ไปหน้าแรก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกอานาปานัสสติแก่พวกภิกษุ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 330

[พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกอานาปานัสสติแก่พวกภิกษุ]

ข้อว่า อถโข ภควา ฯ เป ฯ ภิกฺขู อามนฺเตสิ อยมฺปิ โข

ภิกฺขเว มีความว่า ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นรับสั่งตักเตือนแล้ว เมื่อ

จะตรัสบอกปริยายอย่างอื่นจากอสุภกรรมฐานที่ตรัสบอกแล้วในก่อน เพื่อบรรลุ

พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสว่า อานาปานสฺสติสมาธิ เป็นต้น. บัดนี้

เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบาลีนี้ เพื่อทรงแสดงพระกรรมฐาน ที่เป็น

คุณสงบและประณีตจริง ๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย; ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักทำการ

พรรณนาในพระบาลีนี้ ตามลำดับอรรถโยชนา ไม่ละทิ้งให้เสียไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยมฺปิ โข ภิกฺขเว เป็นต้นนี้มีโยชนา

ดังต่อไปนี้ก่อนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ย่อม

เป็นไปเพื่อละกิเลส หามิได้, อีกอย่างหนึ่ง อานาปานัสสติสมาธิ แม้นี้แล

อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข

และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับเพลัน. ก็ใน

คำว่า อานาปานสฺสติสมาธิ เป็นต้นนี้ มีอรรถวรรณนาดังต่อไปนี้.

สติกำหนดลมหายใจเข้าและหายใจออกชื่อว่าอานาปานัสสติ. สมจริง

ดังคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า ลมหายใจเข้า

ชื่อว่า อานะ ไม่ใช่ปัสสาสะ, ลมหายใจออก ชื่อว่า ปานะ ไม่ใช่อัสสาสะ,

สติเข้าไปตั้งอยู่ ด้วยอำนาจลมหายใจเข้า สติเข้าไปตั้งอยู่ด้วยอำนาจลมหายใจ-

ออก ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้หายใจเข้า ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้หายใจออก

ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับสติที่กำหนดลมหายใจเข้า

และหายใจออกนั้น ชื่อว่าสมาธิ. ก็เทศนานี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยหัวข้อ คือสมาธิ

หาใช่ด้วยหัวข้อคือสติไม่. เพราะฉะนั้น ในบทว่า อานาปานสฺสติสมาธิ นี้

พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า สมาธิที่ประกอบด้วยอานาปานัสสติ หรือสมาธิใน

อานาปานัสสติชื่อว่า อานาปานัสสติสมาธิ.

บทว่า ถาวโต แปลว่า ให้เกิดขึ้น หรือให้เจริญแล้ว.

บทว่า พหุลีกโต แปลว่า กระทำบ่อย ๆ.

สองบทว่า สนฺโต เจว ปณีโต จ คือ เป็นคุณสงบด้วยนั่นเทียว

เป็นคุณประณีตด้วยทีเดียว. ในบททั้งสองพึงทราบความแน่นอนด้วยเอวศัพท์.

ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร ? ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า จริงอยู่ อานาปานัสสติ

สมาธินี้ จะเป็นธรรมไม่สงบ หรือไม่ประณีต โดยปริยายอะไร ๆ เหมือน

อสุภกรรมฐานซึ่งเป็นกรรมฐานสงบและประณีต ด้วยอำนาจการแทงตลอด

อย่างเดียว แต่ไม่สงบไม่ประณีตด้วยอำนาจอารมณ์ เพราะมีอารมณ์หยาบและ

เพราะมีอารมณ์ปฏิกูลฉันนั้นหามิได้, อนึ่งแล อานาปานัสสติสมาธินี้ สงบ คือ

ระงับดับสนิท เพราะมีอารมณ์สงบบ้าง เพราะมีองค์คือการแทงตลอดสงบบ้าง

ประณีต คือไม่กระทำให้เสียเกียรติ เพราะมีอารมณ์ประณีตบ้าง เพราะมีองค์

ประณีตบ้าง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสคำว่า สงบและประณีต.

ก็ในคำว่า อเสจนโก จ สุโข จ วิหาโร นี้ มีวินิจฉัยดังนี้:-

อานาปานัสสติสมาธินั้น ไม่มีเครื่องรด; เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเยือกเย็น คือ

ไม่มีเครื่องราดไม่เจือปน แผนกหนึ่งต่างหาก ไม่ทั่วไป. อนึ่ง ความสงบ

โดยบริกรรม หรือโดยอุปจารในอานาปานัสสติสมาธินี้ไม่มี. อธิบายว่า เป็น

ธรรมสงบและประณีต โดยสภาพของตนทีเดียว จำเติมแค่เริ่มต้นใฝ่ใจ. แต่

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า อเสจนโก ความว่า ไม่มีเครื่องราด คือ

มีโอชะ มีรสอร่อยโดยสภาพทีเดียว. โดยอรรถดังกล่าวมาอย่างนี้ อานาปา-

นัสสติสมาธินี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เยือกเย็นและอยู่เป็นสุข เพราะเป็นไปเพื่อ

ให้ได้ความสุขทางกายและทางจิต ในขณะที่เข้าถึงแล้ว ๆ.

บทว่า อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน หมายความว่า ที่ยังข่มไม่ได้ ๆ.

บทว่า ปาปเก หมายความว่า เลวทราม.

สองบทว่า อกุสเล ธมฺเม ได้แก่ ธรรมที่เกิดจากความไม่ฉลาด.

สองบทว่า ฐานโส อนฺตรธาเปติ ความว่า ย่อมให้อันตรธานไป

คือข่มไว้ได้โดยฉับพลันทีเดียว.

บทว่า วูปสเมติ ความว่า ย่อมให้สงบไปด้วยดี. อีกอย่างหนึ่ง

อธิบายว่า อานาปานัสสติสมาธินี้ ย่อมถึงความเจริญด้วยอริยมรรคโดยลำดับ

เพราะมีส่วนแห่งการแทงตลอด ย่อมตัดขาดด้วยดี คือย่อมสงบราบคาบได้.

คำว่า เสยฺยถาปิ นี้ เป็นคำแสดงความอุปมา.

หลายบทว่า คิมฺหานํ ปจฺฉิเม มาเส ได้แก่ ในเดือนอาสาฬหะ(เดือน ๘). .

บทว่า อูหตรโชชลฺลํ ความว่า ฝุ่นและละออง ถูกลมพัดฟุ้งขึ้น

เบื้องบน คือ ลอยขึ้นบนอากาศจากพื้นดิน ที่แตกระแหงเพราะกีบโคและ

กระบือเป็นต้นกระทบ ซึ่งแห้งเพราะลมและแดดเผาตลอดกึ่งเดือน.

เมฆซึ่งขึ้นเต็มท้องฟ้าทั้งหมด แล้วให้ฝนตกตลอดกึ่งเดือนทั้งสิ้นใน

ชุณหปักข์แห่งเดือนอาสาฬหะ ชื่อว่าฝนห่าใหญ่ที่ตกในสมัยใช่ฤดูกาล. จริง

อยู่ เมฆนั้น ท่านประสงค์เอาในอธิการนี้ว่า อกาลเมฆ เพราะเกิดขึ้นใน

เวลายังไม่ถึงฤดูฝน.

หลายบทว่า ฐานโส อนฺตรธาเปติ วูปสเมติ ความว่า ฝนห่า

ใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาลนั้น ย่อมพัดเอาฝุ่นและละอองนั้น ๆ ไป ไม่ให้

แลเห็น คือพัดให้จมหายไปในเผ่นดินโดยฉับพลันทีเดียว.

คำว่า เอวเมว โข นี้ เป็นคำเปรียบเทียบข้ออุปไมย. ถัดจากคำว่า

เอวเมว โข นั้นไป มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล.

ในคำว่า ถถํ ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-

คำว่า กถํ เป็นคำถาม คือความเป็นผู้ใคร่จะยังอานาปานัสสติสมาธิ

ภาวนาให้พิสดาร โดยประการต่าง ๆ.

คำว่า ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ เป็นคำแสดง

ไขข้อธรรมที่ถูกถาม เพราะความเป็นผู้ใคร่จะยังอานาปานัสสติสมาธินั้นให้

พิสดาร โดยประการต่าง ๆ. แม้ในบททั้งสอง ก็นัยนั่น.

ก็ในคำว่า กถํ ภาวิโต จ เป็นต้นนี้ มีความสังเขปดังนี้ว่า ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานัสสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้ว ด้วยประการไร

ด้วยอาการไร ด้วยวิธีไร ? ทำให้มากแล้ว ด้วยประการไร ? จึงเป็นคุณสงบ

ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาป อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้

อันตรธานไปโดยฉับพลัน.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังเนื้อความนั้นให้พิสดาร จึง

ตรัสว่า อธิ ภิกฺขเว เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น ข้อว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ มีความว่า ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุในศาสนานี้. จริงอยู่ อิธศัพท์นี้ในบทว่า ภิกฺขเว นี้

แสดงศาสนาซึ่งเป็นที่อาศัยของบุคคลผู้ให้อานาปานัสสติสมาธิเกิดขึ้นโดย

ประการทั้งปวง และปฏิเสธความไม่เป็นเช่นนั้นแห่งศาสนาอื่น. สมจริง ดัง

พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณะ (ที่ ๑)

มีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีในธรรมวินัยนี้. สมณะที่ ๓ มีในธรรม

วินัยนี้ สมณะที่ ๔ มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔. เพราะ

เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ภิกษุในศาสนานี้.

คำว่า อรญฺญคโต วา ฯเปฯ สุญฺญาตารคโต วา นี้แสดง

การที่ภิกษุนั้นเลือกหาเสนาสนะเหมาะแก่การเจริญอานาปานัสสติสมาธิ.

เพราะว่า จิตของภิกษุนี้เคยซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเสียนาน

จึงไม่อยากจะก้าวขึ้นสู่อารมณ์ของอานาปานัสสติสมาธิ คอยแต่จะแล่นไปนอก

ทางอย่างเดียว ดุจรถที่เขาเทียมด้วยโคโกงฉะนั้น. เพราะฉะนั้น คนเลี้ยงโค

ต้องการจะฝึกลูกโคโกง ตัวดื่มน้ำนมทั้งหมดของแม่โคโกง เติบโตแล้ว พึง

พรากออกจากแม่โคนม ปักหลักใหญ่ไว้ส่วนหนึ่ง แล้วเอาเชือกผูกไว้ที่หลัก

นั้น, คราวนั้นลูกโคนั้นของเขา ดิ้นรนไปทางโน้นทางนี้ ไม่อาจหนีไปได้

พึงยืนพิงหรือนอนอิงหลักนั้นนั่นแล ชื่อแม้ฉันใด; ภิกษุแม้รูปนี้ ก็ฉันนั้น

เหมือนกัน ประสงค์จะฝึกฝนจิตที่ถูกโทษประทุษร้าย ซึ่งเจริญด้วยการดื่มรส

แห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้นมานานแล้ว พึงพรากออกจากอารมณ์มีรูปเป็นตน

แล้วเข้าไปสูป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างเปล่าแล้วพึงเอาเชือกคือสติผูกไว้ที่

หลัก คือลมอัสสาสะและปัสสาสะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของเธอนั้น แม้

จะกวัด แกว่งไปทางโน้นและทางนี้ก็ตาม เมื่อไม่ได้รับอารมณ์ที่เคยชินมาใน

กาลก่อนไม่สามารถจะตัดเชือกคือสติหนีไปได้ ย่อมจดจ่อและแนบสนิทอารมณ์

นั้นแล ด้วยอำนาจอุปจาระและอัปปนา. เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์

ทั้งหลายจึงกล่าวว่า

นรชน เมื่อจะฝึกลูกโค พึงผูกติดไว้

ที่หลัก ฉันใด ภิกษุในศาสนานี้ พึงเอาสติ

ผูกจิตของตนไว้ที่อารมณ์ให้มั่นฉันนั้น.

เสนาสนะนั้น ย่อมเป็นสถานที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานัสสติสมาธิ

นั้น ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า คำนี้แสดงการที่

ภิกษุนั้น เลือกหาเสนาสนะที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานัสสติสมาธิ. อีกอย่าง

หนึ่ง เพราะอานาปานัสสติกรรมฐานนี้เป็นยอดในประเภทแห่งกรรมฐาน เป็น

ปทัฏฐานแห่งการบรรลุคุณพิเศษ และเป็นสุขวิหารธรรมในปัจจุบัน ของพระ

พระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก อันพระโยคาวจรไม่

ละชายบ้านที่อื้ออึงด้วยเสียงสตรี บุรุษ ช้าง และม้าเป็นต้น จะเจริญให้ถึง

พร้อม ทำไม่ได้ง่าย เพราะเสียงเป็นข้าศึกต่อฌาน; แต่ในป่าซึ่งไม่ใช่บ้าน

พระโยคาวจรกำหนดกรรมฐานนี้แล้ว ยังจตุตถฌานอันมีลมหายใจเข้าและหาย

ใจออก เป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว ทำฌานนั้นนั่นเองให้เป็นบาทพิจารณาสังขาร

ทั้งหลายได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลที่เลิศจะทำได้ง่าย; เพราะเหตุนั้น พระ

ผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะที่เหมาะแก่ภิกษุนั้น. จึงตรัสพระ-

พุทธพจน์มีอาทิว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้. ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นประดุจอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณรู้ชัยภูมิพื้นที่. อาจารย์ผู้ทรงวิทยารู้พื้นที่

เห็นพื้นที่ที่จะสร้างนครแล้วพิจารณาโดยตระหนักแล้วชี้ว่า ขอพระองค์จงโปรด

สร้างพระนครในที่นี้ เมื่อนครสำเร็จแล้วโดยสวัสดี ย่อมได้มหาสักการะแต่

ราชตระกูล ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพิจารณาเสนาสนะอันสมควร

แก่พระโยคาวจรแล้วย่อมทรงชี้ว่า กรรมฐาน อันกุลบุตรผู้มีความเพียรพึง

พากเพียรพยายามในที่นี้, แต่นั้น เมื่อพระโยคาวจรประกอบกรรมฐานอยู่ใน

เสนาสนะนั้นแล้ว บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ ย่อมได้มหาสักการะว่า พระผู้มี

พระภาคเจ้านั้นเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้แล ฉันนั้นเหมือนกัน. ส่วนภิกษุนี้

ท่านว่า เช่นกับพยัคฆ์, เหมือนอย่างพญาเสือใหญ่ แอบอาศัยพงหญ้า ชัฏป่า

หรือเทือกเขา อยู่ในไพร ย่อมจับหมู่มฤคมีกระบือป่า ชะมด (หรือกวาง)

และสุกรเป็นต้น (เป็นภักษา) ฉันใด ภิกษุพากเพียรกรรมฐานอยู่ในเสนาสนะ

มีป่าเป็นต้นนี้ ก็ฉันนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมยึดไว้ได้ซึ่งโสดาปัตติมรรค

สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรคและอริยผล โดยลำดับ. เพราะ

ฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า

ขึ้นชื่อว่า พยัคฆ์ ย่อมแอบจับหมู่

มฤค (เป็นภักษา) แม้ฉันใด พุทธบุตร

ผู้ประกอบความเพียรบำเพ็ญวิปัสสนานี้ ก็

เหมือนกัน เข้าไปสู่ป่าแล้ว ย่อมยืดไว้ได้

ซึ่งผลอันอุดม.

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอรัญญเสนาสนะ

อันเป็นภูมิควรแก่การประกอบเชาวนปัญญา เพื่อความเจริญก้าวหน้า แก่

พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญคโต วา ความว่า ไปสู่ป่า

อันสะดวกแก่ความสงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง ในบรรดาป่าซึ่งมีลักษณะที่กล่าวไว้

อย่างนี้ว่า. ที่ชื่อว่าป่า ได้แก่ สถานที่ภายนอกจากเสาเขื่อนออกไป นั่นทั้งหมด

ชื่อว่าป่า และว่า เสนาสนะที่สุดไกลประมาณ ๕๐๐ ชั่วธนู ชื่อว่าเสนาสนะ

ป่า

บทว่า รุกฺขมูลคโต วา ความว่า ไปสู่ที่ใกล้ต้นไม้.

บทว่า สุญฺญาคารคโต วา ความว่า ไปสู่โอกาสที่สงัด ซึ่งว่าง

เปล่า. แต่ในอธิการนี้ แม้ภิกษุจะเว้นป่าและโคนต้นไม้เสีย ไปยังเสนาสนะ

๗ อย่าง ที่เหลือ ก็ควรเรียกได้ว่า ไปสู่เรือนว่างเปล่า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงชี้เสนาสนะอันสมควรแก่การเจริญอานา-

ปานัสสติ ซึ่งเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ และเหมาะแก่ธาตุและจริยาแก่ภิกษุนั้น

อย่างนั้นแล้ว เมื่อจะทรงชี้อิริยาบถที่สงบ ซึ่งเป็นฝ่ายแห่งความไม่ท้อแท้และ

ไม่ฟุ้งซ่าน จึงตรัสว่า นิสีทติ ดังนี้. ภายหลังเมื่อจะทรงแสดงภาวะแห่งการ

นั่ง เป็นของมั่นคง ข้อที่ลมอัสสาสะ ปัสสาสะเป็นไปสะดวก และอุบายเครื่อง

กำหนดจับอารมณ์แก่เธอนั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า ปลฺลงกํ อาภุชิตฺ

วา ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่ การนั่งพับขาทั้ง ๒ โดย

รอบ (คือนั่งขัดสมาธิ).

บทว่า อาภุชิตฺวา แปลว่า คู้เข้าไว้.

ข้อว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย มีความว่า ตั้งร่างกายส่วนบนให้ตรง

คือให้กระดูกสันหลัง ๑๘ ท่อน จดที่สุดต่อที่สุด. จริงอยู่ เมื่อภิกษุนั่งด้วย

อาการอย่างนั้นแล้ว หนัง เนื้อ และเส้นเอ็น ย่อมไม่หงิกงอ. เวลานั้น

เวทนาทั้งหลายที่จะพึงเกิดขึ้นแก่เธอในขณะ ๆ เพราะความหงิกงอแห่งหนัง

เนื้อและเอ็นเหล่านั้นเป็นปัจจัยนั่นแล ย่อมไม่เกิดขึ้น. เมื่อเวทนาเหล่านั้น

ไม่เกิดขึ้น จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียว, กรรมฐานไม่ตกไป ย่อมเข้าถึงความ

เจริญรุ่งเรือง.

ข้อว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา มีความว่า ตั้งสติมุ่งหน้าต่อ

กรรมฐาน. อีกอย่างหนึ่ง ก็ในคำว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา นี้ พึง

เห็นใจความตามนัยดังที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฎิสัมภิทานั้นแล

อย่างนี้ว่า ศัพท์ว่า ปริ มีความกำหนดถือเอาเป็นอรรถ, ศัพท์ว่า มุขํ มี

ความนำออกเป็นอรรถ, ศัพท์ว่า สติ มีความเข้าไปตั้งไว้เป็นอรรถ; เพราะ

เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า ในบทว่า ปริมุขํ สตึ นั้น

มีความย่อดังนี้ว่า ทำสติเป็นเครื่องนำออกที่คนกำหนดถือเอาแล้ว.

[อรรถาธิบายวิธีอบรมสติ ๓๒ อย่าง]

ข้อว่า โส สโตว อสฺสสติ มีความว่า ภิกษุนั้นนั่งอย่างนั้น

และตั้งสติไว้อย่างนั้นแล้ว เมื่อไม่ละสตินั้น ชื่อว่า มีสติหายใจเข้า ชื่อว่า

มีสติหายใจออก. มีคำอธิบายว่า เป็นผู้อบรมสติ.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอาการเป็นเครื่องอบรม

สติเหล่านั้นจึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต เป็นต้น. สมจริง

ดังคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ ในวิภังค์เฉพาะแห่งสองคำนี้ว่า

โส สโตว อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ ในปฏิสัมภิทาว่า ภิกษุ ย่อมเป็น

ผู้อบรมสติ โดยอาการ ๓๒ อย่าง คือ สติของภิกษุผู้รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว

ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจเข้ายาว ย่อมตั้งมั่น, เธอชื่อว่าเป็นผู้อบรมสติ

ด้วยสตินั่น ด้วยญาณนั้น, สติของภิกษุผู้รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน

ด้วยอำนาจลมหายใจออกยาว ย่อมตั้งมั่น, เธอชื่อว่าเป็นผู้อบรมสติด้วยสตินั้น

ด้วยญาณนั้น ฯ ล ฯ สติของภิกษุผู้รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านด้วย

อำนาจความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า . . . ด้วยอำนาจความ

เป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก ย่อมตั้งมั่น, เธอชื่อว่าเป็นผู้

อบรมสติด้วยสตินั้นด้วยญาณนั้น.๑

[มติลมหายใจเข้าและออกตามอรรถกถาวินัยและพระสูตร]

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต ได้แก่

เมื่อให้ลมหายใจเข้ายาวเป็นไปอยู่. ในอรรถกถาวินัย ท่านกล่าวไว้ว่า ลมที่

ออกไปข้างนอก ชื่อว่า อัสสาสะ คือลมหายใจออก๒ ลมที่เข้าไปข้างใน ชื่อว่า

ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า.๓ ส่วนในอรรถกถาแห่งพระสูตรทั้งหลาย มาโดย

กลับลำดับกัน.

๑. ขุ. ปฎิ. ๓๑ /๒๖๔-๕. ๒.-๓. ศัพท์ว่า อสฺสาโส และ ปสฺสาโส หรือ อสฺสสติ และ

ปสฺสสติ ทั้ง ๒ ศัพท์นี้ บางท่าน แปล อสฺสาโส หรือ อสฺสสติ ว่า หายใจออก ปาสฺสาโส

หรือ ปสฺสสติ ว่า หายใจเข้า, ส่วนในหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นมาได้แปล อสฺสาโส หรือ อสฺสสติ

ว่า หายใจเข้า, ปสฺสาโส หรือ ปสฺสสติ ว่า หายใจออก, ที่แปลเช่นนี้ ก็เพราะอาศัยนัยอรรถกถา

แห่งพระสูตรเป็นหลัก เช่นอรรถกถามหาหัตถิปโทปมสูตรในปัญจสูทนี ทุติยภาคหน้า ๓๐๘

เป็นต้น ซึ่งท่านอธิบายไว้ดังนี้ คือ:- อสฺสาโสติ อนฺโต ปวิสนนาสิกวาโต ลมที่จมูกเข้าไป

ข้างใน ชื่อว่า อัสสาสะ คือลมหายใจเข้า, ปสฺสาโสติ พหิ นิกฺขมนนาสิกวาโต ลมที่ออกไป

ภายนอก ชื่อว่า ปัสสาสะ คือลมหายใจออก, ส่วนในอรรถกถาวินัย ท่านก็อธิบายไว้กลับกัน

บรรดาลมทั้งสองนั้น ในเวลาที่สัตว์ผู้นอนอยู่ในครรภ์แม้ทุกชนิดออก

จากท้องแม่ ลมภายในครรภ์ย่อมออกไปข้างนอกก่อน ภายหลัง ลมข้างนอก

พาเอาละอองที่ละเอียดเข้าไปข้างใน กระทบเพดานแล้วดับไป. พึงทราบลม

อัสสาสะและปัสสาสะอย่างนั้นก่อน. ส่วนความที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก

เหล่านั้น มีระยะและสั้น พึงทราบด้วยอำนาจแห่งกาล. เหมือนอย่างว่า น้ำ

หรือทราย แผ่ออกไปตลอดระยะ คือโอกาสทั้งอยู่ เขาเรียกว่า น้ำยาว ทราย

ยาว น้ำสั้น ทรายสั้น ฉันใด ลมหายใจเข้าและหายใจออกแม้ที่ละเอียดจนยิบ

ก็ฉันนั้น ยังประเทศอันยาวในตัวช้างและตัวงู กล่าวคืออัตภาพของช้างและงู

เหล่านั้น ให้ค่อย ๆ เต็มแล้วก็ค่อย ๆ ออกไป; เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า

ยาว. ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ยังประเทศอันสั้น กล่าวคือ อัตภาพ

แห่งสุนัขและกระต่ายเป็นต้น ให้เต็มเร็วแล้วก็ออกเร็วเหมือนกัน; เพราะฉะนั้น

ท่านจึงเรียกว่า สั้น. แต่บรรดาหมู่มนุษย์ มนุษย์บางจำพวกหายใจเข้าและ

หายใจออกยาวด้วยอำนาจระยะกาล ดุจช้างและงูเป็นต้น บางจำพวกหายใจเข้า

และหายใจออกสั้น ดุจสุนัขและกระต่ายเป็นต้น; เพราะฉะนั้นลมหายใจเข้า

และหายใจออกเหล่านั้น ของมนุษย์เหล่านั้น ด้วยอำนาจกาล ที่ออกและเข้าอยู่

กินเวลานาน พึงทราบว่า ยาว ที่ออกและเข้าอยู่ชั่วเวลาน้อย พึงทราบ

ว่าสั้น.

ดังที่ปรากฏอยู่ข้างบนนี้ แม้ในปกรณ์วิสุทธิมรรค ภาค ๒ หน้า ๑๖๕ ท่านก็ชักออถกถามหาหัตถิป

โทปมสูตนั่นเองมาอธิบายไว้. เรื่อง ศัพท์ว่า อัสสาสะ และ ปัสสาสะ นี้ ความจริงท่านผู้

แต่งอรรถกถาทั้งพระวินัยและพระสูตรก็คนเดียวกัน คือท่านพระพุทธโฆสา และก็ค้านกันอยู่

ทั้งสองแห่ง คืออรรถกถาพระวินัย และพระสูตร ถึงในอรรถกถาอธิบายไว้เหมือนพระสูตร ขอ

ได้พิจารณาดูเถิด.

[ผู้เจริญอานาปานัสสติกรรมฐานย่อมได้ความปราโมทย์เป็นต้น]

ในลมหายใจเข้าและออกนั้น ภิกษุนั้นเมื่อหายใจเข้าและหายใจออก-

ยาว โดยอาการ ๙ อย่าง ย่อมรู้ชัดว่า เราหายใจเข้าหายใจออกยาว. ก็เมื่อ

เธอรู้ชัดอยู่อย่างนี้ พึงทราบว่า การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ย่อมสำเร็จ

ด้วยอาการอันหนึ่ง เหมือนอย่างที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กล่าวไว้

ในปฏิสัมภิทาว่า ถามว่าภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

ฯลฯ เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น อย่างไร ?

แก้ว่า ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว

เมื่อหายใจออกยาว ย่อมหายใจออกในขณะที่นับว่ายาว เมื่อหายใจเข้าและหาย

ใจออกยาว ย่อมหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้างในขณะที่นับว่ายาว ฉันทะย่อม

เกิดแก่ภิกษุผู้เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาว หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง

ในขณะที่นับว่ายาว ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะ

ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว เมื่อหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วย

อำนาจฉันทะ ย่อมหายใจออกในขณะที่นับว่ายาว เมื่อหายใจเข้าและหายใจออก

ละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะ ย่อมหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ใน

ขณะที่นับว่ายาว ความปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ผู้เมื่อหายใจเข้าและหาย

ใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะ หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง

ในขณะที่นับว่ายาว เมื่อหายใจเข้ายาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความ

ปราโมทย์ ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว เมื่อหายใจออกยาวละเอียดกว่า

นั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ ย่อมหายใจออกในขณะที่นับว่ายาว ฯ ล ฯ เมื่อ

หายใจเข้าและหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ ย่อม

หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว จิตของภิกษุผู้เมื่อหายใจ

เข้าและหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ หายใจเข้า

บ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว ย่อมหลีกออกจากการหายใจเข้าและ

หายใจออกยาว อุเบกขาย่อมดำรงอยู่. กายคือลมหายใจเข้าและหายใจออกยาว

ด้วยอาการ ๙ อย่างเหล่านั้นย่อมปรากฏ สติเป็นอนุปัสสนาญาณ กายปรากฏ ไม่

ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย; ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วย

สตินั้น ด้วยญาณนั้น; เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติ-

ปัฏฐานคือการพิจารณาเห็นกายในกาย ดังนี้.

แม้ในบทที่กำหนดด้วยลมสั้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ส่วนความแปลกกัน

มีดังต่อไปนี้:- ในบทที่กำหนดาด้วยลมยาวนั่น ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อหายใจ

เข้ายาว ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว ดังนี้ ฉันใด ในบทที่กำหนด

ด้วยลมสั้นนี้ ก็มีคำที่มาในบาลีว่า เมื่อหายใจเข้าสั้น ย่อมหายใจเข้าในขณะ

นับว่าเล็กน้อย ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น พึงประกอบด้วยสามารถแห่งบทที่

กำหนดว่าสั้นนั้น จนถึงคำว่า เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติ-

ปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นกายในกาย. ภิกษุนี้ เมื่อรู้ชัดลมหายใจเข้าและ

หายใจออกโดยอาการ ๙ อย่างเหล่านี้ ด้วยอำนาจกาลยาวและด้วยอำนาจกาล

นิดหน่อยดังพรรณนามาฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ย่อม

รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว ฯ ล ฯ หรือเมื่อหายใจออกสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราหาย

ใจออกสั้น ดังนี้. อนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นรู้อยู่อย่างนั้น.

วรรณะ (คืออาการ) ทั้ง ๔ คือ ลม

ทายใจเข้ายาวและสั้น แม้ลมหายใจออกก็

เช่นนั้น ย่อมเป็นไปเฉพาะที่ปลายจมูกของ

ภิกษุ ฉะนี้แล.

ข้อว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ ฯ เป ฯ ปสฺสสิสฺ-

สามีติ สิกฺขติ มีอธิบายว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้น ท่าม

กลาง และที่สุด แห่งกองลมหายใจเข้าทั้งสิ้น ให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏหาย

ใจเข้า (และ) ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้นท่ามกลาง และที่สุด แห่ง

กองลมหายใจออกทั้งสิ้นให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏหายใจออก. เมื่อเธอทำให้

รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏด้วยอาการอย่างนั้น ย่อมหายใจเข้าและหายใจออก ด้วย

จิตที่สัมปยุตด้วยญาณ; เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ย่อมสำเหนียกว่า เรา

จักหายใจเข้า จักหายใจออก.

จริงอยู่ เบื้องต้นในกองลมหายใจเข้าหรือในกองลมหายใจออกที่แล่น

ไปอย่างละเอียด ย่อมปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง แต่ท่ามกลางและที่สุดไม่ปรากฏ

เธอสามารถกำหนดได้เฉพาะเบื้องต้น เท่านั้น ย่อมลำบากในท่ามกลางและที่สุด.

อีกรูปหนึ่ง ย่อมปรากฏแต่ทามกลาง เบื้องต้น และที่สุด ไม่ปรากฏ เธอ

สามารถกำหนดได้เฉพาะท่ามกลางเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและที่สุด อีก

รูปหนึ่ง ย่อมปรากฏแต่ที่สุด เบื้องต้นและท่ามกลางไม่ปรากฏ เธอสามารถ

กำหนดได้เฉพาะที่สุดเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและท่ามกลาง. อีกรูปหนึ่ง

ย่อมปรากฏได้แม้ทั้งหมด เธอสามารถกำหนดได้แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ลำบากใน

ส่วนไหน ๆ. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงชี้ว่า อันภิกษุพึงเป็นผู้เช่นนั้น

จึงตรัสว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหาย

ใจเข้า; ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้ง ปวงหายใจออก

ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิกฺขติ ความว่า ย่อมพากเพียร คือ

พยายามอย่างนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า สิกฺขติ นี้ พึงเห็นใจความอย่างนี้

ว่า ความสำรวมของภิกษุผู้เป็นอย่างนั้น นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา. ในอธิการว่าด้วย

อานาปานัสสติภาวนานี้ สมาธิของเธอ ผู้เป็นอย่างนั้น นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา

ปัญญาของเธอผู้เป็นอย่างนั้น นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา เธอย่อมสำเหนียก

คือย่อมซ่องเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งสิกขา ๓ อย่าง ดังพรรณนามานี้

ด้วยสตินั้น ด้วยมนสิการนั้น ในอารมณ์นั้น. เพราะว่า โดยนัยก่อน บรรดา

สองนัยนั้น ภิกษุพึงหายใจเข้าและหายใจออกอย่างเดียวเท่านั้นไม่ต้องทำกิจ

อะไร ๆ อื่น แต่จำเดิมแต่เวลาที่รู้ชัดลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ไป ควร

ทำความพากเพียรในอาการที่ให้ญาณเกิดขึ้นเป็นต้น; เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษา

พึงทราบว่า ในนัยก่อนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบาลีไว้ด้วยอำนาจเป็น

วัตตมานาวิภัตติว่า ย่อมรู้ชัดว่า เราหายใจเข้า ย่อมรู้ชัดว่า เราหายใจ

ออก เท่านั้น แล้วยกพระบาลีขึ้นด้วยอำนาจคำที่เป็นอนาคตกาล โดยนัยมี

อาทิว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้ง ซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจ

เข้า ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงอาการที่ให้ญาณเกิดขึ้นเป็นต้นซึ่งควรทำจำเดิมแต่

กาลนี้ไป.

[ภิกษุกำหนดกรรมฐานแล้ว กายสังขารจึงสงบ]

ข้อว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ ฯ เป ฯ ปสฺส-

สิสฺสามีติ สิกฺขติ ความว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้สงบคือ

ระงับ คับ ได้แก่ให้กายสังขารที่หยาบสงบไป หายใจเข้าหายใจออก. ในคำ

ว่า จักเป็นผู้ระงับกายสังขารที่หยาบ นั้นพึงทราบความที่ลมเป็นของหยาบและ

ละเอียด และความระงับอย่างนี้ คือ :- ก็ในกาลก่อนคือในเวลาที่ภิกษุนี้ ยัง

ไม่ได้กำหนดกรรมฐาน กายและจิต ยังมีความกระวนกระวาย ยังหยาบ* เมื่อ

เมื่อกายและจิตซึ่งเป็นของหยาบ ยังไม่สงบ แม้ลมหายใจเข้าและหายใจออก ก็

เป็นของหยาบ คือเป็นไปเกินกำลัง จมูกไม่พอหายใจ ต้องยืนหายใจเข้าบ้าง

หายใจออกบ้างทางปาก ต่อเมื่อใด กายก็ดี จิตก็ดี เป็นของอันเธอกำหนด

แล้ว เมื่อนั้น กายและจิตนั้นจึงเป็นของสงบระงับ. ครั้นเมื่อกายและจิตนั้น

สงบแล้ว ลมหายใจเข้าและหายใจออกย่อมเป็นไปละเอียด คือเป็นสภาพถึง

อาการที่จะต้องค้นหาว่า มีอยู่หรือไม่หนอ. เปรียบเหมือนลมหายใจเข้าและหาย

ใจออก ของบุรุษผู้วิ่งลงจากภูเขา หรือผู้ปลงของหนักลงจากศีรษะแล้วยืนอยู่

ย่อมเป็นของหยาบ จมูกไม่พอหายใจ ต้องยืนหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง

ทางปาก ต่อเมื่อใด เขาบรรเทาความกระวนกระวายนั้นเสีย อาบและดื่มน้ำ

แล้ว เอาผ้าเปียกคลุมที่หน้าอกนอนพักที่ร่มไม้เย็น ๆ; เมื่อนั้น ลมหายใจ

เข้าและหายใจออกนั้นของเขา จึงเป็นของละเอียด คือถึงอาการที่จะต้องค้นหา

ว่ามีอยู่หรือไม่หนอ แม้ฉันใด ในกาลก่อน คือในเวลาที่ภิกษุนี้ยังไม่ได้

กำหนดกรรมฐาน กายและจิต ฯ ล ฯ คือถึงอาการที่ต้องค้นหาว่า มีอยู่หรือไม่

หนอ ฉันนั้นเหมือนกัน. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? เพราะความจริงเป็นอย่าง

นั้น ในกาลก่อน คือในเวลาที่เธอยังมิได้กำหนดกรรมฐาน การคำนึง การ

ประมวลมา การมนสิการ และการพิจารณาว่า เราจะระงับกายสังขารส่วน

หยาบ ๆ ดังนี้ หามีแก่เธอนั้นไม่, แต่ในเวลาที่เธอกำหนดแล้ว จึงมีได้.

เพราะเหตุนั้นในเวลาที่กำหนดกรรมฐาน กายสังขารของเธอนั้น จึงเป็นของ

ละเอียดกว่าเวลาที่ยังไม่ได้กำหนด. เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย

จึงกล่าวไว้ว่า

* ศัพท์ว่า โอฬาริกนํ ให้แก้เป็น โอฬาริกา เป็นบทคุณของกายและจิต. วิสุทธิมรรก ภาค

๒/๖๒ แก้เป็นอย่างนี้.

เมื่อกายและจิต ยังระล่ำระสายอยู่

กายสังขารย่อมเป็นไปเกินประมาณ เมื่อกาย

และจิต ไม่ระส่ำระสาย กายสังขารย่อมเป็น

ไปละเอียด.

[กายสังขารในฌานชั้นสูงขึ้นไปย่อมละเอียดไปตามลำดับ]

กายสังขารแม้ในเวลากำหนดก็ยังหยาบ ในอุปจารแห่งปฐมฌาน

ละเอียด. ถึงแม้ในอุปจารแห่งปฐมฌานนั้น ก็ยังหยาบ ในปฐมฌานละเอียด.

ในปฐมฌานและในอุปจารแห่งทุติยฌานยังหยาบ ในทุติยฌานละเอียด. ใน

ทุติยฌานและในอุปจารแห่งตติยฌานก็ยังหยาบ ในตติยฌานละเอียด. ใน

ตติยฌานและอุปจารแห่งจตุตถฌานก็ยังหยาบ ในจตุตถฌานละเอียดยิ่งนัก ถึง

ความไม่เป็นไปทีเดียว. คำนี้เป็นมติของพระอาจารย์ผู้กล่าวทีฆนิกาย และ

สังยุตตนิกายก่อน. ส่วนพระอาจารย์ทั้งหลายผู้กล่าวมัชฌิมนิกาย ย่อมปรารถนา

ความละเอียดกว่ากัน แม้ในอุปจารแห่งฌานชั้นสูง ๆ ขึ้นไปกว่าฌานชั้นต่ำ ๆ

อย่างนี้ คือกายสังขารที่เป็นไปในปฐมฌาน ยังเป็นของหยาบ โนอุปจารแห่ง

ทุติยฌาน จึงจัดว่าละเอียด ดังนี้เป็นต้น. ก็ตามมติของพระอาจารย์ทั้งหมด

นั้นแล ควรทราบดังนี้ว่า กายสังขารที่เป็นไปในเวลาที่ยังมิได้กำหนด (กรรม-

ฐาน) ย่อมระงับไปในเวลาที่กำหนดแล้ว กายสังขารที่เป็นไปในเวลาที่ได้

กำหนด ย่อมระงับไปในอุปจารแห่งปฐมฌาม ฯ ล ฯ กายสังขารทีเป็นไปใน

อุปจารแห่งจตุตถฌาน ย่อมระงับไปในจตุตถฌาน. ในสมถะมีนัยเท่านี้ก่อน.

ส่วนในวิปัสสนา พึงทราบนัยดังนี้:- กายสังขารที่เป็นไปในเมื่อยัง

มิได้กำหนด ยังหยาบ ในการกำหนดมหาภูตรูปละเอียด แม้การกำหนดมหา-

ภูตรูปนั้น ก็ยังหยาบ ในการกำหนดอุปาทายรูปละเอียด แม้การกำหนดอุปา-

ทายรูปนั้น ก็ยังหยาบ ในการกำหนดรูปทั้งสิ้นละเอียด แม้การกำหนดรูปทั้ง

สิ้นนั้น ก็ยังหยาบ, ในการกำหนดอรูปละเอียด, แม้การกำหนดอรูปนั้น ก็

ยังหยาบ, ในการกำหนดรูปและอรูป ละเอียด แม้การกำหนดรูปและอรูปนั้น

ก็ยังหยาบ, ในการกำหนดปัจจัยละเอียด, แม้การกำหนดปัจจัยนั้น ก็ยังหยาบ,

ในการเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยละเอียด, แม้การเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย

นั้น ก็ยังหยาบ, ในวิปัสสนาที่ประกอบด้วยลักษณะและอารมณ์ ละเอียด,

แม้นั้นก็ยังหยาบ ในวิปัสสนาที่มีกำลังเพลา, ในวิปัสสนาที่มีกำลังจึงจัดว่า

ละเอียด. ในวิปัสสนานัยนั้น พึงทราบความสงบไปแห่งลมอัสสาสะและปัสสาสะ

ก่อน ๆ ด้วยลมอัสสาสะและปัสสาสะหลัง ๆ โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล.

ในคำว่า ระงับกายสังขารที่หยาบ นี้ พึงทราบความที่ลมหยาบละเอียดและสงบ

ไป โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้แล.

ส่วนในปฏิสัมภิทา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กล่าวเนื้อความแห่ง

บทนั้น พร้อมกับคำท้วงแลคำแก้ให้กระจ่างอย่างนั้น:-

ภิกษุย่อมสำเหนียกอย่างไร ? ย่อมสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักระงับ

กายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก.

กายสังขารเป็นไฉน ? ลมหายใจเข้ายาว เป็นไปทางกาย ธรรมเหล่านี้

เนื่องด้วยกายเป็นกายสังขาร, ภิกษุระงับ คือดับ สงบกายสังขารเหล่านั้น

สำเหนียกอยู่ ; ลมหายใจออกยาวเป็นไปทางกาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกาย

เป็นกายสังขาร, ภิกษุระงับ คือดับ สงบกายสังขารเหล่านั้น สำเหนียกอยู่ ;

ลมหายใจเข้าสั้น ลมหายใจออกสั้น ลมที่ภิกษุรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า

ลมที่ภิกษุรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก เป็นไปทางกาย ธรรมเหล่านี้

เนื่องด้วยกายเป็นกายสังขาร ภิกษุระงับ คือดับ สงบกายสังขารเหล่านั้น

สำเหนียกอยู่. ความอ่อนไป ความน้อมไป ความเอนไป ความโอนไป

ความหวั่นไหว ความดิ้นรน ความโยก ความโคลงแห่งกาย เพราะกายสังขาร

เห็นปานใด, ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารเห็นปานนั้นหายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารเห็นปานนั้น หายใจออก. ความไม่

อ่อนไป ความไม่น้อมไป ความไม่เอนไป ความไม่โอนไป ความไม่หวั่นไหว

ความไม่ดิ้นรน ความไม่โยก ความไม่โคลงแห่งกาย เพราะกายสังขารเห็น

ปานใด, ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารที่ละเอียดสุขุมเห็นปานั้น

หายใจเข้า หายใจออก. หากว่าภิกษุสำเหนียกอยู่อย่างนี้ว่า เราจักระงับกาย-

สังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก. เมื่อ

เป็นอย่างนั้น ความได้ลม* (อัสสาสะและปัสสาสะ) ก็ไม่เป็นไป (คือไม่

เกิดขึ้น); ลมอัสสาสะและปัสสาสะ ก็ไม่เป็นไป, อานาปานัสสติก็ไม่เป็นไป,

อานาปานัสสติสมาธิ ก็ไม่เป็นไป, และสมาบัตินั้น บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าบ้าง

จะออกบ้าง ก็หาไม่, ถ้าหากว่าภิกษุ สำเหนียกอยู่อย่างนี้ว่า เราจักระงับ

กายสังขารหายใจเข้า หายใจออก. เมื่อเป็นอย่างนี้ ความได้ลม* (อัสสาสะ

และปัสสาสะ) ย่อมเป็นไป (คือเกิดขึ้น), ลมอัสสาสะและปัสสาสะ ย่อมเป็นไป,

อานาปานัสสติย่อมเป็นไป, อานาปานัสสติสมาธิ ย่อมเป็นไป, และสมาบัตินั้น

บัณฑิตทั้งหลายย่อมเข้าบ้าง ย่อมออกบ้าง. ข้อนั้นเปรียบเหมือนอะไร ?

เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลตีกังสดาล เสียงดัง (เสียงหยาบ) ย่อมกระจายไปก่อน

เพราะกำหนดใส่ใจ จำไว้ด้วยดี ซึ่งนิมิตแห่งเสียงดัง แม้เมื่อเสียงดังดับไปแล้ว;

ต่อมาเสียงละเอียด (เสียงครวญ) ย่อมกระจายไปภายหลัง, เพราะกำหนด

ใส่ใจ จำไว้ด้วยดีซึ่งนิมิตแห่งเสียงครวญ แม้เมื่อเสียงครวญดับไปแล้ว; ต่อ

* วาตปลทฺธิ ความสำเหนียก กำหนดหมายลม.

มาจิตย่อมเป็นไปภายหลัง แม้เพราะมีนิมิตแห่งเสียงครวญเป็นอารมณ์ ข้อนี้

ก็เหมือนกันฉะนั้น ลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบ ย่อมเป็นไปก่อน,

เพราะกำหนดใส่ใจจำไว้ด้วยดี ซึ่งนิมิตแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบ

เมื่อลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบ แม้ดับไปแล้ว, ต่อมาลมหายใจเข้า

และหายใจออกที่ละเอียดย่อมเป็นไปภายหลัง เพราะกำหนดใส่ใจ จำไว้ด้วยดี

ซึ่งนิมิตแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออกที่ละเอียด เมื่อลมหายใจเข้าและลม

หายใจออกที่ละเอียดแม้ดับไปแล้ว, ต่อมาจิตไม่ถึงความฟุ้งซ่านในภายหลัง

แม้เพราะมีนิมิตแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออกที่ละเอียดเป็นอารมณ์. เมื่อ

เป็นอย่างนี้ ความได้ลม (อัสสาสะและปัสสาสะ) ย่อมเป็นไป, ลมอัสสาสะ

และปัสสาสะย่อมเป็นไป, อานาปานัสสติย่อมเป็นไป, อานาปานัสสติสมาธิย่อม

เป็นไป, และสมาบัตินั้น บัณฑิตทั้งหลาย่อมหายใจเข้าบ้าง ย่อมหายใจออก

บ้าง กายคือความที่บุคคลระงับกายสังขารหายใจเข้าและหายใจออกย่อมปรากฏ,

สติเป็นอนุปัสสนาญาณ, กายย่อมปรากฏ, ไม่ใช่สติ, สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติ

ด้วย, ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น, เพราะเหตุดังนี้

นั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานคือการพิจารณาเห็นกายในกาย ดังนี้.

ในบทว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ นี้ มีการพรรณนาตามลำดับบท

แห่งปฐมจตุกกะ ซึ่งตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งกายานุปัสสนาเพียงเท่านี้ ก่อน. แต่

เพราะในอธิการนี้ จตุกกะนี้เท่านั้น ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งกรรมฐานของ

กุลบุตรผู้เริ่มทำ, ส่วนอีก ๓ จตุกกะนอกนี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเวทนา-

นุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา ของกุลบุตรผู้บรรลุฌานแล้วในปฐมจตุกกะนี้;

ฉะนั้น พุทธบุตร ผู้ปรารถนาจะเจริญกรรมฐานนี้ แล้วบรรลุพระอรหัต

พร้อมกับปฏิสัมภิทา ด้วยวิปัสสนาอันมีอานาปานจตุตถฌานเป็นปทัฏฐาน

ควรทราบกิจที่ตนควรทำก่อนทั้งหมด ตั้งแต่ต้น ในอธิการแห่งอานาปานัสสติ

กรรมฐานนี้แล ด้วยสามารถแห่งกุลบุตรผู้เริ่มทำ.

[กุลบุตรจะเรียนกรรมฐานต้องบำเพ็ญศีลให้บริสุทธิ์ก่อน]

กุลบุตรควรชำระศีล ๔ อย่างให้หมดจดก่อน. ในศีลนั้น มีวิธีชำระ

ให้หมดจด ๓ อย่าง คือ ไม่ต้องอาบัติ ๑ ออกจากอาบัติที่ต้องแล้ว ๑ ไม่

เศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลาย ๑. จริงอยู่ ภาวนาย่อมสำเร็จแก่กุลบุตรผู้มีศีล

บริสุทธิ์อย่างนั้น. กุลบุตรควรบำเพ็ญแม้ศีลที่ท่านเรียกว่าอภิสมาจาริกศีล ให้

บริบูรณ์ดีเสียก่อน ด้วยอำนาจวัตรเหล่านี้ คือ วัตรที่ลานพระเจดีย์ วัตรที่

ลานต้นโพธิ์ อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร วัตรที่เรือนไฟ วัตรที่โรงอุโบสถ

ขันธกวัตร ๘๒ มหาวัตร ๑๔. จริงอยู่ กุลบุตรใด พึงกล่าวว่า เรารักษาศีล

อยู่, กรรมด้วยอภิสมาจาริกวัตรจะมีประโยชน์อะไร ? ข้อที่ศีลของกุลบุตรนั้น

จักบริบูรณ์ได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้. แต่เมื่ออภิสมาจาริกวัตรบริบูรณ์

ศีลก็จะบริบูรณ์. เมื่อศีลบริบูรณ์ สมาธิย่อมถือเอาห้อง. สมจริงดังพระดำรัส

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่ภิกษุนั้นหนอไม่

บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลาย

ให้บริบูรณ์ได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เรื่องนี้ควรให้พิสดาร. เพราะเหตุ

ฉะนั้น กุลบุตรนี้ควรบำเพ็ญแม้วัตร มีเจติยังคณวัตรเป็นต้น ที่ท่านเรียกว่า

อภิสมาจาริวัตร ให้บริบูรณ์ด้วยดีเสียก่อน.

เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้น ก็ควรตัดปลิโพธ (ความ

กังวล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ ๑๐ อย่างที่พระอาจารย์

ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า

ปลิโพธ (ความกังวล) ๑๐ อย่างนั้น

คือ อาวาส ๑ ตระกูล ๑ ลาภ (คือปัจจัยสี่)

๑ คณะ (คือหมู่) ๑ การงาน (คือการ

ก่อสร้าง) เป็นที่คำรบห้า ๑ อัทธานะ (คือ

เดินทางไกล) ๑ ญูาติ ๑ อาพาธ ๑ คัณฐะ

(คือการเรียนปริยัติ) ๑ อิทธิฤทธิ์ ๑.

กุลบุตรผู้ตัดปลิโพธได้อย่างนั้นแล้ว จึงควรเรียนกรรมฐาน.

[กรรมฐาน ๒ พร้อมทั้งอธิบาย]

กรรมฐานนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน (กรรมฐาน

มีประโยชน์ในกุศลธรรมทั้งปวง) ๑ ปาริหาริยกัมมัฏฐาน (กรรมฐานควร

บริหารรักษา) ๑. บรรดากรรมฐาน ๒ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า สัพพัตถกกมมัฏฐาน

ได้แก่ เมตตา (ที่เจริญไป) ในหมู่ภิกษุเป็นต้น และมรณัสสติ (การระลึก

ถึงความตาย). พระอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อสุภสัญญา บ้าง. จริงอยู่ ภิกษุ

ผู้จะเจริญกรรมฐาน ครั้งแรกต้องตัดปลิโพธเสียก่อน แล้วจึงเจริญเมตตาไป

ในหมู่ภิกษุผู้อยู่ในสีมา, ลำดับนั้น พึงเจริญไปในเหล่าเทวดาผู้อยู่ในสีมา,

ถัดจากนั้นพึงเจริญไปในอิสรชนในโคจรคาม, ต่อจากนั้นพึงเจริญไปในเหล่า

สรรพสัตว์กระทั่งถึงชาวบ้านในโคจรคามนั้น. แท้จริง ภิกษุนั้น ทำพวกชน

ผู้อยู่ร่วมกันให้เกิดมีจิตอ่อนโยน เพราะเมตตาในหมู่ภิกษุ. เวลานั้น เธอจะ

มีความอยู่เป็นสุข. เธอย่อมเป็นผู้อันเหล่าเทวดาผู้มีจิตอ่อนโยน เพราะเมตตา

ในเหล่าเทวดาผู้อยู่ในสีมาจัดการอารักขาไว้เป็นอย่างดี ด้วยการรักษาที่ชอบ

ธรรม. ทั้งเป็นผู้อันอิสรชนทั้งหลาย ผู้มีจิตสันดานอ่อนโยน เพราะเมตตา

ในอิสรชนในโคจรคาม จัดรักษาระแวดระวังไว้อย่างดี ด้วยการรักษาที่ชอบ

ธรรม. และเป็นผู้อันชาวบ้านเหล่านั้นผู้มีจิตถูกอบรมให้เลื่อมใส เพราะเมตตา

ในพวกชาวบ้านในโคจรคามนั้น ไม่ดูหมิ่นเที่ยวไป. เป็นผู้เที่ยวไปไม่ถูก

อะไร ๆ กระทบกระทั่งในที่ทุกสถาน เพราะเมตตาในเหล่าสรรพสัตว์. อนึ่ง

เธอเมื่อคิดว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ด้วยมรณัสสติ ละการแสวงหาที่ไม่สมควร

เสีย เป็นผู้มีความสลดใจเจริญสูงขึ้นเป็นลำดับ ย่อมเป็นผู้มีความประพฤติไม่

ย่อหย่อน. ตัณหาย่อมไม่เกิดขึ้น แม้ในอารมณ์ที่เป็นทิพย์ เพราะอสุภสัญญา.

เพราะเหตุนั้น คุณธรรมทั้ง ๓ (คือ เมตตา ๑ มรณัสสติ ๑ อสุภสัญญา ๑)

นั้น ของภิกษุนั้น ท่านเรียกว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน เพราะทำอธิบายว่า

เป็นกรรมฐานอันกุลบุตรพึงปรารถนา คือ พึงต้องการในที่ทุกสถาน เพราะ

เป็นธรรมมีอุปการะมาก และเพราะความเป็นปทัฏฐาน แห่งการหมั่นประกอบ

เนือง ๆ ซึ่งความเพียร ตามที่ประสงค์ไป โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้.

ก็บรรดาอารมณ์ ๓๘ ประการ กรรมฐานใด ที่คล้อยตามจริตของ

กุลบุตรใด กรรมฐานนั้น ท่านเรียกว่า ปารหาริยกรรมฐาน เพราะเป็น

กรรมฐานที่กุลบุตรนั้น ควรบริหารไว้เป็นนิตย์ โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นเอง

แต่ในตติยปาราชิกนี้ อานาปานกรรมฐานนี้แล ท่านเรียกว่า ปาริหาริย-

กรรมฐาน. ในอธิการว่าด้วยอานาปานกัมมัฏฐานนี้ มีความสังเขปเท่านี้. ส่วน

ความพิสดารนักศึกษาผู้ต้องการกถาว่าด้วยการชำระศีลให้หมดจด และกถาว่า

ด้วยการตัดปลิโพธ พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคเถิด.

[ควรเรียนกรรมฐานในสำนักพุทธโอรสกระทั่งถึงท่านผู้ได้ฌาน]

อนึ่ง กุลบุตรผู้มีศีลบริสุทธิ์ และตัดปลิโพธได้แล้วอย่างนั้น เมื่อจะ

เรียนกรรมฐานนี้ ควรเรียนเอาในสำนักพุทธบุตร ผู้ให้จตุตถฌานเกิดขึ้นด้วย

กรรมฐานนี้แล แล้วเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์. เมื่อไม่

ได้พระขีณาสพนั้น ควรเรียนเอาในสำนักพระอนาคามี เมื่อไม่ได้แม้พระ-

อนาคามีนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักพระสกทาคามี เมื่อไม่ได้แม้พระสกทาคามี

นั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักพระโสดาบัน, เมื่อไม่ได้แม้พระโสดาบันนั้น ก็

ควรเรียนเอาในสำนักของท่านผู้ได้จตุตถฌาน ซึ่งมีอานาปานะเป็นอารมณ์,

เมื่อไม่ได้ท่านผู้ได้จตุตถฌานแม้นั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักของพระวินิจ-

ฉยาจารย์ ผู้ไม่เลอะเลือนทั้งในบาลีและอรรถกถา. จริงอยู่ พระอริยบุคคล

ทั้งหลายมีพระอรหันต์เป็นต้น ย่อมบอกเฉพาะมรรคที่ตนได้บรรลุแล้วเท่านั้น.

ส่วนพระวินิจฉยาจารย์นี้เป็นผู้ไม่เลอะเลือน กำหนดอารมณ์เป็นที่สบายและ

ไม่สบาย ในอารมณ์ทั้งปวงแล้วจึงบอกให้ เหมือนผู้นำไปสู่ทางช้างใหญ่ ใน

ป่าที่รกชัฏฉะนั้น.

[กรรมฐานมีสนธิคือที่ต่อ ๕ อย่าง]

ในอธิการว่าด้วยการเรียนกรรมฐานนั้น มีอนุบุพพีกถาดังต่อไปนี้:-

ภิกษุนั้นควรเป็นผู้มีความพระพฤติเบา สมบูรณ์ด้วยวินัยและมรรยาทเข้าไปหา

อาจารย์ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว พึงเรียนกรรมฐาน มีสนธิ ๕ ในสำนักของ

อาจารย์นั้น ผู้มีจิตอันตนให้ยินดี ด้วยวัตรและข้อปฏิบัติ. ในคำว่า กรรมฐาน

มีสนธิ ๕ นั้น สนธิมี ๕ อย่างเหล่านี้ คือ อุคคหะ การเรียน ๑ ปริปุจฉา

การสอบถาม ๑ อุปัฏฐานะ ความปรากฏ ๑ อัปปนา ความแน่นแฟ้น ๑

ลักษณะ ความกำหนดหมาย ๑.

ในอุคคหะเป็นต้นนั้น การเรียนกรรมฐาน ชื่อว่า อุคคหะ. การ

สอบถามกรรมฐาน ชื่อว่า ปริปุจฉา. ความปรากฏแห่งกรรมฐาน ชื่อว่า

อุปัฏฐานะ. ความแน่วแน่แห่งกรรมฐาน ชื่อว่า อัปปนา. ลักษณะแห่ง

กรรมฐาน ชื่อว่า ลักษณะ. มีคำอธิบายว่า ความใคร่ครวญแห่งสภาพกรรม-

ฐานว่า กรรมฐานนี้ มีลักษณะอย่างนั้น. ภิกษุเมื่อเรียนกรรมฐาน ซึ่งมีสนธิ

๕ อย่างนี้ แม้ตนเองก็ไม่ลำบาก ทั้งไม่ต้องรบกวนอาจารย์ให้ลำบาก. เพราะ

ฉะนั้น ควรเรียนอาจารย์ให้บอกแต่น้อย สาธยายตลอดเวลาเป็นอันมาก ครั้น

เรียนกรรมฐาน ซึ่งมีสนธิ ๕ อย่างนั้นแล้ว ถ้าในอาวาสนั้น มีเสนาสนะเป็น

ต้นเป็นที่สบายไซร้ ควรอยู่ในอาวาสนั้นนั่นแล ถ้าในอาวาสนั้น ไม่มีเสนาสนะ

เป็นที่สบายไซร้ ควรบอกลาอาจารย์ ถ้าเป็นผู้มีปัญญาอ่อน ควรไปสิ้นระยะ-

โยชน์หนึ่งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นผู้มีปัญญากล้าก็ควรไปแม้ไกล (กว่านั้น) ได้

แล้วเข้าไปยังเสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์แห่งเสนาสนะ ๕ อย่าง เว้นเสนาสนะ

ที่มีโทษ ๑๘ อย่าง แล้วพักอยู่ในเสนาสนะนั้น ตัดปลิโพธหยุมหยิมเสีย ฉัน-

ภัตตาหารเสร็จแล้ว บรรเทาความเมาอาหาร ทำจิตให้ร่าเริง ด้วยการอนุสรณ์

ถึงคุณพระรัตนตรัย ไม่หลงลืมกรรมฐานแม้บทหนึ่ง แต่ที่เรียนเอาจากอาจารย์

พึงมนสิการอานาปานัสสติกรรมฐานนี้. ในวิสัยแห่งตติยปาราชิกนี้ มีความ

สังเขปเท่านี้. ส่วนความพิสดาร นักศึกษาผู้ต้องการกถามรรคนี้ พึงถือเอาจาก

ปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคเถิด.

[วิธีมนสิการอานาปานัสสติกรรมฐาน ๘ อย่าง]

ก็ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า พึงมนสิการอานาปานัสสติกรรมฐานนี้ มี

มนสิการวิธีดังต่อไปนี้:- คือ การนับ การตามผูก การถูกต้อง การหยุด

ไว้ การกำหนด การเปลี่ยนแปลง ความหมดจด และการเห็นธรรมเหล่านั้น

แจ่มแจ้ง.

การนับนั่นแล ชื่อว่า คณนา. การกำหนดตามไปชื่อว่า อนุพันธนา.

ฐานที่ลมถูกต้อง ชื่อว่า ผุสนา. ความแน่วแน่ชื่อว่า ฐปนา. ความเห็น

เห็นแจ้ง ชื่อว่า สัลลักขณา. มรรค ชื่อว่า วิวัฏฏนา. ผลชื่อว่า ปาริสุทธิ.

การพิจารณา ชื่อว่า เตสัญจ ปฏิปัสสนา.

[อธิบายวิธีนับลมหายใจเข้าออก]

บรรดามนสิการวิธี มีการนับเป็นต้นนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญนี้

ควรมนสิการกรรมฐานนี้โดยการนับก่อน. และเมื่อจะนับไม่ควรหยุดนับต่ำกว่า

๕ ไม่ควรนับให้เกินกว่า ๑๐ ไม่ควรแสดง (การนับ) ให้ขาดในระหว่าง.

เพราะเมื่อหยุดนับต่ำกว่า ๕ จิตตุปบาทย่อมดิ้นรนในโอกาสดับแคบ ดุจฝูงโค

ที่รวมขังไว้ในคอกที่คับแคบฉะนั้น. เมื่อนับเกินกว่า ๑๐ ไป จิตตุปบาทก็

พะวงยู่ด้วยการนับเท่านั้น. เมื่อแสดง (การนับ) ให้ขาดในระหว่าง จิตย่อม

หวั่นไปว่า กรรมฐานของเราถึงที่สุดหรือไม่หนอ. เพราะฉะนั้น ต้องเว้นโทษ

เหล่านี้เสียแล้ว จึงค่อยนับ. เมื่อจะนับ ครั้งแรก ควรนับโดยวิธีนับช้า ๆ

คือนับอย่างวิธีคนตวงข้าวเปลือก. จริงอยู่ คนตวงข้าวเปลือก ตวงเต็มทะนาน

แล้วบอกว่า ๑ จึงเทลง เมื่อตวงเต็มอีก พบหยากเยื่อบางอย่าง เก็บมันทิ้งเสีย

จึงบอกว่า ๑-๑. ในคำว่า ๒-๒ เป็นต้น ก็นัยนี้. กุลบุตรแม้นี้ ก็ฉันนั้นเหมือน

กัน บรรดาลมหายใจเข้าและหายใจออก ส่วนใดปรากฏ พึงจับเอาส่วนนั้น

แล้วพึงกำหนด ลมที่กำลังผ่านไป ๆ ตั้งแต่ต้นว่า ๑-๑ ไป จนถึงว่า ๑.๑๐

เมื่อกุลบุตรนั้นนับอยู่โดยวิธีอย่างนี้ ลมอัสสาสะปัสสาสะ ที่กำลังผ่านออกและ

ผ่านเข้า ย่อมปรากฏ.

ลำดับนั้น กุลบุตรนี้ควรละวิธีนับช้า ๆ คือนับอย่างวิธีคนตวงข้าว

เปลือกนั้นเสีย แล้วพึงนับโดยวิธีเร็ว ๆ คือนับอย่างวิธีนายโคบาล. แท้จริง

นายโคบาลผู้ฉลาด เอาก้อนกรวดใส่พก มือถือเชือกและไม้ตะพูดไปสู่คอกแต่

เช้าตรู่ ตีโคที่หลังแล้ว นั่งอยู่บนเสาลิ่มสลัก นับแม่โคตัวมาถึงประตูแล้ว ๆ

ใส่ก้อนกรวดลงไปว่า ๑-๒ เป็นต้น. ฝูงโคที่อยู่ลำบากในโอกาสที่คับแคบ

ตลอดราตรี ๓ ยาม เมื่อออก (จากคอก) เบียดเสียดกันและกันรีบออกเป็น

หมู่ ๆ. นายโคบาลนั้น ย่อมนับอย่างรวดเร็วทีเดียวว่า ๓ - ๔- ๕- ๑๐ เป็นต้น.

แม้เมื่อกุลบุตรนี้ นับอยู่โดยนัยก่อนอย่างว่ามาแล้วนี้ ลมอัสสาสะและปัสสาสะ

ย่อมปรากฏสัญจรไปมา อย่างรวดเร็ว. ลำดับนั้นเธอรู้อยู่ว่า ลมอัสสาสะและ

ปัสสาสะ ย่อมสัญจรไปมา อย่างรวดเร็ว แล้วไม่ถือเอาลมภายในและภายนอก

พึ่งกำหนดเฉพาะลมที่มาถึงช่อง ๆ เท่านั้น นับอย่างเร็ว ๆ ทีเดียวว่า

๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ -

๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖

๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗

๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗ - ๘

๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙

๑ - ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙ - ๑๐

เพราะว่าในกรรมฐานที่เนื่องด้วยการนับ จิตย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้

ด้วยกำลังแห่งการนับเท่านั้น ดุจการหยุดเรือไว้ในกระแสน้ำเชี่ยว ด้วยอำนาจ

ที่เอาถ่อค้ำไว้ฉะนั้น. เมื่อเธอนับอยู่เร็ว ๆ อย่างนี้กรรมฐานย่อมปรากฏเป็นดุจ

ว่า ดำเนินไปไม่ขาดสาย. เวลานั้น ครั้นเธอรู้ว่า กรรมฐานดำเนินไปไม่ขาด

สาย แล้ว อย่ากำหนดลมทั้งภายในและภายนอก พึงนับเร็ว ๆ ตามนัยก่อน

นั่นแล. เมื่อเธอส่งจิตเข้าไปพร้อมกับลมที่เข้าไปภายใน ฐานภายใน ถูกลม

กระทบแล้ว ย่อมเป็นเหมือนเต็มด้วยมันข้นฉะนั้น. เมื่อนำจิตออกมาพร้อมกับ

ลมที่ออกมาภายนอก จิตย่อมส่ายไปในอารมณ์มากหลายในภายนอก. แต่ภาวนา

ย่อมสำเร็จแก่ผู้ตั้งสติไว้ ในโอกาสที่ลมถูกต้อง เจริญอยู่เท่านั้น. เพราะเหตุ

นั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า อย่ากำหนดลมทั้งภายในและภายนอก พึงนับเร็ว ๆ

ตามนัยก่อนนั่นแล.

ถามว่า จะพึงนับลมอัสสาสะและปัสสาสะนั่น นานเท่าไร ?

แก้ว่า พึงนับไปจนกว่าสติที่เว้นจากการนับ จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์

คือลมอัสสาสะและปัสสาสะ. เพราะว่าการนับ ก็เพื่อจะตัดวิตกที่พล่านไปใน

ภานอก แล้วตั้งสติไว้ในอารมณ์ คือ ลมอัสสาสะและปัสสาสะ..เท่านั้น.

[อธิบายเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดลมหายใจเข้าออก]

พระโยคาวจร ครั้นมนสิการโดยการนับอย่างนั้นแล้ว พึงมนสิการ

โดยการตามผูก. กิริยาที่หยุดพักการนับ แล้วส่งสติไปตามลมอัสสาสะและ

ปัสสาสะติดต่อกันไป ชื่อว่าการตามผูก. ก็แลการส่งสติไปตามนั้น. หาใช่ด้วย

อำนาจการไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด (แห่งลมอัสสาสะ) ไม่. จริง

อยู่ นาภี (สะดือ) เป็นเบื้องต้นแห่งลมออกไปภายนอก หทัย (หัวใจ) เป็น

ท่ามกลาง นาสิก (จมูก) เป็นที่สุด ปลายนาสิก เป็นเบื้องต้น แห่งลมเข้า

ไปภายใน หทัย เป็นท่ามกลาง นาภี เป็นที่สุด. ก็เมื่อพระโยคาวจรนั้น ไป

ตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด (แห่งลมอัสสาสะและปัสสาสะ) นั้น จิต

ที่ถึงความฟุ้งซ่าน ย่อมเป็นไปเพื่อความกระวนกระวาย และเพื่อความหวั่นไหว.

เหมือนอย่างที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า เมื่อพระโยคาวจรส่ง

สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจว่า กายก็ดี จิตก็ดี ย่อม

ความระส่ำระสาย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตถึงความฟุ้งซ่านไปภายใน

เมื่อพระโยคาวจรส่งสติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจออก

กายก็ดี จิตก็ดี ย่อมมีความระส่ำระสาย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตถึง

ความฟ้งซ่านไปภายนอก เพราะฉะนั้น พระโยคาวจร เมื่อมนสิการโดยการ

ตามถูก ไม่พึงมนสิการด้วยอำนาจแห่งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด อนึ่งแล

พึงมนสิการด้วยอำนาจการถูกต้อง และด้วยอำนาจการหยุดไว้ เพราะว่าไม่มี

การมนสิการเป็นแผนกหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งการถูกต้องและหยุดไว้ เหมือนกับ

ด้วยอำนาจแห่งการนับและการตามผูก. แต่พระโยคาวจรเมื่อนับอยู่ในฐานที่

ลมถูกต้องแล้ว ๆ นั่นแหละชื่อว่ามนสิการด้วยการนับและการถูกต้อง. พระโย-

คาวจร เมื่อหยุดพักการนับในฐานะที่ลมถูกต้องแล้ว ๆ นั้นนั่นแล ใช้สติตาม

ผูกลมอัสสาสะและปัสสาสะนั้น และตั้งจิตไว้ด้วยอำนาจอัปปนา ท่านเรียกว่า

มนสิการด้วยการตามผูก การถูกต้องและการหยุดไว้. ใจความนี้นั้นพึงทราบ

ด้วยข้ออุปมาเหมือนคนง่อยและคนรักษาประตู ที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถา

และด้วยข้ออุปมาเหมือนเลื่อยที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิ-

สัมภิทา.

[ข้ออุปมาเหมือนคนง่อยโล้ชิงช้า]

บรรดาข้ออุปมา ๓ อย่างนั้น ข้ออุปมาเหมือนคนง่อยโล้ชิงช้ามีดังท่อ

ไปนี้:- เปรียบเหมือนคนง่อยไกวชิงช้า ให้แก่ มารดาและบุตรผู้เล่นชิงช้าอยู่

แล้วนั่งอยู่ที่โคนเสาชิงช้าในที่นั้นนั่นเอง เมื่อกระดานชิงช้าไกวไปอยู่โดยลำดับ

ย่อมเห็นที่สุดทั้งสองข้างและตรงกลาง แต่มิได้ขวนขวายเพื่อจะดูที่สุดทั้งสอง

ข้างและตรงกลาง แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยืนที่ใกล้โคนเสาอัน

เข้าไปผูกไว้ด้วยอำนาจสติแล้วโล้ชิงช้าคือลมหายใจเข้าและหายใจออก นั่งอยู่

ด้วยสติ ในนิมิตนั้นนั่นเอง ส่งสติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่ง

ลมหายใจเข้าและหายใจออก ในฐานะที่ลมถูกต้องแล้ว ซึ่งพัดผ่านมาและผ่าน

อยู่โดยลำดับ และตั้งจิตเฉยไว้ในนิมิตนั้น และไม่ขวนขวายเพื่อจะแลดูลมเหล่า

นั้น. นี้เป็นข้ออุปมาเหมือนตนง่อย.

[ข้ออุปมาเหมือนคนรักษาประตู]

ส่วนข้ออุปมาเหมือนคนรักษาประตูมีดังต่อไปนี้ :- คนรักษาประตูจะ

ไม่สอบสวนบุรุษทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกพระนครว่า ท่านเป็นใคร ?

มาแต่ไหน ? จะไปไหน ? หรือว่า ในมือของท่านมีอะไร ? ความจริง พวก

มนุษย์ผู้เดินไปทั้งภายในและภายนอกพระนครเหล่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของคนรักษา

ประตูนั้น แต่เขาย่อมสอบสวนเฉพาะคนผู้มาถึงประตูแล้ว ๆ เท่านั้น แม้ฉัน

ใด ลมเข้าไปข้างในและลมที่ออกไปข้างนอก ย่อมไม่เป็นหน้าที่ของภิกษุนี้

ฉันนั้นเหมือนกัน จะเป็นหน้าที่ก็เฉพาะแต่ลมที่มาถึงช่องแล้ว ๆ เท่านั้น. นี้

เป็นข้ออุปมาเหมือนคนรักษาประตู.

[การกำหนดลมหายใจเปรียบเหมือนเลื่อย]

ส่วนข้ออุปมาเหมือนเลื่อย ควรทราบจำเดิมแต่ต้นไป. สมดังคำที่ท่าน

พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กล่าวไว้ว่า

นิมิต ลมหายใจเข้า และลมหายใจ

ออก มิใช่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว และ

เมื่อบุคคลไม่รู้ธรรมทั้ง ๓ ประการ ย่อมไม่

ได้ภาวนา (ภาวนาย่อมไม่สำเร็จ). นิมิต ลม

หายใจเข้าและลมหายใจออก มิใช่เป็น

อารมณ์แต่งจิตดวงเดียว และเมื่อบุคคลรู้ซึ่ง

ธรรม ๓ ประการ ย่อมได้ภาวนา.

ถามว่า ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ จะไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว

และธรรม ๓ ประการเหล่านี้ จะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตจะไม่ถึงความฟุ้งซ่าน

ประธาน (ความเพียร) ย่อมปรากฏ แลพระโยคาวจรจะทำประโยคให้สำเร็จ

ได้บรรลุคุณวิเศษอย่างไร.

แก้ว่า เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เขาวางไว้บนภาคพื้นที่เรียบเสมอ บุรุษ

เอาเลื่อยเลื่อยต้นไม้นั้น สติของบุรุษ ย่อมปรากฏ ด้วยอำนาจแห่งฟันเลื่อย

ที่ถูกต้นไม้ และเขาย่อมไม่ได้ใฝ่ใจถึงฟันเลื่อยที่ผ่านมาหรือผ่านไป ทั้งฟัน

เลื่อยที่ผ่านมาหรือผ่านไป จะไม่ปรากฏก็หามิได้ ประธาน (ความเพียรใน

การตัดต้นไม้) ย่อมปรากฏ และเขาย่อมให้ประโยค (กิริยาที่ตัดต้นไม้นั้น)

สำเร็จได้*. นิมิตคือสติเป็นเครื่องเข้าไปผูกไว้ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เขาวาง

ไว้บนภาคพื้นที่เรียบเสมอ. ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เปรียบเหมือน

ฟันเลื่อย. ภิกษุนั่นตั้งสติไว้มั่น ที่ปลายจมูกหรือที่ริมผีปาก ย่อมไม่ใฝ่ใจถึง

ลมหายใจเข้าและหายใจออกที่ผ่านมาหรือที่ผ่านไป ลมหายใจเข้าและลมหาย

ใจออกที่ผ่านมาหรือผ่านไป จะไม่ปรากฏก็หามิได้ ประธาน ย่อมปรากฏ

และภิกษุนั้นย่อมให้ประโยคสำเร็จได้ ทั้งบรรลุคุณพิเศษด้วย เหมือนบุรุษตั้ง

สติไว้ ด้วยอำนาจแห่งฟันเลื่อยซึ่งถูกต้นไม้ เขาย่อมไม่ได้ใฝ่ใจถึงฟันเลื่อยที่

ผ่านมาหรือที่ผ่านไป ทั้งฟันเลื่อยที่ผ่านมาหรือผ่านไป จะไม่ปรากฏก็หามิได้

ประธานย่อมปรากฏ และเขาย่อมทำประโยคให้สำเร็จได้ ฉะนั้น. คำว่า

ประธาน ความว่า ประธานเป็นไฉน ? กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้ปรารภความ

เพียรย่อมควรแก่การงาน, นี้เป็นประธาน. ประโยค เป็นไฉน ? ภิกษุผู้ปรารภ

ความเพียร ย่อมละอุปกิเลสได้ วิตกย่อมสงบไป, นี้เป็นประโยค. คุณพิเศษ

เป็นไฉน ? ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมหมดสิ้น

ไป, นี้เป็นคุณพิเศษ. ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ ย่อมไม่เป็นอารมณ์แห่งจิต

ดวงเดียว และธรรม ๓ ประการเหล่านี้ จะไม่ปรากฏก็หามิได้, จิตย่อมไม่ถึง

ความฟุ้งซ่าน, ประธาน (ความเพียร) ย่อมปรากฏ, และพระโยคาวจร ทำ

ให้ประโยค (การหมั่นประกอบภาวนา) สำเร็จได้ ทั้งได้บรรลุคุณพิเศษด้วย.

ภิกษุใด เจริญอานาปานัสสติให้

บริบูรณ์ดี อบรมมาโดยลำดับ ตามที่พระ

พุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว, ภิกษุนั้นย่อมทำ

โลกนี้ให้สว่างได้ เหมือนพระจันทร์พ้นแล้ว

จากหมอก ฉะนั้น แล.

ข้อนี้อุปมาเหมือนเลื่อย.

ก็ในข้ออุปมาเหมือนเลื่อยนี้ พึงทราบว่า เหตุเพียงไม่ใฝ่ใจด้วยอำนาจ

สมหายใจเข้าและลมหายใจออก ที่ผ่านมาแล้ว ๆ เท่านั้น เป็นประโยชน์แก่

ภิกษุนั้น. กรรมฐานนี้เมื่อภิกษุบางรูป มนสิการนิมิต ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่

ชักช้าเลย และฐปนา กล่าวคืออัปปนา ซึ่งประกอบด้วยองค์ฌานที่เหลือ ก็

ย่อมสำเร็จ. แก่สำหรับภิกษุบางรูปมีจำเดิมแต่เวลามนสิการโดยอำนาจการนับ

นั่นแล คือตั้งแต่เวลาทำไว้ในใจด้วยอำนาจการนับ เมื่อความกระวนกระวาย

ทางกายสงบไป ด้วยอำนาจลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบดับไปโดย

ลำดับ กายก็ดี จิตก็ดี ย่อมเป็นของเบา ร่างกายย่อมเป็นดุจถึงอาการลอยขึ้น

ไปในอากาศเหมือนภิกษุผู้มีกายกระสับกระส่าย เมื่อนั่งลงบนเตียงหรือตั่ง

เตียงและตั่งย่อมโอนเอน คดงอไป เครื่องปูลาดย่อมย่นเป็นเกลียว, แต่เมื่อ

เธอมีกายไม่กระสับกระส่าย นั่นลง เตียงและตั่งย่อมไม่โอนเอน ไม่คดงอ

เครื่องปูลาดก็ไม่ย่นเป็นเกลียว, เตียงตั่งเป็นเหมือนเต็มด้วยปุยนุ่น, เพราะ

เหตุไร ? เพราะเหตุว่า กายไม่กระสับกระส่าย ย่อมเป็นของเบาฉะนั้น. เมื่อ

ลมอัสสาสะและปัสสาสะที่หยาบดับไปแล้ว จิตของภิกษุนั้นมีนิมิต คือ ลม

ดับไปแล้ว จิตดวงต่อ ๆ ไป ซึ่งมีอารมณ์คือนิมิตที่ละเอียดจนละเอียดกว่าจิต

ถามว่า จิตดวงต่อ ๆ ไป ย่อมเป็นไปอย่างไร ?

แก้ว่า เปรียบเหมือนบุรุษ พึงเอาชี่เหล็กท่อนใหญ่ตีกังสดาล ด้วย

การตีเพียงครั้งเดียว เสียงดัง พึงเกิดขึ้น, จิตของบุรุษนั้น ซึ่งมีเสียงดัง

(หยาบ) เป็นอารมณ์ พึงเป็นไป, เมื่อเสียงดังดับไป ต่อจากนั้นภายหลัง

จิตซึ่งมีเสียงละเอียดเป็นอารมณ์ พึงเป็นไป, แม้เมื่อจิตซึ่งมีนิมิต คือเสียง

ละเอียดเป็นอารมณ์นั้นดับไปแล้ว จิตดวงต่อ ๆ ไป ซึ่งมีอารมณ์คือนิมิตที่

ละเอียดจนละเอียดกว่าจิต ซึ่งมีนิมิต คือเสียงละเอียด เป็นอารมณ์นั้น ย่อม

เป็นไปทีเดียว ฉันใด, จิตซึ่งมีนิมิตคือลมอัสสาสะและปัสสาสะเป็นอารมณ์นั้น

บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปฉันนั้น. แม้ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระธรรม

เสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า เปรียบเหมือนบุคคลตีกังสดาล (เสียงดังคือเสียง

หยาบ ย่อมกระจายไปก่อน) ดังนี้ เป็นต้น. ควรให้พิสดาร. เหมือนอย่างว่า

กรรมฐานเหล่าอื่น ย่อมปรากฏชัดในชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ฉันใด, อานาปานัสสติ

กรรมฐานนี้จะเป็นฉันนั้น ก็หามิได้. แต่อานาปานัสสติกรรมฐานนี้ เมื่อภิกษุ

เจริญ ๆ ในชั้นสูงขึ้นไป ย่อมถึงความเป็นของละเอียด คือจะไม่ถึงแม้ความ

ปรากฏ. ก็เมื่อกรรมฐานนั้น ไม่ปรากฏอยู่อย่างนั้น ภิกษุนั้นไม่ควรลุกขึ้น

จากอาสนะ ตบท่อนหนังไปเสีย. ไม่ควรลุกขึ้น ด้วยคิดว่า จะพึงทำอย่างไร ?

เราจักถามพระอาจารย์ หรือว่า บัดนี้กรรมฐานของเราเสื่อมแล้ว. จริงอยู่

เมื่อเธอให้อิริยาบถกำเริบเดินไป กรรมฐานย่อมปรากฏเป็นของใหม่ ๆ เรื่อย

ไป; เพราะเหตุนั้น ควรนั่งอยู่ตามเติมนั่นแหละ นำกรรมฐานมาจากที่ถูกต้อง

ตามปกติ.

[อุบายเป็นเหตุนำอานาปานัสสติกรรมฐานมา]

ในอธิการว่าด้วยอานาปานัสสติกรรรมฐานนั้น มีอุบายเป็นเครื่องนำมา

ดังต่อไปนี้:-

จริงอยู่ ภิกษุนั้น รู้ว่ากรรมฐานไม่ปรากฏ ควรพิจารณาสำเหนียก

อย่างนี้ว่า ชื่อว่า ลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ มีอยู่ในที่ไหน ? ไม่มีใน

ที่ไหน ของใครมี ? ของใครไม่มี ?

ภายหลัง เมื่อภิกษุนั้น พิจารณาดูอยู่อย่างนี้ ก็รู้ได้ว่า ลมหายใจเข้า

และหายใจออกนี้ (ของทารกผู้อยู่) ภายในท้องของมารดา ไม่มี พวกชนผู้

ดำน้ำก็ไม่มี. พวกอสัญญีสัตว์ คนตายแล้ว ผู้เข้าจตุตถฌาน ท่านผู้พร้อม

เพรียงด้วยรูปภพและอรูปภพ ท่านเข้านิโรธ ก็ไม่มีเหมือนกัน แล้วพึงตัก-

เตือนตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า แน่ะบัณฑิต ! ตัวเธอไม่ใช่ผู้อยู่ในท้องของมารดา

ไม่ใช่ผู้ดำน้ำ ไม่ใช่เป็นอสัญญีสัตว์ ไม่ใช่คนตาย ไม่ใช่ผู้เข้าจตุตถฌาน

ไม่ใช่ผู้พร้อมเพรียง ด้วยรูปภพ และอรูปภพ ไม่ใช่ผู้เข้านิโรธ มิใช่หรือ ?

ตัวเธอยังมีลมหายใจเข้าและหายใจออกอยู่แท้ ๆ, แต่ตัวเธอก็ไม่สามารถจะ

กำหนดได้ เพราะยังมีปัญญาอ่อน.

ภายหลัง เธอนั้น ควรตั้งจิตไว้ด้วยอำนาจที่ลมถูกต้องโดยปกตินั่นเอง

ให้มนสิการเป็นไป. จริงอยู่ ลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ กระทบโครงจมูก

ของผู้มีจมูกยาวผ่านไป, กระทบริมฝีปากข้างบนของผู้มีจมูกสั้นผ่านไป. เพราะ

ฉะนั้น เธอนั่น จึงควรตั้งนิมิตไว้ว่า ลมหายใจเข้าและหายใจออก ย่อม

กระทบฐานชื่อนี้. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์

นี้แล จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวการเจริญอานาปานัสสติ

แก่ภิกษุผู้หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่.

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติ มีความรู้

ตัวเท่านั้น แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น กรรมฐานอย่างอื่น นอกจากอานาปานัสสติ

กรรมฐานนี้ ย่อมปรากฏได้แก่ผู้ที่มนสิการอยู่. แต่อานาปานัสสติกรรมฐานนี้

เป็นภาระหนัก เจริญสำเร็จได้ยาก ทั้งเป็นภูมิแห่งมนสิการ ของมหาบุรุษ

ทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรเท่านั้น,

ไม่ใช่เป็นกรรมฐานต่ำต้อย, ทั้งมิได้เป็นกรรมฐานที่สัตว์ผู้ต่ำต้อยซ่องเสพ,

เป็นกรรมฐานสงบและละเอียด โดยประการที่มหาบุรุษทั้งหลายย่อมทำไว้ใน

ใจ ; เพราะฉะนั้นในอานาปานัสสติกรรมฐานนี้ จำต้องปรารถนาสติและปัญญา

อันมีกำลัง. เหมือนอย่างว่า ในเวลาชุนผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยง แม้เข็มก็จำต้อง

ปรารถนาอย่างเล็ก, แม้ด้ายซึ่งร้อยในบ่วงเข็ม ก็จำต้องปรารถนาเส้นละเอียด

กว่านั้น ฉันใด, ในเวลาเจริญกรรมฐานนี้ ซึ่งเป็นเช่นกับผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยง

ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สติมีส่วนเปรียบด้วยเข็มก็ดี ปัญญาที่สัมปยุตด้วยสตินั้น

มีส่วนเปรียบด้วยด้ายร้อยบ่วงเข็มก็ดี จำต้องปรารถนาให้มีกำลัง.

ก็แล ภิกษุผู้ประกอบด้วยสติและปัญญานั้นแล้ว ไม่จำต้องแสวงหา

ลมหายในเข้าและหายในออกนั้น นอกจากโอกาสที่ลมถูกต้องโดยปกติ. เปรียบ

เหมือนชาวนาไถนาแล้วปล่อยพวกโคถึก ให้บ่ายหน้าไปสู่ที่หากิน แล้วพึงนั่ง

พักที่ร่มไม้, คราวนั้นพวกโคถึกเหล่านั้นของเขาก็เข้าดงไป โดยเร็ว. ชาวนา

ผู้ฉลาด ประสงค์จะจับโคถึกเหล่านั้นมาเทียมไถอีก จะไม่เดินคามรอยเท้าโค

ถึกเหล่านั้นเข้าไปยังดง, โดยที่แท้ เขาจะ ถือเอาเชือกและประตักเดินตรงไป

ยังท่าน้ำซึ่งโคถึกเหล่านั้นลงทีเดียว นั่งหรือนอนคอยอยู่. เวลานั้นเขาได้เห็น

โคเหล่านั้น ซึ่งเที่ยวไปสิ้นทั้งวัน แล้วลงไปสู่ท่าน้ำดื่มอาบและกินน้ำแล้ว

ขึ้นมายืนอยู่ จึงเอาเชือกผูกแล้วเอาประตักทิ่มแทง นำไปเทียม (ไถ) ทำการ

งานอีก ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่จำต้องแสวงหาลมหายใจเข้า

และหายใจออก นอกจากโอกาสที่ลมถูกต้องโดยปกติ แต่พึงถือเอาเชือก คือ

สติ และประตักคือปัญญาแล้ว ตั้งจิตไว้ในโอกาสที่ลมถูกต้องโดยปกติ ยัง

มนสิการให้เป็นไป. เพราะว่า เมื่อเธอมนสิการอยู่อย่างนั้น ต่อกาลไม่นานเลย

ลมหายใจเข้าและหายใจออกนั้น จะปรากฏดุจพวกโคปรากฏที่ท่าลงดื่มฉะนั้น.

ในลำดับนั้น เธอพึงเอาเชือกคือสติผูกประกอบไว้ในที่นั้นนั่นแหละ แล้วแทง

ด้วยประตักคือปัญญาตามประกอบกรรมฐานอีก. เมื่อเธอหมั่นประกอบอยู่

อย่างนั้น ต่อกาลไม่นานเลย นิมิตจะปรากฏ.

อาจารย์บางพวกกล่าวไว้ว่า ก็นิมิตนี้นั้น ย่อมไม่เป็นเช่นเดียวกัน

แก่พระโยคาวจรทุกรูป. อนึ่งแล นิมิตนั้น ย่อมปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป

ดุจปุยนุ่น ดุจปุยฝ้าย และดุจสายลม ให้เกิดสุขสัมผัส.

ส่วนวินิจฉัยในอรรถกถา มีดังต่อไปนี้ :- จริงอยู่ นิมิตนี้ ย่อม

ปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป ดุจดวงดาว ดุจพวงแก้วมณี และดุจพวงแก้ว

มุกดา บางรูปปรากฏเป็นของมีสัมผัสหยาบ ดุจเมล็ดฝ้าย และดุจเสี้ยนไม้แก่น,

บางรูปปรากฏเป็นของสายสังวาลที่ยาว ดุจพวงแห่งดอกคำ และดุจเปลวควัน

ไฟ, ปางรูปดุจใยแมลงมุมที่กว้าง ดุจช่อกลีบเมฆ ดุจดอกปทุม ดุจล้อรถ

ดุจมณฑลจันทร์ และดุจมณฑลพระอาทิตย์ ฉะนั้น.

ก็แล กรรมฐานนี้นั้นเป็นอันเดียวกันแท้ ๆ แต่ปรากฏโดยความต่าง

กัน เพราะมีสัญญาต่างกัน เหมือนบรรดาภิกษุหลายรูปด้วยกัน นั่งสาธยาย

พระสูตรอยู่ เมื่อภิกษุรูปหนึ่ง พูดว่า พระสูตรนี้ ย่อมปรากฏแก่พวกท่าน

เป็นเช่นไร้ ? รูปหนึ่งพูดว่า ย่อมปรากฏแก่ผม เป็นเหมือนแม่น้ำไหลตกจาก

ภูเขาใหญ่, อีกรูปอื่น พูดว่า ย่อมปรากฏแก่ผม เป็นเหมือนแนวป่าแห่งหนึ่ง,

รูปอื่นพูดว่า ย่อมปรากฏแก่ผม เป็นเหมือนรุกชาติที่เพียบพร้อมด้วยภาระคือ

ผลไม้ ซึ่งมีร่มเงาเย็น สมบูรณ์ด้วยกิ่ง. จริงอยู่ พระสูตรของเธอเหล่านั้น

ก็เป็นสูตรเดียวกันนั่นเอง แต่ปรากฏโดยความเป็นของต่างกัน เพราะมีสัญญา

ต่างกัน ฉะนั้น. ความจริง กรรมฐานนี้ เกิดแต่สัญญา มีสัญญาเป็นต้นเหตุ

มีสัญญาเป็นแดนเกิด ; เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ย่อมปรากฏโดยความต่างกัน

เพราะมีสัญญาต่างกัน.

[ธรรม ๓ อย่างมีบริบูรณ์กรรมฐานจึงถึงอัปปนา]

ก็ บรรดาลมหายใจเข้า หายใจออก และนิมิตนี้ จิตที่มีลมหายใจเข้า

เป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่งต่างหาก จิตที่มีลมหายใจออกเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง

จิตที่มีนิมิตเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง. จริงอยู่ กรรมฐานของภิกษุผู้ไม่มีธรรม

๓ อย่างนั้น ย่อมไม่ถึงอัปปนา ไม่ถึงอุปจาระ. ส่วนกรรมฐานของภิกษุผู้มี

ธรรม ๓ อย่างนี้ ย่อมถึงอัปปนาและอุปจาระด้วย. สมจริงดังคำที่ท่านพระ-

ธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า

นิมิต ลมหายใจเข้า และลมหายใจ

ออก มิใช่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว, และ

เมื่อภิกษุไม่รู้ธรรม ๓ ประการ ย่อมไม่ได้

ภาวนา (ย่อมไม่สำเร็จ), นิมิต ลมหายใจเข้า

และลมหายใจออก มิใช่เป็นอารมณ์แห่งจิต

ดวงเดียว, และเมื่อภิกษุรู้ซึ่งธรรม ๓ ประการ

ย่อมได้ภาวนา.

พระอาจารย์ทั้งหลาย ผู้กล่าวทีฆนิกาย ได้กล่าวไว้อย่างนี้ก่อนว่า ก็

เมื่อนิมิตปรากฏแล้วอย่างนั้น ภิกษุนั้นควรไปสำนักของอาจารย์ แล้วบอกว่า

นิมิตชื่อเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่ผมขอรับ ส่วนอาจารย์ไม่ควรพูดว่า นั่น

เป็นนิมิต หรือว่า ไม่ใช่นิมิต ควรพูดว่า ย่อมเป็นอย่างนั้นละ คุณ ! แล้ว

พึงพูดว่า คุณจงมนสิการบ่อย ๆ. จริงอยู่เมื่ออาจารย์พูดว่า เป็นนิมิต เธอ

จะพึงถึงความถอยหลัง, เมื่ออาจารย์พูดว่า ไม่ใช่นิมิต เธอก็จะเป็นผู้หมดหวัง

จมอยู่, เพราะเหตุนั้น ไม่ควรพูดแม้ทั้งสองอย่างนั้น. ควรประกอบเธอนั้น

ไว้ในมนสิการนั่นแล. ส่วนอาจารย์ทั้งหลายผู้กล่าวมัชฌิมนิกายได้กล่าวไว้ว่า

เธอ อันอาจารย์พึงพูดว่า นี้เป็นนิมิต คุณ ! ขอให้คุณจงมนสิการกรรมฐาน

บ่อย ๆ เถิดสัตบุรุษ !

ภายหลัง เธอรูปนั้น พึงตั้งจิตไว้ในนิมิตนั่นเอง. จำเดิมแต่ปฏิภาค-

นิมิตเกิดขึ้นนี้ ภาวนานี้ของเธอรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอำนาจการตั้งไว้ด้วย

ประการอย่างนี้. สมจริงดังคำที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า

พระโยคีผู้เป็นธีรชน เมื่อตั้งจิตไว้

ในนิมิต เจริญลมหายใจเข้า และหายใจออก

ซึ่งมีอาการต่าง ๆ อยู่ชื่อว่า ย่อมผูกจิตของ

ตนไว้.

จำเดิมตั้งแต่นิมิตปรากฏ โดยนัยดังกล่าวแล้วนั้น นิวรณ์ทั้งหลาย

ย่อมเป็นอันพระโยคีนั้นข่มได้โดยแท้ กิเลสทั้งหลาย สงบนิ่ง สติเข้าไปตั้งมั่น

ทีเดียว จิตก็ตั้งมั่น เช่นกัน.

[จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิด้วยองค์]

จริงอยู่ จิตนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นธรรมชาติตั้งมั่น ด้วยองค์ ๒ คือ ด้วย

การละนิวรณ์ในอุปจารภูมิ หรือด้วยความปรากฏแห่งองค์ในปฏิลาภภูมิ.

บรรดาภูมิ ๒ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า อุปจารภูมิ ได้แก่ อุปจารสมาธิ. ที่ชื่อว่า

ปฏิลาภภูมิ ได้แก่ อัปปนาสมาธิ.

ถามว่า สมาธิทั้งสองนั้น มีการทำต่างกันอย่างไร ?

แก้ว่า อุปจารสมาธิ แล่นไปในกุศลวิถีแล้ว ก็หยั่งลงสู่ภวังค์.

อัปปนาสมาธิ เมื่อพระโยคีนั่งแนบสนิทตลอดทั้งวัน แล่นไปในกุศลวิถีแม้

ตลอดทั้งวัน ก็ไม่หยั่งลงสู่ภวังค์. บรรดาสมาธิ ๒ อย่างเหล่านี้ จิตย่อมเป็น

ธรรมชาติตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ เพราะนิมิตปรากฏ. ภายหลัง ภิกษุนี้ไม่พึง

มนสิการนิมิตนั้นโดยสี ทั้งไม่พึงพิจารณาโดยลักษณะ. ก็อีกอย่างหนึ่งแล

เธออย่าประมาท ควรรักษานิมิตไว้ ดุจพระมเหสีของกษัตริย์ ทรงรักษาครรภ์

แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ และดุจชาวนารักษารวงแห่งข้าวสาลีและข้าวเหนียว

ฉะนั้น. จริงอยู่ นิมิตที่รักษาไว้ได้ ย่อมจะอำนวยผลแก่เธอ.

เมื่อพระโยคีรักษานิมิตไว้ได้ จะไม่

มีความเสื่อม จากอุปจารฌานที่ตนได้แล้ว

เมื่อไม่มีการอารักขา (นิมิต) ฌานที่ตนได้

แล้ว ๆ ก็จะพินาศไป ฉะนี้แล.

[อุบายสำหรับรักษาอานาปานัสสติกรรมฐานไม่ให้เสื่อม]

ในอธิการแห่งอานาปานัสสติกรรมฐานนั้น มีอุบายสำหรับรักษาดัง

ต่อไปนี้:- ภิกษุนั้น ควรเว้นอสัปปายะ ๗ อย่างเหล่านี้ คือ อาวาส ๑

โคจร ๑ การสนทนา ๑ บุคคล ๑ โภชนะ ๑ ฤดู ๑ อิริยาบถ ๑ แล้ว

เสพสัปปายะ ๗ อย่างเหล่านั้นนั่นแล มนสิการนิมิตนั้นบ่อย ๆ.

พระโยคีนั้น ครั้นทำนิมิตให้มั่นคงด้วยการเสพสัปปายะอย่างนั้นแล้ว

ควรรอคอยความเจริญงอกงามไพบูลย์ บำเพ็ญความเพียรไม่ละทิ้งอัปปนาโกศล

๑๐ อย่างเหล่านั้น คือ ทำวัตถุให้สละสลวย ๑ ประคองอินทรีย์ให้เป็นไปเสมอ ๑

ฉลาดในนิมิต ๑ ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ๑ ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง ๑

ปลอบจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรปลอบจิตให้ร่าเริง ๑ เพ่งดูจิตในสมัยที่ควร

เพ่งดู ๑ เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ๑ เสพบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ๑ น้อมไปใน

สมาธินั้น ๑.

เมื่อพระโยคีนั้นหมั่นประกอบโดยนัยดังกล่าวมาอย่างนี้อยู่ มโนทวารา-

วัชชนะ ซึ่งมีนิมิตเป็นอารมณ์ ตัดภวังค์แล้วก็เกิดขึ้นขณะที่ควรกล่าวว่า

อัปปนา จักเกิดขึ้นในบัดนี้. ก็เมื่อมโนทวาราวัชชนะนั้นดับไป บรรดาชวนะ

ทั้งหลาย ๔ หรือ ๕ ดวง ยึดเอาอารมณ์นั้นนั่นแลแล่นไป ซึ่งชวนะดวงแรก

ชื่อบริกรรม ที่ ๒ ชื่ออุปจาระ ที่ ๓ ชื่ออนุโลม ที่ ๔ ชื่อโคตรภู ที่ ๕ ชื่อ

อัปปนาจิต อีกอย่างหนึ่ง ดวงแรกเรียกว่าบริกรรมและอุปจาระ ที่ ๒ เรียกว่า

อนุโลม ที่ ๓ เรียกว่า โคตรภู ที่ ๔ เรียกว่า อัปปนาจิต. จริงอยู่ ชวนะ

ดวงที่ ๔ เท่านั้น บางทีที่ ๕ ย่อมเป็นไป* ไม่ถึงดวงที่ ๖ หรือที่ ๗ เพราะ

อาสันนภวังค์ (ภวังค์ใกล้อัปปนา) ตกไป.

ส่วนพระโคทัตตเถระ ผู้ชำนาญอภิธรรม กล่าวไว้ว่า กุศลธรรม

ทั้งหลาย ย่อมเป็นธรรมมีกำลัง โดยอาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น ชวนะย่อม

ถึงที่ ๖ หรือที่ ๗. คำนั้นถูกคัดค้านในอรรถกถาทั้งหลาย. ในชวนจิตเหล่านั้น

จิตที่เป็นบุรพภาค เป็นกามาวจร ส่วนอัปปนาจิตเป็นรูปาวจร. ปฐมฌาน

ซึ่งละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ มีความงาม ๓

ย่อมเป็นอันพระโยคีนี้บรรลุแล้ว โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้. เธอยังองค์ฌาน

ทั้งหลาย มีวิตกเป็นต้นให้สงบราบดาบในอารมณ์นั้นนั่นเอง ย่อมบรรลุฌาน

ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔. และด้วยเหตุมีประมาณเพียงนี้ เธอย่อมเป็นผู้ถึงที่สุด

แห่งภาวนา ด้วยอำนาจแห่งการหยุดไว้. ในอธิการนี้ มีสังเขปกถาเท่านี้ ส่วน

นักศึกษาผู้ต้องการความพิสดาร พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสส ชื่อวิสุทธิมรรคเถิด.

ส่วนในกายานุปัสสนานี้ ภิกษุผู้บรรลุจตุตถฌานแล้วอย่างนั้น มีความ

ประสงค์ที่จะเจริญกรรมฐาน ด้วยอำนาจการกำหนดและการเปลี่ยนแปลง แล้ว

บรรลุความหมดจด กระทำฌานนั้นนั่นแล ให้ถึงความชำนิชำนาญ (วสี)

ด้วยอาการ ๕ อย่าง กล่าวคือ อาวัชชนะ การรำพึง สมาปัชชนะ การเข้า

อธิฏฐานะ การตั้งใจ วุฏฐานะ การออก และ ปัจจเวกขณะ การพิจารณา

แล้ว กำหนด รูปและอรูปว่า รูป มีอรูปเป็นหัวหน้า หรืออรูป มีรูปเป็นหัวหน้า

แล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา.

ถามว่า เริ่มตั้งวิปัสสนาอย่างไร ?

แก้ว่า จริงอยู่ พระโยคีนั้น ครั้นออกจากฌานแล้วกำหนดองค์ฌาน

ย่อมเห็นหทัยวัตถุ ซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งองค์ฌานเหล่านั้น ย่อมเห็นภูตรูป ซึ่ง

เป็นที่อาศัยแห่งหทัยวัตถุนั้น และย่อมเห็นกรัชกายแม้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่อาศัย

แห่งภูตรูปเหล่านั้น. ในลำดับแห่งการเห็นนั้น เธอย่อมกำหนดรูปและอรูปว่า

องค์ฌานจัดเป็นอรูป, (หทัย) วัตถุเป็นต้นจัดเป็นรูป. อีกอย่างหนึ่ง เธอนั้น

ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว กำหนดภูตรูปทั้ง ๔ ด้วยอำนาจปฐวีธาตุเป็นต้น ใน

บรรดาส่วนทั้งหลายมีผมเป็นอาทิ และรูปซึ่งอาศัยภูตรูปนั้น ย่อมเห็นวิญญาณ

พร้อมทั้งสัมปยุตธรรมซึ่งมีรูปตามที่ตนกำหนดแล้วเป็นอารมณ์ หรือมีรูปวัตถุ

และทวารตามที่ตนกำหนดแล้วเป็นอารมณ์. ลำดับนั้น เธอย่อมกำหนดว่า

ภูตรูปเป็นต้น จัดเป็นรูป, วิญญาณที่มีสัมปยุตธรรม จัดเป็นอรูป. อีกอย่างหนึ่ง

เธอครั้นออกจากสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นว่า กรัชกายและจิตเป็นที่เกิดขึ้นแห่ง

ลมอัสสาสะและปัสสาสะ. เหมือนอย่างว่า เมื่อสูบของช่างทองยังสูบอยู่ ลม

ย่อมสัญจรไปมา เพราะอาศัยการสูบ และความพยายามอันเกิดจากการสูบนั้น

ของบุรุษ ฉันใด, ลมหายใจเข้าและหายใจออก ย่อมเข้าออก เพราะอาศัย

กายและจิตฉันนั้นเหมือนกันแล. ลำดับนั้น เธอกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก

และกายว่า เป็นรูป, กำหนดจิตนั้นและธรรมที่สัมปยุตด้วยจิตว่า เป็นอรูป.

ครั้น เธอกำหนดนามรูปด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว ย่อมแสวงหาปัจจัยแห่งนามรูป

นั้น. และเธอเมื่อแสวงหาอยู่ ก็ได้เห็นปัจจัยมีอวิชชาและตัณหาเป็นต้นนั้นแล้ว

ย่อมข้ามความสงสัยปรารภความเป็นไปแห่งนามรูปในกาลทั้ง ๓ เสียได้.

เธอนั้น ข้ามความสงสัยได้แล้ว ยกไตรลักษณ์ขึ้นด้วยอำนาจพิจารณา

กลาป ละวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง มีโอภาสเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในส่วน

เบื้องต้น ด้วยอุทยัพพยานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ)

กำหนดปฏิปทาญาณที่พ้นจากอุปกิเลสว่า เป็นมรรค ละความเกิดเสีย ถึง

ภังคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความดับ) เบื่อหน่ายคลายกำหนัดพ้นไปใน

สรรพสังขาร ซึ่งปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว ด้วยพิจารณาเห็นความดับ

ติดต่อกันไป ได้บรรลุอริยมรรคทั้ง ๔ ตามลำดับ แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตผล

ถึงที่สุดแห่งปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง เป็นอัครทักขิไณยแห่งโลก พร้อมทั้ง

เทวดา. ก็การเจริญอานาปานัสสติสมาธิ ของภิกษุผู้ประกอบในอานาปาน-

กรรมฐานนั้น ตั้งต้นแต่การนับ จนถึงมรรคผลเป็นที่สุด จบบริบูรณ์เพียง

เท่านี้แล.

นี้พรรณนาปฐมจตุกกะโดยอาการทุกอย่าง

ก็เพราะใน ๓ จตุกกะนอกนี้ ขึ้นชื่อว่านัยแห่งการเจริญกรรมฐาน

แผนกหนึ่งย่อมไม่มี, เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาควรทราบเนื้อความแห่ง ๓ จตุกกะ

เหล่านั้น โดยนัยแห่งการพรรณนาตามบทนั่น แล.

บทว่า ปีติปฏิสํเวที ความว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำปีติ

ให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏหายใจเข้า หายใจออก. บรรดาปีติและสุขเหล่านั้น

ปีติ ย่อมเป็นอันภิกษุรู้แจ้งแล้วโดยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยอารมณ์ และโดย

ความไม่งมงาย.

ถามว่า ปีติ ย่อมเป็นอันภิกษุรู้แจ้งแล้ว โดยอารมณ์อย่างไร ?

แก้ว่า ภิกษุนั้นย่อมเข้าฌานทั้ง ๒ (ปฐมฌานและทุติยฌาน) ซึ่งมีปีติ,

ปีติชื่อว่าเป็นอันภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้วโดยอารมณ์ ด้วยการได้ฌานในขณะเข้า

สมาบัติ เพราะอารมณ์เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว.

ถามว่า ปีติ ย่อมเป็นอันภิกษุรู้แจ้งแล้วโดยความไม่งมงายอย่างไร ?

แก้ว่า ภิกษุนั้นเข้าฌานทั้ง ๒ ซึ่งมีปีติ ออกจากฌานแล้วย่อมพิจารณา

ปีติที่สัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้น ความเสื่อม, ปีติชื่อว่าเป็นอันภิกษุรูปนั้น

รู้แจ้งแล้ว โดยความไม่งมงาย เพราะแทงตลอดลักษณะ ในขณะแห่งวิปัสสนา.

ข้อนี้ สมจริงดังคำที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า

เมื่อภิกษุรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจเข้ายาว

สติย่อมทั้งมั่น, ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้น ด้วยญาณ

นั้น, เมื่อภิกษุรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจ

ออกยาว สติย่อมตั้งมั่น, ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้น ด้วย

ญาณนั้น, เมื่อภิกษุรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจ

เข้าสั้น สติย่อมตั้งมัน, ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้น

ด้วยญาณนั้น, เมื่อภิกษุรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลม

หายใจออกสั้น สติย่อมตั้งมั่น, ปีตินั้นย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้น

ด้วยญาณนั้น, เมื่อภิกษุรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจ

ความเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้าและหายใจออก สติย่อมตั้งมั่น

ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น, เมื่อภิกษุ

รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจความเป็นผู้ระงับกายสังขาร

หายใจเข้าและหายใจออก สติย่อมตั้งมั่น, ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว

ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น, เมื่อรำพึงถึง ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว,

เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยศรัทธา

เมื่อประคองความเพียร เมื่อเข้าไปตั้งสติไว้ เมื่อตั้งจิตไว้มั่น เมื่อรู้ชัดด้วย

ปัญญา เมื่อรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อ

ละธรรมที่ควรละ เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำ

ให้แจ้ง ปีตินั้น ย่อมเป็นอันเธอนั้นรู้แจ้งแล้ว, ปีตินั้น เป็นอันภิกษุรู้แจ้งแล้ว

ด้วยอาการอย่างนี้*.

แม้บทที่เหลือ ก็พึงทราบโดยเนื้อความตามนัยนี้นั่นแล. แต่ในสองบท

นี้มีความสักว่าแปลกกัน ดังต่อไปนี้ :- พึงทราบความเป็นผู้รู้แจ้งสุข ด้วย

อำนาจแห่งฌาน ๓, พึงทราบความเป็นผู้รู้แจ้งจิตสังขาร ด้วยอำนาจแห่งฌาน

ทั้ง ๔. ขันธ์ ๒ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่าจิตสังขาร. ก็บรรดาสองบทนี้ ใน

สุขปฏิสังเวทิบท ท่านพระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทา เพื่อแสดงภูมิ

แห่งวิปัสสนาว่า คำว่า สุข ได้แก่สุข ๒ อย่า ง คือ กายิกสุข ๑ เจตสิกสุข ๑.

สองบทว่า ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ความว่า ระงับ คือดับจิต-

สังขารที่หยาบ ๆ เสีย. ความดับจิตสังขารนั้น พึงทราบโดยพิสดารตามนัย

ดังที่กล่าวแล้วในกายสังขารนั้นแหละ.

อีกอย่างหนึ่ง บรรดาบทเหล่านี้ ในปีติบท ท่านกล่าวเวทนาไว้ด้วย

ปีติเป็นประธาน, ในสุขปฏิสังเวทิบท ท่านกล่าวเวทนาไว้โดยสรุปทีเดียว, ใน

จิตสังขารบททั้งสอง เป็นอันท่านกล่าวเวทนาที่สัมปยุตด้วยสัญญาไว้ เพราะ

พระบาลีว่า สัญญาและเวทนา เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต เป็น

จิตสังขาร ดังนี้. จตุกกะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

โดยเวทนานุปัสสนานัย ด้วยประการอย่างนี้.

แม้ในจตุกกะที่ ๓ มีวินิจฉัยดังนี้:- บัณฑิตพึงทราบความเป็นผู้รู้

แจ้งจิต ด้วยอำนาจแห่งฌาน ๔.

สองบทว่า อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ ความว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า

เราจักยังจิตให้บันเทิง คือให้ร่าเริง ได้แก่ ให้เบิกบานหายใจเข้าหายใจออก.

ในสองบทนั้น ความบันเทิง ย่อมมีได้ด้วยอาการ ๒ อย่างคือ ด้วยอำนาจ

สมาธิ และด้วยอำนาจวิปัสสนา.

ถามว่า ความบันเทิง ย่อมมีได้ด้วยอำนาจสมาธิอย่างไร ?

แก้ว่า ภิกษุย่อมเข้าฌานทั้ง ๒ (ปฐมฌานและทุติยฌาน) ซึ่งมีปีติ.

เธอนั้นย่อมให้จิตรื่นเริง ด้วยปีติที่สัมปยุต ในขณะแห่งสมาบัติ.

ถามว่า ความบันเทิง ย่อมมีได้ด้วยอำนาจวิปัสสนาอย่างไร ?

แก้ว่า ภิกษุครั้นเข้าฌานทั้ง ๒ ซึ่งมีปีติ ออกจากฌานแล้วพิจารณา

อยู่ซึ่งปีติที่สัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้น ความเสื่อม. เธอทำปีติสัมปยุตด้วย

ฌานให้เป็นอารมณ์ ในขณะแห่งวิปัสสนาอย่างนั้นแล้ว ให้จิตรื่นเริง บันเทิง

อยู่. ผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านเรียกว่าย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิง

หายใจเข้าหายใจออก.

สองบทว่า สมาทหํ จิตฺตํ ความว่า ดำรงจิตไว้เสมอ คือ ทั้งจิต

ไว้เสมอในอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น. ก็หรือว่า เมื่อ

เธอเข้าฌานเหล่านั้นแล้วออกจากฌาน พิจารณาอยู่ซึ่งจิตที่สัมปยุตด้วยฌาน

โดยความสิ้น ความเสื่อม ความที่จิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ)

ย่อมเกิดขึ้น เพราะการแทงตลอดลักษณะ ในขณะแห่งวิปัสสนา ภิกษุผู้

ดำรงจิตไว้เสมอ คือตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ แม้ด้วยอำนาจแห่งความที่จิตมี

อารมณ์เดียวชั่วขณะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ท่านก็เรียกว่า ย่อมสำเหนียกว่า

เราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจเข้าหายใจออก.

สองบทว่า วิโมจยํ จิตฺตํ ความว่า เมื่อเปลื้อง เมื่อปล่อยจิตให้

พ้นจากนิวรณ์ทั้งหลาย ด้วยปฐมฌาน คือ เมื่อเปลื้อง ปล่อยจิตให้พ้นจาก

วิตกวิจาร ด้วยทุติยฌาน จากปีติด้วยตติยฌาน จากสุขและทุกข์ด้วย

จตุตถฌาน. ก็หรือว่า เธอเข้าฌานเหล่านั้นแล้วออกมาพิจารณาอยู่ซึ่งจิตที่

สัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้น ความเสื่อม ในขณะแห่งวิปัสสนา เธอนั้น

เปลื้อง คือ ปล่อยจิตให้พ้น จากนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ด้วยอนิจจานุ

ปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง) เปลื้อง คือ ปล่อยจิตให้พ้นจากสุข

สัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ด้วยทุกขานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่า

เป็นทุกข์) จากอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นตัวตน) ด้วยอนัตตานุปัสสนา

(ความพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน) จากนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ด้วย

นิพพิทานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย) จากราคะ (ความ

กำหนัด) ด้วยวิราคานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเครื่องคลายความ

กำหนัด) จากสมุทัย (ตัณหาที่ยังทุกข์ให้เกิด) ด้วยนิโรธานุปัสสนา (ความ

พิจารณาเห็นธรรมเป็นเครื่องคับ) จากอาทาน (ความยึดถือ) ด้วยปฏิ-

นิสสัคคานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเป็นเครื่องสละคืนซึ่งอุปธิ) หาย

ใจเข้าและหายใจออกอยู่. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ย่อม

สำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจเข้า หายใจออก. จตุกกะนี้ บัณฑิตพึง

ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งจิตตานุปัสสนาอย่างนี้.

ส่วนในจตุกกะที่ ๔ มีวินิจฉัยดังนี้ :- ในบทว่า อนิจฺจานุปสฺสี นี้

พึงทราบ อนิจจัง (ของไม่เทียง) พึงทราบ อนิจจตา (ความเป็นของไม่

เที่ยง) พึงทราบ อนิจจตานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นของไม่เที่ยง) พึง

ทราบ อนิจจานุปัสสี (ผู้พิจารณาเห็นของไม่เที่ยง) เสียก่อน.

ในลักษณะ ๔ อย่าง มีอนิจจังเป็นต้นนั้น ที่ชื่อว่า อนิจจัง ได้แก่

เบญจขันธ์ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า เบญจขันธ์มีความเกิดขึ้น มีความ

เสื่อมไป และมีความเป็นไปโดยประการอื่น.

ที่ชื่อว่า อนิจจตา ได้แก่ ข้อที่เบญจขันธ์เหล่านั้นนั่นเอง มีความ

เกิดขึ้น มีความเสื่อมไป และมีความเป็นไปโดยอาการอื่น หรือมีแล้ว กลับ

ไม่มี อธิบายว่า เบญจขันธ์เหล่านั้น เกิดขึ้นแล้ว ไม่ตั้งอยู่โดยอาการนั้นนั่น

แล แตกดับเพราะความแตกดับไปชั่วขณะ.

ที่ชื่อว่า อนิจจานุปัสสนา ได้แก่ การพิจารณาเห็นในเบญจขันธ์

ทั้งหลาย มีรูปเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง ด้วยอำนาจแห่งความเป็นของไม่เที่ยงนั้น.

ที่ชื่อว่า อนิจจานุปัสสี ได้แก่ พระโยคาวจรผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนา

นั้น. เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้เป็นแล้วอย่างนั้นหายใจเข้า และหายใจออก

อยู่ บัณฑิตพึงทราบในอธิการนี้ว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นว่า

ไม่เที่ยง หายใจเข้า หายใจออก.

ส่วนวิราคะ ในบทว่า วิราคานุปัสสี นี้ มี ๒ อย่าง คือ ขยวิราคะ

คลายความกำหนัด คือความสิ้นไป ๑ อัจจันตวิราคะ คลายความกำหนัด

โดยส่วนเดียว ๑ บรรดาราคะ ๒ อย่างนั้น ความแตกดับไปชั่วขณะแห่งสังขาร

ทั้งหลาย ชื่อ ว่า ขยวิราคะ. พระนิพพาน ชื่อว่า อัจจันตวิราคะ. วิปัสสนา

และมรรคที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งการเห็นวิราคะทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่า

วิราคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นการคลายความกำหนัด). พระโยคาวจร

เป็นผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนาแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น หายใจเข้าและหายใจออกอยู่

บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจเข้า

หายใจออก. แม้ในบทว่า นิโรธานุปัสสี ก็มีนัยเหมือนกันนี้.

ปฏินิสสัคคะ (ความสละคืนอุปธิ) แม้ในบทว่า ปฏินิสฺ-

สคฺคานุปสฺสี นี้ก็มี ๒ อย่างคือ ปริจจาคปฏินิสสัคคะ ความสละคืน

คือความเสียสละ ๑ ปักขันทนปฏินิสสัคคะ ความสละคืน คือความแล่นไป

๑. การพิจารณาเห็น คือความสละคืนนั่นเอง ชื่อว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสนา.

คำว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสนา นั่น เป็นชื่อแห่งวิปัสสนาและมรรค. จริง

อยู่ วิปัสสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า การสละคืน คือการละ เพราะ

ย่อมละกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งขันธาภิสังขาร ด้วยอำนาจตทังคปหาน และว่า

การสละคืนคือการแล่นไปเพราะย่อมแล่นไปในพระนิพพาน ซึ่งผิดจากสังขาร

นั้น เหตุที่น้อมไปในพระนิพพานนั้น เพราะเห็นโทษแห่งสังขตธรรม.

มรรคพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า การสละคืน คือการละ เพราะย่อมละ

กิเลสพร้อมทั้งขันธาภิสังขาร ด้วยสามารถสมุจเฉทปหาน และว่า การสละคืน

คือการแล่นไป . เพราะย่อมแล่นไปในพระนิพพาน ด้วยการกระทำให้เป็น

อารมณ์. ก็ วิปัสสนาญาณและมรรคญาณแม้ทั้ง ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

เรียกว่า อนุปัสสนา เพราะเล็งเห็นญาณต้น ๆ ในภายหลัง. ภิกษุเป็นผู้

ประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา ทั้ง ๒ อย่างนั้น หายใจเข้าและหายใจออก

อยู่ บัณฑิตพึงทราบว่า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้มีปกติเล็งเห็นญาณชื่อ

ปฏินิสสัคคะ ในภายหลัง หายใจเข้า หายใจออก ดังนี้.

คำว่า เอวํ ภาวโตความว่า เจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วย

อาการ ๑๖ อย่าง. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

กถาว่าด้วยอานาปรานัสสติสมาธิ จบ__

มาจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ อานาปานสติ

จตุกกะ 4 วัตถุ 16

จตุกกะที่ 1

1. เธอหายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หรือ หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว

2. เธอหายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หรือ หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว

3. เธอสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ตลอดทั้งปวงหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ตลอดทั้งปวงหายใจเข้า

4. เธอสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารทั้งปวงหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารทั้งปวงหายใจเข้า

จตุกกะที่ 2

5. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งปิติหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งปิติหายใจเข้า

6. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งสุขกายหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งสุขกายหายใจเข้า

7. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งจิตสังขารหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้รู้ซึ่งจิตสังขารหายใจเข้า

8. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจเข้า

จตุกกะที่ 3

9. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจเข้า

10. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้ยังให้จิตบันเทิงหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้ยังให้จิตบันเทิงหายใจเข้า

11. สำเนียกว่าเราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก สำเนียกว่าเราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า

12. สำเนียกว่าเราจักเปลื้องจิตหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า

จตุกกะที่ 4

13. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า

14. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไปหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไปหายใจเข้า

15. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความดับไปหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความดับไปหายใจเข้า

16. สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสลัดทิ้งหายใจออก สำเนียกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสลัดทิ้งหายใจเข้า