ไปหน้าแรก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 569

ปฐมโอวาทสูตร

ว่าด้วยการให้โอวาทภิกษุทั้งหลาย

[๔๘๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุง

ราชคฤห์. ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค

เจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนกัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำ

ธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เรา

หรือเธอพึงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย.

[๔๘๔] พระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต ่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้

เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ในพระธรรมวินัยนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นภิกษุชื่อภัณฑะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริก

ของพระอานนท์ และภิกษุชื่ออาภิชชิกะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระ-

อนุรุทธ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าว

ได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน

ดังนี้.

[๔๘๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมา

ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงมา จงเรียกภัณฑภิกษุ สัทธิวิหาริกของอานนท์

และอาภิชชิกภิกษุ สัทธิวิหาริกของอนุรุทธ มาตามคำของเราว่า พระศาสดา

ตรัสเรียกท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

พระพุทธเจ้าข้า แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว

ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านผู้มีอายุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นรับคำภิกษุนั้นว่า ขอรับ ผู้มีอายุ ดังนี้แล้ว เข้าไปเฝ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า

นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๔๘๖] ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า

ได้ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเธอได้กล่าวล่วงเกิน

กันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน

ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้ จริงหรือ.

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงไว้แล้ว

อย่างนี้หรือหนอ พวกเธอจึงกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะอย่างนี้ว่า

จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใคร

จักกล่าวได้นานกว่ากัน.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกเธอไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดง

แล้วอย่างนี้ ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร

บวชอยู่ในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ย่อมกล่าวล่วงเกินกันและกัน

ด้วยสุตะไปทำไมเล่าว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใคร

จักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน.

[๔๘๗] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นซบศีรษะใกล้พระบาทพระ-

ผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์

ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้พาลอย่างไร ผู้หลง

อย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ข้าพระองค์เหล่าใดบวชในพระธรรมวินัย

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วอย่างนี้ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะ

ว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน

ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า

จงทรงรับโทษโดยความเป็นโทษ แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อ

สำรวมต่อไป.

[๔๘๘] พ. เอาเถิดภิกษุทั้งหลาย โทษได้ครอบงำพวกเธอ

ผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร เธอเหล่าใดบวชใน

ธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ได้กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า

จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน

ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล

พวกเธอมาเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม

เมื่อนั้นเราทั้งหลายขอรับโทษนั้นของเธอเหล่านั้น ก็การที่บุคคลเห็นโทษ

โดยความเป็นโทษแล้ว พำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม และถึงความ

สำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า.

จบปฐมโอวาทสูตรที่ ๖

อรรถกถาปฐมโอวาทสูตรที่ ๖

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมโอวาทสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อหํ วา ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพื่อตั้งพระเถระไว้ในฐานะของพระองค์. ถามว่า พระสารีบุตร

และพระโมคคัลลานะ ไม่มีหรือ. ตอบว่า มี. แต่พระองค์ได้มีความดำริ

อย่างนี้ว่า พระเถระเหล่านี้ จักดำรงอยู่นานไม่ได้. ส่วนกัสสปมีอายุ

๑๒๐ ปี. เมื่อเราปรินิพพานแล้ว กัสสปนั้นจักนั่งในถ้ำสัตตบรรณคูหา

ทำการรวบรวมพระธรรมวินัย ทำเวลาประมาณ ๕,๐๐๐ ปี ของเราให้

เป็นไปได้. เราจึงตั้งเธอไว้ในฐานะของตน. พวกภิกษุจักสำคัญคำของ

กัสสปอันตนพึงฟังด้วยดี. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้. บทว่า

ทุพฺพจา ความว่า พวกภิกษุพึงเป็นผู้ว่ายาก. บทว่า โทวจสฺสกรเณหิ

คือ ด้วยการทำให้เป็นผู้ว่ายาก. บทว่า อปทกฺขิณคฺคาหิโน ท่านแสดงว่า

ฟังอนุศาสนีแล้ว ไม่รับเอาโดยความเคารพ ไม่ปฏิบัติตามคำสอน เมื่อไม่

ปฏิบัติ เป็นผู้ชื่อว่ารับเอาโดยไม่เคารพ. บทว่า อจฺจาวทนฺเต ความว่า

กล่าวเลยไป คือพูดมากเกินไป เพราะอาศัยการเรียนพระสูตรมาก.

บทว่า โก พหุตรํ ภาสิสฺสติ ความว่า เมื่อกล่าวธรรม ย่อมกล่าวว่า

ใครจักกล่าวธรรมมาก. ท่านหรือ หรือว่าเรา. โก สุนฺทรตรํ ความว่า

รูปหนึ่ง แม้เมื่อกล่าวมาก ย่อมกล่าวไม่ได้ประโยชน์ ไม่ไพเราะ. รูปหนึ่ง

กล่าวมีประโยชน์ ไพเราะ. ท่านหมายถึงข้อนั้น จึงกล่าวว่า โก สุนฺทรฺตรํ

ดังนี้. ส่วนรูปหนึ่ง กล่าวมากละดี ก็ไม่กล่าวนาน เลิกเร็ว. รูปหนึ่ง

ย่อมใช้เวลานาน ท่านหมายถึงข้อนั้น จึงกล่าวว่า โก จิรตรํ ดังนี้.