พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 612
ปฐมกิรสูตร
ว่าด้วยความเห็นต่างกัน
[๑๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล สมณะ
พราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่าง ๆ กัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความ
พอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ใน
พระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า
๑. โลกเที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า.
ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
๒. โลกไม่เที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า.
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
๓. โลกมีที่สุด. . .
๔. โลกไม่มีที่สุด. . .
๕. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น. . .
๖. ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น. . .
๗. สัตว์เบื้องหน้าแต่แล้ว ย่อมเป็นอีก . . .
๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก . . .
๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี
นี้แหละจริง อื่นเปล่า.
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็น
อีกก็หามิได้ นี้แหละจริง อื่นเปล่า.
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้
ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้.
[๑๓๗] ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ภิกษุมากด้วยกัน นุ่งแล้วถือบาตร
และจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตภายหลัง
ภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สมณะ พราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน
ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจ
ต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์
พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง นี้แหละจริง. . .
ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์เป็นคนตา
บอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่
รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความ
ฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมาง
กัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรม
เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้.
[๑๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครสาวัตถี
นี้แล มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นตรัส
เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ นี่แน่ะเธอ คนตาบอดใน
พระนครสาวัตถีมีประมาณเท่าใด ท่านจงบอกให้คนตาบอดเหล่านั้น
ทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน บุรุษนั้นทูลรับพระราชดำรัสแล้ว พาคนตาบอด
ในพระนครสาวัตถีทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้
กราบบังคมทูลพระราชาพระองค์นั้นว่า ขอเดชะ พวกคนตาบอดใน
พระนครสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระราชาองค์นั้น
ตรัสว่า แน่ะพนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงแสดงช้างแก่พวกคนตาบอดเถิด
บุรุษนั้นทูลรับพระราชดำรัสแล้วแสดงช้างแก่พวกคนตาบอด คือ แสดง
ศีรษะช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงหูช้างแก่คนตา
บอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงงาช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า
ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงงวงช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
แสดงตัวช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงเท้าช้างแก่
คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงหลังช้างแก่คนตาบอดพวก
หนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงโคนหางช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้าง
เป็นเช่นนี้ แสดงปลายหางช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล บุรุษนั้น ครั้นแสดงช้างแก่พวกคน
ตาบอดแล้ว เช้าไปเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้
กราบทูลว่า ขอเดชะ คนตาบอดเหล่านั้นเห็นช้างแล้วแล บัดนี้ ขอให้ฝ่า
ละอองธุลีพระบาท จงทรงสำคัญเวลาอันควรเถิด พระเจ้าข้า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย ลำดับนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปถึงที่คนตาบอด
เหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ดูก่อนคนตาบอดทั้งหลาย พวกท่าน
ได้เห็นช้างแล้วหรือ คนตาบอดเหล่านั้น กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า.
รา. ดูก่อนคนตาบอดทั้งหลาย ท่านทั้งหลายกล่าวว่า ข้าพระพุทธ-
เจ้าทั้งหลายได้เห็นช้างแล้ว ดังนี้ ช้างเป็นเช่นไป.
คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำศีรษะช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอ
เดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนหม้อ พระเจ้าข้า คนตาบอดพวกที่ได้
ลูบคลำหูช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือน
กระดัง พระเจ้าข้า คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำงาช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้
ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนผาล พระเจ้าข้า คนตาบอด
พวกที่ได้ลูบคลำงวงช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้
คือ เหมือนงอนไถ พระเจ้าข้า คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำตัวช้าง ได้
กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนฉางข้าว พระ-
เจ้าข้า คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำเท้าช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ
ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนเสา พระเจ้าข้า คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำ
หลับช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนครก
ตำข้าว พระเจ้าข้า คนตาบอดพวกที่ได้ลูบคลำโคนหางช้าง ได้กราบทูล
อย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็นเช่นนี้ คือ เหมือนสาก พระเจ้าข้า คนตา
บอดพวกที่ได้ลูบคลำปลายหางช้าง ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ช้างเป็น
เช่นนี้ คือ เหมือนไม้กวาด พระเจ้าข้า คนตาบอดเหล่านั้นได้ทุ่มเถียง
กันและกันว่า ช้างเป็นเช่นนี้ ช้างไม่ใช่เป็นเช่นนี้ ช้างไม่ใช่เป็นเช่นนี้
ช้างเป็นเช่นนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พระราชาพระองค์นั้นได้ทรงมี
พระทัยชื่นชมเพราะเหตุนั้นแล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพา-
ชกเป็นคนตาบอด ไม่มีจักษุ ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหาย
ใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จักประโยชน์
ไม่รู้จักความฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม
มีบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก
ว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็น
เช่นนี้.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรง
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ได้ยินว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมข้องอยู่
เพราะทิฏฐิทั้งหลายอันหาสาระมิได้เหล่านี้ ชนทั้ง-
หลายผู้เห็นโดยส่วนเดียว ถือผิดซึ่งทิฏฐินิสัยนั้น ย่อม
วิวาทกัน.
จบปฐมกิรสูตรที่ ๔
อรรถกถาปฐมกิรสูตร
ปฐมกิรสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ในบทว่า นานาติตฺถิยา สมณพฺราหฺมณปริพฺพาชกา นี้ มีวิเคราะห์
ดังต่อไปนี้ ชื่อว่า ท่า เพราะเป็นเหตุข้ามโอฆสงสาร ได้แก่ ทางเป็นที่
ไปสู่พระนิพพาน. แต่ในที่นี้ ทิฏฐิทัสสนะ ความเห็นคือทิฏฐิ ที่พวก
ผู้มีทิฏฐิยึดถือเป็นคติเช่นน้นั โดยวิปลาสอันผิดแผก ท่านประสงค์เอา
ว่า ท่า. ผู้ประกอบใน ท่า มีอาการต่าง ๆ มีว่าเที่ยงเป็นต้นนั้น ชื่อว่า
นานาทิฏฐิ. สมณะเปลือยและนิครนถ์เป็นต้น กฐกลาปพราหมณ์เป็นต้น
และปริพาชกชื่อโปกขรสาติเป็นต้น ชื่อว่าสมณะ พราหมณ์ และปริพา-
ชก. สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกเหล่านั้น ผู้ประกอบในท่าต่างๆ
เหมือนกัน. ชื่อว่า ทิฏฐิ เพราะเป็นเครื่องเห็น โดยนัยมีอาทิว่า อัตตา
และโลกเที่ยง หรือทิฏฐินั้นย่อมเห็นเอง หรือทิฏฐินั้นเป็นเพียงความเห็น
เช่นนั้นเท่านั้น คำว่า ทิฏฐินี้ เป็นชื่อของการยึดถือผิด. ทิฏฐิต่าง ๆคือ
มีอย่างเป็นอเนก โดยเห็นว่าเที่ยงเป็นต้น ของชนเหล่านั้นมีอยู่ เหตุนั้น
ชนเหล่านั้นชื่อว่ามีทิฏฐิต่าง ๆ. ความพอใจโดยเห็นว่าเที่ยงเป็นต้น ชื่อว่า
ขันติ, ความชอบใจ ชื่อว่า รุจิ โดยอรรถ จิตวิปลาสและสัญญาวิปลาส
อันเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า อัตตาและโลกเที่ยง ความพอใจต่าง ๆ เช่นนั้น
ของชนเหล่านั้นมีอยู่ เหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า มีความพอใจต่าง ๆ กัน.
ความชอบใจของชนเหล่านั้นมีอยู่ เหตุนั้น ชนเหล่านั้นมีชื่อว่า มีความ
ชอบใจต่าง ๆ กัน. จริงอยู่ ในส่วนเบื้องต้น บุคคลผู้มีทิฏฐิเป็นคติ ย่อม
ทำจิตให้ชอบใจ และให้พอใจโดยประการนั้น ภายหลังยึดถือว่า สิ่งนี้
เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิว่าด้วยความเห็น ชื่อว่าขันติ
ด้วยความพอใจ ชื่อว่ารุจิด้วยความชอบใจ โดยประการนั้น ๆ โดยนัยมี
อาทิว่า โลกไม่เที่ยง โลกเที่ยง. ด้วยบททั้ง ๓ ดังกล่าวมานี้ ทิฏฐิเท่านั้น
พึงทราบเนื้อความว่าท่านกล่าวไว้แล้ว. บทว่า นานาทิฏฺฐินิสฺสยนิสฺสิตา
ความว่า อาศัย คือ แอบแนบ เข้าถึงที่อาศัย คือที่ตั้ง ได้แก่เหตุแห่ง
ทิฏฐิมีอย่างต่าง ๆ โดยกำหนดว่าเที่ยง เป็นต้น หรือที่อาศัยกล่าวคือ
ทิฏฐินั่นแหละ อธิบายว่า ไม่สละทิฏฐินั้นตั้งอยู่. ด้วยว่าแม้ทิฏฐิทั้งหลาย
ก็เป็นที่อาศัยของอาการยึดถือของชนพวกที่มีทิฏฐิเป็นคติ.
บทว่า สนฺติ แปลว่า มีอยู่ คือมีอยู่พร้อม ได้แก่ เกิดอยู่. บทว่า
เอเก ได้แก่ บางพวก. บทว่า สมณพฺราหฺมณา ความว่า ท่านถือเอา
อย่างนี้ว่า ชื่อว่าสมณะ. เพราะเข้าถึงการบรรพชา ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะ
ชาติกำเนิด. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ชาวโลกถือเอาอย่างนี้ว่าสมณะ และว่า
พราหมณ์. บทว่า เอวํวาทิโน ได้แก่ ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า ผู้กล่าวอย่างนี้
คือ โดยอาการที่จะพึงกล่าวในบัดนี้. ชื่อว่า ผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ เพราะคน
เหล่านั้นมีทิฏฐิอันเป็นไปอย่างนี้ คือโดยอาการที่จะพึงกล่าวในบัดนี้. ใน
บทเหล่านั้น ด้วยบทที่ ๒ ท่านแสดงถึงการยึดถือผิดของคนผู้ทิฏฐิเป็น
คติ. ด้วยบทที่ ๑ ท่านแสดงถึงการกล่าว โดยให้คนเหล่าอื่นตั้งอยู่ใน
ทิฏฐินั้น ตามความยึดถือของพวกเขา. บทว่า โลโก ในบทว่า สสฺสโต
โลโก อิธเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ นี้ เป็นอัตตา. จริงอยู่ อัตตานั้นท่าน
ประสงค์เอาว่า โลก เพราะเป็นที่ที่คนผู้มีทิฏฐิเป็นคติเห็นบุญบาป และ
วิบากของบุญและบาปนั้น หรือว่าผู้ประกอบโดยความเป็นผู้กระทำย่อม
เห็นเอง. อธิบายว่า ความเห็นของพวกเราที่ว่า โลกนี้นั้นเที่ยง ไม่ตาย
มั่นคง ยั่งยืน นี้แหละเป็นของจริง คือไม่แปรผัน ส่วนความเห็นอย่างอื่น
ของคนอื่นว่า โลกไม่เที่ยงเป็นต้น เปล่า คือผิด. ด้วยคำนี้ เป็นอันท่าน
แสดง สัสสตวาทะทั้ง ๔. บทว่า อสสฺสโต แปลว่า ไม่เที่ยง อธิบายว่า
ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีจุติเป็นธรรม. ด้วยบทว่า อสสฺสโต นี้. ท่านแสดง
อุจเฉททิฏฐิ. ความเห็นว่าขาดสูญ โดยปฏิเสธภาวะที่โลกเที่ยงนั่นแหละ
เพราะเหตุนั้น ย่อมเป็นอันแสดงอุจเฉทวาทะแม้ทั้ง ๗. บทว่า อนฺตวา
ได้แก่ มีที่สุด หมุนไปรอบ (กลม) มีประมาณกำหนดได้ อธิบายว่า
ไม่ไปตลอด. ด้วยคำนี้ เป็นอันท่านแสดงวาทะ มีอาทิอย่างนี้ว่า อัตตา
มีสรีระเป็นประมาณ มีนิ้วแม่มือเป็นประมาณ มีอวัยวะเป็นประมาณ
(และ) มีปรมาณูเป็นประมาณ. บทว่า อนนฺตวา แปลว่า ไม่มีที่สุด
อธิบายว่า ไปได้ตลอด. ด้วยคำว่า อนนฺตวา นี้ ย่อมเป็นอันแสดงวาทะ
ของกปิลกาณพราหมณ์เป็นต้น.
ด้วยบทว่า ตํ ชีวํ ตํ สรีรํ นี้ สมณะหรือพราหมณ์ย่อมพิจารณา
เห็นชีวะ และสรีระ ไม่เป็นคู่กันว่า สรีระนั่นแหละ เป็นวัตถุ กล่าวคือ
ชีวะ วัตถุกล่าวคือชีวะนั่นแหละเป็นสรีระ. ด้วยบทนี้ เป็นอันท่านแสดง
วาทะนี้ว่า อัตตาที่มีรูป เหมือนวาทะของอาชีวก ก็ด้วยบทว่า อญฺญํ
ชีวํ อญฺญํ สรีรํ นี้ เป็นอันท่านแสดงวาทะว่าอัตตาไม่มีรูป. บทว่า ตถาคโต
ในบทว่า โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา นี้ ได้แก่ อัตตา. จริงอยู่
อัตตานั้น ทิฏฐิคติกบุคคลกล่าวว่า ตถาคต เพราะถึงภาวะที่เป็นไปอย่าง
นั้น กล่าวคือผู้ทำและผู้เสวยเป็นต้น หรือกล่าวคือเที่ยงและยั่งยืนเป็นต้น
อธิบายว่า ในที่นี้ อัตตานั้น เบื้องหน้าคือหลังแต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมมี คือมีปรากฏอยู่. ด้วยคำนี้อันมีสัสสตวาทะเป็นประธาน เป็นอันท่าน
แสดงสัญญีวาทะ ๑๖ อสัญญีวาทะ ๘ และเนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘. บทว่า
น โหติ ได้แก่ ไม่มี คือ ไม่เกิด. ด้วยคำนี้ ท่านแสดงอุจเฉทวาทะ.
บทว่า โหติ จ น โหติ จ แปลว่า มีและไม่มี. ด้วยคำนี้ เป็นอันท่าน
แสดงสัสสตวาทะบางอย่าง และสัญญีวาทะ ๗. ก็ด้วยบทว่า เนว โหติ
น น โหติ นี้ พึงทราบว่า ท่านแสดงวาทะดิ้นได้ไม่ตายตัว. ได้ยินว่า
ทิฏฐิคติกบุคคลเหล่านี้ มาจากถิ่นต่าง ๆ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คราว
หนึ่งประชุมกัน ณ ที่ประชุมแสดงลัทธิ ยกย่องวาทะของตน ๆ ข่ม
วาทะของคนอื่น ได้ก่อวิวาทกันและกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เต ภณฺฑนชาตา ดังนี้ เป็นต้น.
ในวาทะเหล่านั้น ส่วนเบื้องต้นของการทะเลาะ. ชื่อว่า ความ
บาดหมาง. บทว่า ภณฺฑนชาตา แปลว่า เกิดความบาดหมาง. การ
ทะเลาะนั่นแหละ ชื่อว่า กลหะ. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นการทะเลาะ
เพราะกำจัดเสียงแผ่วเผา. ชื่อว่า วิวาทาปนฺนา เพราะถึงวาทะที่ผิดกัน
และกัน. หอกคือปาก เพราะกระทบกระทั่งความรัก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
มุขสัตติ ได้แก่ ผรุสวาจา. จริงอยู่ เหตุ ท่านกล่าวว่า ผลก็มี เพราะ
ใกล้เคียงกับเหตุ เหมือนใกล้เคียงกับผล อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า การอุบัติขึ้น
แห่งพระพุทธเจ้า นำมาซึ่งความสุข และว่า กรรมชั่วปรากฏชัด. ทิ่ม แทง
อยู่ด้วยหอกคือปากเหล่านั้น. บทว่า เอทิโส ธมฺโม ได้แก่ ธรรม คือ
สภาวะอันไม่ผิดแผก เช่นนี้ คือ เห็นปานนี้ เหมือนอย่างที่เรากล่าวไว้ว่า
โลกเที่ยง. บทว่า เนทิโส ธมฺโม ได้แก่ ธรรมเช่นนี้หามิได้ เหมือน
อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า โลกไม่เที่ยง. แม้ด้วยบทที่เหลือก็พึงประกอบ
อย่างนี้. ก็วาทะของพวกเดียรถีย์นั้น เกิดปรากฏไปทั่วนคร.
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ฟังดังนั้น
จึงคิดว่า เค้ามูลแห่งถ้อยคำนี้มีอยู่แล ถ้ากระไร เราพึงกราบทูลเรื่องนี้
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผิไฉนหนอ เราพึงได้พระธรรมเทศนาอันสุขุม
ละเอียด เพราะอาศัยเรื่องนี้ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้ -
มีพระภาคเจ้า ในเวลาแสดงธรรมภายหลังภัต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว
ว่า อถ โข สมฺพหุลา ภิกฺขู ดังนี้เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงประกาศการที่พวกอัญญเดียรถีย์ไม่รู้
ธรรมตามความเป็นจริง จึงตรัสคำว่า อญฺญติตฺถิยา ภิกฺขเว ดังนี้
เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺธา ความว่า ชื่อว่า ผู้บอด เพราะ
เว้นปัญญาจักษุ. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า อจกฺขุกา จริงอยู่
ปัญญาท่านประสงค์ว่าจักขุ ในที่นี้. จริงอย่างนั้น พระองค์จึงตรัสว่า
อตฺถํ น ชานนฺติ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถํ น
ชานนฺติ ความว่า ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้และประโยชน์โลกหน้า คือไม่
หยั่งรู้ความเจริญงอกงามในโลกนี้และโลกหน้า ก็จะกล่าวไปไยถึงประโยชน์
อย่างยิ่ง คือพระนิพพานเล่า. จริงอยู่ ธรรมดาว่าผู้งมงายในเหตุสักว่า
ปวัตติ (คือทุกข์) จักรู้นิวัตติ (คือนิโรธ) ได้อย่างไร. บทว่า อนตฺถํ
น ชานนฺติ ความว่า ชนเหล่านั้นย่อมไม่รู้ประโยชน์โดยส่วนใด ย่อม
ไม่รู้แม้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ส่วนนั้น. เพราะเหตุที่ไม่รู้ ธรรม ฉะนั้น
แม้อธรรมก็ไม่รู้. จริงอยู่ เพราะการถือเอาการแสวงหาผิด ชนเหล่านั้น
ย่อมทำกุศลธรรมให้เป็นอกุศลธรรมบ้าง ทำอกุศลธรรมให้เป็นกุศลธรรม
บ้าง. ไม่ใช่หลงงมงายแต่ในธรรมและอธรรมอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้
แม้ในวิบากของธรรมและอธรรมก็หลงงมงาย. จริงอย่างนั้น เขาเหล่านั้น
แม้กรรมก็ยังกล่าวให้เป็นวิบาก แม้วิบากก็กล่าวให้เป็นกรรม อนึ่ง ย่อม
ไม่รู้ ธรรม คือสภาวธรรมบ้าง ย่อมไม่รู้ อธรรม คือมิใช่สภาวธรรม
บ้าง. ก็ผู้เป็นอย่างนั้น ย่อมประกาศสภาวธรรมให้เป็นอสภาวธรรม และ
ประกาศอสภาวธรรมให้เป็นสภาวธรรม.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงประกาศว่า เดียรถีย์เหล่านั้นเป็นดัง
คนบอด เพราะบกพร่องทางปัญญาจักษุ โดยได้เฉพาะโมหะและทิฏฐิ
ด้วยประการดังนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะประกาศความนั้นโดยอุปมาด้วยคน
บอดแต่กำเนิด จึงตรัสคำว่า ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น. บรรดา
บทเหล่านั้น บทว่า ภูตปุพฺพํ ได้แก่มีแล้วในกาลก่อน คือบังเกิดแล้ว
ในอดีตกาล. บทว่า อญฺญตโร ราชา อโหสิ ความว่าครั้งก่อนได้มี พระ-
ราชาองค์หนึ่งไม่ปรากฏนามและโคตรในโลก. บทว่า โส ราชา อญฺญตรํ
ปุริสํ อามนฺเตสิ ความว่า เล่ากันมาว่า พระราชาพระองค์นั้น ครั้น
ทอดพระเนตรเห็นช้างทรงของพระองค์เลิศด้วยความงาม มีสรรพางค์กาย
สมบูรณ์มายังที่บำรุง จึงได้มีพระดำริว่า ผู้เจริญ ยานคือช้างตัวเจริญ
น่าชมหนอ. ก็สมัยนั้น คนบอดแต่กำเนิดคนหนึ่งเดินมาตามพระลาน-
หลวง. พระราชาทรงเห็นดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า คนบอดเหล่านี้มี
ความเสื่อมอย่างใหญ่หลวง ที่ไม่ได้เห็นช้างที่น่าชมเห็นปานนี้ ถ้ากระไร
เราจะให้คนบอดแต่กำเนิดเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ให้ประชุมกันในกรุงสาวัตถีนี้
ให้เอามือจับต้องคนละส่วน ๆ แล้วจะพึงฟังถ้อยคำของคนบอดเหล่านั้น.
พระราชาผู้มีพระทัยในทางล้อเลียน จึงรับสั่งให้ราชบุรุษผู้หนึ่งให้เรียก
ประชุมคนบอดทั้งหมดในกรุงสาวัตถี แล้วได้ให้สัญญาแก่ราชบุรุษนั้นว่า
เจ้าจงทำโดยประการที่คนบอดแต่ละคนถูกต้องอวัยวะของช้างแต่ละส่วน ๆ
มีศีรษะเป็นต้นเท่านั้น แล้วให้เกิดสัญญาขึ้นว่าเราเห็นช้างแล้ว. ราชบุรุษ
ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น. ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามคนบอดเหล่านั้น
แต่ละคน ๆ ว่า พนาย ช้างเป็นอย่างไร ? คนบอดเหล่านั้นต่างทูลบอก
เฉพาะอวัยวะที่ตนเห็นแล้ว ๆ ว่าเป็นช้าง จึงก่อการทะเลาะกันว่า ช้าง
เป็นเช่นนี้ ช้างไม่เป็นเช่นนี้ ใช้มือเป็นต้น คว้ากันกระทำโกลาหลอย่าง
ใหญ่หลวง ณ พระลานหลวง. ฝ่ายพระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ได้
ทอดพระเนตรเห็นประการอันแปลกนั้นของคนบอดเหล่านั้น มีพระผา-
สุกาขยาย มีพระหทัยเบิกบาน ทรงพระสรวลลั่น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึง
กล่าวว่า อถ โข ภิกฺขเว โส ราชา ฯ เป ฯ อตฺตมโน อโหสิ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺโภ เป็นอาลปนะ. บทว่า ยาวติกา
แปลว่า มีประมาณเท่าใด. บทว่า ชฺจจนฺธา แปลว่า คนบอดแต่กำเนิด
คือไม่มีจักขุปสาทตั้งแต่เกิด. บทว่า เอกชฺฌํ แปลว่า โดยเป็นอันเดียว
กัน. บทว่า ภเณ เป็นการกล่าวอย่างไม่นับถือมาก. บทว่า หตฺถึ ทสฺเสหิ
ความว่า จงแสดงโดยให้ช้างตัวที่กล่าวแล้วนอน. ก็ช้างนั้นนอนโดยไม่ดิ้น
เพราะศึกษามาดีแล้ว.
ด้วยบทว่า ทิฏฺโฐ โน หตฺถี คนบอดกล่าวโดยเอามือจับต้อง
เหมือนเห็นด้วยตา. บุรุษนั้นให้คนบอดจับศีรษะ เพราะจะให้รู้ว่า ช้างเป็น
เช่นนี้ คนบอดแต่กำเนิดเมื่อรู้ว่าช้างเป็นเช่นนั้นนั่นแหละ จึงกราบทูลว่า
ช้างเป็นเช่นนี้ คือเหมือนหม้อ พระเจ้าข้า. ก็ความของ บทว่า กุมฺโภ แปล
ว่าหม้อ. บทว่า ขีโล ได้แก่ ขอแขวนซึ่งทำด้วยงาช้าง บทว่า โสณฺโฑ ได้แก่
งวง. บทว่า นงฺคลีสา ได้แก่ งอนของหัวไถ. บทว่า กาโย ได้แก่ สีข้าง.
บทว่า โกฏฺโฐ แปลว่า ฉางข้าว. บทว่า ปาโทแปลว่า แข้ง. บทว่า ถู โน
แปลว่าเสา. บทว่า นงฺคุฏฺฐํ ได้แก่ ส่วนบนของหาง. บทว่า วาลธี
ได้แก่ ส่วนปลายของหาง. บทว่า มุฏฺฐีหิ สงฺขุภึสุ ได้แก่ กำหมัดชก
ได้แก่ ต่อยกัน. บทว่า อตฺตมโน อโหสิ ความว่า เพราะพระองค์
มีปกติล้อเลียน พระราชานั้น จึงทรงพอพระทัย คือมีความร่าเริงจับ
พระทัย เพราะการทะเลาะของพวกคนตาบอดแต่กำเนิดนั้น.
บทว่า เอวเมว โข เป็นการเทียบเคียงโดยอุปมา. การเทียบเคียงโดย
อุปมานั้นมีใจความดังต่อไปนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนบอดแต่กำเนิด
เหล่านั้นไม่มีจักษุประสาทมักเห็นไปโดยส่วนเดียว ไม่เห็นช้างส่วนที่เหลือ
เมื่อไม่รู้สิ่งที่คนอื่นเห็นโดยสำคัญว่า เป็นช้างเพียงมาตรว่าอวัยวะที่ตนเห็น
ก็ถึงความทะเลาะวิวาทกันและกัน ฉันใด อัญญเดียรถีย์เหล่านี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน สำคัญรูปเวทนาเป็นต้นอันเป็นส่วนหนึ่งแห่งกายของตน ตาม
ที่เห็นโดยทิฏฐิทัสสนะของตนว่า เป็นอัตตา ยกขึ้นสู่ภาวะว่าตนนั้นเที่ยง
เป็นต้น จึงวิวาทกันและกันโดยยึดถือว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า.
แต่ไม่รู้ถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นธรรม
และมิใช่ธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงเป็นคนบอดไม่มีจักษุ-
ประสาท มีส่วนเปรียบด้วยคนบอดแต่กำเนิด.
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวง
ถึงการที่พวกเดียรถีย์ไม่รู้ไม่เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ยึดถือผิด
ตามที่เห็นเหมือนคนบอดแต่กำเนิดคลำช้างฉะนั้น และถึงการวิวาทกันใน
ข้อที่ยึดถือผิดนั้นนี้ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงความนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อิเมสุ กิร สชฺชนฺติ เอเก
สมณพฺราหฺมณา ท่านแสดงว่า ได้ยินว่า บุคคลบางพวกในโลกนี้ ชื่อว่า
สมณะ เพราะเข้าถึงการบรรพชา ชื่อว่า พราหมณ์ เพราะเหตุเพียงชาติย่อม
ข้องโดยนัยมีอาทิว่า นี้เป็นของเรา โดยความบันเทิงในทิฏฐิ ในทิฏฐิอันไม่
เป็นสาระเหล่านี้เท่านั้น อันเป็นไปโดยนัยมีว่า โลกเที่ยง เป็นต้น หรือโดย
ความบันเทิงในตัณหา และความบันเทิงในทิฏฐิ ในอุปาทานขันธ์มีรูป
เป็นต้นเหล่านี้ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
อย่างนี้น่าสลดใจ พวกเหล่านี้มีความงมงาย. กิร ศัพท์ ในคำว่า อิเมสุ
กิร ฯ เป ฯ สชฺชนฺติ นี้ เป็นอรุจิสูจนัตถะ ส่องความไม่ชอบใจ. ด้วย
คำนั้น ทรงแสดงถึงความไม่มีเหตุเกี่ยวข้องในข้อนั้นนั่นแหละ. ไม่ใช่จะ
ข้องอยู่อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้ ถือผิดซึ่งทิฏฐินิสัยนั้น คือแก่งแย่ง
วิวาทกัน ได้แก่ถึงการวิวาทกัน ด้วยการประกอบตามถ้อยคำที่ถือผิด ๆ
โดยนัยมีอาทิว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้.
บทว่า นํ ในที่นี้ เป็นเพียงนิบาต. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิคฺคยฺห
นํ ความว่า ถือทิฏฐินิสัยหรือสักกายทิฏฐินั้นนั่นแหละ ให้ผิดกันและกัน
แล้ววิวาทกัน คือกล่าวให้แปลกออกไป โดยเห็นว่าเที่ยงเป็นต้น เพราะ
มีความเห็นผิดแผกกัน คือกล่าวยึดถือแต่วาทะของตนเท่านั้นให้วิเศษ คือ
ไม่ให้ผิดแผก. เหมือนอะไร ? เหมือนชนทั้งหลายที่เห็นโดยส่วนเดียว.
อธิบายว่า คนบอดแต่กำเนิดเหล่านั้น เห็นแต่ส่วนหนึ่ง ๆ ของช้าง ยึด
ถือเอาว่าสิ่งที่ตนถูกต้องรู้นั้นแหละ คือ ช้าง จึงแก่งแย่งวิวาทกันและกัน
ฉันใด คำอุปไมยอันยังอุปมาให้ถึงพร้อมนี้ก็ฉันนั้น. ก็ อิธศัพท์ ใน
คาถานั้นพึงทราบว่า ท่านแสดงว่าลบไปแล้ว.
จบอรรถกถาปฐมกิรสูตรที่ ๔