มัจฉริยะ]

ความตระหนี่ ๕ นี้ คือ ตระหนี่อาวาส ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่

ลาภ ตระหนี่ธรรม ตระหนี่วรรณะ อันเป็นไปโดยอาการทนไม่ได้

ซึ่งความ (ที่ของ ๆ ตน) เป็นของสาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น ในอาวาส

เป็นต้น ชื่อว่า มัจฉริยะ

[วิปลาส]

วิปาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส (สำคัญคลาดเคลื่อน) จิตตวิปลาส

(คิดคลาดเคลื่อน) ทิฏฐิวิปลาส (เห็นคลาดเคลื่อน) ซึ่งเป็นไปโดย

๑. เราเรียกกันมา เรียงมิจฉาญาณะไว้หน้ามิจฉาวิมุติ

๒. เพราะฉะนั้น คำว่าละโลกธรรม ก็หมายความว่าละความยินดียินร้าย อันมีโลกธรรมเป็นเหตุ

ไม่ใช่ละตัวโลกธรรม

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 233

สำคัญคิดเห็น ดังนี้ ว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นอัตตา ว่างาม ในวัตถุ

ทั้งหลายอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ชื่อว่าวิปลาส

[คัณฐะ]

สังกิเลสิกธรรม ๔ มีอภิชฌาเป็นต้น ชื่อว่า คัณฐะ เพราะ

ร้อยรัดนามกายและรูปกายไว้ จริงอย่างนั้น สังกิเลสิกธรรมเหล่านั้น

ท่านกล่าวไว้ ดังนี้ว่า "อภิชฌาเป็นกายคัณฐะ พยาบาทเป็นกายาคัณฐะ

สีลัพพตปรามาสเป็นกายคัณฐะ อิทิสัจจาภินิเวส (ความยึดมั่นว่า

นี่แหละจริง) เป็นกายคัณฐะ"*

[อคติ]

คำว่า อคติ เป็นคำเรียกการทำสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ทำสิ่งที่

ควรทำ เพราะความรัก ความชัง ความเขลา ความกลัว จริงอยู่

การทำสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ทำสิ่งที่ควรทำนั้น ท่านเรียกว่า อคติ

เพราะเป็นการที่อริยบุคคลไม่พึงดำเนิน

[อาสวะ โอฆะ โยคะ]

คำว่า "อาสวะ" นั่น เป็นคำเรียกกามราคะ ภวราคะ มิจฉาทิฏฐิ

และอวิชชา เพราะไหลแต่ "อา" คือโคตรภู (ลงมา) โดยทางอารมณ์

และแต่ "อา" คือภวัคคะ (ภพสูงสุด) โดยทางโอกาส (คือที่เกิด

นัยหนึ่ง เพราะไหลทางทวารทั้งหลายที่ไม่สำรวม โดยอรรถ คือ

ไหลออกเป็นนิจ ดุจน้ำไหลออกจากหม้อทะลุ นัยหนึ่ง เพราะเป็น

* อภิ. วิ. ๓๕/๕๐๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 234

เหตุก่อเกิดสังสารทุกข์*

แม้คำว่า "โอฆะ" ก็เป็นคำเรียกธรรมมีกามราคะเป็นต้นเหล่า

นั้นแหละ เพราะอรรถว่า คร่าไปในสาครคือภพ และเพราะอรรถว่า

ข้ามพ้นได้ยาก

คำว่า "โยคะ" เล่า ก็เป็นคำเรียกธรรมเหล่านั้นเหมือนกัน

เพราไม่ให้พรากจากอารมณ์ และพรากจากทุกข์ไปได้

[นีวรณ์]

ธรรม ๕ มีกามฉันท์เป็นต้น เรียกว่า นีวรณ์ เพราะอรรถคือ

กั้นจิตไว้ กีดจิตไว้ ปิดบังจิตไว้

[ปรามาส]

คำว่า "ปรามาส" นั่น เป็นคำเรียกความเห็นผิด เพราะเป็นไป

โดยการก้าวล่วงซึ่งสภาวะแห่งธรรมนั้น ๆ เสีย แล้วไปคว้าเอาสภาวะ

ที่ไม่จริงอย่างอื่นเข้า

[อุปาทาน]

คำว่า อุปาทาน ก็ได้แก่อุปาทาน ๔ มีกามุปาทานเป็นต้น ที่กล่าว

ในปฏิจสมุบาทนิเทศโดยอาการทั้งปวง

* อาสวะ เราไม่เคยแปลกันแบบนี้ เรายึดอาสวะที่หมายถึงน้ำดอง คือเมรัย แล้วก็แปลกันแต่

โดยความว่า กิเลสที่ดองอยู่ในสันดาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 235

[อนุสัย]

ธรรม ๗ มีกามาราคะเป็นต้น ที่กล่าวไว้ดังนี้ว่า "อนุสัยคือ

กามราคะ อนุสัยคือปฏิฆะ อนุสัยคือมานะ อนุสัยคือทิฏฐิ อนุสัยคือ

วิจิกิจฉา อนุสัยคือภวราคะ อนุสัยคืออวิชชา" ชื่อว่า อนุสัย เพราะ

อรรถว่า เรี่ยวแรง จริงอยู่ ธรรมเหล่านั้น เพราะความที่เรี่ยวแรง

จึงนอนเนื่องอยู่ (คือนอนประจำคอยทีอยู่ ?) โดยที่กามราคะเป็นต้น

เป็นอุบัติเหตุเนือง ๆ ทีเดียว เหตุนี้ จึงได้อนุสัย*

[มละ]

ธรรม ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะ ชื่อว่า มละ (มลทิน) เพราะ

ตัวเองก็ไม่สะอาดด้วย เพราะทำความไม่สะอาดแก่ธรรมอื่น ๆด้วย

เหมือนน้ำมัน ยาหยอดตา และเปือกตม

[อกุศลกรรมบถ]

ธรรม ๑๐ นี้ คือ ปาณาติบาต อทินนทาน กาเมสุมิจฉาจาร

มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลานะ อภิชฌา พยาบาท

มิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าอกุศลกรรมบถ เพราะเป็นอกุศลกรรมด้วย เพราะ

เป็นทางแห่งทุคติทั้งหลายด้วย

* อนุสัย ที่ว่าเรี่ยวแรง (ถามคต) นั้น อธิบายของมหาฎีกาท่านว่า "อนญฺญสาธารโณ

กามราคมทีนํ สภาโว-สภาพของกามราคะเป็นต้น เป็นอนัญสาธารณ์ (คือเป็นพิเศษ ไม่ทั่วไปแก่

ธรรมอื่น ?) ก็ไม่ชัดว่าอย่างไร แต่ควรทราบไว้ด้วยว่า อนุอุปสัค นอกจากเป็นไปในอรรถว่า

เนือง ๆ แล้ว ยังเป็นไปในอรรถว่า ยิ่ง ก็ได้ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 236

[อกุศลจิตตุบาท]

ธรรม ๑๒ นี้ คือธรรมเป็นโลภมูล ๘ โทสมูล ๒ โมหมูล ๒

ชื่อว่า อกุศลจิตตุบาท

ญาณ ๔ นั่น เป็นเจ้าหน้าที่ละธรรมทั้งหลาย มีสังโยชน์เป็น

อาทินี่ ดังกล่าวมา ตามควรแก่โยคะ

[ญาณไหนละอะไร]

ละอย่างไร ? ว่าในสังโยชน์ทั้งหลายก่อน ธรรม ๕ นี่ คือ

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และกามราคะ ปฏิฆะ ที่เป็น

อปายคมนียะ (คือเป็นฐานในอบาย) เป็นธรรมอันปฐมญาณพึงกำจัด

กามราคะ ปฏิฆะ ที่เหลือ (คือที่ไม่เป็นอปายคมนียะ) ส่วนที่หยาบ

เป็นธรรมอันทุติยญาณพึงกำจัด ส่วนที่ละเอียด เป็นธรรมอันตติยญาณ

พึงกำจัด ธรรมมีรูปราคะเป็นต้นทั้ง ๕ เป็นธรรมอันจตุตถญาณพึง

กำจัดอย่างเดียว

ต่อไปนี้ ในที่ใด ข้าพเจ้าจักไม่ทำการจำกัด (ความ) ไว้ด้วย

เอวศัพท์ (คือคำว่าอย่างเดียว) ในที่นั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวธรรมใด ๆ

ว่าเป็นธรรมที่ญาณเบื้องสูงพึงกำจัด ธรรมนั้น ๆ ก็พึงทราบเถิดว่าเป็น

ธรรมที่มีความเป็นอปายคมนียะเป็นต้น อันญาณต้น ๆ กำจัดแล้วแหละ

จึงเป็นธรรมที่ญาณเบื้องสูงพึงกำจัด

ในกิเลสทั้งหลาย ทิฏฐิ วิจิกิจฉา เป็นธรรมอันปฐมญาณพึง

กำจัด โทสะ เป็นธรรมอันตติยญาณพึงกำจัด โลภะ โมหะ มานะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 237

ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อันจตุตถญาณพึงกำจัด

ในมิจฉัตตะทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มุสาวาท

มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ เป็นธรรมอันปฐมญาณพึงกำจัด ธรรม

เหล่านี้ คือ มิจฉาสังกัปปะ ปิสุณวาจา ผรุสวาจา อันตติยญาณพึงกำจัด

เจตนาเท่านั้น พึงทราบว่า "วาจา" ในที่นี้ สัมผัปปลาปะ มิจฉาวายามะ

มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาวิมุติ มิจฉาญาณะ อันจตุตถญาณพึงกำจัด

ในโลกธรรมทั้งหลาย ความยินร้ายเป็นธรรมอันตติยญาณพึง

กำจัด ความยินดีอันจตุตถญาณพึงกำจัด อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า

"ความยินดีในยศและในความสรรเสริญ เป็นธรรมที่จตุตถญาณพึง

กำจัด"

มัจฉริยะทั้งหลาย เป็นธรรมที่ปฐมญาณพึงกำจัดอย่างเดียว

ในวิปลาสทั้งหลาย วิปลาสเหล่านี้ คือ สัญญาวิปลาส จิตต-

วิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเป็นอัตตาในสิ่งที่เป็น

อนัตตา ก็ดี ทิฏฐิวิปลาสว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่างามในสิ่งที่

ไม่งาม ก็ดี เป็นธรรมอันปฐมญาณพึงกำจัด สัญญาวิปลาสจิตตวิปลาส

ว่างามในสิ่งที่ไม่งาม อันตติยญาณพึงกำจัด สัญญาวิปลาสจิตตวิปลาส

ว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ อันจตุตถญาณพึงกำจัด*

ในคัณฐะทั้งหลาย กายคัณฐะ คือสีลัพพตปรามาส และอิทํ-

* พึงสังเกตว่า บรรดาทิฏฐิทั้งหลาย ละด้วยปฐมญาณเท่านั้น ไม่เหลือไปถึงญาณเบื้องสูง

เพราะฉะนั้น ทิฏฐิวิปลาส ท่านจึงกล่าวเฉพาะในปฐมญาณ ส่วนในญาณต่อไป กล่าวแต่สัญญา-

วิปลาสกับจิตตวิปลาส

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 238

สัจจาภินิเวส เป็นธรรมอันปฐมญาณพึงกำจัด กายคัณฐะ คือพยาบาท

อันตติยญาณพึงกำจัด กายคัณฐะนอกนี้ (คืออภิชฌา) เป็นธรรมอัน

จตุตถญาณพึงกำจัด

อคติ เป็นธรรมที่ปฐมญาณพึงกำจัดเท่านั้น

ในอาสวะทั้งหลาย ทิฏฐาสวะ เป็นธรรมอันปฐมญาณพึงกำจัด

กามาสวะ อันตติยญาณพึงกำจัด อาสวะ ๒ นอกนี้ (คือภวาสวะ

อวิชชาสวะ) อันจตุตถญาณพึงกำจัด แม้ในโอฆะ และโยคะทั้งหลาย

ก็นัยนี้เหมือนกัน

ในนีวรณ์ทั้งหลาย วิจิกิจฉานีวรณ์ เป็นธรรมอันเป็นปฐมญาณพึง

กำจัด นีวรณ์ ๓ คือ กามฉันทะ พยาบาท กุกกุกจะ อันตติยญาณ

พึงกำจัด ถีนมิทธะ และอุทธัจจะ อันจตุตถญาณพึงกำจัด*

ปรามาส เป็นธรรมที่ปฐมญาณพึงกำจัดอย่างเดียว

ในอุปาทานทั้งหลาย แม้รูปราคะ และอรูปราคะ ก็จัดว่าตกอยู่

ในกามุปาทาน เพราะโลกิยธรรมทั้งสิ้น นับได้ว่าเป็นกาม โดยเป็น

วัตถุกาม เพราะเหตุนั้นแล กามุปาบาทนั้น จึงเป็นธรรมอันจตุตถญาณ

พึงกำจัด อุปาทานที่เหลือ อันปฐมญาณพึงกำจัด

ในอนุสัยทั้งหลาย ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย เป็นธรรมอัน

ปฐมฌานพึงกำจัด กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัย อันตติยญาณพึง

* ท่านแยกกุกกุจจะกับอุทธัจจะออกเป็นคนละชั้น ก็เพราะในอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ที่อรหัต-

มรรคพึงกำจัดนั้น มีแต่อุทธัจจะ ไม่มีกุกกุจจะ แต่ในที่นี้ว่าด้วยนีวรณ์ ถ้าแยกอย่างนั้น มิกลาย

เป็นนีวรณ์ ๖ ไปหรือ ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 239

กำจัด มานานุสัย อวิชชานุสัย อันจตุตถญาณพีงกำจัด

ในมละทั้งหลาย โทสมละ เป็นธรรมอันตติยญาณพึงกำจัด มละ

นอกนี้ (คือ โลภะ และ โมหะ) อันจตุตถญาณพึงกำจัด

ในอกุศลกรรมบถทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ ปาณาติบาต

อทินนาทาน กามสุมิจฉาจาร มุสาวาท มิจฉาทิฏฐิ เป็นธรรมอัน

ปฐมญาณพึงกำจัด ธรรม ๓ คือ ปิสุณวาจา ผรุสวาจา พยาบาท

อันตติยญาณพึงกำจัด สัมผัปปลาปะ และอภิชฌา อันจตุตถญาณพึง

กำจัด

ในอกุศลจิตตุบาททั้งหลาย อกุศลจิตตุบาท ๕ คือ ที่เป็น

ทิฏฐิสัมปยุต ๔ เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุต ๑ เป็นธรรมอันปฐมญาณพึงกำจัด

ที่เป็นปฏิฆสัมปยุต ๒ อันตติยญาณพึงกำจัด ที่เหลืออันจตุตถญาณ

พึงกำจัด แล

ก็แล สิ่งใด อันญาณใดพึงกำจัด สิ่งนั้น ก็ชื่อว่าอันญาณนั้น

พึงละ* เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า "ญาณ ๔ นั่น เป็นเจ้าหน้าที่

ละธรรมทั้งหลายมีสังโยชน์เป็นอาทินี่ ดังกล่าวมา ตามควรแก่โยคะ"

ดังนี้

[ปัญหาว่ามรรคญาณและกิเลสในกาลไหน]

ถามว่า "ก็ญาณ ๔ นั่น ละธรรมเหล่านั้นที่เป็นอดีตอนาคต

* คือความที่เป็นหัวข้อท่านใช้คำว่า "ละ" แต่ในบาลีนิเทศใช้คำว่า "ฆ่า" ในที่นี้เปลี่ยนใช้คำ

ว่า "กำจัด" เพราะคำว่า "ฆ่า" ฟังแสบหูในภาษาไทย ซึ่งทั้ง ๓ คำ ก็หมายความอย่างเดียวกัน

นั่นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 240

หรือว่าที่เป็นปัจจุบัน"

ตอบว่า "ก็ (จะพึงว่า) อย่างไร ในข้อนี้ ก่อนอื่น ผิว่าญาณ

เหล่านั้นละธรรมที่เป็นอดีตอนาคตไซร้ ความพยายามก็ต้องเป็นการ

ไม่มีผลไป เพราะอะไร เพราะธรรมที่จะพึงละทั้งหลายไม่มีอยู่ ทีนี้

ละธรรมที่เป็นปัจจุบันเล่า แม้กระนั้น ความพยายาม ก็ไม่มีผล เพราะ

ธรรมที่จะพึงละกับความพยายามยังมีอยู่ (คือพยายามละได้อย่างหนึ่ง

แล้ว ยังจะต้องพยายามละอย่างอื่น ๆ ต่อไปอีก) ทั้งมรรคภาวนา

ก็จะกลายเป็นสังกิเลสิกธรรมไป (คือไม่บริสุทธ์ เพราะสิ่งที่จะพึงละ

กับผู้ละยังคละกันอยู่ ?) หรือกลายเป็นว่ากิเลสทั้งหลายเป็นวิปยุต

(คือไม่ประกอบกับจิต) ไป อันปัจจุบันกิเลส ชื่อว่าเป็นจิตตวิปยุต

(คือไม่ประกอบกับจิต) หามีไม่"

คำโจทนี้ มิใช่เป็นคำพิเศษ (คือมิใช่คิดขึ้นใหม่) ด้วยในพระ

บาลีเองท่านก็ได้กล่าว (เป็นคำปรารภขึ้น) ว่า "บุคคลนี้นั้น ย่อมละ

กิเลสทั้งหลาย (คือ) ละกิเลสทั้งหลายที่เป็นอดีต (หรือ) ละกิเลส

ทั้งหลายที่เป็นอนาคต (หรือ) ละกิเลสทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน (หรือ)"*

และกล่าวอีก (เป็นคำวิจาร) ว่า "หากว่าละกิเลสทั้งหลายที่เป็นอดีต

ไซร้ ถ้ากระนั้น ก็ชื่อว่า ยังสิ่งที่สิ้นไปแล้วให้สิ้น ยังสิ่งที่ดับไปแล้ว

ให้ดับ สิ่งที่ปราศไปแล้วยังมาปราศไป สิ่งที่ตกไปแล้วยังมาตกไป

ละสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ (นะซิ)" แล้วจึงปฏิเสธว่า

"มิใช่ละกิเลสทั้งหลายที่เป็นอดีตดอก"*

* ขุ. ป. ๓๑/๖๐๕

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 241

และ นัยเดียวกันนั้น กล่าว (วิจาร) ว่า "หากว่าจะกิเลส

ทั้งหลายที่เป็นอนาคตไซร้ ถ้ากระนั้น ก็ชื่อว่าละสิ่งที่ยังไม่เกิด ละสิ่ง

ที่ยังไม่เผล็ด ละสิ่งที่ยังไม่อุบัติ ละสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ละสิ่งที่ยังไม่มาถึง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ (นะซิ)" แล้วจึงปฏิเสธว่า "มิใช่ละกิเลสทั้งหลาย

ที่เป็นอนาคตดอก"*

และนัยเดียวกันนั้น กล่าว (วิจาร) ว่า "หากว่าละกิเลสทั้งหลาย

ที่เป็นปัจจุบันไซร้ ถ้ากระนั้น คนกำหนัด ก็ละราคะ คนขัดเคือง

ก็ละโทสะ คนหลง ก็ละโมหะ คนหัวดื้อ ก็ละมานะ คนยึดมั่น

ก็ละทิฏฐิ คนมีจิตฟุ้งซ่านไป ก็ละอุทธัจจะ คนปลงใจไม่ตก ก็ละ

วิจิกิจฉา คนมีกิเลสเรี่ยวแรง ก็ละอนุสัย ธรรมดำกับธรรมขาว ก็

(เลย) เป็นคู่แอกกันเป็นไป มรรคภาวนาก็เป็นสังกิเลสิกธรรมไป

(นะซิ)๑" แล้วจึงปฏิเสธทั้งหมดว่า "มิใช่ละกิเลสทั้งหลายที่เป็นอดีต

มิใช่ละกิเลสทั้งหลายที่เป็นอนาคต มิใช่ละกิเลสทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน

ดอก๒" ดังนี้ ครั้นปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า "ถ้ากระนั้น (คือถ้าการละ

กิเลสใน ๓ กาล และกิเลสมี ๓ กาล ไม่ถูกต้องกระนั้น) มรรคภาวนา

ก็ชื่อว่าไม่มี การทำผลให้แจ้งก็ไม่มี การละกิเลสก็ไม่มี การตรัสรู้ธรรม

ก็ไม่มี (ละซิ) ?" ท่านรับด้วยคำว่า "มิใช่มรรคภาวนาไม่มี ฯลฯ

มิใช่การตรัสรู้ธรรมไม่มีดอก" แล้วกล่าวว่า "เปรียบเหมือนอะไร"

จึงกล่าวคำ (อุปมาอุปไมยต่อไป) นี้ว่า "อุปมาเหมือนต้นไม้รุ่น ยังไม่

๑. ขุ. ป. ๓๑/๖๐๕

๒. ข ป. ๓๑/๖๐๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 242

มีผลเกิด บุรุษตัดมันเสียที่ราก ผลเหล่าใดเป็นผลที่ยังไม่เกิดของไม้ต้น

นั้น ผลเหล่านั้นยังไม่เกิดก็เลยไม่เกิด ยังไม่เผล็ดก็เลยไม่เผล็ด ยังไม่

อุบัติก็เลยไม่อุบัติ ยังไม่ปรากฏก็เลยไม่ปรากฏ ฉันใดก็ดี อุปปาทะ

(สิ่งที่มีความเกิดคือขันธ์) เป็นเหตุ อุปปาทะเป็นปัจจัย เพื่อความเกิด

แห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะเห็นอาทีนพในอุปปาทะ จิตจึงแล่นไปใน

อนุปปาทะ (ธรรมที่ไม่มีความเกิด คือนิพพาน) เพราะจิตแล่นไป

เสียในอนุปปาทะ กิเลสเหล่าใดจะพึงเกิดเพราะปัจจัยคืออุปปาทะ

กิเลสเหล่านั้นยังไม่เกิดก็เลยไม่เกิด ฯลฯ ยังไม่ปรากฏก็เลยไม่ปรากฏ

ความดับแห่งทุกข์ ย่อมมีเพราะความดับแห่งเหตุฉะนี้

ปวัตตะ (ความหมุนไปแห่งอุปาทินกะ) เป็นเหตุ ปวัตตะเป็น

ปัจจัย... นิมิตตะ (คือสังขาร) เป็นเหตุ นิมิตตะเป็นปัจจัย...

อายูหนา (ความหมาย) เป็นเหตุ อายูหนาเป็นปัจจัย เพื่อความเกิด

แห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะเห็นอาทีนพในอายูหนา จิตจึงแล่นไปไน

อนายูหนะ (ธรรมที่ไม่มีอายูหนาคือนิพพาน) เพราะจิตแล่นไปเสีย

ในอานายูหนะ กิเลสเหล่าใดจะพึงเกิดเพราะปัจจัยคืออายูหนา กิเลส

เหล่านั้นยังไม่เกิดก็เลยไม่เกิด ฯลฯ ยังไม่ปรากฏก็เลยไม่ปรากฏ

ความดับแห่งทุกข์ ย่อมมีเพราะความดับแห่งเหตุฉะนี้ ฉันนั้นนั่นแล

มรรคภาวนา (ความเจริญมรรค) ย่อมมีอย่างนี้ ผลสัจฉิกิริยา

(ความทำผลให้แจ้ง) ย่อมมีอย่างนี้ กิเลสปหาน (ความละกิเลสได้)

ย่อมมีอย่างนี้ ธรรมาภิสมัย (ความตรัสรู้ธรรม) ย่อมมีอย่างนี้ (มิใช่

ไม่มี)*"

* ขุ. ป. ๓๑/๖๐๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 243

[ภูมิลัทธกิเลสและอุปปันนะ ๔]

ถามว่า "ด้วยคำว่า "กิเลสทั้งหลายยังไม่เกิดก็เลยไม่เกิด " เป็น

ต้นนั่น เป็นอันท่านแสดงอะไร ? ตอบว่า เป็นอันท่านแสดงการละ

กิเลสทั้งหลายที่เป็นภูมิลัทธะ -ได้ภูมิ (คือได้ที่เป็นไป) ถามว่า ก็

กิเลสทั้งหลายที่เป็นภูมิลัทธะ เป็นอดีตอนาคตหรือ หรือว่าเป็น

ปัจจุบัน ? ตอบว่า กิเลสเหล่านั้น ก็ชื่อว่าภูมิลัทธุปปันนะ - เกิดขึ้น

โดยได้ภูมิเท่านั้นเอง (มิใช่อดีต อนาคต ปัจจุบัน ?)

จริงอยู่ อุปปันนะ - สิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายประเภท โดยเป็นวัตต-

มานะ (ยังเป็นไปอยู่) เป็นภูตาปคตะ (มีแล้วปราศไป) เป็นโอกาส-

กตะ (ทำโอกาส) และเป็นภูมิลัทธะ (ได้ภูมิ)

ในอุปปันนะเหล่านั้น สิ่งที่นับได้ว่าประกอบพร้อมด้วยความ

เกิดขึ้นความทรุดโทรมและความแตกดับไปทั้งปวง ชื่อว่าวัตตมานุป-

ปันนะ-เกิดขึ้นโดยยังเป็นไปอยู่

กุศลอกุศลที่เสวยรสอารมณ์แล้วดับไป อันเรียกได้ว่า อนุภูตา-

ปคตะ-เสวยแล้วปราศไปก็ดี กุศลอกุศลอันเป็นสังขตะที่เหลือ ที่ถึง

ลักษณะ ๓ มีความเกิดขึ้นเป็นต้นโดยลำดับแล้วดับไป อันนับเป็น

ภูตากคตะ - มีแล้วปราศไปก็ดี (รวม) ได้ชื่อว่า ภูตาปคตุปปันนะ-

เกิดขึ้นโดยมีแล้วปราศไป

กรรมที่กล่าวโดยนัยว่า "กรรมทั้งหลายเหล่านั้นใด เป็นกรรม

ที่บุคคลนั้นทำไว้ในปางก่อน" ดังนี้เป็นต้น แม้เป็นกรรมอดีต ก็ชื่อ

ว่า โอกาสกตุปปันนะ-เกิดขึ้นโดยทำโอกาส เพราะห้ามวิบากอื่นแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 244

ทำโอกาสแก่วิบากของตนตั้งอยู่ และนัยเดียวกันนั้น วิบากอันมีโอกาส

ที่กรรมทำให้แล้ว แม้เป็นวิบากที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่า โอกาสกตุป-

ปันนะ- เกิดขึ้นโดยมีโอกาสที่กรรมทำให้ เพราะเมื่อโอกาสอันกรรม

ทำให้แล้วอย่างนั้นก็เป็นอันเกิดขึ้นแน่นอน

อกุศลที่ยั่งมิได้ถอนขึ้นในภูมิทั้งหลายนั้น ๆ ชื่อว่า ภูมิลัทธุป-

ปันนะ-เกิดขึ้นโดยได้ภูมิ

[ภูมิแลภูมิลัทธะต่างกัน]

อนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบความต่างกันแห่ง (คำว่า) ภูมิ แลภูมิ-

ลัทธะ ก็ปัญจขันธ์ที่เป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นอารมณ์ของวิปัสนา ชื่อ

ว่าภูมิ กิเลสชาตที่เป็นไปโดยเกิดขึ้น*ในขันธ์ทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ภูมิ-

ลัทธะ เพราะภูมินั้นนับว่าเป็นอันกิเลสชาตนั้นได้ เหตุนั้นแล กิเลส-

ชาตนั้นจึงได้เรียกว่า ภูมิลัทธะ-ได้ภูมิ

แต่ว่าภูมินั้น มิใช่ได้ด้วย (ทำให้) เป็นอารมณ์ จริงอยู่ เพราะ

ปรารภขันธ์ทั้งหลายแม้เป็นอดีตอนาคตทั้งปวง และขันธ์ของพระ

ขีณาสพทั้งหลาย แม้เป็นขันธ์ที่ท่านกำหนดรู้แล้ว โดย (ทำให้) เป็น

อารมณ์ กิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ ดุจกิเลสอันเกิดขึ้นแก่โสไรย-

เศรษฐีและนันทมาณพเป็นต้น เพราะปรารภขันธ์ของพระมหากัจจานะ

และพระอุบลวรรณาเป็นอาทิฉะนั้น อนึ่ง ผิว่า กิเลสชาต (ที่เป็น

ไปในสันดานผู้อื่น) นั้น จะพึงได้ชื่อว่าเป็นภูมิลัทธะไซร้ ใคร ๆ ก็

* อุปฺปตฺติรหํ รหํ นี้ เข้าใจว่าเป็น รห ธาตุ ในความ ถึง ไป เป็นไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 245

ไม่พึงละมูลแห่งภพได้ เพราะกิเลสชาต (ในสันดานผู้อื่น) นั้น ไม่เป็น

สิ่งที่ตนจะพึงละได้

แต่ภูมิลัทธะ-กิเลสชาตได้ภูมิ (นั้น) พึงทราบ (ว่าได้) โดย

เป็นวัตถุ (คือเป็นที่เกิด) ความว่า ขันธ์ทั้งหลายที่ยังมิได้กำหนดรู้

ด้วยวิปัสนาเกิดขึ้นในภพใด ๆ จำเดิมแต่ความเกิดขึ้น (แห่งขันธ์เหล่า

นั้น) ในภพนั้น ๆ กิเลสชาตอันเป็นมูลแห่งวัฏฏะก็นอนเนื่องอยู่ใน

ขันธ์ทั้งหลายนั้น กิเลสชาตนั้น พึงทราบว่า เป็นภูมิลัทธะ-ได้ภูมิ

โดยอรรถคือยังละไม่ได้ อนึ่ง ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นภูมินั้น กิเลส

ทั้งหลายที่นอนเนื่องอยู่โดยอรรถคือยังละไม่ได้ ในขันธ์ทั้งหลายใด

ของบุคคลใดมีอยู่ ขันธ์ทั้งหลายนั้นของ ๆ ผู้อื่นหาเป็นวัตถุไม่ อนึ่ง

อดีตขันธ์ทั้งหลายเท่านั้น เป็นวัตถุแห่งกิเลสทั้งหลายที่นอนเนื่องอยู่

โดยยังละไม่ได้ในอดีตขันธ์ทั้งหลาย ขันธ์นอกนี้หาเป็นวัตถุไม่ ใน

อนาคตขันธ์เป็นต้นก็นัยนี้ นัยเดียวกันนั้น กามาวจรขันธ์ทั้งหลาย

เท่านั้น เป็นวัตถุแห่งกิเลสทั้งหลายที่นอนเนื่องอยู่โดยยังละไม่ได้ใน

กามาวจรขันธ์ทั้งหลาย ขันธ์นอกนี้หาเป็นวัตถุไม่ ในรูปาวจรขันธ์

และอรูปาวจรขันธ์ทั้งหลายก็นัยนี้

ส่วนในพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น กิเลสชาตอันเป็น

มูลของวัฏฏะนั้น ๆ ในขันธ์ทั้งหลายของพระอริยบุคคลใด ๆ ท่านละ

ได้แล้วด้วยมรรคนั้น ๆ ขันธ์ทั้งหลายนั้น ๆ ของพระอริยบุคคลนั้น ๆ

จึงไม่ได้ชื่อว่าภูมิ เพราะไม่เป็นวัตถุแห่งกิเลสที่เป็นมูลของวัฏฏะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 246

ทั้งหลายนั้น ๆ ซึ่งท่านละได้แล้ว

เพราะกิเลสที่เป็นมูลของวัฏฏะทั้งหลาย บุถุชนยังละไม่ได้โดย

ประการทั้งปวง กรรมที่บุถุชนทำทุกอย่างจึงเป็นกุศลหรืออกุศล วัฏฏะ

ของบุถุชนนั้นย่อมหมุนไป เพราะปัจจัยคือกรรมและกิเลสดังนี้

กิเลสชาตที่เป็นมูลของวัฏฏะนั่นของบุถุชนนั้น หาควรกล่าวว่า

"มันนอนเนื่องอยู่ในรูปขันธ์เท่านั้น มิได้นอนเนื่องอยู่ในขันธ์อื่น มี

เวทนาขันธ์เป็นต้น ฯลฯ หรือว่าเป็นมันนอนเนื่องอยู่ในวิญญาณขันธ์

เท่านั้น มิได้นอนเนื่องอยู่ในขันธ์อื่นรูปในขันธ์เป็นต้น" ดังนี้ไม่

เพราะอะไร ? เพราะมันนอนเนื่องอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ โดยไม่แปลกกัน

ข้อนี้มีอุปมาอย่างไร ? อุปมาเหมือนรสดินเป็นอาทิในต้นไม้ เหมือน

อย่างว่า เมื่อต้นไม้ใหญ่ตั้งทับพื้นดิน อาศัยรสดินและรสน้ำ เพราะมี

รสดินและรสน้ำนั้นเป็นปัจจัย ก็เจริญด้วยราก ลำต้น กิ่งน้อย กิ่งใหญ่

หน่อ (หรือกระโดง) ใน ดอก และผล (จน) เต็มฟ้า สืบเชื้อสาย

ต้นไม้โดยสืบเนื่องต่อกันแห่งพืชตั้งอยู่ชั่วกัลปาวสาน รสดินเป็นต้นนั้น

หาควรกล่าวว่า "มันซาบอยู่ในรากเท่านั้น มิได้ซาบอยู่ในอวัยวะอื่น

มีลำต้นเป็นอาทิ ฯลฯ หรือว่ามันซาบอยู่ในผลเท่านั้น มีได้ซาบอยู่

ในอวัยวะอื่นมีรากเป็นต้น ดังนี้ไม่ เพราะอะไร ? เพราะมันซาบอยู่

ในอวัยวะของต้นไม้มีรากเป็นต้นทั้งหมดแล ฉันใด

อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษลางคนผู้เบื่อหน่ายในดอกและผลเป็นต้น

ของไม้ต้นนั้นนั่นแหละ พึงตอกเงี่ยพิษชื่อ มัณฑูกกัณฏกะ (เงี่ยง

กระเบน ?) เข้าทั้ง ๔ ทิศ ทีนี้ไม้ต้นนั้นถูกสัมผัสพิษนั้นต้องเอาแล้ว ก็

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 247

มาถึงซึ่งความมีอันไม่ผลิตผลเป็นธรรมดา ไม่พึงอาจยังความสืบต่อให้

เกิดได้อีก เพราะรสดินและรสน้ำสิ้นแรงเสียแล้วฉันใด กุลบุตรผู้เบื่อ

หน่ายในขันธปวัติ (ความหมุนไปแห่งขันธ์) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม

เริ่มการเจริญมรรค ๔ ขึ้นในสันดานของตน เหมือนการประกอบพิษ

เข้าในต้นไม้ทั้ง ๔ ทิศแห่งบุรุษนั้น ทีนี้ขันธสันดานนั้นของกุลบุตรนั้น

อันสัมผัสพิษคือมรรค ๔ นั้นถูกต้องเอาแล้ว ก็เป็นสันดานมีความแตก

ออกไปแห่งกรรมทั้งปวงมีกายกรรมเป็นต้น โดยเข้าถึง (คือกลายเป็น)

ภาวะสักว่ากิริยา มาถึงซึ่งความมีอันไม่เกิดในภพใหม่ต่อไปเป็นธรรมดา

ไม่อาจยังความสืบต่อไปในภพให้เกิดได้ เพราะกิเลสอันเป็นมูลของ

วัฏฏะทั้งหลายสิ้นแรงแล้วโดยประการทั้งปวง เพราะดับไปแห่งวิญญาณ

ดวงสุดท้าย ก็เป็นผู้ไม่มีเชื้อดับสนิทสิ้นเชิง ดุจไฟสิ้นเชื้อดับไปฉะนั้น

ความต่างกันแห่งภูมิและภูมิลัทธะ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

[อุปปันนะอีก ๔]

อีกนัยหนึ่ง ยังมีอุปปันนะ ๔ ประการอีกอย่างหนึ่ง โดยเป็น

สมุทาจาระ (เป็นไปอยู่) เป็นอารัมมณาธิคหิตะ (ได้อารมณ์ไว้) เป็น

อวิกขัมภิตะ (มิได้ข่มไว้) และเป็นอสมูหตะ (ยังมิได้ถอนขึ้น)

ในอุปปันนะ ๔ นั้น สมุทาจารุปปันนะ-เกิดขึ้นโดยเป็นไปอยู่

ก็คือวัตตมานุปปันนะ (ในนัยก่อน) นั่นเอง

ส่วนว่ากิเลสชาต ที่แม้ยังไม่เกิดขึ้นในเพราะอารมณ์ที่มาสู่คลอง

ทวารมีจักษุเป็นต้นในตอนแรก ก็เรียกได้ว่าอารัมมณาธิตหิตุปปันนะ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 248

เกิดขึ้นโดยได้อารมณ์ไว้ เพราะเหตุที่ได้อารมณ์ไว้นั่นเอง มันจะ

เกิดขึ้นเป็นแน่ในตอนหลัง ดุจกิเลสชาตที่เกิดขึ้นแก่พระมหาติสสเถระ

ผู้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในหมู่บ้านกัลยาณคาม* เพราะเห็นรูปที่เป็นวิสภาค

เข้าฉะนั้น

กิเลสชาตที่มิได้ข่มได้ด้วยอำนาจสมถะและวิปัสนาอย่างใดอย่าง

หนึ่ง แม้ยังมิได้ขึ้นสู่จิตตสันตติ ก็ได้ชื่อว่าอวิกขัมภิตุปปันนะ-เกิด

ขึ้นโดยมิได้ข่มไว้ เพราะไม่มีเหตุที่จะป้องกันความเกิดขึ้น (ของมันได้)

แต่แม้ข่มได้ด้วยอำนาจสมถะและวิปัสนาแล้ว ก็เรียกได้ว่า

อสมูหตุปปันนะ-เกิดขึ้นโดยยังมิได้ถอนขึ้น เพราะเหตุที่ยังมิได้ถอน

ขึ้นด้วยอริยมรรค ก็ยังไม่ล่วงความมีอันเกิดเป็นธรรมดาไปได้ ดุจ

กิเลสชาตที่เกิดขึ้นแก่พระเถระผู้ได้สมาบัติ ๘ ซึ่งกำลัง (เหาะ) ไปทาง

อากาศ เพราะได้ยินเสียงขับร้องของมาตุคามผู้เก็บดอกไม้อยู่ที่ต้นไม้-

ดอกในป่าใกล้ (บ้า) พลางร้องเพลงด้วยเสียงอันไพเราะอยู่ฉะนั้น

อันอารัมมณาธิคหิตุปปันนะ อวิกขัมภิตุปปันนะ และอสมูห-

ตุปปันนะ ทั้ง ๓ ประการนั่น พึงทราบว่าถึงซึ่งความสงเคราะห์ (คือ

รวมเข้าได้) กับภูมิลัทธะนั่นเอง ในอุปปันนะมีประเภทดังกล่าวมาดัง

นี้นั้น อัปปันนะ ๔ ประการ กล่าวคือ วัตตมานุปปันนะ ภูตาปคตุป-

ปันนะ โอกาสกตุปปันนะ สมุทาจารุปปันนะ นั่นใด อุปปันนะ ๔

นั้น หาเป็นสิ่งที่ญาณอะไรสักอย่างจะพึงละไม่ เพราะมิใช่สิ่งที่มรรค

* ฉบับพม่าเป็น กัลยาณิคาม มหาฎีกาว่า หมู่บ้านนั้นอยู่ในโรหณะบริเวณ ได้ชื่ออย่างนั้น

เพราะเป็นถิ่นเกิดของหญิงงามทั้งหลาย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 249

พึงกำจัด ส่วนอปปันะ (๔) กล่าวคือภูมิลัทธุปปันนะ อารัมมณาธิ-

คหิตุปปันนะ อวิกขัมภิตุปปันนะ และอสมูหตุปปันนะนั่นใด

อุปปันนะ (๔) นั้นทั้งหมด เป็นสิ่งที่ญาณพึงละ เพราะเหตุที่โลกิย-

ญาณและโลกุตรญาณนั้น* ๆ ย่อมยังความเป็นอุปปันนะนั้น ๆ แห่ง

อุปปันนะ ๔ นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป เกิดขึ้นแล

บัณฑิตควรทราบการละธรรมทั้งหลายที่ญาณไรพึงละด้วย ใน

ญาณทัสนวิสุทธินี้ ดังกล่าวมาฉะนี้

[กิจในอริยสัจ]

ข้อว่า "และควรทราบกิจมีปริญญากิจเป็นต้น ที่ท่านกล่าว (ว่า

มีขึ้น) ในกาลที่ตรัสรู้ตามสภาพทุกประการ" ความว่า กิจ ๔ ๆ มี

ปริญญากิจเป็นต้นนั่น คือปริญญา-กำหนดรู้ ปหาน-ละ สัจฉิกิริยา

-ทำให้แจ้ง ภาวนา-ทำให้มีขึ้น ที่ท่านกล่าว (ว่ามีขึ้น) โดยขณะ

เดียวกัน ในญาณ ๔ นั้นแต่ละญาณ ในกาลที่ตรัสรู้สัจจะ กิจเหล่านั้น

บัณฑิตควรทราบตามสภาพ

[มรรคญาณทำกิจเหมือนตะเกียง]

แท้จริง ข้อนี้พระโบราณจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า "ประทีป

* มหาฎีกาอธิบายว่า โลกุตรญาณย่อมละกิเลสที่โลกิยญาณละไว้ก่อนตามกำลังนั่นเอง (หมาย

ความว่าโลกิยญาณและไว้ยังไม่ขาดสิ้น โลกุตรญาณละซ้ำอีกให้เป็นสมุจเฉทไป) ด้วยเหตุนี้ ท่าน

จึงใส่โลกิยญาณไว้ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 250

ย่อมทำกิจ ๔ อย่างโดยขณะเดียวกันไม่เที่ยงไม่หลัง คือเผาไส้ ทำลาย

มืด ไขแสง กินน้ำมัน ฉันใด มรรคญาณก็ตรัสรู้สัจจะ ๔ โดยขณะ

เดียวกันไม่ก่อนไม่หลัง ฉันนั้นเหมือนกัน คือรู้ทุกข์ด้วยปริญญาภิสมัย

(รู้โดยกำหนดรู้) รู้สมุทัยด้วยปหานาภิสมัย (รู้โดยละ) รู้มรรคด้วย

ภาวนาภิสมัย (รู้โดยทำให้มีขึ้น) รู้นิโรธด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย (รู้โดย

ทำให้แจ้ง) ถามว่า "มีอธิบายอย่างไร ?" ตอบว่า "มีอธิบายว่า

พระโยคาวจรทำนิโรธให้เป็นอารมณ์แล้ว ย่อมถึง คือย่อมเห็น ย่อมรู้แจ้ง

ซึ่งสัจจะทั้ง ๔ ได้" ดังนี้ จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัส

พระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นย่อม

เห็นแม้ทุกขสมุทัย ย่อมเห็นแม้ทุกขนิโรธ ย่อมเห็นแม้ทุกขนิโรธคามินี-

ปฏิปทาด้วย"๑ ดังนี้เป็นต้น พระพุทธพจน์ทั้งสิ้น (ในสูตรนี้) บัณฑิต

ควรทราบ (โดยตลอด)๒ แม้คำบาลีอื่นอีกก็กล่าวไว้ว่า "ญาณย่อม

มีแก่ผู้ถึงพร้อมด้วยมรรค ญาณนั่นเป็นญาณแม้ในทุกข์ ญาณนั่นเป็น

ญาณแม้ในทุกขสมุทัย ญาณนั่นเป็นญาณแม้ในทุกขนิโรธ ญาณนั่น

เป็นญาณแม้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา"๓ ดังนี้

พึงทราบการประเทียบอุปมาในข้ออุปมานั้นดังนี้คือ มรรคญาณ

ย่อมกำหนดทุกข์ อุปมาดังประทีปเผาไส้ ย่อมละสมุทัย ดังประทีป

ทำลายมืด ย่อมยังมรรคกล่าวคือธรรมมีสัมมาสังกัปปะเป็นต้น ให้มีขึ้น

๑. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๔๗

๒. คือยกเอาอริยสัจต่อไปเป็นต้นข้อทีละข้อ เช่นว่า ผู้ใดเห็นทุกขสมุทัย ผู้นั้นย่อมเห็นทุกข์...

๓. ขุ. ป. ๓๑/๑๗๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 251

โดยความเป็นปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นอาทิ ดังประทีปไขแสง ย่อมทำ

นิโรธคือความสิ้นไปแห่งกิเลสให้แจ้ง ดังประทีปกินน้ำมัน (ให้สิ้นไป)

[มรรคญาณทำกิจดังดวงอาทิตย์]

อีกนัยหนึ่ง ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้น ย่อมทำกิจ ๔ อย่างพร้อมกับ

ความปรากฏ (ดวง) ไม่ก่อนไม่หลัง คือทำสิ่งที่เป็นรูปทั้งหลายให้

กระจ่าง กำจัดความมืด ส่องแสง ยังความเย็นให้ระงับ ฉันใด มรรค-

ญาณ...ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ย่อมตรัสรู้นิโรธด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย

แม้ในข้ออุปมานี้ ก็พึงทราบการประเทียบอุปมาดังนี้ว่า มรรคญาณ

ย่อมกำหนดรู้ทุกข์ ดังดวงอาทิตย์ทำสิ่งที่เป็นรูปทั้งหลายให้กระจ่าง

ละสมุทัย ดังดวงอาทิตย์กำจัดมืด ยังมรรคให้มีขึ้นโดยความเป็นปัจจัย

มีสหชาตปัจจัยเป็นต้น ดังดวงอาทิตย์ส่องแสง ทำนิโรธคือความระงับ

ไปแห่งกิเลสให้แจ้ง ดังดวงอาทิตย์ยังความเย็นให้ระงับฉะนั้น

[มรรคญาณทำกิจดังเรือสินค้า]

อีกนัยหนึ่ง เรือย่อมทำกิจ ๔ อย่างโดยขณะเดียวกันไม่ก่อนไม่

หลัง คือละฝั่งในไป ตัดกระแส (สายน้ำ) นำสินค้าไป ไปสู่ฝั่งนอก*

ฉันใด มรรคญาณ... ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ย่อมทำนิโรธให้แจ้งด้วย

* อปฺเปติ มหาฎีกาแก้เป็น ปปฺโปติ-ถึง แต่ถ้าแปลว่า ถึง ความก็วิปริตไป เพราะการละ

ฝั่งนี้ กับการถึงฝั่งโน้น จะมีในขณะเดียวกันหาได้ไม่ ในที่นี้จึงแปลว่า ไปสู่ ความพอเป็นไปได้

ละฝั่งนี้ ตัดกระแสน้ำ นำสินค้า ไปสู่ฝั่งนอก มีได้ในขณะเดียวกัน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 252

สัจฉิกิริยาภิสมัย แม้ในข้ออุปมานี้ก็พึงทราบการประเทียบอุปมาดังนี้

คือมรรคญาณย่อมกำหนดรู้ทุกข์ ดังเรือละฝั่งในไป ย่อมละสมุทัย

ดังเรือตัดกระแสน้ำ ย่อมยังมรรคให้มีขึ้นโดยความเป็นปัจจัยมีสหชาต-

ปัจจัยเป็นต้น ดังเรือนำสินค้าไป ย่อมทำนิโรธอันเป็นฝั่งนอกให้แจ้ง

ดังเรือไปสู่ฝั่งนอกฉะนั้น

[รู้แจ้งอริยาสัจด้วยอาการ ๑๖]

ก็แล เมื่อมรรคนั้นมีญาณอันเป็นไปด้วยอำนาจกิจ ๔ อย่างโดย

ขณะเดียวกัน ในกาบที่ตรัสรู้สัจจะ ดังกล่าวมานี้ สัจจะนี้ ๔ นั่นย่อม

เป็นเอกปฏิเวธ (มีอาการที่จะพึงรู้แจ้งเป็นอันเดียวกัน) โดยอรรถคือ

ความเป็นอย่างนั้น (คือเป็นจริง) ด้วยอาการ ๑๖ ดังบาลีว่า "สัจจะ ๔

เป็นเอกปฏิเวธ โดยอรรถคือความเป็นอย่างนั้น อย่างไร ? สัจจะ ๔

เป็นเอกปฏิเวธโดยอรรถคือความเป็นอย่างนั้นด้วยอาการ ๑๖ คืออรรถ

คือบีบคั้น อรรถคือเป็นสิ่งถูกปรุงแต่งขึ้น อรรถคือเร่าร้อน อรรถ

คือเปลี่ยนแปลงไป (๔ นี้) เป็นอรรถ คือความเป็นอย่างนั้นแห่งทุกข์

อรรถคือประมวลเข้าไว้ อรรถคือก่อเหตุเข้าไว้ อรรถคือผูกเข้าไว้

อรรถคือขัดวางไว้ (๔ นี้) เป็นอรรถคือความเป็นอย่างนั้นแห่งสมุทัย

อรรถคือออกไปเสีย อรรถคือทิ้งไปเสีย อรรถคือเป็นสิ่งไม่ถูกปรุงแต่ง

อรรถคือเป็นสิ่งไม่ตาย (๔ นี้) เป็นอรรถคือความเป็นอย่างนั้นแห่ง

นิโรธ อรรถคือปล่อยไป อรรถคือเป็นเหตุ อรรถคือเป็นดวงตา

อรรถคือเป็นอธิบดี (๔ นี้) เป็นอรรถคือความเป็นอย่างนั้นแห่งมรรค

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 253

สัจจะ ๔ สงเคราะห์ (คือรวม) เข้าเป็นหนึ่ง โดยอรรถคือความเป็น

อย่างนั้นด้วยอาการ ๑๖ เหล่านี้ สิ่งใดสงเคราะห์เข้าเป็นหนึ่งได้ สิ่งนั้น

ก็เป็นเอกัตตะ (คือเป็นอันเดียว) สิ่งใดเป็นเอกัตตะ ก็ย่อมรู้แจ้งสิ่งนั้น

ด้วยญาณอันเดียวได้ เพราะเหตุนั้น สัจจะ ๔ จึงเป็นเอกปฏิเวธ"๑

ดังนี้

ในข้อนั้น หากมีคำถามว่า "โดยที่อรรถ๒ (คืออาการ) อื่น ๆ

อีก เช่นความเป็น (ดัง) โรค ความเป็น (ดัง) ฝี แห่งสัจจะมีทุกข-

สัจเป็นต้นมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนท่านจึงกล่าวอรรถแต่ (สัจจ-

ละ) ๔ เท่านั้น ?" ในข้อนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอแก้ว่า เพราะอรรถ

(ในสัจจะหนึ่ง) ปรากฏชัดได้ด้วยอำนาจการเห็นสัจจะอื่น ด้วยว่า

สัจจญาณ ท่านกล่าวไว้โดยมีสัจจะแต่ละข้อละเป็นอารมณ์ โดยนัยว่า

"ในญาณเหล่านั้น ญาณในทุกข์เป็นไฉน ปัญญา ความรู้ทั่วอันใด

ปรารภทุกข์เกิดขึ้น (ความรู้นั้นชื่อว่าญาณในทุกข์)๓" ดังนี้เป็นต้นก็มี

กล่าวไว้โดยความที่ทำสัจจะหนึ่งให้เป็นอารมณ์ สำเร็จกิจในสัจจะที่

เหลือด้วย โดยนัยว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ในเห็นทุกข์ ผู้นั้นย่อม

เห็นแม้ทุกขสมุทัยด้วย "๔ ดังนี้เป็นต้นก็มี ในการเห็นสัจจะ ๒ นัยนั้น

เมื่อใด พระโยคาวจรทำสัจจะแต่ละข้อให้เป็นอารมณ์ เมื่อนั้น เพราะ

๑. ขุ. ป. ๓๑/๔๕๒

๒. ในประโยคนี้ คำ ยทา ต้นประโยค ไม่เห็นทางจะแปลให้ได้ความอย่างไรเลย สันนิษฐานว่า

เป็น ยโต พอแปลให้ได้ความได้ดังที่แปลไว้นี้

๓. ขุ. ป. ๓๑/๑๗๔

๔. สํ. มหาวาร. ๑๙/๕๗๔

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 254

เหตุที่ทุกข์นั้น อันสมุทัยมีการประมวลเข้าไว้เป็นลักษณะ ประมวลไว้

ปรุงแต่งไว้ รวมกองไว้ อรรถคือความเป็นสิ่งถูกปรุงแต่งแห่งทุกขสัจ

ซึ่งแม้โดยสภาพมีการบีบคั้นเป็นลักษณะในอันดับแรกนั้น ก็ปรากฏชัด

ด้วยการเห็นสมุทัยสัจ อนึ่ง เพราะเหตุที่มรรคเป็นธรรมนำไปเสียซึ่ง

ความเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลส เป็นธรรมเย็นสนิท อรรถคือความเร่า-

ร้อนแห่งทุกขสัจนั้น ก็ย่อมปรากฏชัดได้ด้วยการเห็นมรรคสัจ ดังความ

เป็นหญิงไม่สวยแห่งนางสุนทรี ปรากฏชัดแก่ท่านนันทะ ด้วยได้ (เคย)

เห็นนางอัปสรฉะนั้น อนึ่ง อรรถคือความเปลี่ยนแปลงไปแห่งทุกขสัจ

ก็ย่อมปรากฏชัดได้ด้วยการเห็นนิโรธสัจ อันมีความไม่เปลี่ยนแปลง

เป็นธรรมดาแล คำที่จะต้องกล่าวแก้ (อะไรอีก) ในข้อนี้ไม่มีแท้*

นัยเดียวกันนั้น อรรถคือการก่อเหตุแห่งสมุทัยสัจ ซึ่งแม้มีการ

ประมวลเข้าไว้เป็นลักษณะโดยสภาพ ก็ย่อมปรากฏชัดได้ด้วยการเห็น

ทุกขสัจ ดังความเป็นต้นเหตุความเจ็บป่วยแห่งของกิน ปรากฏชัดได้

ด้วยการเห็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเพราะของกินที่แสลงฉะนั้น อรรถ

คือผูกไว้แห่งสมุทัยสัจ ก็ปรากฏชัดด้วยการเห็นนิโรธสัจอันเป็นธรรม

ปราศจากเครื่องผูก อนึ่ง อรรถคือขัดขวางไว้แห่งสมุทัยสัจ ก็ปรากฏ

ชัดได้ด้วยการเห็นมรรคสัจอันเป็นธรรมปล่อยไป แล

นัยเดียวกันนั้น อรรถคือการทิ้งไปแห่งนิโรธ ซึ่งแม้มีการออก

ไปเป็นลักษณะ ก็ย่อมปรากฏชัดได้ด้วยการเห็นสมุทัยสัจอันเป็นธรรม

* เพราะอรรถคืออาการแห่งสัจจะหนึ่ง ย่อมปรากฏชัดด้วยการเห็นอรรถที่ตรงกันข้ามของสัจจะ

อื่นได้ทุกข้อไป (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 255

ไม่มีการทิ้งไป อรรถคือเป็นสิ่งไม่ถูกปรุงแต่งแห่งนิโรธสัจ ก็ปรากฏ

ชัดด้วยการเห็นมรรคสัจ เพราะมรรคเป็นธรรมที่โยคาวจรผู้นี้ไม่เคย

เห็นมาเลยในสงสารอันมีเบื้องต้นเบื้องปลายที่รู้ไม่ได้ อนึ่งเล่า มรรค

นั้นก็ยังเป็นสังขตธรรมแม้ เพราะเป็นธรรมยังเป็นไปกับปัจจัย เหตุนั้น

ความที่นิโรธสัจอันเป็นธรรมหาปัจจัยมิได้เป็นอสังขตธรรม จึงเห็นชัด

ยิ่งนัก อนึ่ง อรรถคือเป็นสิ่งไม่ตายแห่งนิโรธนั้น ก็ปรากฏชัดได้ด้วย

การเห็นทุกขสัจ เพราะทุกข์เป็นพิษ (ที่ทำให้ตาย) นิพพาน (คือ

นิโรธ) ไม่ตาย แล

นัยเดียวกันนั้น อรรถคือเป็นเหตุแห่งมรรคสัจ ซึ่งแม้มีการ

ปล่อยไม่เป็นลักษณะ ย่อมปรากฏชัดด้วยการเห็นสมุทัยสัจ โดยหยั่ง

เห็นว่า "สมุทัยนี้มิใช่เหตุ มรรคนี้เป็นเหตุแห่งการถึงนิพพาน" อรรถ

คือเป็นดวงตกแห่งมรรคสัจ ก็ปรากฏชัดได้ด้วยการเห็นนิโรธสัจ (ซึ่ง

เป็นธรรมสุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก) ดุจความใสแห่งจักษุปรากฏชัดแก่คนผู้

เห็นรูปทั้งหลายที่ละเอียดอย่างยิ่งได้ โดยหยั่งรู้ว่า "ตาของเราใสนะ"

อรรถคือเป็นอธิบดีแห่งมรรคสัจ ก็ปรากฏชัดได้ด้วยการเห็นทุกขสัจ

ดุจความโอฬารแห่งอิสรชน ปรากฏชัดด้วยการเห็นคนเข็ญใจผู้อาดูร

อยู่ด้วยโรคมากอย่าง ฉะนั้นแล

ในมรรคญาณนิเทศนี้ เป็นการกล่าวอรรถของสัจจะข้อละ ๔ ๆ

โดยความที่อรรถอันหนึ่ง*ปรากฏชัดด้วยอำนาจเป็นลักษณะของตน และ

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น เอเกกสฺส เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น เอกสฺส ปาฐะมหาฎีกาก็เป็น

เอกสฺส เหมือนกัน เพราะได้ความตรงกับความที่กล่าวมาแล้ว หมายถึงอรรถอันแรกของสัจจะนั้น ๆ

ได้แก่ ปีฬน อายูหน นิสฺสรณ นิยฺยาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 256

อรรถ ๓ นอกนั้น ปรากฏชัดด้วยอำนาจการเห็นสัจจะข้ออื่น ดังกล่าว

มาฉะนี้ แต่ในขณะมรรค (เกิด) อรรถทั้งสิ้นนั่น ย่อมถึงปฏิเวธด้วย

ญาณอันมีกิจ ๔ ในทุกขสัจเป็นต้นอันเดียวเท่านั้น แล

ส่วนนักพูดเหล่าใด ต้องการ (ให้เป็น) นานาภิสมัย (รู้อริย-

สัจ ๔ ด้วยญาณต่าง ๆ กัน) คำตอบนักพูดเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้ใน

คัมภีร์กถาวัตถุ ในอภิธรรมปิฎกแล้วละ

[กิจ ๔ ในอริยสัจ]

บัดนี้ กิจ ๔ มีปริญญากิจเป็นต้นเหล่าใด อันพระผู้มีพระ

ภาคเจ้าตรัสไว้ ในกิจเหล่านั้น

ปริญญามี ๓ อย่าง แม้ปหานะ แม้สัจฉิกิริยาก็อย่าง

นั้น (คือมี ๓ เหมือนกัน) ภาวนา ทราบเฉพาะว่า

มี ๒ พึงทราบวินิจฉัยในกิจเหล่านั้น

[ปริญญากิจ]

ข้อว่า "ปริญญามี ๓ อย่าง " ความว่า ปริญญามี ๓ อย่างดังนี้

คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา

[ญาตปริญญา]

ในปริญญา ๓ นั้น ความกำหนดรู้ที่ท่านแสดงขึ้นต้นว่า "อภิญญา-

ปัญญา (ปัญญารู้อภิญไญยธรรม ?) ชื่อว่าญาณ โดยอรรถว่า รู้*"

* ขุ. ป. ๓๑/๑๒๗

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 257

ดังนี้แล้ว กล่าวโดยสังเขปดังนี้ว่า "ธรรมทั้งหลายใด ๆ เป็นธรรมที่

พระโยคาวจรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ก็เป็นอันชื่อ

ว่า เธอรู้แล้ว" โดยพิสดารตามนัย (พระพุทธวจนะ) ว่า "ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงพึงรู้ยิ่ง สิ่งทั้งปวงพึงรู้ยิ่งเป็นไฉน ? ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสิ่งพึงรู้ยิ่ง๑" ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ญาตปริญญา

(กำหนดรู้ด้วยการรู้) ความรู้ยิ่งซึ่งนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย เป็นภูมิ

หนึ่งโดยเฉพาะแห่งญาตปริญญานั้น๒

[ตีรณปริญญา]

ส่วนความกำหนดรู้ที่ท่านแสดงขึ้นต้นว่า "ปริญญาปัญญา (ปัญญา

รู้ปริญไญยธรรม) ชื่อว่าญาณ โดยอรรถว่าวิจารณ์?"๓ ดังนี้แล้ว กล่าว

โดยสังเขปดังนี้ว่า "ธรรมทั้งหลายใด ๆ เป็นธรรมอันพระโยคาวจร

กำหนดรู้แล้ว ธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ก็เป็นอันชื่อวา เธอวิจารณ์แล้ว๓"

โดยพิสดารตามนัย (พระพุทธวจนะ) ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง

พึงกำหนดรู้ สิ่งทั้งปวงพึงกำหนดรู้เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย

จักษุเป็นสิ่งพึงกำหนดรู้"๔ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ตีรณปริญญา (กำหนด

รู้ด้วยการวิจารณ์) ความกำหนดรู้อันเป็นไปอยู่๕ด้วยอำนาจการวิจารณ์

๑. ขุ. ป. ๓๑/๖

๒. มหาฏีกาอธิบายว่า เพราะไม่เป็นวิสัยแห่งปริญญาอื่น

๓. ขุ. ป. ๓๑/๓๓

๔. ขุ. ป. ๓๑/๓๓

๕. ปาฐะว่า ปวตฺตมานาย ราวะเป็นลักษณกิริยา หรือเป็นวิเสสนะของ ตสฺสา แต่ความที่ควร

เป็นหาเป็นอย่างนั้นไม่ จึงเข้าใจว่าปาฐะคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น ปวตฺตมานา ดังที่แปลไว้นั้น

นักศึกษาพิจารณาดูเถิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 258

ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตั้งแต่กลาปสัมมสนะ (การพิจารณา

โดยสังเขปเข้าเป็นกลาป) จนถึงอนุโลม เป็นภูมิหนึ่งโดยเฉพาะแห่ง

ตีรณปริญญานั้น

[ปหานปริญญา]

ส่วนความกำหนดรู้ที่ท่านแสดงขึ้นต้นว่า "ปหานปัญญา (ปัญญา

รู้ละปหาตัพพธรรม) ชื่อว่าญาณ โดยอรรถว่าสละได้"๑ ดังนี้แล้ว

กล่าวโดยสังเขป๒ดังนี้ว่า "ธรรมทั้งหลายใด ๆ เป็นธรรมอันพระโยคา-

วจรละได้แล้ว ธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ก็เป็นอันชื่อว่า เธอสละแล้ว"

เป็นไปโดยนัยบาลีว่า "ละนิจจสัญญาได้ด้วยอนิจจานุปัสนา" เป็นต้น

ชื่อว่า ปหารปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละได้) ความกำหนดรู้ตั้งแต่

ภังคานุปัสนาจนถึงมรรคญาณ เป็นภูมิแห่งปหานปริญญานั้น ปหาน-

ปริญญานี้ท่านประสงค์เอาในปริญญากิจนี้ หรือมิฉะนั้น เพราะเหตุว่า

แม้ญาตปริญญาและตีรณปริญญา ก็มีมรรคเป็นจุดหมายนั่นเอง หนึ่ง

เพราะเหตุว่า พระโยคาวจรละธรรมเหล่าใดได้ ธรรมเหล่านั้นก็เป็น

อันเธอได้รู้แล้ว และวิจารณ์แล้วโดยแน่แท้ เพราะฉะนั้น พึงทราบ

เถิดว่า โดยปริยายนี้ ปริญญาทั้ง ๓ ก็เป็นกิจแห่งมรรคญาณด้วยกัน

๑. ขุ. ป. ๓๑/๑๒๘

๒. ปาฐะเป็น วิตฺถารโต แต่เมื่อเทียบกับความที่กล่าวมาใน ๒ ปรากฏข้างต้น ความเช่นนี้ท่านใช้

สงฺเขปโต มาทั้ง ๒ วาระ จึงสันนิษฐานว่าปาฐะคลาดเคลื่อน ได้แก้เป็น สงฺเขปโต ดังแปลไว้นั้น

ส่วน วิตฺการโต ในวาระนี้ท่านไม่ใช้ ใช้...อาทิยนปฺปวตฺตา เลยทีเดียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 259

[ปหานกิจ]

ข้อว่า "แม้ปหานะก็อย่างนั้น " ความว่า แม้ปหานะก็มี ๓ อย่าง

ดังปริญญาเหมือนกัน คือวิกขัมภนปหานะ ตทังคปหานะ สมุจเฉท-

ปหานะ๑

[วิกขัมภนปหานะ]

ในปหานะ ๓ นั้น การข่มปัจนิกธรรมทั้งหลายมีนีวรณ์เป็นต้น

ไว้ด้วยโลกิยสมาธินั้น ๆ ดุจข่มสาหร่ายด้วยหม้อที่วาง (กด) ลงในน้ำ

ที่มีสาหร่าย๒ อันใด อันนี้ชื่อว่วิกขัมภนปหานะ แต่ในบาลีกล่าวแต่

การข่มนีวรณ์เท่านั้น (ว่าเป็นวิกขัมภนปหานะ) ว่า "อนึ่ง การละ

โดยข่มนีวรณ์ทั้งหลายไว้ แห่งภิกษุผู้เจริญปฐมฌาน๓" ดังนี้เป็นต้น

พึงทราบว่าคำบาลีนั้น ท่านกล่าวเพราะการข่มนีวรณ์นั้นเป็นการปรากฏ๔

เพราะว่านีวรณ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ท่วมทับจิตอย่างรุนแรง ทั้งในตอน

ก่อนทั้งในตอนหลังแห่งฌาน๕ ธรรมอื่นมีวิตกเป็นต้นย่อมรำงับแต่ใน

ขณะแนวแน่ (แห่งทุติยฌานเป็นต้น) เท่านั้น๖ เพราะเหตุนั้น การข่ม

นีวรณ์จึงเป็นการปรากฏ (แก่คนอื่น)

๑. พึงสังเกตไว้ก่อนว่าในตำราเรียนนักธรรมของเรา เรียง ตทังคปหาน ไว้เป็นข้อที่ ๑

๒. ข้างเรามักเปรียบกันว่า เหมือนเอาหินทับหญ้าไว้

๓. ขุ. ป. ๓๑/๓๙

๔. มหาฎีกาขยายความ่า การข่มนีวรณ์ได้นั้น ปรากฏแม้แก่คนอื่น ๆ ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีจิตพยาบาท

ท่านผู้มีปราศจากถยมิทธะ เป็นต้น

๕. มหาฎีกาว่า ตอนก่อนฌาน คือตอนปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อบรรลุฌาน ตอนหลังฌาน คือตอนได้

ฌานแล้วไปขวนขวายกิจอื่น

๖. มหาฎีกาแถมว่า พอออกแล้วก็เป็นไปอีก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 260

[ตทังคปหานะ]

ส่วนการละปหาตัพพธรรมนั้น ๆ ด้วยองค์ คือญาณเป็นอวัยวะ

แห่งวิปัสนานั้น ๆ โดยเป็นปฏิปักษ์กัน (คือตรงกันข้ามกับธรรมที่จะ

พึงละ) ทีเดียว๑ ดังละความมืดด้วยประทีปที่ลุกโพลงในเวลากลางคือ

ฉะนั้น อันใด อันนี้ชื่อว่าตทังคปหานะ ตทังคปหานะนี้คืออย่างไร ?

[ตทังคปหานะตามเนววิสุทธิ]

อันดับแรก คือการละสักกายทิฏฐิด้วยนามรูปปริเฉทญาณ

(กำหนดเห็นเป็นแต่นามรูป) ละอเหตุวิสมเหตุทิฏฐิ (ความเห็นว่า

ไม่มีเหตุ และเห็นว่ามีเหตุไม่สม่ำเสมอ๒) และมลทินคือความกังขา

ด้วยปัจจัยปริคหญาณ (กำหนดรู้ปัจจัยของนามรูป) ละสมูหคาหะ

(ความถือว่าเป็นกองเป็นก้อน) ว่าเป็นเราเป็นของเรา ด้วยกลาป-

สัมมสนญาณ (พิจารณาสังเขปเข้าเป็นกลาป) ละอมัคเคมัคคสัญญา

(ความสำคัญว่าเป็นทางในธรรมที่ไม่ใช่ทาง) ด้วยมัคคคามัคคววัฏฐาน-

ญาณ (วิเคราะห์รู้ทางและมิใช่ทาง) ละอุจเฉททิฏฐิด้วยอุทยทัสนาญาณ

(เห็นความเกิด) ละสัสตทิฏฐิด้วยวยทัสนญาณ (เห็นความเสื่อม)

ละสภเยอภยสัญญา (ความสำคัญว่าไม่น่ากลัวในสิ่งที่น่ากลัว) ด้วย

ภยตุปัฏฐานญาณ (เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว) ละอัสสาทสัญญา

(ความสำคัญว่าปัญจขันธ์เป็นของน่าพอใจ ด้วยอาทีนวทัสนาญาณ

๑. ปาฐะเป็น ปฏิปกฺวเสนเนน เข้าใจคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น...วเสเนว

๒. มีเหตุไม่สม่ำเสมอ หมายความว่า มีเหตุบ้างไม่มีเหตุบ้าง เช่นนั้นกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 261

(เห็นโทษในปัญจขันธ์) ละอภิรติสัญญา (ความสำคัญว่า น่าอภิรมย์

ในปัญจขันธ์) ด้วยนิพพิทานุปัสนาญาณ (คำนึงด้วยความเบื่อหน่าย)

ละอมุญจิตุกามภาวะ (ความเป็นผู้ใคร่จะไม่พ้นไป) ด้วยมุญจิตุกัมยตา-

ญาณ (คำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย) ละอัปปฏิสังขารนะ (ความไม่คำนึง

หาทาง) ด้วยปฏิสังขาญาณ (พิจารณาหาทาง) ละอนุเปกขนะ (ความ

ไม่วางเฉย) ด้วยอุเบกขาญาณ (วางเฉยในสังขาร) ละสัจจปฏิโลม-

คาหะ (ความยึดถือฝืนสัจจะ) ด้วยอนุโลมญาณ (อนุโลมแก่สัจจะ)

[ตทังคปหานะตามแนวหาวิปัสนา ๑๘]

หรืออนึ่ง ในมหาวิปัสนา ๑๘ การละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุ-

ปัสนา ละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา ละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา

ละนันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา ละราคด้วยวิราคนุปัสนา ละสมุทัยด้วย

นิโรธานุปัสนา ละอาทาน (ความถือไว้) ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา

(พิจารณาสลัดเสีย) ละฆนสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นกลุ่มก้อน) ด้วย

ขยานุปัสนา (พิจารณาเห็นความสิ้นไป) ละอายูหนะ (ความพอกพูน

เอาไว้) ด้วยวยานุปัสนา (พิจารณาเห็นความเสื่อมไป) ละธุวสัญญา

(ความสำคัญว่ายั่งยืน) ด้วยวิปริณามานุปัสนา (พิจารณาเห็นความ

เปลี่ยนแปลง) ละนิมิต (ในสังขาร) ด้วยอนิมิตตานุปัสนา (พิจารณา

เห็นไม่มีนิมิต คือเห็นไม่เที่ยง) ละปณิธิ (ความปรารถนา) ด้วย

อัปปณิหิตานุปัสนา (พิจารณาเห็นไม่น่าปรารถนา คือเห็นทุกข์) ละ

อภินิเวส (ความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน) ด้วยสุญญตานุปัสนา (พิจารณา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 262

เห็นความว่างเปล่า คือเห็นอนัตตา) ละสาราทานาภินิเวส (ความยืด

มั่นด้วยถือเอาว่าเป็นสาระ) ด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสนา (ความเห็น

แจ้งในธรรมอันเป็นอธิปัญญา คือรู้ความแตกดับไม่มีสาระ) ละสัมโม-

หาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยลุ่มหลง คือสงสัยและรู้ผิด) ด้วยยถาภูต-

ญาณทัสนะ (ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง) ละอาลยาภินิเวส (ความ

ยึดมั่นด้วยอาลัยในภพ) ด้วยอาทีนวานุปัสนา (พิจารณาเห็นโทษ)

ละอัปปฏิสังขา (ความไม่พิจารณาหาทาง) ด้วยปฏิสังขานุปัสนา

(พิจารณาเห็นทาง) ละสังโยคาภินิเวส (ความยึดมั่นด้วยพัวพ้นอยู่ใน

วัฏฏะ) ด้วยวิวัฏฏานุปัสนา (พิจารณาเห็นวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน)

อันใด แม้อันนี้ก็เป็นตทังคปหานเหมือนกัน*

[อธิบายมหาวิปัสนาลางข้อ]

ในมหาวิปัสนาเหล่านั้น การละนิจจสัญญาเป็นต้นด้วยมหา-

วิปัสนา ๗ มีอนิจจานุปัสนาเป็นอาทิ เป็นอย่างไร การละนั้นได้กล่าว

ไว้ในภังคานุปัสนานิเทศแล้วละ

ส่วนข้อว่า "ขยานุปัสนา" ได้แก่ญาณแห่งพระโยคาวจรผู้ทำ

ฆนวินิพโภค (แยกกลุ่มก้อนออก) แล้วเห็นความสิ้นไปอย่างนี้ว่า

"มันไม่เที่ยงโดยความว่าสิ้นไป" การละฆนสัญญาย่อมมีได้ด้วยญาณนั้น

* ตามที่ให้ข้อสังเกตการเรียงปหานะ ๓ ไว้ในเชิงอรรถ ๑ หน้า ๒๕๙ ว่า ในตำราเรียนของเรา

เรียงตทังคปหานไว้เป็นข้อที่ ๑ นั้น เมื่ออ่านอธิบายตทังคปหานนี้จบแล้ว ก็ควรสังเกตด้วยว่าอธิบาย

ต่างจากตำราเรียนนักธรรมของเราอย่างไร

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 263

ข้อว่า "วยานุปัสนา" ได้แก่ความที่เห็นความแตกดับแห่งสังขาร

ทั้งหลาย โดยพิจารณาเห็นและโดย (นึกเห็น) ตามอย่าง (อารมณ์ที่

แตกดับแล้ว) น้อมใจลงไปในนิโรธคือความแตกดับนั้นแหละ ที่กล่าว

ไว้ (เป็นคาถา) ดังนี้ว่า

การพิจารณาที่กำหนดอารมณ์ทั้ง ๒ ส่วน (คือทั้งที่

เห็นแล้วทั้งที่มิได้เห็น เพราะเป็นอดีตอนาคต) ว่า

มีสภาพเป็นอันเดียวกัน ตามอย่างอารมณ์ (ปัจจุบัน

ที่พิจารณาเห็น) คือความที่นึกน้อมลงไปในนิโรธ

(คือความดับ) นั่นแหละ ชื่อว่า วยลักขณวิปัสนา

(เห็นแจ้งในลักษณะเสื่อม*)

การละความพอกพูนเอาไว้ ย่อมมีได้ด้วยวยานุปัสนานั้น ด้วยเมื่อพระ

โยคาวจรเห็นแจ้งอยู่ว่า สังขารเหล่านั้นก็มีความเสื่อมเป็นธรรมดาอยู่

อย่างนั้น จิตก็ย่อมไม่น้อมไปในอันพอกพูนไว้

ข้อว่า "วิปริณามานุปัสนา" ได้แก่การเห็นความเป็นไปเสียอย่าง

อื่น ล่วงเสียซึ่งข้อที่กำหนดไว้นั้น ๆ โดย (กำหนดไว้) เป็นกลาปมี

รูปสัตตกะ (หมวดรูป ๗) เป็นต้น หรือการเห็นความเปลี่ยนแปลงไป

ด้วยอาการ ๒ คือชรา และมรณะ แห่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว การละธุวสัญา

ย่อมมีได้ด้วยวิปริณานุปัสนานั้น

* ขุ. ป. ๓๑/๘๔ คาถานี้มีมาแล้วในปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธินิเทศ บาทแรกเป็น นฺวเยเนว

ในที่นี้เป็น...นฺวเยน คลาดเคลื่อนไป อนึ่ง เครื่องหมายหัวตาปูคั่นประโยคหลังบาทท้ายทั้งเกิน

เพราะอิติศัพท์นั้น สรูปใน เอวํ ข้างหลัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 264

ข้อว่า "อนิมิตตานุปัสนา" ก็คืออนิจจานุปัสนานั่นเอง การละ

นิจจนิมิต (เครื่องหมายว่าเที่ยง) จึงมีได้ด้วยอนิมิตตานุปัสนานั้น

ข้อว่า "อัปปณิหิตานุปัสนา" ก็คือทุกขานุปัสนา การละความ

มุ่งหมายสุข คือปรารถนาสุข จึงมีได้ด้วยอัปปณิหิตานุปัสนานั้น

ข้อว่า "สุญญตานุปัสนา" ก็คืออนัตตนุปัสนา การละความยึด

ถือว่าอัตตามีอยู่ จึงมีได้ด้วยสุญญตานุปัสนาน้น

ข้อว่า "อธิปัญญาธรรมวิปัสนา" ได้แก่ความเห็นแจ้งอันเป็นไป

โดยรู้อารมณ์มีรูปเป็นต้นแล้ว เห็นความแตกดับแห่งอารมณ์นั้น และ

แห่งจิตที่มีอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ด้วย แล้วถือเอาความว่างเปล่าด้วย

อำนาจความแตกดับว่า "สังขารทั้งหลายเท่านั้นแตกดับ มรณะก็มีแก่

สังขารทั้งหลาย (นั่นแหละ) บุคคลไร ๆ อื่นหามีไม่" ที่กล่าวไว้

(เป็นคาถา) ดังนี้ว่า

พิจารณา (รู้) อารมณ์ด้วย แล้วตามเห็นความแตก

ดับด้วย ความปรากฏโดยความว่างเปล่าด้วย (นั่น)

ชื่อว่า อธิปัญญาวิปัสนา*

ความเห็นแจ้งนั้น ท่านเรียกว่า "อธิปัญญาธรรมวิปัสนา" เพราะทำ

วิเคราะห์ว่า "เป็นอธิปัญญาด้วย เป็นความเห็นแจ้งในธรรมทั้งหลาย

ด้วย" การละสาราทานาภินิเวส ย่อมมีได้ด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสนา

* ขุ. ป. ๓๑/๘๔ คาถานี้มีมาแล้วในปฏิปทาญาณทัสนาวิสุทธินิเทส ควรดูเชิงอรรถในที่นั้น

ด้วย (หน้า ๑๒๙)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 265

นั้น เพราะเห็นด้วยดีซึ่งความไม่มีแห่งนิจจสาระ และความไม่มีแห่ง

อัตตสาระ

ข้อว่า "ยถาภูตญาณทัสนะ" ได้แก่ความกำหนดนามรูปพร้อม

ทั้งปัจจัย การละสัมโมหาภินิเวสอันเป็นไปด้วยอำนาจความสงสัยว่า

"เราได้มีมาแล้วในกาลอดีตหรือหนอ" เป็นต้น และด้วยอำนาจความรู้

ผิดว่า "(สัตว) โลกเกิดมีขึ้นโดยพระอิศวร" เป็นต้น ได้ด้วยยถาภูต-

ญาณทัสนะนั้น

ข้อว่า "อาทีนวานุปัสนา" ได้แก่ญาณเห็นโทษในสังขารธรรม

ทั้งหลายมีภพทั้งปวงเป็นต้น อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจภยตุปัฏฐานญาณ

การละอาลยาภินิเวสด้วยเห็นว่า "สิ่งอะไร ๆ ที่น่าผูกพันหาปรากฏไม่"

ย่อมมีได้ด้วยอาทีนวานุปัสนาญาณนั้น

ข้อว่า "ปฏิสังขานุปัสนา" ก็ได้แก่ญาณพิจารณา (รู้) การทำ

อุบาย (คือหาทาง) แห่งความพ้นไป การละความไม่พิจารณา ย่อม

มีได้ด้วยปฏิสังขารญาณนั้น

ข้อว่า "วิวัฏฏานุปัสนา" ได้แก่สังขารุเบกขาญาณและอนุโลม-

ญาณด้วย เพราะในขณะนั้น จิตของพระโยคาวจรนั้น ท่านกล่าวว่า

ย่อมถอยกลับ งอกลับ หมุนกลับจากสังขารทั้งปวง ดุจหยาดน้ำบน

ใบปทุมที่เอียงนิดหน่อย ย่อมไหลกลับฉะนั้น เหตุนั้น การละสังโยคา-

ภินิเวส จึงมีได้ด้วยวิวัฏฏานุปัสนานั้น หมายความว่า การละกิเลสา-

ภินิเวส (อภินิเวสคือกิเลส) มีกามสังโยคะเป็นต้น ย่อมมีได้ด้วยความ

ไม่หมุนไปแห่งกิเลส (คือว่ากิเลสไม่หมุนแล้วก็เป็นอันละกิเลสได้ ?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 266

ตทังคปหานโดยพิสดาร พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ส่วนในบาลี

กล่าวไว้แต่โดยสังเขปว่า "ก็ตทังคปหาน ย่อมมีแก่พระโยคาวจร

ผู้เจริญสมาธิอันเป็นไปในส่วนเจาะแทงซึ่งทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ทั้ง

หลาย๑" ดังนี้

[สมุจเฉทปหาน]

ส่วนการละธรรมทั้งหลายมีสังโยชน์เป็นต้น ด้วยอริยมรรคญาณ

อย่างที่มันหมุนไปอีกไม่ได้ ดุจการละ (คือการทำลายไป) แห่งต้นไม้ที่

ถูกสายฟ้าฟาด (ไม่งอกอีก) อันใด อันนี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหาน ซึ่งบาลี

หมายเอากล่าวไว้ (โดยสังเขป) ว่า "ก็สมุจเฉทปหาน ย่อมมีแก่พระ

โยคาวจรผู้เจริญขยคามิมรรค (มรรคที่ให้ถึงความสิ้นคือนิโรธ) อัน

เป็นโลกุตระ๒"

ในปหานะ ๓ ตามที่กล่าวมานี้ สมุเฉทปหานอย่างเดียวเท่านั้น

ท่านประสงค์เอาในปหานกิจนี้ แต่เหตุใด แม้วิกขัมภนปานและ

ตทังคปหานในส่วนเบื้องต้นของพระโยคีนั้น ก็มีมรรคนั้นเป็นจุดมุ่ง

หมายนั่นเอง เหตุนั้น พึงทราบเถิดว่า โดยปริยายนี้ ปหานะทั้ง ๓

ก็เป็นกิจแห่งมรรคญาณด้วยกัน เหมือนอย่างว่า แม้สิ่งใดที่ท่านผู้ปลง

๑. ขุ. ป. ๓๑/๘๙ มหาฎีกาว่า นิพเพธภาคิยสมาธิ ก็คือวิปัสนาสมาธิ (สมาธิในวิปัสนา)

นั่นเอง

๒. ด้วยคำนี้ แสดงว่า ปหานะ ๒ ข้างต้นยังเป็นโลกิยะ สมุจเฉทปหาน ท่านแก้ลั้นเต็มที ปหานะ

๓. นี้ หากจะเข้าใจเอาโดยสรูปว่า วิกขัมภนปหาน เป็นการละชั่วคราวด้วยข่มไว้ ตทังคปหาน ละ

ได้ด้วยปฏิปักขยธรรมเป็นอย่าง ๆ สมุจเฉทปหาน ละขาดได้หมด ก็น่าจะได้ (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 267

พระชนม์พระราชาฝ่ายปฏิปักษ์แล้วได้ราชสมบัติ กระทำไว้ก่อนแต่ได้

ราชสมบัติ สิ่งนี้ ๆ ทั้งปวง ก็กล่าวได้ว่าพระราชาทรงกระทำเหมือนกัน

ฉะนั้น

[สัจฉิกิริยากิจ]

ข้อว่า "แม้สัจฉิกิริยา (ก็อย่างนั้น)" ความว่า สัจฉิกิริยาแม้

แยกเป็น ๒ ฝ่าย คือโลกิยสัจฉิกิริยา โลกุตรสัจฉิกิริยา (แต่) สำหรับ

โลกุตรสัจฉิกิริยาคงเป็น ๓ อย่าง โดยแตกต่างด้วยอำนาจทัสนะและ

ภาวนา

ในสัจฉิกิริยา ๒ นั้น การได้สัมผัสฌานมีปฐมฌานเป็นต้น อัน

มาโดยนัยว่า "เราเป็นผู้ได้ปฐมฌาน เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในปฐมฌาน

ปฐมฌานอันเราทำให้แจ้งแล้ว " เป็นต้น ชื่อว่า โลกิยสัจฉิกิริยา

คำว่า "ผัสสนา - ได้สัมผัส" คือบรรลุแล้ว ได้ถูกต้องโดยญาณ-

ผัสสะ (คือรู้) อย่างประจักษ์ว่า "สิ่งนี้เราได้บรรลุแล้ว" จริงอยู่ พระ

บาลีก็หมายเอาความอันนี้แหละ จึงกล่าวขึ้นต้นว่า "สัจฉิกิริยาเป็นญาณ

โดยอรรถคือได้ถูกต้องด้วยปัญญา๑" แล้วกล่าวขยายความสัจฉิกิริยาว่า

"ธรรมทั้งหลายใด ๆ เป็นธรรมอันพระโยควจรได้ทำให้แจ้งแล้ว

ธรรมทั้งหลายนั้น ๆ ก็เป็นอันเธอได้ถูกต้องแล้ว๒" ดังนี้ อนึ่ง ธรรม

ทั้งหลายใด แม้พระโยคาวจรมิได้ทำให้เกิดขึ้นในสันดานตน (เหมือน

ดังฌานและมรรคผล) (เป็นแต่) รู้ด้วยญาณอันมิได้มีผู้อื่นสนับสนุน

๑-๒. ขุ. ป. ๓๑/๑๗๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 268

อย่างเดียว ธรรมทั้งหลายนั้นก็ชื่อว่า เป็นอันเธอได้ทำให้แจ้งแล้ว

เหมือนกัน เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง อันภิกษุพึงทำให้แจ้ง ๑" เป็นอาทิ

คำบาลีแม้อื่นอีกก็กล่าวไว้ว่า "ภิกษุเห็นอยู่ (คือรู้โดยประจักษ์อยู่)

ย่อมทำให้แจ้งซึ่งรูป ภิกษุเห็นอยู่ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเวทนา ฯลฯ ซึ่ง

วิญญาณ ภิกษุเห็นอยู่ย่อมทำให้แจ้งซึ่งจักษุ... ซึ่งชรามรณะ ภิกษุ

เห็นอยู่ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอันหยั่งลงสู่อมตะ (คือเป็นอมต-

ธรรม) เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายใด ๆ เป็นธรรมอันพระโยคาวจรทำ

ให้แจ้งแล้ว ธรรมทั้งหลายนั้น ๆ จึงชื่อว่าเป็นอันเธอได้ถูกต้องแล้ว๒

ส่วนการเห็นพระนิพพานในขณะแห่งปฐมมรรค เป็นทัสนาสัจฉิ-

กิริยา (ทำให้แจ้งด้วยทัสนะ-การเห็น๓) การเห็นพระนิพพานในขณะ

แห่งมรรคที่เหลือ เป็นภาวนาสัจฉิกิริยา (ทำให้แจ้งด้วยภาวนา-การ

ทำให้มีขึ้น) สัจฉิกิริยานั้นทั้ง ๒ อย่าง ท่านประสงค์เอาในสัจฉิกิริยา-

กิจนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานด้วยอำนาจ

ทัสนะและภาวนาเป็นกิจแห่งญาณนี้

๑. ขุ. ป. ๓๑/๕๐

๒. ขุ. ป. ๓๑/๕๑

๓. มหาฎีกาอธิบายว่า โสดาปัตติมรรค ชื่อว่า ทัสนะ เพราะเห็นพระนิพพานก่อน และว่า

โคตรภูญาณเห็นพระนิพพานก่อนกว่าโสดาปัตติมรรคก็จริง แต่ว่าโคตรภูตญาณนั้นเห็นโดยเพียงทำ

พระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงไม่เรียกว่า ทัสนะ เพราะมิได้ทำกิจที่พึงทำ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 269

[ภาวนากิจ]

ข้อว่า "ภาวนา ทราบเฉพาะว่ามี ๒" ความว่า ภาวนา ประสงค์

เอาภาวนา ๒ เท่านั้น คือโลกิยภาวนา โลกุตรภาวนา ในภาวนา ๒

การยังศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกิยะให้เกิดขึ้น และการอบรมสันดาน

ด้วยโลกิยศีลสมาธิปัญญาเหล่านี้ ชื่อว่าโลกิยภาวนา การยังศีลสมาธิ

ปัญญาที่เป็นโลกุตระให้เกิดขึ้น และการอบรมสันดานด้วยโลกุตรศีล

สมาธิปัญญาเหล่านั้น ชื่อว่าโลกุตรภาวนา ในภาวนา ๒ นั้น ในญาณ-

ทัสนาวิสุทธินี้ท่านประสงค์เอาโลกุตรภาวนา เพราะว่าญาณทั้ง ๔ อย่าง

นั่น ยังโลกุตรศีลเป็นต้นให้เกิดขึ้น * เพราะความที่ญาณทั้ง ๔ นั้นเป็น

ปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้น แห่งโลกุตรศีลเป็นต้นนั้น และอบรม

สันดานด้วยโลกุตรศีลเป็นต้นนั้น เหตุนั้น โลกุตรภาวนาอย่างเดียว

จึงเป็นกิจแห่ง (มรรค) ญาณนั้น ด้วยประการฉะนี้

ควรทราบกิจมีปริญญากิจเป็นต้น ที่ท่านกล่าว (ว่า

มีขึ้น) ในกาลที่ตรัสรู้ ตามสภาพทุกประการ

โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้แล

ก็แลด้วยกถาเพียงเท่านี้ คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "ปัญญา อัน

พระโยคีผู้ยังวิสุทธิ ๒ อันเป็นมูล (คือสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ) ให้ถึง

พร้อมแล้ว ยังวิสุทธิ ๕ (มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้น) อันเป็นตัว (ปัญญา)

ให้ถึงพร้อมอยู่ พึงบำเพ็ญ (ให้มีขึ้น) ได้" ดังนี้ เพื่อแสดงวิธีบำเพ็ญ

* ปาฐะเป็น อุปฺปาเทสิ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน เพราะไม่เสมอกับบทหนังสือ วาเสติ ที่ถูกเป็น

อุปฺปาเทติ ปาฐะมหาฎีกาก็อย่างนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 270

ปัญญา อันมาแต่โดยรูป (ในคาถาวจนะ) อย่างนี้ว่า "ภิกษุผู้เป็น

คนมีปัญญาตั้งอยู่ในศีลแล้ว บำเพ็ญจิตและปัญญาอยู่" คำนั้นเป็นอัน

ข้าพเจ้าได้ (กล่าว) ให้พิสดารแล้ว และปัญหาข้อว่า "ปัญญานั้นพึง

บำเพ็ญอย่างไร " นี่ ข้าพเจ้าก็ได้แก้แล้วแล

ปริเฉทที่ ๒๒ ชื่อญาณทัสนวิสุทธินิเทศ

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา

ในปกรณ์วิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 271

ปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ

ส่วนปัญหากรรมข้อใด ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "อะไรเป็นอานิสงส์

แห่งการบำเพ็ญปัญญา" ข้าพเจ้าจะกล่าวแก้ในปัญหากรรมข้อนั้น

(ต่อไป)

ก็อันว่าปัญญาภาวนานี้ มีอานิสงส์หลายร้อยอย่าง อันจะประกาศ

อานิสงส์แห่งปัญญาภาวนานั้นโดยพิสดารมิใช่ง่าย แม้ด้วยเวลายาวนาน

ก็ดี แต่ว่าโดยสังเขป พึงทราบ (ว่า) นี่เป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนา

นั้น คือ

(๑) นานากิเลสวิทฺธํสน กำจัดกิเลสต่าง ๆ ได้

(๒) อริยผลรสานุภวน ได้เสวยรสแห่งอริยผล

(๓) นิโรธสมาปตฺติสมา- ความเป็นผู้สามารถในการเข้า

ปชฺชนสมตฺถตา นิโรธสมาบัติ

(๔) อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ ความสำเร็จแห่งความเป็นผู้ทรง

อริยคุณ มีความเป็นอาหุไนย-

บุคคลเป็นต้น

[นานากิเลสวิทฺธํสน]

ในอานิสงส์เหล่านั้น ความ กำจัดกิเลสต่าง ๆ โดยเป็นสังโยชน์

มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้ตั้งต้นแต่การกำหนดนามรูปไป

อันใด อันนี้พึงทราบว่า เป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนาเป็นโลกิยะ

การกำจัดกิเลสต่าง ๆ โดยเป็นสังโยชน์เป็นต้น ที่ท่านกล่าวไว้ในขณะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 272

แห่งอริยมรรคอันใด อันนี้พึงทราบว่าเป็นอานิสงส์แห่งปัญญาภาวนา

เป็นโลกุตระ

แท้จริง ปัญญาอันพระโยคาวจรทำให้มีขึ้น

แล้ว ย่อมทำลายข่ายคือกิเลสซึ่งครอบ

(สันดาน) มาตลอดกาลนาน กระทำ

อนัตถะให้ทุกอย่างเสียได้ ดุจสายฟ้าฟาด

ลงด้วยกำลังแรงอย่างน่าสะพึงกลัวที่กองหิน

ทำลายหิน (ให้แตกกระจายไป) ดุจไฟ

(ป่า) ลุกฮือด้วยกำลังลม ทำลายป่า (ให้

ราบไป) ดุจดวงอาทิตย์ (อุทัยขึ้น) เป็น

ดวงเจิดจ้าด้วยความร้อนของตน ทำลาย

ความมืดเสียฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบ

อานิสงส์โดยเป็นอานิสงส์ที่พระโยคาวจร

พึงเห็นโดยด้วยตนเอง ในปัญญาภาวนานี้

[อริยผลรสานุภวน]

อานิสงส์ข้อว่า "อริยผลรสานุภวน" ความว่า อนึ่ง ใช่แต่การ

ทำลายกิเลสต่าง ๆ ได้เท่านั้นหามิได้ แม้ความ ได้เสวยรสแห่งอริยผล

ก็เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนา ก็แลสามัญผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น

เรียกว่าอริยผล การเสวยรสของอริยผลนั้น ย่อมมีด้วยอาการ ๒ คือ

ในปวัติในมรรควิถี ๑ ในปวัติด้วยอำนาจผลสมบัติ ๑ ในอาการ ๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 273

นั้น ปวัติในมรรควิถีแห่งอริยผลนั้น ได้แสดงมาแล้ว

เออก็อาจารย์เหล่าใดกล่าวว่า "คุณคือความละสังโยชน์ได้เพียง

เท่านั้นเอง ชื่อว่าผล หามีธรรมอะไร ๆ อื่นไม่" ดังนี้ เพื่อ (แสดง)

ความยินดี (คือคล้อยตาม สนับสนุน ?) ต่ออาจารย์เหล่านั้น พึงแสดง

สูตร (ต่อไป) นี้ ก็ได้ว่า "ปโยคปฏิปัสสัทธิปัญญา (ความรู้ในความ

รำงับไปแห่งปโยคะ [โยคะอย่างสูง] คือ มรรค) ชื่อว่าผลญาณ

(ญาณในอริยผล) เป็นอย่างไร ? สัมมาทิฏฐิโดยอรรถคือเห็นในขณะ

แห่งโสดาปัตติมรรค ย่อมออกจากมิจฉาทิฏฐิ ย่อมออกจากกิเลสทั้งหลาย

ที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นด้วย จากขันธ์ทั้งหลาย (ที่เป็นไปตามนิจฉา-

ทิฏฐินั้น) ด้วย จากนิมิต (คือสังขาร) ทั้งปวงในภายนอกด้วย ย่อม

เกิดขึ้นเพราะความรำงับไปแห่งปโยคะนั้น ความรู้ชอบ (อันเป็น

วิบาก) นั่น เป็นผลแห่งสัมมาทิฏฐิมรรค"๑ คำในพระสูตร (ต่อนี้ไป)

พึง (นำมากล่าว) ให้พิสดารเถิด

อนึ่ง แม้คำบาลีทั้งหลายมีคำว่า "ธรรมเหล่านี้ คืออริยมรรค ๔

และสามัญผล ๔ เป็นอัปมาณารมณ์๒" มหัคตธรรมเป็นปัจจัยโดย

เป็นอนันตรปัจจัย แห่งอัปมาณธรรม๓" ดังนี้เป็นต้น ก็เป็นข้อสาธก

ในความข้อนี้ได้ ๔

๑. ขุ. ป. ๓๑/๑๐๒

๒. อภิ. สํ. ๓๔/๓๔๖

๓. อภิ. ปฏฺฐาน. ๔๑/๔๓๑

๔. รวมความว่าท่านเห็นด้วยในคำที่กล่าวว่า ผล ก็คือการละสังโยชน์ได้เท่านั้นเอง (?)

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 274

[ปวัติในผลสมาบัติ]

ส่วนว่า เพื่อแสดงปวัติในผลสมาบัติแห่งอริยผลนั้น มีปัญหา

กรรม (ดังต่อไป) นี้ คือ ผลสมาบัติ คืออะไร บุคคลเหล่าไหนเข้าผล-

สมาบัตินั้นได้ เหล่าไหนเข้าไม่ได้ เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร และการ

เข้าผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร (เข้าแล้ว) ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร

อะไรมีในลำดับแห่งผล และผลมีในลำดับแห่งอะไร ?

[ผลสมาบัติคืออะไร]

ในปัญหากรรมทั้งหลายนั้น ปัญหากรรมข้อว่า "ผลสมาบัติคือ

อะไร" แก้ว่า คือ ความแนบอยู่ในนิโรธแห่งอริยผล

[ใครเข้าผลสมาบัติได้ ใครเข้าไม่ได้]

ปัญหากรรมข้อว่า "บุคคลเหล่าไหนเข้าผลสมาบัตินั้นได้ เหล่าไหน

เข้าไม่ได้ " แก้ว่า บุถุชนทั้งปวงเข้าไม่ได้ เพราะอะไร เพราะยัง

ไม่ได้บรรลุ (อริยผล) ส่วนพระอริยะทั้งปวงเข้าได้ เพราะอะไร

เพราะได้บรรลุ (อริยผล) แล้ว แต่ว่าพระอริยะชั้นสูง ย่อมไม่เข้าผล-

สมาบัติชั้นต่ำ เพราะผลชั้นต่ำระงับไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงความเป็น

บุคคลอื่น พระอริยะชั้นต่ำระงับไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงความเป็น

บุคคลอื่น พระอริยะชั้นต่ำเล่า ก็เข้าผลสมาบัติชั้นสูงหาได้ไม่ เพราะ

ยังไม่ได้บรรลุ อันพระอริยะทั้งหลาย ย่อมเข้าผลสมาบัติของตน ๆ

เท่านั้น นี่เป็นสันนิษฐาน (ข้อตกลง) ในปัญหากรรมข้อนี้

แต่อาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่า "แม้พระโสดาบันและพระสกทาคามี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 275

ก็เข้าไม่ได้ พระอริยะชั้นสูง ๒ พวกเท่านั้นจึงเข้าได้ " ดังนี้ และ

นี่เป็นเหตุของเกจิอาจารย์เหล่านั้น คือ "เพราะพระอริยะชั้นสูง ๒ พวก

นั้น เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ"๑ เหตุที่เกจิอาจารย์กล่าว (อ้าง) นั้น

ไม่เป็นเหตุ (คือไม่ชอบ) เลย เพราะแม้บุถุชนก็เข้าโลกิยสมาธิที่ตน

ได้แล้วได้๒ แต่ว่าประโยชน์อะไรด้วยการคิดว่าเป็นเหตุไม่เป็นเหตุ

ในข้อนี้เล่า ในพระบาลีเองท่านก็ได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า "โคตรภู-

ธรรม ๑๐ อะไรบ้าง ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสนา ? ญาณใดครอบงำ

เสียซึ่งอุปปาทะ.. ซึ่งปวัตตะ ฯลฯ... ซึ่งอุปายาส... ซึ่งสังขารนิมิต

ภายนอก เพื่อประโยชน์แก่อันได้โสดาปัตติมรรค เหตุนี้ ญาณนั้นจึง

ชื่อ โคตรภู ญาณใดครอบงำเสียซึ่งอุปปาทะ ฯลฯ ซึ่งสังขารนิมิต

ภายนอก เพื่อประโยชน์แก่อันเข้าโสดาปัตติผลสมาบัติ...สกทาคามิผล-

สมาบัติ...อานาคามิผลสมาบัติ...อรหัตผลสมาบัติ...สุญตวิหารสมาบัติ

อนิมิตวิหารสมาบัติ เหตุนี้ ญาณนั้นจึงชื่อโคตรภู๓" ดังนี้ เพราะเหตุ

นั้น จึงควรถึงความตกลงในปัญหากรรมข้อนี้ได้ว่า "พระอริยะทั้งปวง

๑. เนืองด้วยมีพระบาลีกล่าวไว้ว่า พระอนาคามีและพระอรหันต์เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ส่วน

พระโสดาบันและพระสกทาคามีเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เกจิอาจารย์จึงถือเอาเป็นเหตุลงมติว่า

พระอริยะชั้นสูง ๒ พวกเท่านั้นเข้าผลสมาบัติได้ เพราะว่าท่านทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เว้นการ

ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิเสีย การเข้าผลสมาบัติจะมีได้อย่างไร พระอริยะชั้นต่ำ ๒ พวกเป็นแต่

ผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล จึงเข้าผลสมาบัติไม่ได้

๒. มหาฎีกาอธิบายว่า แม่แต่บุถุชนผู้ยังตัดกิเลสไม่ได้โดยประการทั้งปวง ยังเข้าโลกิยสมาธิ

ที่ตนได้แล้วได้ จะกล่าวอะไรถึงพระอริยะชั้นต่ำ ซึ่งท่านตัดกิเลสลางอย่างได้ขาดแล้ว จะเข้า

สมาธิไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความที่ไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ จึงไม่เป็นเหตุที่จะเข้าผล

สมาบัติของตนไม่ได้

๓. ขุ. ป. ๓๑/๙๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 276

(ทุกชั้น) ย่อมเข้าผลสมาบัติของตน ๆ ได้"

[เข้าเพื่ออะไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร" แก้ว่า เพื่อทิฏฐ-

ธรรมสุขวิหาร (ความพักอยู่สำราญในปัจจุบันชาติ) เหมือนอย่างพระ-

ราชาเสวยรัชสุข เทวดาทั้งหลายอริยโลกุตรสุข ฉันใด พระอริยะ

ทั้งหลายคิดว่า เราทั้งหลายจักเสวยอริยโลกุตรสุข ทำอัทธานปริเฉท

(กำหนดกาล) แล้วก็เข้าผลสมาบัติในทุกขณะที่ต้องการ ฉันนั้น

[เข้าอย่างไร ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "และการเข้าผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร (เข้า)

แล้ว) ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร" แก้ว่า อันดับแรก การเข้าผล-

สมาบัตินั้นย่อมมีด้วยอาการ ๒ คือ เพราะไม่มนสิการถึงอารมณ์อื่นจาก

พระนิพพาน ๑ เพราะมนสิการถึงแต่พระนิพพาน ๑ ดังพระธัมม-

ทินนาเถรีกล่าว (แก่วิสาขอุบาสก) ว่า "ดูกรอาวุโส ปัจจัยแห่งการเข้า

อนิมิตตาเจโตวิมุติมี ๒ คือ ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ มนสิการถึง

แต่ธาตุอันไม่มีนิมิต (คือนิพพาน) ๑* ดังนี้

ส่วน (ต่อไป) นี้ เป็นลำดับการเข้าในการเข้าผลสมาบัตินี้ ความ

ว่า พระอริยสาวกผู้มีความประสงค์ด้วยผลสมาบัติ พึงไปในที่ลับ (คน)

ปลีกตัวอยู่แล้ว (ทำวิปัสนา) เพ่งพิจารณาสังขารโดยวิปัสนาญาณ มี

* ม. มู. ๑๒/๕๔๓

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 277

อุทยัพพยญาณเป็นต้น จิตของพระอริยสาวกผู้มีวิปัสนาญาณตามลำดับ

เป็นไปแล้ว ย่อมแนบแน่นในนิโรธ โดยเป็นผลสมาบัติ ในลำดับ

แห่งโคตรภูญาณอันมีสังขารเป็นอารมณ์ ก็แลในการเข้าผลสมาบัตินี้

เพราะความที่พระอริยสาวกนั้นน้อม (จิต) ไปเพื่อผลสมาบัติ จึงผล

เท่านั้นเกิดขึ้น แม้แก่พระเสขะ มรรคหาเกิดขึ้นไม่ ส่วนอาจารย์

เหล่าใด๑กล่าว่า "พระโสดาบันประสงค์ว่าจักเข้าผลสมาบัติ ตั้งทำ

วิปัสนาไปก็เป็นพระสกทาคามี พระสกทาคามีเล่า...ตั้งทำวิปัสนาไป

ก็เป็นพระอนาคามี" ดังนี้ อาจารย์เหล่านั้นควรถูกว่ากล่าวว่า "เมื่อ

เป็นอย่างนั้น พระอนาคามี (ตั้งทำวิปัสนาไป) ก็จักเป็นพระอรหันต์

พระอรหันต์... ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธ และพระปัจเจกพุทธ...ก็จัก

เป็นพระพุทธเจ้าได้ละซิ" เพราะเหตุนั้น คำของอาจารย์เหล่านั้นนั่น

จึงไม่ควรถือเอาสักหน่อย อนึ่ง คำของอาจารย์เหล่านั้น เป็นอันถูก

ปฏิเสธด้วยอำนาจพระบาลี (เรื่องโคตรภูธรรม ๑๐ ที่กล่าวแล้ว ซึ่งแยก

วิปัสนาสำหรับมรรคและสำหรับผลเป็นคนละอย่าง) ด้วย แม้เพราะ

เหตุนี้ จึงไม่ควรถือเอา ควรถือเอาแต่นี่เท่านั้น คือ "ผลเท่านั้น

เกิดขึ้นแม้แก่พระเสขะ มรรคหาเกิดขึ้นไม่๒ ผล (ที่เกิดขึ้น) เล่า ถ้า

มรรคที่พระอริยบุคคลผู้นั้นได้บรรลุเป็นปฐมฌานิกมรรค (มรรคมีปฐม-

ฌาน) ก็เป็นปฐมฌานิกผลเหมือนกัน เกิดขึ้นแก่พระอริยบุคคลผู้นั้น

ถ้ามรรคเป็นทุติยฌานิกะเป็นต้น ฌานิกะใดฌานิกะหนึ่ง ผลก็เป็นทุติย-

๑. มหาฎีกาว่า หมายถึงภิกษุฝ่ายอภัยคิรีวิหาร

๒. จับความได้โดยสังเขปว่า วิปัสนาเพื่อมรรคก็มี วิปัสนาเพื่อผลก็มี เป็นคนละอย่าง แต่ฝ่าย

อภัยคิรีเอามาปนกันเสียให้วุ่นไป

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 278

ฌานิกะเป็นต้น ฌานิกะใดฌานิกะหนึ่งเหมือนกัน"

การเข้าผลสมาบัตินั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันดับแรก

ส่วนการยั้งอยู่แห่งผลสมาบัตินั้น ย่อมมีด้วยอาการ ๓ ตามคำ

(ของพระธัมมทินนาเถรี) ว่า "ดูกรอาวุโส ปัจจัยขอการยั้งอยู่แห่ง

อนิมิตตาเจโตวิมุติ มี ๓ คือ ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ มนสิการ

ถึงแต่ธาตุอันไม่มีนิมิต ๑ ตระเตรียมไว้ก่อน ๑" ดังนี้ ในคำเหล่านั้น

คำว่า "ปุพฺเพ จ อภิสงฺขาโร -ตระเตรียมไว้ก่อน ๑" หมายความว่า

กำหนดกาลไว้ก่อนจะเข้าสมาบัติ อธิบายว่า เพราะกำหนดไว้ว่า "เรา

จักออกในการกาลชื่อโน้น" กาลนั้นยังมาไม่ถึงเพียงใด ความยั้งอยู่แห่งผล

สมาบัตินั้นก็ยังมีอยู่เพียงนั้น ความยั้งอยู่แห่งผลสมาบัตินั้น ย่อมมีด้วย

อาการอย่างนี้แล

ส่วนการออกแห่งผลสมาบัตินั้น ย่อมมีด้วยอาการ ๒ ตามคำ

(ของพระธัมมทินนาเถรี) ว่า "ดูกรอาวุโส ปัจจยของการออกแห่ง

อนิมิตตาเจโตวิมุติมี ๒ คือ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ ไม่มนสิการถึง

ธาตุอันไม่มีนิมิต ๑" ดังนี้ ในคำเหล่านั้น คำว่า นิมิตทั้งปวง ได้แก่

รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต พระอริยะ

(ผู้จะออก) มิได้มนสิการถึงนิมิตเหล่านั้นหมดด้วยกันทีเดียวก็จริง แต่

คำว่านิมิตทั้งปวงนั่น ท่านกล่าวโดยเป็นสรรพสังคาหิกะ (รวมได้ด้วย

กันทั้งหมด) เพราะฉะนั้น นิมิตใดเป็นอารมณ์แห่งภวังค์ได้ เมื่อ

มนสิการถึงนิมิตนั้นเข้า ความออกจากผลสมาบัติก็มีได้แล

ความออกแห่งผลสมาบัตินั้น พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 279

[อะไรมีในลำดับแห่งผล]

ปัญหากรรมข้อว่า "อะไรมีในลำดับแห่งผล และผลมีในลำดับ

แห่งอะไร" แก้ข้อแรกว่า "ผลนั่นเอง หรือภวังค์บ้าง ย่อมมีในลำดับ

แห่งผล๑ (แก้ข้อหลังว่า) ส่วนผล มีในลำดับแห่งมรรคก็มี ในลำดับ

แห่งผลก็มี ในลำดับแห่งโคตรภูก็มี ในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญา-

ยตนะก็มี ในผลเหล่านั้น ผลในลำดับแห่งมรรค ย่อมมีในมรรควิถี

ผลหลัง ๆ ย่อมมีในลำดับแห่งผลหน้า ๆ ผลหน้า ๆ ในผลสมาบัติ

ทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งโคตรภู คำว่า "โคตรภู" ในที่นี้ พึง

ทราบว่า ได้แก่อนุโลมญาณ สมคำที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานว่า

"อนุโลมญาณของพระอรหันต์ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยแห่ง

ผลสมาบัติ (ของพระอรหันต์) อนุโลทญาณของพระเสขะทั้งหลาย

ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยแห่งผลสมาบัติ (ของพระเสขะ

ทั้งหลาย)๒ ดังนี้ ความออกจากนิโรธย่อมมีด้วยผลอันใด ผลอันนั้น

เป็นผลมีในลำดับแห่งเนวสัญญาสัญญายตนะ"

ในผลเหล่านั้น ยกเว้นผลอันเกิดขึ้นในมรรควิถีเสีย ผลที่เหลือ

นับได้ว่าเป็นผลที่เป็นไปด้วยอำนาจผลสมาบัติทั้งสิ้น ด้วยอำนาจที่

เกิดขึ้นในมรรควิถีบ้าง ในผลสมาบัติบ้าง ดังกล่าวมาฉะนี้ ผลนั่น

๑. มหาฎีกาช่วยขยายความว่า ผลหลัง ๆ ย่อมมีในลำดับแห่งผลหน้า ๆ ส่วนภวังค์มีในลำดับ

แห่งผลสุดท้าย

๒. อภิ. ป. ๔๐/๑๖๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 280

จึงเป็นสามัญผลอันอุดม มีความเร่าร้อน

อันระงับแล้ว มีอมตธรรมเป็นอารมณ์

เป็นผลที่ละเมียดละไม ๑ คายโลกามิสแล้ว

เป็นผลที่ซาบซ่านไปด้วยความสุขอันสะอาด

มีโอชะ ซึ่งเป็นอมตสุข๒ (มีรส) หวานชื่น

ยิ่งกว่าน้ำหวาน เปรียบประดุจน้ำผึ้ง

เหตุใด บัณฑิตยังปัญญาให้เกิดแล้วจึงได้

ประสบความสุขนั้น อันนับเป็นรสยอด

เยี่ยมของอริยผลนั้น เหตุนั้น การได้

เสวยรสของอริยผลนั่น จึงกล่าวว่า เป็น

อานิสงส์ของวิปัสนาภาวนาในปัญญาภาวนา-

ธิการนี้

[นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชาสมตฺถตา]

อานิสงส์ข้อวา "นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา" ความว่า

อนึ่ง ใช่แต่การได้เสวยรสแห่งอริยผลเท่านั้นหามิได้ แต่แม้ความเป็น

ผู้ สามารถในการเข้านิโรธสมาบัต นี่ ก็พึงทราบว่าเป็นอานิสงส์ของ

ปัญญาภาวนานี้ด้วย

(ต่อไป) นี้เป็นปัญหากรรมเพื่อขยายความนิโรธสมาบัติ ในคำว่า

"ความเป็นผู้สามารถในการเข้านิโรธสมาบัติ" นั้น คือ นิโรธสมาบัติ

๑. ละเมียด แปลจาก สนฺตํ ละไม แปลจาก สุภํ

๒. อมเตน มหาฎีกาเติมกิริยาเป็น อมเตน สมฺโมทิต นึกไม่เห็นว่า เติมทำไม ไม่เติมก็แปลได้

ดังที่แปลไว้นี้ เชื่อว่าไม่ผิด

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 281

คืออะไร บุคคลเหล่าไหนเข้านิโรธสมาบัตินั้นได้ เหล่าไหนเข้าไม่ได้

เข้าได้ในภพไหน เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร อนึ่ง การเข้านิโรธสมาบัตินั้น

มีได้อย่างไร (เข้าแล้ว) ยั้งอยู่ได้อย่างไร ออกอย่างไร จิตของผู้ออก

แล้วเป็นจิตน้อมไปสู่อะไร คนตายกับคนเข้านิโรธสมาบัติต่างกันอย่างไร

นิโรธสมาบัติเป็นสังขตะหรืออสังขตะ เป็นโลกิยะหรือโลกุตระ เป็น

นิปผันนะ (สำเร็จ) หรืออนิปผันนะ (ไม่สำเร็จ)

[นิโรธสมาบัติคืออะไร]

ในปัญหากรรมเหล่านั้น ปัญหากรรมข้อว่า "นิโรธสมาบัติคืออะไร"

แก้ว่า นิโรธสมาบัติ คือความไม่เป็นไปแห่งจิตเจตสิกธรรมทั้งหลาย

ด้วยอำนาจความดับไปโดยลำดับ

[ใครเข้านิโรธได้ ใครเข้าไม่ได้]

ปัญหากรรมข้อว่า "บุคคลเหล่าไหนเข้านิโรธสมาบัตินั้นได้ เหล่า

ไหนเข้าไม่ได้ " แก้ว่า บุถุชนทั้งสิ้น พระโสดาบันและพระสกทาคามี

ทั้งสิ้น กับพระอนาคามีและพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นสุกขวิปัสสก เข้า

ไม่ได้ แต่พระอนาคามี และพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้สมาบัติ ๘

เข้าได้ เพราะท่านกล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค) ว่า "พระประกอบ

ด้วยพละ ๒ และเพราะความระงับไปแห่งสังขาร ๓ ความรู้ทั่วใน

(วสีภาวตา) ความเป็นผู้มีอำนาจ (คือเชี่ยวชาญสามารถเข้านิโรธได้

ดังใจ) ด้วยญาณจริยา ๑๖ ด้วยสมาธิจริยา ๙ เป็นญาณในการเข้า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 282

นิโรธสมาบัติ"* ดังนี้ อันสัมปทา (คือสมาบัติ) อันนี้ ยกเว้น

พระอนาคามี และพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้ได้สมาบัติ ๘ แล้ว หามีแก่

บุคคลเหล่าอื่นไม่ เพราะเหตุนั้น พระอนาคามีแลพระขีณาสพผู้ได้

สมาบัติ ๗ นั้นเท่านั้นจึงเข้าได้ บุคคลเหล่าอื่นเข้าไม่ได้

มีปัญหาว่า "ก็ในคำบาลีนี้ พละ ๒ คืออะไรบ้าง สังขาร ๓

คืออะไรบ้าง ญาณจริยา ๑๖ คืออะไรบ้าง สมาธิจริยา ๙ คืออะไรบ้าง

วสีภาวตา เป็นไฉน" ในปัญหานี้ คำแก้อะไร ๆ ที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย

จะต้องกล่าวหามีไม่ คำแก้ทั้งสิ้น (ต่อไป) นี้ ท่านได้กล่าวไว้ในนิเทศ

แห่งอุเทศนั่นแล้วละ ดังบาลีว่า

[พละ ๒ สมถพละ]

"คำว่า "ด้วยพละ ๒" ความว่า พละมี ๒ คือสมถพละ วิปัสนาพละ

สมถพละเป็นไฉน ความไม่ซัดส่ายไป คือความมีอารมณ์เป็นหนึ่งแห่ง

จิต ด้วยอำนาจเนกขัม (วิตก) ชื่อว่า สมถพละ ความไม่ซัดส่ายไป

คือความมีอารมณ์เป็นหนึ่งแห่งจิต ด้วยอำนาจอพยาบาท (วิตก)...ด้วย

อำนาจอาโลกสัญญา... ด้วยอำนาจความไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ ...ด้วยอำนาจ

ความเป็นผู้พิจารณาเห็นอย่างสลัดทิ้งหายใจเข้า...ด้วยอำนาจความเป็น

ผู้พิจารณาเห็นอย่างสลัดทิ้งหายใจออก ชื่อว่า สมถพละ ในคำว่า

สมถพละ ถามว่า ชื่อว่า สมถพละเพราะอรรถอะไร แก้ว่า ชื่อว่า

สมถพละ เพราะอรรถคือไม่หวั่นไหวในเพราะนีวรณ์ ด้วยปฐมฌาน

* ขุ. ป. ๓๑/๒

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 283

ชื่อว่า สมถพละ เพราะอรรถคือไม่หวั่นไหวในเพราะวิตกวิจารด้วย

ทุติยฌาน ฯลฯ ชื่อว่า สมถพละ เพราะอรรถคือไม่หวั่นไหวในเพราะ

อากิญจัญญายตนสัญญา ด้วยเนวสัญญาสัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่า

สมถพละ เพราะอรรถคือไม่ไหว ไม่หวั่น ไม่สั่นไปในเพราะอุทธัจจะ

ในเพราะกิเลสที่สหรคตกับอุทธัจจะ และในเพราะขันธ์ (ที่สัมปยุตกับ

อุทธัจจะ) นี่ สมถพละ

[วิปัสนาพละ]

วิปัสนาพละเป็นไฉน อนิจจานุปัสนา (ความคำนึงเห็นว่าสังขาร

ทั้งหลายไม่เที่ยง) ชื่อว่าวิปัสนาพละ ทุกขานุปัสนา (ความคำนึงเห็นว่า

สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์)... อนัตตานุปัสนา (ความคำนึงเห็นว่าธรรม

ทั้งหลายเป็นอนัตตา)... นิพพิทานุปัสนา (ความคำนึงถึงสังขารด้วยความ

เบื่อหน่าย)... วิราคานุปัสนา (ความคำนึงด้วยคลายกำหนัดในสังขาร)

... นิโรธานุปัสนา (ความคำนึงเห็นนิโรธ)... ปฏินิสสัคคานุปัสนา

(ความคำนึงด้วยสลัดทิ้งเสีย) ชื่อว่าวิปัสนาพละ ความคำนึงเห็นว่า

ไม่เที่ยงในรูป... ความคำนึงด้วยสลัดทิ้งเสียในรูป ความคำนึงเห็นว่า

ไม่เที่ยง... ความคำนึงด้วยสลัดทิ้งเสียในรูป ความคำนึงเห็นว่า

ไม่เที่ยง...ความคำนึงด้วยสลัดทิ้งเสย ในเวทนา...ในสัญญา...ใน

สังขาร...ในวิญญาณ ฯลฯ ในจักษุ ... ในชรามรณะ ชื่อว่าวิปัสนาพละ

ในคำว่า วิปัสนาพละ ถามว่า ชื่อว่าวิปัสนาพละ เพราะอรรถอะไร

แก้ว่า ชื่อว่าวิปัสนาพละ เพราะอรรถคือไม่หวั่นไหวในเพราะนิจจสัญญา

(ความสำคัญว่าเที่ยง) ด้วยอนิจจานุปัสนา ชื่อว่าวิปัสนาพละ เพราะ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 284

อรรถคือไม่หวั่นไหวในเพราะสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ด้วย

ทุกขานุปัสนา...เพราะอรรถคือไม่หวั่นไหวในเพราะอัตตสัญญา (ความ

สำคัญว่าเป็นอัตตา) ด้วยอนัตตานุปัสนา...เพราะอรรถคือไม่หวั่นไหว

ในเพราะนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ด้วยนิพพิทานุปัสนา...เพราะอรรถ

คือไม่หวั่นไหวในเพราะราคะ ด้วยวิราคานุปัสนา...เพราะอรรถคือ

ไม่หวั่นไหวในเพราะสมุทัย ด้วยนิโรธานุปัสนา...เพราะอรรถคือไม่

หวั่นไหวในเพราะอาทาน (ความยึดไว้) ด้วยปฏินสิ สัคคานุปัสนา ชื่อว่า

วิปัสนาพละ เพราะอรรถคือไม่ไหว ไม่หวั่น ไม่สั่นไปในเพราะอวิชชา

ในเพราะกิเลสที่สหรคตกับอวิชชา และในเพราะขันธ์ (ที่สัมปยุตกับ

อวิชชา) นี่ วิปัสนาพละ

[ความระงับแห่งสังขาร ๓]

ในข้อว่า "และเพราะความระงับไปแห่งสังขาร ๓" ถามว่า เพราะ

ความระงับไปแห่งสังขาร ๓ เหล่าไหน แก้ว่า วจีสังขารคือวิตกวิจาร

ของผู้เข้าทุติยฌานย่อมระงับ กายสังขารคืออัสสาสะปัสสาสะของผู้เข้า

จตุตถฌานย่อมระงับ จิตตสังขารคือคือสัญญาและเวทนาของผู้เข้าสัญญา-

เวทยิตนิโรธย่อมระงับ เพราะความระงับไปแห่งสังขาร ๓ เหล่านี้

[ญาณจริยา ๑๖]

ในข้อว่า "ด้วยญาณจริยา ๑๖" ถามว่า ด้วยญาณจริยา ๑๖ เหล่าไหน

แก้ว่า อนิจจานุปัสนา ชื่อว่า ญาณจริยา ทุกขานุปัสนา...อนัตตานุ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 285

ปัสนา..นิพพิทานุปัสนา...วิราคานุปัสนา...นิโรธธานุปันสนา...ปฏิ-

นิสสัคคานุปัสนา...วิวัฏฏานุปัสนา (ความคำนึงด้วยหมุนกลับจากสังขาร

ได้แก่สังขารุเบกขากและอนุโลมญาณ) ชื่อว่า ญาณจริยา โสดาปัตติมรรค

ื่ชื่อว่า ญาณจริยา โสดาปัตติผลสมาบัติ ชื่อว่า ญาณจริยา สกทาคามิ-

มรรค...สกทาคามิผลสมาบัติ...อนาคามิมรรค...อนาคามิผลสมาบัติ

...อรหัตมรรค...อรหัตผลสมาบัติ ชื่อว่า ญาณจริยา๑ ด้วยญาณจริยา

๑๖ เหล่านี้

[สมาธิจริยา ๙]

ในข้อว่า "ด้วยสมาธิจริยา ๙" ถามว่า ด้วยสมาธิจริยา ๙ เหล่าไหน

แก้ว่า ปฐมฌาน ชื่อว่า สมาธิจริยา ทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานา-

สัญญาตยนสมาบัติ ชื่อว่า สมาธิจริยา (เป็น ๘) วิตกก็ดี วิจารก็ดี

ปีติก็ดี สุขก็ดี จิตเตกัคคตาก็ดี เพื่อประโยชน์แก่อันได้ปฐมฌาน ฯลฯ

วิตกก็ดี วิจารก็ดี ปีติก็ดี สุขก็ดี จิตเตกัคคตาก็ดี เพื่อประโยชน์แก่

อันได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ (นับเป็นสมาธิจริยาอีก ๑)๒ ด้วย

สมาธิจริยา ๙ เหล่านี้

[วสี ๕]

ข้อว่า "วสี" ความว่า วสีมี ๕ คืออาวัชนวสี สมาปัชนวสี

อธิฏฐานวสี วุฏฐานวสี ปัจเวกขณวสี

๑. มหาฎีกาว่า ญาณจริยา ก็คือ ญาณปวัติ (ความเป็นไปแห่งญาณ) จำแนกโดยอนุปัสนา ๘

และโดยมรรคญาณผลญาณ ๘ จึงเป็น ๑๖

๒. มหาฎีกาว่า สมาธิจริยานี้ คือสมาบัติ ๘ กับอุปจารสมาธิของสมาบัติ ๘ เหล่านั้น นับเป็น ๑

จึงเป็น ๙

อันได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ (นับเป็นสมาธิจริยาอีก ๑)๒ ด้วย

สมาธิจริยา ๙ เหล่านี้

วสี ๕

ข้อว่า "วสี" ความว่า วสีมี ๕ คืออาวัชนวสี สมาปัชนวสี

อธิฏฐานวสี วุฏฐานวสี ปัจเวกขณวสี

๑. มหาฎีกาว่า ญาณจริยา ก็คือ ญาณปวัติ (ความเป็นไปแห่งญาณ) จำแนกโดยอนุปัสนา ๘

และโดยมรรคญาณผลญาณ ๘ จึงเป็น ๑๖

๒. มหาฎีกาว่า สมาธิจริยานี้ คือ สมาบัติ ๘ กับอุปจารสมาธิของสมาบัติ ๘ เหล่านั้น นับเป็น ๑

จึงเป็น ๙

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 286

นึกหน่วงเอาปฐมฌานได้ในที่ ๆ ต้องการ ตามที่ต้องการ เพียง

เท่าที่ต้องการ ความชักช้าในการนึกหน่วงหามีไม่ เหตุนี้ จึงชื่ออาวัชนาวสี

เข้าปฐมญานได้ในที่ ๆ ต้องการ ตามที่ต้องการ เพียงเวลาที่

ต้องการ ความชักช้าในการเข้าหามีไม่ เหตุนี้ จึงชื่อ สมาปัชนวสี

ยั้ง (ปฐมฌาน) ไว้ได้ในที่ ๆ ต้องการ ตามที่ต้องการ เพียงเวลา

ที่ต้องการ ความชักช้าในการยั้งหามีไม่ เหตุนี้ จึงชื่อ อธิฏฐานวสี

ออก (จากปฐมฌาน) ได้ในที่ ๆ ต้องการ ตามที่ต้องการ เพียง

เวลาที่ต้องการ ความชักช้าในการออกหามีไม่ เหตุนี้ จึงชื่อ วุฏฐานวสี

ปัจเวกขณ์ (ปฐมฌาน) ได้ในที่ ๆ ต้องการ ตามที่ต้องการ

เพียงเวลาที่ต้องการ ความชักช้าในการปัจเวกขณ์หามีไม่ เหตุนี้ จึง

ชื่อ ปัจเวกขณวสี

นึกหน่วง ฯลฯ ปัจเวกขณ์ ทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญนา-

สัญญายตนะได้ในที่ ๆ ต้องการ ตามที่ต้องการ เพียงเวลาที่ต้องการ

ความชักช้าในการนึกหน่วง ฯลฯ ในการปัจเวกขณ์หามีไม่ เหตุนี้

จึงชื่อ อาวัชนวสี ฯลฯ ปัจเวกขณวสี" *

ก็แล นิเทศแห่งข้อว่า "ด้วยญาณจริยา ๑๖" ในบาลีนี้นั้น เป็น

นิเทศอย่างสูงสุด ด้วยว่าสำหรับพระอนาคามี วสีภาวตาปัญญา มีด้วย

ญาณจริยา ๑๔ หากมีคำท้วงว่า "ถ้าเช่นนั้น สำหรับพระสกทาคามี

มิมีด้วยญาณจริยา ๑๒ และสำหรับพระโสดาบัน มิมีด้วยญาณจริยา ๑๐

* ขุ. ป. ๓๑/๑๔๑ ศัพท์ วสี นี้ น่าจะเปน็ ปุํลิงค์ มหาฎกี าก็แสดงวิเคราะห์เป็นปุํลิงค์ว่า

วโส เอตสฺส อตฺถีติ วสี แต่ในบาลีนี้ ท่านกล่าวเป็นอิทถีลิงค์ จะเล็งถึงปัญญากระมัง ถ้ากระนั้น

น่าจะตั้งวิเคราะห์ว่า วโส เอตสฺสา อตฺถีติ วสี...

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 287

หรือ" ดังนี้ พึงแก้ว่า (สำหรับพระเสขะชั้นต่ำ ๒ จำพวกนั้น) วสี-

ภาวตาปัญญาหามีไม่ เพราะราคะอันมีเบญจกามคุณเป็นวัตถุ ซึ่งเป็น

อันตรายต่อสมาธิ ท่านยังละไม่ได้ ก็เพราะราคะนั้นท่านยังละไม่ได้

เหตุนั้น สมถพละ (ของท่าน) จึงไม่บริบูรณ์ เมื่อสมถพละนั้นไม่

บริบูรณ์แล้ว ท่านจึงไม่อาจจะเข้านิโรธสมาบัติอันจะต้องเข้าด้วยพละ ๒

ได้ เพราะมีกำลังบกพร่อง แต่ราคะนั้น พระอนาคามีละได้แล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นผู้มีพละบริบูรณ์ เพราะความที่เป็นผู้มีพละ

บริบูรณ์ ท่านจึงอาจ (เข้านิโรธสมาบัติได้) เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสไว้ว่า "เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลเป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตร-

ปัจจัยแห่งผลสมาบัติ"๑ ดังนี้ อันคำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในมหา-

ปกรณ์ปัฏฐาน หมายถึงการออกจากนิโรธแห่งพระอนาคามีเท่านั้น๒ แล

[เข้าได้ในภพไหน]

ปัญหากรรมข้อว่า "เข้าได้ในภพไหน " แก้ว่า ในปัญจโวการภพ

เพราะอะไร เพราะนิโรธสมาบัตินั้น มีอันต้องเข้าไปตามลำดับเป็น

สภาวะ แต่ในจตุโวการภพ (คือในอรูปภพ) ความเกิดขึ้นแห่งรูป-

สมาบัติมีปฐมฌานเป็นต้นหามีไม่ เพราะเหตุนั้น จึงไม่อาจเข้าใน

๑. อภิ. ป. ๔๐/๑๖๓

๒. มหาฎีกาช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะคำว่า "เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล" นั่นแหละ

จึงทราบได้ว่า หมายถึงการออกจากนิโรธของพระอนาคามี ถ้าหมายถึงประการอื่น (คือว่า

สำหรับพระอรหันต์) ก็จะพึงกล่าวว่า เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยา

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 288

จตุโวการภพนั้นได้* แล ส่วนอาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่า "(เข้าไม่ได้)

เพราะไม่มี (หทัย) วัตถุ"

[เข้าเพราะอะไร]

ปัญหากรรมข้อวา "เข้าเพราะอะไร " แก้ว่า ท่านระอาในความ

เป็นไปต่าง ๆ ของสังขารทั้งหลาย จึงเข้า (นิโรธ) เสีย ด้วยประสงค์

ว่า "เราจักเป็นผู้ไม่มีจิต ถึงนิโรธ คือ (เหมือน) นิพพานเสียแล้วอยู่

เป็นสุขในทิฏฐธรรมนี่แหละ " ดังนี้

[เข้าอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "อนึ่ง การเข้านิโรธสมาบัตินั้นมีได้อย่างไร"

แก้ว่า การเข้านิโรธสมาบัตินั้นย่อมมีได้แก่ (พระอริยะชั้นสูง) ผู้เพียร

พยายามด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสนา ทำบุพกิจแล้ว ทำเนว-

สัญญานาสัญญายตนะให้ดับไปอยู่ การเข้านิโรธสมาบัตินั้นมีได้อย่างนี้

ก็แลความ (ต่อไป) นี้เป็นความสังเขปในการเข้านิโรธสมาบัตินั้น

คือ ผู้ใดเพียงพยายามด้วยอำนาจสมถะอย่างเดียว ผู้นั้นได้บรรลุ

เนวสัญญานาสัญญายนสมบัติแล้วก็หยุด ส่วนผู้ใดเพียรพยายามด้วย

อำนาจวิปัสนาอย่างเดียว ผู้นั้นบรรลุผลสมาบัติแล้วก็หยุด แต่

* มหาฎีกาเพิ่มเติมว่า แม้ในจตุโวการภพ จะมีการเข้าอรูปฌานตามลำดับบ้างก็ได้ แต่นั่น

ไม่เรียกว่า อนุปุพพสมาบัติ เพราะขาดไปเสียส่วนหนึ่ง คือรูปฌาน ต้องเข้าครบ ๘ ตามลำดับ

จึงจะเรียก อนปพพสมาบัติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 289

ผู้ใดเพียรพยายามด้วยอำนาจสมถะและวิปัสนาทั้ง ๒ (เป็นคู่กัน) ทีเดียว

ทำบุพกิจแล้ว ทำเนวสัญญานาสัญญาตนะให้ดับไป ผู้นั้นย่อมเข้า

นิโรธสมาบัตินั้นได้ ๑

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความพิสดาร คือ ภิกษุในพระธรรม

วินัยนี้ ปรารถนาจะเข้านิโรธ ทำภัตกิจ ล้างมือและเท้าดีแล้ว (ไป)

นั่น ณ อาสนะอันลาดไว้ดีแล้ว ในโอกาสที่สงัด คู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรง

ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเข้าปฐมฌาน ออกแล้ว (ทำวิปัสนา)

พิจารณาสังขารทั้งหลายในปฐมฌานนั้น โดยความไม่เที่ยง โดยความ

เป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

[วิปัสนา ๓]

อันวิปัสนานั่นมี ๓ อย่าง คือ สังขารปริคัณหณกวิปัสนา (วิปัสนา

ที่กำหนดสังขาร) ผลสมาบัติวิปัสนา (วิปัสนาสำหรับเข้าสมาบัติ)

นิโรธสมาบัติวิปัสนา (วิปัวนาสำหรับเข้านิโรธสมาบัติ) ในวิปัสนา

๓ นั้น สังขารปริคัณหณกวิปัสนา จะเป็นอย่างอ่อนหรืออย่างกล้าก็แล้ว

แต่ ย่อมเป็นปทัสถานแห่งมรรคอยู่นั้นเอง๒ ผลสมาบัติวิปัสนา เป็น

๑. มหาฎีกาเสริมความว่า เข้าฌานไปโดยลำดับจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้วทำเนวสัญญา-

นาสัญญายตนะนั้นให้ดับไป ต่อนั้นไม่มีจิตอะไรอื่นเกิดขึ้นอีก ก็เป็นผู้ไม่มีจิต เข้านิโรธสมาบัติไป

๒. มหาฎีกาว่า วิปัสนา ถ้าเป็นอย่างอ่อนก็ยังมรรคที่เป็นทันธาภิญญาให้สำเร็จ ถ้าเป็นอย่างกล้า

ก็ยังมรรคที่เป็นขิปปาภิญญาให้สำเร็จ ตกว่าวิปัสนาที่ได้ลักษณะแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมรรค

ทั้งนั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 290

อย่างกล้าจึงควร เป็นเช่นกับมรรคภาวนา๑ ส่วนนิโรธสมาบัติวิปัสนา

เป็นอย่างไม่อ่อนนัก ไม่กล้านัก จึงควร ๒ เพราะเหตุนั้น ผู้เข้านิโรธ-

สมาบัตินั่น จึงชื่อว่า (ทำวิปัสนา) พิจารณาสังขารทั้งหลายนั้น ด้วย

วิปัสนาอันไม่อ่อนนัก ไม่กล้านัก

[ลำดับการเข้าต่อไป]

ลำดับนั้น เข้าทุติยฌาน ออกแล้ว (ทำวิปัสนา) พิจารณาสังขาร

ทั้งหลายในทุติยฌานนั้น อย่างที่กล่าวแล้วนั้นเหมือนกัน ต่อนั้น

เข้าตติยฌาน ฯลฯ ต่อนั้น เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกแล้ว (ทำ

วิปัสนา) พิจารณาสังขารทั้งหลายในวิญญาณัญจายตนะนั้น อย่างนั้น

แหละ ครั้นแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกแล้วทำบุพกิจ ๔ อย่าง

คือ นานาพัทธอวิโกปนะ-ไม่ยังพัสดุที่เนื่องกับภิกษุต่างรูปให้กำเริบ

สังฆปฏิมานนะ-(คำนึงถึง) การรอคอยแห่งสงฆ์ สัตถุปักโกสนะ-

(คำนึงถึง) การรับสั่งให้หาแห่งพระศาสดา อัทธานปริเฉท-(คำนึงถึง

กำหนดกาลแห่งชีวิต

[นานาพัทธอวิโกปนะ]

ในบุพกิจ ๔ นั้น ข้อว่า "นานาพัทธอวิโกปนะ-ไม่ยังพัสดุที่เนื่อง

๑. ต้องเป็นอย่างกล้า จึงเป็นปัจจัยแห่งผลที่เป็นวิสังขารได้ เหมือนมรรค จึงว่าเป็นเช่นกับมรรค

ภาวนา

๒. ถ้าอ่อนนัก เป็นสมาถาธิกะ-ยิ่งด้วยสมถะ ก็ไม่สามารถดับสังขารได้ ไปหยุดอยู่แค่สมถะ

ถ้ากล้านัก เป็นญาณาธิกะ-ยิ่งด้วยปัญญา ก็ไปจบอยู่ที่ผลสมาบัติ เพราะเห็นโทษในสังขาร

ทั้งหลายยิ่งนัก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 291

ด้วยภิกษุต่างรูปให้กำเริบ" มีอรรถาธิบายว่า พัสดุสิ่งใดมิใช่เป็นของ

เนื่องกับภิกษุนี้แต่ผู้เดียว (แต่) เป็นของเนื่องกับภิกษุต่างรูป (ใช้ด้วย

กัน) อยู่ เป็นบาตรจีวรก็ดี เตียงตั่งก็ดี เป็นเรือนที่อยู่ก็ดี หรือของ

เป็นบริขารอะไร ๆ อื่นก็ดี พัสดุนั้นจะไม่กำเริบ คือจะไม่เสียไปด้วย

อำนาจอันตรายทั้งหลาย มีไฟ น้ำ ลม โจรและหนูเป็นต้น ด้วย

ประการใด ก็พึงอธิษฐานด้วยประการนั้น นี่เป็นวิธีอธิษฐานในข้อนั้น

คืออธิษฐานว่า "พัสดุนี้ ๆ ภายใน ๗ วันนี้ จงอย่างถูกไฟเผา จงอย่าถูก

น้ำพัดไป จงอย่าถูกลมทำลาย จงอย่าถูกพวกโจรลัก จงอย่างถูกสัตว์

มีหนูเป็นต้นกัด" ครั้นอธิษฐานอย่างนี้แล้ว* อันตรายอะไร ๆ ย่อม

ไม่มีแก่พัสดุนั้น ตลอด ๗ วัน แต่เมื่อไม่อธิษฐาน พัสดุย่อมวินาส

ได้ด้วยอันตรายทั้งหลายมีไฟเป็นต้น ดุจพัสดุขอพระมหานาคเถระ

ฉะนั้น

มีเรื่องเล่าว่า พระเถระเข้าไปสู่บ้านของอุนาสิกาผู้เป็นโยม เพื่อ

บัณฑิตบาต อุบาสิกาถวายยาคูแล้วนิมนต์ให้นั่งในโรงอาหาร พระ-

เถระนั่นเข้านิโรธ (ในขณะนั้น) พอท่านนั่ง (เข้านิโรธ) แล้ว โรงอาหาร

ติดไฟ (ลุกฮือ) ขึ้น ภิกษุนอกนั้น ต่างคล้าอาสนะที่ตนนั่งหนีไป

พวกชาวบ้าน (มา) ประชุม (ช่วยดับไฟ) เห็นพระเถระ (นั่นหลับตา

เฉยอยู่ ไม่รู้ว่าท่านเข้านิโรธ) ก็พากัน (เหมาเอา) ว่าท่านเป็นสมณะ

ขี้เกียจ ๆ (แม้แต่ไฟไหม้อยู่รอบตัวยังไม่ลุกหนี) ไฟเผาไหม้หญ้า

(มุง) ไม้ไผ่ (กลอน) และตัวไม้ทั้งหลาย แล้ว (ลุก) ล้อมพระเถระ

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น เอตํ เข้าใจคลาดเคลื่อน ที่ถูกเป็น เอวํ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 292

อยู่ (ไม่ทำอันตรายท่าน) คนทั้งหลาย (เห็นเป็นอัศจรรย์เกิดเลื่อมใส)

จึง (ช่วยกัน) ใช้หม้อตักน้ำมาดับ แล้วกวาดเถ้าถ่านทำเป็นวงขอบ

(รอบองค์พระเถระ พากันไปเก็บดอกไม้มา) โปรยดอกไม้ลง (ในวง

ขอบนั้น เป็นเครื่องบูชา๑) แล้วต่างยืนนมัสการอยู่ (โดยรอบ) พระ-

เถระออก (จากนิโรธ) ด้วยอำนาจกาลที่กำหนดไว้ เห็นคนทั้งหลายนั้น

(ยืนไหว้อยู่รอบตัว) ก็คิดว่า "เราเกิดเป็นคนปรากฏ (คือเด่น) เสียแล้ว"

จึงโลดขึ้นสู่เวหาส (เหาะ) ไปสู่เกาะประยงค์เสีย

(การอธิษฐานมิให้พัสดุเสียหายในเวลาเข้านิโรธ) นี้ ชื่อว่า

นานาพัทธอวิโกปนะ-ไม่ยังพัสดุที่เนื่องด้วยภิกษุต่างรูปให้กำเริบ ส่วน

พัสดุใดเป็นของเนื่องด้วยตนผู้เดียว เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่มก็ดี อาสนะที่ตน

นั่งก็ดี กิจที่จะต้องอธิษฐานไว้เป็นส่วนหนึ่งในพัสดุนั้นหามีไม่ ผู้เข้า

นิโรธย่อมคุ้มกันพัสดุนั้นไว้ได้ด้วยอำนาจสมาบัตินั่นเอง ดุจพัสดุของ

ท่านพระสัญชีวะ (ที่กล่าวในอิทธิกถา) จริงอยู่ แม้คำบาลีนี้ก็ได้กล่าว

ไว้ว่า "ฤทธิ์ปกแผ่ด้วยอำนาจสมาธิของท่านพระสัญชีวะ ฤทธิ์ปกแผ่ด้วย

อำนาจสมาธิของท่านพระสารีบุตร "๒ ดังนี้

[สังฆปฏิมานนะ]

การรอ คือคอย แห่งสงฆ์ ชื่อว่า สังฆปฏิมานนะ หมายความว่า

๑. ชาวชมพูทวีปเขานิยม โปรย โยน สาด เครื่องบูชาไปยังที่เคารพ ทำนองเดียวกับโปรย

ลุกปาของชาวยุโรป จนทุกวันนี้ หาได้จัดใส่หาน หรือปักแจกันไปตั้งบูชาอย่างธรรมเนียมของ

เราไม่

๒. ขุ. ป. ๓๑/๕๙๘

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 293

การที่ภิกษุรูปหนึ่งยังไม่มาเพียงใด ก็ไม่ทำสังฆกรรมเพียงนั้น ก็แล

ในข้อนี้ การรอคอยหาได้เป็นบุพกิจของภิกษุผู้จะเข้านิโรธนั้นไม่ แต่

การคำนึงถึงการรอคอย (นั่น) เป็นบุพกิจ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้จะเข้า

นิโรธพึงคำนึงอย่างนี้ว่า "ถ้าเมื่อเรานั่งเข้านิโรธอยู่ ๗ วัน สงฆ์ใคร่

จะทำกรรมอะไรอย่างหนึ่ง ในบรรดาสังฆกรรมมีญัติกรรมเป็นต้นไซร้

เราจักออก (ทันที) ไม่ทันที่ภิกษุสักรูปหนึ่งจะมาเรียกเรา" ด้วยว่า

ทำอย่างนี้แล้วจึงเข้า เธอย่อมจะออกไก้ทันทีในเวลานั้น* ส่วนภิกษุใด

ไม่ทำอย่างนั้น ต่อสงฆ์ประชุมกันแล้วไม่เห็นภิกษุนั้นอยู่ ถามหาว่า

ภิกษุรูปโน้มไปไหน ครั้นภิกษุรูปหนึ่งบอกว่าเธอเข้านิโรธ สงฆ์จะส่ง

ภิกษุรูปหนึ่งไปด้วยสั่งว่า "เธอจงไปเรียกภิกษุรูปนั้นตามคำ (สั่ง) ของ

สงฆ์" จนเมื่อภิกษุ (ผู้ไปเรียก) นั้น (ไป) ยืนในสวนูปจาร (ที่ใกล้พอ

เรียกได้ยิน) แล้วบอกว่า "อาวุโส สงฆ์รอคอยท่าน " นั่นแหละ เธอ

จึงได้ออก เพราะขึ้นชื่อว่าอาณา (คำสั่ง) ของสงฆ์ ย่อมเป็นการหนัก

(คือเป็นสำคัญ จำต้องเคารพ) อย่างนี้ เหตุนั้น ภิกษุผู้เข้านิโรธจึงควร

คำนึงถึงการรอคอยแห่งสงฆ์นั้น แล้วจึงเข้าอย่างที่จะออกได้เองทีเดียว

(ไม่ต้องให้เรียก)

[สุตถุปักโกสนะ]

แม้ในข้อวา "สตถุปักโกสน" นี่ ก็การคำนึงถึงการรับสั่งให้หาแห่ง

พระศาสดา นั่นแหละเป็น (บุพ) กิจของภิกษุ (ผู้จะเข้านิโรธ) นี้ เพราะ

เหตุนั้น แม้การรับสั่งให้หาแห่งพระศาสดานั้น เธอก็ควรคำนึกอย่างนี้

* คล้ายกำหนดกาลไว้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 294

ว่า "ถ้าเมื่อเรานั่งเข้านิโรธอยู่ ๗ วัน พระศาสนาจะทรงบัญญัติสิกขาบท

ในกรณีที่วัตถุหยั่งลง (คือเกิดเรื่องขึ้น) ก็ดี จะทรงแสดงธรรมในเพราะ

อัตถุปบัติ (คือเรื่องที่เกิดขึ้น) อย่างนั้นก็ดีไซร้ เราจักออก (ทันที)

ไม่ทันที่ใคร ๆ จะมาเรียกเรา" ด้วยว่าทำอย่างนี้แล้วจึงนั่ง (เข้านิโรธ)

เธอย่อมออกได้ทันทีในเวลานั้น ส่วนภิกษุใดไม่ทำอย่างนั้น ต่อพระ

ศาสดา เมื่อสงฆ์ประชุมกันแล้ว ทอดพระเนตรไม่เห็นภิกษุนั้นอยู่

รับสั่งถามหาว่า ภิกษุรูปโน้นไปไหน ครั้นภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลว่า เธอ

เข้านิโรธ จะทรงสั่งภิกษุรูปหนึ่งไป ด้วยรับสั่งว่า "เธอจงไปเรียก

ภิกษุนั้นตามคำของเรา" จนเมื่อภิกษุ (ผู้รับ ๆ สั่ง) นั้น (ไป) ยืนใน

สวนูปจาร แล้วบอกว่า "พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน" นั่นแหละ

เธอจึงได้ออก เพราะการรับสั่งให้หาแห่งพระศาสดาเป็นการหนัก (คือ

จำต้องเคารพ) อย่างนี้ เหตุนั้น ภิกษุผู้จะเข้านิโรธจงควรคำนึงถึงการ

รับสั่งให้หาแห่งพระศาสดานั้น แล้วจึงเข้าอย่างที่จะออกได้เองทีเดียว

(ไม่ต้องให้รับสั่งให้หา)

[อัทธานปริเฉท]

การกำหนดกาลแห่งชีวิต ชื่อว่า อัทธานปริเฉท อันภิกษุ (ผู้จะ

เข้านิโรธ) นี้ ต้องเป็นผู้ฉลาดอย่างดีในอัทธานปริเฉท ต้องคำนึงดู

เที่ยวว่า อายุสังขารของตนจักเป็นไป จักไม่เป็นไปตลอด ๗ วัน แล้ว

จึงเข้า เพราะถ้าไม่คำนึงดูอายุสังขารซึ่งจะต้องดับในภายใน ๗ วันเสีย

เลยแล้วเข้าไซร้ นิโรธสมาบัติของเธอย่อมไม่อาจป้องกันความตายได้

เธอจะ (ต้อง) ออกจากสมาบัติเสียในระหว่าง (ไม่ครบ ๗ วัน) นั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 295

เพราะความตายภายในนิโรธไม่มี (ต้องออกแล้วจึงตาย) เพราะเหตุนั้น

ต้องคำนึงดูกำหนดกาลแห่งชีวิตนั้นแล้วเทียวจึงเข้า ด้วยว่าแม้จะไม่

คำนึงถึงบุพกิจที่เหลือ (นอกนี้) ก็ยังได้ แต่กำหนดกาลแห่งชีวิตนี้

ท่านว่าต้องคำนึงทีเดียว

[เข้านิโรธ]

ภิกษุนั้น ครั้นเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกแล้วทำบุพกิจนี้อย่างนี้

แล้วจึงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ต่อนั้นล่วงไปวารจิต ๑ หรือ ๒*

เธอก็เป็นผู้ไม่มีจิต ได้สัมผัส (คือบรรลุ) นิโรธ

ถามว่า "ก็เพราะเหตุไร จิตทั้งหลายของเธอจึงไม่เป็นไปเหนือจิต

๒ ดวง " แก้ว่า "เพราะ (ความเป็นไปอย่างนั้น ?) เป็นประโยคแห่ง

นิโรธ" จริงอยู่ การทำธรรม ๒ อย่าง คือสมถวิปัสนาให้เป็น

ยุคนัทธะ (ผูกเข้าคู่กันดุจโคคู่แอก) แล้วขึ้นสู่สมาบัติ ๘ แห่งภิกษุนี้

นี่เป็นประโยคแห่งอนุบุพนิโรธ (ความดับโดยลำดับ) มิใช่เป็นประโยค

แห่งเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เพราะเหตุนั้น จิตทั้งหลายของ

ภิกษุนั้นจึงไม่เป็นไปเหนือจิต ๒ ดวง เพราะ (ความเป็นไปอย่างนั้น)

เป็นประโยคแห่งนิโรธ ส่วนภิกษุใดออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว

ไม่ทำบุพกิจนี้ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ภิกษุนั้นย่อมไม่อาจเป็น

ผู้ไม่มีจิตต่อไปได้ แต่จะย้อนกลับมาตั้งอยู่ในอากิญจิญญายตนะอยู่นั่น

* มหาฎีกาว่า ท่านกล่าวว่า "วารจิต ๑ หรือ ๒" ดังนี้ ราวกะไม่นิยมลงเป็นแน่ แต่ที่จริง

ก็นิยมเป็นแน่ว่า ๒ วาระนั่นแหละ จะได้เห็นในคำถามและคำแก้ต่อไป และวารจิตนี้ ก็คือวารจิต

เนวสัญญานาสัญญายตนะนั่นเอง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 296

ก็แลข้ออุปมาด้วยบุรุษผู้ไม่เคยเดินทาง ควร (นำมา) กล่าวในความ

ข้อนี้ ต่างว่าบุรุษผู้หนึ่งไม่เคยเดินทางสายหนึ่ง มาถึงลำธาร หรือ

แผ่นหินอันร้อยเพราะแดดกล้า ที่เขาทอดไว้ข้ามหล่มลึก*ในระหว่างทาง

ยังไม่ทันจัดผ้านุ่งผ้าห่ม ลงสู่บึงนั้น ก็ย่อม (ต้องถอยกลับมา) ยืนที่ตลิ่ง

อีกอยู่นั่น เพราะกลับบริขารเปียก อนึ่ง เท้าร้อนเพราะเหยียบแผ่น

หินนั้นเข้า ก็ย่อม (ต้องถอยลงมา) ยืนที่ฟากในอีกนั่นเอง

ในข้ออุปมานั้น เหมือนอย่างบุรุษนั้น เหตุที่ยังมิได้จัดผ้านุ่งผ้าห่ม

พอลงลำธาร (ไปหน่อย) เท่านั้น และพอเหยียบแผ่นหินร้อน (เข้า

หน่อย) เท่านั้น ก็ถอยกลับมายืนที่ฟากใน (อีก) อยู่นั่นฉันใด แม้

พระโยคาวจรก็ฉันนั้น เหตุที่ยังมิได้ทำบุพกิจ พอเขาเนวสัญญานา-

สัญญายตนะ (ไปหน่อย) เท่านั้น ก็ถอยกลับมาตั้งอยู่ในอากิญจัญญา-

ยตนะ ฝ่ายว่าบุรุษผู้เคยเดินทางสายนั้นมาก่อน มาถึงที่นั้น นุ่งผ้า

ผืนหนึ่งให้รัดกุม ถือผ้าอีกผืนหนึ่งด้วยมือ (ข้างหนึ่ง) แล้วลงลำธาร

หรือทำเหยียบแผ่นหินร้อนแต่พอประมาณ (คือเหยียบแผ่ว ๆ) ไป

ต่อไปได้ ฉันใด ภิกษุผู้ทำบุพกิจแล้วเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ

นั่นแหละ จึงเป็นผู้ไม่มีจิต สัมผัส (ถึง) นิโรธอยู่ต่อไปได้ ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน

* อุทกกนฺทรํ กับ กนฺทรํ ในที่นี้ ท่านใช้เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อ อุทกกนฺทรํ

ข้างหน้ามีแล้ว ก็ไม่น่าจะมี กนฺทรํ ข้างหลังอีก ถ้าคง กนฺทรํ ข้างหลังไว้ วา หลังอุทกกนฺทรํ

ก็เก้อ ในที่นี้จึงตัด กนฺทรํ วา ข้างหลังออก แปลดูก็ได้ความดีแล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 297

[เข้าแล้วยั้งอยู่ได้อย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "ยั้งอยู่ได้อย่างไร" แก้ว่า อันความยั้งอยู่แห่ง

นิโรธสมาบัติที่เข้าแล้วอย่างนี้นั้น ย่อมมีได้ด้วยอำนาจกำหนดกาลไว้

และด้วยไม่มีความสิ้นอายุ การรอคอยแห่งสงฆ์ และการรับสั่งให้หา

แห่งพระศาสดาในระหว่างด้วย

[ออกอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "ออกอย่างไร" แก้ว่า การออกมี ๒ ทาง

ดังนี้ คือ สำหรับพระอนาคามี การออกมีด้วยความเกิดขึ้นแห่งอนา-

คามิผล สำหรับพระอรหันต์ การออกมีด้วยความเกิดขึ้นแห่งพระ

อรหัตผล๑

[จิตของท่านผู้ออกแล้วน้อมไปสู่อะไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "จิตของผู้ออกแล้วเป็นจิตน้อมไปสู่อะไร" แก้

ว่า น้อมไปสู่นิพพาน สมคำบาลีที่ (พระธัมมทินนาเถรี) กล่าวไว้

(ในจูฬเวทัลสูตร) ว่า "ดูกรอาวุโสวิสาขะ จิตของภิกษุผู้ออกจาก

สัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว ย่อมเป็นจิตน้อมไปสู่วิเวก โน้มไปสู่วิบาก

ลาดเอียงไปสู่วิเวก๒"

[คนตายกับคนเข้านิโรธต่างกันอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "คนตายกับคนเข้านิโรธต่างกัน" แม้

ความข้อนี้ ท่านก็ได้กล่าวไว้ในสูตร (เดียวกันนั้น) เหมือนกัน ดัง

๑. หมายความว่า เมื่อเข้าผลสมาบัติ ก็เป็นอันออกจากนิโรธสมาบัติ เช่นนั้นกระมัง

๒. ม. มู. ๑๒/๕๕๒ วิเวกในบาลีนี้ ท่านว่าหมายเอานิพพานนั่นแหละ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 298

บาลีว่า "ดูกรอาวุโส คนที่ทำกาลกิริยาตายแล้วนี้ใด กายสังขาร

ทั้งหลายของคนผู้นั้นรำงับดับไป วจีสังขารทั้งหลาย...จิตตสังขาร

ทั้งหลายก็รำงับดับไป อายุก็สิ้น ไออุ่นก็สงบ อินทรีย์ทั้งหลายก็แตก

(ส่วน) ภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ใด กายสังขารทั้งหลายของภิกษุ

นั้นรำงับดับไป วจีสังขารทั้งหลาย...จิตตสังขารทั้งหลายก็รำงับดับไป

(เหมือนกัน) แต่อายุยังไม่สิ้น ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ทั้งหลาย

ยังไม่แตก๑" ดังนี้

[นิโรธสมาบัติเป็นสังขตะหรืออสังขตะ ฯลฯ]

ส่วนในคำถามข้อว่า "นิโรธสมาบัติเป็นสังขตะหรืออสังขตะ"

เป็นต้น ไม่ควรกล่าวแก้วว่า นิโรธสมาบัติเป็นสังขตะก็ดี ว่าเป็นอสังขตะ

ก็ดี ว่าเป็นโลกิยะก็ดี ว่าเป็นโลกุตระก็ดี เพราะอะไร เพราะนิโรธ-

สมาบัตินั้น ไม่มีอยู่โดยสภาวะ๒ แต่เหตุใด นิโรธสมาบัตินั้น นับว่า

เป็นอันได้เข้าถึงแล้ว ก็โดยอำนาจของพระอริยบุคคลผู้เข้า เหตุนั้น

จะกล่าวว่า เป็นกิริยาสำเร็จ ก็ควรอยู่ มิใช่ไม่สำเร็จ

บัณฑิตทั้งหลายเจริญอริยปัญญาแล้ว จึงเข้า

สมาบัติอันละเอียด (สุขุม) ที่พระอริยะ

เสพ ถึงซึ่งอันนับว่าเป็นนิพพานในทิฏฐ-

๑. ม. มู. ๑๒/๕๕๒

๒. มหาฎีกาเสริมว่า สิ่วที่อยู่โดยสภาวะ คือโดยปรมัตถ์ จึงควรกล่าวว่า เป็นสังขตะอสังขตะ

เป็นต้นได้ สิ่งที่ไม่มีอยู่ ก็กล่าวไม่ได้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 299

ธรรมนี่ได้ ดังกล่าวมาฉะนี้ เหตุใด

เพราะเหตุนั้น แม้ความสามารถเข้านิโรธ-

สมาบัตินี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอานิสงส์ของ

ปัญญาในอริยมรรคทั้งหลาย แล

[อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ]

อานิสงส์ข้อว่า "อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ" ความว่า ใช่แต่ความ

สามารถในการเข้านิโรธสมาบัติเท่านั้น (เป็นอานิสงส์) ก็หามิได้ แต่

แม้ความสำเร็จแห่งความเป็นผู้ทรงอริยคุณมี ความเป็นอาหุไนยบุคคล

เป็นต้น นี่ ก็พึงทราบว่าเป็นอานิสงส์ของโลกุตรปัญญาภาวนานี้ด้วย อัน

บุคคลชื่อว่ามีปัญญาอันเจริญแล้ว เพราะทำโลกุตรปัญญานั้นทั้ง ๔ ชั้น

ให้เกิดมีแล้ว ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็น

ผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลีแห่งสัตวโลกกับทั้งเทวดา

เป็นบุญเขตอันเยี่ยมของโลก โดยไม่แปลกกัน (ทั้ง ๔ ชั้น)

[ประเภทพระอริยบุคคล]

แต่ (ว่า) โดยแปลกกัน ในโลกุตรปัญญา ๔ ชั้นนั้น ชั้นแรก

บุคคลผู้ทำมรรคปัญญาชั้นต้นให้เกิดแล้ว มา (ถึงความเป็นอริยบุคคล)

โดยวิปัสนาอย่างอ่อน แม้เป็นผู้มีอินทรีย์อ่อน ก็เป็นพระอริยบุคคลชื่อ

สัตตักขัตตุปรมะ ท่องเที่ยวไปในสุคติภพ ๗ ภพ ก็ทำที่สุดทุกข์ได้

ผู้มาโดยวิปัสนาอย่างกลาง มีอินทรีย์ปานกล่าว ก็เป็นพระอริยบุคคลชื่อ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 300

โกลังโกละ แล่นท่องเที่ยวไปสู่ตระกูล (คือภพ) ๒ หรือ ๓ ตระกูล

ก็ทำที่สุดทุกข์ได้ ผู้มาโดยวิปัสนาอย่างกล้า มีอินทรีย์กล้า ก็เป็น

พระอริยบุคคลชื่อ เอกพีชี ยังภพอันเป็นของมนุษย์๑ให้เกิดภพเดียว

เท่านั้นแล้ว ก็ทำที่สุดทุกข์ได้

บุคคลทำมรรคปัญญาชั้น ๒ ให้เกิดแล้ว ย่อมเป็นพระอริยบุคคล

ชื่อ สกทาคามี มาสู่โลกนี้ (อีก) ครั้งเดียวเท่านั้นแล้ว ก็ทำที่สุดทุกข์

่ได้๒

บุคคลทำมรรคปัญญาชั้น ๓ ให้เกิดแล้วย่อมเป็นพระอริยบุคคลชื่อ

อนาคามี พระอนาคามีนั้น ด้วยอำนาจความต่างกันแห่งอินทรีย์ ย่อม

เป็นผู้ละ (อัตภาพ) ในโลกนี้ไปแล้วจึงสำเร็จ (คือปรินิพพาน) โดย

แยกเป็น ๕ ประเภท คือ อันตราปรินิพพายี อุปหัจจปรินิพพายี

อสังขารปรินิพพายี สสังารปรินิพพายี อุทธํโสโตอกนิฏฐคามี

๑. มหาฎีกากล้าแย้งปาฐะเหมือนกันว่า ที่ปาฐะว่า "มานุสกํ-ยังภพของมนุษย์ให้เกิด"

นั้นเป็นเทสนามัต คือแสดงไปอย่างนั้นเอง แม้จะกล่าวว่า "เทวภวํ-ยังภพเทวดาให้เกิด " ก็ควร

เหมือนกัน (หมายความว่า เกิดอีกอย่างหนึ่ง ก็แล้วกัน?)

๒. มหาฎีกาไปได้หลักฐานที่ไหนมาไม่ทราบ กล่าวว่าพระสกทาคามีนั้นมี ๕ ประเภท คือประเภท-

หนึ่ง บรรลุสกทาคามิผลในโลกนี้แล้ว ก็ปรินิพพานในโลกนี้เอง ประเภทหนึ่ง บรรลุในโลกนี้

แล้ว ไปปรินิพพานในเทวโลก ประเภทหนึ่ง บรรลุในเทวโลกนี้เอง ก็ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง

ประเภทหนึ่ง บรรลุในเทวโลกแล้วมาเกิดในโลกนี้ จึงปรินิพพาน ประเภทหนึ่ง บรรลุในโลกนี้

แล้วไปเกิดในเทวโลกอยู่จนตลอดอายุแล้วมาเกิดในโลกนี้อีก จึงปรินิพพาน

พระสกทาคามีที่กล่าวในที่นี้ ท่านว่าหมายเอาประเภทสุดท้ายนี้เอง

ฟังดูวุ่น ๆ ส่วนพระโสดาบันเอกพีชี มีปัญหาน่าอธิบายให้ชัดว่า ต่างจากพระสกทาคามี

อย่างไร ท่านกลับไม่อธิบายเลย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 301

ใน ๕ ประเภทนั้น ท่านผู้ (ไป) เกิดในภพสุทธาวาสภพใด

ภพหนึ่ง (อยู่ไป) ไม่ทันถึงกลางอายุ ก็ปรินิพพาน ชื่อว่า อันตร-

ปรินิพพายี ท่านผู้ปริพพานเลยกลางอายุไป ชื่อว่า อุปหัจจปริ-

นิพพายี ท่านผู้ยังมรรคเบื้องบนให้เกิดได้โดยไม่ต้องปรุงแต่ง คือ

ไม่ต้องประกอบความเพียรนัก ชื่อว่า อสังขารปรินิพพายี ท่านผู้ยัง

มรรคเบื้องบนให้เกิดโดยต้องปรุงแต่ง คือต้องประกอบความเพียรหนัก

ชื่อว่า สังขารปรินิพพายี ท่านผู้ (เกิด) สูงขึ้นไปแต่ภพที่เกิด จน

ถึงอกนิษฐภพแล้ว จึงปรินิพพานในอกนิษฐภพนั้น ชื่อว่า อุทธํโสโต-

อกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิษฐภพ)*

บุคคลทำมรรคปัญญาชั้น ๔ ให้เกิดแล้ว ลางท่านเป็นพระอรหันต์

ประเภทสัทธาวิมุตตะ (พ้นด้วยศรัทธา) ลางท่านเป็นพระอรหันต์

ประเภทปัญญาวิมุตตะ (พ้นด้วยปัญญา) ลางท่านเป็นพระอรหันต์

ประเภทอุภโตภาควิมุตตะ (พ้นด้วยส่วนทั้ง ๒) ลางท่านเป็นพระ-

อรหันต์ประเภทเตวิชชะ (ผู้ได้อวิชชา ๓ ) ลางท่านเป็นพระอรหันต์

ประเภทฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ลางท่านเป็นพระอรหันต์

ประเภทปฏิสัมภิทัปปเภทปัตตะ (ผู้ถึงความแตกฉานในปฏิสัมภิทา) เป็น

พระมหาขีณาสพ ซึ่งข้าพเจ้าหมายถึง กล่าวไว้ (ในตอนต้นปกรณ์)

ว่า "ก็แลพระขีณาสพนั้น ชื่อว่า ถางชัฏนั้นได้ในขณะแห่งมรรค ชื่อว่า

* ที่กล่าวนี้ทั้ง ๕ ประเภท ต้องละโลกนี้ไปปรินิพพานในภพสุทธาวาสทั้งนั้น น่าคือว่าทำไม

พระอนาคามี จึงปรินิพพานในโลกนี้ หรือเทวโลกชั้นต่ำลงมาไม่ได้เหมือนพระอริยบุคคลประเภท

อื่นเล่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 302

เป็นผู้มีชัฏอันถางเสร็จแล้วในขณะแห่งผล ย่อมเป็นทักษิไณยบุคคลเลิศ

แห่งสัตวโลกกับทั้งเทวดา " ดังนี้

การเจริญอริยปัญญามีอานิสงส์มาก ดัง

กล่าวมาฉะนี้ เหตุใด เหตุนั้น ผู้มีปัญญา

พึงทำความยินดีในการเจริญอริยปัญญานั้น

เทอญ

ก็แลปัญญาภาวนาพร้อมทั้งอานิสงส์ในวิสุทธิมรรคที่พระผู้มีพระ-

ภาคเจ้าทรงแสดงโดยมุขคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในคาถานี้ว่า

"สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ

อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ

ภิกษุผู้เป็นคนฉลาด มีความเพียร มีปัญญา

บริหารตนตั้งอยู่ในศีลแล้วอบรมจิตและ

ปัญญาอยู่ นั้น พึงถางชัฏนี้ได้" ดังนี้

เป็นอันข้าพเจ้าได้แสดงรอบคอบแล้วด้วยคำพรรณนาเพียงเท่านี้

ปริเฉทที่ ๒๓ ชื่อปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ

ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน

ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 303

คาถาท้ายปกรณ์

ข้าพเจ้าทั้งหลายตั้งคาถานี้ คือ

สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺญ ฯ เป ฯ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ

ไว้แล้ว ได้กล่าวคำใดไว้ว่า

"บัดนี้ ข้าพเจ้าเมื่อจะพรรณนาเนื้อความ

อันต่างโดยคุณมีศีลเป็นต้นในคาถานี้ ที่

พระผู้แสวงคุณอันใหญ่ตรัสไว้ตามเป็นจริง

(คือตามที่ถูกต้อง) จักกล่าววิสุทธิมรรค

อันอาศัยนัยแห่งเทศนาของพระเถระฝ่าย

มหาวิหารทั้งหลาย ซึ่งมีวินิจฉัยอันหมดจด

ดี เป็นเครื่องปลูกปราโมทย์แก่เหล่าพระ-

โยคีในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้บรรพชาใน

ศาสนาของพระชินศรีเจ้า อันยากยิ่งที่จะ

ได้แล้ว เมื่อไม่รู้วิสุทธิได้ ดูกรสาธุชน

เกษม อันรวบรวมคุณมีศีลเป็นต้นไว้ตาม

เป็นจริง แม้มุ่งความบริสุทธิ์ แม้พยายาม

อยู่ ก็ย่อมไม่ลุถึงวิสุทธิได้ ดูกรสาธุชน

ทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้ากล่าววิสุทธิมรรค

โดยเคารพ ขอท่านทั้งหลายทั้งปวงผู้มุ่ง

วิสุทธิ จงตั้งใจฟังวิสุทธิมรรคนั้น โดย

เคารพ เทอญ" ดังนี้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 304

วิสุทธิมรรค ที่ข้าพเจ้าปฏิญญาว่าจักกล่าวในคำนี้นี่นั้น ก็เป็นอัน

ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วด้วยอรรถสังวรรณนาเพียงเท่านี้แล ก็แลในวสุทธิ-

มรรคนั้น

วินิจฉัยแห่งมรรคทั้งหลายอันต่างโดยคุณมี

ศีลเป็นต้นเหล่านั้นใด เป็นวินิจฉัยที่ท่าน

กล่าวไว้ในอรรถกถานัยแห่งนิกายทั้ง ๕

วินิจฉัยนั้นพ้นจากโทษ คือ ความปะปน

กับวาทะแห่งนิกายอื่นทั้งสิ้น ข้าพเจ้านำเอา

วินิจฉัยทั้งปวงนั้นมาประกาศไว้เป็นส่วน

มาก เหตุใด เพราะเหตุนั้น ความเอื้อเฟื้อ

ในวิสุทธิมรรคนั่น พระโยคีทั้งหลายผู้มี

ปัญญาหมดจดปรารถนาวิสุทธิ จึงควรทำ

แท้ แล

[อุทิศกุศล]

กองบุญอันใด ที่ข้าพเจ้าผู้หวังความ

ตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม ได้รับนิมนต์ของ

ท่านพระคุณเจ้าสังฆปาละ ผู้เกิดในวงศ์

ภิกษุคณะมหาวิหาร ซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาทมี

ชื่อเสียงเป็นวิภัชวาทีประเสริฐที่สุด (ท่าน)

เป็นพระมหาเถระผู้รุ่งเรือนมีความประพฤติ

สะอาดเป็นสัลเลขะ กอบด้วยวินัยและ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 305

อาจาระ ประกอบ (ความเพียร) ในการ

ปฏิบัติ (ธรรม) มีใจประดับด้วยคุณมี

ขันติโสรัจจะและเมตตาเป็นอาทิ แล้วแล

ทำปกรณ์วสุทธิมรรคนี้ขึ้น ได้รับแล้ว

ด้วยเดชแห่งกองบุญนั้น ขอสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งปวง จงถึง๑ซึ่งความสุขเถิด ปกรณ์

วิสุทธิมรรคนี้แล จบลงโดยพระบาลี ๕๘

ภาณวาร เว้นเสียซึ่งอันตราบในที่นี้ ฉันใด

ขอมโนรถทั้งหลาย ที่ถึงความดีงามทุกอย่าง

ของสัตวโลก จงปลอดอันตราย สำเร็จ

โดยเร็วพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เทอญ

ปกรณ์วิสุทธิมรรค จบแล้ว

[คำอธิษฐาน]

[คุณสมบัติของพระพุทธโฆสะ ๑๑ ข้อ]

ขอปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค อันพระเถระผู้ควรจะเรียก

(นามตามภาษาสีหล ?) ว่า มุรัณฆเขฏกะ๒ (แต่) มีนามไธย (ชื่อตั้ง)

ที่ครูทั้งหลายขนานให้ ว่า พุทธโฆสะผู้ (ประกอบด้วยคุณสมบัติ คือ)

๑. ปาฐะเป็น... เธนฺติ เข้าใจว่าคลาดเคลื่อน ในความเช่นนี้ ควรเป็น ... เธนฺตุ

๒. ฉบับพม่าเป็น มุทันตเขทกะ ฉบับสีหลเป็น โมรัณฑเจฏกะ คำแสดงคุณสมบัติของพระพุทธ-

โฆสะนี้ มีอยู่ในท้ายคัมภีร์อรรถกถา ดูเหมือนทุกฉบับ แต่คำ มุรณฺฑเขฏกวตฺตพฺเพน นี้ มี เฉพาะ

ในวิสุทธิมรรคนี่แห่งเดียว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 306

(๑) ปรมสุทฺธ สทฺธา พุทฺธิ วิริยปฏิมณฺฑิเตน-ประดับด้วย

ศรัทธา พุทธิ และ วิริยะ อันหมดจดอย่างยิ่ง

(๒) สีลาจารชฺชวมทฺทวาทิคุณสมุทยสมุทิเตน-เด่นด้วยคุณ

สมุทัย มีศีล อาจาระ และอาชวะ มัทวะ เป็นอาทิ

(๓) สกสมย สมยนฺตร คหนชฺโณคาหณ สมตฺเถน สามารถ

ในการหยั่งลงสู่ป่าชัฏ (คือวินิจฉัยข้อที่ยุ่งยาก) ได้ทั้งในลัทธิฝ่ายตนและ

ในลัทธิฝ่ายอื่น

(๔) ปญฺญาเวยฺยตฺติยสมนฺนาคเตน-ประกอบพร้อมไปด้วย

ความกระจ่างแจ้งแห่งปัญญา

(๕) ติปิฎกปริยตฺติปฺปเภเท สาฏฺฐกเถ สตฺถุ สาสเน อปฺปฎิ-

หตญาณปฺปภาเวน-มีอำนาจแห่งญาณอันไม่ข้องขัดในพระสัตถุศาสนา

ประเภทปริยัติ คือพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา

(๖) มหาเวยฺยากรเณน-เป็นนักไวยากรณ์ใหญ่

(๗) กรณสมฺปตฺติชนิตสุขวินิคฺคตมธุโรทารวจนลาวณฺณยุตฺ-

เตน-ประกอบด้วยความงามแห่งถ้อยคำอันไพเราะเป็นเลิศ ที่ความถึง

พร้อมแห่งกรณ์ (คือเครื่องทำเสียง) ทำให้เกิดเสียงเปล่าออกมาได้

คล่อง

(๘) ยุตฺตมุตฺตวาทินา วาทีวเรน-เป็นนักพูดชั้นเยี่ยม พูดได้

ทั้งผูกทั้งแก้*

* ยุตฺตมุตฺตาวาที-พูดได้ทั้งผูกทั้งแก้ เข้าใจว่าจะได้นัยจากพระสูตรในจตุกังคุตร ในที่นั้นท่าน

ใช้ศัพท์ว่า ยุตฺตปฏิภาโณ-ผู้มีปฏิภาณในการผูก (ปัญหา) มุตฺตปฏิภาโณ-ผู้มีปฏิภาณในการแก้

(ปัญหา) แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ ผู้ที่ได้แต่ผูก แก้ไม่เป็นก็มี ผู้ที่ได้แต่แก้ ผูกไม่เป็นก็มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 307

(๙) มหากวินา-เป็นมหากวี

(๑๐) ปภินฺนปฏิสมฺภิทาปริวาเร ฉฬภิญฺญาทิเภทคุณปฏิ-

มณฺฑิเต อุตฺตริมนุสฺสธมฺเม อปฺปฏิหตพุทฺธีนํ เถรวํสปฺปทีปานํ

เถรานํ มหาวิหารวาสีนํ วํสาลงฺการภูเต - เป็นอลังการแห่งวงศ์ของ

เหล่าพระเถระฝ่ายมหาวิหารผู้เป็นประทีปแห่งเถรวงศ์ มีความรู้อันไม่

ข้องขัดในอุตริมนุสธรรม ซึ่งประดับไปด้วยคุณต่าง ๆ มีอภิญญา ๖

เป็นต้น มีปฏิสัมภิทาอันแตกฉานเป็นบริวาร

(๑๑) วิปุลวิสุทฺธพุทฺธินา=มีความรู้หมดจดกว้างขวาง

ทำไว้แล้ว (นี้)

จงตั้งอยู่ในโลก แสดงนัยแห่งวิสุทธิมีศีล

เป็นต้น แก่กุลบุตรทั้งหลายผู้แสวงหา

ธรรมเครื่องสลัดตนออกจากโลก ไปตราบ

เท่าที่แม้พระนามว่า "พุทฺโธ" ขององค์

พระโลกเชษฐ์มหาฤษีเจ้าผู้มีพระจิตบริ-

สุทธิ์คงที่ ยังเป็นไปอยู่ในโลก เทอญ

ผู้ที่ไม่เป็นทั้ง ๒ อย่างก็มี ผู้ที่เป็นทั้ง ๒ อย่างก็มี

เคยอ่านพบสร้อยนามสมณศักดิ์ (ดูเหมือนของสมเด็จพระสังฆราช สา) มีคำยุตตมุตต-

วาที นี้ประดับอยู่ด้วย

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 308

เรื่อง

ประวัติพระพุทธโฆสะ

(สมเด็จพระวันรัต เขมจารี เรียบเรียงตามนัยคัมภีร์โบราณ)

เมื่อปี (พุทธศาสนายุกาล) นับแต่กาลปรินิพพานแห่งพระผู้มี

พระภาคพุทธเจ้าล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา พระราชาทรงพระนามว่า

มหานามได้ครองราชย์ในลังกาทวีป ได้ยินมาว่าในสมัยนั้น มีพราหมณ-

มาณพผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในที่ใกล้โพธิมณฑ์

(ที่ตรัสรู้) ในมัธยมประเทศชมพูทวีป๑ มาณพนั้นเชี่ยวชาญในศิลปะ

ทั้งปวงจบไตรเพท ท่องเที่ยวไปตลอดคามนิคมชนบทราชธานีทั้งหลาย

ในชมพูทวีป สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตอยู่ในที่ใด ๆ ก็ไปทำสากัจฉา

ในที่นั้น ๆ บัณฑิตอื่น ๆ ไม่อาจกล่าวแก้ปัญหาที่มาณพนั้นถามได้

แต่มาณพนั้นแก้ปัญหาที่บัณฑิตอื่น ๆ ถามได้ มาณพนั้นครองทั้งสกล

ชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ จนมาถึงวิหารแห่งหนึ่ง (อาศัยพักอยู่ใน

บริเวณวิหารนั้น)

ก็ในวิหารนั้นมีภิกษุอยู่หลายร้อยรูป ท่านพระเรสตะ๒ สังฆเถระ

๑. ท่านผู้ชำระบอกเชิงอรรถไว้ว่า ในคัมภีร์สมาลินีกล่าวขยายความออกไปว่า "บิดาของ

มาณพนั้นชื่อเกสี เป็นราชปุโรหิต มารดาชื่อเกสินี เพราะเมื่อเวลามาณพนั้นคลอดออกมา พวก

พราหมณ์บริวารมรทาสและกรรมการเป็นต้น "เปล่าเสียง (แสดงความยินดี) กันกึกก้อง เพราะ

ฉะนั้น เขาจึงขนานนามให้ว่า โฆสะ " บ้างก็ว่าเพราะมาณพนั้นเกิดในหมู่บ้านโฆสคาม จึงได้

นามว่า โฆสะ

(เห็นจะได้กับชื่อในภาษาเราว่า "สนั่น" นั่นเอง)

๒. ว่าชื่อว่าพระธรรมโฆส ก็มี

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 309

ของภิกษุเหล่านั้น เป็นพระมหาขีณาสพได้ปฏิสัมภิทา (สามารถ) ย่ำยี

ปรวาท (คือข่มคำโต้ฝ่ายอื่น) ได้ ครั้งนั้นตอนกลางคืน พราหมณ-

มาณพบริวรรตปาตัญชลีมนต์ให้มีบทอันสมบูรณ์ และเป็นปริมณฑล*

พระเถระฟังเสียงพราหมณ์สาธยายมนต์ ก็ทราบว่าพราหมณ์ผู้นี้มีปัญญา

มาก คิดว่าทรมาน (คือข่มและชักจูงให้มานับถือพระศาสนา) ได้จะ

เป็นการดี จึงเรียกพราหมณ์นั้นมา ถามเปรยขึ้นว่า "พราหมณ์ ใคร

หนอ ร้องเป็นเสียงลา" พราหมณ์ถามว่า "บรรพชิตผู้เจริญ ท่านรู้

เสียงร้องของพวกลาหรือ" พระเถระรับว่ารู้ พราหมณ์นั้นจึงถาม

พระเถระในคัณฐิฐาน (คือข้อที่เป็นปมยุ่งเข้าใจยาก) ทั้งหลายในคัมภีร์

ไตรเพท ทั้งคัมภีร์อิติหาสเป็นคัมภีร์ที่ ๕ ซึ่งตนเองมองไม่เห็นนัยเลย

ทั้งอาจารย์ของตนก็ไม่เห็นมาแล้วด้วย อันพระเถระนั้น โดยปกติก็เป็น

ผู้จบไตรเพทอยู่แล้ว ซ้ำบัดนี้มาได้ปฏิสัมภิทาเข้าอีกเล่า เหตุนั้น

ความหนักในการแก้ปัญหาเหล่านั้นจึงหามีแก่ท่านไม่ เพราะฉะนั้น ท่าน

จึงแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ในทันที แล้วกล่าวกะพราหมณ์ว่า "พราหมณ์

ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถูกท่านถามามากแล้ว ทีนี้จะถามปัญหาท่านสักข้อ

หนึ่ง ท่านจักแก้ปัญหาของข้าพเจ้าหรือไม่" พราหมณ์รับจะแก้ นิมนต์

ให้ถาม พระเถรจึงถามปัญหาในคัมภีร์ (ยมก ตอย) จิตตยมกนี้ว่า

"ยสฺส จิตฺตํ อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ ตสฺส จิตฺตํ นิรุชฺฌิสฺสติ

* ปวิวตฺเตติ-บริวรรค แปลว่าหมุนรอบ ปริมณฑล แปลว่าวงกลม จะเป็นวิธีสาธายาย

มนต์วิธีหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนบทมนต์สอดต่อกันถึงปลายแล้วทบต้น ราวกะวงกลมเป็นรอบ ๆ ไป

อย่างพวกเราสาธยาย อิติปิโส ๑๐๘ จบ หรืออย่างไร ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 310

น อุปฺปชฺชิสฺสติ ยสฺส วา ปน จิตฺตํ นิรุชฺฌิสฺสติ น อุปฺปชฺ-

ชิสฺสติ ตสฺส จิตฺตํ อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ*-จิตของบุคคลใด

เกิดอยู่ยังไม่ดับ จิตของบุคคลนั้นจักดับจักไม่เกิดหรือ ก็หรือว่า จิต

ของบุคคลใดจักดับจักไม่เกิด จิตของบุคคลนั้น เกิดอยู่ยังไม่ดับหรือ"*

เป็นต้น พราหมณมาณพไม่อาจจำ (ข้อปัญหา) ได้ ไม่ว่าบนหรือล่าง

จึงเรียนถามว่า "บรรพชิตผู้เจริญ นี่ชื่ออะไร" พระเถระบอกว่า "นี่

ชื่อพุทธมนต์ พราหมณ์" พราหมณ์ถามว่า "ท่านผู้เจริญ ให้มนต์นี้

แก่ข้าพเจ้าบ้างได้หรือไม่" พระเถระบอกว่า "พราหมณ์ เราให้แก่ผู้

ที่ถือเพศบรรพชาอย่างที่เราถือ จึงจะได้" พราหมณมาณพจึงขอ

บรรพชาเพื่อต้องการมนต์ พระเถระให้พราหมณมาณพบรรพชา

อุปสมบทแล้ว ให้เรียนพระไตรปิฎกพุทธวจนะ ภิกษุรูปนั้น (ต่อมา)

ก็ได้เป็นผู้ปรากฏในโลกโดยนามว่า "พระพุทธโฆสะ"

พระพุทธโฆสะนั้นเมื่ออยู่ในวิหารนั้น ได้แต่งปกรณ์ชื่อญาโณทัย

ไว้ในวิหารแล้ว เริ่มจะแต่งอรรถกถาพระอภิธรรมสังคณี และอรรถ-

กถาฉบับน้อยชื่ออัฏฐาสาลินี พระเถระเห็นเช่นนั้นจึงกล่าวแนะนำว่า

"ดูกรอาวุโสพุทธโฆสะ ในชมพูทวีปนี้มีแต่พระโตรปิฎกบาลีเท่านั้น

อรรถกถาของพระไตรปิฎกนั้น และเถรวาท (คือคำที่พระเถระยุค

* อภิ. ย: ๓๙/๑ นิเทศและอรรถกถาอธิบายโดยสังเขปว่า คำว่าเกิด คืออยู่ในอุปปาท-

ขณะ คำว่าไม่ดับ คือยังไม่ถึงนิโรธขณะหรือภังคขณะ จิตในที่นี้หมายถึงปัจฉิมจิต คือจุติจิต

ของพระอรหันต์ ขณะจุติจิตของพระอรหันต์ยังเป็นไปอยู่ ชื่อว่าจิตเกิดอยู่ยังไม่ดับ เมื่อถึงภังคขณะ

แล้ว จุติจิตนั้นก็จักดับ จักไม่มีจิตอื่นเกิดอีกต่อไป ฯลฯ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 311

สังคีติกล่าวไว้เป็นแบบ ?) หามีไม่ แต่อรรถกถาในภาษาสีหลอันขึ้นสู่

สังคีติทั้ง ๓ หน ที่พระเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นทำไว้ พระ

มหินทร์ตรวจดูกถามรรค (ลาดเลาแห่งคำที่กล่าวไว้) แล้ว (รวบรวม

มา) แต่งไว้ด้วยภาษาสีหล ยังเป็นไป (คือยังใช้กัน) อยู่ในสีหลทวีป

แม้นเธอไปที่สีหลทวีปนั้น ตรวจดูให้ทั่วแล้วปริวรรตมาในภาษามคธ

เสียได้ (คือแปลเปลี่ยนเป็นภาษามคธเสีย) อรรถกถานั้นก็จักนำ

ประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่โลกทั้งปวง" เมื่อพระเถระแนะนำอย่างนั้น

ท่านพุทธโฆสะก็เกิดปีติโสมนัส กราบลาพระอุปัชฌายะและภิกษุสงฆ์

เดินทางไปถึงท่าเรือโดยลำดับ ขึ้นเรือไปพบพระพุทธทัตตเถระสวน

ทางมาที่กลางมหาสมุทร ได้พูดจาปราศัยกันแล้ว เดินทางต่อไปจน

ถึงท่ากรุงลังกา ในกาลนั้น พระเจ้ามหานามครองราชย์ในลังกาทวีป

ท่านพระพุทธโฆสะไปพบภิกษุสงฆ์ในมหาวิหารกรุงอนุราธบุรีแล้ว จึงไป

สู่สำนักพระสังฆปาลเถระ๑ ที่มหาปธานฆระ๒ ได้ฟัง (ทราบความ)

อรรถกถาภาษาสีหลและเถรวาททั้งปวงแล้ว ก็ตัดสิน (ปลงใจเชื่อ)

ว่าเป็นพระพุทธาธิบายขององค์พระธรรมสามิศร์ จึงไม่สู่ที่ประชุมสงฆ์

ในวิหารนั้น ขอหนังสือคัมภีร์เพื่อทำอรรถพระไตรปิฎก

๑. มีเชิงอรรถว่า สมัยนั้น ในอนุราธบุรี มีพระสังฆราชแล้ว (ถ้าเช่นนั้น คำว่าสังฆปาละ

น่าจะเป็นนามตำแหน่ง คือแทนที่จะเรียกสังฆราช เขาเรียกสังฆปาละ แปลว่าผู้ปกครองสงฆ์)

๒. ปธานฆระ แปลกันว่า เรือนเป็นที่ทำความเพียร หลังที่พระสังฆปาละอยู่คงจะใหญ่กว่าเพื่อน

จึงเรียกมหาปธานฆระ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 312

เพื่อทดสอบสมรรถภาพของท่าน ภิกษุสงฆ์จึงให้คาถา ๒ บท๑

แล้วกล่าวว่า "ท่านจวงแสดงความสามารถในคาถา ๒ บทนี้ เรา

ทั้งหลายได้เห็นความรถของท่านแล้ว จะมอบหนังสือคัมภีร์ให้

ทั้งหมด" ท่านพุทธโฆสะดูบาลีพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระ-

ไตรปิฎกนั้นแล้ว ได้รวบรวมแต่งปกรณ์ชื่อวิสุทธิมรรคขึ้น

ครานั้น เทวดาจะประกาศความมีฝีมือของท่านให้ปรากฏไปใน

มหาชน จึงแสร้งบันดาลหนังสือคัมภีร์ฉบับ (ที่ท่านเขียนเสร็จแล้ว)

นั้นให้อันตรธานไปเสีย ท่านจึงเขียนขึ้นใหม่อีกจบหนึ่ง เทวดาก็

บันดาลให้อันตรธานไปอีกเล่า ท่านก็เขียนขึ้นอีกครั้นที่ ๓ (พอ

เสร็จแล้ว) เทวดาก็นำหนังสือ ๒ จบนั้นมาถวายคืนให้ในขณะนั้น จึง

เกิดเป็นหนังสือ (วิสุทธิมรรค) ๓ จบขึ้นในครั้งนั้น๒ ท่านพุทธโฆสะ

หอบหนังสือทั้ง ๓ จบไปมอบแด่ภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ให้อ่านหนังสือ

ทั้ง ๓ จบด้วยกัน ความผิดเพี้ยงในหนังสือ ๓ จบนั้น โดยคัณฐะ (คือ

ข้อขอด) ก็ดี โดยอักขระก็ดี โดยบทก็ดี โดยพยัญชนะก็ดี โดยอรรถ

ก็ดี โดยเกณฑ์ก่อนหลังก็ดี โดยวาทะทั้งหลายมีเถรวาทเป็นต้นก็ดี

โดยพระบาลีทั้งหลายก็ดี มิได้มีเลย ได้ยินว่า เมื่อคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้ง

๓ อันท่านพระพุทธโฆสะทำเสร็จอย่างนั้น เทวดาทั้งหลายได้พากัน

๑. คาถา ๒ บทไหมไม่ปรากฏ แต่คาถาที่ท่านนำมาเป็นบทตั้งแต่วิสุทธิมรรคนี้ ก็บทเดียวเท่านั้น

คือคาถา สีเล ปติฏฺฐาย...

๒. ท่านไม่เล่าให้ตลอดว่า คัมภีร์วิสุทธิมรรค ๓ จบนั้น เวลานี้ยังอยู่หรือเปล่า ถ้าเล่าแต่

เพียงว่า ท่านแต่งเสร็จแล้วยังมีอุตสาหะจำลองขึ้นอีก ๒ จบด้วยตนเอง ในเวลาอันรวดเร็วเป็น

อสังขาริก ก็อัศจรรย์ในความมีฝีมือหนักหนาอยู่แล้ว

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 313

ทำสาธุการ๑ สมัยนั้นภิกษุหลายพันชุมนุมกันอยู่ในมหาวิหาร เห็นการ

มหัศจรรย์นั้นแล้ว ต่างก็ชื่นชมให้สาธุการ บอกป่าวกันเซ็งแซ่ไปว่า

"นี่พระโพธิสัตว์เมตไตรยมา (เกิด) ไม่ต้องสงสัย"๒

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็พร้อมด้วยราชบริพาร

เสด็จออกจากพระนครไปยังมหาวิหาร ทรงมนัสการพระสงฆ์แล้ว ทรง

นมัสการท่านพุทธโฆสะ นิมนต์รับภิกษา ณ เรือนหลวงเป็นประจำ

จนกว่าการแต่งคัมภีร์พระธรรมจะเสด็จ ท่านรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

ภิกษุสงฆ์เห็นความสามารถของท่านแล้ว จึงมอบหนังสือพระ

ไตรปิฎกบาลี กับทั้งหนังสืออรรถกถาสีหลให้ท่าน ท่านรับเอา

หนังสือคัมภีร์ทั้งหมดไปพักอยู่ที่ปราสาท (คือเรือน ๒ ชั้น ?) หลังหนึ่ง

มีชื่อว่า ปธานฆระ ทางเบื้องทักษิณแห่งมหาวิหาร ปริวรรคอรรถกถา

สีหลทั้งหมด ทำเป็นอรรถกถาพระไตรปิฎกในภาษามคธอันเป็นมูล

ภาษา (คือภาษาเดิม)

ก็อรรถกถาสีหลนั้นมี ๓ ภาค คือ มหาอรรถกถา ๑ ปัจจริย-

๑. เทวดาที่รู้จักสาธุการในงานเช่นนี้ ก็ต้องเป็นเทวดานักปราชญ์ ส่วนเทวดาที่ไม่ประสีประสา

อะไร อย่างดีก็พลอยร้องสาธุไปกับเขาเท่านั้นกระมัง

๒. ไม่น่าไปเหมาให้ท่านเป็นพระเมตไตรยลม ๆ แล้ง ๆ เลย น่าคิดว่า คนที่ไม่เป็นพระ-

เมตไตรยแล้ว จะทำงานอย่างนี้ไม่ได้กระนั้นหรือ ทีพระอุบาลี พระอานนท์หรือแม้พระมหินทร์

ท่านก็ไม่ใช่พระเมตไตรยสักหน่อย ท่านยังจำพระธรรมวินัยมาสังคายนาไว้เป็นคัมภีร์บาลีใหญ่โต

กว่าคัมภีร์อรรถกถาเป็นไหน ๆ ผู้จะทำอรรถกถาก็ต้องอาศัยบาลีนั่นแหละเป็นหลัก ไม่เช่นนั้น

จะไปทำอรรถกถาของอะไรเล่า ปล่อยให้ท่านเป็นมนุษย์พิเศษในตัวท่านเองโดยไม่ต้องอิงเทวดา

โดยไม่ต้องอิงพระโพธิสัตว์จะสนิทดีกว่า

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 314

อรรถกถา ๑ กุรุนทีอรรถกถา ๑

อรรถกถาที่ได้ขึ้นสู่มหาสังคีติ พระมหินทร์นำมาแต่งไว้ใน

ภาษาสีหล ชื่อว่า มหาอรรถกถา

เรือนแพมีอยู่หลังหนึ่งมีชื่อในภาษาสีหลว่าปัจจริยะ อรรถกถา

ที่การภิกษุนั่งประชุมกันทำที่เรือนแพนั้น ชื่อ ปัจจริยอรรถกถา

มีวิหารแห่งหนึ่งชื่อ กุรุนทีเวฬุวิหาร อรรถกถาที่การภิกษุนั่ง

ประชุมกันทำในวิหารนั้น ชื่อกุรุนทีอรรถกถา

วาทะที่พระเถระปางก่อนมีพระเถริกาจารย์ (อาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ?)

เป็นต้น ถือเอานัยพระบาลีแต่งไว้ ชื่อเถรวาท

ชั้นแรก ท่านพุทธโฆสะปริวรรตกุรุนทีอรรถกถาจากภาษาสีหล

ทำอรรถกถาพระวินัยปิฎก ชื่อสมันตปาสาทิกา ในภาษามคธแล้ว ต่อ

นั้น ในพระสุตตันตปิฎก ปริวรรตมหาอรรถกถาจากภาษีหลตั้งเป็น

อรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสีนี เป็นอรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อ

ปปัญจสูทนี เป็นอรรถกถาสังยุตนิกาย ชื่อสารัตถปกาสินี และเป็น

อรรถกถาอังคุตรนิกาย ชื่อมโนรถปูรณี* ต่อนั้น ในพระอภิธรรมปิฎก

ปริวรรตปัจจริยอรรถกถาจากภาษาสีหล ตั้งเป็นอรรถกถาปกรณ์ธัมม-

สังคณี ชื่ออรรถสาลีนี ในภาษามคธ เป็นอรรถกถาปกรณ์วิภังค์ ชื่อ

สัมโมหวิโนทนี และเป็นอรรถกถา ๕ ปกรณ์ ชื่อปรมัตถทีปนี

ท่านพุทธโฆสะ ได้ทำอรรถกถาสีหลทั้งหมดให้เป็นอรรถกถา

* ไม่กล่าวถึงอรรถกถาขุทกนิกายเลย จะเป็นว่าในเวลานั้น ขุทกนิกายยังมิได้สงเคราะห์

เข้าในพระสุตตันตปิฎกหรืออย่างไร ?

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 315

พระไตรปิฎก ในภาษามคธอันเป็นมูลภาษาดังกล่าวมาฉะนี้ อรรถกถา

นั้นแล ได้นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวประเทศอื่นทั้งปวง (สืบมา)

เมื่อการปริวรรตอรรถกถาพระไตรปิฎกสำเร็จลง ก็ได้เกิดแผ่น

ดินไหว (เป็นอัศจรรย์)* อรรถกถาพระไตรปิฎกที่ท่านทำดังกล่าวมานี้

ปีหนึ่งทีเดียวจึงเสร็จ

ครั้นเสร็จแล้ว ท่านพุทธโฆสะปรารถนาจะได้ไหว้พระมหา-

โพธิ จึงกราบลาภิกษุสงฆ์กลับไปชมพูทวีปนั้นแล

สังคหคาถา

อนึ่ง ในเรื่องประวัติพระพุทธโฆสะนี้ พระบุรพาจารย์ในสีหล

ทวีปครั้งกระโน้น ได้กล่าวคาถารวมความไว้ดังนี้

เมื่อ (ศาสนายุกาล) แต่ปรินิพพานแห่งพระสัม-

พุทธเจ้าล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา พระเจ้ามหานาม

ทรงครองราชย์ในลังกาโดยทศพิธธรรม พราหมณ-

มาณพผู้เกิดในบ้านใกล้โพธิมณฑ์ เป็นผู้รู้วิทยา

และกระบวนศิลปะ จบไตรเพท เจนจัดลัทธิ เชี่ยว

ชาญวาทะทั้งปวง มีความต้องการจะใช้วาทะ จึง

เที่ยวโต้วาทะไปในชมพูทวีป จนมาถึงวิหารแห่ง

หนึ่ง ตอนกลางคืนปริวรรตปาตัญชลีมนตร์ให้มีบท

อันสมบูรณ์เป็นปริมณฑลดี

* ไหวขนาดไหน ถ้าไหนจริง คงเป็นเพียงรู้สึกสะเทือน ๆ เท่านั้นกระมัง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 316

พระมหาเถระองค์หนึ่งชื่อเรวตะ ในวิหารนั้น

ทราบชัดว่า "สัตว์ผู้นี้มีปัญญามาก เราทรมานได้

จะดี" ท่านจึงกล่าวเปรยว่า "ใครหนอรู้ความเป็นเสียง

ลา" พราหมณมาณพถามท่านว่า "ท่านรู้ความใน

เสียงร้องของพวกลาหรือ " เมื่อท่านรับว่ารู้ จึงยัง

ท่านให้ลงสู่ลัทธิของตน (คือเอาลัทธิของตนมา

ถามท่าน ?) ท่านก็แก้ข้อที่ตนถาม ๆ ได้ ทั้งชี้

ข้อที่ผิดพลาดได้ด้วย ครั้นท่านเตือน จะถามบ้าง)

ก็อนุญาตให้ท่านยังตนให้ลงสู่วาทะของท่านบ้าง

(ท่านถามแล้ว) ไม่ (อาจ) แก้ความหมายแห่งบาลี

มหาอภิธรรมแก่ท่านได้ จึงถามว่า "นี่เป็นมนต์

ของใคร" ท่านบอกว่าเป็นมนต์ของพระพุทธเจ้า

จึงขอท่าน ท่านบอกว่า "เราจะให้พุทธมนต์นั้นแก่

คนที่ทรงเพศอย่างเรา" พราหมณมาณพนั้น อัน

บุพเหตุ (คือกุศลในปางก่อน) ทั้งหลายเตือน (ใจ)

แล้ว จึงบวชเพื่อต้องการมนต์ เธอได้อุปสมบท

แล้วก็เรียนพระไตรปิฎก ภายหลังก็เลยถือเอาพระ

ไตรปิฎกนั้นว่า นี่เป็นเอกายนมรรค (ทางดำเนิน

อย่างเอก ประเสริฐกว่าลัทธิเก่าของตน) (ต่อมา)

ท่านเป็นผู้ปรากฏ (เด่น) ดังดวงไฟ ดังดวงจันทร์

ดังดวงอาทิตย์ ซึ่งได้พยากรณ์กล่าวแก้ธรรมอันลึก

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 317

แก่สัตว์ทั้งปลายละม้ายพุทธพยากรณ์ ท่านจึงได้

นามว่า พุทธโฆสะ เพราะโด่งดังไปในพื้นแผ่นดิน

แม้นพระพุทธองค์ ๑

ในครั้ง (อยู่ที่วิหาร) นั้น ท่านมีความรู้ได้แต่ง

ปกรณ์ชื่อญาโณทัยไว้ในวิหารนั้น แล้วแต่งอรรถ-

กถาธรรมสังคณี ๒ เริ่มจะแต่งอรรถกถาน้อยชื่อ

อรรถสาลินี พระเรวตเถระเห็นเช่นนั้น จึงบอกว่า

ปกรณ์ที่นำมาที่ (ชมพูทวีป) นี่ มีแต่พระบาลี

อรรถกถาหามีไม่ อาจริยวาทต่าง ๆ ก็ไม่มีเช่นกัน

แต่อรรถกถาเป็นภาษาสีหลล้วน ที่พระมหินทร์ผู้

ทรงปรีชาญาณ ตรวจดุกถามรรคที่ได้ขึ้นสู่งสังคีติทั้ง

๑. ท่านแปลคำ "พุทธโฆสะ" ว่า กล่าวธรรมละม้ายพุทธพยากรณ์ และว่าโด่งดังแม้นพระพุทธ-

องค์ เช่นนี้ ฟังแล้วอึดอัดใจเต็มที ถ้าให้ข้าพเจ้าแปล จะขอแปลว่า "พระโฆสะของพระพุทธเจ้า"

เพราะท่านชื่อโฆสะ และเดิมท่านเป็นคนของพราหมณ์ เมื่อกลับใจมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว

จึงเติมคำ "พุทธ" เข้าหน้าชื่อ เพื่อให้ปรากฏว่าเดี่ยวนี้ท่านเป็นคนของพระพุทธเจ้าแล้ว

หรือถ้า "โฆสะ" ไม่ใช่ชื่อเดิมของท่าน เป็นชื่อที่ผู้อื่นขนานให้ตามคุณสมบัติของท่าน ก็แปล

ว่า "ผู้โฆษณาธรรมขอพระพุทธเจ้า" หรือว่า "ผู้ประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าให้กึกก้องไป"

ก็ได้ ฟังแล้วหายอึดอัดใจ และทำให้นึกเสื่อมใสในองค์ท่านมาขึ้นด้วย

พูดแล้วพูดเถอะ ไม่มีประวัติตรงไหนส่องแสดงว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้วสักแห่ง แล้วจะไป

๒. ในตอนประวัติว่า ปรารภ คือเริ่มจะแต่ง

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 318

๓ ครั้ง นับถือเป็นคำที่พระสัมมมาสัมพุทธเจ้าทรง

แสดงไว้ และพระเถระมีพระสารีบุตรเป็นต้นร้อย-

กรองไว้แล้วแต่งขึ้นไว้ในภาษาสีหล ยังเป็นไปอยู่

ในสีหลทวีป เธอจงไปที่สีหลทวีปนั้น ตรวจดู

อรรถกถาสีหลนั้น แล้วปริวรรตไว้ในภาษามคธเสีย

ได้ อรรถกถา (ที่ปริวรรต) นั้น จะนำมาซึ่ง

ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง

เมื่อพระเถระบอกเช่นนั้น ท่านผู้มีปัญญามาก

ก็เสื่อมใส ออก (เดินทาง) จากวิหารนั้น มาถึง

(สีหล) ทวีปนี้ในรัชกาลพระราชาพระองค์นี้แหละ

ท่านมาถึงมหาวิหารอันเป็นที่อยู่ของสาธุภิกษุทั้งปวง

ไปสู่มหาปธานฆระ ได้ฟังอรรถกถาสีหลและเถร-

วาทะโดยตลอดจากสำนึกพระสังฆปาละแล้ว ก็ตัด

สินว่านี่แหละเป็นพระพุทธาธิบายของพระธรรม-

สามิศร์แท้ จึงนิมนต์สงฆ์ในวิหารนั้นมาพร้อมกัน

แล้วกล่าวว่า "ขอท่านทั้งหลายโปรดให้หนังสือ

คัมภีร์ทั้งหลายแก่ข้าพเจ้าเพื่อจะทำอรรถกถา" สงฆ์

จะทดสอบปัญญา* จึงให้คาถา ๒ บทแก่ท่าน กล่าว

ว่า "ท่านจงแสดงความสามารถของท่านในคาถา ๒

บทนี้ เราทั้งหลายเห็นความสามารถของท่านแล้ว

* ปาฐะพิมพ์ไว้เป็น สตึ เข้าใจคลาดเคลื่อน ที่ถูกจะเป็น มตึ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 319

จึงจะให้หนังสือทั้งหมด" ท่านจึงรวบรวมพระไตร-

ปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาโดยย่นย่อ แต่งปกรณ์

วิสุทธิมรรคขึ้นในมหาวิหารนี้เอง ครั้นแล้วจึง

นิมนต์สงฆ์ผู้ฉลาดรู้พระสัมพุทธธรรมให้ประชุมกัน

ณ ที่ใกล้มหาโพธิพฤกษ์ (ลังกา) ปรารภจะให้

อ่านปกรณ์วิสุทธิมรรคนั้น (ให้สงฆ์ฟัง)

เทวดาทั้งหลายจะประกาศความมีฝีมือของท่าน

ให้ปรากฏในมหาชน จึงกำบังหนังสือนั้นไว้เสีย

ท่านก็ทำขึ้นใหม่อีก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เมื่อนำหนังสือ

มาจะให้อ่านในครั้งที่ ๓ พวกเทวดาก็เลิก (กำบัง)

วางหนังสืออีก ๒ จบ (ที่กำบังไว้) ให้พร้อมในที่นั้น

ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายอ่านหนังสือ (วิสุทธิมรรค)

๓ จบนั้นด้วยกัน ความผิดเพี้ยนกันโดยคัณฐะก็ดี

โดยอรรถก็ดี โดยเกณฑ์ก่อนหลังก็ดี โดยเถรวาท

ทั้งหลายก็ดี โดยบาลีทั้งหลายก็ดี โดยบททั้งหลาย

ก็ดี โดยพยัญชนะทั้งหลายก็ดี มิได้มีเลยใน

หนังสือ (วิสุทธิมรรค) ทั้ง ๓ จบนั้น

ครั้งนั้น สงฆ์ชื่นชมยินดีกันเป็นพิเศษ บอก

ป่ากันเซ้งแซ่ไปว่า "ท่านผู้นี้คือพระเมตไตรย (มา

เกิด) ไม่ต้องสงสัย" จึงมอบหนังสือคัมภีร์พระ

ไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาให้

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 320

ท่านอยู่ในวิหารอันเป็นบ่อเกิดแห่งคัมภีร์ เป็น

ที่ไกลความเกี่ยวข้อง (กับความอื่น) ปริวรรตอรรถ-

กถาสีหลทั้งหมดในครั้งนั้นมาในภาษามคธ อัน

เป็นมูลภาษาของอรรถกถาทั้งปวงนั้น อรรถกถา

(ที่ท่านปริวรรต) นั้นก็ได้นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูล

แก่ประชุมชนทุกภาษา พระอาจารย์ชั้นเถระทั้งปวง

(นับ) ถืออรรถกถานั้นแม้นพระบาลี

ครั้นเมื่อกิจที่พึงทำถึงซึ่งความสำเร็จแล้ว ท่าน

ก็กลับไปชมพูทวีป เพื่อจะไหว้พระมหาโพธิ (ที่

(สู่ปรโลก) ตามกรรม

พระเจ้าหมานามทรงครองแผ่นดิน ๑๒ ปี

ทรงทำบุญหลายอย่างต่างประการแล้ว ก็เสด็จไป

(สู่ปรโลก) ตามกรรม

ฝ่ายพระเถระพุทธโฆสะ ครั้นทำอรรถกถาพระ

ไตรปิฎก ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตวโลกเป็นอัน

มากแล้ว อยู่ไปจนตลอดอายุ ก็ไปสู่ดุสิตเทวโลก

แล

คาถาต่อไปนี้ พระธรรมไตรโลกาจารย์ เขมจารี เรียบเรียง

ประวัติพระพุทธโฆสะนี้ ข้าพเจ้าเรียบเรียงตาม

นัยที่กล่าวไว้ในคัมภีร์สัทธัมมสังคหะ และในคัมภีร์

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 321

มหาวงศ์โบราณ วิญญูชนผู้ใคร่จะทราบข้อที่แปลก

ออกไป (จากที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงมานี้) ก็พึงทราบ

ได้ในคัมภีร์นั้น ๆ ตามควร คือในพุทธโฆสนิทาน

บ้าง หรือในวังสมาลินีบ้าง ในปกรณ์วิเศษ ชื่อ

ญาโณทัยบ้าง

ก็แล บุญมหรรณพอันข้าพเจ้าทั้งหลายได้แล้ว

ด้วยการชำระปกรณ์วิสุทธิมรรคมาเพียงเท่านี้ ขอ

เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงอนุโมทนาบุญนั้น เพื่อ

ความสำเร็จแห่งสมาบัติทั้งปวงเถิด ขอสัตว์ทั้งหลาย

จงรักษาศีล เจริญจิตภาวนาด้วยศรัทธา และจง

ขอสัตว์ทั้งหลายผู้ต้องทุกข์ ตงนิรทุกข์ด้วย ผู้

ต้องภัย จงนิรภัยด้วย ผู้ต้องโศก จงนิรโศกด้วย

และสาธุชนทั้งหลาย จงถึงซึ่งความบริสุทธิ์ เทอญ.

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 322

คำแถลงตอนจบ

ของผู้แปล

ถ้าการที่ได้มีโอกาสสนองคุณบุคคล หรือสถาบันที่มีคุณแก่ตน

นับว่าเป็นโชคดีของมนุษย์อย่างหนึ่งไซร้ ข้าพเจ้าก็เป็นคนมีโชคดีด้วย

ผู้หนึ่ง ด้วยว่าข้าพเจ้ามีโอกาสได้ทำงานสนองพระคุณมหากุฏราช-

วิทยาลัย ซึ่งเป็นบ่อเกิดความรู้ธรรมและบาลีของข้าพเจ้าตั้งแต่ต้นมา

เป็นชิ้นเป็นอันถึง ๒ ครั้งแล้ว

ครั้งแรก เมื่อข้าพเจ้าสอบ ป.ธ. ๙ ได้ใหม่เอี่ยม ปลายพ.ศ.

๒๔๖๙ ก็ได้รับงานสนองพระคุณมหากุฏราชวิทยาลัยทันที คืองาน

ชำระคัมภีร์อัตถโยชนาแห่งสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัย ซึ่งใช้

เป็นคู่มือนักเรียนบาลี ป.ธ. ๗ และ ๘ ครั้นนั้นชำระไปส่งเรียงพิมพ์

ไป นับได้ว่าไม่มีวันหยุด ๓ ปีจึงเสร็จ (เริ่มงายอายุ ๒๖ เสร็จอายุ

๒๘) โดยมีเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร) พระอุปัช-

ฌายะเป็นผู้กำกับ

ครั้งนี้ เมื่อข้าพเจ้าพ้นราชการโดยเกษียณอายุแล้ว มีโอกาส

เข้ามารับใช้สนองพระคุณมหากุฏราชวิทยาลัยเต็มที่ ก็ได้รับมอบงาน

อันหนักยิ่งกว่าครั้งแรก คืองานแปลคัมภีร์วิสุทธิมรรค ในขณะที่ยัง

มิได้ลงมือแปล ข้าพเจ้าไปเยี่ยมอาจารย์คุณพระธรรมนิเทศทวยหาญ

(อยู่ อุดมศิลป์ ป.ธง ใน ร. ๕) เล่าให้ท่านฟังว่าได้รับมอบให้แปล

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 323

วิสุทธิมรรค ท่านถามทันทีว่า "มหาเมฆจะแปลได้ตลอดรึ" ก็เรียน

ท่านว่า "มีฎีกาเป็นคู่มือ คงจะพอคลำแปลไปได้" ท่านถามอีกว่า

"ฎีกาวิสุทธิมรรคน่ะ มหาเมฆจะอ่านออกรึ" เรียนท่านในขณะนั้นว่า

"ยังไม่ได้จับอ่าน" ที่ท่านถามเช่นนี้จะหมายความว่ากระไร ก็พอคิด

"เห็นได้ ในสมัยที่ท่านเรียนนั้น คัมภีร์วิสุทธิมรรคและฎีกายังจารึกอยู่

ในใบลานด้วยอักษรขอม ยิ่งทวีความยากและความยุ่งเป็นหลายเท่า

ท่านประจญมาก่อนแล้ว

เมื่อเริ่มแปลนั้นเป็นปลาย พ.ศ. ๒๕๐๖ ข้าพเจ้ามีงานของมหา-

มงกุฏ ฯ อยู่แล้วอย่างหนึ่ง คือบรรยายวิชาพระสูตรในสภาการศึกษา ฯ

อยู่มาท่านมอบให้อีกอย่างหนึ่ง คือเป็นบรรณาธิการวารสารธรรมจักษุ

จึงเป็นงานประจำ ๓ อย่าง งานจร (โดยมากเป็นงานแปล) มีอีกต่าง

หาก ต้องแบ่งเวลาทำแม้กระทั่งกลางคืน งานแปลวิสุทธิมรรคจึงทำ

ได้สัปดาห์ละไม่เกิน ๓ วันก็ทั้งยาก ไม่มีวันหยุดเหมือนกัน

ในการแปล ความมุ่งหมายหลัก ก็เพื่อให้เป็นคู่มือนักเรียนภาษา

บาลี เพราะคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหลักสูตรประโยค ป.ธ. ๘ และ ๙

พร้อมกันนั้น ก็พยายามเกลาสำนวนให้ท่านที่เป็นนักศึกษาหาความรู้พอ

จะอ่านเอาความได้ด้วย แต่ว่าอรรถและพยัญชนะลางข้อลางอันไม่ขาว

พอจะแปลและเขียนลงไปได้ทันที และสำนวนบาลีก็เป็นอย่างสำนวน

บาลี (หรือจะว่าสำนวนท่านพระพุทธโฆสะก็ได้) ผู้ไม่คุ้นสำนวนของ

ท่าน ย่อมเข้าใจยากอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพยายามเพิ่มเติมเสริม

ความลงเล็บไว้ และวินิจฉันอธิบายขยายความตามนัยฎีกาและอัตโนมัติ

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 324

เป็นเชิงอรรถไว้ มีแทบทุกหน้าไป ไม่ใช่อวดดีทำเล่นสนุก เชิงอรรถ

ลางข้อใช้เวลาคิดเขียนเป็นครึ่งค่อนชั่วโมงก็มี ทั้งนี้ก็ด้วยหวังให้เกิด

ประโยชน์แก่ท่านนักเรียนนักศึกษามากที่สุด เท่าที่ความรู้ความสามารถ

ของข้าพเจ้าจะให้ได้ อีกประการหนึ่ง ก็ด้วยคิดว่าเป็นการเสนอความ

คิดเห็นที่พอเป็นประเด็น แด่ท่านผู้รู้ทั้งหลาย จะได้ช่วยพินิจพิเคราะห์

ให้ได้อรรถและพยัญชนะที่พิสุทธ์ ความควรแก่คัมภีร์วิเศษวิสุทธิมรรค

ต่อไปด้วย

ความรู้ความสามารถของข้าพเจ้า ก็เป็นอย่างท่านอาจารย์คุณพระ

ธรรมนิเทศทวยหาญเป็นห่วง คือไม่มากนักสำหรับที่จะทำงานยากชิ้นนี้

จึงต้องศึกษาไป ปรึกษาไป แปลไป ด้วยตั้งกติกาแต่ตนเองว่า "ถ้า

ตนเองไม่เข้าใจ ห้ามเขียนลงไปเป็นอันขาด" การแปลจึงชะงักบ่อย ๆ

จนปริวิตกไปว่าจะตายเสียก่อนแปลจบ ต้องตั้งอธิษฐานทุกวัน ขอให้

แปลจบก่อนจึงตาย เวลาที่ทำเล่าก็ถูกจำกัดดังกล่าวมาฉะนี้ จึงเนิ่นมา

ถึงปีที่ ๑๐ จึงจบได้ (เริ่มงานอายุ ๖๑ จบอายุ ๗๑)

วิสุทธิมรรคแปลนี้ มหามกุฏ ฯ แบ่งพิมพ์เป็นตอน ๆ ในงาน

นั้น ๆ ตอน ๑ (สีลนิเทศและธุดงคนิเทศ) ได้พิมพ์เป็นปฐมวาระ

เนื่องในงานพระราชพิธีชนมายุสมมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

องค์พระบรมอุปถัมภกของมหามกุฏ ฯ เจริญพระชนมายุครบ ๓๖ เสมอ

สมเด็จพระบรมชนก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ตอนจบนี้ซึ่งเป็นตอนที่ ๖

ได้พิมพ์เป็นปัจฉิมวาระ ในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมดิลก

(จนฺทูปโม) ซึ่งท่านเคยเป็นหัวหน้าแผนกตำรามหากุฎ ฯ มานาน

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 325

เป็นปัจโจปการสมควรแก่สมัยใน พ.ศ. ๒๕๑๖ นี้ เป็นการประจวบ

โอกาสเหมาะพอดีทีเดียวทั้ง ๒ วาระ

บัดนี้ ข้าพเจ้ายังชีวิตอยู่ รู้สึกบันเทิงใจที่จะได้ทำงานของ

พระคุณมหากุฏ ฯ ต่อไปอีก

ราชูปตฺถมฺภิโต มหา- มกุฏราชวิทฺยาลโย

จิรํ ติฏฺฐตุ สาธูนํ ธมฺมวิทฺยากโร สทา

จงมหากุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมถ์

จงตั้งอยู่ตลอดกาลนาน เป็นบ่อเกิดแห่งธรรมวิทยา

แก่สาธุชนทั้งหลายทุกเมื่อ เทอญ.

นาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต

กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 326

ปัจฉิมกถา

แผนกตำรามหากุฏราชวิทยาลัย

อุปกรณ์การศึกษา คือตำราเรียน เป็นปัจจัยหลักสำคัญในการ

ศึกษาจะขาดเสียมิได้ เมื่อยังเป็นนักเรียนกำลังเรียนภาษาบาลีหรือ

ภาษามคธอยู่ ได้ประสบปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับตำราเรียนแผนกนี้

ที่ยังไม่มี "เผด็จ" ครบทุกชั้นทุกประโยค คือหลักสูตรที่เป็นภาษาบาลี

หรือภาษามคธ ยังไม่มีแบบประกอบที่แปลเป็นภาษาไทยไว้ครบทุกชั้น

จึงทำความลำบากให้แก่ครูและนักเรียนตลอดมา มีความคิดคำนึงอยู่

เสมอดว่า ทำอย่างไรตำราเรียนของคณะสงฆ์ไทยแผนกนี้ จึงจะมีแบบ

ประกอบครบบริบูรณ์ทุกชั้น และได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าตนเองเรียนสำเร็จ

แล้ว ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะอุทิศกำลังทุกอย่างเท่าที่มีอยู่

แปลหลักสูตรคือตำราเรียนที่เป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธ เป็นภาษา

ไทยให้มีครบทึกชั้นทุกประโยค อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ครูและ

นักเรียนตลอดถึงผู้ใคร่ต่อการศึกษาทั่วไป เมื่อได้มามีหน้าที่เกี่ยวข้อง

กับแผนกตำรามหามกุฏ ฯ ตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อได้เริ่มดำเนินงานในเรื่องนี้

โดยได้นำเรื่องการแปลกหลักสูตรเปรียญ ที่เป็นภาษามคธเป็นภาษาไทย

ทั้งหมด เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการกองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย โดย

มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ผู้อำนวยการมหามกุฏ ฯ ซึ่งเวลา

นั้นดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นประธานกรรมการ และ

กรรมการทุกท่านต่างก็มีความเห็นชอบเอกฉันท์ จึงได้ตั้งอนุ-

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 327

กรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่ช่วยกันแปลหลักสูตรที่เป็นภาษา

มคธเป็นภาษาไทย และตรวจทานชำระพิมพ์เป็นแบบประกอบการ

ศึกษาเล่าเรียนวิชาแผนกนี้สืบไป

อนุกรรมการคณะนี้ได้ลงมือแปลอภิธัมมัตถวิภาวินีก่อน ต่อมา

แปลสมันตปาสาทิกา ภาค ๑-๒ และวิสุทธิมรรค ภาค ๑-๒-๓ ตกลง

ว่า หลักสูตรเปรียญประโยค ๓ ถึงประโยค ๙ แปลเป็นไทย คือ ธัมม-

ปทัฏฐกถาแปล มังคลัตถวิภาวินีแปล ฉบับของมหากุฏ ฯ มีครบ

บริบูรณ์ ถึงแม้การแปลแต่ละเรื่องแต่ละสำนวนจะมีขาดตกบกพร่อง

อยู่บ่าง ก็เป็นธรรมดาของการทำงานครั้งแรก จะให้สมบูรณ์ทีเดียวทำ

ได้ยาก หวังว่าท่านผู้รู้ที่ได้พบเห็นข้อบกพร่องนั้น ๆ จะได้ช่วยปรับปรุง

แก้ไขให้สมบูรณ์ในคราวพิมพ์ครั้งต่อไป

อนึ่ง ปกรณ์วิสุทธิมรรค เป็นหนังสืออธิบายธรรมะที่สุขุมคัมภีร-

ภาพ ยากทั้งศัพท์และสำนวนโวหาร และยังมีเรื่องเกี่ยวกับลัทธิ จารีต

ประเพณีต่าง ๆ ยากแก่การวินิจฉัยชี้ขาด ดังที่ได้ปรารภไว้ในคำนำ

วิสุทธิมรรคแปลภาค ๑ ตอน ๑ นั้นแล้ว คณะอนุกรรมการจึงยกร่าง

วิสุทธิมรรคแปลที่กรรมการแปลไว้ให้เป็นหน้าที่อาจารย์เมฆ อำไพจริต

(น.อ. เมฆ อำไพจริต ป.ธ. ๙) รับไปดำเนินการแต่ผู้เดียว สำนวน

แปลวิสุทธิมรรคทั้งหมด ตั้งแต่ตอน ๑ จนถึงตอนจบนี้ จะว่าเกิด

จากสติปัญญาการค้นคว้าและวิริยะอุตสาหะของอาจารย์เมฆทั้งนั้นก็ว่าได้

นอกนั้นก็เป็นเพียงที่ปรึกษาช่วยเหลือเท่านั้น

ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 328

ฉะนั้น แผนกตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย จึงขออนุโมทนาในกุศล

เจตนาพยายามชอบของอาจารย์เมฆเป็นอย่างยิ่ง ขอคุณพระศรีรัตนตรัย

ช่วยอภิบาลคุ้มครองให้ท่านมีพลานามัย อายุยืน เป็นกำลังสนับสนุน

ช่วยเหลือกิจการพระศาสนา และกองตำรามหามกุฏ ฯ สืบไป.