พระพุทธเจ้าสอนและชี้ทางให้ผู้คนพ้นทุกข์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และชี้ทางให้ผู้คนอยู่อย่างเป็นสุขทั้งปัจจุบันและอนาคต พระพุทธเจ้าไม่สามารถดลบันดาลให้ใครเป็นสุขและพ้นทุกข์ได้ ผู้ที่จะอยู่อย่างเป็นสุขและไม่มีทุกข์นั้นจะต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นทุกคนสามารถนำมาทดลองทำตามดูและพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่
สิ่งแรกที่จะชี้ให้เห็นโดยดูจากประสบการณ์ชีวิตจริงของเราว่าเป็นจริงไหม
เคยสังเกตกระบวนการนี้ไหม
เมื่อเรารักชอบสิ่งไหนและได้มาครอบครองแล้ว เราจะ หวงแหน ปกป้อง ปกปักรักษา
ไม่อยากเสียมันไปด้วยเหตุใด ๆ เช่นเสื่อม แตกสลาย สูญหาย โดนลักขโมย เป็นต้น การปกป้องจะ เกิดความทะเลาะ, ความวิวาท, การทำร้าย, ความร่ำไร, ความเศร้าโศก, กับทั้งความ ตระหนี่, ความถือตัว, ความดูหมิ่นผู้อื่น, และทั้งคำส่อเสียด
ทำนองเดียวกันกับสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจะไม่อยากได้หรือเจอมัน เราก็พยายามจะป้องกัน ถ้าเราเกิดได้มาเราก็จะเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าสอนว่า
กระบวนการชอบไม่ชอบนี้เกิดขึ้นจาก การรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เช่น
การรับรู้ทางตา
มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือมีรูป แสงสว่าง ประสาทตาดี และการใส่ใจ จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อตาเห็นรูป เกิดการรับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้จะเกิดสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข หลังจากนั้นก็จะคิดปรุงแต่งต่อเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จากนั้นก็จะถือว่าเป็นรับรู้อย่างชัดเจน แล้วก็จะจำ(บันทึก)ไว้โดยอัตโนมัติ
การรับรู้ทางหู
มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือมีเสียง อากาศ ประสาทหูดี และการใส่ใจ จะขาดย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อเสียงกระทบหู เกิดการรับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้จะเกิดสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข หลังจากนั้นก็จะคิดปรุงแต่งต่อเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จากนั้นก็จะถือว่าเป็นรับรู้อย่างชัดเจน แล้วก็จะจำ(บันทึก)ไว้โดยอัตโนมัติ
(อากาศเป็นตัวนำเสียง ความรู้ 2500 กว่าปีที่แล้ว ใครเรียนวิทยาศาสตร์คงเข้าใจ)
การรับรู้ทางจมูก
มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือมีกลิ่น ลม(วาโย) ประสาทจมูกดี และการใส่ใจ จะขาดย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อกลิ่นกระทบจมูก เกิดการรับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้จะเกิดสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข หลังจากนั้นก็จะคิดปรุงแต่งต่อเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จากนั้นก็จะถือว่าเป็นรับรู้อย่างชัดเจน แล้วก็จะจำ(บันทึก)ไว้โดยอัตโนมัติ
การรับรู้ทางลิ้น
มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือมีรส น้ำ(อาโป) ประสาทลิ้นดี และการใส่ใจ จะขาดย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อรสกระทบลิ้น เกิดการรับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้จะเกิดสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข หลังจากนั้นก็จะคิดปรุงแต่งต่อเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จากนั้นก็จะถือว่าเป็นรับรู้อย่างชัดเจน แล้วก็จะจำ(บันทึก)ไว้โดยอัตโนมัติ
การรับรู้ทางกาย
มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือมีการสัมผัส ผิวหนัง(ปฐวี*) ประสาทกายดี และการใส่ใจ จะขาดย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อมีการสัมผัสที่กาย เกิดการรับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้จะเกิดสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข หลังจากนั้นก็จะคิดปรุงแต่งต่อเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จากนั้นก็จะถือว่าเป็นรับรู้อย่างชัดเจน แล้วก็จะจำ(บันทึก)ไว้โดยอัตโนมัติ
ปฐวี หมายถึงธาตุดิน
การรับรู้ทางใจ
มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือมีธรรมารมณ์ (ความคิด สิ่งที่ผุดขึ้น) จิต หัวใจดี และการใส่ใจ จะขาดย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อธรรมารมณ์กระทบใจ เกิดการรับรู้ เมื่อเกิดการรับรู้จะเกิดสุขหรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข หลังจากนั้นก็จะคิดปรุงแต่งต่อเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จากนั้นก็จะถือว่าเป็นรับรู้อย่างชัดเจน
การรับรู้ทั้งหมดนี้ ตอนแรกเราอาจแค่ชอบ พอใจ (ฉันทะ) เท่านั้นถ้าขาดมันก็ไม่เป็นไร แต่พอนานไปชอบมากขึ้น มีกำลังแรงขึ้น มีความสุขที่มีมันแต่ถ้าขาดมันก็จะทำให้ทุกข์ใจ เรียกว่า ตัณหา
ตัณหา นี้แหละที่เราพยายามทำทุกอย่างในชีวิตนี้เพื่อให้สมปารถนา เราสุขหรือทุกข์ก็เพราะ ตัณหา นี้แหละสาเหตุที่เราทุกข์ก็เพราะเรายึดติดใน ตัณหา เราเห็นแล้วจากคำอธิบายข้างต้นแล้วว่า ตัณหา เกิดมาอย่างไร ดังนั้นการแก้ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ
พระพุทธเจ้าสอนให้เข้าใจถึงตัณหาและวิธีกำจัดตัณหา โดยจำแนก ธรรมชาติออกเป็น 2 ลักษณะ คือ สามัญญลักษณะ (ลักษณะทั่วไป) ปัจจัตตลักษณะ (ลักษณะเฉพาะตัว)
ลักษณะเฉพาะตัว เป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นเท่านั้น สิ่งอื่นไม่มีเหมือน เช่น องุ่นจะมีลักษณะเป็นลูกเล็ก ๆ เป็นพวง ไม่เหมือนกับมะม่วงซึ่งมีผลใหญ่ พวงก็ต่างกัน มนุษย์ก็มีลักษณะที่ไม่เหมือนกับสัตว์อื่น ๆ เป็นต้น
สามัญญลักษณะ เป็นลักษณะของธรรมชาติทุกชนิดจะมีเหมือนกันคือ มีลักษณะอยู่ 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ
1. ไม่เที่ยง หรือไม่คงอยู่ถาวรตลอดไป
2. เป็นทุกข์
3. ไม่ใช่ของเรา หรือเป็นตัวตนเรา
ไม่เที่ยง
สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมา คือประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะสิ่งทั้งหลายประกอบกันขึ้นมาจึงไม่สามารถดำรงอยู่ถาวรได้ ไม่เที่ยงหรือไม่คงอยู่ถาวร นั้นเราลองสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราดู ไม่มีอะไรที่คงอยู่ในสภาพเดิมตลอดไป ระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงสภาพนั้นอาจแตกต่างกันไป แต่ท้ายที่สุดไม่มีอะไรคงอยู่ถาวร
เป็นทุกข์
คำว่าเป็นทุกข์อาจเข้าใจยากสักหน่อยเพราะ บางอย่างเราก็เห็นว่า มันดีมันก็ทำให้เรามีความสุขนี่น่า มันเป็นทุกข์ได้อย่างไร
เพราะว่าทุกสิ่งนั้นไม่เทียง บางขณะอาจนำความสุขมาให้แก่เรา แต่เนื่องจากความไม่เที่ยง มันไม่ถาวร เมื่อสิ่งที่มันทำให้เรามีความสุขนั้นเปลี่ยนไป เราก็จะมีความทุกข์ เพราะมันไม่เหมือนเดิมเรายากให้มันเหมือนเดิม
ไม่ใช่ของเรา หรือเป็นตัวตนเรา
หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาตินี้เราไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการ หรืออยากให้เป็นได้ ถ้าเป็นของเราหรือเป็นตัวตนของเราเราจะต้องกำหนดหรือบังคับได้ว่า ให้เป็นอย่างโน้นให้เป็นอย่างนี้ได้ ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่ให้มันชำรุดเสียหายได้
ส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็คือสามัญญลักษณะนี่แหละ เราลองมาพิจารณาดูว่าใช่ไหม ลองพิจารณาดูว่ามีอะไรที่ไม่มีคุณสมบัตินี้
ถ้าเรายอมรับในสามัญญลักษณะนี้เราก็สามารถนำเอาไปใช้ในการให้เหตุผลแก่ตัวเราในกรณีที่บางสิ่งไม่เป็นไปตามที่เราต้องการและทำให้เราเป็นทุกข์อยู่
เราจะต้องฝึกเป็นประจำที่ทุกครั้งที่เรามีปัญหาเป็นทุกข์เราก็เอาสามัญญลักษณะนี้มาอธิบายแก่ตัวเรา
การที่เราจะพ้นทุกข์ และอยู่อย่างสุขสบายได้เราจะต้องฝึกเป็นประจำ (ไม่ใช่ท่องจำ) ทำจนให้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
มีคำพูดที่ว่า “ปล่อยให้เป้นไปตามธรรมชาติของมัน อย่าฝืนมัน” ใช่ไหม ถ้าฝืนมัน มันก็ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน
แล้วพิสูจน์อย่างไร?
ให้เรามองถึงสิ่งที่กังวลและไม่สบายใจในแต่ละวันว่าเรื่องต่าง ๆ ที่มันทำให้เราไม่สบายใจอยู่นั้น เราฝืนกฎธรรมชาติไปได้ไหม เช่น
เราซื้อนาฬิกาใหม่มา เราก็ไม่อยากให้มันโดนขุดขีดหรือหายไป เราอยากจะให้มันใหม่อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจ สามัญญลักษณะ 3 ประการอย่างชัดเจน เราจะไม่คิดอย่างนั้นใช่ไหม ถ้ายังไม่เข้าใจชัดเจนก็ถามตัวเองว่า
1. นาฬิกา มันจะคงอยู่ถาวรไหม มันจะไม่โดนขุดขีด ตกหล่น หาย ไหม
2. นาฬิกา มันจะใหม่อยู่ตลอดเวลาไหม มันจะทำให้เราเป็นทุกข์ไหม
3. เมื่อนาฬิกา มันไม่เที่ยง เปลี่ยนไป มันจะทำให้เราเป็นทุกข์ เราควรจะนับว่ามันเป็นของเราไหม เราจะบังคับหรืออยากให้มันใหม่อยู่ตลอดเวลาได้ไหม
พ่อแม่เลี้ยงลูกมา ก็คิดว่าลูกเป็นของตัวเองเพราะเลี้ยงมาตั้งแต่เกิดหมดเงินค่าเลี้ยงดูไปไม่รู้เท่าไหร่ ก็ต้องการให้ลูกเป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการ เมื่อลูกไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ก็เกิดเป็นทุกข์ ถามว่าตามสามัญญลักษณะ 3 ประการเราบังคับให้ลูกเป็นไปตามที่เราต้องการทั้งหมดได้ไหม บางอย่างลูกอาจทำตามที่พ่อแม่ต้องการได้เพราะความกตัญญูที่ลูกมีต่อพ่อแม่ แต่ไม่ใช่เพราะลูกเป็นของพ่อแม่บังคับให้เป็นไปตามนั้น
ถ้าเราคอยพิจารณาสิ่งรอบ ๆ ตัวเราอยู่เรื่อย ๆ เราก็จะเข้าใจชัดเจนขึ้นๆ
เหตุที่เรา โศกเศร้า เสียใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ค่ำครวญรำพรรณ พิรี้พิไร อาฆาตแค้น (ประเภทของทุกข์ที่มีอยู่ มีเพียงแค่นี้) อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะเราไม่นำเอาสามัญญลักษณะ 3 ประการของธรรมชาตินี้มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตของเรา
อย่าเสียเวลาไปกับการจดจำสำนวนโวหารต่าง ๆ ที่แนะนำให้นำมาปฏิบัติ มันเป็นเพียงส่วนปลีกย่อยเท่านั้น
จิต
จิตที่พูดถึงในทางธรรม ตามความหมายทางวิทยาศาสตร์หมายถึงจิตใต้สำนึก เคยได้ยินพวกที่สอนการนำจิตใต้สำนึกมาใช้ไหม
“ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ให้ความรู้เกี่ยวกับจิตไต้สำนึกดังนี้
เขาเปรียบเทียบว่า จิตใจมนุษย์ มีสภาพคล้าย ภูเขาน้ำแข็ง ที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร
มีส่วนที่อยู่เหนือผิวน้ำเป็นส่วนน้อย ยังมีส่วนอยู่ใต้ผิวน้ำ เป็นส่วนใหญ่
ภาวะจิต ระดับที่มีความสำนึก เราควบคุมได้ เหมือนกับ ส่วนของน้ำแข็งที่อยู่เหนือผิวน้ำ
ภาวะจิต ระดับใต้สำนึก เราควบคุมไม่ได้ เหมือน ส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำ เป็นที่สะสมองค์ประกอบของจิตไว้มากมาย
ฟรอยด์ อธิบายว่า จิตระดับใต้สำนึก นี้มี กลไกทางจิต หลายประเภท ด้วยกัน เช่น แรงจูงใจ, อารมณ์ที่ถูกเก็บกด, ความรู้สึกนึกคิด, ความฝัน, ความทรงจำ ฯลฯ
จิตใต้สำนึก มีอิทธิพล เหนือ จิตสำนึกกระตุ้น ให้ปฏิบัติพฤติกรรม ประจำวันทั่ว ๆ ไป, เป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมไร้เหตุผล และผิดปกติในลักษณะต่าง ๆ”
“จิตใต้สำนึก เป็น จิตที่ทำหน้าที่อิสระไม่สามารถการควบคุมได้ โดยมันจะทำหน้าที่หรือตัดสินใจได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องคิด หรือวิเคราะห์ สภาวะการตัดสินใจเกิดจากการสะสมมาจากจิตสำนึกในเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ และพอถึงเวลา บาง สถานการณ์จิตใต้สำนึกจะดึงข้อมูลออกมาเอง โดยที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องมาวิเคราะห์ว่าดี ไม่ดี ถูก ไม่ถูก”
วิทยาศาสตร์ ศึกษาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าอธิบายอย่างชัดเจนถึงวิถีของจิตแต่ละขณะ
(ดูได้ที่พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 430)
สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือการอบรมจิต ฝึกจิต โดยใช้ สามัญญลักษณะ 3 ประการ เป็นพื้นฐาน
การฝึกจิตนั้นฝึกได้ไม่ยาก ดังคำสอนนี้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 485
[๓๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้าถึงสมบูรณ์ แต่เจ้าของ ผู้รักษาข้าวกล้าเป็นผู้ประมาท และโคกินข้าวกล้าลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงถึง ความเมา ความประมาทตามต้องการ แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่สดับแล้ว ไม่ทำความสำรวมในผัสสายตนะ ๖ ย่อมถึงความเมา ความประมาท ในกามคุณ ๕ ตามความต้องการฉันนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้า สมบูรณ์แล้ว เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้าเป็นผู้ไม่ประมาท และโคกินข้าวกล้า พึงลงสู่ข้าวกล้าโน้น เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้า พึงจับโคนั้นสนตะพาย(เจาะเนื้อเยื่อตรงรูจมูกเพื่อร้อยเชือก) แล้วผูกรวมไว้ที่ระหว่างเขาทั้งสอง ครั้นแล้วพึงตีกระหน่ำด้วยตะพดแล้วจึงปล่อยไป โคตัวกินข้าวกล้าพึงลงสู่ข้าวกล้าโน้น แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้าพึงจับโคสนตะพายแล้วผูกรวมไว้ที่ระหว่างเขาทั้ง ๒ ครั้นแล้วจึงตีกระหน่ำด้วยตะพด แล้วจึงปล่อยไป โคกินข้าวกล้านั้น อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี พึงเป็นสัตว์ยืนมากหรือนอนมาก ไม่พึงลงสู่ ข้าวกล้านั้นอีก พลางระลึกถึงการถูกตีด้วยไม้ครั้งก่อนนั้นนั่นแหละ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราใด จิตอันภิกษุข่มขู่แล้ว ข่มไว้ดีแล้ว ในผัสสายตนะ ๖ คราวนั้น จิตย่อมดำรงอยู่ สงบนิ่งในภายใน มีธรรมเอกผุดขึ้น ย่อมตั้งมั่น ฉันนั้นเหมือนกันแล.
เราสามารถสังเกตว่าจิตเราได้ถูกอบรมและยอมรับใน สามัญญลักษณะ 3 ประการ แล้วแค่ไหนให้ดูการเต้นของหัวใจเรา การเต้นของหัวใจไม่สามารถจะควบคุมได้จากจิตสำนึก ตอนที่เรามีความรู้สึกผิดปกติเช่น ขณะที่โกรธ หรือขณะที่กลัว หรือขณะที่อยากได้อย่างมาก หัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติ แต่ถ้าฝึกมาดีแล้วหัวใจจะเต้นปกติเมื่อมีความรู้สึกผิดปกติดังกล่าว
การอบรมจิต ทำได้สองทางคือ ทำด้วยสมาธิ หรือทำด้วยปัญญา
ปัญญา
ปัญญา เราจะได้ยินเสมอว่า มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เราก็คิดว่านั่งสมาธิแล้วก็จะมีปัญญา บางคนก็นั่งสมาธิเลยโดยไม่ศึกษาอะไรและเข้าใจว่าปัญญามันจะเกิดขึ้นเอง
ก่อนที่เราจะมีปัญญาเราจะต้องมี ความรู้ ถ้าเราไม่ศึกษาหาความรู้ก่อนเราจะเอาปัญญามาจากไหน เช่นถ้าเราไม่เคยเรียนบวกเลขมาก่อน ให้โจทย์บวกเลขมา แล้วให้นั่งสมาธิเพื่อแก่โจทย์เลขนั้น จะแก้ได้ไหม
ปัญญาหมายถึงการรู้ชัด
ปัญญา เหมือนกับการแก้ปัญหาหรือแก้โจทย์เลขคณิตได้ ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้ทฤษฎีหรือสูตรเลขคณิตเราก็ไม่สามารถแก้โจทย์ได้ ถ้าเรามีความรู้ทฤษฎี สูตรต่าง ๆ และแก้โจทย์เลขได้เองนั้นเรียกว่าปัญญา
แต่ถ้าไปจำคำเฉลยมาและพอไปเห็นโจทย์เดิมก็นึกคำเฉลยได้ทันที แบบนี้ไม่เรียกว่าปัญญา
ถ้าเราเจอโจทย์ที่ยาก เรามีสมาธิเราก็จะสามารถดึงเอาความรู้ที่มีอยู่มาแก้โจทย์ได้ นั่นแหละความหมายของ มีสมาธิ มีปัญญา
เมื่อเรามีปัญญาแล้ว เจอโจทย์หรือปัญหาใด ๆ เราก็เอาปัญญาที่มีอยู่มาแก้ไข
คนที่สอนธรรมของพระพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่นำเอาคำเฉลยมาสอนโดยที่ตัวเองยังแก้โจทย์ไม่ได้เลย
หากท่านต้องการศึกษาเพิ่มเติม โปรดอ่านต่อ การเรียนรู้ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าทำไมเราถึงเกิดมา และทำไมต้องเวียนว่าตายเกิดอยู่อย่างนี้ และสอนถึงการหลุดออกจาก วังวนนี้ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถออกจากวังวนนี้ได้ เราก็สามารถนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้เพื่อให้เราอยู่อย่างมีความสุข ทำให้มีทุกข์น้อยลงได้ในชีวิตปัจจุบันนี้