พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 107
ธนสูตร๒
ว่าด้วยทรัพย์ ๕ ประการ
[๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน
คือ ทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ทรัพย์ คือ ศีล ๑ ทรัพย์ คือ สุตะ ๑
ทรัพย์ คือ จาคะ ๑ ทรัพย์ คือ ปัญญา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทรัพย์
คือ ศรัทธาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อ
พระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์
คือ ศรัทธา. ก็ทรัพย์ คือ ศีลเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก
ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ เว้นขาดจากการดื่มสุรา
และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ ศีล.
ก็ทรัพย์ คือ สุตะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ สุตะ.
ก็ทรัพย์ คือ จาคะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการ
จำแนกทาน นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ จาคะ. ก็ทรัพย์ คือ ปัญญาเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วย
ปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้
ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือ ปัญญา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ทรัพย์ ๕ ประการนี้แล.
ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะ
ชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสใน
พระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิต
ทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน
ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะ
เหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบ
ศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็นธรรม
เนือง ๆ เถิด.